ฉบับที่ 122 ธนาคารมีสิทธิคิดค่าธรรมเนียมในการกู้ยืมนอกเหนือไปจากดอกเบี้ยได้หรือไม่

  ฉบับนี้ผู้เขียนก็มีเรื่องใกล้ตัวผู้บริโภคมาฝากอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของการกู้ยืมเงินจากธนาคารซิตี้แบงค์   แล้วธนาคารซิตี้แบงค์คิดค่าธรรมเนียมในการกู้ยืมเงินจากผู้กู้ในอัตราร้อยละ 0.5 ของวงเงินที่กู้นอกเหนือจากการคิดดอกเบี้ยตามปกติอีก(ไม่ทราบว่าเป็นธรรมเนียมของประเทศไหนกัน)  และยังเรียกเบี้ยปรับในการชำระเงินล่าช้าอีกครั้งละ 500 บาทอีก(โหดดี ฮิ)  ดูซิว่าศาลฎีกาจะว่าอย่างไร   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1147/2553 คดีระหว่าง ธนาคารซิตี้แบงค์ โจทก์ กับ นายสมชาย เครือองอาจนุกุล จำเลย   คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 134,688.13 บาท  พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี  จากต้นเงิน 77,058 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์   จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง  จำเลยขาดนัดพิจารณา  ศาลชั้นต้นตัดสินชี้ขาดคดีไปฝ่ายเดียว   ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 132,188.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี    77,058 บาท  นับถัดจากวันฟ้อง(ฟ้องวันที่ 10 ตุลาคม 2548)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก   จำเลยอุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น   ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า...... การที่โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์  การประกอบธุรกิจของโจทก์อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการให้กู้ยืมเงินโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตอบแทนจากผู้กู้ซึ่งการเรียกดอกเบี้ยต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง  การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด  ซึ่งในขณะที่จำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์นั้นธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์รวมทั้งโจทก์จะเรียกดอกเบี้ยได้จะต้องประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แล้วส่งสำเนาประกาศไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงจะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้  ดังนั้น  การที่โจทก์คิดค่าธรรมเนียมในการกู้ยืมเงินจากจำเลยอัตราร้อยละ 0.5 ของวงเงินกู้หรือ 1,5000 บาท โดยหักจากต้นเงินที่จะจ่ายให้แก่จำเลย  จึงเป็นการไม่ชอบ  นอกจากนี้ตามประกาศอัตราดอกเบี้ยของโจทก์มิได้มีข้อกำหนดให้เรียกเบี้ยปรับในกรณีชำระหนี้ล่าช้า  ดังนั้น  การที่โจทก์เรียกเบี้ยปรับในการชำระเงินล่าช้าครั้งละ 500 บาท จึงไม่ชอบเช่นกัน  แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ในข้อนี้แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน  ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้   พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรับผิดชำระต้นเงิน 99,250 บาท โดยให้นำเงินที่จำเลยชำระมาหักชำระหนี้ ณ วันที่มีการชำระในแต่ละครั้ง โดยให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 0.5 ต่อเดือนในระยะเวลา 6 เดือนแรกนับแต่วันที่จำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์ หลังจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.25 ต่อเดือน เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์  แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยหลังฟ้องต้องไม่เกินจำนวนที่โจทก์ขอ  นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น  ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 กระแสต่างแดน

  นิวเคลียร์เริ่มไม่เคลียองค์กรผู้บริโภคของญี่ปุ่น Consumers Union of Japan ได้ทำจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คาน เรียกร้องให้ญี่ปุ่นจัดหาแหล่งพลังงานใหม่โดยด่วน เพราะเป็นที่ประจักษ์กันแล้วว่าพลังงานนิวเคลียร์นั้นไม่ใช่ทางเลือกพลังงานที่สะอาด หรือปลอดภัยหายห่วงอีกต่อไป  องค์กรผู้บริโภค CUJ ซึ่งคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาตลอดด้วยเหตุผลว่าสิ่งมีชีวิตและกัมมันตรังสีไม่มีทางอยู่ร่วมกันได้ ยังได้ทำจดหมายไปถึงคณะกรรมการด้านความปลอดภัยของอาหารเรียกร้องของให้คำนึงถึงประเด็นต่อไปนี้ในการพิจารณากฎหมายว่าด้วยระดับความปลอดภัยของกัมมันตรังสีในอาหารด้วย  เช่น ให้ถือว่ากัมมันตรังสีซีเซียมและไอโอดีน เป็นสารก่อมะเร็ง ให้คำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวต่ออวัยวะภายใน และให้ใช้แนวปฏิบัติขององค์การอนามัยโลกที่ว่าด้วยภัยพิบัติและสุขภาพ มาประกอบการพิจารณาด้วย ที่สำคัญ CUJ ยังเรียกร้องให้คณะกรรมการดังกล่าวออกมาชี้แจงต่อประชาชนด้วยว่า เหตุใดก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นจึงไม่มีกฎหมายเรื่องนี้มาก่อน (น่านสิ) อีกอย่างที่ยังไม่มีในขณะนี้คือ มาตรฐานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ที่ทั่วโลกใช้ร่วมกัน เรียกว่าใครใคร่จะทำด้วยมาตรฐานความปลอดภัยสูง (หรือต่ำ) แค่ไหนก็ทำกันไป เหตุการณ์เตาปฏิกรณ์ที่ผ่านมาตรฐานยูเครนแต่ไม่ผ่านมาตรฐานของประเทศตะวันตก ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เชอโนบิล ระเบิดเมื่อปี 2529 ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการกำหนดมาตรฐานร่วมกันขึ้นมาแต่อย่างใด  แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ที่ญี่ปุ่นได้สะท้อนให้เห็นอีกครั้งว่า เราทั้งหมดที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ต่างก็มีสิทธิลุ้นรับผลกระทบจากสารกัมมันตรังสีได้โดยทั่วกัน   ข่าวล่าสุดบอกว่า นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส นิโคลา ซาโกซี เสนอให้มีการคุยกันเรื่องนี้เสียที ในการประชุม G20 ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ แต่ยังไม่ข่าวต่อว่าผู้นำประเทศอื่นๆ คิดเห็นอย่างไร  ขณะนี้ ร้อยละ 90 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ในประเทศจีน เกาหลี อินเดีย และรัสเซีย   ข่าวลือกลายเป็นข่าวร้าย (ของคนปล่อย)เฉินเป็นหนุ่มมือไว เลยต้องนอนคุก 10 วันแถมโดนปรับอีก 500 หยวน(ประมาณ 2,300 บาท)  เหตุเพราะแกไปโพสต์ข้อความที่บอกว่าขณะนี้กัมมันตรังสีที่รั่วไหลมากจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ ได้ลุกลามมาถึงชายฝั่งทางทิศตะวันออกของเมืองชานตุงแล้วนั่นเอง  เท่านั้นยังไม่พอ แกยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับเหล่าสาวกออนไลน์อีกว่า ให้รีบออกไปซื้อเกลือหรือสาหร่ายทะเลชนิดที่มีไอโอดีนสูงมากินกันให้ไว และอย่าลืมซื้อตุนไว้ด้วย แถมยังแนะนำให้งดกินอาหารทะเลเป็นเวลาหนึ่งปี  ข่าวนี้ได้รับการกระจายออกไปอย่างรวดเร็วตามสปีดของอินเตอร์เน็ท และทำให้ผู้คนเมืองนั้นเกิดความตื่นตระหนก จนทำให้เกิดภาวะเกลือขาดตลาดกันในซีเจียง กวางตุ้ง เจียงสี และเสฉวนกันเลยทีเดียว  แต่ไม่นานหลังจากนั้น ผู้บริโภคก็ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องว่าเกลือไอโอดีนไม่ได้สามารถช่วยต้านกัมมันตรังสีได้อย่างที่ลือกัน ว่าแล้วก็พากันเอาเกลือกลับไปที่ร้านและขอเงินคืนกันเป็นการใหญ่  นายเฉินแกก็ยอมสารภาพว่าข้อมูลที่แกได้มานั้นก็ไม่ได้มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้แต่อย่างใด นักวิชาการของจีน ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า ความจริงเรื่องนี้รัฐบาลต้องรับผิดชอบ โทษฐานที่ให้ข้อมูลกับประชาชนช้าเกินไปในยามที่เกิดภัยพิบัติ ชาวบ้านร้านตลาดอย่างที่ไม่มีข้อมูลเรื่องนี้มาก่อนจึงเกิดความตื่นตระหนกเป็นธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนในวัยกลางคน และผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะเชื่อข่าวลือมากกว่าคนวัยอื่นๆ นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าก่อนปักใจเชื่อฟอร์เวิร์ดเมล์ อย่าลืมตรวจสอบข้อมูลกับผู้รู้จริง ที่มีตัวตนจริงก่อน   เมื่อ App. ถูกโหวตออก เมื่อ App. Store ของบริษัท Apple วางจำหน่ายโปรแกรมที่อ้างว่าสามารถ “เปลี่ยนผู้ใช้ให้เป็นอดีตเกย์” ได้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็ปลุกกระแสต่อต้านจากกลุ่มผู้พิทักษ์สิทธิคนรักเพศเดียวกันไม่น้อยทีเดียว App. ดังกล่าวจัดมาโดยองค์กรทางศาสนาที่ชื่อว่า Exodus International ที่อ้างว่าต้องการช่วยให้มนุษย์ทักผู้ทุกนามหลุดพ้นจากการรักชอบเพศเดียวกันมาเป็นการรักชอบเพศตรงข้ามได้ ด้วยพลังของพระเยซู  สาวๆ ฟังแล้วอาจจะแอบดีใจ แต่เรื่องนี้มันไม่ง่ายอย่างนั้น สิ่งที่กลุ่มคนรักร่วมเพศรับไม่ได้คือการที่องค์กรนี้ รวมถึงร้าน Apple ที่นำ Gay Cure App. ไปวางขาย กำลังสื่อสารให้คนรุ่นใหม่เข้าใจว่าการรักเพศเดียวกันนั้นเป็น “บาปที่เกาะกินหัวใจ” ไม่ใช่แค่เรื่องของรสนิยมทางเพศ  กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับการละเมิดสิทธิครั้งนี้จึงทำจดหมายไปยังคุณ สตีฟ จ็อบส์ พร้อมกับลายเซ็นของผู้คัดค้านการจำหน่าย App. ดังกล่าว กว่า 146,000 คน  ผลคือทางร้านยกเลิกการขาย App. ดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา แปลกดีที่ Apple ยังไม่เข็ดจากการถูกเรียกร้องให้ถอน App. คล้ายๆ กันนี้ที่ชื่อว่า Manhattan Declaration ไปเมื่อปีที่แล้ว   เช้านี้ คุณอาบน้ำหรือยัง เรามาดูสถิติการอาบน้ำของคนฝรั่งเศส ที่ลือกัน(โดยคนที่อื่น) ว่าไม่ถูกกับการอาบน้ำเป็นที่สุด ถึงขั้นที่บางคนยังเข้าใจไปว่าผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายนั้นเป็นสินค้าผิดกฎหมายในฝรั่งเศสด้วยซ้ำ ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษ ระบุว่าการสำรวจเมื่อปี 19   98 พบว่าร้อยละ 47 ของคนฝรั่งเศสอาบน้ำทุกวัน ในขณะที่ในเนเธอร์แลนด์หรือเดนมาร์กนั้นมีคนอาบน้ำทุกวันถึงร้อยละ 80  องค์กรด้านสุขอนามัยของฝรั่งเศสเขาบอกว่า ถ้าร้อยละ 47 ที่ว่านั้นพูดจริงไม่สร้างภาพ ตัวเลขการบริโภคผลิตภัณฑ์อาบน้ำก็ควรจะอยู่ที่ 1 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แต่ความจริงแล้วมีการบริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าว 0.58 กิโลกรัมต่อคนต่อปีเท่านั้น  อย่างไรก็ตาม ต่อมาในปี 2002 มีการสำรวจที่พบว่า คนฝรั่งเศสเป็นกลุ่มที่มีการบริโภคสินค้าประเภท เจลอาบน้ำ แชมพู และโรลออน มากที่สุดในยุโรป และร้อยละ 90 ของผู้หญิงฝรั่งเศส ยังใช้น้ำหอมทุกวันอีกด้วย เอาเป็นว่า ถึงจะไม่อาบน้ำ แต่เขาก็ไม่เหม็นหรอกน่า   คนมาเลย์ก็หนี้ท่วมคนมาเลย์ก็เจอปัญหาหนี้ไม่แพ้บ้านเราเหมือนกัน หลักๆ แล้วคนส่วนใหญ่ที่นั่นแล้วจะมีหนี้เป็นสองเท่าของรายได้ตนเองสถิติเขายังระบุอีกว่า ระหว่างปี 2005 ถึง 2010 มีคนมาเลย์มากกว่า 80,000 คน เป็นบุคคลล้มละลาย ด้วยสาเหตุหลักๆ เพราะหนี้จากการเช่าซื้อ(ร้อยละ 24) หนี้จากเงินกู้ส่วนบุคคล(ร้อยละ 12) หนี้จากเงินกู้เพื่อทำธุรกิจ(ร้อยละ 11) หนี้จากการกู้ซื้อบ้าน(ร้อยละ 8) และอีกร้อยละ 5 เป็นหนี้จากบัตรเครดิต แม้หนี้จากบัตรเครดิตจะไม่มากเมื่อเทียบกับหนื้อื่นๆ แต่น่าสนใจตรงที่ร้อยละ 50 ของคนที่ล้มละลายเพราะหนี้บัตรเครดิตนั้น อายุยังไม่ถึง 30 ปีด้วยซ้ำ  แต่ใช่ว่าสูงวัยแล้วจะปลอดภัยจากหนี้  องค์กรผู้บริโภคของมาเลเซียบอกว่า ร้อยละ 72 ของผู้สูงอายุจะใช้เงินสะสมที่ได้รับเมื่อเกษียณจากงานประจำ หมดไปภายใน 3 ปี ทั้งนี้เขาประมาณการไว้ว่าแต่ละคนจะใช้เงินประมาณ 1,300 ริงกิต (13,000) ต่อเดือน ซึ่งในจำนวนนี้ 500 ริงกิต (5,000 บาท) เป็นค่าอาหารล้วนๆ เขาจึงเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความรู้ทางเรื่องการเงินกับผู้คนแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่ระดับโรงเรียน และขอให้รัฐบาลมีกฎหมายแบบเดียวกับของอังกฤษที่ควบคุมดูแลบริการทางการเงินทุกประเภทไว้ภายใต้กฎหมาย Consumer Credit Act ฉบับเดียว  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนมีนาคม 255410 มีนาคม 2554ขอระงับใช้มือถือชั่วคราว ต้องไม่เสียเงินสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยข้อมูล พบผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ขอระงับการใช้บริการชั่วคราว ยังคงถูกเรียกเก็บเงินค่ารักษาเลขหมายโดยไม่เป็นธรรม ทั้งที่ตามมาตรฐานสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 25 ระบุไว้ว่า ให้ความคุ้มครองผู้บริโภคในการระงับใช้บริการชั่วคราวได้ โดยแจ้งให้บริษัททราบล่วงหน้า 3 วัน โดยบริษัทจะกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำสุดหรือสูงสุดที่ยินยอมให้ระงับการใช้บริการชั่วคราว ที่สำคัญคือ บริษัทไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าใช้จ่าย เพียงแต่ให้มีการระงับการให้บริการไปจนครบกำหนดตามเงื่อนไข เมื่อครบกำหนดแล้วบริษัทผู้ให้บริการจึงค่อยกลับมาเปิดให้บริการและคิดค่าบริการตามปกติ  จากการตรวจสอบข้อมูลของ สบท. พบว่า ในทางปฏิบัติ มีเพียงผู้ให้บริการรายเดียวที่เปิดให้ผู้บริโภคสามารถระงับบริการชั่วคราวได้ 2 ปี โดยไม่คิดค่าบริการใน 30 วันแรก หลังจากนั้นจะคิดค่ารักษาเลขหมายเดือนละ 60 บาท ขณะที่ผู้ให้บริการที่เหลือไม่ได้ให้สิทธิผู้บริโภคในการระงับบริการชั่วคราวตามกฎหมาย หากมีการระงับบริการชั่วคราวต้องจ่ายค่าบริการตามปกติ หรือสมัครใช้โปรโมชั่นที่ราคาต่ำสุด หรือ บางรายที่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์บ้านและมีบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วย ให้สิทธิในการระงับบริการชั่วคราวโทรศัพท์บ้านได้ แต่ต้องจ่ายค่ารักษาคู่สายโทรศัพท์ และกรณีสมัครใช้บริการอินเทอร์เน็ตไว้ด้วย ไม่สามารถระงับการใช้บริการชั่วคราวได้ต้องยกเลิกบริการเท่านั้น -------------------     19 มีนาคม 2554สคบ. เดินหน้า 6 นโยบายเชิงรุกเพื่อผู้บริโภคสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เตรียมผลักดันการดำเนินงานนโยบายการทำงานเชิงรุก 6 ข้อ เน้นที่ตรวจสอบเฝ้าระวังสื่อโฆษณาทุกช่องทาง ควบคู่กับการสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้บริโภค พร้อมประเดิมลงดาบกับบรรดาธุรกิจขายตรงที่ไม่มีความเคลื่อนไหว ซึ่งธุรกิจประเภทนี้มีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้น หวั่นเป็นการตั้งบริษัทแบบไม่โปร่งใส โดยนโยบายเชิงรุกในการสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มความรู้ในงานคุ้มครองผู้บริโภคทั้ง 6 ข้อมีดังนี้  1. รายงานผลการ ดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีทุกเดือน 2. แต่งตั้งเจ้าหน้าที่พนักงานข้าราชการสคบ.ประจำจังหวัด จำนวน 150 อัตรา เพื่อให้การทำงานมีความต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันการทำงานเพื่อรับเรื่องร้องเรียนในต่างจังหวัดนั้น จะมีพนักงานลูกค้าอยู่ประจำ 2 คน ทำให้มีการลาออกจากตำแหน่งอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่เห็นความก้าวหน้าในอาชีพ ซึ่งทาง สคบ.ได้ยื่นเรื่องเพื่อขออัตราตำแหน่ง เป็นกรณียกเว้น ตามมติครม. ที่มีคำสั่งไม่ให้เพิ่มจำนวนข้าราชการ 3. แต่งตั้งกองงานสำนักงานเพื่อดูแลธุรกิจขายตรงโดยเฉพาะ 4. ปรับปรุงเว็บไซต์ให้ผู้บริโภคค้นหาข้อมูลได้ง่ายขึ้น 5. มอบตราสัญลักษณ์ธุรกิจติดดาว เพื่อยกมาตรฐาน สินค้าและบริการให้กับธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบ้านจัดสรร ร้านค้าทอง วัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการร่วมรับผิดชอบในการยกระดับมาตรฐานสินค้า และบริการ 6. เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบโฆษณาเกินจริง โดยเฉพาะสื่อโฆษณาเคเบิลทีวีเนื่องจากที่ผ่านมาสคบ. ได้รับร้องเรียนจากผู้บริโภคถึงการอวดอ้าง สรรพคุณสินค้าและบริการที่เกินจริง ซึ่ง มีสินค้าและบริการที่เข้าข่ายอยู่ 4 กลุ่ม คือ เครื่องสำอาง เสริมอาหาร ยา และการพยากรณ์โชคชะตา การใบ้หวย----------------------------------------     21 มีนาคม 2554ห้าม! ธนาคารพาณิชย์จัดชิงโชคเรียกคนออมเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกกฎเหล็กห้ามธนาคารพาณิชย์จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดด้วยวิธีการชิงโชคแจกรางวัลเพื่อหวังจะระดมเงินฝากจากลูกค้า เพราะบางครั้งการโฆษณาให้ฝากเงินเพื่อร่วมชิงโชคนั้น ทางธนาคารให้ข้อมูลที่ซับซ้อนและไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสถาบันการเงินธนาคารพาณิชย์มีการจัดกิจกรรมทางการตลาดที่หลากหลาย เรื่องการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและการแจกของรางวัลในการระดมเงินฝาก ดูเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม หากธนาคารต้องการกระตุ้นการฝากเงินจากผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการ ควรใช้วิธีการเพิ่มดอกเบี้ยเงิน ซึ่งเป็นวิธีที่จริงใจตรงไปตรงมา และตัวผู้บริโภคเองก็ได้รับประโยชน์มากที่สุด-------------------------------------------------------------   22 มีนาคม 2554หมวกกันน็อคไม่ได้คุณภาพกองบังคับการปราบปราม การกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริดภค (บก.ปคบ.) ได้ตรวจยึดสินค้าและจับกุมผู้ผลิต หมวกนิรภัยหรือหมวกกันน็อคสำหรับเด็กยี่ห้อ GUARDNER กว่า 1 พันใบ หลังจากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ยืนยันจากผลการวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญจากสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) แม้จะมีตรา มอก.ติดอยู่แต่ตัวหมวกนั้นดูเปราะบางกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งในปีนี้ทางภาครัฐได้ประกาศรณรงค์ให้เป็นปีส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยหรือหมวกกันน็อค 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนน โดยเฉพาะกับกลุ่มที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิต ได้แก่ เด็ก เยาวชน และผู้ใช้แรงงานที่มีรายได้ต่ำและขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการใช้หมวกนิรภัย กองบังคับการปราบปราม การกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริดภค (บก.ปคบ.) จึงได้จัดทำโครงการ “ขับขี่ปลอดภัย ไปกับหมวกนิรภัย มอก.” โดยได้มีการลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ประชาชนควบคู่กับการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าประเภทหมวกนิรภัย  สำหรับที่พบเจอหรือสงสัยว่าสินค้าที่ซื้อมาไม่ได้มาตรฐาน สามารถแจ้งมายังเจ้าหน้าที่ บก.ปคบ.ได้ที่หมายเลข 1135    ฉลากขนมแบบสัญญาณไฟจราจร คำตอบที่ใช่ของสุขภาพเด็กไทยเครือข่ายผู้บริโภคเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีสาธารณสุข เพื่อขอให้ทบทวนการอนุมัติการใช้ฉลากขนมแบบ GDA เพราะยังเข้าใจยาก ไม่ได้บอกถึงข้อดีข้อเสียของขนมชนิดนั้นๆ อย่างตรงไปตรง พร้อมเสนอให้ใช้ฉลากแบบสัญญาณไฟจราจรซึ่งให้ข้อมูลต่างๆ ที่ดูเข้าใจง่ายกว่า ฉลากแบบสัญญาณไฟจราจรจะแสดงปริมาณสารอาหารทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ พลังงาน ไขมัน น้ำตาล และโซเดียม ในรูปแบบของสีสัญญาณไฟจราจร 3 สี คือ สีเขียว หมายถึง สารอาหารดังกล่าวมีปริมาณน้อย สีเหลือง เท่ากับมีพอสมควรหรือปานกลาง ส่วนสีแดงหมายถึงมีมาก ทานเยอะไม่ดี ซึ่งฉลากแบบสัญญาณไฟจราจรจะช่วยให้เด็กๆ และรวมถึงพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง เข้าใจได้ง่าย รวดเร็ว รู้ได้ทันทีว่าขนมที่ซื้อมาให้พลังงานหรือมีไขมัน น้ำตาล โซเดียม มากน้อยเพียงใด ช่วยทำให้การควบคุมการทานขนมให้เหมาะสมกับสุขภาพเป็นไปได้ง่ายขึ้น ซึ่ง พลังงาน ไขมัน น้ำตาล และโซเดียม แม้จะเป็นสารอาหารที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกาย แต่หากได้รับมากเกินไปก็เป็นอันตราย ทำให้เด็กเป็นโรคอ้วน ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคร้ายแรงอย่าง เบาหวาน หัวใจ ความดัน  ส่วนฉลากขนมแบบ GDA จะแสดงเพียงตัวเลขปริมาณของสารอาหารและเปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่ควรทานต่อวัน มีสีเดียว ทำให้เห็นฉลากนี้ชัดเจนน้อยกว่าฉลากแบบอื่น จนบางครั้งกลืนไปกับบรรจุภัณฑ์ ผู้ประกอบการจึงมักใช้ฉลากแบบ GDA ที่มีสีเดียวเพื่อหลบเลี่ยงความสนใจจากผู้บริโภคในค่าสารอาหารที่ไม่มีประโยชน์แต่มีมากจนทำลายสุขภาพ  ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ให้ใช้มาตรการลักษณะสีสัญญาณพร้อมคำเตือนในอาหารที่มีไขมัน หรือน้ำตาล หรือโซเดียม หากคณะกรรมการอาหารเห็นชอบให้ใช้ฉลากจีดีเอสีเดียว ก็ถือว่าขัดกับมติ ครม.อย่างชัดเจน  ...ถ้าผู้ใหญ่ในบ้านเรามีความจริงใจและห่วงใยสุขภาพเด็กๆ จริงๆ ก็คงไม่ต้องบอกว่าฉลากขนมแบบไหนที่ควรใช้มากกว่ากัน...--------------     “3 ระวัง! เพื่อรถโดยสารปลอดภัย”ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิเพื่อผู้บริโภค พร้อมอาสาสมัครผู้บริโภคจากเครือข่ายผู้บริโภค 24 จังหวัด จัดกิจกรรมเนื่องในวันสงกรานต์ “3 ระวัง! เพื่อรถโดยสารปลอดภัย” เชิญชวนประชาชนผู้ใช้บริการ ผู้ประกอบการรถโดยสาร รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันป้องกันภัยอันตรายจากการใช้บริการรถโดยสารที่ไม่เหมาะสม 1.ระวัง! รถผี รถเถื่อน เพราะช่วงเทศกาลเป็นช่วงที่มีคนต้องการเดินทางออกต่างจังหวัดกันเป็นจำนวนมาก แม้จะมีการจัดหารถโดยสารมาเสริมเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังไม่พอกับความต้องการ ทำให้เกิดการให้บริการรถโดยสารผิดกฎหมายหรือที่เรียกว่า “รถผี รถเถื่อน” รถประเภทนี้จะไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบการเดินรถที่ บขส. ได้กำหนดไว้ มีการเรียกเก็บค่าโดยสารที่แพงเกินกำหนด เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้งมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และเมื่อเกิดเหตุร้ายกับผู้โดยสารแล้ว มักจะหาผู้รับผิดชอบได้ยาก เราจึงไม่ควรเลือกใช้บริการพวก “รถผี รถเถื่อน” บขส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้มงวดกวดขันเฝ้าระวังมิให้ผู้ใดมาชักชวนประชาชนไปใช้บริการรถโดยสารที่ผิดกฎหมายได้  2.ระวัง! ขับอันตราย สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารส่วนใหญ่เกิดจากพนักงานขับรถขับรถด้วยความประมาท หรือร่างกายหย่อนความสามารถ ไม่พร้อม การแก้ไขปัญหา ผู้ประกอบการทั้ง บขส.และรถร่วมทุกบริษัท ต้องกำชับให้พนักงานขับรถปฏิบัติตามระเบียบและคู่มือการเดินรถของ บขส. อย่างเคร่งครัด เช่น ไม่ขับรถในเวลาที่ร่างกายหรือจิตใจหย่อนความสามารถ เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ และต้องปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด  3.ระวัง! ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย รถโดยสารสาธารณะโดยเฉพาะรถประจำทางปรับอากาศที่เดินทางระหว่างจังหวัดหรือข้ามจังหวัด ควรจัดให้มีเข็มขัดนิรภัยแก่ผู้โดยสารทุกที่นั่ง และควรให้พนักงานประจำรถแนะนำผู้โดยสารให้ใช้เข็มขัดนิรภัยทุกคน การที่ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัยหากรถเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะทำให้ร่างกายของผู้โดยสารไม่หลุดจากที่นั่งไปชนกระแทกกับผู้โดยสารคนอื่นหรือวัสดุสิ่งของต่างๆ ในรถได้ ซึ่งช่วยลดความสูญเสียที่เกิดจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้เป็นอย่างดี  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 จะขายก็หลอก ยังมาบอกให้เจาะเลือด

  เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ผมได้รับแจ้งข่าวจาก ภก.สันติ โฉมยงค์ รุ่นน้องที่ปฏิบัติงานที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า สามารถประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมบุคคลที่มาเจาะเลือด และหลอกขายอาหารเสริมจนชาวบ้านหมดเงินไปหลายหมื่น ได้สำเร็จ แว่วมาว่าจากการหลอกขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนานเกือบปี รายได้เกือบล้านบาท เทคนิคของบุคคลกลุ่มนี้จะเริ่มจากมาออกหน่วยตรวจสุขภาพ โดยจ้างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่มาช่วยวัดความดัน ส่วนคนของบริษัทซึ่งแต่งกายคล้ายแพทย์จะเป็นผู้ทำการเจาะเลือด   หรือบางครั้งก็จะมาในลักษณะ “โครงการรักษ์สุขภาพสู่ชุมชน” ไปตามหน่วยงานภาครัฐ เทศบาล อบต. วัด มัสยิด และเวทีประชุมผู้นำชุมชน  โดยหลอกขายอาหารเสริม ด้วยเทคนิคเดิมๆ คือ วัดความดันและตรวจเช็คผลเลือด เคยมีผู้เสียหายบางรายซึ่งเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะสุดท้าย และหลานสาวซึ่งป่วยเป็นทาลัสซีเมีย โดนหลอกจนหมดเงินไปกว่าหนึ่งหมื่นบาท  ผู้กระทำการหลอกลวงกลุ่มนี้ ยังอ้างถึงข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงแรงงาน และสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นผู้ใหญ่ที่ให้การสนับสนุนตน และเมื่อเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ก็ใช้เล่ห์เหลี่ยม อาศัยช่องว่างกฎหมายเอาตัวรอดไปได้ โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการบันทึกคำให้การไว้เป็นหลักฐาน แต่ไม่สามารถดำเนินคดีได้ เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ   แต่บริษัทก็ยังไม่หยุดการกระทำ พยายามว่าจ้างเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือญาติเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้มาร่วมขบวนการด้วย แถมยังมีการปรับกลยุทธ์เพิ่มขึ้นไปอีก โดยการเข้าไปติดต่อกับผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ออกหนังสือเชิญบริษัทมาให้บริการตรวจวัดความดันและเช็คผลเลือดฟรีเสียเอง ทำให้ผู้บริหารหน่วยงานหลายแห่งเกิดความอับอายที่เสียรู้บริษัท จึงไม่ยอมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการจับกุม  อย่างไรก็ตาม ในที่สุดกรรมก็ตามทันซะที สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ประสานงานกับตำรวจ ส่งสายลับไปล่อรับบริการ พบว่าขบวนการหลอกลวงดังกล่าวมีการทำงานเป็นทีม เริ่มตั้งแต่มีการลงทะเบียนผู้มารับบริการ มีเจ้าหน้าที่คอยวัดความดัน 1 คน(บางครั้งจะจ้างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาวัดความดันเพื่อให้น่าเชื่อถือ) มีเจ้าหน้าที่คอยจัดคิวเพื่อรอเจาะเลือด 1 คน มีพนักงานแต่งกายคล้ายแพทย์ 1 คน ทำหน้าที่เจาะเลือด เพื่อนำไฟส่องกล้องจุลทรรศน์ โดยเชื่อมต่อกับเครื่องฉายให้ผู้บริโภคมองเห็นภาพจากกล้องจุลทรรศน์ แล้วพยายามพูดวินิจฉัยโรค ร่วมกับการใช้ stethoscope ฟังปอด และใช้ไฟฉายส่องดูคอในบางครั้ง   โดยชายดังกล่าวอ้างตัวว่า มาจากโรงพยาบาลจุฬา มีพนักงาน 1 คนคอยบันทึกคำวินิจฉัยโรคของชายคนดังกล่าวลงในเอกสารแนะนำอาหารเสริม หลังจากทราบผลเลือดตัวเองแล้ว ผู้บริโภคจะต้องไปเข้ารับฟังข้อมูลอาหารเสริมจากพนักงานขาย ซึ่งตั้งโต๊ะให้บริการอยู่ 2 โต๊ะ (โรคส่วนใหญ่จะเป็นพวก ไขมันสูง น้ำตาลสูง ยูริคสูง และเลือดข้น เลือดหนืด)   หลังการจับกุม พวกมิจฉาชีพกลุ่มนี้ก็ยังพยายามติดต่อผู้ใหญ่จากกระทรวงแรงงาน และสำนักนายกฯ เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัว ซึ่ง ภก.สันติ บอกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจแอบกระซิบบอกว่า “มันใหญ่มาก” จริงๆ ยังไงก็ช่วยกันสอดส่องดูแลกันนะครับ เพราะภก.สันติแอบเห็นรายชื่อจังหวัดแว้บๆ จากสมุดจด พบว่ากลุ่มคนไม่ดีเหล่านี้ตระเวนหลอกมาหลายจังหวัด ทั้งอุบลราชธานี  ขอนแก่น นครปฐม ฯลฯ   ฝากทุกท่านช่วยกันประชาสัมพันธ์ด้วยนะครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 รถไปไม่ถึงหมอชิต ทำไมไม่บอก

 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนวันเข้าพรรษาของปี 2553 หนึ่งวัน คือตรงกับวันที่ 26 กรกฎาคม 2553เวลาประมาณ 23.30 น. คุณเทพรักษ์ บุญรักษา ได้เดินทางโดยรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท นครชัยแอร์ จำกัด จากขอนแก่นเพื่อเข้ามาทำธุระในกรุงเทพมหานคร โดยตั้งใจว่าจะลงรถที่สถานีขนส่งสายเหนือหมอชิต(ใหม่) ระหว่างเดินทางคุณเทพรักษ์บอกว่าการบริการไม่มีปัญหาอะไร แต่ปัญหามาเกิดเอาเมื่อรถเกือบถึงปลายทางอยู่รอมร่อรถได้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ และเข้าจอดที่ศูนย์บริการของบริษัทนครชัยแอร์ ถ.กำแพงเพชร 2 ในเวลา 05.40 น. มีผู้โดยสารบางส่วนลงที่สถานีแห่งนี้ ส่วนที่เหลือยังนั่งอยู่ในรถโดยสารเพื่อจะเดินทางเข้าสถานีขนส่งสายเหนือหมอชิตคุณเทพรักษ์เล่าว่า ตนเข้าใจว่ารถโดยสารที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดทุกคันจะต้องเข้าไปส่งผู้โดยสารที่หมอชิตด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้โดยสารที่ต้องอาศัยรถโดยสารประจำทาง ขสมก.หรือรถร่วมที่มีท่ารถจอดอยู่ในหมอชิตหลายสิบสาย เพื่อเดินทางต่อในเขตกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง โดยไม่ต้องเสียค่าแท็กซี่ที่มีราคาแพงกว่าหลายสิบเท่าตัว“ผมรออยู่ได้สักพักรถก็ไม่เคลื่อนออกไปไหน แต่มีพนักงานประจำรถมาบอกผู้โดยสารว่า รถจะไม่เข้าไปที่สถานีขนส่งหมอชิต ทำให้ผมแปลกใจมาก เพราะไม่มีการแจ้งข้อมูลนี้มาก่อนออกเดินทางเลย จึงถามเหตุผลกับพนักงานประจำรถว่าทำไมรถไม่เข้าหมอชิต พนักงานประจำรถบอกว่า เป็นช่วงเทศกาลรถติดมากจึงไม่เข้าหมอชิต” “การไม่บอกข้อมูลเรื่องนี้ให้ผู้โดยสารทราบ ผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมากในการตัดสินใจที่จะใช้บริการรถโดยสารเที่ยวนี้หรือไม่ ผมจึงเดินลงจากรถเข้าไปในศูนย์บริการของบริษัทฯ และหยิบกระดาษขึ้นมาเขียนข้อความร้องเรียนกับบริษัทนครชัยแอร์ว่าพนักงานบริการประจำรถไม่ได้แจ้งข้อมูลล่วงหน้ากับผู้โดยสารว่ารถโดยสารจะไม่เข้าไปที่สถานีหมอชิต ทำให้ตนเสียค่ารถโดยสารเพิ่ม และติดต่องานล่าช้า แล้วจึงส่งลงกล่องรับความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการต่อหน้าพนักงานของบริษัท”เมื่อทำเรื่องร้องเรียนเสร็จ คุณเทพรักษ์ก็ต้องเรียกแท็กซี่เพื่อไปทำธุระของตนต่อโดยไม่คาดหวังอะไรมากนักกับการส่งเรื่องร้องเรียนไปแต่ปรากฏว่าในสายวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของบริษัทนครชัยแอร์ได้ติดต่อกลับมาเพื่อขอโทษและยอมรับในข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการมอบตั๋วเดินทางชั้นไฮคลาสให้ฟรีหนึ่งที่นั่ง โดยให้สิทธิแก่คุณเทพรักษ์ที่จะเลือกเดินทางไปที่ไหนก็ได้ที่บริษัทนครชัยแอร์มีเส้นทางบริการอยู่ “การร้องเรียนครั้งนี้แสดงว่า ผู้บริโภคยังมีสิทธิมีเสียงในการร้องเรียนอยู่ในสังคมไทย และยังมีผู้ประกอบการที่ดีที่ยังรับฟังเสียงเล็กๆ ของผู้บริโภคอยู่” คุณเทพรักษ์กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ ข้อแนะนำเพิ่มเติม บทเรียนเรื่องนี้ เป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า “ร้องทุกข์หนึ่งครั้ง ดีกว่าบ่นพันครั้ง” อย่างแน่นอนครับ น่าเสียดายสำหรับผู้โดยสารท่านอื่นที่เกิดเหตุการณ์เดียวกันไม่ได้ใช้สิทธิร้องเรียนเหมือนคุณเทพรักษ์ พึงระลึกไว้เสมอว่าเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิขึ้น ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย เราควรร้องเรียนโดยตรงต่อผู้ประกอบธุรกิจโดยทันที การร้องเรียนด้วยวาจาอาจทำให้เราสะดวกและได้ระบายอารมณ์ แต่มันไม่ค่อยมีผลในการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนั้น การร้องเรียนที่ดีจะต้องมีเป้าหมายไม่ใช่เพียงแค่การระบายอารมณ์ครับ แต่ควรจะเรียกร้องให้ผู้ประกอบธุรกิจเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเราด้วย โดยให้เขียนข้อร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรไป แล้วแจ้งว่าเราได้รับความเสียแค่ไหนอย่างไรและขอให้เยียวยาความเสียหายแก่เราเป็นจำนวนเท่าไหร่ด้วยวิธีการใดก็ระบุให้ชัดเจน แต่ถ้าไม่แน่ใจก็เขียนไปว่าขอให้พิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่เราตามสมควรครับ ถ้าเก็บสำเนาข้อร้องเรียนนี้ได้ก็จะเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องต่อไปได้อย่างชัดเจนที่สุดครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 ร้องประปาเชียงใหม่ ใช้ข้อความข่มขู่

“หากไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด อาจถูกงดจ่ายน้ำ และต้องชำระเงินค่าธรรมเนียม 535 บาท”เป็นข้อความแบบนี้ล่ะครับ ที่คุณสุธน เห็นว่าเป็นการข่มขู่ผู้ใช้บริการน้ำประปา ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการผิดนัดชำระค่าน้ำเลยเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 คุณสุธนได้ส่งแฟกซ์มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยมีข้อร้องเรียนด้วยลายมือหนึ่งหน้ากระดาษ พร้อมสำเนาใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาเชียงใหม่ ที่มีข้อความเจ้าปัญหาล้อมกรอบสี่เหลี่ยมอยู่ใต้ชื่อและที่อยู่ของผู้ใช้บริการน้ำประปาคุณสุธนบอกว่า ตนพึ่งได้รับบริการ ติดตั้งประปาที่บ้านไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพราะบ้านอยู่นอกเขตเทศบาล แต่ให้มาเสียความรู้สึกทุกครั้งเมื่อต้องมาเจอข้อความในกรอบสี่เหลี่ยมนี้ และมีข้อสังเกตว่า เหตุใดกิจการรัฐวิสาหกิจของรัฐที่เป็นองค์กรเพื่อบริการสาธารณูปโภคของประชาชน จึงสามารถ(ข่มขู่ ขูดรีด) จากผู้ใช้บริการได้ขนาดนี้ ในกรณีหากผู้ใช้บริการผิดนัดชำระค่าใช้บริการน้ำประปา“ผมขอฝากร้องเรียน และสอบถามผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการด้วย... เห็นการข่มขู่เช่นนี้แล้วทนไม่ได้ครับ เห็นใจคนจนๆ อื่นๆ” เป็นข้อความทิ้งท้ายของคุณสุธน แนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อได้รับข้อร้องเรียนและสำเนาใบแจ้งค่าใช้บริการน้ำประปาจากคุณสุธน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้ส่งเรื่องร้องเรียนนี้ไปยังผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาคและผู้จัดการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาไม่นานได้รับหนังสือตอบกลับจากการประปาส่วนภูมิภาคสำนักงานใหญ่ว่า การประปาส่วนภูมิภาคสาขาเชียงใหม่(ชั้นพิเศษ)ได้ออกไปพบและเรียนชี้แจงสร้างความเข้าใจกับคุณสุธนจนเป็นที่พึงพอใจแล้วและในส่วนข้อความเจ้าปัญหาที่ประทับตราลงในใบแจ้งค่าบริการน้ำประปานั้น ได้รับข้อมูลแจ้งว่า การประปาส่วนภูมิภาคเชียงใหม่(ชั้นพิเศษ) ไม่ได้ประทับตราข้อความนี้ลงในใบแจ้งค่าบริการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554มูลนิธิฯ ขอขอบพระคุณการประปาส่วนภูมิภาคที่ใส่ใจต่อสิทธิผู้บริโภคในครั้งนี้ และขอให้กิจการเป็นที่รักใคร่ของประชาชนเพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆ นะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 โกรธมาก อย่างนี้ต้องฟ้อง

เรื่องนี้เป็นเสียงจากลูกหนี้คนหนึ่งที่ร้องเรียนมาที่ศูนย์ฯ ครับ“เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2554 ได้มีโทรศัพท์เบอร์ 084-088XXXX โทรมาติดตามให้ชำระหนี้ผมเป็นหนี้ควิกแคชอยู่ 25,000 บาท ไอ้คนที่โทรมาคุยด้วยน้ำเสียงเหมือนเหนือกฎหมายมากว่าให้ชำระเงินให้เขา โดยเขาเนี่ยสามารถจะลดยอดให้เหลือเท่าไหร่ก็ได้ แต่สิ้นเดือนให้โอนมาก่อน 500 บาท โดยวาจาที่พูดมามีน้ำเสียงอวดดีมาก “พูดเหมือนเราฆ่าพ่อเขาตายแล้วโดนตำรวจจับได้อย่างงั้นแหละ”ผมเลยบอกไปว่า มึ..(เซ็นเซอร์)...ฟ้องเลย แล้วผมก็ติดต่อบริษัทฯ โดยผมจะขอผ่อนชำระทุกเดือนจนหมดหนี้โดยจะส่งเดือนละ 1,500 บาท เจ้าหน้าที่ก็ตกลงผมไม่เข้าใจว่าสำนักงานกฎหมายพวกนี้เรียนจบมาจากไหนกัน ใครสั่งสอน มีจรรยาบรรณกันบ้างมั้ย ทนายเขามีไว้ช่วยคนหรือหา..แ..(เซ็นเซอร์)...บนหลังคนกัน ผมก็มีการศึกษามีจรรยาบรรณ บ้านเมืองคงจะเจริญล่ะ ถ้ามีพวกนี้มากมายเรียนมาเพื่อกดคนที่เขาไม่รู้กฎหมาย แล้วบริษัทที่ส่งจดหมายทวงถามให้ผมคือ สำนักงานกฎหมาย...(เซ็นเซอร์) เจ้าของช่วยไปอบรมพนักงานบริษัทคุณมั่งนะ ผมเห็นเขาโพสด่ากันหลายคน ถ้ายิ่งใหญ่กันนักก็มาจัดการผมเลย ผมโกรธจริงๆ โกรธมากๆ” แนวทางแก้ไขปัญหา ใส่กันสุดตีนครับ แต่ว่า อย่าเอาแต่โกรธอย่างเดียวครับ หากลูกหนี้รายไหนเจอพฤติกรรมการทวงหนี้ประเภทข่มขู่กดดัน เสียดสีถากถาง ใช้กิริยาวาจาที่ไม่สุภาพควรจัดการทันทีด้วยวิธีการส่งจดหมายร้องเรียนไปถึงบริษัทเจ้าหนี้ สำเนาถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บริษัทเจ้าหนี้ที่ฉลาดเจอจดหมายร้องเรียนแล้วมักจะเลือกเปลี่ยนใช้บริการคนทวงหนี้ล่ะครับ ไม่งั้นเสียชื่อบริษัทเอาได้ง่ายๆ การใช้มุขหยอดให้โอน 500 บาทนี่ เป็นมุขหากินโบราณนานนมมาแล้ว คนทวงหนี้ที่มีการพัฒนาจะเลิกทำแล้ว เพราะจะถูกคนเป็นหนี้จับผิดแล้วแซวได้ว่า ไม่มีอำนาจจริงในการลดยอดหนี้หากินแต่ค่าคอมฯ 5 บาท 10 บาท แล้วจะพอกินเหรออะไรทำนองนี้ล่ะ ดังนั้น ถ้าต้องการจัดการพวกทวงหนี้ไดโนเสาร์เต่าล้านปีพวกนี้ให้สิ้นซากรบกวนทำจดหมายร้องเรียนทันทีครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 ไม่ชอบใจบทละครไทย

ขอความกรุณาท่านช่วยดำเนินการบทละครทีวีไทยที่มีแต่เรื่องอิจฉาริษยา ตบจูบ ในละครทีวีช่องต่าง ๆ เดี๋ยวนี้ทำไมจึงมากมายเหลือเกินการพูดจากับพ่อแม่ใช้คำพูดกิริยาวาจาที่ไม่เหมาะสมเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีกับเยาวชน และไม่รักษาขนบธรรมเนียมที่ดีงามของสังคมไทยที่มีความเคารพ ยำเกรงผู้ใหญ่ บุพการี ละครทีวีไทยพยายามยัดเยียดกิริยา พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ใช่วิถีชีวิตคนไทย เช่น ก้าวร้าว เอะอะ ว้ายกรี๊ด อิจฉาริษยาซ้ำซาก ชอบตบหน้ากัน เห็นหรือไม่ว่าเดี๋ยวนี้เยาวชนเอาเป็นเยี่ยงอย่างมาจากสื่อละครไทยโดยเฉพาะจากทีวีดูบทละครเกาหลีที่ส่งมาบ้างสิครับส่ งออกวัฒนธรรมเข้ามาครอบงำเมืองไทยจนเป็น KPop ไปหมดแล้วใครๆ ก็อยากไปเที่ยวเกาหลี เพราะเขาฉลาดกว่า แม้แต่เรื่องกับข้าวกับปลาที่ไม่เอาไหนไม่อุดมสมบูรณ์อย่างเมืองไทยเขาก็ส่งออกมาครอบงำเราได้ ตื่นเสียบ้างเถอะครับอย่าดูถูกผู้บริโภคอีกเลยพวกท่านควรตื่นขึ้นมาดูแลบ้างได้แล้วและที่สำคัญและซ้ำซากแทบทุกบททุกตอนละครไทยทำไมต้องมีบทกระเทยมากมายนัก จนวัยรุ่นเอาอย่างกันมากมาย รีบตัดไฟเสียแต่ต้นลมก่อนที่สังคมไทยจะฟอนเฟะมากกว่านี้ ผมไม่ได้ดูละครไทยมานานแล้วเพราะมีการออกอากาศพวกนี้ วี้ดว้าย ก้าวร้าว ตบ จูบ พูดจาไม่เหมาะสมกับบุพการี อิจฉาริษยา ลูกๆ ผมยังไม่แนะนำให้ดูละครพวกนี้ ทั้งที่อยากสนับสนุนกิจการคนไทยแต่รับไม่ไหวจริง ๆ ช่วยรีบดำเนินการด้วย แนวทางแก้ไขปัญหา เป็นข้อร้องเรียนทางออนไลน์จากผู้บริโภคที่ใช้นามว่า “สมบัติ” ซึ่งต้องขอบพระคุณมากครับที่ช่วยเปิดประเด็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคด้านสื่อขึ้นมาขอแจ้งความคืบหน้าว่า ขณะนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เปิดตัวโครงการกลไกคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชนขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชนนี้ จะทำหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความตื่นตัว รู้เท่าทันสื่อ และร่วมรณรงค์ให้มีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการผลิตสื่อที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริงโดยกลไกคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชน ประกอบไปด้วยเครือข่ายผู้บริโภครวม 11 จังหวัดในพื้นที่ 5 ภาค คือ นอกจากกรุงเทพมหานครแล้ว ยังประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ ลำปาง เชียงราย ภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ตรัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ภาคกลางและตะวันออก ได้แก่ สระบุรี ตราด และ ภาคตะวันตก ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรีการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อในรูปของพลังประชาชนเช่นนี้ นับเป็นทางออกที่สำคัญซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็น เหยื่อ หรือได้รับผลกระทบจากการนำเสนอเนื้อหาสาระของสื่อในด้านที่มีพิษภัยได้ง่ายเกินไปถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงสำหรับผู้บริโภคที่สนใจในการคุ้มครองสิทธิด้านสื่อ หากพบเจอปัญหาการละเมิดสิทธิของสื่อเรื่องใด ให้ส่งข้อร้องเรียนมาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือจะเข้าไปแลกเปลี่ยนข้อมูลทางออนไลน์ได้ที่ www.consumerthai.org/e-mouth/ หรือที่ Face Book “ซอกแซกสื่อ” ยินดีต้อนรับทุกท่านครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 ขอมาตรฐานรถตู้โดยสารด้วยจ้ะ

เผลอ..แป๊บเดียวสงกรานต์มาถึงอีกแล้วหรือนี่...  เฮ้อ...วันเวลามันช่างผ่านไปอย่างรวดเร็วจริงๆ เอ้า...เมื่อสงกรานต์มาถึงก็หมายความว่าเทศกาลแห่งการเดินทางของผู้คนก็มาถึงอีกแล้วซิ...  เมื่อถึงเทศกาลนี้ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ได้มีแค่ บขส.รถไฟ ดั่งแต่ก่อน ปัจจุบันการเดินทางด้วยรถตู้ก็ได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน เพราะทั้งสะดวกและรวดเร็วกว่า(ไม่ค่อยจอดรับรายทางแต่ความปลอดภัยตัวใครตัวมัน) ธุรกิจรถตู้จึงเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เห็นได้ว่าทุกซอกทุกมุมทั้งต่างจังหวัดและในเมืองมีคิวรถตู้เกลื่อนไปหมดวันก่อนมีชาวบ้านมาตั้งคำถามว่าหน่วยงานไหนควบคุมดูแลรถตู้(นั่นซิหน่วยงานไหนจ๊ะ) แล้วทำไมรถตู้จึงสามารถเพิ่มที่นั่งได้มากกว่าที่กฎหมายกำหนดเช่น กฎหมายกำหนดไว้ให้มีที่นั่งได้ 11 ที่นั่ง แต่รถตู้โดยสารสามารถเพิ่มที่นั่งได้ถึง 14 ที่ อย่างหน้าตาเฉย โดยไม่มีใครสนใจ  แม้แต่ตำรวจจราจรตำรวจทางหลวงก็เพิกเฉยและยิ่งไปกว่านั้นด้านหน้ารถจริงๆ มีได้แค่ 2 ที่นั่ง คือคนขับและคนนั่งอีกคน แต่รถตู้สามารถเสริมให้มีคนนั่งข้างคนขับได้ถึง 2 คน และที่แย่ไปกว่านั้นคือคนที่นั่งข้างหน้าริมประตูคนเดียวที่มีเข็มขัดให้คาด ส่วนคนนั่งกลางตัวใครตัวมัน  หากมีอุบัติเกิดขึ้นอาจกระเด็นทะลุกระจกออกไปได้ง่ายๆ  ลุงยังบอกอีกว่าผู้โดยสารอย่างเขามีสิทธิบอกมั้ย... ว่าอย่าเพิ่มที่นั่งเลย จะคิดค่าโดยสารเพิ่มก็ได้ แต่ขอความปลอดภัยให้เขาได้ไหม? เพราะการเพิ่มที่นั่ง มันทำให้นั่งไม่สบายอึดอัด  ยิ่งเป็นรถที่ขับระยะทางไกลๆ กว่าจะถึงที่หมายก็เกือบเป็นอัมพาตกันเลยทีเดียว   นั่นนะซิ..ใครล่ะที่จะเป็นคนบอกว่าได้ไม่ได้   ตกลงผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ ที่เป็นคนจ่ายสตางค์มีสิทธิที่จะร้องขอความปลอดภัยบ้างไหม.. ทำไมรถตู้ถึงมีเอกสิทธิเหนือกฎหมายได้ขนาดนี้ปากก็บอกว่าจะจัดระเบียบรถตู้ มีการเอาจริงเอาจังขนาดตรวจจับกันเลยทีเดียว   แต่ที่สำคัญคือไอ้ที่ดูๆ อยู่น่ะ...ดูกันแค่ ป้ายเหลืองหรือป้ายดำเท่านั้น  ส่วนความปลอดภัยของผู้โดยสารไม่เห็นมีใครพูดถึง    หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะดูแลเรื่องพวกนี้บ้าง? ไม่ใช่จ้องจะนับศพว่าปีนี้จะตายมากหรือน้อยกว่าปีที่ผ่านมา  ฟังแล้วมันวังเวง และหดหู่ใจ  ที่ตื่นเช้ามาก็จะมีรายงานข่าววันที่ 1 ตายกี่ศพและนับทบไปเรื่อยๆ จนทำให้เราลืมไปว่ากำลังอยู่ใน เทศกาล สงกรานต์ ปีใหม่  หรือเทศกาลแห่งความตายกันแน่    ที่พูดนี่ไม่ใช่ไม่ให้มีรถตู้แต่อยากให้มีการกำหนดมาตรฐานกันให้ชัดเจน  ใครฝ่าฝืนก็ดำเนินการตามกฎหมายผู้โดยสารจะได้อุ่นใจ  และเดินทางอย่างมีความสุข เอาเป็นว่าหากท่านผู้อ่านท่านใดที่พบเห็นเรื่องราวที่ท่านคิดว่าไม่เป็นธรรมและไม่ค่อยจะปลอดภัยสำหรับผู้โดยสาร ก็ขอให้เล่าสู่กันฟังมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  เราจะได้ช่วยกันพัฒนาระบบบริการสาธารณะให้มีความปลอดภัยมากขึ้น พลังของผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ หากเราช่วยกันสอดส่องดูแล  ขอให้เดินทางโดยปลอดภัยและมีความสุขกับครอบครัวในเทศกาลสงกรานต์ปี 54 ทุกคนนะจ๊ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 ครอบครัวฉลาดซื้อ ช่วยด้วย

หากใครสังเกตหรือมีโอกาสใช้เส้นทางด่วนจากบางนา-แจ้งวัฒนะ ช่วงบ่อนไก่ถึงถนนเพชรบุรี เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาจะเห็นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่สลับกับป้ายบอกทางสองถึงสามช่วงบนถนนทางด่วน เส้นนี้ นับว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่เพิ่งจะเกิดขึ้นซึ่งหากใช้ทางด่วนเป็นประจำก็จะเห็นว่า ป้ายโฆษณาบนถนนทางด่วนไม่เคยมีปรากฏมาก่อน หรือหากใครเคยเห็นก่อนหน้านี้ หรือมีเพิ่มเติมในทางด่วนเส้นไหนก็รบกวนให้แจ้งมาที่ฉลาดซื้อด้วยป้ายโฆษณาที่พบเห็นทั่วไปซึ่งมีเต็มบ้านเต็มเมือง มักอยู่บริเวณสองข้างทางของทางด่วนเป็นหลัก ทั้งมุมทั้งโค้ง ช่วงรถติด ช่วงจ่ายสตางค์ค่าทางด่วน ข้างอาคาร ตึก หรือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่วันดีคืนดียามฝนพายุฟ้าคะนอง ก็อาจโชคดีหล่นมาทับให้เป็นข่าวกันอยู่เนือง ๆ ล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ตรวจสอบพบป้ายผิดกฎหมาย แบ่งเป็นป้ายโฆษณาที่อยู่อาศัย ร้านค้า อาหาร 456 ป้าย และป้ายการเมือง 26 ป้าย โดยรวมทั้งหมดแล้ว พบป้ายที่ผิดกฎหมายเกือบ 700 ป้าย น่าเสียดายนะน่าจะบอกต่ออีกหน่อยว่า ป้ายโฆษณาที่อยู่อาศัย ร้านค้า ร้านอาหารอะไรบ้างที่มีป้ายผิดกฎหมายมากที่สุด เพราะแค่ป้ายยังรับผิดชอบไม่ได้ ผู้บริโภคเรา ๆ ไม่ควรจะอุดหนุนป้ายนอกจากทำให้เมืองขาดความงาม ซึ่งมีน้อยอยู่แล้ว ยังมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยให้กังวลกันอยู่เป็นประจำ แต่ป้ายบนถนนทางด่วนน่าจะมีความรุนแรงมากกว่า เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน หลายประเทศออกเป็นกฎหมายห้ามมีโฆษณาบนถนน เช่น ฮ่องกง เพราะจะบดบังป้ายบอกเส้นทางและทำให้การมองเห็นป้ายบอกเส้นทางในระยะกระชั้นชิดเกินไป ไม่ทันการณ์ และอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ หรืออันตรายได้มากกว่ากติกาที่มีในต่างประเทศ เมื่อจะนำมาใช้หรือเป็นแบบอย่างในประเทศ ก็มักจะบอกว่า สังคมไทยไม่เหมือนกับเขา ซึ่งก็จริงเพราะไปมาก็หลายประเทศ ยังไม่เคยเห็นประเทศไหนเขามีป้ายโฆษณาบนถนน ยกเว้นข้างถนนซึ่งพี่ไทยเราก็มีมากมายจนละลานตา และทำให้มึนงงเส้นทาง เช่น ทางไปดอนหอยหลอดของจังหวัดสมุทรสงคราม แทนที่จะได้ดูบ้านเรือน สวนส้มโอ ต้นจาก และธรรมชาติสองฝั่งถนน กับพบมีแต่ป้ายโฆษณาร้านอาหารจนมองอย่างอื่นแทบไม่เห็นที่ต้องนำเรื่องนี้มาเล่าก็ต้องการให้เป็นกรณีตัวอย่างให้สมาชิกครอบครัวฉลาดซื้อ ไม่เครียดและคิดว่าการเป็นสมาชิกครอบครัวฉลาดซื้อไม่ยากส์ ทำได้ง่าย สนุก ทำได้เรื่อย ๆ หลายช่องทาง มีเรื่องแปลก ๆ เล่าให้ฟังกันมันส์ ๆ ได้ทุกวันหากไม่รู้สึกว่ามากไปสมาชิกของครอบครัวฉลาดซื้อ ต้องช่วยกันฝึกการเป็นช่าง(สังเกต) แต่ไม่ใช่ช่างเขาเถอะ และเมื่อเล่าฟังเอามันส์แล้ว ก็หาทางช่วยกันดำเนินการต่อให้ปัญหาเหล่านี้ถูกแก้ไข หรือทำให้เพื่อน คนในครอบครัว เท่าทันกับปัญหารูปแบบใหม่ ๆ หวังว่า จะช่วยกันแบ่งปันประสบการณ์ทั้งดีและร้ายให้เป็นครูกับตนเองและผู้บริโภค เพราะเพียงปัญหาป้ายโฆษณาบนทางด่วนก็คงจะยาก หากไม่มีใครเป็นเจ้าของ(ทุกข์)

อ่านเพิ่มเติม >