ฉลาดซื้อเผยโดนัท 8 ยี่ห้อดัง ไขมันทรานส์สูงเกินมาตรฐาน

ฉลาดซื้อเผยโดนัท 8 ยี่ห้อดัง ไขมันทรานส์สูงเกินมาตรฐานนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบไขมันทรานส์และพลังงาน ในโดนัทรสช็อกโกแลต พบ 8 ยี่ห้อมีปริมาณไขมันทรานส์สูงเกินเกณฑ์ WHO แนะเลี่ยงบริโภค พร้อมเร่ง อย. ออกมาตรการบังคับผู้ผลิตจากโดนัทรสช็อกโกแลตที่นำมาทดสอบทั้งหมดจำนวน 13 ตัวอย่างพบว่า มี 8 ยี่ห้อที่มีปริมาณไขมันทรานส์สูงเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ คือ ควรพบไขมันทรานส์ในอาหารได้สูงสุดไม่เกิน 0.5 กรัม/ หน่วยบริโภค ได้แก่  1. ซับไลม์โดนัท (Sublime Doughnuts โดนัท ดาร์กช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 4.5913 กรัม/ ชิ้น 2. ฟู้ดส์แลนด์ (Foodland โดนัทช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 3.0484 กรัม/ ชิ้น 3. ดังกิ้น โดนัท (Dunkin Donuts ช็อกโกแลต ฟลาวเวอร์) มีปริมาณไขมันทรานส์ 2.7553 กรัม/ ชิ้น 4. เทสโก้ โลตัส (โดนัทรวมรส ช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 1.7449 กรัม/ ชิ้น 5. บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (โดนัทชอคโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.9560 กรัม/ ชิ้น 6. มิสเตอร์ โดนัท (Mister Donut ChocRing Classic) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.8690 กรัม/ ชิ้น 7. เอ็น.เค.โดนัท (NK Donut ริงจิ๋ว ช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.8626 กรัม/ ชิ้น และ 8. ยามาซากิ (Yamazaki โดนัทช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.7542 กรัม/ ชิ้นส่วนอีก 5 ยี่ห้อที่เหลือมีปริมาณไขมันทรานส์อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ได้แก่ 1. คริสปี้ครีม (Krispy Kreme Doughnuts ช็อกโกแลต ไอซ์ เกลซ) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.2067 กรัม/ ชิ้น 2. เบรดทอล์ค (BreadTalk โดนัทช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.2029 กรัม/ ชิ้น 3. แซง-เอ-ตัวล (Saint ETOILE โดนัทช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.1272 กรัม/ ชิ้น 4. เฟลเวอร์ ฟิลด์ (Flavor Field โดนัทช็อกโกแลต) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.0824 กรัม/ ชิ้น และ 5. แด๊ดดี้ โด (Daddy Dough ดับเบิ้ล ช็อค) มีปริมาณไขมันทรานส์ 0.0729 กรัม/ ชิ้นรวมทั้งยังพบว่าโดนัทส่วนใหญ่ให้พลังงานสูงด้วยเช่นกัน เฉลี่ยที่ประมาณ 256 กิโลแคลอรี่ ซึ่งยี่ห้อที่ให้พลังงาน/ ชิ้นมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ 1. แซง-เอ-ตัวล ให้พลังงาน 320 kacl./ ชิ้น 2. ยามาซากิ ให้พลังงาน 313 kacl./ ชิ้น 3. ฟู้ดส์แลนด์ ให้พลังงาน 312 kacl./ ชิ้น 4. ซับไลม์โดนัท ให้พลังงาน 301 kacl./ ชิ้น และ 5. เฟลเวอร์ ฟิลด์ ให้พลังงาน 298 kacl./ ชิ้นรศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การบริโภคไขมันทรานส์เป็นประจำหรือเกินกว่า 2.2 กรัม/ วัน สามารถเพิ่มระดับโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL: low-density lipoprotein) และลดระดับไขมันดี (HDL) ลง ส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้นเหตุของโรคหัวใจและความดัน รวมทั้งสามารถทำให้มีการอักเสบของผนังหลอดเลือด ซึ่งทำให้หลอดเลือดตีบง่ายขึ้นได้ จึงขอแนะนำผู้บริโภคเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันดังกล่าวนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เคยเสนอข่าวว่าอยู่ในระหว่างการยกร่างประกาศ ที่กำหนดห้ามนำส่วนประกอบอาหารที่มีไขมันทรานส์มาผลิตอาหาร หรือห้ามเติมไฮโดรเจน (กระบวนการ Hydrogenation) ลงในกระบวนการผลิตน้ำมัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ภายในเดือนเมษายน 61 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีประกาศออกมา จึงเรียกร้อง อย. เร่งพิจารณาการออกประกาศดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 206 โซเดียม และพลังงาน น้ำตาล จากบิสกิต-แซนวิช-แครกเกอร์

