ฉบับที่ 211 กินสบายๆ อย่างหัวใจเอกขเนก

        มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Intuitive Eating (google translate แปลว่า “กินง่าย” แต่ผู้เขียนไม่เห็นด้วย เพราะเมื่อพยายามทำความเข้าใจแล้วน่าจะแปลประมาณว่า “กินสบายๆ”) เขียนโดยนักกำหนดอาหารสองสาวชื่อ Evelyn Tribole และ Elyse Resch โดยมีราคา US.$10.48 ซึ่งดูราคาแล้วก็เหมือนจะไม่ต่างจากหนังสือเกี่ยวกับอาหารการกินทั่วไป แต่เมื่อเข้าไปสำรวจดูใน YouTube แล้วปรากฏว่า เริ่มมีคนมองหนังสือเล่มนี้เหมือนเป็นแนวทางศักดิ์สิทธิ์ในการปฏิบัติตนให้มีสุขภาพดี จึงคิดว่าน่าจะนำมาเล่าสู่กันฟังแบบว่า แค่อ่านหลักการย่อๆ แล้วผสมกับความเห็นที่ตรงกันระหว่างผู้เขียนหนังสือและผู้เขียนบทความนี้ เพราะยังไงๆ ผู้เขียนก็ไม่ซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านให้เสียเวลา        จากการประเมิน ผู้แต่งหนังสือพยายามสร้างความรู้สึกแก่ผู้อ่านว่า ร่างกายของมนุษย์นั้นแข็งแรงได้ถ้ามีความรู้สึกเป็นมิตรต่ออาหารที่กิน โดยควรเลิกคิดว่า อาหารที่ชอบกินบางอย่างนั้นจะทำให้เราสุขภาพไม่ดี หรือเมื่อครั้งใดกินอาหารบางมื้อหนักไปหน่อยก็รู้สึกผิด เกิดวิตกจริตว่าจะมีสุขภาพที่ไม่ดี ซึ่งว่าไปแล้วความรู้สึกไม่ดีและความกังวลใจต่างๆ นั้น มักเกิดเนื่องจากการได้รับข้อมูลจากสังคมรอบตัวที่แต่ละคนนำมาสร้างกฏระเบียบในการกินจนเหมือนหนึ่งว่า ชีวิตนี้ไม่ใช่ของเรา        หลักการของ Intuitive Eating ซึ่งหาดูได้ในเว็บของสองสาวนักเขียนนั้น บางประการก็ตรงกับใจของผู้เขียนจนทำให้เข้าใจว่า อีกไม่นานหลักการต่างๆ นี้คงเข้ามาสู่สังคมไทยโดยผู้ที่มีความสามารถในการบรรยายชี้ชวนให้คนทำตามทั้งหลาย เพื่อขายความรู้กินเหมือนการอบรมให้กินอาหารแบบต่าง ๆ (ในลักษณะที่เรียกว่า food fad) โดยหลักการปฏิบัติของการกินสบายๆ 10 ประการนั้นคือ                   มีความสุขในการกิน(Reject the Diet Mentality) เพื่อสุขภาพที่ดี อย่าทำเรื่องกินให้เป็นเรื่องเครียด โดยเริ่มแรกนั้น สองสาวนักกำหนดอาหารแนะให้ กำจัดหนังสือ (ที่คนอื่นแต่ง) ซึ่งเคยให้ความหวังว่าทำตามแล้วสุขภาพจะดีด้วยวิธีที่แสนจะทรมานใจทิ้งให้หมด เพราะถ้ามันจะทำให้ชีวิตนั้นไร้ค่าถ้าต้องมัวกังวลกับสิ่งที่อาจทำได้เฉพาะบางคน ซึ่งในบ้านเราจะเห็นได้เลยว่า การกำหนดให้คนไทยต้องยึดค่าดัชนีมวลกายไม่เกิน 22.9 เพื่อจะได้อยู่ในเกณฑ์ปรกตินั้น เป็นเรื่องที่บางคนทำได้และบางคนทำให้ตายก็ไม่ได้ ดังนั้นเพื่อความสบายๆ ควรยึดตัวเลขสากลไม่เกิน 25 ดีกว่า         กินเมื่อหิว(Honor Your Hunger) หลักการนี้ทำให้ร่างกายได้สารอาหารที่เพียงพอทันที เมื่อเริ่มหิว ทั้งนี้เพราะเมื่อรอให้ความหิวกลายเป็นความโหยแล้ว ความตั้งใจกินเพียงน้อยจะหายวับไป กลายเป็นการกินเต็มที่จนเกินความต้องการ หนังสือได้กล่าวในลักษณะว่า เมื่อร่างกายมีสัญญาณความเริ่มหิว (ตามหลักสรีรวิทยาแล้วน่าจะหมายถึง การมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดต่ำลง) แล้วได้รับการตอบสนองทันทีนั้นเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความไว้วางใจระหว่างตัวเองและสมอง แต่ประเด็นที่สำคัญซึ่งเหมือนว่า หนังสือได้กล่าวในหลักการข้ออื่นคือ ต้องรู้จักหยุดเมื่อจะอิ่ม คล้ายหลักการของชาวโอกินาวาในการกินอาหารแบบที่เรียกว่า ฮารา ฮาชิ บุ (hara hachi bu) คือ ให้หยุดกินเมื่อเริ่มอิ่ม เพราะถ้ารอให้รู้สึกอิ่มจริงกระเพาะจะขยายตัวเองใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการเดินออกจากโต๊ะอาหารโดยไม่อ้อยอิ่งเติมของหวาน ทำให้ชาวโอกินาวานั้นมีค่าดัชนีมวลกายเฉลี่ย 21.5 ในขณะที่ชาวอเมริกันนั้นตัวเลขอยู่ที่ 28 ส่วนคนไทยก็ตัวใครตัวมัน        อย่ามองอาหารที่ชอบเป็นศัตรู(Make Peace with Food) แม้มันอาจทำให้อ้วนถ้าขาดสติในการกิน ควรอนุญาตตัวเองให้กินสิ่งที่ชอบอย่างมีเงื่อนไขว่า พอรู้รส ทั้งนี้เพราะการไม่กินสิ่งที่สมองต้องการนั้นสร้างความอยากจนยากในการควบคุมใจ จนต้องกระเสือกกระสนหามากินด้วยปริมาณที่ต้องการ เพื่อความสะใจ        กินไปเถอะไม่ต้องกลัวถูกตำรวจในจินตนาการจับ(Challenge the Food Police) ในภาพรวมตามหลักการนี้เสมือนว่า ผู้เขียนแนะนำให้เลิกภูมิใจเมื่อกินอาหารพลังงานต่ำตามที่หนังสือส่วนใหญ่แนะนำให้ทำเพื่อควบคุมน้ำหนัก หรืออย่าเสียใจเมื่อได้(แอบ) กินเค้กช็อกโกแลตชิ้นเล็กๆ สักชิ้นหนึ่งที่หนังสือส่วนใหญ่ระบุว่า อันตราย ในการปฏิบัตินั้นผู้อ่านต้องเลิกมโนถึงตำรวจ(ในจินตนาการ) ที่คอยเช็คบิลคุณทุกครั้งที่กินอาหารซึ่งใครๆ ว่าไม่ดี (เช่น ข้าวขาหมู แฮมเบอร์เกอร์ พิซซ่า ฯลฯ) เสียที ขั้นตอนนี้สำคัญเป็นอย่างยิ่งในการปฏิรูปตำรวจ(ในจินตนาการ) ให้มาคอยเตือนสติแบบลูบหลังว่า ให้กินแต่น้อย         สนใจในความรู้สึกที่บอกว่าอิ่มแล้ว(Respect Your Fullness) ก็หยุดกินทันที หลักการของคำแนะนำน่าจะเป็นการเตือนให้คอยสังเกตสัญญานว่า เมื่อรู้สึกอิ่มก็ควรหยุด อีกทั้งควรชะลอการกินระหว่างมื้ออาหารบ้าง เพื่อซึมซาบความอร่อยของอาหาร แล้วจับความรู้สึกว่า อิ่มพอดี เป็นอย่างไร (เช่น ไม่ขยายเข็มขัด) ซึ่งว่าไปแล้วเหมือนว่า ผู้เขียนหนังสือต้องการเตือนให้ผู้อ่านมี สติ ตลอดเวลาในการ กินเพื่ออยู่        ค้นความอร่อยให้พบ(Discover the Satisfaction Factor) ดีกว่าทุกข์กับการกินของที่หนังสือต่างๆ บอกว่า ดีจังแต่ไม่อร่อย ทั้งนี้เพราะเมื่อใดที่มนุษย์ได้กินของชอบภายใต้บรรยากาศที่รื่นรมย์แล้ว เขาหรือหล่อนจะจดจำความรู้สึกนั้นเพื่อบันทึกเป็นความสดชื่นของชีวิต อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคอาจพบคือ ปริมาณอาหารที่ทำให้คุณถึงซึ่งความสุขนั้น มักไม่มากอย่างที่คิด ขอให้ดูตัวอย่างอาหารที่ได้ Michelin star นั้นมักมีปริมาณไม่มากในแต่ละจาน เพราะเขาหวังให้ลิ้มความอร่อย ไม่ใช่ความรู้สึกอิ่มจนพุงเกือบแตก        หาความสุขจากสิ่งอื่นนอกจากการกิน(Honor Your Feelings Without Using Food) ความวิตกกังวล เหงา เบื่อหน่าย โกรธ เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นตลอดชีวิตของทุกคน ซึ่งแต่ละคนมีวิธีการของตนเองในการจัดการ ไม่บังควรเอาการกินอาหารไปเป็นทางออกเพื่อแก้ไขความรู้สึกเหล่านี้ จึงมีคำแนะนำว่า ให้ออกไปสัมผัสสังคมภายนอก เขียนบันทึก ทำสมาธิ ทัศนศึกษา ฯลฯ เพื่อบำบัดปัญหาที่เกิด        เคารพตัวเองว่า ยังไงๆ ก็เป็นเรา(Respect Your Body) ไม่จำเป็นต้องเหมือนคนอื่น ความหมายในคำแนะนำนี้คือ ยอมรับผลที่เกิดเนื่องจากพันธุกรรมของคุณ เพราะคนที่เท้าใหญ่ย่อมไม่คาดหวังที่จะใส่รองเท้าขนาดเล็ก เนื่องจากมันจะบีบเท้าให้เจ็บ ทุกคนควรยอมรับในความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ว่าจะสูง ต่ำ ดำ ขาว อ้วนหรือผอม ฯ เพื่อจะได้ไม่กลับสู่วังวนของการทำตามข้อบังคับ ให้ทำอย่างนั้น อย่างนี้ เนื่องจากยังกังวลถึงการที่รูปร่างของตนเองไม่เป็นอย่างที่คิด ขอให้ดู Serena Jameka Williams นักเทนนิสหญิงที่มีร่างใหญ่ตามเผ่าพันธุ์คนอัฟริกันที่สามารถชนะการแข่งขันมากมาย        ออกกำลังกายตามชอบ(Exercise–Feel the Difference) เพื่อให้ร่างกายเราเห็นความต่างจากเมื่ออยู่เฉย คำแนะนำประการนี้ไม่ได้หมายถึง การฝึกแบบทหาร เพียงต้องการแค่ทำให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวในกิจกรรมที่ชอบ เกิดสันทนาการกับคนที่สนิทแล้วชื่นใจ แบบไม่มีการบังคับ ผลพลอยได้คือ การเผาผลาญพลังงานในร่างกาย และทำให้คุณรู้สึกมีชีวิตชีวา ต่างจากการตื่นขึ้นมามีเป้าหมายเพียง การลดน้ำหนักตามหมายกำหนดการประจำที่มักไม่ใช่ปัจจัยกระตุ้นให้ออกกำลังกาย         ยินดีกับสุขภาพที่ได้มา(Honor Your Health) เมื่อได้อร่อยในการกิน ประการนี้ดูจะสำคัญที่สุด เพราะการได้เลือกกินอาหารที่อร่อยและดูดีต่อสุขภาพนั้น ได้เป็นการตอบแทนการทำงานของต่อมรับรสในปาก ซึ่งให้ความรู้สึกดี ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องกินอาหารที่ถูกต้องสมบูรณ์แบบทางโภชนาการทุกมื้อ เพียงแต่เมื่อครบวันหนึ่งแล้ว ควรพิจารณาได้ว่า อาหารที่คุณกินเข้าไปนั้นพอจะอยู่ในเกณฑ์ของคำแนะนำให้ได้สารอาหารครบถ้วน อย่างไรก็ดีความไม่สมบูรณ์ที่เกิดเพียงในหนึ่งมื้อหรือหนึ่งวันนั้น ก็ไม่น่าก่อปัญหาสักเท่าไรเพราะเรารู้ตัวว่าได้ทำอะไรไป ซึ่งไม่ควรทำซ้ำอีกในอนาคตอันใกล้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2561แกร็บเตือนภัยอาชญากรแอบอ้างให้บริการ แนะเรียกใช้ผ่านแอปพลิเคชัน        จากเหตุการณ์บุคคลมีประวัติอาชญากรรม หลบหนีหมายจับคดีข่มขืน แอบอ้างเป็นคนขับแกร็บคาร์ ก่อเหตุล่อลวงผู้โดยสาร เมื่อ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยใช้วิธีนัดแนะเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายผ่านมือถือ โดยไม่ติดต่อผ่านแอปพลิเคชันของแกร็บคาร์ ทำให้ไม่สามารถติดตามสถานะการเดินทางหรือขอความช่วยเหลือฉุกเฉินจากแอปฯ ได้       บริษัท เเกร็บ ประเทศไทย ได้ออกมาย้ำถึงมาตรการความปลอดภัย ขอให้ผู้โดยสารทุกท่านเรียกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการติดต่อกับผู้ขับขี่ หรือตกลงการเดินทางโดยไม่ผ่านแอปพลิเคชัน ก่อนขึ้นรถควรตรวจสอบใบหน้าคนขับและทะเบียนรถว่าตรงกับระบบหรือไม่ และเมื่อขึ้นโดยสารรถแล้วให้กดใช้ฟีเจอร์ Share My Ride เพื่อส่งแชร์ข้อมูลการเดินทางเป็นลิงก์ข้อความไปยังคนที่ห่วงใย ก็จะสามารถติดตามตำแหน่งรถโดยสารแบบเรียลไทม์เพื่อดูได้ว่าถึงไหนแล้ว หรือหากรู้สึกว่ามีสถานการณ์ไม่ปลอดภัยก็สามารถกดใช้ปุ่มฉุกเฉินบนแอปพลิเคชันได้ทันทีกรมสุขภาพจิต เผยคนไทยคิดสั้นชม.ละ 6 คน        นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า แต่ละปีมีผู้พยายามทำร้ายตัวเองเพื่อฆ่าตัวตายประมาณ 53,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน โดยในปี 2559 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จจำนวน 4,131 คน เป็นชายมากกว่าผู้หญิง 4 เท่าตัว อายุต่ำสุด 10 ปี สูงสุด 100 ปี ส่วนใหญ่เป็นโสด ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละกว่า 400 ล้านบาท        สาเหตุที่มักพบมาจาก 5 เรื่อง คือ ความสัมพันธ์บุคคล สุรา ยาเสพติด สังคม และเศรษฐกิจ ในผู้ชายมักมีปัจจัยความเสี่ยงจากปัญหาโรคทางจิต ดื่มสุรา ใช้ยาเสพติด โดยเฉพาะการดื่มสุรามากขึ้นจะมีโอกาสลงมือทำร้ายตัวเองมากกว่าผู้หญิงที่มีปัญหาถึง 2 เท่า ส่วนในผู้หญิงมักมีสาเหตุมาจากความสัมพันธ์ได้แก่ น้อยใจ ถูกตำหนิดุด่า ผิดหวังความรัก        ด้าน นพ. ณัฐกร จำปาทอง ผอ.โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ และศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิตกล่าวว่า การพยายามฆ่าตัวตาย เป็นตัวบ่งชี้ว่าบุคคลนั้นไม่สามารถหาทางออกได้ในสถานการณ์ที่กดดันทางอารมณ์อย่างรุนแรง   จำเป็นต้องเข้าไปให้การช่วยเหลือ   จึงขอให้ญาติหรือผู้ที่ดูแลผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายแล้วแต่ไม่สำเร็จ ซึ่งมีปีละกว่า 48,000 คน ไม่ว่าจะรู้สึกโกรธหรือผิดหวังในตัวผู้กระทำแค่ไหนก็ตาม ควรให้อภัย หลีกเลี่ยงการตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง  ขอให้เข้าไปพูดคุยซักถามถึงความคิดฆ่าตัวตาย ด้วยท่าทีที่อ่อนโยน จริงใจ จะช่วยผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายคลายความกังวล รู้สึกผ่อนคลายและเข้าใจตัวเองดีขึ้น จะเป็นการป้องกันการฆ่าตัวตายซ้ำได้ จากการศึกษาของกรมสุขภาพจิตพบว่าจะสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายได้มากถึงปีละ 400 คนร้องศาลปกครองเพิกถอนประกาศ อย. เรื่องถ่ายโอนภารกิจตรวจสินค้าเกษตรนำเข้าให้ ก.เกษตรฯ เกรงไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค        10 ก.ย. 61 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ร่วมกันฟ้องคดีต่อศาลปกครอง กรณีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกประกาศ เรื่อง การถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจสอบการนำเข้าสินค้าอาหาร ซึ่งเห็นว่า ขั้นตอนการออกประกาศดังกล่าว เป็นการดำเนินการโดยปราศจากอำนาจและอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคโดยรวม โดยการฟ้องคดี ได้ร้องขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนประกาศฯ และสั่งให้ยุติการถ่ายโอนภารกิจดังกล่าว        นางสาวบุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า "หลังจากที่มีการออกประกาศฉบับดังกล่าว ไทยมีการนำเข้าปลาตาเดียว(ฮิราเมะ) จากจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสถานที่ ที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว โดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทำเพียงการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่มีการเก็บตัวอย่างปลาไว้ตรวจสอบในห้องปฏิบัติการแต่อย่างใด และปัดให้ อย.ไปตรวจสอบหากมีปัญหา เมื่อสินค้าออกสู่ตลาดแล้ว ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ขั้นตอนการตรวจสอบและการคุ้มครองผู้บริโภคถูกลดทอนอย่างชัดเจนเมื่อมีการถ่ายโอนภารกิจ"        นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล อนุกรรมการด้านอาหารฯ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน กล่าวว่า "หากสินค้านำเข้าที่ไม่ปลอดภัยแพร่กระจายไปทั่วประเทศ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ปัญหา การถ่ายโอนภารกิจรังแต่จะสร้างความสับสนในการทำงานระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง สุดท้ายผลกระทบก็จะมาตกอยู่กับประชาชน"บทบาทองค์กรผู้บริโภคกับรถโดยสารสาธารณะ        มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ วันที่ 6-7 ก.ย. 61 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จัดเวทีสมัชชา ในหัวข้อ "บทบาทองค์กรผู้บริโภคกับรถโดยสารสาธารณะ" เพื่อเสนอประเด็นการขับเคลื่อนงานและมาตรการความสำคัญในการจัดการระบบรถโดยสารสาธารณะและรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย         การบรรยายพิเศษ เรื่อง "อนาคตองค์กรผู้บริโภคกับงานด้านรถโดยสารปลอดภัย" และเวทีแลกเปลี่ยนในหัวข้อ "ความคาดหวังรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย ปี 2562นำเสนอสถิติอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะ และรถรับส่งนักเรียน โดยชี้ให้เห็นถึงสาเหตุ และวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนและแนวทางการแก้ไข และยังมีการจัดสภาผู้บริโภค "เรื่องมาตรการสำคัญในการจัดการรถรับส่งนักเรียน" พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง "อนาคตงานรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย" ซึ่งมีข้อเสนอว่า ควรมีการกำหนดมาตรฐานรถรับส่งนักเรียน โดยให้โรงเรียนและองค์กรปกครองส่วนท้อนถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องการเดินทางของนักเรียน โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างมาตรฐานเกี่ยวกับตัวรถให้มีความปลอดภัยและสอดคล้องกับสภาพสังคม จากนั้นเน้นเรื่องการเข้าถึงสภาพปัญหาจริงของแต่ละพื้นที่สปสช.หนุนมติ สธ.ห้ามใช้ 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ข้อมูลระบบบัตรทอง 3 ปี พบผู้เสียชีวิต 1,715 ราย        เว็บไซต์ศูนย์ข่าว สปสช. รายงานว่า เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้มีมติห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ทั้งผู้ที่สัมผัสกับสารพิษทางตรงและทางอ้อมจากภาวะสารตกค้างตามธรรมชาตินั้น        จากข้อมูลการเข้ารับบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง ได้มีรายงานผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีสาเหตุจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในปี 2560 มีผู้ป่วยจำนวน 4,983 ราย เสียชีวิตจำนวน 582 ราย มีการเบิกจ่ายค่ารักษาจำนวน 22,651,053 บาท นอกจากนี้ เมื่อดูการเข้ารับบริการของผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยแยกข้อมูลตามเขตบริการสุขภาพ 13 เขต พบว่า ปี 2561 เขต 1 เชียงใหม่ มีรายงานผู้ป่วยที่เข้ารับบริการโดยมีสาเหตุจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากที่สุด จำนวน 644 ราย รองลงมา คือ นครราชสีมา 454 ราย, ราชบุรี 433 ราย, พิษณุโลก 426 ราย และนครสวรรค์ 422 ราย        จากรายงานผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโดยมีสาเหตุจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนี้ เป็นเพียงข้อมูลเฉพาะในส่วนผู้ป่วยที่มีการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยตรง เฉลี่ยพบผู้ป่วยประมาณ 5,000 รายต่อปี ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาอยู่ที่ราว 22 ล้านบาทต่อปี โดยยังมีข้อมูลที่น่าตระหนก เนื่องจากมีผู้ป่วยจากสารกำจัดศัตรูพืชที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตขณะรักษาตัวในโรงพยาบาลช่วงปี 2559-2561 มีจำนวนสูงถึง 1,715 ราย หรือเฉลี่ยปีละเกือบ 600 ราย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 การคุ้มครองผู้บริโภคในฮ่องกง

สภาผู้บริโภคฮ่องกง (Hong Kong Consumers Council) ก่อตั้งขึ้นในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2517 จากสถานการณ์ปัญหาวิกฤติเงินเฟ้อ สินค้าราคาแพง ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลปีละประมาณ 350 ล้านบาท ในการทำงาน โดยงบประมาณ มากกว่าร้อยละ 90 ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล มีเพียงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มาจากการจำหน่ายนิตยสารขององค์กร นิตยสารมีนโยบายไม่รับโฆษณาและการสนับสนุนจากธุรกิจเอกชนด้วยเช่นกัน มีนโยบายและการทำงานที่เป็นอิสระจากรัฐบาลสภาองค์กรผู้บริโภคฮ่องกง เป็นตัวแทนของผู้บริโภคตามกฎหมาย เพื่อสะท้อนเสียงของผู้บริโภคและนำเสนอประเด็นให้เกิดการอภิปรายทั่วไปเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคจนนำไปสู่การปฏิบัติ สร้างความร่วมมือระหว่างผู้บริโภค องค์กรภาคเอกชน เครือข่าย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สื่อและรัฐบาล รวมทั้งส่งเสริมสวัสดิการผู้บริโภคและเพิ่มความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภคในการปกป้องตนเอง เรื่องสำคัญล่าสุดที่ได้รับการผลักดันจากสภาองค์กรผู้บริโภคฮ่องกง การคุ้มครองผู้บริโภคในการทำสัญญาซื้อขายและการบอกเลิกสัญญา โดยการอนุญาตให้ผู้บริโภค มีสิทธิในการบอกเลิกสัญญา และคืนสินค้า และขอรับเงินคืนภายในระยะเวลาที่เหมาะสมหลังจากได้ทำสัญญา สิทธิในการยกเลิกสัญญานี้จะช่วยเพิ่มการคุ้มครองผู้บริโภคเนื่องจากปัญหากลยุทธ์การทำการขายสินค้าแบบไร้ยางอายและการตลาดที่กดดันผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อในระยะเวลาอันสั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคฮ่องกง ได้ใช้มาตรการแบบสมัครใจให้คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในการยกเลิกสัญญาในธุรกิจ เสริมความงาม ลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย การซื้อบริการท่องเที่ยว (timeshare) และล่าสุดได้ออกกฎหมายบังคับในปีที่ผ่านมา โดยกฎหมายให้มีการกำหนดระยะเวลาตัดสินใจในการทำสัญญา (Cooling-off Period) สำหรับธุรกรรมกับผู้บริโภค 2 ประเภท ได้แก่ สัญญาที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและ / หรือบริการที่มีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน และธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขายตรง เช่น สิทธิในการบอกเลิกสัญญาที่ทำไปแล้วภายใน 7 วัน คืนสินค้าภายใน 14 วันหลังจากได้รับสินค้าที่ส่งถึงบ้าน ได้รับเงินคืนภายใน 14 วันหลังจากบอกเลิกสัญญา หรือคืนสินค้าประเทศไทยมีมาตรการคืนสินค้าที่ชัดเจนกำหนดไว้ใน พ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2560 ใกล้เคียงกับที่ดำเนินการในฮ่องกง เช่น ผู้บริโภค มีสิทธิเลิกสัญญาโดยการส่งเอกสารแสดงเจตนาที่จะบอกเลิกสัญญาภายใน 7 วันนับแต่วันได้รับสินค้าหรือบริการ โดยสามารถเก็บสินค้านั้นไว้ ภายในระยะเวลา 21 วัน สามารถให้ผู้ขายหรือตัวแทนมารับสินค้าคืนที่ภูมิลำเนาของผู้บริโภค หรือส่งคืนสินค้าทางไปรษณีย์โดยเรียกเก็บเงินปลายทาง รวมทั้งผู้บริโภคมีสิทธิได้รับเงินคืนเต็มจำนวนและเบี้ยปรับ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่แสดงเจตนาเลิกสัญญา หากไม่คืนเงินภายใน 15 วัน ก็ต้องเสียเบี้ยปรับตามที่กฎหมายกำหนด การซื้อสินค้าและบริการทั้งออนไลน์และออฟไลน์หลายครั้งมีมูลค่าไม่มากต่อตัวเรา แต่หากคิดเป็นภาพรวมมีมูลค่ามากมาย  มีกฎหมายดีแบบนี้ ต้องช่วยกันทำให้เป็นจริงให้ได้

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 210 การประเมินนโยบายงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี (ตอนจบ)

การประเมินนโยบายงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี (ตอนจบ)    การจัดตั้งรัฐบาลผสมขนาดใหญ่ของเยอรมนี ย่อมส่งผลต่อนโยบายของรัฐบาลที่ต้องมีการผสมผสานจากนโยบายของพรรคต่างๆ ที่ได้หาเสียงไว้  สำหรับนโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี จัดทำเอกสาร เพื่อประเมินนโยบายของรัฐบาลผสมไว้ทั้งหมด 12 ประเด็น ซึ่งได้นำเสนอมาก่อนหน้านี้ ฉบับนี้เป็นตอนจบแล้ว การบริโภคที่ยั่งยืน และการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ (sustainability consume and resource protection)นโยบาย Agenda 2030 เป็นนโยบายที่นำสู่การปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรมในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเสาหลักทางนโยบายของรัฐบาล โดยจะใช้แผนยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นความยั่งยืน ต่อไปและมีการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ควบคู่ไปด้วย โดยจะโยงไปสู่ข้อตกลงระหว่างชาติไม่ว่าจะเป็นเวที G 7, G 20 Agenda 2030 ของสหประชาชาติ ในประเด็น SDG (Sustainability Development Goal) และข้อตกลงว่าด้วยเรื่องสภาพภูมิอากาศปารีส (the Paris Agreement on climate protection) ต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเห็นด้วยกับนโยบายนี้ ที่มีการพูดถึงในการทำสัญญาจัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่ต้องติดตามว่าจะบรรลุความสำเร็จในทางปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใดนโยบาย National Program for sustainable consumption (แผนยุทธศาสตร์ชาติสำหรับการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน นโยบายนี้รัฐบาลจะส่งเสริมต่อไปและจะพัฒนา เสริมสร้างความเข้มแข็งของศูนย์เรียนรู้ในการส่งเสริมสมรรถภาพการบริโภคที่ยั่งยืน และรัฐบาลจะสนับสนุนตลอดจนผ่อนคลายข้อกำหนดที่อาจเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่มีพนักงานไม่เกิน 500 คนในสถานประกอบการ ต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเห็นด้วยกับนโยบายนี้ แต่รัฐบาลก็ควรให้การสนับสนุนประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่นอกโปรแกรมนี้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ การส่งเสริมความเข้มแข็งของศูนย์เรียนรู้การบริโภคที่ยั่งยืน จำเป็นที่จะต้องมีมุมมองของฝั่งผู้บริโภครวมอยู่ด้วย และเสนอว่าให้ องค์กรผู้บริโภคในฐานะที่เป็นกลุ่มและตัวแทนผู้บริโภคเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงาน CSR- Report responsibility ภายใต้หน่วยงานรัฐ National Action Plan for Economy and Human Right (NAP) จะต้องติดตามระบบการทำงานของห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจ จะใช้มาตรการภาคสมัครใจในการรายงานประจำปีต่อสถานการณ์ความรับผิดชอบทางสังคม และความใส่ใจในประเด็นสิทธิมนุษยชน ตามข้อตกลง NAP 2020 หากมาตรการภาคสมัครใจไม่สามารถยกระดับความรับผิดชอบทางสังคม และสิทธิมนุษยชนได้ รัฐบาลอาจออกกฎหมายมาบังคับใช้ โดยอิงตามกรอบของอียู ต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะการแบ่งขนาดของผู้ประกอบการในการ ผ่อนคลายข้อกำหนดของอียู แต่ไม่ควรยกเว้นมาตรการภาคสมัครใจในการจัดทำ CSR- Report การออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้ รัฐบาลควรติดตามแนวโน้มของสถานการณ์ที่จะถึงในปี 2020 หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น นั่นคือ มีผู้ประกอบการไม่ถึง 50 % ที่จัดทำรายงาน CSR-Report รัฐบาลก็สามารถใช้มาตรการบังคับใช้กฎหมายได้ Resource Protection/ Repair ability นโยบาย Reduce Reuse and Recycle เป็นมาตรการสำคัญในการ พัฒนานโยบายทางสิ่งแวดล้อมในระดับ อียู ผู้ประกอบการ ควรให้ความสำคัญกับ เรื่อง อายุการใช้งานของสินค้าที่ยาวนานขึ้น มีนโยบายในการรับซ่อมแซมสินค้า และการนำผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์กับมาใช้ใหม่ ต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล องค์กรผู้บริโภคให้ความสำคัญกับนโยบายที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ มีนโยบายการเพิ่มอายุการใช้งานของสินค้า การรับซ่อมสินค้าที่ชำรุดบกพร่องโดยไม่สร้างภาระให้กับผู้บริโภคมากจนเกินไป อย่างไรก็ตามรัฐบาลยังไม่มีรายละเอียดในการทำให้นโยบายเป็นจริง  การค้าข้ามชาติ (International commerce) การรู้เท่าทัน (consumer education) และ การเฝ้าระวังกลไกตลาด (market surveillance) นโยบายการค้าข้ามชาติ : รัฐบาล จะลงนามข้อตกลงตามกรอบของ CETA ระหว่างอียูกับแคนาดา ในประเด็นเรื่อง การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองสุขภาพประชาชน สิทธิแรงงาน และการคุ้มครองนักลงทุน ต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่า เป็นนโยบายที่ยังไม่มีรายละเอียดในทางปฏิบัติ แต่สนับสนุนในประเด็น การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สิทธิแรงงาน และสุขภาพประชาชน รัฐบาลต้องไม่ละเลยคุ้มครอง สิทธิผู้บริโภค โดยเฉพาะในประเด็นทางสุขภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจ และเชื่อมั่นต่อประเด็นการทำการค้าข้ามชาติ ในยุค Gloabalization รัฐบาลต้องใส่ใจกับประเด็น การค้าที่เป็นธรรม (Fairtrade) ซึ่งรัฐบาลต้องกลับมาสนใจในประเด็น e commerce การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และให้ความสำคัญในหลักการ precautionary principle ซึ่งรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องกลับไปทบทวนการปฏิรูปในประเด็นการคุ้มครองนักลงทุนใหม่ การรู้เท่าทัน (consumer education): รัฐบาลสนับสนุนสื่อการเรียนการสอน (Material compass) ซึ่งเป็นสื่อของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ต่อประเด็นงานคุ้มครองผู้บริโภค และจะสนับสนุนงานทางด้านการรู้เท่าทันในประเด็น การคุ้มครองผู้บริโภค Consumer Education Digital Competency (การรู้เท่าทันสังคมดิจิตัล) และการบริโภคที่ยั่งยืน สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสนับสนุนนโยบายนี้เป็นอย่างยิ่ง และเสนอว่าการให้ความรู้ทางด้านงานคุ้มครองผู้บริโภค เป็นงานของหน่วยงาน(ไม่ใช่งานที่เป็น โปรเจคต์ เหมือนอย่างในปัจจุบัน) การเฝ้าระวังกลไกตลาด (market surveillance) : รัฐบาล สนับสนุนกลไกการเฝ้าระวังการกำกับดูแลตลาด โดยจะเพิ่มงบประมาณ และมาตรการทางกฎหมาย สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสนับสนุนแนวความคิดนี้ ที่รัฐจะควบคุมและกำกับตลาดได้แก่ finance market, digital world และ Energy sector ---- ประเด็นนโยบายผู้บริโภค 12 เรื่อง ได้แก่ การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค (Right and Right receiving), การคุ้มครองผู้บริโภคในโลกยุคดิจิตัล (Digital  world), ตลาดเงิน ตลาดทุน (Financial market), การประกันสุขภาพและการดูแลผู้ป่วย (health and care insurance market), อาหาร (food market), พลังงาน (Energy market), อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย (Real estate and accommodation), การเดินทาง การท่องเที่ยว (Mobility and tourism), การบริโภคที่ยั่งยืน และการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ (sustainability consume and resource protection), การค้าข้ามชาติ (International commerce), การรู้เท่าทัน (consumer education), การเฝ้าระวังกลไกตลาด (market surveillance) สามารถติดตามย้อนหลังได้จากฉบับก่อนหน้า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 กระแสต่างแดน

ขายให้ชัดหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าและตลาดและของอังกฤษ  เริ่มลงมือจัดการกับดาราและบุคคลมีชื่อเสียงที่โพสต์ภาพของตนเองร่วมกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ โดยไม่ระบุให้ชัดว่าได้เงินค่าโฆษณาจากแบรนด์หรือไม่ตามกฎหมายอังกฤษ โพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟสบุ้ค อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์ ที่ผู้โพสต์ได้รับเงินจากการแชร์เรื่องราวนั้น จะต้องทำให้ผู้บริโภคสามารถดูออกทันทีว่าเป็นการโฆษณา ขณะนี้มีคนดังถูกดำเนินการแล้วสี่ราย ตั้งแต่ดาราที่โพสต์รูปวิตามินพร้อมโค้ดส่วนลด บล้อกเกอร์ด้านการแต่งหน้าที่ลงรูป “ชาลดพุง” ในอินสตาแกรม  พิธีกรรายการโทรทัศน์ที่ทวิตบอกผู้ติดตามของเธอว่าโปรดปรานขนมยี่ห้อหนึ่งเป็นพิเศษ ไปจนถึงดาราที่ลงรูปเครื่องดื่มพร้อมแฮชแท็ก #sp (ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าหมายถึง sponsored post หรือโพสต์ที่มีสปอนเซอร์) การสืบสวนจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ และอาจนำไปสู่การฟ้องร้อง ซึ่งไม่มีเพดานค่าปรับสูงสุดด้วยจ่ายแพงกว่าเพื่อ?อเมซอน ร้านค้าออนไลน์ถูกสั่งงดโฆษณาบริการสมาชิกแบบ “อเมซอน ไพรม์” ที่รับประกันการ จัดส่งสินค้า “ภายในหนึ่งวัน”   หน่วยงานดูแลมาตรฐานการโฆษณาของอังกฤษ ได้รับเรื่องร้องเรียน 280 กรณี จากสมาชิกบริการไพร์มที่มีค่าธรรมเนียมเดือนละ 7.99 ปอนด์ (ประมาณ 350 บาท) ที่ไม่ได้รับสินค้าที่สั่งภายในหนึ่งวัน อเมซอน อธิบายว่าได้แจ้งไว้ (ตรงไหนสักแห่ง) ในเว็บไซต์ว่าผู้สั่งซื้อจะได้รับสินค้า “หนึ่งวันทำการหลังจากเริ่มจัดส่ง” และ “เวลาในการจัดส่งขึ้นอยู่กับเวลาที่สั่งซื้อ” ด้วย  แต่หน่วยงานดังกล่าวฟันธงว่าผู้ใช้เว็บไซต์ส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นข้อความเหล่านี้ก่อนตัดสินใจสมัครสมาชิกแบบ “ไพร์ม” องค์กรผู้บริโภค Citizens Advice บอกว่า ไม่เพียงลูกค้าของอเมซอนเท่านั้นที่ประสบปัญหานี้ ร้อยละ 40 ของลูกค้าระดับ “พรีเมียม” ของร้านออนไลน์ ได้รับสินค้าช้ากว่าที่คาดหวังทั้งๆ ที่จ่ายแพงขึ้น  ที่สำคัญขณะนี้ยังไม่มีช่องทางการชดเชยเยียวยาที่สะดวกในกรณีที่เกิดความเสียหายจากความล่าช้าด้วยภาษีลดสูบญี่ปุ่นซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องประชากรที่สุขภาพดีและอายุยืน กำลังเผชิญปัญหาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์  กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลว่าในปีงบประมาณ 2015 รัฐบาลใช้เงินไม่ต่ำกว่า 2,000,000 ล้านเยนเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่  ด้านหนึ่งคือค่ารักษาพยาบาล 1,200,000 ล้านเยน (โรคมะเร็ง หัวใจ อัมพาต อัมพฤกษ์ และภาวะสมองเสื่อม) ทั้งในผู้สูบบุหรี่และผู้ที่ได้รับควันบุหรี่ ส่วนที่เหลือเป็นความเสียหายจากเหตุไฟไหม้ที่มีสาเหตุจากก้นบุหรี่ ญี่ปุ่นมีจำนวนผู้สูบบุหรี่ร้อยละ 18.2 ของประชากร ซึ่งถือว่าลดลงมากแล้วเมื่อเทียบกับหลายปีก่อน แต่มาตรการลดการสูบบุหรี่ของรัฐบาลญี่ปุ่นยังดำเนินต่อไป ล่าสุดได้ประกาศเพิ่มภาษีบุหรี่ ทำให้ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี  2019 ราคาบุหรี่จะขึ้นเป็นซองละ 500 เยน (ประมาณ 150 บาท) เช่นเดียวกับในสหภาพยุโรปที่ราคาบุหรี่ต่อซองจะเพิ่มขึ้นเป็น 385 บาทในปี 2020ไม่สวยก็กินได้ประมาณร้อยละ 35 ของผักผลไม้จากสวนของเกษตรกรในยุโรป ไม่เคยมีโอกาสได้พบปะผู้บริโภคซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะพวกมันมีหน้าตาประหลาดหรือขนาดไม่ตรงสเปคงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเอดินบะระพบว่า ผักผลไม้ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านตันถูกทิ้งไปเพราะ “ผู้บริโภคไม่ชอบแบบนี้” ในขณะที่เกษตรกรต้องลงทุนผลิตในปริมาณที่มากกว่าที่ทำสัญญาไว้กับห้างค้าปลีก เพื่อให้มีส่งครบตามที่สั่งหลังจากบางส่วนถูกคัดออกความสูญเสียที่ว่านี้มาจากมาตรการที่เข้มงวดของภาครัฐ รวมกับมาตรฐานสินค้าที่ซูเปอร์มาร์เก็ตตั้งไว้สูงเกินไป และความคาดหวังของตัวผู้บริโภคเองที่ต้องการแต่ผักผลไม้ที่ดูดีไร้ตำหนิ ผู้วิจัยเรียกร้องให้ผู้บริโภคใส่ใจกับการเลือกซื้อสินค้าอย่างยั่งยืนมากขึ้น พร้อมๆ ขอให้ห้างค้าปลีกให้ที่ยืนกับผักผลไม้ที่หน้าตาไม่สมบูรณ์แบบบ้าง ที่ผ่านมา ห้าง Sainsbury และ ห้าง Morrisons ได้เริ่มลงโครงการกับกล้วยและอโวคาโดแล้วเจ็บมาเยอะสาวๆ เกาหลีนัดกันหยุดใช้จ่ายทุกๆ วันอาทิตย์แรกของเดือน เพื่อประท้วงการดูถูกผู้หญิงและการเอาเปรียบโดยผู้ประกอบการต่างๆ ที่มักจะตั้งราคาสินค้าสำหรับผู้หญิงแพงกว่าสินค้าสำหรับผู้ชายพวกเธอบอกว่า ไม่เป็นธรรมเลยที่สังคมเกาหลีคาดหวังให้ผู้หญิงต้องดูดีดูสวยตลอดเวลา แต่สินค้าที่พวกเธอต้องซื้อกลับมีราคาแพงเกินไป แจ็กเก็ตสำหรับผู้หญิงซึ่งมีแต่กระเป๋าหลอก ใส่ของอะไรไม่ได้ ราคาแพงกว่าแจ็กเก็ตชาย กางเกงแบบไร้รอยยับสำหรับผู้ชายก็ถูกกว่าและสวมใส่สบายกว่าด้วย  กลุ่มนี้ซึ่งมีผู้ติดตามในทวิตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 5,000 คน บอกว่าอยากให้ธุรกิจรู้ว่ายอดขายจะร่วงลงแค่ไหนหากผู้หญิง “ไม่ช้อป” และหันมาทำอาหารกลางวันไปรับประทานเอง ถีบจักรยานไปไหนต่อไหนเอง รวมถึงยกเลิกการจองโต๊ะสำหรับอาหารเย็น เป็นต้น  เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการประท้วงของผู้หญิงในไอซ์แลนด์ เมื่อหลายสิบปีก่อนที่รวมตัวกันไม่ไปทำงานและหยุดทำงานบ้าน เพื่อให้เห็นว่าโลกจะไปต่อไม่ได้หากผู้หญิงไม่ไปด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 สิทธิการเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก ผลกระทบจากกฎหมายห้ามธุรกิจอุ้มบุญ

รู้หรือไม่ ก่อนจะมีการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์  ประเทศไทยเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ของผู้มีบุตรยากทั่วทุกมุมโลกในการเข้ามารับการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย แต่เนื่องจากไม่มีกฎหมายที่เข้ามาดูแลเป็นการเฉพาะทำให้เกิด “ธุรกิจอุ้มบุญ” โดยมีสาวไทยขายมดลูกอุ้มท้องแทนจำนวนหนึ่งแบบลับๆ เรื่องแดงออกมาจากกรณีชาวต่างชาติจ้างหญิงไทย “อุ้มบุญ” เมื่อให้กำเนิดลูกแฝดแล้วคนหนึ่งปกติ อีกคนเป็นโรคดาวน์ซินโดรม สุดท้ายชายชาวต่างชาติก็รับเลี้ยงแค่เด็กที่มีความปกติเท่านั้น แล้วทิ้งเด็กดาวน์ซินโดรมไว้ให้แม่อุ้มบุญดูแล จนเป็นข่าวครึกโครม และเมื่อมีการสอบสวนเชิงลึกก็พบว่าชายชาวต่างชาติที่มาว่าจ้างหญิงไทยตั้งครรภ์นั้น เคยก่อคดีล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กหญิงมาแล้ว 2 ครั้ง จนถูกจำคุกอย่างไรก็ตามปัญหาเกี่ยวกับการรับจ้างอุ้มบุญยังมีให้เห็นอยู่เนืองๆ ตลอดจนปัญหาการทอดทิ้งเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีให้แม่อุ้มบูญชาวไทยดูแล เพราะพอผู้ว่าจ้างเห็นหน้าเด็ก เห็นลักษณะเด็กแล้วไม่พอใจ ปรากฏเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์อีก หรืออย่างกรณีคู่รักชาย - ชาย มาว่าจ้างหญิงไทยอุ้มบุญก็เคยเจอ จนนำมาสู่การออกพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ในปี 2558 ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เป็นหลัก โดยห้ามซื้อ-ขายไข่ อสุจิ หรือสเปิร์ม และห้ามว่าจ้าง หรือรับจ้างตั้งภรรค์แทน หรือเรียกว่า “อุ้มบุญ” เด็ดขาดสถานการณ์การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การเข้าถึง(บริการรักษาภาวะมีบุตรยาก) ถ้าลงให้ลึกจริงๆ มีหลายสาเหตุ ทั้งเรื่องมาตรการช่วยเหลือผู้ที่มารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากยังมีไม่มากนัก เรื่องค่ารักษาไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐ การลางานไม่ได้ รวมถึงเมื่อมีโรคที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการมีบุตรยากประกันก็ไม่จ่าย เช่น ถุงน้ำในรังไข่ ซีสต์ พอผู้หญิงคนหนึ่งป่วยเป็นโรคนี้ บอกแพทย์ไปประกันไม่จ่ายทันที ถือว่าไม่เป็นธรรมมากรศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์ ประธานอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลกระบุว่าผู้ที่แต่งงานกันแล้วและตั้งใจที่จะมีบุตร แต่ไม่มีภายในระยะเวลา 1 ปี ถือว่าเป็นผู้ที่มีภาวะมีบุตรยากควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและหาแนวทางรักษาต่อไป ส่วนคู่แต่งงานที่ฝ่ายภรรยามีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไปไม่ต้องรอให้ถึง 1 ปี หากยังไม่ตั้งครรภ์ภายใน 6 เดือนก็ควรพบแพทย์ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก ถ้าพูดถึงอัตราผู้มีปัญหาภาวะมีบุตรยากของไทยในปัจจบันมีอยู่ประมาณร้อยละ 10 – 15 ซึ่งมาจากหลายปัจจัยที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะปัจจุบันที่ฝ่ายหญิงมีตำแหน่งหน้าที่การงานสูงขึ้น จึงยังไม่อยากจะคิดถึงการมีบุตร การตั้งครรภ์ในขณะที่ยังมีความเจริญก้าวหน้า แต่จะเริ่มมาคิดถึงการตั้งครรภ์เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าทำให้เกิดปัญหาภาวะมีบุตรยากตามมา เพราะปัญหาเซลล์รังไข่เกิดสภาพไม่สมบูรณ์ ตกไข่ยาก หรือได้ไข่ที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ เมื่อตั้งครรภ์แล้วก็แท้งง่าย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโรคประจำตัวของคนที่มีอายุมากเช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ รวมถึงความเครียดจากภาระงานที่พิ่มขึ้นจากความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทุกประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งสิ้น ทั้งนี้สาเหตุที่เกิดจากฝ่ายชายก็ไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาภาวะมีบุตรยากนั้นมีหลายวิธีการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยแพทย์จะพิจารณาเป็นรายกรณี และเริ่มรักษาทีละสเต็ปจากน้อยไปหากมากคือ เริ่มจากการตรวจหาสาเหตุ หากพบว่าภาวะมีบุตรยากเกิดจากการมีโรคประจำตัวอะไรก็รักษาโรคนั้นๆ ก่อน เช่น ไทรอยด์ เบาหวาน ซีสต์ ความเครียด การใช้ยาหรือสารต่างๆ เป็นต้น เมื่อรักษาแล้วก็มีโอกาสตั้งภรรค์ หากแก้ไขปัญหาเบื้องต้นไม่สำเร็จจึงไปถึงการใช้เทคโนโลยีช่วยเหลือการเจริญพันธุ์  ทั้งนี้ เทคโนโลยีช่วยเหลือการเจริญพันธุ์มีหลายวิธีเช่นกัน เริ่มจากการคัดเชื้ออสุจิ ฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในรังไข่ หรือเรียกว่าผสมเทียม หรือกระตุ้นไข่ หากยังไม่สำเร็จก็ขยับไปอีกขั้นหนึ่งคือการทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ประเทศไทยสามารถทำได้หมด ปัจจุบันประเทศไทยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ด้วยการทำเด็กหลอดแก้ววิธีต่างๆ ประมาณปีละ 1 หมื่นรายตัวเลขเพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ แต่เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับอัตราผู้มีบุตรยากในประเทศไทย โดยคิดว่าไม่น่าจะถึงร้อยละ 10 ที่เป็นเช่นนี้สะท้อนว่าประชากรไทยที่มีปัญหายังรับรู้ และเข้าถึงบริการนี้น้อย เมื่อเทียบกับต่างประเทศที่มีอัตราการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ค่อนข้างมาก เช่น ญี่ปุ่น มีผู้รับบริการประมาณ 2 แสนรายต่อปี บางประเทศอัตรการเข้ารับบริการพุ่งถึง 4 แสนรายต่อปี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์มาช่วยเหลือผู้มีบุตรยาก แต่ก็เพราะมีการเอาไปใช้ในเชิงธุรกิจ จนนำมาสู่การออกเป็นพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 ซึ่งเมื่อกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ก็มีผลกระทบทั้งผลดี และผลเสีย โดยผลดีก็ทำให้ประเทศไทยอยู่ในร่องในรอยแบบที่สากลโลกเขาทำอยู่ แต่กรณีที่ 2 คือทำให้เรื่องการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากโดยเทคโนโลยีเข้าช่วยนั้นทำได้ยากขึ้น เสียเวลามากขึ้น บางครั้งคนที่มีปัญหามีบุตรยากและต้องการมีบุตรจริงๆ เข้าถึงบริการน้อยลง ที่จริงเรื่องการเข้าถึงน้อยลงถ้าลงให้ลึกจริงๆ มีหลายสาเหตุ ทั้งเรื่องมาตรการช่วยเหลือผู้ที่มารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากยังมีไม่มากนักเรื่องค่ารักษาไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐ การลางานไม่ได้ รวมถึงเมื่อมีโรคที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการมีบุตรยากประกันก็ไม่จ่าย เช่น ถุงน้ำในรังไข่ ซีสต์ พอผู้หญิงคนหนึ่งป่วยเป็นโรคนี้ บอกแพทย์ไปประกันไม่จ่ายทันที ถือว่าไม่เป็นธรรมมากนอกจากนี้สถานพยาบาลที่รักษาภาวะมีบุตรยาก ปัจจุบันที่มีอยู่ 70 แห่ง ถือว่าน้อยมากและส่วนใหญ่เป็นของเอกชน ซึ่งมีราคาแพง จากที่เข้าถึงบริการยากอยู่แล้ว ก็เลยยากที่จะเข้าถึงไปกันใหญ่ สำหรับหลักเกณฑ์การอุ้มบุญตามที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเข้มงวดนั้นไม่ได้เป็นปัญหา เช่น การหาคนมารับเป็นแม่อุ้มบุญนั้นจริงๆ ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นคนสายเลือดเดียวกันเท่านั้น แต่หากเป็นหญิงที่ไม่ใช่สายเลือดเดียวกันก็จะต้องมีการตรวจสอบที่เข้มงวดหน่อย เพราะต้นกำเนิดของกฎหมายก็มาจากปัญหาเรื่องการมีธุรกิจรับตั้งครรภ์แทนเกิดขึ้น ซึ่งถ้าเป็นต่างประเทศจะนับเรื่องนี้เป็นปัญหาการค้ามนุษย์ด้วย ข้อเสนอแนะสู่การแก้ไขปัญหาเพราะฉะนั้นเรื่องกฎหมายนับว่ามีความเหมาะสม แต่ถ้าจะแก้ไขก็ต้องทำให้ผู้ที่มีปัญหามีบุตรยากเข้าถึงบริการรักษาได้ง่ายขึ้นต้องมีทางเลือก อันดับแรกคือการมี “สิทธิ” เดินเข้าไปในโรงพยาบาลได้โดยที่ไม่มีอุปสรรคเรื่องของเวลา เรื่องค่าใช้จ่ายเหมาะสม หรือบางส่วนควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และควรแก้ไขเรื่องที่ประกันไม่จ่ายสินไหมโดยอ้างว่าเพราะปัญหาการมีลูกยากทำให้มีปัญหาถุงน้ำในรังไข่ ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวเลยก็ได้ นับว่าไม่มีความเป็นธรรมอย่างยิ่ง แต่เกาหลีบังคับเลยว่าบริทประกันห้ามปฏิเสธการจ่าย “สิ่งที่อยากเห็นจริงๆ คือการเปิดให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากควรเปิดในสถานพยาบาลของรัฐถึงจะแก้ปัญหาได้ ในความเป็นจริงมันไม่ใช่เช่นนั้น ปัจจุบันภาครัฐไม่ได้จัดสรรคงบประมาณส่วนนี้ให้ ทำให้โรงพยาบาลรัฐไม่ตั้งหน่วยดูแลเรื่องนี้เพราะเก็บเงินไม่ได้ ดังนั้นหากรัฐเห็นว่าเรื่องนี้ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ก็ควรตั้งในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งหากจะทำจริงๆ ศักยภาพที่มีนั้นสามารถทำได้ เพราะเรื่องที่ยากกว่านี้โรงพยาบาลรัฐก็สามารถทำได้ดี” รศ.นพ.กำธร กล่าวอีกว่า ถ้าดูสถานการณ์การเกิดในประเทศไทยตอนนี้ตอนนี้ลดลงไปมาก โดยอัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rates - TFR) เดิมอยู่ที่ 6 และลดลงมาเรื่อยๆ จนถึง 2.1 และปัจจุบันลงมาถึง 1.5 ภายในระยะเวลา 20 กว่าปี ในขณะที่องค์การอนามัยโลกถือว่าประเทศที่มีความมั่นคงทางประชากรควรจะมีอัตราเพิ่มประชากรอยู่ที่ 2.1 เพราะฉะนั้นถือว่าประเทศไทยอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง แต่เท่าที่ดูกลับไม่ค่อยมีมาตรการแก้ปัญหาอะไรมากนัก ไม่ตื่นเต้น ไม่มีมาตการส่งเสริมการเกิด รวมถึงดูแลรักษาภาวะมีบุตรยากก็เข้าไม่ถึง ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ถือว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิที่ประชาชนต้องเข้าถึง ในขณะที่นานาชาติหากอัตราเจริญพันธุ์รวมลดลงมาถึงระดับ 1.8 เขาจะต้องตื่นตัวในการหามาตรฐานมาส่งเสริมการเกิดให้เพิ่มขึ้น หรืออย่างประเทศญี่ปุ่นอัตราเจริญพันธุ์รวม ตอนนี้อยู่ที่ 1.46 ถึงกับตกใจมากและออกมาตรการมากมายเพื่อแก้ปัญหา และส่งเสริมการเกิดให้เพิ่มขึ้น เรื่องนี้ประเทศไทยควรจะจริงจังได้แล้วเพราะตอนนี้ประเทศไทย เป็นสังคมผู้สูงอายุมาถึงเร็วกว่าที่คิดไว้ เด็กเกิดมา 1 คนอาจจะต้องดูแลพ่อ แม่ พี่ น้อง อีกจำนวนมากเพราะไม่มีคนมาหารเฉลี่ยด้วย แล้วปัญหาเรื่องเศรษฐกิจแรงงานก็ตามมาแน่นอน หากยังไม่ตื่นตระหนก หาทางแก้ไขอย่างจริงจัง อนาคตจะกระทบกับความมั่นคงของประเทศ เพราะที่เห็นเดินอยู่ตามถนนในเมืองไทยอาจจะเต็มไปด้วยชาวต่างชาติ " อัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rates - TFR) ของไทยปัจจุบันคือ   1.5 ในขณะที่องค์การอนามัยโลกถือว่าประเทศที่มีความมั่นคงทางประชากรควรจะมีอัตราเพิ่มประชากรอยู่ที่ 2.1 หากดำเนินต่อไปโดยไม่ได้รับการแก้ไข ไทยจะมีแต่ประชากรสูงวัยและขาดแคลนแรงงานซึ่งเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ "ด้าน นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล บอกว่า ภายหลังจาก พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ บังคับใช้ก็เพื่อแก้ไขปัญหาการรับจ้างอุ้มบุญ ซึ่งถูกมองเป็นเรื่องการค้ามนุษย์ในสายตาของสังคมโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการรับจ้างอุ้มบุญจำนวนมากจริงๆ มีธุรกิจทางด้านนี้เกิดขึ้นเยอะ แต่หลังจากที่กฎหมายนี้ออกมาจะเห็นว่าสถานการณ์การรับจ้างอุ้มบุญในประเทศไทยก็ซาลงไปมากอย่างไรก็ตาม ยังมีอีกปัญหาหนึ่งที่โผล่ขึ้นมาจากการคุมเข้มเรื่องการ “อุ้มบุญ” คือ การเข้าถึงยาก ราคาแพง จนอาจจะทำให้ครอบครัวที่มีบุตรทำให้ตัดสินใจไปพึ่งการทำอุ้มบุญในต่างประเทศแทนด้าน นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล บอกว่า ภายหลังจาก พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ บังคับใช้ก็เพื่อแก้ไขปัญหาการรับจ้างอุ้มบุญ ซึ่งถูกมองเป็นเรื่องการค้ามนุษย์ในสายตาของสังคมโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการรับจ้างอุ้มบุญจำนวนมากจริงๆ มีธุรกิจทางด้านนี้เกิดขึ้นเยอะ แต่หลังจากที่กฎหมายนี้ออกมาจะเห็นว่าสถานการณ์การรับจ้างอุ้มบุญในประเทศไทยก็ซาลงไปมากนายจะเด็จ บอกอีกว่า สำหรับทางออก ทางเลือกสำหรับคนที่มีบุตรยาก สิ่งหนึ่งที่อยากให้มองสำหรับสังคมไทยตอนนี้จะเห็นว่าเรามีเด็กในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาก็มีหลายๆ ครอบครัวที่มีบุตรยาก มารับเด็กจากสถานสงเคราะห์ไปเป็นบุตรบุญธรรม แต่ก็ยังมีเพียงส่วนน้อย เพราะติดกับทัศนคติเดิมที่ว่า “เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม” จึงไม่มั่นใจว่าเด็กที่โตมาจะเป็นอย่างไร ตรงนี้ต้องบอกว่าคุณภาพของเด็กต่างก็อยู่ที่การเลี้ยงดู เมื่อเด็กได้รับการเลี้ยงดูที่ดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เด็กคนนั้นก็สามารถเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคมไทยได้ เพราะฉะนั้นสังคมไทยต้องปรับทัศนคติตรงนี้ หากอยากมีบุตรจริงๆ แล้วติดขัดในข้อกฎหมายก็สามารถใช้ทางเลือกนี้เป็นทางออกได้ ขณะเดียวกันภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ควรสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนด้วย โดยอาจจะนำเอาครอบครัวที่ประสบความสำเร็จจากการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม ที่พร้อมจะเปิดเผยข้อมูล มาช่วยกันรณรงค์ให้เห็นเป็นตัวอย่างด้วย ไม่ใช้ออกกฎหมาย ออกมาตรการบังคับใช้อย่างเดียวพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์  2558สาระหลักตามกฎหมายสามารถแบ่งได้ดังนี้ ผู้มีที่ต้องการให้มีการตั้งครรภ์แทน มาตรา 21 ระบุว่า ต้องเป็นสามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย มีสัญชาติไทย ถ้าคนใดคนหนึ่งไม่มีสัญชาติไทยก็ต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ทั้งนี้แพทย์ต้องรับรองว่ามีบุตรยากและต้องการมีบุตรโดยการตั้งครรภ์แทน ผู้รับตั้งครรภ์แทน หญิงที่รับตั้งครรภ์แทน คือ ต้องมิใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดานของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายตาม แต่เป็นญาติสืบสายโลหิต ในกรณีไม่มีญาติสืบสายโลหิตและต้องใช้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตามหญิงที่ตั้งครรภ์แทนต้องเคยมีบุตรมาก่อน และต้องได้รับความยินยอมจากสามีก่อนวิธีการตั้งครรภ์แทนมาตรา 22 การตั้งครรภ์แทนมี 2 วิธี 1.ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีและไข่ของภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทน และ 2.ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีหรือไข่ของภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทนกับไข่หรืออสุจิของผู้อื่น ทั้งนี้ ห้ามใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนมาตรา 23 ก่อนดำเนินการต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการให้ดําเนินการให้มีการตั้งครรภ์ก่อน หากฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 47 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับคุณสมบัติของแพทย์ที่จะใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ถูกกำหนดไว้ในมาตรา 15  ระบุว่าต้องแพทย์ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามและต้องปฏิบัติตามมาตรฐานในการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ถ้าเป็นผู้มีคุณสมบัติมาทำจะมีความผิดตามมาตรา 46 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับทั้งนี้ก่อนให้บริการ เกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ในมาตรา 16 ระบุเอาไว้ว่าแพทย์จะต้องตรวจและประเมินความพร้อมทางด้านร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อมของผู้ขอรับบริการ หญิงที่รับตั้งครรภ์แทน และผู้บริจาคอสุจิหรือไข่ที่จะนํามาใช้ดําเนินการ รวมทั้งการป้องกันโรคที่อาจมีผลกระทบต่อเด็กที่จะเกิดมาด้วยความเป็นบิดาและมารดาของเด็กและการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยี ช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ มาตรา 29 เด็กที่เกิดมาเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์จะมีบุตร มาตรา 30 ถ้าสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทนถึงเสียชีวิตก่อนเด็กเกิด ให้หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนเป็นผู้ปกครองเด็กคนนั้นนั้นจนกว่าจะมีการตั้งผู้ปกครองขึ้นใหม่โดยคํานึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของเด็กนั้นเป็นสําคัญมาตรา 32 ให้สามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์เป็นคนแจ้งการเกิดของเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ในกรณีสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทนถึงแก่ความตายก่อนเด็กเกิด ไม่อยู่ในประเทศไทย หรือไม่ปรากฏตัวภายหลังจากการคลอดเด็กนั้น ให้หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนมีหน้าที่แจ้งการเกิดมาตรา 33 ห้ามมิให้สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์จะมีบุตรโดยการตั้งครรภ์แทนปฏิเสธการรับเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนดังกล่าว ฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 49 จําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ มาตรา 41 ห้ามมิให้ผู้ใดซื้อ เสนอซื้อ ขาย นําเข้า หรือส่งออก ซึ่งอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน ฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 51 โทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับข้อห้ามทำธุรกิจอุ้มบุญสำหรับประเด็นที่เป็นปัญหาจนนำมาสู่การออกพระราชบัญญัติดังกล่าวถูกกำหนดไว้ในมาตรา 24 ห้ามมิให้ผู้ใดดําเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้าฝ่าฝืนมีความผิดมาตรา 48 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาทมาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทําการเป็นคนกลางหรือนายหน้า ฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 49 ต้องระวางโทษ จําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ มาตรา 28 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาว่ามีหญิงรับตั้งครรภ์แทนไม่ว่าจะได้กระทําเพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือไม่ก็ตาม ฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 49 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 กระแสในประเทศ

ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2561แนะใช้แอป  EMS 1669 ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน         สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อตอบโจทย์การให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินกับประชาชน ภายใต้ชื่อแอปพลิเคชัน EMS 1669 ซึ่งประชาชนสามารถเรียกรถพยาบาลได้ทันที สามารถระบุพิกัดตำแหน่งที่อยู่ของผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างแม่นยำ ทำให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยได้เร็วขึ้น เพียงแค่กดปุ่มสีแดงในแอป เรียกรถพยาบาล นอกจากนี้ยังสามารถแนบไฟล์ภาพเหตุการณ์เพื่อแจ้งสถานการณ์เพิ่มเติม และมีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินอีกด้วยปี 2574 ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กล่าวว่า ไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 โดยอาศัยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งคาดว่าปี 2564 ไทยจะก้าวสู่สังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์ และจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด ในปี 2574 ซึ่งมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นสัดส่วนเท่ากับหรือมากกว่า 14% ประชากรทั้งหมด                ปัจจุบันไทยมีประชากรสูงอายุประมาณ 11 ล้านคน แบ่งเป็นกลุ่ม ติดสังคม 79.5 % ติดบ้าน 19 % และติดเตียง 1.5 % โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ลำพังมากถึง 10 % กรมกิจการผู้สูงอายุ ระบุแนวทางผลักดันและส่งเสริมให้ สังคมสูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ โดยเร่งขับเคลื่อน 10 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การสร้างระบบคุ้มครองและสวัสดิการผู้สูงอายุ 2. การทำงานและการสร้างรายได้ 3. ระบบสุขภาพเพื่อรองรับสังคมสูงวัย 4. ปรับสภาพแวดล้อมชุมชนและบ้านให้ปลอดภัยกับผู้สูงอายุ  5. ธนาคารเวลา(สังคมไม่ทอดทิ้งกัน) โดยที่ผู้สูงอายุในชุมชนต้องได้รับการดูแล  6. การสร้างความรอบรู้ให้คนรุ่นใหม่ 7. กำหนดให้สังคมสูงอายุเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ  8. การปรับเปลี่ยนกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติข้อบังคับให้เอื้อต่อการทำงานด้าน ผู้สูงอายุ 9. ปฏิรูประบบข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนงาน โดยมีฐานข้อมูลรายบุคคลของผู้สูงอายุ และ 10. พลิกโฉมนวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงอายุงดเหล้าเข้าพรรษา ลดเสี่ยงตับอักเสบกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า คนไทยเสี่ยงต่อภาวะตับอักเสบโดยไม่รู้ตัว เพราะระยะแรกมักไม่มีอาการ จนละเลยการรักษา แต่เซลล์ตับจะถูกทำลายไปเรื่อยๆ จนเกิดตับแข็ง หรืออาจเป็นมะเร็งตับในที่สุด โดยตับอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ ยา สารเคมี สารพิษต่างๆ ซึ่งเเอลกอฮอล์ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบได้ โดยการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ อาจทำให้เกิดอาการพิษต่อตับได้ทั้งระยะเฉียบพลัน และเรื้อรัง ทั้งนี้ นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการ รพ.ราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นประจำ การหยุดดื่มทันทีอาจทำให้เกิดอาการกระสับกระส่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน และในบางคนอาจได้ยินเสียงแว่ว ประสาทหลอน สับสน และชักได้ ดังนั้นสำหรับผู้ที่ติดเหล้าเป็นเวลานาน อาจจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำที่ถูกต้อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการ เสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรไทย แซงหน้าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตและหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคปอด กระทรวงสาธารณสุขได้เผยแพร่รายงานว่าในปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วย โรคมะเร็งประมาณ 77,566 คน เป็นเพศชาย 44,490 คน เป็นเพศหญิง 33,076 คน ซึ่งนอกจากจะเป็นสาเหตุ การตายอันดับหนึ่งของคนไทยแล้ว ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย โดยโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ชายไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลําไส้ใหญ่ ส่วนผู้หญิงไทยโรคมะเร็ง 3 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านมโฆษณาว่า ไขมันทรานส์ 0 % ระวังเข้าข่ายโอ้อวดเกินจริงน.ส.สุภัทรา บุญเสริม ผอ.สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าว ความจริงไขมันทรานส์ ว่า หลังจาก อย.ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ทำให้เกิดไขมันทรานส์ขึ้น โดยมีผลวันที่ 9 ม.ค. 2562 นั้น ไม่อยากให้ประชาชนเกิดความตระหนก ยืนยันว่าน้ำมันที่ใช้ตามบ้าน ทั้งน้ำมันปาล์ม และน้ำมันพืช ยังสามารถใช้ได้ตามปกติ "ที่น่ากังวล คือ ขณะนี้มีผู้ประกอบการบางรายใช้โอกาสนี้โฆษณาว่า ผลิตภัณฑ์ปลอดไขมันทรานส์ หรือไขมันทรานส์ 0 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน จึงขอให้ใช้ข้อความว่า ปราศจาก/ไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งเป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์ และแสดงปริมาณไขมันทรานส์ได้เฉพาะในกรอบโภชนาการแบบเต็มร่วมกับการแสดงส่วนประกอบอื่นๆ เท่านั้น โดยให้แสดงไว้ที่ตำแหน่งใต้ไขมันอิ่มตัว และใช้หลักเกณฑ์เดียวกับไขมันอิ่มตัว และเพื่อให้เป็นธรรม อย.จะมีการตรวจสอบว่าข้อความดังกล่าวเป็นจริง โดยการส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ ซึ่งต้องไม่เจอจริงๆ ถึงจะไม่เป็นการโอ้อวด ในกรณีฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5 พันบาท ถึง 2 หมื่นบาท" น.ส.สุภัทรา กล่าวผู้บริโภคยังร้องเรียน วินมอเตอร์ไซค์ขับขี่หวาดเสียว – เก็บค่าโดยสารเกินราคามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาคเผยข้อมูลเรื่องร้องเรียน ตั้งแต่ต้นปี 60 - ก.ค.61 พบผู้บริโภคร้องเรียนเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะทั้งสิ้น 729 ราย โดยพบตั้งแต่ ถูกเรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตรา หรือแพงเกินกว่าที่ระบุบนป้ายแสดงค่าบริการ, ขับขี่เร็ว หวาดเสียว เกิดอุบัติเหตุ และใช้วาจาไม่สุภาพกับผู้โดยสาร โดยพบปัญหาการใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเกิดจากการที่ผู้บริโภคไม่รู้สิทธิตนเองโดยจากการประสานงานไปยังสำนักงานเขต และกรมการขนส่งเพื่อตรวจสอบข้อมูล ยังพบปัญหาว่าผู้ร้องเรียนไม่ได้จดจำเลขทะเบียน หรือเบอร์เสื้อวินรับจ้าง ทำให้ปัญหาเกิดความล่าช้า ดังนั้นหากผู้บริโภคพบวินรับจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ให้จดจำวัน-เวลา และสถานที่เกิดเหตุ, ชื่อ-สกุล หรือเลขเสื้อวิน, เลขทะเบียน และร้องเรียนไปยัง กรมการขนส่งทางบก ผ่านสายด่วน 1584 หรือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-248-3737

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 ฟ้องหนี้บัตรเครดิต

หนี้บัตรเครดิตกลายเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และเป็นกรณีร้องเรียนอันดับต้นๆ ของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ครั้งนี้เราขอนำเสนอกรณีศึกษาเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการฟ้องคดีหนี้มาเป็นข้อมูลสำหรับลูกหนี้ที่รักทุกท่าน             เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน คุณประนอมเกิดภาวะธุรกิจขาดทุน ทำให้การผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตกับธนาคารแห่งหนึ่งต้องหยุดชะงักลง เป็นจำนวนเงินที่ค้างชำระหนี้ 50,000 บาท และแม้ว่าจะได้เคยมีการเจรจากันไปครั้งหนึ่ง โดยธนาคารเจ้าของบัตรเสนอคุณประนอมให้จ่ายขั้นต่ำทุกเดือนอย่างน้อยเดือนละ 2,000 บาท แต่คุณประนอมต่อรองเป็น 1,000 บาท ซึ่งเจ้าหนี้ไม่ยินยอมบอกว่าจำนวน 2,000 บาทนี้ถือว่าต่ำสุดแล้ว เรื่องจึงเป็นอันไม่คืบหน้าไปไหน หนี้ก็ยังเป็นหนี้ต่อไป             ต่อมา ธนาคารได้ส่งข้อความแจ้งว่า ได้ส่งเรื่องของคุณประนอมให้สำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่งไปแล้ว คุณประนอมต้องเจรจาทุกอย่างกับสนง.กฎหมายแห่งนั้นเอง ซึ่ง สนง.กฎหมายแห่งนั้นก็ติดตามทวงหนี้กับคุณประนอม อย่างไม่ประนีประนอมเท่าไร เมื่อปฏิเสธการจ่ายไป  สุดท้ายทาง สน.แห่งนั้น แจ้งว่าจะดำเนินการฟ้องคดีกับคุณประนอม จึงกลายมาเป็นเรื่องปรึกษาที่ว่า “ควรทำอย่างไรดี ขณะนี้ตนเองก็มีภาระบ้านซึ่งติดจำนองอยู่” แนวทางการแก้ไขปัญหา            เมื่อนำข้อมูลของคุณประนอมมาพิจารณาพบว่า การชำระหนี้ล่าสุดของคุณประนอมคือ พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปี ทำให้เกิดข้อต่อสู้คดีได้ว่า กฎหมายกำหนดไว้ให้เจ้าหนี้สามารถฟ้องคดีได้ไม่เกินระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ครั้งสุดท้าย หากเกินกว่า 2 ปี ถือว่าขาดอายุความ            ดังนั้นหาก สนง.กฎหมายซึ่งรับซื้อหนี้จากธนาคารมา จะฟ้องคุณประนอมจริง คุณประนอมจะต้องหาทนายความเพื่อเขียนคำให้การต่อสู้ในเรื่อง อายุความ หากผู้ร้องไม่ให้การเรื่องนี้ จะถือว่าคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้นสมบูรณ์และสามารถชนะคดีจนบังคับคดีได้                กรณีที่หนี้ขาดอายุความ  ลูกหนี้ต้องสู้คดี  ศาลจึงจะสามารถนำมาพิจารณายกฟ้องได้   และหากศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง    หมายความว่าเจ้าหนี้จะฟ้องร้องอีกไม่ได้ จึงจะไม่มีผลทางบังคับคดีอีก              อย่างไรก็ตามเป็นหนี้ก็ควรชำระ ทั้งนี้เพื่อรักษาเครดิตไว้ ต่อไปจะได้สามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างคล่องตัว เมื่อคุณประนอมมีสถานะทางการเงินดีขึ้น ควรขอเจรจาเพื่อปิดหนี้จำนวนนี้โดยต่อรองเพื่อลดหนี้ลงมาให้อยู่ในกำลังที่สามารถทำได้จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 เข่ากระแทกเบาะเจ็บหนักเหตุรถเมล์เบรกกะทันหันทำอย่างไรดี

อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ แม้อยู่บนรถโดยสารประจำทางในเมืองหลวงอันศิวิไลซ์แห่งนี้ คุณจุ๊บแจงประสบอุบัติเหตุขณะนั่งรถเมล์สาย 60 จากเหตุที่รถเบรกกะทันหัน ทำให้เข่าด้านขวาของเธอกระแทกเข้าไปที่เบาะพิงด้านหน้าอย่างรุนแรง มีผลให้เส้นเอ็นฉีกขาดบางส่วน ตามความเห็นของแพทย์ ชีวิตช่วงนั้นของเธอค่อนข้างลำบากมาก เดินเหินไม่สะดวก ทำให้ต้องขาดงานไประยะหนึ่งเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บถึงสองสัปดาห์ พออาการเริ่มดีขึ้น คุณจุ๊บแจงได้รับคำแนะนำจากเพื่อนว่า ไม่ควรปล่อยให้รถเมล์ลอยนวล ควรเรียกร้องสิทธิจากบริษัท ขสมก. เพราะรถโดยสารสาธารณะนั้นจะมีการทำประกันภัยไว้ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการรักษาควรได้รับการดูแลทั้งหมดจากประกันภัย และควรได้รับค่าชดเชยที่ต้องขาดงานด้วย คุณจุ๊บแจงจึงร้องเรียนมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางแก้ไขปัญหา            การใช้สิทธิให้ได้รับประโยชน์สูงสุด เอกสารหลักฐานเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ศูนย์พิทักษ์สิทธิจึงแนะนำผู้ร้องเบื้องต้นดังนี้             1.แจ้งเหตุต่อผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย กรณีนี้ ได้แก่ ขสมก.(สายด่วน 1348) เขตการเดินรถสาย 60(สวนสยาม) และหน่วยงานรัฐคือ กรมการขนส่งทางบก(สายด่วน 1584) เพื่อขอให้สิทธิ            2.รวบรวมเอกสาร             2.1 เอกสารทางการแพทย์ ได้แก่ ใบรับแพทย์ ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล เวชระเบียน            2.2 เอกสารเกี่ยวกับการใช้บริการรถเมล์ เช่น ตั๋วโดยสาร ภาพถ่ายทะเบียนรถ(ถ้าทำได้) เพื่อจะได้ยืนยันเลขรถโดยสาร            2.3 ภาพถ่ายบาดแผลหรืออาการบาดเจ็บ            2.4 ใบบันทึกแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ที่เกิดเหตุ3. ประเมินค่าชดเชยที่ต้องการเรียกร้องเพิ่มเติมจากค่ารักษาพยาบาล เช่น ขาดงานไปกี่วัน ทำให้ขาดรายได้จำนวนเท่าไร เป็นต้นกรณีด้านบนสามารถนำไปปรับใช้ได้ สำหรับกรณีของคุณจุ๊บแจง เนื่องจากไม่ทราบขั้นตอนการปฏิบัติ ทำให้เอกสารบางส่วนสูญหายไป  และเกิดความไม่สะดวกในการใช้สิทธิ เช่น การไปแจ้งความผู้ร้องไม่สามารถให้รายละเอียดเรื่อง เลขทะเบียนรถหรือเลขข้างรถได้ จึงต้องเสียเวลาไปมากขึ้นอย่างไรก็ตามทางศูนย์พิทักษ์สิทธิได้ช่วยประสานงานกับทาง ขสมก. จนทนายความตัวแทนของ ขสมก.ได้เข้ามาไกล่เกลี่ยกับผู้ร้องและสามารถยุติเรื่องได้ โดยผู้ร้องได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลจำนวนหนึ่ง เพราะผู้ร้องทำเอกสารใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลหายไปทำให้ไม่ทราบยอดที่แท้จริง แต่ผู้ร้องไม่อยากเป็นคดีความอีกจึงขอยุติเรื่อง  ขั้นตอนการใช้สิทธิสำหรับกรณีนี้ค่อนข้างใช้เวลานานพอสมควร เพราะทั้งผู้ร้องเองมีข้อจำกัดหลายอย่างจึงไม่สะดวกในการรวบรวมเอกสาร ขณะที่ทางผู้ก่อความเสียหายก็ใช้เวลาในการดำเนินการนานเนื่องจากมีระเบียบปฏิบัติมากมาย รวมระยะเวลาที่สามารถยุติเรื่องได้ราว 10 เดือน 

อ่านเพิ่มเติม >