ฉบับที่ 205 ชายไม่จริง หญิงแท้ : ได้เวลาประกาศเจตนารมณ์ของกะเทย

ในท่ามกลางเพศสภาพที่สังคมจัดแบ่งมนุษย์ออกเป็นเพศหญิงกับเพศชายนั้น “กะเทย” เป็นกลุ่มวัฒนธรรมที่ถูกพินิจพิจารณาว่า เป็นเพศที่แปลก แตกต่าง หรือแม้แต่มีวัตรปฏิบัติที่ผิดแผกไปจากเพศสภาพที่สังคมพึงยอมรับได้ จนถูกกดทับให้กลายเป็นกลุ่มวัฒนธรรมย่อยของสังคมไป แต่ข้อที่น่าคิดก็คือ แม้ในเชิงปริมาณแล้วชุมชนวัฒนธรรมย่อยของกะเทยอาจมิใช่กลุ่มสังคมเล็กๆ ที่ผู้คนรับรู้กันทั่วไป แต่ทว่าเป็นชุมชนขนาดใหญ่และยังมีอำนาจเข้ามากำกับความเป็นไปของระบบสังคมเศรษฐกิจของไทยเสียด้วยซ้ำ ไม่เว้นแม้แต่การเข้ามามีบทบาทและอำนาจในสถาบันสื่อสารมวลชน อย่างที่ปรากฏอยู่ในละครโทรทัศน์เรื่อง “ชายไม่จริง หญิงแท้”  เงื่อนปมของเรื่องเริ่มต้นเมื่อ “หญิงแท้” สู้ชีวิตที่มีภูมิลำเนาจากต่างจังหวัดอย่าง “ริน” ต้องจับพลัดจับผลูมาเจอกับ “ชายไม่จริง” ผู้เป็นกะเทยร่างท้วมดีกรีนางโชว์ตัวแม่อย่าง “เคน” ที่พัฒนาการของเรื่องทำให้ความขัดแย้งของทั้งคู่ในตอนต้นกลายมาเป็นความเข้าใจและมิตรภาพในฉากจบเรื่อง  ในขณะที่เปิดฉากมา “หญิงแท้” อย่างรินเองต้องมีเหตุตกงาน เพราะบริษัทที่เธอรับผิดชอบทำงานอยู่เกิดล้มละลาย พร้อมกับทิ้งภาระหนี้สินมากมายที่มิเธออาจปลดได้หมด ส่วนตัวละคร “ชายไม่จริง” อย่างเคน ก็มีสถานะไม่แตกต่างกัน เมื่ออยู่ในสภาวะนางโชว์รุ่นเก่าและสังขารที่ร่วงโรย เคนก็มีอันต้องระเห็จต้องออกจากงานมาคลุกฝุ่นอยู่หน้าคลับนางโชว์ เมื่อความขัดสนทางเศรษฐกิจกลายเป็นปัญหาที่ไม่เข้าใครออกใคร และเป็นปัญหาร่วมกันของปุถุชนโดยไม่จำแนกเพศวิถีว่าคนๆ นั้นจะเป็น “ชายไม่จริง” หรือ “หญิงแท้” รินกับเคนก็เลยได้โคจรมาพบและกลายเป็นเพื่อนผู้ร่วมอยู่ในชะตากรรมอันจนตรอกเหมือนกัน เพราะเคนมีสถานภาพเป็นนางโชว์ที่ตกกระป๋องไปจากวงการแล้ว เคนจึงสวมบทบาทใหม่เป็น “เจ๊เคน” เจ๊ดันที่ตัดแต่งแปลงโฉมให้รินปลอมตัวเป็น “ซิน ศรัณยา” นางโชว์กะเทยวัยสะพรั่ง เพื่อเข้าประกวดในเวทีแข่งขันของสาวประเภทสอง และจะได้เงินรางวัลมาจุนเจือปากท้องทางเศรษฐกิจของทั้งคู่ และต่อมา หลังจากรินในร่างกะเทยปลอมของซินได้คว้ารางวัลชนะเลิศในเวที Miss Queen Beauty ของชาวสีม่วงแล้ว รินก็ได้ก้าวขึ้นเป็นดารานางเอกกะเทย โดยมีเจ๊เคนเป็นผู้จัดการส่วนตัว และมี “ภาค” ผู้กำกับหนุ่มของบริษัทละคร “เสือทะยานฟ้า” มารับหน้าที่ผู้กำกับละครเรื่องแรกของรินที่ชื่อว่า “นางงิ้ว” ในมุมหนึ่ง เมื่อ “หญิงแท้” อย่างรินได้ก้าวเข้ามาอยู่ในชุมชน “ชายไม่จริง” นั้น ก็นำไปสู่ความอลหม่านมากมายที่ทั้งรินและเคนก็ต้องร่วมกันแสดงบทโกหกตัวละครรอบตัว ไล่เรียงตั้งแต่ผู้เป็นแม่และน้าอย่าง “สุมน” และ “หทัย” ผู้จัดและออร์แกไนเซอร์กะเทยชื่อดังอย่าง “พี่แทนนี่” ตัวละครทั้งหลายในกองถ่ายละคร ไปจนถึงแม้แต่กับบรรดาผู้ชมและแฟนคลับของซิน ศรัณยา ที่รินก็ต้องสร้างเรื่องตบตาอยู่เป็นระยะๆ  แต่ในอีกมุมหนึ่ง เมื่อได้เข้ามาใช้ชีวิตในอีกแวดวงของเพศวิถีที่ต่างออกไป ก็เปิดโอกาสให้รินเองได้เรียนรู้ความเป็นจริงอีกด้านของเพื่อนๆ ผู้ต่างเพศวิถีที่รินไม่เคยสัมผัสมาก่อนในชีวิต ในชุมชนของกะเทยนั้น แท้จริงแล้วก็ดูไม่แตกต่างไปนักจากชีวิตของชายหญิงรักต่างเพศทั่วไป ทั้งนี้ หากรักโลภโกรธหลงเป็นอคติที่หล่อเลี้ยงจิตใจปุถุชนทั้งหลาย กะเทยเองก็มีทั้งโลภะโทสะโมหะไม่ต่างกันเลย เพียงแต่ว่า ด้วยเป็นวิถีปฏิบัติแบบกลุ่มคนชายขอบทางเพศวิถี ชุมชนแห่งนี้จึงก่อรูปก่อร่างสร้างอัตลักษณ์เฉพาะบางอย่างของตนขึ้นมา ในลำดับแรกสุด เมื่อ “หญิงแท้” ต้องเข้ามาสวมบทบาทเป็น “ชายไม่จริง” ซินก็ต้องปรับแต่งบุคลิกจริตจะก้านเสียใหม่ ตั้งแต่ดัดเสียงและขับเน้นวิธีพูดให้ต่างออกไปจากเดิม แต่งหน้าแต่งตัวให้ดูจัดจ้านกว่าที่เคยเป็นมา หรือเติมแต่งจริตวาจาแบบจิกๆ กัดๆ ให้มากขึ้น เหล่านี้เป็นรูปแบบวัฒนธรรมย่อยที่สาวประเภทสองได้สร้างอัตลักษณ์เฉพาะของคนกลุ่มนี้ขึ้นมา ในลำดับถัดมา ความขัดแย้งกันบนผลประโยชน์เช่นที่ “นนท์” กะเทยเจ้าของไนท์คลับ ที่คอยตามราวีทั้งซินและเจ๊เคนทุกวิถีทาง ไปจนถึง “อิทธิ” ที่หลงเสน่ห์และหวังจะล่วงละเมิดทางเพศต่อซิน โดยไม่รู้ความลับว่าเธอเป็น “หญิงแท้” ปลอมตัวมา ก็สะท้อนชัดเจนถึงการเอารัดเอาเปรียบกันด้วยมิจฉาทิฐิในชุมชนเพศที่สาม และเมื่อซินกับภาคได้แอบคบหาปลูกต้นรักกัน “หญิงแท้” อย่างรินก็พบว่า ความรักในหมู่เพศทางเลือกก็เกิดขึ้นได้เป็นปกติทั่วไป หากแต่การไม่ยอมรับของสังคมทำให้ความรักกลายเป็นเรื่องซ่อนเร้น แบบเดียวกับผู้จัดการดารากะเทยอย่าง “อ๊อฟ” ที่ต้องมีรักแบบหลบๆ ซ่อนๆ กับนักแสดงหนุ่มอย่าง “ชาย” นั่นเอง แม้จะมีความรักขึ้นมา แต่เพราะรักของเพศเดียวกันถูกมองว่าผิดไปจากจารีตปฏิบัติอันดี สายตาของสังคมจึงใช้อำนาจเลือกปฏิบัติและกดทับความรักแบบนี้เอาไว้ ไม่ต่างจากประโยคที่ “แองจี้” ใช้วาจาเชือดเฉือนซินที่แย่งชายหนุ่มอย่างภาคไปว่า “…คุณเป็นกะเทย เวลาอดอยากคงแบ่งกันกินแบ่งกันใช้กันจนชิน แต่สำหรับผู้หญิง ไม่มีใครใจกว้างพอที่จะให้คนอื่นมายุ่งกับของของตัวเองหรอกนะ...”  อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความขัดแย้งกันบ้างหรือถูกเอารัดเอาเปรียบในสายตาของสังคมอยู่ตลอดเวลา แต่รินก็พบว่า มิตรภาพที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในชุมชนของเพศทางเลือกนี้เอง ที่ขับเคลื่อนให้ชีวิตกะเทยที่ว่ายวนในพื้นที่ดังกล่าวดำเนินต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่ซินกับเจ๊เคนได้ถักทอช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตั้งแต่ต่างคนต่างตกงานมาด้วยกันแต่ต้นเรื่อง ไปจนถึงบทบาทของพี่แทนนี่ที่คอยผลักดันสนับสนุนซินเข้าสู่แวดวงบันเทิงได้ทัดเทียมกับบรรดา “ชายจริงหญิงแท้” ก็บอกเป็นนัยว่า ถ้ากลุ่มวัฒนธรรมย่อยของเพศที่สามจะสามารถมีอำนาจและศักดิ์ศรีในวงสังคมได้ ก็ต้องด้วยสูตรที่ว่า “รวมกันกะเทยอยู่” และต้อง “รวมกันอยู่ด้วยความจริงใจ” เท่านั้น  เฉกเช่นประโยคที่พี่แทนนี่พูดกับซินด้วยความผิดหวัง เมื่อความลับเรื่องการปลอมตัวถูกเปิดเผยออกมาว่า “มันจะมีสักกี่คนที่ได้ยินคำว่ากะเทยแล้วไม่สะดุดด้วยอคติ ถ้าซินเป็นนางเอกละครที่ประสบความสำเร็จ เขาก็จะมองถึงความสามารถของพวกเราเสียที...” กับการก่อตัวของชุมชนวัฒนธรรมย่อยของเพศที่สาม และภาพสะท้อนการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งทั้งความจริงใจ มิตรภาพ และการเกื้อกูลกันของตัวละครเพศทางเลือกทั้งหลาย ที่รินได้เรียนรู้และมาใช้ชีวิตร่วมในชุมชนแห่งนี้นั้น คงบอกกับเราๆ ถึงเจตนารมณ์ที่พวกเขาประกาศเอาไว้ว่า ถึงเวลาแล้วที่ชุมชนของ “ชายไม่จริง” จะดำรงอยู่ได้และดำเนินต่อไปอย่างมีอำนาจและศักดิ์ศรีไม่ต่างจากบรรดา “ชายจริงหญิงแท้” ในสังคม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 โปรลับ กับการย้ายค่าย

“ตอนคบกันแรก ๆ ก็ช่างเอาอกเอาใจ ทำดีให้ทุกอย่าง แต่พออยู่ๆ ไป หมดโปรโมชั่น ทำไมเฉยชา ไม่ใยดี เห็นเราเป็นของตาย” ที่พูดมานี่ กำลังจะเข้าเรื่องโปรโมชั่นโทรศัพท์มือถือ นะครับ อย่าคิดไปเป็นอื่น  เห็นโปรโมชั่นเอาใจลูกค้าใหม่ ที่ทั้งลด แลก แจก แถม แล้วลูกค้าเก่าอย่างเราก็อยากใช้บ้าง แต่พอติดต่อไปเขาก็ไม่ให้ เป็นลูกค้าเก่า ก็ต้องใช้โปรโมชั่นเดิม ๆ ซึ่งมันไม่เร้าใจ อะไรเลย อุตส่าห์เป็นลูกค้าที่ดีมาตั้งหลายปี แต่ได้รับการปฏิบัติแบบนี้ ลูกค้าเก่าหลายคนก็คิดได้นะ ว่าแล้วจะทนใช้บริการไปทำไม เปลี่ยนใจไปค่ายใหม่ดีกว่าไหม การเปลี่ยนตัวผู้ให้บริการโทรคมนาคม แต่เดิมนั้นเป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะเบอร์โทรศัพท์ผูกอยู่กับค่ายมือถือ จะย้ายค่ายก็ต้องทิ้งเบอร์โทรศัพท์เก่า ไปใช้เบอร์ใหม่ แล้วจะทำอย่างไรกับผู้คนมากมาย ที่เคยติดต่อผ่านโทรศัพท์เบอร์เดิม จะต้องแจ้ง ต้องบอกแก้ไขเบอร์ใหม่ เบอร์เก่ากันวุ่นวาย ยิ่งถ้าเป็นหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ติดต่อทางธุรกิจกันมาหลายปี การย้ายค่ายไปใช้เบอร์ใหม่อาจส่งผลกระทบกับการติดต่อลูกค้า   ข้อจำกัดแบบนี้ จึงทำให้ ผู้ประกอบการโทรคมนาคมมีอำนาจต่อรองเหนือกว่าผู้ใช้บริการมาก บริการจะแย่ ค่าบริการจะแพงอย่างไร ก็ต้องทนใช้ไป เพราะต้นทุนการย้ายไปใช้บริการกับค่ายใหม่มันมากเหลือเกิน  จนเมื่อมี ประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้สิทธิผู้บริโภคย้ายค่าย โดยใช้เบอร์เดิมได้ จึงทำให้ผู้ใช้บริการมีอำนาจต่อรองกับผู้ให้บริการเพิ่มมากขึ้น เพราะถ้าค่ายเดิมไม่ดูแลลูกค้าให้ดี ลูกค้าก็มีสิทธิย้ายค่ายหนีไปใช้บริการเจ้าใหม่ ได้ง่ายๆ  ดังนั้น เราจึงเห็น “โปรย้ายค่าย” ออกมาแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทั้งให้ส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์รุ่นใหม่ ลดค่าโทร แถมบริการอินเทอร์เน็ต ฯลฯ สารพัดสิทธิประโยชน์เพื่อดึงลูกค้าของค่ายคู่แข่งให้ย้ายมาใช้บริการ จนเกิดเป็นกระแสย้ายค่ายได้โปรดี ลูกค้าเก่าจำนวนไม่น้อยพากันย้ายค่ายเพื่อจะเอาโปรโมชั่นใหม่ ที่ดีกว่า ถูกกว่า ค่ายเก่าก็ต้องงัดกลยุทธ์ออกมาสกัดกั้นการไหลออกของลูกค้า หนึ่งในวิธีที่ใช้กันก็คือ “การเสนอโปรลับ” โปรลับ ก็คือ การเสนอโปรโมชั่นที่ดีกว่าหรือเทียบเท่ากับโปรโมชั่นของคู่แข่ง เพื่อยื้อไม่ให้ลูกค้าเก่าย้ายค่าย และที่ว่า “ลับ” ก็เพราะโปรโมชั่นแบบนี้ ทางค่ายไม่ได้ประกาศหรือแจ้งเป็นการทั่วไปให้ลูกค้าทราบ จะหาในเว็บไซต์ หรือปิดประกาศไว้ที่ร้านก็ไม่เจอ เพราะข้อเสนอ “โปรลับ” นี้ จะถูกเสนอให้กับลูกค้าที่กำลังจะย้ายค่ายได้พิจารณากันเป็นรายๆ ไป  ดูอย่างนี้เหมือนนี่จะเป็นนาทีทองของผู้บริโภค ที่บริษัทแข่งกันเสนอเงื่อนไขการใช้บริการที่ดีที่สุดให้ลูกค้า แต่ถ้ามองกันในภาพรวมมีลูกค้าเก่าอีกตั้งมากมาย ที่ไม่ได้ย้ายค่าย จึงไม่ได้สิทธิประโยชน์อะไรที่ดีขึ้นจากการเป็นลูกค้าที่ดีเลย การทำ “โปรลับ” แบบนี้เป็นธรรมกับผู้บริโภคหรือไม่ ในต่างประเทศ การเสนอโปรลับหรือเงื่อนไขพิเศษเฉพาะราย ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายแข่งขันทางการค้า เป็นการเลือกปฏิบัติ จะทำโปรโมชั่นรักษาฐานลูกค้าเก่า ก็ต้องประกาศแจ้งเป็นการทั่วไป ให้ผู้ใช้บริการได้รับทราบข้อมูล เปิดเผยเป็นการทั่วไป ไม่ใช่แอบไปเสนอเงื่อนไขพิเศษ ต่อรองกันแบบลับๆ ใครมือยาวสาวได้สาวเอา เพราะจะเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 57  “ผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการนอกเหนือหรือเกินกว่าอัตราขั้นสูงที่คณะกรรมการกำหนดในมาตรา 54  ไม่ได้ และต้องไม่เป็นการกำหนดอัตราในลักษณะที่เป็นการกีดกันทางการค้า ซึ่งจะมีผลเป็นการจำกัดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยจะต้องเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการของตนในอัตราเดียวกันสำหรับบริการโทรคมนาคมที่มีลักษณะหรือประเภทเดียวกัน” รวมทั้ง ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549  ข้อ 16 “ผู้ให้บริการต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการไม่เกินอัตราขั้นสูงที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และต้องเป็นอัตราตามที่ได้มีการตกลงไว้ในสัญญาโดยต้องเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการของตนในอัตราเดียวกันสำหรับบริการโทรคมนาคมที่มีลักษณะหรือประเภทเดียวกัน และไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ แบ่งแยก หรือกีดกันผู้ใช้บริการรายหนึ่งรายใด”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 สิทธิของผู้ซื้อบ้านที่ก่อสร้างไม่เสร็จตามสัญญา

ผมจะพาทุกท่านมารู้จักกับเรื่องสิทธิของผู้บริโภคอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในสัญญา โดยขอยกกรณีตัวอย่างของการทำสัญญาซื้อขายบ้านนะครับ ก่อนทำสัญญาใดๆ ก็ตามเราต้องตรวจดูข้อสัญญาให้ดีๆ เพราะสัญญาที่กำหนดขึ้นนั้น ผู้ขายเขาร่างมาให้ เราต้องดูให้ดีว่ามีข้อใดที่เอาเปรียบเราหรือไม่ หากเห็นข้อใดไม่สมเหตุผล ก็คุยกันและขอให้แก้ไขได้นะครับเพราะเป็นสิทธิของเราในฐานะผู้บริโภคครับ เพราะเมื่อทำสัญญาไปแล้วจะเกิดสิทธิและหน้าที่ทั้งผู้ซื้อผู้ขายต้องปฏิบัติให้เป็นตามสัญญา เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเรื่องของผู้บริโภคท่านหนึ่งที่ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้าน ซึ่งตอนไปทำสัญญาก็แน่นอนว่า บ้านยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง หลังทำสัญญาไปแล้ว ก็จ่ายเงินผ่อนบ้านเรื่อยมา แต่พออยู่ไปเรื่อยๆ ปรากฏว่า กลับจ่ายเงินเขาไม่ครบ จ่ายไม่ตรงเวลา ทั้งที่สัญญาก็ระบุไว้ว่าต้องจ่ายเมื่อไหร่ ส่วนผู้ขายก็สร้างบ้านไม่เสร็จตรงตามกำหนด เรียกว่าทั้งสองฝ่ายไม่ปฏิบัติให้ตรงตามสัญญากันเลย ผู้บริโภคท่านนี้เห็นบ้านสร้างไม่ยอมเสร็จสักที ก็ไปฟ้องศาลขอเรียกเงินค่างวดคืน ปัญหาที่เกิดคือ แบบนี้ตัวเองก็ผิดนัดเขาไม่ชำระเงินให้ตรงตามเวลาที่ตกลง จะมีสิทธิทวงเงินคืนได้หรือไม่  ซึ่งสุดท้ายเรื่องก็ไปสู่ศาลฎีกา และศาลก็ได้ตัดสินให้ผู้ขายคืนเงินแก่ผู้บริโภค เนื่องจากก่อนฟ้อง ผู้ขายมีหนังสือทวงถามให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อชำระค่างวด แต่ผู้ซื้อไม่ยอมจ่ายและมีหนังสือเลิกสัญญาไปถึงผู้ขายเช่นกัน ศาลมองว่าทั้งสองฝ่ายต่างต้องการเลิกสัญญาต่อกัน จึงมีผลให้สัญญาจะซื้อจะขายเลิกกัน ซึ่งตามกฎหมาย ผลของการเลิกสัญญา ทำให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องกลับสู่ฐานะเดิม ดังนั้น ผู้ขายจึงต้องคืนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระทั้งหมดให้แก่ผู้บริโภคพร้อมดอกเบี้ย คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6327/2549           โจทก์มิได้ชำระเงินค่างวดตรงตามเวลาและครบถ้วนในกำหนดตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนจำเลยก็มิได้ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในกำหนดวันที่โจทก์ต้องชำระเงินค่างวด งวดสุดท้ายและจำเลยตกลงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ จึงถือว่าต่างฝ่ายต่างมิได้ถือกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาเป็นสาระสำคัญต่อไป หนี้ที่ต่างต้องชำระต่อกันจึงไม่มีกำหนดเวลาแน่นอนต่างฝ่ายย่อมเรียกอีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ได้โดยพลันโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้อีกฝ่ายชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคแรก          สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนและล่วงเลยกำหนดเวลาชำระหนี้มาแล้วประมาณ 10 เดือน ดังนั้นหนังสือบอกกล่าวของจำเลยที่ทวงถามให้โจกท์ชำระเงินค่างวดที่ค้างเพื่อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญานั้น จำเลยจะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อโจทก์ด้วยว่าจำเลยพร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยมิได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิไม่ชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยยังก่อสร้างบ้านไม่แล้วเสร็จในขณะที่มีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ค่างวดที่ค้าง จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะที่พร้อมที่จะขอปฏิบัติการชำระหนี้ตอบแทนให้แก่โจทก์ได้ การที่โจทก์ไม่ชำระเงินค่างวดที่ค้างให้แก่จำเลยจึงไม่ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา จำเลยยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่โจทก์ชำระแล้ว          หลังจากที่จำเลยมีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระค่างวดที่ค้างแล้ว โจทก์ไม่ชำระแต่ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย และต่อมาจำเลยก็ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์อีก ดังนี้เท่ากับคู่สัญญามีเจตนาเลิกสัญญาต่อกัน สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยต้องคืนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระแล้วทั้งหมดให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ในคดีนี้ มีประเด็นน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อเป็นสัญญาต่างตอบแทน ทั้งสองฝ่ายต้องรู้หน้าที่ของตน ผู้ขายรู้ว่าตนมีหน้าที่ต้องสร้างบ้านให้เสร็จ และโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินให้โจทก์ แต่ปรากฎว่าในขณะมีหนังสือแจ้งให้โจทก์จ่ายเงินค่างวดบ้าน ตนเองก็ยังไม่พร้อมจะดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินให้โจทก์ แสดงว่าจำเลยผู้ขายไม่สามารถปฏิบัติตามหน้าที่ของตนตอบแทนตามสัญญา  ดังนั้น การที่โจทก์ยังไม่จ่ายเงินค่างวดจึงยังไม่ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา ผลที่ตามมาคือ ผู้ขายไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและจะริบเงินของโจทก์ไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 อาหารที่ไม่เข้ากัน

อยู่ ๆ ก็มีคำถามจากบรรณาธิการฉลาดซื้อว่า มีบทความหนึ่งชื่อ “เกือบเอาชีวิตไม่รอด ห้ามกินคู่กันเด็ดขาด มีพิษร้ายแรงเทียบเท่าสารหนู” ซึ่งลงไว้ในเว็บไทยเว็บหนึ่งในอินเตอร์เน็ทเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2018 โดยมีคำบรรยายต่อว่า “ยังดีที่มา รพ. ทัน ไม่งั้นอาจถึงแก่ชีวิตได้? แพทย์เผยสาเหตุ..ของหญิงวัย 30 ที่ป่วยอยู่..แล้วกินกล้วยกับของเหล่านี้เข้าไปคู่กันโดยคาดไม่ถึงว่ามันจะอันตรายขนาดนี้?” เป็นบทความที่น่าเชื่อหรือไม่ เพราะดูค่อนข้างแปลกรายละเอียดต่อจากหัวข้อข่าวกล่าวว่า “....หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่ากล้วยหอมห้ามกินกับอะไรบ้าง เหมือนกับผู้ป่วยรายนี้ที่รับประทานกล้วยกับโยเกริต์เข้าไปพร้อมกัน พอเวลาผ่านไปสักพัก เขาเริ่มเกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรงจนทนไม่ไหว ทางบ้านจึงรีบพาส่ง รพ. แพทย์รีบเช็คดูอาการแล้วจึงรีบล้างท้องโดยด่วน พร้อมเผยว่าหญิงวัย 30 รายนี้ได้รับประทานอะไรเข้าไปหรือป่าว หญิงรายนี้เลยบอกแค่ว่าเขา รับประทานแค่กล้วยกับโยเกริต์เข้าไป แต่ไม่คิดว่าจะปวดท้องมากขนาดนี้…”ลักษณะข่าวดังกล่าวนี้ดูเป็นเรื่องน่าสนใจทันทีเพราะ เป็นเรื่องของกล้วยหอมและเรื่องของโยเกิร์ต ซึ่งบางคนกินแยกกันและบางคนกินผสมกัน(โดยเฉพาะฝรั่งหลายชาติอาจปั่นเป็น smoothie ดังปรากฏเป็นสูตรอาหารเช้าในเน็ต เมื่อใช้คำว่า banana and yogurt ใน google search) แต่พอมีข่าวเกี่ยวกับการก่ออันตรายได้ทั้งที่เป็นอาหารที่เราคุ้นชิน คำถามจึงควรมีต่อไปว่า คำแนะนำนั้นอยู่บนฐานของความจริงเพียงใดในชั้นต้นนั้นเมื่อดูคำแนะนำของผู้หวังดีก็พบว่า คำแนะนำนั้นขาดที่มาหรือไม่ให้เหตุผลว่า ทำไมถึงห้าม อยู่ ๆ ก็มาห้าม เหมือนโกรธกับแม่ค้าขายกล้วยหอม หรือเคืองพ่อค้าขายโยเกิร์ต ซึ่งก็คงไม่ใช่ ในฐานะที่ผู้เขียนเคยทำการสอนวิชาที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในการบริโภคอาหารจึงได้พยายามสืบต่อว่า ข้อห้ามนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร สุดท้ายเมื่อเข้าไปดูหลายๆ เว็บทั้งไทยและเทศที่แนะว่าไม่ควรกินกล้วยหอมกับโยเกิร์ตแล้วก็พบว่า ต่างก็อาศัยข้อมูลพื้นฐานจากศาสตร์โบราณของชาวฮินดูคือ อายุรเวท (Ayurveda มาจากภาษาสันสกฤตว่า อายุส แปลว่าชีวิต และเวท แปลว่า ศาสตร์ รวมแปลว่า ศาสตร์แห่งชีวิต) ผู้เขียนได้พบบทความสั้น ๆ เรื่อง Food Combining เขียนโดย Vasant Lad ซึ่งคงเป็นคนในกลุ่มของ The Ayurvedic Institute ที่ตั้งอยู่ในรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้เขียนได้พยายามทำความเข้าใจในเนื้อหาเพื่อนำมาเล่าให้ผู้อ่านที่ไม่เคยสนใจในอายุรเวททราบดังนี้ อายุรเวทนั้นเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับการบำบัดโรคและอาการผิดปรกติของร่างกาย ซึ่งส่วนหนึ่งของศาสตร์นี้กล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารที่ต้องเลือกให้ถูกถ้าจะผสมกันก่อนกิน ตามความเชื่อทางอายุรเวท อาหารแต่ละชนิดมีความเฉพาะในรสชาติ ความเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการให้พลังงานและผลที่เกิดหลังการย่อยต่างกัน ดังนั้นหนทางในการถูกย่อยของอาหารแต่ละชนิดจึงแตกต่างกัน การนำอาหารสองอย่างขึ้นไปมาผสมกันนั้นจำต้องคำนึงถึงกระบวนการย่อยอาหารที่ถูกผสมนั้นว่าไม่ขัดขวางกัน เพราะสุดท้ายแล้วความไม่เหมาะสมของการผสมอาหารนั้นอาจก่อให้เกิดสารพิษขึ้นมาได้ (ประเด็นนี้น่าสนใจมาก เสียดายในบทความไม่ได้ยกตัวอย่างว่าได้แก่อะไรบ้าง...ผู้เขียน) ซึ่งต่างจากการกินอาหารดังกล่าวแต่ละชนิดต่างเวลากัน อาหารทั้งหมดนั้นกลับช่วยให้ร่างกายดำรงชีวิตได้อายุรเวทกล่าวประมาณว่า การผสมอาหารที่ไม่เข้ากันนั้นอาจก่อให้เกิดการย่อยที่ไม่สมบูรณ์ในร่างกายผู้กิน ส่งผลให้มีการหมัก จนเกิดก๊าซในทางเดินอาหาร ตัวอย่างเช่น การกินนมกับกล้วยนั้นทำให้เกิดการยับยั้งการย่อยในกระเพาะอาหาร ปรับเปลี่ยนจุลินทรีย์ธรรมชาติที่มีในลำไส้ใหญ่จนเกิดการสร้างสารพิษที่ก่อให้เกิดอาการไซนัสอักเสบ หนาว ไอ และแพ้อาหาร โดยมีคำอธิบายทางอายุรเวทประมาณว่า ถึงอาหารทั้งสองต่างให้พลังเย็นต่อร่างกาย แต่ผลที่เกิดขึ้นหลังการย่อยแล้วกลับต่างกันโดยกล้วยนั้นให้รสเปรี้ยวแต่นมให้รสหวาน ส่งผลให้ระบบการย่อยอาหารสับสนจนเกิดสารพิษและความไม่สมดุลต่าง ๆ ได้ Vasant Lad ยกตัวอย่างอาหารที่ก่อปัญหาประมาณว่า ไม่ควรดื่มนมพร้อมไปกับแตงต่างๆ แม้ว่าอาหารทั้งสองให้พลังเย็นต่อร่างกาย แต่นมนั้นมีฤทธิ์ส่งผลให้เกิดการถ่ายท้อง ในขณะที่แตงช่วยระบายปัสสาวะ โดยปรกติแล้วนมนั้นต้องการเวลาในการย่อยมากกว่าแตง นอกไปจากนี้กรดในกระเพาะอาหารนั้นก็เป็นที่ต้องการในการย่อยแตงส่งผลให้นมตกตะกอน(curdle) ซึ่งไม่ดีต่อการย่อยอาหาร ความในข้อนี้ดูแปลกเพราะ ในความเป็นจริงทางสรีรวิทยาการย่อยอาหารแล้ว แตงนั้นไม่มีส่วนใดที่ควรถูกย่อยในกระเพาะอาหารเนื่องจากมีโปรตีนต่ำ น้ำตาลในแตงจะถูกย่อยด้วยน้ำย่อยจากตับอ่อนในลำไส้เล็ก และส่วนใหญ่ของแตงนั้นคือ ใยอาหาร จะไม่ถูกย่อยแต่ส่งผลในด้านการป้องกันมะเร็งในทางเดินอาหาร และสิ่งที่ตรงข้ามกับความรู้ทางอายุรเวทคือ การตกตะกอนของนมนั้นจริงแล้วเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นกับโปรตีนทุกชนิดก่อนที่จะถูกย่อยบางส่วนด้วยเอ็นซัมเป็บซินในกระเพาะอาหาร แล้วจึงส่งต่อให้ถูกย่อยจนสำเร็จด้วยเอ็นซัมจากตับอ่อนในลำไส้เล็กนอกจากนี้ผู้เขียนยังได้พบบทความอีกหนึ่งบทความชื่อ Viruddha Ahara: A critical view ซึ่งเขียนโดย M. Sabnis (www.ayujournal.org/text.asp?2012/33/3/332/108817) ผู้ซึ่งอธิบายถึงเรื่องราวของ Viruddha Ahara ซึ่งเป็นแนวคิดเฉพาะเรื่องที่อธิบายไว้ในอายุรเวท (Ayurveda) โดยคำว่า Viruddha Ahara นั้นหมายถึง ปฏิสัมพันธ์ต่อกันระหว่างอาหารกับอาหาร ซึ่งรวมถึงปฏิสัมพันธ์ขององค์ประกอบในอาหารระหว่างการแปรรูปอาหาร ในขณะที่คำที่มีความหมายถึง อาหารที่ไม่เข้ากัน นั้นอายุรเวทใช้คำศัพท์ว่า Viruddha Anna M. Sabnis ยกตัวอย่างการกินอาหารที่ไปด้วยกันไม่ได้ตามหลักอายุรเวท ซึ่งก่ออันตรายต่อร่างกาย ได้แก่ กินปลากับนม กินน้ำผึ้งกับเนยใสหรือกีในสัดส่วนที่เท่ากัน (เนยใสหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม หรือครีม หรือเนย ซึ่งใส่จุลินทรีย์หรือไม่ก็ตาม โดยแยกธาตุน้ำนมไม่รวมมันเนยและระเหยเอาน้ำออก) ดื่มน้ำร้อนหลังจากกินน้ำผึ้ง กินอาหารที่ไม่ถูกต้องตามกาลเวลา เช่น กินอาหารรสฉุนในฤดูร้อนและอาหารรสเย็นในช่วงฤดูหนาว ดื่มน้ำเย็นทันทีหลังดื่มชาร้อนหรือกาแฟร้อน เป็นต้นผู้รู้ในศาสตร์อายุรเวทนี้ได้ทำบัญชีรายชื่ออาหารที่ไม่เข้ากัน ซึ่งถ้ามีการบริโภคเข้าไปพร้อมกันแล้ว ผู้บริโภคอาจเกิดปัญหาความเสื่อมสมรรถภาพทางเพศไปจนอาจเป็นหมันได้ ผู้ที่สนใจในรายชื่ออาหารที่ส่อให้เกิดปัญหาต่างๆ นั้นสามารถตามเข้าไปดูในเว็บดังกล่าวข้างต้นที่ M. Sabnis เขียนบทความนี้ได้นอกจากคำแนะนำในการกินอาหารที่ไม่เข้ากันทางอายุรเวทแล้ว ข้อมูลลักษณะเดียวกันนี้ย่อมต้องมีในชนชาวจีน ซึ่งมีรากฐานทางวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมานานไม่ต่างจากชาวอินเดีย ผู้เขียนได้พบข้อมูลที่เป็นข้อห้ามในการกินอาหารที่ไม่เหมาะกันของชาวจีน ในบทความชื่อ Dangerous food combinations ซึ่งปรากฏในเว็บ martalivesinchina.wordpress.com เมื่อวันที่ 27 เดือนตุลาคม 2016 โดยกล่าวประมาณว่า อย่ากินมะเขือเทศพร้อมกุ้ง (กุ้งมีอะไรบางอย่างที่เมื่อผสมกับมะเขือเทศกลายเป็นพิษ) น้ำผึ้งพร้อมต้นหอม (ก่อปัญหาต่อดวงตา) ไก่พร้อมผักชีฝรั่ง (มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันอ่อนลง) เนื้อเห็ดพร้อมเนื้อลา (ทำให้เส้นเลือดแดงทำงานผิดปรกติ) แครอทพร้อมหัวไชเท้า (ลดประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันและทำให้เกิดการติดเชื้อในเลือด) มันฝรั่งพร้อมลูกพลับ (อาจเกิดนิ่วในไตได้) เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนมองว่า เหตุผลที่อยู่ในวงเล็บนั้นดูไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด ความเชื่อเรื่องการกินอาหารของชาวจีนก็คงไม่ต่างจากชาวอินเดีย กล่าวคือ อาศัยประสบการณ์จดจำและบันทึกจากผลที่เกิดกับการกินอาหารต่างๆ แล้วก่ออันตรายแก่คนบางคน ซึ่งอาจไม่ใช่ทุกคน จึงเป็นที่น่าเสียดายที่ข้อมูลการห้ามการกินอาหารบางอย่างร่วมกันนี้ไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริงหรือไม่ทางวิทยาศาสตร์แผนปัจจุบัน ดังนั้นสำหรับความเชื่อดังกล่าวท่านผู้อ่านที่นับถือพุทธศาสนาก็คงต้องอาศัยหลักการทางกาลามสูตร 10 ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึ่งไปก่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2561ค้านร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ฯ เหตุลิดรอนสิทธิ ขัดรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) พร้อมตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม 130 องค์กร เข้ายื่นหนังสือต่อ รมว.สาธารณสุข คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ฯ เหตุผลสำคัญ คือ ร่างกฎหมายดังกล่าว มีความล้าหลัง ไม่เป็นธรรม และขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายมาตรา เช่น เป็นการลิดรอนสิทธิผู้บริโภคตาม มาตรา 46 เพราะมีผลให้คดีทางการแพทย์และบริการสาธารณสุข ไม่จัดเป็นคดีผู้บริโภคอีกต่อไป, มาตรา 27 ประเด็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และมาตรา 68 วรรคแรก ทำให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้บริโภคในคดีทางการแพทย์ มีลักษณะสองมาตรฐาน แตกต่างจากคดีผู้บริโภคประเภทอื่น “การแก้ปัญหาที่ตรงจุด คือการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุขฯ ที่มีวัตถุประสงค์ในการลดการฟ้องคดีทางการแพทย์ เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งผู้ให้และผู้รับบริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากหลายหน่วยงานแล้วแทน” ผู้พิการทุปลิฟต์ บีทีเอส สะท้อนสิทธิขั้นพื้นฐานที่ถูกละเลย จากกรณี นายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้พิการ และผู้ประสานงานเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ ที่ทุบกระจกประตูลิฟต์รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีอโศก เมื่อวันที่ 11 มี.ค.61 พร้อมโพสต์ภาพลงสื่อโซเชียล เรียกร้องความเป็นธรรมให้ผู้พิการนั้น นายมานิตย์ได้แถลงข่าวบริเวณสถานีรถไฟฟ้าอโศกว่า เหตุเริ่มขึ้นจากเจ้าหน้าที่สถานีให้ตนลงชื่อ โดยอ้างว่าเพื่อบันทึกการเดินทางของคนพิการ ซึ่งตนได้ปฏิเสธ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น และยังเป็นการละเมิดสิทธิในการเดินทางของคนพิการด้วย เนื่องจากตนได้เดินทางโดยรถไฟฟ้ามาหลายปี บีทีเอส ให้สิทธิคนพิการขึ้นฟรี แต่มีอยู่สถานีเดียวที่ให้ตนลงชื่อ จึงได้ตัดสินใจขอซื้อตั๋วเอง โดยหลังจากที่ซื้อตั๋วโดยสารแล้ว ได้พาตัวเองไปยังลิฟต์ ก็พบว่าประตูถูกล็อค มองหาเจ้าหน้าที่ก็ไม่พบ ผ่านไป 5 นาที จึงตัดสินใจชกเข้าไปที่ประตูกระจก นายมานิตย์เองยอมรับว่าผิด แต่ก็บอกว่าเรียกร้องเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว ศาลก็เคยมีคำสั่งให้ กทม.-บีทีเอส จัดสร้างลิฟต์สำหรับผู้พิการทั้ง 18 สถานีที่ยังไม่มี ให้เสร็จภายใน 1 ปี แต่นี่ผ่านมาเกือบ 3 ปีแล้วหลังจากที่ศาลมีคำสั่ง ก็ยังมีลิฟต์ไม่ครบ โดยหลังจากนี้ 7 วัน หากไม่มีความเคลื่อนไหวจากภาครัฐและบีทีเอส จะขอดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลด้านบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ชี้แจงว่า ระบบลิฟต์ที่ให้บริการในสถานีบีทีเอส แบ่งเป็น 2 ประเภท แบบแรก คือ ลิฟต์สำหรับคนพิการ ใน 4 สถานี ซึ่งจะถูกล็อคไว้ เพราะลิฟต์จะสามารถขึ้นตรงไปที่ชานชาลาได้เลย โดยไม่ผ่านชั้นจำหน่ายตั๋ว อีกแบบ คือ ลิฟต์ที่ขึ้นไปยังชั้นห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร ซึ่งเปิดให้ผู้โดยสารทุกคนสามารถใช้งานได้ บริษัทรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และหากขั้นตอนการปฏิบัติทำให้ผู้พิการไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ ก็จะปรับปรุงขั้นตอนให้ผู้พิการมีความสะดวกมากขึ้นสื่อญี่ปุ่นเผยไทยนำเข้าปลาจากฟุกุชิมะเป็นชาติแรก หลังวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ปี 54 เมื่อวันที่ 28 ก.พ.61 สำนักข่าวเจแปนไทม์ส รายงานว่า ไทยได้สั่งซื้อปลาตาเดียว 110 กก. จากท่าเรือโซมะ จ.ฟุกุชิมะ เพื่อนำมาจำหน่ายในร้านอาหารญี่ปุ่น 12 แห่ง ในกรุงเทพฯ ต่อมา น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบการตกค้างของรังสีในปลาตาเดียวลอตดังกล่าว และขอให้เปิดเผยใบรับรองของบริษัทนำเข้า และเปิดเผยรายชื่อร้านอาหารญี่ปุ่น 12 แห่ง ให้ผู้บริโภคได้ทราบตามสิทธิพื้นฐาน ถัดมา อย.และกรมประมงได้แถลงข่าวว่า ปลาตาเดียวลอตที่ถูกนำเข้าจากฟุกุชิมะนี้ไม่ใช่ลอตแรก และไม่มีการปนเปื้อนรังสี เพราะทางญี่ปุ่นได้ตรวจสอบแล้ว โดยตั้งแต่เดือน มี.ค. - เม.ย.59 ตรวจไม่พบการปนเปื้อนในปลาในประเทศไทย จึงให้นำเข้าได้อย่างปกติ แต่ยังคงมีการสุ่มตรวจทั่วไป และให้ความเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องสุ่มตรวจร้านอาหารทั้ง 12 แห่งที่เป็นข่าว ด้าน น.ส.สารี ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้สะท้อนถึงปัญหาจากการที่ อย.ถ่ายโอนอำนาจหน้าที่การตรวจสอบอาหารนำเข้า 7 พิกัด ไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อใช้เป็นอำนาจในการต่อรองทางการค้ากับประเทศคู่ค้า ตั้งแต่เดือน พ.ค.59 จากแรงผลักดันของธุรกิจส่งออก ซึ่งทำให้เกิดปัญหา การที่ อย.ถ่ายโอนอำนาจการตรวจสอบมาให้กรมประมง แต่กรมประมงกลับอ้างว่า ไม่มีหน้าที่กักหรือตรวจสอบซ้ำ และให้ อย.ไปสุ่มตรวจหลังจากปลาหรือสินค้าเข้าสู่ตลาดแล้ว ถือว่าเป็นการทำลายมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้ว แต่ อย.ไม่เคยมีการประเมินการถ่ายโอนภารกิจว่าดีหรือเลวลงอย่างไร ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนจากการนำเข้าปลาจากฟุกุชิมะในครั้งนี้4 หน่วยงาน จับมือร่วมสร้าง องค์กรผู้บริโภคคุณภาพ เมื่อ 15 มี.ค.61 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ (มวคบ.) รวม 4 องค์กร ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือในการพัฒนาและสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ โดยการลงนามในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้เกิดระบบการพัฒนาและรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพให้เป็นที่ยอมรับ โดยพัฒนาหลักเกณฑ์และกระบวนการในการพัฒนาองค์กรผู้บริโภค ให้มีความพร้อมเข้าสู่กระบวนการรับรองคุณภาพ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันมีองค์กรผู้บริโภคเข้าร่วมกว่า 300 องค์กร 10,000 รายชื่อ เสนอกฎหมายสภาผู้บริโภคแห่งชาติ วันที่ 15 มี.ค.61 งานสมัชชาผู้บริโภคแห่งชาติ ประจำปี 2561 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) แถลงข่าวการทำกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ ฉบับประชาชน ควบคู่ไปกับ ฉบับของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ที่มีการจัดเวทีรับฟังความเห็น โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายตาม มาตรา 46 เมื่อช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว คาดหวังให้ร่างกฎหมายดังกล่าว ตรงตามเจตนารมณ์ของการมีกฎหมายที่แท้จริง โดยร่างกฎหมายสภาผู้บริโภคแห่งชาติ จะถูกจัดทำเป็นกฎหมายเฉพาะในระดับพระราชบัญญัติ ไม่ถูกนำไปอยู่ใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ร่างกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ ฉบับประชาชน แตกต่างจาก ร่างของ สคบ. ในหลายประเด็น เช่น การสนับสนุนงบประมาณต่อหัวประชากรโดยรัฐ, เพิ่มเติมนิยามองค์กรผู้บริโภค ไม่ถูกจัดตั้งโดยรัฐ, ให้มีกรรมการจากเขตพื้นที่ 13 เขต, เพิ่มอำนาจสนับสนุนให้เกิดสภาผู้บริโภคระดับจังหวัด ซึ่งการมีกฎหมายฉบับนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรผู้บริโภค ทำให้แต่ละจังหวัดมีตัวแทนเข้าไปทำงานในระดับประเทศ ทั้งนี้ เมื่อ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้เข้ายื่นหนังสือต่อประธานสภานิติบัญญัติ เพื่อแจ้งริเริ่มการเสนอร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติฯ แล้ว และคาดว่าจะสามารถรวบรวมรายชื่อ จำนวน 10,000 รายชื่อได้ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 204 ‘โซลาร์ รูฟท็อป’ พูดได้ แต่ทำไมยังทำไม่ได้

โครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัยแบบเสรีหรือโซลาร์ รูฟท็อปเสรี น่าจะเป็นโครงการที่ผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง หลายครอบครัวอาจคาดว่าจะเป็นแหล่งรายได้เสริมและช่วยประหยัดไฟฟ้าในคราวเดียวกันแต่มันเป็นฝันที่ค้างคาอยู่เช่นนั้น เพราะแม้ทางกระทรวงพลังงานจะประกาศนโยบายนี้มาพักใหญ่ แต่แนวทางในการรับซื้อก็ยังไม่ชัดเจนเสียที มีรายละเอียดจุกจิกที่เพิ่มความยุ่งยากมากกว่าจะอำนวยความสะดวก การปฏิบัติที่ไม่ค่อยตรงหลักการของชื่อโครงการที่บอกว่า ‘เสรี’ ทว่า จำกัดจำนวนรับซื้อไว้ไม่เกิน 300 เมกะวัตต์ต่อปี หรือการกำหนดราคาที่ผู้ขายไฟฟ้ารู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม จากข่าวช่วงปลายปีที่ผ่านมาว่าการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ รูฟท็อปอิงกับราคาค่าไฟฟ้าขายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) โดยกลุ่มที่อยู่อาศัยทั่วไปจะรับซื้อในราคา 2.30-2.50 บาทต่อหน่วย แต่ขายในราคา 4.30 บาทต่อหน่วย เรียกว่าได้กำไรเกือบเท่าตัวทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานยังอ้างเรื่องความพร้อมของระบบสายส่งและถ้ารับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปมากเกินไปจะกระทบกับค่าไฟฟ้าที่เก็บจากประชาชนผู้ใช้ไฟ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะพาไปดูตัวอย่างคนที่ติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อปและประสบความสำเร็จ พร้อมกับสำรวจแบบคร่าวๆ ว่าสิ่งที่ภาครัฐอ้างนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ แล้วข้ออ้างดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพลังงานสะอาดในไทยหรือไม่? อย่างไร?วัดป่าศรีแสงธรรมคนที่สนใจประเด็นพลังงานน่าจะเคยได้ยินชื่อวัดป่าศรีแสงธรรม ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อพระครูวิมลปัญญาคุณ ศรีแสงธรรม เจ้าอาวาส และผู้รับใบอนุญาตและก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม ได้รับแรงบันดาลใจจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้สู่การพึ่งตนเองด้านพลังงาน ทำให้ชื่อของวัดป่าศรีแสงธรรมเป็นที่รู้จักการติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อปผลิตไฟฟ้าใช้เองทำให้โรงเรียนสามารถประหยัดค่าไฟได้ถึงเดือนละ 20,000 บาท ทว่า กว่าจะได้ผลลัพธ์นี้ก็ต้องอาศัยเวลาเรียนรู้และฝ่าฟันกับระบบระเบียบของทางราชการที่ไม่เอื้อให้เกิดการพึ่งตนเองด้านพลังงานของประชาชน ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ต้องเลือกตัดปัญหาเพื่อไม่ต้องวุ่นวายกับระบบที่ไม่เอื้อนี้“ระบบออนกริด(On-grid) ข้อดีคือถูกมาก ตอนแรกๆ โรงเรียนผลิตไฟได้ 40 หน่วยต่อวัน กลางวันใช้ไป 30 หน่วย เหลือ 10 หน่วย มันก็ไปหมุนมิเตอร์กลับ กลางคืนใช้อีก 10 หน่วย เช้ามาก็เท่ากับ 0 หน่วยทุกวัน การไฟฟ้าไม่ยอม บอกว่าไม่มีระเบียบแบบนี้ ไฟที่ออกจากมิเตอร์แล้ว ต้องจ่ายเงิน ไม่ใช่เอาไฟฟ้าเข้าไปหมุนคืน ประเทศไทยยังไม่มีระบบแลกไฟไปกลับแบบนี้“ถามว่าจะเอาไฟฟ้าเข้าระบบยุ่งยากหรือไม่ หนึ่ง-ต้องไปแจ้งที่ กกพ. (คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) เอาแบบไปยื่น ไปขอยกเว้นไม่รับใบประกอบกิจการพลังงาน เมื่อได้ใบนี้แล้วจึงนำไปยื่นขอขนานไฟกับการไฟฟ้า ตรงนี้จะยุ่งยากขึ้นไปอีก การไฟฟ้าจะตรวจอุปกรณ์ว่าตามมาตรฐานหรือไม่ ทดสอบผ่านหรือไม่ ถ้าไม่ให้ผ่าน ก็ไม่ให้เชื่อม ไม่ให้ขนาน สำหรับบางคนระเบียบแบบนี้มันยุ่งยากจนเขาไม่ไปขอขนานไฟ เกิดเป็นโซลาร์กองโจรขึ้นมา อยากจะติดก็ติดเลย เพราะทั่วโลกเขาก็ให้ส่งขายอยู่แล้ว ทำไมมาติดที่ประเทศไทย” พระครูวิมล เล่าประสบการณ์พระครูวิมลเล่าอีกว่า ไม่ได้คิดจะผลิตไฟฟ้าเพื่อขาย หากมีไฟฟ้าเหลือใช้เข้าระบบก็ยินดียกให้ เพียงแต่กำลังผลิตที่มีอยู่สร้างขึ้นพอดีกับปริมาณการใช้ พอมีประเด็นมิเตอร์หมุนกลับ ทางพระครูวิมลจึงสร้างระบบจัดเก็บไฟฟ้าไว้ใช้ตอนกลางคืน ทำให้ปัจจุบันทางโรงเรียนศรีแสงธรรมไม่ได้ใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเลย ฟังแบบนี้อาจคิดว่าการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ใช้เองต้องเป็นเรื่องซับซ้อนเข้าใจยาก แน่นอนว่าการติดตั้งต้องอาศัยช่างเทคนิค แต่หากเป็นแผงโซลาร์เซลล์ที่มีคุณภาพ มีการรับประกันนานถึง 20 ปีเช่นที่โรงเรียนแห่งนี้ก็ถือว่าคุ้มต่อการลงทุน อีกทั้งการดูแลรักษาก็ง่ายดายขนาดว่าเด็กนักเรียนก็ทำเองได้“เรื่องการดูแลรักษา เราก็ให้ความรู้เด็กๆ ในโรงเรียน เต็มที่ก็ดูว่าแผ่นโซล่าร์สกปรกมั้ย มีนกไปขี้ใส่มั้ย ล้างแผ่นมั้ย แค่นี้เอง ทางบริษัทมอนิเตอร์หรือเรามอนิเตอร์เองก็ได้”ประโยชน์และความคุ้มค่าจากตัวอย่างของโรงเรียนวัดป่าศรีแสงธรรมแสดงให้เห็นว่า การพึ่งพาตนเองด้านพลังงานของประชาชนไม่ใช่เรื่องยากเย็น แม้เริ่มต้นจะลงทุนสูง แต่ในระยาวถือว่าคุ้มค่า อีกทั้งหากมีการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์ เซลล์ ก็จะยิ่งเป็นตัวเร่งให้เทคโนโลยีก้าวล้ำขึ้นและราคาถูกลงดังนั้น โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่การส่งเสริม มิใช่การสร้างอุปสรรคและความไม่ชัดเจนเราพูดคุยกับนักวิชาการที่ติดตามประเด็นพลังงาน 2 คนคือประสาท มีแต้ม กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน และเดชรัต สุขกำเนิด จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับโซลาร์ รูฟท็อปทีละประเด็นตามข้อจำกัดของพื้นที่ เดชรัต กล่าวถึงการทำโซลาร์ รูฟท็อปว่า เหมือนการมีโรงไฟฟ้าขนาดย่อยกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ 3 จุด คือ การมีแหล่งกำเนิดไฟฟ้าอยู่ติดกับบ้านของผู้ใช้ทำให้ความสูญเสียในสายส่งน้อยลง ทำให้ปัญหาไฟตกหรือไฟดับลดลง และการทำให้ระบบกลับคืนมาใหม่ดีขึ้น เพราะมีแหล่งกำเนิดพลังงานรออยู่หลายจุดประเด็นที่ 2 คือผลพลอยได้ เช่น กรณีภัยพิบัติหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ทำให้ระบบสายส่งไม่สามารถทำงานหรือไม่สามารถส่งไฟได้ ความพร้อมในการดูแลผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติจะสามารถทำได้อีกทางหนึ่ง อย่างน้อยในระยะสั้นก็ยังสามารถมีไฟฟ้าใช้ประเด็นสุดท้ายคือการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์ เซลล์ ก่อให้เกิดมลภาวะน้อยกว่าถ่านหิน เพราะโซล่าร์ เซลล์ไม่ก่อให้เกิดการเผาไหม้ ดังนั้นจึงเป็นการช่วยสังคมโดยภาพรวมเมื่อถามถึงความคุ้มค่าในทางเศรษฐศาสตร์ เดชรัต อธิบายดังนี้“เทคโนโลยีในระยะแรกจะแพงมาก แต่เมื่อมีการใช้มากขึ้นก็จะเกิดเส้นโค้งการเรียนรู้ ซึ่งทำให้ต้นทุนถูกลง ตัวเลขล่าสุดที่มีการประมูลขายไฟเข้าระบบ โซล่าร์ เซลล์ ไม่ถึง 4 บาทแล้ว ขณะที่ไฟฟ้าที่เราใช้อยู่ก็ประมาณ 4 บาทนิดๆ เพราะฉะนั้นแนวโน้มในอนาคตน่าจะแข่งขันได้มากขึ้น ตอนนี้อาจจะแพงกว่าไฟฟ้าจากถ่านหินเล็กน้อย แต่การที่มันแพงกว่าเป็นเพราะเราไม่ได้คิดต้นทุนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน”ระบบที่สร้างอุปสรรค ถ้าติดโซลาร์ รูฟท็อปแล้วต้องการขายไฟฟ้าส่วนเกินให้แก่การไฟฟ้าจะใช้ระบบใด ประสาทกล่าวว่า ปัจจุบันมี 3 ระบบหลักที่ใช้ในประเทศต่างๆ คือ Net Mitering ไฟฟ้าที่ผลิตได้ไหลเข้าสายส่ง มิเตอร์เดินถอยหลัง เมื่อมีการใช้ไฟฟ้าในบ้านมิเตอร์ก็เดินหน้า เมื่อครบรอบเดือนก็มาหักลบเป็นตัวเลขสุทธิว่าต้องชำระเพิ่มหรือไม่ แบบที่ 2 คือบริษัทไฟฟ้ารับซื้อไฟฟ้าจากบ้านเรือนในราคาสูงและขายในราคาต่ำกว่า แบบที่ 3 คือบริษัทไฟฟ้ารับซื้อไฟฟ้าจากบ้านเรือนในราคาต่ำและขายกลับในราคาสูง ซึ่งแบบนี้ประสาทบอกว่ากำลังเป็นคดีความอยู่ในสหรัฐฯอย่างไรก็ตาม ระบบการรับซื้อเป็นเรื่องหลังจากที่มีกติกาที่ชัดเจนแล้ว ซึ่งในประเทศไทยความชัดเจนที่ว่ายังไม่เกิดขึ้น ประสาทอธิบายปัญหาเชิงระบบของไทยโดยตั้งต้นจากตัวอย่างของประเทศเยอรมนีว่า การผลิตไฟฟ้าจากโซล่าร์ รูฟท็อป ไม่จำเป็นต้องจำกัดโควตาเช่นที่ประเทศไทยทำ ในเยอรมนีมีระเบียบว่าใครที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ก่อนสามารถขายได้ก่อนโดยไม่จำกัดจำนวน ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญเพราะไม่มีอุปสรรคต่อระบบการผลิตไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ เนื่องจากในช่วงเริ่มต้นนั้นพลังงานหมุนเวียนในเยอรมนีแพงกว่าพลังงานอื่น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจึงต้องมาเฉลี่ยกันทั้งประเทศ“ในส่วนของประเทศไทยไม่เมคเซ๊นส์เพราะ หนึ่ง-จำกัดจำนวน สอง-มีระเบียบหยุมหยิม สาม-มีการกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์แต่ละการไฟฟ้าก็ไม่เหมือนกัน สี่-มาตรฐานอุปกรณ์ที่ว่าก็สูงเกินจริงมากๆ ทำให้ต้นทุนแพง เพราะฉะนั้นคนจึงไม่ไปขอ โควตาที่ให้ก็ไม่เต็ม ขณะที่โซล่าร์ ฟาร์มของบริษัทขนาดใหญ่กลับเติบโตเร็วมาก สัดส่วนระหว่างโซล่าร์ ฟาร์ม กับโซล่า รูฟท็อป พบว่าร้อยละ 99 เป็นโซล่าร์ ฟาร์ม คือเน้นทุนขนาดใหญ่ ขณะที่ในเยอรมนี โซล่าร์จะเน้นชาวบ้านธรรมดา ประเทศไทยมันสลับหัวสลับหาง”ประเด็นที่ว่าจะทำให้ค่าไฟแพงขึ้นหรือไม่ ประสาท อธิบายคล้ายกับเดชรัตว่า เวลานี้ต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ถูกลงมากและลดลงมาเรื่อยๆ ปีละประมาณร้อยละ 14-15 เขายังยกตัวอย่างการประมูลในประเทศซาอุดิอาระเบียที่เวลาค่าไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ถูกที่สุดไม่ถึง 3 เซนต์ต่อหน่วยไฟฟ้าหรือประมาณ 1.50 บาท ขณะที่ค่าไฟฟ้าของไทยอยู่ที่ 3.50-4 บาทต่อหน่วย และต้องไม่ลืมประเด็นที่เดชรัตกล่าวในตอนต้นด้วยว่า ไม่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าตัวหนึ่ง“สถานการณ์ปัจจุบัน ถ้าเราจะติดบนหลังคา” ประสาทกล่าวถึงกรณีประเทศไทย “ภาครัฐบอกว่าไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องแจ้งพร้อมด้วยอุปกรณ์ที่ใช้ต้องได้มาตรฐาน และยังมีข้อแม้ว่าห้ามไฟฟ้าไหลย้อนเข้าไปในสายส่ง ปัญหาคือพระอาทิตย์มาตอนกลางวัน คนส่วนใหญ่ไม่อยู่บ้าน ไฟฟ้าที่ผลิตได้ก็ต้องเข้าสายส่ง แต่เมื่อห้ามไหลย้อน ก็ทำให้คนที่ติดโซล่าร์ รูฟท็อปแล้วไม่คุ้มทุนเพราะไฟฟ้าที่เข้าไปในสายส่งเขาไม่จ่ายเงิน“ยกกรณีโรงเรียนศรีแสงธรรม ไฟฟ้าไหลย้อนเข้าไปในมิเตอร์ ทำให้มิเตอร์ติดลบ ทางการไฟฟ้าตรวจพบก็โวยวาย ถอนมิเตอร์ออกไป นำมิเตอร์ใหม่มาติดให้ คิดค่ามิเตอร์ในราคาแพง คำถามคือหลังจากนั้นมันก็ไม่คุ้มที่จะผลิต ทีนี้ ที่โรงเรียนศรีแสงธรรมก็ผลิต แต่ติดตัวกันไฟไหลย้อน อุปกรณ์ชิ้นนี้ราคาเป็นแสน เมื่อไฟไม่ไหลย้อน ไฟฟ้าก็จะไม่ผลิตโดยอัตโนมัติ ไม่มีคนใช้ก็จะไม่ผลิต ที่ลงทุนไปสองสามแสนก็ไม่คุ้ม มันจึงไม่เกิดขึ้น นี่คือปัญหาบ้านเราที่ดำรงอยู่ตอนนี้”สายส่งไม่พอ?เป็นเหตุผลคลาสสิกของภาครัฐที่ทำให้ยังไม่เกิดการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ รูฟท็อปเสรีเดชรัตอธิบายว่า ถ้าพูดในกรณีสุดขั้วคือทุกบ้านติดโซลาร์ รูฟท็อป ทุกบ้านจะกลายเป็นโรงไฟฟ้า จึงต้องลงทุนเพิ่มเพื่อต่อไฟฟ้าจากทุกบ้านไปยังที่ใดที่หนึ่ง แต่...“แต่ประเด็นคือมันยังไกลจากสถานการณ์นี้มาก มันจะเป็นจริงกรณีโซล่าร์ ฟาร์ม เพราะไปตั้งอยู่ไกลก็ต้องมีสายส่ง แต่เขาไม่พูดเรื่องนี้เพราะต้องการผลักภาระสายส่งให้กับคนที่ทำโซล่าร์ ฟาร์ม จึงไม่ได้ยกข้อนี้ขึ้นมา หรือถ้ามีโซล่าร์ ฟาร์มอยู่ใกล้ๆ กัน สายส่งก็ต้องใหญ่ขึ้นอีก แบบนี้ต้องลงทุนเพิ่ม กรณีโซลาร์ รูฟท็อปยังไม่มีมากถึงขนาดนั้น ถ้าพูดในเชิงทฤษฎี ใช่ครับ เมื่อคุณติดโซล่าร์ เซลล์มากขึ้นถึงระดับหนึ่ง ก็มีความจำเป็นต้องปรับสายส่ง ทำนองกลับกัน เราก็ไม่ต้องไปเดินสายไฟแรงสูงมาจากเขื่อนเข้ามาในเมือง โดยสรุปคือมันเป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น แล้วพอมันจะเกิดขึ้นจริงๆ มันจะมีทั้งได้ทั้งเสีย”อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ระบว่า กรมพลังงาน ทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ได้หารือร่วมกับ กกพ. และภาคเอกชนเกี่ยวกับโครงการโซลาร์ รูฟท็อป ให้มีความเสรีมากขึ้น คาดว่าจะสรุปผลได้ภายใน 1 เดือนสรุปคือต้องรอต่อไปว่าการส่งเสริมการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานและการใช้พลังงานสะอาดที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะเกิดเป็นรูปธรรมได้จริงหรือไม่ ......ก่อนจบมีข้อสังเกตที่ชวนให้ขบคิดต่อจากเดชรัตว่า เมื่อการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มีข้อดีมากกว่าไม่ดี เหตุใดถึงล่าช้าและมีขั้นตอนวุ่นวายเพียงนี้“เมื่อพูดในลักษณะห่วงโซ่มูลค่า เวลาเราผลิตไฟฟ้า มูลค่าจะเกิดขึ้นจาก 3 ส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรกคือส่วนที่ขายเชื้อเพลิง ส่วนที่ 2 คือส่วนผลิตไฟฟ้า และส่วนที่ 3 คือส่วนที่ส่งไฟฟ้า ถ้าเราทำโซล่าร์ เซลล์ ห่วงโซ่มูลค่า 3 ส่วนนี้จะหายไปเลย เชื้อเพลิงไม่ต้องซื้อ ซื้อแต่โซล่าร์ เซลล์ ผู้ผลิตไฟฟ้าก็จะไม่ได้เงินจากการขายไฟฟ้า ส่วนการจัดส่งก็จะน้อยลงไปอีก เพราะไม่ต้องผ่านสายส่งเส้นใหญ่ ผ่านแต่เส้นย่อยๆ จึงไม่แปลกที่ผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่าเดิมไม่อยากให้เปลี่ยน”คำถาม-ผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่าเดิมที่ไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือใคร?

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 204 พ่อยุ่งลุงไม่ว่าง : แล้วใครจะปั้นวัวปั้นควายให้ลูกหลานเล่น?

จากอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน สังคมไทยได้มอบหมายภารกิจให้ครอบครัวกลายเป็นสถาบันหลักและสถาบันแรกที่ทำหน้าที่อบรมบ่มเพาะดูแลเด็กและเยาวชน ด้วยเหตุผลเบื้องต้นก็เป็นเพราะว่า ช่วงเวลาและพื้นที่ที่เด็กๆ ใช้ชีวิตอยู่ด้วยมากที่สุดก็หนีไม่พ้นในปริมณฑลของสถาบันครอบครัว เมื่อครอบครัวเป็นหน่วยที่ประกอบขึ้นด้วยพ่อแม่พี่น้อง ปู่ยาตายาย ลุงป้าน้าอา และเครือญาติอีกมากมาย สมาชิกที่ใกล้ชิดชีวิตของเยาวชนนี้เองที่ต้องมีภาระรับผิดชอบขับเคลื่อนชีวิตของเด็กๆ ให้เดินไปข้างหน้าตามที่สังคมคาดหวังไว้ แต่ทว่า คำถามจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสมาชิกผู้ใหญ่ในบ้านไม่สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวให้กับลูกๆ หลานๆ ได้แล้ว ผลต่อการเติบโตของเด็กตามความคาดหวังของสังคมจะเป็นเช่นไร ก็คงคล้ายๆ กับชีวิตของ “น้องกาโม่” ที่เกิดมาในครอบครัวที่ทั้ง “พ่อเองก็ยุ่ง” แถม “ลุงก็ยังไม่ว่างอีก” กาโม่จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าหากครอบครัวไม่อาจทำหน้าที่ที่สังคมคาดหวังได้แล้ว จะเกิดปัญหาอันใดบ้างกับเด็กๆ ที่จะเติบโตขึ้นเป็นอนาคตของชาติ ปัญหาของเด็กน้อยกาโม่เริ่มต้นเมื่อ “โต๊ด” และ “พาย” พ่อแม่วัยใสที่มีลูกตั้งแต่วัยเรียน แต่ไม่กล้าบอกกับทางบ้าน เพราะกลัวว่าตนจะถูกตัดออกจากกองมรดกของตระกูล จึงนำกาโม่มาฝากไว้ให้ “เต็ง” พระเอกของเรื่องผู้มีศักดิ์เป็นลุงคอยเลี้ยงดู และทั้งคู่ก็ตัดสินใจทิ้งลูกน้อยเพื่อไปเรียนต่อเมืองนอก ด้วยอาชีพการงานของเต็งที่เป็นโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ที่แทบจะไม่มีเวลาว่างเอาเสียเลย กอปรกับภาระใหม่ที่ต้องมาสวมบทบาท “คุณพ่อจำเป็น” แทนน้องชาย ลุงเต็งจึงไปติดต่อเนิร์สเซอรี และได้พบกับ “ชิดดาว” ซึ่งเขาไม่เพียงแต่จ้างให้เธอมาช่วยเลี้ยงดูกาโม่เท่านั้น แต่ชิดดาวยังกลายเป็น “รักแรกพบ” ที่เต็งสะดุดตกหลุมรักเมื่อแรกเจอ ความใกล้ชิดระหว่างเต็งกับชิดดาวค่อยๆ ก่อตัวเป็นความรักขึ้นมา ยิ่งเมื่อ “โต้” แฟนหนุ่มของชิดดาวเกิดนอกใจเลือกไปคบหากับ “ละออง” ผู้จัดการดารา เพื่อหวังใช้หล่อนเป็นทางลัดหรือสะพานไต่เต้าอยู่ในแวดวงบันเทิงด้วยแล้ว ชิดดาวจึงเลือกที่จะหันมาคบหาดูใจกับเต็งแบบเต็มตัว ลุงเต็งซึ่ง “ยุ่ง” อย่างมากกับหน้าที่การงาน ก็จึงยิ่งต้อง “ยุ่ง” กับภาระแห่งหัวใจเพิ่มขึ้นไปอีก แม้ว่าความรักระหว่างเต็งกับชิดดาวจะดำเนินไปได้ด้วยดีก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ซึ่งอุปสรรคขวากหนามใดๆ เลย เพราะละครได้ผูกเรื่องเอาไว้ตามสูตรตำราที่ว่า หากตัวละครเอกจะ “lucky in love” แล้ว พวกเธอและเขาก็ไม่ควรจะ “lucky in game” ได้ง่ายนัก ฉะนั้น ในฟากของเต็งเองนั้น โต้ก็คือตัวละคร “ศัตรูหัวใจ” ที่เข้ามาขัดขวางและคอยทำตัวเป็น “สุนัขหวงก้าง” ราวีทุกวิถีทางที่จะเขี่ยเต็งออกไปจากชีวิตของชิดดาว และกลั่นแกล้งเขาในหน้าที่การงานด้วยการถอดรายการโทรทัศน์ที่เต็งและเพื่อนๆ รับผิดชอบอยู่ ให้หลุดออกไปจากผังของสถานี เมื่อปัญหาการงานรุมเร้าเข้ามา เราจึงเห็นภาพฉากที่หลายๆ ครั้ง ลุงเต็งก็พกพาเอาความหงุดหงิดจากนอกชายคาเข้ามาระบายออกในพื้นที่ของบ้าน และดุว่าหลานน้อยกาโม่ ที่ดึงดื้อตามประสาเด็กด้วยอยากจะเรียกความสนใจจากคุณลุงนั่นเอง ในขณะที่ทางฟากของชิดดาวนั้น ปัญหาที่ต้องเผชิญหน้ากับคำข่มขู่ของละอองที่หึงหวงไม่อยากให้เธอเข้าไปพัวพันกับชีวิตของโต้ ทำให้ชิดดาวเลือกตัดสินใจทิ้งปัญหารุมเร้าและหลบเร้นตัวเองออกไปจากชีวิตของเต็งและกาโม่ แม้ว่าเต็งจะเคยพูดกับเธอในฐานะคนรักว่า “ผมทุ่มสุดตัว พุ่งชนปัญหามาขนาดนี้ ผมต้องการกำลังใจมากนะครับ...” ก็ตาม ด้วยเหตุที่ผู้ใหญ่ก็เอาแต่สนใจและเล็งเห็นแต่ปัญหาของตนว่าเป็นศูนย์กลางของปัญหาทั้งมวลในโลกนี้ ไม่เพียงแค่ “พ่อที่ยุ่ง” เพราะหายตัวไปกับแม่ตั้งแต่ต้นเรื่อง และ “ลุงที่ไม่ว่าง” เพราะสาละวนแต่จะแก้ปัญหาสารพันในที่ทำงาน แถมซ้ำด้วย “อาที่เอาแต่จะหนีปัญหา” แล้ว คำถามก็คือ ใครกันจะมาทำหน้าที่ “ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกหลานของเรากัน”? เพราะสถาบันครอบครัวไม่อาจทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ตัวละครหน้าใหม่อย่าง “ทอย” ที่เป็นเพื่อนร่วมงานและแอบหลงรักเต็ง ก็กลายมาเป็นตัวกลางใหม่ที่เข้ามาแทรกกลางความสัมพันธ์ระหว่างเต็งกับกาโม่ ในขณะที่ชิดดาวตัดสินใจตีจากเต็งเพื่อหนีปัญหาทั้งปวง ทอยก็ถือโอกาสเข้ามาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคนใหม่ดูแลกาโม่แทนชิดดาวเสียเลย แม้จะมีความรักใส่ใจเด็กน้อยกาโม่อยู่บ้าง แต่ลึกๆ แล้ว ทอยก็มี “ผลประโยชน์” ที่อยากจะช่วงชิงเป็นเจ้าของหัวใจของเต็งให้ได้ เด็กน้อยจึงมิใช่ “เป้าหมาย” ที่ทอยอยากจะทำหน้าที่ฟูมฟักดูแลจริงๆ หากแต่เป็นเพียง “เครื่องมือ” ที่ถูกใช้เพื่อบรรลุ “เป้าหมาย” อันเป็น “ผลประโยชน์แฝงเร้น” ของเธอเท่านั้น  ด้วยมิจฉาทิฐิที่มีอยู่ในจิตใจ ทอยก็เริ่มต้นเป่าหูให้กาโม่เป็นสะพานเชื่อมเธอเข้าไปอยู่ในหัวใจลุงเต็ง เสแสร้งเป็นแม่คนใหม่ที่คอยดูแลกาโม่ และที่สำคัญ เมื่อชิดดาวย้อนกลับมาคบหากับเต็งอีกครั้ง ทอยก็ยุแยงให้กาโม่เกลียดและทำตัวเป็นอุปสรรคขัดขวางความรักของคุณลุง  เมื่อเทียบกับบรรดาพ่อแม่ลุงป้าน้าอาหรือสมาชิกครอบครัวด้วยกัน ที่ผลประโยชน์หลักมักจะตั้งต้นที่ตัวของเด็ก ตัวละครแบบทอยก็คือตัวอย่างของคนนอกบ้านที่พร้อมจะเสี้ยมสอนและใช้เด็กเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์ของตนเสียมากกว่า  จนมาถึงตอนท้ายของเรื่อง ก่อนที่ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่จะลุกลามจนเกินเยียวยา บรรดาผู้ใหญ่ก็เริ่มหันมาทบทวนตัวเองและเข้าใจว่า บทบาททางสังคมในการดูแลบุตรหลานหาใช่การฝากฝังไว้ในมือของคนอื่น แต่เป็นภารกิจแรกๆ ที่ตนมิอาจเพิกเฉยไปได้  เริ่มจากโต๊ดและพายที่ตัดสินใจกลับมาจากเมืองนอก เพราะได้เข้าใจแล้วว่า พ่อแม่เป็นบุคคลแรกที่ต้องเลี้ยงดูเด็กน้อยโดยชอบธรรมที่สุด ในขณะที่เต็งก็เรียนรู้ว่า ภาระงานนอกบ้านก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องแลกมาด้วยความสุขความทุกข์ของหลานชายตัวน้อยได้เลย หรือแม้แต่ชิดดาวที่ตระหนักว่า การเอาแต่วิ่งหนีปัญหานั้น นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาใดๆ ได้แล้ว ยังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ลุกลามเป็นไฟไม่สิ้นไม่สุด “พ่อที่เลิกยุ่ง” กับ “ลุงที่เริ่มทำตัวว่างๆ” พร้อมกับ “อาผู้หญิงที่หันหน้ามาสู้กับปัญหา” ก็คือคำตอบแก่เราๆ ว่า อยู่บ้านของตนก็อย่ามัวนั่งนิ่งดูดายเสียเอง เพราะลูกหลานยังรอให้เราคอยอบรมดูแล หาไม่แล้วก็อาจมี “บ่างช่างยุ” จากนอกบ้าน ที่ย่างก้าวเข้ามา “ปั้นวัวปั้นควาย” ให้ลูกๆ หลานๆ เล่นแทนเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 204 เมื่อคิดลดน้ำหนักก็มีข้อต้องระวัง

การขายอาหารหรืออุปกรณ์ที่อุปโลกน์เองว่า ทำให้คนมีสุขภาพดีโดยดูจากการมีน้ำหนักตัวตามมาตรฐานนั้น เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั้งในแผ่นพับ ประกาศติดเสาไฟฟ้า โทรทัศน์ ตลอดถึงอินเทอร์เน็ต ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีวิธีอะไรที่ทำให้น้ำหนักลดได้ง่าย ส่วนใหญ่ที่ออกมาพูดกันนั้นอาจได้ผลเฉพาะกับตัวผู้พูดแต่ไม่ได้ผลกับคนอื่น ซึ่งมีความแตกต่างตั้งแต่พันธุกรรมไปจนถึงพฤติกรรมการบริโภคและเศรษฐานะ บทความเรื่อง 9 Myth About Weight Loss เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2017 ในวารสารออนไลน์ TIME Health บรรยายถึงความอึมครึม (Myth) เกี่ยวกับความเชื่อบางประการในการลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหารและอื่นๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จากหลายสถาบันได้พยายามหาคำอธิบาย ถึงที่มาของความเชื่อนั้นๆ ว่า จริงหรือไม่ ซึ่งผู้เขียนขอเลือกบางประเด็นที่น่าสนใจและอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ซึ่งกำลังพยายามลดน้ำหนักอยู่มาเล่าให้ฟังมนุษย์ส่วนใหญ่เมื่อเป็น สว. (สูงวัย) แล้วหลายท่านมักกล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะลดน้ำหนักตัว ซึ่งเมื่อไปคุยกับผู้ที่เคยพยายามลดน้ำหนักแล้วไม่สำเร็จ จะได้ยินคำสารภาพว่า การลดน้ำหนักนั้นเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ ทั้งกายและใจ ดั่งเข็นครกขึ้นภูเขา ทั้งที่ความจริงแล้วสามารถทำได้องค์กรไม่หวังผลกำไรชื่อ National Weight Control Registry ซึ่งก่อตั้งในปี 1994 ได้เริ่มติดตามคนอเมริกันที่สามารถลดน้ำหนักได้อย่างน้อย 30 ปอนด์และสามารถคงสภาพน้ำหนักหลังลดได้อย่างน้อย 1 ปี มีข้อค้นพบว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จของผู้ลงทะเบียนคือ การเปลี่ยนรูปแบบพฤติกรรมการบริโภค(ร้อยละ 98) และเริ่มออกกำลังกาย(ร้อยละ 94) โดยมีพฤติกรรมเสริมคือ การกินอาหารเช้าทุกวัน(ร้อยละ 78) ชั่งน้ำหนักตนเองอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง(ร้อยละ 75) และดูโทรทัศน์(คิดว่าคงหมายถึงรายการไร้สาระต่างๆ เช่น เกมโชว์ ละครน้ำเน่า ฯลฯ) น้อยกว่าอาทิตย์ละ 10 ชั่วโมง(ร้อยละ 62) โดยมีการออกกำลังกายอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวัน(ร้อยละ 90)หลายท่านอาจเคยเข้าใจว่า เพียงกินให้น้อยลงและออกกำลังกายเพิ่มขึ้นก็ลดน้ำหนักได้ แต่ National Weight Control Registry ได้พบว่า นอกเหนือไปจากการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภครวมถึงรูปแบบอาหารและเริ่มออกกำลังกายแล้ว ชนิดของอาหารที่แต่ละคนเลือกกิน นั้นเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งนักโภชนาการหลายคนก็ไม่เห็นด้วยกับคำแนะนำว่า ให้นับจำนวนแคลอรีที่กินทุกวัน เพราะการกระทำดังนั้นอาจไม่ก่อประโยชน์อย่างเต็มที่ในการลดน้ำหนัก เนื่องจากเป็นการมองข้ามระบบทางชีวภาพของร่างกายผู้พยายามลดน้ำหนักไป ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เพียงจำนวนพลังงานเท่านั้น ที่เป็นปัจจัยแห่งความอ้วน แต่กระบวนการนำพลังงานออกมาจากอาหารให้ร่างกายนั้น อาจเป็นประเด็นสำคัญในการเพิ่มหรือลดการสะสมไขมันในร่างกาย ตัวอย่างที่อธิบายความในเรื่องนี้คือ การกินอาหารพวกแป้งที่ผ่านกระบวนการเช่น ขนมปังแครกเกอร์ ข้าวเกรียบต่างๆ (ที่ชัดมากในบ้านเราคือ ข้าวเกรียบว่าว) น้ำอัดลม ขนมอบกรอบต่างๆ เหล่านี้เป็นอาหารที่ย่อยเร็วและกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนอินซูลินสูงกว่าการกินอาหารแป้งที่ย่อยช้า ซึ่งฝรั่งใช้คำว่า complex carbohydrates ดังนั้นจึงมีกลูโคสเข้าเซลล์เพื่อนำไปใช้ผลิตสารให้พลังงานอย่างรวดเร็วและเกินพอจนร่างกายรู้สึกอิ่มพลังงาน(ซึ่งแฝงอยู่ในรูป ATP หรือ adenosine triphosphate) จึงมีสารตัวกลาง (metabolic intermediate) คือ อะเซ็ตติลโคเอ็นซัมเอคั่งขึ้นมา ส่งผลให้มีการนำสารตัวกลางนี้ไปสร้างเป็นไขมัน ส่งผลให้เกิดการสะสมไขมันในร่างกาย ดังนั้นแม้ว่าการคำนึงถึงค่าแคลอรีนั้น เป็นเรื่องดีแต่ก็ควรเลือกอาหารชนิดที่ค่อยๆ ปล่อยแคลอรีออกมา เพื่อลดความเสี่ยงในการเปลี่ยนพลังงานไปเป็นไขมันคำอธิบายดังกล่าวนี้ดูจะเป็นเหตุผลที่อธิบายถึงความล้มเหลวของผู้ประสงค์จะลดน้ำหนักตัว แต่ไม่เข้าใจในวิธีการเลือกชนิดของอาหารกิน ดังนั้นนักโภชนาการในปัจจุบันจึงให้ความสนใจในเรื่องการเลือกกินอาหารที่มีค่า Glycemic Index (GI ซึ่งมีผู้เสนอคำภาษาไทยว่า ดัชนีน้ำตาล) ต่ำ ในการวัดค่า GI ของอาหารแป้งแต่ละชนิดนั้น ทำได้โดยการให้อาหาร ซึ่งคำนวณได้ว่าให้คาร์โบไฮเดรต 50 กรัม(ไม่รวมใยอาหาร) แก่อาสาสมัครที่อดอาหารมาก่อน 12 ชั่วโมง อย่างน้อย 10 คน แล้ววัดระดับน้ำตาลในเลือดทุก 15 ถึง 30 นาทีของช่วงเวลาสองชั่วโมง เพื่อสร้างกราฟการตอบสนองระหว่างเวลาที่ผ่านไปกับระดับน้ำตาลในเลือดที่เปลี่ยนแปลง จากนั้นจึงเปรียบเทียบกับผลที่อาสาสมัครกลุ่มเดิม(ซึ่งได้พักแล้วอดอาหาร 12 ชั่วโมงเช่นกัน) ได้รับน้ำตาลกลูโคสหรือขนมปังขาวซึ่งกำหนดให้มีค่า GI เท่ากับ 100 รายละเอียดการศึกษาดูได้จาก www.youtube.com/watch?v=nXyIaDgTBAk ซึ่งโดยปรกติแล้วกำหนดว่า ค่า GI นั้น มีค่าต่ำเมื่อตัวเลขน้อยกว่า 55 มีค่าปานกลางเมื่อเท่ากับ 56-69 และมีค่าสูงเมื่อเท่ากับหรือมากกว่า 70มีคำแนะนำสำหรับผู้สนใจลดน้ำหนักโดยการกินอาหารประเภทแป้ง(ที่ปรุงสุกแล้วและไม่ผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่มีการเติมน้ำตาล) ซึ่งมีค่า glycemic index ต่ำ เช่น ข้าวกล้อง มันเทศ เผือก ข้าวโพด ฯลฯ (สังเกตได้ง่ายว่าอาหารเหล่านี้กินแล้วจะอิ่มนาน) ผู้ที่สนใจในรายละเอียดเช่น International table of glycemic index นั้นสามารถดูได้จาก ajcn.nutrition.org/content/76/1/5.full.pdf และจากเว็บไทย ๆ คือ www.ezygodiet.com/ดัชนีน้ำตาลในอาหาร, www.honestdocs.co/table-of-glycemic-index-per-food-types เป็นต้น ผู้ห่วงใยสุขภาพตนเองอาจเข้าใจว่า จำเป็นต้องทำให้น้ำหนักตัวลดอย่างชัดเจนจึงจะระบุได้ว่าสุขภาพดีขึ้น ทั้งที่ความจริงแล้วมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งชื่อ Benefits of Modest Weight Loss in Improving Cardiovascular Risk Factors in Overweight and Obese Individuals With Type 2 Diabetes ตีพิมพ์ในวารสาร Diabetes Care (วารสารของสมาคม American Diabetes Association) ชุดที่ 34 หน้าที่ 1481–1486 ของปี 2011 ว่า การที่น้ำหนักลดลงแค่ร้อยละ 10 ของอาสาสมัครในการศึกษานั้นทำให้ความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน แถมด้วยการลดความเสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดหัวใจและเบาหวานประเภท 2 สำหรับความอึมครึมในประเด็นว่า อาหารที่ดีที่สุดสำหรับการลดน้ำหนักมีเพียงสูตรเดียวนั้น ในความจริงแล้วใครๆ ก็สามารถลดน้ำหนักอย่างได้ผลด้วยวิธีการที่ต่างกัน โดยร้อยละ 45 ของอาสาสมัครที่ลงทะเบียนกับ National Weight Control Registry กล่าวว่า ต่างก็ลดน้ำหนักด้วยสูตรอาหารของตนเอง ในขณะที่ร้อยละ 55 กล่าวว่า ได้พยายามลดน้ำหนักตามสูตรอาหารของโครงการที่มีผู้กำหนดไว้ให้ แต่สุดท้ายกลับจำต้องใช้อาหารหลายสูตรในการลดน้ำหนักที่ให้ผลระยะยาวตามรูปแบบชีวิตที่เหมาะสม  ในปี 2516 NIH (U.S. National Institute of Health ซึ่งเทียบได้กับกระทรวงสาธารณสุข) ได้ให้เงินทุนสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับโรคอ้วนประมาณ 931 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ได้ผลงานวิจัยที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่า เหตุใดการจำกัดอาหารจึงเป็นเรื่องที่ยากมากในการทำให้น้ำหนักที่ลดได้แล้วในช่วงเวลาหนึ่งคงดำเนินต่อไปได้ และที่ยากไปกว่านั้นคือ การหากระบวนการลดน้ำหนักเพียงหนึ่งกระบวนการที่ให้ได้ผลดีกับทุกคน เพื่อสร้างความหวังใหม่ให้แก่ชาวอเมริกันราว 155 ล้านคนที่มีน้ำหนักเกิน ตามที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC หรือ U.S. Centers for Disease Control and Prevention) สำรวจพบมีตัวอย่างงานวิจัยหนึ่งแสดงให้เห็นว่า บางโครงการลดน้ำหนักนั้นทำให้อาสาสมัครบางคนลดน้ำหนักตัวได้ถึง 60 ปอนด์และรักษาน้ำหนักตัวหลังลดอยู่ได้ถึง 2 ปี ในขณะเดียวกันนั้นอาสาสมัครบางคนที่อยู่ในโครงการเดียวกันมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 5 ปอนด์ ซึ่งสรุปได้ว่า อาหารที่เหมาะสมนั้นเป็นแบบตัวใครตัวมัน ต้องปรับปรุงเอาเองจนกว่าจะได้ผลในการลดน้ำหนัก สุดท้ายนี้ผู้อ่านที่กำลังพยายามลดน้ำหนักต้องไม่ท้อใจ ครั้งใดที่ลดแล้วไม่ได้ผล หรือได้ผลแต่มันกลับมาใหม่ ก็พึงหาทางปรับปรุงวิธีที่เหมาะสมแก่ตนเอง สักวันหนึ่งอาจประสบความสำเร็จ ดังที่ผู้เขียนได้ประสบกับตนเองแล้ว ในการพยายามทำน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ของดัชนีมวลกายต่ำกว่า 22.9

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 204 รู้เท่าทันกบฏผีบุญทางการแพทย์ (ตอนที่ 2)

เรื่องราวของหมอเทวดานั้น ไม่ได้มีเฉพาะในสังคมไทยเท่านั้น ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกล้วนมีปรากฏการณ์หมอเทวดาเกิดขึ้นทั่วไป  เราควรมีทัศนะต่อเรื่องนี้อย่างไร เราควรศึกษาทัศนะต่อเรื่องนี้ของประเทศต่างๆ เพื่อที่จะได้มองเห็นแนวทางในการจัดการเรื่องภูมิปัญญาดั้งเดิมในการดูแลสุขภาพที่ดีองค์การอนามัยโลกเห็นคุณค่าของการแพทย์ดั้งเดิมองค์การอนามัยโลกซึ่งเป็นองค์การด้านสุขภาพระหว่างประเทศ ได้ประกาศสนับสนุนการนำการแพทย์ดั้งเดิมเข้ามาในระบบสุขภาพของประเทศต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ  ด้วยการช่วยเหลือประเทศสมาชิกให้พัฒนานโยบายระดับชาติ จัดทำแนวเวชปฏิบัติ มาตรฐานสากล ระเบียบวิจัย และกระตุ้นให้มีการใช้การแพทย์ดั้งเดิมอย่างสมเหตุสมผล ฯลฯองค์การอนามัยโลกได้จัดทำยุทธศาสตร์การแพทย์ดั้งเดิมขององค์การอนามัยโลก พ.ศ. 2557-2566 โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ • ให้ใช้ประโยชน์จากศักยภาพของการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์เสริม เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ความอยู่ดีมีสุข บริการสุขภาพที่เน้นคนเป็นศูนย์กลาง และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า• ส่งเสริมการใช้การแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์เสริม อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิผล โดยอาศัยการควบคุมและกำกับดูแล การศึกษาวิจัย และการบูรณาการผลิตภัณฑ์ เวชปฏิบัติ และผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์เสริม เข้าในระบบสุขภาพอย่างเหมาะสมนี่เป็นทิศทางใหญ่ของโลกในการยอมรับคุณค่าของการแพทย์ดั้งเดิม และควรสนับสนุนให้เกิดการใช้การส่งเสริมการใช้ที่ดี ต้อง ได้ผลจริง ปลอดภัย เข้าถึงได้   การส่งเสริมการใช้การแพทย์ดั้งเดิมที่ดีนั้น ต้องคำนึงถึง ได้ผลจริง  ต้องเชื่อได้ว่าการรักษาด้วยวิธีการนั้นได้ประสิทธิผลจริง ไม่ใช่เชื่อแบบงมงาย ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เชื่อถือได้  ที่สำคัญต้องมีที่มาที่ไปของภูมิปัญญานั้น มาจากภูมิปัญญาดั้งเดิมจริงหรือไม่ต้องปลอดภัย  การรักษานั้นนอกจากได้ผลจริงแล้ว ต้องปลอดภัยต่อผู้ป่วยด้วย  หรือแม้จะยังไม่รู้ว่าได้ผลจริงหรือไม่ ก็ต้องมีความปลอดภัยเสียก่อน  ดังนั้น การรักษาที่ต้องกระทำต่อร่างกายและจิตใจผู้ป่วยจึงต้องพิจารณาประเด็นนี้การเข้าถึง  การรักษาที่ผูกขาด ปิดลับข้อมูล(การใช้ยา) และผู้ป่วยส่วนใหญ่หรือทั่วไป ไม่สามารถเข้าถึงหมอหรือการรักษาได้โดยสะดวก นั้นจะเป็นช่องทางให้เกิดจากหลอกลวง หาประโยชน์ และไม่เกิดประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่วิธีการรักษาที่ควรสนับสนุนการใช้อย่างสมเหตุสมผล  การใช้ภูมิปัญญานั้นๆ ต้องเหมาะสม ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ความเชื่อของชุมชน  ดังนั้น โดยหลักการขององค์การอนามัยโลกแล้ว เราต้องมีทัศนะที่ดี เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาการแพทย์ดั้งเดิม  เราต้องส่งเสริมการใช้การแพทย์ดั้งเดิมอย่างถูกต้อง ถูกทาง นั่นคือ ต้องพิสูจน์ว่าได้ผลในการรักษาจริง ต้องปลอดภัยต่อผู้ป่วย ผู้ป่วยทั่วไปสามารถเข้าถึงการรักษาได้ และต้องเกิดการใช้อย่างสมเหตุสมผลปรากฏการณ์ของหมอเทวดาที่เกิดในสังคมไทย และประเทศต่างๆ นั้น จึงต้องเปิดใจกว้าง เห็นว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนในการมีส่วนร่วมด้านสุขภาพนั้นเป็นเรื่องดี เป็นไปตามนโยบายสุขภาพดีถ้วนหน้าในขณะเดียวกัน ทั้งภาครัฐและประชาชน โดยเฉพาะหมอเทวดาต่างๆ นั้น ก็ต้องเปิดใจกว้างให้เกิดการตรวจสอบ ว่ามีเจตนาบริสุทธิ์หรือไม่ การรักษานั้น ได้ผล ปลอดภัย เข้าถึง และสมเหตุสมผลหรือไม่สุดท้าย ถ้าวิธีการรักษาใด วิธีการหนึ่ง ได้ผล ปลอดภัย ก็ควรเผยแพร่วิธีการนั้นให้เป็นสาธารณะเพื่อให้เกิดการพึ่งตนเองด้านสุขภาพของประชาชนต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 204 สิ่งที่สร้างแรงจูงใจในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ (ในเยอรมนี)

โดย : ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการการลงทุนติดตั้ง โซลาร์เซลล์แสงอาทิตย์ กลับมาเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน ของครอบครัวในเยอรมนี อีกครั้งเนื่องจาก  มีการติดตั้ง โซลาร์เซลล์ (solar roof top) เพิ่มขึ้นมากถึง 43,000 ครัวเรือน (เฉลี่ยแล้ว กำลังในการติดตั้งต่อครัวเรือนอยู่ที่ 10 กิโลวัตต์) เพิ่มมากขึ้นกว่า 35% เมื่อเปรียบเทียบกับกำลังการติดตั้งปี 2015 สาเหตุที่มีการติดตั้ง โซลาร์เซลล์ ในระดับครอบครัวเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากราคาแผงโซลาร์เซลล์ลดลงอย่างมาก ในขณะที่เงินสนับสนุนจากภาครัฐคงที่ ยิ่งทำให้การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เพิ่มความน่าสนใจเพิ่มขึ้นไปอีก จากการคำนวณต้นทุน รายได้ รายจ่าย จากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในระดับครัวเรือน ในเวลา 20 ปี ครัวเรือนที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ จะได้รับผลตอบแทนคืน 5 % ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินไว้ในธนาคารที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก(และอาจยังต้องจ่ายดอกเบี้ยสำหรับการฝากเงินอีกด้วย) และหากบริหารจัดการ การผลิตไฟฟ้า การใช้พลังงานในครอบครัวมีประสิทธิภาพ ผลตอบแทนอาจมากกว่า 10 %ต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์ รวมค่าติดตั้งอยู่ที่ 1,200- 1,500 ยูโร ต่อ กิโลวัตต์(ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ดังนั้นเงินลงทุนจากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ อยู่ระหว่าง 6,000- 7,500 ยูโร (240,000 – 300,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ถูกกว่าการซื้อรถยนต์ส่วนบุคคลเสียอีก) จากการประมาณการการใช้พลังงานของครอบครัวชาวเยอรมัน 1 ครอบครัว จำเป็นต้องใช้พลังงานโดยการติดแผงโซลาร์เซลล์ 5  กิโลวัตต์ ซึ่งสามารถให้กำลังการผลิตไฟฟ้าระหว่าง 4,300- 5,000 ยูนิต (กิโลวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี ซึ่งเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพียงพอสำหรับครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คน พลังงานส่วนที่ไม่ได้ใช้ สามารถขายเข้าสู่สายส่งได้ ในราคา 4-5 บาท ต่อยูนิต ในขณะที่ค่าไฟ จะแพงกว่าประมาณเท่าหนึ่ง คือ 8- 10 บาท ต่อยูนิต ดังนั้นการสร้างแรงจูงใจจากโซลาร์เซลล์จากครัวเรือน คือ การใช้ไฟฟ้าจากที่ครัวเรือนสามารถผลิตได้เอง แต่อย่าลืมว่า พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มีข้อจำกัด คือ ตอนกลางคืนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ดังนั้นการมีแบตเตอรี สำหรับเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้ในยามขาดแคลน จึงเป็นเรื่องจำเป็น หากไม่มีแบตเตอรี จะสามารถใช้พลังงานที่ผลิตได้เองเพียง 15- 30% แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมองถึงความคุ้มค่าในการลงทุนระยะยาว ก็ยังถือว่าคุ้มค่าอยู่ดี**ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเยอรมนี (The Federation of German Consumer Organisations: VZBV)จากกราฟที่แสดง เปรียบเทียบผลตอบแทน ต่อปี กราฟด้านบน ที่ติดแผงโซลาร์เซลล์ แบบไม่มีแบตเตอรี เส้นกราฟจะสูงขึ้น ผลตอบแทนมากขึ้น ตามปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้เอง ถ้าสามารถใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้เอง 40 % และหากอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 4 % ผลตอบแทนจากการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จะขยับสูงขึ้นสูงถึง 10 % (เส้นสีเขียว) ในกรณีที่ค่าไฟฟ้าไม่เพิ่มขึ้น ผลตอบแทนจากการใช้ไฟที่ผลิตได้เองจะได้ผลตอบแทนเพียง 7 % (เส้นสีฟ้า)สำหรับกราฟด้านล่างคือ การแสดงผลค่าตอบแทน การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่มีแบตเตอรี ซึ่งจะมีต้นทุนที่สูงกว่าแบบไม่มีแบตเตอรี เส้นกราฟจะสูงขึ้น ผลตอบแทนมากขึ้น ตามปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้เอง ถ้าสามารถใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้เอง 80 % และอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 4 % ผลตอบแทนจากการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จะเหลือเพียงแค่ 6 % (เส้นสีเขียว) ในกรณีที่ค่าไฟฟ้าไม่เพิ่มขึ้น ผลตอบแทนจากการใช้ไฟที่ผลิตได้เองจะได้ผลตอบแทนเพียง 1 % (เส้นสีฟ้า)ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่นโยบายด้านพลังงานทางเลือก ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในเยอรมนี จึงเกิดขึ้นได้ ดำเนินการได้โดยประชาชนเป็นผู้ร่วมเล่น และให้การสนับสนุน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ เทคโนแครต และผู้นำทางการเมืองเขาไม่ได้มีมิจฉาทิฐิเหมือนกับเทคโนแครตที่ผูกขาดความรู้ ผูกขาดอำนาจ และผูกขาดทุน เหมือนอย่างในบ้านเราครับที่มา วารสาร Test ฉบับที่ 12/2017

อ่านเพิ่มเติม >