ฉบับที่ 158 “หน้าที่” ของผู้โดยสาร ในการใช้บริการรถสาธารณะ

ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มักจะนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวกับ สิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเสมอ แต่ที่มาพร้องกับสิทธิ นั่นคือ “หน้าที่” ซึ่งผู้บริโภคบางครั้งก็มักจะหลงลืม หรือให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้น้อย ฉบับนี้ศูนย์พิทักษ์สิทธิจึงขอนำเสนอ หน้าที่ของผู้โดยสาร เมื่อต้องใช้บริการของรถสาธารณะกันบ้างราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2557 ได้ประกาศกฎกระทรวง  กำหนดความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยที่ผู้โดยสารต้องปฏิบัติในระหว่างการโดยสาร พ.ศ. 2557 ซึ่งกฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยผู้โดยสารรถสำหรับการขนส่งประจำทางต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยตลอดเวลาที่อยู่ระหว่างการโดยสาร ดังนี้(1) ไม่สูบบุหรี่หรือสิ่งที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน(2) ไม่กล่าววาจาไม่สุภาพ เสียดสี ดูหมิ่น ก้าวร้าว ส่งเสียงอื้ออึง หรือกระทำการใด ๆ ในลักษณะที่ก่อความรำคาญแก่ผู้อื่น(3) ไม่โดยสารนอกตัวรถ หรือห้อยโหน หรือยื่นมือ แขน หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายออกนอกตัวรถ ทั้งนี้ เมื่อผู้ประจำรถได้ว่ากล่าวตักเตือนแล้วไม่ยอมปฏิบัติตาม(4) ไม่นำสิ่งของที่มีกลิ่นแรงอันอาจก่อความรำคาญแก่ผู้อื่นขึ้นบนรถ เว้นแต่จะได้จัดเก็บให้มิดชิดโดยปราศจากกลิ่นนั้น(5) ไม่นำดอกไม้เพลิง ลูกระเบิด วัตถุระเบิด หรือวัตถุกัดกร่อนขึ้นบนรถ (6) ไม่บ้วน หรือถ่มน้ำลาย น้ำหมาก หรือเสมหะ สั่งน้ำมูก ถ่ายสิ่งปฏิกูล หรือเท หรือทิ้งสิ่งใด ๆ ลงบนรถ ณ ที่ซึ่งมิได้จัดไว้เพื่อการนั้น(7) ไม่ลงจากรถนอกบริเวณที่มีเครื่องหมายหยุดรถประจำทาง(8) ไม่ดื่มสุราตามกฎหมายว่าด้วยสุรา(9) ไม่กระทำการลามกอนาจาร(10) รัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งผู้โดยสารรถสำหรับการขนส่งไม่ประจำทาง (เช่น รถท่องเที่ยวทัศนาจร) ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยตลอดเวลาที่อยู่ในระหว่างการโดยสารตามข้อ  (1) (3) (5) (8) (9) และ (10)เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยที่ผู้โดยสารรถสำหรับการขนส่งประจำทางต้องปฏิบัติตลอดเวลาที่อยู่ในระหว่างการโดยสารตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งไม่ครอบคลุมข้อปฏิบัติเรื่องความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยบางประการ ประกอบกับจำเป็นต้องเพิ่มข้อกำหนดเพื่อผู้โดยสารรถสำหรับการขนส่งไม่ประจำทางด้วยเห็นหรือไม่ว่า นอกจากสิทธิแล้ว หน้าที่ก็ยังเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ นั่นก็เพื่อให้ผู้โดยสารมีความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในระหว่างการโดยสารยิ่งขึ้นนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 สัญญาฝากทรัพย์ กรณีรถหายในอู่ซ่อม

สัญญาฝากทรัพย์เป็นเอกเทศสัญญาชนิดหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ลักษณะ 10 หมวด 1 โดย มาตรา 657 ได้ให้ความหมายของสัญญาฝากทรัพย์ว่า “อันว่าฝากทรัพย์นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ฝาก  ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้รับฝากและผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่งตนแล้วจะคืนให้” ในการรับฝากทรัพย์นั้นมีทั้งเป็นการรับฝากทรัพย์เป็นการให้เปล่าไม่มีบำเหน็จ  และมีทั้งการรับฝากทรัพย์มีบำเหน็จค่าฝาก  ซึ่งผลของรับฝากทรัพย์เป็นการให้เปล่าไม่มีบำเหน็จและมีบำเหน็จค่าฝากมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะใช้ระดับความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินต่างกัน  ยิ่งผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ต้องมีระดับความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินสูงเพิ่มขึ้นไปอีก โดย มาตรา 659 บัญญัติว่า “ถ้าการฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่าไม่มีบำเหน็จไซร้ ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง ถ้าการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดั่งนั้น  ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด  ก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่ เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น” มาดูตัวอย่างกรณีศึกษากันหน่อย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1008/2551 วินิจฉัยว่า การที่จะพิจารณาว่าจำเลยในฐานะผู้รับฝากรถยนต์คันพิพาทไว้โดยมีบำเหน็จค่าฝากได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้นหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับคนทั่วๆ ไป ในภาวะเช่นนั้นว่าควรจะพึงใช้ความระมัดระวังเช่นไร  ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  จำเลยจอดรถยนต์คันพิพาทไว้บริเวณด้านหน้าอู่ซ่อมรถของจำเลยโดยได้ล็อกประตูและล็อกพวงมาลัยรถยนต์คันพิพาท ส่วนตัวจำเลยก็นอนอยู่ภายในอู่ดังกล่าว เมื่อได้ยินเสียงเครื่องยนต์รถดังขึ้นก็ได้ลุกขึ้นดู  ปรากฏว่ารถยนต์คันพิพาทหายไปก็ได้แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจที่ผ่านมาทราบและออกติดตามคนร้ายกับเจ้าพนักงานตำรวจด้วย ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้นแล้ว อู่ซ่อมรถของจำเลยเป็นห้องแถวและเป็นอู่ขนาดเล็ก  บริเวณด้านหน้าของอู่ตั้งประชิดติดกับขอบถนน ย่อมเป็นไปได้ยากที่จะมีการกั้นรั้วหรือจัดหายามมาคอยระแวดระวังในเวลากลางคืน ดังนั้น การที่จำเลยจอดรถยนต์คันพิพาทไว้บริเวณด้านหน้าของอู่จะถือว่าจำเลยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้นหาได้ไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 520/2554 วินิจฉัยว่า  โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดตามสัญญาฝากทรัพย์ โดยจำเลยเป็นนิติบุคคลประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีวัตถุประสงค์ว่ารับฝากเงิน  จำเลยจึงเป็นผู้รับฝากผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใดจึงต้องใช้ความระมัดระวังและฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้นตามบทบัญญัติมาตรา 659  วรรคสาม แห่ง ป.พ.พ. อันเป็นการกำหนดมาตรฐานในการระมัดระวังในการปฏิบัติตามสัญญาในขั้นสูงสุดเยี่ยงผู้มีวิชาชีพเช่นนั้นจะพึงปฏิบัติในกิจการที่กระทำ  เมื่อปรากฏว่า พนักงานของจำเลยทุจริตลักลอบเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของลูกค้าต่างๆ จำนวน 34 บัญชี รวมทั้งรายบัญชีของโจทก์  แสดงว่าจำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลบัญชีเงินฝากของโจทก์ อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญา  ได้ความว่าโจทก์ฝากเงินประเภทประจำ 3 ปี กรณีเป็นเรื่องปกติวิสัยที่เจ้าของบัญชีจะอุ่นใจมิได้ติดตามผลในบัญชีเงินฝากจนกว่าจะครบกำหนดตามระยะเวลาที่กำหนด การที่โจทก์ไม่ได้ไปติดต่อรับดอกเบี้ย จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติวิสัยและไม่ใช่ความผิดของโจทก์ เนื่องจากโจทก์เป็นลูกค้าของจำเลย มิใช่ผู้มีหน้าที่ระมัดระวังทรัพย์สินที่ตนฝาก  เมื่อจำเลยผิดสัญญาฝากเงินไม่ได้ใช้ความระมัดระวังและฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้นในการดูแลเงินฝากของโจทก์ เมื่อเงินฝากของโจทก์ถูกเบิกถอนไปจนหมด  จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนแก่โจทก์ หมายเหตุผู้เขียน สิทธิเรียกร้องให้คืนเงินตามสัญญาฝากทรัพย์ มิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 (ฎ. 2542/2549)     //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 360 องศากับ Google Earth

หลายครั้งที่ต้องเดินทางไปที่นั่นที่นี่ โดยที่ไม่รู้ว่าบริเวณที่จะไปอยู่ส่วนไหนของประเทศหรืออยู่ส่วนไหนของโลก ถือว่าเป็นเรื่องที่ลำบากอย่างมาก ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่อินเตอร์เน็ตช่วยทำให้ความลำบากเหล่านั้นหายไปโดยสิ้นเชิง ต้องยอมรับว่าอินเตอร์เน็ตมีประโยชน์อย่างมากที่จะช่วยค้นหาสถานที่ต่างๆ ที่ต้องการเดินทางไป ซึ่งคำตอบที่มักจะมาจาก google ที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง แค่นี้เว็บไซต์นี้ก็จะค้นหาแผนที่ที่จะใช้เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ มาให้เลือกมากมาย ภาพแผนที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นตามวิวัฒนาการของเทคโนโลยี จนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจากภาพแผนที่เดิมๆ ที่มีเพียงลายเส้นเพื่อบอกทิศทาง เปลี่ยนมาเป็นภาพผ่านดาวเทียม มีลักษณะจำลองเป็นภาพ 3 มิติ เป็นภาพเสมือนจริง เหมือนกับเราได้ไปเดินในถนนเส้นนั้นๆ ฉบับนี้จึงพามารู้จักแผนที่ฉบับดาวเทียมที่ถือว่ามีชื่อเสียงระดับโลกเลยทีเดียว นั่นคือ Google Earth ปัจจุบัน Google Earth ได้ถูกพัฒนาให้เห็นสถานที่ต่างๆ ในเส้นทางที่ต้องการจะค้นหาว่าสถานที่ใดตั้งอยู่ในบริเวณใด ถือว่าเป็นการย่อส่วนของสถานที่ทั่วโลกมาไว้ที่คอมพิวเตอร์   โดยปกติ Google Earth สามารถใช้ผ่านอินเตอร์เน็ต ถ้าต้องการโปรแกรมมาไว้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ก็สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมมาติดตั้งได้ด้วย โดยเข้าที่เว็บไซต์ www.google.com/earth และได้ถูกพัฒนามาไว้ที่แอพพลิเคชั่นแบบเต็มตัว ที่ชื่อว่า Google Earth เพื่อให้ทันสมัยกับยุคโซเชียลมีเดีย แอพพลิเคชั่นนี้จะช่วยในการค้นหาเส้นทาง ผังเมือง แผนที่การคมนาคม  ภายในแอพพลิเคชั่น Google Earth จะมีลักษณะการใช้งานเหมือนกับในคอมพิวเตอร์ โดยจะมีเข็มทิศบอกทิศทางเหนือทิศใต้  เมื่อต้องการค้นหาสถานที่ใดให้ใส่ชื่อสถานที่ในช่องค้นหา ภาพจำลอง 3 มิติจะปรากฏขึ้นมา เราสามารถเลื่อนไปทางซ้ายหรือทางขวา ขึ้นลง ได้ตามความต้องการ ถ้าต้องการมองในมุมแนวเดียวกับถนน ให้กดที่รูปคนด้านซ้ายมือ จะปรากฏภาพถนนสายนั้นๆ ที่เป็นเหมือนภาพถ่าย 360 องศา ทำให้รู้สึกเสมือนว่าเรายืนอยู่ตรงบริเวณนั้น ปุ่มบนด้านขวามือ จะเป็นการตั้งค่าของมุมมองที่ต้องการให้เห็น อย่างเช่น ต้องการให้เห็นถนน ต้องการให้เห็นสถานที่ ต้องการให้เห็นมหาสมุทร เป็นต้น ก็ให้คลิกเพื่อทำเครื่องหมายที่เราต้องการให้เห็นในส่วนนั้น  อีกปุ่มหนึ่งจะเป็นลูกศรอยู่ทางด้านล่างขวา ลูกศรนี้ช่วยหาตำแหน่งที่อยู่ของเราในขณะที่ใช้งานแอพพลิเคชั่นนี้ ช่วยให้ผู้ที่ไม่แน่ใจว่าตนเองอยู่ส่วนไหนได้รู้ตำแหน่งตนเองให้แน่ชัด ประโยชน์ของแอพพลิเคชั่น Google Earth จะช่วยให้รู้สถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศอะไรก็ตามในโลกนี้  Google Earth ได้ทำภาพจำลอง 3 มิติอาคารสถานที่ให้ได้เห็น โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปยังประเทศนั้นๆ อย่างน้อยก็ช่วยให้รู้จักบรรยากาศ สภาพบ้านเมืองของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ลองโหลด Google Earth มาเล่นกันดูนะคะ   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 บ๊วย

บ๊วย (Japanese apricot, Chinese plum) อยู่ในสกุลเดียวกับท้อและพลับ แต่ผลบ๊วยสดไม่ค่อยจะมีใครกินกันเพราะรสชาติสุดเปรี้ยวและขมเว่อร์ แต่นิยมนำไปทำบ๊วยดอง ซอสบ๊วยเจี่ย น้ำบ๊วยเข้มข้นและเหล้าบ๊วย ซึ่งให้มูลค่าที่สูงกว่าผลสดมาก บ๊วย เป็นผลไม้ที่ชาวจีนเชื่อว่าเป็น ผลไม้แห่งโชคลาภความเจริญงอกงาม และความทรหดอดทน เพราะต้นบ๊วยตามธรรมชาตินั้นทนแล้งได้ดีเหลือเกิน ยามเดินทางให้มีบ๊วยดองติดตัวไว้ ช่วยแก้อาการคลื่นไส้ เมารถ เมาเรือ ได้ชะงัดมาก อมบ๊วยจนปากจู๋เยี่ยงซูเปอร์แมนในการ์ตูน หนูน้อยอาราเล่ จะช่วยปรับดุลสภาวะในกระเพาะให้มั่นคง แข็งแรง คนจีนรู้เรื่องนี้ดี ดังนั้นหากต้องเดินทางไกล พกบ๊วยดองไปด้วยจะดีมาก อากาศร้อนๆ แบบนี้น้ำบ๊วยสักแก้วยิ่งน่าสนใจ เพราะบ๊วยมีสรรพคุณช่วยให้ร่างกายสดชื่น แก้อาการอ่อนเพลียได้ บางตำรายังว่าช่วยดับกลิ่นปากได้ด้วย ถึงคำถามสำคัญหลายคนสงสัย ทำไมบ๊วยถูกนำมาใช้ในความหมายแฝงว่า ตำแหน่งสุดท้ายหรือปลายแถว อันนี้ฟังมาจากผู้รู้ท่านบอกว่า คำว่า บ๊วย ในภาษาจีน(แต้จิ๋ว) จะมีความหมายว่า หาง บ๊วยเลยถูกนำมาใช้เปรียบกับพวกที่ทำอันดับได้ไม่ดีหรือพวกหางแถวนั่นเอง สำหรับบ๊วยดองเค็ม ยังไงก็ไม่ควรกินเยอะไปโดยเฉพาะผู้มีปัญหาโรคความดันและหัวใจ เพราะโซเดียมสูง ส่วนซอสบ๊วยเจี่ยกับน้ำบ๊วยเข้มข้น ให้เลือกชนิดที่ไม่ใส่สารกันบูด และเหล้าบ๊วย มันคือแอลกอฮอล์ดีๆ นี่เอง โปรดดื่มกันแต่พอสมควร  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 กระแสต่างแดน

กระแสต่างแดนฉบับนี้ขอนำเสนอบางส่วนจากการประชุมนานาชาติเรื่อง “การคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิตอล” เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส เชียงใหม่ ประเทศไทยเรานี่เอง งานนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจากองค์กรที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคกว่า 200 คน จาก 32 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิจิ อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน อัฟกานิสถาน เนปาล โอมาน อียิปต์ เยเมน ลิเบีย เลบานอน ซาอุดิอาระเบีย ซูดาน ซิมบับเว อัฟริกาใต้ อาร์เจนตินา ชิลี สโลเวเนีย อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา)   นาทีนี้ถ้าไม่พูดเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคทีวีดิจิตอลก็กลัวจะเชย เราจึงนำประเด็นที่วิทยากรจากต่างประเทศนำเสนอมาฝากกัน ... เริ่มจากเพื่อนบ้านใกล้เคียงในอาเซียนอย่างสิงคโปร์กันก่อนเลย     สิงคโปร์ ประเทศในภูมิภาคอาเซียนตกลงกันว่าจะเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิตอลให้หมดภายในปี 2020  สิงคโปร์ก็เริ่มเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ทีวีดิจิตอลตั้งแต่ปี 2013 แล้ว เขาใช้กล่องรับสัญญาณดิจิตอล มาตรฐาน DVB-T2 เหมือนบ้านเรา สนนราคาที่ขายกันอยู่ก็สูงตามค่าครองชีพ อยู่ที่ประมาณ 3,000 กว่าบาท ประเด็นที่น่าสนใจคือการให้ความช่วยเหลือกับครัวเรือนรายได้น้อย (ได้แก่ ครัวเรือนที่เป็นผู้เช่าอาศัยแฟลตขนาดไม่เกิน 2 ห้องนอน ครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 1,900 เหรียญ ที่สำคัญต้องไม่เป็นสมาชิกเคเบิลทีวีหรือทีวีดาวเทียมอยู่ก่อน และคนที่อยู่ภายใต้โครงการความช่วยเหลืออื่นๆ จากรัฐ) รวมๆ แล้วมีผู้ที่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลืออยู่ประมาณ 170,000 ครอบครัว สมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์เล่าถึงประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านฯ ว่ารัฐบาลได้ขอความเห็นจากสมาคมฯ รวมถึงข้อห่วงใยเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับครัวเรือนรายได้น้อย รวมถึงทำงานร่วมกับภาคธุรกิจโดยเรียกร้องให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงสิทธิผู้บริโภคด้วย สิงคโปร์เขามีการกำหนดหลักประกันว่าประชาชนต้องสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์ได้ โดยอาจมีการเรียกเก็บค่าบริการบ้างเล็กน้อย จึงไม่ต้องรับมือกับปัญหา “จอดำ” และตามสไตล์สิงคโปร์การโฆษณาในทีวีจะถูกกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด โฆษณาอกฟูรูฟิตคงจะหาดูได้ยากหน่อย   เกาหลีใต้ ขยับออกไปไกลอีกนิด ไปที่เกาหลีใต้กันบ้าง การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบดิจิตอลของเกาหลีใต้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2540 และเขามีการหยุดระบบอนาล็อคไปในเดือนธันวาคมปี 2555  โดยแผนการดำเนินงาน 4 ขั้นตอน เริ่มจากการรณรงค์ระดับชาติให้ผู้บริโภคได้รับรู้และเข้าใจเรื่องทีวีดิจิตอล  จากนั้นเริ่มทดลองปิดระบบอนาล็อค ในระหว่างปี 2553 - 2554  จากนั้นทำการตรวจสอบประเมินการปิดระบบอนาล็อค และขั้นตอนสุดท้ายคือการ ติดตามการดำเนินงานเรื่องการจัดสรรช่องใหม่ ตามความเห็นของผู้บริหารองค์กรผู้บริโภคแห่งเกาหลี การปิดระบบอนาล็อคนั้นถือว่าได้ผลดี และทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนผ่าน ตั้งแต่องค์กรผู้บริโภค บริษัทผู้ผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ (ซัมซุงและแอลจี) และผู้ประกอบการโทรทัศน์ เป็นต้น บทเรียนจากการทำงานของเกาหลีฝากไว้ให้กับประเทศที่กำลังจะทำการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอลคือ 1. ในการเปลี่ยนผ่านนั้น จะต้องมีการให้ข้อมูลที่เพียงพอและให้การสนับสนุนช่วยเหลือผู้บริโภคในการใช้เทคโนโลยีใหม่(ผู้บริโภคเกาหลีสามารถรับกล่องสัญญาณโดยไม่มีค่าใช้จ่าย .. อิจฉาล่ะสิ) 2. ควรมีศูนย์ข้อมูลสำหรับผู้บริโภคที่มีความพร้อมในการรับเรื่องร้องเรียนที่จะเกิดขึ้น   อินเดีย ไปที่ประเทศที่ผู้คนจำนวนมากมองว่าโทรทัศน์เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต (ชนิดไม่มีหลังคาบ้านยังพออยู่ได้ แต่ไม่มีเคเบิลดูละครฉันไม่ยอมเด็ดขาด) ที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอลให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายนปีนี้  ตัวแทนจากฟอรั่มผู้บริโภคมุมไบเล่าให้เราฟังว่าปัจจุบัน อินเดียมีช่องโทรทัศน์ไม่ต่ำกว่า 900 ช่องและรายได้ของธุรกิจโทรทัศน์ในปี 2013 ก็สูงถึง 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2523 – 2532 อินเดียมีผู้ประกอบการโทรทัศน์เพียง 1 รายเท่านั้น องค์กรผู้บริโภคให้ความเห็นว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลนี้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ผู้บริโภคได้ประสบการณ์การรับชมรับฟังที่ดีขึ้น มีทางเลือกมากขึ้น และมีบริการเพิ่มมูลค่ามากขึ้นด้วย ในขณะที่ภาครัฐก็ได้ประโยชน์จากการเรียกเก็บค่าบริการอย่างโปร่งใสและมีรายได้เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ และผู้ประกอบการก็ได้รับผลกำไรจากการบริหารจัดการคลื่นความถี่ด้วยเช่นกัน แต่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนผ่าน สิ่งที่อินเดียต้องทำเป็นอย่างแรกคือการหลอมรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมด (ซึ่งขณะนี้ยังมีความลักลั่นกันอยู่) เพื่อรองรับปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ลืมบอกไปว่างานประชุมนานาชาติครั้งนี้ร่วมจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International)   //

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 157 ตรวจสุขภาพอย่างไรไม่เปลืองเงินไม่เปลืองตัว

ขอบคุณทุกท่านที่สนใจข้อมูลจากนิตยสารฉลาดซื้อ>>> อ่านแล้วอยากสนับสนุนให้เรามีเงินทุนต่อเนื่อง >>> ร่วมอ่าน online 200 บาท/ ต่อปี  ข้อมูลการสมัครอยู่ด่านล่าง ขอบคุณค่ะ   เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความ “คุ้มเงิน” สินค้าบริการต่างๆ นานาจึงต้องมาเป็นแพ็คเกจ บริการตรวจสุขภาพก็ไม่น้อยหน้า มีโปรแกรมให้เลือกกันตั้งแต่ราคาไม่ถึงหนึ่งพันไปจนเลยหนึ่งหมื่น อย่างที่ ฉลาดซื้อ เคยลงเปรียบเทียบราคาและรายการตรวจของสถานบริการตรวจสุขภาพไปแล้ว แต่หลายคนยังมีปัญหาคาใจอยู่ถึงความจำเป็นและความถูกต้องแม่นยำของการตรวจคัดกรองสุขภาพที่เป็นที่นิยมแพร่หลายกันอยู่ในขณะนี้ เหตุฉะนี้เราจึงต้องมีภาคสองเพื่อค้นหาคำตอบในเรื่องดังกล่าว เราตกลงกันตรงนี้ก่อนว่า “การตรวจสุขภาพ” หรือ “การตรวจคัดกรองสุขภาพ” ในที่นี้หมายถึงการเข้ารับการตรวจเบื้องต้นในขณะที่เรายังไม่ได้รู้สึกเจ็บป่วย และเป็นการตรวจเพื่อป้องกัน ลดความเสี่ยงหรือลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเท่านั้น ย้ำอีกที ... การตรวจสุขภาพไม่ใช่การตรวจหาโรค แต่เป็นการตรวจหาความเสี่ยงของการเกิดโรค    เราควรรับการตรวจคัดกรองอะไรบ้าง เราคงไม่บอกคุณว่าควรหรือไม่ควรตรวจอะไร เพราะสุดท้ายแล้วคุณคือคนที่ทราบถึงปัจจัยแวดล้อมตัวเองดีที่สุด แต่เนื่องจากปัจจุบันบ้านเรายังไม่มีมาตรฐานการตรวจสุขภาพสำหรับประชาชน และเรายังอยู่ในระหว่างการรอคู่มือการตรวจสุขภาพสำหรับผู้บริโภค ฉลาดซื้อ จึงขออ้างอิงผลการวิจัยของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ที่ศึกษารายการตรวจคัดกรองสุขภาพที่เหมาะสม เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบสุขภาพ (ซึ่งในอนาคตอาจมีการรวมกันของทั้ง 3 ระบบ ได้แก่ระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า และระบบประกันสังคม ที่ยังไม่เท่าเทียมกันอยู่ในปัจจุบัน*)     การตรวจทั้งหมดนี้มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยไม่เกิน 400 บาทต่อคนต่อปี  (เทียบกับระบบการตรวจคัดกรองตามสวัสดิการข้าราชการที่มีค่าใช้จ่ายระหว่าง  530 – 1,200 บาท เพราะมีการตรวจบางรายการที่ค่าใช้จ่ายสูงแต่ประโยชน์ยังไม่ชัดเจน) อาจต้องเลิกใช้คำว่า “การตรวจสุขภาพประจำปี” เพราะบางอย่างไม่ต้องตรวจทุกปี ในขณะที่บางอย่างตรวจได้ปีละมากกว่า 1 ครั้ง   ในกรณีที่คุณรู้สึกว่ารายการตรวจข้างต้นน่าจะยังไม่เพียงพอ และกำลังชั่งใจกับแพ็คเกจตรวจสุขภาพสุดคุ้มที่ฝ่ายการตลาดของสถานบริการสุขภาพปล่อยออกมาเอาใจ “คนรักสุขภาพ” ที่มีรายการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มขึ้นอีกหลายรายการ ด้วยสนนราคา “พิเศษ” เราขอฝากประเด็นเหล่านี้ไว้ให้คุณพิจารณา   ฉลาดซื้อขอแชร์ ทุกครั้งที่เราส่งผลิตภัณฑ์เข้าทดสอบในห้องปฏิบัติการ เราจะต้องเลือกว่าต้องการตรวจเพื่อหาอะไร และอ้างอิงตามมาตรฐานไหน เพราะมันสัมพันธ์กับการเตรียมอุปกรณ์/เครื่องมือ และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการนำผลไปใช้ด้วย เช่นกรณีของขนมปัง เราต้องระบุไปว่าต้องการตรวจหาสารกันบูด (เพราะมีประเด็นที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามา) เป็นต้น นอกจากนี้เรายังต้องยอมรับข้อจำกัดของเครื่องมือที่ใช้ เช่นบางครั้ง สารเคมีที่เราต้องการตรวจหานั้นมีปริมาณน้อยกว่าที่เครื่องจะตรวจจับได้ (แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มี เป็นต้น) สำคัญที่สุดคือห้องปฏิบัติการที่เราใช้จะต้องผ่านการตรวจรับรองเพื่อความน่าเชื่อถือในผลการทดสอบที่ได้ (ไม่ได้ส่งไปตรวจที่หลังบ้านใครอย่างที่เคยถูกกล่าวหา) เรื่องนี้น่าจะพอนำมาประยุกต์ได้กับการเลือกแพ็คเกจตรวจร่างกาย คุณสามารถเลือกตรวจเฉพาะรายการที่คิดว่าตนเองมีความเสี่ยง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าผลที่ออกมานั้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการตั้งค่าของเครื่อง และที่สำคัญปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานควบคุมบริการตรวจคัดกรองสุขภาพเอาไว้อ้างอิงด้วย     ตามที่เป็นข่าวเมื่อปีกลาย คนไทยใช้เงินกับการตรวจคัดกรองสุขภาพไปถึงปีละ 2,200 ล้านบาท (ส่วนหนึ่งของคนเหล่านี้คือผู้ที่มีสิทธิได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการถึง 16 รายการภายใต้ระบบสวัสดิการข้าราชการอยู่แล้ว) ข่าวไม่ได้บอกว่ามีกี่กรณีที่ตรงกับความเป็นไปได้ในรูปแบบที่ 1   เจ้าหน้าที่กองบรรณาธิการฉลาดซื้อพบเจอมาด้วยตนเอง เนื่องจากไอต่อเนื่องอยู่หลายสัปดาห์จึงไปโรงพยาบาล แพทย์สั่งตรวจเอ็กซเรย์ปอดด้วยเครื่องตรวจแบบอัตโนมัติ แพทย์อ่านผลแล้วบอกว่าพบจุดที่อาจหมายถึงเป็นวัณโรค จึงให้ตรวจซ้ำตอนบ่าย (เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลพักเที่ยง) คราวนี้ตรวจด้วยเครื่องอีกชนิดหนึ่ง ปรากฏว่าไม่พบจุดดังกล่าวแล้ว  ขอขอบคุณข้อมูลจาก พญ. สายพิณ หัตถีรัตน์ อาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลรามาธิบดี ดร.ภญ. ศิตาพร ยังคง นักวิจัย โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) บทความ “การตรวจคัดกรองที่เหมาะกับสังคมไทย” โดย ภญ.ธนัญญา คู่พิทักษ์ขจร นักวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)   ฉลาดซื้อสำรวจ จากการโทรศัพท์ไปสอบถามสถานบริการการตรวจสุขภาพ 9 แห่ง (โรงพยาบาลรัฐ 3 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 5 แห่ง และ ศูนย์ตรวจสุขภาพ 1 แห่ง) โดยอาสาสมัครของฉลาดซื้อ เราพบว่าแม้ประเทศเราจะยังไม่มีมาตรฐานการตรวจสุขภาพและยังไม่มีการตรวจสอบบริการเหล่านี้ แต่สถานประกอบการเหล่านี้มีความพร้อมและให้ความสำคัญกับการจัดบริการตรวจคัดกรองสุขภาพ หรือบางแห่งอาจเรียกว่า “การตรวจสุขภาพประจำปี” ออกมาให้บรรดา “ผู้รักสุขภาพ” ได้เลือกช้อปกัน อาสาสมัคร (สาวทำงานวัย 38 ปี) ที่โทรไปสอบถามข้อมูลจากสถานพยาบาลเหล่านี้ โดยอ้างอิงข้อมูลที่ประชาสัมพันธ์ผ่านอินเตอร์เน็ทหรือโบรชัวร์ พบว่า   ธุรกิจสถานพยาบาลที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีมูลค่าการตลาดสูงที่สุด 5 อันดับได้แก่ อันดับ 1         บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) มูลค่าการตลาด 194,400 ล้านบาท  กิจการ: โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ โรงพยาบาลวัฒโนสถ   โรงพยาบาลรักษาโรคมะเร็งกรุงเทพ ถือหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท และโรงพยาบาลบีเอ็นเอช อันดับ 2         บริษัทโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) มูลค่าการตลาด 63,931 ล้านบาท   กิจการ: โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์  อันดับ 3         บริษัทโรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) มูลค่าการตลาด 21,600 ล้านบาท    กิจการ: โรงพยาบาลรามคำแหง อันดับ 4         บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) มูลค่าการตลาด 19,400 ล้านบาท   กิจการ: กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช อันดับ 5         บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) มูลค่าการตลาด 14,900 ล้านบาท กิจการ: โรงพยาบาลเกษมราษฎร์  โรงพยาบาลเวิรลด์เมดิคอลเซ็นเตอร์  นวนครการแพทย์ -------------------------------------------------->>>อ่านแล้วอยากสนับสนุนให้เรามีเงินทุนต่อเนื่อง >>> ร่วมอ่านonline 200 บาท/ ต่อปี >>> โอนเงินแล้วแจ้งมาที่ >> อีเมล์ chaladsue@gmail.com + แนบรูปโอน >> เปิดอ่าน full Version ทันทีจ้าาาาาา>>> ต้องการใบเสร็จ >> พิมพ์ชื่อ - ที่อยู่  ใน อีเมล์ด้วยนะครับ---------------------------------ชื่อ บช. "มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค"กสิกรไทย : 058-2-86735-6ไทยพาณิชย์ : 319-2-62123-1กรุงไทย : 141-1-28408-9ทหารไทย : 026-2-40760-4กรุงเทพ : 088-0-38742-8กรุงศรีอยุธยา : 463-1-10884-6--------------------------------->>> อ่านย้อนหลังได้กว่า 90 ฉบับ ผลทดสอบเพียบ! >>>นิตยสารนี้ไม่มีโฆษณา...เพื่อข้อมูลที่เป็นกลางและตัดสินใจได้ สำหรับผู้บริโภค--------------------------------   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 “รถโดยสารไทย” รู้ไว้ก่อนเที่ยวสงกรานต์

“สยอง!! ทัวร์กทม.-ร้อยเอ็ด ชนรถพ่วงไฟลุกท่วมคลอก 19 ศพ เจ็บ 23” 23 กรกฎาคม 2556 “รถตู้เถื่อนซิ่งมรณะอัดท้ายรถพ่วงตายเกลื่อน 9 ศพ” 26 สิงหาคม 2556 “บัสโรงงานซิ่งแข่งกันตกข้างทางตายสยอง 8 ศพ ที่ศรีราช ชลบุรี” 6 มิถุนายน 2555 "รถพ่วงชนรถทัศนศึกษานักเรียนโคราช เสียชีวิต 15 เจ็บกว่า 30 ราย” 28 กุมภาพันธ์ 2557 “รถทัวร์ตกสะพานห้วยตอง เพชรบูรณ์ ดับ 29 เจ็บ 4” 26 ธันวาคม 2556 ข้อความด้านบนคือส่วนหนึ่งของพาดหัวข่าวที่ชวนให้สลดใจจากเหตุการณ์อุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะในบ้านเราที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่น่ากังวลไม่ใช่แค่เรื่องความรุนแรงและความสูญเสียจากอุบัติเหตุเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องจำนวนอุบัติเหตุที่เกิด ซึ่งดูเหมือนแนวโน้นมีแต่จะสูงขึ้น คำถามที่อยู่ในใจของผู้บริโภคไทยที่ต้องใช้บริการรถโดยสารสาธารณะตอนนี้ก็คือ “เกิดอะไรขึ้นกับระบบความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะในประเทศไทย?” “หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างไรกันบ้าง?” และ “มาตรฐานความปลอดภัยในชีวิตของคนไทยในการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะมีมากน้อยแค่ไหน?”   ผลสำรวจทางสถิติชี้ชัด ความปลอดภัยของรถโดยสารไทยเข้าขั้นวิกฤติ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้สรุปตัวเลขอุบัติเหตุ จำนวนผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์อุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ โดยรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2557 พบว่ามีจำนวนอุบัติเหตุเกิดขึ้นทั้งหมด 334 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 5,069 ราย และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 472 ราย ส่วนพื้นที่ที่มีการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะบ่อยครั้งที่สุด คือ พื้นที่ภาคกลาง มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทั้งหมด 108 ครั้ง คิดเป็น 30% ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมด       องค์การอนามัยโลกได้จัดอันดับให้ประเทศไทยเรา เป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจาอุบัติเหตุบนถนนสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า ในแต่ละวันคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ถึง 38 คน โดย 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิต เป็นกำลังหลักของครอบครัว  ยังไม่นับรวมถึงจำนวนผู้ที่ได้รับเจ็บรุนแรงที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งข้อมูลเมื่อปี 2554 มีสูงถึง 136,544 ราย โดยในจำนวนนี้ 5% หรือราวๆ 6,827 ราย ต้องลงเอยด้วยความพิการ สำหรับกลุ่มผู้ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน กลุ่มหลักๆ ยังคงเป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 50% ขณะที่ผู้ใช้รถโดยสารสาธารณะจะอยู่ประมาณ 10%   มีกฎหมายบังคับ...แต่กลับใช้ไม่ได้ผล จากสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยของรถโดยสารในปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมการขนส่งทางบก ก็ไม่ได้นิ่งเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ได้มีความพยายามกำหนดข้อบังคับต่างๆ เพื่อเป็นตัวควบคุมและป้องกันปัญหาความไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นข้อกำหนดเรื่องการตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยของรถโดยสารใหม่ที่จดทะเบียน ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องความแข็งแรงของโครงตัวถังรถ ความยึดแน่นของเก้าอี้ที่นั่ง การบังคับให้มีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยที่เบาะนั่ง โดยมีการออกข้อกำหนดเรื่องมาตรฐานเข็มขัดนิรภัย รวมถึงการให้รถโดยสารสาธารณะติดตั้งระบบ RFID ซึ่งเป็นระบบเก็บข้อมูลความเร็วขณะรถวิ่ง เพื่อเป็นการควบคุมความเร็วของรถโดยสาร แต่ดูเหมือนข้อบังคับต่างๆ ที่ออกมาจะใช้ไม่ได้ผลดูได้จากปริมาณของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต สาเหตุมาจากความประมาท และละเลยของผู้ประกอบการ พนักงานขับรถ หน่วยงานที่มีหน้าบังคับใช้กฎหมาย ไม่เว้นแม้แต่ตัวผู้โดยสารเอง เรายังคงเห็นปัญหาเรื่องรถโดยสารขับซิ่ง รถตู้บรรทุกผู้โดยสารเกิน รถผี รถเถื่อน การไม่ยอมคาดเข็มขัด ฯลฯ ฝั่งผู้ประกอบการก็คิดแต่การสร้างผลกำไรจนมองข้ามที่จะควบคุมคุณภาพการบริการ คุมเข้มเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ส่วนพนักงานขับรถก็เจอปัญหาต้องทำรอบในการขับรถขนส่งผู้โดยสาร ทำให้ต้องขับเร็วขับซิ่ง เลือกฝ่าผืนกฎหมายบรรทุกผู้โดยสารเกิน ไปจนถึงการฝืนร่างกายขับรถในระยะเวลาหรือระยะทางเกินจากที่กฎหมายกำหนด เพื่อต้องการรายได้ที่มากขึ้น ท้ายที่สุดการฝ่าฝืนต่างๆ ก็นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ ผู้โดยสารในฐานะผู้บริโภคก็หลงลืมที่จะรักษาสิทธิและความปลอดภัยในชีวิตของตัวเอง เพราะอยากจะเดินทางสะดวก เดินทางไว มองข้ามความปลอดภัย เพราะความคุ้นชิน และคิดว่าไม่เป็นอะไร ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้นก็สายเกินไปแล้วที่จะแก้ไข ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มองค์กรต่างๆ จำนวนไม่น้อยในสังคมที่พยายาม ผลักดันให้เกิดกฎหมายหรือการบังคับใช้ข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวกับมาตรฐานรถโดยสารปลอดภัยที่เข้มแข็งจริงจังในสังคมไทย สำหรับเราในฐานะผู้โดยสารคนใช้บริการ ก็ต้องจริงจังกับการรักษาสิทธิของตัวเอง คำนึงความปลอดภัยของชีวิตมาเป็นอันดับแรก สิทธิของเรา ชีวิตของเรา เราเลือกได้ หากพบเห็นหรือรู้ว่ารถโดยสารที่เราใช้บริการอยู่ เสี่ยงต่อความปลอดภัย เราต้องรีบรักษาสิทธิ เลือกที่จะปฏิเสธ และร้องเรียนเพื่อนำไปสู่การแก้ไข และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่อไปในอนาคต   เรื่องที่ยังเป็นปัญหาของรถโดยสารสาธารณะไทย -มาตรฐานของรถโดยสารยังต่ำกว่ามาตรฐานของรถโดยสารสากล -ผู้ประกอบการรถโดยสารส่วนใหญ่(โดยเฉพาะผู้ประกอบการรถร่วมบริการ) ยังมีความใส่ใจต่อมาตรฐานความปลอดภัยค่อนข้างน้อย -ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต ขาดการกำกับดูแลคุณภาพการให้บริการของผู้ประกอบการรถร่วมบริการ -ระบบประกันภัยและการชดเชยเยียวยาสำหรับผู้ประสบอุบัติเหตุรถโดยสารยังมีการใช้งานอย่างไม่เต็มที่ -ขาดกลไกการเชื่อมโยงความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในระดับต่างๆ ที่มา: “ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย” สุเมธ องกิตติกุล สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (tdri)   ความปลอดภัยในรถโดยสาร เริ่มต้นที่ตัวเราเอง -เลือกใช้รถโดยสารสาธารณะที่เป็นรถที่ถูกกฎหมาย ไม่ใช่บริการรถเสริม รถผี ซึ่งจะมีระบาดมากในช่วงเทศกาลโดยเฉพาะรถตู้ ต้องเลือกรถที่เป็นทะเบียนป้ายเหลือง แสดงว่าได้รับการจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก เพราะรถที่ถูกกฎหมายจะมีหน่วยงานรับรองมีบริษัทต้นสังกัดคอยตรวจสอบควบคุมดูแล นอกจากนี้ต้องสังเกตข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับผู้โดยสาร ซึ่งรถที่ถูกกฎหมายจะต้องมีบอกไว้ให้ผู้โดยสารมองเห็นชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ-นามสกุลพนักงานขับรถ ข้อมูลเส้นทาง เบอร์โทรศัพท์สำหรับติดต่อกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน -สภาพของรถต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ แข็งแรง ดูแล้วเหมาะสมกับการใช้งาน โดยสารแล้วรู้สึกมั่นใจปลอดภัย โดยเฉพาะเบาะที่นั่งต้องยึดเน้นอยู่กับตัวรถ รวมถึงอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยต่างๆ ต้องพร้อมสำหรับการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นเข็มขัดนิรภัย ค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง และประตูทางออกฉุกเฉิน -คาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลา -คอยสังเกตพฤติกรรมของพนักงานขับรถขณะขับขี่รถโดยสาร ว่าอยู่ในสภาพพร้อมขับรถหรือไม่ หรือหากมีพฤติกรรมขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย เช่น ขับเร็วหวาดเสียว ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร ให้รีบโทรแจ้งข้อมูลของรถคันดังกล่าวไปที่สายด่วนศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ 1584 -พยายามมีสติและสังเกตสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว เพื่อเฝ้าระวังและรู้ตัวได้ทันท่วงทีหากเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉิน โดยเฉพาะผู้ที่โดยสารรถตู้หรือรถทัวร์โดยสารที่วิ่งระยะทางไม่ไกลมาก ใช้เวลาไม่นาน ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรหลับขณะนั่งรถ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุตอนที่หลับอยู่อาจทำให้สลบไปในทันที เสี่ยงต่อการบาดเจ็บหนัก   เบอร์โทรติดต่อเมื่อเกิดปัญหาเรื่องรถโดยสาร 1584 ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ 1348 ศูนย์รับร้องเรียนขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ 1193 ตำรวจทางหลวง 1186 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย 1166 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค 02 – 6291430 สภาทนายความ 02 – 2483737 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค     --------------------------------------------------------------------- การเรียกร้องค่าชดเชยเมื่อประสบอุบัติเหตุ ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุจากรถโดยสารทุกคนจะได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งจะการคุ้มครองเบื้องต้นในส่วนของการจ่ายเงินค่าชดเชย ทั้งค่ารักษาพยาบาล เงินชดเชยกรณีเสียชีวิตและพิการทุพพลภาพ รายละเอียดสิทธิเงินค่าชดเชยเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มีดังนี้ กรณีความเสียหายที่ได้รับ วงเงินคุ้มครอง บาดเจ็บ เบิกค่ารักษาตามจริงได้ไม่เกิน 15,000 บาท เสียชีวิต 35,000 บาท บาดเจ็บแล้วต่อมาเสียชีวิต เบิกรวมกันไม่เกิน 50,000 บาท   นอกจากนี้ผู้ประสบภัยยังสามารถเรียกร้องขอรับค่าสินไหนทดแทน หลังจากมีการพิสูจน์ความถูกผิดแล้ว ซึ่งบริษัทเจ้าของรถโดยสารที่เป็นฝ่ายผิดต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ประสบภัย โดยมีเกณฑ์การจ่ายดังนี้ กรณีความเสียหายที่ได้รับ วงเงินคุ้มครอง บาดเจ็บ เบิกค่ารักษาตามจริงได้ไม่เกิน 50,000 บาท เสียชีวิต 200,000 บาท ทุพพลภาพ หรือ สูญเสียอวัยวะ 200,000 บาท   ทั้งนี้ ทางบริษัทที่เป็นฝ่ายผิดยังต้องรับผิดชอบในส่วนของค่าชดเชยรายวัน วันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน ในกรณีที่ผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถโดยสารต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล   การฟ้องคดีรถโดยสาร หากไม่ได้รับการชดเชยจากผู้ประกอบการ การเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของรถที่ประสบอุบัติเหตุนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย มีหลายตัวอย่างหลายกรณีที่ผู้เสียหายถูกปัดความรับผิดชอบจากบริษัทผู้ประกอบการ ผู้เสียหายจึงต้องเลือกใช้วิธีการฟ้องร้องเป็นคดีความพึ่งอำนาจของศาล ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมาย “วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551” ที่ช่วยให้การฟ้องร้องคดีในศาลของผู้บริโภคเป็นไปด้วยความสะดวกสบายง่ายดายมากขึ้น การใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค - สามารถขอแบบฟอร์มได้ที่ศาล โดยแจ้งข้อเท็จจริงให้กับเจ้าหน้าที่ศาล ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ศาลจะช่วยเขียนคำฟ้องให้ - ผู้ร้องสามารถเขียนเองได้ (สามารถโหลดแบบฟอร์มได้จาก www.consumerthai.org ) แล้วนำไปยื่นที่ศาล - การเลือกศาลที่เหมาะสม เลือกตามมูลค่าทุนความเสียหาย • กรณีต่ำกว่า 3 แสน ฟ้องศาลแขวง • กรณีสูงกว่า 3 แสน ฟ้องศาลแพ่ง หรือศาลจังหวัด ทุกจังหวัด -----------------------------------------------------------------------------------   รู้ไว้ก่อนไปเที่ยวสงกรานต์ สำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง ได้สรุปข้อมูลอุบัติเหตุบนทางหลวงช่วงเทศกาลสงกรานต์เมื่อปี 2556 ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน  มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นรวมทั้งหมด 966 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 202 ราย บาดเจ็บอีก 1,209 ราย ซึ่งตัวเลขของจำนวนอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ ล้วนเพิ่มขึ้นจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปี 2555 โดยตัวเลขอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นถึง 22.59% จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 5.76% ขณะที่จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้นถึง 32.13% ทั้งๆ ตัวเลขการเดินทางของผู้คนในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 3% เท่านั้น   3 เส้นทางที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2556 1.ทางหลวงหมายเลข 3395 วัฒนานคร – โคคลาน (กม.60+870 – กม.115+139) จำนวนอุบัติเหตุ 12 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บสาหัส 6 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 10 ราย ถนนมีลักษณะเป็นทาง 2 ช่องจราจร และมีปริมาณจราจรโดยเฉลี่ยประมาณ 11,400 คันต่อวัน อยู่ในความรับผิดชอบของแขวงการทางสระแก้ว บริเวณที่เกิดเหตุ ส่วนใหญ่เป็นทางตรง สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ เกิดจากการขับรถเร็วและแซงรถอย่างผิดกฎหมาย ทำให้ เกิดการเฉี่ยวชนกัน   2. ทางหลวงหมายเลข 4 คลองบางดินสอ – นาเหนือ (กม.854+553 – กม.879+558, กม.884+598 – กม.915+493) จำนวนอุบัติเหตุ 11 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บสาหัส 2 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 7 ราย ถนนมีลักษณะเป็นทาง 4 ช่องจราจร และมีปริมาณจราจรโดยเฉลี่ยประมาณ 17,700 คันต่อวัน อยู่ในความรับผิดชอบของสานักงานบำรุงทางพังงา บริเวณที่เกิดเหตุ โดยส่วนใหญ่เป็นทางโค้ง สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ เกิดจากการขับรถเร็ว   3. ทางหลวงหมายเลข 35 นาโคก – แพรกหนามแดง (กม.53+875 – กม.82+833) จำนวนอุบัติเหตุ 10 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บสาหัส 1 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 35 ราย ถนนมีลักษณะเป็นทาง 4 ช่องจราจร และมีปริมาณจราจรโดยเฉลี่ยประมาณ 110,300 คันต่อวัน อยู่ในความรับผิดชอบของสานักงานบำรุงทางสมุทรสงครามและราชบุรี บริเวณที่เกิดเหตุ โดยส่วนใหญ่เป็นทางตรง สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ เกิดจากการขับรถเร็ว ทำให้เกิดการเฉี่ยวชนกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 ทดสอบความถึก ทน ของ “เป้ backpack”

ใครที่กำลังเตรียมตัวออกเดินทางไกล หรือใครที่มีแผนจะแบกเป้เที่ยว สวมวิญญาณแบ็คแพ็คเกอร์ “เป้ใบเดียวเที่ยวรอบโลก” จุดหมายพร้อม ตั๋วพร้อม วันเดินทางพร้อม แต่อย่าเพิ่งรีบเก็บกระเป๋า ถ้าหากยังไม่ได้อ่านผลทดสอบ “เป้ backpack สำหรับเดินทางไกล” ลองมาดูกันสิว่ายี่ห้อไหนแข็งแรงทนทาน ใช้งานแล้วคุ้มค่ากับราคา ที่สำคัญคือสะพายขึ้นบ่าแล้วไม่พาให้ปวดหลังปวดไหล ถึงขึ้นชื่อว่าเที่ยวแบบแบ็คแพ็คจะดูสมบุกสมบันแค่ไหน แต่ถ้าเป้ที่แบกไว้บนหลังต้องกลายมาเป็นภาระ ทริปสนุกที่ตั้งใจก็อาจกร่อยโดยไม่รู้ตัว   เป้สะพายหลังต้องเลือกให้ดีเพราะมีผลต่อสุขภาพ -ควรเลือกขนาดของเป้ให้เหมาะกับรูปร่างของเรา ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป เพราะขนาดของเป้จะเป็นตัวกำหนดน้ำหนักคร่าวๆ ของกระเป๋าหากเป็นเป้ใบใหญ่เกินไปแล้วบรรจุของจนน้ำหนักเกินพอดีกับที่ร่างกายจะรับไหว เวลาสะพายจะส่งผลกับช่วงคอ ไหล่ หลัง และเอว ทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการเจ็บปวด และอักเสบได้ หากรุนแรงมากอาจมีผลกับกระดูกสันหลังได้เลยทีเดียว -ที่ด้านหลังของเป้ต้องมีโครงโลหะ ตรงส่วนที่เรียกว่าแผ่นรองหลัง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วงแบ่งน้ำหนังของเป้ไม่ให้ถ่ายลงมาที่แผ่นหลังและเอวของเรามากเกินไป ป้องกันอาการบาดเจ็บ นอกจากนี้ ส่วนของกระเป้ที่ต้องสัมผัสกับส่วนของร่างกายของเรา ทั้งช่วงหลัง เอว คอ บ่า ต้องมีบุด้วยเบาะนวมหรือวัสดุที่มีความหนา นุ่ม เพื่อช่วยป้องกันการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ ที่กล่าวมาไม่ต้องแบกรับน้ำหนักของเป้มากจนเกินไป   -สายสะพายบ่า ต้องเลือกเป้ที่สะพายแล้วช่วงความกว้างของสายสะพายอยู่ที่ช่วงไหปลาร้าเวลาสะพาย ไม่เข้ามาใกล้คอจนเกินไป และตกลงไปขนอยู่เกือบถึงหัวไหล่ เพราะสายสะพายบ่าที่อยู่ตรงกลางจะช่วยให้น้ำหนักของเป้มีความสมดุลกับร่างกายของผู้สะพาย -สายรัดเอวและสะโพก ต้องให้อยู่ที่บริเวณเอวพอดี เพราะสายรัดเอวของเป้จะช่วยผ่อนน้ำหนักที่ทั้ง บ่า คอ หลัง เอว และสะโพก ต้องแบบรับเอาไว้ ช่วยให้ช่วงหลังไม่เสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บกล้ามเหนือ เวลาที่ต้องแบกเป้ไปพร้อมกับการเดิน ตัวเป้จะถูกยึดอยู่คงที่กับด้านหลังไม่กระแทกไปมากับช่วง หลัง เอว สะโพก ทำให้ไม่เสี่ยงต่อการเกิดอาการบาดเจ็บ สายรัดสะโพกที่พอดีควรจะสามารถรัดได้ในระดับสะโพกตรงบริเวณกระดูกเชิงกราน ซึ่งจะเป็นจุดที่ช่วยในการถ่ายน้ำหนักได้ดีที่สุด วัสดุที่ใช้ทำสายรัดเอวและสะโพกต้องเป็นวัสดุที่มีความนิ่ม อาจบุด้วยโฟมหรือฟองน้ำนั้นที่มีความแข็งแรงคงทน เพราะจะเป็นส่วนที่ช่วยลดการกระแทกและทานน้ำหนักของเป้ไม่ให้กดทับเอวและสะโพกมากเกินไป   เทคนิคง่ายๆ ในการเลือกซื้อเป้ 1.ผลิตจากวัสดุที่มีความคงทนทาน เบา และกันน้ำ ที่นิยมกันในปัจจุบันคือผ้า Cordura และ Ripstop ซึ่งเป็นผ้าใยสังเคราะห์ทำจากผ้าไนลอน นิยมใช้ผลิตเครื่องแบบทหาร นอกจากนี้ยังต้องมีส่วนที่เป็นผ้าตาข่ายตรงบริเวณสายสะพายบ่า ช่วงแผ่นหลัง ไล่ไปถึงเอวและสะโพกเป็นตัวบุโฟมหรือฟองสำหรับกันกระแทก ซึ่งผ้าที่เป็นตาข่ายจะช่วยเรื่องการระบายอากาศ 2.มีโครงโลหะช่วยรับน้ำหนักเป้ไม่ให้กระแทกกับแผ่นหลัง และช่วยรักษาสมดุลของเป้ ป้องกันไม่ให้แผ่นหลังของเราบาดเจ็บ ต้องเลือกโครงที่มีความเข็งแรงแต่ไม่ไปเพิ่มน้ำหนักให้กับตัวเป้ และเมื่อสะพายแล้วตัวโครงโลหะไม่มากระแทกเข้ากับแผ่นหลังเกินไปจนทำอันตรายกับแผ่นหลัง 3.ซิปล็อค ควรเลือกแบบที่เป็น 2 ซิปเลื่อนปิดเข้าหากัน เพราะมีความแข็งแรงและปิดล็อคได้แน่นหนากว่าซิปเดียว นอกจากนี้ ซิปแบบ 2 ด้านสามารถล็อคด้วยแม่กุญแจได้ ช่วยเพิ่มเรื่องความปลอดภัย ป้องกันของในกระเป๋าสูญหาย การขโมย หรือล่วงหล่นออกมาระหว่างการขนเคลื่อนย้าย 4.ควรมีช่องเก็บของหลายๆ ช่อง เพราะวัตถุประสงค์ของเป้เดินทางมีไว้บรรจุสัมภาระต่างๆ นานาอยู่แล้ว การมีช่องแบ่งแยกของแต่ละประเภทของจากกัน จะช่วยให้การใช้งานสะดวกสบายยิ่งขึ้น 5.มีส่วนของโฟมหรือฟองน้ำที่บุไว้สำหรับรองรับน้ำหนักของกระเป๋า บริเวณ บ่า หลัง เอว และสะโพก เพื่อช่วยทานน้ำหนัก ลดแรงกดทับ ลดแรงกระแทก ของน้ำหนักเป้ เพื่อให้ร่างกายไม่เสี่ยงอาการบาดเจ็บ โดยสายสะพายช่วงบ่าและสายรัดช่วงเอว ต้องสามารถปรับกระชับเข้ากับรูปร่างของผู้สะพายได้ 6.ลองสะพายดูทุกครั้งก่อนซื้อ เลือกขนาดและน้ำหนักที่เหมาะสมกับรูปร่าง เลือกที่สะพายแล้วรู้สึกสบาย ถ้าเป็นไปได้ลองให้พนักงานขายหาของที่มีน้ำหนักใส่ในกระเป่าแล้วลองสะพายดูว่ารู้สึกสบายและคล่องตัวกับการใช้เป้ใบนั้นหรือไม่ และอย่าลืมเรื่องการรับประกันสินค้า บริการหลังการขายต่างๆ เพราะปัจจุบันเป้เดินทางมีราคาค่อนข้างสูง กรณีซื้อไปใช้งานได้ไม่นานแล้วเกิดการชำรุดเสียหาย จะได้สามารถส่งกลับมาให้ทางผู้ขายรับผิดชอบดูแลแก้ไขได้ * การทดสอบความแข็งแรงของตะเข็บเป็นไปตามมาตรฐาน ISO 13935-2: 1999(E) (รายการทดสอบดังกล่าวไม่อยู่ในรายการทดสอบภายใต้ มอก.17025-2548) ** เนื่องจากเป็นการทดสอบจากตัวกระเป๋าเป้สะพายหลังที่ประกอบเสร็จแล้ว ห้องปฏิบัติการจึงไม่สามารถเตรียมชิ้นทดสอบจากตัวอย่างได้ครบในทุกตัวอย่าง เพราะบางกรณีชิ้นส่วนมีขนาดเล็กเกินไปหรือไม่เหมาะกับเครื่องมือทดสอบ เป็นต้น                           *เป้ทุกรุ่นที่นำมาทดสอบผลิตในประเทศเวียดนาม ยกเว้น 2 ยี่ห้อได้แก่ CAMP INN และ TRAVEL MART ผลิตในประเทศไทย ** Jack Wolfskin Alpine Trail 40 และ OSPREY Kyte 36 สั่งซื้อผ่านทางเว็บไซต์ เนื่องจากไม่มีตัวแทนขายในประเทศไทย   ***นิวตัน คือหน่วยวัดความแข็งแรงของตะเข็บ ค่าที่ได้หมายถึงแรงดึงสูงสุด(กี่นิวตัน) ที่จะทำให้ตะเข็บฉีกขาด //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 องค์กรผู้บริโภคจับมือบริษัททรู ป้องกันปัญหาล้มละลายจากค่าโทรศัพท์

วันที่ 15 มีนาคมของทุกปี ถือเป็น “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” World Consumer Rights Dayโดยปีนี้สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 220 องค์กร ใน 115  ประเทศทั่วโลก โดยมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นสมาชิกประเภทสามัญในประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญการคุ้มครองผู้บริโภคในด้าน  “สิทธิผู้บริโภคในยุคดิจิตอล” (Consumer Rights In the Digital Age: Fix our Phone Rights ) คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน  เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกับ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในเครือบริษัททรู ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(เอ็มโอยู) ในการป้องกันปัญหาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างประเทศ (International Roaming) สาระสำคัญของการลงนาม คือ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด จะกำหนดให้มีวงเงิน(credit limit) เพื่อใช้บริการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยลูกค้าสามารถร้องขอไปยังผู้ประกอบการเพื่อปรับลด หรือเพิ่มวงเงินได้ โดยหากเป็นการขอปรับเพิ่ม บริษัทฯ สามารถพิจารณาได้ตามความเหมาะสม นอกจากนี้ บริษัทฯ จะมีช่องทางการแจ้งเตือน เมื่อเกิดค่าใช้จ่ายที่ใกล้ครบวงเงินที่กำหนด มีการระงับบริการทันทีเมื่อบริษัทฯ ทราบว่าผู้บริโภคใช้งานครบวงเงินและ/หรือเกินกำหนดวงเงิน อีกทั้งผู้บริโภคสามารถใช้หมายเลขโทรศัพท์ฟรีติดต่อบริษัทฯ เพื่อแจ้งว่าต้องการใช้บริการต่อหรือไม่ รวมทั้งสามารถเลือกระงับการใช้บริการเสียงและข้อมูล(Voice and Data) พร้อมกัน หรือเลือกระงับเฉพาะบริการข้อมูล(Data) ต่างหากได้ ปัญหาผู้บริโภคที่มีการเปิดใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในต่างประเทศมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เป็นกรณีเปิดใช้บริการโรมมิ่งในประเทศซาอุดิอาระเบีย 14 วัน ของบริษัทดีแทค มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า 1.3  ล้านบาท ทั้งที่มีการกำหนดวงเงินค่าบริการ(credit  limit) จำนวน 7,000 บาท แต่การจำกัดวงเงินดังกล่าวบริษัทเขียนไว้ในใบแจ้งหนี้ ว่าไม่รวมถึงบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ โดยปัญหานี้เบื้องต้นเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของ กสทช. โดยผู้ร้องต้องชำระค่าบริการจำนวน 500,000 บาท ผ่อนจำนวน 125  เดือนๆ ละ  4,000 บาท ผู้ร้องเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ร้องเรียนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ทำหนังสือถึงบริษัทเพื่อขอยกเลิกสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่หลังจากการจัดงานในการทำเอ็มโอยูไปไม่กี่วัน ผู้บริโภครายนี้ก็ได้รับการติดต่อจากบริษัทให้จ่ายเงินจำนวน 48,000  บาท ถึงแม้อาจจะยังดูเป็นเงินจำนวนมากสำหรับค่าบริการโทรศัพท์ แต่กรณีนี้ผู้บริโภคแจ้งความจำนงขอจ่ายจำนวน 40,000 บาทตั้งแต่เบื้องต้นตอนร้องเรียน หวังว่า ต่อจากนี้ไป คงไม่มีใครต้องจ่ายค่าโทรศัพท์เกินกว่าที่กำหนดวงเงินไว้ ผู้บริโภคต้องเลือกใช้บริการของบริษัทที่ยอมให้มีการกำหนดวงเงิน ยุติบริการเมื่อครบวงเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้ล้มละลายจากค่าบริการโทรศัพท์   //

อ่านเพิ่มเติม >