ฉบับที่ 123 ก่อนรับยาต้องกล้าถาม

  ผู้ป่วยรายหนึ่งไม่สบาย มีอาการไข้ เจ็บคอ จึงไปซื้อยาจากร้านขายยาแห่งหนึ่ง หลังจากรับประทานแล้วปรากฏว่าไข้ยังรุมๆ อยู่ แต่ตามตัวกลับมีผื่นแดงขึ้นเล็กน้อย ด้วยเข้าใจว่ายาที่ได้รับมาไม่ถูกกับโรคจึงได้เปลี่ยนไปซื้อยาจากขายยาอีกร้านหนึ่ง ปรากฏว่าครั้งนี้นอกจากไข้ไม่ลดแล้ว อาการผื่นกลับลุกลามมากขึ้นไปอีก ผิวหนังลอกออกเป็นบริเวณมาก ญาติจึงนำส่งโรงพยาบาลโดยใช้ใบตองรองตามตัวเพื่อไม่ให้เนื้อติดเสื้อผ้า  เหตุการณ์จริงข้างต้นนี้ เป็นอาการแพ้ยาที่เกิดขึ้น ซึ่งอาการแพ้ยาซ้ำในครั้งที่สองจะยิ่งรุนแรงมากกว่าครั้งแรก ผู้ป่วยรายนี้จะไม่ได้รับอันตรายรุนแรงเลย ถ้าเขามีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอาการแพ้ยาและกลับไปถามชื่อยาที่ร้านขายยาร้านแรก เพราะเขาจะสามารถบอกให้ผู้ขายยาในร้านที่สองทราบได้ว่าตนแพ้ยาอะไร   ถึงเวลาหรือยังที่ “ก่อนรับยาต้องกล้าถาม”   จากการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังใช้ยาโดยไม่รู้จักชื่อจริงๆ ของยา (ที่เรียกว่า “ ชื่อสามัญของยา ”) แต่กลับไปรู้จักแต่ “ ชื่อการค้า ” (หรือชื่อยี่ห้อ) ที่บริษัทพยายามให้เราติดหูติดตา ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น ใช้ยาซ้ำๆ กันโดยไม่รู้ตัวจนอาจได้รับยาเกินขนาด หรือเกิดการแพ้ยาโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองแพ้ยาอะไร ก่อให้เกิดอันตรายจนอาจเสียชีวิตได้ ปัจจุบันธุรกิจยาเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูง ดังนั้นบริษัทยา จึงพยายามทำให้ประชาชนติดกับชื่อการค้าของยามากขึ้น โดยเฉพาะยาจากต่างประเทศ (หรือที่บางคนเรียกว่า “ยาฝรั่ง”) ทำให้เราหลงใช้ยาที่แพง ทั้งๆ ที่มียาตัวเดียวกันที่คุณภาพเท่ากัน แต่ราคาถูกกว่ามาก  ดังนั้นแทนที่ผู้บริโภคอย่างเราจะยอมให้ตัวเองเสี่ยงไปเรื่อยๆ ขอให้พวกเราตั้งสติให้ดี ด้วยคาถาป้องกันตัวคือ “ ก่อนรับยาต้องกล้าถาม ”  ถาม..ถาม..ถาม...ง่ายๆ 4 – 5 ข้อ ดังนี้  1. ชื่อสามัญของยานี้คืออะไร?2. ยานี้มีสรรพคุณอย่างไร?3. ยานี้ใช้อย่างไร?4. ยานี้ต้องระวังอย่างไร? (หมายถึงคำเตือน ข้อห้าม ข้อควรระวังต่างๆ)และที่สำคัญอย่าลืมถามข้อที่ 5  หากรับยาจากร้านขายยาแผนปัจจุบันให้ถาม ข้อที่ 5 ด้วยว่า “ เภสัชกรอยู่มั้ย? ” เพราะถือเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของเภสัชกรประจำร้านขายยาแผนปัจจุบัน ที่จะต้องอยู่ทำหน้าที่ของตนในการส่งมอบยาอย่างถูกต้องเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย  (กฎหมายกำหนดว่าร้านขายยาปัจจุบันทุกแห่ง ต้องมีเภสัชกรประจำตลอดเวลาที่เปิดจำหน่ายยา หากไม่พบ ขอให้แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสภาเภสัชกรรม)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 เพื่อชีวิต

จั่วหัวอย่างนี้ท่านผู้อ่านคงไม่คิดว่าผู้เขียนจะเขียนถึงบรรดาเพลงเพื่อชีวิตใช่มั้ย....เพราะเราจะเขียนเรื่องเพื่อชีวิตจริงๆ ที่เกิดขึ้น ณ ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าจังหวัดสมุทรสงครามพอดีวันนั้นผู้เขียนมีเหตุอันต้องพาผู้บาดเจ็บไปทำแผลที่นั่นพอดี  ส่งคนเจ็บเข้าห้องฉุกเฉินไปแล้ว ก็นั่งอ่านหนังสือรอเพื่อพาคนเจ็บกลับบ้าน นั่งได้สักพักก็ได้ยินเสียงคนร้องให้ช่วยด้วยๆ ดังแว่วมาพร้อมกับเสียงบีบแตรรถดังตามมา เสียงนั้นดังใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว  และสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นในโรงพยาบาลก็เกิดขึ้น  เมื่อมีรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างขับบุกขึ้นมาบนโรงพยาบาล(ขึ้นมาตามทางลาดสำหรับคนพิการ)บนรถมีผู้หญิงอุ้มเด็กพาดบ่าซ้อนท้ายมาด้วย  ปากก็ตะโกนร้องช่วยด้วยๆ และตื่นซิลูกๆ ตลอดเส้นทางมอเตอร์ไซด์ปรี่มายังห้องฉุกเฉิน  โดยไม่มีรปภ.และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลคนใดมาขัดขวาง เรียกได้ว่าเข้ามาแบบโล่งๆ กันเลย   และพอถึงหน้าห้องฉุกเฉินก็มีภาพที่ผู้เขียนรู้สึกประทับใจมากคือพยาบาลในห้องฉุกเฉินเปิดประตูให้รถคันนั้นเข้าไปส่งเด็กที่ป่วยถึงในห้องฉุกเฉิน  ผู้เขียนนั่งตะลึง รู้สึกขณะนั้นว่า เฮ้ย..มันเกิดอะไรขึ้นเนี่ย...     ณ นาทีนั้นเห็นได้ว่าไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนออกมาบอกว่าเข้าไม่ได้ผิดระเบียบโรงพยาบาล แม้แต่ห้องฉุกเฉินก็ไม่กลัวเชื้อโรคที่ติดมากับรถแต่อย่างใดผู้เขียนเห็นสีหน้าแววตาของคนขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง เขามีความมุ่งมั่นที่จะช่วยชีวิตเด็กคนนั้นจริงๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงแต่ค่าโดยสาร เพราะเขาส่งเด็กแล้วเขาไม่ได้เรียกเงินค่าจ้าง ซ้ำยังยืนรอว่าเด็กที่เขาพามาจะรอดหรือไม่   ทุกฝ่ายมุ่งเพื่อชีวิตจริงๆ ทุกฝ่ายต่างมุ่งที่การช่วยชีวิตของเด็กคนนั้นเป็นสำคัญโดยไม่ยอมให้กฎระเบียบใดๆ มาขัดขวางการช่วยเหลือ  สรุปเด็กคนนั้นปลอดภัยผู้เขียนก็โล่งอกไปด้วย  ใครจะว่าเจ้าหน้าที่ละเลยปล่อยให้มอเตอร์ไซด์เข้าไปในห้องฉุกเฉินได้อย่างไรก็ตาม แต่ผู้เขียนรู้สึกซาบซึ้งกับภาพที่เห็นอย่างบอกไม่ถูก  และพูดได้เลยว่านี่แหละสังคมไทยที่แท้จริง  คือเราต้องเอื้ออาทรกับความทุกข์ร้อนของเพื่อนมนุษย์ มากกว่าจะเอากฎระเบียบมาเป็นอุปสรรค    เห็นอย่างนี้แล้วไม่อยากเก็บไว้คนเดียวจึงเขียนมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นกำลังใจให้กันว่าสังคมไทยของเรายังอบอุ่นและยังมีความเอื้ออาทรต่อกัน   แม้สังคมไทยจะสับสนวุ่นวายแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างไร แต่คนไทยก็ยังเป็นคนไทยอยู่วันยังค่ำ เราไปเป็นคนอื่นไม่ได้วิถีเราเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นอย่างที่คนบางกลุ่มอยากให้เป็น ประเทศไทยเรายังมีเรื่องน่ารักๆอย่างนี้อีกมากมาย เรายังมีความหวังขอให้กำลังใจต่อคนทำดีและขอคารวะด้วยใจจริงๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 สินค้าใช้แล้วไม่ได้ผล ยูนิซิตี้ ยอมคืนเงินให้ลูกค้า

 เป็นเรื่องราวของผู้บริโภคท่านหนึ่งที่เราให้ชื่อสมมติว่า “คุณนันทา” เราเคยลงรายละเอียดเรื่องนี้ไว้ในฉลาดซื้อฉบับที่ 110 สำหรับเล่มนี้ขอนำเสนอความคืบหน้าที่ผู้บริโภคของเราได้แฮปปี้มีความสุขจากความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจ ความเดิมมีอยู่ว่า “คุณนันทา” ไปหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “เอนจูวิเนทพลัส” ของบริษัท ยูนิซิตี้ มาร์เก็ตติ้ง(ไทยแลนด์) จำกัด จากตัวแทนขายตรงที่โฆษณาสรรพคุณว่า กินผลิตภัณฑ์นี้แล้วจะช่วยให้ลดริ้วรอยตีนกาบนใบหน้าได้ หากไม่ได้ผลยินดีคืนเงิน แต่พอใช้ไปกลับเกิดอาการแพ้และริ้วรอยตีนกาก็ไม่ได้ลบหายไปเลย คุณนันทาจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอให้ช่วยเรียกร้องเอาเงินค่าสินค้าจำนวน 4,950 บาทคืนให้ด้วย ส่วนค่าเสียหายอื่นไม่คิด แนวทางการแก้ไขปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ส่งจดหมายแจ้งไปยังบริษัท ยูนิซิตี้ฯ เพื่อขอให้เยียวยาความเสียหายตามจำนวนเงินที่ผู้บริโภคได้ร้องเรียนมา ซึ่งบริษัท ยูนิซิตี้ฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายมีหนังสือตอบกลับมาที่มูลนิธิฯ มีใจความโดยสรุปว่า ผลิตภัณฑ์เอนจูวิเนทพลัสเป็นผลิตภัณฑ์ในเครือของยูนิซิตี้จริง จำหน่ายในหลายประเทศ ยกเว้นประเทศไทยที่ ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ ไม่ได้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ตัวนี้แต่อย่างใด ยูนิซิตี้ยอมรับว่า สมาชิกขายตรงที่จำหน่ายสินค้าให้กับคุณนันทาเป็นสมาชิกขายตรงของยูนิซิตี้จริง  แต่การไปขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากยูนิซิตี้โดยใช้ชื่อของยูนิซิตี้ ถือว่าเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณการขายตรงอย่างร้ายแรง ทำให้ทั้งลูกค้าและบริษัทฯได้รับความเสียหาย ซึ่งบริษัทฯได้พิจารณามาตรการลงโทษสมาชิกขายตรงรายนี้ โดยอาจมีการให้พ้นจากสมาชิกภาพและดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อไป ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ตามสัญญาสมัครสมาชิกขายตรงของยูนิซิตี้และตามธรรมเนียมทางการค้าทั่วไปในการขายตรง ถือว่าสมาชิกขายตรงไม่ได้มีฐานะเป็นลูกจ้างของยูนิซิตี้ และบริษัทไม่มีความรับผิดร่วมกับสมาชิกขายตรงรายนี้ ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ยังอ้างข้อกฎหมายเพิ่มเติมอีกว่า บริษัทไม่ต้องมีความรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้จัดจำหน่ายโดยบริษัท อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายให้กับผู้บริโภค ยูนิซิตี้ ไทยแลนด์จะเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับบริษัทยูนิซิตี้ในต่างประเทศซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อดำเนินการคืนเงินให้กับคุณนันทาต่อไป อีกทั้งยินดีให้ความร่วมมือในการจัดหาข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกขายตรงที่ก่อความเสียหายให้กับคุณนันทา  รวมถึงยินดีไปให้ปากคำเป็นพยานหากมีการดำเนินคดีต่อสมาชิกตรงรายนี้ด้วยเช่นกัน ในเวลาต่อมาเราได้รับแจ้งจากคุณนันทาว่า บริษัทยูนิซิตี้ ไทยแลนด์ ได้โอนเงินจำนวน 4,950 บาทที่เป็นราคาสินค้าที่จ่ายไปให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนความเสียหายอื่นๆนั้นคุณนันทาไม่ติดใจเอาความ พร้อมทั้งขอสมัครเป็นสมาชิกฉลาดซื้อ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองและครอบครัวอีกด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 ไอโฟนรุ่นพิเศษ ผ่อนไปซ่อมไป

คุณกีรติ ใช้บัตรอิออนไปเช่าซื้อไอโฟน 3G เครื่องมือสอง ราคา 18,900 บาท ที่ร้านเจมาร์ทสาขาบิ๊กซี พัทยาเหนือ ใช้งานได้เพียง 6 วันโทรศัพท์ก็เสีย คุณกีรติจึงนำโทรศัพท์กลับไปที่ร้าน “ผมแจ้งความประสงค์ว่า ต้องการคืนสินค้า เพราะยังอยู่ในระยะเวลาเปลี่ยนหรือคืนสินค้าใน 7 วัน แต่ทางร้านไม่รับคืนและไม่เปลี่ยนเครื่องให้ บอกว่าถ้าจะให้ซื้อคืนจะรับซื้อในราคา 9,000 บาทเท่านั้น และไม่มีเครื่องเปลี่ยนให้ ผมเลยต้องยอมให้ทางร้านนำเครื่องไปซ่อมจนกว่าจะใช้ได้” ผ่านไปเดือนกว่าโทรศัพท์ก็ยังซ่อมไม่เสร็จเสียที ขณะที่ใบแจ้งหนี้จากอิออนก็มีมาเรียกเก็บแล้ว โดยคุณกีรติจะต้องผ่อนทั้งหมด 12 งวดๆละ 1,841 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 22,000 กว่าบาท ในขณะที่ใช้โทรศัพท์ได้เพียงแค่ 6 วันเท่านั้น “ผมแจ้งให้อิออนทราบ อิออนแจ้งว่าจะช่วยเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย แต่ก็ไม่เห็นมีอะไรคืบหน้า ซ้ำยังมีบิลเรียกเก็บเงินค่างวดที่ 2 พร้อมกับค่าติดตามอีก โทรไปที่คอลเซนเตอร์ของอิออน ก็บอกให้ผมไปตกลงกับทางร้านเอง” “ผมน่ะไปตกลงกับทางร้านหลายครั้งแล้วว่าต้องการคืนสินค้า เพราะสินค้าไม่มีคุณภาพแต่ทางร้านเจมาร์ทก็ไม่ยอมและไม่ทำเรื่องยกเลิกสัญญาซื้อขายให้ เดี๋ยวก็คงจะมีค่างวด 3 งวด 4 ตามมาอีก ผมไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไรถึงจะได้รับความเป็นธรรมครับ” คุณกีรติร้องถามอย่างน่าเห็นใจ แนวทางแก้ไขปัญหา ใครที่ใช้บัตรเครดิตไปทำสัญญาเช่าซื้อผ่อนสินค้า ขอให้รู้ว่า สัญญาของบัตรเครดิตนั้นเป็นสัญญาที่อยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งให้ความคุ้มครองกับผู้ใช้บัตรเครดิตในกรณีที่ใช้บัตรเครดิตไปซื้อหรือผ่อนสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้าตามที่เวลาที่กำหนด หรือได้รับสินค้าแต่สินค้านั้นเสียหรือไม่สามารถใช้งานได้ตามที่ประสงค์ ผู้ใช้บัตรมีสิทธิบอกเลิกสัญญาการซื้อหรือเช่าซื้อสินค้านั้นได้ทันทีและมิต้องชำระเงินให้กับบัตรเครดิตแต่อย่างใด แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่รู้ในข้อสัญญาเหล่านี้เพราะทางบัตรเครดิตถ้าลูกค้าไม่ถามก็มักจะไม่แจ้งให้ลูกค้าของตนทราบ เพราะอยากได้เงินจากลูกค้ากันทั้งนั้น วิธีแก้นั้นง่ายมากครับ ขั้นที่หนึ่ง คือ ให้ผู้บริโภคทำจดหมายส่งถึงร้านค้าที่ขายสินค้าแจ้งถึงความชำรุดบกพร่องของสินค้าและขอคืนสินค้า พร้อมทั้งส่งสินค้าคืนให้กับทางร้านค้าไปพร้อมกับจดหมายฉบับดังกล่าว ขั้นที่สองให้มีจดหมายอีกฉบับแจ้งไปที่บริษัทบัตรเครดิต เรื่องการยกเลิกสัญญาเช่าซื้อ เนื่องจากสินค้าชำรุดบกพร่องใช้งานไม่ได้ ไม่ให้มีการเรียกเก็บเงินใดๆ ทำจดหมายเสร็จแล้วให้ส่งเป็นจดหมายไปรษณีย์ตอบรับ แล้วเก็บใบตอบรับพร้อมสำเนาจดหมายไว้เป็นหลักฐาน เท่านี้ก็จะทำให้บริษัทบัตรเครดิตไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้อีกต่อไป หากบริษัทบัตรเครดิตได้ชำระเงินให้กับร้านค้าไปแล้ว ก็ถือเป็นหน้าที่ของบริษัทบัตรเครดิตที่จะไปทวงถามตามเอาเงินของตนที่จ่ายไปคืนเอง สำหรับปัญหาของคุณกีรตินั้น เมื่อได้ทำจดหมายส่งไปถึงร้านเจมาร์ทและบริษัทบัตรเครดิต ไม่นานร้านเจมาร์ทต้องแจ้นส่งเครื่องใหม่เอี่ยมเปลี่ยนมาให้คุณกีรติใช้งานทันทีเพื่อที่จะได้ไม่ต้องคืนเงินค่าโทรศัพท์ให้กับอิออนนั่นเองคุณกีรติแอบยิ้มให้กับตัวเอง “ไหนว่าไม่มีเครื่องเปลี่ยนไงฟะ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 คอนโดโครงการไม่ขึ้น ยังต้องผ่อนต่อหรือไม่

คุณอรรถวิทย์ ได้โทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2551 ได้ทำสัญญาจองห้องชุดกับโครงการบางกอกคานส์ คอนโดมิเนียม ของบริษัท คอนคอร์ด พร็อพเพอร์ตีส์ กรุ๊ป(ประเทศไทย) จำกัด ห้องชุดที่จะซื้อจากโครงการนี้ ราคาตกที่ประมาณ 1.5 ล้านบาท ผู้ที่จะเข้าจองต้องชำระเงินจองในวันทำสัญญา 5,000 บาท คุณอรรถวิทย์เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดที่ต้องการในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 พร้อมชำระเงินก้อนแรก 7 หมื่นบาทเศษ และต้องผ่อนเงินดาวน์ไปอีก 30 งวดๆละ 7,600 บาท คุณอรรถวิทย์ผ่อนไปได้ 15 งวด ก็ไม่เห็นว่าโครงการจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างกันสักที เห็นท่าไม่ดีคุณอรรถวิทย์จึงได้ทำหนังสือแจ้งระงับการผ่อนชำระงวดที่ 16 ในเดือนพฤษภาคม 2552 หลังจากนั้นก็ยังไม่เห็นวี่แววว่าบริษัทจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ คุณอรรถวิทย์จึงได้ทำหนังสือยืนยันปฏิเสธการชำระค่างวดเงินดาวน์ที่เหลือทั้งหมดในเดือนกันยายน 2552 จนถึงปลายปี 2553 โครงการก็ยังไม่มีความคืบหน้า จึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อให้ช่วยเหลือติดตามเงินที่ได้ชำระไปทั้งหมดแนวทางแก้ไขปัญหา เราได้ติดต่อสอบถามไปที่พนักงานขายของโครงการบางกอกคานส์ ทราบความว่า การที่โครงการไม่สามารถก่อสร้างเพิ่มเติมได้ เนื่องจากการกู้เงินจากสถาบันการเงินมีปัญหา และการขอก่อสร้างยังไม่ได้รับอนุญาต โครงการฯ จึงติดขัดไม่สามารถดำเนินการต่อได้ และการคืนเงินให้กับผู้บริโภคนั้น บริษัทฯ กำลังดำเนินการอยู่ แต่อยู่ระหว่างการขออนุมัติเงินจากสำนักงานใหญ่ที่ฮ่องกง กรณีที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดหรือบ้านจัดสรรไปแล้วและต้องรับภาระจ่ายค่างวดเงินดาวน์ หากผู้บริโภคพบวี่แววว่าการจ่ายค่างวดต่อไปในขณะที่โครงการฯ ไม่มีวี่แววว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จได้ทันตามสัญญา ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิบอกกล่าวระงับการจ่ายเงินค่างวดได้ทันที โดยให้ทำเป็นจดหมายบอกกล่าวเหมือนอย่างที่คุณอรรถวิทย์ได้แจ้งให้กับบริษัทโครงการคอนโดรับทราบ ไม่ใช่ไปหยุดจ่ายค่างวดเอาเฉยๆ อย่างนั้นจะกลายเป็นผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญาและถูกฟ้องได้ เมื่อทำจดหมายระงับการจ่ายค่างวดไปแล้ว และยังพบต่อมาว่าโครงการไม่เดินหน้าต่อไปได้อีก การเรียกจะเงินที่ได้จ่ายไปคืนนั้น ก็ให้ทำจดหมายขึ้นอีกหนึ่งฉบับ คราวนี้เป็นจดหมายบอกเลิกสัญญาขอเงินคืน ส่งเป็นจดหมายไปรษณีย์ตอบรับถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทโดยตรง เท่านี้ฝั่งผู้บริโภคก็จะมีหลักฐานปกป้องตัวเองได้อย่างครบถ้วน การทำจดหมายที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้คุณอรรถวิทย์ได้รับเงินที่ได้ชำระไปทั้งหมดจากบริษัทฯ ในเวลาต่อมาโดยไม่จำเป็นต้องใช้ทนายความฟ้องเป็นคดี ใครที่เจอกปัญหาลักษณะเดียววันนี้ นำวิธีนี้ไปใช้โดยด่วน หากปล่อยไว้จะกลายเป็นว่าเราเป็นฝ่ายยอมให้เขาก่อสร้างล่าช้าเสียเอง จะทำให้เสียสิทธิในการเรียกค่าเสียหายเอาได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 รถมือสองถูกปรับแก้ไมล์หลอกขายผู้บริโภค

คุณณัฐสุดา ได้ติดต่อซื้อรถยนต์มือสองยี่ห้อโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ รุ่นปี 2006 ผ่านทางเว็บไซต์ตลาดรถดอทคอม ผู้ประกาศขายรถคือนายณรงค์ศักดิ์ ลงโฆษณาว่าเป็นรถบ้านเจ้าของขายเอง และแจ้งว่ารถใช้งานวิ่งได้ระยะทางเพียงแค่ 75,000 กิโลเมตร “เมื่อดิฉันได้ไปดูสภาพรถ ปรากฏเลขไมล์ที่ระยะทางประมาณ 76,000 กิโลเมตร ก็ได้ต่อรองราคาจากราคาโฆษณา 820,000 บาท เหลือราคา 815,000 บาท” หลังจากนั้นคุณณัฐสุดาได้ติดต่อขอสินเชื่อจากไฟแนนซ์แห่งหนึ่ง จนสามารถทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับไฟแนนซ์ได้สำเร็จในเดือนตุลาคม 2553 และมีการรับมอบโอนกันเรียบร้อยที่ขนส่งทางบก กรุงเทพฯ คุณณัฐสุดาจึงนำรถกลับบ้าน ต่อมาในเดือนมกราคม 2554 รถมีปัญหาเร่งไม่ขึ้นและสัญญาณเตือนถอยหลังไม่ทำงาน คุณณัฐสุดาจึงนำรถไปเข้าศูนย์โตโยต้าที่จังหวัดปทุมธานี ช่างได้ทำการตรวจเช็คและมาแจ้งคุณณัฐสุดาว่า รถถูกปรับแก้ไมล์จากระยะทางจริงคือ 240,000 กิโลเมตร/ไมล์ และรถต้องทำการเปลี่ยนซ่อมหลายอย่าง ความลับของรถยนต์ที่ถูกเปิดเผยทำให้คุณณัฐสุดา ต้องจ่ายค่าซ่อมไปร่วม 2 หมื่นกว่าบาท คุณณัฐสุดาได้โทรศัพท์ติดต่อไปที่นายณรงค์ศักดิ์ผู้ขายรถ แต่นายณรงค์ศักดิ์ปฏิเสธความรับผิดชอบ คุณณัฐสุดาจึงต้องร้องเรียนมาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในท้ายที่สุด แนวทางแก้ไขปัญหา มีหลักฐานค่าหนังคาเขา ว่ารถถูกปรับแก้ไมล์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้ให้คำแนะนำแก่คุณณัฐสุดาว่า สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีผู้บริโภคได้ คุณณัฐสุดาบอกว่าจะลองให้โอกาสแก่ผู้ขายอีกสักครั้งเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบ หากไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ จะใช้สิทธิฟ้องร้องอย่างแน่นอน พอคุณณัฐสุดาบอกว่าจะฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคและฟ้องเป็นคดีอาญาด้วยที่หลอกขายสินค้าแน่ๆ หากไม่รับผิดชอบ ทางผู้ขายจึงเสนอที่จะชดใช้เงินให้จำนวน 1 แสนบาท คุณณัฐสุดาจึงตกลงและได้รับเงินชดใช้ในความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นที่เรียบร้อยเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี่เอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 เราจะก่ออิฐ สร้างโรงพยาบาล ต้องเห็นวิสัยทัศน์บริการสุขภาพ

เดือนที่ผ่านมามีโอกาสไปร่วมประชุมสมัชชาผู้บริโภคสากลที่ฮ่องกง  ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ องค์กรผู้บริโภคจากหลายประเทศทั่วโลก แต่ก็จุกเมื่อถูกตั้งคำถามว่า เป็นยังไงประเทศไทยได้ยินข่าวจากประเทศไทยทีไรแปลกๆ ทุกที คนถูกถามก็อึ้งตอบไม่ค่อยจะถูกแต่ก็ต้องอ้อมแอ้มๆ ตอบไป ว่า ประเทศไทยกำลังจะยุบสภา(ตอนนั้นยังไม่ยุบ) กำลังจะมีการเลือกตั้งใหม่เร็วๆ นี้หลายองค์กรได้เตรียมการเสนอนโยบายที่ทำงานมานานให้กับพรรคการเมือง อาจจะมีคนได้อ่านนโยบายของพรรคใหญ่สองพรรคที่แข่งขันกันบ้าง พรรคหนึ่งบอกว่าจะสนับสนุนนโยบายสามสิบบาท ซึ่งเคยเป็นนโยบายของตนเองและให้โรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมให้บริการมากขึ้น หารู้ไม่ว่าขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนก็เข้าร่วมจำนวนไม่น้อย แต่ถ้าวิเคราะห์สาเหตุกันจะๆ ก็จะเห็นว่าที่เขาไม่ร่วมเพราะเขามีทางเลือกเพราะนโยบายของทั้งสองพรรคนั่นแหละที่ไปสนับสนุนให้เขาเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของอาเซียหรือของโลก หรือเขายังมีระบบประกันสังคมให้เป็นที่ทำมาหากิน อำนาจต่อรองในการให้โรงพยาบาลเข้ามาให้บริการกับคนในระบบหลักประกันจึงเป็นเรื่องลมๆ แล้งๆส่วนพรรครัฐบาลปัจจุบันก็บอกว่าจะทำให้โรงพยาบาลตำบล(สถานีอนามัย) มีประสิทธิภาพมากขึ้นแต่ก็หลับหูหลับตา ไม่ดูว่าที่โรงพยาบาลอ้างขาดทุนไม่ใช่การขาดทุนจากการให้บริการ แต่เป็นเพราะนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ปรับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นจนหมอทะเลาะกันเองเพราะได้แตกต่างกัน หรือการขยายให้แรงงานนอกระบบเข้ามาอยู่ในประกันสังคมมากขึ้น เพื่อจะได้มีสวัสดิการทางสังคมอื่นๆ ก็จะเห็นว่า แรงงานกลุ่มนี้รักษาฟรีกับบัตรทอง(แต่ขณะที่บังคับผู้ประกันตนให้จ่ายเงินเรื่องสุขภาพ)ไม่มีใครเห็นภาพใหญ่ว่าระบบบริการสุขภาพ มีความไม่เป็นธรรม แตกต่างเหลื่อมล้ำกันอยู่ ประกันสังคมเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายสตางค์สมทบสุขภาพของตนเอง แต่ยอมให้บ่ายเบี่ยงพูดไปเรื่อยว่า คนเสนอต้องการฮุบเงินของประกันสังคมหรือทำให้คนเป็นขอทาน เราต้องการให้พรรคการเมืองอธิบายมีนโยบายที่สอดคล้องกับปัญหา ระบบบริการ ความทุกข์ยากความไม่เป็นธรรมของคน ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนต้องการให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเรื่องสุขภาพทั้งหมดให้ผู้ประกันตนเช่นคนอื่นๆ ส่วนใครจะเป็นผู้บริหารหรือให้บริการก็ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือก มาดูกันว่าจะเป็นสปส. สปสช. อยู่กับใครแล้วประเทศจะได้ประโยชน์มากกว่ากัน หรือขึ้นอยู่กับว่าใครทำได้ดีกว่าใครนโยบายด้านสุขภาพ ต้องไม่ลืมเรื่องความทุกข์ของผู้ป่วยที่เสียหาย ความทุกข์ของแพทย์ที่ถูกฟ้องร้อง ต้องอธิบายและผลักดันให้เกิด พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข ทำให้ผู้ประกันตนได้รับความเป็นธรรมด้านสุขภาพเหมือนกับคนอื่นๆ หรือหากเราจะมีนโยบายเพียงการก่ออิฐ ก็ต้องเห็นว่า หากมีโรงพยาบาลหน้าตาจะเป็นอย่างไร แล้วก็ต้องรู้ว่านโยบายหรือวิสัยทัศน์ด้านสุขภาพควรเป็นอย่างไร ซึ่งจะไม่แตกต่างจากนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ จะก่ออิฐเทปูน แล้วทิ้งแบบเสาโทลเวย์ หรือจะก่ออิฐแล้วรู้ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลที่สวยงาม ให้บริการเป็นเลิศ และมีส่วนร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชนได้อย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 ธนาคารมีสิทธิคิดค่าธรรมเนียมในการกู้ยืมนอกเหนือไปจากดอกเบี้ยได้หรือไม่

