ฉบับที่ 172 ไปทัวร์ อย่าเสียที

เชื่อว่าผู้อ่านวารสารฉลาดซื้อหลายท่านคงมีโอกาสไปเที่ยวต่างประเทศกับทัวร์ต่างๆ กันมาแล้ว นอกจากสถานที่น่าสนใจตามโปรแกรมทัวร์แล้ว ยังมีสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่ทัวร์มักจะพาเราไปเยี่ยมชม(ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ขอร้องขอ หรือบางครั้งก็อาจจะร้องขอ คือร้องขอให้ตัดออกจากโปรแกรมไปเลย) สถานที่ที่ผมกำลังพูดถึงคือ ร้านขายผลิตภัณฑ์สุขภาพนั่นเอง เมื่อเราได้หลงตามเข้าไปแล้ว หลังเผชิญพิธีกรรมอันแยบยลสุดท้ายลูกทัวร์หลายคนก็กลายเป็นลูกเท คือมือไม้อ่อนเทเงินออกจากกระเป๋าเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์กันระนาว กว่าจะรู้ตัวสติกลับคืนร่าง ก็เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้วพบว่าเงินในกระเป๋ามันพร่องแถมผลิตภัณฑ์ที่ซื้อมา ซึ่งก็งั้นๆ หาได้มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยมสมดังคำโฆษณาไม่ ขอ ถือโอกาสนี้ “คืนสติให้คนทั้งชาติ” ไม่ให้เสียทรัพย์ช้ำทรวงโดยไม่จำเป็นดีกว่า1. เขาบอกว่า ร้านค้าสุดยอด : สถานที่แห่งนี้มักจะระบุในโปรแกรมทัวร์มาแล้ว โดยไกด์มักจะบอกว่าเป็นสถานที่บังคับของการท่องเที่ยวประเทศนั้นๆ และบางทีก็จะโน้มน้าวเพิ่มเติมให้ว่า สถานที่แห่งนี้รัฐบาลรับรองให้ด้วยนะ ไม่ใช่ร้านค้าแบกะดินกินพื้นที่ริมถนน ดังนั้นของที่มีจำหน่ายจะคุณภาพดีกว่าของริมถนน หรือในตลาด (คำว่าดีกว่าอาจหมายความว่าดีกว่าจริง แต่ไม่ได้หมายถึงมีคุณภาพสมดังคำโฆษณานะครับ)2. พนักงานฉอเลาะ พูดเพราะจับใจ : เมื่อเราโดนต้อนเข้าไปแบบต้อนหมู่แล้ว เราจะพบกับพนักงานขายใบหน้ายิ้มแย้ม ที่สำคัญคือส่วนใหญ่จะพูดภาษาไทยได้ มาทักทายกระจายรอยยิ้ม เชิญชวนให้เรารับฟังการแนะนำผลิตภัณฑ์ของเขา แถมบอกว่าไม่ซื้อไม่ว่าซะด้วย(ไม่ซื้อไม่ว่าน่ะทำจริง แต่จะมีพิธีกรรมอย่างอื่นให้เราระทวยดังต้องมนต์จนหลงซื้อในลำดับต่อไป)3. เทคนิคการขาย สลายสติ : ขั้นตอนนี้ จะเป็นพิธีกรรมสลายสติ สารพัดวิธีการที่พนักงานขายจะนำมาใช้กับเรา ตั้งแต่เอารูปหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์มาอธิบายแบบงูๆ ปลาๆ จับแพะชนแกะ บางทีก็เอาเครื่องมือสมัยใหม่มาประกอบด้วย เช่น ใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องข้อนิ้วดูเส้นเลือดฝอย แล้วโชว์ผ่านจอ ซักถามอาการและวินิจฉัยแบบทำนายว่า ถ้าเส้นเลือดเราเป็นแบบนี้จะมีความเสี่ยงโรคนั้นโรคนี้ขนาดไหน ซึ่งมักจะวินิจฉัยแบบหมูหมากาไก่ อย่างน้อยก็เฉียดกันบ้าง แถมบางครั้งพนักงานทำท่าห่วงใยจนแทบจะกรี๊ดตกอกตกใจแทนเราว่า แย่แล้ว สุขภาพเรากำลังจะแย่จงเร่งซื้อผลิตภัณฑ์เถิดจะเกิดผล เจอไม้นี้นักท่องเที่ยวบางคนก็เคลิ้มเชื่อไปเกือบทั้งตัวแล้ว 4. ไกด์เหลือทน เล่ห์กลผสมโรง : เคยไปบางทัวร์ที่ลูกทัวร์ล้วนมีสติ ไม่มีใครยอมควักสตางค์ซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพแม้พนักงานขายจะพูดจนปากเปียกปากแฉะแล้ว จนไกด์ถึงกับทนไม่ไหว กระโจนใส่ทันที อย่าคิดว่ามาช่วยเรียกสติเรานะ ส่วนใหญ่จะโน้มน้าวให้ซื้อด้วยซ้ำ(เพราะบางทีเขาจะได้เปอร์เซ็นต์หรือของกำนัลจากยอดขาย)5. อุปาทานหมู่ หรือจะสู้สติ : ลูกทัวร์ทั้งหลายพึงตั้งสติให้ดีนะครับ จากประสบการณ์ที่เคยเจอ กรณีที่ผู้ขายอ้างเครื่องหมายรับรองคุณภาพทั้งหลาย ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้งนั้น หมายความว่า “มันไม่ใช่ยารักษาโรคภัยไข้เจ็บ” คิดง่ายๆ ถ้าได้ผลจริงพลเมืองในประเทศนี้คงไม่เจ็บไม่ป่วย โรงพยาบาลคงเอาเข้าไปใช้เป็นยาในโรงพยาบาลกันแล้ว ... ยังไงตั้งสติให้ดีนะครับ ถ้าไม่ชัวร์ท่องไว้ในใจ “ไม่ควรเสี่ยงซื้อ” ไปทัวร์อย่าเสียทีนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 นางชฎา : จาก “ผีนางนาก” สู่ “ผีนางรำ”

ในบรรดาผีที่ออกอาละวาดผ่านโลกของสื่อมวลชนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้ชมละครโทรทัศน์ชาวไทย ชื่อแรกคงหนีไม่พ้น “ผีนางนาก” หรือบ้างก็เรียกว่า “แม่นาคพระโขนง” นั่นเอง    จับความตามท้องเรื่องของนางนากนั้น เป็นเรื่องเล่าตำนานกล่าวขานมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่ระบบการแพทย์และสาธารณสุขในสยามประเทศยังล้าหลังอยู่ เมื่อ “อ้ายมาก” ต้องถูกเกณฑ์ทหารไปร่วมสงคราม “นางนาก” ที่คลอดลูกตามวิถีแบบโบราณ ก็เกิดเสียชีวิตตายทั้งกลม    ด้วยความรักและผูกพันกับสามีนั้น นางนากจึงไม่ยอมไปผุดไปเกิด และกลายเป็นผีอุ้มลูกในตำนาน ที่คอยปรนนิบัติพัดวีตำน้ำพริกดูแลอ้ายมากอยู่หลายเพลา กว่าที่เธอจะถูกสมเด็จพระพุฒาจารย์มาปลดปล่อยวิญญาณ และเรื่องจบลงในท้ายที่สุด    นับกว่าศตวรรษผ่านไป เมื่อระบบสาธารณสุขไทยก้าวหน้าขึ้น และสูตินารีเวชศาสตร์กลายเป็นองค์ความรู้ที่เข้ามาจัดการดูแลความปลอดภัยให้กับสตรีมีครรภ์ หลายคนอาจจะตั้งข้อสงสัยว่า แล้วตำนานความเชื่อแนวผีสาวเฝ้ารอความรักแบบนางนากนั้น จะสูญหายกลายกลืนไปกับกระแสธารแห่งอารยธรรมสมัยใหม่ด้วยหรือไม่?    คำตอบก็คือ ผีนางนากอุ้มลูกที่อยู่ท่าน้ำริมคลองอาจจะไม่ได้หายไปหรอก หากทว่าเปลี่ยนรูปจำแลงร่างให้ดูเป็นผีสาวที่เข้ากับยุคสมัยใหม่มากขึ้น ไม่ต่างจากตัวละครผีนางรำสวมชฎาอย่าง “ริลณี” ที่รอคอยการกลับมาของหนุ่มหล่อคนรักในวัยเรียนอย่าง “เตชิน”         ถ้าหากผีนางนากต้องพลัดพรากจากสามีเพราะระบบการจัดการสุขภาพที่ล้าหลังและไม่ปลอดภัย แล้วเหตุอันใดที่ทำให้ผีริลณีจึงมีอันต้องพลัดพรากจากเตชินชายคนรักของเธอ?     ในสังคมสมัยใหม่นั้น แม้วิถีการผลิตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของพลเมืองจะก้าวหน้าไปเพียงไร แต่อีกด้านที่ล้าหลังของสังคมดังกล่าวก็คือ การธำรงอยู่ของความขัดแย้งระหว่างชนชั้นที่ยังคงคุกรุ่นและทับทวีความรุนแรงให้เห็นเข้มข้นยิ่งขึ้น     นี่เองที่เป็นเหตุผลหลักที่รักระหว่างริลณีกับเตชินมิอาจลงเอยแฮปปี้เอนดิ้งไปได้ เพราะเธอเป็นเด็กสาวที่เติบโตมาในสถานกำพร้า และต้องรับจ้างเป็นนางรำ “เต้นกินรำกิน” เพื่อเลี้ยงชีพ และเพราะเขาคือนักศึกษารุ่นพี่ที่เติบโตมาในครอบครัวผู้มีอันจะกิน และมีอนาคตอาชีพการงานที่ก้าวไกล ความสมหวังในความรักของทั้งคู่จึงเป็นไปไม่ได้เลย     แบบที่ “จิตรา” ผู้เป็นมารดาของเตชิน เคยกล่าวปรามาสถากถางริลณีที่กำลังคบหาดูใจกับบุตรชายว่า “ฉันจะไม่ยอมให้ผู้หญิงชั้นต่ำไม่มีหัวนอนปลายเท้าอย่างเธอเข้ามาเกี่ยวดองกับคนในตระกูลอย่างแน่นอน”     และบทเรียนที่จิตราสั่งสอนให้กับริลณีในระลอกแรกก็คือ ทั้งการข่มขู่คุกคาม การพยายามใช้เงินซื้อ การส่งคนไปเพื่อหวังจะทำร้าย ไปจนถึงการว่าจ้างคนร้ายให้ไปเผาสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ริลณีกับเพื่อนๆ เติบโตมา     ส่วนในระลอกถัดมา ริลณีก็ถูกทดสอบบทเรียนจากบรรดาเพื่อนๆ ในสถาบันการศึกษา ซึ่งในขณะที่เธอเป็นกำพร้าและไม่มีทุนอันใดติดตัวมาแต่กำเนิดเลย แต่เพื่อนรอบข้างกลับเป็นผู้ที่ทั้งมีและเพียบพร้อมไปในทุกด้าน     ไม่ว่าจะเป็น “ปริมลดา” ที่รูปร่างหน้าตาสวยกว่า “เอกราช” ที่มีฐานะมั่งคั่ง “ตุลเทพ” ที่มีความสามารถและชื่อเสียง “ประวิทย์” ที่เรียนหนังสือเก่ง “เชิงชาย” ที่เป็นคนเจ้าเสน่ห์ “หงส์หยก” ที่เป็นลูกสาวพ่อค้าผู้มั่งมี และรวมไปถึงเพื่อนรักที่เป็นนางรำคู่ของริลณีอย่าง “ชมพู” ที่เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานานุรูป จึงถูกญาติผู้ใหญ่จับให้เป็นคู่หมั้นหมายกับเตชิน    เพราะปมขัดแย้งระหว่างชนชั้นที่หยั่งรากลึกเกินกว่าความสัมพันธ์เชิงมิตรภาพใดๆ ริลณีจึงถูกเลือกปฏิบัติจากบรรดาเพื่อนๆ ที่หล่อสวยรวยทรัพย์กว่าเหล่านี้ ตั้งแต่ได้รับการดูถูกเหยียดหยาม การใส่ร้ายป้ายสี การกระทำทารุณทางกายและใจ การถูกคุกคามทางเพศ ไปจนถึงการที่ผองเพื่อนร่วมสมคบกันวางแผนที่จะข่มขืนเธอ จนนำมาซึ่งความตายและการพลัดพรากจากชายคนรัก    และเพราะ “อำนาจ” ในสมรภูมิขัดแย้งระหว่างชนชั้นนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เข้าใครออกใคร ริลณีจึงเรียนรู้ว่าถ้าเธอไม่รู้จักที่จะใช้อำนาจ ในที่สุดเธอก็จะถูกใช้อำนาจจากคนที่สูงสถานะกว่า    ดังนั้น แม้เมื่อตอนมีชีวิต ริลณีจะถูกกระทำโดยที่เธอเองไม่มีทางต่อกร แต่หลังจากสิ้นสังขารกลายเป็นผีไปแล้ว ริลณีก็ใช้อำนาจเหนือธรรมชาติมาล้างแค้นและจัดการกับผองเพื่อนไปทีละราย เพื่อให้ตัวละครเหล่านั้นได้เรียนรู้ว่า หากต้องมาตกอยู่ในสถานะที่ถูกกระทำอย่างเธอบ้างแล้ว เขาและเธอจะมีความรู้สึกเช่นไร ไม่เว้นแม้แต่จิตราผู้เป็นมารดาของเตชิน ริลณีก็ใช้อำนาจของผีหลอกจนจิตราหวาดกลัวแทบไม่เป็นผู้เป็นคน    เมื่อเทียบกับผีนางนากที่แก้แค้นกับทุกคนที่เข้ามาขัดขวางเป็นอุปสรรคความรักของอ้ายมากกับเธอ ผีสาวริลณีก็ใช้วิธีจัดการกับตัวละครทุกคนที่ไม่เพียงขัดขวางความรักเท่านั้น แต่ยังล้างแค้นกลุ่มคนที่มีสถานะทางชนชั้นเหนือกว่า แต่กลับพรากเอาชีวิตของเธอไปอย่างไม่ยุติธรรม     ในทางหนึ่ง ละครเรื่อง “นางชฎา” ได้มอบอุทาหรณ์ว่า ใครทำกรรมใดไว้ก็ต้องได้รับผลกรรมนั้นตอบแทน หรือการอโหสิกรรมและการไม่ยึดติดต่อกรรมใดๆ จะช่วยปลดปล่อยให้เราหลุดพ้นและเป็นสุขในสัมปรายภพ     แต่ในอีกทางหนึ่ง ตราบใดที่ความขัดแย้งทางชนชั้นยังคงดำรงอยู่ ข้อคิดที่พระอาจารย์คงได้เทศน์สอนใจตัวละครทั้งหลาย ก็ยังคงถูกต้องเสมอว่า “ถึงเราจะคิดว่าผีร้าย แต่ก็อาจไม่ร้ายเท่ากับคน” ตราบเท่าที่คนเหล่านั้นยังมีรักโลภโกรธหลงและเดียดฉันท์กันข้ามชั้นชนระหว่างคนด้วยกันเอง                                 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 หนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ไม่มีข้อความว่าจะบอกเลิกสัญญา ถือว่าบอกเลิกสัญญาหรือไม่

ตามสัญญาเช่าซื้อนั้น แม้ว่าคู่สัญญาจะกำหนดวันชำระค่าเช่าซื้อไว้เป็นที่แน่นอนแล้ว  หลังจากนั้นผู้เช่าซื้อชำระเงินค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดนัดและผู้ให้เช่าซื้อก็รับชำระเงินค่าเช่าซื้อนั้นไว้โดยไม่ทักท้วง ย่อมแสดงว่าในทางปฏิบัติ คู่สัญญามิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญต่อไป ต่อมาหากผู้ให้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อให้ตรงตามกำหนดก่อนแล้ว หากภายหลังผู้เช่าซื้อยังคงชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบตามกำหนด ผู้ให้เช่าซื้อจึงจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 บัญญัติว่า  ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ และถ้าฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ อีกฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ “ ดังนั้น หากผู้ให้เช่าซื้อไม่บอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อชำระเงินค่าเช่าซื้อภายในกำหนดเวลาแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อจะเลิกสัญญาและยึดทรัพย์คันที่เช่าซื้อคืนไม่ได้ กรณีตามหัวข้อบทความนี้มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8238/2556 วินิจฉัยว่า เมื่อตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ข้อ 12 วรรคสอง ระบุไว้ชัดเจนว่า “การชำระค่าเช่าซื้อตรงตามกำหนดเวลาเป็นสาระสำคัญของสัญญานี้” แล้วโจทก์ไม่อาจแปลข้อความนี้ให้เป็นอย่างอื่น ดังเช่นฎีกาของโจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดเวลาของการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญนั้นชอบแล้ว ดังนั้นแม้ในภายหลังจะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จะไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนดเวลา ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด หากโจทก์จะบอกเลิกสัญญาโจทก์จะต้องบอกกล่าวโดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 นำค่าเช่าซื้อมาชำระภายในกำหนดระยะเวลาพอสมควร ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนด โจทก์จึงจะบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 หนังสือที่โจทก์ส่งให้จำเลยทั้งสองมิได้มีข้อความว่า โจทก์จะบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1  คงมีข้อความเพียงว่าโจทก์ทวงถามและกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายใน 7 วัน หรือให้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ พร้อมกับมีบทบังคับว่าหากไม่ปฏิบัติตามจะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 อย่างเด็ดขาดเท่านั้น จึงถือได้ว่าเป็นหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้โดยชอบตามมาตรา 387 แล้ว เมื่อคำนึงถึงระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อถึง 51 เดือน แม้โจทก์ให้เวลาชำระหนี้เพียง 7 วัน ก็เป็นระยะเวลาพอสมควร โจทก์จึงมีสิทธิเลิกสัญญาได้ ซึ่งการบอกเลิกสัญญาตามมาตรา 386 ให้ทำได้ ด้วยการแสดงเจตนาแก่อีกฝ่าย และการตีความการแสดงเจตนาตามมาตรา 171 ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาที่แท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร แม้ถ้อยคำที่โจทก์ระบุในหนังสือบอกเลิกสัญญาว่า หากไม่ชำระหนี้โจทก์จะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด ไม่มีข้อความว่าโจทก์จะบอกเลิกสัญญา แต่เมื่อพิจารณาจากเจตนาอันแท้จริงของโจทก์เห็นได้อย่างชัดเจนว่าโจทก์ต้องการบอกเลิกสัญญา จึงดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสอง ต้องถือว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยทั้งสองโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเมื่อโจทก์ไม่ถือเอากำหนดเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญแล้ว ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดเบี้ยปรับ รวมทั้งไม่มีเหตุที่จะติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน จึงไม่มีสิทธิคิดค่าใช้จ่ายดังกล่าว    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 ปลาริวกิว

หรือปลาหวาน คือปลาทะเลที่นำเนื้อมาแล่แล้วเชื่อมน้ำตาลตากแดดให้แห้ง  ปลาริวกิวของแท้ทำจากเนื้อปลาเรียวเซียว หรืออาจเรียกว่า ปลาลู่ทู่ (GIANT CATFISH) ซึ่งเป็นปลาในวงศ์ปลากดทะเลปลาหวานหรือปลาริวกิวนี้ เชื่อกันว่าเป็นของนำเข้ามาจากดินแดนที่เรียกว่า อาณาจักรริวกิว(ปัจจุบันคือจังหวัดโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น) ชาวริวกิวติดต่อค้าขายกับไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยหลักฐานเก่าแก่สุดของริวกิวเองระบุว่า พวกเขามาทำการค้าที่สยามในปี ค.ศ. 1419 ส่วนสินค้าเอ็กซพอร์ตสำคัญของไทยที่ไปเติบโตและยาวต่อมาถึงปัจจุบันในจังหวัดโอกินาวาหรืออดีตอาณาจักรริวกิว ก็คือ ข้าวไทย ที่ใช้สำหรับการทำเหล้า “อาวาโมริ” (Awamori) เหล้าชั้นดี ราคาแพง ของดังประจำถิ่นโอกินาวานั่นเองปลาริวกิวแท้แผ่นจะหนา เมื่อทอดแล้วเนื้อจะฟูร่วน ไม่คาว กินกับข้าวต้มอร่อยมาก ถ้าเลือกซื้อต้องดูลักษณะแผ่นปลาที่ขรุขระไม่เป็นแผ่นเรียบ  แผ่นปลาค่อนข้างหนาและมีความโปร่งแสงน้อย มีความมันเยิ้มของน้ำตาล แต่เพราะปลาเรียวเซียวที่นำมาทำปลาริวกิว มันหายากขึ้นเรื่อยๆ  ปลาฉลามและปลากระเบน จึงรับเคราะห์แทน ซึ่งเนื้อปลาหวานพวกนี้แผ่นปลาจะมีผิวค่อนข้างเรียบ แผ่นบางและมีความโปร่งแสงมากกว่า ส่วนกลิ่นคาวแน่นอนว่าจัดมาเต็มๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 171 ผลทดสอบที่นอนสปริง

ผลทดสอบที่นอนสปริง             การนอนหลับที่มีคุณภาพนั้นต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความมืด ความเงียบ อุณหภูมิที่เหมาะสม และสำหรับบางคนก็รวมถึงคุณภาพของที่นอนด้วย  ฉลาดซื้อฉบับนี้มีผลทดสอบที่นอนที่ประเทศสมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ International Consumer Research & Testing ได้ทำไว้อย่างต่อเนื่องในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา แต่ด้วยความจำกัดด้านเนื้อที่เราจึงของนำเสนอเฉพาะที่นอนประเภทสปริงก่อน ส่วนผลทดสอบที่นอนยางพารานั้นเราจะนำเสนอโอกาสต่อไป ที่นอนสปริงมีข้อดีเรื่องการกระจายน้ำหนัก และโครงสร้างที่เป็นสปริงยังทำให้อากาศหมุนเวียนได้ จึงทำให้เราไม่รู้สึกร้อนเกินไป นอกจากนี้ยังมีให้เลือกหลายระดับตั้งแต่แบบนุ่ม ปานกลาง ไปจนถึงแข็ง แต่อาจมีข้อเสียตรงที่มันยากต่อการพลิกกลับด้าน เพราะน้ำหนักของมันค่อนข้างมาก การทดสอบครั้งนี้เป็นการให้คะแนนกับสมรรถนะ (การรองรับสรีระ การระบายความชื้น และการความคงตัว เป็นต้น) และความแข็งแรงทนทานของที่นอน ที่วัดได้จากความเปลี่ยนแปลงหลังการวางน้ำหนัก 140 กิโลกรัมลงบนที่นอน 30,000 ครั้ง (รวมถึงการวางบุหรี่ที่ติดไฟไว้บนที่นอนด้วย) ในกรณีของที่นอนเหล่านี้ ซึ่งคละขนาด (ทั้งเตียงเดี่ยว และเตียงคู่) เรายังไม่พบว่ามีรุ่นไหนได้คะแนนถึง 5 ดาว ส่วนใหญ่ก็ได้ไป 4 ดาว มีเพียง 5 รุ่นเท่านั้นที่ได้ไปเพียง 3 ดาว (Cumbrian Meadow ของ Sealy / Sensaform Airflow Memory 2000 ของ Sleepmasters / Holmsta ของ Ikea / Natural Pillowtop 1500 ของ Marks Spencer / Bronze Seal 2012 ของ Slumberland) ติดตามคะแนนในแต่ละด้านของที่นอนเหล่านี้ได้ในหน้าถัดไป  ---------------------------------------------------------------------------------------- -          อย่าตื่นเต้นกับจำนวนของสปริงที่ผู้ขายบอกคุณ ทีมงานทดสอบพบว่าจำนวนไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพของสปริงเหล่านั้น    -          บางคนเชื่อว่าการซื้อแผ่นรองราคาแพง (ซึ่งอาจราคาพอๆกับที่นอนใหม่!) มาปูทับบนที่นอนเก่าที่เริ่มเสื่อมสภาพจะช่วยแก้ไขการ “จม” ของที่นอนได้ แต่ความจริงคือแผ่นรองไหนๆ ก็เหมือนกัน จะถูกหรือแพงก็ไม่สามารถช่วยทำให้ที่นอนคืนสภาพได้ ----------------------------------------------------------------------------------------                        โดยทั่วไปที่นอนมีอายุการใช้งานได้ถึง 10 ปี (ไม่ว่าจะเป็นที่นอนสปริงหรือที่นอนยางพารา) ถ้าคุณดูแลรักษามันให้ดี  ถ้าเป็นไปได้ให้คุณถอดผ้าปูที่นอนออกให้ที่นอนได้ระบายความชื้นจากเหงื่อของเราประมาณ 20 นาที ในช่วง 3 เดือนหลังจากซื้อมาใหม่ ให้หมั่นกลับที่นอนทุกๆสัปดาห์ (หน้า/หลัง หัว/ท้าย) หลังจากนั้นทำทุกๆ 3 หรือ 4 เดือน อย่าลืมแกะพลาสติกที่หุ้มมาให้หมด (ไม่ต้องเก็บไว้กันฝุ่น) เพราะถ้าทิ้งไว้อาจทำให้ที่นอนชื้นและสกปรกได้ ----------------------------------------------------------------------------------------  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 171 ถึงเวลา ? ยุติการขยายตัวร้านสะดวกซื้อในชุมชน

พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 มีเจตนารมณ์ ป้องกันไม่ให้มีการผูกขาดการค้าโดยพ่อค้าคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กฎหมายได้วางหลักเกณฑ์ไว้อย่างมีระบบ และคำนึงถึงความเป็นธรรมในการควบคุมให้ผู้ประกอบการค้าด้วยกัน ไม่เอาเปรียบกันเอง หากไม่ควบคุมผู้ประกอบการค้าให้ดี ในที่สุดผู้บริโภคจะได้รับความเดือดร้อนมาก ถ้าเป็นการผูกขาดสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิต กฎหมายจึงต้องป้องกันไว้ก่อน มีโอกาสไปรับฟังปัญหาผู้บริโภคในภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้ได้รับทราบปัญหาของผู้ประกอบการไปด้วย ซึ่งดูแล้วก็ไม่น่าจะเกี่ยวกับผู้บริโภค โดยเฉพาะปัญหาการปิดกิจการของร้านอาหารตามสั่ง จากผลกระทบของร้านสะดวกซื้อที่เปิดฝั่งตรงข้าม หากเราไม่ได้เป็นลูกสาว หรือคนในครอบครัวร้านสะดวกซื้อ เราก็ไม่มีโอกาสได้รับรู้ปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้น และมีความทุกข์อย่างไร  แต่หากผู้บริโภควิเคราะห์ให้ดี จะเห็นได้ว่า การปิดกิจการของร้านอาหารตามสั่งย่อมมีผลต่อร้านขายผัก ขายปลา ขายหมู ขายของในตลาดอีกมากมาย และย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบกับเกษตรกรที่ปลูกผัก หรือคนที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย เหมือนบทเรียนผลกระทบจากส้มจีนที่ทำให้ส้มเขียวหวาน ส้มบางมด ส้มรังสิต ส้มโชกุน ส้มฝาง ล้มหายตายจาก ส้มในประเทศราคาแพงแถมไม่มีคุณภาพ ไม่อร่อยในปัจจุบัน ระบบการผลิตอาหารที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบริษัทขนาดใหญ่ ถึงแม้บางครั้งจะทำให้อาหารมีราคาถูก เพราะต้นทุนที่แตกต่างกัน เช่น ต้นทุนในการทำข้าวผัด บะหมี่เกี๊ยวที่แตกต่างกัน ถึงแม้ร้านเล็กๆ ต่างจะปรับตัวใช้การเพิ่มประสิทธิภาพ ดำเนินการในระบบเฟรนไชส์ แต่ก็ไม่สามารถสู้ต้นทุนที่แตกต่างกัน หรือการแข่งขันกับทุนขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนไข่ หมู ไก่ ข้าวในราคาที่ต่ำกว่า เหมือนการชกมวยที่ใช้นักมวยคนละรุ่นมาชกแข่งขันกันย่อมไม่มีสู้กันได้ หากมีแต่การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้ ย่อมจำกัดทางเลือกของผู้บริโภคไปโดยปริยาย เพราะถึงแม้เราจะสนใจ ให้ความสำคัญหรือต้องการอาหารที่หลากหลาย ก็ยากที่จะมีให้บริโภค เพราะอาหารที่มีมักจะกลายเป็นอาหารที่ต้องได้กำไร สามารถทำได้ในระบบขนาดใหญ่ ทางเลือกของอาหารหรือความมั่นคงของอาหารของผู้บริโภคก็อยู่ในกำมือของผู้ผลิตขนาดใหญ่ เช่น การผูกขาดสินค้าเกษตรที่มีให้เห็นในหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็น ไก่  ไข่ ปลาบางชนิด ซึ่งส่งผลต่อการบริโภคที่หลากหลายหรือแม้แต่ท้ายที่สุดส่งผลต่อวิถีการบริโภคของผู้บริโภคอย่างเรา ดังที่วิจัยของกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ที่สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยบริโภคแอปเปิ้ล เป็นลำดับต้นมากกว่าผลฝรั่งมาหลายปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 171 บ้านไม่มีกำหนดเวลาสร้าง สัญญาไม่บอก จะหาทางออกอย่างไร

หลายคนฝันจะมีบ้านเป็นของตนเอง อดทนทำงานเก็บหอมรอมริบอย่างดี จนมีเงินพอ และตั้งใจว่าจะสร้างบ้านเป็นของตนเอง เพราะไม่ค่อยวางใจกับบ้านจัดสรร หรือพวกห้องชุดคอนโดต่างๆ ที่มักมีข่าวอยู่เสมอว่าสร้างไม่ดี ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ตรงตามแบบ ใช้วัสดุไม่ได้คุณภาพ แต่เมื่อคิดจะสร้างเองก็ต้องมีการทำสัญญาจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างมาดำเนินการ ทำสัญญากันตกลงกันว่าจะสร้างบ้านแบบไหนออกแบบบ้านโดยสถาปนิก และให้ผู้ว่าจ้างเป็นคนเลือกสี วัสดุต่างๆ ซึ่งก็เคยมีปัญหาเกิดขึ้นว่า ตอนตกลงทำสัญญาจ้างปลูกสร้างบ้านนั้น กำหนดแต่เรื่องเงินค่าก่อสร้าง ว่าจะจ่ายกันกี่งวด เป็นจำนวนเท่าใด แต่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จเอาไว้ เช่นนี้ ผู้รับจ้างก่อสร้าง จะต้องสร้างให้เสร็จเมื่อใด  ถ้าเวลาล่วงเลยผ่านไปนาน  บ้านยังสร้างไม่เสร็จ ผู้ว่าจ้างยังไม่ได้บ้านจะมีสิทธิทำอะไรบ้าง ในเรื่องนี้ ก็เคยมีการฟ้องคดีต่อศาล เนื่องจากบ้านยังสร้างไม่เสร็จ ทั้งสัญญาจ้างก่อสร้างก็ไม่มีเขียนไว้ว่ากำหนดเวลาสร้างบ้านต้องภายในกี่เดือน กี่ปี ผู้ว่าจ้างก็อยากเลิกสัญญา เรียกค่าเสียหาย   โดยคดีดังกล่าว ศาลฏีกาได้วางแนวตัดสินไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้  คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1378/2546 สัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านระบุว่าโจทก์จะชำระค่าจ้างในวันทำสัญญา150,000 บาท และให้ถือว่าเป็นการชำระเงินงวดที่ 1 และชำระเงินงวดอีก 1,433,190บาท โดยแบ่งชำระรวม 21 งวด ภายในวันที่ 20 ของเดือน ส่วนที่เหลือ 3,694,110บาท จะชำระเมื่องานก่อสร้างทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ ดังนั้น แม้สัญญาไม่ได้กำหนดระยะเวลาการปลูกสร้างบ้านให้แล้วเสร็จไว้ แต่ก็อนุมานได้ว่าภายในระยะเวลาที่โจทก์ผ่อนชำระค่างวดครบ 22 งวด จำเลยจะต้องปลูกสร้างบ้านได้ไม่น้อยกว่าตามสัดส่วนของเงินค่าจ้างที่จำเลยได้รับชำระไปแล้ว แต่จำเลยก็ไม่ได้เริ่มลงมือปลูกสร้าง โจทก์จึงมีหนังสือสอบถามไปยังจำเลย และให้จำเลยกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จสมบูรณ์จำเลยก็มิได้มีหนังสือชี้แจงหรือโต้แย้งคัดค้าน เมื่อตามหนังสือสอบถามโจทก์ให้เวลาจำเลยอีก 4 เดือนเศษ จำเลยก็ยังไม่ปลูกสร้างบ้าน ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ภายในระยะเวลาอันสมควรแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า"เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม...." และวรรคสอง บัญญัติว่า "ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้" และมาตรา 7 บัญญัติว่า "ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี" ดังนั้น เมื่อสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยของเงินที่จำเลยจะต้องใช้คืนแก่โจทก์ไว้ จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินที่จำเลยได้รับชำระแต่ละงวดจนกว่าจะใช้คืนเสร็จแก่โจทก์  จากคำพิพากษาของศาลฏีกาดังกล่าว ผู้อ่านจะเห็นได้ว่า แม้กำหนดเวลาปลูกสร้างบ้านให้แล้วเสร็จ จะไม่ได้กำหนดไว้ในสัญญา ก็สามารถใช้เรื่องกำหนดเวลาผ่านชำระค่างวดมาเป็นตัวกำหนดได้ เพราะสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านนั้น ตามกฎหมาย ถือว่าเป็น “ สัญญาจ้างทำของ “ อย่างหนึ่ง ซึ่งวัตถุประสงค์ของสัญญาคือผลสำเร็จของงานที่ว่าจ้าง ดังนั้น เมื่อผู้ว่าจ้างชำระเงินไปแล้ว ผู้รับจ้างก็มีหน้าที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามระยะเวลาที่ผู้ว่าจ้างได้ผ่อนชำระค่างวดบ้านไปด้วย ในเมื่อไม่ได้ดำเนินการทั้งที่รับค่าจ้างไปแล้ว จนบ้านยังไม่ได้ปลูกสร้าง อีกทั้งมีเงื่อนไขว่าจะชำระเงินงวดสุดท้าย ต่อเมื่อบ้านได้สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ดังนั้น เมื่อบ้านยังสร้างไม่เสร็จ จึงถือว่าผู้รับจ้างไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญา ตกเป็นผู้ผิดสัญญา ผู้ว่าจ้างจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และเรียกเงินที่ได้ชำระไปแล้วคืนได้   ซึ่งในฏีกาดังกล่าว ท่านผู้พิพากษาไพโรจน์ วายุภาพ  ได้มีหมายเหตุท้ายฏีกาอย่างน่าสนใจ ดังนี้  หมายเหตุ  สัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านเป็นสัญญาจ้างทำของ จำเลยซึ่งเป็นผู้รับจ้างต้องทำการปลูกสร้างบ้านจนเสร็จ จึงจะมีสิทธิได้รับค่าจ้างจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง ตราบใดที่งานไม่เสร็จ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง แต่การปลูกสร้างบ้านย่อมต้องใช้เวลานานพอสมควรจนกว่าจะเสร็จจึงจะถือว่าชำระหนี้ครบถ้วน แต่จำเลยกลับไม่ทำการปลูกสร้างบ้านเลย เมื่อโจทก์ไม่ต้องการผูกพันกันต่อไปจึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืน ซึ่งการบอกเลิกสัญญาจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 โดยจำเลยต้องตกเป็นผู้ไม่ชำระหนี้แล้วโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ถ้าจำเลยยังไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวอีก โจทก์จึงจะบอกเลิกสัญญาได้ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า จำเลยตกเป็นผู้ไม่ชำระหนี้แล้วหรือไม่ ปรากฏว่าสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ ซึ่งถ้านำมาตรา 203 มาปรับ ก็ต้องถือว่าหนี้ถึงกำหนดชำระโดยพลันแล้ว จำเลยต้องลงมือก่อสร้างบ้านทันที เมื่อจำเลยไม่ทำการปลูกสร้างบ้านเลยย่อมถือว่าเป็นผู้ไม่ชำระหนี้ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้โดยลงมือก่อสร้างบ้านภายในกำหนดระยะเวลาพอสมควรได้ ถ้าจำเลยไม่ลงมือทำการปลูกสร้างบ้านภายในกำหนดเวลาดังกล่าว โจทก์จึงจะบอกเลิกสัญญาได้ตามมาตรา 387 ต่างกับการที่จำเลยลงมือก่อสร้างบ้านแล้วและทำงานไปเรื่อย ๆ ตามขั้นตอนของการก่อสร้าง ย่อมจะถือว่าจำเลยไม่ชำระหนี้หาได้ไม่ กรณีไม่น่าจะต้องพิจารณาว่าภายในระยะเวลาที่โจทก์ผ่อนชำระค่างวดครบ 22 งวด จำเลยต้องปลูกสร้างบ้านได้ไม่น้อยกว่าตามสัดส่วนของเงินค่าจ้างที่ได้รับจากโจทก์ แต่จำเลยไม่ได้เริ่มลงมือปลูกสร้างดังที่ศาลฎีกาวินิจฉัย ส่วนการที่โจทก์ชำระเงินให้จำเลยไปถูกต้องทุกงวดก็คงเพียงแต่เป็นการแสดงว่าโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงไม่เสียสิทธิในการบอกเลิกสัญญาเท่านั้น  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 171 จับเลี้ยง

เครื่องดื่มสีดำๆ กลิ่นหอมที่ประกอบด้วยสมุนไพรจีน-ไทย หลากหลายชนิด ซึ่งล้วนแต่เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็นดับร้อนในร่างกาย  สมัยก่อนจะเห็นน้ำจับเลี้ยงอยู่ในแก้ววางตามตู้แช่ในร้านขายยา ร้านโชว์ห่วยคู่กับน้ำเก๊กฮวยสีเหลือง หรือไม่ก็หาดื่มได้จากร้านรถเข็นริมทาง มีทั้งแบบร้อนและเย็น กลิ่นจะหอมมากๆ เพราะมีสมุนไพรหลายตัว ได้แก่ เฉาก๊วย ดอกงิ้ว ใบบัว รากบัว หญ้าคา เมล็ดเพกา เก๊กฮวย(เบญจมาศ) โหล่เกง เทียงฮวยฮุ่ง แซตี่ แห่โกวเช่า หล่อฮังก้วย เป็นต้น ซึ่งสูตรของแต่ละเจ้าอาจมีการดัดแปลงไปบ้าง ปัจจุบันหากินไม่ง่าย แต่กลับมีมาขายในรูปแบบใหม่ เป็นการผสมสมุนไพรบางตัวที่ในอยู่จับเลี้ยงดั้งเดิมกับน้ำชาเขียวใส่ขวดบรรจุขายในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งดื่มแล้วจะได้รสชามากกว่ารสจับเลี้ยง  จับเลี้ยงแท้ๆ นั้นมีสรรพคุณป้องกันและบรรเทาอาการร้อนใน อย่างแผลในปาก ปากลิ้นเปื่อย มีฝ้า ขมคอ เจ็บคอ เสียงแหบ คอแห้ง ซึ่งอาจเกิดมาจากการขาดสภาวะสมดุลเพราะพักผ่อนไม่พอ หรือกินของมัน ของทอดมากเกินไป น้ำจับเลี้ยงหอม อร่อย จริงๆ แล้ว ทำเองได้ไม่ยาก  เดินไปซื้อสมุนไพรจับเลี้ยงที่ร้านขายยาสมุนไพรจีน  เขาจะจัดให้ขายเป็นห่อ  แล้วซื้อหล่อฮังก้วยแยกมา  3 ลูก นำมาต้มด้วยไฟปานกลางจนเดือด กรองด้วยผ้าขาวบางแล้วเติมน้ำตาลเล็กน้อยหรือไม่เติมก็ได้ ดื่มแล้วเย็นชื่นใจ คลายร้อนดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 171 แก้วตาหวานใจ : อุดมคติกับความเป็นจริงของครอบครัว

ในบรรดาเรื่องราวและเรื่องเล่าที่อยู่ในละครโทรทัศน์นั้น ดูเหมือนว่า เรื่องราวเกี่ยวกับ “สถาบันครอบครัว” เป็นเนื้อหาที่ละครมักจะหยิบยกมากล่าวถึงเป็นอันดับแรกๆ อาจเนื่องด้วยว่าครอบครัวเป็นประเด็นที่ใกล้ชิดกับชีวิตของคนเรามากที่สุด จนช่วงเวลาไพรม์ไทม์มิอาจมองข้ามเรื่องราวดังกล่าวไปได้เลย             แต่คำถามก็คือ ถ้าภาพอุดมคติของความเป็นครอบครัวจักต้องประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก และสมาชิกครอบครัวที่รักผูกพันกันแน่นแฟ้น อุดมคติแบบนี้กับความเป็นจริงที่เราเห็นในละครจะถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพเดียวกันมากน้อยเพียงไร?             คำตอบต่อข้อคำถามนี้ก็คือ “อุดมคติ” เป็นภาพที่สังคมคาดฝันว่าอยากไปให้ถึง หรืออาจเป็นจินตกรรมความฝันในความคิดของใครหลายๆ คน แต่ภาพฝันของครอบครัวที่อบอุ่นครบครันพ่อแม่ลูกและหมู่มวลสมาชิกในบ้านนั้น ช่างเป็นภาพที่พบเห็นได้ยากหรือพบได้น้อยมากในละครโทรทัศน์ เหมือนกับภาพชีวิตครอบครัวของ “มดตะนอย” เด็กสาวตัวน้อยที่เติบโตมาโดยที่ไม่เคยได้พานพบหน้าบิดามารดาของตนเองเลย             เพราะคุณแม่วัยใสอย่าง “แม่กวาง” ผู้เป็นมารดา รู้สึกผิดที่ตั้งครรภ์ลูกน้อยตั้งแต่วัยเรียน ดังนั้นหลังจากที่ให้กำเนิดมดตะนอยมาแล้ว เธอจึงหลบลี้หนีหน้าไปอยู่ต่างประเทศ ในขณะที่ “พ่อหมึก” ผู้เป็นบิดาเอง ก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่า ตนมีลูกสาวกับเขาหนึ่งคน แม่กับพ่อจึงไม่เคยได้เลี้ยงหรือใกล้ชิดกับมดตะนอย และปล่อยให้เด็กสาวตัวน้อยเติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูของ “ลุงช้าง” พระเอกของเรื่อง             จนกระทั่งหลายปีผ่านไป พ่อหมึกได้ทราบข่าวจากเพื่อนว่า ตนเคยมีบุตรสาวหนึ่งคนตั้งแต่เมื่อครั้งยังเรียนมหาวิทยาลัย เขาเองก็ต้องการตามหาลูก จึงไหว้วานให้ “ไข่หวาน” ผู้เป็นน้องสาว เดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อสืบค้นหาที่อยู่ของมดตะนอย             จะว่าเป็นพรหมลิขิต หรือการผูกเรื่องของนักเขียนบทให้เกิดเงื่อนปมขัดแย้งอย่างไรมิอาจทราบได้ แต่ในที่สุด สาวห้าวผู้รักรถยนต์เป็นชีวิตจิตใจอย่างไข่หวาน ก็มีอันได้มาพำนักพักอยู่ในบ้านของลุงช้างหนุ่มหวานขี้งอนและรักการทำครัวเป็นพ่อบ้านพ่อเรือน โดยมีมดตะนอยกลายเป็นกามเทพสื่อรักตัวน้อยระหว่างลุงช้างกับอาไข่หวานแบบไม่รู้ตัว             ภายใต้โครงเรื่องแบบที่กล่าวมานี้ ละครได้ผูกโยงฉายให้เห็นภาพของสถาบันครอบครัวเอาไว้อย่างซับซ้อน ทั้ง “สะท้อน” ภาพความจริงเอาไว้ด้านหนึ่ง ทั้ง “ตอกย้ำบรรทัดฐาน” เอาไว้อีกด้านหนึ่ง ในขณะเดียวกับที่ “ชี้นำ” หรือ “ตั้งคำถามใหม่ๆ” ให้ผู้ชมได้ทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับครอบครัวเอาไว้เช่นกัน             ในลำดับแรกที่ละคร “สะท้อน” ภาพความจริงของครอบครัวเอาไว้นั้น ถ้าเราคิดถึงภาพอุดมคติของความเป็นครอบครัวที่ต้องประกอบด้วยพ่อแม่ลูกที่รักใคร่อบอุ่นผูกพัน เพราะลูกมักถูกตีความว่าเป็น “แก้วตา” ในขณะที่คู่ชีวิตก็มีสถานะเป็น “หวานใจ” แต่ทว่า ภาพของละครกลับสะท้อนฉายไปที่ความเป็นจริงของสังคมในอีกทางหนึ่งว่า ชีวิตครอบครัวแท้จริงนั้นไม่ได้มีสูตรสำเร็จเหมือนกับภาพอุดมคติดังกล่าวเพียงด้านเดียว ภาพที่พ่อไปทางและแม่ไปทาง อาจเป็นชีวิตที่จริงแท้ยิ่งกว่าของครอบครัวได้เช่นกัน             แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า เด็กที่เกิดมาภายใต้บรรยากาศครอบครัวแตกแยกจะกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาเสมอไป ตราบเท่าที่ยังมีฟันเฟือนตัวอื่นที่หมุนให้สถาบันครอบครัวขับเคลื่อนต่อไปได้ ครอบครัวก็ยังคงดำเนินไปและผลิตเยาวชนรุ่นใหม่ที่น่ารักและเป็นเด็กดีแบบมดตะนอยได้ไม่ต่างกัน             ในแง่นี้ เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า ครอบครัวที่เป็นไปตามขนบจารีตไม่อาจตอบโจทย์ของคนยุคนี้ได้อย่างสมบูรณ์อีกต่อไปแล้ว แต่ครอบครัวจะเป็นเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับว่า คนแต่ละกลุ่มหรือใครแต่ละคนจะเป็นผู้คิดค้นนิยามและตีความความหมายให้กับครอบครัวของเขาแบบแตกต่างกันไป             ฉะนั้น เมื่อขาดซึ่งพ่อกับแม่ มดตะนอยก็ยังมีลุงช้างที่ทำหน้าที่แทนทั้งเป็นพ่อและแม่ที่เลี้ยงเด็กน้อยให้เติบโตมาเป็นคนดี หรือแม้แต่ช่วงที่มีไข่หวานมาพำนักอาศัยใต้ชายคาเดียวกัน ไข่หวานก็ไม่ได้ทำหน้าที่แค่ “อาไข่หวาน” หากแต่ยังเล่นบทบาทเป็น “แม่ในจินตนาการ” ของมดตะนอยไปในเวลาเดียวกัน             ในขณะที่ด้านหนึ่งละครก็ “สะท้อน” สิ่งที่ “กำลังเป็นอยู่” ว่า ชีวิตจริงของครอบครัวร่วมสมัยไม่ได้อบอุ่นหรือเป็นไปตามอุดมคติ แต่ขึ้นอยู่กับว่าสมาชิกครอบครัวจะตีความและรังสรรค์สายสัมพันธ์ระหว่างกันของตนเองจริงๆ แต่อีกด้านหนึ่ง ในมุมฉากจบของละคร ก็เลือกที่จะรอมชอมด้วยการตอกย้ำกลับไปที่ภาพบรรทัดฐานที่ “ควรจะเป็น” ของครอบครัวว่า พ่อแม่ลูกที่อยู่พร้อมหน้าค่าตากัน ก็ยังเป็นอุดมคติที่ทุกๆ ครัวเรือนยังวาดฝันเอาไว้             เพราะฉะนั้น แม้จะพลัดพรากจากแม่กวางและพ่อหมึกไปตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยความพยายามดิ้นรนต่อสู้เพื่อถักทอสายสัมพันธ์ของครอบครัวให้กลับคืนมา ในฉากจบของเรื่อง ละครก็ได้ยึดโยงให้มดตะนอยได้พบพ่อกับแม่ และหวนกลับมาร่วมสร้างครอบครัวที่เชื่อว่า “สมบูรณ์” กันอีกครั้ง พร้อมๆ กับที่ลุงช้างและอาไข่หวานก็ได้ลงเอยกับความรัก และเริ่มที่ก่อรูปก่อร่างสร้างครอบครัวในอุดมคติกันไปอีกทางหนึ่ง             แต่ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ ไม่เพียงแต่สะท้อนหรือตอกย้ำเท่านั้น ละครอย่าง “แก้วตาหวานใจ” ยังได้เลือกใช้เส้นทางการ “ชี้นำ” หรือ “เสนอทางเลือกใหม่ๆ” ให้เราได้เห็นด้วยว่า แล้วภาพความจริงที่เราเคยยึดเคยเชื่อกับความสัมพันธ์ที่เวียนวนอยู่ในครอบครัวนั้น จำเป็นต้องเป็นเฉกเช่นนั้นอยู่ทุกครั้งจริงหรือไม่             ภาพตัวละครอย่างลุงช้างที่ชอบทำครัว เลี้ยงเด็ก หรืองุนงงสับสนทุกครั้งที่เกิดรถเสีย กับภาพที่ตัดสลับมาที่อาไข่หวาน ที่เป็นหญิงห้าว สนใจกับงานช่างงานซ่อมรถยนต์ ล้างจานแตกเสมอๆ ก็เป็นตัวอย่างของภาพที่ตั้งคำถามใหม่ๆ กับคนดูว่า ผู้ชายก็ไม่จำเป็นต้องชอบเรื่องที่ใช้กำลังร่างกายและผู้หญิงก็ไม่จำเป็นต้องรักสวยรักงามรักเรื่องที่ละเอียดอ่อนเสมอไป บทบาททางเพศของหญิงชายในสถาบันครอบครัวพร้อมที่จะสลับไปมาระหว่างกันได้ตลอดเวลา             ภายใต้การเล่นบทบาทของละครแบบ “เหรียญสามด้าน” ที่ทั้งฉายภาพสะท้อนสิ่งที่ “กำลังเป็น” ตอกย้ำภาพที่ “ควรจะเป็น” และตั้งคำถามใหม่ๆ กับภาพที่ “อาจจะเป็น” เช่นนี้ ในท้ายที่สุด เมื่อละครจบลง ก็คงทำให้เราได้ฉุกคิดว่า ในอุดมคติของความเป็นครอบครัวนั้น มดตะนอย ลุงช้าง อาไข่หวาน ตัวละครต่างๆ รวมถึงตัวเราเอง จะขับเคลื่อนนำพานาวาชีวิตครอบครัวของแต่ละคนกันไปเช่นไร                                                                                                

อ่านเพิ่มเติม >