ฉบับที่ 153 มะเร็ง บัตรทองและการส่งต่อผู้ป่วย

มะเร็งเป็นโรคร้ายที่มีคนไทยป่วยเป็นจำนวนมากและคาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คุณวิภาก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ต้องเผชิญหน้ากับโรคร้ายแรงนี้และคาดหวังถึงการรักษาที่จะช่วยให้เธอผ่านพ้นความเจ็บป่วยนี้ไปได้คุณวิภามีสิทธิในบัตรทองหรือสิทธิการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ยามเจ็บไข้เธอมักจะไปใช้บริการการแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเสมอ โดยจ่ายเงินเองไม่พึ่งระบบหลักประกัน แต่ในการตรวจรักษาครั้งล่าสุดจากอาการเลือดออกทางช่องคลอด แพทย์วินิจฉัยว่าเธอเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 3 ซึ่งการรักษาพยาบาลต้องทำอย่างต่อเนื่องและมีค่าใช้จ่ายสูง แพทย์จึงแนะนำให้เธอติดต่อกับสถานพยาบาลต้นสังกัดที่เธอมีสิทธิในระบบหลักประกันเพื่อลดภาระในเรื่องค่ารักษาพยาบาลปัญหาแรกคือ เธอไม่แน่ใจว่าเธอมีสิทธิบัตรทองที่สถานพยาบาลไหน ปัญหานี้แก้ไม่ยากเพราะเพียงตรวจสอบจากฐานข้อมูล ก็พบว่าเป็นสถานพยาบาลใดปัญหาที่สองคือ เมื่อสามีพาเธอไปติดต่อเพื่อขอรับการรักษาสถานพยาบาลดังกล่าว ทั้งสองพบว่าสถานพยาบาลแห่งนี้ไม่มีศักยภาพพอในการรักษาโรคร้ายของเธอ จึงร้องขอให้ทางสถานพยาบาลทำเรื่องส่งต่อ โดยประสงค์ให้ส่งต่อไปรักษาตัวที่ รพ.รามาธิบดี ซึ่งคุณวิภาคุ้นเคยและมีประวัติการตรวจวินิจฉัยโรคพร้อมอยู่แล้ว แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยบอกเพียงว่าจะทำเรื่องส่งตัวผู้ป่วยให้ไปรักษาที่สถาบันมะเร็งเท่านั้น ถ้าจะรักษาที่รามาธิบดีผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง สามีของคุณวิภาจึงโทรศัพท์มาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และขอให้ช่วยเหลือให้ทางสถานพยาบาลต้นสังกัดทำเรื่องให้ภรรยาได้เข้ารับการรักษาที่ รพ.รามาธิบดี การแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคได้ประสานไปยังสถานพยาบาลที่คุณวิภามีสิทธิบัตรทองอยู่ ทราบข้อมูลตรงกับที่สามีคุณวิภาร้องเรียนมา แต่ทางสถานพยาบาลแห่งนี้แจ้งว่า ไม่สามารถทำตามประสงค์ของผู้ร้องได้เนื่องจาก รพ.รามาธิบดีไม่ได้เป็นโรงพยาบาลในเครือข่าย หากเกินกว่าความสามารถในการรักษาทั้งระดับสถานพยาบาลปฐมภูมิและทุติยภูมิ จะส่งต่อไปที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งเป็นสถานพยาบาลในเครือข่ายเท่านั้น   หากผู้ป่วยยังยืนยันจะรักษาพยาบาลที่ รพ.รามาธิบดี ก็ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง โดยไปทำเรื่องตามขั้นตอนการย้ายสิทธิกับทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)เรื่องการส่งตัวนี้เป็นหนึ่งในปัญหาที่ทาง สปสช.ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดปัญหาหนึ่ง ซึ่งยังคงต้องมีการสื่อสารให้ผู้มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้าใจในระบบของบัตรทองหรือระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะมีลำดับขั้นของการดูแลรักษา คือถ้าสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิหรือคลินิกใกล้บ้านใกล้ใจ ไม่สามารถรักษาได้ จะส่งต่อการรักษาไปที่โรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ ซึ่งมีอุปกรณ์ที่รักษาผู้ป่วยได้ หากยังรักษาไม่ได้อีกจึงจะส่งต่อไปรักษาในสถานพยาบาลที่มีศักยภาพสูงสุด ซึ่งอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน โดย สปสช.จะติดตามดูแลค่ารักษาของผู้ป่วยไปตามสถานพยาบาลที่ผู้ป่วยถูกส่งตัวไปรักษาเมื่ออธิบายให้ทั้งคุณวิภาและสามีเข้าใจ ทั้งสองก็ยินดีให้ทางสถานพยาบาลทำเรื่องส่งตัวคุณวิภาไปรักษาที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ แต่สามีคุณวิภาก็แอบกังวลว่า ภรรยาอาจต้องรอคิวการรักษานานแล้วจะทำให้อาการของภรรยาทรุดหนักลง ซึ่งปัญหานี้ทางสถานพยาบาลตามสิทธิของคุณวิภาได้ช่วยประสานกับทางสถาบันมะเร็งฯ เป็นที่เรียบร้อย และเร่งทำใบส่งตัวให้อย่างเร็วที่สุด ปัจจุบันคุณวิภาได้เข้ารับการรักษา ณ สถาบันมะเร็งแห่งชาติแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 จัดฉากไปทำไม??

1  กันยายน  2556   วันที่ผู้บริโภคไทยต้องจดจำเป็นพิเศษ   เพราะเป็นวันของแพงแห่งชาติ  บรรดาสินค้าที่มีความสำคัญในชีวิตประจำวันตั้งแต่  แก๊ส   ค่าไฟฟ้า  ค่าทางด่วน  นัดกันขึ้นราคาพร้อมๆ กัน จนผู้บริโภคอย่างเรามึนไปตามๆ กัน  และยิ่งมึนไปกว่านั้นคือ ประโยคเด็ด ของท่านปลักกระทรวงพาณิชย์ ที่ว่า  “ของไม่ได้แพงจริง  ที่คิดว่าของแพง มันเป็นแค่ความรู้สึก”  เล่นเอาผู้ฟังอย่างเราๆ สะอึกจนพูดไม่ออกเอ้า..กลับมาเข้าเรื่องกันหน่อย  เรื่องนี้ยังผูกติดอยู่กับ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ที่เขียนย้ำบ่อยๆ เกี่ยวกับกกพ. เพียงต้องการให้ผู้บริโภคทราบว่า  กกพ.นี่แหละ เป็นคนชี้เป็นชี้ตาย  เรื่องการขึ้นราคาไฟฟ้าในประเทศเรา  คราวที่แล้วเขียนเรื่องไฟดับ 14  จังหวัด  ส่งข้อเสนอไป  เงียบ...ไม่มีคำตอบ  (อยู่ระหว่างทวงถาม) คราวนี้มาใหม่ วันที่ 23  สิงหาคม 2556  มีข้อมูลผ่านสื่อว่า กกพ. มีมติขึ้นค่าไฟฟ้า อัตโนมัติ(FT)  สำหรับเดือนกันยายน – ธันวาคม 2556 อีก 7.2  สต.ต่อหน่วย  ผู้เขียนในฐานะคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต  ได้ท้วงติงการตัดสินใจของกกพ. ที่ไม่ผ่านการรับฟังความคิดเห็น  จากนั้นก็ได้รับข้อมูลจากฝ่ายคุ้มครองสิทธิฯ(กกพ) ให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกับการขึ้นราคาค่า FTโดยเปิดให้แสดงความคิดเห็นจนถึงวันที่ 30  สิงหาคม  2556   ผู้เขียนจึงนำเรื่องนี้เข้า ที่ประชุมเพื่อให้คณะกรรมการร่วมกันที่ประชุมได้พิจารณาข้อมูลที่ กกพ. เสนอมา และมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง  และได้มีมติเป็นเอกฉันท์  “ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าFT ” ที่กกพ. มีมติ เห็นชอบตามข้อเสนอของ กฟผ. ฝ่ายเดียว      ผลสรุปมีข้อเสนอส่งไปถึงกกพ. ดังนี้1. กกพ.  เป็นองค์กรกำกับ  ไม่ควรที่จะด่วนตัดสินใจขึ้นค่า FT   โดยพิจารณาเพียงข้อมูลที่ กฟผ. เสนอมาเพียงฝ่ายเดียว  เพราะขาดความรอบคอบ เกี่ยวกับการตัดสินใจที่ ส่งผลต่อผู้ใช้พลังงานทั้งประเทศ      2. กกพ.    ควรจัดให้มีมีกระบวนการ ศึกษาข้อมูล ต้นทุนการผลิตไฟฟ้า  เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลจาก กฟผ.  เพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้านในการตัดสินใจ ให้เกิดความเป็นธรรม  ทั้งกับผู้ประกอบการ และผู้ใช้พลังงาน3. กกพ.ควรดำเนินการพัฒนาสูตรคำควณการขึ้นค่าไฟฟ้า อัตโนมัติ(ค่าFT)ขึ้นใหม่      โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย  เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำสูตรคำนวณการขึ้นค่าไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (FT) ให้เป็นที่ยอมรับ และมีความเป็นธรรมมากขึ้นเมื่อได้ข้อเสนอแล้วก็ส่งไปให้กกพ. ภายในวันที่กำหนดคือ 30 สิงหาคม 2556  ซึ่งเป็นวันศุกร์  เจ้าหน้าที่ตอบรับเรียบร้อย  วันที่ 31 เป็นวันเสาร์  วันที่ 1 กันยายน 2556 วันอาทิตย์  ค่า FT ขึ้นทันที  คำถามคือ เขารับฟังความคิดเห็นทำไม?  รับฟังแล้วนำข้อเสนอไปพิจารณาตอนไหน?  คำถามนี้คงยังไม่มีคำตอบ  แต่คงเป็นภาระที่พวกเราต้องค้นหาคำตอบร่วมกัน  ว่าองค์กรกำกับที่ปฏิบัติหน้าที่เช่นนี้พวกเราจะจัดการกับพวกเขาอย่างไร ?  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 สมาร์ทโฟนแค่เดือนเดียวเจ๊งต้องขอเปลี่ยนคืน

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 เวลาประมาณ 6 โมงเย็นที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ภูษิตเข้าไปซื้อสมาร์ทโฟน Sony Xperia SZ(LT26i) ในราคา 15,990 บาทจากบริษัท ทีจี เซลลูล่าร์เวิลด์ จำกัด สาขาที่ 108หลังจากใช้งานได้ประมาณ 1 เดือน มือถือเริ่มมีอาการค้างบูทเอง และเปิดเครื่องไม่ได้ในท้ายที่สุด“วันที่ 15 ตุลาคม 2555 ผมเอาเครื่องไปส่งซ่อมที่ศูนย์โซนี สาขามาบุญครอง ช่างบอกว่าต้องลงโปรแกรมใหม่ ใช้เวลา 2 ชั่วโมงมารับเครื่องได้ หลังจากรับเครื่องไปใช้ได้เพียงหนึ่งวัน เครื่องก็มีอาการเดิมครับ”“วันที่ 17 ตุลาคม 2555 ผมนำเครื่องกลับไปที่ศูนย์มาบุญครองอีก ช่างแจ้งว่าต้องนำไปที่ศูนย์ทองหล่อ ซอย 9 เพื่อตรวจสอบ เพราะอาจเสียที่ฮาร์ดแวร์และเป็นศูนย์ใหญ่แน่นอนกว่า”“ในวันเดียวกันผมจึงเดินทางไปที่ศูนย์ทองหล่อซอย 9 ช่างยืนยันจะลงโปรแกรมให้เหมือนเดิม อ้างว่าศูนย์มาบุญครองอาจลงไม่ครบ”“หลังจากที่ผมรอ 2 ชั่วโมงกลับมารับเครื่อง ระหว่างตรวจสอบก่อนรับเครื่องคืน เครื่องก็มีอาการดับเอง บูทเครื่องเองอีก ต้องใช้เวลานานมากเพื่อให้ช่างรับเครื่องไว้ เพื่อให้ตรวจสอบฮาร์ดแวร์”“ช่างพยายามบอกให้ผมนำเครื่องกลับไปใช้ก่อน แต่ผมไม่มีความมั่นใจอีกแล้ว สุดท้ายเจ้าหน้าที่จึงรับปากจะตรวจสอบฮาร์ดแวร์ให้อย่างละเอียด บอกว่าใช้เวลา 3 วัน” วันที่ 19 ตุลาคม 2555 ครบกำหนดสามวันภูษิตกลับไปรับเครื่อง เมื่อเปิดเครื่องตรวจสอบเครื่องก็ดับต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของศูนย์โซนีเลย“ผมไปรับเครื่องตั้งแต่บ่ายสามโมงเย็น คุยจนศูนย์ปิดห้าโมงเย็น ถามเจ้าหน้าที่ว่าเครื่องมีปัญหาชัดเจนแบบนี้ทำไมไม่ทำอะไรให้ ช่างจึงรับปากว่าจะเปลี่ยนเมนบอร์ดให้ แต่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 อาทิตย์”“ผมไม่มีความมั่นใจในบริการอีกแล้ว เครื่องไม่สามารถใช้ได้ต้องรอนาน ศูนย์ไม่ใส่ใจในการแก้ปัญหา ผมเขียนอีเมล์ถึงบริษัทโซนี เพื่อขอให้รับซื้อสินค้าคืน และขอร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยติดตามเรื่องด้วยครับ” แนวทางแก้ไขปัญหาโดยทั่วไป ผู้ประกอบธุรกิจมักจะมีระยะเวลารับประกันสินค้าหากเกิดความชำรุดบกพร่องอันเนื่องจากสภาพตัวเครื่องหรือการใช้งานตามปกติ และมักจะใช้วิธีการซ่อมแล้วซ่อมอีกซ่อมไปเรื่อยๆ จนหมดระยะเวลารับประกัน หลังจากนั้นก็โบกมือบ๊ายบายแต่เดี๋ยวนี้มือถือนี่เหมือนรถยนต์ ราคาไม่ใช่ถูก จึงเป็นสินค้าที่เอามาขายต่อได้ ซื้อมาใช้ อยากเปลี่ยนใหม่ก็ขายต่อได้ แต่ถ้าต้องเจอแบบซื้อมาแป๊บเครื่องซ่อมแล้วซ่อมอีก ซ่อมก็ไม่หายจะเอาไปขายต่อใครก็ไม่ได้ เพราะเครื่องยังเจ๊งอยู่ซ่อมไม่หาย ใช้งานไม่ได้ ขายไม่ได้ ดังนั้นผู้ขายผู้ผลิตจึงต้องรับผิดชอบที่เกิดขึ้นซ่อมได้ หายก็จบ ซ่อมไม่ได้ก็ต้องคืนสินค้าและเรียกร้องค่าใช้จ่ายทั้งหมดคืนหลังจากที่ภูษิตส่งอีเมล์ถึงโซนี และได้แสดงอาการเสียและความล้มเหลวในการซ่อมให้เห็นอย่างแจ่มแจ้ง และได้แสดงความประสงค์อย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการเปลี่ยนสินค้าตัวใหม่เพราะขาดความมั่นใจในคุณภาพของสินค้า ท้ายที่สุดโซนีจึงให้บริษัททีจี เซลลูล่าร์เวิลด์ จำกัด ผู้จำหน่ายสินค้า ชำระเงินคืนทั้งหมดจำนวน 15,990 บาทคืนแก่ภูษิตจนเป็นที่เรียบร้อย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 หม้อมิเตอร์หมุนปรื๊ด ทำค่าไฟกระโดดกบ

