ฉบับที่ 166 ปูเทียม(Imitation crab)

ไม่รู้ใครคิดชื่อ ปูอัด น่าจะเรียก ปูเทียมหรือเนื้อปูเทียม เสียตั้งแต่แรก เพราะว่าทำมาจากปลาทั้งนั้น ไม่มีปูสักนิด ทำเอาบางคนยังเข้าใจผิดอยู่ แล้วทายสิใครเป็นผู้คิดค้นการทำปูอัดขึ้นเป็นครั้งแรก ... ใช่แล้วมนุษย์ญี่ปุ่นนั่นเอง ที่มาของปูอัดนั้นเกิดขึ้นด้วยเหตุผลที่ว่า บ่อยครั้งที่ชาวประมงจับได้แต่ปลาตัวเล็ก ขนาดยังนำไปขายไม่ได้ราคา แต่ไหนๆ ก็จับปลามาได้แล้ว จึงคิดเอาปลามาแล่เอาเนื้อเข้าเครื่องบดละเอียด แล้วนำเข้าเครื่องปั้น แต่งกลิ่นปู ตกแต่งสีเป็นสีแดงคล้ายประดองปู และปั้นให้มีลักษณะเหมือนเนื้อปู (เนื้อจากก้ามปู หรือบางบริษัทก็ปั้นเป็นรูปปูตัวเล็ก ๆ) เนื่องจากมีรสชาติดีเลยได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้บริโภค โดยรูปแบบที่นิยมมากทุกวันนี้ คือลักษณะปูอัดแบบแท่ง(สติ๊ก) ปัจจุบันนี้ปูอัดก็มีให้เลือกกินเลือกซื้อหลายเกรด ตั้งแต่ปูอัดที่ทำมาจากเนื้อปลาอัดแน่นเป็นพิเศษ วัตถุดิบที่นำมาทำค่อนข้างดี ไปจนถึงปูอัดที่เทียมอีกขั้น ด้วยการนำเนื้อแป้งมาผสมเนื้อปลา เพื่อลดต้นทุนการผลิต ทำให้ขายในราคาที่ถูกได้ ซึ่งก็แน่นอนว่า สารอาหาร และประโยชน์ที่ได้รับก็คงลดหลั่นกันมาตามลำดับ รวมทั้งอาจมีการใช้สีที่ไม่ได้รับอนุญาตให้นำมาผสมอาหารและสารกันเสีย ซึ่งฉลาดซื้อเลยเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปูอัดมาเพื่อทดสอบหาสิ่งปนเปื้อนดังกล่าว   ผลการทดสอบ นับว่าโชคดีมาก อาหารนี้ปลอดภัย เราตรวจไม่พบปัญหาจากการปนเปื้อนของทั้งสีอันตรายและวัตถุกันเสีย(มีพบตกค้างบ้างเล็กน้อยในบางผลิตภัณฑ์ ซึ่งไม่อันตราย) ปูอัดถือว่าเป็นอาหารแคลอรีต่ำอย่างหนึ่ง เพราะทำมาจากเนื้อปลาบดปรุงรส(เลือกชนิดที่มีเนื้อปลาผสมมากหน่อย) และนึ่งสุกแล้ว จึงสามารถกินปูอัดได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการปรุงสุกใด ๆ แต่การเก็บต้องรักษาอุณหภูมิตามฉลากระบุเพื่อป้องกันการบูดเสีย   ปูอัดหรือปูเทียม ทำมาจากเนื้อปลาซูริมิบดผสมแป้ง น้ำตาล เกลือ ผงชูรส และแต่งกลิ่นให้คล้ายปู ให้พลังงานน้อย แต่คุณค่าทางอาหารอาจจะไม่เท่ากับการกินเนื้อปลาแท้ๆ ซูริมิ หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำเนื้อปลาบดไปล้างด้วยน้ำเกลือและน้ำ แล้วบดผสมกับสารป้องกันการสูญเสียสภาพธรรมชาติของโปรตีน     ปลาอลาสก้าพอลล็อค (Alaska Pollock) ส่วนประกอบหลักของปูอัดคือ ซูริมิ (Surimi) ซึ่งทำมาจากปลาเนื้อสีขาวที่มีไขมันต่ำ ได้แก่ ปลาตาหวาน ปลาข้างเหลือง ปลาดาบ ปลากะพง ส่วนปลาที่ใช้กันมากที่สุดคือ ปลาทรายแดง (ปลาอิโตโยริ) ปลาอลาสก้าพอลล็อค (Alaska Pollock) ส่วนประกอบปลีกย่อยอื่นๆ ได้แก่ น้ำ แป้งสาลี แป้งมันสำปะหลัง ไข่ขาว น้ำมันถั่วเหลือง เกลือ น้ำตาล ซอร์บิทอล (สารให้ความหวานและเมื่อละลายจะให้ความรู้สึกเย็น) โปรตีนจากถั่วเหลือง สารสกัดจากปู กลิ่นปู รสปู ส่วนผสมอาจแตกต่างไปบ้างตามสูตรของแต่ละบริษัท กรรมวิธีการผลิตปูอัดนั้นมีขั้นตอนที่ยุ่งยากหลากหลายขั้นตอน ได้แก่ การบดผสม การขึ้นรูป การหั่นและม้วน การใส่สี การตัดแต่ง บรรจุลงถุง ปิดผนึกแบบสุญญากาศ การฆ่าเชื้อ นำไปแช่แบบเยือกแข็ง และสุดท้ายคือการส่งจำหน่าย      

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 165 ธุรกิจกาแฟระดับโลกกับการดูแลสังคม

คุณรู้หรือไม่ ชาวโลกบริโภคกาแฟถึง 2,250 ล้านถ้วยในแต่ละวัน การบริโภคส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศอุตสาหกรรมในซีกโลกเหนือที่ดินฟ้าอากาศไม่เอื้อต่อการปลูกกาแฟ กว่าร้อยละ 90 ของเมล็ดกาแฟมาจากประเทศกำลังพัฒนาในซีกโลกใต้ ซึ่งมีผู้คนประมาณ 26 ล้านคนจาก 52 ประเทศอยู่ในสายการผลิตนี้ ฉลาดซื้อขอนำเสนอผลการสำรวจความรับผิดชอบต่อสังคมของค่ายกาแฟที่ทำตลาดในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในรูปแบบของกาแฟสำเร็จรูปและธุรกิจร้านกาแฟ ไม่ต่ำกว่า 30 แบรนด์ โดยองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research & Testing) ได้ร่วมกับ DanWatch องค์กรเฝ้าระวังเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ทำการสำรวจครั้งนี้ซึ่งมีทั้งการหาข้อมูลจากเอกสาร การตอบแบบสอบถามและการลงพื้นที่สำรวจ โดยเน้นที่ประเทศบราซิลเป็นหลัก เพราะ 1 ใน 3 ของผลผลิตเมล็ดกาแฟมาจากที่นี่ และประชากรบราซิลกว่า 5 ล้านคน (จาก 200 ล้านคน) ก็หาเลี้ยงชีพด้วยรายได้จากการปลูก ดูแล และเก็บเกี่ยวกาแฟนั่นเอง ในการสำรวจครั้งนี้ ได้แบ่งการให้คะแนนออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้ -          นโยบายสังคมของบริษัท รวมถึงนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงานของผู้จัดส่งสินค้า -          นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทและผู้จัดส่งสินค้ารายย่อย -          การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด รวมถึงการดูแลสนับสนุนชุมชน -          ความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจรวมถึงการรายงานต่อสังคมและการให้ความร่วมมือในการสำรวจ กาแฟยี่ห้อที่คุณชื่นชม แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมได้โดนใจคณะกรรมการของเรามากน้อยเพียงใด ติดตามได้ในหน้าถัดไป           ข้อมูลบางส่วนจากรายงานสภาพการทำงานของคนงานในไร่กาแฟในบราซิลจาก DanWatch โรงพยาบาลโรคมะเร็งในรัฐ Minas Gerais ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการปลูกกาแฟของบราซิล มีจำนวนคนไข้โรคมะเร็งเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวเกษตรกรรายย่อย สหภาพแรงงาน CRESOL บอกว่าปัญหาใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมการผลิตกาแฟคือโรคมะเร็ง โรคมะเร็ง 3 ประเภทที่พบอาจมีสาเหตุจากยาฆ่าแมลง หรือจากการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ซึ่งผู้คนในบริเวณนี้ก็มีแนวโน้มจะดื่มและสูบมากกว่าผู้คนในเขตอื่น อัตราการเกิดโรคซึมเศร้าอย่างรุนแรงที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ก็เพิ่มขึ้นในหมู่คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ถึง 3 เท่า เป็นที่รู้กันว่าเจ้าของไรกาแฟที่นั่น ถ้าไม่ใช่นักการเมือง ก็เป็นตำรวจ หรือไม่ก็ผู้พิพากษา และอุตสาหกรรมนี้ก็ไม่ถูกตรวจสอบเข้มข้นเหมือนอุตสาหกรรมอื่นๆ การจ้างงานเป็นการทำ “ข้อตกลงหุ้นส่วน” ซึ่งเกษตรกรผู้เป็นฝ่ายลงแรงจะได้ส่วนแบ่งร้อยละ 50 ซึ่งแจ้งกับกระทรวงแรงงานไปแต่ความจริงแล้วก็ยังเป็นการจ้างรายวันนั่นเอง คนงานซึ่งยากจนและต้องการงานทำจะไม่ถามคำถามหรือตั้งเงื่อนไขมากมาย ... แต่งานในไร่กาแฟก็ยังเป็นงานที่รายได้ดีที่สุดและทำเป็นฤดูกาลเท่านั้น ถ้าทำงานเต็มที่ก็จะหาเงินได้เดือนละเกือบ 40,000 บาท ในขณะที่ถ้าไปทำงานอื่นจะได้แค่ 9,500 บาทเท่านั้น บราซิลใช้สารเคมีในการเกษตรอย่างเข้มข้น ทั้งปุ๋ยและสารกำจัดวัชพืช แต่ในขณะเดียวกันการใช้อุปกรณ์ป้องกันอย่างหน้ากาก ถุงมือ หรือรองเท้าบู๊ต กลับมีน้อยมาก ธุรกิจสารเคมีการเกษตรทำตลาดโดยมุ่งเป้าไปที่เกษตรกรรายเล็กที่ส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ และขายสารเคมีราคาถูก (แน่นอนว่าไม่ได้ขึ้นทะเบียน) ให้กับคนกลุ่มนี้ และปลูกฝังความเชื่อว่าถ้าไม่ใช้แล้วจะปลูกไม่ขึ้น ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- 5 อันดับประเทศที่นำเข้ากาแฟมากที่สุดในโลก อเมริกา เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเมล็ดกาแฟมาที่สุด 5 อันดับแรก บุรุนดี (ร้อยละ 59 ของรายได้จากการส่งออก มาจากกาแฟ) เอธิโอเปีย (ร้อยละ 33) รวันดา (ร้อยละ 27) ฮอนดูรัส (ร้อยละ 20) อูกานดา (ร้อยละ 18) -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   ร้านกาแฟสายพันธุ์ไทย แม้การบริโภคกาแฟของคนไทยจะยังไม่ติดอันดับ 1 ใน 20 เมื่อเทียบกับคนทั้งโลก แต่เราโชคดีที่สามารถผลิตเมล็ดกาแฟได้เอง (ไม่อยากจะคุยว่าผลิตได้ทั้งพันธุ์อราบิกาและโรบัสต้าด้วยนะ) และการบริโภคกาแฟของคนไทยก็กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น จากกาแฟแบรนด์นอกเรามาดูเครือร้านกาแฟที่ก่อตั้งในเมืองไทยและใช้เมล็ดกาแฟที่ผลิตในประเทศกันบ้าง ฉลาดซื้อขอนำเสนอข้อมูลบางส่วนจากการพูดคุยกับผู้บริหารของบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มกาแฟสดมากที่สุด 2 อันดับต้นของเมืองไทยดังนี้ ซีพี รีเทลลิงค์ ผู้ประกอบการร้าน CP Retailink Coffee และ All Café ในร้านสะดวกซื้อ 7/11 และผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดกาแฟแบรนด์ “ซีพี รีเทลลิงค์” คุณนริศ ธรรมเกื้อกูล รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด ซึ่งเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของกาแฟแบรนด์นี้ว่าต้องการทำกาแฟสดในราคาต่ำกว่าอาหาร 1 จาน ออกมาสนองความต้องการของผู้บริโภค บริษัทจึงลดต้นทุนโดยการทำระบบห่วงโซ่คุณค่าโดยไม่กดราคารับซื้อ บริษัทให้ราคาสูงกว่าราคากลางสำหรับเมล็ดกาแฟที่คัดเกรดแล้ว ซีพี รีเทลลิงค์ รับซื้อเมล็ดกาแฟจากกลุ่มเกษตรกรดอยช้างและจากไร่กาแฟในโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ ที่จังหวัดน่าน คุณนริสบอกว่าเนื่องจากปลูกในที่สูง กาแฟเหล่านี้จึงมีสารตกค้างค่อนข้างน้อย  แต่ละเดือนบริษัทจะรับซื้อกาแฟประมาณ 10 ตัน เพื่อนำมา “บ่ม” ไว้ 6 เดือนก่อนที่จะนำมาคั่วในโรงคั่วของบริษัทซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 3 แห่ง ถามถึงการดูแลพนักงานในร้าน CP Retailink Coffee ซึ่งจะมี 100 สาขาในปี 2558 และ “ร้าน” กาแฟ ออลล์ คาเฟ่ (All Cafe) ซึ่งเพิ่มเป็น 2,000 สาขาในปีหน้าเช่นกัน คุณนริศบอกว่าบริษัทดูแลพนักงานตามมาตรฐานการจ้างงานและเน้นการจ้างงานคนในพื้นที่ นอกจากค่าจ้างแล้วพนักงานจะได้ส่วนแบ่ง 1 บาทต่อทุกๆแก้วที่ขายได้ (โดยอีก 1 บาทจากทุกแก้วจะเป็นการนำไปสมทบทุนกิจกรรมการกุศล) กิจกรรมเพื่อการดูแลสังคมที่บริษัทภูมิใจเสนอคือ การอบรมกาแฟสร้างอาชีพเพื่อสังคมและชุมชน ที่จัดให้กับผู้สนใจ เดือนละครั้งในพื้นที่ของบริษัทในซอยวิภาวดี 62  โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายและไม่มีข้อผูกมัดใดๆให้ซื้อสินค้าของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดกาแฟหรือเครื่องชงกาแฟ ปัจจุบันมีผู้ผ่านการอบรมไปแล้วกว่า 5,000 คน และมีถึงร้อยละ 30 ที่ออกไปเปิดร้าน ผู้บริหารเล่าถึงที่มาของโครงการนี้ว่า เมื่อ 7 ปีก่อนบริษัทได้สำรวจติดตามผลการทำธุรกิจของร้านกาแฟรายย่อยที่ซื้อเครื่องทำกาแฟจากบริษัทไป และพบว่าร้อยละ 70 มีผลประกอบการไม่ค่อยดี บางรายขาดทุน เพราะสิ่งที่ขาดหายไปคือความรู้ในการประกอบธุรกิจนั่นเอง ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- วันนี้คุณจ่ายค่ากาแฟ แก้วละเท่าไร? ผู้บริหารของ ซีพี รีเทลลิงค์ เปิดเผยว่า ต้นทุนกาแฟร้อนของเขาอยู่ที่แก้วละ 6.50 บาท เมื่อรวมค่าบรรจุภัณฑ์แล้ว   คาเฟ่ อเมซอน ร้านกาแฟภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินกิจการมาแล้ว 12 ปี ปัจจุบันมีมากกว่า 1,000 สาขา สุชาติ ระมาศ ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจคาเฟ่อเมซอน เล่าถึงธุรกิจกาแฟของบริษัทว่า ร้อยละ 90 ของร้านคาเฟ่ อเมซอน เป็นแฟรนไชส์ที่ดำเนินการโดยศูนย์บริการน้ำมัน ภายใต้การดูแลและควบคุมคุณภาพโดยบริษัท ปตท. ส่วนที่เหลือ (ในห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา ฯลฯ) เป็นร้านที่บริษัทดำเนินงานเอง คุณสุชาติบอกว่าบริษัทเน้นการจ้างบุคลากรในท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับการดูแลบาริสต้า เพราะเชื่อว่าเมื่อคนทำกาแฟมีความสุขก็จะสามารถส่งต่อความสุขไปยังลูกค้าได้ นอกจากนี้ยังให้โอกาสก้าวหน้ากับพนักงานด้วยการจัดสอบเลื่อนระดับ การแข่งขันชิงรางวัล การมอบรางวัลเมื่อทำความดี (เช่น เก็บของคืนลูกค้า) การจัดอบรมเพิ่มเติมทั้งหลักสูตรบาริสต้าและหลักสูตรการบริหารจัดการร้าน เป็นต้น ส่วนลูกค้าก็มีช่องทางการสะท้อนความเห็น/แจ้งปัญหา ผ่านสายด่วน 1365 ถ้าไม่พอใจในบริการที่ได้รับ (อย่าลืมดูหมายเลขสาขา ที่เขาติดไว้ให้เห็นได้ชัดๆ ด้านหน้าร้านด้วย) บริษัทรับซื้อเมล็ดกาแฟจากโครงการหลวงฯ เป็นหลัก และจากการประมูลเมล็ดกาแฟจากชุมชน ในราคาที่สมเหตุสมผล บริษัทมีแผนจะเปิดโรงคั่วกาแฟของตัวเองกลางปี 2558  ปัจจุบันได้ร่วมมือกับมูลนิธิโครงการหลวงฯ ฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมหรือไร่กาแฟที่หมดสภาพบนดอยอินทนนท์ ด้วยการปลูกไม้ยืนต้นและปลูกกาแฟแซม นอกจากนี้ยังมีโครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่า ร่วมกับเครือข่ายกรีนเน็ท ขณะนี้ทดลองขายกาแฟออกานิกในสาขาของบริษัทเอง (นอกสถานีบริการน้ำมัน) การรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระบบจัดการน้ำเสียก่อนปล่อยลงแหล่งน้ำ การนำวัสดุที่ย่อยสลายได้มาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ (แก้วกระดาษเคลือบพลาสติกที่ย่อยสลายได้ใน 180 วัน) เดี๋ยวนี้ร้านคาเฟ่ อเมซอน ซึ่งมักจะอยู่ท่ามกลางสวนร่มรื่น (ซึ่งคุณสุชาติเล่าว่าเดี๋ยวนี้หลายปั๊มจัดสวนแข่งกัน บางแห่งลงทุนกับสวนมากกว่าตัวร้านด้วยซ้ำ) ได้กลายเป็นแหล่งพบปะของคนในชุมชนไปด้วย นี่เป็นผลพลอยได้นอกเหนือจากความตั้งใจแรกของแบรนด์ที่เน้นการเข้าถึงกาแฟสดในราคาที่เหมาะสม และคนเดินทางได้ใช้เป็นที่พักผ่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 เช็ค “ไขมัน” “น้ำตาล” ในโยเกิร์ต

  “โยเกิร์ต” ถือเป็นของโปรดของใครหลายๆ คน ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ อร่อยถูกปากถูกใจ แถมมีประโยชน์ กินแล้วดีต่อสุขภาพ ยิ่งเดี๋ยวนี้มีโยเกิร์ตยี่ห้อใหม่ๆ รสชาติหลากหลาย ไม่ว่าจะสูตรธรรมชาติ ไม่มีไขมัน ไม่มีน้ำตาล สูตรผสมผลไม้ เติมใยอาหาร เพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ เรียกว่ามีให้เลือกสารพัด เอาใจคนชอบกินโยเกิร์ตสุดๆ ฉลาดซื้อฉบับนี้เลยรับอาสาสุ่มเก็บตัวอย่างโยเกิร์ตที่วางขายอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ เพื่อเปรียบเทียบดูว่าโยเกิร์ตแต่ละยี่ห้อมีปริมาณ ไขมัน น้ำตาล และพลังงาน เท่าไหร่กันบ้าง เพื่อให้คนที่ชอบกินโยเกิร์ตได้ใช้เป็นข้อมูลในการเลือกซื้อเลือกกินโยเกิร์ตให้ได้ประโยชน์สูงสุด   ประโยชน์ของโยเกิร์ต -โยเกิร์ตมีโปรตีนจากนม ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพ ร่างกายสามารถย่อยสลายดูดซึมไปใช้งานได้ง่าย มีกรดอะมิโนสูง -มีแคลเซียมสูง -มีกรดแลคติกช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค -มีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ เช่น แลคโตบาซิลัส ที่เป็นประโยชน์ต่อสำไส้ ทำหน้าที่ต่อต้านจุลินทรีย์ชนิดที่ก่อโรคในลำไส้และกระเพาะอาหาร ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ปกติ นอกจากนี้ แลคโตบาซิลัส ยังสามารถช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกายได้ด้วย -สามารถกินโยเกิร์ตทดแทนนมได้ สำหรับคนที่แพ้นม หรือดื่มนมไม่ได้   วิธีเลือกซื้อโยเกิร์ต -อ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้ง เพื่อดูว่าปริมาณสารอาหารต่างๆ ที่เราจะได้รับจากการกินโยเกิร์ตถ้วยนั้นมีอะไรบ้าง(เปิดฉลาดซื้อเล่มนี้ได้เลยเช่นกัน) -เลือกโยเกิร์ตที่มีน้ำตาลและไขมันต่ำ รสธรรมชาติ หรือ รสจืด จะได้ประโยชน์มากกว่าสูตรธรรมดาหรือสูตรที่ผสมผลไม้ ที่น้ำตาลและไขมันค่อนข้างสูง -เลือกซื้อโยเกิร์ตที่มีวันที่ผลิตใกล้เคียงกับวันที่ซื้อ(โยเกิร์ตที่ผลิตใหม่ๆ)  มีเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในปริมาณมาก เพราะเชื้อจุลินทรีย์ดีๆ จะสูญสลายไปตามกาลเวลา -การกินโยเกิร์ตไม่ได้ช่วยให้น้ำหนักลดลง แต่การกินโยเกิร์ตช่วยให้ระบบการทำงานของลำไส้ กระเพาะอาหาร และการย่อยอาหารทำงานได้อย่างสมดุลเป็นปกติเท่านั้น เพราะฉะนั้นใครที่กินโยเกิร์ตเพื่อลดความอ้วนจึงเป็นความคิดที่ผิด   เปรียบเทียบปริมาณ ไขมัน น้ำตาล และพลังงาน ในโยเกิร์ต  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 ยาสีฟันที่ทำให้ฟันขาวทำได้จริงหรือ

ยาสีฟันที่โฆษณาว่าทำให้ฟันขาวได้นั้นจะต้องใส่สารบางอย่างเพิ่มเติมขึ้นไปจากยาสีฟันปกติ การที่จะตอบได้ว่าทำให้ฟันขาวได้จริงหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาว่าสารเคมีที่ใส่ในยาสีฟันนั้นคืออะไรและมีผลอย่างไรกับสีของฟัน สารสำคัญที่พบคือ   สารขัดฟัน ยาสีฟันไวท์เทนนิ่งทุกยี่ห้อจะใส่สารขัดฟันที่มีความหยาบแตกต่างกัน สารขัดฟันนี้จะช่วยขจัดคราบสีต่างๆบนตัวฟันทำให้ฟันขาวขึ้นได้จริง แต่จะขาวเท่ากับสีฟันเดิมของเรา ถ้าฟันเดิมเหลืองก็จะเหลืองเหมือนเดิม ทั้งนี้เป็นเพราะวิธีการนี้เป็นการขัดเอาคราบที่ติดอยู่ภายนอกผิวฟันออกไป ไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนสีภายในของเนื้อฟัน ถ้าฟันเดิมของเราสีออกเหลือง ถ้ามีคราบสีจากอาหาร น้ำชา กาแฟ บุหรี่ ฯลฯมาเกาะสีฟันก็จะเข้มขึ้น เมื่อใช้ยาสีฟันที่มีสารขัดฟันเหล่านี้คราบก็จะออกจนหมดกลับมาเป็นฟันเหลืองตามปกติที่ควรจะเป็น ขอย้ำนะครับว่าสารขัดฟันไม่ได้ทำให้ฟันขาวขึ้นจากสีธรรมชาติเดิมของฟัน สารขัดฟันที่มีใช้ในยาสีฟันไวท์เทนนิ่งที่นิยมใช้ได้แก่สารกลุ่มซิลิกา (Hydrate Silica, Silica dioxide, Perlite ที่มี 70-75% silica dioxide) สารกลุ่มอลูมิน่า (Alumina oxide) สารกลุ่ม แคลเซียม ( Calcium pyrophosphate,Calcium Carbonate, Dicalcium phosphate dihydrate)  และสารกลุ่มอื่นๆ เช่น เบกิ้งโซดา (Sodium Bicarbonate) และ Mica เป็นต้น ปัญหาที่พบของสารขัดฟัน ก็คือ ถ้าสารขัดฟันมีความสามารถในการขัดฟันมาก (หรือพูดง่ายๆว่า สารขัดฟันหยาบมาก) ก็จะกำจัดคราบสีต่างๆได้ดีและรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็จะทำให้เคลือบฟันถูกกำจัดออกไปด้วย ทำให้เคลือบฟันบางลง เมื่อใช้ต่อเนื่องไปนานๆ เคลือบฟันจะบางลงจนเห็นเนื้อฟันที่มีสีเหลืองกว่าอยู่ข้างใต้ การใช้ยาสีฟันไวท์เทนนิ่งต่อเนื่องนานๆอาจทำให้ฟันเหลืองขึ้นกว่าเดิม และจะมีอาการเสียวฟันตามมาอีกด้วย ในทางกลับกัน ถ้าสารขัดฟันมีความสามารถในการขัดฟันน้อย การกำจัดคราบสีก็จะทำได้ช้าๆค่อยเป็นค่อยไป แต่จะไม่ทำอันตรายเคลือบฟันเท่าใดนัก ผู้บริโภคไม่มีทางรู้ได้เลยว่า สารขัดฟันที่ยาสีฟันแต่ละยี่ห้อนั้นมีความสามารถในการขัดฟันเท่าใด ในยาสีฟันปกติ จะใส่สารขัดฟันที่มีค่าความสามารถในการขัดฟัน (RDA, Realtive Dentine Abrasivitiy) อยู่ที่ 40-80 หน่วย ซึ่งเป็นค่าที่ปลอดภัยไม่ทำอันตราบเคลือบฟัน  ส่วนในยาสีฟันไวท์เทนนิ่งส่วนใหญ่จะมีค่า RDA มากกว่า 100 หน่วย เพื่อให้ขัดคราบฟันได้ดี ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้กำหนดเพดานค่า RDA ไว้ไม่เกิน 200 หน่วย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค สารเคมีช่วยขจัดคราบฟัน ในยาสีฟันไวท์เทนนิ่งบางยี่ห้ออาจมีการเพิ่มสารเคมีบางตัวเช่น  enzymes, Sodium Citrate, Sodium Pyrophosphate, Sodium tripolyphosphate หรือ hexametaphosphate ซึ่งสารเหล่านี้มีคุณสมบัติในการช่วยขจัดคราบบนตัวฟันออกและช่วยป้องกันให้คราบสีมาเกาะติดกับฟันยากขึ้น สารเคมีเหล่านี้มักจะคุณสมบัติในการย่อยโปรตีนได้ดี ซึ่งคราบที่ติดฟันนั้นก็มีองค์ประกอบของโปรตีนอยู่ เนื่องจากโดยทั่วไปเรามักจะแปรงฟันได้ไม่สะอาดบริเวณคอฟันและซอกฟัน ดังนั้นผู้ผลิตยาสีฟันไวท์เทนนิ่งบางยี่ห้อจึงคาดหวังให้สารเคมีเหล่านี้ไปช่วยกำจัดคราบบริเวณคอฟันและซอกฟัน ซึ่งเป็นบริเวณที่สารขัดฟันไม่ได้เข้าไปทำความสะอาด แต่จากรายงานการวิจัยพบว่า สารเคมีเหล่านี้มีส่วนช่วยได้เล็กน้อยมาก การกำจัดคราบสีต่างๆยังต้องพึ่งสารขัดฟันเป็นหลัก   สารสีฟ้า ยาสีฟันไวท์เทนนิ่งอีกกลุ่มหนึ่ง นอกจากสารขัดฟันแล้วยังใช้ สีสะท้อน Optical agents เช่น การใช้สีฟ้า ( Blue Covarine หรือ CI74160 Pigment Blue) ผสมลงในยาสีฟัน เมื่อแปรงฟันสารสีฟ้าเหล่านี้จะไปเกาะที่ฟัน เวลามองสะท้อนแสงก็จะเห็นฟันขาวขึ้น ดังนั้นเมื่อใช้เพียงครั้งเดียวก็จะเห็นว่าฟันขาวขึ้นทันที เปรียบเทียบง่ายๆกับถ้าเราต้องการให้ผ้ามีสีขาว เราก็ไปย้อมให้เป็นสีคราม เมื่อเป็นการย้อมสี ดังนั้นข้างหลอดยาสีฟันจะมีคำเตือนว่า “ยาสีฟันอาจทำให้เสื้อผ้าเลอะได้” การใช้สารสีฟ้าเคลือบฟันไว้จะได้ชั่วคราวเท่านั้น สารสีฟ้าจะติดฟันได้ไม่นานนัก เมื่อมีการรับประทานอาหาร สีเหล่านี้ก็จะหลุดลอกออก ทำให้กลับไปเป็นสีฟันเดิมของเรา   ข้อแนะนำ ยาสีฟันไวท์เทนนิง สามารถใช้ได้เพื่อกำจัดคราบฟันที่ติดอยู่ที่ผิวฟันออกได้ จะเห็นว่าฟันขาวขึ้นกว่าเดิม แต่จะขาวได้เท่ากับสีของฟันเดิมของเราเท่านั้น จะขาวขึ้นกว่าเดิมไม่ได้ ยาสีฟันไวท์เทนนิ่งที่มีสารสีฟ้า เป็นการใช้เทคนิคการสะท้อนสีฟ้าเพื่อทำให้ฟันดูขาวขึ้น แต่สีฟ้าจะหลุดออกเมื่อรับประทานอาหาร ฟันจะกลับมาเป็นสีเดิม ไม่ควรใช้ยาสีฟันไวท์เทนนิ่งติดต่อกันต่อเนื่อง ทั้งนี้สารขัดฟันของยาสีฟันไวท์เทนนิ่งจะมีความหยาบมากกว่า ซึ่งจะทำให้เคลือบฟันบางลงเมื่อใช้ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง และเมื่อใช้กับแปรงสีฟันขนแปรงแข็ง แปรงฟันแรงเกิน ก็จะทำให้เคลือบฟันบางลงได้เร็ว แนะนำให้ซื้อใช้เพียงหลอดเดียวเท่านั้น เมื่อรู้สึกว่าฟันเริ่มมีคราบมาติดใหม่ ก็กลับมาใช้ใหม่ได้เป็นระยะๆ ควรใช้แปรงสีฟันขนอ่อนนุ่มและแปรงฟันโดยใช้แรงพอประมาณ สังเกตุได้จากหากใช้แปรงสีฟันขนแปรงอ่อนนุ่มแล้วแปรงควรจะปานใน 3 เดือน หากแปรงบานเร็วก่อนกำหนดแสดงว่าเราแปรงฟันแรงเกินไป   หมายเหตุ ยาสีฟันไวเทนนิ่งเป็นกลุ่มยาสีฟันที่ขจัดคราบภายนอกฟันเท่านั้น มียาสีฟันอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ยาสีฟันฟอกสีฟัน ซึ่งเป็นความพยายามที่จะไปฟอกสีฟันภายในเนื้อฟัน โดยใช้สารเคมีที่จะซึมผ่านเคลือบฟันและเนื้อฟันเข้าไปสลายโมเลกุลของสีในเนื้อฟันเพื่อทำให้ฟันขาวขึ้น โดยปกติแล้วสารเคมีที่ใช้จะเป็นไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 1% หรือ แคลเซียมเปอร์ออกไซด์ 0.5-0.7% ซึ่งความเข้มข้นที่ใช้ถือว่าน้อยมาก จากงานวิจัยพบว่า ในความเข้มข้นที่น้อยและเวลาที่สัมผัสฟันตอนแปรงฟันสั้นๆ ไม่กี่นาทีนั้น ไม่สามารถฟอกสีฟันให้ขาวขึ้นได้แต่อย่างใด การไปพบทันตแพทย์เพื่อฟอกสีฟันจะใช้สารเคมีตัวเดียวกันซึ่งมีความเข้มข้นสูงกว่ามาก และใช้เวลาสัมผัสฟันนานเป็นชั่วโมง สีของฟันจึงจะเปลี่ยนได้ ซึ่งมีข้อเสียตามมามากมายหลายอย่าง ผมอยากชวนให้คิดว่า ฟันสีเหลืองธรรมชาติของคนไทยเรามีเสน่ห์และเหมาะกับสีผิวและใบหน้าของคนไทย การที่มีฟันขาวจนเกินพอดีนั้น น่าจะดูแปลกๆ ไม่เป็นธรรมชาตินะครับ   ส่วนประกอบอื่น ของยาสีฟัน Titanium Dioxide หรือ CI 77891 เป็นสารที่ทำให้ยาสีฟันมีสีขาว หรือทำให้มีความขุ่น Cocamidopropyl Betaine เป็นสารลดแรงตึงผิว ทำให้สารต่างในยาสีฟันแทรกซึมสัมผัสกับฟันได้ง่ายขึ้น Sodium Lauryl Sulfate เป็นสารทำให้เกิดฟอง Sodium Saccharin ขัณฑสกร​ เป็นสารให้ความหวาน Sorbitol, Xylitol เป็นน้ำตาลโพลิออล ให้ความหวานและยังทำให้ชุ่มชื้นอีกด้วย Glycerin ทำให้ชุ่มชื้น Sodium Hydroxide โซดาไฟ ใช้ดูดความชื้น ทำให้คงตัวและปรับความเป็นกรดด่าง Carrageenan สารเพิ่มความหนืดที่เป็นเจลใส Xanthan Gum, Cellulose Gum, PEG-12 (Polyethylene Glycol) เป็นสารที่ให้ความหนึดแบบทึบ Methylparaben, Butylparaben  สารกันเสีย (สารกันบูด) Spearmint, peppermint, Eucalyptus, Mentol  เป็นสารแต่งกลิ่นและรส ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ ยาสีฟัน ยาสีฟันในท้องตลาดมีมากมายหลายยี่ห้อ และราคาก็แตกต่างกันมากมาย  ทั้งนี้เพราะผู้ผลิตเติมสารต่างๆ เพื่อหวังผลบางอย่างเข้าไปมากมาย จนบางทีก็ดูเกินกว่าหน้าที่ของยาสีฟันแต่เดิม ที่มีวัตถุประสงค์เพียงแค่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการแปรงฟัน ให้มีการกำจัดเอาแผ่นคราบจุลินทรีย์ออกได้ง่ายขึ้น กลุ่มของยาสีฟันแยกตามวัตถุประสงค์ 1.กลุ่มยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ เป็นยาสีฟันที่เหมาะสำหรับทุกคน โดยเฉพาะในเด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีฟันผุหรือเกิดฟันผุได้ง่าย ในทางวิชาการเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า สามารถป้องกันฟันผุ ได้ และองค์การอนามัยโลกก็ให้คำแนะนำประชาชนใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์เป็นหลัก ปริมาณฟลูออไรด์ในยาสีฟันสำหรับผู้ใหญ่ จะมีอยู่ 1,000 ส่วนในล้านส่วน หรือ 1,000 พีพีเอ็ม. และ 500   พีพีเอ็ม. สำหรับเด็ก เหตุผลที่ยาสีฟันเด็กมีปริมาณความเข้มข้นเพียงครึ่งเดียว เพื่อลดความเสี่ยงที่เด็กจะกลืนยาสีฟันทำให้ได้รับฟลูออไรด์เกิน 2.กลุ่มยาสีฟันที่ผสมสารฆ่าเชื้อโรคที่เป็นสารเคมีหรือสารสมุนไพร เช่น ไตรโคลซาน ไทมอล น้ำมันกานพลู คาโมไมล์ พิมเสน การบูร ชะเอมเทศ  สารเหล่านี้จะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ลดการอักเสบ สมานแผล ในคนที่เป็นโรคเหงือกอักเสบใช้แล้วจะรู้สึกว่า เหงือกกระชับแน่นขึ้น ไม่อักเสบบวมแดงอย่างที่เคยเป็น 3.กลุ่มยาสีฟันที่ลดอาการเสียวฟัน จะมีการใส่สารเคมีบางตัว เช่น สตอนเทียมคลอไรด์ หรือ โพแทสเซียมไนเตรท เพื่อไปปิดรูเล็ก ๆ ที่เนื้อฟัน ทำให้ลดอาการเสียวฟันได้ชั่วคราว แต่ควรต้องหาสาเหตุที่ทำให้เกิดเสียวฟันร่วมด้วย จึงจะแก้ที่ต้นเหตุได้จริง 4.กลุ่มยาสีฟันที่ทำให้ฟันขาว มีการใช้ผงขัดที่หยาบเพื่อให้ขจัดเอาคราบสีต่าง ๆ ที่ติดอยู่บนตัวฟันออก รวมทั้งอาจมีการใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์ฟอกสีฟันอ่อนๆ ซึ่งการใช้ผงขัดที่หยาบผสมลงในยาสีฟันอาจทำให้มีการขัดเอาผิวฟันออกมากเกินไป ทำให้เคลือบฟันสึกและบางลง รวมทั้งสารเคมีที่มีฤทธิ์ฟอกสีฟันอ่อนๆ อาจมีอาการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อในช่องปากได้ จึงควรเลือกใช้ด้วยความระมัดระวัง 5.กลุ่มที่มีการโฆษณาว่า เป็นยาสีฟันที่ลดกลิ่นปาก หรือใช้กลางคืนเพื่อลดกลิ่นปากตอนเช้า จากรายงานทางวิชาการที่มีอยู่ในขณะนี้ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าลดกลิ่นปากได้จริงหรือไม่ การใส่สารเคมีหรือสารสมุนไพรต่างๆ ที่คาดหวังว่าจะฆ่าเชื้อโรคที่ทำให้เกิดกลิ่นปากนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะว่าเชื้อโรคที่ทำให้เกิดกลิ่นปากนั้นทนต่อสารเคมีหรือสมุนไพรที่ฆ่าเชื้อได้ดี ในคนที่มีกลิ่นปากจำเป็นที่จะต้องตรวจวิเคราะห์ว่า มีกลิ่นปากจริงหรือไม่ สาเหตุมาจากอะไร  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 163 “กาน่าฉ่าย” เมนูเสี่ยงน้ำมันทอดซ้ำ

ถึงช่วงเทศกาลกินเจทีไร อาหารจำพวกพืชผักต่างๆ ก็ได้เวลาคึกคัก ซึ่งหนึ่งในเมนูผักๆ ที่ขาดไม่ได้ในช่วงเทศกาลกินเจ ก็คือ “กาน่าฉ่าย” เมนูชื่อแปลกที่หลายคนอาจไม่คุ้นหู แต่ก็เป็นเมนูสุดโปรดของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะคนที่เชื้อสายจีนรับรองว่าต้องรู้จักกันเป็นอย่างดี อ่านมาถึงตรงนี้แฟนๆ ฉลาดซื้อคงเริ่มอยากรู้แล้วว่า เราจะทดสอบอะไรในกาน่าฉ่าย ซึ่งฉลาดซื้อได้รับข้อมูลมาว่าในการทำกาน่าฉ่ายนั้นมีการใช้น้ำมันเป็นส่วนประกอบ ทำให้เรามีข้อสงสัยว่ากาน่าฉ่ายอาจเสี่ยงปัญหาน้ำมันทอดซ้ำ ฉลาดซื้อจึงสุ่มเก็บตัวอย่างกาน่าฉ่ายที่ขายอยู่ตามแหล่งจำหน่ายอาหารเจและตลาดยอดนิยมที่ขายสินค้าอาหารของคนไทยเชื้อสายจีน ไม่ว่าจะเป็น ตลาดเยาวราช ตลาดท่าดินแดง และตลาดสามย่าน  เพื่อมาทดสอบดูว่ากาน่าฉ่ายที่วางขายอยู่เสี่ยงน้ำมันทอดซ้ำมากน้อยแค่ไหน   สูตรไม่ลับ กาน่าฉาย กาน่าฉ่าย ทำจากผักกาดดองที่บีบน้ำดองออกแล้วส่วนหนึ่ง เพื่อไม่ให้รสชาติเปรี้ยวหรือเค็มจัดเกินไป จากนั้นนำมาสับ นำลงผัดกับลูกสมอดอง หรือที่ชาวจีนเรียกว่า กาน่าซั่ม บางเจ้าบางสูตรจะมีการเติมเห็ดหอมลงไปด้วย เมื่อผัดได้ที่ก็จะเติมน้ำเพิ่มลงไป  ตั้งไฟตุ๋นทิ้งไว้ 5-8 ชั่วโมง กาน่าฉ่ายก็จะกลายเป็นสีดำ หน้าตาอาจจะไม่ค่อยน่ากิน แต่รสชาติอร่อยถูกใจ หลายคนบอกว่าแค่กินคู่กับข้าวต้มหรือข้าวสวยร้อนๆ ก็อร่อยสุดๆ หรือจะนำไปดัดแปลงไปผัดกับเนื้อสัตว์ ผัดกับผักอื่นๆ หรือเติมลงในข้าวผัดก็อร่อยไปอีกแบบ ขั้นตอนการปรุงเมนูกาน่าฉ่าย จำเป็นต้องมีการใช้น้ำมันในขั้นตอนของการผัด ซึ่งน้ำมันที่นิยมใช้กันคือน้ำมันพืชอย่าง น้ำมันปาล์ม, น้ำมันถั่วเหลือง หรือ น้ำมันงา ร้านค้าส่วนใหญ่เวลาที่เขาผัดกานาฉ่ายขายแต่ละทีเขาทำขายกันทีละหลายกิโล น้ำมันที่ใช้จึงมีปริมาณมาก โอกาสที่จะมีการใช้น้ำมันซ้ำๆ ในการผัดเพื่อเป็นการลดต้นทุนจึงอาจเกิดขึ้นได้   ผลทดสอบน้ำมันทอดซ้ำในกาน่าฉ่าย ฉลาดซื้อได้สุ่มเก็บตัวอย่าง กาน่าฉ่าย จากตลาดและซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังในกรุงเทพฯ จำนวน 13 ตัวอย่าง ส่งไปยังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 จ.อุดรธานี เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารโพลาร์ สารที่เกิดจากน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ในตัวอย่างกาน่าฉ่าย โดยการใช้ชุดทดสอบน้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งให้ผลที่แม่นยำเป็นที่ยอมรับ ได้ผลดังนี้     สรุปผลการทดสอบ การวิเคราะห์โดยใช้ชุดทดสอบนั้น จะใช้วิธีการหยดสารละลายโพลาร์ลงในตัวอย่าง ตัวสารจะทำปฏิกิริยากับตัวอย่างทำให้เกิดเป็นสีชมพู ตั้งแต่สีจางไปจนถึงเข้ม สำหรับตัวอย่างที่มีปริมาณสารโพลาร์ไม่เกิน 25% ของน้ำหนัก แต่หากตัวอย่างที่นำมาวิเคราะห์ไม่เปลี่ยนเป็นสีชมพู หรือกลายเป็นสีเหลืองแสดงว่าตัวอย่างนั้นมีปริมาณสารโพลาร์เกินกว่า 25% - ตัวอย่างกาน่าฉ่าย ที่อยู่ในเกณฑ์ดีใช้ได้ พบว่ามีเพียง 3 ตัวอย่างเท่านั้น (จากทั้งหมด 13 ตัวอย่าง) คือมีปริมาณสารโพลาร์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ 1.กาน่าฉ่าย ร้านพลังบุญ จากสันติอโศก 2.กาน่าฉ่าย แม่จินต์ จากโลตัส สาขาสุขสวัสดิ์ และ 3.กาน่าฉ่ายเห็ดหอม สูตรคุณตี๋ จากตลาดสามย่าน สารโพลาร์อยู่ในช่วงปริมาณ 9-20% ถือเป็นน้ำมันที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี - กาน่าฉ่ายอีก 10 ตัวอย่างที่เหลือ ตรวจวิเคราะห์พบปริมาณสารโพลาร์ปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ คือมากกว่า 25% ของน้ำหนักอาหาร ซึ่งจากการทดสอบด้วยชุดทดสอบพบว่า ตัวอย่างเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม คิดเป็นสารโพลาร์ที่อยู่ในช่วง 27% ของน้ำหนักอาหาร ซึ่งถือเป็นน้ำมันที่เสื่อมสภาพแล้ว ไม่ควรนำมาใช้ประกอบอาหาร - จากตัวอย่างที่ส่งวิเคราะห์ พบว่า มากกว่า 70% มีการปนเปื้อนของสารโพลาร์เกินค่ามาตรฐาน การรับประทานกาน่าฉ่าย จึงมีความเสี่ยงต่ออันตรายจากน้ำมันทอดซ้ำ ใครที่ชอบซื้อรับประทานบ่อยๆ อาจจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น รับประทานแต่พอดี หรือพยายามเลือกร้านที่มั่นใจว่าเปลี่ยนน้ำมันในการทำอยู่เสมอ สังเกตดูกาน่าฉ่ายที่ต้องไม่ดูเก่าเกินไป สีของน้ำมันไม่เป็นสีดำ ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน - น้ำมันปรุงอาหารจะเสื่อมคุณภาพ เมื่อถูกความความร้อนสูง และมีความชื้น จะทำปฏิกิริยากับออกซิเจน เกิดสารโพล่าร์ (Polar compounds) เครื่องปรุงต่างๆ เช่น เกลือ ถือเป็นตัวเร่งให้เกิดสารสารโพลาร์เพิ่มขึ้น โดยปกติน้ำมันปรุงอาหารใหม่จะมีสารโพลาร์อยู่ระหว่าง 3-8 % ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 283) พ.ศ. 2547 เรื่องกำหนดปริมาณสารโพลาร์ในน้ำมันที่ใช้ทอดหรือประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย ให้มีปริมาณสารโพลาร์ได้ไม่เกิน 25% ของน้ำหนัก ผู้ประกอบการอาหารที่ใช้น้ำมันทอดอาหารที่มีค่าปริมาณสารโพลาร์เกินมาตรฐานทีกำหนดและจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐาน ฝ่าฝืนมาตรา 25(3) พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท   อันตรายของน้ำมันทอดซ้ำ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่า ในน้ำมันทอดซ้ำมีสารอันตรายอยู่ 2 กลุ่ม คือ สารโพลาร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และอีกกลุ่มคือสารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน หรือ PAH ซึ่งเป็นกลุ่มสารก่อมะเร็ง น้ำมันทอดซ้ำ หรือน้ำมันที่เสื่อมคุณภาพ มีผลทำลายสุขภาพ ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและสมองตีบ โรคหัวใจวาย โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้หรือกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ไอของน้ำมันที่เสื่อมจะมีกลุ่มสารก่อมะเร็ง ทำให้ผู้ที่ทอดอาหารเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดจากการสูดดม   กานาฉ่าย ไม่ได้เสี่ยงแค่น้ำมันทอดซ้ำแต่ยังต้องระวังเรื่องสารกันบูด ช่วงเทศกาลกินเจ นอกจากผักที่คนกินเจนิยมบริโภคกันมากแล้ว อาหารจำพวกหมักดองก็เป็นที่นิยมมากเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ผักกาดดอง หัวไช้โป้ว เกี่ยมฉ่าย และรวมถึง กาน่าฉ่าย ซึ่งอาหารเหล่านี้มักมีการใช้วัตถุกันเสียเพื่อยืดอายุของอาหาร ที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย คือ กรดเบนโซอิก (benzoic acid) และ กรดซอร์บิก (sorbic acid) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร อนุญาตให้ใช้วัตถุกันเสียกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ในผักดอง ผักปรุงสุก ได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยของอาหารช่วงเทศกาลกินเจปี 2557 สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เก็บตัวอย่าง กาน่าฉ่าย ไช้โป้ว หัวผักดอง และ ยำเกี่ยมฉ่าย รวม 30 ตัวอย่าง เพี่อตรวจวิเคราะห์หาวัตถุกันเสียทางห้องปฏิบัติการ พบว่ามีตัวอย่างที่ใช้วัตถุกันเสียถึง 29 ตัวอย่าง ไม่พบเพียง 1 ตัวอย่าง โดยพบตัวอย่างใช้วัตถุกันเสียทั้ง 2 ชนิด จำนวน 6 ตัวอย่าง ในจำนวนนี้พบกรดเบนโซอิก เกินมาตรฐาน 22 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 73.3 โดยพบปริมาณสูงสุด 5,995 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมในตัวอย่าง กาน่าฉ่าย ส่วนกรดซอร์บิกพบในตัวอย่าง ไช้โป้ว/ไช้โป้วฝอย อยู่ในช่วง 50 - 418 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แม้ว่ากรดเบนโซอิกจะมีความเป็นพิษต่ำ แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่สูงมากอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ที่มา: รายงานประจำปี 2556 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 เมทิลโบร์ไมด์ในข้าวสารบรรจุถุง ภาค 2

เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน……. นายมดงานขอยืมวลีเพลงฮิตมาเปิดตัวเสียหน่อย ผมเคยเขียนบันทึกเล่าเรื่องการทดสอบข้าวสารบรรจุถึงไว้เมื่อช่วงเวลานี้ของปีที่แล้ว หนึ่งปีผ่านไปด้วยความรวดเร็ว จากกระแสข้าวเน่า-ข้าวบูดเมื่อปีที่แล้ว จนนำมาสู่การทดสอบสิ่งปนเปื้อนในข้าวสารบรรจุถุง โดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ. – ฉลาดซื้อ) และมูลนิธิชีวิถี (biothai – Thai-PAN) ผลทดสอบครั้งนั้นพบว่า มีการพบ โบรไมด์อิออน ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของสารรมควันข้าวที่เรียกว่า เมทิลโบรไมด์ ในตัวอย่างที่ตรวจสอบเกินกว่าร้อยละ 70 และมีหนึ่งตัวอย่างที่พบการตกค้างเกินค่ามาตรฐานสากล (MRL CODEX) จนนำไปสู่การประกาศค่ามาตรฐานเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์อิออนของประเทศไทย โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อีกทั้งยังมีการตรวจสอบ เฝ้าระวังการใช้สารรมควันข้าวและสารเคมีทางการเกษตรอื่น ๆ ในข้าวโดยเข้มงวดของหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และเพื่ออัพเดทสถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหารในข้าวสารบรรจุถุง “ฉลาดซื้อ” ทุ่มไม่อั้นอีกครั้ง โดยท่าน บก.จอมเฮี้ยบ (แต่หน้ายิ้มตลอด) ได้บัญชาการให้มดงานตัวจ้อยทำตามสัญญาที่แจ้งท่านผู้อ่านไว้ว่าเราจะกลับมารายงานผลการทดสอบเรื่องนี้ให้กับท่านอีกครั้ง แน่นอนว่าหนังภาคต่อมันต้องมีอะไรที่มากกว่าภาคแรก ครั้งนี้เราเก็บตัวอย่างเพิ่มขึ้นเกินเท่าตัว ท่านบรรณาธิการบริหารมีดำริว่าครานี้ไม่ตรวจแบบเหวี่ยงแหทุกอย่างเหมือนครั้งที่แล้วแต่เรามุ่งหมายแค่ตัวเดียวไปเลย คือ เมทิลโบรไมด์ มดงานตัวจ้อยและสมัครพรรคพวกวิ่งโร่ไปตามล่าหาซื้อตัวอย่างข้าวสารบรรจุถุงในสี่กลุ่มคือ ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ ข้าวพันธุ์พื้นเมือง และข้าวผสม จำนวน 86 ตัวอย่างจากซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างโมเดิร์นเทรด ทั้งค้าปลีกและค้าส่งจำนวน 6 แบรนด์ ได้แก่ บิ๊กซี สาขาสะพานควาย, เทสโก้โลตัส สาขาบางปะกอกและสาขาดินแดง, ท็อปส์ สาขาเซ็นจูรี่พลาซ่าและสาขาพระราม 9, แมคโคร สาขาแจ้งวัฒนะ, เดอะมอลล์ สาขางามวงศ์วาน,  และฟู้ดส์แลนด์สาขาหัวหมาก และท่านบรรณาธิการบริหารยังได้อนุเคราะห์เก็บตัวอย่างข้าวสารกระสอบด้วยตนเองจากร้านค้าแถวบ้านอีกจำนวน 5 ตัวอย่าง รวมทั้งสิ้น 91 ตัวอย่าง มาทดสอบหาโบรไมด์อิออน โดยส่งห้องปฏิบัติการ SGS ในวันที่ 29 ก.ค. 57 และใช้วิธีการในการทดสอบ (Method) ที่เรียกว่า GC/MS (Headspace) หรือก็คือการตรวจหาโบรไมด์อิออนของเมทิลโบรไมด์ที่ตกค้างในตัวอย่างโดยตรง ผลการทดสอบ สถานการณ์ดีขึ้นแบบผิดหูผิดตา พบการตกค้างของโบรไมด์อิออน ร้อยละ 1 คือ ข้าวขาวหอมมะลิ 100% ตราสุรินทร์ทิพย์ จากฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต สาขาหัวหมาก โดยพบการตกค้างที่ปริมาณน้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัมต่อหนึ่งกิโลกรัม(เปิดถุงทิ้งไว้หน่อยก็ระเหยหมด) ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ไม่เกิด 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่าการทดสอบข้าวสารทั้งแบบบรรจุถุงและบรรจุกระสอบครั้งนี้ ไม่พบการตกค้างของโบรไมด์อิออน หมายเหตุ...ครั้งนี้เราตรวจเฉพาะ เมทิลโบร์ไมด์ แต่ปัจจุบันยังมีสารรมควันข้าวอีกหลายตัว ซึ่งถ้ามีโอกาสจะนำเสนอให้กับท่านผู้อ่านฉลาดซื้อแน่นอน รู้จักเมทิลโบรไมด์ เมทิลโบรไมด์ มีชื่อเรียกอื่นว่าโบรโมมีเทน หรือดาวฟูม หรือเฮลอน 1001 เป็นสารควบคุมที่อยู่ใน Annex E (ยกเลิกการใช้ทั่วโลก) ของพิธีสารมอนทรีออล เป็นสารเคมีสังเคราะห์ ใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม อย่างกว้างขวาง  สำหรับประเทศไทยถูกกำหนดให้ยกเลิกการใช้ในปี 2558 สารนี้ มีสูตรทางเคมีว่า CH3Br เป็นก๊าซที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีอะตอมโบรมีนที่มีผลทำลายโอโซนได้มากกว่าคลอรีนถึง 30-60 เท่า และพบว่ามีปริมาณการปล่อยมากกว่า 40,000 ตัน หรือสองเท่าในทศวรรษที่ 80 และยังพบว่าปลดปล่อยจากแหล่งธรรมชาติ เช่น การเผาไหม้มวลชีวภาพถึง 30,000 – 50,000 ตัน/ปี และมากกว่าครึ่งของเมทิลโบรไมด์ที่ผลิตขึ้นจะถูกปล่อยสู่บรรยากาศ ในภาคเกษตร ใช้สำหรับป้องกันและกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ โดยใช้รมควันในดิน ธัญพืช โกดัง และเรือ นอกจากนี้ยังใช้เป็นสารกำจัดไรและกำจัดวัชพืชด้วย ในภาคอุตสาหกรรม ใช้เป็นสารในการสังเคราะห์สารเคมีอื่นๆ สารตัวนี้ระเหยเข้าสู่บรรยากาศได้รวดเร็ว และแพร่กระจายสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ในที่สุดก็จะกลับสู่พื้นโลกโดยมากับฝนหรือน้ำค้าง ส่วนใหญ่อันตรายต่อคนจะเกิดจากการหายใจเข้าไป ทำความระคายเคืองต่อปอด และเป็นพิษต่อระบบประสาท ทำให้เกิดการเสพติดได้ด้วย ค่ามาตรฐานที่ยอมรับได้ คือ 9 ไมโครกรัม/เดซิลิตร ที่มา: ฐานความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี ผู้เขียน รศ.สุชาตา ชินะจิตร 19 ก.ค. 2549                                                        

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 162 ไข่กุ้งในอาหารญี่ปุ่น

อาหารญี่ปุ่นนั้นได้รับความนิยมไปทั่วโลก คนไทยก็ชอบอาหารญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ร้านจำหน่ายอาหารญี่ปุ่นมีจำนวนมากมาย ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ต่างก็มีร้านอาหารญี่ปุ่นเป็นตัวเลือกให้ลิ้มลองกันทั้งนั้น หรือ “ซูชิ” อาหารญี่ปุ่นยอดนิยม ระดับตลาดล่างคำละ 5 บาท 10 บาท ก็พบเห็นได้ทั่วไปตามตลาดนัดต่างๆ  และหากใครนึกสนุกอยากทำกินเอง วัตถุดิบก็หาได้ไม่ยากเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในวัตถุดิบที่มีคนไทยนิยมกันมาก ก็คือ “ไข่กุ้ง” ที่ทำมาจากไข่ปลานั่นเอง ไข่กุ้งที่ใช้ทำซูชินั้นไม่ได้เป็นไข่ของกุ้งจริงๆ แต่เป็นไข่ปลา ซึ่งเดิมใช้ไข่ของปลา Capelin หรือปลาไข่ กรรมวิธีการทำไข่จากปลา Capelin มาเป็นไข่กุ้ง(เทียม) นั้นต้องนำไข่ของปลามาหมักและปรุงรสจนได้ไข่ที่มีลักษณะโปร่งใส และมีสีส้มๆ คล้ายกับกุ้ง ซึ่งจะเรียกกันอย่างแพร่หลายในร้านซูชิที่ประเทศญี่ปุ่นว่า Ebiko แต่เมื่อปลาไข่หาได้ยากขึ้น จึงเปลี่ยนมาใช้ไข่ของปลา Flying Fish หรือ ปลาบิน (บ้านเราเรียกปลานกกระจอก) เพื่อทดแทนไข่จากปลา Capelin และเรียกไข่จากปลาบินว่า Tobiko เพื่อป้องกันการสับสน โดยไข่ของปลา Flying fish มีขนาดเล็กประมาณ 0.5-0.8 มม. ตามปกติจะมีสีส้มแดง รสออกเค็มอ่อนๆ บางครั้งนำไปย้อมเป็นสีอื่น เช่น ย้อมวาซาบิได้ไข่สีเขียว ย้อมขิงได้ไข่สีส้ม หรือย้อมกับหมึกของปลาหมึกจะได้สีดำเห็นวางขายกันหลายที่ ฉลาดซื้อเลยเลือกซื้อจากหลายแหล่งขายทั้งในห้างค้าส่ง ค้าปลีก ร้านอาหารญี่ปุ่นและทางร้านค้าออนไลน์ เพื่อทดสอบดูว่ามีการใช้วัตถุกันเสียหรือไม่ ผลทดสอบไม่พบการตกค้างของวัตถุกันเสียยอดนิยมทั้งซอร์บิกและเบนโซอิก เป็นอันว่าปลอดภัยจากสองตัวนี้ แต่สำหรับส่วนสีสันจัดจ้านนั้น ไว้รอผลทดสอบกันอีกครั้งนะคะ   ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น   flying fish หรือ ปลาบิน,ปลานกกระจอก อยู่ในวงศ์ Exocoetidae เป็นวงศ์ของปลากระดูกแข็ง...พบ มากกว่า 50 ชนิดทั่วโลก แบ่งออก เป็น 8 สกุล...รูปร่างลักษณะโดยรวม มีลำตัวยาวมากค่อนข้างกลม ส่วนใหญ่มีลำตัวสีเขียว หรือสีน้ำเงินหม่น ข้างท้องสีขาวเงิน จะงอยปากสั้นทู่สั้นกว่าตา ปากเล็กไม่มีฟัน ไม่มีก้านครีบแข็งที่ทุกครีบ ครีบหูขยายใหญ่ยาวถึงครีบหลัง ครีบท้องขยายอยู่ในตำแหน่งท้อง ครีบหางมีแพนล่างยาวกว่าแพนบน ครีบหางเว้าลึกแบบส้อม เส้นข้างลำตัวอยู่ค่อนลงทางด้านล่างของลำตัว เกล็ดเป็นแบบขอบ บางไม่มีขอบหยักหรือสากหลุดร่วงง่าย จัดเป็นปลาทะเลขนาดเล็ก มีความยาวเต็มที่ ไม่เกิน 30 เซนติเมตร พบกระจายพันธุ์ในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก โดยพบในทะเลที่ห่างจากชายฝั่งพอสมควร นิยมอยู่รวมกันเป็นฝูงและหากินบริเวณผิวน้ำ มีจุดโดดเด่นอยู่ที่ครีบอกขนาดใหญ่ และยาวออกมามีลักษณะคล้ายคลึงกับปีกของนก หรือปีกของผีเสื้อ และเมื่อว่ายน้ำด้วยความเร็วสูงแล้วกางครีบอกออก เมื่อตกใจหรือหนี ภัยจะกระโดดได้ไกลเหมือนกับร่อนหรือเหินไปในอากาศเหมือนนกบิน ด้วยเหตุนี้เอง จึงกลายมาเป็นชื่อของปลาบิน...ซึ่งอาจจะ บินได้ไกลถึง 30 เมตร ขึ้นอยู่กับขนาดของตัวปลา และจังหวะที่ลอยตัวขึ้นบนอากาศ โดยใช้ครีบอกหรือครีบหูที่มีขนาดใหญ่มากเป็นตัวพยุงช่วย ในขณะที่บางชนิด ยังมีการใช้ครีบก้นที่มีขนาดใหญ่ร่วมด้วย ชาวประมง...มักจะจับตัวมัน ได้ในช่วง เวลาวางไข่ประมาณต้นฤดูร้อน เพื่อนำไข่มาประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ โดยมีวิธีเก็บรักษา คือ นำใส่ถุงมัดปากถุงให้สนิท แล้วเก็บใส่กล่องพลาสติก ปิดฝาให้สนิทนำเข้าแช่ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บได้นานหลายวัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 161 วัดค่าพลังงานและโซเดียมกับอาหารเช้าสำเร็จรูป

ชีวิตที่เร่งรีบแบบในโฆษณาสารพัดอาหารเช้าสำเร็จรูป อาจสร้างภาพให้ดูสวยงามด้วยวิธีการแก้ไขปัญหาแบบง่าย คือ แค่ฉีกซองเติมน้ำร้อนก็อิ่มท้องสบายๆ แต่อย่าลืมกันนะว่าของสำเร็จรูป  มันไม่ควรเป็นคำตอบสุดท้าย ที่จริงแล้วมันควรจะเป็นแค่ตัวช่วยเฉพาะกิจเท่านั้น เพราะถ้าจัดเต็มกันทุกวัน ท่านมีปัญหาสุขภาพแน่ โซเดียมแทบไม่ต่างจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ฉลาดซื้อเคยทดสอบปริมาณโซเดียมทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและโจ๊กซอง เราพบว่ามันมีค่าโซเดียมแทบไม่ต่างกัน จึงควรระวังในการบริโภค เรื่องน่ายินดีคือ การสำรวจครั้งนี้ฉลาดซื้อพบว่า โจ๊กซองหลายแบรนด์มีค่าโซเดียมลดลง เช่น มาม่า โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป รสหมู มีโซเดียม 2826 มก. /100 ก.(ฉลาดซื้อ ฉ.101)  เมื่อสำรวจซ้ำคราวนี้พบว่าลดลงมาที่ 1961 มก./100 ก.   ü ปริมาณโซเดียมที่เหมาะสม แนะนำให้บริโภคประจำวันคือ ไม่เกิน 2400 มิลลิกรัม//ปริมาณโซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสหมูสับ อยู่ที่ประมาณ 1500-2000 มก. ü กินโซเดียมมากๆ ทำให้ไตและหัวใจทำงานหนัก ค่าพลังงาน โซเดียมและน้ำตาลในอาหารเช้ากึ่งสำเร็จรูป         //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 161 การปนเปื้อนในน้ำหมักชีวภาพ

กระแสความนิยมบริโภคน้ำหมักชีวภาพน่าจะมาพร้อมกับการเติบโตของเคเบิ้ลทีวียุคไร้การควบคุม ย้อนไปเมื่อราว 5-6 ปีก่อน เคเบิ้ลท้องถิ่นและวิทยุชุมชนผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด คอนเทนต์ที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพด้วยการขายสินค้าที่อวดอ้างสรรพคุณเกี่ยวกับการรักษาโรค บำรุงสุขภาพ ปรากฏอยู่ในสื่อประเภทนี้เกือบตลอดทั้งวัน น้ำหมักชีวภาพ หรือน้ำเอนไซม์ ก็เป็นตัวหนึ่งที่โด่งดัง หากจำกันได้ ผู้ที่สร้างกระแสฮือฮามากที่สุดเกี่ยวกับน้ำหมักชีวภาพก็คือ ป้าเช้ง หรือ นางสาวศิริวรรณ ศิริสุนทรินท์ ป้าเช็งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม หลังจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) แจ้งความดำเนินคดี ในข้อหาเป็นผู้ผลิตน้ำหมักชีวภาพ  "น้ำมหาบำบัด" ราคาขวดละ 1,000 บาท อ้างรักษาได้สารพัดโรค และ "น้ำเจียระไนเพชร "ราคาขวดละ 100 บาท ซึ่งอวดสรรพคุณว่าใช้เป็นยาหยอดตา(ทำให้มีคนตาบอด) ในข้อหาจำหน่ายและโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาเกินจริง (วันที่ 25 มกราคม 2553) ปัจจุบันป้าเช้ง ก็ยังขายฝันอยู่ด้วยการประกาศแจกสูตรน้ำหมักฟรี ด้วยสโลแกน ทำเอง กินเอง เพราะสูตรน้ำหมักไม่ได้ทำยากเย็นอะไรเลย และการกินน้ำหมักหรือของหมักที่เกิดจากจุลินทรีย์ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร มนุษย์เรากินกันมาแต่โบราณแล้ว ข้าวหมาก ไวน์ น้ำส้มสายชูหมัก ก็อยู่ในตระกูลเดียวกับน้ำหมักชีวภาพ ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า น้ำหมักกินได้หรือไม่ได้ แต่ปัญหาคือ การอวดอ้างว่า กินน้ำหมักแล้วรักษาโรคได้ อย่างที่ป้าและคนอื่นๆ ที่แห่ทำขายตามๆ กันมาประกาศต่อชาวโลกต่างหากที่สร้างความสับสนให้กับคนทั่วไป เช่นเดียวกันกับสินค้าด้านสุขภาพอีกหลายประเภท ลำพังตัวมันเองอาจไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหามาจากความมักง่ายของผู้ผลิตที่ผสมสารเคมีทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์ลงไปในผลิตภัณฑ์ด้วย ทั้งนี้เพื่อทำให้เกิดผลบางอย่างที่สอดคล้องกับคำโฆษณา เช่น การผสมสเตียรอยด์ในยาแผนโบราณ หรือการผสมยาลดน้ำหนักลงในกาแฟ เพื่อให้เห็นผลเร็วในการบรรเทาอาการ สำหรับน้ำหมักชีวภาพปัญหาที่พบในส่วนของการผสมสารเคมีอันตรายลงไปคือ การผสม ไดคลอโรมีเทน หรือ เมทิลีนคลอไรด์ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ผลทดสอบ ล่าสุดทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี รายงานพบ เครื่องดื่ม น้ำหมักพืชแท้(หอม หวาน เย็นซ่า เต็มพลัง) ตราผู้ใหญ่สุพรรณ ปนเปื้อน ไดคลอโรมีเทน 4,695 มิลลิกรัม/ลิตร  ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐอเมริกา  กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ยามีปริมาณไดคลอโรมีเทนเจือปนได้ไม่เกิน 600 ส่วนในล้านส่วน หรือคิดเป็น 600 มิลลิกรัม/ลิตร นอกจากนี้สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สหรัฐอเมริกา กำหนดให้มีปริมาณไดคลอโรมีเทนปนเปื้อนในน้ำดื่มได้ไม่เกิน 0.005 มิลลิกรัม/ลิตร เครื่องดื่ม "น้ำหมักพืชแท้ หอม หวาน เย็นซ่า" เต็มพลังตราผู้ใหญ่สุพรรณ แพร่หลายทุกจังหวัดในแถบภาคอีสาน อาทิ นครราชสีมา สกลนคร ขอนแก่น และนครพนม มักอวดอ้างสรรพคุณทางยาที่สามารถรักษาโรค ให้หายขาดได้ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำหมักเต็มพลัง ตราผู้ใหญ่สุพรรณ ต้องจัดเป็นยาเพราะมีการแสดงสรรพคุณที่ฉลากว่า บำรุงร่างกาย แต่กลับไม่ได้ขออนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับยาจึงจัดเป็นยาเถื่อน ขอให้ผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อซื้อยามาบริโภคโดยเด็ดขาด เพราะนอกจากเสียเงินโดยไม่จำเป็นแล้วยังไม่ปลอดภัยอีกด้วย ---------------------------------------------------------------------------------------------- ไดคลอโรมีเทน หรือ เมทิลีนคลอไรด์ เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 1 มีลักษณะเป็นของเหลวไม่มีสี ระเหยได้ง่าย มีกลิ่นหอม มักใช้เป็นตัวทำละลายการได้รับสารในระดับต่ำ อาจทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท เช่น เคลิ้มฝัน เวียนศีรษะ กระวนกระวาย นอกจากนี้ยังระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการระคายคอ ไอ หายใจไม่อิ่ม การรับสัมผัสโดยการกินจะทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาจมีแผลและเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ การได้รับสัมผัสในระดับสูง อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย และกดระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้การหายใจล้มเหลวได้อาการทางระบบประสาทหลังสัมผัสที่ระดับสูง ได้แก่ ปวดศีรษะ มีอาการผิดปกติด้านจิตใจและการเคลื่อนไหวจะกดระบบประสาทส่วนกลางจนหมดสติ เมื่อได้รับปริมาณสูง คือ การทำลายระบบประสาททำให้เสียชีวิต ระยะยาวอาจจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ---------------------------------------------------------------------------------------------- การปนเปื้อนเชื้อโรคอันตราย น้ำหมักชีวภาพอีกหนึ่งปัญหาที่พบเสมอคือ การพบ เชื้อโคลิฟอร์ม และ อี. โคไล ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการท้องร่วงได้ตั้งแต่เล็กน้อย  จนกระทั่งรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีอาการปวดมวนท้อง ถ่ายเหลว อาจจะมีเลือดปน และมีไข้ได้   จุลินทรีย์กับน้ำหมัก จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าต้องอาศัยการส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ จุลินทรีย์แพร่กระจายโดยทั่วไปในธรรมชาติอย่างกว้างขวางในที่ที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโต  อาหารและเครื่องดื่มแต่ละชนิดมีจำนวนจุลินทรีย์แตกต่างกันไป ซึ่งอาจมีอยู่โดยธรรมชาติ หรือเติมลงไปเพื่อทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ตามที่ต้องการ เช่น นมเปรี้ยว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์  น้ำส้มสายชู กรดอินทรีย์ ยาปฏิชีวนะ  เป็นต้น  น้ำหมักชีวภาพเกิดจากการกระทำของแบคทีเรียที่สร้าง กรดแลกติก เป็นส่วนใหญ่ พบว่าแบคทีเรียเหล่านี้อาจมีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งอาจปนเปื้อนมากับส่วนผสมของน้ำหมักชีวภาพ คือ ผัก ผลไม้ น้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำ รวมทั้งมาจากกระบวนการและกรรมวิธีในการผลิต หรืออาจเติมลงไปเพื่อใช้เป็นหัวเชื้อในการผลิต ซึ่งนิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหมักหลายชนิด การเติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ในการผลิตนี้ เป็นการควบคุมการเจริญของจุลินทรีย์ปนเปื้อนอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลเสียได้  เช่น แบคทีเรียโคไลฟอร์ม (Coliform) และ อี โคไล (E. coli) เป็นดัชนีชี้บ่งถึงสุขลักษณะของน้ำสมุนไพรสกัดชีวภาพ แบคทีเรียสตาฟีโลค็อคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) บาซิลลัส ซีเรียส (Bacillus cereus) อาจสร้างสารพิษในน้ำหมัก ทำให้อาหารเป็นพิษ คลอสทริเดียม เปอร์ฟริงเจน (Clostridium perfringens) เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ แบคทีเรียซาลโมเนลลา (Salmonella spp.) อาจเป็นสาเหตุทำให้น้ำสมุนไพรสกัดชีวภาพเน่าเสีย นอกจากนี้ยังอาจพบราบางชนิดที่ปนเปื้อน จะสามารถสร้างสารพิษได้  และยีสต์อาจทำให้น้ำหมักเสียรสชาติ มีกลิ่นและลักษณะไม่เป็นที่ต้องการ  ความปลอดภัยและคุณภาพต่อการบริโภคนั้นขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของจุลินทรีย์ที่พบในกระบวนการผลิต และต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญของจุลินทรีย์ที่ต้องการในกระบวนการผลิต ในการควบคุมปัญหาการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ต่างๆ อาจใช้ความร้อน โดยการลวก หรือต้มวัตถุดิบ ส่วนผสมของการผลิตน้ำหมัก  หรืออาจเติมสารเคมีชนิดที่ใช้ในการผลิตอาหารลงในน้ำหมัก รวมทั้งการเลือกใช้วัตถุดิบที่สะอาด ปลอดภัย ในการผลิตน้ำหมักพืช เพื่อเป็นการควบคุมและกำจัดจุลินทรีย์ปนเปื้อน  ทั้งนี้จะต้องอาศัยกรรมวิธีที่เหมาะสมที่จะช่วยในการควบคุมและกำจัดจุลินทรีย์ปนเปื้อน แต่ไม่ทำให้คุณค่าสารสำคัญในน้ำหมักสลายหรือเสียสภาพไป http://www.be-v.net/index.php?lay=show&ac=article&Ntype=20 //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 160 เวเฟอร์ช็อกโกแลต เผลอเคี้ยวเพลิน อ้วนแน่

เวเฟอร์ เป็นขนมหรือของว่างแสนคลาสสิค ซึ่งคนไทยรู้จักกินเวเฟอร์กันมานานแล้ว สืบไปก็ตั้งแต่เริ่มคบค้ากับชาวตะวันตก ขนมทองม้วน ทองพับ ก็คือเวเฟอร์แบบหนึ่งที่ได้ผสมผสานวิธีการทำอย่างตะวันตกกับวัตถุดิบในประเทศจนลงตัวและกลายเป็นขนมไทยที่เรารู้จักกันดี ส่วนขนมเวเฟอร์เคลือบหรือสอดไส้ต่างๆ อย่างฝรั่งเราก็คุ้นลิ้นกันมาแต่เด็ก ไม่ต่ำกว่า 40 ปี เป็นสแน็กหรือของกินเล่นที่มาก่อนขนมธัญพืชอบกรอบหรือมันฝรั่งแผ่น และยังคงได้รับความนิยมมาตลอด ขนมเวเฟอร์ที่คนไทยคุ้นเคยจะใช้ชื่อเมืองดังในประเทศจีนเป็นแบรนด์การค้า วัยเด็กของใครหลายคนคงพอร้องเพลงโฆษณาขนมเวเฟอร์กันได้ เวเฟอร์แม้จะใช้วิธีการอบเช่นเดียวกับขนมปังแห้งอย่างแครกเกอร์หรือบิสกิต แต่เนื้อสัมผัสของเวเฟอร์จะมีลักษณะเด่นที่ความ “เบา กรอบ” นิยมตกแต่งหรือเป็นโคนของไอศกรีม หรือนำแผ่นเวเฟอร์มาเคลือบระหว่างชั้นด้วยช็อกโกแลตหรือครีมที่ปรุงแต่งรสหวาน บางทีก็ม้วนแผ่นเวเฟอร์เป็นทรงหลอดกลมแล้วสอดไส้ครีมหวานๆ ลงไป ความนิยมเวเฟอร์ในประเทศไทยมีค่อนข้างสูง ในปี พ.ศ. 2555-2556 ประเทศไทยผลิตขนมปังเวเฟอร์ถึงประมาณ 14 ล้านตัน(ที่มา สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม) และมีมูลค่าการตลาดปีละประมาณ 1,600-1,800 ล้านบาท เฉพาะแผ่นเวเฟอร์เปล่าให้พลังงานไม่มาก แต่เมื่อนำมาเคลือบหรือปรุงแต่งร่วมกับส่วนผสมอื่นจะนิยมให้มีรสหวานจัด นับเป็นขนมให้พลังงานสูงเลยทีเดียว  ฉลาดซื้อจึงขอนำเสนอเปรียบเทียบค่าพลังงานขนมเวเฟอร์ โดยเน้นที่รสช็อกโกแลต ซึ่งถือเป็นรสชาติที่ได้รับความนิยมสูงและมีแบรนด์ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาวางขายกันคับคั่งในทุกมุมสแน็กบนชั้นวางสินค้าของห้างค้าปลีกและร้านสะดวกซื้อทั่วไป       เวเฟอร์ มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 คิดค้นขึ้นโดยชาวยุโรป สูตรดั้งเดิมทำจากไข่ขาว ผสมน้ำ เกลือ น้ำตาล จากนั้นนำส่วนผสมเทลงในพิมพ์เหล็กประกบบนล่างแล้วย่างบนเตาถ่านร้อนๆ เมื่อสุกจะได้แผ่นเวเฟอร์บาง เบาและกรอบ สมัยแรกเวเฟอร์ถูกใช้ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิทางศาสนาอย่างการรับศีลมหาสนิท จนถึงช่วงปลายศตวรรษ เวเฟอร์ได้รับความนิยมมากขึ้นในฐานะขนมหวานที่ขาดไม่ได้ ในปี ค.ศ. 1766 พ่อครัวขนมหวานชาวฝรั่งเศสได้พลิกแพลงให้เป็นของหวานขึ้นชื่อยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการม้วนแผ่นเวเฟอร์ขณะร้อนเป็นหลอดกลมแล้วเติมไส้ช็อกโกแลต แยมผลไม้ แล้วผูกด้วยริบบิ้นจนกลายเป็นขนมของฝากยอดฮิตประจำวงสังคมในเวลานั้น ขนมเวเฟอร์ยังถูกนำมาประกอบเป็นขนมได้อีกหลายอย่าง แต่ที่นิยมกันมากคือทำเป็นโคนใส่ไอศกรีม ซึ่งยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน  แม้แต่วาฟเฟิลก็คือเวเฟอร์ที่ผสมยีสต์ลงไปเพื่อให้เนื้อแป้งฟูนุ่มแทนความบางกรอบแบบเวเฟอร์นั่นเอง //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 “เครื่องดื่มแมนๆ” ไว้ดูแลผู้ชายแน่หรือ??

กระแสเครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริงค์ (functional drink) หรือเครื่องดื่มที่มีการเติมวิตามินและสารอาหารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพลงไป กำลังมาแรงสุดๆ หวังเรียกเรตติ้งจากกลุ่มคนรักสุขภาพ กลุ่มคนรุ่นใหม่ คนวัยทำงาน โดยเฉพาะคนในเมืองที่อยากมีสุขภาพที่ดีแต่ไม่มีเวลาดูแลตัวเอง เครื่องดื่มประเภทนี้เริ่มต้นเจาะกลุ่มของผู้หญิงเป็นหลัก เน้นเสริมด้านสุขภาพและความงาม ก่อนจะขยายต่อมายังกลุ่มของผู้ชาย ตามกระแสรักสุขภาพและการดูแลตัวเองที่มีเพิ่มมากขึ้นของหนุ่มๆ แบบไม่น้อยหน้าสาวๆ ขนาดที่ว่าเครื่องดื่มแมนๆ ที่เคยมีภาพลักษณ์เป็นเครื่องดื่มให้พลังงานอย่าง “เครื่องดื่มชูกำลัง” ที่เจาะกลุ่มคนใช้แรงงาน และ “เครื่องดื่มเกลือแร่” ที่เน้นคนเล่นกีฬาเป็นหลัก ยังต้องปรับตัวเองด้วยการเติมวิตามินและสารอาหารต่างๆ เพิ่มลงไป เพื่อหวังปรับภาพลักษณ์ตัวเองให้เป็นเครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริงค์กับเขาด้วย   ดื่มแล้ว “แมน” จริงหรือ? เพราะเดี๋ยวนี้ไม่ใช่แค่สาวๆ เท่านั้นที่ห่วงใยดูแลตัวเอง หนุ่มๆ หลายคนก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการเอาใจใส่ดูแลตัวเองกันมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพ แต่ยังรวมไปถึงผิวพรรณ หน้าตา ความหล่อ เครื่องดื่มที่อ้างว่าดีต่อสุขภาพสำหรับคุณผู้ชาย จึงกลายเป็นอีกหนึ่งสินค้ามาแรง ที่ถูกผลิตออกมาวางขายมากมายหลายรูปแบบหลายยี่ห้อ หวังเกาะกระแสคนรักสุขภาพแต่ไม่ค่อยมีเวลาดูแลตัวเอง โดยมาพร้อมกับสโลแกนแมนๆ อย่าง “เครื่องดื่มแมนๆ ที่มีไว้ดูแลผู้ชาย” หรือ “ปลุกความเป็นชายในตัวคุณ” ฟังแล้วรู้สึกหึกเหิมขึ้นมาทันที คล้ายว่าดื่มแล้วกล้ามจะโตขึ้นมาสักเซ็น 2 เซ็น เครื่องดื่มแมนๆ ทั้งหลายที่วางขายในท้องตลาดส่วนใหญ่ มีส่วนผสมหลักๆ 3 อย่าง คือ น้ำผลไม้ วิตามินหรือแร่ธาตุสารอาหารต่างๆ และสุดท้ายขาดไม่ได้คือ น้ำตาล เราลองมาช่วยกันหาคำตอบดูสิว่า เครื่องดื่มที่ผลิตขึ้นมาเพื่อเอาใจหนุ่มๆ ผู้รักสุขภาพนั้น ดีจริงหรือแค่ราคาคุย   แกะรอยน้ำตาลตัวร้าย เครื่องดื่มที่เจาะตลาดหนุ่มๆ ทั้ง 3 ประเภทที่ฉลาดซื้อสำรวจ ประกอบด้วย เครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริงค์ เครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มเกลือแร่ ถ้าสังเกตจากข้อมูลบนฉลากที่เรานำมาเปรียบเทียบให้ดูนั้น จะเห็นว่าส่วนใหญ่จะมีการเติมน้ำตาลลงไปในปริมาณที่ค่อนข้างสูง ที่พบปริมาณสูงที่สุดคือผลิตภัณฑ์ “แมนซั่ม” ซึ่งเป็นเครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริงค์ ที่เจาะกลุ่มผู้ชายชัดเจน และมีการโฆษณาว่าเป็นเครื่องดื่มสำหรับผู้ชายที่อยากดูแลตัวเอง ข้อมูลฉลากโภชนาการแจ้งว่าใน 1 ขวด มีน้ำตาลสูงถึง 44 กรัม ทั้งๆ ที่ปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วัน คือไม่เกิน 24 กรัม ซึ่งถ้าดื่มเครื่องดื่ม “แมนซั่ม” หมด 1 ขวด ร่างกายของเราจะได้รับน้ำตาลเกินกว่าที่ต้องการถึง 20 กรัม และอย่างที่หลายๆ คนรู้กันดีอยู่แล้วว่า น้ำตาลที่สะสมในร่างกายเป็นตัวการก่อเกิดโรคอันตรายเรื้อรังต่างๆ ทั้ง โรคอ้วน เบาหวาน ความดัน หัวใจ ความหวังของหนุ่มๆ ที่หวังว่าจะดื่มแล้วดูดี ได้วิตามิน แร่ธาตุ ก็เป็นเพียงแค่ฝันกลางวันเท่านั้น เพราะความจริงสิ่งที่หนุ่มๆ จะได้จากการดื่มเครื่องดื่มขวดนี้ คือ น้ำตาลล้วนๆ เพราะน้ำตาลมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างพลังงานแก่ร่างกาย กระตุ้นการทำงานของสมอง ทำให้รู้สึกสดชื่น เครื่องดื่มส่วนใหญ่จึงมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก โดยเฉพาะเครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มเกลือแร่ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยเพิ่มความสดชื่น สร้างความตื่นตัวของสมองและระบบประสาท ซึ่งทำให้เครื่องดื่มเหล่านี้มีการเติมน้ำตาลลงไปในปริมาณที่ค่อนข้างสูง โดยเครื่องดื่มชูกำลังจะมีปริมาณนำตาลต่อ 1 ขวด อยู่ที่ 17 – 28 กรัม ขณะที่เครื่องดื่มเกลือแร่จะมีน้ำตาลอยู่ประมาณ 30 – 36 กรัม ส่วนเรื่องของวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่มีการผสมลงไปนั้น เป็นการเติมลงไปเพื่อผลทางการตลาดเป็นสำคัญ แม้บางตัวอย่างบางยี่ห้อมีการเติมวิตามินและแร่ธาตุลงไปในปริมาณที่ค่อนข้างสูง  แต่ก็ไม่คุ้มกันกับที่ร่างกายของเราต้องรับปริมาณน้ำตาลจำนวนมากเข้าไปด้วย               “วิตามิน” ใน “ฟังก์ชันนัล ดริงค์” ดีจริงหรือแค่โฆษณา   วิตามินบี12 วิตามินบี 12 ถือเป็นวิตามินยอดฮิตที่เครื่องดื่มในกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลังนิยมนำมาเติมลงไป พร้อมกับชูเป็นจุดขายว่าเครื่องดื่มชูกำลังขวดนี้ไม่ใช่แค่เครื่องดื่มชูกำลังธรรมดา แต่ว่าดื่มแล้วดีมีประโยชน์ เพราะมีวิตามินบี 12 ช่วยบำรุงสมอง โฆษณากันขนาดนี้ จนทาง อย. ต้องรีบออกมาควบคุม เพราะเครื่องดื่มชูกำลังอย่างที่รู้กันว่าเป็นเครื่องดื่มควบคุมจำกัดปริมาณการปริโภค “ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด” นั่นเป็นเพราะการที่ร่างกายได้รับปริมาณคาเฟอีมมากเกินไปอาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย เพราะนอกจากจะไปกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท ยังมีผลต่อหัวใจ ทำให้ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ทำให้ความดันโลหิตสูง ซึ่งถือว่าไม่ปลอดภัย ถ้าหากจะถามว่าร่างกายของเรามีความจำเป็นที่จะต้องได้รับวิตามินบี 12 จากเครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีการเติมวิตามินบี 12 เพิ่มลงไปหรือไม่ ตอบได้ทันทีเลยว่าไม่จำเป็น เพราะวิตามินบี 12 นั้นหาทานได้ง่าย ร่างกายเราสามารถได้รับวิตามินมี 12 อยู่แล้วจากจากกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ต่างๆ โดยอาหารที่ถือเป็นแหล่งที่มีวิตามินบี 12 สูง มีอย่างเช่น เครื่องในสัตว์ โดยเฉพาะตับ ไข่แดง นม อาหารทะเลอย่าง หอย และ ปู ที่สำคัญปริมาณวิตามินบี 12 ที่ร่างกายของเราต้องการต่อวันอยู่ที่แค่ 600 ไมโครกรัม (0.06 มิลลิกรัม) เท่านั้น เราจึงไม่มีความจำเป็นต้องรับวิตามินเข้าสูงร่างกายในปริมาณมากๆ ซึ่งวิตามินบี 12 (และรวมถึงวิตามินบีอื่นๆ) เป็นวิตามินที่มีคุณสมบัติละลายน้ำ เมื่อร่างกายได้รับเกินความต้องการ สุดท้ายก็จะถูกขับทิ้งทางปัสสาวะ   วิตามินซี อีกหนึ่งวิตามินยอดนิยมที่ถูกนำมาเป็นจุดขายในเครื่องดื่มกลุ่มฟังก์ชันนัลดริงค์ ด้วยความที่วิตามินซีถูกสร้างภาพทางการตลาดว่าเป็นวิตามินวิเศษครอบจักรวาล ป้องกันได้ทั้งโรคหวัด ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ต้านอนุมูลอิสระ ทำให้ผิวหน้าเต่งตึง ขาวกระจางใส ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่วิตามินซีดีต่อร่างกายของเรา แต่ถึงอย่างไรร่างกายของเราก็ต้องการวิตามินซีในปริมาณที่พอเหมาะพอดี และใครที่กินอาหารครบ 5 หมู่ กินผักกินผลไม้เป็นประจำอยู่แล้ว โอกาสที่ร่างกายจะขาดวิตามินซีนั้นแทบจะเป็น 0 ในหนึ่งวันร่างกายของคนเราต้องวิตามินซีที่ปริมาณ 60 มิลลิกรัม (ที่มา: สารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป thai RDI) ซึ่งวิตามินซีมีอยู่มากมายในผัก – ผลไม้ โดยเฉพาะ ฝรั่ง ยอดคะน้า มะรุม มะละกอ ส้มโอ ฯลฯ สำหรับเรื่องของวิตามินซีเสริมที่มีวางจำหน่ายมากมายในปัจจุบัน ซึ่งเกิดจากคำแนะที่ว่าใน 1 วัน เราควรกินวิตามินซีเฉลี่ยที่ 1,000 มิลลิกรัม (ซึ่งตรงกับปริมาณของวิตามินชนิดเม็ดที่วางขายอยู่ในปัจจุบันแบบพอดิบพอดี) ก็ถือเป็นทางเลือกสำหรับคนที่พอจะมีทุนทรัพย์หาซื้อมารับประทานเพิ่มเติม หรือใครที่มีภาวะขาดวิตามินซีและแพทย์แนะนำว่าต้องทานวิตามินเสริม คนที่ทานผัก-ผลไม้เป็นประจำ ร่างกายก็น่าจะได้รับวิตามินซีในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการแล้ว   คอลลาเจน คอลลาเจน ถือเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผิวหนังของเรามีความยืดหยุ่น เต่งตึง ทำงานประสานกับเซลล์อื่นๆ ในชั้นผิวหนัง ซึ่งคอลลาเจนใต้ชั้นผิวหนังก็จะค่อยๆ เสื่อมสภาพไปตามวัย เป็นเหตุให้เมื่ออายุมากเข้าผิวหนังจะเริ่มหย่อนคล้อยลงเรื่อยๆ  ด้วยความที่หน้าที่ของคอลลาเจนดันไปเกี่ยวโยงเข้ากับเรื่องผิวพรรณความงาม ทำให้คอลลาเจนถูกดึงไปเป็นจุดขายของบรรดาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมทั้งหลายๆ ที่ขายเรื่องความงาม ขนาดเครื่องดื่มแมนๆ บางยี่ห้อยังต้องใช้คอลลาเจนมาเป็นจุดขาย บรรดาคุณหมอและนักวิชาการด้านสุขภาพส่วนใหญ่ต่างก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า การทานคอลลาเจนที่มาในรูปแบบของเครื่องดื่ม ทั้งแบบฟังก์ชันนัล ดริงค์ และแบบผงที่เอามาชงน้ำดื่ม ร่างกายไม่สามารถดูดซึมคอลลาเจนนำไปใช้งานเสริมสร้างคอลลาเจนในร่างกายได้ เพราะคอลลาเจนที่เรากินเข้าไปนั้นก็จะต้องถูกนำไปย่อยเช่นเดียวกับโปรตีนทั่วไป ก่อนจะกลายเป็นกรดอะมิโนเพื่อให้ร่างกายดูดซึมไปใช้งาน ความจริงแล้วร่างกายของเราสามารถผลิตคอลลาเจนได้เอง แต่ว่าปริมาณจะลดน้อยลงตามอายุที่มากขึ้น และปัจจัยภายนอกอื่นๆ เช่น อันตรายจากรังสีอุลตร้าไวโอเลต รวมถึงปัจจัยจากการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม อย่างอาหารปิ้งย่างที่มีส่วนที่ไหม้เกรียม อาหารมันๆ อาหารปนเปื้อนสารเคมี เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น   ซิงค์ หรือ สังกะสี สังกะสีถือเป็นแร่ธาตุสำคัญที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย มีส่วนในการเจริญเติบโตของร่างกาย ช่วยในการสร้างเซลล์ใหม่ๆ สร้างอินซูลิน เป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ ช่วยให้กระดูกและผนังหลอดเลือดแข็งแรง โดยปกติร่างกายเรามีความต้องการแร่ธาตุสังกะสีอยู่ที่ประมาณ 15 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเราสามารถได้รับสังกะสีจากการกินอาหารจำพวก เนื้อสัตว์ อาหารทะเล (โดยเฉพาะหอยนางรม) ไข่แดง นม ตับ จมูกข้าวสาลี ถั่วและธัญพืชต่างๆ    ไนอะซิน ไนอะซิน หรือ วิตามินบี 3 ประโยชน์ใกล้เคียงกับวิตามินบี 12 ที่ช่วยในการทำงานของระบบประสาท ทำให้เครื่องดื่มชูกำลังก็มักมีการเติมไนอะซินลงไปด้วยเช่นเดียวกับวิตามินบี 12 เหตุผลหนึ่งที่ทำให้วิตามินบีทั้งหลาย ถูกเลือกนำมาผสมในเครื่องดื่มต่างๆ เป็นเพราะ วิตามินบีมีคุณสมบัติละลายน้ำ เหมาะแก่การนำมาผสมลงในเครื่องดื่ม ร่างกายไม่ได้ต้องการไนอะซินเยอะ กินเนื้อสัตว์ ไข่ นม และธัญพืชต่างๆ ก็เป๊ะแล้ว   ฉลาดซื้อแนะ -เครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริงค์ ที่วางขายอยู่ตามท้องตลาด ไม่ว่าจะเจาะกลุ่มผู้ชายหรือผู้หญิง ส่วนใหญ่เป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก เพราะช่วยเพิ่มเรื่องรสชาติ ดื่มง่าย อร่อย ดื่มแล้วรู้สึกสดชื่น ส่วนความคิดที่ว่าดื่มแล้วจะได้รับวิตามิน แร่ธาตุต่างๆ ดื่มแล้วสุขภาพดี ผิวขาวสวย หน้าใส คงเป็นเพียงแค่คำโฆษณาเพื่อผลทางการตลาดเท่านั้น ดีที่สุดก็คงได้แค่ดื่มแก้กระหาย แต่ระวังให้ดีดื่มมากๆ น้ำตาลจะไปทำร้ายสุขภาพ   -เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนผสมหลัก ซึ่งดื่มมากๆ คาเฟอีนจะส่งผลเสียต่อระบบประสาทและการทำงานของหัวใจ เพราะฉะนั้นที่โฆษณาว่า ดื่มเครื่องดื่มชูกำลังแล้วดีเพราะมีวิตามินบี 12 จึงเป็นแค่คำโฆษณาหวังกระตุ้นให้มีการดื่มเครื่องดื่มชูกำลังเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด และทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง อย. ก็พยายามจัดการกับผู้ผลิตที่มีการโฆษณาในลักษณะนี้ เพราะกฎหมายบอกไว้ชัดเจนว่าห้ามมีการส่งเสริมการขายเครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ต้องมีการควบคุมการบริโภค ใครที่หวังจะฉลาดเพราะได้วิตามินบี 12 จากเครื่องดื่มชูกำลัง ให้ทิ้งความคิดนี้ไปได้เลย เพราะไม่เป็นผลดีกับสุขภาพแน่นอน   -เครื่องดื่มเกลือแร่ ส่วนประกอบหลักๆ คือ น้ำตาล และสารให้ความหวานอื่นๆ เช่น กลูโคส ฟรุคโตส รวมถึงโซเดียมคลอไรด์ กับ โพแทสเซียมคลอไรด์ ซึ่งสารเหล่านี้มีส่วนช่วยให้ร่างกายของเราดูดซึมน้ำในร่างกายไปใช้ได้เร็วขึ้น ซึ่งเครื่องดื่มเกลือแร่ก็มีข้อเสียถ้าดื่มในปริมาณมากเกินไป เพราะเป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและโซเดียมสูง อาจส่งผลเสียต่อสมดุลการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น ไต หัวใจ ระบบไหลเวียนของเลือด เครื่องดื่มเกลือแร่จึงเหมาะกับคนที่เสียเหงื่อมากๆ จากการเล่นกีฬา เพราะเครื่องดื่มชนิดนี้ช่วยกระตุ้นการดูดซึมน้ำในร่างกาย ชดเชยน้ำที่เสียไป แต่ในความเป็นจริงการดื่มน้ำเปล่าธรรมดาก็สามารถช่วยลดอาการเหนื่อยและอาการขาดน้ำได้เช่นกัน    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 159 โดนัทกับสารกันบูด

นอกจากฉลาดซื้อจะชอบทดสอบเรื่องคุณค่าทางโภชนาการในอาหารแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่เราให้ความสนใจเป็นพิเศษ ก็คือเรื่อง “สารกันบูด” ซึ่งอาหารเดี๋ยวนี้โดยเฉพาะพวกอาหารอุตสาหกรรมทั้งหลาย มักนิยมเติมสารกันบูดกันเสียลงไป เพื่อหวังยืดอายุอาหารให้นานยิ่งขึ้น วางอยู่บนชั้นวางสินค้าได้นานกว่าเดิม เพิ่มโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้น ผู้บริโภคอย่างเราก็เสี่ยงอันตรายจากสารกันบูดมากขึ้นตามไปด้วย ถ้ายังจำกันได้ฉลาดซื้อเราเคยทดสอบดูสารกันบูดในขนมปังหลากหลายประเภทที่วางขายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในร้านสะดวกซื้อ ทั้ง ขนมปังแซนวิช เค้ก ครัวซอง พบว่าส่วนใหญ่มีการใช้สารกันบูด แถมบางตัวอย่างก็พบปริมาณของสารกันบูดเกินค่ามาตรฐาน ฉบับนี้ ฉลาดซื้อขอนำเสนอผลวิเคราะห์สารกันบูดในขนมปังอีกครั้ง แต่เน้นไปที่กลุ่มขนม “โดนัท” ขนมยอดนิยมที่ทำจากแป้ง ซึ่งผู้ผลิตมักอ้างว่ามันมีการผสมสารกันบูดมาตั้งแต่ตอนเป็นวัตถุดิบแล้ว   โดนัทสารกันบูดน้อย ü สารกันบูดที่ใช้ในโดนัทพบในปริมาณที่น้อยมาก ที่พบสูงสุดคือโดนัทน้ำตาลไม่มียี่ห้อ ซึ่งทอดขายอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ชัย พบว่าปริมาณสารกันบูด 2 ชนิด คือ เบนโซอิกพบ 18.72 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และซอร์บิกพบ 3.17 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม รวมแล้วเท่ากับ 21.89 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ถ้าคิดเฉลี่ยต่อโดนัท 1 ชิ้นที่น้ำหนัก 30 กรัม เท่ากับพบว่ามีการใช้สารกันบูดเฉลี่ยที่ 6.57 มิลลิกรัมเท่านั้น และการทดสอบครั้งนี้จากตัวอย่างโดนัททั้งหมด 8 พบว่ามี 3 ตัวอย่างที่มีสารกันบูด ส่วนอีก 5 ตัวอย่างไม่พบ ถือว่าเป็นข่าวดี ü มีแนวโน้มที่ดีในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ เมื่อเทียบกับผลการทดสอบครั้งก่อนที่ฉลาดซื้อเคยทำ ครั้งนั้นพบมีสารกันบูด 5 จาก 9 ตัวอย่าง โดยมิสเตอร์ โดนัทเป็นตัวอย่างที่พบสารกันบูดในการสำรวจทั้ง 2 ครั้ง คราวก่อนพบกรดเบนโซอิกที่ปริมาณ 36.24 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม(โดนัท 1 ชิ้น 30 กรัม พบสารกันบูด 10.9 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม)  แต่ในทดสอบครั้งนี้ ตัวอย่างโดนัทจากร้านมิสเตอร์ โดนัท พบสารกันบูดที่ปริมาณ 20.66 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม(1 ชิ้น 30 กรัม พบสารกันบูด 6.20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) จัดว่ามีแนวโน้มที่ดี  ส่วนยี่ห้อ ดังกิ้น โดนัท และ โดนัท แดดดี้ โด ที่เคยตรวจพบสารกันบูดในการวิเคราะห์ครั้งก่อน ครั้งนี้ไม่พบการใช้สารกันบูด   สารกันบูดกับโดนัท สารกันบูดที่นิยมใช้ในโดนัทมีอยู่ 3 ชนิด คือ กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) และกรดโปรปิโอนิค (Propionic Acid) ซึ่งตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 พ.ศ. 2547 เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร ได้กำหนดปริมาณสูงสุดที่ของวัตถุกันเสียที่อนุญาตให้พบได้ในอาหารอยู่ที่ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ไม่ว่าอาหารชนิดนั้นจะใช้สารกันเสียกี่ชนิดก็ตาม รวมกันแล้วก็ห้ามเกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม กฎหมายมีการบังคับไว้ว่า ถ้าหากอาหารประเภทใดที่มีการใช้วัตถุกันเสีย ต้องมีการแจ้งข้อมูลบนฉลากว่า “ใช้วัตถุกันเสีย” แต่สำหรับโดนัทที่ขายกันอยู่ส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่เป็นของร้านแฟรนไชส์ต่างๆ จะเป็นแบบผลิตขายกันวันต่อวัน ไม่มีฉลากบอกเรื่องของส่วนประกอบที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ข้อมูลโภชนาการ รวมถึงเรื่องของการใช้สารกันบูด ผู้บริโภคอย่างเราก็เลยต้องอาศัยวิธีการเดากันเอาเองว่าโดนัทยี่ห้อนี่จะมีสารกันบูดหรือเปล่า*   *กินกันแบบไม่รู้อะไรเลย ในต่างประเทศเขากินโดนัทกันมาก่อนเรา กินมากกินกันจริงจัง บางคนถึงขนาดกินเป็นอาหารหลัก กินกันจนสุขภาพเสีย อย่างในอเมริกาที่คนกินโดนัทกันจนน้ำหนักเพิ่มขึ้นเกินมาตรฐาน คนอ้วนเพิ่มจำนวนมากขึ้น คนป่วยก็มากขึ้น เขาเลยมีการรณรงค์เรื่องการกินโดนัทอย่างถูกต้องปลอดภัยกับสุขภาพ ซึ่งบรรดาร้านโดนัทชื่อดังที่นู้นเขาก็ขานรับ ด้วยการช่วยให้ผู้บริโภคได้รู้ถึงข้อมูลโภชนาการ ว่าโดนัทแต่ละชิ้นที่ขายอยู่ให้ร้าน มีคุณค่าทางโภชนาการเป็นอย่างไรบ้าง กินแล้วได้พลังงานเท่าไร ไขมันเท่าไร น้ำตาลแค่ไหน ที่สำคัญมีการบอกด้วยว่ามีการใช้สารกันบูดด้วยหรือเปล่า ซึ่งอย่างน้อยๆ ผู้บริโภคก็ได้มีข้อมูลไว้ตัดสินใจเองได้ว่า ควรกินไม่ควรกิน คนที่ดูแลสุขภาพแต่อยากกินโดนัท ก็จะได้วางแผนควบคุมปริมาณสารอาหารของตัวเองได้ โดยข้อมูลโภชนาการของโดนัทแต่ละรสชาติ (รวมทั้งอาหารประเภทอื่นๆ ที่ขายอยู่ในร้าน) จะถูกเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ของร้าน ผู้บริโภคสามารถคลิกเข้าไปดูได้ก่อนตัดสินใจซื้อ ส่วนผู้บริโภคไทยก็ยังต้องใช้วิธีตนเป็นที่พึ่งแห่งตนกันต่อไป เพราะบรรดาร้านโดนัทที่ขายอยู่ในบ้านเรา ยังไม่มีข้อมูลเรื่องโภชนาการอยู่ในเว็บไซต์ คงได้แต่อาศัยข้อมูลจากเว็บไซต์ของร้านในต่างประเทศมาเป็นข้อมูลเทียบเคียงกันไปก่อน (หรือไม่ก็ใช้ข้อมูลที่ฉลาดซื้อเคยสำรวจไว้ก็ได้)   3 เหตุผลที่ควรรู้ก่อนงั่มโดนัท โดนัทมีไขมันทรานส์ โดนัทเป็นของทอด ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับไขมันทรานส์ ที่มักพบในน้ำมัน รวมถึงในเนยเทียม และมาร์การีน ซึ่งถือเป็นไขมันตัวร้ายมีผลต่อการทำงานของหลอดเลือด เป็นต้นเหตุของโรคหัวใจและความดัน จากผลที่ฉลาดซื้อเคยสำรวจพบว่า ในโดนัท 1 ชิ้น พบปริมาณไขมันทรานส์เฉลี่ยอยู่ที่ 0.045 กรัม ซึ่งองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกากำหนดไว้ว่าในอาหาร 1 หน่วยบริโภค ไม่ควรพบไขมันทรานส์เกิน 0.5 กรัม และเสี่ยงอันตรายจากสารก่อมะเร็งในน้ำมันทอดซ้ำอีกด้วย โดนัทมีน้ำตาลสูง ความหวานอร่อยของโดนัทเกิดจากการปรุงรสชาติด้วยน้ำตาล รวมถึงบรรดาหน้าต่างๆ ของโดนัท ส่วนประกอบหลักก็คือน้ำตาล ฉลาดซื้อเคยสำรวจพบว่า เฉลี่ยในโดนัท 1 ชิ้น จะมีน้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 5.5 กรัม สูงสุดที่พบจากตัวอย่างที่ทดสอบคือ 13.9 กรัม ซึ่งใน 1 วันเราควรได้รับน้ำตาลไม่เกิน 24 กรัม อันตรายๆ 3. โดนัทให้พลังงานสูง จากผลทดสอบที่ได้พบว่า โดนัท 1 ชิ้น (น้ำหนักประมาณ 40 กรัม) ให้พลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 168 กิโลแคลอรี่ ถ้าอิ่มที่ 1 ชิ้นก็ถือว่าโอเค พลังงานยังไม่สูงมาก (ปริมาณพลังงานที่เหมาะสมที่ร่างกายควรได้รับใน 1 วันคือ  2,000 กิโลแคลอรี่) แต่ถ้าอร่อยต่อเนื่อง มีการเบิ้ลชิ้นที่ 2 ชิ้นที่ 3 แล้วยังต้องกินข้าวอีก 3 มื้อ อันนี้ก็บอกได้เลยว่ามีความเสี่ยงอย่างมากที่ร่างกายของเราจะได้รับพลังงานเกิน อ้วนๆๆ    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 เยลลี่ กับสารกันบูด

เดี๋ยวนี้เยลลี่ไม่ได้เป็นแค่ขนมหวานทานเล่นสำหรับเด็กๆ แต่มันได้กลายเป็นอาหารมื้อหลักของสาวๆ บางคน เพราะเชื่อคำโฆษณาที่บอกว่าให้ทานเยลลี่แก้หิว กินแล้วอิ่มท้อง? กินได้ไม่ต้องกลัวอ้วน แถมเยลลี่หลายยี่ห้อกลายเป็นตัวช่วยเรื่องความสวยความงาม เพราะผู้ผลิตเขาเติมวิตามินนู้นนี่นั้น บอกว่ากินแล้วขาว กินแล้วสวย ในวันที่เยลลี่เปลี่ยนไป มีรสชาติใหม่ผลิตออกมายั่วใจทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ฉะนั้นก่อนที่เราจะกินเยลลี่ถ้วยต่อไป จะดีมั้ยถ้าเรารู้ว่าผู้ผลิตเขาผสมอะไรลงในเยลลี่บ้าง ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่เราควรรู้ว่าเขาใส่มาให้เรามากน้อยแค่ไหน ก็คือ “สารกันบูด” เพราะเป็นสิ่งแปลกปลอมต่อร่างกาย ถ้าเราได้รับในปริมาณมากๆ ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพ ถ้าใครเป็นแฟนฉลาดซื้อคงจะรู้กันดีอยู่แล้วว่า เจ้าสารกันบูดในอาหารนั้น สนิทชิดเชื้อกับผู้บริโภคอย่างเราราวกับคนในครอบครัว เพราะอาหารสำเร็จรูปหลากหลายชนิดที่วางขายอยู่ในท้องตลาดล้วนแต่ผูกขาดเรื่องการใช้สารกันบูด ไล่ตั้งแต่ พวกอาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป พวก หมูยอ ไส้กรอก แหนม กุนเชียง อาหารที่ทำจากแป้งอย่าง เค้ก ขนมปัง เนย ช็อกโกแลต อาหารที่ทำมาจากผลไม้ น้ำผลไม้ น้ำหวาน น้ำอัดลม แยม และแน่นอนว่ารวมถึง "เยลลี่"   แคนดี้ฟรุ๊ต -ตัวอย่าง เยลลี่ที่พบว่ามีการใช้สารกันบูดในปริมาณที่สูงที่สุด คือตัวอย่างเยลลี่ยี่ห้อ “แคนดี้ฟรุ๊ต” ผลิตโดยบริษัท แคนดี้ทอย จำกัด ซึ่งปริมาณของสารกันบูดแยกเป็น ซอร์บิค 414.20 มิลลิกรัมต่อเยลลี่ 1 กิโลกรัม และ เบนโซอิค 564.56 มิลลิกรัมต่อเยลลี่ 1 กิโลกรัม รวมพบวัตถุกันเสียทั้ง 2 ชนิดรวมกันเท่ากับ 978.76 มิลลิกรัมต่อเยลลี่ 1 กิโลกรัม ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณสูงสุดที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้คือ ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัมซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณสูงสุดที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้คือ ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม       อย่าเพิ่งตกใจ -แม้จะพบปริมาณสารกันบูด แต่ก็อย่าเพิ่งตกใจ เพราะปกติเราคงไม่ได้กินเยลลี่ครั้งละ 1 กิโลกรัม อย่างเยลลี่ “แคนดี้ฟรุ๊ต” ที่ปริมาณต่อ 1 ชิ้นน้ำหนักอยู่ที่ 40 กรัมเท่านั้น พอเปรียบเทียบกับปริมาณสารกันบูดที่พบเท่ากับว่า เยลลี่ “แคนดี้ฟรุ๊ต” 1 ชิ้น จะมีสารกันบูดเฉลี่ยอยู่ที่ 39.15 มิลลิกรัม -ตัวอย่างเยลลี่ยี่ห้อ “แคนดี้ฟรุ๊ต” นอกจากจะพบปริมาณสารกันบูดสูงที่สุดแล้ว ยังพบว่าเป็นตัวอย่างที่มีปัญหาเรื่องฉลาก เพราะบอกเพียงชื่อผู้ผลิต แต่ไม่ได้บอกสถานที่ตั้ง ไม่บอกวันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ ที่สำคัญคือไม่มีการแจ้งเรื่องการใช้สารกันบูดทั้งๆ ที่มีการใช้ในผลิตภัณฑ์ -สำหรับตัวอย่างเยลลี่อีก 4 ตัวอย่างที่พบการใช้สารกันบูด พบปริมาณซอร์บิคและเบนโซอิครวมกันไม่ถึง 300 มิลลิกรัมต่อเยลลี่ 1 กิโลกรัม   ฉลาดซื้อแนะ แม้ผลวิเคราะห์วัตถุกันเสียในขนมเยลลี่พบการใช้ เพียง 1 ใน 3 ของตัวอย่างทั้งหมด (5 จาก 15 ตัวอย่าง) และตัวอย่างที่พบว่ามีการใช้สารกันบูดก็ไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่เยลลี่ก็จัดเป็นขนม เป็นแค่ของกินเล่น ไม่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ฉลาดซื้อจึงอยากขอแนะนำว่าให้กินแต่น้อยกินแต่พอดี อย่ากินจนอิ่มหรือกินแทนข้าว โฆษณาที่บอกว่าให้กินเยลลี่แทนข้าวได้ กินแทนมื้อเย็น กินแล้วอิ่มเหมือนกัน อย่าได้เชื่อโฆษณาเหล่านี้โดยเด็ดขาด เพราะแม้ว่าจะทานเยลลี่แล้วช่วยให้อิ่มท้อง แต่ถ้าเลือกกินเยลลี่แทนอาหารมื้อหลัก ร่างกายเราก็จะขาดสารอาหาร  เป็นผลเสียต่อสุขภาพ --------------------------------------------------------------------------------------------------   เยลลี่ = ฆาตกร !? ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าขนมเยลลี่ สีสันสดใส อร่อยหวานนุ่ม จะเป็นตัวการร้ายทำให้เด็กเสียชีวิตมาแล้ว?! เมื่อหลายปีก่อนเคยทีกรณีที่เด็กน้อยวัย 2 ขวบ ต้องเสียชีวิตจากการกินเยลลี่ที่คุณแม่เป็นคนป้อน เหตุเพราะเนื้อเยลลี่ที่กินเข้าไปเกิดไปติดคอ เด็กน้อยสำลักเยลลี่ หายใจไม่ออก จนสุดท้ายเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งเรื่องน่าเศร้าครั้งนี้เกิดเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ตัวคุณแม่เองลืมคิดไปว่าเยลลี่แม้จะดูเป็นเนื้อสัมผัสนิ่มๆ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ของเหลว ก่อนกลืนเด็กยังต้องเคี้ยวเนื้อเยลลี่ให้ละเอียดเสียก่อน ซึ่งเด็กเล็กๆ ที่ยังไม่รู้ภาษาทำให้เผลอกลืนเนื้อเยลลี่เข้าไปทันที ซึ่งจะทำให้ติดคอ สำลักเนื้อเยลลี่ ทำให้หายใจไม่ออก จนเกิดเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างที่เป็นข่าว ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เด็กน้อยวัย 2 ขวบเสียชีวิตจากการกินเยลลี่ ทำให้ อย. ต้องรีบออกมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องน่าเศร้าขึ้นอีก โดย อย. ได้มาออกมาคุมเข้มเรื่องฉลากผลิตภัณฑ์เยลลี่ ที่ต้องมีการระบุข้อความคำเตือนเพื่อความปลอดภัยในการกินขนมเยลลี่ ซึ่งคำเตือนจะมีอยู่ 5 ข้อความหลักๆ ประกอบด้วย 1.เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ห้ามรับประทาน 2.ก่อนรับประทานเปิดฝาออกให้หมดทุกครั้ง (ที่มีคำเตือนแบบนี้ เพราะหลายคนที่เวลากินเยลลี่มักจะใจร้อน โดยเฉพาะพวกเยลลี่อันเล็กๆ ขนาดพอคำ ที่ยังไม่ทันจะเปิดฝาหรือพลาสติกที่ปิดบรรจุภัณฑ์ที่ใส่เยลลี่เอาไว้ให้เสร็จเรียบร้อย ก็จะรีบดูดเนื้อเยลลี่กินกันแล้ว ซึ่งแบบนี้เสี่ยงอันตราย เพราะเวลาที่เราดูดเนื้อเยลลี่แรงๆ เนื้อเยลลี่อาจจะพุ่งเข้าคอ ทำให้เราสำลัก หายใจติดขัด อาจจะเป็นเหตุให้ขาดอากาศหายใจ ยิ่งถ้าเป็นเยลลี่ชนิดที่มีการผสมอย่าง บุก วุ้นมะพร้าว ยิ่งต้องระวัง เพราะเนื้อสัมผัสของส่วนผสมเหล่านี้มีความเหนียวยิ่งกว่าเนื้อเยลลี่เสียอีก) 3.ห้ามวิ่งเล่นหรือนอน ขณะรับประทาน 4.เคี้ยวก่อนกลืนทุกครั้ง 5.รับประทานอย่างช้าๆ อย่าเร่งรีบ ระวังสำลัก โดยคำเตือนเหล่านี้จะต้องไปปรากฏอยู่ทั้งบนฉลาก ในโฆษณาไม่ว่าจะทางทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ เพื่อบอกเตือนคนที่ชอบกินเยลลี่ โดยเฉพาะเด็กๆ ให้อร่อยอย่างระมัดระวัง   “กินเยลลี่แทนข้าว” ความเชื่อผิดๆ ที่ไม่ควรทำตาม หลายคนน่าจะเคยได้เห็นโฆษณาที่บอกประมาณว่า ทานเยลลี่แล้วอยู่ท้องเหมือนกินข้าว ใครไม่อยากอ้วนก็ให้กินเยลลี่ ไม่ต้องทานมื้อเย็น ซึ่งฉลาดซื้ออยากบอกว่าทั้งหมดนี้เป็นความคิดที่ผิด และไม่ควรทำตามอย่างยิ่ง เพราะแม้ทานเยลลี่แล้วจะช่วยทำให้อยู่ท้อง แต่ว่าเราจะไม่ได้สารอาหารที่เป็นประโยชน์กับร่างกาย แม้ในโฆษณาจะอ้างว่ามีการใส่วิตามินนู้นนี่นั้น แต่ก็น้อยมากๆ สู้เรากินอาหารธรรมดาทั่วไป กินพวกผัก ผลไม้ ยังจะได้วิตามินมากกว่า แถมร่างกายยังได้สารอาหารครบถ้วน ถ้าอ่านในคำเตือนบนฉลากพวกผลิตภัณฑ์เยลลี่ จะเห็นคำเตือนว่า “เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรรัประทาน” เหตุผลก็คือ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่มีประโยชน์ หากกินเข้าไปแล้วจะทำให้อิ่ม ทำให้กินอาหารอย่างอื่นไม่ลง ร่างกายก็จะขาดสารอาหาร ซึ่งเด็กๆ และคนที่กำลังจะเป็นคุณแม่ ควรได้รับประโยชน์จากสารอาหารที่ครบถ้วนและเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ซึ่งสิ่งที่เราได้จากการกินเยลลี่หลักๆ ก็คือ น้ำตาล ซึ่งในเยลลี่ที่บอกว่ากินแล้วอิ่มท้องไม่ต้องกินข้าว 1 ถ้วย หรือ 1 ซอง จะมีน้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 6 – 10 กรัม ซึ่งใน 1 วันเราไม่ควรได้รับน้ำตาลเกิน 24 กรัม เท่ากับว่าเฉลี่ยแล้วเราได้รับน้ำตาลจากการทานเยลลี่ประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณน้ำตาลที่เหมาะกับร่างกายของเราใน 1 วัน แม้อาจจะดูไม่มาก แต่อย่าลืมว่านี่คือการที่เราทานน้ำตาลล้วนๆ โดยไม่ได้รับสารอาหารใดๆ ที่เป็นประโยชน์กับร่างกายเลย นอกจากนี้เรายังได้รับสารสังเคราะห์ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น สีผสมอาหาร สารวัตถุกันเสีย ซึ่งสารพวกนี้ถ้าร่างกายเรารับมากๆ ก็อาจมีผลเสียต่อสุขภาพ คิดดูแล้วไม่ต่างอะไรกับการที่เราดื่มน้ำหวานน้ำอัดลม เพราะฉะนั้นอย่ามองเยลลี่เป็นอาหารมื้อหลัก อย่าเลือกเป็นเมนูแทนการกินข้าว เพราะเราจะไม่ได้สารอาหารอะไรเลย หากอยากเลือกความสะดวก ให้เลือกเป็นการดื่มนม ดื่มน้ำเต้าหู้ หรือกินโยเกิร์ตน่าจะดีกว่า แต่อย่างไรเสียการอาหารให้หลากหลายให้ได้สารอาหารครบทั้ง 5 หมู่คือสิ่งที่ดีที่สุด    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 158 รสหวานในน้ำจิ้มไก่

น้ำจิ้ม จัดเป็นของคู่สำรับอาหาร อย่างน้อยๆ ก็ต้องมีพริกน้ำปลาสักถ้วย น้ำจิ้มช่วยเพิ่มอรรถรสในการกิน เรียกได้ว่าเป็นตัวชูรสอาหารให้โดดเด่นขึ้น ปัจจุบันน้ำจิ้มถ้าไม่ทำเอง ก็มีผู้ผลิต บรรจุขวดไว้ให้เราซื้อหากันได้สะดวก น้ำจิ้มมีหลายชนิด แต่ที่นิยมกันมากถึงกับเคยมีการจัดอันดับน้ำจิ้มที่คนไทยชื่นชอบ ปรากฏว่า น้ำจิ้มไก่มาเป็นอันดับหนึ่ง  “เหตุเพราะน้ำจิ้มไก่สามารถทานได้กับอาหาราแทบทุกชนิดไม่ใช่แค่ไก่อย่างเดียว แถมทานกับข้าวสวยเปล่าๆยังอร่อยอย่าบอกใคร” (ที่มา toptenthailand) และเพราะว่ากินคู่กับอาหารมาเป็นเวลานาน ทำให้คนส่วนใหญ่ติดในรสชาติที่จัดจ้าน ทั้งเปรี้ยว หวานและเผ็ดนิดๆ อีกทั้งยังกินกันมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งพอไปรวมกับอาหารอื่นๆ เข้า ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้เช่นกัน เพราะน้ำจิ้มไม่เพียงแต่หวานจากน้ำตาล ยังมีการตัดรสด้วยเกลือ ซึ่งก็คือโซเดียม ที่กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน เพื่อช่วยให้มองภาพรวมของน้ำจิ้มไก่ได้ว่า อาจมีปัญหาถ้าติดรสชาติของน้ำจิ้มมากเกินไป และจิ้มกินจนเพลิน เราลองมาดูฉลากของน้ำจิ้มไก่กันดีกว่า ซึ่งน่าสนใจว่า หลายยี่ห้อได้ทำฉลากโภชนาการไว้ด้วย   อย่ามองข้ามน้ำจิ้ม แค่สองช้อนโต๊ะ ก็หวานพุ่ง ค่าเฉลี่ยของโซเดียมในน้ำจิ้มไก่ ในหน่วยบริโภคขนาด 36 กรัมหรือราวๆ 2 ช้อนโต๊ะ คือ 460 มก. ส่วนน้ำตาลประมาณ 14.3 กรัม เรียกว่า แค่จิ้มนิดๆ ก็หวานจัดกันทีเดียว สำคัญอีกอย่างที่ต้องระวังคือ โซเดียม ซึ่งมีปริมาณไม่เบาเลย ดังนั้นแล้ว อย่าเห็นว่าหวานเลยจิ้มเพลินจนลืมโซเดียมที่แฝงอยู่ในน้ำจิ้มอันแสนอร่อย แม้น้ำจิ้มจะเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของอาหารที่หลายคนขาดไม่ได้ แต่ควรกินแต่เพียงพอดี อย่าเยอะนะคะ ด้วยความปรารถนาดีจากฉลาดซื้อ(มารคอหอยตัวสำคัญ)   ปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงและอาหารสำเร็จรูป   •        เกลือ 1 ช.ช                                             =โซเดียม 2,000 มก. •        น้ำปลาหรือซีอิ๊ว 1 ช. ช.                        =โซเดียม  400  มก. •        ซอสมะเขือเทศ  1 ช.ช                           = โซเดียม 55 มก. •        ซอสหอยนางรม 1ช.ช                            = โซเดียม140 – 160มก. •        น้ำจิ้มไก่ 1 ช.ช                                        = โซเดียม 67 - 76 มก. •        บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 60 กรัม                   = โซเดียม 1,500 มก. •        โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป    42 กรัม                    = โซเดียม 1,000 มก. http://www.raktai.org/Home/KnowledgeContent.aspx?id=4         คำแนะนำสิบข้อที่เตือนให้เราทบทวน “นิสัยการกิน” 1. กรุณาชิมทุกครั้งก่อนที่จะเติมเครื่องปรุงลงไป โดยเฉพาะก๋วยเตี๋ยว2. กรุณากวาดเอาขวดน้ำปลา ซอส ซีอิ๊วและเกลือออกจากโต๊ะอาหารให้เกลี้ยงภายในวันนี้3. ลดการกินอาหารหมัก-ดอง, อาหารแปรรูปเช่นผัก, ผลไม้ดอง, ไส้กรอก, หมูยอ, แหนม, เบคอน4. ลด การกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (เพราะมีโซเดียมในอาหารประเภทนี้มหาศาล ซึ่งอาจจะมาจากผงชูรส ดังนั้น สัปดาห์หนึ่งอย่ากินเกินสามซอง และเวลากินอย่าไปซดน้ำจนหมดเกลี้ยง เพราะถ้าซดจนหมด ก็จะได้ทั้งความเค็มจากเกลือ, น้ำปลาและผงชูรสไปเต็มๆ ) 5. ลดการกิน อาหารที่มีน้ำจิ้ม (เวลากินสุกียากี้หรือหมูกระทะ น้ำจิ้มมีเหลือล้น บางคนขอเพิ่มสองสามรอบด้วยซ้ำไป นั่นคือความเต็มอย่างยิ่งและมีโซเดียมสูงอย่างยิ่ง)6. ลดการกินอาหารที่ปรุงจากปลาเค็ม ไข่เค็ม เนื้อเค็ม ปลาร้า กะปิ เต้าหู้ยี้ (ไม่ควรกินบ่อย, ขอย้ำว่ากินได้แต่อย่าบ่อย)7. กินผลไม้สดโดยไม่ต้องจิ้มพริก, เกลือหรือน้ำตาล 8. ลดการกินอาหารจานด่วนตะวันตกและขนมกรุบกรอบ เพราะอาหารประเภทนี้ผงชูรสและโซเดียมมากเกินความจำเป็น9. ลดการใช้ผงชูรส (ไม่ถึงกับต้องงด หากกินปริมาณพอเหมาะก็ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่หากกินมากก็จะเจอปัญหาโซเดียมสูง)10. อ่านฉลากก่อนซื้อ (ฉลากไหนที่บอกว่ามีโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัม ก็ถือว่าใช้ได้)   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 รู้ เลือก น้ำยาล้างห้องน้ำ

  แค่ราดทิ้งไว้ แป๊บเดียวก็สะอาด เป็นคำที่คุ้นๆ กันดีในโฆษณาผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างห้องน้ำ ซึ่งมีให้เลือกหลากหลายยี่ห้อมาก และในแต่ละยี่ห้อยังมีหลายสูตรให้เลือกอีกด้วย เล่นเอา งง เวลาไปเลือกที่ชั้นวาง ฉลาดซื้อเลยหยิบผลิตภัณฑ์ที่รู้จักกันค่อนข้างกว้างขวางมาแกะรอย “สารเคมี” ที่ใช้ในแต่ละผลิตภัณฑ์ เพื่อจะได้เลือกใช้งานกันได้อย่างเหมาะสม ไม่เอะอะๆ ก็ราดไปเรื่อย เพราะบางผลิตภัณฑ์ราดทิ้งไว้ก็ไม่ออกนะจะบอกให้ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำและเครื่องสุขภัณฑ์ที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด สามารถแบ่งกลุ่มของสารเคมีที่ใช้ได้ใหญ่ 2 กลุ่ม คือ กรดและด่าง ตอนนี้ในตลาดส่วนใหญ่จะเป็น กรดเกลือ หรือชื่อทางเคมีว่ากรดไฮโดรคลอริก (hydrochloric acid) กรดนี้มีฤทธิ์กัดกร่อนสูง และสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามความเข้มข้นที่นำมาผลิต ในผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำพบกรดเกลือความเข้มข้นตั้งแต่ 8% - 20% ข้อดี คือ พลังกำจัดคราบรอยเปื้อนสูง โดยเฉพาะคราบฝังแน่น ข้อเสีย คือ กลิ่นฉุนแสบจมูกจากไอของกรด ใช้บ่อยครั้งจะกัดยาแนวกระเบื้อง ทำให้ผิวหน้าของพื้นห้องน้ำผุกร่อน ขรุขระ (ยิ่งทำให้สะสมคราบสกปรกเพิ่มขึ้น) ไอของน้ำยายังทำให้อุปกรณ์บางชิ้นในห้องน้ำเป็นสนิมด้วย   กรดอีกตัวที่ใช้คือ กรดซิตริก(citric acid) มีฤทธิ์กัดกร่อนพอตัว แต่ไม่รุนแรงเท่ากรดเกลือ และกลิ่นไม่ฉุนมาก ส่วนสารออกฤทธิ์ที่เป็นด่าง มียี่ห้อไม่หลากหลายเท่ากรดเกลือ ตัวที่นิยมใช้เป็นกลุ่มเดียวกับพวกสารฟอกขาว (Chlorine Bleach) ที่เรารู้จักดีในผลิตภัณฑ์ซักผ้า ได้แก่ โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (sodium hypochlorite) และกลุ่มคลอรีน บีช ที่กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำตัวล่าสุดคือ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide) คุ้นๆ ใช่ไหม ตัวเดียวกับที่เคยใช้เป็นยาล้างแผลนั่นเอง แต่ในผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำจะมีความเข้มข้นสูงกว่า คือ 5% ข้อดีและเป็นจุดขายสำคัญของกลุ่มคลอรีน บีช คือ การกำจัดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสและตัวที่สร้างปัญหาในห้องน้ำมากสุดคือ เชื้อรา ข้อเสีย มีฤทธิ์กัดกร่อนสูงไม่แพ้กรดเกลือ(ระดับฟอกผ้าขาวได้) และมีข้อต้องระวังในการใช้หลายอย่าง เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรท์ ห้ามเจอกรด(หรือใช้ร่วมกับน้ำยาที่เป็นกรด)และสารประกอบแอมโมเนียเด็ดขาด เพราะจะกลายเป็นก๊าซพิษ(ก๊าซคลอรีน) ก่อให้เกิดอันตรายจากการสูดดมไอพิษ ทั้งกรดและด่างที่นำมาใช้เป็นสารเคมีตั้งต้นในผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำ ส่วนใหญ่จะไม่มาเพียวๆ แต่จะผสมพวกสารลดแรงตึงผิว (Surfactant)   เพื่อช่วยในการแทรกซึมของน้ำยาเข้าสู่พื้นผิวได้อย่างทั่วถึง สารลดแรงตึงผิวที่นิยมได้แก่ Diethylene glycol butyl ether  , Linear Alkylbenzene Sulfonate,  Linear Alkylbenzene Sulfonate , Sodium Salt  ,  Ethoxylate Alcohol  ( 7 EO ) แต่ถ้าไม่ชอบพวกกรดและด่างที่มีฤทธิ์กัดกร่อนสูง แพ้หรือกลิ่นแสบจมูก ให้เลี่ยงมาใช้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มที่ใช้แต่เฉพาะ  ตัวทำละลายอินทรีย์(Organic Solvent)และสารลดแรงตึงผิวแทน ต่อไปความต้องการผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำของผู้บริโภคจะยิ่งมีมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในรูปแบบใหม่ๆ แต่โดยทั่วไปแล้วผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้จะใช้สารเคมีตั้งต้นที่คล้ายๆ กัน ในกระบวนการผลิต แตกต่างกันในส่วนของสารเติมแต่งต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นสารเคมีสังเคราะห์ทั้งสิ้น สารเคมีบางอย่างก็มีอันตรายต่อร่างกายทั้งในลักษณะของการแพ้อย่างเฉียบ พลันหรืออาจสะสมความเป็นพิษในร่างกายได้ ดังนั้นการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจึงต้องพิจารณาส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ ตลอดจนชนิดและปริมาณที่ใช้ เพื่อให้เหมาะกับสภาพการใช้งานและมีความปลอดภัย   ฉลาดซื้อแนะ 1.เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำให้ตรงกับสภาพความสกปรกของพื้นผิวและลักษณะของพื้นผิว(วัสดุที่ใช้เป็นพื้นห้องน้ำหรือตัวสุขภัณฑ์ เช่น กระเบื้อง เซรามิก หินอ่อน หินขัด) 2. คราบสกปรกที่ล้างออกได้ง่าย เช่น คราบสบู่ คราบสกปรกทั่วไป ไม่ควรใช้ส่วนผสมของกรดหรือด่างที่มีฤทธิ์กัดกร่อนสูง ใช้แค่สูตรที่เป็นสารลดแรงตึงผิวก็เพียงพอในการกำจัดคราบ 3.พวกมีฤทธิ์กัดกร่อนสูง ควรใช้เฉพาะกับคราบฝังแน่นเท่านั้น 4.กรดที่ผสมในผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำมีให้เลือกหลายชนิดตามความเข้มข้น อาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกรดที่มีความเข้มข้นต่ำก็จะปลอดภัยกว่าชนิดเข้มข้นสูง 5.สามารถใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่มน้ำยาซักผ้าขาว(ไฮเตอร์ ไฮยีน) ล้างห้องน้ำแทนสูตรโซเดียมไฮโปคอลไรท์ได้ โดยเฉพาะการกำจัดเชื้อรา เนื่องจากมีราคาถูกกว่ามาก 6..อ่านวิธีการใช้และคำเตือนให้ละเอียด เพื่อป้องกันอันตรายจากการใช้งานผิดพลาดหรือเผอเรอ   ผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างห้องน้ำ                   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 155 คาปูชิโนเย็นร้านไหน? ให้พลังงานสูง!!!

คอกาแฟหลายๆ คนคงจะเคยได้ยินคำเตือน เรื่องที่ว่าดื่มกาแฟแล้วทำให้อ้วน โดยเฉพาะกาแฟเย็น หลายคนเข้าใจได้ว่ากาแฟเย็น 1 แก้ว ใส่ทั้งนม น้ำเชื่อม น้ำตาล แต่ถ้านั้นยังไม่ช่วยให้คำตอบเรื่องดื่มกาแฟแล้วอ้วน ส่งผลเสียทำลายสุขภาพของหลายๆ คนคลี่คลาย ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพิสูจน์ปริมาณพลังงานที่ได้รับจากการดื่มกาแฟเย็น โดยเราเลือกสำรวจกาแฟประเภท “คาปูชิโนเย็น” ซึ่งถือเป็น 1 ในกาแฟยอดนิยมและหาทานได้ทุกร้านกาแฟ โดยเราได้สุ่มตัวอย่างจากร้านกาแฟชื่อดังระดับพรีเมี่ยม 10 ตัวอย่าง และอีก 1 ตัวอย่างจากร้านกาแฟขนาดเล็ก               ผลการทดสอบ -ผลทดสอบที่ได้คิดเป็นเป็นค่าเฉลี่ยปริมาณพลังงานต่อปริมาณกาแฟ 100 มิลลิลิตร -ตัวอย่างกาแฟคาปูชิโนเย็นที่พบค่าพลังงานสูงที่สุดคือ กาแฟจากร้าน คอฟฟี่ ทูเดย์ ซึ่งพบปริมาณพลังงานอยู่ที่ 183 กิโลแคลอรีต่อกาแฟ 100 มิลลิลิตร ซึ่งจากตัวอย่างที่เรานำมาทดสอบพบว่า กาแฟคาปูชิโนเย็นจากร้านคอฟฟี่ ทูเดย์ 1 แก้วมีปริมาณกาแฟอยู่ที่ประมาณ 290 มิลลิลิตร (ไม่รวมน้ำแข็ง) นั่นเท่ากับว่ากาแฟคาปูชิโนเย็นจากร้านคอฟฟี่ ทูเดย์ 1 แก้ว ราคา 50 บาท จะให้ค่าพลังงานเท่ากับ 530.7 กิโลแคลอรี -อีกตัวอย่างที่พบปริมาณพลังงานค่อนข้างสูงคือ ตัวอย่างกาแฟอนันต์ ที่พบค่าพลังงานอยู่ที่ 163 กิโลแคลอรีต่อปริมาณกาแฟ 100 มิลลิลิตร ซึ่งปริมาณกาแฟคาปูชิโนเย็นของร้านกาแฟอนันต์ 1 แก้ว ราคา 35 บาท อยู่ที่ประมาณ 160 มิลลิลิตร ปริมาณพลังงานจึงเท่ากับ 260.8 กิโลแคลอรี -เมื่อดูข้อมูลจากแผนภาพแสดงปริมาณพลังงานในกาแฟคาปูชิโนจากตัวอย่างทั้งหมดที่เราทดสอบ พบว่าจากทั้ง 11 ตัวอย่าง มีค่าพลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ 122.9 ต่อปริมาณกาแฟ 100 มิลลิลิตร หากคิดเป็นปริมาณกาแฟคาปูชิโนเย็น 1 แก้วที่น้ำหนัก 300 มิลลิลิตร (ไม่รวมน้ำแข็ง) ปริมาณพลังงานที่ได้จะอยู่ที่ 368.7 กิโลแคลอรี   เรื่องน่ารู้ พลังงานกับคาปูฯ เย็น -ปริมาณพลังงานที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วัน คือไม่เกิน 2,000 กิโลแคลอรี -ตามหลักโภชนาการแล้วของว่างหรืออาหารว่างควรมีพลังงานไม่เกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่ร่างกายต้องการสำหรับผู้ใหญ่ หรือประมาณ 150-200 กิโลแคลอรี -ปริมาณกาแฟคาปูชิโนเย็น 1 แก้ว ให้ปริมาณพลังงานที่ค่อนข้างสูง แถมหลายคนที่นิยมดื่มกาแฟร่วมกับของทานเล่นอื่นๆ เช่น คุกกี้ ขนมเค้ก โอกาสที่ร่างกายจะได้รับพลังงานเกินความต้องการก็ยิ่งมีสูง -ปริมาณพลังงานที่เกนความจำเป็นของร่างกายจะถูกสะสมกลายเป็นไขมัน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอ้วน และโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น หัวใจ ความดัน ฯลฯ -การหลีกเลี่ยงการได้รับปริมาณพลังงานสูงเกินความต้องการจากการดื่มกาแฟคาปูชิโน มีวิธีง่ายๆ คือเลือกสั่งแบบที่ไม่ใส่น้ำตาลหรือน้ำเชื่อม ส่วนนมถ้าเลือกได้ก็เลือกชนิดที่เป็นสูตรพร่องมันเนย หรือชนิดไขมัน 0% ซึ่งถ้าดูจากผลแผนภาพแสดงปริมาณพลังงานในกาแฟคาปูชิโนจากตัวอย่างทั้งหมดที่เราทดสอบ จะเห็นว่าตัวอย่างที่พบปริมาณน้อยที่สุด 2 อันดับแรก คือ สตาร์บัคที่พบค่าพลังงาน 53 กิโลแคลอรี และ ทรู คอฟฟี ที่พบพลังงาน 79 กิโลแคลอรี จากปริมาณกาแฟ 100 มิลลิลิตร ซึ่งปริมาณค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับตัวอย่างอื่นๆ นั้นเป็นเพราะตัวอย่างกาแฟคาปูชิโนจากทั้ง 2 ร้าน ไม่มีการใส่น้ำตาลหรือน้ำเชื่อม แต่จะให้ลูกค้าที่ซื้อเลือกเติมเองทีหลัง จะใส่มากใส่น้อยหรือจะไม่เติมเลยก็ได้ ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ดีที่ช่วยให้เราลดปริมาณพลังงานจากการดื่มกาแฟคาปูชิโนเย็นได้   คอกาแฟควรรู้ -กาแฟเย็น 1 แก้ว มีขนาดบรรจุประมาณ 13 – 20 ออนซ์ หรือ 400 – 600 มิลลิลิตร ให้พลังงานอยู่ที่ 97 – 400 กิโลแคลอรี, ไขมัน 0.4 – 22.1 กรัม, โปรตีน 0.6 – 10.9 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 19.4 – 49.4 กรัม, น้ำตาล 11 – 38 กรัม -มอคค่า เป็นกาแฟที่ให้ปริมาณพลังงานสูงที่สุด เมื่อเทียบกับ คาปูชิโน และ ลาเต้ -กาแฟอเมริกาโน มีพลังงานน้อยที่สุด คือประมาณ 97 กิโลแคลอรีต่อแก้วขนาด 13 ออนซ์ -พลังงานที่ได้จากกาแฟเย็น 1 แก้ว ส่วนใหญ่เป็นพลังงานที่ได้จาก ไขมัน และ น้ำตาล -กาแฟที่นิยมดื่มในปัจจุบัน มีอยู่ 2 สายพันธ์ คือ อาราบิก้า และ โรบัสต้า   -อาราบิก้า มีปริมาณคาเฟอีน ร้อยละ 0.75-1.70 ส่วน โรบัสต้ามีปริมาณคาเฟอีนร้อยละ 2.0 - 4.5 -ประเทศไทยเรามีการปลูกกาแฟทั้ง อาราบิก้า และ โรบัสต้า แต่อาราบิก้า ได้รับความนิยมมากกว่า โดยปลูกมากทางภาคเหนือ ซึ่งถือเป็นกาแฟที่ดี ได้รับความนิยม ไมว่าจะเป็น กาแฟดอยช้าง ดอยวารี ที่จังหวัดเชียงรายและ ดอยขุนวาง ที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนโรบัสต้า นิยมปลูกในภาคใต้ เช่นที่จังหวัด ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช ยะลา สุราษฎร์ธานี เอสเปรสโซ่ (espresso) เป็นกาแฟที่เข้มข้นที่สุด ชงผ่านเครื่อง เอสเปรสโซ่ โดยใช้แรงน้าดันผ่านเนื้อกาแฟบด เอสเปรสโซ่ เป็นจุดเริ่มต้นของกาแฟสูตรอื่นๆไม่ว่าจะชงกาแฟสูตรใด ก็ต้องมีกาแฟเอสเปรสโซ่เป็นกาแฟพื้นฐานก่อน คาร์ปูชิโน่ (Cappuccino) เป็นการผสมผสานระหว่างกาแฟเอสเปรสโซ่ นมร้อน และฟองนม ในปริมาณเฉลี่ยที่เท่ากันทั้ง 3 ส่วนผสม คาปูชิโนมีสัดส่วนพลังงานของ ไขมัน : คาร์โบไฮเดรต : โปรตีน ร้อยละ 32:63:7 คาเฟ่ ลาเต้ (Caffe Latte) เป็นกาแฟผสมนมที่มีรสและกลิ่นกาแฟน้อยที่สุด โดยเน้นที่นมร้อนมากกว่าปริมาณกาแฟ กาแฟลาเต้มีสัดส่วนพลังงานของ ไขมัน : คาร์โบไฮเดรต : โปรตีน ร้อยละ 30:60:10 มอคค่า (Caffe Mocha) เป็นกาแฟผสมช็อกโกแลตและนมร้อน มอคค่ามีสัดส่วนพลังงานของ ไขมัน : คาร์โบไฮเดรต : โปรตีน ร้อยละ 36:56:8 ที่มา :  รายงานการศึกษาวิจัย เรื่อง สารอาหารในกาแฟเย็น สำนักการโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 154 ขนมปังกรอบ โซเดียมที่คาดไม่ถึง

ขนมปังกรอบ หรือเรียกอย่างฝรั่งว่า แครกเกอร์(Cracker) นั้น  เป็นขนมอบกรอบอีกชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทานกันมากพอสมควร นิยมกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะรับประทานกับชีสต่างๆ ร่วมกับการดื่มชาหรือกาแฟ หรือเวลาจัดงานเลี้ยงปีใหม่ งานเลี้ยงค็อกเทลก็จะเห็นมีการนำมาจัดวางกับพวกผักสลัด ชีส แฮม/ไส้กรอก ทำเป็นของกินเล่นได้อีกด้วย ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มขนมปังกรอบและแครกเกอร์ในประเทศไทยมีการขยายตัวทางการตลาดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มีทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า ปัจจุบันมูลค่าตลาดขนมปังกรอบในไทยโดยรวมปี 2554 อยู่ที่ 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วน แครกเกอร์ 38%, คุกกี้ 32% และเวเฟอร์ 30% โดยมีอัตราการเติบโตที่ 13%  แน่นอนว่าเราจะพบเห็นโฆษณาที่มากขึ้นของขนมชนิดนี้ในสื่อต่างๆ และความหลากหลายของยี่ห้อที่พบวางอยู่บนชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ต เมื่อพิจารณาจากส่วนประกอบในแครกเกอร์ ซึ่งมีแป้งสาลี ไขมัน น้ำตาลและเกลือ เป็นหลักแล้ว คงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมหลายๆ คนจึงชอบแครกเกอร์ ทั้งนี้คงเพราะติดใจในรสชาติเค็มๆ มันๆ แบบ ชิ้นเดียวไม่เคยพอ แต่เมื่อลองหยิบฉลากมาดู โอ้ แคลอรีกับโซเดียมไม่เบาเลยแฮะ เห็นแผ่นบางๆ แค่ไม่กี่แผ่น ถ้าเผลอกินเพลินไปล่ะก็ ได้รับโซเดียมกระฉูดแน่   ดังนั้นก่อนหยิบแครกเกอร์กินในครั้งต่อไป โปรดเช็คฉลากสักนิดว่า พลังงานและปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าจะดูรายละเอียดก่อนไปหยิบฉวยในซูเปอร์มาร์เก็ต ฉลาดซื้อมีมาฝากในฉบับนี้ค่ะ   แครกเกอร์(ขนมปังกรอบ) บิสกิต           ความต่างของคุกกี้ บิสกิตและแครกเกอร์ ทั้งหมดต่างเป็นขนมอบ ส่วนใหญ่ทำจากแป้งสาลีลักษณะกรอบ แห้ง คุกกี้ ได้จากการแบ่งแป้งขนมเค้กที่ผสมแล้วออกมาส่วนหนึ่ง จากนั้นแบ่งออกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำเข้าเตาอบ (เดิม)เพื่อทดสอบอุณหภูมิที่จะใช้อบขนมเค้ก คำว่า "คุกกี้" (cookie) ใช้กันในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ในขณะที่ในสหราชอาณาจักรจะเรียกขนมแบบเดียวกันนี้ว่า "บิสกิต" (biscuit) ส่วน แครกเกอร์ (cracker) จะเป็นขนมปังกรอบแผ่นบางๆ แห้งๆ รสเค็มเอาไว้กินกับชีส ครีมชีส หรือทำเป็นขนมชีสเค้กต่างๆ     ความเสี่ยงของขนมปังกรอบ คุกกี้ บิสกิต แครกเกอร์ นอกจากเรื่องแคลอรีและโซเดียมที่สูง ก็คือ ไขมันทรานส์ และสารอะคริลาไมด์ (AA) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในอาหารประเภทแป้งที่ผ่านการปรุงด้วยความร้อนสูง   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 154 พิสูจน์ “โซเดียม” ในพิซซ่าหน้าซีฟู้ด

พิซซ่า เป็นหนึ่งในอาหารฟาสต์ฟู้ดที่นักโภชนาการออกมาเตือนอยู่เสมอๆ ว่าเป็นเมนูทำลายสุขภาพ เพราะให้ทั้งพลังงานและไขมันที่เกินความจำเป็นของร่างกาย แถมยังมีปริมาณโซเดียมสูงปรี๊ด ถือเป็นอาหารบั้นทอนสุขภาพอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ในความเป็นจริง ข้อมูลงานวิจัยทั้งหลายที่พูดถึงอันตรายแฝงในพิซซ่า แทบไม่มีผลต่อความนิยมที่หลายๆ คนมีต่อเมนูอาหารสัญชาติอิตาลี ดูได้จากจำนวนร้านพิซซ่าที่เปิดขายอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าใหญ่แบรนด์ดังที่แข่งขันกันขยายสาขามากมายไม่ได้หยุดหย่อน หรือจะเป็นร้านเล็กร้านน้อย ร้านรายย่อยอื่นๆ ที่นำเสนอเมนูพิซซ่ารสชาติใหม่ๆ มาเอาใจเหล่าพิซซ่าเลิฟเวอร์กันอย่างคึกคัก ตามประสาชาวฉลาดซื้อ ที่ชอบแกล้งคนอ่านด้วยการหาข้อมูลน่าตกใจมานำเสนอ เราจึงไปตระเวนเก็บ“พิซซ่า หน้าซีฟู้ด” มาทดสอบดูปริมาณโซเดียม จาก 8 ร้าน ที่เป็นที่รู้จักและนิยมของคนส่วนใหญ่ ทั้งจากร้านแบรนด์ดัง และร้านพิซซ่าสไตล์โฮมเมด เลือกตัวอย่างพิซซ่าหน้าซีฟู้ด เพราะเป็นหน้าที่ได้รับความนิยม และมีให้เลือกสั่งทุกร้าน   แสดงผลวิเคราะห์ปริมาณโซเดียมในตัวอย่างพิซซ่าหน้าซีฟู้ด   *หมายเหตุ ผลการทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งทดสอบเท่านั้น   ผลทดสอบ - ค่าเฉลี่ยโซเดียมของพิซซ่าที่ทดสอบอยู่ที่ 300 – 600 มิลลิกรัมต่อพิซซ่า 100 กรัม (พิซซ่า 1 ถาด สามารถแบ่งได้ 6 – 8 ชิ้น พิซซ่า 1 ชิ้น จะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 100 – 150 กรัม) ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูง เพราะหลายคนมักรับประทานพิซซ่ามากกว่าครั้งละ 1 ชิ้น (ในปริมาณที่กิน 1 มื้อ) หากนำไปรวมกับโซเดียมที่ได้จากการรับประทานอาหารมื้ออื่นๆ ใน 1 วัน ย่อมมีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับโซเดียมสูงเกินความต้องการของร่างกาย - ตัวอย่างพิซซ่าที่มีปริมาณโซเดียมสูงที่สุด คือ พิซซ่าหน้าซีฟู้ดเลิฟเวอร์จากร้าน พิซซ่า พิซซ่า บาย ญาณี ที่พิซซ่าขนาด 100 กรัม มีปริมาณโซเดียมสูงถึง 759.51 มิลลิกรัม ฉะนั้นถ้าเรากินพิซซ่าแค่เพียง 1 ชิ้น (ประมาณ100 กรัม) เท่ากับเราได้รับโซเดียมไปแล้วเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนที่พอเหมาะกับร่างกายควรได้รับใน 1 วัน คำเตือน คนที่ชอบรับประทานพิซซ่า คือ ไม่ใช่แค่เฉพาะพิซซ่าเท่านั้นที่ให้ปริมาณโซเดียมสูงจนต้องรับประทานอย่างระมัดระวัง แต่ยังมีอีกหนึ่งความเสี่ยง นั้นคือ ซอสมะเขือเทศ ซึ่งเป็นเครื่องปรุงรสที่หลายคนคู่กับพิซซ่า ซอสมะเขือเทศอุดมไปด้วยโซเดียม ที่ฉลาดซื้อเราเคยทดสอบไว้ พบว่า ซอสมะเขือเทศ 100 กรัม มีปริมาณโซเดียมมากถึง 600 – 1,000 มิลลิกรัมเลยทีเดียว ลองคิดดูซิว่า ถ้าเรากินพิซซ่า 1 ชิ้น แป้งหนาๆ หน้าเน้นๆ ที่ราดด้วยมะเขือเทศชุ่มๆ ปริมาณโซเดียมจะเข้าไปสะสมในร่างกายเรามากสักขนาดไหน   ปริมาณโซเดียมที่สะสมในร่างกายมากเกินไป จะทำให้ร่างกายเกิดสภาวะบวมน้ำ              มีผลต่อระบบการไหลเวียนของเลือด   และการทำงานของไตปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมสำหรับคนไทย คือ ไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน   อย่าเลย ซื้อ 1 แถม 1 คนละชิ้นก็พอ เหตุผลหนึ่งที่ทำให้พิซซ่ากลายมาเป็นเมนูอาหารฟาสต์ฟู้ดยอดนิยมของคนไทย ก็คือยุทธวิธี “ซื้อ 1 แถม 1” ซึ่งเมื่อรวมเข้ากับบริการพร้อมส่งบ้าน ยิ่งทำให้ยอดขายพิซซ่าเพิ่มขึ้นแบบถล่มทลาย ส่งผลให้คนไทยเรายิ่งดื่มด่ำกับพิซซ่ากันมากขึ้น เวลาที่สั่งพิซซ่า ก็ไม่ได้มีเฉพาะเมนูพิซซ่าเท่านั้นที่เราสั่ง แต่ยังพวงเมนูอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สปาเก็ตตี้ ลาซานญ่า ผักโขมอมชีส ขนมปังกระเทียม ฯลฯ ซึ่งเกือบทุกอันอุดมด้วยไขมันและโซเดียมถ้าหากรับประทานพร้อมๆ กัน คาดว่าน่าจะเกินปริมาณที่ควรบริโภคต่อวันไปมากแล้ว เพราะฉะนั้นถ้ายังรักสุขภาพของตัวเอง สัก 1 ชิ้นเวลาอยากรับประทานก็น่าจะเพียงพอ   พิซซ่า กินแล้วอ้วน ผลการวิจัยเรื่องคุณค่าสารอาหารในพิซซ่าหน้าซีฟู้ดขอบชีสไส้กรอกและแฮม โดย ผศ.ดร.สิทธิพงษ์ ดิลกวณิช และคณะ เมื่อปี 2549 พบว่า พิซซ่า 1 ชิ้น (139 กรัม) ให้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรต ร้อยละ 38.7 พลังงานจากโปรตีน ร้อยละ 22.3 พลังงานจากไขมัน ร้อยละ 39 แต่สัดส่วนพลังงานที่แนะนำใน 1 วัน คือ คาร์โบไฮเดรต ร้อยละ 55-65, โปรตีน ร้อยละ 10-15 และไขมัน ร้อยละ 25-30 มูลค่าการตลาดของพิซซ่าในบ้านเรา ปัจจุบันสูงถึง 6,400 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 7 – 8% โดยเจ้าที่ครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด คือ เดอะพิซซ่า คอมปะนี ที่ 70% รองลงมาคือ พิซซ่าฮัท 20% อีก 10% ที่เหลือเป็นเจ้าอื่นๆ ที่มา : “สงครามราคา "พิซซ่า" ระอุ "โดมิโน่ส์" ท้าชิง "พิซซ่าฮัท”” ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 20 ก.พ. 56, “เดอะพิซซ่าทั่วไทยอีก 3 ปี เพิ่มงบแคมเปญเด็ด 20%” ผู้จัดการออนไลน์ 22 ก.พ.56   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 153 มีอะไรอยู่ในช็อกโกแลต?

ช็อกโกแลต อาจเป็นขนมหวานสุดโปรดของใครหลายคน ด้วยรสชาติที่แสนจะเป็นเอกลักษณ์ หวานและขมที่ผสมอยู่รวมกัน ครองใจคนรักขนมหวาน แม้หลายคนจะออกตัวว่าโปรดปรานชอบรับประทานช็อกโกแลต แถมบางคนยังเลือกช็อกโกแลตเป็นของขวัญของฝากมอบให้กันในช่วงเทศกาลและวันสำคัญต่างๆ แต่ช็อกโกแลตที่วางขายอยู่ในบ้านเราส่วนใหญ่มักเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากต่างประเทศ ด้วยความที่ประเทศไทยเรายังไม่ค่อยนิยมผลิตช็อกโกแลตที่ดี หรือที่เรียกกันว่าช็อกโกแลตในกลุ่มพรีเมี่ยม ช็อกโกแลตที่ผลิตในประเทศส่วนใหญ่น่าจะใช้คำว่า “ผลิตภัณฑ์ขนมหวานรสช็อกโกแลต” มากกว่า เพราะมีส่วนประกอบของโกโก้อยู่น้อยมาก ประมาณแค่ 20% ของส่วนประกอบทั้งหมดเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ที่คนรักช็อกโกแลตจะอยากลิ้มลองของที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เพราะคุณภาพของวัตถุดิบที่ดีกว่า รสชาติอร่อยกว่า แถมบางคนก็ชื่อชอบเพราะแพ็คเก็จสวยกว่า เหมาะมากเวลานำมาเป็นของขวัญ ช็อกโกแลตที่นำเข้าส่วนใหญ่มาจากหลากหลายประเทศทางยุโรปที่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตช็อกโกแลต ไม่ว่าจะเป็น เบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส และยังรวมถึงสหรัฐอเมริกา ไม่เว้นแม้แต่ประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย หรือแม้แต่ประเทศจีน ซึ่งที่ผ่านมาอาหารที่นำเข้าแม้จะมาจากประเทศใหญ่ๆ ก็ยังเคยเกิดปัญหาเรื่องการปนเปื้อน ที่เป็นข่าวดังหน่อย คงไม่พ้นเรื่องของสารเมลามีนที่มากรพบปนเปื้อนอยู่ในผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตที่นำเข้ามาจากประเทศจีน  หรือแม้แต่เรื่องการปนเปื้อนของสิ่งที่คาดไม่ถึง อย่าง เศษชิ้นส่วนเล็กๆ ของซากแมลง และขนของหนู ซึ่งผู้บริโภคอย่างเราแทบไม่มีโอกาสได้เห็น เพราะขนาดเล็กมากๆ แต่ดูแล้วน่าจะมีการปนเปื้อนในลักษณะนี้อยู่ไม่ใช้น้อย ขนาดที่องค์การอาหารและยาของอเมริกา (U S Food and Drug Administration) ต้องกำหนดค่าการปนเปื้อน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคประเทศเขาได้รับอันตรายจากการรับประทานช็อกโกแลต   ข้อกำหนดขององค์การอาหารและยาของอเมริกา เรื่องการปนเปื้อนของเศษแมลงและขนหนูในช็อกโกแลต - ห้ามให้มีเศษชิ้นส่วนแมลงเกินกว่า 60 ชิ้น ต่อช็อกโกแลต 100 กรัม โดยต้องเทียบตัวอย่างจากตัวอย่างปริมาณ 100 กรัม จำนวน 6 ชิ้น หรือถ้าคิดเป็นตัวอย่าง 1 ชิ้น ห้ามมีเศษชิ้นส่วนแมลงปนเปื้อนเกิน 90 ชิ้น - ห้ามมีเศษขนหนูมากกว่า 1 เส้น ต่อช็อกโกแลต 100 กรัม โดยต้องเทียบตัวอย่างจากตัวอย่างปริมาณ 100 กรัม จำนวน 6 ชิ้น หรือถ้าคิดเป็นตัวอย่าง 1 ชิ้น ห้ามมีเศษเส้นขนหนูปนเปื้อนเกิน 3 เส้น ฉลาดฉบับนี้จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างของช็อกโกแลตทั้งที่นำเข้าและที่ผลิตในไทย โดยเราเลือกเก็บตัวอย่างจากหลายๆ จังหวัด โดยเฉพาะที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านที่มักเป็นจุดผ่านของสินค้าอาหารนำเข้า ไม่ว่าจะเป็น สตูล สงขลา เชียงราย พะเยา โดยมีตัวอย่างช็อกโกแลตรวมทั้งหมด 20 ตัวอย่าง โดยฉลาดซื้อได้ส่งตัวอย่างไปยังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี เพื่อตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของเศษชิ้นส่วนแมลงและขนหนู   ตารางรายชื่อตัวอย่างช็อกโกแลต สำหรับวิเคราะห์การปนเปื้อนทางชีวภาพ ผลการตรวจวิเคราะห์ จากการตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของเศษชิ้นส่วนแมลงและขนหนูจากตัวอย่างช็อกโกแลตทั้ง 20 ตัวอย่าง ได้ผลออกมาว่า ไม่พบสิ่งปนเปื้อนทางชีวภาพ ซึ่งหมายถึงไม่พบการปนเปื้อนของเศษชิ้นส่วนจากสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเศษชิ้นส่วนแมลงและขนหนู แต่ที่น่าสังเกตคือพบวัสดุคล้ายเส้นใยขนาดเล็กมาก ในบางตัวอย่าง ตั้งแต่ 1 – 4 เส้น ซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นเส้นใยของอะไร เพราะพบในจำนวนที่น้อยและมีขนาดเล็กมาก แต่ผู้บริโภคอย่าตกใจไป เพราะเส้นใยที่พบไม่เป็นอันตรายกับผู้บริโภค คนที่ชอบรับประทานช็อกโกแลตมั่นใจได้   เรื่องของปริมาณโกโก้ในช็อกโกแลต ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 83 (พ.ศ. 2527) เรื่อง ช็อกโกแลต ได้กำหนดคุณภาพและมาตรฐานเฉพาะของช็อกโกแลตแต่ละชนิดเอาไว้ สำหรับช็อกโกแลตนม ซึ่งเป็นชนิดของช็อกโกแลตที่เราเลือกสุ่มเก็บมาเป็นตัวอย่างในการตรวจวิเคราะห์ครั้งนี้ มีการกำหนดคุณภาพไว้ว่าต้องมีปริมาณโกโก้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของปริมาณช็อกโกแลต โก้โกปราศจากไขมันไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.5 มีธาตุน้ำนมไม่รวมมันเนยไม่น้อยกว่าร้อยละ 10.5 และต้องมีน้ำตาลไม่เกินร้อยละ 55 จากการอ่านดูข้อมูลส่วนประกอบบนฉลากของตัวอย่างช็อกโกแลตที่ฉลาดซื้อสุ่มสำรวจในครั้งนี้ พบว่าโกโก้ที่ใช้เป็นส่วนประกอบในช็อกโกแลตนมนั้นจะเป็น “โกโก้แมส” หรือ “โกโก้เพสต์” ซึ่งเป็นส่วนที่ได้หลังจากการคั่วและบดเมล็ดโกโก้ เป็นโกโก้ที่ผ่านความร้อนไขมันจะหลอมละลายออกมา ซึ่งจากการตรวจสอบดูข้อมูลในฉลากพบว่าผ่านเกณฑ์ทุกตัวอย่าง ยกเว้นบางตัวอย่างที่ไม่มีข้อมูลฉลากภาษาไทย และไม่ได้แจ้งปริมาณส่วนประกอบเอาไว้ ส่วนปริมาณน้ำตาลก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ทุกตัวอย่าง คือไม่เกินร้อยละ 55 ของปริมาณช็อกโกแลต แต่ที่อยากฝากไว้เป็นข้อสังเกตของคนที่ชอบช็อกโกแลตก็คือ เมื่อดูปริมาณส่วนประกอบทั้งหมดในผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตนม จะเห็นว่ากว่า 50% ของส่วนประกอบทั้งหมด คือ น้ำตาล เพราะฉะนั้นถ้าหากรับประทานมากๆ ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพแน่นอน ถึงจะชอบแค่ไหนก็ต้องยั้งใจไว้บ้าง ยิ่งเด็กๆ ยิ่งต้องระวัง เสี่ยงทั้งโรคอ้วน ฟันผุ และในช็อกโกแลตมีสารคาเฟอีนด้วย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนติดช็อกโกแลต   ช็อกโกแลตที่ได้มาตรฐานควรมีลักษณะอย่างไร? -มีกลิ่นและรสตามลักษณะเฉพาะของช็อกโกแลตนั้น ๆ -ไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค -ไม่ใช้วัตถุที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล -ไม่มีการเจือสีใดๆ ที่มา : ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 83 (พ.ศ. 2527) เรื่อง ช็อกโกแลต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 เช็คสารตะกั่วใน “ปลาทูน่ากระป๋อง”

ถ้าย้อนไปเมื่อก่อน คนไทยเราอาจไม่ค่อยคุ้นเคยกับปลาทูน่า เพราะคนไทยไม่ค่อยนิยมทานปลาทะเล ด้วยราคาที่แพงกว่าปลาน้ำจืด แม้ชื่อจะคล้ายกับปลาทูบ้านเรา แต่เราก็แทบไม่เห็นบ้านไหนเสิร์ฟเมนูที่ทำจากปลาทูน่าเป็นกับข้าวมื้อเย็น วันเวลาเปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็รู้จักปลาทูน่า ไปต้องลำบากไปเดินเลือกซื้อในตลาด ไม่ต้องเหนื่อยขอดเกล็ด ล้างหั่นทำความสะอาด เพราะเดี๋ยวนี้ปลาทูน่าหาทานง่ายยิ่งกว่าปลาชนิดไหนๆ เพราะมันถูกบรรจุมาในกระป๋อง  แค่แวะร้านสะดวกซื้อก็ได้ทานปลาทูน่าสมใจ แต่ปัญหาก็แอบมากลับทูน่ากระป๋องเหมือนกัน เรามักจะได้ยินข่าวอยู่เรื่อยๆ ว่ามีการตรวจพบสารปนเปื้อนทั้งในทูน่าสดและทูน่ากระป๋อง อย่างเมื่อปีก่อนเคยมีข่าวว่าหลายประเทศในสหภาพยุโรปต้องสั่งระงับการนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องจากประเทศไทย เพราะตรวจพบสารฮีสตามีน (histamine) ซึ่งเป็นสารพิษที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ นอกจากนี้ทั่วโลกยังมีการเฝ้าระวังเรื่องของการปนเปื้อนสารตะกั่วในอาหารทะเล เพราะสารตะกั่วที่เกิดจากบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมต่างไหลลงสู่ทะเล แล้วแทรกซึมเข้าสู่สิ่งมีชีวิตในทะเล ซึ่งปลาทูน่าถือเป็นอาหารทะเลที่มีผู้นิยมบริโภคกันมาก การจับตาดูจึงมีมากเป็นพิเศษ เกริ่นมาซะยาวเพราะอยากจะบอกว่า “ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้จะพาไปดูกันว่า ปลาทูน่ากระป๋องที่วางขายอยู่ในท้องตลาดบ้านเรานั้น มีการปนเปื้อนของสารตะกั่วหรือเปล่า ไขข้อข้องใจให้กับผู้บริโภค ต่อไปจะได้ทานปลาทูน่ากระป๋องได้อย่างมั่นใจ แถมด้วยการเช็คปริมาณโซเดียม ดูสิว่าทานปลาทูน่ากระป๋องแล้วจะสุขภาพดีเพราะมีคุณค่าทางอาหาร หรือจะต้องป่วยเสียก่อนเพราะร่างกายดันได้รับโซเดียมมากเกินไป   ผลการทดสอบ ฉลาดซื้อได้สุ่มตัวอย่างปลาทูน่ากระป๋องจำนวน 16 ตัวอย่าง 8 ยี่ห้อ โดยแต่ละยี่ห้อจะแบ่งเป็นปลาทูน่ากระป๋องชนิดที่ปรุงในน้ำมันพืช และชนิดที่ปรุงในน้ำเกลือ อย่างละ 1 ตัวอย่าง โดยการตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสารตะกั่วนั้น ฉลาดซื้อได้ส่งไปตรวจยัง ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 จ.อุบลราชธานี ส่วนการตรวจดูข้อมูลปริมาณโซเดียม ฉลาดซื้อใช้วิธีคำนวณจากปริมาณโซเดียมที่แจ้งไว้ในฉลากโภชนาการข้างกระป๋อง   การปนเปื้อนสารตะกั่ว สำหรับผลวิเคราะห์การปนเปื้อนสารตะกั่ว ถือว่าเป็นข่าวดีของผู้บริโภคเพราะปลาทูน่ากระป๋องทุกตัวอย่างที่เราส่งตรวจ ไม่พบการปนเปื้อนของสารตะกั่ว จากนี้ไปเราก็สามารถทางปลาทูน่ากระป๋องกันได้อย่างสบายใจ แต่แม้จะปลอดจากสารตะกั่ว แต่อาจต้องระวังการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์อื่นๆ ที่อาจป่นเปื้อนมากับเนื้อปลา ซึ่งเกิดขึ้นได้จากขั้นตอนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะฉะนั้นวิธีแก้ง่ายๆ คือการปรุงเนื้อปลาทูน่าให้สุกก่อนทาน แม้ปลาทูน่ากระป๋องจะผ่านกรรมวิธีทำให้เนื้อปลาสุกมาแล้ว แต่เพื่อความไม่ประมาท ทำให้สุกอีกทีเพื่อความปลอดภัย   ปริมาณโซเดียม ส่วนเรื่องของปริมาณโซเดียมในทูน่ากระป๋อง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่คนชอบทานปลาทูน่ากระป๋องต้องระวังเป็นพิเศษ  เพราะในปลาทูน่า 1 กระป๋องอาจมีโซเดียมถึง 1 ใน 4 ของปริมาณโซเดียมที่เหมาะต่อร่างกายคนเราใน 1 วัน (ไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม) จากการตรวจเช็คปริมาณโซเดียมในปลาทูน่ากระป๋องจากข้อมูลในฉลากโภชนาการ พบว่าประมาณโซเดียมจะอยู่ที่ประมาณ 300 – 600 มิลลิกรัมต่อ 1 กระป๋อง (น้ำหนัก 185 กรัม แต่ถ้าเฉพาะน้ำหนักเนื้อปลาจะอยู่ที่ 140 กรัม) เพราะฉะนั้นเราควรทานทูน่ากระป๋องแต่พอดี ควรทานให้เป็นอาหารมื้อหลักมากว่าเป็นเมนูทานเล่น ทานเต็มที่ไม่ควรเกินวันละ 1 กระป๋อง และต้องควบคุมปริมาณโซเดียมในอาหารประเภทอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย สำหรับใครที่คิดว่าปลาทูน่ากระป๋องชนิดที่ปรุงในน้ำมันพืชจะมีปริมาณโซเดียม น้อยกว่าปลาทูน่ากระป๋องที่ปรุงในน้ำเกลือคงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะจากการตรวจเช็คปริมาณโซเดียมที่แจ้งในฉลากโภชนาการ  พบว่าปลาทูน่าในน้ำมันพืช 1 กระป๋องมีปริมาณโซเดียมมากกว่าปลาทูน่าในน้ำเกลือถึง 50 -100 มิลลิกรัมเลยทีเดียว   ---------------------------------------------------- ฉลาดซื้อแนะนำ -ปลาทูน่ากระป๋องที่ดี ต้องไม่มีสิ่งแปลกปลอมใดๆ ปนเปื้อนมากับเนื้อปลา -เนื้อปลาต้องสุก ต้องไม่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ เช่น กินเหม็น หรือ กลิ่นหืน -เนื้อปลาต้องไม่นิ่มเละ หรือ กระด้างเกินกว่าที่ควรจะเป็น เนื้อไม่มีลักษณะพรุนแบบรังผึ้ง -เนื้อปลาต้องไม่เป็นสีที่ชวนให้น่าสงสัยว่าเกิดการผิดปกติ เช่น สีเขียว หรือสีที่มีลักษณะคล้ำ -เนื้อปลาต้องไม่มีผลึกใส ซึ่งเป็นผลึกเกลือ ของสารประกอบของแมกนีเซียม ฟอสเฟต และแอมโมเนีย มักเกิดกับอาหารที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบ ทำปฏิกิริยากับโปรตีน สาเหตุของการเกิดผลึกเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาของจุลินทรีย์ เป็นการบ่งชี้ว่าวัตถุดิบไม่สด มีคุณภาพไม่ดี หรือขั้นตอนการผลิตไม่เหมาะสม -เลือกกระป่องที่อยู่ในสภาพดี ไม่บวม บุบ เบี้ยว ไม่มีสนิม -อ่านฉลากให้ละเอียดทุกครั้งก่อนตัดสินใจซื้อ บนฉลากต้องมี ชื่อสินค้า ชื่อของเหลวที่ใส่มาพร้อมเนื้อปลา เช่น ปลาทูน่าในน้ำเกลือ ปลาทูน่าในน้ำมัน ฯลฯ ต้องบอกส่วนประกอบ มีฉลากโภชนาการ บอกชื่อที่อยู่ผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ -ปลาทูน่ากระป่องที่เปิดกระป๋องแล้วแต่ยังทานไม่หมด ควรเก็บเข้าตู้เย็นและเปลี่ยนมาใส่ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด ป้องกันเชื่อโรคเข้าไปปนเปื้อน -----------------------   ปลาทูน่ากระป๋องที่เรากินส่วนใหญ่ ทำจากปลาทูน่านำเข้า แม้ประเทศไทยเราจะได้รับการยกย่องให้เป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องออกไปขายทั่วโลก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยเรายังคงต้องใช้วัตถุดิบหลักในการผลิตอย่างเนื้อปลาทูน่าสดปริมาณมากกว่า 8 แสนตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 80 ของปลาทูน่าที่ใช้ในการผลิตปลาทูน่ากระป๋อง เท่ากับว่ามีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เป็นปลาทูน่าที่เราจับได้จากประมงไทย เหตุผลที่ไทยเรายังคงต้องสั่งนำเข้าปลาทูน่ามากมายขณะนี้ เป็นเพราะด้วยคุณภาพของปลาทูน่าที่จับได้ในทะเลไทยส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก และมีปริมาณน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ที่สำคัญคือความด้อยด้านเทคโนโลยีและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการจับปลาทูน่า การประมงน้ำลึกของไทยยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ การเลือกนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศจึงดูเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์การผลิตได้มากกว่า   ข้อมูลปี 2553 ประเทศไทยเรานำเข้าปลาทูน่าปริมาณรวม 816,473 ตัน คิดเป็นมูลค่าที่ต้องจ่ายไป 35,656 ล้านบาท ขณะที่ ปริมาณการส่งออกทูน่ากระป๋องในปีเดียวกัน อยู่ที่ 521,205 ตัน คิดเป็นรายได้กลับเข้าประเทศ 51,942 ล้านบาท ที่มา : กรมการค้าต่างประเทศ   รู้จักกับปลาทูน่าที่ถูกจับลงกระป๋อง -ปลาทูน่าท้องแถบ (Skip-Jack Tunas) ถือเป็นสายพันธ์ปลาทูน่าที่นิยมใช้ในการผลิตปลาทูน่ากระป๋องมากที่สุดในปัจจุบัน ถึงเกือบร้อยละ 80 ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ตัวหนึ่งหนักประมาณ 3 – 7 กิโลกรัม เนื้อปลาจะมีค่อนข้างดำ -ปลาทูน่าครีบเหลือง (Yellow Fin Tunas) สายพันธ์นี้จะอาศัยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกทั้งตะวันตกและตะวันออก ลำตัวมีความยาวประมาณ 27-60 นิ้ว เป็นสายพันธ์ปลาทูน่าที่มีขนาดใหญ่ บางตัวหนักถึง 20 กิโลกรัม เนื้อจะมีสีขาว คุณภาพดีกว่าปลาทูน่าท้องแถบ แต่ราคาก็สูงกว่าตามไปด้วย -ปลาทูน่าครีบยาว (Albacore or Long Finned Tunas) อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ ลักษณะและขนาดจะคล้ายกับปลาทูน่าครีบเหลือง -ปลาทูน่าชนิดอื่นๆ ได้แก่ ปลาทูน่าตาโต ทูน่าครีบน้ำเงิน เป็นต้น ซึ่งเป็นปลาขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะเอาไปทำปลาดิบมากกว่าบรรจุลงกระป๋อง เพราะคุณภาพจะดีกว่า ราคาก็จะแพงกว่า   ---------------------------------------------------- กินปลาทูน่าแบบรักษ์โลก ถ้าสังเกตที่ข้างกระป๋องปลาทูน่าดีๆ จะเห็นสัญลักษณ์ "Dolphin Safe" ที่เป็นรูปปลาโลมา เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการทำประมงจับทูน่าแบบอนุรักษ์ ไม่ทำร้ายปลาโลมา ซึ่งเป็นข้อตกลงทีมาจากบัญญัติคุ้มครองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลของสหรัฐฯ  (Marine Mammal Protection Act-MMPA)  ที่กำหนดห้ามไม่ให้ขายปลาทูน่าที่จับโดยเรือประมงทั้งในหรือต่างประเทศที่ใช้อวนแบบ purse seine  หรืออวนที่ดักล้อมเป็นระยะทางยาวเป็นไมล์   เพราะอวนชนิดนี้ไม่ได้จับได้เฉพาะปลาทูน่าเท่านั้น แต่ยังจับเอาปลาโลมาติดมาด้วย เพราะปลาทูน่าถือเป็นอาหารของปลาโลมา ในฝูงปลาทูน่าจึงมักมีปลาโลมาเกาะกลุ่มอยู่ด้วย ที่ผ่านมามีปลาโลมาที่ต้องตายเพราะอุตสาหกรรมประมงทูน่าหลายล้านตัว สหรัฐอเมริกาจึงทำมาตรการณ์ร่วมกับองค์การการค้าโลก (WTO) ให้ทุกประเทศที่จะทำการค้าปลาทูน่าทั้งสดและบรรจุกระป๋องต้อง ทำประมงจับทูน่าแบบอนุรักษ์ ไม่ทำร้ายปลาโลมา รวมถึงจับปลาทูน่าเท่าที่จำเป็น   ประโยชน์ของปลาทูน่า ความนิยมในการทานทูน่ากระป๋องที่มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช้เฉพาะแค่เมืองไทย แต่คนทั่วโลกก็ชื่นชอบปลาทูน่ากระป๋อง ไม่ใช่แค่เพราะความสะดวก แต่ยังรวมถึงเรื่องของคุณประโยชน์ที่ได้ ปลาทูน่าไม่ว่าจะเป็นแบบสดหรือที่บรรจุกระป๋อง จะมีกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 3 และมีดีเฮชเอ (Docosahexaenoic acid (DHA)) ซึ่งเป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายแต่ร่างกายเราไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ ประโยชน์ของกรดไขมันเหล่านี้ ช่วยเสริมสร้างความแข้งแรงให้กับเซลล์ ช่วยในการทำงานของระบบสมอง ระบบประสาท ที่สำคัญในโอเมก้า 3 ยังมีสาร เอชดีแอล โคเลสเตอรอล (HDL cholesterol) ซึ่งเป็นโคเลสเตอรอลชนิดดี ที่จะไปช่วยจัดโคเลสเตอรอลชนิดเลวออกไปจากร่างกาย ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ แถมปลาทูน่ายังให้โปรตีนที่สูงอีกต่างหาก   ตารางแสดงผลทดสอบปริมาณโซเดียมและการปนเปื้อนของสาตะกั่วในทูน่ากระป๋อง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point