ฉบับที่ 152 เปิดขวด “น้ำจิ้มสุกี้”

สุกี้ ถือเป็นเมนูที่หลายๆ คนยกให้เป็นอาหารจานสุขภาพ เพราะความที่เป็นเมนูที่เน้นผักมากกว่าเนื้อสัตว์ สาวๆ หลายคนเลือกรับประทานสุกี้เพราะเชื่อว่ากินแล้วจะไม่อ้วน แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ประสบความสำเร็จในการรับประทานสุกี้ให้เป็นเมนูสุขภาพ ไม่ใช่เพราะแค่ดันเข้าใจผิดไปจัดเต็มกับสุกี้บุฟเฟ่ต์ แต่ยังเป็นเพราะสุกี้จานโปรดของคุณเล่นเติมน้ำจิ้มแบบไม่บันยะบันยัง รู้มั้ยในน้ำจิ้มสุกี้รสเด็ด มีทั้งน้ำตาล เกลือ บางยี่ห้อก็มีผงชูรส ฉลาดซื้อเป็นห่วงสุขภาพของคนชอบทานสุกี้ เราจึงลองสำรวจดูว่า น้ำจิ้มสุกี้ยี่ห้อต่างๆ ที่วางขายอยู่ในท้องตลาดทั่วไปนั้น เสี่ยงต่อความหวานของน้ำตาล และความเค็มของโซเดียมมากน้อยแค่ไหน   ตารางสำรวจปริมาณโซเดียมและน้ำตาลในน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวด ปริมาณโซเดียมและน้ำตาลที่เหมาะสมต่อสุขภาพ ***ปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมในการบริโภคสำหรับคนไทยใน 1 วัน คือไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม ส่วนปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสมในการบริโภคสำหรับคนไทยใน 1 วัน คือไม่เกิน 6 ช้อนชา หรือประมาณ 24 กรัม   วิธีการสำรวจ ฉลาดซื้อได้ทำการสุ่มสำรวจตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดจำนวน 12 ตัวอย่าง เพื่อสำรวจปริมาณของโซเดียมและน้ำตาล โดยการดูข้อมูลในฉลากโภชนาการที่แสดงไว้บนขวดน้ำจิ้มสุกี้แต่ละยี่ห้อ ซึ่งมีการแจ้งปริมาณของโซเดียมและน้ำตาลต่อหน่วยบริโภคเป็นช้อนโต๊ะ เช่น น้ำจิ้มสุกี้ตราสุรีย์ สูตรกวางตุ้ง ข้อมูลในฉลากโภชนาการแจ้งว่า ปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ (25กรัม) มีปริมาณโซเดียม 460 มิลลิกรัม ปริมาณน้ำตาล 6 กรัม เป็นต้น โดยจากตัวอย่างทั้งหมด 12 ตัวอย่าง มี 2 ตัวอย่างที่ไม่มีการแสดงฉลากโภชนาการ คือ น้ำจิ้มสุกี้ยี่ห้อพันท้าย (สูตรดั้งเดิม) และ น้ำจิ้มสุกี้เด็กสมบูรณ์ (สูตรกวางตุ้ง) แต่ฉลาดซื้ออยากรู้ปริมาณโซเดียมและน้ำตาลของทั้ง 2 ตัวอย่าง เราจึงส่งตัวอย่างไปตรวจวิเคราะห์ที่สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล เพื่อนำผลมาฝากแฟนฉลาดซื้อ   ผลการสำรวจ โซเดียม ตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ที่พบปริมาณโซเดียมสูงที่สุด คือ น้ำจิ้มสุกี้ยี่ห้อควิกเชฟ (สูตรกวางตุ้ง) ที่บอกไว้ในฉลากโภชนาการว่ามีปริมาณโซเดียม 740 มิลลิกรัมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม) หรือประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณโซเดียมที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน (2,400 มิลลิกรัม) ตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ยี่ห้ออื่นๆ ที่พบปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง ได้แก่ ยี่ห้อเด็กสมบูรณ์ (สูตรกวางตุ้ง) พบปริมาณโซเดียมจากการส่งวิเคราะห์โดยสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ที่ปริมาณ 2,152 มิลลิกรับต่อ 100 กรัม หรือที่ประมาณ 646 มิลลิกรัม ต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม) นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ ยี่ห้อ แม่ประนอม (สูตรกวางตุ้ง) และ ยี่ห้อบิ๊กซี (รสจัดจ้าน) ที่แสดงปริมาณโซเดียมไว้ที่ 600 มิลลิกรัมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม) ส่วนตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ที่เหลือพบปริมาณโซเดียมเฉลี่ยที่ประมาณ 500 – 600 มิลลิกรัมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ ซึ่งต้องย้ำว่าเป็นการแสดงปริมาณโซเดียมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะเท่านั้น แต่เชื่อว่าหลายคนเวลาทานสุกี้หรือทานพวกอาหารบุฟเฟ่ต์ที่มีน้ำจิ้มสุกี้เป็นน้ำจิ้ม คงไม่เติมกันแค่ 2 ช้อนโต๊ะ หลายคนเติมแล้วเติมอีก บางคนก็กินน้ำจิ้มกันทีเป็นถ้วยๆ ฉลาดซื้อขอเตือนว่าใครที่มีพฤติกรรมกินน้ำจิ้มสุกี้แบบนั้น มีสิทธิได้รับโซเดียมเกินปริมาณที่เหมาะสมกับสุขภาพ (2,400 มิลลิกรัมต่อวัน)   น้ำตาล ปริมาณน้ำตาลในตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดที่พบในการสำรวจ เฉลี่ยอยู่ที่ 7 กรัมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ ที่พบมีปริมาณสูงสุดคือ ตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ยี่ห้อเจ๊เล็ก (สูตรกวางตุ้ง เผ็ดกลาง) ซึ่งแสดงปริมาณน้ำตาลในฉลากโภชนาการไว้ที่ 4 กรัมต่อหนึ่งช้อนโต๊ะ (17 กรัม) หรือถ้าเทียบเป็น 2 ช้อนโต๊ะ (34 กรัม) แบบตัวอย่างอื่นๆ จะเท่ากับ 8 กรัม ซึ่งมากที่สุดในตัวอย่างทั้งหมด 12 ตัวอย่าง คิดเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณน้ำตาลที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน (24 กรัม) สำหรับตัวอย่างที่พบปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุดในตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ที่ฉลาดซื้อสุ่มสำรวจครั้งนี้คือ ยี่ห้อบิ๊กซี (รสจัดจ้าน) ซึ่งพบปริมาณน้ำตาลอยู่ที่ 3 กรัมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ (33 กรัม) เช่นเดียวกับโซเดียม การทานน้ำจิ้มสุกี้ในปริมาณที่มากเกินไป ย่อมมีความเสี่ยงต่อการได้รับปริมาณน้ำตาลเกินความต้องการของร่างกาย ซึ่งแน่นอนว่าจะกลายเป็นผลเสียต่อสุขภาพของเรา ข่าวดี!!!ไม่พบอะฟลาท็อกซินในน้ำจิ้มสุกี้ นอกจากปริมาณของโซเดียมและน้ำตาลแล้ว ฉลาดซื้อยังได้ส่งตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของเชื้อรา “อะฟลาท็อกซิน” ในตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดทั้ง 12 ตัวอย่าง เนื่องจากส่วนประกอบในน้ำจิ้มสุกี้มีทั้ง พริก และ งา ซึ่งมีโอกาสเป็นแหล่งกำเนิดของสารอะฟลาท็อกซิน จากการวิเคราะห์โดยสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ฉลาดซื้อได้ผลวิเคราะห์ที่ถือว่าเป็นข่าวดี เพราะตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ทั้ง 12 ยี่ห้อ ไม่พบการปนเปื้อนของสารอะฟลาท็อกซิน ผู้บริโภคสบายใจได้ ฉลาดซื้อแนะนำ ถ้าไม่อยากเสี่ยงโซเดียมและน้ำตาลในน้ำจิ้มสุกี้ -  ชิมก่อนปรุง ด้วยความที่คนไทยเราชอบทานอาหารรสจัด ก็เลยอดไม่ได้ที่จะต้องเติมเครื่องปรุงเพิ่ม เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากได้รับโซเดียมและน้ำตาลมากเกินไป ก็ควรชิมก่อนตัดสินใจเติมเครื่องปรุงหรือน้ำจิ้มต่างๆ เพิ่ม - อ่านฉลากโภชนาการ การอ่านฉลากโภชนาการถือเป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้รู้ได้ว่าอาหารที่เรากำลังทานอยู่นั้นมีปริมาณสารอาหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โซเดียม น้ำตาล หรือสารอาหารอื่นๆ เป็นปริมาณเท่าไหร่ น้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดที่เราสำรวจส่วนใหญ่ก็มีการแสดงฉลากโภชนาการ   ***มีข้อสังเกตเรื่องฉลากโภชนาการ แม้ว่าตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดที่ฉลาดซื้อสำรวจส่วนใหญ่ (10 จาก 12 ตัวอย่าง) จะแสดงฉลากโภชนาการซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค แต่การกำหนดหน่วยบริโภคเพื่อแสดงปริมาณของน้ำจิ้มสุกี้นั้น ยังมีความแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อการนำไปเป็นข้อมูลการเปรียบเทียบของผู้บริโภค เช่นบางยี่ห้อ กำหนดให้หนึ่งหน่วยบริโภค = 2 ช้อนโต๊ะ หรือ 30 กรัม ขณะที่อีกยี่ห้อกลับกำหนดให้หนึ่งหน่วยบริโภค 2 ช้อนโต๊ะ = 33 กรัม บางยี่ห้อก็กำหนดให้หนึ่งหน่วยบริโภค 2 ช้อนโต๊ะ = 25 กรัม พูดง่ายๆ คือไม่มีมาตรฐานกลางที่แน่นอน ผู้บริโภคจึงต้องลำบากคำนวณเปรียบเทียบกันเอง เพราะฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดเรื่องหน่วยบริโภคให้เป็นหน่วยเดียวกัน   ปริมาณโซเดียมในซอสปรุงรสชนิดต่างๆ ที่มา: “กินดีสมดุล...การเสริมสร้างวิถีชีวิตสุขภาพ” รองศาสตราจารย์ ดร. ประไพศรี ศิริจักรวาล สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จากการสัมมนาเครือข่ายวิชาการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ จัดโดยสำนักควบคุมโรค 23 กุภาพันธ์ 2554

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 ผลทดสอบปริมาณสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคาร

ดาวน์โหลดตารางรายละเอียดการทดสอบ >>>  กดโหลด ** หมายเหตุ: ตัวอย่างสีที่ทดสอบนั้นอาจจะยังไม่ครอบคลุมยี่ห้อหลักๆ ที่มีในตลาดบ้านเราทั้งหมด แต่ไม่ต้องห่วงเรากำลังส่งตัวอย่างเพิ่ม ได้ผลเมื่อไร ฉลาดซื้อจะนำมาลงให้สมาชิกได้ทราบทันที ดังนั้นเพื่อทำตามคำมั่นสัญญา และเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “สัปดาห์ป้องกันภัยจากพิษตะกั่ว” ที่จะจัดขึ้นพร้อมกันในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งที่ประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 20-26 ตุลาคมนี้ โดยการนำขององค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติ เพื่อรณรงค์ให้สิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็กๆ ปลอดภัยจากสารตะกั่ว มูลนิธิบูรณะนิเวศและฉลาดซื้อจึงขอเสนอผลการวิเคราะห์สีทาอาคาร 120 ตัวอย่าง รวม 68 ยี่ห้อ เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภค ที่มีสิทธิจะได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน มีสิทธิในการเลือกและมีสิทธิในการได้รับสินค้าที่ปลอดภัย   ทำไมต้องตรวจตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคาร ตะกั่วเป็นโลหะหนักอันตรายอย่างหนึ่งที่พบในผลิตภัณฑ์สี เนื่องจากผู้ผลิตนิยมเติมสารตะกั่วบางประเภทเข้าไปเป็นส่วนประกอบของเม็ดสี เพื่อทำให้สีสดใส เช่น สีเหลืองเติมตะกั่วโครเมต สีแดงเติมตะกั่วออกไซด์ สีขาวเติมตะกั่วคาร์บอเนต เป็นต้น นอกจากนี้ตะกั่วยังเป็นสารเร่งแห้งที่ทำให้สีแห้งไวเท่ากันทั่วพื้นผิว และทำให้สีมีความคงทนยิ่งขึ้น การผลิตสีน้ำ ที่เรียกว่าสีพลาสติกหรือสีอคริลิกในหลายๆ ประเทศ ส่วนใหญ่เลิกใช้ตะกั่วเป็นส่วนผสมแล้ว ขณะที่สีน้ำมันที่ผลิตและจำหน่ายอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาส่วนมากยังมีการใช้ตะกั่วเป็นส่วนผสมสำคัญ การวิเคราะห์ตัวอย่างสีครั้งนี้จึงเน้นเฉพาะสีตกแต่งหรือสีทาอาคารที่เป็นสีน้ำมัน ประเทศไทยมีการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่จำหน่ายภายในประเทศ โดยการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมขึ้นมาบังคับใช้ สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มสีทาอาคาร สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก) ได้กำหนดมาตรฐานปริมาณตะกั่วไว้ในสีบางประเภทแบบสมัครใจ คือไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย โดยมาตรฐานปริมาณตะกั่วในแต่ละผลิตภัณฑ์มีทั้งที่เหมือนกันและต่างกัน สำหรับสีน้ำมันทาอาคารประเภทที่ใช้แอลคีด (alkyd) เป็นสารยึดเกาะ   ไม่ว่าจะเป็นสีเคลือบเงาแอลคีด (มอก.327-2553) หรือสีเคลือบด้านแอลคีด (มอก.1406-2553) ต้องมีสารตะกั่วไม่เกิน 100 ppm การศึกษาสถานการณ์การปนเปื้อนสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคารครั้งนี้ ดำเนินการโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ในฐานะที่เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคประชาชน 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล อินเดีย และไทย โดยการสนับสนุนจากโครงการ EU SWITCH-Asia และเครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (International POPs Elimination Network - IPEN) เพื่อสร้างความตื่นตัวถึงอันตรายจากสารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สี และส่งเสริมให้ผู้บริโภค ภาครัฐ และภาคเอกชน ร่วมมือกันปกป้องเด็กๆ จากทุกมุมโลกให้ปลอดภัยจากพิษตะกั่ว   สำรวจยี่ห้อทั่วไปก่อนเก็บตัวอย่าง ขั้นตอนแรกสุดของการศึกษามูลนิธิบูรณะนิเวศได้ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายผู้บริโภคและทีมวิจัยฉลาดซื้อสำรวจผลิตภัณฑ์สียี่ห้อต่างๆ ในตลาดสีน้ำมันทาอาคารที่วางจำหน่ายทั่วไป โดยสำรวจตามร้านค้า 3 ประเภทในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคตะวันออก ได้แก่ ร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีหลายสาขาทั่วประเทศ  ร้านค้าขนาดกลางที่เป็นร้านค้าส่งและค้าปลีก ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้รับเหมาก่อสร้าง และร้านค้าขนาดเล็กที่ขายปลีกผลิตภัณฑ์สีในย่านชุมชน เมื่อกำหนดยี่ห้อที่จะตรวจสอบได้แล้ว ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2556 ทีมวิจัยของมูลนิธิบูรณะนิเวศจึงตระเวนซื้อตัวอย่างสียี่ห้อต่างๆ จากร้านค้าทั้ง 3 ประเภท ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา รวมถึงผลิตภัณฑ์อีกบางยี่ห้อที่สำรวจพบเพิ่มเติมภายหลัง รวมแล้วมีผลิตภัณฑ์สีที่นำมาตรวจวิเคราะห์ทั้งหมด 120 ตัวอย่าง จาก 68 ยี่ห้อ ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโทนสีสด ได้แก่ สีเหลือง แดง น้ำเงิน ฯลฯ มี 68 ตัวอย่าง จาก 64 ยี่ห้อ และกลุ่มโทนสีขาวจำนวน 52 ตัวอย่าง จาก 51 ยี่ห้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อเดียวกันในทั้งสองกลุ่ม การวิเคราะห์ตัวอย่างสีครั้งนี้ทำโดยห้องปฏิบัติการ Certottica ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองโดยโครงการทดสอบความสามารถการวิเคราะห์ตะกั่วในสิ่งแวดล้อม (ELPAT) โดยใช้เครื่อง Inductively Coupled Plasma-Atomic Emission Spectrophotometer (ICP-AES) และใช้วิธีวิเคราะห์ตามมาตรฐานสากลสำหรับการทดสอบปริมาณสารตะกั่วในสี   ก่อนตีพิมพ์ผลการทดสอบเรื่องปริมาณสารตะกั่วในครั้งนี้ ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้จัดส่งผลการทดสอบให้กับบริษัทผู้ผลิตต่างๆ เพื่อผลในการปรับปรุงและดูแลผลิตภัณฑ์ให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค  และเมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศและนิตยสารฉลาดซื้อ ยังได้ประชุมร่วมกันกับตัวแทนบริษัทผู้ผลิตสีหลายบริษัท ตัวแทนสมาคมผู้ผลิตสีไทย โดยมีตัวแทนจากศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ร.พ. รามาธิบดี วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้แทนจาก สมอ. เข้าร่วมด้วย ในการประชุมดังกล่าว ทางตัวแทนบริษัทและทางสมาคม มีข้อเสนอและร้องขอให้ทางผู้วิจัยและฉลาดซื้อ อย่านำเสนอผลการวิจัยต่อสาธารณะในลักษณะที่เปิดเผยชื่อยี่ห้อและชื่อบริษัท ฯลฯ ด้วยเกรงจะกระทบต่อผู้ผลิต อย่างไรก็ตาม เพื่อยืนยันถึงการใช้สิทธิของผู้บริโภค ที่ควรจะต้องมีทางเลือกในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการด้วยข้อมูลที่ชัดเจน ทางผู้วิจัยและนิตยสารฉลาดซื้อจึงได้ขอสงวนสิทธิการตัดสินใจในการลงเผยแพร่ เพราะเห็นว่าการเปิดเผยผลทดสอบจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากกว่าการปกปิดข้อมูล และโดยที่ผลการตรวจสอบพบว่ามีทั้งสินค้าที่มีปริมาณตะกั่วสูง และสินค้าที่มีปริมาณตะกั่วเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งข้อมูลนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นคู่มือในการตัดสินใจได้ “ในเมื่อท่านตัดสินใจประกาศผลทดสอบ ท่านก็อาจต้องระวังว่าทางผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบ ดำเนินการฟ้องร้องท่านแน่นอน”  อันนี้ถือเป็นคำเตือน คำขู่ หรือไม่ อย่างไร ก็คงต้องดูกันต่อไปว่า ตกลงเรื่องนี้ใครกันเป็นคนทำผิด      ผลทดสอบ ผลจากการวิเคราะห์พบว่า กลุ่มตัวอย่างโทนสีสดใสมีการใช้สารตะกั่วสูงกว่ากลุ่มโทนสีขาว โดยพบว่า ร้อยละ 93 ของกลุ่มตัวอย่างโทนสีสดใสมีตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานแบบสมัครใจของไทย (100 ppm) ในขณะที่ปริมาณตะกั่วในกลุ่มตัวอย่างโทนสีขาว พบว่า ร้อยละ 61 มีตะกั่วสูงเกินกว่า 100 ppm เมื่อมองในภาพรวมตามเกณฑ์มาตรฐานของสารตะกั่วแบบสมัครใจในไทย พบว่า ร้อยละ 79 ของตัวอย่างทั้งหมดมีตะกั่วเกิน 100 ppm ปริมาณสารตะกั่วในสีที่พบต่ำสุดจากตัวอย่างสีโทนสีสดใสคือ 26 ppm และปริมาณสูงสุดที่พบคือ  95,000 ppm ส่วนปริมาณตะกั่วต่ำสุดในตัวอย่างโทนสีขาวคือ น้อยกว่า 9 ppm และปริมาณสูงสุดคือ 9,500 ppm รายละเอียดดังแสดงในตาราง   ผลวิเคระห์ปริมาณตะกั่วในตัวอย่างสีน้ำมันทาอาคาร ประเภทตัวอย่างสี จำนวนตัวอย่าง ค่ามาตรฐานแบบ สมัครใจตาม มอก. (ตะกั่วไม่เกิน 100 ppm)   ค่าตะกั่วต่ำสุด (ppm) ค่าตะกั่วสูงสุด (ppm) สีน้ำมันทาอาคาร 120 ร้อยละ 79 (95 ตัวอย่าง) น้อยกว่า 9 95,000 โทนสีสดใส (ส่วนใหญ่เป็นสีเหลือง) 68 ร้อยละ 93 (63 ตัวอย่าง)   26   95,000 โทนสีขาว 52 ร้อยละ 62 (32 ตัวอย่าง) น้อยกว่า 9 9,500     ข้อมูลบนฉลากแสดงปริมาณตะกั่วไม่ตรงตามจริง จากการสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า สีบางยี่ห้อมีการให้ข้อมูลสารตะกั่วบนฉลากเพื่อจูงใจผู้บริโภคให้เลือกซื้อ โดยผลสำรวจพบว่ามีสีน้ำมัน 29 ตัวอย่างจาก 120 ตัวอย่าง ที่ติดฉลากให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคในแบบต่างๆ  เช่น  “ไม่ผสมสารปรอท ไม่ผสมสารตะกั่ว” (No Added Mercury No Added Lead),  “ปราศจากสารปรอทและตะกั่ว”  (Mercury and Lead Free),  “ไม่ผสมสารตะกั่วและปรอท” (No Added Lead and mercury) และ “ปราศจากสารตะกั่ว 100% ปราศจากสารปรอท 100%”  (100% Lead Free 100% Mercury Free)  เป็นต้น แต่เมื่อพิจารณาปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบในตัวอย่างสีที่มีข้อความบนฉลากดังกล่าว พบว่า มีสีน้ำมัน 17 ตัวอย่างจาก 29 ตัวอย่าง ที่มีสารตะกั่วสูงเกินกว่า 100 ppm จึงเห็นได้ว่า ข้อมูลบนฉลากและปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบไม่ตรงกัน  เรื่องนี้ผู้บริโภคจึงควรระวัง เนื่องจากไม่สามารถวางใจข้อมูลบนฉลากได้ทั้งหมด   ตัวอย่างข้อมูลฉลากและปริมาณตะกั่วในสี     ปริมาณสารตะกั่ว 56,000 ppm สียี่ห้อ เด็นโซ่ ผลิตโดย ไทยโตอา อุตสาหกรรม ปริมาณสารตะกั่ว  53,000 ppm สียี่ห้อ เบ็นโทน ผลิตโดย บี เอ็น บราเธอร์   ปริมาณสารตะกั่ว 49,000 ppm สียี่ห้อ ซีสโต้ ผลิตโดย ซีซั่นเพ้นท์     ปริมาณสารตะกั่ว 48,000 ppm สียี่ห้อ เบเยอร์ชิลด์ ผลิตโดย บี เอ็น บราเธอร์ ปริมาณสารตะกั่ว 43,000 ppm สียี่ห้อ เบเยอร์ดีไลท์ไททาเนียมผลิตโดย บี เอ็น บราเธอร์     ปริมาณสารตะกั่ว 34,000 ppm สียี่ห้อ คินโซ่ ผลิตโดย ไทยโตอา อุตสาหกรรม ปริมาณสารตะกั่ว 28,000 ppm สียี่ห้อ โทรา ผลิตโดย ไทยโตอา อุตสาหกรรม     ปริมาณสารตะกั่ว 18,000 ppmสียี่ห้อ ร็อกเก็ต ผลิตโดย ทีเพ้นท์ ปริมาณสารตะกั่ว 2,600 ppm สียี่ห้อ ซันเก ผลิตโดย โกลเด้นท์แอร์โร โค๊ทติ้ง     ปริมาณสารตะกั่ว 640 ppm สียี่ห้อ ซุปเปอร์มาเท็กซ์ ผลิตโดย ทีโอเอเพ้นท์ ปริมาณสารตะกั่ว 230 ppm สียี่ห้อ ทีโอเอ กลิปตั้น ผลิตโดย ทีโอเอเพ้นท์   ปริมาณสารตะกั่ว 390 ppm สียี่ห้อ กัปตัน ผลิตโดย กัปตันโคตติ้ง (กิจการร่วมกับ ทีโอเอ เพ้นท์)   และด้วยเหตุที่ฉลากบนกระป๋องสีมีรูปแบบและข้อความที่หลากหลาย ดังนั้นการปรับปรุงแก้ไขให้ฉลากมีมาตรฐานเดียวกัน น่าจะช่วยให้ข้อมูลบนฉลากมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น รวมถึงควรเพิ่มข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เช่น อันตรายของสารตะกั่ว และข้อควรระวังในการขูดลอกสีเก่า เป็นต้น   คำแนะนำสำหรับการเลือกสีทาบ้าน 1. เลือกสีทาอาคารชนิดที่ปลอดสารตะกั่ว ทุกชีวิตในบ้านจะได้ปลอดภัย โดยเฉพาะสีน้ำมัน เฉดสีสด เหลือง ส้ม แดง ควรหลีกเลี่ยง สีน้ำมันทาอาคารเหมาะกับไม้และโลหะ ไม่ควรนำไปทาบนผิวปูนซีเมนต์ โดยในขณะที่ยังไม่มีมาตรฐานบังคับ ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยง เพื่อเป็นการลดเรื่องความเสี่ยงจากการปนเปื้อนของสารตะกั่ว ซึ่งพบว่าเป็นปัญหามากที่สุดในปัจจุบัน 2. สีทาบ้านมีหลายเกรด ราคาก็ต่างกัน จึงต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมเพื่อจะได้งานที่มีคุณภาพดีในราคาประหยัด อย่าผูกใจเชื่อไปเองว่า สีที่ราคาแพงจะมีคุณภาพดีและปลอดภัยกว่า 3. การเลือกใช้สีว่าจะใช้ของยี่ห้อใดนั้น ให้เปรียบเทียบที่รุ่นสินค้าของแต่ละยี่ห้อ แทนการมั่นใจในตัวยี่ห้อสินค้า เพราะเมื่อนำมาเปรียบเทียบรุ่นต่อรุ่นแล้ว จะพบว่าคุณสมบัติไม่ต่างกันมากนัก 4. อ่านฉลากให้ละเอียด แต่อย่าเพิ่งเชื่อทั้งหมด ลองศึกษารายละเอียดผลทดสอบทั้งหมดตามที่เสนอไว้ใน “ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้ หากพบข้อมูลที่ข้ดแย้งกัน ให้ละเว้นการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากหลอกลวงไปเลย 5. เลือกใช้สีให้เหมาะสมกับงาน โดยหาความรู้เพิ่มเติมหรือปรึกษาช่าง เช่น  ปูนทาสีน้ำ เหล็ก/ไม้ทาสีน้ำมัน เป็นต้น จากนั้นก็ประเมินตัวเองว่า อยากได้สีแบบไหน สีกันร้อน สีเช็ดได้ สีปกปิดรอยแตกลายงา สียืดหยุ่นได้ สีกันคราบน้ำมัน ฯลฯ และต้องการสีที่มีอายุงานกี่ปี 2 ปี 4 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี เมื่อประเมินได้แล้วจึงค่อยหาแคตตาล็อกของบริษัทผู้ผลิตสีมาเปรียบเทียบรุ่นต่อรุ่น เพื่อให้ได้สีตามที่ต้องการในราคาที่ถูกใจ 6. ก่อนลงมือทาสีจริง ควรทดลองทาสีด้วยการเอาสีขนาดบรรจุเล็กๆ มาทาก่อน ถ้าชอบใจค่อยไปซื้อมาเป็นถังใหญ่เพื่อทาจริง เพราะสีจริงจะเพี้ยนไปจากแคตตาล็อกนิดหน่อย อาจจะเพราะรองพื้นหรือสภาพพื้นผิวที่เราจะทา 7. กรณีจ้างช่างทาสี ควรระบุความต้องการของท่านให้ชัด โดยเลือกใช้สีที่ไม่มีสารตะกั่ว เรื่องราคาไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะจากการทดสอบที่ได้นำเสนอไป พบว่า ท่านสามารถเลือกใช้สีที่ปลอดภัยจากสารตะกั่วได้ ในราคาเหมาะสม ไม่แพงเกินไป   คำแนะนำในการทาสีบ้าน การขูดลอกสีเก่าเพื่อทาสีใหม่ ควรระมัดระวังมิให้ฝุ่นสีฟุ้งกระจายและควรหลีกเลี่ยงการสูดดมหรือสัมผัสฝุ่นสี ทำความสะอาดพื้นผิวด้วยการถูพื้นหรือเช็ดเปียก นอกเหนือจากการกวาด เนื่องจากฝุ่นตะกั่วไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อันนี้เท่ากับจะนำเสนอยี่ห้อที่มีตะกั่วอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งก็ควรเขียนหัวข้อให้ชัด ที่สำคัญกว่าคือคงต้องเขียนหมายเหตุให้ชัดว่า อันนี้เป็นผลจากการตรวจ 120 ตัวอย่างเท่านั้น ซึ่งแม้ว่าจำนวนดังกล่าวจะครอบคลุมยี่ห้อต่างๆ ถึง 68 ยี่ห้อ แต่ก็อาจมีบางยี่ห้อที่ไม่อยู่ในการทดสอบนี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 150 ตรวจคุณภาพข้าวสารบรรจุถุง ตอนที่ 2

เรื่องของข้าวสารบรรจุถุงยังไม่จบ หลังจากที่ฉลาดซื้อรายงานผลการทดสอบหาการปนเปื้อนของสารเคมีไปเมื่อฉบับที่แล้ว ฉบับนี้เรายังมีเรื่องของผลวิเคราะห์คุณภาพทางกายภาพของข้าวสารบรรจุถุงมาให้ติดตามกันต่อ การตรวจวิเคราะห์ด้านกายภาพ เป็นการตรวจวิเคราะห์เพื่อดูเรื่องของคุณภาพข้าวสารบรรจุถุง โดยจะดูเรื่องของสิ่งปนเปื้อนที่ปลอมปนมาในข้าวและปริมาณของเมล็ดข้าวที่ไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน เช่น ปริมาณข้าวหัก ข้าวเมล็ดสีอื่น อย่างสีแดง สีเหลือง ข้าวเปลือก หรือ เมล็ดพืชชนิดอื่นๆ โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย พ.ศ. 2549 และ มาตรฐานสินค้าข้าวขาว พ.ศ. 2555 ที่รับรองโดยกระทรวงพาณิชย์   มาตรฐานข้าวขาวหอมมะลิ 100% และ ข้าวขาว 100% (ชั้น 3) -ข้าวเต็มเมล็ด ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 -ข้าวหักที่มีความยาวตั้งแต่ 5.0 ส่วนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 8.0 ส่วน  ไม่เกินร้อยละ 5.0 ในจำนวนนี้อาจมีข้าวหักที่มีความยาวไม่ถึง 5.0 ส่วน และไม่ผ่านตะแกรงเบอร์ 7 ไม่เกินร้อยละ 0.5 และปลายข้าวขาวซีวัน ไม่เกินร้อยละ 0.1 นอกนั้นเป็นข้าวที่มีความยาวตั้งแต่ 8.0 ส่วนขึ้นไป -ข้าวและสิ่งที่อาจมีปนได้ ข้าวเมล็ดแดง     ห้ามพบ ข้าวเมล็ดเหลือง ไม่เกินร้อยละ 0.2 ข้าวเมล็ดท้องไข่  ไม่เกินร้อยละ 6.0 ข้าวเมล็ดเสีย      ไม่เกินร้อยละ 0.25 ข้าวเหนียวขาว    ไม่เกินร้อยละ 1.5 ข้าวเปลือก         ไม่เกิน 7 เมล็ดต่อข้าว 1 กิโลกรัม ข้าวเมล็ดลีบ ข้าวเมล็ดอ่อน เมล็ดพืชอื่น และวัตถุอื่น อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกันไม่เกินร้อยละ 0.2   -ระดับการสี สีดีพิเศษ ที่มา : ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง  กำหนดให้ข้าวหอมมะลิไทยเป็นสินค้ามาตรฐานและมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย   สรุปภาพรวมผลการทดสอบคุณภาพทางกายภาพของข้าวสารบรรจุถุง กลุ่มข้าวหอมมะลิ 100% จำนวนตัวอย่างข้าวสารขาวหอมมะลิ 100% ที่ฉลาดซื้อสุ่มสำรวจมีทั้ง 15 ตัวอย่าง ได้แก่ยี่ห้อดังต่อไป 1. ลายกนก 2.สุรินทร์ทิพย์ 3.ข้าวโรงเรียน 4. ปทุมทอง 5. cooking for fun 6.ฉัตรทอง 7.ข้าวเบญจรงค์ 8.ข้าวหอมมะลิแปดริ้ว 9.ตราเกษตร 10.ติ๊ก ชีโร่ 11.ดอกบัว 12.ท๊อปส์ 13.หงษ์ทอง 14.โฮมเฟรชมาร์ช จัสมิน และ 15.ชามทอง ซึ่งจากผลการวิเคราะห์คุณภาพทางกายภาพ ข้าวสารขาวหอมมะลิ 100% บรรจุถุงทั้ง 15 อย่าง พบเรื่องที่น่ายินดี คือ ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์ในเรื่อง % ของปริมาณข้าวเต็มเมล็ด ที่กำหนดไว้ว่าต้องไม่น้อยกว่า 60% อีกเรื่องที่ตัวอย่างส่วนใหญ่ผ่านเกณฑ์คือ ปริมาณของข้าวหัก ที่กำหนดว่าห้ามเกิน 8% จากการวิเคราะห์มีเพียง 1 ตัวอย่างเท่านั้นที่สูงเกินมาตรฐาน คือตัวอย่างยี่ห้อปทุมทอง ขณะที่ผลการวิเคราะห์เรื่องสิ่งปลอมปนในข้าว พบว่ามีหลายตัวอย่างพบการปนของข้าวเมล็ดแดง (ข้าวที่สีต่ำกว่ามาตรฐาน) และข้าวเมล็ดเหลือง ที่กำหนดไว้ว่าห้ามพบสำหรับข้าวเมล็ดแดง และ ไม่เกิน 0.2% สำหรับข้าวเมล็ดเหลือง ตัวที่พบได้แก่ ลายกนก, สุรินทร์ทิพย์, ข้าวโรงเรียน, ปทุมทอง, ข้าวเบญจรงค์, ตราเกษตร, ติ๊ก ชีโร่, ดอกบัว, โฮมเฟรชมาร์ช จัสมิน และ ชามทอง ซึ่งปริมาณที่เกินเกณฑ์มานั้นก็ไม่ได้มากมายอะไร ไม่ถึง 1% ส่วนการปลอมปนของสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ อย่าง ข้าวเมล็ดท้องไข่ ข้าวเมล็ดเสีย ข้าวเปลือก จากผลการวิเคราะห์ทุกตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ในเรื่องการคุณภาพการสีทีกำหนดไว้ว่าต้องเป็นระดับการสีดีพิเศษ ข้าวสารขาวหอมมะลิ 100% บรรจุถุงทั้ง 15 ตัวอย่าง มีระดับการสีอยู่ที่สีดีเท่านั้น   กลุ่มข้าวหอมผสม เพราะมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทยของกระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้ข้าวสารบรรจุถุงหากจะใช้คำว่า “ข้าวหอมมะลิ” ในทางการค้า ข้าวที่นำมาบรรจุถุงขายต้องมีปริมาณข้าวหอมมะลิไม่น้อยกว่า 92% หากน้อยกว่านี้ใช้ได้เพียงแค่คำว่า ข้าวหอม เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะลักษณะเป็นข้าวผสม คือ มีข้าวหอมมะลิอยู่ประมาณ 70% จำนวนข้าวทั้งหมด อีก 30% ที่เหลือเป็นข้าวขาวธรรมดา ซึ่งข้าวหอมมะลิที่ใช้มักเป็นข้าวหอมมะลิที่เกรดคุณภาพ 10% หรือ 5% ซึ่งคุณภาพจะแตกต่างจากข้าวหอมมะลิเกรดคุณภาพ 100% ที่ยอมให้มี % ปริมาณของข้าวหักและสิ่งปลอมปน เช่น ข้าวเมล็ดแดง ข้าวเมล็ดเหลือง ข้าวเมล็ดเสีย ข้าวเปลือก ข้าวเมล็ดลีบ ได้มากกว่า สำหรับผลการวิเคราะห์ พบว่าข้าวที่อยู่ในกลุ่มข้าวหอมผสม ซึ่งมีตัวอย่างจำนวน 6 ยี่ห้อ ได้แก่ 1.บัวทิพย์ 2.ธรรมคัลเจอร์ ข้าวหอมคุณภาพคัดพิเศษ 3.ปิ่นเงิน ข้าวหอมคัดพิเศษ 4.ข้าวแสนดี ข้าวหอมยโสธร 5.ข้าวหอมผสมเอโร่ และ 6.สุพรรณหงส์ ข้าวหอมสุรินทร์ นอกจากนี้ยังมีอีก 1 ตัวอย่าง ที่ไม่ได้แจ้งทั้งเกรดคุณภาพของข้าวและปริมาณของข้าว คือยี่ห้อ ไก่แจ้เขียว บอกแต่เพียงว่าเป็นข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ซึ่งเราจะนำตัวอย่างในกลุ่มนี้เทียบโดยใช้เกณฑ์มาตรฐานข้าวหอมมะลิ 100% ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน % ของปริมาณข้าวเต็มเมล็ด ส่วนเรื่องการปลอมปนนั้น มีหลายยี่ห้อที่พบการปลอมปนของเมล็ดข้าวเหลืองเกินมาตรฐาน ได้แก่ยี่ห้อ ธรรมคัลเจอร์, ข้าวแสนดี และ ปิ่นเงิน ซึ่งตัวอย่างข้าวสารถุงยี่ห้อ ปิ่นเงิน ข้าวหอมคัดพิเศษ พบว่าตกเกณฑ์มาตรฐานหลายข้อ ทั้ง % ข้าวหักและปลายข้าวซีวัน การปนของเมล็ดข้าวแดงและเมล็ดข้าวเหลือง เรื่องคุณภาพการสีทุกตัวอย่างอยู่ในระดับ สีดี   กลุ่มข้าวหอมปทุม มาตรฐานข้าวหอมปทุมตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ เป็นมาตรฐานแบบเดียวกับมาตรฐานข้าวหอมมะลิ 100% ซึ่งในตัวอย่างข้าวสารถุงที่ฉลาดซื้อสุ่มมาวิเคราะห์นั้น มี 2 ตัวอย่าง ที่ระบุว่าเป็นข้าวหอมปทุม 100% คือ 1.ท๊อปส์ ข้าวหอมปทุมธานี และ 2.ยี่ห้อบิ๊กซี ข้าวหอมปทุม ทั้ง 2 ตัวอย่าง ผ่านเกณฑ์เรื่อง % ของปริมาณข้าวเต็มเมล็ด แต่ทั้ง 2 ตัวอย่าง ตกเกณฑ์เรื่อง % ข้าวหักและปลายข้าวซีวัน ส่วนเรื่องสิ่งปลอมปน ท๊อปส์ ข้าวหอมปทุมธานี พบปริมาณข้าวเมล็ดแดงเกินเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนบิ๊กซี ข้าวหอมปทุม พบปริมาณข้าวเมล็ดเหลืองเกินเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนสิ่งปลอมปนอื่นๆ ผ่านเกณฑ์ทั้ง 2 ตัวอย่าง เรื่องระดับคุณภาพการสี ทั้ง 2 ตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์ สีดี ซึ่งตามมาตรฐานต้องเป็น สีดีพิเศษ   กลุ่มข้าวขาว มาตรฐานทางกายภาพของข้าวขาวจะถูกแบ่งตามเกรดคุณภาพของข้าว ไล่ตั้งแต่ ข้าวขาว 100% ข้าวขาว 5% ข้าวขาว 10% ข้าวขาว 15% ข้าวขาว 25% และ ข้าวขาว 35% ซึ่งเกณฑ์แต่ละประเภทก็จะเคร่งครัดลดหลั่นกันไป โดยตัวอย่างข้าวสารบรรจุถุงที่ฉลาดซื้อสุ่มเก็บมาวิเคราะห์นั้น มีตัวอย่างครบทุกเกรดข้าว รวมทั้งหมด 21 ตัวอย่าง ข้าวขาว 100% มีด้วยกัน 7 ตัวอย่าง ได้แก่ 1.ข้าวพันดี 2.ดอกบัว ตงฮั้ว 3.ข้าวแสนดี 4.มาบุญครอง 5.ช้างเผือก 6.เอโร่ ข้าวขาว 100% และ 7.ดอกบัว ข้าวขาวตาแห้ง ซึ่งผลการวิเคราะห์เรื่อง % ของปริมาณข้าวเต็มเมล็ด พบว่ามีเพียง 1 ยี่ห้อที่ไม่ผ่านเกณฑ์ คือ ดอกบัว ตงฮั้ว ที่ระบุว่าเป็นข้าวขาวเสาไห้ ส่วนเกณฑ์ที่มีหลายตัวอย่างไม่ผ่านเกณฑ์ คือเรื่องส่วนของข้าวหัก และ% ข้าวหักและปลายข้าวซีวัน รวมถึงเรื่องการปนของข้าวเมล็ดแดงและข้าวเมล็ดเสีย ตัวอย่างข้าวในกลุ่มนี้ที่ผลวิเคราะห์ออกมาค่อนข้างน่าพอใจ มียี่ห้อ ดอกบัว ข้าวขาวตาแห้ง ที่ไม่ผ่านเกณฑ์เรื่องการปนของข้าวเมล็ดแดงเรื่องเดียวเท่านั้น เรื่องคุณภาพการสี ทุกตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์สีดี ซึ่งตามมาตรฐานต้องเป็นสีดีพิเศษ ข้าวขาว 5% มีจำนวน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ 1.ตราฉัตร 2.โค-โค่ ข้าวขาวพิมพา 3.ข้าวมหานคร 4.ข้าวแสนดี ข้าวหอมทิพย์ และ 5. ตราคุ้มค่า ข้าวหอม ในกลุ่มนี้ตัวอย่างส่วนใหญ่จะตกเกณฑ์ในเรื่องของส่วนของข้าวหัก และ % ข้าวหักและปลายข้าวซีวัน  ทั้ง ตราฉัตร, โค-โค่ ข้าวขาวพิมพา และ ข้าวมหานคร ตัวอย่างในกลุ่มข้าวขาว 5% ไม่ค่อยพบการตกเกณฑ์เรื่องการปลอมปนของข้าวเมล็ดแดงหรือเมล็ดเหลือง แต่พบตกเกณฑ์การปนของข้าวเมล็ดท้องไข่ใน 2 ตัวอย่าง คือ ตราฉัตร และ ข้าวมหานคร ระดับคุณภาพการสี ทุกตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์สีดี ซึ่งถือว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ข้าวขาว 10% มี 2 ตัวอย่าง ได้แก่ 1.ชาวนาไทย ข้าวเสาไห้ และ 2.ข้าวหอมฉัตรอรุณ สำหรับตัวอย่าง ชาวนาไทย ข้าวเสาไห้ ตกเกณฑ์ในเรื่อง ข้าวหักที่มีความยาวไม่ถึงส่วนขั้นต่ำที่กำหนดและไม่ผ่านตะแกรงเบอร์ 7 และ ปลายข้าวซีวัน ส่วน ข้าวหอมฉัตรอรุณ ตกเกณฑ์เรื่อง ส่วนของข้าวหัก % ข้าวหักที่มีความยาวไม่ถึงส่วนขั้นต่ำที่กำหนดและไม่ผ่านตะแกรงเบอร์ 7 และ % การปลอมปนของข้าวเมล็ดเหลือง ข้าวขาว 15% มี 2 ตัวอย่าง ได้แก่ 1.ตราฉัตร และ 2.พนมรุ้ง ซึ่งทั้ง 2 ตัวอย่างตกเกณฑ์เรื่องเดียวกัน คือ ส่วนของข้าวหัก % ข้าวหักที่มีความยาวไม่ถึงส่วนขั้นต่ำที่กำหนดและไม่ผ่านตะแกรงเบอร์ 7 และ % ปลายข้าวซีวัน โดยเฉพาะ พนมรุ้ง ที่ผลวิเคราะห์ที่ได้ตกจากเกณฑ์ที่กำหนดไว้ค่อนข้างเยอะ ข้าวขาว 25% มี 1 ตัวอย่าง คือยี่ห้อ ข้าวอิ่มทิพย์ ซึ่งผลวิเคราะห์ตกเกณฑ์เรื่อง % ปลายข้าวซีวัน และการปนของเมล็ดข้าวเหลือง ข้าวขาว 35% มีจำนวน 4 ตัวอย่าง 1.รุ้งทิพย์ 2.คุ้มค่า 3.ถูกใจ และ 4.แฮปปี้บาท ตัวอย่างข้าวสารบรรจุถุงในกลุ่มนี้ ตกเกณฑ์ในเรื่องของส่วนของข้าวหัก และ % ปลายข้าวซีวัน   ฉลาดซื้อแนะนำ การเลือกซื้อข้าวสารถุงหากต้องการชนิดของข้าวสารตรงตามกับที่ต้องการ ต้องไม่ลืมที่จะอ่านรายละเอียดส่วนประกอบที่อยู่บนฉลากข้างถุงเด็ดขาด เพราะข้าวสารถุงหลายยี่ห้อที่เป็นข้าวแบบผสม ถ้าเราไม่อ่านส่วนประกอบเราจะไม่รู้เลยว่า ข้าวที่ผสมกันนั้น เป็นข้าวหอมกี่ % ข้าวขาวกี่ % และเป็นข้าวเกรดไหน ซึ่งเมื่อรู้ว่าข้าวยี่ห้อนี้เป็นข้าวเกรดอะไร เราก็สามารถนำไปเปรียบเทียบกับข้าวเกรดเดียวกันยี่ห้ออื่นๆ เพื่อเลือกดูที่ยี่ห้อที่คุ้มค่าคุ้มราคามากที่สุด ส่วนของเมล็ดข้าว คือ ส่วนของข้าวเต็มเมล็ดแต่ละส่วนที่แบ่งตามความยาวของเมล็ดออกเป็น 10 ส่วนเท่า ๆ กัน ข้าวเต็มเมล็ด คือ เมล็ดข้าวที่อยู่ในสภาพ เต็มเมล็ด ไม่มีส่วนใดหักและให้รวมถึงเมล็ดข้าวที่มีความยาวตั้งแต่ 9ส่วนขึ้นไป ข้าวหัก คือ เมล็ดข้าวแตกเป็นซีกที่มีเนื้อที่เหลืออยู่ไม่ถึงร้อยละ 80 ของเมล็ด ปลายข้าวซีวัน คือ เมล็ดข้าวหักขนาดเล็กที่ร่อนผ่านตะแกรงเบอร์ 7 ตะแกรงเบอร์ 7 คือ ตะแกรงโลหะรูกลม หนา 0.79 มิลลิเมตร และเส้นผ่านศูนย์กลางรู 1.75 มิลลิเมตร ข้าวเมล็ดแดง คือ เมล็ดข้าวที่มีรำสีแดงหุ้มอยู่ทั้งเมล็ดหรือติดอยู่เป็นบางส่วนของเมล็ด ข้าวเมล็ดเหลือง คือ เมล็ดข้าวที่มีบางส่วนของเมล็ดกลายเป็นสีเหลืองอย่างชัดแจ้ง ข้าวเมล็ดท้องไข่ คือ เมล็ดข้าวเจ้าที่เป็นสีขาวขุ่นเหมือนช็อล์คมีเนื้อที่ตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไปของเนื้อที่เมล็ดข้าว ข้าวเมล็ดเสีย คือ เมล็ดข้าวที่เสียอย่างเห็นได้ชัดแจ้งด้วยตาเปล่าซึ่งเกิดจากความชื้น ความร้อน เชื้อรา แมลง หรืออื่น ๆ ข้าวเมล็ดลีบ คือ เมล็ดข้าวที่ไม่เจริญเติบโตตามธรรมดาที่ควรจะเป็น มีลักษณะแฟบ แบน ระดับการสี แบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ 1.สีดีพิเศษ คือการขัดสีเอารำออกทั้งหมดจนเมล็ดข้าวมีลักษณะสวยงามเป็นพิเศษ 2.สีดี คือ การขัดสีเอารำออกทั้งหมดจนเมล็ดข้าวมีลักษณะสวยงามดี 3.สีดีปานกลาง คือการขัดสีเอารำออกเป็นส่วนมากจนเมล็ดข้าวมีลักษณะสวยงามพอสมควร และ 4.สีธรรมดา คือการขัดสีเอารำออกแต่เพียงบางส่วน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 146 อย่าลืมดู “ส่วนประกอบ” ก่อนซื้ออาหารสำเร็จรูป

  เมื่อหมูย่างกลายเป็นไก่ย่าง             ในวิถีชีวิตของผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีแต่ความเร่งรีบ เรื่องของความสะดวกและรวดเร็ว ถือเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้ความต้องการบริโภคอาหารได้เปลี่ยนแปลงไปจากคนรุ่นก่อนหน้านี้อย่างชัดเจน จากวิถีการบริโภคที่เนิ่นช้า ใช้เวลาในการประดิดประดอย ตกแต่งทั้งรสชาติและรูปร่างหน้าตาของอาหารให้มีความสวยงาม เปลี่ยนมาสู่อาหารที่พร้อมบริโภคได้ทันที เพียงแค่เอาออกจากตู้แช่แล้วผ่านความร้อนแค่ไม่กี่นาที จากเตาไมโครเวฟ โดยเราเรียกมันว่า “อาหารแช่เย็น – แช่แข็ง”    ถ้ามองผ่านๆ รูปร่างหน้าตาบนฉลากสินค้าเหล่านี้จะดูน่ารับประทานและมีความหลากหลายของตัวผลิตภัณฑ์สูง เรียกว่า อยากกินเมนูอะไรก็มีให้เลือกมากมาย แต่เดี๋ยวก่อน ...การมองเฉพาะชื่ออาหารบนผลิตภัณฑ์อาจไม่ใช่อย่างที่คุณคิด เพราะเป็นไปได้ว่า หมูย่างที่คุณกำลังจะกินอาจมีไก่ผสม หรือ ลูกชิ้นกุ้ง ไม่ได้เป็นกุ้งล้วน แต่เป็นเนื้อปลา   ดังนั้น “ฉลาดซื้อ” จึงได้ร่วมกับโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชนสุ่มสำรวจตัวอย่างอาหารพร้อมบริโภคชนิดแช่เย็นและแช่แข็ง จำนวน 76 ตัวอย่าง 3 กลุ่มอาหาร ประกอบด้วย กลุ่มเบอร์เกอร์-ฮอทดอก-แซนวิช กลุ่มติ่มซำ-อาหารเรียกน้ำย่อย และกลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป จากร้านสะดวกซื้อ และซูเปอร์มาร์เก็ตจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ โฮมเฟรชมาร์ท บิ๊กซี โลตัส และกูร์เม่ มาร์เก็ต สยามพารากอน เซเว่นอีเลฟเว่น ระหว่างวันที่ 18 – 22 มีนาคม 2556 เมื่อมาพิจารณาเปรียบเทียบการแสดงรายละเอียดของชื่ออาหาร และส่วนประกอบ ว่ามีความสอดคล้องหรือไม่ และอาจจะนำมาซึ่งความสับสนแก่ผู้บริโภคหรือไม่   ผลทดสอบ  ร้อยละ 62 ฉลากควรต้องปรับปรุง            “ฉลาดซื้อ” พบว่า จาก 76 ตัวอย่าง มี 29 ตัวอย่าง (ร้อยละ 38) ที่ฉลากแสดงข้อมูลได้ค่อนข้างดี คือ มีการใช้ชื่ออาหารที่ชัดเจนเข้าใจได้ทันทีเมื่ออ่านชื่ออาหาร มีการแสดงชื่ออาหารที่สอดคล้องกับส่วนประกอบ และมีการแสดงรายการส่วนประกอบที่ค่อนข้างละเอียดและชัดเจน ขณะที่อีก 47 ตัวอย่าง (ร้อยละ 62) มีการแสดงข้อมูลบนฉลากที่สร้างความสับสนให้กับผู้บริโภค บางรายการอาจเข้าข่ายทำให้เข้าใจผิดและเข้าข่ายการกระทำความผิดฐานแสดงฉลากไม่ถูกต้องได้ (มาตรา 6(10) ของ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522) โดย แบ่งตามลักษณะการกระทำความผิดได้เป็น 5 ลักษณะ คือ   ชื่ออาหารไม่สอดคล้องกับส่วนประกอบ การแสดงชื่ออาหารไม่สอดคล้องกับส่วนประกอบหลักของอาหาร เช่น ตรา เดลี่ไทย ใช้ชื่ออาหารว่า ข้าวเหนียวหมูย่าง แต่มีส่วนประกอบของหมูและไก่ อีกทั้งปริมาณและสัดส่วนของเนื้อสัตว์ทั้งสองชนิดยังใกล้เคียงกันมากคือ ร้อยละ 10 และ ร้อยละ 9 ตามลำดับ หรือ ไส้กรอกชีสต์หมู ตราเบทเทอร์ฟู้ด ที่ส่วนประกอบไม่มีการระบุว่า มีชีสต์ ทั้งที่ในชื่ออาหารแสดงไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นไส้กรอกชีสต์ กุ้งทอดสอดไส้ชีส ตราสุรพลฟู้ดส์ ที่ชื่อบอกว่ากุ้ง แต่มีส่วนประกอบ ทั้งกุ้งและปลา คือ กุ้ง 23%, เกล็ดขนมปัง 17%, เนื้อปลาบด 15%, ชีส 6% เป็นต้น   การแสดงชื่ออาหารไม่ได้บอกว่าอาหารนั้นทำมาจากอะไร การแสดงชื่ออาหารไม่ได้บ่งชี้ว่าอาหารชนิดนั้นคืออะไร ทำมาจากอะไร เช่น แซนวิชเค้กไส้กรอก ตรา เซเว่น เฟรช ที่ส่วนประกอบระบุว่า ไส้กรอก 41%, ไข่ขาว 13.20%, แป้งสาลี 10.8%... ฯลฯ ซึ่งทั้งชื่ออาหารและส่วนประกอบไม่ได้ให้ข้อมูลกับผู้บริโภคว่า ไส้กรอกนั้น ๆ คืออะไร หรือ WAVE DOG ฮอทดอกซอสพิซซ่า ที่ส่วนประกอบแสดงว่าทำจากไส้กรอกไก่ แต่มิได้แสดงชื่อไส้กรอกไก่ไว้บนฉลาก   การแสดงชื่ออาหารไม่ชัดเจน เมื่อชื่ออาหารไม่ชัดเจน ก็ไม่สามารถระบุได้ว่าอาหารนั้นทำมาจากอะไรเป็นจริงตามชื่ออาหารที่กล่าวอ้างหรือไม่ รวมถึงมิได้มีการแสดงส่วนประกอบเป็นร้อยละ หากแต่แสดงเพียงรายการวัตถุดิบที่นำมาผลิตเป็นอาหารเท่านั้น เช่น ลูกชิ้นหมูปิ้ง ตรา เซเว่นเฟรช บายแฮปปี้เชพ ที่ส่วนประกอบระบุแค่ เนื้อสัตว์ เพียงอย่างเดียว หรือ เกี๊ยวปู ตรา เจด ดราก้อน ที่ระบุส่วนประกอบ เนื้อสัตว์ 49.5%, แผ่นแป้ง 29.5% เครื่องปรุงรส 11.9%, มันแกว 11.5% ยอพริก (ไส้กรอกตราซีเค ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์) ที่ชื่อไม่บอกว่าทำจากสัตว์ โดย ส่วนประกอบ แสดงแค่ว่าทำจากเนื้อสัตว์ + เครื่องปรุงรส แต่บนฉลากกลับมีการแสดงรูปไก่ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจว่าเป็นยอไก่ได้ เป็นต้น   มีการแสดงฉลากอาหารสองชุด คือมีฉลากที่สลักติดมากับบรรจุภัณฑ์และฉลากแบบที่เป็นสติ๊กเกอร์ที่แปะมาในภายหลังซึ่งฉลากทั้งสองชุดมีการแสดงรายการส่วนประกอบที่ไม่ตรงกัน เช่น ไส้กรอกคอกเทลรมควัน ตรา ซีพี ซึ่งฉลากที่ติดมากับซองแสดงรายละเอียดว่า เนื้อสัตว์ ขณะที่ ฉลากที่เป็นสติ๊กเกอร์ ระบุว่า ทำมาจาก เนื้อหมู และเนื้อไก่ หรือ ไส้กรอกหมูเวียนนา ตรา บางกอกแฮม รูปหมูตัวเดียว ที่มีฉลาก 2 ชุด ชุดแรกเป็นสติ๊กเกอร์แสดงรายละเอียดว่า ทำจากเนื้อหมูและอื่น ๆ กับ ฉลากชุดที่สองเป็นตัวหนังสือสลักบนซองบอกรายละเอียดว่าทำจากเนื้อสัตว์และอื่น ๆ เป็นต้น   มีชื่ออาหารทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่ความหมายไม่ตรงกัน ชื่อที่อาจสร้างความสับสน เช่น ลูกชิ้นกุ้งมังกรเทียม (เนื้อปลาบดปรุงรส) ขณะที่ ชื่อภาษาอังกฤษ แสดงคำว่า Lobster Ball ซึ่งหมายถึงว่าทำมาจากกุ้งมังกรแท้ กับ Shrimp Shao – mai ขนมจีบ ตรา S&p ที่ชื่อภาษาอังกฤษแสดงว่าเป็นขนมจีบกุ้ง ขณะที่ชื่อภาษาไทยบอกแค่ขนมจีบ เป็นต้น   ข้อควรระวัง สีของซองกับตัวอักษรบนซองกลืนกัน อ่านได้ยาก เช่น กุ้งทิพย์ ตรา พี.เอฟ.พี (เนื้อปลาผสมกุ้งปรุงรส) ที่ทำสีซองและตัวหนังสือเป็นสีเหลืองกลืนกับสีพื้น ชื่ออาหารตัวเล็กอ่านได้ยากเนื่องจากมีชื่ออาหารที่ยาวเกินไป เช่น เนื้อปลาบดปรุงรสผสมกลิ่นไก่และกลิ่นชีส รมควันรูปแองกรี้เบิร์ดส์ ตรา TVI ทวีวงษ์ Angry Birds Fish Cake การแสดงรายละเอียดของส่วนประกอบบางครั้งยังไม่ละเอียดเพียงพอ ไม่สามารถทราบได้ว่าอาหารนั้นทำมาจากอะไร เช่น เกี๊ยวซ่าญี่ปุ่นสำเร็จรูป ไส้กุ้งทรงเครื่อง ตรา โออิชิ เกี๊ยวซ่า ที่ส่วนประกอบหลักระบุเพียงแค่ว่าทำจาก ไส้กุ้งทรงเครื่อง 57% ขณะที่เกี๊ยวหมูซอสญี่ปุ่น ตรา ซีพี ที่มีการแสดงส่วนประกอบคล้าย ๆ กัน กลับแสดงรายละเอียดเป็นวงเล็บไว้ว่าไส้หมูสูตรญี่ปุ่นทำจาก เนื้อหมู ผัก และเครื่องปรุงรส การแสดงรายละเอียดของส่วนประกอบที่อาจมีผลต่อการก่อภูมิแพ้สำหรับผู้แพ้อาหารยังคงเป็นการแสดงโดยสมัครใจ (ผู้ผลิต เป็นผู้อาสาแสดงรายละเอียดเองโดยไม่มีกฎหมายบังคับ) และยังไม่โดดเด่นพอที่จะเป็นจุดสังเกตให้ผู้บริโภคต้องระวังเมื่ออ่านฉลาก ส่วนใหญ่ของอาหารที่ฉลาดซื้อนำมาสำรวจในครั้งนี้ใช้ ผงชูรส (msg-โมโนโซเดียมกลูตาเมต) และวัตถุปรุงแต่งรสอาหารชนิดอื่น ๆ ประกอบอาหารด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่จำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ ทำให้ผู้บริโภคที่มีปัญหาโรคไตหรือมีปัญหากับผงชูรส ไม่มีตัวเลือกเท่าไหร่นัก กว่าหนึ่งในสามของตัวอย่างที่ทดสอบจะมีการใช้เนื้อสัตว์อื่นนอกจากเนื้อสัตว์ที่เป็นชื่ออาหารมาผสมเป็นอาหาร ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาแพ้อาหารหรือไม่สามารถรับประทานเนื้อสัตว์บางประเภทได้ด้วยปัญหาด้านสุขภาพส่วนตัว (เช่น เป็นโรคแพ้กุ้ง หรือเป็นโรคเก๊าท์ ทานเนื้อไก่ไม่ได้ เป็นต้น) จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจจะได้เนื้อสัตว์อื่นที่ไม่ต้องการเป็นของแถมเมื่อบริโภคอาหารในกลุ่มนี้   ฉลาดซื้อแนะนำ 1.อ่านฉลากอาหารโดยละเอียด อย่าดูเพียงแค่วันผลิต – วันหมดอายุ โดยให้อ่านทั้งชื่ออาหาร ส่วนประกอบของอาหาร รวมถึงข้อมูลโภชนาการ ว่าสอดคล้องกับชื่ออาหารที่แสดงไว้หรือไม่ และอย่าลืมดูชื่อผู้ผลิต-ผู้จัดจำหน่ายด้วย เนื่องจากหากต้องการร้องเรียนหรือให้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงข้อผิดพลาด จะได้ดำเนินการได้โดยตรง 2.ให้ดำเนินการร้องเรียน เมื่อพบอาหารที่มีปัญหาการแสดงฉลาก หรือสงสัยว่าจะมีปัญหากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยทำหนังสือเป็นทางการพร้อมส่งภาพฉลากอาหารที่สงสัยให้กับ อย. เพื่อให้วินิจฉัย พร้อมดำเนินการทางกฎหมายหากพบว่าเป็นการกระทำความผิดจริงตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 3.ควรซื้อหรือรับประทานอาหารที่ปรุงสดใหม่ และ/หรือปรุงอาหารรับประทานเองบ้าง อาหารแช่แข็งควรเป็นเพียงแค่ตัวเลือกหนึ่งเท่านั้น อย่าจำกัดชีวิตตัวเองมากเกินไป   ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่การแสดงฉลากควรปรับปรุง   ชื่ออาหาร ส่วนประกอบสำคัญ ที่แสดงบนฉลาก สถานที่ผลิต/จัดจำหน่าย เลขสารบบอาหาร (เครื่องหมาย อย.) ข้าวเหนียวหมูย่าง ตรา เดลี่ไทย ข้าวเหนียว 71.4%, เนื้อหมู 10.6%, เนื้อไก่ 9.1% บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด 13-1-19233-2-0347 เบอร์เกอร์ข้าวเหนียวหมูย่าง ตรา เดลี่ไทย ข้าวเหนียว 67.7%, เนื้อหมู 14.0%, เนื้อไก่ 12.0% บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด 13-1-19233-2-0726 เบอร์เกอร์ข้าวเหนียวลาบหมู ตรา 7 เฟรช ข้าวเหนียว 67.7%, เนื้อหมู 12.7%, เนื้อไก่ 7.5% บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด 13-1-19233-2-0611 แซนวิชเค้กไส้กรอก ตรา เซเว่นเฟรช Sausage Cake Sandwitch ไส้กรอก 41%, ไข่ขาว 13.20% แป้งสาลี 10.80%... ฯลฯ บริษัท เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ จำกัด 12-2-01653-2-0002 เกี๊ยวหมูซอสสุกี้ ตราซีพี แผ่นเกี๊ยว 31%, เนื้อหมู 26%, ผัก 23 %, เนื้อไก่ 14% บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 24-2-02255-2-0029 เกี๊ยวซ่าญี่ปุ่น ไส้หมู ตรา สุรพลฟู้ดส์ Pork Gyoza ผัก 27.1%, แป้งเกี๊ยว 22.8% เนื้อหมู 21.3%, เนื้อไก่ 15.4% บริษัท สุรพลฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ 11-1-21429-2-0353 ขนมจีบกุ้ง ตรา เทสโก้ Shrimp Shumai กุ้ง 39%, มันแกว 27%, ปลาบด 10% บริษัท พัฒนาซีฟู้ดส์ จำกัด (สำนักงานใหญ่) 74-2-00644-2-0068 Shrimp Shao – mai ขนมจีบ ตรา S&p กุ้ง, หมู, แป้งสาลี, เครื่องปรุงรส บริษัท สุรพลฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ต.เทพารักษ์ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ 11-1-21429-2-0056 กุ้งบอมบ์ ตรา สามสมุทร Sea Shrimp Bomb ขนมปังหั่นเต๋า 40%, เนื้อปลา 35% กุ้ง 12%, … ฯลฯ บริษัท เค. แอล. ห้องเย็นจำกัด 74-2-03448-2-0075 เกี๊ยวปู ตรา เจด ดราก้อน Crab Dumpling เนื้อสัตว์ 49.5%, แผ่นแป้ง 29.5% เครื่องปรุงรส 11.9%,มันแกว 11.5% บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด 13-1-19233-2-0693 ลูกชิ้นหมูปิ้ง ตราเซเว่นเฟรช บายแฮปปี้เชพ เนื้อสัตว์ บริษัท ที.เอ.ซี คอนซูเมอร์ จำกัด นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค 14-2-01552-2-0001 ลูกชิ้นปลาหมึก (cuttlefish ball) ตราแต้จิ๋ว เนื้อปลา 58% ปลาหมึก 15% บริษัท มหาชัยฟู้ดโปรเซสซิ่ง จำกัด 74-2-00637-2-0001 ลูกชิ้นกุ้งมังกรเทียม (เนื้อปลาบดปรุงแต่งรส) Lobster Ball เนื้อปลา 60% น้ำ 35% แป้ง 6% ผลิตโดย บริษัท ลัคกี้ ยูเนี่ยน ฟู้ดส์ จำกัด 74-1-28034-2-0010 ชิกเก้นแฟรงค์ (ไก่) ตรา ซีพี มีฉลาก 2 ชุดแสดงข้อมูลต่างกันเล็กน้อย ชุดแรกป้ายแปะบนซอง : เนื้อไก่, เกลือเสริมไอโอดีน, น้ำตาล, เครื่องเทศ ชุดที่สองตัวอักษรสลักบนซองอาหาร: เนื้อสัตว์ เกลือเสริมไอโอดีน น้ำตาล เครื่องเทศ ผลิต/บรรจุโดย บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)   10-1-05649-1-0678 ไส้กรอกชีสไก่ Halal ตรา บีเคพี มีฉลาก 2 ชุด แสดงข้อมูลตรงกัน คือ เนื้อไก่, เกลือเสริมไอโอดีน, น้ำตาล, เครื่องเทศ (ไม่มีการแสดงชีสในส่วนประกอบ) ผลิตโดย บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)   19-2-01155-2-0031 ไส้กรอกไก่-หนังกรอบ ตรา SSP (ฉลากบนซองไม่ระบุชนิดของไส้กรอก บอกเพียงแค่ ไส้กรอก SSP) เนื้อสัตว์ 80%, ไขมัน 12% น้ำ 2%, แป้ง 4%, เครื่องปรุง 2% ผลิตโดย บริษัท เจพีเอ็ม ซอสเซส จำกัด 26-2-00250-2-0022 ไส้กรอกจูเนียร์ไก่ ตรา โชคุ-ดี เนื้อสัตว์ 85%, ไขมัน 10%, เกลือ-น้ำตาล 4%, เครื่องเทศ 1% บริษัท ทีดี มีท โปรดักส์ จำกัด 30-2-03153-2-0001 ไส้กรอกชีสหมู ตราเบทเทอร์ฟู้ด เนื้อสัตว์อนามัย ไขมัน น้ำตาล เกลือ เครื่องเทศ บริษัท อาหารเบทเทอร์ จำกัด โรงงาน: อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี 16-2-01746-2-0271 ไส้กรอกหมูเวียนนา ตรา บางกอกแฮม รูปหมูตัวเดียว มีฉลาก 2 ชุดแสดงข้อมูลต่างกันเล็กน้อย ชุดแรกเป็นป้ายแปะบนซอง : เนื้อหมู น้ำตาล เครื่องเทศ เกลือเสริมไอโอดีน ชุดที่สองเป็นตัวอักษรสลักบนซองอาหาร: เนื้อสัตว์ เกลือ น้ำตาล เครื่องเทศ บริษัท บางกอกแฮม โปรดักส์ ซัพพลาย จำกัด 11-2-10747-2-0037 ยอพริก (ไส้กรอกตราซีเค ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์) เนื้อสัตว์อนามัย ไขมัน วิตามิน น้ำตาล เครื่องเทศ บริษัท แอดวานซ์ มีท โปรดักส์ จำกัด 13-2-06647-2-0072 ตับบด (ก้อน) ตรา ทีจีเอ็ม Liver Sausage เนื้อหมู 60%, ตับหมู 15%, มันหมู 15%, น้ำ 5%,… ผลิตโดย บริษัท ไทย-เยอรมัน มีท โปรดักส์ จำกัด 24-2-00936-2-0102       ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่แสดงฉลากชัดเจน ชื่ออาหาร ส่วนประกอบสำคัญ ที่แสดงบนฉลาก สถานที่ผลิต/จัดจำหน่าย เลขสารบบอาหาร (เครื่องหมาย อย.) เบอร์เกอร์ข้าวเหนียวไก่ทอดหาดใหญ่ ตรา เซเว่นเฟรช Hat Yai Fried Chicken Sticky Rice Burger ข้าวเหนียว 61.5%, เนื้อไก่ 22.5%, เครื่องปรุงรส 6.9% บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด 13-1-19233-2-0836 ข้าวเหนียวไก่ทอด ตรา พรานไพร Fried Chicken with Sticky Rice ข้าวเหนียว 70% เนื้อไก่ 24.5%...ฯลฯ บริษัท ยูเนี่ยนโฟรเซนโปรดักส์ จำกัด 74-2-01249-2-0221 หมูปิ้งสูตรนมสด ตราเซเว่นเฟรช บายแฮปปี้เชพ เนื้อหมู 73%, เครื่องปรุง 11.26% (พริกไทย,…ฯลฯ), นมข้นจืด 1.50% บริษัท ที.เอ.ซี คอนซูเมอร์ จำกัด นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค 14-2-01552-2-0014 แซนวิชกุ้งชีส ตรา I-Bake Sandwich Shrimp & Cheese ขนมปังแซนวิชนมสด 40% เบอร์เกอร์กุ้ง 32%, แซนวิช สเปรด 22%, ชีสสไลด์ 6% บริษัท เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ จำกัด   12-2-01653-2-0043 เบรก แอนด์ ฟาสต์ แซนวิช ไส้หมูอบซอสญี่ปุ่นและชีส ตรา โออิชิ ขนมปังแซนวิช 54%, มายองเนสซอสญี่ปุ่น 24%, หมูอบ 18%, เชดด้าชีส 4% บริษํท โออิชิเทรดดิ้ง จำกัด 13-2-02746-2-0416 เกี๊ยวซ่าญี่ปุ่นสำเร็จรูป ไส้หมู ตรา โออิชิ เกี๊ยวซ่า เนื้อหมู 45%, แป้ง 35% กะหล่ำปลีและหอมใหญ่ 20% เครื่องปรุงรส 3% บริษํท โออิชิเทรดดิ้ง จำกัด 13-2-02746-2-0055 เกี๊ยวหมูลุยสวน ตรา ซีพี ไส้หมูลุยสวน (เนื้อหมู, ผัก และเครื่องปรุงรส) 48%, แผ่นเกี๊ยวผัก 30%, น้ำจิ้มลุยสวน 22% ผลิตโดย บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)   24-2-02255-2-0017 กุ้งทิพย์ ตรา พี.เอฟ.พี (เนื้อปลาผสมกุ้งปรุงรส) เนื้อปลาบด 64.08% น้ำแข็ง 17.68% เนื้อกุ้งบด 8.59% เกล็ดขนมปัง 6.71% ผู้ผลิต บริษัท แปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ จำกัด   90-1-22129-2-0004 กุ้งระเบิด Shrimp Bomb เนื้อปลาบดปรุงรส ผสมกุ้งชุบเกล็ดขนมปัง เนื้อปลาบด 30%, น้ำ 23%, เกล็ดขนมปัง 15%, เนื้อกุ้ง 12%, … ฯลฯ บริษัท อุตสาหกรรมทวีวงษ์ จำกัด   74-1-01029-2-0007 นักเก็ตกุ้ง ตรา ซีพี CP Appetizer แป้งทอด 50% กุ้ง 48% เครื่องปรุงรส 2% ผลิต/บรรจุโดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) 74-2-00348-2-0029 หมูพันสาหร่าย ตรา เจด ดราก้อน Seaweed Pork Roll   เนื้อหมู 60%, เครื่องปรุงรส 16%, โปรตีนถั่วเหลือง 12%, น้ำกรอง 6%, สาหร่ายทะเลอบแห้ง 4%, น้ำมันงา 2% บริษัท ซี.พี. ค้าปลีกและการตลาด จำกัด   13-1-19233-20004 ขนมจีบไก่สับ ตรา เปาสตาร์ Chicken Shu Mai เนื้อไก่ 58.4%, มันแกว 13.3%, เครื่องปรุง 12.9%, แป้งสาลี 10%, …ฯลฯ ผลิตโดย บริษัท บีดีซี สเปเชียลตี้ฟู้ดส์ จำกัด 13-2-00549-2-0022 ไส้กรอกพ๊อคจูเนียร์ ตรา ทีจีเอ็ม Junior Pork Sausage เนื้อหมู 80%, น้ำ 15%, เครื่องปรุงรส 5% ผลิตโดย บริษัท ไทย-เยอรมัน มีท โปรดักส์ จำกัด 24-2-00936-2-0267 ไส้กรอกเวียนนาหมู ตรา บิ๊กซี Pork Vienna Sausage เนื้อหมู 85%, น้ำ 10%, เครื่องปรุงรส 5% บริษัท พลายฟู้ดส์ จำกัด 74-2-02551-2-0010 ไส้กรอกหมูกระเทียมพริกไทย ตรา S&p Premo Pepper and Garlic Pork Sausage เนื้อหมู, เครื่องเทศ, น้ำตาล, เกลือ บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน)   10-1-07036-1-0250 ลูกชิ้นหมู ปิ้ง – ทอด ตรา โฮเด้ง เนื้อหมู 70%, แป้งมัน 20%, พริกไทยและอื่น ๆ 6%... บริษัท บิ๊กบอล ฟู้ดส์ จำกัด 73-2-06146-2-0012 เนื้อปลาบดปรุงรสผสมกลิ่นไก่และกลิ่นชีส รมควันรูปแองกรี้เบิร์ดส์ ตรา TVI ทวีวงษ์ Angry Birds Fish Cake เนื้อปลาบด 50% น้ำ 34.8% แป้งมันฝรั่ง 10% บริษัท อุตสาหกรรมทวีวงษ์ จำกัด   74-1-01029-2-0181 มูส เดอ ฟัว (ตับหมูบดนึ่ง) ตราคาสิโน ตับหมู 30%, ไขมัน 30%, หนังหมู 10%, …. ฯลฯ ผลิตโดย Madrange La Valoine ประเทศฝรั่งเศส นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) 10-3-07554-1-0112  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 144 น้ำตาลสังเคราะห์

  เมื่อน้ำตาลได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นผู้ร้ายที่ถูกส่งมาทำลายหุ่นอันผอมเพรียวและไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เลยต้องมีการคิดค้นและพัฒนาสารอะไรสักอย่างขึ้นมาเพื่อเป็นวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลที่เราคุ้นเคย สำหรับคนที่ อดหวาน ไม่ได้   ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาคุณมารู้จักกับ “ความหวาน” แบบพลังงานต่ำหรือไม่ให้พลังงาน ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล(Sweetener) ซึ่งเทรนด์ตลาดวัตถุให้ความหวานในเมืองไทย เมื่อปีที่ผ่านมามีมูลค่ารวมประมาณ 300-400 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อดูจากปัจจุบันที่มีสินค้ากลุ่มนี้วางจำหน่ายอยู่หลายยี่ห้อและวางบนชั้นวางของห้างค้าปลีกทั่วไป     วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล จากการสำรวจตลาดพบว่า มีผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายอยู่ 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.น้ำตาลฟรุคโตส(fructose) 2.กลุ่มที่ใช้แอสปาร์แทม 3.กลุ่มที่ใช้ซูคราโลส 4.กลุ่มที่ใช้สเตวิโอไซด์(หญ้าหวาน) 5.กลุ่มที่ใช้อะเซซัลเฟม-เค ร่วมกับแอสปาร์แทม 6.กลุ่มที่ใช้ซูโครสเป็นหลักร่วมกับสารให้ความหวานอื่นๆ   1.น้ำตาลฟรุคโตส(Fructose) เป็นน้ำตาลที่พบได้ในผลไม้และน้ำผึ้งตามธรรมชาติ ให้พลังงานเท่ากับน้ำตาลทรายคือ 4 กิโลแคลอรี่ต่อกรัม แต่น้ำตาลฟรุคโตสมีความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึงเท่าตัว ดังนั้นจึงสามารถใช้ในปริมาณที่น้อยลงกว่าครึ่งเมื่อต้องการความหวานที่เท่ากัน    2.แอสปาร์แทม(Aspartame) แอสปาร์แทม เป็นผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น ให้ความหวานประมาณ 200 เท่าของน้ำตาลทราย แอสปาร์แทมให้พลังงานเท่ากับน้ำตาลทรายคือ 4 กิโลแคลอรี่ต่อกรัม แต่ใช้เพียงนิดก็หวานมากแล้ว ดังนั้นแอสปาร์แทมจึงให้แคลอรี่ที่น้อยกว่ามากเมื่อผสมลงในอาหาร ตัวอย่างเช่น น้ำอัดลมแคลอรี่ต่ำ ข้อเสียที่สำคัญของแอสปาร์แทมในเรื่องรสชาติคือ แอสปาร์แทมไวต่อความร้อน ดังนั้นเครื่องดื่มที่ผสมแอสปาร์แทมอาจมีรสชาติที่เปลี่ยนไปเมื่อสัมผัสกับความร้อน จึงไม่เหมาะจะนำไปใช้กับเครื่องดื่มหรืออาหารที่ต้องใช้ความร้อนในการปรุง คำเตือนอีกอย่างหนึ่งคือ ไม่เหมาะกับผู้ป่วยเฟนิลคีโตนูเรีย   เพราะว่าใช้แอสปาร์แทมเพียงจำนวนน้อยก็หวานมากแล้ว ดังนั้นผู้ผลิตจึงต้องเติมสารเพิ่มปริมาณ คือ แลคโตส ที่มีความหวานเพียง 0.2 เท่าของน้ำตาลในเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่า แต่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่ อให้เป็นตัวหลักแค่ต้องการเพิ่มปริมาณบรรจุเท่านั้น แลคโตสนี้อาจมีปัญหาทำให้ท้องอืดได้สำหรับคนที่ไม่มีเอนไซม์ที่ใช้ย่อยแลคโตส   3.ซูคราโลส(Sucralose) ซูคราโลสนี้หวานกว่าน้ำตาลทรายถึง 600 เท่า ข้อดีของซูคราโลสคือ รสชาติ ที่ใกล้เคียงน้ำตาล ไม่มีรสขม และทนต่อความร้อน จึงมีการนำไปใช้ในอาหารหลากหลายชนิด เช่นเดียวกับแอสปาร์แทม เนื่องจากซูคราโลสมีความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึง 600 เท่า การนำมาใช้จึงอยู่ในปริมาณที่น้อยมากๆ ดังนั้นเพื่อให้มีน้ำหนักเพิ่มจึงผสมกับน้ำตาลกลุ่มน้ำตาลแอลกอฮอล์ ได้แก่ มอลทิทอลและเออริทริทอล ซึ่งสองตัวนี้มีความหวานน้อยกว่าน้ำตาลทรายและให้พลังงานไม่มาก แต่ถ้ารับประทานมากไปอาจกระทบกับระบบทางเดินอาหารทำให้ท้องเสียได้   4.สเตวิโอไซด์(หญ้าหวาน) หญ้าหวาน หรือ ต้นสตีเวีย(Stevia rebaudiana Bertoni) เป็นพืชพันธุ์ตามธรรมชาติ โดยสารที่สกัดออกมาคือ สเตวิโอไซด์ หวานมากกว่าน้ำตาลทราย 300 เท่า ไม่ให้พลังงาน มีความคงตัวที่อุณหภูมิสูง สเตวิโอไซด์ ยังไม่ได้รับการยอมรับจากองค์การอาหารและยาของอเมริกาให้ใช้เป็นสารให้ความหวานแต่อนุญาตให้ใช้ผงแห้งและสารสกัดจากใบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร   5.ใช้อะเซซัลเฟม-เค ร่วมกับแอสปาร์แทม อะเซซัลเฟม-เค (Acesulfame-K) เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่หวานกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 200 เท่า ข้อดีคือให้รสหวานที่รับรู้รสได้เร็วแต่บางครั้งก็จะมีรสขมเมื่อใช้ในปริมาณสูง ไม่ให้พลังงานและทนความร้อนได้ดี ผู้ผลิตนิยมใช้อะเซซัลเฟม-เคร่วมกับแอสปาร์แทม เพื่อลดจุดด้อยของกันและกัน และเลี่ยงการเกิดรสขมเมื่อใช้ในปริมาณสูง     6.ใช้น้ำตาลทราย(Sucrose) ร่วมกับสารให้ความหวานอื่นๆ กลุ่มนี้เป็นวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมแคลอรีมากกว่าใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะส่วนประกอบหลักยังคงเป็นน้ำตาลทรายมากกว่า 90% แต่เพิ่มสารให้ความหวานเข้าไปเพื่อลดปริมาณการใช้ลงมา ดังนั้นรสชาติจะเหมือนน้ำตาลปกติและแต่ค่าพลังงานจะต่ำลงมาเพราะปริมาณการใช้ที่น้อยลง     ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- น้ำตาลเป็นอาหารคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่ง เป็นหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดของคาร์โบไฮเดรต ชื่อของน้ำตาลมักจะใช้คำลงท้ายว่า “โอส” (“ose”) อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตเป็นอาหารที่เราทราบกันดีว่าได้แก่อาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล คาร์โบไฮเดรตมีรากศัพท์มาจากคำว่า “คาร์บอน”รวมกับ”ไฮเดรท” แปลว่าเป็นสารประกอบที่มีโครงสร้างที่มีน้ำจับอยู่กับทุกๆ อะตอมของคาร์บอน   ---------------------------------------------------------------------------------------------------- วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม วัตถุให้ความหวานที่ให้พลังงาน ได้แก่ ฟรุคโตส(น้ำตาลจากผลไม้) มอลทิทอล เออริทริทอลและไซลิทอล สารให้ความหวานกลุ่มนี้ ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักและผู้ป่วยโรคเบาหวาน วัตถุให้ความหวานที่ไม่ให้พลังงานหรือให้พลังงานต่ำ ได้แก่ ซูคราโลส หญ้าหวาน แอสปาร์แทม อะเซซัลเฟม-เค สารให้ความหวานกลุ่มนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักและผู้ป่วยโรคเบาหวาน ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   ข้อมูล 1.เป็นเบาหวาน เลือกอะไรใส่กาแฟแทนน้ำตาล. รศ.วิมล ศรีสุข คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/thai/knowledgeinfo.php?id=100 2.สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ศูนย์วิทยาศาสตร์บริการ http://elib.fda.moph.go.th/library/default.asp?page2=subdetail&id_L1=27&id_L2=15566&id_L3=565

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 ไก่ทอดกับปัญหาน้ำมันทอดซ้ำ

ไก่ทอด เป็นหนึ่งในรายการอาหารสุดคลาสสิกที่แข่งกับหมูปิ้งแบบหายใจรดต้นคอมาอย่างยาวนานในวิถีชีวิตสังคมเมืองที่เร่งรีบ อันตรายจากการกินไก่ทอดที่ทุกคนน่าจะรู้กันดีคือ ไขมัน เพราะมันเป็นของทอด! กินมากไปไขมันพอกพูนแน่นอน   แต่คราวนี้เราขอชักชวนไปอีกเรื่องหนึ่ง อาจเรียกว่าเป็นอันตรายแบบเงียบๆ ก็ได้ นั่นคือ “น้ำมันทอดซ้ำ” ฉลาดซื้อขอนำท่านผู้อ่านมาดูผลทดสอบน้ำมันทอดซ้ำในไก่ทอดแบบวัดกันไปเลยว่ามีผู้ประกอบการรายใดบ้างที่ละเลยปัญหาเรื่องนี้   ชาวฉลาดซื้อเดินดุ่ยๆ ไปสุ่มซื้อไก่ทอดทั้งแบรนด์ท้องถิ่นและแฟรนไชส์ ที่เรียกว่า มีชื่อเสียงพอตัว ในเขตกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 21 – 23 มกราคม 2556 จำนวน 11 ตัวอย่าง แล้วนำส่งทดสอบ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 อุบลราชธานี การทดสอบทำโดยนำตัวอย่างไก่ทอดมาบีบเอาน้ำมันออกแล้วใช้ชุดทดสอบน้ำมันทอดซ้ำตรวจหาค่า “โพลาร์” เพื่อวัดการเสื่อมสภาพจากการใช้งานของน้ำมันที่ใช้ทอด   ผลทดสอบ ข่าวดีคือ “ฉลาดซื้อ” พบว่าเกือบทุกตัวอย่างมีค่าโพลาร์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยมีเพียงตัวอย่างเดียวที่พบการใช้น้ำมันทอดซ้ำเกินค่ามาตรฐานได้แก่ ไก่ทอด แมคโดนัล (McDonald) สาขาห้าง เซ็นเตอร์วัน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ข้างสำนักงานของ “ฉลาดซื้อ” นี่เอง) โดยพบโพลาร์เกินกว่าร้อยละ 25 อันเป็นตัวบ่งชี้ว่าน้ำมันเสื่อมสภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 283) พ.ศ. 2547 และวินิจฉัยได้ว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐาน ฝ่าฝืนมาตรา 25 (3) ของพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท   ข้อสังเกต มี 3 ตัวอย่างที่พบสารโพลาร์เกือบเกินค่ามาตรฐาน(น้ำมันใกล้เสื่อมสภาพ) ได้แก่ ไก่ทอดหาดใหญ่จากตลาดปทุมธานี ไก่ทอดเจ๊กีจากซอยโปโล ถนนพระราม 4 และไก่ทอดจีระพ้นธ์ จากตลาดหลังการบินไทย วิภาวดี   อันตรายของน้ำมันทอดซ้ำ น้ำมันที่ใช้ซ้ำจนเสื่อมคุณภาพเป็นภัยเงียบที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้รับประทานทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมองตีบ โรคหัวใจวาย โรคอัมพฤกษ์หรืออัมพาตและภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้หรือกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ไอของน้ำมันที่เสื่อมสภาพจะมีกลุ่มสารก่อมะเร็งทำให้ผู้ทอดอาหารเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดจากการสูดดม อันตรายของน้ำมันทอดซ้ำที่เสื่อมคุณภาพเกิดจากโครงสร้างของน้ำมันถูกเปลี่ยนเป็นสารประกอบที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น สารโพลาร์ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงและหลอดเลือดหัวใจตีบ และสารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เป็นต้น ฉลาดซื้อแนะนำ จากตารางข้อมูลจะเห็นว่าของแพงและเป็นแฟรนส์ไชส์ใช่ว่าจะมีมาตรฐานที่ดีและปลอดภัยเสมอไป ดังนั้น “อย่าติดแบรนด์” ช่วยลดความเสี่ยงได้เยอะอยู่ครับ ควรหลีกเลี่ยงไม่ซื้ออาหารทอดจากร้านค้าที่ใช้น้ำมันมีกลิ่นเหม็นหืน เหนียวสีดำคล้ำ ฟองมาก เหม็นไหม้ (ถ้าได้เห็นน้ำมันนะครับ) ทอดไก่รับประทานเองครับ รู้แน่นอนว่าปลอดภัยหรือไม่ (เพราะเราทำเอง ฮา…) หาคนช่วยรับประทาน(อร่อยกว่ากินคนเดียว) และกินแต่พออิ่ม อย่ากินไก่ทอดอย่างเดียวให้มีผักเคียงด้วยจะช่วยลดความเสี่ยงจากการได้รับไขมันและน้ำมันทอดซ้ำในของทอดได้ เพราะใยอาหารและสารอาหารในผักช่วยลดการสะสมของไขมันในร่างกายและยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งด้วยครับ   ตารางแสดงผลทดสอบน้ำมันทอดซ้ำในไก่ทอด ชื่อตัวอย่าง สถานที่เก็บตัวอย่าง ราคา ผลทดสอบ สรุปผล ไก่ทอดหาดใหญ่ ตลาดปทุมธานี 40 บาท/ชิ้น สีชมพูจาง น้ำมันใกล้เสื่อมสภาพ ไก่ทอดนายเอส (S) โรงอาหาร ม.เกษตรฯ 22 บาท/ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 % ไก่ทอดอนงค์ ตลาด อตก. 25 บาท/ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 % ไก่ทอด McDonald ห้าง Center One 124 บาท/ 2 ชิ้น ไม่มีสี น้ำมันเสื่อมสภาพเกิน 25% ไก่ทอดเจ๊กี ซ.โปโล ถ.พระราม 4 200 บาท/ตัว สีชมพูจาง น้ำมันใกล้เสื่อมสภาพ ไก่ทอดสมุนไพร หน้าอาคารพหลโยธินเพลส 35 บาท/ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 % ไก่ทอดเดชา ปากซอยไมยราพ ถ.เกษตร-นวมินทร์ 45 บาท/ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 % ไก่ทอด Chester Grill ห้าง Center One 140 บาท/ 4 ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 % ไก่ทอดจีระพันธ์ ตลาดหลังการบินไทย 30 บาท/ชิ้น สีชมพูจาง น้ำมันใกล้เสื่อมสภาพ ไก่ทอดหาดใหญ่ ตลาดบางจาก 40 บาท/ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 % ไก่ทอด KFC ห้าง Center One 108 บาท/ 3 ชิ้น สีชมพู โพลาร์ 9 – 20 %    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 143 ขนมปังและสารกันบูด

  คนไทยมีอาหารการกินหลากหลาย ขนมอบอย่างฝรั่ง เช่น ขนมปัง แซนด์วิช ครัวซอง หรือเค้ก ก็กลายมาเป็นทั้งอาหารมื้อหลัก(โดยเฉพาะมื้อเช้าที่เร่งรีบ) และอาหารว่างที่หลายคนชื่นชอบ เพราะหาได้ง่ายและราคาไม่แพง อย่างไรก็ตามในกระบวนการผลิตขนมอบเรายังพบความเสี่ยงบางประการที่เกือบจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นของระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมปัจจุบัน นั่นคือการผสมสารกันบูดลงไปด้วย ‘ฉลาดซื้อ’ เลยได้โอกาสตรวจสอบกันอีกสักทีว่าความเสี่ยงของสารกันบูดในขนมอบทั้งหลายมีมากน้อยแค่ไหนกันนะ   ฉลาดซื้อทดสอบ ‘ฉลาดซื้อ’ ได้สุ่มซื้อขนมอบพร้อมบริโภค ทั้ง ขนมปัง และเค้กยี่ห้อต่างๆ จากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาเก็ต และร้านเบเกอรี่ จำนวน 14 ตัวอย่าง แบ่งเป็นตัวอย่างที่มีฉลากกำกับว่า “ใช้วัตถุกันเสีย” 8 ตัวอย่าง ตัวอย่างที่ระบุว่า “ไม่ใช้วัตถุกันเสีย” 1 ตัวอย่าง และ ตัวอย่างที่ฉลากไม่ระบุว่าใช้วัตถุกันเสียหรือไม่ 5 ตัวอย่าง แล้วส่งทดสอบกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 อุบลราชธานี เพื่อหาสารกันบูดที่อุตสาหกรรมอาหารนิยมใช้ 3 ชนิด ได้แก่ กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) และกรดโปรปิโอนิค (Propionic Acid)     หมายเหตุ หากมีการใช้สารกันบูดร่วมกันมากกว่า 2 ชนิด ในตัวอย่างเดียวกัน การพิจารณาค่ามาตรฐานให้ใช้ค่ารวมของสารทั้งหมดที่พบเทียบกับค่าสูงสุดที่อนุญาตให้ใช้ได้ของสารกันบูดชนิดที่มีค่าต่ำที่สุด ซึ่ง ณ ที่นี้ คือ 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม อาหาร                *** ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น   ผลทดสอบ 2 ใน 3 ของตัวอย่างทั้งหมดที่พบสารกันบูดยังอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย จากการทดสอบพบว่า มีการใช้สารกันบูดในขนมอบสูงถึงร้อยละ 79 (รวม 11 ตัวอย่าง)   แบ่งเป็นพบสารกันบูดชนิดเดียว ร้อยละ 21 (3 ตัวอย่าง : เค้กฟลัฟฟี่ มาม่อน ชีส, ซอฟท์เค้กรสใบเตย เลอแปง, และเค้กโรลวนิลา  sun merry)   พบสารกันบูด 2 ชนิดร้อยละ 36 (5 ตัวอย่าง : ขนมปังใส้ถั่วแดง Tesco the Bakery, ขนมปังไส้เผือก ฟาร์มเฮ้าส์, ขนมปังไส้กรอกคู่ เบเกอร์แลนด์, ขนมปังไส้ลูกเกด นัทเบเกอรี่, และ ขนมปังแซนวิช  Tesco)   และพบสารกันบูดครบทั้ง 3 ชนิดร้อยละ 21 ( 3 ตัวอย่าง : ขนมปังไส้เผือก เลอแปง, ขนมปังไส้เผือก เอพลัส, และ สวีทโรล เลอแปง) และที่เข้าข่ายน่าเป็นห่วงมีทั้งหมด 5 ตัวอย่าง ได้แก่ ขนมอบที่พบสารกันบูดเกินค่ามาตรฐาน 5 ตัวอย่างขนมปังใส้ถั่วแดง Tesco the Bakery ที่ปริมาณรวม 1,656 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (มก./กก.) เค้กโรลวนิลา sun merry ที่ปริมาณ 1,583 มก./กก.ขนมปังแซนวิช Tesco ที่ปริมาณรวม 1,279 มก./กก.  ขนมปังไส้เผือก เอพลัส ที่ปริมาณรวม 1,274 มก./กก.ขนมปังไส้กรอกคู่ เบเกอร์แลนด์ ที่ปริมาณรวม 1,195 มก./กก.     --------------------------------------------------   การพิจารณาฐานความผิดโดยใช้ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ตัวอย่างเกือบทั้งหมดที่พบสารกันบูดเกินค่ามาตรฐาน เข้าข่ายการกระทำความผิด พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (3) เรื่องอาหารผิดมาตรฐานมีบทลงโทษตามมาตรา 60 คือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท   โดยมีหนึ่งตัวอย่างคือ ขนมปังแซนวิช Tesco ที่เข้าข่ายการกระทำผิดมาตรา 25 (2) เรื่องอาหารปลอม มีบทลงโทษตามมาตรา 59 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท เนื่องจาก บนฉลากระบุว่าไม่ใช้วัตถุกันเสีย แต่ กลับพบการใช้วัตถุกันเสียร่วมกันถึงสองชนิดในตัวอย่างเดียว และมีค่าที่พบสูงมากอีกด้วย   ฉลาดซื้อแนะนำ เลือกซื้อขนมอบของร้านที่ทำสดแบบวันต่อวันจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับสารกันบูดได้ดีกว่าซื้อขนมอบที่ต้องทำส่งร้านหลายสาขาหรือวางสินค้าทั่วประเทศ การเลือกซื้อให้สังเกตฉลากตรงส่วนประกอบของอาหาร หากมีระบุว่า “ใช้วัตถุกันเสีย” หมายความว่า คุณกำลังบริโภคสารกันบูด และมีความเสี่ยงของการจะได้รับสารกันบูดเกินค่ามาตรฐาน    สารกันบูดที่นิยมในวงการเบเกอรี่ 1. เบนโซเอท (Benzoic acid และ Benzoates) นิยม ใช้ในรูปของเกลือโซเดียม ซึ่งจะให้ผลดีในสภาพที่เป็นกรด เช่น น้ำหวาน, น้ำผลไม้, แยม, น้ำสลัด, ผักดอง เป็นต้นปริมาณที่อนุญาตให้ใช้ได้ตามกฎหมายไม่เกิน 0.1%   2. ซอเบท (Sorbic acid และ Sorbates) เป็น สารกันบูดที่นิยมใช้กันมาก ซึ่งจะให้ผลดีในสภาพที่เป็นกรดเช่นกัน ดังนั้นกลุ่มที่ใช้จึงใกล้เคียงกัน รวมทั้งพวกไส้ขนมต่าง ๆ ในการทำขนมขายส่ง เป็นต้นปริมาณที่อนุญาตให้ใช้ได้ตามกฎหมายไม่เกิน 0.1%   3. โปรปิโอเนท (Propionic acid และ propionices) มี ความสามารถในการทำลายแบคทีเรียและราได้ดีกว่ายีสต์ นิยมใช้สารนี้ในผลิตภัณฑ์ขนมปัง, เค้ก, นิยมใช้แคลเซียมโปรปิโอเนทกับขนมปังมากกว่า เพราะเกลือแคลเซียม จะช่วยเป็นตัวปรับสภาพของก้อนโด ได้ด้วยส่วนเกลือโซเดียมและโปแตสเซียม นิยมใช้กับเค้ก ปริมาณที่อนุญาตให้ใช้ได้ตามกฎหมาย 0.1- 0.2% ที่มา  http://www.kccbakermart.com/bakery_materials.htm

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 142 บอแรกซ์ในหมูบด

หมูเป็นอาหารที่คนนิยมรับประทานกันมาก จนมีคำกล่าวประมาณว่า “หมูทำอะไรก็อร่อย” คนไทยบริโภคเนื้อหมูเกือบล้านตัน/ปี (ปี 2553 คนไทยบริโภคเนื้อหมูปริมาณ 930,000 ตัน)  หมูเมื่อถูกชำแหละแล้ว ว่ากันว่า รับประทานได้ทุกส่วน แต่ที่กินกันบ่อยก็แน่นอนว่าต้องเป็นเนื้อ ไม่ว่าจะส่วนสะโพก ขา หลัง หรือคอ แล้วแต่ว่าผู้บริโภคจะเลือกไปประกอบอาหารอะไร และไม่ว่าจะที่เขียงหมูในตลาดหรือชั้นวางเนื้อหมูในร้านค้าปลีกทันสมัย เขาก็มีเนื้อหมูในเลือกซื้อหากันได้หลายประเภท ที่นิยมมากประเภทหนึ่งก็คือ “หมูบด” หรือ “หมูสับ” ที่นำไปทำอาหารได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น...แกงจืด ลูกชิ้น ลาบ ไข่เจียวหมูสับ ฯลฯ   ซึ่งสมัยก่อนอาจต้องออกแรงเล็กน้อยเพื่อสับเนื้อหมูให้ละเอียด แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่ต้องยุ่งยากเสียเวลานั่งสับแล้ว เพราะเขามีชนิดสับให้แล้ววางพร้อมรอขาย คุณพ่อครัวแม่ครัวทั้งหลายไม่ต้องไปเสียเวลาสับ บด เองอีกให้ยุ่งยาก แต่ก็อีกนั่นแหละอะไรที่มันดูสำเร็จรูปบางทีมันก็มีภัยแฝงมาด้วย เนื้อสัตว์โดยธรรมชาตินั้นจะเน่าเสียได้ง่ายเพราะมีความชื้นสูงเหมาะแก่การขยายอาณาจักรของเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหลาย ผู้ขายที่ไม่รับผิดชอบบางส่วนจึงมักนำสารเคมีที่อันตรายมาช่วยให้เนื้อหมูคงสภาพสด ไม่เน่าเสียง่าย และที่พบมากเป็นปัญหาระดับประเทศก็คือ การใช้สารบอแรกซ์ในเนื้อหมู โดยเฉพาะหมูบด เพราะไม่เพียงแต่ช่วยไม่ให้เน่าไวแล้ว ยังแถมคุณสมบัติทำให้เนื้อหมูเด้ง กรอบ อีกด้วย   ฉลาดซื้อทดสอบ ฉลาดซื้อเราก็ชอบหมูเช่นกัน เลยกระจายกำลังคนไปช้อปหมูบดมาจากตลาดสด 5 แห่ง โมเดิร์นเทรด 3 แห่ง และหมูพะยี่ห้อดัง 2 เจ้า ส่งตรวจหาสารบอแรกซ์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปรากฏว่า ยังพบมีการใช้สารบอแรกซ์กับหมูบด อยู่ 1 แห่ง ที่ตลาดสดยิ่งเจริญ เจ้าของตลาดและหน่วยงานรัฐลงไปตรวจสอบด้วยนะครับ   ผลการทดสอบหาสารบอแรกซ์ในหมูบด สถานที่เก็บตัวอย่าง สารบอแรกซ์ (มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ตลาดสำโรง ไม่พบ ตลาดพระประแดง ไม่พบ ตลาด อ.ต.ก. ไม่พบ ตลาดบางบอน ไม่พบ กระถินหมูบด ตลาดยิ่งเจริญ 10,524 ฟู้ดแลนด์ ไม่พบ เทสโก้ ไม่พบ ท็อปส์ ไม่พบ หมูบด ซีพี เฟรชมาร์ท ไม่พบ หมูบด ยี่ห้อ เอส เพียว ไม่พบ   เก็บตัวอย่างช่วงเดือนตุลาคม 2555 ผลการวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น    Borax  บอแรกซ์ บอแรกซ์ (Borax, Anhydrous borax (Na2B4O7) Borax pentahydrate (Na2B4O7·5H2O) Borax decahydrate (Na2B4O7·10H2O))  เป็นสารเคมี ที่มีลักษณะเป็นผงสีขาว ไม่มีกลิ่น มีรสขมเล็กน้อย  มีชื่ออื่นๆ อีก เช่น น้ำประสานทอง สารข้าวตอก ผงกันบูด เพ่งแซ เม่งแซ ผงเนื้อนิ่ม บอแรกซ์ เป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น ทำแก้วเพื่อทำให้ทนความร้อน เป็นสารประสานในการเชื่อมทอง และเป็นสารยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราในแป้งทาตัว เป็นต้น มีการนำบอแรกซ์มาใช้ผิดโดยนำมาผสมใน อาหาร  เพื่อให้อาหารมีความหยุ่นกรอบ คงตัวได้นาน ไม่บูดเสียง่าย อาหารที่มักพบว่ามีสารบอแรกซ์ ได้แก่ หมูบด ลูกชิ้น ทอดมัน หมูสด เนื้อสด ไส้กรอก ผลไม้ดอง ทับทิมกรอบ ลอดช่อง เป็นต้น   -------------------------------------------------------------------------------------------------   การใช้บอแรกซ์ในอาหาร เป็นอันตรายในอาหาร (food hazard)  ประเภทอันตรายทางเคมี (chemical hazard) เป็นสารเคมีห้ามใช้ในอาหาร (prohibit substances) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 151(พ.ศ. 2536) เรื่องวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร   ------------------------------------------------------------------------------------------------- หมูอาบน้ำ เนื้อหมูที่พบว่ามีการใช้สารบอแรกซ์มากที่สุดคือหมูบด เนื่องจากการบดหมูจะทำให้มีการผิวสัมผัสของเชื้อโรคเข้าไปในเนื้อหมูมากขึ้น ทำให้หมูบดเน่าเสียได้ง่าย จึงมีการใช้บอแรกซ์ใส่ปนในหมูบด ส่วนเนื้อหมูชิ้นจะมีการนำไปชุบน้ำยาบอแรกซ์ โดยจะมีภาษาเรียกของผู้ที่จำหน่ายสุกรว่า “หมูอาบน้ำ” ดังนั้นจะมีบอแรกซ์ติดอยู่ที่ผิว ข้อปฏิบัติสำหรับผู้บริโภคทั่วไปคือเมื่อซื้อหมูมาก่อนที่จะนำไปปรุงอาหารให้ล้างหลายๆ ครั้ง นอกจากจะลดหรือขจัดสารอออกไปได้แล้วยังเป็นการลดความสกปรกที่ติดอยู่บนเนื้อหมูลงไปด้วย ถ้าเป็นหมูบดคงจะไม่สามารถล้างได้เราควรจะหลีกเลี่ยงโดยการนำมาบดเองจะดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 141 ลูกอม หมากฝรั่ง ซูการ์ฟรี??

รสหวานมีใครบ้างไม่ชอบ หวานทำให้อาหารมีรสสัมผัสที่ดี อร่อย และยังช่วยให้สดชื่นด้วย เพราะน้ำตาลที่สร้างรสหวานนั้นให้พลังงานสูง อาหารที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนผสมหลักก็คงหนีไม่พ้นพวกลูกอม ลูกกวาด รวมไปถึงหมากฝรั่ง ซึ่ง  90 กว่าเปอร์เซ็นต์ในส่วนผสมเป็นน้ำตาล แต่หวานจากน้ำตาลหลังๆ ชักมีปัญหา เพราะถูกประณามว่าทำให้อ้วน หรือถ้าเคี้ยวหนุบหนับในปากเขาก็ว่าทำให้ฟันผุ เพราะจุลินทรีย์ที่ทำร้ายฟันก็ชอบกินน้ำตาลเหมือนกัน ถ้าจะหนีภัยฟันผุและอ้วน ก็ต้องเลิกกินหวาน เลิกเคี้ยวลูกอม หรือหมากฝรั่งไปเลย แต่มนุษย์เราไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ คือแทนที่จะเลิกหวาน ก็ขอหวานเถอะ แต่ไม่เอาแคลอรีหรือพลังงาน จึงคิดค้นหารสหวานที่มาจากอย่างอื่นแทนน้ำตาล ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นภาษาเฉพาะว่า วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล  วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล เวลาได้ยินโฆษณาว่า ไม่มีน้ำตาล หรือ ซูการ์ฟรี หรือ แคลอรีต่ำ หากเราไม่รู้จักวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลมาก่อน เราก็อาจคิดได้ว่า เขาโกหก เพราะกินแล้ว มันก็หวานชะมัด หวานติดลิ้นด้วยซ้ำ จะมาบอกว่าไม่มีน้ำตาลได้ยังไง แต่ถ้าเราลองอ่านฉลากดู บนฉลากจะถูกกำหนดให้เขียนไว้ชัดเจนเลยว่า ผลิตภัณฑ์อาหารนี้ ใช้อะไรให้ความหวานแทนน้ำตาล  คราวนี้ล่ะ เราจะเห็นชื่อแปลกๆ มากันหลากหลาย ทั้ง แอสปาแตม อะซีซัลเฟม-เค ซูคราโลส ไซลิทอล ซอร์บิทอล มอลทิทอล ไอโซมอลต์ ฯลฯ ชื่อที่ยกมาข้างต้นเป็นชื่อของ วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล ที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน ทำไมต้องเรียกว่า “วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล” ทำไมไม่เรียก “น้ำตาลเทียม” ไปเลยล่ะ เข้าใจง่ายกว่ากันเยอะ ก็ต้องบอกว่า บางอย่างมันไม่ใช่น้ำตาลเทียมนะสิ วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล หลายตัวมีคุณสมบัติที่ให้ทั้งความหวานและให้พลังงานด้วย แอบมีคุณค่าทางโภชนาการนิดๆ  คือตัวมันยังเป็นน้ำตาลอยู่ เพียงแต่เป็นน้ำตาลที่มีคุณสมบัติไม่เหมือนน้ำตาลทรายที่เรารู้จัก (ถ้าเป็นน้ำตาลเทียมจะเป็นสารสังเคราะห์ที่จะมีความหวานกว่าน้ำตาลแท้เป็นสองสามร้อยเท่า ทำให้ใช้ในปริมาณที่น้อยมากๆ ค่าพลังงานเลยเกือบจะเท่ากับ 0) ดังนั้นถ้าจะลองจำแนก วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล โดยดูจากหลักเกณฑ์เรื่อง คุณค่าทางโภชนาการ ก็จะแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม   วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการนำมาใช้ทดแทนรสหวานจากน้ำตาลในอาหารหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลม ขนม ลูกอม ลูกกวาด เบเกอรี่ อาหารหรือเครื่องดื่มไดเอ็ตทั้งหลาย หรือแม้แต่ในอุตสาหกรรมยา  การใช้สารหรือวัตถุให้ความหวานมีการใช้ทั้งในลักษณะเดี่ยว ๆ หรือใช้ร่วมกับสารให้ความหวานชนิดอื่นๆ ซึ่งการใช้สารให้ความหวานมากกว่า 1 ชนิดประกอบกันได้รับการยอมรับ เนื่องจากสารให้ความหวานแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกัน ไม่มีสารให้ความหวานใดดี หรือสมบูรณ์แบบที่สุด ฉลาดซื้อในครั้งนี้ ออกไปช้อปหมากฝรั่งและลูกอม เพื่อมานำเสนอเป็นตัวอย่างสำหรับผลิตภัณฑ์ที่น้ำตาลกำลังจะหายไป แต่กลายเป็นการนำวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล มาใช้แทนที่ และอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลไม่มีอะไรที่ดีที่สุด ดังนั้นบางตัวก็สร้างปัญหาสุขภาพได้เช่นกัน แม้จะเป็นความเสี่ยงในระดับต่ำ แต่ก็ควรจะได้รู้เป็นข้อมูลไว้เพื่อการพิจารณา    ผลิตภัณฑ์ หมากฝรั่ง ------------------------------------------------- วัตถุให้ความหวานที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ควรรู้จัก โพลิออล (polyols) หรือน้ำตาลแอลกอฮอล์ (sugar alcohols; polyhydric alcohol; polyalcohol) บางครั้งเรียกว่า “sugar replacers” หรือ “bulk sweeteners” ใช้เป็นสาร ปรุงแต่งในอาหารที่มีความสำคัญเช่นกันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำตาล สารให้ ความหวานเหล่านี้จัดเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารเพิ่มมวลหรือปริมาตรของน้ำตาล มีความหวานต่ำกว่าน้ำตาลทราย(ซูโครส) เป็นสารให้ความหวานลดแคลอรี (reduced- calorie sweeteners) สามารถรวมกับสารอื่นได้ดี เช่น มีคุณสมบัติส่งเสริมกันกับสารให้ความหวานชนิดแคลอรีต่ำ ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีแคลอรีลดลงและมีรสชาติดีคล้ายกับ ผลิตภัณฑ์สูตรดั้งเดิม กลุ่มน้ำตาลแอลกอฮอล์ จะมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ เนื่องจากดูดซึมได้ช้า และตกค้างมาเป็นอาหารของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ความเสี่ยงในเรื่องสุขภาพจึงเป็นเรื่องของภาวะท้องเสีย -------------------------------------------------   วัตถุให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ควรรู้จัก สารให้ความหวานที่จัดอยู่ในประเภทนี้กลุ่มหนึ่งจะไม่ให้พลังงานเลย เนื่องจากร่างกายไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ มีหน้าที่ให้รสหวานเท่านั้น อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่ให้พลังงานต่ำ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้ให้คำจำกัดความไว้ว่าคือสารให้รสหวานที่ให้พลังงานน้อยกว่า 2% ของจำนวนพลังงานที่ได้จากน้ำตาลทราย ในระดับที่ให้ความหวานเท่ากัน การที่ต้องกำหนดไว้เนื่องจากสารรสหวานบางชนิดเป็นสารที่ให้พลังงานตามธรรมชาติ เช่นจัดเป็นเปปไทด์ (หน่วยย่อยของโปรตีน) เพราะฉะนั้นจะให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรีต่อกรัมเหมือนโปรตีนอื่น แต่เนื่องจากสารนั้นหวานกว่าน้ำตาลทรายเป็นร้อยเท่า เวลานำมาใส่ในอาหารจึงใช้ปริมาณน้อยมาก จนปริมาณดังกล่าวให้พลังงานแก่ร่างกายเพียงน้อยนิด ต่อไปจะขอแนะนำให้รู้จักสารรสหวานที่นิยมใช้กันบางชนิด   แอสปาแตม ถึงแม้ว่าจะจัดเป็นสารพวกโปรตีน (เปปไทด์) แอสปาแตมถือเป็นสารรสหวานที่ไม่ให้พลังงานหรือพลังงานต่ำ ตามที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ปัจจุบันผลิตในระดับอุตสาหกรรมด้วยการสังเคราะห์โดยเชื้อจุลินทรีย์ และนำมาใช้แทนน้ำตาลบริโภคในเครื่องดื่มต่างๆ ของหวานโดยเฉพาะเยลลี่ ไอศกรีม ลูกกวาดและอาหารแห้ง ข้อที่ควรระวังของการใช้แอสปาแตมในผลิตภัณฑ์อาหารคือ ผู้ที่เป็นโรค Phenylketonuria จะไม่สามารถบริโภคอาหารที่มีแอสปาแตมเป็นส่วนประกอบ จึงต้องระบุคำเตือนบนฉลาก ค่าปริมาณที่ได้รับต่อวันกำหนดไว้ที่ 0-40 (บางประเทศ 0-50) มก.ต่อกก.น้ำหนักตัว ต่อวัน อะซีซัลเฟม-เค เอะซีซัลเฟม-เค คงตัวอยู่ได้ในสภาพความเป็นกรด-ด่างของอาหารและในช่วงอุณหภูมิของกระบวนการผลิตอาหารทั่วๆ ไป มีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารประเภทต่างๆ ในทำนองเดียวกับแอสปาแตม ค่าปริมาณที่ได้รับต่อวันคือ 0-15 (บางประเทศ 0-9) มก.ต่อกก.น้ำหนักตัว ต่อวัน ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์อาหารทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์นมและหมากฝรั่ง ดูดซึมและขับถ่ายออกจากร่างกายอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีการย่อยสลาย ซูคราโลส ซูคราโลสเป็นสารที่ได้จากดัดแปลงน้ำตาลทราย (ซูโครส) ด้วยวิธีทางเคมี ทำให้มีความหวานสูงขึ้น โดยยังคงรสชาติของน้ำตาล และมีความคงตัวสูงจึงสามารถนำไปใช้ได้ในผลิตภัณฑ์อาหารที่หลากหลาย รวมถึงอาหารที่เป็นกรด และอาหารที่ต้องผ่านกระบวนให้ความร้อน เช่นผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ถึงแม้จะมีโครงสร้างคล้ายน้ำตาลทราย แต่ซูคราโลสไม่ถูกย่อยสลายในร่างกาย ค่าปริมาณที่ได้รับต่อวันกำหนดไว้ที่ 0-15 มก.ต่อกก.น้ำหนักตัว ต่อวัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 141 เอสเปรสโซ สด ... จากเครื่อง

ฉลาดซื้อฉบับนี้เอาใจคอกาแฟที่กำลังคิดอยากมีเครื่องทำเอสเปรสโซ เอาไว้ทำกาแฟสดดื่มเองที่บ้านกันบ้าง ปัจจุบันนี้มีเครื่องทำกาแฟสดหรือเครื่องทำเอสเปรสโซออกมาวางขายกันมากขึ้น เรียกว่าตอบสนองทุกความต้องการของผู้บริโภค ตั้งแต่แบบที่ใส่เมล็ดกาแฟเข้าไปจนได้เป็นเอสเปรสโซออกมา แบบที่ใช้กับเมล็ดกาแฟบดแล้ว ไปจนถึงเครื่องทำกาแฟแบบแคปซูล เรามีผลทดสอบเปรียบเทียบเครื่องทำกาแฟทั้งหมด 15 รุ่น (ทั้ง 3 รูปแบบ) ราคาระหว่าง 3,355 บาทถึง 21,000 บาท จากองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT มาให้คุณได้พิจารณากัน เราบอกไม่ได้ว่าเอสเปรสโซจากเครื่องไหนจะอร่อยโดนใจคุณที่สุด แต่เราพอจะบอกได้ว่าเครื่องไหนใช้งานได้สะดวก ทำเอสเปรสโซได้รวดเร็ว ใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพ หรือทำงานได้เงียบกว่ากัน ติดตามรายละเอียดได้ในหน้าถัดไป   Bean-to-cup DeLonghi Magnifica S ราคา 14,700 บาท ความสะดวกในการใช้งาน ทำ espresso     5 ทำฟองนม 5 ล้าง/ทำความสะอาด 4 คุณภาพการประกอบ 5 กำลังไฟ 1450   วัตต์ น้ำหนักเครื่อง 8.95 กิโลกรัม   ปริมาณ espresso 1 ช็อต           42      มิลลิลิตร ใช้เวลาในการทำ                       38.3    วินาที อุณหภูมิของ espresso               60.5     เซลเซียส พลังงานที่ใช้                             0.016    กิโลวัตต์/ชั่วโมง เสียงที่เกิดขณะทำ espresso        80.6      เดซิเบล   Gaggia Unica ราคา 11,998 บาท ความสะดวกในการใช้งาน ทำ espresso       5 ทำฟองนม            4 ล้าง/ทำความสะอาด 3 คุณภาพการประกอบ 3 กำลังไฟ   1500    วัตต์ น้ำหนักเครื่อง 9.05 กิโลกรัม   ปริมาณ espresso 1 ช็อต 50    มิลลิลิตร ใช้เวลาในการทำ       39.3 วินาที อุณหภูมิของ espresso 71.1    เซลเซียส พลังงานที่ใช้                             0.015  กิโลวัตต์/ชั่วโมง เสียงที่เกิดขณะทำ espresso      80.6     เดซิเบล   DeLonghi Magnifica Rapid ราคา 20,000 บาท ความสะดวกในการใช้งาน ทำ espresso  4 ทำฟองนม 5 ล้าง/ทำความสะอาด 4 คุณภาพการประกอบ 5 กำลังไฟ 1350    วัตต์ น้ำหนักเครื่อง 10.80 กิโลกรัม   ปริมาณ espresso 1 ช็อต 33.7    มิลลิลิตร ใช้เวลาในการทำ                       45.3  วินาที อุณหภูมิของ espresso 57.7    เซลเซียส พลังงานที่ใช้                             0.017    กิโลวัตต์/ชั่วโมง เสียงที่เกิดขณะทำ espresso      78.7        เดซิเบล   Siemens Macchiato ราคา 20,000 บาท ความสะดวกในการใช้งาน ทำ espresso        4 ทำฟองนม 4 ล้าง/ทำความสะอาด 3 คุณภาพการประกอบ 4 กำลังไฟ 1600      วัตต์ น้ำหนักเครื่อง 9.30 กิโลกรัม  ปริมาณ espresso 1 ช็อต 39     มิลลิลิตร ใช้เวลาในการทำ                       41.7     วินาที อุณหภูมิของ espresso 60      เซลเซียส พลังงานที่ใช้                             0.018      กิโลวัตต์/ชั่วโมง เสียงที่เกิดขณะทำ espresso      84.9           เดซิเบล   Grounds DeLonghi EC820.B ราคา 21,000 บาท ความสะดวกในการใช้งาน ทำ espresso    4 ทำฟองนม 4 ล้าง/ทำความสะอาด 4 คุณภาพการประกอบ 5 กำลังไฟ 1450       วัตต์ น้ำหนักเครื่อง 4.80 กิโลกรัม  ปริมาณ espresso 1 ช็อต 35      มิลลิลิตร ใช้เวลาในการทำ     25   วินาที อุณหภูมิของ espresso 61.7     เซลเซียส พลังงานที่ใช้            0.010    กิโลวัตต์/ชั่วโมง เสียงที่เกิดขณะทำ espresso      81.9      เดซิเบล   Rancilio Miss Silvia ราคา 19,000 บาท ความสะดวกในการใช้งาน ทำ espresso    3 ทำฟองนม 5 ล้าง/ทำความสะอาด 3 คุณภาพการประกอบ 5 กำลังไฟ 1150    วัตต์ น้ำหนักเครื่อง 11.65 กิโลกรัม  ปริมาณ espresso 1 ช็อต 33.7     มิลลิลิตร ใช้เวลาในการทำ       13                 วินาที อุณหภูมิของ espresso 60.5         เซลเซียส พลังงานที่ใช้       0.004                กิโลวัตต์/ชั่วโมง เสียงที่เกิดขณะทำ espresso      91        เดซิเบล   VillaWare Espresso Maker ราคา 13,333 บาท ความสะดวกในการใช้งาน ทำ espresso        3 ทำฟองนม 5 ล้าง/ทำความสะอาด 4 คุณภาพการประกอบ 5 กำลังไฟ 1470     วัตต์ น้ำหนักเครื่อง 6.50 กิโลกรัม  ปริมาณ espresso 1 ช็อต 42.7       มิลลิลิตร ใช้เวลาในการทำ    16.7                  วินาที อุณหภูมิของ espresso 63                เซลเซียส พลังงานที่ใช้           0.007               กิโลวัตต์/ชั่วโมง เสียงที่เกิดขณะทำ espresso   83.7    เดซิเบล   Capsule Krups Essenza Automatic ราคา 11,000 บาท ความสะดวกในการใช้งาน ทำ espresso      5 ทำฟองนม - ล้าง/ทำความสะอาด 4 คุณภาพการประกอบ 5 กำลังไฟ 1260                 วัตต์ น้ำหนักเครื่อง 3.05 กิโลกรัม  ปริมาณ espresso 1 ช็อต 35.3      มิลลิลิตร ใช้เวลาในการทำ               21.3     วินาที อุณหภูมิของ espresso 72.4           เซลเซียส พลังงานที่ใช้         0.007                กิโลวัตต์/ชั่วโมง เสียงที่เกิดขณะทำ espresso      84.9      เดซิเบล   Magimix M100 Essenza Automatic ราคา 4,400 บาท ความสะดวกในการใช้งาน ทำ espresso       5 ทำฟองนม - ล้าง/ทำความสะอาด 4 คุณภาพการประกอบ 5 กำลังไฟ 1260       วัตต์ น้ำหนักเครื่อง 3 กิโลกรัม  ปริมาณ espresso 1 ช็อต 29.7     มิลลิลิตร ใช้เวลาในการทำ         16.3            วินาที อุณหภูมิของ espresso 66             เซลเซียส พลังงานที่ใช้         0.007              กิโลวัตต์/ชั่วโมง เสียงที่เกิดขณะทำ espresso      81.8   เดซิเบล   Magimix M110 Pixie ราคา 5,600 บาท ความสะดวกในการใช้งาน ทำ espresso      5 ทำฟองนม - ล้าง/ทำความสะอาด 4 คุณภาพการประกอบ 5 กำลังไฟ 1260                 วัตต์ น้ำหนักเครื่อง 2.80 กิโลกรัม   ปริมาณ espresso 1 ช็อต 33.7       มิลลิลิตร ใช้เวลาในการทำ 27.7                  วินาที อุณหภูมิของ espresso 70.6          เซลเซียส พลังงานที่ใช้           0.011           กิโลวัตต์/ชั่วโมง เสียงที่เกิดขณะทำ espresso      91.4    เดซิเบล   Krups XN 3006.40 Pixie ราคา 13,490 บาท ความสะดวกในการใช้งาน ทำ espresso        5 ทำฟองนม - ล้าง/ทำความสะอาด 4 คุณภาพการประกอบ 5 กำลังไฟ 1260      วัตต์ น้ำหนักเครื่อง 2.80 กิโลกรัม  ปริมาณ espresso 1 ช็อต 32.7      มิลลิลิตร ใช้เวลาในการทำ 20.3                  วินาที อุณหภูมิของ espresso 69            เซลเซียส พลังงานที่ใช้         0.007       กิโลวัตต์/ชั่วโมง เสียงที่เกิดขณะทำ espresso      93.8       เดซิเบล   Dualit Rapido Capsule Machine ราคา 5,600 บาท ความสะดวกในการใช้งาน ทำ espresso    4 ทำฟองนม - ล้าง/ทำความสะอาด 4 คุณภาพการประกอบ 4 กำลังไฟ 950       วัตต์ น้ำหนักเครื่อง 4.05 กิโลกรัม  ปริมาณ espresso 1 ช็อต 34.3         มิลลิลิตร ใช้เวลาในการทำ       26.3               วินาที อุณหภูมิของ espresso 62.9           เซลเซียส พลังงานที่ใช้        0.007                กิโลวัตต์/ชั่วโมง เสียงที่เกิดขณะทำ espresso      80.7    เดซิเบล   Francis Francis Y1 Metodo Iperespresso ราคา 5,960 บาท ความสะดวกในการใช้งาน ทำ espresso         4 ทำฟองนม - ล้าง/ทำความสะอาด 4 คุณภาพการประกอบ 5 กำลังไฟ 500           วัตต์ น้ำหนักเครื่อง 5.05 กิโลกรัม   ปริมาณ espresso 1 ช็อต 27      มิลลิลิตร ใช้เวลาในการทำ   26        วินาที อุณหภูมิของ espresso 68.3         เซลเซียส พลังงานที่ใช้      0.004                กิโลวัตต์/ชั่วโมง เสียงที่เกิดขณะทำ espresso      81.1      เดซิเบล   Krups Nescafe Doce ราคา 3,355 บาท ความสะดวกในการใช้งาน ทำ espresso      4 ทำฟองนม - ล้าง/ทำความสะอาด 4 คุณภาพการประกอบ 5 กำลังไฟ 1460        วัตต์ น้ำหนักเครื่อง 2.30 กิโลกรัม   ปริมาณ espresso 1 ช็อต           37.7    มิลลิลิตร ใช้เวลาในการทำ 20                     วินาที อุณหภูมิของ espresso 70.2         เซลเซียส พลังงานที่ใช้       0.008                กิโลวัตต์/ชั่วโมง เสียงที่เกิดขณะทำ espresso      90.6      เดซิเบล   Lavazza LM850 Amodo Mio Piccina ราคา 4,000 บาท ความสะดวกในการใช้งาน ทำ espresso     3 ทำฟองนม 4 ล้าง/ทำความสะอาด 4 คุณภาพการประกอบ 3 กำลังไฟ 1050       วัตต์ น้ำหนักเครื่อง 3.65 กิโลกรัม   ปริมาณ espresso 1 ช็อต           29     มิลลิลิตร ใช้เวลาในการทำ 26    วินาที อุณหภูมิของ espresso 72.9       เซลเซียส พลังงานที่ใช้          0.008          กิโลวัตต์/ชั่วโมง เสียงที่เกิดขณะทำ espresso      82.4    เดซิเบล   ราคาบางส่วนอ้างอิงจาก http://www.which.co.uk/

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 140 กาเฟอีนในชาพร้อมดื่ม

เราทราบกันดีว่าเครื่องดื่มผสมกาเฟอีน (เครื่องดื่มชูกำลัง) เป็นเครื่องดื่มที่มีคำเตือน “ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด เพราะหัวใจจะสั่น นอนไม่หลับ เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรดื่ม ผู้ป่วยปรึกษาแพทย์ก่อน” อยู่บนฉลาก อีกทั้ง ด้วยเป็นเครื่องดื่มที่ผสมสารเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้ควบคุมปริมาณกาเฟอีนที่เป็นส่วนผสมไว้ว่าห้ามเกิน 50 มิลลิกรัม ต่อขวดหรือกระป๋อง (หน่วยบรรจุ) นอกจากนี้ ยังมีการควบคุมเรื่องการโฆษณาอีกต่างหากเพื่อให้ผู้บริโภคไม่เกิดความเข้าใจที่ขาดเคลื่อนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เช่น ต้องมีการระบุคำเตือนในสปอตโฆษณาทุกครั้ง และต้องไม่โฆษณาในลักษณะการแถมพก หรือให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชคหรือมีการให้ของแถม เป็นต้น อย่างไรก็ดี เรื่องที่ฉลาดซื้อจะนำข้อมูลมาให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกันไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวข้างต้นหากแต่เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีกาเฟอีนเหมือนกันแต่เป็นกาเฟอีน (Caffeine) ตามธรรมชาติ ซึ่งก็คือ ชาเขียว และกาแฟพร้อมดื่ม ด้วยเหตุผลที่ว่า มันไม่มีคำเตือน! และไม่ได้รับการควบคุมครับพี่น้อง   ด้วยกระแสความนิยมชาที่มีมาอย่างต่อเนื่อง (โดยเฉพาะชาเขียว) กับ กระแสกาแฟที่อ้างว่ากินแล้วหุ่นดี ไม่อ้วน ทำให้ผู้บริโภคหลายคนลืมไปว่าสิ่งที่ตนจะดื่มมีสารเสพติดเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย (ถึงแม้จะมีการบังคับให้แสดงปริมาณกาเฟอีนบนฉลาก ชา – กาแฟ ก็ตาม) ผู้บริโภคบางคนถึงขนาดเคยพูดให้ผู้เขียนฟังว่า “ดื่มน้ำอัดลมไม่ดี ดื่มชา (เขียว) ดีกว่า ดีกับสุขภาพด้วย” ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขออาสาเอาฉลากชา แต่ละยี่ห้อ จำนวน 23 ตัวอย่าง (13 ยี่ห้อ) ทั้งชาเขียว ชาขาว ชาดำ ฯลฯ และปิดท้ายด้วยกาแฟกระป๋อง โดยนำฉลากกาแฟจำนวน 3 ตัวอย่างบวกกับฉลากเครื่องดื่มชูกำลังจำนวน 4 ตัวอย่าง มากางเห็นกันอย่างชัดเจนว่า ผลิตภัณฑ์ของเจ้าใด มีกาเฟอีน มากน้อยต่างกันเพียงใด นอกจากนี้ เรามีสมนาคุณพิเศษแถมข้อมูลน้ำตาลบนฉลาก กับการแสดงฉลากโภชนาการ มาให้ท่านผู้อ่านได้ยลกันอีกด้วย     ภาพรวมจากการเปรียบเทียบฉลาก ชาสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทั้งหมดที่สุ่มมาจะมีส่วนประกอบหลัก 2 ประการคือ น้ำชาและน้ำตาล (หรือสารอื่นที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล) โดยในน้ำชานั้นจะมีกาเฟอีนอยู่ระหว่าง เกือบ 7 ถึง 20 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร ขณะที่กาแฟกระป๋องมีกาเฟอีนอยู่ที่ 40 – 80 มล.ต่อ 100 มิลลิกรัม หากคำนวณเป็นปริมาณกาเฟอีนต่อภาชนะบรรจุแล้วจะพบว่าอยู่ในช่วง ประมาณ 23 ถึง 101 มิลลิกรัมต่อภาชนะบรรจุ ส่วนกาแฟกระป๋องจะมีกาเฟอีนอยู่ที่ 98 – 144 มิลลิกรัมต่อกระป๋อง และเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนทั้งหมดจะมีกาเฟอีนอยู่ที่ 50 มิลลิกรัม/ขวด สำหรับการแสดงฉลากโภชนาการ สัดส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 3 โดยมีการแสดง 1 ส่วน ขณะที่ อีก 2 ส่วนไม่มีการแสดงซึ่งทำให้ผู้บริโภคที่ใช้ฉลากเพื่อการตัดสินใจจะพบความลำบากเมื่อต้องการทราบปริมาณน้ำตาลว่ามีอยู่เท่าไร บทวิเคราะห์ ชาพร้อมดื่ม(ทุกประเภท) เป็นเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนตามธรรมชาติในปริมาณต่อหน่วยบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ต่างกันกับเครื่องดื่มผสมกาเฟอีน นอกจากนี้ยังมีน้ำตาลสูง ยิ่งไปกว่านั้นด้วยมีการบังคับแสดงคำเตือน ว่า “ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด เพราะหัวใจจะสั่น นอนไม่หลับ เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรดื่ม ผู้ป่วยปรึกษาแพทย์ก่อน” สำหรับเครื่องดื่มผสมกาเฟอีน ดังนั้นชาพร้อมดื่มจึงไม่ใช่เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพตามที่ผู้ประกอบการทำให้เราเข้าใจแต่อย่างใด การบริโภคชาพร้อมดื่มเกินกว่าวันละ 2 ขวดคู่กับการดื่มกาแฟวันละ 1 – 2 แก้ว หรืออาหารอื่นที่มีกาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ อาจจะนำมาซึ่งอาการติดกาเฟอีน (Caffeinism) ได้ (การได้รับกาเฟอีนเกินกว่า 250 มก./วันนำมาซึ่งอาการติดกาเฟอีน : อาการหงุดหงิด ทำงานไม่ได้ จนกว่าจะเพิ่มปริมาณคาเฟอีนในกระแสเลือดก่อน) อีกทั้งยังอาจนำมาซึ่งโรคอ้วนและโรคเบาหวาน (จากการได้รับน้ำตาลมากเกินไป – เกณฑ์น้ำตาลต่อวันที่นักโภชนาการแนะนำคือ 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัมต่อวัน) หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการแสดงฉลากอาหาร หรือ อย. จึงควรมีการบังคับให้มีฉลากคำเตือนแบบเดียวกันกับที่มีในเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ฉลาดซื้อแนะนำ 1. ถ้าต้องการดื่มชาเพื่อสุขภาพ ขอแนะนำให้ชงชาดื่มเองเพราะไม่ได้ยุ่งยากอะไรแค่ใส่ใบชาลงในน้ำร้อน ทิ้งไว้ไม่เกิน 3 นาที (เกินกว่านี้ สารแทนนินจะออกมามากทำให้มีรสขม) 2. อย่าเข้าใจว่า ชาเขียวพร้อมดื่มดีต่อสุขภาพ เพราะในระหว่างกระบวนการผลิตชาพร้อมดื่มที่ต้องใช้ความร้อนสูงในการฆ่าเชื้อโรค ทำให้สารที่เป็นประโยชน์ในชาหายไปจนเกือบหมดแล้ว 3. สำหรับผู้ชื่นชอบชาพร้อมดื่ม เราขอแนะนำให้ดื่มไม่เกินวันละ 2 ขวด (แบบไม่มีน้ำตาล) โดยเด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน และผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อน 4. สำหรับท่านที่ชอบดื่มชาปกติ (มีน้ำตาล) ฉลาดซื้อแนะว่า ขวดเดียวต่อวันก็เกินพอครับ (หวานเกิ๊น )

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 คำกล่าวอ้างทางสุขภาพบนฉลากอาหาร

อาหารสำเร็จรูปในปัจจุบัน ถ้าไม่เพิ่มหรือลดสารอาหารบางอย่าง ก็ดูจะไม่อินกับกระแสรักสุขภาพ ทำให้ผู้ประกอบการต้องพยายามคิดหาอะไรมาเป็นจุดขายเพิ่มความโดดเด่นกับสินค้าของตนเอง เราจึงเห็นโฆษณาและข้อความกล่าวอ้างบนฉลากประเภท มีวิตามิน บี 12 แคลเซียมสูง หรือไขมันต่ำ อยู่เสมอ คำกล่าวอ้างที่ปรากฏบนฉลากอาหาร มีผลอย่างมากที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ  ในงานวิจัยเรื่อง อิทธิพลของข้อมูลการกล่าวอ้างหน้าที่สารอาหารบนฉลากต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องดื่มผสมสารอาหารของผู้บริโภค โดยวรรณวิสา ฮับหลี พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ตัดสินใจซื้อเครื่องดื่มผสมสารอาหารโดยดูข้อความกล่าวอ้างได้แก่ ไขมันต่ำ ร้อยละ 92.6 ไม่มีโคเรสเตอรอล ร้อยละ 90.4 และ ไขมันอิ่มตัว 0% ร้อยละ 89.5 เช่นเดียวกับที่ฉลาดซื้อเคยทำผลสำรวจไปเมื่อฉบับ 134 ที่พบว่า ร้อยละ 76.8 มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ   ความจริงของคำกล่าวอ้างบนฉลาก คำกล่าวอ้างบนฉลากที่บอกปริมาณสารอาหาร (Nutrient content claim) นั้น หากผู้ประกอบการจะนำมาแสดงบนฉลาก ต้องเป็นไปตามเกณฑ์กำหนดในบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่ 182) พ.ศ. 2541 เรื่อง ฉลากโภชนาการ หมายความว่า คำที่จะนำมาใช้ต้องเป็นคำที่กฎหมายกำหนดจะมาใช้คำตามใจชอบไม่ได้ ฉลาดซื้อขอนำข้อมูลบางส่วนมานำเสนอเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเฉพาะคำกล่าวอ้างที่กำลังฮิตในปัจจุบัน ไขมัน ไขมันต่ำ (low fat) ต้องมีไขมันต่ำกว่า 3 กรัมต่อ1 หน่วยบริโภคและขนาดของหน่วยบริโภคไม่เกิน 30 กรัม หรือ ไม่เกิน 2 ช้อนโต๊ะ ปราศจากไขมัน (fat free) มีไขมันน้อยกว่า 0.5 กรัมต่อ1 หน่วยบริโภค ปราศจากไขมันอิ่มตัว (saturated fat free) มีไขมันอิ่มตัวน้อยกว่า 0.5 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค และมีไขมันทรานส์ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ปราศจากโคเลสเตอรอล (cholesterol free) มีโคเลสเตอรอลน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม หรือไขมันอิ่มตัว ไม่เกิน 2 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค โคเลสเตอรอลต่ำ (low cholesterol) มีโคเลสเตอรอลไม่เกิน 20 มิลลิกรัม หรือไขมันอิ่มตัว ไม่เกิน 2 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค   น้ำตาล ปราศจากน้ำตาล (sugar free) มีน้ำตาลน้อยกว่า 0.5 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค   ใยอาหาร ใยอาหารสูง (high fiber) มีปริมาณใยอาหารตั้งแต่ 5 กรัมขึ้นไป และอาหารนั้นจะต้องจัด อยู่ในประเภทไขมันต่ำร่วมด้วย หรือต้องระบุปริมาณไขมันถัดจากปริมาณใยอาหารเป็นแหล่งใยอาหาร (food source of fiber) ใยอาหาร 2.5-4.9 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค  พลังงาน ปราศจากพลังงาน (calorie free) มีพลังงานน้อยกว่า 5 กิโลแคลอรี่ต่อ 1 หน่วยบริโภค พลังงานต่ำ (low calorie) มีพลังงานน้อยกว่า 40 กิโลแคลอรี่ต่อหน่วยบริโภคและขนาดหน่วยบริโภคไม่เกิน 30 กรัม หรือไม่เกิน 2 ช้อนโต๊ะ   ดังนั้นจะเห็นว่า คำว่า ปราศจาก ไม่ได้หมายถึง ไม่มี หรือ เป็น 0 แต่ยังมีอยู่น้อยกว่า 0.5 กรัม เช่น กรณีน้ำตาลและไขมัน ที่สำคัญคือ กฎหมายไม่อนุญาตการกล่าวอ้าง “ปราศจาก” หรือ “ต่ำ” หากอาหารนั้นหรืออาหารชนิดนั้นโดยธรรมชาติทั่วไปเป็นไปตามเงื่อนไขอยู่แล้ว โดยมิได้มีการใช้กระบวนการผลิตพิเศษ หรือมีการปรับสูตรเพื่อให้อาหารนั้นมีปริมาณสารอาหารที่จะกล่าวอ้างลดลงจนเป็นไปตามเงื่อนไข เนื่องจากจะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าอาหารจากผู้ผลิตนั้นแต่เพียงผู้เดียวที่มีคุณสมบัตินี้ ตัวอย่างเช่น ไม่อนุญาตให้น้ำบริโภคแสดงข้อความ “ปราศจากพลังงาน” หรือ “ไขมันต่ำ” เนื่องจากน้ำบริโภคทั่วไปจากผู้ผลิตทุกรายก็มีคุณสมบัตินี้ด้วย   กรณีกล่าวอ้างว่า “มี” หรือ “สูง”  การบอกว่า มี สารอาหารชนิดที่อ้างก็ต้อง มีจริงๆ แต่ถ้ามีจริงแต่มีน้อยเกินกว่าจะเป็นประโยชน์ในทางโภชนาการต่อร่างกาย ก็ห้ามแสดงคำว่า “มี” จะกล่าวอ้างว่า มี ได้ก็ต้องไม่น้อยกว่า ร้อยละ 10 ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน (Thai RDI) และถ้าจะกล่าวอ้าง ด้วยคำว่า “สูง” (high) ก็ต้องมีสารอาหารชนิดที่อ้าง 20 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน (Thai RDI)   กรณีการกล่าวอ้างถึงหน้าที่ของสารอาหารที่มีต่อร่างกาย สารอาหารที่มีการกล่าวอ้างถึง ต้องมีอยู่ในบัญชีสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (Thai RDI) โดยผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างต้องมีสารอาหารนั้นอยู่ในระดับที่จัดว่า “เป็นแหล่งของ” ของสารอาหารนั้นในปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงและปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคที่แสดงบนฉลาก  มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้และการกล่าวอ้างจะต้องไม่มีข้อความระบุหรือมีความหมายให้เข้าใจว่าการบริโภคสารอาหารนั้นจะสามารถป้องกันหรือบำบัดรักษาโรคได้ ตัวอย่าง “แคลเซียมเป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูกและฟัน” การจะระบุเช่นนี้ได้ ก็ต้องมีแคลเซียมอย่างน้อย ร้อยละ 10 ของ (Thai RDI) เพราะเมื่อผู้บริโภคเห็นข้อความนี้แล้วจะเข้าใจทันทีว่า ผลิตภัณฑ์นี้ มีแคลเซียมอยู่มาก   ความจริงเกี่ยวกับการรับรู้เรื่องฉลากของผู้บริโภค คำกล่าวอ้างที่ดึงดูดใจนั้นมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ ซึ่งฉลากอาหารคือด่านแรกที่จะวัดว่า ผู้บริโภค เข้าใจหรือเข้าใจมากพอหรือไม่ในการซื้อผลิตภัณฑ์ ฉลาดซื้ออาศัยช่วงงานสมุนไพรแห่งชาติที่ผ่านมา สำรวจทัศนคตินักช้อปที่ร่วมเดินภายในงาน วันที่ 7-9 กันยายน 2555 จำนวน 317 คน เกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องฉลากอาหาร พบว่า  ร้อยละ 90.9 เข้าใจว่าผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิดต้องแสดงฉลากโภชนาการ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง การแสดงฉลากโภชนาการ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่ 182) นั้น เป็นการแสดงโดยสมัครใจสำหรับอาหารทุกชนิดทั่วไป แต่จะบังคับสำหรับอาหารที่มีการกล่าวอ้างต้องแสดงฉลากโดยบังคับ ร้อยละ 53.6 เข้าใจว่าข้อความบรรยายสรรพคุณในการรักษา บำบัด บรรเทาโรค สามารถระบุบนฉลากอาหารได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องเข้าใจผิดที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะฉลากอาหารห้ามเด็ดขาดมิให้บรรยายสรรพคุณในการรักษา บำบัดหรือบรรเทาโรค เพราะอาหารไม่ใช่ยา ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนี้ทำให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งถูกหลอกให้เสียเงินมาแล้วเป็นจำนวนมากเพราะเชื่อว่า กินอาหารตามที่อ้างสรรพคุณรักษาโรคได้แล้วจะช่วยหายจากอาการเจ็บป่วย ความเข้าใจในเรื่องฉลากจึงยังเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องช่วยกันทำความเข้าใจ เพื่อยกระดับผู้บริโภคของเราให้เท่าทันเกมของผู้ประกอบการ ข้อมูล อิทธิพลของข้อมูลการกล่าวอ้างหน้าที่สารอาหารบนฉลากต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องดื่มผสมสารอาหารของผู้บริโภค โดยวรรณวิสา ฮับหลี สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 182) พ.ศ. 2541

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 138 ตรวจแถวคุณภาพข้าวหอมมะลิ

ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอชวนผู้อ่านมารับประทานข้าวด้วยกัน กับผลทดสอบพร้อมเสิร์ฟ “เปรียบเทียบคุณภาพข้าวหอมมะลิบรรจุถุง” ข้าวหอมมะลิ ถือเป็นข้าวขวัญใจมหาชน ได้รับการยกย่องในเรื่องของรสชาติความอร่อย แต่จะสักกี่คนที่จะรู้ว่าข้าวหอมมะลิที่ดีนั้นควรมีลักษณะอย่างไร ฉลาดซื้ออยากให้ทุกคนได้กินข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพ อร่อยคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป เราจึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างข้าวหอมมะลิบรรจุถุงที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด จำนวน 18 ยี่ห้อ และข้าวหอมชนิดอื่นอีก 2 ตัวอย่าง เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์เรื่องคุณภาพในส่วนของคุณสมบัติทางเคมี ซึ่งประกอบด้วย 3 คุณสมบัติ ได้แก่ 1.ปริมาณอมิโลส 2.ปริมาณ % เมล็ดที่มีอุณหภูมิแป้งสุก และ 3.เรื่องความหอม มาทำความรู้จักคุณสมบัติทางเคมีในข้าวหอมละมิทั้ง 3 ประเภทกันก่อน   ปริมาณอมิโลส ส่วนประกอบหลักของข้าวก็คือ แป้ง ซึ่งในแป้งข้าวจะมีองค์ประกอบสำคัญคือ อมิโลเปคติน และ อมิโลส อัตราส่วนของอมิโลสและอมิโลเปคติน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ข้าวสุกมีคุณสมบัติแตกต่างกัน ถ้าหากข้าวมีปริมาณอมิโลสสูงเวลาที่หุงข้าวจะดูดน้ำมากกว่าข้าวที่มีอมิโลสต่ำ ทำให้ข้าวที่มีอมิโลสสูงเมื่อหุงสุกแล้วจะมีความร่วน แข็ง ตรงข้ามกับข้าวที่มีอมิโลสต่ำจะทำให้ข้าวมีความเหนียว อย่างในข้าวเหนียวจะมีปริมาณอมิโลสอยู่ที่ประมาณ 0 – 2% เท่านั้น สำหรับปริมาณอมิโลสที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย คือ 13 – 18% ซึ่งเป็นปริมาณอมิโลสจะที่จะทำให้ข้าวหอมมะลิที่หุงมีความเหนียวนุ่มกำลังดี ทั้งนี้ก็ต้องหุงโดยใช้น้ำให้เหมาะสม ปริมาณอมิโลสในข้าวหอมมะลิถือว่าอยู่ในระดับปานกลางค่อนไปทางต่ำ น้ำที่ใช้หุงก็ไม่ควรใช้มากเกินไป ปริมาณที่แนะนำคือ ถ้าใช้ข้าวสารหอมมะลิ 1 ถ้วยตวง ให้ใช้น้ำ 1 ถ้วยครึ่ง หรือไม่เกิน 1 ถ้วยกับอีก 3 ใน 4 ส่วนของถ้วยตวง อุณหภูมิแป้งสุก ข้าวที่มีคุณภาพดีควรมีอุณหภูมิแป้งสุกต่ำ หากมีอุณหภูมิแป้งสุกสูงจะทำให้ข้าวเมื่อหุงสุกมีความแข็งกระด้าง อุณหภูมิแป้งสุกมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาการหุงต้ม โดยทั่วไป การหุงต้มข้าวจะใช้เวลา 13 - 24 นาที ข้าวที่มีอุณหภูมิแป้งสุกสูงจะใช้เวลาในการหุงต้มนานกว่าข้าวที่มีอุณหภูมิแป้งสุกต่ำ ข้าวหอมมะลิต้องมีอุณหภูมิข้าวสุกต่ำเมื่อหุงสุกแล้วความจะไม่แฉะ โดยอุณหภูมิแป้งสุกที่ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ คือไม่เกิน 65 องศาเซลเซียส การตรวจหาคุณภาพของข้าวหอมมะลิในส่วนของอุณหภูมิแป้งสุก จะใช้วิธีดูจากปริมาณของเมล็ดข้าวที่มีอุณหภูมิแป้งสุกจากการหุง คือเมื่อทำการหุงตามระยะเวลาที่กำหนด ข้าวที่หุงได้สุกทั่วทั้งเมล็ด ไม่มีส่วนที่แข็งคล้ายข้าวสาร ซึ่งข้าวหอมมะลิที่ดีควรมีปริมาณเมล็ดที่มีอุณหภูมิแป้งสุกต่ำเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 92% กลิ่นหอม ความหอมที่เป็นเอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิ เกิดจากสารระเหยที่ชื่อว่า 2 – acetyl – 1 – pyrroline ความหอมของข้าวหอมมะลิแต่เดิมนั้นว่ากันว่ากินหอมนั้นหอมคล้ายกับดอกมะลิ ซึ่งกลายเป็นที่มาของชื่อ แต่หลายคนเปรียบกลิ่นหอมของข้าวหอมมะลิว่าเหมือนกับกลิ่นหอมของใบเตย แต่ว่ากลิ่นหอมนี้จะระเหยไปตามเวลา อายุของข้าว ข้าวใหม่ – ข้าวเก่าจึงมีผลกับความหอมของข้าวหอมมะลิ โดยธรรมชาติแล้ว ข้าวใหม่จะมีความหอมมากกว่าข้าวเก่าหรือข้าวที่เก็บไว้นานก่อนจะนำมาบรรจุใส่ถุงขาย   ตารางเปรียบเทียบผลวิเคราะห์ข้าวขาวหอมมะลิบรรจุถุง ยี่ห้อ ชนิดของข้าว มีตรารับรอง ของกระทรวงพานิชย์ (ตรามือพนม) ผู้ผลิต แจ้งว่าเป็น ข้าวใหม่ หรือ ข้าวเก่า ที่ถุง วันเดือนปีที่ผลิต ราคา ผลวิเคราะห์ กลิ่นหอมตามธรรมชาติ % อมิโลส % เมล็ดที่มีอุณหภูมิแป้งสุก มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย 13 – 18 ต่ำ >= 92 ปานกลาง – สูง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 138 เราพบอะไรในชุดชั้นในสีดำ

หลายคนอาจเคยได้ยินข่าวว่าในต่างประเทศมีการทดสอบเสื้อชั้นในสีดำและพบสารก่อมะเร็งในปริมาณสูง และอาจสงสัยว่าเสื้อชั้นในสีดำที่ขายอยู่ในบ้านเรามีสารดังกล่าวหรือไม่ ฉลาดซื้อเก็บตัวอย่างเสื้อในชั้นสีดำทั้งจากตลาดบน ตลาดกลาง และตลาดล่าง* ทั้งหมด 10 ตัวอย่าง (ราคาตั้งแต่ 50 - 790 บาท ทั้งหมดผลิตในประเทศไทย ยกเว้นยูนิโคล่ รุ่นไวร์เลส ที่ผลิตจากประเทศจีน) ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แล้วส่งเข้าทดสอบในห้องปฏิบัติการของศูนย์วิเคราะห์ทดสอบสิ่งทอ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อไขข้อข้องใจในประเด็นเหล่านี้ ชนิดของเส้นใยที่ใช้เป็นไปตามที่แจ้งบนฉลากหรือไม่ มีฟอร์มาลดีไฮด์ (สารที่ใช้เพื่อป้องกันผ้าย่น หรือยับ) หรือไม่ ค่าความเป็นกรด-ด่างเกินมาตรฐานหรือไม่ สารเคมีในสีย้อมที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง จากผลทดสอบในภาพรวม เสื้อชั้นในส่วนใหญ่ผลิตจากเส้นใยตามที่ได้แจ้งไว้ มีเพียงยี่ห้อ Princess ที่ระบุบนฉลากว่าเป็น “ฝ้าย 100%” แต่ทดสอบแล้วพบว่าเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ส่วนชุดชั้นในอีก 3 ยี่ห้อที่ไม่ระบุเส้นใยที่ใช้ก็เป็นโพลีเอสเตอร์ หรือโพลีเอสเตอร์ผสมฝ้าย ซึ่งเรื่องของเส้นใยนั้นต้องแล้วแต่ความชอบของผู้บริโภคแต่ละคน ใครเน้นสวมใส่สบาย ระบายอากาศดีก็เลือกที่เป็นเส้นใยจากฝ้าย แต่ถ้าใครเน้นซักง่ายแห้งเร็วก็คงจะเลือกเส้นใยโพลีเอสเตอร์ สำคัญตรงที่ผู้ผลิตมีการแจ้งต่อต่อผู้บริโภคอย่างตรงไปตรงมาเพื่อการพิจารณานั่นเอง ------------------------------------------------------------------------------- ตลาดชุดชั้นในสตรีในบ้านเราซึ่งมีมูลค่าการตลาดไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ : ข้อมูลจากงานวิจัยปี พ.ศ. 2552 โดย ผุสดี ใจแก้วทิ  เรื่อง กลยุทธ์ธุรกิจและกลยุทธ์ทางการตลาดซึ่งสัมพันธ์กับพฤติกรรมการเลือกซื้อชุดชั้นในสตรีของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร: กรณีศึกษา บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) ลิขสิทธิ์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ------------------------------------------------------------------------------- จากงานวิจัยเดียวกัน สีเสื้อชั้นในที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือสีเนื้อ (ร้อยละ 37.5) ตามด้วยสีขาว (ร้อยละ 32) สีชมพู (ร้อยละ 13.5) และสีดำ (ร้อยละ 10.5) -------------------------------------------------------------------------------   เสื้อชั้นใน Ne’s bra รุ่น 8802 ราคา 50 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ไม่ระบุ ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             โพลีเอสเตอร์ ค่าความเป็นกรดด่าง 6.52 สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ     เสื้อชั้นใน Princess รุ่น 191 ราคา 79 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก Cotton 100% ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             โพลีเอสเตอร์ ค่าความเป็นกรดด่าง 6.72 สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ     เสื้อชั้นใน Sister hood รุ่น Sport 072 ราคา 89 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ไม่ระบุ ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             โพลีเอสเตอร์ / ฝ้าย ค่าความเป็นกรดด่าง 7.09 สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ     เสื้อชั้นใน Jintana รุ่น Jina Teen JB 2850 ราคา 260 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ไม่ระบุ ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             ไนลอน ค่าความเป็นกรดด่าง 7.16 สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ     เสื้อชั้นใน Sabina รุ่น SBN Sport SBB 374 BK ราคา 440 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ฝ้าย ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             ฝ้าย ค่าความเป็นกรดด่าง 7.44 สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ     เสื้อชั้นใน POP line รุ่น WL 1799 ราคา 450 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ไนลอน ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             ไนลอน ค่าความเป็นกรดด่าง 6.10 สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ     เสื้อชั้นใน Wacoal รุ่น WH 2M03 T-Shrunk ราคา 550 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ฝ้าย ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             ฝ้าย ค่าความเป็นกรดด่าง 7.95 สารก่อมะเร็งในสีย้อม 4-chloroaniline 15.35 มก./กก.     เสื้อชั้นใน Elle รุ่น LB 8502 ราคา 650 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ไนลอน ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             ไนลอน ค่าความเป็นกรดด่าง 7.16 สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ     เสื้อชั้นใน UNIQLO รุ่น Wireless Bra Light ราคา 790 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก โพลีเอสเตอร์ ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             โพลีเอสเตอร์ ค่าความเป็นกรดด่าง 6.85 สารก่อมะเร็งในสีย้อม ไม่พบ     เสื้อชั้นใน Triumph รุ่น Sloggi Organic Cotton ราคา 790 บาท ชนิดเส้นใยที่ระบุบนฉลาก ฝ้าย ชนิดเส้นใยที่ทดสอบได้             ฝ้าย ค่าความเป็นกรดด่าง 6.84 สารก่อมะเร็งในสีย้อม 4-chloroaniline 15.09 มก./กก.   ------------------------------------------------------------------------ ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ชุดชั้นในสตรี มผช. 837/ 2554 กำหนดไว้ว่า ปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ ต้องน้อยกว่า 75 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ค่าความเป็นกรด-ด่าง ต้องอยู่ระหว่าง 5 ถึง 7.5 สีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว ต้องไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ผลการวิเคราะห์ ในการทดสอบคราวนี้เราไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์ในทั้ง 10 ตัวอย่าง และค่าความเป็นกรดด่างของเสื้อชั้นในส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ ยกเว้นวาโก้ WH 2M03 T-Shrunk ที่มีค่า pH สูงเกินเกณฑ์ไปเล็กน้อย   นอกจากนี้เรายังพบสาร 4-คลอโรแอนิลีน (4-chloroaniline) ในชุดชั้นใน 2 รุ่นได้แก่ วาโก้ WH 2M03 T-Shrunk และ ไทรอัมพ์ Sloggi Organic Cotton ในปริมาณ 15.35 มิลลิกรัม/ กิโลกรัม และ 15.09 มิลลิกรัม/ กิโลกรัม ตามลำดับ ปริมาณดังกล่าวถือว่าไม่เกินมาตรฐานที่ประเทศไทย หรือเกณฑ์เบื้องต้นของยุโรปกำหนดให้มีได้ไม่เกิน 30 มิลลิกรัม/ กิโลกรัม)   อย่างไรก็ตาม สารดังกล่าวเป็นหนึ่งในสารอะโรแมติกแอมีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ถ้าอ้างอิงเกณฑ์ของฉลากสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของยุโรป จะต้องไม่มีสารดังกล่าวในผลิตภัณฑ์   ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอ ผศ.ดร.จันทร์ทิพย์ ซื่อสัตย์ ภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นว่า “สีย้อมประเภทเอโซเป็นสีกลุ่มที่แตกตัวให้สาร Aromatic amine เมื่อย้อมติดบนผลิตภัณฑ์ ไม่ควรก่อให้เกิดสาร Aromatic amine ชนิดที่อยู่ในข่ายสามารถก่อให้เกิดความผิดปกติในมนุษย์ ในปริมาณเกินกว่า 30 ppm สำหรับสาร 4-chloroaniline ที่ตรวจพบในผลิตภัณฑ์เสื้อชั้นในข้างต้น เป็นสารที่ห้ามใช้หรือไม่ควรพบตกค้างในผลิตภัณฑ์สิ่งทอเลยเนื่องจากเป็นสารอันตราย ดังนั้นจึงถือว่าผลิตภัณฑ์เสื้อชั้นในที่ตรวจพบสารดังกล่าวอยู่ในข่ายที่สามารถก่ออันตรายต่อผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสผิวหนังโดยตรงเช่นนี้”   วลัยพร มุขสุวรรณ รองผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสารเคมี ระบุว่า “ตามเอกสารขององค์การอนามัยโลกและกฎหมายของสหภาพยุโรปที่ออกตามกฎหมาย REACH นั้น สหภาพยุโรปจำกัดการใช้สีย้อมประเภทเอโซ (ซึ่งสาร 4-chloroaniline รวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย) คือห้ามใช้สีย้อมเอโซที่อาจปล่อยสารแอมีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งออกมาจากผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะเข้าสู่ผู้ใช้ได้ แต่ถ้าเป็นเอโซที่ไม่ปล่อยสารแอมีน จะยอมให้มีในแต่ละส่วนประกอบได้ไม่เกิน 30 พีพีเอ็ม สำหรับเอโซที่ปล่อยสาร 4-chloroaniline ออกมานั้นอยู่ในรายการห้ามใช้เลย ------------------------------------------------------------------------   เรื่องจากคนเย็บชุดชั้นใน -          ปัจจุบันนี้ เสื้อชั้นในหนึ่งตัว มีชิ้นส่วนประมาณ 20 ชิ้น และมีขั้นตอนการเย็บประมาณ 50 ขั้นตอน -          ถ้าเป็นเสื้อชั้นในแบบธรรมดาๆ พนักงาน 50 คน จะสามารถเย็บได้ วันละ 2,000 ตัว แต่ปัจจุบันเริ่มมีชิ้นงานแบบหรูหรา ที่ขายปลีกตัวละ 7,000 – 8,000 บาท พนักงานกลุ่มเดิมสามารถเย็บได้เพียงวันละไม่เกิน 400 ตัว -          ชิ้นงานสีดำหรือสีเข้มอื่นๆ ค่อนข้างลำบากต่อคนทำงาน เพราะมองไม่ค่อยเห็น จึงต้องส่องไฟเพิ่มซึ่งทำให้เกิดแสงสะท้อนเข้าตา -          ก่อนหน้านี้เคยมีผู้บริโภคร้องเรียนว่าพบปลายเข็มในเสื้อชั้นใน ซึ่งน่าจะเกิดจากเข็มที่หักในขั้นตอนการตัดเย็บ ในสายการผลิตจึงมีข้อกำหนดว่าจะต้องหาปลายเข็มที่หักให้เจอก่อนเสมอเมื่อเกิดกรณีที่เข็มหัก นอกจากนี้ยังห้ามไม่ให้พนักงานนำโลหะชิ้นเล็กๆ เช่นลวดเย็บ หรือดินสอกด เข้าไปบริเวณที่ทำงาน -          ขั้นตอนที่มีความเสี่ยง ขั้นตอนการประกอบลูกไม้/ผ้า เข้ากับฟองน้ำด้วยเครื่องพ่นกาว การขึ้นรูปผ้ากับฟองน้ำให้เป็นรูปโค้งตามขนาดคัพ ของเสื้อชั้นใน -          ครึ่งหนึ่งของราคาชุดชั้นในที่เราจ่าย คือค่าแบรนด์ -          เสื้อชั้นในที่เราเห็นนำมาลดราคาตามห้างนั้น ความจริงแล้วก็เป็นไปตามราคาขั้นต่ำที่เขากำหนดไว้แต่แรก บางครั้งการลดราคาก็เพื่อเคลียร์พื้นที่ให้กับรุ่นใหม่ๆ ที่กำลังจะผลิตออกมา หรือของค้างที่เก็บไว้ก็มีแต่จะเสื่อมราคาจึงต้องรีบขายออกไป อีกกลุ่มที่นำมาลดราคาคือสินค้าที่มีขนาดไม่ครบนั่นเอง -          ส่วนเสื้อชั้นในที่นำมาขายลดราคาให้กับพนักงงานในโรงงานนั้นอาจมาจากสินค้าตกเครื่องบิน (หรือตกเรือ) เพราะส่งไม่ทันเวลา บางครั้งเป็นสินค้ามีตำหนิ หรือสินค้าตัวอย่าง หรือสินค้าที่ไม่ผ่านคุณภาพส่งออก (เช่นมีสารก่อมะเร็ง) เป็นต้น ขอบคุณ คุณจิตรา คชเดช และคุณวิภา มัจฉาชาติ ผู้ประสานงานและผู้จัดการฝ่ายผลิตชุดชั้นในทางเลือก Try Arm ผู้ให้ข้อมูล  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 ผักสดในตลาด กับการปนเปื้อนยาฆ่าแมลง

เนื่องด้วยเกิดความผิดพลาดขึ้นใน นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 136 มิถุนายน 2555 ในคอลัมน์ทดสอบ “ผักขึ้นห้าง วางใจได้แค่ไหนเรื่องสารเคมี” ซึ่งเนื้อหาในส่วนของผลวิเคราะห์ ที่มีการรายงานปริมาณสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ปนเปื้อนในตัวอย่างผักที่ทดสอบเป็นหน่วย มล./กก. หรือ มิลลิลิตรต่อกิโลกรัม นั้น ไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือ ต้องใช้หน่วยเป็น มก./กก. หรือ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามที่แสดงไว้ในตารางรายงานการตรวจวิเคราะห์ กองบรรณาธิการต้องขออภัยกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และจะเพิ่มความรอบคอบในการตรวจทานแก้ไขให้มากยิ่งขึ้น จึงเรียนขออภัยมา ณ ที่นี้   หลังจากเราพาไปสำรวจการปนเปื้อนของสารเคมีในผักสดที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตกันเมื่อฉบับที่แล้ว คราวนี้ก็มาถึงภาคต่อที่ฉลาดซื้อขอเปลี่ยนบรรยากาศพาไปตะลุยตลาดสด ลองไปดูกันสิว่าผักสดจากตลาดจะปลอดภัยจากสารเคมีหรือไม่?   ฉลาดซื้อได้เก็บตัวอย่างผักที่ขายในตลาดสด 2 แห่ง คือ ตลาดห้วยขวาง และตลาดประชานิเวศน์ เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ยาฆ่าแมลง โดยผักที่เราเลือกมาทดสอบประกอบด้วย กะหล่ำปลี คะน้า ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ผักชี และพริกจินดา (เช่นเดียวกับที่เราทดสอบผักจากห้างค้าปลีก) ลองไปดูกันสิว่าผักที่เรารับประทานกันอยู่เป็นประจำทั้ง 7 ชนิดนี้ จะปลอดภัยจากยาฆ่าแมลงมากน้อยแค่ไหน “ผักบุ้ง” ปลอดภัยไร้สารตกค้าง อย่างน้อยก็มีเรื่องน่าดีใจ เมื่อผลการวิเคราะห์ที่ได้บอกกับเราว่า ตัวอย่าง ผักบุ้งจีน จากทั้ง 2 ตลาด ไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งถ้าใครยังจำผลการวิเคราะห์ผักสดที่วางขายในห้างเมื่อฉบับที่แล้วได้ ตัวผักบุ้งจีนที่เก็บจากซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งตัวอย่างที่เป็นตราห้างและตัวอย่างที่ได้เครื่องหมาย Q ก็ไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีผักสดอีกหนึ่งตัวอย่างที่ไม่พบยาฆ่าแมลง นั่นคือ กะหล่ำปลี จากตลาดประชานิเวศน์ ส่วนตัวอย่างกะหล่ำปลีจากตลาดห้วยขวาง พบการปนเปื้อนของสาร คาร์โบฟูราน (Carbofuran) แต่ไม่เกินระดับมาตรฐาน   สารตกค้างที่พบส่วนใหญ่ไม่มีเกณฑ์ในไทย ถ้าลองดูจากผลวิเคราะห์จะเห็นว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่พบในตัวอย่างผักสดที่เรานำมาวิเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่มีในเกณฑ์ “มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ” (มกอช.) ซึ่งเท่ากับว่าไม่ควรพบการตกค้าง แต่ที่ยังพบการปนเปื้อนอยู่ก็เป็นการบอกให้รู้ถึงปัญหาของการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในบ้านเรา ที่ยังคงมีการใช้กันเป็นจำนวนมาก แถมชนิดของสารเคมีที่ใช้กันก็มีหลากหลาย พูดได้เลยสุขภาพของคนไทยกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง   “ผักชี” และ “พริกจินดา” ความเสี่ยงสูง ตัวอย่าง ผักชี และ พริกจินดา จากทั้ง 2 ตลาด ถือเป็นตัวอย่างผักสดที่พบการปนเปื้อนของสารเคมีมากจนน่าตกใจ โดยในหนึ่งตัวอย่างพบการปนเปื้อนสารเคมี 3 – 4 ชนิด แถมสารเคมีที่พบส่วนใหญ่อยู่ในระดับเกินมาตรฐาน ซึ่งผักซีเป็นผักที่ มกอช. ไม่ได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานกำกับไว้ ดังนั้นจึงไม่ควรพบการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลง แม้หลายคนอาจจะมองว่าผักทั้งสองชนิดถ้าคิดเป็นต่อหนึ่งมื้อเราจะรับประทานในปริมาณที่น้อยมาก แต่ผลร้ายของการใช้ยาฆ่าแมลงมันมีมากกว่าที่เราคิด ทั้งผลของการสะสมในระยะยาวที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ รวมถึงสุขภาพของเกษตรกรผู้ใช้สารโดยตรง คุณภาพของดินและระบบนิเวศวิทยาที่จะถูกทำลายจากการใช้สารเคมี นี่ยังไม่นับรวมถึงผลเสียของเศรษฐกิจที่เราต้องขาดดุลจากการนำเข้าสารเคมี และการที่ผักของประเทศไทยถูกห้ามนำเข้าไปขายยังต่างประเทศเพราะเขาตรวจพบว่าผักของเรามีการปนเปื้อนสารเคมีเกินมาตรฐาน เป็นสารเฝ้าระวังแท้ๆ แต่ว่าเจอเพียบ สารเคมีกำจัดศัตรูที่เราตรวจพบในตัวอย่างผักสดทั้ง 14 ตัวอย่าง จากตลาดสดทั้ง 2 ตลาด ไม่ว่าจะเป็น อัลดิคาร์บ (aldicarb), คาร์โบฟูราน (carbofuran), ไดโครโตฟอส (dicrotophos), อ๊อกซามิล (oxamyl), อีพีเอ็น (EPN), เมโทมิล (methomyl) และ เมทิดาไธออน (methidathion) จัดเป็นสารเคมีที่อยู่ใน “รายชื่อวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเฝ้าระวัง” ซึ่งหมายถึงสารเคมีที่ต้องมีการแจ้งการนำเข้า การผลิต ส่งออก และต้องมีใบอนุญาตในการครอบครอง เพราะจัดเป็นสารเคมีที่มีพิษร้ายแรง ออกฤทธิ์แบบเฉียบพลัน เป็นอันตรายกับผู้ที่ได้รับสารแม้เพียงปริมาณไม่มาก ซึ่งทั้งๆ ที่เป็นสารเคมีอันตราย แม้จะไม่ได้มีการห้ามใช้แบบเด็ดขาด แต่ก็น่าจะมีการควบคุมการใช้ที่ค่อนข้างเข้มงวด แต่จากผลวิเคราะห์เห็นได้ชัดเลยว่าบรรดาสารเคมีที่อยู่ในการเฝ้าระวังของกรมวิชาการเกษตร เกษตรกรยังคงหาซื้อมาใช้กันเป็นจำนวนมาก เรียกว่ายังคงใช้กันเป็นเรื่องปกติ ถึงเวลาต้อง “แบน” เครือข่ายเฝ้าระวังสารเคมีเกษตร (Thai – PAN : Thailand Pesticide Alert Network) ที่มาจากการรวมตัวกันของ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายผู้บริโภค และภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิชาการด้านการเกษตร เกษตรกร กำลังช่วยกันผลักดันให้ภาครัฐยกเลิกการนำเข้าและผลิตสารเคมีในประเทศไทย 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน (carbofuran), เมโทมิล (methomyl), ไดโครโตฟอส (dicrotophos) และ อีพีเอ็น (EPN) ซึ่งจากการวิเคราะห์เราพบสารทั้ง 4 ชนิดนี้ กระจายอยู่ในตัวอย่างผักสดที่เราสุ่มเก็บมาทดสอบเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่สารเหล่านี้เป็นกลุ่มเฝ้าระวังเพราะมีอันตรายมาก ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้สารเหล่านี้ไปแล้ว แต่ประเทศไทยเรากลับยังมียอดการนำเข้าเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ หากยังไม่มีการยกเลิกการนำเข้าและการประกาศห้ามใช้ เรียกว่าสุขภาพของคนไทยก็ยังคงต้องเสี่ยงกับอันตรายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อไป ตัวอย่างประเทศที่ประกาศห้ามการใช้สารเคมีทั้ง 4 ชนิด รายชื่อสารเคมี ประเทศที่ประกาศห้าม คาร์โบฟูราน (carbofuran) สหภาพยุโรป อเมริกา เมโทมิล (methomyl) สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฟินแลนด์ ตุรกี สิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดีย (ยกเลิกบางสูตร) ไดโครโตฟอส (dicrotophos) อินเดีย ปากีสถาน สิงคโปร์ สหภาพยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย มาเลเซีย อีพีเอ็น (EPN) อเมริกา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย แคนาดา มาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า นิวซีแลนด์ เวียดนาม อินเดีย   ทีมา: ข้อมูลพื้นฐานของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเฝ้าระวัง 4 ชนิด โดย มูลนิธิชีววิถี   ผักแพง เพราะอะไร ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีข่าวคราวที่ชวนให้หลายๆ คนปวดใจ โดยเฉพาะคนที่รักสุขภาพและชื่นชอบการรับประทานผัก เมื่อข้าวของต่างๆ เดินหน้าขึ้นราคา พืชผักต่างๆ ก็ไม่ยอมตกเทรนด์ขอเกาะขบวนกลายเป็นสินค้าราคาแพงกับเขาด้วย หลายๆ คนสงสัยว่าบ้านเราเป็นเมืองเกษตรกรรมแท้ๆ แต่ไหงผักถึงราคาแพง เหตุผลที่เราได้ยินได้ฟังมาเขาบอกว่าเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งภัยธรรมชาติ น้ำมันแพง ค่าแรงขึ้น ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเมื่อรวมกันก็กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ต้นทุน” แล้วรู้กันหรือว่าเปล่าอีกหนึ่งต้นทุนสำคัญที่ส่งผลต่อราคาผักที่หลายคนบ่นว่าแพงทุกวันนี้ก็คือ “สารเคมีกำจัดศัตรูพืช”   ผักแพง ยาฆ่าแมลงก็มีส่วน เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าสารเคมีทางการเกษตรเป็นสารพิษที่ส่งผลเสียกับร่างกาย แม้มันจะเป็นตัวช่วยให้กับเกษตรกรในการป้องกันรักษาพืชผักที่ปลูกไม่ให้ถูกรบกวนจากแมลงหรือวัชพืช แต่ก็เสี่ยงกับการที่สารเคมีจะตกค้างในผัก ข้อมูลสถิติการนำเข้าวัตถุอันตราย ของสำนักงานควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้รายงานเอาไว้เมื่อปี 2553 ประเทศไทยเรามีการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากถึงเกือบ 120 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นเงินที่เราต้องเสียไปกว่า 18,000 ล้านบาท (รู้แล้วใช่มั้ยว่าทำไมเราถึงกินผักราคาแพง) ซึ่งถ้าลองนำตัวเลขการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาเทียบกันในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มการนำเข้ามีแต่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แถมยังเพิ่มมากขึ้น 2 – 3 เท่าตัวเลยทีเดียว (ปี 2543 สถิติการนำเข้าจะอยู่ที่แค่ประมาณ 50 ล้านกิโลกรัมเท่านั้น)   ปัญหายาฆ่าแมลงในผัก ทุกคนต้องช่วยกันรับผิดชอบ แม้เราจะเริ่มรู้สึกตรงกันแล้วว่าการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในบ้านเรานั้นอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง เพราะมันอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนไทยเราป่วยเป็นมะเร็งกันมากขึ้น แต่แนวทางการแก้ไขเพื่อลดปริมาณการใช้ก็ยังไม่เห็นความชัดเจน เกษตรกรเองก็ยังต้องพึ่งพาสารเคมีเพื่อให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดในปริมาณมากพอที่จะทำให้เกษตรกรมีกำไร (ว่ากันว่าทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายในส่วนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เกษตรกรต้องจ่ายคิดได้เท่ากับ 10 – 30% ของต้นทุนทั้งหมด) ภาครัฐเองก็อาจยังมีการส่งเสริมเรื่องความเข้าใจในการใช้สารเคมีและรวมถึงแนวคิดการทำเกษตรปลอดสารแก่เกษตรกรน้อยเกินไป แถมยังไม่มีมาตรการที่ใช้คุมเข้มการขาย การโฆษณา สารเคมีกำจัดศัตรูพืชซึ่งสร้างความเข้าใจผิดให้กับเกษตรกร แม้แต่ผู้บริโภคอย่างเราเองก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบกับการใช้สารเคมีของเกษตรกร เพราะทุกวันนี้เราแทบไม่ได้สนใจกันแล้วว่าผักชนิดไหนออกช่วงฤดูกาลอะไร เราเลือกกินแต่ผักชนิดเดิมๆ ตลอดทั้งปี (เช่น คะน้า ผักกาด ถั่วฝักยาว ฯลฯ) เกษตรกรเองจึงเลือกปลูกแต่ผักตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งเป็นผักแค่ไม่กี่ชนิด ลองคิดดูแล้วกันว่าผักชนิดเดิมๆ ที่มีให้เรากินตลอดเวลา จะต้องพึ่งสารเคมีมากแค่ไหนถึงปลูกให้เรากินได้ทั้งปี   ตารางรายงานการตรวจวิเคราะห์ ผัก กลุ่มตลาดสด (ตลาดห้วยขวาง) ตัวอย่าง ผลการวิเคราะห์ (มก./กก.) เกณฑ์มาตรฐาน (ไม่เกิน มก./กก.) สารกลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส สารกลุ่มคาร์บาเมต ไทย (มกอช.) ยุโรป กะหล่ำปลี ไม่พบ Carbofuran น้อยกว่า 0.01 Carbofuran 0.2 Carbofuran 0.02   คะน้า   Dicrotophos 2.02 Oxamyl น้อยกว่า 0.01 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Oxamyl 0.01 Dicrotophos ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) ถั่วฝักยาว Acephate น้อยกว่า 0.05 EPN 0.34 ไม่พบ ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Acephate 0.02 EPN  ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) ผักกาดขาว ไม่พบ Carbofuran 0.01 Methomyl น้อยกว่า 0.01 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Carbofuran  0.02 Methomyl 0.02 ผักบุ้งจีน ไม่พบ ไม่พบ - - ผักชี Chlorpyrifos 0.10 EPN 1.02 Methidathion 0.06 Methomyl 0.04 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Chlorpyrifos 0.05 Methidathion 0.02 Methomyl 0.3 EPN  ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) พริกจินดา Chlorpyrifos 0.05 Methidathion 0.11 Carbaryl 0.01 Chlorpyrifos 0.5 Carbaryl 0.5 Methidathion ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Chlorpyrifos 0.5 Carbaryl 0.05 Methidathion 0.02 ตารางรายงานการตรวจวิเคราะห์ ผัก กลุ่มตลาดสด (ตลาดประชานิเวศน์) ตัวอย่าง ผลการวิเคราะห์ (มก./กก.) เกณฑ์มาตรฐาน (ไม่เกิน มก./กก.) สารกลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส สารกลุ่มคาร์บาเมต ไทย (มกอช.) ยุโรป กะหล่ำปลี ไม่พบ ไม่พบ - - คะน้า ไม่พบ Aldicarb น้อยกว่า 0.01 Methiocarb 0.01 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Aldicarb 0.02 Methiocarb 0.1 ถั่วฝักยาว Omethoate 0.07 ไม่พบ ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) แต่หากลองเทียบกับประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง มีการกำหนดเกณฑ์การตกค้างของ Omethoate ไว้ในผักหลายชนิด (แต่ไม่มีถั่วฝักยาว) ซึ่งค่าเฉลี่ยสูงสุดที่กำหนดไว้คือ 0.05 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) ผักกาดขาว ไม่พบ Carbofuran 0.01 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Carbofuran  0.02 ผักบุ้งจีน ไม่พบ ไม่พบ - - ผักชี   Chlorpyrifos น้อยกว่า 0.05 Aldicarb 0.02 Carbofuran 1.13 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Chlorpyrifos 0.05 Aldicarb 0.02 Carbofuran 0.02 พริกจินดา   Chlorpyrifos 0.07 Methidathion 0.10 Triazophos 0.05 Carbaryl 0.02 Chlorpyrifos 0.5 Carbaryl 0.5 Methidathion และ Triazopho ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Chlorpyrifos 0.5 Carbaryl 0.05 Methidathion 0.02 Triazopho 0.01   : เก็บตัวอย่างเมื่อ เดือนมีนาคม 2555 : ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งทดสอบเท่านั้น : วิเคราะห์ผลโดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 ปรอทในครีมหน้าขาว

นาทีนี้การมีผิวหน้าสะอาด ชุ่มชื้น เพียงอย่างเดียวมันไม่เพียงพอเสียแล้ว เรายังรู้สึกเหมือนเป็นความจำเป็นที่จะต้องมีผิวอ่อนเยาว์ ไร้ริ้วรอย และที่สำคัญต้องขาวใสไร้จุดด่างดำอีกด้วย ผลิตภัณฑ์ที่จะตอบสนองความต้องการดังกล่าวจึงมีออกมาให้เลือกกันมากมายหลายสูตร จนเลือกกันไม่ถูกเลยทีเดียว   มูลนิธิบูรณนิเวศ และนิตยสารฉลาดซื้อได้ร่วมกันเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ครีมที่อ้างสรรพคุณว่าทำให้ผิวหน้ามีสีจางลงหรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่าครีมหน้าขาว มาตรวจหาสารปรอท ซึ่งกฎหมายประกาศห้ามใช้ งานนี้เรายังได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจังหวัด พะเยา ขอนแก่น กาฬสินธุ์ สมุทรปราการ สงขลา สุราษฎร์ธานี ในการสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากพื้นที่เข้ามาให้ด้วย   ครั้งนี้เราตรวจหาสารปรอทใน 47 ผลิตภัณฑ์ ที่เราเก็บตัวอย่างครีมจากซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างค้าปลีก ร้านสินค้าสุขภาพ รวมถึงแผงขายเครื่องสำอางในตลาดนัด ระหว่างเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2555 มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากกรุงเทพมหานคร 15 ตัวอย่าง และตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากพื้นที่ต่างจังหวัด ได้แก่ นนทบุรี สุราษฎร์ธานี พะเยา สงขลา สมุทรปราการ กาฬสินธุ์ และขอนแก่น อีก 32 ตัวอย่าง   ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ครีมหน้าขาวทั้งหมดถูกส่งไปวิเคราะห์หาปริมาณสารปรอททั้งหมด ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของบริษัท อินเตอร์เทค เทสติ้ง เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยวิธีตามมาตรฐานของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   เราบอกคุณไม่ได้ว่าทาครีมยี่ห้อไหนแล้วจะขาวกว่ากัน แต่เรารู้แน่ว่ามีถึง 10 ผลิตภัณฑ์ (จากทั้งหมด 47 ผลิตภัณฑ์) ที่มีสารปรอทปนเปื้อน โดย “ครีมน้ำนมข้าว” ที่เก็บตัวอย่างจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีคว้าแชมป์ผลิตภัณฑ์ที่มีสารปรอทมากที่สุด มากถึง 99,070 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามด้วย “ครีมไวท์โรส” จากสงขลา ที่มีปริมาณปรอทปนเปื้อน 51,600 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนที่เหลืออีก 8 ผลิตภัณฑ์นั้นดูได้จากรายละเอียดในหน้าถัดไป   ซื้อแพงไว้ก่อนดีหรือไม่? นี่เป็นอีกครั้งที่เราพบว่าราคาที่แพงกว่า ไม่ได้รับรองว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะปราศจากสารอันตรายเสมอไป เช่น ผลิตภัณฑ์ “ไบโอคอลลาเจน” ที่มีราคาถึง 28 บาท ต่อกรัม มีสารปรอทถึง 47,960 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือครีม “มาดาม” ที่ราคากรัมละ 30 บาท ก็มีสารปรอทถึง 3,435 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ “เภสัช” ซึ่งเราตรวจพบปริมาณสารปรอทต่ำกว่า 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นั้นมีราคาต่อหน่วยเท่ากับ 0.4 บาทเท่านั้น                ที่มา : องค์การอนามัยโลก, 2011 ---   ยุทธศาสตร์ไซคัม ยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีระหว่างประเทศ หรือยุทธศาสตร์ไซคัม (Strategic Approach to International Organization on Chemicals Management หรือ SAICM) มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ ส่งเสริมให้เกิดการจัดการสารเคมีอย่างเหมาะสมตลอดวงจรชีวิตของสารเคมีนั้น ๆ ภายในปี พ.ศ. 2563 หรือ ค.ศ. 2020 การผลิตและการใช้สารเคมีจะต้องให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญที่จะปกป้องสังคมโลกให้ปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย   ความเคลื่อนไหวที่สำคัญภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ไซคัมที่กำลังจะเกิดขึ้น ได้แก่ การพัฒนาข้อตกลงสากลว่าด้วยเรื่องสารปรอท (Mercury Treaty) นั่นเอง   หลักการพื้นฐาน 5 ข้อของยุทธศาสตร์ไซคัม 1) ลดความเสี่ยงจากสารเคมีอันตราย 2) ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและการส่งเสริมองค์ความรู้ต่างๆ 3) สร้างธรรมาภิบาล 4) เสริมสร้างศักยภาพและความร่วมมือทางเทคโนโลยี และ 5) ห้ามการขนส่งของเสียอันตรายข้ามแดนอย่างผิดกฎหมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 ผักขึ้นห้าง วางใจได้แค่ไหนเรื่องสารเคมี

ผักสดผลไม้เป็นอาหารที่มีประโยชน์ แต่ในกระบวนการปลูกก็มีเรื่องของสารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก สุขภาพที่ดีก็อาจเปลี่ยนเป็นสุขภาพที่ร้ายได้ หลายหน่วยงานจึงจัดทำมาตรฐานเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ฉลาดซื้อเลยขอโอกาสช่วยตรวจสอบซ้ำให้กับผู้บริโภค โดยฉลาดซื้อได้คัดเลือกผักจำนวน 7 ชนิด เพื่อนำมาวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ยาฆ่าแมลง ผักทั้ง 7 ชนิดที่เราเลือกมานั้นประกอบด้วย กะหล่ำปลี คะน้า ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ผักชี และ พริกจินดา ล้วนเป็นผักยอดนิยมที่มักจะถูกเลือกเป็นส่วนประกอบในหลายๆ เมนู หาซื้อหารับประทานได้ทั่วไป ฉลาดซื้อเชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะรับประทานผักเหล่านี้เป็นประจำ ตัวอย่างผักทั้ง 7 ชนิดที่นำมาวิเคราะห์ในครั้งนี้ ได้เลือกสุ่มเก็บตัวอย่างผักที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดัง เพราะเห็นว่าปัจจุบันมีหลายๆ บ้าน หลายๆ ครอบครัวนิยมเลือกซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น โดยตัวอย่างผักที่เราเก็บจากซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อนำมาทดสอบทั้ง 7 ชนิด จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือผักที่ได้รับเครื่องหมาย Q ซึ่งเป็ นตรารับรองสินค้าเกษตรคุณภาพ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ส่วนอีกหนึ่งกลุ่ม จะเป็นผักที่จำหน่ายโดยใช้ตราหรือยี่ห้อของทางห้างเอง (House brand)   การวิเคราะห์จะดูการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 2 กลุ่ม คือ กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต และ กลุ่มคาร์บาเมต ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกผักนิยมใช้กันมากในปัจจุบัน โดยเราจะนำผลวิเคราะห์ที่ได้มาเทียบเคียงเกณฑ์ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด ที่ออกโดยมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) 1. รายงานการตรวจวิเคราะห์ ผัก กลุ่มมาตรฐาน Q ตัวอย่าง ยี่ห้อ ผู้ผลิต ราคา ผลการวิเคราะห์ (มก./กก) มาตรฐาน (ไม่เกิน มก./กก.)   สารกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต สารกลุ่มคาร์บาเมต ไทย (มกอช.) ยุโรป   กะหล่ำปลี ตราโครงการหลวง โครงการหลวง เชียงใหม่ 69 บ. / 1 กก. ไม่พบ ไม่พบ - -   คะน้า ตรา Fresh Deli ไร่ฐิติวันต์ - ไม่พบ Methiocarb น้อยกว่า 0.01 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Methiocarb 0.1   ถั่วฝักยาว ตราผักด๊อกเตอร์ บ.ผักด๊อกเตอร์ จำกัด 39 บ. / แพ็ค ไม่พบ Cardofuran 0.07 Methomyl 0.08 Carbofuran 0.1 Methomyl 1 Carbofuran 0.02 Methomyl 0.02   ผักกาดขาว ตราผักด๊อกเตอร์ บ.ผักด๊อกเตอร์ จำกัด 45 บ. / แพ็ค ไม่พบ ไม่พบ -   -   ผักบุ้งจีน ตรา Fresh Deli ไร่ฐิติวันต์ - ไม่พบ ไม่พบ - -   ผักชี ตรา Fresh Deli ไร่ฐิติวันต์ - Methidathion น้อยกว่า 0.05 ไม่พบ ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Methidathion 0.02   พริกจินดา ตรา Fresh Deli ไร่ฐิติวันต์ - Chlorpyrifos 0.31 ไม่ พบ Chlorpyrifos 0.5 Chlorpyrifos 0.5   2. รายงานการตรวจวิเคราะห์ ผัก กลุ่มตราห้าง (House Brand) ตัวอย่าง ยี่ห้อ ผู้ผลิต ราคา ผลการวิเคราะห์ มาตรฐาน (ไม่เกิน มก./กก.) สารกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต สารกลุ่มคาร์บาเมต ไทย (มกอช.) ยุโรป กะหล่ำปลี เทสโก้ โลตัส สาขา บางประกอก - - ไม่พบ ไม่พบ - - คะน้า โฮม เฟรช มาร์ท สาขา เดอะ มอลล์ งามวงศ์วาน - 25 บ. / 250 กรัม Methidathion น้อยกว่า 0.05 ไม่พบ ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Methidathion 0.02 ถั่วฝักยาว เทสโก้ โลตัส สาขา พระราม 2 - 7 บ. / แพ็ค Ethion น้อยกว่า 0.05 ไม่พบ ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการ ตกค้าง) Ethion 0.01 ผักกาดขาว เทสโก้ โลตัส สาขา บางประกอก - 36.75 / 1 หัว ไม่พบ ไม่พบ - - ผักบุ้งจีน เทสโก้ โลตัส สาขา พระราม 1 - 5 บ. / แพ็ค ไม่พบ ไม่พบ - - ผักชี กูเม่ร์ มาร์เก็ต สยามพารากอน - 29 บ. / 80 กรัม Chlorpyrifos 0.84 Methidathion 0.06 Aldicarb 0.01 Carbofuran 0.75 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Chlorpyrifos 0.05 Methidathion 0.02 Aldicarb 0.02 Carbofuran 0.02 พริกจินดา เทสโก้ โลตัส สาขา พระราม 1 - - Methidathion น้อยกว่า 0.05 ไม่พบ ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Methidathion 0.02     : เก็บตัวอย่างเมื่อเดือน มีนาคม 2555 : ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งทดสอบเท่านั้น : วิเคราะห์ผลโดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ผลการวิเคราะห์ เริ่มที่ข่าวดี ผลจากการวิเคราะห์บอกกับเราว่า ผัก 3 ใน 7 ชนิด คือ กะหล่ำปลี ผักกาดขาวและผักบุ้งจีน ทั้ง 2 กลุ่มตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชไม่ว่าจะในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตหรือกลุ่มคาร์บาเมต งั้นมาดูผักอีก 4 ชนิด ที่ตรวจพบการปนเปื้อน มาดูกันสิว่าจะมีผลต่อผู้บริโภคอย่างเรามากน้อยแค่ไหน ผักคะน้า เริ่มกันที่ ผักคะน้า โดยตัวอย่างในกลุ่มผักที่ได้รับมาตรฐาน Q เป็นผักคะน้ายี่ห้อ เฟรช เดลี่ (Fresh Deli) พบการปนเปื้อนสารในกลุ่มคาร์บาเมต ที่ชื่อว่า เมทธิโอคาร์ป (Methiocarb) ที่ปริมาณน้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งหากจะเทียบตามเกณฑ์ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ไม่ได้มีกำหนดเกณฑ์ของ เมทธิโอคาร์ป เอาไว้ เราจึงเทียบกับมาตรฐานสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของยุโรป ซึ่งกำหนดให้คะน้า (ใช้คำค้นหาว่า Chinese broccoli) พบการปนเปื้อน เมทธิโอคาร์ป ได้ไม่เกิน 0.1 มล. ต่อ กก. ซึ่งเท่ากับว่าผลการวิเคราะห์ที่ได้ไม่เกินเกณฑ์ที่เหมาะสม ส่วนตัวอย่าง ผักคะน้า ในกลุ่มตราห้าง ที่เก็บตัวอย่างจาก โฮม เฟรช มาร์ท สาขา เดอะ มอลล์ งามวงศ์วาน พบการปนเปื้อนของสารเคมีในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ตัวที่มีชื่อว่า เมทิดาไทออน (Methidathion) ปริมาณที่พบคือ น้อยกว่า 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งก็ไม่ได้มีกำหนดไว้ในเกณฑ์ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดของ มกอช. เช่นกัน เพราะฉะนั้นเมื่อนำไปเทียบกับเกณฑ์ของยุโรปที่กำหนดให้ เมทิดาไทออน ที่กำหนดไว้ไม่ให้เกิน 0.02 มล. ต่อ กก. ผลทดสอบที่ได้จึงเกินจากเกณฑ์ที่กำหนดไปนิดๆ   ถั่วฝักยาว ตัวอย่าง ถั่วฝักยาว มาตรฐาน Q ที่นำมาวิเคราะห์ คือ ตราผักด๊อกเตอร์ พบการปนเปื้อนวัตถุอันตรายทางการเกษตรเฉพาะในกลุ่มคาร์บาเมต 2 ตัว คือ คาร์โบฟูราน (Carbofuran) ที่ปริมาณ 0.07 มล. ต่อ กก. อีกตัวคือ เมโทมิล (Methomyl) ที่ปริมาณ 0.08 มล. ต่อ กก. ซึ่งสารเคมีทั้ง 2 ตัว มีการกำหนดไว้ในเกณฑ์ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดของ มกอช. โดยในถั่วฝักยาว อนุญาตในพบการปนเปื้อนของ คาร์โบฟูราน สูงสุดไม่เกิน 0.1 มล. ต่อ กก. ส่วน เมโทมิล สูงสุดได้ไม่เกิน 1 มล. ต่อ กก. เท่ากับว่าผลทดสอบ ถั่วฝักยาว มาตรฐาน ตราผักด๊อกเตอร์ พบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของ มกอช. มาดูที่ตัวอย่าง ถั่วฝักยาว ที่ใช้ตราของห้างสรรพสินค้า ซึ่งเราเก็บตัวอย่างมาจาก ห้างเทสโก้ โลตัส สาขาพระราม 2 พบการปนเปื้อนของสารเคมีในกลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส 1 ตัว คือ อีไทออน (Ethion) ที่ปริมาณน้อยกว่า 0.05 มล. ต่อ กก. ซึ่งในเกณฑ์ของ มกอช. ไม่ได้มีการกำหนดปริมาณที่สามารถพบได้ของสารนี้ในถั่วฝักยาว แต่มีการกำหนดไว้ในกลุ่มของถั่วทั้งชนิดที่เป็นฝักสดและชนิดเมล็ดแห้ง โดยตั้งเกณฑ์การปนเปื้อนไว้ที่ไม่เกิน 1 มล. ต่อ กก. หากลองใช้เกณฑ์นี้เป็นตัวตั้ง การพบ อีไทออน ที่ปริมาณน้อยกว่า 0.05 มล. ต่อ กก. ก็ถือว่าห่างจากเกณฑ์สูงสุดที่ตั้งไว้ค่อนข้างมาก   ผักชี ในมาตรฐานสารเคมีในสินค้าเกษตรของ มกอช. ไม่ได้มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของ ผักชี เอาไว้ ทำให้เราต้องนำไปเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยของยุโรปแทน โดยตัวอย่าง ผักชีมาตรฐาน Q ตรา เฟรช เดลี่ (Fresh Deli) พบการปนเปื้อนของ เมทิดาไทออน (Methidathion) น้อยกว่า 0.05 มล. ต่อ กก. ซึ่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์สินค้าเกษตรของยุโรป กำหนดไว้ให้ถั่วฝักยาวสามารถพบการปนเปื้อนของ เมทิดาไทออน ได้ไม่เกิน 0.02 มล. ต่อ กก. ซึ่งนั้นเท่ากับว่าตัวอย่างผักชีมาตรฐาน Q ที่เรานำมาทดสอบพบการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงเกินมาตรฐาน เช่นเดียวกับ ตัวอย่าง ผักชีตราห้าง ที่พบการปนเปื้อนของสารเคมีหลายตัว ไม่ว่าจะเป็น คลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) 0.84 มล. ต่อ กก., เมทิดาไทออน (Methidathion) 0.06 มล. ต่อ กก., อัลดิคาร์บ (Aldicarb) 0.01 มล. ต่อ กก., และ คาร์โบฟูราน (Carbofuran) 0.75 มล. ต่อ กก. โดยผลวิเคราะห์ที่ได้ถือว่าน่าตกใจ เพราะในเกณฑ์สินค้าเกษตรปลอดภัยของยุโรป อนุญาตให้พบการปนเปื้อนของ คลอร์ไพริฟอส ไม่เกิน 0.05 มล. ต่อ กก. และ คาร์โบฟูราน ก็กำหนดให้ไม่เกิน 0.02 มล. ต่อ กก. แต่เมื่อดูตัวเลขที่ได้จากการวิเคราะห์จะเห็นว่าพบการปนเปื้อนสูงเกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในปริมาณที่สูงมาก จนน่าเป็นห่วง   พริกจินดา พริกจินดา มาตรฐาน Q ตรา เฟรช เดลี่ (Fresh Deli) พบการปนเปื้อนของ คลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) ที่ 0.31 มล. ต่อ กก. ซึ่งเกณฑ์ที่กำหนดไว้ทั้งของ มกอช. และยุโรป คือไม่เกิน 0.5 มล. ต่อ กก. เท่ากัน ตัวอย่างพริกจินดามาตรฐาน Q จึงถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนตัวอย่าง พริกจินดาตราห้าง พบการปนเปื้อนของ เมทิดาไทออน (Methidathion) น้อยกว่า 0.05 มล. ต่อ กก. โดยเกณฑ์ของ มกอช. ไม่ได้กำหนดไว้ เมื่อนำไปเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานของยุโรปซึ่งกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 0.02 มล. ต่อ กก. ดังนั้นผลวิเคราะห์ที่ได้ที่ว่าน้อยกว่า 0.05 มล. ต่อ กก. ก็อาจจะถือว่าเกินเกณฑ์ของยุโรป แต่ก็เป็นปริมาณที่ไม่มาก   สรุป -ใครที่ยังเข้าใจว่าผักมาตรฐาน Q เป็นผักปลอดสารคงต้องทำความเข้าใจกันใหม่ เพราะผักที่ได้รับมาตรฐาน Q จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นเพียงผักที่ได้รับการการันตีว่ามีการใช้สารเคมีอยู่ในเกณฑ์ที่ทางสำนักงานกำหนดว่าปลอดภัยเท่านั้น หากมีการสุ่มตรวจต้องพบการตกค้างของสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงเกินจากเกณฑ์ที่ มกอช. กำหนด ยืนยันได้จากตัวอย่างผักที่เรานำมาทดสอบ หลายตัวยังพบการปนเปื้อนของสารเคมี (ถ้าหากอยากทานผักที่ปลอดสารเคมีจริงๆ ต้องเลือกผักที่เป็นผักเกษตรอินทรีย์) -อันตรายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จะสะสมในระยะยาว เป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็ง ส่งผลเสียต่อสมอง และระบบทางเดินหายใจ ส่วนพิษเฉียบพลันซึ่งมักเกิดกับกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีโดยตรง อาการที่จะเกิดขึ้นก็มีทั้ง เวียนหัว อาเจียน ปวดท้องรุนแรง ไปจนถึงเกิดอาการใจสั่น หายใจติดขัด (จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในช่วงปี 2543 – 2552 มีผู้ป่วยจากพิษสารกำจัดศัตรูพืชเฉลี่ยปีละ 1,996 ราย) -จากผลการวิเคราะห์สารเคมีที่พบในตัวอย่างผักกลุ่มที่ได้รับเครื่องหมาย Q แต่ละชนิดส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ของ มกอช. ยกเว้น ถั่วฝักยาว ที่พบการปนเปื้อนเกินเกณฑ์ที่ มกอช. กำหนด -ที่น่าสังเกตคือ ผักชี ซึ่ง มกอช. ไม่ได้มีเกณฑ์กำหนดเรื่องการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลง โดยตัวอย่าง ผักชี มาตรฐาน Q เมื่อนำผลวิเคราะห์ที่ได้ไปเทียบกับเกณฑ์ของยุโรป แม้จะเกินมาตรฐานแต่ก็เป็นปริมาณที่ไม่มาก แต่เมื่อเป็นตัวอย่าง ผักชีตราห้าง กับพบการปนเปื้อนเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับที่ค่อนข้างสูง แม้หลายคนอาจจะคิดว่าผักชีเป็นผักที่เราใช้โรยหน้าในอาหารเมนูต่างๆ ซึ่งปกติเราจะทานในปริมาณที่น้อยมากๆ การปนเปื้อนของสารเคมีอาจไม่ส่งผลร้ายอะไร แต่การพบปริมาณการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงจำนวนมากแบบนี้ แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์การใช้สารเคมีในการเกษตรของบ้านเราซึ่งยังมีมากจนน่าเป็นห่วง ในระยะยาวอันตรายของสารเคมีของส่งผลกระทบกับสุขภาพของเกษตรกรมากกว่าผู้บริโภค เพราะเกษตรกรสัมผัสกับสารเคมีอันตรายเหล่านี้โดยตรงและเป็นประจำทุกวันติดต่อกันเป็นเวลานาน ด้านการส่งออกก็จะเกิดปัญหาหากเราส่งผักที่มีการปนเปื้อนแบบนี้ออกไป ทางแก้ไขก็ต้องเป็นให้ความรู้กับเกษตรกรผู้ผลิต ว่าสารเคมีที่ใช้อยู่เป็นอันตรายยังไง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการ ลดการใช้ การผลิต การนำเข้า สารเคมีทางการเกษตรที่เป็นอันตราย กระตุ้นและส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้น ซึ่งผู้บริโภคอย่างเราเองก็ต้องช่วยกันส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ แม้ราคาจะแพงกว่าผักทั่วไป แต่ก็ถือว่าคุ้มค่าเพราะได้สุขภาพที่ดีเป็นการตอบแทน -ไม่ว่าจะเป็นผักชนิดใด การล้างทำความสะอาดก่อนทานจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย แม้แต่ผักที่ปอกเปลือกก่อนทาน ก็ต้องล้างทำความสะอาดก่อนปอกเปลือก   ------------------------------------------------------------------------------------- รู้จักเครื่องหมาย Q เครื่องหมาย Q บนสินค้าเกษตร คือเครื่องหมายรับรองที่ออกโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อรับรองว่าผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารผ่านเกณฑ์ของคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร (food safety) และด้านคุณภาพที่จำเป็น (essential quality) ซึ่งประโยชน์ของการติดเครื่องหมาย Q ในสินค้าเกษตรที่ครอบคลุมทั้ง พืช ปศุสัตว์ และประมง คือการเป็นเครื่องมือที่ใช้ควบคุมมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตร ไล่ตั้งแต่ระดับฟาร์ม การแปรรูป การขนส่ง ช่วยให้ผู้บริโภครู้ถึงแหล่งที่มาของสินค้า สามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้ในกรณีที่เกิดปัญหาหรือได้รับอันตรายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์นั้นๆ   “คาร์โบฟูราน” (Cardofuran) ที่พบในตัวอย่าง ผักชี ตราห้าง กับ ถั่วฝักยาว มาตรฐาน Q และ “เมโทมิล” (Methomyl) ที่พบในตัวอย่าง ถั่วฝักยาว มาตรฐาน Q ถือเป็น 2 ใน 4 สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ เครือข่ายเฝ้าระวังสารเคมีเกษตร (Thai – PAN : Thailand Pesticide Alert Network) ที่เกิดจากการรวมตัวกันของ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายผู้บริโภค และภาคีที่เกี่ยวข้อง กำลังผลักดันให้ภาครัฐเพิกถอนทะเบียน ยกเลิกการนำเข้าและผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้สารเคมีทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นสารที่มีความเป็นพิษเฉียบพลันสูง มีความอันตรายถึงชีวิตแม้จะได้รับสารพิษเพียงเล็กน้อย มีหลายประเทศที่ประกาศไม่ให้ใช้สารเหล่านี้ไปแล้ว โดยประเทศที่ประกาศแบน คาร์โบฟูราน ประกอบด้วย สหภาพยุโรป, สหรัฐอเมริกา, จีน และ จาไมก้า ส่วนประเทศที่ยกเลิกการใช้ เมโทมิล ได้แก่ สหราชอาณาจักร, เยอรมนี, ฟินแลนด์, สิงคโปร์ ส่วนสารเคมีอีก 2 ตัวที่เครือข่ายเฝ้าระวังสารเคมีเกษตรเสนอให้มีการยกเลิกการใช้ในประเทศไทยคือ ไดโครโตฟอส (Dicrotophos) และ อีพีเอ็น (EPN)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 135 น้ำสลัด...วัดกันไปเลย ใครมันกว่า

คุณสาวๆ ที่อยากลดน้ำหนัก มักจะหลงรักเมนูสลัดผักมากเป็นพิเศษ เพราะเชื่อว่าการรับประทานสลัดผักจะไม่ทำให้อ้วน เพราะผักดีต่อสุขภาพช่วยเรื่องระบบขับถ่าย ให้พลังงานน้อย แถมวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ก็มีสูง แต่เดี๋ยวก่อน... รู้ไหมว่า “น้ำสลัด” ตัวช่วยสำคัญที่ช่วยเพิ่มรสชาติ หวานๆ มันๆ เปรี้ยวนิดๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของน้ำสลัดนี้แหละ คือตัวการเพิ่มน้ำหนักโดยแท้   อร่อยมากไป..ระวังไขมันล้น หลายคนเวลารับประทานสลัดผัก มักชอบเติมน้ำสลัดแบบไม่บันยะบันยัง กลัวว่าถ้าใส่น้อยเกินไปแล้วจะไม่อร่อย หารู้ไม่ ว่าการทำแบบนั้นแทนที่กินสลัดผักแล้วจะช่วยลดน้ำหนักกลับจะทำให้น้ำหนักเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เพราะส่วนประกอบหลักๆ ในน้ำสลัดประกอบด้วย น้ำมันพืช น้ำตาล และไข่ไก่ เป็นสำคัญ ยิ่งคนนิยมรับประทานสลัดผักเพื่อสุขภาพกันมากขึ้น น้ำสลัดแบบบรรจุถุง บรรจุขวดพร้อมรับประทานก็มีผลิตออกมาวางขายกันหลากหลายยี่ห้อ ส่วนประกอบหลักของบรรดาน้ำสลัดยี่ห้อต่างๆ ที่วางขายกันอยู่ในปัจจุบัน คือน้ำมันพืช กับ น้ำตาล เฉพาะ 2 อย่างนี้รวมกันปริมาณก็เกือบ 50% ของส่วนประกอบทั้งหมด ถ้าเป็นแบบนี้คนที่ชอบเติมน้ำสลัดเยอะๆ ก็อาจไม่ผอมหรือสุขภาพดีสมใจ แต่จะเสี่ยงกับการมีน้ำหนักเพิ่มและเจ็บป่วยจากการที่ร่างกายได้รับไขมันมากเกินไป ทดสอบปริมาณไขมันในน้ำสลัด ฉลาดซื้อส่งเสริมให้ทุกคนรับประทานผักและเห็นว่าเมนูสลัดผักเป็นเมนูที่ดีต่อสุขภาพ แต่ก็ต้องเลือกเติมน้ำสลัดแต่พอดี แล้วน้ำสลัดสำเร็จรูปยี่ห้อไหนที่น่าจะนำมาปรุงเมนูสลัดบ้าง ฉลาดซื้อจึงได้ทำการทดสอบเปรียบเทียบปริมาณไขมัน (Total Fat) ที่อยู่ในน้ำสลัดจำนวน 10 ยี่ห้อที่วางตามท้องตลาดทั่วไป เอาใจคนรักสุขภาพ คนที่ชอบสลัด   ตารางแสดงผลการทดสอบปริมาณไขมันในตัวอย่างน้ำสลัดสำเร็จรูปผลทดสอบโดย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งทดสอบเท่านั้นเก็บตัวอย่างทดสอบเมื่อเดือน มีนาคม 2555   ผลทดสอบ - สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ได้กำหนดปริมาณไขมันที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายเป็นปริมาณต่อ 1 มื้อ อยู่ที่ไม่เกิน 15 กรัม ไม่นับรวมกับปริมาณไขมันที่อาจได้เพิ่มอีกจากการรับประทานอาหารระหว่างมื้อหรืออาหารว่างซึ่งเกณฑ์ได้กำหนดไว้ว่าไม่ควรเกิน 6 กรัม -น้ำสลัดชนิดครีมข้นทั้ง 10 ตัวอย่างที่ทดสอบ มีไข่แดงของไข่ไก่เป็นตัวทำให้น้ำสลัดมีความข้น (น้ำสลัดแบบใสจะไม่มีไข่เป็นส่วนประกอบ) - คิวพี สลัดครีม มีปริมาณไขมันมากที่สุด คือ 54 กรัม ต่อ น้ำสลัด 100 กรัม หากคิดเป็นปริมาณต่อการรับประทานสลัด 1 จาน โดยเติมน้ำสลัด 1 ช้อนโต๊ะ หรือประมาณ 15 กรัม ปริมาณของไขมันที่ได้รับอยู่ประมาณ 8.05 กรัม แต่ถ้าเพิ่มน้ำสลัดเป็น 2 ช้อนโต๊ะ ปริมาณไขมันที่ได้จากผักสลัด 1 จานก็จะเพิ่มเป็น 16.1 กรัม ก็ถือว่าเลยเกณฑ์ปริมาณของไขมันที่เหมาะสมในอาหาร 1 มื้อ ที่ 15 กรัมไปเล็กน้อย -ตัวอย่างน้ำสลัดที่ทดสอบพบปริมาณไขมันในระดับสูงรองๆ ลงมา ได้แก่ มอลลี่ สลัดครีม พบปริมาณไขมัน 49.2 กรัมต่อน้ำสลัด 100 กรัม หรือประมาณ 7.34 กรัมต่อน้ำสลัด 1 ช้อนโต๊ะ, สุขุม สลัดครีม พบปริมาณไขมัน 45.1 กรัมต่อน้ำสลัด 100 กรัม หรือประมาณ 6.73 กรัมต่อน้ำสลัด 1 ช้อนโต๊ะ และ เบสท์ ฟู้ดส์ สลัดครีม พบปริมาณไขมัน 43.8 กรัมต่อน้ำสลัด 100 กรัม หรือประมาณ 6.53 กรัมต่อน้ำสลัด 1 ช้อนโต๊ะ -จากการสังเกต พบว่ามี 2 ตัวอย่างที่ระบุไว้บนฉลากชัดเจนว่าเป็นสูตรไขมันต่ำ คือ บิ๊กซี น้ำสลัดครีม สูตรไขมันต่ำ และเฟียว ฟู้ดส์ น้ำสลัดครีม สูตรไขมันต่ำ พบปริมาณไขมันในระดับที่น้อยมากตรงกับที่โฆษณาว่าเป็นสูตรไขมันต่ำจริง -ตัวอย่างน้ำสลัดหรือสลัดครีม ที่นำมาทดสอบมีความหลากหลายในเรื่องของการใช้วัตถุกันเสีย การใช้สี และการแต่งกลิ่น ตามข้อมูลที่ระบุไว้บนผลิตภัณฑ์ เพราะฉะนั้นถ้าใครอยากรับประทานน้ำสลัดที่ไม่ใช้วัตถุกันเสีย ไม่แต่งสี ไม่แต่งกลิ่น ก็ต้องอ่านข้อมูลบนฉลากผลิตภัณฑ์ให้ดี   สรุป... ถ้าดูจากผลการทดสอบปริมาณไขมันในน้ำสลัด ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าเป็นห่วง ถ้าหากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม คือไปเกิน 2 ช้อนโต๊ะ แต่ที่สำคัญและต้องพิจารณาให้ดี คือต้องรับประทานสลัดเป็นอาหารจานหลักจริงๆ ไม่ใช่เป็นจานเสริมคู่กับอาหารเมนูอื่นๆ หลายคนเลือกรับประทานสลัดเพราะว่าห่วงใยสุขภาพ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่หลายคนก็ยังกลัวว่าการรับประทานแค่สลัดผักจะไม่ทำให้อิ่มท้อง ก็เลยมักจะรับประทานสลัดคู่ไปกับเมนูอื่นๆ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ ไขมันในน้ำสลัดรวมเข้ากับไขมันในอาหารอื่น โอกาสเสี่ยงที่เราจะได้รับไขมันเกินความต้องการก็มีสูง ถ้าไม่อยากให้ไขมันที่เกินพอดีมาทำร้ายสุขภาพของเราก็ต้องรู้จักควบคุมดูแลเรื่องอาหารการกิน สมมติว่าเรารับประทานอาหารที่มีไขมันสูงไปแล้วแต่เรายังอยากรับประทานสลัดผัก ก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงน้ำสลัดเลือกรับประทานเป็นผักสดๆ แทน หรือไม่ก็ควรรับประทานสลัดให้เป็นอาหารหลักจานเดียวให้ได้ ถ้ากลัวไม่อิ่มก็ควรเติมเนื้อสัตว์ เช่น ไก่ กุ้ง ทูน่า ไข่ต้ม หรือเลือกพวกธัญพืชที่ให้โปรตีน พวกถั่วต่างๆ หรือจะใส่ผักที่ให้พลังงานสูงๆ อย่าง เผือกหรือมัน ก็เป็นวิธีที่น่าจะช่วยให้เราอิ่มได้ด้วยสลัดจานเดียว   ----------------------------------------------------------------------------------------------------- กินสลัดให้อร่อยและดีต่อสุขภาพ 1.ควรเติมน้ำสลัดแต่พอดี แค่ให้พอช่วยเพิ่มรสชาติให้เรารับประทานผักได้มากขึ้น 2.ทำน้ำสลัดไว้กินเอง น้ำสลัดทำได้ไม่ยาก มีน้ำสลัดหลายสูตรที่ไม่ต้องใช้น้ำมันเป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำสลัดผลไม้ ใช้นมข้น ใช้เนื้อเต้าหู้หรือน้ำเต้าหู้ หรือสูตรง่ายๆ อย่างการใช้โยเกิร์ตแทนน้ำสลัด หรือสูตรไทยๆ อย่างน้ำจิ้มซีฟู้ดก็เข้ากันดีกับผักสดๆ 3.ไม่ต้องเติมน้ำสลัดก็ได้ เราสามารถทำสลัดผักจานโปรดของเราให้มีรสชาติดีได้โดยไม่ต้องเติมน้ำสลัด แค่เพียงเลือกเติมผลไม้ที่เราชอบหรือเลือกชนิดที่มีรสเปรี้ยวและมีความฉ่ำ เช่น ส้ม ส้มโอ สับปะรด ฯลฯ รสหวานนิดๆ เปรี้ยวพอดีๆ ของผลไม้จะช่วยตัดรสจืดๆ เฝื่อนๆ ของผักใบเขียวได้เป็นอย่างดี 4.ถ้าต้องซื้อน้ำสลัด อ่านฉลากให้ละเอียด สังเกตที่ส่วนประกอบ เลือกที่มีสัดส่วนของน้ำมันน้อย ปริมาณไขมันก็น้อยลงตาม แต่อย่าลืมดูปริมาณของส่วนประกอบอื่นๆ ด้วย ทั้ง น้ำตาล เกลือ และเครื่องปรุงรสต่างๆ ถ้ามีฉลากโภชนาการก็ควรอ่านฉลากโภชนาการก่อนตัดสินใจซื้อ ดูว่าปริมาณต่อ 1 เสิร์ฟ ซึ่งเขาจะบอกไว้เป็นปริมาณต่อ 1 ช้อนโต๊ะหรือ 2 ช้อนโต๊ะ เราได้รับปริมาณสารอาหารต่างๆ มากน้อยแค่ไหน 5.ก่อนทำสลัดรับประทาน อย่าลืมล้างทำความสะอาดผักให้สะอาดเรียบร้อย เลือกผักที่สดสะอาดและต้องเลือกผักให้หลากหลาย หลากสี หลากชนิด เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินแร่ธาตุที่หลากหลายแตกต่างกันไป -----------------------------------------------------------------------------------------------------   ปริมาณของไขมันที่เหมาะสมสำหรับคนไทยใน 1 วัน (Thai RDI) อยู่ที่ไม่เกิน 65 กรัม ซึ่งถือเป็นเกณฑ์มาตรฐานตั้งต้น แต่หากจะดูถึงความเหมาะสมจริงๆ จำเป็นต้องพิจารณาจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของแต่ละคนประกอบด้วย เช่น ถ้าเป็นคนที่ต้องใช้แรงใช้กำลังค่อนข้างมากในการทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ เช่น นักกีฬา ปริมาณของไขมันที่ควรได้รับในแต่ละวันก็อาจใกล้เคียงกับเกณฑ์ของ Thai RDI ที่ไม่เกิน 65 กรัม แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่ได้มีภาระงานหรือกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากนักในแต่ละวัน เช่น คนที่ทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นหลัก ก็ไม่มีความจำเป็นที่ร่างกายจะต้องได้รับปริมาณไขมันในระดับสูงตามที่เกณฑ์กำหนดไว้ ไขมันถือเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เพราะไขมันเป็นทั้งแหล่งพลังงาน ช่วยในการดูดซึมวิตามินหลายชนิด เช่น เอ ดี อี เค ทั้งยังช่วยรักษาสมดุลให้ผิวหนัง ควบคุมการเผาผลาญ ฯลฯ แต่การได้รับไขมันเกินกว่าความต้องการของร่างกาย ไขมันส่วนเกินจะไปรบกวนการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น หัวใจ หลอดเลือด ตับ ไต ฯลฯ การควบคุมให้ปริมาณไขมันพอดีกับร่างกายจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน ซึ่งไม่เพียงแต่การควบคุมการรับประทานอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการแบ่งเวลาให้กับการออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายได้เผาผลาญไขมันส่วนเกิน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 135 สินค้าเด็กไทย ปลอดภัยหรือยัง

ความปลอดภัยและพัฒนาการของลูก เป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนต้องการ หลายคนซื้อสินค้าอย่าง หัวนมหลอก ยางกัด รถหัดเดิน หรือแม้แต่เก้าอี้สูง มาให้ลูกใช้โดยหารู้ไม่ว่าอาจจะกำลังเพิ่มความเสี่ยงให้กับเด็กๆ เพราะปัจจุบันในบ้านเรายังไม่มีมาตรฐานควบคุมการผลิตสินค้าเหล่านี้ ว่าแล้วก็เริ่มสงสัยว่าทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กปลอดภัยพอแล้วหรือไม่   เพื่อตอบคำถามดังกล่าวฉลาดซื้อขอนำผลการวิจัยโดยพญ. ประภาศิริ สิงห์วิจารณ์  รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง “การประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เด็กที่มีใช้ในเด็กช่วงอายุ 6 ถึง 18 เดือน” มาเล่าสู่กันฟัง   งานวิจัยดังกล่าวเก็บข้อมูลเกี่ยวกับชนิดของผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน จากร้านค้าและห้างสรรพสินค้าทั่วไปในกรุงเทพมหานคร  ผลิตภัณฑ์ 12 ประเภทที่พบได้แก่   กรุ๊งกริ๊ง หัวนมหลอก รถเข็นเด็ก ยางกัด เตียงเด็ก เปลคอก เปลไกว รถหัดเดิน เก้าอี้สูง เก้าอี้นั่งโยก เก้าอี้กระโดด เป้อุ้มเด็ก   จากนั้นสัมภาษณ์เก็บข้อมูล จาก “ผู้ดูแลหลัก” ของเด็กที่เกิดที่โรงพยาบาลรามาธิบดี 203 คน ที่มีอายุระหว่าง 6 – 18 เดือน โดยใช้แบบสอบถามเกี่ยวกับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เพื่อวิเคราะห์ว่าผลิตภัณฑ์ที่มีใช้อยู่นั้นมีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือไม่   *หมายเหตุ: แบบสอบถามดังกล่าวออกแบบโดยอ้างอิงข้อมูลความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เด็ก ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศสหรัฐอเมริกา เอกสารมาตรฐานจาก American Society for Testing and Materials และมาตรฐานของ ISO รวมถึงข้อมูลการบาดเจ็บที่เคยเกิดขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์ของเด็ก -------------------------------------------------------------------------------------------------------   สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ในปี ค.ศ. 2008 มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 63,700 ราย ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในห้องฉุกเฉินเนื่องจากอาการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับการใช้ผลิตภัณฑ์อย่าง รถเข็นเด็ก พาหนะเด็ก เตียงเด็กและเก้าอี้เสริม ------------------------------------------------------------------------------------------------------- 5 ผลิตภัณฑ์ยอดนิยม ผลิตภัณฑ์เด็กที่มีอัตราการใช้สูงสุด 5 อันดับแรก ในเด็กอายุ 12 เดือน ได้แก่ กรุ๊งกริ๊ง           (ร้อยละ 85.2) รถหัดเดิน           (ร้อยละ 82) ยางกัด            (ร้อยละ 71.3) รถเข็นเด็ก        (ร้อยละ 68) เปลไกว           (ร้อยละ 53.3) ---   10 อันดับ ผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงสูง (เรียงลำดับจากความเสี่ยงมากไปความเสี่ยงน้อย) รถหัดเดิน เตียงเด็ก รถเข็นเด็ก กรุ๊งกริ๊ง เก้าอี้สูง เปลไกว เก้าอี้นั่งโยก เปลคอก พาหนะอุ้มเด็ก จุกนมหลอก   ------------------------------------------------------------------------------------------------------- 4 ผลิตภัณฑ์อันตราย งานวิจัยครั้งนี้พบว่า มากกว่าร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์ประเภทกรุ๊งกริ๊ง รถหัดเดิน รถเข็นเด็ก และเปลไกว มีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดการบาดเจ็บหลักได้ -------------------------------------------------------------------------------------------------------   ความเสี่ยงจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ กรุ๊งกริ๊ง ความเสี่ยง/การบาดเจ็บ      ด้านปลายของกรุ๊งกริ๊งทิ่มเข้าคอเด็ก ตัวกรุ๊งกริ๊งกระแทกกับศีรษะและใบหน้า หนีบนิ้วมือ มีแผลถลอก/บาด จากขอบแหลมคม   ควรเลือก                                   ผลิตภัณฑ์ที่มีด้านปลายที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 4.2 เซนติเมตร         ผลิตภัณฑ์ จุกนมหลอก ความเสี่ยง/การบาดเจ็บ               สายคล้องคอรัดคอ และจุกนมอุดกั้นทางเดินหายใจ   ควรเลือก                                   ผลิตภัณฑ์ที่มีเชือกคล้องคอหรือแป้นที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 4.2 เซนติเมตร     ผลิตภัณฑ์    รถเข็นเด็ก ความเสี่ยง/การบาดเจ็บ               เด็กตกจากรถเข็นเนื่องจากไม่มีเข็มขัดนิรภัยที่เหมาะสม ล้มกระแทกจากการปีนรถ หรือรถลื่นไถลเสียหลักจนพลิกคว่ำ ควรเลือก                                   รถเข็นที่สายรัดนิรภัยที่มีตำแหน่งยึด 5 จุด คือ ยึดระหว่างขา รอบเอว และไหล่ทั้งสองข้าง  และมีระบบห้ามล้อ           ผลิตภัณฑ์ ยางกัด ความเสี่ยง/การบาดเจ็บ               ยางกัดแตกเป็นชิ้นเล็กๆ หรืออาจอุดกั้นทางเดินหายใจ   ควรเลือก                                   ผลิตภัณฑ์มีที่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 4.2 เซนติเมตร       ผลิตภัณฑ์ เตียงเด็ก ความเสี่ยง/การบาดเจ็บ            เด็กตกเตียงหรือลอดทะลุช่องแล้วศีรษะติดค้าง ทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ   ควรเลือก                                   เตียงที่ราวกันตกและผนังเตียงด้านศีรษะและเท้ามีช่องห่างไม่เกิน 6 เซนติเมตร หรือจากขอบบนของเบาะที่นอนถึงราวกันตกด้านบนมีความสูงมากกว่า 65 เซนติเมตร         ผลิตภัณฑ์ เปลคอก ความเสี่ยง/การบาดเจ็บ            การอุดกั้นทางเดินหายใจ ในกรณีที่มุ้งกั้นด้านข้างมีรูรั่วหรือฉีกขาด หรือเคยมีการยุบตัวของโครงสร้าง         ผลิตภัณฑ์ เปลไกว ความเสี่ยง/การบาดเจ็บ               เด็กพลิกคว่ำตกจากเปล หรือลอดทะลุช่องแล้วศีรษะติดค้าง ทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ   ควรเลือก                                   ตัวเปลที่มีราวกันตกและผนังเตียงด้านศีรษะและเท้าที่มีช่องห่างไม่เกิน 6 เซนติเมตร และมีฐานที่มั่นคง       ผลิตภัณฑ์ รถหัดเดิน ความเสี่ยง/การบาดเจ็บ               รถลื่นไถลเสียหลักจนพลิกคว่ำหรือเคลื่อนที่ไปสู่สิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตราย   ควรเลือก                                   รถหัดเดินชนิดที่ไม่มีล้อ   -------------------------------------------------------------------------------------------------------   รถหัดเดิน X รถช่วยพยุงตัว / เขาศึกษากันมาแล้วว่า “รถหัดเดิน” นั้นไม่ช่วยในการหัดเดินแต่อย่างใด แถมยังมีความเสี่ยงที่เด็กจะได้รับบาดเจ็บถึงร้อยละ 90  ขณะนี้อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ประกาศห้ามขายห้ามใช้แล้ว   สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ของเรา ออกกฎหมายให้ผู้ผลิตเปลี่ยนชื่อผลิตภัณฑ์ จาก “รถหัดเดิน” เป็น “รถช่วยพยุงตัว” และให้ติดฉลากคำเตือนที่ตัวรถว่า “อุปกรณ์ชิ้นนี้ไม่ได้ช่วยหัดเดิน” -------------------------------------------------------------------------------------------------------   ผลิตภัณฑ์ เก้าอี้สูง และเก้าอี้นั่งโยก ความเสี่ยง/การบาดเจ็บ               การบาดเจ็บจากการตกจากที่สูงได้   ควรเลือก                                   เก้าอี้สูงที่มีเข็มขัดรัดระหว่างเอวและง่ามขา       ผลิตภัณฑ์ เป้อุ้มเด็ก ความเสี่ยง/การบาดเจ็บ               การหลุดรอดตกลงมาจากเป้   ควรเลือก                                   เป้อุ้มเด็กที่มีสายรัดระหว่างเป้กับคนอุ้มแข็งแรง และมีช่องใส่ขาเด็กที่ขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 134 ฉลากอาหารกับความเข้าใจของผู้บริโภค

“ฉลากอาหาร” เปรียบเสมือนหน้าต่างของผลิตภัณฑ์ที่ทำให้สามารถมองเห็นผลิตภัณฑ์ภายในภาชนะบรรจุได้ โดยเป็นเครื่องมือของผู้ประกอบการในการสื่อสารข้อมูลแก่ผู้บริโภคและเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์ เป็นเครื่องมือของหน่วยงานรัฐในการติดตามตรวจสอบคุณภาพอาหารและให้ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการดำเนินงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพบว่า มีการละเมิดสิทธิผู้บริโภคจากกรณีการแสดงฉลากอาหารไม่ถูกต้องอยู่พอสมควร เช่น การไม่แสดงวันผลิต-วันหมดอายุ หรือแสดงแล้วแต่หาไม่เจอ ไม่แสดงชื่อผู้ผลิต-ผู้จำหน่าย การใช้ข้อความกล่าวอ้างคุณค่าให้เข้าใจผิดในสรรพคุณไปจากความเป็นอาหาร และการใช้คำแสดงส่วนประกอบที่ทำให้เข้าใจผิดถึงส่วนประกอบของอาหาร เป็นต้น ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เห็นถึงความจำเป็นที่น่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบฉลากอาหารโดยทำให้เป็นมิตรต่อผู้บริโภคโดยทำให้เห็นชัด น่าอ่าน อ่านง่าย และเข้าใจง่ายมากขึ้น แต่ก่อนที่จะมีการปรับปรุงรูปแบบฉลากอาหารได้จะต้องมีการสำรวจข้อมูลการแสดงฉลากอาหารในปัจจุบันกันเสียก่อน ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงได้นำข้อมูลผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อฉลากอาหารมาฝากคุณผู้อ่านกัน   ข้อมูลการสำรวจ ฉลาดซื้อได้ร่วมกับโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภคดำเนินการสำรวจการรับรู้และความเข้าใจของผู้บริโภคที่มีต่อฉลากอาหารในสามประเด็น 1. รูปแบบฉลากโภชนาการ 2. วันผลิต/วันหมดอายุของอาหาร และ 3. ประเด็นการโฆษณาบนฉลากอาหาร การสำรวจนี้ได้รับความร่วมมือในการตอบแบบสอบถามจากผู้บริโภคจำนวน 474 คนในทุกช่วงอายุ คละกลุ่มอาชีพและคละฐานการศึกษาจากแปดจังหวัดในสี่ภูมิภาคคือ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น เชียงใหม่ พะเยา สุราษฎร์ธานี สงขลา และสตูล ระหว่างช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2554   ผลการสำรวจ 1 การรับรู้ฉลากโภชนาการ ร้อยละ 83.5 ต้องการให้อาหารทุกประเภทต้องแสดงฉลากโภชนาการ ฉลากโภชนาการ คือ การแสดงข้อมูลคุณค่าทางอาหารของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ บนฉลากในรูปของชนิด และปริมาณของสารอาหารรวมไปถึงการใช้ข้อความ กล่าวอ้างทางโภชนาการ เช่น โปรตีนสูง เสริมวิตามินซี เป็นต้น การใช้ฉลากโภชนาการในปัจจุบันอยู่ในลักษณะการแสดงโดยสมัครใจสำหรับอาหารทุกชนิดทั่วไป แต่จะบังคับให้ อาหารที่มีการกล่าวอ้าง ต้องแสดงฉลากโภชนาการ ซึ่งหมายความว่า ไม่ใช่อาหารทุกชนิดต้องมีฉลากโภชนาการ เราถามผู้บริโภคเกี่ยวกับความเข้าใจฉลากโภชนาการ (ข้อมูลแสดงคุณค่าของอาหาร) ในสามรูปแบบคือ แบบการแสดงตัวเลขเป็นร้อยละโดยมีสีเดียวที่ อย. เพิ่งนำมาใช้ (Guideline Daily Amount: GDA)     แบบสีสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง (Traffic Light Labeling) และ แบบตารางแสดงคุณค่าโภชนาการตามปกติ   ผลการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคร้อยละ 49.6 มีความพอใจในฉลากโภชนาการแบบ GDA ขณะที่ความพอใจที่มีต่อฉลากสีสัญญาณไฟจราจรนั้นอยู่ที่ร้อยละ 84.8 และเมื่อถามเปรียบเทียบระหว่างการใช้ฉลากทั้งสองรูปแบบพบว่าร้อยละ 24.3 ชื่นชอบ GDA ร้อยละ 64.8 ชื่นชอบแบบสีสัญญาณไฟจราจร และร้อยละ 5.7 ไม่ชอบทั้งสองแบบ โดยให้ข้อเสนอแนะว่าน่าจะนำทั้งสองรูปแบบมารวมกัน(มีผู้ไม่ตอบในข้อนี้อีกจำนวนร้อยละ 5.3) เมื่อถามว่าถ้ามีการใช้รูปแบบฉลากโภชนาการแบบใหม่ไม่ว่าจะเป็น GDA หรือ สีสัญญาณไฟจราจรแล้วจะต้องใช้รูปแบบฉลากโภชนาการแบบเดิมหรือไม่ ได้รับคำตอบว่าจำเป็น แต่ต้องปรับรูปแบบให้เข้าใจง่ายขึ้นจำนวนร้อยละ 62.2 และมีผู้ที่ตอบว่าไม่จำเป็นจำนวนร้อยละ 33.5 โดยให้เหตุผลสองข้อคือ 1) เพราะไม่เคยอ่านฉลากโภชนาการรูปแบบเดิม จำนวนร้อยละ 67.5 และ 2) เพราะอ่านฉลากโภชนาการแบบเดิมไม่รู้เรื่องจำนวนร้อยละ 32.5 คำถามสุดท้ายในประเด็นนี้ ได้ถามถึงความจำเป็นในการแสดงฉลากโภชนาการในอาหาร พบว่า ร้อยละ 83.5 ต้องการให้อาหารทุกประเภทต้องแสดงฉลากโภชนาการ ร้อยละ 10.3 ให้แสดงเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างคุณค่าทางโภชนาการ และ ร้อยละ 1 ต้องการให้แสดงในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก โดยที่มีผู้ไม่ตอบในข้อนี้อีกจำนวนร้อยละ 5.7   2 ความเข้าใจเรื่องการโฆษณาบนฉลากอาหาร ร้อยละ 76.8 ตอบว่า โฆษณาบนฉลากมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ โดยทั่วไป พรบ. อาหาร พ.ศ. 2522 ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะโฆษณาคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์อาหารของตนจะต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทุกครั้งแต่สำหรับการโฆษณาบนฉลากอาหารนั้นกลับไม่มีการบังคับทางกฎหมายว่าต้องส่งให้ อย. ตรวจสอบแต่อย่างใด ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนใช้ช่องว่างนี้ในการโฆษณาผลิตภัณฑ์ของตนซึ่งบางครั้งก็เป็นข้อความที่เกินจริง โอ้อวดสรรพคุณ ทำให้เข้าใจผิดไปจากความเป็นอาหาร อีกทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองเนื้อที่บนฉลากทำให้ตัวหนังสือในส่วนอื่น ๆ ของฉลากที่มีความสำคัญมากกว่า เช่น วันผลิต-วันหมดอายุ ตารางโภชนาการ มีขนาดเล็กทำให้ไม่น่าอ่าน ดังนั้นหากมีการควบคุมดูแลด้านฉลากอาหารที่ดี โดยตัดเนื้อหาการโฆษณาที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ออกไปก็จะทำให้มีเนื้อที่บนฉลากมากขึ้นเพียงพอที่จะทำให้ฉลากอาหารน่าอ่านและอ่านง่าย   เมื่อส่งผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ตอบแบบสอบถามและให้หาโฆษณาบนฉลากอาหาร ร้อยละ 24.5 ตอบว่าไม่มีโฆษณา ขณะที่ร้อยละ 71.3 ตอบว่ามี อย่างไรก็ตาม จากการให้ผู้ตอบแบบสอบถามเขียนคำโฆษณาที่ตนเห็นลงในแบบสอบถามด้วย พบว่า กว่าครึ่งเข้าใจได้ถูกต้องถึงสิ่งที่ตนเขียนมา ขณะที่อีกกลุ่มใหญ่ไม่เข้าใจว่าการโฆษณาบนฉลากอาหารคืออะไร โดยที่กว่าครึ่งของผู้ที่ตอบว่ามีโฆษณาบนฉลากเข้าใจว่าการใช้คำกล่าวอ้างทางโภชนาการตามที่ อย. อนุญาต คือการโฆษณา บ้างคิดว่าชื่ออาหารเป็นโฆษณา และบางส่วนสับสนระหว่างการแสดงส่วนประกอบของอาหารกับการโฆษณา เมื่อถามว่าโฆษณาที่เห็นมีผลต่อการตัดสินใจซื้อหรือไม่ ร้อยละ 76.8 ตอบว่ามี ร้อยละ 18.6 ตอบว่าไม่มีผล และร้อยละ 4.6 ไม่แสดงความคิดเห็น ซึ่งหมายความว่าคำบรรยายต่าง ๆ ที่เห็นบนฉลากไม่ว่าจะเป็นการกล่าวอ้างทางโภชนาการทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง และทั้งการโฆษณาโดยตรงบนฉลาก มีผลต่อการตัดใจของผู้บริโภคค่อนข้างสูง คำถามสุดท้ายของประเด็นว่าเห็นด้วยกับการมีโฆษณาบนฉลากอาหารหรือไม่ ร้อยละ 69 ตอบว่า เห็นด้วย และ ร้อยละ 26.8 ตอบว่า ไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตามจากเหตุผลของผู้ที่เห็นด้วยที่บอกว่าการโฆษณาทำให้รู้สรรพคุณและส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นั้นทำให้สามารถเข้าใจได้ว่าผู้ที่ตอบว่าเห็นด้วยบางส่วนนั้นยังคงมีความสับสนและไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือคำกล่าวอ้างทางโภชนาการที่ อย. อนุญาต และอะไรคือการโฆษณาซึ่งเป็นสิ่งที่มิได้ระบุไว้ให้แสดงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องฉลาก 3 การรับรู้ของผู้บริโภคที่มีต่อการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุ ร้อยละ 49.2 อยากเห็นฉลากอาหารแสดงทั้งวันผลิตและวันหมดอายุ --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- “ในทางกฎหมายคำว่า “วันหมดอายุ” ถือเป็นสัญญาที่ผู้ประกอบการให้กับผู้บริโภค ส่วนคำว่า “ควรบริโภคก่อน” ถือเป็นคำแนะนำของผู้ประกอบการที่มีต่อผู้บริโภค” นายอิฐบูรณ์  อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   เมื่อถามผู้ตอบแบบสอบถามว่าเห็นวันผลิต-วันหมดอายุของผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในมือหรือไม่ ร้อยละ 57.6 ตอบว่าเห็น ร้อยละ 7.4 ตอบว่า ไม่เห็น ร้อยละ 30.6 ตอบว่า เห็นแต่ใช้เวลาในการหานาน และส่วนที่เหลือไม่แสดงความคิดเห็น ซึ่งสัดส่วนที่ไม่ต่างกันมากของทั้งสามคำตอบและเมื่อรวมผู้ที่ตอบว่าไม่เห็นกับผู้ที่ตอบว่าเห็นแต่ใช้เวลาในการหานานแล้วนั้นสัดส่วนขยับมาเป็นร้อยละ 57.6 ต่อ ร้อยละ 38 สำหรับคำถามที่ว่าพอใจกับการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุที่เห็นอยู่แค่ไหน ได้รับคำตอบว่า พอใจ ร้อยละ 52.7 ไม่พอใจ ร้อยละ 42.8 และไม่แสดงความคิดเห็นอีกร้อยละ 4.4 จากการตอบแบบสอบถาม แสดงว่าการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุบนบรรจุภัณฑ์ในปัจจุบันค่อนข้างมีปัญหา และควรที่จะมีการปรับปรุงรูปแบบ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อถามความเข้าใจเรื่องวันหมดอายุว่า คำว่า “วันหมดอายุ” เหมือนหรือต่างอย่างไรกับคำว่า “ควรบริโภคก่อน” พบว่า ร้อยละ 47.3 ตอบว่า เหมือนกัน ร้อยละ 48.1 ตอบว่า ต่างกัน และร้อยละ 4.6 ไม่ตอบ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าความเข้าใจเรื่องวันผลิต-วันหมดอายุของผู้บริโภคยังคงเป็นปัญหาและตามมาซึ่งคำถามว่าปัญหานี้เกิดจากอะไร ระหว่าง การใช้คำที่สร้างความสับสนให้เหมือนว่าใช้แทนกันได้ทั้งที่ควรจะมีการบังคับทางกฎหมายต่างกัน หรือความเข้าใจพื้นฐานของผู้บริโภคน้อย หรือ ระบบไม่ต้องการให้คนเข้าใจได้ กันแน่ ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงรูปแบบการแสดงวันผลิต-วันหมดอายุที่อยากเห็น เราได้รับคำตอบว่า ร้อยละ 49.2 อยากเห็นการแสดงทั้งวันผลิตและวันหมดอายุโดยให้มีแต่คำว่า “วันหมดอายุ” เพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องมีคำว่า “ควรบริโภคก่อน” มาเป็นตัวเลือกของผู้ประกอบการ ขณะที่ร้อยละ 29.5 ต้องการแบบเดียวกับข้อแรกแต่ให้เปลี่ยนจากคำว่า “วันหมดอายุ” มาเป็น “ควรบริโภคก่อน” แต่อย่างเดียว ซึ่งจากสัดส่วนที่ออกมาเห็นได้ชัดเจนว่าผู้บริโภคไม่อยากเห็นการแสดงคำที่สร้างความสับสนอย่างคำว่าว่า “วันหมดอายุ” และ “ควรบริโภคก่อน” ไว้ด้วยกันโดยให้เป็นตัวเลือกของผู้ประกอบการ หากแต่ต้องการความชัดเจนอย่างใดอย่างหนึ่งไปเลย --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ความหมายและความสำคัญของฉลากอาหาร “ฉลากอาหาร” คืออะไร? บางคนตอบว่ากระดาษ/พลาสติกที่มีตัวหนังสือพิมพ์ติดอยู่ข้างขวด บ้างก็ตอบว่าลวดลายและตัวอักษรที่ติดอยู่บนซองขนม และอีกหลายคนตอบว่าข้อความบรรยายสรรพคุณของอาหาร ซึ่งคำตอบของคำถามนี้ คือ ถูกทุกข้อ โดยตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ให้คำนิยามไว้ว่าคือ “รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมาย หรือข้อความใด ๆ ที่แสดงไว้ที่อาหาร ภาชนะบรรจุอาหารหรือหีบห่อของภาชนะบรรจุอาหาร” และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 194 พ.ศ. 2543 เรื่องฉลากอาหารได้กำหนดให้อาหารทุกชนิดที่ผู้ผลิตไม่ได้เป็นผู้ขายอาหารนั้นให้กับผู้บริโภคโดยตรงต้องแสดงฉลากบนภาชนะบรรจุ โดยกำหนดให้แสดงข้อมูลที่สามารถแบ่งกลุ่มตามวัตถุประสงค์การแสดงได้เป็น 4 กลุ่มได้แก่ ข้อมูลความปลอดภัย ประกอบด้วย วันที่ผลิต/หมดอายุ วิธีการเก็บรักษา วิธีปรุง และคำเตือนต่างๆ ข้อมูลความคุ้มค่า ประกอบด้วย ชื่อ/ประเภทของอาหาร ส่วนประกอบซึ่งเรียงลำดับตามปริมาณที่ใช้จากมากไปน้อย และปริมาณอาหาร (น้ำหนักหรือปริมาตร) ในภาชนะบรรจุ ข้อมูลเพื่อการโฆษณา ได้แก่ รูปภาพและข้อความกล่าวอ้างต่าง ๆ  และ ข้อมูลเพื่อแสดงความเชื่อมั่น ได้แก่ ยี่ห้ออาหาร ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต ผู้จำหน่ายหรือผู้นำเข้า เครื่องหมาย อย.  และตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ

อ่านเพิ่มเติม >