ฉบับที่ 148 สถานการณ์สารพทาเลต DEHP- อันตรายที่สามารถหลีกเลี่ยงได้

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการบทความนี้ ได้ข้อมูลมาจากผลการศึกษาปริมาณของสาร DEHP ที่ปนเปื้อนอยู่ในประชากรชาวเยอรมนีที่ทำการศึกษาโดยสถาบันประเมินความเสี่ยงแห่งสหพันธ์ (Federal Institute for Risk Assessment) กับสำนักงานกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม (Federal Environment Agency) ซึ่งทางยุโรปได้ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลสารเคมีในกลุ่มพทาเลต ที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย ยังไม่ได้ทบทวน และประกาศใช้มาตรฐานกำกับผลิตภัณฑ์ที่มีสารพทาเลตเป็นส่วนประกอบ ซึ่งในมิติของการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่ใส่ใจต่อสุขภาพของและความปลอดภัยของผู้บริโภค ตลอดจนเป็นการจะช่วยสกัดกั้นป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายหลุดเข้ามาสร้างปัญหาให้กับผู้บริโภคครับ   สาร DEHP คืออะไร สาร DEHP ย่อมาจาก di (2-ethyl hexyl) phthalate เป็นสารเคมีที่นิยมใช้ในการผลิตพลาสติก เพื่อให้พลาสติกมีความอ่อนตัว เหมือนกับสารพทาเลตตัวอื่นๆ อีกหลายตัว และสหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศให้สาร DEHP เป็นสารพิษที่มีผลกระทบต่อระบบการสืบพันธุ์ของมนุษย์ เนื่องจากมีการอ้างถึง การที่สาร DEHP มีผลต่อระบบสืบพันธ์ และส่งผลทางด้านลบต่อทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาฅ สำหรับผู้ใหญ่การได้รับสาร DEHP ส่วนใหญ่ได้รับผ่านทางการกินอาหาร เข้าสู่ร่างกายซึ่งมีปริมาณน้อย และยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพ เนื่องจากปริมาณที่ผู้ใหญ่ได้รับสารเคมีนี้ยังน้อยกว่าปริมาณสูงสุดที่ยอมรับได้โดยไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เนื่องจากในร่างกายของผู้ใหญ่สามารถที่จะกำจัดสาร DEHP นี้ออกจากร่างกายได้อย่างรวดเร็ว สำนักงานที่กำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยของอาหารแห่งยุโรป (EFSA) ได้กำหนดปริมาณสาร DEHP สูงสุดที่  50 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักมนุษย์ 1 กิโลกรัมต่อวัน ที่ร่างกายมนุษย์สามารถขับออกจากร่างกายได้ โดยที่ไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ (TDI: Tolerable Daily Intake) สำหรับข้อมูลจากรายงานการสำรวจในประเทศเยอรมนี พบปริมาณสาร DEHP ที่คนเยอรมนีได้ขับถ่ายออกมาเฉลี่ยที่ปริมาณ 13-21 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม   อาหารประเภทไหนที่อาจมีสาร DEHP ปนเปื้อนอยู่ ? อาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปเช่น เนื้อสัตว์ ไขมัน น้ำมัน ธัญพืช ผลไม้ ผักสด นมและผลิตภัณฑ์จากนม ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ เปรียบเทียบกับอาหารที่ไม่ได้อยู่ในบรรจุภัณฑ์ และอาหารที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการแปรรูป จะมีการปนเปื้อนของ DEHP ในปริมาณสูง เพราะอาหารสามารถที่จะละลายสาร DEHP และพทาเลตตัวอื่นๆ ในระหว่างกระบวนการผลิตจนถึงกระบวนการบรรจุ ด้วยเหตุผลดังกล่าวมีการสั่งห้ามใช้สาร DEHP ในบรรจุภัณฑ์ที่ใส่อาหารที่มีไขมันในปี 2007 (พ.ศ. 2550) และในปี 2015 อียูก็ได้สั่งห้ามใช้สาร DEHP ในผลิตภัณฑ์อีกหลายตัว (consumer product) หากไม่ได้มีการพิสูจน์ตามมาตรฐานของ REACH ที่เป็นมาตรฐานในการควบคุมและกำกับการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย ในกรณีของเด็ก สาร DEHP ครึ่งหนึ่งของปริมาณสารเคมีที่ได้รับ ผ่านทางอาหาร ส่วนที่เหลือจะได้รับผ่านทางผลิตภัณฑ์อื่นๆ และของเล่น เนื่องจากเด็กจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเล่นบนพิ้นห้อง ซึ่งอาจได้รับสาร DEHP เข้าสู่ร่างกายมากกว่าผู้ใหญ่ ในการศึกษาครั้งนี้ ประมาณกาณ์ว่า เด็กได้รับสาร DEHP ระหว่าง 15-44 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว1 กิโลกรัม แต่ก็ยังต่ำกว่าปริมาณค่าสูงสุดที่ยอมรับได้ (TDI-Value)   วิธีการป้องกันสาร DEHP เข้าสู่ร่างกายได้ดีคือ การรับประทานอาหารที่ปรุงสดใหม่ ลดการรับประทานอาหารสำเร็จรูป และกึ่งสำเร็จรูป ลดการบริโภคอาหารสำเร็จรูป ยี่ห้อเดียวกันเป็นประจำ หากจำเป็นต้องเปลี่ยนไปบริโภคยี่ห้ออื่นบ้าง เพราะแต่ละยี่ห้อก็จะมีปริมาณสาร DEHP ไม่เท่ากัน นอกจากนี้ควรหมั่นทำความสะอาดพิ้นสม่ำเสมอในกรณีที่มีเด็กเล็ก และปล่อยให้เด็กเล่นบนพื้นห้อง เลือกของเล่นสำหรับเด็กที่ไม่มีสารพทาเลตเป็นส่วนผสม ซึ่งในยุโรปมีกฎหมายห้ามใช้สาร DEHP ในผลิตภัณฑ์และของเล่นสำหรับเด็กตั้งแต่ปี 1999 (พ.ศ. 2542) ซึ่งยุโรปจะมีเวบไซต์แจ้งเตือนทุกๆสัปดาห์  (RAPEX: http://ec.europa.eu/consumers/dyna/rapex/rapex_archives_en.cfm ) เมื่อมีการตรวจพบผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่มีสาร DEHP ผสมอยู่   ข้อมูลอ้างอิง Phthalate Contamination of the Population in Germany: Exposure-relevant sources, exposure paths and toxicokinetics using the example of DEHP and DINP, Federal Institute for Risk Assessment, Federal Environment Agency, ISSN 1862-4340, 2012

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 ธุรกิจ ธุรกรรมผ่านสมาร์ตโฟน และ Tablet PC : ประเด็นสำคัญที่องค์กรผู้บริโภคให้ความสำคัญ

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการธุรกิจ ธุรกรรมผ่าน สมาร์ตโฟน และ Tablet PC : ประเด็นสำคัญ ที่องค์กรผู้บริโภคให้ความสำคัญ (Mobile Commerce via Smartphone and Co.- Analysis and and outlook of the future market from the user’s point of view สำหรับบทความในวันนี้ จะขอแปลและเรียบเรียง ผลการศึกษาขององค์กรผู้บริโภคเยอรมนี ที่ได้เผยแพร่งานวิจัย ในเรื่องการทำธุรกรรม ผ่านโทรศัพท์มือถือ สมาร์ตโฟน และ แทบเลต ที่จะมีบทบาทสำคัญทางการค้าขาย ในยุค 3G และ 4G ของการสื่อสาร และการเสนอกรอบสำหรับการกำกับดูแลในประเด็นดังกล่าว สมาร์ตโฟนและแทบเลต เป็นเครื่องมือที่นอกจากจะใช้การติดต่อสื่อสาร รับส่งข้อมูล แล้วยังสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้ด้วย ทำให้เป็นที่นิยมในสังคมเยอรมนีเป็นอย่างมาก ความนิยมดังกล่าวส่งผลให้ การให้บริการรับส่งข้อมูล (Data mobile service) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่การสื่อสารประเภทเสียง (Voice mobile service) ก้าวเข้าสู่ยุคการอิ่มตัวของตลาด การสื่อสารประเภทข้อมูล (Data mobile service) มีการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ช้อปปิงออนไลน์ ซื้อตั๋วรถไฟ ตั๋วเครื่องบิน ฯลฯ   ความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมเป็นผลมาจาก เทคโนโลยีการสื่อสารในยุคที่ 3 (3G) และ ยุคที่ 4 (4G) ที่ผู้ให้บริการโครงข่ายการสื่อสารได้เพิ่มความสามารถในการรับส่งข้อมูล ในโครงข่ายของตัวเองเพิ่มมากขึ้น และในขณะเดียวกัน การติดตั้งไว ไฟ (Wi-Fi) ภายในบ้านและสถานที่สาธารณะ ก็ได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ทำให้การเชื่อมต่อระหว่างสมาร์ตโฟนและแทบเลต สะดวกขึ้น รวดเร็วขึ้น ในราคาผู้บริโภคเข้าถึงได้ ประสิทธิภาพของสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ทุกๆ 2 ปี และในอนาคตสมาร์ตโฟนจะเป็นเครื่องมือสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า โทรศัพท์มือถือ เพราะสมาต์โฟนก็คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดพกพา ที่มี processor ประสิทธิภาพสูง มีหน่วยบันทึกความจำปริมาณมาก ประกอบไปด้วยทัชสกรีน ที่มีความไวสูง มีกล้องถ่ายรูปที่มีจำนวน pixel มากๆ และมีเซนเซอร์หลายตัว และการพัฒนาสมาร์ตโฟนใอนาคตก็จะทำให้การใช้งานเป็นมิตรกับผู้ใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ   สมาร์ตโฟน: อุปกรณ์ส่วนตัวที่ดึงดูดให้เกิดการทำธุรกรรมแบบเคลื่อนที่ (mobile- commerce) ระบบปฏิบัติการของสมาร์ตโฟนและแทบเลต ไม่ว่าจะเป็น Android, Apple iOS, Blackberry OS, Windows Mobile จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน การติดตั้ง Apps จะง่ายขึ้น Apps หรือโปรแกรมทำหน้าที่เชื่อมต่อข้อมูลระหว่างสมาร์ตโฟน เป็นประตูที่จะรับส่ง ข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของ sensor (sensor data) ตำแหน่งของสมาร์ตโฟน (location data) ตลอดจนข้อมูลอื่นๆ การดาวน์โลด app มักจะทำการดาวโลดน์ผ่าน app store เช่น Apple App store (ระบบปฏิบัติการ iOS), BlackBerry App world (ระบบปฏิบัติการ BlackBerry OS), Google Play Store (Android), Samsung App (ระบบปฏิบัติการ Android และ Bada) หรือ Microsoft Market Place (ระบบปฏิบัติการ Windows) โดยที่ Apps เหล่านี้ เกิดจากการสร้างสรรค์และพัฒนาโดยนักเขียนโปรแกรมอิสระ ซึ่งเป็นกลุ่มที่สร้างมูลค่าให้กับระบบห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม การสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นแหล่งของการงานสร้างสรรค์อย่างมหาศาล เป็นแหล่งที่นักพัฒนาซอฟท์แวร์อิสระสามารถเข้าสู่ตลาดที่กว้างใหญ่ได้โดยง่าย ปัจจุบันนี้ผู้บริโภคมี Apps ให้เลือกมากกว่า ครึ่งล้าน Apps สมาร์ตโฟนเป็นเครื่องมือสื่อสารส่วนบุคคล ที่เก็บข้อมูลส่วนบุคคลไว้มากมายด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Address book ปฏิทินกิจกรรม รูปภาพ และ ลิงค์เชื่อมต่อ Social Network เนื่องจากสมาร์ตโฟนได้ออกแบบมาสำหรับการใช้งานส่วนบุคคลมากที่สุด ทำให้สามารถใช้สมาร์ตโฟนได้ทุกที่ ทุกเวลา ทำให้สมาร์ตโฟนเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างยิ่งในการประกอบธุรกรรม ไม่ว่าผู้บริโภคต้องการตรวจสอบโปรโมชันของสินค้าหรือบริการ เปรียบเทียบราคา เสาะหาร้านค้า สั่งสินค้า ชำระค่าสินค้าและบริการ ด้วยเทคโนโลยี Geo-Localization (เทคโนโลยีการระบุตำแหน่งบนโลก) ทำให้สามารถตรวจจับ ตำแหน่งของผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนได้ และ App บางตัว ทำให้ผู้บริโภคสามารถได้รับข้อมูลที่จำเป็น ว่าจะเดินทางไปที่ไหน และจะเดินทางไปอย่างไร ในเรื่องการระบุตำแหน่งของผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนนั้น ถือว่าเป็นหลักการพื้นฐานเบื้องต้น สำหรับการทำธุรกรรมแบบเคลื่อนที่ (m-commerce services) อย่างไรก็ตามข้อมูลระบุตำแหน่ง เป็นข้อมูลส่วนบุคคลจำเป็นต้องมีความระมัดระวังระมัดระวัง เพราะข้อมูลเหล่านี้สามารถเป็นเครื่องมือในการบอกพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ และเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการค้าขายนำมาใช้ในทางที่ผิด ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้โดยง่าย จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมผู้บริโภคจึงได้ App บางตัวมาฟรีๆ โดยไม่ต้องเสียสตางค์ เพราะสิ่งที่ผู้ประกอบการบางรายต้องการคือข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภค เพื่อนำมาใช้ในเชิงธุรกิจ   กระเป๋าสตางค์ในอนาคต (M-Payment) ในอนาคตสมาร์ตโฟนจะเป็นกระเป๋าสตางค์ของผู้บริโภคด้วย ที่ผ่านมาเราสามารถทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบอินเตอร์เนตได้แล้ว และกำลังจะเคลื่อนไปสู่การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบ สมาร์ตโฟน (m-payments of mobile online purchase) การทำธุรกรรมทางการเงิน ใช้การรับส่งสัญญาณและข้อมูลผ่านระบบการติดต่อไร้สายระยะใกล้ (Near Field Communication (NFC) wireless technology) การจ่ายเงินหรือการชำระค่าบริการผ่านสมาร์ตโฟนสามารถทำได้ทุกที่ ขณะนี้ในประเทศเยอรมนีก็เริ่มมีการแข่งขันกันในการ ทำระบบ m- payment system ไม่ว่าจะเป็นบัตรสมาชิก คูปองแลกซื้อสินค้า ก็สามารถใช้สมาร์ตโฟนเป็นเครื่องมือในการใช้งานได้ผ่าน NFC ชิป (NFC-Chips) เงื่อนไขความสำเร็จของระบบตลาดภายใต้การทำธุรกรรม m-payment ผ่านระบบ NFC คือ การยอมรับเทคโนโลยีของผู้บริโภคและผู้ค้าปลีก รายย่อย ซึ่งจะต้องดูว่าในอนาคตนั้น m-payment จะประสบความสำเร็จเพียงใด จะสามารถไปถึงจุดคุ้มทุน (critical mass) ของจำนวนผู้ใช้สมาร์ตโฟนได้หรือไม่ ปัจจุบันรูปแบบการทำธุรกรรมแบบนี้ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เนื่องจากการขยายตัวของจำนวนผู้ใช้สมาร์ตโฟน ในปี 2011 ชาวเยอรมันจำนวน 2.9 ล้านคน ใช้สมาร์ตโฟนในการทำธุรกรรมทางการเงิน ในขณะที่คนมากกว่า 5 ล้านคน ใช้ประโยชน์จากการการรวบรวมข้อมูล จากสมาร์ตโฟนมากกว่าการซื้อสินค้า M-shopping ได้เพิ่ม ความโปร่งใสของระบบตลาดทั้งในด้านผู้บริโภคและผู้ให้บริการ ผู้บริโภคได้รับข้อมูลด้านราคา ความหลากหลายของสินค้า โปรโมชัน ส่วนผสมของสินค้า และแหล่งที่มาของสินค้า ดีขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ให้บริการ Apps ก็ได้ใช้ประโยชน์ข้อมูลของผู้บริโภคที่มีค่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมในการซื้ออย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร มาเป็นประโยชน์ในทางธุรกิจได้ ภายใต้บริบท การทำธุรกรรมเป็นแบบส่วนตัว นี้ ผู้บริโภคก็มีความกังวลในประเด็น เรื่องความเสี่ยง (Risk) การบิดเบือนข้อเท็จจริง (Manipulation) หลอกลวง ปลอมแปลง ต้มตุ๋น ทำให้เข้าใจผิด (Deception) และ การเลือกปฏิบัติ (Discrimination)   เนื่องจากการทำธุรกรรมผ่านสมาร์ตโฟน และแทบเลต เป็นช่องทางที่รวดเร็วมาก หน้าจอของอุปกรณ์เหล่านี้ เป็นแบบสัมผัส ที่มีความไวต่อการสัมผัสสูง ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดข้อผิดพลาดในการทำธุรกรรม เพราะฉะนั้นสมควรที่จะพัฒนากฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยกเลิกการทำธุรกรรม การคืนสินค้า ข้อมูลของการทำธุรกรรมที่ครบถ้วนและเพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค   แนวทางการกำกับดูแล การทำธุรกรรมในระบบ m-commerce การยอมรับ ความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใสเป็นหัวใจสำคัญ ในการทำธุรกิจภายใต้ m-commerce ที่เกิดขึ้นตามกระแสโลกาภิวัฒน์ การกำกับดูแลจากภาครัฐมีความจำเป็นในการกำหนดกรอบกฎหมายที่จะใช้เป็นเครื่องมือ ในการดูแล ปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวขั้นสูงสุดของผู้บริโภค สมาร์ตโฟนเป็นอุปกรณ์ที่เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลสำคัญต่างๆ เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านสถานที่ที่ผู้บริโภคกำลังสถิตอยู่ หรือแม้แต่พฤติกรรมการจ่ายเงิน ข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้สมควรจะได้รับการคุ้มครอง การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จำเป็นที่จะต้องมีแนวคิด ที่ว่า ความเป็นส่วนตัวสามารถกำหนดได้ (privacy by design) คือ อุปกรณ์สมาร์ตโฟนและซอฟท์แวร์ที่ผลิตออกมาจากโรงงาน สมควรจะติดตั้ง ระดับการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลอย่างสูงสุด (default settings offer the highest degree of privacy)   การออกกฎเพื่อลดช่องว่างของกฎหมาย เนื่องจากการทำธุรกรรมผ่านสมาร์ตโฟน และแทบเลต เป็นช่องทางที่รวดเร็วมาก เนื่องจาก หน้าจอของอุปกรณ์เหล่านี้ เป็นแบบสัมผัส ที่มีความไวต่อการสัมผัสสูง ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดข้อผิดพลาดในการทำธุรกรรม เพราะฉะนั้นสมควรที่จะพัฒนากฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยกเลิกการทำธุรกรรม การคืนสินค้า ข้อมูลของการทำธุรกรรมที่ครบถ้วนและเพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค จากงานวิจัยขององค์กรผู้บริโภคเยอรมนีพบว่า Apps ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการทำธุรกรรมส่วนมาก มีเงื่อนไขของสัญญาที่ยังไม่เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด (German Telemedia legislation) เนื้อหาในสัญญามีความยาวมากเกินไป และบางครั้งเนื้อหาในสัญญาเองก็เข้าข่าย ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล (German’s Federal Privacy Act) กลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการคุ้มครองผู้บริโภค การสร้างหลักประกันความมั่นใจให้กับผู้บริโภค (Reputation Mechanism) คือ การออกมาตรฐานและการรับรองจากหน่วยงานที่เป็นอิสระในทางวิชาการ สำหรับสมาร์ตโฟน Apps และบริการ m-commerce ต่างๆ ที่นำเสนอในอินเตอร์เน็ต เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจสำหรับการทำธุรกรรมเพิ่มมากขึ้น พัฒนาการสำหรับการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลในอนาคตคือ การที่ผู้บริโภคสามารถจัดแบ่งลำดับความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคล สามารถที่จะเลือกระดับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคลได้มากกว่าปัจจุบัน ที่ยังอยู่ในระดับแค่การยอมรับ หรือไม่ยอมรับมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่เป็นสัญญาสำเร็จรูปจากผู้ประกอบการ (ในกรณีที่ผู้บริโภคไม่ยอมรับเงื่อนไข การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ผู้ประกอบการเสนอมาในรูปแบบของสัญญาสำเร็จรูป ก็ไม่สามารถดำเนินการทางธุรกรรมต่อไปได้ เป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ) และการประกอบธุรกรรมภายใต้ระบบ m-commerce ควรที่เพิ่มช่องทางให้ผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของข้อมูล สามารถลด และลบร่องรอยของข้อมูล ที่มักจะทิ้งไว้ให้สะกดรอยตามได้โดยง่าย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 146 เมื่อต้องซื้อ Set top box

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ประเทศไทยเราจะก้าวเข้ามาสู่ยุคโทรทัศน์แบบดิจิตอล ถึงแม้ว่าจะก้าวแบบช้าๆ ตามก้นหลายๆประเทศก็ตาม แต่หวังว่าการเริ่มช้าในตอนเปลี่ยนผ่าน จะทำให้เราสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ความผิดพลาดของหลายๆ ประเทศนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในประเทศไทยได้ การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี เราควรให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์สูงสุด มีการแข่งขันที่จริงจัง เป็นธรรม และองค์กรกำกับดูแลก็โปร่งใส ยอมรับการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์จากสังคมด้วยเช่นกัน เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความรู้ในเรื่องเทคนิคอย่างค่อนข้างจำกัดนั้น สมควรที่จะต้องหาความรู้พื้นฐาน ตลอดจนการเตรียมการในการที่จะรับสัญญาณแบบใหม่นี้ ซึ่งความรู้พื้นฐานที่ผู้บริโภคควรมีไว้กับตัวนั้น เหตุที่ผมเขียนเรื่องอุปกรณ์การรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินนั้น เพราะยังจำวิกฤติจอดำ ฟุตบอลยูโร 2012 นั้นได้ดี ถึงแม้ว่าเราจะมีดาวเทียม เคเบิล แต่เนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์ ก็ยังอาจจะทำให้เกิดจอดำขึ้นอีก การที่แต่ละบ้านสามารถรับสัญญาณผ่านเสาอากาศ(รุ่นใหม่) ได้ ก็จะขจัดปัญหานี้ออกไป และ กสทช. ต้องควบคุมให้ช่องทีวีสาธารณะ ขยายพื้นที่การแพร่สัญญาณออกไปให้มากที่สุด ตามแผนแม่บทด้วย ก็จะช่วยผู้บริโภคได้มาก   คราวนี้ผมนำมาจากความรู้ขององค์กรผู้บริโภค Stiftung Warentest ที่ทำหน้าที่ทดสอบสินค้า ข้าว ของ เครื่องใช้ และเผยแพร่ เพื่อเป็นข้อมูลในทางวิชาการในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า องค์กรนี้ทำหน้าที่เหมือนกับวารสารฉลาดซื้อที่เพื่อนสมาชิกกำลังอ่านอยู่นั่นแหละครับ และเราคาดหวังว่าหน้าที่ที่สำคัญขององค์การอิสระที่กำลังค้างอยู่ในสภานั้น จะคลอดออกมาในเร็ววัน เพื่อเป็นหลักประกันของผู้บริโภคไทยว่า จะสร้างความสมดุลในเรื่องความรู้ และข้อมูล ภายใต้ระบบการค้าที่ไม่ค่อยจะเป็นธรรมและไม่เป็นมิตรกับผู้บริโภคไทยที่เป็นอยู่ในขณะนี้   คำแนะนำสำหรับผลการทดสอบ set top box นั้น ต้องยอมรับว่าผลการทดสอบค่อนข้างจะเก่า คือ ทดสอบในปี 2005-2006 หากท่านต้องการทราบผลการทดสอบล่าสุด อาจต้องให้ทางฉลาดซื้อนำผลของ ICRT มาลงในฉบับต่อๆ ไป การทดสอบนี้ทางผู้ทดสอบให้คะแนนในด้านคุณภาพของสัญญาณภาพ 30 % คุณภาพของสัญญาณเสียง 10 % ความยากง่ายในการติดตั้งและใช้งาน 30 % ค่าความอ่อนไหวในการรับสัญญาณ เช่น การรบกวนกันของสัญญาณ (Sensitivity) 10 % และ ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือ ใช้ไฟน้อย และความสามารถในการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ (Recyclability) อีก 10 %   ในการทดสอบครั้งนี้ได้แบ่ง set top box ออกเป็น  2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มี Hard disc สำหรับบันทึกข้อมูลในกรณีมีการอัดรายการโทรทัศน์เก็บไว้ และแบบที่ไม่มี hard disc ราคาตั้งแต่ 1,000 – 4,000 บาท ผลการทดสอบสรุปได้ว่า คุณภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคา   นอกจากนี้ยังมี เสาหนวดกุ้งรับสัญญาณโทรทัศน์ ที่ไว้ใช้ดูผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ผลทดสอบของอุปกรณ์ได้คะแนนเพียงพอใช้ เนื่องจากปัญหาจะเกิดตอนใช้งานคอมพิวเตอร์จะทำให้เกิดการกระตุกของภาพ และภาพจะเคลื่อนไหวช้าลง (แต่คาดว่าปัญหาเทคนิคในเรื่องนี้ เครื่องรับสัญญาณรุ่นใหม่ คงพัฒนาให้ดีขึ้นแน่นอน คาดว่า ICRT น่าจะมีผลการทดสอบเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านคอมพิวเตอร์ใหม่ล่าสุดเช่นกัน   สรุป กสทช. ควรจะรีบออกมาตรฐาน ของ Set top box ออกมารองรับตลาดในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะ จะมีการแจกคูปอง เพื่อให้ประชาชน สามารถไปซื้อ set top box ในราคาที่ถูกลง ซึ่งมาตรฐานของสินค้าจะเป็นการรับประกันให้ผู้บริโภคได้ทั้งของถูก และของดี ด้วย เอาใจช่วย กสทช.ในเรื่องนี้ครับ     ภาพประกอบ ภาพที่ 1 ตัวอย่าง set top box แบบไม่มี hard disc ที่ได้คะแนนดีจากการทดสอบ ภาพที่ 2 ตัวอย่าง set top box แบบมี hard disc รุ่นซ้ายมือสุดได้คะแนนดี อีกสองรุ่น คะแนนพอใช้   ภาพที่ 3 เสารับสัญญาณขนาดเล็กสำหรับดูผ่านคอมพิวเตอร์ (แหล่งข้อมูล วารสาร Test ฉบับ 3/2006 และ 3/2007)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 145 ความจำเป็นของเสาหนวดกุ้ง ก้างปลา สำหรับการรับสัญญาณโทรทัศน์แบบดิจิตอล

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ โดยปรกติการเลือกซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ถ้าอยู่ในบริเวณที่มีสัญญาณแรง เช่นในเขตกรุงเทพมหานคร ก็ใช้อุปกรณ์แบบ Inner Antenna ได้ แต่ถ้าอยู่ในบริเวณที่สัญญาณอ่อนก็ต้องใช้อุปกรณ์แบบ Outer Antenna แต่ถ้าใครมีหนวดกุ้ง ก้างปลาอยู่แล้วก็ไม่ต้องตกใจว่าจะต้องเปลี่ยนนะครับ เพราะอุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ยังสามารถใช้ต่อไปได้   สัญญาณแบบอนาลอก เป็นสัญญาณโทรทัศน์ที่จะหมดยุคภายใน 4-5 ปีนี้ เนื่องจากประเทศไทยเราจะก้าวเข้ามาสู่ยุคโทรทัศน์แบบดิจิตอล ซึ่งผู้บริโภคที่มีความรู้ในเรื่องเทคนิคอย่างค่อนข้างจำกัดนั้น สมควรที่จะต้องหาความรู้พื้นฐาน ตลอดจนการเตรียมการในการที่จะรับสัญญาณแบบใหม่นี้ ซึ่งความรู้พื้นฐานที่ผู้บริโภคควรมีไว้กับตัวนั้น ผมนำมาจากความรู้ขององค์กรผู้บริโภคภาคเอกชนของเยอรมนี (Stiftung Warentest) มานำเสนอแด่เพื่อนสมาชิก องค์กรนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นรายปี แต่รายได้หลักขององค์กรนี้จะมาจากสมาชิกที่สมัครรับวารสาร ทำหน้าที่เหมือนกับหนังสือฉลาดซื้อของเรานี่แหละครับ   การทดสอบแต่ละครั้งจะทดสอบสินค้าเชิงคุณภาพ และเปรียบเทียบเทียบความคุ้มค่าที่เรียกว่า cost effectiveness ในการเลือกซื้อเลือกจ่ายแต่ละครั้งคนเยอรมัน จะมีข้อมูลรอบด้าน ครบถ้วน สำหรับผู้บริโภคที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเป็นผู้กำหนดตลาดที่มีการแข่งขันตัวจริงเสียงจริง เป็นองค์กรที่ช่วยราษฎร์ เสริมรัฐ และผมหวังว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิประชาชนขั้นพื้นฐานจะให้การสนับสนุนองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่กำลังค้างอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ให้กฎหมายนี้ผ่านมาได้ และทำหน้าที่ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของบริโภคเฉกเช่นกัน   บทความในวันนี้ มีวัตถุประสงค์ในการแนะนำผู้บริโภคในการเลือกชมรายการโทรทัศน์ผ่านอุปกรณ์สัญญาณภาคพื้นดิน (Digital Video Broadcasting: Terrestrial DVB-T)   การรับสัญญาณโทรทัศน์ในยุคดิจิตอลนั้นหากเป็นการรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ก็ต้องมีอุปกรณ์รับสัญญาณเช่นเดียวกับการรับสัญญาณแบบอนาลอกคือ เสาก้างปลา (Outer Antenna) (ดูรูปที่ 1)   สำหรับรับสัญญาณภายนอกอาคาร และเสาหนวดกุ้งที่เรียกว่า (Inner Antenna) (ดูรูปที่ 2)   ปัจจุบันเทคโนโลยีของอุปกรณ์รับสัญญาณทั้งสองแบบได้พัฒนาการไปจนรูปร่างลักษณะจะไม่เหมือนกับหนวดกุ้ง ก้างปลาในอดีตแล้วครับ โดยปรกติการเลือกซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ถ้าอยู่ในบริเวณที่มีสัญญาณแรง เช่นในเขตกรุงเทพมหานคร ก็ใช้อุปกรณ์แบบ Inner Antenna ได้ แต่ถ้าอยู่ในบริเวณที่สัญญาณอ่อนก็ต้องใช้อุปกรณ์แบบ Outer Antenna แต่ถ้าใครมีหนวดกุ้ง ก้างปลาอยู่แล้วก็ไม่ต้องตกใจว่าจะต้องเปลี่ยนนะครับ เพราะอุปกรณ์รับสัญญาณนั้น ยังสามารถใช้ต่อไปได้ แต่ถ้าใครต้องการเปลี่ยนเพราะ เราใช้อุปกรณ์ดังกล่าวมานานแล้วคุณภาพในการรับสัญญาณเริ่มจะลดลงก็ลองหันมาดู อุปกรณ์ใหม่ๆ ดังกล่าวได้เช่นกัน   ความจำเป็นในการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณแบบ เสาหนวดกุ้งก้างปลายังคงมีอยู่ ในเยอรมนีเองการรับสัญญาณผ่านเสาสัญญาณแบบนี้ ถือได้ว่ามีสัดส่วนสูงที่สุดสูงกว่ารับสัญญาณผ่านจานดาวเทียม หรือผ่านเคเบิล ถ้าพิจารณาจากการส่งสัญญาณโทรทัศน์แบบภาคพื้นดินของช่องฟรีทีวีในเยอรมนีแล้ว จะเห็นว่าครอบคลุมพื้นที่ มากกว่า 95 % (รูปที่ 3) การติดตั้งจานดาวเทียมในเยอรมนีนั้นไม่ได้ติดตั้งกันง่ายๆ เหมือนบ้านเรา ส่วนใหญ่ต้องขออนุญาตทั้งจากรัฐและเจ้าของอาคารก่อน เพราะจานดาวเทียมนั้น ถ้าติดตั้งโดยไม่ควบคุมจะเป็นมลพิษอย่างหนึ่ง เรียกว่ามลพิษทางทัศนียภาพ ที่กำลังเกิดขึ้นและกำลังจะมีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้นในเมืองหลวงของเรา (เราจะเห็นจานดาวเทียมที่มีสีต่างๆ ผุดขึ้นเหมือนกับเชื้อรา ตามตึก อาคารต่างๆ ซึ่งเป็นภาพที่ไม่งามตาเลย)   สำหรับประเทศไทยนั้นก็ยังมีความจำเป็นเช่นกันสำหรับการรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดิน หากเราดูปรากฎการณ์จอดำ เมื่อปีผ่านมา และคาดว่าก็อาจประสบปัญหาจอดำอีก แต่ถ้าเราสามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านหนวดกุ้ง ก้างปลาได้ ก็จะไม่เจอกับปัญหาจอดำ ตอนนี้ในขั้นตอนการประมูลช่องโทรทัศน์ดิจิตัล กสทช. สามารถออกกฎเกณฑ์ให้ช่องสถานีฟรีทีวี หรือช่องสถานีสาธารณะทั้งหลาย ต้องสามารถส่งสัญญาณให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศเหมือนที่เยอรมนี ก็จะสามารถลดปัญหาได้ระดับหนึ่งเช่นกัน คาดว่าปัญหาจอดำและปัญหาพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณ (White Spot) ก็จะไม่เกิดเช่นกันครับ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 143 เมื่อไม่ได้โทร ก็ไม่ต้องจ่าย

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ คำพิพากษาตัดสินคดีของศาลแพ่งเยอรมัน แห่งเมือง Kiel (Landgericht Kiel 20 136/11) วันที่ 29.11.2011 ตัดสินให้สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเป็นโจทก์ฟ้องชนะคดีบริษัท Mobilcom debitel เนื่องจากบริษัท Mobilcom ได้เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมจำนวน 5 ยูโรจากลูกค้า ทั้งๆ ที่ลูกค้ารายนั้นไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือนาน 3 เดือน ถึงแม้ว่าในสัญญาทางบริษัทจะเขียนไว้ว่า มีค่าธรรมเนียมถึงจะไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือก็ตาม ศาลอธิบายว่าข้อความดังกล่าว เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นคำพิพากษาที่ศาลเห็นตามคำฟ้องของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี (VZBV) หันมาดูกรณีคล้ายๆ กับของไทย คือ กรณีบริษัทผู้ให้บริการมือถือ แบบให้บริการล่วงหน้า (Prepaid) ยึดเงินในระบบของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคโดนบังคับให้เติมเงินทั้งๆ ที่ยังมีเงินเหลืออยู่ ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อมายาวนาน และเป็นการละเมิดสิทธิแบบไม่เกรงกลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม แม้ล่าสุดเลขาธิการ กสทช. ได้มีคำสั่งบังคับทางปกครองบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 ราย โดยให้บริษัทชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ 100,000 บาท ต่อสำนักงาน กสทช. ให้ครบถ้วนทั้งนี้ซึ่งคิดแล้วเป็นการจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 3 ล้านบาทต่อเดือน โดยมีคำสั่งปรับทางปกครองไปตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคมปีที่ผ่านมา ในเรื่องดังกล่าวผู้ประกอบการมักอ้างว่า มีค่าใช้จ่ายจากการรักษาเลขหมาย จริงๆ แล้ว กสทช. เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเลขหมาย เลขหมายละ 2 บาท ต่อเดือน หากจะให้ความเป็นธรรมกับบริษัท ใครใช้คนนั้นจ่าย ก็สามารถทำได้ เช่นให้สามารถเติมเงินเพื่อเป็นค่ารักษาเลขหมายได้ โดยให้ค่ารักษาเลขหมายและค่าใช้บริการแยกออกจากกัน  ซึ่งในทางเทคนิคผู้ประกอบการตู้เติมเงินออนไลน์ก็สามารถทำได้อยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร แต่ กสทช. อาจต้องไปดูแลในเรื่องค่าบริการที่ไม่ควรจะคิดสูงเกินจริง แล้วเป็นช่องทางให้เอาเปรียบผู้บริโภคอีก   จริงๆ ข้อเสนอดังกล่าวทางอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้จัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับการกำกับดูแลตู้เติมเงินไปแล้ว แต่ทาง กสทช.ก็ปฏิเสธว่าไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของตนอีกเช่นกัน จริงๆ แล้วหาก กสทช. ไม่กำกับดูแล ผู้ประกอบการก็สามารถจัดการเรื่องค่าธรรมเนียมรักษาเลขหมายได้ เพราะถ้าหากทำธุรกิจที่ไม่เอาเปรียบลูกค้า ชาวบ้านและเทวดาจะพากันสรรเสริญ แต่ถ้าอ้างกฎระเบียบของ กสทช. เพื่อมาเอาเปรียบชาวบ้าน ต่อให้ถูกกฎหมาย ก็คงจะได้รับคำสาปแช่งเฉกเช่นกัน และตอนนี้ทางบริษัทก็ยังไม่สามารถเรียกเก็บค่ารักษาเลขหมายรายเดือนได้ ตราบใดที่ กสทช. ยังไม่ออกประกาศเปลี่ยนแปลงกติกาใหม่   เพราะฉะนั้นใครที่ได้รับความเดือดร้อนจากการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินทั้งประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 70,610,490 เลขหมาย ขอให้ผู้บริโภคช่วยกันร้องเรียนเรื่องนี้ให้มากๆ โดยสามารถร้องเรียนไปยังสำนักงาน กสทช. 1200 เพื่อให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการสั่งปรับทางปกครองแบบลงโทษให้สอดคล้องกับความเสียหายของผู้บริโภค หรือถ้าไม่ได้ความยังไงก็ติดต่อมาที่ฉลาดซื้อ หรือศูนย์พิทักษ์สิทธิ ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เบอร์ติดต่อ 02 2483734-7   เพื่อให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดทุกราย ปฏิบัติตามประกาศ เรื่อง กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาข้อร้องเรียนของผู้ใช้บริการ พ.ศ. 2549 ข้อ 5 คือ ในระหว่างการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ผู้ให้บริการต้องยุติการระงับบริการแก่ผู้ร้องเรียนทุกราย จนกว่าเรื่องร้องเรียนนั้นจะได้ข้อยุติด้วย ใครมีลูกบอกลูก มีหลานบอกหลาน เป็นอาจารย์ บอกลูกศิษย์ นะครับ เงินของเรา สิทธิของเรา เราต้องทวง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 142 ค่าโทรศัพท์จะถูกลง เมื่อประเทศเรามี 3 G ?

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการจากคำสั่งของศาลปกครองกลาง ที่มีมติไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ในกรณีการประมูล 3 G ที่ผ่านมานั้น กระบวนการแจกใบอนุญาติประกอบกิจการโทรคมนาคมในยุค 3 G ซึ่งกำลังจะหมดยุค เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค 4 G ก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ และผู้บริโภคก็ยังคาดหวังการเปลี่ยนผ่านจากยุคสัมปทานไปสู่ยุคที่มีผู้ประกอบการน้อยราย (Oligopoly) จะสามารถได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพ และราคาต้องถูกลง ไม่ว่าจะเป็นบริการประเภทเสียงหรือบริการประเภทข้อมูล ที่ผ่านมาถึงแม้นว่า กสทช.จะมีประกาศกำหนดราคาขั้นสูงสำหรับการให้บริการประเภทเสียง ที่กำหนดไว้ไม่เกินนาทีละ 99 สตางค์ แต่ผู้ให้บริการรายใหญ่ทั้งสามราย ก็ยังมีการละเมิดประกาศของ กสทช. กันอยู่ เช่น โปรโมชัน จ่ายเดือนละ 649 บาท รับฟรีอินเตอร์เนตใช้ได้ไม่จำกัด โทรฟรี 550 นาที แต่ทำไม เวลาโทรเกินสามารถคิดค่าบริการ นาทีละ 1.50 บาท ทั้งๆ ที่ ประกาศ กสทช. ก็บอกชัดเจนว่าห้ามคิดเกิน นาทีละ 99 สตางค์ จริงๆ แล้วอัตราการใช้บริการประเภทเสียงนั้น สมควรที่จะมีการทบทวนให้สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง โดยเฉพาะการคิดอัตราค่าเชื่อมต่อ ที่จะต้องถูกลงกว่าเดิม วันนี้ขออนุญาตนำข่าวความเคลื่อนไหวของการกำกับดูแลค่าเชื่อมต่อที่เรียกว่า Interconnection Charge จากทางฝั่งเยอรมนีมาฝาก เพื่อให้ตอบรับกับกระแสการที่ท่านประธาน กทค. จะทำให้การให้บริการโทรคมนาคมถูกลง   การกำกับดูแล Interconnection Charge ของเยอรมนี กสทช. เยอรมนี กำหนดราคาค่าเชื่อมต่อ(Interconnection Charge) ใหม่ กรณีใช้โครงข่ายของบริษัท Telekom Deutschland โดยจะมีราคาถูกกว่าอัตราเดิมโดยเฉลี่ย 20 % ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2555 เป็นต้นไป โดยอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายจะแบ่งเป็น 4 ระดับ (Price Tariffe) โดยเฉพาะอัตราพื้นฐาน (Tariffe Zone I: Main Tariffe) วันทำงานจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 9.00 น. – 18.00 น.คิดอัตรา 0.36 Ct/ Minute (14.4 สตางค์/นาที)  วันหยุด เสาร์ อาทิตย์และวันหยุดราชการ คิดอัตรา 0.25 Ct/ Minute (10 สตางค์/นาที) ราคาที่กำหนดต้องเป็นราคาเดียวกับการคิดค่าเชื่อมต่อของ บริษัทผู้ประกอบการอื่นๆ ด้วย เนื่องจากการปรับลดราคาค่าเชื่อมต่อ เป็นผลมาจากการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษา WIK GmbH เพื่อเป็นฐานสำหรับการให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมในยุคใหม่ (Next Generation Networks: NGN) เนื่องจากโครงข่ายโทรคมนาคมยุคใหม่ (NGN) นี้ จะต่างจาก โครงข่ายเดิม (Public Switched Telephone Networks: PSTN) โดยมีข้อดีคือ นอกเหนือจากการให้บริการประเภทข้อมูล เช่น E mail, Internet Etc. แล้วบริการประเภทเสียงจะใช้ bandwidth ที่น้อยกว่า มีผลทำให้ต้นทุนถูกลง และประสิทธิภาพการใช้โครงข่าย (Cost Effectiveness) ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามค่าเชื่อมต่อโครงข่ายใหม่นี้ เป็นการกำหนดอัตราแบบชั่วคราวเนื่องจาก  ในเดือน ม.ค. 2556 ทาง กสทช. จะต้องนำประกาศกำหนดอัตราค่าเชื่อมต่อนี้ เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นในระดับชาติ (National Consultation Process: Nationales Konsultationsverfahren) และจะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการยุโรปตลอดจน ประเทศสมาชิกอื่นๆ ของยุโรปด้วย จึงจะทำให้การประกาศอัตราค่าเชื่อมต่อมีความสมบูรณ์ใช้บังคับเป็นทางการต่อไป อัตราค่าบริการประเภทเสียงที่ถูกลง จะมีส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันในการทำธุรกิจของประเทศโดยรวม เพราะเป็นปัจจัยพื้นฐานในการผลิตที่จำเป็นจะต้องมีต้นทุนที่ถูกลง เช่นเดียวกับ ค่าน้ำ ค่าไฟ พลังงาน และดอกเบี้ย เนื่องจากประเทศไทยเราสนับสนุนภาคธุรกิจให้สามารถแข่งขันกับชาวบ้านได้ ผมก็เห็นด้วย และการลดอัตราค่าบริการประเภทเสียงคนที่ได้รับประโยชน์โดยตรงนอกจากภาคธุรกิจ ซึ่งก็ควรต้องช่วยส่งเสียงไปยัง กทค.อีกแรงหนึ่งด้วย นอกจากผู้บริโภคอย่างเราตัวจริง เสียงจริง ที่ส่งเสียงทุกครั้งจนเป็นขาประจำไปแล้วครับ (ที่มาของข้อมูล: http://www.bundesnetzagentur.de/cln_1912/SharedDocs/Pressemitteilungen/DE/2012/121130_IC_EntscheidungBK3.html?nn=65116)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 141 การจัดการธุรกิจที่เข้าข่ายการพนันของ เยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการสำหรับเนื้อหาช่วง ฉลาด ช้อปในครั้งนี้ ยังคงอยู่แวดวงโทรคมนาคมครับ เพราะหลังจากการประมูลคลื่น 2.1 GHz  สังคมและเสียงส่วนใหญ่ก็ได้ตั้งข้อสงสัยต่อคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ จนสุดกำลังความสามารถหรือเปล่าในการที่จะรักษาผลประโยชน์ของชาติและประชาชนตามที่ได้ทุ่มทุนออก spot โฆษณา ว่าเป็นภารกิจเพื่อชาติ แต่เมื่อการประมูลเสร็จสิ้นลง คนที่ยิ้มได้ก่อนกลับเป็นผู้ประกอบการสามราย ซึ่งก็คงต้องเป็นหน้าที่ของ กทค. เองที่จะต้องพิสูจน์ให้สังคมเห็นครับ ว่าการออกแบบการประมูลนั้นสมเหตุสมผลตามหลักวิชาการ และไม่เอื้อประโยชน์เอกชน สำหรับผู้บริโภคนั้นคงต้องจับตาดูการทำงาน ของ กทค. ในประเด็นราคาที่จะถูกลง และการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ท่านประธาน กทค.ให้สัมภาษณ์ว่าจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ องค์กรผู้บริโภคของไทยคงต้องทำหน้าที่ตรวจสอบมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไปครับ   สำหรับมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อประเทศไทยจะก้าวไปสู่ยุค 3 G นั้น การใช้ช่องทางการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีแบบใหม่นี้ ภาครัฐและองค์กรกำกับดูแลอย่าง กสทช.ก็ต้องฉลาด และเท่าทันกับ 3ก (เกมส์-กล-โกง) ของธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้วย โดยเฉพาะในยุค 3G นั้น มีการกล่าวกันไว้ว่า 3G ที่กล่าวถึงนั้นคือ Girl, Game and Gambling ปัจจุบันนี้เราจะเห็นการโฆษณาชักจูงให้เราต้องเสียสตางค์กับเรื่องเหล่านี้มาก จนเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว แต่สำหรับการกำกับดูแลในประเทศเยอรมนีเขาไม่ได้มองว่าเรื่องนี้ธรรมดาครับ องค์กรกำกับดูแลเขาเอาจริง ทำจริงเพราะมองว่า ไม่สมควรที่จะให้ธุรกิจที่เอาเปรียบผู้บริโภค ล่อลวงเด็กและเยาวชนนั้นใช้เทคโนโลยีนี้เหล่านี้ทำลายคนในชาติของเขาครับ มาดูว่า กสทช.ของเยอรมันให้ความสำคัญอย่างไรกับเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค “ศาลปกครองสูงสุดแห่งมลรัฐนอร์ดไรน์เวสฟาเลน (OVG Nordrheinwestfalen) ได้ตัดสินยืนตามมติของ กสทช. แห่งสหพันธรัฐเยอรมนี ที่ได้สั่งระงับการคิดค่าบริการ เนื่องจากเป็นบริการที่เข้าข่ายการเล่นพนัน “คำตัดสินของศาลได้ยืนยันถึงอำนาจหน้าที่ของ กสทช*. (die Bundesnetzagentur) ในการคุ้มครองผู้บริโภคในประเด็นเรื่องการให้บริการที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค (unlautere Geschäftspraktiken) และเป็นธุรกิจที่ผิดกฎหมาย และเราจะติดตามสอดส่องพฤติกรรม และป้องปราม การทำธุรกิจประเภทนี้” มัทเทียส คัวร์ท ประธานกสทช.ได้กล่าวย้ำถึงคำตัดสินของศาลปกครอง ในเดือนธันวาคม 2010 และเดือนมกราคม 2011 กสทช.*(die Bundesnetzagentur)  ได้สั่งห้ามผู้ประกอบการรับเงินจากผลการประกอบการ ภายใต้หมายเลข Artikel-/Leistungsnummer 61404 และ 83917 (product identity 11004 และ 12000 เนื่องจากภายใต้หมายเลขนี้ บริษัท telomax GmbH ได้ให้หลายๆ บริษัทที่เช่าเลขหมายทำการตลาด ที่อยู่ในรูปของการพนัน นอกจากนี้ ภายใต้หมายเลขนี้ หลายๆบริษัทยังได้ทำการตลาดโดยใช้การโฆษณาชักจูงทางโทรศัพท์ที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคด้วย (unerlaubter Werbeanrufen) โดยบริษัทได้โฆษณาชวนเชื่อว่า เป็นผู้ได้รับรางวัลเครื่องสำอางมูลค่า 100 ยูโร ซึ่งหลังจากที่โฆษณาชักจูงผ่านโทรศัพท์แล้ว ผู้บริโภคก็จะตกเป็นเหยื่อคือ หลงสมัครเล่นพนัน ของเวบไซต์ win-finder.com หรือ glücksfinder.net หลังจากที่ กสทช. (die Bundesnetzagentur) ได้ออกคำสั่งการห้ามเรียกเก็บเงินจากการประกอบธุรกิจดังกล่าว ทางบริษัทได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดแห่งมลรัฐ และศาลก็ได้มีคำตัดสินยืนตามคำสั่งของทาง กสทช. บทสรุปจากการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของประเทศเยอรมนีคือ ไม่ส่งเสริมการทำธุรกิจประเภทหลอกลวง เอาเปรียบ และผิดกฎหมาย จริงๆ องค์กรกำกับดูแลในประเทศที่เจริญแล้ว เขามีอำนาจ และประชาชนไม่เคยสงสัยหรือ ต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับอำนาจที่ประชาชนให้มานั้นเลย ถ้าองค์กรกำกับดูแลใช้อำนาจในการกำกับดูแล และให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประชาชนและสังคม มากกว่าประโยชน์ในการค้าขาย ที่มา Press release of die Bundesnetzagentur 27.05.2011 หมายเหตุ Die Bundesnetzagentur ( Federal Network Agency) ทำหน้าที่ เป็นผู้กำกับดูแลโครงข่าย ขนาดใหญ่ของประเทศ ได้แก่ ไฟฟ้า ท่อขนส่งก๊าซ โทรคมนาคม รางรถไฟ และไปรษณีย์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 Social TV เมื่อผู้บริโภค มีช่องทางในการสื่อสารเพิ่มมากขึ้น

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการตอนนี้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) มีมติเห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตัล และ มีมติเห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตเพิ่มเติมในส่วนการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตัล พร้อมให้นำร่างประกาศทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง จะเห็นได้ว่าสังคมกำลังเดินหน้าไปสู่การสื่อสารยุคดิจิตัล การให้ความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นกับผู้บริโภค เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตัลเป็นสิ่งสำคัญ วันนี้ผมขอนำสถานการณ์เกี่ยวกับ เรื่อง Social TV ของเยอรมนี ที่อยู่ในยุคทีวีดิจิตัลมานำเสนอครับ การบริโภคสื่อโดยเฉพาะการดูโทรทัศน์ในเยอรมนี ได้เปลี่ยนรูปแบบการรับชมเนื่องมาจาก การเข้ามามีบทบาทของ Social Network ได้แก่ Facebook และ Twitter ตลอดจนการขยายตัวของ smart phone ที่ เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสื่อสารของผู้บริโภค   คำว่า Social TV เกิดขึ้นจากการหลอมรวมของเทคโนโลยีระหว่าง โทรทัศน์ และ Social Media จากผลสำรวจของบริษัท Viacom Media Network ของเยอรมนี ซึ่งได้ทำการสำรวจและวิเคราะห์พฤติกรรม การบริโภคสื่อในรูปของ Social TV ผลการสำรวจกิจกรรมที่ผู้บริโภคนิยมมากที่สุดมีดังต่อไปนี้ รับชมรายการพร้อมกับเพื่อนๆ 85 % สืบค้นเนื้อหาและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับรายการทีวี 61% ดูวิดิโอบันทึกรายการ ผ่าน Social Media 58 % โดยผู้บริโภคที่รับชมรายการ Social TV ให้ความสำคัญกับ สามเรื่องดังนี้ การติดต่อสื่อสาร (Communication) สำรวจความเห็น (Check Comment) และ เนื่อหาของรายการ (Consume Content ) เรียกว่า เป็นสามเหลี่ยม สามซี ของการเสพสื่อของผู้บริโภคในยุคนี้ที่เดียว การที่ผู้บริโภครับชม รายการผ่าน Social TV ก็เนื่องจากต้องการข้อมูลและเนื้อหาเพิ่มเติม ที่ไม่ใช่เนื้อหาทั่วๆ ไป ยกตัวอย่างเช่น Behind the scene material, Episode หรือ Clip ที่เป็น Highlight  และด้วยความสามารถของ Smart Phone ที่เป็นเครื่องมือสื่อสารของคนในยุคดิจิตัล จึงสามารถใช้เครื่องมือนี้ ผ่านโปรแกรม ที่เรียกว่า Second Screen App ที่สามารถไปควบคุมการทำงานของโทรทัศน์ในบ้าน (First TV) สืบค้นเนื้อหาข้อมูล และแนะนำรายการต่อๆ ไปได้ นอกจากนี้ หัวใจของ Social TV คือ พฤติกรรมลักษณะ Socialize ได้แก่ การแลกเปลี่ยน ถกเถียง อภิปรายและแสดงความรู้สึกนึกคิดในสังคมออนไลน์เป็นวงกว้างได้  และที่สำคัญสำหรับในภาคธุรกิจที่สำคัญก็คือ การสั่งซื้อสินค้าและเล่นเกมส์ได้อีกด้วย ตัวอย่างของ App ที่เป็น Social TV คือ Zeebox, GetGlue Shazam และ Tweek (เป็น App ของเยอรมนี) IntoNow เป็น App ที่ทำหน้าที่ของ Social TV ที่มีอยู่ในตลาดขณะนี้ มีฟังค์ชัน ให้คำแนะนำสำหรับผู้บริโภคในราย (TV Guide) และสามารถจัดเก็บสถิติต่างๆ ไว้ด้วย บทสรุป Social TV เป็นความท้าทายของรายการทีวีที่มีจำนวนผู้เข้าชมรายการเป็นจำนวนมาก เช่น Academy Fantasia, Thailand Got Talent หรือ การแข่งขันกีฬาแมตช์สำคัญๆ ว่าจะใช้ Social TV เป็นเครื่องมือสำคัญในการมีปฏิสัมพันธ์ (Interactive) ระหว่างรายการทีวีและผู้บริโภคสื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและแสดงตัวตนได้อย่างไร  เพราะปัจจุบันช่องทางที่ผู้บริโภคใช้ในการสื่อสารไปยังรายการต่างๆ คือ SMS ซึ่งยังเป็นการสื่อสารแบบทางเดียวอยู่ ยังมีข้อจำกัดมากในเรื่องของการเข้ามาร่วมเล่นในรายการที่เป็น Social Event ในขณะนี้ และที่สำคัญ ส่ง SMS มันครั้งละสามบาทครับ ในโลกออนไลน์และยุคดิจิตัล ถือว่ามันยังแพงเกินไปครับ แหล่งข้อมูล Guido Bülow, Das Fernsehen im Wandel- Second Screen Apps für das Social TV, 21. Symposium Deutsche TV-Plattform, 2012  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 ปัญหาลิขสิทธิ์ เมื่อเข้าสู่ยุคหลอมรวมเทคโนโลยี ในเยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ สำหรับบทความในวันนี้ จะขออธิบายสถานการณ์การแพร่ภาพโทรทัศน์ ของประเทศเยอรมนี ที่มีการเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณทีวีจากระบบอนาลอก มาเป็นระบบดิจิตอล สมบูรณ์แบบ และมีการหลอมรวมเทคโนโลยี คือประชาชนสามารถเลือกชมรายการโทรทัศน์ผ่านเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ และรับชมรายการผ่านอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่เรียกว่า ทีวีออนไลน์ได้ทั้งสองช่องทาง ความสะดวกในการรับชมรายการโทรทัศน์ผ่านทางอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงนั้นเป็นที่นิยมในเยอรมันอย่างมาก เพราะสามารถรับชมรายการโทรทัศน์ได้ทุกที่ และทุกเวลา สามารถเลือกชมรายการที่แพร่ภาพผ่านไปแล้วก็ได้ และที่น่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับการชมรายการผ่านระบบอินเตอร์เน็ตคือ สามารถบันทึกรายการต่างๆ ที่ชื่นชอบ เพื่อนำมาดูกี่ครั้งๆ ก็ได้เช่นกัน สำหรับการนำรายการที่เผยแพร่ออกอากาศมาบันทึกเก็บไว้ เป็นการส่วนตัวนั้น  สมัยก่อนก็เคยเกิดคดีฟ้องร้องระหว่างบริษัทที่สร้างหนังของฮอลลิวูด กับบริษัทโซนี่ เนื่องจากบริษัทที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ เกรงว่าความสามารถในการบันทึกเนื้อหาลงบนวิดีโอเทปนั้น จะทำให้รายได้ของบริษัทผู้สร้างหนังลดลง เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของตนเอง คดีฟ้องร้องดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 35 ปีที่แล้วเป็นที่ฮือฮาในประเทศสหรัฐอเมริกา คดีประวัติศาสตร์นี้มีชื่อว่า Betamax-Case และผลของคำตัดสินของศาลฎีกาสูงสุด (US supreme court) ได้ตัดสินให้โซนี่ชนะคดี ทำให้เรา(ผู้ที่ชื่นชอบการดูหนัง) สามารถบันทึกภาพยนตร์ลงบนวิดีโอเทปได้ เพื่อนำมาชมซ้ำเป็นการส่วนตัว 35 ปีให้หลังเกิดคดีลักษณะคล้ายๆ กันในประเทศเยอรมนี เนื่องจากสถานีโทรทัศน์เอกชนยักษ์ใหญ่สองช่อง คือ RTL และ SAT1 กำลังดำเนินคดีฟ้องร้องเวบไซต์ที่ให้บริการ การบันทึกการแพร่ภาพอัตโนมัติผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (Online Recorder) เนื่องจากในเยอรมันมีเวบไซต์ให้บริการการบันทึกรายการอัตโนมัติ คือ Save.tv และ Bong.tv เวบไซต์ดังกล่าวสามารถค้นหารายการโทรทัศน์ และบันทึกรายการแบบอัตโนมัติผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ทั้งสองช่องมักจะมีรายการดีๆ กีฬาดี และซีรีส์ดีๆ มานำเสนอต่อผู้ชม จึงมีจำนวนเรตติ้งค่อนข้างสูงกว่าช่องทีวีสาธารณะ ใครที่เป็นสมาชิก save.tv หรือ Bong.tv สามารถตั้งโปรแกรมให้บันทึกเนื้อหาได้แบบอัตโนมัติ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิดอินเตอร์เน็ตทิ้งไว้เลย เมื่อโปรแกรมทำการบันทึกรายการเสร็จแล้ว ผู้ชมสามารถที่จะชมรายการออนไลน์ โดยการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต หรือสามารถดาวน์โหลดรายการที่ชื่นชอบเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนตัว แล้วอยากจะชมรายการตอนไหนก็ได้ เนื่องจากทางฝั่งสถานีโทรทัศน์เกรงในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ จึงได้ฟ้องเวบไซต์ที่ให้บริการดังกล่าว แต่ศาลสูงของเยอรมันได้ตัดสินให้เวบไซต์ที่ให้บริการ Online Recorder ชนะคดี โดยให้เหตุผลว่าการบันทึกรายการโทรทัศน์ดังกล่าวเป็นไปเพื่อการใช้งานส่วนบุคคล (BGH, Az. I ZR 215/06 และ I ZR 175/07 ราคาการสมัครเป็นสมาชิกของเวบไซต์ online recorder ดังกล่าวก็ไม่แพง เพียง 10 ยูโรต่อเดือน ซึ่งถูกกว่าค่าธรรมเนียมบำรุงทีวีสาธารณะ ซึ่งเป็นหน้าที่ ที่ทุกครอบครัวต้องจ่ายสมทบให้กับ สำนักงานจัดเก็บค่าธรรมเนียมการบริโภคสื่อสาธารณะ (Die Gebühreneinzugszentrale GEZ) ในราคา 18 ยูโร ถึงแม้สถานีโทรทัศน์เอกชนทั้งสองช่องจะแพ้คดี แต่ก็ยังไม่ลดละความพยายาม  โดยที่จะปิดช่องว่างทางธุรกิจการบันทึกรายการออนไลน์ ก็ได้มีแผนที่จะสร้าง Mediathek (คลังของรายการโทรทัศน์ที่ได้ออกอากาศไปแล้ว) เนื่องจากรายได้ที่สำคัญของสถานีโทรทัศน์และรายการขึ้นอยู่กับเรตติ้ง การเข้าชมรายการ หากทางสถานีไม่เสนอบริการนี้ ก็จะเสียประโยชน์ตรงส่วนนี้ไป ในประเด็นข้อกฎหมายการบันทึกรายการโทรทัศน์อีกประเด็นหนึ่ง ที่ยังอยู่ในการฟ้องร้องระหว่างเวบไซต์ให้บริการ online recorder กับสถานีโทรทัศน์ ก็คือ เวบไซต์ onlinetvrecorder.com มี option การดึงรายการจากโทรทัศน์ที่ผู้ชมเองไม่ได้ทำการบันทึกเก็บไว้ ตรงนี้เลยกลายเป็นประเด็นว่าอาจละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ได้ ซึ่งคดีนี้ยังอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลอยู่ ในอนาคตองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคอาจต้องเข้ามาช่วยเหลือให้คำแนะนำ ในประเด็นนี้ครับ เพราะการละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ ผู้บริโภคมักจะเสียค่าปรับ หรือค่าเตือนเป็นวงเงินที่สูงมาก ซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ผู้บริโภคสื่อในยุโรปประสบปัญหาอยู่ครับ ที่มา (Finanztest 9/2012)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 138 บทเรียนจาก ทีวีอนาลอก สู่ยุคดิจิตอล: บทสรุปของความสำเร็จในประเทศเยอรมนี (ตอนจบ)

สำหรับบทความในวันนี้ จะขอแปลบทสรุปของประเทศเยอรมนี การเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณทีวีจากระบบอนาลอก มาเป็นระบบดิจิตอล (Digital Video Broadcasting- Terrestrial: DVB-T)  ซึ่งคาดว่าประเทศไทยน่าจะใช้ระบบการส่งสัญญาณแบบนี้ในอนาคต ตามแผนแม่บทกิจการโทรทัศน์ที่ได้กำหนดให้ประเทศไทยต้องมีการเปลี่ยนการส่งสัญญาณโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอล นอกจาก กสทช.ที่เป็นองค์กรกำกับดูแลแล้ว หน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาทำงานร่วมกัน และต้องทำอย่างจริงจัง ไม่เกี่ยงงอนปัดความรับผิดชอบ ทำงานแบบร่วมไม้ร่วมมือกัน ทั้งฝ่ายรัฐบาลรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง และสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ผลประโยชน์โดยรวมก็จะตกถึงประชาชนคนไทยตามเจตนารมณ์ของแผนแม่บทที่ได้ประกาศไว้   ปี 2003 ทดสอบการส่งสัญญาณระบบดิจิตอล ในเชิงพาณิชย์ เป็นครั้งแรกในเขตพื้นที่ เบอร์ลินและพอรท์สดัม หลังจากทดสอบนานกว่า 6 เดือน ซึ่งการทดสอบครั้งนี้ได้นำไปสู่  โครงการนำร่องในการส่งสัญญาณแบบดิจิตอล ของการส่งสัญญาณทั่วประเทศเยอรมนี   ปี 2005 สถานีโทรทัศน์สาธารณะ(ฟรีทีวี) ทั้งสองช่อง คือ ช่อง ARD และ ZDF ได้ทำการตกลงร่วมกันในการติดตั้งและสร้างโครงข่ายสถานีกระจายสัญญาณให้คลอบคลุมการเข้าถึงสัญญาณ ของประชากร 90 %ทั้งประเทศ และตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา ก็ได้มีการขยายการส่งสัญญาณออกไปยังรัฐอื่นตามมา เริ่มจาก รัฐเมคเคลนบวร์ก ทางตะวันออก และสามารถเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณเสร็จสมบูรณ์ ในปี 2008 สำหรับความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีครั้งนี้ คือการที่ประชาชนได้ตัดสินใจ ยอมรับการรับสัญญาณในระบบดิจิตอล สืบเนื่องมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สถานีโทรทัศน์สาธารณะ หน่วยงานกกำกับดูแลด้านกิจการโทรทัศน์ ได้ทำการประชาสัมพันธ์ ให้กับภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาคสื่อสารมวลชน อย่างต่อเนื่อง มีการจัดตั้งหน่วยงานประชาสัมพันธ์ ในระดับภูมิภาค เพื่อให้ข้อมูลกับประชาชน และเตรียมความพร้อมในการรับสัญญาณ เนื่องจากในประเทศเยอรมนีการส่งสัญญาณภาคพื้นดินคลอบคลุมถึง 90% ของจำนวนประชากรทั้งหมด การส่งสัญญาณแบบดิจิตอลจึงส่งสัญญาณเป็นแบบ DVB-T (Digital Video Broadcasting- Terrestik*) นอกจากนี้ประชากรกว่า 30% ก็สามารถรับสัญญาณด้วยหนวดกุ้งได้ และจากรายงานของสมาคมผู้ประกอบการเครื่องรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ (Gesellschaft für Unterhaltungs- und Kommunikationselektronik) สามารถจำหน่ายเครื่องรับโทรทัศน์ได้มากกว่า 16 ล้านเครื่อง (ข้อมูลวันที่ 21 พฤศจิกายน  2008) ซึ่งเครื่องรับโทรทัศน์ในยุคปัจจุบันนี้ ก็เป็นโทรทัศน์จอแบน ที่ได้ออกแบบมาให้สามารถรับสัญญาณแบบดิจิตอลได้ โดยไม่ต้องไปเพิ่มอุปกรณ์เสริมใดๆ อีก นอกจากนี้การรับสัญญาณโดโทรทัศน์โดยตรงผ่านคอมพิวเตอร์ แล็บทอป ก็สามารถทำได้โดยใช้อุปกรณ์เสริม ในส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ได้ทำการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณโทรทัศน์แบบดิจิตอลในรถยนต์มาตั้งแต่ ปี 2002 จากข้อมูลของกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ มีการติดตั้งทีวีดิจิตอลในรถยนต์ไปแล้วกว่า 550,000 คัน ในส่วนของการรับประกันคุณภาพของอุปกรณ์รับสัญญาณแบบดิจิตอลนั้น ก็ได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการทำงานของอุปกรณ์ประเภทนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถมั่นใจในการเลือกซื้ออุปกรณ์ดังกล่าว ว่าจะได้รับอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ ซึ่งอุปกรณ์ใดๆ ผ่านการทดสอบมาตรฐานดังกล่าว ก็จะได้รับเครื่องหมายนี้ แผนการในอนาคต เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการส่งสัญญาณจากอนาลอกมาเป็นดิจิตอล จะต้องคำนึงถึงประเด็น Digital Divide เพราะคลื่นที่เคยใช้ส่งสัญญาณในช่วงความถี่ (UHF: Ultra High Frequency) จะว่างลง ซึ่งจะต้องมีการวางแผนและเตรียมการใช้คลื่นความถี่นี้ ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างสูงสุด และประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจะต้องคำนึงถึง ความเป็นมิตรต่อผู้บริโภค สร้างภาระและข้อจำกัดกับผู้บริโภคให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ -------------- หมายเหตุ : ระบบการส่งสัญญาณแบบดิจิตอลของเยอรมนีจะมี 3 ประเภทได้แก่ DVB-T: Digital Video Broadcast-Terrestrial การส่งสัญญาณดิจิตอลภาคพื้นดิน DVB-S: Digital Video Broadcast-Satellite การส่งสัญญาณดิจิตอลระบบดาวเทียม DVB-C: Digital Video Broadcast- Cable การส่งสัญญาณดิจิตอลระบบเคเบิล

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 137 บทเรียนจาก ทีวีอนาลอก สู่ยุคดิจิตอล : บทสรุปของความสำเร็จในประเทศเยอรมนี

คดีระหว่างองค์กรผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็น ช่อง 3, 5 ช่อง 9 อสมท. และกองทัพบกยังไม่จบครับ แม้นจะเป็นที่น่าเสียดายที่ศาลไม่ยอมออกคำสั่งคุ้มครอง โดยศาลให้เหตุผลว่าหากศาลมีคำสั่งให้ทางทีวีสาธารณะเผยแพร่สัญญาณออกอากาศทุกช่องทาง อาจทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์ คือ UEFA สั่งระงับสัญญาณการถ่ายทอดสัญญาณได้ทันที ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจศาล และมีผลทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถรับชมบอลยูโรได้ และการที่ศาลไม่มีคำสั่งคุ้มครอง ก็ยังสามารถรับชมการถ่ายทอดสัญญาณผ่านช่องทางอื่นได้ (ถ้ายังจำกรณีวิกฤติระหว่างประเทศทั้งสองที่เครื่องบินส่วนพระองค์ถูกทางเยอรมันอาญัติไว้เป็นการชั่วคราว จนทำให้มีหลายคนในรัฐบาลเดือดร้อนกันไปตามๆ นั้น จะเห็นได้ว่า การตัดสินของศาลเยอรมนี จะคำนึงถึงหลักนิติธรรม เป็นที่ตั้ง ในกรณีนี้ หากเป็นศาลไทยผมยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่า ศาลคงหาเหตุผลมาอธิบายในการที่จะไม่ปฏิบัติตามหลักนิติธรรม ซึ่งประชาชนอย่างเราก็ต้องจับตามองการทำงานขององค์กรศาลด้วยเช่นกัน)   สำหรับประเด็นการทำผิดกฎหมายแล้วอยู่นอกเหนืออำนาจศาลนั้น เคยมีกรณีของศาลอาญาเยอรมนี ได้สั่งให้ทางเฟสบุค ซึ่งเป็นผู้เก็บข้อมูล ไว้ที่ประเทศไอร์แลนด์เหนือ ส่งหลักฐานมาให้ศาลเพื่อประกอบการพิจารณา จริงๆ แล้ว หากศาลของเรามีความตั้งใจจริงในการไต่สวน เพราะในคดีผู้บริโภคก็ได้เปิดช่องไว้เช่นกันนั้น น่าจะลองทำดู โดยการส่งหนังสือเรียก  UEFA มาเป็นพยานให้การ เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดี ที่ในอนาคตจะมีปัญหาเรื่องพรมแดนและขอบเขตอำนาจศาล ในประเด็นการทำผิดหรือละเมิด ในโลกไซเบอร์อย่างแน่นอน สำหรับบทความในวันนี้ จะแปลบทสรุปของประเทศเยอรมนี การเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณทีวีจากระบบอนาลอก มาเป็นระบบดิจิตอล (Digital Video Broadcasting- Terrestic: DVB-T) ซึ่งคาดว่าประเทศไทยน่าจะใช้ระบบการส่งสัญญาณแบบนี้ในอนาคต ใครอยากเตรียมความพร้อม ในเรื่องนี้ ผมจะหาข้อมูลมาเล่าให้ฟังเป็นระยะๆ เพราะขณะนี้ไม่มีองค์กรไหนที่ผู้บริโภคสามารถพึ่งพาได้เลย  เป็นเรื่องที่ต้องยึดถือพุทธสุภาษิตว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน รายงานฉบับนี้มีทั้งหมด 21 หน้าครับ สำหรับวันนี้ผมจะสรุปให้ฟังดังนี้ บทสรุปการเปลี่ยนการส่งสัญญาณแพร่ภาพและกระจายเสียงจากอนาลอกมาสู่แบบดิจิตัล (DVB-T) ตั้งแต่ปี ค ศ. 2008 เป็นต้นมาการเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณการแพร่ภาพจากแบบอนาลอก มาเป็นแบบดิจิตอลนั้น ของโทรทัศน์ภาคพื้นดินนั้นได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายทุกประการ  การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวนอกจากไม่ใช่จะเป็นไปตามที่ข้อกำหนดของกฎหมายที่ระบุไว้เพียงเท่านั้นแต่ยังดีกว่าที่กำหนดอีกด้วย เพราะ การเปลี่ยนการส่งสัญญาณแต่เดิมนั้น จะต้องทำให้เสร็จสิ้นในปี 2010 แต่การเปลี่ยนการส่งสัญญาณสำเร็จล่วงหน้าก่อน 2 ปี คือ ปี 2008 เนื่องจากการส่งสัญญาณภาคพื้นดินในเยอรมนีนั้น ครอบคลุมประชากรถึง 90 กว่า % ประชากรจำนวน 74 ล้านคนสามารถเข้าถึงการส่งสัญญาณแบบดิจิตอล (DVB-T) ผ่านเสาก้างปลา และประชากรจำนวน 24 ล้านคนสามารถรับสัญญาณด้วยเสาหนวดกุ้งได้เช่นกัน ขณะนี้ (เดือน ธันวาคม 2008) สามารถขายเครื่องแปลงสัญญาณได้มากกว่า 16 ล้านเครื่อง หมายความว่าเรากำลังเข้าสู่ยุค เรเนสซองส์ ของการรับส่งสัญญาณภาคพื้นดิน  Renaissance of the Terrestic) การตัดสินใจในการเปลี่ยนเทคโนโลยีการส่งสัญญาณนั้นนับได้ว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง และนำพาประเทศไปสู่ความทันสมัย การส่งสัญญาณแบบดิจิตอลนี้ มีส่วนช่วยกระตุ้นการแข่งขันของตลาดการส่งสัญญาณแพร่ภาพ และมีผลต่อตลาดเครื่องรับโทรทัศน์แบบมือถือ (Mobile- TV) และโทรทัศน์แบบเคลื่อนที่ (Portable- TV) อีกด้วย คอนเซปต์ในการเปลี่ยนการส่งสัญญาณ ปี ค.ศ. 1998 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐการ (Bundeswirtschaftministerium) ได้นำเสนอโครงการ ความคิดริเริ่มในการส่งสัญญาณแบบดิจิตอล (Inititative Digitaler  Rundfunk) โครงการดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเศรษฐการ และรัฐบาลท้องถิ่นของเยอรมนี ตลอดจนตัวแทนจากสถานีวิทยุโทรทัศน์สาธารณะ สถานีวิทยุโทรทัศน์เอกชน และองค์กรกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ (Federal Network Agency) และผู้ประกอบการให้บริการโครงข่ายสัญญาณ ก่อนที่จะได้ข้อสรุป การส่งสัญญาณแพร่ภาพกระจายเสียงมาเป็นระบบดิจิตอลนั้น ได้มีการนำเสนอโมเดลรูปแบบต่างๆ เพื่อทำการทดลอง ปี ค.ศ. 1998- 2004 ได้ติดตั้งและทดสอบโครงข่ายส่งสัญญาณทางตอนเหนือของประเทศเยอรมนี ได้แก่ ระหว่างเมือง โวล์ฟสบวร์ก (Wolfsburg) ถึงเมือง เบรเมนฮาเวน (Bremenhaven) และระหว่างเมืองฮันโนเวอร์ (Hannover) ถึงเมืองฮัมบวร์ก (Hammburg) นอกจากนี้ยังได้ทดลองส่งสัญญาณในกรุงเบอร์ลิน ตามสนธิสัญญาเชสเตอร์ (Chester Agreement) ปี 1997 การทดสอบดังกล่าวมีขึ้นเพื่อหาเงื่อนไข (Parameter) ที่ดีที่สุดในการส่งสัญญาณ ปี 1997-1999 ทดสอบระบบส่งสัญญาณดิจิตอล แบบ DVB-T ในย่านเมืองมิวนิค รัฐบาวาเรียทางตอนใต้ของเยอรมนี ที่เมืองโคโลญจ์ ทดสอบการรับสัญญาณด้วยเครื่องทีวีแบบพกพา ภายใต้การเคลื่อนที่ความเร็วสูง(เรียกว่า การทดสอบ Maserati-Test : เนื่องจากทดสอบภายใต้การรับสัญญาณที่ความเร็วสูง เหมือนกับรถสปอร์ต Maserati) ปี 2000 มีการจัดงานงาน EXPO 2000 ที่เมืองฮันโนเวอร์(มีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเราหลายคนไปเยี่ยมชมงานนี้กัน) ซึ่งทางเยอรมนีได้จัดเตรียมรถโฟล์กสวาเกน (VW) สำหรับรับแขกบ้านแขกเมืองที่ไปเยี่ยมชมงานนี้ ในรถรับรองแขกบ้านแขกเมืองนั้น ได้ติดตั้งระบบรับสัญญาณ DVB-T จนนำมาสู่การยอมรับของระบบส่งสัญญาณและแพร่ภาพด้วยระบบนี้ วันนี้หมดเนื้อที่สัมปทานครับ ไว้มารายงานต่อคราวหน้า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 136 บทเรียน ทีวี จอดำ กับมาตรการป้องกันผู้บริโภคจากการถูกเอาเปรียบ

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการการแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาติยุโรป หรือ ศึกยูโร 2012 เป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะแต่สำหรับคนที่สนใจในเกมส์การแข่งขันแล้ว แต่สำหรับคนทำงานเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชน น่าจะใช้เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียน โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ชมโทรทัศน์ในบ้านเรา ที่จะมีการเปลี่ยนระบบส่งสัญญาณโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอลในอนาคตอันใกล้นี้ ใครที่เป็นสมาชิกทรูวิชันส์ ดูทีวีผ่านระบบเคเบิล หรือผ่านระบบดาวเทียมนั้นต่างก็ก่นด่า และเบื่อหน่ายรำคาญ กับการเห็นแก่ได้ของฝ่ายทุน ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ทรู แกรมมี หรือแม้แต่ สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีเองก็ตาม การเอาเปรียบผู้บริโภคโดยอาศัยลิขสิทธิ์ในทางการค้านั้น แม้แต่ในประเทศเยอรมนีเอง ที่ภาคประชาชนเข้มแข็ง ภาคการเมืองเป็นอิสระจากระบบทุนมากกว่าของไทยเรา เพราะพรรคการเมืองไม่ได้อยู่ภายใต้อาณัติของระบบทุนนิยมสามานย์ นั้น มีการจัดการอย่างไรในเรื่องนี้ บทความฉบับนี้ผมขออนุญาตนำบทเรียนจากทางเยอรมันมาเล่าสู่กันฟังครับ   ผู้บริโภคโดนจำกัดสิทธิ เพราะเทคโนโลยีก้าวล้ำ แต่คุณธรรมที่ล้าหลัง ในประเทศเยอรมนีเองนั้น หลังจากเปลี่ยนการแพร่สัญญาณโทรทัศน์จากระบบอนาลอกมาเป็นระบบดิจิตอลโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2012 แล้ว ผู้บริโภคก็ประสบปัญหาไม่สามารถรับชม รายการโทรทัศน์ทั้งจาก ฟรีทีวีได้ ถึงแม้ว่า จะมีช่องฟรีทีวีที่หลากหลาย และรายได้ของช่องสถานีฟรีทีวีจะมาจากโฆษณาก็ตาม ช่องรายการของโทรทัศน์สาธารณะที่มีอยู่  2 ช่องในระดับสหพันธรัฐ และอีก 1 ช่องในระดับรัฐบาลท้องถิ่น ที่ทำหน้าที่และมีบทบาทเหมือนกับช่องไทย พีบีเอสบ้านเรา ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทผู้ให้บริการเคเบิลทีวี และผู้ให้บริการทีวีดาวเทียม ต้องการจะขายเครื่องรับสัญญาณของตนให้กับผู้บริโภคโดยถือโอกาสใช้การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีไปใช้ในการหาประโยชน์ในทางธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคส่วนมากก็จะต้องเสียค่าบริการรายเดือนเหมือนกับบ้านเรา และที่ร้ายไปกว่านั้น ในกรณีที่ผู้บริโภคย้ายที่อยู่จากมลรัฐหนึ่งไปอยู่อีกมลรัฐหนึ่ง กล่องรับสัญญาณที่ผู้บริโภคมีอยู่เดิมนั้นไม่สามารถรับสัญญาณได้อีกต่อไป ต้องไปซื้อกล่องรับสัญญาณอีก เพราะในการเปลี่ยนผู้ให้บริการนั้น ก็ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์รับสัญญาณไปด้วย ในกรณีนี้ ผู้บริโภคจะจ่ายสองเด้ง คือ จ่ายในรูปของภาษี เพราะช่องรายการโทรทัศน์สาธารณะนั้น จะได้รับเงินสนับสนุนจากภาษีของประชาชน แต่ถ้าผู้บริโภคอยากจะดูรายการก็ต้องจ่ายสตางค์เพื่อจะซื้อกล่องรับสัญญาณอีก ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายแล้ว รัฐจะต้องดำเนินนโยบายให้ประชาชนเข้าถึงรายการสาธารณะโดยทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ในกรณีของฟรีทีวี ซึ่งมีรายได้จากการขายเวลาโฆษณา ถึงแม้นว่าประชาชนได้ชมรายการจากฟรีทีวี ก็ต้องดูโฆษณาจากฟรีทีวีด้วย ผู้ประกอบการฟรีทีวีได้รับรายได้สองต่อคือค่าโฆษณาและเงินรายได้จากสถานีโทรทัศน์ที่ต้องการเพิ่ม rating ให้กับสถานีของตน แต่ประชาชนขาดทุนสองเด้งเช่นกัน คือ จ่ายค่าสมาชิกให้กับบริษัทประกอบกิจการเคเบิลทีวี และจ่ายภาษีให้กับรัฐด้วย   ผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคในเยอรมันทำอย่างไร ผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคที่เกี่ยวข้อง เช่น สหพันธ์องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค (VZBV) และ สหพันธ์องค์กรคุ้มครองสิทธิคนอยู่บ้านเช่า (Der Deutsche Mieterbund) และสหพันธ์องค์กรผู้ประกอบกิจการที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ (Bundesverband deutscher Wohnungs- und Immobilienunternehmen) ได้ทำหนังสือแถลงการณ์ประท้วงไปยังรัฐบาลท้องถิ่น และรัฐบาลกลางเพื่อให้เปลี่ยนแปลงนโยบายที่ไม่ได้เป็นมิตรกับผู้บริโภคในเรื่องการเข้าถึงสื่อทีวีสาธารณะเช่นนี้ พร้อมกับสนับสนุนให้องค์กรผู้บริโภค ได้จัดเวทีสานเสวนา (Dialog) ถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค (น่าสังเกตว่านักการเมือง ของเขานั้น ไม่ได้เติบโตมาจากกลุ่มทุน แต่เติบโตมาจากพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองจริงๆ แยกออกมาจากกลุ่มธุรกิจอย่างสิ้นเชิง กรรมการบริหารพรรค ไม่ได้มีรากเหง้ามาจากแวดวงธุรกิจเหมือนกับนักการเมืองส่วนใหญ่ในบ้านเรา)   บทเรียนของเยอรมนีกับการกำกับดูแลภายใต้ กสทช. สำหรับองค์กรคุ้มครองสิทธิคนอยู่บ้านเช่านั้น เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ เพราะ คนเยอรมันส่วนใหญ่ ไม่มีบ้านหรือที่ดินเป็นของตนเอง จะอยู่ห้องเช่า (Wohnung) เป็นส่วนมากของจำนวนประชากรทั้งหมด เพราะฉะนั้นมีความจำเป็นในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของคนที่อยู่บ้านเช่าเพื่อมิให้ถูกบริษัทธุรกิจทำบ้านให้เช่านั้นเอาเปรียบ เนื่องจากบ้านเช่าหรือห้องเช่าในเยอรมนีนั้นส่วนมากจะมีระบบรับสัญญาณเคเบิลทีวี  อยู่ในห้องแล้วเรียบร้อย ผู้เช่าห้องสามารถบอกรับการเป็นสมาชิกได้เลย ไม่ต้องทำเรื่องติดตั้ง หรือต่อสายเข้ามาในบ้านเหมือนบ้านเรา สำหรับเรื่องการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณเคเบิลนั้น กสทช. สมควรจะเข้ามาควบคุมดูแล ร่วมกับบริษัทเอกชน เพราะเป็นเรื่องโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน หาก กสทช. กำกับดูแลดี ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์และเข้าถึงสัญญาณโทรทัศน์ได้อย่างทั่วถึง ประกอบกับจะเกิดการใช้ทรัพยากรของชาติอย่างคุ้มค่า ซึ่งได้กำหนดไว้ในแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2555- 2559 ภายใต้ยุทธศาสตร์ ที่3 การกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มีการแก้ไขเยียวยาปัญหาอย่างรวดเร็วและไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งถึงแม้นว่า กสทช. จะออกคำสั่งทางปกครองสั่งปรับทรู วิชันส์ วันละสองหมื่นบาทนั้น ย่อมเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด มูลค่าในการสั่งปรับน้อยมาก ไม่กระทบกระเทือนกับธุรกิจ  และไม่สามารถเยียวยาผู้บริโภคได้เลย หลังจบฟุตบอลยูโรแล้ว กสทช. ฟรีทีวี และทีวีสาธารณะอาจต้องร่วมกันหามาตรการป้องกันการผูกขาด ที่มาในรูปของลิขสิทธิ์ที่กลุ่มทุนนำมาใช้เป็นเครื่องมือ ในการจำกัดสิทธิผู้บริโภคในการเข้าถึง Event ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอลโลก ฟุตบอลยูโร และกีฬาโอลิมปิคในอนาคต เหมือนกับที่สื่อสาธารณะของเยอรมนี ไม่ยอมก้มหัวให้กับการหากำไรของทุนนิยมในประเทศของเขาครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 135 Broadband

  โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการนโยบายในด้าน Broadband ของรัฐบาลเยอรมนี สภาสูงแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี (Bundesrat) มีมติเห็นชอบ พรบ. โทรคมนาคม (Telekommunikation Gesetz: TKG) เมื่อวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเนื้อหาใน พรบ.ดังกล่าว ส่งผลให้ผู้บริโภคที่ใช้บริการ call center  ขณะรอสาย ไม่ต้องจ่ายค่าใช้บริการ เนื่องจากในปัจจุบัน มีผู้ให้บริการบางราย คิดค่าใช้บริการ call center ในช่วงที่รอสายเป็นราคาที่สูงมาก เอาเปรียบผู้บริโภค กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา( Bundesgesetzblatt (Federal Law Gazette) ในเร็วๆ นี้   กฎหมายดังกล่าวได้ผ่าน การลงมติเห็นชอบในสภาล่าง (Bundestag) มาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา แต่มาติดขัดในชั้นการพิจารณาของสภาสูง เนื่องจากมีประเด็นถกเถียงกันในเรื่อง การลงทุนสร้างเครือข่าย Braodband เนื่องจาก สภาสูงซึ่งเป็นตัวแทนของฝ่ายมลรัฐต่างๆ นั้น ไม่เห็นด้วยที่จะใช้เงินภาษีของประชาชน ในการลงทุนครั้งนี้ จนกระทั่งเมื่อวันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมาธิการร่วมได้เห็นชอบกับร่าง พรบ.ดังกล่าว ซึ่งในร่างที่กรรมาธิการเห็นชอบนั้น  ทำให้แต่ละมลรัฐสามารถประหยัดงบประมาณในการลงทุนถึง  90,000 ล้านยูโร และสามารถทำให้เกิดอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีก 10,000 ตำแหน่ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับบริษัทขนาดกลางและบริษัทขนาดเล็ก ตามคำให้สัมภาษณ์ของ นางเคลาเดีย เบอร์เกล โฆษกพรรคร่วมรัฐบาลของพรรค FDP (Free Democratic Party) โดยได้มีการตกลงภายในกรรมาธิการร่วมที่ผ่านมา โดยรัฐบาลกลางจะจัดสรรงบประมาณที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ 4G เมื่อ 2 ปีที่แล้วให้กับแต่ละมลรัฐ สำหรับการลงทุนในโครงสร้าง Broadband จะให้ภาคเอกชนลงทุน ผ่านความช่วยเหลือจาก ธนาคารเพื่อส่งเสริมการลงทุนของรัฐ (Kreditanstalt für Wiederaufbau) โดยจะเก็บค่าใช้โครงข่าย Broadband จากภาคเอกชนภายใต้หลักการ “ใครใช้คนนั้นต้องจ่าย” สำหรับในพื้นที่ ที่ห่างไกล ไม่สามารถเชื่อมต่อกับโครงข่าย Broadband และไม่สามารถดำเนินการในเชิงธุรกิจได้นั้น ทางรัฐบาลจะสนับสนุนให้ใช้การใช้การเชื่อมต่อโดยใช้คลื่นความถี่แทน   กรณีเปรียบเทียบประเทศไทย สำหรับประเทศไทยนั้น ในด้านการประมูล 3 G เรากำลังตั้งตารอคอยให้เกิดการประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในไตรมาสสามของปีนี้ ซึ่งหลายฝ่าย อยากให้การประมูลครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ภายใต้หลักการ โปร่งใส เป็นธรรม และส่งเสริมการแข่งขัน และมีมิติด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเงื่อนไขที่สำคัญสำหรับการประมูลครั้งนี้ เหมือนกับที่หลายๆ ประเทศใช้เป็นเงื่อนไขในการเปิดประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นทรัพยากรแผ่นดินที่มีมูลค่ามหาศาล ความจริงแล้วในประเด็นเรื่องมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ในด้านการใช้บริการ call center นั้น สำหรับบริการโทรคมนาคมได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ ในประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2549 เรื่องกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ หมวดสอง หน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตให้บริการ ข้อ 15 ให้ผู้รับใบอนุญาตให้บริการมีหน้าที่จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นแยกออกจากหน่วยงานตอบคำถามหรือข้อสงสัยทั่วไป  เพื่อทำหน้าที่ดูแลการรับเรื่องร้องเรียนและการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนโดยไม่คิดค่าธรรมเนียมและค่าบริการ และจัดให้มีบริการรับแจ้งเรื่องร้องเรียนทางโทรศัพท์ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย...   จะเห็นว่าผู้บริโภคได้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมจากประกาศฉบับนี้ สำหรับกิจการโทรคมนาคม ในอนาคตหาก พรบ. องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่กำลังรอการพิจารณาของทั้งสองสภาอยู่ตอนนี้ อยู่รอดปลอดภัยไม่ถูกดองจนแท้งไปเสียก่อนแล้ว ประชาชนผู้บริโภคคนไทย อาจจะได้เห็นกฎหมายและมาตรการดีๆ  ที่จะตามมาอีกหลายฉบับ เพราะองค์การอิสระนี้มีหน้าที่ในการเสนอความเห็นในการออกกฎหมาย ที่จะมีผลกระทบกับผู้บริโภค และจะมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากสำหรับเขตการค้าเสรี AEC ในปี 2558 ภายใต้หลักการที่ว่า การค้าเสรีที่ไม่เอาเปรียบ (ผู้บริโภค)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 134 เฟสบุค กับมาตรการการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ   ปัจจุบันนี้โปรแกรมโซเชียลมีเดีย เช่น เฟสบุค ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อผู้คนในสังคมไทยเป็นอย่างมาก หลายๆ คนนิยมติดต่อ สื่อสาร แสดงสถานะของตนเอง ตลอดจนเปิดเผยข้อมูลที่ อาจจะเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นส่วนตัว และการเปิดเผยข้อมูลบางประการ ซึ่งอาจทำให้เป็นช่องทางที่พวกมิจฉาชีพทั้งหลายเข้ามาทำร้ายเราได้ และโดยในเฉพาะปัจจุบันนี้ ภัยจากสงครามปรองดอง บางส่วนก็ยังคงใช้โซเชียลมีเดียเป็นสนามรบแทนที่จะใช้เป็นสนามรัก เรื่องนี้ เป็นโจทย์ที่ทุกภาคส่วนของสังคมต้องตั้งสติและเตรียมตัว ให้ดีว่า เราจะช่วยกันป้องกันภัยคุกคามที่มาพร้อมกับการติดต่อสื่อสารที่ไร้พรมแดนนี้ได้อย่างไร บทความตอนนี้ขออนุญาตเล่าสถานการณ์ เรื่องเฟสบุค ในประเทศเยอรมนี ต่อกรณีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่น่าจะมีประโยชน์กับผู้บริโภค และหน่วยงานราชการ องค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้บ้าง ตลอดจนได้แนะนำวิธีปฏิบัติเบื้องต้นไปพลางๆ สำหรับผู้บริโภคก่อน ที่ภาครัฐและฝ่ายนิติบัญญัติจะสามารถกลับมาทำหน้าที่ เป็นที่พึ่งของประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้ครับ   เพื่อนที่ไม่ได้เชิญหรือไม่ได้รู้จักมีอีเมล์จากเฟสบุคมาชวนเรา ใครก็ตามที่ได้เล่นเฟสบุค แล้วก็มักจะติดอกติดใจ และใช้เฟสบุคเพิ่มมากขึ้น โดยปรกติแล้วการเข้ามาในระบบ ฐานข้อมูลของเฟสบุคนั้น ไม่จำเป็นว่าคนนั้นต้องมีบัญชี (account) ในเฟสบุค เพราะเฟสบุคเองมีเครื่องมือที่เรียกว่า friend finder ที่เป็นโปรแกรมอัตโนมัติ คอยเสาะหาบุคคลที่จะเข้ามาเป็นเพื่อน หรือ เป็นเพื่อนของเราอยู่แล้วก็ได้ เพราะโปรแกรมเฟสบุคเองนั้นจะทำหน้าที่เสาะหาสมาชิกให้เข้ามาในเฟสบุค โดยเฟสบุคสามารถตรวจสอบข้อมูลจากเบอร์อีเมล์ของเพื่อนเราหรือคนรู้จักได้ เรียกเป็นภาษาเทคนิคว่า addressbook import ในกรณีที่พบเพื่อนหรือคนอื่นๆ ที่เราเคยรู้จัก เฟสบุคจะบอกเรา (user) ว่าใครบ้างที่ทำการลงทะเบียนใช้งานในเฟสบุคแล้วบ้าง หลังจากนั้นเฟสบุคก็จะทำการส่งคำเชิญชวนคนที่ยังไม่อยู่ในบัญชีเฟสบุคให้เข้ามาลงทะเบียนใช้เฟสบุค สำหรับคนที่ได้รับคำเชิญนั้นก็แบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่สนใจใช้งานเฟสบุค กับกลุ่มที่ไม่สนใจใช้งานเฟสบุค แต่คนทั้งสองกลุ่มที่ได้รับคำเชิญนั้น ข้อมูลของคนทั้งสองกลุ่มได้ถูกเก็บบันทึกไว้ในฐานข้อมูลของเฟสบุคแล้ว   กรณีที่เราอยากจะลบข้อมูลของเราในฐานข้อมูลของเฟสบุคต้องทำอย่างไร สำหรับประเทศไทยที่มาตรการการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังย่อหย่อน และรัฐไม่ได้เห็นเป็นเรื่องสำคัญอะไรมากนัก ก็อาจจะเป็นเรื่องยากอยู่แต่ในประเทศเยอรมนีที่มีกฎหมายดูแลเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนั้น จะมีคณะกรรมการอิสระคอยสอดส่องดูแลอยู่ นอกจากนี้ประชาชนและองค์กรภาคเอกชนก็เป็นกำลังสำคัญในการให้ข้อมูล ให้ความช่วยเหลือในด้านนี้กันเป็นอย่างดี และล่าสุดสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีฟ้องศาล* กรณีการทำงานหาสมาชิกแบบอัตโนมัติของ friend finder ถึงแม้ว่าศาลจะมีคำสั่งห้ามระบบการทำงานของ friend finder ก็ตามแต่ในความเป็นจริง friend finder ก็ยังคงทำงานอยู่นั่นเอง เพราะคดียังอยู่ในระหว่างชั้นอุทธรณ์ นั่นเป็นสถานการณ์ของเฟสบุคในเยอรมนี สำหรับคำแนะนำที่ผมได้อ่านมาจากองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคของเยอรมันสำหรับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคล ในทางเทคนิคเท่าที่ผู้บริโภคสามารถดำเนินการเองได้มีดังนี้ครับ กรณีที่เราได้รับอีเมล์เชิญให้สมัครเฟสบุคนั้น ในตอนท้ายของอีเมล์จะมีลิงค์ ให้เราเลือกว่าเราปฏิเสธการรับอีเมล์จากเฟสบุคอีกต่อไป อย่างไรก็ตามเฟสบุคก็ยังคงเก็บข้อมูลของเราไว้อยู่ดี ปิดบัญชีเฟสบุค สามารถทำได้ตลอดเวลา โดยคลิกไปที่ http://www.facebook.com/help/contact_us.php?id=220219108064043 หลังจากนั้นเราสามารถที่จะเลือกได้ว่าจะยกเลิกการใช้เฟสบุค หรือจะสั่งให้ลบข้อมูลของเราทั้งหมดออกจากเฟสบุคก็ได้ * องค์กรผู้บริโภคของเยอรมัน (VZBV) ได้ฟ้องเฟสบุคต่อศาล เมือง เบอร์ลิน (Landgericht Berlin) ให้สั่งห้ามระบบการทำงานของ friend finder เนื่องจากในหนังสือข้อตกลงของเฟสบุค (Term and Condition) นั้นละเมิดสิทธิ และผิดกฎหมายหลายอย่างตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (Civil Law Code) และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Bundesdatenschutzgesetz)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 เข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอล ผู้บริโภคต้องเตรียมตัวอย่างไร

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ สัญญาณแบบอนาลอก เป็นสัญญาณโทรทัศน์ที่จะหมดยุคภายใน 4-5 ปีนี้ เนื่องจากประเทศไทยเราจะก้าวเข้ามาสู่ยุคโทรทัศน์แบบดิจิตอล ซึ่งผู้บริโภคที่มีความรู้ในเรื่องเทคนิคอย่างค่อนข้างจำกัดนั้น สมควรที่จะต้องหาความรู้พื้นฐาน ตลอดจนการเตรียมการในการที่จะรับสัญญาณแบบใหม่นี้ ความรู้พื้นฐานที่ผู้บริโภคควรมีไว้กับตัวนั้น ผมนำมาจากความรู้ของคณะทำงานในการเตรียมตัวการเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลของเยอรมัน เนื่องจากประเทศเยอรมนีได้ก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลก่อนเราไปล่วงหน้าหลายปี องค์ความรู้ในด้านการเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนผู้ให้บริการ หน่วยงานกำกับดูแล และผู้บริโภค ประเทศเขาสามารถทำได้และทำร่วมกันได้เป็นอย่างดี เราสามารถขอหยิบยืมองค์ความรู้ของเขามาประยุกต์ใช้ในบ้านเราได้ ก็จะทำให้การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเป็นไปได้อย่างราบรื่น และเป็นภาระกับผู้บริโภคได้อย่างน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น ตอนนี้เรามี คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ครบถ้วนสมบูรณ์แบบแล้ว และเป็นความคาดหวังใหม่ของสังคม โดยเฉพาะในส่วนของผู้บริโภค ที่ไม่ต้องการการถูกเอารัดเอาเปรียบจากภาคธุรกิจเหมือนอย่างในอดีตที่ผ่านมา นอกจากการควบคุมกิจการในด้านนี้แล้ว ภารกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การให้ความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นกับผู้บริโภค เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลที่จะเดินเข้ามาหาเราในเร็วๆ นี้ การเตรียมความพร้อมในยุคของทีวีดิจิตอลนั้น สำหรับผู้บริโภคที่มีโทรทัศน์ที่รับสัญญาณผ่านเสาอากาศ ก็ต้องจัดหา อุปกรณ์ตัวแปลงสัญญาณที่เราเรียกว่า Set-Top-Box ที่จะแปลงสัญญาณจากอนาลอกมาเป็นดิจิตอล สำหรับทีวีที่มีจุดเชื่อมต่อเป็นแบบ สการ์ต (Scart) เวลาที่เราเลือกซื้อ Set Top Box นั้น ก็จะต้องพิจารณาดูว่า มีจุดเชื่อมต่อสำหรับ การต่อผ่านแผ่น สการ์ตหรือไม่ดังรูปที่ 1 ถ้าทีวีที่ไม่มีแผ่นสการ์ต แต่มีจุดเชื่อมต่อเป็น coaxial cable ก็ต้องเลือก Set-Top-Box ที่มีตัวรับตัวเสียบดังรูปที่ 2ในกรณีที่มีการเชื่อมต่อกับเครื่องเล่นดีวีดี หรือแอมปลิฟายเออร์ การเลือกซื้อ Set – Top- Box ก็ต้องพิจารณาด้วยว่า มีจุดที่สามารถเชื่อมต่อได้ทั้ง แผ่นสการ์ต และจุดเชื่อมต่อแบบโคแอกเซียลดังรูปที่ 3   บทสรุป ผู้บริโภคต้องเตรียมการสำรวจอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์เครื่องเล่นอิเลคทรอนิกส์ ที่มีอยู่แล้วในบ้าน เช่น โทรทัศน์ เครื่องเล่นวีดีโอ เครื่องเล่นดีวีดี และแอมปลิฟายเออร์ ว่า มีจุดเชื่อมต่อกี่จุด และมีจุดเชื่อมต่อเป็นแบบใดแล้ว ผู้บริโภคก็ควรจะเลือกอุปกรณ์ Set Top Box ที่เหมาะสมสามารถที่จะต่อเชื่อมเข้ากับเครื่องเล่นอิเลคทรอนิกส์ ที่มีอยู่แล้ว โดยดูจากจุดเชื่อมต่อของ Set top box ว่าจะมีจุดเชื่อมต่อให้หลายจุดและเพียงพอหรือไม่ ก่อนที่จะพิจารณาต่อในเรื่องคุณภาพของสัญญาณ และราคา ในส่วนของ กสทช. ควรต้องกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ Set Top Box ที่จะนำมาเสนอขายในท้องตลาด โดยกำหนดให้อุปกรณ์นั้นรองรับกับอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ที่มีอยู่ในครัวเรือนและที่ขายในตลาดบ้านเรา โดยเฉพาะการกำหนดจำนวนและประเภทของจุดเชื่อมต่อขั้นต่ำ ที่จะต้องมีจำนวนเพียงพอ เพื่อให้ผู้บริโภคไม่ต้องรับภาระมากเกินไปในการจัดหาอุปกรณ์เสริมและสายสัญญาณต่างๆ ที่จะต้องใช้ในการรับสัญญาณระบบดิจิตอลที่ได้เริ่มมีการทดลองออกอากาศกันบ้างแล้ว     รูปที่ 1 การเชื่อมต่อระหว่างเสารับสัญญาณและอุปกรณ์ Set Top Box ที่เป็นแบบแผ่นสการ์ต   รูปที่ 2 การเชื่อมต่อระหว่างเสารับสัญญาณและอุปกรณ์ Set Top Box ที่เป็นแบบสายโคแอกเซียล   รูปที่ 3 การเชื่อมต่อระหว่างเสารับสัญญาณและอุปกรณ์ Set Top Box ที่เป็นทั้งแบบสายสการ์ตและสายแบบโคแอกเซียล   แหล่งข้อมูลอ้างอิงwww.ueberallfernsehen.de

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 ข้อแนะนำในการเลือกซื้อ Tablet PC

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ นโยบาย One Tablet per One Child ของรัฐบาลก็ยังคงเดินหน้าต่อไป บทความฉบับนี้ผมไม่ได้มีวัตถุประสงค์ ในการวิพากษ์ วิจารณ์ และวิเคราะห์ ในเรื่องความเหมาะสมของอุปกรณ์ที่จะนำมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนชนิดนี้แต่อย่างใด เพราะมีท่านผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการหลายๆ ท่าน ที่ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมกันมากแล้ว สำหรับวัตถุประสงค์ของผมในวันนี้ก็จะอธิบายถึงวิธีการในการเลือกซื้อ แบเบลต คอมพิวเตอร์ หรือที่เราเรียกติดปากกันว่า แทบเบลต (Tablet PC) สำหรับผู้ใหญ่ที่มีอายุสูงวัย และห่างไกลจากเทคโนโลยีพอสมควร หากจะลองมาเลือกซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว เราจะพิจารณาอะไรกันบ้าง ระบบปฏิบัติการ (Operating System)อันดับแรกที่เราควรพิจารณาในฐานะผู้บริโภคเลยก็คือ ระบบปฏิบัติการของแทบเบลต คอมพิวเตอร์ว่า มีระบบปฏิบัติการอะไร คำถามนี้ผู้บริโภคจะมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือ ระบบปฏิบัติการของ ไอแพด คือ ระบบ Apple System iOS ในกรณีที่เราเลือกซื้อเครื่อง ไอแพดมา เราก็จะได้ระบบปฏิบัติการของไอแพดผูกติดมากับเครื่องด้วยเลย สำหรับกรณีที่เราเลือกซื้อแทบเบลตยี่ห้ออื่น ก็จะเป็นระบบปฏิบัติการที่เรียกว่า ระบบ แอนดรอยด์ (Android) ซึ่งในระบบปฏิบัติการแบบนี้ เป็นระบบเปิด มีความยืดหยุ่นในการใช้งานมากกว่า ระบบของ Apple System iOS ใน ไอแพด แต่ระบบของ ไอแพดก็มีข้อดีในด้านที่ มีโปรแกรมที่เราเรียกว่า Apps (มาจากคำว่า Application) มากมายที่เราสามารถเลือกใช้ และมีเกมให้เลือกเล่นมากด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะ App ที่ใช้เล่นเกมที่มีกราฟฟิคสวยๆ เล่นดนตรี หรือฟังเพลง ขนาดของจอภาพ (ตัวเครื่อง)สำหรับผู้บริโภคที่ชื่นชอบไอแพด ก็คงไม่มีทางเลือกมาก ในประเด็นของขนาดหน้าจอ เพราะไอแพดของ Apple มีขนาด 25 เซนติเมตร (10.1 นิ้ว) ในขณะที่ แอนดรอยด์ แทบเบลตยี่ห้ออื่น จะมีหลายขนาดให้เลือกมากกว่า ขอยกตัวอย่าง ผู้บริโภคท่านใดที่ชอบแทบเบลตขนาดเล็ก ก็สามารถเลือกขนาดหน้าจอที่ 18 เซนติเมตร (7 นิ้ว) ซึ่งนำหนักจะเบากว่า แต่จอก็เล็กลงตามไปด้วย   ระบบการส่งต่อข้อมูล (Data Transmission) แทบเบลตคอมพิวเตอร์ทุกเครื่อง สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ตได้ ผ่านช่องทาง WLan และในอนาคตหากเรามีเทคโนโลยี 3G แล้ว การเลือกซื้ออาจต้องพิจารณาว่า แทบเบลตคอมพิวเตอร์นั้น รองรับระบบ 3G หรือไม่ เพราะในระบบ 3G การเชื่อมต่อและส่งผ่านข้อมูลจะสะดวก และรวดเร็วขึ้น แต่ผู้บริโภคควรพิจารณาในประเด็นเรื่องราคาด้วยว่า ระบบ 3G ที่ผู้ให้บริการเสนอขายแก่เรานั้น ราคาสมเหตุสมผลหรือไม่ เพราะผู้บริโภคต้องจ่ายด้วยราคาที่แพงขึ้น ปัจจุบันนี้ แทบเบลตคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่มักจะมีระบบที่รองรับ เทคโนโลยี 3G และ 4Gอยู่แล้ว   ระบบการเชื่อมต่อสัญญาณ (Conectivity)แทบเบลตคอมพิวเตอร์ของผู้ผลิตบางรุ่น สามารถเพิ่มเติมหน่วยความจำได้  โดยเฉพาะแอนดรอยด์แทบเบลต ซึ่งจะมีประโยชน์มากกับผู้บริโภคในการจัดเก็บข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นไฟล์รูปภาพ วีดีโอ หรือ กราฟฟิคในเกมส์คอมพิวเตอร์ ที่เราสามารถนำมาใช้งานกับโทรทัศน์จอแบนในระบบดิจิตัลได้อีกด้วย ในกรณีของไฟล์ประเภทวิดีโอ เราควรพิจารณาว่า แทบเบลตคอมพิวเตอร์ของเรามีช่องต่อสัญญาณ HDMI ()หรือไม่ ซึ่งในการเชื่อมต่อนั้นผู้ผลิตบางค่าย ก็จะมีระบบเชื่อมต่อที่เรียกว่า Mini HDMI หรือ Micro HDMI เวลาเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์หรือ โน้ตบุ้ค ก็จะต้องใช้ Adapter ต่อผ่านระบบ USB อาจทำให้ผู้บริโภคต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์สำหรับการเชื่อมต่อสัญญาณเพิ่มเติม แป้นพิมพ์ (Keyboard)ปกติแล้วแป้นพิมพ์จะเป็นแป้นพิมพ์ประเภท เสมือนจริง คือ แป้นคีย์บอร์ดจะปรากฏบนจอสัมผัสในกรณีที่เราอยากจะพิมพ์ข้อความ ซึ่งมีข้อเสียก็คือ ไม่สะดวกในการจะพิมพ์ขอความที่ยาวมากๆ ได้ ปัจจุบันผู้ผลิตบางรายก็ผลิตแป้นพิมพ์จริง ซึ่งใช้การเชื่อมต่อด้วยระบบไร้สาย Blue Tooth หรือผู้ผลิตบางเจ้าก็ผลิตแป้นพิมพ์ที่มีสาย USB เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานเพิ่มขึ้น   อภิธานศัพท์Android: ระบบปฏิบัติการในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ของบริษัท Google สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ในการสื่อสารแบบพกพา (Mobile Device) Apple iOS: ระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ของบริษัท Apple ผู้ผลิตอุปกรณ์ ไอแพด App: มาจากคำเต็มๆ ว่า Application เป็นโปรแกรมการใช้งาน ซึ่งมีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น เกม หรือ โปรแกรมการใช้งานอื่นๆ เช่น App Angry Bird จัดเป็น App ประเภทหนึ่งสำหรับการเล่นเกม WLan (Wireless Local Area Network): ระบบการส่งสัญญาณผ่านเครือข่ายคลื่นวิทยุไร้สาย 3G หรือ 4G บางครั้งเราเรียกว่า UMTS (Universal Mobile Telecommunication Systems)  เป็นมาตรฐานที่ใช้ในการกำหนดการส่งสัญญาณด้วยความเร็วสูง ผ่านโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 บทเรียนพลุระเบิดที่สุพรรณ: ถึงเวลาภาครัฐ ต้องจัดระเบียบใหม่

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ข่าวพลุระเบิด ในงานเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นเทศกาลสำหรับความสุข สำหรับคนไทยเชื้อสายจีน กลายเป็นเรื่องโศกนาฏกรรมสำหรับประชาชนที่ได้รับความเสียหาย ต่อร่างกาย ทรัพย์สิน และสภาพจิตใจ ความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุดังกล่าวนี้ นอกจากจะต้องสืบหาต้นตอสาเหตุ จากอุบัติภัยอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ภาครัฐคงต้องมาทบทวน บทบาทในเรื่องการป้องกันความปลอดภัย ทั้งในเชิงมาตรฐานของสินค้าประเภท พลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ที่จัดเป็นสินค้าอันตรายอย่างหนึ่งที่มีระดับความเป็นอันตรายหลายระดับ ตลอดจนการควบคุมธุรกิจ หรืองานแสดงที่ต้องมีการจุดพลุ อย่างจริงจังเสียที เหตุการณ์การเกิดวินาศภัย ที่มีผลมาจากการจุดพลุ ดอกไม้ไฟ เพื่อการค้าหรือการแสดงนั้น ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นแค่ครั้งนี้เท่านั้น แต่ถ้าเราดูข่าวจะเห็นว่ามีเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลรื่นเริง ตรุษจีน ปีใหม่ ที่จะมีสินค้าประเภทนี้วางขายอยู่ทั่วไป เข้าใจว่ายังไม่มีกฎระเบียบ หรือกฎเกณฑ์ ตลอดจนหน่วยงานทางด้านเทคนิคและวิศวกรรมความปลอดภัยที่จะเป็นหน่วยงานควบคุมธุรกิจและสินค้าประเภทนี้เลย ทำให้เกิดปัญหาลักลอบการผลิต และสินค้าไม่ได้มาตรฐาน และความรู้ความเข้าใจของบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสายอาชีพนี้  เป็นความเสี่ยงระดับรุนแรงอย่างหนึ่งสำหรับประชาชนและผู้บริโภคเลยทีเดียว สำหรับบทความในคราวนี้ ผมขอยกตัวอย่างการควบคุมเรื่องการจุดพลุ ตลอดจน การควบคุมสินค้าประเภท ประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ ของประเทศเยอรมนี เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ รีบเข้ามาจัดการสินค้าที่ไม่ปลอดภัยอย่างเร่งด่วน   การจำหน่ายพลุ ดอกไม้ไฟต้องขอใบอนุญาตในเยอรมนีจะมีหน่วยงานที่ทดสอบพลุ ดอกไม้ไฟ และวัตถุเทียมระเบิด ทางด้านเทคนิค เพื่อที่จะทดสอบความปลอดภัย ความรุนแรงของการระเบิด การจุดติดไฟ  (Bundesanstalt für Material Prüfung: BAM) ก่อนที่จะออกใบอนุญาต ให้นำออกมาจำหน่ายได้ สำหรับการแบ่งประเภทของสินค้าเหล่านี้นั้น ได้แบ่งออกเป็น 4 ประเภทตามระดับความรุนแรงในการติดไฟ และการระเบิด ระดับความรุนแรงประเภทที่ 1 (BAM-P1)ระดับความรุนแรงประเภทที่ 2 (BAM-P2)ระดับความรุนแรงประเภทที่ 3 (BAM-P3) และระดับความรุนแรงประเภทที่ 4 (BAM- P4) สำหรับพลุ ดอกไม้ไฟ นั้นปกติ จะอยู่ในระดับความรุนแรงประเภทที่ 1 และ 2 ซึ่งในการตรวจสอบสินค้าประเภทนี้นั้น หน่วยงานดังกล่าวจะตรวจดูถึงปริมาณของสารที่ต้องควบคุม เนื่องจากหากมีมากไป หรือ ไปเข้าชุดกับสารจุดระเบิดตัวอื่น ก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ นอกจากนี้ผู้จำหน่าย ผู้ขนส่ง หรือผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด จะต้องทำตามระเบียบในการจัดเก็บ การขนส่งอย่างเคร่งครัด   การทดสอบด้านความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเคร่งครัดผมขอยกตัวอย่างการทดสอบความปลอดภัยที่สำคัญ ก็คือ การทดสอบภายใต้แรงสั่น จากรูปจะเห็นว่า นำดอกไม้ไฟ หรือ พลุมาวางไว้บนโต๊ะสั่นด้วยความเร่ง 50 เท่าของความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก (-50 g) รูปที่ 1 และภายหลังจากการทดสอบด้วยแรงสั่นแล้วหากมี เศษวัสดุรั่วไหลออกมาจากภาชนะบรรจุ ก็ถือว่า เป็นอันตรายไม่สามารถนำไปวางจำหน่ายหรือ ขนส่งได้ (รูปที่ 2) นอกจากนี้ ยังต้องมีการทดสอบการตกของดอกไม้ไฟ พลุ ที่ระยะความสูง 12 เมตร เพื่อตรวจสอบว่า มีการจุดติดระเบิดหรือไม่ และนอกจากนี้ ยังต้องตรวจสอบ ว่า ในการจัดเก็บสินค้าที่เสี่ยงต่อการระเบิดนั้น ตัวสินค้าสามารถจุดติดระเบิดได้เองหรือเปล่า (Self ignition test) ตามรูปที่ 3 และตรวจสอบกรณีเกิดไฟไหม้ด้านนอก ว่าพลุ ดอกไม้ไฟ มีปฏิกริยาอย่างไร (Out burning test) ตามรูปที่ 4   ภาครัฐต้องเอาจริง ไม่ใช่เอาอยู่ บทสรุปในเรื่องการจัดการสินค้า ที่มีความเสี่ยงสูงในการที่จะก่อให้เกิดวินาศภัยและมหันตภัยอย่างร้ายแรงนั้น อยู่นอกเหนือการจัดการและสั่งการขององค์กรภาคเอกชน ภาครัฐซึ่งมีหลายๆ หน่วยงานดูแลรับผิดชอบในด้านสวัสดิภาพและความปลอดภัยต้องใส่ใจ ในการพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานการจัดการสินค้าที่เป็นอันตราย ตลอดจนคำนึงถึงสวัสดิภาพโดยรวมของประชาชนเป็นหลักสำคัญ นอกจากจะต้องมีกฎหมายด้านความปลอดภัยที่ดีแล้ว การบังคับใช้กฎหมาย ก็เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐต้องปฏิบัติตามอย่างจริงจัง นอกจากนี้หน่วยงานทางเทคนิคและทางวิชาการก็สามารถให้ความช่วยเหลือได้ ถ้าภาครัฐจะเอาจริงกับเรื่องนี้ครับ ข้อมูลอ้างอิง1 คำแนะนำในการจัดการกับวัตถุเทียมระเบิด (Aufbewahrung von Feuerwerk der Klassen I und II), Bundesanstalt für Materialprüfung, Berlin  2005 รูปที่ 1 การทดสอบพลุและ ดอกไม้ไฟภายใต้แรงสั่นสะเทือนขนาด -50 g รูปที่ 2 หลังการทดสอบ พบมีผงจุดระเบิดรั่วออกมา สินค้าไม่ผ่านการทดสอบรูปที่ 3 ทดสอบการจุดติดไฟ โดยจะนำพลุ ดอกไม้ไฟ นำไปใส่ในหลุมที่ขุดลึกพอสมควร เพื่อดูความรุนแรงในการระเบิด รูปที่ 4 ทดสอบความรุนแรงในการระเบิด ซ้ายมือ) ก่อนเริ่มทดสอบ กลาง) เริ่มทดสอบ ขวามือ) ระดับความรุนแรงจากการทดสอบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 คู่มือกำจัดเชื้อราและเชื้อโรคหลังน้ำท่วม

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ข้อมูลนี้ผมได้นำมาจากแผ่นพับของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ได้พิมพ์แจกประชาชนทั่วไป ที่ประสบปัญหา เชื้อราขึ้นในบ้านและสิ่งของ ตอนน้ำท่วม หวังว่าสมาชิกฉลาดซื้อที่ประสบกับอุทกภัยน้ำท่วม จะยังครองสติ ตั้งมั่นและไม่ยอมแพ้ต่อปรากฎการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ สามารถแก้ปัญหาและฝ่าฟันวิกฤติได้อย่างดี นำข้อมูลนี้ไปเป็นแนวทางในการทำความสะอาดบ้านหลังน้ำท่วมได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย การทำความสะอาดบ้านเรือน โรงเรียนและอาคารหลังน้ำท่วม เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการหลังน้ำลดหลังจากที่สามารถเข้าไปในบ้านเรือนได้แล้วโดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย สิ่งแรกที่ต้องดำเนินการเพื่อความปลอดภัยคือ • ตรวจเช็คไฟฟ้าก่อนเข้าไปสำรวจในบริเวณบ้าน ซึ่งอาจขอความช่วยเหลือจากการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าภูมิภาค • เปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท • สำรวจพื้นที่ในบ้านอย่างระวังเพราะอาจมีสัตว์อันตรายที่หนีน้ำท่วมเข้าอยู่ในตัวบ้าน หลังจากนั้นจึงกวาดล้าง ทำความสะอาดพื้นและผนังบริเวณที่ถูกน้ำท่วม โดยใช้น้ำสะอาดฉีดล้างในเบื้องต้นเพื่อกำจัดเศษโคลนและขยะที่มากับน้ำท่วมที่ยังคงค้างอยู่ในบ้านและขัดล้างเช็ดถูด้วยแปรง กับน้ำผสมผงซักฟอกและล้างด้วยน้ำตามอีกครั้งจนสะอาด จากนั้นจึงทำการสำรวจพื้นผนังหรือฝ้าที่มีเชื้อราเกาะอยู่ หรือเห็นเป็นคราบดำชัดเจน วิธีการจัดการกับเชื้อราในบ้าน หรือบนวัสดุอุปกรณ์ที่เกิดราขึ้นควรปฏิบัติดังนี้ • แยกวัสดุออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มของวัสดุติดเชื้อราที่ต้องทิ้ง และกลุ่มที่สองเป็นวัสดุติดเชื้อราที่สามารถทำความสะอาดและนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยไม่เกิดอันตราย • กลุ่มของวัสดุที่เกิดราที่ต้องทิ้งประกอบด้วยวัสดุที่มีรูพรุนเปียกน้ำ มีราปกคลุมทั้งชิ้น วัสดุที่เสียสภาพไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมถึงกระดาษ ไม้อัด ไม้ธรรมชาติที่เกิดรา เนื่องจากสปอร์ของเชื้อราจะเข้าไปฝังตัวอยู่ในรูพรุนของวัสดุเหล่านี้ ทำให้ไม่สามารถกำจัดเชื้อราได้หมด และเชื้อราสามารถที่จะแพร่กระจายบนวัสดุนั้นได้ใหม่ โดยกลุ่มวัสดุเหล่านี้รวมทั้งเสื้อผ้า หรือพรมที่เปียกน้ำหลายวันจนมีเชื้อราขึ้นเต็ม ต้องแยกเก็บไว้นอกบ้านในที่อากาศถ่ายเทสะดวกหรือบรรจุลงในถุงดำถ้ามีขนาดไม่ใหญ่มาก รอการจัดเก็บเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกต้องจาก กทม. อบต. หรือเทศบาลต่อไป • กลุ่มของวัสดุติดเชื้อรา ที่ปนเปื้อนผิววัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่โดยไม่เกิดอันตราย ได้แก่วัสดุที่ไม่มีรูพรุน เช่น พลาสติก แก้ว โลหะ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ที่มีเชื้อราเล็กน้อยบนพื้นผิววัสดุ   สารที่ใช้กำจัดเชื้อรา• ใช้น้ำยากำจัดเชื้อรา ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพัฒนาขึ้น คือ “ราอะเวย์” ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับได้ที่ 02-470-9999 และรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://antifightflood.kmutt.ac.th หรือ http://aff.kmutt.ac.th • เตรียมทำน้ำยาเองโดยใช้สารฟอกผ้าขาว 1 ถ้วยตวงต่อน้ำ 1 แกลลอนหรือใช้สารฟอกผ้าขาว 50 มิลลิลิตรต่อน้ำหนึ่งลิตร • ห้ามผสมน้ำยากำจัดเชื้อราและเชื้อโรคที่มีสารฟอกผ้าขาวกับแอมโมเนียหรือน้ำยาเช็ดกระจก   ขั้นตอนการทำความสะอาดพื้นผนังหรือฝ้าที่มีเชื้อรา 1. สวมถุงมือยางชนิดหนา และสวมหน้ากากปิดจมูกก่อนทำงาน2. ทำความสะอาดพื้น/ผนัง โดยการขัดและล้างด้วยผงซักฟอกเพื่อขจัดคราบสิ่งสกปรกออก3. เทน้ำยากำจัดเชื้อราและเชื้อโรคใส่ขันหรือภาชนะพลาสติก ใช้ผ้าหรือฟองน้ำชุบน้ำยากำจัดเชื้อราให้ชุ่ม เช็ดเชื้อราและคราบสกปรกที่ติดบนผนัง ออกให้หมด โดยระวังไม่ให้ราฟุ้งกระจาย ให้เช็ดไปในทิศทางเดียว เพื่อป้องกันราลุกลามไปยังบริเวณอื่น4. เช็ดให้ทั่วบริเวณที่ต้องการทำความสะอาด ไม่ควรนำผ้าที่เช็ดแล้วกลับมาใช้ใหม่5. เปลี่ยนน้ำยาเมื่อน้ำยาชุดแรกสกปรก6. ฉีดพ่นน้ำยาด้วยหัวฉีดแบบฝอยหรือใช้ฟองน้ำชุบน้ำยากำจัดเชื้อราเช็ดให้ชุ่ม ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาทีเพื่อฆ่าเชื้อราที่อาจหลงเหลืออยู่ จนน้ำยาแห้ง7. ฉีดน้ำยาหรือเช็ดด้วยฟองน้ำผสมน้ำยาฆ่าเชื้อราอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง นานสามอาทิตย์ จนมั่นใจว่า ผนังและพื้นปราศจากเชื้อรา ทิ้งผนังไว้ให้แห้งอย่างน้อย 3-4 อาทิตย์ก่อนทาสีใหม่   การจัดการความชื้นภายในบ้านและทำบ้านให้แห้งหลังจากทำความสะอาดและจัดแยกวัสดุแล้วสิ่งที่สำคัญคือ ต้องเร่งดำเนินการกำจัดความชื้นภายในบ้านและทำให้บ้านแห้งในระยะเวลาอันสั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อราลุกลาม เนื่องจากเชื้อราสามารถเติบโตและก่อให้เกิดปัญหาได้ใหม่ภายในเวลาสองถึงสามวันหากภายในบ้านยังมีความชื้นอยู่ การกำจัดความชื้นภายในบ้านและทำให้บ้านแห้งสามารถดำเนินการได้ดังนี้ • ใช้พัดลมเป่า เพื่อไล่ความชื้นภายในตัวบ้านให้ทั่ว• เปิดเครื่องปรับอากาศหลังจากทำความสะอาดเสร็จแล้วเพื่อดูดไล่ความชื้นออกจากห้อง• เปิดเครื่องดูดความชื้น  (Dehumidifier) เพื่อช่วยดูดความชื้นจากวัสดุภายในบ้าน   ที่มาของข้อมูลคู่มือกำจัดเชื้อราและเชื้อโรคหลังน้ำท่วม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 129 ภัยจากการซื้อสินค้าในห้างค้าปลีกสมัยใหม่

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ปฏิเสธได้ยากว่า ร้านสะดวกซื้อ  และห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ทั้ง เซเว่น-อีเลฟเว่น บิ๊กซี เทสโก้-โลตัส ท็อปซูเปอร์มาร์เก็ต และอื่น ๆ ที่จัดวางสินค้าและมีการบริหารจัดการแบบเดียวกัน เข้ามามีบทบาทสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในชีวิตของคนเมือง(วัดได้จากช่วงน้ำท่วมที่ของในห้างเหล่านี้ว่างเปล่าอย่างน่าตกใจ เพราะทุกคนต่างพากันกักตุนอาหาร) เหตุผลที่คนจำนวนมากเลือกที่จะเข้าไปจับจ่ายในสถานที่เหล่านี้แทนที่จะใช้บริการร้านค้าในชุมชนหรือโชห่วยใกล้บ้านแตกต่างกันไป เช่น มีอิสระที่จะเดินเลือกสินค้าด้วยตนเอง สะดวก เข้าถึงได้ง่าย เชื่อว่าสินค้าที่วางจำหน่ายจะมีคุณภาพและความปลอดภัยที่ดีกว่า และ ทำให้ได้สินค้าราคาถูกกว่า เป็นต้น อย่างไรก็ตามจากการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องความปลอดภัยด้านอาหารของเครือข่ายผู้บริโภคใน 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม กาญจนบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด เชียงใหม่ พะเยา สุราษฎร์ธานี สงขลา และสตูล ตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง ตุลาคม 2554 พบว่าการซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่และจากห้างนั้น อาจทำให้ผู้บริโภคพบปัญหาได้ไม่ต่างกัน (หรือแย่กว่า?) กับการซื้อสินค้าจากร้านใกล้บ้าน ไม่ว่าจะเป็น การจำหน่ายสินค้าหมดอายุบนชั้นวาง สินค้าเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ สินค้ามีคุณภาพผิดมาตรฐาน และราคาสินค้าไม่ตรงกับราคาป้ายหรือไม่มีสินค้าแถมตามการส่งเสริมการขายที่ระบุไว้ ปัญหาสินค้าหมดอายุเริ่มกันที่การจำหน่ายสินค้าหมดอายุบนชั้นวางสินค้า เครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ ได้สำรวจการจำหน่ายสินค้าในห้างค้าปลีกสมัยใหม่และร้านสะดวกซื้อในจังหวัดรวมกันกว่า 15 สาขา ในปลายเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2554 พบสินค้าหมดอายุรวมกันบนชั้นวางทั้งสิ้นกว่า 40 รายการ ทั้งของสดและของแห้ง โดยที่กว่าครึ่งเป็นของแห้งโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งขนม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอาหารเช้าสำหรับเด็ก(ซีเรียล) และจากการร้องเรียนของผู้บริโภคเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ว่าพบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่ารสต้มยำกุ้งทั้งน้ำข้นและน้ำใสและยำยำรสหมูสับหมดอายุบนชั้นวางของห้างบิ๊กซีสาขาสะพานควาย การจำหน่ายองุ่นนำเข้าหลังวันหมดอายุโดยนำมาจำหน่ายแบบลดราคาพิเศษในห้างท็อปส์ สาขาเซ็นจูรี่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อมาในเดือนสิงหาคม จากการสำรวจอาหารของโครงการฯ พบว่า นมข้นหวานกระป๋องตรามะลิจากห้างแมคโครสาขาแจ้งวัฒนะเสื่อมสภาพทั้งกลุ่มการผลิตก่อนวันหมดอายุบนฉลาก   โดยพบก้อนสีเหลืองอยู่ในกระป๋องนม และกรณีขนมปังยี่ห้อ เอ-พลัส ไส้สังขยา จากเซเว่น-อีเลฟเว่น สาขาอาคารหะรินธร ถนนสาทรเหนือ เขตบางรัก กทม. มีราขึ้นก่อนวันหมดอายุของสินค้าประมาณ 3 วัน   สินค้าไม่ตรงราคาป้าย กรณีราคาสินค้าไม่ตรงกับราคาป้าย สมาคมผู้บริโภคสงขลา หนึ่งในเครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า   พบเห็นการส่งเสริมการขายโดยประกาศลดราคานมผงสำหรับเด็กจากหนังสือพิมพ์ จึงได้ไปซื้อสินค้าจากห้างเทสโก้ โลตัสสาขาหาดใหญ่ ตามประกาศ โดยได้ดูการแสดงราคาและเงื่อนไขต่างๆ ที่แสดงอยู่บนชั้นวางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อมาชำระเงินปรากฏว่ายอดชำระไม่ตรงตามราคาที่ปรากฏในการส่งเสริมการขาย ห้างฯ อ้างว่าเลยเวลาการส่งเสริมการขายทั้งที่โฆษณาและบนชั้นวางสินค้ายังคงแสดงข้อมูลอยู่   ห้างฯ ไม่ได้มาตรฐาน ผู้บริโภคทำอะไรได้บ้าง เมื่อการซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อและห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ไม่ได้มีความปลอดภัยและสะดวกอย่างที่เข้าใจกัน วิธีการหนึ่งที่จะช่วยผู้บริโภคได้ คือการอ่านฉลากอาหารและข้อมูลต่าง ๆ บนชั้นวางก่อนตัดสินใจซื้อ สิ่งที่ควรพิจารณาบนฉลาก ได้แก่ ชื่ออาหาร วันผลิต-วันหมดอายุ ส่วนประกอบของอาหาร เพื่อช่วยในการพิจารณาถึงคุณค่าของอาหารรวมทั้งเรื่องของวัตถุเจือปน น้ำหนักหรือปริมาตรสุทธิ อันนี้ช่วยให้ผู้บริโภครู้น้ำหนักช่วยในการเปรียบเทียบเลือกสินค้า และส่วนสุดท้ายที่ควรอ่านเป็นส่วนเสริม คือฉลากโภชนาการที่จะบอกให้ผู้บริโภครู้ข้อมูลเกี่ยวกับโภชนาการของอาหารนั้น ๆ ว่ามีมากน้อยเพียงใด คุ้มค่าไหมที่จะนำมาบริโภค เคล็ดลับที่ทาง โครงการอาหารฯ ขอแนะนำคือ  เวลาเลือกซื้อสินค้า ควรเลือกสินค้าที่แสดงวันหมดอายุหรือควรบริโภคก่อนอย่างชัดเจน หากแสดงแค่วันผลิตโดยไม่แสดงวันหมดอายุ ขอแนะนำว่าให้เลี่ยงไปก่อน ไม่ควรบริโภค ให้เลือกซื้อสินค้าของผู้ผลิตรายอื่นที่มีการแสดงข้อมูลบนส่วนนี้อย่างชัดเจนจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคได้มากกว่า สำหรับกรณีอาหารเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุนั้น หลายกรณีสามารถดูได้จากรูปลักษณ์ภายนอกของอาหาร เช่น บรรจุภัณฑ์บุบบวม ลักษณะของอาหารเปลี่ยนไปทั้งรูปและกลิ่น ซึ่งจะต้องใช้การพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจึงจะสังเกตเห็น ฉลาดซื้อขอแนะนำว่าให้ใช้เวลาในการพิจารณาเลือกซื้อสินค้าในแต่ละชิ้นให้มากขึ้น ไม่ควรตรงเข้าไปหยิบสินค้าโดยที่ไม่สังเกต กรณีของสดที่ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิในการเก็บรักษา ขอให้พิจารณาอุณหภูมิของตู้แช่ว่า อุณหภูมิที่แสดงอยู่เหมาะสมหรือไม่กับการเก็บรักษาอาหาร หากอุณหภูมิต่ำหรือสูงไป ก็ไม่ควรที่จะซื้อสินค้าจากห้างสาขานั้น ๆ ควรใช้บริการสาขาอื่นหรือสถานที่จำหน่ายแหล่งอื่นจะช่วยลดความเสี่ยงจากการได้สินค้าเสื่อมสภาพได้ ท้ายที่สุด ไม่ว่าจะเลือกซื้อสินค้าจากที่ไหนปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นก็สามารถเกิดขึ้นได้ ผู้บริโภคจึงต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาที่เลือกซื้ออาหารใดๆ ก็ตาม อย่าให้ความเคยชินและความเร่งรีบ มาอ้างเป็นเหตุหนึ่งในการเลือกซื้อที่ไม่รอบคอบ และถ้าทำตามเราแนะนำแล้วแต่ยังพบสินค้าไม่ปลอดภัยอีก อย่าวางเฉยทิ้งอาหารนั้น ๆ ไป เพราะเรามีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ประกอบการหรือผู้จัดจำหน่ายได้นะครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 128 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค: กรณีรถยนต์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ในปัจจุบัน มีสินค้าหลายชนิดที่อยู่ในตลาดเป็นจำนวนมาก   สินค้าชนิดเดียวกันมีความหลากหลายทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ   บริษัทผู้ผลิตส่วนใหญ่ต่างมุ่งที่จะขายสินค้าหรือบริการของตนโดยใช้กลยุทธ์ทางการตลาด  มีการใช้สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ในหลายรูปแบบเพื่อให้สินค้าสามารถขายและแข่งขันได้ การประชาสัมพันธ์สินค้ามักมุ่งเน้นให้ผู้บริโภคเห็นความดีและประโยชน์ของสินค้าแต่เพียงด้านเดียวจึงทำให้ผู้บริโภคตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบเนื่องจากขาดข้อมูลที่สำคัญบางอย่างในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ เช่น ไม่แจ้งผลข้างเคียงของการใช้สินค้า ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริง หรือได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ไม่เหมาะสมกับราคาหรือสินค้า มีผลข้างเคียงอื่นๆ  อันเป็นเหตุให้ผู้บริโภคสูญเสียเงินจำนวนมาก  ในประเทศที่พัฒนาแล้ว  ภาครัฐได้เห็นความสำคัญของผู้บริโภค  และเห็นว่าประชาชนควรจะมีข้อมูลรอบด้าน เพื่อเลือกซื้อสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการและคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป บางประเทศรัฐบาลสนับสนุนองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไรให้ทดสอบสินค้าที่มีอยู่ตามท้องตลาด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงในด้านต่างๆของสินค้านั้น  รวมทั้งเผยแพร่ผลการทดสอบสินค้าและให้คำแนะนำในการเลือกซื้อสินค้าแก่ผู้บริโภค  ตัวอย่างองค์กรในประเทศเยอรมนีที่ทำหน้าที่ด้านการให้ข้อมูล คำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์รถยนต์ ในประเทศเยอรมนีชื่อว่า สมาคมยานยนต์แห่งประเทศเยอรมนี (Der Allgemein Deutsche Automobil Club: www.adac.de)  หน้าที่ ที่สำคัญขององค์กรนี้คือ การให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ โดยจะทำการทดสอบรถยนต์ที่วางขายอยู่ในท้องตลาด โดยจะทำการทดสอบและให้ข้อมูลแก่ผุ้บริโภคโดยละเอียดมาก เช่น เทคนิคและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไรบ้าง ลักษณะของตัวรถทั้งภายในและภายนอก ลักษณะของเครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง ความปลอดภัย  การขับเคลื่อนของรถ และราคา ยกตัวอย่างผลการทดสอบรถยนต์ รุ่น Chevrolet  Aveo 1.4 (ดูเอกสารแนบประกอบ)   นอกจากนี้  ยังได้ทำข้อมูลในด้านการให้ความรู้เกี่ยวกับการบำรุง ดูแลรักษารถยนต์ การป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดจากรถยนต์ วิธีการขับรถที่ปลอดภัยและประหยัดพลังงาน  มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับสภาพถนนที่เป็นปัจจุบัน ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย ตลอดจนให้คำแนะนำเกี่ยวกับการหาแหล่งเงินกู้เพื่อซื้อรถยนต์ ทดสอบคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการของอู่ซ่อมรถยนต์ และศูนย์ให้บริการของรถยนต์ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเช่น  น้ำมัน ที่นั่งเสริมนิรภัยสำหรับเด็ก  ยาง เบรก ฯลฯ ตลอดจนให้คำแนะนำในเรื่องการขับรถยนต์แก่คนพิการ   สำหรับประเทศไทย การจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาราจักรไทย พ.ศ. 2550 ตามมาตรา 61 บัญญัติว่า สิทธิของบุคคล ซึ่งเป็นผู้บริโภค ย่อมได้รับการคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค อีกทั้งยังกำหนดให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาหน่วยงานของรัฐในการตรวจตรา และการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย ซึ่งได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีการเสนอร่างโดยคณะรัฐมนตรี ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและส.ส.ฝ่ายค้าน จำนวนทั้งหมด 7 ร่าง   ผ่านการพิจารณาในชั้นของสภาผู้แทนราษฎรทั้งสามวาระ และกำลังพิจารณาแปรญัตติอยู่ในชั้นของกรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภา ก็ได้มีการประกาศยุบสภาไปก่อน ทำให้ตอนนี้ ร่าง พรบ.ดังกล่าว ต้องได้รับคำรับรองยืนยันจากนายกรัฐมนตรี จึงจะพิจารณาร่าง พรบ.ดังกล่าวต่อไปได้ และจากรายงานสถิติการร้องเรียนในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมาของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีการร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์รถยนต์ มากที่สุด โดยมีผู้ร้องเรียนถึง 7752 ราย (โพสต์ ทูเดย์ 18 กันยายน 2554) จะเห็นได้ว่า ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ และถูกละเมิดสิทธิเป็นวงกว้าง  หากสังคมไทยมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมการองค์การอิสระทั้ง 7 ด้าน คือ   1ด้านการเงินและการธนาคาร2 ด้านการบริการสาธารณะ3 ด้านที่อยู่อาศัย4 ด้านบริการสุขภาพ5 ด้านสินค้าและบริการทั่วไป6 ด้านสื่อสารและโทรคมนาคม7ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ  จะช่วยคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและป้องกันการการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในวงกว้างได้ โดยเฉพาะกรรมการที่ดูแลรับผิดชอบทางด้านสินค้าและผลิตภัณฑ์ทั่วไป ที่จะต้องนำข้อมูลเกี่ยวกับผลการทดสอบรถยนต์ เหมือนกับที่องค์กรผู้บริโภคของหลายๆประเทศ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์ เพื่อช่วยผู้บริโภคการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ ได้อย่างคุ้มค่า เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในเชิงรุก ในระยะยาวหากมาตรฐานสินค้ารถยนต์ในประเทศสูงขึ้น ก็จะช่วยทำให้ยกระดับมาตรฐานของรถยนต์ในประเทศไทยสูงขึ้น เพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางอ้อม เหมือนกับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในเยอรมัน ที่เป็นผลมาจากนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคเชิงรุกที่ทุกภาคส่วนในสังคมให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

อ่านเพิ่มเติม >