ฉบับที่ 209 ค่าเช่าบ้านปรับราคาทุกปี จะต่อรองอย่างไรไม่ให้เสียเปรียบ

ทุกข์จากที่อยู่อาศัยนั้น ไม่ใช่เรื่องจะแก้ไขได้โดยง่ายอย่างการซื้อสินค้าหรือบริการทั่วๆ ไปเพราะเกี่ยวพันกับความรู้สึกที่ผูกพัน หรือทำเลที่ตั้งอันเหมาะสม ยิ่งเป็นเรื่องของการเช่า ซึ่งมีเรื่องของอำนาจการต่อรองที่ผู้ให้เช่ามีมากกว่าผู้ขอเช่านั้น ยิ่งสร้างความอึดอัดคับข้องใจได้อย่างมาก ดังเช่น คุณสำราญ ที่กำลังกลัดกลุ้มใจ เพราะบ้านที่ตนเองเช่าเพื่ออยู่อาศัยกับครอบครัวมาตั้งแต่ปี 2559 นั้น ถูกผู้ให้เช่าเรียกร้องค่าต่อสัญญา(ทำใหม่ทุกปี) อัตราใหม่ เพิ่มค่าเช่าห้อง และขอเก็บเงินค่าประกันเพิ่มขึ้น ลองมาดูรายละเอียดกัน- ค่าเช่ารายเดือน ห้องละ 2,000 บาท (จำนวน 2 ห้อง )- เงินประกัน จำนวน 30,000 บาท- ค่าภาษีโรงเรือน (ปี 2559 = 3,800 ปี 2561 เพิ่มเป็น 4,000 บาท)- ค่าทำสัญญา ปี 2559 ห้องละ 18,000 บาท (รวม 2 ห้อง 36,000 บาท) โดนขอปรับค่าทำสัญญาเพิ่มเป็น ห้องละ 25,000 บาท หรือเท่ากับ 50,000 บาท)- ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ จ่ายกับผู้ให้บริการเองเมื่อคุณสำราญถูกขอปรับค่าทำสัญญาใหม่ ในเดือน พฤษภาคม ที่ผ่านมา จึงรู้สึกอึดอัด  และโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ ว่าจะเจรจากับผู้ให้เช่าอย่างไรดี สามารถอ้างเรื่องใดได้บ้าง เพื่อผ่อนเพลาค่าที่อยู่อาศัยที่ถูกปรับราคาเพิ่มขึ้น แต่ต้องไม่ทำให้ฝ่ายผู้ให้เช่าไม่พอใจจนยกเลิกสัญญาเช่า เพราะคุณสำราญค่อนข้างพอใจกับทำเลที่อาศัยในตอนนี้ ไม่อยากย้ายไปที่อื่น แนวทางการแก้ไขปัญหาหากเรานำเงื่อนไขเรื่องที่ต้องทำสัญญาใหม่ทุกปีมาคำนวณเป็นรายเดือน ตอนปี 2559 มีค่าทำสัญญาที่ 18,000 บาท หรือเท่ากับเดือนละ 1,500 บาท เมื่อรวมกับค่าเช่าห้อง เดือนละ 2,000 บาท ก็เท่ากับว่าค่าเช่าห้องตกที่ห้องละ 3,500 บาท โดยเก็บเป็นเงินค่าทำสัญญาไปก่อนแล้ว 18,000 บาท (คุณสำราญเช่าสองห้อง เท่ากับต้องจ่ายเงินค่าเช่าเบ็ดเสร็จที่เดือนละ 7,000 บาท) มาปีนี้ 2561 ถูกเรียกค่าทำสัญญาใหม่ที่ 25,000 บาทหรือตกเดือนละ 2,083 บาท ถ้าบวกกับฐานค่าเช่าเดิมคือ 2,000 บาท เท่ากับต้องจ่ายเงินค่าเช่าเดือนละ 4,083 บาท หรือเพิ่มขึ้นมาอีกราว 15% วิธีการแบบนี้คือ การบอกให้เช่าโดยเรียกเก็บเงินค่าเช่าไปก่อนล่วงหน้าเป็นรายปี โดยเรียกมันว่าการทำสัญญาใหม่ ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง “ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561” โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น  ห้ามมิให้เก็บค่าเช่าล่วงหน้าเกินกว่า 1 เดือน หรือถ้าเรียกมันว่า ค่าทำสัญญา ตามประกาศฉบับนี้ ข้อ 4 (9) ระบุว่า กรณีเงินค่าทำสัญญา / ค่าต่อสัญญา ไม่ให้ใช้ข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้ประกอบการมีสิทธิเรียกเก็บค่าต่อสัญญาเช่าอาคารจากผู้เช่ารายเดิม  ดังนั้นเท่ากับว่า ค่าทำสัญญาหรือค่าต่อสัญญาเช่าผู้ประกอบการไม่มีสิทธิเรียกเก็บ ซึ่งข้อนี้ ผู้เช่าหรือคุณสำราญ น่าจะสามารถใช้เป็นข้อต่อรองได้ โดยอาจขอให้เรียกเก็บค่าเช่าแบบตรงไปตรงมา ว่าผู้ให้เช่าจะเรียกเก็บที่ราคาเท่าไร โดยไม่ต้องเรียกเก็บล่วงหน้าเป็นรายปีอย่างที่ทำอยู่ เพราะถือว่าผิดกฎหมาย สำหรับเรื่องเงินค่าประกันความเสียหาย ตามประกาศระบุว่า ผู้เช่าจะต้องจ่ายผู้ให้เช่าหลังจากเซ็นสัญญาเช่า โดยเมื่อหมดสัญญาเช่าแล้ว ผู้ให้เช่าจะต้องคืนให้แก่ผู้เช่าในกรณีที่ผู้เช่าไม่ทำความเสียหายให้กับห้องเช่าหรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่ระบุในสัญญา ภายใน 7 วัน หลังจากการเช่าหมดสัญญา สำหรับกรณีคุณสำราญที่ต้องต่อสัญญาทุกปี ผู้ประกอบการอาจเก็บเงินประกันก้อนดังกล่าวไว้ก่อนได้ และหากต้องการเพิ่มก็เรียกให้จ่ายเพิ่มได้ แต่ทั้งนี้ตามประกาศ ในข้อ 4 (4) นั้นระบุว่า เงินประกันค่าเสียหายห้ามเรียกเก็บเกินกว่า 1 เดือนของอัตราค่าเช่ารายเดือน เมื่อคุณสำราญมีค่าเช่าห้องที่เดือนละ 2,000 บาท ค่าประกันความเสียหายจะเรียกเก็บได้ไม่เกิน 2,000 บาท   คุณสำราญจึงควรหาราคาค่าเช่าห้องที่พอเหมาะกับรายได้ของครัวเรือน และเจรจากับทางผู้ให้เช่า ให้เรียกเก็บในอัตราที่พอใจกันทั้งสองฝ่าย โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าเช่าล่วงหน้า ด้วยการคิดเป็นค่าต่อสัญญาและไม่เรียกเก็บเงินค่าประกันความเสียหายเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 ซื้อสินค้าผ่านเฟซบุ๊กไม่ได้คุณภาพทำอย่างไรดี

ตลาดสินค้าออนไลน์ของประเทศไทย หรือ e-Commerce นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าปี 2560 ที่ผ่านมา มีมูลค่าประมาณ  214,000 ล้านบาท และจะยิ่งเติบโตไปอีกมาก ซึ่งความนิยมอย่างต่อเนื่องนี้ สิ่งหนึ่งที่ตามมาอย่างไม่อาจเลี่ยง ก็คือ ปัญหาจากการถูกหลอกลวง และสินค้าที่นำมาจำหน่ายไม่มีคุณภาพ คุณพอใจ เป็นคนหนึ่งที่พอใจในบริการที่สะดวกของโลกโซเชียล หลังจากมองหาสินค้าน่าสนใจไปเรื่อยๆ เธอถูกใจรองเท้าสตรีคู่หนึ่งเข้า จากเพจขายสินค้าประเภทแฟชั่น โดยเพจดังกล่าวมีระบบจัดส่งและสามารถเก็บเงินที่ปลายทางได้ ซึ่งสะดวกสำหรับคุณพอใจมาก เธอจึงเลือกรองเท้าตามที่เห็นโพสต์ขายในราคา 1,200 บาท หลังจ่ายเงินไปเธอรีบเปิดดูรองเท้าอย่างตื่นเต้น แต่กลับพบมากยิ่งไปกว่าความตื่นเต้น เพราะรองเท้าที่ได้มามีสภาพพื้นรองเท้าหลุดล่อน คุณพอใจจึงรีบติดต่อไปที่เพจทันทีเพื่อขอคืนสินค้าและขอเงินคืน “เพจเขาก็ตอบนะคะ แต่บอกว่าเขาจะคืนให้แค่ 10 % หรือ 120 บาท” คำตอบนี้ทำให้คุณพอใจไม่พอใจมากๆ จึงนำเรื่องมาปรึกษาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์ฯ แนะนำให้คุณพอใจไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อเป็นหลักฐานสำหรับการขอคืนสินค้าและรับเงินคืนเต็มจำนวน เนื่องจากสินค้าที่ได้รับมามีความชำรุดเสียหาย  และได้ช่วยติดต่อประสานกับทางเพจดังกล่าวเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหา หลังการประสานไปสองครั้ง ทางเพจตอบกลับว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้อง แต่ขอให้ประสานกับผู้ร้องติดต่อกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากทางเพจมีลูกค้าลงข้อความติดต่อจำนวนมาก อาจทำให้เรื่องของคุณพอใจหลุดรอดสายตาไป เมื่อทางศูนย์ฯ แจ้งให้คุณพอใจทราบและขอให้ดำเนินเรื่องติดต่อใหม่ ทราบต่อมาว่าคุณพอใจได้รับเงินคืนเต็มจำนวนแล้วดังนั้นหากพบปัญหาจากการซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้บริโภคควรติดต่อไปยังผู้ขายก่อน เพื่อแจ้งให้ทราบและให้ผู้ขายแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นการซื้อผ่านเว็บไซต์(Website) ก็จะมีขั้นตอนและเงื่อนไขในการรับผิดชอบของเว็บไซต์(Website) กำหนดไว้แล้ว สามารถติดต่อไปยังคอลเซ็นเตอร์ หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ปรากฏบนหน้าเว็บไซต์ แต่ถ้าเป็นการซื้อผ่านโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ ต้องติดต่อไปยังผู้ขาย ซึ่งเป็นการช่วยเหลือตนเองในเบื้องต้นก่อน ถ้าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขจนพอใจก็ควรร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่รับเรื่องร้องเรียนโดยนำหลักฐานต่างๆ เช่น ใบสั่งซื้อสินค้า ข้อความสนทนาการซื้อสินค้าระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย ข้อมูลร้านค้า หลักฐานการชำระเงิน รูปถ่ายสินค้า และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มาประกอบคำขอร้องเรียน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็วมาก ยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้การแก้ปัญหาในขั้นตอนนี้จะมีระยะเวลาดำเนินการพอสมควร 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 แผลจากแมลงกัด

หลายคนเลยนะคะที่ต้องมีแผลเป็นที่เกิดจากการแพ้พิษของแมลงต่างๆ เห็นตัวเล็กแบบนั้น หลายชนิดมีพิษมากขนาดทำให้แพ้จนร่างกายแย่ไปเลยก็มี ซึ่งจะพบได้ไม่บ่อยเพราะเขาก็กลัวๆ คนเหมือนกัน อย่างผึ้งต่อ แตน ส่วนที่พบว่าโดนกัดบ่อย แต่พิษน้อยจะเป็นแมลงที่เราเจอกันเป็นปกติ อย่าง มด ยุง หรือ เห็บ หมัด ที่อาศัยอยู่กับสัตว์เลี้ยงจนไปถึงพวกตัวเล็กๆ มองแทบไม่เห็นอย่างไร ไรฝุ่น ซึ่งฝังตัวกับที่นอนของเรา และที่ช่วงหลังๆ หน้าฝนพบเจอกันบ่อย คือ แมลงก้นกระดก ที่พิษของมันทำให้แสบร้อนจนเกิดแผลพุพองได้ แต่ถึงแม้จะพิษน้อย หากเราดูแลรักษาแผลได้ไม่ดี หรือบางคนที่มีอาการแพ้มากๆ โอกาสที่ผิวของเราจะเกิดบาดแผลแข้ง ขาลาย ทำให้หมดสวยก็เกิดขึ้นได้ วิธีดูแลแผลจากแมลงกัดต่อยส่วนแรก ขอกล่าวถึงเฉพาะอาการเล็กน้อยลักษณะเป็นตุ่มคัน ที่เกิดจากแมลงทั่วไปที่ไม่ทำให้เกิดรอยชัดเจน ที่มีลักษณะเฉพาะ อย่างแมลงก้นกระดก ที่รอยแผลจะคล้ายการถูกสารเคมีแบบกรดด่าง คือมีอาการแสบร้อนร่วมด้วย  1.ทำความสะอาดแผลด้วยการล้างน้ำสบู่ อาจทาครีม หรือขี้ผึ้งที่ระบุคุณสมบัติ แก้พิษแมลงกัดต่อย2.พยายามอย่าเกาอย่างรุนแรงจนเกิดเป็นแผลอักเสบ จากการติดเชื้อโรค ซึ่งจะส่งผลให้เกิดรอยดำตามมา หลังการอักเสบหายแล้ว3.หากเกิดอาการคันมาก อาจใช้ยาทาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการคันจากการแพ้ โดยใช้สเตียรอยด์* ความเข้มข้นปานกลางเช่น 0.1% Triamcinolone ทาที่ตุ่มคันเช้าเย็นไม่เกินสองสัปดาห์ หรือ รับประทานยาแก้แพ้กลุ่ม Antihistamine เพื่อลดอาการคัน4.หากเกิดรอยดำหลังแผลหาย สามารถใช้ครีมทาผิวชนิดช่วยให้ผิวขาว(Skin whitening) ทา เพื่อให้รอยดำจางลงได้5.แผลที่ติดเชื้อหากมีอาการลุกลามรุนแรง จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แนะนำให้พบแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง *ยาทาในกลุ่มสเตียรอยด์มีข้อควรระวัง คืออาจจะทำให้ภูมิต้านทานเชื้อโรคของผิวหนังลดลง ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง ส่วนที่สอง เนื่องจากระยะหลังพบปรากฏการณ์ มีคนถูกพิษของแมลงก้นกระดกกันได้บ่อย โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน จึงขอนำวิธีการดูแลแผลจากแมลงดังกล่าวมานำเสนอด้วงก้นกระดก ด้วงก้นงอน หรือแมลงน้ำกรด หรือแมลงเฟรชชี่ เป็นแมลงที่มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร มีลักษณะเด่น คือ ก้นกระดกหรืองอนขึ้น ทำให้เรียกกันว่า ด้วงก้นกระดก หรือด้วงก้นงอน เมื่อโดนกัด แมลงจะปล่อยสารที่เรียกว่า Pederin ซึ่งจะทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบได้ โดยจะเกิดขึ้นหลังโดนกัดภายใน 12-36 ชั่วโมง เมื่อโดนพิษจากแมลงก้นกระดกใหม่ๆ จะมีแผลเหมือนรอยไหม้เป็นแนวเส้นยาว ร่วมกับอาการคันและแสบร้อน หากแพ้มากอาจเป็นตุ่มน้ำใส ดูคล้ายผื่นโรคงูสวัดได้ ผื่นที่เกิดขึ้นจะแห้ง ตกสะเก็ดหายไปได้เองภายใน 7-10 วัน การดูแลมีดังนี้ หากเพิ่งโดนแมลงกัดใหม่ๆ ควรล้างด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลายๆ ครั้งทันที เพื่อเจือจางสาร Pederin หากเห็นเป็นผื่นเกิดขึ้นแล้ว และมีอาการแสบร้อน ให้ใช้การประคบเย็นที่ผื่น และใช้ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ ความเข้มข้น 0.1% mometasone furoate cream หรือ 0.05% clobetasol propionate cream โดยทายาวันละ 1 - 2 ครั้ง ถ้าโดนบริเวณหน้า ต้องระวังไม่ให้เข้าดวงตาด้วย หากมีอาการคันมาก ควรรับประทานยาแก้แพ้ และห้าม แกะและเกาผื่น หากทนไม่ไหวรู้สึกว่า อาการเริ่มลุกลามควรรีบพบแพทย์ โดยทั่วไป ตุ่มแพ้แมลงกัด มักดีขึ้นในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ส่วนรอยดำหลังการอักเสบจะค่อยๆ จางลงในเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับขนาดรอยแผลและสภาพผิวของแต่ละคน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 รู้เท่าทันเห็ดถั่งเช่า

ในทีวีและสื่อออนไลน์มีการโฆษณา “เห็ดถั่งเช่า” กันมากมาย อ้างว่ามีสรรพคุณหลายอย่างตั้งแต่ ลดน้ำตาลในเลือด ชะลอวัย เพิ่มโอกาสการมีบุตร ลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง บำรุงตับและไต บำรุงปอดและระบบทางเดินหายใจ ทำให้จิตใจสงบ ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ที่สำคัญคือ เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ  ถั่งเช่ามีสรรพคุณมากมายขนาดนั้นหรือไม่ เรามารู้เท่าทันกันเถอะถั่งเช่าคืออะไรสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลเรื่องถั่งเช่าอย่างละเอียดว่า  “ถั่งเช่า” หรือที่รู้จักกันว่า “ไวอากร้าแห่งเทือกเขาหิมาลัย” แปลเป็นไทยว่า “ฤดูหนาวเป็นหนอน ฤดูร้อนเป็นหญ้า” หรือที่เรียกกันว่า “หญ้าหนอน”  ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นตัวหนอน คือ ตัวหนอนของผีเสื้อ (Hepialus armoricanus Oberthiir)และบนตัวหนอนมีเห็ดชนิดหนึ่ง (Cordyceps sinensis (Berk.) Saec.)  หนอนชนิดนี้ในฤดูหนาวจะฝังตัวจำศีลอยู่ใต้ดินภูเขาหิมะ เมื่อน้ำแข็งเริ่มละลาย สปอร์เห็ดจะพัดไปกับน้ำแข็งที่ละลาย แล้วไปตกที่พื้นดิน จากนั้นตัวหนอนเหล่านี้ก็จะกินสปอร์ และเมื่อฤดูร้อน สปอร์ก็เริ่มเจริญเติบโตเป็นเส้นใยโดยอาศัยการดูดสารอาหารและแร่ธาตุจากตัวหนอนนั้น เส้นใยงอกออกจากท้องของตัวหนอน และงอกออกจากปากของมัน เห็ดเหล่านี้ต้องการแสงอาทิตย์จึงงอกขึ้นสู่พื้นดิน รูปลักษณะภายนอกคล้ายไม้กระบอก ส่วนตัวหนอนเองก็จะค่อยๆ ตายไป อยู่ในลักษณะของหนอนตายซาก ฉะนั้น “ถั่งเช่า” ก็คือ ตัวหนอนและเห็ดที่แห้ง แล้วนั่นเอง ถั่งเช่ามีสารอะไรบ้างถั่งเช่าอุดมไปด้วยสารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ได้แก่ โพลีแซคคาไรด์ นิวคลีโอไทด์, cordycepic acid, กรดอะมิโน และสเตอรอล ยังมีสารอาหารสำคัญอื่นๆ เช่น โปรตีน วิตามินต่างๆ (E, K, B1, B2 และ B12) และแร่ธาตุต่าง ๆ (โพแทสเซียม โซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี และซิลิเนียม)การใช้เห็ดถั่งเช่าเพื่อสุขภาพและบำบัดโรคมีการใช้ถั่งเช่าในการดูแลสุขภาพและบำบัดรักษาโรคต่างๆ ตั้งแต่ การไอ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคไต การขับถ่ายปัสสาวะผิดปกติเวลากลางคืน การเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ซีด หัวใจเต้นผิดปกติ ไขมันในเลือดสูง มึนงง มีเสียงในหู น้ำหนักลด และการติดยาเสพติด  นอกจากนี้ยังใช้ในการเพิ่มระบบภูมิต้านทานของร่างกาย เสริมสร้างพลังของนักกีฬา ชะลอการชรา ช่วยให้อายุยืนยาว เป็นต้น  ถั่งเช่ารักษาโรคต่างๆ ได้จริงหรือไม่เมื่อทบทวนวรรณกรรมการศึกษาเกี่ยวกับถั่งเช่าในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ พบว่ามีรายงานการศึกษาเรื่องถั่งเช่าตีพิมพ์ในวารสารวิชาการจำนวนมาก ทั้งในวารสาร Pubmed และห้องสมุดคอเครน มีการรายงานว่า ถั่งเช่ามีผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีผลต่อสมรรถภาพทางเพศทั้งชายและหญิง ทำให้ครีอะตินีน (ของเสียในเลือดเพื่อวัดค่าการทำงานของไต) ลดน้อยลง  โปรตีนในปัสสาวะน้อยลง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อสรุปในตอนท้ายว่า คุณภาพของหลักฐานนั้นต่ำเกินไป มีผู้ป่วยจำนวนน้อยเกินไป ควรต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมสำนักงานข้อมูลสมุนไพร มหิดล ก็ยังสรุปว่า ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะการศึกษาทางคลินิกยังมีน้อย ฉะนั้นการใช้ถั่งเช่าจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะถั่งเช่ามีราคาสูงมาก สรุป  แม้ว่าถั่งเช่าจะเป็นภูมิปัญญาการแพทย์แผนจีนที่เก่าแก่ แต่ข้อมูลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ยังไม่ยืนยันอย่างหนักแน่นว่ามีสรรพคุณต่างๆ จริง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 สัมปทานหัวใจ : ในการถือครองกรรมสิทธิ์...ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม

แค่ได้ยินชื่อละครโทรทัศน์ว่า “สัมปทานหัวใจ” ผู้เขียนก็รู้สึกสนเท่ห์ใจยิ่งว่า เมื่อก่อนเวลากล่าวถึงคำว่า “สัมปทาน” เราก็มักจะนึกถึงการที่บุคคลหนึ่งได้สิทธิ์เข้าไปถือครองความเป็นเจ้าของสินทรัพย์สาธารณะบางอย่าง เช่น สัมปทานที่ดิน สัมปทานเหมืองแร่ ฯลฯ แต่เกิดอะไรขึ้นที่ทุกวันนี้แม้แต่กรรมสิทธิ์ของ “หัวใจ” ก็ยังต้องมีการช่วงชิงเข้าไปยึดมาเป็น “สัมปทาน” ส่วนบุคคลกันด้วย?กับข้อสงสัยดังกล่าวนี้ คงต้องให้นางเอกคุณแม่ลูกหนึ่งอย่าง “รัตตวัลย์” มาขานไขคำตอบ ผ่านช่วงชีวิตที่ต้องยืนอยู่บน “ทางสองแพร่ง” ระหว่าง “ปารเมศ” ผู้เป็นสามีที่หวังสมบัติและสามารถวางแผนสั่งฆ่าภรรยาได้ กับ “นาบุญ” พระเอกหนุ่มใหญ่เจ้าของสัมปทานรังนกบนเกาะ ที่ได้ช่วยชีวิตของเธอเอาไว้จุดเริ่มต้นของเรื่องมาจากการที่รัตตวัลย์กับเด็กน้อย “มันปู” บุตรชาย ต้องหนีการตามฆ่าตามใบสั่งของสามี จนพลัดมาติดอยู่บนเกาะถ้ำ ซึ่งนาบุญหรือที่ใครต่อใครเรียกกันว่า “นายหัว” เป็นผู้ถือครองสัมปทานการทำรังนกบนเกาะดังกล่าวแม้ในช่วงแรกของเรื่อง จะเริ่มต้นขึ้นด้วยฉากที่ตัวละครนายหัวและรัตตวัลย์ต่างฝ่ายต่างก็มีความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน แต่หลังจากง้อกันไป งอนกันมา รวมทั้งเชือดเฉือนวาจาคารมกันเป็นระยะๆ ความขัดแย้งไม่ลงรอยก็ค่อยๆ คลี่คลายเป็นความเข้าใจ และแน่นอนว่า ตามสูตรของละครก็ต้องให้พระเอกเจ้าของสัมปทานรังนกได้เข้าไปพิชิตถือครองเป็นเจ้าของ “สัมปทานหัวใจ” ของรัตตวัลย์ในท้ายที่สุด ภายใต้การต่อสู้เพื่อช่วงชิง “สัมปทานหัวใจ” ของรัตตวัลย์นี่เอง มีฉากหลังที่สะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้และการปรับตัวของกลุ่มทุนในระบบสังคมเศรษฐกิจยุคนี้ โดยมีคู่ชกหลักก็คือปารเมศและนาบุญ ที่ทั้งเฉือนคมทางธุรกิจและห้ำหั่นกันในเชิงความรักในส่วนของปารเมศนั้น แม้จะเล่นบทบาทเป็นสามีของรัตตวัลย์และเป็นบิดาของน้องมันปู แต่จริงๆ แล้ว เขาก็คือตัวแทนของกลุ่มทุนทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ที่ถูกสร้างให้เป็น “สีดำ” และยังแถม “ดำดีสีไม่ตก” ชนิดที่ว่าเป็นด้านมืดของการขูดเลือดขูดเนื้อเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนได้ โดยไม่คำนึงถึงจริยธรรมความดีใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร” ปารเมศก็ดูจะเข้าไปข้องเกี่ยวพัวพันกับธุรกิจใต้ดินเหล่านี้แทบทั้งสิ้น แม้จะมีรัตตวัลย์เป็นภรรยาตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่เขาก็ยังมีหญิงอื่นอยู่ข้างกาย และที่สำคัญ เมื่อเป็นหนี้พนันก้อนโต ปารเมศก็พร้อมจะจัดส่ง “พิลาสลักษณ์” ผู้หญิงข้างกายของเขาเพื่อขายเข้าสู่ธุรกิจค้ากามของกลุ่มทุนข้ามชาติอย่าง “มิสเตอร์ลี” หรือแม้แต่ร่วมมือกับชู้รักอย่าง “ทักษิณา” จ้างวานคนมาสั่งฆ่ารัตตวัลย์ เพื่อหวังจะฮุบเอาทรัพย์สมบัติภรรยามาเป็นของตน ตัวแทนของกลุ่มธุรกิจแบบเดียวกับปารเมศนี้ จึงเป็นตัวอย่างของระบอบทุน “สีดำ” ที่ขยายตัวออกไปไม่สิ้นไม่สุด โดยไม่คำนึงว่าการเติบโตดังกล่าวจะต้องแลกด้วยความสูญเสียของใคร หรือจะเอารัดเอาเปรียบผลประโยชน์ของคนกลุ่มอื่นหรือไม่ อย่างไร ตรงข้ามกับกรณีของนายหัวนาบุญพระเอกหนุ่มเจ้าของสัมปทานรังนกบนเกาะถ้ำ แม้จะมีเป้าหมายบนผลประโยชน์ที่เกิดจากการขูดรีดผู้อื่นเพื่อขยายทุนของตนไม่แตกต่างจากปารเมศ แต่ภาพลักษณ์ของเขาก็ถูกออกแบบไว้ให้มีหน้าตาเป็นประหนึ่งกลุ่มทุนรุ่นใหม่ ที่ดูดีมีอารยะกว่ากลุ่มทุน “สีดำ” ในแบบดั้งเดิมภายใต้ความหมายของคำว่า “สัมปทาน” นั้น อันที่จริงแล้วก็คือ การที่ระบอบทุนได้เข้าไป “ผูกขาด” และถือครองเอาผลประโยชน์ของสาธารณะให้กลายมาเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล แต่การยึดครองดังกล่าวก็ได้รับการ “ฟอกขาว” มาเป็นอย่างดี จนดูชอบธรรมหรือแม้แต่อ้างอิงได้ตามระเบียบกฎหมายที่เขียนไว้ด้วยเหตุฉะนี้เอง ในด้านหนึ่ง การเข้าไปครอบครองเป็นเจ้าของสัมปทานรังนก ก็ไม่ต่างอะไรไปจากการที่กลุ่มทุนได้เข้าไปเบียดบังปัจจัยการผลิตของบรรดาชีวิตนกนางแอ่นตัวน้อยๆ ทั้งหลาย ที่กำลังก่อร่างสร้างรังอยู่ แล้วนายทุนก็พรากเอาผลผลิตรังนกดังกล่าวมาเป็นผลประโยชน์ส่วนบุคคลแต่อีกด้านหนึ่ง เพราะเข้าใจตรรกะของการขูดรีดเอารัดเอาเปรียบหยาดเหงื่อและชีวิตของสัตว์โลก (และรวมไปถึงชีวิตของชนชั้นแรงงานและคนในกลุ่มสังคมอื่นๆ) นาบุญผู้ที่แม้จะเป็นกลุ่มทุนเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่ก็ผ่านการขัดสีฉวีวรรณให้กลายเป็นกลุ่มทุนซึ่งยอมรับได้ หรือเป็นกลุ่มทุน “สีขาว” ซึ่งดูไม่มีพิษมีภัยแต่มีความชอบธรรมที่จะดำรงอยู่ต่อไปในสังคมไม่ว่าจะเป็นการรู้จักดูแลเอาใจใส่ชีวิตความเป็นอยู่ของลูกน้องหรือแรงงานในสังกัดแบบเคียงบ่าเคียงไหล่ หรือเป็นกลุ่มทุนที่ห่างไกลสุราและยาเสพติด แต่สามารถเป็นนายหัวผู้ดื่มนมเย็นได้อย่างไม่ขัดเขิน ไปจนถึงการเป็นตัวแทนของผู้แข็งแรงและถอดเสื้อโชว์ซิกซ์แพ็คอยู่เนืองๆ แต่ลึกๆ นาบุญก็เป็นหนุ่มใหญ่ที่พร้อมจะเอื้ออาทรแก่ “เด็ก สตรี และคนชรา”และที่สำคัญ คู่ขนานไปกับภาพลักษณ์การเป็นหนุ่มใหญ่ผู้อ่อนโยน นาบุญยังเป็นตัวแทนของกลุ่มทุนที่แม้จะขูดรีดเอารัดเอาเปรียบ แต่ก็เป็นการเอาเปรียบที่ยึดโยงอยู่บนหลักการแห่ง “ความรับผิดชอบต่อสังคม”ป้ายประกาศกฎของเกาะถ้ำที่ปักข้อความว่า “ห้ามทำร้ายนก ห้ามเก็บไข่นก ห้ามผิดลูกผิดเมียผู้อื่น ห้ามตัดต้นไม้ทุกชนิด ห้ามจับแมลงทุกชนิด ห้ามใช้ยาฆ่าแมลง ห้ามฆ่าสัตว์บนเกาะยกเว้นสัตว์ร้าย ห้ามกินรังนก ห้ามทิ้งขยะเรี่ยราด ให้ใช้น้ำจืดและใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด...” และอีกสารพันข้อบังคับที่จารึกเอาไว้นั้น แม้จะอ่านดูแล้วน่าขำขัน แต่ก็สื่อสารเป็นนัยถึงจุดยืนของกลุ่มทุนรุ่นใหม่แบบนี้ได้เป็นอย่างดีกล่าวกันว่า นับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ระบอบทุนนิยมได้เกิดการปรับตัวกันขนานใหญ่ โฉมหน้าใหม่ของนายทุนไม่ได้เน้นการขูดรีดจนชีวิตแรงงานสิ้นเนื้อประดาตัว แต่เพื่อจะรักษาเส้นเลือดใหญ่ให้ระบอบดำรงอยู่ได้โดยชอบธรรม หลักการอ้างถึง “ความรับผิดชอบต่อสังคม” จึงถูกพัฒนาขึ้นมาคล้ายๆ กับสัมปทานรังนกของนายหัวนาบุญที่ผูกขาดการถือครองทรัพยากรธรรมชาติบนเกาะถ้ำนั้น แม้จะมีเป้าหมายเพื่อธุรกิจเป็นตัวแปรต้น แต่ก็ต้องพ่วงไว้ด้วยแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การตลาดเพื่อสังคม การพัฒนาที่เน้นเรื่องความยั่งยืน ไปจนถึงการประยุกต์หลักธรรมาภิบาลต่างๆ มาใช้ ความรู้สึกของผู้คนที่จะยินยอมพร้อมใจและอยู่ใต้อาณัติของระบอบทุนดังกล่าวก็จะมีแนวโน้มจีรังยั่งยืนยิ่งขึ้นและด้วยตัวเลือกแบบ “ทางสองแพร่ง” ระหว่างปารเมศกับนาบุญเช่นนี้เอง คำตอบสุดท้ายที่รัตตวัลย์เลือกมอบ “สัมปทานหัวใจ” ให้แก่นายหัวนาบุญ จึงเป็นภาพสะท้อนการเปลี่ยนผ่านการครอบครองสิทธิ์ ซึ่งต้องถูกกำกับไว้ด้วยหลักแห่ง “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ที่ทุกวันนี้ไม่เพียงแต่รังนกนางแอ่นบนเกาะเท่านั้น แม้แต่เรื่องของ “หัวใจ” ก็ต้องมอบ “สัมปทาน” เพื่อถือครองบนหลักการดังกล่าวไม่แตกต่างกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 การประเมินนโยบายงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี (ตอน 5)

หลังจากที่พรรค CDU ของนางแองเจล่าร์ แมร์เคลประสบความสำเร็จได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปีที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถได้รับคะแนนเสียงข้างมากได้ และคะแนนนิยมตกต่ำลงซึ่งเป็นผลพวงมาจาก นโยบายการรับผู้อพยพลี้ภัย โดยไม่คำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยภายใน ส่งผลให้การเจรจากับพรรคอื่น ไม่ว่าจะเป็น พรรค FDP หรือ พรรค The Green Party ประสบความล้มเหลว และในที่สุด ก็สามารถจัดตั้งพรรครัฐบาลผสมโดยพรรคขนาดใหญ่ 3 พรรค คือ พรรค CDU CSU ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสายอนุรักษ์นิยม และพรรค SPD เป็นพรรคสายสังคมนิยม การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสม ได้สั่นคลอนความเป็นปึกแผ่นของพรรค SPD มีการเปลี่ยนผู้นำพรรคและผู้บริหารพรรค อย่างหืดขึ้นคอทีเดียว สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี ก็ได้จัดทำความเห็นขององค์กรผู้บริโภคต่อนโยบายของรัฐบาล ประเด็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อประเมินนโยบายของรัฐบาลผสมขนาดใหญ่ของทั้งสามพรรค โดยมีทั้งหมด 12 ประเด็น และได้เล่าไปในทั้ง 4 ตอนที่ผ่านมา ครั้งนี้ขอกล่าวถึงต่อในประเด็นของอสังหาริมทรัพย์นโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคต่อประเด็น อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย (Real estate and accommodation)โครงการสร้างที่อยู่อาศัย และบ้านพักสวัสดิการเพิ่มเติม จำนวน 1.5 ล้านยูนิต โดยใช้งบประมาณจากรัฐบาลสนับสนุนถึง 2,000 ล้านยูโร เจ้าของผู้ให้เช่า จะต้องแจ้งราคาค่าเช่าให้ผู้เช่ารับทราบ ถึงราคาค่าเช่าก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นผลทางกฎหมายที่กำกับธุรกิจการให้เช่าที่พักอาศัยและอสังหาริมทรัพย์  สำหรับผู้เช่าจะได้รับราคาค่าเช่าที่ลดลง ซึ่งเป็นต้นทุนที่เกิดจากการ ปรับปรุงที่พักอาศัย จากเดิมที่คิดเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ต่อ ตารางเมตร ให้ลดลงเหลือเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ต่อตารางเมตร เพื่อป้องกันการ คิดราคาค่าเช่าเพิ่มอย่างไม่เป็นธรรมและไม่มีเหตุผล นอกจากนี้ เจ้าของผู้ให้เช่า จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มเติมสำหรับการปรับปรุงที่พักอาศัยที่ ทำให้เกิดการประหยัดและลดการใช้พลังงาน ตลอดจนรัฐบาลจะไม่เพิ่มภาระจากการออกมาตรฐาน energy efficiency standards บังคับใช้สำหรับบ้านหรือที่พักอาศัยที่จะสร้างขึ้นใหม่ต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเห็นด้วยกับนโยบายนี้ แต่เรื่องการให้งบประมาณสนับสนุนยังขาดมิติในเรื่องของเวลาที่จะควรกำหนดกรอบเวลาในการสนับสนุนให้ชัดเจนขึ้น และมาตรการการสนับสนุนมาตรการทางภาษี ยังให้การสนับสนุนในวงเงินที่ค่อนข้างต่ำ และการสนับสนุนการก่อสร้างที่พักอาศัยขึ้นใหม่ โดยใช้มาตรการทางการเงินที่เรียกว่า KfW 55 Standard ต้องนำมาใช้ประกอบกันด้วยเพื่อให้ ที่อยู่อาศัยที่จะสร้างขึ้นใหม่นั้น สามารถลดการใช้พลังงานได้จริง(หมายเหตุ KfW 55 standard เป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่กำหนด โดย ธนาคาร KFW ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ในบ้านเรา แต่มีมิติของการอนุรักษ์การใช้พลังงาน เป็นเงื่อนไขในการปล่อยกู้ และสนับสนุนมาตรการทางการเงิน และมาตาการทางภาษีให้กับ เจ้าของที่พักอาศัยในธุรกิจบ้านเช่า)นโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคต่อประเด็น การเดินทาง การท่องเที่ยว(Mobility and tourism)ประเด็นการห้ามรถยนต์ดีเซล (Diesel Driving Prohibition)รัฐบาลมีนโยบายในการป้องกันรักษาคุณภาพของอากาศ ลดปริมาณการปล่อยก้าซพิษ บนท้องถนน โดยคำนึงถึง ข้อจำกัดทางเทคนิค และข้อจำกัดทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งหมายถึงการปรับปรุงคุณภาพของรถยนต์ โดยเฉพาะภายในปี 2018 นโยบายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซ ไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) โดยจะพิจารณาถึงมาตรการ การติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพื่อลดการปล่อยก๊าซดังกล่าวต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ที่จะห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งบนท้องถนน สำหรับผู้ประกอบการ ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ดีเซล จะต้องรับผิดชอบ ต่อลูกค้าของตน ในการติดตั้งอุปกรณ์เสริม สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลมาตรฐาน Euro 5 ตลอดจนไม่ผลักภาระไปให้กับลูกค้ารถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electro mobility)โครงการการก่อสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า ที่จะสร้างขึ้นจำนวน 100,000 สถานี ภายในปี 2020 และมีมาตรการสนับสนุนการก่อสร้างสถานีชาร์จสำหรับเจ้าของที่พักอาศัยและผู้เช่า ตลอดจนพัฒนากฎหมายที่ส่งเสริมระบบการจ่ายเงินค่าชาร์จไฟที่เป็นมิตรกับผู้ใช้สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสนับสนุนนโยบายการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ตลอดจนการสนับสนุนเจ้าของที่พักอาศัย และผู้เช่าให้มีส่วนร่วมกับโครงสร้างพื้นฐานที่จะนำไปสู่การยอมรับการเป็นสังคมการใช้รถไฟฟ้า สำหรับประเด็นระบบการจ่ายเงิน และการคิดค่าชาร์จไฟที่เป็นมิตรกับผู้บริโภค จะต้องคำนึงถึงประเด็นทางด้านความโปร่งใสของราคา แต่ละสถานีชาร์จไฟ และจำกัดเพดานของ ค่าธรรมเนียมจากการ roaming ข้อมูลนโยบาย รถขับเคลื่อนอัตโนมัติ(autonomous driving) ประเด็นนี้ จะต้องคำนึงถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และผลักดันให้เกิดกฎหมายเฉพาะออกมาบังคับใช้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในระบบการจราจรสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสนับสนุนแนวความคิดนี้ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ของสังคม นอกจากนี้ กฎหมายเฉพาะที่จะออกมาบังคับใช้นั้น ควรให้ทางผู้ประกอบการมีส่วนรับผิดด้วย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีกระบวนการ อภิปรายถกเถียง และปรึกษาหารือของสังคม เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่แบบนี้ ย่อมนำไปสู่ประเด็น เรื่องจริยธรรมใหม่ของสังคมตามมาด้วยเช่นกันระบบการขนส่งมวลชน และการขนส่งผู้โดยสารยุคใหม่ (Mobility platforms and personal transportation law) ปัจจุบันเป็นยุค ดิจิตัล การจัดการ และการเชื่อมต่อข้อมูล การโดยสารและขนส่ง เพื่อตอบโจทย์ทางด้านการขนส่งที่เป็นมิตรกับผู้โดยสารเป็นเรื่องสำคัญ ในระบบการขนส่งมวลชนสาธารณะ กฎหมายที่เกี่ยวข้องการขนส่งผู้โดยสารจำเป็นต้องมีการพัฒนาและปรับปรุง  เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในยุค 4.0สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสนับสนุนแนวความคิดนี้ และให้ความสำคัญกับการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การเดินทางและการขนส่งมวลชนยุคใหม่ ภายใต้การรักษาคุณภาพชีวิต และมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ผู้บริโภคสามารถวางแผนการเดินทาง จองตั๋วโดยสาร และจ่ายเงินได้อย่างสะดวกภายใต้ระบบการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคใช้บริการขนส่งมวลชนสาธารณะ จำเป็นที่จะต้องมีองค์กรหรือหน่วยงานที่จะเป็นปากเสียงและสะท้อนความต้องการของผู้บริโภคเกิดขึ้นครั้งหน้าจะนำเสนอ ความเห็นต่อนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคทางด้านการบริโภคที่ยั่งยืน และการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ (sustainability consume and resource protection) และนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคจากการค้าข้ามชาติ (International commerce)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 หยุดทำร้ายแม่คนอื่น

ทำไมการโฆษณาขายสินค้าหรือแม้แต่การทำรายการโทรทัศน์ที่พาผู้ชมไปดูการกินอาหารบางอย่างในภัตตาคารนั้นถึงได้เป็นบาป คำตอบง่ายๆ คือ มันเป็นการชักชวน ชี้นำให้คนไปกินสิ่ง ซึ่งส่งผลถึงการรบกวนความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตอื่นโดยไม่จำเป็นผู้เขียนประทับใจกับชื่อกระทู้หนึ่งใน pantip (https://pantip.com/topic/32398154) ซึ่งเป็นกระทู้ที่ดูเก่าเพราะยกประเด็นเกี่ยวกับการกินรังนกขึ้นมาอภิปรายกันเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 อย่างไรก็ตามแม้กระทู้จะเก่าแล้ว แต่พอใกล้วันแม่คือ 12 สิงหาคม ทุกปีนั้น เราท่านจะได้เห็นโฆษณาที่ลูกกตัญญูทั้งหลายเตรียมตัวนำรังนกบรรจุขวดไปเยี่ยมเคารพแม่กัน โดยผู้ที่แสดงตนในโฆษณานั้นอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่า สิ่งที่ตนรับจ้างโฆษณานั้นน่าจะเป็นบาป ทำไมการโฆษณาขายสินค้าหรือแม้แต่การทำรายการโทรทัศน์ที่พาผู้ชมไปดูการกินอาหารบางอย่างในภัตตาคารนั้นถึงได้เป็นบาป คำตอบง่าย ๆ คือ มันเป็นการชักชวน ชี้นำให้คนไปกินสิ่ง ซึ่งส่งผลถึงการรบกวนความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตอื่นโดยไม่จำเป็น เพราะเราสามารถกินสิ่ง ซึ่งเป็นอาหารทั่วไปที่สังคมยอมรับได้อยู่แล้วรังนกที่คนนิยมกินนั้นถูกสร้างจากน้ำลายของพ่อนกและแม่นกก่อนการผสมพันธุ์ เพื่อใช้เป็นที่วางไข่ กกไข่ และเป็นที่อยู่ของลูกนกก่อนเริ่มหัดบิน ส่วนประกอบของรังนก(แห้ง) โดยประมาณราวร้อยละ 85-97 เป็นน้ำลายที่นกขยอกออกมาและอีกร้อยละ 3-15 เป็นขนอ่อน รังนกนั้น เมื่อปรุงแล้วถือว่าเป็นอาหารถ้วยหนึ่งที่นิยมกินแพร่หลายกันในหมู่ชาวจีน โดยในอดีตนั้นอาหารนี้ได้รับการยกย่องว่า เป็นอาหารบำรุงชั้นยอดของฮ่องเต้(ซึ่งสุดท้ายก็ถูกโค่นล้มหายไปจากแผ่นดินจีน) ตลอดจนกลุ่มชนชั้นสูงของจีน ซึ่งรวยถึงระดับไม่รับรู้ว่า อะไรควรทำหรือไม่ควรทำ การกินรังนกในประเทศต่างๆ ไม่ว่าไทยแลนด์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์และประเทศอื่นๆ นั้นเป็นการถ่ายทอดพฤติกรรมจากบรรพบุรุษชาวจีน ซึ่งมีความเชื่อว่า รังนกนั้นให้ประโยชน์แก่ตนเองโดยไม่ได้คำนึงถึงใจพ่อแม่กว่าปวดร้าวเพียงใด ผู้เขียนเคยชมสารคดีทางโทรทัศน์ช่องหนึ่งอธิบายว่า รังนกนั้นถูกเก็บถึง 3 ครั้งในระหว่างที่นกพยายามสร้างรัง จนครั้งสุดท้ายที่นกพยายามสร้างรังเป็นครั้งที่ 4 นั้นมีคราบเลือด ซึ่งผู้เก็บคงมองออกว่า ราคารังนกผสมเลือดคงต่ำลงแล้ว จึงปล่อยให้นกได้วางไข่เพื่อสืบพันธุ์เกิดลูกมารับเวรกรรมในการเป็นนกต่อไปอย่างไรก็ดี ปัจจุบันนี้ได้มีรังนกที่เก็บจากตึกแถวที่สร้างไว้เพื่อให้คนอยู่แต่กลับถูกปล่อยร้าง (ตัวอย่างเช่นในจังหวัดชุมพร) แล้วมีนกชนิดหนึ่งทำเนียนเข้าไปสร้างรัง ผู้เป็นเจ้าของตึกแถวได้กล่าวในบทความชื่อ “ทุกข์คนทำรังนก บ้านติด ก.ม.ขายเองไม่ได้” ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ (www.thairath.co.th/content/480976) ประมาณว่า เขาไม่ได้เก็บรังนกตัดหน้าการวางไข่เหมือนคนที่เก็บรังนกสัมประทานในถ้ำบนเกาะต่างๆ แต่เขาปล่อยให้นกวางไข่จนได้ลูกนกที่เมื่อเติบโตแล้ว ทั้งพ่อแม่ลูกอพยพออกไป ทิ้งรังให้เขาได้เก็บขายเป็นอาชีพ จึงน่าจะเป็นบุญมากกว่าบาป โดยรังเก่าๆ นั้นจะต้องทำให้สะอาดมีสีขาวด้วยการฟอกสีก่อน จึงจะมีราคากิโลกรัมละ 60,000 บาท ในขณะที่รังซึ่งเก่ามากหน่อยเพราะเก็บช้าคุณภาพอาจต่ำลงและมีสีเหลืองสามารถขายได้เพียงกิโลกรัมละ 12,000 บาท รังนกนั้นให้ประโยชน์แก่ตนเองโดยไม่ได้คำนึงถึงใจพ่อแม่กว่าปวดร้าวเพียงใด ผู้เขียนเคยชมสารคดีทางโทรทัศน์ช่องหนึ่งอธิบายว่า รังนกนั้นถูกเก็บถึง 3 ครั้งในระหว่างที่นกพยายามสร้างรัง จนครั้งสุดท้ายที่นกพยายามสร้างรังเป็นครั้งที่ 4 นั้นมีคราบเลือด ซึ่งผู้เก็บคงมองออกว่า ราคารังนกผสมเลือดคงต่ำลงแล้ว จึงปล่อยให้นกได้วางไข่เพื่อสืบพันธุ์เกิดลูกมารับเวรกรรมในการเป็นนกต่อไปสิ่งที่น่าแปลกใจคือ มีผู้ขายผลิตภัณฑ์รังนกอ้างว่า สินค้าของเขาเป็นรังนกสีทอง(ความจริงดูเป็นสีเหลือง) นั้นมีคุณภาพสุดยอดสำหรับผู้บริโภคทีเดียว อย่างนี้เลยไม่รู้ว่าผู้นิยมบริโภครังนกจะเชื่อใครดีว่า จริงแล้วรังนกสีเหลืองนั้นดีกว่าสีขาวหรือไม่ แต่สำหรับผู้เขียนนั้นไม่สนใจจะเชื่อใครทั้งสิ้น เพราะไม่ชอบทั้งกลิ่นและรสชาติของรังนกในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการกินรังนกกล่าวกันว่า สมัยราชวงค์หมิงตอนปลายนั้นในใบสั่งยาของหมอจีน มักมีรังนกเป็นส่วนผสมเสมอ เพราะเชื่อตามที่บอกกันมานานแล้วว่า รังนกสามารถรักษาโรคทางเดินหายใจ ช่วยบำรุงสุขภาพเด็ก สตรีและคนชรา ช่วยบำรุงผิวพรรณของสตรีให้มีความนุ่มนวลอ่อนเยาว์ ช่วยบำรุงปอดและเลือด และช่วยบำรุงสุขภาพของผู้ป่วยในระยะพักฟื้นรวมทั้งสตรีหลังคลอดบุตร โดยลืมพิจารณาในความเป็นจริงว่า คนที่กินรังนกนั้นมักเป็นคนรวย ซึ่งมีการกินดีอยู่ดีอยู่แล้ว ยังไงๆ ก็ควรมีสุขภาพดีได้ถ้ากินอาหารครบห้าหมู่และไม่ทำร้ายตนเองด้วยกันกินเหล้าสูบบุหรี่บ่อยนักข้อมูลจากวิกิพีเดีย(ภาษาไทย) อ้างถึงบทความวิจัยบทความหนึ่งที่รายงานผลการวิเคราะห์ว่า รังนกแห้ง(100 กรัม) ที่เก็บในมาเลเชียนั้นประกอบด้วยโปรตีนประมาณ 61.5 กรัม ส่วนแร่ธาตุหลัก 4 ชนิดที่พบได้ในรังนกคือ แคลเซียม โซเดียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม และมี sialic acid ประมาณร้อยละ 0.7-1.5 โดยปริมาณสารอาหารในรังนกแตกต่างกันไปตามฤดูเก็บเกี่ยวและสถานที่ทำรังสำหรับข้อมูลเกี่ยวกับรังนกในบ้านเรานั้น เป็นการรายงานคุณค่าทางโภชนาการของรังนกบรรจุขวดแล้วซึ่งประมาณว่า รังนก 1 ขวด มีโปรตีนเท่ากับนมสดแค่ครึ่งช้อนโต๊ะ หรือถั่วลิสงเพียง 2 เมล็ด มีพลังงานน้อยกว่าไข่ไก่ 1 ฟอง ซึ่งข้อมูลประมาณนี้ผู้ทำกิจการขายรังนกไม่ว่าแห้งหรือเปียกในขวดต่างก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าอยากกินโปรตีนก็ให้ไปกินเนื้อ นม ไข่ แล้วกัน เพราะผู้ที่กินรังนกนั้นเขากินเพื่อหวังประโยชน์ต่อสุขภาพ(ถ้ามี) เป็นประการที่หนึ่ง ส่วนรสชาติหวานจากน้ำตาลกรวดนั้น เป็นเป้าประสงค์ประการที่สอง สำหรับปริมาณโปรตีนหรือคุณค่าทางโภชนาการอื่นๆ นั้นไม่ใช่ประเด็นจากการที่มีความเชื่อในสรรพคุณด้านบำรุงร่างกายมานับพันปีเกี่ยวกับรังนกนั้น จึงทำให้มีนักวิจัยมากมายที่สนใจทดสอบสรรพคุณและสารออกฤทธิ์ ซึ่งคาดว่ามีอยู่ในรังนก แต่จนแล้วจนรอดนั้นดูเหมือนว่า ยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนไหนกล้าออกมายืนยันสักคนว่า ตนเองซึ่งไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน(conflict of interest) สามารถแสดงให้เห็นคุณประโยชน์อย่างประจักษ์ชัดว่า การกินรังนกนั้นบำรุงร่างกายอย่างไร หรือสารใดในรังนกที่มีสรรพคุณดังที่ร่ำลือมานับพันปี กล่าวกันว่า รังนกที่ดีต้องมีกลิ่นคาวไข่ ซึ่งเป็นการรับประกันว่า สามารถฟอกปอดบำบัดโรคได้ดี ในปัจจุบันคาดกันว่าคุณค่าด้านสุขภาพที่ได้จากรังนกนั้น อยู่ที่โปรตีนชนิดหนึ่ง ซึ่งถูกจัดเป็นกลัยโคโปรตีนผู้เขียนได้ไปพบผลงานวิจัยเรื่องหนึ่งชื่อ Edible bird’s nest extract inhibits influenza virus infection ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชื่อ Antiviral Research ชุดที่ 70 (ปี 2006) หน้าที่ 140–146 งานวิจัยดังกล่าวนั้นใช้วิธีการสกัดรังนกด้วยน้ำร้อนได้เป็นสารละลายซึ่งมี N-acetylmuraminic acid เป็นองค์ประกอบสำคัญ จากนั้นจึงทำให้แห้งแล้วนำไปทดสอบฤทธิ์การต้านเชื้อโรคไวรัสไข้หวัดใหญ่ (3 ชนิดคือ หวัดใหญ่คน นกและหมู) ต่อเซลล์จากไตสุนัข(ชื่อ Madin-Darby canine kidney cells) ที่เลี้ยงไว้ในหลอดทดลอง  ซึ่งผู้วิจัยได้สรุปว่า "สารสกัดจากรังนกสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ในหลอดทดลอง ส่วนผลในมนุษย์นั้นยังต้องศึกษาต่อไป” สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับรังนกในบ้านเรานั้น เป็นการรายงานคุณค่าทางโภชนาการของรังนกบรรจุขวดแล้วซึ่งประมาณว่า รังนก 1 ขวด มีโปรตีนเท่ากับนมสดแค่ครึ่งช้อนโต๊ะ หรือถั่วลิสงเพียง 2 เมล็ด มีพลังงานน้อยกว่าไข่ไก่ 1 ฟองสารเคมีที่สกัดได้จากรังนกคือ  N-acetylmuraminic acid นั้นสามารถหาซื้อในรูปสารเคมีที่มีความบริสุทธิ์ร้อยละ 98 จากบริษัทขายสารเคมีระดับโลก ซึ่งมีตัวแทนที่สิงคโปร์เพื่อใช้ในห้องปฏิบัติการในราคาประมาณกว่า 47,500 บาทต่อกรัม ซึ่งมองเผินๆ ก็รู้ว่า แพงกว่าทองคำ ซึ่งมีราคาประมาณ 1,400 บาทต่อกรัม นี่น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งว่า ทำไมงานวิจัยเกี่ยวกับสารธรรมชาติชนิดนี้ถึงไม่ค่อยมีคนทำวิจัยมีข้อสังเกตหนึ่งที่ผู้ทำวิจัยชาวญี่ปุ่นได้กล่าวถึงในบทความที่รายงานผลว่า รังนกต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่คือ แม้รังนกนั้นจะได้รับความเชื่อถือว่าเสริมสร้างภูมิต้านทานก็ตาม แต่ในประเทศจีนนั้น รังนกก็เป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งในการก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ที่อาจทำให้ตายได้ ประเด็นนี้น่าจะทำให้หลายคน ซึ่งคุ้นเคยกับการแพ้อาหารทะเล เช่น กุ้งหรือปู ได้ยับยั้งชั่งใจแล้วปรึกษาแพทย์ก่อนการกินอาหารชนิดนี้ หรืออาจต้องลองกินในปริมาณน้อยก่อนเพื่อดูว่า ตนนั้นมีความเสี่ยงต่ออันตรายจากการกินอาหารนี้หรือไม่หมายเหตุ รังนกในบทความนี้ก็หมายถึงรังนกที่มนุษย์นิยมกินนะแหละ ผู้เขียนไม่ประสงค์จะระบุชนิดของนก เนื่องจากไม่ต้องการระบุ แต่เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงทราบอยู่เองว่าควรเป็นรังของนกอะไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนกรกฎาคม 2561พาณิชย์ไม่อนุมัติผู้ผลิตลดขนาดสินค้าแต่ขายราคาเดิมอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ผู้ผลิตสินค้าประเภทแชมพู สบู่เหลว น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ล้างจาน ยาสีฟัน และผงซักฟอก หลายยี่ห้อได้ทำหนังสือเข้ามายังกรมฯ เพื่อขอออกผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยการลดขนาดบรรจุภัณฑ์และลดปริมาณสินค้า แต่ยังขอจำหน่ายสินค้าในราคาเดิม โดยให้เหตุผลว่ามีการปรับปรุงสูตรให้สินค้ามีคุณภาพดีขึ้น แต่หลังจากที่กรมฯ ได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ พบว่า สินค้าไม่ได้แตกต่างจากของเดิม จึงไม่ได้อนุมัติให้มีการดำเนินการตามคำขอทั้งนี้กรมการค้าภายใน ไม่ได้ปิดกั้นผู้ผลิตทำการปรับลดขนาดหรือปริมาณสินค้า แต่หากผู้ผลิตมีการนำเสนอรายละเอียดต้นทุนที่ชัดเจน และสมเหตุสมผล กรมฯ ก็พร้อมที่จะพิจารณาให้ ทั้งนี้หากผู้บริโภคพบเห็นสินค้ามีการปรับลดขนาดหรือปริมาณบรรจุ สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 กรมสุขภาพจิตสั่งเปิดคลินิกบำบัดนักพนันบอลโลกอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ได้ให้โรงพยาบาลจิตเวชในสังกัด 19 แห่ง ใน 13 จังหวัด เปิดคลินิกบำบัดรักษาผู้ที่ติดพนันบอลในแผนกผู้ป่วยนอก และให้บริการปรึกษาทางสายด่วนสุขภาพจิตตลอด 24 ชม. และผ่านทางเฟซบุ๊กในช่วงเวลา 14.30 – 22.30 น. โดยใช้เทคนิคการบำบัดแบบเสริมสร้างแรงจูงใจ ใช้กระบวนการทางจิตวิทยาควบคู่กับการใช้ยา เน้นการกระตุ้นให้ผู้บำบัดค้นหาเป้าหมายหรือแรงจูงใจภายในตนเอง เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม สำหรับโรคติดพนันจะมีอาการ 9 อย่าง ดังนี้ 1. คิดหมกมุ่นอยู่กับการเล่นพนันตลอดเวลา 2. เล่นพนันโดยเพิ่มจำนวนเงินพนันขึ้นเรื่อยๆ 3. เล่นเสียเป็นหนี้ก็ยังเล่นต่อ หวังจะได้เงินคืน 4. ยอมทำสิ่งผิดกฎหมายเพื่อหาเงินมาใช้หนี้และเล่นพนัน 5. พูดปด ปกปิดปัญหาที่ลุกลามจากการเล่นพนัน 6. มีปัญหากู้หนี้ยืมสิน 7. สูญเสียสัมพันธภาพกับคนในครอบครัวจากการเล่นพนัน 8. ใช้การพนันเป็นทางออกในการหนีปัญหา 9. ล้มเหลวทุกครั้งที่คิดจะเลิกพนัน หากตรวจสอบตนเองแล้วมีพฤติกรรมดังกล่าว 2 ข้อขึ้นไป แสดงว่ามีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดพนัน สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชม.เผยคนไทยใช้สมุนไพรมากขึ้นจากฐานข้อมูลของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2560 พบว่า มีผู้ป่วยนอกเข้ารับบริการการแพทย์แผนไทยฯ ในโรงพยาบาลทุกระดับกว่า 32 ล้านครั้ง จากจำนวนผู้ป่วยนอกทั้งหมดที่มารับบริการกว่า 164 ล้านครั้ง คิดเป็นร้อยละ 19.75 และมีการใช้ยาสมุนไพรเพิ่ม 406 ล้านบาท จาก 1,700 ล้านบาทในปี 2559 เป็นกว่า 2,000 ล้านบาทในปี 2560 สำหรับมูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพร ปี 2560 แบ่งเป็นเครื่องสำอาง 192,600 ล้านบาท อาหารเสริม 51,848 ล้านบาท และยาสมุนไพร 7,548 ล้านบาท รวมมูลค่าการใช้สมุนไพรทั่วประเทศทั้งสิ้น 254,830 ล้านบาทประกาศห้ามการผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจน13 ก.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ กระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง ห้ามมีการผลิต นำเข้า หรือ จำหน่ายอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) น้ำมันเหล่านี้จะมีส่วนผสมของกรดไขมันทรานส์( trans fat) ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด  โดยประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ภายใน 180 วัน ซึ่งโรงงานอาหารประเภทเบเกอรี่ ขนมหวาน นมข้นหวาน หรือของทอดที่ใช้ชอร์ตเทนนิ่ง ต้องปรับปรุงสูตรและกระบวนการผลิตเพื่อให้ทันวันเวลาตามที่กฎหมายกำหนดกองปราบจับ 22 ผู้ต้องหา OD Capital ฉ้อโกงประชาชนเมื่อ 11 ก.ค.61 กองบังคับการปรามปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ จับกุม 22 ผู้ต้องหาฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ในนามของ OD Capital โดยจากการสืบสวนพบว่า โอดีแคปปิตอลดำเนินการในลักษณะนำเงินไปลงทุนในบริษัทหรือกิจการอื่นๆ โดยระดมเงินทุนจากประชาชนทั่วไป โดยการติดต่อ ชักชวน หรือโฆษณาทางสื่อออนไลน์ว่าเมื่อนำเงินมาลงทุนกับโอดีแคปปิตอลแล้ว จะได้รับผลตอบแทน 10% ของเงินลงทุน นอกจากนี้ หากสามารถชักชวนคนมาร่วมลงทุนได้จะได้ผลตอบแทนเป็นค่าคอมมิชชั่นเพิ่มเติมอีก จากการตรวจสอบพบว่า โอดีแคปปิตอลไม่ได้มีการจดทะเบียนพาณิชย์ในไทย และไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการจาก กลต. และ สคบ. โดยพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอศาลอนุมัติหมายจับกลุ่มผู้ต้องหา ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนแล้วมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเสนอ 8 แนวทางแก้ปัญหารถโดยสารสองชั้นโรงแรมมิราเคิลแกรนด์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โครงการสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนเพื่อรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย ร่วมกับคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ปัญหารถโดยสารสองชั้นกับนโยบายรัฐที่ต้องทบทวน” เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาในการพัฒนาคุณภาพรถโดยสารสาธารณะที่ปลอดภัย และสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคกับหน่วยงานของรัฐที่ทำงานเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะ โดยมีข้อเสนอดังต่อไปนี้ 1.เสนอให้รัฐซื้อรถคืนหรือสนับสนุนให้เปลี่ยนรถจากรถสองชั้นเป็นรถชั้นเดียว  2.กำหนดเส้นทางเสี่ยงอันตรายสำหรับรถสองชั้น 3.รถที่ผ่านการทดสอบพื้นเอียง 30 องศาต้องมีสัญลักษณ์แสดงให้เห็นชัดเจนบริเวณด้านหน้าตัวรถและบริเวณข้างรถ 4. เปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียน สถิติอุบัติเหตุ การกระทำความผิดของผู้ประกอบการ ผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลตัดสินใจเลือกใช้บริการ  5. การกำหนดความเร็วของ GPS ให้สอดคล้องกับสภาพถนนและเส้นทางเสี่ยง 6. การกำหนดหลักเกณฑ์ใบอนุญาตขับขี่เฉพาะรถขนาดใหญ่ที่มีความสูงเกิน 3.80 เมตร เนื่องจากเป็นรถขนาดใหญ่ที่มีการควบคุมบังคับยากกว่ารถขนาดเล็ก  7. ปรับเพิ่มวงประกันภาคบังคับในกรณีเสียชีวิตจาก 300,000 เป็น 1 ล้านบาท และกรณีบาดเจ็บจาก 80,000 เป็น 150,000 บาท  8.ปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองอุบัติเหตุประกันภัยภาคสมัครในจาก 10 ล้านบาทต่อครั้ง เป็น 30 ล้านบาทต่อครั้ง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 “คลินิกแก้หนี้” แก้ได้จริงหรือ?

สมาชิกนิตยสารฉลาดซื้อไม่มากก็น้อยคงทราบดีว่าเรื่องปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิต  เป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหาลำดับต้นๆ ของผู้บริโภคมายาวนาน เมื่อไม่นานมานี้มีโครงการหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ผุดไอเดียดูดีชื่อ “คลินิกแก้หนี้” โครงการที่เป็นเสมือนความหวังของลูกหนี้ทุกคน  ฉลาดซื้อจึงพูดคุยกับคุณนกกระจอกเทศ ผู้บริโภคที่มีความชำนาญ ในการให้คำปรึกษาและช่วยแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิตมามากกว่า 10 ปี ให้กับผู้บริโภคที่เป็นลูกหนี้บัตรเครดิต จาก Webboard คนยิ้มสู้หนี้ ของเว็ปไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (www.consumerthai.org) จะมาเล่าให้เรากระจ่างว่า คลินิกแก้หนี้ จะแก้ปัญหาหนี้ได้จริงหรือไม่?จุดเริ่มต้นของโครงการ “คลินิกแก้หนี้” นั้นอ้างอิงจาก ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ ต้นปี พ.ศ.2560 ประชากรไทยทั้งหมดทั่วประเทศ จำนวน 70 ล้านคน มีคนที่เป็นหนี้ทั้งหมด 21 ล้านคนและในจำนวนนี้ มีคนที่เป็นหนี้อยู่ 3 ล้านคน ที่จ่ายหนี้ไม่ไหวแล้ว (หยุดจ่ายแล้ว) จนกลายเป็น”หนี้เสีย” หรือ NPL จำนวนทั้งสิ้น 3 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็นคนไทยอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 30 ปีในช่วงเวลานั้น(ต้นปี 2560) ทางธนาคารแห่งประเทศไทย(หรือที่เรียกกันว่าแบงก์ชาติ) โดน "ด่าจนเละ" ว่าปล่อยให้มีคนไทยที่เป็น "หนี้เสีย"(NPL) หรือที่เรียกกันว่า "ติด Blacklist" อยู่ในเครดิตบูโร มีจำนวนมากถึง 3 ล้านคนทางแบงก์ชาติไม่คิดจะหาทางทำอะไรบ้างเลยหรือยังไง? พอโดนวิจารณ์มากๆ เข้า ก็เลยต้องคิดทำโครงการ “คลินิกแก้หนี้” ขึ้นมา โดยการนำเอา "สัญญาประนอมหนี้" หรือ "สัญญาปรับโครงสร้างหนี้" ที่เคยมีอยู่เดิม แต่นำมาปัดฝุ่นใหม่ แล้วตั้งชื่อขึ้นมาใหม่ว่าเป็น "โครงการคลินิกแก้หนี้"...เพื่อลดแรงกดดันจากทั่วสารทิศโครงการตัวนี้ ทางแบงก์ชาติได้เรียกประชุมสถาบันการเงินทั้งหมด ให้มาเข้าร่วมประชุม แล้วขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินทั้งหลายช่วยให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมโครงการตัวนี้ของแบงก์ชาติด้วยขอย้ำว่า...เป็นการขอความร่วมมือจากทางแบงก์ชาติ หรือที่เรียกกันว่าเป็น "สัญญา MOU" ไม่ใช่ ประกาศ หรือกฎหมายบังคับ  หากสถาบันการเงินใด ที่ยินดีให้ความร่วมมือในโครงการ "คลินิกแก้หนี้" ตัวนี้ ก็ให้ลงนามใน "สัญญา MOU" ดังกล่าว ว่าจะให้ความร่วมมือด้วย...หรือจะมีสถาบันการเงินใด ที่ไม่ประสงค์จะให้ความร่วมมือก็ได้ไม่ได้บังคับทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปในบรรทัดฐานเดียวกัน ทางแบงก์ชาติยังได้ออกข้อกำหนดมาด้วยว่า หากสถาบันการเงินใด ที่ให้ความร่วมมือในโครงการตัวนี้ จะต้องทำการคิดดอกเบี้ยกับลูกหนี้ ในระหว่างที่ลูกหนี้ขอผ่อนตามสัญญาตัวนี้ จะคิดดอกเบี้ยได้สูงสุด ไม่เกินกว่า 7% ต่อปี โดยทางแบงก์ชาติ ได้ทำการแต่งตั้งให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท หรือมีชื่อย่อว่า SAM ให้เป็นผู้แทนแบงก์ชาติ ในการเจรจาให้สถาบันการเงินที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการตัวนี้ ต้องปฏิบัติตามกฏของการคิดดอกเบี้ยดังกล่าวดังนั้น หากลูกหนี้คนใด ที่มีความสนใจจะเข้าสมัครในโครงการตัวนี้ ก็สามารถติดต่อกับทาง SAM ได้เลย เพื่อให้ SAM เป็นผู้คัดกรอง และเจรจาในเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าว กับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ ที่เข้ามาร่วมกับโครงการตัวนี้ โดยกำหนดให้ลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมในโครงการตัวนี้ จะต้องมีคุณสมบัติตามนี้ด้วย ถึงจะสามารถผ่านการเข้าร่วมโครงการได้ โดยมี คุณสมบัติ ดังนี้1. ต้องมีอายุไม่เกินกว่า 60 ปี (หรือห้ามแก่เกินกว่าเกษียณการทำงาน)2. ต้องเป็นมนุษย์เงินเดือน มีเงินเดือนประจำที่มั่นคงแน่นอน3. ต้องเป็นลูกหนี้ที่ติด Blacklist ในเครดิตบูโรมาแล้ว อย่างน้อย 2 สถาบันการเงินขึ้นไป...และจะต้องเป็นผู้ที่ติด Blacklist มานานแล้ว ก่อนจะถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ด้วย4. จะต้องเป็นลูกหนี้ที่ไม่เคยถูกเจ้าหนี้ฟ้องศาลมาก่อนเลย...แม้แต่คดีเดียว5. ลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมในโครงการ ต้องเอาหนี้ของลูกหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมด ทุกเจ้า เข้าร่วมในโครงการให้หมด6. ยอดหนี้รวมทั้งหมด ที่ลูกหนี้จะสามารถเข้าร่วมโครงการตัวนี้ได้ จะต้องไม่เกินกว่า 2 ล้านบาท7. ลูกหนี้สามารถขอผ่อนได้นานไม่เกิน 10 ปี...(แต่เอาเข้าจริงๆ เจ้าหนี้มันก็ยอมให้ลูกหนี้สามารถผ่อนได้นานสูงสุด เพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น)มีธนาคารหรือสถาบันการเงินใดที่เข้าร่วมโครงการบ้างผลจากการประชุมขอความร่วมมือของแบงก์ชาติในวันนั้น มีธนาคารที่ตอบรับเข้าร่วมลงนามในสัญญา MOU ของ “โครงการคลินิกแก้หนี้” ทั้งหมด จำนวน 16 ธนาคาร โดยมีรายชื่อดังนี้ธนาคารกรุงเทพ , ธนาคารกรุงไทย , ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ,ธนาคารกสิกรไทย , ธนาคารซิตี้แบงก์ , ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ,ธนาคารทหารไทย , ธนาคารไทยพาณิชย์ , ธนาคารธนชาติ ,ธนาคารยูโอบี, ธนาคารเกียรตินาคิน , ธนาคารทิสโก้ , ธนาคารไทยเครดิต ,ธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank Of China) , ธนาคารไอซีบีซี ,ธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์  ส่วนสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (พวก Non-Bank ทั้งหมด) ไม่มีการลงนาม MOU เข้าร่วมกับโครงการนี้เลย...แม้แต่รายเดียว ตอนนี้...โปรดมาสังเกตรายชื่อของธนาคาร 10 รายแรก ให้ดีนะครับ(ขีดเส้นใต้) เพราะมันเป็นรายชื่อของธนาคารที่เป็นผู้ออกบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดให้ประชาชนทั่วๆ ไปอยู่แล้ว...ลูกหนี้ต่างคุ้นเคยกันดีแต่ดูรายชื่อของธนาคารอีก 6 ราย ที่ถัดมาสิครับ...เขาเคยทำบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดให้กับเราด้วยหรือ? คุณเคยเห็นบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดของธนาคารเกียรตินาคิน , ธนาคารทิสโก้ , ธนาคารไทยเครดิต , ธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank Of China) , ธนาคารไอซีบีซี , ธนาคาร แลนด์ แอนด์เฮ้าส์...พวกคุณเคยเห็นด้วยหรือครับ? โดยเฉพาะธนาคารไอซีบีซี มันตั้งอยู่ตรงส่วนไหนของประเทศไทยกัน?เมื่อ 6 รายนี้ไม่เคยทำบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดให้กับประชาชนทั่วไป...แล้วแบงก์ชาติไปชักชวนให้เข้ามาร่วมใน “โครงการคลินิกแก้หนี้” นี้ด้วยทำไม มันจะมีประโยชน์อะไรกับลูกหนี้ หรือว่าแบงก์ชาติต้องการเพียงแค่จะอวดว่า มีธนาคารที่ให้ความร่วมมือในโครงการตัวนี้ ถึง 16 แห่ง (แม้จะมีธนาคารที่เกี่ยวข้องกับหนี้บัตรต่างๆ จริงเพียงแค่ 10 ธนาคารเท่านั้น) แต่รายสำคัญจริงๆ คือกลุ่ม Non-Bank กลับไม่มีเลยแม้แต่รายเดียวข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงการนี้ที่ผู้บริโภคควรรู้อย่างที่ผมเกริ่นไปว่าโครงการ “คลินิกแก้หนี้” ตัวนี้ มันเป็นเพียงแค่การขอความร่วมมือจากทางแบงก์ชาติ...ไม่ได้เป็นกฎหมาย...และไม่ได้บังคับ จะไม่ให้ความร่วมมือก็ได้ ดังนั้นจึงไม่มีสถาบันการเงินที่เป็น Non-Bank รายใด ที่ลงนามในสัญญา MOU เลยแม้แต่รายเดียว...ขนาดธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ และธนาคารฮ่องกงแบงก์(HSBC) ยังไม่ร่วมลงนามให้ความร่วมมือด้วยเลย  แล้วเท่าที่ผมทราบข้อมูลมา แม้มีลูกหนี้ผู้ถือบัตรต่างๆ ที่สนใจเข้าร่วม “โครงการคลินิกแก้หนี้” แต่ว่าเมื่อสมัครไปแล้ว ยังไม่มีใครสามารถผ่านการอนุมัติได้เลยสักคนทำไมถึงสมัครไม่ผ่าน ลองดูนะครับ เงื่อนไขมันโหดมาก1.ลูกหนี้คนนั้น จะต้องเคยหยุดจ่ายหนี้มาก่อน อย่างน้อยก็ต้องหยุดจ่ายตั้งแต่ 2 ใบขึ้น และได้หยุดจ่ายมาเป็นระยะเวลานานมากแล้ว จนกระทั่งตัวของลูกหนี้คนนั้น ได้ติด Blacklist อยู่ในเครดิตบูโรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก่อนจะถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2560…ถ้าใครที่เพิ่งเริ่มหยุดจ่าย หรือติดมา Blacklist ภายหลังจากวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ไปแล้ว...จะสมัครไม่ผ่าน2.หากลูกหนี้ที่ต้องการจะสมัครเข้าในโครงการนี้ ในอดีตเคยเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือมีเงินเดือนประจำ แต่ปัจจุบันตกงาน หรือลาออกมาประกอบอาชีพส่วนตัว หรือทำงานฟรีแลนซ์ ไม่มีเอกสารใบรับรองเงินเดือนหรือสลิปเงินเดือน มาประกอบแนบกับใบสมัครด้วย...แบบนี้ก็สมัครไม่ผ่าน3.หากปัจจุบันลูกหนี้มีอายุมาก หรือเกษียณอายุจากการทำงานแล้ว...สมัครไม่ผ่านเช่นกัน4.ลูกหนี้ที่เคยถูกเจ้าหนี้ฟ้องศาลมาแล้ว แม้เพียงคดีเดียว...สมัครไม่ผ่าน5.ลูกหนี้ที่จะสมัครเข้าโครงการตัวนี้ จะต้องถูกบังคับให้เอาเจ้าหนี้เข้าร่วมในโครงการให้หมด ทุกเจ้าหนี้ ทุกบัตร-ทุกราย ห้ามยกเว้นแม้แต่รายเดียวดังนั้นสมมติว่า ลูกหนี้ที่สนใจจะเข้าสมัคร มีบัตรเครดิตและบัตรกดเงินทั้งหมด 5 ใบ และเคยติด Blacklist อยู่ในเครดิตบูโรมาก่อนแล้ว ก่อนจะถึงวันที่ 1 พฤษภาคม(ตรงตามเงื่อนไขของข้อ 1.) และต่อให้ยังไม่เคยถูกฟ้องศาลเลยก็ตาม แต่ดันมี 1 ในบัตรที่ลูกหนี้ถืออยู่เป็นบัตรของพวก Non-Bank ต่างๆ เช่น อิออน , ยูเมะพลัส , KTC , เฟิร์สช้อยส์ , บัตรกรุงศรี , พรอมิส , เอมันนี่ , เจมันนี่, กรุงศรีโฮมโปร , เซนทรัลการ์ด ฯลฯ...จะสมัครไม่ผ่าน เพราะพวก Non-Bank ไม่ได้เข้าร่วมในโครงการคลินิกแก้หนี้ด้วย เพราะข้อกำหนดในข้อ 5. บังคับเอาไว้ว่า ลูกหนี้จะต้องเอาเจ้าหนี้เข้าร่วมในโครงการนี้ให้หมด ทุกเจ้าหนี้ ทุกบัตร-ทุกราย ห้ามยกเว้นแม้แต่รายเดียว ดังนั้นหากลูกหนี้ดันมีบัตรที่เป็นเจ้าหนี้ประเภท Non-Bank เพียงใบใดใบหนึ่ง ก็จะไม่สามารถเข้าร่วมในโครงการนี้ได้เลยบทสรุปของ “คลินิกแก้หนี้”สรุปแล้ว โครงการคลินิกแก้หนี้ตัวนี้ ทางแบงก์ชาติออกมาตรการมาเป็นเพียงแค่ “ยาหอม” เพื่อลดแรงเสียดทานในช่วงที่โดนกระแสวิจารณ์มากๆ ก็เท่านั้นเองครับว่า  “ตอนนี้มีลูกหนี้ที่ติด Blacklist อยู่ 3 ล้านราย ( ต้นปี 2560) ทางแบงก์ชาติไม่คิดที่จะทำอะไรบ้างเลยหรือ? “  แบงก์ชาติก็เลยลดกระแสที่ถูกด่าอย่างหนักโดยการหยิบยกเอา“สัญญาประนอมหนี้” หรือ “สัญญาปรับโครงสร้างหนี้” ที่มีอยู่แล้วของเดิม มาทำการปัดฝุ่นใหม่ โดยการเปลี่ยนชื่อให้มันดูไพเราะเพราะพริ้งว่าเป็น“โครงการคลินิกแก้หนี้” โดยมอบหมายให้ SAM เป็นผู้ดำเนินการแทนในการคัดกรองและเจรจา แล้วก็เอาดอกเบี้ยในระหว่างที่ผ่อนตามสัญญาคลินิกแก้หนี้ ว่าเป็นดอกเบี้ยราคาถูกมาก(ไม่เกิน 7% ต่อปี) มาเป็น“ตัวล่อ”ให้ลูกหนี้มีความหวังแบบ ลมๆ แล้งๆ การทำแบบนี้ก็สามารถออกมาอ้างได้ว่า แบงก์ชาติมีการทำโครงการเพื่อลดจำนวนลูกหนี้ที่ติด Blacklist มากถึง 3ล้านคนให้แล้วนะ...แต่พอดูเงื่อนไขที่จะสามารถสมัครให้ผ่านเข้าโครงการฯ ได้ มันโหดมาก ไม่มีการแจ้งข้อมูลหรือความจริงให้ประชาชนที่เป็นลูกหนี้ได้รับทราบเลยแม้แต่น้อย มาจนถึงกรกฎาคม พ.ศ.2561 แล้วนะครับ  ผ่านมาปีกว่าตัวเลขของลูกหนี้ที่ติด Blacklist อยู่ในเครดิตบูโร ได้พุ่งสูงเกินกว่า 3 ล้านคนไปมากแล้ว ผมอยากทราบจริงๆ ว่า มีลูกหนี้ที่สมัครในโครงการคลินิกของธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่านการอนุมัติสักกี่คนครับ  เพราะฉะนั้นทางออกของลูกหนี้ทั้งหลายคืออะไรถ้าผมเป็นลูกหนี้ ผมคงไม่เสียเวลากับโครงการตัวนี้ ผมจะไปทำงานหารายได้ให้มากๆ เพื่อที่จะเก็บสะสมเงินไว้เอาไป Hair cut กับเจ้าหนี้แต่ละบัตรโดยตรงเองดีกว่าครับ มันคือวิธีที่ดีที่สุดจริงๆ ในตอนนี้ ต้องการปรึกษา หรือข้อมูลเพิ่ม สามารถติดตามได้ที่ http://debtclub.consumerthai.org/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 การตกค้างของยาปฏิชีวนะในอกไก่และตับไก่สด

ปัญหาเชื้อดื้อยาในระบบอาหารของโลก โยงไปถึงปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความห่วงใย มีงานศึกษาวิจัย ลักษณะต่างๆ  เกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งการประกาศนโยบาย ยุทธศาสตร์ ในระดับต่าง ๆ ทั้งระดับนานาชาติและระดับประเทศ ในเรื่องอาหาร และการตกค้างยาปฏิชีวนะ เกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคในอย่างน้อยสามประเด็น เรื่องข้อมูลในการเลือกหา  เรื่องความปลอดภัย และเรื่องบริโภคศึกษา ดังนั้นการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการประกันความปลอดภัย ด้วยการเฝ้าระวัง ตรวจตรา และกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเพื่อการตัดสินใจเลือกหาและใช้สินค้า จึงเป็นเรื่องสำคัญมากฉลาดซื้อ และโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างอกไก่และตับไก่สด เพื่อตรวจสอบสถานการณ์การปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์อีกครั้ง (ปี 2559ตรวจในฟาสต์ฟู้ด 2560 ตรวจในเนื้อหมูดิบ) โดยความร่วมมือจากเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ออกสุ่มเก็บตัวอย่างจากห้างสรรพสินค้า ตลาดสด และห้างออนไลน์ ระหว่างวันที่ 9 - 15 มิถุนายน 2561 จำนวนทั้งสิ้น 62 ตัวอย่าง แบ่งเป็นอกไก่สด จำนวน 32 ตัวอย่าง และตับไก่สด จำนวน 30 ตัวอย่าง นำมาตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด จาก 3 กลุ่ม ดังนี้ผลการตรวจวิเคราะห์ ผลการตรวจวิเคราะห์การตกค้างของยาปฏิชีวนะทั้ง 3 ชนิด (ใน 3 กลุ่ม) จากตัวอย่างทั้งหมด 62 ตัวอย่าง พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 26 ตัวอย่าง (คิดเป็นร้อยละ 41.93) แบ่งเป็นกลุ่มที่ 1 คือ Enrofloxacin หรือ Endrofloxacin (เอนโรฟลอคซาซิน) 5 ตัวอย่าง และ Doxycycline (ด็อกซีไซคลิน) 21 ตัวอย่าง โดยตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะกลุ่มที่ 3 ชนิด Amoxicillin (อะม็อกซีซิลลิน) ส่วนอีก 36 ตัวอย่าง นั้น ตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะทั้งสามกลุ่ม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้างตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง เพื่อใช้ควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดให้พบปริมาณการตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit, MRL) ของยาในกลุ่ม Tetracycline (เตตราไซคลีน) ในสัตว์ปีก เช่น นก ไก่ ไก่งวง เป็ด ห่าน ไก่ต๊อก ในส่วนของกล้ามเนื้อ ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม และ ในส่วนของตับไม่เกิน 600 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมจากผลตรวจวิเคราะห์พบ ยาเอนโรฟลอคซาซิน (Enrolfloxacin) จำนวน  5 ตัวอย่าง ซึ่งไม่ได้เป็นรายการยาในบัญชีแนบท้ายประกาศ ซึ่ง อย. อนุญาตให้ใช้ยานี้ได้ แต่ต้องไม่พบการตกค้างเลย โดยมีความผิดตามมาตรา 60 ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 โทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท  และพบว่า ไม่มีตัวอย่างใดที่พบปริมาณยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Tetracycline (เตตราไซคลีน) เกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่ประกาศกำหนด ข้อเสนอเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 5 ข้อ 1. ผู้บริโภคไม่ต้องการอาหารที่มีการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ เพราะการเกิดเชื้อดื้อยาเกิดได้ทั้งปริมาณการตกค้างทั้งน้อยและมาก 2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ต้องปรับปรุงมาตรฐานการตกค้างให้ยอมรับได้น้อยที่สุด 3. กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องบังคับใช้แผนปฏิบัติการในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์ม 4. สำนักงานงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมปศุสัตว์ จะต้องเข้มงวด และติดตามการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ให้ตกค้างเกินมาตรฐานที่กำหนด รวมถึงเปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ สม่ำเสมอ @page { margin: 0.79in } p { margin-bottom: 0.1in; line-height: 120% } 5. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการจัดการเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ และร้านค้าต่างๆ ควรตรวจสอบที่มาของอาหารก่อนนำเข้ามาจำหน่าย อีกทั้งในส่วนของร้านค้าในตลาด ทาง มพบ. จะทำหนังสือไปถึงสมาคมตลาดสดไทยเพื่อให้ตรวจสอบและเฝ้าระวังด้วย--------------------------------------------------------------------------------------------------------------ยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อไก่ ผู้บริโภคมีสิทธิรู้ ผู้บังคับใช้กฎหมายต้อง จริงจังและจริงใจโดย นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกไก่ทั่วโลก เป็นลำดับสี่ ในห้าประเทศ นอกจากนี้มี บราซิล สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน เมื่อกลับมาดูสถานการณ์ในประเทศ ก็น่าสนใจว่า สิทธิผู้บริโภคมีการปกป้องเพียงใดผลการสำรวจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำหรับปี พ.ศ. 2561 นี้ พบยาปฏิชีวนะตกค้างในไก่สดและตับ (โดยตรวจยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด คือ Enrolfloxacin, Doxycycline, Amoxycillin ) พบยาปฏิชีวนะ 2 ชนิดแรก  แม้ปริมาณที่ตรวจพบจะไม่เกินปริมาณที่กำหนดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550   เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง มีการระบุขนาดต่าง ๆ ของยาปฏิชีวนะที่ยอมรับให้มีในไก่ หรือสัตว์ปีกจำนวน 16 รายการ เช่น Oxytetracycline มีได้ในเนื้อไก่ไม่เกิน200 ug/kg ในตับไม่เกิน 600 ug/kg แต่จากผลการศึกษาของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลับพบมีการใช้ยานอกเหนือจากรายการที่ระบุประกาศ เช่น Enrolfloxacin มีข้อน่าสังเกต จากผลการสำรวจดังกล่าว ที่ควรได้วิเคราะห์ และทบทวนไปสู่ข้อเสนอต่อไป1. การสำรวจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ของการตกค้างยาปฏิชีวนะ เป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรผู้บริโภคในเรื่องการตรวจสอบ และสะท้อนการจัดการ  รวมครั้งนี้มี 3 ครั้ง  (1) ตัวอย่างอาหารฟาสต์ฟู้ดสำเร็จรูป จากร้านอาหารชนิดมีสาขามาก (ฉลาดซื้อ ตุลาคม 2559) (2) ตัวอย่างเนื้อหมูสด (ฉลาดซื้อ มีนาคม 2560) และ ในครั้งนี้ สำรวจในตัวอย่างเนื้อไก่สดและตับ (รวม 62 ตัวอย่าง)  ผลคือพบการตกค้างยาปฏิชีวนะจำนวน 26 ตัวอย่าง (41.98%) แม้จะไม่เกินปริมาณที่กำหนด แต่แสดงว่ามีการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในวงจรอาหาร เป็นไปได้ว่ามีการใช้ในฟาร์ม ในการเลี้ยงไก่ (ผสมอาหาร ผสมน้ำ เป็นยาฉีด) และอาจรวมถึงการปนเปื้อนในวงจรอาหารส่วนที่เหลือ เช่น โรงเชือด การชำแหละ หรือตลาด   2. รายการยาที่ทำการตรวจครั้งนี้มี จำนวน 3 รายการ ยังพบว่ามียาที่อยู่นอกเหนือจากรายการยาที่ประกาศขนาดที่ยินยอมให้มีตกค้าง อาจเป็นไปได้ว่ามีการลักลอบใช้โดยไม่อนุญาต หรือกระทรวงได้มีการประกาศรายการเพิ่มเติมอีก แต่ยังไม่เห็น และพบว่ามีการอ้างอิงประกาศฉบับนี้ในการแถลงข่าวของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปี พ.ศ. 2560 3. การสำรวจครั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไม่ได้ตรวจหา colistin เป็นที่น่าเสียดาย เพราะมีงานวิจัย พบว่ามีการใช้ ยาตัวนี้ในการเลี้ยงไก่ในประเทศไทยด้วย (อ้างอิง1)  โดยรายการยาปฏิชีวนะที่พบใช้ในฟาร์มไก่ คือ  amoxicillin, colistin, oxytetracycline, doxycycline และ  tilmicosin.  การศึกษาที่เชียงใหม่(อ้างอิง2)   พบใช้ Enrolfloxacin และ Sulfadimethoxin ในฟาร์มไก่ไข่ ส่วนในต่างประเทศ มีงานวิจัยระบุการตกค้างยาปฏิชีวนะหลายชนิดในเนื้อไก่ในบังคลาเทศ(อ้างอิง3)   ส่วนในเวียดนาม(อ้างอิง4)   ได้ศึกษาทั้งชนิดยา และยีนการดื้อยาด้วย4. งานศึกษานี้ยังไม่มีการสำรวจ เรื่องการตกค้างของเชื้อดื้อยา ซึ่งมีงานวิจัยในไทย เมื่อ พ.ศ. 2555(อ้างอิง5)   สำรวจเนื้อไก่ในซูเปอร์มาร์เก็ต พบมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน มียีนเชื้อดื้อยาจากเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายชนิด และต่อมามีงานวิจัยมากมายที่ศึกษายีนดื้อยาชนิดต่าง ๆ รวมทั้งชนิดรุนแรง (เช่น MCR-1) จากเนื้อไก่ ในประเทศจีน(อ้างอิง6-7)  -   เนเธอร์แลนด์(อ้างอิง8)    สิงคโปร์(อ้างอิง9)    เป็นต้น5. ภาครัฐควรได้ทำการเฝ้าระวังตรวจการตกค้างของยาปฏิชีวนะในฟาร์ม โรงเชือด ไก่สด หรือในอาหารสำเร็จรูปและแจ้งผลการสำรวจให้ประชาชนทราบอย่างกว้างขวาง และกระทำอย่างสม่ำเสมอ แต่ผลการค้นหาทางอินเตอร์เน็ต พบว่ารายงานจากภาครัฐถึงการ ให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลให้ค้นคว้าได้ง่าย ๆ มีไม่มากนัก ล่าสุดที่ค้นหาได้จาก ทางอินเตอร์เน็ต คือ ผลการรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีพ.ศ. 2560 (อ้างอิง10)    ไม่มีรายละเอียดมากนัก มีเพียงระบุว่าจากการสุ่ม 105 ตัวอย่าง ใน 12 จังหวัด ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ไม่พบการตกค้างของยาต้านจุลชีพตกค้างในเนื้อไก่และเนื้อวัวทุกตัวอย่าง แต่ตรวจพบการตกค้างของยาต้านจุลชีพเกินมาตรฐานเพียง 1 ตัวอย่าง ในเนื้อหมู ซึ่งผลการสำรวจในไก่นั้น ไม่สอดคล้องกับผลที่ทางมูลนิธิ ตรวจพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะในตัวอย่างถึงเกือบครึ่ง6. เป็นประเด็นคำถาม ว่าควรอนุญาตให้มียาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อสัตว์ที่นำมาทำเป็นอาหารหรือไม่ ในมุมมองผู้บริโภค ย่อมไม่ต้องการให้มีการตกค้าง แต่ระบบควบคุมจะจัดการได้อย่างไร แม้จะมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (อ้างอิง11)   ห้ามใช้ยาต้านจุลชีพทุกชนิดผสมลงในอาหารสัตว์ในวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการเจริญเติบโตหรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อาหารสัตว์. โดยยังอนุญาตให้ใช้เพื่อป้องกัน และรักษาอาการป่วย (ใช่หรือไม่) แต่ผลการติดตามการบังคับใช้ให้เป็นไปตามกติกานั้นคงต้องมีความเข้มงวด ต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับการนำเข้าสารเคมีจนถึงการใช้ในฟาร์ม และติดตามการตกค้างในอาหารสดที่ตลาด พร้อมการดำเนินการจัดการตามหน้าที่ เพื่อนำมาเปิดเผยให้ผู้บริโภคได้ทราบ อย่างสม่ำเสมอ7. ควรอนุญาตให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการผสมในอาหารสัตว์หรือไม่  ห้ามทั้งหมด หรือห้ามบางรายการ เป็นอะไรบ้าง เพียงใด และอย่างไร มีงานวิจัยที่รองรับมาตรฐานอย่างไรบ้างในการประกาศ ทั้งนี้คำศัพท์ ที่ผู้บริโภคควรรู้จัก  Chicken with antibiotic free (ตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะในตัวอย่าง) หรือ raise without antibiotics  (เลี้ยงสัตว์โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ยกเว้นเมื่อป่วย ต้องแยกคอก) คำแถลงจาก อธิบดี กรมปศุสัตว์(อ้างอิง12)  “กรมปศุสัตว์มุ่งพัฒนาการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อยกระดับมาตรฐานให้สูงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการควบคุม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังยาหรือสารตกค้างในเนื้อสัตว์อย่างเข้มงวดที่สอดคล้องกับมาตรฐานโลก และมีมาตรการลงโทษตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องหากมีการตรวจพบ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ รายกลาง และเกษตรกรรายย่อย ได้ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ว่าได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัยจากยาและสารตกค้าง สามารถสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิต”8. ผลกระทบของยาปฏิชีวนะนั้นรุนแรงมาก เกิดผลเสียต่อสุขภาพ แม้จะใช้ปริมาณไม่มาก  การดื้อยา การแพ้ยา เป็นความห่วงใยแรก นอกจากนี้เด็กเล็กถ้าได้รับยาปฏิชีวนะในขณะช่วงอายุแรก ๆ ยิ่งถ้าได้รับบ่อย จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอ้วน(อ้างอิง13)  ปัญหาคือ ผู้บริโภคจะทราบได้อย่างไรว่าอาหารที่เรารับประทานนั้นมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะหรือยีนเชื้อดื้อยาหรือไม่    Sir Alexander Fleming ได้บรรยายเมื่อรับรางวัลโนเบล(อ้างอิง14)   ถึงความห่วงใยการดื้อยา ว่า “ I would like to sound one note of warning. Penicillin is to all intents and purposes non-poisonous so there is no need to worry about giving an overdose and poisoning the patient. There may be a danger, though, in underdosage. It is not difficult to make microbes resistant to penicillin in the laboratory by exposing them to concentrations not sufficient to kill them, and the same thing has occasionally happened in the body ”  9. แนวทางการดำเนินงานโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย ในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข  นั้นเป็นเรื่องที่ดี จะติดตามเรื่องการตกค้างยาปฏิชีวนะ หรือยีนเชื้อดื้อยาในวัตถุดิบได้อย่างไร  หากประกันคุณภาพได้ รัฐบาลควรจะได้ขยายแนวคิดอาหารปลอดภัยให้ครอบคลุมทุกท้องที่ และให้ประชาชนในประเทศไทยทุกคนได้รับประโยชน์ต่อเนื่องจากนโยบายนี้10. ไทยมียุทธศาสตร์การจัดการดื้อยาต้านจุลชีพ ประเทศไทย พ.ศ.2560-2564.  โดยทำแผนปฏิบัติการแล้ว ทั้งนี้ยุทธศาสตร์มีพัฒนาการมาจากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8  คงต้องมีการติดตามผลงานที่เกี่ยวข้องที่ใกล้ตัวผู้บริโภค ทั้งเรื่องอาหาร สิ่งแวดล้อม และผลกระทบจากโรงพยาบาล ในลักษณะสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) อย่างจริงจัง----------------------------------------------------------------------------------------(อ้างอิง1)  Wongsuwan G, et al (2017) Antibiotic use in poultry: a survey of eight farms in Thailand.  Bull World Health Organ  96(2): 94–100.(อ้างอิง2)  ณัฐธิดา สุขสาย และคณะ (2559) การใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์ : กรณีศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ . วารสารเภสัชกรรมไทย 8(2): 282-294.(อ้างอิง3) Sarker YA, et al (2018) Screening of antibiotic residues in chicken meat in Bangladesh by Thin Layer Chromatography.   J Adv Vet & Animal Res 5(2): 140-145.(อ้างอิง4)  Nguyen TH, et al (2018) Antimicrobial residue and resistance against critically important antimicrobials in non-typhoidal Salmonella from meat sold at wet-markets and supermarkets in Vietnam. Int J Food Microbiol 266:301-309.(อ้างอิง5) Chaisatit C, et al (2012) Molecular Characterization of Antibiotic-Resistant Bacteria in Contaminated Chicken Meat Sold at Supermarkets in Bangkok, Thailand.  Jpn. J. Infect. Dis., 65, 527-534. (อ้างอิง6)Hang J, et al (2018) Molecular detection of colistin resistance genes (mcr-1, mcr-2 and mcr-3) in nasal/oropharyngeal and anal/cloacal swabs from pigs and poultry.  Sci Rep. 8: 3705.(อ้างอิง7)Liu J, et al (2018)  Isolation of an IncP-1 plasmid harbouring mcr-1 from a chicken isolate of Citrobacter braakii in China. Int J Antimicrob Agents. 51(6):936-940.  (อ้างอิง8) Schrauwen EJA, et al (2017) High prevalence of the mcr-1 gene in retail chicken meat in the Netherlands in 2015. Antimicrob Resist Infect Control. 6: 83.(อ้างอิง9) Zwi YH, et al (2018) Prevalence, sequence types, antibiotic resistance and, gyrA mutations of Salmonella isolated from retail fresh chicken meat in Singapore.  Food Control 90: 233-240.(อ้างอิง10)  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวังยาต้านจุลชีพตกค้างในเนื้อสัตว์ 27  ก.ค. 2560   (accessed July 2018)http://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/136 (อ้างอิง11) ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เรื่องกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด ลักษณะ หรือคุณสมบัติของวัตถุที่ห้ามใช้ผสมในอาหารสัตว์  พ.ศ. 2558  (อ้างอิง12) กรมปศุสัตว์ระวังยาปฎิชีวนะตกค้าง ในเนื้อสัตว์ตามมาตรฐานสากล (accessed July 2018) http://certify.dld.go.th/certify/index.php/th/2016-04-30-03-59-03/2016-05-01-02-55-53/476-2016-11-21-03-29-40 (อ้างอิง13) Rasmussen SH, et al (2018) Antibiotic exposure in early life and childhood overweight and obesity: A systematic review and meta-analysis. Diabetes, Obesity, and Metabolism  20: 1508-1514.(อ้างอิง14) AL E X A N D E R F L E M I N G (1945) Penicillin Nobel Lecture, December 11, 1945https://www.nobelprize.org/nobel_prizes/medicine/laureates/1945/fleming-lecture.pdf  @page { margin: 0.79in } p { margin-bottom: 0.1in; direction: ltr; line-height: 120%; text-align: left; orphans: 2; widows: 2 } a:link { color: #0563c1 }

อ่านเพิ่มเติม >