ฉบับที่ 206 บทเรียนจากวังน้ำเขียว

ฉบับนี้เห็นทีต้องกลับมาคุยเรื่องรถสองชั้นกันอีกครั้งนะครับ จากเหตุระทึกขวัญสั่นประสาทที่วังน้ำเขียว กรณีอุบัติเหตุรถโดยสารไม่ประจำทางสองชั้นของบริษัท กันเองทัวร์ เสียหลักลงข้างทาง ชนเพิงพักของชาวบ้าน ก่อนชนต้นไม้พลิกคว่ำ บริเวณทางหลวงหมายเลข 304 สายกบินทร์บุรี-วังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 19 คน และบาดเจ็บกว่า 30 คน โดยทั้งหมดเป็นชาวบ้านจากพื้นที่ตำบลหลุบ และตำบลห้วยโพธิ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งได้เหมารถท่องเที่ยวไปทะเลที่จังหวัดจันทบุรี ขณะเกิดเหตุกำลังเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดกาฬสินธุ์จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ประเด็นความไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสองชั้นถูกหยิบยกขึ้นมาสู่สาธารณะกันอีกครั้ง ถึงความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นว่า เพราะรถโดยสารสองชั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 19 คน และบาดเจ็บกว่า 30 คน รวมคนบนรถทั้งหมดที่อยู่ในรถคันเกิดเหตุมากกว่า 50 คนเลยทีเดียวแม้ข้อเท็จจริงในเหตุครั้งนี้จะชี้ชัดออกมาแล้วว่า สาเหตุสำคัญของการเกิดเหตุมาจากคนขับรถคันเกิดเหตุที่ไม่ชินเส้นทาง อีกทั้งยังเสพยาบ้าก่อนออกเดินทางจำนวน 2 เม็ด เมื่อมาถึงจุดเกิดเหตุจึงไม่สามารถควบคุมรถได้ ประกอบกับสภาพรถที่ไม่พร้อมใช้งาน และสภาพถนนที่คดเคี้ยวลงเขาและโค้งที่เสี่ยงต่ออันตราย แต่ประเด็นที่กำลังปะทุอย่างรุนแรงในสื่อต่างๆ ตอนนี้ คือ ประเด็นความไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสองชั้นว่า จริงๆ แล้วรถโดยสารสองชั้นไม่ปลอดภัยจริงหรือไม่ ถ้าบอกว่าไม่ปลอดภัยแล้วทำไมถึงยังมีรถโดยสารสองชั้นวิ่งให้บริการอยู่ แล้วประชาชนจะรู้ได้ยังไงว่าคันไหนปลอดภัยคันไหนไม่ปลอดภัย เพราะเหตุสะเทือนขวัญล่าสุดที่วังน้ำเขียวนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ในอดีตมีอุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารสองชั้นอีกหลายครั้ง เช่น 28 กุมภาพันธ์ 2557 อุบัติเหตุรถเช่าเหมาพานักเรียนโรงเรียนบ้านดงหลบ จังหวัดนครราชสีมา ไปทัศนศึกษาที่หาดจอมเทียน ชนกับรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ที่บริเวณทางขึ้นเขาศาลโทน ถนน 304 อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีผู้เสียชีวิต 15 คน เจ็บมากกว่า 40 คน24 มีนาคม 2557 อุบัติเหตุรถเช่าเหมาของผู้นำชุมชนของเทศบาลท่าสายลวด จังหวัดตาก ไปดูงานที่จังหวัดอุบลราชธานีและสปป ลาว เสียหลักตกเหวลึกกว่า 30 เมตร บริเวณดอยรวก ถนนสาย ตาก-แม่สอด จังหวัดตาก มีผู้เสียชีวิต 30 คน บาดเจ็บ 22 คน 9 มีนาคม 2560 อุบัติเหตุรถเช่าเหมาพานักเรียนจากโรงเรียนพังทุยพัฒนศึกษา จังหวัดขอนแก่น ไปทัศนศึกษาที่จังหวัดจันทบุรี แต่เกิดอุบัติเหตุเสียหลักชนแผงกั้นคอนกรีต ตกไปในเหวฝั่งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่ถนนสาย 304 กบินทร์บุรี-วังน้ำเขียว อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีผู้เสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บ 30 คน และยิ่งตอกย้ำถึงความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสองชั้น จากข้อมูลของ รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยที่ระบุว่า ปัจจุบันอัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสองชั้นต่อจำนวนรถจดทะเบียน 10,000 คัน สูงกว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารชั้นเดียวมากถึง 8 เท่าจากความสูญเสียในอดีตที่เกิดขึ้น หากย้อนไปเมื่อต้นปี 2559 พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยมีคำสั่งให้ยกเลิกรถโดยสารสาธารณะสองชั้นมาแล้ว แต่กรมการขนส่งทางบกได้ชี้แจงว่า ไม่สามารถยกเลิกรถโดยสารสองชั้นออกจากระบบได้ในทันที แต่สิ่งที่ทำได้คือการควบคุมไม่ให้มีรถโดยสารสองชั้นรุ่นใหม่เข้ามาจดทะเบียนเพิ่มเติมในระบบ มกราคม 2560 นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้กระทรวงคมนาคมพิจารณากำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยของรถโดยสารให้ครอบคลุมทุกด้าน อย่างยิ่งรถโดยสารขนาดใหญ่(รถสองชั้น) ซึ่งต่อมาคมนาคมได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 62 (พ.ศ. 2559) กำหนดและควบคุมมาตรฐานอุปกรณ์ส่วนควบเพื่อความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก ปรับลดความสูงของรถโดยสารสองชั้นให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล คือ ต้องมีความสูงไม่เกิน 4.0 เมตร จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 4.30 เมตร รวมทั้งยังต้องผ่านการทดสอบการทรงตัว เช่นเดียวกับรถโดยสารทุกประเภททุกคันที่มีความสูงเกิน 3.60 เมตร มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2560 เป็นต้นไปจากมาตรการข้างต้นนี้ หลายคนคงถอนหายใจเฮือกใหญ่ เพราะเชื่อว่าต่อจากนี้จะไม่มีรถโดยสารสองชั้นรุ่นใหม่ที่สูงปรี๊ดออกมาวิ่งบนถนนกันแล้ว แต่นั่นหมายถึงเฉพาะรถใหม่!!!คำถามคือ แล้วรถโดยสารสองชั้นเก่าที่จดทะเบียนมาแล้วก่อนหน้าวันที่ 19 มีนาคม 2560 ที่มีอยู่ในระบบอีกมากกว่า 7,000 คัน รถเหล่านี้รัฐบาลจะมีการกำกับดูแลยังไง เพราะที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาของกรมการขนส่งทางบกเหมือนจะผิดที่ผิดเวลาอยู่ตลอด การมุ่งควบคุมมาตรฐานรถที่จดทะเบียนใหม่เป็นเรื่องที่ดี แต่กับรถเก่าที่จดทะเบียนมาก่อนจะทำอย่างไร แม้ล่าสุด มีนาคม 2561 หลังเหตุระทึกขวัญที่วังน้ำเขียวนายกฯ จะกลับมามีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปปรับแก้ความสูงของรถโดยสารสองชั้น พร้อมเตรียมหาแนวทางกำหนดอายุใช้งาน และจำกัดเส้นทางวิ่งของรถโดยสารสองชั้น ซึ่งการสั่งการครั้งนี้น่าจะเด็ดขาดและชัดเจนที่สุดแล้ว แต่ถึงตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าคำสั่งของนายกฯ จะได้ผลแค่ไหน เพราะขนาดสั่งการไปตั้งแต่ปี 2559 แล้ว จนปัจจุบันก็ยังยกเลิกไม่ได้  หากแนวทางยกเลิกนั้นทำไม่ได้ เนื่องด้วยติดสัญญาขัดข้อกฎหมายหรือยังไม่มีเหตุเพียงพอ การออกมาตรการควบคุมการใช้งานรถโดยสารสองชั้น เช่น การกำหนดอายุการใช้งานรถที่เหมาะสม การกำหนดเส้นทางที่ไม่ให้รถโดยสารสองชั้นวิ่งได้ เช่น เส้นทางลาดชันขึ้นเขาลงเขา หรือการรับซื้อรถคืนตามสภาพของรัฐบาล ก็ดูเป็นทางเลือกที่ดีและทำได้สำหรับปัญหารถโดยสารสองชั้นในเวลานี้  ซึ่งหากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่จริงจังกับการแก้ไขปัญหา ปล่อยเวลาไปเรื่อยๆ แบบที่ผ่านมา ก็อาจจะมีความสูญเสียครั้งใหม่เกิดขึ้นมาอีก เชื่อว่าทุกคนอยากให้เหตุที่วังน้ำเขียวนี้เป็นครั้งสุดท้ายจริงๆ เพราะคนที่ต้องเดินทางและต้องเสี่ยงกับความสูญเสียไม่ใช่คนในรัฐบาลหรือหน่วยงาน แต่เป็นประชาชนผู้บริโภคที่ใช้บริการรถโดยสารสองชั้นนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 พาราควอต แร่ใยหินภาค 2

เป็นที่รู้หรือยอมรับกันทั่วโลก ว่าแร่ใยหินมีปัญหาเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ยกเลิกการใช้มากกว่า 50 ประเทศ จนมีมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ตั้งแต่ปี 2554 แต่จนปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในการยกเลิกการนำเข้า การห้ามใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระเบื้องและสินค้าที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ยอมรับผลการศึกษาที่ผ่านมาที่สรุปว่าแร่ใยหินอันตราย ทั้งจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชที่กระทรวงอุตสหากรรมว่าจ้างศึกษา และผลการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์(ของบริษัท) ได้ให้ข้อมูลแย้งเพื่อสนับสนุนการใช้แร่ใยหินมาเรื่อยๆ ดังนั้นเมื่อมีความเห็นแย้งอยู่จึงเห็นว่ายังไม่ควรดำเนินการตามมติครม. ขณะที่นักวิชการและภาคประชาชน เสนอให้ยกเลิกการนำเข้า และมีระยะเวลาจำกัดการใช้ เพราะเหตุผลเดียวที่จะยอมให้ใช้แร่ใยหินคือไม่มีสารทดแทน แต่เมื่อมีสารทดแทนแล้วก็ควรเลิกใช้ ซึ่งประเทศไทยก็มีผู้เสียชีวิตจากแร่ใยหินแล้ว แต่จะรอให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากก่อนค่อยยกเลิกหรืออย่างไรส่วนพาราควอต องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุชัดเจนว่ามีพิษรุนแรง เฉียบพลัน ไม่มียาต้านพิษ ก่อให้เกิดพาร์คินสัน  ตามที่ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายรอบ เพื่อรับฟังข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ยังคงยืนยันตามมติเดิมที่ให้ยกเลิกการใช้พาราควอตทางการเกษตร เพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย เกษตรกรและผู้ประกอบการได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ขณะที่คณะอนุกรรมการชุดพิเศษของกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอสองทางเลือกให้จำกัดการใช้ หรือให้เพิกถอนทะเบียนเพราะเป็นสารเคมีอันตราย ให้กับคณะกรรมการวัตถุอันตรายของกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาและดำเนินการโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป แต่คาดการณ์คำตอบได้ไม่ยาก จากปรากฎการณ์เชียร์ออกนอกหน้าของนักวิชาการบางกลุ่ม ให้ใช้พาราควอตได้ต่อ สารเคมีตัวนี้ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ เกษตรกรไร่อ้อยยังจำเป็นต้องใช้ กระทรวงเกษตรสามารถกำกับดูแลแบบเข้มงวดได้ สุดท้ายกระทรวงอุตสาหกรรมบอกตัดสินใจไม่ได้ เพราะขัดแย้งกัน ใครจะได้ประโยชน์??ดูพฤติการณ์ จะเข้าอีหรอบเดียวกับแร่ใยหินเป็นแน่แท้ หรือใครจะว่าไม่จริง เพราะคำพูดนี้ยังใช้ได้ผลและศักดิ์สิทธิเสมอในสังคมไทย “สุขภาพต้องมาก่อนการค้า แต่การค้าสำคัญเป็นอันดับแรก” (Health before Trade but Trade comes first) เหมือน Lady first but Gentlemen before 

อ่านเพิ่มเติม >

อานิสงส์เมจิกสกิน ศาลอุทธรณ์ ภาค 9 รับคดีฟ้อง ‘เพิร์ลลี่’ เป็นคดีแบบกลุ่ม

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผย เมื่อวันที่ 3 พ.ค.61 ศาลอุทธรณ์ ภาค 9 อนุญาตให้คดีเครื่องสำอางผิดกฎหมายเพิร์ลลี่เป็นคดีแบบกลุ่ม ซึ่งนับเป็นคดีผู้บริโภคคดีแรก เหตุเพื่อเป็นการช่วยป้องปรามไม่ให้เกิดผู้ผลิตที่ทำผิดกฎหมายซ้ำซาก และอาจทำให้ผลของคดีไม่เป็นไปทางเดียวกัน หากปล่อยผู้บริโภคให้ดำเนินคดีกันเอง           นางสาวศรินธร อ๋องสมหวัง ทนายความผู้รับผิดชอบคดี ให้ข้อมูลว่า กระบวนการฟ้องคดีแบบกลุ่ม กรณีโลชั่นทาผิวขาวเพิร์ลลี่ นั้น เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 แต่ศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้ว มีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้ง 4 ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยให้เหตุผลว่าคำฟ้องคดีนั้นไม่ปรากฎรายละเอียดความเสียหายของสมาชิกแต่ละคน และมีข้อเท็จจริงคนละอย่าง รวมถึงความเสียหายที่ไม่เท่ากัน หากจะพิจารณาแบบกลุ่มอาจมีความยุ่งยาก           โจทก์ทั้ง 4 จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ภาค 9 และเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ ภาค9 ได้มีคำสั่งรับคดีนี้เป็นคดีแบบกลุ่ม และการดำเนินคดีแบบกลุ่มกฎหมายก็กำหนดให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยกำกับดูแล ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมประสิทธิภาพการกำกับดูแลของภาครัฐ ดังนั้นการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ามามีส่วนร่วมในคดีนี้ จึงเป็นการช่วยป้องปรามไม่ให้เกิดผู้ผลิตที่ทำผิดกฎหมายเกิดขึ้นอีกซ้ำซาก รวมถึงการปล่อยผู้บริโภคให้ดำเนินคดีกันเอง อาจทำให้ผลของคดีแตกต่างกันออกไป ไม่เป็นไปทางเดียวกัน            “ในด้านความเสียหาย หากไม่เยอะ ผู้บริโภคก็อาจตัดสินใจไม่ฟ้อง ส่วนด้านผู้ประกอบการอาจคิดว่าไม่มีใครฟ้องมาฟ้อง ก็จะผลิตสินค้าผิดกฎหมายแบบนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งหากรับเป็นคดีแบบกลุ่ม ก็จะเป็นการแก้ปัญหาเพื่อส่วนรวม โดยต้องขอชื่นชมผู้เสียหายที่ร่วมฟ้องคดี ที่ให้ความร่วมมือ มีความรับผิดชอบ และมีความเป็นผู้นำ” นางสาวศรินธร กล่าว           นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอว่า จากผลของคำตัดสินดังกล่าวสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรออกประกาศ แล้วเอาสินค้าที่ผิดกฎหมายหรือไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคออกจากตลาด รวมถึงมีข้อเสนอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ประกาศแจ้งเตือนผู้บริโภคทันที กรณีเครื่องสำอางผิดกฎหมายเพิร์ลลี่ทันที เพื่อยกระดับการคุ้มครองแบบเป็นระบบ และฝากถึงผู้เสียหายจากเครื่องสำอางดังกล่าว ควรเข้าสู่กระบวนการเพื่อที่จะได้รับการชดเชยเยียวยากันถ้วนหน้า แม้ไม่ได้เป็นสมาชิกผู้ฟ้องคดีก็ตาม           ขณะนี้ทางผู้ฟ้องคดี ได้ขอยื่นความคุ้มครองชั่วคราวว่า โลชั่นผิวขาวดังกล่าวเป็นสินค้าอันตราย เพื่อให้เก็บออกจากท้องตลาด ซึ่งจะมีการพิจารณาอีกครั้งใน เดือน ก.ค.61           ทั้งนี้ ผู้เสียหายจากกรณีโลชั่วผิวขาวเพิร์ลลี่ สามารถติดต่อมาที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อร่วมลงชื่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 248 3737 หรือที่เฟซบุ๊คแฟนเพจ สมาคมผู้บริโภคสงขลา (https:/www.facebook.com/consumersongkhla/) ข่าวที่เกี่ยวข้อง- ทุกคนมีสิทธิ ฉบับที่ 202 ขาวอันตราย- มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพร้อมผู้เสียหายจากครีมผิวขาว‘เพิร์ลลี่’ ฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า 40 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม >

สบส.ยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค สแกนปุ๊บ รู้ทันทีคลินิกไหนเถื่อน

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สร้างระบบให้ประชาชนตรวจสอบการขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลด้วย “คิวอาร์โค้ด” (QR Code) ผ่านสมาร์ทโฟน สแกนแล้วรู้ทันทีว่าเป็นคลินิกถูกต้องตามกฎหมาย หรือ คลินิกเถื่อนนพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในปี พ.ศ.2561 เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีคลินิกที่ขึ้นทะเบียนกับ สบส. เกือบ 6,000 แห่ง ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลักลอบเปิดคลินิกเถื่อนให้บริการทางการแพทย์ที่ไม่ได้คุณภาพ สร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพ และชีวิตประชาชน สบส.ได้พัฒนาระบบตรวจสอบคลินิกเอกชนที่มีกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ โดยนำนวัตกรรม “คิวอาร์โค้ด” (QR Code) ติดที่ใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล, ใบอนุญาตแพทย์ผู้ดำเนินการ และบริเวณด้านหน้าของคลินิก หากประชาชนสแกนคิวอาร์โค้ดแล้วพบว่าข้อมูลชื่อสถานพยาบาลและที่ตั้งไม่ตรง หรือแพทย์ผู้ดำเนินการเป็นคนละคนกับที่แสดงในฐานข้อมูล ขอให้หลีกเลี่ยงการรับบริการจากคลินิกดังกล่าว สำหรับในพื้นที่ กทม. ให้แจ้งมายังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18618 ในส่วนภูมิภาค ให้แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เพื่อให้หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเข้าดำเนินการตรวจสอบโดยทันที

อ่านเพิ่มเติม >

สคบ. ออก“สัญญาเช่าซื้อรถ” เพิ่มความคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ให้ถูกเอาเปรียบ

            เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 (ฉบับใหม่ล่าสุด) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคมนี้            โดยสาระสำคัญของประกาศฉบับใหม่ ไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก ที่แก้ไขเป็นเรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระหนี้, การปรับลดดอกเบี้ยกรณีผู้บริโภคต้องการชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียวกัน, ค่าใช้จ่ายจากการบังคับยึดรถกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระหนี้เกิดกำหนด ซึ่งเดิมผู้ให้สินเชื่อเช่าซื้อหรือบริษัทลีซซิ่ง สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการยึดรถจากผู้บริโภคได้ แต่กฎหมายใหม่กำหนดข้อห้ามไว้ ซึ่งประกาศฉบับใหม่ มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้1.      กำหนดดอกเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระ ไม่เกิน 15% (เดิม 17%)2.      บริษัทเช่าซื้อต้องทำตารางแสดงค่างวด แยกเงินต้น-ดอกเบี้ย วันเดือนปีชำระค่างวดให้ผู้บริโภคทราบชัดเจน3.      กรณีผู้เช่าซื้อต้องการชำระเงินทั้งหมด (โปะ) บริษัทลีสซิ่งต้องให้ส่วนลดดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 50%4.      ให้สิทธิ์ผู้เช่าซื้อ ซื้อรถคืนได้ภายใน 7 วัน หลังยึดรถ และให้สิทธิ์ผู้ค้ำประกันอีก 15 วัน5.      กรณีจะนำรถขายทอดตลาด ต้องแจ้งให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันทราบล่วงหน้า 7 วัน โดยจะซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ6.      บริษัทเช่าซื้อสามารถเก็บค่าธรรมเนียมทวงถามได้ตามใช้จ่ายจริง แต่ห้ามเก็บค่าใช้จ่ายดำเนินการยึดรถ7.      มีผลบังคับใช้ 1 กรกฎาคม 2561            นอกจากนี้ ในประกาศยังระบุว่า ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อ ชำระเงินค่าเช่าซื้อและค่าใช้จ่ายต่างๆ ครบถ้วนแล้ว ให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อเป็นของลูกค้าทันที โดยบริษัทลีสซิ่งต้องดำเนินการจดทะเบียนรถให้เป็นชื่อของลูกค้าภายใน 30 วัน หากเกินกำหนด บริษัทลีสซิ่งต้องเสียเบี้ยปรับในอัตราที่เท่ากับเบี้ยปรับที่ลูกค้าต้องชำระเมื่อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 205 โลกร้อน เรื่องของเขาหรือของเรา

ไม่มีใครรู้ว่าโลกร้อนมากเพียงใดที่จะ "ปลอดภัย" แต่ที่เรารู้ก็คือ ภาวะโลกร้อนกำลังก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม สิ่งที่ทุกคนเห็นและจับต้องได้ก็คือ สภาพร้อนหนาว ฝนตก น้ำท่วม แห้งแล้ง ความแปรปรวนของอุณหภูมิ ระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลง เกิดผลกระทบกับประเทศไทยและทุกภูมิภาคทั่วโลกแน่นอนการลดภาวะโลกร้อนในประเทศเกี่ยวข้องโดยตรงกับแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ(PDP) ฉบับล่าสุด (2558-2579) ที่มีข้อเสนอให้มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเพียงร้อยละ 20 ในปี 2579 ซึ่งน้อยกว่าสัดส่วนพลังงานฟอสซิลที่สูงถึงร้อยละ 25 ในปีเดียวกันต้องยอมรับว่า พลังงานสะอาด บ้านเราไม่ไปไหน แม้แต่ข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ต้นปี 2559 ได้เสนอให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าบนหลังคาบ้านโดยเสรี แต่ยังทำไม่ได้จนถึงปัจจุบัน เพราะการไฟฟ้าไม่ยอมให้หักลบไฟฟ้าที่ผลิตได้ กลายเป็นผลิตให้การไฟฟ้าฟรี ยกเว้นสำนักงาน โรงเรียน มหาวิทยาลัย วัด หรือบ้านที่มีการใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวัน หลายคนบอกว่า ไม่เป็นไร ไม่ต้องสนใจมาก แต่ถึงตอนนั้นห้ามนำเงินภาษีไปอุดหนุนนะ เพราะธุรกิจพลังงานฟอสซิลขาลงเหมือนทีวีดิจิทัล ที่รอเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง(ทำลายล้าง) การที่เทคโนโลยีพัฒนาไม่หยุดยั้ง เช่น ล่าสุดความเก่งกาจของผู้ผลิตไทยเปิดตัวรถยนต์ต้นแบบที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า MINE Mobility วิ่งได้นานถึง 200 กิโลเมตร และการชาร์จแต่ละครั้งใช้เวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้นหรือกรณีบริษัทเทสล่า เลือกใช้รถยนต์ระบบไฟฟ้าแทนน้ำมัน ทำให้ TESLA ได้เปรียบบริษัทรถยนต์อยู่หลายเรื่อง  ไม่ว่าสมรรถภาพที่ดีกว่า ปลอดภัยกว่า ต้นทุนเชื้อเพลิงถูกกว่า ต้นทุนการบำรุงรักษาถูกกว่า แถมมลภาวะเป็น 0 จนตลาดหุ้นยอมให้มูลค่าบริษัท TESLA มากกว่าบริษัทจีเอ็ม ทั้งที่ TESLA ยังขายรถได้น้อยกว่ามาก เพราะตลาดมองว่าผู้บริโภคพร้อมแล้วที่จะเปลี่ยนจากรถใช้น้ำมันมาเป็นรถใช้ไฟฟ้า เมื่อปลายปีที่แล้ว ผู้ประดิษฐ์กระจกที่สามารถจ่ายไฟฟ้า หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า"เซลล์แสงอาทิตย์ฟิล์มบางแคดเมี่ยมเทลลูไรด์" ใช้เวลาเพียง 55 วินาที ก็จะได้กระจกจ่ายไฟฟ้า 1.92 ตารางเมตร หนัก 30 กิโลกรัม ผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 260 ถึง 270 กิโลวัตต์ชั่วโมง ข้อมูลที่เผยแพร่บอกว่า ถ้าต่อพ่วงกันสัก 3,000-4,000‬ แผง ก็จะได้พลังงานรวมทั้งปีในราว 800,000 - 1,040,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง มากพอๆ กับบริษัทพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากบ่อน้ำมันย่อมๆ 1 บ่อ อย่าปล่อยให้อิทธิพลของพลังงานฟอสซิลและตลาดทุนกำหนดนโยบายที่ไม่พึงปรารถนา ¬¬¬¬¬¬¬¬จนเราไม่สามารถเท่าทันการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ที่กำลังกลายเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกอยู่ในขณะนี้ หรืออีกทางหนึ่งอย่าปล่อยให้การเมืองเรื่องพลังงานมากำหนดอนาคตโลก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 การประเมินนโยบายงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี

การประเมินนโยบายงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีหลังจากที่พรรค CDU ของนางแองเจล่าร์ แมร์เคลประสบความสำเร็จได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปีที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถได้รับคะแนนเสียงข้างมากได้ และคะแนนนิยมตกต่ำลงซึ่งเป็นผลพวงมาจาก นโยบายการรับผู้อพยพลี้ภัย โดยไม่คำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยภายใน ส่งผลให้การเจรจากับพรรคอื่น ไม่ว่าจะเป็น พรรค FDP หรือ พรรค The Greeen Party ประสบความล้มเหลว และในที่สุด ก็สามารถจัดตั้งพรรครัฐบาลผสมโดยพรรคขนาดใหญ่ 3 พรรค คือ พรรค CDU CSU ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสายอนุรักษ์นิยม และพรรค SPD ซึ่งเป็นพรรคสายสังคมนิยม การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสม ได้สั่นคลอนความเป็นปึกแผ่นของพรรค SPD มีการเปลี่ยนผู้นำพรรค และผู้บริหารพรรค นอกจากนี้ หลังการเจราจาจัดตั้งรัฐบาลผสมแล้ว ก็ยังมีการทำสัตยาบรรณ (Koalitionsvertrag) ในการเข้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดยสิ่งที่น่าสนใจสำหรับ พรรค SPD ซึ่งเป็นพรรคสายสังคมนิยม คือ การลงคะแนนเสียงของสมาชิกพรรค เพื่อยอมรับ สัตยาบรรณ ดังกล่าว ซึ่งเสียงของสมาชิกส่วนใหญ่ (66.02%) จากสมาชิกพรรคทั้งหมด 463,723 คน เรียกได้ว่า การจัดตั้งรัฐบาลผสมขนาดใหญ่ผ่านอุปสรรคด่านแรกไปอย่างหืดขึ้นคอทีเดียวสำหรับความเห็นขององค์กรผู้บริโภคต่อนโยบายของรัฐบาลต่อประเด็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี จัดทำเอกสาร เพื่อประเมินนโยบายของรับบาลผสมขนาดใหญ่ของทั้งสามพรรค โดยมีทั้งหมด 12 ประเด็นได้แก่• การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค (Right and Right receiving)• การคุ้มครองผู้บริโภคในโลกยุคดิจิทัล (Digital  world)• ตลาดเงิน ตลาดทุน (Financial market)• การประกันสุขภาพและการดูแลผู้ป่วย (health and care insurance market)• อาหาร (food market)• พลังงาน (Energy market)• อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย (Real estate and accommodation)• การเดินทาง การท่องเที่ยว (Mobility and tourism)• การบริโภคที่ยั่งยืน และการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ (sustainability consume and resource protection)• การค้าข้ามชาติ ( International commerce)• การรู้เท่าทัน (consumer education)• การเฝ้าระวังกลไกตลาด (market surveillance) นโยบายการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค (Right and Right receiving)นโยบายของรัฐบาลผสมขนาดใหญ่ คือ การออกกฎหมายสำหรับการฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class action) เพื่อเพิ่มอำนาจและ การบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ซึ่งเป็นประเด็นที่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี เรียกร้องมาโดยตลอด ในประเด็นนี้ รัฐบาลมีนโยบายให้สิทธิในการฟ้องคดีกับหน่วยงานที่เป็นองค์กรภาคประชาชนที่ ได้มาตรฐาน (qualified organization or institution) เช่น องค์กรผู้บริโภค สมาคมสงเสริมการแข่งขันทางการค้า เพื่อป้องกัน ไม่ให้เกิดการ “ค้าความ” ขึ้นในกระบวนการยุติธรรม ความเห็นของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคกับนโยบายดังกล่าว คือ เห็นด้วย แต่ในประเด็นของข้อกฎหมายที่เป็นข้อกังวล คือ การตีความว่า องค์กรหรือ สถาบันใดที่จะได้รับสิทธินั้น ซึ่งไม่ควรจะกำหนดกฎเกณฑ์ จนทำให้มีเพียงไม่กี่องค์กรที่สามารถฟ้องคดีแบบกลุ่มได้นอกจากนี้ ในกรณีของการเยียวยาผู้บริโภค ต่อกรณีการละเมิดสัญญาในการทำธุรกรรมในโลกดิจิทัล เช่นการซื้อตั๋วรถไฟ กรณีการละเมิดสัญญา ควรที่จะมีการเยียวยาโดยอัตโนมัติต่อกรณีของการรับผิดต่อสินค้า โดยเฉพาะการทำธุรกรรมในยุคดิจิทัล จำเป็นที่จะต้องปรับปรุงกฎหมายเรื่องการรับผิดต่อสินค้าให้ทันสมัยกับยุคดิจิทัล โดยรัฐบาลต้องติดตามสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และ ปรับปรุง มาตรฐาน กฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์นโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคในโลกยุคดิจิทัล (Digital  world)- การควบคุม Algorithm control ของ Artificial Intelligemce (AI) โดยจะจัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมในด้านการใช้ข้อมูล (Data- Ethic Commission) เพื่อติดตามและเฝ้าระวังการใช้ AI ที่อาจละเมิดสิทธิผู้บริโภคต่อประเด็นดังกล่าว สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเห็นด้วย และสนับสนุนในการมีตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในคณะกรรมชุดนี้ และการทำงานของคณะกรรมการชุดดังกล่าวต้องตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างทันท่วงที และไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน (โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของ เวลา ที่มักเป็นจุดอ่อนของ Regulator)- ประเด็น Network neutrality ซึ่งสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลที่จะรักษาหลักการนี้ โดยจะต้องมีการกำกับดูแล ผ่าน กฎหมาย ซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักกฎหมายของอียู- นโยบายการขยายโครงข่าย broadband ทั่วประเทศ ภายในปี 2025 สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่า เป็นเรื่องที่สมควรทำ โดยในปีแรกของรัฐบาลควรที่จะขยายโครงข่ายให้ได้มากกว่า 50 % ของพื้นที่เป้าหมาย และต้องคำนึงถึงประเด็นในเชิงคุณภาพ ของเครือข่าย broadband ด้วย - ข้อมูลส่วนบุคคล (E-privacy- Regulation) รัฐบาลเสนอให้เกิดการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเข้มงวด และการออกกฎหมายของรัฐบาลต้องสอดคล้องกับหลักการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของอียู และความสนใจของทั้งผู้บริโภค และผู้ประกอบการ ซึ่งจะต้องรักษาสมดุลระหว่างกันและกันในขณะที่ประเด็นนี้ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่า เป็นนโยบายที่ย้อนแย้งกัน แต่ก็เห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะดำเนินนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเข้มงวดฉบับนี้ขออนุญาต นำเสนอ 2 นโยบายที่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ได้มีความเห็นและเผยแพร่ต่อสาธารณะหลังจากที่การจัดตั้งรัฐบาลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ความน่าสนใจของรัฐบาลชุดนี้ คือ จะสามารถทำงานได้ครบวาระหรือไม่ ภายใต้การขัดแย้งทางการเมืองที่ถาโถมเข้ามาเป็นระยะๆ (ที่มา เว็บไซต์สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี https://www.vzbv.de/.../ausfuehrliche_bewertung_koav_vzbv.pdf) ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 ค่าน้ำไฟหอพักแพง

หลายคนที่เช่าหอพักหรืออพาร์ทเมนต์ มักพบปัญหาค่าน้ำค่าไฟแพง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการถูกเรียกเก็บในอัตราต่อหน่วยที่สูงกว่าปกติ แต่เราจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ลองไปดูกันคุณพลอยเคยเช่าหอพักอยู่แถวรังสิต และต้องเสียค่าน้ำไฟเฉลี่ยแล้วเดือนละ 1,500 บาท โดยเธอพบว่าถูกเรียกเก็บค่าไฟในอัตรา 6 บาท/ ยูนิตและค่าน้ำเหมา 250 บาท/ เดือน ซึ่งเธอรู้สึกว่าแพงเกินไปจึงย้ายที่อยู่ใหม่มาเช่าอพาร์ทเมนต์แถววิภาวดี อย่างไรก็ตามเธอก็ยังคงต้องเสียค่าน้ำไฟถึง 2,000 บาทต่อเดือน เพราะที่ใหม่เรียกเก็บค่าไฟในอัตรา 8 บาท/ ยูนิต แม้คุณพลอยจะพยายามหาที่อยู่ในพื้นที่อื่นๆ เธอก็ยังคงพบว่าการเรียกเก็บค่าน้ำไฟอยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน หรือตั้งแต่ 6 – 12 บาท/ ยูนิต เธอจึงต้องการทราบว่าการเรียกเก็บในอัตราดังกล่าวมีความเหมาะสมแล้วหรือไม่ หรือสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างไรบ้างแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่าการเก็บค่าน้ำไฟในอัตราดังกล่าว ถือว่าแพงเกินอัตราเรียกเก็บจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีผู้ร้องหลายรายที่ร้องเรียนปัญหาดังกล่าวเข้ามา และศูนย์ฯ เคยรวบรวมรายชื่อผู้ร้องทั้งหมดส่งไปยัง สคบ. เพื่อขอให้ออกมาตรการหรือประกาศควบคุมการเรียกเก็บค่าน้ำไฟของหอพักแล้วภายหลัง สคบ. ก็ได้มีการหารือร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และล่าสุดได้ออกประกาศให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัย เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา (พ.ศ. 2561) โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับสัญญาเช่าให้ชัดเจน รวมทั้งข้อสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้เช่า ต้องไม่ใช้ข้อสัญญาที่มีลักษณะหรือความหมาย ในลักษณะที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถกำหนดอัตราค่าบริการกระแสไฟฟ้าและน้ำประปา เกินกว่าที่ผู้ให้บริการกระแสไฟฟ้าและน้ำประปาเรียกเก็บจากผู้ประกอบธุรกิจได้ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวจะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป ซึ่งหลังการบังคับใช้แล้ว หากผู้บริโภคพบว่าเจ้าของหอพักยังคงเรียกเก็บค่าน้ำค่าไฟเกินกว่าอัตราที่ระบุไว้ก็สามารถฟ้องร้องได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 กาแฟแพงเกินไป

สินค้าหรือบริการใดที่ไม่แสดงราคาหรือรายละเอียดให้ผู้บริโภคทราบก่อน มักสร้างปัญหาน่าปวดหัวตามมาภายหลัง เหมือนอย่างในกรณีนี้ที่ผู้ร้องเป็นคอกาแฟ ซึ่งปกติแล้วเธอยินดีจ่ายค่ากาแฟในราคาสูงเพื่อแลกกับกลิ่นหรือรสชาติของกาแฟแท้ แต่ครั้งนี้กลับต้องตกใจเมื่อพบว่ากาแฟราคาแก้วละ 400 บาท!คุณดวงใจเลือกสั่งมอคค่าเย็น จากร้านกาแฟสดแถวหน้ามหาวิทยาลัยใน จ.พิษณุโลก โดยก่อนชำระค่าสินค้าพนักงานได้สอบถามว่าต้องการกาแฟแบบธรรมดาหรือแท้ เธอจึงตอบกลับไปว่าแท้และไม่คิดว่าราคากาแฟแท้ดังกล่าวจะแพงมากนัก เนื่องจากเห็นป้ายราคาติดไว้ว่า “มอคค่าเย็น 50 บาท” อย่างไรก็ตามหลังจากได้รับกาแฟเรียบร้อย พนักงานก็แจ้งว่าค่ากาแฟทั้งหมด 400 บาท ซึ่งเธอตกใจมากและเมื่อสอบถามจึงทราบว่าที่ราคาสูงเนื่องจากเป็นมอคค่าแท้ ส่วนราคา 50 บาทนั้นสำหรับมอคค่าแบบธรรมดา แม้คุณดวงใจจะไม่พอใจมาก แต่เธอก็ต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวไปและต้องการร้องเรียนเพื่อให้ทางร้านมีการปรับปรุงป้ายราคา หรือแจ้งรายละเอียดระหว่างกาแฟแท้กับกาแฟธรรมดาให้ลูกค้าฟังก่อนตัดสินใจ เพราะอาจเกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับผู้บริโภคคนอื่นๆ อีก เธอจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้หากผู้บริโภคพบว่า การแสดงป้ายราคาสินค้าหรือค่าบริการ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมการค้าภายในได้กำหนดไว้ คือ 1. สามารถเห็นราคาได้อย่างชัดเจน 2. ราคาที่แสดงต้องเป็นราคาต่อหน่วย 3. รายการที่แสดงต้องเป็นภาษาไทย (แต่จะมีภาษาอื่นด้วยก็ได้) 4. แสดงค่าใช้จ่ายอื่นที่เรียกเก็บเพิ่มเติมให้ชัดเจน เช่น ภาษีหรือเซอร์วิสชาร์ท 5. ป้ายราคาสินค้าและบริการต้องแสดงให้ตรงกับราคาที่จำหน่าย (ยกเว้นจำหน่ายต่ำกว่าราคา) สามารถโทรศัพท์ร้องเรียนโดยตรงได้ที่ เบอร์สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือร้องเรียนออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมการค้าภายใน http://www.dit.go.th/ ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบว่าทางร้านค้า/ ร้านอาหารกระทำผิดจริงจะโดนโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >