ฉบับที่ 154 ซื้อของบนโลกออนไลน์

เพื่อต้อนรับเทศกาลปีใหม่ สำหรับคนที่ชอบซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ตทั้งจากหน้าเว็บและผ่านทางเฟซบุ้ค เรามีเรื่องมาฝากเพื่อเป็นบทเรียนสำหรับการตัดสินใจซื้อของทุกท่านธรรมดาเวลาจะซื้อหาสินค้าอะไรสักชิ้น หลายท่านยังนิยมไปดูสินค้าที่ร้านเพื่อจะได้พิจารณาแบบเห็นหน้าตาก่อน ได้ลองใช้รวมทั้งต่อรองราคา แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป บางร้านค้าก็เปิดขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ตด้วย เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางให้กับผู้บริโภค ที่จะได้เห็นสินค้าของตนได้สะดวกขึ้น รายละเอียดก็ดูจากภาพที่ลง รวมทั้งโทรสอบถามต่อรองราคากันก็ได้แน่นอนว่าการระบุคุณสมบัติและรายละเอียดตลอดจนราคาขาย ถือเป็นการโฆษณาหรือสัญญาแบบหนึ่งที่ทางผู้ประกอบการได้ให้กับผู้บริโภค ถ้าหากสั่งซื้อมาแล้วได้ไม่ตรงกับคุณสมบัติที่ระบุ ผู้ซื้อย่อมมีสิทธิเต็มในการคืนสินค้า แต่เรื่องมันก็ไม่ได้ง่ายและตรงไปตรงมาเสมอไปเรามีสองเรื่องมานำเสนอในกรณีซื้อสินค้าผ่านทางโลกออนไลน์ซื้อเตาขนมเครปทางเน็ต มันหนักจนรับไม่ไหวเรื่องนี้ร้องทุกข์ผ่านมาทางกระทู้ร้องทุกข์ เนื่องจากผู้ร้องกำลังศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา วันหนึ่งคุณปาริชาติผู้ร้อง เกิดสนใจเตาทำขนมเครปใช้แก๊สแบบ 2 หัว ที่โฆษณาอยู่บนหน้าเว็บของร้านขายเตาขนมเครปเข้า สมมติว่า ชื่อร้าน GAS ล่ะกัน โดยติดต่อเข้าไปที่ร้านโดยตรงเรียกว่า ลงทุนโทรศัพท์ข้ามประเทศเพื่อให้มั่นใจ ความที่อยู่อเมริกา ถ้าจะเอาเตานี้ไปใช้ได้คงต้องฝากเพื่อนหิ้วมาให้ ช่วงนั้นก็พอดีมีเพื่อนกำลังจะมาอเมริกา และเตาดังกล่าวก็ระบุคุณสมบัติบนหน้าเว็บชัดเจนว่า 12,000 กรัม ซึ่งก็คือ 12 กิโลกรัม น้ำหนักถือว่าผ่านหิ้วเข้าไปไม่ผิดกฎสายการบินที่ต้องไม่เกิน 23 กิโลกรัมต่อกระเป๋า 1 ใบ“ถามทางโทรศัพท์หลายครั้งว่า 12 กิโลแน่ๆ นะ เพราะไม่อยากพลาดจุดนี้ ทางร้านก็ยืนยันหนักแน่นว่า 12 กิโลแน่นอน” คุณปาริชาติจึงสั่งซื้อสินค้าดังกล่าวเป็นเงินจำนวน  13,150 บาท (สินค้า 12,900+250 ค่าขนส่ง) โดยต้องทำเรื่องโอนเงินสองต่อคือให้ญาติก่อนแล้วให้ญาติโอนให้ทางร้านอีกทีคุณปาริชาติขอให้ร้านไปส่งที่บ้านเพื่อนคนที่จะหิ้วมาอเมริกาให้ บ้านเพื่อนอยู่ราชบุรี การส่งของไม่มีปัญหา มามีปัญหาเมื่อเพื่อนสงสัยว่า มันคงไม่ใช่สิบสองกิโลกรัมแล้วล่ะ เพราะมันหนักมาก เมื่อลองชั่งน้ำหนักดู โอ้แม่เจ้า เตาเครปสองหัวนี้หนัก 36.3 กิโลกรัม หนักขนาดนี้หิ้วไปไม่ไหวแน่และไม่ผ่านด่านด้วย“ลองแจ้งไปทางร้านนะคะ คิดว่าเขาอาจจะส่งสินค้าผิด เขาบอกไม่ผิด อ้าว งั้นที่ผิดก็คือน้ำหนักที่ทางร้านเขาแจ้งไว้บนหน้าเว็บนะสิ” พอท้วงกับทางร้านว่าเราไม่เอามาใช้ไม่ได้นะ น้ำหนักมันเกินไปมาก ทางร้านจึงเสนอทางเลือกให้เอาแบบเตาเครปหัวเดียวแทนไหม แล้วจะคืนเงินส่วนต่างให้“กลัวจะซ้ำรอยเดิมค่ะ เลยย้ำว่าหัวเดียวมันหนักเท่าไหร่ เขาแจ้งว่ามันหนัก 7 กิโลกรัม พอถามว่า 7 จริงหรือเปล่า เขาก็บอกว่าข้อมูลมาจากคู่มือไม่ผิดแน่ เราเลยขอให้เขาชั่งน้ำหนักใหม่ ปรากฏว่า เตาหัวเดียวมันก็หนักถึง 28 กิโลกรัมค่ะ” เรียกว่าแจ้งน้ำหนักผิดทุกอย่าง ทุกรายการ คุณปาริชาติจึงขอคืนสินค้าและให้ทางร้านโอนเงินคืนให้ โดยยอมจ่ายค่าเสียเวลาให้ทางร้านจำนวน 1,000 บาท แต่ทางร้านไม่ยอมขอหักเงิน 20% (ประมาณ 2,630 บาท) และต้องเอาเตาหนักๆ นั้นมาส่งคืนเรื่องเองด้วย จึงจะคืนเงินให้“รู้สึกว่าทางร้านเขาเอาเปรียบมากเกินไป มันเป็นความผิดพลาดของทางร้าน แต่เขาไม่ยอมรับผิดชอบอะไรเลย เราต่างหากเป็นฝ่ายเสียหาย เสียทั้งเงิน ทั้งเวลา ค่าโทรศัพท์ระหว่างประเทศอีกเป็นร้อยครั้ง เราก็ไม่ได้จะเอาเงินคืนเต็มจำนวนด้วยซ้ำจะยอมให้หัก 1,000 บาทด้วยซ้ำ แต่ 20% ไม่ไหว ไหนจะต้องส่งของคืนร้านอีกจะทำได้ยังไง เพื่อนก็ไม่สะดวกทำให้เพราะของมันหนักมาก”การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดจากความผิดพลาดของทางร้านเต็มๆ เพราะโฆษณาอันเป็นเท็จทำให้ผู้ซื้อเกิดความเข้าใจผิดในสินค้า การขอเงินคืนรวมทั้งเรียกร้องสิทธิเพิ่มในเรื่องของค่าเสียเวลา ค่าใช้จ่ายต่างๆ สามารถทำได้ แต่ผู้ร้องคงไม่อาจดำเนินการได้สะดวก จึงต้องใช้การเจรจาต่อรองการพูดคุยแน่นอนว่า ทางผู้ประกอบการคงอึดอัดและไม่อยากยอมลงให้กับผู้บริโภคง่าย โดยดำเนินการคืนเงินให้ผู้ร้องแต่หักไว้ 20% ในการเจรจาจำเป็นต้องพูดกับคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ซึ่งทางศูนย์พิทักษ์สิทธิได้คุยกับเจ้าของร้านโดยตรง  ทางร้านแจ้งว่า ตนเองก็เสียหายเพราะต้องรับค่าขนส่งพันกว่าบาท ทางศูนย์ฯ พยายามไกล่เกลี่ยขอให้ทางร้านเข้าใจผู้ร้องบ้าง เพราะก็ไม่ได้ทำผิดอะไรเช่นกัน และทางผู้ร้องไม่ได้เรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม(ซึ่งทำได้) เพียงแต่ขอเงินคืนส่วนที่หักไป 20% ถ้าทางร้านสั่งซื้อสินค้าจากที่อื่นแล้วได้ของที่ไม่ต้องการก็คงไม่อยากรับเหมือนกัน เรื่องนี้ขอให้ทางร้านช่วยพิจารณาเพื่อหาข้อยุติให้กับปัญหานี้จะได้ไม่ยืดเยื้อต้องฟ้องร้องกัน และทางร้านเองก็มีชื่อเสียงน่าจะรักษาลูกค้าไว้สุดท้ายทางร้านก็คืนเงิน 20% ให้กับคุณปาริชาติ ซึ่งเธอดีใจมากและขอบคุณมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยให้ “ขอชื่นชมที่แม้เป็นองค์กรไม่แสวงกำไร แต่ทำงานเร็วมากค่ะ ขอเป็นกำลังใจให้ และขออนุญาตบริจาคเงินสนับสนุนกิจกรรมมูลนิธิฯ นะคะ จะได้ช่วยคนอื่นต่อไป” //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 154 เครื่องปั๊มวันที่ ต้องการสองแถว แต่ได้มาแถวเดียว

ผู้ร้องรายนี้ปรึกษามาทางออนไลน์เช่นกัน ปัญหาของผู้ร้องคือ อยากได้เครื่องปั๊มวันที่บนซองบรรจุอาหาร ตอนแรกเห็นผ่านเฟซบุ้คหนึ่งแต่เขาไม่มีของให้ แต่แนะนำเว็บไซด์หนึ่งให้ จึงตามไปที่เว็บดังกล่าวเมื่อคุยไปตามเบอร์โทรบนหน้าเว็บ พร้อมทั้งส่งภาพวิดีโอลักษณะของเครื่องปั๊มที่อยากได้ไปให้ทางผู้ขายดู ทางนั้นก็บอกให้มารับของได้เลยจึงให้หลานไปรับสินค้าและจ่ายเงินไป 2,900 บาท แต่เมื่อหลานนำกลับมาปรากฏว่าเป็นเครื่องปั๊มคนละแบบกับที่อยากได้ เพราะเป็นแถวเดียว แถมเป็นภาษาจีน ไม่ใช่แบบสองแถวที่ส่งภาพวิดีโอไปให้ดู “รีบโทรกลับไปเพื่อขอเปลี่ยนเพราะไม่ใช่ของที่เราต้องการ นอกจากไม่ยอมเปลี่ยนให้แล้ว อ้างว่าหลานเห็นของแล้ว คนขายยังด่าว่าอย่างหยาบคายกลับมาและท้าให้ไปแจ้งความอีกด้วย” การแก้ไขปัญหาเมื่อได้ติดต่อกลับไป พบว่าผู้ร้องไม่อยากเอาความต่อแล้ว เพราะรับไม่ได้ที่โดนว่าอย่างหยาบคายและยังมามาราวีต่อให้หน้าเฟซบุ้คของบริษัทด้วย “จริงๆ ก็ตั้งใจจะเปลี่ยนเป็นสินค้าอื่น แต่พอเจอคนขายแบบนี้ก็ไม่อยากค้าขายด้วยแล้ว ของมูลค่าไม่มาก ช่างมันเถอะ” เจอคนขายแบบนี้เข้าไป เล่นเอาขยาดกันไปทีเดียว ดังนั้นหากว่าสั่งซื้อสินค้าใดไปแล้ว เกิดได้สินค้าที่ไม่ตรงกับรายการที่ทางผู้ขายแสดง หรือผู้ขายทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสินค้า เราสามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้ แต่ว่าการใช้สิทธิในบ้านเรายังติดๆ ขัดๆ เพราะผู้ประกอบการไม่ค่อยรับผิดชอบ ผู้บริโภคเองก็ถูกคุกคาม บางทีก็เสียเวลา เสียเงินทองจนเลยมูลค่าของสินค้าไปมาก ผู้ร้องที่จะฝ่าด่านเหล่านี้ไปได้จึงมีอยู่ไม่มาก ดังนั้นผู้ประกอบการที่แย่ๆ จึงยังคงแย่อยู่ได้ตลอดโดยไม่มีการปรับปรุง //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 154 โอนเงินแล้ว บอกไม่ได้รับ แล้วใครจะรับผิดชอบระหว่างธนาคารหรือคนรับโอน

ธุรกรรมทางการเงินที่สะดวกและหลากหลายช่องทางในปัจจุบัน ช่วยสร้างความคล่องตัวให้กับผู้บริโภคและภาคธุรกิจอย่างมากมาย แม้แต่ธุรกรรมอย่างการโอนเงิน ไม่ต้องไปหน้าเคาน์เตอร์หรือตู้เอทีเอ็มเราก็สามารถทำผ่านอินเตอร์เน็ตได้เช่นเดียวกันคุณเขมวิภากับน้องสาวสนใจจะเข้าอบรมเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะจัดอบรมกันที่จังหวัดพัทลุงโดยบริษัทโซล่า เซล แห่งหนึ่ง ซึ่งจะจัดในวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา เธอจึงโอนเงินจำนวน 5,500 บาทผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ตแบงค์กิ้ง จากบัญชีธนาคารทหารไทยของเธอไปที่ธนาคารกรุงไทยของผู้รับโอน ซึ่งก็คือตัวแทนบริษัทโซล่า เซล ดังกล่าว ในตอนเย็นของวันที่ 24 ตุลาคมวันที่ 25 ตุลาคม ระบบเอสเอ็มเอสได้แจ้งเข้ามาที่มือถือยืนยันว่า การโอนเงินสำเร็จ โดยแจ้งทั้งทางมือถือผู้โอนและผู้รับโอนพอวันที่ 26 ไปถึงหน้าห้องอบรม ปรากฏว่า ทางผู้จัดบอกว่า “ยังไม่ได้รับเงิน” (ไม่มีเงินในบัญชี) จึงไม่อนุญาตให้เข้าอบรม “ดิฉันร้อนใจโทรไปสอบถามทางคอลเซนเตอร์ 1558 พนักงานยืนยันว่ารายการสำเร็จเรียบร้อย แต่ถ้าอยากให้เช็ครายละเอียดขอเวลาสักหน่อย” คุณเขมวิภาเห็นว่าไหนๆ ก็มาถึงที่แล้ว ไม่เข้าอบรมไม่ได้ จึงให้น้องสาวกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มมาจ่ายให้กับทางผู้จัดการอบรม และขอให้ทำหนังสือว่าได้รับเงินจำนวนนี้ไว้แล้วระหว่างที่อบรมน้องสาวของคุณเขมวิภาได้ไปติดต่อกับธนาคารทหารไทยสาขาพัทลุงให้ช่วยตรวจสอบ แต่ถูกปฏิเสธบอกไม่มีอำนาจต้องรอคอลเซนเตอร์ ซึ่งต้องใช้เวลาสำหรับการตรวจสอบถึง 7 วันวันที่ 1 พฤศจิกายน ครบ 7 วันคอลเซนเตอร์ไม่โทรมา คุณเขมวิภาต้องโทรไปเอง คำตอบเดิมคือยืนยันว่า การโอนเงินสำเร็จ เงินไปอยู่ในบัญชีผู้รับแล้วดึงกลับมาไม่ได้ “ดิฉันโทรกลับไปทางผู้จัดการอบรม ทางนี้ก็ยืนยันว่า ไม่มียอดเงินเข้า แต่ไม่ยอมแสดงหลักฐานบัญชี