ฉบับที่ 187 สันติ โฉมยงค์ “ถ้าเราไม่ทำแล้วจะมีใครไปทำงาน”

สันติ โฉมยงค์ เภสัชกรชำนาญการกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ข้าราชการตัวเล็กๆ ที่ทำงานคุ้มครองอย่างเข้มแข็งและเต็มไปด้วยสีสัน ต้องมาสะดุดเมื่อถูกผู้ประกอบการฟ้องหมิ่นประมาท เรื่องราวการทำงานแต่ละช่วงเวลาเป็นตลกร้ายที่พวกเราอาจหัวเราะไม่ออก แต่เมื่อเราถามว่าเขาเริ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคตั้งแต่เมื่อไหร่ แววตาคู่นั้นกลับมีประกายอีกครั้ง สันติดเล่าย้อนกลับไปว่า “เริ่มงานด้านผู้บริโภคตอนมาเป็นเภสัชนี่ละครับ  ผมเห็นปัญหาเรื่องของการบริโภคแล้วก็เห็นปัญหาเรื่องของการใช้ยาของชาวบ้าน  แต่ก่อนก็เป็นภสัชที่โรงพยาบาลชุมชน รพ.บ้านหมอ ตอนนั้น รพ.มีวิกฤติ คือเป็นช่วงที่ รพ.เข้าสู่ระบบ 30 บาทใหม่ๆ (ยุคแรกของโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) งานมันมากมาย พองานมากๆ เข้าแพทย์ก็เริ่มลาออก ทันตแพทย์ เภสัชก็ลาออกกันหมดเลย ผมก็เป็นรุ่นที่ไปแทน ตอนนั้นเป็นข่าวดังมากที่มีบุคลากรทางการแพทย์ลาออกกันหมด ย้ายหนีกันหมด เราก็พยายามทำงานเชิงรุก เพราะเราเจอปัญหามากเนื่องจากวันหนึ่งๆ มีคนไข้ประมาณ 600 คน มีเตียง 30 เตียง คือบางทีมันจ่ายยาคนเดียวไม่ไหว เราก็พยายามออกไปเยี่ยมบ้าน และให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพตัวเอง แล้วเราก็รู้ ก็ไปเจอว่ามันมีปัญหา ปัญหาที่ซับซ้อนในการใช้ยาของชาวบ้าน เช่น มีกลุ่มทุนในหมู่บ้านที่ต้มยาขายเอง หรือกลุ่มพระสงฆ์ที่ซื้อยาแผนปัจจุบันไปบดทำยาสมุนไพร ก็เลยคิดว่าการไปทำงานเชิงรับในโรงพยาบาลมันช่วยอะไรไม่ได้ ตอนนั้นรู้จักพี่ภาณุโชติ(ภก.ภาณุโชติ ทองยัง) แกก็เลยชวนมาทำปัญหาเรื่องยาไม่เหมาะสมในชุมชน  ซึ่งมันก็พอดีกับที่เจอเราก็เลยออกมาทำเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค เลยเริ่มที่ รพ.ชุมชนก่อน  แต่ทำงานใน รพ.ชุมชนก็จะมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา คือต้องหลังจากที่แพทย์เลิกตรวจแล้ว เวลาหลังบ่ายสองโมงเราถึงจะออกไปทำงานกับชาวบ้านได้ก็ทำอยู่แบบนั้นได้ประมาณสักสามปีก็เลยย้ายไปทำงานที่ฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภคที่อุทัยธานี ตอนนั้นก็ทำเต็มตัวเลยนะ ไปทำหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่ เรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร  ผมเจอเคสหนึ่งตกใจมากเลย คือมีเด็กป่วยแล้วทิ้งเจลแปะหน้าผากลงไปในน้ำ พอดีฝนตกน้ำมันก็ไหล ชาวบ้านไปเจอแล้วเข้าใจว่ากินได้ เขาก็ไปจับมาแล้วก็หุงข้าวเตรียมจะกินละ  ตอนนั้นคิดว่าชาวบ้านเขาไม่รู้จริงๆ เรื่องราวเป็นข่าวใหญ่โตมากเลย เราก็ไปดูเห็นว่านี่มันเจลแปะลดไข้ธรรมดา เลยคิดว่าเราต้องทำงานเชิงรุกให้มากยิ่งขึ้น อยู่ที่นั่น(อุทัยธานี) ก็ทำเรื่องแก้ปัญหาหน่อไม้ปี๊บ เรื่องการฉีดยาฆ่าแมลงแตงกวาก่อนการเก็บเกี่ยว เช่นพรุ่งนี้จะเก็บเย็นวันนี้ก็จะฉีด เราก็เข้าไปให้ความรู้ ซึ่งตอนหลังพบว่า เราเข้าไปต่อสู้กับระบบทุนใหญ่ บางพื้นที่เขาทำขนาด 50 ไร่  ใช้เครื่องฉีด ใช้รถพ่น เราก็เลยคิดว่าเรื่องการให้ความรู้เป็นเรื่องสำคัญ พอย้ายมาอยู่ที่จังหวัดอยุธยา จึงทำเรื่องเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคอย่างจริงจังหลักๆ มีอะไรบ้างคะมีเครือข่ายโรงเรียน เช่น งาน อย.น้อย ซึ่งเป็นหน้าที่หลักอยู่แล้ว แต่แทนที่เราจะทำกับเด็กอย่างเดียว ผมเข้าไปทำกับชุมชนด้วย แล้วผมก็ไปชวนชาวบ้านมาเป็นเครือข่ายผู้บริโภคด้วย มาให้ช่วยเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่เป็นปัญหาของชุมชน ผลิตภัณฑ์ที่เข้ามาใหม่ๆ แล้วคนในชุมชนก็ตอบปัญหาไม่ได้ อันแรกจำได้แม่นว่า มีตัวดูดน้ำ อันนี้เด็กๆ และอาจารย์ที่โรงเรียนจะเป็นคนที่แจ้งมา ตอนแรกคิดว่าเป็นเรื่องเล่นๆ ผมไปอยู่โรงเรียนหนึ่งเห็นเข้าตกใจมาก เพราะว่าทุกคนในโรงเรียนเล่นไอ้ตัวนี้อยู่ คุณครูก็จะไม่รู้เพราะว่าเด็กจะซ่อนเอาไว้ใต้โต๊ะในลิ้นชัก ครูไม่รู้ แล้วก็กลัวว่าถ้าบอกออกไปจะเป็นความผิด เราเลยไปหาผู้บริหาร ผู้บริหารก็บอกว่าใครมีเอาออกมานะ ไม่เอาออกมาจะมีความผิดปรากฏว่าทั้งโรงเรียน หรือมีอยู่โรงเรียนหนึ่งคือ เด็กกลัวความผิด เลยเอาไปทิ้งไว้ในชักโครก พอเปิดชักโครกมา โอ้โห มันพองเต็ม กลายเป็นส้วมตันทั้งโรงเรียน เราเลยต้องให้ความรู้ว่ามันอันตรายอย่างไร โดยเฉพาะพวกเด็กเล็กๆ ที่ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ยังเอามากินยังอม  พอพยายามให้ความรู้กับชาวบ้าน เพราะมีเอาไปเล่นที่บ้านด้วย ตอนหลังก็รู้ว่ามันเป็นสินค้าที่ห้ามจำหน่ายอยู่แล้วเพราะผิดกฎหมาย ตอนนั้น สคบ.ออกประกาศมาแล้ว พอเราแจ้งไป สคบ.ก็มากวาดล้างที่อยุธยา แต่ถ้าถามว่าทุกวันนี้ยังมีไหมก็ยังมีอยู่นะแต่มันก็ลดน้อยลง เหมือนชุมชนมีความรู้เพิ่มมากขึ้น เวลาผมไปทำงานแบบนี้ผมไม่ได้ไปคนเดียว จะพาชาวบ้านเครือข่ายในชุมชนนั้นไปด้วยให้เขาเห็นว่าเรื่องนี้มันเป็นปัญหา ต่อไปพอเขาเห็นว่าสิ่งใดผิดสังเกตก็จะแจ้งเรา อีกอันที่เราเจอก็คือ เครื่องแช่น้ำน่ะครับ สปาเท้า ที่ต้องเอาเท้าแช่ลงไปแล้วจะมีเครื่องไฟฟ้าอะไรสักอย่างใส่ที่เอวเวลาเปิดกระแสไฟฟ้าจะผ่านตัวน้ำ แล้วน้ำจะเปลี่ยนสี น้ำจะแต่ละสีจะมีการบอกเล่าหรือวินิจฉัยโรคที่ต่างกัน เป็นใบเหมือนเสี่ยงเซียมซี เช่น ถ้าน้ำออกเป็นสีแดงสนิม อันนี้จะเป็นโรคเกี่ยวกับเลือด ถ้าน้ำออกเป็นสีเขียวเป็นโรคตับเป็นน้ำดี ถ้าเป็นเหลืองๆ โรคน้ำเหลือง ชาวบ้านก็ไปทำสปาเท้ากันเต็มเลย  มีลงพื้นที่แล้วไปเจออยู่วัดหนึ่ง เขาลงทุนซื้อเลยนะครับ วัดก็มีรายได้ คนก็มานั่งแช่กันเป็นชั่วโมง เราก็ไม่ได้นะครับน้ำที่คุณแช่มันไม่สะอาด แล้วมันไม่ใช่ว่าเป็นโรคตับแล้วน้ำมันไหลมาจากเท้า ตอนนั้นถึงขนาดมีปัญหากับวัดเพราะไปทำให้วัดเขาสูญเสียรายได้ แต่ที่หนักสุดของพระนครศรีอยุธยา เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานบริการสุขภาพ(คลินิก) เพราะว่าจังหวัดนี้มีนิคมอุตสาหกรรมมาก ประเด็นแรกๆ ที่เราเข้าไปดู เป็นเรื่องของยาลดความอ้วน ประมาณสักปี 52 หรือ 53 มีเจ้าหน้าที่ภาครัฐท่านหนึ่ง กินยาลดความอ้วนจนเสียสติ กินจนเป็นบ้าเลย ทางสำนักงานต้นสังกัดก็ไม่จ้างต่อ (ทุกวันนี้ก็ยังคล้ายๆ คนสติไม่ดีขายผักอยู่ที่ตลาด) เราเห็นแล้วรู้สึกว่า “ปล่อยให้มีอยู่ได้อย่างไร” เลยคิดว่าน่าจะทำอะไรสักอย่าง ผมเริ่มจากการสำรวจก่อนเลยว่ามีแหล่งจำหน่ายกี่แหล่ง แล้วมีช่องทางอะไรบ้าง ไปเจอช่องทางหนึ่ง น่ากลัวมาก คือเจ้าของคลินิกเป็นแพทย์ แพทย์จริงๆ นะครับ เขาใช้วิธีนี้ คือเวลาคนมารักษา เขาจะจ่ายยาให้ ให้คนรักษาเอายาไปขายต่อได้ มันก็เหมือนว่าตัวหมอไม่ผิด เพราะจ่ายยาตามใบสั่ง ถูกไหมฮะ ยาพวกนี้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท คนที่ซื้อไปก็เอาไปขายต่อ เป็นยาชุดเลย เช่นยาชุดละ 250 บาท ก็ไปขายต่อชุดละ 300 ช่วงนั้นระบาดไปทั่วอยุธยาเลย “ยาชุดลดความอ้วน” มีน้องคนหนึ่งที่ใช้ยาตอนชุดนี้ตอนเรียนหนังสือน้ำหนัก 50 กิโลกรัมกว่าๆ เขากินยาพวกนี้ 2 ปีกว่าจะจบ เพราะกลัวว่าตอนรับปริญญาแล้วจะไม่สวย พอจบแล้วตอนนี้เลิกกิน แต่น้ำหนักขึ้นมาถึงประมาณ 120 กิโลกรัม  หรือมีอีกคลินิกหนึ่ง ตอนแรกแสดงตนว่าเป็นแพทย์แล้วมีใบประกอบโรคศิลปะด้วย มีบัตรมีอะไรครบ แต่ผมสังเกตว่าบัตรมันไม่เหมือนบัตรแพทย์ แต่เขาก็มาขออนุญาตที่เรานะ คือผมดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลัก ไม่ได้ดูเรื่องการออกใบอนุญาต แต่ผมมาเห็นว่ามันผิดสังเกต คิดว่าบัตรนี้มันไม่ใช่แน่ แต่เราก็ยังทำอะไรเขาไม่ได้ เพราะหมอส่วนใหญ่ต้องบอกว่าเส้นใหญ่ พอดีมีเหตุสาวโรงงานคนหนึ่งกินยาลดน้ำหนักแล้วเสียชีวิต เราเลยได้เข้าไปสืบข่าว ตอนนั้นขอดูหมดเลย ปรากฏว่าเป็นอะไรที่ซับซ้อนมาก คือเขาเคยเป็นนักเรียนแพทย์แล้วเลขที่ติดกันกับเพื่อนซึ่งชื่อเดียวกัน แต่คนละนามสกุล แต่คนที่มาเปิด(คลินิก)ที่นี่น่ะเรียนไม่จบแพทย์ เลยไปเรียนต่อต่างประเทศพอกลับมาก็มาทำธุรกิจแบบนี้ โดยที่เอาใบประกอบวิชาชีพของเพื่อน เพราะชื่อเดียวกันไง ที่นี้เขาก็ถ่ายเอกสารแล้วเปลี่ยนตรงนามสกุล เราก็เลยบอกนี่มันผิดหมดเลยนะ เราจับสังเกตจากเรื่องยา เนื่องจากใช้ยาไม่มีทะเบียน พอมีคนเสียชีวิตเราก็เลยเข้าไปตรวจสอบเอกสารทั้งหมด เลยถึงบางอ้อว่าบัตรประชาชนก็คนละอย่าง ใบประกอบวิชาชีพตัวจริงก็คนละอย่าง สุดท้ายเราก็แจ้งไปที่ตัวแพทย์จริงๆ ที่อยู่ชลบุรี(ทางเราสอบถามไปที่แพทย์ชื่อนี้ก่อนว่ามีการสั่งซื้อยาเป็นล้านๆ บาทเลย ทางนั้นไม่รู้เรื่อง เราเลยอ๋อแบบนี้ ) จึงให้ไปแจ้งความดำเนินคดีกัน เรื่องคดีนั้นผมไม่ได้ตามต่อ ส่วนคลินิกก็ถูกปิดไปแล้ว ในส่วนของ สสจ.เราจะเช็คมาตรฐานว่ามีตามเกณฑ์หรือไม่  หากมีการเปิดคลินิก จากนั้นจะมีตรวจประจำปี ปีละครั้งจากนั้นผมก็คิดว่าจะทำอะไรสักอย่างกับยาลดความอ้วนในจังหวัดอยุธยาดี เลยคิดว่าต้องใช้การส่งสายลับไป พวกคลินิกที่มีปัญหาเพิ่งปิดได้หมดเมื่อประมาณสักปีที่แล้ว กว่าจะเข้าไปควบคุมได้มันยาก เพราะยาพวกนี้ต้นทุนต่ำ เขาแค่สั่งของจริงที่มันถูกต้อง 1 กระปุก แต่ที่เหลือก็สั่งจากตลาดมืดมา เวลาเราไปตรวจก็จะนับแค่นี้ 30 เม็ด อ้อ ไม่มีจ่ายเลยนะ แต่ทำไมคนเดินเข้าเดินออกเยอะจังเลย ตั้งแต่วันนั้นมาวันนี้ 10 ปีแล้วผมคิดว่าเราควบคุมได้แล้ว แต่ตอนนี้มาในรูปแบบใหม่ คือไปขายส่งตามอินเทอร์เน็ต เรื่องที่ยังต้องเฝ้าระวัง  หลังจากเรื่องยาลดความอ้วน ก็มีเรื่องธุรกิจตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีนเสริม ตอนแรกไม่อยากยุ่งเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นธุรกิจของแพทย์ เหมือนจะคุยกันยาก แต่พอเป็นเรื่องฉีดวัคซีนเสริม ผมเริ่มรับไม่ได้ เหมือนกับว่าเขาต้องการระบายวัคซีนที่ใกล้จะหมดอายุ แล้วโรงพยาบาลที่ทำแบบนี้เป็น รพ.เอกชนใหญ่ๆ ที่อยู่ชานเมืองทั้งนั้นเลย วิธีการคือจะสต็อกของไว้ พอ 3 เดือนหมดอายุก็จะไปเดินสายฉีดตามโรงเรียน คิดดูนักเรียนในเกาะเมืองอยุธยาประมาณ 20,000 คน ต้องมารับการฉีดวัคซีนใกล้หมดอายุน่ะ ไข้หวัด สมองอักเสบ ประมาณนี้ เข้าใจว่าเป็นการระบายของเพราะตอนมาเห็นใส่กล่องโฟมมา ซึ่งมันไม่ได้อยู่แล้วน่ะครับ ผมเจอโรงเรียนแห่งหนึ่ง มีกลุ่มบุคคลนำวัคซีนที่อีก 1 เดือนจะหมดอายุ แล้วใส่กล่องโฟมเปล่าๆ ไม่มีน้ำแข็งอะไรเลยนะ สนนราคาเข็มละ 700 บาท มานำเสนอ เคยเรียกเซลล์มาสอบถาม เขายอมรับว่าเป็นการระบายของ แต่ตัวเขาเองจะทำโดยตรงไม่ได้ก็ต้องไปหาโรงพยาบาลหรือคลินิกมาพักของไว้ก่อน แล้วให้ รพ.เหล่านี้ทำโครงการตรวจสุขภาพกับโรงเรียน ส่วนโรงเรียนทำเรื่องแจ้งกับผู้ปกครองว่า แล้วแต่ความสมัครใจ แต่ถ้าจะฉีดก็เข็มละ 700 บาท แต่ส่วนใหญ่ด้วยความไม่รู้และไว้ใจผู้ปกครองก็จะให้เด็กได้รับการฉีดวัคซีนพวกนี้ เราก็สงสารเด็กที่ต้องมาเจ็บตัวโดยใช่เหตุ ตอนนั้นเราก็ออกประชาสัมพันธ์เลยเพื่อเตือนเรื่องพวกนี้ แต่ก็มีเรื่องที่กระทบกระทั่งกันนะ เพราะบางโรงเรียนเขาได้ส่วนแบ่งหรือเปอร์เซ็นต์ เช่น หัวละร้อย นักเรียนจำนวนสองพันก็กินนิ่มเลย เราต้องใช้วิธีการเข้าไปคุย ทำความเข้าใจ ทำหนังสือแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการไปให้ และเรียกพนักงานขายของบริษัทมาปราม ก็ควบคุมได้ระดับหนึ่ง หลังๆ หนักกว่า พอไม่มีการวัคซีนแล้ว คราวนี้เป็นการตรวจสุขภาพนักเรียนเลย เช่น เด็กมัธยมต้องเสียเงินค่าตรวจสุขภาพปีละ 100 บาท ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเรื่องแบบนี้เริ่มมาตอนไหน ผมนำเรื่องนี้ไปเสนอในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเลย เสนอต่อท่านรัฐมนตรีว่า เราควรสร้างเกณฑ์มาตรฐานการตรวจสุขภาพตามช่วงวัยนะ เด็กวัยไหนควรทดสอบอะไร เช่น ทดสอบสมรรถภาพ สำหรับนักศึกษาทดสอบอะไร ต้องตรวจอะไร เช่น โรคร้ายแรง ก่อนเข้างานตรวจอะไร ผู้สูงอายุตรวจอะไร แต่มันเป็นประเด็นที่ “เงียบ” มากเลย เจอปัญหาแบบนนี้เข้ากับตัวเอง เลยถึงบางอ้อว่า “ประชาชนนี่ละเป็นเหยื่อ” เรื่องราวของเภสัชกรสันติ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ที่บอกเล่าผ่านฉลาดซื้อ ยังคงมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะผลจากการทำงานอันเข้มข้นของเขา จนโดยผู้ประกอบการฟ้องหมิ่นประมาท โปรดติดตามในฉบับหน้า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 กระแสต่างแดน

เราจะไม่ทนชาวเมืองอัมฮุลท์ ประเทศสวีเดนตัดสินใจฟ้องร้องต่อศาลที่ดินและสิ่งแวดล้อมให้ดำเนินการกับห้างอิเกีย ต้นเหตุของกลิ่นเหม็นที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้พวกเขามาตลอด ตั้งแต่เปิดดำเนินกิจการเมื่อ 4 ปีก่อนเทศบาลได้รับจดหมาย/อีเมล์ร้องเรียนจากชาวบ้านมาโดยตลอดเรื่องกลิ่น “เหม็นเหมือนส้วม” ที่ดูเหมือนจะมีที่มาจากห้างดังกล่าว เทศบาลไม่ได้นิ่งเฉยแต่อย่างใด เขาเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจหลายครั้ง ทำความสะอาดท่อระบายน้ำ รวมถึงสั่งปิดบ่อน้ำเสีย แต่กลิ่นที่ว่าก็ยังไม่จางลงเมื่อต้นปีเทศบาลมีคำสั่งให้อิเกียตรวจสอบระบบกำจัดเศษอาหารและถังดักไขมัน ซึ่งก็พบว่าขาดการบำรุงรักษามาได้พักใหญ่ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นก็รายงานว่า อิเกียได้ปล่อยน้ำเสียและไขมันลงในระบบน้ำทิ้งเกินโควต้าแล้วเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาห้างอิเกียได้นำระบบกำจัดกลิ่นมาใช้ แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ... เรามากลั้นใจรอดูกันต่อไปว่าศาลจะตัดสินเรื่องนี้อย่างไร เร็วแต่ไม่ระวังในปี 2014 ฝรั่งเศสมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์มากเป็นประวัติการณ์  รัฐบาลจึงเริ่มนำมาตรการความปลอดภัยใหม่ๆ มาใช้ เช่น ลดขีดจำกัดความเร็วบนทางหลวงชนบทจาก 90 กม. /ชม.เหลือ 80 กม./ชม. กำหนดให้ระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจของผู้ขับขี่ต้องเป็นศูนย์ และติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มขึ้นอีก 500 ตัว แถมด้วยกล้องหลอกอีก 10,000 ตัวแต่บริษัท Sanef เจ้าของกิจการมอเตอร์เวย์ในฝรั่งเศสได้เฝ้าสังเกตรถยนต์จำนวน 140,000 คันบนทางพิเศษหมายเลข A13 ระหว่างกรุงปารีสและเมืองก็อง แล้วพบว่า...ปีนี้ความเร็วเฉลี่ยในการขับรถของคนฝรั่งเศสอยู่ที่ 129 กม./ชม.(เพิ่มขึ้น 2 กม.จาก 4 ปีก่อน) และมีถึงร้อยละ 43 ที่ขับรถด้วยความเร็วเกิน 130 กม./ชม. นอกจากนี้จำนวนคนที่ใช้โทรศัพท์ในขณะขับรถก็เพิ่มขึ้นด้วยพูดง่ายๆ คือผู้คนขับรถเร็วขึ้นในขณะที่มีสมาธิในการขับขี่น้อยลง ที่สำคัญคืออัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนก็เพิ่มสูงขึ้น โดย 7 ใน 10 ของอุบัติเหตุเหล่านั้นมีสาเหตุจากการขับรถเร็วมันยังไม่ตรงใจทุกๆ ปี สหภาพยุโรปจะทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคเรื่องความพึงพอใจในสินค้า อาหารและบริการ ปีนี้เขาพบว่าจาก 30 ประเทศที่สำรวจ นอร์เวย์เป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้คนไม่พอใจกับตัวเลือกด้านอาหาร(เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้) มากที่สุด อีกสองประเทศได้แก่ โครเอเชียและบัลเกเรียNortura หรือสหกรณ์การเกษตรของนอร์เวย์ถึงกับแสดงความประหลาดใจออกสื่อ เป็นไปได้อย่างไรกัน   คุณภาพอาหารของเราดีเลิศขนาดนี้ ผู้บริโภคนอร์เวย์ควรจะเป็นกลุ่มที่มีความพึงพอใจสูงที่สุดในยุโรปด้วยซ้ำไปทางด้าน Forbrukerradet องค์กรเฝ้าระวังเรื่องผู้บริโภคของนอร์เวย์ บอกว่าผลสำรวจนี้น่าจะทำให้หลายฝ่ายได้สำนึกกันเสียที และไม่ใช่แค่อาหารเท่านั้น ความพึงพอใจในบริการด้านร้านอาหาร ร้านกาแฟ และบาร์ของคนนอร์เวย์ก็ลดลงด้วยส่วนเรื่องที่คนประเทศนี้มีความพึงพอใจมากกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรปคือ น้ำประปา บริการธนาคาร และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยคุณหลอก (ด้วย) ดาว นิวซีแลนด์มีระบบ Health Star Rating เพื่อติดดาวให้กับอาหารสำเร็จรูปสำหรับเด็กเพื่อแสดงระดับความ “เป็นมิตรต่อสุขภาพ”แต่เมื่อทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอ้คแลนด์ลองนำผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 13,066 ชนิด ที่ได้ตั้งแต่ “3.5 ดาว” ขึ้นไป(หมายถึงดีต่อสุขภาพในระดับหนึ่งและสามารถโฆษณาได้) มาเทียบด้วยเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก เขาได้ข้อสรุปว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลนิวซีแลนด์จะทบทวนนโยบายเรื่องนี้ ถ้าดูในภาพรวม ร้อยละ 36 เข้าข่ายอาหารที่ดีต่อสุขภาพตามระบบดาว แต่มีเพียงร้อยละ 29 ที่ผ่านเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO)ถ้าแยกประเภทจะพบว่า ร้อยละ 77 ของอาหารเช้าซีเรียล “ดีต่อสุขภาพ” ตามระบบดาว ในขณะที่มีร้อยละ 34 เท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์ของ WHOร้อยละ 12 ของขนมปังกรอบเข้าข่ายอาหารที่ดีตามระบบดาว แต่เพียงร้อยละ 0.3 ผ่านเกณฑ์ของ WHOที่น่าตกใจที่สุดคือประเภทผลไม้อบแห้ง ที่ร้อยละ 44 เข้าข่ายอาหารที่ดีต่อสุขภาพตามระบบดาว แต่มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์ WHOตัดไฟแต่ต้นลม ปีที่ผ่านมาอินโดนีเซียเผชิญกับไฟป่าที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ประเทศข้างเคียงอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทยต่างก็ได้รับผลกระทบจากหมอกควันที่เกิดขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก รัฐบาลอินโดนีเซียจึงหยุดให้สัมปทานการปลูกปาล์ม รวมถึงไล่ล่าฟ้องร้องบริษัทต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดไฟป่าครั้งก่อน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาบริษัทหนึ่งถูกศาลตัดสินให้จ่ายค่าปรับเป็นเงินถึง 2,800 ล้านบาทนอกจากนี้ยังจริงจังกับการพัฒนาพื้นที่ป่าพรุ เพื่อลดพื้นที่เสี่ยงต่อการติดไฟหรือฮอทสปอตด้วย  เท่านั้นยังไม่เพียงพอ สื่ออินโดนีเซียเรียกร้องให้ภาคธุรกิจเกษตรในประเทศออกมาแสดงความรับผิดชอบให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ เสียงจากผู้บริโภคที่จะบอกกับผู้ประกอบการว่า เราไม่ต้องการไฟป่าหรือหมอกควัน ด้วยการเลือกสนับสนุนเฉพาะผู้ประกอบการที่ผลิตน้ำมันปาล์มหรือกระดาษด้วยกรรมวิธีที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2559 แอบอ้างโลโก้ สธ. หลอกขายเครื่องสำอางสื่อโซเชียลมีเดียกลายเป็นช่องทางหลักของบรรดาพ่อค้า-แม่ค้าในการลงโฆษณาขายสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหารเสริม เครื่องสำอาง ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ผ่านการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้บ่อยครั้งที่เราได้เห็นข่าวที่ผู้บริโภคหลงซื้อไปกินไปใช้เพราะเชื่อในสรรพคุณที่โฆษณา แต่สุดท้ายกับต้องเจอกับผลลัพธ์ที่น่าเศร้า เสียงทั้งเงิน เสียทั้งสุขภาพล่าสุดเจอกรณีที่น่าตกใจ เมื่อมีผู้ผลิตเครื่องสำอางเจ้าหนึ่ง เหิมเกริมถึงขั้นสร้างเพจเฟซบุ๊คแอบอ้างว่าเป็นเพจของ กระทรวงสาธารณสุข ใช้ภาพโลโก้ของกระทรวง พร้อมมีการใช้ข้อความที่ชวนให้เข้าใจผิดว่า กระทรวงสาธารณสุขเตรียมผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมความงาม พร้อมแนบลิงค์เชิญชวนให้คลิ๊กต่อเพื่อไปยังหน้าเว็บไซต์ขายผลิตภัณฑ์นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโฆษก สธ. ออกมายืนยันแล้วว่าหน้าเพจเฟซบุ๊คดังกล่าวไม่ใช่ของกระทรวง เป็นการแอบอ้างของผู้ไม่หวังดีที่จงใจให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิด พร้อมยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุข ไม่มีนโยบายขายสินค้าทางสื่อออนไลน์ ซึ่งทางกระทรวงเตรียมเดินหน้าเอาผิดผู้ที่กระทำการดังกล่าวตามกฎหมาย และมอบให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวว่าผ่านการรับรองหรือไม่ ทั้งนี้ได้ฝากเตือนมายังผู้บริโภคอย่าลืมตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดียและสื่อต่างๆ ให้ชัดเจนถูกต้อง มีแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ ยิ่งถ้าเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าปลอดภัย ได้รับการรับรองถูกต้องจาก อย. ชื่อ-ที่อยู่ผู้ผลิต-ผู้ขายถูกต้องตรวจสอบได้สมอ.ฟัน!!!เครื่องสำอางของเล่นเด็ก “BARBIE” ไม่ได้รับอนุญาตให้ขายหลังจากที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ได้ซื้อของเล่นเด็กที่มีลักษณะคล้ายเครื่องสำอางจากห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต โดยพบว่าของเล่นชิ้นดังกล่าวหมดอายุมากว่า 2 ปี ซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือแจ้งไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง บริษัทนำเข้าสินค้า ห้างสรรพสินค้าที่จำหน่ายสินค้า และหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาล่าสุด ทาง สมอ. ได้มีหนังสือตอบกลับมาว่า จากการตรวจสอบบริษัท โซลิด เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด บริษัทฯ ที่นำเข้าสินค้าดังกล่าว พบว่าบริษัทฯ ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก สมอ.ให้นำเข้าผลิตภัณฑ์นั้น จึงได้อายัดผลิตภัณฑ์ไว้ และอยู่ระหว่างการดำเนินงานตามกฎหมาย ทางด้าน อย. ได้แจ้งกลับมาว่าได้ตรวจสอบสถานที่นำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของเล่นดังกล่าวแล้ว ชี้ชัดว่าของเล่นดังกล่าวเข้าข่ายเป็นสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอาง ซึ่งการไม่จดแจ้งถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ.2558ทางด้านบริษัทโซลิดฯ ส่งหนังสือใบอนุญาตมายังมูลนิธิฯ โดยแจ้งว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะนำเข้าสินค้าใดๆ ที่ไม่ตรงตามใบอนุญาต โดยบริษัทฯ ดำเนินการขอใบอนุญาตกับ สมอ.มาตลอด และมีใบอนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์หลายฉบับ พร้อมกับส่งตัวอย่างใบอนุญาตนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร แต่อย่างไรก็ดี เอกสารที่บริษัทฯ ส่งมาไม่มีใบอนุญาตของผลิตภัณฑ์ตัวที่เป็นข่าวแต่อย่างใดทั้งนี้ทางมูลนิธิฯ มีข้อเรียกร้องไปยังหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลในเรื่องนี้ ต้องเข้มงวดในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศหรือนำเข้า ให้ถูกต้องตรงตามมาตรฐาน และผ่านการรับรองยืนยืนว่าปลอดภัยก่อนอนุญาตให้วางจำหน่าย และเอาผิดกับผู้ลักลอบไม่ปฏิบัติตามกฏหมายอย่างจริงจังผู้ประกันตนเฮ!!! สิทธิทำฟัน 900 บาท เต็มวงเงินไม่มีเงื่อนไขคณะกรรมการการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เห็นชอบยกเลิกประกาศแนบท้าย สิทธิค่าบริการทันตกรรรมที่ปรับเพิ่มจาก 600 บาท เป็น 900 บาท โดยไม่มีเงื่อนไข จากเดิมที่มีการกำหนดเพดานเงินในการรักษาแต่ละประเภทเอาไว้ดังนี้ 1.ขูดหินปูนทั้งปาก อัตราค่าบริการ(เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน) 400 บาท 2. อุดฟันด้วยวัสดุอะมอลทัม (Amalgam) 1 ด้าน 300 บาทอุด 2 ด้าน 450 บาท 3.อุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน 1 ด้าน กรณีฟันหน้า 350 บาท กรณีฟันหลัง 400บาท อุด 2 ด้าน กรณีฟันหน้า 400 บาท กรณีฟันหลัง 500 บาท 4.ถอนฟันแท้ 250 บาท ถอนฟันที่ยาก 450 บาท และ 5.ผ่าฟันคุด 900 บาท ซึ่งเป็นผลมาจากข้อเรียกร้องของกลุ่มภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็น  คณะทำงานการปฏิรูประบบประกันสังคม  เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เครือข่าย ฟ.ฟันสร้างสุข และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ที่ได้ทำหนังสือเรียกร้องไปยัง สปส. เพราะเห็นประกาศแนบท้ายฉบับดังกล่าวเป็นการกำจัดสิทธิในการรักษาทางทันตกรรมของผู้ประกันตน และอาจทำให้เกิดความสับสนในการใช้สิทธิทั้งนี้สิทธิด้านทันตกรรม ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิการรักษาได้โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ในวงเงินค่ารักษาไม่เกิน 900 บาท หากกรณีที่มีค่ารักษาสูงกว่า 900 บาท สถานพยาบาทต้องแจ้งให้ผู้ประกันตนทราบก่อนดำเนินการรักษาตรวจจับ ปรับจริง เต็นท์รถยนต์มือสองสคบ. เปิดตัวโครงการ "ตรวจจับ ปรับจริง เต็นท์รถยนต์มือสอง" เอาผิดกับผู้ประกอบการขายรถยนต์มือสองที่เอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมา สคบ.ได้รับเรื่องร้องเรียนปัญหาจากการซื้อรถยนต์มือสองผ่านเต็นท์รถต่างๆ เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ความยุ่งยากในการนำรถไปจดทะเบียนต่อ รถที่นำไปใช้เกิดการชำรุดง่าย โดยผู้ประกอบการไม่รับแก้ไข และปัญหาตกแต่งตัวเลขระยะทางการใช้รถ ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่ปัญหาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก สคบ.ยอมรับว่ามาจากการบังคับใช้กฎหมายที่ขาดความเข้มงวด ทำให้ผู้ประกอบการไม่ยำเกรงโดยโครงการนี้เจ้าหน้าที่ของ สคบ.จะทำการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบเต็นท์รถยนต์มือสอง โดยจะดูเรื่องการติดฉลากแจ้งข้อมูลของรถยนต์มือสองที่จำหน่าย และความถูกต้องเรื่องการทำสัญญาซื้อขาย เพราะปัจจุบันมีกฎหมายจำนวน 2 ฉบับ ที่ใช้ควบคุมการประกอบธุรกิจขายรถยนต์ใช้แล้ว ได้แก่ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 35(2556) เรื่อง ให้รถยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าควบคุมฉลาก กำหนดให้ผู้ประกอบการธุรกิจต้องจัดทำฉลากสินค้า ระบุรายละเอียดสำคัญ คือ ชื่อ ประเภทหรือชนิดของสินค้า ชื่อและสถานที่ประกอบการของผู้ขาย ขนาดหรือน้ำหนัก สมุดคู่มือการบำรุงรักษารถ และข้อมูลการประสบภัย  อีกฉบับคือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจขายรถยนต์ใช้แล้วเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ.2550 ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีหลักฐานการรับเงินให้กับผู้บริโภค โดยระบุรายละเอียดให้ครบถ้วนชัดเจนผู้บริโภคค้านโอนย้ายตรวจอาหารนำเข้าให้กระทรวงเกษตรฯ ห่วงอาหารไม่ปลอดภัยกลับสู่ตลาดอนุกรรมการด้านอาหารและยา องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คบอช.) ออกแถลงถึงความกังวลต่อการที่ อย. ออกประกาศถ่ายโอนย้ายหน้าที่ในเรื่องการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าอาหารกลุ่มที่ยังไม่แปรรูป ไปให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแล หวั่นผู้บริโภคเสี่ยงต่อการได้รับอาหารที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะในส่วนของอาหารที่ถูกตีกลับ ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ ก็ดูแลในส่วนของการส่งออกอาหารอยู่แล้ว อนุกรรม คบอช. กังวลว่าจะใช้เรื่องการนำเข้าอาหารซึ่งต้องยึดเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลักสำคัญไปเป็นการเจรจาต่อรองทางการค้ากับประเทศคู่ค้าน.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล อนุกรรมการด้านอาหารและยา คบอช. ตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปรกติของประกาศฉบับนี้ว่า เป็นประกาศ อย. ที่ไม่ได้อ้างอิงถึงอำนาจตามกฎหมาย แต่อ้างอิงนโยบายรัฐมนตรีและข้อเสนอคณะทำงานจัดทำแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ภายใต้คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีเพียงแค่ภาครัฐและนักธุรกิจ แต่ไม่มีตัวแทนผู้บริโภค นอกจากนี้การตรวจสอบสินค้าอาหาร อย.ไม่สามารถถ่ายโอนภารกิจให้กระทรวงเกษตรฯได้เพราะ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ไม่ได้ให้อำนาจ อย.กระทำเช่นนั้น การถ่ายโอนภารกิจของ อย.ไปให้กระทรวงเกษตรฯ จึงถือเป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายน.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ อนุกรรมการด้านอาหารและยา คบอช. กล่าวว่าจากประกาศฉบับนี้ ส่งผลโดยตรงให้กระทรวงเกษตรฯ มีภาระหน้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ที่จะต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค แต่ถ้าดูจากที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ เองก็เคยเจอปัญหาเรื่องที่มีการพบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานในผัก-ผลไม้ที่ได้รับมาตรฐาน Q และ Organic Thailand จากกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าการกำกับดูแลมาตรฐานสินค้าของกระทรวงเกษตรฯ ยังมีปัญหาอนุกรรมการด้านอาหารและยา คบอช. เสนอให้มีการทบทวนประกาศฉบับดังกล่าว พร้อมทั้งขอให้กระทรวงเกษตรฯ ชี้แจงอย่างละเอียดว่า มีกระบวนการตรวจสอบสินค้าตีกลับอย่างไร มีการควบคุมเรื่องความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 8 ปี บทเรียนการใช้กฎหมายคดีผู้บริโภค

ความเป็นมา            ในขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในเรื่องคุณภาพสินค้าหรือบริการ  และขาดอำนาจในการต่อรอง เช่นในการเข้าทำสัญญาเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการที่เท่าเทียม ตลอดจนไม่อาจเท่าทันความรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ของผู้ประกอบธุรกิจ นั่นทำให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้น กระบวนการในการเรียกร้องค่าเสียหายต้องใช้เวลานานและสร้างความยุ่งยากให้แก่ผู้บริโภค ที่จะต้องพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งไม่อยู่ในความรู้เห็นของตน ทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีสูง จึงทำให้ผู้บริโภคตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการบัญญัติกฎหมายพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ขึ้น เพื่อตามให้ทันเทคโนโลยีในปัจจุบันที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการแก่ผู้บริโภค โดยการวางแนวทางการพิจารณาไปในทางระบบไต่สวนมากขึ้น สังเกตได้จากการที่กฎหมายได้บัญญัติไว้โดยชัดเจนให้ศาลมีอำนาจในการเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร โดยมีหลักการที่สำคัญในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในการดำเนินคดี คือ ความสะดวก ประหยัด รวดเร็ว และเป็นธรรมขณะเดียวกันยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามหลังจากการบังคับใช้กฎหมาย พบว่ายังมีปัญหาข้อขัดข้องหลายประการทั้งปัญหาด้านข้อกฎหมายและปัญหาในทางปฏิบัติส่งผลให้ผู้บริโภคยังไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างแท้จริง อันไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้  ที่มุ่งคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่สะดวก รวดเร็วและเป็นธรรมประเทศไทยได้บังคับใช้กฎหมาย พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว มีเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่น่ากังวล คือ คนที่นำคดีมาฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค ส่วนใหญ่กลับเป็นผู้ประกอบธุรกิจ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งสะท้อนว่า กฎหมายมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ ที่ให้มีระบบวิธีพิจาณาคดีที่เอื้อต่อการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้บริโภคธรรมดาสถานการณ์การฟ้องคดีผู้บริโภค            หลังจากที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2551 นั้น จากข้อมูลสถิติคดีของสำนักงานศาลยุติธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551  - 2558  พบว่า มีคดีผู้บริโภคขึ้นสู่ศาลจำนวน  2,794,208 คดี  ซึ่งมากกว่าร้อยละ 90 ของคดีผู้บริโภค ที่เข้าสู่สารบบคดีของศาลเป็นคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นโจทก์ฟ้องผู้บริโภค  โดยเฉพาะในปี 2558 มีคดีผู้บริโภคที่ขึ้นสู่ศาลทั่วราชอาณาจักร จำนวน 592,561 คดี จากคดีแพ่งทั้งหมด 847,551 คดี หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของคดีแพ่งทั้งหมด   นอกจากนี้ในคดี ผู้บริโภคที่ขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลในปี พ.ศ.2558 นั้น  ประเภทข้อหาแห่งคดี 5 อันดับแรกของข้อมูลการฟ้องคดี  เป็นคดีที่ผู้ประกอบการฟ้องผู้บริโภคเป็นคดีผู้บริโภค มีดังนี้สินเชื่อบุคคล / กู้ยืม / ค้าประกัน จำนวน 250,527 ข้อหาบัตรเครดิต จำนวน 99,822 ข้อหากองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา จำนวน 92,775 ข้อหาเช่าซื้อ (รถยนต์) จำนวน 73,071 ข้อหาเช่าซื้อ (รถจักรยานยนต์) จำนวน 5,194 ข้อหาจากสถิติข้อหาแห่งคดี หรือการฟ้องคดีผู้บริโภคของศาล จะเห็นได้ชัดเจนว่า การฟ้องคดีผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นโจทก์ฟ้องผู้บริโภคเป็นจำเลย เพื่อบังคับให้ผู้บริโภคชำระหนี้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ  จึงทำให้มีหลายคนวิตกว่าพระราชบัญญัติวิธีพิจาณาคดีผู้บริโภคฯ จะตกเป็นเครื่องมือให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจในการทวงหนี้ และทำให้คดีแพ่งที่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ มีมากเกินไป อย่างที่เรียกว่า “คดีล้นศาล” ซึ่งส่งผลกระทบดังนี้  1 ผลกระทบต่อความรวดเร็วในการดำเนินคดี            การมีคดีที่ไม่ควรจัดว่าเป็นคดีผู้บริโภค เข้ามาอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก และการที่กฎหมายคดีผู้บริโภคกำหนดให้ศาลต้องนัดพิจารณาภายใน 30 วันนับแต่ยื่นฟ้อง เพื่อจะเป็นวิธีพิจารณาพิเศษที่ทำให้คดีเสร็จไปโดยเร็วนั้น ปรากฏว่าในทางปฏิบัติ ไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากมีคดีอื่นที่ไม่ใช่ผู้บริโภคเข้าสู่ระบบคดีผู้บริโภคของศาลจำนวนมาก ทำให้วันนัดของศาลเต็ม จึงไม่อาจทำตามเงื่อนไขของกฎหมายที่กำหนดไว้ได้ ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินคดี เจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องนี้ไม่อาจบรรลุผลได้เต็มที่2  ผลกระทบต่อผู้บริโภคในการต่อสู้คดี            เนื่องจากพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ได้นำระบบไต่สวนมาใช้ กล่าวคือศาลสามารถไต่สวนหาความจริง โดยเรียกบุคคลหรือพยานหลักฐานได้เอง   แต่ที่ผ่านมาพบว่า ส่วนใหญ่ศาลจะใช้อำนาจในส่วนนี้น้อยมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นโจทก์ฟ้องผู้บริโภค เช่น ฟ้องให้ชำระหนี้บัตรเครดิต หรือสินเชื่อ กู้ยืมเงิน ซึ่งคดีลักษณะดังกล่าว จะมีการไปฟ้องยังภูมิลำเนาของผู้บริโภคที่โดยมากมักไม่ได้อยู่อาศัยเนื่องจากเข้ามาทำงานในกรุงเทพ หรือจังหวัดอื่น ทำให้เสียโอกาสต่อสู้คดี อีกทั้งศาลก็จะถือข้อเท็จจริงตามที่ผู้ประกอบธุรกิจเสนอ โดยไม่ได้ใช้อำนาจไต่สวนคดีเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ประกอบเข้ากับการที่มีคดีอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัตินี้มากเกินไป ทำให้บทบาทของศาลในการไต่สวนคดีทำได้ไม่เต็มที่  มีส่วนทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินคดีผู้บริโภคอื่นไปด้วยสาเหตุที่ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ            สำหรับสาเหตุในเรื่องการไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามกระบวนการพิจารณาคดีได้อย่างจริงจังหลายประการนั้น  จากการเสวนาแลกเปลี่ยนในหลายเวทีและจากการสังเคราะห์ข้อมูล ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบว่าปัญหาโดยสรุปมีดังนี้ยังต้องใช้ทนายความในการดำเนินคดี แม้ว่ากฎหมายจะบทบัญญัติให้ผู้บริโภคที่จะฟ้องคดีสามารถฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ยื่นฟ้องคดีด้วยวาจา โดยมีเจ้าพนักงานคดีเป็นผู้บันทึกและจัดทำคำฟ้องให้ รวมถึงการฟ้องคดีด้วยเอกสาร ไม่ต้องมีทนายความเป็นผู้จัดทำคำฟ้องให้ โดยมีเจ้าพนักงานคดีเป็นผู้ตรวจเอกสารและจัดทำคำฟ้องให้เช่นกัน แต่กระบวนการดังกล่าวก็เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกเบื้องต้นเท่านั้น เพราะเมื่อฟ้องคดีและศาลรับคำฟ้องไว้แล้ว ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องจัดหาทนายความเพื่อมาดำเนินคดีแทน ในคดีเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะคดีที่มีข้อเท็จจริงที่สลับซับซ้อน เช่น คดีทางการแพทย์  รวมถึงการจัดทำคำร้อง คำแถลง ต่างๆ เนื่องด้วยผู้บริโภคไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาคดีด้วยตนเองได้การนิยามของคำว่า “คดีผู้บริโภค” และ “ผู้บริโภค” ไม่ชัดเจน ทำให้นอกจากผู้บริโภคจะมีสิทธิฟ้องคดีผู้บริโภคแล้ว กฎหมายยังให้สิทธิผู้ประกอบการฟ้องคดีผู้บริโภคได้ด้วย ก่อให้เกิดปัญหาคดีล้นศาล เนื่องจากคดีส่วนมากที่เข้ามาอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัตินี้เป็นคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจประเภทสถาบันการเงิน ไฟแนนซ์ เป็นโจทก์ฟ้องผู้บริโภคเพื่อขอให้ชำระหนี้ ทำให้มีปริมาณคดีผู้บริโภคกลุ่มนี้ขึ้นสู่ศาลเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินคดี และทำให้ศาลและเจ้าพนักงานคดีทำหน้าที่ตามบทบาทได้อย่างไม่เต็มที่ ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้เป็นปัญหาและอุปสรรคให้การ บังคับใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ ทำให้ไม่สามารถบรรลุถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ได้วางไว้เจ้าพนักงานคดีไม่เพียงพอ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 เป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่มีความมุ่งหมายที่จะให้ ศาลเข้ามามีบทบาทในการแสวงหาข้อเท็จจริงต่างๆ ในคดีแพ่งมากขึ้นเพื่อลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมกันในการ ต่อสู้คดีระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจ โดยการวางแนวทางการพิจารณาไปในทางระบบไต่สวนมากขึ้น จึงได้กำหนดให้มี "เจ้าพนักงานคดี” ขึ้น เพื่อช่วยเหลือศาลให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ตามที่กฎหมาย กำหนดไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการสืบหาพยานหลักฐานต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี   อย่างไรก็ดีในทางปฏิบัติเจ้าพนักงานคดีก็ยังไม่เพียงพอ คือ ในปัจจุบันมีเจ้าพนักงานคดีประจำอยู่ที่ศาลแห่งละหนึ่งหรือสองคนเท่านั้น อีกทั้งยังไม่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เพียงพอ เป็นเหตุให้ไม่มีเจ้าพนักงานคดีมากพอที่จะตอบสนองความต้องการในการบริหารจัดการคดี ซึ่งในทางปฏิบัติเจ้าพนักงานคดีที่ถูกส่งไปประจำศาลในจังหวัดต่างๆกลับถูกใช้ให้ไปทำงานในด้านธุรการด้านอื่นๆ โดยไม่ได้ทำหน้าที่ช่วยเหลือศาลในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานในการดำเนินคดีอย่างแท้จริง ยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่กฎหมายไม่ได้ยกเว้น แม้พระราชบัญญัติฉบับนี้จะกำหนดให้ผู้บริโภคฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมทั้งปวง แต่ในทางปฏิบัติพบว่า การเสียค่าธรรมเนียมฟ้องคดี หากเป็นผู้บริโภคที่ฟ้องคดีนั้นค่าธรรมเนียมในส่วนนี้จะได้รับการยกเว้นเกือบทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีอย่างมากสำหรับการเอื้อประโยชน์ให้ผู้บริโภคเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้สะดวกมากขึ้น แต่นอกจากค่าธรรมเนียมฟ้องคดีแล้ว ในกระบวนพิจารณาคดียังมีค่านำหมาย ค่าส่งคำคู่ความ ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ พบว่ายังมีการลักลั่นของศาลแต่ละแห่ง ที่ยังคงเรียกเก็บค่าใช้จ่ายดังกล่าวกับผู้บริโภคที่ฟ้องคดีอยู่ศาลยังมีทัศนคติและความเคยชินอยู่กับจารีตปฏิบัติในระบบกล่าวหาและขาดความชำนาญในการไต่สวน พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้ศาลใช้ระบบไต่สวนในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดี ศาลจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการค้นหาความจริง มีอำนาจที่จะให้มีการรวบรวมพยาน เอกสาร สืบพยาน หรืองดสืบพยาน ไม่ใช่รอพยานหลักฐานจากคู่ความ การกำหนดกรอบระเบียบ กฎเกณฑ์ เกี่ยวกับการสืบพยานค่อนข้างยืดหยุ่น เพื่อให้ศาลใช้ดุลยพินิจได้อย่างกว้างขวาง ระบบไต่สวนจึงเหมาะสมกับคดีที่ คู่ความมีความไม่เท่าเทียมกันอย่างมาก เช่น คดีผู้บริโภค นี้ แต่ในทางปฏิบัติ พบว่าศาลยังใช้อำนาจหรือมีบทบาทในการไต่สวนในคดีผู้บริโภคยังไม่เต็มที่ เนื่องด้วยศาลยังมีทัศนคติและความเคยชินอยู่กับจารีตปฏิบัติในระบบกล่าวหาและยังขาดความชำนาญในการไต่สวน พบได้ในหลายกรณีที่ศาลเลือกจะไม่ใช้อำนาจในส่วนนี้ แต่จะถามหาทนายความจากผู้บริโภคเพื่อให้มาดำเนินคดีแทน หากเป็นเช่นนี้ผู้บริโภคก็ยังคงต้องว่าจ้างทนายความ และทำให้เจตนารมณ์ของกฎหมายยังไม่อาจเป็นจริงได้ บทเรียนการใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกว่า 8 ปี ที่มีคดีผู้บริโภคเข้าสู่สารบบของศาลทั่วราชอาณาจักรมากถึงกว่า  2.8 ล้านคดี แต่ส่วนใหญ่กลับเป็นคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจฟ้องผู้บริโภคเสียมากกว่านั้น ย่อมน่าสนใจว่าทำไมผู้บริโภคจึงไม่ใช้สิทธิฟ้องคดีเท่าที่ควร เมื่อได้นำข้อมูลจากการช่วยเหลือผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมาวิเคราะห์ ก็พบว่าเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น  ความเสียหายที่ได้รับเมื่อคิดเป็นมูลค่านั้นเล็กน้อยเกินไป ไม่คุ้มค่าทนาย ค่าใช้จ่าย  หรือความกังวลว่า จะมีขั้นตอนยุ่งยากและใช้เวลานานในการดำเนินคดี สิ่งเหล่านี้ย่อมสะท้อนว่า ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม แม้จะมีกฎหมายเพื่อช่วยให้การฟ้องคดีไม่ยุ่งยากเช่นในอดีตจากสถิติการให้ความช่วยเหลือของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในการช่วยดำเนินคดีให้ผู้บริโภคที่ถูกผู้ประกอบธุรกิจละเมิดสิทธิ ตั้งแต่ปี 2551 –  2558  พบว่า มีคดีผู้บริโภคที่ให้ความช่วยเหลือ จำนวน 289 คดี แบ่งเป็นคดีชุดรถโดยสารสาธารณะ    จำนวน    183     คดีคดีประกันภัย                    จำนวน     52     คดี       คดีผิดสัญญา                    จำนวน     31     คดีคดีละเมิด                        จำนวน     23     คดีและแม้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพียงองค์กรเดียวที่มีนโยบายและความสามารถเพียงพอที่จะให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิในการฟ้องคดีผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง เป็นจำนวนมากถึง 289 คดี  โดยเป็นคดีที่หลากหลาย เช่น รถยนต์ชำรุดบกพร่องผู้ประกอบธุรกิจผิดสัญญา กรณีอาคารชุด และบ้านจัดสรร เรียกร้องค่าเสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ เป็นต้น แต่เมื่อเทียบกับปริมาณคดีผู้บริโภคทั้งหมดของศาลนับตั้งแต่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว ต้องถือว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้ ยังไม่สามารถตอบโจทย์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ข้อเสนอ            แนวทางต่อไปนี้อาจช่วยในการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในการบังคับใช้กฎหมายนี้ได้แก้ไขคำนิยาม “คดีผู้บริโภค” , “ผู้บริโภค” และ “ผู้ประกอบธุรกิจ” ให้ชัดเจน  ปัญหาหลายประการที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความล่าช้าในการดำเนินคดี การทำหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดี หรือการทำหน้าที่ของศาลในการไต่สวนคดี มีสาเหตุประการหนึ่งคือ มีคดีที่ไม่ควรจัดว่าเป็นคดีผู้บริโภคเข้ามาอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงสมควรจัดคดีเหล่านี้ให้ไปอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตามเดิม ซึ่งได้แก่ คดีที่ผู้ประกอบธุรกิจฟ้องทวงหนี้จากผู้บริโภคโดยไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคแต่อย่างใด และคดีเกี่ยวกับสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้ประกอบธุรกิจด้วยกันเพื่อประโยชน์ทางการค้าของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย การแก้ปัญหานี้อาจกระทำได้โดยการแก้ไขคำนิยาม “คดีผู้บริโภค” , “ผู้บริโภค”   และ “ ผู้ประกอบธุรกิจ” ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค หรือโดยการออกกฎหมายแก้ไขคำนิยามเหล่านี้เพิ่มและพัฒนาศักยภาพของเจ้าพนักงานคดี การมีเจ้าพนักงานคดีไม่เพียงพอและไม่มีประสบการณ์นั้น สามารถแก้ไขได้ด้วยการจัดทำคู่มือการปฏิบัติหน้าที่ ให้แก่เจ้าพนักงานคดี เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนการสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างเจ้าพนักงานคดี การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาแนวทางในการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอควรจัดให้มีการเผยแพร่แนวคำวินิจฉัยของศาล เพื่อจะได้พิจารณาได้ว่าคดีใดควรเป็นคดีผู้บริโภค เพราะการได้ทราบแนวคำวินิจฉัยจะทำให้เกิดความชัดเจน และทำให้คดีที่จะนำขึ้นสู่การวินิจฉัยลดน้อยลง ซึ่งก็จะสามารถแก้ไขปัญหาความล่าช้าของคดีได้บ้างให้ศาลฎีกาออกข้อกำหนดประธานศาลฎีกา กำหนดเวลาพิจารณาคำสั่งการขออนุญาตฎีกาที่ชัดเจน ในหลายคดีที่ผู้บริโภคชนะในชั้นอุทธรณ์แต่คดีก็ยังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจมักจะขออนุญาตฎีกา ทำให้คดีล่าช้าไม่เสร็จไปโดยเร็ว ดังนั้นจึงเสนอให้ศาลฎีกา ออกข้อกำหนดประธานศาลฎีกา กำหนดเวลาพิจารณาคำสั่งการขออนุญาตฎีกาที่ชัดเจน เช่น ภายใน 60 หรือ 90 วัน เพื่อให้คดีผู้บริโภคเสร็จไปโดยเร็วพัฒนาการบริหารงานของศาลยุติธรรมและการจัดทำคู่มือตุลาการในการปฏิบัติหน้าที่ในคดีผู้บริโภค แม้กระบวนพิจารณาของคดีผู้บริโภคจะอยู่บนพื้นฐานของระบบไต่สวน แต่ในทางปฏิบัติผู้พิพากษาส่วนใหญ่มีภาระต้องพิจารณาทั้งคดีผู้บริโภค คดีแพ่งทั่วไปและคดีอาญาด้วย และยังเคยชินอยู่กับการพิจารณาคดีที่อยู่บนพื้นฐานของระบบกล่าวหาและยังขาดความชำนาญในการไต่สวน โดยศาลไม่ได้ใช้บทบาทในเชิงไต่สวนแต่กลับถามหาทนายความของฝ่ายผู้บริโภค             ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ในเชิงการบริหาร ด้วยการพัฒนาการบริหารงานของศาลยุติธรรมโดยแยกออกตามสายงานตามระบบการพิจารณาคดีแบบกล่าวหาและแบบไต่สวน เพื่อให้ผู้พิพากษามีความชำนาญและไม่เกิดความสับสนในบทบาทหน้าที่ และการจัดทำคู่มือตุลาการในการปฏิบัติหน้าที่ในคดีผู้บริโภค หรือการจัดตั้งศาลแผนกคดีผู้บริโภคเพื่อการพิจารณาคดีผู้บริโภคไปในทิศทางเดียวกันข้อมูลรศ. ดร. อนันต์ จันทรโอภากร. “ปัญหาข้อขัดข้องการบังคับใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค” วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีที่ 42,ฉบับที่ 3 (2556)

อ่านเพิ่มเติม >






ฉบับที่ 186 แกงส้มมะละกอปลาทู

หายหน้ากันไปนาน ลืมกระผมไปหรือยังครับ  คราวนี้ฤกษ์งามยามดีจึงขอมาบรรเลงอาหารสไตล์ครัวนางฟ้ากันอีกครั้ง  วันนี้จะชวนกันทำแกงส้มมะละกอใส่ปลาทู   และถ้าท่านที่ชอบแกงส้มอยากทานแกงส้มผักอันใด ก็จัดการได้เลยจ้ะ  เพราะความสำคัญน่าจะอยู่ที่น้ำแกงส้มนี้แหละ     ตัวผมเองนั้นมีโอกาสไปแวะเยี่ยมบ้านเพื่อนสมัยเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่อำเภอท่ายาง  จังหวัดเพชรบุรี  แล้วเพื่อนสาวน้ำใจงามเก็บมะละกอสุกและดิบให้ติดไม้ติดมือกลับมาบ้าน พร้อมบอกว่า วันไหนผ่านมาทางนี้แวะมาเอาไปทานได้อีกนะ เพราะบ้านเรามีหลายต้น   ซึ้งใจนัก แถมตัวผมเองยังได้ต้นพริกที่เพาะไว้สำหรับปลูกอีกจำนวนหนึ่ง แหม...ช่างสุขใจเสียจริง  มะละกอสุกก็ทานได้เลย เป็นมื้อเช้าของผม ส่วนมะละกอดิบ 3 ลูกเห็นที่ต้องทำแกงส้มน่าจะดีสุด  และแล้วการโขลกน้ำพริกแกงส้มก็เริ่มขึ้น  เครื่องปรุงมีดังนี้ พริกแห้งตามชอบว่าชอบเผ็ดมากเผ็ดน้อย  เกลือแกงหรือเกลือป่น ครึ่งช้อนโต๊ะ  หัวหอมแดงปลอกเปลือกพร้อม 6-8 หัว  กะปิเคยหรือกุ้ง 1 ช้อน   เครื่องแกงพร้อม ครกพร้อมจะรออะไรอีก เริ่มโขลกน้ำพริกแกงกันเลยครับ  พริกแห้ง หอมแดง เกลือ   โขลกพร้อมกันจนละเอียด จากนั้นตามด้วยกะปิ    แกงส้มมะละกอของเราใส่ปลาทูด้วย   หลังจากแกะเนื้อปลาทูนึ่งที่ซื้อมาจากตลาดจำนวน 5 เข่ง  ขอกันเนื้อปลาทูไว้ 1 เข่งเพื่อนำมาโขลกในพริกแกงส้มที่เราโขลกแล้วเสร็จ  ทำให้ทั้งสองสิ่ง คือพริกแกงส้มและปลาทู กลายเป็นเนื้อเดียวกัน  ถ้าเจอก้างปลาทูก็ควรเก็บออกเพราะอาจมีก้างปลาติดมานะจ้ะ    ลำดับต่อไป นำมะละกอดิบ ปอกเปลือกเขียวออก ล้างยางด้วยน้ำสะอาด และหั่นชิ้นมะละกอ นำไปล้างและแช่น้ำเพื่อให้มะละกอสดเสมอ กะดูแล้วเนื้อมะละกอได้เกือบ 2 กิโลกรัมเป็นแน่   เรามาเริ่มด้วยการเตรียมน้ำแกงส้มกันเลยครับ  ใช้น้ำสะอาดใส่หม้อต้มแกง ตักน้ำพริกที่เราเตรียมไว้ใส่ลงไป หลายท่านคงสงสัยว่าแล้วจะทราบได้อย่างไรมาต้องใช้น้ำเท่าใด ผมก็คงต้องตอบว่าใส่ให้เหมาะสมกับน้ำพริกที่เราเตรียมและมะละกอที่จะใส่ลงไปนะจ้า  ชอบน้ำข้นๆ หรือน้ำจางๆ ก็ว่าไปตามชอบ ตั้งหม้อน้ำแกงจนเดือดบนเตาไฟ จากนั้นใส่มะละกอที่เตรียมไว้ลงไป ปรุงรสตามความชอบของแต่ละบ้านเลยครับ แกงส้มก็ต้องใส่น้ำมะขามเปียกด้วยนะ ซึ่งขาดไม่ได้เลยเพราะรสเปรี้ยวของมะขามเปียกนี้แหละทำให้ความเปรี้ยวช่างนุ่มนวลชวนให้ตุ่มรับรสของลิ้นได้ทำงานได้อย่างลงตัว  ผมคนเมืองเพชรจึงใช้น้ำตาลโตนดแท้ของเมืองเพชรบุรีใส่ลงไป 2 ฝ่ามือ  แกงส้มบ้านผมนิยมใส่น้ำตาลลงไปด้วยเพราะชอบทั้งความหวานความเปรี้ยว  และให้มีความเค็มผสมกันอย่างลงตัว ก็จะเกิดรสชาติถูกลิ้นคนถิ่นนี้นะครับผม  จากนั้นจึงนำปลาทูที่เราแกะแล้วใส่ลงไป    ก็จะได้แกงส้มมะละกอใส่เนื้อปลาทูฉีก รสเลิศแบบฉบับครัวนางฟ้า  จากนั้นตักใส่ถ้วยแก้วใสๆ ให้เห็นสีของน้ำแกง เสิร์ฟพร้อมข้าวสวยร้อนๆ  หรือจะหาไข่เจียว  ปลาเค็มทอด มารับประทานร่วมสำรับด้วยก็จะยิ่งลงตัว  มื้อนี้กินไม่หมด มื้อหน้าอุ่นและเติมไหลบัวที่ซื้อมาจากตลาดเมืองเพชร  20 บาทใส่ลงไปเพิ่ม ก็เท่ากับว่าเราจะมีแกงส้มไหลบัวเพิ่มอีก ก่อนลาไปขอแถมสรรพประโยชน์จากแกงส้มในครานี้ ผมเลยนำเกร็ดเล็กๆ ที่น่ารู้ของมะละกอมาฝากด้วย ผลสุก - มีสรรพคุณป้องกันหรือแก้โรคเลือดออกตามไรฟัน การกินเนื้อมะละกอสุก ช่วยเป็นยาระบายอ่อนๆ เพราะไปช่วยเพิ่มจำนวนกากใยอาหาร จึงช่วยแก้อาการแก้ท้องผูก เมื่อมีอาการปวดตามข้อและหลัง รับประทานมะละกอสุกเป็นประจำป้องกันและบำบัดโรคปวดข้อปวดหลังได้ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ไม่มีแรง ส่วนยางจากผลดิบ – เป็นยาช่วยย่อยโปรตีนและฆ่าพยาธิได้ ถ้าเป็นกลาก เกลื้อน ฮ่องกงฟุตหรือเท้าเปื่อย ใช้ยางของลูกมะละกอดิบทาวันละ 3 ครั้งฆ่าเชื้อราได้ข้อมูล https://th.wikipedia.org/wiki/มะละกอ

อ่านเพิ่มเติม >