ฉบับที่ 189 สักปากชมพู ดีจริงหรือ

สีสันที่สวยงามบนริมฝีปากเป็นสิ่งที่สาวๆ ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ ซึ่งสีที่ได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลายคงหนีไม่พ้นสีชมพูหรือแดงอ่อนๆ อย่างเป็นธรรมชาติ เพราะเชื่อว่าช่วยทำให้ใบหน้าหวานและอ่อนเยาว์ขึ้นได้ โดยปัจจุบันมีหลายๆ วิธีที่จะทำให้ริมฝีปากมีสีสันดังกล่าว ซึ่งการสักปากก็เป็นหนึ่งทางเลือกที่คนให้ความสนใจ เนื่องจากมีการโฆษณาว่าสามารถทำให้ปากชมพูได้ถาวร ไม่ต้องทาลิปสติกเพิ่มและดูเป็นธรรมชาติ อย่างไรก็ตามการสักปากชมพูจะทำให้เราสวยสมใจและมีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน ลองมาดูกัน มาดูสีปากตามธรรมชาติของเราก่อนสีของริมฝีปากตามธรรมชาติ ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติหรือพันธุกรรมของเรา โดยมีทั้งสีชมพูอ่อน-เข้ม สีแดงและสีคล้ำ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงกลายเป็นคล้ำขึ้นได้อีก เมื่อเราอายุมากขึ้นหรือมีปัจจัยอื่นๆ มากระตุ้น เช่น การสูบบุหรี่ การรับประทานยาบางชนิดหรือการใช้ลิปสติก มารู้จักการสักปากชมพูกันบ้างการสักปากชมพูเป็นการเปลี่ยนสีปากตามธรรมชาติของเรา ด้วยการใช้สีแดงหรือส้มสักลงไปที่ริมฝีปาก หรือขอบปาก เพื่อทำให้ปากกลายเป็นสีชมพูหรือแดงอ่อนๆ ซึ่งส่วนใหญ่หลังสักแล้วสีสันจะยังไม่ออกชัดเจนมากนัก ทำให้ต้องมีการสักซ้ำหรือเติมสีใหม่เรื่อยๆ ทั้งนี้การสักปากชมพูสามารถช่วยเหลือและสร้างความสวยงามให้กับผู้ที่แพ้ลิปสติก หรือมีความบกพร่องของริมฝีปาก เช่น ไม่มีขอบปาก รวมทั้งผู้ที่อาจมีความยากลำบากในการแต่งหน้า เช่น ผู้ป่วยเป็นโรคข้อ โรคที่ทำให้มือสั่นหรือเคลื่อนไหวมือไม่สะดวก และผู้มีปัญหาด้านสายตาให้สามารถมีริมฝีปากที่สวยงามได้อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้มีข่าวเกี่ยวกับสีหรือหมึกที่ใช้สักว่า ยังไม่มีความปลอดภัย เนื่องจากหลังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างสีที่ใช้สักมาตรวจสอบคุณภาพก็พบการปนเปื้อนของโลหะหนักอย่างสารหนูและสารตะกั่ว ซึ่งอาจส่งผลต่อการเป็นมะเร็งและโรคหลายชนิดได้ รวมทั้งยังสามารถทำให้เกิดอาการแพ้ เป็นผื่นหรือตุ่มแดง โดยบางรายอาจเกิดอาการคันในตำแหน่งของรอยสักนั้นๆ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาหรือปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ผิวหนังอักเสบได้ นอกจากนี้อาจทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อในบริเวณที่ทำ เนื่องจากจากเข็มหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องไม่สะอาด และอาจทำให้เกิดแผลเป็นที่มีลักษณะเป็นเนื้อนูนที่ผิวหนังได้อีกด้วยเราควรตรวจสอบอะไรบ้างก่อนตัดสินใจแม้การสักปากชมพูจะช่วยอำนวยความสะดวกหลายอย่าง แต่ก็สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงปรารถนาได้ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ยังไม่ได้จัดให้หมึกสำหรับสักลายเป็นเครื่องสำอาง และยังไม่มีข้อบังคับว่าให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องปราศจากเชื้อ เราจึงควรระมัดระวังและตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นก่อนตัดสินใจสักปากชมพู ดังนี้- ตรวจสอบอุปกรณ์ว่ามีความสะอาดหรือไม่ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือเชื้อเอชไอวี- ตรวจสอบสถานบริการ โดยเราควรเลือกใช้บริการจากผู้ประกอบการที่ได้มาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือ- ตรวจสอบประวัติการแพ้ยาและโรคของตัวเอง เช่น หากเคยมีประวัติเคยเป็นเริมที่ริมฝีปาก ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อขอรับประทานยาป้องกันโรคก่อนสัก รวมทั้งหากมีประวัติแพ้สารใดมาก่อน ควรพิจารณาส่วนประกอบสำคัญของสีที่ใช้สักอย่างละเอียด รวมทั้งไม่ควรสักในขณะที่ริมฝีปากอักเสบหรือเป็นแผล- ตรวจสอบราคาก่อนตัดสินใจ ซึ่งแต่ละสถานบริการจะคิดราคาต่างกันเริ่มตั้งแต่ 4,000 – 8,000 บาท - ตรวจสอบวิธีการดูแลรักษาริมฝีปากหลังการสักอย่างเคร่งครัด เนื่องจากการสักปากจะทำให้บริเวณริมฝีปากมีความบอบบางมากเป็นพิเศษ โดยช่วงแรกควรหลีกเลี่ยงอาหารที่สามารถทำให้ผิวหนังเกิดอาการบวมน้ำหรือทำให้แผลหายช้า เช่น อาหารรสจัด อาหารหมักดอง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสรุนแรง และไม่ควรแกะเกาแผลขณะกำลังตกสะเก็ด เพราะอาจจะไปดึงเอาเนื้อที่ยังไม่ลอกหรือเนื้อแท้ออกมาด้วย นอกจากนี้ยังต้องใช้ขี้ผึ้งหรือลิปมัน เพิ่มความชุ่มชื้นให้ริมฝีปากสม่ำเสมอ เนื่องจากการสักปากจะทำให้ริมฝีปากแตกแห้งมากขึ้น รวมทั้งยังต้องหมั่นไปเติมสีเพื่อให้ริมฝีปากสวยงามอยู่ตลอดอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 10 พฤติกรรม ที่มีส่วนทำให้เชื้อดื้อยา

