ฉบับที่ 236 ห้างค้าปลีกใส่ใจคุณแค่ไหน

        ฉลาดซื้อเคยนำเสนอผลการประเมินนโยบายด้าน “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ในการจัดซื้ออาหารสด ของห้างค้าปลีกขนาดกลางและขนาดใหญ่ 8 แบรนด์ (Big C, CP Fresh Mart, Foodland, Gourmet Market, Siam Makro, Tesco Lotus, Tops, และ Villa Market) มาแล้ว และพบว่าโดยรวมแล้วห้างในบ้านเรายังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนักคราวนี้เรามาเจาะลึกดูเรื่องความรับผิดชอบต่อ “สวัสดิการของผู้บริโภค” กันบ้าง ตัวชี้วัดที่จะให้คะแนนคราวนี้ได้แก่ข้อมูลในเรื่องต่อไปนี้ที่บริษัทเปิดเผยต่อสาธารณะ ณ วันที่ 30 เมษายน 2563  1.   ความปลอดภัยของอาหารในร้าน: บริษัทมีมาตรการรักษาความปลอดภัยของอาหารที่ได้มาตรฐานและโปร่งใสหรือไม่2.   ส่วนประกอบและที่มาของอาหาร: บริษัทกำหนดให้คู่ค้าเปิดเผยส่วนประกอบและแหล่งที่มาของอาหารหรือไม่3.   ภาวะโภชนาการ: บริษัทให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในประเด็นภาวะโภชนาการหรือไม่ อย่างไร4.   กลไกรับเรื่องร้องเรียน: บริษัทมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิผลและโปร่งใสหรือไม่5.   กลไกเยียวยา: บริษัทมีกลไกเยียวยาที่มีประสิทธิผลและโปร่งใสหรือไม่6.   การมีส่วนร่วมของผู้บริโภค: บริษัทเปิดให้ผู้บริโภคและองค์กรตัวแทนผู้บริโภค มีส่วนร่วมในประเด็นความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมหรือไม่7.   การให้การศึกษาแก่ผู้บริโภค (consumer education): บริษัทให้การศึกษาแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับประเด็นความยั่งยืนของอาหารมากน้อยเพียงใด8.   ความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ: บริษัทให้ความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ มากน้อยเพียงใดในประเด็นสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย  แต่ละตัวชี้วัดจะมีสามข้อย่อย ซึ่งหากผู้วิจัยพบว่ามีข้อมูลในข้อนั้นก็จะให้หนึ่งคะแนน รวมทั้งหมดจึงเป็น 24 คะแนน ในภาพรวมเราพบว่าสิ่งที่ห้างค้าปลีกทำคะแนนได้มากที่สุดสามอันดับแรกคือ การให้การศึกษาแก่ผู้บริโภค การให้ความรู้ประเด็นภาวะโภชนาการ และการมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ · หมายเหตุ บทความนี้อ้างอิงข้อมูลจากรายงานความก้าวหน้าเรื่อง ผลการประเมินความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและสวัสดิการผู้บริโภค ในธุรกิจอาหารและการจัดซื้ออาหารของธุรกิจค้าปลีก ซึ่งจัดทำโดยทีมวิจัยป่าสาละ   ใครได้คะแนนสูงที่สุด Siam Makro ได้คะแนนสูงสุดในหมวดความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค (5 คะแนน จาก 24 คะแนน หรือร้อยละ 20.83)[JM1]  บริษัทกำหนดให้คู่ค้าเปิดเผยส่วนประกอบและแหล่งที่มาของอาหารบนฉลากอย่างชัดเจน รวมถึงสัดส่วน GMO ด้วย ให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในประเด็นภาวะโภชนาการผ่านป้ายรณรงค์ในร้านและช่องทางสาธารณะ ประกาศนโยบาย/กลยุทธิ์เพื่อความยั่งยืนในห่วงโซ่อาหารอย่างชัดเจน มีโครงการด้านสวัสดิการผู้บริโภคหรือสิ่งแวดล้อมของอาหาร ร่วมกับองค์กรภาคประชาชน ที่ใช้กลไกการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย และมีบทบาทในการพัฒนามาตรฐานความยั่งยืนในระดับอุตสาหกรรม  อันดับสองได้แก่ Tops ได้ไป 4 คะแนน (ร้อยละ 16.67) บริษัทให้ความรู้เรื่องโภชนาการแก่ผู้บริโภค ผ่านป้ายรณรงค์ในร้านและช่องทางสาธารณะต่างๆ รวมถึงรณรงค์และให้ข้อมูลเรื่องความปลอดภัยของอาหารแก่ผู้บริโภคทั้งในร้านและช่องทางสาธารณะต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา เข้าใจง่าย มีกลไก/แนวปฏิบัติในการรับเรื่องร้องเรียนที่ชัดเจน บริษัทประกาศนโยบายความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหาร และกลยุทธ์ความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ชัดเจน  อันดับสามคือ CP Fresh Mart ได้ 3 คะแนน (ร้อยละ 12.50) บริษัทประกาศนโยบายและกลยุทธ์ความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ชัดเจน มีการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัด และมีการรายงานความคืบหน้ารายปี มีกลไกการรับเรื่องร้องเรียนที่ชัดเจนและมีแนวปฏิบัติรวมถึงกำหนดระยะเวลาที่ผู้บริโภคจะได้รับการตอบรับเรื่องร้องเรียนส่วนที่เหลือ (Big C, Foodland, Gourmet Market, Tesco Lotus, และ Villa Market) ไม่มีคะแนน  ในภาพรวมห้างค้าปลีกในบ้านเรายังต้องมีการปรับปรุงในเรื่องนี้อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของกลไกเยียวยา และการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค เช่นการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคและองค์กรตัวแทนผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมในประเด็นด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม  ระหว่างนี้มาดูตัวอย่างแนวปฏิบัติหรือนโยบายที่น่าสนใจของสามห้างที่ได้คะแนนอันดับต้นๆ กันไปก่อน ·ความปลอดภัยของอาหารแอปพลิเคชัน Scan Me ของ Tops  ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งผลิตและสถานที่จําหน่ายเนื้อสัตว์และซีฟู้ด (ปลา) ณ จุดขายใน 24 สาขาทั่วกรุงเทพฯ เพื่อให้ได้สินค้าที่สด สะอาด ปลอดภัย ·ส่วนประกอบ/ที่มาของอาหารSiam Makro ส่งเสริมการแสดงฉลากสําหรับถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด ที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม (Genetic modification) หรือพันธุวิศวกรรม (Genetic engineering) ประกอบด้วย 22ชนิด ·ความรู้เรื่องภาวะโภชนาการSiam Makro จัดทําฉลากแสดงค่าพลังงาน ปริมาณนํ้าตาล ไขมัน และโซเดียม (Guideline Daily Amount –GDA) ที่ช่วยให้ผู้บริโภคเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการลดความหวาน มัน หรือเค็มได้ ในขณะที่ Tops ให้ความรู้ผู้บริโภคในเรื่องวิธีหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ ·กลไกรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคCP Fresh Mart มีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสินค้า/บริการของซีพีเฟรชมาร์ท โดยกําหนดรูปแบบการจัดการข้อร้องเรียนไว้ 3 ระดับตามความความรุนแรงของปัญหา และทําหน้าที่เป็นตัวกลางในการส่งเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและติดตามผลการตรวจสอบจนปัญหาของลูกค้าได้รับการแก้ไข ข้อร้องเรียนด้านคุณภาพ (เช่น สี กลิ่น รส ฯลฯ) ใช้เวลาจัดการภายใน 5 วัน ข้อร้องเรียนด้านความปลอดภัย (เช่น สิ่งแปลกปลอม) ภายใน 3 วัน และข้อร้องเรียนด้านวิกฤต (เช่น ผู้บริโภคเจ็บป่วย) ภายใน 24 ชั่วโมง ·การให้การศึกษาแก่ผู้บริโภคเรื่องความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานอาหารTops ประกาศนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน “เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นขององค์กรในการพัฒนา คัดสรรสินค้าที่นํามาจําหน่ายอย่างรับผิดชอบ ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัย แหล่งที่มาของสินค้าสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ อีกทั้งยังเชื่อมโยงการผลิตสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น มีกระบวนการจัดซื้อเป็นธรรมและโปร่งใส ผลักดันผู้ร่วมค้าให้พัฒนาและยกระดับศักยภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องภายใต้ระบบการประกันคุณภาพที่สามารถมั่นใจได้ว่าสินค้าที่ผลิตมีความปลอดภัย” Siam Makro กำหนดเป้าหมายว่าภายในปี 2563 คู่ค้าธุรกิจหลักทั้งหมดต้องได้รับการตรวจประเมินด้านความยั่งยืน และมีแนวทางการจัดหาอย่างยั่งยืน ครอบคลุมผลิตภัณฑ์กลุ่มเสี่ยง ในขณะเดียวกันวัตถุดิบหลักทั้งหมดก็ต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มีการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยอาหารตลอดห่วงโซ่คุณค่า CP Fresh Mart กำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 5 ปี ระหว่างปี 2559-2563 ไว้ดังนี้ การยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยตลอดกระบวนการ การส่งเสริมการเข้าถึงอาหาร การพัฒนาคู่ค้าธุรกิจให้เติบโตไปด้วยกัน การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชน การบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีการระบุเป้าประสงค์ที่ชัดเจน และจัดทํารายงานความยั่งยืนประจําปีมาตั้งแต่ปี 2554   ·ความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นSiam Makro ร่วมมือกับกรีนพีซ (Greenpeace) เพื่อยกระดับกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับในกระบวนการผลิตทูน่าชนิดก้อนในน้ําเกลือ ตราเอโร่ (aro) ให้มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้อย่างถูกต้อง แม่นยํา มีข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์ทูน่าที่ใช้ แหล่งที่มา เช่น มหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อผู้บริโภคสแกน QR Code ที่สินค้าก็จะทราบว่าปลาทูน่าถูกจับด้วยวิธีการใช้อวนล้อม ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ทําลายสิ่งแวดล้อม  บทความนี้นำเสนอเพียงส่วนหนึ่งของการประเมินในสามด้านได้แก่ 1) สิ่งแวดล้อม-ห้างค้าปลีก 2) สิ่งแวดล้อมคู่ค้า-ความปลอดภัย และ 3) ผู้บริโภค โดยแต่ละหมวดประกอบด้วย 8 ตัวชี้วัด หมวดละ 24 คะแนน (คะแนนรวมทั้งหมดจึงเท่ากับ 72 คะแนน)  จากผลคะแนนโดยรวมทั้งสามด้าน เราจะเห็นว่า Siam Makro, Tops, และ CP Fresh Mart ได้คะแนนสูงสุด (9 จาก 72 คะแนน หรือร้อยละ 13.89) ตามด้วย Tesco Lotus ที่ได้คะแนน 3 แต้ม หรือร้อยละ 4.63 ในขณะที่ Gourmet Market ได้ไป 2 แต้ม โดยได้คะแนนจากมิติด้านสิ่งแวดล้อม-ห้างค้าปลีกห้างที่ไม่ได้คะแนนด้านใดเลยตามเกณฑ์ของงานวิจัยชิ้นนี้ได้แก่ Big C  Villa Market และ Foodland ------สำหรับนโยบายเรื่องการลดถุงพลาสติก (สำหรับผู้บริโภค) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งในหมวดสิ่งแวดล้อม-ห้างค้าปลีก ทีมวิจัยให้ Gourmet Market  Tesco Lotus และ Tops ห้างละ 2 คะแนน  Gourmet Market มีโครงการ เดอะมอลล์ กรุ๊ป โก กรีน (THE MALL GROUP GO GREEN) GREEN EVERYDAY งดบริการถุงพลาสติกทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม เป็นต้นมา  Tesco Lotus มีนโยบายลดใช้ถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ที่ไม่จําเป็น โดยเริ่มใช้มาตรการงดใช้ถุงพลาสติกสําหรับลูกค้าที่ซื้อสินค้า 1-2 ชิ้น ในสาขาเอ็กซ์เพรสและตลาดทั่วประเทศ รวมประมาณ 1,800 สาขา ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2562 Tops มีมาตรการงดใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อลดขยะตั้งแต่ต้นทาง เช่น งดใช้กล่องโฟมในโซนฟู้ดพาร์ค และโซนซื้ออาหารกลับบ้านในศูนย์อาหารทุกแห่งที่บริหารงาน โดย “CPN ร่วมกับกลุ่มเซ็นทรัลในการงดใช้ถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของเดือนในTopsห้างสรรพสินค้าและเซ็นทรัลฟู้ดฮอลล์”  ในขณะที่ CP Fresh Mart และ Siam Makro ได้ไปห้างละ 1 คะแนน CP Fresh Mart งดให้บริการถุงพลาสติกทุกวันพุธตลอดปี 2562 มีแคมเปญรักษ์โลก ‘ชวนช้อป! พกกระเป๋า ไม่เอาถุง’ ตั้งเป้าลดถุงพลาสติกปีละ 3 ล้านใบ และจะเป็นร้านปลอดถุงพลาสติกในปี 2565   Siam Makro ไม่มีการแจกถุงพลาสติกมาตลอด 29 ปีของการดําเนินธุรกิจ ถึงปัจจุบันลดถุงพลาสติกไปแล้วกว่า 5,400 ล้านใบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 สะดวกซื้อ สะดวกร้อง?

        บทเรียนการเรียนรู้จากผู้บริโภคที่มาปรึกษาเหตุการณ์การซื้อสินค้าจากร้านค้าและร้านสะดวกซื้อหลายราย        รายแรก ผู้บริโภคซื้อนมสดชนิดบรรจุถุงจากร้านสะดวกซื้อไปให้ลูกชายรับประทาน เมื่อลูกชายรับประทานบอกว่านมมีรสเปรี้ยว ตนเองจึงลองชิมดูบ้าง ปรากฏว่ารสเปรี้ยวจริงๆ นมน่าจะบูด ตนจึงเช็ควันหมดอายุที่ข้างถุง ก็ยังไม่เลยวันหมดอายุ จึงมาปรึกษาว่าจะทำอย่างไร        รายที่สอง ผู้บริโภคซื้อเกี๊ยวกุ้งจากร้านสะดวกซื้อ จะนำมาอุ่นรับประทานที่บ้าน พอตัดถุงจะนำไปอุ่นในไมโครเวฟ พบว่ามีเกี๊ยวหนึ่งชิ้นที่ไม่มีไส้บรรจุอยู่ ผู้บริโภครายนี้จึงอุ่นรับประทานไปหมด แล้วมาปรึกษาเจ้าหน้าที่ว่าจะดำเนินการกับผู้ผลิตได้อย่างไรบ้าง         รายที่สาม ผู้บริโภคซื้อแกงกะทิบรรจุในถุงจากแม่ค้าขายข้าวแกงในตลาด โดยแกงนี้จะถูกตักไว้เป็นถุงๆ วางไว้ที่โต๊ะข้างหม้อแกงที่แม่ค้าตักขาย เมื่อใครจะซื้อก็หยิบให้เลยเพื่อความสะดวก ผู้ร้องซื้อแกงกะทิตั้งแต่เช้าแล้ววางตั้งไว้ในครัว โดยไม่ได้แช่ไว้ในตู้เย็น เมื่อกลับจากทำงานถึงบ้านตอนค่ำ จะนำมารับประทานปรากฎว่าแกงกะทิบูด         การดำเนินการในสามกรณีข้างต้น จะเห็นว่ามีรายละเอียดที่ต้องพิสูจน์ และค่อนข้างจะสรุปได้ยาก เพราะอาจเกิดการโต้แย้งจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ กรณีแรกอาจง่ายหน่อยตรงที่ผลิตภัณฑ์นมยังไม่หมดอายุ แต่ดันมีรสเปรี้ยว และผู้ร้องเพิ่งรับประทานจึงมีหลักฐานอยู่ ส่วนกรณีที่สองจะพิสูจน์ได้ยาก เนื่องจากเกี๊ยวกุ้งถูกรับประทานไปจนหมด ข้อกล่าวหาจึงเป็นคำพูดลอยๆ ของผู้ร้องเท่านั้น  ส่วนกรณีที่สามแม้แกงกะทิจะบูดจริง แต่ก็พิสูจน์ได้ยากว่า มันบูดตั้งแต่ตอนตักใส่ถุง หรือบูดเพราะผู้ซื้อไม่ได้นำไปเก็บในที่ที่เหมาะสม         เจ้าหน้าที่จึงแนะนำว่า หากเกิดกรณีแบบนี้ ให้ผู้บริโภครีบนำสินค้ากลับไปหาผู้ขายโดยเร็วที่สุด หากเป็นร้านสะดวกซื้อให้นำใบเสร็จรับเงินที่ได้รับไปเป็นหลักฐานด้วย (กรณีซื้อสินค้าที่มีใบเสร็จรับเงิน ไม่ควรรีบทิ้งใบเสร็จรับเงิน เราควรแนบติดกับสินค้าไว้ก่อน เผื่ออาจจะจำเป็นต้องใช้กรณีฉุกเฉินดังกล่าว) เท่าที่มีประสบการณ์ ร้านสะดวกซื้อหลายแห่งมักจะรับเรื่องและชดเชยสินค้าให้ด้วย บางรายเขาจะชดเชยให้กรณีที่เสียเวลามาด้วยซ้ำ ส่วนกรณีแกงถุงจากแม่ค้า จากประสบการณ์ส่วนใหญ่ถ้าคุยกันดีๆ มักจะได้ชดเชยให้ฟรีๆ ด้วยเช่นกัน         รายที่สี่ ผู้บริโภคซื้อยาแผนโบราณมาจากคนรู้จัก เป็นผงสีน้ำตาลอ่อนบรรจุในซองซิบใส ไม่มีฉลากใดๆ คนรู้จักที่นำมาขายบอกว่าแก้ปวดเส้นและแก้โรคเก๊าท์ ตนเองกินแล้วได้ผลดี กินไปหลายซองแล้ว สงสัยว่ายานี้มีสารอะไรบ้างจึงนำยามาให้เจ้าหน้าที่ตรวจ         เมื่อเจ้าหน้าที่สอบถามว่ายานี้ซื้อมาจากใคร หรือพอทราบแหล่งที่ส่งต่อยามาขายหรือไม่ ผู้ร้องก็บอกว่าไม่กล้าบอก เป็นห่วงคนที่ขาย เมื่อเจ้าหน้าที่แจ้งว่าที่สอบถามก็เพื่อจะติดตามไปยังแหล่งต้นทางที่ผลิต ขอให้แจ้งข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อจะได้เกิดประโยชน์ในการติดตาม และจะได้ช่วยคนอื่นๆ ด้วย ผู้ร้องก็ไม่ยอมบอกและขอนำยากลับคืนไป        ในทีสุดเจ้าหน้าที่จึงได้แต่แนะนำว่า ยาที่ผลิตเพื่อใช้รักษาโรคจะต้องขออนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับยาก่อน เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ตรวจสอบว่ายาตำรับนี้มีความปลอดภัยหรือไม่ ถ้าปลอดภัยถึงจะอนุญาตให้ผลิตได้ ยาผงที่นำมาให้ตรวจสอบไม่มีรายละเอียดใดๆ เลย แสดงว่าไม่ได้มาขอขึ้นทะเบียนตำรับและยังไม่แสดงชื่อที่อยู่ผู้ผลิตอีก แสดงว่าผู้ผลิตมีเจตนาหลบเลี่ยงกฎหมาย ไม่แนะนำให้รับประทาน เพราะไม่รู้ว่าในยานี้มีสารอันตรายหรือไม่และยิ่งกินแล้วได้ผลดีอย่างรวดเร็ว ยิ่งน่าสงสัยว่าจะมีการปลอมปนสารเคมีอันตราย เช่น สเตียรอยด์ด้วยซ้ำ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 แอบเปลี่ยนป้ายราคาสินค้า แล้วเอาไปคิดเงิน ผิดลักทรัพย์หรือไม่

        ฉบับนี้ผมขอหยิบเรื่องใกล้ตัวที่หลายท่านอาจยังไม่ทราบเกี่ยวกับการติดป้ายราคาสินค้า ซึ่งปกติเวลาเราไปเดินตามห้างร้านต่างๆ  ก็จะมีการแสดงราคาสินค้าให้เราทราบ เพื่อให้มีข้อมูลเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ อย่างไรก็ตามหากมีใครสักคนอยากได้สินค้านั้นแต่ไม่ต้องการจ่ายตามราคาที่ร้านกำหนด เลยแอบเอาป้ายราคาสินค้าอื่นมาติดแทนแล้วเอาไปจ่ายเงิน พนักงานเก็บเงินไม่ได้ตรวจให้ดี ก็คิดเงินตามราคาสินค้าที่ติดป้ายราคาปลอมนั้น เช่นนี้จะถือว่ามีความผิดเข้าข่ายลักทรัพย์ตามกฎหมายหรือไม่        โดยประเด็นนี้เองเคยเกิดขึ้นจริงและมีคดีที่ศาลฏีกาได้ตัดสินไว้ด้วย ซึ่งกล่าวโดยสรุปศาลฏีกาได้ตัดสินว่า “ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะการกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยพลการโดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวง” โดยได้วางหลักไว้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6892/2542          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6892/2542          การที่จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายเปลี่ยนเอาป้ายราคาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางซึ่งติดราคา 1,785 บาทออก แล้วนำป้ายราคาโคมไฟอื่นซึ่งติดราคา 134 บาท มาติดแทน แล้วมอบให้พวกของจำเลยนำไปชำระราคาแก่พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหาย มิใช่จำเลยเอาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางไปโดยพลการโดยทุจริต จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายโดยทุจริต โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า ราคาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางมีราคา 134 บาท พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายหลงเชื่อยินยอมมอบโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางให้จำเลย โดยรับเงินจากจำเลยไว้เพียง 134 บาท การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จอยู่ในตัว และจำเลยกระทำโดยมีเจตนาหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายให้ยินยอมมอบโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางให้จำเลยแล้ว จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง หาใช่จำเลยไม่มีเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จไม่         จากคดีนี้ เราจะเห็นได้ว่า ศาลมองว่าเป็นเรื่อง “การฉ้อโกง” เนื่องจากจำเลยใช้อุบายหลอกลวงโดยเอาป้ายราคาถูกมาปิดทับป้ายราคาแพง อันเป็นการแสดงข้อความเท็จในตัว ทำให้พนักงานหลงเชื่อว่าราคาโคมไฟเพียง 134 บาท แล้วยินยอมส่งมอบทรัพย์ คือโคมไฟตั้งโต๊ะให้โดยสมัครใจจากผลของการฉ้อโกง         และที่ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะการลักทรัพย์ต้องเป็นกรณีเอาทรัพย์ไปโดยเจ้าของทรัพย์ไม่ได้อนุญาต ดังตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3150/2522          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3150/2522         การที่ผู้เสียหายเอาเงินออกมาเพื่อร่วมทำธนบัตรปลอมด้วยความเชื่อตามที่จำเลยกับพวกหลอกลวง โดยผู้เสียหายยังครอบครองยึดถือธนบัตรเหล่านั้นอยู่ แล้วจำเลยกับพวกได้ใช้อุบายเอาธนบัตรเหล่านั้นของผู้เสียหายไป โดยผู้เสียหายมิได้ส่งมอบให้นั้นเป็นการกระทำผิดฐานลักทรัพย์          ดังนั้น หากกรณีแรก จำเลยเอาโคมไฟไปโดยไม่จ่ายเงิน ซึ่งถือว่าเป็นการเอาทรัพย์ไปโดยเจ้าของไม่ได้อนุญาตหรือสมัครใจ ก็ถือว่าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์         ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ไม่น่ารัก

        เคยซื้อสินค้าหมดอายุกันหรือไม่ ถ้าเคย รู้หรือไม่ว่าเรามีสิทธิอะไรและควรจัดการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร หรือจะปล่อยผ่านเพราะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ถ้าอย่างนั้นลองดูผู้บริโภครายนี้กันว่าเมื่อเขาซื้อสินค้าหมดอายุแล้วเขามีวิธีจัดการปัญหาอย่างไร และสุดท้ายจะได้รับการชดเชยเยียวยาหรือไม่         บุปผามักจะเดินเล่นที่ย่านสยามเป็นประจำ วันหนึ่งไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นล่างของห้างใหญ่แถวนั้น ก็เดินเลือกซื้อสินค้าหลายอย่างทั้งของกินและของใช้เมื่อกลับมาบ้านเธอก็นำของต่างๆ จัดเก็บเข้าที่ แต่ก็พบสิ่งผิดปกติบางอย่าง ซีอิ๊วขาวที่เธอซื้อมาหมดอายุไปแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ บุปฝานับนิ้วคำนวณเวลาตอนนี้เดือนสิงหาคมงั้นเท่ากับว่าหมดอายุไปแล้วตั้ง 6 เดือนแล้วนะสิ         เธอแปลกใจว่าซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ระดับนี้นำสินค้าหมดอายุตั้ง 6 เดือน มาขายได้อย่างไร เมื่อเกิดปัญหาเธอค้นหาในอินเทอร์เน็ตว่าเธอจะสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง พบว่ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค น่าจะมีคำตอบให้ เธอจึงสอบถามมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนะนำว่า การขายของหมดอายุของซูเปอร์มาร์เก็ต อาจเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         นอกจากผิดพ.ร.บ. อาหาร แล้ว ผู้ร้องยังสามารถขอคืนสินค้า และเรียกค่าชดเชยเยียวยาได้ โดยผู้ร้องสามารถทำได้ดังนี้        1. ถ่ายรูป (ฉลากโดยเฉพาะวันผลิต – วันหมดอายุและตัวสินค้า) พร้อมเก็บบรรจุภัณฑ์ของสินค้าและใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วย)         2. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่เพื่อเป็นหลักฐาน         3. ติดต่อแหล่งจำหน่ายอาหารที่ซื้อมา ซึ่งต้องคิดให้ดีว่าเราต้องการให้เขาดำเนินการอย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหา เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืนเพื่อเป็นการเยียวยาค่าเสียหาย จ่ายค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ ค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น         4. หากไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ทำหนังสือยื่นกับผู้ประกอบการ บรรยายสรุปปัญหาที่พบพร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า         ปล. ต้องเก็บใบรับเงินทุกครั้งที่มีการซื้อ เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันการซื้อและระบุตนเป็นผู้เสียหาย ถ้าไม่มีใบสำคัญรับเงินเป็นหลักฐาน สิ่งที่สามารถเรียกร้องได้โดยทั่วไปคือการเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่ ทั้งนี้ขึ้นกับการต่อรองกับผู้ขายและต้องดำเนินการทันทีพี่พบว่าได้พบหรือบริโภคอาหารหมดอายุ         ศูนย์พิทักษ์ฯ ช่วยคุณบุปผาด้วยการทำหนังสือถึงซูเปอร์มาร์เก็ต ขอให้แก้ไขปัญหาและเยียวยาความเสียหาย ต่อมาทางห้างสรรพสินค้าดังกล่าวได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นความบกพร่องของพนักงานบริษัทซีอิ๊ว เพราะว่าเซลล์ต้องดูแลรับผิดชอบในส่วนนี้ บริษัทซีอิ๊วมีหน้าที่ในการดูแลเบิกเติมและจัดเรียงสินค้าเอง ดังนั้นทางซูเปอร์มาร์เก็ตจึงไม่ได้ดูแลส่วนนี้ ทราบต่อมาอีกด้วยว่า ได้มีการทำหนังสือเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมแจ้งให้บริษัทต้นสังกัดทราบ ซึ่งทางบริษัทซีอิ๊วแจ้งว่าลงโทษพนักงานที่บกพร่องในหน้าที่แล้ว          อย่างไรก็ตามห้างสรรพสินค้าขอชดเชยเยียวยาความเสียหายเป็น Gift voucher ของห้างฯ มูลค่า 5,000 บาท และสินค้าสนับสนุนจากบริษัทจำนวน 2 ลัง ซึ่งคุณบุปผาขอเปลี่ยนจาก Gift voucher เป็นเงินสด เพราะไม่มั่นใจในการซื้อสินค้าในห้างนี้อีก หลังจากนั้นห้างก็ส่งซีอิ๊วมาให้ 2 ลัง และเงียบหายไป เมื่อสอบถามเรื่องเงินชดเชยเยียวยาห้างก็ไม่มีคำตอบ คุณบุปผาได้นำซีอิ๊วไปบริจาคยังสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า เพราะก็ไม่ได้อยากได้เงินหรือสิ่งของ เพียงแต่ต้องการให้ห้างฯ พัฒนาระบบการตรวจสอบสินค้าหมดอายุไม่นำมาขายให้ผู้บริโภคอีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2563

แนะวิธีเลือกซื้อเนื้อวัว        จากการที่มีผู้ประกอบการบางรายนำเนื้อหมูหมักเลือดวัวมาปลอมเป็นเนื้อวัวเพื่อที่จะจำหน่ายให้ได้ราคาสูงขึ้น ทำให้ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคนั้น           กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีเลือกซื้อเนื้อวัว คือต้องพิจารณาว่า ต้องสีแดงสด เนื้อแน่น ลายเส้นไม่หยาบ โดยให้ใช้นิ้วกดดู เนื้อจะยืดหยุ่น ไม่มีรอยบุ๋ม รวมทั้งต้องไม่มีเม็ดสีขาวใสคล้ายเม็ดสาคู เพราะเป็นตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด สำหรับเนื้อสัน ควรจะมีสีแดงสดและมีมัน ปรากฏอยู่เป็นจุดเล็ก ๆ ลักษณะของไขมันแตกง่าย ไม่มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว ไม่มีเมือก เมื่อวางไว้จะมีน้ำสีแดงออกมา นอกจากนี้ ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่มีการรับรองมาตรฐานตลาดสดน่าซื้อหรือสังเกตจากตราประทับบนหนังสัตว์ที่ชำแหละจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ หรือร้านที่มีใบรับรองของฮาลาล         ทั้งนี้ผู้ปลอมแปลงอาหารผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 หมวด 4 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ รู้ยัง ธปท. ห้ามมือถือรุ่นเก่า-เวอร์ชั่นต่ำใช้โมบายแบงกิ้ง         ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกกฎการรักษาความปลอดภัยในการใช้บริการโมบายแบงกิ้ง ห้ามโทรศัพท์มือถือรุ่นเก่า เวอร์ชั่นต่ำ-เจลเบรก มีผลบังคับเริ่ม 31 ธ.ค. 63 นี้          เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจบริการชำระเงินมีการให้บริการผ่านช่องทางอุปกรณ์เคลื่อนที่เป็นช่องทางหลักและใช้บริการผ่านช่องทางดังกล่าวมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์ มีหลากหลายซับซ้อนขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการให้บริการและผู้ใช้บริการได้ ดังนั้นเพื่อยกระดับความมั่นคงปลอดภัยในการให้บริการผ่านช่องทางอุปกรณ์เคลื่อนที่ ธปท.จึงออกนโยบายเพิ่มเติม โดยมีมาตรฐานควบคุมรักษาความมั่นคงปลอดภัย 2 ระดับด้วยกัน คือมาตรฐานขั้นต่ำ เช่น ไม่อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ที่เปิดสิทธิให้เข้าถึงระบบปฏิบัติการ (rooted/jailbroken) เข้าใช้งานแอพพลิเคชั่น ,ไม่อนุญาตให้อุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ใช้ระบบปฏิบัติการล้าสมัย ,ไม่อนุญาตให้ผู้ใช้บริการใช้แอพพลิเคชั่นเวอร์ชั่นต่ำกว่าผู้ให้บริการกำหนด  ส่วนมาตรการเพิ่มเติม เช่น ให้มีการกำหนด ตั้งค่า PIN หรือรหัสผ่านที่ซับซ้อน ในการเข้าใช้งานบนแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ยากต่อการคาดเดาฯลฯ  สมอ.เอาจริง 10 เดือนลุยจับสินค้าไม่ได้ มอก. พร้อมทำลายทิ้ง         นายจุลพงษ์ ทวีศรี ประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เปิดเผยว่า  กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่ได้มาตรฐานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้กำชับให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)  ดำเนินการตรวจควบคุม และกำกับติดตามสินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาดอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง หากไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที         โดยระยะเวลา 10 เดือน (1 ตุลาคม 2562 – 31 กรกฎาคม 2563) ที่ผ่านมา สมอ. จับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ทั้งที่จำหน่ายในท้องตลาดและทางออนไลน์อายัดแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งยังจับมือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) และ SCG เตรียมทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐานอีกกว่า 3 แสนชิ้น มูลค่ากว่า 33 ล้านบาท ทั้งนี้ สมอ. ยังเพิ่มมาตรการกำกับดูแลให้ตลาดออนไลน์ชื่อดังอย่าง "LAZADA" และ "SHOPEE" ต้องไม่ปล่อยให้ผู้เช่าพื้นที่ขายสินค้าไม่มีมาตรฐาน โดยสั่งลงโทษอย่างจริงจังหลังตรวจสอบพบมีการจำหน่ายสินค้าที่ สมอ. ควบคุม ทั้งหม้อทอดไร้น้ำมัน ตู้เย็น และพัดลมไอเย็น บนแอปพลิเคชั่น          ยืนยันงานวิจัยผลกระทบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อเด็กทารกเป็นข้อเท็จจริง          จากกรณีที่สมาคมวิทยาการวัชพืช เผยแพร่ข้อความโฆษณาว่า งานวิจัยภายใต้การนำของ ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับการตกค้างของพาราควอตในซีรั่มมารดาและขี้เทาทารกแรกเกิด เป็นงานวิจัยที่ ‘ใช้ข้อมูลเท็จ’ โดยหวังผลเพื่อให้มีการทบทวนการแบนสารเคมี ‘พาราควอต’ ซึ่งปัจจุบัน 60 ประเทศทั่วโลกประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าวแล้วนั้น         กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค ร่วมมหิดลจับมือคณะแพทย์ 3 รพ. แจงรายละเอียดการร่วมวิจัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกขั้นตอน ย้ำพบพาราควอตตกค้างในซีรั่มมารดาและขี้เทาทารกจริง ทั้งนี้ ศ.ดร พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้นำทีมวิจัยเรื่อง ผลกระทบต่อพฤติกรรมประสาทของเด็กทารกจากการขาดไอโอดีนและการรับสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช กล่าวว่า “ผลงานวิจัยทั้งหมดดำเนินการในปี 2553 เป็นการทำงานร่วมกับโรงพยาบาล 3 แห่ง และทีมแพทย์ทั้งหมดมีชื่อปรากฏในงานวิจัยทั้งสิ้น มีหนังสือตอบรับการเข้าร่วมงานวิจัยจากโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง และได้รับใบรับรองทางจริยธรรมแล้ว ทั้งนี้ตัวอย่างในการวิเคราะห์ได้มาจากการเก็บเลือดหญิงตั้งครรภ์ที่เข้ามาฝากครรภ์ 28 สัปดาห์ กับโรงพยาบาล โดยเก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ และน้ำนมของมารดา ขี้เทาและเลือดจากสายสะดือทารก”         โดย นพ.วิโรจน์ พญ.นภาพร และพญ.นันทา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเองเป็นหมอเด็ก มีความสนใจและได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับงานวิจัยนี้ ตนเองรับผิดชอบเก็บข้อมูลช่วง 72 ชม. หลังคลอด และตรวจพัฒนาการของระบบประสาทของเด็กแรกเกิด ซึ่งการประเมินดังกล่าวต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้แพทย์ที่ร่วมวิจัยทั้งหมดล้วนเป็นกุมารแพทย์ที่ผ่านการอบรม สอบปฏิบัติจากโรงพยาบาลรามาธิบดีและได้รับใบอนุญาตแล้วตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังมีพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กทำการร่วมประเมิน บันทึกวีดีโอ และส่งให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินด้วย โดยแพทย์จากโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งได้ยืนยันว่าได้เข้าร่วมโครงการวิจัยนี้         เช่นเดียวกับ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาตร์การแพทย์ กล่าวสรุปว่า กรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนการทำงานวิจัย เพราะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐซึ่งต้องทำหน้าที่ในการเฝ้าระวัง พร้อมจะปกป้องประชาชนเช่นเดียวกัน         อนึ่งผลการวิจัยดังกล่าวมีข้อค้นพบสำคัญคือ  พบว่า 1) ระดับสารออร์แกโนฟอสเฟตของหญิงตั้งครรภ์ และแรกคลอด และลดลงเมื่อคลอดแล้ว 2 เดือน ซึ่งสัมพันธ์กับการศึกษาของต่างประเทศหลายแห่ง เมื่อเด็กอายุ 5 เดือน พบว่าหากแม่มีระดับออร์กาโนฟอสเฟตในปัสสาวะสูง จะทำให้เด็กมีความฉลาดทางสติปัญญาลดลง ประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก-ใหญ่ลดลง และสัมพันธ์กับการตอบสนองของเด็กต่อสิ่งเร้าด้วย 2) หลังคลอดเมื่อตรวจในเลือดมารดาและสายสะดือพบพาราควอต 20 % และพบไกลโฟเซตสูงถึง 50 % แสดงให้เห็นว่าสารดังกล่าวส่งต่อจากแม่ไปถึงลูก 3) นอกจากนี้ยังตรวจพบพาราควอตในหญิงตั้งครรภ์ และในขี้เทาเด็กแรกเกิดรวมถึงในน้ำนมมารดาก็พบออร์แกโนฟอสเฟตหลายตัวอีกด้วย  ‘เยาวชนเท่าทันทางการเงิน’         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ สถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เปิดตัว โครงการ ‘เยาวชนเท่าทันทางการเงิน’ หวังเพิ่มความรู้และทักษะทางการเงินแก่เยาวชน เพื่อเพิ่มความรู้ทางการเงินและทักษะในการบริหารจัดการเงินให้แก่เยาวชน โดยมีการจัดทำหลักสูตรรู้เท่าทันการเงิน การจัดทำวีดีโอ ภาพยนตร์สั้น และฝึกอบรมให้กับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ใน 30 โรงเรียนทั่วประเทศ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยหลักสูตรมี 5 หน่วยการเรียนรู้ ได้แก่ 1) สิทธิผู้บริโภค 2) ที่มาของรายได้ 3) การวางแผนทางการเงิน 4) รู้ทันภัยการเงิน และ 5) หนี้ จากนั้นจึงนำหลักสูตรไปอบรมให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายจำนวน 30 โรงเรียน สามารพติดตามความเคลื่อนไหวได้จาก เฟซบุ๊ก https://facebook.com/finfinconsumer/ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 พ.ร.บ. มอเตอร์ไซค์ขาดต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองจริงหรือ

        คนไทยนิยมใช้รถจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซค์เป็นจำนวนมาก และสถิติอุบัติเหตุอันดับหนึ่งของไทยก็มาจากอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 บังคับให้รถจักรยานยนต์ทุกคันต้องทำพ.ร.บ. เพื่อคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ         พี่ชายของคุณวิเชียร เกิดอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์เสียหลักล้ม ตัวพี่ชายกระแทกแท่งแบริเออร์อย่างแรง อาการหนัก กู้ภัยมาช่วยและดำเนินการส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา โรงพยาบาลแรกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัดเพื่อทำการรักษา แพทย์ผู้ทำการรักษาตรวจพบว่า อวัยวะภายในเสียหายอย่างมาก ตับแตก ต้องทำการผ่าตัด และทางโรงพยาบาลบอกเขาว่าต้องออกค่ารักษาเอง เป็นค่าผ่าตัด 30,000 บาท เพราะพ.ร.บ. รถมอเตอร์ไซค์ขาด (หมดอายุ) เขางงว่าในเมื่อพี่ชายของเขามีสิทธิประกันสังคมทำไมใช้สิทธิประกันสังคมรักษาไม่ได้ และสงสัยว่าโรงพยาบาลสามารถเรียกค่ารักษา 30,000 บาท โดยอ้างว่า พ.ร.บ. มอเตอร์ไซค์ขาด ได้หรือ จึงปรึกษามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         รถมอเตอร์ไซค์ทุกคันต้องทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 โดยบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เป็นผู้รับทำประกัน กรณีมอเตอร์ไซค์เกิดอุบัติเหตุล้มเอง เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ ถ้ามอเตอร์ไซค์คันที่เกิดเหตุมีประกันภาคบังคับไว้ หรือที่เรียกกันติดปากว่า พ.ร.บ. รถมอเตอร์ไซค์ อย่างถูกต้องตามกฎหมายและยังไม่หมดอายุ ผู้ประสบเหตุจะได้รับความคุ้มครองเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น เช่น ค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บ เบิกได้สูงสุดไม่เกินคนละ 30,000 บาท ค่าชดเชยกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ เบิกได้คนละไม่เกิน 35,000 บาท         แต่กรณีของผู้ร้องเสียหลักล้มเอง เป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี และพ.ร.บ. มอเตอร์ไซค์ขาด ผู้ร้องจึงต้องออกค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น 30,000 บาทเอง หรือผู้ร้องสามารถเบิกจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้ แต่กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจะเรียกเงินตามจำนวนที่จ่ายไปคืนจากเจ้าของรถ (เพราะขาดการต่ออายุ พ.ร.บ.) รวมทั้งเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 20 ของค่าเสียหายที่เกิดแก่ผู้ประสบภัย         ส่วนเรื่องการใช้สิทธิประกันสังคม เนื่องจากอุบัติเหตุทางมอเตอร์ไซค์ มีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เป็นกฎหมายเฉพาะ จึงต้องใช้สิทธิในส่วนนี้ก่อน ถ้าการรักษาพยาบาลเกินวงเงิน 30,000 บาทแล้ว ส่วนที่เกินมาจึงจะสามารถใช้สิทธิประกันสังคมหรือสิทธิบัตรทองได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2563

พาวเวอร์แบงค์เป็นสินค้าบังคับ ผลิต นำเข้า จำหน่าย ต้องมี มอก.         สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศกฎกระทรวงระบุให้ พาวเวอร์แบงค์ เป็นสินค้าที่มีมาตรฐานบังคับ จะผลิต นำเข้า จำหน่าย จะต้องมี มอก        โดยประกาศกฎกระทรวงนี้ กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าสำหรับการใช้งานแบบพกพา: คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2563 ประกาศให้สินค้าที่เป็น Powerbank จะต้องผ่านมาตรฐานบังคับ มอก.2879-2560 กฎกระทรวงนี้จะมีผลบังคับใช้ภายใน 150 วันนับแต่วันประกาศ ช่วงล็อกดาวน์สินค้ากีฬา-เครื่องครัว-เฟอร์นิเจอร์ ยอดขายพุ่ง 500%.         บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) เผยข้อมูลตัวเลขการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของชาวไทยในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมาว่า ยอดผู้ซื้อและจำนวนผู้ขายเพิ่มขึ้นกว่า 75%         . โดยนักช็อปใช้เวลาบนแพลตฟอร์มลาซาด้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 30% ในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ (ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม) สินค้าเครื่องกีฬา ของเล่น อุปกรณ์สันทนาการกลางแจ้ง เครื่องครัวขนาดเล็ก เฟอร์นิเจอร์ รวมไปถึงอุปกรณ์ออกกำลังกายนั้นมียอดขายพุ่งขึ้น 250% ถึงกว่า 500% โดยลาซาด้าคาดว่าภายในสิ้นปี 2563 ตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยจะมีมูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาท สูงขึ้น 35% จากปี 2562  มะเร็งตับเจอในชายไทยสูงเป็นอันดับ 1 ตายปีละกว่าหมื่น ไร้อาการเตือน         กรมการแพทย์ เผยมะเร็งตับพบมากเป็นอันดับ 1 ของคนไทยแนะปรับพฤติกรรมสุขภาพลดความเสี่ยง แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิต 15,912 ราย เพศชายพบมากสุด         นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด ปีละ 122,757 ราย มะเร็งตับและท่อน้ำดีถือเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทย (ปี 2558) พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งตับรายใหม่ 20,671 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 15,912 ราย ซึ่งมะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ มะเร็งของเซลล์ตับและมะเร็งท่อน้ำดีตับ โดยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ สาเหตุของมะเร็งตับเกิดจากการเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบชนิดบี ส่วนสาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดีเกิดจากพยาธิใบไม้ตับร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีดินประสิว (ไนเตรท) และไนไตรท์ เช่น ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาส้ม แหนม ฯลฯ นอกจากนี้ การดื่มสุราเป็นประจำ การรับสารพิษอะฟลาทอกซินที่เกิดจากเชื้อราบางชนิดที่พบในอาหารประเภทถั่ว ข้าวโพด พริกแห้ง รวมถึงไวรัสตับอักเสบชนิดซีก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งตับได้         นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเกี่ยวกับอาการของมะเร็งตับว่า ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแสดงแตกต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไปมักไม่มีอาการในระยะแรก อาการส่วนใหญ่ที่พบ คือ แน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อเป็นประจำ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ปวดหรือเสียดชายโครงขวา อาจคลำพบก้อนในช่องท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต และมีอาการบวมบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง เป็นต้น หากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย  โพสต์เหล้าเบียร์ไม่มีเจตนาโฆษณาไม่ผิด         นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกรณีสื่อสังคมออนไลน์ออกมาให้ข้อมูลเรื่องโพสต์แก้วเหล้าเบียร์มีความผิดเรื่องโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้แต่ประชาชนทั่วไปโพสต์ก็มีความผิด ทำให้เกิดความตื่นตระหนก และเกิดกระแสให้ประชาชนร่วมลงชื่อยกเลิกมาตรา 32 การควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า “การตีความมาตราดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ประชาชน ซึ่งในมาตรา 32 ระบุใจความสำคัญไว้ 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1. ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า เช่น การโพสต์ภาพเหล้าเบียร์พร้อมข้อความต่างๆ เพราะต้องการที่จะขายสินค้าเหล้าเบียร์นั้นๆ รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ 2. ห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมกับการมีข้อความหรือพฤติการณ์ที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้คนอื่นอยากจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังกล่าว         ดังนั้น การที่ประชาชนโพสต์ภาพขวดเหล้าเบียร์ หรือแก้วเบียร์ที่มีโลโก้เบียร์ จึงยังไม่ใช่ความผิดตามกฎหมายนี้ ...แต่ดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ทำให้คนหันมาสนใจสินค้า มีผลป็นการโน้มน้าวหรือชักจูงใจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม จึงไม่สามารถทำได้" นพ.นิพนธ์กล่าว  มหากาพย์ที่นอนยางพารา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนำกลุ่มผู้เสียหายร้อง ปคบ.เอาผิดเพจขายของ         บก.ปคบ. วันที่ 19 มิ.ย. นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค พาผู้เสียหายที่ถูกหลอกซื้อที่นอนยางพาราจำนวนกว่า 50 คน เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.ปริญญา ปาละ รอง ผกก.(สอบสวน) กก.1 บก.ปคบ.และ ร.ต.อ.ดลพิษิฐ คำผง รอง สว.(สอบสวน)กก.1 บก.ปคบ. เพื่อขอให้ดำเนินการทางกฎหมายกับเพจที่ขายของไม่ได้มาตรฐาน         นฤมล กล่าวว่า มูลนิธิฯ พาผู้เสียหายเข้ายื่นหนังสือกับเจ้าพนักงาน ปปง. เพื่อขอให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินของเจ้าของบัญชี และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ถ้าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ขอให้ดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ          สำหรับที่มาของปัญหานี้คือ มีผู้เสียหายจากการสั่งซื้อที่นอนยางพาราผ่านเฟชบุ๊กเพจจำนวนกว่า 10 เพจ โดยบางรายได้รับของที่ไม่มีคุณภาพ ขณะที่บางรายก็ยังไม่ได้รับสิ่งของที่สั่งซื้อไป จนกระทั่งเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาผู้เสียหายหลายรายได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของเพจดังกล่าว จนเจ้าของเพจถูกจับและถูกปิดเพจไปแล้ว   แต่หลังจากนั้นกลับปรากฎพบว่าเพจต่างๆ เหล่านั้นมีความเคลื่อนไหว กลับมาเปิดหลอกลวงขายสินค้าออนไลน์อีก โดยเฉพาะที่นอนยางพารา จนมึผู้หลงเชื่อสั่งซื้อจำนวนมาก ทำให้บรรดาผู้เสียหายตั้งไลน์กลุ่มโอเพ่นแชต ชื่อ 'กลุ่มมหากาพย์ที่นอนยางพารา' เพื่อรวบรวมความผู้เสียหายและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ก่อนจะนำข้อมูลเข้าร้อง ปปง. เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนเดินทางเข้าแจ้งความ บก.ปคบ.เพิ่ม  เพื่อเร่งให้ทางการตรวจสอบดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องเพจดังกล่าว ร่วมทั้งเพจอื่นๆ          ทั้งนี้ มีผู้เสียหายที่รวบรวมได้มีจำนวนกว่า 389 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 1 ล้านบาท ที่สั่งซื้อที่นอนยางพาราแล้วยังไม่ได้รับสินค้าหรือบางรายได้รับสินค้าไม่ครบถ้วนหรือส่งสินค้ามาให้แต่ไม่ใช่ ที่นอนยางพารา สำหรับเพจเฟซบุ๊กที่หลอกลวงผู้บริโภคมีด้วยกันหลายชื่อ  และมีเพจที่ปิดไปแล้วแต่มีจุดสังเกตของพฤติกรรมที่เข้าข่ายหลอกลวงนั้น คือในบางเพจมีการใช้ชื่อบัญชีและเลขบัญชีเดียวกันในหลายเพจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 กระแสต่างแดน

ดาวหลอกคุณ        การทดลองโดย which? นิตยสารคุ้มครองผู้บริโภคของอังกฤษพบว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเลือกสินค้ารุ่นที่ "ไม่ควรซื้อ" มากขึ้นเมื่อได้เห็นรีวิวสวยหรู ประกอบจำนวน "ดาว" ที่มากเกินจริง และการเป็น "สินค้าโปรโมท" ของเว็บ        ผู้บริโภค 10,000 คนได้รับโจทย์ให้เลือกซื้อ หูฟัง กล้องติดหน้ารถ หรือเครื่องดูดฝุ่นไร้สายอย่างใดอย่างหนึ่ง (สถิติระบุว่าสามอย่างนี้เป็นสินค้าที่มี “เฟครีวิว” มากที่สุด) จากเว็บ “อเมซอน” ที่นิตยสารทำขึ้นมาเอง เว็บดังกล่าวนำเสนอสินค้าประเภทละ 5 รุ่น ซึ่ง which? เลือกมาแล้วให้มีทั้ง น่าซื้อ (1) พอทน (3)  และไม่ควรซื้อ (1)         จากผู้บริโภคที่ถูกแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม แยกตามข้อมูลที่ได้รับ เขาพบว่ากลุ่มที่เห็นดาวและรีวิวเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะกดซื้อสินค้ารุ่นที่ “ไม่ควรซื้อ" มากเป็นอันดับสอง รองจากกลุ่มที่ได้ข้อมูลสินค้าพร้อมเห็นดาวระยิบระยับ รีวิวอวยสุดๆ และการโปรโมทโดยแพลตฟอร์มสวิสวิถีใหม่        นอกจากการเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากากอนามัย และค่าธรรมเนียมโควิด-19 ที่ร้านอาหารจะเรียกเก็บจากลูกค้าหัวละ 2 ฟรังก์ (ประมาณ 65 บาท) แล้ว คนสวิตเซอร์แลนด์จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเรื่องการลงทุนทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในประเทศด้วย         ความลำบากในการจัดหาสินค้า/ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากประเทศอื่นในช่วงของการระบาดทำให้ทั้งรัฐบาลและประชาชนชาวสวิสตระหนักและเห็นตรงกันว่าต่อไปนี้จะต้องมีนโยบายพึ่งตนเอง         นอกจากราคาสินค้าในสวิตเซอร์แลนด์จะแพงสุดๆ เพราะต้องนำเข้า (คนที่อยู่ตามชายแดนนิยมขับรถข้ามไปซื้อในออสเตรีย อิตาลี เยอรมนี และฝรั่งเศส) คนสวิสยังต้องปวดใจที่มีเงินแต่ไม่สามารถซื้อหาสินค้าจำเป็นมาใช้ได้ เพราะประเทศอื่นๆ ต่างก็ปิดชายแดนหรือเก็บสต็อกใว้ใช้เอง         การสำรวจความเห็นพบว่าร้อยละ 94 ของประชากรอยากให้อุตสาหกรรมยากลับมามีฐานการผลิตในประเทศ ร้อยละ 90 บอกว่าบริษัทเหล่านั้นควรมีสต็อกยา เวชภัณฑ์ ถุงมือ หน้ากากอนามัย หรือแม้แต่เครื่องช่วยหายใจไว้สำหรับคนสวิสด้วยขั้นตอนฝ่าวิกฤติ        โอ้คแลนด์กำลังจะเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง ปริมาณน้ำในเขื่อน 9 แห่งที่หล่อเลี้ยงเมืองนี้ลดน้อยลงทุกทีเนื่องจากปริมาณฝนลดลงไปกว่าร้อยละ 50 ตั้งแต่พฤศจิกายนปีที่แล้ว หากฝนยังไม่ตกในฤดูใบไม้ผลิโอ้คแลนด์จะมีน้ำใช้เพียงวันละ 200 ล้านลิตร         พวกเขาจึงเตรียมใช้มาตรการเดียวกับที่นิวซีแลนด์ใช้รับมือกับวิกฤติโควิด-19 นั่นคือการกำหนดแนวปฏิบัติที่แบ่งออกเป็นระยะ แผนประหยัดน้ำแบบ 4 เฟส ได้แก่          เฟสแรก (เริ่มเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม) ให้ทุกครัวเรือนงดการใช้สายยางหรือเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และสมาชิกในครัวเรือนอาบน้ำฝักบัวได้คนละไม่เกิน 4 นาที โดยรวมจำกัดการใช้น้ำไม่เกินวันละ 410 ลิตร         เฟสที่สอง เพิ่มการประหยัดน้ำให้ได้วันละ 20 ลิตร และธุรกิจ/โรงงานต่างๆ ต้องลดการใช้น้ำลงร้อยละ 10         เฟสสาม ประหยัดน้ำให้ได้วันละ 30 ลิตร/คน ธุรกิจ/โรงงานลดการใช้น้ำลงร้อยละ 15           เฟสสี่ ประหยัดน้ำให้ได้วันละ 40 ลิตร/คน ธุรกิจ/โรงงานลดการใช้น้ำลงร้อยละ 30เบรกเบบี้บูม         หน่วยงานด้านประชากรและการวางแผนครอบครัวของอินโดนีเซีย ซึ่งมีหน้าที่แจกจ่ายยาคุมกำเนิดให้กับคู่สมรส ระบุว่ามีผู้มารับบริการน้อยลงร้อยละ 10 หรือประมาณ 2 – 3 ล้านคนในช่วงการระบาดของไวรัสและเขาคาดการณ์ว่าร้อยละ 15 ของคนกลุ่มนี้จะตั้งครรภ์         นั่นหมายความว่าจะมีจำนวนสตรีตั้งครรภ์เพิ่มจากที่คาดไว้ก่อนหน้านี้อีก 300,000 ถึง 450,000 คนและทารกเหล่านี้จะออกมาดูโลกในช่วงที่ยังไม่มีวัคซีนมารับมือกับการระบาด        รัฐบาลอินโดนีเซียจึงได้แต่ขอร้องให้ครอบครัวงดการตั้งครรภ์ในช่วงล็อกดาวน์ แต่คำขอนี้อาจมาช้าเกินไป เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสื่อท้องถิ่นรายงานว่าเมืองทาสิกมาลายา บนเกาะชวา มีอัตราการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 105        แต่อีกรายงานหนึ่งบอกว่าปัญหาอาจไม่รุนแรงอย่างที่คิด เพราะผู้หญิงส่วนหนึ่งเลือกไปรับยาคุมจากหน่วยงานเอกชนเนื่องจากไม่มีทะเบียนสมรสเป็นหลักฐานในการรับยาฟรีจากรัฐบาลเธอเปลี่ยนไป         เรื่องปวดหัวของธุรกิจหลังการมาเยือนของโควิด-19 คือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ... ในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมสักเท่าไร         สมาคมผู้ค้าปลีกของอังกฤษยืนยันว่าผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลงหลังช่วงล็อกดาวน์ เลือกของถูกเป็นหลัก ใช้จ่ายเฉพาะของจำเป็นและออมเงินมากกว่าเดิม         ที่ประเทศจีน แม้คนจะเดินห้างมากขึ้น ช้อปออนไลน์มากขึ้น (ด้วยคูปองที่ได้รับแจกจากรัฐบาล) แต่ยอดขายสินค้าฟุ่มเฟือยที่เป็นความหวังช่วยดึงการเติบโตของการใช้จ่ายในครัวเรือนกลับลดลง         ในอเมริกาบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเฮอร์ชีย์และคอลเกต ก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าผู้บริโภคสนใจแต่ตัวเลือกราคาถูก ร้านสินค้าราคาประหยัดมีลูกค้าเพิ่มขึ้นและคนอเมริกันยังเลือกออมถึงร้อยละ 33 ของรายได้ เช่นเดียวกับคนยุโรปที่เพิ่มอัตราการออมจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 19         รัฐบาลแต่ละประเทศจึงต้องหาทางผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ลดดอกเบี้ยเงินฝากและอัดยาแรงช่วยกู้เศรษฐกิจนั่นเอง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231โควิด-19 เราต้องรอด

      ไวรัสโควิด-19 ทำเอาเศรษฐกิจไทยติดเชื้อและเจ็บป่วยค่อนข้างหนัก ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าจีดีพีของไทยในปี 2563 จะติดลบถึงร้อยละ 4.9 จากเดิมที่คาดว่าจะโตร้อยละ 1.1         ไม่ต้องดูภาพใหญ่ให้ปวดใจ คนหาเช้ากินค่ำ พ่อค้าแม่ค้าตามตลาด ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า มีให้เห็นตามหน้าสื่อทุกวัน ขณะที่การช่วยเหลือเยียวยาของรัฐบาล...พูดตรงๆ คือไร้ประสิทธิภาพ ยุ่งยาก วุ่นวาย และผิดพลาด ก็ไม่รู้ทำไมไม่ใช่ฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้ว เช่น บ้านสวัสดิการแห่งรัฐ ลูกหนี้ของธนาคารของรัฐ เป็นต้น แล้วส่งความช่วยเหลือให้ตรงกลุ่มไปเลย        รู้เต็มอกว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับคนจำนวนมาก ประชาชนไม่น้อยต้องรอรับอาหารจากวัดหรือที่มีคนใจบุญมาแจก เพราะไม่มีรายได้เลย เผลอๆ จะอดตายก่อนติดเชื้อโควิด-19 เสียอีก การบอกให้ประหยัดในช่วงความเป็นความตายออกจะดูน่ารังเกียจ แต่ก็คิดว่าในรายที่ยังพอมีรายได้ ยังพอทำมาหากินได้ น่าจะเป็นประโยชน์         1.หยุดการออมเงินชั่วคราว ฟังดูเป็นเรื่องแสลงหู แสลงใจเหลือเกินที่การจัดการการเงินส่วนบุคคลต้องพูดแบบนี้ หรือลดจำนวนการออมเงินให้น้อยลงเพื่อรักษาสภาพคล่องในการใช้จ่ายต่อเดือนให้ได้ก่อน อย่าลืมว่าสภาพคล่องมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่มีเงินก็ไม่มีข้าวกิน        2.พักหนี้ หลายคนทำงานเพื่อเลี้ยงชีพและใช้หนี้ ไม่ว่าจะหนี้การค้า หนี้บ้าน หนี้รถ หรือหนี้บัตรเครดิต (ซึ่งไม่ควรมีตั้งแต่ต้น) ช่วงเวลานี้คงน่าจะเหลือเจ้าหนี้ใจไม้ไส้ระกำไม่มากและเข้าใจดีว่าเศรษฐกิจย่ำแย่ขนาดไหน ซึ่งสถาบันการเงินหลายแห่งก็มีมาตรการช่วยเหลือส่วนนี้ออกมาแล้ว ในกรณีหนี้นอกระบบจากการยืมเพื่อน คนรู้จัก ที่ไม่เจ้าหน้าเงินกู้หน้าเลือด ต้องเจรจาขอผ่อนผันออกไปก่อนหรือถ้ายังพอมีกำลังอาจจะลดเงินส่งหนี้ลง         3.ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ตรงนี้สำคัญ คุณต้องเริ่มพิจารณาอย่างรอบคอบและเคร่งครัดว่าอะไรสำคัญกับชีวิตของตนจริงๆ ในห้วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ ตัดสิ่งฟุ่มเฟือยออกให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การจ่ายค่ามือถือและอินเทอร์เน็ตที่ใช้ไปเพื่อความบันเทิงลดลงได้หรือไม่ ถ้าการกักตัวอยู่บ้านทำให้ช้อปปิ้งออนไลน์เยอะขึ้น คุณต้องถามตัวเองว่าใช่เวลาหรือเปล่า          4.วางแผนและจัดลำดับความสำคัญการใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายรายวัน รายเดือนที่เป็นค่าใช้จ่ายประจำอย่างค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าห้อง หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่บางอย่างสามารถประหยัดลงได้ ประเมินสถานการณ์ว่าในอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้า 1 เดือนข้างหน้า คุณมีรายจ่ายก้อนใหญ่อะไรที่จำเป็นต้องจ่าย เช่น ค่าเทอมลูก ค่ารักษาพยาบาล เบี้ยประกันออมทรัพย์ จัดเรียงความสำคัญ วางแผนหลัก และแผนสำรอง        จะให้ดีก็ลดการเสพสื่อโซเชียลมีเดียลง การส่องเฟสหรือไอจีพวกคนมีฐานะกักตัวแบบหรูๆ กับบ้านไม่ใช่สิ่งประเทืองอารมณ์ แต่เป็นการตอกย้ำความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำของประเทศนี้       พวกไลฟ์โค้ชที่บอกว่าคุณกระจอกที่ไม่ยอมใช้วิกฤตเป็นโอกาสและให้ตำหนิตัวเอง อย่าเอาแต่โทษรัฐบาล ให้เลิกดู เลิกติดตามซะ ไม่จรรโลงอารมณ์และสติปัญญา        และจงออกมาตำหนิ เรียกร้อง กดดันรัฐบาลให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เยียวยาอย่างทั่วถึง ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพราะรัฐสมัยใหม่มีหน้าที่ปกป้องดูแลประชาชน เมื่อทำหน้าที่นี้ไม่ได้ เราจะมีรัฐและรัฐบาลไปเพื่ออะไรเอาใจช่วยทุกคนให้ผ่านมันไปได้ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 ร้านค้าไม่ยอมให้เปลี่ยนเสื้อ

        หลายครั้งที่ซื้อสินค้ามาแล้ว ตอนซื้อก็คิดว่าตรวจดูดีแล้วแต่หากนำมาทดลองใช้แล้วกลับพบว่า ไม่โอเค ผู้บริโภคสามารถมีสิทธิไม่พอใจยินดีคืนเงินหรือขอเปลี่ยนได้ไหม         เย็นวันหนึ่งคุณศิริวรรณได้นัดพบเหล่าเพื่อนสาวกินข้าวและพูดคุยถึงเรื่องเก่าๆ เมื่อสมัยวัยเรียน หลังจากแยกย้ายกันกลับบ้าน คุณศิริวรรณเดินผ่านร้านขายเสื้อที่ตั้งอยู่ริมถนนแห่งหนึ่ง มองเข้าไปในร้าน ก็เกิดความคิดอยากซื้อเสื้อใหม่ให้สามีสักครึ่งโหล หลังจากเดินหยิบจับดูเนื้อผ้าอยู่สักพัก คุณศิริวรรณก็บอกกับเจ้าของร้านว่า อยากได้เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีกรมและสีขาว ไซส์ XL อย่างละ 3 ตัว หลังจากได้รับสินค้าเรียบร้อย คุณศิริวรรณจึงชำระค่าเสื้อให้กับเจ้าของร้าน        วันต่อมาคุณศิริวรรณจัดแจงซักเสื้อที่เพิ่งซื้อมาใหม่ เพื่อที่จะเซอร์ไพรส์สามี หลักจากซักตากเสื้อจนแห้ง คุณศิริวรรณก็เตรียมนำเสื้อมารีด ขณะที่กำลังจะรีดนั้น คุณศิริวรรณได้สังเกตว่าเสื้อดูใหญ่ผิดปกติ จึงได้ดูป้ายขนาดเสื้อที่บริเวณปก ปรากฏว่าเสื้อทุกตัวมีตัวอักษร XL กำกับเหมือนกันหมด คุณศิริวรรณจึงได้นำเสื้อทั้งหมดมาวางเทียบขนาดกัน พบว่า เสื้อที่ซื้อมาทั้งหมด 6 ตัว มีขนาดแตกต่างกันอยู่ 3 ตัว เมื่อลองสังเกตที่ป้ายบอกขนาดเสื้ออีกครั้งก็พบว่า เสื้อ 3 ตัว ที่มีขนาดใหญ่กว่ามีรอยตัดที่ป้ายบอก เหมือนกับว่ามีตัวอักษรด้านหน้าถูกตัดออกไป คุณศิริวรรณเดาว่า เสื้อ 3 ตัวนี้ จริงๆ แล้วมีขนาดไซส์ XXL แต่ถูกตัดตัวอักษร “X” ด้านหน้าออกไป เพื่อทำให้เข้าใจว่าเสื้อตัวดังกล่าวเป็นไซส์ XL        เมื่อทราบว่าเสื้อที่ตนซื้อมาไม่ถูกต้อง คุณศิริวรรณจึงกลับไปที่ร้านขายเสื้อ เพื่อขอเปลี่ยนสินค้า แต่คนขายบอกว่า เสื้อถูกซักแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนให้ได้ ให้คุณศิริวรรณนำเสื้อไปเย็บแก้ด้านข้างเอง แนวทางในการแก้ไขปัญหา         กรณีคุณศิริวรรณซื้อเสื้อ แล้วมาทราบภายหลังว่า เสื้อที่ซื้อมาจำนวน 3 ตัว จาก 6 ตัว ไม่ตรงกับความต้องการที่ได้ตกลงกันไว้ ในกรณีนี้ เป็นการส่งมอบทรัพย์สินตามสัญญา รวมกับทรัพย์สินอื่นที่ไม่เป็นไปตามสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 465 (3) กำหนดให้ผู้ซื้อจะรับเอาไว้เฉพาะที่สั่ง หรือปฏิเสธไม่รับทั้งหมดได้ โดยมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ส่งมอบ          อีกทั้ง การกระทำของเจ้าของร้านถ้าจงใจตัดป้ายบอกขนาดไซส์เสื้อ ให้เหลือเพียง XL เพื่อหลอกหลวงให้คุณศิริวรรณ ซื้อเสื้อเชิ้ตที่ผิดไซส์ดังกล่าวไป อาจเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         คุณศิริวรรณจึงสามารถนำสินค้าไปเปลี่ยน หรือ ขอคืนเงินจากร้านขายเสื้อได้ทันที รวมถึงสามารถเอาผิดกับเจ้าของร้านค้าได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 ค่าน้ำค่าไฟฟ้าหอพักอยู่ๆ นึกจะขึ้นราคาได้ไหม

        ประมาณปี 2561 มีข่าวดีให้ผู้บริโภคได้ฮือฮาอยู่พักหนึ่งว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ออกประกาศเพื่อให้หอพักเก็บค่าไฟฟ้า น้ำประปา ตามอัตราเดียวกับที่เก็บกับบ้านเรือนทั่วไป แต่เมื่อมีการทวงสิทธิจากผู้ให้บริการหอพักว่าไม่เป็นธรรมด้วยเหตุผลต่างๆ สุดท้ายก็ต้องออกประกาศใหม่ ซึ่งกำหนดไว้เพียงว่า ผู้ให้เช่าต้องระบุข้อความเป็นภาษาไทยไว้ในสัญญาที่มีสาระสำคัญแสดงถึงอัตราค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ โดยแสดงวิธีการคำนวณและกำหนดระยะเวลาชำระค่าสาธารณูปโภค ตามข้อ 4 (1.7) ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2562         คราวนี้มีกรณีร้องทุกข์จากคุณสุโขทัย มาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่าตนเองเช่าหอพัก ในเขตอำเภอเมือง มหาสารคาม วันหนึ่งเจ้าของหอพักก็แจ้งต่อผู้เช่าว่า จะคิดราคาค่าน้ำ ค่าไฟใหม่ จากเดิมค่าน้ำ หน่วยละ 24 บาท เป็น 35 บาท ค่าไฟฟ้าจากเดิมหน่วยละ 8 บาท เป็น 10 บาท คุณสุโขทัยขอคำปรึกษาว่า ตนเองจะทำอะไรได้บ้างไหม เพราะมีผลกระทบโดยตรง แนวทางแก้ไขปัญหา        ถ้าพิจารณาตามประกาศของ สคบ. อยู่ๆ ผู้ให้เช่าจะปรับราคาขึ้นไม่ได้ ต้องชี้แจงหรือเปลี่ยนแปลงในสัญญาเช่าเสียก่อน และเพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์ให้คุณสุโขทัย ทางศูนย์ฯ ได้นำเรื่องดังกล่าวร้องเรียนต่อ สคบ.เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวว่าเป็นการคิดราคาเกินสมควรหรือไม่         ต่อมาทาง สคบ.ได้ตอบหนังสือกลับมาว่า หอพักดังกล่าวอยู่ในจังหวัดมหาสารคาม จึงส่งเรื่องร้องเรียนให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดมหาสารคามพิจารณาตรวจสอบหอพักที่เป็นต้นเรื่องเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป ต่อมาได้รับทราบว่าเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองมหาสารคาม ได้ติดต่อกับผู้ร้องพบว่า ผู้ร้องคือคุณสุโขทัยได้ย้ายออกจากหอพักดังกล่าวแล้ว และเมื่อคณะอนุกรรมการฯ ได้สอบข้อเท็จจริงพบว่า กรณีหอพักมีการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าและน้ำประปาเพิ่มจากเดิมนั้น เป็นเพียงผู้ดูแลได้มีการแจ้งกับผู้เช่าหอว่าจะมีการปรับขึ้นราคา แต่ผู้เช่าส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย จึงมิได้ดำเนินการต่อยังคงเก็บในอัตราเดิม คือ ค่าไฟฟาหน่วยละ 8 บาท และค่าน้ำประปาหน่วยละ 24 บาท         ดังนั้นหากท่านผู้บริโภคพบว่ามีการคิดอัตราค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าหอพักในราคาที่ไม่เป็นธรรม โดยมิได้แจ้งให้ทราบตามเงื่อนไขสัญญาเช่า สามารถร้องเรียนได้ที่ สคบ. ต่างจังหวัดแจ้งโดยตรงได้ที่ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 สำรวย กล้าวิเศษ พ่อค้าผักสดกับวิกฤตโควิด-19

หลายคนเวิร์กฟอร์มโฮมแต่ชาวฉลาดซื้อเปลี่ยนสำนักงานเป็นที่พักชั่วคราวและอยู่กับที่ตามนโยบายป้องกันโรค อย่างไรก็ตามเราก็ต้องขวนขวายหากิน ทำให้มีโอกาสพูดคุยกับพี่สำรวย ซึ่งเปรียบเสมือนแหล่งอาหารสำคัญของเรา เพราะพี่เขาเข็นรถขายผักคันน้อยๆ มาอำนวยความสะดวกให้เราทุกวัน ฉบับนี้จึงขอพาทุกท่านไปสัมผัสกับชีวิตของพ่อค้าคนยากที่ผันตัวเองจากชาวนาบ้านนอกมาเป็นผู้ขนส่งอาหารแก่ชาวเมืองหลวง ที่พึ่งยามวิกฤตโรคระบาดแห่งปี 2563              พี่สำรวย กล้าวิเศษ พ่อค้าผักสด วัย 55 พื้นเพเป็นคนบุรีรัมย์ แล้วย้ายมาอยู่สุรินทร์ แต่มาได้แฟนที่ร้อยเอ็ด เดิมเขาเป็นชาวนา แต่ไม่พอกิน ทำให้ต้องออกมาทำมาหากินต่างถิ่น โดยเริ่มจากเป็นพ่อค้าที่จังหวัดชลบุรีก่อนจะมาค้าขายผลไม้ที่เมืองหลวงตอนอายุ 40 กว่าๆ หรือเมื่อกว่าสิบปีก่อน แต่พี่สำรวยเพิ่งผันตัวเองมาเป็นพ่อค้าขายผักสดเพราะเห็นว่า ได้กำไรดีกว่า ซึ่งถ้านับอายุงานก็เพียงแค่สองสัปดาห์เศษ เขากับรถเข็นคู่ใจ บรรทุกผักนานาชนิดไม่ต่างจากรถพุ่มพวงขนาดย่อม โดยเริ่มต้นทางจากตลาดมหานาค ตระเวณเข็นรถขายมาเรื่อยๆ จนถึงย่านอนุเสาวรีย์ชัยในเวลาสายๆ ค่อนไปเกือบเที่ยง มาค้าขายในกรุงเทพฯ เองหรือมีคนชักชวนมา         มีคนที่รู้จักสมัยก่อนทำงานด้วยกันชวนมา เขาให้ลองมาขายดู มาขายก็ดีเหมือนกัน เมื่อก่อนของมันถูก ขายได้แต่เดี๋ยวนี้ของแพงมาก แต่ก่อนผมไปหาบขายที่ชลบุรี ขายถั่วต้ม ไข่นกกระทา ขนมไข่หงส์ รับเขามาขายอีกที ขายอยู่ที่ชลบุรีไม่ถึงปีหาบหนักและมันไกลด้วย กินอยู่ก็ไม่สะดวก ฟืนไฟไม่ค่อยมี ตื่นแต่ดึกต้องต้มข้าวโพดต้มถั่ว ลำบากมาก เลยตามเพื่อนชวนเข้ามาขายผลไม้ตั้งแต่แรก ขายมาเรื่อยๆ จนถึงสิ้นปี ขายหลายที่แถวเยาวราช  หมอชิต สุขุมวิท เมื่อก่อนเดินไกลแต่เดี๋ยวนี้ไม่ไหวแล้ว ที่ต้องเดินเพราะจะได้ไม่ต้องเสียค่าที่ เดินเอาตลอด เพิ่งมาเสียค่าเช่าที่ตอนขายที่ซอยรางน้ำ ถ้าไม่เสียก็จอดรถเข็นไม่ได้ ขายที่รางน้ำคงได้นักท่องเที่ยวเยอะ        เมื่อก่อนขายคนจีนนะ ซอยรางน้ำคนจีนเยอะ ก็ขายมะม่วง มังคุด คนจีนเขาชอบทุเรียน มังคุด มะม่วง ลำไย ผลไม้หวานๆ ขายดีมาก เขาชอบของหวานๆ อย่างทุเรียนก็ชอบแบบสุกมากๆ ทำไมถึงเปลี่ยนมาขายผัก         เพิ่งขายได้ 2 อาทิตย์เอง ตอนนักท่องเที่ยวมากๆ เราขายผลไม้แบบชั่งเป็นกิโล ขายบริเวณแถวนี้ ซอยรางน้ำ ขายมะม่วง เงาะ ลำไย พวกมังคุด ละมุด พุทรา ขายผลไม้ทุกอย่างตามฤดูกาล เมื่อก่อนรายได้ดีแต่ตอนนี้ไม่ดีแล้ว พอเริ่มเจอโควิด 19 ก็ต้องเปลี่ยนเริ่มมาขายพวกผักตั้งแต่เดือนนี้ (เมษายน) คนเขาซื้อผักมากกว่าผลไม้ แต่ก็ลำบากเหมือนกัน ลำบากยังไง         มันขายยากขึ้นมากเลยครับ ต้นทุนของก็แพงมากขึ้นหาซื้อยากมาก ของที่ขายมีไม่เท่าเดิม(ความหลากหลาย) ผักหรือของบางอย่างก็ซื้อไม่ได้มันแพงเกินไป จะได้เท่าที่น้องเห็น บางทีลูกค้าถามหาผัก อย่าง คะน้า กวางตุ้ง ถั่วฝักยาว พวกนี้แพงมากหรือก็ไม่มีให้ซื้อ ถึงซื้อมาก็ขายยาก ขายไม่ได้มันแพงมาก พี่จัดการเวลาขายอย่างไร         ผมไปตลาดมหานาค (บ้านพี่สำรวยอยู่ใกล้ๆบริเวณนั้น) ไปให้ถึงตลาดตั้งแต่ตีสี่(หลุดเคอร์ฟิวแล้ว)  ยากมาก ไปตีสี่ ตีสี่กว่าๆ นิด กลับมาเตรียมของกว่าจะเสร็จก็สี่โมงเช้า (ต้องซื้อเจ้าประจำไหม) ไม่ๆ ถ้าเจ้าเดิมไม่มีเราก็เดินซื้อไปเรื่อยๆ ที่มีผักขาย บางทีถ้าซื้อเจ้าประจำตอนนี้เขาขึ้นราคาเราก็ซื้อไม่ได้ไง ตอนนี้ลำบากเมื่อก่อนขายผลไม้ก็ขายไม่ได้ ขายผักๆ ก็ราคาสูงขึ้นอีกยิ่งไปใหญ่เลย เดี๋ยวนี้ของ(ผัก) มันแพง ส่วนหนึ่งเพราะมันหายาก พวกรายย่อยต้องแย่งกันเอาของมาขาย อย่างถ้าเราไปทันก็ทัน แต่ถ้าไม่ทันก็เรียบร้อยเลย อด ต้องตื่นให้ทันคนเขา แต่ดีกว่าขายผลไม้ตรงที่คิดว่า ทุกคนต้องกินอาหาร ทำอาหาร ผักอะไรพวกนี้ทุกคนยังต้องกินอยู่ ตอนนี้ก็คือทำอย่างนี้ไปก่อน        ใช่ คนเขายังต้องการผัก ทำกินไปวันๆ ก่อน ขายไปเรื่อยๆ ชั่วโมงหนึ่งก็เดินไปเรื่อยๆ เป็นจุดๆ ไม่ใช่ว่าจอดรถทิ้งไว้ที่ไหนตลอด มีเพื่อนๆ พี่ที่เปลี่ยนมาขายผักแบบบ้างไหม        เยอะ รับของจากที่เดียวกันหมดเลย แต่ละคนก็กระจายกันไปตลาดไทยบ้าง สี่มุมเมืองบ้าง มหานาค ถ้าไม่มีรถก็ซื้อแถวมหานาค ปากคลองบ้าง เพราะไปรถเมล์ง่ายกว่า แล้วพ่อค้าแม่ค้าเจ้าประจำที่เราซื้อของเขา เขาลดราคาให้บ้างไหม        ราคาเขาลดบาทสองบาทได้ สมัยก่อน 50 สตางค์เอง เขาขายยกลังเขากินกำไรบาทสองบาท ถึงเป็นเจ้าประจำก็เหมือนเดิมเพราะเขาส่งมาแบบนั้น ที่เป็นเศษเขาก็ไม่เอา อย่าง 2,350 บาท 50 บาทเขาปัดออกให้เป็นถ้วน แต่บางคนไม่ลดเลย เต็มๆ เลย เขาบอกว่ากินกำไรแค่บาทสองบาท เป็นบางคนที่ลดให้ อย่างบางคนเราซื้อประจำเขาก็ไม่เอาเขาปัดออกเลยที่เป็นเศษ บางคนก็ไม่ได้จ่ายเต็มๆ เลยก็มีผักมันแพงมากแค่ไหนเมื่อเทียบกันกับช่วงเวลาปกติก่อนโควิดก็อย่างเคยขายถุงละ 80 บาทตอนนี้เป็น 200 บาทแล้ว คะน้าขึ้น 200 ผักบุ้ง 100 บาท ถั่ว 50 บาท เอามาขายไม่ได้มันแบ่งไม่ได้ อย่างเช่น เราเคยขายมะนาว ห้าลูก 10 บาท ตอนนี้ไม่ได้อะไรเลยคะน้าจากเดิมพี่ได้กำไรก็ได้ครึ่งต่อครึ่ง คะน้าธรรมดาแบ่ง 10 บาท มันได้ 20 กำ ตอนนี้ 20 กำ 200 บาท เราไม่ได้สักบาทเลย ส่วนผักที่เลือกมาขายคือที่ยังขายได้ มันได้ครึ่งๆ ก็ยังดี เราก็ยังได้ค่ากับข้าวค่าอะไรๆ บ้าง ถ้าเราขายหมด ถ้าขายไม่หมดกำไรก็ติดลบอยู่ ก็ไปซื้อมาเพิ่มอีกนิดหน่อย ไม่ต้องลงทุนเยอะ บอกได้ไหมว่าตอนนี้มีรายได้วันละเท่าไหร่        เมื่อก่อนมีรายได้วันละ 600 -  800 บาท แต่เดือนนี้ไม่ถึงแล้ว วันละ 400 - 500 บาท ก็ให้ได้เถอะ บางวันก็ได้ บางวันก็ไม่ได้ สมัยก่อนวันละเป็น 1,000 ถึง 2,000 บาท เดี๋ยวนี้ไม่ได้เลย เป็นทุกคนกระทบหมดเลยผักที่ขายดีที่สุดของเราในช่วงนี้คืออะไร         มีผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า(ถ้าหามาได้) มะละกอก็ขายได้ดี ถั่วฝักยาว มะเขือพวง ทุกอย่าง 10 บาทหมด กะเพรา โหระพา ใบแมงลัก ก็ยังขายได้ พวกเครื่องแกงเครื่องต้มยำขายได้ คนเขาซื้อไปทำกินที่บ้าน คนที่มาซื้อเขามาซื้อปกติ หรือเขามีการป้องกันอะไรมากขึ้นไหมคะ         ระวังตัวเพิ่มมากขึ้น เขาก็จะถามว่าผักมีสารพิษไหม เราก็บอกไม่รู้ รับเขามา เราก็บอกเขาให้ไปแช่น้ำเกลือก่อนก็ได้แล้วค่อยทำกิน ทุกวันนี้เขาใช้สารเคมีทั้งนั้น ร้านส่งเขาก็ตอบไม่ตรง เขาก็บอกผักสวยผักงามแค่นี้แหละ คนกินก็ต้องดูแลตัวเอง ทุกวันนี้ก็มีสารพิษหมด เวลาไปซื้อเดินดูถูกใจก็ซื้อเลย เวลาเราถามเขาก็ตอบไปอย่างนั้นแหละ เขาบอกผักสวย ปลอดสารพิษนะ แต่ก็ไม่จริงหรอก ถ้าพี่เป็นคนกินเองเวลาพี่ซื้อผักพี่จะทำอย่างไร        ส่วนมากไม่ค่อยได้กินผักมาก อยู่บ้านนอกก็จะกินผักที่ปลูกที่บ้าน ผักสวนครัว แต่ถ้ากินผักก็จะดูที่ใบที่มีแมลงกิน ก็จะกินแบบนั้นเพราะส่วนมากจะไม่ปลอดภัย เวลาล้างก็แช่น้ำ แต่ส่วนมากไม่ค่อยทำกินเองซื้อเขากิน พวกผัดกะเพรา ต้มยำ ถ้าเป็นที่บ้านนอกจะปลูกเองผักที่ป่าเยอะเลย ปลูกกินเองก็มีเกิดจากธรรมชาติก็มี ถ้าฝากถึงรัฐบาลได้ เขาคงช่วยได้เป็นบางคน คงช่วยไม่ทุกคนหรอก ตัวผมนี่ยังไม่ได้อะไรเลย เมื่อก่อนขายได้แต่ตอนนี้ขายไม่ค่อยได้ เวลาขายมันสั้นมาก(ติดเคอร์ฟิว) เมื่อก่อนขายถึงเที่ยงคืนตีหนึ่ง แต่ตอนนี้ขายได้แค่สี่ทุ่ม แต่ก่อนมีร้านเย็บผ้า ร้านนวด สปาเขาซื้อเรา ถ้าได้ทิปเยอะ เขาก็ซื้อเยอะ แต่เดี๋ยวนี้ปิดหมดเลย ผักผลไม้ขายไม่ได้ มองข้างหน้าไว้อย่างไรบ้าง                   เหมือนมันไม่มีอะไรแน่นอน อยากให้มันแน่นอนบ้างนะ (น่าจะหมายถึงมาตรการหรือนโยบายเกี่ยวกับผู้ค้ารายย่อย) บางทีเราจอดตรงนี้ได้ พอไปๆ มาๆ ก็ยกเลิกบอกให้เราทำตรงนั้นตรงนี้ ทุกวันนี้มันไม่แน่นอนเดี๋ยวได้ย้ายอีก ถ้าที่ประจำเราจอดหน้าบ้านเราได้ อันนี้ที่ฟุตบาท บางทีเขาจะเปลี่ยนแปลงใหม่เขาก็ให้ย้ายไป อาชีพค้าขายไม่แน่นอนแบบพี่เลยไม่มีอะไรแน่นอนให้วางใจได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

เหตุผล 7 ประการที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง(จังหู)

        ประเด็นค่าไฟฟ้าแพงได้กลายเป็นกระแสทั้งในสื่อกระแสหลักและสังคมออนไลน์ ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 63 เป็นต้นมา ทั้งนี้เพราะคนส่วนใหญ่ต้องทำงานจากบ้านเพื่อตอบสนองมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” จากโรค COVID-19  บางรายเคยจ่ายของเดือนกุมภาพันธ์ ประมาณ 1,500 บาท ได้เพิ่มเป็น 5,200 บาทในเดือนมีนาคม        เจอเข้าอย่างนี้ ผู้บริโภคที่แอคทีฟจะต้องโวยอยู่แล้ว  จริงไหมครับ?        ผมขอเรียงลำดับคำตอบนี้ตั้งแต่ระดับปรากฏการณ์ไปจนถึงสาเหตุเชิงโครงสร้างของค่าไฟฟ้าแพงรวม 7 ประการ ดังนี้         ประการที่หนึ่ง เพราะเราใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นจริง         เวลาเราได้ “ใบแจ้งค่าไฟฟ้า” นอกจากต้องดูจำนวนเงินที่ต้องจ่ายแล้ว เราต้องดูจำนวนหน่วยที่ใช้ด้วย  ซึ่งคำว่า “หน่วย (unit)” หมายถึงจำนวนวัตต์ของอุปกรณ์ไฟฟ้า คูณด้วยจำนวนชั่วโมงที่ใช้ แล้วหารด้วย 1,000  เช่น หลอดไฟขนาด 18 วัตต์จำนวน 1 หลอด ถ้าเปิดวันละ 10 ชั่วโมง ใน 30 วัน จะใช้พลังงานรวม 5.4 หน่วย หรือ kwh ในภาษาวิชาการ         โดยปกติใบแจ้งค่าไฟฟ้าจะมีข้อมูลประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง 6 เดือน เราก็ลองเปรียบเทียบกันดูว่ามีความสมเหตุสมผลหรือไม่  เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าออกมายอมรับเองว่า “บางครั้งก็มีการจดผิด”           ประการที่สอง เพราะการคิดค่าไฟฟ้าเป็นอัตราก้าวหน้า         บ้านอยู่อาศัยประเภทที่ 1.2 (มิเตอร์ 15 แอมป์) ถ้าใช้ไฟฟ้าเดือนละ 1,000 หน่วย ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยต่อหน่วย (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าบริการแล้ว-ในอัตราปัจจุบัน) เท่ากับ 4.41 บาท (รวมต้องจ่าย 4,406.21 บาท) แต่ถ้าใช้ 2,000 หน่วย ค่าเฉลี่ยจะเพิ่มเป็น 4.51 บาทต่อหน่วย (รวมต้องจ่าย 9,013.31 บาท)         โปรดสังเกตว่า จำนวนการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2 เท่า แต่จำนวนเงินเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า         เหตุผลที่ทางรัฐบาลใช้เกณฑ์อัตราก้าวหน้า ก็เพราะต้องการให้คนประหยัดการใช้พลังงาน ซึ่งผมเห็นด้วยหากเป็นสถานการณ์ปกติ แต่ในยุคที่รัฐบาลต้องการให้คน “ช่วยชาติ” ทำไมจึงลงโทษคนที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลด้วยการคิดอัตราก้าวหน้าด้วยเล่า         ผมเสนอให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกราย ทั้งพวก “5 แอมป์” และ “15 แอมป์” ได้ใช้ไฟฟ้าฟรี 150 หน่วยแรกเท่ากัน ส่วนที่เกินให้คิดในอัตรา “คงที่” อัตราเดียว         สำหรับค่าเอฟทีรอบหน้า (พ.ค.ถึง ส.ค.) ยังคงเท่าเดิม ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันลดต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปี         ประการที่สาม เพราะกำไรสุทธิของ 3 การไฟฟ้าสูงถึง 11.6%         จากรายงานประจำปี 2562 ของ กฟผ. และ กฟภ. มีกำไรสุทธิจำนวน  48,271.26 และ 15,384 ล้านบาทตามลำดับ ในขณะที่ กฟน. มีกำไรสุทธิปี 2561 (ปีล่าสุดที่เผยแพร่) จำนวน 9,094.95 ล้านบาท         เมื่อรวมกำไรสุทธินี้เข้าด้วยกัน (เพื่อให้เห็นภาพคร่าวๆ) เท่ากับ  72,750.21 ล้านบาท ในขณะที่กระทรวงพลังงาน (ตารางที่ 7.1-6 สนพ.) มูลค่าพลังงานไฟฟ้าในปี 2562 เท่ากับ 699,000 ล้านบาท ทำให้เราคำนวณได้ว่า กิจการ 3 ไฟฟ้ามีกำไรสุทธิร้อยละ 11.62 ซึ่งผมเห็นว่าเป็นอัตรากำไรที่สูงเกินไป เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยธนาคารในปัจจุบัน         ในขณะที่บริษัท บี กริม เพาว์เวอร์  จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีโรงไฟฟ้าจำนวน 2,896 เมกะวัตต์ โดยร้อยละ 65 ของรายได้ปี 2562 จำนวน 44,132 ล้านบาท มาจากการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. มีกำไรสุทธิ เท่ากับ 3,977 ล้านบาท (เจ้าของบริษัทนี้ คือมหาเศรษฐีอันดับที่ 12 ของไทยที่นายกฯประยุทธ์ มีจดหมายไปขอคำแนะนำ)         ที่กล่าวมาแล้ว เป็นเหตุผลเชิงปรากฎการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกว่าค่าไฟฟ้าแพงมาก หรือ “แพงจังหู”         เหตุผลที่เหลือเป็นเรื่องเชิงโครงสร้างซึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐบาล ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจของการไฟฟ้าทั้ง 3 หน่วยงาน คือ กฟผ., กฟน.และ กฟภ.         ประการที่สี่ เพราะเรามีโรงไฟฟ้าสำรองมากเกินไป         จากรายงานประจำปี 2562 ของ กฟผ. พบว่า นับถึงสิ้นปี 2562 ในระบบไฟฟ้าของประเทศไทยมีกำลังการผลิตจำนวน 45,298.25 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นของ กฟผ.คิดเป็น 33.40% ที่เหลือเป็นของบริษัทเอกชน  โดยมีความต้องการใช้สูงสุดที่ 30,853.20 เมกะวัตต์           ถ้าคิดเป็นกำลังสำรองก็เท่ากับ 46.8%  ในขณะที่ค่ามาตรฐานสากลประมาณ 15%         อนึ่ง จากเอกสารของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ระบุว่า “กำลังการผลิตในระบบ 3 การไฟฟ้าา ณ สิ้นเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ 49,066 เมกะวัตต์ ไม่รวมข้อมูลของผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง(IPS)” (http://www.eppo.go.th/index.php/th/energy-information)         เราไม่ทราบว่ามีรายละเอียดอะไรซ่อนอยู่จึงทำให้ข้อมูลทั้งสองแหล่งนี้แตกต่างกันค่อนข้างมาก        กลับมาที่ข้อมูลของ กฟผ. แม้กำลังการผลิตของ กฟผ.เหลือเพียง 33.4% แต่พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ก็ต่ำกว่าตัวเลขนี้อีก คือ 31.49% ที่เหลืออีก 68.51% เป็นการซื้อจากบริษัทเอกชน         การมีโรงไฟฟ้าสำรองมากเกินไปถือเป็นภาระของผู้บริโภค เพราะสัญญาที่ทำไว้เป็นแบบ “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย ที่เรียกว่า take or pay”         ประการที่ห้า  เพราะเราปลดระวางโรงไฟฟ้าเร็วเกินไป        สัญญาที่รัฐบาลทำกับบริษัทเอกชนทั้งที่เรียกว่า IPP และ SPP จะมีอายุระหว่าง 21 ถึง 25 ปีเท่านั้น ในขณะที่ 51% ของโรงไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา(จากทั้งหมดกว่า 530,000 เมกวัตต์) มีอายุอย่างน้อย 30 ปี ในจำนวนนี้มีโรงไฟฟ้าก๊าซฯกว่า 5 หมื่นเมกะวัตต์ มีอายุ 41 ถึง 50 ปี (https://www.eia.gov/todayinenergy/detail.php?id=1830)         ต้นทุนการก่อสร้างพร้อมดอกเบี้ยของโรงไฟฟ้าที่ถูกปลดระวาง ผู้บริโภคเป็นผู้จ่ายให้ครบหมดถ้วนแล้ว          ประการที่หก เพราะอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับภาคครัวเรือนแพงกว่าภาคธุรกิจ  จากข้อมูล         (https://www.globalpetrolprices.com/Thailand/electricity_prices/) พบว่าค่าไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนโดยเฉลี่ยแล้วแพงกว่าในภาคธุรกิจถึง 6.6 สตางค์ต่อหน่วย (เป็นข้อมูลเดือนกันยายน 2562- แต่เกือบทุกประเทศเป็นลักษณะนี้)        จากข้อมูลของ กฟผ. ในปี 2562 ความต้องการไฟฟ้าทั่วประเทศเท่ากับ 197,873 ล้านหน่วย ในจำนวนนี้ใช้ในภาคครัวเรือน 22%  นั่นคือ ถ้าภาคธุรกิจจ่ายน้อยกว่าภาครัวเรือน 6.6 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นมูลค่าก็ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี นี่มัน “เตี้ยอุ้มค่อม” ชัด ๆ         ประการที่เจ็ด เพราะราคาก๊าซหน้าโรงไฟฟ้าแพงกว่าที่ปากหลุม 32%        จากข้อมูลในรายงานประจำปี 2562 ของ กฟผ. “ราคาก๊าซธรรมชาติหน้าโรงไฟฟ้าเฉลี่ย 263.43 บาท ต่อล้านบีทียูคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 144,794 ล้านบาท” ซึ่งผู้นำส่งก็คือบริษัทในเครือของ ปตท.         ราคาก๊าซฯเฉลี่ย 263.43 บาท สูงกว่าราคาก๊าซเฉลี่ยที่ปากหลุม(ในประเทศไทยคือ 199 บาทต่อล้านบีทียู) ถึง 32%         ในทัศนะของผม แม้จะต้องลงทุนสร้างท่อก๊าซฯ แต่ถ้าราคาก๊าซขนาดนี้ก็น่าจะสูงเกินไป  ถ้าค่าผ่านท่อ(และกำไร)ลดลงมาเหลือ 20% ราคาไฟฟ้าต่อหน่วย(ที่ผลิตจากก๊าซฯซึ่งมีสัดส่วน 57%) ก็จะลดลงมาได้ประมาณ 10 สตางค์ต่อหน่วย (ก๊าซ 1 ล้านบีทียู ผลิตไฟฟ้าได้ 220 หน่วย)นี่คือเหตุผล 7 ประการที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงจังหู ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 รถเมล์ไทย ทำอย่างไรให้เป็นตัวเลือกแรกของการเดินทาง

        รถเมล์เป็นรูปแบบขนส่งสาธารณะพื้นฐานที่ทุกคนน่าจะต้องเคยใช้ เนื่องจากเป็นบริการขนส่งมวลชนที่มีราคาถูกและครอบคลุมพื้นที่มากกว่าระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่น โดยเฉพาะในเขตเมืองอย่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีการแออัดของผู้คนและรถยนต์จำนวนมาก รถเมล์เป็นพาหนะที่ขนคนได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับรถยนต์ทุกประเภท  ในทุกวันมีประชาชนมากกว่า 1 ล้านคนใช้บริการรถเมล์ (จาก 10 ล้านคน) ถึงอย่างนั้นรถเมล์กลับไม่ใช่ตัวเลือกลำดับแรก สำหรับคนที่จะต้องเดินทางในเขตเมืองหากพวกเขาเลือกได้        คงต้องยอมรับว่า ปัญหาบริการขนส่งสาธารณะบ้านเมืองเรามีทั้งปัญหาด้านคุณภาพและด้านปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อปริมาณการสัญจรของประชาชน ซ้ำยังมีปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหามลพิษ แม้จะมีรถไฟฟ้าเข้ามาเสริม แต่ด้วยราคาค่าบริการที่แพง ล้วนทำให้คนกรุงเทพส่วนใหญ่ ยังจำเป็นต้องเลือกใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นพาหนะเพื่อการเดินทางมากถึง 43 % รถจักรยานยนต์ 26 % และรถขนส่งสาธารณะเพียง 24 % เท่านั้น         หันมาดูข้อมูลด้านปริมาณรถเมล์ของ ขสมก. กันบ้าง ณ 31 มีนาคม 2562  ขสมก. มีรถเมล์วิ่งให้บริการทั้งหมด 13,461 คัน แยกเป็น ขสมก. รถร้อน 1,543  คัน รถปรับอากาศ 1,501 คัน รถ PBC (รถเช่า) 117 คัน และมีรถเอกชนร่วมวิ่งบริการเป็น รถร้อน 1,870 คัน รถร่วมบริการ รถปรับอากาศ 1,396 คัน รถมินิบัส 882 คัน  รถเล็กในซอย 2,052 คัน รถตู้โดยสารปรับอากาศ 4,103 คัน และรถตู้ CNG เชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 87 คัน         เห็นตัวเลขรถเมล์กันแล้วอาจดูเยอะมีหมื่นกว่าคัน แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่รถทุกคันจะออกมาวิ่งรับส่งคนโดยสารได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นรถเก่าอายุเกิน 20 ปี จอดเสียซ่อมบ่อย ทำให้รถเมล์มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนที่ใช้บริการโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน เป็นผลสะสมส่วนหนึ่งที่ทำให้ ขสมก. ขาดรายได้ และนำไปสู่ข้ออ้างของการขึ้นราคาค่าโดยสารรถเมล์ในเวลาต่อมา        แม้ว่าแนวทางการควบคุมราคาค่าโดยสารรถเมล์เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากรถเมล์เป็นบริการสาธารณะพื้นฐานประเภทหนึ่ง ที่รัฐต้องทำให้คนทุกคนเข้าถึงบริการนี้ได้ และรัฐต้องพร้อมขาดทุนเพื่อจัดบริการพื้นฐานเพื่อการเดินทางนี้ให้กับประชาชน แต่ที่ผ่านมาการคิดอัตราค่าโดยสารรถเมล์กลับคิดตามต้นทุนและภาะหนี้สินของ ขสมก. มากกว่าคิดตามสภาพความพร้อมในการจ่ายของผู้บริโภค โดยเฉพาะการปรับขึ้นราคารถเมล์ทุกประเภทครั้งล่าสุดเมื่อ 22 เมษายน 2562 ที่ปรับขึ้นจากเดิม 1 – 7 บาท ตามระยะทาง รวมถึงรถแอร์รุ่นใหม่ใหม่ที่คิดระยะเหมา 15-20-25 บาท และในส่วนของรถร่วมบริการที่ปรับขึ้นในอัตรา 1 บาทด้วย         ขณะที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ได้จัดทำข้อมูลสำรวจค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางด้วยรถสาธารณะเมื่อเทียบอัตราค่าแรงขั้นต่ำของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า การใช้รถเมล์ปรับอากาศจะมีค่าใช้จ่ายระหว่าง 14 - 16% เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ หรือเท่ากับ ค่าแรง 300 บาท/วัน จะต้องเสียค่าเดินทางเกือบ 50 บาท/วัน และในปกติคงไม่มีใครเดินทางแค่เที่ยวเดียว          และหากต้องเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเพิ่มด้วยแล้วไม่ว่าจะเป็น BTS MRT และ ARL จะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 26-28 % ขณะที่เมืองใหญ่อย่างกรุงปารีสมีค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเพียง 3 % ลอนดอน 5 % โตเกียว 9 % และสิงคโปร์ 5 % เท่านั้น เท่ากับคนกรุงเทพฯ ต้องเสียค่าเดินทางต่อวันที่แพงมาก ซ้ำยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพของบริการขนส่งสาธารณะอีกด้วย        โดยข้อเท็จจริงในการใช้ชีวิตของแต่ละคนในขณะนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่แพงกว่านี้อีกมาก หากคิดตั้งแต่ออกจากบ้านเพื่อไปทำงานในตอนเช้าของทุกวัน ที่ต้องใช้จักรยานยนต์รับจ้าง รถเมล์ รถตู้ กว่าจะถึงรถไฟฟ้า และหากต้องใช้รถไฟฟ้าสองสาย ผู้บริโภคต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนแรกที่เรียกว่าค่าแรกเข้าเพิ่มอีก 14-16 บาท จากรถไฟฟ้าทุกสายที่ใช้บริการ        จะเห็นได้ว่าปัญหาเร่งด่วนและสำคัญของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน คงไม่พ้นปัญหาปากท้อง การมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางในแต่ละวันที่อยากจะหลีกเลี่ยง ทั้งหมดอาจเป็นคำตอบที่ว่าทำไมคนส่วนใหญ่จึงยังไม่ใช้รถเมล์ รถสาธารณะ เพราะรวมๆ กันแล้ว แพงมาก ดังนั้นหากพอมีทางเลือกทุกคนอยากไปกับรถยนต์ส่วนตัวมากกว่า        การจะแก้ปัญหาให้ถูกจุด คือต้องออกแบบและพัฒนาบริการขนส่งสาธารณะให้เป็นจริง กล่าวคือ  ต้องเพิ่มสัดส่วนของประชาชนทุกกลุ่มให้สามารถเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดที่มีบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท (เพื่อลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ต้องเดินทางออกจากซอย เป็นต้น) โดยอาจจะเริ่มด้วยวิธีการง่ายๆ        เริ่มจากทำให้ประชาชนต้องเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดบริการขนส่งมวลชนในระยะทาง 500 เมตร หรือเดินไม่เกิน 15 นาที พัฒนาระบบแอปพลิเคชันให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์เข้าถึงทุกคนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเพื่อดูได้ว่า รถเมล์สายอะไรที่กำลังจะมา เพื่อเชื่อมต่อการพัฒนาระบบขนส่งอื่นๆ ลดระยะเวลารอรถเมล์ให้ไม่เกิน 15 นาที ในช่วงเร่งด่วนและไม่เกิน 30 นาทีในช่วงการเดินทางประจำวัน และที่สำคัญค่าโดยสารโดยรวมทุกประเภทต้องไม่เกิน 5% ของรายได้ขั้นต่ำของประชากร ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับผู้บริโภควันนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 เคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2563

กสทช. เคาะให้เน็ตฟรี 10 GB ปรับความเร็วเน็ตบ้านขั้นต่ำ 100 Mbps หนุนประชาชนทำงานที่บ้าน        นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ โดยการลดค่าใช้จ่ายด้านโทรคมนาคม และส่งเสริมการทำงานที่บ้าน รวมทั้งสนับสนุนการทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนต่อไป ดังนี้        1. สนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband) เพิ่ม 10 GB ต่อคน ต่อเดือน ให้แก่ผู้ใช้งานในปัจจุบัน โดยผู้ใช้บริการ 1 คนจะได้รับการสนับสนุน 1 เลขหมาย ต่อ 1 ผู้ให้บริการ โดยจะสนับสนุนเป็นระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ลงมติเห็นชอบมาตรการดังกล่าว จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 โดยใช้ฐานลูกค้าที่มีผู้ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ณ วันที่ครม.มีมติ เท่านั้น โดยประชาชนจะสามารถรับสิทธิได้ด้วยการลงทะเบียนผ่านระบบ USSD ของผู้ให้บริการแต่ละค่ายที่ตนใช้งานอยู่         2. สนับสนุนการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (Fixed Broadband) ให้แก่ผู้ใช้งานในปัจจุบัน โดยปรับเพิ่มขนาดความจุ (Capacity) เท่าที่ผู้ให้บริการจะสามารถดำเนินการได้ กล่าวคือ กรณีบริการ ADSL/VDSL/Copper ให้ปรับเพิ่มความเร็วสูงสุดที่สามารถทำได้ และกรณีบริการ FTTX ให้ได้ระดับความเร็ว (Download) 100 Mbps   เลี่ยงใช้ยาไอบูโพรเฟนกับโควิด         องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกคำแนะนำอย่างเป็นทางการ ให้ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคทางเดินหายใจโควิด-19 หลีกเลี่ยงการรับประทานยาลดไข้และแก้อักเสบไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพราะมีความเสี่ยงที่จะทำให้อาการทรุดหนักลงไปอีกได้         ข้อมูลจากรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Lancet ตั้งข้อสงสัยว่า เอนไซม์บางชนิดที่ถูกกระตุ้นด้วยยาไอบูโพรเฟน อาจทำให้การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ลุกลามเร็วขึ้นและส่งผลรุนแรงขึ้นได้        "เราแนะนำให้ใช้ยาลดไข้อย่างพาราเซตามอลแทน และอย่าซื้อยาไอบูโพรเฟนมารับประทานเองโดยไม่ขอคำแนะนำจากแพทย์เสียก่อน" โฆษกประจำองค์การอนามัยโลกกล่าว เกษตรกรฟ้อง “เจียไต๋" 100 ล้าน เหตุเจ็บป่วยพิษพาราควอต        ศาลหนองบัวลำภู นัดสืบคดีไต่สวนครั้งแรกเป็นคดีประวัติศาสตร์ในไทยระหว่างเกษตรกรกับ “เจียไต๋” พร้อมเรียกค่าเสียหายพิษพาราควอตกว่า 100 ล้าน         นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน กล่าวว่า ““ที่มาของการฟ้องร้องครั้งนี้เป็นผลเสียหายจากการที่เกษตรกรได้ใช้ยาฆ่าหญ้าของบริษัทในกลุ่มพาราควอต และได้เจ็บป่วยมีทั้งถูกตัดขา และมีผลกระทบเป็นโรคเนื้อเน่า รวมทั้งหมด 16 ราย เฉลี่ยรายละ 7-8 แสนบาท รวมแล้วกว่า 100 ล้านบาท ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ฟ้องศาลเรื่องสารเคมี สาเหตุที่ฟ้องเจียไต๋  เนื่องจากเป็นบริษัทรายใหญ่ที่นำเข้าและจำหน่ายของประเทศไทย การฟ้องครั้งนี้จะฟ้องแบบกลุ่ม แต่ถ้าทนายของเจียไต๋ระบุว่าฝ่ายบริษัทเสียเปรียบเนื่องจากคำฟ้องครอบคลุมเกษตรกรคนอื่นที่ไม่ใช่ 16 ราย ด้วย จะต้องไปพูดคุยกันที่ศาลฯ”        ด้าน ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่จะได้ทำความจริงให้ปรากฏ พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ความเชื่อ เพราะนั้นขอบคุณเกษตรกรที่ฟ้อง ซึ่งความจริงต้องฟ้องรายตัวปลูกพืชไม่เหมือนกัน มีความเสี่ยงแตกต่างกัน ส่วนบริษัทใหญ่ที่นำเข้าพาราควอตมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจเอราวัณ รองลงมาเป็นกลุ่มบริษัทซินเจนทา ประเทศไทย ประกันสังคมช่วยผู้ประกันตนรับมือโควิด -19         โดยลดจ่ายเงินสมทบประกันสังคมนายจ้าง-ลูกจ้าง เหลือฝ่ายละ 4% จากเดิมที่กำหนดให้นำส่งฝ่ายละ 5% เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบจาก โควิด-19         นอกจากนี้อยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณาร่วมกัน 3 กองทุนสุขภาพ (สปส. สปสช. และกรมบัญชีกลาง) สำหรับการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มให้กับสถานพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึงและเพียงพอ 'คืนเงินประกันไฟฟ้า' ไม่เกี่ยวมิเตอร์         จากเหตุที่มีประชาชนจำนวนมากสงสัยในเรื่องการคืนเงินประกันไฟฟ้า ตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุโควิด-19 โดยเข้าใจสับสนกับเรื่องมิเตอร์ไฟฟ้านั้น ได้มีการชี้แจงรายละเอียดดังนี้         การของคืนเงินประกันไฟฟ้า ของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1 บ้านที่อยู่อาศัย และประเภท 2 กิจการขนาดเล็ก จากฝ่ายผลิต(ผู้ให้บริการ) ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กปน.) “ไม่มีหมดเขต ไม่ต้องรีบร้อน ขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าทางออนไลน์ ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ โทรศัพท์มือถือ ...สะดวก สบาย ตลอด 24 ชั่วโมง         เงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า เป็นคนละส่วนกับมิเตอร์ไฟฟ้า เงินประกันการใช้ไฟฟ้า คือ เงินที่ผู้ใช้ไฟฟ้าได้วางเป็นหลักประกันไว้ โดยผู้ให้บริการไฟฟ้าทั้ง กฟภ.และกปน.  ใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ค่าไฟฟ้า กรณีมีหนี้ค้างชำระ ค่าเบี้ยปรับ หรือหนี้อื่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ไฟฟ้า         ทั้งนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้เปิด 2 ช่องทางในการตรวจสอบสิทธิ์ และลงทะเบียนขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ได้แก่ 1.เว็บไซต์ https://dmsxupload.pea.co.th/cdp/  และ 2.การสแกน QR Code ในใบแจ้งค่าไฟฟ้า  สงสัยสอบถามสายด่วน 1129        ส่วนการไฟฟ้านครหลวง เปิดให้ตรวจสอบสิทธิ์และทะเบียน หลายช่องทาง ได้แก่ 1.เว็บไซต์ www.mea.or.th 2.เฟซบุ๊ค การไฟฟ้านครหลวง MEA 3.แอพพลิเคชัน MEA Smart Life 4.ทวิตเตอร์ @mea_news 5.ไลน์ @meathailand 6.สแกน QR Code ในใบแจ้งค่าไฟฟ้า  7.โทรศัพท์เบอร์ 02-256-3333 และ 8.ที่ทำการการไฟฟ้านครหลวง 18 เขต แต่จะเปิดช่องทางนี้ในเดือนพฤษภาคม 2563 เนื่องจากเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม การไฟฟ้านครหลวง เบอร์ 1130

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ซื้อมะม่วง 1 กิโล แต่โดนโกงไป 2 ขีด

เย็นวันหนึ่งหลังเลิกงาน คุณสุรีย์ได้จอดรถแวะซื้อกับข้าว ณ ตลาดนัดแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา ขณะเดินจ่ายตลาดอยู่นั้น คุณสุรีย์ได้เหลือบไปเห็นมะม่วงในร้านผลไม้สดร้านหนึ่ง ดูแล้วน่ารับประทานดี แม้จะไม่เห็นป้ายราคาเขียนติดเอาไว้ คุณสุรีย์ก็คิดว่าราคาน่าจะไม่แพงเท่าไหร่ เพราะเป็นช่วงที่มะม่วงออกเยอะ จึงได้บอกแม่ค้าไปว่า ขอซื้อมะม่วง 1 กิโล เมื่อแม่ค้าได้ยินดังนั้น ก็หยิบมะม่วงใส่ถุงหูหิ้ว ขึ้นชั่งน้ำหนัก ครั้นส่งถุงมะม่วงให้ก็แจ้งราคาคุณสุรีย์ทราบ        ฝ่ายคุณสุรีย์แม้ไม่ได้ใส่ใจเรื่องราคามะม่วง แต่ก็แอบสังเกตเข็มตาชั่งของแม่ค้า พอรับถุงมะม่วง ก็ลองเอามือถ่วงๆ ดู ก็เดาว่ามะม่วงในถุงน่าจะหนักไม่ถึง 1 กิโลกรัม จึงได้ทักท้วงกลับไป  แม่ค้าเมื่อได้ยินคุณสุรีย์ทักท้วงเรื่องน้ำหนักมะม่วง แต่ยังคงยืนยันกลับมาว่า มะม่วงนั้นหนัก 1 กิโลกรัม แต่ก็ไม่ได้แสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการชั่งน้ำหนักมะม่วงให้ลูกค้าดูอีกรอบ         หลังจากได้ยินแม่ค้าตอบอย่างนั้น คุณสุรีย์แม้จะค่อนข้างมั่นใจว่า มะม่วงในถุงน่าจะหนักไม่ถึง 1 กิโล แน่ๆ แต่ก็ไม่อยากต่อปากต่อคำกับแม่ค้า จึงควักเงินจ่ายไปแต่โดยดี เมื่อกลับถึงบ้าน เพื่อคลายความสงสัยที่มี คุณสุรีย์จึงนำมะม่วงขึ้นชั่งบนตราชั่งที่บ้าน ปรากฏว่า น้ำหนักมะม่วงหายไปเกือบ 2 ขีด คุณสุรีย์รู้สึกว่าโดนแม่ค้าโกง แบบชัดแจ้ง จึงได้ร้องเรียนเพื่อขอคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แนวทางแก้ไขแก้ปัญหา        ตาม  พ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542  มาตรา 79 กำหนดว่า ผู้ใดใช้หรือมีเครื่องชั่งตวงวัดไว้เพื่อใช้ในกิจการตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง โดยรู้ว่าเครื่องชั่งตวงวัดนั้นมีความเที่ยงผิดเกินอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยหากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วว่าเครื่องชั่งนั้นชำรุด ก็จะทำการยึดเครื่องชั่งนั้นไปทำลายด้วย         กรณีที่แม่ค้ารู้อยู่แก่ใจว่า เครื่องชั่งที่ใช้ขายผลไม้นั้นชำรุด แต่ยังนำมาชั่งสินค้าขาย อาจเข้าข่ายความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 270 ที่กำหนดว่า ผู้ใดใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ซึ่งเครื่องชั่ง เครื่องตวง หรือเครื่องวัด ที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้า หรือมีเครื่องเช่นว่านั้นไว้เพื่อขาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ทั้งนี้ การไม่แสดงป้ายราคาสินค้าอย่างเปิดเผย ณ จุดขาย ยังมีโทษปรับตาม ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 45 พ.ศ. 2560 เรื่อง การแสดงราคาสินค้าและค่าบริการ ในมาตรา 40 ที่ผู้ใดไม่แสดงราคาหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 28 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท โดยผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับรางวัลนำจับ ร้อยละ 25 ของค่าปรับด้วย         หากผู้บริโภคมาทราบทีหลังว่า สินค้าที่ซื้อมานั้น น้ำหนักขาดไปจากความเป็นจริง ก็สามารถแจ้งกรมการค้าภายใน สายด่วน 1569 หรือ แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ เพื่อขอให้มาตรวจสอบร้านค้านั้นๆ ได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 หลอกลวงแบบเนียนๆ

        ผู้บริโภครายหนึ่งเล่าเหตุการณ์ที่พลาดเสียเงินไปโดยไม่รู้ตัวให้ฟังว่า เพื่อนบ้านมาชวนไปเที่ยว “บอกว่างานนี้ฟรีทุกอย่าง เขาจัดล่องเรือชมวิว แนะนำสินค้า เราไม่ซื้อก็ไม่เป็นไรถือว่าได้เที่ยวฟรี” ผู้บริโภครายนี้คิดว่าตนเองคงไม่ยอมเสียเงินซื้อแน่ๆ แต่ใจก็อยากเที่ยวฟรี ในที่สุดเลยตกลงไปเที่ยวลงเรือตามที่เพื่อนชวน        “เมื่อขึ้นไปบนเรือ เขาพาล่องแม่น้ำ มีอาหารให้กินฟรีจริงอย่างที่เพื่อนบอกนะ แต่พอเรือล่องไปได้สักระยะหนึ่ง ก็มีคนมาแนะนำสินค้าต่างๆ ส่วนมากเป็นพวกโสม มีทั้งโสมผสมถังเช่า โสมตังจือ โสมเกาหลีสีส้ม ราคาขวดละเกือบสามพันบาท เขาบรรยายสรรพคุณต่างๆ เยอะมาก ฟังแล้วเคลิ้มเลยล่ะ เขาชวนให้เราทดลองซื้อมาใช้ดูก่อนก็ได้ สุดท้ายเราก็ใจอ่อนเอง ซื้อไปหลายอย่าง รวมๆ แล้วเกือบสามหมื่น มาถึงบ้าน นึกไปนึกมา นี่ถ้าเราไม่ไปเที่ยว เราก็คงไม่เสียเงินขนาดนี้ พอเราไป ไอ้ที่คิดว่าฟรี มันไม่ฟรีแล้ว เพราะเราหมดไปสามหมื่น สงสัยเหมือนกันว่า มันคงรวมๆ ค่าเที่ยวค่ากินไปในค่าโสมแน่นอน นึกแล้วเจ็บใจจริงๆ ไม่น่าเสียรู้เลย ไม่กล้าไปเตือนใคร อายเขา”        อีกเรื่องหนึ่ง มาจากน้องเภสัชกรที่ทำงานในชนบททางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเล่าให้ฟังว่า ยุคนี้ผลิตภัณฑ์สุขภาพบุกถึงวัดแล้ว อ้างว่าเป็นสะพานบุญ คนขายพวกนี้มักจะตระเวณไปตามวัด ไปแอบหาข้อมูลว่าพระตามวัดต่างๆ มีโรคประจำตัวอะไรบ้าง โดยมากจะเล็งไปที่พระที่รูปร่างอ้วนๆ น้ำหนักมากๆ        แต่พวกนี้ไม่ได้ไปขายผลิตภัณฑ์สุขภาพกับพระ แต่จะไปสังเกตญาติโยมที่มาทำบุญที่วัด พอมีโอกาสก็จะเข้าไปพูดคุยชวนทำบุญ อ้างว่าผลิตภัณฑ์ของตนเป็นเสมือนผลิตภัณฑ์สะพานบุญ สามารถลดน้ำหนักให้พระสงฆ์ที่ญาติโยมเคารพได้ เมื่อท่านน้ำหนักลดลง ท่านจะได้ไม่ป่วย ไม่เสี่ยงกับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ สุดท้ายญาติโยมก็ใจอ่อน บางคนก็เกรงใจ ยอมเสียเงินซื้อผลิตภัณฑ์พวกนี้ถวายพระไปด้วย หมดกันคนละเป็นหมื่น        ล่าสุด มีผู้บริโภคมาเล่าให้ฟังว่า “มีคนมาในช่วงที่ผู้สูงอายุในชุมชนกำลังประชุม บอกว่าจะขอแนะนำความรู้ด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ มีการใช้คอมพิวเตอร์ฉายภาพ เป็นรูปคนสุขภาพดีหน้าตาแจ่มใส แล้วผู้ขายก็บรรยายสรรพคุณสินค้า เป็นผลิตภัณฑ์รากมะเดื่อ และเชิญชวนให้ผู้สูงอายุลองซื้อไปรับประทาน ผู้สูงอายุบางคนก็มีเงินเยอะ พอผู้สูงอายุคนหนึ่งซื้อ ที่เหลือก็เริ่มซื้อตาม สุดท้ายก็ขายได้หลายหมื่น หลังจากวันนั้นเขาก็มาอีก คราวนี้ตระเวณไปถึงบ้าน มาทราบทีหลังว่าขายได้ด้วย บางบ้านซื้อเยอะ รวมๆ หลายบ้าน น่าจะหมดเป็นแสน”        เท่าที่สอบถามข้อมูล ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับอนุญาตแล้ว มีเครื่องหมาย อย. และฉลากถูกต้อง ไม่มีเอกสารใดๆ ที่ผิดกฎหมายหรือโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง แต่พฤติกรรมประกอบการขายที่โอ้อวดเกินจริง โดยใช้คำพูดโน้มน้าว ทำให้ผู้บริโภคที่ใจอ่อน หลงเชื่อ สุดท้ายก็เสียเงินเสียทองมากมาย ในการจัดการเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกับผลิตภัณฑ์พวกนี้ทำได้ยาก เพราะเอกสารหลักฐานมักไม่ค่อยชัดเจน นอกจากคำพูดโน้มน้าวระหว่างขายสินค้าเท่านั้น ต้องช่วยกันเตือนผู้บริโภค ให้มีภูมิต้านทาน ให้เท่าทันกับสถานการณ์แบบนี้ ท่องไว้เลยว่า “ยาเทวดาไม่มีในโลก ถ้ามันเจ๋งขนาดนี้ ทำไมโรงพยาบาลไม่เอาไปใช้รักษาผู้ป่วย และถ้าได้ผลดีต่อสุขภาพจริง ทำไมมาขึ้นทะเบียนเป็นอาหาร .. สรุปง่ายๆ คือ หลอกลวงแบบเนียนๆ นั่นเอง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 สั่งซื้อชุดเครื่องนอนผ่านแอปแล้วผิดหวัง

        ตลาดออนไลน์นั้น ง่าย สะดวก แต่ก็ต้องรอบคอบเพราะไม่ได้เห็นสินค้าจริงหรือจับต้องก่อนจะตัดสินใจซื้อ อีกทั้งผู้ค้าที่หลอกลวงก็มีจำนวนมาก ความไม่พอใจที่เกิดจากการได้รับสินค้าที่ไม่ตรงปกหรือไม่ใช่อย่างที่ตั้งความหวังจึงมีสูง แล้วเราจะสามารถรับมือกับเรื่องนี้ได้อย่างไร        คุณชไมพร อยากได้ชุดเครื่องนอนใหม่ จึงเปิดแอปพลิเคชันร้านค้าออนไลน์ในมือถือ จนพบชุดเครื่องนอนจากร้านค้าแห่งหนึ่งที่สวยถูกใจ เป็นชุดประกอบด้วย ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และผ้าห่มในราคา 570 บาท บวกค่าจัดส่ง 80 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 650 บาท คุณชไมพรได้เลือกชำระค่าสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง หรือ COD (Cash on Delivery) เพราะต้องการความมั่นใจว่า จะได้รับสินค้าอย่างแน่นอนก่อนจ่ายเงิน โดยข้อมูลบนแอปฯ แจ้งว่าจะจัดส่งสินค้าให้ภายใน 3 วัน คุณชไมพรจึงทำการสั่งซื้อ และรอการยืนยันจากทางร้าน         เวลาผ่านไป 5 วัน คุณชไมพรยังไม่มีวี่แววยืนยันการจัดส่งสินค้าจากทางร้านค้าดังกล่าว คุณชไมพรจึงได้เข้าไปทำการยกเลิกคำสั่งซื้อในแอปพลิเคชัน เพราะขาดความมั่นใจและได้หาซื้อชุดเครื่องนอนใหม่จากร้านค้าอื่นแทน         แต่เมื่อผ่านไปอีกสามวัน คุณชไมพรได้รับการติดต่อจากพนักงานของร้านค้าที่ได้ยกเลิกคำสั่งซื้อไปแล้วว่า ได้จัดส่งชุดเครื่องนอนให้คุณชไมพรเรียบร้อยแล้ว คุณชไมพร จึงตอบกลับไปว่า ตนได้สั่งซื้อชุดเครื่องนอนจากที่อื่นไปแล้ว พนักงานคนดังกล่าวก็แจ้งกลับว่า “ไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะได้จัดส่งสินค้าไปให้แล้วค่ะ” แม้ว่าคุณชไมพรจะเสนอว่าจะจัดส่งสินค้ากลับไปให้ทางไปรษณีย์ โดยรับผิดชอบค่าส่งให้ แต่พนักงานก็ยังคงยืนยันว่าไม่รับคืนสินค้า         คุณชไมพรไม่ทราบว่าจะต้องดำเนินการต่ออย่างไร จึงขอคำปรึกษากับ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดลำพูน เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดลำพูน ได้ติดต่อไปยังร้านค้าดังกล่าวและปรึกษาเรื่องการคืนสินค้าของคุณชไมพร ซึ่งเป็นสิทธิผู้บริโภคที่กระทำได้ ซึ่งทางผู้จัดการร้านกล่าวขอโทษ ที่พนักงานของตนปฏิบัติไม่ถูกต้อง จึงดำเนินการเรียกคืนสินค้าที่คุณชไมพรได้ยกเลิกการสั่งซื้อ ทั้งนี้ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ อีกทั้งทางร้านได้ฝากขอโทษคุณชไมพรด้วยที่สร้างความกังวลใจให้และจะอบรมพนักงานของตนต่อไป          คำแนะนำสำหรับผู้บริโภค         กรณีซื้อสินค้าออนไลน์แล้วไม่ได้รับสินค้าภายในระยะเวลาที่ตกลงกันไว้  ถือว่าทางร้านค้าได้ทำผิดเงื่อนไข ผู้บริโภคมีสิทธิขอยกเลิกคำสั่งซื้อได้ โดยทำการแจ้งยกเลิกในระบบเว็บไซต์ห้างออนไลน์ และไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายจากการจัดส่งสินค้าที่ได้แจ้งยกเลิกไว้แล้ว         ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ได้กำหนดหลักประกันความพึงพอใจ ไม่ว่าสินค้าจะชำรุดหรือไม่ หากผู้รับสินค้าเกิดความไม่พอใจ ก็สามารถคืนได้ภายใน 7 วัน (มาตรา 33) และผู้ขายต้องคืนเงินให้กับผู้ซื้อภายใน 15 วัน (มาตรา 36)         นอกจากนี้ การที่ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าออนไลน์ ที่จดทะเบียนถูกต้องกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในการประกอบธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรงเป็นการเพิ่มความมั่นใจว่าผู้บริโภคจะได้รับสินค้า และปลอดภัยจากการถูกหลอกถูกโกงมากขึ้น         หากผู้บริโภคต้องคำปรึกษาหรือร้องเรียนเกี่ยวกับการถูกละเมิดสิทธิผู้บริโภค ในพื้นที่ภาคเหนือท่านสามารถติดต่อที่ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดลำพูน เลขที่ 9 ถนนรถแก้ว ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน 51000 หรือ ติดต่อผ่านเฟสบุ๊คwww.facebook.com/consumerslamphun/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ‘ค่ารถไฟฟ้าแพง’ เรื่องเล่าจากพนักงานออฟฟิศสู่ระบบขนส่งมวลชนที่รอวันปฏิรูป

                ถ้าคุณต้องเดินทางไปทำงาน ไป-กลับ ด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสุขุมวิทตั้งแต่สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จนถึงสถานีเคหะฯ คุณต้องชำระเงินค่าบัตรโดยสารรวม 118 บาท         ถ้าคุณต้องเดินทางไปทำงาน ไป-กลับ ด้วยรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีตั้งแต่สถานีคลองบางไผ่จนถึงสถานีหลักสอง คุณต้องชำระเงินค่าบัตรโดยสารรวม 140 บาท         เมื่อคิดจากค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ 331 บาทซึ่งเริ่มใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 หมายความว่าค่าเดินทางของคุณจะเท่ากับประมาณ 1 ใน 3 ของค่าแรงต่อวัน         แน่นอน นี่เป็นอัตราส่วนที่สูงมากจนน่าตกใจ         ค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพงไปหรือเปล่า? เป็นคำถามที่ดังกึกก้องมากเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ คำถามนี้ยังคงดังอยู่และเป็นไปได้ว่าจะดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโครงการรถไฟฟ้าเริ่มเปิดดำเนินงานเพิ่มมากขึ้น วันที่เครือข่ายรถไฟฟ้าทุกสายเปิดให้บริการ ค่าโดยสารจากสถานีปลายทางหนึ่งไปยังอีกปลายทางหนึ่งจะสูงขึ้นถึงเพียงไหน         ระบบขนส่งมวลชนจะกลายเป็นระบบของคนจำนวนหนึ่งที่มีกำลังซื้อมากพอเท่านั้นหรือเปล่า? ว่าด้วยการเดินทางของพนักงานออฟฟิศคนหนึ่ง         เรามาสำรวจการเดินทางมาทำงานของพนักงานออฟฟิศคนหนึ่ง วิภาพร ฟักอินทร์ ว่าจากบ้านถึงที่ทำงานและจากที่ทำงานถึงบ้าน เธอต้องไปจ่ายไปเท่าไหร่         วิภาพร เล่าว่า เธอนั่งรถไฟฟ้าบีทีเอสจากสถานีเคหะถึงสถานีสำโรง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการคิดค่ารถในส่วนนี้ แต่จากสถานีสำโรงมาสถานีอ่อนนุชเธอต้องจ่ายเงินสดซื้อบัตรโดยสาร 15 บาท เนื่องจากเป็นส่วนต่อขยายที่ไม่ถูกนับรวมอยู่ในบัตร 25 เที่ยวต่อเดือน ราคา 725 บาทที่เธอใช้อยู่ เมื่อตีเป็นตัวเงิน การเดินทางจากสถานีอ่อนนุชถึงสถานีอโศกจึงเท่ากับ 29 บาทต่อเที่ยว หมายความว่าค่าโดยสารจากสถานีเคหะถึงสถานีอโศกเท่ากับ 44 บาท         ที่ทำงานของวิภาพรอยู่ห้วยขวาง เธอต้องนั่งรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีจากสถานีสุขุมวิทมาลงสถานีห้วยขวางอีก 23 บาท เธอบอกว่าบัตรเติมเงินของเอ็มอาร์ทีไม่มีการลดค่าโดยสาร คิดเต็มราคา เฉพาะค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินของเธอต่อเที่ยวเท่ากับ 67 บาท เมื่อรวมไปและกลับเท่ากับ 134 บาท         แต่ไม่ใช่แค่นั้น วิภาพรแจงรายละเอียดอีกว่า เธอต้องนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างจากหน้าโรงเรียนของลูกไปรถไฟฟ้าบีทีเอส 10 บาท และขากลับจากรถไฟฟ้าบีทีเอสกลับบ้านอีก 40 บาท รวมส่วนนี้เข้าไปด้วย ค่าเดินทางไป-กลับระหว่างบ้านและที่ทำงานของเธอจะเท่ากับ 184 บาทต่อวัน         ตีคร่าวๆ ว่า 1 เดือน มี 30 วัน หักวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ออก 8 วัน เหลือวันทำงาน 22 วัน วิภาพรจะมีค่าเดินทางต่อเดือน 4,048 บาท เมื่อถามว่าคิดเป็นอัตราส่วนเท่าไหร่ของเงินเดือน เธอตอบว่าประมาณร้อยละ 13 ดูตัวเลขนี้อาจให้ความรู้สึกว่าไม่มากเมื่อเทียบกับรายได้ แต่เธอบอกว่าในอดีตที่เธอยังเงินเดือนไม่มากนัก เธอก็ต้องจ่ายค่าเดินทาง 4,048 บาทเช่นกัน เธอบอกว่าจ่ายได้เพื่อแลกกับเวลาในการเดินทาง แต่         “เราว่ามันแพงไปและไม่สะดวกในเรื่องที่คิดอัตราค่าโดยสารแบบเที่ยวแล้วยังมาตัดเงินสดอีก เทียบกับค่ารถเมล์มันแพงมาก สำหรับเราค่าโดยสารพอจ่ายได้ แต่ควรทำให้มันไม่เสียบ่อยและมาบ่อยๆ ไม่ใช่อัดแน่นมากช่วงเร่งด่วน         “แล้วบัตรเดียวควรใช้ได้ทั้งบีทีเอสและเอ็มอาร์ที เพราะเราชอบหยิบบัตรผิด แต่เอ็มอาร์ทีไม่มีส่วนลดนะ ไม่มีแบบเที่ยว ตัดเงินอย่างเดียว อยากให้จัดการให้ระบบมันลิงค์กัน ควบคุมราคาค่าโดยสารโดยให้คนที่ฐานเงินเดือนแบบจบใหม่มีเงินเหลือไปทำอย่างอื่น และควบคุมคุณภาพ แต่ถ้าถูกได้กว่านี้เราก็ชอบ”        วิภาพรบอกว่า ปัจจุบันเธอไม่ขึ้นรถเมล์แล้วเพราะรถติด แต่ถ้ามีทางเฉพาะให้รถเมล์วิ่งและปรับปรุงคุณภาพรถเมล์ เธอก็เห็นว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ค่าโดยสารรถไฟแพง หรือค่าแรงเราต่ำ หรือทั้งสองอย่าง?         คราวนี้ ลองเปรียบเทียบค่าโดยสารรถไฟฟ้ากับค่าแรงขั้นต่ำของไทยที่ 300 บาทกับประเทศอื่นๆ ที่ทีดีอาร์ไอทำออกมาจะช่วยให้เห็นภาพมากขึ้น บอกก่อนว่าค่าแรงขั้นต่ำในที่นี้ถูกคิดเป็น ‘ชั่วโมง’ ไม่ใช่ ‘รายวัน’        ค่าแรงขั้นต่ำของไทย 37.50 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้าตกราว 16-70 บาท        ค่าแรงขั้นต่ำของกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ 221 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้าตกราว 37-96 บาท        ค่าแรงขั้นต่ำของสิงคโปร์ 250 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้าตกราว 17-60 บาท        ค่าแรงขั้นต่ำของนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐฯ 250 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 91 บาทตลอดสาย        ค่าแรงขั้นต่ำของกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 279 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้าตกราว 39-913 บาท        ค่าแรงขั้นต่ำของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ 331 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้าตกราว 119-253 บาท        ค่าแรงขั้นต่ำของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส 370 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 71 บาทตลอดสาย         ค่าแรงขั้นต่ำของออสเตรเลีย 457 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้าตกราว 85-256 บาท         จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ชัดเจนว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำรายชั่วโมงถือว่าสูงมาก         และเมื่อเปรียบเทียบต้นทุนค่าใช้จ่ายระบบขนส่งสาธารณะรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังพบว่า เมื่อวัดตามอำนาจดัชนีการซื้อ ค่ารถไฟฟ้ามีราคาค่อนข้างสูงเฉลี่ย 28.30 บาท/คน/เที่ยว ขณะที่สิงคโปร์เฉลี่ยอยู่ที่ 13.3 บาท/คน/เที่ยว เรียกว่าของไทยสูงกว่าสิงคโปร์ถึงร้อยละ 50 ส่วนฮ่องกงอยู่ที่ 16.78 บาท/คน/เที่ยว นอกจากนี้ ค่าโดยสารระบบรางของไทยยังสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ทั้งยังมีส่วนต่างค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถเมล์สูงที่สุด ของไทยอยู่ที่ 67.4 บาท ส่วนสิงคโปร์อยู่ที่ 25.73 บาท และฮ่องกงอยู่ที่ 46.5 บาททำไมค่าโดยสารรถไฟฟ้าถึงแพง                 น่าจะเป็นคำถามคาใจที่สุดของใครหลายๆ คน ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ จากทีดีอาร์ไอ คือผู้ที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุด         ดร.สุเมธอธิบายว่า สาเหตุหลักมาจากเรื่องรูปแบบของการลงทุน เนื่องจากรัฐมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ดังนั้นโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เกือบทั้งหมดจึงต้องอาศัยเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งรูปแบบการลงทุนรถไฟฟ้าแต่ละเส้นทางก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป รถไฟฟ้าสายแรกของบีทีเอสเป็นรูปแบบที่รัฐให้ใช้ที่ดินฟรีเพียงอย่างเดียว แต่โครงสร้างพื้นฐานและระบบรถไฟฟ้าทั้งหมดเอกชนเป็นผู้ลงทุน ทำให้มีความจำเป็นต้องเก็บค่าโดยสารให้สอดคล้องกับต้นทุนและสามารถคืนทุนได้         “พอเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าต่อๆ มา รัฐก็เริ่มเห็นข้อจำกัดว่าถ้าปล่อยให้เอกชนลงทุนเพียงฝ่ายเดียว โดยที่รัฐช่วยเหลือน้อย ค่าโดยสารก็คงถีบตัวสูงกว่านี้หรืออาจจะไม่มีเอกชนมาร่วมลงทุนเลย รัฐก็เลยมีการเปิดรูปแบบอื่นๆ ในเส้นทางอื่นๆ เช่น รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เอกชนมาเดินรถ แต่ทีนี้จะเริ่มเห็นว่าทั้งหมดทั้งปวงรัฐก็ยังมีความจำเป็นให้เอกชนเข้ามาดำเนินงานและร่วมลงทุนค่อนข้างเยอะ เมื่อร่วมลงทุนค่อนข้างเยอะ ทำให้อัตราค่าโดยสารต้องสะท้อนต้นทุนก็เลยมีอัตราค่าโดยสารค่อนข้างสูง”        ขณะที่รูปแบบการลงทุนในต่างประเทศมีความแตกต่างออกไป ดร.สุเมธยกตัวอย่างสิงคโปร์ที่เริ่มสร้างรถไฟฟ้าก่อนไทยเพียงไม่กี่ปี โดยรัฐบาลสิงคโปร์เป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แล้วให้เอกชนเข้ามาดำเนินงานเดินรถเพียงอย่างเดียว วิธีการนี้ทำให้ภาครัฐของสิงคโปร์ต้องแบกรับต้นทุนค่อนข้างสูง แต่ก็สะท้อนออกมาในค่าโดยสารที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเอกชนของสิงคโปร์ที่เข้ามาเดินรถไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เอกชนเพียงแค่เดินรถ จ่ายค่าดำเนินงาน ค่าบุคลากร ค่าไฟ ค่าบำรุงรักษา และคิดค่าโดยสารเฉพาะส่วนที่เป็นการเดินรถ จะเห็นได้ว่าการกำหนดรูปแบบการลงทุนและการสนับสนุนจากรัฐจะส่งผลต่อค่าโดยสารอย่างมีนัยสำคัญ         ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งคือรัฐไม่มีมาตรการส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะมาตรการเชิงบังคับจำกัดรถยนต์วิ่งเข้าเมืองอย่างการจัดเก็บค่าเข้าเมืองในอัตราสูง ซึ่งในต่างประเทศ เช่น กรุงลอนดอนหรือสิงคโปร์ต่างก็ใช้มาตรการนี้ ทำให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น อย่างในลอนดอนพบว่ามีคนใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50  ความซับซ้อนของผู้โดยสาร ต้นทุน และสัญญาสัมปทาน         ดร.สุเมธอธิบายเพิ่มเติมอีกว่าในหลายกรณียิ่งปริมาณผู้โดยสารมาก อัตราค่าโดยสารอาจจะต่ำลงได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่ ผู้โดยสารครึ่งคันกับเต็มคันไม่ได้ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้นมากนัก เพราะฉะนั้นยิ่งจำนวนผู้โดยสารมากเท่าไหร่ต้นทุนเฉลี่ยต่อคนยิ่งต่ำลงเท่านั้น ในวงวิชาการจึงมีการถกเถียงกันในระดับหนึ่งว่า ค่าโดยสารถูกแล้วทำให้จำนวนผู้โดยสารมากหรือจำนวนผู้โดยสารมากทำให้ค่าโดยสารถูก         ทางฉลาดซื้อถามต่อว่า ในกรณีบีทีเอสถือว่ามีจำนวนผู้โดยสารมากหรือยัง?        “บีทีเอสถือว่าผู้โดยสารเยอะแล้ว แต่ capacity ของระบบยังเพิ่มได้อีก คือปกติ capacity มันอยู่ที่จำนวนขบวนต่อคันกับความถี่ ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณคนที่สามารถบรรทุกได้ ณ ปัจจุบัน บีทีเอสวิ่งอยู่ที่ 4 ตู้ต่อ 1 ขบวน แต่ตัวโครงสร้างพื้นฐานที่ออกแบบไว้สามารถรองรับได้ถึง 6 ตู้ต่อ 1 ขบวน เพราะฉะนั้นการเพิ่มตู้เป็น 6 ตู้ต่อ 1 ขบวนจะเพิ่ม capacity ของระบบได้         “ประเด็นที่ 2 คือถ้าต้องการวิ่งถี่ ตอนนี้ที่เขาทำได้คือ 2 นาทีหรือ 1 นาทีกว่าๆ ยิ่งวิ่งถี่ก็ยิ่งขนคนได้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ตอนนี้บีทีเอสน่าจะเข้าใกล้จุดที่ถี่มากที่สุดแล้ว ถี่มากกว่านี้ไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นทางเลือกก็น่าจะเป็นการขยายขบวน ซึ่งทางบีทีเอสก็มีการดำเนินการมาอยู่เป็นระยะๆ เช่น เริ่มต้นเป็น 3 ตู้ต่อ 1 หนึ่งขบวน แต่ห้าถึงสิบปีที่แล้วขบวนใหม่ที่สั่งเข้ามาเปลี่ยนเป็น 4 ตู้ต่อ 1 ขบวน และอีกเจ็ดแปดปีจากนี้ที่มีส่วนต่อขยายแล้ว เขาก็จะสั่ง 6 ตู้ต่อ 1 ขบวนเข้ามาเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น”         แต่เมื่อผู้โดยสารเพิ่มจำนวนขึ้นแล้วเหตุใดค่าโดยสารจึงยังสูงอยู่ ดร.สุเมธตอบว่าการเพิ่มขึ้นของความจุจะส่งผลต่อต้นทุนด้วย วิ่งถี่ขึ้น ค่าซ่อมบำรุงอาจจะขึ้นบ้างแต่ไม่ได้มาก ถ้าวิ่งถี่ขึ้นและรับผู้โดยสารได้เต็มที่ต้นทุนต่อคนก็อาจจะถูกลง แต่พอคนมากขึ้นต้องเพิ่มตู้ เพิ่มขบวน ตรงนี้จะเริ่มมีการลงทุน คำถามต่อมาคือถ้าลงทุนซื้อตู้ ณ วันนี้ สัญญาสัมปทานของบีทีเอสเหลือเพียง 10 ปี อีกทั้งสัญญาสัมปทานระบุชัดเจนว่าเมื่อหมดสัญญาสัมปทานทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐ เพราะฉะนั้นการซื้อตู้ในช่วงนี้ เพิ่มผู้โดยสารได้ แต่ใช้ได้แค่ 10 ปี ซึ่งอาจจะไม่คุ้มทุน จึงไม่มีแรงจูงใจให้เอกชนขยาย capacity เมื่อภาครัฐขยับตัว         ภายหลังที่ผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอออกมา ทางกรมขนส่งทางรางก็ได้เตรียมเสนอ 7 มาตรการให้กระทรวงคมนาคมและรัฐบาลใหม่ (ตอนนั้นยังไม่มีการตั้งรัฐบาล) พิจารณา ประกอบด้วยเปลี่ยนรูปแบบสัญญาสัมปทานจาก PPP net cost เป็น PPP gross cost (PPP gross cost หมายความว่ารัฐเป็นผู้จ้างเอกชนเดินรถ โดยรัฐจะแบกภาระความเสี่ยงไว้เองด้วยการนำรายได้จากเส้นทางที่มีกำไรมาชดเชยให้กับเส้นที่ขาดทุน) กำหนดกรอบราคาขั้นสูงของระบบ กำหนดเงื่อนไขการเชื่อมต่อเพื่อให้ค่าโดยสารไม่สูงเกินไป จัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงาน ด้านเศรษฐกิจและด้านคมนาคมทำหน้าที่หลักในการกำหนดมาตรฐานอัตราค่าบริการ ยกเว้นเก็บค่าแรกเข้ากรณีเดินทางข้ามระบบโดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะเปิด มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า และอุดหนุนค่าใช้จ่ายการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า         อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน สราวุธ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวกับสื่อว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม. มีมติลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า สายสีม่วงจาก 12-42 บาท เป็น 14-20 บาท หรือไม่เกิน 20 บาทตลอดสายในทุกช่วงเวลา รวมระยะเวลาลดค่าครองชีพประชาชน 3 เดือน คาดว่าจะช่วยลดค่าครองชีพประชาชนจากการโดยสารรถไฟฟ้าเป็นมูลค่า 38.7 ล้านบาทต่อเดือน         ดร.สุเมธ ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ปัญหาใหญ่ของไทยคือรายได้เฉลี่ยของคนในเมืองค่อนข้างต่ำ ถ้าค่าโดยสารราคาสูงจะยิ่งส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงตลาดงาน เมื่อทำการแบ่งแต่ละกลุ่มรายได้แล้วดูค่าเฉลี่ยพบกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกลุ่มที่ 1 2 3 และ 4 จากข้างล่าง ค่าเฉลี่ยการเดินทางต่อวันจะอยู่ไม่เกิน 40-50 บาท เมื่อเทียบต่อวันต่อเที่ยว คนกลุ่มนี้จะเดินทางต่อเที่ยวได้ไม่เกิน 25 หรือ 28 บาท ซึ่งหมายถึงขึ้นรถไฟฟ้าได้ แต่ไม่สามารถขึ้นสุดสาย 40 กว่าบาทได้         “ถ้าต่อไปรถไฟฟ้าที่ต่อหลายสายขึ้นเป็นประมาณ 70-100 บาท ถ้าคุณต่อหลายสาย คนกลุ่มรายได้นี้อาจจะไม่สามารถขึ้นรถไฟฟ้าได้ทุกวัน นั่นหมายถึงว่าเขาอาจไม่มีงานประจำที่อยู่ในเมืองหรือมีการเดินทางจากชานเมืองเข้ามาในเมืองด้วยรถไฟฟ้าได้ แล้วเขาอาจต้องหารูปแบบการเดินทางแบบอื่นที่มีความสะดวกสบายน้อยกว่า” ระบบขนส่งมวลชนไม่ได้มีแค่รถไฟฟ้า ต้องมองทั้งระบบ         ในส่วนมาตรการ 7 ข้อข้างต้น ดร.สุเมธ เห็นว่าน่าจะช่วยลดค่าเดินทางได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สุด ถามว่าถ้าต้องทำให้สุดควรเป็นอย่างไร?         “ถ้าเอาแนวของสิงคโปร์ มีจังหวะหนึ่งเขาซื้อคืนรถไฟฟ้ากลับมาหมดเลย เขาคล้ายๆ ของไทยในช่วงแรกคือให้เอกชนลงทุน แล้วก็มีสินทรัพย์ มีโครงสร้างพื้นฐาน เอกชนเดินรถ มีจุดหนึ่งที่เขาไหวตัวทัน เป็นจุดที่รถไฟฟ้ายังไม่เยอะสายมาก เขาซื้อคืนกลับมาหมดเลยให้เป็นของรัฐ แต่มันต้องใช้เงินเยอะ ซึ่งเราคงไม่สามารถทำได้”         สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งต้องไม่ดึงออกจากสมการคือรถเมล์         “ถ้าเราส่งเสริมรถเมล์ได้ อย่างสิงคโปร์ที่ค่อนข้างชัดที่ทำให้รถเมล์กับรถไฟฟ้ามีค่าโดยสารที่เชื่อมต่อกัน และอาจจะสร้างแรงจูงใจในการใช้ขนส่งมวลชน เช่น คุณใช้รถเมล์แล้วมาต่อรถไฟฟ้าคุณจะได้ส่วนลดเพิ่มเติม ซึ่งของเราคงไปถึงจุดนั้นยาก เพราะรถเมล์เรายังไม่พัฒนา แต่หวังว่าอีกสองสามปีข้างหน้า รถเมล์เริ่มปฏิรูปแล้ว มีสายใหม่ มีเอกชนเข้ามา แล้วก็จะมีเอกชนที่สามารถเชื่อมโยงกันเองได้ หมายถึงเอกชนที่เดินรถเมล์กับเอกชนที่เดินรถไฟฟ้าอาจจะมีปฏิสัมพันธ์กันในระดับหนึ่ง แล้วก็จะเริ่มทำตั๋วเชื่อมกันได้และอาจมีส่วนลดที่ช่วยกระตุ้น รถเมล์ก็จะเปลี่ยนเป็น feeder ในอนาคต น่าจะออกไปในแนวนั้นได้”         หากจะสรุปก็คงได้ประมาณว่า ใช่, ค่ารถไฟฟ้าของไทยแพงและต้องแก้ไข แต่เราจะมองแค่รถไฟฟ้าอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองระบบขนส่งมวลชนทั้งระบบ และเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนไปพร้อมๆ กัน หมายเหตุ ทางนิตยสาร ‘ฉลาดซื้อ’ ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหารบีทีเอสเพื่อรับฟังข้อมูล แต่ทางผู้บริหารบีทีเอสไม่สามารถจัดเวลาให้ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2562

สี่ล้อแดงเชียงใหม่ปรับตัว เริ่มใช้แอปฯ ต้นปี 2563        หลังกระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาออกกฎหมายรองรับแกร็ป ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการสี่ล้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีอยู่ทั้งหมด 2,465 คัน ขณะที่สี่ล้อแดงเชียงใหม่ ก็เตรียมพร้อมปรับตัว โดยในต้นเดือน ม.ค.63 สหกรณ์นครลานนาเดินรถ เตรียมเปิดใช้แอปพลิเคชัน CM TAXI ที่ร่วมพัฒนาโดย กระทรวงพลังงานและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยแอปฯ มีการใช้งานทุกอย่างเหมือนกับ Grab มีการแสดงระยะทาง อัตราค่าโดยสาร และข้อมูลรถที่จะให้บริการ เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจ ในขณะที่ผู้ใช้เฟสบุ๊คบางรายแสดงความเห็นว่า นอกจากการทำแอปฯ แล้วอยากให้ปรับปรุงเรื่องการให้บริการและการคิดราคาค่าโดยสารด้วย สสส. ชวนเลิกบุหรี่ ผ่าน อสม.        สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที “ชวน ช่วย เลิกบุหรี่” เพื่อให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านแนวคิดและกระบวนการทำงานระหว่างภาคีเครือข่ายที่มีส่วนในการขับเคลื่อน พร้อมประกาศเจตนารมณ์ “ปักหมุด หยุดสูบ” ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่ และสร้างการมีส่วนร่วมในการสร้างปัจจัยเอื้อต่อการลด ละ เลิกสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ         โดยข้อมูลจากระบบบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการปี 2560 พบว่ามีผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคจากบุหรี่ถึง 553,611 ครั้ง คิดเป็นค่ารักษาพยาบาลรวม 21,389 ล้านบาท แต่ละครั้งต้องนอนรักษาที่โรงพยาบาลเฉลี่ย 7 วัน โดยเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในแต่ละครั้งเฉลี่ย 38,638 บาท หรือ 6,806 บาทต่อวันสสส. จึงสนับสนุนโครงการจัดความรู้และสื่อสารการขับเคลื่อนงานตามพันธกิจชวนและช่วยเลิกบุหรี่ ดำเนินการในพื้นที่ 12 จังหวัด ผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน “อสม.” โดยมีโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นแกนกลางสนับสนุนให้เครือข่ายและ อสม. ทำหน้าที่ชวนและช่วยคนในชุมชนให้เลิกสูบบุหรี่ตามบริบท วิถีชีวิต สภาพสังคม และวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่​ผู้สูงอายุไทยยังรู้สึกว่าดูแลตนเองได้        ข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้สัมภาษณ์กลุ่มผู้สูงอายุในประเด็นการดูแลตนเองว่า “จำเป็นต้องมีคนดูแลปรนนิบัติในงานกิจวัตรประจำวันหรือไม่” โดยคำตอบจากกลุ่มผู้สูงอายุ 60 - 69 ปี ร้อยละ 94 บอกว่าสามารถดูแลตนเองได้ ซึ่งสัดส่วนของคำตอบนี้ ลดลงตามอายุที่มากขึ้น ในกลุ่มผู้สูงอายุวัย 80 ปีขึ้นไป เหลือร้อยละ 76.2 ในผู้ชาย และร้อยละ 58.4 ในผู้หญิง         นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้สูงอายุชายร้อยละ 90.9 และผู้หญิงร้อยละ 84.6 ตอบว่าไม่ต้องการผู้ดูแล และส่วนที่ต้องการและมีผู้ดูแลมีร้อยละ 7.4 ในเพศชาย และ 13.4 ในเพศหญิง         ส่วนกลุ่มที่ต้องการ แต่ไม่มีผู้ดูแล มีร้อยละ 1.7 - 2.1 เมื่อจำแนกตามอายุและเพศ โดยกลุ่มอายุ 60 - 69 ปี ที่ไม่ต้องการผู้ดูแล มีสูงถึงร้อยละ 94.6 ในเพศชาย และ 93.4 ในเพศหญิง ซึ่งอาจอธิบายได้ว่ากลุ่มนี้ยังแข็งแรงและช่วยตัวเองได้        ส่วนคำถามที่ว่า ‘ใครเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ’ ผู้สูงอายุที่ตอบว่ามีผู้ดูแลในชีวิตประจำวันซึ่งอาจมีมากกว่าหนี่งคน คือ บุตรสาวมีสัดส่วนสูงสุด (ร้อยละ 45.1) รองลงมาคือ คู่สมรส (ร้อยละ 28.1) บุตรชาย (ร้อยละ 18.4) และหลาน (ร้อยละ 6.2) สรุปได้ว่าเป็นผู้ดูแลในระบบครอบครัว และดูเหมือนว่าผู้ดูแลจากระบบบริการ เช่น ผู้ช่วยพยาบาล หรือ ผู้ดูแลรับจ้าง ยังไม่มีบทบาทมากนัก         อย่างไรก็ตาม แม้จะเชื่อมั่นว่าดูแลตัวเองได้ แต่จากสถิติระบุผู้สูงอายุ ‘พลัดตก-หกล้ม' ต้องเข้ารับบริการทางแพทย์ฉุกเฉินเฉลี่ย 140 ครั้ง/วัน เสียชีวิตเฉลี่ย 3 คน/วัน พบรอบ 3 ปี รับบริการทางแพทย์ฉุกเฉินถึง 141,895 ราย แม้ลักษณะบ้านที่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุควรเป็น ‘บ้านชั้นเดียว’ แต่ผู้สูงอายุกลับอยู่ 'บ้านหรือตึกสองชั้นขึ้นไป' มากที่สุดที่ 44% ต้องใช้บันไดขึ้นลงทุกวัน 48.8% ต้องเดินบนพื้นที่ลื่น 31.7% มีผู้สูงอายุเพียง 24.6% เท่านั้นระบุว่าอยู่บ้านที่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับตนเอง เด็กไทยเล่นเกมส์ออนไลน์เกินวันละ 8 ชั่วโมง        สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานอื่นๆ จัดเสวนาเรื่อง “เปิดวิถีออนไลน์...เด็กไทยกับภัยใกล้ตัว” โดยได้นำผลการวิจัยเชิงสำรวจ หัวข้อ "สถานการณ์การเล่นเกมส์ออนไลน์ของเด็กไทย" ประจำปี 2562 ซึ่งสำรวจนักเรียนระดับมัธยมศึกษา, ปวช. และ ปวส. รวม 3,056 คน จากทั่วประเทศใน เดือน ก.ย. – ต.ค.62 พบว่า เด็กส่วนใหญ่ 2,730 คน หรือ ร้อยละ 89.33 เคยเล่นเกมส์ออนไลน์ โดยเล่นเกมเกือบทุกวัน ร้อยละ 64.66 เฉลี่ย 3-5 ชั่วโมง หากเป็นเด็กในพื้นที่ กทม. ร้อยละ 8.1 จะใช้เวลาเล่นเกมส์มากกว่า 8 ชั่วโมงในวันหยุด         โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้เด็กเล่นเกมส์ออนไลน์มากที่สุด คือ เพื่อนชักชวน รองลงมาคือ ข้อมูลจากสื่อออนไลน์ นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าเกมส์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของเด็กไทย คือ ROV ร้อยละ 51.38 รองลงมา คือ PUBG MOBILE ร้อยละ 18.21 และ Free Fire ร้อยละ 15.53         ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายกับเกมส์ออนไลน์ พบว่าในจำนวนผู้ที่ตอบว่า เคยเสียเงินในการเล่นเกมออนไลน์ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.13 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดนั้น พบว่าร้อยละ 30.9 ในจำนวนดังกล่าว ใช้จ่ายมากกว่า 500 บาทต่อเดือน         ทั้งนี้ ยังพบว่า เด็กต้องเผชิญกับการกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ในหลายรูปแบบ จนอาจนำไปสู่การทำร้ายตนเองและผู้อื่นทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ และทางสังคม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างความฉลาดทางดิจิทัลให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อให้เท่าทันต่อกระบวนการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ เช่น สอนให้เด็กจัดการตัวตนและรับผิดชอบต่อการกระทำบนโลกออนไลน์ สอนให้ใช้เวลาออนไลน์อย่างพอเหมาะ ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ การงาน และชีวิตด้านอื่น สอนให้ยืดหยุ่น เข้มแข็ง รับมือกับการกลั่นแกล้งได้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร้อง ‘ศาลปกครองสูงสุด’ ระงับขึ้นค่าทางด่วน        เมื่อ 20 ธ.ค.62 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน ระงับการขึ้นเงินค่าผ่านทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมือง - โทลล์เวย์) ที่เตรียมจะปรับขึ้นในวันที่ 22 ธ.ค.62 ซึ่งยังเป็นคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด หากยังคงปล่อยให้ขึ้นราคาค่าผ่านทาง จะส่งผลกระทบก่อให้เกิดความเดือดร้อนและความเสียหายต่อประชาชน และขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนคำพิพากษาจะถึงที่สุด         โดย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิฯ รู้สึกผิดหวังที่กรมทางหลวงไม่ยอมทำอะไร หลังจากที่มีคำพิพากษาศาลปกครองกลางเมื่อปี 2558 ที่ให้มีการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องสัมปทาน ซึ่งความเป็นจริงแล้วขณะนี้ประชาชนควรจะได้รับสิทธิในการใช้ทางดังกล่าวโดยที่ไม่ต้องเสียเงิน เนื่องจากสัญญาสัมปทานได้สิ้นสุดไปตั้งแต่ปี 2557        แต่ด้วยทางบริษัทฯ ได้มีการทำตัวเลขขาดทุนที่เกินจริง ทำให้มีการขยายอายุสัญญาสัมปทานออกไปอีก 20 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2577 และยังมอบอำนาจให้เอกชนสามารถปรับขึ้นค่าผ่านทางได้โดยที่ไม่ต้องขออนุญาตหน่วยงานใด ตนจึงฝากถึงนายกรัฐมนตรีให้รีบลงมาดำเนินการในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งกรมทางหลวงควรรักษาผลประโยชน์ของประชาชนที่ใช้ทางให้มากกว่านี้ อีกทั้งเพื่อรักษาสิทธิและคุ้มครองสิทธิของประชาชนทุกคนด้วย        อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ศาลมีคำสั่งไม่รับคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ความเดือดร้อนเสียหายดังกล่าว มิใช่เป็นความเดือดร้อนเสียหายที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ หรือยากแก่การเยียวยาแก่ไข เนื่องจากยังมีทางหลวงแผ่นดิน สายวิภาวดีรังสิต และพหลโยธิน อยู่ใต้ทางยกระดับ ที่สามารถใช้จร ไปมาได้ ผู้ฟ้องคดี จึงมีโอกาสเลือกที่จะใช้เส้นทางอื่น ที่ไม่ต้องชำระค่าบริการผ่านทางตามที่กล่าวแทนทางด่วนยกระดับอุตราภิมุข ช่วงดินแดง-ดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน ทั้งขาออกและขาเข้าที่ต้องชำระค่าผ่านทางดังกล่าวได้ อีกทั้งยังมีการเปิดให้บริการขนส่งมวลชน ในเส้นทางใกล้เคียง และที่จะเปิดให้บริการในเส้นทางเดียวกัน เพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ที่สามารถใช้บริการเป็นทางเลือกในการให้บริการได้         ดังนั้น คำร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยขอให้หยุดเก็บเงินค่าผ่านงส่วนที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาสัมปทานดังกล่าว ก่อนพิพากษาจนกว่าคดีจะถึงที่สุดนั้น จึงยังไม่มีเหตุเพียงพอ ตามมาตรา 66 ของพระราชบัญญัติจัดตังศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง. พ.ศ. 2542 จึงมีคำสั่งไม่รับคำขอให้ศาลกำหนดมาตราการ หรือวิธีการคุ้มครองบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา

อ่านเพิ่มเติม >