ฉบับที่ 157 กระแสต่างแดน

รถยนต์ความเสี่ยงสูง ข่าวนี้สร้างความสั่นสะเทือนให้อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ขนาดเล็กในอินเดียไม่น้อย เมื่อองค์กรทดสอบรถยนต์ Global NCAP ได้ทดสอบความปลอดภัยของรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ผลิตและจำหน่ายในอินเดียจำนวน 5 รุ่น และพบว่าระดับคะแนนความปลอดภัยของทุกรุ่นเท่ากับ ... 0 ดาว (จากคะแนนเต็ม 5 ดาว) เขาทดสอบด้วยการชนด้านหน้า ที่ความเร็ว 64 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยรถรุ่นพื้นฐาน (ซึ่งไม่มีการติดตั้งถุงลมนิรภัย) เขาพบว่าโครงสร้างของ Suzuki Maruti Alto 800 / Tata Nano และ Hyundai i10 มีความปลอดภัยต่ำเสียจนกระทั่งแม้จะมีถุงลมนิรภัยก็ไม่สามารถช่วยป้องกันการบาดเจ็บสาหัสจากการชนได้ ส่วนอีก 2 รุ่นคือ Ford Figo และ Volkswagen Polo นั้น ยังพอทำเนาตรงที่มีโครงสร้างแข็งแรงกว่า และการติดตั้งถุงลมนิรภัยก็จะช่วยให้ปลอดภัยขึ้นได้ (หลังการทดสอบครั้งนี้ Volkswagen ประกาศเลิกขายรุ่นที่ไม่ทีถุงลมนิรภัย) Max Mosley ประธาน Global NCAP กล่าวว่าขณะนี้ระบบความปลอดภัยของรถยนต์อินเดียยังล้าหลังยุโรปหรืออเมริกาอยู่ถึง 20 ปี อีกครั้งที่ประชากรของประเทศที่สามารถผลิตรถยนต์ที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อส่งออกไปขายทั่วโลก กลับต้องขับรถยนต์ตกมาตรฐานอยู่ในบ้านตัวเอง ปีที่ผ่านมา รถยอดนิยมทั้ง 5 รุ่นมียอดขายรวมกันเป็นร้อยละ 20 ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในอินเดีย     เลือกกินไม่ได้ ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าความหลากหลายของการปลูกพืชเพื่อใช้เป็นอาหารในช่วงศตวรรษที่ 20 ลดลงไปถึงร้อยละ 75 และยิ่งไปกว่านั้น 1ใน 3 ของความหลากหลายที่เหลืออยู่ ณ วันนี้อาจจะหายไปภายในปี 2050 ด้วย ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาอาหารการกินของผู้คนในโลกเปลี่ยนไป และโลกาภิวัฒน์ด้านอาหารก็ทำให้ผู้คนที่อยู่ต่างถิ่นกันบริโภคอาหารที่เหมือนกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชที่ให้พลังงานสูงอย่าง ข้าว มันฝรั่ง อ้อย และข้าวสาลี (อย่างหลังนี้เป็นหนึ่งในอาหารหลักในร้อยละ 97 ของประเทศทั่วโลก)  และพืชที่ไม่เคยมีความสำคัญเลยเมื่อ 50 ปีก่อนก็กลับมีความสำคัญขึ้น โดยเฉพาะพืชที่ปลูกเพื่อสกัดน้ำมันเช่น ถั่วเหลือง ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญในอาหารใน 3 ใน 4 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก แม้พืชเหล่านี้จะช่วยบรรเทาความหิวโหยของประชากรโลกได้ แต่การบริโภคพืชที่ให้พลังงานสูงเป็นหลักก็เป็นสาเหตุของอัตราการเกิดโรคไม่ติดต่อเช่นโรคหัวใจหรือโรคเบาหวานด้วยเช่นกัน นี่ยังไม่นับว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวนั้นเสี่ยงต่อความแห้งแล้ง แมลงศัตรูพืช และโรคต่างๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นเมื่อสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง และพันธุ์พืชบางชนิดยังถูกครอบครองโดยบรรษัทข้ามชาติเพียงไม่กี่ราย ซึ่งนิยมลงทุนในพืชเพียงไม่กี่สายพันธุ์อีกด้วย ทางเลือกในการกินของเราจึงถูกจำกัดด้วยประการฉะนี้     “มีฉลากก็ไม่ช่วย” ภายใต้กฎหมาย Affordable Care Act ของอเมริกานั้น ผู้ประกอบการตู้ขายอาหารอัตโนมัติหยอดเหรียญจะต้องติดฉลากโภชนาการแสดงปริมาณแคลอรี่ ไว้ในบริเวณใกล้ๆ กับจุดที่วางอาหาร(ขนมหวาน ของขบเคี้ยว น้ำอัดลม) กฎหมายที่จะมีผลภายในหนึ่งปีนี้มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่มีตู้ขายอาหารอัตโนมัติตั้งแต่ 20 ตู้ขึ้นไป(ข่าวบอกว่ามีประมาณ 10,800 ราย) ร้านอาหารที่มีสาขามากกว่า 20 สาขาขึ้นไป ร้านสะดวกซื้อ และร้านขายของชำด้วย แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านโยบายจาก Heritage Foundation บอกว่าที่ผ่านมานั้นชัดเจนแล้วว่าฉลากเปลี่ยนพฤติกรรมของคนอเมริกันไม่ได้ เขาว่ารัฐบาลอาจมาผิดทาง เพราะปัญหาคือประชาชนยังไม่สามารถตัดสินใจเลือกซื้ออาหารอย่างถูกต้อง จึงควรให้ความรู้เรื่องแคลอรี่ในอาหารกับผู้บริโภคเสียก่อน เพื่อให้ผู้บริโภคอยากควบคุมปริมาณแคลอรี่ด้วยตนเอง ด้านผู้ประกอบการ(ซึ่งกว่าร้อยละ 75 เป็นรายย่อยที่มีลูกจ้างไม่เกิน 3 คน) บอกว่าเรื่องนี้มีค่าใช้จ่ายมากโขอยู่ บริษัทขนาดเล็กจะมีค่าใช้ประมาณ 2,400 เหรียญในปีแรก และ 2,200 เหรียญในปีต่อๆ ไป และเงินที่ลงไปก็ไม่ได้สร้างผลตอบแทนทางธุรกิจด้วย อัตราส่วนประชากรต่อตู้ขายอาหารอัตโนมัติของอเมริกาอยู่ที่ 40 คนต่อ 1 ตู้ และร้อยละ 5 ของเงินที่คนอเมริกันใช้จ่ายนอกบ้านเป็นการใช้จ่ายกับตู้เหล่านี้    มันช่างน่าอิจฉายิ่งนัก นอกจากเนเธอร์แลนด์จะมีนายกอินดี้ที่ขี่จักรยานไปทำงาน (ขออภัยพี่น้องประชาชนที่ต้องการหาเลขเด็ดเพราะจักรยานเขาไม่มีหมายเลขทะเบียน) องค์กรผู้บริโภคของเขาก็ยังเปรี้ยวไม่แพ้กันอีกด้วย Netherlands Authority for Consumers and Markets หรือ ACM บอกว่าปีที่ผ่านมาเขาสามารถช่วยชาวบ้านประหยัดเงินได้ถึง 300 ยูโร (13,400 บาท) ต่อครัวเรือนเลยทีเดียว รวมๆ แล้วการทำงานของ ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของผู้บริโภคลงได้มากกว่า 1,850 ล้านยูโร (80,000 ล้านบาท) จากค่าแก๊ส ไฟฟ้า ค่าบริการโทรศัพท์ หรืออินเตอร์เน็ต ถ้าเป็นวงดนตรีก็ต้องเรียกว่าเป็น “ซูเปอร์กรุ๊ป” เพราะเป็นการรวมตัวของ 3 องค์กรที่ดูแลผู้บริโภค เหมือนการรวม สคบ. เข้ากับ กสทช. และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เข้าด้วยกัน ล่าสุด ACM ขู่จะเข้าไปตรวจสอบเรื่องร้องเรียนจากร้านค้าปลีกว่ามาสเตอร์การ์ดเก็บค่าธรรมเนียมจากพวกเขาแพงเกินไป แต่ยังไม่ทันลงมือ มาสเตอร์การ์ดก็ยอมปรับลดค่าธรรมเนียมลงจากปัจจุบันที่ร้อยละ 0.9 เหลือ 0.7 ในเดือนมิถุนายนและลดลงไปเรื่อยๆ จนเหลือร้อยละ 0.3 ในเดือนมกราคมปี 2016 แน่นอนจริงๆ แค่เงื้อก็ได้ผลแล้ว หมายเหตุ : เรื่องร้องเรียน 3 อันดับต้นของผู้บริโภคชาวดัทช์ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน บริการโทรคมนาคม(ซึ่งปีนี้ถูกเบียดตกมาอยู่อันดับสอง) และบริการขนส่งและการท่องเที่ยว   ฟินแลนด์ ไม่น่าเชื่อว่าประเทศฟินแลนด์จะยังไม่มีข้อกำหนดเรื่องเงื่อนไขการจ้างงานในฟิตเนส จนทำให้บรรดาครูฝึกต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดแบบใครตัวมัน แม้จะไม่มีองค์กรด้านวิชาชีพนี้อย่างจริงจัง แต่ ERTO องค์กรด้านแรงงานก็เคยเสนอค่าจ้างที่เหมาะสมสำหรับงานครูผู้ฝึกสอนในฟิตเนสไว้ที่ชั่วโมงละ 29.90 ยูโร (1,300 บาท) ในเมืองหลวง และ 26.10 ยูโร(1,165 บาท) ในพื้นที่อื่นๆ แต่ไม่มีใครจ่ายอัตราที่ว่าเลย ผู้ประกอบการฟิตเนสบางรายจ่ายค่าจ้างพื้นฐานต่ำกว่า 5 ยูโร แล้วให้ค่าหัวตามจำนวนผู้เรียนในคลาสหัวละ 50 เซนต์ (ถ้าครูฝึกสอนคลาสละ 10 คน ก็จะได้ค่าจ้างรวมชั่วโมงละ 10 ยูโรเท่านั้น)  ส่วนบางแห่งก็จ่ายเพียงชั่วโมงละ 20 ยูโร ให้กับครูฝึกที่มีประสบการณ์การสอนมากกว่า 10 ปี การปริปากบ่นก็ไม่ใช่ทางเลือก เพราะเจ้าของฟิตเนสพร้อมที่จะหาครูหน้าใหม่ไร้ประสบการณ์เข้ามาแทนที่อยู่เสมอ หรือไม่ก็อาจถูกย้ายช่วงเวลาสอนไปอยู่ในช่วงที่ไม่ค่อยมีคนมาใช้บริการ นอกจากนี้ยังจ่าย “โบนัสวันอาทิตย์” น้อยกว่าที่ควรด้วย ปกติแล้วโบนัสนี้ต้องจ่ายตามค่าแรงรายชั่วโมง แต่ผู้ประกอบการหัวใสกลับแจ้งค่าจ้างรายชั่วโมงต่ำกว่าที่จ่ายจริง เช่นในจำนวน 30 ยูโรที่จ่ายนั้น มีเพียง 10 ยูโรที่แจ้งเป็นค่าแรง ที่เหลือกลับเรียกว่าเงินที่ชดเชยให้สำหรับเวลาที่ใช้เตรียมสอน เป็นต้น   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมีนาคม 2557 อย.วอนพ่อค้าแม่ค้า อย่าใส่ฟอร์มาลินในอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ต้องออกโรงเตือนกับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าว่า สารฟอร์มาลิน หรือ ฟอร์มาลดีไฮด์ เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ใครนำไปใช้มีความผิด มีโทษทั้งจำทั้งปรับ พร้อมกันนี้ อย. ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังร้านขายยาทั่วประเทศให้ระมัดระวังในการขายฟอร์มาลิน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ซื้อนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หลังมีการตรวจพบฟอร์มาลินปนเปื้อนในปริมาณค่อนข้างสูงในอาหารสด เช่น อาหารทะเล ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ โดยที่จังหวัดขอนแก่น พบว่าตัวอย่าง ปลาหมึกกรอบ และสไบนาง (ส่วนหนึ่งของเครื่องในวัว) มีฟอร์มาลินปนเปื้อนถึงร้อยละ 90 จากตัวอย่างที่เก็บได้ตามตลาดสด ฟอร์มาลินเป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ตามพระราชบัญญัติอาหาร ซึ่งหากฝ่าฝืน จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ     สารเคมีกำจัดศัตรูพืช “ระเบิดเวลา” ฆ่าชีวิตเกษตรกรไทย โครงการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและพัฒนากลไก เพื่อยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(Thailand Pesticide Alert Network : Thai-PAN) ได้จัดประชุมวิชาการเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช "สร้างสังคมไทยให้ปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช" โดยในเวทีได้มีการนำเสนอข้อมูล จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) พบว่าผลการตรวจเลือดเกษตรไทย ระหว่างปี 2554-2556 มีจำนวนผู้ที่เสี่ยงอันตรายจากสารเคมีทางการเกษตรถึง 32%  นอกจากนี้ยังมีข้อมูลทางวิชาการที่ชี้ให้เห็นว่า การตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรในร่างกายของคนเรานั้น ส่งผลให้เกิดโรครุนแรงจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งสมอง มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง สมองเสื่อม หอบหืด ทารกในครรภ์ไม่เติบโต แท้งลูก และเบาหวาน ด้านกรมวิชาการเกษตร ได้นำเสนอข้อมูลปริมาณการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตร พบว่าปี 2556 ประเทศไทยนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืช 8.7 หมื่นตัน มากกว่าปี 2550 ประมาณ 28% ซึ่งหนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาสารเคมีทางการเกษตรในบ้านเรา ก็คือการยกเลิกการนำเข้า จำหน่าย และใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษร้ายแรง ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลพบว่าในประเทศไทยเรามีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ควรยกเลิกการใช้กว่า 155 ชนิด โดยในจำนวนนั้นมีสารที่ควรยกเลิกโดยเร็ว เช่น คาร์โบฟูราน เมททิลโบรโมด์  เมธิลดาไธออน เมโทมิล พาราควอท  ฯลฯ ซึ่งเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชพยายามอย่างยิ่งเพื่อให้การยกเลิกเกิดขึ้นจริงในบ้านเราโดยเร็วที่สุด ซึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนของประเทศ     เทรนด์ใหม่ผู้บริโภค “แฉออนไลน์” ช่วง 2- 3 เดือนที่ผ่านมา ใครที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับผู้บริโภคทางสังคมออนไลน์ คงจะได้เห็นปรากฏการณ์ "แฉ" จากเหล่าผู้บริโภคที่เจอปัญหาเรื่องอาหารไม่ปลอดภัยและการปนเปื้อนในอาหาร ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ป๊อปคอร์นยี่ห้อดังเจอตั๋วรถเมล์ปนมากับเมล็ดป๊อปคอร์น นมพร้อมดื่มบรรจุกล่องที่พบว่าในกล่องมีการเติมโตของเชื้อราที่ดูแล้วน่าตกใจและไม่น่าปลอดภัยกับผู้บริโภค และที่น่าจะได้รับการพูดถึงในสังคมมากที่สุดคงหนีไม่พ้นกรณีที่มีผู้บริโภคท่านหนึ่งพบแมลงสาบอยู่ในไอศกรีมที่ซื้อจากร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อดัง ซึ่งการที่ผู้บริโภคนำปัญหาที่ตัวเองพบเจอมาเปิดเผยต่อสาธารณะผ่านสังคมออนไลน์ ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งในการพยายามเรียกร้องสิทธิของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นว่าได้รับผลตอบรับที่ดี เพราะทั้งได้รับความสนใจจากบริษัทผู้ผลิตที่เป็นต้นเหตุของปัญหา ปัญหาของผู้บริโภคได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว สื่อมวลชนได้เห็นปัญหาแล้วนำเรื่องไปขยายต่อในวงกว้าง ผู้บริโภคคนอื่นๆ เองก็ได้รับรู้ปัญหา และนำไปเป็นบทเรียนเพื่อป้องกันและแก้ไขได้เวลาที่ตัวเองเจอปัญหาแบบเดียวกัน แม้ว่าในท้ายที่สุดทุกปัญหาอาจจะไม่ได้รับการแก้ไขในทันที เช่น กรณีที่ผู้บริโภคเจอแมลงสาปในไอศกรีม ผู้ประกอบการปฏิเสธที่จะยอมรับผิด โดยอ้างว่าผู้บริโภคซื้อไอศกรีมถ้วยดังกล่าวออกไปจากร้าน แล้วทิ้งเวลานานกว่าจะกลับมาแจ้งว่าเจอปัญหา แต่รูปแบบการแก้ปัญหาในลักษณะนี้ของผู้บริโภคก็น่าจะจุดประกายเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคของบริษัทต่างๆ ในบ้านเราให้มีเพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคต     ผู้บริโภคลงนามความร่วมมือกับทรูแก้ปัญหาโรมมิ่ง คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้จัดงาน “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” (World Consumer Rights Day) โดยปีนี้ได้ชูประเด็นปัญหาเรื่องการใช้งานบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างประเทศ (International Roaming)หลังจากที่มีผู้บริโภคร้องเรียนผ่านมาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่าถูกเรียกเก็บค่าบริการโรมมิ่งเป็นเงินสูงถึง 1.3 ล้านบาท หลังจากผู้เสียหายได้เปิดใช้บริการที่ประเทศซาอุดิอาระเบียในระยะเวลาแค่ 14 วัน หรืออีกหนึ่งกรณีที่ผู้บริโภคได้เปิดแพ็กเกจโรมมิ่งในประเทศฝรั่งเศส แล้วเจอเรียกเก็บค่าบริการถึง 1.6 แสนบาท ทั้งที่มีการกำหนดวงเงินค่าบริการ (credit limit) แต่การจำกัดวงเงินดังกล่าวไม่รวมถึงบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ซึ่งตัวอย่างปัญหาเหล่านี้ เกิดจากการที่บริษัทผู้ให้บริการไม่แจ้งข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนกับผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการคิดค่าบริการ อัตราค่าบริการ และวิธีการปิดระบบการใช้งานโรมมิ่ง ซึ่งล้วนเป็นข้อมูลสำคัญและจำเป็นต่อผู้บริโภคทั้งสิ้น นอกจากนี้ภายในงาน คณะกรรมการองค์การฯ ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ร่วมกับ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในเครือบริษัททรู เพื่อเป็นข้อตกลงว่าทางบริษัทจะให้การดูแลผู้บริโภคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้มีวงเงิน (credit limit)  เพื่อใช้บริการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยผู้บริโภคสามารถร้องขอไปยังผู้ประกอบการเพื่อปรับลด หรือเพิ่มวงเงินได้ และให้มีช่องทางการแจ้งเตือนเมื่อค่าใช้จ่ายใกล้ครบวงเงินที่กำหนด ซึ่งบริษัทต้องมีระบบระงับการให้บริการ และให้มีหมายเลขโทรศัพท์ฟรีให้ผู้บริโภคได้โทรเข้ามาแจ้งได้ว่า จะขอระงับการใช้ทันทีหรือต่ออายุการใช้งาน และให้แยกงานใช้งานบริการเสียงและข้อมูล (Voice and Data) ออกจากกัน ซึ่งทางคณะกรรมการฯได้แจ้งว่าได้มีการเชิญผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยทั้ง 3 ค่ายคือ ทรู ดีแทค และ เอไอเอส แต่มีเพียง ทรู เจ้าเดียวเท่านั้นที่ตอบตกลงร่วมลงนามความร่วมมือในครั้งนี้     ถึงเวลาเดินหน้าปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภคไทย คณะกรรมการองค์การอิสระผู้บริโภคภาคประชาชน ร่วมกับเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป จัดเวทีเสวนาสาธารณะเรื่อง "การปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภค" เพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานภาครัฐ ให้เกิดการพัฒนาเรื่องการคุ้มครองดูแลผู้บริโภคในประเทศไทย ไปพร้อมกับการผลักดันให้เกิดกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยเสียที หลักจากที่องค์กรผู้บริโภคลงมือลงแรงเพื่อให้เกิดกฎหมายสำหรับผู้บริโภคฉบับนี้มาแล้วกว่า 16 ปี โดยในงานได้มีการพูดคุยและแสดงข้อคิดเห็นของสถานการณ์ผู้บริโภคในบ้านเรา จากทั้งนักวิชาการ ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงตัวแทนจากภาคประชาชน ซึ่งในเวทีเสวนาก็ได้มีข้อสรุปเบื้องต้นเป็นข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา 5 มาตรการสำคัญในการปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภค 1.เร่งรัดการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 2.พัฒนากลไกยกเลิกสินค้าอันตรายอัตโนมัติ เช่น ยาอันตราย สารเคมีอันตราย หรือสินค้าอันตรายที่พบว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยยึดหลัก one ban all ban 3. การเยียวยาเชิงลงโทษ ที่ทันท่วงทีและอัตโนมัติ 4. มีหน่วยงานเดียวรับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ข้อมูล รับเรื่องร้องเรียน และคุ้มครองผู้บริโภค แบบ one stop service 5. สนับสนุนองค์กรผู้บริโภค เพื่อให้มีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภค การเผยแพร่ข้อมูล การเข้าถึงห้องทดลอง การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งตรวจสอบหน่วยงานรัฐในการคุ้มครองผู้บริโภคได้มากขึ้น //

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 156 ออส่วน

นับแต่กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว  ทุก 2 เดือน แม่ต้องไปตรวจเลือดและพบหมออายุรเวทที่โรงพยาบาลใหญ่ต่างอำเภอโดยอาศัยใบส่งตัวที่โรงพยาบาลใกล้บ้านออกให้ครั้งเดียวแต่ใช้ได้ยาวถึงวันสิ้นสุดปีงบประมาณคือวันสิ้นเดือนกันยายนปีเดียวกัน  เพราะไตเริ่มเสื่อมและเริ่มมีอาการบวมที่หน้า และลามไปลงขาในบางระยะ  มันเป็นกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นมาจากก่อนหน้าที่แม่ต้องพึ่งพาวิธีรักษาระดับน้ำตาล ไขมัน และความดัน จากยาของหมอที่โรงพยาบาลในอำเภอมาก่อน แน่นอนว่า ร่างกายมันเสื่อมไปตามอายุและการใช้ชีวิตของเจ้าของชีวิต     แต่แม่พยายามควบคุมอาหารการกินของตัวเองไม่ให้กินตามความชอบของตัวเอง และเน้นการลดระดับความเค็มของอาหารที่กินในแต่ละมื้อละคราว  ซึ่งมีผลต่อค่าเลือดที่ตรวจ จนทำให้หมอขยับการนัดตรวจครั้งต่อไปจาก 2 เดือนครั้ง เป็น 3 เดือนครั้ง   นับเป็นของขวัญปีใหม่ที่แม่มอบให้ตัวเองมาตลอดในปีที่แล้ว  มันเหมือนจะง่ายที่ฉันจะบอกตัวเองว่าต้องงดกินเค็มไปด้วย กินได้แต่ผักสีขาวๆ ไม่กินผักสีเขียว  เลิกกินถั่วลิสงต้มมันๆ ที่ชอบเคี้ยวกินเพลินๆ  เลิกกินเค้ก  กินฮอทดอกและกล้วยทอดเจ้าประจำ    แต่ถ้าเปลี่ยนกลับจากการควบคุมการกินของตัวเองให้ได้อย่างที่ต้องการไปเป็นเพียงผู้เฝ้าสังเกต    ฉันว่าสิ่งที่ยากกว่าการบอกแม่ว่า นั่น โน่น นี่ หมอไม่ให้กิน ก็คือ การยอมรับการตัดสินใจที่แม่จะกินในแบบของแม่เอง ไม่สิ อาจต้องใช้ว่า “ยอมจำนน” ต่อแม่เลยทีเดียว แม้ฉันจะก็ยังแอบห่วง แอบกังวล ในวันที่แม่ไปจ่ายตลาดได้เองและหิ้วฝอยทองถุงใหญ่ที่อุดมไปด้วยโคเลสเตอรอล  และขนมฝรั่งมันก็เยอะไปด้วย โซเดียมจากผงฟู    แม้กระทั่งแกงคั่วหน่อไม้ดอง   ปูหลนและปลาร้าทรงเครื่อง จากแม่ค้าเจ้าอร่อยที่มักถามฉันบ่อยๆ ว่าแม่ฉันเป็นไงมั่งยามเดินผ่านร้านเธอในช่วงที่แม่เคลื่อนไหวตัวลำบากเพราะขาบวมเบ่งจนยืนยังลำบาก  แม่กับฉัน เรียนรู้ที่จะรับมือกับอาการบวมของขาที่มีสาเหตุทั้งจากที่มาของอาหารที่เค็มและมีเกลือเยอะทั้งชนิดที่เป็นเกลือโซเดียมและโปแตสเซียม  และการบวมและเจ็บของกล้ามเนื้อที่อักเสบจากการเคลื่อนไหวในวัยที่ร่วงโรยของแม่  ผ่านระดับสารตกค้างในเลือดเมื่อไปหาหมอ   พอมีอาการบวมและยุบบ่อยๆ ครั้งเข้า  ปากของฉันที่คอยส่งเสียงเตือนเรื่องชนิดอาหารที่ควรงดก็เริ่มทำงานน้อยครั้งลง แม่ ซึ่งใช้ชีวิตในแต่ละวันมาเพียงลำพังตัวคนเดียวมานาน  มักมีอาการเงียบต่อต้านทุกครั้งที่ฉันมักมีอาการเป็นห่วงออกนอกหน้าโดยมักลืมคิดไปว่า ตัวแม่เองที่เป็นคนมีความสุขกับการกิน และตัวแม่เองเป็นคนต้องเจ็บปวดทนทุกข์จากการกินของแม่ บ่อยครั้งเข้า  ฉันก็ต้องเลือกเอาระหว่างการสร้างความรำคาญใจจนแม่ไม่อยากคุยด้วย   และบ้านเงียบกริบราวกับต้องแยกบ้านกันอยู่คนละที่คนละเวลา    หรือจะปล่อยให้แม่ใช้ชีวิตของแม่เอง  เลือกกินและเจ็บป่วยเองอย่างที่แม่ต้องการ    และเรา ฉันกับแม่ ยังมีโลกร่วมกันในช่วงระยะเวลาที่ยังเหลืออยู่ของแม่  แม้ฉันจะแอบห่วงและกังวลกับอาการเจ็บป่วยที่ปรากฏขึ้นที่ร่างกาย รวมไปทั้งลมหายใจอันครืดคราดติดขัดยามนอนตอนกลางคืนของแม่ในบางช่วง   และในบางวันแม่มีอาการเบื่ออาหาร  ไม่อยากกินอะไรเลย  และมีสีหน้าอาการราวกับคนไร้สุขไปทั้งวัน เอาเถอะ จะอย่างไร แม่ก็ต้องแบกภาระของผลแห่งความสุข-ทุกข์จากการกินอยู่และใช้ชีวิตของแม่ ล้วนเป็นของแม่แต่เพียงผู้เดียวฉันกำหนดบทบาทตัวเองเป็นแค่เพียงคนใกล้ชิดที่สุดคนเดียวที่จะพลอยรับรู้และเอาใจช่วยแม่อยู่ใกล้ๆ อย่างที่บอก   ผ่านมาเกือบปี  สิ่งบ่งชี้ทางร่างกายต่อความเสื่อมของไตของแม่ทำให้ฉันปลงใจได้ ปลงได้มากถึงขั้นบางวัน  ฉันยังทดลองทำอาหารจานอร่อยของแม่กิน  ทำให้มันอร่อยพอแค่แม่ยอมรับได้  แม้จะยังไม่อร่อยเข้าที่อย่างที่แม่ชอบกินจากเจ้าประจำขอแม่  และออส่วนก็เป็นหนึ่งในเมนูโปรดที่แม่ชอบกินจากร้านเจ้าประจำที่สุพรรณ การทดลองทำออส่วนของฉันผ่านความล้มเหลวมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง   ถ้าแป้งไม่แข็งหรือแป้งน้อยเกินไป  ออส่วนที่ดูน่าอร่อยก็จะจืดชืด จนแม่บ่น “ไม่มีรสมีชาติ” และแม่กินแค่ คำ 2 คำ ก็เลิก  ฮึ่ม! เคล็ดที่ฉันเพิ่งเรียนรู้จากการทดลองในครัวสำหรับรายการอาหารจานนี้ก็คือ  ถ้าแป้งมันมากไป มันจะทำให้ออส่วนแข็งกระด้าง  ถ้าน้ำมากแป้งมันน้อย  เนื้อออส่วนจะไม่นิ่มนุ่มนวล ออกแนวเป็นผัดถั่วงอกเสีย   และถ้าผัดถั่วงอกและหอยจนนานเกินไปก็ไม่อร่อยอีก  เป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่คุณผู้อ่านต้องไปสังเกตและทดลองกันเอาเองนะคะออส่วนเครื่องปรุง ;   หอยนางรมสดล้างสะอาด 2 กล่องเล็ก   ,  ถั่วงอก  2 ขยุ้มมือ  ,  ไข่ไก่ 2 ฟอง  ,  ต้นหอมซอยหยาบ  2 – 3 ต้น , ผักชี ซอยหยาบ  2 ต้น  ,  กระเทียมสับ  5 – 6 กลีบ  ,  แป้งมัน ½ ถ้วย  , น้ำเปล่า 2 ถ้วย , น้ำมันถั่วเหลือง , น้ำปลา , น้ำตาล   วิธีทำ  1.ละลายแป้งมันลงในน้ำสะอาดรอ   2.ตั้งกระทะใส่น้ำมัน  รอให้ร้อนจัดแล้วเริ่มเจียวกระเทียมให้กลิ่นหอมจึงใส่ถั่วงอกลงไปผัดไฟแรงๆ ไวๆ  ปรุงรสให้ได้ที่  ตามด้วยหอยนางรม  จากนั้นจึงคนน้ำแป้งเทลงไป  ตามด้วยไข่ไก่  เมื่อไข่เริ่มสุกและแป้งใสแล้วจึงปิดเตา เสิร์ฟคู่กับซอสมะเขือเทศหรือซอสพริกตามชอบ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 แอพพลิเคชั่น “สิทธิ 30 บาท”

ทุกท่านคงได้ยินคำว่า “สิทธิ 30 บาท” กันจนคุ้นหู ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เป็นสิทธิที่ช่วยให้ประชาชนมีความเสมอภาคกันในเรื่องการรับบริการสาธารณสุข การรักษาพยาบาลในราคา 30 บาท  เพื่อเพิ่มช่องทางให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. จึงได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น “สิทธิ 30 บาท” แอพพลิเคชั่น “สิทธิ 30 บาท”  จะแบ่งเป็น 7 หมวด คือ  หมวดที่หนึ่ง หมวดตรวจสอบสิทธิหลักประกันสุขภาพ เมื่อคลิกที่หมวดนี้จะถูกลิ้งไปที่หน้าเว็บไซต์ของ www.nhso.go.th จากนั้นให้กรอกหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก  วันเดือนปีเกิด และคลิกตรวจสอบสิทธิ  หน้าจอจะปรากฏข้อมูลต่างๆ ดังนี้ จังหวัดที่ลงทะเบียนรักษา  สิทธิหลักในการรับบริการ  หน่วยบริการปฐมภูมิ และหน่วยบริการประจำ สำหรับผู้ที่จะตรวจสอบสิทธิได้นั้นต้องเป็นผู้ที่ใช้สิทธิ 30 บาท ส่วนผู้ที่ใช้ระบบประกันสังคมจะไม่ปรากฏข้อมูลใดๆ หมวดที่สอง หมวดวิธีใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ 30 บาท จะแจ้งรายละเอียดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่พึงจะได้รับ รวมถึงขั้นตอนการขอเปลี่ยนหน่วยบริการ การคุ้มครองที่ครอบคลุมสำหรับสิทธิ 30 บาท หมวดที่สาม หมวด 30 บาทยุคใหม่เพิ่มคุณภาพ จะแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการบริการที่ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ และยุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าบริการ หมวดที่สี่ถึงหก ได้แก่ หมวดสอบถามข้อมูลสายด่วน สปสช. หมวดร้องเรียนร้องทุกข์ หมวดติดต่อหน่วยงาน สปสช. จะมีข้อมูลการติดต่อ สปสช. เพื่อสอบถามข้อมูล หรือร้องเรียน ร้องทุกข์ โดยแบ่งเป็นเขตในแต่ละจังหวัด เพื่อให้สะดวกในการหาข้อมูล ซึ่งในแอพพลิเคชั่นยังสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ผ่านสายด่วน สปสช. 1330  โดยเพียงคลิกเพื่อกดโทรออกได้ทันที หมวดสุดท้าย เป็นหมวดสื่อประชาสัมพันธ์ จะมีเอกสารและวารสารอิเล็คทรอนิกส์เพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับทาง สปสช. ทั้งนี้แอพพลิเคชั่น “สิทธิ 30 บาท” สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี ทั้งในระบบสำหรับมือถือระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ทาง App Store  และสำหรับมือถือระบบปฏิบัติการ iOS  โดยพิมพ์คำว่า “สิทธิ 30 บาท” หรือ “บัตรทอง” หรือ “สปสช.” หรือเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ www.nhso.go.th เมื่อต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล บางครั้งอาจเกิดความไม่มั่นใจว่าอาการที่จะเข้ารับการรักษา รวมอยู่ในสิทธิ 30 บาท หรือไม่ แอพพลิเคชั่นนี้ช่วยให้เข้าใจสิทธิที่พึงจะได้รับได้มากทีเดียว   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 ไข่เจียว

อาหารจานไข่ที่คนไทยนิยมรับประทานที่สุด เพียบพร้อมด้วยคุณค่าทางอาหารและรสชาติที่เข้ากันดีกับข้าวสวยและอาหารร่วมโต๊ะอื่นๆ และยังอาจถือเป็นบทเรียนแรกสำหรับคนที่เริ่มหัดทำกับข้าว ว่ากันว่าถ้าทำไข่เจียวได้อร่อยแล้ว อย่างอื่นก็ไม่ยาก ไข่เจียวอย่างที่กินกันทุกวันนี้นิยมแบบเจียวไข่ให้พองฟู ดูนุ่มนวล  ซึ่งการเจียวแบบนี้ต้องใช้กระทะก้นลึกและน้ำมันมาก ต่างจากสมัยก่อนที่คนไทยเพิ่งเริ่มใช้น้ำมันทำอาหารไข่เจียวจะเป็นแบบแบนๆ ดูกระด้าง ในหน้าประวัติศาสตร์ไข่เจียวถูกบันทึกไว้ใน จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี(น้องสาวรัชกาลที่ 1) ว่าเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่จัดเป็นสำรับไว้ในพระราชพิธีสมโภชน์พระแก้วมรกตและฉลองวันพระศรีรัตนศาสดาราม ในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่ก็นั่นแหละยังไม่เคยมีการสืบประวัติว่าไทยเราได้ไข่เจียวมาจากไหน ถ้าให้สันนิษฐานเดาว่าน่าจะเอาอย่างมาจากไข่เจียวของชาติตะวันตกที่เรียกว่า ออมเล็ต(omelet) เพราะวิธีการเจียวไม่ต่างคือตีไข่ให้แตกใส่นมนิดหน่อยแล้วลงเจียวในกระทะที่มีเนยสดร้อนๆ รออยู่ เมื่อใกล้สุกจะใส่ชีส แฮม และมะเขือเทศลงไปตรงกลางและพับไข่ออมเล็ตขึ้นเสิร์ฟ กล่าวคือข้างในจะมีลักษณะนุ่มๆ เยิ้มๆ ไม่แห้งทั่วแผ่นอย่างไข่เจียวของเรา ไข่เจียว 1 ใบ ให้พลังงานประมาณ 90 กิโลแคลอรี ปัจจุบันนิยมใช้ไข่ไก่ แต่ไข่เป็ดก็อร่อยไม่แพ้กันนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 ปั่นสู่กรุงเทพฯ เมืองจักรยาน

พาหนะเรียบง่ายแสนวิเศษ ปี พ.ศ. 2557  ท่ามกลางการจราจรหนาแน่นตามสี่แยกใหญ่ทั่วเมืองกรุง อารมณ์ผู้คนบนถนนต่างขุ่นหมองไม่ต่างจากหมอกควันปลายท่อไอเสียรถยนต์ มีพาหนะชนิดหนึ่งที่เคลื่อนที่ไปได้เรื่อยๆ ซอกแซก ลัดเลาะ ไหลลื่นไปไม่ยี่หระกับสภาพการจราจรที่อยู่ตรงหน้า พาหนะที่ว่านี้ไม่ใช่นวัตกรรมล้ำยุคสุดไฮเทค แต่เป็นเพียงพาหนะเรียบง่ายแสนธรรมดาที่เรียกว่าจักรยานนั่นเอง ด้วยความที่มีขนาดเล็ก ทุ่นแรงได้ดี เคลื่อนที่คล่องตัวแต่ไม่เร็วมาก ไม่ต้องเติมน้ำมัน ไม่ปล่อยมลพิษและไม่ส่งเสียงดัง เลยไม่ก่อความรำคาญสร้างความรบกวนใครสักเท่าไหร่นัก  จักรยานจึงช่วยให้ผู้ที่ขับขี่สามารถเดินทางฝ่าทุกสภาพถนน(หรือแม้แต่ฝ่าม็อบปิดถนน) ไปได้ทุกที่ และหลุดพ้นจากวังวนปัญหารถติดในเมืองกรุงฯ ได้ ทุกวันนี้เราแทบจะสังเกตเห็นผู้คนปั่นจักรยานบนท้องถนนเป็นเรื่องธรรมดา อาจจะยังมีจำนวนไม่มากเท่าไหร่ถ้าเทียบกับจำนวนยานพาหนะอื่นๆ แต่หากเทียบกับสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยบนท้องถนนที่มีให้แก่จักรยานเพียงน้อยนิด ไม่ว่าจะเป็นเลนจักรยาน ที่จอดจักรยาน หรือแม้กระทั่งการรับรู้ว่าจักรยานมีสิทธิในการสัญจรบนถนนเท่าเทียมกับรถยนต์ ผมคิดว่าการที่ยังมีคนขี่จักรยานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนสังเกตได้ชัดเช่นนี้เป็นเรื่องที่รัฐไม่ควรเพิกเฉยต่อความต้องการของประชาชน   ผลสำรวจความต้องการใช้จักรยานของคนกรุงเทพฯ[i] ที่มูลนิธิโลกสีเขียวทำการสำรวจขึ้นเนื่องในโอกาสวันคาร์ฟรีเดย์เมื่อปี 2554 เป็นการสะท้อนความต้องการใช้พาหนะเรียบง่ายแสนวิเศษนี้ได้อย่างชัดเจน จากการสอบถามชาวกรุงเทพมหานครทั้งสิ้น 4,333 คน ทั้งผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ (2,858 คน) และผ่านทางการสำรวจแบบตัวต่อตัวตามย่านชุมชน (1,475 คน) ได้แก่ สยามสแควร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จตุจักรและท่าเตียน โดยมีคำถามสำคัญอยู่ 2 ข้อ คือ ถ้าสามารถขี่จักรยานในกรุงเทพฯ ได้อย่างปลอดภัย คุณจะขี่ไหม ? ถ้าต้องแบ่งพื้นที่บนถนนมากั้นเป็นเลนจักรยาน คุณจะยอมไหม ? ผลสำรวจออกมาว่า ร้อยละ 86 บอกว่าจะออกมาขี่จักรยานบนท้องถนน หากรู้สึกว่าสามารถขี่ได้อย่างปลอดภัย และร้อยละ 93 ที่ยินยอมให้จัดสรรแบ่งปันพื้นที่จราจรบนถนนมากั้นเป็นเลนให้จักรยาน ผลสำรวจสะท้อนความต้องการใช้จักรยาน ทั้งๆ ที่ผู้ตอบแบบสอบถามมากถึงร้อยละ 48  ไม่เคยใช้จักรยานในกรุงเทพฯ มาก่อนเลย เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาเหล่านั้นรู้สึกว่าถนนหนทางในกรุงเทพฯ ยังไม่ใช่ที่ทางที่จักรยานจะสามารถปั่นได้อย่างปลอดภัยนั่นเอง นี่เป็นที่มาที่ชาวจักรยานและกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องกับจักรยานรณรงค์ร้องขอทางจักรยานที่ปลอดภัย   วิวัฒน์ทางจักรยานในกรุงฯ กับฝันค้างของนักปั่น เท่าที่มีบันทึกในเอกสารของสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กรุงเทพมหานครเริ่มมีทางจักรยานสายแรกตั้งแต่ปี  2535 เป็นทางยกระดับเลียบคลองประปาฝั่งตะวันตก แต่ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ให้ข้อมูลจากความทรงจำว่า ก่อนหน้านั้นเคยมีทางจักรยานตั้งอยู่บริเวณถนนรามคำแหง  เริ่มตั้งแต่สี่แยกคลองตันถึงสนามกีฬาหัวหมาก  แต่เมื่อเวลาผ่านไป ขาดการบำรุงรักษา เส้นทางจักรยานทั้ง 2 เส้นนั้นก็รางเลือนไปตามกาลเวลาจนหายไปในที่สุด ในสมัยของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 12 ดร.พิจิตต รัตตกุล (2539-2543) ความฝันเรื่องทางจักรยานดูจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาใหม่ มีการสร้างทางจักรยานเฉพาะขนานถนนตัดใหม่แยกออกจากพื้นผิวถนนอย่างชัดเจน เส้นทางที่เด่นชัดที่สุดคือ ทางจักรยานถนนประดิษฐ์มนูธรรม(จากถนนพระราม 9  - ถนนรามอินทรา) ระยะทาง ไป - กลับ รวม 24 กิโลเมตรโดยมีต้นปาล์มขั้นกลางยาวตลอดแนว ตลอดสมัยนี้มีการสร้างทางจักรยานยาวรวมกัน 34 กิโลเมตรรวม 5 เส้นทาง แต่เมื่อใช้งานจริงกลับประสบปัญหา เส้นทางไม่มีความต่อเนื่อง อยู่คนละทิศละทาง ไม่ตอบโจทย์การใช้งาน ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้จริง ความฝันเรื่องทางจักรยานจึงเป็นจริงได้เพียงตัวเลขกิโลฯ บนเอกสารและเส้นสีที่เปรอะเปื้อนบนก้อนอิฐที่ค่อยๆ จางลงเรื่อยๆ จนมาถึงสมัยของคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน นโยบายเรื่องทางจักรยานก่อตัวขึ้นเป็นรูปเป็นร่างอีกครั้ง โดยเหตุการณ์ที่ทำให้ชาวจักรยานตื่นเต้นเป็นที่สุดคือเมื่อ มีการริเริ่มโครงการ "จักรยานชมกรุงรัตนโกสินทร์" หรือ Green Bangkok Bike (ซึ่งในปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น Bangkok Smiles Bike) ถนนหลายสายในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน เช่น ถนนพระอาทิตย์ ถนนตะนาว ถนนมหาไชย  มีการสร้าง ‘ทางจักรยานบนผิวจราจร’ ด้วยการจัดแบ่งเลนสัญจรใหม่ให้แคบลงนิดหน่อยเพื่อเพิ่มเลนจักรยานทางด้านซ้ายของทางเดินรถ มีการติดป้ายสัญญาณจราจร ป้ายเตือน มีจุดให้บริการยืมคืนจักรยานอยู่ทั่วบริเวณ นับเป็นครั้งแรกที่จักรยานมีเลนของตัวเองบนผิวถนนเฉกเช่นเดียวกับพาหนะติดเครื่องยนต์อื่นๆ แต่ฝันของชาวจักรยานยังต้องกลายเป็นฝันค้างอีกครั้งเมื่อโครงการเริ่มดำเนินการไปโดยไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายผู้บังคับใช้กฎหมายและขาดการสื่อสารกับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเท่าที่ควร ดังนั้นเมื่อขีดสีตีเส้นจนสีแห้งสนิทเพียงไม่กี่วัน เลนจักรยานที่เป็นสิ่งแปลกใหม่บนท้องถนนก็ถูกรถราต่างๆ ที่เคยชินกับการจอดชิดขอบถนน เข้ามาจอดทับทางเฉกเช่นเคย ราวกับว่าไม่เคยมีเลนจักรยานมาก่อน ในสมัยของผู้ว่าฯ อภิรักษ์ เลนจักรยานได้ถูกสร้างขึ้นอีกในถนนหลักหลายสาย ทั้งแบบ ‘ทางจักรยานบนผิวจราจร’ เช่น ถนนโดยรอบวงเวียนใหญ่ ถนนสาธร และแบบ ‘ทางจักรยานร่วมบนทางเท้า’ ให้ขี่จักรยานบนฟุตปาธร่วมกับคนเดิน เช่น ถนนราชดำเนิน ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนสุขุมวิท แต่ทางจักรยานส่วนใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้นล้วนประสบปัญหาการตั้งวางสิ่งของ จอดรถกีดขวาง มีผู้คนพลุกพล่าน ผิวทางไม่ราบเรียบ เนื่องจากทางจักรยานบนผิวจราจรจะอยู่เลนด้านซ้ายสุดของถนนซึ่งมักอยู่ในแนวท่อระบายน้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการใช้จักรยานอย่างปลอดภัยทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ดีในสมัยของคุณอภิรักษ์ ได้มีการตั้งคณะกรรมการทำงานด้านจักรยานที่ชื่อ “คณะกรรมการโครงการเรารักกรุงเทพฯ เรารักจักรยาน” โดยมีผู้แทนทั้งจากภาครัฐและนักจักรยานจากสมาคม องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้จักรยานเข้าร่วมด้วย ผู้ว่าฯ คนต่อมา มรว.สุขุมพันธ์ บริพัทธ (สมัยที่ 1) ช่วงครึ่งวาระแรกแทบไม่มีการขับเคลื่อนนโยบายจักรยานใดๆ แม้จะเป็นผู้ว่าที่มาจากพรรคการเมืองเดียวกับผู้ว่าฯ อภิรักษ์ก็ตาม จนกระทั่งมูลนิธิโลกสีเขียว ชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ และกลุ่มอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ “Big Trees” ขอเข้าพบรองผู้ว่าฯ ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ (ตำแหน่งในสมัยนั้น) เพื่อหารือเรื่องการพัฒนาวิถีจักรยาน จนทำให้เกิดการรื้อฟื้น “คณะกรรมการโครงการเรารักกรุงเทพฯ เรารักจักรยาน” ขึ้นมาอีกครั้ง งานในสมัยนั้นเป็นไปในทิศทางด้านการรณรงค์ค่อนข้างมาก มีการจัดกิจกรรม Bangkok Car Free Sunday เป็นประจำทุกเดือนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จักรยานเพิ่มขึ้น มีโครงการให้เช่าจักรยานสาธารณะ “ปันปั่น” เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของเมืองไทย เพื่อเอื้อให้ผู้คนที่ใช้ระบบขนส่งมวลชนหรือชาวบ้านในพื้นที่เดินทางไปถึงจุดหมายด้วยจักรยานได้สะดวกขึ้น แต่นอกจากมีสถานีให้เช่าจักรยานหน้าตาเป็นเอกลักษณ์ที่มาพร้อมระบบสมาร์ทการ์ดและป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ก็ไม่มีปรับปรุงทางกายภาพใดๆ เพื่อการปั่นจักรยานเลย แม้จะฝันค้างมานานแต่ก็ไม่ใช่ไม่มีอะไรคืบหน้า เหตุการณ์การรวมตัวกันของชาวจักรยานที่น่าจดจำที่สุดในยุคนั้นคือการร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ผู้ว่ากรุงเทพมหานครปรับปรุงฝาท่อระบายน้ำที่ไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้จักรยานผ่านทางเว็บไซต์ Change.org[ii] จนทำให้กรุงเทพมหานครเร่งเปลี่ยน/ซ่อมฝาท่อระบายน้ำบนผิวถนนที่ชำรุดหรือมีโอกาสทำให้ล้อเล็กๆ ของจักรยานตกไปได้ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ใช้จักรยานมากเพราะ หากล้อติดตะแกรงจะทำให้คนขี่ล้มทันที หากเลี้ยวหลบก็มีโอกาสถูกเฉี่ยวชนจากพาหนะอื่นๆ  โดยหลังจากผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ รับเป็นนโยบายแก้ไขให้ ชาวจักรยานได้รวมตัวกันหลายครั้งเพื่อสำรวจฝาท่อที่มีปัญหาในเขตพื้นที่ต่างๆ ส่งเป็นรายงานระบุพิกัดพร้อมรูปถ่ายที่ชัดเจนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขต่อไป  นับเป็นแก้ไขปัญหาที่บูรณาการและปลุกให้นักปั่นที่ฝันค้างมานานตื่นและพบว่า เราสามารถทำสิ่งที่ฝันให้เป็นจริงได้ด้วยมือของเราเอง ในส่วนของภาคประชาชน มีการเคลื่อนไหวค่อนข้างคึกคักมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา แวดวงนิตยสารดังต่างทยอยสับเปลี่ยนหมุนเวียนทำเรื่องจักรยาน  มีกิจกรรมใหญ่สำหรับจักรยานเพิ่มขึ้น  แทบทุกวันในสัปดาห์ล้วนมีทริปปั่นจักรยานที่จัดโดยกลุ่ม องค์กรต่างๆ มากมาย  จนทุกวันนี้หากสังเกตดีๆ เราจะเห็นจักรยานอยู่ตามรายการทีวี บิลบอร์ด โฆษณาต่างๆ อยู่เสมอ  จักรยานกำลังสอดแทรกตัวเองเข้าไปในสื่อกระแสหลักเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไปในฐานะเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ รักษ์โลก รักสุขภาพ อินดี้ นอกกรอบ พึ่งตนเอง หลังครบวาระ ‘สุขุมพันธ์ 1’ เป็นยุคที่กระแสจักรยานเป็นที่นิยมมากจนผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ทุกคนต่างต้องนำเสนอนโยบายจักรยานควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองทั้งสิ้น เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงการวิวัฒน์ทางความคิดต่อแง่มุมเรื่องจักรยาน  แม้ว่าทางจักรยานส่วนใหญ่ยังมิเปลี่ยนแปลงใดๆ   ************************************************************** ทำไมต้อง ‘จักรยาน’ A cycle-lized city is a civilized city เมืองน่าอยู่คือเมืองน่าปั่น จักรยานเป็นมากกว่ากระแสแฟชั่น ด้วยความเล็ก เคลื่อนที่คล่องตัวแต่ไม่เร็ว ใช้แรงคน จึงไม่ปล่อยมลพิษและส่งเสียงดัง และใครๆ ก็สามารถหามาครอบครองได้ จักรยานจึงเป็นทางออกง่ายๆ ของปัญหาซับซ้อนหลายประการในเมืองใหญ่ เช่น คุณภาพอากาศ การจราจรติดขัด ปัญหาสุขภาพ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นต้น หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกจึงเร่งปรับเปลี่ยนวิถีการสัญจรในเมืองให้สามารถใช้จักรยานได้อย่างสะดวกและปลอดภัยและออกมาตรการสนับสนุนจูงใจให้ผู้คนใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมากขึ้น  จักรยานกลายเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เป็นตัวบ่งชี้ของเมืองน่าอยู่ที่ยอมรับกันในสหประชาชาติ[iii] **************************************************************   ทางจักรยานในปัจจุบัน กับเส้นทางสู่กรุงเทพฯ เมืองรถถีบ ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครมีทางจักรยานรวมทั้งสิ้น 35 เส้นทาง เป็นระยะทาง 232.66 กิโลเมตร โดยแบ่งเป็นทางจักรยานเฉพาะ 5 เส้นทาง ทางจักรยานบนผิวจราจร 10 เส้นทาง และทางจักรยานร่วมบนทางเท้าอีก 20 เส้นทาง แต่มีทางเพียง 2 กิโลเมตรเศษเท่านั้น (5 เส้นทาง) ที่มีการประกาศรองรับให้เป็น ‘ทางที่จัดไว้ให้สำหรับจักรยาน’ ตามกฎหมาย พ.ร.บ จราจรทางบก พ.ศ. 2522[iv] และที่แย่ไปกว่านั้นมีเส้นทางเพียง 600 เมตรบนถนนพระอาทิตย์เท่านั้นที่ได้รับการดูแล มีหลักล้มลุกกั้นไม่ให้รถยนต์จอดกีดขวาง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด อันเกิดจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตำรวจ สน.ชนะสงคราม กรุงเทพมหานคร กิจการร้านค้าและหน่วยงานต่างๆ ในบริเวณถนนพระอาทิตย์ และชาวจักรยานจากทุกสารทิศ สำหรับทางจักรยานอีกหลายสิบสายที่เหลือ มีการพิจารณาทบทวนความต้องการใช้ ศักยภาพ และความเหมาะสมต่างๆ ใหม่ เพื่อให้การพัฒนาปรับปรุงมีความคุ้มค้าและสามารถใช้งานได้จริง โดยคณะกรรมการเรารักกรุงเทพ ฯ เรารักจักรยานได้คัดเลือกเส้นทางเพื่อพิจารณาปรับปรุงก่อน 10 เส้นทางและมอบหมายให้กลุ่มมหาวิทยาลัยที่สนใจเรื่องจักรยานและมูลนิธิโลกสีเขียวช่วยกันทำการประเมินและนำเสนอแนวทางปรังปรุงให้ใช้ได้จริง ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว กำลังรอหารือกับผู้บังคับการจราจรซึ่งเป็นผู้มีอำนาจประกาศรับรองทางจักรยานตามกฎหมายต่อไป ในส่วนการพัฒนาโครงข่ายทางจักรยานใหม่ กรุงเทพมหานครได้ขอความร่วมมือทั้ง 50 สำนักงานเขตร่วมกับกลุ่มมหาวิทยาลัยช่วยกันคัดเลือกเส้นทางที่มีศักยภาพเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการใช้จักรยานของคนในพื้นที่เพื่อพัฒนาให้เป็นเส้นทางจักรยานใหม่ที่เน้นว่าต้องใช้ได้จริงและเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงถึงกันต่อไป แม้เส้นทางสู่กรุงเทพฯ เมืองจักรยานจะยังอีกไกลโข แต่ผมเชื่อว่าเรากำลังเข้าใกล้ไปเรื่อยๆ และมันจะเร็วขึ้นมากหากเราทุกคนช่วยกัน  กรุงเทพฯ เมืองหายใจสะอาด เมืองสัญจรสะดวก เมืองแห่งความเท่าเทียม เมืองแห่งสุขภาพ เมืองสีเขียวร่มรื่น เมือง.. ฯลฯ กรุงเทพฯ จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับการกระทำของพวกเราทุกคน   [i] อ่านผลสำรวจฉบับเต็มได้ที่ http://www.greenworld.or.th/bikemap/1476 [ii] อ่านเรื่องราวการเรียกร้องเปลี่ยนฝาท่อเพิ่มเติมได้ที่นี่ http://www.greenworld.or.th/bikemap/2136 ‘Change ฝาท่อ We must believe in’ [iii] อ้างอิงจาก ‘ทำไมจึงเป็นแผนที่ปั่นเมือง’ สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ และ ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์. Bangkok Bike Map แผนที่ปั่นเมือง : คู่มือหาเส้นทางจักรยานกรุงเทพมหานคร.กรุงเทพฯ : มูลนิธิโลกสีเขียว, 2555. [iv] อ่านบทความเกี่ยวกับกฎหมายจักรยานเพิ่มเติมได้ที่ http://www.greenworld.or.th/bikemap/2004 ‘กฎหมายจักรยาน... ใครว่าไม่มี ?’   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 หรี่เสียงโฆษณา

เริ่มมีคนบ่นให้ได้ยินหนาหูมากขึ้น ว่าทีวีปัจจุบันตอนรายการข่าว หรือแม้แต่ละคร เสียงเบาเหมือนเสียงกระซิบ บางครั้งไม่ได้ยินจนต้องเพิ่มระดับเสียง แต่พอช่วงโฆษณาสินค้าเสียงดังมากจนผิดปกติ เสียงแหลมมากทันทีจนต้องหรี่เสียง คนที่บ่นบางคนก็บอกว่า เอ๊ะหรือเป็นเพราะแก่หูเลยไม่ค่อยดี แต่ถ้าไม่ดีก็ต้องไม่ได้ยินเลย แต่ตอนโฆษณาเสียงแสบแก้วหูมาก ได้เสนอให้คนบ่นร้องเรียนไปยัง กสทช. พยายามคิดถึงกติกาเรื่องนี้ในเมืองไทย ยังนึกไม่ออกว่าเรื่องนี้จะสามารถจัดการหรือแก้ปัญหาด้วยกฎหมายฉบับไหนในปัจจุบัน และกสทช.จะทำอะไรได้บ้าง เมื่อสามปีที่แล้วมีปัญหาแบบเดียวกันนี้ในประเทศฝรั่งเศส และรัฐบาลได้ออกกติกา ให้หน่วยงานสามารถเข้าไปติดตามเรื่องร้องเรียน “ความรู้สึกของผู้บริโภคเกี่ยวกับเสียงดังเกินปกติของโฆษณาในโทรทัศน์” เพราะในทางเทคนิคที่เมืองไทยกำลังจะก้าวเข้าไปสู้ดิจิตอล การบีบอัดเสียง การเพิ่มเสียงทำได้ทุกขั้นตอน ดังนั้นเรื่องที่กำลังบ่นเป็นเรื่องเรื่องจริง ไม่ใช่จินตนาการ และจะมีปัญหาอีกมากกับโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ซึ่งเรื่องเดียวกันนี้ในประเทศอังกฤษมีกติกามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ที่เขียนกำหนดไว้ว่า “เสียงของการโฆษณาจะต้องไม่เสียงดังหรือเสียงแหลม” โดยมีหลักเกณฑ์ว่า “เสียงที่ดังที่สุดของโฆษณาจะต้องอยู่ในระดับเดียวกับรายการและอุปกรณ์ในการดู”   โดยรัฐบาลอังกฤษมีอำนาจลงไปสอบสวนเรื่องร้องเรียน เช่นกรณีล่าสุดเป็นเรื่องร้องเรียนรายการภาพยนต์เชอร์ล็อคโฮล์มของช่อง ITV3 สำนักงานมาตรฐานการโฆษณา Advertisement Standards Authority (ASA)  ได้มีคำวินิจฉัยว่า การโฆษณาจำนวน 8 ชิ้นมีเสียงดังผิดปกติขัดต่อหลักเกณฑ์เรื่องนี้ในรายการภาพยนต์เชอร์ล็อคโฮล์มของช่อง ITV3 โดยที่สถานีโทรทัศน์ ITV3 ได้โต้แย้งว่า หนังเรื่องเชอร์ล็อคโฮล์ม ส่วนใหญ่จะมีฉากที่เสียงเบา เงียบๆ แต่เมื่อมีบทพูดที่ถกเถียง หรือตะโกนของนักแสดง เสียงดังของโฆษณาในรายการ เท่ากับเสียงของภาพยนต์ตอนที่นักแสดงตะโกน แต่สำนักงานฯ ยืนยันว่าเสียงดังที่สุดของโฆษณาในความหมายนี้ “ต้องอยู่ในระดับเดียวกับรายการและอุปกรณ์ในการดู” ไม่รู้ว่าเรื่องร้องเรียนในเมืองไทยจะจบอย่างไร อาจจะต้องใช้วิธีการแบบชมรมหรี่เสียงบนรถไฟฟ้า แต่หากเราเผลอๆ บนรถไฟฟ้าดูจะกลับมาสียงดังอีกรอบ หรือหวังว่าเรื่องนี้คงไม่ใช่จินตนาการกันไปเองของผู้บริโภค แต่กสทช.ควรจะต้องมีกติกา และมีอำนาจในการติดตามและจัดการเหมือนในประเทศอังกฤษเขาทำกัน พร้อมๆ กับในอนุญาตไม่งั้นจะต้องตามแก้ปัญหากันภายหลังท่าทางน่าจะวุ่นวาย  หรือฉลาดซื้อจะลองอาสาไปทดสอบดูได้ผลอย่างไรจะกลับมาเล่ากันให้ฟัง   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 หลับไม่เต็มตื่น

เช้าตรู่ (ประมาณ 5.45 น) ของวันหนึ่งในเดือนมกราคม 2557 ผู้เขียนได้ดูสารคดีสั้นจากสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ซึ่งมีรายการข่าวค่อนข้างเช้าให้ข้อมูลว่า ถ้าตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วดื่มนมจะทำให้กลับไปนอนหลับต่อได้ดี โดยให้เหตุผลซึ่งฟังแล้วรู้สึกว่า คนจัดหาข้อมูลนั้นพยายามน้อยไปหน่อยหรือขาดความรู้ทางวิทยาศาสตร์โดยสิ้นเชิงอย่างน่าใจหาย จึงเขียนเหตุผลทำให้พิธีกรหญิงต้องเพ้อเจ้อว่า การดื่มนมทำให้ผู้ดื่มระลึกถึงสมัยเป็นทารกที่ได้ดื่มนมแม่แล้วรู้สึกสบายจึงนอนหลับได้ ผู้เขียนแทบไม่เชื่อหูในเหตุผลดังกล่าว แต่ก็ฉุกใจว่าควรคิดให้รอบคอบก่อน มันอาจจะเป็นความรู้ใหม่ที่มีผู้รู้ค้นพบ ดังนั้นจึงลองใช้ google ค้นหาคำอธิบายในเรื่องดังกล่าวจากคนไทยทั่วไปในอินเตอร์เน็ตก็พบว่า ส่วนใหญ่แล้วอธิบายประเด็นคำถามนี้ด้วยเหตุผลเดิมๆ ว่า การดื่มนมแล้วนอนหลับง่ายขึ้นเพราะ นมนั้นเป็นเครื่องดื่มที่มีกรดอะมิโนอิสระคือ ทริปโตเฟน ซึ่งร่างกายเราสามารถดูดซึมแล้วนำไปเปลี่ยนแปลงเป็นสารชีวเคมีชื่อ เมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งออกฤทธิ์ที่สมองซึ่งเป็นตัวควบคุมการนอนหลับของมนุษย์และสัตว์ชั้นสูงส่วนใหญ่   ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ชื่อทางชีวเคมีของเมลาโทนินคือ N-[2-(5-methoxy-1H-indol-3-yl)ethyl]acetamide ซึ่งเป็นสารที่ถูกสร้างภายในต่อมไพเนียล (Pineal gland) ซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อในสมองโดยใช้กรดอะมิโนทริปโตเฟน ซึ่งได้จากการกินอาหารและการสลายตัวของโปรตีนในร่างกายเป็นสารตั้งต้น แล้วส่งไปทำงานทั่วร่างกาย จึงถูกจัดว่าเป็นฮอร์โมนธรรมชาติ ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกเฉื่อยชารวมถึงอุณหภูมิของร่างกายลดต่ำลง ร่างกายจึงเข้าสู่สภาวะต้องการนอนหลับ การหลั่งของฮอร์โมนชนิดนี้ถูกกระตุ้นโดยความมืดและถูกยับยั้งโดยแสง ระดับของเมลาโทนินลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงเช้ามืดของวันใหม่ และมีต่ำมากในตอนกลางวันถ้าอยู่ในที่มีแสงสว่าง ดังที่เราเกือบทุกคนเป็นเหมือนกันคือ ถ้าอยู่ในที่มืดนาน ๆ จะเกิดอาการง่วงนอน ดังนั้นอุบัติเหตุที่เกิดเนื่องจากการเดินทางด้วยพาหนะจึงมักเกิดตอนกลางคืน ส่วนอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดตอนกลางวันมีแดดจ้านั้นคงไม่เกี่ยวกับเมลาโทนิน แต่คงเป็นเพราะร่างกายมันล้า อ่อนเพลียทนไม่ไหวแล้วมากกว่า ระดับของเมลาโทนินนั้นเพิ่มขึ้นสูงสุดในเด็กที่มีสุขภาพดีทั่วไปช่วงหลังเที่ยงคืน ส่วนผู้สูงอายุนั้นระบบการสร้างเมลาโทนินจะเริ่มเสื่อมลงเรื่อยๆ การศึกษาในสัตว์ทดลองแสดงให้เห็นว่า การหลั่งเมลาโทนินลดลงมีความสัมพันธ์กับกลไกการชราภาพ ซึ่งเป็นคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ว่า ทำไมผู้สูงอายุจึงพบกับปัญหาในการนอนไม่หลับมากกว่าผู้ที่อายุยังน้อย เมลาโทนินนี้เป็นสารชีวเคมีที่พบในพืชด้วย กล่าวกันว่าสารชีวเคมีนี้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของส่วนลำต้นของพืชแต่ลดการเจริญของราก และที่สำคัญคือเป็นสารต้านออกซิเดชั่นซึ่งพืชที่กำลังเจริญเติบโตต้องการมาก สารนี้พบได้ในพืชหลายชนิดได้แก่ feverfew (ลักษณะคล้ายดอกเก็กฮวย) Saint John’s wort ข้าว ข้าวโพด มะเขือเทศ ผลไม้หลายชนิดเช่น กล้วย สับปะรด เชอรี่ องุ่น และส้ม และที่เป็นที่รู้กันว่าดื่มเมื่อไรมีโอกาสหลับได้ง่ายคือ ไวน์และเบียร์ ดังนั้นการบริโภคอาหารดังตัวอย่างที่กล่าวถึงนี้ ความเข้มข้นในเลือดของเมลาโทนินย่อมสูงขึ้นได้ ส่งผลให้ท่านอาจหลับในช่วงเวลาทำงานได้ไม่ยาก ซึ่งน่าจะใช้เป็นเหตุผลในการอ้างถึงการหลับกลางวันของหลายท่านได้อย่างมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ กระบวนการผลิตเมลาโทนินไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมดก็ผลิตเมลาโทนินในเวลากลางคืนได้เช่นกัน โดยเฉพาะวัวจะผลิตด้วยกลไกเดียวกันกับมนุษย์ โดยส่งผ่านจากกระแสเลือดเข้าไปในน้ำนม ทั้งนี้ปริมาณเมลาโทนินขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของกลางวันและกลางคืน ผสมผสานไปกับอาหารที่วัวได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ระบบแสงที่ออกแบบพิเศษในการเลี้ยงวัวนม มีผู้รายงานว่าน้ำนมนี้มีเมลาโทนินสูงขึ้นกว่านมทั่วไปถึง 1 ใน 3 เท่าของนมปกติ จึงมีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งร่วมกับบริษัทผลิตนมบริษัทหนึ่งในประเทศไทยขอจดสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิตแบบนี้เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังอยู่ในระหว่างการขอจดทะเบียนยาอีกด้วย ซึ่งประการหลังนี้ผู้เขียนค่อนข้างประหลาดใจในความคิดเป็นอย่างมากว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะยังไม่เห็นผลการศึกษาในคนว่า คนที่ดื่มนมพิเศษนี้นอนหลับง่ายกว่าคนที่ดื่มนมปรกติ ผู้เขียนเป็นคนมีกรรม เวลาต้องไปนอนต่างถิ่นมักนอนไม่ค่อยหลับ ยิ่งถ้าต้องไปนอนในต่างประเทศยิ่งมีปัญหาเนื่องจากเวลาเปลี่ยนไป อาการนี้หลายท่านคงทราบดีว่าฝรั่งใช้ศัพท์ว่า Jet lag มีงานวิจัยหลายชิ้นที่รายงานความไม่แน่นอนเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเมลาโทนินในการแก้อาการ Jet lag ด้วยวิธีการวิเคราะห์อภิมาน (Meta-analysis) [เป็นวิธีการนำงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นที่ทำเรื่องเดียวกัน แล้วนำมาตัดสินความน่าจะเป็นไปได้โดยรวมด้วยวิธีทางสถิติชั้นสูง เพื่อให้ได้คำตอบว่า ประเด็นที่เป็นปัญหานั้นใช่หรือไม่ แต่สถิติก็คือสถิติซึ่งเป็นวิชาที่เข้าถึงได้ยากของคนทั่วไป] ที่เปิดเผยข้อมูลโดย องค์กรความร่วมมือคอเครน (Cocrane) ของประเทศอังกฤษว่า การใช้เมลาโทนินที่ปริมาณ 0.5 - 5 มิลลิกรัมหรือไม่ใช้ในคนที่มีสภาวะ Jet lag นั้นให้ผลในการบรรเทาอาการไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ แต่หากใช้ที่ปริมาณมากกว่า 5 มิลลิกรัมขึ้นไปจะทำให้เวลาในการเคลิ้มหลับสั้นลง และยิ่งเห็นผลชัดมากขึ้นในคนที่ข้ามโซนเวลาคือ บินจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก การวิเคราะห์อภิมานอื่นๆ กลับพบว่า เมลาโทนินไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ได้อย่างชัดเจนสำหรับอาการ Jet lag รวมทั้งไม่ได้ช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้นในกรณีที่เกิดอาการนอนไม่หลับสำหรับผู้ที่ทำงานเป็นกะ นอกจากนี้เวลานอนหลับโดยรวมก็ไม่ได้นานอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นการจะบริโภคเมลาโทนินเพื่อช่วยในการนอนหลับนั้น ผู้บริโภคควรใช้วิจารณญาณอย่างเต็มที่ ครั้งหนึ่งเคยมีผู้ถามขณะฟังการบรรยายวิชาการของผู้เขียนว่า “เวลานอนไม่หลับกลางดึกของคืนที่ต้องนอนให้หลับเพราะพรุ่งนี้มีกิจกรรมสำคัญต้องทำ ควรทำอย่างไรเพื่อให้หลับ” คำตอบจากผู้เขียนนั้นอาจไม่ใช่คำตอบที่เป็นยาครอบจักรวาล แต่มักใช้ได้ผลกับผู้เขียนเองคือ “ช่างหัวมัน อย่าหวังว่าจะหลับ ปล่อยตามสบาย ถ้าจะไม่หลับก็แสดงว่า ร่างกายพักผ่อนพอแล้ว ให้ทำเป็นนอนเล่นสบาย ๆ ไม่คิดอะไร จากนั้นเผลอประเดี๋ยวเดียว เช้าแล้ว” สำหรับผู้เขียนในปัจจุบันนี้สามารถนอนหลับได้ง่ายเพราะ สามารถทำใจให้โปร่งสบาย ไม่คิด (แค้นใคร) ไม่เครียด (เพราะเกษียณแล้ว) และไม่เข้านอนหลัง 4 ทุ่ม (เพราะรายการทีวีไม่ค่อยได้เรื่อง กำลังรอดิจิตอลทีวีอยู่) ส่วนการกินอาหารที่มีเมลาโทนินหรือสารตั้งต้นคือ ทริปโตเฟน นั้นก็เป็นตัวช่วยได้ในกรณีที่นอนหลัง 4 ทุ่ม ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้างตามบุญตามกรรม แต่ไม่เคยกินสารเมลาโทนินที่สังเคราะห์ใส่ขวดขายเพราะมันเป็นกาลกิณีต่อกระเป๋าสตางค์นั่นเอง   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 คู่มือนักร้อง (เรียน) ตอนที่ 1

คอลัมน์เรื่องเล่าเฝ้าระวัง ได้นำเสนอข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพมาหลายฉบับแล้ว และเป็นข่าวดีที่ผู้เขียนทราบว่า ผู้บริโภคที่ติดตามอ่านคอลัมน์นี้หลายท่าน ได้ลุกขึ้นมาเป็นหูเป็นตาในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยในท้องตลาด  โดยแจ้งข้อมูลผลิตภัณฑ์อันตรายที่ตนพบเห็นไปให้หน่วยงานราชการดำเนินการต่อ แต่เนื่องจากข้อมูลที่ส่งต่อบางชิ้นมีรายละเอียดไม่มากพอ เจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถนำข้อมูลไปดำเนินการต่อได้ทันที ทำให้ต้องไปเริ่มต้นหาข้อมูลกันใหม่อีกรอบ เพื่อให้ประชาชน ผู้บริโภค และเครือข่ายต่างๆ สามารถรวบรวมข้อมูล หลักฐานต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน ผู้เขียนขอนำเสนอวิธีง่ายๆ ในการดำเนินการรวบรวมข้อมูลก่อนส่งเรื่องร้องเรียน โดยมีคาถาง่ายๆ ที่ควรท่องให้ขึ้นใจดังนี้ ข้อมูลพร้อมพรรค -  หลักฐานครบถ้วน – เรื่องด่วนส่งทัน – ช่วยกันบอกต่อ  ก่อนที่เราสวมวิญญาณจะเป็นพลเมืองดี นำข้อมูลมาร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่นั้น  เราควรตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ที่เรามีว่าครบถ้วน สมบูรณ์หรือไม่ เพราะถ้าข้อมูลที่เราส่งต่อให้เจ้าหน้าที่นั้นครบถ้วนหรือเพียงพอ เจ้าหน้าที่ก็จะสามารถนำไปดำเนินการได้ทันที แต่ถ้าข้อมูลที่เราร้องเรียนไม่ครบถ้วน ขาดข้อมูลที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถนำไปดำเนินการได้ และจะทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเสียเวลาในการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม จนอาจทำให้เรื่องที่เราร้องเรียนล่าช้าไม่ทันเหตุการณ์ มี 4 ขั้นตอนง่ายๆ ให้เราตรวจสอบความพร้อมในการร้องเรียนดังนี้   1. ข้อมูลพร้อมพรรค ในขั้นตอนนี้ ขอให้เราตรวจสอบข้อมูลที่เราจะนำไปร้องเรียนว่าครบถ้วน หรือเพียงพอหรือไม่ จากประสบการณ์พบว่า ข้อมูลที่ครบถ้วนจะประกอบด้วยประเด็นหลักๆ ดังนี้ 1) ชื่อผู้ร้องเรียน หรือผู้บันทึกข้อมูล ตลอดจนที่อยู่ หรือเบอร์โทรศัพท์เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดต่อได้ หากต้องการข้อมูลรายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติมในภายหลัง 2) ควรตรวจสอบหน่วยงานที่เราจะร้องเรียนให้ถูกต้อง  เช่น ร้องเรียนเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ(อาหาร ยา เครื่องสำอาง ฯลฯ) ให้ร้องเรียนที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กรณีที่เป็นการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์และวิทยุสามารถร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ 3) ระบุสื่อที่พบการโฆษณาและข้อมูลเกี่ยวกับสื่อดังกล่าวให้ชัดเจนที่สุด เช่น วัน เวลาที่พบการโฆษณา พื้นที่ที่พบโฆษณา คลื่นความถี่/ช่องรายการ  ชื่อสถานี ชื่อรายการ  ชื่อผู้จัดรายการ 4) รายละเอียดข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่โฆษณา เช่น ชื่อผลิตภัณฑ์ และถ้าทราบว่าผลิตภัณฑ์นั้นเป็นยา อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ วัตถุอันตรายให้ระบุไปด้วย  นอกจากนี้ หากเป็นไปได้ให้ตรวจสอบด้วยว่าโฆษณานั้นมี เลขที่โฆษณาผลิตภัณฑ์ หรือไม่ ทั้งนี้ต้องไม่สับสนระหว่างเลขที่อนุญาตโฆษณา กับเลขทะเบียนผลิตภัณฑ์ เช่น เลขทะเบียนตำรับยา หรือเลขทะเบียนตำรับอาหาร หรือเลขที่จดแจ้งเครื่องสำอาง 5) รายละเอียดวิธีการโฆษณา เช่น การจัดรายการ มีผู้เล่าประสบการณ์ สปอตโฆษณา หรืออื่น ๆ 6) ประเด็นที่เราสงสัยว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ปลอดภัย  เช่น การอวดอ้างสรรพคุณอย่างเกินจริง หรือมีการรับรองสรรพคุณอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้ เราสามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้เองโดยเปรียบเทียบกับข้อกฎหมายในกฎหมายยา อาหาร หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง (ต่อฉบับหน้า)   //

อ่านเพิ่มเติม >