ฉบับที่ 172 แท็กซี่ป้ายแดง

แท็กซี่ป้ายแดง รถในฝันของคนหาเช้ากินค่ำที่อยากมีรถแท็กซี่เป็นของตัวเอง ไม่ต้องไปเช่าสหกรณ์แท็กซี่ให้ต้องรำคาญใจ เพราะขับคนเดียวไม่มีใครมาเอี่ยวกับรายได้ อีกทั้งไม่ต้องยุ่งยากต้องไปส่งเมื่อหมดกะ หรือขับไปรถพัง คุณธีรศักดิ์ เลยตั้งใจเก็บหอมรอบริบน้ำพักน้ำแรงจากการขับแท็กซี่ เพื่อทำฝันให้เป็นจริง เมื่อขับรถแท็กซี่จนเหลือเงินเก็บมากพอ คุณธีรศักดิ์ จึงไปดาวน์รถยี่ห้อโตโยต้า ราคาแปดแสนกว่า เพื่อมาเป็นแท็กซี่ในฝัน หลังจากตกลงซื้อรถและทำไฟแนนท์กับบริษัทโตโยต้าลิสซิ่ง จำกัด กันเป็นที่เรียบร้อย จึงได้นัดแนะกันไปรับรถที่ศูนย์ตัวแทนจำหน่าย และด้วยความมั่นใจในแบรนดยี่ห้อดัง แกเลยไม่ได้เช็คสภาพในวันรับรถ รถใหม่ในฝันเมื่อนำไปขับใช้งานได้ 3 วัน คุณธีรศักดิ์พบว่า มีอาการพวงมาลัยหนัก ขับกินซ้าย ทำให้ต้องใช้แรงบังคับมากกว่าปกติ ทั้งเกียร์ก็มีเสียงดัง และเครื่องสั่นผิดปกติ ด้วยความผิดปกติดังกล่าว จึงนำรถเข้าศูนย์บริการตรวจสอบทันที ทางศูนย์ฯ แจ้งคุณธีรศักดิ์ว่า ไม่พบอาการผิดปกติ ส่วนอาการพวงมาลัยหนักน่าจะเพราะรถใหม่ จะทำการตั้งศูนย์ถ่วงล้อใหม่ให้ แต่เมื่อนำรถขับออกจากศูนย์ฯ ยังไม่ทันไร อาการยังเหมือนเดิม แต่พอไปเช็ค ช่างที่ศูนย์ฯ กลับบอกว่าปกติ เหตุการณ์นี้วนเวียนอยู่ 3 - 4 ครั้ง จนเริ่มขาดความมั่นใจ และพอได้ลองตรวจสอบรถจนละเอียดทุกซอกมุม กลับพบสิ่งที่ไม่คาดฝันหลายอย่าง เช่น สายเข็มขัดนิรภัยเปื่อยเหมือนของใช้แล้ว คอนโซลหน้าห่างกันจนปากกาแยงได้ ยิ่งตรวจยิ่งเจอ พอเอาไปแจ้งบริษัทฯ กลับบอกว่า “รถรุ่นนี้สเปคประมาณนี้แหละ” เฮ้อเห็นเป็นแบบนี้แล้ว ใครจะกล้าขับล่ะ ลำพังขับคนเดียวยังไม่เท่าไหร่ แต่รถคันนี้เป็นแท็กซี่ หากพาผู้โดยสารไปเกิดอุบัติเหตุจะทำไง เลยต้องจอดรถไว้ทั้งที่ผ่อนค่างวดไปแล้ว 2 งวด     คุณธีรศักดิ์จึงมาปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ซึ่งได้ให้คำแนะนำไปว่า ให้ลองเปลี่ยนศูนย์บริการซ่อมใหม่ในครั้งแรกก่อน เผื่อจะพบความผิดปกติอื่น พอลองเปลี่ยนไปใช้สาขาอื่น ก็ได้ผลเช่นเดียวกันบอกว่า เหมือนเดิมแหละซ่อมไม่หาย ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ปรึกษากับทีมนักวิชาการว่าศูนย์ฯ กับผู้ร้องสามารถนำรถไปตรวจสอบเองได้หรือไม่ จึงได้รับทราบว่าเมืองไทยยังไม่มีศูนย์ทดสอบรถยนต์ มีแต่บริษัทบางแห่งที่มีเครื่องมือในการทดสอบรถยนต์มือสอง เมื่อปรึกษากับคุณธีรศักดิ์ จึงขอนำรถไปตรวจสอบบ้างเผื่อเจอปัญหา(เพราะไปศูนย์ของบริษัทรถแล้วไม่เจอปัญหา) หลังการตรวจสอบพบว่า รถมีปัญหาเรื่องช่วงล่างผิดปกติจริงทำให้เกิดอาการอย่างที่เห็น คุณธีรศักดิ์เลยขอให้บริษัทที่ช่วยทดสอบรถให้ เขียนเป็นรายงานการตรวจว่ามีความผิดปกติเรื่องอะไรบ้างและขอให้ศูนย์พิทักษ์ฯ ช่วย ศูนย์พิทักษ์ฯ จึงได้เชิญบริษัท โตโยต้า ที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์และให้บริการจำหน่าย พร้อมกับเชิญบริษัทโตโยต้าลิสซิ่งฯ ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อมาเจรจา แต่ในวันที่นัดหมายกลับมีเพียงบริษัทโตโยต้าลิสซิ่งฯ ที่ยอมมาเจรจาด้วย แต่ก็ตกลงกันไม่ได้ คุณธีรศักดิ์จึงขอความช่วยเหลือให้ศูนย์ฯ จัดหาทนายเพื่อดำเนินคดี ปัญหาและอุปสรรคคดีนี้ค่อนข้างพิเศษ มีความต่างจากคดีผู้บริโภคทั่วไป ด้วยเหตุผลดังนี้ แม้จะเป็นเรื่องซื้อรถยนต์ชำรุดบกพร่อง แต่ทว่าผู้ซื้อได้นำรถยนต์มาดัดแปลงเป็นแท็กซี่ พิจารณาแล้วอาจไม่เข้าข่ายผู้บริโภคที่ซื้อรถเพื่อใช้งานเอง ทางทีมศูนย์พิทักษ์ฯ และทีมทนายอาสา จึงไม่ฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค แต่ฟ้องเป็นคดีมโนสาเร่แทน เพราะเกรงว่า การซื้อรถมาดัดแปลงเป็นแท็กซี่จะไม่ใช่คดีผู้บริโภค ต่อมาเมื่อผู้พิพากษาได้เห็นเรื่องก็พิจารณาว่า น่าจะเป็นคดีผู้บริโภคได้ จึงส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา แต่สุดท้ายศาลอุทธรณ์พิจารณาชัดเจนว่า ไม่ใช่คดีผู้บริโภคจริงๆ เพราะเป็นการนำรถยนต์มาหาประโยชน์ ดังนั้นภาระการพิสูจน์จึงตกเป็นของโจทก์ที่ต้องนำสืบพยานเอง แถมยังโชคไม่ดี บริษัทเอกชนที่เคยตรวจสอบรถให้คุณธีรศักดิ์มาปิดทำการ ทำให้ไม่มีทั้งพยานและเอกสารมายืนยันเอกสาร เมื่อเข้าตาจนแบบนี้ศูนย์ฯ จึงได้เชิญทีมนักวิชาการด้านยานยนต์มาช่วยทดสอบขับรถยนต์ข้างต้น แต่กลับไม่พบปัญหา หลักฐานจึงไม่พร้อมอีก ศูนย์พิทักษ์ฯ จึงคุยกับผู้ร้องว่าพยานหลักฐานเรามีน้อยและไม่แน่ใจว่าจะมีน้ำหนักหรือไม่ หากสามารถตกลงกันได้ในนัดเจรจาไกล่เกลี่ยก็จะเป็นการดีที่สุด แต่เมื่อเริ่มเจรจาใหม่ในชั้นศาล สุดท้ายก็ตกลงกันไมได้ เพราะผู้ร้องจะให้บริษัทรับซื้อรถคืนเท่านั้น ศาลจึงกำหนดสืบพยานและแต่ก็ยังอยากให้มีการเจรจากันอีกครั้ง และในวันนั้นเอง เผอิญมีกรรมการผู้จัดการซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของศูนย์บริการรถยนต์มาศาลด้วยตัวเอง ฝ่ายผู้บริโภคจึงขอเปิดการเจรจา โดยนัดหมายไปเจรจากันที่บริษัทโตโยต้าลิสซิ่งฯ สุดท้ายก็ตกลงกันได้ โดยทางบริษัท โตโยต้า จะขยายระยะเวลาการรับประกันให้อีก 1 ปีหรือ 20,000 กม และทำสัญญาเช่าซื้อใหม่ โดยเริ่มผ่อนค่างวดนับต่อจากค่างวดที่ชำระเดิม ส่วนอาการเสียที่เกิดขึ้น บริษัทฯ ได้ส่งไปซ่อมที่โตโยต้า สำนักงานใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจะแก้ไขให้จนสามารถใช้งานได้ตามปกติ นับว่าจบลงได้ดี เพราะหากจะต้องสู้กันต่อไปในชั้นศาลและมีการสืบพยาน คงต้องนั่งลุ้นกันยาวอีกหลายปี 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 ซื้อหมู่บ้านเล็ก เขารับประกันยังไง

ซื้อบ้านจัดสรรอยู่ แต่โครงการของบริษัทเล็กๆ เขาจะรับประกันอะไรให้บ้าง คนเรามี 2 สิ่งที่ตัดสินใจยากคือ "เลือกเมีย" กับ "เลือกบ้าน" เพราะมีผลกับชีวิตทั้งชีวิต เป็นคำถามมาสั้นๆ ง่ายๆ ที่ฝากมาในกระทู้รับเรื่องร้องเรียน เลยขอนำมาตอบไว้ที่นี้ด้วย แต่คำตอบจะต้องแยกตอบเป็น 3 คำตอบ (1) ซื้อบ้านจัดสรร (2) เจ้าของโครงการเป็นบริษัทเล็ก และ (3) การรับประกันหลังโอนประเด็นแรก คุณเจ้าของกระทู้บอกอยู่แล้วว่าตัดสินใจเลือกซื้อบ้านในโครงการจัดสรร นั่นหมายความว่าเราต้องการซื้อคุณภาพชีวิตในการอยู่อาศัย เพราะฉะนั้น ข้อแนะนำก็คือ ให้ตรวจสอบว่าโครงการจัดสรรดังกล่าว ขออนุญาตจัดสรรภายใต้กฎหมายจัดสรรที่ดินหรือเปล่า ตรวจสอบข้อมูลได้จากสำนักงานกรมที่ดิน ตัวอย่างเช่น ถ้าจะซื้อบ้านจัดสรรในเขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร เราก็สามารถไปขอตรวจสอบได้ที่สำนักงานที่ดินประจำเขตบึงกุ่มเหตุผลที่ต้องตรวจสอบก่อน เพราะกฎหมายจัดสรรบังคับให้บริษัทเจ้าของโครงการต้องจดทะเบียนจัดสรร เพื่อจะได้เข้ามาช่วยควบคุมว่า กรณีที่เป็นโครงการใหญ่ๆ จะต้องมีการลงทุน "พื้นที่ส่วนกลาง" ให้เหมาะสมกับจำนวนบ้าน เช่น ถ้ามีบ้าน 100 หลัง ถนนเมนควรจะกว้าง 16 เมตรไหม ถ้ามีบ้าน 500 หลัง ถนนเมนจะต้องกว้าง 20 เมตรหรือเปล่าหรือถ้าขออนุญาตจัดสรรอย่างถูกต้อง กฎหมายท่านจะบังคับไว้เลยว่า บ้านเดี่ยวจะต้องมีพื้นที่ 50 ตารางวาขึ้นไป บ้านแฝดจะต้องมีที่ดิน 35 ตารางวาขึ้นไป ทาวน์เฮาส์จะต้องมีที่ดินเริ่มต้น 18 ตารางวาขึ้นไป เป็นต้นกรณีที่โครงการที่เราซื้อ ไม่ได้มีการขออนุญาตจัดสรร แสดงว่าเขากำลังเลี่ยงกฎหมายจัดสรรอยู่ โดยพื้นฐานถ้าจำไม่ผิด กฎหมายจะกำหนดไว้ว่า ถ้าขอจัดสรรทำบ้านเดี่ยวตั้งแต่ 10 หลังขึ้นไปต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง แต่ถ้าต่ำกว่า 10 หลังไม่ต้องขออนุญาตจัดสรรกลายเป็นช่องว่างให้มีการเลี่ยงกฎหมายจัดสรร เช่น อาจจะมี 40 หลัง แต่ใช้วิธีพัฒนาทีละไม่เกิน 10 หลัง โดยใช้ชื่อคนละบริษัท ทั้งๆ ที่เป็นหมู่บ้านเดียวกัน เป็นต้น ประเด็นที่สอง เรื่องของ "เจ้าของโครงการเป็นบริษัทเล็กๆ" สิ่งแรกที่ต้องคำนึงก่อนตัดสินใจวางเงินจองเงินดาวน์ และจ่ายเงินก้อนใหญ่เพื่อโอนกรรมสิทธิ์ สิ่งนั้นก็คือความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการในที่นี้ ไม่ได้ฟันธงว่า เวลาเราพูดถึงความน่าเชื่อของผู้ประกอบการแล้ว จะต้องเป็นบริษัทใหญ่ๆ เป็นบริษัทมหาชนที่อยู่ในตลาดหุ้นเท่านั้น เรื่องนี้ไม่จริง เพราะมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์ทุนหนาอีกตั้งหลายรายที่ไม่ยอมเข้าตลาดหุ้น เพราะฉะนั้นความน่าเชื่อของผู้ประกอบการจึงต้องมีองค์ประกอบอื่นเพิ่มเติมด้วยข้อแนะนำคือ เวลาดูความน่าเชื่อของผู้ประกอบการสำหรับหมู่บ้านจัดสรรที่เราจะไปเลือกซื้อนั้น นอกจากจะตรวจสอบจากใบอนุญาตจัดสรรแล้ว ควรจะมีการตรวจสอบจากข้อมูลข่าวสาร อย่างน้อยที่สุด เคยมีประวัติพัฒนาโครงการขายมาก่อนหรือไม่ ถ้าไม่เคย ธุรกิจดั้งเดิมเคยทำอะไรมาก่อนตัวอย่างเช่น ค่ายสยามกลการ ในปัจจุบันรุ่นทายาทธุรกิจเป็นคนรุ่นใหม่ ก็ให้ความนิยมหันมาลงทุนสร้างคอนโดฯ ขาย เป็นต้น กรณีแบบนี้เราค่อนข้างมั่นใจได้ว่ามีความเป็นมาตรฐานแน่นอน เพราะธุรกิจดั้งเดิมก็เป็นธุรกิจที่มีชื่อเสียงที่ดี ไม่ใช่ประเภทตีหัวเข้าบ้านประเด็นสุดท้าย "การรับประกันหลังโอนกรรมสิทธิ์" ก่อนอื่นต้องเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อนว่า การรับประกันหลังโอน กฎหมายจำกัดขอบเขตความรับผิดชอบของบริษัทเจ้าของโครงการไว้ที่เป็นการรับประกันเรื่องตัวบ้านเป็นหลัก เช่น สร้างแล้วพังเร็วไหม อยู่แล้วอุ่นใจหรือเปล่าข้อแนะนำสำหรับการรับประกันตัวบ้านก็คือ ให้มุ่งเน้นความสำคัญไปที่การตรวจสอบคุณภาพก่อสร้างที่เป็น "โครงสร้างหลัก" ของตัวบ้าน เช่น เสา คาน ฯลฯ ส่วนผนังที่อาจจะมีรอยแตกลายงา ถือเป็นเรื่องปกติเพราะเกิดจากฝีมือฉาบปูนบ้าง โดดแดดบ้าง อะไรบ้าง หรือจะเป็นก๊อกเป็นสนิม น้ำรั่ว น้ำซึม เป็นเรื่องที่คุยกันได้ พวกนี้เรียกว่า "ส่วนควบของตัวบ้าน" ซึ่งกินความไปถึงประตู หน้าต่าง กรอบอลูมิเนียม บานเลื่อน ฯลฯ จิปาถะเยอะแยะไปหมดข้อแนะนำคือ ตรวจสอบด้วยการหาข้อมูลอ้างอิงว่า ถ้าเป็นกรณีหมู่บ้านใหญ่ๆ เขามีการรับประกันอะไรให้กับลูกค้าบ้าง แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน อย่างน้อยที่สุด การรับประกันในจุดหลัก ๆ ก็ควรจะต้องมี แต่ถ้าหมู่บ้านเล็กๆ ไม่มีให้ ข้อแนะนำคือคุณไม่ควรจะรับโอน จนกว่าจะสามารถเคลียร์และทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะถ้าหากจำเป็นจะต้อง "ค้าความ" หรือมีการฟ้องร้องคดีกันขึ้นมาเมื่อไหร่ โอกาสของผู้บริโภคคือจะต้องมีหนังสือนิติกรรมที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น การดำเนินคดีในศาลจึงจะมีน้ำหนัก และทำให้เราไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบได้ในท้ายที่สุด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 บ้านมือสองกับค่าประกัน น้ำ ไฟฟ้า

ผู้บริโภคทั่วไปที่คิดจะซื้อบ้านมือสองควรรอบคอบและสังเกตสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ของงานสาธารณูปโภคพวกน้ำ และไฟฟ้า ด้วย สิ่งเล็กๆ นั้นคือ ค่าประกันการใช้น้ำและค่าประกันการใช้ไฟฟ้า เพราะอาจก่อปัญหาที่คุณคาดไม่ถึงได้ อย่างกรณีของคุณสาวิตรี เมื่อปี พ.ศ. 2551 ได้พบบ้านมือสองในทำเลและราคาที่ถูกใจมากๆ จึงได้ตกลงปลงใจซื้อบ้านตึกสองชั้นพร้อมที่ดิน จากผู้ขายและได้โอนกรรมสิทธิ์แล้วเสร็จในวันที่ 31 ตุลาคม 2551 และอยู่อาศัยมาด้วยความผาสุกเรื่อยมา จนต้นปี 2556 คุณสาวิตรีเพิ่งสังเกตเห็นว่า ใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาและใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้า นั้นยังเป็นชื่อผู้ใช้น้ำคนเดิมคือเจ้าของบ้านคนเก่า คุณสาวิตรีจึงได้พยายามติดต่อการประปาส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคของพื้นที่ปทุมธานี เพื่อขอดำเนินการเปลี่ยนชื่อใหม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานทั้งสองให้คุณสาวิตรีจัดเตรียมเอกสารและหลักฐานของผู้ใช้น้ำ ของกรณีผู้โอนและผู้รับโอนเป็นบุคคลธรรมดามาประกอบการดำเนินเรื่อง แต่ว่าการซื้อบ้านของผู้ร้องนั้นได้ล่วงเลยมานานหลายปีแล้ว ผู้ร้องจึงไม่สามารถที่จะติดต่อกับผู้ขายบ้านหลังนี้ได้ จึงมาปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิว่าจะทำอย่างไรดี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงทำหนังสือเพื่อสอบถามและขอให้ทั้งสองหน่วยงานของรัฐช่วยเหลือผู้ร้อง การประปาส่วนภูมิภาค ปทุมธานี ได้ชี้แจงต่อกรณีนี้ว่า ตามระเบียบของการประปาส่วนภูมิภาค การโอนสิทธิในการใช้น้ำประปา หากมีการซื้อขายบ้านที่ติดตั้งประปาไว้แล้ว ผู้ใช้น้ำต้องแจ้งให้พนักงานประปาทราบและให้ผู้รับโอนมาลงนามในสัญญาใช้น้ำ โดยหลักฐานที่นำมาแสดง อาทิ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน , สำเนาทะเบียนบ้าน , ใบเสร็จเงินประกันค่าน้ำตัวจริง ,ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำประปาครั้งสุดท้ายหรือสำเนา หากทั้งสองฝ่ายไม่สะดวกสามารถทำหนังสือมอบอำนาจให้กับญาติดำเนินการแทนได้ เป็นต้น บ้านของผู้ร้องนั้นเป็นอัตราค่าธรรมเนียมประกันการใช้น้ำ ขนาดมาตร 1/2 (นิ้ว) ค่าประกันการใช้น้ำ เป็นเงิน 535 บาท และการประปาฯ จะช่วยดำเนินการติดตามกับผู้ใช้น้ำเดิมเพื่อสอบถามว่าจะขอคืนเงินประกันการใช้น้ำหรือโอนเปลี่ยนให้กับผู้ร้องต่อไป แต่ในส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนั้น ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไม่ได้รับคำตอบต่อกรณีร้องเรียนดังกล่าวนี้แต่อย่างใดในขณะเขียนเรื่องนี้ ซึ่งจะได้ติดตามผลให้กับคุณสาวิตรีต่อไป แต่เห็นว่าเรื่องนี้น่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังจะซื้อบ้านหรืออาคารมือสองจึงนำมาลงไว้เป็นกรณีศึกษา 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 นอนเพื่อความงาม

มีงานวิจัยอยู่หลายชิ้น ที่ระบุว่า การพักผ่อนด้วยการนอนหลับอย่างมีคุณภาพนั้น มีส่วนช่วยในเรื่องความอ่อนเยาว์ของใบหน้าจริงๆ เราทุกคนก็คงรู้ตัวดีอยู่แล้วว่า ถ้าคืนไหนที่เรานอนไม่พอ หรือนอนแบบหลับๆ ตื่นๆ  เช้ามาแทบไม่อยากมองหน้าใคร  เพราะหน้าตาจะดูทรุดโทรมมาก แต่ถ้าได้นอนหลับสนิทผลที่ได้จะเป็นเรื่องตรงกันข้าม ความสดชื่นจะมาเยือนทั้งใบหน้าและร่างกายวิทยาศาสตร์การนอน    การนอนหลับโดยทั่วไป หมายถึงสภาวะที่ไม่รับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม โดยปกติจะไม่เคลื่อนที่ ยกเว้นสัตว์บางชนิด เช่น ปลาโลมา จะนอนหลับไปพร้อมๆ กับการว่ายน้ำได้ ในการนอนหลับสมองจะไม่ได้หยุดทำงาน แต่ในการนอนจะมีลักษณะการหลับสองแบบ คือ ช่วงที่เรียกว่า REM (Rapid Eye Movement) ซึ่งสามารถพบได้ในสัตว์ทุกชนิด สลับกับช่วง non REM ซึ่งจะเป็นการนอนหลับแบบที่เรียกว่า หลับสนิท หลับลึก    จากการศึกษาการนอนหลับในสิ่งมีชีวิต พบว่า สัตว์ขนาดเล็กใช้เวลานอนมากกว่าสัตว์ขนาดใหญ่ ในธรรมชาติสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจะมีกระบวนการเผาผลาญพลังงานที่สูงกว่าสัตว์ขนาดใหญ่ ซึ่งในกระบวนการเผาผลาญแต่ละครั้งจะมีสารอนุมูลอิสระเกิดขึ้นจำนวนมาก สารอนุมูลอิสระจะทำลายเซลล์ส่วนต่างๆ ของร่างกาย  เจ้าสัตว์ตัวน้อยจึงต้องใช้เวลานอนให้มากเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอให้ปกติ คนเราก็เช่นเดียวกัน ธรรมชาติในการนอนอยู่ที่ระยะ 8 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอนั้นไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลาที่นอนหลับ  แต่จะเกิดขึ้นในช่วงการนอนหลับสนิท หรือ non REM เท่านั้น  สำหรับการหลับในช่วง  REM จะไม่เกิดขึ้น*     ดังนั้นการนอนให้เพียงพอและมีช่วงการนอนหลับสนิทที่ยาวนาน จะช่วยให้ร่างกายได้ฟื้นฟูเซลล์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงเซลล์ผิวหนังด้วย เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการนอน•    การนอนหลับที่ดีจะใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง•    ผู้ที่นอนในห้องที่มีแสงสว่างมากมีแนวโน้ม ที่จะมีน้ำหนักตัวเกินกว่าปกติ•    การนอนหงายเป็นท่านอนที่หลีกเลี่ยงการเกิดริ้วรอยบนใบหน้าได้ดีที่สุด •    การนอนตะแคงหรือการนอนคว่ำหน้านานๆ ทําให้เกิดแรงกดทับ ก่อให้เกิดริ้วรอยบนใบหน้า โดยเฉพาะที่แก้มและคาง ที่เรียกว่า sleep line•    หนุนหมอนใบเล็กรองใต้คอ(ในท่านอนหงาย) แทนการหนุนหมอนสูง ช่วยแก้อาการปวดกระดูกคอ•    การนอนหลับระยะสั้นๆ ในระหว่างวันมีผลดีต่อสุขภาพ ทำให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนสึกหรอได้มากขึ้น•    สถิติของการเกิดอุบัติเหตุจำนวนมาก มีสาเหตุมาจากขาดการนอนหลับและความเมื่อยล้า สูงกว่าการเกิดอุบัติเหตุจากการเมาสุรา* วิทยาศาสตร์การนอนหลับ ข้อมูลจาก  http://www.myfirstbrain.com/student_view.aspx?ID=40529

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 ผลสำรวจความพึงพอใจต่อคุณภาพการบริการและความปลอดภัยรถโดยสารระหว่างจังหวัด

เมื่อเร็วๆ นี้ ฉลาดซื้อได้นำเสนอผลสำรวจความพึงพอใจในเรื่องของคุณภาพการบริการและความปลอดภัยในการใช้รถโดยสารประจำทางหรือรถเมล์ใน กทม.และปริมณฑล ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการสอบถามประชาชนคนที่ใช้จริง ทำให้เห็นหลายเรื่องหลายประเด็นที่ยังเป็นปัญหาในการใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการรอรถ ที่มีถึง 41% ของตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถาม ที่ต้องทนรอรถนานถึง 16 – 30 นาที หรือเรื่องความสะดวกในการเดินทาง ที่พบว่ามีถึง 31% ที่ต้องต่อรถโดยสารมากกว่า 1 ต่อ จึงจะไปถึงจุดหมาย นอกจากนี้ยังพบว่ามีถึง 45% ที่เคยเจอปัญหารถโดยสารประจำทางรับ – ส่งผู้โดยสารนอกป้ายโดยผลสำรวจครั้งนี้จัดทำขึ้นโดย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งไม่ได้มีแค่รถโดยสารประจำทางในกทม.และปริมณฑลเท่านั้น แต่ยังมีผลสำรวจในส่วนของรถโดยสารสาธารณะที่วิ่งให้บริการระหว่างจังหวัด หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า รถบัส หรือ รถทัวร์ ลองมาดูกันสิว่าประชาชนที่ต้องเดินทางจากกทม.ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศด้วยรถโดยสารสาธารณะ เขามีความรู้สึกอย่างไรในเรื่องของคุณภาพการบริการและความปลอดภัยข้อมูลเฉพาะของการสำรวจวิธีสำรวจ : สัมภาษณ์ผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด สถานที่สำรวจ : 1.สถานีขนส่งหมอชิต 2.สถานีขนส่งสายใต้ใหม่จำนวนกลุ่มตัวอย่าง : 413 ตัวอย่างช่วงเวลาที่ทำสำรวจ : 4 – 13 กุมภาพันธ์ 2558ข้อสรุปจากผลสำรวจ-เหตุผลในการเลือกเดินทางโดยรถประจำทางระหว่างจังหวัด พบว่า 70% เลือกเพราะความสะดวก และมีถึง 32% เลือกเพราะค่าใช้จ่ายถูก-จากผลสำรวจพบว่า มีผู้ใช้รถประจำทางระหว่างจังหวัดที่เป็นรถ 2 ชั้น ถึง 60% จากรถทั้งหมด-ผู้ใช้บริการรถประจำทางระหว่างจังหวัด ส่วนใหญ่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงจุดจอดรถรับ-ส่ง สูงกว่าความจำเป็น คือการเดินทางเพื่อเข้าสู่งสถานีขนส่งทั้ง หมอชิต และ สายใต้ใหม่ ยังมีบริการรถโดยสารสาธารณะอย่างรถเมล์ค่อนข้างน้อย ทำให้ผู้โดยสารต้องเลือกใช้บริการที่สะดวกกว่า อย่าง แท็กซี่ หรือ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงกว่า -ยิ่งเมื่อดูในจุดจอดหรือสถานีรับ - ส่งรถประจำทางระหว่างจังหวัดในพื้นที่ต่างจังหวัด ยิ่งถือว่าค่อนข้างเป็นปัญหา เพราะยังขาดระบบการเชื่อมต่อการเดินทางจากสถานีไปยังสถานที่ต่างๆ ทำให้ผู้โดยสารส่วนใหญ่ต้องใช้ รถยนต์ส่วนตัว เป็นหลัก-การเดินทางระหว่างจังหวัด มีจุดจอดรับ-ส่งหรือสถานีขนส่ง ที่มีความปลอดภัย สร้างความพึงพอใจให้ผู้ใช้บริการได้พอสมควร แต่จะต้องพัฒนาต่อไปในอนาคต-ผู้ใช้บริการรถประจำทางระหว่างจังหวัดที่เดินทางที่สถานีขนส่งหมอชิต รอรถน้อยกว่าการไปขึ้นรถที่สถานีขนส่งใต้ใหม่-รถประจำทางระหว่างจังหวัด ไม่มีการบรรทุกผู้โดยสารเกิน -ผู้โดยสารตระหนักถึงความปลอดภัยเมื่อเริ่มเดินทางระหว่างจังหวัด จากอัตราการคาดเข็มขัดที่สูงกว่าการเดินทางภายในจังหวัด-มีผู้โดยสารรถประจำทางระหว่างจังหวัดถึง 34% ที่ตอบว่าไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย โดยเหตุผลหลักคือ รู้สึกอึดอัด 76% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง -การแจ้งให้คาดเข็มขัดนิรภัยจากพนักงานขับรถหรือพนักงานบนรถ มีผลต่ออัตราการคาดเข็มขัดนิรภัยของผู้โดยสาร                                          

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 จำไว้ เธอไม่ใช่นม(ข้นหวาน)

เครื่องดื่มเย็นชื่นใจ ไม่ว่าจะเป็นกาแฟเย็น ชาเย็น โกโก้เย็น คนขายที่เป็นแม่ค้าพ่อค้าจะปรุงด้วยส่วนผสมที่เราเรียกกันติดปากว่า “นมข้นหวาน และนมข้นจืด” แถมด้วยผง “ครีมเทียม” และน้ำตาลทราย เพื่อให้ได้รสชาติ หวาน มัน สะใจลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคนั่นเอง โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะปลอบใจตนเองจากการที่นิยมชมชอบดื่มเครื่องดื่มที่ทั้งหวานและมันจัดว่า ถึงอย่างไรก็ยังได้รับประโยชน์เชิงสุขภาพจากน้ำนมที่มีใน “นมข้นหวาน นมข้นจืด” อยู่บ้างล่ะน่า เพราะยังเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทำจากน้ำนมโค ซึ่งมีสารอาหารโปรตีนและแคลเซียมคุณภาพดี เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ แต่หากได้อ่านฉลากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในท้องตลาดแล้ว ผู้บริโภคอาจจะต้องตั้งคำถามใหม่ว่า นมข้นหวาน หายไปไหน เพราะฉลากที่เคยระบุเป็นนมข้นหวาน นมข้นจืด ไม่มีอีกแล้ว แต่กลายเป็น “ผลิตภัณฑ์นม” “ครีมเทียมข้นหวาน” “ครีมเทียมข้นจืด????.เช็คหน่อย” กันไปหมด แล้วผลิตภัณฑ์ชื่อใหม่ๆ เหล่านี้มันคืออะไรกัน แต่ที่แน่ๆ ถ้าไม่อ่านฉลากก็จะไม่รู้อะไรกันเลยทีเดียว นมข้นมาจากไหนรองศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลเรื่องผลิตภัณฑ์ดังกล่าวว่า ในประเทศที่ผลิตนมโคเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มักมีน้ำนมผลิตออกมามากจนเกินความต้องการของตลาด ซึ่งนิยมถนอมรักษาเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ เช่น นมผง นมข้นจืด ทั้งนี้ เพื่อมีอายุการเก็บรักษายืนยาวขึ้น ประหยัดพื้นที่การเก็บรักษาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า โดยนมข้นจืด ทำจากการนำน้ำนมไประเหยเอาน้ำออกเพื่อให้เข้มข้นขึ้น โดยการให้ความร้อนในเครื่องระเหยภายใต้ระบบสุญญากาศ คล้ายกับการต้มหรือเคี่ยวให้น้ำงวดลง น้ำที่ถูกระเหยออกไปเป็นประมาณครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) นมชนิดนี้จึงมีปริมาณสารอาหารประเภทหลักๆ ได้แก่ โปรตีน ไขมันและแร่ธาตุ เป็นสองเท่าของนมสด จึงเรียกกันว่า “นมข้น” และเพราะมีรสจืด ก็กลายเป็น “นมข้นจืด” บางทีก็เรียกว่า “นมข้นไม่หวาน” ในบางประเทศจะเรียกว่า “นมระเหย” (Evaporated Milk) โดยนมข้นจืดมักนำไปบรรจุกระป๋อง และถูกส่งไปช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาที่มีปัญหาขาดสารอาหาร เช่น ในทวีปอัฟริกา เพื่อให้นำไปเจือจางน้ำสะอาดอีก 1 เท่า และใช้ดื่มเป็นนมสด หลายสิบปีก่อน เมื่ออุตสาหกรรมนมในประเทศไทยยังไม่พัฒนา ก็ได้มีการนำนมข้นจืดมาเจือจางและดื่มเป็นนมสดเช่นกัน คนไทยเราเลยมีความคุ้นเคยว่านมที่อยู่ในกระป๋องสูงๆ มีประโยชน์ดี ส่วนนมข้นหวานผลิตโดยใช้นมข้นจืดมาผสมกับน้ำตาลทรายในสัดส่วนประมาณ 55 ต่อ 45 มีรสหวานจัด ไม่ต้องเก็บในตู้เย็น แต่ห้ามใช้ชงเลี้ยงทารก เพราะต้องเจือจางถึง 5 เท่า ถึงจะหวานพอดี สารอาหารจึงไม่เพียงพอสำหรับทารก ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงบังคับให้ระบุบนฉลากว่า “ห้ามใช้เลี้ยงทารก” สำหรับในต่างประเทศ นมข้นหวานและนมข้นจืด ใช้ทำขนมอบ พวกเบเกอรี่ เพราะเป็นน้ำนมและมีความหวานมัน คนไทยก็นิยมเติมในชา กาแฟ โกโก้ ที่เรียกกันไปต่างๆ เช่น ชานม กาแฟเย็น โอเลี้ยงยกล้อ ผู้บริโภคยังได้สัมผัสรสชาติ และสารอาหารธรรมชาติในน้ำนมตามปริมาณเติมเพื่อปรุงแต่งความอร่อย เมื่อมีการผลิตนมข้นทั้ง 2 ชนิดในบ้านเรา ผู้ผลิตไม่สามารถนำน้ำนมสดมาเป็นวัตถุดิบโดยตรง เพราะไม่มีการผลิตอย่างเพียงพอ ทำให้มีราคาสูง จึงได้นำนมผงที่นำเข้าจากต่างประเทศมาผสมน้ำในสัดส่วนที่เหมาะสม แล้วนำมาบรรจุกระป๋อง ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจึงผลิตได้ในประเทศและเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันเราไม่สามารถหาซื้อ “นมข้นหวาน” และ”นมข้นจืด” ในท้องตลาดในบ้านเราอีกแล้ว เพราะ “นมข้นหวาน” และ “นมข้นจืด” ในเมืองไทยเราเปลี่ยนชื่อเป็น ”ผลิตภัณฑ์นม.....” “ครีมเทียมข้นหวาน” และ “ครีมเทียมข้นจืด” หมดแล้ว โดยที่สภาพหน้าตาของผลิตภัณฑ์ยังคงมีรูปลักษณะเดิม แต่วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์แตกต่างไปจากเดิม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อเรียกบนฉลากว่า “นมข้นหวาน” และ”นมข้นจืด” ดังที่เคยใช้มา แต่คนไทยเรายังคงคุ้นเคยกับชื่อเดิมและใช้เรียกอย่างทั่วไป จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในคุณประโยชน์ได้ครีมเทียมคืออะไรคำว่า “ครีมเทียม” เข้ามาอยู่ในชื่อของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้อย่างไร และมันคืออะไรกันแน่ ครีมเทียมคือ ผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นเลียนแบบครีมแท้ ครีมแท้ทำมาจากน้ำนมโคที่เหวี่ยงแยกไขมันออกมา จึงมีแต่ไขมันในสัดส่วนที่สูงมาก และมีโปรตีนและสารอาหารอื่นจากนมน้อย ครีมเทียมจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่เน้นให้มีไขมันเป็นหลักแต่ไม่ใช้ไขมันนมเพื่อลดต้นทุนลง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ครีมเทียม จึงหมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ทำจากนมและมีไขมันอื่นนอกจากมันเนย เป็นส่วนที่สำคัญ ส่วนประกอบหลักในครีมเทียม จึงเป็นแป้งที่ผ่านการย่อยบางส่วนที่เรียกกันว่า กลูโคสไซรัป หรือ มัลโตเด๊กตริน (คนไทยจะคุ้นชินในชื่อ แบะแซ) ผสมกับไขมัน โดยบางยี่ห้อก็เป็นน้ำมันปาล์ม บางยี่ห้อก็เป็นน้ำมันพืชชนิดอื่นหวาน มัน ครั้งต่อไป จำไว้ เธอไม่ใช่นม นมข้นหวานและนมข้นจืด ได้มีการเปลี่ยนแปลงสูตรไปจากเดิม ด้วยเหตุผลที่สำคัญคือผู้ผลิตต้องการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งไม่ใช่เพิ่งทำ แต่ได้ดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 10 ปีแล้ว ในระยะแรก เริ่มจากการใช้ไขมันเนยที่มีราคาแพงไปเป็นการใช้ไขมันพืชแทน เช่น การใช้น้ำมันปาล์มบ้าง น้ำมันมะพร้าวบ้าง ผสมกับนมผงขาดมันเนย ต่อมาจึงได้เริ่มมีการลดปริมาณนมผงที่เติมลงไป จนมีปริมาณนมในผลิตภัณฑ์น้อยมากจนกฎหมายไม่อนุญาตให้คำเรียกว่า “นม” เพราะผลิตภัณฑ์ที่จะเรียกว่า “นม” ได้นั้น จะต้องมีเนื้อนมไม่น้อยกว่าร้อยละ 8 ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ผลิตภัณฑ์ที่คนไทยส่วนใหญ่ยังหลงเรียกกันว่า “นมข้นหวาน และนมข้นจืด” จึงตกจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผลิตภัณฑ์นม และเพื่อให้สามารถปรับปริมาณนมได้ตามอิสระมากขึ้น ผู้ประกอบการบางรายเลือกที่จะให้ผลิตภัณฑ์เข้าไปอยู่ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ครีมเทียม แทน เพราะทำให้สามารถปรับลดต้นทุนได้ง่ายขึ้น ด้วยการเพิ่มการใช้กลูโคสไซรัป (แบะแซ) ในปัจจุบันนี้ ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันว่า ครีมเทียมทั้งในรูปผง ข้นจืดและข้นหวานในกระป๋อง ที่เรานิยมใส่ในเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ โกโก้ ทั้งร้อนและเย็น รวมทั้งที่มีในผง 3 in 1 ทั้งหลาย มีสัดส่วนของน้ำนมน้อยมากหรืออาจไม่มีเลย ถ้าจะเลือกใช้แบบที่บรรจุกระป๋อง ก็ใช้ที่ผู้ผลิตเรียกว่า “ผลิตภัณฑ์นม” ก็จะได้บริโภคเนื้อนมมากกว่า เพราะมีกฏหมายคุมอยู่บ้าง เข้าทำนอง “กำขี้ดีกว่ากำตด” จึงต้องฝึกการอ่านฉลากและส่วนประกอบไว้ให้เป็นนิสัย ซึ่งกฎหมายบังคับให้ผู้ผลิตต้องแสดงข้อความดังกล่าวเป็นร้อยละหรือเปอร์เซ็นต์ เท่าทันคำอ้างบนฉลากเรื่องแรกที่ควรรู้ให้เท่าทันคือ สิ่งที่ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ไม่ว่ายี่ห้อไหน ชอบระบุว่า “ไม่มีโคเลสเตอรอล” หรือ “ปราศจากโคเลสเตอรอล” (No Cholesterol) ในความจริงตามธรรมชาตินั้น ไขมันจากพืชไม่มีโคเลสเตอรอลอยู่แล้ว แต่หากเป็นไขมันอิ่มตัวเช่น ไขมันปาล์ม เมื่อบริโภคเข้าไปร่างกาย ร่างกายสามารถเปลี่ยนเป็นโคเลสเตอรอลได้และยังมีผลในการเพิ่มไขมันตัวไม่ดี แอลดีแอล (LDL) อีกด้วย ไขมันที่ใช้ทดแทนไขมันนม ต้องการไขมันที่มีความอิ่มตัวสูง เพราะทำให้รสชาติมันอร่อย เวลาเติมผลิตภัณฑ์เหล่านี้ลงในเครื่องดื่มถ้วยโปรด จึงต้องใช้สติ ควบคุมอารมณ์ความยากให้ดี อย่า หวาน มัน มากเกินไป เพราะในแต่ละวันเราก็ยังมีโอกาสที่ได้รับไขมันอิ่มตัวจากอาหารมื้อหลักในปริมาณที่สูงมากได้อีกหลายทาง เรื่องที่สอง คือการสร้างความกลัวเรื่องไขมันทรานส์ สิ่งที่น่ากังวลคือ ผู้ผลิตมักมีการกล่าวอ้างเรื่องไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์ครีมเทียมว่า “ปราศจาก” ซึ่งต้องเข้าใจและไม่หลงคล้อยตาม เพราะปัญหาเรื่องไขมันทรานส์มักพบในประเทศแถบตะวันตกเป็นหลัก เนื่องจากการผลิตครีมเทียมด้วยน้ำมันพืชที่มีไขมันไม่อิ่มตัว ต้องใช้กระบวนการไฮโดรจิเนชั่น (Hydrogenation) ซึ่งจะทำให้เกิดไขมันทรานส์ ที่มีผลให้ไขมันแอลดีแอล และโคเลสเตอรอลเพิ่มขึ้นแล้ว ยังไปทำให้ไขมันตัวดีหรือเอชดีแอลลดลงด้วย แต่สถานการณ์นี้จะไม่เกิดในเมืองไทยเพราะเราใช้ไขมันอิ่มตัวที่ไม่ผ่านกระบวนการไฮโดรจิเนชั่น การกล่าวอ้างดังกล่าวจึงเป็นการกลบเกลื่อนหรือเบี่ยงเบนข้อเสียของผลิตภัณฑ์ตนเองที่อุดมไปด้วยไขมันอิ่มตัว แต่เปลี่ยนเป็นการทำให้คนไทยเกิดความกลัวไขมันทรานส์จนลืมปัญหาที่แท้จริงของตนเองคือไขมันอิ่มตัว จึงต้องระวังกันให้มากเมื่อมีการใช้ครีมเทียมมาผลิตเป็น ครีมเทียมข้นหวาน ครีมเทียมข้นจืด สิ่งที่ทำให้คนเรารู้ไม่เท่าทันนั่นก็คือ หน้าตาและรสชาติที่ยังคงเดิม น้ำมันปาล์มที่ใช้ยิ่งใส่มากยิ่งได้ความมันอร่อย คนไทยกินอาหารมักคำนึงถึงความอร่อยมาก่อนสุขภาพ ปัจจุบันคนไทยจึงประสบปัญหาของไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจขาดเลือด ตลอดจน เบาหวานและความดันโลหิตสูงมากขึ้น การอ่านฉลากก่อนซื้อจึงมีความสำคัญมาก และนั่นก็คือ การฉลาดซื้อนั่นเอง          

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 บทบรรณาธิการ

สัปดาห์ที่ผ่านมาคุณสุภาพ คลี่ขจาย นักสื่อสารมวลชน ที่มีบทบาททางการเมืองด้วย ได้สัมภาษณ์สอบถามเรื่องความก้าวหน้าของกฎหมายปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ตอบคุณสุภาพไปว่า มีความคืบหน้าน้อยมาก กฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ก็ยังไปไม่ถึงไหน เพราะส่งให้คณะรัฐมนตรีไปตั้งแต่ 9 มีนาคม ที่ผ่านมา แต่จนบัดนี้กฎหมายยังนอนอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คุณสุภาพได้ตังคำถามว่า ทำไมไม่ออกมาโวยวายบอกให้คนอื่นได้รับรู้ ได้ตอบคุณสุภาพไปว่า กฎหมายฉบับนี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นกฎหมาย NGOs เป็นกฎหมายองค์กรผู้บริโภค หากโวยวายมาก เขาก็จะบอกว่า เราทำเพราะอยากมีตำแหน่งในกฎหมายฉบับนี้ NGOs กำลังสร้างอำนาจของตนเองกฎหมายฉบับนี้เป็นจุดเปลี่ยน(คานงัด)ที่สำคัญของผู้บริโภค แต่เดิมที่ผู้บริโภคต้องรอให้คนอื่นมาช่วยเหลือ กฎหมายฉบับนี้จะทำให้ผู้บริโภคมีเพื่อน เป็นการเพิ่มพลังและอำนาจต่อรองให้กับผู้บริโภค มีแล้วจะมีประโยชน์อะไรกับผู้บริโภค ประโยชน์มากสุดคงทำให้ผู้บริโภค มีความสามารถเท่าทันการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน โฆษณาในทีวีที่หลอกเราได้ทุกวัน มีที่พึ่งเมื่อเกิดปัญหาการละเมิดสิทธิกับผู้บริโภค ปัจจุบันเมื่อเกิดปัญหากับผู้บริโภค ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยอยากใช้สิทธิ เพราะเราส่งเสริมให้ใช้สิทธิ แต่พบว่า เมื่อใช้สิทธิแล้วยาก หลายคนไปทุกหน่วยงาน ใช้เวลาตั้งแต่เป็นเดือนยันหลายปี องค์การนี้จะช่วยทำให้กลไกต่าง ๆ ทำงานและทำหน้าที่ของตนเองได้มากขึ้น บางคนร้องเรียนหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคใช้เวลานานถึง 92 วันแล้วยังไม่แล้วเสร็จในขั้นตอนการไกล่ไกลี่ย? บางคนร้องเรียนว่า ช่วยฟ้องคดีอยู่ 4 ปี แต่แพ้คดีเพราะไม่ใช่คดีผู้บริโภค คงเป็นตัวอย่างส่วนน้อยของความทุกข์ของผู้บริโภคที่ใช้สิทธิในปัจจุบัน การเพิ่มแต้มต่อให้ผู้บริโภคสำคัญในยุคที่รัฐเข้มแข็ง และสนับสนุนภาคธุรกิจเป็นหลักในทิศทางการพัฒนา การปฏิรูปในปัจจุบัน ต้องเพิ่มแต้มต่อหรืออำนาจต่อรองให้ผู้บริโภคเหมือนที่จอห์นเอฟเคเนดี้บอกว่า หากสหรัฐอเมริกาจะเป็นมหาอำนาจต้องเพิ่มอำนาจต่อรองให้ผู้บริโภคและทำให้สิทธิของคนผิวดำทัดเทียมกับคนผิวขาว กฎหมายฉบับนี้ที่ไม่เกิดเพราะมีคนบอกว่า ภาครัฐและธุรกิจไม่อยากให้เกิด ย่อมสะท้อนว่ากฎหมายฉบับนี้ดี และจะเป็นพลังและแต้มต่อให้ผู้บริโภคในอนาคตแน่นอน 17 ปีที่ผ่านมา หากกฎหมายฉบับนี้ถูกผลักดันในต่างประเทศ ป่านนี้คงได้ตั้งชื่อว่าเป็นกฎหมายของสารีไปแล้ว(อิๆ)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือกับ Police i lert u

เหตุฉุกเฉินมักจะไม่บอกสัญญาณเตือนล่วงหน้า ดังนั้น สติ คือสิ่งที่ควรมีที่สุดในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อมีสติ สิ่งต่อไปคือต้องมีผู้ช่วยที่จะคอยช่วยเหลือชีวิตและทรัพย์สินของเราด้วย ก่อนหน้านี้เมื่อเกิดเหตุด่วน ทุกคนจะต้องนึกถึงหมายเลขโทรศัพท์ 191 โดยมีความหวังให้ตำรวจเดินทางมาช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์ ล่าสุดได้มีแอพพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาโดยกองบัญชาการตำรวจนครบาลทำออกมาเพื่อตอบสนองกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเหนือจากหมายเลขโทรศัพท์ 191แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า Police i lert u แอพพลิเคชั่นนี้สามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้ทั้งในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และระบบปฏิบัติการ ios หลังจากที่ได้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นมาไว้บนสมาร์ทโฟนแล้ว ขั้นตอนแรกคุณจะต้องคลิก sign up เพื่อสมัครและกรอกรายละเอียดสำคัญ อาทิเช่น ชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ สำหรับให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถติดต่อกลับมายังเจ้าของสมาร์ทโฟนเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ในแอพพลิเคชั่น Police i lert u คุณสามารถ sign in และ log out ออกจากแอพพลิเคชั่นได้ตลอดภายในแอพพลิเคชั่นจะสามารถส่งข้อความแบบ chat กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่บริเวณเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  อีกส่วนหนึ่งจะเป็นเรื่องของการแก้ไขข้อมูลส่วนตัว ทั้งเรื่องรูปภาพ พาสเวิร์ด หมวดที่สำคัญอีก 2 หมวดสำหรับแอพพลิเคชั่นนี้ อย่างแรก คือ หมวด i lert เป็นหมวดที่มีไว้สำหรับส่งสัญญาณเพื่อแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายที่เกิดขึ้นจากแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน โดยเมื่อเข้าหมวดนี้ แอพพลิเคชั่นจะค้นหาตำแหน่งสมาร์ทโฟนว่าอยู่ตรงไหน จะเห็นว่ามีพิกัดเป็นตัวเลขลองจิจูดและละติจูด ด้านล่างคุณสามารถเขียนข้อความเพื่อแจ้งรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ พร้อมทั้งสามารถแนบรูปถ่ายสถานที่เกิดเหตุ ต่อจากนั้นให้กดปุ่มสัญลักษณ์สัญญาณบริเวณด้านบนขวา ข้อมูลต่างๆ ก็จะถูกส่งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนกลาง เพื่อที่จะส่งข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ใกล้บริเวณที่เกิดเหตุ และแจ้งให้เดินทางมาถึงสถานที่นั้นๆ ได้อย่างรวดเร็วในกรณีที่คุณไม่สามารถเขียนข้อความหรรือถ่ายรูปได้ ก็สามารถที่จะกดปุ่มส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือได้เลย หมวดสุดท้ายที่สำคัญ คือ หมวด i call เป็นหมวดที่แจ้งเบอร์โทรศัพท์ที่จะสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณที่ใกล้คุณมากที่สุด เพื่อให้สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้รวดเร็วมากขึ้นแอพพลิเคชั่น Police i lert u ถือว่าเป็นแอพพลิเคชั่นที่มีประโยชน์ และควรดาวน์โหลดไว้บนสมาร์ทโฟน เพื่อไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินที่เกิดขึ้น และที่สำคัญควรกดปุ่มเพื่อส่งสัญญาณของความช่วยเหลือเมื่อจำเป็นเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >