ฉบับที่ 158 เมื่อบ้านเอื้ออาทร ไม่อาทรต่อคนจน

สำหรับคนมีรายได้น้อย การอยากมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลังหนึ่งคงไม่ใช่เรื่องง่าย  “ ฉัตร”  คือเป็นหนึ่งในนั้น แต่เธอเริ่มมีความหวัง เมื่อรัฐมี “โครงการบ้านเอื้ออาทร” ที่ตั้งขึ้นเพื่อจัดหาบ้านให้คนมีรายได้น้อยได้มีที่บ้านเป็นของตนเอง ต่อเมื่อเวลาผ่านไป เธอถึงรู้ว่า บ้านเอื้ออาทร นั้นไม่ได้อาทรต่อคนมีรายได้น้อยเลย…เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 ฉัตรตัดสินใจเข้าทำสัญญาซื้อบ้านเดี่ยว 2 ชั้น โครงการเอื้ออาทรจังหวัดบุรีรัมย์ กับการเคหะแห่งชาติในราคา 390,000 บาท โดยมีเงื่อนไขที่ต้องทำสัญญากู้ยืมเงินกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อนำมาชำระหนี้เป็นค่าซื้อบ้านให้แก่การเคหะฯ  โดยมีการเคหะฯ เป็นผู้ค้ำประกัน ตามสัญญาด้วยผ่อนมาปีกว่าเธอเริ่มผิดนัดบางงวด เพราะการเงินเริ่มยอบแยบ แต่เธอก็พยายามเก็บเงิน เพื่อไปชำระยอดที่ค้างชำระกับธนาคารให้ได้ โดยที่ธนาคารยังคงรับชำระเงินของผู้ร้องไว้ตามปกติเรื่อยมาจนเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2554 เมื่อเธอไปจ่ายค่างวดที่ธนาคารตามปกติ ธนาคารปฏิเสธรับเงินจากเธอ และแจ้งให้เธอทราบว่า บ้านที่เช่าซื้ออยู่ได้ถูกบอกเลิกสัญญา เพราะผิดนัดค้างชำระเกินกำหนด และการเคหะแห่งชาติได้มาซื้อคืนไปแล้ว โดยที่เธอไม่เคยได้รับหนังสือแจ้งเตือน หรือหนังสือบอกเลิกสัญญาใดๆ มาก่อนเลย “เราเลือกซื้อบ้านเอื้ออาทรกับการเคหะฯ เพราะเชื่อมั่นว่า การเคหะ ฯ จะดูแลเราที่เป็นคนมีรายได้น้อย ให้มีบ้านเป็นของตัวเองได้ เราขาดส่งบางงวดจริง แต่เราก็พยายามแก้ไขปัญหานี้มาตลอด เราไม่รู้ว่าทำไมอาคารสงเคราะห์ ถึงไม่แจ้งเตือนเราตามสัญญาก่อน  ทั้งที่ธนาคาร ธอส. ก็ยังรับเงินที่เราไปจ่ายทุกครั้ง แต่อยู่ดีๆ บอกว่าเราถูกบอกเลิกสัญญา บ้านถูกยึดคืนไปแล้ว มาบอกกันแบบนี้ เราจะทำยังไง  แล้วเราจะไปอยู่ที่ไหน ” นี่คือเสียงสะท้อนเล็กๆ ที่อยากให้หลายคนได้รับรู้.... แนวทางแก้ไขปัญหากรณีนี้ ฉัตร เธอเข้ามาร้องเรียนกับสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่นและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ระหว่างร้องเรียน เธอก็ถูกฟ้องให้ตกเป็นจำเลยในคดีที่การเคหะแห่งชาติ ฟ้องขับไล่ให้ออกจากที่พักอาศัยเป็นคดีผู้บริโภคต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ด้วย“เราไม่รู้มาก่อนเลยว่า สัญญาที่เราทำกับการเคหะฯ และธนาคาร ธอส. จะเอาเปรียบเรามากขนาดนี้ นี่มันเอื้ออาทรจริงแน่เหรอ สัญญายิ่งกว่าบริษัทเอกชนซะอีก”กรณีนี้แม้ฉัตรจะผิดนัดชำระหนี้จนเป็นเหตุให้การเคหะฯ มีอ้างสิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาซื้อขายได้นั้น แต่ก็มีประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิผู้บริโภค การบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของการเคหะแห่งชาติและธนาคารอาคารสงเคราะห์อยู่ด้วยหลายรายการ มูลนิธิฯ จึงให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างให้กับผู้บริโภคที่เจอปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้หลังจากผู้บริโภคแพ้คดีในศาลชั้นต้น ต่อมาในวันที่ 30 กันยายน 2556 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้มีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ สรุปสาระสำคัญดังนี้ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้กู้ยืมเงินเพื่อให้ผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2544 ข้อ 3 (2) บัญญัติ ว่าการผิดสัญญาเรื่องใดของผู้กู้ที่ผู้ให้กู้มีสิทธิบอกเลิกสัญญา จะต้องเป็นข้อที่ผู้ให้กู้ระบุไว้เป็นการเฉพาะด้วยตัวอักษรสีแดง หรือตัวดำ หรือตัวเอน ที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไปและก่อนการบอกเลิกสัญญาต้องแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้กู้และควรกำหนดระยะเวลาอันสมควรให้ผู้กู้แก้ไขการผิดสัญญาหรือผิดเงื่อนไขดังกล่าวประกอบกับตามสัญญากู้ยืมเงินระหว่าง ฉัตร ผู้กู้ กับ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ผู้ให้กู้ ในข้อ 18 ระบุว่า “ในกรณีผู้กู้ผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ให้กู้มีสิทธิบอกเลิกสัญญา  ผู้ให้กู้จะแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้กู้ให้ดำเนินการแก้ไขการผิดสัญญาดังกล่าวภายในระยะเวลาไม่เกิน 15 วัน หากผู้กู้ไม่ดำเนินการแก้ไขจนพ้นระยะเวลาที่ผู้ให้กู้กำหนด ผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้เรียกให้ผู้กู้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างชำระอยู่ทั้งหมดคืนได้ทันที”ธนาคารจึงต้องมีหนังสือแจ้งให้จำเลยผู้กู้ชำระหนี้ที่ค้างชำระภายในระยะเวลาที่กำหนดก่อนที่จะบอกเลิกสัญญา ธนาคารจึงจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าธนาคารได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างชำระภายในกำหนดก่อน มิฉะนั้นจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ธนาคารคงมีเพียงหนังสือขอให้ชำระหนี้ ซึ่งเป็นหนังสือแจ้งเตือนให้ลูกหนี้ชำระเงินตามปกติเท่านั้น ธนาคารจึงยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย อีกทั้งยังไม่สามารถเรียกให้การเคหะแห่งชาติมาซื้อทรัพย์คืนได้ด้วยพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ และให้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านเอื้ออาทรระหว่างโจทก์กับจำเลยยังมีผลบังคับใช้ต่อไป โดยให้จำเลยผ่อนชำระหนี้ตามสัญญากู้ระหว่างจำเลยกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ให้แก่โจทก์แทนธนาคารอาคารสงเคราะห์ นับแต่งวดที่ชำระครั้งสุดท้ายเป็นต้นไปคดีนี้ จึงจบลงที่ การเคหะแห่งชาติ ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คือให้ ฉัตร กลับเข้าไปทำสัญญาเดิมใหม่ได้โดยไม่มีเงื่อนไข !!  นับเป็นคดีตัวอย่าง ที่ถือว่าเป็นชัยชนะของผู้บริโภคอีกก้าวหนึ่ง ที่จะเป็นส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงระบบการคุ้มครองผู้บริโภคไทยได้แน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 “หน้าที่” ของผู้โดยสาร ในการใช้บริการรถสาธารณะ

ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มักจะนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวกับ สิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเสมอ แต่ที่มาพร้องกับสิทธิ นั่นคือ “หน้าที่” ซึ่งผู้บริโภคบางครั้งก็มักจะหลงลืม หรือให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้น้อย ฉบับนี้ศูนย์พิทักษ์สิทธิจึงขอนำเสนอ หน้าที่ของผู้โดยสาร เมื่อต้องใช้บริการของรถสาธารณะกันบ้างราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2557 ได้ประกาศกฎกระทรวง  กำหนดความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยที่ผู้โดยสารต้องปฏิบัติในระหว่างการโดยสาร พ.ศ. 2557 ซึ่งกฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยผู้โดยสารรถสำหรับการขนส่งประจำทางต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยตลอดเวลาที่อยู่ระหว่างการโดยสาร ดังนี้(1) ไม่สูบบุหรี่หรือสิ่งที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน(2) ไม่กล่าววาจาไม่สุภาพ เสียดสี ดูหมิ่น ก้าวร้าว ส่งเสียงอื้ออึง หรือกระทำการใด ๆ ในลักษณะที่ก่อความรำคาญแก่ผู้อื่น(3) ไม่โดยสารนอกตัวรถ หรือห้อยโหน หรือยื่นมือ แขน หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายออกนอกตัวรถ ทั้งนี้ เมื่อผู้ประจำรถได้ว่ากล่าวตักเตือนแล้วไม่ยอมปฏิบัติตาม(4) ไม่นำสิ่งของที่มีกลิ่นแรงอันอาจก่อความรำคาญแก่ผู้อื่นขึ้นบนรถ เว้นแต่จะได้จัดเก็บให้มิดชิดโดยปราศจากกลิ่นนั้น(5) ไม่นำดอกไม้เพลิง ลูกระเบิด วัตถุระเบิด หรือวัตถุกัดกร่อนขึ้นบนรถ (6) ไม่บ้วน หรือถ่มน้ำลาย น้ำหมาก หรือเสมหะ สั่งน้ำมูก ถ่ายสิ่งปฏิกูล หรือเท หรือทิ้งสิ่งใด ๆ ลงบนรถ ณ ที่ซึ่งมิได้จัดไว้เพื่อการนั้น(7) ไม่ลงจากรถนอกบริเวณที่มีเครื่องหมายหยุดรถประจำทาง(8) ไม่ดื่มสุราตามกฎหมายว่าด้วยสุรา(9) ไม่กระทำการลามกอนาจาร(10) รัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งผู้โดยสารรถสำหรับการขนส่งไม่ประจำทาง (เช่น รถท่องเที่ยวทัศนาจร) ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยตลอดเวลาที่อยู่ในระหว่างการโดยสารตามข้อ  (1) (3) (5) (8) (9) และ (10)เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยที่ผู้โดยสารรถสำหรับการขนส่งประจำทางต้องปฏิบัติตลอดเวลาที่อยู่ในระหว่างการโดยสารตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งไม่ครอบคลุมข้อปฏิบัติเรื่องความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยบางประการ ประกอบกับจำเป็นต้องเพิ่มข้อกำหนดเพื่อผู้โดยสารรถสำหรับการขนส่งไม่ประจำทางด้วยเห็นหรือไม่ว่า นอกจากสิทธิแล้ว หน้าที่ก็ยังเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ นั่นก็เพื่อให้ผู้โดยสารมีความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในระหว่างการโดยสารยิ่งขึ้นนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 กินยาบำรุงร่างกายถึงตายได้เลยนะ

