ฉบับที่ 210 มีอะไรอยู่ในไข่

ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ตกพรำๆ เข้าฤดูฝนแล้ว บรรยากาศชุ่มฉ่ำ อากาศแบบนี้ช่างน่านอนอยู่ใต้ผ้าห่มเหลือเกิน แต่อากาศแบบนี้ก็อาจมีผลกระทบกับอาหารที่เราต้องบริโภค มาดูกันว่าช่วงฝนตกแบบนี้ จะมีผลกระทบกับอาหารอย่างไรเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คุณภูผาเดินทางไปยังร้านมหาชัยซุปเปอร์กรุ๊ป สาขาขอนแก่น เพื่อซื้อของอุปโภคและบริโภคประจำเดือน โดยได้ซื้อไข่ไก่สดของเบทาโกร จำนวน 1 แพ็ค 10 ฟอง ฉลากระบุว่า วันที่บรรจุ 28/04/18 และควรบริโภคก่อน 19/05/18 แต่เมื่อคุณภูผานำไข่ออกมาประกอบอาหาร ก็สังเกตเห็นสิ่งผิดปกติในไข่ พบจุดลักษณะสีดำคล้ายเชื้อราอยู่ในไข่ที่ตอกออกมา  จึงติดต่อไปยังฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ตามเบอร์โทรศัพท์ที่อยู่ข้างกล่อง พนักงานผู้รับสายแจ้งว่า จะให้เจ้าหน้าที่มารับสินค้าไปตรวจหาสาเหตุไข่เสียก่อนวันควรบริโภคที่กำหนด จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิ เพื่อให้ติดตามเรื่องการตรวจพิสูจน์แนวทางการแก้ไขปัญหา            ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้แจ้งผู้ร้องว่า หากร้านค้าและบ.เบทาโกร จำหน่ายไข่ไก่ที่เสียก่อนวันที่ควรบริโภคตามที่ระบุไว้ อาจเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 25 (1) ประกอบมาตรา 29 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522            เบื้องต้นผู้ร้องได้แจ้งไปยังบริษัทฯ เพื่อให้จัดการปัญหา และบริษัทฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่มารับไข่ไก่ไปตรวจแล้ว ศูนย์พิทักษ์ฯ จึงแนะนำคุณภูผาให้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน และให้สอบถามไปยังบริษัทฯ ว่าต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจพิสูจน์กี่วัน หากเกินระยะเวลาที่บริษัทแจ้ง ให้ผู้ร้องแจ้งกลับมายังศูนย์พิทักษ์ฯ อีกครั้ง เพื่อที่ศูนย์ฯ จะตามผลการตรวจกับบริษัทฯ ให้             หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนประมาณ 5 วัน ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ติดต่อไปยังผู้ร้องเพื่อสอบถามความคืบหน้า ได้ความว่า บริษัทฯ ชี้แจงต่อผู้ร้องว่า ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝนอาจทำให้เกิดเชื้อราก็เป็นได้ และนำสินค้ามาเปลี่ยนให้ใหม่ ซึ่งผู้ร้องไม่ได้ติดใจอะไรกับบริษัทอีก จึงขอยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 เมื่อชุมชนปฏิเสธเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ใกล้ชุมชน-โรงเรียน

ท่ามกลางความสับสนเรื่องอันตรายจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ หลายประเด็นยังถกกันไม่จบ อย่างไรก็ตามเมื่อมีความเสี่ยงต่อสุขภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง คนที่น่าจะได้มีส่วนตัดสินใจว่าจะยินยอมให้มีการเข้ามาตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ใกล้บ้านใกล้ชุมชนหรือไม่นั้นก็ควรเป็นคนในพื้นที่เอง เรามีกรณีน่าสนใจเกี่ยวกับการใช้สิทธิชุมชนในการตัดสินใจต่อเรื่องดังกล่าวมาฝาก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับชุมชนอื่น โดยศูนย์ข่าวผู้บริโภคภาคอีสาน เป็นผู้นำเรื่องราวมาถ่ายทอดดังนี้  เมื่อวันอังคารที่  19  มิถุนายน  2561 ที่ผ่านมา ที่ศาลาชุมชนหมู่ที่ 4 บ้านคำบอน ต.โคกสูง อ.อุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น  ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อชี้แจงการจัดตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ในชุมชน  โดยมีประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมเป็นจำนวนกว่า 100 คน  ในการประชุมมีการตั้งโต๊ะลงทะเบียนจำนวน 2 ชุด หนึ่งชุด  ไม่มีรายการว่าลงเพื่อทำอะไร  อีกหนึ่งชุดเป็นของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) เขียนว่าเป็นการเข้าร่วมประชุมชี้แจงกับทางบริษัททรูฯ พร้อมทั้งแจกแผ่นพับจาก กสทช. เรื่อง “ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเสาส่งสัญญาณมือถือและสุขภาพ ” และมีการถ่ายรูประหว่างคนรับแผ่นพับกับตัวแทนของบริษัทฯ    เริ่มต้นมีกำนันตำบลโคกสูงได้ชี้แจงว่า วันนี้ไม่ใช่การทำประชาคม  แต่เป็นการชี้แจงของทางบริษัทฯ ที่จะมาตั้งเสาในชุมชนเท่านั้น  เมื่อเริ่มต้นการประชุม   มีผู้หญิงคนหนึ่งแนะนำตัวว่า เป็นตัวแทนจากบริษัทฯ ได้นำเสนอสไลด์เรื่อง คลื่นจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับคน  และอ้างว่าองค์กรอนามัยโลกประกาศว่าคลื่นจากเสาไม่เป็นอันตราย  จากนั้นได้เปิดวีดิทัศน์ที่ไปถ่ายทำสัมภาษณ์คนที่อยู่ใกล้เสาจากสถานที่ต่างๆ ว่าไม่เป็นอันตราย โดยมีพิธีกรของงานกล่าวย้ำว่า คลื่นจากเสาไม่เป็นอันตรายต่อมาเมื่อเปิดให้ชาวบ้านได้ซักถาม มีตัวแทนชาวบ้านได้พูดโดยกล่าวอ้างอิง ข้อมูลจากงานเขียนของนักวิชาการท่านหนึ่งว่า คลื่นจากเสานั้นก่อให้เกิดอันตรายกับคนที่อยู่ใกล้ในรัศมี  300 เมตร ก่อให้เกิดอาการปวดหัว  นอนไม่หลับ  ความจำเสื่อม  สายตาพร่ามัว  อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย   ซึมเศร้า  วิงเวียน  ขาดสมาธิ  มีผลต่อสมอง  เชลล์สืบพันธุ์  หัวใจวาย  มะเร็ง  เป็นหมัน  หน้ามืด   สับสน  อ่อนเพลีย  ความจำเสื่อม  ชักกระตุก  มะเร็งเต้านม  มะเร็งต่อมลูกหมาก  มะเร็งเม็ดเลือดขาว  ล้วนแล้วแต่เป็นบ่อเกิดสารพัดโรค  เพื่อค้านข้อมูลจากฟังของบริษัทฯ และตัวแทนชาวบ้านคนถัดมา ซึ่งเป็นลูกหลานชาวบ้านท่านหนึ่งที่เรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้พูดว่า “ข้อมูลที่ทางบริษัทนำเสนอมีแต่สิ่งดีๆ  จึงอยากให้พี่น้องชาวบ้าน ได้ฟังเรื่องราวข้อมูลอีกด้านไว้เพื่อชั่งน้ำหนัก   และชาวบ้านก็ไม่ได้มาคัดค้านการตั้งเสาส่งสัญญาณด้วยว่าเห็นประโยชน์ในเรื่องการสื่อสาร  แต่ต้องการให้ตั้งออกห่างจากชุมชนและโรงเรียน ตามประกาศ กสทช. ที่ให้หลีกเลี่ยงตั้งใกล้ชุมชน  โรงเรียน”  พร้อมนำคลิปข่าวมาเปิดให้ชาวบ้านชม ซึ่งเป็นข่าวที่ทางช่อง 7 ไปสัมภาษณ์ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เสาว่า ได้รับผลกระทบจากคลื่นอย่างไรบ้าง เช่น ปวดหัว  อ่อนเพลีย  จนท้ายที่สุด เมื่อบริษัทฯ ได้สอบถามชาวบ้านที่มาประชุมวันนั้น ว่าท่านใดต้องการให้มีการตั้งเสาใกล้ชุมชน-โรงเรียน ผลปรากฏว่าไม่มีใครยกมือสนับสนุน  พอสอบถามว่ามีท่านใดไม่ต้องการให้ตั้งเสาใกล้ชุมชน-โรงเรียน  กลับปรากฏว่า เกือบทุกคนในที่ประชุมยกมือไม่เห็นด้วยกับการตั้งเสา  จึงเป็นข้อยุติว่า  การที่บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) จะมาตั้งเสาในพื้นที่ใกล้ชุมชนและโรงเรียนในหมู่ที่ 4 บ้านคำบอนนั้น คนในชุมชน  “ ไม่เห็นด้วย ” บริษัทฯ จึงต้องยุติเรื่องดังกล่าวไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 “เรื่องของเด็ก ที่ไม่ใช่เรื่องเด็กๆ”