ขนมห่อเล็กๆ ที่เด็กมักจะเลือกหยิบฉวยเมื่อมีโอกาสได้เดินเข้าร้านสะดวกซื้อกับผู้ปกครอง โดยเฉพาะขนมอบกรอบ ตลอดจนขนมประเภทบิสกิต แซนวิช และแครกเกอร์ ที่มีบรรจุภัณฑ์สีสันสวยงาม รสชาติอร่อย และราคาไม่แพง ขนมเหล่านี้ล้วนสร้างความพึงพอใจและรอยยิ้มให้กับเด็กๆ ไม่น้อย ไม่เพียงแต่เด็ก ผู้ใหญ่อย่างเราบางครั้งเวลาเดินช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้า แล้วยังไม่รู้ว่าจะเลือกซื้ออะไรติดไม้ติดมือกลับบ้าน ขนมประเภทนี้ก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ หรือแม้แต่จะซื้อไปทำบุญใส่บาตร ก็รู้สึกเข้าท่าดีเหมือนกัน อย่างไรก็ตามขนมประเภทนี้แม้เห็นว่าห่อเล็กๆ หน่วยบริโภคไม่ถึง 30 กรัม แต่ก็ให้พลังงานที่สูง และที่สำคัญมีปริมาณโซเดียมสูงด้วย การรับประทานจึงต้องเพิ่มความระวัง ซึ่งวิธีหนึ่งที่เราจะเลือกรับประทานให้ได้อย่างเหมาะสม ก็คือการพิจารณาฉลาก โดยเฉพาะฉลากโภชนาการ ซึ่งฉลาดซื้อฉบับนี้อาสานำข้อมูลบนฉลากโภชนาการของขนมประเภทนี้ มานำเสนอไว้เป็นข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ  ข้อสรุปจากการเปรียบเทียบฉลากโภชนาการ เมื่อพิจารณาที่ฉลากของผลิตภัณฑ์ทั้ง 35 ตัวอย่าง พบว่า หน่วยบริโภคที่น้อยที่สุดคือ ยี่ห้อ แซนวิชเค้กสอดไส้ครีมคัสตาร์ด ตราฟันโอ คือ 1 ชิ้น 13 กรัม ให้พลังงาน 60 กิโลแคลอรี ปริมาณโซเดียม 40 มก. ขณะที่หน่วยบริโภคซึ่งมากสุด คือ ยี่ห้อ  เลมอน ครีมแซนวิซ ตราเบลลี่ คือ 1 ชิ้น 100 กรัม ให้พลังงาน 498 กิโลแคลอรี ปริมาณโซเดียม 390.2 มก.   ส่วนผลิตภัณฑ์ยี่ห้ออื่นๆ ส่วนใหญ่น้ำหนัก 1 หน่วยบริโภคจะอยู่ที่ประมาณ 30-35 กรัม  และหากลองนำผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มาคำนวณในหน่วยบริโภคที่เท่ากันหรือใกล้เคียง(30 กรัม) จะพบว่า ขนมอบที่นำมาดูฉลาก จะมีค่าพลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ 150-160 กิโลแคลอรี สำหรับปริมาณโซเดียมนั้นจะขึ้นอยู่กับชนิดของขนม โดยผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคสูง(หน่วยบริโภคไม่เกิน 42 กรัม) คือ 1.แครกเกอร์สอดไส้ช็อคโกแลต ตรา มอลคิสท์  โซเดียม 200 มก. ต่อหน่วยบริโภค 42 กรัม 2.แครกเกอร์ไส้ครีม กลิ่นวานิลลา ตรา ไวโอเลต โซเดียม 160 มก. ต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม3.คุกกี้แซนวิชรสช็อกโกแลต ตรา เพรสโต้ ครีมโอ โซเดียม  150 มก. ต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม4.โอรีโอ คุกกี้แซนวิชรสช็อกโกแลตสอดไส้ครีมกลิ่นวานิลลา โซเดียม 150 มก. ต่อหน่วยบริโภค 29 กรัม5.คุกกี้สตัฟ รสคุกกี้และครีม ตราวอยซ์ โซเดียม 130 มก. ต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม อย่างไรก็ตาม หากดูจากฉลากที่นำมาเปรียบเทียบทั้งหมด ยี่ห้อ เลมอน ครีมแซนวิซ (ตราเบลลี่) ซึ่งมีหน่วยบริโภคที่ 100 กรัม(ชิ้นใหญ่) จะให้ปริมาณโซเดียมมากถึง 390.2 มก/100 กรัม ดังนั้นจึงควรแบ่งรับประทานในสัดส่วนที่เล็กลงมา ความสำคัญของฉลากโภชนาการนอกจากฉลากสินค้าจะบ่งบอกปริมาณหรือน้ำหนัก ให้เราได้เทียบความคุ้มค่ากับราคาที่ต้องจ่ายจริงแล้ว ฉลากบนสินค้ายังมีประโยชน์มากกว่านั้นอีก โดยเฉพาะฉลากข้อมูลโภชนาการ ที่สามารถบอกเราได้ว่า หนึ่งหน่วยของอาหารที่เราบริโภคนั้น ได้มอบคุณค่าทางโภชนาการอะไรแก่ร่างกายเราบ้าง ยกตัวอย่างเช่น หนึ่งหน่วยบริโภคของขนมแครกเกอร์ 1 ห่อ (คำแนะนำว่า เราควรบริโภคเพียงครั้งละกี่ชิ้น คิดเป็นน้ำหนักกี่กรัม), จำนวนหน่วยบริโภคต่อบรรจุภัณฑ์ (แครกเกอร์ 1 ห่อ ควรแบ่งกินกี่มื้อ) หรือบอกว่าในหนึ่งหน่วยบริโภค (ปริมาณที่เราบริโภค 1 มื้อ) นั้นให้พลังงานต่อร่างกายเราทั้งหมดเท่าใดหากผู้บริโภคสังเกตบริเวณด้านหน้าของห่อขนม จะเห็นฉลากพื้นสีขาวที่มีลักษณะคล้ายปล้องไม้ไผ่ ถูกแบ่งเป็น 4 ช่อง ได้แก่ พลังงาน, น้ำตาล, ไขมัน และโซเดียม ซึ่งเรียกว่า ฉลากหวานมันเค็ม หรือ ฉลากจีดีเอ (Guideline Daily Amount; GDA) ซึ่งเป็นฉลากที่บอกให้ทราบว่าเมื่อกินขนมเข้าไปทั้งถุงหรือซอง จะได้รับพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมปริมาณทั้งหมดเท่าไหร่ ถ้าเราดูเฉพาะตัวเลขในช่องพลังงาน จะเป็นตัวเลขค่าพลังงานของขนมทั้งซอง ถ้าสมมติว่าเป็นขนมห่อใหญ่ที่สามารถแบ่งกินได้ 4 ครั้ง ก็จะต้องนำค่าพลังงานจากฉลากจีดีเอ ไปหาร 4 จึงจะได้ค่าพลังงานที่ได้ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่ฉลากแนะนำ ในความเป็นจริง ผู้บริโภคสามารถพลิกดูบนฉลากข้อมูลโภชนาการได้เลย ว่าขนมแต่ละซองได้แนะนำให้แบ่งกินกี่ครั้ง ครั้งละกี่ชิ้น และในการกินแต่ละครั้งตามคำแนะนำบนฉลาก จะได้รับพลังงานทั้งหมดเท่าใด ซึ่งง่ายต่อการสอนให้เด็กๆ รู้จักการแบ่งขนมห่อใหญ่รับประทานแต่พอดี ตามความเหมาะสมที่ฉลากแนะนำไว้ โดยร้อยละของปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (Thai RDI)* โดยคิดจากความต้องการพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี (kcal), ไขมันทั้งหมดไม่เกิน 65 กรัม, โซเดียมไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม และร่างกายของคนเรามีความต้องการน้ำตาลต่อวันประมาณ 6 ช้อนชา (ประมาณ 23-25 กรัม) หรือ สูงสุดไม่เกิน 10 ช้อนชา (40 กรัม) ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุเอาไว้การใช้ข้อมูลฉลากโภชนาการทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกกินอาหารได้อย่างเหมาะสม ปัจจุบันขนมหลายยี่ห้อมีการบรรจุในหีบห่อขนาดใหญ่วางจำหน่ายในร้านค้า ซึ่งขนมห่อใหญ่เหล่านี้ สามารถแบ่งกินได้มากกว่า 1 ครั้ง การบริโภคในปริมาณมากเกินพอดี หรือกินหมดทั้งห่อ อาจทำให้ร่างกายได้รับพลังงาน ไขมัน น้ำตาล หรือโซเดียมเกินความจำเป็นของร่างกายในหนึ่งวัน อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน มีความเสี่ยงต่อโรคอ้วน ความดันเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคไต และโรคอื่นๆ อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 หลักสูตรไม่ตรงกับที่สมัคร

เป็นเรื่องธรรมดา ที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยินดีจ่ายค่าเทอมราคาสูง เพื่อให้บุตรหลานเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนชื่อดัง หรือมีหลักสูตรที่สามารถพัฒนาทักษะของเด็กได้ดีที่สุด แต่หากสมัครเรียนไปแล้วกลับพบว่า ไม่เป็นไปตามที่โรงเรียนโฆษณาไว้ เราจะสามารถจัดการปัญหาดังกล่าวได้อย่างไรบ้าง ลองไปดูกันคุณสมพลพาลูกสาวเข้าเรียนที่โรงเรียนโยธินบูรณะ ในหลักสูตรของโครงการนานาชาติ เนื่องจากได้รับการประชาสัมพันธ์ผ่านงาน Open House ของโรงเรียนว่า มีชื่อเสียงด้านการจัดการเรียนการสอนที่ดี ทั้งหลักสูตรดังกล่าวได้ใช้แนวทางการเรียนการสอน ตามหลักสูตรนานาชาติของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ตามหลังลูกสาวเข้าเรียน และชำระเงินค่าเทอมไปแล้วกว่า 200,000 บาท กลับพบปัญหาหลายอย่างที่ไม่เป็นไปตามเอกสารประชาสัมพันธ์ที่แจ้งไว้ เช่น ไม่มีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ (Lab) ขาดอุปกรณ์เครื่องดนตรี ขาดครูผู้สอนชาวตะวันตกหลายวิชา หรือการเปลี่ยนแปลงตารางเรียนกะทันหันเนื่องจากครูไม่พอ ส่งผลให้คุณสมพลและผู้ปกครองท่านอื่น พยายามสอบถามถึงวิธีแก้ปัญหาไปยังผู้อำนวยการของโรงเรียน แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ปัญหาใดๆจนกระทั่งเปิดภาคเรียนถัดมาและถึงเวลาชำระเงิน ซึ่งแน่นอนว่าคุณสมพลได้จ่ายเพิ่มไปอีกเกือบ 200,000 บาท เขาก็พบว่าเหล่าปัญหาดังกล่าวยังคงไม่ได้รับการแก้ไข และแม้จะมีการรวมตัวของผู้ปกครองเพื่อเรียกร้องให้ทางโรงเรียนหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับผิดชอบปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ ทำให้ภายหลังมีนักเรียนลาออกกว่า 20 คนจากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้คุณสมพลไม่พอใจอย่างมาก และรู้สึกไม่มั่นใจคุณภาพการศึกษาของโครงการ จึงย้ายลูกสาวออกจากโรงเรียนกลางคัน โดยในเวลาต่อมาเขาก็ได้ส่งลูกสาวไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกในราคาที่เกือบจะเท่ากับที่สมัครเรียนไปรอบแรกเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสมพลจึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ โดยต้องการสอบถามว่าสามารถขอเงินคืนจากโรงเรียนดังกล่าวทั้งหมดได้หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าการเรียนการสอนไม่เป็นไปตามที่โรงเรียนได้ประชาสัมพันธ์ไว้แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำผู้ร้องว่า ในกรณีนี้ผู้ร้องสามารถทำหนังสือขอเงินคืนจากโรงเรียนดังกล่าวได้ โดยใช้เอกสารการประชาสัมพันธ์โรงเรียนเป็นหลักฐาน เพราะตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา(วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค) พ.ศ. 2522 (มาตรา 11) กำหนดไว้ว่า ประกาศ โฆษณา คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้ หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของบริการ หรือสาธารณูปโภคอื่นใด หรือจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญา หรือข้อตกลงใดๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภคเพิ่มเติมขึ้นจากที่ได้ทำสัญญาไว้ ให้ถือว่าข้อความ การกระทำ หรือข้อตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำสืบพยานบุคคล หรือพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่าการทำสัญญาเช่นว่านั้นกฎหมายจะกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือ หรือมีหลักฐานเป็นหนังสือและไม่ปรากฏข้อตกลงนั้นในหนังสือที่ได้ทำขึ้นก็ตามอย่างไรก็ตามหากฟ้องร้องคดี ผู้ร้องอาจไม่ได้รับเงินคืนทั้งหมด เพราะเกิดการเรียนการสอนไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่แน่นอนว่าทางโรงเรียนต้องมีการชดเชยเยียวยา ในกรณีที่ผิดสัญญาดังกล่าวทั้งนี้ศูนย์ฯ จะช่วยทำจดหมายถึงเลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับ ควบคุม ดูแล โรงเรียนดังกล่าว เพื่อให้ตรวจสอบหลักสูตรโครงการนานาชาติว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ขออนุญาตหรือไม่ ซึ่งเรื่องราวดังกล่าวยังไม่ปิดเพียงเท่านี้ และจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น ยังคงต้องติดตาม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 สะสมแต้มครบ แต่แลกของไม่ได้

หนึ่งในกลยุทธ์ส่งเสริมการขายที่โดนใจผู้บริโภคมากที่สุด หนีไม่พ้นวิธีการสะสมแต้มเพื่อแลกรับของรางวัล ซึ่งนอกจากจะทำให้ธุรกิจนั้นๆ มียอดขายที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่รู้สึกว่าเงินที่เสียไป สามารถสร้างประโยชน์กลับคืนมาได้อีกอย่างไรก็ตามกลยุทธ์ดังกล่าวอาจสร้างปัญหาได้ ในกรณีที่ผู้บริโภคสะสมแต้มครบ และทำตามกติกาที่กำหนดไว้ทุกอย่าง แต่กลับแลกรับของรางวัลไม่ได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณพชรเข้าร่วมกิจกรรมสะสมดาว (แต้มที่จะได้รับหลังการซื้อสินค้า) เพื่อแลกรับของรางวัล ของห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส ซึ่งภายหลังเขาสะสมครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ และต้องการแลกรับของรางวัลเป็นหมอนสุขภาพ กลับได้รับการแจ้งจากพนักงานว่า ระหว่างนี้สินค้าดังกล่าวหมด แต่สามารถเขียนใบจองไว้ก่อนได้ ซึ่งหากสินค้ามาถึงจะโทรศัพท์ติดต่อกลับไปหลังผ่านไปนานหลายสัปดาห์ และใกล้ครบกำหนดวันที่สามารถแลกรับของรางวัลได้ คุณพชรก็ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับจากพนักงานของห้างฯ ดังกล่าวแต่อย่างใด เขาจึงทดลองไปสอบถามโดยตรงกับพนักงานอีกครั้ง ซึ่งได้รับการตอบกลับมาว่า สินค้าหมดและหมดเวลาแลกแล้ว ถึงจะมีใบจองไว้ก็หมดสิทธิเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณพชรจึงไม่พอใจมากและนำเรื่องราวดังกล่าวไปโพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งหลังจากนั้นได้มีผู้บริโภครายอื่นๆ จำนวนมาก ได้เข้ามาแสดงคิดเห็นว่าประสบปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกัน ส่งผลให้คุณพชรส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพราะต้องการให้ห้างฯ แสดงความรับผิดชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีดังกล่าว พบว่า ผู้ร้องทำตามกติกาที่ทางห้างฯ ระบุไว้ แต่ไม่สามารถแลกรับของรางวัลได้ตามโปรโมชั่น เนื่องจากสินค้าหมด ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการโฆษณา มาตรา 22 กำหนดไว้ว่า การโฆษณาจะต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวมโดยให้ข้อความดังต่อไปนี้ ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม (1) ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง(2) ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง หรือไม่ก็ตาม(3) ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรม หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ(4) ข้อความที่จะทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน(5) ข้อความอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งตาม (5) ข้อความอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2534) นั้น กำหนดให้ ข้อความโฆษณาสินค้าหรือบริการที่ระบุหรือประกาศว่า ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้มีการประกวดชิงรางวัล โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดดังต่อไปนี้ ถือเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค(ก) หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข หรือข้อกำหนดในการเสี่ยงโชคหรือในการประกวดชิงรางวัล(ข) วัน เดือน ปีที่เริ่มต้นและสิ้นสุดของการจัดให้มีการเสี่ยงโชคหรือการประกาศชิงรางวัล เว้นแต่กรณีที่เป็นการโฆษณาทางวิทยุ โทรทัศน์ ข้อความโฆษณาที่กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นของการเสี่ยงโชคหรือการประกวดชิงรางวัลนั้นจะให้ปรากฏในส่วนที่เป็นภาพหรือในส่วนที่เป็นเสียงอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ แต่ข้อความโฆษณาที่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดนั้นจะต้องให้ปรากฏทั้งในส่วนที่เป็นภาพและส่วนที่เป็นเสียง(ค) ประเภทและลักษณะของของแถมพก หรือรางวัลจำนวนและมูลค่าของของแถมพกหรือรางวัลแต่ละสิ่ง หรือมูลค่ารวมในแต่ละประเภท เว้นแต่กรณีที่การโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ ผู้ประกอบธุรกิจจะไม่ระบุมูลค่าของของแถมพกหรือรางวัล แต่ละสิ่ง หรือมูลค่ารวมในแต่ละประเภทก็ได้   แต่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องระบุมูลค่ารวมของแถมพกหรือรางวัลทุกประเภทไว้แทน(ในกรณีที่สิ่งซึ่งจัดเป็นของแถมพกหรือรางวัลเป็นสิ่งซึ่งมีมูลค่าที่ผู้บริโภคอาจทราบได้โดยทั่วไป  และข้อความโฆษณานั้นได้แสดงให้ผู้บริโภคทราบถึงประเภทและลักษณะของของแถมพกหรือรางวัลไว้โดยชัดแจ้งแล้ว  ผู้ประกอบธุรกิจจะไม่ระบุมูลค่าของของแถมพกหรือรางวัลนั้นไว้ก็ได้)(ง) เขตหรือถิ่นที่มีการจัดให้มีการเสี่ยงโชคหรือการประกวดชิงรางวัล เว้นแต่กรณีที่เป็นการจัดให้มีขึ้นทั่วราชอาณาจักร(จ) วัน เดือน ปี เวลา และสถานที่ซึ่งกำหนดไว้สำหรับการทำการเสี่ยงโชคหรือการตัดสินการประกวดชิงรางวัล(ฉ) สื่อโฆษณาที่จะใช้ในการประกาศรายชื่อผู้ได้รับของแถมพกหรือรางวัลจากการเสี่ยงโชคหรือการประกวดชิงรางวัลดังนั้นจากเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้ การที่ห้างฯ ไม่ระบุจำนวนของรางวัลไว้ให้ผู้บริโภคทราบ และอ้างว่าสินค้าหมดนั้น อาจเข้าข่ายการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งผู้บริโภคสามารถร้องเรียนขอให้มีการตรวจสอบได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 จักรยานหาย ในพื้นที่ของห้างฯ

เพราะปัญหารถจักรยานหายมีให้พบเห็นได้ทั่วไป ผู้บริโภคหลายคนจึงป้องกันด้วยการจอดในพื้นที่ ที่ดูมีความปลอดภัย แต่ความจริงก็คือ ทุกพื้นที่ล้วนมีความเสี่ยงทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่ลานจอดของห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยเดินตรวจตราอยู่ก็ตามคุณพลพลปั่นจักรยานคู่ใจไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าแถวบ้าน ซึ่งเขาได้นำรถจักรยานไปจอดในบริเวณจอดรถที่ห้างฯ จัดไว้ให้ และคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรจึงไม่ได้ใช้กุญแจล็อกล้ออย่างที่เคยทำประจำ ครั้นเวลาผ่านไปเมื่อซื้อของกลับออกมาปรากฏว่ารถจักรยานหาย เขาจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ และแจ้งเรื่องร้องเรียนไปยังห้างสรรพสินค้าดังกล่าว เพื่อขอให้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า หากรถจักรยานหายในบริเวณที่ทางห้างสรรพสินค้าจัดไว้ให้ ถือว่าทางห้างฯ ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ตามมาตรา 420 ความรับผิดเพื่อละเมิด ซึ่งกำหนดไว้ว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ผู้นั้นจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับกรณีร้องเรียนนี้ ทางศูนย์ฯ สามารถช่วยผู้ร้องทำหนังสือไปยังห้างฯ ดังกล่าว เพื่อขอเจรจาเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ แต่เมื่อตรวจสอบเรื่องราวแล้วพบว่าเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นมาปีกว่าแล้ว ซึ่งเลยอายุความละเมิดไปเรียบร้อย เพราะสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายนั้นมีอายุความ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้ร้องจึงจำต้องยุติการร้องเรียนไป ศูนย์ฯ จึงอยากฝากเตือนผู้บริโภคที่พบลักษณะปัญหาทำนองเดียวกันนี้ว่า ควรรีบร้องเรียนให้ขอให้มีการรับผิดชอบเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันคดีหมดอายุความ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 ป่วย เพราะอาหารเสริม?

มีผู้บริโภคอีกจำนวนไม่น้อยเลย ที่ยังคงสับสนระหว่างคำว่า “ยา” และ “อาหาร” ซึ่งส่วนใหญ่มักรับประทาน อาหาร เข้าไป แต่เผลอคิดไปว่าสามารถช่วยบำบัด รักษาโรคหรือออกฤทธิ์ได้เหมือน ยา ดังในกรณีของผู้ร้องรายนี้ ที่เธอรับประทาน ‘อาหารเสริม’ เข้าไป แต่คาดหวังสรรพคุณในการโรค คุณพลอยต้องการลดน้ำหนัก จึงตัดสินใจรับประทานอาหารเสริมยี่ห้อ Mizme เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะเห็นว่าเพื่อนกินแล้วหุ่นดีขึ้น อย่างไรก็ตามหลังรับประทานอาหารเสริมดังกล่าวไปได้จำนวน 7 กล่อง เธอกลับรู้สึกถึงอาการผิดปกติของร่างกาย และมีอาการแน่นหน้าอกเป็นประจำ จึงไปพบแพทย์และพบว่าเส้นเลือดหัวใจอักเสบ ซึ่งแพทย์ได้สันนิษฐานสาเหตุว่า อาจเกิดจากการการรับประทานอาหารเสริมดังกล่าวเข้าไป คุณพลอยจึงติดต่อไปยังบริษัทผู้ผลิตอาหารเสริม เพื่อขอให้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ทางบริษัทตอบกลับมาว่าเลิกผลิตยี่ห้อนี้ไปแล้ว และไม่ขอรับผิดชอบใดๆ เพราะอาการดังกล่าวอาจเกิดจากยาตัวอื่นก็เป็นได้ส่งผลให้คุณพลอยส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ผู้ร้องต้องการให้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ ช่วยตรวจสอบส่วนประกอบของอาหารเสริมยี่ห้อดังกล่าว ว่ามีสารอันตรายที่สามารถส่งผลต่ออาการของเธอจริงหรือไม่ ศูนย์ฯ จึงแนะนำผู้ร้องเบื้องต้นว่า สามารถส่งผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามหลังได้รับเรื่องร้องเรียนไม่นาน ผู้ร้องได้แจ้งกลับมาว่าขอยุติการร้องเรียน เนื่องจากพบข่าว สสจ.จังหวัด นำเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมแหล่งผลิตยาลดความอ้วนยี่ห้อดังกล่าวแล้ว ซึ่งมีการปลอมหมายเลข อย. นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังแจ้งข้อหาอื่นๆ อีก คือ 1. ตั้งโรงงานผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต 2.ผลิตอาหารปลอม 3.โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณอันเป็นเท็จเป็นการหลอกลวงให้เกิดความเชื่อโดยไม่สมควร และ 4.ผลิตหรือนำเข้า หรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ ทั้งนี้เจ้าหน้ายังระบุว่า อาหารเสริมดังกล่าวเคยถูกร้องเรียนและตรวจพบส่วนผสมของ ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) หรือยาที่ใช้สำหรับคนไข้จิตเวช/ โรคซึมเศร้า โดยมีผลทำให้ไม่อยากอาหาร และหากใช้ไปนานๆ ระยะยาว อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง บางรายอาจถึงขั้นอยากฆ่าตัวตายได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 ฉีดเลือด เพื่อผิวอ่อนเยาว์

ไม่ว่าใครก็ไม่อยากให้กาลเวลาพรากความอ่อนเยาว์ของผิวหน้าไป จึงสรรหาสารพัดวิธีมาเอาชนะปัญหาดังกล่าว โดยหนึ่งในวิธีที่ยังได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลายก็หนีไม่พ้น “การฉีดเลือดเพื่อผิวอ่อนเยาว์” ซึ่งจะมีข้อมูลน่าสนใจหรือให้ผลลัพธ์ได้อย่างที่หลายคนปรารถนาหรือไม่นั้น เราลองไปหาคำตอบกันฉีดเลือดเพื่อผิวอ่อนเยาว์ คืออะไรหลักการฉีดเลือดเพื่อให้ผิวอ่อนเยาว์ขึ้นนั้น คือการนำเลือดตัวเองมาปั่นเพื่อให้ได้เกล็ดเลือด ที่เรียกว่า Growth Factors (โกรท แฟคเตอร์) ซึ่งเป็นสารที่สามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในร่างกายของสิ่งมีชีวิต และมีความสามารถกระตุ้นให้เซลล์มีการเพิ่มจำนวนหรือเจริญเติบโตได้ โดยหลังจากได้เกล็ดเลือดดังกล่าวแล้ว ก็จะฉีดกลับเข้าไปที่ผิวหน้าในบริเวณที่ต้องการ เช่น ริ้วรอยเหี่ยวย่นต่างๆ บนผิวหน้า ทั้งนี้สถาบันเสริมความงามหลายแห่งที่นำวิธีการนี้มาบริการ อาจใช้ชื่อที่แตกต่างกันไป เช่น PRP (Platelet-Rich Plasma) หรือ Vampire Facelift เป็นต้น รวมทั้งบางแห่งอาจมีการผสมสารอื่นๆ เช่น คอลลาเจน/ อีลาสติน หรือใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งมักโฆษณาว่าการฉีดเลือดกลับเข้าไปที่ผิวนั้นสามารถทำให้ผิวกระจ่างใส ดูอ่อนวัย และสามารถให้ผลลัพธ์ได้ 1 – 2 ปี นอกจากนี้ยังมีความปลอดภัยสูงอีกด้วยฉีดเลือด ปลอดภัยสูงจริงหรือแม้การฉีดเลือดด้วยโกรท แฟคเตอร์ เพื่อการเสริมความงาม จะถูกโฆษณาถึงผลดีมากมายตามที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น แต่ในทางกลับกันกลับพบว่าวิธีการดังกล่าว ยังไม่ได้รับการยอมรับทางการแพทย์และยังถือว่าไม่ใช่วิธีการรักษาที่เป็นไปตามมาตรฐาน เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ภาวะแทรกซ้อนหรือการติดเชื้อได้ โดยสามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผิวหนังอักเสบบริเวณ ข้อบวมอักเสบ เกิดสิวหรือหนอง รวมทั้งยังทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งโลหิตได้ ส่งผลให้วิธีการดังกล่าวมักถูกใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะร่างกายขาดเกล็ดเลือด เกล็ดเลือดต่ำหรือโรคไข้เลือดออกเท่านั้นตรวจสอบ ก่อนรับบริการแน่นอนว่าการฉีดเลือด เพื่อหวังผลให้ผิวอ่อนเยาว์นั้นจะยังคงมีอยู่ และอาจเปลี่ยนชื่อเรียกไปเรื่อยๆ ดังนั้นผู้บริโภคอย่างเรา จึงควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าสถาบันเสริมความงามที่เรากำลังจะเข้ารับบริการนั้น มีความปลอดภัยจริง โดยที่ผ่านมากรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ออกประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือประกาศเกี่ยวกับสถานพยาบาล เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการในด้านระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัยและไม่โฆษณาโอ้อวดเกินจริง ซึ่งผู้บริโภคสามารถสอบถามไปยังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ว่าสถานบริการเสริมความงามดังกล่าว ได้รับอนุญาตให้โฆษณาข้อมูลหรือโปรโมชั่นต่างๆ หรือไม่ ผ่านทางเบอร์โทรศัพท์ 02-1397041 หรือที่เว็บไซต์ http://hss.moph.go.th/index2.phpทั้งนี้การโฆษณาดังกล่าว หมายถึง การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชน เห็น ได้ยิน หรือทราบ ข้อความ เสียง หรือภาพ เพื่อประโยชนทางการค้า ซึ่งต้องขออนุมัติจากผู้อนุญาตก่อนจึงจะเผยแพร่ได้ทั้งนี้การโฆษณาดังกล่าว หมายถึง การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชน เห็น ได้ยิน หรือทราบ ข้อความ เสียง หรือภาพ เพื่อประโยชนทางการค้า ซึ่งต้องขออนุมัติจากผู้อนุญาตก่อนจึงจะเผยแพร่ได้ (รวมทั้งการติดประกาศในลิฟต์ เสียงตามสาย สื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ) และหากพบว่าการโฆษณาดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ หรือเข้าข่ายเป็นเท็จ หรือโอ้อวดเกินจริง หรือน่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ เกี่ยวกับการประกอบกิจการของสถานพยาบาล จะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทและให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท จนกว่าจะระงับการโฆษณา หรือหากมีการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาทจนกว่าจะระงับการโฆษณา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 เท่าทันฝุ่นละออง PM2.5 กับ Air Visual

มลพิษในอากาศของประเทศไทยมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีข่าวการรายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีค่าเกินมาตรฐาน ซึ่งสามารถมองเห็นสภาพอากาศที่มีฝุ่นละอองในอากาศได้อย่างชัดเจน และทำให้เกิดกระแสการป้องกันตนเองของผู้ที่ต้องใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานครฝุ่นละออง PM2.5 หมายถึง ค่าฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งมีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ เป็นขนาดที่เล็กเกินกว่าที่ขนจมูกของมนุษย์จะสามารถกรองฝุ่นละอองชนิดนี้ได้ โดยจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและต่อสุขภาพร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง จะทำให้ฝุ่นละอองสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมเข้าสู่การทำงานในอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับฝุ่นละอองในสภาพอากาศในประเทศไทย จึงนำแอปพลิเคชันเช็คสภาพมลพิษในอากาศที่มีชื่อว่า Air Visual ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS  เพื่อติดตามสภาพอากาศได้ตลอดเวลา ภายในแอปพลิเคชันจะมี หมวด My Air  เพื่อแจ้งผลสภาพอากาศของจังหวัดในประเทศ เป็นระดับตัวเลขให้ทราบว่าสภาพอากาศเป็นเช่นไร โดยแบ่งมาตรฐานตามคุณภาพอากาศได้ 6 ระดับ ดังนี้ ระดับ 0-50 Good  หมายถึงสภาพอากาศดี ไม่มีความเสี่ยงหรือความเสี่ยงน้อย  ระดับ 51-100 Moderate  หมายถึงคนที่แพ้หรือภูมิคุ้มกันต่ำ ไม่ควรทำกิจกรรมนอกบ้าน  ระดับ 101-150 Unhealthy for sensitive group หมายถึงสภาพอากาศคนที่แพ้หรือภูมิคุ้มกันต่ำ ไม่ควรออกนอกบ้าน  และอาจเกิดการระคายเคืองหรือมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจได้  ระดับ 151-200 Unhealthy หมายถึงสภาพอากาศมีผลต่อคนภูมิคุ้มกันต่ำอย่างมากและระดับนี้มีผลกระทบต่อคนทั่วไป อาจมีความเสี่ยงทางเดินหายใจได้  ระดับ 201-300  Very Unhealthy หมายถึงสภาพอากาศมีผลต่อผู้คนทั่วไป ไม่ควรออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน และระดับ 301-500 Hazardous หมายถึงผู้คนทั่วไปมีความเสี่ยงสูงที่จะป่วย เกิดการระคายเคืองหรือมีปัญหาด้านทางเดินหายใจซึ่งในหมวด My Air จะแบ่งสภาพอากาศเป็นช่วงเวลา และมีการคาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้าได้ 3 วัน นอกจากนี้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นยังสามารถเพิ่มจังหวัดที่ต้องการทราบสภาพอากาศ ให้กดสัญลักษณ์บวกที่อยู่บริเวณตรงกลางด้านล่างแอปพลิเคชันหมวด Map จะแสดงสภาพอากาศทั่วประเทศและทั่วโลก เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบสภาพอากาศภายในประเทศและทั่วโลก  และหมวด News&Ranking มีไว้เพื่อแจ้งข่าวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสภาพอากาศทั่วโลก และแสดงการจัดลำดับสภาพอากาศที่แย่ที่สุดทั่วโลกสภาพอากาศที่มีฝุ่นละอองมากขนาดนี้ ประชาชนอย่างเราควรมีวิธีป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 ที่เกินมาตรฐานนั้น โดยการหาซื้อหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองมาตรฐาน N95 ซึ่งสามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาด 0.3 ไมครอน จะทำให้สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอนได้   แต่ถ้าเป็นหน้ากากอนามัยทั่วไปจะไม่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอนได้ ป้องกันสุขภาพตัวเองให้ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บกันด้วยนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 จ่ายหลักร้อย เจ็บหลักแสน

“ซื้อยาลูกกลอนในราคาไม่กี่ร้อยบาท แค่ดาดไม่ถึงว่าสุดท้ายเกือบตาย ต้องจ่ายค่ารักษาในราคาหลักแสน”มารดาของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขท่านหนึ่ง ซื้อยาลูกกลอนแพ็คละ 100 บาท มาสองสามแพ็ค(ในแต่ละแพ็คจะมียาใส่ถุงซิบใสจำนวน 10 ซอง ซึ่งในแต่ละซองจะมียา 5 เม็ด เม็ดสีน้ำตาลแดง 2 เม็ด เม็ดสีเขียวขี้ม้า 2 เม็ด และเม็ดกลมสีดำ 1 เม็ด) ฉลากระบุให้กินหลังอาหารวันละ 2 ซอง (เช้า เย็น)  “จู่ๆ แม่ก็มีอาการหน้าบวม ถ่ายเป็นเลือดออกมาเป็นชามๆ หลังจากนั้นอีก 1 วัน แม่อ่อนเพลียไม่มีแรง ดูแล้วอาการแย่มาก  น้องชายเข้าใจว่าโรคหัวใจโตของแม่กำเริบ  จึงรีบพาไปโรงพยาบาล  ระหว่างทางแม่ช็อคหมดสติในรถปลุกไม่ตื่น  ตกใจมาก ดูเหมือนเป็นตายเท่ากัน จึงตัดสินใจรีบพาเข้า รพ.เอกชน เพราะอยู่ใกล้ที่สุด”  เมื่อไปถึง แพทย์ พยาบาลและทีมฉุกเฉิน รีบดำเนินการ เจาะตรวจน้ำตาลในเลือด พบว่าเหลือแค่ 30 กว่าๆ mg/dl  หมอจึงฉีดกลูโคสเข้าเส้นเลือดทันที แม่จึงฟื้นขึ้นมาได้  และถูกนำตัวส่งเข้า ICU ทันที  หลังจากอยู่ ICU และให้น้ำเกลือที่มีกลูโคสแล้ว  แม่มีอาการเบลอๆ และยังพบอาการน้ำตาลต่ำเกิดอีกน่าจะสัก 2 ครั้ง  ทั้งๆ ที่น้ำเกลือที่ให้ก็มีกลูโคสแต่ก็ยังเอาไม่อยู่ จนหมอต้องฉีดกลูโคสเข้าเส้นเลือดเพิ่มอีก  หมอเองก็ยังงงกว่าทำไมน้ำตาลในเลือดไม่คงที่ Hematocrit ของแม่เหลือแค่ 22% หมอจึงสั่งให้เลือด 2 ถุง แม่นอนใน ICU 1 คืน จนระดับน้ำตาลคงที่ และอาการดีขึ้น หมอจึงให้ออกจาก ICUน้องสะใภ้ สังเกตว่า 3 วันก่อนที่จะแม่มีอาการหนัก  แม่กินยาลูกกลอน จึงเอาถุงยามาให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข  เจ้าหน้าที่จึงเอาไปส่งตรวจสเตียรอยด์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลการตรวจยา 5 เม็ด ในถุงย่อย  ยาเม็ดสีน้ำตาลแดง 2 เม็ด และยาสีเขียวขี้ม้า 2 เม็ดมีสเตียรอยด์  ส่วนลูกกลอนเม็ดกลมสีดำ 1 เม็ดไม่พบสเตียรอยด์“แม่เพิ่งทานไม่ได้ทานยานี้มาเป็นเวลานานนะ  ทานไปแค่สามวันเอง  แม่มีโรคเบาหวาน ความดัน และหัวใจโต  กินยาลูกกลอนที่มีสเตียรอยด์เข้าไป ทำให้เกือบตาย  ต้องจ่ายค่ารักษาไปเป็นแสน หมดไป 1 แสน กว่าๆ ผลการส่องกล้องทางเดินอาหาร มีแผลที่กระเพาะ  และลำไส้ใหญ่”เพื่อนแม่แนะนำว่ามียาที่กินแล้วดี  บอกว่าตัวเขาเองกินก็ดีมาก  แม่จึงโทรไปสั่งกับคนขาย  คนขายให้แม่ไปที่บ้าน เมื่อไปถึงตามจุดที่เขาบอก  คนขายออกมาพบที่ถนน และบอกให้รอ  แล้วเดินเข้าไปที่บ้านไปหยิบยาให้  เขาไม่ได้ขายหน้าร้าน  ต้องเดินไปเอาหลังบ้านเหตุการณ์จริงที่ออกจากปากของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขรายนี้ ขณะนี้ถึงมือเจ้าหน้าที่แล้ว เอามาเล่าเพื่อเป็นบทเรียนให้ผู้อ่านรับรู้ และช่วยกันเป็นหูเป็นตา เฝ้าระวังภัยใกล้ตัวแบบนี้ให้มากๆ นะครับ  ยาอันตรายบางทีมันก็ผ่านมาทางผู้หวังดี และการขายมันก็หลบๆ ซ่อนๆ ยากที่เจ้าหน้าที่จะรู้ได้ หากเราพลาดไป นอกจากเสียเงินแล้ว เรายังอาจจะเสียใจไปตลอดชีวิต 

อ่านเพิ่มเติม >