ฉบับที่ 167 ตาดีได้ ตาโชคร้ายก็เสียเงิน

ดวงตาเป็นสิ่งที่คนทุกคนให้ความสำคัญ “จะดีหรือไม่หากมีผลิตภัณฑ์วิเศษที่ทำให้สายตาเราไม่สั้นลง ไม่เกิดเป็นต้อ สายตาไม่ล้า รับภาพชัดเจนตลอดกาล” หากคุณตอบว่าใช่ ฝันของคุณกำลังจะเป็นจริงแล้ว เพราะมีผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งที่อ้างว่า เป็นอาหารบำรุงสายตาออกมาจำหน่ายในอินเตอร์เน็ต มาสานต่อความฝันของเรากับสายตาที่ชัดแจ๋วตลอดกาล แต่...มันก็เป็นแค่ความฝันไม่สามารถเป็นความจริงหรอกนะครับ ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้โฆษณาแพร่หลายในอินเตอร์เน็ต แจ้งว่านำมาจากไต้หวัน โน้มน้าวและกล่าวอ้างสรรพคุณได้อย่างน่าทึ่ง ตั้งแต่การอธิบายว่าเมื่อเราลืมตามอง แสงไฟและออกซิเจนจะมากระแทกลูกตาจะทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่ทำให้เกิดอันตรายต่อตา แต่อย่ากังวลไปเลย เพราะในผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จะมีสารซานโทฟิว ซึ่งเป็นสารสกัดดอกดาวเรือง เป็นสารต้านอนุมูลอิสระเข้มข้นสูงมาก จะมาช่วยเหลืออันตรายที่เกิดขึ้น โดยจะกรองแสงสีน้ำเงินและลดการเกิดปัญหาต่างๆ โดยจะสะท้อนการออกซิเดชั่นของอนุมูลอิสระที่จอดวงตา ทำให้การมองเห็นที่กลับมาดีดังเดิม นอกจากนี้มันยังสามารถอยู่ในผลึกเลนส์ตาได้ ทำให้ป้องกันอนุมูลอิสระที่จะทำลายล้างโปรตีนในเลนส์ตาทำให้ไม่เกิดต้อได้ สรุปง่ายๆ คือโฆษณาสรรพคุณเป็นยารักษาโรค บรรยายสรรพคุณซะขนาดนี้แล้ว จึงตามด้วยข้อความที่ระบุบุคคลที่สมควรจะใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้อย่างยิ่งคือ ผู้ที่มีสภาพลูกตาสั้นเทียม ผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์มาเป็นช่วงเวลายาวนาน ผู้ที่มีจอตาปรวนแปรสภาพการณ์ที่เกิดจากเบาหวาน ผู้ที่ทำผลัดกลางคืนมาเป็นช่วงเวลายาวนาน ผู้ที่ขับรถเป็นระยะเวลานานมาก (เช่น คนขับ taxi รถบรรทุก) ผู้ที่อายุมากที่มีตาพร่ามัวที่มีความโอนเอียงที่น้ำนัยน์ตาจะไหลเมื่อเจอะแสงจ้า ผู้ที่มีสายตายาว  วุ้นในลูกตาโทรม เยื่อบุนัยน์ตาอักเสบ ต้อ ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมากๆ ผู้ที่มีปัญหาจอประสาทตา เลนส์สายตามีการแปรผัน ทำไปทำมา มันจะเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาทางสายตาเกือบทุกอย่างเลย แต่ที่แน่ๆ ต้องมีสตางค์ด้วย เพราะราคากล่องละเกือบหนึ่งพันบาท แต่เมื่อผมดูส่วนประกอบที่ระบุในโฆษณา พบว่าผลิตภัณฑ์นี้มีส่วนประกอบหลักๆ คือ สารสกัดจากดอกดาวเรือง สารสกัดจากบิลเบอร์รี่ สารสกัดจากส้ม(มีสารQuercetin) ยีสต์สกัด เบต้า-แคโรทีน วิตามีน บี 2 เจลาติน น้ำ Brilliant Blue FCF ซึ่งดูในแง่วิชาการแล้ว ไม่น่าจะสามารถมีสรรพคุณตามที่อ้างได้เลย ยังไงก็ตั้งสติให้ดีนะครับว่าจะคุ้มค่าราคาเงินที่เสียหรือไม่ เพราะมันเป็นแค่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยาที่มีสรรพคุณรักษา ป้องกันโรคได้มากมายดังที่อ้างเลย ถ้ามีปัญหาทางสายตาปรึกษาจักษุแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขน่าจะปลอดภัยกว่านะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 167 ปัญหาที่ดินตาบอด ไม่มีทางออก จะทำอย่างไร ? ตอนที่ 2

ยังอยู่ในเรื่องของ “ที่ดินตาบอด” กันนะครับ เมื่อที่ดินของเรา “ไม่มีทางติดกับทางสาธารณะ หรือไม่มีทางเชื่อมไปสู่ทางสาธารณะได้” เราสามารถใช้กฎหมายช่วยได้ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ได้บัญญัติไว้ว่า “ ที่ดินแปลงใด มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่ จนไม่มีทางออกถึงสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่า เจ้าของที่ดินแปลงนั้น จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ ไปสู่ทางสาธารณะได้ที่ดินแปลงใด มีทางออกได้ แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือ ทะเล หรือ มีที่ชัน อันระดับที่ดิน กับทางสาธารณะ สูงกว่ากันมากไซร้ ท่านว่า ให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับที่ และ วิธีทำทางผ่านนั้น ต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็น ของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึง ที่ดินที่ล้อมอยู่ ให้เสียหายแต่น้อยที่สุด ที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็น ผู้มีสิทธิจะผ่าน จะสร้างถนน เป็นทางผ่าน ก็ได้ผู้มีสิทธิจะผ่าน ต้องใช้ค่าทดแทน ให้แก่เจ้าของที่ดิน ที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหาย อันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ค่าทดแทนนั้น นอกจากค่าเสียหาย เพราะสร้างถนน ท่านว่า จะกำหนดเป็นเงินรายปี ก็ได้” จะเห็นว่ากฎหมายให้สิทธิเจ้าของที่ดิน ซึ่งถูกที่ดินแปลงอื่นรายล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะสามารถมี “ ทางจำเป็น “ ขึ้นมาได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9325/2553 การฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นโจทก์จะฟ้องได้ต่อเมื่อที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่น ล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1349 แต่หากเป็นกรณีแบ่งแยกที่ดินแปลงเดียวกัน ทำให้ที่ดินที่แบ่งแยกนั้นแปลงใดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะซึ่งหมายถึงทาง สาธารณะที่มีอยู่ในขณะแบ่งแยกนั้นแล้ว ก็จะเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1350 เมื่อปรากฏว่า การแบ่งแยกที่ดินพิพาทกับที่ดินของโจทก์ออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1275 กระทำกันในปี 2531 ก่อนมีถนนพุทธมณฑลสาย 1 ในปี 2541 กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1350 มาบังคับได้ ทางจากที่ดินของโจทก์ออกสู่ทางสาธารณะทั้ง 3 ทาง เป็นเส้นทางที่ต้องผ่านที่ดินของบุคคลอื่นและไม่ปรากฏว่าเป็นทางสาธารณะ อีกทั้งไม่ใช่ทางที่เป็นภารยทรัพย์ของที่ดินของโจทก์ ซึ่งเจ้าของอาจจะอนุญาตให้โจทก์ใช้ทางดังกล่าวหรือไม่ก็ได้ และแม้เจ้าของที่ดินนั้นจะยินยอมให้โจทก์ผ่านที่ดินของตนได้ก็ไม่ใช่สิทธิตามกฎหมาย ประกอบกับมีระยะทางจากที่ดินของโจทก์ไปสู่ทางสาธารณะไกลไม่สะดวก จึงฟังได้ว่า ที่ดินของโจทก์ถูกล้อมรอบด้วยที่ดินของผู้อื่นจนไม่อาจออกสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นได้ แต่การที่จะเปิดทางจำเป็นนั้น ต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็นของโจทก์โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้สอย ที่ดินพิพาทให้เสียหายน้อยที่สุด  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3484-3485/2548 ที่ดินของจำเลยและของ บ. เป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินของโจทก์ แม้จะแบ่งแยกออกจากที่ดินของโจทก์ เป็นของ บ. ก่อนแล้วจึงแบ่งแยกที่ดินของ บ. เป็นของจำเลยภายหลัง ก็ไม่ทำให้ที่ดินของจำเลยไม่ใช่ที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินของโจทก์มาแต่เดิม แต่อย่างใด ถือว่าที่ดินของโจทก์และจำเลยเป็นที่ดินที่มีการแบ่งแยกหรือแบ่งโอนมาจาก ที่ดินแปลงเดียวกัน เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เปิดทางพิพาท เป็นทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 กรณีรู้อยู่ว่าที่ดินที่จะซื้อเป็นที่ดินตาบอดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ เช่นนี้ ศาลฎีกาก็วินิจฉัยว่าผู้ซื้อก็มีสิทธิขอให้เปิดทางจำเป็นได้  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5103/2547 การขอผ่านทางที่ดินซึ่งล้อมอยู่ออกจากทางสาธารณะนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้มุ่งพิจารณาถึงสภาพที่ดินนั้น จะต้องถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเป็นสำคัญ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจึงมีสิทธิจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะได้ โดยมิต้องกำหนดเงื่อนไขว่าผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมจะต้องได้ที่ดินมาโดยสุจริต แม้จะฟังได้ว่าโจทก์ซื้อที่ดินมาโดยรู้อยู่แล้วว่ามีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่ออกสู่ทางสาธารณะหมดไป ทางจำเป็นสามารถใช้ได้ตลอดไปเลยหรือ มีระยะเวลาสิ้นสุดเมื่อใด ? ด้วยเหตุที่ทางจำเป็นเกิดขึ้น เป็นการได้สิทธิตามกฎหมาย    กฎหมายมุ่งคุ้มครองสิทธิของผู้ที่มีที่ดินตาบอดจนไม่มีทางเชื่อมต่อสู่ทางสาธารณะเท่านั้น ดังนั้น เมื่อวันใดเจ้าของที่ดินนั้นมีทางอื่นออกสู่ทางสาธารณะได้  หรือไปซื้อที่ดินแปลงที่ล้อมอยู่ทำให้ตนมีที่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ ทำให้ความจำเป็นต้องใช้ทางของผู้อื่นหมดไป   เช่นนี้   ก็ขอผ่านที่เขาอีกไม่ได้ ทางจำเป็นก็สิ้นสุดลง จากข้อมูลข้างต้น หวังว่าคงช่วยให้ท่านผู้อ่านเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สิทธิของตนบนที่ดินตาบอดมากขึ้นนะครับ และในฉบับหน้า จะมีกฎหมายอะไรที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคมาเล่าสู่กันฟังอีก คอยติดตามนะครับ สวัสดีครับ...

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 167 ไม่ได้ขออะไร แค่ขอให้คิดราคาตามที่ใช้จริง

ท่านผู้อ่านคงได้รับรู้บ้างเรื่องที่  สปช.มีมติให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคม(โทรศัพท์) คิดค่าบริการลูกค้า  ตามที่ใช้จริงเป็นวินาที (ปัจจุบันคิดเป็นนาที) เพราะมีผู้ร้องเรียนว่าถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ  ในการเรียกเก็บค่าใช้บริการ  เช่น  ใช้จริง 1 นาที 1 วินาที  ก็จะถูกเรียกเก็บเป็น 2 นาที  ใช้ 3 นาที  5 วินาที  จะถูกเรียกเก็บ เป็น 4 นาที เป็นต้น  สรุปหากมีเศษวินาที ไม่ว่ามากหรือน้อย จะถูกปัดขึ้นไปเป็นนาทีโดยอัตโนมัติวันที่ 13 มกราคม 2558  ผู้เขียนได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค  (ของ สปช.) ร่วมกับผู้ให้บริการทุกค่าย   มีคำถามหลายคำจากผู้บริโภคที่ทำให้ผู้ให้บริการไม่พอใจ  เช่น  หากเราไปซื้อส้ม 1 กิโลกรัม แม่ค้าชั่งให้ 1 โล 1 ขีด  เรียกว่าอะไร  โกงตราชั่งหรือโกงเงิน  การปัดวินาทีเป็นนาที เรียกว่าโกงมั้ย?  ถึงกับออกอาการว่า ไม่ได้โกง  ไม่สบายใจเลย ที่ถูกกล่าวหาว่าโกง  สูตรคิดค่าบริการนี้ เป็นสากล ใครๆ เขาก็ใช้กันมีคำถามอีกว่า  ทำไมไม่ปัดเศษลง   ปรับขึ้นเป็นนาทีทำไม?  ไม่มีคำตอบ   แต่มีคำต่อว่า สปช.ว่าเรื่องเก็บเงินเป็นนาทีหรือวินาทีเป็นเรื่องเล็กๆ ผู้ประกอบการแข่งขันกันอยู่แล้ว  ยังไงค่าโทรก็จะถูกลงเอง  สปช. ควรจะไปทำเรื่องใหญ่ไม่ใช่มาทำเรื่องเล็กเรื่องน้อยอย่างนี้ ( หึ.....เรื่องที่เกี่ยวกับคน 60  กว่าล้านคนนี่นะเรื่องเล็ก)  ผู้ให้บริการยังบอกต่ออีกว่า ผู้บริโภคอาจไม่พอใจ ในการเก็บเงินเป็นวินาที  เพราะคนโทรสั้น จะได้ประโยชน์  แต่นักธุรกิจที่โทรยาวๆ จะเสียประโยชน์ (อ้าว...ตกลงทุกวันนี้คนจนช่วยจ่ายค่าโทรศัพท์ให้คนรวยใช่มั้ย???) คุณหมอประวิทย์  ลี่สถาพรวงศา  กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค  พูดชัดเจนว่า  ปัจจุบันคนโทรสั้นต้องรับภาระจ่ายค่าโทรให้คนโทรยาว  เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง  ที่ถูกต้องคือ ใครใช้เท่าไร  ต้องจ่ายเท่านั้น  และการคิดค่าบริการเป็นวินาที ก็น่าจะทำได้เลย  เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการ  ก็มีเทคโนโลยี ตรวจการใช้บริการเป็นวินาทีอยู่แล้ว  ปัญหาคือการปัดเศษขึ้นไปเป็นนาที  ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค  และการแก้ปัญหาโดยการใช้โปรโมชั่น  นาทีและวินาที ที่อ้างว่าเป็นทางเลือกน่าจะไม่ถูกต้อง   แต่ต้องกำหนดให้ทุกโปรโมชั่น  ต้องคิดค่าบริการตามที่ใช้จริง   ที่สำคัญในระยะเวลาอันใกล้นี้   จะมีการประมูล 4G   จะเสนอให้ กสทช. กำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจนว่าผู้ประกอบการที่จะเข้าประมูลต้องคิดค่าบริการตามที่ผู้บริโภคใช้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 167 เมื่อคดีสิ้นสุดแล้ว จำเลยไม่จ่ายก็ต้องยึด(ทรัพย์)

ความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุรถโดยสารยังมีให้เห็นกันไม่หยุดหย่อน แต่ละเหตุการณ์มีทั้งคนเจ็บคนตาย หลายเรื่องเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วก็เงียบไป เพราะอาจจะตกลงกันได้ หรือไม่ติดใจเอาความ แต่อีกหลายเรื่องก็ต้องฟ้องคดีกัน บางคดีต้องใช้เวลานาน ถึงชนะแล้วก็ยังไม่ได้เงินชดเชยเยียวยาก็มี และกรณีนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากของผู้ประสบเหตุที่นอกจากจะต้องสูญเสียคนที่รัก คนที่สำคัญของครอบครัวไปแล้ว กระบวนการยุติธรรม การชดเชยเยียวยาก็ล่าช้า ไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ที่เสียหายเลย...จากกรณีที่ นางสาวภัทราพร ได้โดยสารรถร่วม บขส. ปรับอากาศ ชั้น 2 (ป.2) คันหมายเลขทะเบียน 10-6539 นครราชสีมา เส้นทางสายนครราชสีมา-อุดรธานี-ขอนแก่น-ศรีเชียงใหม่ ที่นายทองใบ ศรีโนรักษ์ เป็นผู้ขับขี่ เพื่อเดินทางไปสมัครงานหลังเรียนจบ แล้วรถเกิดอุบัติเหตุ ยางล้อหลังข้างซ้ายระเบิด ผู้ขับขี่ไม่สามารถบังคับรถให้ทรงตัวอยู่ได้ ทำให้รถเสียหลักตกลงไปในร่องกลางถนน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันที 5 ศพ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากหลังเกิดเหตุ ญาติผู้เสียชีวิตได้เข้าเจรจาไกล่เกลี่ยค่าสินไหมทดแทนจากตัวแทนบริษัท แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ มีการท้าทายถ้าอยากได้มากกว่านี้ให้ไปฟ้องเอา...คดีจึงต้องไปว่ากันที่ศาล โดยนางปุ่น ชุ่มพระ ได้มาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในการช่วยเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนนี้ และมูลนิธิฯ ได้จัดหาทีมกฎหมายเข้าช่วยเหลือทางคดี โดยฤกษ์ดีวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555  ได้เข้ายื่นฟ้องนายทองใบ ศรีโนรักษ์ ผู้ขับขี่ ,  บริษัท ประหยัดทัวร์, นายอุบล เมโฆ เจ้าของรถ, บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด เป็นคดีผู้บริโภค ฐานผิดสัญญารับ-ส่งคนโดยสาร เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 7,342,249 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเกิดเหตุ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คดีนี้ศาลใช้เวลาพิจารณาคดี 7 เดือน และในวันที่ 26 กันยายน 2555 ศาลชั้นต้นมีพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมชดเชยเงิน 1,370,540 บาท ให้กับนางปุ่น ชุ่มพระ มารดาผู้เสียชีวิต เนื่องจากนายทองใบ ผู้ขับขี่ให้การรับสารภาพในคดีอาญา และถูกพิพากษาว่าขับรถโดยประมาท ต้องรับผิดชอบความเสียหายในทางแพ่งด้วย อีกทั้งพฤติการณ์ของจำเลยขับรถด้วยความประมาท ปราศจากความระมัดระวังด้วยความเร็วสูง เสียหลักออกไปนอกเส้นทางเดินรถ จนไม่สามารถบังคับรถได้ ทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำตะแคงซ้ายอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ตายเสียชีวิตในทันที และเหตุที่เกิดขึ้นไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้ตาย เพราะจำเลยย่อมรู้ว่าสภาพรถไม่ปลอดภัย ควรดูแลรักษาอุปกรณ์ ส่วนควบ ให้อยู่ในสภาพปกติก่อนนำออกใช้ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นความผิดของจำเลยที่ 1, 3 และ 4 ต้องร่วมรับผิดชอบ (ส่วนจำเลยที่ 5 บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด ได้จ่ายค่าสินไหมในระหว่างพิจารณาคดีจนครบตามกรมธรรม์แล้ว จึงมีคำสั่งให้ถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 5 ได้)ผลของคดีเหมือนจะจบลงด้วยดี หากฝ่ายจำเลยยอมรับคำตัดสินของศาล แต่กรณีนี้ไม่ใช่ นายทองใบ ศรีโนรักษ์ จำเลยที่ 1  ผู้ขับขี่ และ บริษัท ขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 2 ผู้ให้สัมปทานรถร่วม ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลอุทธรณ์เวลาผ่านไปอีก 22 เดือน นับแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โดยในวันที่ 18 กรกฎาคม 2556 ศาลอุทธรณ์ก็มีคำพิพากษายืนข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้น แต่แก้ในส่วนของค่าเสียหายให้ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 1,150,540  บาท ของต้นเงินจำนวน 140,540 บาท นับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาทแทนโจทก์ด้วย ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้ยื่นขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกา จึงทำให้คดีนี้ถึงที่สุดตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 49 บัญญัติไว้ว่า “ การพิจารณาพิพากษาคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ทั้งนี้ตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาภายใต้การบังคับมาตรา 52 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคให้เป็นที่สุด ”อ่านกันถึงตรงนี้แล้ว หลายคนคงคิดว่าจำเลยคงยอมจะจ่ายเงินตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์อย่างแน่นอน โดยโจทก์ไม่ต้องรออีกต่อไป แต่ผ่านไปอีก 17 เดือน ฝ่ายจำเลยก็นิ่งเงียบไม่ยอมจ่าย แม้โจทก์จะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อออกคำบังคับและออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ฝ่ายจำเลยก็ยังเงียบกริบเหมือนไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้นดังนั้นในวันที่ 17  พฤศจิกายน 2557 นางปุ่น ชุ่มพระ จึงต้องตัดใจยื่นเรื่องตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีต่อกรมบังคับคดี เพื่อดำเนินการยึดทรัพย์ของจำเลย ชดใช้หนี้ตามคำพิพากษาในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557  โดยในวันดังกล่าวนางปุ่น ชุ่มพระ พร้อมเจ้าพนักงานบังคับคดี ได้เข้ายึดทรัพย์ บริษัท ขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 4 ในคดี เพื่อรับการชำระหนี้จำนวน 1,190,066 บาท ซึ่งบริษัท ขนส่ง จำกัด ก็ยินยอมชำระหนี้เป็นเช็คเงินสดของธนาคารกรุงไทยให้แต่โดยดี แม้จะใช้เวลานานไปบ้างในขั้นตอนการออกเช็คก็ตามนับเป็นการสิ้นสุดคดีความและการรอคอยการจ่ายค่าสินไหม รวมเวลานับแต่เกิดเหตุจนคดีสิ้นสุดได้รับการชำระค่าเสียหายเป็นเวลา 45 เดือน ซึ่งกรณีนี้สะท้อนให้เห็นได้ถึงความล้มเหลวของกระบวนการชดเชยเยียวยาต่อผู้บริโภคที่เสียหาย ที่ต้องรอการพิสูจน์ถูกผิดและใช้เวลานาน โดยจำเลยที่เป็นหน่วยงานรัฐจะไม่ยอมจ่ายค่าเสียหายเลย หากคดีไม่ถึงที่สิ้นสุด รวมถึงความอ่อนแอของขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมและการบังคับคดี เนื่องจากจำเลยยังมีช่องทางเพื่อประวิงเวลาการชดใช้ค่าเสียหายได้มารดาของ นางสาวภัทราพร กล่าวว่า “ดีใจที่เรื่องนี้จบซะที แม้ว่าวันนี้จะไม่ได้ชีวิตลูกสาวกลับคืนมา ซึ่งไม่มีอะไรชดใช้ได้ก็ตาม แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อเกิดเหตุในลักษณะทำนองนี้ นอกจากคนขับแล้ว ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันรับผิดชอบด้วย อยากขอให้เป็นบทเรียนให้ทุกฝ่ายระมัดระวัง โดยเฉพาะเจ้าของรถก่อนจะออกจากสถานีก็ควรตรวจสอบรถโดยสารให้มีสภาพพร้อมใช้งาน เพราะชีวิตของผู้โดยสารฝากไว้ที่คุณแล้ว ดิฉันมีลูกแค่คนเดียว ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังทำใจไม่ได้เพราะลูกคือความหวังของชีวิต”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 167 ปัญหานักศึกษากับบัตร Rabbit รถไฟฟ้า BTS

“รถติด” ปัญหาชีวิตคนเมืองกรุงเทพฯ  ทั้งนักเรียน  นักศึกษา คนทำงาน  โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนทั้งช่วงเช้า และช่วงเย็น  คนกรุงเทพฯ มักจะหลบเลี่ยงการจราจรที่คับคั่ง  รถติดยาวเหยียด ด้วยการหันไปใช้บริการรถไฟฟ้า BTS  กันมากขึ้น  ต้องบอกว่าแน่นไม่แพ้กัน ทำให้ต้องขยายเส้นทางกันมากมาย และยังให้นักเรียน นักศึกษา ใช้รถไฟฟ้า  BTS  ในราคาถูกกว่าผู้ใช้บริการทั่วไป ดังเช่น น้องลัคนา นักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชน ที่เพิ่งจบการศึกษาหมาดๆลัคนาเล่าให้เราฟังว่า “ใช้บริการมาตลอดตั้งแต่เรียนปีที่ 2  โดย ซื้อบัตร Rabbit เพื่อความสะดวกในการใช้เดินทาง จนเมื่อเช้าวันพฤหัสบดี ที่ 11 ธันวาคม 57 สถานที่ BTS บางหว้า น้องกำลังจะเดินทางไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยนำบัตรไปใช้บริการตามปกติ แต่เครื่องอัตโนมัติได้เตือน ว่าไม่สามารถผ่านได้ ต้องเติมเงินเท่านั้นเธอจึงไปที่เคาน์เตอร์เติมเงินลงบัตรแรบบิท จำนวน 100 บาท เพราะเป็นช่วงต่อขยาย ผู้ร้องใช้บัตรแรบบิทแบบเติมเที่ยว เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้น ได้นำบัตรไปใช้บริการ ระหว่างนั้น พนักงานท่านหนึ่ง  ได้เรียกและขอดูบัตรแรบบิท พร้อมกล่าว ขอดูบัตรประชาชน และบัตรนักศึกษา แต่ในช่วงระยะเวลานั้น ผู้ร้องมีเพียงบัตรประชาชน จึงยื่นไปแต่พนักงานพูดจาไม่รู้เรื่อง ถึง 2 รอบ แต่จับประเด็นได้ว่า ขอยึดบัตรแรบบิท พร้อมเขียนบิล(ยึดบัตรโดยสาร)พนักงานกล่าวว่า ถ้าจะเอาคืน ต้องเอาบัตรนักศึกษามาแนบ ภายในระยะเวลา 3 วัน และให้ผู้ร้องออกมา พร้อมบอกว่าให้ไปซื้อบัตรหยอดตู้ รายวันใช้ใหม่  แล้วค่อยกลับเข้าไปใหม่  ในช่วงนั้นผู้ร้องรู้สึกสิ้นหวังสิ้นหวังสุดๆ เพราะมีเงิน เพียง 100 บาท แต่นำไปเติมค่าโดยสารหมดแล้ว  ต้องจำยอมไปถอนเงินซื้อบัตรใหม่ วันรุ่งขึ้นเมื่อไปติดต่อขอรับบัตรคืน  กลับถูกปฏิเสธพนักงานอ้างว่าเรียนจบแล้ว เพระบัตรนักศึกษาหมดอายุ ใช้ไม่ได้  น้องนึกในใจว่า แล้วที่ยอมให้เติมเงินได้ทุกครั้งล่ะ?   แล้วที่เขียนว่าอายุไม่เกิน 23 ปีล่ะ เขียนไว้ทำไม  บัตรก็เป็นของเราแค่เพิ่งเรียนจบ งานก็ยังไม่ได้ทำ งั้น…ขอเงินคืนได้หรือไม่  พนักงานบอกว่าไม่ได้น้องจึงมาขอคำปรึกษา ว่าทำอะไรได้บ้างไหม ศูนย์พิทักษ์หลังจากรับฟังเรื่องราว  และมาตรวจสอบข้อมูล  พบว่า “เงื่อนไขในการใช้บัตรชนิดนี้มีกำหนดแต่เพียงว่า “สำหรับนักเรียน  นักศึกษา ที่มีอายุไม่เกิน 23 ปีบริบูรณ์ ตามบัตรประชาชนและศึกษาในสถานศึกษาในประเทศไทย ศึกษาในต่างประเทศ  เนติบัณฑิต โรงเรียนฝึกอาชีพ และโรงเรียนสอนภาษา  และไม่ต้องแสดงหลักฐานการเป็นผู้มีสิทธิใช้บัตรโดยสารประเภทดังกล่าวในเวลาซื้อบัตรโดยสาร” พนักงานใช้วิธีเพียงสุ่มตรวจเท่านั้น  ซึ่งมิใช่มาตรการที่รัดกุม  และบัตรนั้นเป็นของผู้ร้องเอง ที่มิใช่นำของผู้อื่นมาใช้  จึงเห็นด้วยว่า ที่บริษัทฯ ไม่ให้โอกาส ผู้บริโภคแก้ตัว เช่น การคืนเงิน น่าจะพูดคุยกันได้ จึงแนะนำให้ น้องลัคนาทำหนังสือถึง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ขอให้คืนเงินในบัตรที่เติมเป็นเงินค่าส่วนต่อขยาย และราคาค่าเที่ยวที่ยังคงเหลือทั้งหมด  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 167 สรุปสถานการณ์ปัญหาของผู้บริโภคในรอบปี 2557

สถานการณ์ ปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 6 ภูมิภาคในปี 2557 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,665 รายปัญหาที่ร้องเรียนมากที่สุดคือ  ด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข 849 ราย  ซึ่งปัญหาจะอยู่ในส่วนภูมิภาค ได้แก่  การใช้สิทธิฉุกเฉิน, แพทย์ผ่าตัดผิดพลาด, ค่ายาและค่าบริการโรงพยาบาลเอกชนแพง สิทธิการรักษา ในระบบประกันสังคม เช่น โรคไต  เป็นต้น  รองลงมาคือด้านการเงินการธนาคาร 468 ราย  ยังคงเป็นปัญหาเรื่อง หนี้สิน เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล  ประกัน ฯลฯ  ตามมาด้วยปัญหาด้านสื่อโทรคมนาคม 410 ราย  ลักษณะปัญหา ได้แก่ การตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ในชุมชน การได้รับ SMS รบกวนและถูกหักสตางค์ เป็นต้น  ส่วนอันดับที่สี่เป็นปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน 284 รายสิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ ปัญหาการถูกละเมิดสิทธิส่วนใหญ่นั้น ถูกเพิกเฉยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวพันต่อเนื่อง“ยกตัวอย่าง กรณีปัญหาสินค้าประเภทรถยนต์นั้น  เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีราคาสูง ผู้บริโภคซื้อรถยนต์ป้ายแดงคาดหวังว่าจะใช้รถได้เต็มประสิทธิภาพ แต่กลับชำรุดบกพร่องจนต้องซ่อมแล้วซ่อมอีก ซึ่งบริษัทผู้ผลิตมักอ้างว่ารถปกติ ผู้บริโภคกังวลไปเอง เช่น กรณีรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลต รุ่น ครูซ  ที่เป็นข่าวฟ้องร้องกันและเคยนำเสนอใน “เสียงผู้บริโภค” อย่างต่อเนื่อง จากปัญหาเรื่องระบบส่งกำลัง เกียร์ชำรุด  เร่งไม่ขึ้น  รถดับขณะขับขี่ ทำให้ผู้บริโภคที่ซื้อรถต้องร้องเรียนให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบความชำรุดบกพร่องว่าเป็นเรื่องที่บริษัทควรรับผิดชอบ เพราะมิใช่เกิดจากความผิดของผู้บริโภคหรือเป็นเรื่องกังวลไปเอง แต่เป็นความผิดพลาดในการผลิต ซึ่งเมื่อหน่วยงานรัฐทำการตรวจสอบและพบความชำรุดบกพร่องจริงตามที่ผู้บริโภคร้องเรียน  แต่ปัญหากลับยังคงนิ่งสนิท โดยหน่วยงานรัฐได้มีการดำเนินการใดๆ กับบริษัทผู้ผลิต  หรือออกมาเผยแพร่ข้อมูลใดๆ ให้ประชาชนทั่วไปรับทราบ  หรือมีมาตรการจัดการกับบริษัทผู้ผลิตแต่อย่างใดและปัจจุบันยังพบว่า ค่ายรถยนต์รายอื่นก็ทยอยมีปัญหาในลักษณะเดียวกัน  ดังที่เป็นข่าวดังก่อนช่วงปีใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่เกิดซ้ำๆ  เมื่อหน่วยงานมิได้มีมาตรการที่ออกมาบังคับใช้อย่างจริงจัง ปัญหาจึงไม่ถูกแก้ไขทั้งระบบ      หากเป็นกรณีที่เกิดในประเทศที่ระบบการคุ้มครองผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง หน่วยงานจะออกมาตรการให้มีการเรียกรถที่เกิดปัญหาคืนทันที เพื่อกลับมาตรวจสอบอาการผิดปกติ แต่ในเมืองไทยกลับไม่พบว่ามีการเรียกรถมาตรวจสอบเหมือนในต่างประเทศทั้งที่เป็นรถรุ่นเดียวกัน” นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคคนทำงานผู้บริโภค จึงหวังที่จะเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และต้องการให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเกิดขึ้นโดยไว เพราะหนึ่งในหน้าที่สำคัญของ องค์การอิสระฯ คือ การทำหน้าที่รายงานสถานการณ์ปัญหาการชำรุดบกพร่องในสินค้าและบริการเพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม และทันสถานการณ์ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 167 กระแสต่างแดน

ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) ได้สำรวจความพร้อมทางการเงินสำหรับชีวิตวัยเกษียณ ของผู้คนในวัย 25 ปีขึ้นไป และผู้คนในวัยเกษียณ จาก 15 ประเทศ* ทั่วโลกในระหว่างเดือนสิงหาคมและกันยายนปี 2557 และพบสิ่งที่น่าสนใจดังนี้ ... เมื่อแยกดูรายประเทศจะเห็นว่า คนฝรั่งเศสในวัยทำงานที่ไม่มั่นใจว่าจะมีชีวิตสุขสบายหลังเกษียณ มีถึงร้อยละ 60  รองลงมาได้แก่ คนไต้หวัน (ร้อยละ 56) และคนตุรกี (ร้อยละ 54) ส่วนในอินเดียและอินโดนีเซียนั้นมีผู้ตอบแบบสำรวจไม่ถึงร้อยละ 10 ที่รู้สึกไม่มั่นใจว่าตนเองจะสามารถเกษียณอย่างเป็นสุข ถ้าแยกกันระหว่างหญิงชายจะพบว่า ร้อยละ 38 ของผู้หญิงไม่มั่นใจว่าจะได้ใช้ช่วงเวลาเกษียณโดยไม่ลำบากทางการเงิน ในขณะที่ฝ่ายชายนั้นอยู่ที่ร้อยละ 31 ในภาพรวม ประมาณร้อยละ 70 ของคนวัยทำงาน มีความกังวลว่าจะมีเงินไม่พอใช้ในวัยเกษียณ ร้อยละ 66 กลัวว่าจะมีเงินไม่พอกับค่าใช้จ่ายรายวันในอนาคต อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 85 ของคนกลุ่มดังกล่าว ไม่ได้จัดให้การเก็บเงินเพื่อใช้ยามเกษียนเป็นเป้าหมายหลักของการออมเงินในปัจจุบัน อุปสรรคสำคัญที่ทำคนวัยทำงานรู้สึกว่าพวกเขายังไม่สามารถเก็บเงินไว้ใช้ยามชราได้ คือภาระผ่อนบ้าน ค่าเล่าเรียนลูก และหนี้อื่นๆ  แนวโน้มดังกล่าวชัดเจนมากในประเทศสหรัฐอเมริกา มาเลเซีย เม็กซิโก และแคนาดา เกือบร้อยละ 30 ของคนในวัยเกษียณที่รู้สึกไม่มีความพร้อมทางการเงินสำหรับชีวิตปัจจุบัน บอกว่า ก่อนหน้านี้พวกเขาไม่ทราบว่าตนเองควรมีเงินเก็บเท่าไร ร้อยละ 37 ของผู้ตอบแบบสำรวจในวัยก่อนเกษียณบอกว่าพวกเขายังเตรียมตัวไม่พร้อมทางการเงินสำหรับการเกษียณอย่างสุขสบาย  โดยประเทศที่คนวัยก่อนเกษียณรู้สึกไม่พร้อมมากที่สุดในการสำรวจนี้ได้แก่ ไต้หวัน และตุรกี สำหรับกลุ่มคนที่เกษียณแล้ว ผู้คนในตุรกี ฝรั่งเศส เม็กซิโก และสิงคโปร์ คือกลุ่มที่รู้สึกว่าตนเองมีความพร้อมน้อยที่สุด เกือบ 2 ใน 3 ของคนในวัยเกษียณที่รู้สึกไม่พร้อมนั้น ไม่รู้เลยว่าตนเอง “ไม่พร้อม” จนกระทั่งเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว มากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจที่อยู่ในวัยเกษียณบอกว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้พวกเขาจะเริ่มเก็บเงินให้เร็วกว่านี้ โดยคนวัยเกษียณใน มาเลเซีย เม็กซิโก และอินเดีย เป็นกลุ่มที่อยากกลับไปเปลี่ยนพฤติกรรมการออมของตนเองมากที่สุด ร้อยละ 38 ของคนที่เกษียณแล้วเห็นว่า การเก็บเงินเพื่อชีวิตหลังเกษียณควรเริ่มก่อนอายุ 30 ปี ในขณะที่เพียงร้อยละ 26 ของคนวัยใกล้เกษียณเท่านั้นที่เห็นว่าควรเริ่มเก็บเงินเร็วขนาดนั้น ร้อยละ 38 ของคนวัยทำงาน (ยกเว้น สหรัฐฯ และ ฮ่องกง) ยังไม่เริ่มเก็บเงิน และยังไม่มีแผนที่จะเก็บเงินสำหรับชีวิตหลังเกษียณ ผู้ทำสำรวจ (HSBC) ให้คำแนะนำว่า ถ้าต้องการอยู่สบายในวัยเกษียณ ... -          ควรเริ่มเก็บเงินตั้งแต่วันนี้ ยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดี -          ประเมินให้ได้ว่าจะต้องใช้เงินเท่าไรสำหรับการใช้ชีวิตในแบบที่เราต้องการ โดยเฉลี่ยแล้วคนเราจะต้องการเงินสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณอีก 18 ปี (คิดจากอายุเกษียณที่ 60 ปี และอายุคาดเฉลี่ยที่องค์การอนามัยโลกประเมินไว้ที่ 78 ปี) -          หาทางทำให้เงินที่มีอยู่งอกเงยขึ้น ด้วยการลงทุนอย่างฉลาด -          คิดถึงเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเช่น อุบัติเหตุ หรืออาการเจ็บป่วย ไว้ด้วย ว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อแผนการใช้เงินของเราอย่างไร   *ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา ฝรั่งเศส ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เม็กซิโก สิงคโปร์ ไต้หวัน ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา *การสำรวจดังกล่าวเป็นการตอบแบบสอบถามออนไลน์ โดยในประเทศอินโดนีเซียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีการสอบถามแบบตัวต่อตัวเพิ่มด้วย *อ้างอิงจากรายงาน The Future of Retirement: A balancing act ลิขสิทธิ์ HSBC Holdings plc 2015

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 167 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมกราคม 2558 ศาลสั่ง “BTS” ทำลิฟท์ทุกสถานีให้ผู้พิการ ศาลปกครองสูงสุดมีมติ ให้กลุ่มผู้พิการ โดยมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เป็นฝ่ายชนะคดีที่ฟ้องร้องต่อ กทม. และบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กรณีร่วมกันก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) โดยไม่มีการก่อสร้างลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ หลังจากที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิมายาวนาน ตั้งแต่เริ่มมีการสร้างรถไฟฟ้าก่อนเปิดให้ใช้งาน นับเวลารวมแล้วเกือบ 20 ปี โดยมติของศาลมีว่า กทม. และบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ต้องจัดทำลิฟต์ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้ง 23 สถานี (ปัจจุบันมีเพียง 5 สถานี ได้แก่ สยาม หมอชิต ช่องนนทรีย์ สนามกีฬาแห่งชาติ และอ่อนนุช โดยแต่ละสถานีมีลิฟต์เพียง 1 ตัวเท่านั้น) และให้จัดทำอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก ทั้ง 23 สถานี รวมทั้งจัดทำอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกบนรถไฟฟ้า โดยให้จัดที่ว่างสำหรับเก้าอี้เข็นคนพิการ ให้มีความกว้างไม่น้อยกว่า 120 ซม. และให้ราวจับสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 80 ซม. บริเวณทางขึ้นลงและติดสัญลักษณ์คนพิการไว้ทั้งในและนอกตัวรถที่จัดให้สำหรับคนพิการ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2542) ออกตามความใน พ.ร.บ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 และตามระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการว่าด้วยมาตรฐานอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ พ.ศ.2544 ทั้งนี้ให้ดำเนินการตามคำสั่งศาลให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี หลังจากมีคำพิพากษา   ไม่อยาก “ซิมดับ” รีบไปลงทะเบียน ใครที่เป็นผู้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน แล้วยังไม่เคยลงทะเบียนซิม ต้องอ่านข่าวนี้ให้ดี เพราะ กทสช. ออกประกาศชัดเจนแล้ว หากใครยังไม่ยอมนำซิมไปลงทะเบียนก่อนวันที่ 31 ก.ค. 2558 ซิมจะถูกระงับการใช้งานโทรเข้า-โทรออกไม่ได้ เรื่องการบังคับให้ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงิน หรือ prepaid ต้องลงทะเบียนซิมนั้น เป็นไปตามประกาศตั้งแต่สมัย กทช. เพื่อผลในเรื่องของความปลอดภัย ทำให้ทราบถึงข้อมูลของผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละหมายเลข รวมทั้งเป็นผลดีในเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ช่วยในความสะดวกเวลาใช้สิทธิหรือร้องเรียนปัญหาต่างๆ อย่างเช่น การย้ายค่ายเบอร์เดิม ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินที่ยังไม่เคยลงทะเบียนซิม สามารถลงได้โดยนำซิมการ์ดที่ต้องการลงทะเบียนและบัตรประชาชนนำไปติดต่อขอลงทะเบียนได้ที่ศูนย์บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เครือข่ายที่เราใช้บริการอยู่   “ไอโอดีน” ในวิตามินรวมสำหรับคนท้องตกมาตรฐานเพียบ มี “ทั้งขาด – ทั้งเกิน” กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยผลตรวจวิตามินรวมผสมเกลือแร่สำหรับหญิงตั้งครรภ์ จำนวน 13 ตัวอย่าง ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ พบผิดมาตรฐาน 9 ตัวอย่าง (ร้อยละ 69) โดยพบว่าแต่ละตัวอย่างมีปริมาณไอโอดีนในแต่ละเม็ดแตกต่างอย่างมาก บางเม็ดยาตรวจไม่พบไอโอดีนเลย ขณะที่บางเม็ดพบปริมาณไอโอดีนสูง 40 เท่าของปริมาณที่แจ้งไว้ ไอโอดีนถือว่า 1 ในสารอาหารสำคัญสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เพราะช่วงตั้งครรภ์หากมารดาขาดสารไอโอดีนจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทของเด็กทารกได้ จึงกลายเป็นช่องทางให้มีผู้ผลิตอาหารเสริมผสมไอโอดีนออกมาขาย แต่จากผลทดสอบที่ได้จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายอยู่ส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐาน อาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพของผู้ที่กินได้ ซึ่งหลังจากนี้ทาง อย.จะต้องมีการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ยาและอาหารเสริมที่มีสารไอโอดีนเป็นองค์ประกอบ และต้องมีการกำหนดข้อบ่งใช้กับสตรีมีครรภ์เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้   “สปาหอยทาก” เจอ “อีโคไล” วิวัฒนาการเรื่องความสวยความงามมีมาได้ไม่สิ้นสุดจริงๆ ที่มาสร้างความฮือฮาแบบสุดๆ ก็คือ “สปาหอยทาก” ที่จับเอาหอยทากมาไต่บนใบหน้า เพราะเชื่อว่าที่ตัวหอยทากมีสารช่วยบำรุงผิวหน้าเป็นสูตรลับจากฝรั่งเศส แต่งานนี้ดูไม่ชอบมาพากล เพราะหลายคนตั้งคำถามถึงเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย ร้อนถึงกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ต้องรุดเข้าไปตรวจสอบ สปาหอยทากนี้ตั้งอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ มีเจ้าของเป็นชาวฝรั่งเศส โดยนอกจากจะเปิดให้บริการในลักษณะเป็นร้านเสริมสวยที่ใช้หอยทากมาไต่ที่ผิวหน้าแล้วนั้น ยังมีฟาร์มหอยทากจำนวนกว่า 3 หมื่นตัว โดยเจ้าของระบุว่า เดิมนำเข้าแม่พันธุ์มาจากฝรั่งเศสประมาณ 100 ตัว แล้วค่อยมาขยายพันธุ์ที่เมืองไทย ซึ่งหลังจากการตรวจสอบโดยกรมประมง พบว่ามีเชื้ออีโคไลปนเปื้อนในตัวอย่างหอยทากที่นำไปตรวจ นอกจากนี้ยังอาจมีความผิดฐานนำเข้าสัตว์โดยผิดกฎหมาย ส่วนเรื่องของของเปิดบริการสถานเสริมความงาม พบเรื่องการใช้เครื่องมือแพทย์โดยผู้ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ได้รับใบอนุญาต และสถานบริการดังกล่าวยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สบส. แค่จดทะเบียนการค้ากับกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น ใครที่จะไปใช้บริการก็ขอให้ระวังเรื่องของเชื้ออีโคไลให้ดี เพราะเป็นเชื้อที่ผลต่อระบบทางเดินอาหาร อาจทำให้ท้องร่วงรุนแรงได้   จับตากฎหมาย “จีเอ็มโอ” หวั่นเอื้อประโยชน์บรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน นักวิชาการ กลุ่มธุรกิจอาหาร และกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ร่วมกันจัดเวทีเสวนา จับตาการผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ....” หวั่นเอื้อประโยชน์บรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ ซึ่งหลังจากที่คณะทำงานศึกษาแนวทางการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) และผลิตภัณฑ์มาใช้ใน ประเทศไทย ได้มีมติร่วมกันว่า การทดลองเรื่องจีเอ็มโอนั้นให้กลับไปใช้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2550 ที่มีเงื่อนไขควบคุมการทดลองจีเอ็มโอในภาคสนามที่เข้มงวด เช่น ต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต้องทดลองในสถานที่ของราชการเท่านั้น ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และนักวิชาการ และคณะรัฐมนตรีต้องเป็นผู้อนุมัติให้มีการทดลองเป็นรายกรณี ซึ่งจากข้อกำหนดนี้ จะส่งผลลบกับกลุ่มบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ ที่หวังจะนำเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอเข้ามาขายในประเทศไทย ทำให้การพลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ....” นี้จึงเป็นเครื่องมือของเหล่าบรรษัทข้ามชาติ ที่ลดทอนความเข้มงวดในการควบคุมการใช้เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอในประเทศ ทั้งนี้เมล็ดดัดแปลงพันธุกรรมหรือ จีเอ็มโอนั้น ถูกทำให้เชื่อว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ให้ผลผลิตที่ดีกว่าเมล็ดพันธุ์ทางธรรมชาติปกติ แต่นั่นเป็นเพียงการสร้างมายาคติของบรรษัทผู้ถือสิทธิเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอเท่านั้น การใช้เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอเกษตรกรจะต้องซื้อจากบรรษัทเจ้าของสิทธิ ไม่สามารถเพาะได้เองเหมือนเมล็ดพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งในอนาคตจีเอ็มโออาจจะกลายเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้ในการกีดกันทางการค้า เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอจะทำลายเมล็ดพันธุ์ทางธรรมชาติอื่นๆ ที่สำคัญคือเมืองไทยเราเป็นเมืองเกษตร มีความอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูกพืชพรรณต่างๆ อยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอจากต่างชาติ โดยหลังจากนี้จะมีการทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เอาไว้ก่อน โดยจะขอให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ และปรับปรุงเนื้อหาที่จะไม่เป็นการทำร้ายเกษตรกร ภาคธุรกิจ และผู้บริโภคในประเทศ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 แด่เธอและครอบครัว

ข่าวศาลฎีกา มีคำสั่งไม่รับฎีกา ของคุณปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนาด้วยเหตุ ไม่แนบคำร้องขออนุญาตฎีกาไปด้วย สร้างความผิดหวังกับความไม่เป็นธรรมจากปัญหาทางเทคนิคกฎหมาย เแปลกใจกับบทบาทเจ้าหน้าที่ศาล ทนาย และคนที่แวดล้อมเรื่องนี้ทั้งหลาย ว่าเมื่อฎีกาไปถึงศาล ไม่มีใครทักท้วงทนายเลยหรือว่าต้องแนบคำร้องด้วย ที่สำคัญเมื่อรู้ว่าไม่ได้ยื่นคำร้อง ก็ทิ้งเวลาเนิ่นนานจนแก้ไขไม่ทันการ จนแพ้เพราะปัญหาเทคนิคไม่ใช่แพ้เพราะข้อเท็จจริงหรือเนื้อหาของเรื่องราว คุณปรียนันท์ เป็นนักสู้เพื่อผู้ป่วยคนสำคัญ ปัจจุบันเป็นประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ที่เริ่มต่อสู้จากเรื่องของลูกตัวเอง จนเป็นที่พึ่งของผู้ป่วยและครอบครัวผู้เสียหายปีละหลายร้อยคน ทุกๆ วันต้องเปิดโทรศัพท์ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง เพราะไม่รู้ว่าจะมีผู้เสียหายหรือผู้เดือดร้อนโทรศัพท์มาตอนไหน ทั้งคำปรึกษาและกำลังใจกับทุกคน ความหวังสูงสุดของเธอ นอกเหนือจากความเป็นธรรมต่อลูกชายจากศาลยุติธรรม ซึ่งขณะนี้เป็นหมันจากเทคนิคของกระบวนการยุติธรรม คงจะเป็นการมีกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุขในประเทศไทย กฎหมายฉบับนี้ได้รอการพิจารณารับหลักในสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 5 ปี ด้วยมีกลุ่มแพทย์จำนวนไม่กี่คนที่ยังคัดค้านอย่างต่อเนื่องอย่างไม่มีเหตุผล กฎหมายมีหลักการอย่างน้อยสามส่วนที่สำคัญ คือการให้ความคุ้มครองด้วยการเยียวยาผู้เสียหายที่เทียบเท่าการฟ้องคดีทั้งผู้ให้และผู้รับบริการสาธารณสุข ประการที่สองลดการฟ้องร้องผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ เพราะเชื่อว่าไม่มีผู้ประกอบวิชาชีพคนใดที่ต้องการหรือมีเจตนาให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือพิการจากการรักษา แต่ยังมีปัญหาจากระบบบริการอีกมาก เช่น อุปกรณ์ที่ไม่เพียงพอ ไม่สะอาด ความเชี่ยวชาญของแพทย์ หรือปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ  และสุดท้ายมีระบบในการนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาปรับปรุงมาตรฐานการให้บริการของโรงพยาบาลและหน่วยบริการต่าง ๆ   หวังว่า กระบวนการยุติธรรมที่ตีบตันและจำกัดด้วยเทคนิค จะเป็นแรงส่งให้กฎหมายฉบับนี้ประสบความสำเร็จ และมอบเป็นของขวัญกับผู้ป่วยและครอบครัวคุณปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ที่ต่อสู้ด้วยชีวิตของลูกและครอบครัวมามากกว่า 20 ปี สำหรับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ถือเป็นความสำเร็จที่ทำได้เร็ว (Quick win) และช่วยเพิ่มความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสาธารณสุข หวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากทั้งสังคมไทย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 หนูไม่รู้ เขาให้หนูมา

เรื่องเล่าเฝ้าระวังฉบับที่แล้ว นำเสนอกระบวนการหลอกขายสินค้าให้กับผู้สูงอายุไปแล้ว แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจว่าผู้บริโภคกลุ่มวัยอื่นๆ จะไม่ถูกหลอกลวง เพราะขึ้นชื่อว่าการค้าแล้ว มันสามารถโน้มน้าวหลอกลวงผู้บริโภคได้ทุกกลุ่มอย่างแน่นอน กระทั่งวัยอย่างผม (วัยไหนคงต้องเดากันเองนะครับ) ผมพบกับน้องคนนี้ในวันหนึ่ง เธอโผล่มาที่สำนักงานของผมในชุดนักศึกษา ภายใต้ใบหน้าอ่อนเยาว์แม้จะแต่งหน้าเข้มไปหน่อย แต่ก็พอเดาได้ว่าอายุเธอคงประมาณใกล้ๆ ยี่สิบ เธอยื่นจดหมายแนะนำตัวจากบริษัทให้ผม ข้อความในจดหมายระบุว่า “ขออนุญาตฝึกงานสาธิตนวดเพื่อสุขภาพ” พร้อมรายละเอียดแจ้งว่า “ทางบริษัทได้จัดส่งนักศึกษาที่กำลังฝึกงานอยู่ที่บริษัทให้ออกฝึกงานนอกสถานที่ และขออนุญาตให้นักศึกษาได้พูดและสาธิตการนวดเพื่อสุขภาพ ใช้เวลาประมาณ 10-20 นาที โดยบริษัทจะเตรียมอุปกรณ์มาเองทั้งหมด ทั้งนี้ก็เพื่อให้นักศึกษาได้ทดสอบการพูดและฝึกการสาธิตอุปกรณ์เพื่อหาประสบการณ์จริง” (โถ..เพื่อการศึกษา น่าสนับสนุน) เมื่อผมถามข้อมูลเพิ่มเติม เธออธิบายว่า บริษัทที่เธอฝึกงานให้เธอมาพูดอธิบายเครื่องมือนวดเพื่อสุขภาพ ซึ่งเธอจะได้แต้มในการพูดเป็นเงินจำนวนประมาณสามสิบบาทต่อครั้ง วันหนึ่งจะต้องพูดให้ได้สามสิบราย และต้องพยายามให้คนฟังยินยอมให้เธอสาธิตอุปกรณ์นวดเพื่อสุขภาพ อย่างน้อยสิบราย ซึ่งเธอจะได้ค่าเหนื่อยในการสาธิตอุปกรณ์อีกรายละหนึ่งร้อยบาท ถ้าทำได้ครบถ้วนดังกล่าวจึงจะถือว่าการฝึกงานผ่าน ส่วนอุปกรณ์ที่สาธิตนี้ ผู้ฟังจะซื้อไปใช้หรือไม่ก็ไม่เป็นไร แต่เธอไม่ยอมโชว์อุปกรณ์ให้ผมเห็น แต่ที่แน่ๆ ผม คำนวณรายได้พบว่าหากเธอทำได้ครบถ้วน นอกจากเธอจะได้ฝึกงานแล้ว เธอยังจะได้ค่าตอบแทนอีกหนึ่งพันเก้าร้อยบาท (โถ...มากไม่ใช่เล่น) ผมถามเธอไปว่า การที่เธอจะเอาอุปกรณ์มาใช้ เธอรู้หรือเปล่าว่าอุปกรณ์นี้เป็นเครื่องมืออะไร และมีกฎหมายควบคุมดูแลหรือไม่ ปรากฏว่าเธอตอบว่าไม่ทราบ เอกสารหลักฐานอะไรที่ต้องมีตามกฎหมาย เธอไม่รู้ทั้งสิ้น เธอทราบแค่ว่า บริษัทสั่งให้มาฝึกงาน (โถ...ไร้เดียงสานะหนู) ผมจึงต้องอธิบายเพิ่มเติมไปว่า อุปกรณ์นวดเพื่อสุขภาพน่าจะเป็นเครื่องมือแพทย์ตามกฎหมาย ซึ่งมีกฎหมายเครื่องมือแพทย์ควบคุมดูแลอยู่ หากนำเข้ามาในประเทศก็ต้องไปติดต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อขออนุญาตเสียก่อน และหากจะทำการโฆษณาก็ต้องขออนุญาตด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ใครจะเอามาใช้ หรือโฆษณาได้อย่างตามใจชอบ เพราะอาจเกิดอันตรายได้ เธอทำหน้าละห้อย พยายามคะยั้นคะยอเพื่อให้ผมใจอ่อนยอมให้เธอได้ทำตามที่บริษัทสั่งมา แต่ผมยังยืนกรานไม่ยอม และแนะนำให้เธอกลับไปดูเอกสารหลักฐานมาจากบริษัทก่อน ทั้งนี้เพื่อตัวของเธอเองจะได้ไม่ถูกใครหลอกให้กระทำผิด สุดท้ายเธอจึงยอมจากไป (โถ...อย่าหาว่าผมใจร้ายนะหนู) เมื่อเธอกลับไปแล้ว ผมลองสืบค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ก็ไม่พบชื่อบริษัทดังกล่าวแต่อย่างใด ผมเลยไม่รู้ว่า เธอถูกเขาหลอกให้มาขายของ หรือผมถูกเธอหลอกว่าเธอถูกหลอกให้มาขายของกันแน่ (โถ...น่าสงสารทั้งหนูและผม) ยังไงก็ระวังการหลอกขายสินค้าในรูปแบบแปลกๆ นี้ด้วยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >