ฉบับที่ 128 กระแสต่างแดน

 

เยอรมนีไม่ชอบ ปุ่ม Like

อย่างที่รู้ๆ กัน เยอรมันชนเขาถือมากในเรื่องของการละเมิดความเป็นส่วนตัว คงยังจำกันได้ว่าเยอรมนีคือประเทศที่บังคับให้กูเกิ้ล สตรีทวิวทำเบลอหน้าของผู้คนที่ปรากฏในเว็บของตน จนหลายคนที่ใช้บริการเว็บแผนที่ดังกล่าวแอบเรียกประเทศนี้ว่า “เบลอมันนี”

 

และวันนี้งานก็มาเข้าเครือข่ายออนไลน์ยอดนิยมอย่างเฟสบุ๊ค เจ้าของปุ่ม Like ที่เรารู้จักกันดีนี่แหละ

 

รัฐเชลสวิก-โฮลสไตน์ ทางตอนเหนือของเยอรมนี ประกาศว่าการทำงานของปุ่ม Like นั้นผิดกฎหมายว่าด้วยความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ทั้งในระดับรัฐและระดับประเทศ และต่อไปนี้บริษัทใดก็ตามที่ยังคงใช้ปุ่ม Like เป็นเครื่องมือทางการตลาดออนไลน์ของตนเองหลังสิ้นเดือนตุลาคมนี้ จะถูกปรับ 50,000 ยูโร (ประมาณ 2 ล้านบาท)

 

กฎหมายของสหภาพยุโรประบุว่า ผู้ที่จะถูกเก็บข้อมูลจะต้องให้ความยินยอมอย่างชัดแจ้งและโดยสมัครใจหลังจากที่ได้รับการแจ้งโดยผู้ประกอบการ แต่สำหรับกฎหมายเยอรมนีนั้นระบุให้ต้องแจ้งจุดประสงค์ในการเก็บและแจ้งด้วยว่าข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งไปให้ใครบ้าง

 

เฟสบุ๊คออกมาบอกว่าปุ่ม Like ที่ว่านี้มีมาปีกว่าแล้ว แถมใครๆ ก็ชื่นชอบ และข้อมูลที่เก็บก็แค่เป็นการนับจำนวนจากหมายเลขเครื่องคอมพิวเตอร์ (IP address) ที่มีการกดปุ่ม Like เท่านั้น

 

ในขณะที่หลายผ่ายออกมายืนยันว่าเฟสบุ๊คเก็บข้อมูลมากกว่านั้น แถมยังเก็บข้อมูลทุกคนที่เข้าใช้เว็บดังกล่าว ไม่ว่าจะกดปุ่ม Like หรือไม่ และจะถูกติดตามเก็บข้อมูลไปอีก 2 ปีด้วย

 


เมื่อความอ้วนเป็นวาระแห่งโลก

ปัญหาที่ทุกประเทศมีเหมือนๆ กันขณะนี้ คือการมีจำนวนประชากรที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นทุกปี และดูเหมือนสถานการณ์จะย่ำแย่ไปได้อีก

 

นักวิจัยคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2030 อังกฤษ ซึ่งปัจจุบันมีคนเป็นโรคอ้วนอยู่ร้อยละ 25 จะมีคนอ้วนถึงร้อยละ 40 โดยที่ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคดังกล่าวก็จะเพิ่มขึ้นปีละ 2 ล้านปอนด์ด้วย


ส่วนในอเมริกาจะมีถึงร้อยละ 50 ของประชากรเป็นโรคอ้วนในปีดังกล่าว (ขณะนี้ประชากร 1 ใน 3 ของอเมริกาก็เป็นโรคอ้วนแล้ว)

 

เลยมีการตั้งคำถามว่าเราน่าจะสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อลดความอ้วนกันดีหรือไม่

 

นักวิจัยฟันธงว่า ที่ปัญหาโรคอ้วนลุกลามใหญ่โตได้ขนาดนี้ก็เพราะรัฐบาลแต่ละประเทศเฉื่อยชาเกินไปและไม่ตระหนักว่า ทุกวันนี้สิ่งที่ทำให้ประชากรอ้วนขึ้น คือสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้การสร้างสุขภาพนั้นเป็นเรื่องที่ยากเย็น ทั้งๆ ที่ผลลัพธ์ของมันคือภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของรัฐนั่นเอง

 

ว่าแล้วก็มีข้อเสนอไปยังองค์การสหประชาชาติ ที่มีการประชุมสูงสุดด้านสุขภาพในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ให้กดดันรัฐบาลของประเทศต่างๆ ให้ลงมือ “ลดความอ้วน” ในระดับนโยบาย เช่น เก็บภาษีจากอาหารที่เป็นโทษต่อร่างกาย จำกัดจำนวนโฆษณาอาหารทางสื่อต่างๆ บังคับใช้ฉลากอาหารแบบสัญญาณไฟจราจร หรือจัดโครงการอาหารกลางวันเพื่อสุขภาพในโรงเรียนของรัฐ เป็นต้น

 

ถ้าเป็นเช่นนั้นได้จริงก็น่าจะดีไม่น้อย เพราะการสร้าง “สภาพแวดล้อม” เพื่อการลดความอ้วน น่าจะได้ผลดีกว่าการปล่อยให้ประชาชนต้องหันไปพึ่งพาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่อ้างว่าช่วยลดความอ้วนได้ไม่น้อย ที่สำคัญประหยัดเงินในกระเป๋าเราด้วย

 


ข้าวจีเอ็มโอ

อีกสองปีข้างหน้าฟิลิปปินส์จะมีข้าวพันธุ์โกลเด้นไรซ์ ภาคสอง(Golden Rice 2) ออกสู่ตลาด


ว่ากันว่าถ้ารับประทาน “ข้าวสีทอง” ฉบับปรับปรุงนี้วันละ 1 ถ้วย (8 ออนซ์) ร่างกายเราจะสามารถสร้างวิตามิน A ได้ถึงครึ่งหนึ่งของความต้องการต่อวันเลยทีเดียว แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่มีการพิสูจน์

 

เพราะ “ข้าวสีทอง” ที่ว่านั้นมันเกิดมาเพื่อช่วยลดปัญหาการขาดวิตามินเอในเด็กโดยเฉพาะ จึงถูกดัดแปรพันธุกรรมให้มีเบตาแคโรทีนมากเป็นพิเศษ แต่ขอบอกว่าตัวแรกที่ทำออกมา (Golden Rice 1) โดยบริษัท ซินเจนต้านั้นไม่น่าประทับใจเท่าไร


นักวิทยาศาสตร์อาวุโส จากสหภาพผู้บริโภคของอเมริกา (Consumer Union) ได้ทำการวิเคราะห์สารที่มีอยู่ในข้าวที่ว่านั้นและพบว่ามันก็ช่วยได้จริงๆ ถ้าเด็กกินข้าวที่ว่าวันละ ... 10 กิโลกรัม


เครือข่ายต่อต้านการเกษตรแบบใช้สารเคมีในฟิลิปปินส์จึงออกมาแสดงความวิตกเรื่องที่จะมีข้าวชนิดใหม่ออกสู่ตลาดโดยที่ผู้บริโภคยังไม่ได้รับความมั่นใจว่าข้าวชนิดใหม่นั้นดีอย่างไร ปลอดภัยหรือไม่ คุ้มค่าแค่ไหนที่จะเสี่ยงกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการจำกัดสิทธิของเกษตรกร


ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าแต่ละปีมีเด็ก 250,000 – 500,000 คนในประเทศโลกที่สาม ต้องสูญเสียการมองเห็นเพราะขาดวิตามินเอ และนอกจากนี้มีร้อยละ 40 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จึงทำให้มีคนคิดหาทางออกด้วยข้าวชนิดใหม่


แต่เดี๋ยวก่อน เราไม่ได้กินแค่ข้าวอย่างเดียว และข้าวที่ไม่ขัดสีก็มีวิตามินอยู่แล้ว ไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องพึ่งพา “ข้าวสีทอง” นี่เลย



ได้เวลาขาย “รถคันแรก”

ช่วงนี้ตลาดรถมือสองที่พม่าคึกคักมากๆ ตรงข้ามกับบ้านเราที่ใครๆ ก็พากันมองหาซื้อรถใหม่ป้ายแดง เพราะรัฐบาลพม่ามีนโยบายโละรถเก่าออกจากท้องถนน โดยให้เหตุผลว่ามันสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทำให้จราจรติดขัด และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุด้วย


ปัจจุบันในพม่ามีรถที่อายุเกิน 40 ปีอยู่ ประมาณ 10,000 คัน และรถที่อายุระหว่าง 30 – 40 ปี อีกประมาณ 8,000 คัน (ที่นี่เขามีรถไม่มากเพราะคนที่จะเป็นเจ้าของรถได้ก็มีแต่ทหารหรือคนใกล้ชิดเท่านั้น)

 

เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลออกประกาศเชิญชวนให้เจ้าของนำรถยนต์ที่มีอายุเกิน 40 ปี พร้อมกับทะเบียนรถไปมอบให้กับกรมขนส่งทางบกเพื่อแลกกับใบอนุญาตซื้อรถใหม่ (กว่าเดิม) ที่นำเข้าจากไทย ญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย มาเลเซีย โดยเขากำหนดว่ารถเหล่านี้จะต้องเป็นรถที่ผลิตหลังปี พ.ศ. 2538 และราคาไม่เกิน 3,500 เหรียญ (ประมาณ 108,000 บาท)

 

โครงการดังกล่าวทำให้ราคารถเก่าถีบตัวสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะมีคนไม่น้อยอยากจะมาซื้อเพื่อเอาไปแลกกับใบอนุญาต ซึ่งมีราคาแพงลิบลิ่ว ข่าวบอกว่าใบอนุญาตสำหรับรถเอนกประสงค์ (เช่น โตโยต้า แลนด์ครูสเซอร์) ก็คันละ 150 ล้านจ๊าด ถ้าเป็นรถบัสก็ 30 ล้านจ๊าด รถบรรทุกก็ถูกลงมาเหลือ 20 ล้านจ๊าด


และเมื่อได้รถใหม่มาแล้วก็สามารถเอามาขายทำกำไรได้มากขึ้นนั่นเอง


แผนขั้นต่อไปของกระทรวงอุตสาหกรรมพม่าคือการขายรถมินิซาลูน ที่ร่วมกันผลิตกับบริษัทรถแห่งหนึ่งในจีน ที่ราคา 5.5 ล้านจ๊าด (สองแสนกว่าบาท) ด้วย



100 ปีผ่านไป ยังไม่สายใช้สิทธิ

ชาวบ้านจาก 13 หมู่บ้าน 350 ครอบครัวรวมตัวกันฟ้องรัฐบาลอินเดีย โทษฐานที่ไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้กับบรรพบุรุษของพวกเขา หลังจากยึดพื้นที่ทำมาหากินของพวกเขาไปสร้างเมืองใหม่ เมื่อ 100 ปีก่อน

 

ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นที่ตั้งของอาคารสำคัญๆ อย่างรัฐสภา ศาลสูง บ้านประธานาธิบดี หรือแม้แต่ประตูชัยอินเดียที่เราเห็นรูปกันอยู่บ่อยๆ  ในขณะที่ลูกหลานของคนกลุ่มดังกล่าวต้องอาศัยอยู่อย่างแร้นแค้นในหมู่บ้านที่ห่างออกไป 40 กิโลเมตรจากกรุงเดลลี

 

ความจริงแล้วคนที่เข้ามาไล่ที่ในสมัยนั้น คือบรรดาขุนนางอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม แต่ที่ฟ้องรัฐบาลอินเดียเพราะถือว่ามารับช่วงต่อตั้งแต่การประกาศเอกราชในปี ค.ศ. 1947 ทั้งนี้เขาบอกว่าถ้ายังไม่ได้เรื่องก็จะเดินหน้าฟ้องรัฐบาลอังกฤษเป็นรายต่อไป

 

ความจริงแล้วอังกฤษได้จ่ายค่าชดเชยให้กับบางครอบครัวด้วยการฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารไว้ แต่ว่าคนสมัยนั้นไม่รู้ถึงสิทธิของตนเองและไม่ได้รับข่าวสาร จึงไม่ได้ไปถอนออกมา

 

ชาวบ้านกลุ่มนี้บอกว่า การฟ้องร้องครั้งนี้ก็เพื่อเรียกคืนศักดิ์ศรีของ “ชาวเดลลี” และเรียกร้องค่าชดเชยตามที่พวกเขาสมควรได้ (แต่ทั้งนี้เขาขอให้จ่ายเป็นอัตราปัจจุบันนะ)

 

กฎหมายเวนคืนที่ดินของอินเดียนั้นมีใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1894  และยังถูกนำมาใช้อยู่ เมื่อรัฐบาลต้องการเวนคืนพื้นที่มาทำโครงการสาธารณะ เช่น ถนนหรือโรงไฟฟ้า ซึ่งก็มีมากขึ้นทุกวันตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดีย ซึ่งปีนี้รัฐบาลก็กำลังถูกกดดันให้เพิ่มค่าชดเชยให้กับชาวบ้านด้วย

 

อังกฤษตัดสินใจย้ายเมืองหลวงของจากกัลกัตตามาที่เดลลี เพื่อหนีปัญหาความไม่สงบทางการเมือง โดยพระเจ้าจอร์จที่ 5 ได้ประกาศตั้งเดลลีเป็นเมืองหลวงใหม่ของอินเดียในปี ค.ศ. 1911

 

ลดระดับความโปร่งใส

สหรัฐฯ มีหน่วยงาน HRSA (Health Resources and Services Administration) ที่เก็บข้อมูลความผิดพลาดของแพทย์ในการรักษาพยาบาล เอาไว้ในธนาคารข้อมูลเกี่ยวกับแพทย์ หรือ National Practitioners Data Bank


คนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ทางอินเตอร์เน็ท ในส่วนที่เรียกว่า Public Use File ซึ่งข้อมูลที่นำมาลงนั้นจะถูกตัดข้อมูลบางอย่างออกไปเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของแพทย์


ส่วนข้อมูลเต็มๆ นั้น กฎหมายถือเป็นความลับและจะเปิดเผยต่อโรงพยาบาล หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และหน่วยงานด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องเท่านั้น


แต่อยู่มาวันหนึ่งมีนักข่าวของหนังสือพิมพ์ Kansas City Star นำเอาข้อมูลที่ตัวเองสืบค้น มารวมกับข้อมูลของแพทย์ทางประสาทวิทยาคนหนึ่งที่เขาได้จากฐานข้อมูลข้างต้น แล้วก็เขียนบทความเปิดโปงเรื่องราวการถูกฟ้องร้องจากการรักษาพยาบาลที่ผิดพลาดของหมอคนดังกล่าวโดยเปิดเผยชื่อ


เรื่องนี้ทำให้ HRSA ประกาศลดระดับการเข้าถึงข้อมูลเรื่องดังกล่าวโดยคนทั่วไป ส่งผลให้สมาคมผู้สื่อข่าวสาธารณสุขและองค์กรผู้บริโภค Consumer Union ออกมาตั้งคำถามกับรัฐบาลว่า นี่หรือคือนโยบายเรื่อง “ความโปร่งใส” ที่นายบารัค โอบามา พูดถึง และการช่วยรักษาความลับให้กับแพทย์ มันสำคัญกว่าการรักษาประโยชน์ของสาธารณะอย่างนั้นหรือ


แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

150 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ โรคอ้วน ข้าวจีเอ็มโอ รถคันแรก ค่าชดเชย

ฉบับที่ 277 กระแสต่างแดน

เมืองอยู่ยาก        นายกเทศมนตรีเมืองฟลอเรนซ์ยอมรับว่าเมืองของเขาได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวแบบไร้การควบคุม         ขณะนี้อัตราค่าเช่าบ้านในเมืองดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 84 ของเงินเดือน เมื่อมองย้อนกลับไปจะพบว่าระหว่างปี 2016 – 2023 ค่าเช่าบ้านในเมืองฟลอเรนซ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 ในขณะที่จำนวนที่พักในแอป Airbnb ก็เพิ่มจาก 6,000 เป็น 15,000 ห้อง/หลัง         ล่าสุดเรื่องนี้ส่งผลกระทบให้บรรดาช่างฝีมือจำนวนมากถูก “ไล่ที่” ออกจากบริเวณทำเลทอง เพราะเจ้าของพื้นที่ต้องการเปลี่ยนจาก “โรงงาน” เป็นโรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยว         รัฐบาลอิตาลีได้ร่างระเบียบห้ามเปิดที่พักเพิ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว แต่ยังไม่สามารถประกาศใช้เพราะเสียงค้านจากผู้ที่จะได้ประโยชน์ ในขณะที่แผนส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองก็ยังไม่เป็นมรรคผล เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีเวลาไม่เกินสามวัน จึงต้องการไปเยี่ยมชมเฉพาะสถานที่ยอดนิยมเท่านั้น  เยียวยาจิตใจ         คณะกรรมการแก้ไขข้อพิพาทผู้บริโภคแห่งเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย มีคำสั่งให้ Flipkart แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอันดับหนึ่งของอินเดีย จ่ายเงินชดเชยให้กับผู้บริโภค 10,000 รูปี (4,400 บาท) ฐานบกพร่องในการให้บริการและทำธุรกิจอย่างไม่เป็นธรรม         เดือนกรกฎาคม ปี 2022 ผู้บริโภคสั่งซื้อไอโฟนจากร้านค้าแห่งหนึ่งบนแพลตฟอร์มดังกล่าว และชำระเงินด้วยบัตรเครดิตในราคา 39,628 รูปี (17,300 บาท) หกวันต่อมาเขาได้รับข้อความสั้นจาก Flipkart ว่าคำสั่งซื้อถูกยกเลิก เนื่องจากผู้ให้บริการขนส่งติดต่อผู้รับไม่ได้         เมื่อติดต่อไปยังแพลตฟอร์มก็ได้รับคำอธิบายว่าบริษัทจะคืนเงินให้เต็มจำนวนและขอให้เขาทำการสั่งซื้อเข้ามาใหม่ แต่คราวนี้ไอโฟนรุ่นที่เขาอยากได้มีราคาแพงขึ้นกว่าเดิม 7,000 รูปี         คณะกรรมการฯ มองว่าบริษัทจงใจหากำไรเพิ่มด้วยการยกเลิกออเดอร์ของลูกค้า และสร้างความทุกข์ทรมานทางจิตใจให้กับผู้บริโภคด้วยการยกเลิกโดยไม่ถามความยินยอมของเขาก่อน  ต้องจ้างเด็ก         เยอรมนีกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ผู้ประกอบการขนส่งออกมาเตือนว่าอาจต้องลดจำนวนรถที่ให้บริการลงเพราะหาคนทำงานไม่ได้ หลายรายบอกว่าตำแหน่งที่ประกาศรับยังเหลือว่างถึงร้อยละ 30         เมื่อไม่มีพนักงานเพิ่ม คนที่ทำงานอยู่ก็หยุดงานประท้วงบ่อยเพราะต้องแบกภาระหนักเกินไป         บริษัทขนส่งมวลชน VAG ของเทศบาลเมืองนูเร็มเบิร์ก (ซึ่งต้องการพนักงานขับรถสาธารณะอย่างรถไฟ รถรางและรถเมล์ รวมกันปีละ 160 อัตรา) จึงใช้วิธีติดประกาศจ้างงานตามมหาวิทยาลัย ชักชวนให้นักศึกษาใช้เวลาว่างเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ขับรถราง สัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง        คุณสมบัติได้แก่เป็นผู้มีใบขับขี่ อายุเกิน 21 ปี มีความรับผิดชอบ รักงานขับรถ และทำงานเป็นกะได้ ผู้ผ่านการคัดเลือกก็จะได้รับการอบรมภาคทฤษฎี ฝึกปฏิบัติกับเครื่องจำลองการขับ จากนั้นจึงฝึกกับรถรางจริง เนื่องจากอยู่ในภาวะเร่งด่วน การฝึกจึงใช้เวลาน้อยกว่าปกติเท่าตัว ขอก่อนรื้อ         กระทรวงแรงงานเดนมาร์กประกาศห้ามการรื้อถอนอาคารที่มีแร่ใยหินโดยไม่ได้รับอนุญาต และกำหนดโทษปรับไว้ไม่ต่ำกว่า 30,000 โครน (ประมาณ 160,000 บาท)         รายงานข่าวระบุว่ากฎหมายดังกล่าวน่าจะสามารถเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคมปีนี้ โดยมีระยะเวลาผ่อนผัน 6 เดือน         พูดง่ายๆ คือ “เจ้าของบ้าน” จะรื้อถอนเองไม่ได้ เพราะการรื้อถอนต้องดำเนินการโดยบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น บริษัทเหล่านี้จะมีระบบควบคุมคุณภาพ และมีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมมาสำหรับการนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นแร่ใยหินซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ        แร่ใยหินถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในเดนมาร์กมา 35 ปีแล้ว แต่ปัญหานี้ยังไม่หมดไปเนื่องจากยังมีการใช้ในงานก่อสร้างต่อเติมอาคาร และยังมีอาคารจำนวนไม่น้อยที่สร้างก่อนปี 1989 (พ.ศ. 2532) ส่วนกรณีของประเทศไทย เรายังไม่อยู่ในกลุ่ม 56 ประเทศที่ประกาศแบนแร่ใยหินแล้ว รีบใช้เงิน         คนเกาหลีไต้มีแนวโน้มจะขอรับเงินเกษียณก่อนกำหนดกันมากขึ้น เพราะต้องการเงินไว้ใช้ในวันที่ค่าครองชีพแพงเหลือใจ         ข้อมูลทางการระบุว่าปีที่แล้วมีคนเกษียณก่อนกำหนด 849,744 คน นับเป็นสถิติสูงสุดตั้งแต่ปี 1999 ซึ่งเป็นปีแรกที่อนุญาตให้มี “early retirement” และคาดว่าปี 2024 นี้จะมีถึง 960,000 คน        ก่อนหน้านี้รัฐบาลเกาหลีได้ประกาศขยับอายุเกษียณจาก 62 เป็น 63 ปี เพื่อให้มีเงินเหลืออยู่ในระบบนานขึ้น แต่คนจำนวนมากไม่อยากรอจนตัวเองอายุ 63 พวกเขารู้สึกอุ่นใจกว่าถ้าได้ถือเงินก้อนไว้เลย หลายคนก็ต้องการเงินมาลดความฝืดเคืองในชีวิตประจำวัน         การขอรับเงินก่อนเวลาเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่มีเงื่อนไขว่าผู้รับจะถูกหักเงินบางส่วน เช่นถ้ารับก่อนกำหนดหนึ่งปี จะถูกหักร้อยละ 6 หรือถ้าขอรับก่อนเวลาห้าปีจะถูกหักร้อยละ 30 เป็นต้น          สหภาพแรงงานเกาหลีกำลังผลักดันให้การขยายเวลาการจ้างงาน เพื่อให้โอกาสผู้สูงอายุมีรายได้เพิ่มก่อนจะต้องออกไปหางานใหม่ เพราะเงินที่ได้จากการเกษียณมันน้อยเกินไป 

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 กระแสต่างแดน

aติดเก้าอี้        การสำรวจ “ชั่วโมงนั่ง” ใน 10 ประเทศในยุโรป (กรีซ ไซปรัส สวีเดน ลักเซมเบิร์ก เบลเยียม ฟินแลนด์ โรมาเนีย เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สาธารณรัฐเชก) พบว่าตำแหน่ง “แชมป์นั่งนาน” ตกเป็นของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งร้อยละ 26 ของประชากรวัยเกิน 16 ปี มีชีวิตติดเก้าอี้เกิน 8.5 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของยุโรปอยู่ที่ร้อยละ 11         นอกจากนี้ยังพบว่า ประชากรประมาณ 3.7 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของคนวัยทำงาน นั่งนานกว่าวันละ 6 ชั่วโมง โดยอาชีพที่นั่งนานที่สุดคือทนายความ นักเศรษฐศาสตร์ นักพัฒนาซอฟท์แวร์ ด้วยสถิติ 7.3 ชั่วโมงต่อวัน แซงคนขับรถบรรทุกที่นั่งประมาณ 7.2 ไปอย่างฉิวเฉียด         งานวิจัยของ TNO พบว่าการนั่งนานซึ่งส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของเลือด ทำให้คนดัทช์เสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละไม่ต่ำกว่า 21,000 คน ด้วยโรคหัวใจ มะเร็ง และโรคเบาหวานชนิดที่สอง คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 1,000 ล้านยูโรขอแค่สอง     การรถไฟฝรั่งเศส SNFC ประกาศระเบียบใหม่สำหรับผู้ที่จะโดยสารไปกับรถไฟความเร็วสูง TGV  InOui  และ Intercite’  ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป จะสามารถนำสัมภาระติดตัวไปด้วยได้สองใบเท่านั้น (หนึ่งใบใหญ่และหนึ่งใบเล็ก)          คำจำกัดความของ “ใบใหญ่” คือสัมภาระขนาด 70x90x50 ซม. ส่วน “ใบเล็ก” ต้องมีขนาดไม่เกิน 40x30x15 ซม. แต่มีข้อยกเว้นให้กับสัมภาระอย่างรถเข็นเด็ก กระเป๋าเครื่องดนตรี หรือกระเป๋าอุปกรณ์กีฬา เป็นต้น         ช่วงแรกยังอยู่ในระยะตักเตือน แต่หลังจาก 15 กันยายน การฝ่าฝืนระเบียบนี้มีค่าปรับ 50 ยูโร (ประมาณ 2,000 บาท)        ระเบียบลักษณะนี้ใช้กับรถไฟระหว่างเมืองทั่วไปอยู่แล้ว ผู้สามารถนำกระเป๋าขึ้นรถไฟได้คนละสองใบ (ขนาด 55x35x25 และ 36x27x15) หากมีสัมภาระมากกว่านี้ก็สามารถจ่ายเงินเพิ่มได้          ส่วนรถไฟท้องถิ่น TER ไม่มีลิมิต ใช้ระบบใครมาก่อนได้ก่อน เพียงแต่ต้องดูแลไม้ให้เกะกะคนอื่น  เช่นเดียวกับรถไฟ Eurostar ก็ไม่มีข้อจำกัด แต่ขออยู่ในปริมาณที่ถือและยกขึ้นวางด้วยตัวเองได้ เสี่ยงสูงขึ้น         จีนเป็นตลาดรถอีวีอันดับหนึ่งของโลกและเป็นผู้นำด้านการผลิตแบตเตอรีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า จึงมีภาพลักษณ์ประเทศไฮเทค พรั่งพร้อมด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่สามารถช่วยสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ         แต่งานสำรวจโดยหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศกำลังชี้ให้เห็นว่าสุขภาพของคนทำงานในอุตสาหกรรมนี้กำลังแย่ลง           การทำงานในโรงงานผลิตแบตเตอรีมีอันตรายหลายด้าน และอุตสาหกรรมนี้จัดอยู่ในประเภทอุตสาหกรรมความเสี่ยงสูง และมีงานวิจัยในปี 2019 ที่พบว่าอุตสาหกรรมนี้เกิดภาวะสารเคมีเป็นพิษบ่อยที่สุดมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 90         แม้ว่าแบตเตอรีรถอีวีซึ่งเป็นลิเธียมไอออนจะมีอันตรายน้อยกว่าแบตเตอรีตะกั่วกรดแบบเดิม แต่คนทำงานยังมีโอกาสได้รับอันตรายจากฝุ่นกราไฟท์ เขม่าที่เกิดขึ้นขณะผสมหรือกวนวัตถุดิบ อิเล็กโทรดขั้วลบขั้วบวก หรือแม้แต่โอโซนในพื้นที่เชื่อมโลหะ รวมถึงระดับเสียง 90 เดซิเบลที่สูงเกินระดับปลอดภัย (85 เดซิเบล) ต้องคืนเงิน         คณะกรรมาธิการการแข่งขันทางการค้าและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (ACCC) เรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปฏิเสธการคืนเงินหรือปฏิเสธการรับประกันสินค้าได้         ความจริงแล้วผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับการประกันโดยอัตโนมัติตาม พรบ. คุ้มครองผู้บริโภคออสเตรเลีย แม้ผู้ขายจะอ้างว่าเลยระยะเวลารับประกัน หรือได้แจ้งแล้วว่าไม่สามารถเปลี่ยนหรือขอเงินคืนได้         จากเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 98,000 เรื่องที่คณะกรรมาธิการได้รับในปี 2023 มีประมาณร้อยละ 30 ที่เกี่ยวกับการรับประกันสินค้า (28,000 เรื่อง)         ผลิตภัณฑ์ที่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาอันดับต้นๆ คือ รถยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ผู้บริโภคมักได้รับคำตอบว่า “สินค้าหมดประกันแล้ว คุณต้องรับผิดชอบค่าซ่อมเอง” หรือในบางกรณี เช่น การขอให้ผู้ประกอบการซ่อมรถมือสองให้ ผู้บริโภคต้องมีธุระจัดการไม่ต่ำกว่า 60 ขั้นตอน ได้หมดถ้าสดชื่น         ร้านอาหาร ร้านค้าปลีกในญี่ปุ่นเริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบเรื่องการแต่งตัว เพื่อรับมือกับสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานในประเทศ         เรื่องนี้กำลังกลายเป็นเทรนด์ ในปี 2022 บริษัท Pan Pacific International Holding เจ้าของกิจการห้างอย่าง “ดองกี้” ยอมประกาศยกเลิกระเบียบเรื่องการย้อมสีผมตามที่พนักงานร้องขอ         ปีต่อมาครึ่งหนึ่งของพนักงานในห้างล้วนมีสีผมที่ไม่ใช่สีดำตามธรรมชาติ และในจำนวนนั้นร้อยละ 20 เป็นสีแบบจี๊ดจ๊าดหรือไม่ก็บลอนด์ไปเลย ผู้คนมีความสุขขึ้นเมื่อได้ทำงานในแบบที่เป็นตัวของตัวเอง         เดือนกันยายนปีที่แล้ว ซูเปอร์มาร์เก็ต BELC ในโตเกียวก็ยกเลิกกฎเรื่องสีผม ทรงผม หรือการเจาะหู รวมถึงการทาเล็บ ลดการลาออกของพนักงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ต้องการย้อมสีผม         เรื่องรวมไปถึงแรงงานต่างประเทศด้วย เครือร้านอาหารซูชิโร ที่มีการจ้างงานคนจาก 60 ประเทศ อนุญาตให้พนักงานสวมฮิญาบ (กรณีผู้หญิง) หรือไว้หนวดเคราได้ถ้าสวมหน้ากากอนามัย (กรณีผู้ชาย) 

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 กระแสต่างแดน

ส้วมสะเทือนใจ        การรถไฟอินเดียต้องจ่ายค่าชดเชย 30,000 รูปี (ประมาณ 12,900 บาท) ให้กับผู้โดยสารคนหนึ่งที่ได้รับความกระทบกระเทือนต่อร่างกายและจิตใจจากสภาพห้องน้ำบนขบวนรถ         วันที่ 3 กันยายน 2564 ผู้โดยสารคนดังกล่าวขึ้นรถไฟตู้ปรับอากาศชั้นสามจากนิวเดลลีเพื่อไปลงที่เมืองอินดอร์ ซึ่งเป็นการเดินทางข้ามคืนที่ใช้เวลาประมาณ 15 ชั่วโมง          แปดโมงเช้าวันต่อมา เขาลุกไปเข้าห้องน้ำเพื่อล้างหน้าและทำธุระส่วนตัว แต่พบว่าไม่มีทั้งน้ำล้างหน้าและน้ำสำหรับกดชักโครก ซึ่งขณะนั้นอยู่ในสภาพสกปรกสุดทน และเนื่องจากรถไฟเสียเวลา เขาจึงต้องทนปวดท้องอยู่สองชั่วโมงและไปถึงที่ทำงานสายด้วย         แม้จะแย้งว่าห้องน้ำไม่ถือเป็น “บริการ” ตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค แต่การรถไฟฯ มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม “กฎบัตรพลเมือง” ที่กำหนดให้หน่วยงานรัฐจัดหาน้ำใช้ที่สะอาดและห้องน้ำที่ถูกสุขอนามัยให้กับประชาชนและยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้อง 10,000 รูปีด้วย  ยาถูกมีอยู่จริง         เป็นเรื่องปกติที่คนสิงคโปร์จะขับรถข้ามชายแดนไป “ซื้อของ” ที่ยะโฮร์บารู เมืองหลวงของรัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย เพราะนอกจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในซูเปอร์มาร์เก็ตที่นั่นจะถูกกว่า รวมถึงยารักษาโรคก็ถูกกว่าด้วย แถมร้านยาในมาเลเซียก็ไม่ถามหา “ใบสั่งแพทย์” อีก         ตัวอย่างเช่น ราคาของยาลดความดัน Micardis ในสิงคโปร์อยู่ที่ 53 เหรียญ (1,400 บาท) แต่สามารถซื้อได้ในมาเลเซียที่ราคา 62 ริงกิต (470 บาท)         นอกจากความแตกต่างของค่าเงินแล้ว ยาในมาเลเซียยังถูกกว่าเพราะร้านยาซึ่งมีหลายร้านในบริเวณเดียวกันมักจะกระหน่ำลดราคาเพื่อแย่งลูกค้าด้วย         อย่างไรก็ตามช่องข่าว CNA ซึ่งนำเสนอเรื่องดังกล่าวพบว่ายาที่สั่งซื้อจากร้านออนไลน์ในมาเลเซียมักใช้ไม่ได้ผล อาจเป็นเพราะคุณภาพการเก็บรักษาหรือการขนส่ง แถมหลายตัวยังเป็นยาปลอมหรือมีสารต้องห้าม         ทางช่องข่าวแนะนำให้คนสิงคโปร์ประหยัดด้วยการซื้อ “ยาชื่อสามัญ” เพราะเขาทดสอบแล้วพบว่าหลายตัวมีประสิทธิภาพไม่ต่างจากยาที่มีแบรนด์เลย ถือบัตรไหนดี         กรุงโซลและปริมณฑลมีบัตรขึ้นรถสาธารณะหลายใบให้เลือก เป้าหมายร่วมกันคือลดภาระค่าเดินทางให้คนเมือง แต่สิทธิประโยชน์และเขตพื้นที่ให้บริการนั้นไม่เหมือนกัน         “ไคลเมทการ์ด” บัตรรายเดือนโดยเทศบาลโซล ใช้ขึ้นรถเมล์และรถไฟได้ดินได้ทุกเส้นทางในโซลได้ไม่จำกัด ใบละ 62,000 (ประมาณ 1,650 บาท) และบัตรดังกล่าวจะครอบคลุมพื้นที่เมืองอินชอนด้วยตั้งแต่ปี 2024         “ไอพาส” ของเทศบาลเมืองอินชอน ใช้เดินทางในเมืองนี้ได้โดยไม่จำกัดเที่ยว ผู้สูงอายุสามารถรับเงินคืนร้อยละ 30 จากที่จ่ายไป         “เคพาส” ของกระทรวงที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและการขนส่ง ใช้เดินทางได้ 60 เที่ยวทั่วประเทศ หากใช้รถสาธารณะมากกว่า 15 ครั้งต่อเดือน สามารถขอเงินคืนได้ร้อยละ 30 (สำหรับผู้ที่อายุ 19-34 ปี) ส่วนผู้มีรายได้น้อยจะได้เงินคืนร้อยละ 52         แล้วยังมี “คยองกีพาส” สำหรับใช้ในจังหวัดคยองกี ที่จะเริ่มใช้เดือนพฤษภาคมได้เงินคืนเหมือนกันแต่ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว         ประชาชนเกาหลีหลายคนสงสัยดังๆ จะง่ายกว่าไหม ถ้ารัฐบาลลดราคาตั๋วไปเลย   ไม่ต้องฝัง         เพราะความสะดวกและความประหยัด คนดัทช์ยุคนี้จึงหันมาเลือกใช้บริการพิธีศพแบบเผา แทนที่จะฝังตามธรรมเนียมดั้งเดิม         ที่เนเธอร์แลนด์พิธีศพแบบเผามีค่าใช้จ่าย 6,000 ยูโร (ประมาณ 232,000 บาท) แต่อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มบ้างในกรณีที่ราคาพลังงานแพงขึ้น ในขณะที่การฝังมีค่าใช้จ่ายถึง 9,000 ยูโร (ประมาณ 350,000 บาท)         สถิติระบุว่าร้อยละ 68.4 ของผู้ที่เสียชีวิตในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2023 ได้รับการฌาปนกิจศพ ความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นดูได้จากจำนวนฌาปนสถานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน         ข้อเสียอย่างเดียวคือ ตามขั้นตอนปกติของเนเธอร์แลนด์ ญาติจะต้องรอประมาณหนึ่งเดือนถึงจะสามารถมารับกระดูกกลับได้         หลายคนไม่อยากทิ้งภาระให้ลูกหลานต้องจ่ายค่าดูแลหลุมศพก็จะสั่งเสียไว้ให้เลือกวิธีนี้ ส่วนการกล่าวไว้อาลัยหน้าหลุมศพก็ไม่จำเป็น เพราะปัจจุบันผู้คนนิยมบอกลากันตั้งแต่ก่อนที่ผู้ล่วงลับจะจากไปฟาสต์เฟอร์นิเจอร์        รัฐบาลไต้หวันต้องรีบออกมาเคลียร์ หลังสื่อออกมาเปิดเผยว่าในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2023 ยังมีที่นอนเก่าที่ควรนำไปรีไซเคิลตกค้างอยู่ถึง 140,000 หลัง หมายความว่ามีสปริงที่ยังไม่ถูกนำไปใช้งานและมีผ้าที่สามารถเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงได้ค้างอยู่         กระทรวงสิ่งแวดล้อมบอกว่าที่ผ่านมาเขาก็จัดการรีไซเคิลที่นอนได้ปีละเกือบหนึ่งล้านหลังโดยไม่มีปัญหา แถมบอกอีกว่าเดี๋ยวช่วงตรุษจีนก็จะมีฟูกถูกทิ้งเพิ่มอีกเพราะคนต้องซื้อของใหม่เข้าบ้าน         ผู้แทนกระทรวงฯ อธิบายว่าเครื่องรีไซเคิลของเขานั้น ถ้าจะให้คุ้มค่ากับพลังงานที่เสียไปต้องใส่ฟูกเข้าไปอย่างต่อเนื่องครั้งละไม่ต่ำกว่า 5,000 หลัง มันก็เลยเกิด “ความกอง” อย่างที่เห็น         แต่คำถามคือใครควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย มูลค่าตลาดที่นอนมีมากกว่า 10,000 ล้านเหรียญ ด้วยยอดขายประมาณ 330,000 หลังต่อปี แต่ที่ผ่านมารัฐยังไม่มีกลไกที่จะทำให้ผู้ประกอบการร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อขยะที่นอนเลย         อีกปัญหาที่ต้องรับมือคือ “ฟาสต์เฟอร์นิเจอร์” ที่ราคาถูก ดีไซน์สวย แต่ใช้งานได้ไม่นาน

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 274 กรแสต่างแดน

เงินขวัญถุง         คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเมืองเดลลี สั่งปรับห้างจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป lifestyle เป็นเงิน 3,000 รูปี (ประมาณ 1,300 บาท) และขอให้ห้างคืนเงิน 7 รูปีที่เรียกเก็บเป็นค่าถุงกระดาษ ให้กับลูกค้าด้วย         คณะกรรมการได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่ง ว่าด้วยความบกพร่องในการให้บริการของห้าง ซึ่งอ้างว่าถุงกระดาษมีต้นทุนแพงกว่าถุงพลาสติก (ที่รัฐบาลประกาศห้ามใช้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565) จึงขอเรียกเก็บค่าถุงจากลูกค้า         คำถามคือห้างควรผลักภาระค่าใช้จ่ายไปให้ลูกค้าที่จ่ายเงินค่าสินค้าแล้วหรือเปล่า สำคัญกว่านั้นคือลูกค้าได้รับการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่         จากหลักฐานภาพถ่ายที่ยืนยันว่าห้างไม่ได้แจ้งให้ลูกค้านำถุงมาเอง รวมถึงไม่ได้บอกราคาและประเภทของถุงกระดาษ บริษัทจึงไม่สามารถเก็บค่าถุงที่ใช้ใส่สินค้าที่ซื้อจากทางร้านได้ และต้องจ่ายค่า “ทำขวัญ” ลูกค้าเป็นจำนวนดังกล่าว   ชื่อไฮเอนด์         เทศบาลกรุงโซลขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้ลดความยาวและความซับซ้อนของโครงการอพาร์ตเมนท์ หลังผลสำรวจพบว่าชาวเมืองส่วนใหญ่ไม่ถูกใจสิ่งนี้         หลายปีที่ผ่านมาเกิดเทรนด์การตั้งชื่ออพาร์ตเมนท์เป็นภาษาเกาหลีผสมกับภาษาต่างประเทศ ยำรวมกันทั้งชื่อย่าน ชื่อบริษัทที่ก่อสร้างรวมถึงชื่อแบรนด์เพื่อแสดงถึงความ “ไฮเอนด์” ทั้งที่ชื่อเหล่านี้ไม่ได้การันตีคุณภาพของที่อยู่อาศัย         เทศบาลฯ ได้สำรวจความเห็นประชากรกว่า 1,000 คน และพบว่าร้อยละ 77.3 ไม่ชอบชื่อยืดยาวแบบนี้ บางหมู่บ้านถึงกับร้องขอให้เอาชื่อของตัวเองออกจากชื่ออพาร์ตเมนท์ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวกันด้วย         หลังการพูดคุยมีผู้ประกอบการ 9 ราย (Samsung Hyundai และ Posco ก็อยู่ในกลุ่มนี้) ให้คำมั่นว่าจะตั้งชื่อโครงการให้สั้นและง่ายกว่าเดิม รวมถึงใช้คำภาษาเกาหลีให้มากขึ้น         เทศบาลโซลมีกำหนดจะประกาศ “แนวทางการตั้งชื่ออพาร์ตเมนท์” ภายในครึ่งปีแรกของปี 2024  ซ่อมกันก่อน         เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนไม่ทิ้งขว้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสียหายเพียงเล็กน้อย รัฐบาลฝรั่งเศสจึงให้ “โบนัสช่วยซ่อม” แบบเหมาจ่ายมาตั้งแต่ปี 2022  โดยเงินช่วยเหลือดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการลดขยะและสร้างเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนที่ประกาศใช้เมื่อปี 2020         สิ่งที่จะเพิ่มมาในปี 2024 คือค่าซ่อมหน้าจอโทรศัพท์ 25 ยูโร (ประมาณ 950 บาท) และค่าซ่อมโน๊ตบุ๊ค 50 ยูโร         รวมแล้วจึงมีเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าข่ายได้รับเงินช่วยเหลือ 73 รายการ เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน กาต้มน้ำ เครื่องทำกาแฟ โทรทัศน์และเครื่องเล่นดีวีดี         เงินช่วยเหลือนี้จะปรากฎเป็นส่วนลดในบิลค่าซ่อมโดยอัตโนมัติ ลูกค้าไม่ต้องลงทะเบียน เพียงแต่ต้องไปใช้บริการกับร้านซ่อมที่เข้าร่วมโครงการ         ฝรั่งเศสตั้งเป้าเพิ่มจำนวนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ารับการซ่อมจากปีละ 10 ล้านชิ้น เป็น 12 ล้านชิ้นให้ได้ภายในปี 2027   ไม่ใช่ที่สูบ         อุตสาหกรรมท่องเที่ยวญี่ปุ่นออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการห้ามสูบบุหรี่ให้มากขึ้น โดยอาจระบุ “พื้นที่สูบบุหรี่” ผ่านแอปพลิเคชันที่ให้ข้อมูลเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวในภาษาต่างๆ เป็นต้น         ญี่ปุ่นห้ามการสูบบุหรี่ทั้งในอาคารและกลางแจ้ง (ยกเว้นในพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่) มาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2020 ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงการระบาดของโควิด 19 จึงไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากนัก แต่เมื่อการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว จำนวนชาวต่างชาติที่ถูกปรับเพราะ “เดินไปสูบไป” ก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในบางเมืองเช่น โกเบ มีถึงร้อยละ 40 ของผู้ฝ่าฝืนที่เป็นนักสูบจากต่างแดน         นอกจากกฎหมายที่ใช้ทั่วประเทศแล้ว สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมบางแห่งมีค่าปรับสำหรับการสูบบุหรี่ในพื้นที่ด้วย เช่น การสูบบุหรี่ในสวนนารา มีค่าปรับ 1,000 เยน (ประมาณ 240 บาท) โดยเจ้าหน้าที่สามารถแสดงตนและปรับผู้ฝ่าฝืนได้ทันที   ลดเวลาหน้าจอ         กระทรวงเด็กและโรงเรียนของเดนมาร์กเล็งออกกฎหมายห้ามศูนย์รับดูแลเด็กเล็กใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์ช่วยเลี้ยงเด็ก         ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ดูแลจะให้เด็กดูหน้าจอแท็บเล็ตหรือโทรทัศน์ไม่ได้ เพียงแต่ต้องจำกัดเวลา เช่น สำหรับเด็กอายุไม่เกินสองปี จะอนุญาตให้ดูหน้าจอมือถือหรือแท็บเล็ตได้ในกรณีที่ “จำเป็นอย่างยิ่ง” เท่านั้น เพราะเด็กเล็กไม่ควรมี “เวลาหน้าจอ” มากเกินไป         ขณะที่เด็กอายุระหว่างสามถึงห้าปีจะอนุญาตให้ใช้หน้าจออย่างเหมาะสม โดยเด็กจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้รับผิดชอบ         สรุปว่าสถานรับเลี้ยงเด็กจะอ้างว่าจำเป็นต้องปล่อยให้เด็กดูจอเพราะ “วันนี้ยุ่งมาก” หรือ “ใกล้เวลาพ่อแม่มารับแล้ว” ไม่ได้ รัฐมนตรีฯ เขามองว่ามันเป็นความบกพร่องในการดูแลเยาวชนของชาติ กระทรวงฯ คาดว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะผ่านเป็นกฎหมายได้ในเดือนกรกฎาคมปี 2024   

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)