ฉบับที่ 149 กาบ้า กับการมีสติในการซื้อสินค้า

ท่านเคยถามตนเองหรือไม่ว่า การซื้อสินค้าแต่ละชนิดนั้น อะไรคือปัจจัยสำคัญในการควักกระเป๋า สำหรับผู้เขียนแล้ว ความเชื่อมั่นในชื่อผู้ผลิต มีอิทธิพลมากแต่ไม่เสมอไป โดยเฉพาะสินค้าที่มีการทุ่มโฆษณาแล้ว มักทำให้การตัดสินใจซื้อยากขึ้น เพราะผู้เขียนค่อนข้างปักใจว่า สินค้ายิ่งโฆษณามากมักด้อยคุณภาพ เพราะโฆษณามักมากับความหลอกลวง ยิ่งถ้าใช้ดารานักแสดงด้วยแล้ว ความเชื่อมั่นยิ่งน้อย เพราะนักแสดงถูกสอนให้พูดตามบทแถมอาจไม่เคยใช้สินค้าชนิดที่รับโฆษณา ปัจจัยสำคัญอีกประการคือ ราคา แม้เราถูกสอนไม่ให้คิดว่า ของถูกไม่ดีของดีต้องแพง แต่บางกรณี เช่น น้ำผลไม้ที่ขายในภาชนะบรรจุกล่องที่ระบุว่ามาจากโรงงานเดียวกันแต่ติดยี่ห้อสินค้าต่างกัน รสชาติก็มักต่างกันตามราคา ความแตกต่างของรสชาติน่าจะเกิดจาก โรงงานต้องผลิตตามคำสั่งของเจ้าของตราสินค้าที่ต้องการแค่สินค้าไปเติมให้เต็มชนิดของสินค้าที่ต้องการขาย โดยกำหนดคุณภาพของวัตถุดิบให้ถูกกว่า เพื่อควบคุมต้นทุนให้ขายได้ในราคาที่ย่อมเยากว่าสินค้ายี่ห้ออื่นผลคือ สินค้าชนิดเดียวกันมาจากโรงงานเดียวกันแต่ติดยี่ห้อต่างกันมีรสชาติที่ต่างกัน ผู้เขียนจึงมักซื้อสินค้าที่มีราคาต่อหน่วยบริโภคแพงกว่า ทางออกสำหรับผู้เขียนคือ ซื้อสินค้าที่แพงกว่าเฉพาะเมื่อมีโปรโมชั่นในร้านสะดวกซื้อเช่น ซื้อหนึ่งแถมหนึ่งหรือสองแถมหนึ่งเท่านั้น เพราะช่วงโปรโมชันนั้น สินค้าที่เคยแพงกลับถูกกว่าสินค้าที่มีคุณภาพด้อยกว่า อย่างไรก็ดีในการซื้อสินค้าบางชนิด ผู้บริโภคหลายท่านยังซื้อย้ำความผิดพลาดแบบซ้ำซาก อาจเนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้วิธีโฆษณาแบบ ตรรกะเทียมในความคิด เช่น ทั้งผู้บริโภคและผู้จำหน่ายต่างเคยสัมผัสข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ว่า สารกาบ้า (gaba หรือ gamma aminobutyric acid) นั้นมีบทบาทในการทำให้สมองได้ผ่อนคลาย เพราะเป็นสารที่ยับยั้งการส่งกระแสประสาทสมองจึงทำให้คนได้สงบจิตใจในบางเวลา สิ่งสำคัญที่ผู้บริโภคและผู้ผลิตสินค้ามองข้ามคือ ข้อมูลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่พบว่า สารกาบ้าที่ทำให้สมองผ่อนคลายนั้นต้องถูกผลิตขึ้นเองจากกรดอะมิโนกลูตามิกในสมองจึงทำงานได้ ในขณะที่สารกาบ้าที่ได้จากการกินนั้นยังไม่มีข้อมูลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่า ซึมผ่านระบบป้องกันอันตรายของสมองที่เรียกว่า blood-brain barrier ได้ในปริมาณที่มากพอจะออกฤทธิ์ทำให้สมองผ่อนคลาย จึงทำให้กาบ้าที่กินเข้าไปยังมีประโยชน์เพียงเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่น่าประหลาดใจก็คือ มีการทำโฆษณาเครื่องดื่มชนิดหนึ่งผ่านโทรทัศน์ว่า เมื่อเจ้านายเห็นลูกน้องดื่มเครื่องดื่มที่เติมกาบ้าลงไปแล้วควบคุมสติได้ดีขึ้น มีความตื่นตัวในการทำงาน สมควรให้ไปดูแลกิจการในต่างประเทศ ซึ่งมันต่างกับสมมุติฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า กาบ้าช่วยผ่อนคลายลดความเครียดของสมอง  ทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่ตื่นตัวขึ้น   มีเว็บไซต์หนึ่งขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งรวมถึงกาบ้า ได้อ้างถึงข้อมูลจากเว็บไซต์ชื่อ Denver Naturopathic Clinic ซึ่งกล่าวเป็นเชิงว่า ผลดีในการคลายเครียดเนื่องจากการได้รับกาบ้าในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น ไม่ค่อยได้รับความสนใจศึกษา เนื่องมาจากอิทธิพลของบริษัทยาที่ผลิต ยาคลายเครียด หาทางไม่ให้มีการสนับสนุนการศึกษาในลักษณะนี้ สมมุติฐานดังกล่าวนี้ดูๆ ก็น่าสนใจศึกษาต่อว่าจริงหรือไม่ แม้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับอาหารที่มีกาบ้าสูง ช่วยหรือไม่ช่วย ให้คลายเครียดนั้นยังไม่ชัดเจน แต่ความจริงก็คือ คนไทยพอจะรู้ว่าอาหารอะไรที่กินแล้วทำให้รู้สึกคลายเครียดได้ หรือบางอย่างแม้จะยังเครียดอยู่ก็หลับได้ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างความรู้ที่พบได้ในเน็ทคือ การกินอาหารที่มีโปรตีนสูงช่วยให้นอนหลับง่าย เพราะโปรตีนทั่วไปมีกรดอะมิโนชื่อ ทริปโตเฟน เป็นองค์ประกอบ หลังการย่อยโปรตีนในลำไส้เล็กแล้ว ทริปโตเฟนที่ถูกดูดซึมเข้าสู่เลือดบางส่วนจะถูกเปลี่ยนเป็นอนุพันธ์ของทริปโตเฟนส่งตรงเข้าสู่สมอง แล้วเปลี่ยนเป็นสารเซราโตนินซึ่งช่วยให้หลับง่ายขึ้น จากความรู้ที่ว่า ทริปโตเฟนน่าจะช่วยให้คนหลับง่ายขึ้น มีหรือที่บริษัทซึ่งผลิตสารเคมีให้คนกินจะปล่อยให้ความรู้นี้ฝังตัวแค่ในตำรา เหล่าผู้มองเห็นโอกาสทองเหล่านี้จึงผลิตทริปโตเฟนหรืออนุพันธ์ของทริปโตเฟนออกมาขาย เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อช่วยในการนอนหลับ แล้วฝันร้ายของการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคือ ทริปโตเฟน ก็เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1989 เมื่อบริษัท Showa Denko (ซึ่งล้มละลายไปแล้ว) ใช้แบคทีเรียที่ถูกตัดแต่งพันธุกรรมให้ผลิตทริปโตเฟนได้มากๆ ทำให้ราคาทริปโตเฟนถูกลง ซึ่งดูดีมากในทางอุตสาหกรรม แต่สุดท้ายกลับพบว่า ลูกค้ากลุ่มใหญ่ราวพันห้าร้อยคนเกิดอาการผิดปรกติในการเคลื่อนไหวและอีกสามสิบเจ็ดคนหลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น ยังไม่มีใครกล้าฟันธงว่า เหตุร้ายที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากสาเหตุอะไรแน่ และวิบากกรรมของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทริปโตเฟนก็ยังมีต่อไป แต่บังเอิญธุรกิจผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในสหรัฐอเมริกานั้นทรงอิทธิพลมาก ทริปโตเฟนจึงยังมีการขายได้ตามปรกติเพราะคนอเมริกันก็ไม่ต่างจากคนไทยในเรื่องการลืมเรื่องร้ายๆ ดังนั้นการที่มีโฆษณาสินค้าหลายชนิด ทั้งที่ผลิตโดยผู้ผลิตรายใหญ่ และผู้ผลิตระดับท้องถิ่น กล่าวถึงประโยชน์ของกาบ้า(ที่เกิดตามธรรมชาติในสมอง) ช่วยในการผ่อนคลายสมอง เพื่อให้เกิดความสับสนกับสินค้าของตนที่มีกาบ้าเป็นองค์ประกอบว่า สินค้านั้นช่วยผ่อนคลายการทำงานของสมองได้เช่นกัน นับว่าเป็นความไม่ยุติธรรมต่อผู้บริโภคที่ขาดความสามารถในการหาความรู้ที่ถูกต้องของสารกาบ้า ปรากฏการณ์เช่นนี้ ผู้เขียนเขลาเกินกว่าจะทราบว่าเป็นหน้าที่ของใคร(ที่กินภาษีของประชาชน) จะดูแลในเรื่องนี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 133 ซื้ออย่างฉลาด ด้วยระบบแนะนำสินค้า

  ผู้เขียนเป็นนักซื้อ(shopper) ที่ไม่ดีเพราะเท้าไม่ติดดิน เนื่องจากเวลามีดินติดเท้ามักมีความรู้สึกว่ามันไม่สะอาด แต่ถ้าต้องลุยลงสนามเพื่อทำอะไรสักอย่างที่เลอะดินก็มักไม่ปฏิเสธเพราะเป็นเรื่องจำเป็นต้องสกปรก แต่ถ้าต้องสกปรกแบบไม่จำเป็น เช่น การเดินไปซื้อกับข้าวหรือวัตถุดิบในการปรุงอาหารจากตลาดทั่วไปของพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผู้เขียนมักปฏิเสธเพราะมีภาพพจน์ที่ไม่ดีเรื่องความแฉะของตลาดแบบนี้ ทั้งที่ความจริงแล้วตลาดหลายๆ แห่งในกรุงเทพมหานครหรือเมืองใหญ่อื่นๆ ค่อนข้างแห้งและสะอาดแล้วดังนั้นผู้เขียนจึงยอมถูกกล่าวหาว่า นิยมชมชอบตลาดติดแอร์ ในแต่ละครั้งที่เดินในตลาดติดแอร์นั้น สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนคิดอยู่ตลอดเวลาคือ การตัดสินใจซื้อสินค้าอาหารนั้น เราควรใช้อะไรเป็นเกณฑ์ หลายคนรวมทั้งผู้เขียนในบางครั้งใช้ราคาต่อหน่วยน้ำหนักเป็นตัวตัดสินใจ เช่น กรณีกาแฟที่ขายในรูป 3 in 1 ซึ่งยี่ห้อไหนก็ไม่อร่อยเท่ากัน เหมาะต่อการดื่มเพื่อเลิกกาแฟหรือดื่มเพื่อบอกกระเพาะอาหารว่า ดื่มกาแฟแล้วนะเลิกอยากสักที ส่วนสินค้าอื่นบางชนิดที่ไม่ใช่อาหารเช่น ตู้เย็น อาจใช้เครื่องหมายการค้าเป็นตัวตัดสิน แต่เวลาที่ผ่านไปเครื่องหมายการค้าที่เชื่อถือนั้นบางครั้งก็ต้องเลิกเชื่อ เพราะข้อมูลใหม่เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าที่ไม่เคยเชื่อถือนั้นดีขึ้น จะเห็นว่าเกณฑ์ในการซื้อสินค้าของผู้เขียนไม่ได้เรื่อง ขาดรูปแบบที่ดี ไม่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์สักเท่าไร การดูฉลากของอาหารนั้นก็ไม่ได้ช่วยสักเท่าไร เพราะขนาดผู้เขียนทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวกับเรื่องคุณภาพทางโภชนาการ บางครั้งก็งงกับตัวฉลากและรู้สึกว่าเป็นการสิ้นเปลืองในการทำฉลากอาหารตามวิธีการปัจจุบัน จนวันหนึ่งในปีที่แล้ว (พ.ศ. 2554) ก่อนจะรู้จักกับประสบการณ์น้ำท่วมหลายเดือน ผู้เขียนก็ได้ดูข่าวทางโทรทัศน์ช่องหนึ่งที่มีรายงานข่าวถึงระบบที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น ด้วยระบบที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ข่าวนั้นสั้นมากจนต้องเข้าไปหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต แล้วนำไปสอนนักศึกษา ซึ่งก็ไม่ได้รับความสนใจจากนักศึกษาเท่าไร จนปีนี้เมื่อนำมาใช้สอนอีกครั้งปรากฏว่าได้รับการตอบสนองที่ดีขึ้น จึงคิดว่าน่าจะนำมาเล่าสู่กันฟัง   ระบบการแนะนำสินค้าอาหาร ระบบการแนะนำในการซื้อสินค้าอาหารนั้น อาจมีหลายระบบ แต่ผู้เขียนหาพบเพียงสองระบบคือ ระบบ Guiding Stars และ NuVal โดยระบบแรกคือ Guiding Stars นั้นได้แบ่งระดับความน่าซื้อสินค้าไว้ด้วยการติดดาวซึ่งมีมากสุด 3 ดวง เมื่อเข้าไปในเว็บของ Guiding Stars นั้นก็ไม่ใคร่ได้ข้อมูลที่น่าสนใจสักเท่าไร ดังนั้นในฉบับนี้จึงจะขอกล่าวถึงเฉพาะระบบ NuVal ว่าเป็นอย่างไร ก่อนอื่นคงต้องเล่าให้ฟังว่า การแนะนำว่าสินค้าห่อใดควรซื้อหรือไม่นั้นเป็นระบบที่ร้านค้าในรูปของ Chain Stores จ้างหน่วยงานเอกชนทำการจัดระดับความน่าซื้อสินค้าอาหารต่างๆ โดยการให้ระดับความน่าสนใจ เช่น ดาว หรือตัวเลข ซึ่งในกรณีของ NuVal นั้นให้ตั้งแต่ 0 ถึง 100 โดย 100 นั้นแสดงว่าอาหารนั้นมีความน่าซื้อที่สุดเมื่อคำนึงถึงสิ่งที่ผู้บริโภคได้รับโดยคำนึงถึงสุขภาพที่ดี NuVal นั้นคำนึงถึงทั้งประโยชน์และโทษของสินค้าที่ผู้บริโภคได้ในแง่โภชนาการ สิ่งที่มีประโยชน์คือ สารอาหารทั่วไป ส่วนที่เป็นโทษนั้น เช่น น้ำตาลและเกลือแกง (เมื่อมากไป) โคเลสเตอรอล ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นไขมันเลว โดยข้อมูลทั้งดีและไม่ดีนั้นจะถูกนำมาผสมผสานเพื่อการตัดสินใจให้ระดับความน่าซื้อเป็นตัวเลขที่ประชาชน (ซึ่งเชื่อในหลักการของระบบนี้) ใช้ตัดสินใจซื้อได้ในเวลาไม่กี่วินาทีโดยไม่ต้องอ่านฉลาก (ซื่งมักแสดงด้วยตัวหนังสือเล็กจิ๋ว) นานนัก กระบวนการตัดสินใจให้ตัวเลขลำดับนั้นเป็น อัลกอริธึม (Algorithm) โดยที่อัลกอริธึมนั้นเป็นกระบวนการนำหลักเหตุผลและคณิตศาสตร์มาช่วยเลือกวิธีการหรือขั้นตอนการดำเนินงานต่อไปจนกระทั่งถึงขั้นตอนสุดท้าย เป็นวิธีการที่ใช้แยกย่อยและเรียงลำดับขั้นตอนของกระบวนการในการทำงานต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหาและแก้ไขปัญหา โดยผู้ที่เข้ามาดำเนินการในองค์กรเอกชนนี้เป็นทั้งนักวิชาการในวงการโภชนาการ สาธารณสุข และด้านการแพทย์ต่าง ๆ ฐานข้อมูลความรู้หลักที่ใช้ของ NuVal นั้นได้มาจาก  Institute of Medicine’s Dietary Reference Intakes ซึ่งให้ข้อมูลว่าสารอาหารอะไรที่มนุษย์ควรกินเข้าไป และข้อแนะนำการบริโภคอาหารของสหรัฐอเมริกาที่เรียกว่า Dietary Guidelines for Americans ในการคำนวณหาตัวเลขนั้นหลังจากได้ข้อมูลแล้ว ข้อมูลที่ดีของอาหารที่สนใจจะเป็นตัวตั้งที่หารด้วยข้อมูลที่ไม่ค่อยดีของอาหารนั้น เพื่อให้เห็นภาพชัด ก็จะขอเสนอภาพที่ NuVal แสดงไว้ในเว็บ จะเห็นว่า ตัวตั้งหรือ numerator นั้นคือ สารอาหารที่เป็นประโยชน์ เช่น ใยอาหาร วิตามินโฟเลท วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินดี วิตามินอี วิตามินบี 12 วิตามินบี 6 โปแตสเซียม แคลเซียม สังกะสี แมกนีเซียม เหล็ก กรดไขมันโอเมกา 3 ไบโอฟลาโวนอยด์ แคโรตีนอยด์ เป็นต้น ส่วนตัวหารนั้นที่ยกตัวอย่างชัดๆ คือ ไขมันทรานซ์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเกิดปัญหาในการทำงานของหัวใจ เกลือแกงซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับความดันโลหิต น้ำตาลซึ่งเป็นต้นเหตุของเบาหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับ คุณภาพของโปรตีน ไขมัน พลังงานที่ได้ ค่าดัชนีน้ำตาล คือ ค่าที่บอกถึงอัตราการเพิ่มของกลูโคสในกระแสเลือดภายหลังจากการรับประทานอาหาร เป็นต้น ข้อมูลที่ได้จากเว็บของ NuVal นั้นไม่ละเอียดถึงขั้นว่า การนำข้อมูลมาใช้นั้นใช้หน่วยน้ำหนักอย่างไร หรือมีชนิดข้อมูลเท่าไร ทั้งนี้คงเป็นเพราะระบบของ NuVal นั้นมีลิขสิทธิ์ที่วิธีการประเมินให้ตัวเลขนั้นจึงลับพอควรแต่ก็อาจเข้าถึงได้ถ้าสนใจเป็นลูกค้าจริง ตัวอย่างสินค้าที่ได้ค่า NuVal แบบเสียไม่ได้คือ 1 นั้นได้แก่ น้ำอัดลมรสองุ่น ซึ่งบ้านเรามีขายหลายยี่ห้อ ส่วนสินค้าที่ได้ค่า NuVal สูง ๆ ได้แก่ หอมใหญ่เหลือง (yellow onion) และแอปเปิ้ลการา ได้ค่าระดับ 93 และ 93 ตามลำดับ ที่น่าสังเกตคือ สินค้าเกษตรนั้นมักได้ค่า NuVal สูง ทั้งนี้เพราะยังไม่มีการนำข้อมูลเกี่ยวกับพิษวิทยามาเกี่ยวข้อง ทั้งที่ความจริงแล้วผักผลไม้ดิบนั้นส่วนใหญ่มีสารพิษเกิดตามธรรมชาติปนอยู่แทบทั้งนั้น การทำลายสารพิษจะต้องใช้กระบวนการปรุงอาหาร เช่น ความร้อนเป็นวิธีการกำจัดสารพิษที่เกิดตามธรรมชาติดังนั้นเรื่องของสารพิษจึงยังเป็นจุดด้อยของ NuVal การขาดการนำขอมูลของการปนเปื้อนของสารพิษมาประกอบการให้ลำดับตัวเลข ทั้งที่สารพิษนั้นมีแน่ๆ นั้น อาจเป็นเพราะสารพิษที่เป็นองค์ประกอบของอาหารดิบ หรือที่อาจปนเปื้อนลงในอาหาร(ซึ่งรวมถึงแบคทีเรีย) นั้นเป็นข้อมูลด้านความปลอดภัยซึ่งต้องมีการวิเคราะห์เป็นครั้งๆ ไป (ไม่สามารถวิเคราะห์ครั้งเดียวแล้วใช้ไปตลอดชาติเหมือนองค์ประกอบทางอาหาร) จึงจะบอกได้ว่า มีหรือไม่มี ทั้งที่กฎหมายของทุกประเทศนั้นมักกำหนดให้ไม่มีหรือมีสารพิษในระดับไม่ก่ออันตราย แต่ข้อมูลประเภทนี้ในทางพิษวิทยาแล้วเป็นข้อมูลที่ต้องระบุเป็นความเสี่ยง ซึ่งทำได้ไม่ง่ายนักในการตั้งระบบขึ้นด้วยองค์กรเอกชน แม้ในประเทศที่นำหน้าในเรื่องพิษวิทยาอย่างสหรัฐอเมริกาก็ยังทำได้เท่าที่ NuVal ทำ ประเด็นที่ผู้เขียนตั้งคำถามในเรื่องการดำเนินการของระบบแนะนำการซื้อสินค้าอาหารนั้นคือ ผู้ประกอบการที่สินค้าถูกให้คะแนนต่ำคงไม่พอใจ แล้วสามารถฟ้องร้องว่า NuVal หมิ่นประมาทสินค้าหรือบริษัทหรือไม่ ทั้งนี้เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่การค้าความนั้นเป็นอาชีพที่ได้เงินมากที่สุด หมอความนั้นค่อนข้างรวยกว่าหมอรักษาคน ผู้เขียนเข้าใจเอาเองว่า บริษัทเจ้าของ NuVal นั้นคงมีนักกฎหมายประเภทเซียนเหยียบเมฆเรียกพี่อยู่หลายคนแน่ๆ จึงยังอยู่รอดปลอดภัยได้ บทความนี้เขียนขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ให้ผู้อ่านวารสารฉลาดซื้อได้ทราบความก้าวหน้าของการทำฉลากอาหารในสหรัฐอเมริกา ไม่ได้หวังว่าบ้านเราจะมีการนำมาใช้เพราะเป็นการเพิ่มราคาของสินค้าอาหารให้สูงขึ้น เนื่องจากเป็นระบบที่แพงเหมาะกับประเทศที่ประชาชนมีความสนใจรักษาสุขภาพ หรือเป็นประเทศที่มีสุขภาพเป็นปัญหา เช่น สหรัฐอเมริกา

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 180 เทรนด์ใหม่มาแรง..แย่งอาหารจิ้งหรีด

จำได้ว่าสมัยเด็กๆ  ผมเคยได้ยินผู้ใหญ่บอกว่า ถ้าอยากเสียงดี ต้องไปกินน้ำค้างที่ยอดหญ้าเหมือนจิ้งหรีด ตอนนั้นยังขำๆ กับคำพูดนี้  จนปัจจุบัน ได้มาทำงานคุ้มครองผู้บริโภค  มิคาดว่าเรื่องเล่าขานตำนานน้ำค้าง มันจะกลายมาเป็นจริง เพราะเดี๋ยวนี้มีผลิตภัณฑ์จำหน่าย โดยแจ้งว่าเป็น น้ำค้างเพื่อสุขภาพ นี่เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? ผลิตภัณฑ์ที่ผมกำลังพูดถึง มีการประกาศขาย โดยให้สั่งซื้อทางอินเตอร์เน็ต ระบุว่าเป็น  “น้ำค้างบริสุทธิ์แท้” ที่รวบรวมน้ำค้างจากธรรมชาติ โดยใช้อุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นมา เพื่อใช้จับน้ำค้างโดยเฉพาะ  ทำให้ได้น้ำค้างที่มีความบริสุทธิ์และมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับน้ำค้างที่เกาะบนใบหญ้า 100%  จึงอุดมไปด้วยออกซิเจนจากธรรมชาติ และมีโครงสร้างโมเลกุลขนาดเล็กที่เรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ  เสมือนน้ำที่บริสุทธิ์ที่สุดในธรรมชาติ ไหนๆ ก็พร่ำพรรณนากระบวนการผลิตมาขนาดนี้แล้ว เรื่องสรรพคุณคงไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยนแล้ว เพราะเล่นบรรยายจะเคลิบเคลิ้มไปเลย.. ขายเด่นๆ ที่อ้าง คือการเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้กับอวัยวะต่างๆ และเกิดผลได้อย่างมหัศจรรย์ เช่น  เพิ่มให้กับสมอง(ทำให้สมองปลอดโปร่ง คลายเครียด ความจำดี และมีสมาธิมากขึ้น บรรเทาอาการปวดศีรษะ ไมเกรน และลดภาวะสมองขาดออกซิเจน) เพิ่มให้กับตับ (ทำให้ตับสามารถกำจัดสารพิษต่างๆ ในร่างกายได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันอันตรายต่อเซลล์ตับจากสารพิษต่างๆ จากอาหารเครื่องดื่มและยาที่ปนเปื้อนสารพิษ ชำระล้างของเสียที่สั่งสมมานานออกไปจากร่างกาย) เพิ่มให้กับผิวหนังและเนื้อเยื่อ(ทำให้ผิวหนังมีความชุ่มชื้นสดใส เพิ่มการสร้างเนื้อเยื่อ ทำให้แผลหายเร็ว) เพิ่มปริมาณออกซิเจนธรรมชาติให้กับเลือด(ทำให้เม็ดเลือดและเกล็ดเลือดมีจำนวนมากขึ้น ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันป้องกันการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายจากภาวะขาดเลือด รักษาระดับความดันเลือดให้ปกติ) เพิ่มให้กับข้อต่อ เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ(ทำให้ข้อต่อ เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อผ่อนคลาย ช่วยเจือจางระดับของกรดยูริก บรรเทาอาการปวดเมื่อย และอาการข้อเสื่อม) เพิ่มให้กับปอด (ป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด และภูมิแพ้) ส่วนเรื่องราคาจะขายถูกเหมือนน้ำดื่มบรรจุขวดทั่วไปก็จะกระไรอยู่ น้ำค้างบริสุทธิ์นี้ ขวด 300 มิลลิลิตร ราคาขายประมาณ 120 – 144 บาท หวังว่าผู้บริโภคที่ฉลาดคงจะตัดสินใจได้นะครับว่า ผลิตภัณฑ์นี้มันมีสรรพคุณมหัศจรรย์พันลึกได้อย่างที่ว่าหรือเปล่า ยังไงก็ฝากเตือนๆ เพื่อนฝูงด้วยนะครับ “ การดื่มน้ำสะอาดเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าน้ำสะอาด แต่ดันโอ้อวดเกินจริง ถึงไม่ตาย ก็อาจเสียเงินเกินเหตุได้นะครับ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 หนูไม่รู้ เขาให้หนูมา

เรื่องเล่าเฝ้าระวังฉบับที่แล้ว นำเสนอกระบวนการหลอกขายสินค้าให้กับผู้สูงอายุไปแล้ว แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจว่าผู้บริโภคกลุ่มวัยอื่นๆ จะไม่ถูกหลอกลวง เพราะขึ้นชื่อว่าการค้าแล้ว มันสามารถโน้มน้าวหลอกลวงผู้บริโภคได้ทุกกลุ่มอย่างแน่นอน กระทั่งวัยอย่างผม (วัยไหนคงต้องเดากันเองนะครับ) ผมพบกับน้องคนนี้ในวันหนึ่ง เธอโผล่มาที่สำนักงานของผมในชุดนักศึกษา ภายใต้ใบหน้าอ่อนเยาว์แม้จะแต่งหน้าเข้มไปหน่อย แต่ก็พอเดาได้ว่าอายุเธอคงประมาณใกล้ๆ ยี่สิบ เธอยื่นจดหมายแนะนำตัวจากบริษัทให้ผม ข้อความในจดหมายระบุว่า “ขออนุญาตฝึกงานสาธิตนวดเพื่อสุขภาพ” พร้อมรายละเอียดแจ้งว่า “ทางบริษัทได้จัดส่งนักศึกษาที่กำลังฝึกงานอยู่ที่บริษัทให้ออกฝึกงานนอกสถานที่ และขออนุญาตให้นักศึกษาได้พูดและสาธิตการนวดเพื่อสุขภาพ ใช้เวลาประมาณ 10-20 นาที โดยบริษัทจะเตรียมอุปกรณ์มาเองทั้งหมด ทั้งนี้ก็เพื่อให้นักศึกษาได้ทดสอบการพูดและฝึกการสาธิตอุปกรณ์เพื่อหาประสบการณ์จริง” (โถ..เพื่อการศึกษา น่าสนับสนุน) เมื่อผมถามข้อมูลเพิ่มเติม เธออธิบายว่า บริษัทที่เธอฝึกงานให้เธอมาพูดอธิบายเครื่องมือนวดเพื่อสุขภาพ ซึ่งเธอจะได้แต้มในการพูดเป็นเงินจำนวนประมาณสามสิบบาทต่อครั้ง วันหนึ่งจะต้องพูดให้ได้สามสิบราย และต้องพยายามให้คนฟังยินยอมให้เธอสาธิตอุปกรณ์นวดเพื่อสุขภาพ อย่างน้อยสิบราย ซึ่งเธอจะได้ค่าเหนื่อยในการสาธิตอุปกรณ์อีกรายละหนึ่งร้อยบาท ถ้าทำได้ครบถ้วนดังกล่าวจึงจะถือว่าการฝึกงานผ่าน ส่วนอุปกรณ์ที่สาธิตนี้ ผู้ฟังจะซื้อไปใช้หรือไม่ก็ไม่เป็นไร แต่เธอไม่ยอมโชว์อุปกรณ์ให้ผมเห็น แต่ที่แน่ๆ ผม คำนวณรายได้พบว่าหากเธอทำได้ครบถ้วน นอกจากเธอจะได้ฝึกงานแล้ว เธอยังจะได้ค่าตอบแทนอีกหนึ่งพันเก้าร้อยบาท (โถ...มากไม่ใช่เล่น) ผมถามเธอไปว่า การที่เธอจะเอาอุปกรณ์มาใช้ เธอรู้หรือเปล่าว่าอุปกรณ์นี้เป็นเครื่องมืออะไร และมีกฎหมายควบคุมดูแลหรือไม่ ปรากฏว่าเธอตอบว่าไม่ทราบ เอกสารหลักฐานอะไรที่ต้องมีตามกฎหมาย เธอไม่รู้ทั้งสิ้น เธอทราบแค่ว่า บริษัทสั่งให้มาฝึกงาน (โถ...ไร้เดียงสานะหนู) ผมจึงต้องอธิบายเพิ่มเติมไปว่า อุปกรณ์นวดเพื่อสุขภาพน่าจะเป็นเครื่องมือแพทย์ตามกฎหมาย ซึ่งมีกฎหมายเครื่องมือแพทย์ควบคุมดูแลอยู่ หากนำเข้ามาในประเทศก็ต้องไปติดต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อขออนุญาตเสียก่อน และหากจะทำการโฆษณาก็ต้องขออนุญาตด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ใครจะเอามาใช้ หรือโฆษณาได้อย่างตามใจชอบ เพราะอาจเกิดอันตรายได้ เธอทำหน้าละห้อย พยายามคะยั้นคะยอเพื่อให้ผมใจอ่อนยอมให้เธอได้ทำตามที่บริษัทสั่งมา แต่ผมยังยืนกรานไม่ยอม และแนะนำให้เธอกลับไปดูเอกสารหลักฐานมาจากบริษัทก่อน ทั้งนี้เพื่อตัวของเธอเองจะได้ไม่ถูกใครหลอกให้กระทำผิด สุดท้ายเธอจึงยอมจากไป (โถ...อย่าหาว่าผมใจร้ายนะหนู) เมื่อเธอกลับไปแล้ว ผมลองสืบค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ก็ไม่พบชื่อบริษัทดังกล่าวแต่อย่างใด ผมเลยไม่รู้ว่า เธอถูกเขาหลอกให้มาขายของ หรือผมถูกเธอหลอกว่าเธอถูกหลอกให้มาขายของกันแน่ (โถ...น่าสงสารทั้งหนูและผม) ยังไงก็ระวังการหลอกขายสินค้าในรูปแบบแปลกๆ นี้ด้วยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 ตาดีได้ ตาร้ายอย่าให้เสียของ

เมื่อผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้า ความคาดหวังในคุณภาพสินค้าย่อมเกิดขึ้น แต่เมื่อกลับมาบ้านและพบว่าสินค้าที่ตนเสียสตางค์ซื้อมานั้น มีคุณภาพไม่เป็นดังที่หวัง อารมณ์ของผู้บริโภคยามนั้นคงเหมือนโลกาจะวินาศ ยิ่งในยุคปัจจุบันที่มีช่องทางมากมายในการร้องเรียนและผู้บริโภคเองก็มีความตื่นตัวในเรื่องการเรียกร้องสิทธิ เรื่องราวการทวงสิทธิของผู้บริโภคด้วยวิธีต่างๆ จึงเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่วิธีการที่มาแรงแซงโค้งคือการเล่าเรื่องราวของตนที่ถูกกระทำ เพื่อฟ้อง(หรือประจาน) ผ่านทางโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ค ไลน์ หรือเว็บไซต์ต่างๆ หลังจากนั้นก็จะมีผู้มาแสดงความเห็น หรือแชร์ส่งต่อกันเป็นทอดๆ เพียงไม่กี่นาที เรื่องราวก็กระจายไปอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าจรวดเสียอีก ผู้เขียนมีประสบการณ์ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ มีผู้แชร์คลิปสั้นๆ ผ่านทางเฟซบุ๊ค ในคลิปแจ้งว่า “ซื้อปลาทูจากดอนหอยหลอด เมืองแม่กลอง แล้วพบว่า ปลาทูในกล่อง ซึ่งผู้ขายซ้อนเป็นสองชั้นนั้น ชั้นบนเป็นปลาทูแม่กลองหน้างอ คอหัก เนื้อสวย ผิวเต่ง แต่เมื่อพลิกดูชั้นล่างกลายกลับเป็นปลาทูเก่า หน้าไม่งอ คอไม่หักแล้ว แต่ดันเป็น หน้าแก่ ท้องทะลัก ซะนี่” ผู้เขียนเข้าใจว่าตอนซื้อมานั้น ผู้บริโภคคงไม่เห็น เพราะปลาทูชั้นบนคงบังชั้นล่างอยู่ ในฐานะคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัด ได้มีโอกาสร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ลงไปติดตามตรวจสอบข้อมูลสถานที่จำหน่ายในบริเวณดอนหอยหลอด แต่ก็พบว่าช่างยากลำบากในการติดตามตรวจสอบ จนผู้เขียนแทบจะหน้างอพอๆ กับปลาทูแม่กลอง เพราะมันแทบไม่มีข้อมูลที่จะติดตามขยายผลได้เลย ทราบจากคลิปเพียงว่า ซื้อมาจากดอนหอยหลอดเท่านั้น แต่ไหนๆ ก็ไปตรวจสอบแล้ว เพื่อไม่ให้เสียเที่ยว ก็เลยถือโอกาสแนะนำ กำชับกับทางผู้ขายให้รักษามาตรฐานให้ดี อย่าให้เสียชื่อจังหวัด และได้ประสานกับผู้ขายและผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้คอยสอดส่องดูแลด้วย หากพบข้อมูลใดๆ ขอให้รีบแจ้งให้ทราบด้วย เลยขอเอาประสบการณ์ตรงจากเหตุการณ์นี้ มาแนะนำว่า ไหนๆ เราก็พลาด ตาดีได้ ตาร้ายเสีย จนต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิแล้ว อย่าให้เสียของนะครับ ผู้เขียนมีคำแนะนำง่ายๆ สำหรับการแชร์ข้อมูลหรือนำเสนอข้อมูลเพื่อเรียกร้องสิทธิผ่านทางโซเชียลมีเดียว่า ถ้าเป็นไปได้ ขอให้บอกเล่ารายละเอียดให้มากพอที่เจ้าหน้าที่จะทำงานได้อย่างต่อเนื่องด้วย เช่น เกิดเหตุการณ์อะไรที่ไหน ใครทำอะไร อย่างไร ถ้าสามารถมีบุคคลยืนยันได้ยิ่งดี เพราะในหลายกรณีที่ผ่านมา เมื่อผู้เขียนได้ทราบข้อมูล ก็มักจะตามรอยข้อมูลที่แชร์ เพื่อพยายามติดตามไปยังแหล่งต้นตอว่ามาจากที่ใด เมื่อเจอแล้วก็จะส่งข้อความไปสอบถามเพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมเป็นทอดๆ จนกว่าจะพบต้นตอตัวจริง แต่ก็พบว่าหลายครั้งที่เมื่อตามไปเรื่อยๆ ก็มักจะพบว่าข้อมูลเหล่านี้แชร์ต่อๆ กันมาเป็นทอดๆแต่ไม่ทราบว่าต้นตอมาจากไหน สุดท้ายผู้เขียนก็ต้องหยุดการติดตามเพราะหาอะไรไม่เจอ ดังนั้นหากใครจะแชร์เรื่องราวต่างๆ อย่าลืมนะครับ ช่วยบอกแหล่งที่มาให้ชัดเจนหรือมากเท่าที่พอจะมากได้ก็จะยิ่งดี เพราะจะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้เร็วขึ้นและได้ผล คาหนังคาเขา มิฉะนั้นการเรียกร้องสิทธิของเรามันจะเสียของโดยเปล่าประโยชน์นะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 สินค้าชายแดน...แฟนๆ อย่าเพิ่งไว้ใจ

ยังไม่ทันจะถึง AEC ในปี 2558 แต่ทุกวันนี้เราก็เห็นสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านหลากหลายชนิดเข้ามาเพ่นพ่านในไทย เพราะขึ้นชื่อว่าคนไทยแล้ว เราไม่เคยแพ้ชาติใดในด้านการจับจ่ายใช้สอย ดังนั้นสินค้าจากต่างประเทศหลายชนิดจึงมาชูคอกันสลอนวางขายในห้างกันมากมาย นอกจากนี้ยังมีสินค้าอีกบางประเภทที่แม้จะไม่ได้วางขายในห้าง แต่ก็มาลืมตาอ้าปากวางขายกันอย่างเอิกเกริกตามตะเข็บชายแดน แถมเป็นที่นิยมของคนไทยที่ได้ไปท่องเที่ยวบริเวณนั้นเสียด้วย มีข้อมูลจากกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ได้ออกไปสุ่มตรวจประเมินความเสี่ยงของคุณภาพผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ณ บริเวณ จุดผ่านแดนไทย-สหภาพเมียนม่า ด่านสิงขร เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากเพื่อนบ้านที่มาวางจำหน่ายในบริเวณนั้น ได้แก่ อาหาร 11 ตัวอย่าง(เช่น พริกป่น ถั่วลิสงบด ถั่วลิสงทอด ชายำ กุ้งปลาดอง  พุทราแห้ง พุทราดอง) และเครื่องสำอางอีก  25 ตัวอย่าง(เช่น ผงขัดผิวทานาคา แป้งทาหน้า สบู่ ) เพื่อตรวจดูความถูกต้องของฉลากและตรวจวิเคราะห์ว่ามีเชื้อโรคหรือสารเคมีปนเปื้อนมากน้อยแค่ไหน ผลการตรวจสอบพบว่า ฉลากของผลิตภัณฑ์อาหารไม่ถูกต้องทุกรายการ คือไม่มีภาษาไทยแม้แต่น้อย(แต่นักซื้อชาวไทยก็ยังกล้าซื้อ) ส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง แม้จะมีฉลากถูกต้องบ้างบางตัวอย่าง(หมายถึงได้มายื่นขออนุญาตจากสาธารณสุขแล้ว) แต่ก็พบว่ายังมีฉลากที่ไม่ถูกต้องเกินครึ่ง(15 ตัวอย่าง) เมื่อตรวจเชื้อโรค พบว่าผลิตภัณฑ์อาหารมีปริมาณเชื้อโรคสูงถึง 7 ตัวอย่าง และมี 2 ตัวอย่าง (พริกป่นและถั่วลิสงทอด) มีเชื้อราเกินมาตรฐาน นอกจากนี้ยังพบสีที่ห้ามใช้ในพุทราเชื่อมและพุทราแห้ง ส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางพบว่าผิดมาตรฐานด้านเชื้อโรค 8 ตัวอย่าง คือมีบักเตรีเกินมาตรฐานที่กำหนด นอกจากนี้ยังพบเชื้อราเกินมาตรฐาน ในผงขัดผิวทานาคา(สีเหลือง) และแป้งทาหน้า(กลิ่นกุหลาบ) เนื่องจากจุดผ่านแดนหลายแห่งในประเทศ ยังไม่ได้ถูกตั้งเป็นจุดผ่านแดนถาวร หน่วยงานที่ดูแลสินค้าเข้า-ออก ณ บริเวณนี้ คือ หน่วยงานของศุลกากร  ซึ่งไม่ได้กำกับดูแลในส่วนของผลิตภัณฑ์สุขภาพ แม้ว่าทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยายา ได้มีการติดตามลงมาดูพื้นที่บ้างแล้วก็ตาม  แต่ก็ยังทำได้ไม่ทั่วถึงเนื่องจากข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน ดังนั้น ในยุคที่ ประเทศไทยกำลังจะกระโจนเข้าสู่ AEC นักซื้อชาวไทย อย่าเพิ่งไว้ใจสินค้าจากเพื่อนบ้านที่เข้ามาจำหน่ายตามตะเข็บชายแดนนะครับ ช่วงนี้ขอให้ช่วยกันสนับสนุนสินค้าในประเทศเราก่อน ส่วนสินค้าจากต่างแดน ถ้าดีจริง ต้องมายื่นขออนุญาตหรือปฏิบัติให้ถูกต้องจากสาธารณสุขก่อนนะครับ ตอนนี้ทราบว่าแต่ละประเทศก็พยายามเชื่อมโยงมาตรการต่างๆ กันอยู่ ยังไงก็หวังว่าเมื่อเริ่ม AEC ในปี 2558 สินค้าทั้งหลายในเขตแดนนี้จะมีมาตรฐานที่ปลอดภัยเท่าเทียมกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 เตรียมพร้อมให้ดี...อย่าให้ผีมารังควาน

ยุคนี้เหมือนยุคทองของพลเมืองดี ผู้บริโภคหลายรายเมื่อพบเห็นการถูกละเมิดสิทธิจากสินค้าต่างๆ เช่น พบสินค้าหมดอายุหรือไม่ได้คุณภาพ มักจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปเผยแพร่ในโซเซียลมีเดีย แต่พบว่าผู้บริโภคหลายรายที่พยายามจะเป็นพลเมืองดีกลับถูกผู้ประกอบการที่กระทำผิดย้อนกลับมาข่มขู่ อันที่จริงการข่มขู่เจ้าหน้าที่หรือประชาชน จากผู้ประกอบการที่กระทำผิดมีมานานแล้ว มีหลายรูปแบบ เริ่มต้นอาจแค่ให้คนอื่นมาโน้มน้าวให้ยุติเรื่องโดยมาคุยโดยตรง หรือมาคุยกับคนใกล้ชิดแทน หรือไม่ก็ส่งจดหมายหรือโทรศัพท์มาข่มขู่ มาด้อมๆ มองๆ ให้เห็นเพื่อให้เกิดความหวาดกลัว หรืออย่างรุนแรงถึงขนาดใช้กำลังประทุษร้ายหรือไปแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทก็โดนกันมาแล้ว น้องๆ เภสัชกร ที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ก็โดนกันหลายราย “ถ้าเป็นแบบนี้ผู้บริโภคที่พร้อมจะเป็นพลเมืองดีจะทำอย่างไร?” “หากตั้งใจจะทำดี อย่าหวั่นไหวครับ” แต่สิ่งแรกที่เราต้องยึดให้แม่นคือ “ข้อมูลที่เราได้พบเห็นหรือรับรู้มานั้นต้องเป็นข้อเท็จจริง” หลายครั้งที่พลเมืองดีได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน แล้วผลีผลามรีบไปดำเนินการ กว่าจะรู้ว่าข้อมูลที่ได้มานั้น มันมีส่วนจริงบ้างไม่จริงบ้างก็ถลำลงไปเยอะแล้ว อันดับแรกขอให้ตรวจสอบให้ชัดว่า ผลิตภัณฑ์อะไร เกิดกับใคร เกิดอันตรายอย่างไร ถ้ารู้จักกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขยิ่งดี ให้เขาช่วยกันตรวจสอบให้ชัดว่าอันตรายที่เกิดขึ้นนั้นมันมาจากผลิภัณฑ์นี้จริงหรือไม่ และพยายามรักษาสภาพเดิมของสินค้าให้มากที่สุด เผื่อบางทีเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปวิเคราะห์ เจ้าของสินค้าเขาจะอ้างไม่ได้ว่ามีการสลับเปลี่ยนตัวอย่าง (หรือหากจะส่งพิสูจน์เองควรให้มีเจ้าหน้าที่หรือคนกลางเป็นพยานรับรู้เห็นด้วย) โดยปกติ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลและพบว่า ผลิตภัณฑ์นั้นๆ อาจจะเกิดอันตราย ก็จะออกประกาศเตือนภัยให้ประชาชนรู้ แต่ผู้บริโภคบางรายหากอยากจะเตือนประชาชนด้วยตัวเองก็สามารถกระทำได้ แต่ขอให้เป็นการแจ้งข้อมูลเพื่อเตือนภัยจากสิ่งที่ตนเองพบ โดยอาจใช้ข้อความในลักษณะว่า “พบผลิตภัณฑ์สินค้าที่แสดงฉลากแบบนี้” ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือพบว่าทำให้ได้รับความเสี่ยงหรืออันตราย พยายามเลี่ยงข้อความที่ไประบุว่า “ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อนั้นทั้งหมด” มันเลวหรืออันตราย เพราะข้อมูลที่พบคือสิ่งที่เราเจอตรงหน้าเท่านั้น “หากเป็นพลเมืองดีแล้วโดนขู่” ขอให้ตั้งสติให้ดี ระลึกไว้เสมอว่าผู้ผลิตสินค้าที่ผิดกฎหมายมักไม่กล้าแสดงตัว เพราะหากแสดงตัวว่าเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เมื่อไร ก็จะถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีแน่นอน เมื่อตั้งสติได้แล้ว ขอให้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวัน พร้อมทั้งเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สินค้าที่น่าจะเป็นมูลเหตุที่ทำให้ถูกขู่ไปด้วย เพื่อจะได้มีการบันทึกข้อมูลให้เห็นความเชื่อมโยงกัน หลังจากนั้นให้ไปแจ้งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคทราบด้วย (เช่น โรงพยาบาลชุมชน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา แต่หากไม่ประสงค์จะแสดงตัว จะฝากคนอื่นๆ ไปแจ้งข้อมูลแทนตนเอง ขอให้มีข้อมูลที่ละเอียด ชัดเจนครบถ้วน เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว ให้กำลังใจพลเมืองดีทุกคนครับ “ถ้ามั่นใจในเจตนาดี อย่าให้ผีมารังควาน”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 ผิวขาวของคน ทำไมต้องซุกซนมาถึงหมีและหอย?

“เกิดเป็นคนโชคดี” ข้อความสั้นๆ ในโฆษณาที่ลงในหน้าหนังสือพิมพ์ เรียกร้องความสนใจจากผม เพราะโฆษณาชิ้นนี้ไม่ได้มีแค่ข้อความข้างต้นเท่านั้น  แต่มันยังมีภาพสาวผิวขาวหันหลังให้หมีขนคล้ำ พร้อมกับภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพชนิดหนึ่ง สัญชาติญาณที่รับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้ผมพยายามค้นหาสิ่งที่ผิดปกติในโฆษณาชิ้นนี้ คนมาเกี่ยวอะไรกับหมีหรือหมีมาเกี่ยวอะไรกับคน  ผมตามไปสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับสินค้านี้ในอินเตอร์เน็ต ปรากฏว่ามีคลิปโฆษณาใน Youtube เป็นอนิเมชั่น เรื่องราวของหมีขนคล้ำนั่งคุยกับสาวผิวขาว ทำนองว่าหมีอิจฉาหญิงสาวที่ผิวขาว แต่ตัวเองมีขนคล้ำ ก่อนจบลงด้วยสาวผิวขาวกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผมลองตามรอยเข้าไปหาข้อมูลต่อไปอีกว่าผลิตภัณฑ์นี้มันคืออะไร ก็พบข้อความบรรยายว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้เป็นสารสกัดจากธรรมชาติเพื่อบำรุงผิวให้สวยใส มีสารต้านอนุมูลอิสระ และยังมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินที่ผิวทำให้ผิวขาวอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นก็บรรยายว่ามีส่วนประกอบสามัญประจำบ้านที่เราแทบจะพบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนานาชนิด และตามเคยนอกจากจะบรรยายว่าผิวขาวแล้ว ยังตามมาด้วยการอ้างสรรพคุณมากมายทั้งผอม ลดน้ำหนัก ป้องกันกระดูกพรุน ป้องกันมะเร็งลำไส้ ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ป้องกันกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่ผิดกฎหมายเพราะเป็นผลิตภัณฑ์อาหารแต่โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณจนเข้าข่ายผลิตภัณฑ์ยา ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อผมลองสืบค้นไปเรื่อยๆ พบว่าข้อมูลเหล่านี้มีการแพร่กระจายไปตามเว็บอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับการขายสินค้าอีกมากมาย กระทั่งเว็บเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กๆ  ผมเข้าไปเจอกระทู้ที่เด็กมัธยมปลายเข้าไปถามในเว็บว่า มีใครเคยใช้ผลิตภัณฑ์นี้แล้วได้ผลอย่างไรบ้าง ตามด้วยข้อความที่มีคนมาตอบกระทู้มากมายหลากหลาย ทั้งเชียร์ให้ใช้และห้ามไม่ให้ใช้  จนผมต้องไล่ตามไปอธิบายข้อเท็จจริงในที่ต่างๆ   ไม่กี่วันผมเห็นโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอีกยี่ห้อ โฆษณาในทำนองเดียวกัน เน้นผิวขาวดุจประกายมุก แถมใช้ภาพประกอบเป็นหอยมุกสดๆ แหกฝาให้เห็นเม็ดมุกอยู่ข้างใน  ถึงผมไม่ใช่ผู้ชำนาญเรื่องหอย แต่ก็อดตะลึงไปกับความคิดสร้างสรรค์ของคนทำโฆษณาไม่ได้ ไม่รู้บอกอย่างไรดี โฆษณาทั้งสองชิ้นที่เล่ามา ดูผ่านๆ อาจไม่ผิดกฎหมาย เพราะมันแล้วแต่ใครจะตีความ แต่จากการตามรอยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโฆษณา มันมีอิทธิพลให้เด็กๆ หรือคนบางกลุ่มโน้มเอียงที่จะหลงเชื่อ แถมผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีวางขายเกลื่อนตามร้านสะดวกซื้ออีกด้วย ผู้ใหญ่ท่านใดเห็นโฆษณาชิ้นนี้คอยเหลือบดูแลบุตรหลาน คนใกล้ตัวด้วยนะครับ เพราะโฆษณาปัจจุบันนี้มันเนียนมาก มันไม่ใช้ดารามาแนะนำอย่างเดียวแล้วครับ มันมีหลายวิธีที่จะใช้ชักจูง ไม่เว้นแม้กระทั่งหมีและหอย...แถมคนก็ดันหลงเชื่อเสียด้วย...กรรมจริงๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 4 วิธี ลดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ให้อุ่นใจแบบคุ้มค่า

ผู้ที่ขับขี่รถยนต์ คงจะคุ้นหูกับคำว่า พรบ.รถยนต์ ,ประกันภัยชั้น 1 ,ชั้น 3 และคุ้นตากับสติ๊กเกอร์ประกันภัยที่ติดอยู่หน้ากระจกรถ และทุกปีมีหน้าที่จะต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยรถยนต์     ถ้าเป็นประกันภัยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ ซึ่งกฎหมายบังคับให้รถทุกคันต้องทำประกันภัย เบี้ยประกันก็อยู่ที่ปีละ 650 – 1,000 บาทต้น ๆ ไม่แพงมากนักเพราะกฎหมายควบคุมอัตราเบี้ยประกันไว้     ส่วนประกันภาคสมัครใจ เช่น ประกันภัยชั้น 1 , ชั้น 3 ซึ่งเป็นส่วนเสริมที่ใครจะทำหรือไม่ทำก็ได้นั้น เบี้ยประกันอยู่ที่ปีละประมาณ 5 พันบาทไปจนถึงหลายหมื่นบาท ขึ้นอยู่กับรถที่คุณใช้ ทุนประกันและความคุ้มครองที่คุณเลือก     ในกรณีที่เป็นรถประเภทเดียวกัน รุ่นเดียวกัน เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมบางคนจ่ายเบี้ยประกันได้ถูกกว่า ทั้งที่ทุนประกันและความคุ้มครองก็ได้รับเท่ากัน นั่นเป็นเพราะแต่ละคนได้รับส่วนลดเบี้ยประกันไม่เท่ากัน การจะได้ส่วนลดมากหรือน้อยนั้น ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นส่งเสริมการขายของแต่ละละบริษัท ว่าต้องการกระตุ้นยอดขายมากขนาดไหน แต่อีกส่วนก็ขึ้นอยู่กับความรู้ของผู้บริโภคว่าจะเท่าทันตัวแทน นายหน้าประกันภัย ขนาดไหน ผมจึงอยากจะแนะนำ 4 เรื่องที่คุณควรรู้เพื่อการลดเบี้ยประกันภัย ให้ได้รับความคุ้มครองแบบอุ่นใจและคุ้มค่าเงินเบี้ยประกันที่ต้องจ่าย      1. ระบุชื่อคนขับให้ชัดเจน ลดได้ 5 -20 % เพราะรถที่ใช้โดยคนคนเดียว ย่อมมีความเสี่ยงน้อยกว่ารถที่ขับกันหลายมือ ดังนั้น รถที่ใช้ในครอบครัว ถ้าระบุชื่อผู้ขับขี่ลงไปในกรมธรรม์จะลดเบี้ยประกันได้ และยิ่งถ้าคนขับมีอายุ มีวุฒิภาวะมากขึ้น ส่วนลดก็จะมากตาม     อายุ 18 -24 ปี ส่วนลดเบี้ย 5%    อายุ 25 – 35 ปี ส่วนลดเบี้ย 10%    อายุ 36 – 50 ปี ส่วนลดเบี้ย 15%    อายุ 50 ปี ขึ้นไป ส่วนลดเบี้ย 20%     แต่ต้องเตือนกันไว้ก่อนนะครับว่า ถ้าเกิดอุบัติเหตุแล้วผู้ที่ขับขี่รถยนต์ไม่ใช่ผู้ที่มีชื่อระบุไว้ในกรมธรรม์ แบบนี้จะประกันจะไม่จ่ายค่าเสียหายส่วนแรกในวงเงินไม่เกิน 8,000 บาท     2. ขับดี มีส่วนลด 20 -50 % การขับขี่รถอย่างระมัดระวัง ไม่เกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดเหตุแต่คุณมิได้เป็นฝ่ายผิด คุณมีสิทธิได้ส่วนลดเบี้ยประกันจากการมีประวัติที่ดี และส่วนลดจะเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับในปีถัด ๆ ไป     ขับดีปีแรก ได้รับส่วนลด 20% เมื่อต่ออายุประกันปีต่อไป     ขับดี 2 ปีติดต่อกัน รับส่วนลด 30%     ขับดี 3 ปีติดต่อกัน รับส่วนลด 40%    ขัดดี 4 ปีติดต่อกัน รับส่วนลด 50%    เพื่อรักษาเครดิตส่วนลดนี้ บางครั้งการเกิดอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ จึงอาจจะยังไม่จำเป็นต้องเคลมประกัน หากคำนวณแล้วว่าการซ่อมเองคุ้มกว่าส่วนลดเบี้ยประกันที่ได้รับ     3. รวมรถ ลดได้อีก 10% ถ้าคุณมีรถยนต์หลายคัน การทำประกันรถยนต์แบบกลุ่มตั้งแต่ 3 คันขึ้นไป สามารถขอส่วนลดได้อีก 10%     4. รับความเสี่ยงไว้เองบางส่วน จ่ายเบี้ยน้อยกว่า หรือที่ภาษาประกันเรียกว่า การกำหนดค่าเสียหายส่วนแรก หมายความว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุที่คุณเป็นฝ่ายผิด คุณจะร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย ในวงเงินที่กำหนดไว้ เช่น ถ้าคุณกำหนดค่าเสียหายส่วนแรกไว้ 5,000 บาท เมื่อเกิดอุบัติเหตุต้องซ่อมรถที่เสียหายเป็นเงิน 20,000 บาท คุณจะต้องจ่ายเงินค่าซ่อมเองก่อน 5,000 บาท ประกันถึงจะจ่ายส่วนที่เหลือ     การกำหนดค่าเสียหายส่วนแรกในลักษณะนี้ ก็สามารถเอามาเป็นส่วนลดเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายได้เช่นกัน            อย่างไรก็ตาม ความมั่นคงของบริษัทประกันภัยก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด ไม่มีประโยชน์ที่จะทำประกันภัยรถยนต์ราคาถูก ๆ กับบริษัทที่ไม่มั่นคงแต่พอถึงเวลาแล้วเคลมไม่ได้ อู่ซ่อมไม่มีมาตรฐาน พนักงานบริการแย่ เพราะมันจะได้ไม่คุ้มเสียนะครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 170 ฉลาดเลือกซื้อสินค้าบนโลกออนไลน์

“สินค้าคุณภาพดี ราคาถูก” ได้ยินคำนี้อาจทำให้ผู้บริโภคหลายต่อหลายคนตาเป็นมัน ! เพราะของดี ราคาย่อมเยาใคร ๆ ก็อยากได้เป็นธรรมดา...แต่ถ้าจะหาสินค้าแบบนี้บนโลกออนไลน์คงต้องวัดดวง ระมัดระวังและเตรียมข้อมูลให้ถี่ถ้วน เพราะอาจตกหลุมพรางของบรรดามิจฉาชีพที่จับจ้องหวังจะหลอกลวงผู้บริโภคด้วยวิธีต่างๆ ได้เช่นกัน ข้อมูลจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีคดีที่เกี่ยวกับการหลอกลวงให้ซื้อสินค้าออนไลน์ ปีละกว่า 160 คดี ซึ่งมีทั้งรูปแบบพูดคุยหลอกให้โอนเงินมาก่อนแล้วถึงจะได้รับสินค้า หรือแบบสั่งซื้อสินค้าแล้วแต่ไม่ได้รับของตามที่นัดหมายไว้ หรือได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่ตกลงกันไว้ และแบบที่หลอกว่าเป็นของแท้แต่เอาเข้าจริงแล้วเป็นได้สินค้ามาตรวจสอบแล้วกลายเป็นก๊อปปี้ของแท้เกรดเอ รู้ตัวอีกทีเจ้าของร้านก็โกยเงินปิดมือถือ ปิดหน้าเว็บไซต์ ติดต่อหาคนรับผิดชอบไม่ได้แล้ว ซึ่งคดีเหล่านี้ในแต่ละปีมีมูลค่าความเสียหายเฉลี่ยปีละกว่า 60 ล้านบาท หากลองย้อนดูข้อมูลประเทศไทย จะพบว่าเราเริ่มมีการเปิดให้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ในปี 2538 ซึ่งช่วงแรกๆ มีคนใช้งานอินเทอร์เน็ตแค่ 45,000 คน ส่วนบนโลกออนไลน์เริ่มมีการทำธุรกิจซื้อขายสินค้ามาประมาณ 10 ปี แต่เพิ่งจะได้รับความนิยมในช่วงหลังที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตรวดเร็วและรองรับได้ดี จนทำให้ปัจจุบันมียอดผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 30 ล้านคนทั่วประเทศ เกือบครึ่งของประชากรทั้งประเทศเลยก็ว่าได้ เมื่อสังเกตพฤติกรรมการซื้อสินค้าของคนไทยในปัจจุบัน ที่ดูจะมีแนวโน้มนิยมซื้อสินค้าผ่านโลกออนไลน์กันมากขึ้นทุกปี จากรายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2557 โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กว่า 16,000 คนทั่วประเทศ พบว่าส่วนใหญ่จะซื้อสินค้าผ่านโลกออนไลน์ เพราะสะดวก ประหยัดเวลา ไม่ต้องไปเดินตามตลาดนัดหรือห้างสรรพสินค้าก็มีของที่อยากได้มาส่งถึงหน้าประตูบ้าน หรือไปรับที่ร้านสาขาซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เงินซื้อสินค้าเฉลี่ย 4,000 บาทต่อครั้ง เงินจำนวนหลักพันน่าจะเป็นจำนวนไม่น้อยเลย โดยเฉพาะสำหรับเยาวชนในช่วงอายุ 15 -19 ปี ซึ่งเป็นวัยที่นิยมซื้อสินค้าออนไลน์มากเป็นอันดับหนึ่ง หากแบ่งเป็น 3 ช่วงวัย ได้แก่ วัยเรียน วัยทำงาน และวัยเกษียน จากผลสำรวจวัยเรียนที่กล่าวมาจะนิยมซื้อสินค้าราคาไม่เกิน 1,000 บาท และจ่ายด้วยเงินสดหรือบัตรเติมเงิน ส่วนคนวัยทำงาน จะซื้อสินค้าราคาเฉลี่ยที่ 1,000 – 4,000 บาท โดยจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิต ขณะที่คนวัยเกษียนจะซื้อสินค้าราคาเฉลี่ยที่ 1,000 – 4,000 บาท เช่นเดียวกัน แต่จะจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตและโอนเงินผ่านธนาคาร การจะตัดสินใจซื้อสินค้า บนโลกออนไลน์ ไม่เห็นหน้าคนขาย จ่ายเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าจะให้เปรียบก็เหมือนกับซื้อขายผ่านอากาศ ไม่เห็นสินค้าหน้าร้าน ไม่ได้จับต้องของที่อยากได้ ดังนั้นก่อนผู้บริโภคจะตัดสินใจก็ต้องมั่นในมากพอ เพราะอาจถูกมิจฉาชีพหลอกเหมือนกับผู้เสียหายหลาย ๆ ท่านที่ต้องควักเงินในกระเป๋าไปฟรี ๆ สิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกที่จะซื้อสินค้าผ่านโลกออนไลน์ ที่น่าจะปลอดภัยในระดับหนึ่ง มี 6 ข้อ ดังนี้ ตรวจสอบเว็บไซต์หรือแหล่งขายที่ใช้บริการก่อนที่จะไปชำระเงิน  เว็บไซต์ต้องจดทะเบียนการค้าอิเล็กทรอนิกส์ กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากับกระทรวงพานิชย์ ซึ่งจะมีข้อมูลของผู้จดทะเบียน ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ – สกุล , ที่อยู่ , สัญลักษณ์ทางการค้า เป็นต้น ทั้งนี้เครื่องหมายสัญลักษณ์ทางการค้าจะสามารถตรวจสอบแสดงตัวตนของผู้ขาย ช่วยให้ผู้บริโภคอุ่นใจและสามารถดำเนินคดีได้รวดเร็วหากมีการกระทำความผิด สังเกตผลตอบรับการซื้อจากผู้บริโภค และตรวจสอบจากการโต้ตอบของผู้ขายและโภคบริโภค ต้องมีความสม่ำเสมอ สุภาพ และรวดเร็ว พร้อมมีข้อมูลแจ้งสถานการณ์การส่งของ และหลักฐานที่เห็นชัดเจน หรือต้องมีรหัสเลขพัสดุชัดเจนกรณีส่งสินค้าผ่านไปรษณีย์ เว็บไซต์หรือสื่อออนไลน์ของผู้ขายต้องมีระยะเวลาในการเปิดใช้งาน อย่างน้อย 2 ปี สินค้าของผู้ขายต้องไม่ผิดกฎหมาย และสังเกตราคาต้องไม่ควรถูกกว่าราคาจริงมากจนน่าเหลือเชื่อ เพราะมิจฉาชีพจะใช้ความโลภของผู้ซื้อในการดึงดูดให้สนใจซื้อสินค้า เว็บไซต์ควรมีระบบความมั่นคงปลอดภัย หลังการซื้อขาย ผู้บริโภคต้องเก็บสลิปหรือหลักฐานโอนเงินให้ดีไว้ใช้ในยามที่ได้รับสินค้าไม่ตรงตามความต้องการที่ตกลงกันไว้ หรือไม่ได้รับสินค้า จะได้ใช้เป็นหลักฐานแจ้งเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีได้ และหากจะให้ดียิ่งขึ้นควรถ่ายสลิปไว้ด้วยเพราะอยู่ได้นาน ข้อความไม่ซีดจาง สรุปคือ ก่อนซื้อสินค้าออนไลน์ ระวังกันสักหน่อย รอบคอบกันสักนิด ก็น่าจะดีกว่ามาช้ำใจภายหลัง เพราะโดนหลอกลวง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 165 Code นมสิ่งสำคัญในการปกป้องสุขภาพเด็กไทย

Code นม หรือ หลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ (International Code of Marketing of Breast  Milk Substiututes ) ณ ปัจจุบันหลักเกณฑ์นี้ยังไม่มีกฎหมายเป็นข้อบังคับ จึงทำให้เกิดปัญหาความเข้าใจผิดต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และส่งผลให้สถิติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทยอยู่ภาวะที่ต่ำมากในเอเชีย นั่นหมายถึงสุขภาพของเด็กไทยที่จะต้องเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพในอนาคต นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา  กล่าวว่า  Code นม ที่ประเทศต่างๆ ได้มีมติรับรองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524  เป็นกฎเกณฑ์ปกป้องสุขภาพเด็ก เพื่อให้เด็กได้กินนมแม่  ซึ่งถือเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก และเพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อจำเป็นต้องใช้อาหารอื่นแทนนมแม่ แม่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนผ่านวิธีการตลาดที่เหมาะสม สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ เรื่อง “หลักเกณฑ์สากลว่าด้วยเรื่องการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2524  แต่ด้วยประเทศไทยไม่มีกฎหมายเพื่อบังคับใช้อย่างจริงจัง  ทำให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายอาหารทารกและเด็กเล็ก ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ มีหลักฐานจากหลายประเทศแสดงให้เห็นว่า การตรากฎหมายเพื่อควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กนั้น มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมปัจจัยที่เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  อย่างเช่นการวิจัยในประเทศฟิลิปปินส์ พบว่า การออกกฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กในปี 1986 ส่งผลให้มีการแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ในโรงพยาบาลลดลง จากร้อยละ 57.5  ในปี ค.ศ. 1986 เหลือเพียงร้อยละ 2.8 ในปี ค.ศ. 1988  ประเทศไทยของเราน่าเป็นห่วงมากว่า ถึงแม้เราจะประกาศใช้หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องมานานถึง 30 ปีแล้ว แต่เราไม่สามารถป้องกันหรือบังคับใช้ได้ เพราะไม่มีการลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน การมีหลักเกณฑ์จึงไม่สามารถควบคุมการส่งเสริมการตลาดที่ดำเนินการอยู่ได้ ในทัศนะของ ดร.บวรสรรค์ เจี่ยดำรง นักวิชาการนิเทศศาสตร์อิสระ ผู้ติดตามการส่งเสริมการตลาดของอุตสาหกรรมนมผงในประเทศไทย เห็นว่า มีกลยุทธ์ในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ การโฆษณาในสื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อโฆษณาอื่นๆ  มีการแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์เป็นของขวัญฟรีแก่แม่  การใช้ข้อความ รูป หรือสัญลักษณ์บนฉลากผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เข้าใจว่าสร้างพัฒนาการที่ดีให้กับเด็ก และมีสารอาหารที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ  การอบรมคุณแม่ตั้งครรภ์ผ่านสถานประกอบการ หรือผ่านกิจกรรมในโรงพยาบาล  การทำตลาดผ่านสื่อ Call Center  จดหมาย หรือ SMS  เพื่อติดต่อกับแม่และครอบครัวโดยตรง  การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ผ่านโรงพยาบาลและคลินิก ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งแจกของขวัญให้กับบุคลากรในโรงพยาบาล “เครื่องมือส่งเสริมการตลาดเหล่านี้ ได้สร้างมายาคตินมผงเท่ากับนมแม่ ชวนให้แม่เชื่อผิดๆ ว่านมผงมีสารอาหารเทียบเท่านมแม่ ภายใต้กรอบความเชื่อที่ผิดๆ เช่นนี้จะมีผลต่อการตัดสินใจเลือกทางเลือกในการเลี้ยงลูกด้วยนมผงร่วมกับนมแม่ ซึ่งเป็นกลยุทธ์อันแยบยลที่อุตสาหกรรมนมผงใช้ในการขัดขวางการผลิตน้ำนมของแม่  เมื่อแม่ไม่ได้ให้นมลูก กระบวนการผลิตน้ำนมก็ไม่ได้ถูกกระตุ้น  ทำให้น้ำนมแม่ก็แห้งไปจากอกแม่  แม่จึงเข้าใจว่าน้ำนมไม่พอ ในที่สุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนก็ไม่สำเร็จ” เมื่อทารกไม่ได้กินนมแม่หรือได้รับนมแม่ไม่เพียงพอในช่วง 6 เดือนแรก ทารกก็สูญเสียสิทธิที่จะได้รับสารอาหารที่ดีสุดในชีวิตไป ซึ่งทารกที่ไม่ได้กินนมแม่หรือกินไม่เพียงพอก็เสี่ยงที่จะเป็นโรคภูมิแพ้ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยพบเด็กวัยแรกเกิด-5 ปี ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้สูงถึง 6 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่แม่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อนมผงเลี้ยงลูกสูงถึงปีละกว่า 7 หมื่นบาท นี่ยังไม่รวมค่ารักษาพยาบาลโรคภูมิแพ้อีกปีละเกือบ 7 หมื่นบาท ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขมีต้นทุนค่ารักษาพยาบาลปีละกว่า 7,500 ล้านบาท ท่ามกลางความเสียหายต่อสุขภาพทารกและระบบสาธารณสุขของประเทศ การดำเนินธุรกิจที่ไร้จริยธรรมทำให้อุตสาหกรรมนมผงได้กำไรต่อปีกว่าพันล้านบาท ทางด้านเครือข่ายคุณแม่ออนไลน์ ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มคุณแม่ ที่มีความตระหนักร่วมกันไม่ต้องการให้การตลาดนมผงมาสร้างมายาคติ หรือความเชื่อที่ผิดๆ ให้กับคุณแม่ทั้งหลาย โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีฐานะการเงินที่ไม่ดี เพราะนมมีคุณค่าที่สุดที่จะเลี้ยงลูกของตนเอง  จากคุณแม่ไม่กี่คนที่เชื่อมั่น และต้องการเห็นเด็กๆ คนอื่น มีความเท่าเทียมในการเติบโตอย่างมีสุขภาพ จึงเริ่มต้นแนะนำให้ความรู้กับคุณแม่มือใหม่ด้วยสื่อออนไลน์เพราะเข้าถึงคนได้ง่าย จากเว็บไซต์ และปัจจุบันยังอาสาทำงานให้ความรู้คุณแม่เท่าทันการตลาด ล่าสุดเข้าเพื่อความรวดเร็วและเข้าถึงผู้คนได้ง่ายและขยายผลได้ดี ปัจจุบันจึงเป็นเฟสบุ๊ค “นมแม่ แบบแฮปปี้” พญ.ศศินุช รุจนเวช  ตัวแทนเครือข่ายคุณแม่ออนไลน์ ยังเล่าให้ฟังว่า ตนเองไม่ใช่กุมารแพทย์ เหมือนกับคุณแม่ทั่วไป ที่กังวลกับการมีลูก ตอนที่มีลูกก็มีปัญหาน้ำนมไม่มี แต่ได้รับการดูแลจากโรงพยาบาลที่เข้ามาสนับสนุนนมแม่ จึงเริ่มสนใจเข้าใจเรื่องเหล่านี้ และเริ่มต้นจากแม่ๆ มาเริ่มพูดคุยแชร์เรื่องเหล่านี้ร่วมกัน  จึงเกิดความต้องการอยากให้คุณแม่ทุกคนให้นมแม่สำเร็จ เห็นลูกเราแข็งแรง แต่เด็กอื่นๆ ที่กินนมผง กินนมแม่น้อย มีความเจ็บป่วยมากกว่า มีสุขภาพไม่แข็งแรง จึงทำให้สนใจเรื่องการตลาด และข้อเท็จจริงก็คือคนส่วนใหญ่สามารถให้นมแม่ได้สำเร็จอยู่แล้ว แต่พอมีการตลาดเข้ามาก็ไปขัดขวางให้คุณแม่เข้าใจเรื่องนี้ผิดๆ  เราเป็นห่วงว่าอัตราการให้นมแม่ของประเทศไทยน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย อย่างคุณแม่ในทีมที่แข็งขันท่านหนึ่ง ที่มีสามีเป็นแพทย์ก็ได้ศึกษาหาข้อมูลตรงนี้มาเผยแพร่ พวกเราช่วยกันทำงานนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม คุยกับคนใกล้ตัว แล้วก็เจอปัญหาที่โดนคนรอบข้างกดดันเพราะอิทธิพลของการโฆษณา หลายคนเจอว่าทำไมไม่ให้ลูกกินนมผง มีสารดีๆ อยู่ในนมผงเยอะนะ  เราจึงเห็นว่านี่คือผลของอิทธิพลการโฆษณา ทำให้คนรอบข้างไม่เข้าใจและส่งผลต่อแม่ที่อยากให้ลูกทานนมแม่ ประเทศไทยจึงควรขจัด “มายาคติ” เหล่านี้ จึงอยากฝากคุณแม่ทุกท่านให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน และอยากให้มีเครือข่ายกว้างขวางช่วยกันเผยแพร่ความรู้ ถ้าเครือข่ายเราเข้มแข็งการป้องกันเด็กทารกจะดีขึ้น และท้ายที่สุดหวังว่าจะมีการสนับสนุนให้มีกฎหมายที่ช่วยคุ้มครองสุขภาพเด็กไทยจากอิทธิพลของการตลาดนมผง   ข้อมูลจาก เวทีชี้แจงกับสื่อมวลชน ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 ในประเด็น “ความสำคัญของ Code นม เพื่อปกป้องสุขภาพเด็กไทย”  ที่ โรงแรมแรมเอเชีย  จัดโดยโครงการสื่อสารเพื่อสนับสนุนนมแม่ฯ  ได้รับการสนับสนุน โดย องค์การยูนิเซฟ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 159 เถ้าแก่ร้านค้าออนไลน์ ต้องมุ่งคุ้มครองผู้ซื้อ

ใครหลายๆคนที่กำลังสนใจอยากมีกิจการเป็นของตนเอง ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) หรือธุรกิจพาณิชย์อีเล็กทรอนิกส์ บนโลกออนไลน์เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น่าจับตามองอย่างดีสำหรับ “เถ้าแก่ยุคใหม่”ทั้งหลายนะครับ.. เพราะไม่จำเป็นต้องหาสถานที่ ตกแต่งร้าน หรือแม้กระทั่งนั่งเฝ้าหน้าร้านกันขโมยตลอดเวลา ก็สามารถเปิดร้านได้ตลอด 24 ชั่วโมง และเป็นการทำธุรกิจที่เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่มีเงินทุนไม่มาก เริ่มต้นเป็นเจ้าของธุรกิจง่าย ๆ เลย คือคุณอยากรู้ว่าจะขายอะไร พร้อมเตรียมเงินลงทุนในกระเป๋าไม่กี่พันบาท และคุณใส่ใจเรื่องของอินเทอร์เน็ต อยากมีหน้าเว็บไซต์เป็นของตนเองที่เหล่าบรรดานักพัฒนาทั่วโลกได้เขียนขึ้นในรูปแบบของการทำเว็บไซต์สำเร็จรูปมาให้คุณเลือกใช้ (Content Management System:CMS) ที่สามารถใส่เนื้อหา ข้อความง่ายๆ, ภาพถ่าย, เพลง, วิดีโอ, หรือเอกสาร โดยที่ไม่ต้องเรียนรู้โค๊ดเฉพาะยากๆเหมือนในอดีต สมัยนี้การจดทะเบียนประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ก็ทำได้สะดวก ในไทยเองก็มีจำนวนผู้จดทะเบียนไปแล้วประมาณ 8,000 ราย เป็นแบบบุคคลธรรมดา  5,000 ราย เป็นนิติบุคคล 3,000 ราย ซึ่งผู้ประกอบการ 1 รายอาจมีเว็ปไซต์ได้มากกว่า 1 เว็ปไซต์ ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่ตัดสินใจเป็นเถ้าแก่บนโลกออนไลน์ อย่างจริงๆ จังๆ แล้วล่ะก็ นอกจากเรื่องการวางแผนธุรกิจแล้วคุณก็ต้องมีการ ตั้งชื่อให้ร้านของคุณ โดเมนเนม (Domain name) หรือ ชื่อเว็บไซต์ เป็นตัวตนของร้านที่จำเป็นต่อการสร้างแบรนด์คุณให้ติดตา แก่บรรดาขาช้อปในโลกออนไลน์ มีชื่อร้านแล้ว...รายละเอียดของสินค้า หรือ Content ข้อมูลต้องมีการระบุให้ละเอียด ชนิดที่ลูกค้าที่มาใช้บริการอ่านปุ๊ป แล้วทราบข้อมูลและการบริการ ข้อเท็จจริงอย่างละเอียด มีการเชื่อมโยงหน้า หรือทำ Link ให้ง่ายต่อการค้นหา แม้ธุรกิจค้าขายบนโลกออนไลน์ดูจะสดใสเป็นอนาคตของคนรุ่นใหม่ แต่ทว่าก็ยังมีเรื่องที่ต้องพึงระมัดระวังในการทำธุรกิจอย่างยิ่งยวด นั่นคือเรื่องข้อกฏหมายและเรื่องการดูแลคุ้มครองผู้ซื้อ ในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มีตั้งแต่กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์,กฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ และกฎหมายหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อป้องกันและแก้ไข เมื่อเกิดปัญหาจากการซื้อสินค้าหรือบริการทางออนไลน์ อย่างไรก็ตามเถ้าแก่หน้าใหม่ทั้งหลาย หากคิดจะค้าขายทางนี้ ก็ต้องซื่อสัตย์กับลูกค้า รับผิดชอบหากสินค้าชำรุดหรือบกพร่อง รับประกันสินค้าให้ตรงตามสรรพคุณที่โฆษณา และมีบริการหลังการขายที่ดีพอ เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาทีหลัง แล้วคุณจะได้ความพึงพอใจจากลูกค้า และการไว้วางใจ ที่ลูกค้าจะกลับมาซื้อสินค้าหรือบอกต่อให้ญาติสนิท มิตรสหาย มาซื้อสินค้าบนหน้าร้านออนไลน์ของคุณ เรียกว่าต้องคำนึกถึงการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นปัจจัยหลักสำคัญเลยทีเดียว ผมอยากให้เถ้าแก่หน้าใหม่ มาจับจองเปิดพื้นที่ร้านค้าออนไลน์กันให้มากๆ เพราะคุณจะได้ลูกค้าคนไทยกว่า 73% หรือ 25.1 ล้านคน ที่มีปริมาณการใช้งานค้นหากว่า 19 ล้านครั้งต่อวัน ซึ่งนับว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มากสำหรับเถ้าแก่ที่กำลังหาลูกค้า และถ้ามองให้กว้างไปอีกนิดในเอเชียมีคนใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 1.76 พันล้านคน และทั่วโลกกว่า 2.4 พันล้านคน ถือเป็นการวางแผนธุรกิจที่สร้างรายได้ให้คุณได้ง่ายๆ และนอกจากผู้ประกอบการหรือเถ้าแก่จะมีรายได้เติบโต เศรษฐกิจในประเทศเติบโต และยังทำให้การค้าประเทศชาติเติบโตยิ่งขึ้นอีกด้วย.

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

บทบาทขององค์กรทดสอบและประเมินสินค้า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

บทความพิเศษบทบาทขององค์กรทดสอบและประเมินสินค้า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดย ศลิษา เตรคุพ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี องค์กรที่มีหน้าที่ทดสอบและประเมินสินค้าไม่ใช่ของใหม่ เนื่องจากภาครัฐได้คำนึงถึงความสำคัญของผู้บริโภคที่ควรจะมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ตลอดจนได้รับสินค้าและบริการที่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา องค์กรดังกล่าวในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจะประสบปัญหาและอุปสรรคโดยเฉพาะด้านข้อกฎหมายอยู่บ้าง แต่ก็ยังคงยืนหยัดปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงตรงมาโดยตลอด ดังที่ท่านจะได้รับทราบจากประวัติการก่อตั้งและการดำเนินงานขององค์กร รวมถึงกรณีศึกษาจากการทดสอบสินค้าต่างๆ   ปัจจุบันมีสินค้าวางจำหน่ายในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้สินค้าชนิดหนึ่งๆมีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นด้านปริมาณหรือคุณภาพ ส่งผลให้มีการแข่งขันแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างดุเดือดของผู้ผลิตสินค้าต่างๆ กลยุทธ์หนึ่งที่ผู้ผลิตมักนำมาใช้คือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ให้ข้อมูลเฉพาะด้านดีของสินค้า หรือ การให้ข้อมูลสินค้าไม่ครบ ผู้บริโภคจึงตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบอยู่เนืองๆ ด้วยเหตุนี้ กลุ่มนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆในประเทศไทยได้รวมตัวกันจัดตั้ง “เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคขึ้น เพื่อดำเนินการทดสอบสินค้าและบริการต่างๆในประเทศไทยตามหลักวิชาการอย่างเป็นกลางและเป็นธรรม ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลและให้ข้อคิดเห็นเชิงวิชาการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แก่สาธารณชน รวมถึงหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนเช่นเดียวกับที่มูลนิธิองค์กรทดสอบสินค้าในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หรือ STIFTUNG WARENTEST ได้ดำเนินการมาแล้วเกือบครึ่งศตวรรษ ประวัติการก่อตั้งและการดำเนินงานขององค์กรฯปี 1962 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นาย Konrad Adenauer นายกรัฐมนตรีคนแรกของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ได้เสนอความคิดในการจัดตั้งองค์กรทดสอบคุณภาพสินค้าที่เป็นกลางขึ้นต่อรัฐสภา หลังจากที่กระทรวงเศรษฐกิจได้วางแผนสร้างองค์กรนี้เป็นเวลาถึง 12 ปี ต่อมา ในการประชุมรัฐสภา เมื่อ วันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1964 รัฐสภา (สภาบุนเดสทาก) มีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ ที่ขอจัดตั้งองค์กรทดสอบคุณภาพสินค้าในรูปของมูลนิธิ ภายใต้ชื่อ STIFTUNG WARENTEST (ชติ๊ฟทุ่ง วาเร่นเทสท์) โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงเบอร์ลิน และใน วันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1964 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจได้ทำพิธีเปิดมูลนิธิองค์กรทดสอบสินค้านี้อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งร่วมกำหนดระเบียบแบบแผนในการดำเนินงาน ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลกลางสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ปี 1966 STIFTUNG WARENTEST ได้จัดจำหน่ายวารสาร test ฉบับปฐมฤกษ์ตามร้านค้าทั่วไปในราคาเล่มละ 1.50 มาร์ค รวมทั้งจัดจำหน่ายวารสารในรูปแบบของสมาชิกอีกด้วย โดยสินค้าแรกๆ ที่ถูกนำมาทดสอบคือ จักรเย็บผ้าและเครื่องผสมอาหาร ส่วนผลการทดสอบสินค้าในวารสารฉบับแรกๆ นั้นจะเป็นการบรรยายความคิดเห็นโดยรวมเท่านั้น จนกระทั่งมีการพัฒนาผลการทดสอบให้อยู่ในรูปของค่าคะแนนและจัดอันดับระดับคุณภาพสินค้า ตั้งแต่ระดับ ‘ดีมาก’ ‘ดี’ ‘ปานกลาง’ ‘พอใช้’ ไปจนถึง ‘คุณภาพต่ำ’ ค่าคะแนนและการจัดอันดับนี้บริษัทผู้ผลิตสินค้าต่างๆ (ที่ได้รับคะแนนดี!) สามารถนำไปใช้โฆษณาสินค้าของตนได้ แต่จะต้องเป็นไปตามรูปแบบที่มูลนิธิกำหนดไว้เท่านั้น จวบจนทุกวันนี้ STIFTUNG WARENTEST ก็ยังคงจำหน่ายวารสารดังกล่าวอยู่ ในราคา 4.20 ยูโร ซึ่งในแต่ละฉบับก็จะมีการทดสอบสินค้าและบริการที่แตกต่างกันออกไป ผลจากการดำเนินงานที่น่าเชื่อถือของ STIFTUNG WARENTEST ทำให้บริษัทเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์และการวิเคราะห์ทางสถิติ Forsa (Forsa: Gesellschaft f?r Sozialforschung und statistische Analysen mbH) สรุปผลการวิจัยในปี 2000 ว่า ชาวเยอรมันจำนวนถึง 96 % รู้จัก STIFTUNG WARENTEST และหนึ่งในสามของกลุ่มประชากรจะยึดผลการทดสอบประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้า ต่อไปนี้ คือ ตัวอย่างเรื่องราวของกรณีศึกษาซึ่งเกี่ยวกับข้อพิพาททางกฎหมายที่ผ่านมาของมูลนิธิฯ และคำพิพากษาของศาลล้วนแล้วแต่ถูกนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีต่างๆ ในเวลาต่อมาทั้งสิ้น กรณีศึกษาที่ 1 : การทดสอบอุปกรณ์ยึดรองเท้าสกี (1975)เกิดข้อพิพาททางกฎหมายระหว่าง STIFTUNG WARENTEST กับบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ยึดรองเท้าสกี จึงทำให้ศาลยุติธรรมสูงสุดแห่งสหพันธ์ (Bundesgerichtshof) ณ เมือง คาร์ลสรูเฮ่อ (Karlsruhe)ได้เข้ามาพิจารณาการทำงานของมูลนิธิเพื่อการทดสอบสินค้าเป็นครั้งแรก และให้คำพิพากษาที่เป็นบรรทัดฐานแก่มูลนิธิ โดยศาลฯได้เน้นย้ำถึงหน้าที่อันจำเป็นต่อเศรษฐกิจโดยรวมและความสำคัญขององค์กรนี้ ตลอดจนได้ให้อำนาจแก่ STIFTUNG WARENTEST เพื่อพิจารณากำหนดขั้นตอนการทดสอบสินค้า การประเมินคุณภาพ และการแสดงผลการทดสอบเองอีกด้วย   กรณีศึกษาที่ 2: เครื่องย่อยขนาดขยะธรรมชาติ (1987)ศาลยุติธรรมสูงสุดแห่งสหพันธ์ได้พิพากษากรณีข้อพิพาททางกฎหมายระหว่าง STIFTUNG WARENTEST กับบริษัทผู้ผลิตเครื่องย่อยขนาดขยะธรรมชาติแห่งหนึ่ง ข้อพิพาทนี้เกี่ยวเนื่องกับข้อสงสัยที่ว่า การทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์โดยมูลนิธินั้นทำให้สินค้าต้องมีมาตรฐานสูงเกินกว่ามาตรฐานที่สถาบันเพื่อการวางมาตรฐานแห่งเยอรมันหรือ สถาบันมาตรฐานสินค้า DIN (DIN: Deutsches Institut f?r Normung) กำหนดไว้หรือไม่ โดยศาลฯพิจารณาเห็นว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นภาระหน้าที่ของมูลนิธิที่จะต้องทำการเปิดเผยสิ่งที่เห็นว่าเป็นข้อบกพร่องหรือตำหนิของสินค้าให้สาธารณชนรับรู้รับทราบ ทั้งนี้รวมถึงข้อบกพร่องของมาตรฐาน DIN ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจุดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากเครื่องมืออย่างไร้ความเสี่ยงต่ออันตรายใดๆ อย่างไรก็ดี การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องนั้นๆ เสีย อันจะเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป กรณีศึกษาที่ 3 : ครีมบำรุงผิวหน้า (2005-2006)เกิดคดีพิพาทระหว่างบริษัทผู้ผลิตครีมบำรุงผิวหน้ายี่ห้อ Hautnah (เฮ้าท์นา) ที่มีดาราหญิงยอดนิยมรุ่นใหญ่ ชื่อ อุ๊ชชี่ กลาส (Uschi Glas)เป็นพรีเซนเตอร์ โดยได้เป็นโจทก์ได้ยื่นฟ้อง STIFTUNG WARENTEST ต่อศาลชั้นต้น เนื่องจากทางมูลนิธิได้ทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางขายตรงต่างๆ และให้ผลการประเมินครีมชนิดนี้ว่า ‘คุณภาพต่ำ’ เพราะอาจทำให้ระคายเคืองผิวได้ คดีนี้เป็นที่สนใจของสื่อมวลชนอย่างมาก แม้ต่อมาศาลแขวงกรุงเบอร์ลินจะพิจารณาเพิกถอนคำร้องของโจทก์ แต่บริษัทผู้ผลิตก็ไม่ละความพยายามและยื่นคำร้องขออุทธรณ์เพื่อให้ศาลพิจารณาคดีอีกครั้ง ทว่าศาลสูงกรุงเบอร์ลินก็เพิกถอนคำร้องดังกล่าวซึ่งทำให้คดียุติลงได้ในที่สุด จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านทุกท่านจะตระหนักถึงความจำเป็นและประโยชน์ขององค์กรทดสอบสินค้าและบริการ ซึ่งทางกลุ่ม “เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค สนใจและเห็นความสำคัญ ในการทดสอบสินค้า ตลอดจนให้ความรู้และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในประเทศไทย เพราะนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด ที่ประสบความสำเร็จในประเทศเยอรมนีและยุโรป คือการให้ความรู้และข้อมูลแก่ผู้บริโภค นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 ค่าโดยสาร คิดราคาตามใจชอบ

แม้ปัจจุบันวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จะมีป้ายใหญ่ๆ กำหนดอัตราค่าโดยสารให้ผู้ใช้บริการตัดสินใจก่อนเรียก แต่ก็เป็นไปได้ยาก ที่เราจะเลือกใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างเจ้าเดิม หรือวินเดิมทุกครั้ง ทำให้ผู้โดยสารมีโอกาสในการเรียกวินเถื่อน ที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งอาจเรียกเก็บอัตราค่าบริการตามใจชอบ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณปาริชาตเล่าว่า ปกติเธอใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นประจำ โดยจะเรียกจากหน้าบ้าน ไปปากซอย ระยะทางประมาณ 600 เมตร ซึ่งทุกครั้งจะเสียค่าบริการราคา 10 บาท แต่ครั้งนี้เสีย 15 บาท เมื่อสอบถามว่าทำไมวันนี้ราคาแพงกว่าเดิม ก็ได้รับคำตอบว่า “คันอื่นผมไม่รู้ แต่รถผมเก็บราคานี้” จึงทำให้เธอรู้สึกว่า แม้จะเป็นเงินจำนวนไม่มากนัก แต่มอเตอร์ไซค์คันดังกล่าวกำลังเอาเปรียบลูกค้า ซึ่งเขาอาจทำแบบนี้กับลูกค้ารายอื่นๆ อีกก็ได้ เธอจึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพราะอยากรู้ว่าเหตุการณ์เช่นนี้ สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างไรบ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้แม้ผู้ร้องจะจำชื่อวินที่แปะไว้หลังเสื้อของคนขี่ได้ แต่เมื่อศูนย์ฯ ส่งจดหมายไปกรมการขนส่งทางบกกลับพบว่า กรมฯ ไม่สามารถติดตามผู้ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างคันดังกล่าวได้ เนื่องจากในซอยนั้นมีหลายวิน และมีมอเตอร์ไซค์ที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ผู้ร้องจำต้องยุติการร้องเรียน ด้วยเหตุผลข้างต้น ทางศูนย์ฯ จึงขอแนะนำให้ผู้ใช้บริการว่า ไม่ควรจำเฉพาะป้ายวินอย่างเดียว แต่ควรจำหมายเลขทะเบียนรถคันที่เราขึ้นไว้ เพราะสามารถบอกได้ว่าผู้ที่ขับขี่เป็นใคร นอกจากนี้หากเราพบว่าการเรียกเก็บค่าบริการไม่มีความเป็นธรรม สามารถโทรศัพท์ไปร้องเรียนโดยตรงได้ที่กรมการขนส่งทางบก เบอร์ 1584

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 ย้ายค่ายใหม่เบอร์เดิม ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

ความคาดหวังของผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือคงหนีไม่พ้นเรื่อง สัญญาณเครือข่ายที่ดีและมีความคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคอย่างเราสามารถเลือกใช้บริการเครือข่ายที่ต้องการได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องเปลี่ยนเลขหมายผ่านการบริการที่เรียกว่า การย้ายค่ายใหม่เบอร์เดิม อย่างไรก็ตามมีผู้ใช้บริการบางส่วนที่ได้รับความไม่สะดวกจากการใช้บริการดังกล่าว โดยเขาไม่สามารถติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์ได้เลยเป็นเวลาเกือบ 10 วัน ภายหลังการติดต่อขอย้ายเครือข่ายใหม่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณสุชาติ ซึ่งเดิมทีใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ ดีแทค (Dtac) แต่พบว่าในพื้นที่ที่เขาใช้งานไม่ค่อยมีสัญญาณโทรศัพท์ของเครือข่ายดังกล่าว ส่งผลให้การติดต่องานต่างๆ ไม่สะดวกเท่าที่ควร เขาจึงต้องการเปลี่ยนค่ายใหม่เป็นเครือข่าย ทรูมูฟเอช (TrueMove-H) อย่างไรก็ตามภายหลังไปดำเนินการย้ายค่ายในวันที่ 13 มี.ค.และรอให้มีการรีเซทสัญญาณใหม่ครบ 3 วันแล้ว เขาก็ยังไม่สามารถใช้บริการเครือข่ายใหม่ได้ โดยทางทรูมูฟเอชแจ้งว่าไม่สามารถดึงสัญญาณโทรศัพท์ได้ เนื่องจากเครือข่ายเดิมไม่อนุญาต ทำให้ผู้ร้องมาขอความช่วยเหลือที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพราะได้รับความเดือนร้อนติดต่องานหรือธุระต่างๆ ทางโทรศัพท์มือถือไม่ได้เลย แนวทางการแก้ไขปัญหาภายหลังศูนย์ฯ โทรศัพท์ไปสอบถามปัญหาดังกล่าวที่ Call center ของเครือข่ายดีแทค (1678) ก็ได้รับการชี้แจงว่าขณะนี้มีปัญหาเรื่องการดึงสัญญาณ ซึ่งทางเครือข่ายกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยผู้ร้องจะสามารถโอนย้ายเครือข่ายใหม่ได้ภายในวันที่ 21 มี.ค.ทำให้สิ่งที่ผู้ร้องทำได้ในขณะนั้นคือ รอ! ให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเสร็จสิ้น และในที่สุดหลังจากรอเครือข่ายเดิมดำเนินการย้ายค่ายไปทั้งหมดเกือบ 10 วัน เขาก็สามารถกลับมาใช้งานโทรศัพท์มือถือได้ตามปกติสำหรับเหตุการณ์นี้แม้ผู้ร้องจะได้ใช้งานเครือข่ายใหม่ที่เขาต้องการ แต่ก็ต้องแลกกับเวลาที่เสียไป ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่าประกาศการย้ายค่ายเบอร์เดิมของ กสทช. ที่กำหนดให้ประชาชนสามารถเลือกใช้เครือข่ายใหม่ที่ดีกว่าได้ตามต้องการ โดยมีขั้นตอนง่ายๆ คือ กรอกแบบคำขอโอนย้ายพร้อมแสดงบัตรประชาชนหรือบัตรแสดงตนอื่นๆ ที่ออกให้โดยหน่วยงานของราชการ ณ จุดให้บริการของค่ายใหม่ที่จะย้ายไป และชำระค่าธรรมเนียมจำนวน 29 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จากนั้นก็รอรับ SMS แจ้งผลการอนุมัติ ซึ่งประมาณ 3 วันทำการ (วันจันทร์ - ศุกร์ ไม่รวมเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ก็จะสามารถใช้บริการเครือข่ายใหม่ได้นั้น ผู้บริโภคสามารถทำตามได้จริงแค่ไหน* หมายเหตุ สำหรับผู้ใช้บริการที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการย้ายค่าย หรือผู้ให้บริการเครือข่ายไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว สามารถโทรศัพท์ร้องเรียนโดยตรงได้ที่ กสทช. Call center 1200 (โทรฟรี) ซึ่งมีอำนาจตาม พรบ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 64, 65, 66 ในการสั่งให้ผู้ประกอบการดำเนินการย้ายค่าย ซึ่งหากฝ่าฝืน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 ค้างชำระค่างวดรถ โดนยึดทันทีจริงหรือ

หนึ่งในปัญหาเรื่องการเช่าซื้อรถทั้งรถจักรยานยนต์และรถยนต์ ที่สร้างความปวดหัวให้กับผู้เช่าซื้อมาตลอดคือ การค้างชำระค่างวดรถแล้วไม่แน่ใจว่าควรแก้ปัญหาอย่างไรดี เพราะรถกำลังจะโดนบริษัทมายึดไปแล้ว ดังกรณีของผู้ร้องรายนี้ผู้ร้องซื้อรถมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อฮอนด้า เวฟ โดยตกลงกันให้มีการผ่อนชำระเดือนละ 1,130 บาท อย่างไรก็ตามภายหลังการผ่อนชำระไปได้ไม่กี่เดือน ผู้ร้องก็มีปัญหาทางการเงิน ทำให้ต้องหยุดการผ่อนค่างวดรถคันดังกล่าวเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งภายหลังพนักงานของบริษัทก็เดินทางมายึดรถไป โดยไม่มีหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์ที่เตือนให้มีการชำระค่างวดที่ค้างไว้ก่อนแต่อย่างใด แม้จะพยายามเจรจาด้วยการขอชำระค่างวดทั้งหมดในขณะนั้นทันที แต่พนักงานก็ไม่ยอมและยืนยันที่จะยึดรถคืนแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้แม้ผู้ร้องจะผิดชำระค่างวดรถมอเตอร์ไซค์ แต่บริษัทก็ไม่สามารถดำเนินการยึดรถคืนได้ทันที เพราะตามประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์กำหนดว่า บริษัทสามารถยึดรถคืนได้ กรณีที่ผู้เช่าซื้อค้างชำระค่างวด 3 งวดติดๆ กัน โดยผู้ให้เช่าซื้อต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอีก 30 วัน ดังนั้นถ้ายังไม่ครบกำหนด 4 เดือน ผู้ให้เช่าซื้อไม่สามารถยึดรถ หากฝ่าฝืนถือว่าผู้ให้เช่าซื้อผิดสัญญา และผู้เช่าซื้อสามารถร้องเรียนหรือฟ้องต่อศาลคุ้มครองผู้บริโภคได้ ทั้งนี้หากเราพบว่าโดนเอาเปรียบด้วยการกระทำดังกล่าว จึงไม่จำเป็นต้องส่งรถคืนแต่ควรเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจ พร้อมรายละเอียดการค้างชะระค่างวดและขอให้มีการเจรจา แต่ถ้าในกรณีที่บริษัทได้แจ้งเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว และเราก็ยังไม่สามารถชำระค่างวดได้ สิ่งที่ควรทำคือ1. ให้มีการประเมินสภาพรถหรือราคาเบื้องต้นก่อนการส่งมอบ เพื่อเป็นหลักฐานในกรณีที่บริษัทนำรถคันดังกล่าวไปขาย และเรียกร้องให้เราจ่ายค่าส่วนต่างที่เหลือให้ครบ2. ในกรณีที่เราอยากได้รถคืนก็ต้องกลับไปติดต่อที่บริษัทดังกล่าวและจ่ายค่างวด รวมทั้งเบี้ยปรับต่างๆ ให้ครบ หรือหากไม่ต้องการรถคันดังกล่าวแล้ว ก็รอจ่ายเงินส่วนต่างที่เหลือภายหลังบริษัทนำรถไปขาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 สินค้าซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยนคืน ผู้บริโภคมีสิทธิอะไรบ้าง

หลายครั้งที่ผู้บริโภคอย่างเราจำเป็นต้องซื้อสินค้าที่ติดป้ายว่า “ซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยนคืน” ซึ่งบางคนอาจจะโชคดีที่ได้ของมีคุณภาพไป ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งอาจจะต้องเสียเงินเพิ่ม เพื่อซ่อมสินค้าชิ้นนั้นหรือแก้ปัญหาด้วยการซื้อของใหม่ให้รู้แล้วรู้รอดไป อย่างไรก็ตามไม่ใช่สินค้าทุกประเภท ที่มีสิทธิจะติดป้ายเอาเปรียบดังกล่าว ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณภา ต้องการซื้อกล้องวงจรปิด ที่มีความละเอียด 1.3 ล้านพิกเซล ไปเดินดูที่ศูนย์การค้าเซียร์รังสิต ก็พบร้านที่ถูกใจ พนักงานขายแจ้งว่ามีกล้องวงจรปิดอย่างที่ต้องการ จึงตกลงซื้อมา ในราคา 1,450 บาท อย่างไรก็ตามในวันนั้น คุณภาต้องรีบไปทำธุระอย่างอื่นต่อ พร้อมกับที่ทางร้านแจ้งว่าคอมพิวเตอร์สำหรับไว้ใช้ทดสอบการทำงานของกล้องเสีย จึงทำให้เธอไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดของกล้องให้ครบถ้วนเมื่อกลับมาทดสอบด้วยตนเองที่บ้านจึงพบว่า กล้องดังกล่าวมีความละเอียดเพียง 3 แสนพิกเซลเท่านั้น นอกจากนี้เมื่อพลิกดูใบเสร็จรับเงินก็พบข้อความว่า สินค้าซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยนหรือคืน แต่มีการรับประกัน 1 ปี เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้ร้องจึงเกรงว่าอาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงส่งเรื่องร้องเรียนมาทางอีเมล์ของศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำแนะนำก่อนเบื้องต้น   แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ แนะนำให้ผู้ร้องเข้าไปเจรจากับทางร้านก่อน พร้อมส่งหลักฐานการชำระเงินและรูปสินค้ามาให้ ซึ่งผู้ร้องก็ได้ติดต่อกลับไปที่ร้าน ตามนามบัตรที่ร้านเคยให้ไว้ โดยทางร้านแจ้งว่า ไม่มีกล้องวงจรปิดที่มีความละเอียดเกิน 3 แสนพิกเซล อาจมีการเข้าผิดระหว่างผู้ร้องกับพนักงานขายหน้าร้าน อย่างไรก็ตามให้ผู้ร้องกลับไปที่ร้านเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงก่อน ซึ่งภายหลังการเจรจาทางร้านก็ยินดีรับคืนสินค้า พร้อมคืนเงินให้เต็มจำนวน เพราะผู้ร้องมีหลักฐานการชำระเงินจากทางร้านนับว่าผู้ร้องโชคดีที่ยังเก็บหลักฐานดังกล่าวไว้ เพราะหากเราไม่มีเอกสารอะไรไปยืนยัน ก็อาจต้องเสียเงินฟรีให้กับสินค้าที่ไม่ต้องการ และยังเปลี่ยนคืนไม่ได้อีกต่างหาก อย่างไรก็ตามสำหรับการซื้อสินค้าที่ติดป้ายเช่นนี้ ผู้บริโภคอย่างเรา จำเป็นต้องตรวจสอบให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อมา โดยสังเกตรายละเอียดเบื้องต้นต่างๆ คือ1. ป้ายราคาที่ชัดเจน 2. สินค้านั้นต้องสามารถจับต้อง พิสูจน์คุณภาพด้วยมือและตาของผู้ซื้อก่อนได้ หรือให้ลองได้ 3. เป็นสินค้าที่ไม่ต้องเปลี่ยนอะไหล่ เพราะเราไม่สามารถทราบได้ว่าอะไหล่ข้างใน มีประสิทธิภาพหรือเสื่อมภาพมากน้อยแค่ไหนแล้ว เช่น กรณีสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ หากผู้ขายติดป้ายห้ามเปลี่ยนคืน อย่างน้อยก็ต้องมีป้ายการรับประกันไว้ ทั้งนี้ หากเราโดนหลอกขายของคุณภาพต่ำ ไม่ตรงกับป้ายประกาศโฆษณา ก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ เพราะแสดงถึงเจตนาของร้านค้าที่จงใจไม่แสดงรายละเอียดให้ชัดเจน อาจมีเจตนาที่จะหลอกลวงเรา หรือเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นความผิดอาญาหลอกให้ซื้อด้วยวิธีการต่างๆ นั่นเอง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 “เมื่อรถใหม่ ไม่ใหม่อย่างที่คิด”

ปัญหารถยนต์ใหม่ป้ายแดงกลับมาอีกแล้ว หลังผู้บริโภคถอยมาได้สองวันแล้วขับไปเที่ยวต่างจังหวัดพร้อมครอบครัว แต่ดันเกิดอุบัติเหตุยางระเบิดเสียหลักบนทางด่วน เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บสาหัสทั้งครอบครัว หลังสอบถามไปยังบริษัทรถยนต์ดังกล่าว กลับปฏิเสธว่ารถยนต์มีปัญหา อ้างเป็นเพราะปัจจัยแวดล้อม แม้ผู้บริโภคจะมีทางเลือกมากมายในการซื้อสินค้าและใช้บริการต่างๆ แต่ความเสี่ยงในการเลือกซื้อสินค้าต่างๆ เหล่านั้นกลับไม่ได้ลดลงเท่าไรนัก เพราะ เราก็ไม่มีทางรู้ได้ว่า สินค้าที่เราเลือกไว้อย่างดีแล้วนั้น จะดีจริงตามที่เราคิดไว้หรือไม่ เนื่องจากสินค้าเหล่านั้นอาจมีความชำรุดบกพร่องอันเนื่องมาจากขาดการตรวจสอบคุณภาพจากผู้ผลิต หรือผ่านการตรวจสอบแต่ไม่พบข้อบกพร่องในขั้นตอนการผลิต ซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความชำรุดบกพร่อง หรือมีคุณภาพตามที่ได้ระบุไว้หรือไม่ รวมถึงการบริการต่างๆ ของผู้ประกอบการที่ไม่ได้เป็นไปตามสัญญา ล้วนส่งผลให้ผู้บริโภคตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ได้รับสินค้าที่ชำรุดบกพร่องหรือไม่เป็นไปตามโฆษณา เหมือนกรณีของคุณสุชาติที่เกือบได้รับอันตรายถึงชีวิตคุณสุชาติและภรรยาเข้ามาร้องเรียนหลังจากซื้อรถยนต์ใหม่ป้ายแดงยี่ห้อ เชฟโรเลต รุ่นสปิน (Chevrolet Spin) มาได้ 2 วัน แล้วเกิดอุบัติเหตุยางระเบิด ทำให้ทั้งครอบครัวที่โดยสารไปด้วยกันวันนั้นได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยเมื่อทางบริษัทรถยนต์นำยางรถดังกล่าวไปตรวจสอบกลับพบว่า ยางไม่มีความผิดปกติใดๆ จึงปฏิเสธว่าสาเหตุไม่ได้เกิดจากยางรถยนต์ของบริษัท หากแต่เป็นเพราะปัจจัยภายนอกอื่นๆ มากกว่า เช่น ผู้ร้องขับรถยนต์ไปทับตะปูหรือก้อนหินขนาดใหญ่ ทั้งๆ ที่ในวันเกิดเหตุกำลังขับรถอยู่บนเส้นทางด่วนบูรพาวิถี ไม่มีก้อนหินใหญ่ใดๆ รวมทั้งอากาศปลอดโปร่ง ไม่มีปัจจัยใดที่ทำให้ยางระเบิดได้แน่นอน อย่างไรก็ตามหลังจากผู้ร้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้นำยางรถยนต์ที่เหลือไปตรวจสอบ ซึ่งผลปรากฏว่ายางรถที่เหลือทั้ง 3 ล้อเป็นยางเก่าทั้งหมด ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำให้ผู้ร้องติดต่อไปยังบริษัทประกันภัยและเจ้าหน้าฝ่ายขายของรถยนต์ (ไฟแนนซ์) เพื่อทำหนังสือยกเลิกสัญญาเช่าซื้อ หรือการจ่ายค่างวดรถยนต์ เพราะ ตั้งแต่เกิดเรื่องผู้ร้องก็ไม่ได้มีการใช้รถ แต่ว่าต้องจ่ายค่าเช่ามาเป็นระยะเวลา 2 เดือนแล้ว อย่างไรก็ตามไฟแนนซ์ก็ได้ปฏิเสธโดยอ้างว่าเป็นเพียงผู้ให้กู้ยืมเงินไม่เกี่ยวกับกับการซื้อรถยนต์ และไม่ยอมให้ยกเลิกเพียงแต่ให้ชะลอการจ่ายค่างวดแทน ต่อมาก็ได้แนะนำให้ผู้ร้องใช้ประกันภาคสมัครใจชั้น 1 คุ้มครองรถยนต์ที่เสียหาย โดยให้ช่วยตรวจสอบว่ารถยนต์มีความผิดปกติอย่างไรจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าวขึ้นแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้นอกจากผู้ร้องจะได้เข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แล้ว ยังได้มีการดำเนินคดีฟ้องร้องต่อศาล โดยหลังจากการเจรจากับอัยการก็ได้ข้อเสนอ 2 ข้อดังนี้ 1. ให้ทางบริษัทรถยนต์ เชฟโรเลต รับรถคืนไปและช่วยเหลือเงินชดเชยค่างวดที่ผู้ร้องได้เสียไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ ค่าดาวน์รถยนต์และค่าเช่าซื้อ พร้อมขอให้ผู้ร้องได้รับส่วนลดพิเศษสำหรับการซื้อรถยนต์ยี่ห้อ เชฟโรเลต คันใหม่ หรือ 2. ทางบริษัทรถยนต์ เชฟโรเลต และศูนย์บริการซ่อมรถคันดังกล่าวให้เหมือนเดิม พร้อมช่วยเยียวยาค่าเสียหายและค่าเช่าซื้อจนกว่ารถยนต์นั้นจะซ่อมเสร็จ และหารถยนต์คันใหม่ให้ผู้ร้องใช้งานจนกว่าจะได้รถยนต์คืนหลังจากบริษัทรถยนต์ เชฟโรเลต นำข้อเสนอกลับไปพิจารณาก็ได้แจ้งกับผู้ร้องว่า บริษัทประกันภัยรถยนต์ตกลงที่จะรับซื้อซากรถ และทางบริษัทรถยนต์ เชฟโรเลต จะให้การช่วยเหลือส่วนหนึ่งเพื่อให้ผู้ร้องขาดทุนน้อยลง ส่วนทางไฟแนนซ์ก็จะยกเว้นค่าเบี้ยปรับให้ ด้านฝ่ายผู้ร้องเมื่อเห็นว่าทุกฝ่ายมีความเต็มใจที่จะให้การช่วยเหลือ จึงตกลงรับข้อเสนอและยุติเรื่องแต่เพียงเท่านี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 168 9 เทคนิคจับผิดร้านค้าออนไลน์ เพื่อไม่โดนหลอก

แม้ว่าการซื้อของผ่านระบบออนไลน์เป็นที่นิยมของคนไทย แต่ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นแหล่งโจรของมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาอีกไม่น้อย S! Money มีเคล็ดลับเล็กๆ น้อย ฝากไว้เป็นข้อสังเกต ก่อนที่จะตัดใจจ่ายเงินซื้อของออนไลน์ ดังนี้1. นำชื่อ เบอร์โทรศัพท์ หรือ username ของคนขายมา search หาใน google หากชื่อนี้เคยหลอกลวงคนอื่นมาก่อน แล้วกลับมาโพสต์ขายของอีก จะมีคนพูดถึงรายละเอียดคดีความของเขาขึ้นมาเลยด้วย2. ให้กดค้นหาชื่อร้านค้า หรือคนขาย ใน Facebook หรือ Twitter ตรวจสอบสถานะว่ามีการขายของจริงๆ หรือไม่ เพราะพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องมีตัวตัวผ่านเครื่องมือ ต่างๆ ของโซเชียลแน่นอน3. ลองค้นหาในเว็บไซต์ที่สามารถตรวจสอบตัวตน เช่น  peekyou.com , touchgraph.com/seo หรือ socialmention.com แล้วใส่ชื่อ หรือ username ของผู้ขายลงไป ก็จะเจอข้อมูลมากมายทั้งอีเมล์ ข้อมูลบนเว็บต่างๆ และ Social Network ของเขา4. ตรวจสอบกับผู้ที่เคยซื้อ ว่าได้รับสินค้าจริงๆ หรือไม่? อาจจะหลังไมค์ไปพูดคุยกับคนที่เคยสั่งซื้อที่มีชื่อปรากฏการจองสินค้า เช่น ถ้าร้านขายใน Facebook เราก็ Inbox ไปสอบถามความรู้สึก ความคิดเห็นว่า สินค้าเป็นอย่างไร เพื่อเก็บเป็นข้อมูลการตัดสินใจได้อีกทาง 5. อย่าเห็นแก่ของราคาถูก! ถ้าพบว่าร้านค้าออนไลน์ขายของถูกเกินจริง ต้องยิ่งสังเกตและระวังเป็นอย่างมาก เพราะโอกาสโดนหลอกสูงมากๆ  และอุทาหรณ์ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีนี้6. ลองสั่งซื้อของจำนวนน้อยๆ ก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจว่า คนขายคนนั้น ส่งของจริง และมีตัวตนจริงๆ (หากเป็นคนโกง เค้าจะพยายามให้คุณสั่งของทีละมากๆ ระวังเอาไว้)7.อย่าไว้ใจแค่ social network ของผู้ขาย เพราะบางคนมีหลายแอ็คเค้า(account)  พยายามขอแอ็คเค้าจริงๆ ที่เขาใช้ ที่สามารถเห็น เพื่อนๆ และพฤติกรรมจริงๆ ได้8.ตรวจสอบดูความใหม่ของสินค้าหน้าเว็บไซต์ และการอัพเดทเว็บไซต์ หากเว็บไซต์มีการอัพเดทเป็นประจำ เช่นมีสินค้าใหม่ๆ มีการเปลี่ยนแปลงโปรโมชั่น การอัพเดทสินค้าเป็นประจำ ก็แสดงให้เห็นว่าเจ้าของร้านดูแลหน้าร้านออนไลน์ของเขาอยู่จริง ทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้น9. ส่วนการจ่ายเงิน หากจำเป็นต้องโอนผ่านธนาคาร พยายามเลือกร้านที่มีรีวิวการส่งสินค้า การรับสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้ใช้รูปเดิม เพื่อยืนยันว่ามีการส่งสินค้าจริงที่มา  http://money.sanook.com/229693/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 167 ไม่ได้ขออะไร แค่ขอให้คิดราคาตามที่ใช้จริง

ท่านผู้อ่านคงได้รับรู้บ้างเรื่องที่  สปช.มีมติให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคม(โทรศัพท์) คิดค่าบริการลูกค้า  ตามที่ใช้จริงเป็นวินาที (ปัจจุบันคิดเป็นนาที) เพราะมีผู้ร้องเรียนว่าถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ  ในการเรียกเก็บค่าใช้บริการ  เช่น  ใช้จริง 1 นาที 1 วินาที  ก็จะถูกเรียกเก็บเป็น 2 นาที  ใช้ 3 นาที  5 วินาที  จะถูกเรียกเก็บ เป็น 4 นาที เป็นต้น  สรุปหากมีเศษวินาที ไม่ว่ามากหรือน้อย จะถูกปัดขึ้นไปเป็นนาทีโดยอัตโนมัติวันที่ 13 มกราคม 2558  ผู้เขียนได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค  (ของ สปช.) ร่วมกับผู้ให้บริการทุกค่าย   มีคำถามหลายคำจากผู้บริโภคที่ทำให้ผู้ให้บริการไม่พอใจ  เช่น  หากเราไปซื้อส้ม 1 กิโลกรัม แม่ค้าชั่งให้ 1 โล 1 ขีด  เรียกว่าอะไร  โกงตราชั่งหรือโกงเงิน  การปัดวินาทีเป็นนาที เรียกว่าโกงมั้ย?  ถึงกับออกอาการว่า ไม่ได้โกง  ไม่สบายใจเลย ที่ถูกกล่าวหาว่าโกง  สูตรคิดค่าบริการนี้ เป็นสากล ใครๆ เขาก็ใช้กันมีคำถามอีกว่า  ทำไมไม่ปัดเศษลง   ปรับขึ้นเป็นนาทีทำไม?  ไม่มีคำตอบ   แต่มีคำต่อว่า สปช.ว่าเรื่องเก็บเงินเป็นนาทีหรือวินาทีเป็นเรื่องเล็กๆ ผู้ประกอบการแข่งขันกันอยู่แล้ว  ยังไงค่าโทรก็จะถูกลงเอง  สปช. ควรจะไปทำเรื่องใหญ่ไม่ใช่มาทำเรื่องเล็กเรื่องน้อยอย่างนี้ ( หึ.....เรื่องที่เกี่ยวกับคน 60  กว่าล้านคนนี่นะเรื่องเล็ก)  ผู้ให้บริการยังบอกต่ออีกว่า ผู้บริโภคอาจไม่พอใจ ในการเก็บเงินเป็นวินาที  เพราะคนโทรสั้น จะได้ประโยชน์  แต่นักธุรกิจที่โทรยาวๆ จะเสียประโยชน์ (อ้าว...ตกลงทุกวันนี้คนจนช่วยจ่ายค่าโทรศัพท์ให้คนรวยใช่มั้ย???) คุณหมอประวิทย์  ลี่สถาพรวงศา  กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค  พูดชัดเจนว่า  ปัจจุบันคนโทรสั้นต้องรับภาระจ่ายค่าโทรให้คนโทรยาว  เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง  ที่ถูกต้องคือ ใครใช้เท่าไร  ต้องจ่ายเท่านั้น  และการคิดค่าบริการเป็นวินาที ก็น่าจะทำได้เลย  เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการ  ก็มีเทคโนโลยี ตรวจการใช้บริการเป็นวินาทีอยู่แล้ว  ปัญหาคือการปัดเศษขึ้นไปเป็นนาที  ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค  และการแก้ปัญหาโดยการใช้โปรโมชั่น  นาทีและวินาที ที่อ้างว่าเป็นทางเลือกน่าจะไม่ถูกต้อง   แต่ต้องกำหนดให้ทุกโปรโมชั่น  ต้องคิดค่าบริการตามที่ใช้จริง   ที่สำคัญในระยะเวลาอันใกล้นี้   จะมีการประมูล 4G   จะเสนอให้ กสทช. กำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจนว่าผู้ประกอบการที่จะเข้าประมูลต้องคิดค่าบริการตามที่ผู้บริโภคใช้จริง

อ่านเพิ่มเติม >