  ฉบับนี้ผู้เขียนก็มีเรื่องใกล้ตัวผู้บริโภคมาฝากอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของการกู้ยืมเงินจากธนาคารซิตี้แบงค์   แล้วธนาคารซิตี้แบงค์คิดค่าธรรมเนียมในการกู้ยืมเงินจากผู้กู้ในอัตราร้อยละ 0.5 ของวงเงินที่กู้นอกเหนือจากการคิดดอกเบี้ยตามปกติอีก(ไม่ทราบว่าเป็นธรรมเนียมของประเทศไหนกัน)  และยังเรียกเบี้ยปรับในการชำระเงินล่าช้าอีกครั้งละ 500 บาทอีก(โหดดี ฮิ)  ดูซิว่าศาลฎีกาจะว่าอย่างไร   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1147/2553 คดีระหว่าง ธนาคารซิตี้แบงค์ โจทก์ กับ นายสมชาย เครือองอาจนุกุล จำเลย   คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 134,688.13 บาท  พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี  จากต้นเงิน 77,058 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์   จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง  จำเลยขาดนัดพิจารณา  ศาลชั้นต้นตัดสินชี้ขาดคดีไปฝ่ายเดียว   ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 132,188.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี    77,058 บาท  นับถัดจากวันฟ้อง(ฟ้องวันที่ 10 ตุลาคม 2548)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก   จำเลยอุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น   ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า...... การที่โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์  การประกอบธุรกิจของโจทก์อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการให้กู้ยืมเงินโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตอบแทนจากผู้กู้ซึ่งการเรียกดอกเบี้ยต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง  การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด  ซึ่งในขณะที่จำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์นั้นธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์รวมทั้งโจทก์จะเรียกดอกเบี้ยได้จะต้องประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แล้วส่งสำเนาประกาศไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงจะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้  ดังนั้น  การที่โจทก์คิดค่าธรรมเนียมในการกู้ยืมเงินจากจำเลยอัตราร้อยละ 0.5 ของวงเงินกู้หรือ 1,5000 บาท โดยหักจากต้นเงินที่จะจ่ายให้แก่จำเลย  จึงเป็นการไม่ชอบ  นอกจากนี้ตามประกาศอัตราดอกเบี้ยของโจทก์มิได้มีข้อกำหนดให้เรียกเบี้ยปรับในกรณีชำระหนี้ล่าช้า  ดังนั้น  การที่โจทก์เรียกเบี้ยปรับในการชำระเงินล่าช้าครั้งละ 500 บาท จึงไม่ชอบเช่นกัน  แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ในข้อนี้แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน  ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้   พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรับผิดชำระต้นเงิน 99,250 บาท โดยให้นำเงินที่จำเลยชำระมาหักชำระหนี้ ณ วันที่มีการชำระในแต่ละครั้ง โดยให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 0.5 ต่อเดือนในระยะเวลา 6 เดือนแรกนับแต่วันที่จำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์ หลังจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.25 ต่อเดือน เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์  แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยหลังฟ้องต้องไม่เกินจำนวนที่โจทก์ขอ  นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น  ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 กระแสต่างแดน

  นิวเคลียร์เริ่มไม่เคลียองค์กรผู้บริโภคของญี่ปุ่น Consumers Union of Japan ได้ทำจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คาน เรียกร้องให้ญี่ปุ่นจัดหาแหล่งพลังงานใหม่โดยด่วน เพราะเป็นที่ประจักษ์กันแล้วว่าพลังงานนิวเคลียร์นั้นไม่ใช่ทางเลือกพลังงานที่สะอาด หรือปลอดภัยหายห่วงอีกต่อไป  องค์กรผู้บริโภค CUJ ซึ่งคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาตลอดด้วยเหตุผลว่าสิ่งมีชีวิตและกัมมันตรังสีไม่มีทางอยู่ร่วมกันได้ ยังได้ทำจดหมายไปถึงคณะกรรมการด้านความปลอดภัยของอาหารเรียกร้องของให้คำนึงถึงประเด็นต่อไปนี้ในการพิจารณากฎหมายว่าด้วยระดับความปลอดภัยของกัมมันตรังสีในอาหารด้วย  เช่น ให้ถือว่ากัมมันตรังสีซีเซียมและไอโอดีน เป็นสารก่อมะเร็ง ให้คำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวต่ออวัยวะภายใน และให้ใช้แนวปฏิบัติขององค์การอนามัยโลกที่ว่าด้วยภัยพิบัติและสุขภาพ มาประกอบการพิจารณาด้วย ที่สำคัญ CUJ ยังเรียกร้องให้คณะกรรมการดังกล่าวออกมาชี้แจงต่อประชาชนด้วยว่า เหตุใดก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นจึงไม่มีกฎหมายเรื่องนี้มาก่อน (น่านสิ) อีกอย่างที่ยังไม่มีในขณะนี้คือ มาตรฐานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ที่ทั่วโลกใช้ร่วมกัน เรียกว่าใครใคร่จะทำด้วยมาตรฐานความปลอดภัยสูง (หรือต่ำ) แค่ไหนก็ทำกันไป เหตุการณ์เตาปฏิกรณ์ที่ผ่านมาตรฐานยูเครนแต่ไม่ผ่านมาตรฐานของประเทศตะวันตก ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เชอโนบิล ระเบิดเมื่อปี 2529 ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการกำหนดมาตรฐานร่วมกันขึ้นมาแต่อย่างใด  แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ที่ญี่ปุ่นได้สะท้อนให้เห็นอีกครั้งว่า เราทั้งหมดที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ต่างก็มีสิทธิลุ้นรับผลกระทบจากสารกัมมันตรังสีได้โดยทั่วกัน   ข่าวล่าสุดบอกว่า นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส นิโคลา ซาโกซี เสนอให้มีการคุยกันเรื่องนี้เสียที ในการประชุม G20 ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ แต่ยังไม่ข่าวต่อว่าผู้นำประเทศอื่นๆ คิดเห็นอย่างไร  ขณะนี้ ร้อยละ 90 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ในประเทศจีน เกาหลี อินเดีย และรัสเซีย   ข่าวลือกลายเป็นข่าวร้าย (ของคนปล่อย)เฉินเป็นหนุ่มมือไว เลยต้องนอนคุก 10 วันแถมโดนปรับอีก 500 หยวน(ประมาณ 2,300 บาท)  เหตุเพราะแกไปโพสต์ข้อความที่บอกว่าขณะนี้กัมมันตรังสีที่รั่วไหลมากจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ ได้ลุกลามมาถึงชายฝั่งทางทิศตะวันออกของเมืองชานตุงแล้วนั่นเอง  เท่านั้นยังไม่พอ แกยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับเหล่าสาวกออนไลน์อีกว่า ให้รีบออกไปซื้อเกลือหรือสาหร่ายทะเลชนิดที่มีไอโอดีนสูงมากินกันให้ไว และอย่าลืมซื้อตุนไว้ด้วย แถมยังแนะนำให้งดกินอาหารทะเลเป็นเวลาหนึ่งปี  ข่าวนี้ได้รับการกระจายออกไปอย่างรวดเร็วตามสปีดของอินเตอร์เน็ท และทำให้ผู้คนเมืองนั้นเกิดความตื่นตระหนก จนทำให้เกิดภาวะเกลือขาดตลาดกันในซีเจียง กวางตุ้ง เจียงสี และเสฉวนกันเลยทีเดียว  แต่ไม่นานหลังจากนั้น ผู้บริโภคก็ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องว่าเกลือไอโอดีนไม่ได้สามารถช่วยต้านกัมมันตรังสีได้อย่างที่ลือกัน ว่าแล้วก็พากันเอาเกลือกลับไปที่ร้านและขอเงินคืนกันเป็นการใหญ่  นายเฉินแกก็ยอมสารภาพว่าข้อมูลที่แกได้มานั้นก็ไม่ได้มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้แต่อย่างใด นักวิชาการของจีน ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า ความจริงเรื่องนี้รัฐบาลต้องรับผิดชอบ โทษฐานที่ให้ข้อมูลกับประชาชนช้าเกินไปในยามที่เกิดภัยพิบัติ ชาวบ้านร้านตลาดอย่างที่ไม่มีข้อมูลเรื่องนี้มาก่อนจึงเกิดความตื่นตระหนกเป็นธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนในวัยกลางคน และผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะเชื่อข่าวลือมากกว่าคนวัยอื่นๆ นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าก่อนปักใจเชื่อฟอร์เวิร์ดเมล์ อย่าลืมตรวจสอบข้อมูลกับผู้รู้จริง ที่มีตัวตนจริงก่อน   เมื่อ App. ถูกโหวตออก เมื่อ App. Store ของบริษัท Apple วางจำหน่ายโปรแกรมที่อ้างว่าสามารถ “เปลี่ยนผู้ใช้ให้เป็นอดีตเกย์” ได้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็ปลุกกระแสต่อต้านจากกลุ่มผู้พิทักษ์สิทธิคนรักเพศเดียวกันไม่น้อยทีเดียว App. ดังกล่าวจัดมาโดยองค์กรทางศาสนาที่ชื่อว่า Exodus International ที่อ้างว่าต้องการช่วยให้มนุษย์ทักผู้ทุกนามหลุดพ้นจากการรักชอบเพศเดียวกันมาเป็นการรักชอบเพศตรงข้ามได้ ด้วยพลังของพระเยซู  สาวๆ ฟังแล้วอาจจะแอบดีใจ แต่เรื่องนี้มันไม่ง่ายอย่างนั้น สิ่งที่กลุ่มคนรักร่วมเพศรับไม่ได้คือการที่องค์กรนี้ รวมถึงร้าน Apple ที่นำ Gay Cure App. ไปวางขาย กำลังสื่อสารให้คนรุ่นใหม่เข้าใจว่าการรักเพศเดียวกันนั้นเป็น “บาปที่เกาะกินหัวใจ” ไม่ใช่แค่เรื่องของรสนิยมทางเพศ  กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับการละเมิดสิทธิครั้งนี้จึงทำจดหมายไปยังคุณ สตีฟ จ็อบส์ พร้อมกับลายเซ็นของผู้คัดค้านการจำหน่าย App. ดังกล่าว กว่า 146,000 คน  ผลคือทางร้านยกเลิกการขาย App. ดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา แปลกดีที่ Apple ยังไม่เข็ดจากการถูกเรียกร้องให้ถอน App. คล้ายๆ กันนี้ที่ชื่อว่า Manhattan Declaration ไปเมื่อปีที่แล้ว   เช้านี้ คุณอาบน้ำหรือยัง เรามาดูสถิติการอาบน้ำของคนฝรั่งเศส ที่ลือกัน(โดยคนที่อื่น) ว่าไม่ถูกกับการอาบน้ำเป็นที่สุด ถึงขั้นที่บางคนยังเข้าใจไปว่าผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายนั้นเป็นสินค้าผิดกฎหมายในฝรั่งเศสด้วยซ้ำ ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษ ระบุว่าการสำรวจเมื่อปี 19   98 พบว่าร้อยละ 47 ของคนฝรั่งเศสอาบน้ำทุกวัน ในขณะที่ในเนเธอร์แลนด์หรือเดนมาร์กนั้นมีคนอาบน้ำทุกวันถึงร้อยละ 80  องค์กรด้านสุขอนามัยของฝรั่งเศสเขาบอกว่า ถ้าร้อยละ 47 ที่ว่านั้นพูดจริงไม่สร้างภาพ ตัวเลขการบริโภคผลิตภัณฑ์อาบน้ำก็ควรจะอยู่ที่ 1 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แต่ความจริงแล้วมีการบริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าว 0.58 กิโลกรัมต่อคนต่อปีเท่านั้น  อย่างไรก็ตาม ต่อมาในปี 2002 มีการสำรวจที่พบว่า คนฝรั่งเศสเป็นกลุ่มที่มีการบริโภคสินค้าประเภท เจลอาบน้ำ แชมพู และโรลออน มากที่สุดในยุโรป และร้อยละ 90 ของผู้หญิงฝรั่งเศส ยังใช้น้ำหอมทุกวันอีกด้วย เอาเป็นว่า ถึงจะไม่อาบน้ำ แต่เขาก็ไม่เหม็นหรอกน่า   คนมาเลย์ก็หนี้ท่วมคนมาเลย์ก็เจอปัญหาหนี้ไม่แพ้บ้านเราเหมือนกัน หลักๆ แล้วคนส่วนใหญ่ที่นั่นแล้วจะมีหนี้เป็นสองเท่าของรายได้ตนเองสถิติเขายังระบุอีกว่า ระหว่างปี 2005 ถึง 2010 มีคนมาเลย์มากกว่า 80,000 คน เป็นบุคคลล้มละลาย ด้วยสาเหตุหลักๆ เพราะหนี้จากการเช่าซื้อ(ร้อยละ 24) หนี้จากเงินกู้ส่วนบุคคล(ร้อยละ 12) หนี้จากเงินกู้เพื่อทำธุรกิจ(ร้อยละ 11) หนี้จากการกู้ซื้อบ้าน(ร้อยละ 8) และอีกร้อยละ 5 เป็นหนี้จากบัตรเครดิต แม้หนี้จากบัตรเครดิตจะไม่มากเมื่อเทียบกับหนื้อื่นๆ แต่น่าสนใจตรงที่ร้อยละ 50 ของคนที่ล้มละลายเพราะหนี้บัตรเครดิตนั้น อายุยังไม่ถึง 30 ปีด้วยซ้ำ  แต่ใช่ว่าสูงวัยแล้วจะปลอดภัยจากหนี้  องค์กรผู้บริโภคของมาเลเซียบอกว่า ร้อยละ 72 ของผู้สูงอายุจะใช้เงินสะสมที่ได้รับเมื่อเกษียณจากงานประจำ หมดไปภายใน 3 ปี ทั้งนี้เขาประมาณการไว้ว่าแต่ละคนจะใช้เงินประมาณ 1,300 ริงกิต (13,000) ต่อเดือน ซึ่งในจำนวนนี้ 500 ริงกิต (5,000 บาท) เป็นค่าอาหารล้วนๆ เขาจึงเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความรู้ทางเรื่องการเงินกับผู้คนแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่ระดับโรงเรียน และขอให้รัฐบาลมีกฎหมายแบบเดียวกับของอังกฤษที่ควบคุมดูแลบริการทางการเงินทุกประเภทไว้ภายใต้กฎหมาย Consumer Credit Act ฉบับเดียว  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนมีนาคม 255410 มีนาคม 2554ขอระงับใช้มือถือชั่วคราว ต้องไม่เสียเงินสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยข้อมูล พบผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ขอระงับการใช้บริการชั่วคราว ยังคงถูกเรียกเก็บเงินค่ารักษาเลขหมายโดยไม่เป็นธรรม ทั้งที่ตามมาตรฐานสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 25 ระบุไว้ว่า ให้ความคุ้มครองผู้บริโภคในการระงับใช้บริการชั่วคราวได้ โดยแจ้งให้บริษัททราบล่วงหน้า 3 วัน โดยบริษัทจะกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำสุดหรือสูงสุดที่ยินยอมให้ระงับการใช้บริการชั่วคราว ที่สำคัญคือ บริษัทไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าใช้จ่าย เพียงแต่ให้มีการระงับการให้บริการไปจนครบกำหนดตามเงื่อนไข เมื่อครบกำหนดแล้วบริษัทผู้ให้บริการจึงค่อยกลับมาเปิดให้บริการและคิดค่าบริการตามปกติ  จากการตรวจสอบข้อมูลของ สบท. พบว่า ในทางปฏิบัติ มีเพียงผู้ให้บริการรายเดียวที่เปิดให้ผู้บริโภคสามารถระงับบริการชั่วคราวได้ 2 ปี โดยไม่คิดค่าบริการใน 30 วันแรก หลังจากนั้นจะคิดค่ารักษาเลขหมายเดือนละ 60 บาท ขณะที่ผู้ให้บริการที่เหลือไม่ได้ให้สิทธิผู้บริโภคในการระงับบริการชั่วคราวตามกฎหมาย หากมีการระงับบริการชั่วคราวต้องจ่ายค่าบริการตามปกติ หรือสมัครใช้โปรโมชั่นที่ราคาต่ำสุด หรือ บางรายที่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์บ้านและมีบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วย ให้สิทธิในการระงับบริการชั่วคราวโทรศัพท์บ้านได้ แต่ต้องจ่ายค่ารักษาคู่สายโทรศัพท์ และกรณีสมัครใช้บริการอินเทอร์เน็ตไว้ด้วย ไม่สามารถระงับการใช้บริการชั่วคราวได้ต้องยกเลิกบริการเท่านั้น -------------------     19 มีนาคม 2554สคบ. เดินหน้า 6 นโยบายเชิงรุกเพื่อผู้บริโภคสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เตรียมผลักดันการดำเนินงานนโยบายการทำงานเชิงรุก 6 ข้อ เน้นที่ตรวจสอบเฝ้าระวังสื่อโฆษณาทุกช่องทาง ควบคู่กับการสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้บริโภค พร้อมประเดิมลงดาบกับบรรดาธุรกิจขายตรงที่ไม่มีความเคลื่อนไหว ซึ่งธุรกิจประเภทนี้มีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้น หวั่นเป็นการตั้งบริษัทแบบไม่โปร่งใส โดยนโยบายเชิงรุกในการสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มความรู้ในงานคุ้มครองผู้บริโภคทั้ง 6 ข้อมีดังนี้  1. รายงานผลการ ดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีทุกเดือน 2. แต่งตั้งเจ้าหน้าที่พนักงานข้าราชการสคบ.ประจำจังหวัด จำนวน 150 อัตรา เพื่อให้การทำงานมีความต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันการทำงานเพื่อรับเรื่องร้องเรียนในต่างจังหวัดนั้น จะมีพนักงานลูกค้าอยู่ประจำ 2 คน ทำให้มีการลาออกจากตำแหน่งอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่เห็นความก้าวหน้าในอาชีพ ซึ่งทาง สคบ.ได้ยื่นเรื่องเพื่อขออัตราตำแหน่ง เป็นกรณียกเว้น ตามมติครม. ที่มีคำสั่งไม่ให้เพิ่มจำนวนข้าราชการ 3. แต่งตั้งกองงานสำนักงานเพื่อดูแลธุรกิจขายตรงโดยเฉพาะ 4. ปรับปรุงเว็บไซต์ให้ผู้บริโภคค้นหาข้อมูลได้ง่ายขึ้น 5. มอบตราสัญลักษณ์ธุรกิจติดดาว เพื่อยกมาตรฐาน สินค้าและบริการให้กับธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบ้านจัดสรร ร้านค้าทอง วัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการร่วมรับผิดชอบในการยกระดับมาตรฐานสินค้า และบริการ 6. เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบโฆษณาเกินจริง โดยเฉพาะสื่อโฆษณาเคเบิลทีวีเนื่องจากที่ผ่านมาสคบ. ได้รับร้องเรียนจากผู้บริโภคถึงการอวดอ้าง สรรพคุณสินค้าและบริการที่เกินจริง ซึ่ง มีสินค้าและบริการที่เข้าข่ายอยู่ 4 กลุ่ม คือ เครื่องสำอาง เสริมอาหาร ยา และการพยากรณ์โชคชะตา การใบ้หวย----------------------------------------     21 มีนาคม 2554ห้าม! ธนาคารพาณิชย์จัดชิงโชคเรียกคนออมเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกกฎเหล็กห้ามธนาคารพาณิชย์จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดด้วยวิธีการชิงโชคแจกรางวัลเพื่อหวังจะระดมเงินฝากจากลูกค้า เพราะบางครั้งการโฆษณาให้ฝากเงินเพื่อร่วมชิงโชคนั้น ทางธนาคารให้ข้อมูลที่ซับซ้อนและไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสถาบันการเงินธนาคารพาณิชย์มีการจัดกิจกรรมทางการตลาดที่หลากหลาย เรื่องการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและการแจกของรางวัลในการระดมเงินฝาก ดูเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม หากธนาคารต้องการกระตุ้นการฝากเงินจากผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการ ควรใช้วิธีการเพิ่มดอกเบี้ยเงิน ซึ่งเป็นวิธีที่จริงใจตรงไปตรงมา และตัวผู้บริโภคเองก็ได้รับประโยชน์มากที่สุด-------------------------------------------------------------   22 มีนาคม 2554หมวกกันน็อคไม่ได้คุณภาพกองบังคับการปราบปราม การกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริดภค (บก.ปคบ.) ได้ตรวจยึดสินค้าและจับกุมผู้ผลิต หมวกนิรภัยหรือหมวกกันน็อคสำหรับเด็กยี่ห้อ GUARDNER กว่า 1 พันใบ หลังจากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ยืนยันจากผลการวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญจากสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) แม้จะมีตรา มอก.ติดอยู่แต่ตัวหมวกนั้นดูเปราะบางกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งในปีนี้ทางภาครัฐได้ประกาศรณรงค์ให้เป็นปีส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยหรือหมวกกันน็อค 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนน โดยเฉพาะกับกลุ่มที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิต ได้แก่ เด็ก เยาวชน และผู้ใช้แรงงานที่มีรายได้ต่ำและขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการใช้หมวกนิรภัย กองบังคับการปราบปราม การกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริดภค (บก.ปคบ.) จึงได้จัดทำโครงการ “ขับขี่ปลอดภัย ไปกับหมวกนิรภัย มอก.” โดยได้มีการลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ประชาชนควบคู่กับการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าประเภทหมวกนิรภัย  สำหรับที่พบเจอหรือสงสัยว่าสินค้าที่ซื้อมาไม่ได้มาตรฐาน สามารถแจ้งมายังเจ้าหน้าที่ บก.ปคบ.ได้ที่หมายเลข 1135    ฉลากขนมแบบสัญญาณไฟจราจร คำตอบที่ใช่ของสุขภาพเด็กไทยเครือข่ายผู้บริโภคเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีสาธารณสุข เพื่อขอให้ทบทวนการอนุมัติการใช้ฉลากขนมแบบ GDA เพราะยังเข้าใจยาก ไม่ได้บอกถึงข้อดีข้อเสียของขนมชนิดนั้นๆ อย่างตรงไปตรง พร้อมเสนอให้ใช้ฉลากแบบสัญญาณไฟจราจรซึ่งให้ข้อมูลต่างๆ ที่ดูเข้าใจง่ายกว่า ฉลากแบบสัญญาณไฟจราจรจะแสดงปริมาณสารอาหารทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ พลังงาน ไขมัน น้ำตาล และโซเดียม ในรูปแบบของสีสัญญาณไฟจราจร 3 สี คือ สีเขียว หมายถึง สารอาหารดังกล่าวมีปริมาณน้อย สีเหลือง เท่ากับมีพอสมควรหรือปานกลาง ส่วนสีแดงหมายถึงมีมาก ทานเยอะไม่ดี ซึ่งฉลากแบบสัญญาณไฟจราจรจะช่วยให้เด็กๆ และรวมถึงพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง เข้าใจได้ง่าย รวดเร็ว รู้ได้ทันทีว่าขนมที่ซื้อมาให้พลังงานหรือมีไขมัน น้ำตาล โซเดียม มากน้อยเพียงใด ช่วยทำให้การควบคุมการทานขนมให้เหมาะสมกับสุขภาพเป็นไปได้ง่ายขึ้น ซึ่ง พลังงาน ไขมัน น้ำตาล และโซเดียม แม้จะเป็นสารอาหารที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกาย แต่หากได้รับมากเกินไปก็เป็นอันตราย ทำให้เด็กเป็นโรคอ้วน ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคร้ายแรงอย่าง เบาหวาน หัวใจ ความดัน  ส่วนฉลากขนมแบบ GDA จะแสดงเพียงตัวเลขปริมาณของสารอาหารและเปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่ควรทานต่อวัน มีสีเดียว ทำให้เห็นฉลากนี้ชัดเจนน้อยกว่าฉลากแบบอื่น จนบางครั้งกลืนไปกับบรรจุภัณฑ์ ผู้ประกอบการจึงมักใช้ฉลากแบบ GDA ที่มีสีเดียวเพื่อหลบเลี่ยงความสนใจจากผู้บริโภคในค่าสารอาหารที่ไม่มีประโยชน์แต่มีมากจนทำลายสุขภาพ  ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ให้ใช้มาตรการลักษณะสีสัญญาณพร้อมคำเตือนในอาหารที่มีไขมัน หรือน้ำตาล หรือโซเดียม หากคณะกรรมการอาหารเห็นชอบให้ใช้ฉลากจีดีเอสีเดียว ก็ถือว่าขัดกับมติ ครม.อย่างชัดเจน  ...ถ้าผู้ใหญ่ในบ้านเรามีความจริงใจและห่วงใยสุขภาพเด็กๆ จริงๆ ก็คงไม่ต้องบอกว่าฉลากขนมแบบไหนที่ควรใช้มากกว่ากัน...--------------     “3 ระวัง! เพื่อรถโดยสารปลอดภัย”ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิเพื่อผู้บริโภค พร้อมอาสาสมัครผู้บริโภคจากเครือข่ายผู้บริโภค 24 จังหวัด จัดกิจกรรมเนื่องในวันสงกรานต์ “3 ระวัง! เพื่อรถโดยสารปลอดภัย” เชิญชวนประชาชนผู้ใช้บริการ ผู้ประกอบการรถโดยสาร รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันป้องกันภัยอันตรายจากการใช้บริการรถโดยสารที่ไม่เหมาะสม 1.ระวัง! รถผี รถเถื่อน เพราะช่วงเทศกาลเป็นช่วงที่มีคนต้องการเดินทางออกต่างจังหวัดกันเป็นจำนวนมาก แม้จะมีการจัดหารถโดยสารมาเสริมเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังไม่พอกับความต้องการ ทำให้เกิดการให้บริการรถโดยสารผิดกฎหมายหรือที่เรียกว่า “รถผี รถเถื่อน” รถประเภทนี้จะไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบการเดินรถที่ บขส. ได้กำหนดไว้ มีการเรียกเก็บค่าโดยสารที่แพงเกินกำหนด เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้งมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และเมื่อเกิดเหตุร้ายกับผู้โดยสารแล้ว มักจะหาผู้รับผิดชอบได้ยาก เราจึงไม่ควรเลือกใช้บริการพวก “รถผี รถเถื่อน” บขส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้มงวดกวดขันเฝ้าระวังมิให้ผู้ใดมาชักชวนประชาชนไปใช้บริการรถโดยสารที่ผิดกฎหมายได้  2.ระวัง! ขับอันตราย สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารส่วนใหญ่เกิดจากพนักงานขับรถขับรถด้วยความประมาท หรือร่างกายหย่อนความสามารถ ไม่พร้อม การแก้ไขปัญหา ผู้ประกอบการทั้ง บขส.และรถร่วมทุกบริษัท ต้องกำชับให้พนักงานขับรถปฏิบัติตามระเบียบและคู่มือการเดินรถของ บขส. อย่างเคร่งครัด เช่น ไม่ขับรถในเวลาที่ร่างกายหรือจิตใจหย่อนความสามารถ เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ และต้องปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด  3.ระวัง! ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย รถโดยสารสาธารณะโดยเฉพาะรถประจำทางปรับอากาศที่เดินทางระหว่างจังหวัดหรือข้ามจังหวัด ควรจัดให้มีเข็มขัดนิรภัยแก่ผู้โดยสารทุกที่นั่ง และควรให้พนักงานประจำรถแนะนำผู้โดยสารให้ใช้เข็มขัดนิรภัยทุกคน การที่ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัยหากรถเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะทำให้ร่างกายของผู้โดยสารไม่หลุดจากที่นั่งไปชนกระแทกกับผู้โดยสารคนอื่นหรือวัสดุสิ่งของต่างๆ ในรถได้ ซึ่งช่วยลดความสูญเสียที่เกิดจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้เป็นอย่างดี  

อ่านเพิ่มเติม >