ฉบับที่ 165 กล่องโฟม เลิกได้ไหม

ทำดีต้องชม     ก่อนอื่นขอชื่นชมการทำงานของ อย.  ณ  ยุคสมัยนี้  ที่กล้าหาญ  ออกมาประกาศชื่อสินค้าไม่ปลอดภัยกว่า 20  รายการ  นับว่ามีกระบวนการพัฒนาการทำงานที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้ระดับหนึ่ง   แต่ปัญหาเรื่องอาหารปลอดภัย  ยังมีเรื่องราวอีกมากมาย ที่รอการแก้ไขทั้งการโฆษณาหลอกลวง ทั้งกระบวนการผลิต ที่ผู้ผลิตขาดความรู้ความเข้าใจและอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคโดยที่ผู้ผลิตเองก็มิได้ตั้งใจต้นเดือน พฤศจิกายน  2557  ผู้เขียนได้เดินทางไปร่วมประชุมกับเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดหนึ่ง ที่อยู่ใกล้ๆกับกรุงเทพฯ  น้องๆ บอกว่า  วันนี้อาหารว่างเป็นขนมไทย(อุ้ยดีใจ..ของชอบของเราเลย) ถึงเวลาน้องๆ ก็เอาขนมมาเสิร์ฟ    เห็นแล้วว่าเป็นขนมตะโก้เผือกอยู่ในกล่องโฟม   ไม่ทันดูให้ละเอียดตักกินเลย   คำแรกถึงกับอึ้ง  เพราะขนมที่กินเข้าไป กลิ่นโฟมฉุนมาก  เลยก้มไปดูในกล่อง   บอกตรงๆ เห็นแล้วตกใจ  เพราะไม่ใช่ขนมชิ้นๆ ตักใส่กล่องมาอย่างที่เคยเห็น    แต่เป็นการเอาขนมใส่นึ่งมาในกล่องเลยเราเชื่อว่าแม่ค้าคงเน้นความสะดวกเป็นหลัก  คงไม่ทันนึกว่าทำเช่นนี้ จะเกิดอันตรายต่อคนกินอย่างไร     แต่เรื่องนี้ในฐานะคนทำงานด้านสิทธิผู้บริโภค  เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องออกมาเตือนกัน   ไม่อย่างนั้นจะเกิดวัฒนธรรมเลียนแบบ   และจะก่อให้เกิดอันตรายต่อคนกินในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ งานนี้บอกตรง   หากใครจะใช้สิทธิ ร้องเรียน  น่าลำบากมากในการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาดูแล  เพราะไม่รู้หน่วยงานไหนกันแน่ที่ดูแลเรื่องนี้     ถ้าเป็นอาหาร(ในบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูป มีหีบห่อ) ก็รู้อยู่ว่า   อย. ดูแล  แต่ถ้าเป็นบรรจุภัณฑ์(ที่เป็นโฟม) สมอ. และ สคบ. ดูแล   แต่พอเอาอาหารมาใส่กล่องโฟม  เลยยุ่งๆ ไม่รู้ใครกันแน่ที่ต้องดูแลเรื่องนี้  เอาเป็นว่าหน่วยงานไหนก็ได้ ช่วยออกมาส่งเสียงเตือนทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค   ถึงอันตราย  ที่เรามองเห็นแต่ “ไม่รู้” ให้ได้รู้เพื่อป้องกันต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 ไฟฟ้าไทย คำนวณผิดผลิตเกินผู้บริโภครับกรรม

คงยังไม่ลืมกันว่า เมื่อเดือนเมษายน  2557   มีการเสนอข่าวจากเจ้าหน้าที่รัฐ  และนักการเมืองออกมาให้ข้อมูลที่ทำให้ประชาชน  ประหวั่นพรั่นพรึงตื่นตระหนกกันทั้งประเทศ เรื่องไฟฟ้าอาจไม่พอใช้   เพราะหลุมก๊าซจากพม่าบางหลุมหยุดซ่อมบำรุงและงดส่งก๊าซ  ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพออาจจะเกิดไฟฟ้าดับได้ในบางพื้นที่   พร้อมโหมโฆษณาอย่างมโหฬารว่า  มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดทำลายสถิติการใช้ไฟฟ้า ปีนี้ ปีนั้นจากนั้นก็มี  พระเอกจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตออกมาให้ข่าวว่า ไฟฟ้าสามารถจัดการไม่ให้เกิดไฟฟ้าดับได้แล้ว   “โดยใช้ความสามารถจากการจัดการของการไฟฟ้าฯ” ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ(โถ....ช่างเป็นพระคุณจริงๆ ) แต่ข้อมูลที่เปิดเผยออกมาคือ  การใช้ไฟฟ้าสูงสุด ในเดือน เมษายน 2557   ใช้อยู่ที่ 26,940 mw  เท่านั้น  และเมื่อเปิดไปที่เอกสารกำลังการผลิตไฟฟ้าในเดือน มิถุนายน 2557  รวมทั้งสิ้น  34,4179 mw   ผลิตเกินจำนวนที่ใช้ไปถึง  7,237  mw  เอ...มาตรฐานการผลิตไฟฟ้า ต้องมีสำรองไฟฟ้าไว้ 15% หรือ 4,041 mw  มิใช่หรือ แต่เมื่อบวกลบคูณหารแล้ว หักไฟฟ้าสำรองแล้วก็ยังมีไฟฟ้าเกินไปอีกจำนวน 3,196 mw  รวมแล้วปัจจุบันมีไฟฟ้า สำรองถึง 15 %  คิดเป็นเงินลงทุนเกินความจำเป็นถึง ประมาณ 110,000  ล้านบาท     โดยที่กลุ่มผู้คำนวณการผลิต ผิดพลาดไม่ต้อง ”รับผิดชอบ” แต่โยนภาระให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า เป็นผู้รับผิดชอบ จ่ายเงินที่ลงทุนเกินเหล่านี้  โดยบวกเข้าไปในบิลค่าไฟฟ้า ของประชาชนทุกครัวเรือน   ขอตั้งคำถาม คำโตๆว่า  ทำเช่นนี้ มันเป็นธรรมกับผู้บริโภคแล้วหรือที่น่าตกใจมากไปกว่านั้นคือ  จำนวนไฟฟ้าที่เกินมานี้  ยังไม่รวมการผลิตจากโรงไฟฟ้า  ที่ประชาชนออกมาคัดค้านให้สร้างไม่ได้ เกือบ 10 โรง  ถึงตรงนี้ต้องขอบคุณกลุ่มผู้ที่ออกมาคัดค้านโรงไฟฟ้า ที่ช่วยให้ประชาชนไม่ต้องแบกภาระกันหลังอานไปมากกว่านี้ เพราะหากปล่อยให้มีการผลิตไฟฟ้าได้ตามแผน PDP 2014   ที่นายทุน/นักการเมือง/เจ้าหน้าที่รัฐรวมหัวกันกำหนด ให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ทั้งพลังงานนิวเคลียร์  ถ่านหิน ฯลฯ นึกภาพไม่ออกว่ามันจะมีไฟฟ้าเกินไปอีกเท่าใด   ใครได้ประโยชน์  แล้วใครเสียประโยชน์ ถึงวันนี้ชาวกระบี่ ก็ยังต่อสู่กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จะสร้างในพื้นที่กันอย่างเข้มข้น เราก็ขอเอาใจช่วย  หากสร้างได้เมื่อใดต้นทุนที่สร้างโรงไฟฟ้านั้นจะมาอยู่ในบิลค่าไฟของเรา  จึงขอเรียกร้องให้  ท่านนายกประยุทธ์   จันทร์โอชา   ช่วยคืนความสุขให้ผู้บริโภคได้ใช้ราคาพลังงานที่เป็นธรรม  ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังภายใต้อำนาจพิเศษ  แล้วเราจะ “ไว้ใจ และศรัทธา”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 160 เจอค่าอาหารโครตแพง ทำอะไรได้บ้าง

คุณขิ่ม (สุทธินันท์) โทรมาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ตนเองและครอบครัวไปฉลองวันเกิดให้คุณพ่อที่ภัตตาคารแถวปิ่นเกล้า ซึ่งเป็นภัตตาคารอาหารจีน  เมื่อไปถึง พบว่าตัวเองเป็นลูกค้าโต๊ะแรก  พนักงานเข้ามาต้อนรับและแนะนำเมนูให้หลายอย่าง เช่น หูฉลามน้ำแดง กระเพาะปลาน้ำแดง  ฯลฯ  แต่ที่ได้ยินเสียงเชียร์ว่า เป็นอาหารขึ้นชื่อมาก ลูกค้าที่เป็นข้าราชการมักจะแวะมาทานกันบ่อยๆ    คืออาหารประเภทก้ามปูและปลากระพง จึงสั่งก้ามปูผัดน้ำพริกเผาจานเล็กมาลองชิมกัน  และปลากะพงนึ่งซีอิ๊ว  หูฉลามน้ำแดง กระเพาะปลาน้ำแดง  ผัดหมี่ ต้มยำกุ้ง  ข้าวผัดปู ปอเปี๊ยะทอด คะน้าผัดน้ำมันหอย  รวมแล้วประมาณ 9  อย่างเพราะไปกันเกือบ 10 คนหลังจากรับประทานอาหารเสร็จเช็คบิล แทบเป็นลมเพราะเจอราคาอาหารเข้าไป 10,150   บาท  สอบถามราคาอาหารทุกจาน ก็พอรับได้ แต่เจอก้ามปูผัดน้ำพริกเผาจานเดียว 3,500  บาท ถามว่าทำไมถึงคิดราคานี้ในเมื่อจานเล็กแค่ 800  บาท  พนักงานก็ตอบว่า เฉพาะเมนูนี้คิดราคาเป็นก้าม  ก้ามละ 400 บาท  เพราะใช้ปูคัดสรรอย่างดี อ้าวเมนูไม่เห็นเขียนบอกไว้ เถียงกันไปมา  สรุปก็ต้องยอมจ่ายเงินไปเพราะกินไปแล้ว เสียทั้งเงินและความรู้สึก  แต่ที่มาร้องเรียนเพราะไม่อยากให้คนที่ไปรับประทานแล้วพบเจอปัญหาแบบตนเองอีก แนวทางการแก้ไขหลังจากรับเรื่องร้องเรียนศูนย์พิทักษ์สิทธิ ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ร้านอาหารดังกล่าว ด้วยการไปสั่งอาหารรับประทานบางอย่าง พบว่าราคาอาหารนั้นมีเขียนบอกไว้ทุกรายการ  เช่น ปลากะพงนึ่งซีอิ๊วนั้น บอกราคาขายเป็นขีด ขีดละ 140 บาท  ส่วนอาหาร ประเภทอื่นจะระบุราคาตามขนาด เล็ก กลาง ใหญ่   โดยเฉพาะเมนูก้ามปู ที่ทีมศูนย์ฯ ไปลองสั่งพบว่า พนักงานจะพยายามเชียร์และอธิบายให้ฟังว่าจานเล็กจะไม่พอทาน เพราะมี 2 ก้าม ควรสั่งให้ครบตามจำนวนคนที่ไปจะได้รับประทานกันทั่วถึง ซึ่งจะคิดก้ามละ 400 บาท  ที่แพงเพราะเป็นปูที่ไปสั่งจากผู้เลี้ยงเฉพาะไม่ได้ซื้อจากตลาดทั่วไปเพราะไม่ได้ขนาดที่ต้องการ  อีกทั้งช่วงเศรษฐกิจขาลง ทำให้ลูกค้าในร้านน้อยเพราะราคาอาหารค่อนข้างสูง เมื่อทราบข้อเท็จจริง ศูนย์ฯ ได้กลับมาสอบถามคุณขิ่มเพิ่มเติม จึงได้รับทราบว่าทางร้านพยายามเชียร์ให้สั่งอาหารแบบเดียวกันและวันนั้นมีลูกค้าอยู่โต๊ะเดียวแต่วิธีการไม่เหมือนกันภายหลังจากตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด  ศูนย์ฯ ได้ทำหนังสือถึงผู้ประกอบการเพื่อแก้ไขปัญหา เรื่องเมนูที่ไม่ได้แสดงรายละเอียดให้ชัดเจน    ซึ่งทางร้านได้มีหนังสือชี้แจงว่า ได้ปรับเปลี่ยนเมนูใหม่ เพื่อให้ชัดเจนขึ้น //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 ค้างค่างวดรถ 3 งวด แต่จะให้จ่าย 6 ไหวไหม

สมัยนี้ยังจะมีใครซื้อรถด้วยเงินสดๆ แบบจ่ายทีเดียวไหม คงน้อยมากๆ แม้แต่คนที่มีเงินมาก ก็ไม่ทำเพราะระบบลิซชิ่งหรือระบบเช่าซื้อรถยนต์มันทำให้บริหารเงินได้ดีกว่าที่จะเอาเงินเยอะๆ ไปทุ่มในครั้งเดียว และยังช่วยให้คนเงินน้อยสามารถมีรถยนต์เป็นของตนเองได้ บริษัทรถยนต์ก็ขายได้มากขึ้น ยังไม่รวมนโยบายรถคันแรกที่รัฐบาลออกมาช่วยกระตุ้นยอดขายด้วย เราจึงเห็นปรากฏการณ์ยอดขายรถยนต์สูงลิ่วในทุกปีการเช่าซื้อหรือทำสัญญาเช่าซื้อ (Hire-Purchase) คือ สัญญาที่เจ้าของทรัพย์สินหรือผู้ให้เช่าซื้อนำทรัพย์สินออกให้เ ช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินหรือให้ทรัพย์สินตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้เช่าซื้อ เมื่อผู้เช่าซื้อได้ชำระเงินครบถ้วนตามสัญญาแล้วการเช่าซื้อรถยนต์เราจึงยังไม่ได้เป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์แต่เป็นเพียงผู้เช่าซื้อ โดยมีสัญญาว่าจะชำระเงินให้เป็นงวดๆ ให้แก่เจ้าของจริง ซึ่งก็คือบริษัทที่ให้บริการเช่าซื้อรถยนต์ ถ้าสามารถจ่ายเงินได้ตรงงวดคงไม่มีปัญหา ปัญหามาเกิดเอาตรงที่จ่ายไม่ทันและถ้าไม่ทัน 3 งวดติด เจ้าของเขาก็จะมายึดรถ(ทรัพย์)ของเขาทันทีคุณพิมลวรรณเช่าซื้อรถยนต์กับบริษัท โตโยต้า ลิสซิ่ง(ประเทศไทย) จำกัด เป็นราคาค่าเช่า 857,247 บาท โดยจะชำระงวดละ 8,733 บาท แต่เกิดปัญหาขึ้นเมื่อคุณพิมลวรรณขาดส่งไป 3 งวด ไม่นานทางบริษัทลิสซิ่ง ได้ให้พนักงานมานำรถไปพร้อมบอกว่า ให้ไปไถ่ถอน ด้วยการชำระเงิน 3 งวดที่ขาดส่งไป รวมค่าปรับ ค่าติดตามรถ พร้อมค่าไถ่ถอนทั้งสิ้น 36,624 บาท โดยให้เวลาดำเนินการ 6 เดือน แต่เมื่อคุณพิมลพรรณติดต่อกลับไปทางโทรศัพท์เพื่อขอทราบรายละเอียดค่าบริการค่าปรับต่างๆ ก็ได้ข้อมูลใหม่ชวนตกใจว่า คุณพิมลพรรณต้องชำระทั้งหมด 89,022 ซึ่งเป็นยอดที่รวมค่าเช่าล่วงหน้าอีก 6 เดือน จึงจะมารับรถคืนได้ แนวทางแก้ไขปัญหาทางศูนย์พิทักษ์ฯ ได้สอบถามข้อมูลจากคุณพิมลพรรณ พบว่า ยอดค่าใช้จ่ายที่ถูกเรียกเก็บเกิดจากการเจรจาความกันทางโทรศัพท์ ซึ่งคุณพิมลพรรณมิได้รับหนังสือบอกกล่าวจากบริษัทแต่อย่างใดตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์นั้น ความข้อ 3 มีสาระสำคัญและมีเงื่อนไข ที่เกี่ยวข้องดังนี้ (4) ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ในกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรายงวด 3 งวดติดๆ กัน และผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวผู้เช่าซื้อให้ใช้เงินรายงวดที่ค้างชำระนั้นภายในเวลาอย่างน้อย 30 วัน นับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือและผู้เช่าซื้อละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวนั้น (5) เมื่อผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและกลับเข้าครอบครองรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ให้เช่าซื้อ เพื่อนำออกขายให้แก่บุคคลอื่น     ก. ก่อนขายให้แก่บุคคลอื่น ผู้ให้เช่าซื้อต้องแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อทราบเป็นหนังสือไ ม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ       ข. ในกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกขาย หากได้ราคาเกินกว่ามูลหนี้ในส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจะคืนเงินส่วนที่เกินนั้นให้แก่ผู้เช่าซื้อ แต่หากได้ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ในส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะรับผิดส่วนที่ขาดนั้นเฉพาะกรณีการขายโดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาดที่เหมาะสมเท่านั้นเมื่อไม่มีหนังสือแจ้งบอกกล่าว เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์ฯ จึงได้ติดต่อกลับไปยัง บริษัท โตโยต้า ลิสซิ่ง เพื่อขอทราบข้อเท็จจริง อีกทั้งแจ้งให้ทางผู้ร้องชำระเงินค่างวดที่ค้างไว้ 3 งวดแก่บริษัทฯ เพื่อให้สัญญากลับคืนสู่สภาพ ทางศูนย์ฯ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ว่า ผู้ร้องผิดสัญญาเพราะผิดนัดชำระ 3 งวด ในหนังสือบอกกล่าวก็ระบุไว้ว่าให้ชำระทันที จุดนี้ทางศูนย์ฯ แย้งว่า ผู้ร้องไม่ได้รับหนังสือบอกกล่าวจากทางบริษัทแต่อย่างใด อีกทั้งการชำระทันทีก็ยังต้องอยู่ในเงื่อนไขตามประกาศของ สคบ. คือ ไม่เกิน 30 วัน จึงถือว่ากรณีนี้ผู้ร้องมิได้กระทำผิดสัญญาและยังได้ชำระค่างวดที่ค้างอยู่ทั้งหมดแล้ว ทางบริษัทจึงต้องคืนรถยนต์ให้กับผู้ร้องโดยทันทีเมื่อแย้งกลับไปด้วยข้อกฎหมายทางฝ่ายบริษัทฯ เลยขอพักการเจรจาก่อนบอกว่า ตนเองมิใช่คนดูแลโดยตรง จะติดต่อกลับในภายหลังต่อมาผู้ร้องได้แจ้งว่า บริษัทฯ ติดต่อให้ไปรับกุญแจคืนและตนก็ได้ไปรับตรวจรถเรียบร้อยแล้ว จึงขอขอบคุณมูลนิธิฯ มา ณ ที่นี้   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 ร้องเรียนกรณี ถูกฉ้อโกงค่าใช้บริการ

30 หมู่ที่ 8 ตำบล บางแก้วอำเภอ เมือง จังหวัดสมุทรสงคราม วันที่   28   พฤศจิกายน  2556 เรื่อง  ร้องเรียนกรณี ถูกฉ้อโกงค่าใช้บริการ เรียน   กสทชด้วยดิฉัน  นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม  หมายเลขบัตรประชาชน 37501-00253-723    เป็นผู้ใช้โทรศัพท์ หมายเลข 081- 3089020   ใช้แบบชำระค่าบริการรายเดือนของบริษัท DTAC  ได้รับความเสียหาย ถูกฉ้อโกงค่าใช้บริการ หลายเดือนโดยที่ไม่ได้ใช้บริการวันที่ 28 พฤศจิกายน  2556  ดิฉันได้ไปจ่ายค่าบริการโทรศัพท์ ที่ศูนย์ DTAC จังหวัดสมุทรสงคราม ด้วยตัวเอง(ซึ่งเดือนก่อนๆ ให้ลูกน้องไปจ่ายแทน) ซึ่งมียอดต้องชำระ 2 เดือน มียอดรวม 1,622  บาท  จึงได้ถามว่าดิฉัน ใช้บริการโปรฯ 599 ต่อเดือน(รวมอินเตอร์เน็ต) ทำไมค่าบริการจึงสูงกว่า 599  บาท  ได้คำตอบว่า  ส่วนที่เกินมาจากค่าใช้บริการบันเทิงดารา  และการสมัครข่าวฮอตนิวส์  ซึ่งดิฉันไม่เคยสมัครใช้บริการดังกล่าว และไม่เคยได้รับบริการใดๆ (นอกจากสมัครรับข่าวของสำนักข่าวอิศรา) มีเพียงได้รับข้อความทาง SMS เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน  2556  ว่า “ระบบจะต่ออายุบริการHotNews-FT 15D&Normal 29.00 บาท 30 วัน ในวันที่ 2013 -11-14 สอบถามโทร 02-9412815”  ซึ่งดิฉันไม่สนใจและไม่คิดจะรับบริการ  จากนั้นวันที่  14 พฤศจิกายน  2556  ดิฉันก็ได้รับข้อความว่า ระบบได้ต่ออายุบริการแล้ว(ดิฉันได้นำข้อมูลนี้ให้คุณฐากร  ตันฑสิทธิ  เลขา กสทช ดูแล้ว) ส่วนค่าบริการบันเทิงดาราดิฉันมาทราบภายหลังว่า มีการให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2556  ทั้งที่ดิฉันไม่เคยสมัครและไม่เคยรับบริการข่าวบันเทิงใดๆ พฤติกรรมการให้บริการของ  DTAC   เข้าข่ายฉ้อโกงผู้บริโภค อย่างชัดเจน  จึงขอร้องเรียน ให้ DTAC ชดเชยค่าเสียหายดังนี้ เรียกร้องค่าบริการที่เรียกเก็บเกิน  ตามที่เก็บเกินไปจริง เรียกร้องค่าเสียหายกรณีเสียเวลา เสียค่าโทรศัพท์ เสียค่าเดินทางและอื่นๆในกระบวนการร้องเรียน   กรณีถูกฉ้อโกง  จำนวน 5,000  บาท (เพราะผู้บริโภคไม่ได้มีหน้าที่ร้องเรียน  แต่ผู้ให้บริการมีหน้าที่ให้บริการอย่างตรงไปตรงมา มิใช่ช่อโกงผู้บริโภคได้ตามที่ต้องการ) ห้ามมิให้ DTAC ส่งบริการเสริมใดๆโดยไม่ได้มีการส่งคำร้องขอ   ลงชื่อ  นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม ผู้ร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 จัดฉากไปทำไม??

1  กันยายน  2556   วันที่ผู้บริโภคไทยต้องจดจำเป็นพิเศษ   เพราะเป็นวันของแพงแห่งชาติ  บรรดาสินค้าที่มีความสำคัญในชีวิตประจำวันตั้งแต่  แก๊ส   ค่าไฟฟ้า  ค่าทางด่วน  นัดกันขึ้นราคาพร้อมๆ กัน จนผู้บริโภคอย่างเรามึนไปตามๆ กัน  และยิ่งมึนไปกว่านั้นคือ ประโยคเด็ด ของท่านปลักกระทรวงพาณิชย์ ที่ว่า  “ของไม่ได้แพงจริง  ที่คิดว่าของแพง มันเป็นแค่ความรู้สึก”  เล่นเอาผู้ฟังอย่างเราๆ สะอึกจนพูดไม่ออกเอ้า..กลับมาเข้าเรื่องกันหน่อย  เรื่องนี้ยังผูกติดอยู่กับ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ที่เขียนย้ำบ่อยๆ เกี่ยวกับกกพ. เพียงต้องการให้ผู้บริโภคทราบว่า  กกพ.นี่แหละ เป็นคนชี้เป็นชี้ตาย  เรื่องการขึ้นราคาไฟฟ้าในประเทศเรา  คราวที่แล้วเขียนเรื่องไฟดับ 14  จังหวัด  ส่งข้อเสนอไป  เงียบ...ไม่มีคำตอบ  (อยู่ระหว่างทวงถาม) คราวนี้มาใหม่ วันที่ 23  สิงหาคม 2556  มีข้อมูลผ่านสื่อว่า กกพ. มีมติขึ้นค่าไฟฟ้า อัตโนมัติ(FT)  สำหรับเดือนกันยายน – ธันวาคม 2556 อีก 7.2  สต.ต่อหน่วย  ผู้เขียนในฐานะคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต  ได้ท้วงติงการตัดสินใจของกกพ. ที่ไม่ผ่านการรับฟังความคิดเห็น  จากนั้นก็ได้รับข้อมูลจากฝ่ายคุ้มครองสิทธิฯ(กกพ) ให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกับการขึ้นราคาค่า FTโดยเปิดให้แสดงความคิดเห็นจนถึงวันที่ 30  สิงหาคม  2556   ผู้เขียนจึงนำเรื่องนี้เข้า ที่ประชุมเพื่อให้คณะกรรมการร่วมกันที่ประชุมได้พิจารณาข้อมูลที่ กกพ. เสนอมา และมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง  และได้มีมติเป็นเอกฉันท์  “ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าFT ” ที่กกพ. มีมติ เห็นชอบตามข้อเสนอของ กฟผ. ฝ่ายเดียว      ผลสรุปมีข้อเสนอส่งไปถึงกกพ. ดังนี้1. กกพ.  เป็นองค์กรกำกับ  ไม่ควรที่จะด่วนตัดสินใจขึ้นค่า FT   โดยพิจารณาเพียงข้อมูลที่ กฟผ. เสนอมาเพียงฝ่ายเดียว  เพราะขาดความรอบคอบ เกี่ยวกับการตัดสินใจที่ ส่งผลต่อผู้ใช้พลังงานทั้งประเทศ      2. กกพ.    ควรจัดให้มีมีกระบวนการ ศึกษาข้อมูล ต้นทุนการผลิตไฟฟ้า  เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลจาก กฟผ.  เพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้านในการตัดสินใจ ให้เกิดความเป็นธรรม  ทั้งกับผู้ประกอบการ และผู้ใช้พลังงาน3. กกพ.ควรดำเนินการพัฒนาสูตรคำควณการขึ้นค่าไฟฟ้า อัตโนมัติ(ค่าFT)ขึ้นใหม่      โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย  เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำสูตรคำนวณการขึ้นค่าไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (FT) ให้เป็นที่ยอมรับ และมีความเป็นธรรมมากขึ้นเมื่อได้ข้อเสนอแล้วก็ส่งไปให้กกพ. ภายในวันที่กำหนดคือ 30 สิงหาคม 2556  ซึ่งเป็นวันศุกร์  เจ้าหน้าที่ตอบรับเรียบร้อย  วันที่ 31 เป็นวันเสาร์  วันที่ 1 กันยายน 2556 วันอาทิตย์  ค่า FT ขึ้นทันที  คำถามคือ เขารับฟังความคิดเห็นทำไม?  รับฟังแล้วนำข้อเสนอไปพิจารณาตอนไหน?  คำถามนี้คงยังไม่มีคำตอบ  แต่คงเป็นภาระที่พวกเราต้องค้นหาคำตอบร่วมกัน  ว่าองค์กรกำกับที่ปฏิบัติหน้าที่เช่นนี้พวกเราจะจัดการกับพวกเขาอย่างไร ?  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 สมาร์ทโฟนแค่เดือนเดียวเจ๊งต้องขอเปลี่ยนคืน

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 เวลาประมาณ 6 โมงเย็นที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ภูษิตเข้าไปซื้อสมาร์ทโฟน Sony Xperia SZ(LT26i) ในราคา 15,990 บาทจากบริษัท ทีจี เซลลูล่าร์เวิลด์ จำกัด สาขาที่ 108หลังจากใช้งานได้ประมาณ 1 เดือน มือถือเริ่มมีอาการค้างบูทเอง และเปิดเครื่องไม่ได้ในท้ายที่สุด“วันที่ 15 ตุลาคม 2555 ผมเอาเครื่องไปส่งซ่อมที่ศูนย์โซนี สาขามาบุญครอง ช่างบอกว่าต้องลงโปรแกรมใหม่ ใช้เวลา 2 ชั่วโมงมารับเครื่องได้ หลังจากรับเครื่องไปใช้ได้เพียงหนึ่งวัน เครื่องก็มีอาการเดิมครับ”“วันที่ 17 ตุลาคม 2555 ผมนำเครื่องกลับไปที่ศูนย์มาบุญครองอีก ช่างแจ้งว่าต้องนำไปที่ศูนย์ทองหล่อ ซอย 9 เพื่อตรวจสอบ เพราะอาจเสียที่ฮาร์ดแวร์และเป็นศูนย์ใหญ่แน่นอนกว่า”“ในวันเดียวกันผมจึงเดินทางไปที่ศูนย์ทองหล่อซอย 9 ช่างยืนยันจะลงโปรแกรมให้เหมือนเดิม อ้างว่าศูนย์มาบุญครองอาจลงไม่ครบ”“หลังจากที่ผมรอ 2 ชั่วโมงกลับมารับเครื่อง ระหว่างตรวจสอบก่อนรับเครื่องคืน เครื่องก็มีอาการดับเอง บูทเครื่องเองอีก ต้องใช้เวลานานมากเพื่อให้ช่างรับเครื่องไว้ เพื่อให้ตรวจสอบฮาร์ดแวร์”“ช่างพยายามบอกให้ผมนำเครื่องกลับไปใช้ก่อน แต่ผมไม่มีความมั่นใจอีกแล้ว สุดท้ายเจ้าหน้าที่จึงรับปากจะตรวจสอบฮาร์ดแวร์ให้อย่างละเอียด บอกว่าใช้เวลา 3 วัน” วันที่ 19 ตุลาคม 2555 ครบกำหนดสามวันภูษิตกลับไปรับเครื่อง เมื่อเปิดเครื่องตรวจสอบเครื่องก็ดับต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของศูนย์โซนีเลย“ผมไปรับเครื่องตั้งแต่บ่ายสามโมงเย็น คุยจนศูนย์ปิดห้าโมงเย็น ถามเจ้าหน้าที่ว่าเครื่องมีปัญหาชัดเจนแบบนี้ทำไมไม่ทำอะไรให้ ช่างจึงรับปากว่าจะเปลี่ยนเมนบอร์ดให้ แต่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 อาทิตย์”“ผมไม่มีความมั่นใจในบริการอีกแล้ว เครื่องไม่สามารถใช้ได้ต้องรอนาน ศูนย์ไม่ใส่ใจในการแก้ปัญหา ผมเขียนอีเมล์ถึงบริษัทโซนี เพื่อขอให้รับซื้อสินค้าคืน และขอร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยติดตามเรื่องด้วยครับ” แนวทางแก้ไขปัญหาโดยทั่วไป ผู้ประกอบธุรกิจมักจะมีระยะเวลารับประกันสินค้าหากเกิดความชำรุดบกพร่องอันเนื่องจากสภาพตัวเครื่องหรือการใช้งานตามปกติ และมักจะใช้วิธีการซ่อมแล้วซ่อมอีกซ่อมไปเรื่อยๆ จนหมดระยะเวลารับประกัน หลังจากนั้นก็โบกมือบ๊ายบายแต่เดี๋ยวนี้มือถือนี่เหมือนรถยนต์ ราคาไม่ใช่ถูก จึงเป็นสินค้าที่เอามาขายต่อได้ ซื้อมาใช้ อยากเปลี่ยนใหม่ก็ขายต่อได้ แต่ถ้าต้องเจอแบบซื้อมาแป๊บเครื่องซ่อมแล้วซ่อมอีก ซ่อมก็ไม่หายจะเอาไปขายต่อใครก็ไม่ได้ เพราะเครื่องยังเจ๊งอยู่ซ่อมไม่หาย ใช้งานไม่ได้ ขายไม่ได้ ดังนั้นผู้ขายผู้ผลิตจึงต้องรับผิดชอบที่เกิดขึ้นซ่อมได้ หายก็จบ ซ่อมไม่ได้ก็ต้องคืนสินค้าและเรียกร้องค่าใช้จ่ายทั้งหมดคืนหลังจากที่ภูษิตส่งอีเมล์ถึงโซนี และได้แสดงอาการเสียและความล้มเหลวในการซ่อมให้เห็นอย่างแจ่มแจ้ง และได้แสดงความประสงค์อย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการเปลี่ยนสินค้าตัวใหม่เพราะขาดความมั่นใจในคุณภาพของสินค้า ท้ายที่สุดโซนีจึงให้บริษัททีจี เซลลูล่าร์เวิลด์ จำกัด ผู้จำหน่ายสินค้า ชำระเงินคืนทั้งหมดจำนวน 15,990 บาทคืนแก่ภูษิตจนเป็นที่เรียบร้อย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 หม้อมิเตอร์หมุนปรื๊ด ทำค่าไฟกระโดดกบ

 เมื่อเดือนธันวาคม 2555 อรรถนนท์ ได้เช่าบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านนันทนาการ์เดนท์ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เป็นที่พักอาศัยตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 เรื่อยมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2556 สามเดือนแรกของการเข้าพักอาศัยหม้อมิเตอร์ไฟฟ้าหมุนดีไม่มีปัญหา มีการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยในบ้านหลังนี้ประมาณ 285 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟตกเดือนละประมาณ 1,200 บาท จนเมื่อวันที่ 15 เมษายน  อรรถนนท์เดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด และกลับมาที่บ้านเช่าอีกทีในวันที่ 3 พฤษภาคม พบใบแจ้งค่าไฟฟ้าที่ส่งมาถึงบ้านก็ตกใจค่าไฟฟ้าในช่วงรอบเดือนล่าสุดระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน 2556 ปรากฏว่าบิลค่าไฟฟ้าแจ้งว่ามีหน่วยการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 2,032 หน่วย คิดเป็นค่าไฟ 9,488.61 บาท “เหยียบหมื่น...”อรรถนนท์เห็นว่า เป็นค่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่ผิดปกติเป็นอย่างมาก จึงรีบแจ้งไปที่การไฟฟ้าบางพลีเพื่อให้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ ทางการไฟฟ้าส่งคนมาตรวจสอบแล้วแจ้งกลับมาว่า ไม่มีปัญหาอะไรทุกอย่างปกติการไฟฟ้าบอกหม้อมิเตอร์ไฟฟ้าปกติ และให้ลูกค้าจ่ายเงินซะดีๆ แต่สำหรับอรรถนนท์เขาเห็นว่า ค่าไฟรอบนี้ไม่ปกติแน่นอน จากที่เคยใช้แค่ 200-300 หน่วยแล้วอยู่ดีๆ หม้อมิเตอร์กลับหมุนปรื๊ดทำเอายอดหน่วยค่าไฟขึ้นไปถึง 2,000 หน่วยภายในเดือนเดียว“ผมขอยืนยัน บ้านผมใช้ไฟฟ้ากันอย่างประหยัดมากๆ เปิดไฟเท่าที่จำเป็นจริงๆ ครับ” แนวทางแก้ไขปัญหาสำหรับใครที่เจอปัญหาแบบนี้ สิ่งแรกที่ควรทำคือการวิ่งไปดูเลขหน่วยค่าไฟฟ้าที่หม้อมิเตอร์ที่เสาไฟฟ้าหน้าบ้านทันที ว่าใช่หรือใกล้เคียงกับเลขหน่วยในบิลค่าไฟฟ้าหรือไม่ หากใช่หรือใกล้เคียง ก็ต้องมาตรวจดูต่อไปว่ามีการใช้ไฟฟ้าในบ้านเพิ่มขึ้นหรือไม่ มีเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากไม่ก็ต้องมาตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าย้อนหลังดูล่ะ เพราะเรากำลังตั้งสมมติฐานว่า หม้อมิเตอร์ไฟฟ้ามันเพี้ยน ดังนั้น บิลค่าไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับหลักฐานฝั่งผู้บริโภคว่าเรามีสถิติการใช้ไฟฟ้าในระดับไหน หากมีการเก็บบิลค่าไฟฟ้าไว้อย่างน้อย 2 ปีก็จะเป็นการดีอย่างยิ่ง เพราะจะได้เทียบไปถึงช่วงเดือนเดียวกันในปีก่อนได้ แต่ไม่ค่อยมีใครทำกัน...!ดังนั้น เมื่อพบความผิดปกติของค่าไฟฟ้าเกิดขึ้นในรอบเดือนใดและตัวเองก็ไม่มีหลักฐานอะไรไปยืนยัน ก็ให้ผู้บริโภคทำหนังสือทักท้วงและขอให้การไฟฟ้าแสดงปริมาณการใช้ฟ้าย้อนหลังอย่างน้อย 1 ปี เช่น เมื่อพบว่ามีค่าไฟฟ้าผิดปกติในช่วงเดือนเมษายน 2555 ก็ควรขอให้การไฟฟ้าแสดงยอดการใช้ไฟฟ้าย้อนหลังไปถึงเดือนเมษายน 2554 เพื่อจะได้เห็นทิศทางแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ในช่วงเวลาและฤดูกาลเดียวกัน ซึ่งขณะที่มีการทักท้วงและยังหาข้อยุติไม่ได้นั้น ผู้บริโภคปฏิเสธการจ่ายค่าไฟฟ้าในรอบเดือนที่มีปัญหาได้โดยที่การไฟฟ้าจะมาตัดไฟฟ้าไม่ได้ จนกว่าการไฟฟ้าจะสามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ว่าผู้บริโภคได้ใช้ไฟฟ้าจริงเป็นไปตามบิลที่แจ้งกรณีนี้เมื่อตรวจสอบแล้วตั้งแต่ช่วงที่ผู้บริโภคเข้ามาพักอยู่อาศัยในบ้านเช่า พบว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าสูงผิดปกติเป็นอย่างมากในรอบเดือนสุดท้ายอย่างเห็นได้ชัดถึง 10 เท่าตัว เราจึงแนะนำให้ผู้บริโภคยื่นเรื่องทักท้วงต่อการไฟฟ้าทันที ท้ายที่สุดเมื่อตรวจสอบแล้ว การไฟฟ้าบางพลีจึงงดเก็บค่าไฟฟ้าจำนวน 9,488.61 บาททั้งหมด และได้ดำเนินการเปลี่ยนมิเตอร์ที่แสดงค่าการใช้ไฟฟ้าผิดเพี้ยนเป็นมิเตอร์ใหม่ทันทีนับเป็นข้อดีประการหนึ่งของการจ่ายค่าไฟฟ้าแบบเงินสด เพราะหากจ่ายแบบหักบัญชีธนาคารหรือบัตรเครดิต ฝั่งผู้บริโภคอาจมีความยุ่งยากกว่านี้ เพราะเป็นเรื่องของการติดตามทวงถามเงินคืนจากค่าไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้จริง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 เครื่องซักผ้านำเข้า...ซักผ้านวมแล้วเอ๋อ

เมื่อปลายปี 2553 ในงานแสดงสินค้าที่เมืองทองธานี ประสารได้ซื้อเครื่องซักผ้านำเข้าจากนิวซีแลนด์ ยี่ห้อ Fisher & Paykal บริษัท ทิมแลง 2000 จำกัดเป็นตัวแทนจำหน่าย เครื่องซักผ้าที่ซื้อเป็นระบบฝาบน ขนาดความจุประมาณ 10 กิโลกรัม ราคา 25,000 บาท เหตุผลสำคัญที่ซื้อเพราะตัวแทนขายสินค้ายืนยันว่า เครื่องซักผ้ารุ่นนี้สามารถซักผ้านวมขนาด 6 ฟุตได้แน่นอนตอนที่ซื้อเครื่องซักผ้า ประสารเพิ่งปลูกบ้านหลังใหม่ยังสร้างไม่เสร็จ จึงฝากเครื่องไว้กับตัวแทนขายก่อน และได้รับเครื่องซักผ้าจริงๆ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2554พอได้เครื่องซักผ้ามาก็ฉลองใช้งานเลย เสื้อ-กางเกงผ้าชิ้นไม่ใหญ่น้ำหนักไม่มาก ซักได้ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอเอาผ้าห่มนวมขนาด 6 ฟุตมาซักปรากฏว่าเกิดปัญหาทุกครั้ง“เครื่องจะมีอาการหยุดทำงานระหว่างที่การซักยังไม่จบ หน้าจอเครื่องร้องว่าเครื่องขัดข้อง พร้อมกับมีน้ำค้างที่ก้นถังซัก ปั่นออกไม่หมด และไม่สามารถดำเนินการซักต่อได้”วิธีการแก้ไขของประสารคือ ต้องเอาผ้าห่มออกและถอดปลั๊ก ปิดเครื่องแล้วเปิดใหม่ พร้อมกับกดโปรแกรมให้ปั่นน้ำออก เครื่องก็จะกลับมาทำงานได้ใหม่ และซักผ้าอื่นๆ ต่อไปได้ แต่หากเอาผ้าห่มนวม 6 ฟุตกลับมาซักอีกก็จะเกิดปัญหาแบบเดิมซ้ำๆ ทุกครั้ง บางครั้งเกิดหลังซักผ้าห่มนวม 1-2 ผืน บางครั้งซักผ้าห่มนวมผืนแรกก็เกิดปัญหาที่ว่าแล้ว และประสารต้องใช้วิธีแก้ไขแบบเดิมๆ ทุกครั้งเขาตั้งข้อสงสัยว่า เครื่องซักผ้าที่ซื้อมา น่าจะซักผ้าห่มนวมขนาด 6 ฟุตไม่ได้จริงตามที่โฆษณาก่อนที่จะนำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ประสารติดต่อไปที่บริษัทจัดจำหน่ายคือบริษัททิมแสง 2000 ให้มาตรวจสอบแก้ไข บริษัทแสดงความรับผิดชอบด้วยการส่งช่างเข้ามาซ่อมหลายครั้งในช่วงเวลาราว 1 ปี ตั้งแต่ที่รับเครื่องมาเมื่อต้นปี 2554 จนถึงปี 2555 การซ่อมของช่างจากบริษัททุกครั้งก็ทำและได้ผลชั่วคราวเหมือนกับที่ประสารจัดการแก้ปัญหาเอง “คือเครื่องซักผ้ากลับมาใช้งานได้ชั่วคราว ก่อนจะเกิดปัญหาเดิมอีกครั้งเมื่อซักผ้าห่มนวม 6 ฟุตอีก”สำหรับสาเหตุอาการเสียของเครื่องซักผ้าก็มีความแตกต่างกันไปในการซ่อมแต่ละครั้ง เช่น ยกท่อน้ำทิ้งสูงเกินไป เครื่องชื้นจากโดนละอองน้ำฝน หรือเครื่องชื้นจากการอยู่ในห้องปิดระบายน้ำไม่ดี เครื่องวางบนพื้นเอียง อุปกรณ์บางชิ้นเสื่อม ซึ่งเปลี่ยนแล้วก็ไม่หาย“ผมได้ร้องเรียนที่บริษัทหลายครั้งในช่วงปี 2555 เป็นต้นมา ด้วยความเชื่อว่าเครื่องซักผ้ารุ่นนี้อาจไม่สามารถซักผ้านวมขนาด 6 ฟุตได้จริงตามที่โฆษณา สุดท้ายทางผู้จัดการบริษัทแจ้งผมว่า ถ้าเครื่องมีปัญหาอีกให้รีบโทรบอก อย่าเพิ่งถอดปลั๊ก ให้ปล่อยเครื่องร้องข้ามวันข้ามคืนไปก่อนเพื่อให้การบันทึกการเสียโดยอัตโนมัติยังอยู่ที่เครื่องซักผ้า จะรีบนำเครื่องเข้ามาตรวจจับให้เพื่อจะได้ทราบสาเหตุเสียที่แน่นอนและแก้ไขได้ถูกต้อง และจะยอมคืนเงินพร้อมรับเครื่องคืน ถ้ามีหลักฐานชัดเจนแจ้งไปที่บริษัทผู้ผลิตที่นิวซีแลนด์ว่าเครื่องใช้ไม่ได้จริงๆ” ข้อเสนอของผู้จัดการบริษัทนี้มีขึ้นในช่วงปลายปี 2555หลังจากนั้นเครื่องซักผ้ายังคงทำงานตามปกติ คือรับซักเฉพาะเสื้อและกางแกง แต่ไม่รับซักผ้านวมเจอผ้านวม 6 ฟุตลงเครื่องเมื่อไหร่เป็นต้องหยุดปั่นผ้าทุกครั้ง แต่ประสารก็ไม่สามารถเปิดเครื่องให้ร้องข้ามวันข้ามคืนไว้ให้ทางบริษัทเข้ามาตรวจได้ตามที่บอก เพราะกว่าบริษัทจะเข้ามาได้ก็ต้องนัดนานเป็นสัปดาห์ ก็ต้องทนใช้วิธีการแก้ปัญหาชั่วคราวแบบเดิมไปพลางๆ“จนถึงต้นปี 2556 เมื่อเกิดปัญหาแบบเดิมอีก ผมได้แจ้งบริษัทให้ส่งช่างมาดู พร้อมกับบอกว่าจะยอมเปิดเครื่องให้ร้องทิ้งไว้ข้ามสัปดาห์ ทางบริษัทแจ้งว่า ผู้จัดการคนเดิมที่เคยคุยกับผมมาตลอดนั้นตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว ไม่ทราบว่าตกลงยังไงกันไว้บ้าง ให้ปิดเครื่องไปได้เลยแล้วจะส่งช่างเข้ามาดูในสัปดาห์ถัดไป” ประสารเล่าพอถึงวันนัด มีช่างเข้ามาดูแลแจ้งว่าอุปกรณ์บางชิ้นเสื่อมอีก จะเปลี่ยนให้ฟรีแม้จะหมดประกันแล้ว แต่ช่างมาสังเกตพบว่า น้ำไหลเข้าเครื่องไม่สม่ำเสมอ และตรวจพบว่าเกิดจากแผงวงจรเสีย ซึ่งต้องเปลี่ยนแผงวงจรราคา 4,000 บาท เพราะหมดประกันแล้วประสารไม่ตกลงเพราะอะไหล่ที่จะเปลี่ยนไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเครื่องซักผ้าไม่ยอมซักผ้านวม ทางช่างจึงกลับไปโดยไม่คิดค่าตรวจ แต่เครื่องซักผ้าก็ถูกทิ้งในสภาพเดิมที่แจ้งสถานะว่า ใช้งานไม่ได้ต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหาประสารพยายามโทรติดต่อกับผู้จัดการคนใหม่หลายครั้งแต่ติดต่อไม่ได้เลย เลขาหรือเจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่ว่างทุกครั้ง แล้วจะติดต่อกลับมาแต่ไม่เคยติดต่อกลับมาอีก ประสารจึงส่งเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแม้เรื่องนี้จะเกิดมาเนิ่นนานหลายปี แต่ก็เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่บริษัทเองก็ไม่สามารถแก้ไขให้เครื่องสามารถใช้งานได้ตามโฆษณา มูลนิธิฯ จึงติดต่อไปที่บริษัทเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคประสารแจ้งว่า หลังจากที่มูลนิธิฯ ช่วยประสานงานให้ ในที่สุดทางผู้จัดการคนใหม่ได้ยอมพูดคุยด้วย และส่งช่างเข้ามาดู ทางผู้จัดการยังคงยืนยันว่าเครื่องซักผ้ารุ่นนี้ซักผ้านวมขนาด 6 ฟุตได้แน่นอนตามที่โฆษณา แต่คาดว่าประสารอาจจะโชคร้ายได้รับเครื่องการผลิตที่มีปัญหาเอง แต่ยินดีที่จะรับเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้มาใช้ต่อประสารบอก ผมไม่สามารถเชื่อใจทางบริษัทได้อีก จึงยื่นข้อเสนอขอคืนเครื่องและรับเงินคืนหลังจากการเจรจาต่อรองกันอีกราว 2 เดือน ในที่สุดจึงได้ข้อตกลงร่วมกัน โดยทางบริษัทยอมรับคืนเครื่องและคืนเงินให้จำนวน 15,000 บาท เรื่องจึงเป็นอันยุติความจริงแล้ว กระบวนการร้องเรียนเพื่อการเยียวยาความเสียหายไม่จำเป็นต้องปล่อยให้ยืดยาว รอซ่อมแล้วซ่อมอีก หากผู้บริโภคพบว่า สินค้ามีคุณภาพไม่เป็นไปตามที่โฆษณาก็สามารถที่จะแสดงเจตจำนงขอเปลี่ยนสินค้าหรือคืนสินค้าเพื่อขอคืนเงินได้ตั้งแต่การมาตรวจซ่อมครั้งแรกแล้ว หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ยินยอมผู้บริโภคก็สามารถร้องเรียนต่อ สคบ. หรือที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทันที  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 ถูกเรียกค่าเช่าห้องก่อนย้ายออกไม่เป็นธรรม

ปรารถนา ทำสัญญาเช่าห้องกับอพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่งย่านอ้อมน้อย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2555สัญญาระบุค่าเช่าห้องและค่าเช่าเฟอร์นิเจอร์ราคา 3,900 บาทต่อเดือน เก็บค่าประกันเฟอร์นิเจอร์ 5,000 บาท กำหนดพักอาศัยไม่ต่ำกว่า 6 เดือนนับแต่วันที่เช่า  หากเช่าไม่ครบกำหนด อพาร์ทเม้นท์จะไม่คืนเงินค่าประกันให้ในขณะที่ปรารถนาได้ให้ข้อมูลว่า ห้องที่เข้าพักเป็นห้องวีไอพี สัญญาจึงต้องอยู่ขั้นต่ำ 3 เดือน โดยจะครบกำหนดวันที่ 4 มิถุนายน 2555 (ตรวจสอบสัญญาแล้วไม่มีข้อความไหนที่ระบุตามเงื่อนไขนี้) พอเข้าพักอาศัยปรารถนาบอกว่าพบความไม่สะดวกหลายอย่างในการเข้าพักที่อพาร์ทเม้นท์แห่งนี้ เช่น เสียงดังจากถนนใหญ่ การเก็บค่าไฟฟ้ามากเกินจริง ร้านซักรีดรีดเสื้อผ้าไม่ประณีต และเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญที่สกปรก รวมไปถึงเรื่องการจราจรที่ต้องใช้เวลารอการข้ามถนนนานมากทำให้ไปงานสาย จึงอยากย้ายออกก่อนกำหนดที่เข้าใจว่าคือวันที่ 4 มิถุนายน 2555 แต่ต้องการเงินประกันคืนในวันที่ 11 พฤษภาคม 2555 ปรารถนาจึงไปปรึกษากับเสมียนสำนักงานอาคารว่าอยากขอย้ายออกก่อนกำหนด โดยให้เหตุผลแบบเนียนๆ ว่า ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ดูเท่ไม่เบา เสมียนก็เห็นใจแจงว่า หากย้ายออกก่อนกำหนดและต้องการเงินประกันคืน ทางอาคารจะคิดค่าเช่าถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2555 แล้วถึงจะได้เงินประกันคืนหลังจากนั้น ซึ่งปรารถนาก็ยินยอมวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 จึงได้ไปกรอกแบบฟอร์มแจ้งความจำนงขอย้ายออก พบเงื่อนไขในแบบฟอร์มว่า “กรณีผู้เช่าออกไม่เกินวันที่ 15 ของเดือน จะเก็บค่าเช่าห้องพักถึงวันที่ 15 เท่านั้น โดยสามารถรับเงินค่าประกันห้องพักคืนได้ตั้งแต่วันที่ 20 ของเดือนที่ย้ายออกเป็นต้นไป กรณีผู้เช่าย้ายออกหลังจากวันที่ 15 ของเดือน จะเก็บค่าเช่าห้องพักเต็มเดือน โดยสามารถรับเงินค่าประกันห้องพักคืนได้ตั้งแต่วันที่ 10 ของเดือนถัดไปเป็นต้นไป” จากเงื่อนไขที่ว่า ทำให้ปรารถนาต้องถามย้ำกับเสมียนอพาร์ทเม้นท์ว่า ตนเองจะต้องเสียค่าเช่าถึงวันที่เท่าไหร่ ก็ได้รับคำตอบยืนยันเหมือนเดิมว่า คิดค่าเช่าถึงวันที่ 4 มิถุนายนเท่านั้นและเงินประกันห้องจะได้คืน พอถึงวันย้ายของออก ได้มีเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานมาแจ้งกับปรารถนาว่าจะต้องจ่ายค่าเช่าถึงวันที่ 15 มิถุนายนหรือจ่ายอีกครึ่งเดือนตามเงื่อนไขที่ได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วถึงจะได้เงินประกันคืน ปรารถนาเลยไม่ยอมเพราะเจรจาและเข้าใจมาโดยตลอดว่าจ่ายถึงวันที่ 4 มิถุนายนเท่านั้น แล้วนำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาได้ฟังเรื่องราวแล้วดูชุลุมุนอีรุงตุงนังเหมือนกัน เนื่องจากการสื่อสารที่ไม่ได้ยึดข้อสัญญาที่ทำไว้ และด้วยความปรารถนาดีของเสมียนอพาร์ทเม้นท์ที่อยากจะช่วยเหลือผู้ร้องเรียนทั้งๆ ที่ตนเองไม่มีอำนาจ ก็เลยทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนห่างไกลไปจากข้อสัญญาที่ทำไว้มากขึ้นเรื่อยๆอพาร์ทเม้นท์แห่งนี้แม้จะมีข้อเสียหลายประการ แต่จุดดีอย่างหนึ่งก็คือการเปิดโอกาสให้ผู้เช่าแจ้งย้ายออกได้โดยให้บอกกล่าวล่วงหน้าก่อน 15 วันเท่านั้น เพราะที่เห็นมาบางแห่งต้องแจ้งก่อนเป็นเดือน และอีกประการคือหากแจ้งย้ายก่อนวันที่ 15 ของเดือนก็จะคิดค่าเช่าแค่ครึ่งเดียวบางแห่งก็ฟาดซะเต็มเดือนดังนั้นเมื่อปรารถนาแจ้งย้ายเป็นทางการด้วยการกรอดแบบฟอร์มแจ้งความจำนงขอเลิกสัญญาเช่าในวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 ตามสัญญาที่ถือกันอยู่ปรารถนาก็มีสิทธิที่จะอยู่พักในห้องเช่าได้ไปจนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2555 เพราะมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเช่าอีกครึ่งเดือนตามสัญญาอยู่แล้ว ที่ว่ามานี้เป็นไปตามสัญญาทั่วไปที่ใช้ปฏิบัติกันอยู่แต่ทั้งนี้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ออกประกาศ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าที่อยู่อาศัยที่เรียกเงินประกันเป็นธุรกิจควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2549 ซึ่งกำหนดให้ผู้เช่ามีสิทธิได้รับคืนเงินประกันทันทีเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาเช่าที่อยู่อาศัย หรือเมื่อสัญญาเช่าเลิกกัน เว้นแต่กรณีที่ผู้ให้เช่าประสงค์จะตรวจสอบความเสียหายที่ผู้เช่าต้องรับผิดชอบ หากผู้เช่าไม่ได้ทำความเสียหาย ผู้เช่ามีสิทธิได้รับคืนเงินประกันภายใน 7 วัน โดยให้ผู้ให้เช่ารับภาระค่าใช้จ่ายในการนำส่งคืนเงินประกันตามวิธีการที่ผู้เช่าแจ้งให้ทราบดังนั้น เมื่อปรารถนาบอกเลิกสัญญาในวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 และแจ้งจะขนย้ายของออกในวันที่ 27 พฤษภาคม 2555  ส่วนผู้ให้เช่าขอตรวจสอบความเสียหาย แล้วไม่พบความเสียหายก็จะต้องคืนเงินประกันภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2555 ซึ่งสามารถที่จะหักค่าเช่าห้องครึ่งเดือนที่ค้างอยู่ตามสัญญาได้หากอพาร์ทเม้นท์หรือห้องเช่าแห่งไหนที่มีการเรียกเก็บเงินประกันไม่มีข้อความหรือรายการแจ้งสิทธิตามประกาศของ สคบ. ผู้บริโภคสามารถแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ให้เช่าได้ทันที ฐานความผิดคือมีใบเสร็จรับเงินที่ไม่มีรายการตามที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกำหนด มีความผิดตามมาตรา 57 ของพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ประกอบธุรกิจสามารถไปซื้อแบบหลักฐานการรับเงินที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ที่กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โทรติดต่อสอบถามได้ที่ 02-1430377-83

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 ชอบของจัดโปรโมชั่น ระวังสินค้าหมดอายุ

“ซื้อ 1 แถม 1” ถือเป็นข้อความโดนใจของนักช้อป ถ้าเจอโปรโมชั่นแบบนี้จากของที่ไม่เคยซื้อเคยกินก็ต้องเปลี่ยนใจรีบซื้อทันที เป็นกลยุทธ์การขายที่ใช้ได้ดีมาตลอดสานีต้องหยุดเดินทันทีเมื่อเห็นป้าย “ซื้อ 1 แถม 1” ของเครื่องดื่มนมผสมงาดำ เนเจอร์อัพสูตรบิวตี้ไซน์ ในบิ๊กซีซูเปอร์มาร์เก็ตย่านราชดำริ พอดูรายละเอียดแล้วยิ่งน่าสนใจใหญ่เพราะไม่ใช่แค่ซื้อกล่องแถมกล่อง แต่แถมเป็นแพ็คเลย แพ็คละ 3 กล่องจัดวางกันเป็นคู่ขาย 36 บาท ประหยัดตั้ง 18 บาท แต่วันนั้นสานีดีใจสุดๆ หยิบมา 4 แพ็ค จ่าย 72 บาท ในใจคิดได้ฟรี 2 แพ็คประหยัดไปตั้ง 36 บาทแน่ะพอกลับมาถึงบ้านก็จับกล่องเจาะดื่มเลย ปรากฏว่านมรสชาติออกแนวเสียๆ บ้วนทิ้งแทบไม่ทัน เลยต้องตรวจสอบฉลากขนานใหญ่ พบ 2 แพ็คที่ติดมาเป็นของแถมฉลากแสดงวันที่หมดอายุมันผ่านเลยมาแล้วร่วมเดือน จึงนำเรื่องนี้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจ แต่ยังชั่งใจไม่ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการรับทราบ เพราะคิดว่าห้างคงไม่ได้ตั้งใจหลอกขายสินค้าให้ผู้บริโภคต่อมาอีกวัน ไปที่ห้างเดิมไปซื้อไก่สดมาปรุงอาหาร ยี่ห้อ KCF ของบริษัท เกษมชัยฟาร์มกรุ๊ป จำกัด พอนำกลับมาถึงบ้านเพิ่งสังเกตฉลาก อั๊ยย่ะ หมดอายุไปแล้ว 3 วัน ตัดใจต้องทิ้งลงถังขยะไม่กล้าฝืนใจนำไปทำอาหาร “โอ้ย...ทำไมฉันถึงซวยอย่างนี้” แนวทางแก้ไขปัญหาสานีแบกเอาปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องสองวันติดกันและเกิดจากห้างเดียวกันมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อเราตรวจสอบข้อเท็จจริงกันแล้วเห็นว่า แม้ว่าผลิตภัณฑ์อาหารจะมีการแสดงฉลากของอาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 194 พ.ศ.2543 ครบถ้วน แต่การนำมาจำหน่ายหลังวันหมดอายุไปแล้วทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารเข้าลักษณะไม่ปลอดภัยในการบริโภค มีสรรพคุณไม่เป็นที่เชื่อถือ หรือมีคุณค่าหรือคุณประโยชน์ต่อร่างกายในระดับที่ไม่เหมาะสม ซึ่งผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายอาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 25(4) ของ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ได้ มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิของผู้บริโภคโดยตรงและผู้ประกอบการได้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้เชิญผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาเจรจาเพื่อพิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้บริโภค ผลของการเจรจาห้างบิ๊กซีตกลงให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บริโภคเป็นเงิน 10,000 บาทผู้บริโภคยอมรับ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอขอบพระคุณห้างบิ๊กซีที่ใส่ใจในการปกป้องสิทธิของผู้บริโภคอย่างจริงใจ และได้นำปัญหาข้อร้องเรียนไปพัฒนาปรับปรุงการบริการให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 ตีค่าราคามนุษย์ เยียวยาความเสียหายหรือเอาเงินฟาดหัว?

วันที่ 17 เมษายน 2556 วันสุดท้ายของโครงการ 7 วันอันตราย ตามนโยบายของรัฐบาลบนถนนสายหนึ่งในกรุงเทพมหานคร  หนุ่มสาวยังคงสนุกสนานกับการเล่นน้ำ ยิ่งรถติดยิ่งสนุกโครม!! เสียงรถเมล์สาย 15 ชนกับท้ายรถยนต์คันหนึ่ง แต่ไม่รุนแรงมากนัก ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ จึงมีการถ่ายผู้โดยสารจากรถเมล์ที่เกิดอุบัติเหตุมายังรถเมล์สายเดียวกันที่แล่นตามมา เมื่อรวมผู้โดยสารทั้งหมดมาอยู่ในคันเดียวกัน ทำให้เกิดความแออัดยัดเยียดเบียดกันมาถึงบริเวณด้านหน้ารถติดคนขับ“ผู้โดยสารด้านหน้าช่วยเขยิบด้วยครับ ผมมองกระจกข้างไม่เห็น” เสียงลุงคนขับรถเมล์ตะโกนบอกแต่ด้วยเสียงเครื่องยนต์ที่ดังทำให้ผู้โดยสารคนนั้นไม่ได้ยิน ลุงคนขับจึงขยับตัวเอื้อมมือไปสะกิดผู้โดยสารคนที่ยืนบังกระจกมองข้าง โดยที่รถยังแล่นด้วยความเร็ว และเรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นโครม!!! ลุงคนขับล้มลง ทำให้มือที่จับพวงมาลัยอยู่นั้น หักเข้าชนต้นไม้ข้างทางเข้าอย่างจัง ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บกว่า 20 รายวันที่ 23 เมษายน 2556 บริษัทประกันภัยที่รับทำประกันไว้กับรถเมล์คันที่เกิดเหตุ ได้นัดผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บมาเจรจาค่าเสียหาย วันนั้นเป็นวันธรรมดาผู้บาดเจ็บแต่ละคนต้องลางานมา  เมื่อผู้จัดการบริษัทประกันภัยมาถึง“เอ้า .. ใครก่อนดีครับ?” ผู้จัดการบริษัทประกันภัยตะโกนร้องเรียกเหมือนมาแจกของที่โรงทาน“ชั้นก่อนละกัน เดี๋ยวต้องรีบไปเปิดร้านขายของต่อ” หญิงคนหนึ่งยกมือแสดงตัว “300 พอมั้ย” ผู้จัดการคนนั้นเสนอตัวเลข โดยไม่ถามถึงความเสียหาย หรืออาการบาดเจ็บเลยแม้แต่น้อย“บ้าเหรอ  300  ชั้นหน้าบวมปูดไปตั้งหลายวันนะ ไปทำงานก็ไม่ได้ ชั้นมีใบเสร็จนะ”“ใบเสร็จนี้มันใช้ไม่ได้ มันไม่ได้ลงวันที่ .. เอางี้ ผมให้ 1,000 บาท จบเรื่องเลย ถือว่าผมช่วยละกัน” ผู้จัดการคนเดิมตอบ“ 1,000 ก็ได้ ชั้นกลัวเสียเวลา” หญิงคนนั้นตอบเมื่อตกลงตัวเลขเงินค่าเสียหายกันได้ด้วยวิธีแบบที่ว่ามา ผู้จัดการบริษัทประกันภัย จะส่งเรื่องให้ลูกน้องอีก 2-3 คน ดำเนินการเรื่องการประนีประนอมยอมความ และจัดการให้ผู้เสียหายแต่ละรายลงลายมือชื่อยอมให้รับเงินและไม่ติดใจเอาความทางคดีทั้งแพ่งและอาญาต่อไป จากนั้นผู้จัดการบริษัทประกันภัยก็ทำสิ่งที่เรียกว่า การเจรจาเพื่อเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บาดเจ็บ” แบบเดิมซ้ำๆ จนครบทั้ง 20 คนคำถามคือ มาตรฐานการชดเชยเยียวยาของประกันภัยในอุบัติเหตุรถโดยสารอยู่ตรงที่ไหน? อยู่ที่ความเขี้ยวของตัวแทนประกัน หรือควรอยู่บนที่ตั้งแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้น แนวทางแก้ไขปัญหาดร.สุเมธ  องกิตติกุล  แห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ได้ทำการศึกษา “อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ : ผลกระทบ การประกันภัย การชดเชยเยียวยา” ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ได้เปิดเผยว่า การชดเชยเยียวยาต่อผู้ประสบอุบัติเหตุจากระบบประกันภัยนั้นพบว่า วงเงินค่าเสียหายยังไม่มีความเหมาะสมเท่าที่ควรนอกจากนั้น ยังพบปัญหาการขาดการเชื่อมโยงระหว่างบริษัทประกัน ผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตอย่างบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)  และบทบาทของบริษัทประกันมีอยู่น้อยในการสร้างระบบตรวจสอบ และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารจากการกำหนดเบี้ยประกัน ดังนั้นจึงเสนอให้มีการกำกับดูแลผู้ประกอบการ ทั้งผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตและผู้ประกอบการที่ร่วมบริการอย่างเข้มงวด รวมถึงให้เข้มงวดในการให้ใบอนุญาตที่พิจารณาถึงประวัติด้านอุบัติเหตุด้วย นอกจากนี้ยังต้องสร้างกลไกของบริษัทประกันภัยในการกำหนดเบี้ยที่สะท้อนความเสี่ยงของผู้ประกอบการแต่ละรายด้วยนอกจากนี้ ดร.สุเมธได้เสนอให้มีการปรับปรุงเงินชดเชยเยียวยาความเสียหายสำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 หรือประกันภัยภาคบังคับที่รถยนต์ทุกคันต้องทำ โดยให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากไม่เกิน 15,000 บาท เพิ่มเป็นไม่เกิน 150,000 บาท ส่วนค่าชดเชยกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร ให้กับจาก 200,000 บาทเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 บาท และหากสูญเสียอวัยวะหรือพิการ ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตควรปรับให้ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 240,000 บาทและระบบประกันภัย ควรปรับปรุงแก้ไขอุปสรรคปัญหาในการเรียกร้องค่าเสียหายของผู้ประสบอุบัติเหตุ ได้แก่ ความล่าช้าในการพิสูจน์ถูก-ผิด และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การติดต่อประสานงานที่ไม่มีใบเสร็จ ทำให้ใช้เรียกร้องค่าเสียหายได้ยากด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 มันมาในรูปของ sms

มีเรื่องร้องเรียนเรื่องถูกส่ง sms มารบกวน และต้องจ่ายค่าบริการเยอะมาก  และที่มากไปกว่านั้นยังมีการโฆษณาสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคสมัครเข้ามารับบริการ เช่น หากสนใจกดหมายเลข .... แต่ไม่มีการให้ข้อมูลว่าหากต้องการยกเลิกจะกดอะไร ? ได้บ้าง  สิ่งที่เห็นคือเมื่อสมัครไปแล้วต้องการยกเลิกแทบไม่มีช่องให้ทำได้  หรือทำได้ก็มีการกำหนดขั้นตอนให้ยุ่งยากซับซ้อน ยากลำบากในการใช้สิทธิขอเลิกใช้บริการ ซึ่งอาจคาดเดาว่านี่คงเป็นยุทธศาสตร์เพื่อให้ผู้บริโภคเบื่อหน่าย และยอมจ่ายเงินไปเรื่อยๆองค์กรที่กำกับดูแล ก็เหมือนไม่ใยดีกับปัญหาที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญกับการเอารัดเอาเปรียบของผู้ประกอบการ แถมองค์กรกำกับของเรายังมีพฤติกรรมคล้ายๆ กรรมการห้ามมวยปล้ำที่มักเอนเอียงไปทางด้านผู้ประกอบการซะอีก  ทั้งที่ผู้ประกอบการหลายมีพฤติกรรมแบบว่า ออกแนว ขี้โกงสารพัด  มากกว่าจะยึดกติกาที่เป็นธรรม(ที่กสทช.กำหนดขึ้นมาเองแต่ไม่บังคับใช้)   หากประเทศไทยก้าวเข้าสู่การบริการ 3G เต็มรูปแบบ และองค์กรกำกับยังเป็นอย่างนี้   เราคงต้องร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรกันต่อไปที่กล่าวมาข้างต้นคงสื่อให้เห็นปัญหากันบ้างแล้ว    สาเหตุของปัญหาจริงๆ มันอยู่ตรงไหน   หากนำปัญหาเรื่องร้องเรียนต่างๆ มาสังเคราะห์ อาจจะทำให้เห็นภาพของต้นเหตุได้ชัดเจนพอสมควร   เช่น กรณีมีผู้บริโภคร้องเรียนมาว่า  ต้องการยกเลิกข้อมูลที่ส่งมาแล้วถูกเก็บเงินโดยไม่เคยเปิดใช้บริการ  คำตอบที่ได้มาชวนให้คิดต่อได้มาก  คือ บริการเสริมเหล่านั้น ไม่เกี่ยวกับบริษัทผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตแต่เป็นบริการเสริมจากผู้ประกอบการรายอื่น(contantprovider) คำตอบนั้น เป็นเรื่องจริงหรือโกหกคำโตกันแน่?     เพราะข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนคือ   ผู้ให้บริการเสริมไม่ได้มาเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภคโดยตรง  แต่เป็นการจ่ายผ่านระบบบริการ ทั้งระบบเติมเงินและรายเดือนของทั้ง  เอไอเอส,ดีแทค,และทรู “ทั้ง 3 ผู้ประกอบการได้นำเลขหมายที่ขายให้ผู้บริโภคแล้ว ไปขายให้กับผู้ให้บริการเสริมเพื่อให้ได้กำไรหลายต่อหรือไม่?”เพราะหากเป็นเรื่องจริง ปัญหานี้ต้องได้รับการแก้ไข  กสทช.ต้องไม่ปล่อยให้บริษัทผู้ประกอบการนำเลขหมายที่เป็นสิทธิส่วนบุคคลของผู้บริโภค  ไปค้าขายทำกำไร 2 ต่อ คำถามตามมาคือ หากองค์กรกำกับฯ (กสทช.)  ละเลยไม่กำกับดูแลตามหน้าที่  ผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ จะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิกันอย่างไร? 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 145 กรวดก้อนเดียว มูลค่าเป็นแสน

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อล่ะกรวดก้อนเดียวมีมูลค่าเป็นแสนจริงๆณัฎฐา เป็นสาวไทยได้สามีเป็นหนุ่มออสเตรเลีย ทุกๆ ปี จะพาสามีและบุตรสาวกลับมาที่ประเทศไทยเพื่อมาเยี่ยมคุณพ่อคุณแม่ที่บ้านระหว่างที่อยู่ในประเทศไทย เธอได้พาสามีและลูกสาวไปรับประทานอาหารในร้านอาหารฟูจิ สาขามาบุญครอง วันนั้นมีการสั่งอาหารไปหลายรายการ รวมทั้ง TAKO SASHIMI จังหวะที่กำลังเพลิดเพลินกับรสชาติอาหารเมนูนี้อยู่ ฟันของเธอได้ไปกระทบกับของแข็งที่ปะปนอยู่ใน TAKO SASHIMI อย่างแรง พอคายออกมาถึงเห็นว่ามันเป็นก้อนกรวดขนาดสัก 3 มิลลิเมตร มันใหญ่พอที่จะทำให้ฟันกรามล่างด้านซ้ายซี่หนึ่งแตกหักไปครึ่งซี่ แถมยังมีเลือดปนออกมาด้วยณัฎฐา เรียกผู้จัดการร้านมาทันที ผู้จัดการร้านมาถึงก็กล่าวคำขอโทษพร้อมนำ TAKO SASHIMI มาเปลี่ยนให้ใหม่ แล้วรีบเก็บ TAKO SASHIMI ชามเดิมรวมทั้งก้อนกรวดออกไป พร้อมกับยื่นนามบัตรให้ 1 ใบ กำชับให้ผู้ร้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาและมาเก็บค่ารักษาพยาบาลกับทางร้านในภายหลังช่วงเวลาที่เกิดเหตุ เป็นเวลาที่ดึกมากแล้ว คุณณัฎฐาจึงยังไม่ได้ไปพบแพทย์ในคืนนั้น พอรุ่งเช้าจึงไปพบแพทย์ที่คลินิกแห่งหนึ่ง แพทย์ตรวจดูอย่างละเอียดแล้วแจ้งว่า ฟันหักมากควรจะถอนทิ้ง แต่ทีนี้เมื่อถอนฟันกรามด้านล่างแล้วจะต้องถอนฟันกรามด้านบนด้วย เพราะถ้าถอนด้านล่างอย่างเดียวเวลาเคี้ยวอาหารจะเกิดความไม่สมดุลกัน“ถ้าไม่ถอนออกล่ะคะคุณหมอ” เธอถามหาทางเลือก“ถ้าไม่ถอนออก ก็ต้องรักษาไปตามอาการ คือ จะต้องมีการอุดฟันในส่วนที่หักไว้ก่อน แล้วจึงค่อย ทำการรักษารากฟันทีหลัง พร้อมทั้งทำครอบฟันด้วย” คุณหมออธิบายโดยละเอียด เมื่อเห็นทางเลือกในการรักษา ณัฎฐาบอกให้แพทย์รักษาไปตามอาการก่อน เพื่อที่จะกลับไปตัดสินใจอีกครั้งหนึ่งว่าจะถอนฟันทิ้งไปดีหรือไม่วันรุ่งขึ้น เธอเดินทางไปที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ทำการแจ้งความเอาไว้เป็นหลักฐาน และอีกวันหนึ่งต่อมา ณัฎฐาและครอบครัวต้องเดินทางกลับออสเตรเลีย จึงได้ทำการมอบอำนาจให้คุณพ่อของเธอมาดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายแทนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้วันครอบครัวของณัฎฐาอยู่ในบรรยากาศ ซึมกันไปหมดเมื่อกลับไปถึงออสเตรเลียแล้ว เธอแจ้งกลับมาหาคุณพ่อว่า กินอะไรก็ไม่อร่อยเลย เพราะไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้เหมือนปกติ ท้ายที่สุดต้องตัดสินใจถอนฟันซี่ที่แตกหักและซี่ที่เกี่ยวข้อง แต่ค่ารักษาพยาบาลที่ออสเตรเลียนั้นแพงเอาการอยู่ จึงต้องการให้ร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดังแห่งนี้เยียวยาความเสียหายโดยเร็ว แนวทางแก้ไขปัญหาคุณพ่อของณัฎฐานำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอให้ช่วยเรียกค่าเสียหายให้ด้วย หลังรับเรื่องร้องเรียน มูลนิธิฯ ได้มีหนังสือเชิญตัวแทนร้านอาหารฟูจิเพื่อมาเจรจาไกล่เกลี่ยกัน โดยฝ่ายผู้เสียหายขอเรียกค่าเสียหายเป็นเงินรวม 202,246 บาท แบ่งเป็นค่าอาหารมื้อที่สร้างทุกข์ 1,096 บาท ค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นที่จ่ายให้กับคลินิกในประเทศไทย 1,150 บาท ค่าใช้จ่ายในการรักษาฟันที่ออสเตรเลียประเมินแล้วน่าจะอยู่ราว 100,000 บาท และค่าทุกข์ทรมานในการสูญเสียฟัน 100,000 บาทร้านอาหารฟูจิ ได้ทำประกันภัยไว้กับทิพยประกันภัย ทิพยประกันภัยจึงส่งตัวแทนประกันภัยเข้าร่วมเจรจา ท้ายที่สุดได้ข้อตกลงว่าบริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 110,000 บาท ทางฝ่ายผู้เสียหายเห็นว่าการเยียวยาเป็นไปตามสมควรเพียงพอต่อการรักษาพยาบาลทางร่างกายและจิตใจแล้วจึงยอมยุติเรื่อง ไม่ต้องเสียเวลาเดินเรื่องฟ้องร้องต่อศาลต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 141 ชวนลงทุนไม้กฤษณา ผลตอบแทนอาจต่ำกว่าที่คิด

ด้วยราคาอันสูงลิ่วของน้ำมันกฤษณา และมักมีข่าวการลักลอบตัดไม้กฤษณาถี่ขึ้นเรื่อยๆ จึงมีคนหัวใสตั้งบริษัทลงทุนปลูกไม้กฤษณาขึ้นมา ชวนคนมาร่วมระดมทุน นำเสนอผลตอบแทนแบบสูง แต่พอเอาเข้าจริงๆ กลับไม่เป็นอย่างที่คิดไม้กฤษณา เป็นสินค้าส่งออกราคาสูงของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับแต่ช่วงศตวรรษที่ 16 ...ในประเทศไทย บริษัท ทัชวู้ด ฟอร์เรสตรี จำกัด ได้รับอนุญาตจัดตั้งโรงงานกลั่นน้ำมันกฤษณา เพื่อการขายและการส่งออกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อันจะส่งผลให้บริษัทฯ เป็นศูนย์กลางในการกลั่นน้ำมันไม้กฤษณาขนาดใหญ่ได้ในอนาคตด้วย...”เมื่อสัก 6 ปีที่แล้ว คุณอัฐวุฒ ได้เห็นข้อความโฆษณาชวนลงทุนปลูกต้นกฤษณาจากนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ชื่อดังฉบับหนึ่ง และบริษัทแห่งนี้ยังไปจัดบูธกิจกรรมตามห้างสรรพสินค้าใหญ่  ข้อความโฆษณาที่โดนใจเอามากๆ คือ ผลประโยชน์ทางการเงินจากการร่วมลงทุน แจ้งว่า ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ร่วมลงทุน ในระยะเวลา 6 ปี สามารถได้รับผลประโยชน์ถึง 230,000 บาท จากเงินลงทุนเพียง 82,000 บาท และสูงสุดถึง 3,680,000 บาท จากเงินลงทุน 1,173,000 บาท  ทำให้เขาซึ่งเป็นช่างภาพอิสระและเป็นคนรักธรรมชาติ คิดอยากจะเพิ่มรายได้จากเงินออมที่เก็บไว้ด้วยการเข้าร่วมลงทุนปลูกต้นกฤษณากับบริษัทแห่งนี้คุณอัฐวุฒเข้าทำสัญญาซื้อขายแปลงปลูกต้นไม้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2549 โดยเลือกโปรแกรมการลงทุนขนาดเล็กสุดคือ เนื้อที่ปลูก 25 ตารางวา กับไม้กฤษณาจำนวน 23 ต้น โดยวางเงินก้อนแรก 55,000 บาท และต้องจ่ายเป็นรายปีในปีต่อๆ มาอีกปีละ 5,500 บาทเป็นเวลา 5 ปี รวมเป็นเงินร่วมลงทุนทั้งสิ้น 82,500 บาท   ซึ่งบริษัทฯ ได้แสดงราคาผลตอบแทนทางการตลาดที่ผู้ร่วมลงทุนจะได้รับอยู่ที่ประมาณ 138,000-230,000 บาท โดยประเมินจากมูลค่าทางการตลาดของต้นกฤษณา ณ เวลาที่เก็บเกี่ยวคือ 10,000 บาทต่อต้น เวลา 6 ปีผ่านไปไวเหมือนฝัน หลังจากส่งเงินค่างวดไปจนครบ ตามสัญญาบริษัทบอกว่าจะตัดต้นไม้ในปีนี้ คุณอัฐวุฒนั่งดีดลูกคิดทันที ปลูกไว้ 23 ต้น ต้นละ 10,000 บาท จะได้เงิน 230,000 บาท ลงทุนไป 82,500 บาท   กำไร 147,500 บาท หาร 6 ปี เท่ากับว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 24,583 บาทเหมือนรู้ใจ...ไม่นานเกินรอ บริษัทฯ ได้ส่งเอกสารขออนุญาตตัดต้นไม้มาให้ พร้อมให้เซ็นชื่อรับเงิน ด้วยอารามดีใจจรดปากกาเซ็นรับเงินทันที พอเซ็นไปแล้วถึงเพิ่งเห็นจำนวนเงินที่บริษัทฯจะจ่ายให้ เป็นเงิน 138,000 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นผลตอบแทนขั้นต่ำสุดของการลงทุน ไม่รู้จะแก้ไขยังไงเพราะตัวเองเซ็นชื่อลงไปแล้ว ตอนหลังจึงโทรไปถามพนักงานดูแลของบริษัทฯ ว่า สภาพการปลูกต้นไม้เสียหายอะไรบ้างหรือเปล่า ทำไมถึงได้รับแค่นี้ พนักงานก็ตอบว่า ไม่มีความเสียหายใดๆ แม้แต่เรื่องของน้ำท่วมก็ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ปลูกคุณอัฐวุฒ ไม่รู้จะทำอย่างไรก็ได้แต่เลยตามเลย ส่งเอกสารพร้อมลายเซ็นยอมรับค่าตอบแทนจำนวนดังกล่าวกลับคืนให้บริษัทฯ มาขุ่นใจเพิ่มเติมตรงที่ว่า จะได้รับเงินต้องรออีก 3 เดือน พอมีเวลาว่างเลยคิดทบไปทบมาว่าเกิดอะไรขึ้น มีอะไรไม่ตรงไปตรงมาตรงไหน ตัวเองจะได้เงินหรือเปล่า สับสนวุ่นวายไปหมดท้ายที่สุดเลยส่งเรื่องมาปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องของสติเป็นสำคัญ ดีที่คุณอัฐวุฒไม่โลภมากเลือกลงทุนในโปรแกรมที่เล็กที่สุดก่อนกับธุรกิจที่ตัวเองไม่มีความสันทัด หรือมีข้อมูลประกอบในการตัดสินใจค่อนข้างน้อยในเอกสารของบริษัทฯ ที่แสดงเงื่อนไขการได้รับผลตอบแทน ให้ข้อมูลว่า ผลตอบแทนจะอิงกับราคารับซื้อคืนต้นไม้ที่ปลูก โดยราคารับซื้อคืน หมายถึง ถ้า ณ วันเก็บเกี่ยว ราคาตลาดของกฤษณาลดลงน้อยกว่าราคารับซื้อคืน บริษัทฯ จะจ่ายผลตอบแทนให้ไม่น้อยกว่าราคารับซื้อคืน โดยที่ทางบริษัทจะเป็นผู้ให้ข้อมูลความเคลื่อนไหวของการตลาด รวมทั้ง กำหนดเวลาการเก็บเกี่ยวของลูกค้าแต่ละราย กระบวนการเก็บเกี่ยว ทางบริษัทจะเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด โดยจะแจ้งรายละเอียด ขนาด ข้อมูลของต้นไม้ น้ำหนัก ราคาโดยมีการคำนวณก่อนการตัดโค่น เพื่อให้ลูกค้าทราบล่วงหน้า และหลังการเก็บเกี่ยวไม่เกิน 30 วัน บริษัทฯ จะดำเนินการจ่ายคืนลูกค้าตามราคาตลาดเต็มจำนวนถ้าพูดกันแบบสั้น ราคาตลาดที่บริษัทว่ามา ก็คือราคาตลาดที่บริษัทกำหนดมานั่นเอง เพราะเป็นทั้งผู้ปลูก ผู้กำหนดจำนวนปลูก ผู้กำหนดเวลาปลูก ผู้กำหนดเวลาเก็บเกี่ยว ผู้เก็บเกี่ยวและวัดขนาด น้ำหนักของต้นไม้ และเป็นผู้จำหน่ายไม้กฤษณาด้วย จึงทำให้บริษัทเป็นผู้กุมข้อมูลสภาพการตลาดทั้งหมด      ดังนั้น ผู้ร่วมลงทุนจึงแทบไม่มีข้อมูลที่จะต่อรองได้เลย ซ้ำยังไม่มีความรู้พื้นฐานของการตลาดว่าจะไปเช็คตรวจสอบราคาตลาดเปรียบเทียบได้ที่ไหน ไม่เคยไปดูสภาพการเจริญเติบโตของต้นไม้ ไม่เคยเห็นขนาดของต้นไม้ที่ตนเองปลูกชัดๆ  ข้อมูลทุกอย่างบริษัทฯจัดทำให้ ผู้ร่วมลงทุนเป็นแต่เพียงผู้รับทราบข้อมูลที่บริษัทแจ้งมาเท่านั้น และที่สำคัญเมื่อเซ็นยินยอมรับในราคาแล้วก็ยากจะดึงกลับคืนมาได้มีจุดเดียวที่พอจะต่อสู้กันได้คือ การจ่ายเงินคืนลูกค้าเกิน 30 วัน จึงได้แนะนำให้ติดตามเงินผลตอบแทนที่บริษัทฯ ตกลงจะจ่ายให้อย่างใกล้ชิด ท้ายสุดคุณอัฐวุฒได้ถอนหายใจโล่งอกเมื่อได้รับเงินขั้นต่ำสุดในท้ายที่สุดในเวลาไม่นานนัก โดยได้กำไรเพิ่ม 55,500 บาทด้วยระยะเวลาลงทุน 6 ปี“เอาน่ะ ยังได้” คุณอัฐวุฒรำพึง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 141 คอนโดมิเนียมหรูเสร็จช้า ลูกค้าขอเรียกค่าปรับ

เดอะกรีน คอนโดมิเนียม @ สุขุมวิท 101 เป็นคอนโดมิเนียมความสูง 8 ชั้น มีจุดขายสำคัญตรงที่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้า BTS ปุณณวิถี ประมาณ 800 เมตร มีมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีรถสองแถวซูบารุ ให้บริการวิ่งรับส่งปากซอยตลอด 24 ชั่วโมง มีตลาดคึกคัก ที่สำคัญมีของกินเยอะมาก ถูกใจสาวๆ ออฟฟิศเป็นที่สุดแม้ราคาจะสูงถึง 1,073,000 บาท แลกกับพื้นที่ใช้สอย 31.50 ตารางเมตร แต่คุณนุสราก็บ่ยั่นเมื่อเทียบกับทำเลที่ตั้งที่น่าสนใจของคอนโด ตัดสินใจเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2553 เลือกอยู่ชั้น 8 ชั้นบนสุดเลยทีเดียวหน้าที่ตามสัญญาฯ ฝั่งคุณนุสราจะต้องจ่ายเงินดาวน์ร่วม 2 แสนบาท โดยแบ่งเป็นเงินจ่ายในวันจอง 5 พันบาท จ่ายในวันทำสัญญา 2 หมื่นบาท ยอดที่เหลืออีก 1 แสน 7 หมื่นกว่าบาทแบ่งจ่ายเป็นงวด 20 งวด เริ่มจากเดือนมิถุนายน 2553 ไปจนถึงเดือนมกราคม 2555  ส่วนที่เหลืออีก 8 แสน 7 หมื่นกว่าบาทต้องหามาจ่ายให้ได้ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิห้องชุดที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง ในขณะที่ฝั่งกรีนคอนโดสัญญาว่าจะทำการก่อสร้างคอนโดให้เสร็จสิ้นประมาณเดือนกันยายน 2554คุณนุสรา ได้ชำระเงินตามสัญญาอย่างต่อเนื่อง แต่ระหว่างนั้นก็ต้องใจระทึก เพราะช่วงเดือนสิงหาคม 2553 โครงการยังไม่เริ่มตอกเสาเข็ม และได้มีอีเมล์ชี้แจงมายังลูกค้าว่า บริษัทยังอยู่ในช่วงการยื่นเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมีคำสั่งให้มีการแก้ไขในบางจุดอยู่ คาดว่าจะใช้เวลาในกระบวนการทำอีไอเอนี้ราว 60 วัน และใช้เวลาอีกไม่เกิน 2 อาทิตย์ในการขอใบอนุญาตในการก่อสร้างได้ ส่วนเรื่องเงินทุนนั้นไม่มีปัญหาเพราะได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งทั้งโครงการ พร้อมกับยืนยันว่า อาคารเสร็จตามกำหนดแน่นอน ถ้ามีเหตุจำเป็นที่จะทำให้สร้างไม่ทันตามกำหนด ทางโครงการจะช่วยรับภาระในการผ่อนชำระค่างวดให้จนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ หรือว่าลูกค้าจะหยุดผ่อนค่างวดเงินดาวน์ก่อนจนกว่าทางโครงการจะเริ่มตอกเสาเข็มก็ได้ แต่ก็จะไปหนักในการผ่อนเงินงวดท้ายๆ เพราะว่าโครงการสร้างเสร็จ พอเห็นคำยืนยันของโครงการเกิดความมั่นใจว่า “เสร็จแน่” คุณนุสราจึงเดินหน้าจ่ายค่างวดตามสัญญาต่อไป โครงการสัญญาว่าจะเสร็จประมาณเดือนกันยายน 2554 ก็ยังไม่เสร็จ ส่วนคุณนุสราก็ทำตามสัญญาจ่ายค่างวดจนครบงวดที่ 20 เดือนมกราคม ปี 2555 ปรากฏว่า โครงการก็ยังไม่แล้วเสร็จ“งานนี้โครงการมันไม่เสร็จ แต่ฉันเสร็จแน่ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง” คุณนุสราคิดในใจ พอเข้าเดือนกุมภาพันธ์ 2555 จึงตัดสินใจเขียนจดหมายถึงโครงการ เรียกค่าเสียโอกาสที่ไม่ได้เข้าอยู่อาศัยนับแต่เดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนมกราคม 2555 เท่ากับค่างวดที่ได้จ่ายไปรวม 4 งวด เป็นเงิน 43,900 บาทเศษ ส่งจดหมายไปแล้วโครงการไม่ตอบว่า จะจ่ายชดใช้ให้หรือไม่ แต่มาถึงเดือนมีนาคม 2555 ถึงได้มีจดหมายจากโครงการเชิญให้ไปตรวจรับห้องชุดคุณนุสราไปตามคำเชิญ พร้อมว่าจ้างวิศวกรไปช่วยตรวจรับห้องชุดด้วย พอไปถึง ได้ตรวจได้ดูสภาพห้องแล้ว สรุปได้ว่าห้องยังไม่เรียบร้อยที่พร้อมจะให้เข้าตรวจรับ รวมถึงพื้นที่ส่วนกลางของคอนโดมิเนียมก็ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จึงได้มีหนังสือไปถึงโครงการอีกครั้งเพื่อยืนยันที่จะเรียกค่าเสียหาย และแจ้งเรื่องความไม่เรียบร้อยของโครงการ และขอให้โครงการแจ้งวันที่โครงการดำเนินการก่อสร้างและแก้ไขปัญหาในรายละเอียดต่างๆ ได้เรียบร้อยแล้วกลับมาอีกครั้ง พร้อมกับสำทับว่า การไปตรวจรับห้องชุดแต่ละครั้ง ตนต้องมีค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างวิศวกรเพื่อตรวจรับห้องชุด  หากเมื่อถึงวันนัดกันแล้ว  โครงการยังดำเนินการไม่เรียบร้อยอีก โครงการต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้แทนด้วยส่งจดหมายไปแล้ว สิ่งที่ได้รับคือ ความเงียบ ไม่มีปฏิกิริยาโต้กลับใดๆ มาจากโครงการ ถึงเดือนเมษายน 2555 คุณนุสราจึงส่งเรื่องร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ออกประกาศให้ธุรกิจขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2543 มีเนื้อหากล่าวถึงการคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถดำเนินโครงการอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมให้แล้วเสร็จภายในกำหนดสัญญา หรือคาดหมายได้ว่าจะไม่แล้วเสร็จภายในกำหนด ไว้ 2 แนวทางแนวทางที่ 1 ให้ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเลยก็ได้ และมีสิทธิเรียกเงินที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมดคืน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันกับเบี้ยปรับที่ทางผู้ประกอบธุรกิจกำหนดในกรณีที่ผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดนัดชำระหนี้ และไม่ตัดสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายอย่างอื่นได้อีกด้วยแนวทางที่ 2 หากผู้บริโภคไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิเรียกเบี้ยปรับเป็นรายวันตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.01 และเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของราคาห้องชุดที่จะซื้อขายกัน แต่ถ้าผู้บริโภคใช้สิทธิในการปรับครบร้อยละสิบของราคาห้องชุดแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจยังไม่สามารถก่อสร้างอาคารชุดได้ทันกำหนดตามสัญญาอีก ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียได้ตามแนวทางที่ 1 เช่นกันในกรณีของคุณนุสรา เธอไม่บอกเลิกสัญญา แต่ต้องการเรียกค่าปรับ เมื่อราคาห้องชุดที่จะซื้อขายกันอยู่ที่ 1 ล้านบาท ดังนั้นค่าปรับรวมจึงอยู่ที่ไม่เกิน 1 แสนบาท  ซึ่งคุณนุสราได้ยืนยันที่จะเรียกค่าปรับจำนวนสี่หมื่นกว่าบาท โดยใช้ข้อเสนอของโครงการที่เขียนแจ้งทางอีเมล์ว่า ถ้ามีเหตุจำเป็นที่จะทำให้สร้างไม่ทันตามกำหนด ทางโครงการจะช่วยรับภาระในการผ่อนชำระค่างวดให้จนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ มูลนิธิฯ ได้ช่วยแจ้งความประสงค์ของคุณนุสราไปยังโครงการให้อีกทางหนึ่ง โดยผู้บริโภคจะขอหักเป็นส่วนลดในค่าโอนกรรมสิทธิห้องเลย ซึ่งต่อมาทางโครงการได้ทำการก่อสร้างโครงการและแก้ไขรายละเอียดปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ให้ จนสามารถรับโอนกันได้ และขอต่อรองค่าปรับให้ลดลงเหลือ 25,000 บาท คุณนุสราเห็นว่าจะได้ห้องอยู่แล้ว จึงตกลงยินดีไม่มีปัญหา ตอบตกลงรับโอนกรรมสิทธิในเวลาต่อมา ส่วนค่าปรับก็หักจากเงินที่ต้องชำระในวันโอนกรรมสิทธิ และได้อยู่สวรรค์ชั้นแปดของเดอะกรีนคอนโดมิเนียมสมใจปรารถนา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 138 ถูกอมเงินค่าอบรมทำขนมปัง

ขนมปังเพื่อสุขภาพรุ่น 10“เรียนทำขนมปังเพื่อสุขภาพด้วยแป้งสาลีโฮสวีต ฝึกเทคนิคการนวดแป้งขนมปังด้วยมือและนวดด้วยเครื่อง เช่น ขนมปังโฮลสวีท ขนมปังแครอท ขนมปังดินเนอร์โรล ขนมปังปูอัดน้ำพริกเผา รวมทั้งวิธีดัดแปลงเป็นขนมปังได้อีกสารพัดชนิด”เอกวิทย์ ผู้มีความสนใจที่จะเปิดร้านขนมปังสังขยาและนมสด ได้เห็นโฆษณาคอร์สอบรมทำขนมปังข้างต้น จากหนังสือ Learning For Better Living ที่จัดส่งมาให้ที่บ้าน และยิ่งมีความสนใจมากขึ้นเมื่อเห็นชื่อของ Amarin Training ร่วมกับ สถาบันบ้านและสวน ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและยอมรับของคนทั่วไปเป็นผู้จัดโปรแกรมการอบรมคอร์สอบรม ขนมปังเพื่อสุขภาพรุ่น 10 จะเริ่มเรียนในวันที่ 16 มิถุนายน 2555 เอกวิทย์จึงรีบสมัครเข้ารับการอบรมทางเว็บไซต์ในวันที่ 10 มิถุนายน 2555 ซึ่งมีสองราคา ราคาปกติ 2,900 บาท และสมาชิก 2,600 บาท พี่สาวของเอกวิทย์เป็นสมาชิกอยู่เอกวิทย์จึงได้สมัครในราคาสมาชิก 2,600 บาท และได้โอนเงินค่าอบรมเข้าบัญชีของผู้จัดในวันที่ 13 มิถุนายน 2555 หลังจากที่มีโทรศัพท์จากสถาบันเร่งให้เอกวิทย์โอนเงินค่าอบรมปรากฏว่าพอถึงวันรุ่งขึ้นสักประมาณบ่ายโมงครึ่ง เอกวิทย์ได้รับโทรศัพท์จากสถาบันโทรมาแจ้งว่า ขอยกเลิกการจัดอบรมเพราะมีคนมาสมัครน้อย สถาบันไม่สามารถเปิดสอนได้และบอกว่าจะขอโอนเงินค่าอบรม 2,600 บาทคืนให้ภายในอาทิตย์ถัดไปเอกวิทย์รอจนถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2555 เงินก็ยังไม่ถูกโอนเข้าบัญชี จึงโทรเข้าไปที่สถาบันขอทราบถึงเรื่องการคืนเงินว่าจะกำหนดคืนให้ได้เมื่อไหร่ ได้รับคำตอบว่าอาจจะถึง 2 อาทิตย์ถึงจะได้รับเงินคืน เพราะต้องทำตามขั้นตอน ต่อมาก็ได้มีการโทรติดตามอยู่หลายครั้งแต่ก็ไม่มีความคืบหน้าอะไร เอกวิทย์เกรงว่าจะไม่ได้รับเงินคืนจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เอกวิทย์ให้ความเห็นว่า สถาบันเหล่านี้อาจจะมีรายได้จากค่าสมัครในการอบรมเป็นจำนวนไม่น้อย อาจจะมีการนำเงินของผู้สมัครอบรมไปหมุนเวียนในทางใดทางหนึ่ง โดยที่ไม่ต้องมีการกู้ยืมหรือลงทุนแม้แต่บาทเดียว พอเสร็จแล้วก็ทำการยกเลิกการอบรม กว่าจะคืนเงินก็ใช้เวลาหลายอาทิตย์ ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างยิ่ง แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ไม่มีความสลับซับซ้อนอะไรมาก เมื่อสัญญาว่าจะจัดการอบรมและมีการเรียกเก็บค่าอบรมแล้วไม่จัดการอบรมให้ก็ต้องคืนเงินให้กับลูกค้าสถานเดียว ทางเจ้าหน้าที่ได้โทรศัพท์ไปที่สถาบันการฝึกอบรมดังกล่าว ได้คำตอบว่าจะคืนเงินให้ผู้บริโภคในอาทิตย์ถัดไป สอบถามคุณเอกวิทย์ว่าจะยอมให้เขาผัดผ่อนอีกครั้งหรือไม่ คุณเอกวิทย์บอกว่าให้โอกาสเขาอีกครั้งถ้ายังประวิงเวลาอยู่ก็จะดำเนินการตามกฎหมายทันที อาทิตย์ถัดมาเราทราบว่าเอกวิทย์ได้รับเงินคืนเป็นที่เรียบร้อย และต้องเริ่มต้นหาที่เรียนทำขนมปังใหม่อีกครั้ง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 138 ค่าจอดรถแสนแพงที่ตลาด อ.ต.ก.?

การจอดรถนานไปหน่อย...ถ้าจอดแถวที่บ้านคงไม่เป็นไร แต่ถ้ามาจอดในสถานที่ที่มีการเรียกเก็บค่าจอด ควรตรวจสอบราคาค่าจอดให้แน่ใจเสียก่อน เผลอจอดนานไปมีสิทธิเจอค่าจอดประเภทที่ใช้จัดการคนชอบจอดรถนาน เจ็บกระเป๋าแน่คุณสุเทพ ร้องเรียนมาว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 ตนเข้าไปจอดรถที่ตลาด อ.ต.ก.ตรงข้ามสวนจตุจักรตอนเข้าไปพนักงานให้บัตรจอดรถ  ตอกเวลา 11.23 น. คุณสุเทพบอกว่าไปรับประทานอาหาร ทำธุระจนถึงเวลา 17.58 น. จึงได้ขับรถออกแล้วยื่นบัตรจอดรถให้เจ้าหน้าที่เก็บบัตร“พนักงานเก็บบัตรบอกผมว่า ค่าจอดรถ 500 บาท ผมตกใจมาก อะไรจะแพงขนาดนั้น ขนาดสนามบินสุวรรณภูมิ จอดทั้งวันยังไม่ถึง 300 บาทเลย”“เขาบอกเป็นระเบียบที่นี่ ผมเหลือบไปเห็นที่ป้ายข้างป้อมของเจ้าหน้าที่เก็บบัตรก็ตกใจอีก จอด 15 นาที ฟรี , 15 นาที -  ชม. 100 บ. ,1-2 ชม. 200 บ. 2-3 ชม. 300 บ. 3-4 ชม.400 บ. 4-5 ชม. 500 บ. นี้ประเทศไทยหรือเปล่า และที่แห่งนี้ก็เป็นตลาดเพื่อเกษตรกร มาขูดรีดกับประชาชนในการเก็บค่าจอดรถ แต่ยังไงผมก็จ่าย 500 บ.ให้พนักงานเพื่อตัดปัญหา”“ผมลองโทรไปถาม ทาง ผอ.ตลาด อ.ต.ก. ว่าเก็บค่าจอดแพงเกินไป ผมจะร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เขาบอกเชิญเลย ดังนั้นผมขอร้องเรียนมา ณ ที่นี้เพื่อให้ นำข้อมูลที่ผมแจ้งเผยแพร่ต่อสาธารณชน และเป็นวิทยาทานให้กับผู้ที่ประสบความเดือดร้อนเช่นผม” แนวทางแก้ไขปัญหา จากรายละเอียดที่ได้แจ้งมาพบว่า คุณสุเทพใช้เวลาจอดรถนานถึง 6 ชั่วโมง 35 นาทีการจอดรถยนต์บริเวณตลาดกลาง อ.ต.ก. ย่านพหลโยธิน เราได้ตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์พบว่าองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) ได้ออกประกาศเรื่องอัตราค่าบริการจอดรถยนต์บริเวณตลาดกลาง อ.ต.ก. ในวันธรรมดา-วันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งใช้เรียกเก็บกับบุคคลทั่วไปตามนี้(1)   30 นาทีแรก ไม่คิดค่าจอด(2)   เกิน 30 นาที แต่ไม่เกิน 1 ชั่วโมง          คิดค่าจอดคันละ 10 บาท(3)   เกิน 1 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 2 ชั่วโมง         คิดค่าจอดคันละ 20 บาท(4)   เกิน 2 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 3 ชั่วโมง         คิดค่าจอดคันละ 40 บาท(5)   เกิน 3 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 4 ชั่วโมง         คิดค่าจอดคันละ 100 บาท(6)   เกิน 4 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 5 ชั่วโมง         คิดค่าจอดคันละ 200 บาท(7)   เกิน 5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 6 ชั่วโมง         คิดค่าจอดคันละ 400 บาท(8)   เกินกว่า 6 ชั่วโมง                              คิดค่าจอดคันละ 500 บาทกรณีบัตรหาย คิดค่าปรับใบละ 300 บาท (ไม่รวมค่าจอดรถยนต์)ประกาศดังกล่าว เป็นประกาศที่มีการแก้ไขจากประกาศฉบับเดิม ซึ่งป้ายราคาค่าจอดรถยังคงปรากฏอยู่  ณ ที่ช่องทางเก็บค่าจอดรถของตลาด อ.ต.ก.นั้นยังเป็นอัตราราคาเดิม ซึ่งมีช่วงเวลาจอดรถที่ผู้จอดรถได้เปรียบเสียเปรียบแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ที่แน่ ๆ หากจอดรถนานเกินกว่า 6 ชั่วโมงขึ้นไปจะถูกเก็บค่าจอดคันละ 500 บาทเรามีหนังสือไปที่ อ.ต.ก. เพื่อสอบถามถึงโครงสร้างราคาค่าจอดรถ ได้รับคำชี้แจงจาก อ.ต.ก.ว่าประการที่หนึ่ง ตามประกาศดังกล่าว จะเห็นว่าค่าจอดรถยนต์ของตลาด อ.ต.ก.คิดราคาไม่สูงเกินกว่า 10-40 บาท หากจอดไม่เกิน 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาที่เพียงพอสำหรับการใช้บริการตลาด อ.ต.ก. และผู้ใช้บริการมากกว่าร้อยละ 95 จอดภายในเวลานี้ประการที่สอง อ.ต.ก.จำเป็นจะต้องกำหนดราคาจอดรถยนต์ให้สูงมากหลังจากช่วงเวลานี้ เนื่องจาก อ.ต.ก.มีที่จอดรถยนต์จำกัดเพียง 580 คัน แต่มีผู้มาใช้บริการวันละ 1,500 – 2,500 คัน เพื่อป้องกันมิให้ผู้มาใช้ลานจอดรถยนต์เพื่อเรื่องอื่นๆ ที่มิใช่การใช้บริการตลาด อ.ต.ก. และทำให้ที่จอดรถยนต์ไม่มีเพียงพอ สำหรับผู้มาใช้บริการตลาดคนอื่นๆประการที่สาม กรณีนี้ผู้ใช้บริการจอดรถยนต์นานกว่า 6 ชั่วโมง โดยอาจจะไม่ทราบว่าจะต้องเสียค่าจอดสูงหากจอดเกินกว่าหกชั่วโมง ซึ่งหากมาใช้บริการตลาด อ.ต.ก.เป็นเวลานานมากเช่นนี้ อาจติดต่อขอให้ อ.ต.ก.พิจารณาลดหย่อนเป็นกรณีๆ ต่อไปใครที่จะจอดรถนานๆ นานแบบปาเข้าไปครึ่งค่อนวันกับตลาด อ.ต.ก. ทราบแล้วเปลี่ยน...เปลี่ยนที่จอดด่วน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 ทำไม?? ค่าโอนหน่วยกิตถึงแพงกว่าค่าลงทะเบียนเรียนปกติ

และแล้วเราก็ผ่านพ้นช่วงเวลาเปิดภาคเรียนที่แสนจะสับสน    วุ่นวายที่สุดคือเรื่องการหาที่เรียน ของลูกหลาน   และเรื่องที่วุ่นวายไม่แพ้กันคือเรื่องการหาเงินมาจ่ายค่าเทอม และอุปกรณ์การเรียนของลูกหลาน   แต่ไม่ว่าปัญหาจะใหญ่แค่ไหนสุดท้ายเราก็สามารถก้าวผ่านมันไปได้    เหมือนที่เคยผ่านมาทุกปี ถึงแม้ผู้บริหารการศึกษาหลายแห่งอาจจะยังถูกตรวจสอบอยู่ก็ตาม(หวังว่าปัญหาการเรียกเก็บค่าค่าแปะเจี๊ยะที่กำลังโด่งดังคงไม่จบแบบมวยล้มต้มคนดูนะ)พูดถึงการศึกษาผู้เขียนก็มีข้อสงสัยอยู่พอประมาณ   เรื่องมีอยู่ว่าผู้เขียนเนี่ย...เป็นคนทำงานเกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภค   จึงมีทั้งผู้มาร้องเรียนหรือมาหารือเกี่ยวกับกฎหมายอยู่บ่อยๆ(บ่อยมาก)    พอพูดถึงกฎหมายก็ต้องยอมรับว่าผู้เขียนมีความรู้เรื่องนี้อยู่ไม่มากเท่าที่ควร   พอมีคนมาหารือเราก็ต้องยกหูหานักกฎหมายอยู่เป็นเนืองนิจ.....ปรึกษาบ่อยๆ ก็เริ่มเกรงอกเกรงใจ  ก็เลยตัดสินใจไปลงเรียนกฎหมายเองเสียเลย..  อายุปาเข้าไปปูนนี้(และกำลังเงินมีจำกัด) ที่เรียนคงที่มหาวิทยาลัยเปิด ที่ราคาพอเรียนไหว  ก็คงหนีไม่พ้นมหาวิทยาลัยรามคำแหง(คณะนิติศาสตร์) เพื่อจะได้มีพื้นฐานความรู้เรื่องกฎหมาย    เพื่อจะได้ให้คำปรึกษาเบื้องต้นให้กับคนที่มาพึ่งพาได้บ้าง     การลงทะเบียนเรียนที่ม.รามฯ ก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก  ค่าหน่วยกิตก็ถือว่าถูกมากแค่หน่วยกิตละ 15  บาท รวมค่าเทอมและอื่นก็ไม่น่าจะเกิน 2 ,000 บาท (พอเรียนไหว) ผู้เขียนมีพื้นฐานการเรียนที่จบทั้งปริญญาตรีและปริญญาโทแล้ว   นั่นก็หมายความว่าวิชาพื้นฐาน  ได้เรียนมาหมดแล้ว   ซึ่งสามารถเทียบโอนวิชาเหล่านี้ได้   ทางมหาวิยาลัยคิดค่าโอนหน่วยกิตละ 100 บาท(แพงกว่าค่าลงทะเบียนเรียนเกิน 5 เท่า) โดนค่าโอนไปประมาณ 3,000 กว่าบาท     ผู้เขียนติดใจเรื่องนี้มาก(ถึงแม้จะเป็นเงินไม่มาก)   ที่ติดใจเป็นเพราะ การเทียบโอนทางมหาวิทยาลัยไม่ได้เสียอะไรเลย  ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ  ค่าห้องเรียน และอาจารย์ผู้สอน  แต่กลับเรียกเก็บค่าเทียบโอนสูงกว่าค่าลงทะเบียนเรียนปกติ   เขาเก็บแพงกว่าเพราะอะไร?    เมื่อสงสัยก็ต้องถาม จริงไหม?.....ผู้เขียนจึงได้ถามอาจารย์หลายคนที่อยู่ในบริเวณนั้น  ซึ่งแต่ละท่านน่าจะระดับ ด็อกเตอร์แล้ว น่าจะได้คำตอบที่ชัดเจน  หากท่านคิดอย่างนั้นเหมือนผู้เขียน....ขอบอกว่า....ท่านน.... “คิดผิด”  เพราะคำตอบที่ได้คือ “ไม่รู้”  ทางมหาวิทยาลัยเขาเขียนระเบียบมาอย่างนี้  ก็ต้องเก็บตามนั้น  อยากรู้ต้องไปถามอธิการบดีเอาเอง  คนอื่นเขาก็จ่ายกัน ไม่เห็นใครเขาจะถามเลย..อื้อหือ....คำตอบมีประโยชน์ต่อผู้ถามจังเล้ยยย...นอกจากไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนแล้วยังแถมด้วย สีหน้ารำคาญนิดหน่อย  ประมาณว่าจะเรียนไหม?..อะไรทำนองนี้       และที่ติดใจมากที่สุดคือคำที่บอกว่า  “มหาวิทยาลัยอื่นเขาก็เก็บอย่างนี้ทั้งนั้น”  อาจเป็นด้วยผู้เขียนเป็นคนทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค และกำลังจะเรียนกฎหมายด้วย   เมื่อเห็นอะไรแปลกๆ อดสงสัยไม่ได้เป็นธรรมดา   เรื่องนี้คงต้องติดตามตอนต่อไปว่ามหาวิทยาลัย  ออกระเบียบเช่นนี้ผิดกฎหมายหรือไม่(ยังไม่ทันจะเรียนวิญญาณนักกฎหมายเข้าสิงเสียแล้ว)      แล้วท่านผู้อ่านล่ะ..สงสัยเรื่องนี้บ้างหรือไม่หากสงสัย  ...มาช่วยกันหาคำตอบนะจะได้เรียนรู้ร่วมกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 บ้านถูกน้ำท่วม ไม่ใช้เน็ตแต่ถูกเรียกเก็บค่าบริการ

เป็นที่ทราบกันดีว่าที่อยู่อาศัยแถบอำเภอบางบัวทองต้องถูกน้ำท่วมอย่างหนัก แทบไม่มีใครอยู่อาศัยได้ ระบบสาธารณูปโภคต่างๆล่ม จึงมีการยกเว้นการเรียกเก็บค่าบริการไม่ให้ซ้ำเติมความทุกข์ของชาวบ้าน แต่ความดีแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับอินเทอร์เน็ตของทรูไลฟ์พลัส เพราะมีการร้องเรียนว่ายังเรียกเก็บค่าบริการต่อเนื่องเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นคุณชูชัยเป็นผู้บริโภครายหนึ่งที่ร้องเรียนมาว่า ตนและครอบครัวอยู่อาศัยในหมู่บ้านชื่อดังแห่งหนึ่งย่านถนนบางกรวยไทรน้อย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เมื่อน้ำท่วมใหญ่เข้าอำเภอบางบัวทองเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554  ทำให้ไม่สามารถอยู่อาศัยในบ้านได้ จึงได้โทรแจ้งไปยังบริษัท ทรู ไลฟ์ พลัส จำกัดว่า บ้านถูกน้ำท่วมอยู่อาศัยไม่ได้จึงไม่สามารถใช้บริการอินเทอร์เน็ตของบริษัทได้ ขอให้บริษัทระงับการเรียกเก็บค่าบริการไว้ก่อนเสียงร้องขอของผู้บริโภคคงไร้ความหมาย เจตนารมณ์ของทรูไลฟ์พลัส คงไม่เปลี่ยนแปลงและมุ่งมั่นรักษาสโลแกนของตนไว้เหมือนเดิม “ชีวิตมีแต่บวก” ก็เลยมีการส่งใบแจ้งหนี้บวกเพิ่มให้คุณชูชัยเข้ามาทุกเดือน กลายเป็นหนี้สะสมทบติดต่อกันมาถึง  5 เดือนนับจากวันที่น้ำท่วมเข้าบางบัวทอง จนถึงวันที่ร้องเรียน คุณชูชัยก็ยังไม่สามารถเข้าอาศัยในบ้าน ของตัวเองได้เนื่องจากอยู่ระหว่างการซ่อมแซมต้องไปหาพักอาศัยในคอนโดแห่งหนึ่งแทน จึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหา เรื่องนี้ได้มีการร้องเรียนไปที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(สบท.)ของ กสทช.อีกทางหนึ่งด้วย เราจึงได้สอบถามความคืบหน้าไปที่ สบท. ทราบว่าหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนแห่งนี้ได้มีหนังสือถึงบริษัท ทรู ไลฟ์ พลัสฯ เพื่อขอให้พิจารณายกเว้นการเรียกเก็บค่าบริการใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงที่ผู้บริโภคไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ทรู ได้ปรับลดค่าบริการตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2554 ถึงรอบเรียกเก็บในเดือนมีนาคม 2555 เป็นเงิน 3,700 กว่าบาทให้ และได้มีการเริ่มต้นคิดค่าใช้จ่ายกับผู้บริโภคอีกครั้ง สอบถามคุณชูชัยได้ความว่าตอนนี้ยังอาศัยอยู่ที่คอนโดยังไม่ได้กลับเข้าบ้านเพราะบ้านยังซ่อมไม่เสร็จ จึงอยากจะทำเรื่องยกเลิกการใช้บริการอินเทอร์เน็ตและขอเงินประกันกล่อง Router คืนไปเลย แต่กล่อง Router หายไปตอนน้ำท่วมหลังทราบความต้องการของผู้บริโภค ทรูจึงทำการยกเลิกบริการอินเทอร์เน็ต และแจ้งว่าค่าประกันกล่อง Router อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) เรื่องนี้มีความสับสนอยู่สักพัก เพราะจริงๆแล้ว กล่อง Router นั้นไม่มีการทำประกัน แต่เป็นลักษณะของการซื้อขายอุปกรณ์เมื่อใช้อินเทอร์เน็ตครบ 1 ปี กล่อง Router จะตกเป็นของผู้บริโภค ส่วนเงินที่ติดตามทวงถามคืนนั้นเป็นค่าประกันหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งห้ามมิให้มีการเรียกเก็บเงินในลักษณะนี้ จึงได้มีการติดตามทวงถามคืนจากทีโอทีรวมจำนวน 2 เลขหมาย และท้ายที่สุดได้คืนเป็นจำนวนเงินเลขหมายละ 3,000 บาท รวมเป็น 6,000 บาทเรื่องจึงเป็นอันยุติ สวัสดี  

อ่านเพิ่มเติม >