ฉบับที่ 121 3 บาทต่อหัวประชากร

เดือนนี้เป็นทั้งเดือนที่มีความสำคัญและได้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ลำบากใจได้ไม่น้อย วันที่ 15 มีนาคมของทุกปีเป็นวันคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคสากล(World Consumers' Rights Day) โดยปีนี้ให้ความสำคัญกับบริการทางการเงินที่จะต้องเป็นธรรมกับผู้บริโภค แต่หากย้อนกลับมายังสถานการณ์ในบ้านเราปีนี้เป็นปีที่กฎหมายกำหนดให้สถาบันการเงินมีความรับผิดที่จำกัด และจะรับประกันการฝากเงินเพียง 1 ล้านบาทเมื่อเดือนสิงหาคม 2545 ถึงแม้อาจจะเห็นว่าเป็นประเด็นของคนชั้นกลาง แต่โครงสร้างระบบการเงิน สถาบันการเงินทั้งธนาคารและไม่ใช่ธนาคาร เงินกู้ เงินฝาก เงินออม ในปัจจุบันนี่แหละที่ทำให้คนจนต้องเป็นหนี้ซ้ำซาก เป็นหนี้แล้วถูกทวงหนี้ไม่เป็นธรรม เหมือนอย่างที่อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ให้ข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า คนชั้นกลางไม่สนใจเรื่องการปฏิรูปที่ดินเพราะคิดว่าเป็นเรื่องคนจน แต่หารู้ไม่ว่า คอนโดหรือบ้านรูหนูที่ตัวเองอยู่ ไม่ควรจะแพงมหาโหดหรือไม่ควรจะต้องผ่อนทั้งชีวิตแบบนี้ แต่ที่เป็นแบบนั้นเพราะการถือครองที่ดินที่กระจุกตัว รวมทั้งที่ดินในการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เมื่อวันที่ 2 มีนาคมเกือบเป็นวันประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เพราะรัฐสภาได้พิจารณาร่างกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 วาระ 2 และวาระ 3 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กลุ่มองค์กรผู้บริโภครอคอยมาไม่น้อยกว่า 14 ปีพบรัฐมนตรีไม่น้อยกว่า 8 คน มีการจัดกิจกรรมทั้งสนับสนุนและคัดค้านนับร้อยครั้งทั่วประเทศ แต่ก็ต้องถอนกฎหมายฉบับนี้ออกไปเนื่องจากวิปรัฐบาลมีความเห็นที่แตกต่างกับกรรมาธิการเสียงข้างมากในการกำหนดงบประมาณให้เป็นอิสระโดยกำหนดไม่น้อยกว่า 5 บาทต่อหัวประชากร เมื่อพิจารณากฎหมายไปได้ถึงมาตรา 8 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ลงมติให้ถอนกฎหมายออกจากการพิจารณาของสภา และให้กรรมาธิการไปพิจารณาอีกรอบ สุดท้ายกรรมาธิการเสียงข้างมากก็สนับสนุนให้กำหนด 3 บาทต่อหัวประชากรเงิน 3 บาทต่อหัวประชากร ถึงแม้จะทำให้ผิดหวังที่เห็นคุณค่าของผู้บริโภคน้อยกว่าค่าขนมเด็ก แต่หากมองในแง่ดี ก็ต้องถือว่า ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประชาชน ต่างมีหลักประกันด้วยกันทั้งสองฝ่าย เพราะหากองค์กรนี้ทำงานได้ไม่ดีเพราะยังไม่เห็นผลงานก็ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณมากนัก แต่หากทำงานเข้าตากรรมการและไปขัดแข้งขัดขาใคร ถูกหมั่นไส้เพราะเล่นงานบริษัทพรรคพวกของตนเอง ก็ไม่สามารถตัดงบประมาณให้น้อยกว่า 3 บาทต่อหัวได้ แต่ 14 ปีที่รอคอยเราทุกคนคงอยากเห็นและฝากความหวังกับองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคนี้ ที่จะต้องเข้มแข็งทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง ทำงานพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เสนอความเห็นและผลักดันมาตรการที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างเต็มที่ รวมทั้งตรวจสอบการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานรัฐอย่างเข้มข้นผู้บริโภคหลายคนอาจจะคิดไม่ค่อยออก ว่าเราต้องมีส่วนช่วยอย่างไร หากมองแบบพุทธก็ต้องบอกว่าทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ช่วยกันสร้างวัฒนธรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ใช่มีแต่ข่าวที่ผู้บริโภคเสียเปรียบและต้องยอมจำนน ดังที่บริษัทแม็คอินทอช (Apple) ได้ผลิตไอแพด (I Pad) 2 แต่คนที่ซื้อ I Pad 1 ก่อนสินค้าตัวนี้ออกสู่ตลาด 14 วันจากบริษัทหรือออนไลน์บริษัทจะคืนเงินให้คนละ 3,000 บาท แต่ Ipod studio เมืองไทยอ้างว่า ตัวเองเป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายไม่ใช่บริษัทจัดจำหน่ายไม่สามารถคืนเงินให้ คำโฆษณาของบริษัทต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา หากApple ไม่ถอนการเป็นตัวแทนจำหน่ายของ  Ipod studio เมืองไทย ก็ต้องมีนโยบายของบริษัทแบบเดียวกันในประเทศไทย เรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ ขอยุให้ผู้ที่ซื้อในเมืองไทยทุกคนภายใน 14 วันไปฟ้องศาลคดีผู้บริโภค เรื่องนี้ทำง่าย ๆ ไม่ต้องจ่ายค่าวางศาล แถมขอให้ศาลปรับแบบลงโทษได้ถึงห้าเท่า ที่เอาเปรียบผู้บริโภคและไม่รับผิดชอบผู้บริโภคในเมืองไทย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 นิติบุคคลอาคารชุดมีหน้าที่ทำอะไร?

    ฉบับนี้มีคดีที่น่าสนใจขอนำเสนอ เป็นเรื่องของ ฅนคอนโดฯ เมื่อห้องถูกงัด ของหาย นิติบุคคลอาคารชุดต้องรับผิดชอบหรือไม่   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3220/2553 นางสาวกนกวรรณ  คุณวัตรศิริ โจทก์ กับ นิติบุคคลอาคารชุด คอมมอนเวลธ์ปิ่นเกล้า กับพวก จำเลย   ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ .....พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า  โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดเลขที่ 159/290 ตั้งอยู่บนชั้น 13 อาคารชุดคอมมอนเวลธ์  ปิ่นเกล้า  แขวงบางบำหรุ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร  โดยโจทก์ได้ชำระเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นรายปี ปีละ 6,120 บาท จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลอาคารชุดคอมมอลเวลธ์ ปิ่นเกล้า และได้ว่าจ้างพนักงานดูแลความปลอดภัยหรือความสงบเรียบร้อยภายในอาคารชุดดังกล่าว จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทวันที่ 2 มิถุนายน 2542 เวลาประมาณ 12 นาฬิกา  มีคนร้ายงัดกุญแจประตูห้องชุดพิพาทเข้าไปลักทรัพย์ของโจทก์หลายรายการรวมเป็นค่าเสียหาย 1,542,970.25 บาท ตามสำเนารายงานจำกัด และทำสัญญารับประกันภัยเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตามตารางกรมธรรม์ เมื่อประจำวันเกี่ยวกับคดี  ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าจำเลยที่ 1 ได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้คนร้ายลักทรัพย์นั้นไปหรือไม่ เห็นว่า  ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด มาตรา 4 วรรคสอง บัญญัติว่า “ ทรัพย์ส่วนบุคคล” หมายความว่าห้องชุดและหมายความรวมถึงสิ่งปลูกสร้างหรือที่ดินที่จัดไว้ให้เป็นของเจ้าของห้องชุดแต่ละราย  วรรคสามบัญญัติว่า “ห้องชุด” หมายความว่า ส่วนของอาคารชุดที่แยกการถือกรรมสิทธิ์ออกได้เป็นส่วนเฉพาะของแต่ละบุคคล  และวรรคสี่ บัญญัติว่า “ ทรัพย์ส่วนกลาง” หมายความว่า ส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด และที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม  ส่วนการจัดการทรัพย์ส่วนกลางต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 17,33,36 และ 37  กล่าวคือต้องมีนิติบุคคลอาคารชุดซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล  มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดตามมติของเจ้าของร่วมภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวและตามข้อบังคับโดยมีผู้จัดการหรือคณะกรรมการเป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์ส่วนกลาง  จะเห็นได้ว่าตามบทบัญญัติและข้อบังคับดังกล่าวนิติบุคคลอาคารชุดไม่มีหน้าที่รักษาทรัพย์ส่วนบุคคลแต่ประการใด  ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความแต่เพียงว่าพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลตรวจตราอาคารชุดทุกชั้นโดยใกล้ชิด จึงเป็นเหตุให้คนร้ายเข้าไปในห้องชุดลักทรัพย์ของโจทก์ไปนั้น  ในกรณีเช่นนี้ตามกฎหมายลักษณะละเมิดหามีบทมาตราใดบัญญัติไว้ว่าเป็นละเมิดไม่  เพราะการละเมิดนั้นเป็นประทุษกรรมกระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายหรือละเว้นไม่กระทำในสิ่งที่กฎหมายบัญญัติให้กระทำหรือตนไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ  การละเว้นไม่กระทำในสิ่งที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้กระทำหรือตนไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องกระทำหาเป็นละเมิดไม่   ดังนี้  การที่พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลตรวจตราอาคารชุดโดยใกล้ชิด  จึงเป็นเหตุให้คนร้ายเข้าไปลักทรัพย์ของโจทก์นั้น จะถือว่าเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 งดเว้นหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้  จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  420 กรณีนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นตามฎีกาอื่นของโจทก์อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น   พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ   หมายเหตุผู้เขียน ต่อไปนี้ผู้ที่อยู่อาศัยในอาคารชุดควรต้องระมัดระวังห้องของตนเองให้ดี ทางที่ดีควรทำประกันโจรภัยไว้ด้วย แถมท้ายอีกนิด มีแฟนคลับถามมาว่า อายุความฟ้องเรียกเงินเงินค่าส่วนกลางนั้นมีอายุความเท่าใด  คำตอบ เงินค่าส่วนกลางนั้นถือเป็นเงินค้างจ่าย ซึ่งมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา193/33(4) ( ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1735/2551)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 กระแสต่างแดน

โวดาโฟน VS โวดาเฟล โวดาโฟน (Vodafone) ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่อันดับสามของออสเตรเลีย ได้พบกับคู่ปรับรายใหม่ซึ่งได้แก่เว็บไซต์โวดาเฟลดอทคอม (www.vodafail.com) เข้าแล้ว  เว็บไซต์ที่ว่านั้นเป็นฝีมือของผู้บริโภครายหนึ่งที่สุดจะทนกับบริการอันยอดแย่ของบริษัทโวดาโฟนนั่นเอง  ปลายปีที่แล้ว อดัม บรีโม บัณฑิตหมาดๆ ด้านวิศวกรรมซอฟท์แวร์ จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ได้เซ็นสัญญาเป็นลูกค้าบริการ 3จี ของบริษัทโวดาโฟนเป็นเวลา 2 ปี แต่หลังจากใช้บริการไปได้เพียง 6 สัปดาห์ก็ต้องเซ็งจิตเพราะสัญญาณขาดๆ หาย เมื่อโทรไปร้องเรียนก็ได้รับคำตอบที่ไม่น่าประทับใจอีกด้วย  อดัมรู้สึกว่าเขาต้องทำอะไรสักอย่าง ว่าแล้วก็ลงมือทำเว็บไซต์หนึ่งขึ้นมา และตั้งชื่อว่าโวดาเฟล (www.vodafail.com) เพื่อแอบประณามบริการที่ล้มเหลว (fail) ของโวดาโฟน และเขาก็พบว่าเขาไม่ใช่คนเดียวที่เดือดร้อน ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา มีผู้เข้าไปดูเว็บดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 150,000 คน และมีไม่น้อยที่ร่วมบันทึกข้อมูลความเดือดร้อนของตนเองจากการโทรเข้าไปยังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของโวดาโฟน เช่นวัน เวลา ที่โทรเข้า ระยะเวลาที่ต้องถือสายรอ ลงในหน้าเว็บดังกล่าวด้วย ผู้บริโภคมักถูกทิ้งให้รอสายนานมากเมื่อโทรเข้าไปร้องเรียนเรื่องบริการ 3 จี ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสัญญาณขาดหาย การได้รับข้อความหรือวอยส์เมล์ล่าช้า ที่สำคัญผู้บริโภคมักได้รับข้อมูลว่าเป็นปัญหาที่ตัวเครื่องมือถือหรือไม่ก็ซิมการ์ด และแนะนำให้ปิดเครื่องแล้วเปิดใหม่หรือเปลี่ยนซิมการ์ด (ซึ่งทำแล้วก็ไม่ได้ผล) ที่สำคัญรายงานนี้มีข้อมูลโดยละเอียดที่ระบุว่า บริษัทเพิกเฉยต่อข้อร้องเรียนจากลูกค้า และไม่มีการจัดการที่ดีพอ  ข้อมูลเหล่านี้ถูกจัดการและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ผลที่ได้คือรายงานสรุปกรณีปัญหาความเดือดร้อนของผู้ใช้บริการ 3 จีของโวดาโฟนทั้งหมด 12,000 กรณี ที่นำเสนอต่อองค์กรที่ดูแลผู้บริโภคด้านบริการโทรคมนาคมของออสเตรเลีย ต้องติดตามกันต่อไป ว่าเขาจะจัดการกับบริษัทดังกล่าวอย่างไร  โวดาโฟนซึ่งควบรวมกิจการกับฮัทชิสันมีลูกค้ากว่า 6.3 ล้านคนทั่วออสเตรเลีย    “เพื่อนสาว” แน่นอนกว่าหมดสมัยแล้วกับการต้องเตรียมช็อคโกแลตเอาไว้ให้ผู้ชายในวันวาเลนไทน์ สาวญี่ปุ่นยุคนี้เขาคิดใหม่ทำใหม่ หันมาซื้อช็อกโกแลตให้เพื่อนสาวดีกว่า  ข้อมูลจากการสำรวจของบริษัทกูลิโกะระบุว่า สามในสี่ของสาวญี่ปุ่นในวัยรุ่นและวัยยี่สิบต้นๆ บอกว่าปีนี้พวกเธอจะให้ “โทโมช็อกโก” หรือช็อกโกแลตเพื่อมิตรภาพกับเพื่อนผู้หญิงของตนเองในวันวาเลนไทน์ ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 40 เท่านั้นที่จะให้ขนมหวานกับแฟนหนุ่มหรือผู้ชายที่ตนเองแอบปลื้ม  เหตุผลหลักๆ คือผู้หญิงนั้นจะชื่นชมกับช็อกโกแลตที่ได้รับมากกว่า ฝ่ายที่ให้จึงรู้สึกเป็นปลื้มมากกว่า  บ้างก็ว่าสาวๆ เหล่านี้หมดความสนใจในตัวผู้ชายญี่ปุ่นแล้ว เพราะหาคุณสมบัติความเป็นแมนได้ยากเหลือเกิน โดยกลุ่มนี้อ้างว่ามันเป็นเหตุผลเดียวกันที่ทำให้อัตราการเกิดของญี่ปุ่นลดลงเป็นประวัติการณ์  ส่วนบรรดาห้างร้านต่างๆ ก็พร้อมปรับตัวเพื่อรับเทรนด์ใหม่นี้ ด้วยการจัดแผนกช็อกโกแลตสำหรับผู้หญิง ที่เน้นช็อกโกแลตสีสวยๆ รูปร่างน่ารักๆ ไว้บริการลูกค้าสาวๆ โดยเฉพาะ คุณผู้ชายไทยฟังไว้เป็นอุทาหรณ์ อย่าได้มั่นใจเกินไปว่าคุณหล่อเลือกได้   กุหลาบต้นทุนสูงเชื่อหรือไม่ แม้เคนยาจะขาดแคลนน้ำเข้าขั้นวิกฤตแต่ก็ยังเป็นผู้ส่งออกกุหลาบรายใหญ่ที่สุดไปยังยุโรป ร้อยละ 70 ของดอกกุหลาบที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตในยุโรปนั้นมาจากบริเวณรอบๆทะเลสาบไนวาชาในประเทศเคนยานั่นเอง  นักนิเวศน์วิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในอังกฤษ ซึ่งทำการศึกษาพื้นที่ชุ่มน้ำในเขตทะเลสาบไนวาชา มากว่า 30 ปี บอกว่าการปลูกกุหลาบเพื่อส่งออกนั้นได้สร้างปัญหาให้กับระบบนิเวศน์ของท้องถิ่นไม่น้อย   การใช้ทรัพยากรของคนในท้องถิ่นไปเพื่อรองรับความต้องการของผู้คนในยุโรปนั้นไม่ต่างอะไรกับการเอาน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดไปบรรจุขายในบรรจุภัณฑ์ที่รูปร่างหน้าตาเป็นดอกกุหลาบนั่นเอง  ความจริงแล้วในซูเปอร์มาร์เก็ตในยุโรปก็มีดอกกุหลาบแฟร์เทรด หรือกุหลาบที่ปลูกด้วยกระบวนการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรและได้รับการรับรองเรื่องความเป็นมิตรต่อระบบนิเวศน์ซึ่งอาจจะมีราคาแพงกว่าดอกกุหลาบทั่วไปให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อกัน  เพียงแต่เมื่อถึงวันที่ต้องสู้รบกันในสงครามราคาในช่วงวันวาเลนไทน์และวันแม่ ซูเปอร์มาร์เก็ตเหล่านี้จะอดใจไม่ไหว ต้องหันไปหากุหลาบ “ต้นทุนต่ำ” ที่กล่าวมา  การประมูลซื้อดอกกุหลาบเป็นล็อตใหญ่ๆ นั้นจะมีขึ้นในเมืองอัมสเตอร์ดัม จึงทำให้ผู้ซื้อเข้าใจว่ากุหลาบเหล่านั้นมาจากประเทศฮอลแลนด์ (เพราะฉะนั้นก็ไม่แน่ว่า กุหลาบดอกใหญ่ที่เรียก กุหลาบฮอลแลนด์ อาจเดินทางมาไกลจากเคนยาก็ได้)   กินผิด ระวังจิตตกการกินอาหารที่มีไขมันทรานส์ หรือไขมันอิ่มตัวสูงนั้นไม่ได้ทำให้เราอ้วนขึ้นเท่านั้น งานวิจัยของสเปนบอกว่ามันเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าด้วย  ข้อมูลได้จากการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารของอาสาสมัครกว่า 12,000 คน เป็นเวลา 6 ปี พบว่าในตอนเริ่มงานวิจัยไม่มีใครเป็นโรคซึมเศร้าเลย แต่เมื่อจบการเก็บข้อมูล พบคนที่มีอาการดังกล่าว 657 คน โดยคนที่รับประทานอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดหรือแพสตรี้บรรจุกล่องที่ขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นประจำ มีอัตราความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 50 และยิ่งรับประทานอาหารที่มีไขมันมากขึ้นเท่าไร ความเสี่ยงก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย  ที่สำคัญอาสาสมัครกลุ่มนี้คือคนยุโรปที่บริโภคไขมันทรานส์ในปริมาณค่อนข้างต่ำเป็นนิสัย คนเหล่านี้ได้พลังงานจากไขมันดังกล่าวเพียงร้อยละ 0.4 ของพลังงานที่ได้รับ  ลองนึกดูว่าในกลุ่มคนอเมริกันที่ได้พลังงานถึงร้อยละ 2.5 จากไขมันทรานส์นั้นจะมีความเสี่ยงต่ออาการซึมเศร้ามากกว่านี้สักกี่เท่า  แต่งานวิจัยนี้ก็ยังมีข่าวดีมาบอกกันอยู่บ้าง เขาบอกว่าน้ำมันมะกอก ซึ่งมีโอเมก้า-9 สามารถช่วยป้องกันอาการเจ็บป่วยทางจิตได้ด้วย  ปัจจุบันโลกเรามีผู้ป่วยด้วยอาการดังกล่าวอยู่ประมาณ 150 ล้านคน     สนับสนุนคนไกลเกือบหนึ่งในสี่ของอาหารที่ระบุว่าเป็นของ “ผลิตในท้องถิ่น” ในอังกฤษและเวลส์นั้น ไม่ได้เป็นดังที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด เมื่อผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงหน้าที่ของตนเองในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น และต้องการสนับสนุนผู้ผลิตในท้องถิ่นของตนเอง เพื่อการสร้างงาน และลดมลภาวะที่เกิดขึ้นจากการขนส่ง ก็มีผู้ประกอบการหัวใส ที่หาทางใช้ประโยชน์จากเทรนด์ที่ว่า ในประเทศอังกฤษก็มีผู้ประกอบการประเภทที่ว่าอยู่ไม่น้อย ถึงขั้นที่หน่วยงานรัฐต้องลงมือสำรวจว่ามีผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ในท้องตลาดมากน้อยเท่าไร  จากการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ 558 ชิ้น ในร้านค้า ร้านอาหาร ตลาด กว่า 300 แห่ง หน่วยงานดังกล่าวพบว่าร้อยละ 32 ของสินค้าที่ชูจุดขายเรื่องความเป็น “ผลิตในท้องถิ่น” เข้าข่ายการหลอกลวงผู้บริโภค  ในนั้นมีผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าเป็น “เนื้อแกะจากเวลส์” ที่ผลิตในนิวซีแลนด์ หรือ “แฮมจากเดวอน” ทั้งๆ ที่นำเข้ามาจากเดนมาร์ก เป็นต้น นี่ยังไม่นับผลิตภัณฑ์ที่อาจจะใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น แต่ส่งออกไปแปรรูปที่ประเทศจีนแล้วนำกลับเข้ามาขายในอังกฤษใหม่อีกครั้ง ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าสามารถจัดเข้าเป็นสินค้าท้องถิ่นได้ด้วยหรือไม่  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 25543 กุมภาพันธ์ 2554หอม...อันตราย!?ใครที่ยังมีความเชื่อว่าใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง น้ำยาทำความสะอาดบ้านและฆ่าเชื้อโรค ที่มีกลิ่นหอม หรือไม่มีกลิ่นฉุน แล้วปลอดภัยหรือเป็นอันตรายน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นแรง ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เดี๋ยวนี้โฆษณาผลิตภัณฑ์ที่เป็นวัตถุอันตรายสร้างความเข้าใจผิดให้ผู้บริโภค เช่น ผลิตภัณฑ์ที่บอกว่าทำจากธรรมชาติ แต่ในความจริงแล้วกลิ่นหอมเกิดจากการปรุงแต่งกลิ่นด้วยน้ำหอมสังเคราะห์ ซึ่งหากเราสูดดมกลิ่นเข้าไปก็จะทำให้เป็นอันตรายกับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ปวดหัว เวียนหัว คลื่นไส้  เพราะฉะนั้นใครที่ยังหลงใหลในกลิ่นหอมของยาฉีดฆ่าแมลงและน้ำยาทำความสะอาด ต้องคิดใหม่ทำใหม่ ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เท่าที่จำเป็น ถ้าไม่ใช้ได้ยิ่งดี แต่ถ้าจะใช้ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวังศึกษาข้อมูลและคำเตือนบนฉลากก่อนใช้ เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์อันตราย+++++++++++++++++++++++     17 กุมภาพันธ์ 2554“ศูนย์แก้ไขปัญหาสินเชื่อ” เตรียมเปิดถาวร...แก้ปัญหาทวงหนี้โหดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พอใจผลงาน “ศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาการปล่อยสินเชื่อ” (ศปส.) เตรียมจัดตั้งให้เป็นศูนย์ถาวร หลังจากศูนย์ทำหน้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินให้กับผู้บริโภค ซึ่งปัญหาที่ถูกร้องเรียนเข้ามา ธปท. จะนำไปประสานต่อกับสถาบันการเงินที่ถูกร้องเรียนเพื่อให้ชี้แจงและดำเนินการปรับปรุงแก้ไขบริการต่อไป  โดยปัญหาที่ถูกร้องเรียนเข้ามามากที่สุดคือ เรื่องการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม ไม่สุภาพ หรือใช้วิธีรุนแรง รองลงมาคือเรื่องการเข้าไม่ถึงสินเชื่อหรือขอสินเชื่อไม่ได้ ส่วนเรื่องการหลอกลวงให้โอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม หรือการถูกหลอกจากคอลเซ็นเตอร์ที่เคยเป็นข่าวก่อนหน้านี้ ขณะนี้ยอดการร้องเรียนลดลงมาก เนื่องจากทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้มีการประชุมร่วมกับ ธปท. และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ตั้งศูนย์ร่วมกันเพื่อป้องปรามมิจฉาชีพเหล่านี้โดยเฉพาะ ซึ่งเรื่องร้องเรียนที่เข้ามายัง ศปส. จะอยู่ที่ 100 – 200 เรื่องต่อวัน โดยก่อนหน้าเคยเรื่องเข้ามาสูงสุดถึงวันละ 700 - 800 เรื่อง  ศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาสินเชื่อของ ธปท.มีการต่ออายุการทำงานของศูนย์มาแล้ว 4 ครั้งแต่เปิดดำเนินงานมาตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.2542 โดยล่าสุด จะครบกำหนดอายุการทำงานในเดือน มิ.ย.2554 ซึ่งขณะนี้กำลังมีการพิจารณาตั้งเป็นศูนย์ถาวรเพื่อช่วยรองรับปัญหาของผู้บริโภค เพราะว่าเห็นประโยชน์ในการเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้ประชาชนได้รับการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน ซึ่งนับวันปัญหาเรื่องการเงิน หนี้ และบัตรเครดิต จะกลายเป็นใหญ่ในชีวิตของผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++     22 กุมภาพันธ์ 2554สั่งระงับ!!!...นวดตารักษาต้อหิน ผู้ป่วยโรคต้อหินที่กำลังคิดจะไปรักษาด้วยวิธีการนวดตา คงต้องชั่งใจไตร่ตรองให้ดี เพราะว่าต้องนี้มีคำสั่งจากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะถึงทุกสถานพยาบาล ที่มีการให้รักษาโรคต้อหินด้วยการนวดตาต้องระงับการให้บริการการรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวเอาไว้ก่อน หลังจากก่อนหน้านี้มีข่าวกรณีที่จักษุแพทย์โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ออกมาเปิดเผยว่า ใช้วิธีการนวดตาช่วยผู้ป่วยกำลังจะตาบอดกลับมามองเห็นได้เกือบปกติ ทำให้ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ แพทยสภา ต้องเร่งพิจารณาหาข้อเท็จจริงว่าการนวดด้วยตาสามารถรักษาโรคต้อหินได้จริงหรือไม่ รวมทั้งมีผลข้างเคียงหรือเป็นอันตรายกับดวงตาหรือเปล่า เพราะปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานการรักษาพยาบาลด้วยวิธีการดังกล่าว  โดยระหว่างรอความเห็นที่เป็นทางการจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ สถานพยาบาลต้องงดให้บริการการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว นอกจากนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพก็เตรียมคุมเข้มการโฆษณาทางการแพทย์ที่มีการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหรือจงใจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด ++++++++++++++++++++++++++     22 กุมภาพันธ์ 2554 ออกฉลากคุมเข้มสินค้านาโนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกประกาศให้ผลิตภัณฑ์นาโนทุกชนิดเป็นสินค้าควบคุมฉลาก หลังจากมีผู้บริโภคหลายคนร้องเรียนผลิตภัณฑ์นาโนที่อวดอ้างสรรพคุณต่างๆ นานา แถมตั้งราคาขายสูงกว่าสินค้าทั่วไป โดยที่ผู้บริโภคไม่มีสิทธิรู้หรือมั่นใจได้เลยว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์นาโนจริงหรือเปล่า   ซึ่งจากการสุ่มตรวจสอบของศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าไม่ปลอดภัยของ สคบ. ร่วมกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พบว่าสินค้านาโนที่สุ่มตรวจทั้ง ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดทำความสะอาดอเนกประสงค์เป็นของปลอม  ผู้บริโภคกำลังให้ความสนใจกับสินค้านาโนกันอย่างมาก โดยเฉพาะพวกสิ่งทอเพราะมีคุณสมบัติพิเศษอย่าง ป้องกันเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันน้ำ ทำความสะอาดง่าย หรือไม่ต้องทำความสะอาด ซึ่งแน่นอนว่าหากเป็นสินค้านาโนปลอม จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดและหากนำไปใช้ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย  สคบ.จึงต้องเร่งออกมาตรฐานควมคุมผลิตภัณฑ์นาโน พร้อมทั้งจะทำฉลากแสดงให้รู้ว่าเป็นสินค้านาโนแท้ โดยจะใช้ชื่อว่า “นาโนคิว”  เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอก +++++++++++++++++     “ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน” กับการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียม ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม เรื่องการรักษาพยาบาลให้เป็นมาตรฐานเดียวกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือบัตรทองเดิม ซึ่งเป็นระบบรักษาพยาบาลฟรีของคนไทยทั้งประเทศ ขณะที่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมซึ่งจ้างงานสมทบเองทุกเดือน กลับได้รับการดูแลเรื่องสุขภาพที่ด้อยกว่า โดยเสนอให้ผู้ประกันตนได้มีสิทธิไปใช้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แล้วให้นำเงินสมทบที่ต้องจ่ายให้ประกันสังคมไปสบทบเพิ่มในส่วนของเงินประกันการว่างงานหรือเงินชราภาพ ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ในประกันสังคมอยู่แล้ว ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์มากว่า  โดยชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน เรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคม รับฟังและแก้ไขโดยเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างระบบสุขภาพบนมาตรฐานเดียวของ ประเทศ โดยจะให้เวลาประกันสังคม 30 วัน ที่จะต้องทำให้ผู้ประกันตนออกจากจากระบบประกันสังคม ในเรื่องบริการด้านสุขภาพ หากประกันสังคมไม่แก้ไขระบบดังกล่าว ผู้ประกันตนจะงดจ่ายเงินสมทบในส่วนของการรักษาพยาบาล ประมาณคนละ 250 บาท ซึ่งจะดีเดย์หยุดจ่ายวันแรก 1 พฤษภาคม 2554  ***(อ่านเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลในประกันสังคมในเรื่องฉบับนี้)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 สหรัฐอเมริกาทบทวนการตัดต่อพันธุกรรม

งานวิจัยกว่า 600 ชิ้น ได้ข้อสรุปว่า อาหารจีเอ็มโอทำให้คนอเมริกันมีสุขภาพแย่ลง  ในอดีต เมื่อเกษตรกรฉีดยาฆ่าหญ้าเพียงไม่กี่หยด หญ้าก็ตาย  แต่ปัจจุบัน การตัดต่อพันธุกรรมทำให้เกิดหญ้าที่มีภูมิต้านทานยาฆ่าหญ้า จนไม่มียาที่สามารถจัดการวัชพืชพวกนี้ได้ กลายเป็นซูเปอร์วัชพืช  ในปีที่ผ่านมา เกษตรกรในทางตะวันตกของรัฐวิสคอลซิน สหรัฐอเมริกา ต้องปวดหัวกับหญ้าหนามที่โตเร็วมาก โดยโตได้เร็วถึง 7 – 8 เซนติเมตร/วัน และโตเต็มที่สูงถึง 2 เมตรกว่า เนื่องจากหญ้าหนามนี้โตเร็วมาก จึงขึ้นคลุมพื้นที่การเกษตรจำนวนมาก อีกทั้งหญ้านี้ยังมีลำต้นที่แข็งมาก จนเครื่องจักรเก็บเกี่ยวต้องเสียไปหลายเครื่อง เพราะต้นหญ้าหนามนี้   ที่จริงแล้ว มีซูเปอร์วัชพืชเป็นสิบชนิดที่กำลังสร้างปัญหาอย่างมากใน 22 รัฐทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.5 ล้านไร่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยมีการปลูกพืชจีเอ็มโอ และมีการใช้ยาฆ่าหญ้าของบริษัทมอนซานโต  จนเกษตรกรต้องใช้สารเคมีปราบวัชพืชที่เข้มข้นมากขึ้น มีพิษรุนแรงขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการกับซูเปอร์วัชพืชพวกนี้ได้  และแม้แต่บริษัทมอนซานโตเองก็ยอมรับปัญหาการดื้อยาของซูเปอร์วัชพืช และขอเวลา 6 ปีเพื่อที่จะพัฒนาสารเคมีกำจัดหญ้าใหม่ มาทดแทนสารที่มีอยู่ในปัจจุบัน  แต่สำหรับเกษตรกร คงไม่มีใครที่จะสามารถรอนานถึง 6 ปีได้  พวกเขาต้องพยายามต่อสู้กับซูเปอร์วัชพืชเหล่านี้ด้วยวิธีการต่างๆ หลายรายต้องยอมแพ้ ปล่อยให้พื้นที่เกษตรกลายเป็นทุ่งซุปเปอร์วัชพืชแทน   นักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐเองได้เริ่มยอมรับว่า การตัดต่อพันธุกรรมไม่ได้มีผลดีอย่างที่บริษัทได้สัญญาไว้  ภาพฝันอันสวยงานของพืชจีเอ็มโอกำลังเลือนหายไป   แพทย์เตือนให้หลีกเลี่ยงบริโภคอาหารจีเอ็มโอปีที่ผ่านมา อเมริกาเริ่มทบทวนเทคโนโลยีจีเอ็มโอให้เข้มงวดมากขึ้น  มีการศึกษางานวิจัยต่างๆ กว่า 600 ชิ้น และได้ข้อสรุปว่า อาหารจีเอ็มโอทำให้คนอเมริกันมีสุขภาพแย่ลง  นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมได้เผยแพร่บทความเตือนผู้บริโภคเกี่ยวกับความเสี่ยงของผู้ป่วยในการบริโภคอาหารจีเอ็มโอ และเรียกร้องให้แพทย์งดให้คนไข้ทานอาหารจีเอ็มโอ รวมทั้งผู้บริโภคทั่วไป ก็ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารจีเอ็มโอเช่นเดียวกัน  ทำให้มีแพทย์ที่เขียนใบสั่งให้ผู้ป่วยเลิกทานอาหารจีเอ็มโอเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ   เมื่อคนเราบริโภคอาหารจีเอ็มโอ เช่น ถั่วเหลืองที่มีการดัดแปลงยีน ยีนที่ดัดแปลงนั้นสามารถถ่ายทอดไปสู่จุลินทรีย์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในลำไส้คน และขยายตัวต่อไป  ดังนั้น แม้ว่าเราจะเลิกรับประทานอาหารจีเอ็มโอ แต่ในร่างกายของเราก็ยังมียีนที่ได้จากการดัดแปลงพันธุกรรมอยู่ ซึ่งยีนเหล่านี้ที่อยู่ในจุลินทรีย์สามารถทำให้จุลินทรีย์ผลิตยีนนั้นออกมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายของเรา มีรายงานเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของอาหารจีเอ็มโอจากหลายที่ ทั้งจากเกษตรกรที่ได้ทดลองใช้พืชจีเอ็มโอและจากนักวิชาการที่ทำการทดลองกับสัตว์  เช่น  • การทดลองให้หนูขาวกินมันฝรั่งจีเอ็มโอทำให้หนูขาวเติบโตช้ากว่าหนูทั่วไป รวมทั้งหัวใจ ตับ และสมองก็มีขนาดเล็กกว่า ตลอดจนมีภูมิต้านทานต่ำกว่าด้วย  • ในฟาร์มเลี้ยงหมูในภาคตะวันตกของอเมริกากลาง พบว่า หมูที่กินข้าวโพดจีเอ็มโอจะเป็นหมัน  • ฟาร์มไก่และวัว ที่เลี้ยงด้วยอาหารจีเอ็มโอ มีอัตราการตายสูงผิดปกติ โดยไม่ทราบสาเหตุ  • เมื่อให้แม่หนูขาวกินถั่วเหลืองจีเอ็มโอเป็นเวลา 2 สัปดาห์และช่วงตั้งท้อง ปรากฏว่า ลูกหนูขาวส่วนใหญ่ตายหลังคลอดไม่นาน และลูกหนูที่รอด จะเติบโตช้า ตัวเล็ก และบางส่วนจะเป็นหมัน   ปลายปี 2552 มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับการศึกษาเกี่ยวกับอาหารจีเอ็มโอโดยหน่วยงานด้านสุขภาพของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจากการสำรวจความเห็นของประชาชนพบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีทัศนคติด้านลบกับอาหารจีเอ็มโอ และมีความสงสัยต่อเทคโนโลยีการดัดแปลงพันธุกรรมว่า มีประโยชน์จริงตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารจีเอ็มโอนั้นไม่ติดฉลากแจ้ง ในขณะที่อาหารออร์กานิคกลับต้องมีการตรวจสอบรับรองและมีฉลากระบุความเป็นเกษตรอินทรีย์   ตลาดอาหารออร์กานิคในสหรัฐอเมริกาได้ขยายตัวจาก 3,600 ล้านเหรียญในปี 2540 เป็นกว่า 21,100 ล้านเหรียญในปี 2551 ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจอเมริกาโดยรวมยังอยู่ในภาวะถดถอย แต่ตลาดอาหารออร์กานิคกลับยังขยายตัวเพิ่มขึ้น จนหลายครั้งมีปัญหาผลผลิตอาหารออร์กานิคขาดตลาด   ปัญหาซูเปอร์วัชพืชทำให้รัฐบาลต้องทบทวนเกี่ยวกับหลักการในการผลิตและจำหน่ายพืชจีเอ็มโอ เพราะนอกเหนือจากเรื่องปัญหาสุขภาพแล้ว ยังมีผลระยะยาวต่อการพัฒนาเกษตรของประเทศ โดยรัฐบาลได้ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมกับอนาคตของเกษตรสหรัฐ โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับซูเปอร์วัชพืชที่ทำให้เกษตรกรขาดทุนมากขึ้น เพราะจัดการกับวัชพืชได้ยากขึ้น ในขณะที่ต้องใช้สารเคมีมากขึ้น จนส่งผลคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม   นอกจากซูเปอร์วัชพืชแล้ว แปลงที่ปลูกพืชจีเอ็มโอยังพบแมลงแปลกๆ ที่เป็นศัตรูพืชที่ในอดีตไม่ใช่ศัตรูพืชหลัก แต่เนื่องจากแมลงศัตรูพืชหลักถูกควบคุมโดยพืชจีเอ็มโอ แมลงศัตรูพืชรองจึงได้พัฒนาขึ้นมาเป็นแมลงศัตรูพืชหลักแทน ซึ่งศัตรูพืชใหม่นี้ได้พัฒนาภูมิต้านทานของตัวเอง จนทนต่อสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ส่งผลให้เกษตกรต้องใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น   กระทวงเกษตรสหรัฐ ซึ่งเคยยืนยันมาตลอดถึงประโยชน์จากพืชจีเอ็มโอ ได้เริ่มยอมรับว่า การปลูกพืชจีเอ็มโอนี้อาจทำให้เกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดชพืชเพิ่มขึ้น จนทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ทั้งจากการที่ต้องซื้อสารเคมีเพิ่มขึ้น และค่าเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอที่มีราคาแพงมาก   ส่วนกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐก็ได้เริ่มสอบสวนบริษัทมอนซานโตและบริษัทที่พัฒนาพืชจีเอ็มโออื่นเกี่ยวกับการปิดบังข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรม โดยทางกระทรวงกำลังพิจารณาว่า การปิดบังข้อมูลดังกล่าวเป็นการทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะบริษัทพวกนี้ถือว่าได้รับสิทธิบัตรคุ้มครอง จึงไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลให้หน่วยงานอื่นได้รับทราบ หรือแม้แต่นักวิจัยอื่น ที่ต้องการทดสอบหรือพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวต่อ  แต่ในครั้งนี้ ดูเหมือนทางบริษัทจะต้องยอมเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดกับกระทรวงยุติธรรม ไม่อาจบิดพลิ้วปิดบังข้อมูลได้อีก   เทคนิคใหม่ต้องอ่อนน้อมต่อธรรมชาติดูเหมือนหลายฝ่าย รวมทั้งรัฐบาลสหรัฐ จะมีความเห็นร่วมกันแล้วว่า การตัดต่อพันธุกรรมรุ่นแรกมีผลคุกคามต่อสุขภาพของผู้คนและความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม  ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงแนวคิดและการพัฒนาเทคโนโลยีเสียใหม่ ก็คงถึงหนทางตัน   ความจริงแล้ว บริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอต่างก็ทราบท่าทีของรัฐบาลและทัศนคติของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมนี้มานานพอควร ทำให้บริษัทพยายามที่จะหาทางออกใหม่ เช่น เมื่อ กลางปี 2553 ที่ผ่านมา บริษัทจีเอ็มโอใหญ่รายหนึ่งประกาศจะพัฒนาถั่วเหลืองจีเอ็มโอ “รุ่นใหม่” ที่เป็น “มิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยคาดว่า จะได้รับการอนุญาตจากกระทรวงเกษตรและองค์การอาหารและยา เพื่อเริ่มขายในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยพืชจีเอ็มโอรุ่นใหม่นี้ จะไม่ใส่ยีนจากภายนอกเข้าไป แต่จะใช้วิธีปิดยีนบางตัวที่มีอยู่แล้วในพืชนั้นๆ เพื่อให้ยีนดังกล่าวไม่ทำงาน โดยนักวิจัยของบริษัทอธิบายว่า ถ้าพ่อแม่มีโรคประจำตัวบางอย่าง ที่อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมให้กับลูกได้ ถ้าใช้เทคนิคการปิดยีนนี้ จะทำให้ลูกไม่ได้ยีนที่เป็นโรค และพันธุกรรมของลูกก็ยังคงเหมือนเดิม ซึ่งบริษัทอ้างว่า แนวทางของเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมใหม่นี้จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น   แต่ข้อสงสัยก็ยังคงมีอยู่สื่อมวลชนสหรัฐก็ยังคงไม่สนับสนุนเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมแนวใหม่นี้อยู่  หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ได้ลงบทความเมื่อวันที่ 12 และ 20 มิถุนายน 2553 วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอว่า ส่วนใหญ่ไร้ผล ไม่ได้เป็นไปตามที่บริษัทกล่าวอ้าง และเป็นบทเรียนสำคัญที่มนุษย์ควรพึงสังวรว่า มนุษย์เรายังเข้าใจความสลับซับซ้อนของพันธุกรรมน้อยมาก และการที่พยายามเข้าไปเปลี่ยนแปลงยีนนี้ อาจไม่มีทางที่จะได้ผลผลิตที่ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม   อาจารย์กู้ซิ่วหลิน นักวิชาการของประเทศจีน จากมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และศูนย์วิจัยด้านพฤติกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในรัฐยูนาน ประเทศจีน ก็ไม่เห็นด้วยกับเทคโนโลยีการดัดแปลงยีนแบบใหม่นี้ เพราะเห็นว่า ผิดหลักธรรมชาติ ไม่ว่าจะโดยการแทรกยีนใหม่ หรือไปกดยีนเดิมไว้ไม่ให้ทำงาน เป็นแทรกแซงต่อแบบแผนชีวิตและธรรมชาติ ซึ่งเราไม่อาจคาดเดาว่า จะเกิดผลอะไรขึ้นบ้าง จึงเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก  แต่ด้วยแรงกดดันทางธุรกิจของบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมยักษ์ใหญ่ ที่จะยังคงผลักดันการดัดแปลงพันธุกรรมนี้ต่อไป  แปลจากบทความ ในนิตยสาร Organic Food Time (ปี 2010 ฉบับที่ 2)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 ทำผิดแล้วยังกล้า...อ้างผู้ใหญ่

ภญ.สุภาวดี  เปล่งชัย เภสัชกรคนขยันแห่ง โรงพยาบาลเสลภูมิ ส่งข่าวมาว่า พบผู้ป่วยหลายรายถูกชักจูงให้ซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพร อ้างสรรพคุณเกิน ราคาแพงมาบริโภค เธอทราบข่าวครั้งแรกจากคุณครูท่านหนึ่ง  ซึ่งได้นำผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสมุนไพร  เคี่ยงเซียมเจ็ง (ตราณรงค์  เอ็น.อาร์.) (ขนาดบรรจุ 750 ml ราคา 2,900 บาท) มาให้เธอตรวจสอบและเมื่อเธอลงพื้นที่เพื่อไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยอัมพฤกษ์  ก็พบว่าผู้ป่วยรายนี้ ได้ซื้อผลิตภัณฑ์ ยาน้ำสมุนไพรโสมคนทั่งเฉ้า (ตราณรงค์  เอ็น.อาร์.) ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ทะเบียนเลขที่ G 70 / 49 (ขนาดบรรจุ 350  ml ราคา 1,400  บาท) โดยซื้อมา 5 ขวด เป็นเงินถึง  4,500   บาท  เพื่อรักษาโรคอัมพฤกษ์  ตามที่มีคนแนะนำ  จากการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ป่วย ได้ความว่า มีตัวแทนจำหน่ายจากหมู่บ้านหนึ่ง ในเขตอำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร ได้นำรถมารับตนไปยังจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อรับฟังการบรรยายสรรพคุณ ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ซึ่งระหว่างการบรรยายยังมีการวินิจฉัยโรค โดยการจับชีพจรผู้เข้าร่วมประชุมรวมทั้งตนเองด้วย  หลังจากนั้นก็ได้แจ้งว่าตนเป็นโรคนิ่ว  และได้จัดส่งยามาให้ทางไปรษณีย์ (ลักษณะเป็นเม็ดสีเขียว จำนวน 100 เม็ด ราคา  1,500  บาท รับประทานครั้งละ 6 เม็ด หลังอาหาร 3 เวลา) นอกจากนี้ตนยังได้ซื้อผลิตภัณฑ์ โสมคนทั้งเฉ้า  มา 5 ขวด 4,500  บาท มาเช่นเดียวกัน   ล่าสุด ภญ.สุภาวดี  ได้ออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยอีกรายซึ่งป่วยเป็นเบาหวาน  ก็พบว่าผู้ป่วยรายนี้ได้ซื้อผลิตภัณฑ์ ยาน้ำสมุนไพรฮั้วลักเซียม (ตราณรงค์ เอ็น.อาร์.) ขึ้นทะเบียนเป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ทะเบียนเลขที่ G 369/53 มารับประทาน (ขนาดบรรจุ  750 ml ราคา 2,900 บาท) โดยผู้ป่วยแจ้งว่ารับประทานเพื่อรักษาอาการปวด   ด้วยความที่ ภญ.สุภาวดี  มีวิญญาณคุ้มครองผู้บริโภค จึงได้ขอตัวอย่างขวดผลิตภัณฑ์ พร้อมเอกสารโฆษณาจากผู้ป่วยมาตรวจสอบ  พบว่าเอกสารที่ผู้ป่วยมอบให้นั้น  แจ้งสรรพคุณว่า รักษาได้ 18  โรค แต่ข้อมูลที่ขอขึ้นทะเบียน และระบุที่ฉลากขวดและกล่อง  ระบุว่า บำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต บำรุงสมอง เท่านั้น (อย่างนี้ก็เกินจริงหรือเปล่า ลองเดาเอาเองนะครับ)   ภญ.สุภาวดี  พบเห็นความผิดปกติจากการโฆษณาที่โอ้อวดสรรพคุณ รักษาโรคได้มากมาย  จึงได้นำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ทั้ง 3  นี้  มาแสดงไว้ในตู้หน้าห้องจ่ายยา  “เพื่อเป็นการแนะนำ ให้ความรู้ที่ถูกต้องทั้งทางวิชาการและทางกฎหมายว่าไม่มีผลิตภัณฑ์ใดรักษาโรคได้ครอบจักรวาลอย่างนั้น” โดยในตู้ที่เผยแพร่ความรู้ ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายแสดงร่วมด้วย ( เช่น  ยาชุด  ยาลูกกลอน ยาที่ไม่มีเลขทะเบียนยา  ยาแผนโบราณที่มีสเตียรอยด์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอื่นๆที่อ้างรักษาได้หลายโรค) นอกจากนี้เธอยังได้ทำป้าย แสดงข้อความเตือนผู้บริโภค วางบนตู้  ว่า “อย่าหลงเชื่อ อย่าเสียเงินซื้อ ผลิตภัณฑ์ราคาแพงๆเหล่านี้รักษาโรคครอบจักรวาลไม่ได้” “โรคเหล่านี้ รักษาโดยอาหารเสริมไม่ได้ (เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ มะเร็ง อัมพฤกษ์  อัมพาต หลอดเลือดสมอง ปวดเมื่อย)”   หลังจากนั้นไม่กี่วันก็มีคนโทรศัพท์มาหาเธอ อ้างว่าโทรมาจากบริษัท ขอให้นำผลิตภัณฑ์ของบริษัทออก และยังมาถ่ายรูปตู้ดังกล่าวด้วย และอีก 2 วันต่อมา บุคคลเดิมได้โทรมาสอบถามว่า เธอได้นำผลิตภัณฑ์ของบริษัทออกจากตู้หรือยัง  ถ้ายังจะให้ฝ่ายกฎหมายของบริษัทดำเนินการ และถัดมาไม่กี่ชั่วโมง  ก็มีผู้อ้างว่าเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี (อ้างว่าชื่อ สุรชัย เพิ่มสงวนวงศ์ ใช้เบอร์  081-3342877) โทรศัพท์เข้ามาข่มขู่เธอว่า “บริษัท ถูกเธอกลั่นแกล้ง นำผลิตภัณฑ์ของบริษัท มาประจานและได้ปรึกษานิติกรของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว ให้เอาลงเดี๋ยวนี้  บริษัทจะดำเนินคดีกับคุณแล้ว”   แต่ด้วยความเด็ดเดี่ยวของ ภญ.สุภาวดี ซึ่งยืนยันว่าตนได้ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค จึงไม่ยอมทำตามคำขู่และมีการประสานงานกับผู้ใหญ่ที่รู้จัก สืบจนได้ว่ามีการแอบอ้างชื่อ นายสุรชัย มาข่มขู่ ซึ่งขณะนี้ได้พยายามรายงานให้ผู้ที่ถูกอ้างชื่อทราบเพื่อจัดการแล้ว นอกจากนี้เครือข่ายเภสัชกรที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคยังได้ไปแจ้งข่าวใน Facebook ของท่านรัฐมนตรีเพื่อให้ดำเนินการกับผู้แอบอ้างด้วย   ท้ายนี้เลยขออนุญาตประชาสัมพันธ์เลยว่า หากผู้อ่านหรือเจ้าหน้าที่ท่านใด ที่ได้ทำหน้าที่เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค แล้วโดนข่มขู่เช่นนี้ ขอให้จดชื่อและเบอร์โทรศัพท์ไว้ และไปแจ้งความหรือแจ้งมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อดำเนินการจัดการกับพวกนี้ซะที  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 บริษัท บุญแปด ยอมถอนฟ้องคดีขี้ไก่เหม็น

ทนายความของฟาร์มไก่ไข่ บริษัทบุญแปด ใส่เกียร์ถอยหลัง ขอถอนฟ้องคดีชาวบ้าน “ร้องขี้ไก่เหม็น” หลังเจรจาในศาลร่วม 2 ชั่วโมง โดยมีข้อตกลงร่วมหากเกิดข้อร้องเรียนอีก ให้ตั้งคณะกรรมการซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเข้าทำการตรวจสอบทันที เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราได้นัดชาวบ้านในเขตตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 27 ราย ซึ่งถูกบริษัท บุญแปด จำกัด ของ นายบุญยง ศรีไตรราศรี หนึ่งในกรรมการบริหารสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ ดำเนินคดีฟ้องร้องเป็นคดีอาญาเกี่ยวเนื่องคดีแพ่ง ฐานความผิด แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและหมิ่นประมาท เรียกร้องค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 2,300,000 บาท เพื่อมาเจรจาไกล่เกลี่ยกันอีกครั้งหลังจากที่เคยมีการเจรจาก่อนหน้านี้มาแล้ว 2 ครั้ง โดยศาลออกนั่งบัลลังก์เมื่อเวลาประมาณ 14.40 น. และได้ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในการเจรจาไกล่เกลี่ยกับคู่กรณี 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายจำเลยซึ่งมีตัวแทนชาวบ้านพร้อมนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินคดีจากชาวบ้านที่ถูกฟ้องทั้ง 27 ราย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิงกับปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีเพิ่มเติมอีก 2 ราย กับทนายความและตัวแทนของบริษัทบุญแปด จำกัด โจทก์ผู้ฟ้องคดี ผลของการเจรจาไกล่เกลี่ย ทนายความของบริษัทบุญแปดได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งหมด 29 ราย โดยแถลงว่า ไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป และได้มีข้อตกลงร่วมกันว่า หากมีข้อร้องเรียนในกรณีที่ได้รับความเดือดร้อนรำคาญของกลิ่นเหม็นจากมูลไก่ และคาดว่าจะมาจากฟาร์มให้สามารถทำการร้องเรียนได้ผ่านช่องทางปกติถึงองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง และให้ตั้งคณะกรรมการที่ได้รับการยอมรับของทุกฝ่ายขึ้นมาตรวจสอบเหตุที่ร้องเรียนนั้น ตามวิธีปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ประกอบกับกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นายวันชัย ฤทธิ์ลิขิต ตัวแทนชาวบ้านที่เข้าร่วมการเจรจาไกล่เกลี่ย ได้กล่าวถึงผลของคดีว่า การที่บริษัทถอนฟ้องคดีกับชาวบ้านเป็นสิ่งที่ควรทำมาตั้งนานแล้ว เพราะดคีไม่มีมูล ชาวบ้านให้ข้อมูลในปัญหากลิ่นขี้ไก่เหม็น ซึ่งเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการประกอบกิจการของฟาร์มไก่ไข่แห่งนี้แก่ อบต.ลาดกระทิงไปตามความเป็นจริง ไม่ได้มีเจตนากล่าวร้ายป้ายสีให้บริษัทบุญแปดเสียหาย แต่ต้องการให้มีการแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นให้หมดไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองระยอง ซึ่งมีคำสั่งให้ อบต.ลาดกระทิงระงับเหตุรำคาญให้หมดสิ้นไปภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ศาลปกครองระยองได้พิพากษาไปเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2542 และหลังจากนี้ตนและชาวบ้านจะได้ร่วมมือกับ อบต.ลาดกระทิง จัดการปัญหากลิ่นขี้ไก่เหม็นอย่างจริงจัง หากบริษัทฯ ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้คงต้องเร่งรัดขอให้ อบต.ลาดกระทิง สั่งให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการไว้ก่อนเพื่อจะได้ไม่ขัดต่อคำสั่งของศาลปกครองระยองสำหรับเหตุข้อพิพาทเรื่องนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 บริษัท บุญแปด จำกัด ได้เข้ามาประกอบกิจการเลี้ยงไก่ไข่ในพื้นที่ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยได้รับใบอนุญาตจากองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง(อบต.ลาดกระทิง) ให้ประกอบกิจการเลี้ยงไก่ จำนวน 2 โรงเรือน เลี้ยงไก่ไข่ได้ 100,000 ตัว แต่บริษัทฯมีการเลี้ยงไก่ไข่เพิ่มขึ้นอีก 7 โรงหรือ 350,000 ตัว โดยไม่ได้รับอนุญาต ซ้ำยังละเมิดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่ตั้งที่จะต้องตั้งอยู่ห่างจากชุมชน วัด ศาสนสถาน โบราณสถาน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล หรือสถานที่อื่นๆ ในระยะที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและไม่ก่อเหตุรำคาญต่อชุมชน แต่ปรากฏว่าฟาร์มไก่แห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับสถานีอนามัยลาดกระทิง วัดลาดกระทิง รวมถึงโรงเรียนบ้านลาดกระทิงซึ่งสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยม 3 อันเป็นศูนย์กลางของชุมชนเพียงแค่รั้วกั้น การประกอบกิจการฟาร์มไก่ของบริษัท บุญแปดฯ ทำให้ชาวบ้านไม่น้อยกว่า 250 หลังคาเรือนที่อยู่อาศัยโดยรอบฟาร์มไก่ภายในรัศมี 1-2 กิโลเมตร ต่างได้รับความเดือดร้อนรำคาญทั้งด้านร่างกายและจิตใจจากกลิ่นเหม็นของมูลไก่ที่เกิดจากฟาร์มไก่แห่งนี้มาโดยตลอดและได้พากันร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 เซลล์ขายประกัน “ไทยคาร์ดิฟ” ลวงผู้บริโภคทำประกันทางโทรศัพท์

ผู้บริโภคแฉตัวแทนประกันชีวิต “ไทยคาร์ดิฟ” ใช้เล่ห์ลวงล้วงข้อมูลส่วนตัวกลายเป็นการสมัครทำประกันภัยทางโทรศัพท์ ต้องเสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายในการบอกเลิกการทำประกัน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่งซึ่งขอสงวนนามได้แจ้งว่า ตนถูกบุคคลซึ่งอ้างตัวว่าเป็นตัวแทนประกันของบริษัทประกันภัย ไทยคาร์ดิฟ ประกันชีวิต จำกัด โทรฯ มาเชิญชวนให้ทำประกันภัย ผุ้บริโภครายนี้ได้ให้ข้อมูลว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2554 เวลา 14.58 นาฬิกา ได้มีพนักงานโทรฯ เข้ามาเสนอการทำประกันภัยกับตน ในส่วนของประกันชีวิตกลุ่ม สำหรับลูกค้าแผนความคุ้มครอง AEON BETTER LIFE โดยขอบันทึกเสียงการสนทนาไว้ด้วย ซึ่งผู้บริโภคได้ปฏิเสธไปอย่างชัดเจนว่าไม่สนใจที่จะทำประกันภัยที่ทางพนักงานโทรฯ มาเสนอแทนที่ตัวแทนประกันจะยุติการสนทนาโดยทันที ตัวแทนประกันรายนี้กลับใช้เล่ห์ลวง แจ้งว่าให้ผู้บริโภคบอกข้อมูลเลขบัตรประชาชน และผู้รับผลประโยชน์เพื่อออกเอกสารส่งมาให้ดูก่อนเท่านั้น หากว่าได้รับเอกสารและอ่านแล้วไม่พึงพอใจที่จะทำประกันภัยผู้บริโภคก็เพียงฉีกเอกสารทิ้ง ไม่ต้องไปชำระเงินประกันภัยและจะไม่มีผลใดๆ กับตัวผู้บริโภค ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผู้บริโภคท่านนี้จึงบอกข้อมูลไป ในเวลาต่อมาก็ได้รับเอกสารจากทางบริษัทเป็นกรมธรรม์ประกันภัยที่ตนไม่ได้ต้องการตั้งแต่แรก ทำให้ต้องเสียเวลาเพื่อโทรศัพท์ยกเลิกการทำประกันภัยกับทางบริษัท และยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแฟ็กซ์สำเนาบัตรประชาชนไปที่บริษัทเพื่อทำการยกเลิกและเป็นการยืนยันว่าไม่ประสงค์ที่จะทำประกันภัยกับทางบริษัท!!!!! แนวทางแก้ไขปัญหา ในปัญหาที่มีการร้องเรียนมาจากผู้บริโภครายนี้ มีข้อแนะนำคือ ในการเสนอขายประกันทางโทรศัพท์นั้นผู้บริโภคสามารถปฏิเสธการเจรจาได้ตลอดเวลา ซึ่งการเสนอขายประกันทางโทรศัพท์ เมื่อผู้บริโภคไม่ประสงค์จะทำประกันภัย ไม่ต้องการรับการติดต่อ ตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิตต้องยุติการสนทนาทันทีการที่ยังมีความพยายามเจรจาที่จะเสนอขายประกันต่อไปและใช้วิธีล่อลวงเพื่อให้ได้ข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคในลักษณะนี้ถือเป็นการกระทำผิดต่อประกาศของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเสนอขายกรมธรรมประกันภัยผ่านทางโทรศัพท์ พ.ศ.2552 หากตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศนี้อาจเป็นเหตุให้นายทะเบียนมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต หรือใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 ลูกค้า 3BB เจ็บแล้วอย่าแค่จำ

หากไม่ได้ใช้บริการและมีความเสียหาย ฟ้องคดีผู้บริโภค ดีที่สุดจากกรณีที่บริษัท ทริปเปิลทรี อินเทอร์เน็ต จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 3BB ได้ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 12,000 รายการกระทำของบริษัท ทริปเปิลทรีฯ ที่ยกเลิกการให้บริการมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมโดยไม่ได้แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการทั่วประเทศ ถือเป็นการกระทำที่ขาดจริยธรรมทางการค้าเป็นอย่างยิ่งที่สังคมควรร่วมกันประณามและมีมาตรการลงโทษ ที่สำคัญยังเป็นการกระทำผิดทั้งด้านสัญญาและการโฆษณา คือนอกจากจะไม่ให้บริการตามสัญญาทั้งๆ ที่มีการเรียกเก็บเงินค่าบริการไปแล้ว ยังมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคด้วยการโฆษณาโดยใช้ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง ด้วยการใช้ข้อความว่า “ต้องได้ทุกที่ ทุกแห่ง... ทั่วประเทศ 6 MB” ถือเป็นการกระทำผิดต่อผู้บริโภคที่ชัดแจ้งเป็นอย่างยิ่ง แนวทางแก้ไขปัญหาในขณะที่กำลังรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่ขณะนี้พบว่าผู้ใช้บริการจำนวนมากที่ถูกระงับสัญญาณอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจต่างได้รับความเสียหายกันโดยถ้วนหน้า โดยที่ยังไม่มีการช่วยเหลือเยียวยาใดๆ จากผู้ให้บริการรายนี้เลย เห็นว่าผู้ใช้บริการควรมีมาตรการลงโทษบริษัท ทริปเปิ้ลทรีฯ ด้วยการใช้สิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ และสามารถเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเป็นรายวันได้อีกด้วย โดยสามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคกับศาลยุติธรรมที่ประจำอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ที่ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนได้เลยเพราะถือว่าได้เกิดเหตุการผิดสัญญา ณ ที่จังหวัดนั้น โดยการยื่นฟ้องผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมใดๆ การฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคนั้น ผู้บริโภคสามารถไปยื่นฟ้องด้วยตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทนายความในขั้นตอนยื่นฟ้องก็ได้ เพราะศาลทุกแห่งจะจัดให้มีเจ้าพนักงานคดีคอยให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บริโภคที่ต้องการใช้สิทธิฟ้องร้องเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังอาจขอให้ศาลใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวด้วยการให้มีการเปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ตแก่ผู้ใช้บริการได้ และกรณีนี้น่าจะเข้าข่ายการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจที่มีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย ผู้บริโภคที่ยื่นฟ้องสามารถขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นอีกได้“สำหรับผู้บริโภคที่มีความกังวลในการยื่นฟ้องด้วยตนเองสามารถติดต่อขอให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือดำเนินการได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายที่เบอร์โทรศัพท์ 02-2483734-7 หรือติดต่อที่ www.consumerthai.org”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 14 ปี พรบ.องค์การอิสระฯ แท้งเรียบร้อย

วันนี้ผู้บริโภคอย่างเราๆ คงต้องยอมรับกันแล้วว่าวันนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะข้าวยากหมากแพงกันแล้ว สินค้าหลายตัวทยอยกันขึ้นราคาอย่างไม่มีทีท่าจะว่าจะหยุดยั้งเมื่อไร หลายคนต้องดำรงชีวิตยากลำบากขึ้น เมื่อสินค้าแพงแต่ค่าแรงเท่าเดิม ปัญหาสารพัดถาโถมเข้ามารุมเร้าผู้บริโภคอย่างเราๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ คงทำได้แค่เซซัดตามกระแสไปวันๆ ทั้งปัญหามีเงินไม่พอซื้อสินค้า และมีเงินแต่หาซื้อสินค้าไม่ได้อันนี้น่าเจ็บใจเราเป็นประเทศเกษตรกรรมเป็นผู้ผลิตแต่ไม่มีสินค้าให้ซื้อ(กรณีสินค้าขาดตลาด) ปัญหาเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าเราไม่มีเจ้าภาพที่มีฝีมือแก้ปัญหานี้ จริงๆที่มีอยู่ในปัจจุบันก็เข้าตำรา ลิงแก้แห คือยิ่งแก้ยิ่งยุง สุดท้ายของคนทำงานผู้บริโภคก็หนีไม่พ้นอยากเห็นองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคมันเกิดซะที3 เดือนที่แล้ว พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเข้าสภาผู้แทนผ่านวาระที่ 1 ไปเรียบร้อย จนมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาหนึ่งคณะที่มีทั้งตัวแทนพรรคการเมืองและตัวแทนประชาชน ร่วมกันพิจารณา เสร็จสมบูรณ์ไปในต้นเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นพวกเราก็เฝ้ารอให้ พรบ.เข้าสภา พวกเราได้แจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่ากฎหมายจะเข้าสภาหลายครั้ง ทุกครั้งพวกเราก็จะไปนั่งรอ วันแล้ววันเล่ากฎหมายก็ไม่เข้า เพราะมีกฎหมายอื่นถูกเสนอแซงขึ้นพิจารณาก่อน โดยวิปรัฐบาล แต่พวกเราก็อดทนรอด้วยความหวังว่าน่าจะเข้าทันพวกเรารอจนประธานสภาจะปิดประชุม พวกเราถึงได้เคลื่อนออกจากรัฐสภา จนวันที่ 3 มีนาคม 2553 เรียกได้ว่าเป็นวันที่คนทำงานคุ้มครองผู้บริโภครอคอยก็ว่าได้ วันนั้นเป็นวันที่กฎหมายเราจ่อคิวเข้าเป็นฉบับแรกยังไงก็ต้องเข้าเอาช้างมาฉุดก็ไม่อยู่แล้วคราวนี้ ไชโย้.....เช้าพวกเราเดินเข้ารัฐสภาอย่างอิ่มเอมเต็มไปด้วยความหวังอันล้นเปี่ยม แต่พอเข้าไปหลังบรรลังก์เราได้เห็นท่าทีของรองนายกรัฐมนตรี ทั้งคุณองอาจ คล้ามไพบูลย์ คุณสาทิตย์ วงหนองเตย บวกนายกรัฐมนตรี เราก็รู้สึกทะแม่งๆ เพราะเท่าที่คุยคือวิปรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับกรณีงบบริหารจัดการที่กรรมาธิการเสียงข้างมากกำหนดไว้หัวละ 5 บาท แต่วิปและรัฐบาลมีความเห็นว่าควรเป็น 3 บาท และมีความพยายามที่จะหว่านล้อมให้พวกเราถอน พรบ.ออกจากการพิจารณาเพื่อเอาไปแก้ให้เหลือ 3 บาท ท่านผู้อ่านคิดดูนะเรารอวันนี้มา 14 ปี พอกฎหมายจะเข้าฝ่ายการเมืองมาขอให้ถอนออก เป็นท่าน ท่านคิดยังไง? อารมณ์นั้นบอกได้คำเดียวว่าอยากร้องให้ และไม่อยากมองหน้าบรรดานักการเมืองเลย.. สุดท้ายพวกเราไม่ยอมให้ถอน ยืนยันให้พิจารณาไป ผ่านก็ผ่านไม่ผ่านก็ไม่ผ่าน(ให้มันรู้แล้วรู้รอดไป)ฝ่ายการเมืองก็แสดงให้เราเห็นว่าเขาโกรธที่เราแข็งขืน กฎหมายก็เข้าสภาผ่านไปแค่ 4 วาระ ก็มีสส.พรรครัฐบาลเสนอให้ถอนพรบ.ออกไปพิจารณาใหม่ สุดท้ายสภาก็มีมติให้ถอนพวกเราภาคประชาชนก็ได้แต่นั่งมองเราทำอะไรไม่ได้เพราะคนที่ลงมติได้มีแต่ฝ่ายการเมือง

อ่านเพิ่มเติม >