1. เคยซื้อยาต้านแบคทีเรีย กินตามคนอื่นคนแต่ละคนอาจเจ็บป่วยจากเชื้อโรคต่างชนิดกัน การซื้อยาต้านแบคทีเรีย มารับประทานเอง อาจได้ยาต้านแบคทีเรีย ที่ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคนั้นได้ และยังส่งผลให้เชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้2. เคยหยุดรับประทานยาต้านแบคทีเรีย เมื่ออาการดีขึ้นยาต้านแบคทีเรีย ต้องรับประทานติดต่อหลายวันตามที่กำหนด หากเราหยุดรับประทาน อาจมีเชื้อโรคหลงเหลืออยู่และเชื้อโรคจะพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้3. เคยซื้อยาต้านแบคทีเรีย กินเองตามที่เคยได้รับจากบุคลากรทางการแพทย์ในครั้งก่อนๆยาต้านแบคทีเรีย แต่ละชนิดจะมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคแต่ละชนิดต่างกัน การใช้ยาต้านแบคทีเรีย โดยไม่เลือกให้เหมาะกับชนิดของเชื้อโรค นอกจากจะทำให้ไม่หายแล้ว อาจทำให้เชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้4. เคยอมยาอมที่ผสมยาต้านแบคทีเรีย การใช้ยาต้านแบคทีเรีย ฆ่าเชื้อโรค ต้องใช้ในขนาดที่เหมาะสม และต้องใช้ติดต่อให้ครบตามระยะเวลาที่กำหนด การอมยาอมที่ผสมยาต้านแบคทีเรีย นอกจากจะเป็นการใช้ยาในขนาดที่ไม่เหมาะสม ยังเป็นการใช้ยาที่เกินจำเป็น และอาจทำให้เชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้5. เคยเปลี่ยนไปซื้อยาต้านแบคทีเรีย ที่แรงกว่าทานเองเมื่อรับประทานยาต้านแบคทีเรีย ชนิดแรกแล้วอาการไม่ดีขึ้นทันใจการใช้ยาต้านแบคทีเรีย ฆ่าเชื้อโรค ต้องใช้ในขนาดที่เหมาะสม และใช้ติดต่อให้ครบตามระยะเวลา บางครั้งอาการเจ็บป่วยของเราต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรอาการถึงจะดีขึ้น การเปลี่ยนไปใช้ยาต้านแบคทีเรีย ตัวอื่นๆ ที่แรงกว่า อาจทำให้เชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้6. เคยแกะแคปซูลเอายาต้านแบคทีเรีย ไปโรยแผลนอกจากจะเป็นการใช้ยาไม่เหมาะสมแล้ว ยังทำให้แผลสกปรกและเสี่ยงต่อการเกิดอาการแผลอักเสบลุกลามได้ เพราะผงในแคปซูลไม่ได้มีแต่ตัวยาเท่านั้น ยังมีผงแป้งผสมอยู่ด้วย และยังอาจทำให้เชื้อโรคที่แผลพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้7. เคยใช้ยาต้านแบคทีเรีย ผสมในอาหารสัตว์ตามคำบอกเล่าเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เจ็บป่วยเป็นการใช้ยาที่ผิด และอาจไม่ได้ผลด้วย เนื่องจากขนาดยาไม่แน่นอน นอกจากนี้ยังอาจทำให้เชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้8. เคยใช้ยาต้านแบคทีเรีย โดยไม่ทราบชื่อสามัญของยานอกจากจะเสี่ยงที่จะได้รับยาที่เคยแพ้แล้ว อาจได้รับยาที่ไม่ตรงกับเชื้อโรค อาจทำให้เชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้9. เคยไปซื้อยาแก้อักเสบกินเองอาการอักเสบตามความเข้าใจของคนทั่วไปมีหลายแบบ เช่น อาการปวดอักเสบ อาการอักเสบจากแผลหนอง อาการอักเสบเจ็บคอ บางครั้งเมื่อเราอักเสบจากการปวดและไปซื้อยาโดยระบุว่าต้องการยาแก้อักเสบกินเอง เราอาจได้ยาต้านแบคทีเรีย มาแทนยาแก้ปวดอักเสบ เป็นการใช้ยาต้านแบคทีเรีย อย่างไม่จำเป็นเพราะไม่ได้อักเสบจากการติดเชื้อ การได้รับยาเกินจำเป็น อาจทำให้เชื้อโรคดีๆ ในตัวเรา พัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้10. ไม่แนะนำคนที่ใช้ยาต้านแบคทีเรีย อย่างผิดให้ใช้อย่างถูกต้องเหมาะสมการเพิกเฉยของเรา เท่ากับปล่อยให้มีการใช้ยาต้านแบคทีเรีย ที่ไม่เหมาะสมขึ้นในสังคม สุดท้ายเมื่อเชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยา ปัญหานี้ก็จะกลับมาส่งผลต่อตัวเรา ครอบครัว และผู้ป่วยอื่นๆ ในอนาคตได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 หากถูกเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า

ทำงานอยู่ดีๆ เกิดนายจ้างเลิกสัญญาจ้างแรงงานขึ้นมาโดยไม่บอกให้รู้ล่วงหน้า เราจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง เราลองมาดูตัวอย่างกันค่ะปกติเมื่อนายจ้างต้องการจะเลิกสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้าง ในสัญญาจ้างจะกำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ในการบอกกล่าวลูกจ้างล่วงหน้าก่อนหรือเมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้าง และจะมีผลเป็นการเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้างในงวดถัดไป แต่ถ้าในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างแล้ว และไม่ประสงค์จะให้ลูกจ้างทำงานแล้ว นายจ้างจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับลูกจ้าง ตามจำนวนให้ครบจนถึงวันที่เลิกสัญญา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 สำหรับกรณีตามตัวอย่างคราวนี้ ลูกจ้างโดนนายจ้างซึ่งปิดประกาศเลิกจ้างหน้าบริษัทฯ โดยไม่ระบุถึงสาเหตุในการเลิกจ้างในประกาศ ลูกจ้างจึงได้เป็นโจทก์ฟ้องนายจ้าง เรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และเรียกให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3407/2552 ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิพากษาว่า “จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยให้เหตุผลว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และมาตรา 583 หรือตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 แล้วแต่กรณี มิได้บัญญัติไว้ว่า ถ้านายจ้างไม่ได้แจ้งเหตุผลในการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะเลิกจ้างแล้ว นายจ้างจะยกเหตุผลแห่งการเลิกจ้างขึ้นมาอ้างภายหลังไม่ได้ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่กรณีการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วย ดังนั้นแม้จำเลยไม่ได้ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้างจำเลยก็ย่อมยกเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างขึ้นอ้างในภายหลังเพื่อเป็นข้อต่อสู้ในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้”นอกจากนี้ ยังมีคำให้การของนายจ้างว่า ลูกจ้างใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวพ่วงกับอุปกรณ์ของบริษัทฯ เพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัวในเวลาทำงานเป็นประจำ และออกไปติดต่อทำการค้าขายในกิจการส่วนตัวโดยไม่แจ้งให้นายจ้างทราบ นายจ้างได้ตักเตือนในที่ประชุมแล้วแต่ลูกจ้างยังคงปฏิบัติเช่นเดิม นายจ้างจึงมีหนังสือตักเตือนลูกจ้างครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2549 หลังจากนั้นลูกจ้างได้กระทำความผิดอีกในวันที่ 3 พฤษภาคม 2549 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลย สำหรับในประเด็นนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานเห็นว่า “จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานก็ย่อมมุ่งหวังจะได้รับประโยชน์จากการทำงานของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างให้คุ้มกับค่าจ้างที่เสียไป การที่โจทก์ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวต่อพวงกับอุปกรณ์ของจำเลยในเวลาทำงานเพื่อทำการค้ากับบุคคลภายนอก นอกจากจะเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบจากการใช้กระแสไฟฟ้า โทรศัพท์และอุปกรณ์ของจำเลยเพื่อเป็นประโยชน์ส่วนตัวแล้วยังเป็นการเบียดบังเวลาทำงานของจำเลยอีกด้วย ย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยตักเตือนและสั่งห้ามในที่ประชุมแล้ว โจทก์ยังกระทำเช่นนั้นอีกจนต้องมีการตักเตือนเช่นนั้นถึง 5 ครั้ง ย่อมถือได้ว่าโจทก์ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณและเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคท้าย และตามพฤติการณ์การกระทำของโจทก์ดังกล่าวนอกจากจะแสวงหาประโยชน์อันมิชอบและเบียดบังเวลาทำงานของจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายแล้ว ยังยากแก่การบังคับบัญชา หากจ้างโจทก์ทำงานต่อไปก็มีแต่จะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายมากขึ้น จำเลยย่อมมีเหตุผลที่จะไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานต่อไป ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์” เพราะฉะนั้น หากใครที่ใช้เวลาทำงานในการหาประโยชน์ส่วนตัว หรือใช้เวลาทำงานเล่นอินเตอร์เน็ตหรือทำให้นายจ้างเสียประโยชน์ อาจจะโดนบอกเลิกสัญญาจ้างทันที และไม่ได้รับเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 “ทิชชู่เปียก” เลือกใช้เท่าที่จำเป็น

ปัจจุบันนี้มีผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายหลากหลายประเภท ที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบันชนิดหนึ่งก็คือ ผ้าเช็ดทำความสะอาดผิวกาย” หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า “ทิชชู่เปียก” (Wipes) ถือเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอเนกประสงค์ ใช้เช็ดทำความสะอาดได้ทั้งผิวกาย ผิวหน้า ใช้ลบรอยเครื่องสำอาง บางชนิดบางยี่ห้อก็สามารถนำไปทำความสะอาดผิวกายของทารกได้ด้วย หตุผลที่ผลิตภัณฑ์ผ้าเช็ดทำความสะอาดผิวกาย หรือ ทิชชู่เปียก ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน น่าจะมาจากความรู้สึกของผู้ใช้ที่รู้สึกว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้สามารถทำความสะอาดได้ดีมีประสิทธิภาพมากกว่าจะใช้แค่กระดาษชำระธรรมดา ทั้งนี้เพราะผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ มีส่วนประกอบหลักคือ “น้ำ” ทำให้เวลาที่เช็ดทำความสะอาดนอกจากคราบสกปรกจะถูกเช็ดออกได้หมดจดมากกว่าแล้ว ยังทำให้ผิวของผู้ใช้รู้สึกถึงความชุ่มชื่น นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบของสารลดแรงตึงผิว สารฆ่าเชื้อโรค สารที่ช่วยบำรุงผิว จึงอาจทำให้ผู้บริโภคมั่นใจและนิยมมากกว่ากระดาษทิชชู่แต่การใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเพราะส่วนใหญ่มักมีส่วนประกอบของสารเคมีในกลุ่มของสารที่ใช้ฆ่าเชื้อ (กลุ่ม Antiseptics หรือสารเคมีที่ใช้ทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่อยู่ภายนอกร่างกายสิ่งมีชีวิต ไม่เป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อ) แม้ว่าจะเป็นสารที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ได้เพราะผ่านการทดสอบแล้วว่าไม่เป็นอันตราย แต่ผิวของแต่ละคนไม่เหมือนกันอาการแพ้จากการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงอาจเกิดขึ้นได้นอกจากนั้นเมื่อเร็วๆ นี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประกาศว่าพบผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ มีบางตัวอย่างไม่ผ่านมาตรฐานด้านจุลชีววิทยาจำนวน 2 ตัวอย่าง(จาก 44 ตัวอย่าง) คิดเป็นร้อยละ 4.5 เนื่องจากมีจำนวนรวมของแบคทีเรีย ยีสต์ และ รา ที่เจริญเติบโตโดยใช้อากาศมากกว่า 1,000 cfu/g ซึ่งอาจมีสาเหตุจากกระบวนการผลิตไม่ถูกสุขลักษณะ จึงต้องระมัดระวังในการใช้ให้ถูกวิธี ฉลาดซื้อ ฉบับนี้จะพาไปดูผลการเปรียบเทียบของผลิตภัณฑ์ “ผ้าเช็ดทำความสะอาดผิวกาย” ว่าแต่ละยี่ห้อที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด มีจุดดีจุดเด่นอะไรกันบ้าง ผลการสำรวจ-จากการสำรวจพบว่า มีการกล่าวอ้างบนฉลากว่า “ไม่มีการใช้แอลกอฮอล์” แทบจะทุกยี่ห้อ อย่างไรก็ตาม แอลกอฮอล์ที่ถูกอ้างถึง น่าจะหมายถึง เอทานอล (ethanol) ซึ่งมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรค แต่ก็เป็นสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวได้ง่าย แต่จากการสังเกตบนฉลากในส่วนประกอบบางยี่ห้อที่อ้างว่าปราศจากแอลกอฮอล์นั้น ก็มีการระบุว่า มีการใช้ Dichlorobenzyl alcohol ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ ชนิดหนึ่งเช่นกัน ซึ่งนิยมใช้ในผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อในช่องปาก และบางยี่ห้อมีการใช้ Phenoxyethanol ที่มีคุณสมบัติช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ แต่ถ้าใช้ในปริมาณที่เข้มข้นอาจเกิดอาการแพ้ได้-พบว่า มีการใช้คำอ้างว่า ลดการสะสมของแบคทีเรีย แอนตี้แบคทีเรีย สูตรแอนตี้แบคทีเรีย ในหลายยี่ห้อ แต่มีเพียง 4 ยี่ห้อที่ ระบุลดการสะสมของแบคทีเรีย 99.9% คือยี่ห้อ เดทตอล ซึ่งระบุวิธีการทดสอบ จากผลการทดสอบในหลอดทดลองระยะเวลาสัมผัสเชื้อ E.coli, S.aureus นาน 60 วินาที (เรกคิทท์ เบนคีเซอร์, 2558)ยี่ห้อ เซลล็อกซ์ พิวริฟาย อ้างว่าลดการสะสมของแบคทีเรีย(S.aureus,K.pneumoniae) 99.9% ด้วยเทคโนโลยีเจิร์มเคลียร์พลัส แต่ไม่มีรายละเอียดวิธีการทดสอบเหมือนเดทตอลยี่ห้อ แคริสม่า อเนกประสงค์ อ้างว่า มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อไวรัส รา และแบคทีเรียได้ถึง 99.99% แต่ไม่มีการบอกถึงลักษณะของการทดสอบว่าใช้วิธีการใด อ้างเพียงว่า ผ่านการรับรองโดยนักวิจัยจากห้องทดลองชั้นนำ ใน UK และ VIRUSOLVE+ นอกจากนี้ยังไม่มีการระบุเลขที่จดแจ้งบนฉลากด้วยยี่ห้อ แคริสม่า ผ้าเช็ดผิวแบบเปียก สูตรยับยั้งแบคทีเรีย มีการใช้ภาพเป็นอักษรภาษาอังกฤษว่า Antibacterial 99.9% โดยไม่ระบุวิธีการทดสอบแต่อย่างใด ซึ่งน่าจะเข้าข่ายฉลากที่ชวนให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ โดยกล่าวอ้างเกินจริง ว่าสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ 99.9 %ฉลาดซื้อแนะนำ- ผ้าเช็ดทำความสะอาดผิวกาย หรือ ทิชชู่เปียก จัดอยู่ในกลุ่มของเครื่องสำอาง ต้องมีการจดแจ้งเพื่อผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากภาษาไทยชัดเจนครบถ้วน มีเลขที่ใบรับแจ้ง รวมถึงระบุผู้ผลิตชัดเจน และควรสังเกตหากใช้แล้วมีอาการแพ้ เป็นผื่นแดง บวม อักเสบ ต้องหยุดใช้ และไปพบแพทย์ทันที- ควรใช้ให้ถูกวิธีและปฏิบัติตามคำเตือนบนฉลาก เช่น ไม่ควรเช็ดรอบบริเวณดวงตา ไม่ทิ้งลงในชักโครก - ชนิดที่ระบุว่า ฆ่าเชื้อโรคได้ 99% ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรใช้เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสที่อาจก่อให้เกิดเชื้อโรคดื้อยาในสิ่งแวดล้อม - ผ้าเช็ดทำความสะอาดผิวกาย ที่ถึงแม้จะโฆษณาว่า อ่อนโยนต่อผิวทารก ไม่มีแอลกอฮอล์ ไม่มีน้ำหอม ใช้แล้วไม่ระคายเคืองต่อผิว แต่ก็ควรใช้แต่พอดีใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อไม่เป็นการสร้างขยะ และการทิ้งเชื้อโรคไว้ในทิชชู่เปียก ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกใช้วิธีทำความสะอาดแบบธรรมดาอย่างการใช้สบู่และน้ำจะดีกว่า ประหยัดกว่า- มีข้อมูลจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (USFDA) ว่า ได้มีการเรียกเก็บผลิตภัณฑ์เช็ดทำความสะอาดแบบเปียกบางยี่ห้อคืนจากท้องตลาด เนื่องจากพบจุลินทรีย์ในกลุ่ม Pseudomonas ปนเปื้อน ดังนั้นก็ใช่ว่า ใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดแล้ว จะสะอาดเสมอไป เพราะอาจได้เชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่เพิ่มเข้ามาด้วย - ผ้าเช็ดทำความสะอาดผิวกายที่ใช้แล้วควรทิ้งทันที เพราะอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค เมื่อเช็ดทำความสะอาดผิวของตัวเราแล้วไม่ควรนำไปเช็ดทำความสะอาดผิวของคนอื่นอีก- การอ้างว่า ผ่านการทดสอบโดยสถาบันหรือผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังมาแล้วว่าไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวนั้น อย่าได้วางใจ 100% เพราะผิวของแต่คนแตกต่างกัน โอกาสที่จะเกิดอาการแพ้จากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมีอย่างผลิตภัณฑ์ผ้าเช็ดทำความสะอาดผิวกายถือว่ามีความเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นควรใช้อย่างระมัดระวัง ปฏิบัติตามคำเตือน เมื่อเกิดอาการแพ้ต้องหยุดใช้ทันทีทิชชู่เปียก ทำลายสิ่งแวดล้อม?ผ้าเช็ดทำความสะอาดผิวกายที่ใช้แล้ว ถือเป็นขยะที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เพราะย่อยสลายช้า ว่ากันว่าต้องใช้เวลามากกว่า 100 ปีในการย่อยสลาย เช่นเดียวกับพลาสติก มีหลายคนที่นำผ้าเช็ดทำความสะอาดผิวกายที่ใช้แล้วทิ้งลงในชักโครก ซึ่งการเป็นต้นเหตุให้เกิดการอุดตันในท่อระบายน้ำ อย่างที่ประเทศอังกฤษบรรดาบริษัทด้านระบบประปาต่างรบตัวกันออกแคมเปญ “อย่าทิ้งทิชชู่เปียกลงในชักโครก” ส่วนในอเมริกาก็มีกรณีฟ้องร้องให้บริษัทผู้ผลิตทิชชู่เปียกจำนวน 6 บริษัท ยกเลิกข้อความบนผลิตภัณฑ์ที่บอกว่า “ทิ้งลงชักโครกได้” เพราะเมื่อทิ้งลงไปแล้ว ตัวทิชชู่เปียกไม่ได้ถูกย่อยสลาย แถมจะไปอุดตันตามท่อ ถ้าออกไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติก็จะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมสารประกอบหลักในผลิตภัณฑ์ผ้าเช็ดทำความสะอาดผิวกาย1.  น้ำ ใช้เพื่อทำเป็นตัวทำละลายสารต่างๆ ถือเป็นส่วนประกอบหลัก ในฉลากผลิตภัณฑ์อาจจะใช้คำที่หลากหลายแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น water, Puriffed water, Pure Water และ Aqua2.   สารที่ใช้ฆ่าเชื้อโรค ที่พบบ่อย Ethanol, Dichlorobenzyl Alcohol, Benzalkonium Chloride Isopropyl Methylphenol เป็นต้น3. สารลดแรงตึงผิว(Surfactants) มีคุณสมบัติเพื่อช่วยให้สิ่งสกปรกหลุดออกจากพื้นผิวโดยง่าย เช่น lauryl hydroxysultaine และสารลดแรงตึงผิวบางชนิดมีคุณสมบัติทำลายเชื้อโรคพ่วงด้วย ที่พบใช้อยู่ในหลายผลิตภัณฑ์ก็คือ Benzalkonium Chloride นอกจากนี้ยังมีสารที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นอย่าง Panthenol และสารที่ได้จากกรดผลไม้อย่าง Malic Acid (สารสกัดจากแอปเปิล), Citric Acid (สารสกัดจากส้ม) หรือ Ascorbic Acid (วิตามินซี)4.  น้ำหอม ใส่เพื่อเพิ่มกลิ่นหอมเชิญชวนให้น่าใช้มากขึ้น บนฉลากจะใช้คำว่า Fragance, Perfume หรือ Parfum5.  วัตถุกันเสีย (Preservative) มีคุณสมบัติป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์เสื่อมคุณภาพก่อนกำหนด สารที่นิยมใช้คือ Sodium Benzoate เป็นได้ทั้งวัตถุกันเสียและมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อด้วยเช่นกัน และสารในกลุ่ม Paraben เช่น Methylparaben และ Ethylparaben ซึ่ง พาราเบนเป็นสารที่ยังมีข้อสงสัยในหมู่นักวิจัยว่าอาจเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ก็ยังเป็นสารที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้ได้ โดยอ้างว่าปริมาณที่ใช้ในผลิตภัณฑ์อยู่ในปริมาณที่น้อยมากจนไม่น่าส่งผลกระทบใดๆ แต่ก็เริ่มมีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจำนวนไม่น้อย ที่เลิกใช้สาร Paraben เพื่อลดความเสี่ยงให้กับผู้บริโภคผ้าเช็ดทำความสะอาดผิวกาย ทำมาจากผ้าที่มีชื่อเรียกว่า Spunlance Nonwoven เป็นผ้าชนิดที่ไม่มีการถักการทอตามลักษณะโดยทั่วไป แต่เกิดจากการยึดติดกันของเส้นใยโดยการใช้สารเคมี และยึดโดยการใช้ความร้อน อัดติด หรือการทำให้เส้นใยยึดติดเกาะกันเองด้วยกระบวนการทางเคมี เชิงกล ความร้อน สารละเลย หรือหลายๆ อย่างรวมกัน มีคุณสมบัติเป็นผ้าที่มีผิวสัมผัสอ่อนนุ่ม เส้นใยไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ต่อผู้ใช้ ดูดซึมน้ำและของเหลวได้ดี น้ำหนักเบา มีความยืดหยุ่นดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 ยาฝาแฝด “ปัญหาจาก ฉลากยา(มหัศจรรย์) ดูให้ดีก่อนกิน”

ฉลากยาเป็นเครื่องมือที่กฎหมายกำหนดให้แสดงไว้ข้างภาชนะบรรจุยา วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สั่งใช้ และผู้ที่จะต้องใช้ยา ได้อ่านเพื่อที่จะได้ใช้ยาอย่างถูกต้องปลอดภัย โดยกฎหมายจะกำหนดให้ฉลากยาต้องมีรายละเอียดที่จำเป็นครบถ้วน ได้แก่ ชื่อสามัญทางยา ชื่อทางการค้า เลขทะเบียนยา สรรพคุณของยา วันผลิตและวันหมดอายุ แต่บางครั้งเราพบว่าฉลากยาหลายรายการกลับมีรูปแบบที่ใกล้เคียงกันมาก มากจนอาจเรียกได้ว่าเป็น “ ยาฝาแฝด จนทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน หรือเกิดความเสี่ยงในการใช้ยาอย่างผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ ลองดูตัวอย่างที่ฉลาดซื้อ ได้สำรวจ และสอบถามข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความสับสนเหล่านี้ จากเภสัชกร ชมรมเภสัชชนบท ตัวอย่างเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นผู้ป่วยชายไทย อายุ 41 ปี มารับยาจิตเภท (Schizophrenia) ตามนัด หลังจากเภสัชกรได้ตรวจสอบยาเดิมที่ผู้ป่วยนำติดตัวมา โดยผู้ป่วยรายนี้ได้รับยาชนิดเดียวกัน แต่ 2 ความแรง คือ Risperidone 1 mg และ Risperidone 2 mg ตามภาพประกอบโดยเวลารับประทานยาทั้ง 2 เหมือนกันคือ ครั้งละ 1 เม็ด ก่อนนอน จากการสอบถามผู้ป่วยและญาติเข้าใจผิดคิดว่าอันเดียวกันเนื่องจากดูเหมือนๆกันจึงเก็บยาทั้ง 2 ความแรงไว้ในซองเดียวกัน โดยหยิบรับประทานครั้งละ 2 เม็ด ก่อนนอนและไม่ทราบว่าเป็นยาคนละความแรง ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากความสับสนในฉลากยากลุ่มนี้ยาพาราเซตามอล ไซรัป ผู้ประกอบการได้ผลิตในรูปแบบความแรงที่แตกต่างกัน 4 ขนาดคือ 1. 120 mg / 5 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 5 มิลลิลิตร หรือ 1 ช้อนชา มียาพาราเซตามอล 120 มิลลิกรัม 2. 160 mg / 5 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 5 มิลลิลิตร หรือ 1 ช้อนชา มียาพาราเซตามอล 160 มิลลิกรัม 3. 250 mg / 5 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 5 มิลลิลิตร หรือ 1 ช้อนชา มียาพาราเซตามอล 250 มิลลิกรัม 4. 60 mg / 0.6 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 0.6 มิลลิลิตร มียาพาราเซตามอล 60 มิลลิกรัมจะสังเกตได้ว่า ยาพาราเซตามอล ไซรัป ที่อยู่ในรูปแบบของชนิดหยด ใช้สำหรับเด็กทารกแรกเกิด มีความแรงของยาในขนาดที่สูงกว่ารูปแบบยาน้ำเชื่อมถึง 4 เท่า และยาในรูปแบบยาน้ำเชื่อมมีความแรงของยาที่แตกต่างกันถึง 3 ขนาด ซึ่งผู้บริโภคต้องทราบว่า ไม่เพียงแต่รสชาติ กลิ่นของยาน้ำเชื่อม จะแตกต่างกันเท่านั้น ความแรงของยาก็มีความแตกต่างกันด้วย ซึ่งยาพาราเซตามอล หากใช้เกินขนาด อาจทำให้เซลล์ตับถูกทำลาย มีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง อ่อนเพลีย นำไปสู่ภาวะตับวายและเสียชีวิตได้ ซึ่งขนาดการใช้ยาพาราเซตามอลในเด็ก ไม่เกิน 15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ครั้ง (และไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม/ครั้ง) รวมทั้งไม่เกิน 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/24 ชั่วโมง (ไม่เกิน 3,250 มิลลิกรัม/24 ชั่วโมง) และไม่ควรใช้ยาพาราเซตามอล ติดต่อกันนานเกิน 5 วัน ในเด็กข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหา ฉลากยาที่คล้ายกันปัญหาจากกลุ่ม “ยาฝาแฝด” หรือ “ยารูปพ้อง-มองคล้าย” ต้องอาศัยการแก้ไขปัญหาร่วมกันจากทุกส่วน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายถึงผู้ใช้ยา นอกจากนี้ แม้ว่าโรงพยาบาลทุกแห่งจะมีมาตรการจัดการด้านยา “ชื่อพ้องมองคล้าย”อย่างจริงจังแล้วก็ตาม ตัวผู้ใช้ยาหรือผู้ดูแลผู้ป่วยเอง ก็ต้องมีการทบทวนยาที่ตนใช้ให้ละเอียดรอบคอบทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ที่สำคัญที่สุด คือ “การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุตั้งแต่การขอขึ้นทะเบียนยา” ควรให้มีการบรรจุเกณฑ์การพิจารณาฉลากยาบรรจุภัณฑ์ของยานั้นๆ เช่น แผงยา ขวดยา หลอดยา ไม่ให้มีความเหมือน หรือคล้ายคลึงกับยาอื่น นอกจากนี้ ไม่ควรอนุญาตให้ใช้ชื่อทางการค้าเดียวกัน โดยที่ส่วนประกอบของตำรับยาเป็นคนละชนิดกัน และไม่ควรอนุญาตให้ยาชนิดเดียวกัน ที่มีความแรงของยาที่ไม่เท่ากัน ใช้ชื่อทางการค้าเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 จองตั๋วเครื่องบินไม่ได้

มีวิธีการมากมายในการจองตั๋วเครื่องบินผ่านสายการบินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจองผ่านเว็บไซต์ หรือผ่านแอพพลิเคชั่น อย่างไรก็ตามแม้วิธีการเหล่านั้นจะสะดวกสบายและรวดเร็ว แต่ก็สามารถสร้างปัญหาได้เช่นกัน หากระบบการจองเกิดความผิดพลาด เหมือนเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้คุณสมชายและเพื่อนต้องการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ จึงจองตั๋วเครื่องบินของสายการบินแอร์เอเชีย ผ่านแอพพลิเคชั่นของสายการบินดังกล่าว และชำระเงินผ่านบัตรเครดิตเป็นเงิน 3,094.72 บาท อย่างไรก็ตามหลังชำระเงินเรียบร้อยกลับขึ้นข้อความว่าแจ้งเตือนว่าหมดเวลา(Time out) คุณสมชายจึงโทรศัพท์ไปยังบริษัทเพื่อสอบถามปัญหา ซึ่งพนักงานตอบกลับว่าไม่มีรายการจองตั๋วดังกล่าว และขอให้ทำรายการใหม่ ดังนั้นเขาจึงต้องทำการจองใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง รวมทั้งชำระเงินผ่านบัตรเครดิตในยอดเงินเท่าเดิม ซึ่งปัญหาก็เกิดขึ้นเหมือนครั้งก่อน โดยมีการแจ้งเตือนผ่านหน้าแอพพลิเคชั่นว่าทำรายการล้มเหลว แต่มีการตัดยอดเงินในบัตรเครดิตเช่นเดิม ยิ่งกว่านั้นเมื่อเขาได้ตรวจสอบข้อมูลการจองอีกครั้ง กลับพบว่าตนเองจองตั๋วผิด และหลังจากโทรศัพท์ไปยังสายการบินเพื่อขอเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน พนักงานก็ได้แจ้งกลับมาว่าหากสำรองที่นั่งแล้ว สายการบินอนุญาตเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินได้ก่อนกำหนดเดินทางอย่างน้อย 48 ชม. หากเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไม่อนุญาตให้เปลี่ยนแปลงใดๆ และการเปลี่ยนแปลงนี้จะต้องชำระค่าธรรมเนียมตามอัตราของสายการบินด้วย ส่วนในกรณีที่ไม่สามารถเดินทางได้ สามารถขอคืนค่าภาษีสนามบินได้หลังจากที่เที่ยวบินได้ผ่านไปแล้ว เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้คุณสมชายจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวการทางการแก้ไขปัญหาหลังได้รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์ฯ ช่วยติดต่อกับทางบริษัทให้มีการเจรจา ซึ่งใช้หลักฐานประกอบการดำเนินการคือ ข้อมูลหมายเลขบัตรโดยสาร และยอดบัตรเครดิตที่จ่ายไป ทั้งนี้ผู้ร้องต้องการให้ทางสายการบินคืนเงินค่าตั๋วทั้งหมดจำนวน 6,189.44 บาท อย่างไรก็ตามทางบริษัทได้ส่งหนังสือชี้แจงกลับมาว่า สามารถคืนเงินค่าโดยสารได้แค่ครั้งแรกที่เกิดความผิดพลาดจากระบบ ส่วนครั้งที่สองเสนอให้เก็บยอดดังกล่าวไว้เพื่อใช้ในการเดินทางครั้งต่อไป ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอดังกล่าว และขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 ถูกทวงหนี้ผิดกฎหมาย

แม้ปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้การทวงหนี้มีความเป็นธรรมต่อลูกหนี้มากขึ้น โดยมีการกำหนดข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติต่างๆ แต่เราก็ยังพบว่าการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรมยังคงมีอยู่ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณยุพาเป็นหนี้บัตรเครดิต อิออน เนื่องจากการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ โดยมียอดค้างชำระจำนวน 5,000 บาท ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำเรื่องตกลงกับทางบริษัทว่าจะแบ่งผ่อนชำระ 2 งวด อย่างไรก็ตามภายหลังเธอไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามวันและเวลาที่ตกลงกันไว้ได้ จึงโทรศัพท์ไปยังบริษัทเพื่อขอยืดระยะเวลาการชำระหนี้ ซึ่งทางบริษัทรับทราบและขยายเวลาให้เรียบร้อย แต่ไม่นานพนักงานของบริษัทก็มาทวงหนี้ถึงสถานที่ทำงาน ในขณะที่เธอกำลังทำงาน รวมทั้งโทรศัพท์เข้ามาทวงหนี้ในเวลางานอีกด้วย ทำให้เธอรู้สึกอับอายและส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอคำปรึกษาว่าการทวงหนี้ด้วยวิธีดังกล่าว ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่แนวทางการแก้ไขปัญหาจากเหตุการณ์ทวงหนี้ที่เกิดขึ้น อาจเข้าข่ายว่าไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของ พระราชบัญญัติการทวงหนี้ พ.ศ.2558 ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา โดยผู้ร้องสามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดได้ ทั้งนี้ตาม พรบ. ดังกล่าวได้มีการกำหนดข้อห้ามหรือข้อควรปฏิบัติสำหรับเจ้าหนี้ไว้ ดังนี้1.ข้อห้ามปฏิบัติของผู้ทวงหนี้- ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายหรือทรัพย์สิน ผู้ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ- พูดจาไม่สุภาพ ดูหมิ่น ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท- เปิดเผยความเป็นลูกหนี้ของลูกหนี้ให้คนอื่นได้รู้ ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท - ห้ามระบุข้อความ เครื่องหมาย หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท2. ห้ามทวงหนี้แบบหลอกให้เข้าใจผิด- ส่งเอกสารทำให้ลูกหนี้เข้าใจผิดว่าเป็นการกระทำของศาล เช่น ส่งเอกสารที่มีตราครุฑมาให้ลูกหนี้ ผู้ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท- ทำให้เชื่อว่ามีการส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถาม (Notice) จากทนายความ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท- ใช้เอกสารที่ทำให้ลูกหนี้เข้าใจผิดว่าจะถูกดำเนินคดี หรือถูกยึดทรัพย์ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ- แอบอ้างว่าเป็นการทวงถามหนี้จากบริษัทข้อมูลเครดิตใดๆ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ3. การทวงถามหนี้ไม่เป็นธรรม ห้ามปฏิบัติดังนี้- เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ในอัตราเกินกว่าที่กำหนด- เสนอให้ลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ทั้งๆ ที่รู้ว่าลูกหนี้ไม่มีเงินชำระหนี้ตามเช็ค ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท 4. คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการทวงนี้ของผู้ทวงถามหนี้ โดยหากลูกหนี้หรือคนอื่นๆ ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือไม่เป็นไปตามกฎหมายจากผู้ทวงถามหนี้ สามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด5. ให้ที่ทำการปกครอง หรือกองบัญชาการตำรวจนครบาล มีอำนาจรับเรื่องร้องเรียนการทวงหนี้ผิดกฎหมาย ติดตามพฤติกรรมของผู้ทวงถามหนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 รถใหม่ขึ้นสนิม

รถขึ้นสนิมเป็นสิ่งที่ผู้ขับขี่ทุกคนไม่ปรารถนา ยิ่งถ้าเป็นรถใหม่ด้วยแล้ว ปัญหาดังกล่าวไม่ควรเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามหากเราพบว่าหลังซื้อรถมาได้ไม่กี่ปี แต่มีสนิมเกาะเสียแล้ว เราควรจัดการอย่างไรคุณสุชาติซื้อรถยนต์ใหม่มือหนึ่งยี่ห้อฮอนด้า อย่างไรก็ตามหลังใช้งานตามปกติไป 1 ปี เขาก็พบว่าเกิดคราบสนิมขึ้นบริเวณภายในห้องเครื่องยนต์ ขอบประตูทั้ง 4 บานและรูระบายน้ำ จึงนำรถยนต์เข้าตรวจสอบที่ศูนย์บริการของยี่ห้อดังกล่าว เนื่องจากไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุใด ภายหลังการซ่อมแซมและแก้ไข คุณสุชาติพบว่ารถยังคงเป็นสนิมทั้งในบริเวณเดิมและบริเวณใหม่ จึงนำรถเข้าศูนย์บริการอีกรอบ โดยครั้งนี้ทางศูนย์ได้เปลี่ยนประตูหน้าซ้าย-ขวา ทำสีและเคาะพ่นสี ในบริเวณที่เป็นสนิมให้หลายครั้ง แต่เมื่อเขานำรถกลับมาใช้งานก็ยังพบปัญหาสนิมเช่นเดิม เขาจึงส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ โดยมีข้อเสนอต่อบริษัทดังนี้1. ขอให้รับผิดชอบคืนเงินดาวน์และค่างวดการเช่าซื้อที่ชำระไปแล้วทั้งหมด 2. ขอให้บริษัทรับผิดชอบค่าใช้สอยรถยนต์ต่อผู้ให้เช่าซื้อเต็มจำนวนแทนผู้บริโภค เนื่องจากสาเหตุที่ต้องบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและเรียกเงินคืนนั้น เพราะสินค้าชำรุดบกพร่องจากการผลิต ไม่ใช่จากการใช้สอยโดยปกติของผู้บริโภค 3. ขอให้ศาลห้ามบริษัทจำหน่ายรถยนต์รุ่นพิพาท และให้เรียกเก็บสินค้าดังกล่าวจนกว่าจะได้เปลี่ยนแปลงให้มีความปลอดภัย แต่หากแก้ไขไม่ได้ห้ามผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่าย 4. ขอเรียกค่าเสียหายต่อจิตใจที่ต้องหวาดกลัว วิตกกังวล ตลอดเวลาในการใช้รถยนต์พิพาทแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งหลักฐานประกอบการดำเนินการ เช่น รูปถ่ายบริเวณที่เกิดสนิม เอกสารการซื้อรถ และเตรียมออกหนังสือถึงบริษัทรถยนต์ยี่ห้อดังกล่าว อย่างไรก็ตามภายหลังผู้ร้องแจ้งว่า ได้นำรถยนต์เข้าซ่อมที่ศูนย์บริการแล้ว และไม่เกิดปัญหาสนิมขึ้นอีก นอกจากนี้ทางบริษัทได้เพิ่มการรับประกันคุณภาพเฉพาะสีและตัวถัง(กรณีเกิดสนิม) โดยนับจากวันส่งมอบรถใหม่ จากเดิม 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร เป็น 5 ปีแล้ว จึงไม่ติดใจร้องเรียนต่อ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 สิ่งแปลกปลอมในขนมปัง

อาหารที่สะอาดและรสชาติอร่อยเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ผลิตควรคำนึงถึง โดยไม่ควรปล่อยให้มีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อนมาในอาหาร เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ทั้งยังผิดกฎหมายอีกด้วย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ คุณสมชายซื้อขนมปังยี่ห้อ เลอแปง หน้าพิซซ่าฮาวายเอี้ยน ราคา 15 บาท จากร้านค้าขนาดเล็ก (มินิมาร์ท) แห่งหนึ่งมารับประทาน โดยขณะรับประทานจนเกือบหมดแล้วพบว่า เขาได้กัดชิ้นส่วนแปลกปลอมเข้าไป ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นสีดำอมเขียว ความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร โดยเขาสันนิษฐานว่าอาจเป็นชิ้นส่วนของพลาสติก คุณสมชายจึงโทรศัพท์ไปยังบริษัทผู้ผลิตเพื่อร้องเรียนปัญหา ซึ่งพนักงานได้แจ้งว่าให้เก็บขนมปังดังกล่าวไว้ และจะเดินทางมารับไปตรวจสอบในวันรุ่งขึ้น ทั้งนี้ภายหลังบริษัทเข้ามารับขนมปังดังกล่าวก็ได้มอบกระเช้าของขวัญให้คุณสมชาย และแจ้งว่าชิ้นส่วนดังกล่าวน่าจะเป็นเศษขนมปังเก่าที่สะสมมานาน ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค อย่างไรก็ตามคุณสมชายยังคงไม่มั่นใจและต้องการผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีนี้สามารถใช้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาอ้างอิงได้ โดยตามมาตรา 25 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายอาหารดังต่อไปนี้ (1) อาหารไม่บริสุทธิ์ (2) อาหารปลอม (3) อาหารผิดมาตรฐาน และ (4) อาหารอื่นที่รัฐมนตรีกำหนด นอกจากนี้ตามมาตรา 58 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 25 (1) ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้ร้องสามารถเรียกค่าเสียหายกับทางบริษัทได้ตาม พ.ร.บ. นี้ได้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแจ้งผู้ร้องว่าหากยังไม่ได้รับความคืบหน้าจากทางบริษัท สามารถส่งรายละเอียดให้ศูนย์ฯ ช่วยประสานงานกับผู้ผลิตได้ โดยใช้หลักฐานในการดำเนินการ ดังนี้ 1.หลักฐานการซื้อสินค้า 2.ใบเสร็จรับเงิน 3. สินค้าที่พบความเสียหายพร้อมรูปถ่าย 5. ใบแจ้งความบันทึกประจำวัน และ 6. รูปภาพตอนรับกระเช้าของขวัญจากทางบริษัท ทั้งนี้ภายหลังผู้ร้องได้ตอบกลับมาว่า ทางบริษัทได้แจ้งผลการตรวจสอบแล้วว่า ชิ้นส่วนดังกล่าวคือเศษขนมปังเก่าจริง โดยชี้แจงวิธีการผลิตและขั้นตอนต่างๆ ซึ่งเขาพอใจการดำเนินการดังกล่าว และไม่ติดใจร้องเรียนค่าเสียหายต่อ จึงขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 สบู่มีกลิ่นหืน

กลิ่น คือ จุดขายสำคัญประการหนึ่งของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายอย่างสบู่หรือครีมอาบน้ำ ซึ่งควรมีกลิ่นที่หอมสดชื่นไม่ใช่กลิ่นเหม็นหืน เหมือนสบู่ก้อนเจ้าปัญหาที่ผู้ร้องรายนี้ซื้อมา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณปราณี เธอซื้อสบู่ยี่ห้อเดทตอล โดยเลือกสูตรหรือกลิ่นที่ใช้เป็นประจำ จากร้านค้าปลีกแห่งหนึ่ง จำนวน 2 แพ็ค (แพ็คละ 4 ก้อน) ราคา 78 บาท อย่างไรก็ตามเมื่อนำมาใช้กลับพบว่า สบู่ก้อนดังกล่าวมีกลิ่นเหม็นหืนและไม่มีฟองต่างจากที่เคยใช้ เธอจึงเลิกใช้สบู่ก้อนนั้นและนำก้อนใหม่มาใช้แทน แต่ยังคงพบว่ามีลักษณะเช่นเดียวกัน ทำให้เธอสันนิษฐานว่าน่าจะมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับกระบวนการผลิต หรือบรรจุภัณฑ์ชำรุดบกพร่อง นอกจากนี้ยังกังวลว่าอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังได้ เธอจึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำ โดยต้องการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นแนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีนี้ศูนย์ฯ พบว่าผู้ร้องซื้อผลิตภัณฑ์จากร้านค้าปลีก ซึ่งไม่สามารถนำใบเสร็จมาเป็นหลักฐานได้ จึงแนะนำให้ไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน พร้อมถ่ายรูปผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเก็บไว้ และทำหนังสือถึงผู้ประกอบการให้เข้ามาเจรจาและตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มูลนิธิ ซึ่งทางบริษัทยินดีรับข้อเสนอดังกล่าว โดยมีการนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปตรวจสอบ และจะแจ้งผลกลับมาในสัปดาห์ถัดไป ทั้งนี้ภายหลังการตรวจสอบพบว่า สบู่ดังกล่าวมีกลิ่นผิดปกติจริง โดยเกิดจากปฏิกิริยาเคมีของน้ำหอมที่สัมผัสกับออกซิเจนหรือความร้อนในอากาศ แต่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เนื่องจากผลิตภัณฑ์ได้ผ่านเกณฑ์ทดสอบมาตรฐานแล้ว อย่างไรก็ตามทางบริษัทยินดีชดเชยผู้บริโภคด้วยการให้ผลิตภัณฑ์กล่องใหม่ ซึ่งผู้ร้องพอใจกับการดำเนินการดังกล่าว เพราะเห็นว่าบริษัทมีความใส่ใจลูกค้า จึงยินดียุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >