ฉบับที่ 163 เยื่อไผ่

หลายท่านชอบกินต้มจืดเยื่อไผ่ แล้วรู้กันไหมว่า เจ้าสิ่งนี้แท้จริงแล้วเป็นเห็ดชนิดหนึ่ง ดังนั้นถ้าจะเรียกให้ถูกต้อง ต้องเรียกว่า “เห็ดเยื่อไผ่” หรือ “เห็ดร่างแห” เห็ดชนิดนี้มีหลายสายพันธุ์แต่ที่กินได้มีแค่ 4 ในภาษาอังกฤษเขาเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Dancing mushroom เพราะลักษณะของเห็ดเยื่อไผ่นี้ เวลาโตเต็มที่จะฟูฟ่องกรุยกราย คล้ายกระโปรงผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่โดนลมพัด ในประเทศไทยพบได้ที่ภาคอีสาน ชนิดที่กินได้ คือ เห็ดกระโปรงยาวสีขาวและเห็ดกระโปรงสั้นสีขาว ชาวจีนนำเห็ดชนิดนี้มาใช้ประโยชน์ตั้งแต่เมื่อประมาณ 3,000 ปีแล้ว ใช้ผสมในยาและปรุงเป็นอาหาร เชื่อว่าสามารถลดโคเลสเตอรอล ลดความดันโลหิต และบำรุงร่างกายเมื่ออ่อนแอ นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการศึกษาระบุว่า นำมาเป็นส่วนผสมน้ำมันนวดแก้โรคเกาต์และรูมาติซึมได้ด้วย เห็ดเยื่อไผ่มักนิยมรับประทานแบบชนิดตากแห้ง โดยนำมาเติมน้ำร้อนและปรุงอาหารได้ทันที สำหรับประเทศไทยนิยมนำมาทำ ซุปและแกงจืด สิ่งที่ต้องระวังคือ เห็ดเยื่อไผ่ชนิดแห้งที่นำเข้าจากต่างประเทศ มักตรวจพบสารฟอกขาว ซึ่งทำให้เห็ดดูมีสีขาวน่ารับประทาน โปรดระวัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 กระยาสารท

กระยา หมายถึง ของกิน สารท หมายถึง ฤดู ตามรากศัพท์เดิม หรือหมายถึง วันสารทของไทย ที่ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 จึงต้องเขียนว่า กระยาสารท ไม่ใช่ กระยาสาด กระยาสารทเป็นขนมโบราณ เดิมจะหากินได้เฉพาะช่วงงานวันสารท ซึ่งเป็นงานบุญประเพณีของไทย ที่เลียนแบบมาจากเมืองแขกอีกที คำว่าสารทในภาษาอินเดีย มีความหมายว่า ฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับฤดูการผลิดอกออกผลของพืชพันธุ์ โบราณจึงถือกันว่าควรจะนำผลผลิตเหล่านั้นมาถวายแด่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นการสักการะและขอพรให้พืชของตนออกดอกออกผลดกดีในฤดูกาลถัดไป ของไทยเราช่วงเวลาที่ตรงกับระยะข้าวเริ่มออกรวง(ปลายฝนต้นหนาว) ชาวบ้านจะเกี่ยวข้าวที่ยังมีเปลือกอ่อนๆ และเมล็ดยังไม่แก่เอามาคั่ว ตำ ให้เป็นเมล็ดข้าวแบน ๆ ที่เรียกว่า ข้าวเม่า แล้วนำมากวนผสมถั่ว งา น้ำตาล ให้จับตัวกันเป็นขนมสำหรับนำไปทำบุญถวายพระ และแบ่งปันกันในช่วงเทศกาลวันสารทพอดี ขนมกระยาสารทถือเป็นสัญลักษณ์ของผลิตผลทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ สมัยก่อนว่ากันว่า ถ้าจะกินกระยาสารทให้อร่อยต้องกินกับกล้วยไข่ คงเพราะว่า กระยาสารทหวานมากกินพร้อมกล้วยไข่ ซึ่งจะสุกในหน้าสารทไทยพอดีนั้น จะช่วยให้ไม่ต้องกินขนมกระยาสารทมากเกินไป เรียกว่าเป็นอุบายอย่างหนึ่งของคนโบราณที่เข้าท่ามากๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 รถด่วน

เป็นชื่อเรียกเฉพาะของหนอนผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่งที่อาศัยในลำไม้ไผ่ทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นที่นิยมอันดับต้นๆ ของเหล่าผู้ชมชอบการบริโภคแมลง ในโลกเรานี้การกินแมลงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมีแมลงถึง 500 ชนิดที่ผ่านการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นในหลายสังคมว่า ตัวไหนกินได้ ชนิดไหนกินไม่ได้ ในอัฟริกากินตั๊กแตนและหนอนผีเสื้อกลางคืน  ที่อเมริกาก็กินมดคั่ว ในเอเชียคนเกาหลีก็นิยมตั๊กแตนและดักแด้หนอนไหมเช่นกัน บ้านเราเดิมชนบทของอีสานและภาคเหนือ อาหารโปรตีนเนื้อสัตว์อย่างวัว หมู ไก่ หายาก ราคาแพง  แมลงและหนอนเป็นอาหารทางเลือกหนี่ง เพราะอุดมไปด้วยโปรตีน มีคุณค่าทางโภชนาการที่ทดแทนกันได้    ชาวบ้านนำมามาปรุงเป็นอาหารรับประทานเป็นจานหลัก ทั้งทอด ปิ้ง ย่าง คั่ว หมก อ่อม แกง ยำ และตำน้ำพริก  ซึ่งอาจเป็นของแปลกของคนเมือง แต่เมื่อชนบทกับเมืองปะทะสังสรรค์กันมากเข้า เมนูแมลงในที่สุดจึงกลายเป็นของกินเล่นของคนทั่วไป ชื่อรถด่วนมาอย่างไร ลองนึกดูหากเราชวนใครมากินแมลง ไม่ว่าจะตั๊กแตน จิ้งหรีดหรือแมงดานา มันยังดูไม่ขัดเขินเท่าไหร่ แต่หากเรียกมา “กินหนอน” หลายคนก็อาจตะขิดตะขวงใจ เจ้าหนอนไม้ไผ่ ตัวขาว เลยได้ชื่อเรียกใหม่ว่า รถด่วน ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากวิธีการเคลื่อนขบวนของหนอนชนิดนี้ที่จะเคลื่อนตัวต่อกันอย่างเป็นระเบียบแถวยาวๆ คล้ายตู้ขบวนรถไฟ รถด่วนหรือหนอนไม้ไผ่ ได้ชื่อว่าเป็นหนอนที่สะอาดที่สุดเพราะตลอดช่วงเวลา 10 เดือนที่เป็นตัวหนอนอาศัยอยู่แต่ในกระบอกไม้ไผ่ จะออกมาชมธรรมชาติภายนอกก็เฉพาะเมื่อกลายเป็นผีเสื้อแล้ว รถด่วนมีโปรตีนสูงและไขมันพอตัว ที่นิยมกินจะเป็นชนิดทอดกรอบ จึงต้องระวังเรื่องน้ำมันทอดซ้ำและพลังงานจากไขมัน อีกอย่างแมลงทอดอาจสร้างปัญหาให้กับคนที่เป็นภูมิแพ้ หอบหืด พึงระมัดระวัง   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 160 มะเขือ

มะเขือ พูดไปอาจไม่เชื่อ เมืองไทยนี่แหละแหล่งรวมความหลากหลายของพันธุ์มะเขือยิ่งกว่าชาติใดในโลก มะเขือเป็นพืชเก่าแก่มาแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ถิ่นกำเนิดน่าจะอยู่ในแถบเอเชียใต้หรืออินเดียปัจจุบัน มะเขือที่ไปทางยุโรปและยังนิยมรับประทานกันในครัวแถบเมดิเตอร์เรเนียนนั้น ถูกนำเข้าโดยแขกมัวร์(เปอร์เซีย) ในศตวรรษที่ 15 สันนิษฐานว่ามะเขือที่นำเข้ายุโรปสมัยก่อนคงมีหลากหลายพันธุ์ เพราะว่ามีหลายชื่อเรียกขานตามลักษณะของทรงผล แต่ปัจจุบันจะเห็นก็แต่มะเขือม่วงลูกใหญ่ๆ เท่านั้น แถบเอเชีย จีน ญี่ปุ่น อินเดียและไทย มะเขือยังได้รับความนิยมอยู่มาก แต่ส่วนใหญ่จะกินแบบปรุงสุกกันเสียส่วนใหญ่ จีนนิยมผัด แขกใส่แกง ญี่ปุ่นทำเทมปุระ มีเพียงครัวไทยที่นิยมกินทั้งแบบดิบและปรุงสุก   ที่เราทำได้เพราะเรามีพันธุ์มะเขือที่หลากหลายกว่าใคร ไม่ว่าจะเป็นมะเขือเปาะ มะเขือยาว มะเขือม่วง มะเขือจาน มะเขือขื่น มะเขือไข่ หรือพันธุ์พื้นบ้านอย่าง มะเขือพวง มะแว้ง มะอึก  มะเขือลูกเล็กๆ จะเด่นที่กรอบและรสชาติอร่อย เหมาะเป็นผักแนมจิ้มน้ำพริก พวกลูกใหญ่เนื้อมากอย่างมะเขือเปาะกินสดก็ดี ใส่แกงเผ็ดต่างๆ ก็อร่อย ส่วนมะเขือยาวทำกับข้าวได้หลากหลายทั้ง ยำมะเขือเผา ผัดใส่เต้าเจี้ยว หรือชุบไข่ทอดจิ้มน้ำพริกกะปิ มะเขือเป็นผักที่กินไม่ยาก รสชาติดี และอุดมด้วยวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และวิตามินซี มีธาตุเหล็กและแคลเซียมบ้าง ส่วนเปลือกจะมีสารอาหารมากกว่าเนื้อ คนไทยกินมะเขือโดยไม่ปอกเปลือกออก นับว่าเท่กว่าหลายประเทศที่ไม่ยอมกินเปลือกมะเขือแบบไม่ตั้งใจ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 อาหารกระป๋อง

อาหารกระป๋องเป็นหนึ่งในความสำเร็จอันน่าทึ่งของการถนอมอาหารที่มนุษย์คิดขึ้นมาได้ ก่อนที่จะรู้ถึงสาเหตุจริงๆ ที่ทำให้อาหารบูดเสีย ประวัติศาสตร์ของอาหารกระป๋องเริ่มต้นที่ขวดแก้ว โดยนาย นิโคลัส ฟรองชัวร์ อัปแปร์ต  ชาวฝรั่งเศส ได้สนองนโยบายด้านการสงครามของกษัตริย์นโปเลียน ที่ประกาศจะให้รางวัลแก่ผู้ที่คิดค้นวิธีการเก็บรักษาอาหารได้นานๆ สำหรับใช้เป็นเสบียงในกองทัพ งานนี้นายนิโคลัส รับเงินไป 12,000 ฟรังส์ กับวิธีการนำอาหารใส่ขวดแก้วแล้วผนึกฝาให้แน่นพร้อมกับต้มขวดบรรจุอาหารในน้ำเดือด วิธีนี้คือการสเตอริไลเซชั่น(Sterilization) หรือกระบวนการใช้ความร้อนเพื่อทำลายจุลินทรีย์อย่างสมบูรณ์ ซึ่งยังคงเป็นวิธีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นับเป็นเรื่องน่าทึ่งเพราะขณะนั้นยังไม่มีใครทราบว่า สาเหตุที่ทำให้อาหารบูดเสียมาจากจุลินทรีย์ และการใช้ความร้อนคือการทำลายเจ้าสิ่งมีชีวิตเล็กๆ พวกนี้ จากขวดแก้วได้พัฒนามาเป็นกระป๋องที่ผลิตจากโลหะ และต่อยอดไปสู่การบรรจุอาหารในถุง(pouch) ซึ่งทำจากวัสดุพลาสติกประเภทต่างๆ แต่กระป๋องโลหะยังคงได้เปรียบในเรื่องต้นทุนและการนำวัสดุมารีไซเคิลได้ใหม่ อาหารบรรจุกระป๋องที่ผลิตด้วยกรรมวิธีที่ดี สามารถเก็บรักษาได้นานราว 2 ปี เว้นพวกที่มีความเป็นกรด เช่น ผลไม้กระป๋อง ผลิตภัณฑ์หมักดอง ไม่ควรเก็บเกินกว่า 18 เดือน อาหารกระป๋องควรอยู่ในสภาพดีเมื่อเลือกซื้อ ไม่บุบ บวม และเนื่องจากอาหารกระป๋องอยู่ในสภาพไม่มีอากาศ หากมีลมพุ่งออกมาจากกระป๋องในขณะเปิดควรทิ้งไปทันที ห้ามกิน //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 บ๊วย

บ๊วย (Japanese apricot, Chinese plum) อยู่ในสกุลเดียวกับท้อและพลับ แต่ผลบ๊วยสดไม่ค่อยจะมีใครกินกันเพราะรสชาติสุดเปรี้ยวและขมเว่อร์ แต่นิยมนำไปทำบ๊วยดอง ซอสบ๊วยเจี่ย น้ำบ๊วยเข้มข้นและเหล้าบ๊วย ซึ่งให้มูลค่าที่สูงกว่าผลสดมาก บ๊วย เป็นผลไม้ที่ชาวจีนเชื่อว่าเป็น ผลไม้แห่งโชคลาภความเจริญงอกงาม และความทรหดอดทน เพราะต้นบ๊วยตามธรรมชาตินั้นทนแล้งได้ดีเหลือเกิน ยามเดินทางให้มีบ๊วยดองติดตัวไว้ ช่วยแก้อาการคลื่นไส้ เมารถ เมาเรือ ได้ชะงัดมาก อมบ๊วยจนปากจู๋เยี่ยงซูเปอร์แมนในการ์ตูน หนูน้อยอาราเล่ จะช่วยปรับดุลสภาวะในกระเพาะให้มั่นคง แข็งแรง คนจีนรู้เรื่องนี้ดี ดังนั้นหากต้องเดินทางไกล พกบ๊วยดองไปด้วยจะดีมาก อากาศร้อนๆ แบบนี้น้ำบ๊วยสักแก้วยิ่งน่าสนใจ เพราะบ๊วยมีสรรพคุณช่วยให้ร่างกายสดชื่น แก้อาการอ่อนเพลียได้ บางตำรายังว่าช่วยดับกลิ่นปากได้ด้วย ถึงคำถามสำคัญหลายคนสงสัย ทำไมบ๊วยถูกนำมาใช้ในความหมายแฝงว่า ตำแหน่งสุดท้ายหรือปลายแถว อันนี้ฟังมาจากผู้รู้ท่านบอกว่า คำว่า บ๊วย ในภาษาจีน(แต้จิ๋ว) จะมีความหมายว่า หาง บ๊วยเลยถูกนำมาใช้เปรียบกับพวกที่ทำอันดับได้ไม่ดีหรือพวกหางแถวนั่นเอง สำหรับบ๊วยดองเค็ม ยังไงก็ไม่ควรกินเยอะไปโดยเฉพาะผู้มีปัญหาโรคความดันและหัวใจ เพราะโซเดียมสูง ส่วนซอสบ๊วยเจี่ยกับน้ำบ๊วยเข้มข้น ให้เลือกชนิดที่ไม่ใส่สารกันบูด และเหล้าบ๊วย มันคือแอลกอฮอล์ดีๆ นี่เอง โปรดดื่มกันแต่พอสมควร  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 เยลลี่

เยลลี่ (Jelly) ขนมเคี้ยวหนึบสีลูกกวาดนี้ เป็นขนมที่เด็กและวัยรุ่นนิยมกันมาก มีมานานเป็นร้อยปีแล้วในแถบยุโรป และฮิตจริงจังในบ้านเรามากว่า 30 ปี ขนมเยลลี่นั้นแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือแบบเนื้อสัมผัสนุ่มชุ่มน้ำเป็นเนื้อวุ้นใสๆ กับแบบเนื้อสัมผัสหนึบหนืดคล้ายหนังยาง ซึ่งขึ้นรูปได้หลายแบบ ที่นิยมก็เช่น รูปหมี รูปดาว รูปเม็ดถั่ว ชนิดเหนียวหนึบอย่างหลังนี้จะเรียกเจาะจงลงไปว่า กัมมี่เยลลี่ (Gummy jelly) ข้อดีคือไม่แข็งอย่างลูกกวาด เคี้ยวหนึบ เพลินดี ถึงขนาดมีผลวิจัยออกมาว่าช่วยลดความแข็งกร้าวของผู้ที่ชื่นชอบการเคี้ยวกัมมี่เยลลี่หนึบๆ นี้ด้วย ในเยลลี่ประกอบด้วยน้ำหวานหรือน้ำผลไม้ สารให้ความหวาน สี(สมัยก่อนนิยมสีสังเคราะห์เพราะสดใสสุดๆปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นสีจากธรรมชาติมากขึ้น) และวัตถุที่ทำให้เกิดเนื้อสัมผัสแบบหยุ่นๆ (เนื้อเจล) เช่น เจลาติน คาราจีแนน และวุ้น (ฝรั่งเรียก Agar agar) สำหรับ เยลลี่เลิฟเวอร์ ทั้งหลาย หากเยลลี่ตัวไหนผสมเจลาติน ให้รู้ไว้ว่าไม่ได้เป็นอาหารเจ เพราะเจลาติน คือโปรตีนที่ได้มาจากการสกัดกระดูกหมูหรือกระดูกวัว เด็กและวัยรุ่น มุสลิม ก็ต้องเลือกเจลาตินที่มาจากกระดูกวัวเท่านั้นซึ่งควรระบุตรา "Halal gelatin" หรือ "Beef gelatin" ถ้าระบุ เจลาติน เฉยๆ อาจมีปัญหา และเนื่องจากเจลาตินมันสร้างปัญหา จึงมีคาราจีแนนมาเป็นตัวเลือก อันนี้ทำมาจากสาหร่ายทะเล เยลลี่ที่ผสมคาราจีแนน จึงจัดเป็นอาหารเจได้มุสลิมกินได้ เพียงแต่คาราจีแนนมันไม่เหนียวและยืดหยุ่นเท่าเจลาติน หลายบริษัทจึงยังภักดีเลือกใช้เจลาตินต่อไป   เดิมเยลลี่อาจดูเป็นขนมที่ไม่มีสาระอะไรแต่หลังๆ พัฒนาจนบางชนิดกินเพื่อช่วยควบคุมน้ำหนักได้ เสริมสารอาหารได้ แต่ปัญหาที่พบคือ หลายยี่ห้อสารกันบูดเยอะเกิน ต้องระวังให้ดี ส่วนเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กต่ำกว่าสามขวบไม่ควรให้กินขนมเยลลี่เพราะติดคอตายกันมาหลายรายแล้ว โดยเฉพาะที่ใส่ถ้วยเล็กๆ พอคำ เวลากินจะเอามาอมแล้วดูดเข้าปาก นี่อันตรายที่สุด เนื่องจากมีแรงบีบอัดสูง พุ่งเข้าหลอดลมสำลักกันมานักต่อนัก ผู้ใหญ่ควรสอนให้เด็กกินอย่างถูกวิธี คือกัดแล้วเคี้ยวก่อนกลืน อ้อ เยลลี่แบบอัดใส่ถ้วยเล็กๆ นั้นในยุโรปเขาห้ามขายกันแล้ว เพราะกลัวเด็กจะตายเพราะเยลลี่อุดหลอดลมนี่แหละ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 ไข่เจียว

อาหารจานไข่ที่คนไทยนิยมรับประทานที่สุด เพียบพร้อมด้วยคุณค่าทางอาหารและรสชาติที่เข้ากันดีกับข้าวสวยและอาหารร่วมโต๊ะอื่นๆ และยังอาจถือเป็นบทเรียนแรกสำหรับคนที่เริ่มหัดทำกับข้าว ว่ากันว่าถ้าทำไข่เจียวได้อร่อยแล้ว อย่างอื่นก็ไม่ยาก ไข่เจียวอย่างที่กินกันทุกวันนี้นิยมแบบเจียวไข่ให้พองฟู ดูนุ่มนวล  ซึ่งการเจียวแบบนี้ต้องใช้กระทะก้นลึกและน้ำมันมาก ต่างจากสมัยก่อนที่คนไทยเพิ่งเริ่มใช้น้ำมันทำอาหารไข่เจียวจะเป็นแบบแบนๆ ดูกระด้าง ในหน้าประวัติศาสตร์ไข่เจียวถูกบันทึกไว้ใน จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี(น้องสาวรัชกาลที่ 1) ว่าเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่จัดเป็นสำรับไว้ในพระราชพิธีสมโภชน์พระแก้วมรกตและฉลองวันพระศรีรัตนศาสดาราม ในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่ก็นั่นแหละยังไม่เคยมีการสืบประวัติว่าไทยเราได้ไข่เจียวมาจากไหน ถ้าให้สันนิษฐานเดาว่าน่าจะเอาอย่างมาจากไข่เจียวของชาติตะวันตกที่เรียกว่า ออมเล็ต(omelet) เพราะวิธีการเจียวไม่ต่างคือตีไข่ให้แตกใส่นมนิดหน่อยแล้วลงเจียวในกระทะที่มีเนยสดร้อนๆ รออยู่ เมื่อใกล้สุกจะใส่ชีส แฮม และมะเขือเทศลงไปตรงกลางและพับไข่ออมเล็ตขึ้นเสิร์ฟ กล่าวคือข้างในจะมีลักษณะนุ่มๆ เยิ้มๆ ไม่แห้งทั่วแผ่นอย่างไข่เจียวของเรา ไข่เจียว 1 ใบ ให้พลังงานประมาณ 90 กิโลแคลอรี ปัจจุบันนิยมใช้ไข่ไก่ แต่ไข่เป็ดก็อร่อยไม่แพ้กันนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 ยาดอง

ยาดองเป็นยาสมุนไพรชนิดหนึ่ง แล้วก็ไม่ได้ดองกับเหล้าเสมอไป การหมักหรือแช่สมุนไพรเพื่อให้ตัวยาซึมซาบออกมานั้น ในตำรับยาไทยแบ่งได้ถึง 6 แบบ ดองเกลือ ดองน้ำผึ้ง ดองเปรี้ยว ดองน้ำปัสสาวะ ดองแป้งข้าวหมากและดองเหล้า โดยสองตัวหลังอาศัยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์เพื่อควบคุมเชื้อแบคทีเรีย ส่วนของพืชสมุนไพรที่นิยมใช้ทำยาดองเหล้า คือ ราก ลำต้น เถา หรือ แก่น นำมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ ตามปริมาณที่ระบุไว้ในแต่ละตำรับ ห่อด้วยผ้าขาวบางใส่ในขวดโหล หลังจากนั้นใส่เหล้าลงไปให้ท่วมยาหรือตามสูตรของแต่ละตำรับ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของหมอยาผู้ผลิต เครื่องยาที่นำมาดองเหล้ามีสรรพคุณรักษาโรคหลากหลายชนิด แต่ที่ติดกันมากจะเป็นตำรับแก้ปวดเมื่อย ตำรับบำรุงกำลังท่านชาย ซึ่งชื่อก็ส่อไปทางนั้น ทั้งม้ากระทืบโรง สาวน้อยตกเตียง โด่ไม่รู้ล้ม กำลังเสือโคร่ง ส่วนตำรับของสตรีหลังคลอดเพื่อขับน้ำคาวปลา ซึ่งนิยมกันในสมัยก่อน ปัจจุบันมีการรณรงค์ให้เลิกเพื่อสุขภาพของแม่และเด็ก เนื่องจากบรรดาคุณแม่อาจติดใจในฤทธิ์แอลกอฮอล์เหมือนคุณลำยองได้ ยาดอง เป็นยาพื้นบ้านไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียนโดย อย. แต่ผู้ที่จะปรุงยาดองโดยเฉพาะเหล้าควรเป็นแพทย์แผนไทยที่มีใบประกอบโรคศิลปะ หรือเป็นหมอยาพื้นบ้านตัวจริง ส่วนที่เห็นขายตามซุ้มยาดองแบบขวดๆ นั้น มักเป็นสาวสวยหน้าใสและดัดแปลงสูตรใช้เหล้าขาวผสมสมุนไพรบดเหมือนชงกาแฟ อันนี้ไม่ได้รักษาโรคแต่มุ่งขายเหล้าเป็นหลัก ซึ่งผู้ประกอบการขายเหล้า ยาดองเหล้าต้องได้รับใบอนุญาตที่ถูกต้อง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 154 หม้อหุงข้าว

หม้อเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานคู่ครัวมนุษย์มาตั้งแต่ยุคหิน ยิ่งเพื่อการหุงข้าวด้วยแล้วคนเอเชียนี่แหละที่พัฒนาหม้อได้ล้ำยุคมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน หม้อในยุคโบราณปั้นจากดินเหนียวแล้วเผาเพื่อเสริมความแข็งแรง ความก้าวหน้าของคนโบราณคือการต่อขาให้กับหม้อ แบบที่เรียกกันว่า หม้อสามขา ขาหม้อจะช่วยยกให้ตัวหม้อสูงขึ้นจากพื้นสามารถยัดฟืนไฟเข้าไปข้างใต้หม้อได้สะดวก พกพาไปไหนก็ไม่ลำบากเหมาะแก่การโยกย้ายถิ่นที่ จนเมื่อเริ่มตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนไม่อพยพแล้ว การมีเตาไฟประจำบ้านทำให้สะดวก ขาหม้อจึงไม่จำเป็นอีก หม้อใช้ทั้งหุงข้าว ต้มอาหาร แต่ชาติที่ว่ากันว่ามีหม้อเฉพาะสำหรับการหุงข้าวคือ ญี่ปุ่น เรียกว่า มูชิ-คามาโดะ และก็เป็นคนญี่ปุ่นอีกเช่นกันที่สร้างหม้อหุงข้าวไฟฟ้าอันแสนสะดวกสบายขึ้นมา ปลายทศวรรษ 1940 บริษัท มิตซูบิชิ อิเลคทริก ได้ผลิตหม้อหุงข้าวที่มีหม้อและขดลวดนำความร้อนอยู่ภายใน ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใกล้เคียงที่สุดกับหม้อหุงข้าวในปัจจุบัน จากหม้อของมิตซูบิชิที่ยังไม่เวิร์ก บริษัทที่สร้างความลงตัวให้กับหม้อหุงข้าวไฟฟ้ามากที่สุดคือ บริษัทโตชิบา จาก 700 ใบเมื่อวันแรกโชว์สินค้า(10 ธันวาคม 1956) โตชิบาต้องผลิตหม้อหุงข้าวอีก 200,000 ใบ ในเวลาเพียง 1 เดือน เพื่อจำหน่ายตามคำสั่งซื้อ และ 4 ปีต่อมาหม้อหุงข้าวไฟฟ้าได้แพร่หลายไปเกือบครึ่งประเทศญี่ปุ่น หม้อหุงข้าวไฟฟ้ายังได้รับการปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา มีทั้งแบบมาตรฐาน แบบอุ่นในตัว แบบดิจิตอลและก้าวหน้าขนาดสั่งให้หุงได้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งญี่ปุ่นอีกเช่นกันที่คิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาได้   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 เคย

  เคย เราหลายคนรู้จักเคยจากที่มันเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำกะปิ เคยมีรูปร่างคล้ายกุ้งแต่ตัวเล็กกว่าและไม่มีกรีแหลมๆ ที่บริเวณหัว หลายพื้นที่จึงเรียกว่า กุ้งเคยกะปิผลิตได้จากวัตถุดิบหลายชนิด แต่ที่ยกย่องว่าเป็นเลิศต้องทำจากเคยแท้ๆ  ตามธรรมชาติเคยจะลอยตัวอยู่ใกล้ผิวทะเล และมีจำนวนมากพอที่ชาวประมงจะช้อนตักกันได้ทุกวัน จัดเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เมื่อชาวบ้านได้เคยมา จะทำความสะอาดแล้วคลุกเคล้าเกลือเพื่อหมักเป็นกะปิ ระหว่างการหมักจะต้องตำและตากเคยเป็นระยะเพื่อให้เนื้อกะปิเคยแห้ง ตามหมู่บ้านติดทะเลเราจึงเห็นกะปิตากแดดพร้อมโชยกลิ่นอบอวลเฉพาะตัวอยู่ทั่วไปกะปิเคยจะสีสวยธรรมชาติเหมือนสีเคย ออกชมพูหน่อยๆ อย่างที่เรียกกันว่า สีกะปิ แต่กะปิก็มีหลายสูตรตามแต่พื้นถิ่นจะคิดค้น และชนิดของเคยที่หาได้ สีสันและรสชาติจึงแตกต่างกันไปบ้าง กะปิเนื้อเนียนกลิ่นหอมมักนิยมนำมาทำน้ำพริก ส่วนที่เนื้อหยาบก็นิยมนำมาปรุงเป็นน้ำแกง  อย่างไรก็ตามมักพบพวกพ่อค้าแม่ค้ามักง่าย แอบผสมแป้งเพิ่มบ้าง หรือไม่ก็เติมสีและสารกันบูดเพื่อให้สีสดและเก็บได้นานขึ้น เพราะรอเวลาให้กะปิเซ็ตตัวครบกระบวนการผลิตตามธรรมชาติไม่ไหว(มันนานไป ไม่ทันขาย) เราจึงต้องเลือกจากแหล่งผลิตและแหล่งขายที่ไว้ใจได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 แกงกะหรี่

ชื่อนี้ต้นทางมาจากอินเดีย หมายถึงแกงประเภทหนึ่งที่มีการใช้เครื่องเทศหลายชนิดปรุงรสชาติให้หอมฟุ้ง เพื่อกลบกลิ่นสาบของเนื้อสัตว์ที่นำมาปรุง คนอินเดียกินแกงนี้กันมานานแล้ว พออังกฤษไปยึดเมืองอยู่ราว 200 ปี ก็พาเอาผงเครื่องเทศหรือผงกะหรี่(Curry Powder) กลับบ้านกลับเมืองไปด้วยพร้อมเผยแพร่ไปทั่ว จนกลายเป็นแกงกะหรี่ที่ฮิตกันทั่วโลก ไม่ว่าจะแกงกะหรี่ญี่ปุ่น จีน ยุโรป ส่วนแกงกะหรี่ไทย มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเนื่องจากเราติดต่อค้าขายกับชนชาติอินเดียมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 บรรดาเครื่องเทศต่างๆ ของอินเดียเลยเข้ามาผสมผสานอยู่ในอาหารไทยจนกลายเป็นแกงต่างๆ ไม่ว่าจะแกงเผ็ด แกงพะแนง แกงเขียวหวาน มาเนิ่นนานแล้ว เครื่องเทศในแกงกะหรี่หลักๆ มีขมิ้น ยี่หร่า ลูกผักชี อบเชย กระวาน พริกไทย ฯลฯ ที่เติมเข้าไปเพื่อให้ได้กลิ่นรสที่แปลกแตกต่างตามสูตรของแต่ละท้องถิ่น อย่างแกงกะหรี่ไทยต้องมีพริก ขิง เพื่อเพิ่มรสชาติจัดจ้านเผ็ดร้อน ไม่เฉพาะแกงกะหรี่ที่ใช้ผงกะหรี่เข้าเครื่องแกง อาหารหลายอย่างก็ใช้ผงกะหรี่เพิ่มรสชาติด้วยเช่นกัน อย่างปูผัดผงกะหรี่ ข้าวหมกไก่ หมูสะเต๊ะ เครื่องเทศทุกชนิดในผงกะหรี่นั้นมีสรรพคุณทางยาสูง ชาวอินเดียเชื่อว่า การใช้ผงกะหรี่ปรุงอาหาร ทำให้คงความเป็นหนุ่มสาว มีอายุยืนยาว เมื่อเร็วๆ นี้นักวิจัยค้นพบว่า สารเคอร์คูมินในขมิ้นที่ประกอบอยู่ในผงกะหรี่ ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ  โดยมีที่มาจากการค้นพบว่าอัตราการเป็นโรคอัลไซเมอร์ในหมู่คน อินเดียมีต่ำมาก น่าจะเพราะคนอินเดียกินแกงกะหรี่หรืออาหารที่มีส่วนผสมของผงกะหรี่เป็นอาหารหลัก เห็นไหมล่ะ...ผงกะหรี่เขาดีเช่นนี้เอง นะจ๊ะ นายจ๋า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 ชาอูหลง

ชา เครื่องดื่มที่คนทั่วโลกนิยมเป็นอันดับหนึ่งนั้น มีรูปแบบการผลิต 3 อย่าง คือ ชาเขียว(Green Tea) ชาอูหลง(Oolong Tea) และชาดำ(Black Tea) ชาอูหลง       เด่นตรงมีกลิ่นหอมละมุนชุ่มติดคอ รสชาติเข้มกว่าชาเขียวแต่ฝาดน้อยกว่าชาดำ กระบวนการผลิตชาอูหลงที่ผ่านกระบวนการกึ่งหมัก ทำให้เกิดสารที่เรียกว่า Oolong Tea Polymerized-polyphenols หรือ OTPPs (ไม่มีในชาเขียวและชาดำ) สารกลุ่มนี้มีรายงานการวิจัยบางชิ้นระบุว่า มีผลต่อการลดและควบคุมปริมาณไขมันในร่างกาย ทำให้ชาอูหลงกลายเป็นชาที่น่าสนใจขึ้นมาทันใดชาอูหลง เอาใบชาสายพันธุ์อะไรมาทำก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์อัสสัม ที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดียหรือชาสายพันธุ์จีน แต่เพราะชาอูหลงไปชื่อพ้องกับ ชาสายพันธุ์อูหลง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ชาจากจีนที่มาแรง ซึ่งภาคเหนือเรานิยมปลูกกันมากเพราะได้ราคาดี โดยเฉพาะชาสายพันธุ์อูหลงเบอร์ 17 หรืออูหลงก้านอ่อน อันนี้ถือเป็นตัวท็อปสร้างชื่อระดับประเทศ ความที่ชื่อพ้องกันจึงอาจทำให้ผู้ที่ห่างไกลแวดวงชาสับสนได้ว่า “อูหลง” เป็นชื่อสายพันธุ์หรือกรรมวิธีการผลิตกันแน่  บางคนจึงดื่มชาเขียวที่ทำจากใบชาสายพันธุ์อูหลง แล้วมะโนว่าตัวเองดื่มชาอูหลงอยู่  ความจริงคือ ชาสายพันธุ์อูหลงนำมาทำได้ทั้งชาเขียว ชาอูหลงและชาดำ ดังนั้นก็ควรเลือกให้ถูกว่าท่านต้องการดื่มชาชนิดใดกันแน่ เพราะชาแต่ละชนิดจะให้สีสัน รส และกลิ่น ที่แตกต่างกัน รวมทั้งคุณสมบัติพิเศษๆ ทั้งหลาย(ลดไขมัน ป้องกันมะเร็ง ฯลฯ)  ล้วนขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิตและใบชาที่นำมาใช้ว่าเป็นสายพันธุ์อะไร ปลูกที่ไหน ปลูกอย่างไร รวมทั้งวิธีการชงดื่มด้วย การดื่มชา จึงนับเป็นศิลปะแขนงหนึ่งเลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 เห็ดหอม

ทุกชาติภาษามีวัฒนธรรมการกินเห็ด ทั้งกินเป็นอาหารและเป็นยา ทั่วโลกมีเห็ดเป็นหมื่นสายพันธุ์ แต่มีไม่กี่พันธุ์ที่มนุษย์สามารถเพาะเลี้ยงได้ ราว 30 ชนิด ท็อปสามที่บริโภคกันทั่วโลกได้แก่ เห็นกระดุม(button mushroom) เห็ดหอม(shitake) และเห็ดตระกูล นางรม(oyster mushroom) เห็ดหอมชาวเอเชียใช้เป็นทั้งอาหารและยามานานแล้ว ส่วนฝรั่งเพิ่งได้ตื่นเต้นกัน ชาวจีนยกให้เห็ดหอมเป็นอาหารตำรับ “อมตะ” เพราะคุณสมบัติความเป็นยาบำรุงกำลัง ช่วยลดความดันโลหิต และบรรเทาอาการไข้หวัด เมื่อเจาะลึกกันไปในระดับสารเคมี มีงานวิจัยในประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ว่าค้นพบสารLentinan ในเห็ดหอมซึ่งมีสรรพคุณป้องกันโรคมะเร็ง และมีโปรตีนสูง เห็ดกินแบบสดดีที่สุด จะเว้นก็เห็ดหอมกินสดดีแล้ว กินแบบแห้งยิ่งได้คุณสมบัติพิเศษเพิ่มที่ยากจะเลียนแบบ เห็ดหอมตากแห้งเมื่อแช่น้ำจนนิ่ม นำไปปรุงให้สุก เห็ดจะโชยกลิ่นเฉพาะตัวจึงได้ชื่อว่า"เห็ดหอม" สมัยก่อนน้ำที่นำมาแช่เห็ดหอม เราจะไม่ทิ้งเพราะเก็บน้ำไว้ปรุงอาหาร ผัดหรือต้ม ตุ๋นได้ แต่สมัยนี้ไม่แนะนำ โดยเฉพาะถ้าท่านซื้อเห็ดหอมมาจากแหล่งที่ไม่น่าไว้ใจ ในงานวิจัยของ สกว. ระบุมีการใช้คาร์บอนไดซัลเฟอร์ชุบเห็ดหอม ซึ่งสารนี้เขาไว้ใช้ล้างสนิมในแวดวงอุตสาหกรรม ยังไม่รวม พวกสารเคมีการเกษตรที่ใช้ในการบำรุงเลี้ยงเจ้าเห็ดหอมด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 ข้าวซอย

อาหารจีน อาหารตะวันออกกลางและอาหารเอเชียอาคเนย์ข้าวซอย อาหารถิ่นภาคเหนือของไทย มีประวัติน่าสนใจเพราะเป็นอาหารที่ผสมผสานระหว่างและกดรีดจนเป็นแผ่นแล้วก็จะใช้มีดตัดซอยเป็นเส้นๆ จึงเรียกว่า ข้าวซอยฮ่อหรือข้าวซอยอิสลามแทนเพราะการผลิตบะหมี่สมัยก่อนยังไม่มีเครื่องผลิตที่ทันสมัยต้องทำเส้นสด คือเมื่อนวดแป้งสาลีกับไข่ได้เริ่มกิจการค้าและทำอาหารชนิดนี้ขายเรียกกันว่า ก๋วยเตี๋ยวฮ่อ แต่ที่คนเชียงใหม่พากันเรียกว่า ข้าวซอยและเข้ามาอาศัยในมณฑลพายัพสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งก็คือจังหวัดเชียงใหม่นั่นเอง เมื่อตั้งหลักได้ชาวจีนกลุ่มนี้อาหารนี้มีที่มาจากชาวจีนที่นับถือศาสนาอิสลาม เรียกว่า จีนฮ่อ ซึ่งอพยพลี้ภัยการเมืองมาจากจีนแผ่นดินใหญ่แม้เรียกว่า ข้าวซอย แต่แท้จริงแล้วเป็นก๋วยเตี๋ยว เพราะสาระหลักคือ เส้นบะหมี่ขลุกขลิกในน้ำแกง ชาวเมืองเชียงใหม่อย่างมาก ขายดีกันจนตั้งแต่นั้นมาข้าวซอยต้องใช้กะทิสดตามตำรับของนายปันที่หากินง่ายอย่างหมูมาเป็นวัตถุดิบแทน ปรุงแต่งไปมาก็ลงตัวด้วยการใช้กะทิสดช่วยชูรส ปรากฏว่า ถูกปากถูกใจมาเป็นเจ้าของร้านเสียเองในช่วงสงคราม มหาเอเชียบูรพา ตอนนั้นข้าวยากหมากแพงเนื้อวัวหายาก จึงต้องนำเนื้อเนื่องจากเป็นอาหารอิสลาม แต่มาพลิกแพลงเป็นกะทิเมื่อลูกจ้างร้านข้าวซอยอิสลาม ชื่อนายปันต้องผันตัวเองเดิมข้าวซอยไม่ได้ใช้กะทิอย่างทุกวันนี้ แต่เป็นเส้นราดด้วยน้ำแกงใสที่ปรุงพร้อมเนื้อวัว หรือไก่ ข้อมูลจาก http://kaosoichiangmai.blogspot.com/2011/11/blog-post_6904.htmlแม้ข้าวซอยจะมีขายกันในท้องถิ่นอื่นมากขึ้น แต่ชาวเชียงใหม่ เขายังฟันธงว่าของแท้ต้องเชียงใหม่เท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 โกจิเบอร์รี

อันที่จริงผลโกจิเบอร์รีนั้น ไม่ได้เป็นผลไม้มหัศจรรย์ที่ค้นพบใหม่แต่อย่างใดเลย บ้านเราก็กินกันมานานแล้ว จำเม็ดเล็กๆ แดงๆ ในถ้วยแกงจืดหรือพวกตุ๋นเนื้อ ตุ๋นไก่ที่เข้าเครื่องยาจีนได้ไหม... ใช่แล้ว โกจิเบอร์รี คือ เม็ดเก๋ากี้ นั่นเอง เก๋ากี้(จีนแต้จิ๋ว) มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Chinese Wolfberry เป็นผลไม้ตระกูลเบอร์รีชนิดหนึ่ง (ผลไม้ตระกูลเบอร์รีในทางพฤกษศาสตร์หมายถึงผลไม้ที่เนื้อและเมล็ดเกิดขึ้นจากรังไข่เดียว แต่โดยทั่วไป คำว่าเบอร์รีมักจะถูกใช้เรียกผลไม้ลูกเล็กๆ กลมๆ หรือเหลี่ยมๆ สีสันสดใส มีรสเปรี้ยวอมหวาน เช่น สตรอเบอร์รี บลูเบอร์รี แรสเบอร์รี ฯลฯ เสียมากกว่า) ถิ่นกำเนิดอยู่จีน ทิเบต แถบเทือกเขาหิมาลัย จัดเป็นสุดยอดผลไม้อายุวัฒนะมาแต่โบราณ นิยมรับประทานทั้งผลสดและแห้ง กล่าวกันว่า เป็นพืชสมุนไพร ที่คนทั่วโลกนิยมกินกันมากที่สุด เก๋ากี้มีสรรพคุณช่วยบำรุงเลือด หัวใจ ตับ และไต เมื่อกินเป็นประจำจะช่วย ให้สายตาดี ร่างกายกระฉับกระเฉง สดชื่น อารมณ์ดี สำหรับชื่อ โกจิเบอร์รี่ เป็นชื่อในเชิงการค้าเพื่อส่งเสริมให้เป็นอาหารเสริมชั้นดี และแน่นอนราคาแพง   ถ้าท่านพอมีปัจจัยดื่มน้ำผลไม้โกจิเบอร์รีก็ได้ประโยชน์แต่ให้ระวังเรื่องความหวาน กรุณาอ่านฉลากดูปริมาณน้ำตาลด้วย ส่วนเม็ดแห้งนำมาทำแกงจืดก็อร่อยดีเคี้ยวกินได้ทั้งเม็ด เพียงแต่ก่อนนำมาทำอาหารให้ล้างน้ำมากๆ หน่อย ลวกน้ำร้อนได้ยิ่งดี เพราะเม็ดเก๋ากี้แห้งนำเข้าจะพบปัญหาปนเปื้อนสารฟอกขาว (เพื่อป้องกันราแต่ไม่ป้องกันเรา) ในปริมาณสูง ซึ่งกินมากๆ อันตรายต่อร่างกายจ้ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 ปลาแมกเคอเรล

ชื่อแมกเคอเรลนี้ น่าจะคุ้นหูคนไทยกันมากแล้ว เพราะเมื่อพลิกไปดูฉลากปลากระป๋อง อาหารที่นิยมแจกกันในยามยากหรือประสบภัยต่างๆ  ก็จะเห็นว่าเป็นปลาแมกเคอเรลในซอสมะเขือเทศกันเสียส่วนใหญ่ สมัยก่อนเราจะคุ้นกับปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศมากกว่า แต่มันมามีเรื่องฮือฮาเอาเมื่อประมาณ 8 ปีก่อน โดยผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาทะเลท่านหนึ่งสังเกตพบว่า ปลากระป๋องยี่ห้อดังที่ระบุว่า ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศนั้น น่าจะโกงผู้บริโภคเสียแล้ว ด้วยการใช้ปลาทูแมวมาผลิตแทนปลาซาร์ดีน สืบไปสืบมาความเลยแตกว่า ปลาซาร์ดีนนั้นมันหายากนักหนา ปลาทู นี่แหละ ถึงไม่ใช่ก็แทนกันได้(บางคนก็ว่าอร่อยกว่าด้วย) อ้าว...เขียนเรื่องปลาแมกเคอเรล แล้วไปเกี่ยวอะไรกับปลาทู คือเรื่องมันมีอยู่ว่า แมกเคอเรล นั้นเป็นชื่อเรียกปลาทะเลที่มีลักษณะคล้ายกันคือ ผิวเป็นเกล็ดละเอียดสีเงินมันวาว ตัวเรียวยาวกลมคล้ายทรงกระบอก หัวแหลมท้ายแหลม มีครีบกระโดงหนึ่งครีบ ครีบท้องหนึ่งครีบ ครีบข้างหนึ่งคู่ หางสองแฉก ซึ่งอาศัยอยู่ทั่วไปตามชายฝั่งทะเลอยู่รวมเป็นฝูงใหญ่ ดังนั้นปลาทูที่เราคุ้นเคยไม่ว่าจะปลาทูแมว ปลาทูลัง หรือปลาทูแขก จึงจัดว่าเป็นปลาแมกเคอเรลเช่นกัน อ้อ ! ปลาซาบะ ก็เป็นปลาแมกเคอเรล ด้วยเหมือนกันนะ(คนญี่ปุ่นเรียกปลาพวกแมกเคอเรลทั้งหลายว่า ปลาซาบะ) ปลาแมกเคอเรลนั้นประชากรโลกนิยมกินกันมาช้านานแล้ว เมื่อนิยมกินกันมากๆ ก็เลยเกิดปัญหาใหญ่ตามมา คือว่า ปลาแมกเคอเรล กำลังใกล้จะสูญพันธุ์ คาดว่าในอีกไม่กี่ปีนี้แหละ ปัญหานี้ใหญ่หลวงนักขนาดสมาคมการอนุรักษ์ทางทะเล หรือ MSC ของอังกฤษ ได้ประกาศลดระดับปลาแมกเคอเรล จากเดิมที่แนะนำว่าเป็นอาหารสุขภาพที่มีความยั่งยืน "ควรรับประทานเป็นประจำ" กลายเป็น "ควรรับประทานเป็นครั้งคราว"  แทน ปลาแมกเคอเรลพันธุ์ไทย อย่างปลาทู ก็แว่วๆ ว่าใกล้จะหมดอ่าวเหมือนกัน ทั้งจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและจากชาวประมงที่ไม่แคร์สื่อ จับปลาไม่เลือกฤดูกาล ไม่เลือกวิธีการ ผู้บริโภคเองก็คงต้องเปลี่ยนหันมารับประทานปลาให้หลากหลายชนิดกันมากขึ้น เพราะปลานั้นมีประโยชน์ไม่ว่าจะปลาน้ำจืดหรือปลาน้ำทะเล ต่างล้วนแต่กินแล้วดีต่อสุขภาพด้วยกันทั้งนั้น  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 น้ำแข็งไส

  ไส หมายถึง การผลักไป รุนไป ไสน้ำแข็ง ก็คือการที่นำก้อนน้ำแข็งวางบนเครื่องไส ที่แบบบ้านๆ จะเป็นโต๊ะไม้เล็กๆ ที่มีใบมีดคมๆ หงายอยู่ตรงกลาง แล้วไถก้อนน้ำแข็งไปมาผ่านคมมีดเพื่อให้ได้เกล็ดน้ำแข็งฝอยๆ สำหรับกินกับ แตงไทย  เผือกลอดช่อง วุ้น เฉาก๊วย ขนมเชื่อมต่างๆ  อย่างลูกชิด มันเชื่อม หรืออื่นๆ แล้วราดด้วยน้ำเชื่อมหรือน้ำกลิ่นผลไม้ต่างๆ ขนมแบบนี้แหละที่เราเรียกมันว่า ขนมน้ำแข็งไส ประเทศร้อนๆ อย่างเมืองไทยของเรา คนสมัยก่อนคงนึกไม่ออกว่า น้ำจะเป็นตัว ได้อย่างไร แต่กับคนในบ้านเมืองที่มีอากาศหนาวเย็นติดลบ น้ำแข็งไม่ใช่ของแปลก และการนำน้ำแข็งมาใช้ทั้งกินและถนอมอาหารก็ทำกันมานานเป็นพันปีแล้ว เมื่อการค้าจากชาติที่มีทั้งอากาศหนาวเย็นและวัฒนธรรมการกินน้ำแข็งมาเยือนถึงถิ่นดินแดนเขตร้อน ราวศตวรรษที่ 19 น้ำแข็งจึงจัดเป็นสินค้าสำหรับชนชั้นสูงเท่านั้นเพราะขนส่งมาไกลข้ามน้ำข้ามทะเลกันมาหลายเดือน คนไทยเราสั่งนำเข้าน้ำแข็งมาครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 จากประเทศสิงคโปร์เพื่อถวายพระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูง ต่อมาจึงกลายเป็นของกินที่ทั้งแปลกและหรูหราในสมัยนั้น น้ำแข็งมากลายเป็นของธรรมดาก็เมื่อมีคนคิดค้นการผลิตน้ำแข็งขึ้นได้(ยุคแรกน้ำแข็งที่ใช้บริโภคเป็นน้ำแข็งที่เกิดตามธรรมชาติ) โรงงานน้ำแข็งแห่งแรกในประเทศไทยเป็นเจ้าเดียวกับคนที่ทำรถเมล์เจ้าแรก คือ นายเลิศ(พระยาภักดีนรเศรษฐ) ชื่อว่า น้ำแข็งสยาม ณ เวลานี้  แม้น้ำแข็งไสแบบเดิมยังคงได้รับความนิยมอยู่ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ น้ำแข็งไส หรือ น้ำแข็งใส ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันสมัยมากขึ้น เกล็ดน้ำแข็งที่ผ่านเครื่องไสแบบสมัยใหม่จะละเอียดจนเรียกว่า ปุยนุ่นหรือเกล็ดหิมะ แบบตักใส่ปากก็ละลายโดยไม่ต้องเคี้ยว และยังมีท้อปปิ้งหน้าตาสวยงามให้เลือกหลากหลาย แน่นอนราคาก็ไม่ธรรมดาตามไปด้วย บางเจ้าราคาไม่ต่ำกว่า 100 บาทด้วยซ้ำ ว่าแต่...ร้อนๆ แบบนี้ได้น้ำแข็งไสสักถ้วยคงดีไม่น้อยนะ ว่าไหม?

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 145 หาบเร่

  หาบเร่ นับเป็นกิจการค้าปลีกเก่าแก่ที่อยู่คู่สังคมไทยมานาน เป็นทั้งเสน่ห์และสัญลักษณ์ของความไร้ระเบียบอันเป็นเอกลักษณ์ไทย การเรียกว่า หาบเร่ นั้นเป็นการเรียกจากอุปกรณ์ “หาบ” ที่นิยมกันมาแต่โบราณในการบรรทุกสินค้าไปขายในสถานที่ต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าสถานที่นั้นต้องมีคนพลุกพล่านจอแจ หรือในทางตรงข้ามก็คือนำสินค้าไปขายตรงกับลูกค้าที่มีนิวาสสถานห่างไกลจากย่านร้านค้า และไม่สะดวกในการเดินทาง เมื่อกาลเวลาผ่านไป ถึงแม้หาบจะไม่ได้รับความนิยมแล้ว เราก็ยังเรียกสินค้าที่ไม่ว่าจะบรรทุกด้วยรถปิกอัพหรือรถเข็น ว่า “หาบเร่” อยู่ดี   หาบเร่นั้นมักจะเน้นที่อาหารการกินเป็นหลัก ไม่ว่าจะหาบเร่ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว ขนมหรือผลไม้ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ชอบ เพราะรสชาติดีและเข้าถึงง่าย แต่เพราะหาบเร่เป็นกิจการที่ไม่ได้ลงทุนมาก ใครๆ ก็เลยแห่กันมาเป็นแม่ค้า พ่อค้าหาบเร่กันมากขึ้น ปัญหาคือพวกเขามักจะไม่ค่อยเร่ไปไหน ต่างพากันปักหลักเหนียวแน่นตามทางเท้าที่คนสัญจรผ่านไปมา(แผงลอย ก็เรียก) จนกลายเป็นสร้างความเดือดร้อนรำคาญเบียดเบียนคนเดินถนนทั่วไป ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่ยากต่อการจัดการ   แม้อาหารจากหาบเร่จะอร่อย ราคาย่อมเยา แต่เมื่อต้องผจญกับฝุ่นควันริมถนน ผู้คนที่ผ่านไปมาจำนวนมาก บวกกับสภาพอากาศร้อน อาจทำให้อาหารบูดเสียง่ายหรือโอกาสปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียสูงขึ้น การล้างภาชนะ การเก็บวัตถุดิบด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสมก็ทำได้ยาก อาหารจากหาบเร่จึงถือเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคต้องรับรู้ว่า กำลังเสี่ยงภัยจากอาหารเป็นพิษด้วยเช่นกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 ลูกกวาด

ลูกกวาด ลูกกวาด หรือ ลูกอม เป็นขนมหวานที่เกือบ 100 % เป็นน้ำตาล ส่วนที่เหลือคือการปรุงแต่งรส กลิ่น สี เพื่อสร้างความน่าสนใจ ซึ่งสามารถทำได้เป็นร้อยชนิดแล้วแต่คนปรุงจะสร้างสรรค์ ประวัติศาสตร์ของลูกกวาดมีมายาวนาน โดยชาวอียิปต์เป็นชนชาติแรกที่นำผลไม้ ธัญพืช สมุนไพรรสหวานและเครื่องเทศ มาผสมกับน้ำผึ้ง เพื่อรับประทานเป็นของว่าง ซึ่งต่อมาก็นิยมกันแพร่หลายไปสู่กรีกและโรมัน จนเมื่อชาวยุโรปราวศตวรรษที่ 11 เริ่มรู้จักน้ำตาลที่ได้จากการตกผลึกของอ้อย จึงเริ่มมีการนำน้ำตาลมาเคี่ยวจนเหนียวหนับไปจนถึงแข็งกรอบ ลูกกวาดในตอนแรกผลิตนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นยา โดยมีการผสมสมุนไพรต่างๆ ลงไปเพื่อชูรสชาติ(หรือกลบรสขมของสมุนไพร) แน่นอนว่า คนกลุ่มอาชีพแรกๆ ที่นำน้ำตาลมาทำเป็นลูกกวาดจึงได้แก่ ผู้ที่มีอาชีพปรุงยาทั้งหลาย เพราะคุ้นเคยกับสมุนไพรต่างๆ ดี ปัจจุบันตลาดของลูกกวาด ลูกอม ยังมีมูลค่าทางการตลาดสูงแม้ว่า ส่วนผสมหลักคือ น้ำตาลจะถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำร้ายสุขภาพโดยเฉพาะภาวะฟันผุ เพียงปรับกลยุทธ์การตลาดไปบ้าง แต่เดิมวางไว้ให้เป็นของกินเล่นๆ อมแก้เบื่อ แก้เซ็ง ก็เริ่มกลับไปหาจุดเริ่มต้นอีกครั้ง คือ การอมเพื่อบรรเทาอาการ โดยสูตรที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันคือสูตรที่เน้นชุ่มคอและให้ความสดชื่น สีสันในลูกกวาดที่แสนจะแสบสันต์ แน่นอนว่าเป็นสีสังเคราะห์ เมื่อรวมกับสารที่ใช้เป็นวัตถุกันเสียในลูกกวาด เคยมีรายงานพบว่า มีความสัมพันธ์กับอาการสมาธิสั้นในเด็ก รวมทั้งน้ำตาลที่ละลายออกมาจากลูกอมแล้วไปเกาะผิวเคลือบฟันคือ ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ฟันผุ คุณพ่อคุณแม่ จึงควรเลือกให้น้องๆ รับประทานแต่น้อยและควรบ้วนปากหรือแปรงฟันหลังอมลูกกวาด ส่วนเด็กเล็กๆ อย่าเพิ่งให้อมจะดีกว่าเพราะเสี่ยงต่อการหลุดเข้าไปอุดหลอดลม

อ่านเพิ่มเติม >