ฉบับที่ 118 จินตนาการ

ได้มีโอกาสตั้งสอบถามความเห็นเพื่อนฝูงใน Facebook ว่า ช่วยให้ความเห็นต่อการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคยอดเยี่ยมและยอดแย่ของรัฐบาลนี้มาสัก 3 อย่าง มีคนให้ความเห็นแตกต่างกันสะท้อนมุมมองของแต่ละกลุ่มในสังคมตั้งแต่ปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภค เช่นข้าวของราคาแพงที่กระทบกับผู้บริโภคไม่ว่าจะเรื่องไข่ น้ำตาล มะพร้าว หรือรวมถึงปัญหาการผูกขาดสินค้า ปัญหาไม่ทำตามคำสัญญา(นโยบายของรัฐบาล)ที่บอกว่า ประชาชนต้องมาก่อน แต่เห็นได้จากหลายเรื่องประชาชนออกวิ่งแล้วแต่รัฐบาลยังไม่กล้าเดินแถมกลัวให้เห็นอีก เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ และที่เห็นเป็นปัญหาสำคัญของประเทศดูเหมือนจะปล่อยให้มีการโกงกันมากมาย ที่ชมรัฐบาลนี้กันมากเห็นจะได้แก่ การผ่านสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการกฎหมายองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคที่ร้องเพลงรอกันมา 13 ปี การชะลอไม่ขึ้นราคาก๊าซเพราะทราบดีว่า ควรแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น การให้คณะทำงานปฏิรูปชุดต่างๆ ทำงานอย่างอิสระ แต่จะรับไปดำเนินการมากน้อยแค่ไหนอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องติดตามตรวจสอบกันต่อไปนับเป็นผลงานยอดเยี่ยมและยอดแย่ของรัฐบาลด้านการคุ้มครองผู้บริโภค แต่หากกลับมามองสถานการณ์รวมของผู้บริโภค ก็จะเห็นได้ว่า การใช้สิทธิของผู้บริโภคมากขึ้นจากการร้องเรียน มีคนเอาจริงเอาจังที่นำของหมดอายุไปคืนห้างพร้อมขอค่ารถ 500 บาท และบอกว่า “ผู้บริโภคไม่ได้มีหน้าที่ต้องเอาของหมดอายุมาคืน แต่ห้างมีหน้าที่ทำให้ของที่จำหน่ายไม่มีของหมดอายุ” น่าชื่นชมจริง ๆ เพราะหากเราทำกันทุกคนเมืองไทยไม่น่าจะมีของหมดอายุจำหน่ายให้ปวดหัวกันอย่างทุกวันนี้ปีใหม่นี้ขออำนวยพร ให้สมาชิกฉลาดซื้อและผู้อ่านทุกคน เริ่มต้นชีวิตที่งดงาม มีความรัก ความสุขกับการทำงาน ทำหน้าที่ของตนเองในฐานะผู้บริโภคอย่างเข้มแข็ง ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรค ที่สำคัญร่วมกันสร้างจินตนาการ และเชื่อว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยให้เท่าทันโลก ไม่ฝากความหวังการทำให้สังคมดีไว้กับใครแต่ต้องทำร่วมกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 กระแสต่างแดน

คราวนี้ต้องเลิกให้ได้ ไม่ได้มีแต่เราเท่านั้นที่ใช้ยาแก้อักเสบกันเป็นว่าเล่น ข่าวจากหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ บอกว่าคนจีนก็ติดยาแก้อักเสบเข้าขั้นเหมือนกัน  ซื้อมากินกันเองยังไม่เท่าไร แต่ข่าวบอกว่าขนาดไปพบแพทย์แล้วก็ยังไม่วายได้ยาแก้อักเสบกลับมากินไปพลางๆ ยามที่ยังไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้  สถิติระบุว่าโรงพยาบาลในประเทศจีนมีการจ่ายยาแก้อักเสบเกินปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ถึงสองเท่า  เขาซุบซิบกันอย่างหนาหูในชุมชนออนไลน์ของจีนว่าเหตุที่มีการจ่ายยาแก้อักเสบกันมากมายนั้นเป็นเพราะโรงพยาบาลได้ประโยชน์จากการสั่งยาประเภทนี้นั่นเอง จีนเป็นผู้ผลิตยาแก้อักเสบรายใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยอัตราการผลิต 147,000 ตันต่อปี มีทั้งหมด 181 ยี่ห้อ และส่วนใหญ่(ร้อยละ 83) ของปริมาณที่ผลิตได้นั้นเป็นการบริโภคภายในประเทศ  อย่างที่ทราบกัน การใช้ยาแก้อักเสบมากเกินไปทำให้การรักษาอาการเจ็บป่วยนั้นทำได้ยากขึ้น ปีที่แล้วจีนก็ต้องเจอกับปัญหาเชื้อชั่วฆ่าไม่ตาย ที่เรียกกันว่าซุปเปอร์แบคทีเรีย NDM-1 ที่สามารถต้านทานยาแก้อักเสบได้เกือบทุกชนิด ร้ายแรงกว่านั้น ขณะนี้มีทารกที่เกิดมาพร้อมอาการดื้อยาแล้วด้วย รัฐบาลจีนคงต้องรีบลงมือทำอะไรสักอย่างแล้ว เพื่อหยุดพฤติกรรมการใช้และการจ่ายยาแก้อักเสบอย่างพร่ำเพรื่อ ก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายจนไม่สามารถหายาที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะจัดการกับเชื้อแบคทีเรียที่อัพเกรดตัวเองได้     หรือผู้บริโภคจะไม่แคร์สื่อ? หลายคนคงเคยได้ยินข่าวเรื่องการฆ่าตัวตายของพนักงานบริษัทฟ็อกซ์คอน ด้วยการกระโดดหน้าต่างโรงงานถึงวันนี้ มีผู้ที่ฆ่าตัวตายได้สำเร็จไปแล้ว 17 รายโรงงานที่ว่านี้ก็เป็นโรงงานที่ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันดี อย่างไอพอด และไอโฟนกันนั่นเอง และประธานบริษัทนี้ก็คือชายที่ร่ำรวยที่สุดในไต้หวัน นามว่าเทอรี่ กั๊ว นั่นเอง หลังจากข่าวเรื่องการฆ่าตัวตายแพร่ออกไป บริษัทก็ประกาศขึ้นเงินเดือนเกือบร้อยละ 70 ให้กับพนักงานในสายการผลิต เพิ่มจากเดือนละ 1,200 หยวน เป็น 2,000 หยวน ฟ็อกซ์คอนมีนิคมอุตสาหกรรมอยู่ที่เมืองเฉินเจิ้น ประเทศจีน ในฟ็อกซ์คอนซิตี้หรือไอพอดซิตี้นี้มีโรงงานทั้งหมด15 โรง มีประชากร 300,000 ถึง 450,000 คน เขาบอกว่าเหมือนเมืองขนาดย่อมๆเที่มีทุกอย่างพร้อมสรรพ รวมถึงสถานีโทรทัศน์ของตัวเองด้วย เรียกว่าไม่จำเป็นต้องออกนอกกำแพงเมืองไปไหนกันเลย  ข่าวการฆ่าตัวตายทำให้กลุ่ม SACOM (Students and Scholars against Corporate Misbehavior) ซึ่งมีสมาชิกเป็นนักศึกษาและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย 20 แห่งในจีน ที่คอยจับตาดูพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลของธุรกิจ ทำการติดตามสำรวจสภาพการทำงานในโรงงานของฟ็อกซ์คอนเป็นเวลา 4 เดือน  SACOM บอกว่าที่นี่มีการควบคุมระเบียบวินัยแบบเคร่งครัดเต็มอัตรา พนักงานต้องยืนตัวตรงตลอดการทำงาน และต้องทำชิ้นงานให้เสร็จตามจำนวนที่กำหนด ถ้าทำไม่เสร็จหรือใช้เวลากับกิจกรรมอื่น เช่น เข้าห้องน้ำ หรืออาบน้ำนานเกินไป ก็จะถูกทำโทษทั้งด้วยการทุบตีและการทำให้อับอาย   นอกจากนี้ยังห้ามคุย ห้ามหัวเราะ ห้ามบิดขี้เกียจในเวลางาน (ห้ามหลับคงไม่ต้องพูดถึง)  ฟ็อกซ์คอนออกมาโต้ตอบรายงานดังกล่าวว่า ไม่จริงนะ บริษัทออกจะมุ่งมั่นที่จะให้พนักงานจำนวน 937,000 คนได้อยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี และได้รับค่าตอบแทนและการชดเชยที่ไม่แพ้บริษัทอื่นๆ ทางแอปเปิ้ลเองก็ยืนยันว่าตนเองเลือกใช้ฐานการผลิตที่มีมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับสูงสุดเสมอมา ที่สำคัญคือทั้งๆ ที่มีข่าวนี้ออกไป ยอดขายเขาก็ไม่ได้รับการกระทบกระเทือนแต่อย่างใด แอปเปิ้ลก็ยังทำยอดขายได้ 16,000 ล้านปอนด์ต่อไตรมาส  หรือเพราะผู้บริโภคยอมรับได้ เพราะนั่นหมายถึงการควบคุมต้นทุน การผลิตให้มีราคาต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจจะมีคนต้องทุกข์ทรมานบ้างก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ อย่างน้อยก็ได้ของถูก แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ รายงานจากสำนักวิจัย iSupply ระบุว่าไอโฟนเครื่องหนึ่งนั้นมีต้นทุนในการประกอบ 6.54 เหรียญ ค่าชิ้นส่วนต่างๆ อีก 187.51 เหรียญ รวมแล้วต้นทุนอยู่ที่ 194 เหรียญ หรือ 5,842 บาท ว่าแต่คุณซื้อไอโฟนมาในราคาเท่าไร?     อยู่บ้านอย่างไรให้เป็นอัจฉริยะ เกาะเชจู นอกจากจะเป็นสถานที่ยอดฮิตในการไปเที่ยวตากอากาศของพระเอก นางเอกหนังเกาหลีแล้ว เขายังเป็นเกาะที่มีหมู่บ้านอัจฉริยะอีกด้วย ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเชจู เขากำลังทดลองใช้ระบบเครือข่ายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Smart Grid เป็นแห่งแรกในเกาหลี ที่ว่าฉลาดนั้นก็เพราะมันสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และช่วยให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลการใช้ไฟฟ้าทุกๆ 15 นาที และยังจะได้รับการเตือนให้ลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงพีคด้วย   นอกจากแผงโซล่าเซลล์ที่จะติดตั้งเพื่อให้แต่ละบ้านสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เองแล้ว อุปกรณ์ที่สำคัญในระบบที่ว่านั้นได้แก่ Smart Tag หรือ Smart Plug ตามจุดปลั๊กไฟ ที่จะช่วยป้องกันการบริโภคไฟฟ้าจากอุปกรณ์ต่างๆที่เสียบปลั๊กทิ้งไว้ แม้จะไม่ได้อยู่ในโหมด Stand-by   เขาบอกว่าถ้าทุกครัวเรือนในประเทศใช้ระบบดังกล่าว ก็จะสามารถประหยัดเงินได้ปีละ 1,500 ล้านเหรียญ แต่ที่เห็นผลทันทีคือผู้บริโภคสามารถประหยัดค่าไฟได้ ด้วยการขายพลังงานไฟฟ้า (จากแสงอาทิตย์) ที่เหลือใช้ให้กับผู้ประกอบการ โดยนำไปหักลบจากค่าไฟฟ้าที่ตนเองจะต้องเสีย   มีตัวอย่างจากครอบครัวหนึ่งซึ่งมีสมาชิก 3 คน เคยจ่ายค่าไฟเดือนละ 50,000 วอน (ประมาณ 1,300 บาท) หลังจากติดระบบแล้ว ค่าไฟเหลือเพียง 1,000 วอน(ประมาณ 26 บาท) เท่านั้น   เมืองผู้ดีก็มีไม้เถื่อน อังกฤษเป็นประเทศที่นำเข้าไม้ผิดกฎหมายมากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากจีน สหรัฐ และญี่ปุ่น ความจริงแล้วผู้บริโภคที่นั่นสามารถช่วยหยุดการค้าไม้เถื่อนได้ ด้วยการเลือกซื้อไม้หรือเฟอร์นิเจอร์ที่มีฉลาก FSC (Forestry Stewardship Council) แต่จากการสำรวจขององค์กร WWF พบว่ามีคนอังกฤษมีการรับรู้เรื่องนี้ค่อนข้างน้อย มีเพียงร้อยละ 28 ของผู้บริโภค ที่ตอบแบบสำรวจที่รู้จักเครื่องหมายดังกล่าว เมื่อเทียบกับการรับรู้ในเรื่องอื่นๆ อย่างเรื่องของการค้ากาแฟอย่างเป็นธรรม(หรือแฟร์เทรด) แล้วถือว่าน้อยมาก   ร้อยละ 50 ของผู้บริโภคไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์ไม้ที่ขายในอังกฤษนั้นอาจจะมาจากแหล่งที่ผิดกฎหมาย หรือพูดให้ชัดคือมาจากการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศกำลังพัฒนานั่นเอง พวกเขาเชื่อว่าถ้าเข้ามาขายในอังกฤษก็น่าจะผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว  แต่ละปีผู้บริโภคอังกฤษใช้จ่ายเงินกว่า 700 ล้านปอนด์ไปกับผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผิดกฎหมายเหล่านี้   เมืองไม่ประหยัดน้ำ ลิมา เมืองหลวงของประเทศเปรู เขาขาดแคลนน้ำใช้จนต้องตั้งเป็นวาระแห่งชาติ ประธานาธิบดีอลัน การ์เซีย ออกมาประกาศว่าจะให้ทุกคนได้มีน้ำใช้อย่างทั่วถึงภายในสิ้นปี ค.ศ. 2011 เหตุที่น้ำน้อยก็เพราะเมืองนี้เป็นเมืองทะเลทรายที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากเมืองไคโร ประเทศอียิปต์  แล้วที่วิกฤติซ้ำคือการใช้น้ำอย่างไม่ประหยัด ข่าวบอกว่าเมืองนี้เขาไม่มีการติดตั้งมิเตอร์น้ำด้วย  ข้อมูลของศูนย์วิจัยภูมิศาสตร์ประยุกต์ระบุว่าประชากรในเมืองลิมา มีการบริโภคน้ำต่อหัววันละ 250 ลิตร ในขณะที่เมืองหลวงในทวีปยุโรปกลับมีอัตราการใช้น้ำเพียงวันละไม่เกิน 140 ลิตรต่อวัน  หรือแม้แต่กรุงไคโรซึ่งเป็นเมืองทะเลทรายเหมือนกัน มีการใช้น้ำวันละ 100 ลิตรต่อหัวเท่านั้น  นอกจากนี้อัตราการสูญเสียน้ำไปโดยเปล่าประโยชน์ ( เช่น น้ำรั่ว) นั้นสูงถึงร้อยละ 42 ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ เช่น ญี่ปุ่นสูญเสียน้ำใช้เพียงร้อยละ 3.5  เยอรมนีร้อยละ 5  และเม็กซิโก ร้อยละ 17

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤศจิกายน 25539 พฤศจิกายน 2553เรื่อง “ยา” ที่ต้องรู้ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน กระทรวงสาธารณสุขมีประกาศคำเตือนเกี่ยวกับใช้ยาที่ผู้ป่วยเบาหวานต้องรู้มาแจ้งให้ทราบ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือการให้เพิ่มคำเตือนในฉลากยาและเอกสารกำกับยาที่ใช้ในการรักษาโรคเบาหวาน “กลุ่มไทอะโซลิดีนไดโอน” (Thiazolidinedione) ว่าห้ามใช้ในผู้ที่มีโรคหัวใจล้มเหลวในระดับที่รุนแรง เพราะยานี้อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หากใช้ยาแล้วมีอาการหายใจลำบาก เหนื่อยง่าย น้ำหนักตัวเพิ่มอย่างรวดเร็ว หรือเกิดอาการบวมมากให้รีบปรึกษาแพทย์โดยทันที โดย อย. จะทำหน้าที่ให้ข้อมูลแก่แพทย์ทั่วประเทศและทำหนังสือแจ้งเวียนให้บริษัทผู้ผลิตยารักษาโรคเบาหวานปฏิบัติตามเรื่องที่ 2 คือ กำหนดมาตรฐานกระบอกฉีดอินซูลินชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้น เพราะกระบอกฉีดอินซูลินสำหรับผู้ป่วยเบาหวานถือเป็นเครื่องมือแพทย์ ต้องมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือ มอก. รองรับ โดยกระบอกฉีดอินซูลินที่ดีนั้นจะต้องผ่านกรรมวิธีทำให้ปราศจากเชื้อโรคและใช้งานเพียงครั้งเดียว พร้อมทั้งต้องแสดงรายละเอียดบนฉลากบรรจุกระบอกฉีดอินซูลิน เป็นข้อความภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ โดยให้ระบุเลขที่ครั้งที่ผลิต วิธีการฆ่าเชื้อ ข้อความหรือสัญลักษณ์ที่มีความหมายว่าปราศจากเชื้อ เดือนปีที่ทำการฆ่าเชื้อและวันหมดอายุการฆ่าเชื้อ เพื่อให้ประชาชนที่เป็นโรคเบาหวานและต้องใช้กระบอกฉีดอินซูลิน สามารถอ่านได้ชัดเจน+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++  28 พฤศจิกายน 2553“ปืนอัดลม” ของเล่นทำร้ายเด็กไทย สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนความปลอดภัยในเด็ก ร่วมกับอีกหลายเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจเกี่ยวกับ “สถานการณ์อันตรายจากปืนของเล่น” พบว่ามีเด็กไทยบาดเจ็บจากการเล่นปืนอัดลมเฉลี่ยถึงปีละ 5,000 คนรศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้จัดการแผนงานความปลอดภัยในเด็ก สสส. คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลว่ามีเด็กที่มารักษาตัวตามห้องฉุกเฉินเพราะบาดเจ็บจากการเล่นปืนอัดลมถึง 4,792 คนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่อายุน้อยกว่า 15 ปีนอกจากนี้ บริษัท อินเตอร์เทค เทสติ้ง เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) ยังได้ทำการทดสอบปืนอัดลมทั้งสั้นและยาว ปืนลูกดอก ปืนลูกบอล ในท้องตลาดไทยรวม 27 ชนิด พบว่ามีปืนอัดลมที่ไม่ผ่านการทดสอบถึง 25 รายการ ซึ่งมีความเร็วและความแรงของกระสุนหรือวัตถุที่ยิงออกมาเกินมาตรฐานกำหนด กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) จึงเตรียมสั่งให้ปืนอัดลมเป็นสินค้าอันตราย เพราะถือเป็นสิ่งเทียมอาวุธไม่ใช่ของเล่น ไม่ควรวางขายทั่วไป +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++  30 พฤศจิกายน 2553“เบอร์เดิมย้ายค่าย” จ่าย 99 บาทกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ยืนยันมาแล้วว่าผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือสามารถใช้บริการ “เปลี่ยนค่ายใช้เบอร์เดิม” ได้แล้ว แต่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมในราคา 99 บาท ต่อ 1 เลขหมาย พร้อมมีข้อแนะนำก่อนการย้ายเครือข่าย ให้เคลียร์ค่าบริการ ยอดเงินและยอดวันคงเหลือให้เรียบร้อย หากมีเหลืออยู่ควรใช้ให้หมดหรือโอนให้คนอื่น เพราะเมื่อย้ายเครือข่ายแล้วจะไม่สามารถโอนย้ายเงินหรือวันมาด้วยได้ และที่สำคัญคือเลขหมายโทรศัพท์ที่จะย้ายค่ายต้องเป็นเลขหมายที่จดทะเบียนแล้วเรียบร้อย เพื่อความสะดวกและป้องกันการแอบอ้างหรือลักลอบใช้บริการของผู้ไม่หวังดี ใครอยากใช้บริการนี้ต้องติดต่อไปยังค่ายมือถือใหม่ที่ต้องการย้ายไปใช้งาน     หยุดโกงเวลาลูกค้าพรีเพด!!!องค์กรผู้บริโภคส่งตัวแทนจากทั่วประเทศเดินขบวนเรียกร้องค่ายมือถือ "หยุดโกงเวลาลูกค้าพรีเพด" ขอคำตอบภายใน 30 วัน อย่างช้าไม่เกิน 60 วัน หากยังนิ่งเฉยจะรวบรวมผู้ที่เดือดร้อนดำเนินการทางกฎหมายกับทุกค่ายที่ไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งได้รวบรวมคนที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีแต่ละภูมิภาค ภูมิภาคละ 1-2 คนต่อหนึ่งบริษัท กำหนดกลับมาทวงคำตอบอีกครั้งเดือน ม.ค. 2554  ผลการวิจัยระบุ คนไทยใช้เงินค่าโทรศัพท์มือถือเฉลี่ยเดือนละ 200 บาท แต่กลับถูกบังคับให้ต้องเติมเงินค่ามือถือเดือนละ 300 บาท แม้จะใช้ไม่ถึง เท่ากับผู้ให้บริการมีเงินหมุนเวียนจากการจ่ายล่วงหน้าจากผู้บริโภคทั้งประเทศเดือนละ 6,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ให้บริการก็ยินดีรับข้อเรียกร้องกลับไปพิจารณา แต่ผลจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น ต้องคอยติดตามกันต่อไป+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++    ถึงเวลาปฏิรูปรถโดยสารเพื่อความปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และตัวแทนเครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคภาคร่วมกันจัดสัมมนา “สภาผู้บริโภคเพื่อการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ" เพื่อเป็นการเตือนสติผู้ใช้รถและผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ ให้ตระหนักถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งสาเหตุหลักก็ยังคงเป็นเรื่องของความด้อยคุณภาพของตัวรถและความประมาทของพนักงานขับรถ   ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้รถโดยสารสาธารณะในปัจจุบันส่วนใหญ่ด้วยคุณภาพ เนื่องจากทั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ต่างก็เปิดให้เอกชนรายย่อยเข้ามาร่วมบริการ ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2551 พบว่าจำนวนผู้ประกอบการเอกชนที่มีใบอนุญาตเดินรถสาธารณะทั่วประเทศมีทั้งสิ้น 800 ราย ในจำนวนนี้ร้อยละ 60 เป็นผู้ถือใบอนุญาตที่ไม่มีรถโดยสารเป็นของตนเอง มีเพียงร้อยละ 40 เท่านั้นที่มีรถโดยสารให้บริการ ซึ่งส่งผลการควบคุมคุณภาพให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทำได้ลำบาก และการควบคุมดูแลยากที่จะทั่วถึง  นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ยังกล่าวเสริมในเรื่องที่ผู้ประสบอุบัติเหตุที่มักจะไม่ได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม ดังนั้นจึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบเข้ามาดูแลแก้ไข ให้สมกับที่รัฐบาลได้ประกาศให้เรื่องอุบัติเหตุเป็นวาระแห่งชาติด้วย ขณะที่ตัวผู้บริโภคเองก็ควรตื่นตัวปกป้องสิทธิตนเอง และหากผู้บริโภคประสบปัญหาสามารถติดต่อให้มูลนิธิฯ ช่วยเหลือได้เช่นกัน  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รวบรวมสถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะเฉพาะที่ปรากฏเป็นข่าวตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงกรกฎาคมปี 2553 พบว่ารถประจำทางปรับอากาศ เป็นรถโดยสารที่มีสถิติประสบอุบัติเหตุมากที่สุดถึง 97 ครั้ง บาดเจ็บ 938 ราย เสียชีวิต 78 ราย รองลงมาคือรถนำเที่ยว 42 ครั้ง บาดเจ็บ 582 ราย เสียชีวิต 38 ราย ที่เหลือก็มีทั้ง รถรับจ้างรับส่งพนักงาน รถตู้รับจ้าง รถเมล์ รถโดยสารระหว่างจังหวัด รถสองแถว และรถแท็กซี่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 ปลอดภัยปีใหม่ เตือนภัยผู้อ่าน

ช่วงเทศกาลปีใหม่ ผู้อ่านหลายท่านคงได้ของขวัญกันบ้างแล้ว โอกาสนี้เภสัชกรจนๆ อย่างกระผมไม่รู้จะหาอะไรมามอบเป็นของขวัญให้ผู้อ่านได้ทั่วถึง เลยถือโอกาสมอบข้อมูลเตือนภัยแบบรวมมิตร แด่ผู้อ่านทุกท่านเพื่อความปลอดภัย จะได้ไม่ต้องเสี่ยงอันตรายครับ กาแฟลดความอ้วนจากจีน ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้เป็นกาแฟที่ซัดเซพเนจรมาจากจีน แต่อย่าไปสงสารครับ เพราะมันลักลอบนำเข้ามาโดยไม่ได้ขออนุญาต อย. แถมยังมีข้อความภาษาไทยท้าทายกฎหมาย โดยระบุโต้งๆ บอกว่าเผาไขมัน 26 วัน สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานีพบ จึงส่งตรวจวิเคราะห์เบื้องต้น ปรากฏว่า ผสมซาลบูทามีน ซึ่งเป็นยาอันตราย (ตัวที่เคยเป็นข่าวว่านักเรียน ม.6 จากนนทบุรีเสียชีวิต ภายหลังจากการรับประทานผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนที่ผสมสารตัวนี้มาแล้วไง จำได้หรือเปล่าครับ) แว่วว่ากำลังขายดิบขายดีแถวๆ ตลาดกิมหยงและโรงเกลือ   ยาแผนโบราณแต่ดันแถมสเตียรอยด์ พนักงานโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งยืนทำงานต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ได้ซื้อมารับประทานแก้อาการปวดตาม ข้อเข่าและขา โดยรับประทานติดต่อกันมานานแล้ว ระยะหลังๆ เพื่อนร่วมงานชักสังเกตเห็นว่าไฉนเพื่อนเรามีราศีจับแบบแปลกๆ ผิดปกติ คือ หน้าเริ่มบวม และร่างกายอ่อนแอ เจ็บป่วยบ่อยๆ จึงส่งยามาให้ สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตรวจสอบ ผลพบว่า ยานี้มีเลขทะเบียนยาถูกต้อง แต่ฉลากและบรรจุภัณฑ์กลับไม่ถูกต้อง และเมื่อใช้ชุดทดสอบเบื้องต้นของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจ กลับพบว่ามีสเตียรอยด์ผสมอยู่ ข่าวว่ายาดังกล่าวมีขายทางวิทยุชุมชนบางสถานีและขายตรงจากตัวแทนจำหน่าย ทำให้ยากต่อการตรวจสอบ   สมุนไพรไทย ก็ดันใส่สเตียรอยด์ ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ ไม่มีเลขทะเบียนยานะครับ (แสดงว่าไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง) แต่กลับมีตัวแทนจำหน่าย โดยมักจะเร่ไปเสนอขายตามร้านค้าในชุมชนและร้านขายยา สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาใช้ชุดทดสอบเบื้องต้นตรวจสอบ ก็พบว่ามีสเตียรอยด์ผสมอยู่เช่นกัน       ยาน้ำสามัญประจำบ้านแผนโบราณก็บริการสารสเตียรอยด์ ผลิตภัณฑ์นี้มาเป็นข่าวดังเพราะมีคุณครูท่านหนึ่งซึ่งป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ได้ซื้อมาจากเพื่อนครูด้วยกัน (ที่เป็นตัวแทนจำหน่าย) ยาชนิดนี้กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ข้าราชการครูและครอบครัว ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อคุณครูท่านนี้รับประทานแล้วอาการภูมิแพ้หาย จึงเริ่มสงสัยว่าปลอดภัยหรือไม่ เลยส่งต่อมายังสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้ตรวจสอบ ผลปรากฎว่าฉลากมีเลขทะเบียนยาถูกต้อง แต่เมื่อใช้ชุดทดสอบเบื้องต้นของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจ กลับพบว่ามีสเตียรอยด์ผสมอยู่ อีกแล้ว   วิธีการขายของผลิตภัณฑ์ 3 ชนิดหลังนี้จะคล้ายๆ กัน คือจะขออนุญาตเลขทะเบียนยาอย่างถูกต้อง แต่เวลาขายอาจจะทำผลิตภัณฑ์อีกรูปแบบหนึ่ง ช่องทางที่ขายส่วนใหญ่จะมีตัวแทนขายเพื่อเจาะลึกเข้าไปในชุมชน บางส่วนขายผ่านทางวิทยุชุมชน พอตรวจเจอก็อ้างว่าเป็นของปลอม ยังไงถ้าใครเจอช่วยแจ้งสาธารณสุขจังหวัดด้วยนะครับ ถือว่าเป็นของขวัญแด่ผู้บริโภคท่านอื่นๆ ร่วมกันด้วยครับ สวัสดีปีใหม่ ปลอดภัยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 ชาวบ้านร้องขี้ไก่เหม็น

แต่โดนนายทุนฟาร์มไก่ฟ้อง เรียกเงิน 2.3 ล้านฟาร์มไก่ขนาดยักษ์ ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 2.3 ล้านบาทกับชาวบ้าน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา รวม 27 รายฐานแจ้งเท็จและหมิ่นประมาท กล่าวหาฟาร์มมีขี้ไก่เหม็นสร้างเดือดร้อนรำคาญไม่หยุดหย่อนเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากตัวแทนชาวบ้านอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ว่ามีชาวบ้านในเขตตำบลลาดกระทิงจำนวน 27 รายถูกบริษัท บุญแปด จำกัด ของ นายบุญยง ศรีไตรราศรี หนึ่งในกรรมการบริหารสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ ดำเนินคดีฟ้องร้องต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นคดีอาญาเกี่ยวเนื่องคดีแพ่ง ฐานความผิดคือแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและหมิ่นประมาท เรียกร้องค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 2,300,000 บาท โดยมีชาวบ้านจำนวน 26 รายถูกเรียกค่าเสียหายรายละ 50,000 บาท และอีกหนึ่งรายซึ่งเป็นแกนนำถูกเรียกค่าเสียหาย 1,000,000 บาท ขอให้มูลนิธิฯ ได้จัดทนายความอาสาเข้าช่วยเหลือในกระบวนการพิจารณาคดีด้วยจุดเริ่มต้นของปัญหา เกิดขึ้นเมื่อปี 2549 เมื่อบริษัท บุญแปด จำกัด ได้เข้ามาประกอบกิจการเลี้ยงไก่ไข่ในพื้นที่ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยได้รับใบอนุญาตจากองค์การบริหารส่วนตำบลลาดกระทิง(อบต.ลาดกระทิง) ให้ประกอบกิจการเลี้ยงไก่ จำนวน 2 โรงเรือน สามารถเลี้ยงไก่ไข่ได้ 100,000 ตัวกิจการเลี้ยงไก่นั้น ถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่ต้องควบคุมตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 แต่ปรากฏว่า อบต.ลาดกระทิงในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้ กลับปล่อยปละละเลยให้บริษัท บุญแปดฯ เลี้ยงไก่ไข่เพิ่มขึ้นอีก 7 โรงรวมเป็นไก่ไข่ที่เลี้ยงโดยไม่ได้รับอนุญาตมากถึง 350,000 ตัว และยังละเมิดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่ตั้งที่จะต้องตั้งอยู่ห่างจากชุมชน วัด ศาสนสถาน โบราณสถาน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล หรือสถานที่อื่นๆ ในระยะที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและไม่ก่อเหตุรำคาญต่อชุมชน แต่ปรากฏว่าฟาร์มไก่แห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับสถานีอนามัยลาดกระทิง วัดลาดกระทิง รวมถึงโรงเรียนบ้านลาดกระทิงซึ่งสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยม 3 อันเป็นศูนย์กลางของชุมชนเพียงแค่รั้วกั้นชาวบ้านได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การประกอบกิจการฟาร์มไก่ของบริษัท บุญแปดฯ ทำให้ชาวบ้านไม่น้อยกว่า 250 หลังคาเรือนที่อยู่อาศัยโดยรอบฟาร์มไก่ภายในรัศมมี 1-2 กิโลเมตร ต่างได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากกลิ่นขี้ไก่มาโดยตลอดมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ทิศทางลมจะพาไป ช่วงเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านพยายามช่วยเหลือตัวเอง โดยในเดือนกรกฎาคม 2549 ชาวบ้านมีหนังสือร้องเรียนไปที่ อบต.ลาดกระทิงพร้อมทั้งได้ร้องเรียนไปยังกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกรมอนามัยโดยศูนย์อนามัยที่ 3 ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและแจ้งผลให้ชาวบ้านทราบว่า การประกอบกิจการฟาร์มไก่แห่งนี้ มีฝุ่นและมลพิษที่อาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพ อีกทั้งสถานประกอบกิจการยังตั้งอยู่ติดกับสถานีอนามัย อยู่ใกล้ชุมชน วัดและโรงเรียน ก่อให้เกิดเหตุรำคาญส่งผลกระทบต่อสุขภาพจริง จึงให้ อบต.ลาดกระทิง ดำเนินการแก้ไขเหตุรำคาญและควบคุมการประกอบกิจการฟาร์มไก่ดังกล่าวตามที่กฎหมายกำหนดแต่อบต.ลาดกระทิง ไม่สามารถบังคับให้บริษัท บุญแปดฯ แก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ยุติได้ อีกทั้งยังฝ่าฝืนคำสั่งของ อบต.ลาดกระทิง โดยนำไก่มาเลี้ยงเพิ่มในโรงเรือนอีก จนกระทั่งวันที่ 3 ธันวาคม 2551 อบต.ลาดกระทิง จึงมีคำสั่งไม่ต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการให้ แต่ฟาร์มไก่ยังคงประกอบกิจการต่อไป ขณะที่ชาวบ้านต้องคอยรับลมที่มีกลิ่นขี้ไก่ผสมอยู่แทบทุกวันต่อมาในเดือนมิถุนายน 2552 ชาวบ้านจึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองระยอง เพื่อขอให้มีคำสั่งให้ อบต.ลาดกระทิงปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2552ศาลปกครองระยองได้มีคำพิพากษาคดีให้ อบต.ลาดกระทิง ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ระงับเหตุรำคาญจากการเลี้ยงไก่ของบริษัทบุญแปดฯให้หมดสิ้นภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา พร้อมทั้งให้ อบต.ลาดกระทิง พิจารณาดำเนินคดีกับบริษัท บุญแปดฯกรณีมีการฝ่าฝืนคำสั่งที่ให้ปรับปรุงแก้ไขเหตุรำคาญโดยให้พิจารณาดำเนินคดีภายใน 15 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา กับให้ใช้อำนาจตามพ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีการนำไก่ไปเลี้ยงเพิ่มในโรงเรือนเลี้ยงไก่ภายในกำหนด 20 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากมีการฝ่าฝืนให้พิจารณาดำเนินคดีตามบทลงโทษที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การสาธารณสุขพ.ศ.2535หลังคำพิพากษาฯ อบต.ลาดกระทิงได้แจ้งให้บริษัท บุญแปดฯ แก้ไขปรับปรุงและระงับปัญหากลิ่นขี้ไก่เหม็นให้หมดสิ้นโดยลำดับ ต่อมาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2553 ชาวบ้านได้รับหนังสือขอความร่วมมือให้ความเห็นจากอบต. โดยหนังสือดังกล่าวแจ้งว่า ผู้ประกอบได้มีการแก้ไขปรับปรุงและระงับเหตุรำคาญให้หมดสิ้นไปแล้ว จึงขอความเห็นจากชาวบ้านเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงในปัจจุบันโดยมีชาวบ้านยินยอมให้ความเห็นกับ อบต.ลาดกระทิงจำนวน 27 ราย ซึ่งชาวบ้านทั้งหมดให้ความเห็นว่า ยังได้รับกลิ่นเหม็นอยู่ โดยมีอาการแสบจมูก เวียนศีรษะ คลื่นไส้อยากอาเจียน และหงุดหงิด รำคาญ อบต.ลาดกระทิงได้นำรายชื่อ ที่อยู่และความเห็นของชาวบ้านทั้งหมดแจ้งให้บริษัท บุญแปดรับทราบแทนที่บริษัท บุญแปดฯ จะนำข้อมูลที่ได้รับจากชาวบ้านไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขการประกอบกิจการของตัวเองให้ดีขึ้น กลับใช้เหตุดังกล่าวมาฟ้องร้องเอาผิดกับชาวบ้านทั้งคดีอาญาและแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายรวมเป็นเงินกว่า 2.3 ล้านบาทและล่าสุดทราบว่า อบต.ลาดกระทิงถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 5 แสนบาทด้วยเช่นกัน แนวทางแก้ไขปัญหามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มอบหมายให้ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคเข้าดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านในกระบวนการพิจารณาคดี และได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤษจิกายน 2553 ที่ผ่านมา โดยมีชาวบ้านไปรวมฟังการพิจารณาคดีนับ 100 ราย ซึ่งในการเจรจาไกล่เกลี่ยนั้น ศาลได้สอบถามถึงสาเหตุที่บริษัทฯ ฟ้องร้องชาวบ้าน เมื่อได้ข้อเท็จจริงแล้วได้ให้ความเห็นว่า ชาวบ้านเดือดร้อนก็ต้องใช้สิทธิร้องเรียนไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งให้บริษัทฯ แก้ไขและบริษัทฯ รับทราบแล้วก็ควรจะมีการปรับปรุงแก้ไข ชาวบ้านได้ทำตามสิทธิที่ตัวเองมีไม่ได้แจ้งเท็จ อีกทั้งยังเป็นการดีที่จะทำให้บริษัทฯ มีการพัฒนาคุณภาพจึงควรมีการพูดคุยกับชาวบ้านมากกว่าฟ้องร้อง และศาลได้แจ้งให้บริษัทฯ ปรับปรุงการประกอบการของตนโดยมีระยะเวลาที่จะพิสูจน์ต่อจากนี้ และนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกันใหม่โดยให้รวมทุกคดีในวันที่ 24 ธันวาคม 2553 เวลา 13.00 น.โดยผู้พิพากษาได้ฝากให้ทนายโจทก์และผู้รับมอบอำนาจฯ แจ้งแก่โจทก์ว่า หวังว่าโจทก์จะถอนฟ้องชาวบ้าน และนัดหน้าขอให้โจทก์เข้ามาด้วยตนเอง โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเป็นกลางมาพูดคุยกันจะดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 นมยูเอชทีบูด จะเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

เที่ยงวันหนึ่งของเดือนพฤษภาคม 2553 ณ ห้างกาฬสินธุ์พลาซ่า จังหวัดกาฬสินธุ์คุณวัลภาซื้อผลิตภัณฑ์นมโฟร์โมสต์ ยูเอชที รสสตรอเบอรี่ ขนาด 225 ซีซี จำนวน 1 แพ็คกับห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ เมื่อนำนมยูเอชทีกลับมาถึงบ้าน จึงได้นำไปแช่ในตู้เย็นเตรียมไว้ให้ลูกกินไม่นาน...ลูกชายคนเล็กวัย 3 ขวบของคุณวัลภา ได้หยิบนมจากตู้เย็นมาดื่ม เพียงแค่อึกแรกที่ดูดจากหลอด เจ้าตัวน้อยทำหน้าเบะหันไปบอกพี่สาวทันทีว่า “นมบูด”ลูกสาวคนโตของคุณวัลภาจึงนำนมกล่องนั้นเททิ้ง และบอกให้คุณวัลภาทราบว่าน้องคนเล็กเจอนมบูดหนึ่งกล่องในเย็นวันนั้นทันที คุณวัลภาไม่ได้ว่าอะไรคิดว่าอาจเป็นไปได้ที่นมจะเน่าเสียบ้าง ไม่อยากจะร้องเรียนให้เสียเวลาแต่พอวันต่อมา คุณวัลภาได้นำนมกล่องที่ซื้อมาเปิดดื่มด้วยตนเอง พบว่านมกล่องที่สองก็บูดเสียเช่นกัน เจอกับตัวเองแบบนี้ คุณวัลภาเริ่มเครียดนึกถึงตอนเจ้าตัวเล็กดื่มนมบูดเข้าใจอารมณ์ของลูกทันที เลยหยิบกล่องที่สามขึ้นมาดูดเพื่อพิสูจน์ว่าจะบูดอีกหรือเปล่า คุณวัลภาไม่ผิดหวัง เพราะดูดปั๊บรู้ทันทีว่าบูดเหมือนกัน คว้ากล่องที่สี่มาดูดอีก็บูดอีกคุณวัลภาดูดไปหน้าก็บูดเบ้ไปตามจำนวนกล่องนมที่เจาะดูดพิสูจน์ไปด้วย กว่าจะได้บทสรุปว่านมที่ซื้อมาจากห้างบูดเสียทั้งแพ็ค ใบหน้าคุณวัลภาในวันนั้นก็บูดเบ้เสียทรงไปมากทีเดียว เมื่อตรวจดูวันหมดอายุระบุ 11/11/10 หรือวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดหมดอายุ อีกหลายเดือนในขณะนั้น “ทีแรกคิดว่าช่างมันเถอะเพราะคงแค่บูดกล่องเดียว แต่นี่เป็นทั้งแพ็คเลย” คุณวัลภาจึงได้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน และร้องเรียนกับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเรียกร้องให้บริษัทแสดงความรับผิดชอบ ก่อนที่ศูนย์ฯ แห่งนี้จะส่งเรื่องร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ทำการช่วยเหลือผู้บริโภคต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหาการที่นมปรุงแต่งซึ่งบรรจุอยู่ในกล่องที่ปิดสนิทเกิดการเน่าเสียก่อนถึงกำหนดวันหมดอายุ ปัญหานี้อาจเกิดจากการผลิต การบรรจุ หรือเก็บรักษาไว้โดยไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งเป็นลักษณะของอาหารไม่บริสุทธิ์ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่าย ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับมูลนิธิฯ จึงได้มีจดหมายถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายนม “โฟร์โมสต์” และกรรมการผู้จัดการบริษัท กาฬสินธุ์พลาซ่า จำกัด ในฐานะผู้จำหน่ายสินค้า ให้ร่วมกันตรวจสอบในปัญหาที่เกิดขึ้นและพิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งต่อมาผู้บริโภคได้พิจารณาเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน 5,000 บาทโดยหวังให้ผู้ประกอบธุรกิจจะได้มีความระมัดระวังในการผลิตและจำหน่ายสินค้าของตนให้มากยิ่งขึ้นไม่นานตัวแทนของ บริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ ได้นำผลิตภัณฑ์จำนวนหนึ่งไปมอบให้แก่ผู้ร้องเพื่อแทนคำขอบคุณสำหรับการแจ้งขอมูล ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นบริษัทฯ รับที่จะนำข้อมูลและตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งยืนยันว่า บริษัทฯ ทำงานด้วยความตั้งใจที่จะมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและปลอดภัยแก่ผู้บริโภคอย่างเคร่งครัดทุกขั้นตอนด้วยระบบเครื่องมือตรวจสอบที่ทันสมัยผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพต่างๆ ทั้ง GMP , HACCPs , ISO 9001 และ ISO 22000 และในเวลาต่อมา บริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ฯ ได้รับผิดชอบต่อข้อร้องเรียนของผู้บริโภคเพิ่มเติม ด้วยการจ่ายเงินเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ร้องเรียนเป็นจำนวน 5,000 บาทผู้ร้องมีความพึงพอใจในการแก้ไขปัญหาของบริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ฯ จึงขอขอบพระคุณบริษัทฯ ผ่านทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ประกอบธุรกิจอย่างมีคุณภาพ โดยได้ดูแลผู้บริโภคเป็นอย่างดีเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 โอนบ้านแล้วเกือบปี กลับถูกฟ้องเรียกเงินจองเงินทำสัญญาย้อนหลัง

อย่างนี้ก็มีด้วย...โครงการบ้านเป็นฝ่ายบอกลดเงินจอง เงินทำสัญญาให้ ผู้บริโภคจึงตัดสินใจซื้อบ้าน จนมีการจ่ายเงินค่าบ้านค่าที่ดินและโอนรับบ้านกันเรียบร้อย แต่กลับถูกโครงการติดตามทวงหนี้ย้อนหลังอ้างยังได้เงินจองเงินทำสัญญาไม่ครบคุณศิริวรรณ ผู้บริโภคที่ประสบเหตุเล่าว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2551 ได้ไปชมโครงการหมู่บ้านพร้อมพัฒน์ ในเครือแสนสิริของบริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด โดยขอเข้าชมบ้านตัวอย่างของโครงการฯ โดยมีพนักงานขายพาชมบ้านตัวอย่างดิฉันได้สอบถามข้อมูลเงินจองและเงินทำสัญญา พนักงานขายบอกว่า เงินจอง 20,000 บาท และเงินทำสัญญา 50,000 บาท ดิฉันบอกจะมาดูใหม่อีกครั้ง พนักงานขายจึงบอกว่าถ้าจองภายในวันนั้น เงินจองจะลดเหลือ 10,000 บาท และเงินทำสัญญาเหลือ 40,000 บาท ดิฉันจึงได้ตัดสินใจวางเงินจองบ้าน ด้วยราคา 10,000 อีกประมาณ 2 เดือนไปจ่ายเงินทำสัญญา 40,000 บาท (ใบเสร็จออกรวม 50,000 บาท )จากนั้นได้ดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเรื่องให้ทางธนาคารพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ และจ่ายเงินก้อนสุดท้ายในวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อถึงวันนัดโอนวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 คุณศิริวรรณได้ไปที่สำนักงานที่ดิน เพื่อทำธุรกรรมโอนกรรมสิทธิ์ และมีการส่งมอบโฉนดแลกเปลี่ยนกับเช็คด้วยจำนวนที่แจ้งไว้เป็นที่เรียบร้อย โดยพนักงานบริษัทฯ มิได้ท้วงติงถึงเรื่องเงินจองบ้านแต่อย่างใดหลังจากนั้นไม่เท่าไหร่ ประมาณเดือนมกราคม 2552 คุณศิริวรรณได้รับโทรศัพท์แจ้งให้จ่ายค่าเงินจอง และเงินทำสัญญาที่ยังค้างอยู่ จำนวนเงินรวม 20,000 บาท คุณศิริวรรณรู้สึกแปลกใจจึงปรึกษากันกับคนที่บ้านว่า เป็นมิจฉาชีพในคราบของพนักงานขายหรือเปล่า เนื่องจากบ้านมีการโอนกรรมสิทธิ์จากเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ เรียบร้อยแล้ว และยอดเงินดังกล่าว พนักงานขายของบริษัทฯ บอกว่าเป็นส่วนลด หากยังค้างชำระเงินจองจริง บริษัทฯ ต้องแจ้งมาในใบรายละเอียดค่าใช้จ่าย หรือไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ให้ อย่างแน่นอน จากนั้นเรื่องก็หายเงียบไป จนถึงเดือนกรกฎาคม 2553 คุณศิริวรรณได้รับจดหมายแจ้งเตือน ขอให้ชำระหนี้จำนวนรวม 20,000 บาท ให้แก่ บริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด ภายใน 7 วัน ซึ่งจดหมายดังกล่าวไม่มีข้อความแจ้งแหล่งที่มาของจดหมาย ไม่มีชื่อบริษัทฯ ไม่มีตราประทับและไม่มีที่อยู่ให้ติดต่อกลับ เป็นเพียงซองสีขาวเปล่าๆ มีเพียงเบอร์โทรศัพท์มือถือ( Mobile)ไว้ให้เท่านั้น คุณศิริวรรณเกรงว่าจะเป็นมิจฉาชีพสวมรอยจึงมิได้ติดต่อกลับไปจนถึงเดือนกันยายน 2553 บริษัท อาณาวรรธน์ได้ยื่นฟ้องคุณศิริวรรณเรื่องผิดสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดิน เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 20,000 บาทเศษ คุณศิริวรรณไม่รู้จะทำอย่างไรจึงได้ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาหลังได้ตรวจสอบคำฟ้องของฝ่ายโจทก์คือ บริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด แล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้มอบหมายให้ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคเข้าช่วยเหลือผู้ร้องโดยทันที โดยทนายความอาสาได้เขียนคำให้การให้กับผู้บริโภคเพื่อนำไปยื่นต่อศาล ด้วยตนเองโดยคำให้การของผู้บริโภคได้ยืนยันว่า ผู้บริโภคได้จ่ายเงินจองเป็นจำนวน 10,000 บาท และเงินทำสัญญาจำนวน 40,000 บาทตามจำนวนที่ได้รับส่วนลดจากพนักงานขายของบริษัทฯ โดยจ่ายผ่านบัตรเครดิตและเช็คตามลำดับ และในวันที่ทำสัญญาเมื่อจ่ายเงินทำสัญญาไปเรียบร้อยแล้ว ทางโครงการยังมอบสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินของโครงการและในสัญญาได้ระบุอย่างชัดเจนว่าผู้บริโภคได้ชำระเงินจองและเงินทำสัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในหนังสือสัญญาขายที่ดินก็ระบุว่าผู้บริโภคในฐานะผู้ซื้อได้ชำระและผู้ขายได้รับค่าที่ดินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงขอให้ศาลได้พิจารณายกฟ้อง  เมื่อเห็นคำให้การของฝ่ายผู้บริโภค ทนายความของผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องขอเลื่อนนัดศาลออกไปเพื่อขอตั้งหลัก เพราะไม่คิดว่าผู้บริโภคจะแข็งข้อลุกขึ้นต่อสู้คดีได้ดังนั้น หากผู้บริโภครายใดเจอเหตุการณ์เช่นนี้ อย่าผลีผลามจ่ายเงินให้ผู้ประกอบธุรกิจ ควรตรวจสอบให้ถ้วนถี่และรีบติดต่อมาที่มูลนิธิฯ โดยทันที ผลของคดีนี้มีความคืบหน้าอย่างไร จะแจ้งให้ทราบเป็นบทเรียนโดยทั่วกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 โกงกันเห็นๆ

มีผู้ซื้อประกันภัยมากกว่า 3 ราย ได้ทำหนังสือร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีมุมที่น่าสนใจมาก เขาบอกว่าที่เขาตัดสินใจยอมเสียเงินทำประกันภัยไว้ก็เพื่อประกันความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยที่เขาไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด(จ่ายเพื่อความสบายใจ) โดยเฉพาะการที่ยอมเสียเงินเพิ่มทำประกันภัยรถยนต์ ประเภทประกันชั้น 1   ที่ต้องเสียเงินมากกว่า 10,000 บาทเพราะเห็นว่าสิทธิประโยชน์ตามสัญญาในกรมธรรม์ มีวงเงินจ่ายความเสียหายแต่ละครั้ง 10 ล้านบาท หากมีผู้เสียชีวิตจ่ายในวงเงิน 500,000 หรือ 250,000 บาทต่อราย(แล้วแต่ตกลงกันในสัญญา) และยังมีวงเงินสำหรับประกันตัวในกรณีที่มีคดีความอีกด้วยนับว่าการจ่ายเงินของเขาเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เมื่อเกิดเหตุขึ้นบริษัทประกันจะได้มารับภาระแทนเขาตามสัญญาที่ทำไว้ คือ 1. เมื่อเกิดเหตุก็มีคนจ่ายเงินให้ 2.เมื่อมีคดีความก็มีคนดูแลแต่เหตุการณ์ไม่เป็นอย่างนั้น คนที่มาร้องเรียนเขาบอกกับเราว่าเขาตัดสินใจทำประกันไว้กับบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด     เพราะชอบที่โฆษณาที่ว่าเมื่อเกิดเหตุ   จะไปเร็ว เคลมเร็ว  แต่เมื่อเขาพลาดประสบเหตุเฉี่ยวชนคนตาย เขาต้องใช้เวลาโทรหาตัวแทนประกันนานมาก....  ต่างจากโฆษณาลิบลับ โทรไปที่บริษัทใหญ่ บริษัทฯ ก็ให้เบอร์สาขาโทรไปสาขา สาขาก็ให้เบอร์ตัวแทน  เรียกว่าเอาเข้าจริงที่โฆษณาไว้ก็ไม่จริง เพราะกว่าตัวแทนจะมาถึงก็เป็นชั่วโมงๆ(กว่าจะมาตำรวจลากรถไปไว้โรงพักแล้ว)เมื่อเขาต่อว่า ว่าไม่เห็นมาเร็วเหมือนโฆษณาเลย ก็ได้คำตอบจากตัวแทนว่า อ๋อนั่นเฉพาะในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดไม่เร็วหรอกเพราะคดีเยอะ มีเจ้าหน้าที่น้อย(แล้วทำไมตอนโฆษณาไม่บอกว่าเฉพาะกรุงเทพฯ อย่างนี้มันหลอกลวงกันชัดๆ) เมื่อตัวแทนมาถึงก็จดๆ ถ่ายรูป แล้วตำรวจก็นัดเจรจากันอีกครั้งโดยมีการกำหนดวันเวลาไว้ชัดเจนเมื่อถึงวันนัดคู่กรณีมาพร้อมขาดเพียงตัวแทนบริษัทประกัน ตำรวจบอกให้มาคุยกันต่อหน้าตำรวจเลยจะเอาอย่างไรก็ว่ามา เขาบอกว่าเขางงมาก เพราะไม่รู้จะเจรจาอย่างไร เขาไม่รู้อะไรเลย จริงๆ หน้าที่เจรจาต้องเป็นหน้าที่ของประกัน เขาบอกว่าเขาพยายามโทรหาตัวแทนอยู่หลายครั้ง เริ่มจากคนที่เคยคุยไว้ครั้งแรกก็ได้คำตอบว่าไม่ได้อยู่จังหวัดนี้ย้ายไปจังหวัดอื่นแล้ว และให้เบอร์ตัวแทนคนใหม่มา เขาก็โทรหาอีก คนที่รับสายบอกว่าไม่รู้เรื่อง เขาก็พยายามโทรหาบริษัท บริษัทก็บอกเดี๋ยวจะติดต่อสาขาให้แล้วให้เบอร์สาขามา โทรหาสาขา สาขาก็บอกว่าเดี๋ยวจะส่งตัวแทนไป(เหตุการณ์คุ้นไหม) ซึ่งขณะนั้นเขาอยู่ในสภาพที่ถูกกดดันมาก คู่กรณีก็นั่งจ้องหน้า ตำรวจก็เร่งให้เจรจาเพราะมีคดีอื่นรออยู่ ตัวแทนประกันที่เขาหวังพึ่งก็ยังไม่มา เขาถามตัวเองว่าเขาเสียเงินทำประกันไปทำไม? เมื่อมีปัญหาแล้วพึ่งไม่ได้เมื่อมีการเจรจาจริงคู่กรณีได้เรียกร้อง 700,000 บาท   เขาบอกว่าเขาอุ่นใจ เพราะเขาทำ พรบ.ไว้ 2 ส่วน คือ พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ วงเงินที่จ่ายกรณีเสียชีวิต 200,000 บาท และหน้ากรมธรรม์ชั้น1 อีก 500,000 บาท รวมแล้วก็พอดีเลย   ตัวแทนก็รับไปคุยกับบริษัทโดยนัดให้ตอบในนัดต่อไปเมื่อถึงวันนัดตัวแทนประกันบอกว่าบริษัทยอมจ่ายเพียง 300,000  บาท  “จะบ้าเหรอแค่ พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ(พรบ.ภาคบังคับที่เขาจ่ายเงินไป 600 บาท)บริษัทก็ต้องจ่ายเต็ม 200,000 บาทแล้ว” เพราะฝ่ายเราเป็นฝ่ายผิด แต่ประกันชั้น 1 ที่เขาเสียเงินเกือบ 20,000 บาท  บริษัทจ่าย 100,000 เดียวเหรอแล้วก็ได้คำตอบจากตัวแทนว่าประกันของเขากำหนดวงเงินไว้เพียง 250,000 บาท “ทางบริษัทพิจารณาอนุมัติวงเงินเพียงเท่านี้ผมไม่มีอำนาจตัดสินใจ” เขาบอกอีกว่าเขาได้คุยกับคู่กรณีเรื่องวงเงิน คู่กรณีบอกว่าหากจ่าย 450,000  บาท เขาก็ยินดีจะจบเรื่องเขาก็ได้แจ้งตัวแทนบริษัทไป จากนั้นมีการนัดเจรจากันอีกหลายครั้ง ครั้งนึงบริษัทก็เพิ่มวงเงินทีละประมาณ 5,000 บาท บ้างไม่เพิ่มบ้าง (โอ้โห....เล่นใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อหวังผลประโยชน์ของบริษัท บนความเดือดร้อนของทั้งผู้ซื้อประกันและผู้เสียหายอย่างนี้ก็แย่ซิ. โกงกันชัดๆ.)จนทำให้คู่กรณีไม่พอใจ และมายืนจ้องเขาแล้วบอกกับเขาว่า  “เอาลูกชั้นคืนมาชั้นไม่ได้อยากได้เงิน” ทั้งๆ ที่เรื่องควรจบได้หากบริษัทยอมจ่ายเงินตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ น้องที่ศูนย์ฯ บอกกับผู้เขียนว่าอย่างนี้แหละพี่ไปเจรจาต่อหน้าเจ้าหน้าที่คปภ. ก็ไม่ได้เรื่อง บริษัทก็ไม่ยอมจ่ายคปภ.ก็ไม่มีน้ำยาผู้เสียหายต้องฟ้องร้องเอง ท่านผู้อ่านรู้สึกเหมือนผู้เขียนไหมว่า ผู้บริโภคอย่างเราๆ ขาดที่พึ่งจริงๆ  ทั้งๆ ที่เรามีสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย(คปภ.)ยังทำอะไรไม่ได้ น่าเหนื่อยใจจริงๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 ค้ำประกันเท่าไร เทวดาน่าจะรู้

ค้ำประกันเท่าไร  เทวดาน่าจะรู้ สุภาษิตคำพังเพยโบราณกล่าวไว้ว่า “ อยากเป็นลูกหนี้ให้เป็นนายหน้า  อยากเป็นขี้ข้าให้เป็นนายประกัน “ นั้น  น่าจะมีมูลเป็นความจริง มิฉะนั้นคงจะไม่มีคำพังเพยเช่นนี้  สัญญาค้ำประกัน นั้นคืออะไร ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา ๖๘๐ วรรคแรก บัญญัติว่า “ อันว่าค้ำประกันนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น จากบทนิยามดังกล่าว ลักษณะสำคัญของสัญญาค้ำประกันมี ๓ ประการคือ  ๑.     ผู้ค้ำประกันต้องเป็นบุคคลภายนอก กฎหมายใช้คำว่า “ สัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ค้ำประกัน “ ดังนั้น ผู้ค้ำประกันจะต้องเป็นบุคคลภายนอกหรือบุคคลที่สาม คือไม่ใช่เจ้าหนี้และลูกหนี้ อาจจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้  ถ้าเป็นนิติบุคคลต้องเป็นการที่อยู่ในวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น  ผู้ค้ำประกันหนี้รายหนึ่งอาจมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ สัญญาค้ำประกันเป็นการประกันการชำระหนี้ด้วยตัวบุคคล ซึ่งมีผลให้เจ้าหนี้มีบุคคลสิทธิที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้โดยบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินทั่วๆไปของผู้ค้ำประกัน   ๒.    ต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ จะมีการค้ำประกันได้จะต้องมีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ หนี้นั้นจะเกิดจากสัญญาหรือละเมิดก็ได้ หนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้เรียกว่าหนี้ประธาน เมื่อมีหนี้ประธานแล้วจึงมีสัญญาระหว่างผู้ค้ำประกันกับเจ้าหนี้  หนี้ระหว่างผู้ค้ำประกันกับเจ้าหนี้เป็นหนี้อุปกรณ์  ถ้าไม่มีหนี้ประธานคือไม่มีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้  แม้มีการทำสัญญาค้ำประกันไว้ ผู้ค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิด  ๓.    ต้องเป็นเรื่องผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น การที่จะเป็นการค้ำประกันจะต้องเป็นเรื่องบุคคลภายนอกผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คือต้องทำสัญญาต่อเจ้าหนี้  ถ้าไปทำสัญญากับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้สัญญานั้นไม่ใช่สัญญาค้ำประกัน   นอกจากนี้สัญญาค้ำประกันไม่มีแบบแต่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๘๐ วรรคสอง บัญญัติว่า “ อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ “   และถ้าผู้ค้ำประกันลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันสำเร็จรูปแล้วไม่ได้ไม่ได้กรอกจำนวนเงินในช่องจำนวนเงินที่จะค้ำประกันลงไป จะเกิดผลอย่างไร  ดูได้จากกรณีตัวอย่างดังนี้   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๙/๒๕๔๕ วินิจฉัยว่า สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันมีความรับผิดแต่เพียงฝ่ายเดียว การตีความจึงต้องเป็นไปโดยเคร่งครัด การที่จำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันต่อหน้าโจทก์โดยระบุว่าใช้หนี้สินทั้งหมดของจำเลยที่ ๑  แต่ในสัญญาค้ำประกันเป็นเพียงแบบที่พิมพ์ไว้โดยเว้นช่องว่างเพื่อการกรอกรายละเอียดต่างๆ  โดยไม่ได้ระบุจำนวนเงิน ดังนั้นข้อความที่ว่า ยอมรับผิดในหนี้สินทั้งหมด จึงเป็นข้อความต่อเนื่องจากข้อความในตอนแรกที่ต้องกรอกจำนวนเงินไว้ก่อน เมื่อในสัญญาค้ำประกันไม่ได้กำหนดจำนวนเงินที่จะค้ำประกันไว้ จึงเป็นเอกสารไม่สมบูรณ์และไม่อาจอนุมานได้ว่า ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดในจำนวนหนี้เท่าใด  จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์  สรุป ศาลก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจำเลยที่ ๒ จะค้ำประกันจำเลยที่ ๑ จำนวนเท่าไรกันแน่จึงยกฟ้องจำเลยที่ ๒ และคิดต่อไปว่าหากมีผู้ค้ำประกันคนไหนไปบอกเจ้าหนี้ว่าถ้าขีดเส้นในช่องจำนวนเงินที่ค้ำประกันนั้นหมายความว่า ค้ำประกันไม่จำกัดจำนวนเงิน คงสนุกดีพิลึก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 117 น้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญกับเรื่องที่ต้องระวัง

คนเราทุกคนต้องดื่มน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกายดำเนินไปเป็นปกติ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายไม่อาจขาดน้ำได้ เพราะการขาดน้ำย่อมหมายถึงการสิ้นสุดของชีวิตโดยทั่วไปร่างกายได้น้ำมาจากน้ำดื่ม เครื่องดื่มและอาหาร น้ำที่เราใช้ดื่มกินมาจากหลายแหล่ง ทั้งที่ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น น้ำฝน น้ำบาดาล และที่ผ่านกระบวนการผลิต เช่น น้ำประปา น้ำดื่มบรรจุขวด ซึ่งอย่างหลังเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายจนเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ไว้วางใจในน้ำประปาว่า สะอาดเพียงพอสำหรับการดื่มกิน อย่างไรก็ตาม น้ำดื่มบรรจุขวดนั้นมีราคาแพงมาก น้ำดื่มขนาด 600 มิลลิลิตรที่วางจำหน่ายทั่วไปมีราคาสูงถึง 7 บาทต่อขวด และยังอาจมีราคาสูงไปได้อีกหากจำหน่ายในร้านอาหารที่ไม่มีการควบคุมราคาน้ำดื่ม ดังนั้นหากเป็นการซื้อมาไว้เพื่อการบริโภคในครัวเรือน น้ำดื่มบรรจุขวดอาจไม่ใช่ทางเลือกสำหรับครอบครัวที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย การติดตั้งเครื่องกรองน้ำ ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่บางครอบครัวเลือกใช้ แต่สำหรับบางครอบครัวหรือบางคนที่ไม่ได้มีบ้านพักถาวร เช่นผู้ที่ต้องอาศัยอยู่ในหอพักหรือห้องเช่า น้ำดื่มที่กำลังมาแรงสุดตอนนี้ก็คือ น้ำดื่มที่ได้มาจากตู้หยอดเหรียญ ที่ปัจจุบันมีกระจายติดตั้งอยู่ทั่วไปในย่านชุมชนที่มีหอพักจำนวนมาก เพราะทั้งสะดวกในการใช้บริการและมีราคาถูกมาก เมื่อเทียบกับน้ำดื่มบรรจุขวด โดยน้ำที่ได้จากตู้หยอดเหรียญจะมีราคาอยู่ที่ประมาณลิตรละ 70 – 85 สตางค์ เท่านั้น __________________________________________________________________________ ตู้น้ำหยอดเหรียญเป็นการพัฒนาระบบบริการน้ำดื่มให้ครอบคลุมความต้องการ โดยเฉพาะในแหล่งชุมชนที่มีประชาชนอยู่จำนวนมาก เช่น หอพัก ห้องเช่า ตลาด หรือบริษัทห้างร้านที่มีประชาชนจำนวนมาก พบได้ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ตลอดจนในพื้นที่เขตเมือง เขตเทศบาลและแหล่งชุมชนใหญ่ๆ ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ จากการศึกษาล่าสุดโดยกองสุขาภิบาลอาหาร สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ประมาณการว่า เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร มีมากถึง 20,000 ตู้ และส่วนใหญ่เป็นตู้น้ำดื่มที่ใช้กระบวนการรีเวอร์ส ออสโมซิส (Reverse Osmosis: RO) __________________________________________________________________________ น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญปลอดภัยหรือไม่ โดยวิธีการและแหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำ น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญน่าจะมีความปลอดภัยเหมาะสำหรับการบริโภค เพราะใช้น้ำประปาที่คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานมาผ่านกระบวนการหรือขั้นตอนที่ทำให้ได้น้ำดื่มที่มีคุณภาพและความสะอาดที่ดี แต่จากการวิจัยของหลายหน่วยงานในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา พบว่า น้ำที่ได้จากตู้หยอดเหรียญยังมีความเสี่ยงในเรื่องของการปนเปื้อนเชื้อโรค ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้ ข้อมูลจากศึกษาวิจัยและเฝ้าระวังของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ที่ได้ทำการศึกษาเชิงสำรวจคุณภาพน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญ โดยสุ่มตัวอย่างจากพื้นที่ 30 เขตของกรุงเทพฯ จำนวน 546 ตัวอย่างจาก 20 ตราผลิตภัณฑ์ ในช่วง มี.ค. – มิ.ย. 2548 โดยอาศัยเกณฑ์ประเมินคุณภาพของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ มอก. 257-2521 ของกระทรวงอุตสาหกรรม มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 61 (2524) และฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2534) และมาตรฐานของการประปานครหลวง ในภาพรวมพบว่า มีน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสูงถึง 289 ตัวอย่างหรือคิดเป็นร้อยละ 52.9 โดยมีประเด็นที่น่าสังเกตคือเมื่อจำแนกตามตรายี่ห้อผลิตภัณฑ์ของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้ง 20 ตราผลิตภัณฑ์พบว่าไม่มีกลุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากตรายี่ห้อใดเลยที่ผ่านเกณฑ์ได้ทั้งหมด และในจำนวนนี้มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของตราผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ในสัดส่วนมากกว่า 50% ของกลุ่มตัวอย่างที่สุ่มตรวจของแต่ละตราผลิตภัณฑ์ ในปี พ.ศ. 2549 สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย ได้ทำการเฝ้าระวังความปลอดภัยของน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญ โดยสุ่มตรวจตู้น้ำหยอดเหรียญจาก 9 จังหวัด (รวม กทม. และนนทบุรี) พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน (แบคทีเรีย) ของกรมอนามัย จำนวน 3 ตัวอย่าง (จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 33 ตัวอย่าง) และพบการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์ม (Coliforms) จำนวน 1 ตัวอย่าง (จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 22 ตัวอย่าง) ในปี 2550 เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการศึกษาเรื่องความปลอดภัยของการบริโภคน้ำจากเครื่องผลิตน้ำดื่มหยอดเหรียญ โดยสุ่มตัวอย่างจากเขตพื้นที่ต่าง ๆ ใน กทม. จำนวน 350 ตัวอย่าง (50 เขต ๆ ละ 7 ตัวอย่าง) ปรากฏว่า ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงฯ ฉบับที่ 61 พ.ศ. 2524 และฉบับที่ 135 พ.ศ. 2534) จำนวน 264 ตัวอย่าง ซึ่งหมายความว่ากว่าร้อยละ 25 ของกลุ่มตัวอย่างไม่ผ่านเกณฑ์ และในจำนวนนี้พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์เรื่องกรด – ด่าง (pH) และความกระด้างร้อยละ 20.9 พบการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์ม (Coliforms) ร้อยละ 5.43 และ อี. โคไล (E.coli) ร้อยละ 0.57 นอกจากนี้ยังพบการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์ม บริเวณหัวจ่ายน้ำของตู้น้ำหยอดเหรียญถึงร้อยละ 23.41 และมีตะไคร่เกาะอยู่ที่หัวจ่ายน้ำกว่าร้อยละ 50 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด และในปี พ.ศ. 2552 สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย ได้ทำการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคครัวเรือนอีกครั้ง โดยสุ่มตรวจน้ำดื่มเพื่อการบริโภคประเภทต่างๆ ของครัวเรือน จาก 19 จังหวัดในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ (ไม่รวม กทม.) ทั้งเขตเมืองและชนบท ซึ่งได้มีการสุ่มตรวจคุณภาพน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญด้วยจำนวน 6 ตัวอย่าง พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์แบคทีเรีย จำนวน 4 ตัวอย่าง ซึ่งจากการทบทวนการสำรวจทั้งหลายที่กล่าวมา พบว่า สาเหตุสำคัญที่น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญมีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ แบคทีเรียและโคลิฟอร์ม เนื่องจากความไม่สะอาดของอุปกรณ์กรองน้ำ ภาชนะที่เก็บน้ำและการเก็บน้ำที่กรองออกมาจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอย่างไม่ถูกสุขลักษณะนั่นเอง ที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ นอกจากนี้ในบางจุดยังพบสาหร่ายและตะไคร่ในบริเวณหัวจ่ายน้ำอีกด้วย __________________________________________________________________________ ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่จังหวัดสงขลา สมาคมผู้บริโภคสงขลา ได้ทำการสำรวจคุณภาพของน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญจำนวน 13 ตัวอย่าง 11 ตราผลิตภัณฑ์ ในการเก็บตัวอย่างจำนวน 3 ครั้ง ในเดือน กันยายน และ พฤศจิกายน 2552 และเดือนมกราคม 2553 จากพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยส่งทดสอบหาจุลินทรีย์ก่อโรค 4 ชนิด ได้แก่ เสต็ฟฟิโลคอคคัส ออเรียส (เอส.ออเรียส/S. aurius) ซัลโมเนลล่า (Salmonella ) อี.โคไล (E.coli) และ โคลิฟอร์ม (Coliform) ผลการทดสอบพบว่า มีเพียงหนึ่งตัวอย่างที่ไม่ผ่านการทดสอบ คิดเป็นร้อยละ 8 ได้แก่ตัวอย่างยี่ห้อสยามวอเตอร์ จากหอพักณัชชา อพาร์ทเม้นท์ ในการเก็บตัวอย่างเดือนมกราคม 2553 พบโคลิฟอร์มจำนวนมากกว่า 22 เอ็มพีเอ็น ต่อน้ำดื่ม 100 มิลลิลิตร ซึ่งตามมาตรฐานในประกาศกระทรวงฯ ฉบับที่ 61 และ ฉบับที่ 135 ระบุไว้ว่าไม่เกิน 2.2 เอ็มพีเอ็น ต่อน้ำดื่ม 100 มิลลิลิตร (ข้อมูลจาก โครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค ภายใต้การสนับสนุนจากแผนงานสร้างเสริมการเรียนรู้กับสถาบันอุดมศึกษาไทย เพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ./TUHPP) __________________________________________________________________________ ใครรับผิดชอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ในรายงานการศึกษาทบทวนองค์ความรู้ทางด้านน้ำกับความปลอดภัยด้านอาหาร โดย โปรแกรมศึกษาระบบความปลอดภัยอาหารและโภชนาการ (FSN) สถาบันคลังสมองของชาติ (KNIT) ร่วมกับ สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 กล่าวว่า หน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมกำกับดูแลน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังไม่มีความชัดเจน ไม่ว่าจะทางด้านหน่วยงาน/องค์กรหรือด้านตัวกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ก็ยังไม่มีกฎหมายใดที่กำหนด ควบคุมและกำกับดูแลน้ำดื่มเพื่อการบริโภคที่ได้จากตู้น้ำหยอดเหรียญโดยตรงเลย มีก็เพียงเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่มทั่วไปในการตรวจสอบและเฝ้าระวังเท่านั้น อย่างไรก็ดีปัจจุบันเริ่มมีความพยายามที่จะเข้าควบคุมกำกับดูแลคุณภาพบ้างแล้ว เช่น ในเขตกรุงเทพมหานคร จากการให้สัมภาษณ์ของ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ  ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 ระบุว่า มีผู้ประกอบการตู้น้ำดื่มแบบหยอดเหรียญมาลงทะเบียนไว้ที่สำนักงานเขต ทั้งสิ้น 2,000 ตู้ ซึ่งต่อไปนี้ทางสำนักงานเขตแต่ละพื้นที่จะเข้มงวดให้ผู้ประกอบการทุกรายมาขึ้นทะเบียน โดยเตือนว่า ผู้ที่เป็นเจ้าของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญต้องมาลงทะเบียนที่สำนักงานเขต หากตู้น้ำใดไม่มีการขึ้น ทะเบียน หรือไม่มีใบจดทะเบียนที่สำนักงานเขตออกให้ก็จะดำเนินการตามกฎหมาย อาจจะถึงขั้นไม่ให้ตั้งตู้น้ำในพื้นที่นั้นๆ เลย และยังกล่าวอีกว่า “ขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ให้ ช่วยเป็นหูเป็นตาด้วย หากพบว่าตู้น้ำดื่มใดไม่มีใบขึ้นทะเบียนจากทางสำนักงานเขตก็อย่าได้ไว้ วางใจกดน้ำมาบริโภค” ถึงกระนั้น หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า มาตรการดังกล่าวเป็นเพียงทางกฎระเบียบข้อบังคับเท่านั้น แต่การเฝ้าระวัง การกำกับดูแลและการตรวจสอบที่อยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ทางวิชาการในส่วนที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญยังไม่ปรากฏว่า มีการดำเนินงานหรือการสนับสนุนที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม เช่น ยังไม่การวิจัยหรืองานวิชาการเรื่องฐานความรู้ในเรื่องสำคัญๆ ที่จะเกี่ยวกับความปลอดภัยของน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญ อย่างเช่น ลักษณะทางกายภาพของตู้น้ำดื่มที่ดีควรเป็นเช่นไร หัวจ่ายที่ใช้ในการจ่ายน้ำต้องมีความปลอดภัยแค่ไหนหรือแม้แต่มาตรฐานของวิธีการบำรุงรักษาว่าควรเป็นเช่นใด ถึงตรงนี้ผู้บริโภคก็ต้องทำใจรอกันล่ะ ว่าเมื่อไหร่ผู้มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย จะเร่งศึกษาวิจัยและจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญกันเสียที ก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาบานปลายแก้ไขไม่ทัน เพราะปัจจุบันธุรกิจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญกำลังเป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงมาก   ฉลาดซื้อแนะ การเลือกใช้บริการน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1. สภาพภายนอกของตู้น้ำดื่ม : ควรเลือกตู้ที่สะอาด มีการทำความสะอาด ไม่มีฝุ่นผงหรือคราบสกปรก ผู้ประกอบการมีการปัดกวาดเช็ดถูบริเวณรอบๆ ตู้ โดยเฉพาะตรงจุดที่ใช้สำหรับวางภาชนะบรรจุเพื่อรองน้ำจากหัวบรรจุต้องสะอาด ไม่มีฝุ่นผง มีฝาปิดเพื่อป้องกันฝุ่นละออง หัวจ่ายน้ำจะต้องสะอาด ไม่มีคราบสนิมหรือตะไคร่น้ำ และควรเลือกใช้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ตั้งอยู่ในที่ร่มไม่มีแสงแดดส่องถึง ซึ่งแสงแดดมักจะก่อให้เกิดตะไคร่ขึ้นภายในหัวบรรจุ 2. การควบคุมคุณภาพของน้ำ : ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญบางยี่ห้อจะมีการดูแลและควบคุมคุณภาพของน้ำดื่มโดยผู้ ดูแลตู้จะเข้ามาทำการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องและไส้กรอง จากนั้นจะทำการแปะสติ๊กเกอร์แสดงข้อความบอกวัน เวลาที่เข้ามาตรวจสอบ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยทำให้ผู้บริโภครู้ว่าเจ้าของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ตู้นี้มีการดูแล และควบคุมคุณภาพของน้ำหรือไม่ 3. การสังเกตกลิ่น สี รส : ผู้บริโภคควรตรวจดูสภาพของน้ำที่ได้จากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเบื้องต้นด้วยตน เอง จากการสังเกตสี ความขุ่น-ใส กลิ่นและรสชาติของน้ำ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ถ้าเป็นตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ใช้อยู่เป็นประจำ เมื่อน้ำที่ได้มามีกลิ่นหรือรสชาติของน้ำเปลี่ยน ก็ควรที่จะเปลี่ยนตู้ใหม่ หรือรอให้ตู้ที่ใช้อยู่เดิมนั้นได้รับการดูแลทำความสะอาดหรือเปลี่ยนไส้กรอง เสียก่อน 4. ภาชนะบรรจุที่จะนำไปบรรจุน้ำดื่มจากตู้ : ควรเป็นภาชนะที่สะอาดและมีขนาดพอดีกับปริมาณน้ำที่ซื้อ 5. ไม่สัมผัสหัวจ่ายน้ำด้วยมือหรือวัสดุอื่นใด : เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคลงในน้ำดื่ม   __________________________________________________________________________ น้ำดื่มจากระบบรีเวอร์ส ออสโมซิส (Reverse Osmosis: RO) อันตรายจริงหรือ เนื่องจากน้ำจากตู้หยอดเหรียญส่วนใหญ่ ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า รีเวอร์ส ออสโมซิส (Reverse Osmosis: RO) ที่เคยมีผู้กล่าวอ้างว่าเป็นน้ำดื่มที่มีอันตรายเพราะ เป็นน้ำดื่มที่มีความบริสุทธิ์สูงนั้น ในความเป็นจริงยังไม่มีวิจัยไหนมารับรองว่าการกินน้ำ RO จะทำให้เกิดโทษหรือเกิดประโยชน์ไปมากกว่าน้ำปกติ กระบวนการผลิตน้ำบริโภคด้วยระบบ รีเวอร์ส ออสโมซิส เป็นการกรองน้ำให้มีความบริสุทธิ์เกือบ 100% ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ได้น้ำที่สะอาดปลอดภัยวิธีหนึ่ง และไม่ว่าจะเป็นระบบการผลิตน้ำแบบใดก็ตาม หากน้ำผ่านการกรองที่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งยึดหลักเกณฑ์ตามองค์การอนามัยโลก น้ำนั้นจะไม่มีอันตราย __________________________________________________________________________ คุณภาพน้ำประปาที่ใช้อยู่ในประเทศไทยปัจจุบันนี้เหมาะกับการนำมาบริโภคหรือไม่?โดย สถาบันวิจัยโภชนาการ มหิดล ตีพิมพ์ใน วารสารโภชนาการปีที่ 43 ฉ.1 มค.-มีค. 51 ถาม : คุณภาพน้ำประปาที่ใช้อยู่ในประเทศไทยปัจจุบันนี้เหมาะกับการนำมาบริโภคหรือไม่?ตอบ : กองอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย ศูนย์อนามัยสิ่งแวดล้อม และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ได้ทำการสำรวจคุณภาพน้ำบริโภคจากแหล่งต่างๆ คือ ประปาขนาดใหญ่ ประปาขนาดกลาง ประปาขนาดเล็ก บ่อบาดาล และบ่อตื้นทั่วประเทศ ยกเว้นในกรุงเทพมหานคร โดยสำรวจคุณภาพในแง่กายภาพ เคมี และแบคทีเรีย พบว่าน้ำบริโภคจากแหล่งน้ำเหล่านี้ประมาณร้อยละ 80 ไม่ได้มาตรฐาน แม้แต่ในกรณีประปาขนาดใหญ่ ซึ่งมีเพียงร้อยละ 27.2 ที่ได้มาตรฐานทั้ง 3 ด้านคุณภาพของน้ำประปาในเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่ได้มาตรฐาน ยกเว้นอีกประมาณร้อยละ 8 ที่จ่ายให้ในบางพื้นที่ซึ่งมีปริมาณน้ำประปาไม่เพียงพอ จึงต้องใช้น้ำบาดาลแทน น้ำบาดาลเหล่านั้นมักไม่ได้มาตรฐานทั้งในด้านกายภาพ เคมี และแบคทีเรีย สรุปแล้วน้ำบริโภคจากทั้ง 5 แหล่งในชนบท มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานเหมาะกับการบริโภค ส่วนน้ำประปาในเขตกรุงเทพมหานครประมาณร้อยละ 90 ได้มาตรฐาน   ถาม : การต้มหรือกรองน้ำประปาจะช่วยปรับปรุงคุณภาพของน้ำให้เหมือนกับคุณภาพน้ำดื่มบรรจุขวดที่จำหน่ายอยู่ทั่วไปได้หรือไม่? ตอบ : การต้มช่วยฆ่าเชื้อโรคในน้ำและลดความกระด้างโดยเฉพาะในน้ำกระด้างชั่วคราว นอกจากนี้ยังช่วยลดกลิ่นคลอรีนด้วย คุณภาพจึงน่าจะใกล้เคียงกับน้ำดื่มบรรจุขวด ส่วนน้ำประปาที่ผ่านระบบกรองที่นิยมใช้อยู่ตามบ้านเรือนทั่วไป ซึ่งก็ประกอบด้วยถ่านและเรซิน เหมือนกับกระบวนการผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด ยกเว้นไม่มีขั้นตอนการฆ่าเชื้อโรคด้วยรังสีอัลตร้าไวโอเลตหรือก๊าซโอโซน อย่างไรก็ตามถ้าน้ำประปาที่ใช้ผ่านการฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีนในปริมาณที่เพียงพอ น้ำที่กรองจากเครื่องมือเหล่านั้นก็มีคุณภาพใกล้เคียงกับน้ำดื่มบรรจุขวดเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >