ฉบับที่ 241 ถูกหลอกให้กรอก OTP ผ่านลิงค์ธนาคารปลอม เงินหาย 88,000

        เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์กันทั้งนั้น เพราะสะดวกและรวดเร็ว แต่เรื่องความปลอดภัยนั้นต้องระมัดระวังให้มาก เพราะแม้จะมี OTP ( One Time Password) หรือชุดรหัสผ่านใช้ครั้งเดียวที่ระบบของผู้ให้บริการแต่ละแห่งสร้างขึ้นเพื่อความปลอดภัย โดยที่ระบบจะส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือของเจ้าของข้อมูลนั้นๆ เพื่อใช้ตรวจสอบและยืนยันการเป็นเจ้าของข้อมูลที่แท้จริง ก่อนจะเข้าถึงข้อมูลของแต่ละคนได้แล้วก็ตาม แต่ความพยายามของเหล่าแฮ็กเกอร์ที่จะล่อลวงล้วงเงินออกจากบัญชีธนาคารของเหยื่อโดยใช้รหัส OTP นี้ก็ยังมีปรากฏให้เห็นในหลากหลายรูปแบบ          วิรัตน์เองก็เป็นหนึ่งในเหยื่อ เขาได้รับอีเมลที่เหมือนกับส่งมาจากธนาคารกรุงไทย แจ้งให้เขาเข้าไปเปลี่ยนรหัสผ่านโดยกดในลิงค์ที่แนบมา เขาจึงทำตาม หน้าจอปรากฏให้ใส่เลข OTP และข้อความว่าอย่าเปิดเผยรหัสนี้กับบุคคลอื่นเพื่อความปลอดภัย ในจังหวะต่อเนื่องกันเขาก็ได้รับเลข OTP ทางข้อความจากเบอร์โทรศัพท์ที่ธนาคารกรุงไทยเคยส่งมาปกติ จึงไม่ได้เอะใจอะไร แต่พอใส่ตัวเลข OTP เข้าไปในลิงค์ แล้วจู่ๆ หน้าลิงค์ก็หายไป เขารู้ทันทีว่าต้องมีอะไรไม่ชอบมาพากลแน่ๆ         วิรัตน์รีบเข้าไปตรวจสอบบัญชีผ่านแอปพลิเคชั่นของธนาคาร แล้วก็จริงดังคาด บัญชีของเขาถูกแฮ็ก! เงินหายไป 88,000 บาท เขาบึ่งไปแจ้งความที่สถานีตำรวจจรเข้น้อยในบ่ายวันนั้นเลย ซึ่งตำรวจสืบได้ว่าเงินของเขาถูกโอนเข้าบัญชีของบุคคลหนึ่ง จากนั้นปลายทางใช้เอทีเอ็มกดเงินออกไปที่ต่างประเทศในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก         เหตุการณ์ผ่านไปเกือบเดือน ตำรวจสืบจนเจอตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของบัญชีที่เงินถูกโอนเข้าไป สมมติว่าชื่อนางดวงใจ ตำรวจจึงแจ้งให้วิรัตน์ไปพบ โดยนางดวงใจได้ทำสัญญาตกลงกันไว้ที่สถานีตำรวจว่าจะใช้เงินคืนให้ทั้งหมด แต่วิรัตน์ยังกังวลว่าจะได้เงินคืนจริงหรือเปล่า เขาจึงได้มาขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในเหตุการณ์นี้ วิรัตน์ทำถูกต้องแล้วที่รีบไปแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐานและติดตามหามิจฉาชีพได้ ในส่วนของธนาคารกรุงไทยนั้น ตอนแรกวิรัตน์โทรศัพท์แจ้งไปที่คอลเซ็นเตอร์แต่ก็เงียบหาย ทางมูลนิธิฯ จึงทำหนังสือส่งเรื่องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบเรื่องนี้ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ธนาคารได้แจ้งวิรัตน์ว่าจะดำเนินการเยียวยาให้ ต่อมาทราบว่าวิรัตน์ได้รับเงินคืนจากนางดวงใจ 88,000 บาทครบตามจำนวนแล้ว         อย่างไรก็ตาม มีคำเตือนออกมาอย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ไม่มีธนาคารไหนที่จะติดต่อไปให้ลูกค้าอัปเดตข้อมูลส่วนตัวในทุกช่องทางการสื่อสาร แล้วถ้าคุณไม่ได้กำลังทำธุรกรรมออนไลน์กับธนาคารอยู่ในขณะนั้น ธนาคารก็ไม่มีความจำเป็นต้องส่ง OTP ไปให้ ดังนั้นหากใครเจอกรณีเช่นเดียวกันนี้แสดงว่ากำลังมีคนพยายามแฮกเข้าบัญชีธนาคารของคุณอยู่ จึงหาสารพัดวิธีลวงให้คุณเข้าไปอัปเดตข้อมูลส่วนตัว แล้วหลอกขอรหัส OTP ไป เพื่อจะขโมยเงินของคุณนั่นเอง ดังนั้นทุกครั้งที่คุณทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ต้องรอบคอบ และหากมีข้อสงสัยให้ติดต่อธนาคารเพื่อตรวจสอบทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ใบแจ้งหนี้ที่ไม่แจ้งยอดหนี้

        หลายบริษัทไฟแนนซ์เมื่อเราซึ่งเป็นลูกค้ากลายเป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระ หนี้ของเราจะถูกโอนไปให้สำนักงานทนายความมารับคดีไปทำ ซึ่งเวลาที่ผู้บริโภคจะติดต่อเรื่องราวก็ต้องทำกับสำนักงานทนายความ เพราะบริษัทไฟแนนซ์บอกว่า ให้ติดต่อสำนักงานทนายความเลย แต่หากสำนักงานทนายความไม่ยอมแจ้งยอดหนี้ว่าจริงๆ คือเท่าไร ลูกหนี้อย่างเรามีสิทธิทำอะไรได้บ้าง         ศาลมีคำพิพากษาให้คุณภูผาชำระหนี้ส่วนต่างค่ารถยนต์กับบริษัทไฟแนนซ์ จำนวน 172,000 บาท  ซึ่งบริษัทไฟแนนซ์เจ้านี้ได้ให้สำนักงานทนายความเข้ามาดำเนินคดีแทนตั้งแต่แรก เวลาติดต่อเรื่องการชำระหนี้ก็จะต้องติดต่อสำนักงานทนายความนี้ หลังจากมีคำพิพากษาประมาณ 1 เดือน สำนักงานทนายความโทรศัพท์มาติดตามให้เขาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแทบทุกวัน จนกระทั่งเขาหาเงินมาจ่ายหนี้ได้ ในวันชำระหนี้ทนายความให้เขาไปรอที่ธนาคารเพื่อจะให้ชำระหนี้ ทนายความจะส่งเอกสารในการชำระหนี้มาให้         เมื่อเขาไปถึงธนาคารก็บอกทนายไปว่ามาถึงแล้ว สักพักทนายส่งเอกสารใบแจ้งหนี้มาให้ ในใบแจ้งหนี้มีแต่ชื่อตัวเขาและคิวอาร์โค้ดสำหรับการชำระหนี้เท่านั้น เขางงว่าทำไมทนายความส่งมาให้แบบนี้ไม่เห็นบอกยอดหนี้ที่เขาต้องชำระเลย เขาจึงสอบถามทนายความไปว่าทำไมไม่แจ้งยอดหนี้มาในใบแจ้งหนี้ ทนายความก็บอกเพียงแต่ว่าให้เอาเอกสารนี้ยื่นให้ธนาคาร ใบแจ้งหนี้มีเท่าที่เห็นไม่มีการบอกตัวเลขยอดหนี้ ซ้ำทนายความยังขู่ให้โอนทันที แต่คุณภูผา “ไม่ไว้ใจ” สงสัยว่าทำไมทนายความถึงไม่แจ้งยอดหนี้ในใบแจ้งหนี้ บอกเพียงปากเปล่าเท่านั้น จึงสอบถามมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรทำอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา          ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำว่า ผู้ร้องมีสิทธิที่จะทราบรายละเอียดและเงื่อนไขการกู้ เงินต้น ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่างๆ ดังนั้นผู้ร้องสามารถแจ้งทนายความได้เลยว่า ผู้ร้องเป็นลูกหนี้ควรต้องรู้รายละเอียดในการชำระหนี้ของตนเอง ถ้าเราไม่รู้รายละเอียดยอดหนี้ก็คงไม่สามารถชำระหนี้ได้         ส่วนกรณีที่ผู้ร้องถูกขู่ อาจเข้าข่ายเป็นการทวงหนี้ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. ทวงหนี้ พ.ศ. 2558 สามารถร้องเรียนได้ที่ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง คณะกรรมการกำกับทวงถามหนี้ประจำจังหวัด กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ยิ่งกรณีของผู้ร้องเป็นทนายความด้วย ผู้ร้องสามารถร้องเรียนมรรยาททนายความกับทนายความ และสำนักงานทนายความได้ที่ สภาทนายความฯ อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องมี “สื่อกับการคุ้มครองผู้บริโภค”

        ชื่อนี้อาจดูแปลกใหม่ไม่เคยได้ยิน แต่ถ้าเป็นสื่อสายสังคม การเมือง เศรษฐกิจ หรือบันเทิง คงคุ้นเคยผ่านตากันมากกว่า ขณะที่ภาพของสื่อมวลชนทุกวันนี้อาจทำให้หลายคนนึกถึง นักเล่าข่าว นักหนังสือพิมพ์ นักข่าว พิธีกร หรือนักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์เท่านั้น แต่จริงแล้วสื่อมวลชนมีความหมายที่น่าสนใจมากกว่าแค่ตัวบุคคลนั่นคือ หมายถึง การกระจายข้อมูลข่าวสารจากบุคคลหนึ่งหรือจากองค์กรหนึ่งไปยังมวลชนจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือในรูปอื่นใดที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนรับรู้ได้เป็นการทั่วไป         ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่เข้าถึงสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หรือ หนังสือพิมพ์ ได้ง่าย เพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงได้ทุกครัวเรือนทุกเพศทุกวัย แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันที่ก้าวหน้า สภาพปัญหาของสังคมที่เปลี่ยนไป และการเข้ามาของ Social Media หรือ สื่อออนไลน์ ทำให้สื่อมวลชนหลายแขนงโดยเฉพาะสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หรือ สื่อสิ่งพิมพ์ ต้องปรับตัวตามให้ทันความเปลี่ยนแปลงไปด้วย           การมาของสื่อออนไลน์หรือสื่อใหม่แบบนี้ ทำให้มิติการนำเสนอข้อมูลข่าวสารปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเข้าถึงคนทุกกลุ่มได้มากขึ้น เพราะมีโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวก็สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้โดยไม่ต้องเปิดโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือพิมพ์แบบสมัยก่อน ส่งผลตรงต่อสื่อหลักที่ถูกลดทอนบทบาท สื่อหลายรายจึงต้องรีบปรับตัวเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ทันต่อเทคโนโลยี สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น          แม้ว่าปัจจุบันภาพรวมของสื่อหลักจะปรับเปลี่ยนบ้างแล้ว แต่รูปแบบการนำเสนอข่าวสารที่เป็นอยู่ก็ยังไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ต่างเน้นประเด็นที่กำลังเป็นกระแสเรื่องใกล้ตัว เรตติ้งดี เช่น ข่าวการเมือง อาชญากรรม และรายการบันเทิง รวมถึงข่าวกระแสสังคม ความเชื่อ ความศรัทธา ส่งผลให้พื้นที่และโอกาสการติดตามประเด็นปัญหาของผู้บริโภคมีน้อย เพราะต้องทำตามนโยบายแหล่งทุนผู้สนับสนุน และหากวิเคราะห์ถึงปัญหาอุปสรรคต่อการทำงานด้านคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคของสื่อมวลชน จะพบว่าเกิดจากนโยบายองค์กร หรือการให้ความสำคัญของแต่ละสื่อว่าเห็นความสำคัญ หรือสนใจประเด็นมากน้อยเพียงใด รวมถึงพฤติกรรมของสื่อมวลชนหรือนักข่าวในปัจจุบันที่ลงพื้นที่น้อย เน้นเก็บข่าวออนไลน์ ตลอดจนประเด็นข่าวสารรายวันที่ไหลไปมาอย่างรวดเร็วทำให้สื่อมวลชนต้องตามให้ทันกระแส ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้สื่อมวลชนสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคได้ไม่เต็มที่ หลายกรณีจึงพบเพียงการรายงานข่าวเหตุการณ์แต่บทบาทเรื่องการตรวจสอบอาจจะมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น         จากข้อจำกัดและอุปสรรคหลายประการ ปัญหาของผู้บริโภคจึงกลายเป็นประเด็นทางเลือกของสื่อมวลชน ทั้งที่หลายกรณีเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ และมีผลกระทบกับประชาชนวงกว้าง เช่น กรณีการละเมิดสิทธิผู้บริโภคจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ หรือล่าสุดกับประเด็นเรื่องระบบขนส่งมวลชน กรณีการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่มีความซับซ้อน ซึ่งแทบจะไม่เห็นข่าวเชิงลึกแบบนี้ผ่านสื่อกระแสหลักให้เห็นเลย         โดยเฉพาะกรณีปัญหาการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ภายหลังประเด็นข้อถกเถียงของสังคมขยับมาอยู่ที่ราคาค่าโดยสารว่าเท่าไหร่ถึงเหมาะสม เมื่อ กทม. เสนอตัวเลขราคาค่าโดยสารตลอดสายหลังต่อสัญญาสัมปทานให้ BTS อีก 30 ปีอยู่ที่ 65 บาท ขณะที่ตัวเลข 65 บาท ที่ กทม. เสนอนั้นไม่สามารถอธิบายหรือชี้แจงได้ว่ามีหลักคิดคำนวณอย่างไร ทำไมถึงกำหนดราคาที่ 65 บาท ขณะที่กระทรวงคมนาคมเสนอตัวเลขค่าโดยสาร 49.83 บาท และองค์กรผู้บริโภคเสนอตัวเลขค่าโดยสารที่ 25 บาท ซ้ำร้ายผู้แทน กทม. ได้ให้ข้อมูลในการประชุมคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎรว่า กรุงเทพมหานครไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลต้นทุน ผลกำไร และรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการคำนวณหาอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมต่อคณะกรรมาธิการได้         ยิ่งทำให้เกิดข้อเคลือบแคลงสงสัยว่าเหตุใดข้อมูลที่เป็นประโยชน์สาธารณะแบบนี้กลับไม่ถูกขุดคุ้ยหรือเปิดเผยโดยสื่อมวลชน  ทั้งที่สื่อมวลชนควรทำข้อมูลให้ประชาชนเห็นถึงกระบวนการระหว่างทางที่ไม่ชอบมาพากล สะท้อนเรื่องสิทธิของประชาชนที่ถูกละเลย และถูกละเมิดออกมาให้ได้  ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนควรได้รู้จากการข้อมูลเชิงลึกหรือตีแผ่ได้ในหลายแง่มุมจากกระบวนการทำงานของสื่อมวลชน แน่นอนว่าความคาดหวังของประชาชนต่างมุ่งตรงไปที่การทำงานของสื่อมวลชน ขณะที่ความพร้อมของสื่อเองยังมีจำกัดเช่นเดียวกัน อีกทั้งปัญหาของผู้บริโภคก็มีความหลากหลายและบางเรื่องเข้าใจยากมีความซับซ้อน แต่อย่าลืมว่าสื่อมวลชนมีต้นทุนทางสังคมสูง หากขยับตัวเกาะติดประเด็นใด ย่อมมีอิทธิพลต่อความคิดและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทุกด้าน         เพราะสุดท้ายแล้ว สื่อมวลชนต้องเป็นผู้นำทางความรู้มากกว่าเพียงตามกระแสในสังคม คือ สื่อมวลชนต้องกล้าที่จะนำเสนอข้อมูลความรู้ ทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญ และนำความรู้นี้ถ่ายทอดไปยังประชาชนอย่างทั่วถึงเท่าเทียม ทำเรื่องเงียบให้เป็นเรื่องดัง ทำประเด็นคนสนใจน้อยให้กลายมาเป็นกระแสสังคมให้ได้ นี่แหละ คือ บทบาทของสื่อเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง !!

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 บอกว่าไม่เอาห้องที่โดนบล็อกวิว

        คุณแสงเดือนเข้าชมโครงการคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งย่านสุขุมวิท ซึ่งตัวอาคารอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้ามาก เดินจากคอนโดไปสถานีเพียงแค่ 150 เมตร เป็นโครงการที่ตึกบางโซนสร้างเสร็จแล้วและมีผู้คนจับจองค่อนข้างมาก เมื่อสอบถามรายละเอียดจากพนักงานขาย โดยคุณแสงเดือนต้องการห้องชุดแบบหนึ่งห้องนอน ที่มีทัศนียภาพที่เปิดโล่ง (ไม่โดนบล็อกวิว) คือเมื่อมองจากห้องออกไปแล้วไม่มีอาคารหรือตึกสูงมาบดบังสายตา ซึ่งถือเป็นเรื่องหลักที่เธอต้องการ         พนักงานแนะนำห้องในตึกโซนซีให้เธอ เมื่อเธอขอไปชมห้องเพื่อให้แน่ใจว่าได้อย่างที่แจ้งพนักงานไป ทางพนักงานปฏิเสธบอกว่า แม้อาคารโซนซีเสร็จแล้ว แต่อยู่ระหว่างการตรวจสอบไม่เปิดให้เข้าชมแต่ห้องที่แนะนำไม่ถูกบล็อกวิวแน่นอนเพราะอยู่ชั้น 10 ซึ่งรอบด้านอาคารมีตึกพาณิชย์ซึ่งสูงไม่เกินสี่ชั้น อย่างไรก็ตาม คุณแสงเดือนก็ขอให้พนักงานช่วยถ่ายรูปมาให้ดูได้ไหม ซึ่งพนักงานก็ปฏิเสธอ้างเรื่องที่ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้         ด้วยทำเลที่ดีและราคาที่น่าสนใจอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องการพอดี เธอจึงตัดสินใจซื้อสิทธิการจองห้องจากเจ้าของสิทธิเดิม และทำเรื่องราวสินเชื่อต่างๆ จนผ่าน และได้กรรมสิทธิในห้องชุดดังกล่าวที่เธอเลือกไว้ตามคำแนะนำของพนักงานขาย         แต่เมื่อได้เข้าตรวจดูห้องชุด กลับพบว่า ไม่เป็นตามที่ตั้งใจ เมื่อมองจากห้องก็เจออาคารพาณิชย์บดบังทัศนียภาพที่วาดหวังไว้ จึงแจ้งให้ทางโครงการฯ รับผิดชอบแก้ไขเรื่องให้เป็นตามวัตถุประสงค์ของเธอ ทางโครงการฯ ปฏิเสธอ้างว่า เมื่อมีการโอนกรรมสิทธิในห้องชุดแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้ อย่างไรก็ตามเพื่อความสบายใจของผู้ร้องทางโครงการฯ ยินดีช่วยเหลือด้วยการติดต่อหาคนมาซื้อห้องชุดดังกล่าวให้         คุณแสงเดือนจึงทำหนังสือขอยกเลิกสัญญา และแจ้งร้องทุกข์กับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต่อมา ทาง สคบ.แจ้งว่า ขอยุติเรื่องของเธอ เพราะไม่เข้าข่ายว่าคุณแสงเดือนเป็นผู้บริโภค ด้วยเหตุว่าห้องชุดดังกล่าวคุณแสงเดือนจะปล่อยเช่าให้กับชาวต่างชาติ เธอจึงนำเรื่องไปฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยตนเอง         ต่อมาทางศาลเห็นว่าเธอฟ้องร้องแบบไม่มีทนายความ จึงให้เธอหาทนายมาว่าความเพื่อไม่ให้เสียเปรียบ เธอจึงปรึกษาขอให้ทางศุนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา        โดยหลักของประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 158 การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ความสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคูกรณีแห่งนิติกรรมและความสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น ในส่วนทางคดียังอยู่ระหว่างพิจารณา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 ด่วนค่ะ หนูจะถูกยึดบ้านไหม

        กริ้ง กริ้ง กริ้ง เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ณ สำนักงานมูลนิธิฯ “สวัสดีค่ะพี่ หนูมีเรื่องอยากปรึกษาค่ะ” ผู้ร้อง “พี่ค่ะ พอดีว่าหนูเป็นหนี้บัครเครดิต... ประมาณ พี่ขา บ้านหนูจะถูกยึดไหมค่ะ เป็นหนี้เขา120,000 บาท แล้วหนูผิดนัดชำระหนี้เพราะหนูตกงานและหมุนเงินไม่ทัน” เมื่อทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ สอบถามว่าอยู่ในขั้นตอนใด ถูกฟ้องหรือยัง ผู้ร้องตอบเสียงสั่นๆ ว่า “ถูกฟ้องแล้วค่ะ บริษัทบัตรเครดิตฟ้องหนูที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2561 โน้นค่ะ วันที่เขานัดหนูก็ไปศาลมาค่ะ หนูทำสัญญาประนอมหนี้กับบริษัทบัตรเครดิตที่เป็นเจ้าหนี้หนูว่า หนูจะชำระหนี้เดือนละ 3,000 บาท แต่ช่วงปีที่ผ่านมาหนูก็ไม่มีรายได้ค่ะ หนูเลยไม่สามารถผ่อนเขาได้ตามที่ตกลงไว้ ตอนนี้บริษัทเขาก็ตั้งเรื่องบังคับคดี เพื่อจะยึดทรัพย์หนูค่ะ หนูต้องทำยังไงดีค่ะพี่”          “ผู้ร้องมีทรัพย์สินอะไรบ้างไหม เช่น บ้าน รถ ที่ดิน เงินฝาก”         “หนูมีบ้านพร้อมที่ดินหนึ่งหลังค่ะ แต่เป็นชื่อร่วมหนูกับน้องชาย”         “ใจเย็นๆ ครับ ผู้ร้องสามารถเลือกจัดการปัญหาได้ 3 ทาง อย่างนี้นะครับ”   แนวทางการแก้ไขปัญหา         ช่องทางแรก ถ้าผู้ร้องไม่ต้องการให้บ้านของผู้ร้องถูกบังคับคดี ผู้ร้องจะต้องติดต่อกับเจ้าหนี้โดยด่วน เพื่อผ่อนชำระหนี้ โดยผู้ร้องต้องมีตัวเลขอยู่ในใจแล้วว่าจะตกลงกับเจ้าหนี้ที่ตัวเลขเท่าไร เพราะถ้าประนอมหนี้ได้ก็จะต้องชำระให้ครบทุกงวดผิดนัดแม้แต่งวดเดียวไม่ได้         ช่องทางที่สอง ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้หรือเจ้าหนี้ไม่ยอมตกลงด้วย ก่อนที่จะบังคับคดีผู้ร้องสามารถติดต่อที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยของกรมบังคับคดีเพื่อประนอมหนี้ได้อีกครั้งในขั้นสุดท้าย ก่อนที่จะบังคับคดี โดยทางกรมบังคับคดีจะเรียกเจ้าหนี้และผู้ร้องเข้ามาคุยกันอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้าย ถ้าสามารถตกลงกันได้และตราบใดที่ยังคงชำระหนี้อย่างต่อเนื่องก็จะไม่มีการบังคับคดีเกิดขึ้น แต่ถ้าเรียกแล้วเจ้าหนี้ไม่มา กรมบังคับคดีก็ไม่สามารถบังคับเจ้าหนี้ได้ เพราะฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้เป็นหลัก ว่าจะเห็นใจผู้ร้องหรือไม่         ช่องทางที่สาม ถ้าไม่สามารถประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ได้ หรือเจ้าหนี้ไม่ยอมให้ผ่อนชำระอีก ซึ่งส่วนมากเจ้าหนี้จะให้ปิดด้วยเงินก้อนเดียวโดยอาจยอมลดยอดหนี้ลงมา ผู้ร้องก็ต้องดูว่าสามารถรวบรวมเงินจากพี่น้องหรือญาติคนไหนได้บ้างเพื่อนำมาปิดบัญชีนี้ไว้ก่อน  แล้วค่อยหาทางชำระหนี้กับผู้ที่หยิบยืมมาในภายหลัง         ถ้าทั้งสามช่องทางข้างต้นผู้ร้องไม่สามารถทำได้ และยังต้องการบ้านไว้ ผู้ร้องก็อาจจะต้องหาคนเข้ามาช้อนซื้อทรัพย์ที่จะขายทอดตลาดเอาไว้ก่อนเพื่อไม่ให้บ้านตกเป็นของผู้อื่นและบ้านที่จะขายจะได้มีราคาไม่ต่ำมากจนเกินไปและอาจเพียงพอที่จะชำระหนี้         ในส่วนบ้านของผู้ร้องที่จะถูกบังคับคดีเป็นชื่อของผู้ร้องและน้องชาย ซึ่งถือเป็นกรรมสิทธิร่วม เพราะฉะนั้นก่อนมีการขายทอดตลาดผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอกันส่วนเอาไว้ให้กับน้องชาย เพราะถ้าไม่กันส่วนไว้ เมื่อขายทอดตลาดแล้วน้องชายจะไม่ได้เงินในส่วนของเขา เจ้าหนี้ก็จะนำไปชำระหนี้หมด แต่ถ้ามีการกันส่วนไว้ เมื่อขายทอดตลาดได้เงินแล้วเงินจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ในส่วนของผู้ร้องก็จะนำมาชำระหนี้บัตรเครดิต (ถ้าเหลือก็ต้องคืนให้กับผู้ร้อง ถ้าไม่พอก็ต้องก็ต้องยึดทรัพย์สินอื่นอีก) อีกส่วนหนึ่งก็จะกันไว้ให้กับน้องชายของผู้ร้องไม่นำมาชำระหนี้เพราะไม่ได้เป็นหนี้บัตรเครดิตกับผู้ร้องด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 ค่าปริ้นเอกสารแพงจังเลย

ปกติเคยปริ้นเอกสารขนาด A4 กันแผ่นละกี่บาท? 25 สตางค์ 50 สตางค์ 1 บาท 2 บาท 3 บาท หรือมากกว่านั้น แล้วจริงๆ ราคาควรเป็นเท่าไร ทำไมแต่ละร้านราคาถึงไม่เท่ากัน แล้วราคากลางๆ หรือราคาจริงๆ ที่ควรจ่ายต้องเป็นเท่าไรกันแน่ ถึงจะรับได้ว่าไม่แพงไป         คุณภูผามีเอกสารสำคัญที่จะต้องใช้เพื่อส่งรายงาน จึงไปปริ้นเอกสาร ณ ร้านถ่ายเอกสารแห่งหนึ่งแถวบ้าน เขาเข้าไปสอบถามราคาปริ้น A4 ขาวดำ พี่เจ้าของร้านชี้ให้ไปดูราคาที่ติดไว้ข้างกำแพง เขาเห็นว่า ราคาปริ้น A4 ขาวดำร้านนี้ราคาแรงมาก แผ่นละตั้ง 7 บาท ซึ่งที่ผ่านมาเขาเคยใช้บริการร้านแถวมหาวิทยาลัยที่เขาเรียนอยู่ แผ่นละแค่ 25 สตางค์ หรือแพงสุดแผ่นละไม่เกิน 3 บาท แต่ด้วยความจำเป็นที่ต้องใช้เอกสารเขาจึงตกลงปริ้นเอกสารที่ร้านนั้นไป แต่ก็สงสัยว่า ร้านถ่ายเอกสารร้านนี้คิดราคาค่าปริ้นเอกสารแพงเกินจริงหรือไม่ แล้วทำไมร้านปริ้นเอกสารแต่ละร้านถึงคิดราคาไม่เท่ากัน บางร้านถูก บางร้านแพง จึงติดต่อขอข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อให้คลายข้อสงสัย แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำว่า เรื่องราคาสินค้าและบริการอยู่ในการดูแลของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ โดยมีประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การกำหนดสินค้าควบคุม เป็นประกาศที่ควบคุมสินค้าและบริการไม่ให้ผู้ประกอบการคิดราคาถูกหรือแพงเกินไป ซึ่งค่าปริ้นเอกสารไม่อยู่ในประกาศนี้ จึงถือว่าบริการปริ้นเอกสารไม่ได้ถูกควบคุม ผู้ให้บริการสามารถกำหนดราคาได้เอง แต่ต้องแสดงราคาให้ผู้ใช้บริการเห็นได้ชัดเจน เพื่อการตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกใช้บริการ  และประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การกำหนดสินค้าควบคุม จะมีการทบทวนทุกปี ถ้าปีนี้ไม่ได้เป็นสินค้าหรือบริการควบคุมปีหน้าอาจจะเป็นสินค้าหรือบริการควบคุมก็ได้ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ สายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 ศาลพิพากษาจ่ายเท่านี้ แต่เจ้าหนี้ให้จ่ายเพิ่มต้องทำอย่างไร

        ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหลายคนคงเคยมีปัญหาว่า เมื่อศาลให้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เป็นจำนวนเงินหนึ่ง หรือระบุว่า ชำระจำนวนหนึ่ง เมื่อถึงคราวจ่ายจริงเจ้าหนี้กลับบอกให้ชำระอีกยอดหนึ่ง ซึ่งสูงกว่าคำพิพากษา ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เราจะทำอย่างไรได้บ้างให้เรื่องมันจบโดยไม่เสียหายเกินไป            คุณบุปผาเป็นผู้ค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กระบะ ราคา 600,000 บาท ให้ลูกชายกับธนาคารแห่งหนึ่ง ต่อมาลูกชายของเธอไม่ส่งค่างวดรถ จนทำให้ธนาคารมายึดรถยนต์ไป และเมื่อธนาคารนำรถออกขายทอดตลาดแล้วปรากฎว่า มีส่วนต่างที่ลูกชายต้องชำระเพิ่มอีก 300,000 บาท ธนาคารจึงมาฟ้องเรียกเงินส่วนต่าง 300,000 บาทนั้น เป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ 15,000 บาท ค่าติดตามรถยนต์ 6,000 บาท กับลูกชายซึ่งเป็นลูกหนี้ เป็นจำเลยที่ 1 และฟ้องคุณบุปผาในฐานะผู้ค้ำประกันเป็นจำเลยที่ 2          ต่อมาลูกชายของเธอเสียชีวิตกะทันหัน อย่างไรก็ตามเธอได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีในฐานะผู้ค้ำประกันจนศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 (ลูกชาย) ชำระหนี้ 150,000 บาท ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ 9,000 บาท ค่าติดตามรถยนต์ 3,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 162,000 บาท และเธอในฐานะผู้ค้ำประกัน ชำระหนี้ 150,000 บาท ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ 6,000 บาท ค่าติดตามรถยนต์ 2,000 บาท เนื่องจากธนาคารมีหนังสือถึงผู้ค้ำประกัน เรื่องการประมูลรถยนต์เกินเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งข้อความเหล่านี้เป็นเหตุผลและรายละเอียดในคำพิพากษา และให้ชำระค่าทนายความอีก 3,000 บาท         หลังจากมีคำพิพากษาแล้ว ประมาณหนึ่งเดือนสำนักงานทนายความตัวแทนของธนาคารที่ดำเนินการฟ้องคดีคุณบุปผาโทรศัพท์มาทวงถามให้เธอชำระหนี้ทุกวัน ถ้าวันไหนไม่รับสายก็โทรมาหลายครั้ง แต่เมื่อได้พูดคุยทางเจ้าหน้าที่ของทางสำนักงานทนาย ซึ่งแจ้งว่าตนอยู่ฝ่ายเร่งรัดหนี้สิน บอกว่าเธอมียอดหนี้ประมาณเกือบ 200,000 บาท อ้างว่า “ยึดยอดหนี้ตามหมายบังคับคดีและบวกดอกเบี้ยเพิ่มเข้าไป”         เธอจึงขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยอ่านคำบังคับให้ฟัง “ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล จังหวัดนครปฐม ที่บังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ 162,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (18 มีนาคม 2563) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ หากชำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินดังกล่าวแทนโจทก์ แต่ค่าขาดประโยชน์ให้รับผิดไม่เกิน 6,000 บาท ค่าติดตามไม่เกิน 2,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกนี้ขอให้ยก” เธอตกใจมาก เพราะว่าเพิ่งผ่านมา 1 เดือน จากยอดหนี้ไม่ถึง 170,000 บาท ทำไมยอดหนี้ถึงเพิ่มขึ้น 20,000 กว่าบาท เริ่มไม่แน่ใจว่าตัวเองเข้าใจคำพิพากษาผิดหรือเปล่า จึงปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้แนะนำผู้ร้องว่า ให้ผู้ร้องไปคัดคำพิพากษาของศาลคดีของผู้ร้อง และยื่นคำร้องให้นิติกรศาลคำนวณเงินที่ต้องชำระให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและคำบังคับในฐานะจำเลยที่ 2 (ผู้ค้ำประกัน) ให้เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการเจรจา และขอให้สำนักงานทนายความชี้แจงรายละเอียดหนี้ของผู้ร้องว่ามีรายละเอียดอย่างไร ทำไมยอดหนี้ถึงสูงขึ้น เช่น จำนวนเงินที่ศาลให้ชำระ ดอกเบี้ย ฯลฯ         ทั้งนี้หากว่าเจ้าหนี้ไม่ชี้แจงยอดหนี้ ผู้ร้องหรือคุณบุปผาสามารถอ้างสิทธิของลูกหนี้ (ลูกหนี้มีสิทธิรับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง เกี่ยวกับรายละเอียดและเงื่อนไขการกู้ เงินต้น ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามประมลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพ.ร.บ. ทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558)         ต่อเมื่อได้เอกสารชี้แจงจำนวนยอดหนี้ที่ต้องถูกต้องแล้วจึงค่อยชำระหนี้ และขอให้เจ้าหนี้ออกเอกสารที่มีข้อความประมาณว่า เมื่อได้ชำระหนี้จำนวนนี้แล้ว ถือว่าไม่เป้นหนี้สินต่อกันอีก หรือขอใบเสร็จรับเงินในการชำระหนี้ ถ้าเจ้าหนี้ไม่สามารถออกเอกสารเรื่องการชำระหนี้ครบถ้วนหรือไม่สามารถออกใบเสร็จให้ได้ ลูกหนี้ไม่ควรชำระหนี้โดยเด็ดขาด เพราะไม่มีเอกสารอะไรยืนยันเลยว่า ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ครบถ้วนแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 การต่อสัญญาสัมปทานกับปัญหาราคารถไฟฟ้าแพง

        ข่าวไม่ลงรอยกันของสองบิ๊กมหาดไทยและคมนาคมปลายปีที่แล้ว กรณีการขยายสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ BTS เมื่อคมนาคม “ประกาศค้าน” แผนขยายสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสของ กทม.ที่เสนอคณะรัฐมนตรีโดยกระทรวงมหาดไทย ออกไปอีก 30 ปี (จากเดิมที่จะสิ้นสุดปี 2572 เป็นสิ้นสุดปี 2602) แลกกับการเก็บค่าโดยสารตลอดสายเพียง 65 บาท และปลดหนี้แสนล้านของ กทม.         ในขณะที่ภาคสังคมกำลังเกิดความสับสนถึงแผนขยายสัญญาสัมปทานบีทีเอสว่าจะได้ไปต่อหรือไม่  กลับมีข้อมูลอีกชุดที่ปล่อยสู่สาธารณะคือ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียวรวมตลอดทั้งสายจะมีตัวเลขค่าโดยสารสูงถึง 158 บาท ก่อเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างถึงค่าโดยสารมหาโหด จนบีทีเอสต้องรีบแก้ต่างว่าไม่เป็นความจริงตัวเลข 158 บาท เป็นเรื่องผลการศึกษาเท่านั้นยืนยันจัดเก็บค่าโดยสารตามระยะทางเริ่มต้น 15 บาท รวมตลอดเส้นทางไม่เกิน 65 บาท เพื่อไม่ให้เป็นภาระกระทบต่อคุณภาพชีวิตชาว กทม.        อย่างไรก็ตาม 15 ม.ค. ผู้ว่าฯ กทม. ใจดีแจกของขวัญปีใหม่ช่วงโควิดออกประกาศเก็บเงินค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสตลอดสาย 104 บาท เริ่มเก็บจริง 16 ก.พ. แน่นอน แถมย้ำว่าค่าโดยสาร 104 บาท ตลอดสายไม่แพงสำหรับผู้บริโภค ทันทีที่ ผู้ว่าฯ กทม. ออกประกาศค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส 104 บาท ทุกองค์กรหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง นักวิชาการ กรรมาธิการคมนาคม และองค์กรผู้บริโภค ต่างออกมาตั้งคำถามและคัดค้านประเด็นค่าโดยสารแพง ไม่โปร่งใสขัดต่อกฎหมาย ไม่มีที่มาของหลักคิดค่าโดยสาร เร่งรีบขยายสัญญาสัมปทานให้เอกชนทั้งที่ระยะเวลายังเหลืออีก 9 ปี และยังเป็นภาระผูกพันต่อรัฐและประชาชนส่วนรวมต่อเนื่องนานอีก 39 ปี เรียกได้ว่าสร้างภาระไปถึงรุ่นลูกหลานกันเลยทีเดียว         ว่ากันด้วยเหตุผลถึงแม้ว่าอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสตลอดสาย 104 บาท ที่ กทม. ประกาศ จะน้อยกว่า 158 บาท ที่ รฟม. เคยศึกษาไว้ แต่ยังถือว่าแพงเมื่อเทียบกับรายได้ค่าแรงขั้นต่ำของคนกรุงเทพมหานคร เพราะหากคิดค่าเดินทางต่อเที่ยวจะเท่ากับร้อยละ 31.5 หรือหากต้องเดินทางไปกลับจะต้องเสียค่าเดินทางมากถึงร้อยละ 63  ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายประจำวันและค่าเดินทางด้วยบริการขนส่งมวลชนประเภทอื่น เช่น รถจักรยานยนต์รับจ้าง รถเมล์ รถสองแถว หรือแม้แต่รถแท็กซี่ และเมื่อเทียบกับต่างประเทศค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยกลับแพงที่สุด เมื่อเทียบกับรายได้ขั้นต่ำของประชากร พบว่า เมืองใหญ่ของโลก เช่น ปารีส ลอนดอน โตเกียว สิงคโปร์ ฮ่องกง มีค่าใช้จ่ายเพียง 3 - 9% เท่านั้น           ขณะที่กระแส #หยุด104บาท #หยุดกทม. กลายเป็นประเด็นร้อน กทม. กลับเลือกจะไม่ฟังเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยจากทุกส่วนของสังคมและเดินหน้ายืนยันต้องเก็บค่าโดยสาร 104 บาท จึงอาจจะมองได้ว่า กทม. ต้องการใช้ผู้บริโภคเป็นตัวประกัน เพื่อต่อรองกับคณะรัฐมนตรีให้มีมติขยายสัญญาสัมปทานบีทีเอส จนสุดท้ายทุกฝ่ายต้องยอมรับอัตราค่าโดยสารในราคา 65 บาท แทนที่จะต้องเสีย 104 บาทตามประกาศของ กทม. เพราะตอนนี้ส่วนต่อขยายทั้งหมดเปิดใช้งานเต็มรูปแบบแล้ว และ กทม. มีภาระค่าใช้จ่ายสะสมที่ต้องจ่ายค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าให้กับบีทีเอส         การมองแบบนี้สอดรับกับการที่บีทีเอสที่เก็บตัวเงียบมาตลอดได้ออกโนติสทวงหนี้ กทม. กว่า 30,000 หมื่นล้านบาท ที่มาจากหนี้ค่างานระบบไฟฟ้าเครื่องกลที่ต้องจ่าย 20,248 ล้านบาท และหนี้ค่าจ้างบีทีเอสเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายอีก 9,377 ล้านบาท เรียกได้ว่าออกมาจังหวะดีช่วยเรียกความน่าเห็นใจให้กับ กทม. ที่ถูกทวงหนี้ ส่วน กทม. ก็รับลูกเล่นตามน้ำโอดโอยไม่มีเงินจ่ายอยากฟ้องก็ฟ้องไปหากรวมหนี้ก้อนใหญ่ที่มาจากการหนี้งานโยธาและดอกเบี้ยถึงปี 2572 ที่ กทม.รับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เป็นเงินต้นรวมดอกเบี้ย 69,105 ล้านบาท จะเท่ากับ กทม.มียอดหนี้รวมเกือบแสนล้านบาทเลยทีเดียว         และนี่เองจึงอาจจะเป็นเหตุผลว่า ทำไม กทม. ต้องเร่งรีบต่อสัญญาให้กับบีทีเอส ทั้งที่ยังเหลือเวลาอีกเกือบ 9 ปี แลกกับการให้บีทีเอสปลดหนี้แสนล้าน เพราะตอนนี้ กทม.อยู่ในสภาพใกล้ล้มละลาย “ไม่มีไม่หนีไม่จ่าย” ไปซะแล้ว         อย่างไรก็ตามเมื่อ #หยุด104บาท #หยุดกทม. กระจายไปทั่วสังคม ในที่สุดกลางดึกคืนวันที่ 8 ก.พ. ผู้ว่าฯ กทม. ได้ออกประกาศเลื่อนการขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าออกไปก่อน และจะกลับไปพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้ง โดยให้คำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและภาระของกรุงเทพมหานครให้เกิดความเหมาะสม แม้การยอมถอยของ กทม. ครั้งนี้ จะช่วยลดบรรยากาศที่กำลังตึงเครียดลงได้บ้าง และถือว่าเป็นชัยชนะก้าวแรกของผู้บริโภคที่ช่วยกันหยุดไม่ให้ กทม. เก็บค่าโดยสาร 104 บาท ได้เป็นผลสำเร็จ แต่เชื่อว่าสถานการณ์ต่อจากนี้ยังไม่น่าไว้วางใจ การขยายสัญญาสัมปทานบีทีเอสครั้งนี้อยู่บนผลประโยชน์นับแสนล้านที่มาพร้อมกับภาระค่าใช้จ่ายในอนาคตของผู้บริโภค ดังนั้นเมื่อมองถึงทางออกเร่งด่วนตอนนี้ คือ ทำอย่างไรจึงจะหยุดแผนขยายสัญญาสัมปทานก่อน แล้วทบทวนสัญญาสัมปทานทุกเส้นทางหาค่าโดยสารที่เหมาะสมให้ประชาชนทุกคนใช้ได้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ซื้อที่นอนผิดขนาด เปลี่ยนได้ไหม

การซื้อสินค้าออนไลน์ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เพราะสะดวกรวดเร็ว มีโปรโมชันน่าสนใจมากมาย บางร้านยังมีบริการจัดส่งฟรีอีก บริการขนาดนี้จะ (ทน) ไม่สั่งได้อย่างไร         คุณภู เป็นลูกค้าประจำของร้าน Index มีไลน์ออฟฟิศเชียวของ Index ด้วย เฟอร์นิเจอร์ในบ้านแทบทุกชิ้นก็สั่งที่นี่ ช่วงโควิดที่ผ่านมาก็เคยสั่งซื้อสินค้าผ่านไลน์มาแล้ว รอบนี้ในไลน์เด้งขึ้นมาว่าที่นอนลดราคา เขาสนใจจึงทักไปในไลน์ สอบถามเรื่องขนาดที่นอน และการวัดขนาดที่นอนว่าวัดอย่างไร เพื่อจะได้สั่งซื้อไม่ผิดขนาด พนักงานขายแนะนำว่าวัดความกว้าง โดยวัดจากความยาวหัวเตียงถึงปลายเตียง โดยวัดจากขอบด้านข้างเตียงจากซ้ายไปขวา         คุณภูเขาก็วัดตามคำแนะนำของแอดมินที่ในไลน์ เมื่อวัดได้เรียบร้อยแล้วก็แจ้งแอดมินไป แอดมินบอกกลับมาว่าขนาดที่วัดได้คือที่นอน 5 ฟุต เขาจึงชำระเงินผ่านบัตรเครดิต และรอสินค้าด้วยใจจดจ่อ         งานมาเข้าตอนที่สินค้ามาส่ง คุณภูพบว่าที่นอนนั้นเข้ากับขนาดความกว้างของเตียงได้ แต่ขนาดความยาวไม่ได้ เตียงยาวกว่าที่นอนเยอะมากเหลือช่องไว้จนไม่น่ามอง เขาจึงสอบถามไปทางไลน์ว่าสามารถทำอย่างไรได้บ้าง เปลี่ยนสินค้าได้หรือไม่ แอดมินแจ้งกลับมาว่า ถ้าเขาต้องการคืนสินค้า บริษัทจะหักค่าเสื่อม 50% เพราะสินค้าแกะออกจากกล่องและได้ติดตั้งแล้ว และต้องออกค่าใช้จ่ายในการคืนสินค้าด้วย         คุณภูรู้สึก “ไม่สิ ไม่ถูกต้อง” ฉันทำตามที่แอดมินในไลน์บอกทุกอย่าง พอที่นอนมาส่งมันใส่กับเตียงไม่ได้ เป็นความผิดของฉันตรงไหน แต่ถ้าจะขอคืนสินค้าก็ต้องถูกหักเงินตั้ง 50% ทำไมเป็นอย่างนั้นยังไม่ได้ใช้เลยนะ จึงปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำแนะนำ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทคู่กรณี ขอให้หาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดีกว่าคืนเงิน 50% หรือแจ้งเรื่องร้องเรียนต่อบริษัทางอีเมล์ เพื่อเป็นหลักฐานการติดต่อ         คุณภูได้เขียนอีเมลถึงบริษัทขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาให้ ต่อมาทราบว่าบริษัทตอบกลับผู้ร้องว่า “บริษัททำตามเงื่อนไขที่แจ้งไว้ในเว็บไซต์แล้ว แต่เกิดจากความผิดพลาดในการสื่อสารของแอดมินกับผู้ร้อง จึงขอหักค่าเสื่อม 30% และบริษัทจะเข้ารับสินค้าคืนโดยผู้ร้องไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย”         คุณภูคิดว่าการหักค่าเสื่อม 30% ก็ยังไม่เป็นธรรม ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ช่วยดำเนินการช่วยเหลือประสานงานกับทางบริษัทฯ โดย “เสนอให้บริษัทคืนเงินให้แก่ผู้ร้องเต็มจำนวน เพราะว่าการสั่งซื้อสินค้ามีข้อมูลในการสั่งที่ผิดพลาดคือ แอดมินแนะนำผู้ร้องให้วัดเฉพาะความกว้าง ผู้ร้องจึงวัดเฉพาะความกว้างไม่ได้วัดความยาวด้วย จึงทำให้สั่งซื้อที่นอนไม่พอดีกับเตียง” มีการเจรจากันจนสุดท้ายบริษัทยอมไม่หักค่าเสื่อมและคืนเงินให้ผู้ร้องเต็มจำนวน พร้อมเข้ารับสินค้าคืนโดยผู้ร้องไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 SMS ขอหักเบี้ยประกันพ่วงบัตรเอทีเอ็ม

        บ่ายวันหนึ่งขณะที่คุณมธุรสกำลังนั่งดูละครโทรทัศน์เพลินๆ ก็ได้รับข้อความ SMS จากบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งว่า จะมีการหักเงินเบี้ยประกันจำนวนหนึ่งจากบัญชีเงินฝากของคุณมธุรส เนื่องจากครบรอบปีที่ได้ทำประกันไว้         คุณมธุรสงงไปสักพักว่าฉันไปทำประกันภัยไว้เมื่อไร  แต่หลังจากนึกอยู่พักหนึ่งก็พอจะจำได้ว่า ช่วงเดียวกันนี้เมื่อปีที่แล้ว ตนเองได้เคยเปิดบัญชีและทำบัตรเอทีเอ็มกับธนาคารแห่งหนึ่งไว้ ซึ่งตอนทำบัตร พนักงานธนาคารได้ขายประกันพ่วงบัตรเอทีเอ็มให้กับตนด้วย ทั้งๆ ที่ก่อนทำบัตรเอทีเอ็มเพื่อความสะดวกในการเบิกถอนเงิน คุณมธุรสได้สอบถามกับพนักงานว่า ขอทำบัตรเอทีเอ็มธรรมดาแบบไม่มีประกันพ่วงได้หรือไม่ ตอนนั้นพนักงานธนาคารได้อ้างว่า เพราะคุณมธุรสทำสัญญาเงินกู้กับธนาคารไว้ จึงมีความจำเป็นต้องทำประกันพ่วงบัตรเอทีเอ็มด้วย โดยพนักงานได้แจ้งหักเบี้ยประกันปีแรกจากเงินในบัญชีของคุณมธุรสเลย แต่ไม่ได้มีการชี้แจงรายละเอียดความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยอะไรมาก บอกเพียงแต่ว่าหากผู้เอาประกันเสียชีวิตก็จะได้เงินประกัน ด้วยความจำเป็นเพราะเป็นลูกหนี้ของธนาคาร คุณมธุรสจึงตกลงทำบัตรเอทีเอ็มแบบพ่วงประกันไป         เมื่อโดนการเตือนว่าจะมีการหักเงินเพื่อเป็นค่าเบี้ยสำหรับปีถัดไป คุณมธุรสรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมสักเท่าไรนัก เธอจึงโทรศัพท์มาปรึกษาว่าสามารถทำอะไรได้บ้างไหมเพื่อยกเลิกการทำประกันภัย แนวทางการแก้ไขปัญหา         กรณีนี้ พนักงานธนาคารไม่สามารถบังคับให้ผู้บริโภคทำบัตรเอทีเอ็ม หรือ บัตรเดบิต ที่พ่วงประกันได้ หากผู้บริโภคไม่ได้มีความประสงค์จะทำด้วยความสมัครใจ โดยผู้บริโภคมีสิทธิขอทำบัตรเอทีเอ็ม หรือ บัตรเดบิต แบบธรรมดา ซึ่งธนาคารควรมีบัตรแบบธรรมดาไว้ให้บริการ หากผู้บริโภคพบว่าพนักงานธนาคารบังคับให้ทำบัตรแบบที่พ่วงประกัน สามารถร้องเรียนไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) สายด่วน 1213 ได้         นอกจากนี้ พนักงานธนาคารที่ขายประกัน จะต้องมีใบอนุญาตนายหน้าประกันชีวิตหรือประกันวินาศภัย รวมถึงต้องชี้แจงรายละเอียดความคุ้มครองตามกรมธรรม์ให้กับผู้บริโภคทราบด้วย         หากผู้บริโภคต้องการขอยกเลิกประกัน หลังจากที่พิจารณาเงื่อนไขความคุ้มครองอย่างละเอียดภายหลังแล้วพบว่าไม่เป็นไปตามที่รับทราบมา ก็สามารถบอกเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด (15 หรือ 30 วัน กรณีทำผ่านทางโทรศัพท์) หรือตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ หลังจากได้รับกรมธรรม์ ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับเงินคืนตามจำนวนเบี้ยที่จ่ายไป

อ่านเพิ่มเติม >