ได้มีโอกาสไปเยี่ยมศูนย์รับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน   ตามมาตรา50(5)  ตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ   ซึ่งเป็นการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน  เพื่อเป็นศูนย์รับ เรื่องร้องเรียน  และช่วยแก้ปัญหาของภาคประชาชน (ที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 100 ศูนย์)   ในภาคอีสานตอนบนการไปเยี่ยมเยียนพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาการใช้บริการด้านสุขภาพของประชาชนในหน่วยบริการ จากการพูดคุย     มีเรื่องที่น่าตกใจ   และไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นคือ   มีเด็กกินยาบำรุงร่างกายแล้วเสียชีวิต   เมื่อถามรายละเอียด  จึงทราบว่า  ยาที่เด็กกินคือยา  xxx ยาบำรุงเม็ดสีแดง   ชาวบ้านเล่าว่า   เด็ก 2 คน  อายุ 3-4 ขวบ เป็นพี่น้องกัน  พ่อ-แม่เด็กไปทำงานในเมือง  เด็กกับอยู่กับตา    ตากินยาบำรุงแล้ววางไว้ในมุ้ง    เด็กเห็นเม็ดยาสีสวยคงนึกว่าขนม  จึงแอบกินเกือบหมด    ตามาเห็นจึงรีบพาเด็กส่งโรงพยาบาล คำถามแรกคือ “เด็กกินยาไปกี่เม็ด   คนไหนกินมากกว่ากัน”  ตาบอกจำนวนเม็ดยาได้  แต่บอกไม่ได้ว่า  คนไหนกินมากกว่ากันแพทย์รับตัวไว้ดูอาการใน โรงพยาบาลผ่านไป 2 วัน อาการไม่มีอะไรน่ากังวล จึงเตรียมจะให้เด็กกลับบ้าน  แต่เด็กเริ่มมีอาการน่าเป็นห่วงสัญญาณชีพมีปัญหา  โรงพยาบาลอำเภอจึงเร่งส่งตัวไปโรงพยาบาลจังหวัด    ไปถึงปรากฏว่าว่าเด็กมีอาการไตวายเฉียบพลัน   แพทย์เร่งล้างท้องและช่วยชีวิตเด็กได้ 1 คน  อีกคนเสียชีวิต (คุยกับแพทย์ได้เหตุผลว่ายาบำรุงมีธาตุเหล็ก  กินมากๆ ธาตุเหล็กจะไปเกาะตับไต ทำให้ตับไตมีปัญหา)  เรื่องนี้มีการร้องเรียนโรงพยาบาลแรกว่าไม่ดำเนินการล้างท้องเด็กปล่อยให้อาการหนักจนเสียชีวิต สปสช. จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกัน  400.000  บาท  เรื่องก็จบไป  พร้อมชีวิตเด็ก 1 คน    แต่ไม่มีการร้องเรียนผู้ผลิตยาดังกล่าวแต่อย่างใด      ดิฉันเลยไปร้านยา ขอดูฉลากยาข้างกล่องเท่าที่ดู (ภายนอก)อย่างละเอียด  ไม่เห็นคำเตือนให้เก็บห่างมือเด็กแต่อย่างใด    จึงเขียนมาเพื่อ เตือนผู้ผลิตว่าควรมีคำเตือนเรื่องนี้ อย่างจริงจัง  เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค  และผู้ปกครองทั้งหลายจะได้ทราบไว้เป็นอุทาหรณ์    เพราะยามีคุณอนันต์  ก็มีโทษมหันต์ เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 อยากซ่อม ไม่อยากขายซาก

รถเกิดอุบัติเหตุก็ต้องซ่อม แม้จะเยินไปหน่อยแต่ก็เพิ่งซื้อมา ทำประกันชั้นหนึ่งด้วย อยู่ๆ จะให้ขายเป็นซากแบบไม่สมเหตุผลมันก็ทำใจลำบากอยู่คุณผุสดี ซื้อรถยนต์ใหม่ป้ายแดงมาหมาด พร้อมทำประกันภัยชั้น 1 ไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ในวงเงิน 650,000 บาท โชคร้ายรถประสบอุบัติเหตุ(โชคดีที่คนขับไม่บาดเจ็บมาก) ทางประกันภัยจึงมายกรถที่สภาพเสียหายค่อนข้างหนักไปเข้าศูนย์ซ่อมแต่ผ่านไป 4 เดือน รถไม่เคยถูกซ่อม ทางประกันภัยแจ้งว่าทางศูนย์ซ่อมที่ประกันฯ นำรถไปดำเนินการนั้นแจ้งราคาซ่อมเกินวงเงินประกันภัย จึงไม่สามารถซ่อมได้ ประกันฯ ขอรับซื้อซากรถแทน “แต่ดิฉันไม่ตกลงขายค่ะ เพราะสภาพมันซ่อมได้ ไม่ใช่ว่าซ่อมไม่ได้เลย ดิฉันจึงทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทประกันฯ ว่าจะขอนำรถมาซ่อมที่อู่ ซึ่งดิฉันรู้จัก ซึ่งประกันก็ยินยอม แต่ว่ารถก็ยังไม่ได้รับการซ่อมอยู่ดี อู่บอกว่าประกันฯ ยังไม่ได้คุยว่าจะต้องซ่อมอะไร ยังไง พอดิฉันไปคุยกับประกันฯ ทางประกันบอกว่าจะติดต่อกับอู่เองโดยตรง ดิฉันไม่รู้จะทำยังไงดี รถคันนี้ต้องใช้ประกอบอาชีพด้วย ตอนนี้เดือดร้อนมาก” แนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ติดต่อเจรจากับทางบริษัทประกันภัย ได้ความว่า รถของผู้บริโภคนั้น มีสภาพความเสียหาย(ที่ต้องซ่อมแซม) เกินกว่า 70% ซึ่งเข้าข่ายซ่อมไม่ได้ จึงได้เสนอคืนเงินประกันให้กับคุณผุสดี แต่ทางคุณผุสดีแจ้งว่า เงินที่ทางบริษัทประกันจะคืนให้นั้น ไม่พอปิดยอดไฟแนนซ์ ซึ่งจะต้องชำระค่าส่วนต่างอีกหลายหมื่นบาท และเมื่อดูรายการตามที่ทางช่างได้ประเมินเรื่องการซ่อมแล้ว คุณผุสดีเห็นว่า ช่างยืนยันว่าซ่อมได้ ทั้งยังไม่เกินวงเงินประกันด้วย ทางบริษัทประกันฯ น่าจะพิจารณาคุ้มครองการจ่ายค่าซ่อมแซมทั้งหมดหลังการเจรจาเรื่องก็จบลงด้วยดีตามความประสงค์ของคุณผุสดีคือ ทางบริษัทประกันอนุมัติการซ่อม คุณผุสดีจึงขอบคุณทางศูนย์ฯ ที่ช่วยเรื่องการเจรจาในครั้งนี้ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 ปวดหัวกับพี่วิน ปัญหานี้มีทางออก

ปัญหาที่มีร้องเรียนเข้ามามากมายอย่างต่อเนื่องของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ในหมวดบริการสาธารณะก็คือ ปัญหาจากการบริการของมอเตอร์ไซด์รับจ้าง หรือว่า พี่วิน ของเราท่านนั่นเองปัญหาที่ผู้บริโภคพบส่วนใหญ่คือ คิดราคาแพง เกินกว่าป้ายบอกราคา   หรือแพงกว่าที่ควรจะเป็น  ตั้งราคาเอง  วินเถื่อน  การปฏิเสธไม่รับผู้โดยสารที่มีรูปร่างอวบอ้วน น้ำหนักตัวมาก กิริยา วาจา ไม่สุภาพ หรือบางรายเข้าข่ายลวนลามลูกค้าก็มี  เรื่องทำนองนี้มีมาเข้ามามิได้หยุดหย่อน แล้วเราจะทำอย่างไรกันดีเมื่อเจอกับปัญหาลักษณะนี้คุณแสนดี เป็นผู้หนึ่งที่ใช้บริการมอเตอร์ไซด์รับจ้างอยู่เป็นประจำ เพราะบ้านพักอยู่ในซอยที่ค่อนข้างเปลี่ยวและลึก และวันหนึ่งเธอก็ใช้บริการตามปกติ กับวินเดิม แต่สิ่งที่ทำให้คุณแสนดีปรี๊ดแตกก็คือวันนั้นพี่วินไม่ยอมเข้าไปส่งเธอถึงบ้านพักเพราะอ้างว่า ซอยเปลี่ยวและดึกเกินไป ทั้งที่นาฬิกาข้อมือบอกเวลาที่ 19.00 น. เท่านั้นคุณแสนดีพยายามบอกให้คนขับเข้าไปส่งเพราะเธอไม่อยากเดินเข้าไปในซอยเพราะแม้ไม่ดึก แต่ก็มีคนงานตั้งวงดื่มสุรากันริมทาง เกรงจะไม่ปลอดภัย แต่คนขับก็ยืนยันไม่เข้าไปส่งท่าเดียว จนในที่สุดคุณแสนดีต้องจำใจเดินเข้าซอยท่ามกลางความหวาดระแวงตลอดทางจนถึงบ้าน แต่ด้วยความรอบคอบเธอสามารถจดจำหมายเลขทะเบียนรถ และหมายเลขเสื้อของคนขับได้ครบถ้วนจึงได้นำเรื่องมาปรึกษากับเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา ถ้าท่านพบเจอเหตุการณ์เช่นเดียวกับคุณแสนดี หรือถูกเอาเปรียบในเรื่องอื่นๆ สามารถแก้ไขปัญหาได้ดังต่อไปนี้ -  จดจำรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานที่ตั้งวิน หมายเลขทะเบียนรถ หมายเลขที่เสื้อคนขับ พื้นที่ให้บริการซึ่งจะระบุไว้ที่ตัวเสื้อ และช่วงเวลาที่เกิดเหตุ -  ร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่ทำหน้าที่ ควบคุม ดูแล ประกอบด้วย1) ตำรวจ ท้องที่ที่เกิดเหตุ 2) สำนักงานเขต 3) กรมการขนส่งทางบก -  การร้องเรียน แจ้งเบาะแส พฤติกรรม ต้องดำเนินการทำเป็นลายลักษณ์อักษร จะเกิดประโยชน์มากที่สุด เพราะสามารถติดตามการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆที่รับเรื่องร้องเรียนได้ด้วย หากไม่มีความคืบหน้าก็สามารถดำเนินการทางปกครองกับหน่วยงานเหล่านี้ตาม มาตรา 157 (ละเว้นปฏิบัติหน้าที่) ค่ะ   จุดสังเกตว่าเป็นมอเตอร์ไซด์รับจ้างที่ผิดกฎหมาย หรือ วินเถื่อน - ไม่มีการสวมเสื้อวิน - ไม่มีเบอร์ หรือหมายเลขปรากฎด้านหลัง - ไม่มีการระบุเขตพื้นที่การวิ่งรถ - ไม่มีการระบุชื่อ พนักงานขับรถที่หน้าอกเสื้อวิน หากพบว่า เป็นวินเถื่อน แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันที     //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 ว่าด้วยเรื่อง พ.ร.บ.รถ อีกสักที

ปัญหาเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางถนนสร้างความปวดหัว และปวดใจได้ไม่น้อยเลย ยิ่งในรายที่ประสบอุบัติเหตุแบบไม่ธรรมดา คือ ต้องไปข้องเกี่ยวกับรถที่ไม่ได้ทำ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือเรียกว่า พ.ร.บ.ภาคบังคับ หรือบางราย พ.ร.บ.หมดอายุ (พ.ร.บ. ขาด) แล้วใครล่ะที่จะมารับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล และค่าปลงศพ (กรณีเสียชีวิต)ให้กับผู้เสียหาย  เรื่องนี้มีคำตอบกรณีที่ผู้เสียหาย 3 คน เดินกินลมชมวิวริมถนนอยู่ดีๆ ก็มีรถมาเฉี่ยวชน คนที่ 1 บาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่วนคนที่ 2 บาดเจ็บเล็กน้อย คนที่ 3 เสียชีวิตคาที่  และบังเอิญ รถคันที่มาชนไม่ได้ทำ พ.ร.บ.ภาคบังคับเสียด้วย จะได้รับการชดเชยเยียวยาอะไรบ้างการชดเชยในกรณีนี้ -  ทั้ง 3 คน สามารถใช้สิทธิจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ สามารถทำเรื่อง เบิกจ่ายได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) -  คนที่ 1 ทายาทจะได้รับเงิน จำนวน 35,000 บาท ซึ่งจะหัก ค่ารักษาพยาบาลตามจริงก่อนเสียชีวิต ด้วย ในรายที่รักษาเกินกว่า 35,000 บาท ก่อนเสียชีวิตก็เท่ากับว่าจะไม่ได้ค่าปลงศพนั่นเอง -  คนที่ 2 โรงพยาบาลจะได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท หากเกินจะสามารถใช้สิทธิที่ตนเองมีอยู่ เช่น ประกันสังคม ข้าราชการ หลักประกันสุขภาพ(บัตรทอง) -  คนที่ 3 ทายาทจะได้รับเงินค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาทอีกกรณีคือเด็กชายอายุ 13 ปี ได้ขับรถมอเตอร์ไซด์ พาน้องสาวอายุ 9 ปี นั่งซ้อนท้ายมาด้วยกัน แล้วถูกรถยนต์เก๋งชน จนเป็นเหตุให้คนขับบาดเจ็บ ส่วนน้องสาวเสียชีวิตคาที่  ทั้ง พ.ร.บ.รถมอเตอร์ไซด์ และ พ.ร.บ.รถยนต์ ไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย อ้างว่า เด็กชายคนดังกล่าวไม่มีใบขับขี่การชดเชยในกรณีนี้ -  โปรดจำไว้ว่า แม้คนขับจะไม่มีใบขับขี่ก็ตาม จะได้รับจากชดเชยเยียวยาจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถตามปกติคือ ค่ารักษาพยาบาลตามจริงไม่เกิน 15,000 บาท แต่หากพิสูจน์ได้ว่า คู่กรณีเป็นฝ่ายผิดจะได้รับความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเป็นตามจริง ไม่เกิน 50,000 บาท  เพราะ เป็นกฎหมายคนละฉบับกัน หากคนขับไม่มีใบขับขี่จะถูกดำเนินการลงโทษจาก พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยการเปรียบเทียบปรับในภายหลัง - สำหรับคนซ้อน ถือเป็นบุคคลภายนอก ไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิด จะได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.รถมอเตอร์ไซด์ทันที ที่ 200,000 บาท - หากไม่สามารถตกลงกันได้ สามารถร้องเรียนได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)   ความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ค่ารักษาพยาบาล ตามจริง ไม่เกิน 50,000 บาท ค่าปลงศพ จำนวน 200,000 บาท ค่าชดเชยกรณีนอนโรงพยาบาล วันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน กฎหมายบังคับให้รถยนต์ทุกคันที่จดทะเบียนกับการขนส่งทางบกจะต้องมีการประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครอบผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 หากไม่ทำจะมีความผิด มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และให้เจ้าของรถหรือผู้ใช้รถเก็บรักษาหลักฐานแสดงการมีประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถไว้ให้พร้อมที่จะแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทุกเวลาที่ใช้รถ เว้นแต่กรณีรถคันดังกล่าวได้จดทะเบียนหรือชำระภาษีประจำปีแล้ว   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 100 ปี หมอยา

เมื่อวันที่ 10- 12  มกราคม 2557  เป็นวันจัดงาน “100  ปี วิชาชีพและการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย โดย สภาเภสัชกรรม  และมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม   ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทบทวนผลการดำเนินการ 100 ปี ที่ผ่าน และทิศทางการพัฒนาหลักสูตรการศึกษา “วิชาเภสัชศาสตร์” กับความคาดหวังของประชาชนต่อวิชาชีพนี้  ในทศวรรษ ต่อไปประเด็นที่ท้าทาย “หมอยา” มีมากมาย   รวมถึงการกำหนดหลักสูตรการสอนอย่างไร?  ให้ผู้ที่จบหลักสูตรวิชาชีพเภสัชกรรม  เป็นผู้ที่ “เอาธุระต่อสังคม” ไม่ใช่เป็นแค่อาชีพหนึ่งในสังคม   สาเหตุที่เขียน เช่นนี้ เพราะเภสัชกร  เป็นผู้ทรงความรู้เกี่ยวกับเรื่องยา   ทุกแขนง ทุกสาขา ทั้งความรู้เรื่องการใช้ยาการกินยา ผลกระทบของยา การผลิตยา  ทั้งยาคนยาสัตว์  รวมถึงเป็นผู้ที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดความมั่นคงด้านยา  เรียกได้ว่าเป็นรอบรู้เรื่องที่เกี่ยวกับยาครบวงจร   แต่ความรู้ที่อุตส่าห์ร่ำเรียนมาตั้ง 6 ปี  กลับถูกนำมาใช้อย่างจำกัด  เภสัชกร เป็นได้แค่คนขายยาในร้านยา คนจัดยาและแนะนำยาให้กินยาตามแพทย์สั่ง  เช่น  ยานี้กินกี่วัน กินวันละกี่มื้อ  แต่กินไม่ตรงแล้วเป็นไง กินไม่ครบจะเกิดอะไร(ไม่มีเวลาบอก)  เป็นเภสัชในโรงงาน  ฯลฯ ที่ยังไม่เคยเป็นเลยตลอด 100 ปีที่ผ่านมา  เห็นจะเป็น  “ผู้ทำให้ประเทศไทยพึ่งพาตัวเองด้านยาได้” อย่างที่ควรจะเป็น ด้วยข้อจำกัด และอุปสรรคมากมาย ทำให้ 100 ปี ที่ผ่านมาประเทศไทยยังต้องพึ่งการนำเข้ายาจากต่างประเทศเป็นหลัก  เท่าที่ผู้เขียนไปนั่งฟังในเวทีรวมถึงเป็นผู้ที่ร่วมวิพากษ์ เรื่องหลักสูตรการศึกษานี้  ทำให้ทราบว่า  เรายังขาด   องค์กรที่จะมาเป็นเจ้าภาพในการสร้างความมั่นคงด้านยาของประเทศ  ขาดทั้งงบประมาณ  ความพร้อมในการผลิตยา  รวมถึงขาดนโยบาย จากฝ่ายการเมือง  ที่จะสร้างความมั่นคงด้านยาอย่างจริงจัง  นักการเมืองบ้านเรายังมีความสุขกับการอนุมัติงบประมาณเพื่อนำไปซื้อยา  มากกว่าที่จะทำให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งด้านพึ่งพาตนเองเรื่องยา   ในภาวะกระแสปฏิรูปประเทศไทยกำลัง มาแรง  ก็เลยอยากฝากประเด็นนี้ให้ติดอยู่ในกระบวนการปฏิรูปด้วยก็จะดียิ่งเจอกันฉบับหน้าจะนำปัญหาการใช้ยาอย่างขาดความรู้จนทำให้ถึงตายมาเล่าสู่กันฟัง มีเยอะเชียวล่ะคุณเอ๋ย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 เอสเอ็มเอส ไม่สมัครไม่ต้องจ่าย

มาอีกแล้วกับเรื่องเอสเอ็มเอสที่ไม่ได้สมัครใช้บริการ แต่เครือข่ายดันมาคิดค่าบริการแล้วบอกปัดว่า “ไม่ใช่ของบริษัทฯ ค่ะ จึงไม่สามารถระงับบริการได้” ใครจะเชื่อที่ผ่านมาและน่าจะยังเป็นเรื่องปัจจุบันด้วย คือรูปแบบการส่งข้อความสั้น หรือ SMS ปัญหาจะมีลักษณะที่อ้างว่าเป็นบริการในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ข้อความตลก คลิปลับ ดูดวง ชิงโชค บริการข่าว โหลดเพลง ฯลฯ และมีการหักเงินค่าบริการผ่านระบบการหักเงินอัตโนมัติจากเครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบต่างๆ ทั้งในระบบเติมเงิน และรายเดือน บางท่านจะไม่รู้ตัวเลยว่าถูกหักเงิน จนเมื่อโทรศัพท์ไม่สามารถใช้งานได้นั่นแหละ ถึงจะทราบว่าตนเองเป็นเหยื่อไปอีกรายแล้วคุณณิชาก็เช่นกัน เธอเล่าว่าใช้บริการของทรู ทั้งหมายเลขโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต Wi-Fi มานานแล้ว จนพฤษภาคม  ปีที่แล้วได้เปิดบริการเพิ่มอีก 1 เบอร์ โดยวงเงินของเบอร์นี้จำกัดไว้ที่ 1,000 บาท และเนื่องจากใช้บริการหลายอย่างจึงไม่ทันได้สังเกตถึงความผิดปกติ(รายละเอียด)ของค่าบริการว่ามีอะไรบ้าง ได้แต่ชำระเงินไปตามยอดที่ตรวจสอบได้จากทางเว็บไซต์ของทรูเท่านั้น จนเดือนตุลาคมเธอไม่สามารถใช้บริการโทรออกจากเบอร์ที่เปิดใช้งานเมื่อเดือนพฤษภาคมนั่นแหละ จึงรู้ตัวว่าโดนเข้าแล้ว“ก็มียอดค้างค่าบริการเบอร์นี้ประมาณ 1 เดือนนะคะ ไม่คิดว่าจะถูกตัดบริการ พอลองหาใบแจ้งหนี้ค่าบริการดู เลยมารู้ตัวว่า เบอร์นี้ไม่เคยมีใบแจ้งหนี้มาที่บ้านเลยตั้งแต่สมัคร เมื่อสอบถามกับคอลเซนเตอร์ ปรากฏว่าทางบริษัทฯ จัดส่งใบแจ้งหนี้ไปที่ที่อยู่เก่า ทั้งที่ตอนสมัครใช้ก็แจ้งที่อยู่ปัจจุบันอย่างชัดเจน ยอดค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 701 บาท ซึ่งสูงมากเพราะดิฉันไม่ค่อยได้ใช้บ่อยนัก จึงถามรายละเอียดว่าเป็นค่าอะไร ทางคอลเซนเตอร์แจ้งว่า เป็นค่าบริการที่สมัครเกมจาวา งงไปเลยค่ะว่าสมัครไปตอนไหนกัน” คุณณิชาปฏิเสธว่าไม่เคยสมัครเล่นเกมอะไรเลย ทางคอลเซนเตอร์จึงทำเรื่องยกเลิกให้ ทั้งหมด 4 เกม จากนั้นคุณณิชาลองมาดูรายละเอียดการใช้งานในเดือนกันยายนผ่านทางเว็บไซต์ ก็พบว่า มีการส่ง SMS มาที่เบอร์นี้เยอะมาก ประมาณ 80 ข้อความ(ค่าบริการ 10-20 บาท/ข้อความ) และสำหรับเดือนตุลาคมที่ยังไม่ได้ตัดรอบบิลก็เจอไปอีก 130 ข้อความ ค่าบริการทะลุไป 1,350 บาท ช่วงเวลาที่เกิดปัญหาคือช่วง 05.00 – 08.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่เคยจะหยิบโทรศัพท์มาใช้งานเลยสำหรับคุณณิชา“ดิฉันแจ้งร้องเรียนกับทางคอลเซนเตอร์ทันที ยืนยันไปค่ะว่าไม่เคยสมัคร ทางคอลเซนเตอร์ก็ยืนยันว่า ลูกค้าสมัครๆ และเสนอว่าจะลดค่าบริการให้ 300 บาท จากยอดสองเดือนรวมๆ ประมาณ 2,000 กว่าบาท มันไม่แฟร์เลยนะคะ”คุณณิชาไม่เชื่อว่าทางทรูจะไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่า ช่วยเหลือ 300 บาท ก็ขนาดยอดเงินในเบอร์นี้มีแค่ 1,000 บาท ยังปล่อยให้ข้อความสั้นมันทะลุเกินวงเงินไปได้ จึงมาร้องเรียนและขอคำปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อไม่ได้สมัครใช้บริการ ก็ไม่ควรต้องจ่ายค่าบริการ ทางศูนย์ฯ จึงแนะนำให้คุณณิชาทำหนังสือ หรือทำจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล์) ถึงบริษัท ทรู โดย 1.ขอให้ทางทรูตรวจสอบค่าใช้จ่ายกรณีบริการเสริมข้อความสั้น พร้อมปฏิเสธการชำระค่าบริการข้อความสั้นทั้งหมด ตามใบแจ้งหนี้ในรอบบิลที่มีปัญหา พร้อมยกเลิกบริการเสริมทุกชนิด(เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต) 2.แจ้งขอให้ทางบริษัทฯ เปิดสัญญาณการใช้งานตามปกติ โดยทางผู้ร้องจะชำระค่าบริการที่ยังค้างอยู่เฉพาะที่เป็นค่าบริการจริงไม่เกี่ยวกับค่าบริการข้อความสั้นที่ผู้ร้องไม่ได้สมัครใช้บริการ โดยหนังสือนี้สำเนาถึงศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ด้วยต่อมาได้รับแจ้งจากคุณณิชาว่า ได้ส่งอีเมล์ไปถึงบริษัท ทรู เพื่อดำเนินการตามที่ทางศูนย์ฯ แนะนำ ปัจจุบันทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แล้ว โดยปรับลดค่าบริการส่วนเกินจากบริการข้อความสั้น(SMS) รวม 1341.78 เหลือเฉพาะค่าบริการจริง โดยจะเปิดสัญญาณให้ 3 วันเพื่อให้ทางผู้ร้องได้ชำระค่าบริการที่ค้างอยู่ พร้อมระงับบริการ SMS ทั้งหมด คุณณิชาขอบคุณที่ทางศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ช่วยเหลือให้คำแนะนำในครั้งนี้ และยินดีจะช่วยเหลือสนับสนุนทางมูลนิธิฯ หากมีประเด็นที่ต้องการพลังจากผู้บริโภคคนเล็กคนน้อย //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 ค้างค่างวดรถ 3 งวด แต่จะให้จ่าย 6 ไหวไหม

สมัยนี้ยังจะมีใครซื้อรถด้วยเงินสดๆ แบบจ่ายทีเดียวไหม คงน้อยมากๆ แม้แต่คนที่มีเงินมาก ก็ไม่ทำเพราะระบบลิซชิ่งหรือระบบเช่าซื้อรถยนต์มันทำให้บริหารเงินได้ดีกว่าที่จะเอาเงินเยอะๆ ไปทุ่มในครั้งเดียว และยังช่วยให้คนเงินน้อยสามารถมีรถยนต์เป็นของตนเองได้ บริษัทรถยนต์ก็ขายได้มากขึ้น ยังไม่รวมนโยบายรถคันแรกที่รัฐบาลออกมาช่วยกระตุ้นยอดขายด้วย เราจึงเห็นปรากฏการณ์ยอดขายรถยนต์สูงลิ่วในทุกปีการเช่าซื้อหรือทำสัญญาเช่าซื้อ (Hire-Purchase) คือ สัญญาที่เจ้าของทรัพย์สินหรือผู้ให้เช่าซื้อนำทรัพย์สินออกให้เ ช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินหรือให้ทรัพย์สินตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้เช่าซื้อ เมื่อผู้เช่าซื้อได้ชำระเงินครบถ้วนตามสัญญาแล้วการเช่าซื้อรถยนต์เราจึงยังไม่ได้เป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์แต่เป็นเพียงผู้เช่าซื้อ โดยมีสัญญาว่าจะชำระเงินให้เป็นงวดๆ ให้แก่เจ้าของจริง ซึ่งก็คือบริษัทที่ให้บริการเช่าซื้อรถยนต์ ถ้าสามารถจ่ายเงินได้ตรงงวดคงไม่มีปัญหา ปัญหามาเกิดเอาตรงที่จ่ายไม่ทันและถ้าไม่ทัน 3 งวดติด เจ้าของเขาก็จะมายึดรถ(ทรัพย์)ของเขาทันทีคุณพิมลวรรณเช่าซื้อรถยนต์กับบริษัท โตโยต้า ลิสซิ่ง(ประเทศไทย) จำกัด เป็นราคาค่าเช่า 857,247 บาท โดยจะชำระงวดละ 8,733 บาท แต่เกิดปัญหาขึ้นเมื่อคุณพิมลวรรณขาดส่งไป 3 งวด ไม่นานทางบริษัทลิสซิ่ง ได้ให้พนักงานมานำรถไปพร้อมบอกว่า ให้ไปไถ่ถอน ด้วยการชำระเงิน 3 งวดที่ขาดส่งไป รวมค่าปรับ ค่าติดตามรถ พร้อมค่าไถ่ถอนทั้งสิ้น 36,624 บาท โดยให้เวลาดำเนินการ 6 เดือน แต่เมื่อคุณพิมลพรรณติดต่อกลับไปทางโทรศัพท์เพื่อขอทราบรายละเอียดค่าบริการค่าปรับต่างๆ ก็ได้ข้อมูลใหม่ชวนตกใจว่า คุณพิมลพรรณต้องชำระทั้งหมด 89,022 ซึ่งเป็นยอดที่รวมค่าเช่าล่วงหน้าอีก 6 เดือน จึงจะมารับรถคืนได้ แนวทางแก้ไขปัญหาทางศูนย์พิทักษ์ฯ ได้สอบถามข้อมูลจากคุณพิมลพรรณ พบว่า ยอดค่าใช้จ่ายที่ถูกเรียกเก็บเกิดจากการเจรจาความกันทางโทรศัพท์ ซึ่งคุณพิมลพรรณมิได้รับหนังสือบอกกล่าวจากบริษัทแต่อย่างใดตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์นั้น ความข้อ 3 มีสาระสำคัญและมีเงื่อนไข ที่เกี่ยวข้องดังนี้ (4) ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ในกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรายงวด 3 งวดติดๆ กัน และผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวผู้เช่าซื้อให้ใช้เงินรายงวดที่ค้างชำระนั้นภายในเวลาอย่างน้อย 30 วัน นับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือและผู้เช่าซื้อละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวนั้น (5) เมื่อผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและกลับเข้าครอบครองรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ให้เช่าซื้อ เพื่อนำออกขายให้แก่บุคคลอื่น     ก. ก่อนขายให้แก่บุคคลอื่น ผู้ให้เช่าซื้อต้องแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อทราบเป็นหนังสือไ ม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ       ข. ในกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกขาย หากได้ราคาเกินกว่ามูลหนี้ในส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจะคืนเงินส่วนที่เกินนั้นให้แก่ผู้เช่าซื้อ แต่หากได้ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ในส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะรับผิดส่วนที่ขาดนั้นเฉพาะกรณีการขายโดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาดที่เหมาะสมเท่านั้นเมื่อไม่มีหนังสือแจ้งบอกกล่าว เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์ฯ จึงได้ติดต่อกลับไปยัง บริษัท โตโยต้า ลิสซิ่ง เพื่อขอทราบข้อเท็จจริง อีกทั้งแจ้งให้ทางผู้ร้องชำระเงินค่างวดที่ค้างไว้ 3 งวดแก่บริษัทฯ เพื่อให้สัญญากลับคืนสู่สภาพ ทางศูนย์ฯ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ว่า ผู้ร้องผิดสัญญาเพราะผิดนัดชำระ 3 งวด ในหนังสือบอกกล่าวก็ระบุไว้ว่าให้ชำระทันที จุดนี้ทางศูนย์ฯ แย้งว่า ผู้ร้องไม่ได้รับหนังสือบอกกล่าวจากทางบริษัทแต่อย่างใด อีกทั้งการชำระทันทีก็ยังต้องอยู่ในเงื่อนไขตามประกาศของ สคบ. คือ ไม่เกิน 30 วัน จึงถือว่ากรณีนี้ผู้ร้องมิได้กระทำผิดสัญญาและยังได้ชำระค่างวดที่ค้างอยู่ทั้งหมดแล้ว ทางบริษัทจึงต้องคืนรถยนต์ให้กับผู้ร้องโดยทันทีเมื่อแย้งกลับไปด้วยข้อกฎหมายทางฝ่ายบริษัทฯ เลยขอพักการเจรจาก่อนบอกว่า ตนเองมิใช่คนดูแลโดยตรง จะติดต่อกลับในภายหลังต่อมาผู้ร้องได้แจ้งว่า บริษัทฯ ติดต่อให้ไปรับกุญแจคืนและตนก็ได้ไปรับตรวจรถเรียบร้อยแล้ว จึงขอขอบคุณมูลนิธิฯ มา ณ ที่นี้   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 ร้องเรียนกรณี ถูกฉ้อโกงค่าใช้บริการ

30 หมู่ที่ 8 ตำบล บางแก้วอำเภอ เมือง จังหวัดสมุทรสงคราม วันที่   28   พฤศจิกายน  2556 เรื่อง  ร้องเรียนกรณี ถูกฉ้อโกงค่าใช้บริการ เรียน   กสทชด้วยดิฉัน  นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม  หมายเลขบัตรประชาชน 37501-00253-723    เป็นผู้ใช้โทรศัพท์ หมายเลข 081- 3089020   ใช้แบบชำระค่าบริการรายเดือนของบริษัท DTAC  ได้รับความเสียหาย ถูกฉ้อโกงค่าใช้บริการ หลายเดือนโดยที่ไม่ได้ใช้บริการวันที่ 28 พฤศจิกายน  2556  ดิฉันได้ไปจ่ายค่าบริการโทรศัพท์ ที่ศูนย์ DTAC จังหวัดสมุทรสงคราม ด้วยตัวเอง(ซึ่งเดือนก่อนๆ ให้ลูกน้องไปจ่ายแทน) ซึ่งมียอดต้องชำระ 2 เดือน มียอดรวม 1,622  บาท  จึงได้ถามว่าดิฉัน ใช้บริการโปรฯ 599 ต่อเดือน(รวมอินเตอร์เน็ต) ทำไมค่าบริการจึงสูงกว่า 599  บาท  ได้คำตอบว่า  ส่วนที่เกินมาจากค่าใช้บริการบันเทิงดารา  และการสมัครข่าวฮอตนิวส์  ซึ่งดิฉันไม่เคยสมัครใช้บริการดังกล่าว และไม่เคยได้รับบริการใดๆ (นอกจากสมัครรับข่าวของสำนักข่าวอิศรา) มีเพียงได้รับข้อความทาง SMS เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน  2556  ว่า “ระบบจะต่ออายุบริการHotNews-FT 15D&Normal 29.00 บาท 30 วัน ในวันที่ 2013 -11-14 สอบถามโทร 02-9412815”  ซึ่งดิฉันไม่สนใจและไม่คิดจะรับบริการ  จากนั้นวันที่  14 พฤศจิกายน  2556  ดิฉันก็ได้รับข้อความว่า ระบบได้ต่ออายุบริการแล้ว(ดิฉันได้นำข้อมูลนี้ให้คุณฐากร  ตันฑสิทธิ  เลขา กสทช ดูแล้ว) ส่วนค่าบริการบันเทิงดาราดิฉันมาทราบภายหลังว่า มีการให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2556  ทั้งที่ดิฉันไม่เคยสมัครและไม่เคยรับบริการข่าวบันเทิงใดๆ พฤติกรรมการให้บริการของ  DTAC   เข้าข่ายฉ้อโกงผู้บริโภค อย่างชัดเจน  จึงขอร้องเรียน ให้ DTAC ชดเชยค่าเสียหายดังนี้ เรียกร้องค่าบริการที่เรียกเก็บเกิน  ตามที่เก็บเกินไปจริง เรียกร้องค่าเสียหายกรณีเสียเวลา เสียค่าโทรศัพท์ เสียค่าเดินทางและอื่นๆในกระบวนการร้องเรียน   กรณีถูกฉ้อโกง  จำนวน 5,000  บาท (เพราะผู้บริโภคไม่ได้มีหน้าที่ร้องเรียน  แต่ผู้ให้บริการมีหน้าที่ให้บริการอย่างตรงไปตรงมา มิใช่ช่อโกงผู้บริโภคได้ตามที่ต้องการ) ห้ามมิให้ DTAC ส่งบริการเสริมใดๆโดยไม่ได้มีการส่งคำร้องขอ   ลงชื่อ  นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม ผู้ร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >