ฉบับที่ 119 มาเป็นครอบครัวพิทักษ์สิทธิกันเถอะ

  สังคมไทยเป็นสังคมจำเลย ที่กล่าวเช่นนี้เพราะเห็นจากหลายกรณีที่เกิดขึ้น ที่เราจะต้องมองหาจำเลยว่าใครจะเป็นคนผิด เพื่อให้รู้สึก สบายใจ ว่าหาคนผิดได้หรือไม่งั้น ก็มีความกลัวว่าเราจะต้องไปเกี่ยวข้องด้วยและร่วมรับผิดชอบ เช่น การนำเสนอข่าวฟิล์มกับแอนนี่ หรือเรื่องรถตู้ชนบนโทลล์เวย์ และทุกๆ ปี เราจะเห็นการเสนอข่าวว่า ปีนี้มีคนกลับบ้านและไปเที่ยวต่างจังหวัดมาก เริ่มตั้งแต่รถติดมากจากกรุงเทพฯ ติดไปจนถึงนครสวรรค์ หรือข่าวว่าบริษัทขนส่งหรือการรถไฟจะเพิ่มเที่ยวให้สามารถกลับบ้านกันได้ทั้งหมด เห็นข่าวประเภทนี้กันมาหลายปี ดูซ้ำไปซ้ำมา หากจะโทษการเสนอข่าวก็ง่ายไป เราก็ต้องมีส่วนร่วมในการทำให้ข่าวที่เราดูกันตลอดเวลานั้น มีความน่าสนใจมากขึ้นด้วย ปีนี้ฉลาดซื้อตั้งใจที่จะชักชวนให้ช่วยกันปฏิบัติการนำเสนอข่าวด้วยตัวเอง ด้วยการเป็นสมาชิกครอบครัวพิทักษ์สิทธิ ซึ่งจะขอชักชวนคนไทยทั้งประเทศเข้าร่วมเป็นครอบครัวนี้ ที่จะเป็นเหมือนชุมชนของผู้บริโภคที่แข็งขัน มีพลังในเรื่องที่จะช่วยกันติดตามข่าวสาร หรือรายงานผลเหตุการณ์การละเมิดสิทธิ ราคาสินค้า หรือแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ผ่านสื่อที่รวดเร็วฉับไวภายในเครือข่าย ถือเป็นปฏิบัติการที่เราสร้างเองได้ และมีประโยชน์ต่อผู้บริโภค ปีนี้ฉลาดซื้อและทีม มพบ. พร้อมกับครอบครัวพิทักษ์สิทธิ เราจะมุ่งสู่วิสัยทัศน์ “สานพลัง เท่าทันโลก บริโภคอย่างสร้างสรรค์” ด้วยกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 แอบทำผิด แต่ไม่ยอมรับ ยังไงก็ต้องรับผิด (1)

  คดีเด็ดสำหรับเดือนนี้เป็นคำพิพากษาฎีกาใหม่ล่าสุด เป็นเรื่องผู้บริโภคซื้อห้องชุดโดยเชื่อว่าเป็นโครงการในเครือของบริษัทใหญ่ที่มีชื่อเสียงน่าเชื่อถือ มีทุนจดทะเบียนเป็นร้อยล้าน แต่เวลาทำสัญญาผู้บริโภคกลับต้องทำสัญญากับบริษัทฯ โนเนม อีกบริษัทหนึ่งที่มีทุนจดทะเบียนแค่ สิบล้าน ครั้นเกิดปัญหาห้องชุดสร้างไม่เสร็จ ผู้บริโภคจะสามารถฟ้องเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากบริษัทใหญ่ที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาได้หรือไม่  คดีนี้สามารถใช้เป็นบทเรียนสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนต่ำ แต่ทำมาหากินในระดับโครงการร้อยล้าน พันล้าน ซึ่งถ้าดูแค่ทุนจดทะเบียนอาจจะคิดไปได้ว่า ฟ้องไปก็เปล่าประโยชน์ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าบริษัททำมาหากินในลักษณะส่งรายได้ให้กับบริษัทใหญ่ เราก็ฟ้องให้เป็นจำเลยร่วมกันได้เลยครับ   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2637-2638 /2553 คดีระหว่าง คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โจทก์ กับ บริษัทโกลเด้น เกท พลาซ่า จำกัด กับพวก จำเลย  ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า “... พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 (บริษัทโกลเด้น เกท พลาซ่า จำกัด) เป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการโครงการประตูทองพลาซ่าและคอนโดมิเนียมและทำสัญญาขายห้องชุดกับผู้บริโภคทั้ง 21 ราย แล้วผิดสัญญาก่อสร้างไม่แล้วเสร็จและหยุดการก่อสร้าง   ผู้บริโภคทั้ง 21 ราย ร้องเรียนต่อโจทก์และมอบอำนาจให้โจทก์บอกเลิกสัญญาและเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เพิกเฉยจึงถือว่าสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้บริโภคทั้ง 21 ราย ในคดีนี้เป็นอันเลิกกัน โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้บริโภคทั้ง 21 ราย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 (บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) ว่าจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามฟ้องหรือไม่  โจทก์มี นางสาว ค. นาง ม. นางสาว ป. นาง ท. และ นาง พ. ผู้บริโภคสั่งซื้อห้องชุดในโครงการประตูทองพลาซ่าและคอนโดมิเนียมเบิกความทำนองเดียวกันว่า รู้จักโครงการดังกล่าวจากแผ่นพับโฆษณาเอกสารหมาย จ.9 และทราบจากพนักงานขายของโครงการว่าเป็นโครงการของคุณหญิงศศิมา  ศรีวิกรณ์ และเป็นโครงการในเครือของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์  พยานทั้งห้าจึงให้ความเชื่อถือในโครงการและตกลงซื้อห้องชุดในโครงการดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 นำสืบว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้บริหารการขายซึ่งรับค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 โดยทำหน้าที่ชักชวนประชาชนให้มาซื้อห้องชุดในโครงการเท่านั้น ใบโฆษณาเอกสารหมาย จ.18 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำ จำเลยที่ 2 เพียงมีหน้าที่รับไปแจกจ่ายเท่านั้น”  เอาล่ะสิ จำเลยที่ 2 บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่ใช่คู่สัญญาโดยตรง พยายามดิ้นที่จะไม่รับผิดชอบในคดีนี้ แล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไร ขอพักไว้แค่นี้ก่อนนะครับ เนื่องจากมีเนื้อหาฎีกาที่ค่อนข้างยาว ติดตามกันต่อฉบับหน้าครับ  แต่ยังไงเสีย คนผิดก็ต้องรับผลแห่งการกระทำเสมอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 กระแสต่างแดน

ตราไม่รับรอง บ่อยครั้งที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ให้ความไว้วางใจ “ตรารับรอง” โดยลืมถามตัวเองว่าตราสัญลักษณ์ดังกล่าวนั้น “รับรอง” อะไรกันแน่ องค์กรต่อต้านการทารุณสัตว์ SAFE (Safe Animals from Exploitation) ที่นิวซีแลนด์ออกมาแฉกันเต็มๆ ว่า ตรารับรอง “PigCare Accredited” ที่ติดอยู่บนฉลากผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมูที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตนั้น ไม่ได้มีความหมายอะไร นอกจากจะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถขายของได้มากขึ้น  เพราะผู้บริโภคปัจจุบันต้องการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสัตว์ ตรารับรองที่ว่าจึงทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าหมูน้อยเหล่านั้นเคยมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายตามอัตภาพ ไม่ทุกข์ทรมานเพราะถูกกักขังบริเวณอยู่ในกรงจนขยับไม่ได้  แต่ความจริงแล้วเงื่อนไขที่จะได้ตรารับรอง “PigCare” นั้นไม่ได้ครอบคลุมไปถึงเรื่องการห้ามใช้กรงขัง หรือการห้ามเลี้ยงแบบอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ ในขณะที่ฟาร์มที่เลี้ยงแบบเปิด ต่างก็ไม่เข้าร่วมขอฉลากรับรองที่ว่าเพราะไม่เห็นด้วยกับการรับรองดังกล่าว  ฮานส์ ครีก ผู้อำนวยการของ SAFE บอกว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่ผู้บริโภคควรมองหาคือตรารับรอง “Free range” หรือ “Free farmed” (ฟาร์มเปิด) มากกว่า  อืม ... จะบริโภคอย่างรับผิดชอบนี่มันไม่ง่ายเลยจริงๆ ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------     คันต่อไปครับ แค่สาวนางหนึ่งถูกปฏิเสธโดยแท็กซี่ 6 คันซ้อน ก็เป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์ที่นิวซีแลนด์ซะแล้ว (ไม่อยากจะคุยว่าที่บ้านเรา แค่นี้จิ๊บๆ) วิคตอเรีย กริฟฟิน ออกจากงานเลี้ยงที่บริษัทในย่านเวียดักท์ เมื่อตอนเที่ยงคืนครึ่งของคืนวันเสาร์ที่ 18 ธันวาคมปีที่แล้ว เพื่อมาเรียกรถแท็กซี่ที่จอดรออยู่มากมาย แต่เธอกลับถูกปฏิเสธถึง 6 ครั้งติดต่อกันเพียงเพราะบ้านเธออยู่ใกล้เกินไป คนขับรายหนึ่งบอกให้เธอเดินกลับบ้านเอง มีรายหนึ่งรีบล็อคประตูไม่ให้เธอเปิดเข้าไปเลยด้วยซ้ำ   ค่าโดยสาร(ถ้าเธอได้ขึ้น) จะประมาณ 15 เหรียญ หรือ 350 บาท แต่ค่าปรับซึ่งคนขับแท็กซี่จะต้องจ่าย เพราะทำผิดกฎหมายฐานปฏิเสธผู้โดยสารนั้นอยู่ที่ 400 เหรียญ หรือประมาณ 9,000 บาท เวียดักท์ เป็นหนึ่งในย่านที่มีสถิติการปฏิเสธผู้โดยสารมากที่สุด ทิม เรดดิช ประธานสหพันธ์แท็กซี่นิวซีแลนด์ประเมินว่าอย่างน้อยๆ ต้องมีการถูกปฏิเสธไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง รวมๆ แล้วก็น่าจะหลายพันครั้งต่อปี (แต่มีคนร้องเรียนเข้ามาจริงๆ เพียงปีละ 20 ครั้งเท่านั้น) ตามกฎหมายนิวซีแลนด์ คนขับแท็กซี่สามารถปฏิเสธผู้โดยสารได้เมื่อรู้สึกว่าจะเกิดความไม่ปลอดภัยต่อตนเอง เมื่อผู้โดยสารอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งมึนเมาหรือสิ่งเสพติด เมื่อผู้โดยสารพกพาน้ำหรืออาหารมาด้วย เมื่อผู้โดยสารส่งเสียงดังหรือมีพฤติกรรมรุนแรงหรือนำสัตว์ซึ่งไม่ใช่สัตว์นำทางมาด้วย เมื่อมีผู้โดยสารจำนวนมากเกินไป นอกจากนี้ยังให้ปฏิเสธได้ในกรณีที่ผู้โดยสารมีเงินไม่พอจ่าย (คนขับสามารถถามล่วงหน้าได้)  เอาเป็นว่ายังไงก็ไม่อนุญาตให้ปฏิเสธเพราะระยะทางสั้นเกินไป --------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เข็มขัดมาช้า คราวนี้มาดูการขนส่งในฮ่องกงกันบ้าง ซึ่งขณะนี้รถที่มีเป็นประเด็นมากที่สุดเห็นจะเป็นมินิบัส ซึ่งมีผู้ใช้บริการถึง 1.85 ล้านคนต่อวันในบรรดารถทั้งหมดที่วิ่งอยู่บนท้องถนนนั้นมีมินิบัสที่จดทะเบียนอยู่ร้อยละ 0.76 แต่กลับมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงถึงร้อยละ 5 และจากสถิติเมื่อสองปีที่แล้ว ร้อยละ 9 ของจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นผู้โดยสารรถมินิบัสนั่นเอง  หลังจากเกิดอุบัติเหตุสองครั้งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 รายเมื่อปี 2009 กรมการขนส่งฮ่องกงประกาศบังคับให้มินิบัสทุกคันติดตั้ง “กล่องดำ” และอุปกรณ์จำกัดความเร็ว  นอกจากนี้กรมฯ ยังประกาศให้รถมินิบัสที่ขึ้นทะเบียนหลัง 1 สิงหาคม 2004 ทุกคันติดเข็มขัดนิรภัย และมีการคาดการณ์ไว้ว่า ร้อยละ 60 ของรถมินิบัสจะมีเข็มขัดนิรภัยภายในปี 2008 แต่จนถึงกันยายนปีที่แล้วมีรถมินิบัสที่มีเข็มขัดนิรภัยเพียงร้อยละ 55 เท่านั้น  ผู้ตรวจการประเมินว่าภายในปี 2015 จะยังมีรถที่ไม่ปลอดภัยวิ่งอยู่บนท้องถนนอีกไม่ต่ำกว่า 1,000 คัน และคงต้องใช้เวลา 8 ปี จึงจะทำให้รถทุกคันมีเข็มขัดนิรภัยได้   แอพหน้าขาวเชื่อหรือไม่ อินเดียเป็นตลาด “ครีมหน้าขาว” ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และเช่นเดียวกับบ้านเรา ความอยากขาวนั้นไม่เข้าใครออกใคร ที่นั่นตลาดครีมไวท์เทนนิ่งสำหรับผู้ชายเติบโตถึงร้อยละ 25 (สูงกว่าตลาดครีมสำหรับผู้หญิงร้อยละ10) ถึงขนาดเฟสบุ๊คที่อินเดียเขามีแอพพลิเคชั่นให้หนุ่มๆได้อัพโหลดรูปถ่ายหน้าตัวเองเข้าไป แล้วลองลากเส้นผ่าน เพื่อให้รู้กันไปว่าจะหล่อขึ้นได้สักเท่าไรเมื่อหน้าขาวขึ้น (ด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล) แอพพลิเคชั่นดังกล่าวออกมาพร้อมกับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดและไวท์เทนนิ่งสำหรับผู้ชายยี่ห้อวาสลีนนั่นเอง   โดยมีดาราบอลลีวูดชื่อดัง ชาฮิด คาปูร์ เป็นพรีเซ็นเตอร์แสดงให้เห็นครึ่งหน้าที่ผิวคล้ำและผิวขาวขึ้นด้วยแอพฯ ดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสมากมายในเฟสบุ๊ค ทางวาสลีน บอกว่าไม่ใช่เรื่องของการกีดกันสีผิว มันก็เหมือนๆ   กับที่ผู้คนในอเมริกาเหนือหรือยุโรปอยากมีผิวสีแทนนั่นแหละ แต่นักธุรกิจชาวอินเดียที่เปิดแฟนเพจในเฟสบุ๊คเพื่อรณรงค์ต่อต้านเทรนด์ “ต้องขาว” ในอินเดีย บอกว่าการที่คนตะวันตกไม่มีผิวสีแทน ไม่ได้เป็นเหตุให้พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติ มันเป็นแค่ทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ในขณะที่ในอินเดียนั้นผู้คนเชื่อว่าการมีผิวขาวหมายถึงการประสบความสำเร็จในชีวิต ข่าวแถมข้อมูลมาว่า จากการสำรวจที่ทำกับผู้คนจำนวน 12,000 คน ในปี 2009 โดยเว็บหาคู่ออนไลน์ พบว่าสีผิวเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเลือกคู่ของหนุ่มสาวในสามรัฐทางตอนเหนือของอินเดีย ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------   เศรษฐศาสตร์ต้นคริสต์มาส ราคาต้นคริสต์มาสที่เดนมาร์กซึ่งเป็นผู้ส่งออกต้นคริสต์มาสรายใหญ่ที่สุดในยุโรป นาทีนี้อยู่ที่ 160 โครเนอร์ (ประมาณ 850 บาท) ต่อความยาวหนึ่งเมตร เขาบอกว่าราคานี้ขึ้นมาจากปีก่อนร้อยละ 25  สมาคมผู้ปลูกต้นคริสต์มาสแห่งเดนมาร์กบอกว่าที่แพงก็เพราะเขาไม่สามารถประเมินความต้องการของผู้บริโภคล่วงหน้าได้ เพราะเจ้าต้นไม้ประจำเทศกาลนี้ต้องใช้เวลาในการปลูกถึง 9 ปี   อย่างไรก็ดี ข้ออ้างที่ว่านี้ยังไม่สามารถคลายข้อข้องใจของสมาคมผู้บริโภคที่นั่นได้เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว สมาคมฯ ถูกศาลสั่งปรับ 500,000 โครเนอร์ (ประมาณสองล้านหกแสนกว่าบาท) โทษฐานที่ชักชวนให้สมาชิกร่วมกันตั้งราคาขั้นต่ำสำหรับต้นคริสต์มาสในช่วงระหว่างปี 2002 ถึง 2006   ข่าวบอกว่าระหว่างปี 2005 ถึง 2009 ราคาต้นคริสต์มาสเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 80 โดยพันธุ์ยอดฮิตที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าได้แก่พันธุ์นอร์ดมันเฟอร์ --------------------------------------------------------------------------------------------------------------   คูปองสองมาตรฐาน องค์กรผู้บริโภคของเดนมาร์กไม่เห็นด้วยกับการแจกคูปองลดราคาเป็นโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย เพราะมันหมายถึงการจ่ายเงินจำนวนต่างกันสำหรับสินค้า/บริการเดียวกัน  ความจริงแล้วตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมา ที่เดนมาร์กมีกฎหมายห้ามการแจกคูปองลดราคา เพื่อการันตี “ความเท่าเทียม” เรียกว่าใครบังอาจแจกเป็นอันต้องถูกจับและปรับกันไป   เรื่องการแจกคูปองกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อสหภาพยุโรปได้ทำข้อตกลงเมื่อปี 2009 ที่ระบุว่าให้สามารถทำได้ ทั้งนี้ข้อตกลงดังกล่าวก็เขียนไว้ชัดเจนว่าให้แต่ละประเทศถือปฏิบัติตามกฎหมายของตนเองไปจนถึงปี 2013   แต่บรรดาผู้ประกอบการที่นั่นไม่รอช้า รีบใช้ประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าวของสหภาพยุโรปทันที แถมยังบอกว่าลูกค้าส่วนใหญ่พึงพอใจกับคูปองลดราคาที่ว่าอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนธันวาคม 2553 2 ธันวาคม 2553นักวิจัยเตือน ผักไฮโดรโปนิกเสี่ยงมะเร็ง ม.เกษตรศาสตร์ เปิดเผยงานวิจัยที่ชวนตกใจ ระบุผักที่ไฮโดรโปนิก รับประทานมากอาจเป็นต้นเหตุของโรคมะเร็ง จากไนเตรทที่สะสมมากับผัก น.ส.พัชราภรณ์ ภู่ไพบูลย์ นักวิจัยจากฝ่ายเครื่องมือและวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกับทีมวิจัย ร่วมกันศึกษาการสะสมไนเตรทในพืชผักที่มากเกินไป ซึ่งหากรับประทานเข้าไปไนเตรตจะไปรวมตัวกับสารเหนี่ยวนำทำให้เกิดมะเร็ง  ผลการศึกษาพบว่าผักที่ปลูกในน้ำยาไฮโดรโปนิกมีแนวโน้มการสะสมไนเตรตสูงสุด เพราะวิธีปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกมีการเติมน้ำยาให้พืชเจริญเติบโตมากเกินความต้องการตามธรรมชาติของผัก โดยผักคะน้าไฮโดรโปนิกมีค่าเฉลี่ยของไนเตรตสูงที่สุด รองลงมาคือ ผักบุ้ง  ดังนั้นจึงอยากขอให้เกษตรกรและผู้ปลูกผักไฮโดรโปนิกลดปริมาณการใส่น้ำยาหรือเติมน้ำเปล่าให้มากขึ้น ผู้บริโภคควรเลือกผักไฮโดรโปรนิกจากเกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ส่วนการปลูกผักแบบอื่นๆ ก็ไม่ควรใส่ปุ๋ยมากเกินไป -------------------------------------------------------------------------------------------------------   16 ธันวาคม 2553ส่งเสริมสมุนไพรใช้รักษาโรคทั่วหน้า กระทรวงสาธารณสุขเตรียมส่งเสริมให้มีการใช้สมุนไพรในการรักษาโรคมากขึ้น โดยในปี 2554 นี้ จะผลักดันนโยบายด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้เข้าสู่ระบบบริการสุขภาพของสถานพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ และให้มีการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการแพทย์แผนไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้บรรจุแพทย์แผนไทยที่จบปริญญาตรี ซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 1,000 คน ไปปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ยังไม่นับรวมแพทย์พื้นบ้านทั้งที่ขึ้นทะเบียนไว้และได้รับใบประกอบโรคศิลป์แล้วอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องยาและการนวดเป็นหลัก  นอกจากนี้ยังเตรียมตั้งโรงงานสมุนไพรแห่งชาติ เป็นศูนย์กลางวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยาแผนไทยและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะช่วยทำให้สมุนไพรไทยได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อนำมาผลิตเป็นยาหรืออาหารเสริมอย่างถูกต้องและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น -----------------------------------------------------------------------------------------------------   15 ธันวาคม 2553โฆษณานมเด็กเกินจริงมีสิทธิโดนแบน ถึงเวลาคุมเข้มโฆษณาอาหารสำหรับทารก เมื่อที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติ ครั้งที่ 3 เตรียมผลักดัน พ.ร.บ.อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ตรวจสอบการโฆษณานมผงในเด็ก 0-2 ปี เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติคุณแม่ยุคใหม่ ให้หันกลับมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น  พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการชมรมส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วย “นมแม่” ในประเทศไทยลดลงเหลือเพียงร้อยละ 5.4 เนื่องจากมีการโฆษณาและแจกตัวอย่างนมผงในโรงพยาบาลจำนวนมาก ซึ่งการโฆษณานมผงสำหรับทารกในปัจจุบันนี้สร้างความเข้าใจที่ผิดๆ ว่ากินแล้วจะช่วยสร้างพัฒนาการที่ดีหรือทำให้เด็กฉลาดกว่าเด็กคนอื่น ทำให้มีพ่อ-แม่จำนวนมากหันมาเลี้ยงลูกด้วยนมผงกันมากขึ้น ดูได้จากยอดการนำเข้านมผงจากต่างประเทศ ซึ่งสูงถึง 10,000 ล้านบาทต่อปี  พ.ร.บ.ฉบับนี้ น่าจะเริ่มใช้ในปี 2555 เพื่อควบคุมการส่งเสริมการขายในผลิตภัณฑ์นมผงสำหรับเด็กแรกเกิด โดยกฎหมายฉบับนี้จะห้ามทำการโฆษณาและส่งเสริมการขายใดๆ ในผลิตภัณฑ์นมผงสำหรับเด็กทารกถึงอายุ 2 ปี ------------------------------------------------------------------------------------------------------     มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยสถิติร้องเรียนปี 53 หนี้บัตรเครดิตครองแชมป์!!! มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยข้อมูลการทำงานการรับเรื่องร้องเรียนในปี 2553 ที่ผ่านมา ปัญหาหนี้บัตรเครดิต ถือเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนมากที่สุด ถึง 94% รองลงมาเป็นเรื่อง บริการสาธารณะ สินค้าและบริการ โทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ และบริการด้านสาธารณสุข น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงสถานการณ์การรับเรื่องร้องเรียนของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในรอบปี 2553 ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้ฟ้องคดีกระทรวงคมนาคม กรณีดอนเมืองโทลเวย์ เป็นคดีสาธารณะ สนับสนุนการฟ้องคดีให้ผู้บริโภคจำนวน 386 คดี เป็นคดีที่ใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 178 คดี รวมทุนทรัพย์ทั้งสิ้น 212,576,590.07 บาท และมีคดีที่สิ้นสุดแล้วจนถึงปัจจุบันเป็นเงิน 27,244,803.39 ล้านบาท โดยรับเรื่องร้องเรียนและดำเนินการช่วยเหลือทั้งสิ้น 798 คดี  สำหรับลักษณะปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิตที่มาร้องเรียนนั้น มีหลายรูปแบบ เช่น เป็นหนี้บัตรหลายใบ ไม่มีความรู้ในการจัดการบริหารหนี้สิน ถูกติดตามทวงหนี้ไม่เป็นธรรม จนถึงขั้นถูกฟ้องศาล แนะรัฐฯ ต้องออกกฏหมายคุ้มครองอย่างเหมาะสม เช่น กฎหมายติดตามทวงหนี้ที่เป็นธรรม กฎหมายบัตรเครดิตที่มีการกำกับดูแลค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ย หรือการมีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำโดยรัฐกำกับดูแล เป็นต้น  มูลนิธิฯ ตั้งความหวังว่าจะได้เห็น องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคจะเกิดขึ้นในปี 2554 นี้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ภาครัฐฯ เข้ามาควบคุมดูแลกิจการที่คิดทำธุรกิจแบบผูกขาด และให้การสนับสนุนเรื่องมาตรการอาหารปลอดภัย ปรับปรุงคุณภาพบริการรถโดยสารสาธารณะ และเรียกร้องให้ภาคธุรกิจรับผิดชอบต่อผู้บริโภคให้เท่าเทียมกับความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคในต่างประเทศ ------------------------------------------------------------------------------------------------------   “สบท.” เดินหน้าทำงานต่อไปในยุค “กสทช.” นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ยืนยันว่า งานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมยังคงดำเนินต่อไป แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กลายเป็นสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพราะมีมาตรา 31 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบ กิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์   และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.กสทช. คอยรองรับอยู่ แต่เรื่องตัวสถาบันจะยังมีอยู่ต่อไปหรือไม่ ต้องรอหลังการจัดตั้งคณะกรรมการกสทช. ซึ่งต้องแล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งแนวโน้มอาจจะถูกควบรวม และแต่งตั้งเป็นสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคใหม่  ทั้งนี้ ในฐานะผู้อำนวยการ สบท.จะส่งหนังสือไปยังผู้ประกอบการทุกรายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.กสทช. ใหม่นี้ว่า ผู้บริโภคยังมีสิทธิร้องเรียนปัญหาได้ตามเดิม เพราะการจัดตั้งสบท. มีความชอบด้วยกฎหมาย ตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 เนื่องจาก สบท.มีผลสถานะเป็นหน่วยงานหนึ่งในสำนักงาน กทช. ยังมีสถานะอยู่ตามเดิม  นอกจากนี้ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศได้เสนอ 4 มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในช่วงจัดตั้งคณะกรรมการ กสทช. คือ 1. เร่งรัดให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์อย่างเร่งด่วน และคงบทบาทการทำงานของ สบท. ต่อไป 2. เร่งออกมาตรการคุ้มครองสิทธิ กรณี เอสเอ็มเอสรบกวน และการขายสินค้าผ่านโทรศัพท์ และกำหนดมาตรการการคงสิทธิเลขหมาย ย้ายค่ายเบอร์เดิมผู้บริโภคต้องไม่เสียค่าใช้จ่าย 3. เร่งให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือไม่ควรกำหนดอายุของบัตรเติมเงินตามประกาศของ กทช. และ 4. ขอให้ทำร่างแผนแม่บทคลื่นความถี่ที่รับผิดชอบก่อนมีกรรมการ กสทช.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 อาหาร 1 ใน 3 ไม่ปลอดภัย

  นับเนื่องจากที่ผมได้ร่วมทำโครงการอาหารปลอดภัย(ชื่อเล่นนะครับ) ผมก็ได้นำเสนอผลการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารไปหลากหลายชนิดมาก มากขนาดรวมเป็นหนังสือ “ถูกปาก” ที่ทางฉลาดซื้อจัดพิมพ์จำหน่ายไปเมื่อตุลาคมที่ผ่านมาได้หนึ่งเล่มเชียวนะครับ   แต่งานในโครงการฯ นี้มีมากกว่าการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารครับ ท่านบอกอเลยขอร้องเสียงแข็งให้ผมช่วยสรุปภาพรวมของโครงการฯ มาเล่าให้สมาชิกฉลาดซื้อได้รับรู้บ้าง ก็เลยขอเบียดคอลัมน์ช่วงฉลาดช้อปหน่อยนะครับ ความเป็นมาโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภคเป็นโครงการความร่วมมือของ 3  ภาคี คือระหว่างเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคใน 8 จังหวัด (กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สงขลา และสตูล)   โดยมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นผู้ประสานงานกลางกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการทางอาหารในระดับภูมิภาค (ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น และ ม.สงขลานครินทร์) ที่มีสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้ประสานงานกลาง และ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุบลราชธานี   ทำหน้าที่พัฒนาและดูแลระบบฐานข้อมูลการเฝ้าระวังความไม่ปลอดภัยทางอาหาร ดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์หลักสามประการ คือ (1) เพื่อพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภค (2) เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจากปัญหาความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร และ (3) เพื่อพัฒนาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร   เราทำอะไรไปบ้าง จากการดำเนินงานที่ผ่านมา การพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค ได้          จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารในระดับจังหวัดขึ้นใน 8 จังหวัด จาก 4 ภูมิภาค โดยมีสมาชิกเครือข่ายที่ตื่นตัวและทำการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารประมาณ 500 คน ในกรุงเทพฯ จังหวัดสมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สงขลา และจังหวัดสตูล โดยศูนย์เฝ้าระวังทั้ง 8 จังหวัดได้พัฒนาร่วมกันเป็นกลไกการเฝ้าระวังระดับประเทศ  จัดกิจกรรมสำคัญ (ก) การสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหารให้แก่พื้นที่ดำเนินงานทุก 2 สัปดาห์  (ข) การฝึกอบรมด้านกฎหมาย เทคนิคการรับเรื่องร้องเรียนด้านอาหาร และการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน   นอกจากนั้นยังได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุบลราชธานี พัฒนาระบบฐานข้อมูลและเว็บไซท์ สำหรับการรายงานและเผยแพร่ข้อมูลปัญหาความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร www.tumdee.org/food/ เชื่อมโยงกับเว็บไซท์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค www.consumerthai.org เพื่อสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นและง่ายแก่การนำข้อมูลไปใช้ และได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพในการใช้ฐานข้อมูลและการรายงานข้อมูลความไม่ปลอดภัยด้านอาหารแก่เจ้าหน้าที่ของพื้นที่ดำเนินงานทั้ง 8 จังหวัด   ข้อมูล  อีกทั้งยังได้ดำเนินการรายงานและเผยแพร่ข้อมูลผลการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารให้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ หรือสื่อความรู้แบบอื่น ๆ เพื่อให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจแก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ และปลอดภัย   อาหาร 1 ใน 3 ไม่ปลอดภัยจากที่ได้รายงานผลทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารอย่างสม่ำเสมอในฉลาดซื้อ อันนี้เกิดจากความร่วมมือกันของศูนย์ฯ ทั้ง 8 จังหวัด ที่แข็งขันช่วยกันลงพื้นที่เก็บตัวอย่างและส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมา มีตัวอย่างที่เราส่งวิเคราะห์รวมกว่า 750 รายการ   และจากการวิเคราะห์พบว่าอย่างน้อย 1 ใน 3 ของอาหารที่สุ่มตัวอย่าง มีการปนเปื้อนเกินมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นด้านจุลินทรีย์ หรือเคมี ยกตัวอย่างเช่น สารกันบูดในลูกชิ้นหมู ไก่เนื้อ และปลา ยาฆ่าแมลงในผัก-ผลไม้   ทั้งที่เป็นประเภทปลอดสารและที่ขายอยู่ในตลาดปกติ ยาฆ่าแมลง อะฟลาท็อกซินและโลหะหนักตกค้างในของแห้งจำพวก กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง เห็ดหอมแห้ง เห็ดหูหนูขาว และสาหร่ายแกงจืด ทั้งนำเข้าและที่ขายอยู่ภายในประเทศ จุลินทรีย์ปนเปื้อน หรือความผิดปกติของค่าโปรตีน(มีทั้งน้อยและมากจนผิดปกติ)ในนมโรงเรียนทั้งชนิด พาสเจอร์ไรส์ และยูเอชที และคุณค่าทางโภชนาการและโลหะหนักในสาหร่ายขนมเด็ก เป็นต้น ซึ่งคงผ่านตาท่านผู้อ่านฉลาดซื้อไปแล้ว  เรื่องอาหารที่เรานำเสนอนี้สร้างกระแสฮือฮาได้มากนะครับ ผมได้รับจดหมายไถ่ถามจากบริษัทผู้ผลิตเป็นระยะๆ ว่า โครงการฯ เราทำอะไร ทดสอบยังไง โดยส่วนใหญ่ผู้ผลิตเจ้าใหญ่ที่พบว่าเกิดปัญหากับผลิตภัณฑ์ของตน ก็ยินดีที่ทางเราช่วยเป็นหูเป็นตาให้อีกทาง และพร้อมที่จะนำข้อเสนอของเราไปปรับปรุงตัวผลิตภัณฑ์ อันนี้ถือเป็นเรื่องน่ายินดีมากครับ และรายที่แย่ๆ หาผู้ผลิตไม่เจอ ก็พบว่า หายหน้าหายตาไปจากตลาดเหมือนกันครับ อันนี้ผมถือว่า เป็นเรื่องดี แต่อาจจะมาโผล่ในชื่อหรือยี่ห้ออื่นหรือไม่ อันนี้ต้องติดตามกันต่อไป   ข้อเสนอทางด้านนโยบายเมื่อพบว่ามีปัญหาอะไรบ้างในห่วงโซ่ของการผลิตอาหาร ผู้ร่วมดำเนินงานในโครงการฯ ก็ได้ร่วมกันพัฒนานโยบายสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยของอาหารขึ้น ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสมัชชาผู้บริโภค ที่มีผู้บริโภคเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 500 คน คิดว่าหลายท่านก็คงจะได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้นด้วย  จากนั้นก็นำเสนอรายละเอียดเผยแพร่ให้กับสาธารณชน เพื่อที่จะได้ผลักดันให้หน่วยงานรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุม กำกับดูแล และส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยด้านอาหารได้พัฒนาต่อไป สำหรับท่านใดที่สนใจเรื่องข้อเสนอนโยบาย เราจัดทำเป็นเอกสารแจก ติดต่อมาที่ผมได้ครับเอกสารยังพอมีเหลืออยู่บ้าง   ก้าวต่อไปเพื่อสังคมที่มีคุณภาพถึงแม้โครงการนี้จะเป็นการทดลองพัฒนากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารใน 8 จังหวัด และมีความจำกัดด้านความรู้เชิงวิชาการขององค์กรผู้บริโภคในการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องนี้ต่อสาธารณะ แต่โครงการได้ขยายผลเพิ่มเติมในการพัฒนาความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)   โดยมีคณะทำงานในการใช้ประโยชน์จากผลข้อมูลการเฝ้าระวังอาหารร่วมกัน และการพัฒนาความร่วมมือเรื่องอาหารปลอดภัย ในอนาคต ซึ่งหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานท้องถิ่นควรจะมีการสนับสนุนระบบการพัฒนาการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร และการรณรงค์เรื่องอาหารปลอดภัยโดยผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหารของประชาชนคนไทยทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 เจาะเวลาทะลุฟ้า..ดันเจอยาอนาคต

  กฎหมายยากำหนดให้ยาที่ผลิต ต้องแสดงวันผลิต วันหมดอายุ ให้ตรงตามความเป็นจริง ... แต่อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อดันมียาแห่งอนาคต เจาะเวลาทะลุฟ้าหล่นมายังโลกมนุษย์ได้ ประมาณเดือนสิงหาคม 2553 กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ให้ช่วยตรวจสอบยาน้ำสมุนไพรสามัญประจำบ้านแผนโบราณชนิดหนึ่ง ซึ่งกำลังแพร่ระบาดในพื้นที่ (สมมุติว่าชื่อยาต้นกำลังเสือโครกโครก ตรารูปหมอ......ก็ได้) เหตุที่ชาวบ้านเขาสงสัยก็เพราะเมื่อใครรับประทานเข้าไปแล้ว อาการปวดเมื่อยตามข้อ มันหายเป็นปลิดทิ้ง น้องต้นเภสัชกรหนุ่มรูปหล่อไฟแรง(เหมือนผมสมัย 20 ปีที่แล้ว..ฮา) จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์ เลยออกไปเก็บตัวอย่างและนำส่งไปตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์พิษณุโลก   ผลปรากฏว่าเจ้ายาเสือโครกโครก (นามสมมมุติ) ขวดนั้น มันไม่ใช่เสือนะซิ เพราะดันผ่าไปพบ เดกซาเมธาโซน ซึ่งเป็นสารสเตียรอยด์ ชนิดหนึ่ง (ขอย้ำอีกครั้งกันลืมว่า เจ้าสารสเตียรอยด์นั้นแม้จะเป็นสารที่ทำให้หายปวดข้อได้ชะงัด แต่มันก็มีผลทำลายภูมิต้านทาน หากรับประทานนานๆ ตัวจะบวม กระเพาะทะลุ กระดูกจะพรุน โอ๊ย..จาระไนไม่หมดครับ เพราะโทษมหันต์จริงๆ)  ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์ ก็เลยทำหนังสือแจ้งทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่เป็นสถานที่ผลิต รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และยังได้ทำหนังสือแจ้งให้ทางอำเภอต่างๆ ในจังหวัดอุตรดิตถ์เฝ้าระวังด้วย   แต่เหตุการณ์มันยังไม่จบนะครับ เพราะต่อมาอำเภอตรอนได้แจ้งว่ามีรถเร่ฉายหนังขายยา นำยาดังกล่าวมาขาย(การเร่ขายยาถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายยาครับ) เมื่อไปล่อซื้อยาน้ำแผนโบราณ เพื่อจะส่งตรวจสอบ ปรากฏว่า แม่เจ้า (โว๊ย) ฉลากมันพิสดารข้ามเวลา เพราะเหตุการณ์เกิดประมาณ “เดือนตุลาคม 2553” แต่ฉลากข้างขวดยา ดันระบุ วัน เดือน ปี ที่ผลิต “1 มกราคม 2554” และวันสิ้นอายุ 1 มกราคม 2556 โอโห้แฮะ ผู้ผลิตมันเจาะฟ้าข้ามเวลา มาผลิตยาล่วงหน้าให้โลกอนาคตได้ด้วยเรอะ อย่างนี้มันก็เข้าข่ายยาปลอมนะซิ (เพราะแสดงวัน ที่ ไม่ตรงความเป็นจริง)  นอกจากนี้ ผลการนำกำลังเข้าตรวจสอบ รถบรรทุก 6 ล้อ 2 คัน มียารวมๆ กันแล้วกว่า 150 โหล ซึ่งผู้ขายยืนยันว่าสั่งซื้อมาจากผู้ผลิต ตำรวจจึงลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน แต่ท่าทางผู้ขายจะไม่เดือดร้อนเลยแฮะ เพราะบอกว่าจะติดต่อหมอ.......มาเคลียให้ ...โอ้โห คาหนังคาเขาอย่างงี้จะมาเคลียร์อีกเรอะ  ขณะนี้กำลังรอผลวิเคราะห์จาก ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ฯ อยู่นะครับ หากยาที่ผลิตจากโลกอนาคต ดันเจอ สเตียรอยด์ อีกละก็ รับรองโดนดำเนินคดีหลายกระทง ชนิดที่ต้นกำลังเสือโครกโครกจะกลายเป็นแมวหงอยเลยนะซิ ยังไงก็ช่วยกันบอกเล่าต่อๆ กันเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 ขอประกันสำหรับชาวประมงด้วยได้ไหม

เราๆ ท่านๆ คงจำกันได้กับเหตุการณ์วิปโยค น้ำท่วมหนักที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ(ขณะที่นั่งเขียนเรื่องนี้น้ำก็ยังท่วมภาคใต้อยู่) ทำให้มีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียชีวิตจำนวนมาก   ซึ่งผู้เขียนก็รู้สึกสลดใจและเห็นใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ต่างอะไรกับท่านผู้อ่านและคนไทยทุกคน  และเราท่านก็คงเห็นเหมือนกันว่าหลังวิกฤติที่เกิดขึ้นต่อจากนี้คือมาตรการฟื้นฟูเยียวยา  ทั้งจากรัฐและเอกชน แต่ที่เป็นหลักจริงๆ หนี้ไม่พ้นรัฐ   ซึ่งมาตรการที่เห็นน้ำเห็นเนื้อที่สุดก็เห็นจะเป็น โครงการประกันรายได้เกษตรกร นั่นเองถึงแม้จะไม่ได้เท่าที่เสียหายแต่เกษตรกร ก็ยังพอเห็นทางรอดอยู่บ้าง ปัญหาคือเกษตรกรไม่ได้มีแค่ชาวไร่ชาวนาที่ปลูกต้นไม้เลี้ยงสัตว์เท่านั้น  แต่ยังมีกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าเกษตรกรอีกกลุ่ม   แต่ไม่เคยมีชื่อในสารระบบเกษตรกรนั่นคือชาวประมง วันนี้ในฐานะที่ผู้เขียนก็เป็นชาวประมงคนหนึ่ง จึงอยากสะท้อน สิ่งที่ไม่มีใครมองเห็นนั่นคือความเดือดร้อนของ ชาวประมงพื้นบ้านและชายฝั่งขนาดเล็กในอ่าวไทย หลังเหตุการณ์น้ำท่วม(ทุกปี)เปล่า..เขาไม่ได้ถูกน้ำท่วม แต่เขาได้รับผลกระทบจากน้ำจืดจำนวนมหาศาลที่ถูกผลักดันลงทะเล  จนทะเลชายฝั่งในอ่าวไทย กลายเป็นทะเลน้ำกร่อย    เมื่อน้ำทะเลกร่อย(จืด)  กุ้ง,หอย,ปู,ปลา ก็อยู่ไม่ได้   ที่ไหนหนีได้ก็หนี หนีไม่ทันก็ตาย   ทำให้ชายฝั่งทั้งอ่าวไทยกลายเป็นทะเลร้าง...ชาวประมงชายฝั่งโดยเฉพาะบริเวณ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ไม่สามารถทำมาหากินได้มากกว่า 3  เดือนที่สำคัญไม่มีอาชีพอื่นรองรับจ้า   หาปลาไม่ได้ก็ไม่มีกิน ต้องกู้หนี้ยืมสินเขาไปเพื่อเอาชีวิตให้รอด  โดยไม่มีหน่วยงานไหนพูดถึง แม้กระทั่งกรมประมงที่มีหน้าที่ดูแลโดยตรง   ขณะที่รัฐประกาศว่าใครเดือดร้อนให้ไปแจ้งขอความช่วยเหลือ   ชาวประมงเหล่านี้จะเอาอะไรไปแจ้ง  ในเมื่อหลักเกณฑ์ของการช่วยเหลือ ต้องบอกว่าความเสียหายนั้นกี่ไร่ เลี้ยงอะไร  เรือเสียหายมั้ย  เรือมีทะเบียนหรือเปล่า. มีใบอนุญาตทำประมงมั้ย ยิ่งเรือเล็กๆ ไม่มีที่จะเรียกร้องเลยสักข้อ ข้อแม้เหล่านี้ทำให้ชาวประมงกว่า 10,000  ลำ ต้องทนทุกข์โดยไม่สามารถร้องขอความช่วยเหลือใดๆ ได้  ผู้เขียนอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนมุมมองที่ว่าชาวประมงไม่ต้องลงทุนอะไร  เพียงไปกอบโกยจากทะอย่างเดียวเสียที   เพราะอาชีพประมงเป็นอาชีพที่เสี่ยงมาก   ออกทะเลไปแต่ละวัน ไม่รู้ว่าจะได้ปลาหรือไม่ได้  ขาดทุนได้กำไรไม่เคยรู้  แม้แต่จะได้มีชีวิตกลับเข้าฝั่งหรือเปล่าก็ยังไม่สามารถตอบได้ หากรัฐบาลและกระทรวงเกษตร ยังเห็นว่าชาวประมงก็เป็นกลุ่มคนที่ควรได้รับการดูแลฟื้นฟูเยียวยาก็น่าจะดี เราคงไม่อยากเห็นคนกลุ่มนี้ ต้องเลิกทำอาชีพประมงกันใช่มั้ย ถ้าเขาเลิกไปจริง เราจะเอาปลาที่ไหนมากินกันล่ะท่าน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 รายงานปัญหาผู้บริโภค ปี 2553 และจับตาภัยผู้บริโภคปี 2554 ตอนที่ 1

เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคต้องประสบวิบากกรรมเพลิงไหม้สำนักงาน ทำให้พวกเราเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ต้องกลายเป็นชนเผ่าเร่ร่อนชั่วคราวสถานที่ทำงานต้องถูกย้ายไปย้ายมา สัมภาระข้าวของที่ต้องแบกขนกันอีรุงตุงนัง ที่สำคัญสายโทรศัพท์พื้นฐานซึ่งเป็นช่องทางรับเรื่องร้องเรียนหลัก เหลือใช้งานเพียงเบอร์เดียวจากที่เคยมีอยู่ 3 เบอร์ด้วยสภาพที่ทุลักทุเลของศูนย์พิทักษ์สิทธิฯที่ไม่ต่างจากชาวบ้านที่โดนน้ำท่วม ทำให้การทำงานรับเรื่องร้องเรียนของศูนย์พิทักษ์สิทธิฯในปี 2553 มียอดรับเรื่องร้องเรียนที่ไม่ค่อยน่าภูมิใจเท่าไรนักคือนับได้ 796 กรณี(นับแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน) ซึ่งลดลงไปกว่าครึ่งเมื่อเทียบยอดรับเรื่องร้องเรียนในปี 2552 ที่มีถึง 1,587 รายอย่างไรก็ตาม ถึงแม้เรื่องร้องเรียนจะผ่านเข้ามาน้อย แต่กระบวนการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังคงคุณภาพเข้มข้นให้มากที่สุดเท่าที่พวกเราจะมีแรงทำได้ และส่งผลต่อการปกป้องสิทธิของผู้บริโคภที่สำคัญหลายประการภาพรวมเรื่องร้องเรียนปี 2553ในปี 2553 ปัญหาหนี้สิน การเงิน การธนาคาร ยังคงสร้างความทุกข์ให้กับผู้บริโภคนำมาเป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 45 ของกลุ่มเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ตามมาห่างๆ ด้วยปัญหาบริการสาธารณะ คิดเป็นร้อยละ 14 ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม ร้อยละ 11 และที่เกาะกลุ่มตามมาติดๆ คือปัญหาจากการซื้อหรือใช้สินค้าและบริการทั่วไป ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ปัญหาจากการใช้บริการสุขภาพและสาธารณสุข ปัญหาอาหาร ยา เครื่องสำอาง คิดเป็นร้อยละ 8,8,7 และ 3 เรียงตามลำดับ นอกนั้นเป็นเรื่องร้องเรียนอื่นๆที่ไม่ใช่ปัญหาด้านผู้บริโภคอีกร้อยละ 4 แน่นอนว่าปัญหาเรื่องร้องเรียนอันดับต้นๆ ของทุกกลุ่มปัญหาจะเป็นปัญหาผู้บริโภคที่ต้องจับตากันอย่างใกล้ชิดในปี 2554 ปัญหาเหล่านั้นมีเรื่องใดบ้าง เชิญติดตามได้     1. ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร • หนี้บัตรเครดิต ปัญหาอมตะที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิต ครองแชมป์เรื่องร้องเรียนอันดับหนึ่งของมูลนิธิฯมาตั้งแต่ปี 2550 สำหรับในปี 2553 เรื่องร้องเรียนหนี้บัตรเครดิตมีทั้งสิ้น 268 กรณี(เฉพาะที่มีการบันทึก) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 74 ของเรื่องร้องเรียนในกลุ่มการเงินการธนาคารที่มีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 360 กรณีลักษณะปัญหาที่มีการร้องเรียนหรือขอคำปรึกษา คือ ใช้บัตรเครดิตในทางไม่เหมาะสม เช่น เบิกถอนเป็นเงินสดเพื่อมาลงทุนประกอบธุรกิจแต่ไม่สามารถสู้กับดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่สูงของบัตรเครดิตได้พยายามช่วยเหลือตนเองจนเกิดหนี้หลายบัตร เพิ่มเป็นหนี้หลายทางทั้งในและนอกระบบ ขาดความรู้ในการจัดการบริหารหนี้สิน และเลือกใช้วิธีหมุนเงินในอนาคตจนสุดสายป่าน ท้ายสุดต้องผิดนัดชำระหนี้ยกแผง เกิดทุกข์ติดตามเป็นกระบวน คือ ถูกติดตามทวงถามหนี้ไม่เป็นธรรม บางรายถูกหักเงินในบัญชีเงินเดือน ถูกฟ้องศาล และถูกบังคับคดี  บางครอบครัวถึงกับอยู่ในสภาพล่มสลายโดยมิได้เป็นบุคคลล้มละลาย   แนวทางแก้ไข• ความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างวินัยการใช้จ่ายและการจัดการบริหารหนี้ ดังนั้น จึงควรมีการส่งเสริมให้ความรู้กับประชาชนในการใช้บริการด้านการเงินการธนาคารอย่างเต็มที่ เช่น การทำบัญชีครัวเรือน เพื่อการบริหารจัดการรายได้ การออม การใช้จ่าย การให้ความรู้ในการขอสินเชื่อตรวจสอบค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ย รวมทั้งการทำธุรกรรมด้านการเงินต่างๆ เป็นต้น• ให้เร่งออกกฎหมายคุ้มครองประชาชนอย่างเหมาะสม เช่น กฎหมายติดตามทวงถามหนี้ที่เป็นธรรม , กฎหมายบัตรเครดิตที่มีการกำกับดูแลค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ,กฎหมายการแข่งขันด้านการเงิน เป็นต้น• รัฐควรจัดให้มีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก• ควรกำกับผู้ประกอบธุรกิจให้มีวินัยในการปล่อยสินเชื่อ เช่น การให้วงเงินและเพิ่มวงเงินของบัตรเครดิต ควรใช้ข้อมูลเครดิตบูโรมาประกอบการพิจารณา ไม่ใช่ใช้ฐานจากยอดใช้จ่าย ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงทั้งต่อลูกหนี้และผู้ประกอบธุรกิจได้ง่าย เป็นต้น • การเช่าซื้อรถยนต์และการจองรถสองเรื่องนี้เปรียบเหมือนปัญหาคู่แฝดสำหรับคนอยากมีรถแต่ไม่มีเงินสด และเป็นปัญหาลูกพี่ลูกน้องของคนที่มีปัญหาหนี้บัตรเครดิต หรือผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงินต่างๆการขอสินเชื่อผ่อนรถจากไฟแนนซ์เป็นวิธีการที่ทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสเป็นเจ้าของรถใหม่ป้ายแดงได้สะดวกรวดเร็วมากที่สุดวิธีการหนึ่ง แต่การที่ผู้บริโภคบางรายมีปัญหาทางด้านการเงิน ประวัติเครดิตมีตำหนิ แต่ไม่สามารถสลัดความอยากออกจากจิตใจได้เพราะถูกโฆษณาเล้าโลมจนอ่อนระรวย คนกลุ่มนี้มักตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่ใช้ธุรกิจซื้อขายรถยนต์บังหน้าได้ง่ายๆ โดยจะถูกหลอกให้วางเงินจองรถอย่างน้อย 5,000 บาท เพื่อแลกกับการซื้อรถใหม่ราคาถูกกว่าปกติ แถมออฟชั่นเพียบ แต่สุดท้ายมักถูกริบเงินจองในท้ายที่สุด เพราะถูกอ้างว่าขอสินเชื่อจากไฟแนนซ์ไม่ผ่านแนวทางแก้ไขo ให้ผู้บริโภครู้ว่า กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมีการควบคุมสัญญาการซื้อขายรถที่มีการจองแล้วo สัญญาจะซื้อจะขายรถต้องมีรายละเอียดของรถที่ชัดเจน พร้อมกำหนดวันที่คาดว่าจะส่งมอบรถo เมื่อรู้ว่าขอสินเชื่อไฟแนนซ์ไม่ผ่าน ให้แจ้งแก่ผู้ขายโดยทันที ให้เป็นลายลักษณ์อักษรดีที่สุด เพราะสัญญาควบคุมกำหนดไว้ว่า เมื่อผู้ขายทราบเรื่องนี้จะต้องคืนเงินจองให้โดยเร็ว ไม่ถือว่าผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญา  o อย่าซื้อรถกับเต้นท์ขายรถเลื่อนลอย ควรซื้อรถกับผู้ขายที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลo ถ้าจะซื้อรถกับบุคคลธรรมดา ต้องไม่ซื้อรถกับคนที่ไม่ให้สำเนาบัตรประชาชน   2. ปัญหาด้านบริการสาธารณะ• รถโดยสารสาธารณะ ยมทูตติดล้อในกลุ่มปัญหาด้านบริการสาธารณะ เกือบครึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะการเกิดอุบัติเหตุจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ในช่วงปี 2553 มียอดผู้ประสบภัยจากรถโดยสารที่ปรากฏเป็นข่าวมากกว่า 2,000 รายในจำนวนนี้ผู้ประสบภัยกว่าครึ่งได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากบริการรถโดยสารปรับอากาศประจำทาง สาเหตุสำคัญมาจากระบบการบริการที่ขาดคุณภาพมาตรฐาน ทั้งคุณภาพของรถและคุณภาพของคนขับที่มาของปัญหา : รถโดยสารสาธารณะกลุ่มใหญ่เป็นรถร่วมบริการของภาคเอกชน ขาดการอุดหนุน ส่งเสริมด้านความรู้และเงินทุนจากรัฐ ทำให้ไม่สามารถยกระดับคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยได้อย่างเป็นระบบ การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มแข็งและขาดความชัดเจน การประกันภัยภาคบังคับเน้นการเยียวยาด้านชีวิตและร่างกาย ส่วนประกันภัยภาคสมัครใจเน้นใช้หลักฐานานุรูป หรือความยากดีมีจนเป็นเกณฑ์การพิจารณาเยียวยาความเสียหาย ระบบประกันภัยทั้งสองแบบยังให้ความสำคัญในสิทธิของผู้ใช้บริการรถโดยสารด้านอื่นๆในระดับที่น้อยมาก แนวทางแก้ไข• ให้รัฐประกาศรับรองสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ และมีเกณฑ์ในการเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นที่ชัดเจน และไม่ตัดสิทธิในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม รวมทั้งให้มีบทกำหนดโทษหากมีการละเมิดสิทธิผู้โดยสาร• ให้จัดตั้งกองทุนคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะขึ้น ภายใต้ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522  ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของผู้โดยสาร  ส่งเสริมอุดหนุนแก่ผู้ประกอบการที่มีประวัติการให้บริการที่ดีโดยอาจเป็นแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และเป็นทุนในการพัฒนาองค์ความรู้สู่บริการรถโดยสารที่มีคุณภาพและปลอดภัยอย่างต่อเนื่องทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการผลักภาระของผู้ประกอบการมาสู่ผู้บริโภค และไม่ให้เป็นภาระกับรัฐบาลมากจนเกินไป• แหล่งที่มากองทุน ให้พิจารณาจากเงินรายได้ที่ได้รับจากภาษีรถยนต์ส่วนบุคคล ค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล  เงินค่าปรับ เงินสนับสนุนจากรัฐบาลโดยตรง เงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น   3. ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป• รถยนต์ไม่ได้คุณภาพ และรถยนต์ซื้อใหม่ ใช้ไปซ่อมไปปัญหาในกลุ่มรถยนต์ เป็นเรื่องร้องเรียนหลักในด้านสินค้าและบริการทั่วไปที่เข้ามาที่มูลนิธิฯเกือบจะทุกยี่ห้อดังปัญหามีหลายลักษณะ ตัวอย่างปัญหาในกลุ่มรถใหม่ เช่น รถติดก๊าซเอ็นจีวีจากโรงงานระบบทำงานไม่สมบูรณ์ ซื้อรถใหม่ป้ายแดงแต่มีปัญหาจุกจิกเกิดขึ้นตลอด ทำให้เกิดข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนรถใหม่แต่ถูกผู้ประกอบธุรกิจปฏิเสธ  ส่วนปัญหาเรื่องคุณภาพมาตรฐานของรถนั้น มีการร้องเรียนและกลายเป็นคดีฟ้องร้อง มี 2 กรณี คือ รถชนอย่างแรงแต่ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน ทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บสาหัส ผู้ประกอบธุรกิจอ้างว่ารถชนผิดเหลี่ยมและชนแรงไม่พอ กับอีกกรณีคือ มีควันพิษรั่วไหลเข้ามาในห้องโดยสาร โดยผู้ขับขี่ไม่รู้ตัว และเกิดปัญหาสุขภาพ  แนวทางแก้ไข• ในกรณีที่พบว่ารถเกิดปัญหาชำรุดบกพร่อง ผู้บริโภคควรให้ผู้ประกอบธุรกิจทำการซ่อมแก้ไขก่อน และให้เก็บหลักฐานการซ่อมนั้นไว้ทุกครั้ง โดยผู้บริโภคมีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายในค่าขาดโอกาสในการใช้รถยนต์ หรือขอให้มีรถใช้ระหว่างซ่อมได้• เมื่อให้โอกาสผู้ประกอบธุรกิจทำการซ่อมแก้ไขแล้วหลายครั้ง แต่ยังเกิดปัญหาเดิมขึ้นมาอีก หรือเกิดปัญหาใหม่ต่อเนื่อง ผู้บริโภคควรใช้สิทธิฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายหรือขอเปลี่ยนรถได้• แนวทางนี้ใช้สำหรับกรณีรถยนต์ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานเช่นกัน   ฉบับนี้คงรายงานได้เพียงแค่นี้ ติดตามเรื่อง สื่อและโทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ ปัญหาบริการด้านสุขภาพ อาหารและยา ได้ในฉบับหน้า ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 จินตนาการ

ได้มีโอกาสตั้งสอบถามความเห็นเพื่อนฝูงใน Facebook ว่า ช่วยให้ความเห็นต่อการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคยอดเยี่ยมและยอดแย่ของรัฐบาลนี้มาสัก 3 อย่าง มีคนให้ความเห็นแตกต่างกันสะท้อนมุมมองของแต่ละกลุ่มในสังคมตั้งแต่ปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภค เช่นข้าวของราคาแพงที่กระทบกับผู้บริโภคไม่ว่าจะเรื่องไข่ น้ำตาล มะพร้าว หรือรวมถึงปัญหาการผูกขาดสินค้า ปัญหาไม่ทำตามคำสัญญา(นโยบายของรัฐบาล)ที่บอกว่า ประชาชนต้องมาก่อน แต่เห็นได้จากหลายเรื่องประชาชนออกวิ่งแล้วแต่รัฐบาลยังไม่กล้าเดินแถมกลัวให้เห็นอีก เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ และที่เห็นเป็นปัญหาสำคัญของประเทศดูเหมือนจะปล่อยให้มีการโกงกันมากมาย ที่ชมรัฐบาลนี้กันมากเห็นจะได้แก่ การผ่านสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการกฎหมายองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคที่ร้องเพลงรอกันมา 13 ปี การชะลอไม่ขึ้นราคาก๊าซเพราะทราบดีว่า ควรแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น การให้คณะทำงานปฏิรูปชุดต่างๆ ทำงานอย่างอิสระ แต่จะรับไปดำเนินการมากน้อยแค่ไหนอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องติดตามตรวจสอบกันต่อไปนับเป็นผลงานยอดเยี่ยมและยอดแย่ของรัฐบาลด้านการคุ้มครองผู้บริโภค แต่หากกลับมามองสถานการณ์รวมของผู้บริโภค ก็จะเห็นได้ว่า การใช้สิทธิของผู้บริโภคมากขึ้นจากการร้องเรียน มีคนเอาจริงเอาจังที่นำของหมดอายุไปคืนห้างพร้อมขอค่ารถ 500 บาท และบอกว่า “ผู้บริโภคไม่ได้มีหน้าที่ต้องเอาของหมดอายุมาคืน แต่ห้างมีหน้าที่ทำให้ของที่จำหน่ายไม่มีของหมดอายุ” น่าชื่นชมจริง ๆ เพราะหากเราทำกันทุกคนเมืองไทยไม่น่าจะมีของหมดอายุจำหน่ายให้ปวดหัวกันอย่างทุกวันนี้ปีใหม่นี้ขออำนวยพร ให้สมาชิกฉลาดซื้อและผู้อ่านทุกคน เริ่มต้นชีวิตที่งดงาม มีความรัก ความสุขกับการทำงาน ทำหน้าที่ของตนเองในฐานะผู้บริโภคอย่างเข้มแข็ง ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรค ที่สำคัญร่วมกันสร้างจินตนาการ และเชื่อว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยให้เท่าทันโลก ไม่ฝากความหวังการทำให้สังคมดีไว้กับใครแต่ต้องทำร่วมกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 กระแสต่างแดน

คราวนี้ต้องเลิกให้ได้ ไม่ได้มีแต่เราเท่านั้นที่ใช้ยาแก้อักเสบกันเป็นว่าเล่น ข่าวจากหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ บอกว่าคนจีนก็ติดยาแก้อักเสบเข้าขั้นเหมือนกัน  ซื้อมากินกันเองยังไม่เท่าไร แต่ข่าวบอกว่าขนาดไปพบแพทย์แล้วก็ยังไม่วายได้ยาแก้อักเสบกลับมากินไปพลางๆ ยามที่ยังไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้  สถิติระบุว่าโรงพยาบาลในประเทศจีนมีการจ่ายยาแก้อักเสบเกินปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ถึงสองเท่า  เขาซุบซิบกันอย่างหนาหูในชุมชนออนไลน์ของจีนว่าเหตุที่มีการจ่ายยาแก้อักเสบกันมากมายนั้นเป็นเพราะโรงพยาบาลได้ประโยชน์จากการสั่งยาประเภทนี้นั่นเอง จีนเป็นผู้ผลิตยาแก้อักเสบรายใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยอัตราการผลิต 147,000 ตันต่อปี มีทั้งหมด 181 ยี่ห้อ และส่วนใหญ่(ร้อยละ 83) ของปริมาณที่ผลิตได้นั้นเป็นการบริโภคภายในประเทศ  อย่างที่ทราบกัน การใช้ยาแก้อักเสบมากเกินไปทำให้การรักษาอาการเจ็บป่วยนั้นทำได้ยากขึ้น ปีที่แล้วจีนก็ต้องเจอกับปัญหาเชื้อชั่วฆ่าไม่ตาย ที่เรียกกันว่าซุปเปอร์แบคทีเรีย NDM-1 ที่สามารถต้านทานยาแก้อักเสบได้เกือบทุกชนิด ร้ายแรงกว่านั้น ขณะนี้มีทารกที่เกิดมาพร้อมอาการดื้อยาแล้วด้วย รัฐบาลจีนคงต้องรีบลงมือทำอะไรสักอย่างแล้ว เพื่อหยุดพฤติกรรมการใช้และการจ่ายยาแก้อักเสบอย่างพร่ำเพรื่อ ก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายจนไม่สามารถหายาที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะจัดการกับเชื้อแบคทีเรียที่อัพเกรดตัวเองได้     หรือผู้บริโภคจะไม่แคร์สื่อ? หลายคนคงเคยได้ยินข่าวเรื่องการฆ่าตัวตายของพนักงานบริษัทฟ็อกซ์คอน ด้วยการกระโดดหน้าต่างโรงงานถึงวันนี้ มีผู้ที่ฆ่าตัวตายได้สำเร็จไปแล้ว 17 รายโรงงานที่ว่านี้ก็เป็นโรงงานที่ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันดี อย่างไอพอด และไอโฟนกันนั่นเอง และประธานบริษัทนี้ก็คือชายที่ร่ำรวยที่สุดในไต้หวัน นามว่าเทอรี่ กั๊ว นั่นเอง หลังจากข่าวเรื่องการฆ่าตัวตายแพร่ออกไป บริษัทก็ประกาศขึ้นเงินเดือนเกือบร้อยละ 70 ให้กับพนักงานในสายการผลิต เพิ่มจากเดือนละ 1,200 หยวน เป็น 2,000 หยวน ฟ็อกซ์คอนมีนิคมอุตสาหกรรมอยู่ที่เมืองเฉินเจิ้น ประเทศจีน ในฟ็อกซ์คอนซิตี้หรือไอพอดซิตี้นี้มีโรงงานทั้งหมด15 โรง มีประชากร 300,000 ถึง 450,000 คน เขาบอกว่าเหมือนเมืองขนาดย่อมๆเที่มีทุกอย่างพร้อมสรรพ รวมถึงสถานีโทรทัศน์ของตัวเองด้วย เรียกว่าไม่จำเป็นต้องออกนอกกำแพงเมืองไปไหนกันเลย  ข่าวการฆ่าตัวตายทำให้กลุ่ม SACOM (Students and Scholars against Corporate Misbehavior) ซึ่งมีสมาชิกเป็นนักศึกษาและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย 20 แห่งในจีน ที่คอยจับตาดูพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลของธุรกิจ ทำการติดตามสำรวจสภาพการทำงานในโรงงานของฟ็อกซ์คอนเป็นเวลา 4 เดือน  SACOM บอกว่าที่นี่มีการควบคุมระเบียบวินัยแบบเคร่งครัดเต็มอัตรา พนักงานต้องยืนตัวตรงตลอดการทำงาน และต้องทำชิ้นงานให้เสร็จตามจำนวนที่กำหนด ถ้าทำไม่เสร็จหรือใช้เวลากับกิจกรรมอื่น เช่น เข้าห้องน้ำ หรืออาบน้ำนานเกินไป ก็จะถูกทำโทษทั้งด้วยการทุบตีและการทำให้อับอาย   นอกจากนี้ยังห้ามคุย ห้ามหัวเราะ ห้ามบิดขี้เกียจในเวลางาน (ห้ามหลับคงไม่ต้องพูดถึง)  ฟ็อกซ์คอนออกมาโต้ตอบรายงานดังกล่าวว่า ไม่จริงนะ บริษัทออกจะมุ่งมั่นที่จะให้พนักงานจำนวน 937,000 คนได้อยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี และได้รับค่าตอบแทนและการชดเชยที่ไม่แพ้บริษัทอื่นๆ ทางแอปเปิ้ลเองก็ยืนยันว่าตนเองเลือกใช้ฐานการผลิตที่มีมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับสูงสุดเสมอมา ที่สำคัญคือทั้งๆ ที่มีข่าวนี้ออกไป ยอดขายเขาก็ไม่ได้รับการกระทบกระเทือนแต่อย่างใด แอปเปิ้ลก็ยังทำยอดขายได้ 16,000 ล้านปอนด์ต่อไตรมาส  หรือเพราะผู้บริโภคยอมรับได้ เพราะนั่นหมายถึงการควบคุมต้นทุน การผลิตให้มีราคาต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจจะมีคนต้องทุกข์ทรมานบ้างก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ อย่างน้อยก็ได้ของถูก แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ รายงานจากสำนักวิจัย iSupply ระบุว่าไอโฟนเครื่องหนึ่งนั้นมีต้นทุนในการประกอบ 6.54 เหรียญ ค่าชิ้นส่วนต่างๆ อีก 187.51 เหรียญ รวมแล้วต้นทุนอยู่ที่ 194 เหรียญ หรือ 5,842 บาท ว่าแต่คุณซื้อไอโฟนมาในราคาเท่าไร?     อยู่บ้านอย่างไรให้เป็นอัจฉริยะ เกาะเชจู นอกจากจะเป็นสถานที่ยอดฮิตในการไปเที่ยวตากอากาศของพระเอก นางเอกหนังเกาหลีแล้ว เขายังเป็นเกาะที่มีหมู่บ้านอัจฉริยะอีกด้วย ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเชจู เขากำลังทดลองใช้ระบบเครือข่ายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Smart Grid เป็นแห่งแรกในเกาหลี ที่ว่าฉลาดนั้นก็เพราะมันสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และช่วยให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลการใช้ไฟฟ้าทุกๆ 15 นาที และยังจะได้รับการเตือนให้ลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงพีคด้วย   นอกจากแผงโซล่าเซลล์ที่จะติดตั้งเพื่อให้แต่ละบ้านสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เองแล้ว อุปกรณ์ที่สำคัญในระบบที่ว่านั้นได้แก่ Smart Tag หรือ Smart Plug ตามจุดปลั๊กไฟ ที่จะช่วยป้องกันการบริโภคไฟฟ้าจากอุปกรณ์ต่างๆที่เสียบปลั๊กทิ้งไว้ แม้จะไม่ได้อยู่ในโหมด Stand-by   เขาบอกว่าถ้าทุกครัวเรือนในประเทศใช้ระบบดังกล่าว ก็จะสามารถประหยัดเงินได้ปีละ 1,500 ล้านเหรียญ แต่ที่เห็นผลทันทีคือผู้บริโภคสามารถประหยัดค่าไฟได้ ด้วยการขายพลังงานไฟฟ้า (จากแสงอาทิตย์) ที่เหลือใช้ให้กับผู้ประกอบการ โดยนำไปหักลบจากค่าไฟฟ้าที่ตนเองจะต้องเสีย   มีตัวอย่างจากครอบครัวหนึ่งซึ่งมีสมาชิก 3 คน เคยจ่ายค่าไฟเดือนละ 50,000 วอน (ประมาณ 1,300 บาท) หลังจากติดระบบแล้ว ค่าไฟเหลือเพียง 1,000 วอน(ประมาณ 26 บาท) เท่านั้น   เมืองผู้ดีก็มีไม้เถื่อน อังกฤษเป็นประเทศที่นำเข้าไม้ผิดกฎหมายมากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากจีน สหรัฐ และญี่ปุ่น ความจริงแล้วผู้บริโภคที่นั่นสามารถช่วยหยุดการค้าไม้เถื่อนได้ ด้วยการเลือกซื้อไม้หรือเฟอร์นิเจอร์ที่มีฉลาก FSC (Forestry Stewardship Council) แต่จากการสำรวจขององค์กร WWF พบว่ามีคนอังกฤษมีการรับรู้เรื่องนี้ค่อนข้างน้อย มีเพียงร้อยละ 28 ของผู้บริโภค ที่ตอบแบบสำรวจที่รู้จักเครื่องหมายดังกล่าว เมื่อเทียบกับการรับรู้ในเรื่องอื่นๆ อย่างเรื่องของการค้ากาแฟอย่างเป็นธรรม(หรือแฟร์เทรด) แล้วถือว่าน้อยมาก   ร้อยละ 50 ของผู้บริโภคไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์ไม้ที่ขายในอังกฤษนั้นอาจจะมาจากแหล่งที่ผิดกฎหมาย หรือพูดให้ชัดคือมาจากการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศกำลังพัฒนานั่นเอง พวกเขาเชื่อว่าถ้าเข้ามาขายในอังกฤษก็น่าจะผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว  แต่ละปีผู้บริโภคอังกฤษใช้จ่ายเงินกว่า 700 ล้านปอนด์ไปกับผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผิดกฎหมายเหล่านี้   เมืองไม่ประหยัดน้ำ ลิมา เมืองหลวงของประเทศเปรู เขาขาดแคลนน้ำใช้จนต้องตั้งเป็นวาระแห่งชาติ ประธานาธิบดีอลัน การ์เซีย ออกมาประกาศว่าจะให้ทุกคนได้มีน้ำใช้อย่างทั่วถึงภายในสิ้นปี ค.ศ. 2011 เหตุที่น้ำน้อยก็เพราะเมืองนี้เป็นเมืองทะเลทรายที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากเมืองไคโร ประเทศอียิปต์  แล้วที่วิกฤติซ้ำคือการใช้น้ำอย่างไม่ประหยัด ข่าวบอกว่าเมืองนี้เขาไม่มีการติดตั้งมิเตอร์น้ำด้วย  ข้อมูลของศูนย์วิจัยภูมิศาสตร์ประยุกต์ระบุว่าประชากรในเมืองลิมา มีการบริโภคน้ำต่อหัววันละ 250 ลิตร ในขณะที่เมืองหลวงในทวีปยุโรปกลับมีอัตราการใช้น้ำเพียงวันละไม่เกิน 140 ลิตรต่อวัน  หรือแม้แต่กรุงไคโรซึ่งเป็นเมืองทะเลทรายเหมือนกัน มีการใช้น้ำวันละ 100 ลิตรต่อหัวเท่านั้น  นอกจากนี้อัตราการสูญเสียน้ำไปโดยเปล่าประโยชน์ ( เช่น น้ำรั่ว) นั้นสูงถึงร้อยละ 42 ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ เช่น ญี่ปุ่นสูญเสียน้ำใช้เพียงร้อยละ 3.5  เยอรมนีร้อยละ 5  และเม็กซิโก ร้อยละ 17

อ่านเพิ่มเติม >