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว โดยสภามหาวิทยาลัยมหิดล และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี เล่าว่าสาเหตุที่เลือกเรียนด้านกุมารเวชศาสตร์นั้น เพราะมองว่าปัญหาสุขภาพเด็ก นอกจากเกี่ยวข้องกับสุขภาพแล้ว หากมองลึกลงไป ยังมีเรื่องนโยบายอยู่เบื้องหลังด้วย เช่น ปัญหาทารกน้ำหนักตัวน้อย สาเหตุหนึ่งมาจากการที่มารดาได้รับโภชนาการที่ไม่ดี และหากวิเคราะห์กันให้ลึกลงไปถึงสาเหตุว่าทำไมมารดาจึงไม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ สาเหตุที่แท้จริงก็มาจากการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม  จึงทำให้ไม่มีเงินซื้ออาหารที่มีประโยชน์ ทุกสิ่งเป็นเหตุและผล จากวันนั้นมาจนวันนี้ เรื่องราวของเด็กน้อย จึงไม่ใช่เรื่องของเด็กอีกต่อไปเพราะ มันส่งผลถึงอนาคตของประเทศด้วย อาจารย์อดิศักดิ์ เล่าภาพรวมปัญหาเด็กกับการคุ้มครองผู้บริโภคในบ้านเราว่า ในศูนย์วิจัยความปลอดภัยในเด็กนี้ ทำ 5 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1) อุบัติเหตุ แบ่งเป็นเรื่องย่อยอีก เช่น จมน้ำ จราจรทางถนน  ความร้อน ฯลฯ 2) ความรุนแรง การทำร้ายเด็ก 3) มลพิษ มลพิษจากทางดิน ทางน้ำ ทางอากาศ จากภาคอุตสาหกรรมทั้งหลาย 4) ภัยพิบัติ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ 5) ภัยจากข้าวของเครื่องใช้ ผลิตภัณฑ์ อยู่ในกลุ่มการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งภัยจากข้าวของเครื่องใช้ถือเป็น 1 ใน 5 กลุ่มงานที่เราทำที่นี่ เน้นที่เป็น ข้าวของเครื่องใช้ของเด็ก ของเล่นเด็ก ซึ่งมีหลายตัว โดย “ของเล่น” เรามีทำวิจัยไปหลายชนิด ทำตั้งแต่ทางด้านกายภาพ ด้านเคมี โดยการไปตรวจสอบ(ทดสอบ) ของเล่นแล้วดูว่ามีอันตรายไหม เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือเปล่า เพราะมาตรฐานอุตสาหกรรมของเล่นนี้เป็นมาตรฐานบังคับ เมื่อสิบกว่าปีก่อนที่เราเริ่มจับประเด็นนี้ เราพบว่า ของเล่นส่วนหนึ่ง ซึ่งมีสัดส่วนสูงทีเดียวที่ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐาน และทางด้านกายภาพก็อาจจะมีอันตราย เช่น มีความแหลมคม มีช่องรูที่อาจจะไม่เหมาะสม ด้านเคมีก็ตรวจพบเจอสารตะกั่วในค่าที่สูงมาก ซึ่งเรื่องแบบนี้ต้องมีการแถลงข่าว มีการประชุมร่วมกันของเครือข่าย ทั้งด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทาง สคบ. กระทรวงอุตสาหกรรม มอก. ทั้งหลาย รวมทั้งอีกหลายภาคส่วนของภาครัฐ สมัยก่อน การแถลงข่าวก็ยังมีความเกรงใจกันว่าจะแถลงข่าวอย่างไรเกรงใจผู้ผลิตอาจจะไปโดนผู้ผลิตหลายรายเช่นกัน ไม่รู้ที่มาที่ไปของสินค้า เช่น ไม่รู้ว่ามีการผ่าน มอก. แล้ว แต่มาเปลี่ยนวัตถุดิบทีหลัง ทำให้มาเปลี่ยนโครงสร้างทีหลังแต่ไปยึดเอา มอก. เดิมมาใช้ ทำให้มันผิดไปจากมาตรฐานการส่งตรวจตั้งแต่แรก หรือว่าเป็นเพราะมีการนำเข้าของที่มันไม่อยู่ในการตรวจตั้งแต่แรก โดยที่ตอนแรกนำเข้ามาแบบหนึ่ง ตอนหลังเป็นการนำเข้าแบบอื่นๆ โดยใช้การตรวจผ่านในกลุ่มเดียวกัน อย่างเช่น กลุ่มพลาสติกทั่วไป แต่แบบของเล่นเปลี่ยนไปหมดเลย ทั้งที่ตัวเองได้ผ่านในกลุ่มพลาสติกทั่วไปในของเล่นลักษณะหนึ่ง  แต่ผลิตในรุ่นหลังๆ เปลี่ยนลักษณะไปหมด แต่ยังเอาตัว มอก. เดิมมาปะบนฉลากเลย หรือบางบริษัทไม่มีเลยตั้งแต่แรก ไม่เคยมาขออนุญาตเลยทำให้ไม่รู้ที่มาที่ไป สุดท้ายในคราวนั้นมีการนำเรียนท่านรองนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นคือท่านไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ซึ่งท่านมีการแถลงเอง โดยท่านยกของเล่นทั้งหมดที่เราตรวจสอบมาแถลง นั่นเป็นครั้งแรกที่มีการทำวิจัยเรื่องของเล่นกัน ผลการแถลงครั้งนั้นต่อมา “ของเล่น” ก็มีการปรับปรุง มีการไปตรวจสอบตลาดซ้ำ ก็มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น   แสดงว่ามาตรฐานของเล่นดีขึ้นแล้วตอนนี้             ก็ดีขึ้น แต่ “ของเล่น” ก็มีปัญหาอีกหลายเรื่อง อย่างตอนเจอของเล่นแปลกๆ ทีมก็ลองไปเช็คดู เช่น ปืนอัดลมที่มีกระสุนเม็ดพลาสติกเม็ดสีเหลืองๆ กลมๆ เล็กๆ กระบอกละ 50 - 60 บาท ปรากฏว่า ความเร็ว (ของกระสุนที่ยิงออกไป) ก็เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด แต่พอได้ตรวจสอบเข้าจริง พวกนี้จะไม่ใช่ของเล่นแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมถือว่า ไม่ใช่ของเล่นแต่เป็นสิ่งเทียมอาวุธ แล้วในกลุ่มนี้มีอะไรอีกบ้าง ปรากฎว่า ปืนฉีดน้ำก็ไม่ใช่ของเล่นนะ ปืนอัดลมก็ไม่ใช่ของเล่น ตัวดูดขยายก็ไม่ใช่ของเล่น พวกของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์ใส่น้ำยาเคมีลงไปเกิดฟองฟู่ขึ้นมาคล้ายเป็นภูเขาไฟ ถ้าอันนี้ถือเป็นของเล่นเพื่อการศึกษา ซึ่งไม่เกี่ยวกับ “ของเล่น” ตามนิยามกฎหมาย แต่เป็นอุปกรณ์การศึกษา บางทีผู้ผลิต “ของเล่น” ก็อาจไปให้นิยามตัวเองว่า เป็นของประดับ เช่น ตุ๊กตาบางอย่าง ไปลงฉลากว่า เป็นของฝากของประดับแล้วก็หลบหลีกจากนิยามของเล่นกันหมด ดังนั้นจึงพบว่าของเล่นอีกหลายประเภทก็ใช้วิธีการนิยามว่า ไม่ใช่ของเล่น แต่เวลาไปวางขายกลับไปอยู่ในชั้นของเล่นวางขายเต็มไปหมด เครื่องบินที่บอกตั้งโชว์ ก็ไปวางไว้ในชั้นของเล่น และพวกนี้ก็มีอันตรายไม่ได้ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม ทีมวิจัยจึงเกิดอีกบทบาทหนึ่งขึ้น คือทำงานร่วมกับ สคบ.(สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) ทำในเรื่องของสินค้าที่ไม่เข้ากับกฎหมายใด (ไม่มีหน่วยงานเฉพาะเจาะจง) สินค้าแบบนี้เป็นหน้าที่ของ สคบ.ที่จะไปจัดการทั้งหมด เช่น มีประกาศของเล่นตัวยืดขยาย ลูกโป่งวิทยาศาสตร์ที่เป็นน้ำยาเคมีที่เป่า ปืนฉีดน้ำที่เป็นท่อกระบอกพีวีซี เหล่านี้ ก็เป็นของที่หลุดมาตรฐานจากกระทรวงอุตสาหกรรม หลุดจากนิยามของเล่นจากกระทรวงอุตสาหกรรม แล้วมาถูกจัดการด้วยประกาศสินค้าที่เป็นอันตรายของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคในเวลาต่อมา   ทางศูนย์วิจัยยังทำเรื่องกระเป๋านักเรียนอยู่ไหมคะ           กระเป๋านักเรียนเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากเลย เพราะว่าเราเห็นเด็กๆ แบกกันอุตลุด ตอนก่อนโน้นก็ไปดูมาตรฐานการแบกของ แม้แต่ของผู้ใหญ่เองในการประกอบอาชีพ ก็จะมีมาตรฐานกำหนดอยู่ ในของเด็กเองเมื่อมาเทียบเคียงแล้วก็มีในหลายประเทศที่เขาห้ามการแบกของหนัก ซึ่งในบ้านเราตอนนั้นทีมไปวิจัยกันมา มีการแบกกันหนักมาก จากค่ามาตรฐานของหลายประเทศจะยึดถือที่ค่าอยู่ระหว่าง 10 – 20 % ของน้ำหนักตัว เรายึดค่ากลาง คือที่ประมาณ 15% ของน้ำหนักตัว จะให้ดีต้องต่ำกว่า 10% รุนแรง/ร้ายแรงถ้าเกิน 20% เราก็ไปยึดที่ค่า 15% ของน้ำหนักตัว พอลองไปชั่งน้ำหนักกระเป๋าบวกถุงศิลปะบวกปิ่นโตอาหารของเด็กที่แบกมา โรงเรียน พบว่า ถ้าเป็นเด็ก ป.2 นะ ป.1 ยังไม่เท่าไหร่ ป.5 – ป.6 ก็ยังไม่เท่าไหร่ หนักสุดก็พวก ป.2, ป.3, ป.4 พวกนี้เป้จะมีน้ำหนักมาก มากกว่าครึ่งหนึ่งที่แบกของเกินกว่าร้อยละ 15 ของน้ำหนักตัว       ตอนนั้นมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนะ มหาวิทยาลัยหอการค้าด้วย ก็ไปทำการวิจัยกันต่ออีก ต่างคนต่างทำแต่ก็เอาข้อมูลมาดูๆ กัน แลกเปลี่ยนกัน ก็จะเจอปัญหาคล้ายๆ กันทั้งหมดว่า แบกเกิน ประกอบกับทางวิศวกรรมจุฬา สาขาวิศวกรรมอุตสาหการก็มีความสนใจในเรื่องนี้ด้วย อ.ไพโรจน์ ก็ส่งนักศึกษามาทำวิทยานิพนธ์ร่วมกับศูนย์วิจัยความปลอดภัยในเด็ก รวมกับอีกหลายชิ้นงานที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการแบกกระเป๋าแล้วทำให้เกิดกระดูกสันหลังคด ต่อมาค่าแรงที่เด็กทนได้(การรับน้ำหนัก) ต่างๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงข้อแนะนำ เช่น ร้อยละของน้ำหนักตัวจะไม่เหมาะสมในกรณี เด็กมีน้ำหนักมาก คำนวณไปแล้วมีโอกาสแบกกระเป๋าได้เยอะมาก มันไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น วัดจากค่าแรงแล้วมีการปรับเปลี่ยน ยึดเอาอายุ อายุก็ไปแปลงเป็นชั้นปี เช่น ป.1 ป.2 fix ที่น้ำหนักค่าหนึ่ง ป.3 ป.4 fix ที่น้ำหนักค่าหนึ่ง อย่างนี้เป็นต้น เกิดเป็นคำแนะนำขึ้นมา เกิดการผลักดันมาตรการการเฝ้าระวังของโรงเรียนขึ้น เช่น คุณครูชั่งน้ำหนักกระเป๋าของเด็กอย่างสม่ำเสมอ มี record บันทึกไว้ และมีมาตรการการลดน้ำหนักของเป้หรือกระเป๋า โดยของใช้บางอย่าง สามารถเก็บของไว้ใต้โต๊ะได้ มีตู้เก็บของ เก็บเอกสาร อย่างนี้เป็นต้น มีข้อแนะนำให้สำหรับผู้ปกครองด้วย ว่าให้ช่วยจัดกระเป๋าให้ลูก เพราะหลายคนแบกเพราะว่าไม่จัดตารางสอน อย่างนี้เป็นต้น มีการดีไซน์กระเป๋าให้เหมาะสมในการแยกเป็นช่องเล็กช่องน้อย แล้วก็ในการวางของให้กระจายออกตามช่องต่างๆ เพื่อกระจายน้ำหนักออกไป ไม่ถ่วงอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง มีข้อแนะนำการแบกกระเป๋า เช่น กระเป๋าจะต้องแบกด้วยสะพายสองสายเสมอ ไม่สายเดียว มีสายรัดเอวเพื่อให้ช่วงล่างที่เป็นช่วงที่น้ำหนักถ่วงอยู่นั้นแนบติดกับลำตัว และช่วงล่างสุดไม่ต่ำกว่าบั้นเอวของเด็กลงไป จะช่วยให้อาการการปวดหลัง การเกิดกระดูกสันหลังคดงอในขณะแบกกระเป๋าลดน้อยลง ยังมีความพยายามที่จะออกเป็นมาตรการที่ชัดเจน มีการประชุมที่สภาผู้แทนราษฎร โดยคณะอนุกรรมาธิการด้านการคุ้มครองเด็กและเยาวชน ปรากฎว่า หลังการประชุมมีการเชิญผู้ใหญ่มาเยอะนะ แต่ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎระเบียบ เรื่องการแบกกระเป๋าหนักๆ นี้ สามารถที่จะสานต่อให้เป็นชิ้นเป็นอันได้มากขึ้น อยากให้มีคนรับรู้มากขึ้น ให้ขยายตัวมากขึ้นจะสอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาการเรียนด้วย การแบกของหนักๆ มากๆ ก็ไม่สอดคล้องกับรูปแบบการศึกษา   แล้วหากเปลี่ยนเป็นเรียนผ่านแทบเลต           แทบเลตนี่เคยมีการแจกกันตอน ป.1 ทั้งประเทศ ก็เป็นเรื่องน่าคิดเหมือนกัน แทบเลตก็เป็นสินค้า เป็น สินค้าที่พบว่า มีการละเมิดความปลอดภัยในเด็กและมีการส่งเสริมให้ใช้ถึงขนาดเป็นนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ณ ห้องเรียนอิเลคโทรนิค มีคนพูดมากมาย อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของความพยายามที่จะใช้เทคโนโลยี แต่เราต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีที่อยู่ภายใต้สินค้าชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีระดับของเศรษฐกิจที่สูง มีการประมูลถึงหมื่นๆ ล้านบาท สินค้าตัวแทบเลตเองมันจะวิ่งได้ก็ต้องมีแอปพลิเคชันที่อยู่ภายใต้อินเทอร์เน็ต ตัวอินเทอร์เน็ตก็ถือว่าเป็นสินค้าที่ซ่อนอยู่ในตัวแทบเลตหรือตัวโทรศัพท์มือถืออีกต่อหนึ่ง ถือว่าเป็นสินค้า 2 ชิ้น ที่ซ่อนเร้นกันอยู่ การกระตุ้นให้เด็กใช้บูรณาการด้านการศึกษาถือว่ามีประโยชน์มากมาย สามารถใช้ค้นคว้าหาความรู้ สร้างรูปแบบการศึกษาที่เป็นมัลติมีเดีย มีรูปมีเสียงที่กระตุ้นการศึกษาได้ แต่ขณะเดียวกัน โทษก็มากมายเช่นเดียวกัน การทำเช่นนี้ได้จะต้องยอมรับประโยชน์และโทษในเวลาเดียวกัน และผู้ลงทุนก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อคุณรับผิดชอบต่อประโยชน์ เช่น เก็บเงินค่าอินเทอร์เน็ต 500 บาท ต่อ เด็ก 1 คน ทุกเดือนพ่อแม่ต้องจ่ายเพื่อรักษาสายอินเทอร์เน็ต ก็ควรต้องมีการแสดงความรับผิดชอบเมื่อเกิดโทษต่อเด็กด้วย แต่ปัจจุบันไม่เห็นตรงจุดนี้ ไม่มีการคิดเกี่ยวกับคนที่เอาข้อมูลมาใส่ เกี่ยวกับถนน(ช่องทาง) ที่สร้างไปให้ถึงตัวเด็ก เกี่ยวกับรถ(เนื้อหา) ที่วิ่งอยู่บนถนนปล่อยทุกอย่างให้ไปชนเด็กเอง แล้วก็เอากำไรอย่างเดียวไม่นึกถึงโทษที่เกิดขึ้นทั้งสิ้นเลย ดังนั้นเด็กที่ได้แทบเลตฟรีจากรัฐบาล เสียค่าอินเทอร์เน็ตเอง ถ้าใครต่อไวไฟโรงเรียนก็รอดไปไม่ต้องเสีย แต่ถ้าใครต่ออินเทอร์เน็ตออนไลน์ด้วยก็ต้องจ่ายเอง ส่วนโรงเรียนเองก็ปล่อยไวไฟ แต่ซึ่งข้อมูลต่างๆ ไม่มีการกรอง เป็นอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้ใหญ่ไม่ใช่อินเทอร์เน็ตสำหรับเด็ก เด็ก 1 คนจึงสามารถที่จะเข้าไปดูภาพโป๊ด้วยการพิมพ์คำว่า “โป๊” คำเดียว โดยเด็กอายุ 6 ปี ซึ่งคุณครูบอกให้ส่งการบ้านผ่านเฟซบุ๊ค ขณะเดียวกันกดอีกทีก็เป็น “ภาพโป๊แทน” แบบนี้ก็ได้ เล่นเกมส์ที่แบบเลือดสาด เรตติ้ง 13 – 18 ปี ให้เล่น เด็กก็เล่นได้หมด โซเชียลมีเดียที่คนอายุที่เขาเขียนไว้อยู่แล้วไม่ให้ 13 ปีเล่น ให้พ่อแม่มาลงทะเบียน เด็กก็เข้าได้หมด ตัวระบบไม่ได้ป้องกัน ทั้งหมดก็ยกให้เด็กป้องกันตัวเองหมด อยู่บนแทบเลตที่รัฐบาลเป็นคนแจก อยู่บนอินเทอร์เน็ตที่เด็กต้องจ่ายเงินเอง แล้วคนเก็บเงินไปบอกว่าไม่รับผิดชอบ ไม่เกี่ยวกับเขา เกี่ยวกับคนใส่ content เข้ามา ทีนี้พอมีการพูดถึงจะสร้างระบบเป็น single gateway เพื่อให้การควบคุมเป็นจริงได้มากขึ้นคนก็ร่วมกันถล่มทลายในเรื่องสิทธิ ซึ่งคนเหล่านั้นแน่นอนต้องเป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด ไม่มีเด็กคนไหนมาอ้างสิทธิเรื่อง single gateway แน่นอนเพราะยังไม่รู้เรื่องเลยว่ามันคืออะไรด้วยซ้ำไป แต่ว่าผลลัพธ์ก็คือ ผลเสียต่อตัวเด็กทั้งหมด อันนี้เป็นตัวอย่างของสินค้า “สองชิ้นซ่อนอยู่ในผลิตภัณฑ์ชิ้นเดียว”  ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนให้เกิดขึ้นโดยภาครัฐเอง แล้วก็ยกเว้นการลงทุน เช่น การทำ parental control การเซ็นสัญญาระหว่างพ่อแม่กับบริษัทอินเทอร์เน็ตกรณีที่จะส่งสายนี้เป็นสายของลูก  และบริษัทไม่ต้องลงทุนทำอะไร ถ้าเป็นสายของลูกจะทำให้เกิดการเซ็ตอินเทอร์เน็ตให้ได้ เช่น ฝ่าย parental control เป็น automatic ให้หรือว่าลงทุนทำ แอปพลิเคชัน parental control ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คัดกรองแอปพลิเคชันให้เกินอายุเด็กออกไปให้หมดให้ได้ ก่อนจะไปเก็บเงินเด็ก พวกนี้ก็ไม่ทำทั้งสิ้น แล้วก็ถูกยอมรับโดยสังคมว่า ถูกต้องแล้ว บริษัทแบบนี้ทำถูกต้องแล้ว ทำมากกว่านี้ไม่ถูกต้อง อย่างนี้ดีแล้ว ขณะเดียวกันก็มาพูดเรื่อง white Internet แล้วไม่ได้ทำจริง ถึงเวลาจะทำจริงก็คัดค้านทั้งหมด ก็ไปสอดคล้องกับเรื่อง E-Sport ที่โผล่ขึ้นมาบนออนไลน์ก็เช่นเดียวกัน   พอปัญหาถูกปล่อยให้เกิดไปเรื่อยๆ มาแก้ทีหลังก็ยากแล้ว อันนี้ก็เป็นผลมาจากที่เราไม่คัดกรองผลิตภัณฑ์ให้เด็กใช้ สุดท้ายก็ถูกประยุกต์ใช้ต่างๆ มากมายแล้วก็ยิ่งคัดค้านยากขึ้นไปใหญ่  และเด็กก็เล่นได้ทุกอายุเช่นเดียวกัน E-Sport นี่เด็กเล่นกันจนเสียการเรียนและไม่มีอายุจำกัด ตั้งสมาคมได้โดยไม่ต้องผ่านการกีฬาแห่งประเทศไทยด้วยซ้ำ แล้วก็ไม่ต้องมีระเบียบด้วยซ้ำไปว่าเด็กอายุเท่าไหร่ถึงจะเข้าสู่การแข่งขันที่เขารับรองว่าเป็นกีฬา ไม่ต้องมีระเบียบอะไรเลยแล้วจะพูดถึงระเบียบก็พูดถึงว่า มีการเติบโตกันไปเยอะแล้วเศรษฐกิจนี้เป็นหลายแสนล้าน ต่างประเทศเดินหน้าเต็มตัวแล้วเรายังจะมาชักช้าได้อย่างไร ทั้งหมดนี้ก็เป็น “สินค้า” ทั้งนั้นเพียงแต่อยู่ในรูปเป็นข้าวของเครื่องใช้หรือเป็น air line ลอยทางอากาศ หรืออะไรก็ตามแต่ แต่ก็เป็นเรื่องของผู้บริโภค แล้วก็เป็นเรื่องของภัยที่ซ่อนเร้นภายใต้เศรษฐกิจที่ต้องเติบโตทำให้มองหรือพยายามที่จะไม่มองว่าเป็นภัย จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมากว่า การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นบรรทัดฐานจริงหรือเปล่า ในสังคมไทยถ้าพูดถึง สิ่งที่ไม่เป็นชิ้นเป็นอันหรือว่าเป็นสิ่งที่ลอยอยู่ในอากาศ ยิ่งไม่มองยิ่งมีความรู้สึกว่าต้องคุ้มครองผู้บริโภคให้มากขึ้นโดยเฉพาะเด็ก   ปัญหาเยอะขนาดนี้อาจารย์เคยท้อบ้างไหมคะ ไม่ๆ ถือว่าเป็นธรรมชาติ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ เพราะเราคงไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมดได้อยู่แล้ว แต่เชื่อว่าถึงวันหนึ่งก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะทุกเรื่องก็แบบนี้ สมัยก่อนถนนอันตราย ถึงวันหนึ่งถนนก็ปลอดภัยมากขึ้นเมื่อร่ำรวยมากขึ้น โรงงานทุกวันนี้ก็ปล่อยสารพิษ มาตรการความปลอดภัย ออกกฎหมายไม่ยอมทำ ขยะอุตสาหกรรม ทิ้งมั่ว เอาของจากต่างประเทศข้ามมาทิ้งอีกต่างหาก ถึงวันหนึ่งก็จะดีขึ้น อินเทอร์เน็ตก็เหมือนกัน สินค้าเหล่านี้ก็เหมือนกัน ตอนนี้เรารู้สึกว่าเสรีมาก เศรษฐกิจต้องโตห้ามกันไม่ได้ แต่ถึงวันหนึ่งเกิดผลเสียมากๆ ก็จะดีขึ้น เราจะอยู่ในโลกที่ปลอดภัยมากขึ้น เพียงแต่ว่าวันนั้นนานหรือเปล่า แต่ก่อนที่จะถึงวันนั้น มันจะต้องมีคนส่วนหนึ่งไปไม่ถึงวันนั้นแน่นอนอยู่แล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 มูลค่าเงินชดเชยเมื่อประสบอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ

ประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่ว่าด้วยเรื่อง การชดเชยเยียวยาให้กับผู้ประสบเหตุ หรือผู้ได้รับความเสียหายจากกใช้บริการ เช่น สิทธิตามมาตรา 41 ของกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรณีประสบเหตุทางถนนหรือรถยนต์ สามารถเบิกค่าเสียหายตามวงเงินที่กำหนดไว้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้กับผู้เสียหาย(จำเลย) ในคดีอาญาที่สามารถขอรับเงินช่วยเหลือได้ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา กระทรวงยุติธรรมสรุปว่ามีหลายกองทุนชดเชยเยียวยา ซึ่งแต่ละกองทุนมีกลุ่มเป้าหมายเป็นของตนเอง โดยมีหลักการที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการกำหนดถึงวัตถุประสงค์ รูปแบบ วิธีการ ที่มาของกองทุน จำนวนเงินชดเชย และคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับการชดเชยเยียวยาตามข้อบัญญัติของกฎหมายในเรื่องนั้นๆ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าใครอยากจะขอใช้สิทธิในกองทุนไหนก็ได้ หรืออยากใช้หลายกองทุนในเหตุการณ์เดียวกันก็ไม่ได้เช่นกันยกตัวอย่าง กรณีที่ 1 สมชายเป็นผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะแล้วรถโดยสารคันที่นั่งมาประสบอุบัติเหตุ หลังเกิดเหตุสมชายได้รับบาดเจ็บกระดูกแขนขาหัก ม้ามแตก ปอดฉีก ต้องได้รับการรักษาอาการบาดเจ็บ กรณีแบบนี้หลายคนสงสัยว่า สมชายใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับการรักษาเลยได้ไหม เพราะฉุกเฉินบาดเจ็บสาหัส ในทางกฎหมายสมชายยังไม่สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ แม้ว่าจะมีสิทธิและเป็นกรณีฉุกเฉิน กรณีนี้สมชายต้องใช้สิทธิของประกันภัยภาคบังคับ(พ.ร.บ.รถ) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถให้ครบวงเงินความคุ้มครอง 80,000 บาทก่อน เมื่อครบแล้วถึงจะสามารถไปใช้สิทธิอื่นๆ ที่มี เช่น สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม สิทธิราชการ หรือสิทธิประกันอุบัติเหตุต่างๆ ที่มี นอกจากนี้สมชายยังสามารถใช้สิทธิรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมเพิ่มได้ตามเงื่อนไขและระเบียบของกองทุน แต่หากว่าหลังการใช้สิทธิการรักษาของ พ.ร.บ.รถ ครบแล้ว สมชายเข้ารับการรักษาอาการบาดเจ็บต่อด้วยสิทธิบัตรทอง แล้วพบภายหลังว่า สมชายได้รับความเสียหายจากการใช้บริการบัตรทอง เช่น แพทย์ผ่าตัดผิด ลืมอุปกรณ์ไว้ในร่างกาย โดยที่ไม่ใช่เป็นเหตุจากพยาธิสภาพของร่างกาย กรณีนี้สมชายถึงจะสามารถใช้สิทธิขอรับเงินช่วยเหลือตามมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้กรณีที่ 2 ปรีดาเป็นผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะแล้วรถโดยสารคันที่นั่งมาประสบอุบัติเหตุ หลังเกิดเหตุปรีดาได้รับบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต กรณีแบบนี้ทายาทของปรีดาสามารถใช้สิทธิเรียกร้องเงินชดเชยความเสียหายจากประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ. รถ) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยได้ทันทีในวงเงิน 300,000 บาท และสิทธิความคุ้มครองของประกันภัยภาคสมัครใจรถโดยสารคันเกิดเหตุอีก 300,000 บาท รวมกับสิทธิตามประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล PA ของรถโดยสารคันเกิดเหตุอีกอย่างน้อย 50,000 บาท โดยกรณีปรีดาที่เสียชีวิต เมื่อทายาทได้รับเงินชดเชยตามสิทธิทางกฎหมายครบแล้ว จะไม่สามารถได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมได้อีก เนื่องจากได้รับการชดเชยเยียวยาตามสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว            ทั้งนี้หากพิจารณาเพียงตัวหนังสืออาจจะคิดว่าการขอใช้สิทธิชดเชยเยียวยาความเสียหายนั้นไม่น่าจะมีความยุ่งยาก มีกฎหมายบัญญัติแนวทางวิธีปฏิบัติไว้หมดแล้ว ความคิดนี้ต้องขอบอกเลยว่าคิดผิด!!! เพราะในทางปฏิบัติการขอรับเงินชดเชยเยียวยาความเสียหายในแต่ละกองทุนล้วนมีข้อจำกัดต่างๆที่ผู้บริโภคยังไม่เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ ครั้งนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะการชดเชยความเสียหายของ พ.ร.บ.รถ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ที่กำหนดไว้เป็น 2 ส่วน คือ ค่าเสียหายเบื้องต้น และค่าสินไหมทดแทนสูงสุด ค่าเสียหายเบื้องต้น หมายถึง ค่าเสียหายต่อชีวิต – ร่างกาย ของผู้ประสบภัยอันเนื่องจากการใช้รถที่บริษัทประกันภัยต้องจ่ายโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความรับผิด (มาคันไหนเบิก พ.ร.บ. รถคันนั้นได้เลย จ่ายทันทีภายใน 7 วัน) และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าสินไหมทดแทน กรณีบาดเจ็บจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามจริงไม่เกิน 30,000 บาท กรณีทุพพลภาพ/สูญเสียอวัยวะหรือเสียชีวิต 35,000 บาท หรือรวมกันแล้วไม่เกิน 65,000 บาท ค่าสินไหมทดแทนสูงสุด (รวมค่าเสียหายเบื้องต้น) หมายถึง ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายต่อชีวิต – ร่างกายของผู้ประสบภัยจากรถที่บริษัทประกันภัยต้องจ่าย เมื่ออุบัติเหตุจากรถนั้นเป็นความผิดของผู้ขับขี่รถที่เอาประกันภัย กรณีบาดเจ็บจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามจริงสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาท กรณีเสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวรจ่าย  300,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะ (เป็นไปตามเงื่อนไขตามอัตราที่กำหนด) จ่าย 200,000 -300,000 บาท กรณีนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล (ผู้ป่วยใน) จ่ายค่าชดเชย 200 บาท/วัน สูงสุดไม่เกิน 20 วัน แต่หากกรณีเป็นผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายผิด จะได้รับความคุ้มครองเฉพาะค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้นดังนั้นว่าแค่เรื่องสิทธิตาม พ.ร.บ.รถ เพียงอย่างเดียวก็มีรายละเอียดที่สร้างความงุนงงให้กับผู้บริโภคแล้ว มีทั้งค่าเสียหายเบื้องต้น ที่มีเงื่อนไขไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด จ่ายทันทีภายใน 7 วัน และมีค่าสินไหมทดแทนสูงสุดอีก แม้กฎหมายจะกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิไว้แล้วว่าใครควรจะได้รับสิทธิแบบไหน แต่ในอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะกรณีมีผู้โดยสารได้รับความเสียหาย ไม่ว่ารถโดยสารคันเกิดเหตุจะประสบอุบัติเหตุแบบมีคู่กรณีเฉี่ยวชนหรือพลิกคว่ำล้มเองไม่มีคู่กรณีก็ตาม ผู้โดยสารที่เสียหายมักถูกรวมให้ต้องอยู่ในกระบวนการพิสูจน์ความรับผิดของผู้ขับขี่ทุกครั้งเสมอ ทั้งที่ผู้เสียหายเป็นเพียงผู้โดยสารที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ควรที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาความเสียหายได้สูงสุดเต็มวงเงินของ พรบ.รถ ทันที ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลบางแห่ง ที่แนะนำผู้ประสบภัยให้ใช้สิทธิเบิกค่าเสียหายเบื้องต้นเพื่อรอพิสูจน์ถูกผิดก่อน ส่วนค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือจะถูกผลักภาระให้ไปใช้สิทธิอื่นๆ ที่มีแทน  ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ทุกวันนี้ค่ารักษาพยาบาลในแต่ละครั้งแต่ละรายการมีมูลค่าสูงขึ้นกว่าในอดีต การกำหนดจำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้นไว้เพียง 30,000 บาท ย่อมไม่เพียงพอต่ออาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหายที่มีอาการรุนแรงหรือสาหัส อย่างไรก็ตามวงเงินความคุ้มครองของ พ.ร.บ.รถ กรณีบาดเจ็บมีจำนวนเงิน 80,000 บาท รวมถึงค่าเสียหายกรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพถาวรที่กำหนดไว้สูงสุด 300,000 บาท ก็ยังถือว่ามีมูลค่าน้อยเมื่อเทียบกับค่าเงินในสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะที่บ้านเรานั้น มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นทุกวันและมีแนวโน้มความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย ดังนั้นน่าจะถึงแล้วเวลาแล้วประเด็นเรื่องวงเงินค่าชดเชยเยียวยา ควรได้มีการพิจารณาปรับให้เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน เพื่อเป็นหลักประกันให้กับประชาชนคนใช้รถใช้ถนนอย่างจริงจังเสียที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 รู้กฎหมายกับทนายอาสา

กฎหมายขายฝากเมื่อทำสัญญากันแล้วกรรมสิทธิ์ในที่ดินตกเป็นของผู้รับซื้อฝากทันที...ต่างจากการทำสัญญาจำนอง ที่เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนจำนองแล้ว กรรมสิทธิ์จะยังไม่ตกเป็นของผู้รับจำนองทันที ต้องไปฟ้องบังคับคดีกับศาลอีกครั้งหนึ่งการขายฝากต้องระวัง อันตรายกว่าสัญญาจำนอง             ครั้งนี้มีเรื่องเกี่ยวกับการทำสัญญามาฝาก โดยเฉพาะสำหรับคนที่ชอบเอาที่ดิน เอาบ้านไปประกันเงินกู้ต่างๆ อยากให้ศึกษาไว้นะครับ  อย่างที่เราทราบกัน ว่าเวลาจะไปกู้ยืมเงิน บางคนเครดิตไม่ดี ก็ไม่สามารถไปกู้เงินกับธนาคารรัฐบาลหรือเอกชนได้ ก็ต้องไปหาคนที่รับซื้อฝาก หรือรับจำนองที่ดิน  ซึ่งสังเกตไหมครับว่า สัญญาที่เขาทำกับเรา ทำไมเขาไม่ค่อยทำสัญญาจำนองกัน แต่ชอบทำเป็นสัญญาขายฝาก สาเหตุก็คือ กรรมสิทธิ์ตามสัญญาขายฝาก โอนไวกว่านั่นเอง กล่าวคือ กฎหมายขายฝากเมื่อทำสัญญากันแล้วกรรมสิทธิ์ในที่ดินตกเป็นของผู้รับซื้อฝากทันที ย้ำนะครับว่าทันที ไม่ต้องรอให้มีการผิดสัญญา โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ขายฝากจะมาไถ่ถอนได้ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา แม้จะเขียนไว้ว่าภายใน 10 ปี แต่ไม่ได้เขียนระยะเวลาขั้นตํ่าเอาไว้ ส่วนใหญ่จึงทำสัญญาในระยะสั้น เมื่อถึงเวลาผู้ขายฝากไม่มีเงินมาไถ่ถอน ที่ดินก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อฝาก ซึ่งจริงๆ ก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อฝากตั้งแต่วันทำสัญญาวันแรกแล้ว แต่เมื่อไม่มาไถ่ถอนตามกำหนด ที่ดินก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับซื้อฝากโดยสมบูรณ์ และไม่ต้องไปฟ้องบังคับจำนองเลย ผู้ทำธุรกิจรับซื้อฝากจึงนิยมเรียกร้องให้ผู้ขอกู้เงินทำขายฝากด้วยเหตุผลประการใดประการหนึ่ง มากกว่าทำสัญญาจำนอง เพราะการทำสัญญาจำนองเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนจำนองแล้ว กรรมสิทธิ์ยังไม่ตกเป็นของผู้รับจำนองทันที ต้องไปฟ้องบังคับคดีกับศาลอีกครั้งหนึ่ง            มีคดีเรื่องหนึ่ง ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการไถ่ทรัพย์ตามสัญญาขายฝาก โดยผู้ขายฝากได้นำเงินไปไถ่ในวันสุดท้ายตามสัญญา แต่เนื่องจากไปตอนช่วงเย็น เลยเวลาราชการแล้ว ไม่สามารถไปจดทะเบียนไถ่ทรัพย์ได้ ผู้รับฝากก็เลยอ้างว่าไถ่เลยเวลาแล้ว จึงไม่ยอมให้ไถ่คืน ทำให้ผู้ขายฝากมาฟ้องศาล และศาลฎีกาก็ได้ตัดสินเป็นแนวทางไว้ว่า การจดทะเบียนไถ่ทรัพย์ซึ่งขายฝาก กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์คืน โจทก์ย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินซึ่งขายฝากได้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19332/2556            โจทก์ใช้สิทธิไถ่ที่ดินจากจำเลยเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2554 อันเป็นวันครบกำหนดเวลาไถ่ที่ดิน ซึ่งขายฝาก โดยนำเงินสินไถ่เพื่อไปชำระให้แก่จำเลยที่บ้าน แต่จำเลยบ่ายเบี่ยงอ้างว่าหมดเวลาราชการแล้ว การกระทำของโจทก์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิไถ่ที่ดิน ซึ่งขายฝากต่อจำเลยภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาขายฝากโดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 ประกอบมาตรา 498 แล้ว จำเลยต้องรับการไถ่ แม้โจทก์ใช้สิทธิไถ่ที่ดินนั้นในเวลา 18 นาฬิกา ซึ่งล่วงพ้นเวลาราชการแล้ว และไม่สามารถจดทะเบียนการไถ่ขายฝากที่ดินในวันดังกล่าวได้ก็ตาม แต่การจดทะเบียนไถ่ทรัพย์ซึ่งขายฝาก กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์คืน เมื่อโจทก์ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากนั้นต่อจำเลยภายในกำหนดเวลาไถ่ตามสัญญาขายฝากโดยชอบแล้ว จึงมีผลผูกพันใช้ยันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินซึ่งขายฝากได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 บ้านเราไม่ต้องมีหมายค้น (2)

ห้องน้ำและห้องนอน (ต่อ) : หลายคนมักเก็บเครื่องสำอาง ซึ่งบางทีเป็นของใช้ส่วนตัวแยกต่างจากเครื่องสำอางที่ใช้ทั่วๆไป เครื่องสำอางเหล่านี้มักเป็นเครื่องสำอางสำหรับผิวกาย ผิวหน้า ฯลฯ ซึ่งแต่ละคนจะหาซื้อมาตามความชอบใจ หากเป็นยี่ห้อที่มีวางขายเปิดเผยตามห้างหรือร้านสะดวกซื้อพวกนี้ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะฉลากจะมีรายละเอียดครบถ้วน ทั้ง เลขจดแจ้ง ชื่อสถานที่ผลิตหรือจำหน่าย วันผลิตวันหมดอายุ ฯลฯ ซึ่งหากเกิดปัญหา เราสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่หรือแจ้งทางห้างหรือร้านที่นำมาจำหน่ายได้แต่เครื่องสำอางที่พบปัญหาเป็นส่วนใหญ่ คือเครื่องสำอางที่ซื้อขายทางอินเตอร์เน็ต ซื้อจากเน็ตไอดอล หรือตามที่ดารามารีวิวแนะนำสินค้า เครื่องสำอางเหล่านี้มีความเสี่ยงสูง เพราะมักจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสถานที่ผลิตที่เราอาจไม่รู้จัก และจากกรณีที่เป็นข่าวก็ทำให้เราทราบว่า หลายผลิตภัณฑ์ไม่มีสถานที่ผลิตจริง หากแต่ไปจ้างโรงงานผลิต เวลาไปขอจดแจ้งจากราชการ ก็อาศัยช่องโหว่ที่กฎหมายสมัยนั้นไม่ได้กำหนดว่าต้องตรวจสถานที่ เลยแจ้งที่อยู่อื่นๆ ที่ไม่ใช่สถานที่ผลิตจริง ทำให้เจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบได้ยาก นอกจากนี้พวกเน็ตไอดอลหรือดาราหลายคน ก็ออกมาสารภาพกันแล้วว่าไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เลย (บางคนก็อ้อมๆ แอ้มๆ ว่าเคยใช้แค่ครั้งสองครั้งเอง ซึ่งไม่รู้ว่าโกหกอีกหรือเปล่า) ดังนั้น ถือโอกาสสังคายนา ตรวจสอบเครื่องสำอางประจำตัวของสมาชิกในบ้านเลยว่า มีเครื่องสำอางที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้อยู่หรือไม่ เพราะเครื่องสำอางเหล่านี้ดูเหมือนจะอยู่ในกลุ่มที่กำพืดไม่ค่อยจะชัดเจน และที่อันตรายอย่างยิ่ง คืออาจมีการเติมสารอันตรายต่างๆ เข้าไปด้วย และหากพบว่าสมาชิกในบ้านใช้ไม่เท่าไร ดันเห็นการเปลี่ยนแปลงทันที เช่น ผิวขาวกะทันหัน ขาวผิดพ่อผิดแม่ ยิ่งส่อให้เห็นว่าแนวโน้มมีสารอันตรายเจือปนสูง ควรกำจัดออกจากบ้านไปเลยพื้นที่อื่นๆ : นอกเหนือจากอาหารและเครื่องสำอางแล้ว เราลองตรวจสอบผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่สมาชิกในบ้านนำมาใช้ด้วย โดยเฉพาะในบ้านที่มีผู้สูงอายุ หรือมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังประจำตัว เพราะจะเป็นเป้าหมายหลักในการถูกหลอกให้ซื้อผลิตภัณฑ์เสี่ยงๆ มาใช้ เช่น ยาน้ำสมุนไพรหรือยาลูกกลอนบางชนิด(หรือผลิตภัณฑ์อาหาร) ที่อ้างรักษาอาการปวดเข่า หรือรักษาโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ไขมัน ความดัน ฯลฯวิธีสังเกตง่ายๆ ก็เหมือนที่เคยบอกไปแล้ว เช่น ถ้าเป็นยาต้องมีเลขทะเบียนยา ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารถ้าอ้างว่ารักษาโรคได้ แสดงว่าเป็นผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายแน่นอน เพราะอาหารรักษาโรคไม่ได้ (ถ้ารักษาได้แสดงว่าต้องเติมอะไรเข้าไปแนอน) และที่ต้องย้ำคือ แม้จะมีฉลากถูกต้อง ระบุสรรพคุณเหมาะสมอยู่ในร่องในรอยแล้ว แต่หากสมาชิกในบ้านรับประทานแล้วเกิดได้ผล อาการป่วยต่างๆ หายอย่างน่าประหลาดใจ ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่มาช่วยตรวจสอบทันที จำไว้ว่า “ยาเทวดาสุดมหัศจรรย์ไม่มีในโลก” อย่าลืมนะครับ ใช้วิธีการที่เคยแนะนำไปแล้วตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต่างๆในบ้านตั้งแต่วันนี้ หากพบ “สี่สงสัย” ให้รีบใช้ “สองส่งต่อ” เพื่อเตือนคนใกล้ตัวและแจ้งเจ้าหน้าที่ด้วยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 ดูแลมืออย่างไรให้ดูสุขภาพดี

        เช่นเดียวกับใบหน้า มือก็ดุจสะพานที่พาคุณเชื่อมต่อกับผู้คน ไม่ว่าจะไหว้ ทักทาย ยื่นของให้ รับสิ่งของหรือการสัมผัสมือ คิดดูสิถ้ามือดูหยาบกร้าน ผิวแห้งตึง หรือลอกเป็นขุย ก็อาจทำให้เสียความมั่นใจได้เช่นกัน        ผิวบริเวณมือนั้น จะมีความพิเศษกว่าบริเวณอื่นตรงที่ฝ่ามือนั้นจะไม่มีรูขุมขน แต่ก็มีรูเปิดสำหรับเหงื่อนะ ด้านฝ่ามือนี้ธรรมชาติออกแบบมาเพื่อการหยิบจับที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามผิวที่มือก็ประกอบด้วย ชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้เช่นเดียวกับผิวส่วนอื่นของร่างกาย การกินอาหารที่ดี การทำความสะอาด และการบำรุงก็ไม่ต่างกันมากนัก เพียงแต่ในชีวิตประจำวันมือจะสัมผัสจับต้องสิ่งต่างๆ มากมาย จึงอาจต้องดูแลเพิ่มมากขึ้นอีกนิด ใส่ใจมากขึ้นหน่อยเพื่อให้เป็นมือที่ดูสุขภาพดี                                  ปัญหาของมือที่พบบ่อย คือ ความแห้งตึงของผิว ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ การล้างมือบ่อยคือสาเหตุหนึ่งที่คุณอาจคิดไม่ถึง เพราะว่าเราถูกสอนกันมาว่า ต้องหมั่นทำความสะอาดมือเพื่อสุขอนามัย แต่การล้างมือบ่อยก็เปิดโอกาสให้ผิวสูญเสียสมดุลของน้ำมันตามธรรมชาติ ผิวจึงแห้งตึง ซึ่งก่อให้เกิดอาการคัน และอาจนำไปสู่ผิวอักเสบได้อีก ดังนั้นเรามาดูขั้นตอนการล้างมือที่จะไม่ทำร้ายผิวก่อน            1.เลี่ยงน้ำอุ่นและสบู่ที่มีค่ากรดด่างสูง เลือกใช้สูตรอ่อนโยน            2.สบู่ต้านเชื้อแบคทีเรียไม่จำเป็นและอาจทำให้ผิวแห้งมากขึ้น            3.โฟมล้างมือเป็นทางเลือกที่ดี            4.ล้างมือโดยลูบเบาๆ อย่าขัดถูแรง            5.ล้างแล้วควรเช็ดมือให้แห้ง ไม่ปล่อยให้ผิวชื้นนานๆ เสี่ยงต่อการติดเชื้อรา            6.ถ้ารู้สึกผิวแห้งตึงมาก ใช้ครีมทามือเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น        การล้างมือบ่อยทำให้ผิวแห้ง คันได้ แต่ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้ผิวแพ้ แห้งหรือหยาบกร้าน ได้แก่             1.แพ้น้ำหอม สารกันเสียในโลชั่นหรือครีมที่ใช้ทามือ ลองสังเกตดูว่า เราแพ้สินค้าตัวใดควรหลีกเลี่ยง            2.สารเคมีในผลิตภัณฑ์ชำระล้าง เช่น น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ อาจทำให้เกิดอาการแพ้ ควรปรับระยะเวลาการสัมผัสให้น้อยที่สุด การสวมถุงมือช่วยป้องกันได้ แรกๆ อาจอึดอัดแต่บ่อยเข้าจะชินเอง            3.การป้องกันแดดสำหรับผิวบริเวณมือก็สำคัญไม่ควรละเลย            4.บุหรี่และความเครียด เชื่อไหมว่า เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้มือคุณหยาบกร้านไม่น่ามอง        รู้แล้วว่าต้องหลีกเลี่ยงอะไรบ้าง ดังนั้นมาปิดด้วยการบำรุงรักษา มือนั้นสำคัญยิ่งไม่ควรปล่อยปะละเลย ควรหาเวลาสักนิดในแต่ละวัน ดูแลรักษามือและนิ้วมือบ้าง อย่างน้อยควรใช้ครีมหรือโลชั่น(ที่ไม่ก่ออาการแพ้) นวดมือทุกวันจะช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำมันของต่อมบริเวณผิวหนังที่มือทำให้มือสวยน่าทะนุถนอม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 รู้เท่าทันเห็ดหลินจือ

    ในฉบับก่อน ได้กล่าวถึงเห็ดถั่งเช่าว่าเป็น “ไวอากร้าแห่งเทือกเขาหิมาลัย” ฉบับนี้ขอนำเรื่องเห็ดหลินจือมาเล่าให้รู้จัก เพราะคนไทยจะคุ้นเคยกับเห็ดหลินจือมากกว่าเห็ดถั่งเช่า จนกระทั่งมีการเพาะปลูกเห็ดหลินจือในประเทศไทยอย่างกว้างขวางพอสมควร เรามารู้เท่าทันเห็ดหลินจือกันเถอะ  เห็ดหลินจือคืออะไร                เห็ดหลินจือมีประวัติการใช้มายาวนานในประเทศจีน ญี่ปุ่น และเอเชียเพื่อให้มีสุขภาพดีและอายุยืนยาว เห็ดหลินจือเป็นเห็ดขนาดใหญ่ สีเข้ม ผิวนอกเป็นเงางาม ในบ้านเราก็มีเห็ดหลินจือเกิดในธรรมชาติ แต่คนละสายพันธุ์กับจีน        รศ.ดร. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์  คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเห็ดหลินจือว่า เห็ดหลินจือ หรือ เห็ดหมื่นปี  จัดเป็นราชาแห่งสมุนไพรจีน ใช้มานานกว่า 4,000 ปี เป็นยาอายุวัฒนะและรักษาโรคต่างๆ  ในเภสัชตำรับของจีนระบุสรรพคุณเป็น  ยาบำรุงร่างกาย บรรเทาอาการอ่อนเพลีย แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง รักษาโรคหัวใจ และช่วยให้นอนหลับสรรพคุณของเห็ดหลินจือ   เห็ดหลินจือมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยามากมาย เช่น ฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ฤทธิ์ต้านเนื้องอกและมะเร็ง ฤทธิ์ป้องกันเส้นประสาทเสื่อม ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านการอักเสบ เป็นต้น     สารสำคัญในเห็ดหลินจือ คือ สารกลุ่มโพลีแซคคาไรด์ ไตรเทอร์พีน สเตอรอล กรดไขมัน โปรตีน เป็นต้น สารสำคัญดังกล่าวจะพบในส่วนสปอร์มากกว่าส่วนดอกเห็ด สปอร์ที่กะเทาะผนังหุ้มมีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันและต้านมะเร็งได้ดีกว่าสปอร์ที่ไม่กะเทาะผนังหุ้ม และส่วนดอก (จึงมีผลิตภัณฑ์จากสปอร์เห็ดหลินจือ ออกมาจำหน่าย และมีราคาสูงกว่าเนื้อเห็ดหรือสารสกัดจากเนื้อเห็ด ซึ่งต้องเป็นสปอร์ที่ผ่านการกระเทาะเปลือกหุ้มเท่านั้น จึงจะมีประสิทธิผล)  มีการศึกษาเกี่ยวกับพิษวิทยาของเห็ดหลินจือทั้งพิษแบบเฉียบพลันและพิษแบบเรื้อรัง พบว่า มีความเป็นพิษต่ำมาก และมีความปลอดภัยสำหรับการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน การทบทวนงานวิจัยทางการแพทย์        เนื่องจากเห็ดหลินจือได้รับความนิยมและใช้ในการแพทย์ทางเลือกของประเทศต่างๆ มากขึ้น ห้องสมุดคอเครนจึงได้ทำการทบทวนงานวิจัยทางการแพทย์เกี่ยวกับการใช้เห็ดหลินในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีมาจนถึง 14 มิถุนายน ค.ศ. 2014  พบว่า                มีงานวิจัยทางการแพทย์ 5 รายงาน เปรียบเทียบการใช้เห็ดหลินจือกับยาหลอกในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานประเภท 2 จำนวน 398 ราย ระยะการศึกษา 12-16 สัปดาห์  รายงานการศึกษาไม่ค่อยมีคุณภาพ จึงมีเพียง 3 รายงาน จำนวนผู้ป่วย 157 ราย ที่นำมาวิเคราะห์ผลได้   ผลการศึกษา แสดงว่า เห็ดหลินจือไม่มีประสิทธิผลในการลดน้ำตาลในเลือด ความดันเลือด หรือคอเลสเตอรอล แต่เนื่องจากยังมีรายงานการศึกษาที่น้อย จึงไม่สามารถสนับสนุนประสิทธิผลของเห็ดหลินจือในการรักษาและลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยเบาหวานประเภท 2         นอกจากนี้ ห้องสมุดคอเครนยังทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับเห็ดหลินจือกับการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง พบว่า ยังไม่มีหลักฐานจากการศึกษาที่จะยืนยันประสิทธิผลว่าสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งมีชีวิตยืนยาวขึ้น เพราะงานวิจัยยังมีจำนวนน้อย แต่ก็พบว่า ผู้ป่วยมะเร็งที่กินเห็ดหลินจือมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่ากลุ่มควบคุม    สรุปว่า ยังไม่มีผลการวิจัยมากพอที่จะยืนยันประสิทธิผลของเห็ดหลินจือในการรักษามะเร็งและโรคหลอดเลือดหัวใจในขณะนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 ท่านรู้จัก Pinterest ดีไหม

หนุ่มสาวและผู้ที่กำลังศึกษาในระดับต่างๆ ในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่รู้จักการใช้ประโยชน์จากเว็บ Pinterest กันทั้งนั้น ต่างกันตรงที่ว่า ใช้มากหรือใช้น้อย และ ใช้ตื้นหรือใช้ลึก เพียงใด โดย Pinterest นั้นเป็นแหล่งที่นำสู่รูปภาพเป็นหลัก แล้วเสริมด้วยข้อมูลที่ตามมาจากการเข้าเว็บเจ้าของรูปภาพจริง ซึ่งขึ้นกับว่า ข้อมูลนั้นๆ มาจากแหล่งใด เชื่อได้แค่ไหน ดังนั้นในฉลาดซื้อฉบับนี้ผู้เขียน จึงอยากเสนอข้อคิดเห็นบางประเด็นที่ประสบมาจากการใช้บริการของ Pinterestผู้เขียนใช้ Pinterest ค่อนข้างบ่อย แต่เป็นในระดับตื้นมาก คือ เอาแต่รูปมาอย่างเดียว (ไม่ได้เข้าไปสร้างบอร์ดเป็นส่วนตัวเหมือนหลายคน) เพื่อเตรียม power point สำหรับสร้างรูปภาพประกอบการบรรยายในคลิปที่ทำให้สถานีวิทยุแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสถานีวิทยุที่ไม่มีคลื่นออกอากาศแบบปรกติ แต่ออกใน Facebook live แทน ในการทำ power point นั้นเกือบทุกคนมักใช้บริการหารูปจาก Google เป็นหลัก โดยให้เครดิตว่าได้รูปมาจากเว็บไหน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่เข้าใจกันดีว่า เราไม่นำรูปนั้นไปใช้ในทางการค้าหรือทำให้เกิดความเสื่อมเสียใด ๆ ดังนั้นเจ้าของรูปคงไม่ใจร้ายเก็บค่าลิขสิทธิ์ แต่ในระยะหลังนี้ปรากฏว่า ทุกครั้งที่เลือกรูปที่มีแสดงใน Google นั้น มักเป็นรูปที่มาจากเว็บ Pinterest เป็นส่วนใหญ่ สุดท้ายก็ได้สมัครเป็นสมาชิกฟรี ได้ username และ password มา ซึ่งก็ไม่ทราบว่ามันต่างกับการนำรูปมาโดยไม่ login อย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือ ได้รับจดหมายข่าวแนะนำรูปในแนวที่ Pinterest คิดว่าผู้เขียนสนใจทุกสัปดาห์ คำว่า Pinterest นั้นเป็นการสมาสคำสองคำคือ Pin+Interest แปลตรงตัวง่าย ๆ ว่า เป็นการปักหมุด (Pin) เพื่อดึงรูปภาพที่เราสนใจ (Interest) จากเว็บอื่นมาเก็บไว้บนบอร์ดของเราที่สร้างในเว็บของ Pinterest ดังนั้น Pinterest จึงเป็นแหล่งที่มีรูปภาพเป็นหลัก พร้อมแหล่งที่มาและคำบรรยายสั้นๆ ของรูปภาพที่เราสนใจประเด็นที่เป็นปัญหาของ Pinterest ตามที่ผู้เขียนรู้สึกได้คือ เรื่องของแหล่งที่มาของภาพ มีผู้ใช้บริการของ Pinterest คนหนึ่งบอกว่า หลายคนที่ปักหมุดเอาภาพมาใส่ในบอร์ดของตนนั้น ขาดซึ่งการให้เครดิตว่า ภาพนั้นมาจากที่ใดทำเสมือนเป็นภาพของตนเอง ซึ่งว่าไปแล้วเป็นการทำผิดจริยธรรมของนักท่องเว็บWikipedia กล่าวไว้ในตอนหนึ่งที่บรรยายถึง Pinterest ว่า ในเดือนมีนาคม 2017 ทางการจีนตรวจสอบพบว่า Pinterest มีความผิดตามกฎหมายอินเทอร์เน็ตของจีน ข่าวไม่ได้บอกชัดว่าเป็นไปในแง่ใด แต่คงเป็นไปตามแนวทางการของจีนที่ต้องการเอื้อประโยชน์แก่ Baidu, Youku, Weibo และ Renren ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียของจีน Pinterest จึงถูกระงับการบริการ และในทำนองเดียวกันปรากฏการณ์นี้ก็เกิดในอินเดียซึ่งได้ระงับการบริการของ Pinterest ชั่วคราว ตามคำสั่งของศาลสูงเมือง Madras เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2016 ซึ่งเข้าใจกันว่า เพื่อปิดกั้นการแสดงผลของประมาณ 225 เว็บไซต์ที่อาจมีการขโมย โกง และละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ของภาพจากเว็บอื่น             อีกประเด็นซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากในความรู้สึกของผู้เขียนคือ ไม่มีการกรองข้อมูลที่ติดมากับรูปภาพ ดังนั้นผู้ที่กดตามเข้าไปดูภาพที่สนใจนั้นจึงมักพบว่า Pinterest ได้พาผู้ที่สนใจไปยังเว็บส่วนน้อยที่มีความซื่อสัตย์ให้ข้อมูลที่เป็นจริง แต่เว็บส่วนใหญ่ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพนั้นกลับเป็นเว็บชนิดที่ www.quackwatch.com เตือนให้ระวัง เพราะมีแต่ข้อมูลหลอกลวงทั้งในลักษณะ quack คือแค่หลอกให้เชื่อตามความโง่ของผู้หลอก fraud คือหลอกเพื่อเก็บสตางค์ของผู้หลงเชื่อ  หรือแม้แต่ fad ซึ่งมีผู้แปลในพจนานุกรมอินเทอร์เน็ตว่า ความคิดวิตถาร, เซี้ยว, บ้า, สิ่งที่นิยมกันจนคลั่ง   ขอยกตัวอย่างบางรูปภาพ ซึ่งสามารถตามไปยังต้นตอเพื่อดูข้อมูลลวงต่างๆ ในลักษณะที่เข้าข่ายของ quack คือ     ซึ่งเป็นเรื่องประหลาดที่ กรมอนามัยคงไม่ปลื้มแน่ เพราะเราพยายามรนณรงค์ให้คนไทยไม่กินหวาน ไม่กินเค็ม แล้วถ้าตื่นเช้ามามีการดื่มน้ำเกลือเข้าไปเป็นประจำ ความพยายามลดจำนวนผู้ป่วยโรคไตคงลำบากแน่  ซึ่งขอเน้นให้ท่านผู้อ่านระวังให้ดีเพราะมันเข้าข่ายที่เรียกว่า Fraud และเหมือนจะมีภาพที่เป็นในลักษณะเดียวกันที่เป็นภาษาไทยได้เผยแพร่ในเน็ทแล้วคือ “The man who shocked the world: cancer can be cured in 3 minutes all you need to do is….” ซึ่งคำอวดอ้างดังกล่าวนี้ไม่จำเป็นต้องตามไปอ่านรายละเอียดให้เสียเวลา เพราะไร้สาระโดยสิ้นเชิง เนื่องจากถ้าใครสามารถพบวิธีบำบัดมะเร็งได้ภายใน 3 นาที เขาผู้นั้นคงต้องได้รางวัลโนเบลสาขาแพทย์ไปแล้ว   ซึ่งเข้าอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า Fad คือ “The tea that heals liver disease, fatty liver and fight cancer cells” ซึ่งคงไม่ต้องตามไปดูข้อมูลให้เสียเวลาเช่นกัน เพราะดอกไม้ดังที่เห็นในรูปนั้นคือ dandelion ซึ่งผู้เขียนเคยอ่านพบว่าเป็นสมุนไพรของชาวอเมริกันอินเดียน อีกทั้งเมื่อค้นข้อมูลใน simplewikipedia.org ก็พบคำอธิบายเป็นแค่ข้อมูลทั่วไป ไม่ได้ระบุถึงคุณสมบัติทางยาแต่อย่างใดซึ่งเป็นที่สุดในการหลอกลวงคนที่หมดหวังในการมีชีวิตยืนยาวแล้วคือ ผู้ที่สูบบุหรี่จนปอดดำแล้วก็มีคนให้ความหวังว่า “10 best foods to cleanse your lungs” สามารถทำให้ปอดกลับมาอยู่ในสภาพดีได้ ในกรณีนี้แค่เห็นภาพ สำหรับคนที่มีสติและความรู้ก็คงดูออกว่า มันเป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าเป็นไปได้ องค์การสหประชาชาติคงต้องเชิญตัวไปรับเหรียญอะไรต่อมิอะไร รวมทั้งได้รางวัลโนเบลสาขาแพทย์ไปแล้วเช่นกัน การมั่วในข้อมูลของเว็บต่างๆ ที่มีผู้ไปปักหมุดภาพแล้วนำมาเก็บในบอร์ดของตนนั้น จริงแล้วไม่ใช่ความผิดหรือความบกพร่องของ Pinterest เนื่องจากผู้เป็นเจ้าของบอร์ดต้องมีวิจารณญานเอง จริงแล้วเมื่อพิจารณาดูรายละเอียดของวิธีใช้ประโยชน์เว็บนี้ ผู้เขียนได้ประเมินเอาเองว่า Pinterest นั้นเป็นช่องทางการแนะนำตนเองหรือองค์กรที่ตนเกี่ยวข้อง เพื่อสร้างภาพในทางที่ดีแก่ลูกค้า ดังนั้นผู้ที่ไม่ได้ใช้แต่รูปภาพใน Pinterest เพียงอย่างเดียวนั้นจำเป็นต้องคิด ไตร่ตรองโดยอาศัยกาลามสูตร 10 ด้วยว่า ข้อมูลซึ่งได้จากการตามถึงเว็บที่เจ้าของภาพให้ไว้นั้นผิด-ถูกอย่างไร และการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวให้สังคมทราบนั้น อาจเป็นความรับผิดชอบทางกฏหมายของท่านโดยสิ้นเชิง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 เข้าถึงข้อมูลสิทธิประกันสังคมลิขิตรัก : ระหว่าง “หน้าที่” กับ “ความรัก”

ลิขิตรัก : ระหว่าง “หน้าที่” กับ “ความรัก”                                                                                                                        มนุษย์เรามีความต้องการปรารถนาเฉพาะตนกันอยู่แทบจะทุกคน แต่ทราบหรือไม่ว่า เพราะเหตุใดบ่อยครั้งความต้องการของปัจเจกบุคคลจึงมิอาจเป็นไปในแบบที่เราคิดอยากให้เป็นได้?             ด้วยแก่นหลักของเรื่องที่ตั้งคำถามกับความสัมพันธ์ระหว่าง “หน้าที่” กับ “ความรัก” ที่คุกรุ่นอยู่ในจิตใจของ “เจ้าหญิงอลิซ” รัชทายาทแห่งประเทศสมมติที่ชื่อฮรีสอซ กับ “ผู้พันดวิน” พระเอกหนุ่มองครักษ์ผู้พิทักษ์เจ้าหญิงในละครโทรทัศน์เรื่อง “ลิขิตรัก” คงบอกกับเราได้ไม่ยากว่า ความต้องการปรารถนาแห่งปัจเจกไม่เคยเป็นอิสระจากกรอบบางอย่างที่สังคมขีดวงกำหนดเอาไว้ได้เลย            ปมของละครเรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเจ้าหญิงอลิซถูกวางตัวและแต่งตั้งให้เป็นองค์รัชทายาทสืบต่อจาก “คิงเฮนรี่” ผู้มีศักดิ์เป็นปู่ เธอจึงต้องเข้าไปอยู่ในวังวนความขัดแย้งกับบรรดาพระญาติคนอื่น ไม่ว่าจะเป็น “เจ้าชายอังเดร” ผู้เป็นลุง “โมนา” ป้าสะใภ้ รวมไปถึง “เจ้าหญิงเคธ” และ “เจ้าชายอลัน” ลูกพี่ลูกน้อง ที่ทุกคนต่างไม่พอใจและไม่ยอมรับการขึ้นสวมมงกุฎของเจ้าหญิงรัชทายาท            ภายใต้ “บทบาท” และ “หน้าที่” ที่ได้รับแต่งตั้งขึ้นใหม่นี้ เจ้าหญิงอลิซยังต้องเผชิญกับภารกิจที่มากมาย และอันตรายรอบด้านที่มาจากศัตรูซึ่งมองไม่เห็น เธอจึงตัดสินใจหลบหนีมาพักผ่อนชั่วคราวที่ประเทศไทยแบบเงียบๆ             และเป็นเพราะการเมืองที่ไม่เข้าใครออกใคร แถมการเมืองก็ยังไม่เลือกเวลาและพื้นที่ว่าใครจะอยู่ตำแหน่งแห่งที่ใด เมื่อเจ้าหญิงอลิซมาอยู่เมืองไทย เธอก็ยังถูกไล่ล่าหมายชีวิตจากคนร้ายและกลุ่มผู้สูญเสียอำนาจจากฮรีสอซ ซึ่งก็แน่นอนว่า ที่เมืองไทยนี่เอง พระเอกหนุ่มผู้พันดวิน หัวหน้าหน่วย D-Team ก็ได้เข้ามาถวายการอารักขา และเป็นจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยกันระหว่างตัวเลือกที่เป็น “หน้าที่” กับ “ความรัก” ของเจ้าหญิงและผู้พันหนุ่ม            หาก “ความรัก” เป็นตัวแทนของความต้องการปรารถนาแห่งปัจเจกบุคคลดังที่กล่าวมาแล้ว คำถามก็คือ “หน้าที่” ได้เข้ามากำหนดความปรารถนาของมนุษย์เอาไว้อย่างไร            ตามหลักทฤษฎีสังคมศาสตร์มีคำอธิบายไว้ว่า เงื่อนไขหนึ่งในความเป็นมนุษย์ก็คือ การมีพันธกิจ “หน้าที่” ที่ต้องดำเนินไปตามข้อเรียกร้องบางอย่างของกลุ่มสังคมที่ตนสังกัด และข้อเรียกร้องดังกล่าวนี้ก็สัมพันธ์กับ “บทบาท” ที่ปัจเจกชนแต่ละคนสวมและเล่นอยู่            คำว่า “บทบาท” นั้น เป็นศัพท์ที่มักใช้กันอยู่ในแวดวงศิลปะการแสดง เพื่อสื่อความหมายเมื่อนักแสดงสวมบทบาทหนึ่งๆ เป็นตัวพระ ตัวนาง ตัวร้าย หรือตัวละครใด เธอหรือเขาก็จะมีสคริปต์ให้เล่นไปตามบทบาทที่กำหนดไว้นั้น และเมื่อถอดบทบาทดังกล่าวออกมาสวมบทบาทใหม่ นักแสดงคนเดิมก็จะมีสคริปต์ชุดใหม่ให้ได้เล่นแทน            ฉันใดก็ฉันนั้น ในเงื่อนไขของแต่ละสังคม ปัจเจกบุคคลก็มักถูกกำหนดให้ต้องสวมและเล่น “บทบาท” ทางสังคมไม่ต่างจากนักแสดงละครบนเวทีเลย และด้วย “บทบาท” ที่สังคมขีดวงเอาไว้นี้เอง คนแต่ละคนก็จะรู้ว่าตนต้องมีสคริปต์แบบใดให้ได้เล่นได้แสดงแตกต่างกันไป            เพราะฉะนั้น เมื่อครั้งที่อลิซสวมบทบาทเป็นแค่หลานปู่ของคิงเฮนรี่ เธอก็อาจจะเล่นสคริปต์เป็นหลานสาวที่น่ารักใสซื่อโดยไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆ มากมายนัก แต่เมื่อถอดบทบาทเดิมออก และหันมา “สวมมงกุฎ” เป็นเจ้าหญิงรัชทายาท บทบาทที่เปลี่ยนไปซึ่งพ่วงมากับหน้าที่ใหม่ๆ ก็ทำให้เจ้าหญิงอลิซต้องมีภาระรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น และถูกเรียกร้องให้ต้องสละความสุขส่วนตัว กลายมาทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองในอนาคตของฮรีสอซแทน            กับเรื่องบทบาทที่สวมเข้าออกได้เฉกเช่นนี้เอง เจ้าหญิงอลิซได้รู้ซึ้งยิ่งขึ้นเมื่อเธอต้องมาปลอมตัวเป็นภริยานายทหารเรืออย่างผู้พันดวิน ทั้งนี้ เพื่อหลบซ่อนตัวจากคนร้ายที่ตามล่าชีวิต เจ้าหญิงต้องยอมเข้าพิธีแต่งงานหลอกๆ และเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามเสียใหม่เป็น “นางนารี สมุทรยากร”            เพราะบทบาทใหม่กับหน้าที่ทางสังคมที่ต่างออกไป แม่บ้านทหารเรืออย่างเจ้าหญิงอลิซจึงต้องย้ายออกจากพระราชวังมาพำนักอยู่บ้านพักทหารเรือหลังเล็กๆ ที่ไม่มีคนรับใช้ ไม่มีสิทธิพิเศษใดๆ หากแต่ต้องอยู่และทำหน้าที่แบบภริยาข้าราชการด้วยเงินเดือนเบี้ยเลี้ยงของนายทหารเรือคนหนึ่งเท่านั้น             ประโยคที่เจ้าหญิงอลิซได้พูดกับผู้พันดวิน เมื่อต้องมาสวมบทบาทเป็นตัวละครนารี สมุทรยากร ว่า “ถ้าเราถอดมงกุฎออก เราก็คือคนเหมือนกับนาย” คงบ่งบอกนัยชัดเจนว่า ด้วยบทบาทที่ต่างออกไป ไม่เพียงแต่จะมีสถานภาพและหน้าที่ต่างกันเท่านั้น หากแต่บทบาทก็เป็นเพียงเงื่อนไขที่สังคมหนึ่งอุปโลกน์และขีดเขียนกติกาให้ปัจเจกบุคคลต้องเล่นไปด้วยนั่นเอง            และเมื่อมาถึงช่วงท้ายของเรื่อง ละครได้เริ่มเฉลยให้เห็นว่า ตัวละครที่ต้องเล่นบทบาทต่างกันนั้น ลึกๆ แล้ว ธาตุแท้ของ “จิตมนุษย์นั้นไซร้ ยากแท้หยั่งถึง” จริงๆ แบบที่เจ้าหญิงเคธผู้ไม่พอเพียงกับบทบาทหน้าที่แค่เจ้าหญิงที่ไม่มีใครสนใจ แต่เลือกจะชักใยความขัดแย้งต่างๆ ในเรื่อง เพื่อให้ตนได้ขึ้นสู่ตำแหน่งเจ้าหญิงรัชทายาทแทนน้องสาว ตรงกันข้ามกับเจ้าชายสายปาร์ตี้อย่างอลันก็ยอมละทิ้งความสุขส่วนตัวมาสวมบทบาทใหม่เป็นรัชทายาทแห่งฮรีสอซแทนเจ้าหญิงอลิซ            แต่ในเวลาเดียวกัน เมื่อโครงเรื่องถูกออกแบบให้เป็นละครแนวรักโรแมนติก ประเด็นเรื่องบทบาทและสถานภาพความแตกต่างของชั้นชนที่ค้ำคอทั้งเจ้าหญิงอลิซและผู้พันดวิน ก็ทำให้เธอและเขาเดินมาถึงทางสองแพร่ง ที่ต้องเลือกว่าจะประสานประโยชน์ของ “หน้าที่” กับ “ความรัก” กันได้อย่างไร            บนทางทั้งสองแพร่งที่ตัวละครกำลังเลือกที่จะขีดเขียน “ลิขิตรัก” ของตนอยู่นั้น ในฉากจบของเรื่อง อลิซเองก็ได้เลือกที่จะสละตำแหน่งเจ้าหญิงรัชทายาทแห่งฮรีสอซ เพื่อหวนกลับมาเล่นบทบาทเป็นภริยานายทหารเรือไทยอย่างผู้พันดวินอีกคำรบหนึ่ง             หาก “หน้าที่” เป็นกฎกติกาที่สังคมกำหนดเอาไว้ และหาก “ความรัก” เป็นปรารถนาและอารมณ์ของมนุษย์แล้ว สำนึกของปัจเจกบุคคลทุกวันนี้ก็น่าจะเชื่อมั่นว่า ทั้ง “หน้าที่” และ “ความรัก” ก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินไปบนเส้นขนาน ซึ่งก็คงไม่ต่างจากประโยคที่ผู้พันดวินได้กล่าวกับอลิซท่ามกลางภูเขา ท้องฟ้า และผืนน้ำที่เป็นฉากหลังว่า “มันก็ห้าสิบห้าสิบ…ชีวิตอาจจะถูกกำหนดมาส่วนหนึ่ง แต่ที่เหลือ เราก็ต้องเลือกด้วยตัวเราเอง”

อ่านเพิ่มเติม >