บอกแต่ว่าเป็นเอกสารของบริษัท แต่ส่งจดหมายเพื่อเป็นเอกสารยืนยันกับดิฉันว่า ไม่ได้รับเงินจริงๆ” คุณวิภาจึงต้องย้อนไปธนาคารอีกครั้งเพื่อยื่นเรื่องให้ตรวจสอบและคืนเงิน ทางธนาคารแนะนำให้ไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการตรวจสอบ เมื่อรอผลการตรวจสอบทางสำนักงานใหญ่ธนาคารยืนยันเหมือนเดิมว่า รายการโอนสำเร็จ “ตอนนี้ดิฉันเริ่มหงุดหงิดแล้วค่ะ จึงโทรไปหาบริษัทฯ บริษัทฯ ก็ปฏิเสธเช่นเดิม และขอให้เอาหลักฐานมาแสดงว่าเงินเข้ายังบัญชีปลายทางจริงๆ ทั้งสองฝ่ายต่างปฏิเสธแล้วคนที่เสียหายอย่างดิฉัน จะไปเอาเงิน 5,500 บาทนี้ คืนจากใครค่ะ” การแก้ไขปัญหาเมื่อพิจารณาจากความเป็นไปได้แล้ว ทางฝ่ายธนาคารน่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจนกว่าทางบริษัทฯ ที่ไม่ยอมแสดงหน้าบัญชีให้เห็นว่า มีรายการโอนเงินเข้าในเวลาและจำนวนดังกล่าวตามที่ทางธนาคารทหารไทยยืนยัน ทางศูนย์พิทักษ์ฯ จึงแนะนำให้คุณเขมวิภา ทำหนังสือถึงบริษัทอย่างเป็นทางการเพื่อขอคืนเงิน โดยระบุเนื้อหาและเอกสารที่ยืนยันว่าการโอนเงินนั้นสำเร็จ โดยทางศูนย์ฯ ได้ช่วยประสานกับทางบริษัทฯ ด้วย เพราะถ้าหากบริษัทยืนยันว่า ทางตนเองไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวควรแสดงหลักฐานยืนยัน หากไม่มีหลักฐานก็ควรคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้กับผู้บริโภคเพราะทางบริษัทฯ ได้รับเงินสดสำหรับเป็นค่าอบรมไปแล้วสุดท้ายบริษัทก็คืนเงินจำนวน 5,500 บาทให้กับคุณเขมวิภาเรียบร้อย แต่เงินจำนวนนี้ไปค้างอยู่กับบริษัทถึง 13 วัน (25 ตุลาคม – 6 พฤศจิกายน) แหม มันน่าเอาเรื่องต่อจริงๆ   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 ทำบัตร ATM แต่ถูกยัดเยียดให้ซื้อประกันพ่วงด้วย

พอดีผู้เขียนได้รับคำปรึกษาของผู้บริโภคท่านหนึ่งจากจังหวัดอยุธยา  กรณีการถูกยัดเยียดขายประกัน  ก็เลยได้พูดคุยรายละเอียดกัน  จึงได้ทราบว่าเหตุเกิดจากคุณ อ๋อ(นามสมมุติ)มีความประสงค์จะทำบัตร ATM เพื่อความสะดวกด้านการเงิน   ก็เลยตัดสินใจเดินเข้าไปที่ ธนาคารกรุงไทย สาขาอยุธยา   และแจ้งความประสงค์ต่อพนักงานธนาคารพนักงานแจ้งข้อมูลว่า หากคุณอ๋อต้องการทำบัตรATM ในวันนี้  คุณอ๋อ ต้องซื้อประกันอุบัติเหตุพ่วงไปด้วย   คุณอ๋อบอกว่า “อ๋อ งง..มาก” เพราะความตั้งใจคือต้องการแค่บัตรเพื่อความสะดวก ทำไม! ต้องถูกบังคับให้ซื้อประกันด้วย  คุณอ๋อ จึงปฏิเสธพร้อมยืนยันว่าต้องการทำแค่บัตรATM อย่างเดียว   พนักงานจึงแจ้งว่าหากจะทำบัตร ATM   อย่างเดียว วันนี้ทำไม่ได้เพราะบัตรหมด เหลือแต่บัตรที่บวกประกันด้วย  หากยืนยันจะทำแค่ ATM  คุณอ๋อต้องมาใหม่วันหลัง   ตกลงวันนั้นคุณอ๋อต้องกลับบ้านมือเปล่า   แต่คุณอ๋อก็ยังไม่ละความพยายามที่จะทำ    เดินทางไปที่ธนาคารอีกหลายครั้ง  แต่ก็ได้คำตอบเดิม  คือบัตรหมด  ยังไม่มา  มีแต่บัตรที่พ่วงประกัน   สุดท้ายคุณอ๋อก็ไม่ได้ทำบัตรATMคำถามที่ตามมาก็คือ “เกิดอะไรขึ้นที่ธนาคาร” ที่เกิดเหตุนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากปัจจุบันธนาคารหันมาทำธุรกิจประกันภัย  และการทำธุรกิจนี้ทำให้เกิดตัวชี้วัดกับพนักงาน  ว่าแต่ละคนต้องขายประกันได้กี่ราย   หรือไม่?  ที่เป็นสาเหตุของปัญหาที่เขียนไว้เบื้องต้น   หากเป็นจริง  คนที่เดือดร้อนคือผู้บริโภค ที่ถูกละเมิดสิทธิตาม พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค  ในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ   การที่ผู้บริโภคถูกผู้ให้บริการใช้เทคนิคยัดเยียดบริการผู้บริโภคโดยมิได้สมัครใจเยี่ยงนี้    คำถามที่ตามมาคือ ปัญหานี้ ใครมีหน้าที่ดูแลและควบคุม  เพราะปรากฏการณ์เช่นนี้   น่าจะไม่ได้เกิดที่ธนาคารใดธนาคารหนึ่ง  แต่เกิดขึ้นเกือบทุกธนาคารในประเทศไทย  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงหนีไม่พ้นธนาคารแห่งประเทศไทย  ที่ต้องออกกฎ ระเบียบมาควบคุมการให้บริการของธนาคาร  ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้ผู้บริโภคมาเผชิญชะตากรรมอย่างเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ขณะนี้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน  ได้เดินหน้าเรื่องนี้ อย่างเต็มกำลังโดยสรุปสถานการณ์ปัญหาพร้อมเสนอแนะวิธีแก้ไข ต่อธนาคารแห่งประเทศไทยไปเมื่อวันที่ 7  ตุลาคม 2556  ผู้บริโภคอย่างเราๆ คงต้องคอยเฝ้าระวังว่าปัญหาเหล่านี้จะถูกคลี่คลายหรือเพิ่ม  คนที่ให้ข้อมูลที่ดีที่สุดคือผู้บริโภคที่ประสบปัญหานั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 มะเร็ง บัตรทองและการส่งต่อผู้ป่วย

มะเร็งเป็นโรคร้ายที่มีคนไทยป่วยเป็นจำนวนมากและคาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คุณวิภาก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ต้องเผชิญหน้ากับโรคร้ายแรงนี้และคาดหวังถึงการรักษาที่จะช่วยให้เธอผ่านพ้นความเจ็บป่วยนี้ไปได้คุณวิภามีสิทธิในบัตรทองหรือสิทธิการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ยามเจ็บไข้เธอมักจะไปใช้บริการการแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเสมอ โดยจ่ายเงินเองไม่พึ่งระบบหลักประกัน แต่ในการตรวจรักษาครั้งล่าสุดจากอาการเลือดออกทางช่องคลอด แพทย์วินิจฉัยว่าเธอเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 3 ซึ่งการรักษาพยาบาลต้องทำอย่างต่อเนื่องและมีค่าใช้จ่ายสูง แพทย์จึงแนะนำให้เธอติดต่อกับสถานพยาบาลต้นสังกัดที่เธอมีสิทธิในระบบหลักประกันเพื่อลดภาระในเรื่องค่ารักษาพยาบาลปัญหาแรกคือ เธอไม่แน่ใจว่าเธอมีสิทธิบัตรทองที่สถานพยาบาลไหน ปัญหานี้แก้ไม่ยากเพราะเพียงตรวจสอบจากฐานข้อมูล ก็พบว่าเป็นสถานพยาบาลใดปัญหาที่สองคือ เมื่อสามีพาเธอไปติดต่อเพื่อขอรับการรักษาสถานพยาบาลดังกล่าว ทั้งสองพบว่าสถานพยาบาลแห่งนี้ไม่มีศักยภาพพอในการรักษาโรคร้ายของเธอ จึงร้องขอให้ทางสถานพยาบาลทำเรื่องส่งต่อ โดยประสงค์ให้ส่งต่อไปรักษาตัวที่ รพ.รามาธิบดี ซึ่งคุณวิภาคุ้นเคยและมีประวัติการตรวจวินิจฉัยโรคพร้อมอยู่แล้ว แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยบอกเพียงว่าจะทำเรื่องส่งตัวผู้ป่วยให้ไปรักษาที่สถาบันมะเร็งเท่านั้น ถ้าจะรักษาที่รามาธิบดีผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง สามีของคุณวิภาจึงโทรศัพท์มาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และขอให้ช่วยเหลือให้ทางสถานพยาบาลต้นสังกัดทำเรื่องให้ภรรยาได้เข้ารับการรักษาที่ รพ.รามาธิบดี การแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคได้ประสานไปยังสถานพยาบาลที่คุณวิภามีสิทธิบัตรทองอยู่ ทราบข้อมูลตรงกับที่สามีคุณวิภาร้องเรียนมา แต่ทางสถานพยาบาลแห่งนี้แจ้งว่า ไม่สามารถทำตามประสงค์ของผู้ร้องได้เนื่องจาก รพ.รามาธิบดีไม่ได้เป็นโรงพยาบาลในเครือข่าย หากเกินกว่าความสามารถในการรักษาทั้งระดับสถานพยาบาลปฐมภูมิและทุติยภูมิ จะส่งต่อไปที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งเป็นสถานพยาบาลในเครือข่ายเท่านั้น   หากผู้ป่วยยังยืนยันจะรักษาพยาบาลที่ รพ.รามาธิบดี ก็ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง โดยไปทำเรื่องตามขั้นตอนการย้ายสิทธิกับทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)เรื่องการส่งตัวนี้เป็นหนึ่งในปัญหาที่ทาง สปสช.ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดปัญหาหนึ่ง ซึ่งยังคงต้องมีการสื่อสารให้ผู้มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้าใจในระบบของบัตรทองหรือระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะมีลำดับขั้นของการดูแลรักษา คือถ้าสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิหรือคลินิกใกล้บ้านใกล้ใจ ไม่สามารถรักษาได้ จะส่งต่อการรักษาไปที่โรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ ซึ่งมีอุปกรณ์ที่รักษาผู้ป่วยได้ หากยังรักษาไม่ได้อีกจึงจะส่งต่อไปรักษาในสถานพยาบาลที่มีศักยภาพสูงสุด ซึ่งอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน โดย สปสช.จะติดตามดูแลค่ารักษาของผู้ป่วยไปตามสถานพยาบาลที่ผู้ป่วยถูกส่งตัวไปรักษาเมื่ออธิบายให้ทั้งคุณวิภาและสามีเข้าใจ ทั้งสองก็ยินดีให้ทางสถานพยาบาลทำเรื่องส่งตัวคุณวิภาไปรักษาที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ แต่สามีคุณวิภาก็แอบกังวลว่า ภรรยาอาจต้องรอคิวการรักษานานแล้วจะทำให้อาการของภรรยาทรุดหนักลง ซึ่งปัญหานี้ทางสถานพยาบาลตามสิทธิของคุณวิภาได้ช่วยประสานกับทางสถาบันมะเร็งฯ เป็นที่เรียบร้อย และเร่งทำใบส่งตัวให้อย่างเร็วที่สุด ปัจจุบันคุณวิภาได้เข้ารับการรักษา ณ สถาบันมะเร็งแห่งชาติแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 ความอึดอัดของผู้บริโภค กรณี เครื่องทำน้ำอุ่นได้น้ำร้อนเกินไป

เรียน บรรณาธิการ นิตยสารฉลาดซื้อผมเป็นสมาชิกฉลาดซื้อครับ ได้ซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นยี่ห้อฮิตาชิ รุ่น HES-35R(BL) จากพาวเวอร์บาย สาขา โรบินสันแฟชั่นไอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556 ราคา 3,676 บาท โดยชำระเป็นเงินสดหลังจากใช้เครื่องได้พบความผิดปกติ คือ แม้จะปรับระดับวอลุ่มที่ต่ำสุด แต่น้ำมีความร้อนสูง จึงได้แจ้งไปยังศูนย์ซ่อมฮิตาชิ คือ หจก. เค.เอ็นวี.เอ็นจิเนียริ่ง ในวันที่ 8 ตุลาคมทางศูนย์ฯ ได้ส่งช่างมาตรวสอบและดำเนินการเปลี่ยนแผงวงจรให้ใหม่ แต่อาการดังกล่าวยังไม่หายช่างแจ้งว่าต้องเปลี่ยนตัวปรับวอลุ่มด้วยจึงจะหาย ในวันที่ 18 ตุลาคม ศูนย์ฯ ได้เข้ามาเปลี่ยนให้ แต่ช่างแจ้งว่าอาการยังเป็นเหมือนเดิมในที่สุดช่างของ บ.ฮิตาชิ สำนักงานใหญ่ก็มาเอง ปรากฏว่า เรียกผมเข้าไปทดสอบดูว่าใช้ได้แล้ว ซึ่งก็จริงเพราะเปิดปุ๊บไม่ร้อนปั๊บ แล้วช่างก็พากันกลับไปโดยแจ้งว่าจะต้องเข้ามาเปลี่ยนอะไหล่ให้อีกตัวหนึ่ง แต่พอตกตอนค่ำผมเข้าไปอาบน้ำ ปรากฏว่าใช้ไปสักพัก น้ำก็มีความร้อนสูงทั้งที่ปรับวอลุ่มอยู่ต่ำสุดแล้วผมจึงแจ้งไปยัง บริษัท ฮิตาชิเซลส์(ประเทศไทย)จำกัด ให้ดำเนินการเปลี่ยนเครื่องตัวใหม่ เนื่องจากลูกค้าไม่สบายใจต่อคุณภาพและประสิทธิภาพของเครื่องเดิม เพราะซ่อมหลายครั้งไม่หาย ไม่นานทางฮิตาชิก็อนุมัติให้พาวเวอร์บาย สาขาแฟชั่นฯ เข้ามาเปลี่ยนสินค้าตัวใหม่ให้ ในวันที่ 30 ตุลาคม แต่พอติดตั้งเสร็จช่างไม่ได้ให้ใบรับประกันตัวใหม่ เมื่อผมทวงและดูเลขเครื่องจากใบรับประกันกลับไม่ตรงกัน เพราะยังเป็นฝาครอบอันเก่า ฝักบัวอันเก่า(เข้ามาเปลี่ยนฝาครอบให้ แต่ไม่รู้ว่าเครื่องข้างในอันเก่าด้วยหรือเปล่า) ผมจึงถามช่างว่าตกลงได้เปลี่ยนเครื่องให้ผมจริงหรือเปล่า ผมยังโทรไปแจ้งทั้งทางบริษัทฮิตาชิกับพาวเวอร์บาย ซึ่งก็เพียงแค่รับฟังจึงเรียนมายังผู้บริโภคว่าก่อนซื้อสินค้าอะไรพิจารณาให้จงดีก่อนว่าบริษัทฯ เขาเก่งเรื่องอะไร บทเรียนนี้ได้รับรู้เรื่องการปัดความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ(ทั้งพาวเวอร์บายและฮิตาชิ) บรรยากาศจะผิดกันมากระหว่างก่อนซื้อและหลังซื้อครับ เพราะเขาทำงานกันเป็นทีมจริงๆจึงเรียนมาเพื่อพิจารณาเผยแพร่เป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้บริโภคสมาชิก 5464ปล. ผมไม่เรียกร้องอะไรแล้วครับ เพราะเสียทั้งเงิน 320+เวลา+ค่าโทรศัพท์ เลยไปซื้อเครื่องใหม่มาติดแทนไม่พบว่าคุณสมาชิก 5464 จะทำผิดขั้นตอนตรงไหนในการใช้สิทธิ แต่นั่นแหละสุดท้ายซื้อใหม่อาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุด? ขอบคุณที่เขียนมาเล่าประสบการณ์ให้ทราบนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 ซื้อคอนโดมาใหม่ 1 ปี ร้าวทุกเดือนทำยังไงดี

เรื่องมาทางกระทู้ร้องเรียนในเว็บ consumerthai.org ผู้บริโภคคงเหลืออดจริง จึงโพสต์ร้องทุกข์และระบายความคับข้องใจมาได้แสบๆ คันๆ แท้คุณบุญโพสต์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 55 ว่า ซื้อคอนโดของ AP มา 1 ปี ร้าวทุกเดือนทำยังไงดี เป็นคอนโดใหม่เพิ่งสร้างเสร็จชื่อ Life 18 หลังจากโอนเข้าอยู่มีร้าวแทบทุกเดือนไม่หยุด รอยล่าสุดเพิ่งเกิดเดือนนี้ตรงขอบประตูทางเข้าห้อง โครงการฯ แจ้งหมดประกันเมื่อไหร่ลูกบ้านก็ไปซ่อมเอง น่ากลัวจังตอนที่ซื้อ sale บอกเป็นแบรนด์เดียวกับแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ดูโครงการก็น่าเชื่อถือ แต่พอเข้าอยู่ ปัญหาร้าวไม่เว้นแต่ละเดือน ซ่อมก็ช้าชอบรอให้ร้าวหลายรอบแล้วซ่อม แต่ก็มีรอยใหม่ตามมาอีก กังวลว่าปีแรกเป็นขนาดนี้ ถ้าตึกเก่าไปจะขนาดไหน17 กรกฎาคม 55 เดือนนี้ฝนตก ท่อน้ำดันขยะไปถึงเพดาน กระเบื้องในห้องน้ำร้าวอีกแล้ว ผนังฝั่งครัวก็ไม่รอด เมื่อเช้าไปตากผ้า ร้าวเพิ่มตรงระเบียง...จะบ้าตาย...27 กรกฎาคม 55 พื้น laminate ปูขอบเกยกันทั้งห้องและมีขอบบวม แจ้งซ่อมไปตั้งแต่เช้า โครงการฯ ผัดวันประกันพรุ่งมาปีกว่าแล้ว ก็สรุปว่า ไม่แก้ ผนังห้องน้ำคนละสีและปูไม่ได้ระดับ ส่วนนอกห้องก็ไม่รอด โครงการเนียนเอาหินโรยถนนมาโรยแทนหินแม่น้ำได้ใจจริงๆผนังเตียงนอนมีหรือจะรอด โครงการฯ อะไรทำไมมันร้าวได้ทุกส่วน...ดูแล้วมันต้องเป็นผู้รับเหมาเดียวกันกับสนามบินสุวรรณภูมิแน่นอน การแก้ไขปัญหาครั้งแรกที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ติดต่อกลับไปยังไม่สามารถคุยรายละเอียดกับทางผู้ร้องคุณบุญได้ แต่เมื่อติดต่อได้ภายหลังและเริ่มประสานกับทางโครงการ AP ก็ทราบว่าทางคุณบุญได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทางโครงการฯ จัดการซ่อมแซมรายการร้าวๆ และปัญหาต่างๆ ที่พบ รวม 7 รายการ ซึ่งทางโครงการฯ ได้เข้ามาจัดการและขอให้ทางคุณบุญลงลายมือรับรอง ซึ่งบางรายการคุณบุญไม่ได้ลงลายมือรับรอง ทราบต่อมาภายหลังว่า “รับไม่ไหว รายการซ่อมบางรายการไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงว่ามีการปรับปรุงแก้ไขแต่อย่างใด”   คุณบุญอธิบายกับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯต่อมามีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งมีท่าทีรับผิดชอบกับปัญหาน่าอึดอัดใจของคุณบุญ สุดท้ายก็สามารถจัดการปัญหาในจุดต่างๆ จนเป็นที่พอใจของผู้บริโภคได้ แต่ระยะเวลาที่ใช้ในการจัดการปัญหานี้เกือบ 1 ปีทีเดียวหวังว่ารอยร้าวจะไม่มาสร้างปัญหาให้กับคุณบุญอีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 จัดฉากไปทำไม??

1  กันยายน  2556   วันที่ผู้บริโภคไทยต้องจดจำเป็นพิเศษ   เพราะเป็นวันของแพงแห่งชาติ  บรรดาสินค้าที่มีความสำคัญในชีวิตประจำวันตั้งแต่  แก๊ส   ค่าไฟฟ้า  ค่าทางด่วน  นัดกันขึ้นราคาพร้อมๆ กัน จนผู้บริโภคอย่างเรามึนไปตามๆ กัน  และยิ่งมึนไปกว่านั้นคือ ประโยคเด็ด ของท่านปลักกระทรวงพาณิชย์ ที่ว่า  “ของไม่ได้แพงจริง  ที่คิดว่าของแพง มันเป็นแค่ความรู้สึก”  เล่นเอาผู้ฟังอย่างเราๆ สะอึกจนพูดไม่ออกเอ้า..กลับมาเข้าเรื่องกันหน่อย  เรื่องนี้ยังผูกติดอยู่กับ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ที่เขียนย้ำบ่อยๆ เกี่ยวกับกกพ. เพียงต้องการให้ผู้บริโภคทราบว่า  กกพ.นี่แหละ เป็นคนชี้เป็นชี้ตาย  เรื่องการขึ้นราคาไฟฟ้าในประเทศเรา  คราวที่แล้วเขียนเรื่องไฟดับ 14  จังหวัด  ส่งข้อเสนอไป  เงียบ...ไม่มีคำตอบ  (อยู่ระหว่างทวงถาม) คราวนี้มาใหม่ วันที่ 23  สิงหาคม 2556  มีข้อมูลผ่านสื่อว่า กกพ. มีมติขึ้นค่าไฟฟ้า อัตโนมัติ(FT)  สำหรับเดือนกันยายน – ธันวาคม 2556 อีก 7.2  สต.ต่อหน่วย  ผู้เขียนในฐานะคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต  ได้ท้วงติงการตัดสินใจของกกพ. ที่ไม่ผ่านการรับฟังความคิดเห็น  จากนั้นก็ได้รับข้อมูลจากฝ่ายคุ้มครองสิทธิฯ(กกพ) ให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกับการขึ้นราคาค่า FTโดยเปิดให้แสดงความคิดเห็นจนถึงวันที่ 30  สิงหาคม  2556   ผู้เขียนจึงนำเรื่องนี้เข้า ที่ประชุมเพื่อให้คณะกรรมการร่วมกันที่ประชุมได้พิจารณาข้อมูลที่ กกพ. เสนอมา และมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง  และได้มีมติเป็นเอกฉันท์  “ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าFT ” ที่กกพ. มีมติ เห็นชอบตามข้อเสนอของ กฟผ. ฝ่ายเดียว      ผลสรุปมีข้อเสนอส่งไปถึงกกพ. ดังนี้1. กกพ.  เป็นองค์กรกำกับ  ไม่ควรที่จะด่วนตัดสินใจขึ้นค่า FT   โดยพิจารณาเพียงข้อมูลที่ กฟผ. เสนอมาเพียงฝ่ายเดียว  เพราะขาดความรอบคอบ เกี่ยวกับการตัดสินใจที่ ส่งผลต่อผู้ใช้พลังงานทั้งประเทศ      2. กกพ.    ควรจัดให้มีมีกระบวนการ ศึกษาข้อมูล ต้นทุนการผลิตไฟฟ้า  เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลจาก กฟผ.  เพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้านในการตัดสินใจ ให้เกิดความเป็นธรรม  ทั้งกับผู้ประกอบการ และผู้ใช้พลังงาน3. กกพ.ควรดำเนินการพัฒนาสูตรคำควณการขึ้นค่าไฟฟ้า อัตโนมัติ(ค่าFT)ขึ้นใหม่      โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย  เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำสูตรคำนวณการขึ้นค่าไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (FT) ให้เป็นที่ยอมรับ และมีความเป็นธรรมมากขึ้นเมื่อได้ข้อเสนอแล้วก็ส่งไปให้กกพ. ภายในวันที่กำหนดคือ 30 สิงหาคม 2556  ซึ่งเป็นวันศุกร์  เจ้าหน้าที่ตอบรับเรียบร้อย  วันที่ 31 เป็นวันเสาร์  วันที่ 1 กันยายน 2556 วันอาทิตย์  ค่า FT ขึ้นทันที  คำถามคือ เขารับฟังความคิดเห็นทำไม?  รับฟังแล้วนำข้อเสนอไปพิจารณาตอนไหน?  คำถามนี้คงยังไม่มีคำตอบ  แต่คงเป็นภาระที่พวกเราต้องค้นหาคำตอบร่วมกัน  ว่าองค์กรกำกับที่ปฏิบัติหน้าที่เช่นนี้พวกเราจะจัดการกับพวกเขาอย่างไร ?  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 เครื่องซักผ้านำเข้า...ซักผ้านวมแล้วเอ๋อ

เมื่อปลายปี 2553 ในงานแสดงสินค้าที่เมืองทองธานี ประสารได้ซื้อเครื่องซักผ้านำเข้าจากนิวซีแลนด์ ยี่ห้อ Fisher & Paykal บริษัท ทิมแลง 2000 จำกัดเป็นตัวแทนจำหน่าย เครื่องซักผ้าที่ซื้อเป็นระบบฝาบน ขนาดความจุประมาณ 10 กิโลกรัม ราคา 25,000 บาท เหตุผลสำคัญที่ซื้อเพราะตัวแทนขายสินค้ายืนยันว่า เครื่องซักผ้ารุ่นนี้สามารถซักผ้านวมขนาด 6 ฟุตได้แน่นอนตอนที่ซื้อเครื่องซักผ้า ประสารเพิ่งปลูกบ้านหลังใหม่ยังสร้างไม่เสร็จ จึงฝากเครื่องไว้กับตัวแทนขายก่อน และได้รับเครื่องซักผ้าจริงๆ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2554พอได้เครื่องซักผ้ามาก็ฉลองใช้งานเลย เสื้อ-กางเกงผ้าชิ้นไม่ใหญ่น้ำหนักไม่มาก ซักได้ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอเอาผ้าห่มนวมขนาด 6 ฟุตมาซักปรากฏว่าเกิดปัญหาทุกครั้ง“เครื่องจะมีอาการหยุดทำงานระหว่างที่การซักยังไม่จบ หน้าจอเครื่องร้องว่าเครื่องขัดข้อง พร้อมกับมีน้ำค้างที่ก้นถังซัก ปั่นออกไม่หมด และไม่สามารถดำเนินการซักต่อได้”วิธีการแก้ไขของประสารคือ ต้องเอาผ้าห่มออกและถอดปลั๊ก ปิดเครื่องแล้วเปิดใหม่ พร้อมกับกดโปรแกรมให้ปั่นน้ำออก เครื่องก็จะกลับมาทำงานได้ใหม่ และซักผ้าอื่นๆ ต่อไปได้ แต่หากเอาผ้าห่มนวม 6 ฟุตกลับมาซักอีกก็จะเกิดปัญหาแบบเดิมซ้ำๆ ทุกครั้ง บางครั้งเกิดหลังซักผ้าห่มนวม 1-2 ผืน บางครั้งซักผ้าห่มนวมผืนแรกก็เกิดปัญหาที่ว่าแล้ว และประสารต้องใช้วิธีแก้ไขแบบเดิมๆ ทุกครั้งเขาตั้งข้อสงสัยว่า เครื่องซักผ้าที่ซื้อมา น่าจะซักผ้าห่มนวมขนาด 6 ฟุตไม่ได้จริงตามที่โฆษณาก่อนที่จะนำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ประสารติดต่อไปที่บริษัทจัดจำหน่ายคือบริษัททิมแสง 2000 ให้มาตรวจสอบแก้ไข บริษัทแสดงความรับผิดชอบด้วยการส่งช่างเข้ามาซ่อมหลายครั้งในช่วงเวลาราว 1 ปี ตั้งแต่ที่รับเครื่องมาเมื่อต้นปี 2554 จนถึงปี 2555 การซ่อมของช่างจากบริษัททุกครั้งก็ทำและได้ผลชั่วคราวเหมือนกับที่ประสารจัดการแก้ปัญหาเอง “คือเครื่องซักผ้ากลับมาใช้งานได้ชั่วคราว ก่อนจะเกิดปัญหาเดิมอีกครั้งเมื่อซักผ้าห่มนวม 6 ฟุตอีก”สำหรับสาเหตุอาการเสียของเครื่องซักผ้าก็มีความแตกต่างกันไปในการซ่อมแต่ละครั้ง เช่น ยกท่อน้ำทิ้งสูงเกินไป เครื่องชื้นจากโดนละอองน้ำฝน หรือเครื่องชื้นจากการอยู่ในห้องปิดระบายน้ำไม่ดี เครื่องวางบนพื้นเอียง อุปกรณ์บางชิ้นเสื่อม ซึ่งเปลี่ยนแล้วก็ไม่หาย“ผมได้ร้องเรียนที่บริษัทหลายครั้งในช่วงปี 2555 เป็นต้นมา ด้วยความเชื่อว่าเครื่องซักผ้ารุ่นนี้อาจไม่สามารถซักผ้านวมขนาด 6 ฟุตได้จริงตามที่โฆษณา สุดท้ายทางผู้จัดการบริษัทแจ้งผมว่า ถ้าเครื่องมีปัญหาอีกให้รีบโทรบอก อย่าเพิ่งถอดปลั๊ก ให้ปล่อยเครื่องร้องข้ามวันข้ามคืนไปก่อนเพื่อให้การบันทึกการเสียโดยอัตโนมัติยังอยู่ที่เครื่องซักผ้า จะรีบนำเครื่องเข้ามาตรวจจับให้เพื่อจะได้ทราบสาเหตุเสียที่แน่นอนและแก้ไขได้ถูกต้อง และจะยอมคืนเงินพร้อมรับเครื่องคืน ถ้ามีหลักฐานชัดเจนแจ้งไปที่บริษัทผู้ผลิตที่นิวซีแลนด์ว่าเครื่องใช้ไม่ได้จริงๆ” ข้อเสนอของผู้จัดการบริษัทนี้มีขึ้นในช่วงปลายปี 2555หลังจากนั้นเครื่องซักผ้ายังคงทำงานตามปกติ คือรับซักเฉพาะเสื้อและกางแกง แต่ไม่รับซักผ้านวมเจอผ้านวม 6 ฟุตลงเครื่องเมื่อไหร่เป็นต้องหยุดปั่นผ้าทุกครั้ง แต่ประสารก็ไม่สามารถเปิดเครื่องให้ร้องข้ามวันข้ามคืนไว้ให้ทางบริษัทเข้ามาตรวจได้ตามที่บอก เพราะกว่าบริษัทจะเข้ามาได้ก็ต้องนัดนานเป็นสัปดาห์ ก็ต้องทนใช้วิธีการแก้ปัญหาชั่วคราวแบบเดิมไปพลางๆ“จนถึงต้นปี 2556 เมื่อเกิดปัญหาแบบเดิมอีก ผมได้แจ้งบริษัทให้ส่งช่างมาดู พร้อมกับบอกว่าจะยอมเปิดเครื่องให้ร้องทิ้งไว้ข้ามสัปดาห์ ทางบริษัทแจ้งว่า ผู้จัดการคนเดิมที่เคยคุยกับผมมาตลอดนั้นตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว ไม่ทราบว่าตกลงยังไงกันไว้บ้าง ให้ปิดเครื่องไปได้เลยแล้วจะส่งช่างเข้ามาดูในสัปดาห์ถัดไป” ประสารเล่าพอถึงวันนัด มีช่างเข้ามาดูแลแจ้งว่าอุปกรณ์บางชิ้นเสื่อมอีก จะเปลี่ยนให้ฟรีแม้จะหมดประกันแล้ว แต่ช่างมาสังเกตพบว่า น้ำไหลเข้าเครื่องไม่สม่ำเสมอ และตรวจพบว่าเกิดจากแผงวงจรเสีย ซึ่งต้องเปลี่ยนแผงวงจรราคา 4,000 บาท เพราะหมดประกันแล้วประสารไม่ตกลงเพราะอะไหล่ที่จะเปลี่ยนไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเครื่องซักผ้าไม่ยอมซักผ้านวม ทางช่างจึงกลับไปโดยไม่คิดค่าตรวจ แต่เครื่องซักผ้าก็ถูกทิ้งในสภาพเดิมที่แจ้งสถานะว่า ใช้งานไม่ได้ต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหาประสารพยายามโทรติดต่อกับผู้จัดการคนใหม่หลายครั้งแต่ติดต่อไม่ได้เลย เลขาหรือเจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่ว่างทุกครั้ง แล้วจะติดต่อกลับมาแต่ไม่เคยติดต่อกลับมาอีก ประสารจึงส่งเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแม้เรื่องนี้จะเกิดมาเนิ่นนานหลายปี แต่ก็เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่บริษัทเองก็ไม่สามารถแก้ไขให้เครื่องสามารถใช้งานได้ตามโฆษณา มูลนิธิฯ จึงติดต่อไปที่บริษัทเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคประสารแจ้งว่า หลังจากที่มูลนิธิฯ ช่วยประสานงานให้ ในที่สุดทางผู้จัดการคนใหม่ได้ยอมพูดคุยด้วย และส่งช่างเข้ามาดู ทางผู้จัดการยังคงยืนยันว่าเครื่องซักผ้ารุ่นนี้ซักผ้านวมขนาด 6 ฟุตได้แน่นอนตามที่โฆษณา แต่คาดว่าประสารอาจจะโชคร้ายได้รับเครื่องการผลิตที่มีปัญหาเอง แต่ยินดีที่จะรับเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้มาใช้ต่อประสารบอก ผมไม่สามารถเชื่อใจทางบริษัทได้อีก จึงยื่นข้อเสนอขอคืนเครื่องและรับเงินคืนหลังจากการเจรจาต่อรองกันอีกราว 2 เดือน ในที่สุดจึงได้ข้อตกลงร่วมกัน โดยทางบริษัทยอมรับคืนเครื่องและคืนเงินให้จำนวน 15,000 บาท เรื่องจึงเป็นอันยุติความจริงแล้ว กระบวนการร้องเรียนเพื่อการเยียวยาความเสียหายไม่จำเป็นต้องปล่อยให้ยืดยาว รอซ่อมแล้วซ่อมอีก หากผู้บริโภคพบว่า สินค้ามีคุณภาพไม่เป็นไปตามที่โฆษณาก็สามารถที่จะแสดงเจตจำนงขอเปลี่ยนสินค้าหรือคืนสินค้าเพื่อขอคืนเงินได้ตั้งแต่การมาตรวจซ่อมครั้งแรกแล้ว หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ยินยอมผู้บริโภคก็สามารถร้องเรียนต่อ สคบ. หรือที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทันที  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 หม้อมิเตอร์หมุนปรื๊ด ทำค่าไฟกระโดดกบ

 เมื่อเดือนธันวาคม 2555 อรรถนนท์ ได้เช่าบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านนันทนาการ์เดนท์ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เป็นที่พักอาศัยตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 เรื่อยมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2556 สามเดือนแรกของการเข้าพักอาศัยหม้อมิเตอร์ไฟฟ้าหมุนดีไม่มีปัญหา มีการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยในบ้านหลังนี้ประมาณ 285 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟตกเดือนละประมาณ 1,200 บาท จนเมื่อวันที่ 15 เมษายน  อรรถนนท์เดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด และกลับมาที่บ้านเช่าอีกทีในวันที่ 3 พฤษภาคม พบใบแจ้งค่าไฟฟ้าที่ส่งมาถึงบ้านก็ตกใจค่าไฟฟ้าในช่วงรอบเดือนล่าสุดระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน 2556 ปรากฏว่าบิลค่าไฟฟ้าแจ้งว่ามีหน่วยการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 2,032 หน่วย คิดเป็นค่าไฟ 9,488.61 บาท “เหยียบหมื่น...”อรรถนนท์เห็นว่า เป็นค่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่ผิดปกติเป็นอย่างมาก จึงรีบแจ้งไปที่การไฟฟ้าบางพลีเพื่อให้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ ทางการไฟฟ้าส่งคนมาตรวจสอบแล้วแจ้งกลับมาว่า ไม่มีปัญหาอะไรทุกอย่างปกติการไฟฟ้าบอกหม้อมิเตอร์ไฟฟ้าปกติ และให้ลูกค้าจ่ายเงินซะดีๆ แต่สำหรับอรรถนนท์เขาเห็นว่า ค่าไฟรอบนี้ไม่ปกติแน่นอน จากที่เคยใช้แค่ 200-300 หน่วยแล้วอยู่ดีๆ หม้อมิเตอร์กลับหมุนปรื๊ดทำเอายอดหน่วยค่าไฟขึ้นไปถึง 2,000 หน่วยภายในเดือนเดียว“ผมขอยืนยัน บ้านผมใช้ไฟฟ้ากันอย่างประหยัดมากๆ เปิดไฟเท่าที่จำเป็นจริงๆ ครับ” แนวทางแก้ไขปัญหาสำหรับใครที่เจอปัญหาแบบนี้ สิ่งแรกที่ควรทำคือการวิ่งไปดูเลขหน่วยค่าไฟฟ้าที่หม้อมิเตอร์ที่เสาไฟฟ้าหน้าบ้านทันที ว่าใช่หรือใกล้เคียงกับเลขหน่วยในบิลค่าไฟฟ้าหรือไม่ หากใช่หรือใกล้เคียง ก็ต้องมาตรวจดูต่อไปว่ามีการใช้ไฟฟ้าในบ้านเพิ่มขึ้นหรือไม่ มีเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากไม่ก็ต้องมาตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าย้อนหลังดูล่ะ เพราะเรากำลังตั้งสมมติฐานว่า หม้อมิเตอร์ไฟฟ้ามันเพี้ยน ดังนั้น บิลค่าไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับหลักฐานฝั่งผู้บริโภคว่าเรามีสถิติการใช้ไฟฟ้าในระดับไหน หากมีการเก็บบิลค่าไฟฟ้าไว้อย่างน้อย 2 ปีก็จะเป็นการดีอย่างยิ่ง เพราะจะได้เทียบไปถึงช่วงเดือนเดียวกันในปีก่อนได้ แต่ไม่ค่อยมีใครทำกัน...!ดังนั้น เมื่อพบความผิดปกติของค่าไฟฟ้าเกิดขึ้นในรอบเดือนใดและตัวเองก็ไม่มีหลักฐานอะไรไปยืนยัน ก็ให้ผู้บริโภคทำหนังสือทักท้วงและขอให้การไฟฟ้าแสดงปริมาณการใช้ฟ้าย้อนหลังอย่างน้อย 1 ปี เช่น เมื่อพบว่ามีค่าไฟฟ้าผิดปกติในช่วงเดือนเมษายน 2555 ก็ควรขอให้การไฟฟ้าแสดงยอดการใช้ไฟฟ้าย้อนหลังไปถึงเดือนเมษายน 2554 เพื่อจะได้เห็นทิศทางแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ในช่วงเวลาและฤดูกาลเดียวกัน ซึ่งขณะที่มีการทักท้วงและยังหาข้อยุติไม่ได้นั้น ผู้บริโภคปฏิเสธการจ่ายค่าไฟฟ้าในรอบเดือนที่มีปัญหาได้โดยที่การไฟฟ้าจะมาตัดไฟฟ้าไม่ได้ จนกว่าการไฟฟ้าจะสามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ว่าผู้บริโภคได้ใช้ไฟฟ้าจริงเป็นไปตามบิลที่แจ้งกรณีนี้เมื่อตรวจสอบแล้วตั้งแต่ช่วงที่ผู้บริโภคเข้ามาพักอยู่อาศัยในบ้านเช่า พบว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าสูงผิดปกติเป็นอย่างมากในรอบเดือนสุดท้ายอย่างเห็นได้ชัดถึง 10 เท่าตัว เราจึงแนะนำให้ผู้บริโภคยื่นเรื่องทักท้วงต่อการไฟฟ้าทันที ท้ายที่สุดเมื่อตรวจสอบแล้ว การไฟฟ้าบางพลีจึงงดเก็บค่าไฟฟ้าจำนวน 9,488.61 บาททั้งหมด และได้ดำเนินการเปลี่ยนมิเตอร์ที่แสดงค่าการใช้ไฟฟ้าผิดเพี้ยนเป็นมิเตอร์ใหม่ทันทีนับเป็นข้อดีประการหนึ่งของการจ่ายค่าไฟฟ้าแบบเงินสด เพราะหากจ่ายแบบหักบัญชีธนาคารหรือบัตรเครดิต ฝั่งผู้บริโภคอาจมีความยุ่งยากกว่านี้ เพราะเป็นเรื่องของการติดตามทวงถามเงินคืนจากค่าไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้จริง  

อ่านเพิ่มเติม >