 เมื่อเดือนธันวาคม 2555 อรรถนนท์ ได้เช่าบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านนันทนาการ์เดนท์ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เป็นที่พักอาศัยตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 เรื่อยมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2556 สามเดือนแรกของการเข้าพักอาศัยหม้อมิเตอร์ไฟฟ้าหมุนดีไม่มีปัญหา มีการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยในบ้านหลังนี้ประมาณ 285 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟตกเดือนละประมาณ 1,200 บาท จนเมื่อวันที่ 15 เมษายน  อรรถนนท์เดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด และกลับมาที่บ้านเช่าอีกทีในวันที่ 3 พฤษภาคม พบใบแจ้งค่าไฟฟ้าที่ส่งมาถึงบ้านก็ตกใจค่าไฟฟ้าในช่วงรอบเดือนล่าสุดระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน 2556 ปรากฏว่าบิลค่าไฟฟ้าแจ้งว่ามีหน่วยการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 2,032 หน่วย คิดเป็นค่าไฟ 9,488.61 บาท “เหยียบหมื่น...”อรรถนนท์เห็นว่า เป็นค่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่ผิดปกติเป็นอย่างมาก จึงรีบแจ้งไปที่การไฟฟ้าบางพลีเพื่อให้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ ทางการไฟฟ้าส่งคนมาตรวจสอบแล้วแจ้งกลับมาว่า ไม่มีปัญหาอะไรทุกอย่างปกติการไฟฟ้าบอกหม้อมิเตอร์ไฟฟ้าปกติ และให้ลูกค้าจ่ายเงินซะดีๆ แต่สำหรับอรรถนนท์เขาเห็นว่า ค่าไฟรอบนี้ไม่ปกติแน่นอน จากที่เคยใช้แค่ 200-300 หน่วยแล้วอยู่ดีๆ หม้อมิเตอร์กลับหมุนปรื๊ดทำเอายอดหน่วยค่าไฟขึ้นไปถึง 2,000 หน่วยภายในเดือนเดียว“ผมขอยืนยัน บ้านผมใช้ไฟฟ้ากันอย่างประหยัดมากๆ เปิดไฟเท่าที่จำเป็นจริงๆ ครับ” แนวทางแก้ไขปัญหาสำหรับใครที่เจอปัญหาแบบนี้ สิ่งแรกที่ควรทำคือการวิ่งไปดูเลขหน่วยค่าไฟฟ้าที่หม้อมิเตอร์ที่เสาไฟฟ้าหน้าบ้านทันที ว่าใช่หรือใกล้เคียงกับเลขหน่วยในบิลค่าไฟฟ้าหรือไม่ หากใช่หรือใกล้เคียง ก็ต้องมาตรวจดูต่อไปว่ามีการใช้ไฟฟ้าในบ้านเพิ่มขึ้นหรือไม่ มีเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากไม่ก็ต้องมาตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าย้อนหลังดูล่ะ เพราะเรากำลังตั้งสมมติฐานว่า หม้อมิเตอร์ไฟฟ้ามันเพี้ยน ดังนั้น บิลค่าไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับหลักฐานฝั่งผู้บริโภคว่าเรามีสถิติการใช้ไฟฟ้าในระดับไหน หากมีการเก็บบิลค่าไฟฟ้าไว้อย่างน้อย 2 ปีก็จะเป็นการดีอย่างยิ่ง เพราะจะได้เทียบไปถึงช่วงเดือนเดียวกันในปีก่อนได้ แต่ไม่ค่อยมีใครทำกัน...!ดังนั้น เมื่อพบความผิดปกติของค่าไฟฟ้าเกิดขึ้นในรอบเดือนใดและตัวเองก็ไม่มีหลักฐานอะไรไปยืนยัน ก็ให้ผู้บริโภคทำหนังสือทักท้วงและขอให้การไฟฟ้าแสดงปริมาณการใช้ฟ้าย้อนหลังอย่างน้อย 1 ปี เช่น เมื่อพบว่ามีค่าไฟฟ้าผิดปกติในช่วงเดือนเมษายน 2555 ก็ควรขอให้การไฟฟ้าแสดงยอดการใช้ไฟฟ้าย้อนหลังไปถึงเดือนเมษายน 2554 เพื่อจะได้เห็นทิศทางแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ในช่วงเวลาและฤดูกาลเดียวกัน ซึ่งขณะที่มีการทักท้วงและยังหาข้อยุติไม่ได้นั้น ผู้บริโภคปฏิเสธการจ่ายค่าไฟฟ้าในรอบเดือนที่มีปัญหาได้โดยที่การไฟฟ้าจะมาตัดไฟฟ้าไม่ได้ จนกว่าการไฟฟ้าจะสามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ว่าผู้บริโภคได้ใช้ไฟฟ้าจริงเป็นไปตามบิลที่แจ้งกรณีนี้เมื่อตรวจสอบแล้วตั้งแต่ช่วงที่ผู้บริโภคเข้ามาพักอยู่อาศัยในบ้านเช่า พบว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าสูงผิดปกติเป็นอย่างมากในรอบเดือนสุดท้ายอย่างเห็นได้ชัดถึง 10 เท่าตัว เราจึงแนะนำให้ผู้บริโภคยื่นเรื่องทักท้วงต่อการไฟฟ้าทันที ท้ายที่สุดเมื่อตรวจสอบแล้ว การไฟฟ้าบางพลีจึงงดเก็บค่าไฟฟ้าจำนวน 9,488.61 บาททั้งหมด และได้ดำเนินการเปลี่ยนมิเตอร์ที่แสดงค่าการใช้ไฟฟ้าผิดเพี้ยนเป็นมิเตอร์ใหม่ทันทีนับเป็นข้อดีประการหนึ่งของการจ่ายค่าไฟฟ้าแบบเงินสด เพราะหากจ่ายแบบหักบัญชีธนาคารหรือบัตรเครดิต ฝั่งผู้บริโภคอาจมีความยุ่งยากกว่านี้ เพราะเป็นเรื่องของการติดตามทวงถามเงินคืนจากค่าไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้จริง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 เครื่องซักผ้านำเข้า...ซักผ้านวมแล้วเอ๋อ

เมื่อปลายปี 2553 ในงานแสดงสินค้าที่เมืองทองธานี ประสารได้ซื้อเครื่องซักผ้านำเข้าจากนิวซีแลนด์ ยี่ห้อ Fisher & Paykal บริษัท ทิมแลง 2000 จำกัดเป็นตัวแทนจำหน่าย เครื่องซักผ้าที่ซื้อเป็นระบบฝาบน ขนาดความจุประมาณ 10 กิโลกรัม ราคา 25,000 บาท เหตุผลสำคัญที่ซื้อเพราะตัวแทนขายสินค้ายืนยันว่า เครื่องซักผ้ารุ่นนี้สามารถซักผ้านวมขนาด 6 ฟุตได้แน่นอนตอนที่ซื้อเครื่องซักผ้า ประสารเพิ่งปลูกบ้านหลังใหม่ยังสร้างไม่เสร็จ จึงฝากเครื่องไว้กับตัวแทนขายก่อน และได้รับเครื่องซักผ้าจริงๆ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2554พอได้เครื่องซักผ้ามาก็ฉลองใช้งานเลย เสื้อ-กางเกงผ้าชิ้นไม่ใหญ่น้ำหนักไม่มาก ซักได้ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอเอาผ้าห่มนวมขนาด 6 ฟุตมาซักปรากฏว่าเกิดปัญหาทุกครั้ง“เครื่องจะมีอาการหยุดทำงานระหว่างที่การซักยังไม่จบ หน้าจอเครื่องร้องว่าเครื่องขัดข้อง พร้อมกับมีน้ำค้างที่ก้นถังซัก ปั่นออกไม่หมด และไม่สามารถดำเนินการซักต่อได้”วิธีการแก้ไขของประสารคือ ต้องเอาผ้าห่มออกและถอดปลั๊ก ปิดเครื่องแล้วเปิดใหม่ พร้อมกับกดโปรแกรมให้ปั่นน้ำออก เครื่องก็จะกลับมาทำงานได้ใหม่ และซักผ้าอื่นๆ ต่อไปได้ แต่หากเอาผ้าห่มนวม 6 ฟุตกลับมาซักอีกก็จะเกิดปัญหาแบบเดิมซ้ำๆ ทุกครั้ง บางครั้งเกิดหลังซักผ้าห่มนวม 1-2 ผืน บางครั้งซักผ้าห่มนวมผืนแรกก็เกิดปัญหาที่ว่าแล้ว และประสารต้องใช้วิธีแก้ไขแบบเดิมๆ ทุกครั้งเขาตั้งข้อสงสัยว่า เครื่องซักผ้าที่ซื้อมา น่าจะซักผ้าห่มนวมขนาด 6 ฟุตไม่ได้จริงตามที่โฆษณาก่อนที่จะนำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ประสารติดต่อไปที่บริษัทจัดจำหน่ายคือบริษัททิมแสง 2000 ให้มาตรวจสอบแก้ไข บริษัทแสดงความรับผิดชอบด้วยการส่งช่างเข้ามาซ่อมหลายครั้งในช่วงเวลาราว 1 ปี ตั้งแต่ที่รับเครื่องมาเมื่อต้นปี 2554 จนถึงปี 2555 การซ่อมของช่างจากบริษัททุกครั้งก็ทำและได้ผลชั่วคราวเหมือนกับที่ประสารจัดการแก้ปัญหาเอง “คือเครื่องซักผ้ากลับมาใช้งานได้ชั่วคราว ก่อนจะเกิดปัญหาเดิมอีกครั้งเมื่อซักผ้าห่มนวม 6 ฟุตอีก”สำหรับสาเหตุอาการเสียของเครื่องซักผ้าก็มีความแตกต่างกันไปในการซ่อมแต่ละครั้ง เช่น ยกท่อน้ำทิ้งสูงเกินไป เครื่องชื้นจากโดนละอองน้ำฝน หรือเครื่องชื้นจากการอยู่ในห้องปิดระบายน้ำไม่ดี เครื่องวางบนพื้นเอียง อุปกรณ์บางชิ้นเสื่อม ซึ่งเปลี่ยนแล้วก็ไม่หาย“ผมได้ร้องเรียนที่บริษัทหลายครั้งในช่วงปี 2555 เป็นต้นมา ด้วยความเชื่อว่าเครื่องซักผ้ารุ่นนี้อาจไม่สามารถซักผ้านวมขนาด 6 ฟุตได้จริงตามที่โฆษณา สุดท้ายทางผู้จัดการบริษัทแจ้งผมว่า ถ้าเครื่องมีปัญหาอีกให้รีบโทรบอก อย่าเพิ่งถอดปลั๊ก ให้ปล่อยเครื่องร้องข้ามวันข้ามคืนไปก่อนเพื่อให้การบันทึกการเสียโดยอัตโนมัติยังอยู่ที่เครื่องซักผ้า จะรีบนำเครื่องเข้ามาตรวจจับให้เพื่อจะได้ทราบสาเหตุเสียที่แน่นอนและแก้ไขได้ถูกต้อง และจะยอมคืนเงินพร้อมรับเครื่องคืน ถ้ามีหลักฐานชัดเจนแจ้งไปที่บริษัทผู้ผลิตที่นิวซีแลนด์ว่าเครื่องใช้ไม่ได้จริงๆ” ข้อเสนอของผู้จัดการบริษัทนี้มีขึ้นในช่วงปลายปี 2555หลังจากนั้นเครื่องซักผ้ายังคงทำงานตามปกติ คือรับซักเฉพาะเสื้อและกางแกง แต่ไม่รับซักผ้านวมเจอผ้านวม 6 ฟุตลงเครื่องเมื่อไหร่เป็นต้องหยุดปั่นผ้าทุกครั้ง แต่ประสารก็ไม่สามารถเปิดเครื่องให้ร้องข้ามวันข้ามคืนไว้ให้ทางบริษัทเข้ามาตรวจได้ตามที่บอก เพราะกว่าบริษัทจะเข้ามาได้ก็ต้องนัดนานเป็นสัปดาห์ ก็ต้องทนใช้วิธีการแก้ปัญหาชั่วคราวแบบเดิมไปพลางๆ“จนถึงต้นปี 2556 เมื่อเกิดปัญหาแบบเดิมอีก ผมได้แจ้งบริษัทให้ส่งช่างมาดู พร้อมกับบอกว่าจะยอมเปิดเครื่องให้ร้องทิ้งไว้ข้ามสัปดาห์ ทางบริษัทแจ้งว่า ผู้จัดการคนเดิมที่เคยคุยกับผมมาตลอดนั้นตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว ไม่ทราบว่าตกลงยังไงกันไว้บ้าง ให้ปิดเครื่องไปได้เลยแล้วจะส่งช่างเข้ามาดูในสัปดาห์ถัดไป” ประสารเล่าพอถึงวันนัด มีช่างเข้ามาดูแลแจ้งว่าอุปกรณ์บางชิ้นเสื่อมอีก จะเปลี่ยนให้ฟรีแม้จะหมดประกันแล้ว แต่ช่างมาสังเกตพบว่า น้ำไหลเข้าเครื่องไม่สม่ำเสมอ และตรวจพบว่าเกิดจากแผงวงจรเสีย ซึ่งต้องเปลี่ยนแผงวงจรราคา 4,000 บาท เพราะหมดประกันแล้วประสารไม่ตกลงเพราะอะไหล่ที่จะเปลี่ยนไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเครื่องซักผ้าไม่ยอมซักผ้านวม ทางช่างจึงกลับไปโดยไม่คิดค่าตรวจ แต่เครื่องซักผ้าก็ถูกทิ้งในสภาพเดิมที่แจ้งสถานะว่า ใช้งานไม่ได้ต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหาประสารพยายามโทรติดต่อกับผู้จัดการคนใหม่หลายครั้งแต่ติดต่อไม่ได้เลย เลขาหรือเจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่ว่างทุกครั้ง แล้วจะติดต่อกลับมาแต่ไม่เคยติดต่อกลับมาอีก ประสารจึงส่งเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแม้เรื่องนี้จะเกิดมาเนิ่นนานหลายปี แต่ก็เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่บริษัทเองก็ไม่สามารถแก้ไขให้เครื่องสามารถใช้งานได้ตามโฆษณา มูลนิธิฯ จึงติดต่อไปที่บริษัทเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคประสารแจ้งว่า หลังจากที่มูลนิธิฯ ช่วยประสานงานให้ ในที่สุดทางผู้จัดการคนใหม่ได้ยอมพูดคุยด้วย และส่งช่างเข้ามาดู ทางผู้จัดการยังคงยืนยันว่าเครื่องซักผ้ารุ่นนี้ซักผ้านวมขนาด 6 ฟุตได้แน่นอนตามที่โฆษณา แต่คาดว่าประสารอาจจะโชคร้ายได้รับเครื่องการผลิตที่มีปัญหาเอง แต่ยินดีที่จะรับเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้มาใช้ต่อประสารบอก ผมไม่สามารถเชื่อใจทางบริษัทได้อีก จึงยื่นข้อเสนอขอคืนเครื่องและรับเงินคืนหลังจากการเจรจาต่อรองกันอีกราว 2 เดือน ในที่สุดจึงได้ข้อตกลงร่วมกัน โดยทางบริษัทยอมรับคืนเครื่องและคืนเงินให้จำนวน 15,000 บาท เรื่องจึงเป็นอันยุติความจริงแล้ว กระบวนการร้องเรียนเพื่อการเยียวยาความเสียหายไม่จำเป็นต้องปล่อยให้ยืดยาว รอซ่อมแล้วซ่อมอีก หากผู้บริโภคพบว่า สินค้ามีคุณภาพไม่เป็นไปตามที่โฆษณาก็สามารถที่จะแสดงเจตจำนงขอเปลี่ยนสินค้าหรือคืนสินค้าเพื่อขอคืนเงินได้ตั้งแต่การมาตรวจซ่อมครั้งแรกแล้ว หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ยินยอมผู้บริโภคก็สามารถร้องเรียนต่อ สคบ. หรือที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทันที  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 ไฟฟ้าดับ 14 จังหวัด (ตอน 3)

จากตอนที่แล้ว เราเห็นๆ กันอยู่ คือเมื่อไฟฟ้าดับ ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ต่างออกหน้ามาให้ข่าวกันอย่างครึกโครม จนเราลืมไปเลยว่ายังมีอีกองค์กรหนึ่ง ที่มีหน้าที่กำกับดูแลประเด็นนี้โดยตรงคือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน แห่งชาติ(กกพ.) หรือ 7 อรหันต์(ที่มีเงินเดือนสูงส่ง แต่กลับมีบทบาทเรื่องนี้น้อยมากจนน่าใจหาย เพราะไม่เห็นตัวตนของท่านเลย) คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานเขต 10 จึงได้ทำข้อเสนอมาตรการแก้ไขและปรับปรุงการให้บริการพลังงาน ตามมาตรา 99 แห่ง พระราชบัญญัติ ประกอบกิจการพลังงาน 2550 ดังนี้1. ขอให้ กฟผ. แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายร้ายแรงในครั้งนี้ โดยเสนอให้ กกพ. กำหนดมาตรการชดเชยผู้ได้รับความเสียหาย และกำหนดว่าการเสียหายกรณีใด จึงจะได้รับการเยียวยา2. ขอให้กพพ. ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงภายนอกอย่างเร่งด่วน กรณีดังกล่าวโดยการสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน รวมถึงการให้ตัวแทนผู้ใช้พลังงานในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมในกรณีดังกล่าว มิใช่รอให้ กฟผ.มารายงานฝ่ายเดียว3. ขอให้ กกพ. กำหนดมาตรการ บังคับให้ กฟผ.มีแผนฉุกเฉินรองรับกรณีไฟฟ้าในระดับ และกฟผ.ต้องแจ้งเดือนประชาชน กรณีมีการซ่อมบำรุงที่สุ่มเสี่ยงต่อการที่จะก่อให้เกิดไฟฟ้าดับในวงกว้างให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 2 วัน 4. ขอให้ กกพ. มีนโยบายในการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถ นำวัตถุดิบที่มีในพื้นที่ มาผลิตเป็นพลังงานทางเลือกใช้เอง ลดการพึ่งพาแหล่งผลิตขนาดใหญ่ ป้องกันเหตุไฟฟ้าดับในวงกว้างได้อย่างยั่งยืน โดยแต่ละพื้นที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในพื้นที่ และเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างแท้จริงให้กับประเทศไทย5. ขอให้ กกพ.ออกมาตรการให้แต่ละจังหวัดสามารถจัดทำแผนพลังงานระดับจังหวัดได้ เพื่อเป็นการกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัด มีส่วนร่วมกำหนดแผนพลังงานให้เหมาะสมกับพื้นที่ ลดการผูกขาดอำนาจจากส่วนกลาง6. ขอให้ กกพ.มีข้อเสนอต่อคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ ในการกระจายกองทุนอนุรักษ์พลังงานไปในระดับจังหวัด เพื่อหนุนเสริมแผนพลังงานจังหวัดนี่คือข้อเสนอที่เราคาดหวังว่าจะได้เห็นพัฒนาการของการบริหารจัดการ ด้านพลังงาน ที่จะสร้าง ความเป็นธรรม ให้กับผู้บริโภคไฟฟ้า แต่คงไม่ใช่เสนอแล้วก็จบไป คงต้องร่วมกันติดตามและผลักดันกันต่อไป ด้วยความหวัง ด้วยพลังของผู้บริโภค .......  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 ธ.ก.ส. ลดหนี้มโหฬาร ล้างบาป “กลุ่มเกษตรกรพันธุ์ใหม่”

เมื่อปี 2531 ต่อเนื่องปี 2532 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนเกษตรกรและคนหนุ่มสาวที่จบการศึกษาด้านการเกษตรให้มาเข้าร่วม “โครงการนิคมเกษตรกรรมเพื่อการส่งออกร่วมกับภาคเอกชน” หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ในสมัยนั้นว่า “โครงการเกษตรกรยุคใหม่” หรือ “เกษตรกรก้าวหน้า”ครั้งนั้น ธ.ก.ส. ให้สัญญาว่าจะช่วยสนับสนุนส่งเสริมด้านเงินทุนระยะยาวเพื่อให้พวกเขามีอาชีพทางการเกษตรที่มั่นคง มีบ้าน มีที่ดินอันสมบูรณ์เพื่อการเพาะปลูก จะช่วยส่งเสริมความรู้ทางวิชาการและเครื่องมือทางการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศโดยมีแหล่งรับซื้อที่แน่นอนจากการบริหารงานของบริษัทเอกชน ที่ ธ.ก.ส. จัดหามาให้ด้วยคำโฆษณาและความเชื่อมั่นในความเป็นธนาคารของรัฐ หนุ่มสาวที่เพิ่งเรียนจบหลายร้อยรายตัดสินใจสมัครสอบเข้าร่วมโครงการฯ มีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 80 คน ซึ่งทั้งหมดจะต้องทำสัญญาซื้อที่ดินที่ทุ่งดอนโพ ซึ่งเดิมอยู่ในเขตหมู่ 2 บ้านบางกะโด ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เนื้อที่ 565 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา จากบริษัทร่วมโครงการคือบริษัท มีดีเทค จำกัด ในราคา 27.3 ล้านบาท โดยทำสัญญาจำนองกับ ธ.ก.ส. และทุกคนเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ร่วมกัน และมีบริษัท นิวเจนเนอร์เรชั่น ฟาร์มโปรดิวส์ จำกัด (เอ็น จี ซี) ทำหน้าที่ตั้งศูนย์ปฏิบัติการ และมีพนักงานประจำในพื้นที่เพื่อประสานงานด้านการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ ควบคุมการคัดคุณภาพของผลผลิต จัดการเรื่องการบรรจุหีบห่อ และการขนส่งไปยังจุดหมายปลายทาง รวมทั้งให้บริการเครื่องจักรอุปกรณ์การเกษตรขนาดใหญ่ เช่น รถไถ เครื่องพ่นยา เครื่องรดน้ำ เป็นต้น ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้ได้ยกระดับเป็นหมู่บ้าน มีชื่อกลุ่มว่า สมาชิกกลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านสิงห์ หมู่บ้านดอนโพ ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี โครงการผ่านไปเพียงแค่ 3-4 ปี บริษัทเอกชนก็ละทิ้งโครงการ ส่วน ธ.ก.ส. ก็มุ่งแต่ติดตามทวงหนี้ ปล่อยให้ชาวบ้านต่อสู้ดิ้นรนอย่างโดดเดี่ยวไปตามยถากรรม และต้องแบกรับภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมเงินจาก ธ.ก.ส. เพื่อนำมาลงทุนทำเกษตร และเพื่อนำไปซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากบริษัทมีดีเทคฯ ในราคาร่วม 27.3 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดในขณะนั้นมาก จนปี 2551 กลุ่มเกษตรกรกลุ่มนี้ได้นำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า พวกเขาเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการด้านการเกษตรที่ล้มเหลวของรัฐ แต่ต้องมาแบกรับภาระหนี้สินรวมกันทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยร่วม 100 ล้านบาท และเกษตรกรจำนวน 16 รายถูก ธ.ก.ส. ดำเนินคดีฟ้องร้องแล้วรวม 19 คดี เป็นทุนทรัพย์รวมทั้งสิ้นกว่า 30 ล้านบาท ขอให้มูลนิธิฯ หาหนทางช่วยเหลือด้วย   ธ.ก.ส. ให้สัญญาว่าจะช่วยสนับสนุนส่งเสริมด้านเงินทุนระยะยาวเพื่อให้พวกเขามีอาชีพทางการเกษตรที่มั่นคง มีบ้าน มีที่ดินอันสมบูรณ์เพื่อการเพาะปลูก จะช่วยส่งเสริมความรู้ทางวิชาการและเครื่องมือทางการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศโดยมีแหล่งรับซื้อที่แน่นอนจากการบริหารงานของบริษัทเอกชน ที่ ธ.ก.ส. จัดหามาให้     ผ่านไปเพียงแค่ 3-4 ปี ...พวกเขากลายเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการด้านการเกษตรที่ล้มเหลวของรัฐ แต่ต้องมาแบกรับภาระหนี้สินรวมกันทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยร่วม 100 ล้านบาท และเกษตรกรจำนวน 16 รายถูก ธ.ก.ส. ดำเนินคดีฟ้องร้องแล้วรวม 19 คดี เป็นทุนทรัพย์รวมทั้งสิ้นกว่า 30 ล้านบาท   แนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อเราได้สอบถามข้อมูล ทราบความเป็นมาเห็นความเป็นจริงทั้งหมด จึงได้วางแนวทางการช่วยเหลือเป็น 2 แนวทางใหญ่ๆ คือ การช่วยเหลือด้านคดีความ และการช่วยเหลือเพื่อให้เกษตรกรได้มีโอกาสนำปัญหาของตัวเองฟ้องต่อสังคม โดยแนวทางทั้งสองมีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างเกษตรกรและ ธ.ก.ส.อย่างเป็นธรรมการช่วยเหลือด้านคดีความ ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้จัดทนายความเข้าไปช่วยเหลือต่อสู้คดีโดยชี้ให้ศาลได้เห็นว่า หนี้ที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรมิได้เกิดจากปัญหาของเกษตรกรโดยตรงแต่มาจากการดำเนินโครงการที่ล้มเหลวของรัฐบาลเองส่วนการช่วยเหลือเพื่อการฟ้องต่อสังคมนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทราบในเวลาต่อมาว่ายังมีกลุ่มกลุ่มเกษตรกรทำสวนเขาดิน อ.เดิมบางนางบวช และ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี อีกกลุ่มที่ประสบปัญหาในทำนองเดียวกัน จึงได้ใช้พลังจากสภาพของสุนัขจนตรอกของชาวบ้านรวบรวมกำลังใจและกำลังคนมารวมตัวที่หน้า ธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ นางเลิ้ง เมื่อ 12 มิถุนายน 2551 เพื่อยื่นข้อเรียกร้องเต็มขั้นคือ(1)ให้ ยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้านทั้งหมด(2)ให้ธ.ก.ส. ยกเลิกหนี้สินให้เกษตรกรทั้งหมด และ(3) ให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณาและชดใช้ค่าเสียโอกาสของชาวบ้านจากความล้มเหลวของโครงการดังกล่าว และได้มารวมตัวกันอีกครั้งที่หน้า ธ.ก.ส. เพื่อฟังคำตอบในวันที่ 19 มิถุนายน 2551ผลของการดำเนินการในครั้งนั้น ธ.ก.ส. รับพิจารณาข้อเสนอของเกษตรกรทั้งหมด โดยเรื่องเร่งด่วนที่สุดที่ดำเนินการคือการขอให้ศาลชะลอการดำเนินคดีออกไปก่อนและยุติการเรียกเก็บหนี้กับเกษตรกรทั้งต้นและดอกออกไปอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าจะมีการเจรจาหาข้อยุติที่เป็นธรรมกับทั้งสองฝ่ายกระบวนการเจรจาดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและค่อยๆ มีความคืบหน้าเป็นลำดับ ต่อมาคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ได้มีการประชุมครั้งที่  9/2553 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553 พิจารณาและให้ความเห็นชอบในแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรดังกล่าว ดังนี้(1) ให้ความเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. นำเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาอนุมัติการจำหน่ายหนี้เงินกู้ต้นเงินส่วนที่ ธ.ก.ส. ลดหนี้ให้แก่เกษตรกรซึ่งเป็นลูกค้าดังกล่าวเป็นหนี้สูญ รวมทั้งโครงการอื่นที่จำเป็นต้องจำหน่ายหนี้เงินกู้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญด้วย(2) อนุมัติให้ ธ.ก.ส.ปรับปรุงโครงสร้างนี้ ด้วยการลดต้นเงินบางส่วน ลดดอกเบี้ยค้างทั้งหมด และงดดอกเบี้ยใหม่ โดยให้มีต้นเงินคงเหลือรายละ 130,000 บาท แล้วนำมาขยายระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 9 ปีตามศักยภาพของลูกค้า และงดดอกเบี้ยที่เกิดใหม่ โดยใช้หลักประกันจำนองเดิม และอนุญาตให้ลูกค้าไถ่ถอนที่ดินหลักประกันจำนองได้เมื่อชำระหนี้เสร็จสิ้นจากมติบอร์ด ธ.ก.ส. ดังกล่าว กลุ่มเกษตรกรและ ธ.ก.ส. จึงได้มีหนังสือไปถึงกระทรวงการคลังในช่วงต้นปี 2554 เพื่อขอให้พิจารณาอนุมัติแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรดังกล่าว ปรากฏว่าเรื่องไม่มีความคืบหน้า จนปี 2556 มูลนิธิฯได้มีหนังสือติดตามเรื่องไปอีกครั้ง ได้รับแจ้งจากกระทรวงการคลังว่า ได้มีการแก้ไขกฎระเบียบภายในของ ธ.ก.ส. แล้วว่าตามแนวทางดังกล่าว ธ.ก.ส.สามารถดำเนินการเองได้เลย โดยไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้ย้อนกลับไปติดตามเรื่องกับ ธ.ก.ส. ทำให้ทราบว่า เงื่อนไขต่างๆ ที่เคยมีมาไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จากยอดหนี้เดิมตกคนละ 1.5-1.6 ล้านบาทลดเหลือเพียง 130,000 บาท กำหนดเวลาผ่อนชำระคืนไม่เกิน 9 ปี ใช้หลักประกันจำนองเดิม ส่วนเรื่องงดดอกเบี้ยที่เกิดใหม่ ธ.ก.ส.ขอคิดอัตราดอกเบี้ย บวกลบ MRR 3% ซึ่งปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 4 ของยอดหนี้ที่ 130,000 บาทเพื่อให้เกิดสภาพบังคับไว้บ้างกลุ่มเกษตรกรได้พิจารณาเทียบกับระยะเวลาที่ได้หยุดพักชำระหนี้ไปตั้งแต่ปี 2552 จนมีโอกาสฟื้นฟูความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นตามลำดับ เห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวแม้จะมีการคิดดอกเบี้ยอยู่บ้างแต่ก็มีความเหมาะสมแล้วและสามารถที่จะชำระหนี้ดังกล่าวได้ในเวลาอันรวดเร็ว เกษตรกรจำนวนกว่า 90 ครัวเรือนที่เคยตกเป็นทาสหนี้ครัวเรือนละ 1.5-1.6 ล้าน จึงยินยอมตกลงทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี่เองส่วนคนที่เคยถูกฟ้องร้อง ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการถอนฟ้องทั้งหมด แนวทางนี้ได้ถูกนำไปใช้แก้ไขปัญหาหนี้ของกลุ่มเกษตรกรทำสวนเขาดิน อ.เดิมบางนางบวช และ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี เช่นกัน จนสามารถปลดหนี้ไถ่ถอนที่ดินสร้างความเป็นไทให้กับครอบครัวได้ในเวลาไม่นานวันนี้ฟ้าใหม่เปิดแล้ว เนื้อที่ 565 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวาของกลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านสิงห์กำลังกลับคืนสู่ความเป็นเจ้าของของพวกเขาอีกไม่นาน หมู่บ้านดอนโพ ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นสถานที่ผลิตพืชผักผลไม้นานาพรรณ ใครผ่านไปทางนั้นควรไปแวะเยี่ยมชมและซื้อหาผลผลิตได้ในราคาย่อมเยา ชาวบ้านฝากบอกว่า ยินดีต้อนรับเป็นอย่างยิ่ง   แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร จากการประชุมบอร์ด ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553 (1) ให้ความเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. นำเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาอนุมัติการจำหน่ายหนี้เงินกู้ต้นเงินส่วนที่ ธ.ก.ส. ลดหนี้ให้แก่เกษตรกรซึ่งเป็นลูกค้าดังกล่าวเป็นหนี้สูญ รวมทั้งโครงการอื่นที่จำเป็นต้องจำหน่ายหนี้เงินกู้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญด้วย (2) อนุมัติให้ ธ.ก.ส.ปรับปรุงโครงสร้างนี้ ด้วยการลดต้นเงินบางส่วน ลดดอกเบี้ยค้างทั้งหมด และงดดอกเบี้ยใหม่ โดยให้มีต้นเงินคงเหลือรายละ 130,000 บาท แล้วนำมาขยายระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 9 ปีตามศักยภาพของลูกค้า และงดดอกเบี้ยที่เกิดใหม่ โดยใช้หลักประกันจำนองเดิม และอนุญาตให้ลูกค้าไถ่ถอนที่ดินหลักประกันจำนองได้เมื่อชำระหนี้เสร็จสิ้น  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 “สังฆทาน บาป”

“สังฆทาน บาป” รู้หรือไม่ว่าของในถังสังฆทานที่ซื้อมาหมดอายุก่อนวันซื้อ คุณทำได้มากกว่าการนำไปเปลี่ยนคืนธ.ก.ส. ลดหนี้มโหฬาร ล้างบาป “กลุ่มเกษตรกรพันธุ์ใหม่” เมื่อกลุ่มเกษตรกร “คนรุ่นใหม่” ต้องตกเป็นเหยื่อจากการดำเนินโครงการด้านการเกษตรที่ล้มเหลวของรัฐสังฆทาน เป็นชื่อเรียกการถวายทานแก่พระสงฆ์อย่างหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ามีอานิสงส์มาก โดยเฉพาะการถวายสังฆทานแก่คณะพระสงฆ์จะมีอานิสงส์มากกว่าการถวายทานเฉพาะเจาะจงแก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง หรือแม้แต่การถวายทานแก่พระพุทธเจ้าแม้ยังทรงพระชนม์อยู่ ก็ยังได้บุญสู้การถวายทานแก่พระสงฆ์ที่เป็นหมู่คณะไม่ได้...ผู้รู้ทางพุทธศาสนาท่านว่าไว้อย่างนั้นแต่เดี๋ยวนี้...ในยุคสังคมแบบ “เร็วเข้าว่า ช้าไม่เป็น” สังฆทานถูกแปรรูป แปรเจตนาไปเยอะ มีการจัดชุดสังฆทานขายอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ต้องการบุญแบบแดกด่วน หวังกำไรมาก ไม่คิดถึงบาปบุญ จนกลายเป็นปัญหาขึ้นมาทั้งคนทำบุญและสงฆ์ที่รับทานคุณบารมี ไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตตราดอกบัว ย่านรังสิต เดี๋ยวนี้แทบทุกห้างมีแผนกนี้ล่ะ “แผนกเครื่องสังฆภัณฑ์” บารมีเตรียมหาของไปทำบุญวันเข้าพรรษา เห็นป้ายโฆษณาขายชุดถังสังฆทานใส่ในถังพลาสติกใบเหลืองเล็ก ขนาดพอหิ้วดูเก๋ไก๋ แกว่งไปมาได้ไม่เจ็บข้อมือ “ซื้อ 1 แถม 1” ราคา 155 บาท“โอว พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ...ได้บุญมาก ราคาไม่แพง แถมยังแบ่งกับเพื่อนได้อีกถัง” บารมีเห็นหนทางนิพพานของตัวเองทันที หิ้วถังสังฆทาน 2 ใบ ไปที่ทำงาน เห็นพลาสติกใสหุ้มสิ่งของจนล้นปากถังเลยอยากรู้ว่ามีอะไรอยู่บ้างดูซะล้นถังอย่างนั้น ชวนเพื่อนที่จะเป็นคู่บุญกันมาแกะดูสิ่งของที่อยู่ในถัง ขาดเหลืออะไรจะได้ซื้อเพิ่มเติมได้รายการของที่มีอยู่ในทั้งสองถังเหมือนกันเด๊ะ คือ ยาหอม 1 ถุง คงเข้าใจว่าพระเป็นลมบ่อยเลยใส่เข้ามา ชาจีน 1 กล่อง ถือเป็นมาตรฐานสังฆทานต้องมีชาจีน ชาเก๊กฮวย 1 กล่อง เผื่อพระไม่ชอบชาจีน น้ำส้มผสม 1 ขวด เผื่อให้พระเวลาสวดเวลาเทศน์เสียงจะได้สดได้ใส เกลือ 1 ถุง อาจจะเอาไว้ให้พระใส่เติมเพิ่มรสชาติน้ำชา น้ำส้ม ขันน้ำพลาสติกสีเหลือง 1 ใบ มีความบางจนน่าจะเขียนคำเตือนว่า “อย่าตักน้ำแรงเดี๋ยวขันแตก” และของที่ใหญ่ที่สุด สูงที่สุดซึ่งอยู่ก้นถัง และเป็นตัวการสำคัญที่ทำของดูพอกพูนจนล้นถัง มันคือ กระดาษชำระเนื้ออย่างเลว 1 ห่อ พิจารณาดูเนื้อกระดาษแล้ว หากนำไปเช็ดก้นเป็นประจำก็อาจทำให้เป็นริดสีดวงทวารได้ ว่างั้นเหอะ รวมกับถังพลาสติกใบเล็ก 1 ใบที่ใช้ใส่สิ่งของรวมเป็นชุดสังฆทาน 1 ชุดทั้งหมด ราคา 155 บาทแถมอีก 1 ถัง“ถึงว่าทำไมขายลดราคาได้” บารมีเริ่มตรัสรู้แต่เอ๊ะ...น้ำส้ม ทำไมวันหมดอายุไม่เหมือนกัน บารมีกับเพื่อนช่วยกันดู แล้วก็นะจังงัง เพราะน้ำส้มที่อยู่ในถังสังฆทานใบหนึ่ง มันหมดอายุไปเป็นเดือนแล้ว“ยังดีนะที่ไม่ได้เอาไปถวายพระ ไม่งั้นคงบาปแย่ เพราะนำของหมดอายุไปถวาย” บารมีรำพึงกับเพื่อนสรุปว่า วันเข้าพรรษาครานั้นบารมีและเพื่อนต้องไปหาซื้อของจัดชุดสังฆทานเพื่อถวายพระกันใหม่ ส่วนชุดสังฆทานที่ซื้อมาแล้วก็ต้องหิ้วมาร้องเรียนกันที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาสังฆทานจัดชุดแล้วนำมาขายให้ชาวพุทธเกิดปัญหาบ่อยมาก เพราะเป็นการนำสินค้าหลายชนิดมาบรรจุหุ้มห่อรวมกัน สินค้าบางชนิดที่นำมารวมนั้นโดยเฉพาะจำพวกอาหารการกิน มีกำหนดอายุหรือเวลาที่ควรใช้ แต่คนที่ซื้อก็ไม่รู้ว่ามันหมดอายุหรือเปล่าเพราะถูกหุ้มห่อไว้ด้วยพลาสติกใสใส่ในถัง ผู้ผลิตที่แย่ๆ บางรายก็ชอบเอามาซุกมาห่อรวมกันขาย อีกปัญหาคือความไม่ลงรอยของสินค้าที่ถูกยัดใส่ในถังรวมกัน ชอบทำปฏิกิริยาหาเรื่องใส่กัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนสี กลิ่น หรือรส จนมาสร้างความซวยให้กับพระสงฆ์องค์เจ้าให้ท้องไส้ปั่นป่วนได้ ที่สำคัญตัวสินค้าในชุดสังฆทานน่ะต้นทุนไม่เท่าไหร่แต่ค่าจัดชุดสังฆทานนี่สิแพงที่สุดร่วม 30-40%ของราคาสินค้าทั้งหมด แถมของที่จัดมาพระสงฆ์ไม่ได้ใช้เลย เพราะเป็นของไม่มีประโยชน์ ไม่มีคุณภาพคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงออกประกาศให้ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ประกาศเมื่อปี 2550 ใครจะขายต้องมีการแสดงฉลากแสดงรายละเอียดของรายการสินค้า ที่ระบุขนาด มิติ ปริมาณ ปริมาตร น้ำหนัก จำนวน และราคาของสินค้าแต่ละรายการ ต้องแสดงชื่อและสถานที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย ต้องแสดงวันเดือนปีที่หมดอายุ หรือวันเดือนปีที่ควรใช้ก่อน ของสินค้าใดสินค้าหนึ่งที่นำมารวมนั้นระบุว่าเร็วที่สุด ต้องระบุวันเดือนปีที่บรรจุ และราคารวมชุดจัดบรรจุระบุหน่วยเป็นบาทประกาศฉบับนี้ยังควบคุมไปถึงปัญหาสินค้าที่อยู่ในชุดสังฆทานจะทำปฏิกิริยากันจนทำให้มีสี กลิ่น หรือรสเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่พระสงฆ์ หรือผู้บริโภคได้ จึงให้มีการระบุคำเตือนในฉลาก ด้วย เช่น ใบชา ข้าวสาร สบู่ และผงซักฟอก อาจทำปฏิกิริยากัน จนทำให้มีสี กลิ่น หรือรสเปลี่ยนแปลงไปซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคเนื่องในการใช้หรือโดยสภาพของสินค้านั้นได้ ดังนั้น ผู้ใช้ควรแยกสินค้าที่อาจทำปฏิกิริยากันได้นั้นออกจากกันโดยเร็ว แม้จะเป็นคำเตือนที่ดูแปลกๆ เพราะหากสินค้ามันจะเกิดปฏิกิริยากันมันก็สามารถเกิดได้ตั้งแต่ตอนวางขายอยู่ในห้างแล้ว แม้จะแยกกันออกมาภายหลัง สี กลิ่น หรือรส ที่เปลี่ยนแปลงไปก็คงไม่สามารถเรียกกลับคืนได้ง่าย สุดท้ายก็ต้องทิ้งของนั้นไป แต่ก็ถือว่าเป็นความพยายามของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้ามาควบคุมดูแลการขายชุดสังฆทานจากที่ไม่เคยมีมาก่อนตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 52 ได้กำหนดโทษไว้ว่า ผู้ใดขายสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง หรือขายสินค้าที่มีฉลากที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก(ภายใต้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) สั่งเลิกใช้ โดยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าการไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับถ้าการกระทำข้างต้นเป็นการกระทำของผู้ผลิตเพื่อขาย หรือผู้สั่งหรือนำเข้ามาในประเทศเพื่อขาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วยโทษที่สูงเอาการ เราจึงแนะนำให้ผู้ร้องเรียนไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เพื่อเป็นหลักฐานก่อน ยังไม่ต้องแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ และมีจดหมายเชิญตัวแทนห้างดอกบัวในฐานะผู้ขายสินค้ามาเจรจาเพื่อเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บริโภค ผลการเจรจาทางห้างยินยอมเยียวยาความเสียหายให้เป็นจำนวนเงิน 15,000 บาท  ซึ่งผู้ร้องยินดีรับค่าเยียวยาความเสียหายและไม่ติดใจเอาความใดๆ ส่วนห้างเมื่อต้องจ่ายค่าเสียหายไปแล้ว ก็เดินหน้าเช็คบิลเอาผิดกับผู้ผลิตชุดสังฆทานต่อไป โดยจะทำการตรวจสอบสินค้าและหากพบว่าสินค้าที่อยู่ในชุดสังฆทานหมดอายุจริง ก็จะให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการฟ้องร้องกับบริษัทผู้ผลิตชุดสังฆทาน ขณะที่ผู้ร้องเรียนก็ยินยอมที่จะเป็นพยานในชั้นศาลอีกด้วย   กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 52 ได้กำหนดโทษไว้ว่า ผู้ใดขายสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง หรือขายสินค้าที่มีฉลากที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก(ภายใต้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) สั่งเลิกใช้ โดยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าการไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำข้างต้นเป็นการกระทำของผู้ผลิตเพื่อขาย หรือผู้สั่งหรือนำเข้ามาในประเทศเพื่อขาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 ไฟฟ้าดับ 14 จังหวัด (ตอน 2)

เรื่องไฟฟ้าดับตอนที่แล้ว เขียนถึงข้อสงสัยกรณีไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้  ตอนนี้เรามีข้อมูลจากผู้ปฏิบัติการจริงในพื้นที่ มาตอบข้อสงสัยกัน(ไม่รู้ว่าจะใช่คำตอบที่แท้จริงหรือไม่) เรื่องนี้เกิดขึ้นโดยผู้เขียนใช้ฐานะ ประธานคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานเขต 10 ราชบุรี  (มีพื้นที่ดูแล 6 จังหวัด)เชิญผู้อำนวยการกองควบคุมและบำรุงรักษา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 1 เพชรบุรี (ภาคใต้)  เข้าชี้แจงสาเหตุการเกิดไฟฟ้าดับ   ซึ่งมีคำชี้แจงว่า1.การเกิดไฟฟ้าดับทั้งภาคใต้และภาคกลางบางส่วน เมื่อวันที่        21 พฤษภาคม  2556  เหตุเกิดจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) มีการปิดซ่อมสายส่งขนาด 500 KV สายส่งจาก อำเภอ       จอมบึง-อำเภอบางสะพานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์   ระหว่างเวลา 08.00 น. – 17.00 น. ในพื้นที่ อำเภอบ้านลาดจังหวัดเพชรบุรี   มีกำหนดการนำสายส่งกลับเข้าระบบเพื่อจ่ายไฟในเวลา  18.00 น.  แต่ปรากฏว่าการซ่อมบำรุงล่าช้ากว่ากำหนดเวลา 20.00 น.ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556  เกิดเหตุฟ้าผ่าสายส่งเส้นสำรองทำให้เกิดการชำรุดและไฟฟ้าดับ โดยไฟฟ้าฝ่ายผลิตนำสายส่งที่ซ่อมบำรุงเข้ามาติดตั้งได้เวลา 02.00 น. ของวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายวงกว้าง(แต่การตรวจสอบข้อเท็จจริงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต  กลับออกมาคนละทาง  กับข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่    ดังที่เราได้เห็นข้อมูลที่ รมต.พลังงาน  ออกมา ให้ข่าวสรุปผลการสอบ  ว่ามันเป็นเหตุสุดวิสัยไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของระบบ) 2. กรณีภาคใต้มีแหล่งผลิตไฟฟ้าอยู่หลายโรง และมีปริมาณการผลิตจำนวนมาก  แต่ทำไมไม่สามารถส่งกระแสไฟฟ้าเข้าสายส่งได้   สาเหตุเป็นเพราะระบบการส่งกระแสไฟฟ้ามีการคำนวณโดยใช้สูตร N- 1  สรุปได้ว่า เมื่อกระแสไฟฟ้าจากส่วนกลางถูกตัดขาด  เทคโนโลยีของแต่ละโรงไฟฟ้าคำนวณได้ว่าหากส่งกระแสไฟเข้าสายส่งจะเกิดความเสียหายต่อระบบผลิต  ก็จะตัดการส่งกระแสไฟฟ้าเข้าสายส่งแบบอัตโนมัติ  เป็นเหตุให้ในพื้นที่ภาคใต้ไฟฟ้าดับเต็มพื้นที่ คำถามสำคัญคือ  แนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มในภาคใต้ สามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือ? เพราะประสบการณ์ผ่านมาทำให้เราเห็นได้ว่า    นโยบายที่ทำให้ระบบการการส่งกระแสไฟผูกติดกับส่วนกลาง ส่งผลให้พื้นที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ปัญหามันอยู่ที่แนวคิดและนโยบาย ที่ใช้อำนาจผูกขาดการตัดสินใจไว้เพียงในส่วนกลางเท่านั้น  ที่สำคัญคือ เราบอกว่าประเทศไทยปรกครองในระบบประชาธิปไตย  การบริหารหลายส่วน มีการกระจายอำนาจลงพื้นที่  แต่ที่ส่วนกลางกอดติดไม่ยอมกระจายอำนาจ คือ  “พลังงาน” เพราะอะไร? แหม...ข้อมูลกำลังเข้มข้นเลย  หมดเนื้อที่ซะแล้ว ......โปรดติดตามตอนต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 ถูกเรียกค่าเช่าห้องก่อนย้ายออกไม่เป็นธรรม

ปรารถนา ทำสัญญาเช่าห้องกับอพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่งย่านอ้อมน้อย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2555สัญญาระบุค่าเช่าห้องและค่าเช่าเฟอร์นิเจอร์ราคา 3,900 บาทต่อเดือน เก็บค่าประกันเฟอร์นิเจอร์ 5,000 บาท กำหนดพักอาศัยไม่ต่ำกว่า 6 เดือนนับแต่วันที่เช่า  หากเช่าไม่ครบกำหนด อพาร์ทเม้นท์จะไม่คืนเงินค่าประกันให้ในขณะที่ปรารถนาได้ให้ข้อมูลว่า ห้องที่เข้าพักเป็นห้องวีไอพี สัญญาจึงต้องอยู่ขั้นต่ำ 3 เดือน โดยจะครบกำหนดวันที่ 4 มิถุนายน 2555 (ตรวจสอบสัญญาแล้วไม่มีข้อความไหนที่ระบุตามเงื่อนไขนี้) พอเข้าพักอาศัยปรารถนาบอกว่าพบความไม่สะดวกหลายอย่างในการเข้าพักที่อพาร์ทเม้นท์แห่งนี้ เช่น เสียงดังจากถนนใหญ่ การเก็บค่าไฟฟ้ามากเกินจริง ร้านซักรีดรีดเสื้อผ้าไม่ประณีต และเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญที่สกปรก รวมไปถึงเรื่องการจราจรที่ต้องใช้เวลารอการข้ามถนนนานมากทำให้ไปงานสาย จึงอยากย้ายออกก่อนกำหนดที่เข้าใจว่าคือวันที่ 4 มิถุนายน 2555 แต่ต้องการเงินประกันคืนในวันที่ 11 พฤษภาคม 2555 ปรารถนาจึงไปปรึกษากับเสมียนสำนักงานอาคารว่าอยากขอย้ายออกก่อนกำหนด โดยให้เหตุผลแบบเนียนๆ ว่า ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ดูเท่ไม่เบา เสมียนก็เห็นใจแจงว่า หากย้ายออกก่อนกำหนดและต้องการเงินประกันคืน ทางอาคารจะคิดค่าเช่าถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2555 แล้วถึงจะได้เงินประกันคืนหลังจากนั้น ซึ่งปรารถนาก็ยินยอมวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 จึงได้ไปกรอกแบบฟอร์มแจ้งความจำนงขอย้ายออก พบเงื่อนไขในแบบฟอร์มว่า “กรณีผู้เช่าออกไม่เกินวันที่ 15 ของเดือน จะเก็บค่าเช่าห้องพักถึงวันที่ 15 เท่านั้น โดยสามารถรับเงินค่าประกันห้องพักคืนได้ตั้งแต่วันที่ 20 ของเดือนที่ย้ายออกเป็นต้นไป กรณีผู้เช่าย้ายออกหลังจากวันที่ 15 ของเดือน จะเก็บค่าเช่าห้องพักเต็มเดือน โดยสามารถรับเงินค่าประกันห้องพักคืนได้ตั้งแต่วันที่ 10 ของเดือนถัดไปเป็นต้นไป” จากเงื่อนไขที่ว่า ทำให้ปรารถนาต้องถามย้ำกับเสมียนอพาร์ทเม้นท์ว่า ตนเองจะต้องเสียค่าเช่าถึงวันที่เท่าไหร่ ก็ได้รับคำตอบยืนยันเหมือนเดิมว่า คิดค่าเช่าถึงวันที่ 4 มิถุนายนเท่านั้นและเงินประกันห้องจะได้คืน พอถึงวันย้ายของออก ได้มีเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานมาแจ้งกับปรารถนาว่าจะต้องจ่ายค่าเช่าถึงวันที่ 15 มิถุนายนหรือจ่ายอีกครึ่งเดือนตามเงื่อนไขที่ได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วถึงจะได้เงินประกันคืน ปรารถนาเลยไม่ยอมเพราะเจรจาและเข้าใจมาโดยตลอดว่าจ่ายถึงวันที่ 4 มิถุนายนเท่านั้น แล้วนำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาได้ฟังเรื่องราวแล้วดูชุลุมุนอีรุงตุงนังเหมือนกัน เนื่องจากการสื่อสารที่ไม่ได้ยึดข้อสัญญาที่ทำไว้ และด้วยความปรารถนาดีของเสมียนอพาร์ทเม้นท์ที่อยากจะช่วยเหลือผู้ร้องเรียนทั้งๆ ที่ตนเองไม่มีอำนาจ ก็เลยทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนห่างไกลไปจากข้อสัญญาที่ทำไว้มากขึ้นเรื่อยๆอพาร์ทเม้นท์แห่งนี้แม้จะมีข้อเสียหลายประการ แต่จุดดีอย่างหนึ่งก็คือการเปิดโอกาสให้ผู้เช่าแจ้งย้ายออกได้โดยให้บอกกล่าวล่วงหน้าก่อน 15 วันเท่านั้น เพราะที่เห็นมาบางแห่งต้องแจ้งก่อนเป็นเดือน และอีกประการคือหากแจ้งย้ายก่อนวันที่ 15 ของเดือนก็จะคิดค่าเช่าแค่ครึ่งเดียวบางแห่งก็ฟาดซะเต็มเดือนดังนั้นเมื่อปรารถนาแจ้งย้ายเป็นทางการด้วยการกรอดแบบฟอร์มแจ้งความจำนงขอเลิกสัญญาเช่าในวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 ตามสัญญาที่ถือกันอยู่ปรารถนาก็มีสิทธิที่จะอยู่พักในห้องเช่าได้ไปจนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2555 เพราะมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเช่าอีกครึ่งเดือนตามสัญญาอยู่แล้ว ที่ว่ามานี้เป็นไปตามสัญญาทั่วไปที่ใช้ปฏิบัติกันอยู่แต่ทั้งนี้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ออกประกาศ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าที่อยู่อาศัยที่เรียกเงินประกันเป็นธุรกิจควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2549 ซึ่งกำหนดให้ผู้เช่ามีสิทธิได้รับคืนเงินประกันทันทีเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาเช่าที่อยู่อาศัย หรือเมื่อสัญญาเช่าเลิกกัน เว้นแต่กรณีที่ผู้ให้เช่าประสงค์จะตรวจสอบความเสียหายที่ผู้เช่าต้องรับผิดชอบ หากผู้เช่าไม่ได้ทำความเสียหาย ผู้เช่ามีสิทธิได้รับคืนเงินประกันภายใน 7 วัน โดยให้ผู้ให้เช่ารับภาระค่าใช้จ่ายในการนำส่งคืนเงินประกันตามวิธีการที่ผู้เช่าแจ้งให้ทราบดังนั้น เมื่อปรารถนาบอกเลิกสัญญาในวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 และแจ้งจะขนย้ายของออกในวันที่ 27 พฤษภาคม 2555  ส่วนผู้ให้เช่าขอตรวจสอบความเสียหาย แล้วไม่พบความเสียหายก็จะต้องคืนเงินประกันภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2555 ซึ่งสามารถที่จะหักค่าเช่าห้องครึ่งเดือนที่ค้างอยู่ตามสัญญาได้หากอพาร์ทเม้นท์หรือห้องเช่าแห่งไหนที่มีการเรียกเก็บเงินประกันไม่มีข้อความหรือรายการแจ้งสิทธิตามประกาศของ สคบ. ผู้บริโภคสามารถแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ให้เช่าได้ทันที ฐานความผิดคือมีใบเสร็จรับเงินที่ไม่มีรายการตามที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกำหนด มีความผิดตามมาตรา 57 ของพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ประกอบธุรกิจสามารถไปซื้อแบบหลักฐานการรับเงินที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ที่กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โทรติดต่อสอบถามได้ที่ 02-1430377-83

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 ซื้อเตียงนอกแถมได้มอดนำเข้า

พลชัย เป็นหนุ่มฐานะดีมีงานทำอยู่ต่างประเทศ 1-2 เดือนถึงจะได้กลับมาพักผ่อนที่เมืองไทยสักครั้งหนึ่ง ลงทุนซื้อคอนโดใหม่เป็นนิวาสสถานอยู่คอนโดใหม่จะใช้ของเก่าไม่เข้าสไตล์ก็กระไรอยู่ เลยลงทุนซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่เอี่ยมยกชุดรวมถึงเตียงนอน พลชัยไปซื้อเตียงหรูจากห้างเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังย่านบางนาราคาสี่หมื่นเก้าพันกว่าบาทเขาบอก ประทับใจตั้งแต่วันแรกที่นัดส่งของ นัดครั้งแรกปล่อยให้รอถึง 5 โมงเย็น สุดท้ายโทรมาบอกสินค้าชำรุดส่งไม่ได้ นัดครั้งที่สอง เอาเตียงมาส่ง แต่เอาของชำรุดมาหัวเตียงหัก พลชัยเลยไม่ยอมรรับของ นัดครั้งที่สาม พลชัยบอกต้องรับของเลยเพราะจะเข้าอยู่แล้วไม่งั้นคงได้นอนปูเสื่อในคอนโดหรูแน่หลังจากที่รับสินค้ามาใช้งานก็สังเกตว่า ใต้เตียงมีผงไม้ตกอยู่ที่พื้น พลชัยนึกในแง่ดีว่าคงเป็นแค่เศษไม้ที่ใสไม่ดีมีเศษค้างอยู่และร่วงหล่นมา จนเวลาล่วงเลยมาได้ 6 เดือนหลังจากรับเตียงมาใช้ ทางคอนโดมีการฉีดยาฆ่าแมลง พลชัยกลับจากทำงานต่างประเทศจะนอนเตียงซะหน่อย ก็เจอตัวอะไรสักอย่างตายเกลื่อนพื้นตกอยู่ใต้เตียง พอพลิกฟูกขึ้นมาดูเห็นซากแมลงตัวเล็กๆ ที่ดูคล้ายมอดเขาโทรแจ้งไปที่ห้างเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังแห่งนั้น บอกว่าเตียงน่าจะมีตัวมอดอยู่ให้ส่งคนเข้ามาตรวจสอบดูและกำจัดมอดให้ด้วย พนักงานจากร้านเฟอร์นิเจอร์มาดูและยอมรับว่าเตียงมีมอดจริง พร้อมแสดงความรับผิดชอบด้วยการรับเตียงกลับไปและบอกให้พลชัยไปเลือกเตียงใหม่ที่ร้านได้ โดยไม่ได้มีการกำจัดมอดที่อาจหลงเหลืออยู่ในห้องปรากฏว่าเตียงใหม่ที่ได้มาหัวเตียงสไตล์หลุยส์แต่ราคาร่วมหกหมื่นบาท เขาต้องจ่ายเพิ่มอีกเกือบหนึ่งหมื่นบาท เอามาใช้นอนได้สักพักปรากฏว่าเตียงตัวใหม่มีมอดเป็นของแถมเหมือนกัน “ห้างฯ บอกว่าเป็นเตียงนำเข้า ตัวมอดก็นำเข้ามาจากต่างประเทศมาแพร่เชื้อเมืองไทย ทุกครั้งที่เห็นโฆษณาของห้างฯ ชื่อดังแห่งนี้ เห็นเตียงเราปรากฏบนหน้าจอทีวี เจ็บช้ำใจมาก ไม่รู้คนอื่นซื้อไปติดตัวมอดไปอีกกี่คน” พลชัยถาม แนวทางแก้ไขปัญหาจากการตรวจสอบข้อมูล ทราบว่าผู้ร้องเรียนรายนี้ได้รับการแจ้งข้อมูลจากพนักงานหลายคนของห้างเฟอร์นิเจอร์แห่งนี้ว่า สินค้าล็อตแรกๆ ช่วงที่เปิดห้างสินค้านำเข้าไม่ได้ผ่านการอบฆ่าเชื้อ และรีบส่งให้ลูกค้า ทำให้มีปลวกมีมอดติดมาในเนื้อไม้ด้วย หลังจากที่ได้มีการประสานงานเจรจากัน ห้างเฟอร์นิเจอร์ยอมรับสินค้าคืนและคืนเงินให้แก่ผู้ร้องเรียนเต็มตามจำนวนที่จ่ายไปเกือบหกหมื่นบาท และยังยอมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องเรียนต้องจ้างบริษัทกำจัดปลวกมากำจัดสัตว์ไม่พึงประสงค์ที่ตกค้างในคอนโดให้อีก 8,000 บาทพลชัยยอมรับการชดเชยด้วยอารมณ์เซ็งฝุดๆ เข็ดแล้วเลือกเตียงตามโฆษณา แถมอะไรไม่แถม ดันแถมมอดปลวกนำเข้าซะนี่  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 ตรวจสุขภาพฝากครรภ์ ใครๆ ก็ใช้บัตรทองได้

เราอาจเคยได้ยินว่าสิทธิด้านสุขภาพต่างๆ ที่รัฐจัดให้ ทั้งสิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ หรือสิทธิตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) หากใครมีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จะไปใช้สิทธิอีกอย่างหนึ่งไม่ได้ ด้วยความรู้แบบนี้และความอ่อนแอในการสื่อสารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ทำให้ประชาชนพลาดสิทธิที่มีอยู่ได้เช่นกันสุพัตรา เป็นพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่งมีสิทธิประกันสังคม เธอตั้งครรภ์อยากจะฝากครรภ์พอเปิดไปดูรายละเอียดความคุ้มครองเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในประกันสังคม ก็พบแต่เงินช่วยเหลือเหมาจ่าย 13,000 บาทให้ค่าคลอดบุตรเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าต้องควักเงินสำรองจ่ายไปก่อนจนคลอดบุตรแล้วถึงจะไปขอเบิกคืนได้ ก็อยากจะประหยัดเงินมากที่สุดเท่าที่จะทำได้  เธอจึงขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมจนทราบว่า ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ได้ให้สิทธิแก่ผู้ถือบัตรประกันสังคมและคนไทยทุกคนให้มาใช้สิทธิบัตรทองได้ในการรับบริการสาธารณสุขเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ซึ่งรวมถึงการฝากครรภ์ด้วย โป๊ะเช่ะ...ไม่ต้องควักเงิน ลุย !สุพัตรา เดินเข้าไปที่โรงพยาบาลราชวิถีเพื่อขอฝากครรภ์และขอใช้สิทธิบัตรทอง เรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเป็นงง  บอกใช้ไม่ได้มีสิทธิประกันสังคมอยู่แล้วก็ให้ไปเบิกเงินกับทางนั้นซะ คนถือบัตรประกันสังคมจะใช้สิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้เพียงเรื่องการคุมกำเนิดเท่านั้น รอคลอดก่อนแล้วค่อยใช้สิทธิทำตอนทำหมันนะจ๊ะซึมเล็กๆ เมื่อได้รับคำตอบแบบนั้น สุพัตราหยิบมือถือโทรไปที่ call center สปสช. 1330 ถามความชัดเจนว่ามันเป็นยังไงกันแน่ เห็นใบประชาสัมพันธ์บอกว่าใช้ได้ไง call center สปสช. ยืนยันว่า ผู้ถือบัตรประกันสังคมสามารถใช้สิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเรื่องการฝากครรภ์ได้ และแนะนำให้สุพัตราไปคุยกับทางศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลราชวิถีอีกครั้ง สุพัตราอุ้มท้องอ่อนๆ แล้วค่อยๆ เดินไปที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลราชวิถีเพื่อขอยืนยันการใช้สิทธิอีกคำรบ“ไม่ได้ค่ะ เราเคยมีผู้ถือบัตรประกันสังคมมาขอใช้สิทธิแบบน้องนี่แหละค่ะ ก็ต้องแจ้งว่าผู้ที่ใช้สิทธิได้จะเป็นผู้ที่ส่งประกันสังคมไม่ครบ 7 เดือนเท่านั้นค่ะ” เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลอธิบาย สุพัตราจึงกดโทรศัพท์และขอให้เจ้าหน้าที่ สปสช. ได้เจรจากับเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพ คุยกันอยู่พักใหญ่สุดท้ายศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลก็ยังยืนยันไม่ให้เธอใช้สิทธิ แถมยังบอกว่า ไม่มีนโยบาย หากต้องการใช้สิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้ไปขอใช้สิทธิที่สถานพยาบาลอื่นแทน  จะเรียกว่าเป็น “ไล่” อย่างสุภาพก็ว่าได้เมื่อการใช้สิทธิล้มเหลว สุพัตราจึงโทรคุยกับเจ้าหน้าที่ สปสช. อีกครั้ง เจ้าหน้าที่แจ้งว่าแม้ สปสช.จะมีนโยบายดังกล่าว แต่ สปสช. ไม่มีอำนาจบังคับให้โรงพยาบาลทำตามนโยบายดังกล่าวได้“เอ้า...แล้วมันจะเรียกว่านโยบายได้ไงน่ะ เที่ยงนี้ขนมจีนอย่ากินดีกว่า มันคงไม่มีน้ำยาเหมือนกัน” สุพัตราบ่นกับตัวเองพร้อมควักเงิน 760 บาทเป็นค่าดำเนินการฝากครรภ์ให้กับโรงพยาบาล ก่อนนำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาหลังรับเรื่องร้องเรียน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ตรวจสอบที่มาที่ไปในสิทธิการรับบริการสาธารณสุข การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ได้พบความเป็นมาว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ดำเนินงานภายใต้นโยบายสาธารณสุขที่ต้องการให้ประชาชนได้รับบริการทางสุขภาพทั้งด้านการรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสภาพ การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคอย่างมีมาตรฐาน เสมอภาค และเท่าเทียมกัน รวมถึงการพัฒนาสุขภาพโดยเฉพาะเรื่องการลดอัตราตายของเด็กและทารก อัตรามารดาตาย การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่สำคัญ เป็นต้น จึงได้ดำเนินการแปลงนโยบายที่ว่าสู่การปฏิบัติเพื่อให้มีการดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง มีระบบบริการเน้นการดูแลในระดับ Primary care และในชุมชน โดยจัดให้มีบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์จนถึงวัยสูงอายุโดยการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัว/ตามกิจกรรมหรือตามผลงานบริการ ภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์ที่กำหนด นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ผู้มีสิทธิอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้น และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขในอนาคต  โดยเปิดให้ผู้ที่ใช้สิทธิประกันสังคมและสิทธิราชการ สามารถใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้จากเอกสารเผยแพร่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพยังยืนยันว่า ผู้มีสิทธิประกันสังคมสามารถเข้าขอใช้สิทธิการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ ไม่ใช่แค่การฝากครรภ์ แต่ยังรวมไปถึงการวางแผนครอบครัวแบบชั่วคราว ทั้งการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด ห่วงอนามัย แม้กระทั่งการจะขอรับการตรวจหามะเร็งปกมดลูก ผู้ใช้สิทธิประกันสังคมสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้เมื่อได้ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว มูลนิธิฯจึงได้ทำหนังสือเรียนถึง ประธานคณะกรรมการคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขเพื่อให้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้ในเวลาต่อมาได้มีการประสานงานระหว่าง สปสช. กับโรงพยาบาลราชวิถีอีกครั้ง และมีการยินยอมให้สุพัตราสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้ เนื่องจากการฝากครรภ์อยู่ในบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ให้ความคุ้มครองแก่คนไทยทุกคน โดยต้องเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพประเด็นนี้ทำให้เห็นจุดอ่อนใหญ่ๆ 2 จุด คือ ความคุ้มครองด้านสุขภาพของประกันสังคมใครอยากใช้สิทธิต้องควักเงินก่อนและมีข้อจำกัดของวงเงินซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และเน้นให้ความคุ้มครองด้านการรักษาแต่ไม่เน้นด้านการป้องกัน ขณะที่นโยบายในความคุ้มครองของหลักประกันสุขภาพแม้จะมีนโยบายที่ดีมุ่งหวังดูแลประชาชนถ้วนหน้าแต่ยังมีการปฏิบัติที่ไม่ถ้วนหน้าจากสถานพยาบาลบางแห่งหรือบางครั้งอยู่ จำเป็นที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะต้องวางกรอบระเบียบแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิได้อย่างแท้จริงต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 ไฟฟ้าดับ 14 จังหวัด

หลายท่านคงยังจำเหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั้ง 14  จังหวัดในภาคใต้ได้ดี  และหลายคนคงจะยังงงๆ  เหมือนผู้เขียนที่ว่ามันเกิดขึ้นได้ไง?  ก็เลยตามข่าวสารมาเล่าสู่กันฟัง   การเกิดเหตุไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้   วันที่  21  พฤษภาคม 2556   ความเข้าใจตามข่าวคือ ดับ 14 จังหวัด แต่เรื่องจริงคือ ดับ 16 จังหวัด เพราะนอกจาก ชุมพร  ระนอง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต กระบี่ สตูล สงขลา   สุราษฎร์ธานี ตรัง และยะลา  แล้วยังมีเพชรบุรีบางส่วน(ตั้งแต่อำเภอบ้านลาดลงไป) และประจวบคีรีขันธ์ทั้งจังหวัดด้วยโอ้โฮ!  มันกว้างขวางใหญ่โตมากนะ ความเดือดร้อนเสียหายจากไฟฟ้าดับงวดนี้   ตามมาด้วยเสียงโหยหวน ของ รมต.พลังงาน และผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต  มันเกิดจากเหตุสุดวิสัย  ฟ้ามันผ่า ไม่มีใครผิด   ก็ยิ่งกระตุ้นต่อมสงสัยให้ขยายกว้างมากขึ้นดังนี้1.ในพื้นที่ภาคใต้มีแหล่งผลิตไฟฟ้าอยู่หลายโรง และมีปริมาณการผลิตจำนวนมาก ทั้งโรงไฟฟ้าขนอม ผลิตได้ 824 เมกกะวัตต์ โรงไฟฟ้ากระบี่ ผลิตได้ 340 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้ารัชประภา ผลิตได้       240  เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าบางลาง  ผลิตได้ 73.3  เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้ากลัฟยะลากรีน ผลิตได้ 20.2 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าจะนะ ผลิตได้  731 เมกะวัตต์  เป็นต้น แต่ทำไมเมื่อเกิดเหตุที่จอมบึงไฟฟ้าในพื้นที่ถึงใช้สำรองไม่ได้  มีการบริหารจัดการอย่างไรจึง ปล่อยให้ให้เกิดความเสียหายร้ายแรงเช่นนี้2. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีแผนการซ่อมบำรุงล่วงหน้า แต่ทำไมไม่มีการแจ้งเตือน ไม่มีการเตรียมแผนฉุกเฉินในการรองรับปัญหาในกรณีเกิดไฟฟ้าไม่พอใช้หรือไฟฟ้าดับ  ทั้งนี้จากประสบการณ์ทั้งกรณีไฟฟ้าดับที่จังหวัดภูเก็ต หรือกรณีการหยุดจ่ายก๊าซจากประเทศพม่า  และกรณีไฟฟ้าดับที่เกิดขึ้นที่ เกาะสมุย  น่าจะเป็นบทเรียนที่ชัดเจนสำหรับการเตรียมพร้อม  มิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย แต่กลับปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายให้กับผู้ใช้พลังงานในวงกว้าง 3. เหตุที่เกิดขึ้น เกิดจากนโยบายการบริหารพลังงานที่ผิดพลาดหรือไม่? การที่บริหารแบบรวมศูนย์อำนาจการสั่งการและการผลิตไว้ที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไว้ในส่วนกลาง  สร้างความมั่นคงในด้านพลังงานได้จริงหรือ?  เพราะทันทีที่ไฟฟ้าดับ  ก็มีผู้มีอำนาจออกมาส่งเสียงว่าต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม ทั้งที่หากเริ่มสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินวันนี้อย่างเร็วต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 4 ปี จึงจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้  ดังนั้นการมีเป้าหมาย ในการผลิตไฟฟ้าไว้ที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่  สามารถทำให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าได้จริงหรือไม่?4. การที่ปล่อยให้มีการผูกขาดแผนขาดแผนพลังงานไว้เพียงในส่วนกลาง  ส่งผลให้เมื่อเกิดไฟฟ้าดับ เป็นสาเหตุให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในพื้นที่ท่านผู้อ่านล่ะสงสัยเหมือนเรามั้ย?  หากสงสัยโปรดติดตามตอนต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 ปีนต้นยางโทรมือถือ

ช่วยหน่อยครับเดือดร้อนจริงๆคุณสัญชัยร้องเรียนมาว่า ตัวเองและคนทั้งหมู่บ้านใช้วันทูคอลของเอไอเอสเพราะเชื่อว่าเป็นข่ายมือถือที่มีสัญญาณแรงที่สุดไปถึงท้องที่ถิ่นทุรกันดาร แต่ที่บ้านหนองตำเสา หมู่ 5 ต.ที่วัง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ช่างเป็นพื้นที่อาภัพอับสัญญาณมือถือสุดๆ ตลอดวันตลอดเวลาพื้นที่แห่งนี้มีขีดสัญญาณขึ้นมาแค่ขีดเดียวถ้าจะโทรสักครั้งต้องขึ้นโทรบนต้นยางพารา ไม่งั้นก็ขึ้นควน(เนินเขา) แถวนั้นอับสัญญาณขอร้องละครับ ท่านผู้บริหารทุกท่าน”คุณสัญชัยได้ร้องเรียนปัญหานี้ไปที่เอไอเอสตั้งแค่ปลายปี 2553 ซึ่งเจ้าหน้าที่เอไอเอสก็ต้อนรับขับสู้ด้วยดีมาโดยตลอด ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบในพื้นที่ พบว่าพื้นที่นี้เป็นจุดบอดสัญญาณทั่วทั้งหมู่บ้าน และจะแก้ไขปัญหาด้วยการติดตั้งเสาสัญญาณเพิ่มในหมู่บ้าน แต่ก็ติดขัดเรื่องพื้นที่ๆ จะใช้ติดตั้งเสา ปัญหาดังกล่าวก็ติดขัดมาเรื่อย จนคุณสัญชัยบอกว่าร้องมาร่วม 3 ปีแล้วปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ถึงปี 2555 จึงร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาเดือนกรกฎาคม 2555 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ทำหนังสือประสานไปที่ฝ่ายรับเรื่องร้องเรียนของเอไอเอสและสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต่อมาได้รับคำชี้แจงจากเอไอเอสว่า ได้ส่งหน่วยสำรวจไปพื้นที่ที่ได้รับแจ้งแล้ว ทำให้ทราบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีผู้ใช้เอไอเอสเฉพาะหมู่บ้านนี้เท่านั้น และกรณีร้องเรียนเรื่องไม่มีสัญญาณมือถือมีเข้ามาค่อนข้างมาก ดังนั้นเวลาผู้ใหญ่ของเอไอเอสจะพิจารณาแก้ไขปัญหา จึงมีเงื่อนไขเรื่องความคุ้มทุนด้วยนอกเหนือจากการจัดลำดับก่อนหลังของเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามา กรณีนี้อาจใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯได้แย้งว่า ในการที่เอไอเอสขายบริการให้ลูกค้า แม้ว่าลูกค้าจะมีเพียงจำนวนน้อย แต่เอไอเอสต้องรับผิดชอบในการขาย โดยการเปิดให้ลูกค้าสามารถใช้งานมือถือได้ตามปกติ เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนของเอไอเอสแจ้งว่า ตนไม่มีอำนาจในการตัดสินใจแต่แนะนำว่า ให้มูลนิธิฯ ส่งหนังสือทวงถามไปที่เอไอเอสอีกครั้ง เพื่อให้ผู้ใหญ่ของเอไอเอสเห็นว่าไม่ได้ทิ้งกรณีนี้และเป็นการกดดันอีกครั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2556 มูลนิธิฯ จึงได้ทำจดหมายทวงถามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหานี้อีกครั้ง และหลังจากนั้นได้โทรติดตามความคืบหน้าเรื่อยมาจนได้รับทราบความคืบหน้าอีกครั้งว่า เหตุที่สัญญาณมือถืออ่อนในบริเวณหมู่บ้านดังกล่าว เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขา สวนยางพาราหนาแน่น และบ้านเรือนอยู่กระจายตามพื้นที่สวนยางพารา บริษัทฯ ได้ดำเนินการปรับทิศทางสายอากาศและปรับกำลังส่งให้เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ครอบคลุมการใช้งาน บริษัทฯ จึงพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นโดยการติดตั้งอุปกรณ์เสาสัญญาณเพิ่มเติม ซึ่งเอไอเอสได้ทำการติดตั้งเสาสัญญาณเพิ่มเติมเสร็จเรียบร้อยในเดือนมิถุนายน 2556เดือนกรกฎาคม 2556 มูลนิธิฯ โทรสอบถามไปที่คุณสัญชัย ได้รับแจ้งว่า มือถือสามารถใช้งานได้ตามปกติ สัญญาณเต็ม  ไม่ต้องปีนต้นยางโทรกันอีกแล้ว รวมเวลาการร้องเรียนทั้งของผู้บริโภคและของมูลนิธิฯ กว่าจะได้เสาสัญญาณมือถือ 1 ต้นจากเอไอเอสใช้เวลาร่วม 3 ปี เหนื่อย...ไม่เบา  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 ต่อเน็ตดีแทคไม่ติด

มือถือ ไม่ว่าจะมีของดี มีสรรพคุณเลิศเลอแค่ไหน แต่หากเครือข่ายเจ้าของสัญญาณคุณภาพบริการแย่ ค่าของมือถือก็ตกไปด้วยซัมซุง กาแลคซี่ เอซ พลัส เปิดตัวในเดือนกรกฎาคม 2555 ด้วยราคาเกือบ 9,000 บาท เป็นสมาร์ทโฟนที่มีสรรพคุณล้นหลาม รวมทั้งเล่นอินเตอร์เน็ตได้ พรพรรณซื้อมาใช้เมื่อพฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมาจากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง พร้อมกับซื้อซิมดีแทค สมาร์ทโฟนมาใช้กับมือถือ จ่ายรายเดือน 399 บาท เพราะเชื่อฝ่ายขายว่า เร็วและดี เล่นเน็ตได้ไม่จำกัดพรพรรณบอกว่า ได้ซิมมาใช้งานได้ไม่ถึงสิบวัน สัญญาณเครือข่ายเริ่มไม่เสถียร เชื่อมเน็ตไม่ได้บ่อยครั้ง ต้องโทรไปหาคอลเซนเตอร์แจ้งปัญหาและให้แก้ไขอยู่หลายเที่ยว คอลเซนเตอร์ของดีแทคบอกให้นำมือถือไปให้ศูนย์ซัมซุงตรวจสอบก่อน เอาให้ซัมซุงตรวจสอบแล้วก็ยังต่อเน็ตไม่ได้ กลับมาที่ศูนย์ดีแทคจึงได้จัดการเปลี่ยนซิมให้ใหม่หลังได้ซิมใหม่ดีใจได้ไม่กี่วัน เป็นอีกแล้วอาการเดิม เล่นเน็ตไม่ได้เดี๋ยวโผล่เดี๋ยวหาย จนเมื่อครั้งไปเที่ยวอัมพวากะถ่ายรูปแชร์ให้กระหน่ำซะหน่อย คราวนี้เน็ตหายไปเลยเล่นไม่ได้เลย“เคยจ่ายเงินซื้อเพิ่มไปอีก 150 บาท หวังว่าจะได้ความเร็วความแรงเพิ่มขึ้น ปัญหาสัญญาณเน็ตไม่เสถียรก็ยังเหมือนเดิม”“ไม่รู้ว่าจะต้องเสียค่าโทรไปคอลเซนเตอร์อีกสักกี่ครั้ง และไม่ได้ใช้งานต่อเนื่องมาหลายวัน แต่ต้องจ่ายค่าซิมรายเดือนอีก 399 บาท กับอีก 150 บาทที่ใส่เพิ่มเข้าไป ดิฉันรู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบจากเครือข่ายนี้มากค่ะ” “อยากให้มูลนิธิฯช่วยเหลือเจรจาให้ดีแทคปรับส่วนลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ดิฉันไม่ได้ใช้งานให้ด้วยค่ะ” พรพรรณร้องขอ แนวทางแก้ไขปัญหากรณีปัญหาเกี่ยวกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตแบบ WiFi ของดีแทค ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ที่ บริษัท ดีแทค บรอดแบนด์ จำกัด โดยบริษัทฯได้จัดทำประกาศ หลักเกณฑ์คุ้มครองผู้ใช้บริการ การรับเรื่องร้องเรียนและกระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนไว้ตามกฎหมาย  โดยหากร้องเรียนเป็นหนังสือหรือไปด้วยตนเองติดต่อได้ที่ บริษัท ดีแทค บรอดแบนด์ จำกัด เลขที่ 319 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 32 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือร้องผ่าน Call Center ให้ใช้เบอร์โทร. 1678 ผู้ร้องเรียนมีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งผู้ร้องเรียนไว้วางใจเข้าร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาการร้องเรียนได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ในการยื่นเรื่องร้องเรียนดีแทคจะไม่คิดค่าธรรมเนียม ค่าบริการ และค่าใช้จ่ายการที่ผู้บริโภคร้องผ่านมูลนิธิฯ จึงถือได้ว่าผู้บริโภคให้ความไว้วางใจให้มูลนิธิฯ เข้าร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาการร้องเรียนได้ตลอดเวลา มูลนิธิฯ จึงใช้สิทธินี้ติดตามเรื่องอย่างใกล้ชิดเหมือนดั่งรมหายใจที่รดต้นคอดีแทค14 มิ.ย.56 มูลนิธิฯ โทรติดตามผลการแก้ไขปัญหาที่คอลเซนเตอร์ดีแทค 1678 เจ้าหน้าที่ดีแทคแจ้งว่า ได้ติดต่อผู้ร้องเรียนเพื่อแจ้งผลการดำเนินการ 2 วันติดกัน แต่ผู้ร้องไม่รับสาย เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ จึงแจ้งกับดีแทคว่า สามารถแจ้งความคืบหน้ากับมูลนิธิฯ ในฐานะตัวแทนดำเนินการแทนผู้ร้องได้เลย เจ้าหน้าที่ดีแทคแจ้งว่าขอเวลาอีก 2 วันแล้วจะแจ้งกลับ พอวางสายมูลนิธิฯ ได้โทรกลับไปที่ผู้ร้องถามว่า ดีแทคได้เคยติดต่อมาจริงหรือไม่ ผู้ร้องแจ้งว่าไม่มีการติดต่อใดๆ จากดีแทค เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนของมูลนิธิฯ จึงโทรติดต่อกลับไปที่ดีแทค 1678 อีกครั้ง แจ้งว่าผู้ร้องยืนยันว่าไม่มีการติดต่อใดๆ จากดีแทค พร้อมทั้งตำหนิที่ดีแทคทำงานล่าช้า ดังนั้น ควรรีบดำเนินการแก้ไข ดังนี้(1)   ปรับลดค่าบริการ หากตรวจสอบพบว่าไม่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตจริง(2)   ปรับปรุงระบบสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ผู้บริโภคสามารถใช้งานได้ตามปกติ18 มิ.ย.56 มูลนิธิฯได้โทรกลับไปที่ดีแทค 1678 เพื่อติดตามผลการแก้ไขปัญหา ได้รับแจ้งว่า ดีแทคได้แก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้องเรียนเรียบร้อยแล้ว ดังนี้(1)   ปรับลดค่าบริการให้เป็นเงินรวม 450 บาท โดยจะทำการลดให้แบบแบ่งจ่ายเดือนละ 150 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เป็นผลให้บิลเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากเดิมผู้ร้องต้องจ่ายเดือนละ 399 บาทปรับลดเหลือจ่ายเดือนละ 249 บาทรวม 3 เดือน โดยจะเริ่มปรับลดจากรอบบิลของวันที่ 31 ก.ค.56 เป็นงวดแรก(2)   ปรับปรุงระบบสัญญาณให้ผู้ร้องสามารถใช้งานได้ตามปกติและเร็วขึ้น9 ก.ค.56 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้โทรสอบถามผู้ร้องถึงผลการใช้อินเทอร์เน็ต ได้รับแจ้งว่า สัญญาณโอเค เร็ว และสามารถใช้งานได้เป็นปกติ ไม่ว่าอยู่ในพื้นที่ไหน และเสมอต้นเสมอปลาย ไม่มีปัญหาการเชื่อมต่อไม่ได้แล้ว  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 ชอบของจัดโปรโมชั่น ระวังสินค้าหมดอายุ

“ซื้อ 1 แถม 1” ถือเป็นข้อความโดนใจของนักช้อป ถ้าเจอโปรโมชั่นแบบนี้จากของที่ไม่เคยซื้อเคยกินก็ต้องเปลี่ยนใจรีบซื้อทันที เป็นกลยุทธ์การขายที่ใช้ได้ดีมาตลอดสานีต้องหยุดเดินทันทีเมื่อเห็นป้าย “ซื้อ 1 แถม 1” ของเครื่องดื่มนมผสมงาดำ เนเจอร์อัพสูตรบิวตี้ไซน์ ในบิ๊กซีซูเปอร์มาร์เก็ตย่านราชดำริ พอดูรายละเอียดแล้วยิ่งน่าสนใจใหญ่เพราะไม่ใช่แค่ซื้อกล่องแถมกล่อง แต่แถมเป็นแพ็คเลย แพ็คละ 3 กล่องจัดวางกันเป็นคู่ขาย 36 บาท ประหยัดตั้ง 18 บาท แต่วันนั้นสานีดีใจสุดๆ หยิบมา 4 แพ็ค จ่าย 72 บาท ในใจคิดได้ฟรี 2 แพ็คประหยัดไปตั้ง 36 บาทแน่ะพอกลับมาถึงบ้านก็จับกล่องเจาะดื่มเลย ปรากฏว่านมรสชาติออกแนวเสียๆ บ้วนทิ้งแทบไม่ทัน เลยต้องตรวจสอบฉลากขนานใหญ่ พบ 2 แพ็คที่ติดมาเป็นของแถมฉลากแสดงวันที่หมดอายุมันผ่านเลยมาแล้วร่วมเดือน จึงนำเรื่องนี้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจ แต่ยังชั่งใจไม่ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการรับทราบ เพราะคิดว่าห้างคงไม่ได้ตั้งใจหลอกขายสินค้าให้ผู้บริโภคต่อมาอีกวัน ไปที่ห้างเดิมไปซื้อไก่สดมาปรุงอาหาร ยี่ห้อ KCF ของบริษัท เกษมชัยฟาร์มกรุ๊ป จำกัด พอนำกลับมาถึงบ้านเพิ่งสังเกตฉลาก อั๊ยย่ะ หมดอายุไปแล้ว 3 วัน ตัดใจต้องทิ้งลงถังขยะไม่กล้าฝืนใจนำไปทำอาหาร “โอ้ย...ทำไมฉันถึงซวยอย่างนี้” แนวทางแก้ไขปัญหาสานีแบกเอาปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องสองวันติดกันและเกิดจากห้างเดียวกันมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อเราตรวจสอบข้อเท็จจริงกันแล้วเห็นว่า แม้ว่าผลิตภัณฑ์อาหารจะมีการแสดงฉลากของอาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 194 พ.ศ.2543 ครบถ้วน แต่การนำมาจำหน่ายหลังวันหมดอายุไปแล้วทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารเข้าลักษณะไม่ปลอดภัยในการบริโภค มีสรรพคุณไม่เป็นที่เชื่อถือ หรือมีคุณค่าหรือคุณประโยชน์ต่อร่างกายในระดับที่ไม่เหมาะสม ซึ่งผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายอาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 25(4) ของ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ได้ มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิของผู้บริโภคโดยตรงและผู้ประกอบการได้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้เชิญผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาเจรจาเพื่อพิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้บริโภค ผลของการเจรจาห้างบิ๊กซีตกลงให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บริโภคเป็นเงิน 10,000 บาทผู้บริโภคยอมรับ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอขอบพระคุณห้างบิ๊กซีที่ใส่ใจในการปกป้องสิทธิของผู้บริโภคอย่างจริงใจ และได้นำปัญหาข้อร้องเรียนไปพัฒนาปรับปรุงการบริการให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 ซื้อประกันสุขภาพ แค่ป่วยครั้งเดียว ถูกบอกเลิกสัญญาแล้ว

เป็นที่ยอมรับกันว่าประเทศไทยประสบผลสำเร็จในด้านทั้งการคุมกำเนิด  การสาธารณสุข  จนส่งผลให้อัตราการเกิดใหม่ลดลง   และผู้สูงอายุ   อายุยืนมากขึ้น  จนทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวลเรื่องที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเมื่อมีผู้สูงอายุมากขึ้น สิ่งที่ตามมาด้วยคือ ธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เติบโตอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะธุรกิจด้านการประกันสุขภาพ  เราๆ ท่านๆ ก็คงเห็นเหมือนกันว่ามีการโฆษณาเกี่ยวกับธุรกิจประกันสุขภาพมากมาย  โดยแต่ละบริษัทออกแบบโฆษณาเพื่อเรียกลูกค้ากันแบบหมัดต่อหมัด เช่น ประกันสุขภาพไม่ต้องตรวจสุขภาพ  วงเงินที่จะได้รับสูงขึ้น  มีการกำหนดเวลา  หากไม่เป็นโรคคืนเงินปีสุดท้าย  เป็นต้นฟังแล้วก็ดีนะ! ประกันไว้เมื่อเจ็บป่วยจะได้ไม่เดือดร้อนลูกหลาน   แต่เรื่องจริงไม่เป็นเช่นนั้น   มีกรณีร้องเรียนการประกันสุขภาพเข้ามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในภาคตะวันตก หลายเรื่องและเรื่องร้องเรียนคล้ายๆ กันคือ   ตอนจะซื้อประกันสะดวกมาก สามารถซื้อติดต่อกันได้ในหลายปี(หากยังไม่ป่วย)เหตุจะเกิดต่อเมื่อผู้ซื้อประกันเจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษาตัว(ซึ่งผู้สูงอายุเมื่ออายุสูงขึ้นก็ต้องป่วยมากขึ้น)และเมื่อเจ็บป่วยบริษัทประกันก็บริการจ่ายสินไหมค่ารักษาดีตามที่สัญญากำหนด  แต่...เหตุเกิดหลังจากนั้นคือ  หลังจากบริษัทจ่ายเงินค่ารักษาแล้ว ก็ตามมาด้วยเอกสารขอเลิกสัญญาการเอาประกันของผู้ซื้อประกัน  พร้อมข้อเสนอขอคืนเงินต้นที่ซื้อประกันในปีนั้นให้ทั้งหมด  ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน   ทำให้ผู้ซื้อประกันมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม  เพราะจ่ายเงินซื้อประกันไปฟรีๆหลายปีเพื่อต้องการการคุ้มครองยามเจ็บป่วย กลับถูกบอกเลิกสัญญาผู้เขียนได้มีโอกาสคุยกับ “ป้าประเทือง  พูลทั่วญาติ”  ก่อนจะคุยกันรู้เรื่องก็ได้เหนื่อย...กันเลยที่เดียว  คำพูดหนึ่งที่ป้าประเทืองพูดซ้ำหลายครั้งคือ  “ตอนนี้ใครมาชวนฉันซื้อประกัน ฉันจะด่ามันให้เจ๊ง..เลย.. ไม่เอาอีกแล้วประกันเนี่ย..มันเอาเปรียบ..ทีเงินเรามันจะเอา พอมันจะเสีย เสือก...บอกเลิกสัญญา” ดังนั้นเมื่อปัญหาคือบริษัทบอกเลิกสัญญา เมื่อผู้เอาประกันเริ่มเจ็บป่วย..    มันไม่น่าจะเป็นธรรม จึงลองหาข้อมูล  โดยโทรไปที่สายด่วน คปพ.(คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) 1186   ก็ได้ข้อมูลมาว่า   การที่บริษัท บอกเลิกสัญญา กับผู้เอาประกันนั้น  ไม่ผิด บริษัทมีสิทธิบอกเลิกสัญญากับผู้ซื้อประกันได้ ทันทีที่บริษัทเห็นว่า “จะเกิดความเสี่ยงกับบริษัท”   โดยข้อกำหนดนี้เป็นไปตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ทั่วไปเขียนถึงตรงนี้ยิ่งรู้สึกรันทดใจ กับผู้ที่มาร้องเรียน   เพราะการโฆษณาไม่ได้บอกเหตุผลในการบอกเลิกสัญญา(มันผิด พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค  คือผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน) แต่ปัจจุบัน  มีแต่การโฆษณาชักจูง เพียงอย่างเดียว  เรื่องนี้ผู้เขียนได้หารือนอกรอบกับเลขา สคบ.คนปัจจุบัน  ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง      ว่าการทำสัญญาในลักษณะนี้   เข้าข่ายสัญญาเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม หรือไม่  ทำอย่างไรผู้บริโภคจะไม่ถูกหลอกลวงเช่นปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 ไฟใต้ดับ เหตุสุดวิสัยหรือไร้ประสิทธิภาพ

ไฟฟ้าดับเมื่อค่ำคืนของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ถือเป็นเรื่องใหญ่มากๆ เพราะเป็นปัญหาไฟฟ้าดับทั่วทั้งภาคใต้ ครบถ้วนทั้ง 14 จังหวัดในค่ำคืนนั้นประชาชนที่อยู่อาศัยทางภาคใต้ต้องตระหนกอกสั่นกันถ้วนทั่ว โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่อยู่ในสี่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อพบว่าเมืองทั้งเมืองตกอยู่ในความมืดมิดโดยไม่มีใครรู้ถึงสาเหตุ หลายคนคิดเลิยเถิดว่าเป็นการก่อการร้ายครั้งใหญ่ของผู้ไม่หวังดีเลยทีเดียววันรุ่งขึ้น 22 พฤษภาคม 2556 นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เปิดเผยเป็นทางการว่า เมื่อเวลา 18.52 น. ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 เกิดปัญหาไฟฟ้าดับในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เนื่องจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเชื่อมโยงจากภาคกลางไปสู่ภาคใต้ช่วงจอมบึง-บางสะพาน 2 ขัดข้อง ทำให้ กฟผ. ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าจากภาคกลางสู่ภาคใต้ได้ผู้ว่าการ กฟผ. ได้ขยายรายละเอียดเพิ่มเติมว่า สายส่งที่จ่ายไฟฟ้าไปยังภาคใต้มี 4 เส้น คือ สายส่ง 500 KV จำนวน 2 เส้น และสายส่ง 230 KV จำนวน 2 เส้น โดยในช่วงเช้าเวลา 08.00 น. ของวันเกิดเหตุ กฟผ. ได้ปลดสายส่ง 500KV จำนวน 1 เส้น เพื่อทำการซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม ในเวลา 17.26 น. สายส่ง 500 KV เส้นที่ 2 เกิดการชำรุดคาดว่าเกิดเนื่องจากฟ้าผ่า ทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าลงภาคใต้ได้ จึงจำเป็นต้องจ่ายไฟฟ้าผ่านสายส่งเส้น 230 KV ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ทำให้สายส่งจ่ายไฟฟ้าเกินกำลังส่งผลให้สายส่งหลุดจากระบบ ประกอบกับจากการที่ภาคใต้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอและต้องพึ่งพาการส่งไฟฟ้าจากภาคกลางผ่านสายส่งดังกล่าว โดยความต้องการใช้ไฟฟ้า ณ วันที่ 21 พ.ค. 2556 มีสูงถึง 2,200 เมกะวัตต์ ในขณะที่มีโรงไฟฟ้าภาคใต้เดินเครื่องอยู่ 1,600 เมกะวัตต์ ทำให้โรงไฟฟ้าอื่นในภาคใต้ อาทิ โรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้าจะนะ และโรงไฟฟ้าเขื่อนรัชชประภา ถูกปลดออกจากระบบโดยอัตโนมัติเนื่องจากความถี่ไฟฟ้าลดลงต่ำกว่ามาตรฐาน 50 Hz (เฮิร์ต) เพื่อความปลอดภัยของโรงไฟฟ้ากฟผ. ได้เร่งแก้ไขสถานการณ์  ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าทุกโรงในภาคใต้อย่างเต็มกำลังการผลิต รวมทั้งยังเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซลที่ จ.สุราษฎร์ธานี และทางมาเลเซียได้ส่งไฟมาช่วยอีก 200 เมกะวัตต์ ทำให้สามารถจ่ายไฟให้ประชาชนได้ทั้งหมดเมื่อเวลา 23.00 น.ต่อมากระทรวงพลังงานได้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว ซึ่งได้มีผลสรุปออกมาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2556 โดยนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ได้เปิดเผยว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของ กฟผ. เนื่องจากเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าได้พยายามควบคุมการจ่ายไฟตามคู่มือปฏิบัติที่กำหนดไว้ทุกขั้นตอนแล้ว แต่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ สำหรับสาเหตุสรุปได้ 3 ประเด็น คือ 1.สายส่ง 500 เควี จอมบึง-บางสะพาน 2 วงจรที่ 2 ถูกปลดเพื่อบำรุงรักษาฉุกเฉิน (Unplanned) 2. เกิดฟ้าผ่าบนสายส่ง 500 เควี จอมบึง-บางสะพาน 2 วงจรที่ 1 และ 3. ระบบ HVDC ที่ กฟผ. รับไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียเกิดขัดข้องทำให้ระบบไฟฟ้าของภาคใต้ถูกแยกออกจากระบบไฟฟ้าหลักของประเทศ หลังจากนั้นก็เกิดไฟฟ้าดับทั้ง 14 จังหวัดในภาคใต้  ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายในระยะเวลาที่สั้นมาก คือประมาณ 5.2 วินาทีทั้งนี้ หลังเกิดเหตุการณ์ กฟผ. เริ่มทยอยนำสายส่งเชื่อมโยงระหว่างภาคกลางกับภาคใต้ ทั้งระบบ 500 เควี และ 230 เควี เข้าใช้งานตามลำดับ เพื่อใช้ในการเริ่มเดินเครื่องโรงไฟฟ้า สามารถเริ่มจ่ายไฟฟ้าให้กับสถานีไฟฟ้าแรงสูงหลังสวน จังหวัดชุมพรเป็นแห่งแรก ตั้งแต่เวลา 19.05 น. และสามารถทยอยจ่ายไฟฟ้าครบทุกสถานีไฟฟ้าแรงสูงในภาคใต้ของ กฟผ. ในเวลา 20.12 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามคู่มือปฏิบัติที่กำหนดไว้ในทุกขั้นตอนขณะที่นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ กล่าวว่า การเกิดไฟฟ้าดับที่ภาคใต้ที่ผ่านมาถือเป็นเหตุสุดวิสัย ดังนั้นจึงไม่ต้องมีผู้รับผิดชอบ ส่วนความเสียหายที่เกิดจากการซื้อไฟฟ้าของมาเลเซียมาชดเชยชั่วคราว 380 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงิน 13 ล้านบาทนั้น ต้องกลายเป็นภาระที่ประชาชนต้องแบกรับแทน โดยจะมาเกลี่ยเป็นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ในงวดถัดไป (ก.ย.-ธ.ค.2556) ซึ่งคิดเป็นค่าเอฟทีที่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่มไม่ถึง 1 สตางค์ต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม เรกูเลเตอร์ยังเหลือเงินค่าปรับที่เรียกเก็บจากหลายส่วนในหลายกรณีอีกกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำมาเกลี่ยเป็นค่าเอฟทีของประชาชนในงวดหน้าทั้งหมด จบข่าว. ข้อค้นพบและข้อสังเกตแม้ว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงพลังงานจะมีผลสรุปว่าเป็นเหตุสุดวิสัย (สื่อบางสำนักบอกว่า เป็นผลสรุปที่เป็นไปตามคาด) แต่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีข้อค้นพบและข้อสังเกตว่าปัญหาไฟฟ้าภาคใต้ดับทั่วทั้งภาคอาจไม่ใช่เหตุสุดวิสัย แต่จะเป็นความบกพร่องในการบริหารจัดการในการผลิตและการส่งไฟฟ้าหรือไม่นั้น ชวนมาร่วมพิจารณากัน สถานการณ์กำลังผลิตไฟฟ้า...ยืนยันว่า กำลังผลิตไฟฟ้าของภาคใต้มีเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาค ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้รวบรวมข้อมูลกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของภาคใต้ ทั้งจากเว็บไซต์ของ กฟผ. และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงงาน และการยืนยันข้อมูลจาก อ.เดชรัต  สุขกำเนิด นักวิชาการที่ติดตามด้านกิจการไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด พบว่า กำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้มีทั้งหมด 2,494 เมกะวัตต์  ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมกำลังไฟฟ้าจากสายส่งภาคกลาง 600 เมกะวัตต์ และจากมาเลเซีย 300 เมกะวัตต์ ซึ่งช่วยทำให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงขึ้น โดยเมื่อรวมกันแล้วจะมีกำลังไฟฟ้าสำรองทั้งหมด 3,394 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้ที่ 2,424 เมกะวัตต์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2556  เมื่อเวลา 19.30 น.2. แม้ว่ากำลังผลิตไฟฟ้าของภาคใต้จะมีปริมาณที่เพียงพอต่อปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2556 ตามที่กล่าวมา แต่นั่นก็เป็นเพียงตัวเลขและต้นทุนที่ประชาชนจ่ายผ่านค่าไฟฟ้าฐาน เพราะจากการรายงานของส่วนประชาสัมพันธ์ กฟผ. ผ่านเฟสบุ๊ค GG News และเอกสารประกอบการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของ กฟผ. ได้ให้รายละเอียดถึงโรงไฟฟ้าที่หยุดซ่อมทั้งตามแผนและซ่อมฉุกเฉิน รวมถึงปัญหาของสายส่งไฟฟ้าจากมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้มีกำลังผลิตไฟฟ้าลดลงไปอย่างมากจนอยู่สถานะที่ไม่มั่นคง โดยก่อนเกิดเหตุการณ์ไฟดับโรงไฟฟ้าในภาคใต้มีการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าหรือมีกำลังผลิตพร้อมจ่ายเพียง 1,662.2 เมกะวัตต์ หรือร้อยละ 67 ของกำลังผลิตติดตั้งทั้งหมดของภาคใต้ และเมื่อมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละวันของภาคใต้ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2,200 – 2,400 เมกะวัตต์ กฟผ. แก้ปัญหาด้วยการรับไฟฟ้าจากภาคกลางและจากมาเลเซียมาเสริม โดยก่อนเกิดเหตุการณ์ไฟดับได้รับไฟฟ้าจากภาคกลาง 430 เมกะวัตต์ และรับจากมาเลเซียเพียง 30 เมกะวัตต์  รายละเอียดของโรงไฟฟ้าภาคใต้ที่หยุดซ่อมทั้งตามแผนและนอกแผน รวมทั้งปัญหาระบบสายส่งจากมาเลเซีย มีดังนี้ 2.1            โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซขนอม จ.นครศรีธรรมราช ปลดเครื่องบางส่วนออกจากระบบเพื่อซ่อมบำรุงตามแผนตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย. - 13 มิ.ย. 56 กำลังไฟฟ้าที่ผลิตไม่ได้ 100 เมกะวัตต์ 2.2            โรงไฟฟ้าพลังความร้อนกระบี่ ปลดเครื่องออกจากระบบเพื่อทำการบำรุงรักษาตามแผน ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. - 25 พ.ค. 56 กำลังผลิตไฟฟ้าหายไป 340 เมกะวัตต์ 2.3            โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซสุราษฎร์ฯ ได้ปลดเครื่องออกจากระบบส่วนหนึ่ง เพื่อทำการบำรุงรักษาฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 56 เป็นต้นมา (ก่อนเกิดเหตุไฟดับเพียง 2 วัน)ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าหายไปราว 100 เมกะวัตต์ 2.4            โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนบางลาง จ.ยะลา  จำนวน 1 หน่วยจาก 3 หน่วย ไม่พร้อมเดินเครื่อง ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 56 ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าหายไป 24 เมกะวัตต์ 2.5            การรับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียผ่าน HVDC 300 เมกะวัต์และ HVAC 85 เมกะวัตต์ ไม่ได้รับเต็มที่ 385 MW ตามที่ทำสัญญาฯ โดยรับ-ส่งเพียงพลังไฟฟ้าขั้นต่ำคือ HVDC 30 MW เท่านั้นต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายวันแล้ว GG News ให้ข้อมูลว่าอาจเกิดจาก TNB หรือการไฟฟ้ามาเลเซีย แจ้ง Shortfall (กำลังผลิตไฟฟ้าพร้อมจ่ายไม่พอ) หรือไม่พร้อมขายให้ไทย… 2.6            รายงานของ กฟผ. และกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กเพียงแค่ 20.2 เมกะวัตต์เท่านั้น  โดยไม่ให้รายละเอียดว่า เหตุใดจึงไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่มีกำลังผลิตรวมกันกว่า 128 เมกะวัตต์ เข้ามาใส่ระบบไฟฟ้าของภาคใต้3. เมื่อสถานการณ์กำลังผลิตไฟฟ้าของภาคใต้ขาดความมั่นคง โดยสาเหตุหลักใหญ่มาจากมีโรงไฟฟ้าหยุดซ่อมเป็นจำนวนมาก ตามที่กล่าวมาในข้อ 2 ดังนั้น การถ่ายเทไฟฟ้าจากภาคกลางลงสู่ภาคใต้โดยอาศัยสายส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่ จึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้ระบบไฟฟ้าภาคใต้มีความมั่นคง โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กฟผ. ได้ทำการปรับปรุงระบบสายส่งจาก 115 กิโลโวลต์เป็น 230 กิโลโวลต์ และเพิ่มสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์(KV) เข้ามาอีก 2 เส้น เพื่อให้สามารถถ่ายเทพลังงานไฟฟ้าภาคกลาง-ภาคใต้ได้ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นตามความต้องการใช้  ดังนั้น การปลดและซ่อมสายส่งที่ลงสู่ภาคใต้ขนาด 500 กิโลโวลต์(KV) จำนวน 1 เส้น ในช่วงเช้าเวลา 08.00 น.ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 โดยปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งเส้นใหญ่ที่เหลืออยู่โดยไม่มีมาตรการหรือแผนรองรับหากเกิดเหตุฉุกเฉินทั้งโดยมนุษย์หรือธรรมชาติ นับว่าเป็นการปฏิบัติการที่ประมาทเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลดังนี้ 3.1            เป็นที่ทราบกันดีว่า พื้นที่ภาคใต้มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเคยมีการเผาหรือวางระเบิดระบบสายส่งเกิดเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง 3.2            เคยมีประวัติเกิดข้อขัดข้องในระบบส่งไฟฟ้าอยู่บ่อยครั้ง จากรายงานประจำปี 2555 ของ กฟผ. ระบุว่า ในปี 2555 เกิดข้อขัดข้องในระบบส่งไฟฟ้า ทำให้เกิดไฟฟ้าดับด้วยสาเหตุต่างๆ ที่เป็น Forced Outage (สายส่งหลุดออกจากระบบ) รวม 73 ครั้ง โดยเป็นเหตุขัดข้องจากสายส่ง 14 ครั้ง 3.3            ที่ภาคใต้มีประวัติเคยเกิดเหตุการณ์ไฟดับใหญ่มาแล้ว จากรายงานประจำปี 2555 ของ กฟผ. ระบุว่า วันที่ 22 พฤษภาคม 2555 เวลา 15.56 น. เกิดเหตุการณ์ Partial Blackout (ไฟดับทั่วทั้งจังหวัดหรือทั้งภาค) ที่ภาคใต้ตอนล่างรวม 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล รวมมีไฟดับทั้งหมด 641.4 เมกะวัตต์ นานที่สุด 26 นาที 3.4            แม้จะมีสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์เหลืออยู่ 1 เส้น และมีสายส่งไฟฟ้าขนาด 230 กิโลโวลต์เป็นตัวช่วย แต่สายส่งไฟฟ้าเส้นรองลงมานี้สามารถรับกระแสไฟฟ้าได้ไม่เกิน 400 เมกะวัตต์เท่านั้น จึงอาจมีปัญหาแรงดันที่แตกต่างกันได้ อีกทั้งไฟฟ้าที่ป้อนสู่ภาคใต้ในวันที่เกิดเหตุก็สูงกว่าคืออยู่ที่ 430-470 เมกะวัตต์4. เมื่อจะมีการซ่อมสายส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ภาคกลางและอาจทำให้ต้องลดกำลังส่งไฟฟ้าลงมาเพื่อความปลอดภัยของระบบสายส่งไฟฟ้า เหตุใด กฟผ. จึงไม่มีการเตรียมการรับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียเพิ่มขึ้น กลับยังคงใช้ไฟฟ้าจากมาเลเซียเพียงแค่ 30 เมกะวัตต์ นับเป็นความเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่ง เรื่องนี้การชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องยังไม่กระจ่าง  จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับการไฟฟ้ามาเลเซีย (Tenaga Nasional Berhad : TNB) ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนไฟฟ้าผ่านจุดเชื่อมโยงไฟฟ้า 2 จุดด้วยกัน 4.1            ระบบส่งเชื่อมโยง HVAC จำนวน 85 เมกะวัตต์ เป็นการซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะที่ทั้งสองฝ่ายตกลงทำข้อเสนอราคาขายไฟฟ้าล่วงหน้าเดือนต่อเดือนที่ 3 ระดับราคา คือ Price A (ราคาต่ำ) Price B (ราคาปานกลาง) และ Price C (ราคาสูง) ในช่วงที่เกิดเหตุ กฟผ. ไม่ได้ใช้จาก HVAC เลย 4.2            ระบบเชื่อมโยง HVDC ปริมาณซื้อขายสูงสุด 300 เมกะวัตต์ โดยเป็นการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Non-Firm ในลักษณะ Bulk Energy โดยอัตรารับซื้อไฟฟ้าคิดเป็น Tier ในปริมาณ Tier ละ 25-30 ล้านหน่วย โดยจะมีราคาลดหลั่นลงตามลำดับ ทำให้การรับซื้อไฟฟ้าปริมาณมากมีราคาเฉลี่ยถูกลง แต่ปัจจุบันรวมถึงตอนที่จะปลดสายส่งเพื่อซ่อมบำรุงในวันที่เกิดเหตุ กฟผ. กลับรับซื้อเพียง 30 เมกะวัตต์เท่านั้น และเมื่อเกิดไฟฟ้าดับทั่วทั้งภาค กฟผ. ต้องย้อนกลับไปขอซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียอย่างฉุกเฉินทำให้ถูกคิดค่าไฟที่ราคาแพงมาก (บางแหล่งข่าวบอกว่าสูงถึง 16 บาท/หน่วย)   บทสรุปแม้ว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะมีบทสรุปออกมาเรียบร้อยแล้วว่า เป็นเหตุสุดวิสัย ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯหรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในฐานะเรกูเลเตอร์ แต่ข้อค้นพบและข้อสังเกตที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นว่าบทสรุปดังกล่าว ไม่มีการกล่าวถึง ความบกพร่องในการซ่อมระบบสายส่งไฟฟ้าเส้นหลักภาคกลาง-ภาคใต้ ที่ไม่มีมาตรการรองรับหากเกิดเหตุฉุกเฉินอย่างใดอย่างหนึ่งจากมนุษย์หรือจากธรรมชาติเลย  อีกทั้งยังชี้ให้เห็นจุดโหว่ในการจัดการปัญหาไฟฟ้าดับทั้งภาคหรือทั้งประเทศอย่างเด่นชัด ว่ายังมีความบกพร่องอยู่มากและห่างไกลจากการกล่าวอ้างในโฆษณาประชาสัมพันธ์ค่อนข้างมาก  ปัญหาเหล่านี้หากไม่มีการตรวจสอบแก้ไขกันอย่างจริงจังและจริงใจ แล้วพยายามไปแก้ไขด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นที่ภาคใต้ แม้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นเหลือแต่หากบริหารจัดการไม่ดี ปัญหาไฟฟ้าดับทั่วทั้งภาคหรือทั้งประเทศก็อาจเกิดขึ้นอีกได้ไม่ยากเย็นนัก  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 ซีพี ควบรวมกิจการ เพิ่มหรือปิดทางเลือกของผู้บริโภค

ท่านผู้อ่านคงได้รับรู้เรื่องที่เครือ CP เข้าซื้อ และควบรวมกิจการค้าส่งห้างแมคโคร   เรียบร้อยโรงเรียน CP ไปแล้ว   เขียนถึงตรงนี้ อาจมีคำถามว่า “แล้วไงอ่ะ?” ก็เขามีตังค์ซื้อ   มองอย่างนั้นก็ใช่นะ!  แต่ถ้ามองมุมของผู้บริโภค  ก็มีความน่ากังวลและน่าสะพรึงกลัว อยู่หลายเรื่อง   โดยเฉพาะเรื่องการผูกขาดธุรกิจด้านอาหาร  เพราะเราๆ ท่านๆ ก็คงได้เห็นสถานการณ์  ที่ร้านสะดวกซื้อ แทรกซึมเข้าไปในทุกชุมชนด้วยทุนที่เหนือกว่า  ซึ่งได้สร้างโศกนาฏกรรม    การฆ่าตัดตอนธุรกิจโชว์ห่วย  และร้านอาหารตามสั่ง ไม่เว้นแม้แต่ร้าน “หมูปิ้ง”ที่เขียนอย่างนี้มีหลักฐานยืนยัน เพราะผู้เขียนลงพื้นที่และเข้าไปพูดคุยกับร้านโชว์ห่วยที่อยู่ติดกับร้านสะดวกซื้อตรงทางเข้าดอนหอยหลอด  เขาบอกเลยว่าของในร้านขายไม่ได้เลย  ต้องเก็บไปคืนร้านค้าในเมืองหมด  จากร้านโชว์ห่วยต้องเปลี่ยนมาทำกับข้าวใส่ถุงขายเพื่อประทังชีวิต   ซึ่งก็ยังขายยาก  เพราะในร้านสะดวกซื้อมีหมดตั้งแต่ข้าวผัดกะเพรา  ข้าวผัดแหนม   ไม่เว้นแม้แต่ “หมูปิ้ง” ฯลฯ  ดังนั้นไม่ว่าชาวบ้านจะขายอะไรก็ขายยาก เรียกว่า ธุรกิจเล็กๆ ในชุมชน  “ตายยกรัง”เราคงได้ยินเสมอว่า  ธุรกิจที่เป็นธรรมและสมดุล ต้องทำให้เกิดการ แข่งขันอย่างเสรี     ซึ่งก็ไม่เถียง  แต่ให้ “เด็กอนุบาล” มาแข่งขันกับ “นักกีฬาทีมชาติ” ยังไม่เริ่มแข่งก็เห็นผลแล้ว   แต่กรรมการในฐานะผู้บริหารประเทศ    กลับปล่อยให้ทุนใหญ่ด้านอาหาร ที่มีทุนหนากว่ามีโอกาสมากกว่าโชว์ห่วยในชุมชนกลับนิ่งเฉย   พร้อมส่งเสียงว่า  เราสนับสนุนการแข่งขัน ซึ่งพฤติกรรมของทุนใหญ่ที่เราเห็นอยู่ขณะนี้โหดเหี้ยม  มุ่งกอบโกยโดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมใดๆ   ปิดทางทำมาหากินของชุมชนทุกช่องทาง  เพื่อให้ธุรกิจตนเองเติบโตและสร้างความมั่งคั่งให้กับธุรกิจในเครือข่ายของตน(ที่มีอยู่ตาย แล้วเกิดใหม่ 10 ครั้งก็กินไม่หมด) เหมือนกรรมการหลิ่วตาให้ผู้ใหญ่รังแกเด็ก  ซึ่งสิ่งที่เห็นคือธุรกิจชุมชนตายสนิทจึงต้องมีคำถามให้เราๆ ท่านๆ ได้คิดกันว่า หากองค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแล นิ่งเฉย  ปล่อยให้ทุนใหญ่ไล่ล่า  ไล่ฆ่าธุรกิจชุมชนต่อไปอย่างนี้   เมื่อธุรกิจชุมชนล่มสลาย   ช่องทางที่เป็นทางเลือกของผู้บริโภคก็ต้องน้อยลง   และเมื่อทุนใหญ่ก็ครองเมือง  แม้ว่าเราจะอยากซื้อหรือไม่อยากซื้อสินค้าของทุนใหญ่ สุดท้าย เราก็ต้องซื้อ  “เพราะไม่มีทางเลือก” เราจะปล่อยให้ประเทศไทยถูกควบกิจการโดยทุนใหญ่โดยไม่คิดจะทำอะไรกันบ้าง? เลยหรือ.....(โปรดติดตามตอนต่อไป)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 ตีค่าราคามนุษย์ เยียวยาความเสียหายหรือเอาเงินฟาดหัว?

วันที่ 17 เมษายน 2556 วันสุดท้ายของโครงการ 7 วันอันตราย ตามนโยบายของรัฐบาลบนถนนสายหนึ่งในกรุงเทพมหานคร  หนุ่มสาวยังคงสนุกสนานกับการเล่นน้ำ ยิ่งรถติดยิ่งสนุกโครม!! เสียงรถเมล์สาย 15 ชนกับท้ายรถยนต์คันหนึ่ง แต่ไม่รุนแรงมากนัก ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ จึงมีการถ่ายผู้โดยสารจากรถเมล์ที่เกิดอุบัติเหตุมายังรถเมล์สายเดียวกันที่แล่นตามมา เมื่อรวมผู้โดยสารทั้งหมดมาอยู่ในคันเดียวกัน ทำให้เกิดความแออัดยัดเยียดเบียดกันมาถึงบริเวณด้านหน้ารถติดคนขับ“ผู้โดยสารด้านหน้าช่วยเขยิบด้วยครับ ผมมองกระจกข้างไม่เห็น” เสียงลุงคนขับรถเมล์ตะโกนบอกแต่ด้วยเสียงเครื่องยนต์ที่ดังทำให้ผู้โดยสารคนนั้นไม่ได้ยิน ลุงคนขับจึงขยับตัวเอื้อมมือไปสะกิดผู้โดยสารคนที่ยืนบังกระจกมองข้าง โดยที่รถยังแล่นด้วยความเร็ว และเรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นโครม!!! ลุงคนขับล้มลง ทำให้มือที่จับพวงมาลัยอยู่นั้น หักเข้าชนต้นไม้ข้างทางเข้าอย่างจัง ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บกว่า 20 รายวันที่ 23 เมษายน 2556 บริษัทประกันภัยที่รับทำประกันไว้กับรถเมล์คันที่เกิดเหตุ ได้นัดผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บมาเจรจาค่าเสียหาย วันนั้นเป็นวันธรรมดาผู้บาดเจ็บแต่ละคนต้องลางานมา  เมื่อผู้จัดการบริษัทประกันภัยมาถึง“เอ้า .. ใครก่อนดีครับ?” ผู้จัดการบริษัทประกันภัยตะโกนร้องเรียกเหมือนมาแจกของที่โรงทาน“ชั้นก่อนละกัน เดี๋ยวต้องรีบไปเปิดร้านขายของต่อ” หญิงคนหนึ่งยกมือแสดงตัว “300 พอมั้ย” ผู้จัดการคนนั้นเสนอตัวเลข โดยไม่ถามถึงความเสียหาย หรืออาการบาดเจ็บเลยแม้แต่น้อย“บ้าเหรอ  300  ชั้นหน้าบวมปูดไปตั้งหลายวันนะ ไปทำงานก็ไม่ได้ ชั้นมีใบเสร็จนะ”“ใบเสร็จนี้มันใช้ไม่ได้ มันไม่ได้ลงวันที่ .. เอางี้ ผมให้ 1,000 บาท จบเรื่องเลย ถือว่าผมช่วยละกัน” ผู้จัดการคนเดิมตอบ“ 1,000 ก็ได้ ชั้นกลัวเสียเวลา” หญิงคนนั้นตอบเมื่อตกลงตัวเลขเงินค่าเสียหายกันได้ด้วยวิธีแบบที่ว่ามา ผู้จัดการบริษัทประกันภัย จะส่งเรื่องให้ลูกน้องอีก 2-3 คน ดำเนินการเรื่องการประนีประนอมยอมความ และจัดการให้ผู้เสียหายแต่ละรายลงลายมือชื่อยอมให้รับเงินและไม่ติดใจเอาความทางคดีทั้งแพ่งและอาญาต่อไป จากนั้นผู้จัดการบริษัทประกันภัยก็ทำสิ่งที่เรียกว่า การเจรจาเพื่อเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บาดเจ็บ” แบบเดิมซ้ำๆ จนครบทั้ง 20 คนคำถามคือ มาตรฐานการชดเชยเยียวยาของประกันภัยในอุบัติเหตุรถโดยสารอยู่ตรงที่ไหน? อยู่ที่ความเขี้ยวของตัวแทนประกัน หรือควรอยู่บนที่ตั้งแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้น แนวทางแก้ไขปัญหาดร.สุเมธ  องกิตติกุล  แห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ได้ทำการศึกษา “อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ : ผลกระทบ การประกันภัย การชดเชยเยียวยา” ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ได้เปิดเผยว่า การชดเชยเยียวยาต่อผู้ประสบอุบัติเหตุจากระบบประกันภัยนั้นพบว่า วงเงินค่าเสียหายยังไม่มีความเหมาะสมเท่าที่ควรนอกจากนั้น ยังพบปัญหาการขาดการเชื่อมโยงระหว่างบริษัทประกัน ผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตอย่างบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)  และบทบาทของบริษัทประกันมีอยู่น้อยในการสร้างระบบตรวจสอบ และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารจากการกำหนดเบี้ยประกัน ดังนั้นจึงเสนอให้มีการกำกับดูแลผู้ประกอบการ ทั้งผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตและผู้ประกอบการที่ร่วมบริการอย่างเข้มงวด รวมถึงให้เข้มงวดในการให้ใบอนุญาตที่พิจารณาถึงประวัติด้านอุบัติเหตุด้วย นอกจากนี้ยังต้องสร้างกลไกของบริษัทประกันภัยในการกำหนดเบี้ยที่สะท้อนความเสี่ยงของผู้ประกอบการแต่ละรายด้วยนอกจากนี้ ดร.สุเมธได้เสนอให้มีการปรับปรุงเงินชดเชยเยียวยาความเสียหายสำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 หรือประกันภัยภาคบังคับที่รถยนต์ทุกคันต้องทำ โดยให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากไม่เกิน 15,000 บาท เพิ่มเป็นไม่เกิน 150,000 บาท ส่วนค่าชดเชยกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร ให้กับจาก 200,000 บาทเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 บาท และหากสูญเสียอวัยวะหรือพิการ ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตควรปรับให้ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 240,000 บาทและระบบประกันภัย ควรปรับปรุงแก้ไขอุปสรรคปัญหาในการเรียกร้องค่าเสียหายของผู้ประสบอุบัติเหตุ ได้แก่ ความล่าช้าในการพิสูจน์ถูก-ผิด และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การติดต่อประสานงานที่ไม่มีใบเสร็จ ทำให้ใช้เรียกร้องค่าเสียหายได้ยากด้วย

อ่านเพิ่มเติม >