ฉบับที่ 161 เมื่อลุงผู้ใหญ่ ถูกเรียกเก็บค่าบริการเสริมทางโทรศัพท์มือถือ.....

ปัญหาการคิดค่าบริการโทรศัพท์ โดยระบุว่า เป็นค่าบริการเสริม ค่ารับ SMS หรือ รับข้อมูลอื่นๆ เกิดขึ้นเยอะในกลุ่มผู้ใช้บริการ ทุกเครือข่าย  ช่วงหลัง มักเจอบ่อยเรื่องของการเก็บโหลดข้อมูล Facebook หรือจากทาง แอฟต่างๆ ที่ส่งมาทางข้อความผู้ใช้บริการโดยจะคิดค่าบริการจาก 10-20 บาท และเริ่มจะมากขึ้นเรื่อยๆ หากผู้ใช้บริการไม่สังเกต  โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้บริการเหมาจ่ายรายเดือน และระบบจ่ายรายเดือน เนื่องจากมีรายการหลายอย่าง หรือแม้แต่ผู้ใช้ระบบเติมเงินก็มักถูกหักเงินบ่อยครั้ง แต่ทุกรายมักจะมีคำพูดที่ว่า “ไม่เป็นไร มันไม่เยอะ แค่ 10-20 เอง”  ถ้าลองคำนวณดูว่า 10 บาท กับ 1 ล้านคน ก็เป็น 10 ล้านบาท  เยอะไหมคะ พอที่เราจะต้องเรียกร้องเงินจำนวน 10 บาท ของเราคืนไหม เพื่อที่ประโยชน์จะได้ไม่ต้องไปตกกับกลุ่มเครือข่ายโทรศัพท์ที่เอาเปรียบผู้บริโภคลุงสำเริง เป็นคนหนึ่งที่พบปัญหาการใช้โทรศัพท์ชนิดเหมาจ่ายรายเดือน ลุงสำเริง เป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่แถวเชียงราย จำเป็นต้องใช้โทรศัพท์หลายเครือข่ายและมักหาโปรโมชั่นที่คุ้ม สามารถติดต่อประสานงานได้ทุกช่วงเวลา  ลุงสำเริงสังเกตว่าค่าโทรศัพท์ของตนในแต่ละเดือน มักจะแจ้งยอดค่าบริการเสริม เช่นการรับ SMS หรือบริการดาวน์โหลดข้อมูลอื่นๆ อยู่บ่อยๆ  ซึ่งตนเองก็ไม่ได้เอะใจอะไรมากเนื่องจากเป็นยอดเงินไม่มากจนกระทั่งรอบบิลเดือนพฤษภาคม  ลุงสำเริงได้รับใบแจ้งหนี้ พบว่ามีค่าใช้จ่ายเกี่ยวบริการเสริม คือ ค่าบริการรับข้อมูล/ข่าวสาร จำนวน 12 ครั้ง  เป็นเงิน 78  บาท และบริการดาวน์โหลดต่างๆ จำนวน 10 ครั้ง เป็นเงิน 30 บาท รวมเป็นเงิน  108 บาท  คุณสำเริงบ่นมาตามสายว่า "เอไอเอสเก็บตังค์ลุงแห๋มแล้ว ค่าอะหยังบ่ฮู้  บ่ได้ใจ้สักน้อยโทรศัพท์ก็ใจ้แบบรุ่นเก่า เล่นFacebook ก็บ่ได้  จ่วยลุงกำเต๊อะ หยะอี้บ่เข้าท่าก้า มาไล่เก็บตังค์คนอื่นจ๊ะอี้" น้ำเสียงลุงรู้สึกแย่ๆ  เนื่องจาก ถูกเรียกเก็บแบบนี้มา 2-3 เดือนแล้ว แต่จำนวนไม่เยอะมาก จึงไม่ได้สนใจ แต่พอเจอครั้งนี้ รวมแล้วร้อยกว่าบาท จึงทนไม่ไหว ลุงสำเริงจึงไปทำเรื่องขอย้ายค่าย จากเอไอเอส เป็น ดีแทค (ซึ่งระบบแถวบ้านก็ไม่ได้ดีมาก แต่คิดว่าคงจะไม่มีการเรียกเก็บแบบนี้นัก) แต่พนักงานดีแทคแจ้งว่า ลุงสำเริงต้องไปจ่ายค่าบริการทั้งหมดก่อนจึงจะทำการย้ายค่ายให้ได้   ลุงสำเริง ช่างใจอยู่ว่าจะจ่ายเงินไปเสียเพื่อตัดความรำคาญแล้วก็ทำการย้ายค่ายหนีไปเลย รึจะทำอย่างไรดี เพราะถ้าไม่จัดการ ก็เจออีก  ลุงสำเริงจึงตัดสินใจโทรศัพท์มาเล่าเรื่องให้ฟัง พร้อมกับขอให้ทางมูลนิธิฯ ช่วยแก้ไขปัญหาให้   แนวทางการแก้ไขปัญหาปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ ด้วยตนเองโดยการแจ้งเรื่องไปยัง 1175  เพื่อให้ยกเลิกและให้คืนเงินเนื่องจากไม่ได้ใช้บริการดังกล่าว หรือ กด *137 เพื่อยกเลิกการรับข้อมูลข่าวสารหรือ ข้อมูลดาวน์โหลดต่างๆส่วนกรณีลุงสำเริง  ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ส่งอีเมล์ ไปยังหน่วยรับเรื่องร้องเรียน ของบริษัท แอ๊ดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส เพื่อให้ตรวจสอบและยกเลิกการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภค จำนวน 108 บาท ที่ผู้บริโภคถูกเรียกเก็บ เนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้ใช้บริการแต่อย่างใด   ซึ่งในวันเดียวกัน ทางหน่วยรับเรื่องรียนของเอไอเอส ได้อีเมล์กลับมาแจ้งว่าได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว จะขอตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานโดยตรงว่าเป็นสาเหตุหรือการใช้งานด้านใด7 วัน ต่อมา พนักงานจาก 1175 โทรมาแจ้ง ได้เช็คจากระบบแล้วพบว่า เครื่องของคุณลุงมีการใช้รับ SMS ที่ถูกส่งเข้าไป แล้วกดรับ และมีการดาวน์โหลดข้อมูลจาก Facebook   ซึ่งจากข้อมูลที่ลุงสำเริงให้มาพร้อมกับถ่ายรูปมือถือให้ดูว่าใช้มือถือรุ่นที่ไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ แต่ถูกเรียกเก็บเงิน พนักงานจึงแจ้งว่าในกรณีนี้ จะยกเว้นค่าบริการ จำนวน 108 บาทให้ แต่หากผู้บริโภคไม่ต้องการรับข้อความหรือข้อมูลข่าวสาร ให้ทำเรื่องยกเลิก โดยกด *137 ได้ด้วยตนเอง..... ซึ่งก็อาจจะต้องแก้ไขปัญหากันเป็นรายๆ ไปเพราะเครือข่ายผู้บริโภคพยายามเรียกร้องให้ เครือข่ายมือถือทุกเครือข่ายแก้ไขปัญหาการส่ง SMS กวนใจ กวนเงินให้กับผู้บริโภค อย่างจริงจัง แต่ก็ไม่เห็นมีทางออกที่ดีขึ้น ดังนั้นจึงฝากเตือนผู้บริโภคว่า ควรจะพึงใส่ใจเงินในระบบโทรศัพท์  ใส่ใจใบแจ้งหนี้ค่าโทรศัพท์ให้ดี เพื่อป้องกันการขโมยเงินในกระเป๋าโดยง่ายดายแบบลุงสำเริงที่เจอมา //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 รถหาย! ถูกฟ้องเรียกค่ากุญแจ

พี่คะ  “แม่หนูถูกฟ้อง  ทำยังไงดี ”   คำถามของคุณจิราภรณ์ ที่ซื้อรถยนต์มือสอง ยี่ห้อ TOYOTA ซึ่งจัดไฟแนนท์กับ  กับบริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) โดยใช้ชื่อคุณแม่ เพราะตนเองเพิ่งทำงานและพักอยู่กับแม่ที่ ปทุมธานี  ปลายปี 54  เกิดวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้ต้องอพยพทั้งข้าวของและรถยนต์มาพักบ้านพี่สาวแถวงามวงศ์วาน ทำให้บ้านคับแคบข้าวของต้องวางไว้นอกบ้าน จนจอดรถไม่ได้  เลยต้องนำรถไปจอดไว้ข้างทาง เหมือนที่ชาวบ้านทั่วไปเค้าจอดกัน  โดยล็อกพวงมาลัย ล็อกเบรก และล็อกกุญแจประตูรถยนต์  ตามที่จะสามารถล็อกได้ จอดไว้ได้ประมาณเกือบปี  รถหาย!ในวันเดียวกันกับที่ทราบเรื่อง น้องรีบพาแม่ไปแจ้งความ  ตำรวจแนะนำให้ไปขอหนังสือมอบอำนาจเพราะไม่ใช่ผู้ถือกรรมสิทธิ์รถแจ้งความเองไม่ได้  ตนเองกับแม่ก็รีบไปขอหนังสือฉบับนั้นทันที  แล้วรีบมาดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ตำรวจทำคดีอีกครั้ง จัดการเรื่องนี้เสร็จก็ทำหนังสือถึงไฟแนนท์ขอหยุดชำระทันที  ถูกไฟแนนท์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมไปอีก 500  บาท ตนเองเสียดายรถยังคิดที่จะตามหารถ โดยโพสต์ Facebook บ้าง ไปตามที่มีแหล่งข่าวว่ารถน่าจะถูกขายแถวไหนบ้าง ก็ไม่พบ เรื่องเงียบหายไปปีกว่า  อยู่ๆ แม่ก็ได้รับหมายศาลถูกไฟแนนท์ฟ้องเป็นจำเลย คดีผิดสัญญา  ไฟแนนท์เรียกให้คืนรถ หรือคืนเงิน  ชาวบ้านอย่างเรา จะสู้เค้ายังไง  มีแต่กุญแจ ไม่มีรถ  ไม่มีเงิน  จะหาทนายช่วยอย่างไร  ได้มาปรึกษากับมูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหา เนื่องจากพยานหลักฐานของผู้ร้อง ที่มีอยู่ครบถ้วน  เช่น หลักฐานการแจ้งความที่มีรายละเอียดครบถ้วน, หนังสือบอกกล่าวให้บริษัท อยุธยาฯ  รับทราบว่ารถหายไม่ขอชำระค่างวด และใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมการหยุดใช้รถ ภาพถ่ายต่างๆ เช่น การโพสต์ใน Facebook เพื่อตามหารถยนต์ของตนเอง สถานที่จอดรถ เป็นต้น   โดยแนวทางการต่อสู้คดีนั้น ชี้ให้เห็นว่า “รถหายมิได้เกิดจากความประมาทของผู้ซื้อ  และผู้ซื้อต้องรับผิดชอบค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับหรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามรถ ค่าทนายหรือค่าอื่นใด เพียงเท่าที่เจ้าของได้ใช้จ่ายไปจริงตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร” อีกทั้งบริษัทฯ ทราบดีอยู่แล้วว่ารถยนต์คันเช่าซื้อสูญหายไป โดยการแจ้งของผู้ร้อง ตามหลักฐานที่ผู้ร้องมี แล้วยังนำคดีมาฟ้อง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับ ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม คดีนี้ได้ขอให้ศาลยกฟ้อง    ภายหลังการพิจารณาคดี  ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง คดีนี้บริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์   คงต้องตามกันต่อไปว่าจะสิ้นสุดอย่างไร //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 ค่ารักษาพยาบาลมหาโหด

เช้ามืดวันหนึ่ง ขณะที่หลายคนกำลังหลับใหล แต่คุณใหญ่ กลับทรมานด้วยอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว  และมีอาการปวดหลังร่วมด้วย พอเหมาะกับสามีก็ไปทำงานต่างจังหวัด จึงได้โทรศัพท์ให้น้องชายพาไปโรงพยาบาล ขณะที่เดินทางไปพบแพทย์คุณใหญ่เล่าว่าตัวเองมีสติครบถ้วน  และรู้สึกตัวดีทุกประการ  ไม่มีอาการของผู้ป่วยในลักษณะรุนแรง หรือฉุกเฉินแต่อย่างใด   โดยเมื่อมาถึงโรงพยาบาล  แพทย์ที่ทำการรักษาเบื้องต้นได้สอบถามอาการต่างๆ และยังสอบถามกับคุณใหญ่ว่าประสงค์จะนอนพักที่โรงพยาบาล  หรือจะเพียงฉีดยาแล้วเอายากลับไปรับประทานที่บ้าน และตรวจสอบสิทธิการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปด้วย  ซึ่งคุณใหญ่ก็แจ้งข้อมูลว่า ได้ทำประกันไว้กับ บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งพร้อมกับแสดงบัตรของบริษัทประกันภัยดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลก็ทำการรับตัวเข้าเป็นผู้ป่วยในทันที“เจ้าหน้าที่พาดิฉันไปเปลี่ยนเสื้อผ้า  เจาะเลือด  ฉีดยา  ให้น้ำเกลือ  และนำสารเคมีอะไรบางอย่างมาให้ ดิฉันดมจนหมดสติไป     ฟื้นขึ้นมาอีกทีก็ทราบว่านอนอยู่ในห้องผู้ป่วยฉุกเฉิน( ห้อง ไอ ซี ยู ) เสียแล้ว”จากการสอบถามแพทย์ว่าเพราะเหตุใดท้องเสียต้องเข้ารักษาในห้องไอ ซี ยู   แพทย์ตอบว่าความดันต่ำต้องดูแลใกล้ชิด   คุณใหญ่ได้โต้แย้งว่าความดันต่ำเป็นโรคประจำตัวและเป็นปกติอยู่แล้ว  ไม่มีปัญหาอะไร  และขอออกจากห้อง ไอ ซี ยู   แต่แพทย์ไม่ยอมให้ออกท่าเดียวโดยอ้างเรื่องความดันต่ำ เป็นเหตุให้คุณใหญ่ต้องอยู่ในห้อง ไอ ซี ยู  เป็นเวลาถึง  3 วัน                             .ในระหว่างอยู่ในห้อง ไอ ซี ยู  มีการตรวจรักษามากมายหลายรายการ เช่น มีการให้เลือด การเอ็กซ์เรย์ปอด  มีการตรวจช่องท้องโดยอัลตร้าซาวด์  มีการตรวจมะเร็งที่สำไส้ และที่รังไข่  และอื่น ๆ อีกมาก  ทั้ง ๆ ที่ คุณใหญ่เองได้แจ้งต่อแพทย์ ผู้ตรวจตลอดเวลาว่าตนเองไม่ได้เป็นอะไรมาก และได้ตรวจร่างกายครั้งใหญ่เมื่อเดือนที่ผ่านมา  ผลการตรวจร่างกายก็ไม่มีสิ่งใดผิดปกติเลย  แต่แพทย์ก็ยังฝืนตรวจร่างกายอย่างบ้าคลั่ง เกินความจำเป็น  และไม่เกี่ยวกับโรคที่มาเข้ารับการรักษา   เป็นเหตุให้ค่ารักษาพยาบาลสูงมากถึง  139,553 บาท  หักประกันจำนวน  16,400 บาท  แล้วคง เหลือที่จะเรียกเก็บเป็นเงินจำนวน  122,573 บาท  คุณใหญ่เห็นว่าค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวเป็นค่ารักษาที่เกินความจริง เกินความจำเป็น  จึงไม่ชำระเงิน และออกจากโรงพยาบาลมาโดยยังไม่ได้ชำระเงินแต่อย่างใด ผ่านมาเกือบ 2  ปี คุณใหญ่ได้รับหมายศาล เพราะโรงพยาบาลฟ้องเรียกค่าเสียหาย  จึงได้เข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ  ซึ่งมูลนิธิได้ให้การช่วยเหลือและจัดให้ทนายความอาสาของมูลนิธิให้การแก้ต่างในคดีนี้ แนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวหากผู้บริโภคเห็นว่าค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น ไม่สมเหตุสมผล แพงเกินจริง หรือมีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลเกินความจำเป็นกว่าโรค (เจ็บเกินโรค) สามารถดำเนินการได้ดังต่อไปนี้ ยอมรับสภาพหนี้ที่เกิดขึ้นกับทางสถานพยาบาล แต่ต้อง “ทักท้วง” ในส่วนที่เป็นความผิดปกตินั้นเพื่อให้ทางสถานพยาบาลแสดงถึง ข้อเท็จจริง เอกสารใบเสร็จ กระบวนการขั้นตอนการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น ว่ามีความจำเป็น และ เหมาะสมจริงหรือไม่ หากสถานพยาบาลไม่สามารถแสดงข้อมูลได้ ผู้บริโภคควรสงวนสิทธิที่จะจ่ายค่าบริการที่เรียกเก็บ ในกรณีที่สถานพยาบาล แสดงเอกสารข้อมูลมาแล้ว แต่ผู้บริโภคเห็นว่า ไม่สามารถรับได้ ก็สามารถสงวนสิทธิที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้เช่นกัน ในกรณีที่สถานพยาบาล จะใช้วิธีการกักขัง-หน่วงเหนี่ยว** ตัวผู้บริโภคไว้ ไม่ให้ออกจากสถานพยาบาล โดยอ้างว่าจะปล่อยตัวเมื่อชำระค่าใช้จ่ายหมดสิ้นก่อน ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิดำเนินคดีอาญากับทางสถานพยาบาลนั้นๆ ได้ เพราะมีความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 310 โปรดจงจำไว้ว่า ค่ารักษาพยาบาล เป็นคดีความทางแพ่ง หากผู้บริโภคไม่มีเงินจ่าย ไม่ต้องกลัวว่าจะติดคุก** กักขัง-หน่วงเหนี่ยว  คือ ผู้ใด หน่วงเหนี่ยว หรือ กักขัง ผู้อื่น หรือกระทำการด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับถ้าการกระทำความผิด ตามวรรคแรกเป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยว  ถูกกักขัง หรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้น ถึงแก่ความตาย หรือได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำ ต้องระวางโทษดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 290 มาตรา 297 หรือ มาตรา 298 นั้น //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกรกฎาคม 2557 เด็กไทย...เหยื่อโฆษณาอาหาร มีเดียมอนิเตอร์ร่วมกับแผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ได้ศึกษาการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มในรายการสำหรับเด็ก ทางฟรีทีวี 4 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3 5 7 และ 9 ช่วงปิดเทอมใหญ่ ระหว่างวันที่ 24 มี.ค. ถึง 4 เม.ย. 2557 พบว่า ร้อยละ 94 ของอาหารและเครื่องดื่มที่โฆษณาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่เหมาะสม ส่วนใหญ่เป็นเครื่องดื่ม นม และขนมขบเคี้ยว ซึ่งโฆษณาที่เป็นปัญหามักใช้กลยุทธ์ต่างๆ ดึงดูดความสนใจของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พรีเซนเตอร์ที่เป็นดาราดัง ใช้การ์ตูน ทำให้อาหารมีขนาดใหญ่เกินความเป็นจริง กระตุ้นให้กินเกินความจำเป็น บ้างก็อ้างถึงขนาดว่ากินแทนอาหารมื้อหลักได้ ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายควบคุมการโฆษณาไม่ครอบคลุมการโฆษณาที่มีรูปแบบและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก อย., กสทช. และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งออกข้อกำหนดในการควบคุมโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่เหมาะสม เพราะขณะนี้พบว่ามีเด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่มีภาวะโภชนาการไม่เหมาะสมกับวัย เกิดภาวะอ้วน ขาดสารอาหาร และรุนแรงถึงขั้นเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังอย่าง เบาหวาน หัวใจ ไต ความดัน   ใช้ “ทิชชู” ซับน้ำมัน เสี่ยงอันตราย!!! จริงหรือ ใครที่ชอบใช้กระดาษทิชชูซับน้ำมันจากอาหาร ต้องระวังให้ดี เพราะกรมอนามัยได้ออกมาเตือนว่า ในกระดาษทิชชูมีสารโซเดียมไฮดรอกไซด์ซึ่งทำปฏิกิริยากับโปรตีนและไขมัน ทำให้มีฤทธิ์กัดกร่อน หากหายใจเข้าไปจะทำให้ระคายเคืองทางเดินหายใจ หากสัมผัสถูกผิวหนังจะระคายเคืองรุนแรง นอกจากนี้ยังมีสารก่อมะเร็ง หากกินเข้าไปก็อาจเป็นอันตรายกับกระเพาะอาหาร กระบวนการผลิตกระดาษทิชชู นิยมใช้กระดาษมาหมุนเวียนใหม่เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น นำกระดาษ A4 ที่ใช้แล้วมาผลิตกระดาษทิชชู ซึ่งการตีวัตถุดิบให้เป็นเนื้อเยื่อต้องใช้สารโซเดียมไฮดรอกไซด์ หรือ โซดาไฟ และเพื่อความขาวน่าใช้ จึงมีการใช้สารคลอรีนฟอกขาว ซึ่งมีสารไดออกซินเป็นส่วนประกอบ การใช้ทิชชูซับน้ำมันจากอาหาร กระดาษจะสัมผัสกับอาหารโดยตรง จึงควรเลือกใช้กระดาษที่ผลิตมาเพื่อใช้กับอาหารโดยเฉพาะ และต้องผ่านการรับรองตามมาตรฐานระดับสากล เช่น HACCP ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตที่มีมาตรการป้องกันอันตรายที่ผู้บริโภคอาจได้รับจากการบริโภคอาหาร แต่หลังจากที่มีข่าวดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ก็ได้มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ได้ออกมาโต้แย้งในข้อมูลดังกล่าว ว่า กระดาษ อนามัยหรือกระดาษทิชชูนั้น ไม่ได้มีความน่ากลัวตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด และแทบจะไม่มีโซดาไฟ และสารไดออกซินอยู่เลย ดร.ภูวดี ตู้จินดา อธิบายผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว ว่า สารพิษที่เป็นข่าวอยู่นั้น ไม่ว่าจะเป็นไดออกซินหรือโซเดียมไฮดร็อกไซด์ ไม่ได้เกิดขึ้น ใน "กระบวนการผลิตกระดาษ" แต่ถูกใช้ใน "กระบวนการฟอกเยื่อ" ดังนั้นการจะมีโซดาไฟปริมาณมากพอ ที่ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพปนเปื้อนอยู่ในเยื่อกระดาษธรรมดาๆ นั้นว่าน้อยแล้ว สำหรับกระดาษทิชชูนั้นยิ่งน้อยกว่า อีกทั้งโรงงานฟอกเยื่อเกือบทั้งหมดในประเทศไทยใช้สาร "คลอรีนไดออกไซด์" ซึ่งอาจทำให้เกิดสารพิษที่เรียกสั้นๆ ว่า AOX แต่ไม่เกิด "ไดออกซิน" เมื่อ "เยื่อกระดาษ" ไม่มีโซดาไฟ และ(แทบ)ไม่มีไดออกซิน กระดาษทิชชูจึงแทบไม่มีไดออกซินด้วย   ปรากฏการณ์ “คุกกี้ รัน” ดูดเงินแสน ถือเป็นเรื่องระดับ Talk of the Town เมื่อจู่ๆ มีผู้บริโภคนับ 10 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กๆ และผู้ปกครอง พร้อมใจกันออกมาโวยว่าตัวเองถูกเรียกเก็บค่าบริการโทรศัพท์แพงจนน่าตกใจ บางรายถูกเรียกเก็บหลักแสนบาท ซึ่งเมื่อตรวจสอบดูก็พบว่าเป็นผลมาจากการเล่นเกมชื่อดังบนมือถือ อย่าง “คุกกี้ รัน” ซึ่งเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกเรียกเก็บเกิดจากการซื้อของต่างๆ ที่อยู่ในเกม เด็กที่เล่นเกมไม่รู้ว่าเมื่อกดซื้อแล้วจะต้องเสียเงิน ทำให้ถูกเรียกเก็นเงินเป็นจำนวนมากรวมไปกับค่าบริการปกติ การแก้ปัญหา ทาง สคบ.ได้เชิญผู้เสียหายมาเจรจากับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ เพื่อร่วมกันเพื่อหาทางออก แม้เบื้องต้นทางผู้ให้บริการจะยอมยกเลิกการเรียกเก็บเงิน เพราะเห็นว่าเป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ใช้โทรศัพท์ แต่ดูแล้วมีโอกาสที่ปัญหาในลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นซ้ำ ทาง สคบ.จึงร่วมกับ กสทช. เตรียมปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นธุรกิจควบคุมสัญญาโดยเพิ่มข้อกำหนดของสัญญาการให้บริการให้ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือถูกเรียกเก็บค่าใช้บริการเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งจะมีการจัดการปัญหาข้อความเอสเอ็มเอส ต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการดูดวง ทายหวย หรือการโฆษณาต่างๆ ที่ส่งมาให้ผู้บริโภคโดยใช้กลยุทธ์บริการฟรี 7 วัน พอถึงวันที่ 8 ก็ต่ออายุอัตโนมัติและคิดเงินทันทีโดยที่ผู้ใช้มือถือไม่รู้ ซึ่งตามกฏหมาย สคบ.ก็มีการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องของโฆษณาที่สร้างความรำคาญ มีโทษจำคุก ไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ   สคบ. เตรียมตั้ง “ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ” สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมจัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นการปรับโครงสร้างการทำงานของ สคบ.ครั้งใหญ่ เพราะจะเป็นการรวบรวมงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของ 10 กระทรวงและ 20 กรม เข้ามารวมกันเพื่อแก้ไขปัญหาให้รวดเร็วมากขึ้น ตั้งกองทุนเยียวยาผู้บริโภค คอยทำหน้าที่จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้ผู้บริโภคในช่วงที่คดีกำลังอยู่ในขั้นตอนการฟ้องร้อง โดยศูนย์ดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งตามแผนแม่บทการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งจากการที่ สคบ. ได้ประชุมร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบให้แก้ไขกฎหมายของ สคบ.ฉบับเดิมให้ครอบคลุมกับแผนดังกล่าว คาดว่าศูนย์นี้จะดำเนินงานได้ภายใน 3 - 6 เดือน โดยจะให้นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกที่นายกฯ มอบหมายมาเป็นประธานศูนย์ฯ หน้าที่ของหลักศูนย์ฯ จะรวบรวมงานที่ซ้ำซ้อนของแต่ละหน่วยงาน ที่มีข้อกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค มาเร่งแก้ไขในจุดเดียวลดขั้นตอนการดำเนินงานที่ล่าช้า พร้อมทั้งมีหน่วยงาน สคบ.ระดับภูมิภาครับเรื่องร้องเรียน และไกล่เกลี่ยให้จบภายในระดับภูมิภาค รวมถึงสร้างองค์ความรู้ และสร้างเครือข่ายระดับท้องถิ่น โดยเชื่อว่าหากมีศูนย์ดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าใจ เข้าถึง สคบ.มากขึ้น ปริมาณเรื่องร้องเรียนที่มีเข้ามาก็น่าจะเพิ่มขึ้นจากปีละแค่ 8,000-10,000 เรื่อง เป็น 100,000 เรื่อง   8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ร้อง คสช.- ดีเอสไอ เอาผิดบอร์ดและ ผอ.องค์การเภสัช 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ประกอบด้วย ชมรมแพทย์ชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, กลุ่มคนรักหลักประกัน, เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา และมูลนิธิเภสัชชนบท ได้ยื่นหนังสือต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสำนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ เพื่อให้พิจารณาปลดและตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ชุดที่มี นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เป็นประธาน และนายแพทย์สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม มีพฤติกรรมส่อทุจริต และทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐเป็นคดีพิเศษ โดยมี 2 ประเด็นที่ให้ดีเอสไอพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ คือ ปัญหาการก่อสร้างโรงงานผลิตยาที่รังสิต ขององค์การเภสัชกรรมที่ ผอ. และบอร์ดยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้าง และมีการเอื้อแก่บริษัทที่เคยทิ้งงานและไม่ขึ้นบัญชีดำบริษัทที่ทิ้งงาน ทั้งที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเคยได้ทักท้วงมา นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งประเด็น คือเรื่องการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งหลังจากบอร์ดปลด นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ องค์การเภสัชกรรมในขณะนั้นไปแล้ว กลับไม่มีการเร่งรัดเพื่อให้การก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็วตรงกันข้ามกลับมีการดำเนินการล่าช้า ที่สำคัญขณะนี้โรงพยาบาลในต่างจังหวัดจำนวนมากเผชิญภาวะยาขาด สาเหตุจากการที่ ผอ.อภ. และบอร์ด อภ. แก้ไขปัญหาภาวะขาดทุนด้วยการสั่งงดผลิตยาจำเป็น เช่น ยาเบาหวาน ซึ่ง อภ. เป็นผู้ผลิตส่งให้โรงพยาบาลต่างๆ ของรัฐราว 80% ของที่ใช้กับคนไข้ในประเทศ นอกจากนี้ อภ. ยังขาดส่งยาไปยังกองทุนยาต้านไวรัสกว่า 400 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่า หากไม่มีการแก้ปัญหาวัตถุดิบยา ต่อไปคนไข้อาจขาดยา นอกจากนี้ นพ.สุวัช ยังเสนอตัดงบเรื่องการทำงานวิจัย 45 ล้าน เพื่อแก้ปัญหาขาดทุน ถือเป็นการแก้ปัญหาโดยไม่คำนึงถึงอนาคตของ อภ.ที่ต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 กระแสต่างแดน

ร้านหนังสือต้องได้ไปต่อ สถานการณ์ร้านหนังสือในเกาหลีใต้ที่สถิติการอ่านของประชากรเมื่อปีกลายอยู่ที่ 9.2 เล่มต่อปี ก็อาจย่ำแย่ไม่แพ้บ้านเรา สรุปความได้ว่าร้านเล็กอยู่ยาก ร้านใหญ่อยู่ไม่ง่าย มีแต่ร้านออนไลน์เท่านั้นที่ยังทำกำไรต่อเนื่อง ตามกฎหมายของเกาหลีซึ่งให้ความคุ้มครองผู้ผลิตหนังสือเป็นอย่างดีเสมอมา ร้านจะลดราคาหนังสือใหม่ได้ไม่เกินร้อยละ 10 แต่สำหรับหนังสือที่พิมพ์ออกมาเกิน 18 เดือนไปแล้ว ร้านสามารถลดราคาได้ตามความพอใจ ร้านออนไลน์ย่อมเสนอส่วนลดให้กับผู้ซื้อได้มากกว่า ผู้คนจึงมักมาเปิดดูเล่มจริงที่ร้านแต่กลับบ้านมือเปล่าไปสั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์อีกที และบางครั้งก็เป็นร้านจากต่างประเทศด้วย สถานการณ์ตอนนี้น่าเป็นห่วง เพราะจากปี 2003 ถึง 2013 นั้นมีร้านหนังสือปิดตัวไปถึง 1 ใน 3 และในเมืองเล็กๆ บางแห่งไม่มีร้านหนังสือเลย และมีอีกไม่น้อยที่ทั้งเมืองมีร้านหนังสือเพียงหนึ่งร้าน ทั้งนี้เพราะต้องแข่งขัน(อย่างเสียเปรียบ) กับร้านหนังสือออนไลน์และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ นี่ยังไม่นับว่าคนเกาหลีอ่านหนังสือน้อยลงและการใช้จ่ายเพื่อการอ่านก็น้อยลงด้วย เพื่อเป็นการคุ้มครองธุรกิจร้านหนังสือในประเทศ ซึ่งไม่ได้เป็นแค่ร้านขายหนังสือแต่เป็นศูนย์กลางชุมชนที่ผู้คนในท้องถิ่นได้ใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์ ให้สามารถดำรงอยู่ต่อไป กฎหมายที่จะบังคับใช้ในปลายปีนี้จึงห้ามการลดราคาหนังสือเกิน 15 เปอร์เซ็นต์ และห้ามไม่ให้ร้านออนไลน์ยกเว้นการคิดค่าบริการส่งหนังสือ   ด้านร้านหนังสือก็ปรับตัวกันขนานใหญ่ นอกจากขายหนังสือแล้วก็ยังต้องขายกาแฟ เปิดแกลอรี่โชว์/ขายงานศิลปะ รวมไปถึงมีสนามเด็กเล่นไว้บริการด้วย   ขึ้นหรือลงดี? มาลุ้นกันว่าชาวเมืองปักกิ่งจะต้องควักกระเป๋าจ่ายค่ารถเมล์ รถไฟสาธารณะมากขึ้นกี่หยวน คงจำกันได้ว่าปักกิ่งเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกในปี 2008 ตอนนั้นรัฐบาลจีนประกาศลดราคาบัตรโดยสารรถสาธารณะประเภทต่างๆ เพื่อให้ผู้คนเปลี่ยนจากการใช้รถส่วนมาโดยสารรถสาธารณะ การจราจรบนท้องถนนจะได้คล่องตัวขึ้นในช่วงดังกล่าว แต่จนถึงวันนี้ราคายังคงไม่ได้ปรับขึ้น ผู้ประกอบการรถสาธารณะจึงออกมาเรียกร้องให้รัฐปรับเพิ่มค่าบริการให้สอดคล้องกับต้นทุน ... แต่เดี๋ยวก่อน เงื่อนไขเขาไม่ธรรมดา ข้อเสนอคือขอให้ค่าตั๋วโดยสารรถเมล์เป็นเพียง 1 ใน 3 ของค่าบัตรโดยสารรถไฟที่ปรับขึ้นเท่านั้น เช่น ถ้าค่าตั๋วรถไฟปรับขึ้นไปเป็น 6 หยวน (ประมาณ 30 บาท) ค่าตั๋วรถเมล์ก็ควรขึ้นเป็น 2 หยวนเท่านั้น เป็นต้น เหตุที่ต้องเสนออย่างนี้เพราะที่ผ่านมาคนเมืองปักกิ่งไม่ค่อยนิยมการเดินทางด้วยรถเมล์ พวกเขาเปลี่ยนไปขึ้นรถไฟใต้ดินเพราะมันทั้งถูกและเร็วกว่า แม้จะไปไหนมาไหนใกล้ๆ ก็ยังใช้บริการรถไฟใต้ดิน หวังว่าเขาจะเลือกลดราคาตั๋วรถเมล์ ไม่ใช่คงราคาตั๋วรถเมล์แล้วไปเพิ่มราคาตั๋วรถใต้ดินนะ   ห่วงสุขภาพ ช่วงนี้บรรดานักการเมืองรัสเซียฟิตจัด พากันเสนอกฎหมาย “เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน” ออกมาอย่างต่อเนื่อง เรียกทั้งเสียงโวยวายและเสียงสนับสนุนได้ไม่น้อย เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็ประกาศห้ามการขายชั้นในสตรีที่มีอัตราการระบายความชื้นต่ำกว่าร้อยละ 6 หมายความว่าตั้งแต่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาจะต้องไม่มีชั้นในที่ทำจากใยสังเคราะห์(เพราะระบายความชื้นได้ไม่เกินร้อยละ 3.6) วางขายตามห้างร้านในเขตรัสเซีย คาซักสถาน และเบลารุส เด็ดขาด เท่านั้นยังไม่พอ เขาเตรียมเสนอให้ห้ามขายร้องเท้าส้นแบนและรองเท้าส้นสูง เพราะมันทำให้เกิดความผิดปกติของเท้า ปัจจุบันกว่าร้อยละ 40% ของคนรัสเซียมีอาการดังกล่าว ส่วนรองเท้าผ้าใบสำหรับคุณผู้ชายก็มีลุ้นจะโดนแบนเช่นกัน รวมถึงในกองทัพด้วยเพราะเขาอ้างว่ารองเท้าผ้าใบทำให้ความพร้อมทางการทหารลดลง ล่าสุดข่าวว่ามีการเสนอให้ห้ามขายบุหรี่ให้กับสตรีที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีด้วย เพราะเกรงว่าเด็กรัสเซียรุ่นใหม่ที่จะเกิดมาจะสุขภาพไม่ดีเท่าที่ควร ก่อนหน้านี้ก็ออกกฎหมายห้ามไม่ให้บริษัทบุหรี่บริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศลต่างๆ เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่ “ไร้จริยธรรม” เม็ดบีดส์เจ้าปัญหา อิลินอยส์เป็นรัฐแรกของสหรัฐอเมริกาที่ประกาศห้ามการผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางที่มีเม็ดพลาสติกแบบที่เราเรียกกันว่า “ไมโครบีดส์” เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพราะมันเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม และขณะนี้กำลังมีการเสนอให้แบนผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทั้งประเทศภายในปี 2018 ไมโครบีดส์ ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 1 มิลลิเมตร สามารถหลุดรอดผ่านอุปกรณ์บำบัดน้ำเสียไปลงในแหล่งน้ำได้สบายๆ แค่นิวยอร์ครัฐเดียวก็มีการปล่อยเม็ดพลาสติกเหล่านี้ลงแหล่งน้ำถึง 19 ตันต่อปี ในเขตทะเลสาบน้ำจืดทั้ง 5 (The Great Lakes) เขาก็พบว่ามีเม็ดพลาสติกเล็กๆ พวกนี้อยู่ 466,000 เม็ดต่อตารางกิโลเมตร และมากกว่าร้อยละ 80 ของมันเป็นไมโครบีดส์ที่ใช้ในเครื่องสำอางนั่นเอง รายงานล่าสุดจากองค์กรสหประชาชาติระบุว่า ขณะนี้แหล่งน้ำในโลกของเราเต็มไปด้วยเศษพลาสติกเล็กๆ เหล่านี้ คิดเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศสัตว์น้ำไม่ต่ำกว่า 13,000 ล้านเหรียญ ทางด้านผู้ผลิตอย่างลอรีอัล และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ก็ตื่นตัวและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ด้วยการเปลี่ยนไปใช้วัสดุอื่นอย่างเกลือทะเล เป็นต้น   เครียดจนต้องขาด งานวิจัยพบว่าสถิติการขาดงานอันสืบเนื่องจากสาเหตุเรื่องความเครียดของชาวดัทช์ในปีนี้สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ Arboned สำนักวิจัยด้านสุขภาพและความปลอดภัยของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเก็บข้อมูลจากคนทำงาน 1.1 ล้านคน ระบุว่าจากปี 2009 เป็นต้นมานั้น มีคนขาดงานเพราะความเครียดเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า และที่สำคัญแค่ครึ่งแรกของปีนี้ก็มีการขาดงานไปแล้ว 4.6 ล้านวัน ร้อยละ 10 ของวันลางานเหล่านี้มีเหตุผลแนบท้ายว่าเพราะ “เครียด” เมื่อคำนวณดูแล้วพบว่านายจ้างจะมีค่าใช้จ่ายถึง 800 ล้านยูโรสำหรับการขาดงานเพราะสาเหตุนี้ โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการลางานมากที่สุดได้แก่ ธุรกิจด้านการศึกษา การแพทย์ ไอที และการเงินการธนาคาร ส่วนสาเหตุที่ทำให้เครียดเป็นอันดับต้นคือความวิตกเรื่องภาระการเงินและการหาสมดุลระหว่างงานกับชีวิตครอบครัว   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 ขยายเวลาบริการคลื่น 1800 ผลประโยชน์ตกเอกชน

การต่ออายุมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราว กรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ของ บริษัท ไวร์เลส คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (บริษัท ทรู มูฟ จำกัด)และ บริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด (GSM1800) รอบสองโดยคสช. ทำให้บริษัทได้ประโยชน์ ขณะที่ผู้บริโภคอาจเจอปัญหาคุณภาพบริการ แถมรัฐต้องควักเนื้อเพิ่มให้แก่ การสื่อสารแห่งประเทศไทย(CAT) ที่ขาดทุน ปัญหาสำคัญของเรื่องนี้ เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ที่ล่าช้าของกสทช. ทำให้ไม่สามารถประมูลคลื่น 1800 MHz ได้ทันภายในเวลาที่กำหนด จนต้องออกประกาศขยายเวลาให้บริการ 1 ปี แต่ดูท่าว่าจะไม่แล้วเสร็จอยู่ดี จึงทำให้ไม่สามารถประมูลคลื่นได้ทันอีกคำรบ มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 8,600 ล้านบาท(ต่อปี) มาจากรายได้ที่ บริษัททรูฯ เคยจ่ายให้กับ CAT ในปี 2554 โดยบริษัททรูฯ ได้รายงานการเงินของปี 2556 ว่า ขาดทุนและยังไม่มีการจ่ายเงินใด ๆ หลังออกประกาศขยายการให้บริการมาเกือบครบหนึ่งปีในวันที่ 15 กันยายนนี้ และหากคสช. ขยายไปอีก 1 ปีเป็นสองปีโดยไม่แก้ไขประกาศฉบับนี้ ย่อมทำให้เกิดความเสียหายไม่น้อยกว่า 17,200 ล้านบาท ยังไม่นับว่าหากนำคลื่นนี้ประมูลได้ทันย่อมได้ประโยชน์อีกมาก ลองคิดดู เงินก้อนใหญ่นี้สามารถซื้อรถเมล์แอร์ในกรุงเทพฯ แบบชานต่ำสำหรับทุกคนได้เลย รวมถึงขยายไปซื้อรถเมล์ทั่วประเทศได้มากถึง 3,500 คัน ยังไม่นับรวมความเสียหายที่ไม่อาจนับเป็นมูลค่าได้ คือ ในความคิดของกสทช.บางท่านที่ได้เสนอทางออกปัญหา กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณ โดยเขียนว่าประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องค่าตอบแทนของกสทช. รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ ว่า มาจากภาษีประชาชน ซึ่งจริง ๆ แล้ว เป็นการหักมาจากเก็บค่าธรรมเนียมของผู้ประกอบการ(ต่างหาก) ทว่าค่าธรรมเนียมย่อมเป็นรายได้ประเภทหนึ่งที่ควรเป็นของรัฐมิใช่หรือ เพียงแต่กฎหมายเขียนให้ กสทช.ได้ใช้เงินก้อนนี้  ซึ่งมันก็ไม่ต่างจากภาษีประเภทหนึ่ง และแน่นอนย่อมไม่ใช่เงินของผู้ประกอบการหรือผู้ถือหุ้นอย่างแน่นอน หรือหากคิดไปก็เป็นเงินของผู้บริโภคที่หยอดกระปุกจ่ายค่าโทรศัพท์กันนั่นเอง หรือกสทช.บางท่าน ช่วงชิงเสนอแก้ไขกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 เพื่อยกเลิกการประมูลคลื่น ทั้งๆ ที่การจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมด้วยการประมูลเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับระดับสากลว่า จะเป็นหลักประกันว่า คลื่นความถี่จะถูกจัดสรรไปอยู่ในมือของผู้ที่มีศักยภาพในการใช้ทรัพยากรของชาติดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะมากที่สุด ช่วยจำกัดการใช้ดุลพินิจในการจัดสรรคลื่นความถี่ ลดความเสี่ยงของการใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง งานนี้ ท่าทางคนเสนอยังฝันร้ายกลัวความผิดที่รอการเช็คบิลจากปปช. ของผู้ออกแบบการประมูล กรณีการประมูลคลื่น 3 G ที่เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า ไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันและเป็นปัญหาการฮั้วประมูลหรือเปล่า??   //

อ่านเพิ่มเติม >




ฉบับที่ 160 ครีมลดริ้วรอย ของใครนะเวิร์กสุด

อะไรเอ่ย ... มาช้าไม่ว่า ไม่มาเลยยิ่งดี? แต่ถ้ามันมาแล้วก็ถึงเวลาที่ ฉลาดซื้อ จะพาสมาชิกไปพิสูจน์ประสิทธิภาพครีมบำรุงผิวที่อ้างว่าสามารถลบเลือนลายเส้นที่แวะมาฝังตัวบนใบหน้าของเราได้ ว่ามันสามารถทำได้อย่างที่อ้างหรือไม่ และถ้าจะลงมือควักกระเป๋า เราควรเลือกยี่ห้อไหน … ครีมลดริ้วรอยในการทดสอบครั้งนี้เป็นครีมที่ติดอันดับขายดีในยุโรปและเอเชีย (ซึ่งมีฮ่องกง และเกาหลีใต้ส่งตัวอย่างเข้าร่วมทดสอบด้วย) ทั้งยี่ห้อที่ซื้อผ่านเคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านขายยาทั่วไป วิธีการทดสอบ ทดสอบโดยองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research& Testing) ครั้งนี้มีอาสาสมัครเข้าร่วมทดสอบทั้งหมด 995 คน ทั้งหมดเป็นผู้หญิงเชื้อสายคอเคเซียนที่อายุระหว่าง 31 – 70 ปี (อายุเฉลี่ยของอาสาสมัคร คือ 53 ปี) แต่ละผลิตภัณฑ์จะมีผู้ทดลองใช้ 30 – 31 คน หลังจากอาสาสมัครใช้ผลิตภัณฑ์วันละ 2 ครั้ง (เช้า-ค่ำ) เป็นเวลา 1 เดือน (ที่ไม่โดนแสงแดดเลย) ทีมวิจัยได้วัดความยาวและความลึกของริ้วรอย เพื่อเปรียบเทียบกับค่าก่อนการใช้ นอกจากนี้ยังตรวจวัดความชุ่มชื้นของผิวหนังด้วยวิธี corneometry สอบถามความพึงพอใจของอาสาสมัครที่ใช้ผลิตภัณฑ์ และการพิจารณาความถูกต้องของฉลากด้วย สัดส่วนการให้คะแนน (คะแนนเต็ม 100) ริ้วรอยลดลง       ร้อยละ 50 ผิวนุ่มชุ่มชื้น       ร้อยละ 25 ผู้ใช้พึงพอใจ*      ร้อยละ 15 ฉลากถูกต้อง**   ร้อยละ 10 *ลักษณะเนื้อครีม ความเหนียว ความมัน การซึมลงสู่ผิว กลิ่น **มีชื่อ/ที่อยู่ผู้ผลิต วันผลิต/วันหมดอายุ ปริมาตร ส่วนประกอบ ข้อควรระวัง ฯ จากการทดสอบครั้งนี้ เราพบว่ายังไม่มีครีมยี่ห้อไหนได้คะแนนในระดับ 5 ดาว ครีมที่ดีที่สุดในการทดสอบครั้งนี้คือ EUCERIN Hyaluron-filler ที่ได้คะแนนในระดับ 4 ดาว ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่ได้คะแนนในระดับ 3 ดาวเท่านั้น และที่น่าสนใจคือ มีผลิตภัณฑ์ที่ให้อาสาสมัครทดสอบ 2 ตัวที่เป็นครีมบำรุงผิวธรรมดาที่ไม่ได้อ้างสรรพคุณลดริ้วรอย แต่ได้คะแนนจากการทดสอบค่อนข้างดีคือ NIVEA Pure natural soin de jour hydratant* และ VICHY Aqualia thermal* ดีกว่าครีมราคาแพงอีกหลายยี่ห้อด้วย     //

อ่านเพิ่มเติม >