ฉบับที่ 169 น้ำกระเทียมทะลวงหลอดเลือด

งานวิจัยหลายชิ้นบอกว่า กระเทียมเป็นพืชสมุนไพรที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ ปัจจุบันจึงมีการนำกระเทียมมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพมากมาย ส่วนมากจะเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ส่วนที่เป็นยาก็มีบ้าง มักขึ้นเป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ แต่ผลิตภัณฑ์ที่เกริ่นมาแล้วคงต้องหลีกทางให้กับผลิตภัณฑ์กระเทียมชนิดใหม่ ที่กำลังมาแรงแซงโค้ง มันคือ ผลิตภัณฑ์น้ำกระเทียมทะลวงหลอดเลือด คงไม่ต่างจากผลิตภัณฑ์สุขภาพชนิดอื่นๆ ที่ขายกันเกร่อทางอินเตอร์เน็ต ผลิตภัณฑ์น้ำกระเทียมทะลวงหลอดเลือดที่กำลังพูดถึงนี้ เปิดเนื้อหาการโฆษณาด้วยการบอกว่า ปัจจุบันนี้ผู้คนต่างประสบชะตากรรมจากปัญหาไขมัน โคเลสเตอรอลที่สะสมในร่างกายมากมาย โดยเฉพาะ โคเลสเตอรอลที่สะสมในส่วนของหลอดเลือด หลังจากนั้นก็พร่ำพรรณนาถึงคุณประโยชน์ของกระเทียมที่มีต่อร่างกาย บางส่วนก็นำมาจากผลวิจัยที่เราเคยรับรู้ แต่บางอย่างก็มาจากการบอกต่อๆ มา ที่ยังไม่มีผลวิจัยใดๆ รองรับ ผมนับไปนับมาจนตาลาย นับได้เกือบถึงห้าสิบอย่าง และตบท้ายเข้าทางการขาย โดยบอกว่า ถึงกระเทียมจะมีประโยชน์ แต่เราก็ไม่ควรกินกระเทียมสดๆ เพราะร่างกายจะดึงประโยชน์ของกระเทียมออกมาได้น้อยมาก ควรหันมาดื่มผลิตภัณฑ์น้ำกระเทียมทะลวงหลอดดีกว่า เพราะผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ผลิตโดยนำกระเทียมมาบด แล้วบ่มกับน้ำส้มแอปเปิ้ลหมักที่เรียกว่า Apple cider และน้ำผึ้ง จนได้ผลิตภัณฑ์น้ำกระเทียม ที่เมื่อดื่มเข้าไปจะได้ประโยชน์กว่ากินกระเทียมหลายเท่า (ประมาณว่าร่างกายดึงประโยชน์ไม่ได้ แต่หากมีสตางค์ก็สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ดึงได้ดีกว่า..เอาล่ะซิ) นอกจากนี้ยังบอกต่ออีกว่า ผลิตภัณฑ์น้ำกระทียมนี้จะช่วยทำให้ร่างกายของเราสะอาดและปลอดโรคในทุกๆ วัน เมื่อดื่มติดต่อกันนานหนึ่งเดือนให้ไปตรวจโคเลสเตอรอลและไขมันในเลือด รับรองมันจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด ตัวผมเอง เป็นคนที่สนใจประโยชน์ของสมุนไพรที่มีต่อสุขภาพมานานแล้ว กระเทียมก็เป็นพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์มากมาย แต่การนำมาผลิตให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้คุณภาพ ก็ต้องผ่านกระบวนการผลิตที่สามารถเก็บรักษาคุณภาพของกระเทียมให้ได้มากที่สุด และที่สำคัญคือ “ต้องไม่กล่าวอ้างสรรพคุณเกินจริง โดยเฉพาะสรรพคุณที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้” เหตุที่ผมต้องนำมาเตือนผู้อ่านทุกท่าน ก็เพราะผลิตภัณฑ์กระเทียมบางอย่างดันโอ้อวดสรรพคุณมากมายเกินจริง จนอาจทำให้ผู้บริโภคคาดหวังและหลงเชื่อไปใช้อย่างผิดๆ หากจะเลือกใช้ขอให้ดูให้ดีก่อนว่า ผลิตภัณฑ์กระเทียมที่จะใช้นั้นได้ขออนุญาตถูกต้องหรือเปล่า ถ้ามี อย.แสดงว่าเป็นผลิตภัณฑ์กระเทียมประเภทอาหาร ไม่สามารถมาหลอกว่ามีสรรพคุณในการรักษาโรคได้ แต่ถ้ามีทะเบียนยา แสดงว่าผลิตภัณฑ์กระเทียมนั้นเป็นยารักษาโรคได้ แต่สรรพคุณในการรักษาโรคก็ต้องตรงตามที่ขออนุญาตบนฉลากด้วย จะมาโอ้อวดร้อยแปดพันเก้าจนกระเทียมกลายเป็นยาวิเศษ อย่างนี้ก็ไม่ถูกต้องนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 ประกาศ “ไม่รับผิดชอบในการสูญหายของทรัพย์สิน” มีผลตามกฎหมายหรือไม่ ?

สวัสดีครับ ผู้อ่านทุกท่าน  วันนี้เราจะมาว่ากันถึงเรื่อง ป้ายต่างๆ ที่ชอบมีติดตามโรงแรม หรือตามที่จอดรถ ว่า “ ไม่รับผิดชอบในการสูญหายของทรัพย์สิน “ เคยสงสัยกันไหมครับว่าป้ายพวกนี้ มีผลทางกฎหมายมากน้อยเพียงใด อย่างแรกที่เรารู้กันคือป้ายพวกนี้ คนที่ทำขึ้นมักจะเป็นทางเจ้าของโรงแรม หรือ ห้างร้านต่างๆ ที่เราเข้าไปใช้บริการ เวลาเราไปใช้บริการพักในโรงแรมต่างๆ บ่อยครั้งต้องเดินทางไปหลายที่จึงต้องมีกระเป๋าเดินทาง เสื้อผ้า และทรัพย์สินอีกมากมาย ที่ต้องใช้ติดตัวในการเดินทาง แน่นอนว่า เราต้องนำสิ่งของ สัมภาระต่างๆ เหล่านี้ เก็บไว้ในห้องพัก หรือต้องนำรถยนต์มาจอดไว้ในโรงแรม ระหว่างที่เราเข้าพักหรือเราต้องเดินทางออกไปข้างนอก ในความเข้าใจของผู้บริโภคที่เข้าใช้บริการโรงแรม ย่อมเข้าใจว่า  หน้าที่ของโรงแรมไม่ใช่เป็นเพียงเปิดห้องพักเพื่อหลับนอนชั่วคราวเท่านั้น แต่ควรช่วยดูแลรักษาทรัพย์สินให้แก่ผู้เข้าพักด้วย   แต่หลายโรงแรมก็มักชอบติดป้ายประกาศ เพื่อยกเว้นความรับผิดของตนเอง ในทำนองว่า “ไม่รับผิดชอบในการสูญหายของทรัพย์สิน” เช่นนี้ ผู้บริโภคที่ใช้บริการจะได้รับความคุ้มครองอีกหรือไม่ ในเรื่องนี้ได้มีการโต้เถียงกันจนเป็นคดีขึ้นสู่ศาล เป็นคดีที่ ผู้บริโภคไปใช้บริการในโรงแรมแห่งหนึ่งแล้วได้จอดรถไว้ที่ลานจอดรถของโรงแรม มีการล็อครถอย่างดี แต่เมื่อเสร็จธุระในโรงแรม กลับมาปรากฎว่ารถหายไป จึงฟ้องร้องโรงแรมให้รับผิดชอบ ซึ่งศาลได้ตัดสินไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7790/2544 ลานจอดรถเป็นของจำเลยจัดให้ผู้มาพักโรงแรมของจำเลยได้จอดรถ น. ซึ่งเป็นคนเดินทางจึงมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะนำรถยนต์เข้าไปจอดภายในบริเวณลานจอดรถดังกล่าว ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย ส่วนที่จำเลยปิดประกาศไม่รับผิดชอบหากเกิดการสูญหายของทรัพย์สิน ก็ไม่ปรากฏว่า น. ได้ตกลงด้วยโดยชัดแจ้งในการยกเว้นความรับผิดตามประกาศดังกล่าว กรณีนี้จึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 677 และในการจอดรถ น. ได้ปิดล็อกประตูรถทุกบานแล้วเพราะเป็นระบบเซ็นทรัลล็อก ย่อมถือได้ว่า น. มิได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์สูญหาย กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นความรับผิดตามมาตรา 675 วรรคสาม รถยนต์เป็นเพียงทรัพย์สินธรรมดาทั่ว ๆ ไป เท่านั้น ถึงแม้ราคาจะค่อนข้างสูงก็ตาม ยังถือไม่ได้ว่ามีลักษณะเป็นของมีค่าตามมาตรา 675 วรรคสอง น. ไม่จำต้องแจ้งฝากรถยนต์ไว้ต่อจำเลย จากคำพิพากษาฏีกานี้ ทำให้เราเห็นว่า  ป้ายประกาศของทางโรงแรม ที่มีข้อความยกเว้นความรับผิด กรณีทรัพย์สินสูญหายนั้น ไม่มีผลใช้บังคับ เพราะเป็นป้ายที่ทางโรงแรมเป็นผู้กำหนดไว้เพียงฝ่ายเดียว ทางผู้บริโภคที่เข้าใช้บริการ เขาไม่ได้ตกลงยินยอมด้วย เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 677 ที่บัญญัติว่า “ถ้ามีคำแจ้งความปิดไว้ในโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่ อื่นทำนองเช่นว่านี้ เป็นข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของเจ้าสำนักไซร้ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะได้ตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดดั่งว่านั้น” อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตอีกนิดว่า ถ้าเป็นทรัพย์สิน ของมีค่า ผู้เข้าพักต้องแจ้งให้ทางโรงแรมทราบและฝากไว้กับทางโรงแรม   โดยศาลมองว่า รถยนต์ เป็นเพียงทรัพย์สินที่มีราคาค่อนข้างสูงจริง แต่ยังไม่ถือว่าเป็นของมีค่า ซึ่งทรัพย์สินที่มีค่าในที่นี้ คือ เงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่นๆ หากแขกพักอาศัยหรือคนเดินทางนำเข้ามาในโรงแรมแล้วเก็บรักษาไว้เองและเกิดการสูญหายหรือเสียหายไปเจ้าสำนักโรงแรมจำกัดความรับผิดไว้เพียง 5,000 บาท ทั้งนี้แม้ว่าของมีค่านั้นจะมีราคาเกินกว่า  5,000 บาทก็ตาม แต่หากสิ่งของมีค่ามีราคาไม่ถึง 5,000 บาท เจ้าของสำนักย่อมรับผิดตามแต่เพียงราคาของสิ่งนั้น มิใช่รับผิด 5,000 บาท     แต่อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่าเจ้าของโรงแรมจะต้องรับผิดไปเสียทุกกรณี  เพราะหากความสูญหายนั้น เกิดจากเหตุสุดวิสัย หรือสภาพของทรัพย์สินนั้นเอง อันเกิดจากคนเดินทาง เจ้าของทรัพย์สินหรือบริวารที่พามาด้วย เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 675 ที่บัญญัติว่า “เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้าอัญมณี หรือของมีค่าอื่นๆ ให้จำกัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง แต่เจ้าสำนักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลาย อันเกิด แต่เหตุสุดวิสัยหรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้นหรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเองหรือบริวารของเขาหรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ” กรณีนี้ หากผู้บริโภคเห็นป้ายแล้วไม่เกิดความสงสัย เชื่อตามข้อความดังกล่าว ก็จะไม่กล้าเรียกร้องให้โรงแรมรับผิด  ดังนั้นผู้บริโภคต้องมีความเท่าทันในเรื่องเหล่านี้ เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากการซื้อสินค้าและบริการ  

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 169 ถึงเวลาต้องปฏิรูปการเข้าถึงอาหารปลอดภัย

15 มีนาคม ของทุกปี  คือวันคุ้มครองผู้บริโภคสากล  เป็นวันที่ผู้บริโภคทั่วโลกลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน  จากการที่ถูกละเมิดสิทธิโดยผู้ประกอบการที่ไร้ธรรมาภิบาล  โดยรัฐบาลของแต่ละประเทศมีหน้าที่กำหนดนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แท้จริงแล้ว  ประเทศไทยมีการพูดถึงสิทธิผู้บริโภคมาก่อนปี 2520  และผลักดันจนทำให้เกิด พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2522  โดยกำหนดสิทธิผู้บริโภคไว้ถึง 5 ประการ  คือ สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ/สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกสินค้าและบริการ/สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา/สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ/สิทธิจะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย   (ยังมีสิทธิผู้บริโภคสากลอีก 3 ข้อ)และให้มี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค  ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ  มาเป็นผู้กำกับดูแลงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทย  และมีการขยายงานคุ้มครองผู้บริโภค ออกไปอีกหลายหน่วยงานในแต่ละด้าน แต่รัฐก็คือรัฐ งานทุกเรื่องเป็นไปอย่างล่าช้า   ไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมผู้ประกอบการที่ไร้จริยธรรม  แม้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มีผลบังคับใช้มากว่า 35 ปีแต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองอย่างจริงจัง! งานสมัชชาผู้บริโภคที่จัดขึ้นวันที่ 15 มีนาคม ปีนี้   เน้นไปที่เรื่องการเข้าถึงอาหารปลอดภัย  เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  จริงจังกับเรื่องอาหารปลอดภัยเพิ่มขึ้น  ไม่ใช่บริโภคอาหารตามที่โฆษณา เช่น  กินชาเขียว(น้ำตาลเยอะ)แล้วได้รถเบนซ์  กินเครื่องดื่มชูกำลังแล้ว ได้เงิน 10 ล้าน  คนก็ระดมกินกันมากมายเพื่อหวังรวย  มิได้กินเพื่อเป็นอาหาร  ยกตัวอย่าง เช่น บริษัทเครื่องดื่มชูกำลัง มักชอบไปจัดงานอีเว้น  ในต่างจังหวัดโดยมีสิ่งล่อใจ ด้วยของขวัญของรางวัล และเชิญดารานักร้องดังไปปรากฏตัว  แต่มีข้อแม้ใครจะเข้างานต้องมีฝาขวด 10 ฝา  บางคนก็เตรียมมาจากบ้าน  คนที่ไม่ได้เตรียมมาก็ซื้อได้เลยหน้างาน สิ่งที่น่าเศร้าใจที่สุดคือ เด็กประมาณ 11 ขวบ ยืนกินเครื่องดื่มชูกำลังตรงนั้นรวดเดียว 10 ขวด  เพียงแค่อยากเข้าไปสัมผัสใกล้ชิดกับดาราที่ชื่นชอบ  โดยที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีใครเสนอตัวเข้ามาเป็นเจ้าภาพจัดการ       ยังไม่รวมถึงการโฆษณาอาหารเสริม  ให้เข้าใจผิดว่าเป็นยารักษาโรค   การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพที่สำคัญ  มี  2 ส่วน ต้องมีการกำกับการโฆษณาอาหารมิให้เกิดการโฆษณาเกินจริง และใช้การพนันมาสร้างแรงจูงใจให้ซื้อสินค้า   ควบคุมความหวานในอาหาร และกำหนดห้ามดื่มเกินวันละ กี่ขวด   เพราะ “ปากคือประตูสู่โรคภัย”  ไม่ควบคุมวันนี้ อนาคตเด็กไทย  จะเป็น “คนอมโรค” ซึ่งจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ  และความมั่นคงของประเทศ   ดังนั้นการทำให้ผู้บริโภคเท่าทัน!  ก่อนหยิบอะไรใส่ปากจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง!  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 ถึงเวลาต้องปฏิรูปการเข้าถึงอาหารปลอดภัย

15 มีนาคม ของทุกปี  คือวันคุ้มครองผู้บริโภคสากล  เป็นวันที่ผู้บริโภคทั่วโลกลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน  จากการที่ถูกละเมิดสิทธิโดยผู้ประกอบการที่ไร้ธรรมาภิบาล  โดยรัฐบาลของแต่ละประเทศมีหน้าที่กำหนดนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคแท้จริงแล้ว  ประเทศไทยมีการพูดถึงสิทธิผู้บริโภคมาก่อนปี 2520  และผลักดันจนทำให้เกิด พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2522  โดยกำหนดสิทธิผู้บริโภคไว้ถึง 5 ประการ  คือ สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ/สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกสินค้าและบริการ/สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา/สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ/สิทธิจะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย   (ยังมีสิทธิผู้บริโภคสากลอีก 3 ข้อ)และให้มี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค  ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ  มาเป็นผู้กำกับดูแลงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทย  และมีการขยายงานคุ้มครองผู้บริโภค ออกไปอีกหลายหน่วยงานในแต่ละด้านแต่รัฐก็คือรัฐ งานทุกเรื่องเป็นไปอย่างล่าช้า   ไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมผู้ประกอบการที่ไร้จริยธรรม  แม้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มีผลบังคับใช้มากว่า 35 ปีแต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองอย่างจริงจัง!งานสมัชชาผู้บริโภคที่จัดขึ้นวันที่ 15 มีนาคม ปีนี้   เน้นไปที่เรื่องการเข้าถึงอาหารปลอดภัย  เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  จริงจังกับเรื่องอาหารปลอดภัยเพิ่มขึ้น  ไม่ใช่บริโภคอาหารตามที่โฆษณา เช่น  กินชาเขียว(น้ำตาลเยอะ)แล้วได้รถเบนซ์  กินเครื่องดื่มชูกำลังแล้ว ได้เงิน 10 ล้าน  คนก็ระดมกินกันมากมายเพื่อหวังรวย  มิได้กินเพื่อเป็นอาหาร  ยกตัวอย่าง เช่น บริษัทเครื่องดื่มชูกำลัง มักชอบไปจัดงานอีเว้น  ในต่างจังหวัดโดยมีสิ่งล่อใจ ด้วยของขวัญของรางวัล และเชิญดารานักร้องดังไปปรากฏตัว  แต่มีข้อแม้ใครจะเข้างานต้องมีฝาขวด 10 ฝา  บางคนก็เตรียมมาจากบ้าน  คนที่ไม่ได้เตรียมมาก็ซื้อได้เลยหน้างาน สิ่งที่น่าเศร้าใจที่สุดคือ เด็กประมาณ 11 ขวบ ยืนกินเครื่องดื่มชูกำลังตรงนั้นรวดเดียว 10 ขวด  เพียงแค่อยากเข้าไปสัมผัสใกล้ชิดกับดาราที่ชื่นชอบ  โดยที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีใครเสนอตัวเข้ามาเป็นเจ้าภาพจัดการ       ยังไม่รวมถึงการโฆษณาอาหารเสริม  ให้เข้าใจผิดว่าเป็นยารักษาโรค   การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพที่สำคัญ  มี  2 ส่วน ต้องมีการกำกับการโฆษณาอาหารมิให้เกิดการโฆษณาเกินจริง และใช้การพนันมาสร้างแรงจูงใจให้ซื้อสินค้า   ควบคุมความหวานในอาหาร และกำหนดห้ามดื่มเกินวันละ กี่ขวด   เพราะ “ปากคือประตูสู่โรคภัย”  ไม่ควบคุมวันนี้ อนาคตเด็กไทย  จะเป็น “คนอมโรค” ซึ่งจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ  และความมั่นคงของประเทศ   ดังนั้นการทำให้ผู้บริโภคเท่าทัน!  ก่อนหยิบอะไรใส่ปากจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง!  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 การใช้สิทธิตามมาตรา 41 ในกฎหมายหลักประกันสุขภาพ

คุณหนึ่ง(นามสมมติ) ได้เข้ามาร้องเรียนกับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เนื่องจากกรณีการใช้สิทธิรักษาพยาบาล โดยเรื่องมีอยู่ว่า แม่ของคุณหนึ่ง เกิดอาการผิดปกติ โดยอาเจียนอย่างรุนแรงถึง  4 ครั้ง มีอาการอ่อนเพลีย อ่อนแรง พูดไม่ชัด ผู้ร้องจึงรีบนำส่งโรงพยาบาล แต่กว่าจะได้พบแพทย์ใช้เวลาร่วมชั่วโมง และเมื่อแพทย์ฟังอาการของคุณแม่ ที่คุณหนึ่งเล่า ก็สั่งจ่ายยาและให้กลับบ้านได้ โดยไม่ได้ตรวจร่างกายผู้ป่วยแต่อย่างใด แม้จะทักท้วงเพื่อขอให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลหรือให้น้ำเกลือ แต่ทางแพทย์ก็ปฏิเสธทั้งสองกรณีเมื่อกลับมาบ้านได้ประมาณ 2 ชั่วโมง ก็ต้องกลับไปที่โรงพยาบาลอีกครั้ง เพราะอาการอาเจียนยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ต้องเข้าห้องฉุกเฉินและแพทย์ได้ตรวจเลือดพบว่า มีเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ แต่แพทย์ก็ไม่ได้ตรวจหาสาเหตุว่าอาเจียนเพราะเหตุใด ผู้ร้องปรึกษาว่าควรให้คนไข้นอนที่นี่ไหมเพื่อเฝ้าติดตามประเมินอาการคนไข้อย่างใกล้ชิดแต่แพทย์ปฏิเสธเป็นครั้งที่ 22 วัน ต่อมา คุณแม่อาการรุนแรงขึ้น จึงนำส่งโรงพยาบาลอีก แต่เช่นเดิม กว่าจะได้ตรวจเสียเวลามาก ผู้ป่วยเริ่มมีอาการแย่ลง มีไข้สูงแต่พยาบาลก็ไม่ทำอะไร แพทย์กลับมาดูอีกครั้งผู้ป่วยนอนหลับไม่รู้สึกตัวและไม่ตอบสนอง ในที่สุดต้องช่วยปั๊มหัวใจ แต่ไม่สำเร็จผู้ป่วยได้เสียชีวิต แนวทางแก้ไขปัญหา ในเบื้องต้นนั้น ได้แนะนำให้ทางผู้ร้องคือคุณหนึ่ง ร้องเรียนต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามมาตรา 41 ซึ่งว่าด้วยการเยียวยาความเสียหายเบื้องต้น ซึ่งผู้ร้องได้ทำการร้องเรียนและได้รับเงินชดเชยมาทั้งหมด 360,000 บาท แล้ว แต่ผู้ร้องเห็นว่า หากโรงพยาบาลมีการให้บริการที่ดีผู้ป่วยคงไม่เสียชีวิต จึงต้องการเรียกร้องค่าเสียหาย ซึ่งตอนนี้อยู่ในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง หลักเกณฑ์พิจารณาความช่วยเหลือตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดไว้ ดังนี้1. เสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิตและมีผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีพ จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ ตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท2. สูญเสียอวัยวะหรือพิการ ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบี้องต้นได้ ตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท3. บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 100,000  บาทผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการทายาทหรือผู้อุปการะ หรือหน่วยบริการที่ให้บริการ มีสิทธิยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ที่ สำนักงานสาขาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพในจังหวัดนั้น หรือหน่วยรับเรื่องร้องเรียนตามมาตร 50 (5)การพิจารณาวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการจะต้องทำให้เสร็จโดยเร็ว ไม่เกิน 30 วัน นับตั้งแต่ได้รับคำร้องขอในกรณีที่ผู้รับบริการหรือทายาทหรือผู้อุปการะของบุคคลดังกล่าว ไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการที่สั่งจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไม่เต็มตามอัตราที่กำหนดไว้ หรือ ไม่จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ทั้งนี้ต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ได้รับทราบผลการวินิจฉัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 ความคืบหน้ากรณี รถทัวร์ตกเหว แล้วหลอกให้ผู้เสียหายทำยอมรับเงิน

ความคืบหน้าหลังการฟ้องคดี จากเสียงผู้บริโภค ฉบับที่ 165 ตอน บริษัทประกัน หลอกผู้เสียหาย ทำยอมรับเงิน เหตุรถทัวร์ตกเหว ครับจากเหตุการณ์ ที่กลุ่มชาวบ้านผู้สูงอายุ จากหมู่บ้านแม่สะลาบและหมู่บ้านบุปผาราม ตำบลชมพู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันเหมารถยนต์โดยสารรับจ้างจำนวน 3 คัน เพื่อไปทำบุญทอดกฐินที่วัดใหม่สามัคคีธรรม จังหวัดลำปาง ครั้นเมื่อทำบุญเสร็จแล้ว และกำลังเดินทางกลับจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อมาถึงบริเวณเส้นทางถนนสายพะเยา – วังเหนือ มุ่งหน้าไปยังอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นทางลาดลงเขา รถยนต์โดยสารคันที่ 2 ที่ขับรถมาด้วยความเร็ว ได้เสียหลัก ก่อนจะพุ่งใส่ราวสะพานเหล็กกั้นริมถนน ชนเข้ากับต้นไม้ใหญ่หักโค่น หลังคารถฉีกขาด รถพลิกคว่ำพุ่งดิ่งลงเหวลึก มีผู้เสียชีวิตทันที 22 คนและบาดเจ็บ 17 คน นั้นหลังเกิดเหตุ ตัวแทนบริษัทผู้ประกอบการรถยนต์โดยสารและตัวแทนบริษัทประกันภัยได้เข้าเยี่ยมดูแลผู้เสียหายทั้งหมดด้วยความปรารถนาดี พร้อมมอบของขวัญอันล้ำค่าที่ไม่ลืมเลือนให้กับผู้เสียหายที่บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิตแต่ละราย ด้วยการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน พร้อมสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยที่ตัวแทนบริษัทประกันภัยดังกล่าวไม่ได้อธิบายถึงข้อเสียของการทำสัญญาประนีประนอมให้กับผู้เสียหายแต่อย่างใด ว่าเมื่อผู้เสียหายรับเงินและลงชื่อรับเงินไปแล้วจะเสียสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายต่างๆ เพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นคนขับ เจ้าของรถ หรือบริษัทประกันภัยทันทีจากกรณีดังกล่าว ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกับ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ และมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา ในการลงพื้นที่รวบรวมข้อเท็จจริงและให้ความช่วยเหลือทางคดีเพื่อเรียกร้องสิทธิที่ถูกละเมิดและถูกหลอกลวงจากข้อมูลของบริษัทประกันภัย จึงได้ยื่นฟ้องนายวิวัฒน์ โนชัย , ห้างหุ้นส่วนวีระพันธ์ทัวร์แอนด์ทราเวล , นายวีระพันธ์ เหลืองทอง , บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด มหาชน และ บริษัท สหมงคลประกันภัย จำกัด มหาชน เป็นคดีผู้บริโภค จำนวน 26 คดี ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2557 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ นัดพิจารณาคดีครั้งแรก ในวันที่ 23 ธันวาคม 2557   และ 16 มกราคม 2558  ตามลำดับ โดยในวันนัดดังกล่าวคู่ความทั้งหมดประกอบด้วยผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ทั้ง 26 คดี และจำเลยทั้งห้ามาศาล เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ย แต่คู่ความทั้งสองฝ่ายเจรจากันไม่ได้ เนื่องจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของรถแถลงต่อศาลว่าไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายตามที่โจทก์ทั้ง 26 คดีเรียกร้องได้ และให้เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 4 บริษัทประกันภัยให้จ่ายค่าเสียหายแทน  ส่วนจำเลยที่ 4 และที่ 5 ในฐานะบริษัทประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุ ก็ออกตัวชัดเจนว่าได้จ่ายเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้กับผู้เสียหายและทายาททั้งหมดแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องจ่ายเพิ่มให้อีกแต่อย่างใด  เมื่อคดีไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ ศาลจึงกำหนดให้นัดสืบพยานเพื่อไม่ให้คดีล่าช้าโดยศาลใช้กระบวนพิจารณาคดีแบบกลุ่ม คือ รวมทั้ง 26 คดีเป็นคดีเดียวกัน โดยให้สืบโจทก์แต่ละคดีให้เสร็จสิ้นก่อน ค่อยให้จำเลยทั้งห้าสืบแก้ แต่ในระหว่างการสืบพยานโจทก์  คู่ความทั้งสองฝ่ายได้เจรจาไกล่เกลี่ยกันโดยตลอดซึ่งภายหลังการสืบพยานโจทก์ได้ 10 วัน  จำเลยที่ 2 และ 3 เสนอเงื่อนไขการเจรจา ยินยอมชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้ง 26 คดี เป็นเงินจำนวนหนึ่ง และจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยภาคสมัครใจของรถยนต์คันเกิดเหตุ เสนอเงื่อนไขการเจรจา ช่วยเหลือชำระค่าเสียหายเพิ่มเติมให้กับโจทก์ที่บาดเจ็บตามการเรียกร้องของแต่ละคนอีกจำนวนหนึ่ง (สำหรับกรณีคนที่เสียชีวิตนั้น จำเลยที่ 4 ไม่ได้จ่ายเพิ่ม เนื่องจากเต็มวงเงินตามหน้ากรมธรรม์ประกันภัยแล้ว)  โจทก์ทั้ง 26 เห็นชอบด้วยกับเงื่อนไขของจำเลยดังกล่าว จึงยอมรับและยินยอมถอนฟ้องจำเลยทั้งหมดในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมาหลังคดีสิ้นสุด จำเลยที่ 3 เจ้าของรถ ได้แถลงต่อหน้าศาลแสดงความเสียใจและขออโหสิกรรมในความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด และผู้เสียหายทุกคนไม่ติดใจ ยินยอมอโหสิกรรมให้ตามที่จำเลยที่ 3 แถลง คดีจึงยุติลงด้วยดีบทสรุปของคดีนี้ หากมองถึงเรื่องจำนวนเงินที่โจทก์แต่ละคนได้รับแล้ว อาจจะไม่สมหวังเท่าใดนัก เหตุเพราะคดีนี้มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เรื่องจำนวนเงินค่าเสียหายไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับการฟ้องคดี  อาทิ เจ้าของรถไม่มีเงินเพราะเป็นผู้ประกอบการรายย่อย และผู้เสียหายเกือบทุกคนถูกบิดเบือนข้อมูลหลอกให้รับเงินทำสัญญาประนีประนอมยอมความแต่หากมองถึงเรื่องกระบวนการต่อสู้ของผู้เสียหายทุกคนที่ ร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจ ในการเรียกร้องสิทธิ รวมถึงขั้นตอนการฟ้องคดี ที่ชาวบ้านผู้เสียหายทั้งหมดได้เรียนรู้โดยตรง ในการเจรจาไกล่เกลี่ย และการรวมคดีเพื่อพิจารณาแบบกลุ่มนั้น ต้องถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงและที่สำคัญ ผู้เสียหายทุกคน รู้ตัวเองดีว่าโอกาสที่จะได้รับค่าเสียหายได้ยาก เพราะถูกสัญญาประนีประนอมยอมความปิดปากไว้แล้ว แต่ทุกคนก็ไม่ยอมแพ้ ไม่มีถอย พร้อมที่จะสู้ เพราะทุกคนต้องการปกป้องสิทธิของตนเอง ต้องการฟ้องคดีเพื่อให้เป็นประเด็นสาธารณะ  เป็นตัวอย่างให้กับจังหวัดเชียงใหม่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการนำไปสู่การพัฒนามาตรฐานสัญญารถเช่าต่อไปกรณีนี้ ถือเป็นกรณีตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งที่จะเป็นบทเรียนให้กับผู้บริโภครายอื่นๆ ได้เรียนรู้ได้ว่า อย่าเพิ่งยอมแพ้กับสิ่งที่ยังไม่เกิด แม้จะมีปัญหาและอุปสรรคขวางอยู่ข้างหน้า ขอให้เราได้เริ่ม รับรองมีทางออกแน่นอน...  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 กรณีน้ำอัดลมระเบิดเป็นเหตุให้เจ็บตัว มาดูว่าเจ้าของบริษัทฯ ชี้แจงอย่างไร

จากกรณีนี้  ที่คุณณิชาพร ได้เข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค  ว่าบุตรชายได้รับบาดเจ็บสาหัสจากขวดแก้วน้ำอัดลมระเบิดใส่  จนตาซ้ายบอดสนิทใช้การไม่ได้นั้น (จากฉบับที่ 165 )หลังการรับเรื่องร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้แนะนำให้คุณณิชาพรรวบรวมพยานหลักฐาน และนัดเจรจาไกล่เกลี่ยให้กับคุณณิชาพร กับบริษัทผู้ประกอบการน้ำอัดลมเอส ในวันที่ 23 มกราคม 2558  โดยภายหลังการเจรจาบริษัทผู้ประกอบการน้ำอัดลมเอส ได้ชี้แจงเป็นหนังสือถึงสาเหตุการแตกของผลิตภัณฑ์ให้กับศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ทราบ โดยผู้เขียนขอสรุปเนื้อหาสาระสำคัญให้ผู้อ่านได้ทราบทั่วกัน ดังนี้“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้เศษแก้วของขวดน้ำอัดลมกระเด็นเข้าที่คางและตาด้านซ้ายของผู้บาดเจ็บ ทั้งนี้ภายหลังเกิดเหตุ ผู้บาดเจ็บไม่ได้รักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ เกิดเหตุประมาณ 2.00 น. นายจ้างพาไปส่ง รพ. 3.00 น. แต่ได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประมาณ 8.00 น.จากข้อเท็จจริงดังกล่าว บริษัทฯ ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า กระบวนการผลิตน้ำอัดลมของบริษัทฯ มีคุณภาพมาตรฐานและปลอดภัยกับผู้บริโภค มีมาตรการควบคุมคุณภาพในการผลิตที่เข้มงวดทุกขั้นตอน โดยกระบวนการผลิตด้วยระบบเครื่องจักรอัตโนมัติที่ทันสมัย มีการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ตลอดถึงระบบการผลิตภายใต้ระบบคุณภาพและสุขลักษณะที่ดีในการผลิต GMP&HACCP ตามมาตรฐานสากล บรรจุภัณฑ์ขวดแก้วที่ใช้สำหรับน้ำอัดลมซึ่งมีแรงดันจากก๊าซภายในขวด สำหรับมาตรฐานการผลิตขวดประเภทนี้จะต้องมีความหนาและสามารถทนต่อแรงดันได้ โดยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรม (มอก) “ขวดแก้วสำหรับเครื่องดื่มประเภทอัดก๊าซ” การทดสอบความต้านทานต่อความดัน มาตรฐานที่ 229 ปอนด์/ตร.นิ้ว ซึ่งสำหรับขวดแก้วของบริษัทฯ มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่า 253 ปอนด์/ตร.นิ้ว ออกแบบไว้มีค่าสูงกว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่กำหนดไว้และสามารถทนแรงดันได้มากกว่า ซึ่งขณะบรรจุผลิตภัณฑ์มีความดันก๊าซในขวดเพียง 35-45 ปอนด์/ตร.นิ้ว ซึ่งขวดแก้วบรรจุน้ำอัดลมของบริษัทฯ สามารถทนแรงดันและมีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับการนำไปใช้งานข้อชี้แจงดังกล่าว จึงสรุปได้ว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับผู้บาดเจ็บ ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติหรือความบกพร่องในกระบวนการผลิตของบริษัทแต่อย่างใด ”จากการชี้แจงของบริษัทฯ ชัดเจนมากกว่า บริษัทฯ ไม่ประสงค์จะเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดพลาดของบริษัทฯ  ส่วนที่ขวดแก้วน้ำอัดลมระเบิด จะเกิดจากอะไรก็สุดแต่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะคิดไปเอง  เพราะบริษัทฯ บอกไม่รับรู้ด้วยแล้ว       แล้วอย่างนี้ผู้บริโภคที่เสียหายจะขอความเป็นธรรมได้อย่างไรเห็นคำชี้แจงมาแบบนี้ ผู้เขียนคิดเอาเองว่า ต่อจากนี้ผู้อ่านทุกท่าน ผู้บริโภคทุกคนคงต้องมีความระมัดระวัง  และตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยด้วยตนเองตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลาจะดื่มน้ำอัดลมที่เป็นขวดแก้ว หรือแค่อยู่ใกล้ๆ น้ำอัดลมที่เป็นขวดแก้ว เพราะว่าสักวันอาจจะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นได้ใครจะรู้  เนื่องจากไม่เคยมีคำเตือน ให้ระวัง หรือการแจ้งเตือนจากผู้ประกอบการถึงวิธีการป้องกันหรือการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้แต่อย่างใด  แน่นอนกรณีแบบนี้ไม่ใช่กรณีแรก แต่พอเกิดเหตุขึ้น ก็ไม่มีผู้ใดออกมาแสดงความรับผิดชอบเหมือนทุกครั้งไปต่อจากนี้คงต้องเป็นการตัดสินใจของคุณณิชาพร ผู้เสียหาย ว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร จะใช้สิทธิทางกฎหมายของผู้เสียหายฟ้องคดีหรือไม่อย่างไรทั้งนี้หากจะต้องฟ้องร้องเป็นคดีความกันจริง ผู้เขียนขอเสริมตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกัน เพื่อให้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากันอีกซักนิดกรณีนี้ เข้าลักษณะการเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ตามนิยามความหมายตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ที่หมายความว่า สินค้าที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุจากความบกพร่องในการผลิตหรือการออกแบบ หรือไมได้กำหนดวิธีใช้ วิธีเก็บรักษา คำเตือน หรือข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า หรือกำหนดไว้แต่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชัดเจนตามสมควร ทั้งนี้โดยคำนึงถึงสภาพของสินค้า รวมทั้งลักษณะการใช้งาน และการเก็บรักษาตามปกติธรรมดาของสินค้าอันพึงคาดหมายได้ซึ่งตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 นี้ มีอายุความ 3 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย และสามารถเรียกร้องค่าเสียหายต่อจิตใจได้ด้วยดังนั้นกรณีนี้ผู้อ่านฉลาดซื้อจะต้องติดตามเสียงผู้บริโภคกันอย่างไม่คลาดสายตา เพราะหากเรื่องนี้ฟ้องเป็นคดีความและมีความคืบหน้าเมื่อไหร่ ผู้เขียนจะต้องนำมาขยายผลให้ท่านผู้อ่านรับทราบกันอย่างแน่นอน อย่าลืมติดตามกันนะครับ !!!อัพเดทล่าสุด 31 พ.ค. 60 ศาลแพ่งพิพากษาให้เครื่องดื่มน้ำอัดลม เอส จ่ายค่าเสียหายให้ผู้บริโภคกว่า 2 ล้านบาท หลังพิสูจน์พบว่ากระบวนการผลิตสินค้าไม่ปลอดภัย ผู้บริโภคเสนอให้เยียวยาผู้บริโภคทันทีจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการ31 พ.ค. 60 ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยผลการพิทักษ์สิทธิให้กับผู้บริโภค กรณีได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่าเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 57 ผู้บริโภคซึ่งเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ได้ทำงานพิเศษช่วงเย็นเป็นพนักงานร้านอาหารขณะนำขวดเครื่องดื่มน้ำอัดลมยี่ห้อดังกล่าวใส่ถาดไปเสิร์ฟให้ลูกค้าเกิดระเบิดขึ้น ทำให้เศษแก้วกระเด็นเข้าตาข้างซ้ายเป็นเหตุให้เลนส์ตาซ้ายแตกทำให้ตาบอด หลังการเกลี่ยไกล่ไม่ได้ผลจึงยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค โดยฟ้องตาม พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 เรียกค่าเสียหาย 10,897,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 บาท ต่อปี นับจากวันยื่นฟ้อง นั่นคือวันที่ 18 พ.ค. 58หลังการพิจารณาคดีศาลได้พิพากษาเมื่อวันที่ 8 ก.พ.60 ให้จ่ายค่าเสียหายจำนวน 1,430,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันเกิดเหตุไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยคิดดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้อง รวมทั้งชำระค่าสูญเสียความสามารถในการประกอบอาชีพทั้งปัจจุบันและอนาคตอีก 900,000 บาท โดยให้สงวนสิทธิ์ที่จะแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับค่าเสียหายอย่างอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงิน รวมถึงค่ารักษาพยาบาลในอนาคตไว้จนกว่าจะรักษาเสร็จ ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่มีคำพิพากษานายเฉลิมพงษ์ กลับดี ทนายความจากศูนย์ทนายอาสามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้รับผิดชอบคดีกล่าวว่า การยื่นฟ้องในคดีนี้ ภาระการพิสูจน์อยู่กับผู้ประกอบการ ที่จะต้องพิสูจน์ว่าสินค้าของตัวเองปลอดภัย“ในการสู้คดีนั้นสู้กันด้วยหลักวิชาการซึ่งพบว่าแม้จะมีการตรวจวัดแรงดันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขวดน้ำอัดลม แต่มีการนำขวดเก่ากลับไปใช้ซ้ำ จะเลิกใช้ขวดที่ชำรุดก็ต่อเมื่อขวดชำรุดเห็นประจักษ์ ซึ่งขวดที่อาจมีการชำรุดเราจะมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นเลย รวมถึงการขนส่ง การนำไปแช่ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบเชียบพลัน การถูกกระแทกเวลาขนส่ง ล้วนส่งผลต่อการชำรุดของขวด เมื่อพิสูจน์ไม่ได้ศาลจึงตัดสินว่าเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย” นายเฉลิมพงษ์กล่าวนอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าเพื่อจะวิเคราะห์ได้รวดเร็วขึ้นผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าไม่ปลอดภัยควรเก็บหลักฐานนั้นไว้ด้วย เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้พิสูจน์ รวมถึงหากมีบิลค่ารักษาพยาบาลต่างๆก็ควรเก็บไว้เพื่อใช้ประกอบการเรียกค่าชดเชยต่างๆได้นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าไม่เฉพาะผู้ประกอบการรายนี้เท่านั้น อยากให้รายอื่นๆตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วย อยากให้มีกระบวนการเยียวยาผู้บริโภคที่รวดเร็วเพราะความเสียหายจากสินค้าอาจเกิดขึ้นได้“การได้รับความเสียหายจากสินค้าอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วการชดเชยเยียวยาให้กับผู้บริโภคเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องชดเชยให้กับผู้บริโภค ไม่ต้องให้ผู้บริโภคฟ้องแล้วถึงจะเยียวยา ถ้าผู้ประกอบการตระหนักถึงจุดนี้น่าจะเป็นผลดีที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการใช้สินค้านั้นต่อไป และเป็นการยกระดับมาตรฐานสินค้าของตัวเองด้วย” นางนฤมลกล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 ภก.พันธุ์เทพ เพชรผึ้ง คนแปลกแห่งลุ่มน้ำน่าน

ทุกคนมีสิทธิฉบับนี้เป็นคนในแวดวงสาธารณสุข(อีกแล้ว) แต่ทีมงานมั่นใจว่า อ่านไปทุกๆ ท่านจะชอบในแนวคิดแบบขวานผ่าซาก และเห็นด้วยว่าเขากล้าหาญ ทั้งๆ ที่หลายคนอาจจะมองว่าเพี้ยน  ภก.พันธุ์เทพ  เพชรผึ้ง  หรือหมอก้อง  ที่คนในอำเภอเวียงสา  จังหวัดน่านเรียกเขาอย่างคุ้นเคย หมอ(ยา)ก้อง เล่าให้ฟังว่า เขาเป็นคนกรุงเทพ ช่วงปิดเทอมใหญ่ของ ม.ต้น เขาได้มีโอกาสไปอยู่กับย่าที่ จ.นครสวรรค์ เลยติดใจบรรยากาศต่างจังหวัด เพราะเป็นคนไม่ชอบความวุ่นวายในเมืองหลวง ในที่สุดเลยย้ายมาเรียนมัธยมปลายที่นครสวรรค์  ชีวิตตอน ม.6 อยากเป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์  และได้มีโอกาสสอบโควต้า แต่เหมือนโชคชะตาไม่เอื้ออำนวยทำให้วันที่ต้องสอบสัมภาษณ์นั้นไม่สบายจนต้องขาดสอบ จากนั้นเลยมุ่งมั่นที่จะสอบเอ็นทรานซ์ “ตอนแรกไม่ได้คิดจะสอบตรงเข้า มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) คิดว่าจะเอนฯ แต่มีเพื่อนคนหนึ่งบอกว่าเขาจะไปสอบ มช. เพราะว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่สอบพร้อมมหาวิทยาลัยนเรศวร แล้วเพื่อนคนนั้นเขาอยากไปอยู่เชียงใหม่ แต่จริงๆ คือเขาสอบไม่ติดนั้นแหละ เขาก็เสียดายใบสมัครด้วย แล้วเราก็ซื้อใบสมัครไม่ทันเขาก็ขายใบสมัครให้เรา แล้วก็สอบได้ ไม่ได้ไปติวไปอะไรนะแต่ก็อ่านหนังสือมาหนักมากแล้ว พอรู้ว่ามีที่เรียนแล้วแต่ยังไม่ได้ไปรายงานตัว เพราะยังไม่มีทรานสคริปต์ ตอนอยู่กรุงเทพฯ ก็เริ่มไปดูมหาวิทยาลัยที่เราไปสอบ ปรากฏว่ารถมันติดมาก นั่งรถจากบ้านไปธรรมศาสตร์ก็ประมาณ 2 ชั่วโมง ไปเกษตรฯ ก็ประมาณ 1 ชั่วโมง หมายถึงว่าขับจากนครสวรรค์ไป ม.นเรศวร ประมาณชั่วโมงครึ่งมันเท่ากับจากบ้านที่รังสิตไปจุฬาฯ เลย ก็เลยไม่เอาแล้วไปเรียนที่ ม.นเรศวรแทน ก็มีเพื่อนที่อยู่แถวๆ บ้านไปเรียนที่ ม.นเรศวรด้วยก็ได้เป็นรูมเมทกัน   แล้วชอบไหมการเรียนเภสัช ก็ไม่ค่อยไปเรียน เกือบไม่จบ คือปกติไม่ใช่คนชอบอ่านหนังสือ แล้ววิชาคำนวณมันก็ต้องท่อง ก็รู้สึกไม่ชอบ พอจบปีหนึ่งก็อยากจะเอนฯ ใหม่ คือพอเข้ามหาวิทยาลัยมันเป็นสังคมที่เราไม่ต้องมีใครมาควบคุม ก็เลยเกเร เพื่อนที่อยู่กลุ่มเดียวกันก็มีไม่จบ โดนรีไทร์บ้าง หมายถึงเพื่อนที่ไปด้วยกันแต่ไปอยู่คณะอื่นนะ เพื่อนเภสัชนี่จบทุกคน ตอนเรียนก็อยู่ท็อป 5 ในด้านเลวร้าย ไม่ตั้งใจเรียน ไม่ค่อยทำกิจกรรมที่เป็นของวิชาเรียน แต่ถ้าเพื่อนมีกิจกรรมเราก็จะไปเป็นลูกหม้อ ไม่ใช่ตัวตั้งตัวตีอะไรแต่ถ้ามีกิจกรรมก็จะทำ ให้เต้นเราก็เต้น แต่ไม่ได้ไปออกแบบอะไรกับเขา แต่ถ้าเป็นกิจกรรมของวิชาเรียนจะไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ไม่ค่อยไป แม้แต่แล็ปบางทีก็ไม่เข้า แต่พอหลังๆ ประมาณปีสามก็เริ่มเข้า มีติด ร. หนึ่งวิชา คือเพื่อนของพ่อเป็นอธิการฯ พ่อก็ฝากฝังลูกไว้เพราะกลัวจะเรียนไม่จบ อธิการก็เลยเรียกไปอบรมพร้อมคณบดี เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต พ่อเล่าให้ฟังว่าอธิการบดีเรียกคณบดีเข้าไปต่อว่า ว่าทำไมไม่ดูแลเด็กให้ดี ซึ่งคณบดีตอนนี้เป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา หลังจากนั้นก็เลยต้องตั้งใจเข้าไปเรียนหน่อย ไปเข้าเรียน ไปเข้าแล็ป แล้วก็อ่านหนังสือ ฟังดูไม่น่าทำงานเพื่อสังคมได้เลยนะ   แล้วเพื่อสังคมนี่มีตอนไหน สมัยเรียนมีไหม ไม่มีเลย คือออกค่ายนั้น เราเป็นลูกหม้อ พอเขาใช้เราก็ทำ แต่ไม่ได้เป็นอุดมการณ์ขนาดนั้น แต่แรงผลักดันเกิดจากการหมั่นไส้คนมากกว่า คือพอเรียนจบมาก็ทำงาน ที่สาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู ไม่กล้าไปทำงานโรงพยาบาลเพราะเรียนจบมาแบบกระท่อนกระแท่น ก็ไม่แน่ใจว่าโรงพยาบาลนั้นจะรับเราได้ไหม ซึ่งปัจจุบันเขาก็รับเราไม่ได้นะแต่เรามีงานด้านอื่นอยู่ ก็อยู่สาธารณสุขจังหวัดอยู่ประมาณหนึ่งปี ก็พอรู้ข้อจำกัด หรือข้ออ้างของราชการ การคอรัปชั่น เรียนรู้จนทำเป็น ทุกอย่างสามารถคอรัปชั่นได้หมดเพราะขั้นตอนการคอรัปชั่นไม่อยู่ในเอกสาร ในขณะที่ สตง. ตรวจเอกสารเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่ย่ามใจมากเอกสารคุณจะตรงเป๊ะ ยังไงก็ไม่สามารถที่จะจับได้ อย่างสมมติผมมีเงินสักหนึ่งล้าน สงสัยว่าผมมีเงินมาจากไหนก็ต้องไปเล่นกันให้ชี้แจงว่าเอาเงินมาจากไหน ซึ่งถ้าเกิดว่าฟอกเงินได้ก็จะอธิบายได้ คือแรงผลักดันจริงๆ นั้นเราไปเห็นที่ๆ เขาทำอะไรให้คนกิน ทุกอย่างเลยพอเราเห็นสถานที่เพราะเราเข้าไปบ่อย อยู่ สสจ. ก็มีโอกาสไปต่างจังหวัด ประชุมต่างจังหวัดบางทีเขาก็พาไปดูสถานที่ของจังหวัดอื่น เราก็จะเห็นว่าแพ็คเกจดีบางทีมันมาจากใต้ถุนบ้านบ้าง ทำในห้องส้วมบ้าง ทำริมถนนเลยก็มี เราก็เห็นว่าอะลุ้มอล่วย ไม่ได้มีการแก้ปัญหาตรงนี้ คือเราเป็นคนท้องเสียง่ายด้วย จะกินอะไรค่อนข้างระมัดระวัง อยู่ที่เวียงสานี่เคยนอนโรงพยาบาล 3 รอบ เป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเวียงสาแต่นอนโรงพยายาบาลเวียงสา 3 รอบ เป็นโรคท้องเสีย ต้องนอนโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือ ก็คือที่นี่มีเงื่อนไขว่าการทำงานที่นี่เราต้องทำงานคุ้มครองผู้บริโภค คือตอนนั้นโรงพยาบาลเวียงสามีเภสัชฯ แค่ 4 คนแล้วหัวหน้าเขาจะย้ายเข้า สสจ. เราก็เห็นความสำคัญของงานคุ้มครองผู้บริโภค ในโรงพยาบาลชุมชนยังไม่ค่อยยอมรับการไปทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เขาจะรู้สึกว่าเขาทำงานแบบบริหาร ก็เลยมีข้อแม้ว่าถ้าเราจะมาทำงานโรงพยาบาลเราต้องรับงานคุ้มครองผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากปกติที่โรงพยาบาลทำอยู่ คือต้องทำเต็มตัว มาตอนนั้นก็เพิ่งจบมาแค่ปีเดียวก็อาจจะยังไม่รู้เรื่องอะไรมาก แต่เนื่องจากเคยอยู่ สสจ. มาก่อน ก็ถือว่ายังรู้มากกว่าคนอื่น ถ้าเป็นเภสัชฯ คนอื่นไม่รู้เลย อย่าคิดว่าจะรู้ทุกคนเพราะมันเป็นงานเฉพาะมาก งานกฎหมายจะไม่มีใครรู้เลย เราก็ทำไปเรียนรู้ไป เพราะไอ้ที่รู้ก็ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด   งานคุ้มครองผู้บริโภคที่เวียงสามีด้านใดบ้าง ก็มีตรวจร้านชำ ตรวจโรงงานน้ำดื่ม ตรวจคลินิก คือจริงๆ จะมีแบบตรวจมาให้อยู่แล้วว่าต้องตรวจอะไรบ้าง ยาก็ตรวจ ส่วนหนึ่งคือเราไปเจอเรื่องยาที่มีเกือบทุกที่เลยนะที่ไม่ตรงตามมาตรฐาน ตรวจร้านยา ขย 2. ด้วย ขย 2. คือร้านขายยาที่ไม่มีเภสัชฯ แล้วก็ตั้งแต่สมัยไปเรียนจนถึงทำงานใหม่ๆ จนมาถึงปัจจุบันนี้ อย่างหนึ่งของเภสัชฯ ที่ค่อนข้างจะเป็นประเด็นมากคือเภสัชฯ ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ คือหนึ่งเรื่องจริยธรรม สองความปลอดภัยของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาโดยเภสัชกร เขาก็จะมีคำถามที่ปักหลังเภสัชกรอยู่ตลอด แต่เราก็มาอยู่สาธารณสุขจังหวัดที่เดิม เราก็คุ้นกับสภาพที่เภสัชฯ ขายป้าย คือเอาใบเภสัช ตัวเองไปไว้ แต่ว่าที่ สสจ. นั้นก็มีคนทำ ลักษณะอีกอย่าง คือว่าคนทั่วไปเปิดแล้วเอาป้ายไปไว้แล้วก็รับเงิน มีตั้งแต่ 5,000 จนถึง 10,000 บาทหรืออาจจะเยอะกว่านั้น แต่ถ้าเป็นที่ สสจ. นั้นเราจะเห็นว่าเภสัชฯ นั้นเป็นร้านของเราเอง ก็ไปอยู่บ้าน กลางวันก็ให้คนอื่นไปอยู่ พอมาอยู่นี่ก็รู้สึกคับข้องใจว่า สาธารณสุขจังหวัดนั้นได้มีใบนี้ไปอยู่ที่ร้านคนอื่น เนื่องจากว่าตอนนั้นสาธารณสุขจังหวัดกำลังตีความเรื่องป้ายประกาศ ก็จะมีร้านที่ ขย 1 . ซึ่งไม่ได้มีเภสัชฯ เป็นเจ้าของจะต้องปิดร้าน เพราะฉะนั้นสาธารณสุขจังหวัดรวมทั้งที่จังหวัดน่านก็จะให้มีคนเข้าไปที่ร้านเพื่อให้ร้านนั้นเปิดอยู่ได้ เราก็รู้สึกว่าคือเรื่องที่มันผิดนั้นเราจัดการมันไม่ได้ยังไม่เป็นปัญหาเท่ากับเราไปยอมรับว่าเรื่องที่ผิดมันถูก ก็เริ่มที่จะรับไม่ค่อยได้ คือเราก็ไม่ใช่คนที่ทำอะไรถูกต้องทุกอย่างแต่ว่าอะไรที่มันผิดนั้นมีการยอมรับว่ามันถูกต้องก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจ จากนั้นก็เลยเหมือนก่อขึ้นมา และอีกฝ่ายที่เขาเป็นฝ่ายน้ำดีของเภสัชฯ  กับอีกฝั่งที่เขาเป็นวิชาชีพอื่นเราเอากฎหมายไปบังคับใช้เขา เวลาเราไปตรวจคลินิกพยาบาลเขาก็จะมีคำถามกลับมาตลอดว่าแล้วเภสัชฯ ที่ไม่มีอยู่ที่ร้านไม่เห็นทำอะไรเขาเลย แต่เราไปคร่ำเคร่งกับพยาบาลกับหมอ เขาก็ถามว่าเพื่ออะไร มันจึงเป็นคำถามที่แทงใจ เวลาไปตรวจคลินิกหมอ แบบตรวจมีตั้ง 3-4 หน้า เขาก็จะถามว่าอะไรหนักหนา ถังดับเพลิงก็ต้องมีเหรอ ประมาณนี้ ซึ่งเราก็ตอบไม่ได้ อาจจะเป็นเพราะเรายังไม่อินว่ามันคืออะไร แต่คำถามที่หนักๆ คือเขาถามย้อนทันทีทุกครั้งที่ไปตรวจว่า “ทีร้านเภสัชฯ ที่ไม่มีเภสัชฯ ล่ะจะมาจ้ำจี้จ้ำไชเขาทำไม” เราก็จะหน้าแห้งเลย ก็ไม่ได้เป็นอย่างนี้ทุกร้านนะ จะมีพวกร้านที่เขาคงหมั่นไส้เรา อันนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้น   ความเป็นหมอก้องกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค มาเริ่มตอนปี 2552 ที่ สสจ. อีกแล้ว คือชวนเราไปประชุมกับอาจารย์วรรณา(ผศ.ภญ.ดร.วรรณา  ศรีวิริยานุภาพ )ของ คคส. (แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ) เราก็เป็นลูกหม้อเหมือนเดิม เขาใช้ให้ทำอะไรเราก็ทำ ก็ยังไม่ถึงขั้นตั้งใจมากหรอก ตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรคือ คคส. ก็คิดว่าคงคล้ายๆ กับ อย. เวลาประชุมก็ไม่ค่อยได้ตั้งใจฟังหรอก เพราะทีม สสจ. ก็จะมีทีมของเขา เราก็รอเขาสั่งมาอย่างเดียวแล้วเราก็ไม่ได้อยู่ในส่วนที่เสนอความคิดเห็นไปแล้วเขาจะสนใจเท่าไรนัก ก็เลยเป็นนิสัยให้เราไม่ค่อยสนใจเท่าไร แต่ไม่เหมือนตอนนี้นะ(หัวเราะ) เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค เขาก็ให้เราเตรียมพื้นฐานชาวบ้านไว้ เราก็เตรียมๆ  ปรากฎว่าเราเตรียมไว้แล้ว เตรียมจะประชุมแล้ว เราก็ถามว่าจะเริ่มเมื่อไร เขาตอบว่า ไม่ทำแล้ว เราก็อึ้งไปแล้วก็เสียใจ และก็เริ่มไม่พอใจ คุณให้เราเตรียมไว้เยอะเลยแล้วมาประชุมบอกไม่ทำแล้ว คือถ้าไม่ถามก็ไม่บอกด้วย เขาบอกว่ามันไม่ชัดเจน ให้แก้นู่น แก้นี่ แล้วมันก็ไม่ตรงกับงานเรา ขอซื้อชุดตรวจฟอร์มาลีน ตรวจสารปนเปื้อน ทำไมถึงขอไม่ได้ในเมื่อเราทำงาน สสจ. คือโครงการที่ สสจ. ส่งไปมันเป็นเมล์กลุ่มซึ่งเราก็ไม่ได้เปิดอ่าน ตอนที่บอกให้เราเตรียมเราก็เตรียม ไปคุยกับชาวบ้านไว้แล้วด้วย ชาวบ้านก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอก ก็คิดว่าเป็นการประชุมๆ กัน ส่วนใหญ่ก็เป็น อสม. มีกิจกรรมอะไรเขาก็จะมาทำกัน ก็เลยเอาโครงการนั้นมาปัดๆ แล้วก็ส่งไปว่าเราจะทำเองก็ได้ ก็คือเอาโครงการ สสจ. มาแก้นิดๆ หน่อยๆ แล้วส่งกลับไป เขาก็แก้กลับมาแดงไปหมดเลย ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่ค่อยเข้าใจเลยตอนนั้น ก็ปรึกษารุ่นพี่เภสัชที่เรานับถือซึ่งทำงานกับทาง คคส. เราถามทีละข้อเลยมันคืออะไร พี่เขาก็ปรับวิธีคิดเรา แต่เราไม่เข้าใจนะวิธีคิดของพี่เขาตอนนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องการให้ทุนของ สสส. มากกว่า ตอนนั้นเราคิดแค่ว่าทำอย่างไรให้เอกสารมันผ่านมากกว่า แต่มันมีข้อดีที่ว่า สสส. เขามีวิธีคิดของเขาที่มันจะดีหรือไม่ดีไม่รู้ แต่มันดีกว่าระบบราชการ คืออันนี้มันไปอยู่สำนักที่ค่อนข้างเฮี้ยบเรื่องของการใช้เงิน เราก็พยายามทำให้มันผ่าน หลังๆ ก็งงว่ามันไม่ต้องส่งหลักฐาน ตอนอยู่ สสจ. ใช้ชีวิตอยู่กับการเคลียร์บิล ทำหลักฐานเพื่อเคลียร์บิล พอมันอยู่ในมือเรามันเอื้อในการใช้เงินอย่างตรงไปตรงมา ไม่เหมือนระบบข้าราชการ ก็รู้สึกว่าใช้เงินได้อย่างปลอดโปร่ง ส่วนในแง่ของการทำงาน เราก็ไม่ได้มุ่งไปที่ผลิตภัณฑ์แล้ว เขาให้ทำเครือข่าย ก็ตามรุ่นพี่เป๊ะๆ เลย โดยที่เราก็ไม่ได้หวังผลว่ามันจะออกมาเป็นเหมือนเขา แต่ใช้วิธีการเขาไปก่อน ต้องสรุปประชุมอย่างไร เวลาสรุปประชุมเราก็เหมือนกับสอนว่าเราต้องได้ข้อมูลอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นประชุมครั้งต่อไปนั้นเราต้องปรับแล้วว่าทำอย่างไรถึงจะได้ข้อมูลอย่างนี้มา ก็เริ่มเปลี่ยนรูปแบบการทำงานออกไป ปัจจุบันก็อาจจะเห็นประเด็นมากขึ้นแต่รูปแบบเดิมก็อาจจะยังมีอยู่   เปลี่ยนไปเยอะมากไหมการทำงาน พอรูปแบบมันมาก็จะเป็นรูปแบบของเครือข่าย จะมีมุมมองจากชาวบ้านเข้ามา อีกส่วนหนึ่งก็คือการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยค่อนข้างอ่อน พอเราทำงานกับชาวบ้าน ชาวบ้านจะเริ่มพูดกับเราง่ายขึ้น พอง่ายขึ้นเขาก็จะเริ่มถามอะไรที่ไม่ต้องเกรงใจแล้ว เหมือนที่พยาบาลเคยถามว่าเราดูแลเภสัชฯ อย่างไร พวกนี้ทำไมไม่โดนจับ ทำไมแบบนี้ถึงขายได้ ประมาณนี้ ก็แทงใจเราอีกแล้ว เราก็รู้สึกว่าพอเรามาถึงจุดๆ หนึ่งเราต้องเลือกแล้ว ถ้าเราไม่ทำอะไรที่เป็นการแก้ปัญหา เช่น การบังคับใช้กฎหมาย หรืออะไรที่พอจะทำได้นั้น เราก็ควรจะเลิกทำงานกับชาวบ้านดีกว่า เพราะเราก็เหมือนไม่ได้ทำ คือถ้าเราจะทำต่อแล้วเราไม่ทำเรื่องนี้ก็เหมือนกับไม่มีหน้าไปหาเขา เราทำงานกับชาวบ้านที่ส่วนหนึ่งก็เป็น อสม. แล้วเราก็จะผ่านสถานีอนามัยเพราะเราไม่สามารถถึงชาวบ้านได้เอง ก็จะผ่านสถานีอนามัย คือเรื่องที่เป็นประเด็นกฎหมายถ้าเราไม่ทำเราก็จะตอบคำถามชาวบ้านไม่ได้ นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำอย่างไรที่คนผิดถูกดำเนินคดีทางกฎหมายได้ หรือถ้ามีอะไรที่มันเข้าโอกาสที่เราทำได้มากที่สุดเราก็จะทำ จากแต่ก่อนที่เราก็จะร้องไปที่ สสจ. อย่างเดียวเลย แต่ สสจ. ก็จะให้ไปเคลียร์ แต่ไม่ได้ดำเนินคดีทางกฎหมาย ทำให้เป็นที่กังขาของชาวบ้าน เรียกว่าเป็นแรงผลักดันเพราะเราก็มีอำนาจหน้าที่ที่สามารถทำได้   มีเคสไหนที่ประทับใจหรือรู้สึกสนุกๆ ไหม ก็ทุกเรื่อง มันมีแปลกๆ เยอะ แต่ว่าจริงๆ จุดเสี่ยงก็เป็นกรณีที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล คือ  อันอื่นเขาจะปรับตามเราหมดเวลาที่เราไปให้คำแนะนำ มีเคสนี้ที่บอกว่าไม่ได้ทำอะไรผิด  เป็นเคสขายตรง เราไปจับเขาในข้อหาที่ว่าด้วยเรื่องการรักษา แต่เขาเถียงว่าเขาไม่ได้ทำการรักษา เขาก็อธิบายว่าเขาไม่ได้รักษากระบวนการไม่เล่าก็แล้วกัน  เขาก็สู้คดี  เราคิดว่าเขาจะไม่สู้ ถ้าเราไม่มั่นใจเราจะไม่จับ เขาสู้ในคดีที่เขาไม่มีทางชนะ เหมือนกับเราเข้าเส้นชัยไปแล้ว เธอจะมาแข่งกับชั้นได้ยังไง สุดท้ายเขาก็รับสารภาพ ฝากอะไรกับฉลาดซื้อบ้างไหม อยากให้ทดสอบตัวอาหารสุนัข ถามว่าอยากรู้ไหมก็อยากรู้นะ คือถ้าถามว่าตอนนี้มีไรน่าเทสต์บ้าง เรื่องสารเคมีก็อยากรู้ที่สุด แต่คิดว่าน่าจะทำยากนะพวกสารเคมีในดิน ยาฆ่าหญ้า เพราะไม่มีแล็ปในประเทศไทย อันนี้เคยโทรถามที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์  แม้แต่ที่กรมทรัพยากรธรณีก็บอกว่าไม่รู้จัก ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าไม่มีหรือเขาไม่บอกเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนมีนาคม 2558 ฟ้องไทยพาณิชย์-ธปท. ทวงค่าปรับโดยมิชอบ-ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ อดีตอัยการอาวุโสยื่นฟ้องแพ่งผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ เหตุเรียกค่าปรับทวงถามโดยมิชอบ แถมฟ้องอาญาผู้บริหาร ธปท.ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ชี้แม้เป็นเรื่องเล็กๆ แต่ต้องการให้เป็นคดีตัวอย่างป้องกันประชาชนถูกเอาเปรียบ นายประวิทย์ สิทธิถาวร อดีตอัยการอาวุโส สำนักงานอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ "มติชน" ว่าได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องธนาคารไทยพาณิชย์ต่อศาลแพ่ง และฟ้องผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่อศาลอาญา สำหรับสาเหตุที่ยื่นฟ้องว่า สืบเนื่องจากธนาคารได้เปลี่ยนแปลงวงเงินเครดิตและการเบิกถอนเงินสดจากบัตรเครดิตโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า และยังเรียกค่าปรับหรือค่าทวงถามโดยมิชอบไม่เป็นไปตามระเบียบของธปท. จึงฟ้องต่อศาลแพ่งดำเนินคดี บริษัท ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด เพื่อให้เพิกถอนประกาศค่าปรับ, ละเมิด, ผิดสัญญา เรียกค่าเสียหาย พร้อมทั้งได้เรียกค่าชดเชยเป็นเงิน 100,000 บาท ส่วนที่ฟ้อง ธปท. เพราะ ธปท.มีอำนาจหน้าที่กำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ แต่กลับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะหลังโดนธนาคารไทยพาณิชย์กระทำอย่างไม่ชอบ ได้เข้าร้องเรียนต่อ ธปท.ในฐานะองค์กรกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ขอให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามประกาศ ของ ธปท. ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 กระทั่งล่วงเลยมาจนครบ 60 วัน แต่ไม่มีความคืบหน้า จึงได้ทวงถามถึงเรื่องดังกล่าวอีกครั้งต่อ ธปท. ซึ่งได้รับชี้แจงว่าได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้วและได้กำชับไปถึงสถาบันการ เงินให้ปฏิบัติต่อลูกค้าตามแนวนโยบายและประกาศที่เกี่ยวข้องส่วนการเรียกค่า ธรรมเนียมติดตามทวงถามหนี้ของธนาคารไทยพาณิชย์ธปท.จะตรวจสอบต่อไปและจะพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป ซึ่งตนเห็นว่าการดำเนินการของ ธปท.ไม่ได้เป็นไปตามหน้าที่ที่ควรกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ให้ดำเนินการ ถูกต้องตามประกาศของ ธปท. เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย "ผมถูกเรียกเก็บค่าทวงถามเพียงหลักร้อยบาทเท่านั้น หลายคนอาจยอมจ่ายให้เรื่องจบเพราะเงินเล็กน้อยมาก ถ้าจะดำเนินการฟ้องร้องต้องเสียค่าดำเนินการเป็นหลักหมื่นบาท ต้องเสียเวลา แต่ที่ตัดสินใจฟ้องเพราะอยากให้เป็นคดีตัวอย่าง ไม่อยากให้ธนาคารเอาเปรียบผู้บริโภค คิดง่ายๆ ต่อรอบบัญชี หากมีลูกหนี้บัตรเครดิตถูกเรียกปรับอย่างผมสัก 10,000 คน ธนาคารจะได้รับเงินกินเปล่าถึง 2.5 ล้านบาททีเดียว ส่วนที่ฟ้องผู้บริหาร ธปท.ด้วยเพราะอยากให้ ธปท.คำนึงถึงหน้าที่กำกับดูแลธนาคารให้ดีอย่าให้มาเอาเปรียบประชาชน" นายประวิทย์กล่าว     คนไทยป่วย ไบโพลาร์ เพิ่ม ในงานเสวนาหัวข้อ ‘เปลี่ยนโรค “ทุกข์”เป็น “สุข สมหวัง”ด้วยใจเหนือคน’ นพ.จิตริน ใจดี จิตแพทย์แห่งศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึงโรคไบโพลาร์ ว่า ไม่ใช่อาการโรคจิตหรือโรคจิตเภท แต่เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ สาเหตุหลักเกิดจากกรรมพันธุ์-สารเคมีในสมองไม่สมดุล ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ 1-2 % ของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 700,000-1,500,000 คน ในทางจิตเวช สามารถแบ่งโรคต่างๆ ออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ได้แก่  กลุ่มที่ 1 มีความผิดปกติทางความคิดเช่น หลงผิด หวาดระแวง หูแว่ว ประสาทหลอน กลุ่มนี้จัดว่าเป็นโรคจิตเภท (Schizophre-nia) หรือที่เรียกว่า “โรคจิต” ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกับไบโพลาร์ กลุ่มที่ 2 มีความผิดปกติทางอารมณ์ จะมี 2 โรค คือซึมเศร้า กับไบโพลาร์ กลุ่มที่ 3 โรคเกี่ยวกับความวิตกกังวล เช่น ตื่นตระหนก (โรคแพนิก,Panic) กลัวที่สูง กลัวที่แคบ ย้ำคิด ย้ำทำ กลุ่มที่ 4 โรคที่เกิดจากสารเสพติด ส่วนสาเหตุของโรค นพ.จิตริน กล่าวว่า ในปัจจุบันยังไม่มีผลการวิจัยที่ระบุชัดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สาเหตุหลักๆ มี 2 ปัจจัยคือ 1.กรรมพันธุ์ หากพบว่าพ่อแม่ รวมถึงปู่ย่าตายายเป็นโรคนี้ ลูกหลานก็มีความเสี่ยงสูงตามไปด้วย และ 2.สารเคมีในสมองไม่สมดุล คือสิ่งที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด เปลี่ยนแปลงไม่ได้ คือ สมองของคนที่เป็นไบโพลาร์จะโปรแกรมไว้ตั้งแต่ต้นหรือตั้งแต่เกิด โดยปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ 1-2 % ของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 700,000-1,500,000 คน ขณะที่ 5% ของประชากรทั่วโลกกำลังป่วยเป็นโรคดังกล่าว   เราอ่านและซื้อหนังสือกันน้อยลงทุกปี ระยะเวลาของคนไทย(ที่มีอายุ 15 -69 ปี) ใช้เวลาในการอ่านหนังสือเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 28 นาที  ลดลงจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2556 ที่พบผู้อ่านหนังสือเฉลี่ย 37 นาทีต่อวัน เหตุเวลาว่างของคนไทย ถูกใช้ไปกับอินเตอร์เน็ตมากกว่าการอ่านหนังสือมาก สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่าย หนังสือฯ จับมือคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เผยผลสำรวจพฤติกรรมการอ่าน และซื้อหนังสือของคนไทย(ที่มีอายุ 15 -69 ปี) พบมีกลุ่มที่อ่านหนังสือเป็นประจำเพียง 40%  ที่เหลือ 20% อ่านบ้าง อีก 39.7% ไม่อ่านหนังสือเลย วัยรุ่นหรือคนอายุต่ำกว่า 20 ปี  ใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตมากที่สุดเกือบ 4 ชั่วโมง    โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 2 ใน 5 ยอมรับการใช้อินเตอร์เน็ตมีผลให้อ่านหนังสือเล่มน้อยลง ระบุอ่านหนังสือที่เป็นกระดาษน้อยเพราะส่วนใหญ่หันไปอ่านเว็บข่าวและเว็บรวบรวมข่าวแทน สำหรับการซื้อหนังสือ ดร.มิ่งมานัส ศิวรักษ์ กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ กล่าวว่า คนไทยจะซื้อหนังสือเฉลี่ยปีละ 4 เล่ม โดยคนกลุ่มที่ซื้อหนังสือมากที่สุด คือคนที่อายุน้อยกว่า 20 ปี ซื้อเฉลี่ยปีละ 9 เล่ม รองลงมาคือ คนที่อายุ 21-30 ปี ซื้อเฉลี่ยปีละ6 เล่ม และค่อยๆลดจำนวนลงในคนที่มีอายุมากขึ้น  จนกระทั่งคนที่มีอายุมากกว่า 61 ปี ขึ้นไปจะกลับมาซื้อเพิ่มเป็นเฉลี่ย 4 เล่มต่อปี “หากหนังสือที่เกิดการซื้อได้รับการอ่านครบทุกเล่มก็ยังถือได้ว่า การอ่านของคนไทยเมื่อนับเป็นจำนวนเล่มอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และเป็นที่น่าสนใจว่าเด็กไทยอ่านหนังสือปีละ 9 เล่มนั้น จำนวน 4 เล่มเป็นการ์ตูน นิยายภาพ และอีก 3 เล่มเป็นคู่มือเตรียมสอบ”   โปรดเกล้าฯ แล้ว พ.ร.บ.ทวงหนี้ ฉบับใหม่ "ใช้ความรุนแรง- ข่มขู่- กระทำการให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายชื่อเสียงทรัพย์สิน ลูกหนี้หรือผู้อื่น" แอบอ้างคำสั่ง "ศาล" โทษหนัก จำคุกไม่เกิน5 ปี ปรับห้าแสน เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยวประกอบธุรกิจโดนด้วย ในการทวงถามหนี้ กฎหมายระบุว่า บุคคลใดจะประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต่อนายทะเบียน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงบุคคลซึ่งจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถาม หนี้ตามวรรคหนึ่งแล้ว ต้องประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ มีดังต่อไปนี้ (1) การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น (2) การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น (3) การแจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ (4) การติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เว้นแต่กรณีการบอกกล่าวบังคับจำนองด้วยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ซึ่งเจ้า หนี้ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้โดยวิธีการอื่น หรือกรณีอื่นใดตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด (5) การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้ เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบ ธุรกิจทวงถามหนี้ (6) การทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดความใน (5) มิให้นำมาใช้บังคับกับการทวงถามหนี้เป็นหนังสือเพื่อจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อ ศาล และในกฎหมายยังห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดดังต่อไปนี้ (1) การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ (2) การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทำโดยทนายความสำนักงานทนายความ หรือสำนักงานกฎหมาย (3) การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน (4) การติดต่อหรือการแสดงตนให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิตหรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิต หรือกระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม คือ (1) การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ เกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด (2) การเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ทั้งนี้ ระวางโทษ จำคุกสูงถึงห้าปี หรือ ปรับสูงสุดห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านเพิ่มเติม >