ฉบับที่ 243 สั่งบราวนี่แต่ได้ของแปลกมาเป็นท๊อปปิ้งแถม

        อาหาร คือ สิ่งที่นำเข้าสู่ร่างกายเพื่อหล่อเลี้ยงบำรุง ดังนั้นอาหารจึงควรเป็นสิ่งที่สะอาดและปลอดภัย แต่บางครั้งอาหารที่เราไม่ได้เป็นคนทำเอง จัดซื้อจัดหาจากแหล่งอื่นๆ ก็อาจมีสิ่งแปลกปลอมที่ดูไม่ค่อยโสภานักหลุดรอดมาได้ ด้วยมาตรฐานการผลิตที่ต่ำ ซึ่งบางสิ่งที่ปนเปื้อนมาในอาหารนั้นก็แปลกใจมากๆ ว่า เอ...มันมาอยู่ในอาหารได้อย่างไร         เช้าวันหยุดจากการงานอันเหนื่อยล้า คุณภูผา ใช้บริการ Grab สั่งกาแฟเอสเปรสโซ 95 บาทและขนมบราวนี่ 85 บาท จากร้านกาแฟแบรนด์นกเอี้ยง(นามสมมติ)  มารับประทานที่บ้าน เมื่อได้มาก็เอาบราวนี่ใส่จานพร้อมหยิบเอสเปรสโซออกไปจัดวางเตรียมถ่ายภาพประกอบเฟซบุ๊กก่อนรับประทานที่สวนข้างบ้าน บรรยากาศช่างเหมาะอะไรเช่นนี้ แดดอ่อนๆ ยามเช้าส่องต้นไม้กับเสียงนกร้อง คิดแล้วก็ฟินสุดๆ ไปเลย         แต่ความฟินก็หายไปทันทีเมื่อเขาได้ชิมบราวนี่ไปเพียง 2 คำ เพราะเขากัดบราวนี่แล้วรู้สึกว่ามันแข็งแปลกๆ เขี่ยดูก็พบว่า มีฟัน (ฟันคนนี่แหละ) อยู่ในบราวนี่ เขางงมาก ฟันอยู่ในบราวนี่ได้อย่างไร ไม่ใช่ฟันของเขาแน่ๆ เขาจึงเล่าเรื่องเจอฟันในบราวนี่บนเฟซบุ๊กของตัวเอง หลังจากนั้นไม่นานนักร้านการแฟนกเอี้ยงก็ติดต่อกลับมาว่าชดเชยเงิน 85 บาท ซึ่งเป็นค่าบราวนี่ และกาแฟฟรีหนึ่งแก้วให้         ภูผามีคำถามเกิดขึ้นว่า ร้านค้ารับผิดชอบแค่นี้ได้เหรอ   แนวทางการแก้ไขปัญหา        ผู้บริโภคมีสิทธิสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ กล่าวคือ เมื่อรับประทานบราวนี่แล้วต้องปลอดภัย แต่เมื่อพบฟันซึ่งเป็นสิ่งปนเปื้อนในอาหารนั่นแสดงว่า มาตรฐานการผิดต่ำและชวนให้เชื่อได้ว่าไม่น่าจะปลอดภัยต่อการบริโภค ดังนั้นผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย กล่าวคือ ผู้บริโภคต้องได้รับค่าสินค้าหรือบราวนี่คืน และค่ารักษาพยาบาลในกรณีที่เข้ารับการรักษาพยาบาล ค่าเดินทางไปโรงพยาบาล หนังสือขอโทษจากบริษัท ซึ่งการชดเชยเยียวยาจะขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้บริโภคและผู้ขาย         กรณีพบสิ่งปนเปื้อนในอาหาร ผู้ขายส่วนมากจะคืนเฉพาะค่าสินค้าเท่านั้น หรือถ้าต้องมีการรักษาพยาบาลก็จะชดเชยแค่ค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว ผู้บริโภคไม่ได้เสียหายเพียงแค่นั้น ยังมีค่าเดินทาง การหยุดงาน ค่าเสียโอกาสอื่นๆ ดังนั้นผู้ขายควรชดเชยเยียวยามากกว่าราคาสินค้า และสิ่งสำคัญคือผู้ขายต้องกลับไปหาสาเหตุของปัญหาและมีมาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแบบนี้ในอนาคตกับผู้บริโภครายอื่น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 คุณครูประจำชั้นถูกทวงหนี้จากหนี้ของพ่อแม่นักเรียน

        การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบการบางรายต้องปิดกิจการ ส่งผลให้ลูกจ้างตกงาน ไม่มีรายได้ ความจำเป็นบังคับให้ต้องกู้เงินเพื่อมาใช้จ่ายในครอบครัว ซึ่งการกู้เงินกับธนาคารลูกจ้างรายวัน ส่วนมากไม่สามารถกู้ได้ เพราะไม่มีหลักประกัน การกู้นอกระบบจึงเป็นทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่ง ยิ่งปัจจุบันมีแอปพิเคชั่นสำหรับกู้เงินก็ยิ่งสะดวกรวดเร็วเข้าไปอีก ไม่ต้องมีหลักประกันใดๆ แต่ต้องแลกกับความเสี่ยงที่อาจถูกทวงหนี้แบบผิดกฎหมาย หรือส่งผลกระทบกับคนรอบตัวลูกหนี้         แชมป์เป็นคุณครูโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีผู้ใช้แรงงานจำนวนมาก วันหนึ่งมีสายโทรศัพท์จากเบอร์แปลกเข้ามา เขารับสายทางปลายสายสอบถามว่า เขาคือครูแชมป์ใช่ไหม เขาตอบว่าใช่ หลังจากนั้นปลายสายก็แจ้งมาว่า โทรศัพท์มาจากบริษัทให้กู้เงิน คุณชบาได้กู้เงินผ่านแอปกู้เงิน จำนวน 3,000 บาท ให้ครูแชมป์ไปบอกให้คุณชบาช่วยใช้หนี้ด้วย หรือให้ครูแชมป์ใช้หนี้แทนคุณชบา แต่เขาก็ปฏิเสธไปเพราะเขาไม่รู้จักคุณชบา         ต่อมาคุณครูจึงทราบว่า คุณชบาที่บริษัทให้กู้เงินโทรศัพท์มาทวงหนี้คือ แม่ของนักเรียนประจำชั้นของเขานั้นเอง เขางงมากว่าบริษัทให้กู้เงินโทรศัพท์มาทวงหนี้ที่เขาได้อย่างไร หลังจากนั้นเขาก็ได้รับโทรศัพท์ทวงหนี้จากการที่พ่อแม่ของนักเรียนประจำชั้นของเขาไปกู้เงินผ่านแอปกู้เงินออนไลน์ไม่ว่างเว้น เขาจึงโพสเฟซบุ๊กแจ้งผู้ปกครองนักเรียนว่า ได้โปรดอย่าให้เบอร์โทรศัพท์ของเขากับบริษัทให้กู้เงิน ปรากฏว่ามีคุณครูหลายคนเข้ามาคอมเมนท์ว่า ได้รับโทรศัพท์จากบริษัทให้กู้เงินจากแอปกู้เงินเหมือนกัน ครูแชมป์จึงปรึกษามาว่า เขาจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา         เรื่องการทวงหนี้นั้น กฎหมายกำหนดว่าเจ้าหนี้ต้องทวงหนี้กับลูกหนี้เท่านั้น ห้ามทวงหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้เด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็น คนรู้จัก เพื่อนที่ทำงาน คนข้างบ้าน ฯลฯ เว้นแต่จะระบุไว้แต่แรกในสัญญา หากฝ่าฝืนมีโทษโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามบอกกับคนอื่นว่าลูกหนี้เป็นหนี้ ยกเว้น สามี ภรรยา บุพการี หรือผู้สืบสันดาน ของลูกหนี้ และบุคคลอื่นดังกล่าวได้สอบถามผู้ทวงถามหนี้ถึงสาเหตุของการติดต่อ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558         แอปกู้เงินโทรศัพท์มาทวงหนี้กับครูแชมป์ซึ่งเป็นบุคคลอื่นไม่ใช่ลูกหนี้ และบอกกับคุณแชมป์ว่าแม่ของนักเรียนครูแชมป์เป็นหนี้กับตนเอง เป็นการทวงหนี้ผิดกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ดังนั้นครูแชมป์สามารร้องเรียนการทวงหนี้ผิดกฎหมายได้ที่คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำท้องถิ่น ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง, สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง, สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และแจ้งความดำเนินคดีได้ที่สถานีตำรวจทุกแห่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 แฟลชส่งพัสดุผิดบ้าน ผ่านมาปีกว่ายังไม่ได้ของคืน

        ส่งจดหมายผิดซองคงเป็นเจ้าของที่พลาดเอง แต่ถ้าส่งพัสดุไปผิดบ้าน งานเข้าบริษัทรับส่งของไปเต็มๆ คงยากจะปัดความรับผิดชอบ         คุณกันยากร อยู่ที่ประเทศฟินแลนด์ เมื่อต้นเมษายน 2563 ได้สั่งซื้อกางเกงยี่ห้อมาริฮอร์นทางออนไลน์ให้จัดส่งไปบ้านของคุณพ่อที่เมืองไทย จากนั้นปลายเดือนเดียวกัน เธอไลน์ถามหลานชายว่ามีพัสดุมาส่งที่บ้านหรือยัง ทั้งหลานชายและคุณพ่อต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ายังไม่เห็นมีของมาส่งเลย คุณกันยากรจึงถามกลับไปที่ร้านค้าว่าส่งของให้หรือยัง ทางร้านแจ้งว่าส่งให้แล้วโดยใช้บริการของแฟลช เอ็กซ์เพรส จากนั้นคุณพ่อของคุณกันยากรไปทวงถามที่บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ คุณพ่อจึงไปที่โกดังของบริษัทที่บางพลัด แต่ผู้จัดการดูไม่ได้สนใจเท่าไหร่ เมื่อคุณพ่อโชว์หลักฐานให้ดู บริษัทก็บอกว่าจะชดเชยให้แค่ 400 บาท เป็นการเคลมนอกระบบ แต่คุณพ่อไม่ยอมรับ หลังจากนั้นพนักงานชื่อนพดลได้มาที่บ้านและสารภาพว่าเขาเป็นคนส่งพัสดุไปที่บ้านอีกหลังหนึ่งเอง และรับปากว่าจะติดตามของมาคืนให้ แต่แล้วก็เงียบหายไป         คุณกันยากรยังไม่ละความพยายาม แม้ตัวจะอยู่ไกล เธอก็ยังไลน์ถามหาความรับผิดชอบจากบริษัทตลอด ทางบริษัทก็ตอบว่ากำลังตามสินค้าให้ และจะให้พนักงานติดต่อกลับไป แต่วันแล้ววันเล่าก็ยังไม่มีพนักงานคนไหนติดต่อกลับมาอีกเลย คุณกันยากรจึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในเบื้องต้นแนะนำให้คุณพ่อของคุณกันยากรไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน และส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลังจากมูลนิธิฯ ได้รับรายการตรวจเช็คพัสดุที่ส่งมา ซึ่งในใบพัสดุระบุว่า “เซ็นรับแล้ว” แต่ไม่มีลายเซ็นปรากฎอยู่ และมีรูปพัสดุที่คนส่งนำไปไว้ในตู้ของอีกบ้านหนึ่ง ศูนย์ฯ จึงทำจดหมายถึงบริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด ซึ่งทางบริษัทตอบกลับมาว่าจะติดตามให้ ล่าสุดแจ้งว่าจะชดเชยเป็นเงินให้ แต่จนแล้วจนรอด ณ วันนี้ คุณกันยากรก็ยังไม่ได้ของคืน หรือค่าชดเชยใดๆ ในกรณีแฟลชส่งพัสดุผิดบ้าน เรื่องแบบนี้คงต้องว่ากันในทางคดีต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 ปัญหาเนอร์สซิ่งโฮมดูแลผู้ป่วยไม่ดี

        เนอร์สซิ่งโฮม คือบริการในด้านสถานที่สำหรับการดูแลพักฟื้นและให้การช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวันแก่ผู้สูงอายุ ผู้ทุพพลภาพ ผู้ป่วยหลังผ่าตัด ผู้ป่วยที่ต้องการพักฟื้นระยะสั้น และผู้ป่วยที่ต้องการพักฟื้นระยะยาว ซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่ไม่สะดวกในการดูแลผู้ป่วย ผู้สูงวัยด้วยตนเอง หรืออาจไม่มั่นใจว่าตนเองจะทำได้ดีพอ จึงเลือกใช้บริการด้านนี้ เพื่อให้ดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงวัย ด้วยว่ามีความเป็นมืออาชีพ และมีความเชี่ยวชาญมากกว่า         คุณสาละวิน ตัดสินใจพาคุณแม่ไปอยู่ที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแห่งหนึ่ง  สมมติว่าชื่อ สว. เนอร์สซิ่งโฮม เนื่องจากคุณแม่มีภาวะกระดูกหักที่สะโพกและต้องทำกายภาพบำบัด ซึ่งทางคุณสาละวินพิจารณาแล้วว่า การอยู่เนอร์สซิ่งโฮมที่มีพนักงานและอุปกรณ์พร้อมน่าจะดีกว่าอยู่ที่บ้าน ซึ่งคุณแม่ก็เข้ารับบริการอยู่ที่นี่ได้สักพักหนึ่ง         วันหนึ่งได้รับแจ้งว่าคุณแม่ของเธอถูกส่งไปรักษาฉุกเฉินที่โรงพยาบาล เพราะว่ามีอาการหายใจไม่ออกเจ็บหน้าอกและมีไข้ ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าคุณแม่ของเธอต้องนอนพักดูอาการที่โรงพยาบาลก่อนยังไม่สามารถกลับบ้านได้ทันที ขณะนั้นเธอก็ไม่ได้ติดใจอะไร แต่ในช่วงเย็นวันเดียวกันขณะที่เธอเปลี่ยนผ้าอ้อมให้คุณแม่ คุณแม่ร้องบอกว่า “เจ็บ เจ็บ” เธอพลิกก้นคุณแม่ดูจึงพบว่า มีแผลกดทับที่ก้นคุณแม่ขนาดใหญ่ จึงโทรศัพท์ไปสอบถามเจ้าของเนอร์สซิ่งโฮมว่า คุณแม่มีแผลกดทับได้อย่างไร เพราะตอนเข้าไปในเนอร์สซิ่งโฮมไม่มีบาดแผลดังกล่าวแน่นอน        ทางเจ้าของสถานบริการรีบปฏิเสธว่าคุณแม่ไม่มีแผลกดทับจากการดูแลของทางเรา ส่วนแผลที่คุณสาละวินเห็นเพิ่งเกิดที่โรงพยาบาล เพราะไม่เปลี่ยนผ้าอ้อมนานๆ และไม่พลิกตัวจึงทำให้กลายเป็นแผลกดทับ เธอจึงคาดคั้นว่าเกิดจากที่โรงพยาบาลจริงหรือ อาการแผลกดทับที่เพิ่งเป็นกับที่เป็นมานานแล้วแตกต่างกัน ทางโรงพยาบาลจะพลาดจนแม่เกิดแผลกดทับจริงหรือ เธอไม่เชื่อตามที่ทางสถานบริการแจ้งมา และเมื่อมีการตรวจสอบข้อมูลหลายรอบ ในท้ายที่สุดเจ้าของเนอร์สซิ่งโฮมก็ยอมรับว่า “เกิดจากการที่ดูแลคุณแม่ของเธอไม่ดีและขอรับผิดชอบด้วยการที่จะดูแลคุณแม่ของเธอให้ดีในช่วงที่ยังรักษาตัวที่โรงพยาบาล”         คุณสาละวินจึงมาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า กรณีเช่นนี้เธอสามารถเรียกค่าชดเชยจากเนอร์สซิ่งโฮมที่ทำให้คุณแม่เจ็บป่วยได้หรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหา             กรณีนี้เป็นการละเมิดทำให้ได้รับความเสียหาย ผู้ดูแลหรือทางสถานบริการจะต้องดูแลผู้สูงอายุตามหน้าที่ ตามสัญญา หากไม่ดำเนินการตามสัญญา อีกทั้งละเลยจนทำให้ได้รับความสียหายเกิดแผลกดทับ ผู้บริโภคสามารถเรียกเป็นค่าเสียหาย เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่ารักษาให้กลับมาเป็นปกติ และอื่นได้ตามสมควร         หลังจากเกิดเรื่องร้องเรียนทางเนอร์สซิ่งโฮมได้ขอยกเลิกการมาดูแลคุณแม่ของคุณสาละวินขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตามเพื่อให้มีการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คุณสาละวินได้ขอให้เนอร์สซิ่งโฮมคืนเงินที่เหลือ เพราะคุณแม่ของเธออยู่ใช้บริการในสถานบริการไม่ครบเดือนตามสัญญากับทางสถานบริการ         เรื่องนี้ได้มีการจัดการเจรจาเพื่อหาข้อยุติ โดยศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้เชิญผู้แทนทางเนอร์สซิ่งโฮมเข้าร่วมประชุมเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ทางศูนย์ฯ จึงแนะนำคุณสาละวินให้ใช้สิทธิทางศาล เนื่องจากอายุความละเมิดมีกำหนดแค่ 1 ปี ต้องเร่งดำเนินการ ทั้งนี้ให้ทางคุณสาละวินได้เตรียมพร้อมในส่วนข้อมูล เช่น การประเมินค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลคุณแม่ที่เกิดขึ้นทั้งหมดและในอนาคต เพื่อนำไปใช้ประกอบการเรียกค่าเสียหายในการดำเนินคดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 โซฟาซิปแตก ซ่อมแล้วไม่เหมือนซ่อม

        สินค้าหลายอย่างที่ชิ้นใหญ่ๆ ถ้าเกิดถึงคราวต้องซ่อมแซม มักจะสร้างความกังวลให้เราได้มาก เพราะมันยากต่อการเคลื่อนย้าย แล้วทีนี้เมื่อส่งซ่อมไปแล้วเมื่อได้ของกลับมา แต่พบว่า “อ้าว ร้านซ่อมไม่ตรงจุด” เราจะสามารถทำอะไรได้บ้างนะ         สายชล หนุ่มผู้รักการจัดบ้าน เขามักจะจัดบ้านปรับเปลี่ยนหรือเคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้านบ่อยๆ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ บางทีก็ย้ายมุมโน้น ขยับมุมนี้อยู่เป็นประจำ บางครั้งเขาก็จะเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ใหม่ๆ เพื่อให้เข้ากับรูปแบบหรือมุมที่เขาจัด ซึ่งล่าสุดธีมที่เขาต้องการคือ ทำให้บ้านดูอบอุ่นขึ้น จึงเลือกซื้อโซฟา 2 ตัวติดกันเป็นรูปตัวแอล (L) ยี่ห้อหนึ่ง จากร้านเฟอร์นิเจอร์ดัง ซึ่งราคาเต็มคือ 55,000 บาท แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงโปรโมชั่นลดราคาเหลือ 36,000 บาทพอดี ทำให้ตัดสินใจไม่ยาก ซื้อทันทีเมื่อโซฟามาส่งสายชลก็ดีใจอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน เพราะเผอิญเขาเห็นว่าซิปด้านหลังโซฟาแตก จึงโทรศัพท์แจ้งร้านเฟอร์นิเจอร์เพื่อให้มารับไปซ่อม แต่ร้านบอกว่าเกินระยะเวลา 6 เดือนแล้ว จะต้องจ่ายค่าบริการ 500 บาท ซึ่งเขาก็ยินดีนะ ไม่ว่ากัน บอกให้ร้านค้ามารับโซฟาไปซ่อม พร้อมทั้งโอนเงินค่าบริการไปให้ด้วย ร้านค้ามารับเฟอร์นิเจอร์ไปและใช้ระยะเวลาในการซ่อมอยู่หลายวัน บ้านก็ดูโล่งๆ ไปนิด         และเมื่อทางร้านนำโซฟากลับมาส่ง สายชลดีใจได้แป๊บเดียว เขาก็พบปัญหาเดิม คือซิปโซฟายังแตกอยู่ ไม่สามารถรูดขึ้นรูดลงได้ เหมือนไม่ได้ซ่อมอะไรให้เลย เขาจึงแจ้งร้านค้าให้มารับไปซ่อมอีกรอบหนึ่ง แต่คราวนี้เขาสงสัยว่าถ้าเขาไม่พอใจที่ร้านซ่อมมาให้เป็นรอบที่ 2 เขาสามารถทำอะไรได้บ้างไหม แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีสินค้าที่ส่งซ่อมได้รับการแก้ไขแล้ว เมื่อพนักงานนำกลับมาส่งให้แล้ว ผู้บริโภคควรตรวจสอบดูให้ละเอียดก่อนรับสินค้าว่ามันได้รับการแก้ไขตรงจุดหรือไม่ น่าพอใจหรือไม่ ถ้าไม่พอใจผู้ร้องสามารถคุยกับทางร้านค้าว่าสามารถจะเยียวยาผู้ร้องอย่างไรได้บ้าง เช่น ซื้อตัวใหม่โดยจ่ายเงินเพิ่มได้หรือไม่ หรือขอเงินคืนบางส่วนได้หรือไม่ หรือซ่อมใหม่ต้องไม่เสียค่าบริการเพิ่มอีก ซึ่งทางคุณสายชลอาจไม่ได้ระวังตรงนี้ในครั้งแรก แต่เมื่อสินค้านำกลับมาส่งครั้งที่สอง ควรตรวจดูให้ละเอียดว่าเป็นได้ตามที่ตั้งใจหรือไม่  ซึ่งต่อมาได้รับแจ้งจากคุณสายชลว่า ในครั้งที่สองนี้ เมื่อได้รับโซฟาคืนกลับมาแล้ว ผู้ร้องพอใจกับการซ่อมครั้งนี้ เพราะว่าร้านได้เปลี่ยนซิปใหม่ให้ทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณสายชลโอเคมาก เป็นอันว่าจบด้วยดี         อย่างไรก็ตามอยากฝากกับผู้บริโภคว่า เมื่อสินค้าที่ซื้อหรือซ่อมถูกนำมาส่งที่บ้าน ขณะรับสินค้าจากพนักงาน สิ่งแรกที่ผู้บริโภคควรทำคือตรวจเช็คสินค้าว่า มีตำหนิ มีรอยชำรุด เสียหายหรือเปล่า ถ้ามีควรรีบแจ้งทางร้านค้าทันที เพราะว่าถ้าไม่รีบแจ้งร้านค้าอาจจะอ้างได้ว่าความชำรุดนั้นเกิดจากผู้บริโภคเอง และไม่ยอมรับผิดชอบ จึงควรตรวจสอบให้ดีและเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ มีระบบบริการหลังการขายที่ดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 ใส่น้ำมันในข้าวสวยทำไมไม่บอก

        อาหารแช่เย็น แช่แข็งในร้านสะดวกซื้อนั้นเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะสะดวก ตอบโจทย์ชีวิตสำหรับคนที่ไม่ต้องการเสียเวลาไปกับการเตรียมอาหาร แต่กระนั้นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ดีขึ้น ก็คือฉลากสินค้าที่ต้องครบถ้วนเพียงพอสำหรับการซื้อ ส่วนประกอบสำคัญต้องมีอะไรบ้างก็ต้องบอกให้หมดไม่ปิดบัง เพราะจะทำให้ผู้บริโภคเสียผลประโยชน์         คุณภูผาเป็นหนุ่มโสดรักสุขภาพ แต่ก็ไม่อยากหุงข้าวรับประทานเองสักเท่าไรเพราะไม่ค่อยสะดวก จึงเลือกซื้อข้าวสวยอีซี่โก ในร้านสะดวกซื้อชื่อดังมารับประทานเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิหุงสุก ข้าวกล้องหอมมะลิ และข้าวไรซเบอรี่ผสมข้าวหอมมะลิ เพราะสะดวกเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเขา และเชื่อมั่นในตราสินค้าด้วยว่าคงไม่เอาเปรียบผู้บริโภค  อย่างไรก็ตามเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ภูผาได้เห็นข่าวบนสื่อออนไลน์ว่า ข้าวที่เขาซื้อประจำนั้นมีน้ำมันผสมอยู่ ซึ่งในฉลากอาหารก็ไม่ได้ระบุว่ามีน้ำมันเป็นส่วนผสม เขารู้สึกเหมือนถูกหลอก เพราะเขาไม่ต้องการร้บประทานข้าวที่ผสมน้ำมันเนื่องจากกลัวว่าจะกระทบกับสุขภาพ จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีนี้มูลนิธิฯ ไม่เพียงได้รับเรื่องจากคุณภูผา ยังได้ร้บการร้องเรียนจากสมาชิกนิตยสารฉลาดซื้ออีกหลายท่านด้วย  จึงได้ทำหนังสือสอบถามไปยังบริษัท ซีพีแรม จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของตราผลิตภัณฑ์อีซี่โก เพื่อขอคำชี้แจ้งว่ามีการใช้น้ำมันเป็นส่วนผสมในการหุงข้าวจริงหรือไม่ และหากมีจริงดังปรากฎเป็นข่าวบริษัทควรดำเนินการเปลี่ยนแปลงฉลากให้เป็นฉลากสินค้าที่บอกข้อมูลที่ครบถ้วนต่อผู้บริโภคต่อมาทางบริษัท ซีพีแรมฯ ได้ชี้แจงต่อมูลนิธิฯ ว่า บริษัทฯ มีการเติมน้ำมัน ซึ่งเป็นน้ำมันรำข้าวจริงในผลิตภัณฑ์ โดยเป็นการเติมน้ำมันรำข้าวไปในปริมาณที่ใกล้เคียงกับน้ำมันตามธรรมชาติที่มีอยู่ในข้าว และเป็นสูตรเฉพาะของบริษัทที่ได้วิจัยมา ทั้งนี้เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาให้นานขึ้น โดยข้าวเมื่อทำให้เป็นอาหารแช่เย็น/แช่แข็ง การใช้น้ำมันรำข้าวจึงช่วยรักษาคุณภาพข้าวหลังแช่เย็น/แช่เยือกแข็ง ให้มีคุณภาพ เหนียว นุ่ม หนึบ และอร่อย ตลอดอายุการจัดเก็บจนถึงการบริโภค         ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ทางบริษัทฯ จะดำเนินการเพิ่มข้อมูลว่าใส่น้ำมันรำข้าวไว้ในฉลากของผลิตภัณฑ์ข้าวแช่เย็น แช่แข็ง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564         ดังนั้นผู้บริโภคทุกท่านโปรดอ่านฉลากสินค้าให้ถี่ถ้วนทุกครั้ง และหากพบข้อสังเกตใดที่สร้างความไม่มั่นใจ ควรสอบถามต่อบริษัทผู้ผลิตสินค้าโดยตรงหรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันเฝ้าระวังไปด้วยกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 สั่งสินค้าจากร้านค้าบนเฟซบุ๊กแล้วไม่ได้ของต้องทำอย่างไร

        เฟซบุ๊กนอกจากจะเป็นช่องทางในการติดต่อพูดคุย อัปเดทข่าวสารและติดตามชีวิตของเพื่อนแล้ว เฟซบุ๊กยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถซื้อขายสินค้าได้ ซึ่งก็มีสินค้าจำนวนมาก การซื้อขายสินค้าในเฟซบุ๊กต้องอาศัยความเชื่อกันอย่างมากจากทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เพราะว่าผู้ซื้อไม่เห็นสินค้า ไม่แน่ใจว่าจะได้สินค้าตามที่โฆษณาไว้หรือไม่ หรือผู้ขายอาจจะไม่ส่งสินค้ามาเลยก็ได้ ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จะต้องทำอย่างไร มาดูกัน         นักรบสั่งซื้อเสื้อออกกำลังกาย จำนวน 2 ตัว ราคา 500 บาท จากเพจเฟซบุ๊กหนึ่ง และได้โอนเงินจ่ายค่าเสื้อเข้าบัญชีธนาคารของผู้ขายตามที่ได้รับการแจ้งมา หลังจากโอนเงินเสร็จเรียบร้อยก็ได้แจ้งการโอนเงิน ชื่อ เบอร์โทรศัพท์และที่อยู่ในการจัดส่งสินค้าไปทางกล่องข้อความ ซึ่งทางแอดมินเพจแจ้งว่าจะจัดส่งสินค้าให้ภายใน 3-5 วัน ครั้นเมื่อครบ 5 วันนักรบก็ยังไม่ได้สินค้า เขาจึงแจ้งไปยังแอดมินเพจว่ายังไม่ได้สินค้านะครับ แอดมินตอบกลับมาว่าได้ดำเนินการต่อแล้ว ทางระบบจัดส่งจะโทรหาล่วงหน้า แต่หลังจากนั้นก็ยังไม่มีใครติดต่อมาอีกเลย เขาจึงสอบถามแอดมินอีกครั้งเพราะว่าเลยกำหนดมา 11 วันแล้ว คราวนี้แอดมินอ่านข้อความเขาแล้วแต่ไม่ตอบอะไรเลย เขาไม่รู้จะทำอย่างไร จึงสอบถามมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรจัดการอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา        เมื่อศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคได้รับคำร้องของคุณนักรบแล้ว ได้แนะนำว่า ควรดำเนินการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ดังนี้        1. ไปแจ้งความดำเนินคดีกับร้านค้าที่สถานีตำรวจ โดยนำหนักฐานข้อความในแชทสลิปโอนเงิน และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องไปด้วย        2. ขอให้ตำรวจทำเอกสารขออายัดบัญชีธนาคารของร้านค้า (บัญชีที่ผู้ร้องได้โอนเงินไป) ปล. เอกสารตัวนี้จะเป็นเอกสารที่มีครุฑอยู่ด้านบน        3. นำเอกสารขออายัดบัญชีธนาคารไปดำเนินการขออายัดบัญชีที่ธนาคารที่ผู้ร้องได้โอนเงินไป ณ สาขาไหนก็ได้        4. บัญชีธนาคารขอร้านค้าจะถูกระงับ และร้านค้าจะรีบติดต่อกลับมา เพื่อเจรจากับผู้ร้อง        สำหรับการจัดการเบื้องต้นนี้ควรเร่งดำเนินการทันที เมื่อเปิดการเจรจาแล้วค่อยดูกันต่อไปว่ายังต้องการสินค้าอีกหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 ตลกร้ายของประเทศนี้

        ไทย ประเทศที่มีผู้คนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากเป็นอันดับ 9 ของโลก หรือเฉลี่ย 20,000 คน ต่อปี แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีพันธะสัญญากับองค์การอนามัยโลกและนานาชาติว่าจะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2563 ตามปฎิญญามอสโกที่กำหนดให้ ปี 2554 - 2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ทว่าสิบปีผ่านไปทุกอย่างกลับล้มเหลว และตัวเลขผู้เสียชีวิตยังคงอยู่ในระดับสองหมื่นคนไม่ได้ลดลงตามเป้าหมาย         แย่ยิ่งกว่านั้นทิศทางหรือนโยบายของรัฐบาลยังสวนทางกับเป้าหมายที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ทั้งยังขาดประสิทธิภาพในการกำกับบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความปลอดภัยทางถนนอีกด้วย  แม้ว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเกือบร้อยละ 70 จะมีสาเหตุจากรถจักรยานยนต์ แต่ภาพรวมของความรุนแรง บาดเจ็บ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในพาหนะทุกประเภทเกือบทั้งหมดล้วนมาจากการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด         ขณะที่ปัญหาเก่ายังแก้ไม่ได้ ล่าสุดรัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมยังส่งเสริมให้คนเข้าถึงความเร็วของถนนได้มากขึ้นกับกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ. 2564 ที่มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา เริ่มคิกออฟเส้นทางแรก คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) ช่วงบริเวณหมวดทางหลวงบางปะอิน-ทางต่างระดับอ่างทอง ระยะทางประมาณ 50 กม.         กฎกระทรวงฉบับนี้มีสาระสำคัญที่กำหนดให้ผู้ขับรถยนต์ใช้ความเร็วบนถนนทางหลวงได้สูงสุดไม่เกิน 120 กม./ชม. หากใช้ช่องขวาสุดต้องวิ่งด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. ซึ่งเงื่อนไขของถนนที่จะใช้ความเร็วได้ 120 กม./ชม. ประกอบด้วย มี 4 ช่องจราจร ไปกลับสองช่องจราจร เกาะกลางถนนแบบกำแพงและไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน โดยต้องเป็นเส้นทางที่ประกาศโดย กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เท่านั้น         ที่สำคัญกฎกระทรวงฉบับนี้ออกมาท่ามกลางข้อทักท้วงจากนักวิชาการถนนปลอดภัยที่ต่างให้ข้อคิดเห็นว่ากฎหมายความเร็ว 120 กม/ชม. ยังไม่ใช่ทางออก และไม่เหมาะสมที่จะประกาศใช้ ชี้ความเร็วคือจุดเริ่มต้นของปัญหาอุบัติเหตุและความรุนแรง อีกทั้งถนนในบ้านเรายังไม่รองรับความเร็ว 120 กม/ชม. ที่มีก็อาจจะมีเพียงทางด่วนหรือมอเตอร์เวย์เท่านั้น แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็เป็นเพียงเสียงลมพัดผ่าน เพราะถึงตอนนี้กฎหมายความเร็ว 120 กม/ชม. ผ่านออกมาบังคับใช้แล้ว        ส่วนประเด็นความไม่พร้อมของถนนที่นักวิชาการทักท้วงนั้น ไม่ใช่ปัญหาของกระทรวงคมนาคม เพราะมีหลายคนบอกต่อกันว่า “เขาออกกฎหมายมาก่อนแล้วค่อยสร้างถนนตามทีหลัง” ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริง ภายหลังที่กฎหมายความเร็ว 120 กม/ชม. มีผลบังคับใช้ หน่วยงานภายใต้กระทรวงคมนาคม ทั้งกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ต่างประกาศแผนสร้างถนนรองรับนโยบายความเร็ว 120 กม/ชม. อีกกว่า 25 เส้นทางทั่วประเทศทันที เรียกได้ว่าพร้อมขานรับนโยบายเจ้ากระทรวงกันเต็มที่         ขณะที่ข้อมูลของ รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เรื่องความเร็วกับถนนยกตัวอย่างของต่างประเทศจะดูตามสภาพของถนนและกายภาพของถนน โดยจะแบ่งถนนเป็นลำดับชั้น เช่น Freeway เทียบได้กับทางด่วน หรือมอเตอร์เวย์ในบ้านเรา โดยจะต้องเป็นถนนที่มีการควบคุมทางเข้าออกอย่างสมบูรณ์ ไม่มีทางเข้าออกอื่น ไม่มีจุดยูเทิร์น  ไม่มีรถจักรยานยนต์วิ่ง ต่อมา คือ ถนน Arterial หรือถนนสายหลักเทียบได้กับถนนสายเอเชีย สุขุมวิท มิตรภาพ ที่เป็นถนนแบบมีทางเข้าออก มีรถจักรยานยนต์วิ่ง มีจุดยูเทิร์นกลับรถ ซึ่งในต่างประเทศการกำหนดความเร็วของถนนจะกำหนดตามลำดับชั้นก่อน ถ้าเป็น Freeway ก็จะวิ่งได้ความเร็วสูงกว่าถนนลำดับรอง แต่ก็ดูต้องด้วยว่าถนนเส้นนั้นอยู่ในเขตเมืองหรือนอกเมืองอีกด้วยหรือไม่ ที่สำคัญในต่างประเทศถ้าเป็นถนนฟรีเวย์แบบนอกเมืองที่ไม่ค่อยมีรถวิ่งจะจำกัดความเร็วสูงสุดไว้ไม่เกิน 110 กม./ชม. และยังไม่เห็นมีประเทศไหนที่กำหนดความเร็ว 120 กม./ชม. เหมือนบ้านเรา         กลับมาที่ถนนสายเอเชียที่เป็นจุดคิกออฟความเร็ว 120 กม./ชม. แม้จะได้รับการปรับปรุงเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐมนตรี แต่กายภาพของถนนสายเอเชียไม่ได้ถูกออกแบบเหมือนถนน Freeway เช่น ทางด่วน หรือมอเตอร์เวย์ ที่มีทางเข้าออกชัดเจน ไม่มีจุดกลับรถ แต่ถนนสายเอเชียโดยปกติ มีรถจักรยานยนต์วิ่ง มีรถขับออกมาจากถนนด้านข้าง ไม่มีแบริเออร์กั้นกลาง หรืออาจจะมีคนเดินข้ามถนน ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงจากความเร็วของรถที่วิ่งไปมาได้         นอกจากนี้กฎหมายความเร็ว 120 กม./ชม. ยังส่งผลถึงพฤติกรรมผู้ขับรถยนต์ที่รู้สึกอยากขับรถเร็วขึ้น เพราะเบื่อเลนขวาแต่ขับช้า พฤติกรรมเหล่านี้อาจทำให้เกิดความคุ้นชินในการขับรถเร็วที่ต่อไปอาจจะไม่อยู่แค่ในเขตเส้นทางที่กำหนดก็เป็นได้ ซึ่งอาจนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุต่อไปได้         อย่างไรก็ดีสุดท้ายแล้วกฎหมายความเร็ว 120 กม./ชม. อาจจะถูกใจคนขับรถเร็ว และเอาใจรัฐมนตรีที่ประกาศนโยบายไว้ แต่ยังไม่ตอบโจทย์ความปลอดภัยทางถนน และยังไม่เห็นถึงข้อดีตามแบบที่รัฐมนตรีคิดไว้  ที่สำคัญรัฐควรตาสว่าง ไม่ควรมีนโยบายส่งเสริมให้ใช้ความเร็วที่ไม่ปลอดภัย แต่ควรส่งเสริมความปลอดภัยให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนมากกว่า เพราะคงเป็นเรื่องตลกขำไม่ออกที่หลายประเทศทั่วโลกพยายามลดความเร็วลงเพื่อปกป้องชีวิตประชาชนจากอุบัติเหตุทางถนน แต่รัฐบาลประเทศไทยกลับมุ่งมั่นทำให้ทุกคนได้ขับรถเร็วขึ้น มันน่าอายเขาครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 สิทธิบัตรทองต้องใช้ที่ไหน

        ย้อนไปเมื่อกันยายน พ.ศ. 2563 หลายคนคงได้ยินข่าว สปสช. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยกเลิกสัญญาสิทธิบัตรทองของคลินิกและโรงพยาบาลหลายแห่ง “สปสช.ยกเลิกสัญญาคลินิกบัตรทองเพิ่ม 108 แห่ง รวมแล้ว 190 แห่งทุจริตงบ เสียหาย 198 ล้าน” ทำให้คนที่ใช้สิทธิบัตรทองต่างตกใจเป็นอย่างมาก ไม่รู้ว่าตัวเองต้องไปรักษาที่ไหน โดยเฉพาะคนที่ต้องรักษาตัวต่อเนื่อง เรื่องนี้มีคำแนะนำอย่างไร        คุณสกุลมีภาวะเครียดต้องรับการรักษาอยู่ที่คลินิกแห่งหนึ่งด้วยสิทธิบัตรทอง โดยต้องเข้ารับยาต่อเนื่องทุกเดือน แต่วันหนึ่งเจ้าหน้าที่คลินิกแจ้งเขาว่า คลินิกเปิดให้บริการถึงสิ้นเดือน ดังนั้นวันนี้ต้องขอเก็บค่าบริการและค่ายาสำหรับรับประทาน 1 เดือน เป็นจำนวน 700 บาท เนื่องจากทางคลินิกไม่สามารถเบิกเงินสิทธิบัตรทองจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้แล้ว เพราะคลินิกถูกยกเลิกสัญญา         คุณสกุลจ่ายไป 700 บาท ได้ยากลับบ้านพร้อมกับประวัติการรักษา หลังจากกลับมาถึงบ้านเขาก็รู้สึกกังวลใจเป็นอย่างมาก เพราะว่าต้องกินยาต่อเนื่องทุกเดือน จะต้องจ่ายเงินค่ายาทุกเดือนเองแบบนี้ไปเรื่อยๆ หรืออย่างไร แล้วไม่รู้ว่าต้องไปรักษาต่อที่ไหน แล้วจะใช้สิทธิบัตรทองได้อีกหรือเปล่า จึงมาขอคำปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นได้อธิบายคุณสกุลว่า ขณะ สปสช. ยกเลิกสัญญาการให้บริการกับคลินิกหลายแห่งเนื่องจากเหตุทุจริต ดังนั้นทำให้คุณสกุลต้องชำระค่าบริการและค่ายาเองไปก่อน อย่างไรก็ตามสิทธิบัตรทองของคุณสกุลยังคงอยู่ เรียกว่า สิทธิว่าง ทำให้คุณสกุลสามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน หรือศูนย์บริการสาธารณสุขทุกที่ หรือโรงพยาบาลเอกชนที่ทำสัญญาไว้กับ สปสช. โดยไม่ต้องชำระเงิน             โดยทาง สปสช. จะรีบดำเนินการย้ายสิทธิการรักษาให้กับผู้มีสิทธิว่างทุกคนโดยเร็วที่สุด คุณสกุลไม่ต้องกังวลใจ กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชนใกล้บ้านได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่ารักษาภายใน 72 ชั่วโมง สำหรับการรักษาแบบต่อเนื่องเข้าใช้บริการได้ตามที่แจ้งข้างต้น หรือหากมีข้อสงสัย ติดต่อ สายด่วน 1330

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 สมัครคอร์สดูแลสุขภาพแล้วพบว่าป่วยจะบอกเลิกสัญญาได้ไหม

        ใครๆ ก็อยากมีสุขภาพดีแล้วถ้ามีวิธีไหนที่จะทำให้สุขภาพดีและมีรูปร่างดูดีด้วยแล้ว เราก็คงอยากจะทำ เช่น คอร์สดูแลสุขภาพพร้อมความงาม แต่ถ้าเราตกลงแล้วจ่ายเงินเป็นค่าคอร์สไปเรียบร้อยแล้ว แต่พบว่าเราป่วยเป็นโรคร้ายแรง และหากยังฝืนทำตามคอร์สที่ซื้อมาอาจทำให้อาการป่วยเราแย่ลงจะขอเงินที่จ่ายไปแล้วคืนได้ไหม         คุณนวล ได้รับโทรศัพท์เชิญชวนให้ “เขา” เข้าตรวจสุขภาพของศูนย์ดูแลสุขภาพแห่งหนึ่ง เขาตอบรับคำชวนและเข้ารับการตรวจสุขภาพเพราะฟังคำเชิญชวนแล้วรู้สึกดีมาก ผลการตรวจพนักงานวิเคราะห์ว่า เขาสุขภาพไม่ค่อยดีนักมีปัญหาหลายเรื่อง เช่น ซึมเศร้า ไตไม่ดี และอื่นๆ ถ้าอยากจะรักษาต้องมีการตรวจเลือดแล้วนำผลเลือดมาพบแพทย์เพื่อห้วินิจฉัยโรคต่อไปซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในคอร์สนี้ 499,000 บาท         คุณนวลชะงักไปเมื่อได้ยินค่าใช้จ่าย บอกพนักงานไปว่าเขาเกษียณแล้วจะเอาเงินมากมายขนาดนั้นมาจากไหน พนักงานเสนอราคาพิเศษลดให้เหลือ 199,000 บาท แต่เขาก็ยังไม่มีเงินพออยู่ดี จึงต่อรองกับพนักงานและจ่ายไปก่อน 30% เป็นเงิน 59,700 บาท ด้วยบัตรเครดิตโดยรายละเอียดคอร์สนี้จะต้องได้รับการรักษา 17 ครั้ง เท่ากับเฉลี่ยครั้งละ 3,512 บาท         หลังจากพบคุณหมอที่ศูนย์ดูแลสุขภาพ เขาได้รับการฉีดวิตามิน 2 ตัว และ Zinc เมื่อฉีดวิตามินแล้วเขารู้สึกเหมือนว่าหน้าอกเขาเริ่มใหญ่ขึ้น(พองขึ้น) และเจ็บที่หน้าอก หลังจากนั้นเขาได้รับวิตามินอีก 4 ครั้ง มีอาการเจ็บหน้าอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงกังวลใจรีบได้ไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล ผลออกมาว่าเขาเป็นมะเร็งปอด ต้องรับการรักษาด่วน         เมื่อคุณนวลแจ้งกับแพทย์ของโรงพยาบาลว่า เขาสมัครคอร์สดูแลสุขภาพไว้ โดยรับการฉีดวิตามินและอื่นๆ  แพทย์บอกว่าให้หยุดการรักษาทุกอย่างก่อนเพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นจะไม่รู้ว่าสาเหตุของอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมาจากสาเหตุใด         หลังจากนั้นเขาไปปรึกษาแพทย์ที่ศูนย์ดูแลสุขภาพ แพทย์เห็นด้วยว่า ควรหยุดการรักษาที่ศูนย์สุขภาพฯ ก่อน และเซ็นเอกสารให้ยกเลิกการรักษา คุณนวลจึงทำหนังสือยกเลิกสัญญาและขอเงินส่วนต่างที่ยังไม่ใช้บริการจำนวน 42,140 บาทคืน แต่ทางศูนย์ฯ โดยพนักงานยึกยักแจ้งว่าสามารถคืนได้เพียง 22,140 บาทเท่านั้น มิเช่นนั้นก็ให้ชวนคนอื่นเข้ามารักษาแทน (โอนสิทธิ) โดยเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย คุณนวลไม่สบายใจ เมื่อไม่อาจตกลงกันได้จึงมาขอคำปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา         เนื่องจากคุณนวลขอยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนเพราะมีเหตุผลด้านสุขภาพ คุณนวลย่อมมีสิทธิได้รับเงินส่วนต่างคืนตามยอดที่ได้ใช้จ่ายไปจริง โดยการเข้าคอร์ส​ครั้ง​นี้​พนักงาน​ได้​เรียก​เก็บ​เงิน​ไป​เป็​นเงินจํานว​น ​59,700 บาท​ ซึ่ง​จะ​ต้อง​ได้​รับ​การ​รักษา​ทั้ง​หมด​ 17 ครั้ง​ เท่ากับเป็นการ​รักษา​ครั้ง​ละ​ 3,512 บาท​ แต่คุณนวลได้รับการ​รักษาไปเพียง 5 ครั้ง​ รวม​เป็น​เงิน​ทั้ง​สิ้น​จํานว​น 17,560 บาท​ ดังนั้นจึง​มี​จํานวน​ส่วน​ต่าง​ที่จะ​ต้องได้คืนคือ ​42,140 บาท         ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แนะนำให้คุณนวลทำหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาและขอคืนเงิน หลังจากที่หนังสือถึงศูนย์สุขภาพ ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ติดต่อไปยังศูนย์สุขภาพโดยช่วยคุณนวลอธิบายเรื่องสิทธิของลูกค้าที่จะได้รับเงินคืนและนัดวันเวลาเพื่อเจรจาเรื่องจำนวนเงินส่วนต่างที่จะต้องคืนให้แก่คุณนวล          ต่อมาทราบจากคุณนวลว่า ศูนย์สุขภาพฯ จะคืนเงินส่วนต่างให้เขาจำนวน 37,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่คุณนวลพอใจจึงขอยุติเรื่องร้องเรียนไป

อ่านเพิ่มเติม >