ฉบับที่ 212 คนต่างด้าวซื้อห้องชุดเพื่อให้เช่าทำได้หรือไม่ ? ตอนที่ 1

คนต่างด้าวซื้อห้องชุดเพื่อให้เช่าทำได้หรือไม่ ? ตอนที่ 1จากสภาพของที่ดินในแหล่งชุมชุนมีจำนวนจำกัด ทำให้การอยู่อาศัยเปลี่ยนไปในลักษณะของการอยู่ในแนวดิ่งหรือที่เรียกว่า”คอนโดมิเนียม ” มากกว่าที่จะอยู่ในแนวราบหรือที่เรียกว่า”บ้าน” ด้วยเหตุนี้จึงเกิดความต้องการในการซื้อมาเพื่อวัตถุประสงค์อยู่อาศัยใกล้ที่ทำงานและต้องเป็นทำเลที่เหมาะสมกับการเดินทางหรือการติดต่อกับแหล่งชุมชนด้วย ต่อมาเมื่อมีความต้องการมากขึ้นกว่าการอยู่อาศัยก็เปลี่ยนเป็นการซื้อมาเพื่อการลงทุนให้บุคคลอื่นเช่าต่อ  โดยกำหนดผู้ใช้บริการ(ผู้เช่า) เป็นคนไทยบ้าง คนต่างชาติบ้าง จนสร้างปัญหาให้แก่ผู้พักอาศัยเดิม หรือบางครั้งก็เป็นแหล่งหลบซ่อนของอาชญากรรมต่างชาติ จึงทำให้เกิดคำถามตามมาหลายๆประเด็นที่เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยกฎหมายเป็นตัวอธิบายว่าทำได้หรือทำไม่ได้ตามกฎหมายในประเด็นเหล่านี้                                          คำถาม : ปัจจุบันมีการซื้อคอนโดฯของคนต่างชาติและคนไทย ต่อมานำมาให้บุคคลอื่นเช่าต่อ สามารถทำได้หรือไม่ และมีกฎหมายอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง ทั้งจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องกฎหมายหรือนโยบายแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง                                                                                                                     การซื้อขายคอนโดฯหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “การซื้อขายอาคารชุด” เป็นกิจการที่ได้รับความนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการเข้าถือครองกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยที่มีความสะดวกสบาย มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน โดยผู้ซื้อต้องการหลีกเลี่ยงการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยด้วยตนเอง เพราะเหตุปัจจัยเรื่องที่ดินและราคาวัสดุอุปกรณ์ที่สูงขึ้น รวมถึงความยุ่งยากในการหาผู้รับเหมาก่อสร้างด้วยตัวเอง จึงทำให้การซื้อขายอาคารชุดได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน อีกทั้งที่ตั้งของอาคารชุดมักตั้งอยู่ในย่านธุรกิจการค้าที่มีทำเลที่ดี และเหมาะสม สะดวกแก่การเดินทาง ก็นับว่าตอบโจทก์ของคนวัยทำงานได้เป็นอย่างดี ในปัจจุบัน การซื้อขายอาคารชุดของคนต่างชาติในประเทศไทย เมื่อพิจารณาในแง่มุมทางกฎหมายจะพบว่าสามารถกระทำได้ แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดบางประการ ทำให้การซื้อขายอาคารชุดจึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนการตัดสินใจเข้าทำสัญญา ทั้งความยุ่งยากบางประการทางกฎหมายก็ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายจำต้องศึกษารายละเอียดของกฎหมายให้แน่ใจเสียก่อน โดยการซื้อขายอาคารชุดของคนต่างด้าว มีเงื่อนไขทางกฎหมายที่สำคัญ ดังนี้                                                                                พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมล่าสุด (ฉบับที่ 4) กำหนดหลักเกณฑ์ของคนต่างด้าวที่จะซื้ออาคารชุดได้ จะต้องประกอบด้วยเงื่อนไข ดังต่อไปนี้                                                    ข้อ 1. มาตรา 19 กำหนดว่า ต้องเป็นคนต่างด้าวหรือนิติบุคคลซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นคนต่างด้าว ที่กฎหมายกำหนดไว้กรณีใดกรณีหนึ่งต่อไปนี้ จึงจะมีกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ คือ                                             (1) เป็นคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522  ซึ่งมาตรา 4 กำหนดว่า “คนต่างด้าว” หมายความว่า บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย โดยหลักฐานที่จะแสดงว่าเป็นคนต่างด้าวในกรณีนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในห้องชุดคือ หนังสือเดินทางแสดงสัญชาติของคนต่างด้าวและใบสำคัญถิ่นที่อยู่ (แบบ ตม. 11, ตม. 15 หรือ ตม. 17 อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่กรณี) ที่จะต้องนำไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งออกให้โดยกองตรวจคนเข้าเมือง กรมตำรวจ หรือสำหรับคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวซึ่งออกให้โดยสถานีตำรวจท้องที่ที่คนต่างด้าวมีภูมิลำเนาอยู่ ก็สามารถใช้เป็นหลักฐานการได้ซึ่งกรรมสิทธิ์ในห้องชุดนี้ได้เช่นกัน ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 19 ตรี (1)                                     (2) เป็นคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 กำหนดให้อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522  โดยมาตรา 4 กำหนดว่า “คนต่างด้าว” หมายความว่า บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทยเช่นกัน โดยหลักฐานที่จะแสดงว่าเป็นคนต่างด้าวในกรณีนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในห้องชุดคือ หนังสือเดินทางแสดงสัญชาติของคนต่างด้าวและหนังสือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่รับรองว่าเป็นคนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 24 และ 26 ประกอบ ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 19 ตรี (2)      (3) เป็นนิติบุคคลซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 97 และมาตรา 98 ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย โดยหลักฐานที่แสดงว่าเป็นนิติบุคคล โดยหลักฐานที่จะแสดงว่าเป็นคนต่างด้าวในกรณีนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในห้องชุดคือ หลักฐานการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย เช่น ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด โดยใช้หลักฐานเป็นหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทของกรุงเทพมหานคร หรือแต่ละจังหวัด กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 19 ตรี (3)                                         (4) เป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 และได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 โดยหลักฐานที่แสดงว่าเป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นคนต่างด้าวในกรณีนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในห้องชุดคือ  หนังสือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่รับรองว่าเป็นผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 23 ประกอบ ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 19 ตรี (4)            (5) คนต่างด้าวหรือนิติบุคคลที่กฎหมายถือว่าเป็นคนต่างด้าวซึ่งนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรหรือถอนเงินจากบัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศหรือถอนเงินจากบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศเพื่อชำระค่าห้องชุด โดยหลักฐานที่แสดงว่าเป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นคนต่างด้าวในกรณีนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในห้องชุดคือ  หลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (ธ.ต.3) หรือโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากในประเทศ (ธ.ต.40) หรือหนังสือรับรองจากธนาคารที่รับรองการโอนเงิน หรือหลักฐานการแลกเปลี่ยนเงินเป็นเงินบาท หรือหลักฐานแบบสำแดงเงินตราต่างประเทศผ่านกรมศุลกากร หรือหลักฐานการถอนเงินบาทจากบัญชีเงินฝากในประเทศ (จากสมุดเงินฝาก) ในจำนวนไม่น้อยกว่าค่าห้องชุดที่จะซื้อ ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 19 ตรี (5)ข้อ 2. มาตรา 19 ทวิ กำหนดว่าอาคารชุดแต่ละอาคารชุดจะมีคนต่างด้าวหรือนิติบุคคลตามที่ระบุไว้ในข้อ 1. ถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 49 ของเนื้อที่ของห้องชุดทั้งหมดในอาคารชุดนั้นในขณะที่ขอจดทะเบียนอาคารชุด ตามมาตรา 6 หากคนต่างด้าว มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ทั้งสองประการข้างต้น ก็สามารถทำสัญญาซื้ออาคารชุดและสามารถมีชื่อเป็นเจ้าของห้องได้ตามกฎหมาย แต่มีข้อยกเว้นว่า...   น่าเสียดายที่ต้องขอตัดจบตอนแรกเพียงแค่นี้ก่อน ฉบับหน้าเรามาตามเรื่องนี้กันต่อนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 กระแสในประเทศ

ระวัง เมนูเจยอดฮิต โซเดียมสูงผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เครือข่ายลดบริโภคเค็มทำการสุ่มตรวจตัวอย่างอาหารเจ 13 เมนูยอดนิยมบนถนน เยาวราช อตก. และตลาดยิ่งเจริญ โดยใช้เครื่องวัดความเค็มตรวจสอบปริมาณโซเดียมในอาหาร ประกอบด้วย แกงเขียวหวาน แกงกะทิ จับฉ่าย พะโล้ ผักกระเพรา แกงส้ม ต้มจืด ต้มกะหล่ำปลี ขนมจีนน้ำยากะทิ ลาบเห็ด กระเพาะปลา และผัดขิง พบทุกเมนูมีปริมาณโซเดียมสูงเกินค่าที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน    นอกจากนี้อาหารเจจำพวก ผักดอง เกี้ยมไฉ่ กานาฉ่าย จับฉ่ายเป็นอาหารที่ใช้เกลือมาก ซึ่งผักที่เคี่ยวหรือดองเป็นเวลานานจะได้คุณค่าทางอาหารที่น้อยลง รวมถึงอาหารแปรรูป เช่น โปรตีนเกษตร เนื้อสัตว์เจจะมีการเติมรสเค็มเพื่อทำให้รสชาติใกล้เคียงของจริงมากที่สุด แพทย์เตือน ควรทำความสะอาดเสื้อกันหนาวมือสองก่อนนำไปใช้นพ.สมิต ประสันนาการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ช่วงย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ประชาชนส่วนใหญ่นิยมซื้อเสื้อและผ้าห่มกันหนาวมือสองสภาพ เนื่องจากราคาถูกและประหยัดกว่าเสื้อผ้าใหม่ตามห้างร้านทั่วไป ซึ่งเสื้อผ้ามือสองที่กลุ่มพ่อค้า แม่ค้า นำมาจำหน่ายนั้นส่วนใหญ่มักรับซื้อมาจากชายแดน โดยไม่คำนึงถึงสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคต่างๆ ที่อาจติดมากับผ้า เช่น ปัญหาโรคผิวหนัง โรคติดเชื้อ ความชื้น เชื้อราและโรคอันตรายต่างๆ ดังนั้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อควรนำเสื้อผ้ามือสองไปทำความสะอาด โดยต้มในน้ำเดือด แล้วซักด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาซักผ้า แล้วนำไปตากแดดจัดให้แห้งสนิทก่อนนำมาสวมใส่กสทช. คาดปี 62 เรียกคืนคลื่น-จัดสรรใหม่ได้ ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จะให้อำนาจ กสทช. พิจารณา “เหตุผลแห่งความจำเป็น” ในการใช้งานคลื่นและ “เรียกคืนคลื่นโดยกำหนดวิธีการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน” แต่ 7 ปีผ่านไปก็แทบจะเรียกคืนคลื่นไม่ได้ เพราะทุกมติที่มีคำสั่งจะยืดเยื้อถึงชั้นศาล อาทิ มติเรียกคืนคลื่น 2600 MHz จากกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งการที่ กสทช.ไม่สามารถกำหนดได้ชัดเจนว่าคลื่นไหนจะถูกนำออกมาประมูลเมื่อไหร่ จึงเป็นคำถามสำคัญที่สังคมรอคำตอบ จนกระทั่ง มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 27 (12/1) ที่ให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่เรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า จากผู้ได้รับใบอนุญาตเพื่อนำมาจัดสรรใหม่ได้ โดย กสทช. ต้องทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายตอบแทนให้กับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ในแต่ละกรณีด้วย ทำให้ กสทช. เร่งเดินหน้าในการปฏิรูปคลื่นได้อย่างเต็มที่ ล่าสุด นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2561 สำนักงาน กสทช.ได้เปิดรับฟังความเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยมีคลื่นความถี่เพียงพอสำหรับการเป็นพื้นฐานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทาง โดย กสทช.จะตั้งคณะทำงาน ซึ่งมีผู้แทนจากหลายหน่วยงานเพื่อพิจารณาว่าคลื่นใดไม่ได้ใช้ประโยชน์ คลื่นใดใช้ไม่คุ้มค่า หรือจะสามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่า และมีมหาวิทยาลัยของรัฐเข้ามาศึกษาว่าควรเป็นคลื่นใด และเมื่อการดำเนินออกประกาศเป็นไปตามขั้นตอน อย่างไรก็ตาม คาดว่าต้นปี 2562 จะเริ่มเรียกคืนคลื่นได้ภาคประชาชน ค้านร่าง พ.ร.บ.สุขภาพปฐมภูมิ ชี้ซ้ำซ้อนกฎหมายบัตรทอง1 ต.ค. 61 นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน และกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขฯ พร้อมตัวแทนภาคประชาชนรวม 8 ราย เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. ... เนื่องจากไม่มีความจำเป็นจะต้องมีกฎหมายเฉพาะมารองรับเรื่องดังกล่าว เพราะมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ครอบคลุมบริการสุขภาพปฐมภูมิของคนไทยทุกคนอยู่แล้ว โดยความซ้ำซ้อนของกฎหมาย 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ความซ้ำซ้อนในการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ 2) ความซ้ำซ้อนในเรื่องอำนาจในการจัดสรรงบประมาณ 3) ความซ้ำซ้อนในเรื่องการใช้อำนาจการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดโทษหน่วยบริการปฐมภูมิในกรณีที่ผิดมาตรฐาน โดยอาจต้องถูกลงโทษจากกฎหมายทั้งสองฉบับ และ4) ความซ้ำซ้อนในการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิ รวมถึงบทบาทหน้าที่และการจัดทำฐานข้อมูลหน่วยบริการศาลสั่ง บขส. - ทายาทคนขับคดี ‘รถตู้จันทบุรี 25 ศพ’ จ่ายค่าสินไหมกว่า 20 ล้านบาทศาลจังหวัดจันทบุรี พิพากษาคดีรถตู้โดยสารจันทบุรี - กรุงเทพฯ ทะเบียน 15-1352 กทม. ที่พุ่งข้ามเลนไปชนรถกระบะที่แล่นสวนทางมา จนเกิดเพลิงลุกไหม้เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 25 ราย เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 60 ให้บริษัท ขนส่ง จำกัด และทายาทของคนขับรถตู้ จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ญาติของผู้เสียชีวิต รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,780,000 บาท รวมทั้งดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันทำละเมิด    นายโสภณ หนูรัตน์ ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้ดูแลคดีให้ความเห็นว่า คำตัดสินใจวันนี้ถือเป็นบรรทัดฐานในเรื่องคำพิพากษา เรื่องเกี่ยวกับรถตู้โดยสารสาธารณะ ซึ่งเป็นบทบาทของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันออกในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่เสียหายจากอุบัติเหตุเกี่ยวกับรถโดยสาร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 ตรวจเลข อย.

              ฉบับนี้ขอแนะนำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์และสินค้าด้วยการสังเกตสัญลักษณ์ อย. อย. คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน้าที่กำกับและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน โดยจะคุ้มครองดูแล 6 ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ อาหาร ยา เครื่องสำอาง วัตถุอันตราย เครื่องมือแพทย์ และวัตถุเสพติดทางการแพทย์ผลิตภัณฑ์เหล่านี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ต้องมีเครื่องหมาย อย. ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องมี อย. กำกับอยู่ และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่มีเครื่องหมาย อย. แต่ต้องมีเลขที่จดแจ้งหรือทะเบียนกำกับยาบนผลิตภัณฑ์การตรวจสอบเครื่องหมาย อย. หรือเลขที่จดแจ้งหรือทะเบียนกำกับยาบนผลิตภัณฑ์ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์มีมาตรฐานและมีการตรวจสอบอยู่สม่ำเสมอ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ทำแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “อย. ตรวจเลข” โดยหน้าแรกของแอปพลิเคชันจะปรากฏช่องสำหรับพิมพ์หมายเลขค้นหา เพื่อตรวจสอบเลขผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือถ่ายรูปบริเวณสัญลักษณ์ อย. หรือใช้ระบบเสียงในการตรวจสอบหมายเลขได้ด้วย เมื่อใส่หมายเลขที่ต้องการตรวจสอบ ข้อมูลและรายละเอียดของผลิตภัณฑ์นั้นจะปรากฏขึ้น ได้แก่ สถานะปัจจุบันของผลิตภัณฑ์  ประเภทของผลิตภัณฑ์  เลขที่อนุญาต  ชื่อผลิตภัณฑ์  ชื่อผู้รับอนุญาต  สถานที่ผลิต  และที่อยู่สถานที่ผลิตภายในแอปพลิเคชันยังมีหมวดแจ้งเรื่องร้องเรียน กรณีที่ต้องการร้องเรียนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขนอกจากแอปพลิเคชัน “อย. ตรวจเลข” แล้ว ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบเลขผ่านหน้าเว็บไซต์ http://porta.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_ALL/MAIN/SEARCH_CENTER_MAIN.aspx  หรือค้นหาด้วยคำว่า ตรวจสอบ อย. ซึ่งทั้งรูปแบบแอปพลิเคชันและหน้าเว็บไซต์ถือว่ามีประโยชน์กับผู้บริโภคมากถ้าอยากทราบว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่มีมาตรฐานหรือผ่านการตรวจสอบหรือไม่ ลองเข้าไปตรวจสอบเลขผลิตภัณฑ์ได้เลยนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 กิน Hydrolyzed collagen ดีไหม

มีกระทู้หนึ่งใน pantip เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ของสตรีที่ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็น แม่ค้าขายคอลลาเจน ซึ่งดูเหมือนว่า เกือบมีความรู้ด้านชีวเคมีเกี่ยวกับคอลลาเจน แต่บังเอิญอาจเรียนมาน้อย หรือระหว่างเรียนไม่ค่อยเข้าใจวิชาชีวเคมี และภาษาอังกฤษคงไม่แตกฉานเท่าที่ควร เนื่องจากการที่เธอได้แนะนำให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการกินคอลลาเจนไปอ่านข้อมูลใน Wikipedia ซึ่งเธอเแปลบางส่วนมาเหมือนผิดความหมายชื่อกระทู้ดังกล่าวคือ ไขกระจ่าง คอลลาเจน สรุปแล้วคืออะไรผู้เขียนขอยกบางตัวอย่างข้อความที่ไม่ถูกต้องมาให้ดู โดยจะอธิบายไว้ในวงเล็บ ประโยคในกระทู้ คือ  “คอลลาเจน คือโปรตีนชนิดนึงที่กินเข้าไปแล้วกลายเป็น amino acid แล้วร่างกายดูดซึมเข้าไป แต่คอลลาเจนที่ถูก hydrolyzed แล้ว จะทำให้โมเลกุลมันเล็กลงและร่างกายสามารถดูดซึมได้ง่ายขึ้น การ hydrolyzed ทำได้หลายอย่าง มีทั้งใช้เอนไซมน์ในการย่อยให้มันเล็กลง หรืออะไรก็ว่าไปไม่ขอเอ่ย ไปหาดูเอาเองได้ แต่สรุปแล้ว hydrolyzed collagen ก็คือโปรตีนที่ถูกย่อยมาแล้ว มันก็เหมือน protein isolated แต่คอลลาเจน ไม่เหมือน โปรตีนจากที่อื่น  หลายคนคงหัวเราะหึ หาว่าเราโง่งม”  “คอลลาเจน ถูก hydrolyzed มาจาก เจลาติน (ประโยคนี้ผิด เพราะจริงๆ แล้ว gelatin นั้นถูก hydrolyzed มาจากคอลลาเจน) ซึ่งถ้าจะให้เปรียบ เจลาตินสกัดมาจากกระดูก ข้อและผิวหนัง เพราะงั้น คนที่บอกว่า กินคอลลาเจน มันโง่ ให้ไปกินเนื้อ นมไข่ คุณนั่นแหละที่โง่กว่า เพราะเจลาตินมีกรดอมิโนที่ชื่อ proline กับ glycine สูงกว่าชนิดอื่นมาก และมีกรดอมิโนชนิดอื่นต่ำกว่าพวกเนื้อสัตว์” (ตรงนี้อาจเขียนเพื่อให้สับสนเพราะ  proline และ glycine นั้นอาจมีมากในเจลาตินหรือในคอลลาเจนจริง แต่ไม่ใช่กรดอะมิโนจำเป็น เพราะร่างกายสามารถเปลี่ยนจากกรดอะมิโนอื่นมาใช้ได้) “แต่เราก็ต้องกินเนื้อสัตว์เข้าไปช่วยเสริมสร้างคอลลาเจน เพราะในเนื้อสัตว์ มี lysine เพราะฉะนั้น จะสร้างคอลลาเจน ต้องกินทั้งโปรตีนกับพวกเจลาตินนะ อ้อแล้วก็วิตามินซีด้วย เพราะงั้นใครที่บอกว่ากินคอลลาเจนแล้วโง่ให้ไปกินโปรตีน เราแนะนำว่า ถ้าจะพูดก็พูดว่ากินคอลลาเจนทำไมไปกินเจลาตินดีกว่า” (ตรงนี้ก็ยังแสดงว่า แม้ค้าคนนี้แปลข้อความภาษาอังกฤษผิดแล้วมาโพสท์)“คอลลาเจนหรือเจลาตินมันไม่ได้ช่วยเรื่องผิวอย่างเดียว มันช่วยเรื่องข้อและกระดูก นู่นี่นั่น เราเชื่อว่าคงไม่มีใครคิดหรอกว่า กินแล้วมันจะไปที่ผิวอย่างเดียว สารอาหารทุกอย่างกินไปแล้วมันก็ต้อง ไปหาอวัยวะที่สำคัญก่อนเสมอก่อนจะไปหาอวัยวะที่ไม่สำคัญ” (ประโยคนี้ไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง เพราะสารอาหารทุกชนิดที่ถูกย่อยในลำไส้เล็กต้องถูกดูดซึมไปที่ตับก่อนเสมอด้วยระบบที่เรียกว่า hepatic portal vein จากนั้นจึงถูกส่งจากตับไปตามกระแสโลหิตให้แต่ละอวัยวะนำไปใช้ตามต้องการ)  “อย่าพูดว่า กินคอลลาเจน ไปกินไข่กินนมดีกว่า มันไม่ใช่ ช่วยลองเสริชหาสารอาหารแล้วเปรียบเทียบกรดอมิโนแต่ละตัวของทั้งสองอย่างว่ามันเหมือนกันมั้ย ส่วนตัวแล้วเราเห็นผลเรื่องผิวชุ่มชื้น ไม่เกี่ยวข้องกับความขาวใดๆ ส่วนเรื่องความใสมันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ลองดูคนที่ผิวชุ่มชื้นฉ่ำน้ำมันก็ดูใสกว่าคนผิวแห้งกร้านเป็นธรรมดา ล้อกจิกง่ายๆ” (ตรงนี้แม่ค้าออกอ่าวไทยไปไกลเลย กู่ไม่กลับ)แม่ค้าได้แนะให้ผู้คัดค้านการกินคอลลาเจนไปที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Collagen#Synthesis “อ่านตรงกรดอมิโนก็ได้จะพอเข้าใจอยู่บ้างนะ” (ตรงนี้แหละที่แสดงว่าแม่ค้าคนนี้อ่าน Wikipedia แล้วไม่เข้าใจว่า กระบวนการสร้างคอลลาเจนนั้นเป็นอย่างไร)  เนื้อหาของกระทู้ใน pantip ด้านบนนั้นได้กล่าวถึง hydrolyzed collagen ซึ่งยังไงๆ ร่างกาย ก็เอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ในการสร้างคอลลาเจน (แต่ยังพอมีบทบาทอื่น ๆ) ผู้เขียนขออธิบายง่ายๆ ว่า การเปลี่ยน proline และ lysine ให้เป็น hydroxyproline และ hydroxylysine นั้นเกิดบนสาย propeptide (wikipedia ใช้คำๆ นี้ซึ่งอาจต่างไปจากบางตำราชีวเคมี) ที่ยังไม่ได้เป็นคอลลาเจน การเปลี่ยนแปลงนี้สำคัญมาก เพราะในคอลลาเจนนั้น มีกรดอะมิโนสองชนิดเป็นตัวการทำให้คอลลาเจนมีลักษณะโครงสร้าง “ทุตติยภูมิ” เป็น beta-pleated sheet ไม่ใช่ alpha-helix ซึ่งเป็นลักษณะของโปรตีนทั่วไป การเปลี่ยน proline และ lysine ไปเป็น hyroxyproline และ hydroxylysine นั้นเป็นปฏิกิริยา oxidation ด้วยเอ็นซัม ซึ่งมีวิตามินซีเป็นโคเอ็นซัม ถ้าเราขาดวิตามินซีจะส่งผลให้การ oxidation ดังกล่าวไม่เกิด จนการสร้างคอลลาเจนจะชะงักอยู่เป็นเพียง propeptide ที่นำไปใช้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่ได้ หลักฐานที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่า เมื่อขาดวิตามินซีแล้วเกิดเลือดออกตามไรฟันหรือที่เรียกว่า “ลักปิดลักเปิด” นั้น เนื่องจากเหงือกไม่มีคอลลาเจนใหม่ไปแทนที่คอลลาเจนเก่าที่หมดอายุ จึงทำให้เส้นเลือดที่เลี้ยงเหงือกแตกง่ายมีเลือดออกมา ประเด็นที่อธิบายนี้เพื่ออธิบายว่า ร่างกายนั้นนำ hydroxyproline และ hydroxylysine ที่ได้จากการกินคอลลาเจนธรรมชาติไปใช้สร้างคอลลาเจนใหม่ไม่ได้ เพราะขั้นตอนการสร้างคอลลาเจนตอนเริ่มแรกจะใช้เพียง proline และ lysine เท่านั้น จากนั้นจึงมีการเปลี่ยนกรดอะมิโนทั้งสอง ซึ่งอยู่ในสายโปรตีนแล้วเป็น hydroxyproline และ hydroxylysineต่อจากนี้ไปจะเป็นการกล่าวถึงข้อมูลของ hydrolyzed collagen ซึ่งผู้เขียนไม่เคยสนใจเลยว่ามีการขายในลักษณะใด เพราะมันไม่เคยอยู่ในสามัญสำนึกที่จะไปหามากิน แต่พอจับประเด็นจากข้อมูลของแม่ค้าขายคอลลาเจนดังกล่าวข้างต้น เลยลองเข้าไปหาข้อมูลมาศึกษาดู ข้อมูลการวิจัยทางการแพทย์ที่ลงพิมพ์ในวารสารวิชาการนั้น พอสรุปได้ว่า hydrolyzed collagen นั้น (น่าจะ) ช่วยลดอาการปวดตามข้อต่อของร่างกาย เช่น ข้อเข่า ซึ่งตัวอย่างการศึกษานั้นทำทั้งในคนหนุ่มสาวที่เล่นกีฬาเป็นประจำ ดังนั้นจะเห็นว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนี้ไม่มีประโยชน์ต่อคนปรกติ แต่จะได้ผลในคนที่ปวดเข่า ปวดข้อ ซึ่งเป็นการบรรเทาให้เจ็บน้อยลง งานวิจัยดังกล่าวนี้เป็นการศึกษาในคนหนุ่มสาวอายุ 18-30 ปี จำนวน 139 คน ที่เป็นนักกีฬาหรือนักศึกษาด้านพละศึกษาของ University of Freiburg ในประเทศเยอรมัน อาสาสมัครเหล่านี้ออกกำลังกายเป็นประจำจนมีอาการปวดเข่าเนื่องจากออกกำลังกายมากเกินไป (ไม่บาดเจ็บเป็นแผล ข้อเข่าไม่เสื่อมหรืออักเสบ) แล้วกิน bioactive collagen peptides (ซึ่งคงไม่ต่างจาก hydrolyzed collagen ที่มีขาย) หรือ Maltodextrin (ในกลุ่มควบคุม) ปริมาณ 5 กรัมต่อวัน นาน 12 สัปดาห์ โดยดำเนินชีวิตเหมือนเดิม เช่น การกินอาหาร การออกกำลังกาย และไม่ได้รับการบำบัดอื่นเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการทำวิจัยแบบ doubleblind, placebo-controlled ปรากฏผลว่า อาสาสมัครที่กิน bioactive collagen peptides นั้นตอบแบบสอบถามว่า ได้ผลดีขึ้น อีกงานวิจัยที่เกี่ยวกับแนวโน้มในการบรรเทาปวดตามข้อของ hydrolyzed collagen เป็นการตั้งสมมุติฐานว่า hydrolyzed collagen สามารถกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนโดยเซลล์กระดูกขึ้นมาใหม่ได้ งานนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Cell and Tissue Research ชุดที่ 311 หน้า 393–399 ปี 2003 เรื่อง Stimulation of type II collagen biosynthesis and secretion in bovine chondrocytes cultured with degraded collagen งานนี้เป็นการศึกษาเซลล์กระดูกของวัวในหลอดทดลอง (in vitro study) แล้วได้ผลเป็นไปตามสมมุติฐาน ซึ่งถูกนำมาใช้ในการอธิบายประมาณว่า คนปรกติที่ยังหนุ่มสาวนั้น ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นกับคอลลาเจน เช่น การฉีกขาด (คงทำนองเดียวกับการทำให้เกิด hydrolyzed collagen) นั้น ระบบของเซลล์จะถูกกระตุ้นให้สร้างคอลลาเจนขึ้นมาทดแทน นอกจากนี้ยังมีบทความทบทวนเอกสาร (review article) ที่รายงานผลของการใช้ hydrolyzed collagen ในการบำบัดอาการปวดอีก 2-3 บทความ ซึ่งอย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีบทความวิจัยทางวิชาการที่สนับสนุนว่า hydrolyzed collagen นั้นอาจลดปัญหาความเสื่อมของข้อต่อต่างๆ ในร่างกายได้ แต่ก็เป็นงานวิจัยที่ทำในลักษณะการบำบัดรักษา ซึ่งเป็นข้อห้ามในการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ ห้ามระบุว่า สินค้ามีคุณสมบัติในการเป็นยา เนื่องจากยังไม่มีการทดสอบประสิทธิภาพอย่างถูกต้องตามวิธีของยาโดยทั่วไป ดังนั้นการที่สินค้านี้ถูกนำมาขายทางอินเทอร์เน็ตหรือสื่ออื่นๆ โดยมีการโฆษณาในลักษณะบำบัดอาการได้ดังที่ปรากฏในปัจจุบันนั้น คงเป็น Thailand only กระมัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 รู้เท่าทันไฮแคลเซียม

เนื่องจากสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้มีการผลิตและโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ สำหรับผู้สูงวัยเป็นจำนวนมาก หนึ่งในสินค้าที่มีการโฆษณามากที่สุดคือผลิตภัณฑ์ที่ใส่แคลเซียมเพิ่มเข้าไปและเรียกชื่อว่า ไฮแคลเซียม  ทั้งนี้เพราะผู้สูงวัยส่วนใหญ่มีกระดูกบางและบางคนมีกระดูกพรุน  จึงต้องกินไฮแคลเซียมเพื่อให้กระดูกแข็งแรง  เรามารู้เท่าทันกันเถอะกระดูกบางและกระดูกพรุนเกิดจากการขาดแคลเซียม จริงหรือ?    กระดูกเป็นสิ่งที่มีชีวิต ประกอบด้วยคอลลาเจนซึ่งเป็นโปรตีนและเป็นโครงสร้างที่อ่อน แคลเซียม ฟอสเฟต ซึ่งเป็นแร่ธาตุจะไปสะสมในโครงสร้างของคอลลาเจน ทำให้กระดูกมีความแข็ง  กระดูกที่เป็นคอลลาเจนและแคลเซียมทำให้กระดูกมีทั้งความแข็งและยืดหยุ่นในตัว  แคลเซียมในร่างกายร้อยละ 99 อยู่ในกระดูกและฟัน อีกร้อยละ 1 อยู่ในเลือด   ในช่วงแรกเกิดถึงวัยรุ่น มวลกระดูกจะมีการสร้างใหม่มากกว่ามวลกระดูกเก่าที่เอาออกไป กระดูกจึงใหญ่ ยาว  หนัก และหนาขึ้น จนอายุ 30 ปี หลังจากนั้นการดึงมวลกระดูกออกจะมากกว่าการสร้างมวลกระดูก  สำหรับผู้หญิง ปีแรกที่หมดประจำเดือน การสูญเสียมวลกระดูกจะมากและเร็วที่สุด เป็นเวลาประมาณ 5 ปี จึงค่อยๆ เสียมวลกระดูกช้าลง  การสะสมมวลกระดูกให้มากที่สุดในวัยหนุ่มสาวจึงเป็นการป้องกันกระดูกพรุน   กระดูกบางและกระดูกพรุนจึงเป็นภาวะทางธรรมชาติ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอายุ เกิดจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง การเคลื่อนไหวที่น้อยลง ไม่ใช่เพราะเรากินอาหารที่มีแคลเซียมไม่พอ หรือพอแก่ตัวลงต้องการแคลเซียมมากขึ้นการกินไฮแคลเซียมทำให้ร่างกายเก็บแคลเซียมส่วนเกินไว้ในกระดูกมากขึ้น จริงหรือ?   สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา แนะนำว่า ปริมาณแคลเซียมสำหรับผู้ชายวัย 51-70 ปี คือ 1,000 มก./วัน สำหรับผู้หญิงวัยเดียวกัน คือ 1,200 มก./วัน  สำหรับคนไทยนั้น คณะวิทยาศาสตร์ มหิดล แนะนำว่า 800-1,000 มก./วัน สำหรับผู้ใหญ่ร่างกายเด็กและผู้ใหญ่จะดูดซึมแคลเซียมในอาหารที่กินเข้าไปเพียงร้อยละ 20–25 เท่านั้น ส่วนที่เหลือจะขับถ่ายทิ้งในอุจจาระ ยิ่งกินอาหารที่เป็นไฮแคลเซียม ร่างกายกลับดูดซึมแคลเซียมน้อยลง ทั้งนี้เพราะการมีแคลเซียมในเลือดสูงจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ทำให้กระดูกอ่อนแอ นิ่วในไต และกระทบการทำงานของหัวใจและสมองการกินผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นไฮแคลเซียม จึงกลายเป็นว่า ร้อยละ 75-80 ของไฮแคลเซียมจะไหลผ่านจากปากลงไปที่อุจจาระ ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อกระดูกของเราตามที่โฆษณาไฮแคลเซียมที่แท้จริง   การดูแลสุขภาพของกระดูกที่แท้จริง คือ 1    . การกินอาหารพื้นบ้าน อาหารไทยๆ ทั้งนี้เพราะมีปริมาณแคลเซียมที่เพียงพอ ได้แก่ กุ้งแห้ง ปลาตัวเล็กตัวน้อย กะปิ ในผัก ธัญพืชต่างๆ ก็มีแคลเซียมสูง เช่น งาดำ ถั่วแดงหลวง ยอดแค ใบชะพลู ใบยอ ผักกะเฉด เป็นต้น  สำหรับผู้สูงอายุที่กินอาหารได้น้อย อาจดื่มนมวันละ 1-2 แก้ว เพื่อให้ได้แคลเซียมเพียงพอ2    . การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้ร่างกายเก็บแคลเซียมในกระดูกได้มากขึ้น     . สำหรับวิตามิน D นั้น คนไทยไม่ได้ขาดเพราะเราได้รับจากแสงแดดโดยตรงและมากเกินพอ จึงไม่จำเป็นต้องกินวิตามิน D เพิ่ม  สรุป  ผลิตภัณฑ์สุขภาพประเภทไฮแคลเซียมทั้งหลายนั้นไม่เกิดประโยชน์ตามที่โฆษณา  แต่เกิด Hi cost โดยไม่จำเป็น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 มือถือกับเด็ก ภัยจากเทคโนโลยีที่ยากจะควบคุม

มาถึงศตวรรษนี้แล้วคงไม่มีใครปฏิเสธการเข้ามาของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตให้ง่ายขึ้นด้วยปลายนิ้ว จนปัจจุบันกลายมาเป็นปัจจัยที่ 5 ที่มนุษย์ทุกคนแสวงหา อย่างไรก็ตาม ในแง่มุมตรงกันข้าม ความง่ายของมันทำให้เกิดปัญหาตามมาได้หากใช้โดยไม่รู้เท่าทัน จากผู้ที่กุมโลกทั้งใบเอาไว้ในมืออาจกลายเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะ “เด็ก” ที่อยู่ในช่วงการสร้างพัฒนาการทางด้านร่างกาย สมอง สติปัญญา ทักษะชีวิตและการเข้าสังคม เมื่อราวๆ กลางปี 2561 นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันพบเด็กเล็กเป็น “โรคไฮเปอร์เทียม” มากขึ้น คือมีอาการคล้ายโรคไฮเปอร์แต่ยังไม่ถึงขั้นป่วย เกิดจากการเลี้ยงดูด้วยการ “ปล่อยให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ เล่นแท็ปเล็ต สมาร์ทโฟนเพื่อทำให้เด็กนิ่ง ไม่ซน” ในวงการจิตแพทย์พบว่าความเร็วของภาพในเกม ซึ่งเปลี่ยนทุก 3 วินาทีจะส่งผลโดยตรงต่อสมองทำงานไม่ลงตัว คุมสมาธิไม่ได้ ทำให้ทักษะการอ่าน การเขียน การพูดของเด็กแย่ลง อารมณ์ร้อน รอคอยไม่เป็น มีปัญหาการอยู่ร่วมกับเด็กวัยเดียวกันหรือคนอื่น นอกจากนี้ เมื่อเด็กอยู่กับสมาร์ทโฟน ติดกับความสนุกสนานของภาพเคลื่อนไหว เด็กจะนั่งนิ่ง ไม่มีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวร่างกายและมวลกล้ามเนื้อต่างๆ รวมถึงการสื่อสารกับคนรอบข้าง นับเป็นจุดเริ่มต้นของผลกระทบด้านลบ ปัญหาแสงสีฟ้ากับสายตาขี้เกียจ นพ.ศักดิ์ชัย วงศ์กิตติรักษ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าการใช้สมาร์ทโฟนมีผลทำให้เด็กสายตาสั้นมากขึ้น และแสงสีฟ้าจากจอโทรศัพท์มือถือก็มีผลทำให้คนรุ่นหลังๆ เสี่ยงเป็นโรคต้อกระจกมากขึ้น และเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ขอเริ่มที่ “ปัญหาแสงสีฟ้า” ก่อน แสงที่อยู่ตามธรรมชาติ เช่นแสงแดด ประกอบด้วยสีหลายสี เช่น คราม น้ำเงิน แสงสีฟ้า เขียว เหลือง แสด แดง เป็นต้น แต่ละสีมีคลื่นความถี่แตกต่างกัน  แสงสีฟ้าที่มีในจอโทรศัพท์มือถือนั้นเป็นแสงความยาวคลื่นที่มีความถี่สูงกว่าแสงสีชนิดอื่นๆ จึงมีพลังงานสูงกว่าแสงสีอื่น ทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่บริเวณจอประสาทตามากขึ้น ซึ่งวงการแพทย์มีความเป็นห่วงว่าอาจจะทำให้เกิดจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ เร็วกว่าเวลาอันควร ซึ่งโรคนี้จะนำมาซึ่งการสูญเสียการมองเห็น “สมัยก่อนเราจะพบโรคนี้ในคนที่ทำงานกลางแจ้ง แต่ก็มักพบเมื่ออายุประมาณ 70-80 ปี ขึ้นไปแล้ว แต่การที่เด็กเล่นโทรศัพท์ โดยเฉพาะการเล่นตอนกลางคืนจากเดิมที่ตอนกลางวันก็โดนแสงธรรมชาติอยู่แล้ว ก็ยังมาโดนแสงโทรศัพท์อีก ยิ่งถ้าปิดไฟเล่นจะทำให้ม่านตาขยายเข้าไปมากกว่าเดิม ดังนั้นจักษุแพทย์จึงเป็นห่วงว่าคนในยุคหน้าจะเป็นจอประสาทตาเสื่อมเร็วกว่าที่ควรจะเป็น” มาที่ผลกระทบของการใช้โทรศัพท์มือถือที่ทำให้เด็กมีปัญหาสายตาสั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเล่ากันยาวหน่อย คือ เนื่องจากเมื่อมีการใช้สายตามองในระยะใกล้ๆ ทำให้เด็กต้องใช้สายตามากขึ้น และการเพ่งสายตามากขึ้นจะทำให้เกิดปัญหา “สายตาสั้นเทียม” หมายความว่าเด็กมีอาการเพ่งค้างของสายตา มองไกลไม่ชัด เมื่อไปพบจักษุแพทย์แล้วหยอดยาลดการเพ่ง จากนั้นก็วัดค่าสายตาแล้วจะพบว่าไม่มีปัญหาจริงๆอย่างไรก็ตามมีการศึกษาวิจัยทั่วโลก โดยเฉพาะโซนเอเชีย พบว่าการใช้สายตามองใกล้มากๆ ของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ค่อยได้ออกไปเล่นกลางแจ้ง หรือมองไกลๆ เลยจะทำให้มีปัญหาสายตาสั้นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีกรรมพันธุ์พ่อแม่สายตาสั้น เด็กที่เล่นสมาร์ทโฟนมากขึ้นก็ยิ่งทำให้สายตาสั้นมากขึ้น เร็วขึ้นกว่าเวลาอันควร ปัจจุบันบางประเทศพบเด็กสายตาสั้นครึ่งหนึ่งของเด็กทั้งหมด ซึ่งประเทศไทยก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกัน“ยิ่งอายุน้อยยิ่งมีผลกระทบเยอะ เพราะว่าความสามารถในการเพ่งจะมากที่สุดตั้งแต่ตอนเกิดและค่อยๆ ลดลง รวมทั้งความสามารถในการขยายตัวของลูกตาที่มีผลทำให้สายตาสั้นนั้นจะพบเร็วมากในช่วง 2 ขวบแรก เพราะเป็นช่วงที่ลูกตามีโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้สูง ดังนั้นถ้าเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เราไม่แนะนำให้เล่นเลย เพราะว่าลูกตายังมีความบอบบาง ยังไม่แข็งแรงพอ ถ้าทำให้เด็กมีการเพ่งตั้งแต่อายุยังน้อยก็มีโอกาสที่จะเกิดสายตาสั้นเร็วมากขึ้น” รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ปัญหาคือเวลาที่เด็กมีปัญหาสายตา ไม่ว่าจะสั้นเทียมหรือสั้นจริง เด็กอาจจะไม่รู้ว่านั่นคือปัญหา จึงไม่ได้บอกผู้ปกครอง แน่นอนว่าเมื่อมีปัญหาการมองเห็นแล้วย่อมมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ด้านอื่น ตามมา ที่กังวลคือมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความพิการถาวรจากโรค “สายตาขี้เกียจ” คือเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ เป็นเวลาทองของการพัฒนาจอประสาทตา หากมองไม่ชัด ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม จะทำให้จอประสาทตาไม่พัฒนา เมื่อจอประสาทตาไม่พัฒนา มารู้ตัวอีกทีหลังจากที่เด็กมีอายุมากกว่า 10 ขวบแล้ว จะแก้ไขให้กลับมามองเห็นปกติไม่ได้ ต่อให้ตัดแว่นให้ใส่ก็ตาม ทั้งนี้ เมื่อตามองไม่ชัด สมองก็ไม่พัฒนา สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือตาเหล่ คือข้างหนึ่งมองเห็นปกติ ข้างหนึ่งไม่ปกติ หากไม่ได้รับการแก้ไข ข้างนั้นจะพิการไป แต่ปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งคือสายตาผิดปกติ ปัจจุบันพ่อแม่ที่พาลูกเข้ามาตรวจกับจักษุแพทย์พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งมีปัญหาสายตาสั้น และเกือบทุกรายมีปัญหาติดโทรศัพท์มือถือ แนวทางการป้องกันมีข้อแนะนำว่าไม่ควรให้เกิดการเพ่งอย่างต่อเนื่อง เรามีสูตร 20 : 20 : 20 คือ เมื่อเด็กใช้สายตามองใกล้ทุก 20 นาที ต้องหยุดพักมองไกลๆ อย่างน้อย 20 ฟุต อย่างน้อย 20 วินาที ถึงจะกลับมาใช้มือถือต่อได้  ส่วนระยะห่างจากมือถือกับดวงตาควรห่างกันประมาณ 33-40 เซนติเมตร ไม่ควรปิดไฟเล่น อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างแล้วแต่บริบท แต่ที่ต้องย้ำคือ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรใช้สมาร์ทโฟน  ส่วนวัยที่โตมาหน่อยเข้าใจว่า ทุกวันนี้เราไม่สามารถกันเด็กออกจากมือถือหรือเทคโนโลยีได้ แต่ต้องใช้อย่างเหมาะสม ดังนั้นต้องมีกติกาการใช้ ปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่นที่ตั้งเวลาการใช้งานได้ หรืออย่างไต้หวัน ที่มีกฎหมายให้เด็กมีกิจกรรมกลางแจ้งอย่างน้อยวันละ 90 นาที มือถือพาเด็กเข้าสู่โลกของผู้ใหญ่ได้อย่างง่ายดายและน่าเป็นห่วงรศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบเด็กอายุประมาณ 9 เดือน ถูกเลี้ยงดูด้วยสมาร์ทโฟน พ่อแม่จะเปิดการ์ตูนในยูทูปให้ดู ตั้งค่าเอาไว้เลย 4-5 เรื่อง ซึ่งก็พบว่าเด็กอายุแค่นั้นสามารถใช้เองได้ด้วย เด็กอยากดูเรื่องไหนก็เอามือจิ้มๆ เข้าไป รู้จักการไถมือ เราพบว่าตัวเด็กเองนั้นสนใจมาก มองตาม ฟัง อยู่นิ่งๆ ได้นาน จนกระทั่ง 10-12 เดือน ก็ติดมือถือแล้วที่ผ่านมามีเด็ก 3-4 คนที่มาคลินิกผม เด็กพวกนี้พูดภาษาอังกฤษเก่งมาก สำเนียงชัดมากจากการดูยูทูปพวกนี้ ถือว่ามีประโยชน์เหมือนกัน ทั้งๆ ที่ผู้ปกครองพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย แต่ในทางกลับกันก็พบว่าเมื่อถึงวัยที่เด็กไปโรงเรียน เด็กก็ไม่ยอมเล่นกับเพื่อน ไม่คุย แยกตัวอยู่คนเดียว พูดภาษาอังกฤษได้ แต่สื่อสารกับเพื่อนไม่รู้เรื่อง “เราจะสังเกตว่าภาษาเป็นการสื่อสารของมนุษย์ มีภาษาพูด จะมองตา มองปาก ขณะคุยกันจะมีการสื่อความรู้สึกไปพร้อมกับภาษาพูด ในเด็กเล็กซึ่งเป็นช่วงที่สมองมีการพัฒนา ถ้าเล่นแต่มือถือ  เรียนรู้การสื่อสารผ่านมือถือซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว อยู่กับเรื่องเรียนภาษา สำเนียง โดยไม่มีอารมณ์ ความรู้สึก จนก่อพฤติกรรมการแยกตัว เขานึกไม่ออกหรอก ว่าการสื่อสารกับมนุษย์จริงๆ ต้องใช้อารมณ์แบบไหน เขาไม่รู้ โตมาหวังจะแก้ไขให้เขารู้จักสื่อสารด้วยความรู้สึก ความรัก ความเกลียดชังต่างๆ มันสร้างได้ยาก ถามว่าแก้ได้ไหม บอกเลยว่าแก้ยาก และจะเป็นปัญหาทางด้านสุขภาพจิตในอนาคต”รศ.นพ.อดิศักดิ์ บอกว่า ถ้าเป็นการเล่นและติดโทรศัพท์มือถือในกลุ่มเด็กโต ก็จะมีปัญหาคนละแบบ ส่วนใหญ่มักเล่นเกมเพื่อความสนุก  แต่ก็มีรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งเพื่อการเรียนรู้  ลึกลับ รุนแรง ยิงกันเลือดสาด เรื่องเพศ เป็นต้น หากล้นมากๆ จนไร้การควบคุมก็จะนำไปสู่การสูญเสียพัฒนาการ ไม่กิน ไม่นอน และเกิดปัญหาเด็กติดเกมตามมา“อาการติดเกม”  เป็นอาการที่คล้ายกับการติดสารเสพติด ติดยา เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารในสมอง ต้องการเกมที่แรงขึ้น เครื่องมือที่ดีขึ้น ใครห้ามจะโกรธ โมโห มีอารมณ์ ต้องใช้การบำบัด ปรับพฤติกรรม “ถอนออกจากเกม” เหมือนรักษาการติดยา แต่ก็เป็นพฤติกรรมที่แก้ไขได้ อย่างไรก็ตาม นอกจากเกมแล้วยังพบการติดโซเชียลมีเดียรูปแบบอื่นที่มากับโทรศัพท์มือถือ เช่น เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ไลน์ ดูนั่นดูนี่ เปิดทั้งวัน ปิดไม่ได้ ถ้าไม่ได้ดูจะมีความกังวล ฯลฯ  ยิ่งปัจจุบันพบว่าเด็กสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เหมือนกับผู้ใหญ่ เพราะไม่มีการแยกแยะกลุ่มเนื้อหาเฉพาะ แม้จะบอกว่าแยกแล้ว แต่ในความเป็นจริงสามารถเข้าถึงได้ทั้งหมด ทำให้เด็กเข้าถึงเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมได้อย่างง่ายดาย เช่น แค่พิมพ์คำว่า “โป๊” คำเดียว ก็ขึ้นมาเป็นเนื้อหาลามกอนาจารเลย พอเข้าไปแล้วคลิกอีก 2-3 ที ก็ดูได้แล้ว ซึ่งถ้าเทียบกับโลกแห่งความเป็นจริง สื่อประเภทหนังสือโป๊ สื่ออนาจาร ตลอดจนสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ ล้วนแต่ถูกควบคุมเอาไว้หมด แต่อินเทอร์เน็ตมีทุกอย่าง เข้าได้อย่างเสรี ดังนั้นถ้าสนับสนุนให้เด็กวันนี้ใช้สื่อโซเชียล โดยพวกผู้ใหญ่บอกว่าต้องส่งเสริมให้เด็กใช้อินเทอร์เน็ต ทำทุกอย่างผ่านอินเทอร์เน็ต ทำการบ้าน ส่งงานผ่านทางอินเทอร์เน็ต ก็ต้องออกแบบให้สามารถดูแลสภาพปัญหาที่ว่านี้ให้ได้ก่อน ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่างๆ ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่เก็บเงินเด็กแล้วเปิดไปมีแต่ภาพโป๊ ทั้งๆ ที่เป็นสายของเด็ก ต้องร่วมกันทำ “อินเทอร์เน็ตสีขาว” หรืออินเทอร์เน็ตที่เปิดมาแล้วเจอเนื้อหาที่ปลอดภัย หากจะเข้าเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเฉพาะสำหรับผู้ใหญ่ถึงจะต้องมีการลงทะเบียนอีกรูปแบบหนึ่ง  “ปัจจุบันเด็กเข้าอินเทอร์เน็ตด้วยโทรศัพท์มือถือส่วนตัว หากไปลงทะเบียนกับบริษัทที่ให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็ต้องกำหนดรูปแบบอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยสำหรับเครื่องนั้น ซึ่งปัจจุบันทำได้อยู่แล้ว เช่น ต่ำกว่า 13 ปีห้ามใช้เฟซบุ๊ค เกมประเภทนี้เหมาะสมกับอายุเท่าไหร่ คือพ่อ แม่เป็นคนลงทะเบียนอินเทอร์เน็ตให้ หากมีการเข้าเว็บที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมกับอายุเด็ก ก็ตัดทันที ปัจจุบันมีบริการนี้อยู่แต่ไม่ค่อยได้ประชาสัมพันธ์ ที่ประเทศอังกฤษทำให้ฟรีเลย” ปัญหาอีกอย่างที่ซ่อนอยู่กับการใช้โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตของเด็กๆ คือ เรื่องความรุนแรง การล่วงละเมิดเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ผู้ใหญ่หรือมิจฉาชีพบางคนใช้การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียในการล่อลวงเด็ก หลอกขายสินค้า เสียเงินเสียทอง ที่หนักสุดคือการหลอกล่อพาเด็กไปทำอนาจารทางเพศ แน่นอนว่าเด็กผู้หญิงตกเป็นเหยื่อมากกว่าเด็กผู้ชาย และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง คือครอบครัวไม่เข้มแข็ง พ่อ แม่แยกทางกัน เป็นต้น “ผมมีคนไข้คนหนึ่งถูกหลอกลวงทางเพศจากแอปสนทนาทางโซเชียลมีเดีย 12 ครั้งเพื่อไปข่มขืน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางอยู่แล้วจากการที่พ่อ แม่แยกทางกัน ตัวเด็กเองอยู่กับพี่สาวสองคน เรื่องนี้เกิดขึ้นเยอะเหมือนกัน และเกือบทั้งหมดที่เข้ามาปรึกษา เป็นเหยื่อของคนที่เพิ่งรู้จักกันครั้งแรกผ่านทางโซเชียล” สำหรับข้อถกเถียงเรื่องคลื่นความถี่จากโทรศัพท์มือถือกับสมองนั้น ต้องเรียนว่า มีคนศึกษาเยอะว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีผลต่อมะเร็งในสมองหรือไม่ มีผลต่อมะเร็งกับเซลล์ชั้นในหรือไม่ แต่เข้าใจว่างานวิจัยยังไม่มีผลยืนยันชัดเจน ดังนั้นจึงไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วคลื่นแม่เหล็กนั้นจะมีผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ การใช้โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตผิดวิธีนั้นมีอันตราย ตั้งแต่การทำลายพัฒนาการ การเสพเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมซึ่งเป็นการบ่มเพาะพฤติกรรม เช่น พฤติกรรมก้าวร้าว การใช้โดยที่ผู้ใหญ่เข้าถึงหรือป้องกันได้ยาก คนร้ายเข้าถึงตัวเด็กได้ง่าย ถูกล่อลวงทางเพศ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน “เด็กที่เสียชีวิต เด็กที่เสียพัฒนาการ เด็กที่ถูกกระทำนั้น เกิดขึ้นจริงแล้วในสังคม แต่ยังไม่ยอมแก้ไข ผู้ใหญ่หากมีการพูดถึงเรื่องนี้มักอ้างเรื่องของอิสรภาพ กระทรวงวัฒนธรรมเองพูดอย่างทำอย่าง ปากพูดถึงอินเทอร์เน็ตสีขาว แต่กลับทำยาก”อย่างไรก็ตาม การใช้โทรศัพท์มือกับเด็กไม่ใช่จะมีแต่เรื่องแย่ๆ ร้ายๆ ประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็กก็มี แต่ต้องมีการสร้างความสมดุลเพื่อให้มีโทรศัพท์มือถือเพื่อการเรียนรู้ของเด็กจริง อย่างกรณีการฝึกภาษา ตอนนี้ที่เราแนะนำเลยคือ เด็กต่ำกว่า 2 ขวบไม่ให้ใช้สื่อหน้าจอเลย หากจะใช้ในกรณีที่ต้องการฝึกภาษา ต้องเอามาเป็นเครื่องมือของพ่อแม่ในการสื่อสารกับลูก โดยเน้นเป็นการสบตาของพ่อ แม่ ลูก แล้วเอาโทรศัพท์มือถือมาสอนควบคู่ เช่น เปิดเสียงสัตว์ชนิดต่างๆ ประกอบ เป็นต้น ไม่ใช่เปิดทิ้งไว้ให้เด็กดูเพียงลำพัง อย่าปล่อยให้อยู่ด้วยกันเพียงลำพัง ลูกต้องติดใจที่ได้เล่นกับแม่หรือพ่อ แล้วยอมพูดตามสำเนียงตามโทรศัพท์มือถือ เพราะแม่เป็นคนถือ แม่เชียร์อยู่ ไม่ใช่เด็กติดใจมือถือ เราจะอยู่กันอย่างนี้ไม่ได้ การใช้อินเทอร์เน็ตต้องมีการควบคุมเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับเด็ก พ่อแม่ต้องควบคุมการใช้งานทั้งเรื่องเนื้อหาและระยะเวลาที่ใช้งาน วันนี้เมืองไทยต้องมีการออกกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กจากสื่อออนไลน์ ล้อไปกับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก เป็นไปไม่ได้ที่ภายนอกมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ซึ่งออกมาตั้งแต่ปี 2546 บอกว่ามิให้ผู้อื่นผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ เช่น เอาเด็กไปอยู่ในจุดอันตราย กระทำร้ายต่อเด็ก ล่วงละเมิดต่อเด็ก เขียนไว้ในกฎหมายเยอะแยะ แต่ในอินเทอร์เน็ตกลับคุมไม่ได้ เอาเด็กเข้าไปอยู่ในจุดอันตราย เอาไปอยู่ในโซเชียลมีเดียเป็นการทำลายพัฒนาการเด็ก ถ้าบอกว่ามี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ดูแลอยู่ บอกเลยว่าไม่จริง ล่าสุดที่เพิ่งมีการแก้ไขกฎหมาย ยังไม่เห็นการพูดถึงเรื่องนี้ พ.ร.บ.คอมพ์ฯ พูดถึงแต่เรื่องคนที่เข้าไปล้วงข้อมูลออนไลน์จะผิดอย่างนั้น ผิดอย่างนี้ ไม่พูดถึงผู้ร้ายที่ขายของผิดกฎหมาย อย่างบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งไม่เข้าใจ เพราะกระทรวงพาณิชย์ออกกฎหมายห้ามนำเข้า กรมสรรพากรบอกว่าห้ามขายในประเทศ ผิดกฎหมาย แต่ในออนไลน์มีหมด ซื้อง่าย มีโฆษณาด้วย สิ่งผิดกฎหมายต่างๆ ที่ห้ามในโลกแห่งความเป็นจริงกลับพบว่ามีหมดเลยบนโลกออนไลน์ อย่างไรก็ตาม พอพูดเรื่องการดูแลเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ต ก็มักมีการอ้างเรื่องผลกระทบกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจหรือการจำกัดสิทธิเสรีภาพบ้าง แต่เปิดช่องให้ทำในเรื่องที่เป็นการกระทบกับพัฒนาการเด็ก พอพูดเรื่องนี้แล้วก็ขอเอ่ยถึงเรื่อง “อี-สปอร์ต” ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่กีฬา ไม่มีการส่งเสริมการออกกำลัง แต่มันคือเรื่องของธุรกิจ ซึ่งกระทบพัฒนาการเด็ก เป็นการเพิ่มจำนวนเด็กติดเกมอย่างเห็นได้ชัด แต่ด้วยความกลัวว่าเศรษฐกิจจะก้าวไม่ทันชาวบ้านเขา มหาวิทยาลัยเปิดสอนกันเยอะมาก เปิดสอนให้คนไปทำธุรกิจอี-สปอร์ตได้ แต่ไม่ได้สอนให้รู้โทษ  ร้านเกมในต่างจังหวัดเปลี่ยนเป็นศูนย์อี-สปอร์ต ทั้งนั้น เด็กเล่นเลอะเทอะไปหมด กฎระเบียบไม่ต้องมี เพราะการกีฬาอนุมัติ เพราะกลัวเศรษฐกิจไม่ทันกิน ก็เลยวางคุณภาพเอาไว้ก่อน  ปัจจุบันเห็นแล้วว่าถ้ามองแต่เศรษฐกิจเบื้องหน้า แต่คนไร้คุณภาพ ประเทศจะพัฒนาไปได้แค่ไหน ตอนนี้ต้องยอมรับว่า 4.0 หากไม่คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ มันไม่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ อัตราเด็กถูกทำร้ายและอัตราการเสียชีวิตของเด็กอาจเพิ่มมากขึ้น คิดว่าถ้าชั่งน้ำหนักแล้วไม่คุ้ม เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ ป้องกันตั้งแต่แรกดีกว่ามาตามแก้ไข  และเป็นเรื่องที่ต้องดูแลกันตั้งแต่ระดับนโยบาย จะให้เป็นเรื่องของครอบครัว หรือเรื่องบุคคลไม่ได้ เพราะความสามารถในการ “คิด วิเคราะห์ แยกแยะ” ของเด็กยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ การมีโทรศัพท์มือถือจึงจำเป็นต้องได้รับการดูแล ใส่ใจ จากผู้ปกครอง รวมถึงผู้ที่มีอำนาจในบ้านเมืองที่ต้องทำให้เด็กๆ ได้รับความปลอดภัย   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 กันแดดแบบไม่ทำร้ายปะการัง

   จริงๆ เรื่องครีมหรือโลชั่นกันแดดมีผลต่อการตายของปะการัง ได้ถูกพูดถึงกันมาหลายปีแล้ว แต่เพราะเราหลายคนยังคงมีคำถามอยู่ในใจว่า อะไรจะขนาดนั้น ครีมกันแดดปริมาณเพียงเล็กน้อยจากตัวเราจะถึงกับทำให้ปะการังในทะเลซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างใหญ่เกิดผลกระทบที่รุนแรงได้    จนเมื่อทางการไทยประกาศว่าจำต้องปิดอ่าวมาหยา บนหมู่เกาะพีพี ต.อ่าวนาง จ.กระบี่ แหล่งท่องเที่ยวที่เคยติดอันดับต้นๆ ของโลก ต่อไปอีกอย่างไม่มีกำหนด หลังจากที่ปิดไปแล้วสามเดือนแต่ไม่พบสัญญาณที่ดีขึ้นของการฟื้นฟูของธรรมชาติบริเวณอ่าวดังกล่าว ประเด็นครีมกันแดดกับการตายของปะการังจึงกลายเป็นกระแสอีกครั้ง อะไรในครีมกันแดดที่ฆ่าปะการังสารเคมีสี่ชนิดที่นักวิจัยพบว่าฆ่าปะการังและทำให้ปะการังฟอกขาวคือ Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3) Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate) 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben ตัวสุดท้ายเป็นวัตถุกันเสียที่ทำให้ปะการังฟอกขาว  ตัวที่ร้ายที่สุดคงจะเป็น Oxybenzone หรือ BP3 เพราะรบกวนระบบสืบพันธุ์ ทำให้ตัวอ่อนปะการังโตแบบผิดรูป หรือไม่ก็พิการและตายไปเลย นอกจากนี้ Oxybezone ยังเป็นส่วนผสมที่ใช้อย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดกว่า 3,500 ยี่ห้อทั่วโลก เพราะมีคุณสมบัติในการป้องกันได้ทั้งยูวีเอและยูวีบี    บางคนอาจบอกว่าทะเลตั้งกว้างใหญ่ ครีมกันแดดแค่นิดหน่อยจากนักท่องเที่ยวไม่น่าจะสร้างปัญหาได้ แต่สิ่งที่งานวิจัยค้นพบก็คือ สารเคมีแม้ปริมาณเพียงน้อยนิด  แค่ 1 หยดต่อสระน้ำมาตรฐาน 6 สระ (62 parts per trillion) ก็ส่งผลกระทบต่อปะการังแล้ว ผลการตรวจค่าความเข้มข้นของ Oxybenzone ตามแนวปะการังที่ฮาวายรอบเกาะ Maui และ Oahu พบว่ามีความเข้มข้นอยู่ระหว่าง 800-19,000 parts per trillion และที่ Virgin Island National Park อยู่ที่ 250,000 parts per trillion นั่นหมายความว่าความเข้มข้นของ Oxybenzone ตามแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งในปัจจุบันสูงกว่าระดับปลอดภัยไปมากและกำลังส่งผลร้ายแรงต่อแนวปะการังในระยะยาว             บางคนก็ว่าไม่ได้ว่ายน้ำในทะเลเสียหน่อย ไม่เป็นไรน่า อย่าลืมสิว่าเวลาเราอาบน้ำบรรดาสารเคมีอันตรายก็ไหลไปกับท่อน้ำทิ้งและลงสู่ทะเลเช่นเดียวกัน   เพื่อให้สวยอย่างฉลาดและรักษ์โลกไปพร้อมกัน เวลาเลือกใช้ครีมกันแดด ควรมีแนวทางดังนี้  - เปลี่ยนมาใช้ครีมกันแดดที่ปราศจากสาร Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3) Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate) 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben    -  ใช้ครีมกันแดดแบบกันน้ำ (Water resistant) เพราะอย่างน้อยก็เกิดการชะล้างระหว่างอยู่ในน้ำน้อยกว่า    -  ทาครีมกันแดดเฉพาะบริเวณนอกเสื้อผ้า เช่น ใบหน้า คอ มือ บางกรณีเราอาจใช้หมวก เสื้อแขนยาว และร่มเพื่อช่วยลดความจำเป็นในการใช้ครีมกันแดดในปริมาณมากๆ    -  ร่วมกันรณรงค์ให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการพัฒนาครีมกันแดดที่ปราศจากสารเคมีที่ทำร้ายปะการังและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ใต้ท้องทะเล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 เมีย 2018 : เป็นเมียคุณ...ทำไมเราต้องทน

   พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้บัญญัติความหมายของคำว่า “เมีย” เอาไว้ว่า “หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย”    ความหมายโดยนัยที่พ่วงมากับนิยามตามพจนานุกรมนี้ก็คือ เพราะเมียคือผู้ที่ถูกสังคมกำหนดให้ “เป็นคู่” และถูกครอบ “ครองของชาย” ดังนั้น นับตั้งแต่อดีตเรื่อยมา บทบาทของบรรดาเมียๆ จึงมีสถานะเป็นผู้ถูกกระทำ และเป็น “ช้างเท้าหลัง” ที่ต้องเสียสละอุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขของสมาชิกทุกคนในครอบครัว    แต่เมื่อเวลาผันผ่านมาถึงปัจจุบัน เราจะยังแน่ใจได้หรือไม่ว่า เมียแห่งปี 2018 จะยังคงดำรงวัตรปฏิบัติหรือมีความคิดความเชื่อที่เป็นไปตามนัยซึ่งพจนานุกรมได้สร้างความชอบธรรมเอาไว้   ชีวิตของผู้หญิงอย่าง “อรุณา” แห่งละครโทรทัศน์เรื่อง “เมีย 2018” เริ่มต้นชีวิตครอบครัวก็ด้วยนิยามแบบพจนานุกรมที่ว่า เมียก็คือผู้หญิงที่ถูกกำหนดเป็น “คู่ครองของชาย” เพราะฉะนั้น หลังจากแต่งงานอยู่กินกับ “ธาดา” และมีบุตรสาวคือ “น้องนุดา” แล้ว เธอก็เลือกที่จะสละความสุขทั้งชีวิต โดยปวารณาตัวให้กับสามีและลูกสาวอันเป็นที่รัก   ฉากเปิดเรื่องของละครที่อรุณาบรรจงจัดเตรียมสำรับอาหารเป็นเกี๊ยวน้ำสูตรเด็ดที่สืบทอดมาจากมารดา ตลอดจนการวิ่งสาละวนไปไหว้เจ้าทำบุญเพื่อให้ผลานิสงส์แผ่ซ่านไปถึงสามีที่กำลังจะได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งในหน้าที่การงาน เหล่านี้ก็คือการบอกผู้ชมคนดูว่า เมียในเวอร์ชันก่อนปี 2018 นั้น ทุกลมหายใจเข้าออกต้องยึดเรื่องครอบครัวและความสำเร็จของสามีเอาไว้เป็นสรณะ   จนกระทั่งมีบทพิสูจน์ใหม่แทรกเข้ามาเป็นตัวแปรในชีวิตของผู้หญิงที่เป็นเมียนั่นแหละ ลมหายใจเข้าออกของอรุณาก็ก่อกลายเป็นคำถามข้อใหม่ว่า เมียในบทบาทผู้ที่เป็นคู่และถูกครอบครองของบุรุษเพศ จะคงเป็นเพียงคำตอบเดียวในชีวิตของผู้หญิงอีกต่อไปจริงหรือไม่   และการปรากฏตัวขึ้นของตัวละครอย่าง “กันยา” น้องสาวลูกพี่ลูกน้องของอรุณา ที่เข้ามาแทรกอยู่กึ่งกลางระหว่างชีวิตครอบครัวของเธอกับธาดา ก็คือบททดสอบต่อคำถามข้างต้นดังกล่าว   ด้วยทัศนะของผู้หญิงแบบกันยาที่พูดกับอรุณาว่า “คนเราถ้าอยากได้อะไร จะต้อง fight ต้องอย่าไปยอม” ดังนั้นเมื่อกันยาย้ายเข้ามาอยู่ร่วมชายคาบ้าน และต้องการที่จะช่วงชิงสิทธิ์แห่งการเป็นภรรยาของธาดาขึ้นมา เธอจึงทำทุกอย่างตั้งแต่ยั่วยวน วางหมากกล หรือกระทั่งปั่นหัวพี่เขย จนในที่สุดก็ได้กลายมาเป็นอนุภรรยาของธาดาในเขตรั้วไพศาลของบ้านใหญ่หลังเดียวกับอรุณา   แม้ว่าตอนต้นของเรื่อง อรุณาจะเคยพูดกับเพื่อนรักอย่าง “ธารี” ว่า “ชีวิตแต่งงานถ้าเดือดง่ายก็พังกันหมดสิ” หรือแม้แต่เตือนสติธารีที่กำลังมีปัญหากับสามีเจ้าชู้อย่าง “ชาติชาย” ว่า “คำว่าหย่ามันมีไว้ใช้ครั้งเดียวเท่านั้น คือครั้งที่คิดว่าใช้เท่านั้นจริงๆ อย่าพูดไปเรื่อยเพราะอารมณ์” แต่เมื่อ “ผงที่เคยเขี่ยจากตาคนอื่น” หลุดมาเข้าตาของเธอบ้าง อรุณาก็ถึงกับขาดสติและแทบจะมิอาจจัดการกับปัญหาใดๆ ในชีวิตของเธอได้เลย   ในช่วงแรกที่เผชิญปัญหานั้น อรุณายังคงยืนกรานว่า ไม่ว่ามรสุมคลื่นลมจะโถมถามาเพียงใด แต่การพยายามรักษาความอยู่รอดของครอบครัวก็ยังคงเป็นหน้าที่หลักของหญิงผู้เป็นภรรยา อาจเนื่องด้วยว่าโลกทัศน์ของผู้หญิงที่สังคมหลอมหล่อเอาไว้นั้น ต้องยึดมั่นในคติประจำใจที่ว่า “เป็นเมียเราต้องอดทน” นั่นเอง   ก็เหมือนกับประโยคที่อรุณาพูดกับแม่บ้านผู้ชมที่ติดตามการสาธิตทำเกี๊ยวน้ำผ่านวิดีโอออนไลน์ของเธอว่า “คุณแม่บ้านทุกคน พวกเราเหมือนคนห่อเกี๊ยว เกี๊ยวคือครอบครัวของเรา เราต้องช่วยกันประคับประคองทุกอย่างให้เหนียวแน่น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต้องทำทุกอย่างด้วยความรักและความใส่ใจ และเราจะผ่านอุปสรรคไปได้ทุกอย่าง”   อย่างไรก็ดี หากจิตสำนึกเรื่อง “ช้างเท้าหลังต้องเสียสละและอดทน” เป็นสิ่งที่สังคมติดตั้งเอาไว้ให้กับผู้หญิงอย่างอรุณาได้ เมื่อเงื่อนไขทางสังคมเปลี่ยน และปมความขัดแย้งระหว่างเธอกับสามีและน้องสาวสุกงอมจนถึงจุดแตกหัก อรุณาก็เริ่มทบทวนตัวเอง และค่อยๆ พัฒนามุมมองใหม่ที่ท้าทายและตั้งคำถามกับ “ตรรกะป่วยๆ” ที่เคยถูกดาวน์โหลดเอาไว้แต่เดิม   ในขณะที่เมียในยุคก่อนปี 2018 ต้องยึดมั่นการบำเพ็ญทุกรกิริยาใดๆ ที่ชายผู้เป็นสามีสาดซัดเข้ามา แต่ในความเป็น “เมีย 2018” แล้ว อรุณาก็เลือก “คิดใหม่ทำใหม่” และก้าวข้ามสถานการณ์เอารัดเอาเปรียบที่สามีก่อขึ้น แต่กลับต้องเป็นเธอที่เผชิญทุกขเวทนาเอาไว้ผู้เดียว   หลังจากที่ธาดามิอาจตอบคำถามได้ว่ายังรักเธออยู่หรือเปล่า อรุณาก็ค้นพบคำตอบว่า วลีสวยๆ ที่ผู้ชายมักพูดว่า “เป็นเมียเราต้องอดทน” นั้น เอาเข้าจริงๆ ก็เป็นเพียง “จิตสำนึกปลอมๆ” ที่สังคมสืบทอดฝากฝังไว้ให้กับผู้หญิงเท่านั้นเอง    และประโยคที่เธอกรีดร้องกับสามีว่า “ฉันอยู่กับคุณ ทำทุกอย่างเพื่อคุณ ฉันควรจะเป็นคนที่คุณขอบคุณสิ” ก็คงไม่ต่างจากการบอกเป็นนัยว่า คงถึงเวลาแล้วที่ผู้หญิงต้องเลือกระหว่างหน้าที่ที่สังคมกำหนดให้เธอเป็นแม่พระผู้เสียสละอย่างไม่ลืมหูลืมตา กับการเปิดโอกาสให้เธอได้ทำตามใจปรารถนาของตนเองเสียบ้าง อันนำมาซึ่งการจดทะเบียนหย่ากับธาดาในที่สุด   ยิ่งเมื่อมีตัวแปรใหม่ที่เข้ามาในชีวิตอย่าง “วศิน” บิ๊กบอสวัยหนุ่มหัวหน้างานคนใหม่ อรุณาก็พบว่า ชีวิตที่เคยมีตัวเลือกเพียงข้อเดียวคือสามีและครอบครัว จริงๆ แล้วก็ลวงตาไม่ให้บรรดา “เมีย 2018” ได้เห็นตัวเลือกอื่นๆ ในชีวิต เหมือนที่วศินพูดกับเธอว่า “ผมแค่รู้สึกว่าคุณฉลาดกว่าจมตัวเองอยู่ในครัวหรือทำความสะอาดบ้าน”   จนมาถึงฉากจบ ในขณะที่ตัวเลือกแบบหันกลับไปคืนดีกับอดีตสามี ก็อาจเหมาะกับผู้หญิง “ช้างเท้าหลัง” แบบเดิมๆ หรือในขณะที่การเลือกเป็น “ซิงเกิ้ลมัมแม่เลี้ยงเดี่ยว” ก็มักเป็นคำตอบของผู้หญิงที่อยากยืนหยัดอยู่ด้วยลำแข้งของตนเอง แต่กับ “เมีย 2018” ที่ลุกขึ้นมาปรับลุคแต่งตัวทำผมเสียใหม่ ได้ออกไปใช้ชีวิตโลดแล่นนอกบ้าน และกล้าเผยความในใจสู่สาธารณชนผ่านสังคมออนไลน์ การตอบตกลงรับรักกับวศินชายหนุ่มที่อ่อนวัยกว่าแต่ก็พร้อมจะยืนเคียงข้างชีวิตของเธอ ก็ดูจะเป็นตัวเลือกใหม่ๆ ของบรรดาเมียๆ ในยุคสมัยนี้   บทเรียนชีวิตของอรุณาเฉกเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ทิ้งคำถามใหม่กับคุณสามีว่า “เป็นเมียคุณ...ทำไมเราต้องทน” เท่านั้น แต่ยังย้อนกลับไปตั้งคำถามกับคุณผู้หญิงทั้งหลายด้วยว่า หากผู้หญิงคือเพศที่ต้องทำอะไรต่อมิอะไรเพื่อคนอื่นอยู่ตลอดเวลาแล้ว จะมีสักช่วงชีวิตบ้างไหมที่เธอจะรู้จักหันกลับมาทำอะไรเพื่อตนเองได้บ้าง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 กระเป๋าขึ้นเครื่อง

ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอเสนอผลทดสอบกระเป่าเดินทางขนาดเล็ก หรือที่นิยมเรียกกันว่า “เคบินไซส์” ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศทำไว้* มีให้สายเที่ยวได้เลือกกัน 19 รุ่น ตั้งแต่ราคาต่ำกว่า 1,000 บาทไปจนถึงเกือบ 35,000 บาท ทั้งแบบกล่องแข็งและแบบที่ทำด้วยวัสดุเส้นใย  คะแนนการทดสอบแบ่งออกเป็นสองด้าน ได้แก่ -                 - ร้อยละ 60 >> คะแนนความสะดวก/คล่องตัวในการใช้งาน (ผู้ทดสอบลองใช้แล้วตอบแบบสอบถาม)  -                 - ร้อยละ 40 >> คะแนนความแข็งแรงทนทานของกระเป๋าและส่วนประกอบ (ทดสอบในห้องปฏิบัติการ)สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้ให้คำแนะนำเรื่องขนาดกระเป๋าเดินทางที่อนุญาตให้ผู้โดยสารนำขึ้นเครื่องได้จะต้องมีความยาวไม่เกิน 56 เซนติเมตร (22 นิ้ว) ความกว้างไม่เกิน 45 เซนติเมตร (18 นิ้ว) และความหนาไม่เกิน 25 เซนติเมตร (10 นิ้ว) เมื่อรวมส่วนประกอบรอบๆ ตัวกระเป๋าแล้ว อย่างไรก็ตาม สายการบินสามารถกำหนดขนาดได้ตามความเหมาะสม เช่นรุ่นของอากาศยานที่ใช้ หรือชั้นที่นั่งโดยสาร เป็นต้น หากมีข้อสงสัยโปรดตรวจสอบกับสายการบินก่อนลงมือจัดของหมายเหตุ  ขนาดของกระเป๋าที่เรานำเสนอเป็นขนาดและความจุที่วัดได้โดยทีมทดสอบ อาจจะไม่ตรงกับตัวเลขที่เห็นในโฆษณาหรือฉลากผลิตภัณฑ์    การทดสอบครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง Which? (อังกฤษ) และ UFC (ฝรั่งเศส) ซึ่งเป็นสมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศเช่นเดียวกับฉลาดซื้อ ทั้งสององค์กรร่วมมือกันซื้อกระเป๋าส่งเข้าทดสอบ และหารค่าใช้จ่ายในการทดสอบ (ค่าใช้จ่ายในการทดสอบอยู่ที่ตัวอย่างละ 545 ยูโร หรือประมาณ 27,000 บาท) ฉลาดซื้อก็สามารถส่งผลิตภัณฑ์ไปร่วมทดสอบได้หากเรามีเงินทุนสนับสนุนจากสมาชิกมากพอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 โซเดียมในผลิตภัณฑ์ประเภทปลาแผ่น – ปลาเส้นปรุงรส

โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ  ผลิตภัณฑ์ประเภท ปลาแผ่น – ปลาเส้นปรุงรส ที่วางจำหน่ายทั่วไป เป็นของว่าง ที่อร่อยถูกปากผู้บริโภคทุกวัย ปลาเส้นปรุงรสส่วนใหญ่มีส่วนผสมของเนื้อปลาบด (ซูริมิ) แป้งสาลี แป้งมันสำปะหลัง ผสมคลุกเคล้ากับเครื่องปรุงรสแตกต่างกันไปตามรสชาติที่หลากหลาย เช่น รสชาติแบบออริจินัล เผ็ดน้อย เผ็ดมาก ให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อตามรสนิยม และทราบหรือไม่ว่า ปลาเส้นปรุงรสของไทย ยังเป็นสินค้าที่ชาวต่างชาตินิยมซื้อไปเป็นของฝากกันอีกด้วย  ปลาเส้นปรุงรส ให้สารโปรตีนจากเนื้อปลาบด และคาร์โบไฮเดรตจากแป้ง อาจนับเป็นของว่างมีประโยชน์ได้ หากแต่ว่าปริมาณโซเดียมที่แฝงอยู่ในปลาเส้นแต่ละรสชาตินั้น บางรสมีปริมาณโซเดียมสูงมาก ควรระวังในการรับประทาน ซึ่งเราสามารถดูปริมาณโซเดียมได้จากฉลากโภชนาการที่แสดงไว้บนซองบรรจุภัณฑ์   แต่บางทีซื้อของไปยืนเพ่งสายตาดูฉลากตัวหนังสือเล็กๆ นานๆ ก็ลำบากเหมือนกัน ฉลาดซื้อฉบับนี้ จึงขอเอาใจผู้บริโภคที่ชอบกินปลาเส้น โดยอ่านฉลากโภชนาการดูปริมาณโซเดียม ในผลิตภัณฑ์ประเภทปลาแผ่น-ปลาเส้นปรุงรส จำนวน 30 ตัวอย่าง เพื่อนำเป็นข้อมูลมาเปรียบเทียบให้ผู้บริโภคได้ทราบกันตารางเปรียบเทียบปริมาณโซเดียม ในผลิตภัณฑ์ปลาแผ่น-ปลาเส้นปรุงรส เรียงลำดับปริมาณโซเดียมจากมากไปน้อยข้อสังเกตต่อปริมาณโซเดียมจากฉลากผลิตภัณฑ์ จากการพิจารณาฉลากของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 30 ตัวอย่าง พบว่า   ผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุด คือ ปลากรอบเชิญชิม (Crispy Fish) ยี่ห้อ เรือ มีปริมาณโซเดียม 210 มิลลิกรัม ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมมากที่สุด พบว่ามี 2 ตัวอย่าง คือ ปลาสวรรค์ (รสดั้งเดิม) ยี่ห้อ ทาโร (TARO) และ ปลาสวรรค์ (รสซูเปอร์แซ่บ) ยี่ห้อ ทาโร (TARO) มีปริมาณโซเดียม 800 มิลลิกรัม  โดยส่วนใหญ่หนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำอยู่ที่ประมาณ 25 - 30 กรัม และพบว่า มีผลิตภัณฑ์จำนวน 2 ตัวอย่าง ที่ไม่มีฉลากโภชนาการ ซึ่งไม่สามารถทราบปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคได้ ได้แก่ ปลาหวานแผ่น ยี่ห้อ มายช้อยส์ไทย (My Choice Thai) และ ฮอกไกโดชีสฟิชแซนด์วิช (เนยแข็งชนิดโพรเซสชีสผสมปลาเส้น) ยี่ห้อ โอกิยะ OHGIYAข้อควรรู้เกี่ยวกับปริมาณโซเดียม    เนื่องจากปริมาณการบริโภคโซเดียมที่สูงขึ้น มีผลทำให้ความดันโลหิตที่สูงขึ้น ซึ่ง Institute of Medicine ได้กำหนดค่าปริมาณโซเดียมสูงสุดของการบริโภคที่ไม่เกิดอันตรายในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ไว้ที่ 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน (เปรียบเทียบเป็นเกลือป่นประมาณ  6  กรัม หรือ 1 ช้อนชา)  และ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน  แม้ว่าโซเดียมจะมีความสำคัญต่อร่างกาย แต่การบริโภคโซเดียมมากเกินไปทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งหากมีปริมาณโซเดียมในร่างกายมากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ หลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน และยังส่งผลต่อการเป็นโรคไตด้วย   ทราบอย่างนี้แล้ว การหมั่นอ่านฉลากข้อมูลโภชนาการเป็นประจำก่อนเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหาร จะช่วยให้เราสามารถควบคุมปริมาณโซเดียมในแต่ละมื้อได้อย่างเหมาะสม ทราบว่าผลิตภัณฑ์ใดมีปริมาณโซเดียมมากหรือน้อย โดยเฉพาะเด็กๆ ที่มักกินขนมจนเกือบหมดห่อ หากสามารถสอนเด็กๆ ให้เข้าใจความสำคัญของการอ่านฉลากโภชนาการได้ ก็จะเป็นการปลูกฝังให้เด็กๆ รู้จักการบริโภคอาหารได้อย่างถูกต้องเหมาะสมในแต่ละมื้อปลาเส้น  ปลาเส้นหรือปลาเส้นปรุงรส ผลิตจากเนื้อปลาบดแช่แข็งที่เรียกว่า "ซูริมิ"  เป็นอาหารว่างที่นิยมรับประทานกันมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กๆ และสาวกลัวอ้วนทั้งหลาย เพราะนักโฆษณาเขานำจุดขายไขมันต่ำ โปรตีนสูงมาเรียกความสนใจจากผู้บริโภค เพื่อให้แทนที่ขนมขบเคี้ยวที่มีทั้งแป้ง น้ำตาลและไขมัน ซึ่งล้วนส่งเสริมความอ้วนและโดนโจมตีหนักว่าทำให้เด็กไทยกลายเป็นเด็กอ้วน แต่…ข้อด้อยสำคัญของปลาเส้นปรุงรส ที่ถูกละเลยไปจากโฆษณาคือ ปริมาณโซเดียมที่สูงจนน่าเป็นห่วง ยิ่งประเภทรสจัดจ้าน รสเข้มข้นยิ่งมีปัญหา   วารสารฉลาดซื้อเคยทดสอบปลาเส้นปรุงรสพบว่า มีปริมาณโซเดียมสูงมาก หากรับประทานในขนาดหรือปริมาณ 30 กรัม จะได้โซเดียมสูงถึงประมาณ 500 มิลลิกรัม(ค่าเฉลี่ย) ซี่งเด็กไม่ควรได้รับโซเดียมจากขนมหรืออาหารว่างเกิน 200 มิลลิกรัม เพราะเขายังต้องรับประทานอาหารหลักอื่นๆ อีก การรับประทานปลาเส้นหรือขนมรสเค็มมันต่อเนื่องจะทำให้ไตทำงานหนัก เสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงพ่อแม่อย่าปล่อยให้เด็กรับประทานมากเกินไป ทั้งนี้รวมถึงผู้ใหญ่ที่มีปัญหาความดันโลหิตสูงด้วยซูริมิ   คำว่า “ซูริมิ” (Surimi) ฟังดูก็รู้ว่ามาจากภาษาญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึงเนื้อปลาที่นำมาผ่านกระบวนการ จนได้เนื้อปลาที่มีความเหนียวและยืดหยุ่น  เนื้อขาวเนียนละเอียด ปลาซูริมิจะนำมาทำผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิดที่เรารู้จักกันดีได้แก่ ปูอัด นอกจากนี้ยังมี ไส้กรอก  ลูกชิ้น ปลาเส้น เนื้อปลาเทียม เนื้อกุ้งเทียม ตลอดจนผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนื้อสัตว์ต่างๆ    ปลาซูริมิ เป็นอาหารทะเลที่มีราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารทะเลชนิดอื่นๆ และมีปริมาณไขมันต่ำ จึงจัดเป็นอาหารสุขภาพ    ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่บริโภคซูริมิ และผลิตภัณฑ์จากซูริมิรายใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนประเทศไทยซูริมิก็ได้กลายเป็นสินค้าเศรษฐกิจ เพราะมีความสามารถในการผลิตและส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก รวมทั้งการบริโภคก็มีคนนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นอิทธิพลจากอาหารญี่ปุ่น    ซูริมิคุณภาพพรีเมียมจะผลิตจากปลา Alaska pollock ซึ่งเป็นปลาที่มีไขมันต่ำ เนื้อสีขาว และมีความยืดหยุ่นสูง ส่วนซูริมิที่ผลิตได้จากประเทศในแถบเอเชีย เช่น ประเทศไทยใช้ปลาทรายแดงเป็นวัตถุดิบ หรือปลาทะเลอื่นๆ ที่มีเนื้อขาว ส่วนปลาน้ำจืดนั้นใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตซูริมิไม่ได้เนื่องจากปัญหากลิ่นโคลน เนื้อปลาไม่มีความเหนียวและเนื้อไม่ขาว 

อ่านเพิ่มเติม >