ฉบับที่ 105 รถเข็นเด็ก: อันตรายจากสารเคมีที่แอบแฝง

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการรายการข่าวหลายช่องได้นำเสนอข่าวอุบัติเหตุสุดช็อคที่เกิดขึ้นในประเทศออสเตรเลีย กรณีที่รถเข็นเด็กไถลจากชานชาลาและคว่ำลงในรางรถไฟจังหวะเดียวกับที่รถไฟวิ่งเข้าชานชาลาพอดี เดชะบุญเด็กน้อยไม่เป็นอะไรมากนอกจากหัวโน เนื่องจากคุณแม่ได้รัดเข็มขัดนิรภัยไว้ทำให้เด็กไม่กระเด็นหลุดออกมานอกรถเข็นขณะโดนกระแทก (ตามข่าววันที่ 16 ตุลาคม 2552)  ไม่ว่าคุณแม่คนดังกล่าวจะเลือกใช้รถเข็นเด็กยี่ห้ออะไร แต่ถือว่ารถเข็นยี่ห้อดังกล่าวใช้ได้ครับ เพราะมีความแข็งแรงมากพอจนสามารถป้องกันเด็กจากอุบัติเหตร้ายแรงได้ พูดถึงเรื่องของรถเข็นเด็ก ในเยอรมนีก็ให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ชนิดนี้เป็นอย่างมาก มีการทดสอบสินค้าประเภทนี้เฉลี่ยแล้วปีละครั้ง แต่ละครั้งที่ทดสอบก็จะพบข้อบกพร่องมากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งทางผู้ทดสอบก็จะแจ้งให้ผู้ผลิตรับทราบ ซึ่งผู้ผลิตของเยอรมนีเองก็ไม่เคยเพิกเฉย และไม่เคยโต้แย้งเกี่ยวกับผลการทดสอบเลยสักครั้ง ทั้งๆ ที่มาตรฐานอุตสาหกรรมการผลิตของเยอรมนีเองก็ขึ้นชื่อว่ามีมาตรการควบคุมและบังคับอย่างเข้มข้น สำหรับเมืองไทยของเรานั้น หากมีการร้องเรียนหรือการแจ้งข้อมูลจากผู้บริโภค/สื่อสารมวลชน ผู้ประกอบการและผู้ผลิตควรมีมาตรการรับผิดชอบหากพบข้อบกพร่องของผลิตภัณฑ์ หากเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งผู้ซื้อซื้อไปไม่เกิน 7 วัน แล้วพบว่าผลิตภัณฑ์นั้นไม่สามารถใช้ได้ เกิดข้อบกพร่องเสียหายซึ่งมาจากการผลิต ก็ควรจะเปลี่ยนสินค้าอันใหม่ให้เลย หลายครั้งที่ผู้เขียนมีประสบการณ์จากเพื่อนฝูง พี่น้องมาปรารภเกี่ยวกับการซื้อสินค้ามาใช้ไม่นานแล้วพบว่าสินค้าดังกล่าวไม่สมบูรณ์ ชิ้นส่วนบางอย่างเสียโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ซื้อเองต้องการจะเปลี่ยนสินค้าเป็นชิ้นใหม่แต่ผู้ขายไม่สามารถเปลี่ยนได้ ทำได้แค่เพียงส่งซ่อมและแก้ไขให้เท่านั้น บางกรณีอ้างว่า ไม่สามารถเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่ได้ เนื่องจากผู้ซื้อไม่ได้ซื้อเงินสด (ใช้บริการผ่อนชำระ 0% ทำให้เสียสิทธิ!!!) ซึ่งการเปลี่ยนสินค้าให้แบบไม่มีเงื่อนไขคงไม่ทำให้ผู้ประกอบการต้องปิดกิจการเพราะโอกาสเกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวนั้นไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ (หากเกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง สินค้าชิ้นนั้นควรได้รับการตรวจสอบ เพราะอาจจะผลิตไม่ได้มาตรฐานจริงๆ) ลองติดตามดูข่าวคราวเกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในบ้านเรายังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องดังกล่าวเลยครับ แต่เรื่องลักษณะนี้ก็มีเกิดขึ้นในสังคมอยู่เป็นประจำ สำหรับผมนั้นก็จะนำข่าวเหล่านี้มาเสนอให้เพื่อนสมาชิกทราบเป็นระยะๆ ครับ และหวังว่าการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจะมีผลต่อความรับผิดขอบของผู้ผลิตในเมืองไทย ตามมาตรฐานสากล สมกับที่ได้ตรามาตรฐาน ISO ซึ่งผู้ผลิตบ้านเราพยายามทำหรือหาวิธีที่จะให้ได้มาซึ่งมาตรฐานนี้ สำหรับมาตรฐานของฝรั่งที่ไม่ได้ออกเป็น ISO แต่เป็นมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ผลิตคือ การรับผิดชอบสินค้าที่ผลิตขึ้นและพบข้อบกพร่อง โดยการรับเปลี่ยนสินค้าแบบไม่มีเงื่อนไข และหากผู้ผลิตจะส่งสินค้าไปยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขจริยธรรมแบบฝรั่งด้วยเช่นกัน ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นในสังคมไทยเมื่อไหร่ คงต้องดูกันต่อไปครับ กลับมาเรื่องของเราดีกว่า ฉบับนี้ผมนำเรื่องผลการทดสอบรถเข็นเด็กของนิตยสาร Test เยอรมนี ฉบับเดือนกันยายน 2552 มานำเสนอครับ ผลการทดสอบพบสารเคมีอันตรายในรถเข็นเด็กถึง 10 ยี่ห้อ จากจำนวนยี่ห้อที่นำมาทดสอบทั้งหมด 14 ยี่ห้อ ชิ้นส่วนที่มีการตรวจพบสารเคมีอันตราย ได้แก่ บริเวณที่จับ (Handle) เข็มขัดนิรภัย เบาะคลุม และที่กันฝน ชิ้นส่วนดังกล่าวมีปริมาณสารเคมีประเภท Plasticizer หรือ Phatalate และ สารเคมีประเภท Polycyclic Aromatic Hydro Carbon (PAHC) สารเคมีกลุ่มดังกล่าวนี้เป็นสารก่อให้เกิดมะเร็ง และทำให้เป็นหมันได้ สารเคมีดังกล่าวถูกตรวจพบในกลุ่มสินค้าหลายอย่าง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและเด็กอ่อน (baby article) ได้แก่ เก้าอี้เสริมของเด็ก เก้าอี้หัดเดิน และเครื่องเขียน เป็นต้น ในการทดสอบครั้งนี้ยังพบสารเคมีอันตรายชนิดอื่นด้วย อาทิ Chlorinated paraffin, สารป้องกันการติดไฟ (flame retardant) สารเคมีกลุ่ม Organozine กลุ่ม Phenol และFormaldehyde ผลการทดสอบสะท้อนให้เห็นว่าผู้ผลิตยังไม่ตระหนักถึงอันตรายที่หลบซ่อนอยู่ในผลิตภัณฑ์ ถึงแม้ว่าสารเคมีที่กล่าวมานี้จะไม่ทำให้เกิดอันตรายแบบปัจจุบันทันด่วน แต่หากสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย ก็จะเกิดการสะสม สามารถส่งผลร้ายต่อสุขภาพของเด็กในอนาคตได้ ดังนั้น ผู้ผลิตควรต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีมาตรฐาน เพื่อให้ปลอดภัยจากสารเคมีอันตรายทั้งหลายเหล่านี้ สำหรับยี่ห้อที่ตรวจพบสารเคมีอันตรายดังกล่าว คุณพ่อคุณแม่สามารถดูได้จากข้อมูลที่เรานำมาลง และหากพบสินค้ายี่ห้อดังกล่าวมีวางจำหน่ายในประเทศไทย ก็ควรจะหลีกเลี่ยงไม่เลือกมาใช้งานและแจ้งมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วยนะครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 103 Electro smog มีผลต่อสุขภาพร่างกายมนุษย์?

จากที่เราได้ทำการทดสอบเตาแม่เหล็กไฟฟ้าและวัดค่าความเข้มของสนามแม่เหล็ก ซึ่งพบว่ามีค่าสูงมาก ประเด็นดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคหลายท่านสนใจว่า สนามแม่เหล็กไฟฟ้า จะมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพของเราอย่างไรบ้าง ขอขยายความเพิ่มเติมเกี่ยวกับสภาวะ อิเลคโตรสมอก (Electrosmog) เพื่อไขข้อข้องใจของทุกๆ ท่านนะครับ หวังว่าจะสามารถช่วยให้ผู้อ่านทุกท่านทราบถึงภาวะความเสี่ยงเมื่ออยู่ภายใต้สนามแม่เหล็ก และจะได้หลีกเลี่ยงสำหรับประเด็นดังกล่าว นักวิชาการทั่วโลกก็ให้ความสนใจและมีการทำการศึกษาวิจัยอยู่ หากมีรายงานความคืบหน้าของผลการวิจัยในเรื่องนี้ ก็จะนำมาเล่าให้ฟังอีกเป็นระยะๆ นะครับ คำว่า อิเลคโตรสมอก (Electro smog) เป็นศัพท์ที่ได้มีการกล่าวอ้างถึงไว้ตั้งแต่ปี 1980 เป็นคำใช้เรียก สนามไฟฟ้า สนามแม่เหล็ก และสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพร่างกายของสิ่งมีชีวิต สำหรับคำว่า smog มาจากศัพท์ภาษาอังกฤษสองคำมาผสมกัน คือ smoke (ควัน) กับ fog (หมอก) มาจากปรากฏการณ์ของอากาศที่เป็นมลภาวะ ซึ่งมนุษย์เราเริ่มเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในยุคอุตสาหกรรม หากเกิดปรากฏการณ์ smog ขึ้นมาเมื่อไหร่ก็แสดงว่า สภาพของอากาศนั้นแย่มากและเป็นพิษต่อมนุษย์ด้วยผลกระทบจากการอยู่ภายใต้สนามไฟฟ้า สนามแม่เหล็ก และสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ที่มีคลื่นความถี่ต่างกัน จะมีอาการแตกต่างกันออกไป เป็นต้นว่า ภายใต้สนามไฟฟ้าหรือคลื่นแม่เหล็กที่มีคลื่นความถี่ต่ำ อาจทำให้มีการระคายเคืองหรือคันที่ผิวหนัง เพราะคลื่นแม่เหล็กสามารถวิ่งผ่านเข้าสู่ร่างกายได้ และหากความเข้มข้นของคลื่นสูงจะไปกระตุ้นเซลล์ประสาทและเซลล์กล้ามเนื้อ ให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้น การเพิ่มของอุณหภูมิขึ้นอยู่กับค่าที่เรียกว่า อัตราการดูดซึมจำเพาะ (Specific Absorption Rate: SAR) ถ้าวัตถุใดมีค่า SAR น้อย หากอยู่ภายใต้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะมีอุณหภูมิต่ำในประเทศเยอรมนีมีกฎหมายควบคุมมลภาวะ (26. BImSchV, Verordnung zur Durchführung des Bundes Immissionsschutzgesetz- Federal Pollution Protection Laws) โดยมีการควบคุมความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ค่าความเข้มข้นที่มากที่สุดไม่ควรจะเกินค่า marginal value (marginal value = ค่าความเข้มข้นของสนามแม่เหล็ก ซึ่งทดสอบแล้วว่าไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์)โดยทั่วไปแล้วขณะที่เราใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน จะเกิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่ของคลื่นไฟฟ้าต่ำ และค่าความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กไม่สูงมากนัก โดยอยู่ต่ำกว่า 100 ไมโครเทสลา ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เครื่องเป่าผมและเครื่องโกนหนวด เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กสูง แต่เนื่องจากเราใช้งานเป็นระยะเวลาสั้นๆ จึงไม่มีผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ สำหรับค่าความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กของเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ภายในบ้าน สามารถตรวจสอบได้จากตารางที่ 1 จะเห็นได้ว่าความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กขึ้นอยู่กับ ระยะห่างระหว่างร่างกายมนุษย์กับเครื่องใช้ไฟฟ้า ยิ่งอยู่ไกล ความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กก็จะลดลงตารางที่ 1 ค่าความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กที่เกิดจากอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ค่าความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน ที่ระยะต่างๆ (ไมโครเทสลา mT) อุปกรณ์ 3 cm 30 cm 1 m วิทยุ (แบบพกกพา) 16-56 1 < 0.01 โทรทัศน์ 2.5- 50 0.04- 2 0.01- 0.15 คอมพิวเตอร์ 0.5- 30 < 0.01 ไม่ระบุ เตาไมโครเวฟ 73- 200 4- 8 0.25- 0.6 เตาไฟฟ้า 1- 50 0.15- 0.5 0.01- 0.04 เครื่องล้างจาน 3.5- 20 0.6- 3 0.07- 0.3 ตู้เย็น 0.5- 1.7 0.01- 0.25 < 0.01 เตารีด 8- 30 0.12- 0.3 0.01- 0.03 เครื่องซักผ้า 0.8- 50 0.15- 3 0.01- 0.15 เครื่องดูดฝุ่น 200- 800 2- 20 0.13- 2 ดรายเป่าผม 6- 2,000 0.01- 7 0.01- 0.3 เครื่องโกนหนวด 15- 5,000 0.08- 9 0.01- 0.3 หลอดไฟฟลูออเสเซนต์ 40- 400 0.5- 2 0.02- 0.25 สว่านไฟฟ้า 400- 800 2- 3.5 0.08- 0.2 ที่มา Radiation Protection Commission of Federal Republic of Germany, 1997เตาไมโครเวฟ มีการแผ่รังสีของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูงออกมา เพื่อทำให้อาหารร้อน โดยปกติแล้วหน้าต่างของเตาไมโครเวฟจะมีตัวกำบังทำให้รังสีไม่รั่วไหลออกมาจากเตาได้แหล่งกำเนิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูง ภายในบ้านคือ โทรศัพท์ไร้สาย (cordless telephone) ขณะที่เรากำลังใช้โทรศัพท์ไร้สายนั้น ตัวฐานของโทรศัพท์จะปล่อยคลื่นสนามแม่เหล็กออกมา ตลอดเวลา เช่นเดียวกับ Baby phone  ก็จะปล่อยสนามแม่เหล็กออกมาได้เช่นกัน (Baby phone  เป็นเครื่องมือรับส่งสัญญาณ คุณพ่อคุณแม่ชาวเยอรมันนิยมใช้เครื่องมีนี้อย่างแพร่หลาย โดยวางเครื่องดังกล่าวไว้ในห้องของลูก เพื่อใช้ฟังเสียงทารกน้อยว่าตื่นหรือหลับ  ช่วยให้พ่อแม่ทำกิจกรรมอื่นๆ ภายในบ้านได้ ไม่ต้องเฝ้าลูกตลอดเวลา) Bluetooth เป็นเครื่องมือที่เชื่อมต่อสัญญาณในระยะสั้นๆ อยู่ในเครื่องมือสื่อสารอิเลคโทรนิคส์ เช่น คอมพิวเตอร์ โน้ตบุค แลปทอป ปาล์มทอป ออร์กาไนเซอร์  พริ้นเตอร์ และสแกนเนอร์  ความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กที่เกิดจาก Bluetooth มีความเข้มข้นน้อยไม่จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันเป็นพิเศษ โทรศัพท์มือถือ ที่ใช้ในเยอรมันต้องผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการกำกับดูแลมลพิษจากการปลดปล่อยรังสี (Strahlenschutzkommission) ซึ่งผู้บริโภคสามารถสังเกตได้จาก ฉลากน้ำเงิน Der blaue Engelในประเทศเยอรมนีมักมีการโฆษณาเกี่ยวกับวัสดุที่สามารถป้องกันสนามแม่เหล็กได้ (Magnetic field protection shield) ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์ที่สามารถนำไฟฟ้าได้ โดยจะต่อสายดินพ่วงเข้าไปด้วย ข้อเท็จจริงคือวัสดุดังกล่าวสามารถป้องกันได้เฉพาะสนามไฟฟ้าความถี่ต่ำเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันสนามแม่เหล็กได้ ทำให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันรังสีแห่งชาติ (The federal office for radiation protection) ออกมาเตือนประชาชนไม่ให้ใช้วิธีการดังกล่าวในการป้องกันสนามแม่เหล็ก TIPS: วิธีป้องกันและหลีกเลี่ยง Electro smog1. ควรเดินสายไฟโดยฝังลงไปในผนังให้ลึกพอสมควร 2.หากไม่ได้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ควรถอดปลั๊กไฟออกไม่ควรปล่อยให้อยู่ใน mode standby โดยเฉพาะทีวี และเครื่องเล่นสเตอริโอ เนื่องจากจะมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านเครื่องตลอดเวลาทำให้เกิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าได้3. มาตรการการป้องกันสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงการอยู่ภายใต้สนามแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นระยะเวลานานๆ โดยเฉพาะในห้องนอน และห้องของเด็กทารก ไม่ควรตั้งนาฬิกาปลุกที่ใช้ไฟฟ้ากระแสสลับ หรือวางโทรศัพท์ไร้สายไว้บนหัวเตียง 4. ไม่ควรให้เด็กเล็กอยู่ใกล้เตาไมโครเวฟขณะกำลังใช้งาน5. หลีกเลี่ยงการใช้ Babyphone ที่มีการส่งสัญญาณตลอดเวลาและติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณให้ไกลจากตัวเด็ก นอกจากนี้ ควรใช้ Babyphone ที่ใช้พลังงานจากถ่านไฟฉาย เพื่อหลีกเลี่ยง สภาวะสนามแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่ต่ำ6. หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นระยะเวลานานๆ ควรรอสัญญาณให้คู่สายรับสัญญาณก่อนที่จะนำโทรศัพท์ไปแนบหู ใช้ Head set หรือส่ง SMS แทนการคุยทางโทรศัพท์ ขณะอยู่ที่บ้านควรใช้โทรศัพท์บ้านแทน วิธีการต่างๆ เหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการอยู่ภายใต้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 102 มีอะไรอยู่บนไข่ ในยุโรป

ช่วง ฉลาด ช้อปดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค บทความฉบับนี้ เกิดจากความซุกซน ของคนชอบกินไข่ บวกกับเรื่องไข่ไก่ปลอมจากเมืองจีน เลยมีเรื่องของไข่ในยุโรปมาฝากครับ ตอนที่ผมเรียนอยู่ในเยอรมนีนั้น ก็มักจะซื้อไข่เก็บไว้ทำอาหารรับประทาน ซึ่งเป็นไข่ไก่ บรรจุอยู่ในกล่องอยู่ 10 ฟอง (คนยุโรปไม่ค่อยรับประทานไข่เป็ด) อาจจะเป็นสีขาว หรือ สีน้ำตาลก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราไปเดินตลาด แล้วเจอไข่สีขาวๆ ฟองโตๆ ให้เราคิดไว้ก่อนเลยว่า เป็นไข่ไก่ คนยุโรปเขาเป็นคนละเอียด แม้แต่ไข่ ซึ่งตามสามัญสำนึกของเรา มันก็ไม่น่าจะไปยุ่งอะไรกับมันมากนัก เขาก็จัดการให้มันพูดกับผู้บริโภคได้ วิธีการก็คือ กำหนดหมายเลขลงบนไข่ โดยตัวเลขจะมีความหมายดังนี้   หมายเลขตัวแรก หมายถึง ไข่ที่ได้จากการเลี้ยงโดยวิธีต่างๆ คือ0 เป็นไข่ที่ได้จากการเลี้ยงแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม Ecology Products 1 ไข่ที่ได้จากการเลี้ยงปล่อย (ในทุ่ง) (Free range egg)2 ไข่ที่ได้จากการเลี้ยงในกรงกว้าง แต่มีบริเวณให้ไก่เดินและบิน ได้บ้าง3 ไข่ที่ได้จากการเลี้ยงในกรงแคบ ซึ่งจัดว่าเป็นการเลี้ยงไก่ ที่จัดว่า ทรมานสัตว์ เนื่องจากไก่ไม่สามารถเดินไปไหนได้เลย นอกจากนอนอุดอู้อยู่ในกรง เพื่อการวางไข่เท่านั้น   หมายเลขโค้ดถัดมา จะบอกถึงประเทศ ? เป็นแหล่งที่มาของไข่ เช่น AT ประเทศออสเตรีย BE ประเทศเบลเยียม DE หมายถึงประเทศเยอรมนี NL ประเทศเนเธอร์แลนด์หมายเลขโค้ด7 หลัก ซึ่งจะบ่งบอกถึงฟาร์มที่ผลิตไข่ โดยหมายเลขสองหลักแรก จะ เป็นรหัสที่ระบุว่ามาจากมลรัฐใด (ประเทศเยอรมนี แบ่งการปกครองออก เป็น 16 รัฐ) สำหรับข้อกำหนดในเรื่องนี้ เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ ปี 2004 เพื่อให้ผู้บริโภคทราบถึงแหล่งที่มาของไข่ที่เป็นอาหารหลัก สามารถเลือกบริโภคได้ตรงตามรสนิยม ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และการไม่สนับสนุนการทรมานสัตว์ ซึ่งทางยุโรปมีกฎหมายคุ้มครองสัตว์ที่เข้มงวด และเพื่อเป็นการป้องกัน ผู้บริโภคที่สูงอายุ จากการติดเชื้ออาหารเป็นพิษ อันมีสาเหตุจากการบริโภคไข่ไก่ โดยเฉพาะหากไข่ไก่ไม่สุก การติดหมายเลขบนไข่นั้น จะช่วยให้ผู้บริโภค สามารถเลือกไข่อย่างมั่นใจได้ว่ามาจากฟาร์มเลี้ยงที่ปลอดภัย แต่การที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในตลาดบ้านเรานั้น ยังอาจเป็นเรื่องของอนาคตครับ เพราะยังมีเรื่องเร่งด่วนพื้นฐานอีกหลายเรื่อง เช่น ตารางการเดินรถโดยสารประจำทาง ที่บอกเวลาของรถแต่ละสาย ที่ป้ายรถเมล์ที่จะต้องมีการปรับปรุงขนานใหญ่ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบและสามารถเลือกได้อย่างอิสระจริงๆ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

เป้สะพายหลังสำหรับเด็กเล็ก:การฝึกและวิธีการสะพายที่ถูกต้อง

ช่วงฉลาดช้อปดร.ไพบูลย์ ช่วงทองมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคถึงวันเปิดเทอมใหม่ เด็กๆ ก็ต้องสะพายเป้ใส่ของไปโรงเรียน เด็กเล็กๆ บางคนสะพายเป้ใบใหญ่กว่าตัวมาก แถมยังแบกสัมภาระมหึมาไปโรงเรียนทุกวัน ซึ่งการแบกน้ำหนักมากๆ มีผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กเหมือนกัน เพราะฉะนั้นผู้ปกครองทุกคนต้องให้ความสนใจในการเลือกเป้สำหรับบรรจุข้าวของต่างๆ ของลูกน้อยเป็นพิเศษ  ในบางกรณีผู้ปกครองจำเป็นต้องเลือกใช้เป้ของโรงเรียน ซึ่งอาจยังไม่ได้คำนึงถึงการยศาสตร์ ในการออกแบบสำหรับเด็กเล็กเท่าไรนัก วิธีการหนึ่งที่ผู้ปกครองสามารถทำได้คือ การฝึกเด็กให้สะพายเป้ให้ถูกต้องนั่นเอง วันนี้ผมขอนำวิธีการฝึกสะพายเป้ให้ถูกต้องตามหลักการทางออร์โธเปดิกส์มาฝาก ซึ่งหากเด็กสามารถสะพายเป้ได้อย่างถูกต้อง จะส่งผลต่อชีวิตของเด็กในอนาคตเองเลยทีเดียว เพราะการสะพายเป้ที่ไม่ถูกต้องนั้นจะทำให้มีผลกระทบต่อกระดูกสันหลังของเด็ก เพราะกระดูกสันหลังของเด็กในวัยนี้ยังไม่แข็งแรง เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย และอาจนำไปสู่การเจริญเติบโตที่ผิดรูปร่างได้หากต้องรับน้ำหนักมากเกินไปน้ำหนักของเป้พ่อแม่ผู้ปกครองควรแนะนำให้เด็กจัดกระเป๋าทุกวัน และควรจัดกระเป๋าโดยใส่ของที่ต้องการใช้วันต่อวัน เพื่อป้องกันมิให้เด็กแบกน้ำหนักมากเกินไป เมื่อใส่ของลงไปแล้วไม่ควรมีน้ำหนักเกิน 10- 12 % ของน้ำหนักตัวเด็ก นอกจากนี้ควรจัดสิ่งของต่างๆ ให้น้ำหนักกระจายอย่างสม่ำเสมอตามสายสะพายทั้งสองข้าง อย่าให้ข้างใดข้างหนึ่งหนักเกินไป ในการจัดของลงในเป้นั้น ถ้าเป็นหนังสือที่มีน้ำหนักมาก ควรใส่ลงให้แนบชิดบริเวณหลังและไหล่ของเด็ก ของที่มีน้ำหนักเบาๆ เช่น สมุดหรือกล่องดินสอควรใส่บริเวณด้านหน้าของเป้ ตามรูปที่ 1การฝึกการยืนการฝึกการยืนจะช่วยให้ร่างกายของเด็กรับน้ำหนักได้ดีขึ้น วิธีการคือ แยกปลายเท้าออกจากกันเล็กน้อย ปล่อยเข่าตามสบายไม่เกร็ง และลำตัวตั้งตรง (รูปที่ 2) พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือครูควรฝึกการยืนร่วมกันกับเด็ก เพื่อให้เด็กเข้าใจและสามารถนำไปปฎิบัติได้จริง การสะพายเป้การสะพายเป้ที่ถูกต้อง คือ การสะพายบนไหล่ทั้งสองข้าง ไม่ควรสะพายเป้ด้วยไหล่ข้างใดข้างหนึ่ง เด็กๆ ต้องฝึกให้ชินกับการสะพายด้วยไหล่ทั้งสองข้าง ขนาดของเป้ก็มีความสำคัญเช่นกัน เป้ที่เหมาะสมควรมีขนาดแนบพอดีกับหลังเด็กและความยาวของเป้ไม่ควรเกินเอวด้านล่างของเด็ก ด้านหลังของเป้ต้องแนบกับแผ่นหลังของเด็ก (รูปที่ 2)  เมื่อเด็กจะหิ้วหรือวางเป้ลง ควรใช้โต๊ะ เก้าอี้ ช่วยซึ่งจะป้องกันกระดูกสันหลังของเด็กให้ปลอดภัยได้มากกว่าการต้องก้มหรือโค้งตัวลงไป ซึ่งจะทำให้มีน้ำหนักกดทับที่กระดูกสันหลังสูงมาก เพราะฉะนั้นทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ควรหาโต๊ะที่เหมาะกับความสูงของเด็ก เพื่อให้เด็กสะพายเป้หรือวางเป้ลง (รูป ที่ 3) เมื่อเด็กสะพายเป้ ควรใช้มือทั้งสองช่วยประคองน้ำหนักด้วย และเมื่อเด็กเจอสิ่งกีดขวางหรือ เดินขึ้นบันได ควรโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย เพื่อให้รักษาสมดุลในการเดินและป้องกันไม่ให้เด็กหกล้มอีกด้วย (รูปที่ 4) การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเด็กการฝึกกล้ามเนื้อที่ใช้ในการสะพายให้แข็งแรง สามารถเพิ่มความปลอดภัยให้เด็กขณะสะพายเป้ได้ วิธีการฝึกที่ดีอย่างหนึ่งคือ การให้เด็กได้เดินเล่นบ้างหลังจากที่ต้องนั่งเรียนเป็นเวลานานๆ การเดินจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อท้อง หลัง และก้นแข็งแรง นอกจากนี้ ก็ยังมีท่าฝึกเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น รูปที่ 5 เป็นท่าที่ฝึกให้เด็กรักษาสมดุล และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อก้นและกล้ามเนื้อขา รูปที่ 6 ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณหลัง   และรูปที่ 7 แสดงการฝึกความแข็งแรงของกล้ามท้อง   TIP! เคล็ดลับที่สำคัญในการฝึกกล้ามเนื้อให้แข็งแรง คือ ทั้งพ่อแม่ หรือ คุณครู ควรร่วมฝึกกับเด็กด้วย วิธีนี้จะช่วยให้เด็กจดจำได้เร็วขึ้นและสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง (ที่มา วารสาร Test ฉบับเดือนสิงหาคม 2008)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 หลอดไฟประหยัดพลังงาน

ช่วงฉลาดช้อปดร.ไพบูลย์ ช่วงทองมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค  ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันสงกรานต์ที่ผ่านมาครับ ความแตกแยกทางความคิดในสังคมไทยเกือบกลายมาเป็นสงครามกลางเมือง แต่ยังโชคดีที่ไม่มีการสูญเสียชีวิตประชาชนมากเหมือนกับการขัดแย้งในอดีต นับว่าเป็นวิวัฒนาการของสังคมไทยที่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งไปในทิศทางที่ดีขึ้น วันนี้ขอเล่าเรื่องเบาๆ เกี่ยวกับหลอดไฟประหยัดพลังงาน ว่ามีหลักการทำงานอย่างไร ตลอดจนประเภทของหลอดไฟ และการเลือกหลอดไฟให้เหมาะกับการใช้งานภายในบ้าน ซึ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคทุกคนในการเลือกซื้อหลอดไฟฟ้าครั้งต่อไปครับ หลักการทำงานของหลอดประหยัดพลังงาน (หลอดตะเกียบ)หลอดไฟฟ้าประหยัดพลังงานโดยทั่วไปใช้กับความต่างศักย์ ขนาด 230 โวลต์ เมื่อกดสวิตช์เพื่อเปิดไฟ ความต่างศักย์ที่สตาร์เตอร์ (Starter) จุดติดอยู่ระหว่าง 250 โวลต์- 450 โวลต์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวจ่ายกระแสไฟฟ้า (Glow discharge) เมื่อกระแสไฟไหลผ่านวงจรผ่านขั้วบวกและขั้วลบที่มีแท่งโลหะ (Bimetal) ต่อเชื่อมอยู่ เมื่อกระแสไฟไหผ่านขั้วทั้งสองแล้ว จะเกิดการไหลของกระแสไฟภายใต้ความต่างศักย์ที่สูงขึ้น ส่งผลให้ขดลวดที่ทำมาจากโลหะทังสเตนปล่อยอิเลคตรอนวิ่งไปชนกับอะตอมของก๊าซในหลอดไฟ (Impact ionization) ทำให้อะตอมของก๊าซเกิดปฎิกริยาไอออนไนเซชัน (เกิดเป็นอนุภาคของก๊าซที่มีขั้ว) เมื่ออนุภาคที่มีขั้วดังกล่าววิ่งไปชนกับสารเรืองแสง (Luminescent substance) ก็จะเกิดเป็นสเปคตรัมหรือแสง ที่เรามองเห็นนั่นเอง อายุการใช้งานจากผลการทดสอบของนิตยสาร TEST ของเยอรมันนี สามารถบอกได้เลยว่า หลอดตะเกียบมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าหลอดไส้ โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 6,000 – 15,000 ชั่วโมง ขณะที่หลอดไส้มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 1,000 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังพบว่า ความสว่างของหลอดไฟจะลดลงตามอายุการใช้งานที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 15- 40 % (เป็นสินค้าที่น่าทดสอบเปรียบเทียบเป็นอย่างมาก นอกจากการประหยัดไฟฟ้าแล้ว ความสว่างที่ลดลงตามอายุการใช้งานของแต่ละยี่ห้อนั้นเป็นอย่างไร)อย่างไรก็ตามอายุการใช้งานจริงมักจะน้อยกว่าตามที่ฉลากบอกไว้ รวมไปถึงรายละเอียดอื่น เช่น กำลังไฟฟ้าด้วย (ไม่ทราบว่ากรณีดังกล่าวเข้าข่ายติดฉลากลวงหรือไม่ เนื่องจากในต่างประเทศ เช่น เยอรมนีการติดฉลากไม่ตรงตามความเป็นจริงถือว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค นอกจากเรื่องการติดฉลากลวงแล้ว ยังมีเรื่องบรรจุลวงด้วย ซึ่งหากบรรรจุสินค้าโดยใช้หีบห่อที่มีขนาดใหญ่กว่าสินค้ามากๆ เพื่อทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าสินค้ามีขนาดใหญ่ สำหรับปัญหาเรื่องการบรรจุลวงนี้ ไม่มีกฏหมายรองรับ แต่แสดงให้เห็นถึงคุณธรรม จริยธรรมและการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิตและผู้ประกอบการ)หลอดประหยัดไฟช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม?ในเชิงอนุรักษ์ทรัพยากร เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างหลอดธรรมดากับหลอดประหยัดพลังงาน หลอดประหยัดพลังงานสามารถช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่า 80 % หมายความว่า การใช้พลังงานไฟฟ้าของหลอดประหยัดไฟ 1 หลอดเทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าของหลอดไส้ 5 หลอด โดยที่ความสว่างของหลอดไฟเท่ากัน สาเหตุที่หลอดประหยัดไฟใช้พลังงานน้อยกว่าหลอดไฟแบบไส้ เพราะหลอดประหยัดไฟสามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานแสงสว่างได้มากถึง 25 % ขณะที่หลอดไฟแบบไส้จะเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานแสงสว่างได้เพียง 5 % พลังงานที่สูญเสียจะเปลี่ยนเป็นความร้อนประเภทของหลอดไฟประหยัดพลังงานหลอดประเภท Warm white แสงที่ได้จากหลอดไฟประเภทนี้เป็นสีขาว ซึ่งเป็นสีหรือแสงจากสารเรืองแสง อุณหภูมิของสี (Color temperature) มีค่า 2,700 เคลวิน อุณหภูมิของสีเป็นตัวที่บอกถึงอัตราของสีที่ผสมในแสงไฟ แสงสีน้ำเงินเป็นแสงที่มีค่า Color temperature สูง และแสงสีแดงมีค่า Color temperature ต่ำ ค่า Color temperature นี้สามารถดูได้จากกล่องบรรจุ สำหรับหลอดไฟประเภท Warm white เหมาะจะใช้ในห้องนอนและห้องนั่งเล่น เป็นที่ชื่นชอบของคนที่อยู่ในภูมิภาคที่มีอากาศหนาวเย็น เช่น ยุโรป และอเมริกาเหนือ เพราะให้ความรู้สึกอบอุ่นและไม่สว่างจ้าเกินไป หลอดประเภท Day light ให้แสงไฟที่คล้ายกับแสงแดดธรรมชาติ ค่า Color temperature ของหลอด ไฟประเภทนี้มากกว่า 5,000 เคลวิน คนที่อยู่ในภูมิภาคที่อบอุ่น เช่น คนแถวยุโรปใต้ รวมทั้งคนไทยมักนิยมใช้หลอดไฟประเภทนี้ ข้อดีของหลอดไฟประเภทนี้คือ ใช้เป็นแหล่งกำเนิดแสงสว่างในห้องหรือบนโต๊ะทำงานได้ดีกว่า เพราะให้แสงสว่างที่ใกล้เคียงกับแสงธรรมชาติมากที่สุด มีผลต่อการทำงานของมนุษย์คือ ทำให้มนุษย์ทำงานได้ดี และทำให้ไม่ง่วง การจัดการขยะที่เกิดจากหลอดประหยัดไฟเมื่อหลอดไฟสิ้นอายุการใช้งานแล้ว วิธีการกำจัดหรือจัดการกับขยะประเภทนี้ ไม่ควรทิ้งรวมกับขยะปกติ เนื่องจากหลอดไฟประหยัดพลังงานมีสารปรอทเคลือบเป็นสารเรืองแสงที่หลอดด้านใน โดยเฉลี่ยสูงถึง 7 มิลลิกรัม ปรอทเป็นโลหะที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต หากสารปรอทไปปนเปื้อนกับน้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำหรับบริโภคอุปโภคของประชาชน  การกำจัดและจัดการขยะที่เป็นพิษควรทำด้วยความระมัดระวัง โดยที่หน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรหามาตรการและวิธีการจัดการตลอดจนให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกกับประชาชน อย่างเช่นประชาชนในยุโรป เขาตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการจัดการขยะที่เป็นพิษ ไม่ใช่เพราะว่ามีกฎหมายบังคับในเรื่องดังกล่าว แต่เกิดจากความรู้สึกสำนึกในด้านการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ประชาชนให้ความร่วมมือในเรื่องการแยกขยะที่เป็นพิษ โดยการนำไปคืนให้กับผู้ผลิต ผู้ขาย ซึ่งผู้ผลิตหรือผู้ขายก็ต้องรับผิดชอบในการกำจัดขยะพิเศษนี้อีกทีหนึ่ง ภายใต้การควบคุมดูแลของภาครัฐและการจับตามองหรือเฝ้าระวังขององค์กรภาคประชาชน แหล่งข้อมูลอ้างอิง[1] เวปไซต์ http://www.energiespar-lampen.de[2] วารสาร Test NO. 3 March, 2008

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 ช้อปนม(สด) แบบเยอรมัน

ช่วง ฉลาด ช้อปดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคบทความในคราวนี้ขอให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับนมสดที่เป็นข่าวอื้อฉาวกรณีนมโรงเรียนที่ด้อยคุณภาพและอาจจะเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยด้วยนั้น ซึ่งมีหลายๆ องค์กรเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ (แต่ยังหาคนรับผิดชอบไม่ได้) เลยขอเกาะกระแสเรื่องนม หาข้อมูลมาเพิ่มเติมในประเด็นของตัวสินค้าที่น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อนมสดได้บ้าง  การแบ่งประเภทของนมนมดิบ เป็นนมที่ได้จากการรีดและผ่านกรรมวิธีการกรอง เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิต่ำ ทำให้สามารถเก็บรักษาวิตามินและกรดไขมันธรรมชาติ ซึ่งจะมีค่าระหว่าง 3.8- 4.2 % นมดิบจะจำหน่ายให้แก่โรงงานเพื่อผลิตเป็นนมสดต่อไป และจะถูกควบคุมคุณภาพและมาตรฐานอย่างเข้มงวด (ของเยอรมันนะครับ) นมดิบเป็นนมที่มีคุณค่าสูงที่สุด แต่นมดิบจะมีจุลินทรีย์ก่อโรคปนเปื้อนอยู่ในนมดิบด้วยเช่นกัน จึงไม่ควรดื่มนมสดจากเต้าหรือนมดิบ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะนำนมดิบมาบริโภคได้จึงต้องผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโดยใช้ความร้อน อย่างไรก็ตามผู้บริโภคควรทราบว่า นมที่ผ่านความร้อนแล้วนั้นคุณค่าจะยิ่งลดลงไป ยิ่งถ้าความร้อนสูงมากเท่าไร คุณค่าของนมจะลดลงมากเท่านั้น ดังนั้นในกระบวนการผลิตนมสด อาจใช้ความร้อนที่สูงมากแต่จะใช้เวลาที่สั้นมากๆ เช่นกัน  ในทางกลับกัน หากใช้ความร้อนที่น้อยเกินไป อาจจะไม่สามารถกำจัดแบคทีเรียก่อโรคบางชนิดได้ ดังนั้นการใช้ความร้อนที่ต่ำแม้ว่าจะเป็นผลดีต่อคุณภาพของน้ำนม แต่ต้องใช้เวลาต้มที่นานขึ้น นมที่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ คือนมที่ฆ่าเชื้อแล้วโดยวิธีการผ่านความร้อนที่อุณหภูมิระหว่าง 72- 75 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 15- 30 วินาที นมประเภทนี้คือนมที่บรรจุในถุงหรือขวดพลาสติก หรือกล่องแบบมีฝาเกลียวปิด กระบวนการพาสเจอร์ไรซ์สามารถกำจัดจุลินทรีย์ที่อาจก่อให้เกิดโรคต่อผู้บริโภคได้ นมสดพาสเจอร์ไรซ์สามารถเก็บรักษาภายใต้อุณหภูมิต่ำได้นานถึง 8 วัน แต่ข้อเสียของกระบวนการนี้คือคุณค่านมจะลดลงไป วิตามินที่อยู่ในน้ำนมจะสูญเสียไปถึง 10 % ส่วนนมสดที่อยู่ในหม้อต้มขายตามรถเข็นหรือ ร้านนมสดต่างๆ นั้น จะมีคุณค่ามากกว่าเนื่องจากจะใช้ความร้อนในระดับที่ต่ำแต่เป็นเวลานาน (ต้มไปเรื่อยๆ)  นมประเภท ESL: Extended Shelf Life เป็นนมที่มีรสชาติเหมือนกับนมพาสเจอร์ไรซ์ และมีคุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกับนมพลาสเจอร์ไรซ์ แต่สามารถเก็บได้นานกว่าถึง 3 อาทิตย์ กระบวนการผลิตนมชนิดนี้ คือให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 127 องศาเซลเซียสนาน 2-3 วินาที นมประเภทนี้เรียกว่า นมยืนหรือนมยาวก็ได้ เพราะมีอายุในการเก็บรักษายาวนาน (long life fresh milk) นม ยูเอชที (UHT: Ultra High Temperature) เป็นนมที่สามารถเก็บไว้ได้นาน เพราะผ่านความร้อนสูงที่อุณหภูมิ 135 องศาเซลเซียส ใช้เวลาสั้นมากคือ 1-2 วินาทีเท่านั้น นมยูเอชทีเป็นนมที่บรรจุกล่องวางขายทั่วไป ซึ่งจะสามารถเก็บได้โดยไม่ต้องใส่ตู้เย็นเป็นเวลานาน แต่นมประเภทนี้จะมีคุณค่าทางอาหารน้อยกว่านมประเภทอื่นที่ได้กล่าวมาในที่นี้เนื่องจากผ่านความร้อนสูงมากกระบวนการโฮโมจีไนเซชัน (Homogenization) นมสดทุกประเภทที่กล่าวมาแล้วจะผ่านกระบวนการนี้ เพื่อให้ไขมันที่อยู่ในน้ำนมกระจายตัวออกไปทั่วๆ โดยจะอัดน้ำนมผ่านหัวฉีดเล็กๆ จนทำให้ไขมันแตกตัวเป็นก้อนกลมเล็กๆ และด้วยวิธีการนี้ทำให้นมไม่จับตัวเป็นครีมที่ผิว แต่มีสมาคมผู้ค้านมบางรายในประเทศเยอรมันนีที่ตระหนักถึงสุขภาพของผู้บริโภคมักปฏิเสธกระบวนการนี้ เพราะการไปเปลี่ยนสภาพการกระจายตัวของไขมันและโปรตีนในนม ซึ่งอาจไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้จากการบริโภคนม น้ำนมจากวัวในทุ่งหญ้า (Milk form grazing cattle) ถือว่าเป็นนมชั้นดี ตามค่านิยมของชาวยุโรปที่มีวัฒนธรรมการบริโภคนมมายาวนาน เป็นน้ำนมที่รีดได้จากวัวที่เลี้ยงตามทุ่งหญ้าธรรมชาติ และถ้าติดยี่ห้อว่าเป็น Alpen Milk (นมที่ได้จากเทือกเขาแอลป์) ก็จะเป็นนมสดระดับไฮโซทีเดียว (ผมเคยลองดื่มดูแล้วรสชาติก็ใช้ได้ แต่ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรมากนักจากนมสดทั่วไปในตลาด) แต่ปัจจุบันนี้วัวส่วนมากไม่ได้กินแต่หญ้าอ่อนอย่างเดียว เกษตรกรมักให้กินอาหารเสริมและข้าวโพด ซึ่งไปกระตุ้นให้แม่วัวผลิตน้ำนมปริมาณมากขึ้น แน่นอนว่าการผลิตนมด้วยวิธีให้อาหารเสริมนี้ มีผลต่อคุณภาพของน้ำนมเช่นกัน นมโรงเรียนกรณีของนมโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานและคุณภาพนั้น สมควรที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องแสดงความรับผิดชอบมากกว่านี้ อย่างน้อยที่สุดเจ้าของหรือผู้ผลิตและจำหน่ายนมจะต้องออกมาแถลงข่าวชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นให้สังคมรับทราบ เพราะพระราชบัญญัติความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้แล้วนะครับ (ที่มา: วารสาร Test ฉบับ 11 ปี 2007)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีอันตราย และบทบาทของภาครัฐในการคุ้มครองผู้บริโภค (2)

ช่วง ฉลาด ช้อปดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค บทความในฉบับนี้ มาว่ากันต่อเรื่องผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีอันตราย ปนเปื้อนซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันแทบทุกวัน ดูว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในบ้าน มีผลิตภัณฑ์อะไรบ้างที่เราควรระมัดระวัง  ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายจานชามที่ทำมาจากพลาสติก จานชามประเภทนี้จะพบสาร Bisphenol A สารเคมีตัวนี้มีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และจะทำให้เกิดความผิดปรกติทางพฤติกรรม (Behavioral disorder) อีกด้วย สารตัวนี้สามารถปนเข้ามากับอาหารที่เรารับประทานเข้าไป หากใช้ภาชนะพลาสติกที่มีสารดังกล่าวอุ่นอาหารด้วยไมโครเวฟ เพราะฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะพลาสติก โดยใช้ภาชนะที่ทำจากกระเบื้อง เซรามิกส์ หรือแก้วแทนพลาสติกคลุมโต๊ะรับประทานอาหารที่ทำจาก พีวีซี (PVC: Poly Vinyl Chloride) สินค้าตัวนี้มีสารพลาสติไซเซอร์ (Plastisizer) ผสมอยู่ด้วย อันตรายของสารเคมีดังกล่าว คือ อาจก่อให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากและทำให้ปริมาณของเชื้ออสุจิลดลงครีมทาผิวและโลชั่น ต้องระวังที่มีส่วนผสมของพลาสติไซเซอร์ (Plastisizer) และกลิ่นมัสค์สังเคราะห์ (Musk Fragrance) ทำให้ผิวหนังเป็นผื่นและเกิดอาการคันจากการแพ้ได้ เวลาเลือกซื้อครีมทาผิวควรอ่านที่ฉลากดูว่าส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์มีสารเคมีเหล่านี้อยู่หรือไม่ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปลอดจากสารเหล่านี้ โดยเฉพาะคนที่เป็นภูมิแพ้ บทบาทของภาครัฐในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อความปลอดภัยจากสารเคมีฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงตัวอย่างองค์กรเอกชนและบทบาทในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในยุโรปไปแล้ว ฉบับนี้ ขอยกตัวอย่างบทบาทภาครัฐโดยเฉพาะของสหภาพยุโรปในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคกันบ้าง เป็นที่ทราบกันแล้วว่า สหภาพยุโรป (EU) มีคณะกรรมการที่ดูแลด้านการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะนโยบายด้านการใช้สารเคมีในการผลิตสินค้า ที่ปัจจุบันมีสารเคมีที่ใช้ประมาณ 70,000 ชนิด และกว่า 70% ของสารเคมีนั้น ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของมนุษย์ แต่กลับไม่มีข้อมูลในด้านผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งสารเคมีดังกล่าว มีการตรวจพบในเสื้อผ้าจากใยสังเคราะห์ จอคอมพิวเตอร์ และเครื่องมือทางการแพทย์ ดังที่เคยเขียนเล่าให้เพื่อนๆ สมาชิกทราบไปแล้ว สาเหตุที่ทางกรรมการดูแลทางด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (EU commissioner for consumer protection) และองค์กรภาคประชาชนต้องให้ความสนใจในเรื่องนี้ เนื่องจากตามสถิติ พบว่าคู่สามีภรรยามากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถมีบุตรได้เพราะได้รับสารเคมีอันตราย ที่มีผลต่อระบบการสืบพันธุ์ ทำให้ระบบการสืบพันธุ์บกพร่อง มีเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้น คนงานในยุโรปกว่า 23% ป่วยเป็นโรคมะเร็ง เพราะเกิดจากการทำงานในโรงงานที่มีสารเคมีอันตรายเป็นเวลานาน จึงต้องหามาตรการในการป้องกันปัญหาดังกล่าว นโยบายการควบคุมสารเคมีอันตราย (REACH)ขณะนี้สหภาพยุโรปจะผลักดันมาตรการที่สำคัญ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจาณาร่างกฎหมายที่จะออกบังคับใช้ คือ การบันทึกเก็บข้อมูล (Registration) การตรวจสอบ (Evaluation) และการออกใบอนุญาต (Authorization of Chemicals) ซึ่งมีชื่อย่อว่า REACH โดยภายในระยะเวลา 10 ปี สหภาพยุโรปจะทำการศึกษาสารเคมีกว่า 30,000 ชนิด ว่ามีผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะหาสารเคมีทดแทนสารเคมีที่เป็นอันตราย หรือสามารถจัดการและควบคุมการใช้สารเคมีเหล่านี้ได้ดีขึ้น เนื้อหาสาระของ REACH คือ สารเคมีต้องถูกตรวจและทดสอบถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะออกสู่ตลาด และถ้าสารเคมีใดก็ตามที่วางอยู่ในตลาดแล้ว ก็สามารถทำการทดสอบย้อนกลับไปได้อีกด้วย หากผู้ผลิตสารเคมีละเลยในการกระทำตามมาตรการดังกล่าว จะโดนอาญัติสินค้าไม่ให้จำหน่าย นอกจากนี้ในปี 2009 ผู้ผลิตและผู้ขายจะต้องให้ข้อมูลกับลูกค้า ว่าสินค้าของผู้ผลิตนั้นมีสารเคมีที่เป็นพิษ ปนเปื้อนหรือผสมมาในสินค้าหรือเปล่า ซึ่งผู้ผลิตจะต้องตอบและให้ข้อมูลกับลูกค้าภายใน 45 วัน โดยถือเป็นบริการของผู้ผลิตและไม่สามารถไปเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากลูกค้าได้ มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลเพิ่มเติม ในด้านความปลอดภัยจากสารเคมี และจากมาตรการนี้จะมีผลทำให้งบประมาณทางด้านการสาธารณสุข โดยเฉพาะงบประมาณที่ใช้ในการเยียวยารักษาคนป่วย และผู้บริโภค ลดลง จากการประมาณของสหภาพยุโรป เมื่อมาตรการ REACH ออกเป็นกฏหมายบังคับใช้แล้วจะสามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 50,000 ล้านยูโร ภายในระยะเวลา 30 ปี แต่ที่สำคัญก็คือ สุขภาพและสวัสดิภาพภาพของประชาชนในยุโรปที่ไม่สามารถวัดเป็นตัวเงินได้นั้น จะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล และกฏหมายนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้ขายที่ไม่ได้อยู่ในยุโรปด้วย เพราะสินค้าที่จะนำไปขายในยุโรปทุกชนิดจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 อาเซียนกับการคุ้มครองผู้บริโภค ฝันไกลที่ต้องไปให้ถึง

    การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือที่คุ้นกันในชื่อ เออีซี (Asean Economic Community) สร้างโอกาสมากมายให้กับประเทศในอาเซียนที่ช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างกันให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน และสินค้า-บริการระหว่างกัน    ทว่า โอกาสมักมาพร้อมความท้าทาย ในมิติสิทธิผู้บริโภค เออีซีนำปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคต้องหันมาให้ความสนใจ ลองนึกดูว่าถ้าสินค้าที่ผลิตในอาเซียนถูกส่งเข้าไปขายในอาเซียนด้วยกัน หากสินค้ามีปัญหาจะมีกลไกอะไรที่จะช่วยคุ้มครองดูแลผู้บริโภคใน 10 ประเทศได้ แล้วถ้าสินค้านั้นเป็นสินค้าประเภทอาหารหรือยา ผลกระทบก็จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่จะต้องให้ความสนใจกับเรื่องนี้ และติดตามการทำงานของภาครัฐในการดูแลสิทธิของผู้บริโภค    เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับอาเซียนขึ้น เท่าที่ปรากฏขณะนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 องค์กรหลักคือ สภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนหรือเอสอีเอซีซี (SEACC: Southeast Asian Consumer Council) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของภาคประชาชนในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม และไทย ที่จะคอยเกาะติดประเด็นสิทธิผู้บริโภค คู่ขนานไปกับอีกองค์กรหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลของประเทศในอาเซียนที่เรียกว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของอาเซียน หรือ เอซีซีพี (ACCP : ASEAN Committee on Consumer Protection) โดยในส่วนของประเทศสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะทำหน้าที่เป็นผู้แทนในเอซีซีพีถามว่าเอซีซีพีมีภารกิจอะไร คำตอบคือ เพื่อคอยประสานงานด้านการดำเนินการและกำกับติดตามการจัดทำกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับภูมิภาค ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องการความร่วมมือร่วมใจและใส่ใจเป็นพิเศษ ยุทธศาสตร์ของอาเซียน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคƒ    อุฬาร จิ๋วเจริญ ผู้อำนวยการส่วนประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้ทาง ACCP ได้มีการร่างแผนยุทธศาสตร์ขึ้นมา โดยส่งร่างเข้าไปยังที่ประชุมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมียุทธศาสตร์ที่สำคัญด้วยกัน 4 ประการเรียกว่า แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ของอาเซียน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2559-2568 ตามแผนนี้กำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินการตามแผนปฏิบัติการทั้งหมด 4 ด้านยุทธศาสตร์ที่ 1 คือการจัดทำกรอบการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของอาเซียน ให้มีการกำหนดหลักการขั้นสูงด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หมายถึง การยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นระดับสากล ซึ่งจะต้องมีการทบทวนกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศสมาชิก และเมื่อพอทบทวนเสร็จจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายของประเทศภายในสมาชิกให้เป็นสากลยุทธศาสตร์ที่ 2 การคุ้มครองและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้บริโภคในระดับสูง ยุทธศาสตร์นี้จะพูดในเรื่องของการส่งเสริม เช่น การให้ความรู้แก่ผู้บริโภคผ่านการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ออนไลน์สำหรับผู้บริโภค และต้องมีการนำเสนอประเด็นข้อกังวลของผู้บริโภคต่อองค์กรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาครัฐ เอ็นจีโอยุทธศาสตร์ที่ 3 สนับสนุนให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อหลักประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและทำธุรกรรมข้ามพรมแดน วิธีการก็คือส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนผ่านการตั้งกลไกการหารือและการพัฒนาชุดเครื่องมือข้อมูลข่าวสาร มีการบังคับใช้กฎมายอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัยของสินค้าต่างๆ มีการจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยหรือที่เรียกว่า Alert System ขึ้นมา ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบูรณาการนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในอาเซียน การส่งเสริมให้มีการประสานกันในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคกับส่วนอื่นๆ เช่น ประเด็นการแข่งขันทางการค้า E-Commerce และจะต้องมีการพัฒนาดัชนีการเพิ่มขึ้นของความเข้มแข็งและประสิทธิภาพของผู้บริโภคในอาเซียน มีการพัฒนากลไกการประเมินผลกระทบด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีต่อผู้บริโภคเหล่านี้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ที่กำลังจะจบลงในปีนี้ ที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมในสังคมว่า จะต้องพัฒนามาตรฐานระบบการคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศและรองรับการเคลื่อนย้ายสินค้าบริการและข้อมูลข่าวสารอย่างเสรีในประชาคมอาเซียน การเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎระเบียบด้านมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการ การปรับปรุงกฎหมายระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง โดยครอบคลุมถึงคุณภาพการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐ การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับสิทธิและการคุ้มครองสิทธิ รวมถึงช่องทางการรับข้อร้องเรียน พร้อมทั้งปรับปรุงกลไกเฝ้าระวังคุณภาพมาตรฐานการตรวจสอบและติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการ จากการร้องเรียน การเพิ่มสมรรถนะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค สร้างความตระหนักของ ผู้บริโภคในการรักษาสิทธิและดูแลผลกระทบจากการใช้สินค้าและบริการ ควบคู่ไปกับการกระตุ้น จิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจเอกชนสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียน การผนึกกำลังของภาคประชาสังคมสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อธิบายเพิ่มเติมว่า“แต่เนื่องจากการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยและในอาเซียนมีการแยกส่วน ตัว สคบ. หรือเอซีซีพีดูเฉพาะเรื่องสินค้าปลอดภัยหรือความร่วมมือในบางเรื่อง แต่ก็มีกรรมการเฉพาะด้าน เช่น กรณีอาหารเสริมหมามุ่ย มีคณะกรรมการที่เรียกว่า Traditional Medicine and Health Product ซึ่งกรรมการชุดนี้จะดูเรื่องยาสมุนไพร ซึ่งก็ไปกำหนดกติกาอีกที ทำแนวทางเรื่องยา เครื่องสำอาง คือ เขาจะมีกรรมการเฉพาะในบางด้านอีกต่างหาก ไม่ได้หมายความว่าเอซีซีพีดูทุกเรื่อง ซึ่งก็คล้ายๆ กับบริบทในประเทศ เพราะแต่ละที่ก็จะมีเหมือน อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ของทุกประเทศ ดังนั้น ความร่วมมือในประเด็นเฉพาะบางด้านก็มีความร่วมมือแยกออกไป”อีกด้านหนึ่ง ฟากคนทำงานด้านสิทธิผู้บริโภคก็เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และได้ผลักดันจนเกิดสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนหรือเอสอีเอซีซี โดยมีพันธกิจในการก่อตั้งคือ เป็นตัวแทนและส่งเสริมการเคารพสิทธิของผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภคในภูมิภาค  ส่งเสริมให้เกิดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและเสนอความเห็นเพื่อการตัดสินใจของอาเซียนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค และทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาชนทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และระดับโลก เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคสารี กล่าวว่า SEACC เป็นอีกหนึ่งกลไกที่พยายามผลักดันให้รัฐสนับสนุนให้เกิดกลไกคุ้มครองผู้บริโภคข้ามแดนขึ้น และอีกข้อผลักดันหนึ่งที่สำคัญคือ ทุกครั้งที่รัฐบาลประชุมก็ขอให้มีการจัดประชุมกับองค์กรผู้บริโภคควบคู่กันไป แล้วให้โอกาสภาคประชาสังคมเข้าไปเสนอประเด็นเรื่องผู้บริโภคในการประชุมของเอซีซีพีกติกากลาง-การเชื่อมโยงข้อมูล งานหลักที่ต้องรีบดำเนินการ    อุฬาร อธิบายว่า เบื้องต้นขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ต่างก็มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเป็นของตนเอง บางประเทศเพิ่งร่าง บางประเทศเพิ่งผ่านสภา เช่น กัมพูชาที่เพิ่งจะมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ส่วนเมียนมาร์ก็เพิ่งตั้งหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น เป็นต้น ซึ่งการจะมีกฎหมายกลางระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่จะต้องพัฒนาต่อไป ในเบื้องต้นมีแค่ความตกลงในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเพียงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อุฬารเห็นว่าการสร้างกติการ่วมกันนั้นมีความเป็นไปได้“มันมีความเป็นไปได้ เนื่องจากประชาคมอาเซียน เราก็อยู่ในสังคมโลกเหมือนกัน ทางสหประชาชาติก็กำหนดไกด์ไลน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคออกมา ซึ่งประเทศสมาชิกก็ต้องรับมาปฏิบัติ มีคณะกรรมการ กรรมาธิการกฎหมายการค้าแห่งสหประชาชาติ ก็ประชุมกันเพื่อกำหนดเกณฑ์ในเรื่องของกฎหมายการค้า ซึ่งการคุ้มครองผู้บริโภคมันเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งแต่ละประเทศก็คงจะต้องปรับแก้กฎหมายของตนเองให้สอดคล้อง พอกฎหมายของตนเองสอดคล้องแล้ว มันก็จะมีกำหนดกติการ่วมกันได้ในอนาคต”อีกหนึ่งเรื่องสำคัญคือการสร้างฐานข้อมูลการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าในระดับชาติหรือระดับอาเซียน อุฬารยอมรับว่า ปัจจุบันฐานข้อมูลการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยยังกระจัดกระจายอยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 20 หน่วยงาน ซึ่งตอนนี้ สคบ. พยายามปรับองค์กรเพื่อให้มีศูนย์ข้อมูลแห่งชาติด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น เพื่อดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรืออาจจะเชื่อมโยงข้อมูลกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) ด้วย เพราะทาง สคบ. เห็นว่าทาง มพบ. มีข้อมูลที่เป็นเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคอยู่มากพอสมควร ซึ่งควรนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของฐานข้อมูลส่วนในระดับชาติจะต้องเชื่อมโยงกับอาเซียน ซึ่งตรงนี้ทางอาเซียนก็ได้เริ่มจัดทำอินเตอร์เน็ต แพล็ตฟอร์มขึ้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประเทศสมาชิกสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและจะมีการพัฒนาต่อไป“ตอนนี้น่าจะยังไม่มีตัวอย่างการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมในเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูล ตอนนี้เราอยู่ในระหว่างการเริ่มต้นการพูดคุยกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สพทอ. (สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์) ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เราทำ MOU ร่วมกัน ซึ่งความคิดเห็นส่วนตัวผม เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะนำมากำหนดนโยบายพื้นฐาน ถ้าเราขาดข้อมูลที่ถูกวิเคราะห์ สังเคราะห์ออกมาให้ครบถ้วน วิธีการแก้ไขปัญหามันก็จะไม่ตอบโจทย์ ซึ่งตอนนี้รูปธรรมยังไม่ออกมาเป็นแพทเทิร์นที่สมบูรณ์ จะมีเรื่องการระงับข้อพิพาทข้ามแดน การเยียวยาผู้บริโภค การเจรจาไกล่เกลี่ยออนไลน์ ต่างๆ เหล่านี้พ่วงเข้ามาด้วย ตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการริเริ่มเบื้องต้นเท่านั้น อย่าง สคบ. เอง ตอนนี้ก็กำลังเสนอเรื่องการปรับปรุงโครงสร้าง ปรับปรุงระบบงานเพื่อให้สอดคล้องและมีความเป็นสากลมากขึ้นกับทาง สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อนเสนอทางรัฐบาลต่อไป”อุปสรรคที่ต้องก้าวข้ามอย่างไรก็ตาม ในมุมมองของสารี สะท้อนทัศนะวิพากษ์ต่อการดำเนินการเรื่องของรัฐบาลว่ายังไม่มีความกระตือรือร้นมากนัก โดยยกตัวอย่างว่า“มีความร่วมมือตัวหนึ่งที่น่าสนใจ เรียกว่าการรายงานผลิตภัณฑ์ที่เอาออกจากท้องตลาดหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย อยู่ในหน่วยที่เรียกว่า Product Alert อันนี้คือฝั่งเอซีซีพี พบว่าประเทศไทยเข้าไปแอคทีฟกับการรายงานเรื่องพวกนี้น้อยมาก ทั้งที่เรามีสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยเรื่องสินค้า บริการเยอะแยะ ด้วยความที่มันอาจจะมีหน่วยงานเยอะก็ได้อย่างของเวียดนามมีการรายงานเรื่อง โน้ตบุ๊ค เลอโนโว รถยนต์รุ่นนั้นรุ่นนี้ที่มีปัญหา เราเสนอให้ สคบ. นำข้อมูลเหล่านี้มาเผยแพร่ให้กับผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้ เพราะบางรุ่นอาจจะผลิตที่เวียดนาม เราเชื่อว่า ถ้าพบความผิดพลาดในบางประเทศ ก็น่าจะพบความผิดพลาดที่บ้านเรา ถ้าผู้บริโภครู้ก็จะได้แก้ปัญหา แต่ขณะนี้ต้องบอกว่ามีแต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเท่านั้น ที่เอาข้อมูลนี้มาใช้ประโยชน์ แต่หน่วยงานของรัฐไม่ได้เอาข้อมูลออกมาทำเป็นภาษาไทย เพื่อให้คนตื่นตัว รู้ว่ามีสินค้ารุ่นนี้ที่ประเทศนี้เอาออกจากท้องตลาดหรือในยุโรปที่ใช้กติกาเดียวกัน ใช้ระบบฐานข้อมูลเชื่อมโยงกัน เช่น ไทยส่งผักไปยุโรปและพบว่ามีซัลโมเนลลา(เชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษ) ปนเปื้อน ภายใน 24 ชั่วโมง 27 ประเทศในยุโรปจะรู้หมดว่าผักนี้อยู่ในตลาดไหน บ้านเรายังไม่มีระบบแบบนี้ แม้ว่าจะมียุทธศาสตร์ให้ความสำคัญกับสินค้าปลอดภัยที่ค้าขายกันอยู่ตามชายแดน เรายังไม่เห็นระบบเตือนภัยลักษณะนี้ หรืออย่างอินโดนีเซียก็ก้าวหน้ามาก เขาเอาไดร์เป่าผมออกจากท้องตลาดเพราะไม่มีฉลากเป็นภาษาบาฮาซาร์ ซึ่งมันสะท้อนระดับความจริงจังของการจัดการเรื่องพวกนี้ที่แตกต่างกัน”สารีเห็นว่า การสร้างกติกากลางเป็นประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยยกตัวอย่างว่าขณะนี้สิงคโปร์มีกฎหมายคืนสินค้า ถ้าสิงคโปร์สั่งรถจากไทยไป แล้วพบว่ามีการชำรุด บกพร่อง คนสิงคโปร์จะได้เงินคืนหรือได้รถคันใหม่ ขณะที่ไทยยังไม่มีมาตรการทำนองนี้ เพราะฉะนั้นต้องทำกติกากลางร่วมกัน    ในมิตินี้ อุฬาร กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือความแตกต่างระหว่างกฎหมายภายในแต่ละประเทศ เรื่องขององค์กรที่รับผิดชอบเป็นองค์กรหลักในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคที่แตกต่างกันภายในประเทศ เรื่องขอความกระจัดกระจายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้เกิดการซ้ำซ้อน เกิดช่องว่าง ซึ่งตรงนี้มันจะต้องมาปรับทัศนคติหน่วยงานที่รับผิดชอบภายในประเทศให้เกิดการบูรณาการกันอย่างแท้จริง ตอนนี้ สคบ. ก็เสนอให้มีศูนย์ประสานการขับเคลื่อนนโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น โดยที่แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มาบูรณาการในเรื่องของการขับเคลื่อนแผนงานโครงการและก็มีการแก้ไขกฎหมายไปพร้อมๆ กัน“อุปสรรคอีกประการหนึ่ง คือ เรื่องของตัวผู้บริโภคเอง เนื่องจากว่าช่องว่างระหว่างรายได้ การศึกษาของของบุคคลในประเทศเรามีค่อนข้างหลากหลาย ทีนี้จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคมีข้อมูลเพียงพอ ให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูล เข้าถึงกระบวนการเยียวยาได้โดยง่าย ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันต้องช่วยกันทำ”    อุฬาร เสริมว่า การทำ One Stop Service ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทาง สคบ. กำลังพัฒนา โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นศูนย์กลางเพื่อส่งต่อข้อมูลการร้องเรียนของผู้บริโภค ส่วนในกรณีสินค้าจากต่างประเทศ อุฬารอธิบายว่า“สมมติว่ามีผู้ประกอบการรายหนึ่งของจังหวัดหนองคาย ไปซื้อสินค้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน และผู้บริโภคของเราเกิดความเสียหาย ผู้บริโภคมาเรียกร้องขอให้ชดเชย เยียวยา พอเข้าระบบนี้ก็จะถูกคัดกรองและส่งผ่านระบบการเยียวยาข้ามแดนไป จากไทยผ่านไปที่ สปป.ลาว ทางองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่นั่นก็ไปดำเนินการเพื่อเรียกร้องการเยียวยาความเสียหายจากผู้ผลิตที่นั่น เป็นต้น”ทั้งหมดนี้เป็นความคืบหน้าล่าสุดที่ทาง สคบ. กำลังดำเนินการ แม้ว่าจะพบเผชิญอุปสรรคอยู่บ้าง ขณะที่สภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนหรือเอสอีเอซีซีก็ยังคงเกาะติดการทำงานของภาครัฐ เพื่อปรับปรุงระบบการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไปหมายเหตุ หน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคในกรอบอาเซียนคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ซึ่งทางนิตยสารฉลาดซื้อได้ทำการขอสัมภาษณ์ แต่เนื่องจากความล่าช้าของระบบราชการ และการส่งต่อคำร้องขอสัมภาษณ์อันไม่สิ้นสุด จึงทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลจากทาง อย. มาเสนอได้ทันในการนำเสนอครั้งนี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 185 เรื่องที่คนรักสุขภาพต้องรู้ ก่อนสมัครเป็นสมาชิก “ฟิตเนส เซ็นเตอร์”

ยุคนี้เป็นยุคของคนรักสุขภาพ ใครๆ ก็หันมาให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพ เล่นกีฬา ออกกำลังกายกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะการออกกำลังกายช่วยให้เรามีสุขภาพแข็งแรงห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ การที่ผู้คนทุกเพศทุกวัยหันมาใส่ใจสุขภาพและออกกำลังกายกันมากขึ้น เป็นผลให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีสถานออกกำลังกาย หรือ ฟิตเนส เซ็นเตอร์ เปิดให้บริการรองรับกระแสคนอยากออกกำลังกายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นช่วงเวลาต่อเนื่องจากเหตุการณ์ของ “แคลิฟอร์เนีย ว๊าว” ฟิตเนส เซ็นเตอร์ชื่อดัง ที่มีสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ปิดตัวลงในปี 2555 จากการหลอกลวงเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งมีความผิดร้ายแรงถึงขั้นเป็นคดีฉ้อโกง มีผู้เสียมากกว่าหนึ่งพันคน ผลจากกรณีของ แคลิฟอร์เนีย ว๊าว ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่กับทั้งหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องหันกลับมามองหามาตรการควบคุมดูแล และรวมถึงตัวผู้บริโภค ผู้ใช้บริการสถานออกกำลังกาย ที่ต้องให้ความสนใจในเรื่องของมาตรฐานการบริการและเรื่องสัญญาการให้บริการมากขึ้น ปกป้องตัวเองไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยแบบ แคลิฟอร์เนีย ว๊าว การเลือกใช้บริการสถานออกกำลังกาย หรือ ฟิตเนส เซ็นเตอร์ ต้องคำนึงถึงหลายๆ องค์ประกอบ มากกว่าจะมองเพียงแค่สุขภาพหรือรูปร่างที่เราจะได้ แต่ยังต้องมองถึงเรื่องสวัสดิภาพความปลอดภัยของสุขภาพร่างกายจากการใช้บริการ ระบบดูแลที่มีมาตรฐานของสถานที่ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมากๆ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่ชวนให้ตกใจ เมื่อมีผู้ใช้บริการฟิตเนสเสียชีวิตเนื่องจากเหตุไฟไหม้อาคารที่ฟิตเนสดังกล่าวเปิดให้บริการอยู่แม้ต้นเพลิงจะเกิดขึ้นในส่วนอื่นที่ไม่ใช่ตรงส่วนของฟิตเนสก็ตามแต่นั่นก็แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากระบบรักษาความปลอดภัยที่ไม่ได้มาตรฐานปัจจุบัน สถานบริการด้านการออกกำลัง หรือ ฟิตเนส เซ็นเตอร์ มีกฎหมายที่ควบดูแลหลักๆ อยู่ 4 ฉบับ คือ   สถานออกกำลังกาย แบบไหนน่าใช้บริการ จากจำนวนของสถานออกกำลังกายที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ย่อมแสดงให้เห็นถึงความต้องการสถานที่ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ซึ่งหน่วยงานอย่างกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ออก  “ข้อแนะนำมาตรฐานสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ” เพื่อเป็นแนวทางให้กับสถานออกกำลังกายต่างๆ นำไปเป็นปฏิบัติ ซึ่งในมุมของผู้ใช้บริการเองก็จำเป็นต้องทราบถึงมาตรฐานต่างๆ ที่มีการกำหนดควบคุม เพื่อที่เราจะได้นำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนเลือกใช้บริการสถานออกกำลังกาย 1.มาตรฐานด้านอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม- อาคาร สถานที่ตั้ง ทั้งภายใน ภายนอก ต้องดูแล้วมีความมั่นคง แข็งแรง และเป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร - ต้องมีการแสดงแผนผังสถานที่ ป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของผู้ที่มาใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น ป้ายบอกทางหนีไฟ ป้ายห้ามสูบบุหรี่ และระเบียบการใช้บริการที่ชัดเจน- ต้องมีการติดตั้งเครื่องมือดับเพลิงแบบมือถือ 1 เครื่องต่อพื้นที่อาคารทุกๆ 1,000 ตารางเมตรสำหรับอาคารขนาดใหญ่ และติดตั้ง 1 เครื่องต่อพื้นที่อาคารทุกๆ 100 ตารางเมตร สำหรับอาคารขนาดเล็ก ซึ่งแต่ละเครื่อง ต้องติดตั้งห่างกันไม่เกิน 45 เมตร และอยู่สูงจากระดับพื้นอาคารไม่เกิน 1.5 เมตร สามารถมองเห็นได้ง่าย และนำไปใช้ได้โดยสะดวก- จัดให้มีแสงสว่างเพียงพอ (ไม่น้อยกว่า 200 ลักซ์ (มาตรความสว่าง (lux meter))- ห้องออกกำลังกายที่มีเครื่องปรับอากาศ ควรมีคุณภาพการปรับอากาศที่ดี มีอุณหภูมิระหว่าง 20-25 องศาเซลเซียส และห้องออกกำลังกายที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ควรมีการถ่ายเทอากาศที่เพียงพอไม่มีกลิ่นอันไม่พึงประสงค์- ความดังของเสียงในห้องออกกำลังกายเฉลี่ยสูงสุดต้องไม่เกิน 90 เดซิเบล (เอ)- มีการแบ่งพื้นที่ให้บริการออกกำลังกาย เป็นสัดส่วนที่ชัดเจน เช่น พื้นที่ต้อนรับ พื้นที่สำหรับติดตั้งอุปกรณ์ออกกำลังกาย และพื้นที่กิจกรรมการออกกลุ่ม- พื้นที่จัดวางอุปกรณ์ ควรมีระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร และช่องทางเดินร่วมไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร- พื้นที่กิจกรรมการออกกำลังกายกลุ่ม มีพื้นที่ให้บริการไม่น้อยกว่า 2x2 ตารางเมตร- มีห้องน้ำ แยกชาย-หญิง อย่างละ 1 ห้องต่อผู้ใช้บริการไม่เกิน 15 คน, 2 ห้อง ต่อผู้ใช้บริการ 40 คน, 3 ห้อง ผู้ใช้บริการไม่เกิน 80 คน และเพิ่มขึ้นต่อจากนี้ 1 ห้อง ต่อจำนวนผู้ใช้บริการไม่เกิน 50 คน มีห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ห้องอาบน้ำ ล็อคเกอร์เก็บของ และอ่างล้างมือแยกชาย-หญิง ที่สะอาดและเพียงพอ2.มาตรฐานด้านอุปกรณ์ออกกำลังกาย- ต้องมีอุปกรณ์ หรือรูปแบบวิธีการในการสร้างเสริมสุขภาพ ได้แก่ การสร้างเสริมระบบหายใจและไหลเวียนโลหิต การสร้างเสริมระบบกล้ามเนื้อ และการสร้างเสริมการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ- มีระบบและรายงานการตรวจเช็คอุปกรณ์ออกกำลังกายให้มีความแข็งแรง ทนทาน สะอาดและพร้อมใช้งานทุกวัน- ต้องมีป้ายคำแนะนำ คำเตือนในการใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ติดไว้เห็นได้ชัดเจน- จัดให้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการให้บริการด้านสุขภาพ ได้แก่ เครื่องชั่งน้ำหนัก และวัดส่วนสูง เครื่องวัดความดันโลหิต และ สายวัดรอบเอว3.มาตรฐานด้านการให้บริการ- มีการตรวจคัดกรองภาวะสุขภาพแก่สมาชิก ก่อนการให้บริการครั้งแรก เพื่อคัดกรองความเสี่ยง ได้แก่ การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) วัดรอบเอว วัดความดันโลหิต การจัดทำประวัติสุขภาพ และการตอบแบบสอบถามการประเนิมความพร้อมก่อนออกกำลังกาย- จัดให้มีคำแนะนำ หลักการ และขั้นตอนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ โปรแกรมการออกกำลังกาย การประเมินผลสมรรถภาพทางกายและสัดส่วนของร่างกาย- จัดทำป้ายคำแนะนำและคำเตือน ในการออกกำลังกาย โดยติดไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน ได้แก่ ป้ายคำแนะนำหลักการและขั้นตอนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ วิธีการออกกำลังการที่เหมาะสมกับเพศและวัย ข้อควรระวังในการออกกำลังกาย และข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงในการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ- มีบริการน้ำดื่มที่สะอาดและมีปริมาณเพียงพออยู่ใกล้บริเวณที่ออกกำลังกาย โดยไม่คิดค่าบริการ4.มาตรฐานบุคลากรผู้ให้บริการ- บุคลากรผู้ให้บริการออกกำลังกาย ควรมีคุณสมบัติจบการศึกษาขั้นต่ำปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ, วิทยาศาสตร์การกีฬา, พลศึกษา และผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ฝึกสอนการออกกำลังกาย (instructor exercise) ที่จัดโดยกรมอนามัย หรือหลักสูตรที่ได้รับการเห็นชอบร่วมกันระหว่างกรมอนามัยและสถาบันการศึกษา- บุคลากรผู้ให้บริการออกกำลังกาย ได้รับการฟื้นฟูวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพ อย่างน้อยปีละครั้ง- บุคลากรผู้ให้บริการด้านการออกกำลังกาย สามารถทำหน้าที่ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาหลักการและขั้นตอนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กำหนดโปรแกรมการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับเพศ วัย และสภาพร่างกาย คัดกรองสุขภาพก่อนกำหนดโปรแกรมการออกกำลังกาย และประเมินสมรรถภาพของสมาชิกทั้งก่อนและหลังการรับบริการ- มีบุคลากรรับผิดชอบให้คำแนะนำการใช้อุปกรณ์ 1 คนต่ออุปกรณ์ออกกำลังกายทุกชนิดไม่เกิน 15 เครือง และกรณีการออกกำลังกายกลุ่ม มีบุคลากรรับผิดชอบให้คำแนะนำ 1 คน ต่อผู้ใช้บริการไม่เกิน 30 คน5.มาตรฐานด้านความปลอดภัยและมาตรการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน- ต้องมีแผนเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน และการซ้อมแผน ได้แก่ แผนการช่วยชีวิต และแผนการระงับอัคคีภัย อย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี และมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ หมายเลขโทรศัพท์สถานพยาบาลใกล้เคียงติดไว้ในที่มองเห็นชัดเจน- ต้องมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาล พร้อมใช้ตลอดเวลา โดยชุดปฐมพยาบาลควรเก็บไว้ในกล่องพลาสติกที่มีฝาปิดได้สนิท หรืออุปกรณ์ที่กันน้ำ และติดหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินของสถานพยาบาลต่างๆ ไว้ด้วย ที่มา : คู่มือ ข้อแนะนำมาตรฐานสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ฉบับที่ 1โดย กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรม อนามัย กระทรวงสาธารณสุข คนไทยกับการออกกำลังกาย   สุขภาพดีได้ไม่ต้องง้อฟิตเนสประโยคที่บอกว่า “สุขภาพดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องสร้างเอง” คงไม่ได้เป็นคำพูดที่เกินความจริงแต่อย่างใด เพราะต่อให้มีเงินไปสมัครตามฟิตเนสชื่อดัง ค่าสมาชิกหลักพันหลักหมื่น อุปกรณ์แน่น เทรนเนอร์เก่ง แต่ถ้าได้แค่สมัครสมาชิกทิ้งไว้โดยไม่เคยไปใช้บริการเลย หรือเดือนหนึ่งจะได้เข้าไปออกกำลังสักครั้งสองครั้ง แบบนั้นสุขภาพดีๆ ก็คงไม่ทางเกิดขึ้นกับเราแน่นอน ฉลาดซื้อ ขอเสนอทางเลือกให้กับคนที่มีใจรักอยากจะออกกำลังกาย อยากจะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง แต่ไม่อยากต้องเสียทรัพย์ไปกับฟิตเนส เซ็นเตอร์ ด้วย 3 ทางเลือกในการออกกำลังกายที่ทำได้ง่ายด้วยตัวของคุณเอง 1.ออกไปสูดอากาศอันสดชื่นที่ “สวนสาธารณะ”ประเทศไทยเรามีสวนสาธารณะอยู่ทั้งหมด 593 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ (ข้อมูลจากการสำรวจของกองออกกำลังกายฯร่วมกับศูนย์อนามัย) ซึ่งเดี๋ยวนี้เราก็จะเห็นผู้คนจำนวนมากทุกเพศทุกวัย ไปใช้เวลาว่างหลังเลิกงานเลิกเรียน เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายตามสวนสาธารณะต่างๆ ซึ่งหลักๆ ก็มักจะเลือกวิธีเดินหรือวิ่ง แต่สวนสาธารณะหลายๆ ที่ก็ยังมีกิจกรรมออกกำลังกายวิธีอื่นๆ เตรียมไว้รอคนรักสุขภาพ ทั้งเต้นแอโรบิก รำมวยจีน รวมทั้งมีเครื่องออกกําลังกายกลางแจ้ง สำหรับคนที่อยากอยากลองออกกำลังกายโดยใช้อุปกรณ์แต่ไม่อยากลงทุนซื้อเครื่องมาไว้ที่บ้าน และก็ไม่อยากต้องเสียเงินไปสมัครเป็นสามาชิกตามฟิตเนส เซ็นเตอร์ เรียกว่าเราสามารถมีสุขภาพดีได้ไม่ยาก ขอแค่แบ่งเวลาวันละนิด อย่างน้อย 30 นาที หารองเท้าสำหรับออกกำลังกายดีๆ สักคู่ แค่นี้ก็ออกไปออกกำลังกายกันที่สวนสาธารณะใกล้บ้านได้แล้ว2.ฟิตผ่านหน้าจอ กับช่องออกกำลังกายใน “Youtube”เดี๋ยวนี้เราสามารถหาดูคลิปวิดีโอต่างๆ ได้เกือบจะทุกอย่างผ่านทางเว็บไซต์ยูทูป (Youtube) แน่นอนว่าวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายก็มีให้ชมมากมายเช่นกัน ในต่างประเทศจะมีช่องรายการในยูทูป (Youtube Channel) ที่เสนอวิดีโอเฉพาะเกี่ยวกับการออกกำลังกายและการดูแลสุขภาพโดยเฉพาะเป็นจำนวนมาก สำหรับช่องรายการที่ทำโดยคนไทยที่ให้ความรู้เรื่องการออกกำลังกายก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ฉลาดซื้ออยากแนะนำ 3 ช่องรายการเกี่ยวกับการออกกำลังกายในยูทูป ที่สอนทั้งท่าออกกำลังกายแบบง่ายๆ แค่ดูก็ทำตามได้ทันที พร้อมด้วยความรู้เกี่ยวการดูแลสุขภาพ เรื่องของโภชนาการ เอาไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เอาเป็นว่าไปเปลี่ยนชุดสำหรับออกกำลังกาย แล้วเปิดคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ คลิ้กรอไว้ที่เว็บไซต์ยูทูปได้เลยFitjunctionsหนุ่มๆ สาวๆ ที่อยากฟิตหุ่นให้เฟิร์ม อยากมีกล้ามอย่างสร้างซิกแพ็ค น่าจะชื่นชอบช่องรายการนี้เป็นพิเศษ  เพราะ Fitjunctions มีคลิปวิดีโอที่สอนท่าออกกำลังกายตั้งแต่เริ่มต้นสำหรับคนทั่วไป ไปจนถึงความรู้สำหรับที่อยากเพิ่มกล้ามเนื้อ ปรับรูปร่างให้ดูใหญ่ขึ้น ที่สำคัญคือมีคลิปที่นำเสนอความรู้เกี่ยวกับร่างกายของเรา การออกกำลังกายแบบไหนมีผลต่อรูปร่างอย่างไร รวมทั้งเรื่องการกินอาหาร ว่ากินอย่างไรถึงจะดีต่อร่างกาย ตามสโลแกนของช่องที่ว่า “แหล่งรวมความรู้เกี่ยวกับการ ฟิตหุ่นและรักษาสุขภาพ  เน้นหลักๆ 3 ข้อ คือ ไม่อดของอร่อย ไม่หักโหม และเน้นที่การสอนความรู้ที่เข้าใจง่าย แต่อิงตามหลักวิทยาศาสตร์”KalamareTVช่องรายการของพิธีสาวเก่งชื่อดังอย่าง “กะลาแมร์ พัชรศรี เบญจมาศ” ที่ทำยูทูป แชนแนล เป็นของตัวเอง โดยในช่องรายการของเธอก็จะรวบรวมหลากหลายผลงานในฐานะพีธีกรของเธอเอาไว้ให้แฟนคลับและคนที่ชอบผลงานของเธอได้เข้ามาชมกัน ซึ่ง 1 ในรายการที่มีให้ชมทาง KalamareTV ก็คือรายการ “ทุกที่ทุกท่ากับกาละแมร์” ซึ่งเป็นคลิปวิดีโอที่พิธีกรคนเก่งจะมาสอนท่าออกกำลังกายง่ายๆ ที่สามารถทำได้ที่บ้าน เรียกว่าเป็นท่าออกกำลังกายที่ประยุกต์มาจากอิริยาบถธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน  ทั้งการนั่ง การยืน การนอน ทำให้การออกกำลังกายเป็นเรื่องง่ายสุดๆ ไม่ต้องออกไปไหนไกล แค่อยู่บ้านก็ออกกำลังกายได้Fit Minutes [by Mahidol]ช่องรายการนี้เป็น ช่องรายการย่อยของ มหิดล แชนแนล (Mahidol Channel) เป็นช่องรายการที่จะมาสอนการออกกำลังกายแบบถูกต้องถูกวิธี ที่เราสามารถเข้าใจและทำตามได้ง่ายๆ เพราะมีการอธิบายขั้นตอนต่างๆ แบบละเอียดในการออกกำลังกายแต่ละท่า คำแนะนำที่ถูกต้อง ได้ความรู้ว่าท่าออกกำลังกายแต่ละท่าที่เราทำอยู่มีประโยชน์ต่อร่างกายของเราอย่างไร ส่งผลต่อกล้ามเนื้อส่วนไหน  สามารถทำได้เองสบายๆ ที่บ้าน ซึ่งเราสามารถทำได้ไปพร้อมกับๆ เทรนเนอร์ผู้ฝึกสอนในคลิปได้ทันที3.สุขภาพดีผ่านตำรา ด้วยสารพัดคู่มือออกกำลังกายปัจจุบันมีหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย เทคนิคต่างๆ ในการดูแลสุขภาพและรูปร่างออกมาว่างจำหน่ายเป็นจำนวนมาก สามารถซื้อมามาลองอ่านลองฝึกด้วยตัวเองดูได้ นอกจากนี้ยัง E-book เกี่ยวกับการออกกำลังกายให้โหลดไปอ่านกันฟรีๆ  ซึ่งมี 2 เว็บไซต์ที่ฉลาดซื้ออยากจะแนะนำสำหรับคนรักสุขภาพอยากออกกำลังกายลองคลิ๊กเข้าไปดูกัน 1.เว็บไซต์ของกองออกกำลังกาย กรมอนามัย (dopah.anamai.moph.go.th) ที่นี่มี E-book ที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย ทั้งความรู้ในการการเล่นกีฬา และดูแลรักษาสุขภาพสำหรับคนทุกเพศทุกวัย เช่น การเดินเพื่อสุขภาพ การออกกำลังสำหรับผู้สูงวัย การออกกำลังกายสำหรับเด็ก การยืดเหยียดพื้นฐาน ฯลฯ2.ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร สสส. (resource.thaihealth.or.th) ในเว็บไซต์นี้จะมีบริการ E-book ให้โหลดไปอ่านกันแบบฟรีๆ จำนวนมาก โดย 1 หมวดหมู่ยอดนิยมก็คือ หมวดการออกกำลังกาย ซึ่งมี E-book ที่แนะนำเรื่องการออกกำลังกายมากกว่า 100 เล่มให้ได้ลองโหลดไปอ่านและฝึกออกกำลังกายไปพร้อมๆ กัน    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 157 ตรวจสุขภาพอย่างไรไม่เปลืองเงินไม่เปลืองตัว

ขอบคุณทุกท่านที่สนใจข้อมูลจากนิตยสารฉลาดซื้อ>>> อ่านแล้วอยากสนับสนุนให้เรามีเงินทุนต่อเนื่อง >>> ร่วมอ่าน online 200 บาท/ ต่อปี  ข้อมูลการสมัครอยู่ด่านล่าง ขอบคุณค่ะ   เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความ “คุ้มเงิน” สินค้าบริการต่างๆ นานาจึงต้องมาเป็นแพ็คเกจ บริการตรวจสุขภาพก็ไม่น้อยหน้า มีโปรแกรมให้เลือกกันตั้งแต่ราคาไม่ถึงหนึ่งพันไปจนเลยหนึ่งหมื่น อย่างที่ ฉลาดซื้อ เคยลงเปรียบเทียบราคาและรายการตรวจของสถานบริการตรวจสุขภาพไปแล้ว แต่หลายคนยังมีปัญหาคาใจอยู่ถึงความจำเป็นและความถูกต้องแม่นยำของการตรวจคัดกรองสุขภาพที่เป็นที่นิยมแพร่หลายกันอยู่ในขณะนี้ เหตุฉะนี้เราจึงต้องมีภาคสองเพื่อค้นหาคำตอบในเรื่องดังกล่าว เราตกลงกันตรงนี้ก่อนว่า “การตรวจสุขภาพ” หรือ “การตรวจคัดกรองสุขภาพ” ในที่นี้หมายถึงการเข้ารับการตรวจเบื้องต้นในขณะที่เรายังไม่ได้รู้สึกเจ็บป่วย และเป็นการตรวจเพื่อป้องกัน ลดความเสี่ยงหรือลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเท่านั้น ย้ำอีกที ... การตรวจสุขภาพไม่ใช่การตรวจหาโรค แต่เป็นการตรวจหาความเสี่ยงของการเกิดโรค    เราควรรับการตรวจคัดกรองอะไรบ้าง เราคงไม่บอกคุณว่าควรหรือไม่ควรตรวจอะไร เพราะสุดท้ายแล้วคุณคือคนที่ทราบถึงปัจจัยแวดล้อมตัวเองดีที่สุด แต่เนื่องจากปัจจุบันบ้านเรายังไม่มีมาตรฐานการตรวจสุขภาพสำหรับประชาชน และเรายังอยู่ในระหว่างการรอคู่มือการตรวจสุขภาพสำหรับผู้บริโภค ฉลาดซื้อ จึงขออ้างอิงผลการวิจัยของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ที่ศึกษารายการตรวจคัดกรองสุขภาพที่เหมาะสม เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบสุขภาพ (ซึ่งในอนาคตอาจมีการรวมกันของทั้ง 3 ระบบ ได้แก่ระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า และระบบประกันสังคม ที่ยังไม่เท่าเทียมกันอยู่ในปัจจุบัน*)     การตรวจทั้งหมดนี้มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยไม่เกิน 400 บาทต่อคนต่อปี  (เทียบกับระบบการตรวจคัดกรองตามสวัสดิการข้าราชการที่มีค่าใช้จ่ายระหว่าง  530 – 1,200 บาท เพราะมีการตรวจบางรายการที่ค่าใช้จ่ายสูงแต่ประโยชน์ยังไม่ชัดเจน) อาจต้องเลิกใช้คำว่า “การตรวจสุขภาพประจำปี” เพราะบางอย่างไม่ต้องตรวจทุกปี ในขณะที่บางอย่างตรวจได้ปีละมากกว่า 1 ครั้ง   ในกรณีที่คุณรู้สึกว่ารายการตรวจข้างต้นน่าจะยังไม่เพียงพอ และกำลังชั่งใจกับแพ็คเกจตรวจสุขภาพสุดคุ้มที่ฝ่ายการตลาดของสถานบริการสุขภาพปล่อยออกมาเอาใจ “คนรักสุขภาพ” ที่มีรายการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มขึ้นอีกหลายรายการ ด้วยสนนราคา “พิเศษ” เราขอฝากประเด็นเหล่านี้ไว้ให้คุณพิจารณา   ฉลาดซื้อขอแชร์ ทุกครั้งที่เราส่งผลิตภัณฑ์เข้าทดสอบในห้องปฏิบัติการ เราจะต้องเลือกว่าต้องการตรวจเพื่อหาอะไร และอ้างอิงตามมาตรฐานไหน เพราะมันสัมพันธ์กับการเตรียมอุปกรณ์/เครื่องมือ และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการนำผลไปใช้ด้วย เช่นกรณีของขนมปัง เราต้องระบุไปว่าต้องการตรวจหาสารกันบูด (เพราะมีประเด็นที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามา) เป็นต้น นอกจากนี้เรายังต้องยอมรับข้อจำกัดของเครื่องมือที่ใช้ เช่นบางครั้ง สารเคมีที่เราต้องการตรวจหานั้นมีปริมาณน้อยกว่าที่เครื่องจะตรวจจับได้ (แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มี เป็นต้น) สำคัญที่สุดคือห้องปฏิบัติการที่เราใช้จะต้องผ่านการตรวจรับรองเพื่อความน่าเชื่อถือในผลการทดสอบที่ได้ (ไม่ได้ส่งไปตรวจที่หลังบ้านใครอย่างที่เคยถูกกล่าวหา) เรื่องนี้น่าจะพอนำมาประยุกต์ได้กับการเลือกแพ็คเกจตรวจร่างกาย คุณสามารถเลือกตรวจเฉพาะรายการที่คิดว่าตนเองมีความเสี่ยง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าผลที่ออกมานั้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการตั้งค่าของเครื่อง และที่สำคัญปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานควบคุมบริการตรวจคัดกรองสุขภาพเอาไว้อ้างอิงด้วย     ตามที่เป็นข่าวเมื่อปีกลาย คนไทยใช้เงินกับการตรวจคัดกรองสุขภาพไปถึงปีละ 2,200 ล้านบาท (ส่วนหนึ่งของคนเหล่านี้คือผู้ที่มีสิทธิได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการถึง 16 รายการภายใต้ระบบสวัสดิการข้าราชการอยู่แล้ว) ข่าวไม่ได้บอกว่ามีกี่กรณีที่ตรงกับความเป็นไปได้ในรูปแบบที่ 1   เจ้าหน้าที่กองบรรณาธิการฉลาดซื้อพบเจอมาด้วยตนเอง เนื่องจากไอต่อเนื่องอยู่หลายสัปดาห์จึงไปโรงพยาบาล แพทย์สั่งตรวจเอ็กซเรย์ปอดด้วยเครื่องตรวจแบบอัตโนมัติ แพทย์อ่านผลแล้วบอกว่าพบจุดที่อาจหมายถึงเป็นวัณโรค จึงให้ตรวจซ้ำตอนบ่าย (เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลพักเที่ยง) คราวนี้ตรวจด้วยเครื่องอีกชนิดหนึ่ง ปรากฏว่าไม่พบจุดดังกล่าวแล้ว  ขอขอบคุณข้อมูลจาก พญ. สายพิณ หัตถีรัตน์ อาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลรามาธิบดี ดร.ภญ. ศิตาพร ยังคง นักวิจัย โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) บทความ “การตรวจคัดกรองที่เหมาะกับสังคมไทย” โดย ภญ.ธนัญญา คู่พิทักษ์ขจร นักวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)   ฉลาดซื้อสำรวจ จากการโทรศัพท์ไปสอบถามสถานบริการการตรวจสุขภาพ 9 แห่ง (โรงพยาบาลรัฐ 3 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 5 แห่ง และ ศูนย์ตรวจสุขภาพ 1 แห่ง) โดยอาสาสมัครของฉลาดซื้อ เราพบว่าแม้ประเทศเราจะยังไม่มีมาตรฐานการตรวจสุขภาพและยังไม่มีการตรวจสอบบริการเหล่านี้ แต่สถานประกอบการเหล่านี้มีความพร้อมและให้ความสำคัญกับการจัดบริการตรวจคัดกรองสุขภาพ หรือบางแห่งอาจเรียกว่า “การตรวจสุขภาพประจำปี” ออกมาให้บรรดา “ผู้รักสุขภาพ” ได้เลือกช้อปกัน อาสาสมัคร (สาวทำงานวัย 38 ปี) ที่โทรไปสอบถามข้อมูลจากสถานพยาบาลเหล่านี้ โดยอ้างอิงข้อมูลที่ประชาสัมพันธ์ผ่านอินเตอร์เน็ทหรือโบรชัวร์ พบว่า   ธุรกิจสถานพยาบาลที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีมูลค่าการตลาดสูงที่สุด 5 อันดับได้แก่ อันดับ 1         บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) มูลค่าการตลาด 194,400 ล้านบาท  กิจการ: โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ โรงพยาบาลวัฒโนสถ   โรงพยาบาลรักษาโรคมะเร็งกรุงเทพ ถือหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท และโรงพยาบาลบีเอ็นเอช อันดับ 2         บริษัทโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) มูลค่าการตลาด 63,931 ล้านบาท   กิจการ: โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์  อันดับ 3         บริษัทโรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) มูลค่าการตลาด 21,600 ล้านบาท    กิจการ: โรงพยาบาลรามคำแหง อันดับ 4         บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) มูลค่าการตลาด 19,400 ล้านบาท   กิจการ: กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช อันดับ 5         บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) มูลค่าการตลาด 14,900 ล้านบาท กิจการ: โรงพยาบาลเกษมราษฎร์  โรงพยาบาลเวิรลด์เมดิคอลเซ็นเตอร์  นวนครการแพทย์ -------------------------------------------------->>>อ่านแล้วอยากสนับสนุนให้เรามีเงินทุนต่อเนื่อง >>> ร่วมอ่านonline 200 บาท/ ต่อปี >>> โอนเงินแล้วแจ้งมาที่ >> อีเมล์ chaladsue@gmail.com + แนบรูปโอน >> เปิดอ่าน full Version ทันทีจ้าาาาาา>>> ต้องการใบเสร็จ >> พิมพ์ชื่อ - ที่อยู่  ใน อีเมล์ด้วยนะครับ---------------------------------ชื่อ บช. "มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค"กสิกรไทย : 058-2-86735-6ไทยพาณิชย์ : 319-2-62123-1กรุงไทย : 141-1-28408-9ทหารไทย : 026-2-40760-4กรุงเทพ : 088-0-38742-8กรุงศรีอยุธยา : 463-1-10884-6--------------------------------->>> อ่านย้อนหลังได้กว่า 90 ฉบับ ผลทดสอบเพียบ! >>>นิตยสารนี้ไม่มีโฆษณา...เพื่อข้อมูลที่เป็นกลางและตัดสินใจได้ สำหรับผู้บริโภค--------------------------------   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 สำรวจเครื่องหมาย Q ปลอดภัย-ได้มาตรฐาน? และเรื่องราวที่ใหญ่กว่านั้น

พูดถึงพืชผักผลไม้ ความวิตกกังวลของผู้บริโภคอย่างเราๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องสารเคมีตกค้าง เรียกได้ว่าเป็นปัญหาคลาสสิกประการหนึ่งของไทย ยิ่งเมื่อเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN ที่เปิดเผยผลการสุ่มตรวจค่าสารเคมีตกค้างจากผักและผลไม้เป็นประจำทุกปี พบว่า ตัวอย่างผักผลไม้ที่แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q มีสารพิษตกค้างเกินค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด หรือ MRL มากที่สุดถึงร้อยละ 57.14เรียกได้ว่าข่าวนี้เพิ่มความไม่ไว้ใจต่ออาหารของผู้บริโภคและสะเทือนไปถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจ้าของเครื่องหมาย Q ถึงขนาดว่ากรมวิชาการเกษตรตั้งท่าจะฟ้อง Thai-PAN ในข้อหาหมิ่นประมาท ขณะที่ Thai-PAN ก็ตอบรับด้วยการบอกว่าจะฟ้องกลับฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่    ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะทำความรู้จักกับเครื่องหมาย Q และปัญหาสารเคมีตกค้างทางการเกษตร ที่ไม่ใช่แค่มิติแคบๆ ว่าเพราะเกษตรกรเห็นแก่ตัว แต่เป็นปัญหาระดับมหภาคที่ต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วนสารเคมี-คิว-อาหารปลอดภัย ปัญหางูกินหาง ผู้บริโภคไม่มั่นใจ    ปัญหาสารเคมีตกค้างในพืชผักไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาเรื้อรังที่รู้กันในวงกว้างจนอาจไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวกันอีก มันไม่ใช่แค่ว่าเกษตรกรใช้ยาฆ่าแมลงปริมาณมากและส่งต่อยาพิษสู่ผู้บริโภค แต่ยังมีปัญหาเชิงระบบที่ทำให้เรื่องนี้แก้ยากกว่าที่คิด (ดูล้อมกรอบ-สารเคมี: เรื่องใหญ่กว่าที่คิด)    และแล้วมันก็สร้างเขาวงกตอันวกเวียนให้เรื่องนี้ เพราะเมื่อสารเคมีตกค้างเป็นปัญหา ภาครัฐซึ่งพยายามส่งเสริมเรื่องอาหารปลอดภัยก็ได้ผลักดันนโยบายต่างๆ ออกมาเพื่อแก้ไข แต่ยังไม่สามารถควบคุมที่ต้นตออย่างการจำกัดการนำเข้าและควบคุมการใช้สารเคมีได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าอุปสรรคสำคัญข้อหนึ่งคืออิทธิพลของบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรยักษ์ใหญ่ ในบรรดานโยบายยิบย่อยเหล่านั้นก็มีเครื่องหมายคิวรวมอยู่ด้วย เพื่อต้องการให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารปลอดภัย คิวจึงเกิดขึ้นเพื่อการันตีว่าผักผลไม้ที่ติดเครื่องหมายนี้ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง ซึ่งแน่นอนว่า ราคาของพืชผักประเภทนี้ย่อมมีราคาสูงกว่าตามท้องตลาดโดยทั่วไป ทว่าการตรวจสอบของ Thai-PAN กลับทำให้เห็นว่า คิวไม่สามารถการันตีได้ทั้งที่จ่ายแพงกว่า แล้วผู้บริโภคจะจ่ายแพงกว่าเพื่ออะไร  อิสรีย์ เจียมอนุกูลกิจ เป็นคนหนึ่งที่บริโภคผักผลไม้อินทรีย์มาเกือบ 10 ปีด้วยเหตุผลด้านสุขภาพและคิดว่าผักและเนื้อสัตว์ปลอดสารมีรสชาติดีกว่า โดยปกติเธอจะซื้อสินค้าเหล่านี้จากซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างและตลาดนัดเกษตรกรบางโอกาส แม้เธอจะไม่รู้จักเครื่องหมายคิวมาก่อน แต่เมื่อเธอรู้ข่าวเรื่องนี้ เธอบอกว่า“รู้สึกหดหู่และผิดหวังที่เราให้ความเชื่อมั่นต่อสิ่งที่เจ้าของฟาร์มได้ให้คำมั่นสัญญาเรื่องความปลอดภัย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้ตรวจสอบคุณภาพของสินค้า ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจในการบริโภคผักผลไม้อินทรีย์ แต่ก็รู้สึกว่าเป็นตัวเลือกที่มีอยู่ไม่มากในกรุงเทพฯ เลยเลือกมองเรื่องความสด สะอาด และรสชาติแทน และหลีกเลี่ยงผักที่มีแนวโน้มที่จะใช้สารเคมีเยอะๆ”-----------------------------------------------------------------------------------------------   สารเคมี: เรื่องใหญ่กว่าที่คิด    การปนเปื้อนสารเคมีในพืชผักผลไม้เป็นเพียงปลายเหตุของห่วงโซ่ปัญหาที่ยาวกว่านั้น รากฐานปัญหาจริงๆ ของเรื่องนี้คือประเทศไทยไม่มีการควบคุมดูแลการนำเข้าและการใช้สารเคมีให้อยู่ในร่องในรอย โดยข้อมูลปริมาณการนำเข้าสารเคมีจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2553-2558 เรียงตามลำดับคือ 117,815 ตัน, 164,538 ตัน, 134,480 ตัน, 172,826 ตัน, 147,375 ตัน และ 149,546 ตัน    กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ผู้ประสานงานกินเปลี่ยนโลกและรองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก Thai-PAN กล่าวว่า ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีทั้งหมดจากต่างประเทศ ซึ่งสารเคมีเหล่านั้นจะต้องมีการขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย จึงจะสามารถจำหน่ายในประเทศได้ ซึ่งการที่สารเคมีตัวหนึ่งจะขึ้นทะเบียนได้จะต้องมีการตรวจสอบตามหลักวิชาการว่าปลอดภัย หมายถึงไม่มีพิษเกินไปทั้งต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม ไม่มีการตกค้างยาวนาน การลดจำนวนการขึ้นทะเบียนสำหรับสารเคมีอันตรายถือเป็นการควบคุมชั้นที่หนึ่ง    “ชั้นที่ 2 คือควรมีการควบคุมการขาย การโฆษณาอย่างเข้มงวด มีการกำกับดูแลการใช้ให้เป็นไปตามหลักวิชาการจริงๆ คือทุกครั้งที่ชี้ปัญหานี้ขึ้นมาก็จะโทษว่าเกษตรกรเห็นแก่ตัว แค่นี้มันแก้ปัญหามั้ย อันนี้เป็นโจทย์การกำกับดูแลของหน่วยงานราชการ ซึ่งก็คือกรมวิชาการเกษตรที่ยังทำหน้าที่โดยไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้เกิดการใช้อย่างถูกต้องได้ เขาห้ามใช้ในอาหารก็เอาไปใช้ ห้ามใช้ในข้าวก็ใช้ในข้าว คือสารเคมีเวลาขึ้นทะเบียนจะถูกระบุด้วยว่าใช้ในอะไรได้บ้าง ไม่ใช่ถูกใช้ทั่วไปดังนั้นต้องคุมที่การขายด้วยว่าเอาไปใช้อะไร คนขายจึงต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญการ ได้รับการอบรมเหมือนการขายยารักษาโรค คุณปลูกคะน้า ปลูกแตงโม ใช้อันนี้ๆ ได้ ไม่ใช่เอาไปใช้กับทุกสิ่งอย่าง นี่คือการควบคุมกำกับดูแลการใช้ ซึ่งหมายถึงคุณต้องไปควบคุมที่การขายและการโฆษณา”เปรียบเทียบผลย้อนหลัง แนวโน้มดีขึ้นThai-PAN ทำการสำรวจสารเคมีตกค้างในผักตั้งแต่ 2555-2559 (ยกเว้นปี 2556 ที่ตรวจข้าวบรรจุถุงแทน) พบว่า กลุ่มสินค้าผักซึ่งมีการสุ่มเก็บตัวอย่างมาแล้ว 3 ครั้งในปี 2555, 2557 และ 2558 เมื่อนำข้อมูลภาพรวมทั้ง 3 ปีมาเปรียบเทียบกับข้อมูลในปี 2559 โดยนำเฉพาะการวิเคราะห์สารตกค้างใน 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส อีพีเอ็น พบว่า ตัวอย่างผักที่พบสารพิษตกค้างสูงกว่าค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดหรือ MRL (Maximum Residue Limit) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลดลงเป็นลำดับ จากที่เคยพบสูงถึงร้อยละ 48.57 ในปี 2555 ลดลงเหลือร้อยละ 38.71 ในปี 2557 ร้อยละ 22.50 ในปี 2558 และลดลงเหลือร้อยละ 17.98 ในปี 2559มองในแง่นี้หมายความว่า การสุ่มตรวจสอบตัวอย่างและเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะช่วยสร้างการตื่นตัวและผู้ประกอบการเพิ่มความละเอียดรอบคอบมากขึ้นในการลดการปนเปื้อน กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ผู้ประสานงานกินเปลี่ยนโลกและรองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เชื่อว่าวิธีการนี้ Thai-PAN มาถูกทาง“กลุ่มที่เราจับตาดูมีแนวโน้มดีขึ้น คือมีการตกค้างปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานน้อยลง แสดงว่าเมื่อชี้ปัญหา ปัญหาก็ได้รับการแก้ไข มีการระวังตัวมากขึ้น ดีขึ้น แต่พอมาปีนี้เราขยายขอบเขตการตรวจ จากเดิมเราตรวจสารกำจัดศัตรูพืช 90 กว่าชนิด ปีนี้ตรวจหาเพิ่ม 450 ชนิด ตัวเลขก็เลยขึ้นมา อันที่เราไม่เคยเจอก็เข้ามา ถ้าเราจับตาดูเพิ่มขึ้น ชี้เป้ามากขึ้น มันก็มีแนวโน้มว่าจะครอบคลุมตัวสารเคมีตกค้างมากชนิดขึ้น ซึ่งก็หมายความว่าอาหารเราก็จะปลอดภัยมากขึ้น”การเพิ่มจำนวนสารเคมีที่ตรวจหาทำให้พบว่า ผักและผลไม้ที่ได้รับตราคิวพบสารเคมีตกค้างมากที่สุดจากทุกแหล่ง โดยพบสูงถึงร้อยละ 57.14ตีให้ตรงจุด    ภายหลังที่มีการเปิดเผยข้อมูลนี้ออกมาโดย Thai-PAN กรมวิชาการเกษตรได้ออกมาโต้แย้งและพยายามอธิบายให้เห็นความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายคิว 2 ประเภท แต่นี่คงไม่ใช่จุดที่ต้องขยายความให้ยืดยาว เพราะอะไร? กิ่งกรชี้ประเด็นว่า เมื่อผู้บริโภคเห็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยโดยหน่วยงานภายใต้กรมวิชาการเกษตร ผู้บริโภคย่อมเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าพืชผักผลไม้นั้นๆ ย่อมมีความปลอดภัย คงไม่ใช่หน้าที่ที่จำเป็นนักที่ผู้บริโภคจะต้องแยกแยะได้ว่าอะไรคือความต่างของเครื่องหมายคิวแต่ละชนิด    “ประเด็นหลักของเราไม่ได้สนใจว่าจะเป็นเครื่องหมายอะไร หรือไม่ได้อะไรเลยก็ตาม แต่การมีตราคิวติด ถามว่าเป็นความรับผิดชอบของใคร กรมวิชาการเกษตรหรือสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติก็ต้องไปดูว่าใครเอาตราของตนเองไปใช้โดยไม่ถูกต้อง มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอก ถ้าผู้บริโภคซื้อไปด้วยความเข้าใจว่าเป็นตราคิวจริง มีตัวเลขการรับรองเป็นปัจจุบัน ใช้ถูกต้อง แต่สินค้าผิดสเป็กก็เป็นหนึ่งประเด็น แต่ถ้าไม่ใช่ตราคิวจริงหรือปลอมก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง หมายความว่าผู้ที่ไม่ได้รับตรานี้ไปใช้ เอาไปใช้โดยผิดกฎหมาย ทั้งสองประเด็นเป็นความรับผิดชอบของใคร ก็ของเจ้าของตรา เราคิดว่านี่คือการปล่อยปละละเลยที่ไม่ควบคุมกำกับดูแลให้เป็นที่น่าเชื่อถือเพียงพอ ทำเสมือนว่าคุณปล่อยให้ผู้บริโภคถูกผู้ประกอบการหลอก โดยเอาสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพตามที่อ้างมาขายในราคาที่สูงกว่าราคาที่ผู้บริโภคจะซื้อได้ตามท้องตลาด” กิ่งกร อธิบายอะไรคือจุดอ่อนของเครื่องหมายคิว?ผศ.พีรชัย กุลชัย อาจารย์ประจำภาควิชาพัฒนาการเกษตรและการจัดการทรัพยากร คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และผู้ตรวจอิสระของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) อธิบายว่า ประเด็นนี้ต้องเริ่มจากตัวเกษตรกรก่อน เพราะว่ากระบวนการตรวจสอบโดยทั่วๆ ไปก็เหมือนกับระบบคุณภาพแบบหนึ่ง เป็นการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของตัวสินค้า ผู้ผลิตต้องมีความตระหนักเรื่องนี้ก่อน สองคือเรื่ององค์กรรับรอง ผู้ตรวจก็ทำหน้าที่ตรวจสอบไป หมายถึงผู้ตรวจตรารับรอง ในองค์กรรับรองก็จะมีตัวมาตรฐานว่าข้อหนึ่งสองสามต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งผู้ผลิตหรือเกษตรกรต้องศึกษาก่อนว่าถ้ารับการรับรองจากมาตรฐานนี้ เราจะทำอะไรได้หรือทำอะไรไม่ได้ เพราะมันมีหลายมาตรฐาน ซึ่งเกษตรกรต้องมีการเตรียมตัว แล้วพอผู้ตรวจไปตรวจอย่างน้อยปีละครั้งก็จะเขียนรายงานขึ้นมา แล้วก็จะมีกรรมการอีกชุดหนึ่งเรียกว่าอนุกรรมการรับรอง อนุฯ นี้ก็จะดูจากเอกสารและพิจารณาว่าจะรับรองหรือไม่ นี่คือกระบวนการคร่าวๆ“แต่อันที่จริงถ้าผู้ผลิตซื่อสัตย์และทำตามมาตรฐาน มันก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร กระบวนการรับรอง เราไม่ได้รับรองตัวผลผลิต แต่เรารับรองกระบวนการผลิต หมายความว่าในกระบวนการผลิตมีการป้องกันการปนเปื้อนหรือสารเคมีในทุกขั้นตอน แต่โดยธรรมชาตก็มีสารเคมีล่องลอยอยู่แล้ว ปนเปื้อนได้บ้าง แต่ต้องไม่เกิดค่ามาตรฐาน”การตรวจสอบของ มกท. จะตรวจสอบความเป็นไปได้ของผลผลิตมีควรจะมีมากน้อยแค่ไหน เช่น เกษตรกรแจ้งมาว่าจะปลูกผักกวางตุ้ง 1 ไร่ ในรอบการผลิตนั้นในระบบอินทรีย์ปริมาณการผลิตไม่ควรจะเกินเท่าไหร่ ถ้าปริมาณสูงขึ้นมาอย่างผิดปกติก็ต้องชี้แจงว่าเพราะเหตุใด มีการสวมสิทธิ์หรือไม่ การรับรองของ มกท. เกษตรกรจะเป็นผู้ชำระเงินเพื่อรับการตรวจ หากผ่านก็จะได้รับการรับรองจาก มกท. ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการรับรองอีกทีจากสหพันธ์การเกษตรอินทรีย์ระหว่างประเทศ หรือไอโฟม (International Federation of Organic Agricultural Movement: IFOAM) หมายความว่าตัวเกษตรกรมีแรงจูงใจที่จะได้รับการตรวจสอบอยู่แล้ว ขณะที่ตัวองค์กรผู้ตรวจเองก็ต้องรักษามาตรฐานการตรวจสอบของตนเพื่อไม่ให้สูญเสียความน่าเชื่อถือแต่ในกรณีเครื่องหมายคิว ผศ.พีรชัยตั้งข้อสังเกตว่า เครื่องหมายคิวเป็นของรัฐบาล ซึ่งมีการตรวจสอบคล้ายๆ กับ มกท. เพียงแต่มีข้าราชการเป็นผู้ตรวจสอบและมีรอบของการทำงาน แต่เพราะมีการให้การรับรองจำนวนมาก แบบปูพรม ตัวนโยบายก็ต้องการให้เกษตรกรได้เครื่องหมายคิว ทำให้การติดตามตรวจสอบหรือการตรวจซ้ำอาจมีปัญหา ผศ.พีรชัย ประเมินจากระบบว่า“ถ้าเกษตรกรไม่ซื่อสัตย์ พอได้คิวแล้วก็อาจจะไม่ค่อยใส่ใจเท่าไหร่ พอจังหวะราคาดีก็อาจจะเร่งโดยการใช้สารเคมีเพิ่มเติมเข้าไป เพื่อให้ผลผลิตได้จำนวนหรือผักสวยตามที่ตลาดต้องการ ด้านหน่วยงานรัฐ งบประมาณที่ลงไม่มีความต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ก็ทำตามงบประมาณ แต่ระบบของเอกชน คุณต้องจ่ายเงิน เหมือนกับเราซื้อตรา ซื้อความมั่นใจ แต่เราไม่สามารถปั๊มตราเองได้ ต้องให้องค์กรตรวจสอบมารับรองเรา องค์กรตรวจสอบก็ต้องเอาจริงเอาจัง หลุดไม่ได้ เพราะเกษตรกรอุตส่าห์จ่ายตังค์ให้ได้ตรา ทำแบบนี้ ความเชื่อมั่นระยะยาวจะไม่เกิดแต่คิวเป็นของฟรี หน่วยราชการบริการ มีข้อจำกัดด้านกำลังคน งบประมาณ บางทีการตรวจสอบไปไม่ถึง ลงรายละเอียดไม่ถึง ก็อาจจะมีจุดบกพร่องหรือรั่วไหล แต่ราชการก็พยายามชูคิวขึ้นมาเพื่อให้ดูว่ามีมาตรฐาน มีการรับรอง แต่ว่าก็ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างเข้มข้น อันนี้ก็เป็นข้ออ่อนประการหนึ่ง”คราวนี้ลองมาฟังเสียงเกษตรกรบ้าง สุรศักดิ์ ใจโปร่ง เจ้าของสวนฟุ้งขจร-บึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ที่ทำเกษตรอินทรีย์มา 9 ปี เขาเป็นเกษตรกรคนหนึ่งที่ได้รับเครื่องหมายคิวรับรองเรื่องกระบวนการผลิตในด้านหนึ่ง สุรศักดิ์มองว่า สินค้าเกษตรปลอดภัยหรืออินทรีย์ ตลาดเป็นเรื่องสำคัญมาก ดังนั้น เครื่องหมายคิวจึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถก้าวไปได้ไกลกว่าเดิม จากพื้นฐานที่เริ่มจากตลาดสีเขียวของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ทำให้สุรศักดิ์มีทัศนะว่า ตลาดสีเขียวเน้นเรื่องความไว้ใจระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ส่วนเครื่องหมายคิวเป็นปัจจัยในการก้าวสู่ตลาดที่กว้างขึ้น “คิวที่เราเห็นตามห้าง เหมือนเป็นกลลวงทางสังคมที่ว่าเป็นการแอบอ้าง คิวเป็นแค่ความปลอดภัย ไม่มีความเชื่อใจเป็นส่วนผสม ตรวจปีละครั้ง แต่เราจะเข้าสู่สังคม เราก็ต้องเอามาตรฐานคิวเป็นก้าวแรก ที่เราเห็นมีการปนเปื้อนเยอะ จุดหนึ่งเพราะเกษตรกรไม่มีพื้นที่ปลูกของเขาเอง ต้องไปรับซื้อจากเกษตรกรที่เขาเชื่อใจระดับหนึ่ง ถ้าคนเรามีความโลภ ขาดจิตสำนึก ก็จะมองแค่จะขายผลผลิตเยอะ ก็ขัดกับหลักการเกษตรอินทรีย์ของเรา ที่จะไม่เน้นผลผลิต แต่เน้นทำงานด้วยความสบายใจ ผักที่เราให้กับผู้บริโภคเราคิดว่ามันเป็นยา ไม่ทำให้เขาไม่สบาย ให้ผู้บริโภคได้ทานของที่ดีที่สุด”    ขณะที่ ผศ.พีรชัยและสุรศักดิ์จะให้มุมมองเรื่องความซื่อสัตย์ของตัวเกษตรกรว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย ด้านกิ่งกรกลับแสดงทัศนะอีกมุมหนึ่งเชิงระบบว่า การผลิตสินค้าเกษตรมีคนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่จำนวนมาก การรับรองก็มีรายละเอียดที่ยุ่งยาก เช่น เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐานในพื้นที่กี่แปลงและในพื้นที่แปลงนั้นผลิตอะไรบ้าง จะต้องมีการทำบัญชีตามระบบ ถ้าได้รับการรับรองคะน้า กะหล่ำ ไม่ได้หมายความว่าพืชชนิดอื่นจะได้รับการรับรองตามไปด้วย จึงต้องมีการทำงานร่วมกันทั้งตัวเกษตรกรและเจ้าหน้าที่กิ่งกร กล่าวว่า ตัวระบบฐานข้อมูลตรวจสอบรับรองค่อนข้างมีปัญหา ระบบมาตรฐานที่ดีตัวระบบฐานข้อมูลต้องเที่ยงตรง แม่นยำ ตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าเกษตรกรคนหนึ่งได้รับการรับรองเป็นเนื้อที่กี่ไร่ มีผลผลิตอะไรบ้างในปีนั้นๆ ระบบอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานจะมีการรับรองกันปีต่อปี มีการสุ่มตรวจสอบ ดังนั้น    “ถ้าระบบตรวจเช็คไม่ดี มันสอดไส้ได้ตลอดเวลา บอกเกษตรกรไม่ซื่อสัตย์ แน่นอน ถ้าไม่ซื่อสัตย์ก็ทำได้ตลอด ได้ทุกทาง เช่นเอามาสวม เพราะฉะนั้นต้องสร้างกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับและสร้างความน่าเชื่อถือตลอดทั้งระบบ ต้องมีระบบฐานข้อมูลที่ดีรองรับและมีการตรวจสอบตลอดเวลา มีการอัพเดทข้อมูลสม่ำเสมอ แล้วคนทำทำตามหน้าที่ มีหน้าที่ทำให้ถูกต้องก็ทำให้ถูกต้อง มีหน้าที่ตรวจสอบรับรองตามขั้นตอนอย่างไรก็ทำจริงๆ ไม่ใช่แค่ให้เขาเซ็นชื่อ จะมาบอกว่าคนนั้นซื่อสัตย์ คนนี้ไม่ซื่อสัตย์ มันไม่ใช่ประเด็น”    กล่าวโดยสรุปคือจะต้องมีระบบที่ดี ที่มีประสิทธิภาพกว่านี้    แต่นี่ก็ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาสารเคมีตกค้างที่รากเหง้าอย่างแท้จริง หากภาครัฐยังปล่อยปละละเลยการจำกัดการนำเข้าสารเคมีจนท่วมประเทศเช่นเวลานี้--------------------------------------------------------------------------------------------------------เครื่องหมาย Q คืออะร? คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติมีมติในการประชุม เมื่อวันที่ 29  กรกฎาคม 2546 ให้หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารให้เป็นเครื่องหมายเดียวกัน คือเครื่องหมาย Q เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการใช้เครื่องหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเพื่อใช้แสดงให้เห็นว่าสินค้าเกษตรและอาหารมีคุณภาพและความ ปลอดภัย พร้อมทั้งสื่อถึงผู้บริโภคภายในประเทศและประเทศคู่ค้าให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบการผลิตและผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอาหารให้เป็นไปตามมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ เป็นที่มาของพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551  หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของลักษณะของเครื่องหมาย การได้มาก การใช้เครื่องหมาย และการแสดงเครื่องหมาย Q มีรายละเอียดปลีกย่อยอยู่มากและซับซ้อน ในที่นี้จึงขออธิบายเฉพาะเครื่องหมายรับรอง Q กับสินค้าเกษตรและอาหารโดยย่นย่อเครื่องหมายรับรอง Q หมายถึง เครื่องหมายรับรองที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศใช้เพื่อแสดงถึงการให้การรับรองสินค้าเกษตรและอาหาร ว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่ประกาศโดยหรือได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ในด้านความปลอดภัยอาหาร (Food Safety) และด้านคุณภาพที่จำเป็น  (Essential Quality) โดยผู้ที่ต้องการใช้เครื่องหมาย Q จะต้องยื่นคำขอกับหน่วยรับรอง ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการที่หน่วยรับรองกำหนด เมื่อผ่านเกณฑ์แล้วจึงสามารถติดเครื่องหมาย Q บนสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของสินค้านั้น โดยผู้ได้รับการรับรองต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการรับรองผลิตภัณฑ์และการแสดงเครื่องหมายรับรองที่หน่วยรับรองกำหนด    หลักเกณฑ์ดังกล่าว เช่น การผลิตในระดับฟาร์มของสินค้าเกษตรต้องสอดคล้องกับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) และได้รับการตรวจสอบรับรองโดยหน่วยรับรองที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง, ผู้ขออนุญาตใช้เครื่องหมายต้องมีระบบการเรียกคืนหรือติดตามสินค้าได้ กรณีที่พบว่ามีปัญหา และสินค้าต้องถูกตรวจสอบคุณภาพที่จำเป็นและตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ เช่น สารพิษตกค้าง สารปนเปื้อน หรือสิ่งอันตรายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ตามแผนการตรวจที่หน่วยรับรองกำหนด เป็นต้นข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ www.acfs.go.th/qmark

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 183 สมัชชาผู้บริโภคไทยปี 2559 “ร่วมผลักดันระบบการคุ้มครองผู้สูงวัย”

ทุกวันที่ 30 เมษายนของทุกปี ถือเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนจากทั่วประเทศ จะร่วมกันจัดงานสมัชชาผู้บริโภคไทย เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวในประเด็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และเรื่องที่ยังอยู่ในกระแสการรณรงค์ของภาคประชาชนในประเทศต่างๆ สำหรับงานสมัชชาผู้บริโภคไทยประจำปี 2559 ครั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกับ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) และ สสส. จัดงานขึ้นเมื่อวันที่ 29 – 30 เมษายนที่ผ่านมา ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัสแวนด้าแกรนด์ นนทบุรี โดยมีประเด็นหลักคือ ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย และปัญหารถโดยสารสาธารณะกรณีรถสองชั้นฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาผู้อ่านไปเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ ภายในงานทั้งสองวันสมัชชาผู้บริโภคไทยปี 2559 วันที่ 29 เมษายน 2559ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย เหตุผลที่ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย กลายเป็นธีมหลักของงานมาจากการที่ประเทศเรา ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมของผู้สูงอายุ(ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 หรือเมื่อ 16 ปีที่แล้ว โดยจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด หรือราว 10 ล้านคน และจะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2564 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า (เมื่อสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มเป็นร้อยละ 20) แต่เราจะพบว่าปัญหาของผู้สูงวัยในฐานะผู้บริโภคนั้น ยังคงมีอยู่และเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นที่เราต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดระบบการคุ้มครองผู้สูงวัยที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมปาฐกถาพิเศษจาก นพ. วิชัย โชควิวัฒน กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถึงแนวทางในการสร้างระบบคุ้มครองผู้บริโภคในสังคมสูงวัยว่า “แม้ผู้สูงอายุจะผ่านโลกมามาก แต่เมื่อสูงวัยก็จะมีความเปราะบางตามธรรมชาติ เช่น เมื่อเกษียณจากการทำงาน โอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ก็จะลดลง จึงมีโอกาสมากที่จะถูกชักจูงจากผู้ที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์ หรือในกรณีที่ต้องการสินค้าและบริการมาช่วยสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ก็อาจตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ได้ง่าย ดังนั้นจึงควรมีมาตรการการดูแลที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุถูกเอารัดเอาเปรียบหรือตกเป็นเหยื่อจนกลายเป็นปัญหาสังคม ทั้งนี้หากเราพิจารณาจากการศึกษาเรื่อง การเข้าถึงและความพึงพอใจต่อบริการตามสิทธิผู้สูงอายุ เมื่อปี 2558 จะพบว่าผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 85 ยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันของตนเองได้ทั้งหมด ที่เหลือร้อยละ 13 ช่วยเหลือตัวเองได้บางส่วน และมีเพียงร้อยละ 2 ที่ช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย ดังนั้นประเทศไทยควรมีวิสัยทัศน์ในการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สูงวัยในกลุ่มใหญ่ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ยาวนานที่สุด ส่วนกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้บางส่วน ควรสนับสนุนให้ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้นเรื่อยๆ และช่วยฟื้นฟูผู้สูงวัยที่เหลืออีกร้อยละ 2 ให้ช่วยเหลือตัวเองได้บ้างโดยเราสามารถสร้างผู้สูงวัยให้เป็นพลังสังคมได้ ด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งของผู้สูงวัยอย่างครบวงจร ซึ่งมีหลักการสำคัญคือ 1. ต้องพัฒนาให้ผู้สูงวัยมีความเข้มแข็ง โดยพัฒนาผู้สูงวัยในฐานะปัจเจกบุคคล โดยต้องทำให้อยู่ในภาวะพึ่งพิงน้อยที่สุด ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการส่งเสริมผู้สูงวัยทำงาน ทั้งงานอาชีพและงานสังคม เพราะจะทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกได้ว่า ตนเองมีคุณค่า นอกจากนี้จะทำให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร และสามารถพึ่งพาซึ่งกันและกันได้ด้วย 2. ต่อมาต้องพัฒนาองค์กรต่างๆ ทั้งของผู้สูงวัยเอง และองค์กรที่ทำงานด้านผู้สูงวัย 3. รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายของบุคคลและองค์กรผู้สูงวัย และ 4. พัฒนาสภาพแวดล้อม ทั้งกฎหมาย สิ่งแวดล้อม สื่อ ระบบงาน กลไกต่างๆ ที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งของผู้สูงวัย” นอกจากนี้ นพ. วิชัย ยังได้เปรียบเปรียบสังคมผู้สูงวัยระหว่างประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ไว้ว่า บ้านเขารวยก่อนแล้วจึงแก่ แต่บ้านเราแก่ก่อนแล้วจึงรวย เพราะติดกับดักรายได้ปานกลาง และแม้รัฐบาลจะช่วยจ่ายเงินค่ายังชีพให้กับผู้สูงอายุเดือนละ 600 ถึง 1,000 บาท แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ในประจำวันได้ ดังนั้นสังคมไทยจึงควรเร่งพัฒนาการคุ้มครองผู้สูงวัยให้เป็นระบบ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ต่อจากปาฐกถา คือการเสวนาถึงทุกข์ของผู้สูงวัย ซึ่งเป็นการสะท้อนปัญหาต่างๆ ของผู้บริโภคสูงวัย ที่มีสาเหตุมาจากสินค้าหรือบริการ ตลอดจนปัญหาความมั่นคงในชีวิตและสุขภาพ มีตัวแทนจากหลายฝ่ายเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นดังกล่าว นายเชษฐา แสนสุข ตัวแทนเครือข่ายผู้สูงอายุในชุมชนแออัด กล่าวว่า “ทุกข์ของผู้สูงอายุในเมืองส่วนใหญ่คือปัญหาเรื่องสุขภาพ และเรื่องค่าใช้จ่าย การหวังพึ่งลูกหลานอย่างเดียวไม่สามารถทำได้ จึงอยากให้รัฐจัดบำนาญแห่งชาติ เพื่อเป็นหลักประกันในชีวิตให้กับทุกคน หรือนางทองม้วน นกแก้ว ตัวแทนผู้สูงอายุจากจังหวัดสมุทรสงคราม ที่มีประสบการณ์เป็นเหยื่อโฆษณายามาหลายครั้ง โดยสั่งซื้อยาตามโฆษณาทางวิทยุ เพราะอยากหายจากอาการป่วยที่เป็นอยู่และหลงเชื่อดาราดังทั้งหลายที่มาโฆษณา ซึ่งมาพบภายหลังว่ายาต่างๆ เหล่านั้นไม่มีความปลอดภัย”ก่อนจบการเสวนาจึงได้มีการร่วมกันสรุปข้อเสนอสำหรับ แนวทางการแก้ปัญหาทุกข์ของผู้บริโภคสูงวัยให้มีความยั่งยืน 6 ข้อ ดังนี้ 1. รัฐควรพิจารณาให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันในช่วงสุดท้ายของชีวิต 2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาผ่านสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ควรควบคุมการโฆษณายาอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้มีผู้หลงเชื่อจนตกเป็นเหยื่อโฆษณายาเกินจริง โดยเฉพาะผู้สูงวัย ผู้ป่วย และคนต่างจังหวัด 3. รัฐบาลควรให้การดูแลผู้สูงอายุมากกว่านี้ โดยเฉพาะการออกกฎหมายดูแลผู้สูงอายุ เพราะส่วนใหญ่ มีความกังวลว่าบั้นปลายจะลำบาก โดยเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไม่ควรต่ำกว่า 2,600 บาทต่อเดือน เพื่อให้ผู้สูงอายุพออยู่ได้ 4. รัฐต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายที่รัฐคิด เข้าไปมีส่วนร่วมและนำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายนั้นๆ เพราะส่วนใหญ่แล้ว ผู้คิดนโยบายไม่ได้เข้าถึงปัญหาอย่างแท้จริง มักทำตามกระแสการเรียกร้อง แต่ไม่ได้คิดทั้งระบบ เช่น ปัญหาการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ รัฐควรกำหนดนโยบายและแนวทาง ที่สามารถสร้างหลักประกันรายได้พื้นฐานให้กับผู้สูงอายุได้ เพราะหากมีหลักประกันรายได้เพียงพอต่อการยังชีพในระดับหนึ่ง คนกลุ่มนี้ก็จะไม่เป็นภาระอีกต่อไป 5. ผู้มีอำนาจในสังคม ควรมองว่า ผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระ แต่เป็นคลังสมองของสังคม สามารถสร้างคุณูปการต่อประเทศได้ และสุดท้าย 6. ประกันสังคม ควรปรับเปลี่ยนอัตราการจ่ายบำนาญที่ปัจจุบันกำหนดตายตัวไว้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นแต่ละปีทั้งนี้ภายหลังกิจกรรมในห้องประชุมใหญ่เสร็จสิ้น ก็มีการแบ่งการเสวนาเป็นห้องย่อยทั้งหมด 3 ห้องในประเด็นคือ 1. ประกันภัยผู้สูงวัย 2. ผู้สูงอายุกับการบริโภคยา อาหารและเครื่องมือแพทย์ที่เป็นปัญหา และ 3. ความเป็นไปได้ทางการเงินการคลังในการมีบำนาญพื้นฐานทั่วหน้าของประชาชน ซึ่งแต่ละห้องนั้นก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจที่ต่างกัน ดังนี้สรุปประเด็นห้องย่อยที่หนึ่ง เรื่องประกันภัยผู้สูงวัย ประเด็นหลักของการเสวนาคือ ปัญหาของประกันภัยชนิดนี้ ที่มักนำดาราหรือพิธีกรสูงวัยมาดึงดูดใจลูกค้าด้วยการใช้คำโฆษณาว่า “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ ไม่ต้องตอบคำถามใดๆ” ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่หลงเชื่อทำประกัน เพราะถูกโฆษณาเกินจริงและขาดข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง เพราะโฆษณาดังกล่าวไม่ได้บอกรายละเอียดทั้งหมดว่า กรมธรรม์ประกันภัยชนิดนี้ให้ผลคุ้มครองอะไรบ้าง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมาเมื่อ ผู้ทำประกันภัยเกิดเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต  แนวทางแก้ไขปัญหานี้จึงเป็นหน้าที่หลักของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งนางสาวราตรี เนตรพระฤทธิ์  ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและพัฒนาการคุ้มครองสิทธิ คปภ. กล่าวว่า ทาง คปภ. ได้ออกกฎเกณฑ์และระเบียบเรื่องการโฆษณาหรือเสนอขายว่า ต้องมีถ้อยคำที่ชัดเจน ทำให้ประชาชนไม่สับสน และจะต้องบอกให้ชัดเจนว่า ถ้าหากเจ็บป่วยตายภายใน 2 ปี จะมีสิทธิ์ได้รับเฉพาะเบี้ยประกันภัยคืนบวกกับเงินเพิ่มเท่านั้นอย่างไรก็ตามหากผู้สูงวัยต้องการซื้อประกัน ควรศึกษาข้อมูลจากหลายๆ แห่งก่อนตัดสินใจ เช่น www.oic.or.th ที่รวบรวมข้อมูลเรื่องบริษัทประกันภัย กรมธรรม์ประกันภัยแต่ละชนิดแต่ละประเภทพร้อมทั้งคำอธิบาย มีข้อมูลสถิติเรื่องการร้องเรียน ข้อมูลสถิติเรื่องการลงโทษบริษัทประกันภัย และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถโทรศัพท์ไปที่สายด่วนประกันภัย 1186 ซึ่งจะแนะนำได้ว่าควรเข้าไปคลิกตรงไหนในเว็บไซต์ นอกจากนี้ควรเก็บหลักฐานการโฆษณาต่างๆ ไว้ด้วย เช่น ใบปลิวโฆษณา เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่นกัน และเมื่อได้กรมธรรม์มาแล้ว ควรอ่านหรือศึกษาคู่มือ เพื่อให้ทราบว่าสิทธิประโยชน์ในข้อสัญญาเป็นอย่างไร นอกจากนี้นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ยังได้ฝากข้อเสนอเพิ่มเติมอีก 5 ข้อดังนี้ 1.ในกรณีประกันแบบสูงวัย มีเงื่อนไขการจ่ายเบี้ยประกันก็คือต้องตายหลังเวลา 2 ปีจึงจะได้ทุนประกัน มีความเห็นว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวเกินไป จึงขอให้พิจารณาทบทวนเรื่องนี้ใหม่ 2.ขอให้มีการลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายเรื่องการโฆษณาซึ่งปัจจุบันสามารถตรวจสอบได้ และขอให้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่าบริษัทไหนได้ดำเนินการทางกฎหมายไปแล้ว เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนโฆษณา 3.เพิ่มบทกำหนดโทษของตัวแทนในกรณีที่ขายประกันแบบผิดจรรยาบรรณ ไม่ใช่แค่เพิกถอนใบอนุญาต 4.ขอให้มีมาตรการบังคับให้บริษัทประกันภัยมีระบบ Call Center ที่ลูกค้าติดต่อง่าย เพราะขณะนี้มีบริษัทประกันภัยที่เสนอขายประกันทางโทรศัพท์ แต่เมื่อมีการติดต่อกลับเพื่อขอยกเลิกสัญญา ติดต่อไม่ได้ หรือติดต่อยากมาก และ 5.การยกเลิกประกันขอให้ทำได้ในกรณีเดียวคือ ขอให้ยกเลิกภายใน 30 วันไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดว่า ถ้าผ่านตัวแทนต้องดำเนินการภายใน 15 วัน ขอให้มีการปรับให้เท่ากัน เพราะอย่างน้อยจะได้มีเวลาศึกษา สรุปประเด็นห้องย่อยที่สอง ผู้สูงอายุกับการบริโภคยา อาหารและเครื่องมือแพทย์ที่เป็นปัญหา พบว่าปัญหาหลักคือ การหลงเชื่อในสรรพคุณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยาแผนโบราณต่างๆ โดยจะมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ผู้สูงอายุนิยมใช้ประจำ เช่น น้ำมันปลา สาหร่ายสไปรูไลน่า แคลเซียม โปรตีนผง จมูกข้าว ซึ่งมักได้รับการชักชวนให้ซื้อจากผู้ใกล้ชิด  หรือจากผู้ประกอบวิชาชีพ แต่เราจะพบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไม่ได้ปลอดภัยและมีประโยชน์เสมอไป เช่น ผลิตภัณฑ์บางชนิดโฆษณาว่ามาจากปลาน้ำลึก ซึ่งถ้าไปคนเป็นหอบหืดกินเข้าไปก็จะอันตาย หรือแม้แต่คลอโรฟิลล์ก็พบว่า มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ใส่สารบางอย่างเข้าไป จนทำให้คนที่กินแล้วก็ใจสั่น หรือการกินยาแผนโบราณบางชนิด ก็สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ยา ตัวบวมจากสเตียรอยด์ที่ใส่ลงไป หรือมีจ้ำเลือดออกใต้ผิวหนังได้ ดังนั้นจึงต้องมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เช่น ให้ผู้สูงอายุควรมีผู้ดูแลหรือสร้างความรู้เชิงวิชาการ ที่ทำให้เข้าใจเรื่องข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องของความปลอดภัย แต่ต้องมีประโยชน์ด้วย รวมทั้งควบคุมคุณภาพและราคา นอกจากนี้สภาวิชาชีพต้องควบคุมให้คนของตัวเองดูแลและทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคด้วย เพราะทุกวันนี้คนในวิชาชีพกลุ่มหนึ่งเป็นคนขายผลิตภัณฑ์นี้ ซึ่งช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและทำให้ของขายดีขึ้น และควรปรับปรุงฉลากโภชนาการ ให้อ่านเข้าใจง่าย ส่วนกรณีที่เครื่องมือแพทย์มีปัญหา มีสาเหตุจากการนำไปสาธิต โฆษณา โอ้อวด เกินความจริง เช่น ใช้รักษาโรคโน้นโรคนี้ได้ ทั้งที่ไม่ได้งานวิจัยมาสนับสนุน แต่ใช้เทคนิคคือให้ไปใช้ฟรี มีการเล่นเกม แจกรางวัล ของขวัญ โปรโมชั่นเยอะแยะ ซึ่งผู้บริโภคไม่ควรหลงเชื่อ เพราะไม่มีผลิตภัณฑ์สุขภาพตัวไหนที่สามารถรักษาได้ครอบจักรวาล สรุปประเด็นห้องย่อยที่สาม ความเป็นไปได้ทางการเงินการคลังในการมีบำนาญพื้นฐานทั่วหน้าของประชาชน ห้องนี้มีคนเข้าร่วมหนาแน่นมากที่สุด เพราะผู้สูงวัยส่วนใหญ่ต่างก็มีความทุกข์ในเรื่องของรายได้ หรือมีรายได้ต่ำทำให้ไม่สามารถเก็บออมได้มากพอเมื่อสูงวัย และต่างต้องการให้รัฐจัดสวัสดิการบำนาญให้ผู้สูงวัยทุกคน ซึ่งควรอยู่ในอัตราใกล้เคียงกับเส้นความยากจน ตามที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุไว้ในปี 2557 คือ 2,600 บาทต่อเดือน แต่ประเด็นคือรัฐจะสามารถจัดสรรงบให้ผู้สูงอายุได้เพียงพอหรือไม่อย่างไรก็ตามในการเสวนาครั้งนี้ ก็มีการร่วมกันเสนอแนวทางการแก้ปัญหา หรือความเป็นไปได้ในการมีบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าของประชาชนคือ 1.รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะ กลุ่มที่เป็นแรงงานนอกระบบมีส่วนร่วมออมเพื่อการเกษียณ หรือผลักดันโครงการให้ความรู้ทางการเงิน และปรับนโยบายการลงทุนของกองทุนการออมเพื่อการเกษียณ เพื่อเพิ่มผลตอบแทน 2.เตรียมความพร้อมสำหรับรับคนสูงวัยซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น การสนับสนุนการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน ลดแรงกดดันที่รัฐต้องใช้พลังในการลงทุนด้านต่างๆ ให้เอกชนมาร่วมด้วย ปรับปรุงการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ หาแหล่งเงินอื่นที่นอกเหนือจากงบประมาณแผ่นดิน นอกจากนี้จากงานวิจัยของนักวิชาการในและต่างประเทศก็ได้ยืนยันว่า ประเทศไทยมีงบเพียงพอในการจัดสรรสวัสดิการบำนาญดังกล่าว เพียงแต่ต้องบริหารงบให้กระจายอย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และปฏิรูประบบภาษี รวมทั้งการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม กำไรในตลาดหุ้น และควรปรับขึ้นภาษีอย่างเป็นธรรม ซึ่งท้ายที่สุดแล้วทุกคนต่างก็หวังว่าข้อเสนอต่างๆ จะเป็นจริง เพราะบำนาญชราภาพถือว่าเป็นสวัสดิการหรือสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐควรจัดสรรให้ประชาชนในประเทศ    เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับเนื้อหากิจกรรมของวันแรก เรียกได้ว่าเสวนากันในประเด็นที่เกี่ยวกับกับผู้สูงอายุในทุกแง่มุมที่เป็นปัญหากันเลยทีเดียว สมัชชาผู้บริโภคไทยปี 2559 วันที่ 30 เมษายน 2559การเสวนาปัญหารถโดยสารสองชั้นจากข้อมูลของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ที่ได้นำเสนอข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ เมื่อปี 2558 พบว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสองชั้น สูงกว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถบัสชั้นเดียวถึง 6 เท่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคที่ต้องเดินทางด้วยรถโดยสารดังกล่าว จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรณรงค์ให้รถโดยสารสองชั้นทุกคัน ต้องผ่านทดสอบการลาดเอียง ทั้งนี้หากวิเคราะห์สาเหตุหลักของอุบัติเหตุดังกล่าว พบว่าไม่ได้มาจากผู้ขับขี่เพียงอย่างเดียว แต่รถมีปัญหาเรื่องโครงสร้าง และการออกแบบที่ไม่เหมาะสมกับเส้นทางและถนนในประเทศ หรือไม่เป็นไปตามมาตรฐานข้อกำหนดสากล เช่น UNECE R66 ที่เกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของโครงสร้างและการทดสอบตัวถังรถโดยสารหลายประการ ดังนี้ 1.ตำแหน่งของจุดศูนย์ถ่วงที่อยู่สูงกว่ารถชั้นเดียว เนื่องจากมิติรถสองชั้นที่สูง 4.20 ม. ยาวกว่า 12.00 ม. หนักกว่า 18  ตัน ยังไม่รวมน้ำหนักของผู้โดยสารและสัมภาระด้านบน เพราะฉะนั้นด้วยรถที่มีความสูงขนาดนี้ เมื่อวิ่งด้วยความเร็วบนถนนจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้โดยเฉพาะทางโค้ง ทางลาด 2.ปัญหาโครงสร้างความแข็งแรง ที่ส่วนใหญ่ประกอบขึ้นจากการนำคัสซีเก่ามาซ่อมแซม และดัดแปลงเป็นตัวถังรถใหม่ เพื่อลดต้นทุนนำเข้ารถใหม่จากต่างประเทศที่มีราคาสูงกว่าเท่าตัว ซึ่งผู้บริโภคไม่มีทางรู้ได้ว่ารถคันไหนต่อเติมดัดแปลงมาอย่างไร  และ 3. ปัญหาระบบเบรก ที่มักจะขัดข้องหรือหยุดทำงานขณะวิ่งลงเนินเขาระยะทางยาว การคุมเข้มความแข็งแรงของโครงสร้างรถ และโครงสร้างเบาะผู้โดยสาร ที่ยังขาดความแข็งแรงและไม่มีจุดยึดเกาะกับรถตามมาตรฐานสากล ซึ่งยังไม่มีการกำหนดข้อบังคับและบทลงโทษชัดเจน  อย่างไรก็ตามมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็ได้จัดทำข้อเสนอระยะสั้น เพื่อเป็นมาตรการเร่งด่วนแก่กรมการขนส่งทางบกเพื่อพิจารณา 4 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้กรมฯ ออกประกาศใหม่ให้รถโดยสารสองชั้นทุกคันต้องเข้ารับการทดสอบการลาดเอียง 2.ขอให้รถโดยสารสองชั้นที่ผ่านการทดสอบการลาดเอียงต้องแสดงสัญลักษณ์หรือติดสติ๊กเกอร์ว่าผ่านการทดสอบอย่างชัดเจนบริเวณด้านหน้าและด้านข้างรถเพื่อเป็นตัวเลือกในการใช้บริการให้กับผู้บริโภค 3. ขอให้กรมกำหนดเส้นทางเสี่ยงสำหรับรถโดยสารสองชั้น โดยพิจารณาจากสภาพถนน และจำนวนอุบัติเหตุของรถขนาดใหญ่ ต้องห้ามใช้เส้นทางโดยเด็ดขาดพร้อมกำหนดโทษหากฝ่าฝืน 4. ขอให้กรมพัฒนาระบบ GPS ในรูปแบบเชิงป้องกันอุบัติเหตุแบบ Real time ที่สามารถแจ้งเตือนและสกัดจับได้ทันที โดยเชื่อมโยงหรือส่งต่อกับระบบฐานข้อมูลหน่วยงานอื่นๆ ในระดับพื้นที่ เช่น ตำรวจทางหลวง สำนักงานขนส่งแต่ละจังหวัด เป็นต้นซึ่งข้อเสนอทั้ง 4 จะได้มีการติดตามเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคต่อไป ----------------------------------------------------------------------------------------------------รางวัลยกย่องสื่อมวลชลที่มีส่วนร่วมต่อการสร้างความรู้และนำเสนอข่าวสารด้านการคุ้มครองผู้บริโภคโดย คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สื่อมวลชนทำข่าว สารคดีเชิงข่าวการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีคุณภาพและมีคุณค่าต่อการสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้น รวมทั้งเพื่อส่งเสริมกำลังใจให้สื่อมวลชนไทย โดยแบ่งออกเป็นประเภทสื่อโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ดังนี้ ประเภทสื่อโทรทัศน์ ประกอบด้วยรางวัลข่าวยอดเยี่ยม ได้แก่ ข่าวลิฟท์บีทีเอส โดย นายอาธิต พันธุ์ปิยะศิริ จากสำนักข่าวไทย อสมท. และสารคดีเชิงข่าวยอดเยี่ยม  ได้แก่ ผลงานเรื่องศัลยกรรมปรับโครงสร้างจมูก สวยหรือเสี่ยง โดย นางสาวศิริพร กิจประกอบ ผู้สื่อข่าวกองข่าวเฉพาะกิจ ช่อง 9 MCOT HDประเภทสื่อออนไลน์ ประกอบด้วยรางวัลสารคดีเชิงข่าวยอดเยี่ยม ได้แก่ ผลงานเรื่องร้าวทรุดบ้านหรูรัชวิภา โดย นางสาวธิดารัตน์ เมืองจันทร์ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ และรางวัลชมเชยสารคดีเชิงข่าวเรื่อง มหากาพย์ 2 ปีสะพานถล่ม ร้องเรียนสารพัดหน่วยงาน – ไร้ความคืบหน้า โดย นายณัฐพร วีระนันท์ สำนักข่าวอิศรา

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 182 ผู้บริโภคกับความตกลง TPP 3 ผลกระทบที่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด

ความลุ่มๆ ดอนๆ ของเศรษฐกิจไทยและการติดหล่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เป็นตัวเร่งให้ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนไทยต้องหันมาผลักดันการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือทีพีพี (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement: TPP) ข้อตกลงเกี่ยวกับการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เวลานี้ มีมูลค่าเท่ากับร้อยละ 40 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือจีดีพีของโลก ครอบคลุมประเทศต่างๆ สองฟากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวจักรสำคัญ ปัจจุบันมีสมาชิก 12 ประเทศคือสหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม และยังมีประเทศที่ให้ความสนใจจะเข้าร่วมอีก 5 ประเทศ คือ โคลอมเบีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้และไต้หวัน ขณะที่สหรัฐอเมริกา หัวเรือใหญ่ผู้ผลักดันข้อตกลงนี้ก็เป็นตลาดขนาดใหญ่ของไทย จึงเป็นเรื่องยากที่ไทยจะทำเฉยกับรถไฟผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลที่กำลังเคลื่อนไปข้างหน้า โดยไม่มีไทยอยู่บนขบวนรถ ฟากฝั่งภาคธุรกิจเอกชนแสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องการให้ไทยเข้าร่วม ส่วนฟากรัฐบาลนั้น แม้จะมีความสนใจ แต่ก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ เนื่องจากเนื้อหาในข้อตกลงมีบางส่วนที่อาจสร้างความเสียหายในมิติอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเศรษฐกิจ เช่น การสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม เป็นต้น บนจุดยืนของผู้บริโภค ทีพีพีเหมือนจะเป็นประเด็นระดับรัฐ ระดับโลกที่ห่างไกล ทว่า เมื่อพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว แรงกระแทกจากทีพีพีอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องยาและอาหารซึ่งคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับเราทุกคน ทั้งยังรวมถึงการแทรกแซงอำนาจในการออกนโยบายต่างๆ ของรัฐ ที่สุดท้ายแล้วจะกระทบกับการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และรถไฟผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจขบวนนี้อาจจะนำมาซึ่งหายนะอีกมหาศาลเท่าใดยังคาดการณ์ไม่ได้   ยา : ผูกขาดไม่สิ้นสุด ยาน่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เพราะส่งผลกระทบวงกว้างและเป็นสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของผู้คน รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าประเด็นหลักๆ ที่อยู่ในทีพีพีประกอบด้วยการผูกขาดข้อมูลยา (Data Exclusivity) ซึ่งจะบังคับให้องค์การอาหารและยา (อย.) ที่รับหน้าที่ขึ้นทะเบียนยาจะต้องยินยอมให้ยาใหม่ที่ขึ้นทะเบียนในไทยผูกขาดข้อมูลความลับทางการค้า 5 ปี หรือ 8 ปี นี่ย่อมเท่ากับการกีดกันบริษัทที่ผลิตยาชื่อสามัญซึ่งมีราคาถูกกว่าไม่ให้สามารถขึ้นทะเบียนยาและเข้าสู่ตลาดได้หรือเข้าสู่ตลาดช้าลง ประเด็นต่อมาคือเรื่องข้อบ่งใช้ ในทีพีพีอนุญาตให้สามารถจดสิทธิบัตรการใช้ใหม่ของสารเก่าได้ หมายถึงยาตัวเก่าที่มีอยู่เดิม เช่น แอสไพรินที่ต่อมารู้ว่าเมื่อรับประทานไปนานๆ จะทำให้เม็ดเลือดจางลง จึงสามารถนำมาใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจได้ เมื่อพบข้อบ่งใช้ใหม่ ทีพีพีระบุว่าต้องยินยอมให้จดสิทธิบัตร กับอีกประเด็นที่มาคู่กันคือวิธีการใหม่ของการใช้สารเก่า ยกตัวอย่างเช่นเพราะเด็กรับประทานยายาก จึงดัดแปลงยาแก้ปวดสำหรับเด็กที่ใช้ทานเป็นแปะหน้าผากหรือแปะที่ผิวหนังเพื่อให้ตัวยาซึมผ่านผิวหนัง ลักษณะนี้ก็สามารถจดสิทธิบัตรได้ ทั้งที่ทั้งสองกรณีนี้ไม่มีการประดิษฐ์คิดค้นใหม่เลย นี่ย่อมเท่ากับเป็นการยืดอายุการผูกขาดผ่านสิทธิบัตรออกไปไม่สิ้นสุดหรือที่เรียกว่า Evergreening Patent ทำให้ยามีราคาแพงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีข้อเรียกร้องให้ยืดอายุสิทธิบัตรออกไปอีก 5 ปีหรือการที่ระบุให้ อย. ต้องทำหน้าที่เป็นตำรวจแทนเจ้าของสิทธิ์ นั่นคือถ้ามียาชื่อสามัญเดียวกันจะมาขึ้นทะเบียน อย. ต้องแจ้งให้เจ้าของสิทธิ์รู้โดยละเอียด ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ อย. โดยไม่จำเป็น “ผลการศึกษาพบว่า ถ้าให้มีการผูกขาดข้อมูลยา 5 ปี เราต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 8 หมื่นกว่าล้านบาทต่อปี ขณะที่ถ้าเรายืดอายุสิทธิบัตรไป 5 ปี ในปีที่ 5 เราจะเสียไป 2 หมื่นกว่าล้านบาทต่อปี ทำไมการขยายอายุจึงมีมูลค่าน้อยกว่าการผูกขาดข้อมูลยา เพราะการผูกขาดข้อมูลยา ถ้าเกิดขึ้น มันจะเกิดวันนี้เลย แต่การยืดอายุสิทธิบัตรนั้น พอยาจะหมดมันก็ยืดไป มันจึงใช้เวลา แต่พอสุดท้ายปลายทาง การผูกขาดข้อมูลยาในปีที่ 30 ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนกว่าล้านบาทต่อปี ขณะที่การขยายอายุสิทธิบัตรจะเป็น 6 แสนกว่าล้านบาทต่อปี เนื่องจากพอขยายอายุไปเรื่อยๆ ทุกยาก็ขยายอายุหมด ดังนั้น ค่าใช้จ่ายด้านยาก็จะสูงขึ้น เพราะยาไม่หมดอายุสักที” เป็นภาระทางงบประมาณจำนวนมหาศาลต่อระบบหลักประกันสุขภาพในที่สุด   จีเอ็มโอ: โจรสลัดชีวภาพจีเอ็มโอหรือสิ่งมีชีวิตตัดแต่งพันธุกรรมเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องจับตา ก่อนหน้านี้มีความพยายามที่จะผลักดันกฎหมายอนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอได้ แต่ก็ถูกภาคประชาชนกดดันจนต้องล้มเลิกไป มีการตั้งข้อสังเกตว่าการผลักดันกฎหมายจีเอ็มโอที่ผ่านมาสอดรับกับความต้องการในทีพีพี หากไทยเข้าร่วมทีพีพี เราจะถูกเรียกร้องให้เข้าร่วมยูปอฟ 1991 (The International Union for the Protection of New Varieties of Plants: UPOV) หรือสหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ให้สิทธิบริษัทหรือนักปรับปรุงพันธุ์สามารถผูดขาดพันธุ์พืชทุกชนิดเป็นเวลา 20 ปี และไม่อนุญาตให้เก็บพันธุ์ไปปลูกต่อ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี อธิบายว่า “สมมติว่าถ้าเกษตรกรนำพันธุ์ข้าวโพดของบริษัทแห่งหนึ่งมาปรับปรุงพันธุ์ต่อ ทางบริษัทก็จะอธิบายว่ามันเป็นอนุพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ของเขา และการคุ้มครองพันธุ์พืชจะไม่ใช่แค่ส่วนขยายพันธุ์เท่านั้น ถ้าคุณเอาเมล็ดไปปลูกแล้วให้ผลผลิตขึ้นมาก็ถือว่าละเมิด เขาสามารถตามไปยึดผลผลิตได้ อันนี้เองที่คนบอกว่ายูปอฟ 91 ก็คือกฎหมายสิทธิบัตรที่ขยายมาสู่พืช ซึ่งจะทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์แพงขึ้นสองถึงหกเท่าตัว” ประเด็นที่ 2 คือการขยายสิทธิบัตรไปสู่สิ่งมีชีวิต โดยในรายละเอียดของตัวบทยังเรียกร้องให้ขยายความไปสู่การจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ในดีเอ็นเอหรือหน่วยพันธุกรรม ประเด็นที่ 3 คือการเรียกร้องให้ไทยเข้าร่วมในสนธิสัญญาบูดาเปสต์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจดสิทธิบัตรจุลินทรีย์ให้เป็นไปโดยง่าย ซึ่งคำว่าจดสิทธิบัตรจุลินทรีย์นี้ยังสามารถขยายความไปสู่การจดสิทธิบัตรดีเอ็นเอ หมายความว่ากินความรวมไปถึงหน่วยพันธุกรรมของมนุษย์ด้วย ทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารของสังคมไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ วิฑูรย์ กล่าวว่า “ถ้าสรุปก็คือมันทำลายกลไกการคุ้มครองพันธุ์พืชท้องถิ่นของประเทศอย่างร้ายแรง และเอื้ออำนวยให้เกิดโจรสลัดชีวภาพ ปัจจุบัน โลกนี้มีกติการะหว่างประเทศอันหนึ่งชื่อว่าอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประเทศทั่วโลกทุกประเทศเป็นสมาชิก ยกเว้นประเทศเดียวคืออเมริกา อนุสัญญานี้บอกว่าใครก็ตามที่เอาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ไปใช้ประโยชน์ เอาไปปรับปรุงพันธุ์ คุณต้องขออนุญาตเจ้าของทรัพยากร ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ ไปใช้ฟรีไม่ได้ ซึ่งกฎหมายไทยเขียนรองรับไว้หมดแล้ว แต่ภายใต้ทีพีพีบอกว่าถ้าคุณเข้ายูปอฟ 91 คุณต้องแก้กฎหมายพันธุ์พืช ปี 2542 ซึ่งพูดถึงหลักการแบ่งปันผลประโยชน์เอาไว้” เพิ่มตัวเลขผลกระทบ   การคุ้มครองการลงทุน: อำนาจรัฐที่สาบสูญประเด็นสุดท้าย ว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุน ฟังแล้วเหมือนเป็นเรื่องห่างไกลตัวที่สุด แต่ผลกระทบอาจครอบคลุมวงกว้างมากกว่า เพราะอะไร? กล่าวโดยรวบรัดได้ว่า หากประเทศไทยเข้าร่วมทีพีพี ไทยจะต้องดูแลนักลงทุนต่างประเทศเฉกเช่นเดียวกับนักลงทุนในประเทศ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่จุดเป็นจุดตายของเรื่องนี้คือ นักลงทุนต่างประเทศที่มาลงทุนในไทยสามารถฟ้องร้องรัฐบาลไทยได้ หากพวกเขาเห็นว่าการดำเนินนโยบาย มาตรการ หรือการออกกฎหมายของรัฐกระทบต่อผลกำไรจากการลงทุน ประเด็นนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการปกป้องคุ้มครองประชาชนในประเทศ เช่น กรณีออสเตรเลียที่ออกนโยบายบังคับให้ซองบุหรี่จะต้องไม่มีตราสินค้าและออกแบบให้ไม่ดึงดูด เพื่อต้องการลดปริมาณการสูบบุหรี่ในประเทศที่กระทบต่อสุขภาพของประชาชน แต่รัฐบาลออสเตรเลียกลับถูกบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกฟ้องร้องผ่านกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนหรือไอเอสดีเอส (Investor-State Dispute Settlement: ISDS) ภายใต้หลักการคุ้มครองการลงทุน โดยการฟ้องนี้ไม่ใช่การฟ้องต่อศาลยุติธรรมภายในประเทศ แต่เป็นการฟ้องผ่านอนุญาโตตุลาการที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายเลือก ผลชี้ขาดออกมาเช่นไร คู่กรณีจะต้องปฏิบัติตามนั้นและไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์ สิ่งนี้ย่อมเท่ากับจำกัดอำนาจอธิปไตยของรัฐไทยที่จะดำเนินนโยบายใดๆ เพื่อดูแลประชาชนภายในประเทศ เพราะหากนโยบายดังกล่าวถูกนักลงทุนมองว่าจะก่อผลกระทบ การฟ้องร้องผ่านกลไกไอเอสดีเอสย่อมส่งผลให้นโยบายนั้นชะงักงัน หรือทำให้รัฐบาลต้องคอยเกรงอกเกรงใจนักลงทุนต่างประเทศ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากเอฟทีเอ ว็อทช์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “เมื่อก่อนมักจะมีคนบอกว่าบทการลงทุนดูแลนักลงทุนดีกว่าคนในชาติ ซึ่งผิดหลักการปฏิบัติที่เท่าเทียมในข้อตกลงเขตการค้าเสรี ในเมื่อบอกว่าต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียม แต่ทำไมจึงดูแลนักลงทุนดีกว่า ในทีพีพีครั้งนี้เลยเขียนชัดๆ เลยว่าการดูแลนักลงทุนต่างชาติดีกว่าคนในชาติ ไม่ถือว่าขัดกับหลักการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม แปลว่าต่อจากนี้คุณไม่ต้องดูแลคนในชาติก็ได้ ถ้าคุณบอกว่าเดิมต้องเอาร่างกฎหมายมารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ต่อแต่นี้ไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก็ได้ แต่ต้องรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุนต่างชาติ “ยกตัวอย่างเรื่องการลงทุนที่เป็นรูปธรรมแล้วกัน ที่เราห่วงมากอย่างป่าไม้ ที่ดิน เหมืองแร่ ประปา ไฟฟ้า ก๊าซ พวกนี้จะมีข้อกำหนดแบบหนึ่งเลยที่เมื่อก่อนเราไม่เคยมีในฉบับอื่นๆ แต่เคยได้ยินว่ามีวิธีการเขียนแบบนี้อยู่ มันเรียกว่า Umbrella Cause หมายถึงเขียนเป็นร่ม คือถ้าต่อจากนี้ทำสัมปทานกับรัฐ แล้วเขียนกติกาต่างๆ ไว้น้อยกว่าในทีพีพี ให้ถือว่าสัมปทานนั้นถือกติกาเท่ากับทีพีพีโดยอัตโนมัติทันที และสามารถฟ้องรัฐผ่านกลไกไอเอสดีเอสได้เช่นกัน” .......... ขณะที่สหรัฐฯ ผ่านบทบาทของสภาธุรกิจอเมริกัน-อาเซียนก็โน้มน้าวให้รัฐบาลไทยเข้าร่วมทีพีพี ล่าสุด ญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ส่งเทียบเชิญชวน แม้ว่ารัฐบาลไทยจะแสดงท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ ขอศึกษาผลกระทบรอบด้านก่อน แต่ความพยายามปรับแก้กฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายจีเอ็มโอ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา หรือกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กลับมีทิศทางสอดคล้องกับทีพีพีโดยบังเอิญเป็นความบังเอิญจริงๆ หรือไม่ ผู้บริโภคต้องเกาะติดอย่างใกล้ชิดต่อไป ----------------------------------------------------------------ความเคลื่อนไหวของสภาธุรกิจอเมริกันฯทีพีพีมีความเคลื่อนไหวคึกคักเป็นพิเศษตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่หากติดตามอย่างต่อเนื่องจะพบว่า ประเด็นนี้ค่อยๆ เพิ่มกระแสขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ 27 กรกฎาคม 2558 เมื่อกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2558 โดยสถานการณ์ค้ามนุษย์ของไทยยังอยู่ในระดับเทียร์ 3 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งหมายถึงไทยยังดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ และไม่ได้ใช้ความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา ขณะที่คิวบา อุซเบกิซสถาน และมาเลเซียได้รับการเลื่อนขึ้นจากเทียร์ 3 เป็นเทียร์ 2 ซึ่งหมายถึงประเทศที่สมควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษแม้จะปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำได้ไม่ครบถ้วน แต่ถือว่ามีความพยายาม จุดสังเกตที่ทำให้รายงานชิ้นนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงคือ กฎหมายของสหรัฐฯ ห้ามมิให้รัฐบาลของตนทำข้อตกลงกับประเทศใดๆ ที่ถูกจัดอันดับอยู่ในเทียร์ 3 และมาเลเซียก็คือหนึ่งในสมาชิกของTPP ที่กำลังจะมีการลงนามข้อตกลงนี้หลังจากรายงานฉบับดังกล่าวออกมา หลังจากนั้นเพียง 10 วัน สภาธุรกิจอเมริกา-อาเซียน (US-ASEAN Business Council: USABC) นำโดยอเล็กซานเดอร์ ซี เฟลด์แมน ประธาน USABC พร้อมผู้แทนจาก 29 บริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ เช่น แอบบ็อตต์, ไมโครซอฟต์, อีไล ลิลลี่, ฟิลิปส์ มอร์ริส, มอนซานโต้ เป็นต้น ได้เข้าพบอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือในประเด็นว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาในวันที่ 6 สิงหาคม ต่อด้วยการเข้าพบจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและการลงทุนของบริษัทจากสหรัฐฯ โดยมีอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมหารือด้วย วันที่ 7 สิงหาคม USABC เข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีเนื้อหาการพูดคุยเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ การลงทุน โร้ดแม็ปการปฏิรูปการเมือง และ ‘ทีพีพี’ จะเห็นได้ว่าท่าทีของสหรัฐฯ ในประเด็นทีพีพีต่อประเทศไทย น่าจะมีการวางจังหวะก้าวเอาไว้แล้ว ทุกอย่างจึงสอดรับกันเช่นนี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 181 คุณจะใช้สิทธิการตายได้อย่างไร

ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้ามากขึ้นในปัจจุบันก็เปรียบเหมือนกับเหรียญที่มี 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือ ความสามารถในการช่วยเหลือชีวิตของมนุษย์ให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ แล้วกลับมาสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ไว้บนโลกนี้ต่อไปได้อีกจนกว่าวาระสุดท้ายของชีวิตจะเวียนมาถึง ส่วนอีกด้านหนึ่งของเหรียญ “ความก้าวหน้าทางการแพทย์” กลับกลายเป็นสิ่งที่ “เกินความจำเป็น” เพราะไม่ว่าจะประโคมใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่เพียงใด แต่ความตายก็มาเยือนในเวลาอันใกล้ ดังนั้นแล้ว หากเมื่อฝ่ายหนึ่งอยากจะจากไปอย่างสงบ แต่ฟากผู้รักษาชีวิตและญาติอาจยังทำใจไม่ได้ สิ่งที่น่าจะเป็นทางออกอาจจะอยู่ที่ หนังสือแสดงเจตนาหรือสิทธิในการเลือกที่จะตายของผู้ป่วย บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาเพื่อยืดการตายนางนิรชา อัศวธีรากุล ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสิทธิและสร้างสังคมสุขภาวะ สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า จากภาวะก้ำกึ่งระหว่างความเป็นความตาย ประกอบกับการที่สังคมไทยกำลังย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ แต่ยังไม่มีระบบในการดูแลคนเหล่านี้ในวาระสุดท้ายได้อย่างเป็นระบบเช่นนี้ นำมาสู่การยกร่าง มาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ให้สิทธิทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยได้ตัดสินใจเอาเองว่าจะยินดีให้แพทย์ประโคมเทคโนโลยีเพื่อยื้อชีวิต หรือขอใช้สิทธิเลือก “ตายอย่างสงบ”  สาระสำคัญของมาตรา 12 ระบุว่า บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจาการเจ็บป่วย และเพื่อเป็นการขยายวิธีปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจึงได้มีการออกกฎกระทรวง กำหนดกฎเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการ สาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ. 2553 ซึ่งประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553   นิยามของคำว่า “วาระสุดท้าย” ที่สามารถขอใช้สิทธิปฏิเสธการรักษา คือ ภาวะของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาอันเกิดจากการบาดเจ็บหรือโรคที่ไม่อาจรักษาให้หายได้และผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้รับผิดชอบการรักษาได้วินิจฉัยจากการ พยากรณ์โรคตามมาตรฐานทางการแพทย์ว่าภาวะนั้นนำไปสู่การตายอย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้ในระยะเวลาอันใกล้จะถึง และให้หมายความรวมถึงภาวะที่มีการสูญเสียหน้าที่อย่างถาวรของเปลือกสมองใหญ่ ที่ทำให้ขาดความสามารถในการรับรู้และติดต่อสื่อสารอย่างถาวรโดยปราศจาก พฤติกรรมการตอบสนองใดใดที่แสดงถึงการรับรู้ได้จะมีเพียงปฏิกิริยาสนองตอบอัตโนมัติเท่านั้น แพทย์จะมีความผิดหรือไม่ หากทำตามเจตนาของผู้ป่วย “วาระสุดท้ายของชีวิตนั้นสามารถพิสูจน์ได้ เพราะสภาพร่างกายของผู้ป่วยจะเป็นตัวบ่งบอก เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปกังวลอย่างอื่น หรือคิดไปในทางที่ไม่ดี เรื่องนี้สามารถพิสูจน์ได้อยู่แล้ว และตามกฎหมายระบุว่าบุคลากรทางด้านสาธารณสุข คือแพทย์ พยาบาล คนที่เกี่ยวข้องหากปฏิบัติตามหนังสือแสดดงเจตนานี้แล้วไม่ถือว่าเป็นความผิด ให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”  นางนิรชา อัศวธีรากุล กล่าวยืนยัน อย่างไรก็ตาม เมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึงจริงๆ แพทย์ต้องดูว่าผู้ป่วยนั้นมีสติสัมปชัญญะหรือไม่ หากผู้ป่วยมีสติสัมปชัญญะดีพอที่จะสื่อสารได้ตามปกติ แพทย์เจ้าของไข้ต้องอธิบายให้ผู้ป่วยที่ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ได้ทราบถึงภาวะและความเป็นไปของโรคในขณะนั้นเพื่อยืนยันความประสงค์ที่จะปฏิเสธการรักษาหรือไม่ แต่ถ้าผู้ป่วยที่ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ไม่มีสติสัมปชัญญะดีพอที่จะสื่อสารได้ตามปกติ ก็ต้องแจ้งกับบุคคลที่ 3 อาทิ ญาติของผู้ป่วยเพื่อแจ้งให้ทราบถึงภาวะของโรค และแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วยก่อนจะปฏิบัติตามคำสั่งในหนังสือ “บางคนที่เชื่อเรื่องปาฏิหาริย์สักวันหนึ่งญาติของตัวเองอาจจะฟื้นขึ้นมาหลังจาก นอนโดยไม่รับรู้อะไรมาสักระยะ ตรงนี้เป็นหน้าที่ของญาติที่ต้องคุยกับบุคลากรทางการแพทย์ให้เข้าใจตรงกัน บางคนพอคุยไปคุยมาก็ยอมทำตามความประสงค์ บางคนก็ฝืนคำสั่งก็มี แต่เมื่อยื้อไปสักพักแล้วเห็นว่าไม่สามารถยื้อได้อีกก็เลยกลับมาใช้แนวทาง ที่ผู้ป่วยแสดงเจตจำนงเอาไว้ ดังนั้นการตามความประสงค์ของผู้ที่ทำหนังสือแสดงเจตจำนงเอาไว้ ประกอบกับความเห็นทางการแพทย์ยืนยันว่าเป็นวาระสุดท้ายแล้วก็ปล่อยให้ ตายอย่างสงบเพื่อที่อย่างน้อยผู้ป่วยจะได้ไม่ต้องเจ็บปวดกับการใช้สารพัด เครื่องช่วยชีวิต” ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสิทธิ ระบุว่า “อย่างที่บอกว่าเนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์มีความก้าวหน้า ไปมาก และแพทย์หลายๆ คนยังมีความกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวสามารถใช้ได้จริงๆ หรือไม่ จึงมีการฟ้องร้องกฎกระทรวง ว่าเนื้อหาหรือคู่มือในการปฏิบัติตามมาตรา 12 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื้อหาสาระที่ไม่ถูกต้อง ขาดการมีส่วนร่วมมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น จึงได้มีการต่อสู้ด้วยหลักการ เหตุผลกันนานกว่า 5 ปี ท้ายที่สุดศาลปกครองสูงสุดตัดสินเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2558 ว่ากฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 12 นั้นชอบด้วยกฎหมาย สามารถใช้ได้จริง” การใช้สิทธิมาตรา 12 ไม่ใช่การฆ่าตัวตาย  เรื่องการใช้สิทธิการตายนั้น ที่จริงแล้วมีมานานก่อนที่จะมีมาตรา 12 ออกมา โดยทุกคนสามารถแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องได้ในกรณีที่มีความประสงค์ตายอย่างธรรมชาติไม่ต้องมาสวน มาสอดเครื่องไม้เครื่องมือที่รังแต่จะทำให้เกิดความเจ็บปวด ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สมัยก่อนเป็นเรื่องง่ายมาก ผู้ป่วยสามารถแจ้งญาติ แจ้งบุคคลากรทางการแพทย์เพื่อขอกลับไปเสียชีวิตที่บ้านท่ามกลางลูกหลานได้ และที่จริงแล้วกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ให้สิทธิในการเร่งการตาย เพราะเมื่อญาติๆ และแพทย์ตกลงทำตามความประสงค์ของผู้ป่วยแล้ว แพทย์ก็ยังให้การรักษาแบบประคับประคองเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยต้องเจ็บปวดจากภาวะการดำเนินโรค เช่น ให้ยาแก้ปวด เป็นต้น ที่สำคัญยืนยันว่า การใช้สิทธิตามมาตรา 12 ไม่ใช่การฆ่าตัวตาย ! อาการของวาระสุดท้ายนั้นจะสามารถมองเห็นและพิสูจน์ได้ มีข้อบ่งชี้ปัจจุบันมีคนดังหลายๆ คนได้เขียนหนังสือแสดงความจำนงขอใช้สิทธิการตายเอาไว้เช่นเดียวกัน อาทิ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ อดีตเลขาธิการสำงานสุขภาพแห่งชาติ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ นักเขียนชื่อดัง เป็นต้น ท้ายที่สุด การใช้สิทธิขอตายตามมาตรา 12 เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความเข้าใจกันได้ระหว่างแพทย์และญาติเพื่อการวางแผนดูแลชีวิตผู้ป่วยล่วงหน้า แพทย์รู้ว่าไม่ไหว ญาติเข้าใจยื้อไปก็เป็นการทรมานผู้ป่วย จะได้ใช้วาระสุดท้ายนี้ในการอยู่ด้วยกันอย่างคุ้มค่าที่สุด คนตายได้จากไปโดยไม่ต้องทรมานคนที่สามารถทำหนังสือแสดงเจตนารมณ์ขอใช้สิทธิการตายนั้นต้องมีสติสัมปชัญญะ อายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ถ้าเป็นเด็กต้องให้ผู้ใหญ่เป็นคนตัดสินใจ โดยสามารถทำได้ 2 ลักษณะ คือ 1. เขียนเป็นลักษณ์อักษร และ 2. การใช้สิทธิด้วยวาจา แต่ในกรณีแสดงความจำนงด้วยวาจานั้นอาจจะยากไปหน่อย เพราะไม่มีหลักฐานยืนยัน สำหรับ การเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นตามกฎหมายบอกว่าต้องมีความชัดเจนเพียงพอที่ จะดำเนินการตามความประสงค์ของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาได้ โดยมีข้อมูลเป็นแนวทางในการทำหนังสือ ดังนี้ 1. รายการที่แสดงข้อมูลของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ โดยระบุชื่อ นามสกุล อายุ หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนและที่อยู่ หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้  2. วัน เดือน ปี ที่ทำหนังสือแสดงเจตนา 3. ชื่อ นามสกุล หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของพยาน และความเกี่ยวข้องกับผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา  4. ระบุประเภทของบริการสาธารณสุขที่ไม่ต้องการจะรับบริการ  5. ในกรณีที่ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาให้ผู้อื่นเขียน หรือพิมพ์หนังสือแสดงเจตนาฯ ให้ระบุชื่อ นามสกุล และหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เขียน หรือผู้พิมพ์เอาไว้ด้วย ที่สำคัญในหนังสือแสดงเจตนาฯ ต้องลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์นิ้วมือของผู้นำทำหนังสือแสดงเจตนา พยาน และผู้เขียน หรือผู้พิมพ์เอาไว้ด้วย ทั้งนี้ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาอาจระบุชื่อบุคคลเพื่อทำหน้าที่อธิบายความประสงค์ที่ แท้จริงของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาที่ระบุไว้ไม่ชัดเจน ซึ่งบุคคลที่ถูกระบุชื่อดังกล่าวจะต้องลงลายมือชื่อ หรือลายพิมพ์นิ้วมือ และหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนไว้ในหนังสือแสดงเจตนาด้วย นอกจากนี้ ในหนังสือแสดงเจตนาฯ สามารถระบุ รายละเอียดอื่นๆ ได้ เช่น ต้องการเสียชีวิต ณ สถานที่ใด ความประสงค์ที่จะรับการเยียวยาทางจิตใจ และการปฏิบัติตามประเพณี และความเชื่อทางศาสนา และให้บริการสาธารณสุขให้ความร่วมมือตามสมควร เมื่อผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาเข้ารับการรักษาตัวรักษาตัว ในสถานบริการสาธารณสุขก็ให้นำหนังสือแสดงเจตนายื่นต่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขของสถานบริการสาธารณสุขโดยไม่ชักช้า อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ อาจยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงหนังสือแสดงเจตนาฉบับใหม่ได้ตลอด ซึ่งในกรณีที่มีการแสดงหนังสือเจตนาหลายฉบับให้ยึดถือเอาฉบับที่ทำครั้งหลังสุดเป็นฉบับที่มีผลบังคับใช้     นานาทัศนะเรื่องการใช้สิทธิการตาย จากวงเสวนาเรื่อง ปลายทางชีวิตจะลิขิตการรักษาอย่างไร เมื่อวันที่  10 กุมภาพันธ์ 2559 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  รศ. ดร. นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ กล่าวถึงสิทธิในการทำหนังสือแสดงเจตนารมณ์ไม่ขอรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไป เพื่อการยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต ตามมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ว่า หนังสือแสดงเจตนาฯ มีรากฐานมากจากกฎหมาย 3 ฉบับ คือ 1. มาตรา 12 ในพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ วรรค 3 กำหนดว่าบุคคลมีสิทธิในการแสดงความประสงค์ไม่ขอรับบริการสาธารณสุข และวรรค 1 กำหนดให้ต้องแสดงเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีเงื่อนไขว่าเป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต  2.กฎกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2553 กำหนด ลักษณะ วิธีการ และรายละเอียดการแสดงเจตนาไม่ขอรับบริการสาธารณสุข โดยมีนิยามในตอนท้ายว่าผู้ป่วยยังต้องได้รับการดูแลแบบประคับประคอง และ 3. ประกาศ สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ เรื่องแนวทางปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนารมณ์ฯ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติตาม เช่น เมื่อแพทย์หรือพยาบาลได้รับหนังสือแสดงเจตนาฯ ของผู้ป่วยแล้วควรเก็บไว้ในเวชระเบียนเพื่อให้มีการส่งต่อความเข้าใจกับ แพทย์ที่มีการรับช่วงการรักษาต่อได้ทราบความประสงค์ของผู้ป่วย เป็นต้น ทั้งนี้เมื่อปฏิบัติตามหนังสือดังกล่าวแล้วไม่ถือว่าเป็นความผิด      ก่อนหน้านี้มีแพทย์ฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนกฎกระทรวงเพราะไม่มีการ รับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึง และสาระในกฎกระทรวงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งพอสรุปได้ 2 ประเด็น คือ 1. หลักการให้แพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมปล่อยให้ผู้ป่วยต้องเสียชีวิตโดยไม่ทำการรักษาพยาบาลเลยถือเป็นการุณยฆาต 2. เป็นสร้างหลักเกณฑ์ขึ้นใหม่ให้ผู้ป่วยมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์เหนือผู้ประกอบ วิชาชีพด้านสาธารณสุข ซึ่งศาลปกครองพิจารณาแล้วพบว่าก่อนออกกฎกระทรวงดังกล่าว สช.ได้จัดให้มีการรับฟังความเห็นมาแล้วในหลายเวที และเสนอกฎหมายตามขั้นตอน และเมื่อพิจารณาในสาระของกฎหมายพบมีกำหนดให้แพทย์ดูแลแบบประคับประคองอยู่ จึงไม่ถือเป็นการปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิต และไม่ใช่การุณยฆาต ส่วนการสร้างหลักเกณฑ์ให้ผู้ป่วยมีสิทธิเหนือแพทย์นั้น ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้คนทุกคนมีสิทธิในสุขภาพร่างกายของตัวเอง จึงมีสิทธิปฏิเสธการรับการรักษา ดังนั้นจึงมีคำพิพากษาให้เดินหน้ากฎหมายดังกล่าวได้ และเป็นหน้าที่ของภาคประชาชนที่จะกระตุ้นให้สถานพยาบาลปฏิบัติตามหนังสือ แสดงเจตนา      “อย่างไรก็ตาม ไม่ได้บังคับให้ทุกคนต้องทำ แต่เป็นทางเลือกให้เลือกทำเพื่อความสบายใจของผู้ป่วย ญาติ และแพทย์ เมื่อทำหนังสือ ก็แสดงว่ามีความประสงค์ เมื่อมีการใช้สิทธิย่อมเกิดหน้าที่ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องเช่นแพทย์ เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพทำตามหนังสือเจตนาแล้วไม่ต้องรับผิด เป็นการสร้างความสบายใจให้กับผู้ปฏิบัติตาม” อ.นนทวัชร์ กล่าว     ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ กรรมการกฤษฎีกาและที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้คนเรามีสิทธิในชีวิตและร่างกายและร่างกายของตัวเอง ซึ่งใครจะทำอะไรโดยที่เจ้าของไม่ยินยอมไม่ได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงสิทธิปฏิเสธการรักษาที่ทำให้เกิดความทรมานได้ เช่น ไม่ขอใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่เจาะคอ หรือขอใช้สิทธิในการอยู่กับบุคคลอันเป็นที่รักที่บ้านของตัวเองก็ได้ เป็นต้น แต่ที่ต้องมีการกำหนดไว้ในมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติก็เพื่อเป็นหลักของกฎหมายทางด้านการแพทย์ เนื่องจากที่ผ่านมาการกระทำสิ่งเหล่านี้ต้องไปอิงกับกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง อีกทั้งยังมีการตีความที่แตกต่างกัน ยืนยันว่าหนังสือดังกล่าวไม่ใช่พินัยกรรมแต่อย่างใดหลายคนระบุว่าหนังสือดัง กล่าวเป็นพินัยกรรม หากพูดเช่นนั้นจะทำให้มีปัญหาได้ เพราะพินัยกรรมจะมีผลต่อเมื่อผู้ทำพินัยกรรมเสียชีวิตไปแล้ว      ขณะนี้ในส่วนของโรงเรียนแพทย์เองตอนนี้ก็เริ่มมีการเรียนการสอนการดูแลผู้ ป่วยแบบประคับประคองผู้ป่วยระยะสุดท้ายเพื่อลดการทรมานแล้ว แต่ในส่วนของประชาชนทั่วไปยังไม่ค่อยรู้จักกฎหมายดังกล่าวมากนัก หรือหากทราบแล้วก็ยังไม่ค่อยยอมรับกัน ครอบครัวไม่ยอมรับ โดยเฉพาะคนที่มีฐานะดีมักยื้อชีวิต สุดท้ายแล้วเสียค่าใช้จ่ายเยอะ โดยไม่สามารถยื้อชีวิตได้ ดังนั้นจะต้องมีการรณรงค์ให้ประชาชนทราบและเข้าใจเจตนารมณ์ของของกฎหมาย หากเป็นไปได้คนทุกคนก็ควรที่จะทำหนังสือแสดงเจตนาเอาไว้ที่สำคัญคือต้องหารือกับคนในครอบครัวเพื่อให้เกิดการยอมรับร่วมกัน ส่วนตัวผมก็เขียนเอาไว้เช่นกันในหนังสือ “ก่อนวันถัดไป” และกำลังจะทำขึ้นมาใหม่ โดยก่อนทำจะต้องมีการปรึกษากับครอบครัว ลูก และภรรยา เพื่อให้เป็นที่ยอมรับร่วมกันก่อนด้วย      รศ. พญ.นงลักษณ์ คณิตทรัพย์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิตให้จากไปโดยไม่ทรมาน ว่า เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของชีวิตจะมีลักษณะอาการที่แสดงออกมา เช่น เบื่ออาหาร รับประทานไม่ได้ หรือรับประทานได้น้อย ทำให้ญาติหรือผู้ดูแลค่อนข้างเป็นกังวลว่าผู้ป่วยจะได้รับความทรมาน หรือกังวลว่าร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เมื่อผู้ป่วยมีภาวะดังกล่าวร่างกายจะหลั่งสารคีโตนออกมา ซึ่งสารตัวนี้จะมีฤทธิ์คล้ายกับยาแก้ปวดทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบาย ผ่อนคลาย เช่นเดียวกับผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายจะมีภาวะของเสียในร่างกายคั่งซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งไม่ดี แต่การที่ของเสียในร่างกายคั่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บปวด หรือกรณีที่ผู้ป่วยไม่ยอมดื่มน้ำทำให้ร่างกายขาดน้ำนั้นในแง่ดีแล้วร่างกาย จะหลั่งสารเอ็นโดฟินออกทำให้รู้สึกสบาย แต่ตรงนี้ญาติสามารถใช้ผ้าชุบน้ำ หรือให้จิบน้ำนิดหน่อยแต่ไม่ต้องคะยั้นคะยอ และหากมีเสมหะ ส่วนใหญ่จะให้ยาละลาย ถ้าจำเป็นต้องดูดก็ใช้เพียงลูกยางแดงเท่านั้น ถ้าดูดเสมหะมากออาจจะเลือดออกและทรมานได้     ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยทำหนังสือแสดงเจตนารมณ์ไม่ขอรับการรักษาที่เป็นไปเพื่อยืดการตาย ในวาระสุดท้ายของชีวิตเอาไว้ ญาติก็ไม่ต้องกังวล เพราะแพทย์ยังให้การดูแลแบบประคับประคองอยู่แล้ว ส่วนอาการอ่อนเพลียที่พบนั้น ถือเป็นอาการปกติของผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุด ท้าย ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเป็นพิเศษ แค่ให้พักผ่อนอย่างเหมาะสม และช่วยดูแลเรื่องสภาพจิตใจ พูดคุย หรือเปิดเพลงที่ผู้ป่วยชอบ ไม่ต้องปลุกมาทานอาหารหรือดื่มน้ำ ร่างกายจะเสื่อมสภาพลง ประสาทสัมผัสจะลดลง เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งการไหลเวียนของเลือดต่างๆ จะลดลง อาจจะทำให้ผิวหนังมีจำๆ บ้าง บางคนมีอาการเพ้อ ส่งเสียงอืออา ซึ่งเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางสมอง แต่ไม่ใช่ความเจ็บปวด หรือมองเห็นบาปบุญคุณโทษ หรือคนที่จากไปแล้ว ตรงนี้ไม่ต้องกังวล แค่ให้ผู้ป่วยได้พักผ่อนเยอะๆ และค่อยๆ จากไปอย่างสงบ     “การตายอย่างสงบแบ่งเป็น 3 ส่วน 1. ด้านร่างกาย ต้องไม่ได้รับการเจ็บปวด ทรมาน เช่น ถ้าเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายซึ่งผู้ป่วยย่อมมีอาการเจ็บปวด สามารถให้มอร์ฟีนได้ทุกช่วงที่มีอาการ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไปกดการหายใจ 2. ด้านจิตใจ ต้องดูแลให้ผู้ป่วยรู้สึกสงบ มีความสุข เช่น ให้พยาบาลพูดคุย โน้มน้าวถึงความสุขในอดีต ปล่อยวางเรื่องที่ยังค้างคา และ 3. ด้าน สิ่งแวดล้อมที่คนไข้ต้องการคือสงบ มีคนที่รักและไว้ใจอยู่ใกล้ๆ หรือถ้าผู้ป่วยอยากกลับไปเสียชีวิตที่บ้านก็ให้กลับไปได้ แล้วจัดทีมแพทย์ไปเยี่ยมบ้านแทน” พญ.นงลักษณ์ กล่าว และว่า สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยบางรายที่จะลุกขึ้นมาได้เหมือนอาการจะดีขึ้นแต่ก็เสีย ชีวิตในที่สุดนั้น เชื่อว่าเกิดจากพลังครั้งสุดท้ายของผู้ป่วยที่ต้องการจะสั่งเสียเป็นครั้งสุดท้าย       พญ.ฉันทนา หมอกเจริญพงศ์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวออกมาแล้วทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความสบายใจที่จะปฏิบัติตามความต้องการของผู้ป่วย และเมื่อทราบล่วงหน้าจะทำให้เกิดการวางแผนร่วมกันระหว่างผู้ป่วย ญาติ และแพทย์ในการดูแลวาระสุดท้ายของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบที่สุด รวมถึงการดูแลญาติไม่ให้เกิดความรู้สึกผิดหรือผลกระทบภายหลังจากดำเนินการ ตามหนังสือเจตนารมณ์ฯ ทั้งนี้ที่ผ่านเคยมีผู้ป่วยมะเร็งขอกลับไปเสียชีวิตที่บ้านตามประเพณีไทยทรงดำ แพทย์จะมีหน้าที่ออกหนังสือรับรองว่าเป็นการเสียชีวิตที่เป็นไปตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องมีการผ่าศพพิสูจน์สาเหตุอีก อย่างไรก็ตามจากการรวบรวมข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่ามีผู้ป่วยวาระ สุดท้ายของชีวิตทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ขอรับบริการสาธารณสุขฯ ไม่ถึง 1% ในขณะที่ข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกามีการใช้สิทธิประมาณ 30 % ก็ยังถือว่าน้อยอยู่     ด้าน นางพรวรินทร์ นุตาวงศ์ พยาบาลวิชาชีพ จากวชิระพยาบาล กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายความยากอยู่ที่การสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารับญาติ ผู้ป่วย หรือกับแพทย์ โดยมีพยาบาลเป็นตัวประสาน โดยเฉพาะญาติที่ค่อนข้างมีการศึกษานั้นจะสื่อสารได้ยาก แม้จะมีหนังสือแสดงเจตนาฯ ดังนั้นพยาบาลจึงต้องมีเทคนิคในการสื่อสารที่ดี ส่วนการช่วยผู้ป่วยเพื่อให้มีความสุขในวาระสุดท้ายของชีวิต นอกจากดูแลประคับประคอง ให้ยาระงับปวดแล้ว การสื่อสาร การพูดถึงสิ่งที่ผู้ป่วยภูมิใจ มีความสุข การปฏิบัติตามคำขอของผู้ป่วย เช่นพาคนที่ผู้ป่วยอยากเจอให้มาเจอกัน รวมถึงการกอด ซึ่งจะต้องกอดนิ่งๆ แน่นๆ นานๆ ถ่ายทอดความรู้สึกจากใจถึงใจ แต่ไม่ควรตบบ่าเพราะเหมือนกับเป็นการแสดงออกว่าให้ผู้ป่วยทำใจ     นางวรรณา จารุสมบูรณ์ เครือข่ายพุทธิกาเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคม กล่าวว่า การดูแลจิตในวันสุดท้ายเพื่อให้ไปสู่ภพภูมิที่ดี หากผู้ป่วยในการฝึกปฏิบัติที่ดีก็อาจจะทราบดีว่าต้องทำอย่างไร แต่ถ้าผู้ป่วยไม่เคยฝึกปฏิบัติ ก็เป็นหน้าที่ของญาติที่ต้องช่วยเหลือ โดยเริ่มต้นจากการตั้งสติให้ดี เพราะผู้ป่วยบางรายมีอาการเจ็บปวดกระสับกระส่าย อาการเหล่านี้จะกระตุ้นให้ญาติตกใจ และเร่งให้การรักษาโดยลืมถึงเจตนารมณ์ของผู้ป่วยที่ไม่ขอรับการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต บางคนเมื่อให้การรักษา ใส่ท่อช่วยหายใจแล้วกลับนึกถึงความต้องการของผู้ป่วยขึ้นมาก็เป็นเรื่องยากแล้ว ในการถอดเครื่องช่วยหายใจออกเช่นกัน  ดังนั้นในชั่วโมงสุดท้ายขอให้ตั้งหลักนิ่งๆ เมื่อรู้ว่าไม่สามารถรักษาโรคให้กลับมาเป็นปกติได้แล้ว  จะทำอย่างไรให้ไปสงบมากกว่า      สำหรับขั้นตอนดูแลชั่วโมงสุดท้ายของผู้ป่วยมีวิธีดังนี้คือ 1. ทำ ให้ทุกข์ทางกายผ่อนคลายลง ถ้าผู้ป่วยเจ็บปวดก็ให้มอร์ฟีนโดยไม่ต้องกังวลว่าจะเสพติด จากนั้นให้สังเกตอาการปวดลดลง และเริ่มนิ่งให้จัดท่านอนให้สบาย ดูอุณหภูมิให้เหมาะสมเพราะบางคนจะรู้สึกหนาว บางคนรู้สึกร้อนเหงื่อออกแสดงว่าธาตุไฟแตก ต้องใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวให้ และดูภาวะอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ธรรมชาติเตรียมขั้นตอนการตายของคนเราให้มีความสงบที่สุขอยู่แล้ว เช่น เมื่อกินไม่ได้ร่างกายก็จะหลั่งสารคีโตนออกมา แต่ที่ทรมานเพราะมีกระบวนการแทรกแซงจากกระบวนการทางการแพทย์ทั้งหลาย       2. การดูแลด้านจิตใจ ดูว่าผู้ป่วยพร้อมหรือไม่ หากไม่พร้อมจะช่วยอย่างไร เช่น ห่วงใคร ห่วงอะไร และช่วยดูแลสิ่งเหล่านี้ อย่าไปบอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงเพราะเป็นเพียงการปลอบใจ แต่ต้องช่วยบรรเทาเขา บางคนอยากทำบางอย่างก่อนตายก็ช่วยให้บรรลุความตั้งใจ เช่น อยากสั่งเสีย อยากพบใครสักคน อยากถวายสังฆทาน เป็นต้น นอกจากให้ทำสิ่งที่ปรารถนาแล้วต้องดูว่ามีเรื่องค้างคาใจหรือไม่ เช่น เคยทำเรื่องไม่ดี เคยทะเลาะกับใคร ถ้าคนนั้นยังอยู่ก็พามาพบเพื่อจะได้ขอโทษ อโหสิกรรมกันได้ ที่สำคัญผู้ป่วยต้องให้อภัยตัวเองด้วย หรือให้ผู้ป่วยเขียนจดหมายส่งถึงคนที่ยังรู้สึกติดค้างใจ เป็นต้น      สุดท้ายคือเรื่องของจิตก่อนเสียชีวิตควรมีที่พึ่งที่ระลึกถึง หากผู้ป่วยเป็นคนอยู่ในศีล ในธรรม ก็ให้นึกถึงเรื่องบุญกุศล แต่ถ้าเป็นคนธรรมดาที่ไม่มีโอกาสปฏิบัติธรรม ก็ขอให้ระลึกถึงความดีที่เคยทำมา ไม่ว่าจะเป็น การประกอบอาชีพสุจริต การทำความดี เป็นพ่อแม่ที่ดี ไม่เคยให้ร้ายใคร ช่วยเหลือเกื้อกูล หรือระลึกถึงสิ่งที่ภูมิใจ เช่น ส่งลูกเรียนจบปริญญาทุกคน เป็นต้น หรือหากผู้ดูแลไม่ทราบว่าผู้ป่วยได้ทำความดีมาแค่ไหน ก็สามารถพูดกลางๆ ได้ เช่น ให้ผู้ป่วยนึกถึงสิ่งดีๆ ที่เคยทำมา อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผู้ป่วยใกล้เสียชีวิตการรับรู้อ่อนลง สมองช้าลง ดังนั้นขอให้พูดคุยกับผู้ป่วยใกล้ๆ หู เช่น กล่าวอโหสิกรรม บอกรักให้พูดใกล้ๆ หู และพูดสั้นๆ ช้าๆ ชัดๆ อย่าพูดเร็ว เพราะจิตตามไม่ทัน     “หลายคนที่ทำแล้วได้ผลคือการนำจินตนาการ นำให้นึกถึงวันที่ดีๆ สถานที่ที่เคยไปแล้วเขาประทับใจ เป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นจิตวิญญาณของเขา โดยสรุปคือการดูแลให้สุขสบายในช่วงสุดท้าย แต่เรื่องไหนที่จัดการไม่ได้ก็ต้องปล่อยไป ถ้าใครที่ร้องไห้ฟูมฟายควรให้ออกไปข้างนอก เพราะอาจจะทำให้คนไข้ตายโดยไม่สงบ ดังนั้นหมู่ญาติต้องคุยกัน ว่าร่างกายคนไข้ส่งสัญญาณแล้ว จะต้องรวมพลังส่งให้ไปสบายที่สุด บอกรัก กอด หอมแก้ม ห้ามทะเลาะกัน อย่าพูดเรื่องไม่ดี อย่าทำให้บรรยากาศเศร้าหมอง ถึงเวลาแล้วมันจะสงบและงดงามมาก ถ้าเราปล่อยให้กระบวนการตายนั้นเป็นไปอย่างธรรมชาติ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักสังคมฯ ที่เข้าใจเรื่องวาระสุดท้าย ควรเตรียมญาติ และมีทางเลือกให้เขาจะได้ไม่เกิดรบกวนการยื้อชีวิต ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ และจำเป็นที่ภาคประชาชนมีความรู้เรื่องนี้ จะฝากความหวังไว้ที่โรงพยาบาลอย่างเดียวไม่ได้”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 ฤาโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้ม จะต้มตุ๋นคนไทยทั้งประเทศ?

ยุคเริ่มต้นแหล่งปิโตรเลียมที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นก๊าซ และเป็นก๊าซชั้นดีที่เรียกว่า ก๊าซเปียก (Wet Gas) ที่เรียกว่าเป็นก๊าซชั้นดี เพราะเป็นก๊าซที่สามารถนำมาแยกเป็นผลิตภัณฑ์ก๊าซชนิดต่าง ๆ เช่น ก๊าซมีเทนที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า ก๊าซโพรเพน และบิวเทน เอามาใช้เป็นก๊าซหุงต้มและก๊าซในรถยนต์หรือที่เรียกว่าก๊าซแอลพีจี นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพื่อมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกอีกด้วย ในขณะที่ก๊าซจากพม่าเป็นก๊าซแห้งหรือก๊าซมีเทนชนิดเดียว จะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าเท่านั้น การพบแหล่งก๊าซดิบในประเทศไทยช่วงต้นทศวรรษที่ 2520 ที่มีปริมาณเชิงพาณิชย์เป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า “เราจะโชติช่วงชัชวาล” รัฐบาลลงทุนในการสร้างท่อก๊าซและสร้างโรงแยกก๊าซเพื่อนำก๊าซมาใช้ในประเทศเพื่อทดแทนฟืนและถ่านที่ประชาชนใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน ในร้านอาหาร ใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตาในโรงไฟฟ้า และอุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นก๊าซรถยนต์เพื่อทดแทนน้ำมันนำเข้าที่มีราคาแพง และใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในยามเริ่มแรกที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมียังไม่เติบโตขยายตัวมากเหมือนปัจจุบัน ก๊าซแอลพีจีที่ผลิตในประเทศจึงมีปริมาณเหลือเฟือเพียงพอให้ใช้ในภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงและส่งออก การที่ยังมีปริมาณแอลพีจีเหลือจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลต้องส่งเสริมให้รถแท็กซี่เปลี่ยนมาใช้ก๊าซแอลพีจีในรถยนต์แทนน้ำมัน ซึ่งประสบความสำเร็จที่มีรถแท็กซี่และรถส่วนบุคคลหันมาใช้ก๊าซแอลพีจีแทนน้ำมัน ยิ่งกว่านั้นภาคครัวเรือนก็เลิกใช้ถ่าน ฟืน เปลี่ยนมาใช้ก๊าซแอลพีจีแทนซึ่งช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งได้รับความนิยมจนถ่านฟืนค่อย ๆ หมดไปเพราะการใช้ก๊าซแอลพีจีในครัวเรือนมีความสะดวกและราคาถูก รัฐบาลได้จัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นรัฐวิสาหกิจ 100%ที่รวม 2 องค์กรเข้าด้วยกัน คือ องค์การเชื้อเพลิง และ องค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อบริโภค ซึ่งเป็นวิกฤติการณ์ขาดแคลนพลังงานโลกในช่วงปี 2521 และเพื่อวัตถุประสงค์ในการพึ่งพาตนเอง ยุคหลังการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย    กิจการก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นกิจการที่ผูกขาดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นกิจการที่คณะรัฐมนตรีในอดีตเคยมีมติให้แยกกิจการก๊าซออกจากกิจการการจัดหาและจัดจำหน่ายก่อนการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยคงการถือหุ้นกิจการก๊าซธรรมชาติไว้ 100% แต่เมื่อมีการแปรรูปได้แปรกิจการผูกขาดนี้ไปด้วยและหากพิจารณาบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาจะบัญญัติไว้เสมอว่า “รัฐต้องส่งเสริมเศรษฐกิจเสรีและเป็นธรรม ต้องป้องกันการผูกขาดไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และคุ้มครองผู้บริโภค” หากพิจารณาตามบทบัญญัติเช่นนี้ กิจการก๊าซธรรมชาติเป็นกิจการที่ไม่สามารถแปรรูปได้เพราะเป็นกิจการที่ผูกขาดที่ถูกบัญญัติห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญ การแปรรูปกิจการที่มีสภาพผูกขาดเช่นนี้จึงก่อให้เกิดโครงสร้างราคาที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน     กิจการก๊าซธรรมชาติเป็นกิจการที่ทำกำไรให้กับบมจ.ปตท.เป็นหลัก รองจากกิจการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จากเอกสารแสดงงบกำไรขาดทุนในแบบฟอร์ม 56-1 ของบมจ.ปตท.ปี 2554-2557 หน่วยธุรกิจก๊าซมีกำไร 46,992 ล้านบาท เป็นสัดส่วนกำไร 30% ปี 2555 กำไร 38,862 ล้านบาท เป็นสัดส่วนกำไร 24% ปี 2556 กำไร 30,985 ล้านบาท เป็นสัดส่วนกำไร 20% และในปี 2557 กำไร 39,779 ล้านบาท เป็นสัดส่วนกำไร 28% ของกำไรในปีนั้น ๆ รองจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีกำไรในปี 2554 จำนวน 85,003 ล้านบาท หรือ 54% ในปี 2555 กำไรจำนวน 109,406 ล้านบาท หรือ 67% ในปี 2556 กำไร 110,922 ล้านบาท หรือ 73.18% และกำไรในปี 2557 จำนวน 91,525 หรือ 64.55% 2 กิจการหลักนี้ทำกำไรให้บมจ.ปตท. 84% ในปี 2554 91% ในปี 2555 93.18% ในปี 2556 และ 92.55% ในปี 2557ผลประกอบการของบมจ.ปตท. กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) จากแบบ 56-1  ที่มา : แบบ 56-1 บมจ.ปตท.     การที่หน่วยธุรกิจก๊าซมีกำไรสูงกว่าหน่วยธุรกิจน้ำมันแม้จะแปรรูปเป็นบริษัทเอกชนแต่มีรัฐถือหุ้นใหญ่ จึงไม่แปลกที่รัฐบาลในอดีตจะกำหนดให้ราคาก๊าซหุงต้มซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นของประชาชนในราคาที่รัฐกำหนดไว้ที่ 333 เหรียญต่อตัน หรือราคาเนื้อก๊าซ 10.26 บาทต่อกิโลกรัม และเมื่อรวมภาษีและค่าการตลาดแล้วราคาที่ขายประชาชนอยู่ที่กิโลกรัมละ 18.13 บาท ก๊าซหุงต้มขนาดถังบรรจุ 15 กิโลกรัม ราคา 271.95 บาท เมื่อขายประชาชนรวมค่าขนส่งจะอยู่ที่ราคาถังละ 290-300 บาท     การขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ทำให้ภาคปิโตรเคมีเข้ามาแย่งใช้ก๊าซแอลพีจีกับภาคครัวเรือนและภาคอื่น ๆ มากขึ้น ปิโตรเคมีซึ่งเคยใช้ก๊าซแอลพีจีในสัดส่วน 20% ในปี 2545 เพิ่มเป็น 37% ในปี 2555  การใช้กองทุนน้ำมันมาชดเชยราคาแอลพีจีนำเข้าอาจกล่าวได้ว่าเป็นวิธีการล้วงเงินจากกระเป๋าผู้บริโภคเมื่อยังไม่สามารถขึ้นราคาเนื้อก๊าซโดยตรงจากผู้บริโภค เพราะรัฐบาลได้กำหนดราคาควบคุมเนื้อก๊าซหุงต้มไว้ที่กิโลกรัมละ 10.26 บาท (ตันละ 333 เหรียญ) ปตท.มักอ้างเสมอว่าขาดทุนก๊าซจากโรงแยกทั้งที่ในงบการเงินปตท.มีกำไรจากธุรกิจก๊าซมากกว่าธุรกิจน้ำมันและธุรกิจจากการค้าระหว่างประเทศ ในเดือนสิงหาคม 2555 มีการกำหนดสูตรราคาก๊าซจากโรงแยกก๊าซว่ามีราคา 16.96 บาทต่อกก. (550 เหรียญต่อตัน) ในขณะที่ราคาแอลพีจีจากโรงกลั่นน้ำมันกำหนดไว้ 23.56 บาทต่อกก. (764 เหรียญต่อตัน) ส่วนแอลพีจีนำเข้ามีราคา 27.76 บาทต่อกก. (960 เหรียญต่อตัน) แต่ราคาแอลพีจีที่รัฐกำหนดไว้ยังอยู่ที่ 10.26 บาทต่อกก. (333 เหรียญต่อตัน)     หากเทียบสัดส่วนราคาก๊าซในประเทศกับก๊าซแอลพีจีตลาดโลก ราคาแอลพีจีจากโรงแยก 550 เหรียญต่อตัน มีสัดส่วนเท่ากับ 57% ของราคาตลาดโลกที่ 960 เหรียญต่อตัน และราคาแอลพีจีจากโรงกลั่นที่ 764 เหรียญต่อตัน เท่ากับ 79% ของราคาตลาดโลก สิ่งที่ธุรกิจก๊าซพยายามจะดันราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มให้เป็นไปตามราคาตลาดโลกที่ 900 เหรียญต่อตัน มีมาโดยตลอดโดยมีแผนการขยับราคาขายปลีกเป็นขั้น ๆ เริ่มจากปรับราคา 18.13 บาท มาที่ 24.82 บาทต่อกก.ให้ได้ในปี 2556 และปรับเป็นราคา 36.35 บาทต่อกก.ในปี 2557  แต่เพื่อหลีกเลี่ยงการขึ้นราคาที่เนื้อก๊าซที่รัฐกำหนดราคาควบคุมไว้จึงใช้วิธีเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันโดยเริ่มที่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงถูกปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีในราคา 30 บาทต่อกก. ก่อนกลุ่มอื่นตั้งแต่ต้นปี 2554 โดยการเพิ่มราคาเป็น 30.13 บาทต่อกก.ราคาเนื้อก๊าซยังใช้ราคาเดิมที่ 10.26 บาทต่อกก. และไปเพิ่มการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 12.26 บาทต่อกก. ก๊าซแอลพีจีสำหรับรถยนต์ถูกเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน 4.08 บาทต่อกก.ตั้งแต่ปี 2554 ส่วนปิโตรเคมีถูกเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน 1 บาทเมื่อต้นปี 2555 และถูกยกเลิกไปเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ในยุครัฐบาลคสช.นี่เอง!  ราคาก๊าซหุงต้มยุคปฏิรูปของรัฐบาล คสช.    ความพยายามในการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มของกลุ่มธุรกิจพลังงานเพื่อเพิ่มกำไรเป็นเรื่องที่มีการต่อสู้คัดค้านกันมาตลอดทุกรัฐบาล เมื่อพิจารณาจากกิจการก๊าซที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ผูกขาดทั้งระบบแต่ถูกแปรรูปไปเป็นธุรกิจของเอกชน แม้รัฐบาลจะยังถือหุ้นใหญ่ 51% ในบริษัทปตท. แต่มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนฝ่ายเอกชนมากกว่า การปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มเดือนละ 50 สตางค์ต่อกก.เริ่มในสมัยของรัฐบาลเพื่อไทย แต่หลังจากคสช.เข้ามายึดอำนาจรัฐแล้ว การปฏิรูปพลังงานไม่ได้มีเนื้อหาเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลก่อนแต่อย่างไร แต่กลับมีอาการหนักกว่าเก่าเพราะอ้างว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจึงไม่ต้องกลัวประชาชนคัดค้านเหมือนรัฐบาลจากการเลือกตั้ง     ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นมา กระทรวงพลังงานได้อาศัยช่วงบ้านเมืองอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ที่ไม่มีประชาชนกล้าออกมาต่อต้าน เดินหน้าปรับราคาก๊าซหุงต้มยกแผง ด้วยการกำหนดราคาก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีจาก3แหล่งและเอามาถัวเฉลี่ยราคากัน และได้ราคาตามที่กลุ่มธุรกิจพลังงานต้องการที่กิโลกรัมละ 24.82 บาท โดยไม่ต้องรอขึ้นทีละ 50 สตางค์ อย่างที่กำหนดขั้นตอนไว้ 1) ราคาก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซ ซึ่งเป็นก๊าซจากอ่าวไทยถูกปรับราคาขึ้นจาก 333 เหรียญต่อตัน (10.26 บาทต่อกก.) เป็นราคา 498 เหรียญต่อตัน หรือ 16.43 บาทต่อกก. 2) ราคาก๊าซจากโรงกลั่นน้ำมัน ใช้ราคาตลาดโลก (CP) - 20 เหรียญ ซึ่งขณะนั้นราคาตลาดโลกเหลือ 462 เหรียญต่อตัน ดังนั้นราคาโรงกลั่นน้ำมันคือ 462-20= 442 เหรียญ หรือ 14.58 บาทต่อกก. 3) ราคาแอลพีจีนำเข้า ใช้ราคา CP + 85 เหรียญ = 462+ 85 = 547 เหรียญต่อตัน หรือ 18.05 บาทต่อกก. ถือว่ากระทรวงพลังงานในยุครัฐบาลอำนาจพิเศษสามารถดำเนินการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มโดยเฉพาะภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นภาคใหญ่ที่สุดได้สำเร็จในยุคนี้ และยังสามารถปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มของโรงแยกก๊าซ ซึ่งเป็นทรัพยากรในอ่าวไทยได้ตามที่กลุ่มธุรกิจพลังงานได้มีความพยายามมาหลายปี แต่ทำไม่สำเร็จในสมัยรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ต้องรอรัฐบาลจากการรัฐประหารมาต่อยอดให้จนสำเร็จ จึงมีคำถามว่า คสช.ทำรัฐประหารมาเพื่อภารกิจอะไรกันแน่? เพื่อสร้างความปรองดอง? หรือเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ? การอ้างว่าใช้ราคาเดียวกันยกแผง จะได้ไม่หาว่าบริษัทปิโตรเคมีเอกชนใช้ราคาถูกกว่าชาวบ้าน แต่การที่ไม่มีหน่วยงานใดกำกับราคาก๊าซแอลพีจีที่บริษัทปิโตรเคมีเอกชนซื้อ เพราะกระทรวงพลังงานอ้างว่าดูแลราคาเฉพาะที่นำแอลพีจีไปใช้เป็นเชื้อเพลิง การใช้แอลพีจีเป็นวัตถุดิบจึงเป็นการตกลงกันเองระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก ดังนั้นราคาซื้อขายแอลพีจีระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูก จึงเป็นเงินกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวาของกลุ่มเดียวกัน  ส่วนราคาที่ปรับใหม่เป็นราคาที่กำหนดให้ประชาชนทุกภาคส่วนเป็นผู้รับภาระในการเพิ่มกำไรให้บริษัทเอกชน นอกจากนี้การเก็บภาษีสรรพสามิตก็เก็บเฉพาะผู้ใช้แอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น ส่วนบริษัทปิโตรเคมีเอกชนไม่ต้องจ่าย แม้จะเป็นผู้ก่อขยะพลาสติกจำนวนมหาศาล ก็ไม่ต้องรับภาระใดๆ ทั้งสิ้น กองทุนน้ำมันที่ผิดกฎหมายก็ยังเปิดให้เก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมัน และผู้ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงต่อไป แต่บริษัทปิโตรเคมีเอกชนได้รับคำสั่งใหม่ว่าไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุน 1 บาทต่อกก.แล้ว นับตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไป! เมื่อต้นปี 2558 กรรมาธิการปฏิรูปพลังงานในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เชิญผู้ค้ามาตรา 7 ด้านแอลพีจีมาประชุม ในที่ประชุมผู้ค้ามาตรา 7 ได้ให้ความเห็นว่าราคาก๊าซแอลพีจีนำเข้าบวกค่าใช้จ่าย 85 เหรียญต่อตันนั้นมีราคาแพงเกินสมควร และผูกขาดการนำเข้าโดยบมจ.ปตท. การนำกองทุนน้ำมันมาอุดหนุนการนำเข้าแอลพีจีตันละ 85 เหรียญ จึงเป็นประโยชน์ให้กับปตท.เท่านั้น กลุ่มผู้ค้ามาตรา 7 เสนอให้กระทรวงพลังงานเปิดประมูลให้ผู้ค้ารายอื่นเสนอราคานำเข้ามาแข่ง ใครเสนอได้ถูกกว่า CP+85 เหรียญ ก็ให้เป็นผู้นำเข้าแอลพีจีซึ่งจะได้ราคาถูกกว่านี้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค แต่กระทรวงพลังงานจนถึงปัจจุบันก็ไม่ได้ตอบสนองที่จะทำให้มีการแข่งขันการนำเข้าแอลพีจีแต่ประการใด การที่รัฐบาลสมคบกับบริษัทธุรกิจเอกชนรายเดียวผูกขาดธุรกิจก๊าซแอลพีจีทั้งระบบเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือ? สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือเหตุใดราคาก๊าซแอลพีจีจากอ่าวไทยที่เป็นทรัพยากรในบ้าน จึงมีราคาแพงกว่าก๊าซแอลพีจีราคาตลาดโลก!! ราคาก๊าซแอลพีจีตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กันยายน 2558 ราคาก๊าซแอลพีจีตลาดโลกอยู่ที่ 327 เหรียญต่อตัน หรือ 11.68 บาทต่อกก. แต่ราคาแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซยังคงยืนที่ราคา 498 เหรียญต่อตัน หรือ 17.79 บาทต่อกก. แม้แต่ราคาแอลพีจีจากโรงกลั่นก็มีราคาลดลงเพราะถูกกำหนดราคา CP. (Contract Price) -20 เหรียญต่อตัน จึงมีราคาที่ 423 เหรียญต่อตัน หรือ 15.11 บาทต่อกก. การกำหนดให้ราคาแอลพีจีจากโรงกลั่นน้ำมันเป็นราคา CP-20 แต่ราคาโรงแยกซึ่งใช้ทรัพยากรจากก๊าซในอ่าวไทย อุปกรณ์ทั้งท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซที่สร้างจากภาษีของประชาชนเมื่อนานมาแล้ว ได้เลยจุดคุ้มทุนนานแล้ว แต่ราคาแอลพีจีกลับมีราคาแพงกว่าราคาตลาดโลกและราคาจากโรงกลั่นน้ำมันที่นำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ราคาก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกเคยมีราคาเทียบสัดส่วนกับราคาแอลพีจีตลาดโลกที่ 57% ราคาแอลพีจีตลาดโลกในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ 297 เหรียญต่อตัน หรือ 10.67 บาทต่อกก. หากเทียบสัดส่วนกับราคาตลาดโลก ราคาจากโรงแยกก๊าซควรมีราคาเพียงกิโลกรัมละ 6.0819 บาทเท่านั้น แม้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) จะมีการปรับลดราคาก๊าซหุงต้มลง 2 บาทต่อกก. จากราคา 22.29 บาทต่อกก. เป็น 20.29 บาท แต่การคงกำหนดราคาเนื้อก๊าซจากโรงแยก (ซึ่งผลิตได้ในปริมาณสัดส่วนสูงถึง 51.7% ของจำนวนที่ต้องการใช้ในประเทศ) ที่ราคา 15.45 บาทต่อกก. ส่วนราคาจากโรงกลั่นใช้ราคาตลาดโลกลบ20เหรียญต่อตัน ซึ่งทำให้ได้ราคาที่สมเหตุสมผลคือ 9.9512บาทต่อกก. ส่วนราคานำเข้ากบง.ให้บวกเพิ่ม 85 เหรียญต่อตัน ทำให้ราคานำเข้าสูงกว่าราคาตลาดโลกถึง3บาทต่อกิโลกรัมที่ราคา13.73บาทต่อกก. (ราคาตลาดโลก10.67บาท/กิโลกรัม) เมื่อเอา 3 แหล่งมาถัวเฉลี่ย ราคาจากโรงแยกที่แพงสุดๆจึงดึงราคาถัวเฉลี่ยให้สูงตาม คือ 13.73บาทต่อกก. ข้อเสนอเพื่อการพิจารณารัฐบาลควรจะบริหารราคาก๊าซหุงต้มให้มีความสมเหตุสมผลเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคด้วยการดำเนินการดังนี้1) ให้ปรับสูตรราคาก๊าซจากโรงแยกซึ่งมีสัดส่วนผลิต 51.7% และก๊าซจากโรงกลั่นน้ำมันซึ่งมีสัดส่วนผลิต 27.4%โดยใช้สูตรราคาเดียวกันคือราคา CPลบ20 เหรียญต่อตัน ซึ่งจะทำให้ราคาที่ผลิตได้ในประเทศต่ำกว่าราคาตลาดโลก โดยปัจจุบันจะได้ราคา 9.95บาท/กิโลกรัม2) ก๊าซนำเข้าเสนอให้มีการเปิดประมูลใครสามารถนำเข้าในราคาต่ำกว่า CP+85 เหรียญต่อตัน มากที่สุดให้ได้สิทธิในการนำเข้า เมื่อราคาจาก 2 แหล่งใหญ่ คือ โรงแยกและโรงกลั่นมีราคาต่ำกว่าตลาดโลก 20 เหรียญต่อตัน และราคานำเข้าให้มีการแข่งขันด้วยการประมูล ผู้เสนอราคานำเข้าที่ราคาต่ำสุดได้สิทธินำเข้า ก็จะสามารถทำให้ราคาจัดหาไม่เกินจากราคาตลาดโลกที่ 10.67 บาทต่อกก.ได้ เมื่อบวกภาษีและค่าการตลาดหรือกองทุนแล้ว ราคาปลีกไม่ควรเกินราคาที่กิโลกรัมละ 18.79 บาท หรือราคาถังละ 281.85 บาท เมื่อบวกค่าขนส่งแล้วราคาก๊าซหุงต้มต่อถังควรไม่เกิน 320 บาทหากรัฐบาลคสช.ทำได้ดังนี้ จะเป็นการให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมรวมทั้งเป็นผู้จ่ายภาษีในการสร้างอุปกรณ์ทั้งท่อส่งก๊าซธรรมชาติและโรงแยกก๊าซ คลังก๊าซต่าง ๆ รัฐบาลในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในบมจ.ปตท. ควรพิจารณาราคาก๊าซหุงต้มและกำไรของบริษัทให้พอเหมาะพอสมกับการที่ก๊าซหุงต้มเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เป็นต้นทางของค่าครองชีพทั้งราคาอาหารและราคาสินค้าอื่น ๆ หากรัฐบาลพิจารณาให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนก็จะได้รับการแซ่สร้องสรรเสริญว่าท่านไม่ได้มายึดอำนาจเพื่อทะลุทลวงอุปสรรคให้กับกลุ่มทุนพลังงานดังที่สังคมเริ่มมีคำถามกับท่าน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 179 ‘ประกันสูงวัย’ ประกันเพื่อใคร ?

ดังที่รู้กันอยู่แล้ว สังคมไทยกำลังเผชิญแรงกดดันจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มันหมายถึงกำลังแรงงานที่จะลดน้อยลงซึ่งส่งผลต่อผลิตภาพของประเทศ ภาระในทางสังคมและงบประมาณด้านสวัสดิการที่ต้องเพิ่มขึ้น กรณีตัวอย่างความวิตกที่เห็นชัดก็เช่นกองทุนประกันสังคมที่เริ่มจ่ายเงินบำนาญให้แก่ผู้ประกันตนวัยเกษียณที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีและจะทำให้เงินกองทุนฯ หมดลงอย่างรวดเร็ว ทว่า ในทุกวิกฤตมักมาพร้อมกับโอกาสใหม่ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจค้นหาได้อย่างเชี่ยวชาญ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุถูกเรียกใหม่ว่าเป็น Silver Ages อันหมายถึงกำลังซื้อจำนวนมหาศาลที่จะตามมา ประกันชีวิตเป็นหนึ่งในบรรดาธุรกิจที่จับกลุ่มผู้สูงอายุอย่างเห็นได้ชัด เพราะมองเห็นว่าค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลมีแต่จะสูงขึ้นตามวัยที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงของโรคต่างๆ ที่มาพร้อมกับสังขารที่โรยรา มันจึงตอบโจทย์ได้ตรงเป้า ตรงใจผู้สูงอายุที่ไม่ต้องการเป็นภาระลูกหลานและช่วยผ่อนเบาค่ารักษาพยาบาล     แต่แล้วปัญหาการเอาเปรียบผู้บริโภคก็เกิดขึ้น เมื่อบริษัทประกันชีวิตบางแห่งใช้แต้มคูทางตัวอักษร กฎระเบียบ และความไม่รู้ของผู้บริโภคเป็นเครื่องมือเอาเปรียบ ถึงกระนั้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวหาใช่เพียงการเอาเปรียบผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว สิ่งที่ซุกซ่อนภายใต้พื้นผิวคือความไม่เข้าใจในสิทธิสวัสดิการสาธารณะสุขของประชาชน   ธุรกิจประกันสูงวัยบูม ยอดเบี้ยเกือบ 3 พันล้าน    ว่ากันตามหลักการเงินส่วนบุคคล (Personal Finance) การทำประกันชีวิตและประกันภัยจัดเป็นการปกป้องความมั่งคั่ง (Wealth Protection) ที่ควรมี มันเป็นการประกันความเสี่ยงและการมีหลักประกันต่อเหตุไม่คาดคิดซึ่งจะกระทบต่อรายได้และทรัพย์สินของบุคคล เมื่อมองในมุมนี้ การทำประกันจัดเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อลดความเสี่ยงในชีวิต ยิ่งเมื่อความรู้ด้านการเงินแพร่หลายมากขึ้น การทำประกันจึงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว     ในกลุ่มผู้สูงอายุที่มักมีปัญหาสุขภาพและต้องการทิ้งทรัพย์สมบัติไว้ให้ลูกหลานหลังตนเองจากไป ถ้อยคำโฆษณาว่า ‘ไม่ต้องเป็นภาระลูกหลาน’ เป็นถ้อยคำที่จี้ตรงจุดพอดี ผสมโรงกับคำว่า ‘ไม่ต้องตรวจสุขภาพ’ เข้าไปด้วยยิ่งเป็นเหตุให้ประกันสูงวัยได้รับความนิยม     ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2558 จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบกิจการประกันภัยหรือ คปภ. ระบุว่า กรมธรรม์ประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุที่ขายตรงผ่านโทรทัศน์มีจำนวน 207,519 กรมธรรม์ คิดเป็นเบี้ยประกันสะสม 2,305.82 ล้านบาท ส่วนกรมธรรม์ที่ขายผ่านตัวแทนมีจำนวน 74,754 กรมธรรม์ มีเบี้ยประกันสะสม 838.37 ล้านบาท     และดังที่รับทราบผ่านสื่อต่างๆ ว่าเกิดการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคจำนวนมากจนทาง คปภ. ต้องลงมาจัดการ กลยุทธ์การเอาเปรียบผู้บริโภค    กลยุทธ์การโฆษณาประกันสูงวัย ที่มีการนำเสนอด้วยการใช้ดาราที่มีวัยที่อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 50-70 ปี พูดถึงเรื่องราวที่ประทับใจหรือสะเทือนใจถูกถ่ายทอดออกมาเพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการทำประกันชีวิต ท้ายที่สุดคือการเลือกทำประกันชีวิตกับบริษัทประกันที่ออกโฆษณาผ่านทางโทรทัศน์ด้วยการโทรศัพท์เข้าไปแสดงความจำนงในการทำประกัน        ต้องยอมรับว่า การเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่รู้ของผู้บริโภคเอง เนื่องจากการทำประกันชีวิตมักมีรายละเอียดมากและเป็นภาษากฎหมาย ซึ่งตีความไม่ง่าย ค่อนข้างเข้าใจยาก  ผู้บริโภคส่วนใหญ่เมื่ออ่านไม่เข้าใจ จึงมักไม่อ่านเนื้อหาในกรมธรรม์  อีกทั้งยังแยกไม่ออกระหว่างการทำประกันชีวิตที่เมื่อจ่ายครบตามสัญญาจะได้รับเงินคืนกับการทำประกันสุขภาพที่ไม่ได้เงินคืน นี้เป็นปัญหาที่พบเห็นบ่อย     อีกด้านหนึ่ง บริษัทประกันก็อาศัยช่องว่างของการไม่รู้ การบอกความจริงเพียงบางส่วน  การบอกวงเงินขั้นต่ำเช่น เพียงวันละ ... บาท  และเสนอผลประโยชน์ที่เป็นตัวเลข เพื่อเชิญชวนให้ผู้บริโภคทำประกันผ่านช่องทางสื่อโฆษณา ยกตัวอย่าง การทำประกันชีวิต ที่ไม่ต้องตรวจสุขภาพซึ่งเป็นกรณีที่พบบ่อย กล่าวคือเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตภายหลังจากทำประกันไม่นาน ทางบริษัทดำเนินการตรวจสอบประวัติสุขภาพของผู้เอาประกันและพบว่าผู้เอาประกันมีความเจ็บป่วยจากโรคที่ไม่รับประกันอยู่ก่อนทำประกัน   และกล่าวหาว่าผู้เอาประกันปกปิดความจริง จึงปฏิเสธการจ่ายเงิน     ช่องโหว่อยู่ตรงที่การไม่ต้องตรวจสุขภาพเป็นคนละเรื่องกับการแถลงสุขภาพ หมายความว่าถึงแม้การทำประกันนั้น ขณะทำประกันจะไม่ต้องตรวจสุขภาพ แต่หากผู้เอาประกันมีภาวะเสี่ยงหรือมีการรักษาโรคใดอยู่ก่อนก็ต้องให้ข้อมูลด้านสุขภาพของตนแก่ทางบริษัทประกันทราบ ซึ่งเมื่อทางบริษัททราบแล้วย่อมมีสิทธิปฏิเสธไม่รับทำประกันหรือหากบริษัทยอมรับทำประกันแต่ใช้วิธีคิดเบี้ยประกันที่สูงกว่าเดิมก็ได้  เพราะหากไม่แถลงข้อมูลสุขภาพที่เป็นจริง  เมื่อบริษัททราบว่าผู้เอาประกันปกปิด จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้บริษัทบอกเลิกสัญญาได้     การแข่งขันกันของธุรกิจประกันชีวิตที่หันมาทำตลาดผ่านสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ มีหลายรายรูปแบบความคุ้มครอง ตามรูปแบบที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่มีตัวแทนไปนำเสนอรูปแบบกรมธรรม์ประเภทต่างๆ มาเป็นวิธีการเรียกลูกค้าให้เดินเข้ามาทำประกันโดยไม่ต้องผ่านตัวแทน เรียกกันว่าเป็น Direct Marketing   แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ การโฆษณาขายประกัน ที่บอกแต่เพียงเบอร์โทรศัพท์ และคำว่า “ไม่ต้องตรวจสุขภาพและตอบคำถามสุขภาพ ทำได้ง่าย ๆ เบี้ยประกันเริ่มต้นเพียงวันละ ... บาท”   โดยไม่บอกกล่าวว่าเรื่องการต้องแถลงสุขภาพของผู้ซื้อประกันด้วยหรือไม่  จึงทำให้ผู้บริโภคที่ไม่มีความรู้ตรงนี้กลายเป็นเหยื่อ     อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดกรณีที่ว่า ผู้เอาประกันไม่รู้ว่าตนเป็นโรคอะไรอยู่ก่อนการทำประกัน เนื่องจากไม่เคยตรวจสุขภาพเลย ซึ่งก็เกิดคำถามว่า กรณีเช่นนี้ผู้เอาประกันจะมีความผิดหรือไม่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเรียกร้องให้บอกข้อมูลให้ครบถ้วน    นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า  หากในโฆษณาระบุว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องแถลงสุขภาพ ถ้อยคำเหล่านี้ก็ควรปรากฏในใบคำขอหรือกรมธรรม์ด้วย   เนื่องจากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย( คปภ.) ได้มีประกาศเรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางสื่อโฆษณา ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต พ.ศ. 2556 ข้อ 5 (5) ว่า “ในการโฆษณาที่ระบุว่า “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ”  จะต้องมีการระบุให้ชัดเจนด้วยว่าต้องแถลงเกี่ยวกับสุขภาพในใบคำขอเอาประกันภัยหรือไม่ หากมีการแถลงเกี่ยวกับสุขภาพ ต้องระบุเพิ่มด้วยว่า การแถลงสุขภาพเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการพิจารณารับประกันภัยหรือพิจารณาจ่ายเงินตามสัญญาประกันภัย” ซึ่ง จากการตรวจสอบพบว่ายังไม่มีการระบุไว้   “  ขอให้บริษัทประกันแก้ไขโฆษณาให้มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น ข้อความที่ไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ    เงื่อนไขการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ควรแจ้งในโฆษณาด้วย โดยเฉพาะข้อกำหนดที่ว่า หากเสียชีวิตภายใน 2 ปีแรก ผู้เอาประกันจะได้รับเงินเบี้ยประกันพร้อมดอกเบี้ยอีก 2-5% หลังจาก สองปีไปแล้ว จึงจะได้รับเงินตามทุนประกัน   หรือถ้าต้องแถลงสุขภาพก็ต้องบอกไว้ในโฆษณา แต่ปัจจุบันไม่มีการบอกกล่าว แค่ให้โทรศัพท์ไป ส่วนรายละเอียดต่างๆ เป็นหน้าที่ของตัวแทนบริษัท  ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าตัวแทนชี้แจง สาระสำคัญของการทำประกันครบถ้วนหรือไม่” วิธีการหนึ่งที่พบเห็นบ่อยเช่นกัน คือการโฆษณาขายประกันที่บอกจำนวนเบี้ยประกันต่อวันที่น้อยที่สุดที่ผู้บริโภคต้องเสีย และบอกจำนวนทุนประกันที่มากที่สุดที่ผู้บริโภคจะได้รับ เช่น  โฆษณาประกันโดย   “ใช้ข้อความ เบี้ยประกันเริ่มต้นเพียงวันละ 7 บาท คุ้มครองชีวิตสูงสุดถึง 200,000 บาท”  มีข้อความตัวเล็กๆ อ่านว่า ภายใต้หลักเกณฑ์การพิจารณารับประกันของบริษัท ชวนให้ตั้งคำถามว่าโฆษณาลักษณะนี้เป็นการโฆษณาเกินจริงหรือหลอกลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดหรือไม่  อาจจะเข้าข่ายโฆษณาจูงใจอันเป็นเท็จหรือเกินความจริงเกี่ยวกับบริษัทหรือธุรกิจประกันชีวิตของบริษัท ตามมาตรา 33 (14) พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 ซึ่งความผิดจากกรณีนี้มีโทษปรับ 5 แสนบาท หากกระทำผิดต่อเนื่องปรับอีกวันละ สองหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ อีกวิธีหนึ่งที่ใช้ประโยชน์จากการที่ผู้บริโภคไม่รู้สาระสำคัญของสัญญาคือการโน้มน้าวให้ผู้บริโภคซื้อประกันหลายฉบับ  เช่น แนะนำให้ผู้เอาประกันซื้อทั้งประกันชีวิตและประกันสุขภาพหลายฉบับ  โดยมิได้ชี้แจงข้อมูลว่าการทำประกันชีวิตจะได้เงินคืนเมื่อมีชีวิตอยู่ครบกำหนดสัญญาและได้รับเงินประกันทุกกรมธรรม์ที่ทำ  แต่การทำประกันสุขภาพเป็นการทำเพื่อให้ผู้เอาประกันใช้สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาล  ดังนั้นหลักฐานการเบิกค่ารักษาพยาบาลต้องใช้ฉบับจริงไม่สามารถเบิกซ้ำซ้อนได้  หากมีการทำหลายสัญญาอาจไม่เป็นประโยชน์กับผู้ร้อง    เป็นต้น     ----------------------------------------------------------------------------------------------------------- แบบประกันสำหรับผู้สูงวัยเป็นแบบประกันชีวิตที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ มีลักษณะสำคัญ ดังนี้    1.ผู้เอาประกันจะต้องมีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจมีการกำหนดอายุสูงสุดของผู้เอาประกันไว้ไม่เกิน 70-75 ปี    2.ให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตเป็นหลัก    3.บางแบบประกันชีวิตสามารถซื้อสัญญาเพิ่มเติมได้ ยกตัวอย่างเช่น3.1 สัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุ ที่ให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุหรือเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ3.2 สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ ที่ให้ความคุ้มครองกรณีเจ็บป่วยด้วยปัญหาสุขภาพหรือโรคร้ายแรง หรืออาจเป็นในลักษณะการจ่ายค่าชดเชยรายวันกรณีพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แล้วแต่กรณีตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิต    4.สามารถซื้อได้ภายใต้หลักเกณฑ์การพิจารณารับประกันชีวิตของบริษัทแล้วแต่กรณี ได้แก่ ต้องตรวจสุขภาพ หรือไม่ต้องตรวจสุขภาพแต่ต้องตอบคำถามสุขภาพ หรือทั้งไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ    5.แบบประกันชีวิตที่ไม่ตรวจสุขภาพ จะมีเงื่อนไขว่าหากเสียชีวิตใน 2 ปีแรกของการทำประกันชีวิต บริษัทจะจ่ายเงินเท่ากับเบี้ยประกันภัยที่รับมาแล้ว บวกผลตอบแทนให้ในอัตรา 2-5 เปอร์เซ็นต์ แล้วแต่บริษัท เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นโรคใดๆ มาก่อนทำประกันชีวิต และหากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตในปีที่ 3 เป็นต้นไป ก็จะได้รับเงินเต็มตามจำนวนเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในสัญญา    (ข้อมูลจากนิตยสารการเงินการธนาคาร ฉบับที่ 402 ประจำเดือนตุลาคม 2558)ห้ามตายภายใน 2 ปี    นางจิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ระบุ ที่ผ่านมาพบว่าผู้บริโภคไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ดังที่บริษัทประกัน ชีวิตเคยโฆษณาไว้ผ่านสื่อ   โดยเฉพาะประเด็น บริษัทประกันภัยกำหนดเงื่อนไขในสัญญาว่า กรณีผู้เอาประกันเสียชีวิตในช่วง 2 ปีแรก ให้คืนเบี้ยประกันภัยพร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 2-5 ให้กับผู้รับผลประโยชน์ตามสัญญา แต่ถ้าเสียชีวิตในปีที่ 3 เป็นต้นไปจะได้รับเงินคืนทั้งหมด ตามทุนประกัน เงื่อนไขดังกล่าวถือว่าเอาเปรียบผู้บริโภค อันที่จริงแล้ว หากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตหลังจาก 30 วัน นับแต่ทำสัญญาประกันชีวิต ซึ่งบริษัทน่าจะได้ตรวจสอบตัวผู้เอาประกันภัยแล้ว  ผู้เอาประกันก็ควรมีสิทธิได้รับเงินคืนทั้งหมดตามทุนประกันที่ทำไว้กับบริษัทประกันชีวิต       ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุ ข้ออ้างเรื่องไม่ตรวจสุขภาพทำให้เกิดการทำประกันชีวิตสูงวัยมากขึ้น เห็นได้จากสถิติการทำประกันประเภทนี้ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมมาก นั่นทำให้ความเสี่ยงของบริษัทประกันลดลง ดังนั้นเมื่อจำนวนผู้ทำประกันเพิ่มขึ้นย่อมลดความเสี่ยงต่อบริษัทประกันภัยและบริษัทประกันมีโอกาสในการบอกเลิกสัญญาประกันภายใน 30 วัน ก็ควรให้การคุ้มครองผู้บริโภคหลัง 30 วัน ทันทีหากเสียชีวิต เพราะแม้แต่การทำฌาปณกิจสงเคราะห์ก็ให้ความคุ้มครองหลัง 6 เดือน     คำแนะนำก่อนทำประกัน-คปภ. ต้องทำงานเชิงรุก    ด้านสมาคมประกันชีวิตไทยมีข้อแนะนำในการเลือกซื้อประกันสูงวัย (อันที่จริงน่าจะใช้ได้กับประกันแบบอื่นด้วย) ให้พิจารณาเบื้องต้น ดังนี้    1.ความคุ้มครองและผลประโยชน์ตรงความต้องการหรือไม่    2.ศึกษาข้อจำกัดของผลิตภัณฑ์นั้นให้เข้าใจ    3.ระยะเวลาในการคุ้มครองและระยะเวลาในการจ่ายเบี้ยประกันภัย    4.ค่าเบี้ยประกันภัยเหมาะสมกับกำลังซื้อหรือไม่    5.แบบประกันมีข้อจำกัดหรือข้อยกเว้นอะไรบ้าง    6.สอบถามเจ้าหน้าที่ให้ละเอียดและขอเบอร์ติดต่อไว้    7.เมื่อได้รับเล่มกรมธรรม์แล้วให้ศึกษาและทำความเข้าใจ หากพบว่าไม่ตรงกับความต้องการสามารถขอยกเลิกได้ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับเล่มกรมธรรม์ในกรณีซื้อทางโทรศัพท์ หรือ 15 วัน กรณีซื้อผ่านตัวแทน     ขณะที่คำแนะนำของสมาคมประกันชีวิตไทยมุ่งไปที่ผู้บริโภค ในส่วนของนฤมลก็มีข้อเสนอที่มุ่งไปยังบริษัทประกันและผู้กำกับดูแลอย่าง คปภ. ว่า ควรมีการสรุปสาระสำคัญที่เข้าใจง่ายไว้ด้านหน้าของสมุดกรมธรรม์ เช่น กรมธรรม์ฉบับนี้คุ้มครองอะไรและยกเว้นอะไร ซึ่งขณะนี้มีบางบริษัทเท่านั้นที่มีการสรุปในลักษณะนี้ ต้องระบุการไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องแถลงสุขภาพไว้ในสมุดกรมธรรม์ กำกับดูแลการโฆษณาตามสื่อต่างๆ ไม่ให้สร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้บริโภค และ คปภ. จะต้องทำงานเชิงรุกและให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่าที่เป็นอยู่ -----------------------------------------------------------------------------------------------------------“การตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพมีผลต่อราคาของระบบสุขภาพทั้งระบบ”    การทำประกันต้องแยกแยะระหว่างประกันชีวิตกับประกันสุขภาพที่มีลักษณะแตกต่างกัน เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการจ่ายคืนเบี้ยประกัน เมื่อพิจารณาการประกันสุขภาพ พบว่ามีเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเพราะสังคมเริ่มเห็นความสำคัญของการมีหลักประกันและเห็นตัวอย่างของค่ารักษาพยาบาลราคาแพงของโรงพยาบาลเอกชน     ประเด็นนี้ชวนให้เกิดคำถามว่า แล้วระบบสวัสดิการสุขภาพที่มีอยู่ไม่ครอบคลุมการรักษาหรือ? หรือว่าคุณภาพไม่ดี? นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มีข้อมูลและมุมมองน่าสนใจต่อเรื่องนี้     นิมิตร์ กล่าวว่า ความเฟื่องฟูของธุรกิจประกันสุขภาพ ส่วนหนึ่งมาจากความไม่มั่นใจในระบบสวัสดิการสุขภาพของรัฐตามสิทธิที่แต่ละคนมี อีกทั้งการบริการของโรงพยาบาลรัฐที่ด้อยกว่าโรงพยาบาลเอกชน ดังนั้น ผู้ที่มีกำลังซื้อจึงเลือกซื้อประกันสุขภาพเพื่อใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนแทน     ในมิติด้านคุณภาพการรักษา นิมิตร์ อธิบายว่าความจริงแล้ว หลักประกันสุขภาพหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคมีระบบการรักษาที่มีคุณภาพดีเพียงพอที่จะดูแลปัญหาสุขภาพของคนได้ โดยร้อยละ 90 ของโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพเป็นโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งมีขีดความสามารถในการดูแลรักษาไล่เรียงกันไป ตั้งแต่ระดับตำบลถึงจังหวัด เป็นหน่วยบริการที่มีบุคลากรทางการแพทย์ครบทุกสาขาวิชาชีพ มีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพียงพอ และถ้าเกิดขีดความสามารถก็มีการส่งต่อไปรับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีขีดความสามารถที่สูงขึ้นไปได้     แต่เนื่องจากเป็นบริการที่ดูแลคนจำนวนมากจึงเกิดความไม่สะดวกสบาย ความแออัด ซึ่งเมื่อนำประเด็นนี้ไปเทียบกับโรงพยาบาลเอกชนจึงทำให้ดูด้อยกว่า เพราะการบริการเป็นสิ่งที่มองเห็นแรกสุด นำไปสู่ทัศนคติว่าโรงพยาบาลเอกชนน่าจะมีคุณภาพการรักษาดีกว่า ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงโรงพยาบาลเอกชนไม่ได้มีคุณภาพการรักษาดีกว่าโรงพยาบาลของรัฐ แพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลเอกชนก็เป็นแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ แต่ไปทำนอกเวลา หรือลาออกไปจากโรงพยาบาลรัฐ     “เพราะโรงพยาบาลรัฐให้บริการคนจำนวนมาก ความแออัดมากกว่า คนที่มีกำลังพอจะเลือกก็จะเลือกความสะดวก ไม่ต้องจ่ายเวลา แต่คนส่วนใหญ่ไม่มีกำลังซื้อก็ต้องจ่ายเวลาของตนออกไป นี่คือเหตุที่ทำให้ธุรกิจประกันสุขภาพขายได้”     ประเด็นหนึ่งที่ประชาชนยังไม่ค่อยทราบคือสิทธิการรักษาที่ครอบคลุม ทั้งหลักประกันสุขภาพและประกันสังคม โดยทั่วไปแล้วครอบคลุมการรักษาพยาบาลตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม ยกเว้นประกันสังคมที่อาจต้องจ่ายเพิ่มบางส่วน เนื่องจากมีเพดานค่ารักษา     ในกรณีฉุกเฉินจากการเจ็บป่วย ถ้าไปโรงพยาบาลตามสิทธิ์ประกันสังคม ผู้ป่วยไม่ต้องจ่ายค่ารักษา แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลที่ไม่ได้ประกันตนไว้ต้องสำรองค่าใช้จ่าย แล้วนำไปเบิกภายหลัง ถ้าต้องนอนในโรงพยาบาลก็ต้องแจ้งกลับมาที่หน่วยบริการของตนเองภายใน 72 ชั่วโมง ระบบจึงจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ ขณะที่หลักประกันสุขภาพค่อนข้างสะดวกกว่า ถ้าเข้าโรงพยาบาลของรัฐระบบจะเชื่อมข้อมูลเองโดยอัตโนมัติ ผู้ป่วยไม่ต้องสำรองจ่าย เว้นเสียแต่จะไปเข้าโรงพยาบาลที่อยู่นอกระบบหลักประกัน ซึ่งหมายถึงโรงพยาบาลเอกชน กรณีนี้หากค่ารักษาพยาบาลเกินเพดานที่กำหนด ผู้ป่วยต้องจ่ายส่วนที่เกิน     นิมิตร์ ยอมรับว่ายังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่สร้างความไม่สะดวกและบริการที่ไม่เป็นมิตรนักสำหรับประชาชนผู้ใช้บริการอยู่ โดยเฉพาะกับสิทธิประกันสังคม แต่โดยภาพรวมแล้วถือว่ามีคุณภาพเพียงพอสำหรับดูแลคนทั้งประเทศ     ดังนั้น ในมุมมองของนิมิตร์ การซื้อประกันสุขภาพหรือประกันอุบัติเหตุจึงไม่มีความจำเป็น ในทางตรงกันข้าม การซื้อประกันสุขภาพอาจมีผลทำให้ราคาค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนเห็นอุปสงค์ ก่อให้เกิดการดึงแพทย์ออกจากระบบรัฐด้วยค่าตอบแทนที่สูงกว่า ขณะที่ภาครัฐเองก็ต้องพยายามรักษาบุคลากรของตนด้วยการเพิ่มค่าตอบแทน สุดท้ายแล้วจะดึงให้ค่ารักษาพยาบาลทั้งระบบสูงขึ้น     “การตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพมีผลต่อราคาของระบบสุขภาพทั้งระบบ สิ่งที่เราซื้อไปสร้างดีมานด์และราคาที่ลวงตา ทั้งที่จริงค่ารักษาพยาบาลไม่ควรแพงขนาดนี้”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 เมืองไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

    อันดับ 3 ของโลก ส่งออกอาหารทะเลมากสุด แต่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนมากสุด ประเทศไทยส่งออกอาหารทะเลมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและนอร์เวย์ อุตสาหกรรมประมงสร้างรายให้ประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 5,400 ล้านเหรียญ ผลพลอยได้คือ เรามีชื่อติดอันดับเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับเขาด้วย อุตสาหกรรมประมงไทยต้องอาศัยแรงงานอย่างน้อย 300,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติที่ลักลอบเข้าเมืองจากประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยสภาพการทำงานที่ค่อนข้างเลวร้ายจึงทำให้มี “ตำแหน่งงานว่าง” ปีละไม่ต่ำกว่า 50,000 ตำแหน่ง กระบวนการสรรหาบุคลากรผ่านกระบวนการค้ามนุษย์จึงเกิดขึ้น องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่างก็ออกมาสนับสนุนสหรัฐฯ ที่จัดประเทศไทยไว้ในกลุ่มประเทศที่ยังจัดการเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ต่ำกว่ามาตรฐาน ปลายปีนี้ก็มีลุ้นว่าเราจะได้ใบแดงจากสหภาพยุโรป (ลูกค้ารายใหญ่ที่นำเข้าอาหารทะเลจากไทยเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 700 ล้านยูโร หรือประมาณ 27,000 ล้านบาทในปี 2557) หรือไม่ ระหว่างนี้ผู้บริโภคก็มีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ด้วยการตั้งคำถามให้มากเรื่องที่มาของอาหารทะเล   อันดับ 2 ของโลก อุบัติเหตุบนท้องถนน จากการเก็บสถิติอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วโลกในปี 2557 ของสถาบันวิจัยด้านคมนาคม มหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ในอัตราส่วนประชากร 100,000 คนต่อปี ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุดในโลก คือ นามิเบีย 45/100,000 คน ประเทศไทย 44/100,000 คน ส่วนประเทศที่มีผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนน้อยที่สุดคือ มัลดีฟท์ 2/100,000 คนเท่านั้น โดยค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 18/100,000 คน ยืนยันซ้ำโดยทางการไทย กรมการขนส่งทางบก ระบุอัตราการตายที่เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เฉลี่ยวันละ 25 คน หรือชั่วโมงละ 1 คน โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เกิดจากรถตู้โดยสารสาธารณะ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 ถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2555 มีอุบัติเหตุรถตู้โดยสารสาธารณะรวม 45 ราย ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมคนขับถึง 41 ราย และที่เหลือเกิดจากสาเหตุสภาพรถ จำนวน 4 ราย ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุน่าตกใจนี้ มีงานวิจัยพบสาเหตุ 3 ประการ คือ พฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวดพอ และความปลอดภัยของถนนไม่ได้มาตรฐานปีใหม่นี้ขอให้แคล้วคลาดปลอดภัยทุกคน   อันดับ 3 ของโลก ใช้น้ำอย่างสิ้นเปลืองข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเพื่อประชาชนระบุว่า ประเทศไทยเราถูก องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ยกให้เป็นประเทศที่ใช้น้ำในกระบวนการผลิตต่างๆ ในปริมาณมาก พร้อมทั้งสร้างผลกระทบต่อแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า “Water Footprint” ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าในภาคการผลิตของประเทศไทยเรายังใช้ทรัพยากรน้ำอย่างไม่รู้คุณค่า!!! โดยประเทศไทยมีค่าเฉลี่ย Water Footprint อยู่ที่ 2,223 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี มากเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองแค่ สหรัฐอเมริกา และ อิตาลี โดยค่าเฉลี่ยของ Water Footprint ของโลกอยู่ที่ 1,243 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี ไทยเรายังมีความรู้เรื่อง Water Footprint ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิตภาคเกษตรกรรมที่มีค่าเฉลี่ย Water Footprint สูงถึง 2,131 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี เนื่องจากเราเป็นประเทศเกษตรกรรม ส่งออกสินค้าเกษตรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ส่วนเรื่องการใช้น้ำในภาคคัวเรือนทั่วไป คนไทยเราก็ทำสถิติใช้น้ำเปลืองด้วยเช่นกัน การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค พบว่าในปี 2557 คนไทยใช้น้ำเฉลี่ยมากถึง 119 ลิตรต่อวันต่อคน เพิ่มจากปี 2555 ที่มีใช้น้ำเฉลี่ยต่อวันต่อคนอยู่ที่ 48 ลิตร สูงขึ้นเกินกว่าเท่าตัว สถิติการใช้น้ำของคนไทย จัดเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากประเทศ สิงคโปร์ที่ 165 ลิตรต่อวันต่อคนและฟิลิปปินส์ 164 ลิตรต่อวันต่อคน ขณะที่ชาวโลก สหรัฐอเมริกามีอัตราการใช้น้ำเฉลี่ยสูงที่สุดในโลกที่ 575 ลิตรต่อคนต่อวัน รองลงมาคือ ออสเตรเลีย 493 ลิตรต่อคนต่อวัน และ ญี่ปุ่น 374 ลิตรต่อคนต่อวัน   อันดับ 5 ของโลก ใช้สารเคมีทางการเกษตรมากปี 2554 ประเทศไทยเราเคยถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการใช้สารเคมีทางการเกษตรมากที่สุดในโลก โดยธนาคารโลก (World Bank) องค์การทางการเงินระหว่างประเทศ ได้จัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่ใช้สารเคมีทางการเกษตรสูงที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก ที่ปริมาณ 0.86 กิโลกรัมต่อพื้นที่เกษตร 10,000 ตารางเมตร เป็นรองแค่ ฝรั่งเศส เวียดนาม สเปน และบราซิล (ถ้านำมาวางเรียงกันแล้วจะสูงเท่ากับตึกใบหยก 2 หรือที่ความสูงประมาณ 304 เมตร) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รายงานตัวเลขปริมาณและมูลค่าการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรของประเทศไทยในปี 2557 มีตัวเลขการนำเข้าทั้งหมดรวม 134,377 ตัน คิดเป็นมูลค่าถึง 19,357 ล้านบาท ส่วนปี 2558 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้มีการสรุปตัวเลขการนำเข้าล่าสุดถึงเดือน มิ.ย. พบว่ามีการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรไปแล้วจำนวน 96,871 ตัน คิดเป็นมูลค่า 12,453 ล้านบาท การใช้สารเคมีทางการเกษตรเป็นจำนวนมากส่งผลต่อสุขภาพ ไม่เฉพาะแค่ผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเกษตรกรด้วย ข้อมูลจากสำนักโรคจากการประกอบอาชีพ และสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารเคมีกําจัดศัตรูพืชเฉลี่ยปีละ 1,734 ราย และในปี 2557 ได้มีการตรวจเลือดเกษตรกรจำนวน 317,051 ราย พบว่ามีเกษตร 107,820 ราย หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ที่มีผลตรวจเลือดอยู่ในระดับไม่ปลอดภัย อันดับ 6 ของโลก ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากทะเลไทยขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามติดอันดับโลก ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติต้องมาสัมผัส แต่ทะเลไทยกำลังจะเปลี่ยนไป น้ำทะเลที่เคยสวยใส สัตว์ทะเลน้อยใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ อาจจะไม่มีให้เราได้ชื่นชมอีก เพราะทะเลไทยกำลังจะถูกทำลายด้วย “ขยะพลาสติก” สำนักข่าวต่างประเทศชื่อดังอย่าง CNN ได้นำรายงานของ www.sciencemag.org ที่มีชื่อว่า “ขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเล” (Plastic waste inputs from land into the ocean) มาเผยแพร่ โดยพบว่าในปี 2010 มีพลาสติกมากถึง 275 ล้านเมตริกตัน (1 เมตริกตัน = 1,000 กิโลกรัม) ที่ถูกผลิตและใช้ในประเทศที่มีพื้นที่ติดกับทะเลจำนวน 192 ประเทศทั่วโลก โดยในจำนวนนี้น่าจะมีขยะพลาสติกราว 4.8 – 12.7 ล้านเมตริกตันที่ถูกทิ้งลงทะเล ประเทศไทยเราถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดของโลก โดยในแต่ละปีเราทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากถึง 1.03 ล้านเมตริกตัน ประเทศที่มีการทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดคือ จีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้พลาสติกสูงที่สุดของโลกด้วย โดยจีนทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลที่ปริมาณ 8.82 ล้านเมตริกตันต่อปี อันดับ 2 อินโดนีเซีย 3.22 ล้านเมตริกตัน, อันดับ 3 ฟิลิปปินส์ 1.88 ล้านเมตริกตัน, อันดับ 4 เวียดนาม 1.83 ล้านเมตริกตัน และ อันดับ 5 ศรีลังกา 1.59 ล้านเมตริกตัน ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในปี 2015 มีการเก็บขยะจากทะเลและชายฝั่งเป็นจำนวน 5,363.50 กิโลกรัม โดยประเภทของขยะที่พบมากที่สุดคือ ถุงพลาสติก จำนวน 12,971 ชิ้น คิดเป็น 28.21% รองลงมาก็ยังเป็นขยะในกลุ่มพลาสติกอย่าง หลอด, ฝาขวด, ขวดน้ำพลาสติก   ตั้งแต่พลาสติกถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในช่วงยุค 90 ว่ากันว่า ขยะพลาสติกชิ้นแรกก็ยังคงมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ ไม่ได้ย่อยสลายหายไปไหน   ละเมิดลิขสิทธิ์ติดอันดับโลกไทยแลนด์ไม่น้อยหน้าใครเรื่องการเป็นแหล่งซื้อหาสินค้า “ทำเหมือน” คุณภาพเยี่ยม ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ และแทบจะในทุกแหล่งจับจ่าย ตั้งแต่ริมทางเท้าไปจนถึงห้างสรรพสินค้าห้องแอร์ นักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาบางคนก็อดใจไม่ไหว ต้องซื้อสินค้าเหล่านี้ติดไม้ติดมือกลับบ้านไป ปีนี้สหรัฐฯ ยังคงจัดให้เราอยู่ในกลุ่มประเทศ PWL (Priority Watch List) หรือ กลุ่มประเทศที่ถูกจับตาเป็นพิเศษ ทั้งเรื่องสินค้าปลอมที่ใช้โลโก้ลิขสิทธิ์ การใช้โลโก้ที่เลียนแบบต้นฉบับ ไปจนถึงการใช้ซอฟท์แวร์ไม่จดทะเบียน สหรัฐฯ ระบุว่าไทยเป็นตลาดสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ขนาดใหญ่ ที่จะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายให้จริงจังขึ้น แต่สินค้าปลอมนี้ดูไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลง แม้จะมีการตรวจจับและนำมาทำลายให้เห็นกันบ่อยครั้ง “ผู้ประกอบการ” นิยมนำเข้าสินค้าเหล่านี้จากจีน เกาหลี และไต้หวัน กันมากขึ้น โดยนำเข้ามาทางเรือหรือทางรถผ่านชายแดนลาวและกัมพูชา ที่สำคัญ การค้าในแหล่งท่องเที่ยวดูเหมือนจะดีวันดีคืน ถึงขั้นที่ต้องนำเข้า “พนักงานขาย” จากประเทศเพื่อนบ้านที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษด้วย   เจนวายไทย ติดอันดับติดโทรศัพท์มือถือมากสุดในเอเชียการสำรวจพฤติกรรมออนไลน์ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ท 60,000 คน ใน 50 ประเทศทั่วโลกโดยบริษัทวิจัยการตลาด TNS พบว่า คนไทยเจนวาย (คนที่อายุระหว่าง 16 – 30 ปี) เป็นกลุ่มคนที่ติดโทรศัพท์มือถือมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยสถิติ 4.2 ชั่วโมงต่อวัน คนมาเลเซียและสิงคโปร์ใช้วันละ 3.8 และ 3.4 ชั่วโมง ตามลำดับ แม้แต่ฮ่องกงก็ยังมีอัตราใช้เพียงวันละ 2.8 ชั่วโมง ส่วนผู้นำด้านเทคโนโลยีอย่างญี่ปุ่นนั้นใช้วันละ 1.6 ชั่วโมงเท่านั้น นี่เรามาเหนือประเทศผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอย่างจีน (3.9 ชั่วโมง) และประเทศที่ต้นสังกัดของไอโฟนอย่างอเมริกา (3.1 ชั่วโมง) ได้อย่างไร (อัตราเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 3.2 ชั่วโมง) ไม่อยากจะคุยว่าคนไทยถือโทรศัพท์กันคนละ 1.4 เครื่อง (คนอเมริกันและคนจีนมีมือถือคนละ 0.91 และ 0.77 เครื่อง ตามลำดับ) นอกจากนี้ข้อมูลปี 2556 ระบุว่าร้อยละ 56 ของการใช้อินเตอร์เน็ทในเมืองไทยเป็นการเข้าผ่านโทรศัพท์มือถือ สูงกว่าในสหรัฐฯและจีนด้วย (ร้อยละ 40 และร้อยละ 34 ตามลำดับ)   โรงพยาบาลเอกชนไทยดีติดอันดับโลก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เคยถูกจัดอันดับเป็นสถานพยาบาลติด 1 ใน 10 ของสถานพยาบาลทั่วโลกที่มีมาตรฐานระดับสากลที่ชาวต่างชาตินิยมมาใช้บริการ ในขณะที่โรงพยาบาลเอกชนได้รับการยอมรับในระดับโลก แต่ในบ้านเราก็พบการร้องเรียนเรื่องค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนที่แพงเกินจริง จนเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ได้ล่ารายชื่อจำนวนถึง 33,000 ราย เพื่อยื่นต่อรัฐบาลให้ตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชน ผลการศึกษามาตรฐานค่ารักษาพยาบาลของสถานพยาบาล โดยกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พบว่าค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาลเอกชนสูงกว่าค่ารักษาในโรงพยาบาลรัฐเกินกว่า 60 % ยกตัวอย่าง โรคหลอดเลือดหัวใจ ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลรัฐจะอยู่ที่ประมาณ 139,000 บาท ส่วนในโรงพยาบาลเอกชนจะอยู่ที่ 370,000 บาท โรคหวัด ค่าใช้จ่ายในการรักษากับโรงพยาบาลรัฐจะอยู่ที่ 781 บาท แต่ถ้าเป็นในโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังจะอยู่ที่ 3,069 บาท สูงกว่ากันเกือบ 4 เท่า ว่าไปแล้ว ผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็เข้าใจดีว่า ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเอกชนย่อมสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ และยอมรับว่า โรงพยาบาลเอกชน ก็คือธุรกิจประเภทหนึ่งที่จะต้องมีการหาผลกำไร มีการลงทุน (ยิ่งโรงพยาบาลเอกชนที่มีหุ้นซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ยิ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่มีหุ้นเกือบเท่าตัว) แต่การตั้งราคาควรมีความเป็นธรรมและเหมาะสมหรือไม่ หรือว่ามุ่งแต่จะรักษาคนต่างชาติเงินหนา โดยไม่สนใจผู้บริโภคคนไทย กระทรวงสาธารณสุขรับแล้วว่าจะดูแลในเรื่องนี้ ต้องติดตามดูกันต่อไป   อันดับ 1 ของอาเซียน ดื่มสุราสูงสุดองค์การอนามัยโลก ปี 2557 เผยว่า ประเทศไทยบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน มีการดื่มเฉลี่ย 7.1 ลิตรต่อคนต่อปี ส่วนอันดับรองลงมาคือประเทศลาวและฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ตามข้อมูลจากศูนย์การศึกษาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์(CAS) ภูมิภาคในประเทศไทยที่มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็นร้อยละ 40 ของประเทศ ในขณะที่อันดับสอง คือภาคเหนือ ร้อยละ 23 ส่วนในกรุงเทพฯ คิดเป็นร้อยละ 8 ในทางเดียวกันกับข้อมูลข้างต้น สำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในปี 2557 จำนวนผู้ดื่มสุราในประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 32 หรือประมาณ 17 ล้านคน อยู่ในช่วงอายุกลุ่มวัยทำงาน 25 - 59 ปี มากที่สุด ซึ่งผู้ชายมีอัตราการดื่มสุรามากกว่าผู้หญิง ประมาณ 4 เท่า โดยสุราที่นิยมเป็นอันดับหนึ่งคือ เบียร์ ทั้งนี้สำหรับ 3 สาเหตุหลัก ในการดื่มแอลกอฮอล์คือ เพื่อเข้าสังคมหรือการสังสรรค์มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 41.9 รองลงมาคือ ทำตามอย่างเพื่อนหรือเพื่อชวนดื่ม คิดเป็นร้อยละ 27.3 และอันดับสุดท้ายคือ อยากทดลองดื่ม ร้อยละ 24.4   ต่ำสุดในอาเซียน เลี้ยงลูกด้วยนมแม่แม้ผลศึกษาวิจัยหลายชิ้นจะชี้ให้เห็นประโยชน์ของนมแม่ ในการพัฒนาสมองหรือภูมิคุ้มกันของทารกให้เพิ่มขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้นมผงเสริม แต่สถิติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทยในช่วง 6 เดือนแรกของทารกก็ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยจากผลการสำรวจขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ในปี 2557 พบว่า มีคุณแม่คนไทยเพียงร้อยละ 16 เท่านั้นที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งต่ำกว่าระดับมาตรฐานโลกที่ตั้งไว้ร้อยละ 50 นอกจากนี้ยังเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากอิทธิพลของการโฆษณานมผงต่างๆ   อันดับสองในอาเซียน แม่วัยรุ่นน่าตกใจไหม? ไทยเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนที่มีแม่วัยรุ่น (อายุ 15-19 ปี) มากที่สุด โดยอ้างอิงข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่า ในปี 2556 การตั้งครรภ์ของผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 20 ปีทั่วโลก ประเทศไทยมีจำนวนสูงถึง 74 คนต่อ 1,000 คน ซึ่งเป็นอันดับ 2 รองจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นพบว่า ส่วนใหญ่เกิดจากใช้วิธีคุมกำเนิดไม่ถูกต้อง หรือไม่ใช้วิธีป้องกันเนื่องจากขาดความรู้นั่นเอง   ข้อมูลเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์สเตรทไทม์ส์ และนิตยสารมาร์เก็ตติ้งเว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก http://www.dlt.go.th/th/ และข้อมูลสถิติจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน http://deepblue.lib.umich.edu/handle/2027.42/102731http://englishnews.thaipbs.or.th/infographic/alcohol-consumption-thailand และสำนักงานสถิติแห่งชาติ http://service.nso.go.th/nso/web/survey/surveylist.htmlhttp://thaibreastfeeding.org/page.php?id=29 / http://www.hiso.or.th/hiso5/healthy/news2.php?names=06&news_id=8286 / http://www.ipu.org/splz-e/vientiane14/malnutrition.pdf / http://www.ictsilpakorn.com/ictmedia/detail.php?news_id=296#.VmE8fXYrLIU  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 แฟร์เทรด (การค้าที่เป็นธรรม) เรื่องที่มักเข้าใจผิด

ในช่วง 2-3 ปีมานี้ เริ่มมีการพูดกล่าวถึงเรื่องแฟร์เทรด หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “การค้าที่เป็นธรรม” กันมากขึ้น แม้ว่าในประเทศพัฒนาแล้ว แฟร์เทรดเป็นเรื่องที่ผู้บริโภครู้จักและให้ความสนใจ ในการเลือกซื้อสินค้าแฟร์เทรดมานานพอควร โดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา  “ฉลาดซื้อ” เล่มนี้จึงมีบทความพิเศษสำหรับผู้อ่าน เพื่อทำความเข้าใจประเด็นสำคัญ ที่มักจะเข้าใจผิด และการกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับแฟร์เทรดในประเทศไทยใครทำธุรกิจแฟร์เทรด    ผู้คนจำนวนไม่น้อย ทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค มักจะมีความคิดและความเชื่อของตัวเองว่า อะไรคือการทำธุรกิจการค้าที่เป็นธรรม  หลายคนมักจะบอกว่า ธุรกิจของฉัน หรือธุรกิจนี้นั้นเป็นแฟร์เทรด  บางคนบอกว่า แฟร์เทรดต้องเป็นธรรมกับผู้ผลิต บางคนบอกว่า ต้องเป็นธรรมกับผู้บริโภค บางคนบอกว่า ทั้งสองอย่างเท่าๆ กัน และบางคนก็ตั้งคำถามต่อว่า แล้วไม่ต้องเป็นธรรมกับธรรมชาติ/สิ่งแวดล้อมหรือ  ก่อนที่จะพูดถึงหลักการของแฟร์เทรด ลองมาพิจารณากันดูก่อนว่า ธุรกิจข้างล่างนี้ ท่านคิดว่า ธุรกิจใดน่าจะเข้าข่ายธุรกิจแฟร์เทรดกันบ้าง1) บริษัท ก. ซื้อผลผลิตข้าวหอมมะลิทั่วไป (ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์) จากกลุ่มเกษตรกร โดยให้ราคาสูงกว่าราคาในท้องตลาดเท่าตัว แต่ซื้อตามปริมาณที่ลูกค้าสั่งซื้อ ซึ่งประมาณเท่ากับ 5% ของผลผลิตทั้งหมดของกลุ่มเกษตรกร2) บริษัท ข. ซื้อผลผลิตข้าวหอมมะลิทั่วไป (ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์) จากกลุ่มเกษตรกร โดยให้ราคาสูงกว่าราคาในท้องตลาด 5% แต่ซื้อผลผลิตทั้งหมดของกลุ่มเกษตรกร3) สามีภรรยาที่เป็นคนเมืองตัดสินใจผันตัวไปเป็นเกษตรกร ทำเกษตรอินทรีย์ในชนบท มีการจ้างงานชาวบ้านจากชุมชนรอบฟาร์ม โดยจ่ายค่าแรงตามกฎหมายแรงงาน และขายผักออร์แกนิคที่ปลูกได้โดยตรงให้กับผู้บริโภคในเมือง4) บริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ขายสินค้าอุปโภคทั่วไป ซื้อข้าวสารออร์แกนิค ที่ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ จากกลุ่มเกษตรกร เพื่อปรุงเป็นอาหารกลางวันให้กับลูกจ้างในโรงงาน/บริษัท ที่เป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการให้กับลูกจ้าง5) สหกรณ์การเกษตร ที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรสมาชิก ที่ปลูกพืชในระบบเกษตรทั่วไป/อาหารปลอดภัย โดยมีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีการเกษตร แล้วนำมาสีที่โรงสีของตัวเอง หรือไปจ้างโรงสีเอกชนให้สีข้าวให้ แล้วขายผลผลิตให้กับห้างซูเปอร์มาร์เก็ต โดยบางส่วนขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง 6) บริษัทธุรกิจการเกษตร ที่ทำสัญญาการผลิตและซื้อขายล่วงหน้ากับกลุ่มเกษตรกร โดยการกำหนดราคารับซื้อผลผลิตที่สูงกว่าราคาทั่วไปในท้องตลาด     เมื่องลองอ่านหลักการแฟร์เทรดข้างล่างนี้ดู แล้วกลับไปทบทวนดูใหม่ว่า ธุรกิจแบบใดบ้างที่เป็นธุรกิจแฟร์เทรดจริงหลักการแฟร์เทรด1. สร้างโอกาสสำหรับผู้ผลิตที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ     องค์กรมีวัตถุประสงค์หลักในการแก้ไขปัญหาความยากจนของผู้ผลิตด้วยการทำการค้า  องค์กรสนับสนุนผู้ผลิตรายย่อยที่อยู่ชายขอบ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจครอบครัว หรือมีการรวมกลุ่มกันเป็นสมาคมหรือสหกรณ์  องค์กรพยายามที่จะยกระดับผู้ผลิตที่ยากจนและขาดความมั่นคงทางรายได้ให้มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม  องค์กรมีแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ข้างต้น     2. มีความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงาน     องค์กรมีการบริหารจัดการและการทำธุรกิจที่โปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงานกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งความเคารพต่อความอ่อนไหวและความลับของข้อมูลทางการค้า     องค์กรมีแนวทางที่เหมาะสมและสร้างการมีส่วนร่วมให้กับพนักงาน สมาชิก และผู้ผลิต ในกระบวนการตัดสินใจ  องค์กรสื่อสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้กับคู่ค้าต่างๆ รวมทั้งมีช่องทางการสื่อสารที่ดีและเปิดเผยในทุกระดับของห่วงโซ่อุปทาน 3. ดำเนินการค้าอย่างเป็นธรรม     เป้าประสงค์ คือ องค์กรทำการค้าโดยให้ความใส่ใจกับสภาพความเป็นอยู่ทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ของผู้ผลิตรายย่อยที่อยู่ชายขอบ และไม่แสวงหากำไรสูงสุด โดยไม่ใส่ใจถึงผลกระทบต่อผู้ผลิต ความมุ่งมั่นทางการค้า     เป็นความรับผิดชอบและความเป็นมืออาชีพขององค์กรในการที่จะดำเนินการปฏิบัติให้ตามความมุ่งมั่นขององค์กรโดยไม่ชักช้า  ซัพพลายเออร์เคารพข้อตกลงและส่งมอบสินค้าตรงเวลา มีคุณภาพ และเป็นไปตามข้อกำหนด การจ่ายเงินล่วงหน้า     ผู้ซื้อแฟร์เทรดตระหนักถึงข้อเสียเปรียบทางการเงินของผู้ผลิตและซัพพลายเออร์ และพยายามในการชำระเงินเมื่อได้รับเอกสารการค้า  สำหรับสินค้าหัตถกรรมแฟร์เทรด ผู้ซื้อแฟร์เทรดจะจ่ายเงินล่วงหน้าอย่างน้อย 50% โดยไม่คิดดอกเบี้ย ถ้าได้รับการร้องขอ  ส่วนสินค้าอาหารแฟร์เทรด ผู้ซื้อแฟร์เทรดจะจ่ายเงินล่วงหน้าอย่างน้อย 50% โดยคิดดอกเบี้ยที่สมเหตุสมผล ถ้าได้รับการร้องขอ อัตราดอกเบี้ยที่ซัพพลายเออร์จ่ายจะต้องไม่สูงกว่ามูลค่าที่ผู้ซื้อกู้ยืมจากบุคคลที่สาม การคิดดอกเบี้ยไม่ได้เป็นข้อกำหนด    ถ้าซัพพลายเออร์แฟร์เทรดในประเทศกำลังพัฒนาได้รับการจ่ายเงินล่วงหน้าจากผู้ซื้อ องค์กรจะต้องนำเงินดังกล่าวไปจ่ายต่อให้กับผู้ผลิตหรือเกษตรกร ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าแฟร์เทรด การยกเลิกการสั่งซื้อและการจัดการเมื่อเกิดปัญหา     ผู้ซื้อจะปรึกษากับซัพพลายเออร์ก่อนที่จะมีการยกเลิกหรือปฏิเสธการสั่งซื้อ  ถ้ามีการยกเลิกการสั่งซื้อโดยไม่ใช่ความผิดของผู้ผลิตหรือของซัพพลายเออร์ จะมีต้องการชดเชยให้กับการทำงานของผู้ผลิตและซัพพลายเออร์ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว  เช่นกัน ซัพพลายเออร์และผู้ผลิตจะปรึกษากับผู้ซื้อ ถ้ามีปัญหาในการจัดส่งสินค้า และจะทำการชดเชยให้ เมื่อสินค้าที่ส่งมอบมีปริมาณหรือคุณภาพที่ไม่ต้องกันกับที่เรียกเก็บเงิน คู่ค้าระยะยาว     องค์กรรักษาความสัมพันธ์ระยะยาวกับคู่ค้า โดยความสัมพันธ์นั้นตั้งอยู่บนความสามัคคี เชื่อมั่น และการเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งนำไปสู่การส่งเสริมและการขยายตัวของการค้าที่เป็นธรรม  องค์กรมีการสื่อสารที่มีประสิทธิผลกับคู่ค้า  ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าต่างก็พยายามที่จะเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกัน รวมทั้งมูลค่า และความหลากหลายของสินค้า ซึ่งเป็นหนทางที่จะช่วยให้การค้าที่เป็นธรรมสำหรับผู้ผลิตขยายตัว ส่งผลต่อการเพิ่มรายได้ให้กับผู้ผลิต การแข่งขันอย่างเป็นธรรม     องค์กรทำงานโดยให้ความร่วมมือกับองค์กรแฟร์เทรดอื่นในประเทศและหลีกเลี่ยงการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม  องค์กรหลีกเลี่ยงการก๊อปปี้แบบลวดลายขององค์กรอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการเคารพหัตถฝีมือท้องถิ่น     แฟร์เทรดตระหนัก ส่งเสริม และคุ้มครองเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและหัตถฝีมือท้องถิ่นของผู้ผลิตรายย่อย ที่สะท้อนออกมาในการออกแบบสินค้าหัตถกรรม อาหาร และบริการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ 4. ให้ราคาที่เป็นธรรมราคาที่เป็นธรรม     ราคาที่เป็นธรรมคือ ราคาที่ได้มีการตกลงยินยอมร่วมกันระหว่างทุกฝ่าย ผ่านการพูดคุยปรึกษาและการมีส่วนร่วม ซึ่งราคานี้ทำให้ผู้ผลิตมีรายรับอย่างเป็นธรรมและมีความยั่งยืนทางธุรกิจ  ในกรณีที่มีการกำหนดโครงสร้างราคาแฟร์เทรดไว้อยู่แล้ว ให้ใช้ราคาดังกล่าวเป็นฐานราคาขั้นต่ำ รายรับที่เป็นธรรม (fair pay)     รายรับที่เป็นธรรมหมายถึง รายได้ที่ผู้ผลิตยอมรับได้ว่า มีความเป็นธรรมในทางสังคม (ภายใต้บริบทท้องถิ่น) และได้คำนึงถึงหลักการในเรื่องค่าจ้างที่เท่าเทียมกันของผู้หญิงและผู้ชาย พัฒนาความสามารถในการกำหนดราคา     องค์กรแฟร์เทรดที่ทำหน้าที่การตลาดและผู้นำเข้าจะสนับสนุนการพัฒนาความสามารถให้กับผู้ผลิตตามที่จำเป็น เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถกำหนดราคาที่เป็นธรรมได้ 5. ต้องมั่นใจว่า ไม่มีแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ แรงงานเด็ก     องค์กรเคารพต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก รวมทั้งกฎหมายของประเทศและท้องถิ่นเกี่ยวกับการจ้างแรงงานเด็ก  องค์กรที่ซื้อสินค้าแฟร์เทรดจากกลุ่มผลิตจะต้องดำเนินการเองโดยตรงหรือผ่านหน่วยงานอื่นในการสร้างหลักประกันว่า ผู้ผลิตได้ปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก รวมทั้งกฎหมายของประเทศและท้องถิ่นเกี่ยวกับการจ้างแรงงานเด็ก  การมีส่วนร่วมของเด็กในการผลิตสินค้าแฟร์เทรด (รวมทั้งการเรียนรู้หัตถกรรมพื้นบ้าน) ต้องเป็นไปอย่างเปิดเผยและมีการติดตามตรวจสอบ รวมทั้งจะต้องไม่มีผลเสียต่อสภาพความเป็นอยู่ ความปลอดภัย การศึกษาภาคบังคับ และการสันทนาการของเด็ก แรงงานบังคับ     องค์กรต้องมีหลักประกันว่า ไม่มีการบังคับแรงงานในหมู่ลูกจ้าง และ/หรือองค์กรแฟร์เทรด หรือคนงานที่ทำงานอยู่กับบ้าน (home workers)  องค์กรที่ซื้อสินค้าแฟร์เทรดจากกลุ่มผู้ผลิตจะต้องดำเนินการเองโดยตรงหรือผ่านหน่วยงานอื่นในการสร้างหลักประกันว่า ไม่มีการบังคับแรงงานในการผลิตสินค้าที่ได้จัดซื้อมา 6. ความมุ่งมั่นในการไม่เลือกปฎิบัติ, ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equity) และเสรีภาพในการรวมตัว  ไม่เลือกปฏิบัติ     องค์กรไม่เลือกปฏิบัติในการจ้างงาน การจ่ายค่าตอบแทน การฝึกอบรม การก้าวหน้าทางตำแหน่ง การเลิกจ้าง หรือการเกษียณอายุ เพราะปัจจัยด้านเชื้อชาติ วรรณะ สัญชาติ ศาสนา ความพิการ เพศ ความนิยมทางเพศ สมาชิกของสหภาพแรงงาน สมาชิกทางการเมือง การติดเชื้อเอดส์ หรืออายุ ความเท่าเทียมทางเพศ     องค์กรจะให้โอกาสผู้หญิงและผู้ชายอย่างเท่าเทียมในการพัฒนาทักษะ รวมทั้งกระตุ้นให้ผู้หญิงได้สมัครงานในตำแหน่งที่ว่าง และการได้รับตำแหน่งผู้นำในองค์กร  องค์กรจะใส่ใจถึงความจำเป็นทางสุขภาพและความปลอดภัยเป็นพิเศษสำหรับสตรีที่ตั้งครรภ์และแม่ที่อยู่ในระหว่างการให้นมบุตร  ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการตัดสินใจเรื่องผลประโยชน์ที่เกิดจากกระบวนการผลิต ค่าจ้างที่เท่าเทียม     องค์กรที่ทำงานโดยตรงกับผู้ผลิตจะต้องสร้างหลักประกันว่า ผู้หญิงได้รับค่าจ้างจากการมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตเสมอ และในกรณีที่ผู้หญิงทำงานแบบเดียวกับผู้ชาย ผู้หญิงจะได้รับค่าจ้างในอัตราเดียวกัน   และในกรณีที่สภาพการผลิตที่งานของผู้หญิงถูกประเมินมูลค่าต่ำกว่าการทำงานของผู้ชาย องค์กรพยายามที่จะมีการประเมินงานของผู้หญิงใหม่และปรับค่าตอบแทนให้มีอัตราเท่าเทียมกับของผู้ชาย  รวมทั้งผู้หญิงได้รับอนุญาตให้ทำงานตามศักยภาพของตัวเอง เสรีภาพในการรวมตัวเป็นสมาคม     องค์กรเคารพสิทธิของลูกจ้างทุกคนในการที่จะรวมตัวและเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานตามที่ลูกจ้างเลือก เพื่อที่จะมีการต่อรองร่วมกัน  ในกรณีที่สิทธิการเข้าร่วมสหภาพแรงงานและการต่อรองถูกจำกัดโดยกฎหมาย และ/หรือ สภาพการณ์ทางการเมือง องค์กรจะเปิดโอกาสให้มีการรวมกลุ่มอย่างเสรีและเป็นอิสระ รวมทั้งการต่อรองกับนายจ้าง  องค์กรสร้างหลักประกันว่า ตัวแทนของลูกจ้างจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน 7. หลักประกันสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี สุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงาน     องค์กรจะจัดสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะให้กับลูกจ้างและ/หรือสมาชิก  องค์กรจะปฏิบัติตามข้อกำหนดขั้นต่ำของกฎหมายของประเทศและท้องถิ่น รวมทั้งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสุขภาพและความปลอดภัย เงื่อนไขและชั่วโมงการทำงาน     ชั่งโมงการทำงานและสภาพเงื่อนไขของการทำงานของลูกจ้างและ/หรือสมาชิก (รวมทั้งคนงานที่ทำงานอยู่ที่บ้านของตัวเอง) เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎหมายของประเทศและท้องถิ่น รวมทั้งอนุสัญญาของสหประชาชาติ สภาพการทำงานที่ปลอดภัยของผู้ผลิต     องค์กรแฟร์เทรดตระหนักถึงสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะสำหรับกลุ่มผู้ผลิตที่องค์กรซื้อสินค้า  องค์กรพยายามที่จะยกระดับความรับรู้เกี่ยวกับสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะกับกลุ่มผู้ผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการดำเนินการปรับปรุงสภาพการทำงานของกลุ่มผู้ผลิตที่มีความปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ 8. พัฒนาศักยภาพ     องค์กรพยายามที่จะทำให้เกิดผลกระทบในการพัฒนาด้านบวกต่อผู้ผลิตรายย่อยที่อยู่ชายขอบโดยการทำการค้าที่เป็นธรรม     องค์กรจัดให้มีการพัฒนาทักษะและความสามารถของลูกจ้างและสมาชิก  องค์กรที่ทำงานโดยตรงกับผู้ผลิตรายย่อยมีกิจกรรมการพัฒนาเฉพาะสำหรับช่วยให้ผู้ผลิตได้ปรับปรุงทักษะในด้านการบริหาร ศักยภาพในการผลิต และการเข้าถึงตลาด ทั้งตลาดท้องถิ่น ภูมิภาค ระหว่างประเทศ ตลาดแฟร์เทรด และตลาดทั่วไป ตามความเหมาะสม 9. เผยแพร่การค้าที่เป็นธรรม     องค์กรยกระดับความรับรู้ให้กับสาธารณชนเกี่ยวกับเป้าหมายของแฟร์เทรดและความจำเป็นในการทำให้การค้าโลกมีความเป็นธรรมมากขึ้น  องค์กรผลักดันเป้าหมายและกิจกรรมแฟร์เทรดตามขอบเขตกำลังขององค์กร     องค์กรให้ข้อมูลกับลูกค้าเกี่ยวกับองค์กรเอง สินค้าที่จำหน่าย และองค์กรผู้ผลิตหรือสมาชิกที่เป็นผู้ผลิตสินค้านั้น     การประชาสัมพันธ์และเทคนิคด้านการตลาดจะต้องตั้งอยู่บนฐานของความซื่อสัตย์ 10. สิ่งแวดล้อม การจัดหาวัตถุดิบที่มีความยั่งยืน     องค์กรที่ผลิตผลิตภัณฑ์แฟร์เทรดจะพยายามเลือกใช้วัตถุดิบที่มาจากแหล่งที่มีการจัดการอย่างยั่งยืนให้มากที่สุด และพยายามเลือกซื้อวัตถุดิบในท้องถิ่นเท่าที่เป็นไปได้ เทคนิคการผลิต     องค์กรใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ลดการใช้พลังงาน และเลือกใช้พลังงานหมุนเวียนเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด จัดการกับขยะ     องค์กรพยายามลดผลกระทบจากขยะต่อสิ่งแวดล้อมให้มีน้อยที่สุด  ผู้ผลิตสินค้าการเกษตรที่เป็นแฟร์เทรดจะพยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยการทำเกษตรอินทรีย์ หรือเลือกใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ นโยบายการจัดซื้อ     ผู้ซื้อและผู้นำเข้าสินค้าแฟร์เทรดให้ความสำคัญก่อนกับการเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบที่มาจากแหล่งที่มีการจัดการอย่างยั่งยืน และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมต่ำสุด บรรจุภัณฑ์และการขนส่ง     องค์กรทั้งหมดพยายามเท่าที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติเลือกใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เป็นวัสดุรีไซเคิลหรือสามารถย่อยสลายได้ และการขนส่งสินค้าทางทะเล    เชื่อว่า ผู้อ่านส่วนใหญ่ ในครั้งแรกก่อนที่จะได้อ่านหลักการ จะคิดว่า ทั้ง 6 กรณีเป็นแฟร์เทรด แต่เมื่อได้อ่านหลักการโดยละเอียด ก็จะเริ่มสงสัยว่า ไม่น่าจะใช่ หรือมีข้อมูลไม่พอที่จะบอกว่า ใช่ธุรกิจแฟร์เทรดหรือไม่  จริงๆ แล้วก็เป็นเช่นนั้น คือ การด่วนสรุปเร็วๆ ว่า ธุรกิจขององค์กรผู้ผลิตเป็นแฟร์เทรด หรือธุรกิจการค้ากับเกษตรกรรายย่อยเป็นแฟร์เทรด หรือการรับซื้อสินค้าการเกษตรในราคาสูงกว่าตลาดเป็นแฟร์เทรด (เช่น ในกรณีของการประกันราคาข้าวของรัฐบาลก่อนหน้านี้) ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง เพราะมีองค์ประกอบหลายประการที่ต้องพิจารณาว่า โดยภาพรวมธุรกิจการค้าใดบ้างที่เป็นแฟร์เทรดจริงๆแฟร์เทรดในต่างประเทศ แฟร์เทรดในประเทศไทย     ถ้าจะนับต้นกำเนิดจริงๆ ของการค้าที่เป็นธรรม สามารถนับย้อนหลังไปได้กว่า 180 ปีก่อน ตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษ 1820 ที่มีกลุ่มคนในประเทศสหรัฐอเมริกาได้พยายามต่อสู้กับระบบทาส โดยการรณรงค์ให้ผู้บริโภคบอยคอต ไม่ซื้อสินค้าที่ผลิตโดยใช้ทาส (เช่น ฝ้าย น้ำตาล)  แต่ระบบแฟร์เทรดที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ เริ่มต้นประมาณเมื่อ 50 – 60 ปีก่อน ที่เริ่มต้นโดยคนหนุ่มสาว (ในสมัยนั้น) กลุ่มเล็กๆ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา มุ่งหวังที่อยากจะเห็นระบบการค้า/ตลาดทางเลือก ซึ่งเน้นความเป็นชุมชนท้องถิ่น ไม่แสวงหากำไร ต่อต้านระบบทุนนิยม และแสวงหาทางเลือกใหม่ให้กับสังคม  คนหนุ่มสาวเหล่านี้ได้สละเวลามาทำงานเป็นอาสาสมัครให้กับร้านค้าทางเลือกที่พวกเขาร่วมกับจัดตั้งขึ้นในชุมชน/เมืองของตัวเอง ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นการค้าเพื่อช่วยสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตรายย่อยในประเทศโลกที่สาม (ประเทศกำลังพัฒนา/ด้อยพัฒนา) ที่นำสินค้าดังกล่าวไปขายในช่องทางตลาดพิเศษในประเทศพัฒนาแล้ว และเริ่มมีการจัดทำระบบการตรวจรับรองแฟร์เทรดขึ้นในช่วงต้นพุทธทศวรรษ 2530     ในปัจจุบัน มีตลาดสินค้าแฟร์เทรดใน 125 ประเทศ ซึ่งในปี พ.ศ. 2547 มีมูลค่ารวมกันกว่า 5,900 ล้านยูโร (ประมาณ 236,288 ล้านบาท) โดยตลาดแฟร์เทรดใหญ่มักจะอยู่ในประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจ เช่น ประเทศในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แต่เริ่มตลาดแฟร์เทรดเริ่มขยายตัวในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ เช่น บราซิล แอฟริกาใต้ เคนยา และอินเดีย     สำหรับแฟร์เทรดในประเทศไทยนั้นถือกำเนิดมานานหลายสิบปีเช่นกัน ซึ่งอาจแบ่งกระแสการพัฒนาแฟร์เทรดในประเทศไทยได้ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ    กระแสแรกเป็นกลุ่มหน่วยงานด้านคริสตจักรจากยุโรปที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ที่เริ่มกิจกรรมแฟร์เทรดไปพร้อมๆ กับที่กลุ่มแฟร์เทรดในยุโรปที่ได้เริ่มการนำเข้าสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนา เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคยุโรป เช่น มูลนิธิ Christian Service Foundation (ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาเป็น Thai Tribal Craft) ที่ได้เริ่มส่งออกผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของชาวเขาในภาคเหนือ เพื่อไปจำหน่ายให้กับเครือข่ายคริสเตียนในยุโรป ตั้งแต่ปี 2516  ในปัจจุบัน องค์กรเหล่านี้มีจำนวนหนึ่งที่ยังทำงานอยู่ในประเทศไทย แต่ไม่ค่อยได้ทำงานเกี่ยวกับแฟร์เทรดอีกแล้ว    กระแสที่สองคือกลุ่มแฟร์เทรดไทย ที่เริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงพุทธทศวรรษ 2523 - 2533 โดยบางองค์กรก็เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยหน่วยงานในกลุ่มแรก แต่ได้ผันตัวเป็นองค์กรไทย ที่เป็นอิสระจากองค์กรเดิม  หน่วยงานงานเหล่านี้มีเป้าหมายในการพัฒนาท้องถิ่นมากขึ้น แต่ยังคงกิจกรรมการรับซื้อผลผลิต (ส่วนใหญ่ยังคงเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรม) จากชาวบ้าน เพื่อส่งออกไปจำหน่ายให้กับกลุ่มแฟร์เทรดในต่างประเทศ  รวมทั้งมีชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ที่ได้จัดตั้งองค์กรเพื่อให้บริการด้านการตลาดกับผู้ผลิตรายย่อยอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งบางกลุ่มก็ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีหลายกลุ่มที่ล้มเหลว และเลิกองค์กรไป  สมาคมไทยคราฟท์เป็นหนึ่งในองค์กรในกระแสที่สองนี้    ส่วนกระแสที่สามเป็นองค์กรแฟร์เทรดไทย ที่เริ่มจากองค์กรพัฒนาเอกชน ที่เห็นความจำเป็นและโอกาสในการพัฒนาตลาดเพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตรายย่อย รวมทั้งเป็นการหารายได้เพื่อเลี้ยงตัวเอง  กลุ่มองค์กรในกระแสนี้ส่วนใหญ่เป็นองค์กรที่ทำงานด้านการเกษตร ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มนี้จึงเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเป็นหลัก  นอกจากนี้ กระแสความตื่นตัวเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ที่ได้ก่อตัวขึ้นในประเทศไทย พร้อมๆ กันกับการเกิดขึ้นของระบบการตรวจรับรองมาตรฐานแฟร์เทรดในต่างประเทศ ทำให้องค์กรเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำการผลิตและการค้าที่มีการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และแฟร์เทรดไปพร้อมกัน  กรีนเนทเป็นหนึ่งในองค์กรหลักของกระแสแฟร์เทรดไทยในกลุ่มนี้    เริ่มต้นจากความสัมพันธ์โดยบุคคล หน่วยงานแฟร์เทรดไทยได้เริ่มทำงานร่วมกันในกิจกรรมต่างๆ เป็นเวลาหลายปี ก่อนที่จะมีการรวมกลุ่มกันเป็นขบวนการแฟร์เทรดไทยในช่วงประมาณกลางพุทธศตรวรรษ 2540 ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้ง "ไทยแฟร์เทรดฟอรั่ม" ขึ้นในเดือนกันยายน 2550 และต่อมาได้พัฒนามาเป็น “เครือข่ายไทยแฟร์เทรด”    เนื่องยังไม่ได้มีการสำรวจข้อมูลกันอย่างเป็นระบบ แต่จากการประมาณการของกรีนเนท เชื่อว่า มีกลุ่มผู้ผลิตและผู้ประกอบการเกือบ 100 องค์กร/หน่วยงาน ที่ทำธุรกิจแฟร์เทรด ทั้งสินค้าหัตถกรรมและอาหาร ซึ่งน่าจะมีผู้ผลิตรายย่อย (เกษตรกรและช่างฝีมือหัตถกรรม) ที่ผลิตสินค้าแฟร์เทรดนับหมื่นครอบครัว  สินค้าแฟร์เทรดของประเทศไทยโดยส่วนใหญ่จะจำหน่ายไปตลาดแฟร์เทรดในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหภาพยุโรป  ส่วนในประเทศไทยเอง เนื่องจากผู้บริโภคไทยมีความตื่นตัวเรื่องแฟร์เทรดน้อยมาก จึงไม่ค่อยพบว่า มีการทำตลาดแฟร์เทรดในประเทศไทย แม้ว่ากลุ่มผู้ผลิต/ผู้ประกอบการแฟร์เทรดที่ส่งออกเหล่านี้จะจำหน่ายสินค้าแฟร์เทรดเหล่านั้นในตลาดในประเทศไทยด้วยก็ตามแล้วผู้บริโภคไทยควรจะทำอย่างไร    ในปัจจุบันทราบกันดีว่า พลังของผู้บริโภคในการเลือกซื้อ (และเลือกบริโภค) มีผลอย่างมากต่อพฤติกรรมในการผลิตและการค้า  การเลือกบริโภคอาหารออร์แกนิค/เกษตรอินทรีย์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการเกษตร จากเดิมที่มุ่งเน้นแต่การเพิ่มผลผลิตโดยการใช้สารเคมีการเกษตร มาเป็นระบบการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  การเลือกบริโภคอาหารทะเลจากการประมงอย่างรับผิดชอบทำให้ธุรกิจประมงต้องเปลี่ยนวิธีการจับปลาทูน่า โดยไม่สร้างผลกระทบต่อสัตว์น้ำอื่น  ส่วนตลาดแฟร์เทรดนี้ ก็เป็นกลไกหนึ่งของการพยายามเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจให้มีความรับผิดชอบต่อเกษตรกรผู้ผลิตรายย่อยและชุมชนท้องถิ่น ซึ่งผู้บริโภคสามารถแสดงบทบาทสำคัญในกระบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้  ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดในการสนับสนุนแฟร์เทรด ก็คือ การเลือกซื้อสินค้าแฟร์เทรด    แต่สินค้าแฟร์เทรดโดยปกติจะมีราคาที่สูงกว่าสินค้าที่ไม่ใช่แฟร์เทรด เพราะการทำธุรกิจแฟร์เทรดมีต้นทุนที่สูงกว่า  สำหรับผู้บริโภคบางคนที่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจ ก็คงไม่มีปัญหาที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างสนับสนุนธุรกิจการค้าแฟร์เทรด แต่สำหรับผู้บริโภคบางส่วนที่ไม่มีความพร้อม การเลือกที่จะไม่ซื้อสินค้าจากธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม (เช่น ธุรกิจที่ใช้แรงงานทาส ใช้แรงงานเด็ก เอาเปรียบเกษตรกร หรือทำลายสิ่งแวดล้อม) ก็เป็นวิธีการหนึ่งในการแสดงพลังผู้บริโภค    รวมทั้งการสนับสนุนให้มีการออกกฎหมายและนโยบายทางการเงินและภาษี เพื่อสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมและแฟร์เทรด ซึ่งอาจช่วยทำให้สินค้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 176 ประเด็นร้อน “ผู้บริโภคไทย” 2558

1.    คิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที สุดท้ายก็มีแค่ “โปรโมชั่น”หลายคนน่าจะยังจำได้ถึงกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เรียกร้องให้ กสทช. กำหนดให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือทั้ง 5 ราย ได้แก่ เอไอเอส ดีแทค ทรู TOT และ CAT คิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที เพราะที่ผ่านมาการคิดค่าโทรแบบเดิม หรือการคิดค่าโทรเป็นนาที ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เนื่องจากค่าโทรจะถูกปัดเศษขึ้นทุกครั้ง แม้ว่าเราจะโทรไม่ครบหนึ่งนาที โดยหากนับเป็นจำนวนเงิน ผู้บริโภคจะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ไปกว่า 3,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งภายหลัง กสทช. ก็ได้มีมติอนุมัติประกาศดังกล่าว และกำหนดให้ทุกเครือข่ายมีโปรโมชั่นเป็นวินาทีตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามเนื่องจากประกาศของ กสทช. ไม่มีความชัดเจนว่า หากไม่ปฏิบัติตามจะถือว่าฝ่าฝืนกฎหมายใดหรือมีโทษอย่างไร ดังนั้นแม้จะได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ แต่สิ่งที่ผู้บริโภคได้รับกลับเป็นเพียง “โปรโมชั่นทางเลือก” เท่านั้น ไม่ใช่การยุติหรือเปลี่ยนทั้งระบบตามข้อเรียกร้องของ สปช. โดยผู้ประกอบการได้อ้างว่า หากต้องการเปลี่ยนทั้งระบบ ก็ต้องใช้ระยะเวลานานกว่านี้ ซึ่งไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนได้ ภายหลังการออกโปรโมชั่นใหม่คิดค่าโทรเป็นวินาทีของทุกเครือข่าย ก็ได้สร้างความสับสนให้กับผู้บริโภคส่วนใหญ่ เพราะไม่แน่ใจว่าจะได้จ่ายถูกลงหรือแพงขึ้นกันแน่ ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงออกมาชี้แจงว่า โดยสรุปแล้วการออกโปรโมชั่นคิดค่าโทรเป็นวินาทีของทุกเครือข่าย ไม่มีความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค เพราะ ทำให้ต้องจ่ายในราคาค่าบริการที่แพงขึ้น แต่ได้สิทธิประโยชน์ลดลง จึงขอเรียกร้องให้ กสทช. ปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลอย่างจริงจัง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภค เหนือกว่าการแสวงหากำไรส่วนเกินของผู้ประกอบการ และควรสั่งผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหลาย เลิกคิดค่าบริการโดยการปัดเศษเป็นนาทีในทุกครั้งของการโทรได้แล้ว จนปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินการ ยกร่างประกาศเรื่องปัดเศษค่าโทรตามจริงเป็นวินาทีอย่างชัดเจน ทำให้ผู้บริโภคอย่างเราก็คงต้องรอความเป็นธรรมกันต่อไป 2.     “โฆษณาเกินจริง ช่องดับแน่นอน”การนำเสนอขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผ่านช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นวิทยุชุน สื่อโทรทัศน์ดาวเทียม หรือเคเบิล นำไปสู่การเฝ้าระวังการโฆษณาเกินจริงที่เข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค จากผลการสำรวจการเฝ้าระวังโฆษณา ทางสื่อโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวี ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2557 โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 10 จังหวัด พบว่า เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย โดยส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการลดน้ำหนัก ลดความอ้วน เน้นความขาว สวย ใส และการรักษา บำบัด ป้องกันสารพัดโรคตั้งแต่หัวจรดเท้า บางครั้งมีการให้ข้อมูลกล่าวอ้างเชิงวิชาการว่าสามารถรักษาโรคได้ ซึ่งโฆษณาต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่เป็นเท็จ เกินจริง บางกลุ่มขาดการรักษาที่เหมาะสม ถึงขั้นถึงเสียเงินเสียทอง จนสุดท้ายเสียชีวิต เครือข่ายผู้บริโภคจึงได้ยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการต่อสำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ อย. เพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากการโฆษณาในสื่อโทรทัศน์และวิทยุ ซึ่งภายหลังทั้งสองหน่วยงานได้มีการร่วมมือกันสั่งระงับ และปรับช่องรายการที่กระทำผิดกฎหมาย จนหลายช่องต้องปิดการดำเนินงาน ทั้งนี้ กสทช. และ อย. ยังคงยืนยันจะดำเนินการต่อไปและยกระดับการติดตาม ตรวจสอบและระงับการกระทำความผิดเพิ่มขึ้น โดยตั้งงบประมาณสำหรับการติดตามตรวจสอบ และเฝ้าระวังการกระทำที่มีลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค สำหรับการโฆษณาอาหารและยาที่ผิดกฎหมาย ไปยังสำนักงาน กสทช.ทั้ง 4 ภาค เพื่อเฝ้าระวังในระดับพื้นที่ทั้งวิทยุและโทรทัศน์ต่อไป อย่างไรก็ตามแม้จะมีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง แต่สถานการณ์การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพยังคงอยู่ ล่าสุด กสทช. จึงออกมาตรการเด็ดขาดว่า หากพบว่าบางช่องกลับมาออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายอีก นับจากนี้ไปจะเริ่มการพักใช้ใบอนุญาตอย่างจริงจัง นับว่าเป็นข่าวดีของผู้บริโภคที่จะเริ่มได้รับข้อมูลข่าวสาร ด้านสุขภาพหรืออาหารและยาที่เป็นประโยชน์ และไม่หลอกลวงผ่านสื่อต่างๆ เหมือนที่แล้วมา3.    ปมร้อน ควบคุมค่ารักษาแพง โรงพยาบาลเอกชนเดือน พ.ค. เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ จุดประกายเรื่อง ค่ารักษาพยาบาลแพงของโรงพยาบาลเอกชนขึ้นอีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร มีการพูดคุยกันในสังคมไทยมานานแล้ว แต่ในยุคของโลกโซเชียล เมื่อทางเครือข่ายผู้เสียหายฯ เปิดแคมเปญ เสนอให้มีการตั้ง “คณะกรรมการกลางเพื่อควบคุมค่ารักษาพยาบาลในโรง พยาบาลเอกชน” และล่ารายชื่อผ่านทาง www.change.org  ปรากฏว่ามีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 33,000 คนในเวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยเห็นตรงกันว่าค่ารักษา ของโรงพยาบาลเอกชนนั้นแพงจริงเมื่อได้รายชื่อครบตามจำนวนที่ต้องการ วันที่ 12 พ.ค. นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธาน เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้เข้ายื่นรายชื่อทั้งหมดต่อ นายกรัฐมนตรี ผ่านทางนายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชน ภายใน 1 เดือน     การเคลื่อนไหวของเครือข่ายฯ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์ และนำสู่การจัดประชุมเพื่อหาแนวทางในการดูแลปัญหาดังกล่าว แน่นอนว่า มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและเห็นต่าง ฝ่ายที่เห็นด้วย แม้เข้าใจว่า การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนเป็นทางเลือก แต่เมื่อเกิดค่าใช้จ่ายที่มีมูลค่าสูง  ก็ต้องการจะทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่า มีที่มาที่ไปอย่างไร ดังที่นางปรียนันท์ กล่าวว่า “เราไม่ได้ขอให้ รพ.เอกชนลดราคา คิดแพงได้แต่ห้ามโกง ห้ามโก่งราคา ห้ามค้ากำไรเกินควร แค่ขอให้ทำธุรกิจตรงไปตรงมา โปร่งใสตรวจสอบได้ และรับผิดชอบต่อสังคม แต่ที่ผ่านมากลับไม่เคยมีใครพูดว่าจะจัดการกับการโกงอย่างไร มีแต่ท้าทายประชาชนว่าถ้าแพงก็อย่าเข้า มันไม่ใช่การหาทางออกที่จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบได้” จึงเสนอให้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชน เพื่อเป็นกลไกในการตรวจสอบ ข้างฝ่ายโรงพยาบาลเอกชน ได้พยายามเน้นที่จุดสำคัญของเรื่องการค้าเสรี และมองว่า โรงพยาบาลเอกชนนั้นมีค่าบริหารจัดการที่สูง จะนำราคามาเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลรัฐ ไม่ได้ เพราะโรงพยาบาลรัฐนั้นได้รับการสนับสนุนในด้านงบประมาณ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน แสดงทัศนะว่า “หากมองความเป็นจริงแล้ว ค่ายาและค่าบริการในโรงพยาบาลเอกชนนั้น “ไม่แพง” แต่เป็นการสะท้อนต้นทุนที่จะสนับสนุนศักยภาพการดูแลสุขภาพของประเทศและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันไปสู่ระดับสากล และทั้งหมดคือการลงทุน และการลงทุนนี้เป็นคำตอบว่าทำไมจึงมีความแตกต่างเรื่องราคา การสะท้อนต้นทุนของโรงพยาบาลเอกชนเป็นการตอบโจทย์ระบบเศรษฐกิจเสรี ...” ส่วนเรื่องที่มีการเสนอผลวิจัยที่พบว่า ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐหลายเท่านั้น นพ.เฉลิมมองว่า  “ผมไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีการเปรียบเทียบค่ารักษาพยาบาลทั้งๆ ที่รู้ว่าต้นทุนเราต่างกัน” ฝั่งภาคประชาสังคม โดยคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.ด้านบริการสุขภาพ) ร่วมกับ เครือข่ายผู้ป่วย และ เครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร แถลง "นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินใช้สิทธิได้ทุกที่ จริงหรือไม่ ถ้าต้องจ่ายแพง" ได้จัดทำข้อเสนอเพื่อเป็นทางออกต่อปัญหาดังกล่าวเช่นกัน โดยแบ่งเป็นมาตรการ ทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว โดยสรุปดังนี้ แม้โรงพยาบาลเอกชนเป็นทางเลือกในการรักษาพยาบาล แต่ในกรณีฉุกเฉิน ก็ควรเป็นหน่วยที่ดูแลชีวิตของประชาชนด้วยเช่นกัน ดังนั้นไม่ควรมีการเรียกเก็บเงินกับผู้ป่วยและญาติในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ภายในเวลา 72 ชั่วโมง หรือปลอดภัยเพียงพอที่จะนำส่งไปรับการรักษาพยาบาลต่อในโรงพยาบาลต้นสังกัดตามสิทธิของผู้ป่วย จัดระบบบริหารจัดการเรื่องการส่งต่อให้มีประสิทธิภาพ และให้ภาครัฐดำเนินการทำข้อตกลงกับรพ.เอกชน เกี่ยวกับอัตราค่ารักษาพยาบาลในกรณีฉุกเฉิน และให้มีบทลงโทษสำหรับโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ทำตามเงื่อนไข ระยะถัดไป ให้กระทรวงสาธารณสุข ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการหนึ่งชุดที่มีองค์ประกอบจากทุกฝ่าย ทำหน้าที่ในการควบคุมหรือการพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินการ ของสถานพยาบาล ให้รวมถึง การวินิจฉัย การรักษา ที่มากเกินความจำเป็น ค่ารักษาพยาบาล ค่ายา หรือค่าใช้จ่ายทางการแพทย์อื่นๆ ที่แพงเกินจริง  และกระทรวงสาธารณสุข ควรเร่งรัดการออก พระราชบัญญัติยา ที่มีการเสนอขอปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์โดยภาคประชาชน ทั้งนี้ ต้องยืนยันไม่ให้มีการตัดเรื่องกลไกการควบคุมราคายา ในระยะยาวต้องควบคุมการทำธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ไม่ให้มุ่งเน้นผลกำไร แต่มุ่งเน้นการดำเนินการทางมนุษยธรรม ยกเลิกการสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาล และเร่งรัดการออกกฎหมายควบคุมการควบรวมกิจการการแข่งขันทางการค้า เปิดให้มีการสมัครใจของโรงพยาบาลเอกชนที่จะดำเนินการด้านบริการสาธารณะให้ เป็นการดำเนินการแบบองค์กรสาธารณะประโยชน์ โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น  แต่จนถึงปัจจุบัน แม้จะยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง ค่ารักษาพยาบาลที่แสนแพง และดูเหมือนมีหลายหน่วยงานพยายามยื่นมือเข้าไปดูแล แต่ก็ยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นจากกระทรวงสาธารณสุขหรือกระทรวงพาณิชย์ ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ผลการศึกษาอัตราค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนในปี 2552 ว่า โรงพยาบาลเอกชนคิดอัตราค่าบริการต่างกันหลายเท่าตัว โดยเอกชน 5 ดาวจะคิดค่าบริการสูงกว่าของรัฐ 2.5-7 เท่า และเอกชนแสวงหากำไร 1.4-4 เท่า จากผลการศึกษาความแตกต่างระหว่างสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน ในปี 2557 เปรียบเทียบเฉพาะโรคต้อกระจกและไส้ติ่ง ค่ารักษาพยาบาลจะมีความห่างกันค่อนข้างมาก คือ มีอัตราค่าบริการสูงในโรคต้อกระจกมากกว่าของรัฐ 11.7 เท่า ส่วนไส้ติ่งสูงกว่าของรัฐ 8.3 เท่าข้อมูล สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)    ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++รายงานวิจัยพัฒนารูปแบบและอัตราการจ่ายเงิน ชดเชย การให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตร่วม 3 กองทุน ภายใต้นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2555 - 30 ก.ย. 2556 โดยเก็บข้อมูลจาก รพ.เอกชน 353 แห่ง คนไข้ กว่า 22,000 ราย พบว่า รายการยาแพงกว่าโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) ตั้งแต่ 60-400 เท่า อาทิ ไวตามินบีคอมเพล็กใน รพศ.หลอดละ 1.50 บาท ใน รพ.เอกชนกลายเป็น 600 บาท ยาฉีดแก้ปวดขนาด 50 มก.ใน รพศ.ราคา 6.50 บาท ใน รพ.เอกชนแพงถึง 450 บาท หรือรายการเวชภัณฑ์ก็มีราคาต่างกัน 16-44 เท่า เช่น ราคาท่อดูดเสมหะใน รพศ.ชิ้นละ 10 บาท เป็น 440 บาทใน รพ.เอกชน หรือ ไหมเย็บแผลสีดำใน รพศ.ชุดละ 28.5 บาท เป็น 460 บาทใน รพ.เอกชน นอกจากราคาแพงกว่าแล้ว ยังมีข้อบ่งชี้การให้บริการเกินจำเป็น โดยในตัวอย่างคนไข้ 80 ราย พบว่า มีการให้เลือดในคนไข้ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับเลือด มีการตรวจวินิจฉัยเกินจำเป็น เช่น คนไข้มีอาการนิ่วเฉียบพลันแต่ส่งตรวจการทำหน้าที่ของต่อมไทรอยด์และตรวจองค์ ประกอบดีเอ็นเอ คนไข้เป็นปอดบวมจำเป็นต้องได้รับการรักษาด่วน แต่ส่งตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก คนไข้เป็นถุงลมพองกำเริบฉุกเฉินแต่มีการเรียกเก็บค่าสายสวนปัสสาวะ เป็นต้น    ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน รพ.รามาธิบดี ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++    4.  แฉเล่ห์ประกันผู้สูงอายุ “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ”    และแล้วก็ถึงวันที่ผู้บริโภคได้ตระหนักในความจริงที่ว่า โฆษณาของบริษัทประกันชีวิต ซึ่งเจาะกลุ่มผู้สูงวัยนั้น เข้าข่ายไม่เป็นธรรม กับประโยคที่ย้ำชัดว่า ไม่ถามเรื่องสุขภาพสัก...คำ หรือ ไม่ต้องตรวจสุขภาพอะไรเลย     เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยว่า ในแต่ละปีจะมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาเกี่ยวกับปัญหาบริษัทประกันชีวิต ปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหม โดยอ้างว่าผู้ทำประกันชีวิตเป็นโรคร้ายแรงมาก่อนที่จะทำประกัน รวมถึงที่เป็นปัญหาล่าสุดคือ กรณีการทำประกันชีวิตของผู้สูงอายุที่มีการโฆษณาว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพก่อนทำ แต่เมื่อผู้สูงอายุเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล  แล้วไม่สามารถเคลมประกันได้ ขณะเดียวกันก็ถูกบอกเลิกสัญญาด้วย โดยทางบริษัทอ้างว่า ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวมาก่อนที่จะทำประกันชีวิต ไม่สามารถเคลมได้ตามโฆษณา     ทั้งนี้การทำประกันชีวิตที่มีการโฆษณาว่า "ไม่ต้องตรวจสุขภาพนั้น" จริงๆ แล้วคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่าการโฆษณาเงื่อนใขใดๆ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจในการทำประกันชีวิตของประชาชน จะต้องมีการระบุเงื่อนไขนั้นเอาไว้ในกรมธรรม์ด้วย ซึ่งในกรมธรรม์จริงจะไม่ปรากฏเงื่อนไขดังกล่าว ซึ่งเข้าข่ายผิดกฎหมาย     ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า การที่บริษัทประกันชีวิตใช้ข้อความโฆษณาว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพ ถือว่าผิดกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย มาตรา 31 (15) ซึ่งห้ามไม่ให้บริษัทกระทำการโฆษณาจูงใจด้วยข้อความอันเป็นเท็จ และในกรณีที่ไม่มีการคุ้มครองตามที่โฆษณาไว้ ยังอาจเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 22 (1) ซึ่งระบุว่าการโฆษณาต้องไม่เป็นข้อความเท็จ เกินจริง ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของกรมธรรม์ประกันภัย รวมทั้งต้องเขียนข้อความที่โฆษณาไว้ในกรมธรรม์ด้วย แต่ไม่พบบริษัทใดดำเนินการดังกล่าว     เมื่อเกิดเป็นกระแสดัง ทางหน่วยงานกำกับดูแล อย่าง คปภ. จึงได้ประชุมร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย ได้ข้อสรุปว่า ทุกบริษัทต้องดูแลการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ คปภ. กำหนด โดยเฉพาะการระบุเงื่อนไขที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน...  นอกจากนี้ในการโฆษณาที่ระบุว่า "ไม่ต้องตรวจสุขภาพ" จะต้องมีการระบุให้ชัดเจนด้วยว่าต้องแถลงเกี่ยวกับสุขภาพในใบคำขอเอาประกัน ภัยด้วยหรือไม่       ด้านสมาคมประกันชีวิตไทย รับปากดำเนินการถอนโฆษณา ณ ปัจจุบัน(1 กันยายน) เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข โดยมีแนวทาง ดังนี้ 1) ปรับเปลี่ยนข้อความโฆษณาให้เกิดความชัดเจน โดยเฉพาะเงื่อนไขการจ่ายผลประโยชน์ กรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยใน 2 ปีแรก บริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยพร้อมเงินเพิ่ม 2-5 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ได้รับทุนประกัน จากนั้นในปีที่ 3 เป็นต้นไปจึงได้รับเงินคืนทั้งหมดตามทุนประกัน 2) ในการเสนอขาย พนักงานขายจะต้องแจ้งรายละเอียดตามข้อ 1 รวมทั้งข้อกำหนด เงื่อนไข และข้อยกเว้นของกรมธรรม์ ให้ลูกค้าทราบและเข้าใจ 3) กรณีการเสนอขายประกันชีวิตผ่านทางโทรศัพท์ ภายใน 7 วันนับแต่วันที่บริษัทส่งกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย บริษัทจะต้องโทรศัพท์ไปขอคำยืนยันจากผู้เอาประกันภัยอีกครั้งหนึ่ง โดยจะต้องมีรายละเอียดตามข้อ 2 พร้อมทั้งแจ้งสิทธิว่าผู้เอาประกันภัยสามารถขอยกเลิกกรมธรรม์ได้ภายใน 30 วัน หากรายละเอียดในกรมธรรม์ที่ได้รับไม่ตรงกับความต้องการ 4) นำสรุปเงื่อนไขที่สำคัญมาไว้หน้าเล่มกรมธรรม์ พร้อมระบุข้อความ เมื่อได้รับเล่มกรมธรรม์มาแล้ว ให้ศึกษาและทำความเข้าใจ ในรายละเอียดและเงื่อนไขความคุ้มครอง หากพบไม่ตรงกับความต้องการ สามารถขอยกเลิกได้ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้เล่มกรมธรรม์ในกรณีซื้อทางโทรศัพท์ หรือขอยกเลิกภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้รับเล่มกรมธรรม์ กรณีซื้อผ่านตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้า     ปัจจุบัน เราก็ได้เห็นโฆษณาที่มีการเพิ่มเงื่อนไข ตามข้อปฏิบัติที่ 1) แล้ว สำหรับในส่วนของแนวทางปฏิบัติที่เหลือ ต้องจับตากันต่อไป ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++นางจิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกัน ภัย (คปภ.) ขอให้ออกมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องการทำสัญญาประกันชีวิต เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าผู้บริโภคไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ดังที่บริษัทประกัน ชีวิตเคยโฆษณาไว้ผ่านสื่อ  จึงขอเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา 3 ข้อ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภค คือ              1. ยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในการทำสัญญาประกันชีวิตของผู้สูงวัย โดยหากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตหลังจาก 30 วัน นับแต่ทำสัญญาประกันชีวิต ก็มีสิทธิได้รับเงินคืนทั้งหมดตามทุนประกันที่ทำไว้กับบริษัทประกันชีวิต  ทั้งนี้บริษัทประกันภัยไม่ควรกำหนดเงื่อนไขในสัญญาในทำนองว่า กรณีผู้เอาประกันเสียชีวิตในช่วง 2 ปีแรก ให้คืนเบี้ยประกันภัยพร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 2-5 ให้กับผู้รับผลประโยชน์ตามสัญญา แต่ถ้าเสียชีวิตในปีที่ 3 เป็นต้นไปจะได้รับเงินคืนทั้งหมด ตามทุนประกัน เพราะเงื่อนไขดังกล่าวถือว่าเอาเปรียบผู้บริโภค              2. ขอให้ คปภ. สั่งปรับในอัตราสูงสุด 500,000 บาท กับบริษัทประกันที่โฆษณาทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในสาระสำคัญเกี่ยวกับกรมธรรม์ และขอให้บริษัทประกันชีวิตบรรจุข้อความที่โฆษณาเอาไว้อย่างชัดเจนในกรมธรรม์ ที่ทำกับผู้บริโภคด้วย โดยเฉพาะกรณีที่ไม่ต้องตรวจสุขภาพต่าง ๆ มักมีเนื้อหาเกินจริง ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อทำสัญญา แต่สุดท้ายกลับไม่ได้รับเงินจริง              3. ขอให้ คปภ. ออกมาตรการบังคับให้บริษัทประกันภัยทุกแห่ง มีระบบบริการให้ผู้บริโภคติดต่อยกเลิกสัญญา หรือสอบถามปัญหาต่างๆ ได้อย่างสะดวกและเข้าถึงง่าย ชัดเจนและประหยัดค่าใช้จ่าย++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++สิ่งที่ต้องรู้สำหรับประกันชีวิต ผู้สูงอายุ แบบประกันสำหรับผู้สูงวัยเป็นแบบประกันชีวิตที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ โดยมีลักษณะสำคัญดังนี้ 1.       ผู้เอาประกันจะต้องมีอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไป ซึ่งอาจมีการกำหนดอายุสูงสุดของผู้เอาประกันไว้ไม่เกิน 70-75ปี2.       ให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตเป็นหลัก 3.       บางแบบประกันชีวิตสามารถซื้อสัญญาเพิ่มเติมได้ ยกตัวอย่างเช่น3.1    สัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุ ที่ให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ3.2    สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ ที่ให้ความคุ้มครองกรณีเจ็บป่วยด้วยปัญหาสุขภาพ หรือโรคร้ายแรง หรืออาจเป็นในลักษณะการจ่ายค่าชดเชยรายวันกรณีพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แล้วแต่กรณีตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิต               4         สามารถซื้อได้ภายใต้หลักเกณฑ์การพิจารณารับประกันชีวิตของบริษัทแล้วแต่กรณี ได้แก่ ต้องตรวจสุขภาพ หรือ ไม่ต้องตรวจสุขภาพแต่ต้องตอบคำถามสุขภาพ หรือ ทั้งไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ               5         แบบประกันชีวิตที่ไม่ตรวจสุขภาพ จะมีเงื่อนไขว่าหากเสียชีวิตใน 2 ปีแรกของการทำประกันชีวิต บริษัทจะจ่ายเงินเท่ากับเบี้ยประกันภัยที่รับมาแล้ว บวกผลตอบแทนให้ในอัตรา 2-5% แล้วแต่บริษัท เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นโรคใดๆ มาก่อนทำประกันชีวิต และหากผู้เอาประกันภัย เสียชีวิตในปีที่ 3 เป็นต้นไป ก็จะได้รับเงินเต็มตามจำนวนเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในสัญญา ข้อมูล สมาคมประกันชีวิตไทย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 175 บ้าน..ปลอดภัยสำหรับเด็กปฐมวัย

นอกจาก“บ้าน...คือวิมานของเราแล้ว บ้านยังเป็น”โลก”ของเด็กๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นที่อาศัย ยังเป็นโลกแห่งจินตนาการ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความคิดสร้างสรรค์ทั้งมวล ซึ่งผู้ใหญ่จะต้องสนับสนุน แต่ขณะเดียวกันบ้านก็เป็นตำแหน่งที่เด็กเล็กวัยต่ำกว่า 5 ปีเกิดการบาดเจ็บได้มากที่สุดเช่นเดียวกัน “การดูแลความปลอดภัยในบ้าน” จึงเป็นหน้าที่อันสำคัญอย่างยิ่งของคุณพ่อคุณแม่และผู้ดูแลเด็ก หลักการสำคัญสำหรับการจัดบ้านให้ปลอดภัยสำหรับเด็กปฐมวัยได้แก่ “จัดพื้นที่ให้ปลอดภัย เพื่อให้ลูกเล่นได้อิสระ..แต่ไม่ให้คลาดสายตา”เด็กปฐมวัย หมายถึงเด็กแรกเกิดถึง 6 ปีบริบูรณ์ เด็กปฐมวัยใช้ชีวิตภายในอาคารเป็นส่วนใหญ่ การจัดการความปลอดภัยสำหรับเด็กปฐมวัยจะต้องใช้ทั้งสามองค์ประกอบได้แก่ ประการที่หนึ่งการเฝ้าดูแลโดยผู้ดูแล ประการที่สองการสอนเด็ก ฝึกเด็กให้รู้ความเสี่ยง มีทักษะในการป้องกันความเสี่ยงอันตราย และประการที่สามได้แก่การจัดการสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก แต่เนื่องจากพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเด็กวัยนี้ยังไม่สามารถเข้าใจเหตุและผลอย่างแท้จริง จึงยังไม่สามารถใช้การเรียนรู้ของเด็กเป็นวิธีการป้องกันอันตรายต่างๆได้ การดูแลเด็กให้ปลอดภัยนั้น ผู้ดูแลเด็กไม่ควรใช้วิธีการเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดและห้ามเด็กสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัว ผู้ดูแลเด็กต้องมีความรู้ในเรื่องความเสี่ยงอันตรายต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ และจัดการความเสี่ยงให้สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กในอาคารมีลักษณะปลอดภัย เพื่อให้เด็กได้สร้างเสริมพัฒนาการตนเองทุกด้านโดยการสำรวจสิ่งแวดล้อมได้อย่างอิสระ ในพื้นที่ที่มีการจัดการความปลอดภัย รั้ว และประตูรั้ว รั้วมีหลายรูปแบบเช่นเป็นโครงเหล็ก เป็นไม้ หรือเป็นกำแพงปูน ประตูรั้วอาจทำจากวัสดุได้หลายแบบเช่นเดียวกับรั้ว กลไกการเปิดประตูรั้วอาจเป็นบานเปิดหรือบานเลื่อน กรณีประตูรั้วบานเลื่อนมีความเสี่ยงต่อการหลุดออกจากรางเลื่อนและล้มทับเด็กได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักเกิดขึ้นขณะที่เด็กปีนป่ายและเลื่อนประตูเล่น รั้วต้องสร้างให้มั่นคงแข็งแรง ไม่ล้มหรือหลุดออกจากรางและมีการตรวจสอบความแข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ สำหรับประตูรั้วบานเลื่อนควรเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ออกแบบให้มีอุปกรณ์ป้องกันการหลุดออกจากรางแล้วล้มทับผู้ใช้โดยมีกลไกป้องกันการล้มหลายระบบร่วมกันเช่น มีล้อบังคับบานที่วางระดับให้สามารถประคองประตูไว้ได้ตลอดเวลา ประตูไม่หลุดออกจากล้อบังคับบานได้ง่าย และมีเสาป้องกันการล้ม ร่วมกับส่วนยื่นเพื่อไม่ให้ส่วนริมประตูเลยออกจากเสาป้องกันการล้มเมื่อเลื่อนปิดประตู รางเลื่อนและชุดล้อเลื่อนต้องเป็นวัสดุที่ไม่เป็นสนิม เคลื่อนที่ได้ง่าย ตัวหยุดการเลื่อนของบานประตูซึ่งมักใช้น๊อตหรือสกรูต้องมีขนาดที่ใหญ่ แข็งแรง เหมาะสมกับขนาดและน้ำหนักของประตู ซึ่งถ้าเป็นประตูบานขนาดใหญ่ รางเลื่อนและชุดล้อเป็นสนิมต้องออกแรงลากมาก ล้อและตัวบานประตูอาจกระโดข้ามตัวน๊อตไปได้ ซึ่งก็จะสัมพันธ์กับส่วนป้องกันบานประตูล้ม ทั้งสามส่วนที่กล่าวมา คือเมื่อน๊อต หยุดบานประตูไม่ได้ ก็จะเลยระยะส่วนยื่นกันบานประตูล้มที่ผู้ออกแบบได้กำหนดไว้ รวมทั้งอาจหลุดออกจากรางเลื่อน ชุดบนได้ด้วย ฉะนั้นการออกแบบส่วนหยุดนี้ก็มีความสำคัญมากโดยเฉพาะบานประตูที่มีน้ำหนักมากเมื่อเคลื่อนที่แล้วจะหยุดได้ยากรั้วและประตูรั้งต้องได้รับการบำรุงรักษาที่ หากขาดการดูแลเป็นประจำขณะใช้งานเช่น บริเวณล้อราง มักจะมีเศษวัสดุอยู่บริเวณรางประตู เมื่อเปิดปิด ล้อจะกระดกตกรางได้ หรือประตูและอุปกรณ์ต่างๆที่อยู่ในสภาพผุกร่อน ชำรุดทรุดโทรม หรือ รางประตู จะมีปัญหาเรื่องการทรุดตัวของพื้นบริเวณรางประตู ทำให้รางประตูคดงอ บิดเบี้ยว การทรุดตัวของพื้นหน้าประตูทำให้ล้อวิ่งออกนอกราง ผนังอาคาร ต้องมีความแข็งแรง สิ่งของที่แขวนบนผนังต้องถูกยึดติดอย่างมั่นคงและต้องตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอเช่นการแขวนโทรทัศน์ไว้กับผนังเป็นต้น ไม่ควรจัดให้พื้นที่ใต้วัสดุที่ถูกแขวนไว้กับผนังเป็นพื้นที่กิจกรรมต่างๆของเด็ก สิ่งที่ใช้แขวนไว้โดยไม่ได้ยึดติดเช่นกรอบรูปควรมีน้ำหนักเบาและแขวนไว้สูงเกินกว่าที่เด็กจะคว้าถึงได้ นอกจากทางกายภาพแล้ว ทางเคมีต้องไม่มีความเป็นพิษด้วย ผนังอาคารสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของเด็กต้องไม่ทาด้วยสีที่มีสารตะกั่ว (lead) สารตะกั่วเป็นโลหะหนักที่มีอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของคนโดยเฉพาะต่อพัฒนาการของเด็กเล็ก เนื่องจากสารตะกั่วสามารถสะสมในร่างกายคนได้ยาวนาน และมีอันตรายโดยตรงต่อพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทของเด็ก โดยอาจก่อผลกระทบถาวรต่อเด็กคนนั้นไปชั่วชีวิต องค์การอนามัยโลกเคยทำการศึกษาและเปิดเผยถึงอันตรายจากพิษตะกั่วเมื่อปี พ.ศ. 2553 ว่า สารตะกั่วมีอันตรายต่อร่างกายของคนไม่ว่าจะได้รับเข้าไปในปริมาณเล็กน้อยเพียงไรก็ตาม นอกจากนี้ยังระบุว่า “โรคปัญญาอ่อนจากสารตะกั่ว” เป็น 1 ใน 10 โรคร้ายแรงที่สุดอันเกิดจากปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันพบว่า ยังมีบริษัทจำนวนมากทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยที่ผลิตสีผสมสารตะกั่วเกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยเฉพาะสีน้ำมันทาอาคาร และผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีการวางจำหน่ายตามท้องตลาดอย่างแพร่หลาย สารตะกั่วที่ปนเปื้อนอยู่ในสีทาอาคาร สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางการหายใจและการกิน สำหรับเด็กปฐมวัยจะได้รับสารตะกั่วในสีโดยการกินตามพฤติกรรมที่ชอบหยิบของเข้าปากหรือพฤติกรรมอยากรู้อยากเห็น องค์การอนามัยโลกชี้ว่า เด็กอาจกลืนฝุ่นและดินที่สารตะกั่วปนเปื้อนที่มีอยู่รอบตัวโดยไม่ตั้งใจ ประมาณวันละ 100 มิลลิกรัม จากนั้นก็จะถูกดูดซึมโดยระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดและสะสมที่กระดูก สมองเป็นระยะเวลายาวนาน โดยร่างกายสามารถขับออกจากร่างกายได้อย่างช้าๆ พื้น การพลัดตกจากพื้นที่ต่างระดับและการหกล้มจากพื้นระนาบอาคารเดียวกันเป็นความเสี่ยงต่ออันตรายภายในบ้านที่พบได้บ่อยมากที่สุดสำหรับเด็กปฐมวัย ควรจัดเตรียมป้องกันการหกล้ม โดยเตรียมพื้นให้ไม่ลื่น เช่นไม่เปียกน้ำเฉอะแฉะ หรือ เป็นคราบมัน ไม่สะดุดหกล้มได้ง่ายเช่น ไม่มีความต่างระดับ เก็บของเล่น ของใช้ ไม่ให้เรี่ยราดตามพื้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งของชิ้นเล็กที่เด็กสามารถนำเข้าปากและสำลักได้บันได ระเบียง นับว่าเป็นจุดที่เด็กชอบปีนป่าย อุบัติเหตุที่พบได้บ่อยคือ การพลัดตกจากที่สูง เช่นการพลัดตกจากการปีนราวกันตก หรือมุดลอดราวกันตก หรือมุดลอดได้แต่ลำตัว แต่ศีรษะของเด็กติดคาระหว่างราวกันตก เกิดการติดค้างของศีรษะหรือลำคอ (head or neck entrapment) หากลำตัวเด็กที่มุดลอดออกก่อนตกจากที่สูงโดยศีรษะติดค้างทำให้เกิดการขาดอากาศหายใจในลักษณะแขวนคอ (strangulation) งานวิจัยของ คาล์เวเนอร์ (Culvenor, 2002) ประเทศออสเตรเลียซึ่งศึกษาเด็กได้รับบาดเจ็บจากการพลัดตกจากที่สูง 6,642 คน พบว่าเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 4 ปีถึงร้อยละ 33 ของการบาดเจ็บทั้งหมด โดยเหตุการณ์การตกส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากการตกจากเครื่องกั้นหรือราวกันตกที่สูงไม่เกิน 90 เซนติเมตรเท่านั้น หรือไม่ก็เป็นการมุดลอดตามช่องของซี่ราวกันตกซึ่งมีความกว้างมากจนเด็กสามารถมุดลอดได้ โดยระบุว่าช่องว่างระหว่างราวระเบียงเป็นจุดที่ดึงดูดให้เด็กเข้าไปเล่นมาก เพราะเนื่องจากมีขนาดที่เหมาะต่อการสอดแขน ขา หรือศีรษะ หรืออีกพฤติกรรมหนึ่งของเด็กคือการปีนราวกันตกหรือที่กั้นกันตก การป้องกันคือ ควรจัดพื้นที่เล่นปลอดภัยสำหรับเด็ก ไม่ให้เด็กเล่นปีนป่ายบันได ควรมีประตูกั้นไม่ได้เด็กเล็กขึ้นลงบันไดได้เองตามลำพัง (ภาพที่1)  ภาพที่1 ลักษณะที่ปลอดภัยของราวระเบียงของอาคารที่มีความสูงหรือแผ่นกั้นกันตกควรมีความสูงจากพื้นถึงขอบราวไม่ต่ำกว่า 100 เซนติเมตร โดยอาคารตั้งแต่สามชั้นขึ้นไป (ซึ่งพบว่ามีการบาดเจ็บรุนแรงจากการตก) ต้องมีความสูงของราวหรือแผ่นกันตก ไม่ต่ำกว่า 120 เซนติเมตรจากพื้น ไม่มีจุดที่สามารถปีนป่ายได้ หมายถึงต้องไม่มีโครงสร้างลักษณะที่เป็นแท่งในแนวนอนและมีช่องรูให้วางเท้าที่เอื้อต่อการปีนป่าย รวมไปถึงตำแหน่งการวางของที่ใกล้ราวกันตก ที่ทำให้สามารถปีนป่ายได้ เช่น ตู้แอร์ (คอมเพรสเซอร์) ที่วางไว้บริเวณระเบียง เป็นต้น ถ้าไม่เป็นผนังทึบกันตกแล้วราวกั้นกันตกควรเป็นลักษณะแนวตั้งโดยมีราวแนวนอนเฉพาะคานล่างและบนหรือคานแบ่งที่ระยะ 100 เซนติเมตร เมื่อราวกันตกมีความสูงมากกว่า 100 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้เด็กปีนป่ายได้ โดยช่องว่างระหว่างราวควรมีระยะห่างที่พอเหมาะไม่กว้างเกินกว่า 9 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระยะที่แคบที่สุดที่เด็กเล็กจะสามารถมุดลอดโดยเอาเท้า ขา และลำตัวสอดเข้าไปได้แต่ศีรษะติดค้างเกิดการเสียชีวิตในลักษณะแขวนคอได้ หรือมิฉะนั้นก็ควรหาไม้ ตาข่าย หรือ แผ่นพลาสติคมาปิดกั้น (ภาพที่ 2)  ภาพที่2ประตู เป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บได้บ่อยๆ เช่น ปิดประตูโดยไม่ระวังทำให้หนีบนิ้ว หรือกระแทกศีรษะ การบาดเจ็บจากประตูพบได้บ่อยในอาคารที่มีเด็กหลายคนอยู่อาศัยร่วมกัน และเปิดประตูห้องต่างๆไว้ให้เดินไปมาระหว่างห้องได้ โดยไม่มีการยึดติดประตูไม่ให้เด็กปิดได้เอง หากเป็นประตูที่ต้องเปิดปิดสามารถใช้อุปกรณ์ป้องกันการหนีบนิ้วมือได้ทั้งด้านที่เป็นลูกบิดประตู และด้านที่เป็นส่วนของบานพับ (ภาพที่3) สำหรับการใช้ประตูบานเลื่อนที่เป็นกระจกธรรมดานั้นมีความเสี่ยงที่เด็กปฐมวัยจะวิ่งชนกระแทกด้วยความไม่ระมัดระวังทำให้กระจกแตกและชิ้นส่วนกระจกอาจบาด หรือทิ่มแทงเด็กก่อให้เกิดบาดแผลรุนแรงได้ ภาพที่ 3  ประตูกระจกควรเป็นกระจกนิรภัย หรือกระจกที่มีความแข็งแรงไม่แตกหักง่าย ควรเป็นกระจกมีสี สังเกตได้ง่าย เพื่อป้องกันการวิ่งชนกระแทกของเด็ก หน้าต่าง เป็นจุดที่เด็กให้ความสนใจในการปีนเพื่อมองเห็นภายนอกอาคาร หน้าต่างที่ปลอดภัยต้องอยู่สูงจากพื้นอย่างน้อย 90 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กปีนป่ายออกนอกหน้าต่างได้ ไม่จัดวางเฟอร์นิเจอร์เช่นเก้าอี้หรือเตียงไว้ชิดกับหน้าต่างเพราะเด็กใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับปีนป่ายสู่หน้าต่างได้ หากติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันเด็กปีนออกหรือโจรขโมยปีนเข้าจากช่องหน้าต่างเช่นเหล็กดัด ต้องออกแบบให้ผู้ใหญ่สามารถเปิดเปิดออกได้จากด้านใน หน้าต่างในห้องต่างๆที่มีผ้าม่าน มีมู่ลี่ แล้วมีสายยาวๆให้ดึง ต้องระวังเส้นสายยาวรัดคอได้ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 1981 เป็นต้นมาพบเด็กที่เสียชีวิตจากเชือกกระตุกมู่ลี่ที่ขดเป็นวงกว่า 200 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 4 ปี ในเด็กทารกมักถูกจัดให้นอนบนเตียงที่อยู่ใกล้กับหน้าต่าง แล้วเด็กสามารถคว้าเล่นสายมู่ลี่ได้ ในเด็กอายุมากกว่า 1 ปีมักจะปีนป่ายโดยต่อเก้าอี้บ้าง กล่องบ้าง แล้วเล่นเชือกสายเหล่านั้น ก่อนจะพลัดตกจากสิ่งของ เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ปีน ทำให้เชือกสายรัดคอเสียชีวิต การเปลี่ยนสายจากลักษณะเป็นวง กลายเป็นปลายเปิดทั้งสองข้าง (ภาพที่ 4) จะสามารถลดความเสี่ยงได้   ภาพที่ 4 ก.ภาพจำลองการการรัดคอเด็กโดยสายกระตุกมู่ลี่ ข.การแก้ไขลักษณะเส้นสายที่ขดเป็นวงที่มีความเสี่ยงต่อการรัดคอเด็ก เฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ ตู้ จัดให้ปลอดภัยจากการชนกระแทกเช่น ไม่มีเสาหรือเฟอร์นิเจอร์ที่มีเหลี่ยมมุม โต๊ะและตู้ไม่มีขอบคม มุมคม เช่นโต๊ะเป็นรูปทรงกลม หรือ รูปไข่ หรือติดตั้งอุปกรณ์กันกระแทกมุมขอบโต๊ะ ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ที่ล้มคว่ำได้ง่ายเมื่อเด็กปีนป่าย เฟอร์นิเจอร์ที่มีความสูง มีน้ำหนักมากควรยึดติดผนัง เช่นตู้ ชั้นวางของต่างๆ ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากกระจกเพื่อป้องกันการทิ่มแทงบาดหากมีการแตกหักของกระจกการจัดวางเฟอร์นิเจอร์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับความปลอดภัยที่หลายคน อาจคาดไม่ถึง เช่น โซฟาที่ไม่ควรวางใกล้หน้าต่าง โดยเฉพาะเด็กๆที่เริ่มตั้งแต่วัยเตาะแตะ กระทั่งเด็กโตที่มักจะชอบปีนป่าย ใช้โซฟาปีนป่ายไปยังหน้าต่างเป็นสาเหตุให้เด็กตกตึกจากหน้าต่างได้ โต๊ะวางทีวี หรือตู้วางเครื่องเสียงหรือชั้นวางของโชว์ต่างๆต้องถูกออกแบบมามั่นคงไม่ล้มง่าย หรือควรจะหาอุปกรณ์ยึดติดกับกำแพง (ภาพที่5)  ภาพที่5 โต๊ะวางทีวี หรือตู้วางเครื่องเสียงหรือชั้นวางของโชว์ต่างๆต้องถูกออกแบบมามั่นคงไม่ล้มง่ายปลั๊กไฟ เต้าเสียบ เด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือนจะมีพัฒนาการในการสอดใส่ส่วนของร่างกายเข้าไปในช่องรู เช่นแหย่นิ้วเข้าไปในปลั๊กไฟเป็นต้น เต้าเสียบปลั๊กไฟควรจะอยู่สูงจากพื้นประมาณ 1.5 เมตรเพื่อป้องกันเด็กไม่ให้เล่นปลั๊กไฟ หากติดตั้งปลั๊กไฟไว้ต่ำควรมีฝาครอบ หรือมีที่เสียบสำหรับปิดรูปลั๊ก ในอาคารทุกอาคารระบบไฟฟ้ารวมควรมีเครื่องตัดไฟอัตโนมัติ และมีการวางระบบสายดินให้ถูกต้องเสมอ ห้องนอน เตียง เครื่องนอน การจัดการนอนที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดการขาดอากาศหายใจจากการกดทับทางเดินหายใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการนอนของทารก (อายุต่ำกว่า 1 ปี) ลักษณะที่นอนที่ปลอดภัยสำหรับทารกคือ เบาะบาง ที่มีความแข็งกำลังดีไม่อ่อนนุ่มจนเกินไป ต้องจัดเด็กให้นอนหลับในท่านอนหงายเสมอ นอนคว่ำหน้าจะมีความเสี่ยงต่อการขาดอากาศหายใจ จากการกดทับใบหน้า ปาก จมูกบนที่นอน ไม่ควรมีผู้ใหญ่หรือเด็กโตนอนใกล้กว่า 1 เมตรเพราะมีความเสี่ยงต่อการนอนทับ (overlying) โดยเฉพาะหากผู้นอนข้างทารกมีลักษณะอ้วนมาก มีอาการเมา ขาดสติลึกจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด หรือเซื่องซึมจากการรับประทานยาแก้หวัด หรือยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงทั้งหลาย เตียงนอนสำหรับเด็กอาจมีอันตรายได้ทั้งเด็กทารกและเด็กปฐมวัย หากเป็นเตียงแบบที่มีราวกั้นกันการตกซึ่งเหมาะสมสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ซี่ราวกั้นแต่ละซี่ควรห่างกันไม่เกิน 6เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเอาลำตัวลอดซี่ราวและติดค้างที่บริเวณลำคอหรือศีรษะได้ภาพที่6) ภาพที่ 6 ความเสี่ยงของเตียงเด็กจากซี่ราวกันตกและมุมเสา ห้องน้ำ     ห้องน้ำเป็นพื้นที่ที่เด็กหกล้มได้ง่าย พื้นผิวห้องน้ำควรทำด้วยวัสดุที่ไม่ลื่นเมื่อเปียกน้ำ ผู้ดูแลต้องหมั่นทำความสะอาดและทำให้พื้นแห้งอยู่เสมอ สุขภัณฑ์ที่ใช้ต้องมีขนาดและการติดตั้งที่เหมาะสมกับเด็ก เพื่อให้เด็กสามารถใช้สุขภัณฑ์ได้พอดี ไม่ต้องปีนป่ายในแต่ละปีมีเด็กปฐมวัยทั้งทารก วัยเตาะแตะ และวัยอนุบาลต้องเสียชีวิตเพราะจมน้ำในถังน้ำ กะละมัง ตุ่ม โอ่ง อ่างอาบน้ำในบ้าน ไห โถชักโครก ร่องน้ำ และ บ่อน้ำข้างๆบ้าน สระว่ายน้ำในบ้าน (ภาพที่ 4 ) ดังนั้นการกำจัดแหล่งน้ำที่ไม่จำเป็นในบ้านเช่นการคว่ำกะละมัง ปล่อยน้ำในอ่างอาบน้ำทิ้งทันทีหลังใช้งานเสร็จ การปิดแหล่งน้ำ แยกแหล่งน้ำไม่ให้เด็กเข้าถึงเช่นการปิดฝาตุ่ม โอ่ง ปิดประตูห้องน้ำ ทำรั้วกั้นบ่อเลี้ยงปลา การจำกัดพื้นที่เด็กไม่ให้เข้าใกล้แหล่งน้ำเช่นการทำรั้วเสริมปิดกั้นไม่ให้เด็กออกนอกบ้าน กั้นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กเคลื่อนไหว (ภาพที่ 7) เป็นสิ่งที่จำเป็นในการป้องกันการจมน้ำในเด็กปฐมวัยเด็กเล็กปีนป่ายตุ่มน้ำแล้วหน้าทิ่มลงไป เพียง 4นาที เด็กจะขาดอากาศหายใจจนสมองเสียหายนำไปสู่การตายหรือพิการถาวร เด็กวัยนี้จึงจัดอยู่ในวัยที่ผู้ดูแลจะต้องมองเห็นเด็กตลอดเวลา และเด็กต้องอยู่ในระยะที่เอื้อมคว้าถึง ดังนั้นความเผอเรอของผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็ก แม้แต่เพียงแค่ชั่วขณะ หมายถึงวินาทีแห่งความเป็นความตายที่อาจคาดไม่ถึง ปัจจุบันสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดให้ผู้ผลิตอ่างน้ำ กะละมัง ถังน้ำต้องมีคำเตือนเรื่องการจมน้ำของเด็กเล็กเพื่อเตือนสติพ่อแม่ผู้ดูแลเด็ก คำเตือนต้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยมีความกว้าง 3 นิ้ว ยาว 4 นิ้ว และข้อความที่เป็นคําเตือนต้องใช้ตัวอักษรทึบขนาดใหญ่กว่าตัวอักษรอื่น ในกรอบสี่เหลี่ยม สีของกรอบและข้อความตัดกับสีพื้นของฉลากในกรอบสี่เหลี่ยม สีของกรอบและข้อความตัดกับสีพื้นของฉลาก แสดงไว้ในลักษณะที่คงทน (ภาพที่9)นอกจากนั้นในห้องน้ำมักมีน้ำยาทำความสะอาดรูปแบบต่างๆเป็นสารพิษที่พบบ่อยในเด็ก เด็กปฐมวัยเป็นวัยที่ชอบสำรวจสิ่งแวดล้อม รื้อค้นของ น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาเคมีหรือสารพิษชนิดต่างๆควรเก็บไว้ที่ในที่สูงที่เด็กปีนค้นไม่ถึง หรือเก็บในตู้ที่สามารถปิดล๊อกซึ่งเด็กไม่สามารถเปิดเองได้  ภาพที่ 7 แสดงการจมน้ำของเด็กในถังที่สูงประมาณ 35-40 เซนติเมตร ภาพที่ 8 กั้นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กเคลื่อนไหว    ภาพที่ 9 สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดให้ผู้ผลิตอ่างน้ำ กะละมัง ถังน้ำต้องมีคำเตือนเรื่องการจมน้ำของเด็กเล็กห้องครัว ห้องครัวเป็นบริเวณที่มีอันตรายหลายประเภทต่อเด็ก เช่นของมีคม ของร้อน สารเคมีทำความสะอาด ไฟ เป็นต้น ลักษณะห้องครัวที่ปลอดภัยควรแยกพื้นที่ครัวออกจากพื้นที่อื่น โดยใช้ประตูหรือรั้วเตี้ยๆ เพื่อกั้นไม่ให้เด็กเล็กเข้าไปในพื้นที่ห้องครัวได้ เก็บของมีคม และสารเคมีไว้ในตู้ที่สามารถล๊อกได้ หรือหากไม่สามารถล๊อกได้ให้ติดตั้งอุปกรณ์เสริมสำหรับการปิดล๊อก อุปกรณ์เหล่านี้ออกแบบมาให้ติดตั้งได้ง่าย (ภาพที่ 10)ผู้ใหญ่สามารถเปิดออกได้ง่ายในขณะที่เด็กไม่สามารถเปิดออกได้ และต้องไม่ให้เด็กอยู่ใกล้เตาแก็สหรือเตาไฟฟ้าที่กำลังหุงต้ม และไม่ให้เด็กอยู่ในบริเวณที่กำลังแจกจ่ายอาหารที่ร้อน  ภาพที่ 10 อุปกรณ์เสริมสำหรับล๊อคตู้ไม่ให้เด็กเปิดออกได้เอง         เด็กจะต้องซนได้อย่างปลอดภัย เพราะธรรมชาติของเด็กๆย่อมต้องชอบ ปีนป่ายกระโดด โลดเต้น การจัดการสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยเสียแต่แรกเป็นสิ่งจำเป็นควบคู่ไปกับการเฝ้าดูแลระวังใกล้ชิด ความผิดพลาดมักเกิดเสมอเมื่อคิดว่า “ไม่เป็นไรหรอก” “เอาไว้ก่อน” “ไม่ต้องหรอกเดี๋ยวดูแลเองได้” “ประเดี๋ยวเดียว” 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point