ฉบับที่ 239 บอกเลิกสัญญา Work & Travel เพราะโควิด-19

วัยรุ่นจำนวนไม่น้อยอยากไป Work & Travel ในต่างประเทศ เพราะนอกจากการทำงานระยะสั้น ๆ หาประสบการณ์แล้ว ยังได้ท่องเที่ยวในประเทศนั้นๆ ด้วย เช่นเดียวกับคุณกันตพล ที่อยากให้ลูกชายได้เปิดประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศ จึงตัดสินใจส่งลูกชายเข้าโครงการ Work & Travel ในประเทศสหรัฐอเมริกากับบริษัทตัวแทนแห่งหนึ่งระยะเวลา 3 เดือน โดยคุณกันตพลได้ผ่อนค่าใช้จ่ายเป็นรายงวด รวมเป็นเงินทั้งหมดแล้วเกือบ 80,000 บาท         แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ทำให้กำหนดการการเดินทางไปทำงานและท่องเที่ยวที่อเมริกาของลูกชายคุณกันตพลต้องพับลง บริษัทที่จัดโครงการ Work & Travel ได้แจ้งกับคุณกันตพลว่า ไม่สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น โดยทางบริษัทจะคืนเงินให้ประมาณ 50,000 บาท         คุณกันตพลทราบดังนั้น ก็คิดว่าเงินที่บริษัทคืนให้นั้นน้อยเกินไปหรือไม่ ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้นคุณกันตพลได้ชำระไปแล้วล่วงหน้าแล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าโครงการ ค่าธรรมเนียมวีซ่า ค่ามัดจำตั๋วเครื่องบิน การที่บริษัทหักเงินไปเกือบ 30,000 บาทนั้นดูไม่เป็นธรรมเอาเสียเลย แนวทางการแก้ไขปัญหา                 กรณีที่บริษัทแจ้งว่าไม่สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสนั้น เท่ากับเป็นการบอกเลิกสัญญา ซึ่งจะต้องคืนเงินให้แก่ผู้บริโภคโดยทันที หากจะมีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ ก็ต้องชี้แจงรายละเอียดของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน มีการแสดงเอกสารหลักฐานค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงให้ได้ทราบอย่างครบถ้วน ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็สามารถใช้สิทธิฟ้องร้องได้         ทั้งนี้ ผู้บริโภคเองสามารถบอกเลิกสัญญากับบริษัทที่จัดทำโครงการในลักษณะ Work & Travel ได้ โดยทำหนังสือบอกเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรส่งแบบไปรษณีย์ตอบรับ หากทางบริษัทเอเจนซี่จะหักค่าใช้จ่ายใดๆ ก็ต้องชี้แจงและแนบหลักฐานให้ผู้บริโภคได้รับทราบด้วยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ซื้อสินค้าหมดอายุ ใช้สิทธิได้มากกว่าที่คิด

        หากซื้อสินค้าที่หมดอายุมา อย่าคิดว่าไม่เป็นไรเงินแค่นิดหน่อยเอง ไม่อยากเสียเวลาไปเรียกร้องสิทธิ หรือเหตุผลอื่นๆ ขอให้คิดอีกสักนิดว่าถ้าเราละเลยการใช้สิทธิด้วยเหตุผลเหล่านี้บ่อยครั้งเข้านั่นจะเท่ากับเปิดโอกาสให้ผู้ขายเอาเปรียบเราได้เรื่อยๆ ดังนั้นเราต้องฝึกใช้สิทธิที่เรามี มาลองดูผู้บริโภครายนี้ว่าเมื่อเขาเจอร้านขายสินค้าที่ขายวิตามินหมดอายุเขาทำอย่างไร         คุณภูผา ซื้อวิตามินมาจากร้านวสันต์ ราคาประมาณ 300 บาท ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ซื้อเสร็จก็เก็บไว้ในลิ้นชักในโต๊ะที่ทำงานเพื่อเอาไว้รับประทาน ช่วงปลายเดือนธันวาคมได้รับประทานเข้าไป 1 เม็ด จนเปิดงานช่วงปีใหม่เขาก็ทำความสะอาดจัดเก็บโต๊ะทำงานใหม่ให้เข้าที่เข้าทางซึ่งเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่ดีสำหรับเขา เมื่อหยิบที่ขวดวิตามินซึ่งซื้อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน ก็เห็นฉลากข้างขวดระบุวันหมดอายุวันที่ 16/10/62 อ้าว ! หมดอายุมาตั้ง 1 ปีแล้ว เอามาขายให้เขาได้อย่างไร         ปัญหาคือเขาไม่รู้จะทำอย่างไรดี ใบเสร็จก็ทิ้งไปแล้ว ตัดสินใจลองโทรศัพท์ไปที่ call center ร้านวสันต์ เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้พนักงานฟังและบอกว่าทิ้งใบเสร็จไปแล้ว ช่วยตรวจสอบประวัติในการซื้อสินค้าให้ได้ไหม เพราะเขาต้องการเปลี่ยนสินค้า ต่อมาเจ้าหน้าที่สาขาของร้านได้โทรศัพท์มายอมรับและขอโทษที่ได้ขายสินค้าหมดอายุและขอให้คุณภูผานำสินค้าไปเปลี่ยนได้ที่สาขาดังกล่าว  อย่างไรก็ตามคุณภูผาก็คิดเผื่อคนอื่นด้วยว่า แค่เปลี่ยนให้คงน่าจะยังไม่เพียงพอเพราะเป็นการแก้ปัญหาให้เขาคนเดียว เขาอยากให้ทางร้านมีความรับผิดชอบมากกว่านี้เพราะว่าเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ ซึ่งวิตามินที่หมดอายุนี้อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายได้ จึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เขาสามารถเพิ่มเติมอะไรได้อีกบ้างนอกจากการเปลี่ยนคืนสินค้า แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้แนะนำว่า เบื้องต้นผู้ร้องควรไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน มีสิทธิเปลี่ยนสินค้าคืนได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนที่ร้าน เพราะว่าการจำหน่ายสินค้าหมดอายุเกิดจากความบกพร่องของร้านค้า สามารถให้ร้านค้านำสินค้ามาเปลี่ยนให้ผู้ร้องในสถานที่ที่ผู้ร้องสะดวก หรือถ้าไปเปลี่ยนสินค้าที่ร้านผู้ร้องสามารถเรียกให้ร้านชดใช้ค่าเดินทางหรือค่าเสียเวลาได้ หรือต้องการเงินคืนโดยไม่ต้องเปลี่ยนสินค้าก็ได้ กรณีต้องรักษาพยาบาลสามารถให้ร้านค่าชดใช้ค่ารักษาพยาบาลได้ ทั้งนี้ยังสามารถให้ร้านค้าออกหนังสือขอโทษผู้ร้องได้ด้วย         หลังจากได้รับคำแนะผู้ร้องโทรศัพท์ไปแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าได้แจ้งความที่สถานีตำรวจ และร้องเรียนไปยังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และให้ร้านนำสินค้ามาเปลี่ยนให้ที่บ้าน หลังจากนั้นผู้จัดการสาขาได้นำสินค้าไปเปลี่ยนให้ผู้ร้องที่บ้าน พร้อมมอบกระเช้าเพื่อแสดงความรับผิดชอบและกล่าวขออภัยผู้ร้องในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ร้องเห็นถึงความจริงใจของร้านก็ได้ไม่ติดใจอะไร แต่ก็ขอให้ร้านมีระบบไม่นำสินค้าหมดอายุมาขายอีก ส่วนกระเช้าผู้ร้องไม่อยากได้จึงขอให้ร้านเปลี่ยนเป็นหน้ากากอนามัยเพื่อนำไปบริจาคให้แก่จังหวัดสมุทรสาคร ร้านยินดีเปลี่ยนจากกระเช้าเป็นหน้ากากอนามัยจำนวน 2,000 ชิ้น และส่งไปบริจาคยังจังหวัดสมุทรสาคร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ขสมก. กับแผนงานที่เริ่มออกห่างคำว่าขนส่งสาธารณะขั้นพื้นฐาน

        2563 เป็นปีที่ทั้งประเทศไม่มีงานเฉลิมฉลองส่งท้ายปีทั้งที่ควรจะเป็นช่วงเวลาที่ตื่นเต้นคึกคัก หลังจากบอบช้ำจากพิษโควิด-19 มาทั้งตลอดปี แต่ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ทันทีที่โควิด-19 ระลอกใหม่กลับมาระบาดอีกรอบทำให้กิจกรรมและการดำเนินชีวิตประจำวันทุกอย่างทั้งประเทศต้องหยุดชะงักลงอีกครั้ง และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มกระจายตัวเป็นวงกว้าง แนวทางควบคุมความเสี่ยงใน บริการขนส่งมวลชน จึงถูกนำมากลับมาใช้ให้เห็นกันอีกครั้ง ทั้งการเว้นระยะห่างที่นั่งและการยืนในพื้นที่รถโดยสาร รถไฟฟ้า และเรือโดยสาร นอกเหนือจากการควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละรอบ วัดอุณหภูมิและให้ผู้โดยสารทุกคนต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเมื่อใช้บริการ         ขณะที่รัฐบาลเลือกขอความร่วมมือให้หน่วยงานราชการและภาคเอกชนปรับแผนให้พนักงานทำงานที่บ้านเพื่อลดการเดินทางและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเมื่ออยู่นอกบ้าน เพราะมีตัวอย่างผู้ติดเชื้อจากการไปในสถานที่ปิด แออัดอากาศไม่ถ่ายเท มีคนอยู่กันเป็นจำนวนมาก เช่น รถสาธาณะ ร้านอาหาร รวมถึงการสัมผัสสิ่งของหรือผู้ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวเวลาอยู่นอกบ้าน ทว่ายังมีมนุษย์เงินเดือน คนที่ต้องทำงานอีกจำนวนมากที่เลือกจะอยู่บ้านทำงานไม่ได้ พวกเขาต้องยอมรับความเสี่ยงเดินทางด้วยบริการขนส่งมวลชนเหมือนทุกวันท่ามกลางกระแสโรคระบาดโควิด-19  แต่โชคยังดีที่รถไฟฟ้า BTS และเรือโดยสารคลองแสนแสบ สองในสามเส้นเลือดใหญ่ของการเดินทางคนกรุงตอบรับมาตรการลดความเสี่ยง  ยืนยันไม่ลดจำนวนเที่ยววิ่งให้บริการ และเพิ่มความถี่ในชั่วโมงเร่งด่วน เพื่อความปลอดภัยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดให้แก่ผู้โดยสาร แม้ว่าจำนวนผู้โดยสารจะลดน้อยลงก็ตาม         โชคไม่ดีนักที่แนวคิดผู้บริหาร ขสมก. กลับสวนทางบริการขนส่งอื่น เริ่มด้วยการประกาศลดจำนวนเที่ยววิ่งรถเมล์เหลือเพียง 60% อ้างจำนวนผู้โดยสารลดลง โดยที่ไม่รับฟังความเห็นเสียงวิจารณ์ของผู้บริโภคที่ใช้บริการเลย ซึ่งจะส่งผลให้รถเมล์เกือบทุกสายของ ขสมก. วิ่งบริการน้อยลงและทิ้งระยะห่างนานขึ้น หมายความว่า ผู้โดยสารจะต้องรอรถนาน และแออัดเบียดเสียดบนรถมากขึ้น เพราะคงไม่มีใครอยากรอรถคันต่อไปที่ไม่รู้จะมาเมื่อไหร่         เรื่องนี้กลายเป็นคำถามและประเด็นร้อนของสังคมที่เรียกร้องต่อ ขสมก. ว่า ทำไมถึงมองเรื่องต้นทุนรายได้มากกว่าความปลอดภัยของประชาชนที่ใช้บริการ ทั้งที่ในสถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ ขสมก. ควรต้องคงจำนวนเที่ยววิ่ง หรือเพิ่มจำนวนรถในบางเส้นทางในชั่วโมงเร่งด่วนไปซักระยะหนึ่งก่อน เพื่อลดความแออัดและกระจายผู้โดยสารในแต่ละคันให้อยู่ในปริมาณที่กำหนด เพราะต่อให้จำนวนผู้โดยสารน้อยลงเกือบ 40% แต่ก็ยังอยู่ในระดับ 400,000 คน ต่อวัน ที่ต้องใช้รถเมล์ ขสมก.อยู่ทุกวัน        อีกทั้ง ขสมก. ยังมีประเด็นตามแผนฟื้นฟูที่ประชาชนจำนวนมากยังไม่เห็นด้วยว่าจะทำให้ฟื้นฟูได้จริง เช่น  1) ค่าโดยสารเหมาจ่าย 30 บาทต่อคนต่อวัน 2) ปฏิรูปเส้นทาง ลดเส้นทาง ขสมก. ปรับเพิ่มเส้นทางเอกชน 3)  การจัดหารถเมล์ปรับอากาศใหม่ 2,511 คัน และจ้างเอกชนวิ่งอีก 1,500 คัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายปลดหนี้แสนล้านภายในสิบปี         ท่ามกลางเสียงสนับสนุนและเสียงค้านทั้งสองฝ่าย ในประเด็นยกเลิกรถเมล์ร้อนขวัญใจคนรายได้น้อย และเพิ่มรถปรับอากาศพร้อมจัดเก็บค่าโดยสารเหมาจ่าย 30 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งแม้การจัดเก็บค่าโดยสารอัตราใหม่นี้จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางให้กับประชาชนได้ โดยเฉพาะผู้ใช้บริการที่ต้องต่อรถเมล์หลายสาย แต่ ณ ปัจจุบันยังไม่เห็นอนาคตที่ค่าโดยสารเหมาจ่ายจะใช้ร่วมกับรถเมล์ร่วมบริการเอกชนได้เลย และที่สำคัญ ขสมก. จะมีทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการที่จ่ายค่าโดยสารน้อยกว่าอัตราเหมาจ่ายหรือไม่ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะต้องจ่ายอัตราเหมาตามที่ ขสมก. คิดไว้        ตามเว็บไซต์ www.bmta.co.th ระบุถึงความรับผิดชอบในการจัดบริการรถโดยสารประจำทางวิ่ง รับ-ส่ง ผู้โดยสาร ให้บริการแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย และปานกลางเป็นหลัก การดำเนินการจึงมุ่งสนองตอบนโยบายของรัฐบาลในด้านการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มีรายได้น้อยโดยไม่หวังผลกำไร แต่เมื่อดูวัตถุประสงค์และเป้าหมายของ ขสมก. อย่างน้อยสามปีหลังสุดตามรายงานประจำปี (2560-2562) องค์กรกลับมีเป้าหมายที่ การให้บริการขนส่งมวลชนอย่างมีประสิทธิภาพและคุณภาพด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความสะดวกและปลอดภัยและสามารถเลี้ยงตนเองได้ลดภาระกับภาครัฐ โดยที่ไม่มีเรื่องการให้บริการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยโดยไม่หวังกำไรแต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ถูกชักชวนตรวจสุขภาพ พร้อมซื้อคอร์สรักษาโรค

        วันหนึ่งคุณพิสมัยและลูกสาวได้ไปเดินห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ในขณะที่เดินช้อปปิ้งอยู่ก็มีพนักงานสาวสวยสองคนเดินออกจากบูธตรงมาหาคุณพิสมัย พร้อมชวนพูดคุยสอบถามข้อมูลด้านสุขภาพและโฆษณาโครงการสิทธิพิเศษโดยอ้างว่า ตนมาจากสถานพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง โดยยื่นข้อเสนอตรวจสุขภาพให้ฟรีมูลค่า 7,000 บาท พร้อมขอชื่อและเบอร์ติดต่อคุณพิสมัยไว้         วันถัดมาคุณพิสมัยได้รับโทรศัพท์จากพนักงานคนดังกล่าวเพื่อขอนัดตรวจสุขภาพ คุณพิสมัยเห็นว่าเป็นการตรวจฟรีจึงได้ตกลงและไปตามนัดในวันดังกล่าว โดยได้รับการตรวจเลือดและบริการอื่นๆ ทั่วไป ซึ่งหลังจากที่ได้รับการเจาะเลือดไปตรวจเพียงหยดเดียวด้วยวิธีการส่องกล้องจุลทรรศน์ คุณพิสมัยก็ได้รับแจ้งว่า พบไขมันจำนวนหนึ่งลอยเกาะกันอยู่ในเลือดและมีปริมาณเกินกว่าที่ควรจะมีอาจส่งผลให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดในอนาคตได้ คุณพิสมัยตกใจที่ผลเลือดไม่ดี จึงถามกลับไปว่าควรจะทำอย่างไรดี ซึ่งทางพนักงานได้แนะนำโปรแกรมรักษาราคา 900,000 บาทให้แก่คุณพิสมัย         พอได้ยินราคาสำหรับการรักษา คุณพิสมัยปฏิเสธทันทีในใจคิดว่าน่าจะไปตรวจที่โรงพยาบาลจะดีกว่า แต่พนักงานก็ยื่นข้อเสนอใหม่ว่า ถ้าเช่นนั้นลดจำนวนครั้งการรักษาลง ราคาจะเหลือเพียง 69,000 บาท เมื่อเห็นว่าเป็นราคาที่พอจะรับได้จึงได้ตอบตกลงและชำระเงินมัดจำผ่านบัตรเครดิตไปจำนวน 40 เปอร์เซ็นต์         อย่างไรก็ตามเมื่อกลับถึงบ้าน คุณพิสมัยขอให้ลูกสาวช่วยตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจรักษาแบบดังกล่าวจนพบข้อมูลว่า การตรวจวินิจฉัยโดยใช้เลือดเพียงหยดเดียวส่องกล้องจุลทรรศน์นั้น เป็นการตรวจที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ ทั้งเป็นการรักษาที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ ว่าได้ผล จึงต้องการเงินคืนจะต้องทำอย่างไร แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อคอร์สการตรวจรักษาสุขภาพดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองทางการแพทย์ และผู้ร้องไม่ยินดีที่จะเข้ารับบริการดังกล่าว ผู้ร้องสามารถทำหนังสือบอกเลิกสัญญาและขอเงินค่ามัดจำดังกล่าวคืนได้เต็มจำนวน         การทำหนังสือบอกเลิกสัญญาต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับที่สามารถเก็บบันทึกตอบรับไว้เป็นหลักฐานได้ พร้อมทั้งโทรติดต่อกับธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อแจ้งกับพนักงานว่า ตนได้ขอยกเลิกสัญญาดังกล่าวกับผู้ประกอบธุรกิจแล้ว พร้อมแนบสำเนาหนังสือบอกเลิกสัญญาให้กับธนาคารด้วย กรณีของคุณพิสมัยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา แต่ฝากไว้ให้คิดว่า ก่อนเข้ารับบริการทางการแพทย์ควรตรวจสอบให้ถ้วนถี่ว่าผู้ให้บริการเป็นบุคลากรทางการแพทย์จริงหรือไม่ และก่อนตัดสินใจเข้าใช้บริการควรหาข้อมูลให้รอบด้าน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ระวังผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพรสกัด สวม อย. ปลอม

        คุณอภิรักษ์เป็นคนที่รักสุขภาพ และมีความชอบพืชสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเป็นอย่างมาก มาวันหนึ่งคนรู้จักแถวบ้านคุณอภิรักษ์ได้เข้ามาแนะนำผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพรยี่ห้อหนึ่ง โดยโฆษณาสรรพคุณ แก้ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอกตามร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรง คุณอภิรักษ์ได้อ่านส่วนผสมและสรรพคุณต่าง ๆ บนฉลากสินค้า ก็เห็นว่ามีสมุนไพรหลายตัวที่น่าสนใจ ทั้งคนที่นำผลิตภัณฑ์มาเสนอขายยังเป็นคนที่รู้จักมักคุ้น และเคยได้ยินคนในละแวกบ้านกล่าวถึงกัน บนฉลากก็ยังมีเลข อย.รับรองอีกด้วย คุณอภิรักษ์จึงได้ซื้อน้ำสมุนไพรสกัดเอาไว้จำนวนหนึ่งเพื่อทดลองรับประทาน         ไม่กี่วันต่อมามีข่าวว่า เพื่อนบ้านจำนวนหนึ่งที่ดื่มผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพรสกัดดังกล่าว เกิดอาการคันและบวมตามร่างกายจนต้องทยอยกันเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล อีกทั้งเมื่อหน่วยงานนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบยังพบว่า ผลิตภัณฑ์มีการสวมเครื่องหมายเลข อย.ปลอมและมีสารสเตียรอยด์ปนเปื้อน นับเป็นโชคดีของคุณอภิรักษ์ที่ยังไม่ได้หยิบน้ำสมุนไพรสกัดยี่ห้อดังกล่าวมารับประทาน แต่อยากได้ความรับผิดชอบจากผู้ผลิตจึงโทรมาปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมีการตรวจพบการปนเปื้อนของสารสเตียรอยด์ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (1) คือ อาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษตาม มาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ         นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่สามารถใช้คำโฆษณาในลักษณะเพื่อบรรเทา รักษา หรือแก้โรคต่าง ๆ ได้ เพราะไม่ใช่เวชภัณฑ์ยาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการรักษาโรค ในกรณีนี้ยังเข้าข่ายใช้คำโฆษณาหลอกลวงเกินจริง ซึ่งตาม มาตรา 40 ของ พ.ร.บ.อาหารฯ ยัง ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ซึ่งมีบทกำหนดโทษตาม มาตรา 70 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         แนะนำให้คุณอภิรักษ์นำสินค้าไปมอบให้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการตามกฎหมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 รถยนต์ที่น้ำเข้าห้องโดยสารทุกครั้งที่ล้างรถและฝนตก

        หากรถยนต์ที่ซื้อมาได้ไม่นานสร้างปัญหากวนใจให้ท่านทุกครั้งที่ขับรถฝ่าฝนหรือแม้แต่จะล้างรถ ด้วยอาการน้ำรั่วซึมเข้าไปในห้องโดยสาร ท่านจะทำอย่างไร        คุณทิชาพาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อหนึ่งเป็นรุ่นลิมิเต็ด เมื่อเดือนธันวาคม 2560 แรกเริ่มใช้งานก็ยังไม่พบปัญหาอะไรจนวันหนึ่ง ขับรถไปติดฝนอยู่ที่แยกไฟแดงแล้วก็สังเกตว่ามีน้ำค่อยๆ ซึมเข้าในรถ คุณทิชาพาตกใจที่เกิดเหตุนี้ขึ้นเพราะรถยนต์ของตนแม้จะใช้งานมาได้สักพักแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในอายุประกัน ทำไมปัญหาแบบนี้จึงเกิดขึ้น วันรุ่งขึ้นจึงพารถยนต์ไปศูนย์ซ่อมใหญ่ของบริษัทรถ         ช่างตรวจสอบอาการแล้วระบุว่า ขอบยางอาจจะเสื่อมสภาพจะทำการแก้ไขให้ “เชื่อไหมคะว่า ดิฉันต้องนำรถคันนี้เข้าๆ ออกๆ ศูนย์ซ่อมกี่ครั้งแล้ว” 4 ครั้งคือฟางเส้นสุดท้ายที่คุณทิชาพาไม่อยากทนอีกกับปัญหาน้ำรั่วซึมเข้าห้องผู้โดยสาร ทุกครั้งทีรถอยู่ในสายฝนหรือแม้แต่การล้างรถ         เธอจึงนำเรื่องมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอให้ดำเนินการช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อสอบถามความประสงค์ของคุณทิชาพา เธอต้องการให้บริษัทรับผิดชอบด้วยการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไหล่หรืออะไรก็ตามที่มันสร้างปัญหานี้ให้จบเสียที เพราะไม่ต้องการนำรถเข้าอู่ซ่อมแล้วซ่อมอีก   ทางศูนย์ฯ จึงนัดให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจากัน บริษัทรถยนต์ขอโอกาสนำรถยนต์เข้าซ่อมอีกครั้ง (ครั้งที่ 5) คุณทิชาพาตกลงแต่ขอให้รับหลักการว่า หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทางบริษัทฯ ต้องซื้อรถยนต์คืนไป         หลังจากรถถูกนำเข้าอู่ซ่อมครั้งที่ 5 ตอนที่ได้รับการนัดหมายให้รับรถยนต์คืน เหมือนอาการต่างๆ ดีขึ้น มีการทดลองฉีดน้ำก็ไม่พบอาการรั่วซึมคุณทิชาพาสบายใจยินดีรับรถยนต์กลับมาใช้งาน แต่พอผ่านมาได้สัก 4 เดือน อาการรถมีน้ำซึมได้หวนกลับมาอีกเมื่อเธอล้างรถ คุณทิชาพาจึงขอให้มูลนิธิฯ ช่วยเรื่องคดีเพื่อให้บริษัทฯ ซื้อรถยนต์คืนไปเถอะ         ผลของคดีจบกันที่ ทางบริษัทรถยนต์คืนเงินให้ผู้ร้องหรือคุณทิชาพา ในราคาที่คุณทิชาพารับได้เพราะก็มีค่าเสื่อมต่างๆ ที่เกิดจากการใช้งาน เรื่องยุติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ตั้งใจซื้อครีมล้างหน้าแค่ 1,300 แต่เผลอจ่ายไปเกือบแสนสาม

        เครื่องสำอางกับสุภาพสตรีเป็นของคู่กัน ยิ่งผลิตภัณฑ์นั้นได้รับคำโฆษณาว่าเป็นของที่ดาราใช้หรือดาราเป็นเจ้าของแบรนด์ มันจะดึงดูดใจมากไปกว่าเครื่องสำอางแบรนด์ธรรมดา         คุณศรีสุดาไปเดินเที่ยวห้างสรรพสินค้าใหญ่ย่านบางนาในวันหยุดตามประสาสาวนักช้อป ขณะเดินผ่านบูธในลานกิจกรรมพิเศษ สาวๆ นักขายได้ชักชวนคุณศรีสุดาให้ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและพูดคุยโน้มน้าวให้ซื้อสินค้าโดยอ้างว่า เครื่องสำอางในบูธนี้แบรนด์นี้ เป็นสินค้าที่ดาราดังคนหนึ่งใช้อยู่เป็นประจำ คุณศรีสุดาตั้งใจจะซื้อครีมล้างหน้าที่มีโปรโมชันแถมที่มาร์คหน้าในราคา 1,300 บาท เพราะทดลองมาร์คหน้าแล้วรู้สึกโอเค         “ดิฉันสอบถามพนักงานว่ามีเว็บไซต์ให้เข้าไปติดตามสินค้าหรือค้นหารายละเอียดอื่นๆ หรือไม่ พนักงานตอบว่ามีค่ะ แต่หนูไม่ทราบ ยังไงจะให้ทางบริษัทติดต่อกลับไปนะคะ” ขณะคุณศรีสุดากำลังจะถามเรื่องอื่นๆ ต่อ พนักงานขายก็ชิงลงมือโอ้อวดว่า เครื่องสำอางนี้เป็นของบริษัทที่ดาราดังคนหนึ่งพร้อมโชว์ภาพถ่ายต่างๆ รวมทั้งภาพของตัวพนักงานและดาราคนดังกล่าวหลายรูป สร้างความน่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก คุณศรีสุดาก็ฟังเพลินไปดูภาพสินค้าและดาราเพลินไปหน่อย สุดท้ายกลายเป็นว่า จ่ายเงินค่าเครื่องสำอางไป 13 รายการ รวมเป็นเงิน 127,000 บาท ผ่านบัตรเครดิต        คุณศรีสุดานั้นย้ำว่าขอให้พนักงานขายส่งเว็บไซต์ของบริษัทเครื่องสำอางให้ตนเองทันทีที่กลับบริษัทฯ เพราะตนเองต้องการทราบรายละเอียดต่างๆ ของผลิตภัณฑ์รวมทั้งรีวิวที่ดาราคนดังได้ใช้ตัวสินค้าเหล่านี้  ต่อมาคุณศรีสุดาได้รับลิงค์ที่เป็นเพจเฟซบุ๊กของบริษัทหนึ่ง ซึ่งไม่มีรายละเอียดอะไรเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่คุณศรีสุดาซื้อมาเลย หนำซ้ำที่อยู่ของบริษัทในเพจไม่ตรงกับที่อยู่ของบริษัทที่อยู่ในใบเสร็จสินค้าราคาแสนกว่าบาทที่อยู่ในมือคุณศรีสุดา เธอจึงรีบติดต่อพนักงานขายแต่ติดต่อไม่ได้หลายวัน อย่างไรก็ตามวันหนึ่งก็ติดต่อได้ พนักงานขายบอกว่าสินค้าในมือเธอเป็นสินค้าใหม่ยังไม่มีรายละเอียดบนหน้าเว็บไซต์ และโอนเรื่องให้พนักงานของบริษัทคนอื่นมาพูดแทน         “จะข้องใจอะไรกับสินค้าหนู ของนำเข้าถูกกฎหมายทุกอย่าง” ซึ่งวิธีการพูดจาแสดงถึงความโกรธเกรี้ยว คุณศรีสุดาจึงไม่พอใจมากและไม่กล้าใช้ผลิตภัณฑ์ที่ซื้อมาด้วย เพราะเกิดความไม่มั่นใจในตัวผลิตภัณฑ์ที่แทบไม่มีรายละเอียดอะไรเลย จึงนำสินค้าทั้งหมดกลับไปคืนที่บูธที่ยังจัดขายสินค้าอยู่ แต่พนักงานขายแจ้งว่าผู้บริหารบริษัทไม่อยู่ไปเมืองนอกขอเวลา 7 วัน ต่อมาได้รับแจ้งว่า ไม่รับคืนสินค้า “ดิฉันเห็นว่าการขายสินค้าของบริษัทไม่เป็นธรรมเพราะอวดอ้างและโฆษณาด้วยข้อมูลเท็จ เอาดารามาแอบอ้าง ไม่มีเว็บไซต์หรือรายละเอียดของสินค้าด้วย ดิฉันสามารถทำอย่างไรได้บ้าง”  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิเห็นว่ากรณีนี้ทั้งสองฝ่ายน่าจะไกล่เกลี่ยกันได้ จึงนัดให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจากัน และได้ส่งเรื่องราวถึงห้างสรรพสินค้าที่เป็นผู้ดูแลพื้นที่จัดแสดงสินค้าให้รับทราบปัญหา ต่อมาทราบจากคุณศรีสุดาว่าได้ไปร้องเรียนไว้ที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย แต่ตกลงกันไม่ได้คุณศรีสุดาต้องการคืนสินค้าและขอคืนเงินทั้งหมด ส่วนบริษัทฯ บ่ายเบี่ยงไม่รับคืนสินค้า ดังนั้นทางคณะอนุกรรมการของทาง สคบ.จะส่งร้องเพื่อขอให้พิจารณารับฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อไป คุณศรีสุดาจึงยุติเรื่องร้องเรียนกับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 เดินทางปลอดภัยคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง

        ธันวาคมปีนี้ นอกจากลมเย็นอ่อนๆ จะพัดมาให้คนกรุงเทพได้ชื่นใจกันบ้างแล้ว นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ระดมอัดฉีดเพื่อส่งเสริมให้คนท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยก็เริ่มติดลมบน  ทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกันและโครงการคนละครึ่งส่งผลให้การท่องเที่ยวบางแห่งช่วงปลายปีเริ่มมีสีสัน ธุรกิจที่ซบเซาเพราะโควิดไม่ว่าจะเป็นร้านค้า โรงแรม หรือขนส่งสาธารณะพลอยได้รับอานิสงส์คึกคักตามกันไปด้วย         ช่วงส่งท้ายปีเก่ารอรับปีใหม่แบบนี้ แม้จะอยู่ในช่วงรอยต่อของการฟื้นตัวทั้งภาครัฐและเอกชน แต่คาดหมายว่าเมื่อถึงวันหยุดยาวสิ้นปีทุกเส้นทางทุกยานพาหนะจะเต็มไปด้วยผู้คนที่ทยอยเดินทางทั่วทุกสารทิศ แม้พาหนะยอดฮิตอย่างรถทัวร์และรถตู้โดยสารจะเป็นบริการเช่าที่ประหยัด สะดวกสบาย  และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไงเสียรถโดยสารสาธารณะยังคงเป็นพาหนะเดินทางที่ “จำเป็น” และตอบโจทย์การเดินทางของประชาชนจำนวนมาก         ปัจจุบันการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะมีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับความรุนแรงจากอุบัติเหตุที่ลดน้อยลง  จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนของกรมการขนส่งทางบกในช่วงเทศกาลปีใหม่ (สะสม 7 วัน) ปี 2563 มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้น 3,421 ครั้ง ลดลงจากปี 2562 จำนวน 370 ครั้ง โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่มีจำนวนลดลงจากปีที่ผ่านมาเช่นกัน โดยพาหนะที่เกิดเหตุส่วนใหญ่ คือ รถจักรยานยนต์        แม้อุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะจะมีน้อยกว่ารถจักรยานยนต์ แต่การเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะก็ไม่ได้ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ให้บริการและประชาชนผู้โดยสาร ต่างมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ        เจ้าหน้าที่ ต้องเข้มงวดในการกำหนดมาตรการความปลอดภัย ทั้งในส่วนของพนักงานขับรถที่ต้องตรวจวัดแอลกอฮอล์ ไม่ขับรถเกินชั่วโมงการทำงานที่กฎหมายกำหนด และตรวจเช็คความพร้อมก่อนออกให้บริการ ตลอดจนมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารที่ต้องผ่านเกณฑ์การตรวจสภาพของกรมการขนส่งทางบก เช่น การติดตั้ง GPS ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำกับติดตามและควบคุมความเร็วของรถ และเป็นสาเหตุสำคัญในการลดอุบัติเหตุได้         ผู้โดยสาร ต้องปฏิบัติตนในเรื่องความปลอดภัยเบื้องต้น คือคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาที่อยู่บนรถโดยสาร ซึ่งตรงนี้เหมือนง่ายแต่กลับเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ เพราะแม้จะมีบทบัญญัติลงโทษตามกฎหมาย แต่ก็ไม่เคยมีการจับปรับอย่างจริงจังทำให้ผู้โดยสารบางส่วนเคยชินในการละเลยความปลอดภัย ไม่ยินดีกับการคาดเข็มขัดนิรภัย ด้วยเหตุ อึดอัด ไม่สะดวก อายเพื่อน หรือไม่ตระหนักถึงความสำคัญของอุปกรณ์นี้        ประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับเข็มขัดนิรภัยในรถโดยสารสาธารณะ ทั้งในส่วนของผู้โดยสารที่ต้องคาดเข็มขัดขณะอยู่บนรถโดยสาร โดยถ้าผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัยเจอตรวจจับปรับไม่เกิน 5,000 บาท และผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องจัดให้มีเข็มขัดนิรภัยที่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน แต่ปัจจุบันก็ยังพบปัญหารถโดยสารสาธารณะที่ไม่มีเข็มขัดนิรภัย หรือถูกมัดไว้ไม่ให้ใช้ หรืออยู่ในสภาพชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งหากผู้ประกอบการขนส่งรายใดใช้รถที่ไม่มีเข็มขัดนิรภัยมาให้บริการ หรือมีอุปกรณ์และส่วนควบชำรุดเสียหายต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท         เข็มขัดนิรภัยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้รถโดยสารสาธารณะ รวมถึงพาหนะรถยนต์ทุกประเภท เพราะเข็มขัดนิรภัยถูกออกแบบไว้เพื่อช่วยลดความรุนแรงและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า เข็มขัดนิรภัยสามารถลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บทั่วไปได้ร้อยละ 40 - 50 ลดการบาดเจ็บสาหัสได้ถึงร้อยละ 43 - 65 และลดการเสียชีวิตได้ร้อยละ 40 - 60 แต่ต้องใช้งานอย่างถูกต้องด้วย         การไม่คาดเข็มขัดนิยภัยนั้น อาจส่งผลที่อันตรายอย่างคาดไม่ถึง เช่น แรงกระแทกจากการชนที่เกิดจากรถวิ่งเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะเท่ากับรถตกจากที่สูงประมาณตึก 8 ชั้น และคนที่อยู่ในรถถ้าไม่คาดเข็มนิรภัย เมื่อรถชนและหยุดกะทันหัน ศีรษะใบหน้าและลำตัวของคนในรถจะถูกเหวี่ยงไปกระแทกกับคนในรถ หรือสิ่งของด้านหน้า หรือหลุดกระเด็นออกนอกตัวรถ รวมถึงอวัยวะอื่น ๆ เช่น สมอง หรือไขสันหลัง เพราะการเคลื่อนไหวอย่างกะทันหันจากแรงกระแทกอาจทำให้บาดเจ็บรุนแรง และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต การคาดเข็มขัดนิรภัยจึงสำคัญ และเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 The World Day of Remembrance for Road Traffic Victims

        15 พฤศจิกายน นอกจากจะเป็นวันรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน หรือ The World Day of Remembrance for Road Traffic Victims (WDR) แล้ว ยังเป็นการครบรอบ 15 ปี ของการกำเนิดวันรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนอีกด้วย แต่ด้วยเพราะสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 กิจกรรมรณรงค์ร่วมรำลึกในปีนี้อาจจะดูเงียบเหงาขาดสีสันลงไปบ้าง คงมีเพียงมูลนิธิเมาไม่ขับที่เป็นแกนหลักในการจัดงานรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนทุกปี ขณะที่หน่วยงานหลักของประเทศกลับไม่มีการแสดงออกถึงวาระสำคัญของโลกในวันนี้อีกเช่นเคย         เหมือนทุกปีที่วันรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนหรือที่เราเรียกกันว่า “วันเหยื่อโลก” มีเป้าหมายเพื่อให้ทุกคนได้ร่วมกันรำลึกถึงผู้เสียชีวิตและผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลก เพราะอุบัติเหตุทางถนนเกิดไม่ได้เลือกเกิดขึ้นเฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เกิดได้กับทุกคนไม่ว่าจะรวยล้นฟ้า ดารานักแสดงหรือแม้แต่คนเดินถนนทั่วไป         ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนตลอดปี พ.ศ. 2563 ผ่านการเบิกจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 12,990 คน และบาดเจ็บ 855,415 คน ผ่านมาเกือบครบปีแล้ว แม้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะลดน้อยลง อาจเพราะผลสืบเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดการล็อกดาวน์ประเทศ ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม มีจำนวนลดลง แต่เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างเริ่มคลี่คลายทุกคนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนก็ดีดตัวกลับพุ่งขึ้นมาแรงเหมือนเดิม         โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และเมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้หลายฝ่ายคาดว่า หากไม่ทำอะไรจริงจัง ในช่วงปลายปีไตรมาสสุดท้ายจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนอาจจะพุ่งแตะใกล้เคียงสองหมื่นคนเหมือนในปีที่ผ่านมาก็เป็นได้         ทั้งนี้ตัวเลขการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวน 12,990 คน ข้างต้นยังไม่ได้รวมกรณีเกิดเหตุแล้วไม่ใช้สิทธิ หรือ รถไม่มีประกัน พ.ร.บ. รวมถึงยังไม่ใช่ตัวเลขจากระบบ 3 ฐาน ที่ประกอบด้วย ข้อมูลจากมรณบัตรและหนังสือรับรองการตาย ที่เป็นระบบลงทะเบียนการตายของผู้เสียชีวิตทุกรายที่มีการแจ้งตาย ข้อมูลจากระบบ POLIS ที่เป็นระบบบันทึกข้อมูลคดี และข้อมูลจากระบบ E-Claim ที่เป็นระบบบันทึกข้อมูลสำหรับเบิกจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน เพื่อให้ได้ข้อมูลการตายที่มีความครอบคลุมมากที่สุด         เพราะหากกลับไปย้อนดูข้อมูลการเสียชีวิตของอุบัติเหตุทางถนนจากข้อมูล 3 ฐาน ย้อนหลัง 4 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2562 พบว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลงเล็กน้อย คือ 21,745 > 21,607 > 19,331 และ 19,904 คน ตามลำดับ แต่ที่น่าตกใจ คือ ยังอยู่ในระดับเกือบ 20,000 คน ต่อปี หรือคิดเป็นวันละ 55 คนทุกวัน และเกือบ 70% ของผู้เสียชีวิตเกิดจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ ขณะที่อีกประมาณ 3,000 คน ต่อปีที่เสียชีวิตเป็นเด็กและเยาวชน หรือเท่ากับโรงเรียนขนาดใหญ่ปีละ 1 โรงเรียนที่หดหายไป         ในแต่ละปีประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเกือบ 20,000 คน หากพิจารณามูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ กรณีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส ข้อมูลโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า การเสียชีวิตมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 10 ล้านบาทต่อราย และการบาดเจ็บสาหัสมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 3 ล้านบาทต่อราย และถ้าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในปี พ.ศ. 2562 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 19,904 คน จะคิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากถึง 119,040,000,000 (หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นเก้าพันสี่สิบล้านบาท) และอาจถึง 200,000 ล้านบาท หากรวมมูลค่าความเสียหายทั้งบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตไว้ด้วยกัน         ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนจึงไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนนึง และไม่ใช่เรื่องที่ต้องฝากความหวังไว้กับรัฐบาลเพียงอย่างเดียว เพราะที่ผ่านมาสิบปีทศวรรษความปลอดภัยทางถนน (พ.ศ. 2554 - 2563) ตามข้อตกลงปฏิญญามอสโกที่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องลดอัตราการเสียชีวิตลงครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยล้มเหลวไม่เป็นท่า          รัฐบาลมีโอกาสแก้ตัวต่อจากนี้อีกสิบปี กับการจัดการความปลอดภัยทางถนนภายใต้กรอบ “ปฏิญญาสตอกโฮล์ม” พ.ศ. 2564 – 3573 และเป้าหมายระดับโลกในการลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50 ที่ต้องลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงให้ได้เหลือ 10,000 คนต่อปีภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าจะไม่ใช่แค่งานอีเว้นท์ประจำปีเน้นเทศกาลเหมือนที่ผ่านมา แต่จะเป็นการจัดการที่เข้มข้นและต่อเนื่องในทุกกลุ่มของผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างที่ทุกคนต้องการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 ไหนบอก.. ดูดไขมัน ทำแล้วไม่เจ็บ

        บ่ายวันหนึ่งระหว่างที่คุณสุปราณีเดินเล่นอยู่ในห้างสรรพสินค้ามีพนักงานสาวสวยหน้าคลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่งตรงดิ่งเข้ามาหา พร้อมกับเสนอโปรโมชันพิเศษคอร์สเสริมความงาม ดูดไขมัน ลดน้ำหนัก กระชับสัดส่วน แบบที่คุณสุปราณีก็ไม่ทันตั้งตัว เมื่อคุณสุปราณีได้ฟังข้อมูลจากพนักงานขายก็เริ่มเกิดความสนใจ และได้เข้าไปพูดคุยสอบถามรายละเอียดขั้นตอนและราคากับทางคลินิก         หลังจากพูดคุยตกลงความต้องการกันเสร็จเรียบร้อย ทางคลินิกได้แจ้งกับคุณสุปราณีว่า จะให้บริการดูดไขมันในครั้งแรกทั้งหมด 7 จุด ที่บริเวณหน้าท้องและใต้คอ รวมค่าใช้จ่าย 100,000 บาท และยังได้ให้คำแนะนำคุณสุปราณีว่า การดูดไขมันนั้นไม่เจ็บมาก โดยจะทำการฉีดยาชาให้ก่อน และรูที่ดูดไขมันนั้นก็เล็กเท่าปลายปากกา         เมื่อถึงวันนัดเข้ารับบริการครั้งแรก คุณสุปราณีไปคลินิกด้วยความตื่นเต้นเพราะไม่เคยเข้าคอร์สดูดไขมันมาก่อนในชีวิต โดยหลังจากคลินิกได้ทำการดูดไขมันให้ คุณสุปราณีรู้สึกว่าเจ็บมาก ไม่ใช่เจ็บนิดเดียวอย่างที่คลินิกบอก และทางคลินิกก็ทำการดูดไขมันบริเวณหน้าท้องไม่ครบทุกจุดตามที่ตกลงกันไว้ และรูที่ดูดก็ไม่ได้เล็กเท่าปลายปากกา แต่ใหญ่กว่ามาก หลังจากที่กลับมาสำรวจรูปร่างของตัวเองก็พบว่าหน้าท้องไม่ได้ยุบลงจากเดิมเลยคุณสุปราณีรู้สึกผิดหวังกับทางคลินิกที่ให้บริการไม่ตรงกับที่บอกไว้ จึงอยากขอเงินอีกครึ่งหนึ่งคืน และไม่ต้องการกลับไปใช้บริการคอร์สดูดไขมันอีกแล้วเพราะรู้สึกเจ็บมาก แนวทางการแก้ไขปัญหา         คุณสุปราณีสามารถบอกเลิกสัญญากับทางคลินิกได้ เพราะคลินิกไม่ได้ให้บริการดูดไขมันให้ครบทุกจุดตามที่ตกลงกันไว้ ถือว่าผิดสัญญา  และยังชี้ชวนว่า การดูดไขมันไม่เจ็บ ถือเป็นการชวนเชื่อให้เข้าใจผิด คุณสุปราณีต้องแจ้งต่อคลินิก เป็นลายลักษณ์อักษร โดยส่งเป็นจดหมายลงทะเบียนแบบตอบรับไว้เป็นหลักฐาน หากคลินิกไม่ยอมคืนเงิน คุณสุปราณีก็สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายได้         ทั้งนี้ การใช้บริการคอร์สเสริมความงามเช่นการดูดไขมันนี้ อาจทำให้ร่างกายเกิดบาดเจ็บหรือได้รับอันตรายได้หากผู้ให้บริการขาดความเชี่ยวชาญ ผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจใช้บริการ

อ่านเพิ่มเติม >