ฉบับที่ 133 จะผ่อนคอนโดที่ยังไม่สร้างต่อดีไหม

คุณจันทนาถามผ่านทาง www.consumerthai.org ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมาว่า“ไปซื้อคอนโด Parc Exo ของ บ .อั่งเปา เครือณุศาศิริ เมื่อประมาณปีครึ่งที่ผ่านมา โดยโครงการประกาศว่าจะเริ่มก่อสร้าง พ.ย. 53 – มิ.ย. 55 ปัจจุบันโครงการเพียงแค่ลงเสาเข็มยังไม่ดำเนินการต่อ เนื่องจากบอกว่าติด EIA โดยทางผู้ซื้อหลายรายได้สอบถามไปทางโครงการฯ ว่าจะสร้างหรือไม่ เพื่อความมั่นใจ ทางโครงการฯ จะตอบว่าสร้างเสร็จทันแน่นอน โดยทางผู้ซื้อรวมตัวกันเพื่อจะหยุดการผ่อนชำระเนื่องจากความไม่แน่ใจ“ทางโครงการฯ แจ้งว่าถ้าหยุดผ่อนจะไม่คืนเงินให้ ไม่ทราบว่าทางกลุ่มผู้ซื้อจะทำอะไรได้บ้างคะ จะหยุดผ่อนชำระได้หรือไม่คะ โดยในสัญญาไม่ได้ระบุว่าหยุดผ่อนกี่งวดถึงจะไม่คืนเงิน” แนวทางแก้ไขปัญหาสัญญาจำพวกจะซื้อจะขายบ้านหรือคอนโดมีเนียมที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง  เป็นลักษณะสัญญาต่างตอบแทนกันและกันระหว่างฝ่ายซื้อคือผู้บริโภคกับฝ่ายขายคือผู้ประกอบธุรกิจ ฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจสัญญาว่าจะสร้างบ้านหรือห้องชุดบนที่ดินที่จัดสรรให้ ส่วนฝ่ายผู้บริโภคก็ให้สัญญาว่าจะจ่ายเงินชำระเป็นงวด ๆ แต่เมื่อฝ่ายที่จะสร้างกลับไม่สร้าง ล่าช้าเลยเถิดไปเรื่อยโดยที่ไม่ใช่ความผิดของฝ่ายผู้ซื้อ ประเมินสถานการณ์แล้วไม่น่าที่จะเสร็จได้ทันตามกำหนดเวลาที่ได้กำหนดกันไว้เป็นสัญญา และหากขืนจ่ายชำระค่างวดกันต่อไปจะทำให้ฝั่งผู้บริโภคได้รับความเสียหายเพิ่มมากขึ้น หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ กฎหมายให้สิทธิแก่ฝั่งผู้บริโภคในการบอกเลิกสัญญาได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งค่างวดในส่วนที่เหลือเพื่อรอคอยให้ถึงเวลากำหนดส่งมอบบ้านหรือคอนโดนั้น และยังมีสิทธิเรียกเงินที่ได้ชำระไปก่อนหน้านั้นคืนพร้อมทั้งดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 อีกด้วยดังนั้นหากผู้บริโภคจะหยุดชำระและบอกเลิกสัญญาขอเงินคืน ควรทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการว่าจะหยุดชำระค่างวด เพราะบริษัทไม่ดำเนินการก่อสร้างให้ทันได้ตามกำหนดที่ตกลงกันไว้ พร้อมทั้งขอเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ย และหากมีความเสียหายอื่นอีกก็สามารถเรียกร้องเพิ่มเติมได้เช่นกัน ที่สำคัญ เมื่อเจอสถานการณ์เช่นนี้ ผู้บริโภคไม่ควรเจรจาทางวาจาอย่างเดียว   เพราะจะกลายเป็นว่าไม่เคยมีการเจรจากันมาก่อนเนื่องจากไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญาได้เมื่อไม่ชำระค่างวดและจะถูกริบเงินที่ได้ชำระไปทั้งหมดได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถในขณะอยู่ในประกันมีสิทธิเลือกยี่ห้อมั้ย?

ตอนกำลังเผชิญหน้าน้ำท่วมใหญ่ มีคำแนะนำมากมายเรื่องรถยนต์ หนึ่งในนั้นก็คือ กรณีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ที่นักวิชาการด้านรถยนต์เขาแนะนำว่า หากน้ำท่วมรถไม่มาก แต่แช่น้ำอยู่นานก็ควรถ่ายน้ำมันเครื่องเสียเพื่อให้มั่นใจในการใช้รถต่อไปทีแรกได้ยินเรื่องนี้ก็ไม่ได้คิดอะไร เปลี่ยนก็เปลี่ยน  แต่เมื่อมีน้องคนหนึ่งโทรมาปรึกษาว่า  น้องเพิ่งซื้อรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิมาใช้ได้ประมาณหนึ่งปี   โดยในข้อสัญญาระบุว่ามีการประกันการใช้รถ ระยะทางจำนวน 150,000 กม.ในระยะเวลา 5 ปี  และฟรีค่าบริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องด้วย      ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รถยี่ห้อนี้ ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องกับศูนย์บริการของมิตซูเองเท่านั้น เพราะหากไปถ่ายที่อื่นหากเกิดอะไรขึ้นอาจเป็นเหตุให้บริษัทมิตซู  อ้างได้ว่าผู้ซื้อผิดกติกาของมิตซู และอาจถูกปฏิเสธการรับประกันดังกล่าวได้  ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาผู้ซื้อก็จะตัดสินใจไปถ่ายน้ำมันเครื่องที่ศูนย์ของมิตซู  (ประหยัดค่าจ้างถ่ายน้ำมันด้วย)น้องคนที่มาปรึกษามีบ้านอยู่ที่สมุทรสงครามสะดวกสุดก็จะถ่ายที่สมุทรสงคราม  แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ศูนย์มิตซูบิชิสมุทรสงคราม น้องบอกว่าไปถ่ายครั้งแรก เสียค่าใช้จ่ายไปเกือบ 3,000 บาท(ใช้น้ำมันเครื่องเชลล์) น้องก็เลยตรวจสอบสเป็กน้ำมันว่าใช้สเป็กไหน   และมีการไปเทียบราคาเพื่อจะได้ประหยัดในการถ่ายครั้งต่อไป(น้องเขาก็ฉลาดซื้อเหมือนกัน)  น้องบอกว่าน้องได้ซื้อน้ำมันเครื่องของ ปตท.ในสเป็กเดียวกัน  ซึ่งมีค่าใช้จ่ายราวๆ 1,300  บาทมาให้ศูนย์ฯ เปลี่ยนให้  แต่ศูนย์ฯ ปฏิเสธที่จะถ่ายให้บอกว่าศูนย์ฯ ขอสงวนสิทธิ ไม่ให้ลูกค้านำน้ำมันจากภายนอกเข้ามา  และอ้างว่าน้ำมันที่น้องซื้อมาเองไม่ดี  (อ้าวปตท.ว่าไง!) น้องก็ใช้สิทธิผู้บริโภค โดยการโทรหาบริษัทมิตซูส่วนกลางเพื่อสอบถามเรื่องการสงวนสิทธิของศูนย์บริการ ก็ได้รับคำตอบว่าการสงวนสิทธิไม่ใช่นโยบายของมิตซู  แต่เป็นนโยบายของแต่ละศูนย์ฯ เอง ศูนย์ฯ บอกว่างั้นก็ไปถ่ายศูนย์ฯ อื่นล่ะกัน  น้องก็บอกว่าบ้านอยู่ที่นี่ทำไมต้องเสียน้ำมันขับไปถ่ายจังหวัดอื่น  ศูนย์ฯ ก็จะยอมให้น้องคนเดียวเป็นกรณีพิเศษ  ซึ่งน้องได้ตอบปฏิเสธไปเพราะน้องบอกว่าที่น้องเรียกร้องสิทธิไม่ใช่แค่แก้ไขให้คนร้องคนเดียว  แต่ต้องปฏิบัติกับผู้ใช้บริการทุกคนอย่างเสมอภาพไม่ใช่เลือกปฏิบัติน้องถามอีกว่า...การที่ศูนย์ฯ สงวนสิทธิไม่ยอมให้ผู้บริโภคเลือกสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการ เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคหรือไม่ ?      เอาละซิ !   คำถามนี้เป็นคำถามที่ท้าทายมาก.... เพราะการกระทำของศูนย์ฯ ผิด พรบ. คุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา 4  สิทธิผู้บริโภค อนุ 2 ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกซื้อสินค้าและบริการ   ซึ่งชัดเจนว่าหรือศูนย์บริการมิตซู สมุทรสงคราม ออกระเบียบละเมิดกฎหมาย โดยใช้สัญญามาผูกมัดให้ผู้บริโภคต้องยินยอม  เรื่องนี้ผู้เขียนแนะนำให้น้องไปร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคสมุทรสงคราม(ซึ่งไม่น่าจะทำงานยาก) เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างให้ผู้ประกอบการรายอื่นที่กำลังละเมิดสิทธิผู้บริโภคเช่นนี้อีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 น้ำท่วมก่อนงานวิวาห์ ขอเรียกค่าจัดงานแต่งคืน

คุณพลวิษฐ์ ได้ฤกษ์หามยามดีกำหนดแต่งงานกับเจ้าสาวในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2554 ซึ่งไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ เลยเถิดถึงขั้น “เอาไม่อยู่” ในช่วงเวลานั้นพอดีตอนนั้นกำหนดสถานที่จัดงานแต่งไว้ที่หอประชุมกองทัพเรือ ริมแม่น้ำเจ้าพระยากะว่าได้บรรยากาศสุดๆ  ลงทุนว่าจ้างธุรกิจรับเหมามืออาชีพจัดงานแต่งอย่างเว็ดดิ้ง เซ็นเตอร์มาจัดโต๊ะจีนเลี้ยงแขกเหรื่อในวันงาน วางเงินไปถึง 70,000 บาทเป็นค่ามัดจำการจัดงานยังไม่ทันจะเริ่มทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน มวลน้ำก้อนใหญ่ก็ถาโถมถล่มเข้ากรุงเทพฯ เสียก่อนตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม เห็นแววว่าจะ “เอาไม่อยู่” ผู้คนเริ่มทยอยอพยพหนีภัยน้ำท่วมกันจ้าละหวั่น คงไม่มีใครจะมีกะจิตกะใจมางานแต่ง และขืนฝืนจัดงานไปอาจมีเพียงแค่สองบ่าวสาวลอยคอพิสูจน์รักกันอยู่กลางน้ำเป็นแน่ เลยตัดสินใจเลื่อนงานแต่งไปเป็นวันคริสมาสต์วันที่ 25 ธันวาคม 2554 และเปลี่ยนสถานที่หนีน้ำไปที่โรงแรมมณเฑียรแทนเมื่อรู้แน่ว่าจะไม่แต่งงานในวันและสถานที่เดิมด้วยเหตุมีภัยน้ำท่วม คุณพลวิษฐ์จึงมีอีเมล์แจ้งบอกยกเลิกโต๊ะจีนที่ว่าจ้างเว็ดดิ้ง เซ็นเตอร์จัดหาให้ โดยแจ้งบอกเลิกก่อนวันแต่งวันที่ 20 พฤศจิกายน เป็นเวลา 12 วัน และขอเงินค่ามัดจำ 70,000 บาทคืนคำตอบที่ผู้รับเหมาจัดงานแต่งแจ้งกลับมาคือ คุณพลวิษฐ์เป็นฝ่ายผิดสัญญา บริษัทมีสิทธิยึดเงินดังกล่าวทั้งหมด คุณพลวิษฐ์จึงตั้งคำถาม ถามมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า  การที่จะยกเลิกโต๊ะจีนเพราะมีเหตุคาดว่าน้ำจะท่วมและขอเงินมัดจำคืนในทางกฎหมายนั้น จะมีทางเป็นไปได้หรือไม่ เพราะทางบริษัทบอกแต่เพียงว่าเราเป็นฝ่ายผิดสัญญา บริษัทจึงไม่จำเป็นต้องคืนเงินมัดจำ“ผมว่ามันไม่เป็นธรรมกับผมเลยครับ” แนวทางแก้ไขปัญหาสัญญาที่ไปว่าจ้างให้ใครมาจัดงานแต่ง เป็นธุระจัดหาโต๊ะจีนมาเลี้ยงแขกแทน ต้องมีซุ้มดอกไม้ให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวยืนถ่ายรูปกับแขกเป็นที่ระลึก มีน้ำแข็งแกะสลักปล่อยให้ละลายเป็นน้ำอยู่ในงาน หรือต้องมีเค้กให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวได้ตัดแบ่งแจกเป็นทานให้กับแขกที่มาร่วมงาน กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นลักษณะของสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ.มาตรา 587 คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้นตามแต่ถ้ากิจกรรมที่จ้างไปแล้วยังทำไม่แล้วเสร็จ อาจจะทำไปแล้วเพียงบางส่วน เช่น ผู้รับจ้างเริ่มติดต่อประสานงานหาคนมาออกไอเดียว่าจะแกะน้ำแข็งเป็นรูปหมาหรือรูปควายคู่ตั้งไว้กลางงานดี จะทำซุ้มประตูเข้างานแบบไหน เค้กจะเป็นรูปอะไรจะทำกี่ชั้น ซึ่งเป็นงานทางความคิดที่ต้องดำเนินเตรียมการกันเป็นอาทิตย์ก่อนจะทำกันจริงในก่อนวันงานวันหรือสองวัน แต่เมื่อมาถูกผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาเสียกลางคันไม่ว่าเหตุที่เลิกจ้างจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม กฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 605ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ สมควรใช้วิธีการเจรจากันเพื่อที่จะตกลงจ่ายค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่ผู้รับจ้างได้ดำเนินการไป ไม่ใช่จะไปเจรจาเพื่อขอเงินค่ามัดจำคืนทั้งหมด ตรงนี้ก็จะไม่เป็นธรรมต่อฝ่ายผู้รับจ้างได้เช่นกัน เพราะเขาอาจต้องมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นแล้วในบางส่วนก็เป็นได้ผลของการเจรจาปรากฏว่า คุณพลวิษฐ์ได้รับเงินคืนเป็นจำนวน 49,000 บาท ถูกหักเป็นค่าสินไหมทดแทนสำหรับการบอกเลิกสัญญาไป 21,000 บาท เงินที่เสียไปจำนวนนี้หากคุณพลวิษฐ์พอมีเวลาอาจจะยื่นเรียกค่าเสียหายฟ้องรัฐบาลในฐานที่ประกาศว่า “เอาอยู่” แต่ถึงเวลาจริงๆ กลับ “เอาไม่อยู่” ก็ได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 ผู้บริโภคร้องฟอร์ดเฟียสต้าเหม็นไหม้

คุณลลิตา ชาวจังหวัดพิจิตร ได้ซื้อรถเก๋งฟอร์ดเฟียสต้าสีน้ำเงินจากศูนย์ฟอร์ดพิษณุโลกในราคา 699,000 บาท และทำสัญญาเช่าซื้อผ่านธนาคารแห่งหนึ่ง ผ่อนได้ไม่กี่เดือนรถก็มีปัญหาคุณลลิตาบอกว่า ตั้งแต่ได้รับรถมาก็ใช้รถตามปกติ ไม่เคยทำการดัดแปลงใดๆ กับรถเลย แต่ต่อมาไม่กี่เดือนพบอาการผิดปกติของรถ คือขณะที่ขับรถอยู่ได้กลิ่นเหม็นไหม้ที่หน้าเครื่องยนต์ จึงรับนำรถเข้าตรวจเช็คที่ศูนย์ฟอร์ดพิจิตร ศูนย์น แจ้งว่าไม่พบสาเหตุ อาจจะเป็นที่ผ้าเบรค ช่างก็ได้ถอดผ้าเบรคมาขัดและเช็ด แต่อาการเหม็นไหม้ก็ยังมีอยู่“ช่างบอกว่าให้นำรถกลับไปใช้ก่อน ถ้าอาการยังไม่หายให้นำรถเข้าตรวจเช็คที่ศูนย์ฟอร์ดพิษณุโลกที่ได้ซื้อรถมา”เมื่อนำรถกลับมาใช้อาการก็เป็นเหมือนเดิม คุณลลิตาจึงนำรถไปตรวจเช็คที่ศูนย์ฟอร์ดพิษณุโลก ในวันนั้นช่างรับรถและเปิดห้องเครื่องปรากฏว่ามีควันลอยขึ้นมา ช่างบอกว่าต้องทิ้งรถไว้เพราะไดร์ชาร์ตไหม้ ช่างบอกว่าจะเปลี่ยนให้ใหม่แต่ต้องรออะไหล่มาจากกรุงเทพฯ“ดิฉันไม่มีรถใช้เพราะต้องไปรับส่งลูกที่โรงเรียน และต้องใช้รถยนต์ขับไปทำงานทุกวัน จึงขอรถใช้ระหว่างซ่อมกับทางศูนย์ฯ”ศูนย์ฯ บอกว่าไม่มีรถสำรองให้ใช้ และไม่มีโครงการนี้ ! เมื่อเจอคำตอบแบบไร้เยื่อขาดใย คุณลลิตาก็ไม่รู้จะทำยังไง ได้แต่ทิ้งรถไว้ให้ช่าง ส่วนตัวเองก็กลับมาบ้านและคอยติดตามถามไถ่ความคืบหน้าการซ่อมรถเป็นระยะๆคุณลลิตาส่งรถเข้าศูนย์ฯ ไปตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2554 จนถึงวันที่ 19 กันยายน ปีเดียวกัน ช่างของศูนย์ฯ ก็ยังไม่สามารถชี้ชัดฟันธงได้ว่าปัญหาที่รถมีกลิ่นไหม้เวลาวิ่งนั้นเกิดจากอะไรแน่“ช่างบอกว่าเปลี่ยนไดร์ชาร์ตให้ใหม่แล้ว พอทดลองติดเครื่องและเปิดแอร์อาการก็ยังเหมือนเดิม พอถึงวันที่ 19 กันยายน ช่างประจำศูนย์ฯ จึงโทรมาแจ้งว่าพบสาเหตุแล้ว แต่บอกว่าอาจเป็นที่แผ่นครัช เบรก หรือเกียร์ แต่ก็ไม่ได้ระบุสาเหตุที่แน่ชัด”ช่างบอกว่าต้องถอดออกมาดูก่อน ทางคุณลลิตาก็มองว่าเป็นการถอดไปเรื่อยๆ  จึงเกิดความไม่มั่นใจในคุณภาพของรถคันนี้ และมองว่ารถคันนี้ไม่มีความปลอดภัยในการใช้งาน จึงติดต่อไปที่ศูนย์ฟอร์ดฮอตไลน์เพื่อแจ้งขอให้เปลี่ยนรถคันใหม่ให้“ฟอร์ดฮอตไลน์บอกว่า ทางบริษัททำได้แค่การเปลี่ยนอะไหล่ให้ คงจะไม่เปลี่ยนรถให้ใหม่เพราะรถได้มีการใช้งานแล้ว ดิฉันจึงได้ถามว่า ซ่อมแล้วจะมีอะไรรับรองได้ว่ามันจะไม่กลับมาเป็นอีก และถ้าเสียอีกจะทำอย่างไร”“เสียอีกก็ต้องซ่อมอีก รถเสียก็ต้องซ่อม” ฟอร์ดฮอตไลน์ตอบคำถามของคุณลลิตาอย่างชัดถ้อยชัดคำพอได้รับคำตอบแบบนี้ คุณลลิตาจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอให้ช่วยเจรจากับทางฟอร์ดขอรับเงินดาวน์พร้อมค่างวดรถจำนวน 272,215 บาทที่ได้จ่ายไปแล้วคืน แนวทางแก้ไขปัญหาหลังจากการร้องเรียนผ่านมูลนิธิฯ ครั้งแรกคุณลลิตาต้องการให้ฟอร์ดเปลี่ยนรถคันใหม่ให้ และต้องการเรียกร้องค่าขาดโอกาสในการใช้รถในระหว่างซ่อมด้วย แต่เมื่อคุณลลิตาได้มีการเจรจากับศูนย์ฟอร์ดพิษณุโลกในเวลาต่อมา ก็ได้ข้อสรุปที่น่าพึงพอใจคือ ศูนย์ฟอร์ดฯ จะทำการเปลี่ยนไดร์ชาร์ตและยกชุดเกียร์ให้ใหม่ และจะมีการรับประกันอะไหล่ให้ 4 ปี หรือที่ระยะทาง 120,000 กิโลเมตร และฟรีโปรแกรมเช็คระยะ 3 ปี 100,000 กิโลเมตร ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว คุณลลิตาจึงได้รถกลับมาใช้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2554 และขอยุติเรื่องร้องเรียนในท้ายที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 หัวดูดไรฝุ่น เครื่องดูดฝุ่น LG ไม่ทำงาน

คุณจีวัฒน์ร้องเรียนผ่านทาง www.consumerthai.orgผมซื้อเครื่องดูดฝุ่นแอลจี เพราะมีหัวดูดพิเศษ sani punch ปรากฏว่าหัวดูดมันไม่ทำงาน ขอเคลมผ่านตัวแทนจำหน่ายหนึ่งอาทิตย์ผ่านไป ตัวแทนจำหน่ายแจ้งว่า ทางแอลจีบอกว่าเคลมไม่ได้ เพราะถือว่าหัวดูดนั้นเป็นของแถมในกล่อง “ตอนที่โฆษณาบอกว่ามันคือคุณสมบัติเด่นของสินค้าเลยนะครับนั่น ที่ผมซื้อก็เพราะมันมีคุณสมบัตินั้นนั่นแหละ ผมควรทำไงดี แนะนำด้วยครับ” แนวทางแก้ไขปัญหาเราได้เปิดไปดูข้อมูลโฆษณาของเครื่องดูดฝุ่นของ LG ที่ถูกร้องเรียนเข้ามา มีรายละเอียดทางอินเตอร์เน็ตคร่าวๆ ว่าLG VC4920NHTMY เป็นเครื่องดูดฝุ่นกำลังไฟ 2,000 วัตต์ มีหัวดูด Mop อเนกประสงค์ ซึ่งช่วยให้ดูดฝุ่นและถูพื้นได้พร้อมกันในครั้งเดียว พร้อมหัวดูด Sani Punch ซึ่งมีลูกกลิ้งสัมผัสพื้นผิวถึง 3,000 ครั้งต่อนาที สามารถลดไรฝุ่นตามที่นอนและโซฟาได้มากถึง 80% หลังจากใช้เพียง 5 ครั้ง ทำให้บ้านสะอาดอย่างแท้จริง ประโยชน์ของหัวดูด Sani Punch มีการโฆษณาข้อมูลเพิ่มเติมว่า“กำจัดผิวหนังที่หลุดร่วงบนที่นอนของคุณผิวหนังที่หลุดลอกออกมาบนที่นอนของคุณ เป็นอาหารชั้นเลิศให้กับไรฝุ่นทั้งหลาย ทำให้ไรฝุ่นขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วกำจัดไรฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพหัวดูด Sani Punch จะช่วยลดไรฝุ่นบนที่นอน ที่เป็นสามาเหตุของโรคภูมิแพ้ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ครอบครัวของคุณพักผ่อนได้อย่างสบายตัว และสบายใจ”ดูจากเนื้อหาโฆษณาแล้ว ต้องถือว่าเจ้า หัวดูด Sani Punch นั้นเป็นสาระสำคัญในการขายสินค้า จะอ้างว่าเป็นเพียงของแถมเมื่อเสียแล้วเปลี่ยนให้ใหม่ไม่ได้ ดูจะเป็นพฤติกรรมที่ขาดความรับผิดชอบไปหน่อยเมื่อลูกค้าเขาเชื่อโฆษณาว่ามันสามารถดูดไรฝุ่นหรือแม้กระทั่งเศษผิวหนังของมนุษย์ได้ เลยซื้อมาใช้ แต่เมื่อซื้อมาแล้วกลับเปิดใช้ไม่ได้ หรือไม่สามารถดูดไรฝุ่น เศษผิวหนังของมนุษย์ได้อย่างที่กล่าวอ้าง เจ้าของสินค้าและผู้ผลิตก็จะต้องรับผิดชอบในปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อเรียกร้องปากเปล่ากันไม่ได้เรื่อง เราจึงแนะนำให้ผู้ร้องรายนี้ได้ทำหนังสือไปถึงกรรมการผู้จัดการของบริษัท แอลจี เพื่อขอให้เปลี่ยนหัวดูดไรฝุ่นอันใหม่ให้ ไม่นานหลังได้รับหนังสือทวงสิทธิจากผู้บริโภค บริษัทแอลจีก็ได้ส่งหัวดูดไรฝุ่นอันใหม่มาให้คุณจิรวัฒน์ใช้งาน ปัญหานี้จึงจบลงได้ด้วยดีส่วนจะดูดไรฝุ่น เศษผิวหนังได้ดีขนาดไหน ใครที่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ช่วยบอกมาด้วยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 ตื่นเถิด กกพ.

หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ที่ส่งผลให้มีผู้คนเดือดร้อนเสียหายจำนวนมาก  และที่สำคัญคือมีผู้เสียชีวิต ด้วยเหตุถูกไปช้อตตาย 100 กว่าคน ถือว่ามีคนตายด้วยเหตุนี้มากที่สุดในโลก  พูดถึงไฟฟ้า วันนี้ผู้เขียนมีเรื่องที่เกี่ยวกับไฟฟ้าที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง  เอาตั้งแต่โครงสร้างไฟฟ้าในบ้านเรา  ประเทศไทยเรามี พรบ. กำกับกิจการพลังงาน(ที่กำกับโครงสร้างทั้งราคาและบริหารน้ำมันไม่ได้เพราะเขียนกฎหมายยกเว้นน้ำมันไม่ให้อยู่ใน พรบ.นี้) เรามีกระทรวงพลังงาน(ที่กำลังวุ่นวายกรณีจะลอยตัวราคาแก๊ส) แต่น่ามหัศจรรย์มาก เพราะกระทรวงพลังงานดูแลได้แค่ ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเท่านั้น    ส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยจะไม่ให้ว่ามันมหัศจรรย์ได้อย่างไร  ในเมื่อนโยบายกระทรวงพลังงานเป็นผู้ดูแล  แต่การบริหารจัดการมหาดไทยดูแล  โอ้ย...ยิ่งคิดยิ่งซับซ้อนเอา...มาเข้าเรื่องที่จะคุยวันนี้ดีกว่า   เรื่องมีอยู่ว่ามีกรณีผู้ใช้ไฟฟ้า ที่มีเหตุอันที่ทำให้ไปจ่ายค่าไฟฟ้าไม่ตรงเวลา แล้วถูกตัดไฟ   เมื่อไปจ่ายเงินและขอให้มาต่อมิเตอร์ไฟฟ้า  ผู้ร้องต้องเสียค่าต่อไฟฟ้า 107 บาท(บวกภาษี) ซึ่งเป็นที่รู้กัน แต่ก็มีกรณีซ้อนกรณีเข้ามาอีกนั่นคือ ไฟฟ้ายังไม่โดนตัดแต่ไปจ่ายไฟฟ้าเลยกำหนดก็ถูกเรียกเก็บ 107 บาท เช่นกัน   ซึ่งกรณีนี้มีผู้ร้องเรียนว่าเมื่อไฟฟ้ายังไม่ได้ไปตัดไฟ  ก็ยังไม่มีค่าใช้จ่ายแล้วมาเรียกเก็บเงินเขาค่าอะไร เรื่องนี้มีการร้องเรียนไปถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ(กกพ.)  จนนำไปสู่การทำข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กกพ.และไฟฟ้า  ว่าไฟฟ้าจะเรียกเก็บ 107 บาทได้เฉพาะกรณีมีการตัดไฟฟ้าจริงแล้วเท่านั้น(ไฟฟ้าไม่ดับปรับ 107 ไม่ได้) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่กลางปี 2554  ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี  แต่เหตุการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น   ฝ่ายปฏิบัติ(การเงิน)ของการไฟฟ้าในหลายที่(ตามข้อมูลร้องเรียน)ยังเก็บเงิน107 บาท โดยไม่สนใจว่าไฟฟ้าจะถูกตัดหรือไม่ตัด   ยึดเพียงวันที่ตามบิลเรียกเก็บเงินเป็นหลักหากเลยวันที่กำหนดเรียกเก็บทันทีป้าอ้วน(คนที่มาร้องเรียนและเป็นคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขตด้วย)เล่าให้ฟังว่า “ฉันเถียงเขาว่าฉันออกจากบ้านมาไฟฟ้าที่บ้านฉันยังไม่ถูกตัดเลย ทำไมมาเก็บเงินฉัน  ก็กกพ.มีข้อตกลงกับไฟฟ้าแล้วว่าไฟฟ้ายังไม่ถูกตัดจะไม่เก็บ 107 บาท”   เจ้าหน้าที่ตอบกลับมาว่าไม่สนใจข้อตกลงอะไรทั้งนั้นทำตามหน้าที่ไม่พอใจไปฟ้องร้องเอาผู้เขียนในฐานะประธานผู้ใช้พลังงานเขต  จึงได้ทำหนังสือไปหารือกับ กกพ.ถึงข้อตกลงที่ไฟฟ้าไม่ปฏิบัติตามก็ได้คำตอบว่า กกพ.ได้ทำหนังสือไปถึงการไฟฟ้าแล้ว 3 ฉบับ ในขณะที่มีเรื่องร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง   รายใดร้องเรียนก็จะได้เงินคืนรายใดไม่ร้องก็เสียเงินฟรี  เราก็ทำหนังสือกระตุ้นเข้าไปอีก  เพื่อให้ กกพ.ที่มีหน้าที่กำกับดูแลทำงานตามหน้าที่ ที่ต้องทำ  ไม่ใช่เข้ามานั่งเสวยสุขกันไปวันๆขอแรงพวกเราช่วยกันร้องเรียนและเฝ้าระวังให้องค์กรที่มีหน้าที่ ได้ทำงานตามหน้าที่(กันบ้าง?) คิดถึง พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จัง เมื่อไหร่จะคลอดเสียที.. จะได้มาช่วยดันก้น องค์กรเหล่านี้ให้ทำงานได้จริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 อพาร์ทเมนต์ ถูกคนเช่าทวงเงินมัดจำ

แจ้งย้ายออกจากห้องเช่า แต่เจ้าของหอไม่ยอมคืนเงินค่ามัดจำ หลายคนคงปล่อยทิ้งไม่อยากวอแว แต่สำหรับคุณเบญจมาภรณ์ยืนยัน ไม่มีวันเสียล่ะที่จะเสียเงินมัดจำไปง่ายๆ เจออย่างนี้ต้องเอาคืนคุณเบญจมาภรณ์ ได้เช่าอพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่งในย่านอนุสาวรีย์ชัย เป็นอพาร์ทเมนต์ไม่มีชื่อ ชั้นล่างทำเป็นร้านขายก๋วยจั๊บ ต้องจ่ายค่ามัดจำ 6,000 บาท และค่าเช่าห้องล่วงหน้า 1 เดือน อีก 3,000 บาท รวมเป็นเงินที่จ่ายควักไป 9,000 บาท สำหรับห้องเช่าธรรมดาๆ ไม่มีแอร์ ไม่มีพัดลม“สุดๆค่ะ ต้องเอาพัดลมมาเอง แรกเข้ามาอยู่ก็ไม่ได้ทำความสะอาดไว้ให้ เจ้าของห้องเขาตั้งน้ำยาทำความสะอาด แปรงถูกพื้น และกระป๋องไว้หน้าห้อง ไปกับเพื่อนก็ช่วยกันทำความสะอาดกันเอาเอง”“ห้องแคบมาก...ของที่ขนไปเข้าไม่หมด บานเกร็ดไม่มีเหล็กดัด ถ้าถามว่าทำไมต้องทนอยู่ ก็คงบอกได้ว่า มันใกล้กับที่ทำงาน มีรถไฟฟ้า และคิดว่าคงจะอยู่เพียงแค่ชั่วคราว” คุณเบญจมาภรณ์สาธยายให้เห็นภาพคงเพราะเป็นอพาร์ทเมนต์ที่ไม่มีชื่อเสียงหรือไม่ คุณเบญจมาภรณ์ก็ไม่แน่ใจ อยู่ได้ไม่กี่วันก็ต้องอึดอัดใจ เพราะอพาร์ทเมนต์ไม่มีชื่อแห่งนี้ หาความสงบแทบไม่ได้เลย มีคนเดินขึ้นลงตลอดเวลา เพราะร้านก๋วยจั๊บที่เปิดขายอยู่ชั้นล่าง เปิดยาวถึงตีสาม เวลาเข้าห้องน้ำ น้ำจะรั่วและมีสนิมปนมากับน้ำ แจ้งให้เจ้าของมาแก้ไขก็ไร้วี่แววมีครั้งหนึ่งที่คุณเบญจมาภรณ์เดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด พอกลับเข้าห้องสังเกตเห็นว่าหวีไม้ที่วางไว้ในห้องมีราขึ้น ชั้นวางโทรทัศน์ก็มีราขึ้น พอเห็นราขึ้นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ คิดในใจว่าอยู่ไม่ได้แล้ว ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายด้วยหรือเปล่าแจ้งเจ้าของห้องเพื่อขอย้ายออก ได้รับคำตอบว่าให้ย้ายตอนสิ้นเดือน จะคืนเงินมัดจำให้ 3,000 บาท“เราก็ไม่มีปัญหานะ ขอให้ได้ย้ายออกจะได้ค่ามัดจำเท่าไหร่ก็ยอมทั้งนั้น” พอถึงสิ้นเดือนก็ยังไม่ได้ย้าย เจ้าของห้องบอกยังไม่มีเงินให้อยู่ไปก่อน ได้เงินมัดจำคืนแล้วค่อยย้ายออก จนถึงกลางเดือนถัดมาคุณเบญจมาภรณ์บอกไม่ไหวแล้ว ตัดสินใจย้ายออกทันที“โทรติดต่อเจ้าของห้อง แต่ไม่เจอตัวเจอแต่คนดูแล เอาเงินมัดจำคืนไม่ได้  เลยฝากบอกกับคนดูแลให้เจ้าของห้องช่วยโอนเงินค่ามัดจำคืนเข้าบัญชีด้วย”เมื่อออกจากห้องเช่าแล้ว คุณเบญจมาภรณ์ ได้พยายามโทรไปทวงเงินค่ามัดจำคืนอยู่หลายสิบครั้ง มีเสียงเรียกแต่ไม่มีคนรับสาย มีครั้งหนึ่งมาตามด้วยตัวเองก็ได้ผลเหมือนเดิมหันซ้ายหันขวาเห็นป้ายสำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยู่ใกล้ๆ จึงเดินเข้ามาร้องเรียนขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาข้อแนะนำของเรา เมื่อโทรเข้าไปแล้วไม่รับสาย ก็ให้ไปดักรอที่หน้าอพาร์ทเมนต์เลยจะดีที่สุด เพราะเจ้าของห้องต้องออกมาขายก๋วยจั๊บทุกวันอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องเจอเมื่อเจอแล้วก็ทวงถามได้เลย ถ้ายังบ่ายเบี่ยงปฏิเสธอีก ทีนี้ก็สามารถไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานได้ทันที แต่อยากให้พูดคุยกันดีๆ ก่อนเป็นดีที่สุดหลังได้รับคำแนะนำ คุณเบญจมาภรณ์จึงไปดักรอที่ร้านก๋วยจั๊บที่เจ้าของห้องเปิดขายทันที คิดในใจว่า ไม่ออกมาก็ไม่ต้องขายของกันละวันนี้ ปรากฏว่าเจอตัวเจ้าของเป็นๆ ซึ่งยอมคืนเงินค่ามัดจำให้ แต่ก็ยังทิ้งลายด้วยการขอหักค่าทำความสะอาดและค่าดูแลส่วนกลางรวม 300 บาท เหลือคืนให้ 2,700 บาท“ไม่เป็นไรค่ะ ไม่อยากให้มันยืดเยื้อ เพราะเสียเวลามามากแล้ว” คุณเบญจมาภรณ์บอกพร้อมขอบคุณมูลนิธิฯ ที่ช่วยให้คำแนะนำจนทวงคืนค่ามัดจำได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 แอร์หรือระเบิดเวลา?

ซื้อแอร์ใหม่ราคา 2 หมื่นเศษ แทนที่จะทำงานเย็นเฉียบเงียบสนิท ให้ความรู้สึกรื่นรมย์ในยามพักผ่อนหลับนอน แอร์เจ้ากรรมกลับมีเสียงดังติ๊กๆ น่ารำคาญหูเล็ดลอดตลอดเวลา พาอารมณ์หงุดหงิด สะกิดหัวใจ ฟังไปเรื่อยๆ ยิ่งหนัก คิดว่ากำลังนอนหลับกับระเบิดเวลา ลุ้นและเครียดเอาเรื่องเรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา คุณสุรพิเชษฐ์ ได้ซื้อเครื่องปรับอากาศยี่ห้อไดกิ้น รุ่น F13 HV2S ในราคา 21,000 บาท จากบริษัท เจเอสบี แอร์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัดหลังจากให้ช่างมาติดตั้งเสร็จสรรพ เปิดใช้งานกะว่าเย็นฉ่ำสบายอารมณ์แน่ พอแอร์เริ่มทำงาน ความเย็นค่อยๆไหลไล่ความร้อนให้หลบหนี“อืม เย็นจัง” กำลังเคลิ้มๆ กับความเย็นแต่ก็ต้องร้องเอ๊ะ“ติ๊ก ติ๊ก ติ๊กๆๆๆๆ” มันดังไม่หยุด ดังอยู่ตลอดเวลาที่แอร์เปิดทำงานคุณสุรพิเชษฐ์เงี่ยหูฟังเสียงไม่พึงประสงค์แทรกเข้ามาพร้อมความเย็นฉ่ำจากการทำงานของแอร์ที่เพิ่งซื้อมา“เสียงอะไร เสียงจากไหน” คิดในใจพร้อมกับลองปิดแอร์เงียบ...! “ไหนลองเปิดอีกครั้งสิ”“ติ๊ก ติ๊ก ติ๊ก...” เสียงที่น่ารำคาญดังมาทันทีวันนั้นคุณสุรพิเชษฐ์ ลองปิด-เปิดแอร์อยู่หลายครั้ง และทุกครั้งก็มีเสียงดังติ๊กๆ ออกมา เหมือนว่าเป็นมาตรฐานติดมากับแอร์เครื่องนี้เมื่อพบความผิดปกติ จึงได้แจ้งบริษัท เจเอสบี แอร์ แอนด์ เซอร์วิส ให้ส่งช่างมาตรวจสอบ หลังจากที่ช่างมาตรวจสอบอยู่ครู่ใหญ่ จึงได้มีคำตอบที่น่าผิดหวังว่า เสียงติ๊กๆ ที่เกิดขึ้นช่างไม่สามารถซ่อมได้ ต้องให้ช่างของบริษัทไดกิ้นโดยตรงมาซ่อมให้ ซึ่งบริษัทเจเอสบีฯ จะติดต่อกับไดกิ้นให้ส่งช่างมาซ่อมต่อมาช่างของไดกิ้นเข้ามาซ่อมแก้ไขแอร์ โดยสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากเสียงของแผ่นพลาสติกที่ไปกระทบกันภายในเครื่องแอร์ จึงใช้แผ่นกำมะหยี่เป็นวัสดุแทรกกันการกระแทกสั่นไม่ให้เกิดเสียงดัง ปรากฏว่าเช้าวันต่อมาแอร์ที่เพิ่งซ่อมไปมีน้ำหยดออกมาจากตัวเครื่องคุณสุรพิเชษฐ์รู้สึกว่าเช้านั้นเซ็งอารมณ์สุดๆ“แอร์ซื้อมาใหม่ๆ แท้ๆ ครับ ใช้ไม่กี่วันก็ต้องเรียกให้ช่างมาซ่อมแล้วซ่อมอีก”“ช่างที่มาซ่อมบอกว่าที่บ้านก็ใช้แอร์รุ่นนี้ก็มีเสียงดังเหมือนกัน”เมื่อนำเหตุผลทั้งหมดมารวมกัน ความไม่มั่นใจในผลิตภัณฑ์สินค้าจึงเกิดขึ้น จึงได้ติดต่อไปที่บริษัทไดกิ้นเพื่อจะขอเปลี่ยนแอร์รุ่นใหม่ หลังติดต่อไปบริษัทก็ไม่ได้แสดงท่าทีตอบรับหรือปฏิเสธที่ชัดเจน ทำให้คุณสุรพิเชษฐ์มีความกังวลและคิดว่าบริษัทไดกิ้นอาจจะไม่ยอมเปลี่ยนแอร์รุ่นใหม่ให้ จึงโทรปรึกษามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาหลังรับฟังปัญหาของผู้บริโภคจนได้รายละเอียดเสร็จสิ้น เราจึงแนะนำให้คุณสุรพิเชษฐ์รีบทำจดหมายไปที่บรัทไดกิ้นโดยทันที โดยให้ระบุเนื้อหาในจดหมายว่า ผู้บริโภคได้ซื้อแอร์เครื่องใหม่และเลือกยี่ห้อไดกิ้นก็เพราะว่า เป็นสินค้าที่ดีมีมาตรฐาน แต่เมื่อใช้ไปได้ไม่กี่วัน เครื่องมีอาการผิดปกติ มีเสียงดังเล็ดลอดออกมาตลอดเวลาที่เครื่องเปิดใช้งาน การที่ได้ซื้อแอร์เครื่องนี้ในราคาเป็นหมื่น เพราะประสงค์ที่จะได้แอร์ที่ดีมีคุณภาพพร้อมทั้งมาตรฐานที่ดี เพื่อนำความสุขมาให้ครอบครัว แต่เมื่อแอร์เกิดปัญหาเช่นนี้โดยไม่ใช่ความผิดจากการใช้งานของผู้บริโภค บริษัทที่มีความรับผิดชอบจะต้องทำการเปลี่ยนเครื่องให้ใหม่ เพื่อที่จะรักษาชื่อเสียงและยี่ห้อของสินค้าให้คงอยู่ตลอดไป จึงขอให้ทางบริษัทไดกิ้นฯ ช่วยพิจารณาดำเนินการเปลี่ยนแอร์เครื่องใหม่ให้ด้วยหลังจากที่ได้ทำจดหมายออกไป ปรากฏว่าบริษัทไดกิ้น ได้แสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคด้วยการแจ้งว่า บริษัทยินดีที่จะเปลี่ยนแอร์เครื่องใหม่ให้กับคุณสุรพิเชษฐ์โดยไม่มีเงื่อนไขแต่อย่างใดใครที่มีปัญหาซื้อสินค้าใหม่ใช้งานแล้วไม่ได้ผลหรือเกิดปัญหาจนต้องเรียกช่างมาซ่อมแซมแก้ไข หากต้องการจะให้บริษัทเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่ ลองใช้วิธีนี้ดู  ไม่สงวนลิขสิทธิ์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 พฤกษา ยอมคืนเงินผู้บริโภค เหตุสร้างบ้านไม่ได้มาตรฐาน

สำหรับคนที่จะซื้อบ้านใหม่ ซ่อมบ้านใหม่ หลังภาวะน้ำท่วม บทเรียนของผู้บริโภคเรื่องนี้น่าสนใจทีเดียวเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2553 คุณภัทรวรรธน์ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินในโครงการบ้านพฤกษา 47/2 (เทพารักษ์-หนามแดง) จ.สมุทรปราการ กับบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด(มหาชน)บ้านที่จะซื้อจากโครงการของพฤกษา เป็นทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น หน้ากว้าง 5 เมตร ห้องริมไม่มีหน้าต่าง อยู่บนเนื้อที่ 16.20  ตารางวา ราคารวมทั้งสิ้น 909,000 บาทกลยุทธ์การขายบ้านราคาไม่ถึง 1 ล้านของพฤกษา เรียลเอสเตท มักจะล่อลูกค้าผู้มีรายได้ปานกลางไปถึงน้อยด้วยการคิดเงินจองเงินดาวน์ในอัตราที่ไม่สูง สำหรับโครงการบ้านพฤกษา 47/2 พฤกษาเรียลเอสเตทคิดค่าจองเพียง 3,499 บาท ส่วนเงินดาวน์คิด 36,000 บาทให้แบ่งจ่าย 8 งวด งวดละ 4,500 บาท เงินค่าบ้านก้อนใหญ่ที่เหลืออีก 869,500 บาท ให้ผู้บริโภคไปหากู้เงินจากธนาคารมาจ่ายในวันนัดโอนบ้านคุณภัทรวรรธน์ทำเรื่องติดต่อธนาคารและจ่ายเงินจองเงินดาวน์มาถึง 6 งวด โครงการได้นัดเข้าไปตรวจรับบ้านเพื่อเตรียมการโอนบ้าน คุณภัทรวรรธน์จึงมอบหมายให้บริษัทตรวจรับบ้านที่มีประสบการณ์เข้าไปตรวจสภาพการก่อสร้างบ้านผลการตรวจบ้านพบปัญหาจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานหลายจุด ดูไม่สมกับชื่อเสียงของโครงการฯ ที่หนักหนาสาหัสที่สุดตรงที่ผนังบ้าน ไม่แน่ใจว่าช่างตาเอียงตาเหล่แค่ไหน ถึงได้ก่ออิฐบิดเบี้ยวจนทำให้ผนังบ้านซึ่งเป็นส่วนรับน้ำหนักบ้านเอียงไม่ได้ฉากและเกิดรอยร้าวอย่างเห็นได้ชัด คุณภัทรวรรธน์ จึงได้แจ้งให้โครงการฯ ทราบ ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ช่างของโครงการฯ เสนอวิธีการแก้ไขแบบง่ายแสนง่าย ว่า จะซ่อมแซมให้ด้วยการฉาบปิดรอยร้าว และฉาบปูนเพิ่มเพื่อให้กำแพงได้ฉาก คุณภัทรวรรธน์จึงสอบถามไปที่บริษัทตรวจรับบ้านว่าปัญหาผนังบ้านเอียงไม่ได้ฉาก จะใช้วิธีฉาบปูนเพิ่มเข้าไปได้หรือเปล่า ได้รับคำตอบว่า ผนังบ้านที่เอียงอย่างเห็นได้ชัดขนาดนั้นเป็นส่วนรับน้ำหนักของตัวบ้าน ซึ่งจะเกิดอันตรายในอนาคตได้ หากไม่ดำเนินการรื้อและก่อผนังขึ้นใหม่คุณภัทรวรรธน์ ได้พยายามเรียกร้องให้โครงการฯ แก้ไขงานบ้านตามที่บริษัทตรวจรับบ้านให้คำแนะนำแล้ว แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ซ้ำยังกำชับให้จ่ายค่างวดที่เหลือต่ออีก ในขณะที่ธนาคารก็นัดวันเซ็นสัญญาใกล้เข้ามา จึงปรึกษามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า จะขอให้โครงการแก้ไขต้องทำอย่างไร และยังต้องจ่ายค่างวดให้ครบและต้องรับโอนบ้านหรือไม่ แนวทางแก้ไขปัญหาถ้าผู้บริโภคคนไหนทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านหรือว่าจ้างก่อสร้างบ้านใหม่ แล้วเรื่องเดินมาถึงจุดที่พบว่าสภาพการก่อสร้างมีปัญหา คิดจะใช้วิธีไม่จ่ายค่างวดที่เหลือ หรือไม่รับโอนบ้าน กะจะใช้เป็นเงื่อนไขกดดันหวังให้เจ้าของโครงการทำการซ่อมแซมแก้ไข ต้องระวังให้ดีเพราะผลีผลามทำไปโดยไม่รู้ขั้นตอนจะตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาถูกฟ้องคดีบังคับให้ต้องจ่ายเงินตามสัญญาที่เหลือได้โดยที่บ้านก็ไม่ได้ซ่อม หรืออาจจะสูญบ้านทั้งหลังไปเลยก็ได้หากต้องการจะหยุดส่งค่างวดหรือไม่รับโอนบ้าน โดยไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญาเสียเอง การมีหนังสือแจ้งถึงปัญหาเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขตามกรอบระยะเวลาที่ได้กำหนดกันไว้ในสัญญาก่อนหน้า ส่งถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทเจ้าของโครงการไปทางแฟกซ์หรือจดหมายลงทะเบียนตอบรับ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้โดยเด็ดขาด อย่าใช้ปากเรียกร้องเพียงอย่างเดียว เพราะมีแต่ลมจับต้องอะไรมาเป็นหลักฐานยืนยันในภายหลังไม่ได้ยิ่งได้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญมาประกอบถึงการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน ยิ่งทำให้เหตุผลของฝั่งผู้บริโภคมีน้ำหนักมากขึ้น และหากความชำรุดบกพร่องนั้นเกี่ยวกับโครงสร้างหลักของตัวบ้าน เมื่อพิจารณาแล้วว่าไม่อาจทำการแก้ไขได้ตามกำหนดระยะเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเรียกเงินที่ได้ชำระไปคืนทั้งหมดได้  โดยให้ทำเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญาส่งไปทางแฟกซ์หรือจดหมายลงทะเบียนตอบรับก็ได้หลังจากได้รับคำแนะนำ คุณภัทรวรรธน์ไม่มั่นใจในคุณภาพการก่อสร้างบ้าน จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืน ซึ่งบริษัทไม่ได้งอแงอิดออดแต่อย่างใด ยอมคืนเงินทั้งหมดให้ในเวลาไม่นานท้ายที่สุดของเรื่อง หวังว่าปัญหาของบ้านหลังนี้ บริษัทฯจะได้ทำการซ่อมแซมให้ถูกต้องตามหลักมาตรฐานการก่อสร้างที่ดีก่อนนำไปขายต่อให้ใคร อย่าให้เสียชื่อกันอีกรอบเพียงเพราะบ้านไม่ได้มาตรฐานเพียงแค่หลังเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 รับจำนำที่ดิน บนสำนักงานที่ดิน

น้ำคือชีวิต  ไม่มีเงินอยู่ได้  ไม่มีน้ำอยู่ไม่ได้  แต่ที่ผ่านมาหลายจังหวัด น้ำทำให้ผู้คนในหลายจังหวัดอยู่บ้านตนเองไม่ได้ ต้องอพยพกันวุ่นวาย  แต่เหตุการณ์นั้นกำลังจะผ่านไป  ว่ากันใหม่ปีหน้าว่าน้ำจะมาอีกไหมเนี่ย....  ก็ขอให้กำลังใจ เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็ต้องต่อสู้และอยู่กับมันให้ได้เอ้า...มาถึงเรื่องราวที่จะเขียนเล่าสู่กันฟังกันดีกว่า..  วันก่อนผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปทำธุรกรรมเกี่ยวกับที่ดิน  ที่ดินจังหวัดสมุทรสงคราม   สิ่งที่ได้เห็นเมื่อก้าวเข้าไปคือ หน่วยงานของรัฐพัฒนาไปมาก  ดูเป็นระบบและเอาใจใส่ประชาชนที่มาใช้บริการมากขึ้น   ผู้เขียนทำธุระจนเกือบเรียบร้อย  เหลือแค่ไปจ่ายเงินที่แผนกบัญชี   ไปนั่งรอเลยมองหาหนังสือพิมพ์เพื่อมาอ่านค่าเวลา   สายตาก็ไปสะดุดที่ข้อความ  มีที่ดิน มีบ้าน มีรถ มาจำนำได้ที่....ติดหราสง่างามอยู่ที่วางหนังสือพิมพ์ หน้าเคาน์เตอร์จ่ายเงิน  บนสถานที่ราชการ    “หา...นี่มาโฆษณารับจำนำที่ดินบนที่ดินจังหวัดกันอย่างนี้เลยหรือ” ผู้เขียนงงหลายคนอาจมองแล้วไม่คิดอะไร  แต่ในฐานะคนทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค มันก็อดคิดไม่ได้   เลยไปถามเจ้าหน้าที่ ว่าทำไมยอมให้เขามาโฆษณาบนสำนักงานที่ดินได้  ก็ได้คำตอบว่า  บริษัทศรีสวัสดิ์เงินติดล้อ  ได้นำที่วางหนังสือพิมพ์ มาบริจาคให้   โดยที่วางหนังสือพิมพ์มีชื่อบริษัทและมีข้อความเชิญชวนให้ไปใช้บริการ ติดอยู่  ทางที่ดินไม่ได้คิดอะไร เขาเอามาให้ก็รับไว้   นี่ไง...เห็นเล่ห์เหลี่ยม บริษัทพวกนี้มั้ย...เขาเก่งจริงๆ ลงทุนไม่กี่บาท  สามารถเอาป้ายโฆษณาของบริษัทเข้าไปตั้งโฆษณา ในสถานที่ที่มีคนมาใช้บริการได้อย่างถาวร โดยไม่ต้องเสียค่าเช่าสถานที่ เลยสักบาท  แถมยังได้รับความชื่นชมจากเจ้าหน้าที่  ว่าบริษัทนี้มีน้ำใจนำของมาบริจาคให้   เรียกได้ว่าชั้นเชิงการตลาดเข้าขั้นเซียนเหยียบเมฆกันเลยทีเดียว(เจ้าหน้าตามไม่ทันจริงๆ) และไม่รู้เป็นไงผู้เขียนเห็นอะไรอย่างนี้แล้ว ได้แต่บอกตัวเองว่าหากไม่ทำอะไรเลย  กลับบ้านต้องนอนไม่หลับแน่ๆ เลย   คิดได้ดังนั้น ก็เลยไปคุยกับหัวหน้าเขาว่าทำไมถึงยอมให้บริษัทนี้เข้ามาโฆษณารับจำนำที่ดินบนสำนักงานที่ดินที่เป็นสถานที่ราชการ   เขาก็ทำหน้างง..แล้วถามว่าเขามาโฆษณาที่ไหน  ผู้เขียนเลยบอกว่าก็ที่วางหนังสือพิมพ์ไง ถ่ายรูปไว้แล้วนะ  มาคราวหน้าคงไม่เห็นการโฆษณานี้นะ (ขู่กันให้เห็นๆ เลย) ที่เอาเรื่องนี้มาเล่า เพื่อชี้ให้เห็นว่าบริษัทเหล่านี้ใช้กลยุทธ การตลาดโฆษณาในรูปแบบใหม่ๆ  เล่นกันแบบสดๆ ทันทีที่ชาวบ้านทำโฉนดเสร็จ  มาจำนำได้เลยจริงอยากบ่นมากกว่านี้  แต่บ่นไปไม่มีประโยชน์   สู้ไปกดดันให้การโฆษณาพ้นไปจากที่ดินจังหวัดน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากกว่าการบ่น   แล้วเจอกันนะสถานที่ราชการที่รัก  ไม่ใช่แค่ที่ดินที่ไหนมีการโฆษณาอย่างนี้โปรดขยับขยาย ไม่อย่างงั้นเจอกันแน่  .....

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 แอร์เอเซีย เรียกเก็บค่าธรรมเนียมยกเลิกเที่ยวบิน

คุณยิ่งปลิวและลูกชายจองตั๋วสายการบินแอร์เอเซีย ไป-กลับ กรุงเทพมหานคร-นครศรีธรรมราช แต่มีเหตุไม่ได้ไปเพราะคุณแม่ของคุณยิ่งปลิวป่วยเข้าโรงพยาบาลกะทันหันคุณยิ่งปลิวจ่ายเงินค่าตั๋วเครื่องบินเป็นเงินทั้งสิ้น 5,568.96 บาท  แบ่งเป็นค่าตั๋วและภาษี 4,683 บาท ค่าประกันภัยและดำเนินการ 885.96 บาท โดยมีเงื่อนไขความคุ้มครองของประกันภัยว่า หากผู้เอาประกันภัยจำเป็นต้องยกเลิกการเดินทางอันมีสาเหตุจากการเสียชีวิตหรือการบาดเจ็บสาหัส หรือการเจ็บป่วยของผู้เอาประกันภัย คู่สมรส บิดามารดาของผู้เอาประกันภัย บิดามารดาของคู่สมรส ปู่ ย่า ตา ยาย บุตร พี่ น้อง ของผู้เอาประกันภัย ทำให้ไม่สามารถเดินทางตามกำหนดได้ จะให้ความคุ้มครองการบอกเลิกการเดินทางด้วยการคืนเงินชดเชยสูงสุดไม่เกินราคาค่าโดยสาร (ค่าตั๋ว + ภาษี + น้ำมัน)“แม่ผมป่วยอยู่โรงพยาบาล อยู่ในเงื่อนไขการคืนเงิน และทางแอร์เอเซียก็ไม่ขัดข้องใดๆ เพราะไม่ได้คืนเงินให้จริง แต่ให้เป็นเครดิตไว้สำหรับการเดินทางครั้งต่อไปภายใน 90 วัน แต่เมื่อคำนวณการคืนเงินให้ผู้โดยสาร ผมคิดว่าเอาเปรียบผู้โดยสารอยู่ดี” แนวทางแก้ไขปัญหา แอร์เอเซียเอาเปรียบหรือไม่ ลองมาพิจารณาโครงสร้างการหักเงินก่อนคืนเงินค่าโดยสารครั้งนี้ดู แอร์เอเซียหักค่าธรรมเนียมยกเลิกเที่ยวบิน (749 บาท/คน/เที่ยว) เป็นเงิน 2,996 บาท หักค่าประกันและดำเนินการ 885.96 บาท รวมเงินที่หัก 3,881.96 บาท จากเงินที่จ่ายไป 5,568.96 บาท  คงเหลือเงินที่คืนให้แก่ผู้โดยสารเพียง 1,687 บาท“ผมทำประกันการยกเลิกเที่ยวบิน แต่ยังมาหักค่าธรรมเนียมยกเลิกเที่ยวบินอีก ถ้าเป็นอย่างนี้จะทำประกันไปทำไม” คุณยิ่งปลิวถามด้วยความเคืองใจเมื่อไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดการคืนเงิน คุณยิ่งปลิวจึงส่งเสียงทักท้วงไปที่แอร์เอเซีย ผลปรากฏว่า แอร์เอเซียได้ดำเนินการชดเชยให้แก่ผู้ร้องโดยการส่งตั๋วบินไปกลับฟรีมาให้ แถมยังคืนเงินที่หักค่าธรรมเนียมการยกเลิกเที่ยวบินมาให้อีกด้วย ทำให้คุณยิ่งปลิวรู้สึกพอใจกับการชดเชยของแอร์เอเซียเป็นอย่างมากใครที่เจอปัญหาทำนองนี้ อย่าลืมรักษาสิทธิกันนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 ขอคืนเครื่องทำน้ำอุ่นกับพาวเวอร์บาย

วันที่ 28 สิงหาคม 2554 ก่อนน้ำท่วมใหญ่ คุณจำนง สมาชิกฉลาดซื้อ ได้ไปซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นที่พาวเวอร์บาย สาขารัตนาธิเบศร์คุณจำนงจ่ายเงินไป 3,790 บาท สำหรับเครื่องทำน้ำอุ่น ฮิตาชิ รุ่น HES-35R นำมาให้ช่างติดตั้ง ใช้อาบได้ปกติ แต่พออาบเสร็จ คุณจำนงได้ลองกดปุ่มทดสอบป้องกันไฟรั่วตามวิธีที่คู่มือแนะนำ  ได้ผลเป็นอย่างดีคือ เครื่องตัดการทำงานทันที  แต่พอจะเปิดให้ใช้งานอีกครั้งปรากฏว่า เครื่องดันตัดไฟไม่ทำงานแบบถาวรไปเลย ใช้อาบน้ำอุ่นไม่ได้คุณจำนง นำใบเสร็จรับเงินของพาวเวอร์บายมาดู พลิกไปที่ด้านหลังมีข้อความระบุถึงเงื่อนไขในการรับเปลี่ยนหรือคืนสินค้าว่า“รับเปลี่ยนหรือคืนสินค้าที่มีใบเสร็จรับเงินพร้อมกล่องบรรจุ, ใบรับประกัน, คู่มือและอุปกรณ์ต่อพ่วงของสินค้าภายใน 7 วัน นับจากวันซื้อสินค้า (ยกเว้นไม่รับคืนมีดังนี้ : กล้องถ่ายรูป, กล้องวีดีโอ, โทรศัพท์มือถือ, เพจเจอร์, )สินค้าตัวโ ชว์, สินค้าลดล้างสต๊อก, ทีวีจอใหญ่กว่า 30 นิ้ว) และยังมีข้อยกเว้นเพิ่มเติมอีกว่า “ยกเว้นสินค้าที่ใช้แล้ว หรือแกะกล่องไม่รับคืนมีดังนี้ : ตู้เย็น, เทปคาสเซท, แผ่นซีดี, วีดีโอเทป, คอมพิวเตอร์ซอฟแวร์, ฟิล์ม, ถ่านไฟฉาย, ถ่านชาร์จ, เครื่องปรับอากาศ, เครื่องซักผ้า, เครื่องดูดฝุ่น, ไมโครเวฟ, เครื่องครัวเล็ก , ผ้าหมึก, อุปกรณ์ทำความสะอาด)เห็นข้อยกเว้นในประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้ว ก็เกือบจะครอบคลุมแทบทุกชนิดอยู่แล้วที่ห้างจะไม่รับคืน ยังดีหน่อยที่อ่านอยู่ 2-3 รอบ ไม่พบเครื่องทำน้ำอุ่นอยู่ในข้อยกเว้นไม่รับคืน“โอ้...โชคดีอะไรเช่นนี้ ที่ยังมีเครื่องทำน้ำอุ่นเหลือรอดให้คืนให้เปลี่ยนได้” คุณจำนงคิดในใจ รีบถอดเครื่องทำน้ำอุ่นนำกลับไปที่ห้างพาวเวอร์บายเพื่อขอเปลี่ยนเครื่องใหม่ในวันรุ่งขึ้นทันที เพราะกลัวจะหลุดเวลาการเปลี่ยนคืนสินค้าภายใน 7 วัน แต่คำตอบที่ได้รับคือ...“เขาไม่เปลี่ยนให้ครับ บอกว่าต้องให้ช่างฮิตาชิมาดูก่อน” แนวทางแก้ไขปัญหาพอทราบคำตอบว่าพาวเวอร์บายจะไม่ยอมเปลี่ยนสินค้าให้ง่ายๆ และกลัวจะหลุดกรอบ 7 วันที่ห้างยอมให้เปลี่ยนหรือคืนสินค้า จึงรีบโทรศัพท์และส่งแฟกซ์รายละเอียดมาให้เราในวันที่ 30 สิงหาคม 2554ประมาณ 10.30 น. ของวันที่ 31 สิงหาคม 2554 เราได้ติดต่อกลับไปที่คุณจำนงพร้อมข้อแนะนำว่า ให้นำสินค้าและใบเสร็จรับเงินไปขอเปลี่ยนสินค้าใหม่อีกครั้งตามเงื่อนไขที่พาวเวอร์บายแสดงเวลา 13.40 น. ของวันที่ 1 กันยายน 2554 คุณจำนงโทรติดต่อกลับมาว่า ได้นำสินค้าไปเปลี่ยนตามคำแนะนำ แต่ทางห้างอ้างว่าจะให้ช่างจากฮิตาชิมาตรวจสอบก่อน ว่าเครื่องเสียด้วยตัวของผลิตภัณฑ์เองหรือเปล่า ถ้าช่างยืนยันว่าการเสียเกิดจาตัวผลิตภัณฑ์เอง ทางห้างยินดีเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ โดยช่างจะมาภายใน 3 วันคุณจำนงเห็นว่าเป็นธรรมดี แต่เกรงว่าจะหลุดกรอบเวลาการยื่นเคลมสินค้าภายใน 7 วัน ด้วยความรอบคอบจึงได้ขอให้ห้างออกใบยืนยันเพื่อเป็นหลักฐานว่าได้ติดต่อขอเปลี่ยนสินค้าก่อน 7 วัน ซึ่งทางห้างได้ออกใบยืนยันให้ ต่อมาวันที่ 3 กันยายน 2554 ช่างจากฮิตาชิได้เข้ามาตรวจสอบเครื่องทำน้ำอุ่น“ช่างทำการเช็คเครื่องโดยขันน๊อต 2 ตัว ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ก็สามารถใช้ได้เป็นปกติ ช่างห้ามไม่ให้กด(ปุ่มตรวจสอบสวิทช์ป้องกันไฟรั่ว)หลายครั้ง ประมาณ 1 เดือนถึงจะกดครั้งหนึ่ง”เมื่อเห็นว่า ซ่อมแล้วใช้ได้ คุณจำนงเลยตกลงที่จะรับเอาสินค้าตัวเดิมไว้ และเมื่อไปทำการติดตั้งที่บ้านก็ใช้ได้ดีเหมือนเดิมไม่มีปัญหาแต่อย่างใดถือเป็นการตัดสินใจของผู้บริโภคแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ทำให้เรื่องยุติกันไปแบบน้ำใจงามๆ ของคนไทย แต่ในมุมสิทธิของผู้บริโภคแล้ว แม้สินค้านั้นจะซ่อมได้ แต่เหตุที่ผู้บริโภคต้องเทียวไปเทียวมาพาเครื่องทำน้ำอุ่นมาร้องเรียนอยู่ถึงสองสามรอบกับทางห้างก็นับว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ความรับผิดชอบของห้างในกรณีเช่นนี้จึงถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็นและต้องปรับปรุง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 นางงามประเภทสอง หวิดบอดเพราะฉีดฟิลเลอร์

น้องต๊อกแต๊ก เป็นสาวประเภทสอง มีรายได้จากการเดินสายแข่งขันประกวดความงามบนเวทีทั่วราชอาณาจักร ความงามบนใบหน้าจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเธอหรือเขา...คนนี้“ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะฉีด” ภาษิตใหม่ของน้องต๊อกแต๊ก เธอบอกว่ามันช้าและอาจไม่สวยเด่นหากจะให้งามเพราะแต่งอย่างเดียว มันต้องมีฉีดด้วย และที่ได้รู้จัก ได้ยินมาคือการฉีดสารฟิลเลอร์ ดูจะสะดวกรวดเร็วในเว็บไซต์หนึ่งให้ข้อมูลว่า  Filler (HA) ถูกนำมาฉีดเพื่อช่วยในการปรับแก้ไขรูปหน้า  เช่น เสริมจมูก เสริมคาง หรือเพื่อเติมเต็มริ้วรอยบนใบหน้า ลดริ้วรอย ร่องลึก หรือแม้แต่การบำรุงผิวให้กลับกระชับ เปล่งปลั่ง สดใสอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นบริเวณใบหน้า ลำคอ หลังมือ หรือแม้กระทั่งบริเวณผิวหน้าอก และเมื่อสาร Filler นั้นเป็นสารที่ร่างกายมีอยู่แล้ว ดังนั้นการฉีดสารชนิดนี้เข้าไปในชั้นผิวหนังจึงไม่ก่อให้เกิดอันตราย และสามารถย่อยสลายไปเองได้ตามกระบวนการทำงานของร่างกายพอเลื่อนหน้าจอคอมพิวเตอร์ดูข้อมูลที่พูดถึง การฉีดปรับแก้ไขรูปหน้าหรือฉีดแบบเฉพาะจุด ยิ่งน่าสนใจ บอกว่า เหมาะสำหรับคนที่ต้องการปรับแก้ไขเฉพาะส่วน เช่น ฉีดเพื่อเสริมจมูก เสริมคาง เติมแก้มที่ตอบ เติมร่องใต้ตา โดยผลลัพธ์การรักษาจะอยู่ได้นานประมาณ 9-12 เดือนต๊อกแต๊ก อยากเสริมหน้าผากให้โหนกนูนเต็มอิ่มขึ้นมาอีกนิด จึงติดต่อเข้าใช้บริการฉีดฟิลเลอร์ที่คลินิกความงามแห่งหนึ่งย่านถนนรัชดาภิเษกก่อนเกิดเหตุ การฉีดฟิลเลอร์เข้าหน้าผากต๊อกแต๊กทำมาก่อนแล้ว 2 ครั้ง เว้นระยะห่างกันประมาณ 1 สัปดาห์ ฉีด 2 ครั้งแรก ไม่มีอะไรผิดปกติ เสียเงินรวมไป 7,000 บาท ในราคาที่แพทย์แจ้งว่าเป็นราคาทุนเพราะเห็นใจว่าเป็นนักศึกษาต้องทำงานกลางคืนเพื่อหารายได้พิเศษ จนถึงการฉีดครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นการฉีดในบริเวณเหนือคิ้วซ้ายใกล้ดวงตา จึงเป็นเรื่อง... แพทย์ผู้ฉีดให้ข้อมูลหลังเกิดเหตุว่า โดยปกติจะฉีดฟิลเลอร์ให้คนไข้ครั้งละประมาณ 2-3 มิลลิลิตร ด้วยความระมัดระวังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะผิวหนังอักเสบ ติดเชื้ออย่างรุนแรง หากคนไข้ต้องการฉีดฟิลเลอร์ในปริมาณที่มาก จึงจะนัดให้มาฉีดเพิ่มในภายหลังครั้งละประมาณ 1-2 มิลลิลิตร ในการฉีดครั้งที่ 3 หลังจากฉีดเสร็จ เธอมีอาการปวดหัวอย่างแรงบริเวณเหนือคิ้วซ้ายที่ได้ฉีดสารเข้าไปทันที มีอาการตาพร่ามัวและมีอาเจียนร่วมด้วยแพทย์ที่คลินิกได้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยการให้น้ำเกลือและฉีดยาแก้ปวดให้ หลังจากนั้นอาการยังไม่ดีขึ้น ตาซ้ายมองไม่เห็นมีอาการบวมแดงแพทย์จึงทำการเจาะเอาสารฟิลเลอร์ออก และนำคนไข้ไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมาหลังจากวันนั้นน้องต๊อกแต๊กก็มีอาการปวดหัวเป็นพักๆ ส่วนตานั้นมีอาการพร่ามัวมองเห็นได้ไม่ชัด แต่ที่สำคัญคือ มันทำให้เธอหมดโอกาสเฉิดฉายบนเวทีประกวดความงามและไม่สามารถทำงานหารายได้ได้เหมือนเดิม ต๊อกแต๊กจึงต้องร้องเรียนและขอให้แพทย์รับผิดชอบในค่าเสียหายที่เกิดขึ้น แนวทางแก้ไขปัญหากรณีแบบนี้เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ว่า การรักษาเป็นไปโดยมีคุณภาพมาตรฐานหรือไม่  มีความระมัดระวังเพียงพอหรือไม่ ซึ่งเมื่อถามฝั่งแพทย์ผู้ทำการรักษาได้รับคำตอบว่า การรักษาเป็นไปตามมาตรฐานที่ดี มีความระมัดระวังทุกขั้นตอน แต่เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นก็พร้อมจะรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเราจึงแนะนำให้น้องต๊อกแต๊กใช้วิธีเจรจาเรียกค่าเสียหายกับคลินิกที่ทำการรักษาก่อน และแนะนำให้ประเมินค่าเสียหายที่เป็นค่ารักษาพยาบาลที่จะตามมาอย่างถูกต้องเหมาะสมเป็นจริง การเรียกค่าเสียหายในด้านความทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วย การขาดโอกาสในการทำมาหารายได้ก็ให้เรียกอย่างเหมาะสม ไม่สูงสุดโต่งจนเลยจุดที่จะทำให้ไม่สามารถเจรจากันได้ท้ายที่สุด แพทย์ผู้ทำการรักษาได้แสดงน้ำใจให้ความช่วยเหลือน้องต๊อกแต๊กเป็นเงินรวม 100,000 บาท ขอแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ ละ 50,000 บาท น้องต๊อกแต๊กพึงพอใจในค่าเสียหายที่ได้รับ ยอมยุติเรื่อง และหันมาตั้งหน้าตั้งตารักษาตัวที่จวนใกล้จะหาย เพื่อก้าวขึ้นสู่เวทีประกวดอีกครั้งเชื่อว่า...ทุกเวทียังมีมงกุฎให้เธอไขว่คว้าอย่างแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 เซอร์วิส ชาร์จ ในร้านอาหาร ไม่จ่ายได้หรือเปล่า

เรื่องร้องเรียนหลายเรื่องที่เข้ามาหาเรา มีเนื้อหาเรื่องราวเพียงสั้น ๆ แต่ก็เป็นประเด็นที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆ คนคุณรุ่งทิพย์จึงได้ถามมาสั้นๆ ว่า...“ไปกินอาหารร้านดัง แถวสีลมคอมเพล็กซ์ ในบิลบวกค่าบริการประมาณ 10% ของค่าอาหาร จากค่าอาหาร 160 บาท คิดเป็นค่าบริการ 16 บาทบวกภาษีมูลค่าเพิ่ม ตอนแรกว่าจะให้ทิปแล้ว เลยไม่ให้ดีกว่า ปกติไม่ค่อยได้ไปย่านนั้น ถ้ารู้ก็จะไม่กินร้านนี้หรอก ตอนนี้สงสัยว่าร้านอาหารพวกนี้สามารถบวกค่าโน้นนี้ได้ตามอำเภอใจเลยหรือ แล้วใช้หลักอะไรคิดกัน บริการก็ไม่เห็นแปลกพิเศษอะไรเลยคงด้วยความรู้สึกเหมือนถูกบีบบังคับให้ต้องจ่ายค่าทิปอาหาร จึงได้ถามมาสั้นๆ ว่า ค่าทิปหรือเซอร์วิส ชาร์จ แบบนี้จะไม่จ่ายได้ไหม แนวทางแก้ไขปัญหา ผู้รู้ท่านหนึ่งได้กรุณาเขียนให้ความรู้เกี่ยวกับ ทิป และ เซอร์วิส ชาร์จไว้ว่าทิป คือ เงินจำนวนหนึ่งที่ผู้รับบริการมอบให้แก่ผู้ที่ทำหน้าที่ให้บริการแก่ตนเอง โดยจ่ายเพิ่มให้เป็นพิเศษนอกเหนือการจ่ายค่าสินค้า หรือบริการที่ได้รับไปแล้ว การทิปของแต่ละประเทศนั้นจะไม่เหมือนกัน บางประเทศจะรวมค่าทิปไปในบิลเรียกเก็บเงินหลังเช็คบิล หรือใช้บริการเสร็จ โดยในบิลจะระบุว่า “Service Charge” หรือ “ค่าบริการ” ไว้แล้ว ซึ่งจะกำหนดเป็นค่าร้อยละของยอดจำนวนเงินทั้งหมดที่ต้องจ่ายให้แก่บริการ นั้นๆ โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 5-15 เปอร์เซ็นต์แต่ละประเทศมีการคิดค่าธรรมเนียมในการทิปที่แตกต่างกัน เช่น ประเทศฝรั่งเศส มีกฎหมายให้ภัตตาคารสามารถบวกค่าบริการได้ ทำให้พนักงานเสิร์ฟที่ประเทศฝรั่งเศสมีเงินเดือนและสวัสดิการที่ดี แต่สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกาไม่บังคับ ทำให้รายได้ของพนักงานส่วนใหญ่ได้มาจากการทิป สำหรับเงินเดือนได้น้อยมากดังนั้นเมื่อไปกินอาหารที่ภัตตาคารที่ฝรั่งเศสที่ได้บอกค่าบริการไปแล้วใน บิลจึงไม่ต้องให้ทิปเพิ่มอีก แต่ถ้าหากได้รับบริการที่ดีอาจจะให้เพิ่มตามความสมัครใจก็ได้ โดยปกติจะอยู่ประมาน 1-5 ยูโรต่อจำนวนสมาชิกในโต๊ะสำหรับ ประเทศไทย ไม่ได้มีกฎหมายการเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จเป็นการเฉพาะ มีเพียงแต่กฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ที่กรมการค้าภายในดูแลเฉพาะเรื่องการแสดงราคาสินค้าให้ผู้บริโภคทราบก่อนที่จะซื้อสินค้าหรือใช้บริการ คือ หากสินค้าหรือบริการใดไม่ได้อยู่ในการรายการควบคุมราคาสินค้าก็สามารถที่จะจำหน่ายหรือเก็บค่าบริการในราคาเท่าไรก็ได้ เพียงแต่ขอให้มีการแจ้งราคาให้ผู้บริโภคทราบในป้ายสินค้าหรือบริการก่อน เพื่อให้ผู้บริโภคใช้สมองของตัวเองพินิจพิจารณาว่าจะซื้อหรือจะใช้บริการนั้นหรือไม่ดังนั้น หากในร้านอาหารใหญ่ๆ หรือการสั่งอาหารตามโรงแรมบางแห่งได้มีการเขียนบอกไว้ในเมนูอาหารอยู่แล้วว่ามีค่าบริการ เพิ่มกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาศัยกติกาสากลมาเทียบเคียง ก็สามารถที่จะทำได้ และเดี๋ยวนี้ก็ทำกันหลายที่เพราะคนไทยไม่ค่อยมีวัฒนธรรมการจ่ายค่าทิปให้เด็กร้าน  และหากผู้บริโภคมีความพอใจในบริการมากๆ อยากจะจ่ายค่าทิปเพิ่มให้อีกก็ทำได้ส่วนการปฏิเสธไม่จ่ายค่าเซอร์วิสชาร์จนั้น ผู้บริโภคควรมีเหตุผลที่เหมาะสมว่าไม่พึงพอใจบริการเพราะเหตุใด เช่น สั่งอาหารอย่างหนึ่งได้มาอีกอย่างหนึ่ง เสียเวลารอนานเกินเหตุ เข้าร้านไปไม่มีใครสนใจมาถามไถ่ให้บริการเลย ทำเหมือนเราเป็นแมลงวันหลงบินเข้าร้านอะไรทำนองนี้ และเมื่อเทียบกับอัตราค่าเซอร์วิสชาร์จที่ถูกเรียกเก็บเห็นว่าไม่คุ้มค่า ตรงนี้ก็พอที่จะเรียกผู้จัดการร้านมาเจรจาชี้แจงที่จะปฏิเสธค่าเซอร์วิสชาร์จได้ แต่ถ้าไม่มีเหตุเลย ไม่อยากจ่ายซะงั้นก็ดูจะใจจืดใจดำกับลูกจ้างชั่วคราวที่เขาได้ค่าแรงต่ำอยู่แล้ว เรื่องนี้ต้องนึกถึงใจเขาใจเรากันบ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ไม่น่ารักอ่ะ

เฮ้ออออ..........ที่ต้องอุทานคำนี้เพราะมันเกิดอารมณ์พูดไม่ออกบอกไม่ถูกจริงๆเมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสอ่าน เนชั่นสุดสัปดาห์  ที่พาดหัวคำว่า  “น่อร๊อร์กอะ!” อ่านแล้วรู้สึกงงๆ อยู่ตั้งนาน มันแปลว่าอะไรว่ะจากนั้นก็ไม่ได้สนใจอะไรแปลไม่ได้ก็ไม่แปล  จนกระทั่งเปิดไปเจอเนื้อหาด้านใน คอลัมน์  “ที่เห็นและเป็นอยู่” หัวข้อสัมภาษณ์  “มาดามมด” จึงได้รู้ว่าภาษาที่พาดหัวหน้าปกอยู่ที่นี่เอง เมื่ออ่านเนื้อหาจึงรู้ว่าเป็นการเขียนเพื่อชื่นชมว่าเธอผู้นี้..เป็นคนที่มีความสามารถในการบัญญัติศัพท์ใหม่ๆ ขึ้นมาใช้ในประเทศไทยเป็นคนแรกๆ...  เช่น   จะดรีหร๋า.. แต่เว่.....ชีเริดน้า...ไม่นอยอ้ะ....ชีไม่นู๊บ...ชีเป๊ะ......แล้วยังมีการแปลความหมายภาษาเหล่านี้ไว้อีกด้วย เช่น น่ารักอ่ะ.แปลว่าถูกใจใช่เลย จะดรีหร๋า แปลว่า แสดงอาการลังเลไม่แน่ใจ  คือก็โอ แปลว่า ตกลงยินยอมมันก็ดี  อะจริงดิ  แปลว่าใช้พูดเพื่อตอกย้ำความมั่นใจในเรื่องต่างๆ ได้อีก แปลว่า มากๆ มากที่สุด ตลอด แปลว่า บ่อยๆ เป็นประจำ กาก แปลว่า ไม่เก่งไม่ชำนาญ เป็นต้น(ท่านผู้อ่านรู้สึกอย่างไรกับภาษาเหล่านี้)หลังจากนั้นก็มีเนื้อหาว่าคุณมาดามมดนี่ เป็นแม่แบบที่น่าภาคภูมิใจของเหล่าผองเพื่อนที่สามารถบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใช้เองและติดตลาดในกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ผู้เขียน ไม่ขอติติงมาดามมด  เพราะเธอมีสิทธิที่จะพูดจะแสดงออก จะใช้ภาษาอย่างที่เธอต้องการใช้   แต่ขอติติงสื่อ  ที่นำศัพท์พวกนี้มาเผยแพร่ ตีพิมพ์ออกสู่สาธารณะ  เพียงเพื่อเป้าหมายการตลาด (หรืออะไร!) ที่น่าสะท้อนใจคือบทสัมภาษณ์นี้เป็นไปในแนวชื่นชมส่งเสริมการใช้ภาษา ที่เป็นภาษาเฉพาะตัวของบางคนหรือบางกลุ่ม ราวกับเธอคือสุดยอดแม่แบบแห่งการบัญญัติศัพท์ ถ้าพูดภาษาวัยรุ่นคือ ยกย่องให้เธอเป็นไอดอล แห่งภาษา  ทั้งๆ ที่ภาษาเหล่านี้  “อาจเป็นต้นฉบับที่ทำให้ภาษาไทยวิบัติ ” นี่หรือที่วงการสื่อเรียกร้องความอิสระแห่งการสื่อสาร สิ่งที่สื่อควรคำนึงให้มาก(กว่านี้)  คือการสื่อสารเรื่องนี้สื่อต้องการอะไร? และอาจมีผลกระทบอะไรกับสังคมไทยบ้าง?    ผู้เขียนในฐานะคนไทย และเป็นเจ้าของภาษาไทย  มีความภาคภูมิใจ ในภาษาไทย คนหนึ่งรู้สึกสะเทือนใจอย่างยิ่ง  กับบทความเหล่านี้  ในฐานะผู้บริโภคที่เป็นคนไทยเป็นเจ้าของภาษาไทย  ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงวัฒนธรรม องค์กรกำกับดูแลสื่อ  ช่วยปกป้องภาษาไทยที่เป็นภาษาแห่งชาติอย่าปล่อยให้คนบางกลุ่มสื่อบางประเภท มาทำให้ภาษาไทยวิบัติ  และเกิดความไม่มั่นคงทางภาษาไปมากกว่านี้ ได้หรือไม่????

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ออมสินปฏิเสธบังคับลูกค้ากู้เงินต้องทำประกัน

 คุณวิชัยบอกว่า ถูกธนาคารออมสินบังคับให้ทำประกันชีวิตเพื่อค้ำประกันเงินกู้สินเชื่อประเภทสวัสดิการ ถ้าไม่ทำประกันก็ไม่อนุมัติ และวงเงินประกันสูงมาก รายละเอียดเป็นอย่างไร มาติดตามกันครับคุณวิชัยบอกว่า ไปกู้ยืมเงินกับธนาคารออมสิน สาขาวังสะพุง จ.เลย เป็นจำนวนเงิน 2.8 ล้านบาท โดยมีที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ กำหนดชำระเงิน 17 ปี และธนาคารออมสินสาขาวังสะพุงให้ทำประกันชีวิตกับบริษัทอาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด ค่าเบี้ยประกันเป็นเงิน 238,089.25 บาท และกับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด ค่าเบี้ยประกันอีก 42,015.75 บาท รวมเบี้ยประกันทั้งสองบริษัทเป็นเงิน 280,105 บาท โดยต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันครั้งเดียวในวันทำสัญญากู้เงิน โดยให้ธนาคารเป็นผู้รับผลประโยชน์คุณวิชัยมีคำถามว่าเงินเบี้ยประกันตก 10% ของยอดเงินกู้ เมื่อชำระเงินกู้จนหมดตามสัญญาก็ไม่ได้คืน“ผมถือว่าผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างยิ่ง และสงสัยว่าธนาคารมีผลประโยชน์กับบริษัทประกันภัยหรือไม่” แนวทางแก้ไขปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีหนังสือสอบถามไปที่ท่านกรรมการผู้จัดการธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ไปเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 ผลปรากฏว่าเงียบไม่มีคำตอบ เลยทำหนังสือไปติดตามความคืบหน้าอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2554 และได้พยายามติดต่อสอบถามทางโทรศัพท์อยู่หลายครั้ง ในที่สุดในวันที่ 7 กันยายน 2554 ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ จึงได้มีคำชี้แจงกลับมาอย่างเป็นทางการ บอกว่า... ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อบุคคล ได้ตรวจสอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการให้สินเชื่อสวัสดิการสำหรับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ในเรื่องการให้สินเชื่อบุคคล กรณีที่ผู้กู้ต้องการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล และหรือประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อกับบริษัทผู้รับประกันที่ธนาคารกำหนด ให้รวมค่าเบี้ยประกันในจำนวนเงินให้กู้ได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่จำนวนเงินให้กู้รวมทั้งหมดต้องไม่เกินตามเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด และระยะเวลาเอาประกันต้องไม่เกินระยะเวลาชำระเงินกู้ตามสัญญา สำหรับค่าเบี้ยประกันชีวิตให้เป็นไปตามอัตราเบี้ยประกันของบริษัทผู้รับประกัน “จากรายละเอียดดังกล่าวพิจารณาได้ว่า ธนาคารฯ ไม่มีนโยบายเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินสินเชื่อสวัสดิการแก่ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พร้อมกับการทำประกันชีวิต เพียงแต่หากผู้กู้มีความประสงค์ต้องการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล และหรือประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อกับบริษัทผู้รับประกันที่ธนาคารกำหนดให้รวมค่าเบี้ยประกันในจำนวนเงินให้กู้ได้เท่านั้น” เมื่อมีคำตอบชัดเจนแบบนี้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงมีความเห็นว่า คุณวิชัยน่าจะสามารถเรียกเงิน 280,105 บาท ที่ถูกหักไปเป็นเบี้ยประกันภัยคืนจากบริษัทประกันภัยได้ เหตุผลสำคัญเพราะคุณวิชัยไม่ได้มีความประสงค์ที่จะทำประกันมาตั้งแต่แรกแล้ว และยังได้มีการทักท้วงทั้งทางวาจาและลายลักษณ์อักษรมาโดยตลอด แต่ที่ต้องทำไปเพราะถูกหว่านล้อมชักชวนจากพนักงานธนาคาร และยังไม่มีการให้ข้อมูลที่ครบถ้วน จนทำให้ลูกค้าเข้าใจว่า ถ้าไม่ทำประกันภัยจะทำให้ขอสินเชื่อไม่ได้ การเข้าทำสัญญาจึงดูเหมือนการถูกบังคับจิตใจกันกลายๆเมื่อมีคำยืนยันจากธนาคารออมสินเช่นนี้อีกก็สามารถใช้เป็นหลักฐานในการเจรจาบอกเลิกสัญญากับบริษัทประกันภัยได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 แฟนคลับร้อง...อีซี่เอฟเอ็ม 105.5 เหนียวรางวัล

คุณสุเทพเป็นคนแรกที่เปิดแฟ้มร้องเรียนเรื่องนี้กับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เขาบอกว่าช่วงเดือนมีนาคม 2554 ทางสถานีวิทยุ EasyFM 105.5 ได้จัดรายการแจกรางวัลสำหรับผู้ส่ง sms เบอร์มือถือตัวเองเข้าลุ้นรางวัล 3,000 บาท ทุกๆ ชั่วโมง โดยจับหมายเลขสุดท้ายของเบอร์โทรมือถือ เป็น Lucky Number ของแต่ละชั่วโมง“หลังจากได้รางวัล ทางเจ้าหน้าที่ก็จะติดต่อมาเพื่อขอให้แฟกซ์สำเนาบัตรประชาชนเพื่อเตรียมออก เช็ค/หรือบัตรกำนัลให้ โดยแจ้งว่าจะได้รับประมาณปลายเดือนเมษายน หลังจบรายการโปรโมชั่นดังกล่าวแต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการติดต่อกลับจากทางรายการแต่อย่างใด เมื่อลองเข้าไปในเว็บบอร์ด ของอีซี่เอฟเอ็ม ก็พบกระทู้ทวงถามของผู้ร่วมสนุกโดยไม่มีคำตอบจากผู้รับผิดชอบแต่อย่างใด”คุณสุเทพได้แนบลิ้งค์กระทู้ ที่มีแฟนคลับคลื่นวิทยุดังกล่าวเขียนเข้าไปติดตามทวงถามของรางวัลกันหลายราย“ตัวผมเองเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสนุก ในการส่ง sms ไปลุ้นรางวัลกับเขาด้วยและได้รางวัลเมื่อ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้ส่งเอกสารให้ทางรายการตามเงื่อนไขแล้ว ก็เงียบไปเช่นกัน ดังนั้นเมือต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ผมได้ไปยังอาคารมาลีนนท์ ทางเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าเช็คยังไม่ออก ถ้าออกแล้วจะโทรกลับ จนป่านนี้(1 มิ.ย.) ก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับแต่อย่างใด ครั้นโทรเข้าไปถาม สายก็ไม่ว่างตลอด อย่างนี้เข้าข่ายหลอกลวงไหมครับ เพราะการส่ง sms ก็ไม่ใช่จะฟรี charge ตั้ง 6 บาทต่อครั้ง จึงอยากให้มูลนิธิช่วยติดต่อสอบถามให้ทีครับ”อีกรายคือคุณภิญรดา เขียนเข้ามาในเว็บบอร์ดร้องทุกข์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า “เหมือนกันเลยค่ะ ไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไหร่ คนละเกมส์กันค่ะ เล่นเกมเมื่อเดือนที่แล้ว Easy Big Holiday ค่ะ ได้รางวัลเป็นที่พักที่เกาะเสม็ด “ติดต่อมาครั้งเดียวตอนให้ออกอากาศอ่ะค่ะ จากนั้นก็ไม่มีไรตามมา..” แนวทางแก้ไขปัญหา จากข้อร้องเรียนของทั้งสองท่าน เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้โทรติดต่อตามเรื่องไปที่บริษัท บีอีซีเทโร เรดิโอ จำกัด ในฐานะผู้ดูแลคลื่นวิทยุ Easy FM 105.5 รายแรกคุณสุเทพร้องมาที่มูลนิธิฯเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2554 หลังจากที่ได้ติดต่อไปทางบีอีซีจึงได้จ่ายเช็คมูลค่า 3,000 บาท ให้กับคุณสุเทพภายในเดือนเดียวกันจากที่ได้เล่นเกมและบอกว่าจะได้รับรางวัลมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 สำหรับรายคุณภิญรดา ทางบีอีซีมีคำชี้แจงกลับมาว่า คุณภิญรดา ได้ร่วมกิจกรรมในวันที่ 28มิถุนายน 2554 เวลาประมาณ 12.00 น. และได้เป็นผู้โชคดีที่ได้รับรางวัลเป็นที่พักอ่าวพร้าว รีสอร์ท เกาะเสม็ดจริง เป็นรางวัลบัตรกำนัลห้องพักประเภท Deluxe Cottage Seaview 2 วัน 1 คืน พร้อมอาหารเช้าสำหรับ 2 ท่าน มูลค่ากว่า 10,500 บาท ซึ่งเมื่อจบกิจกรรมทางรายการได้โทรแจ้งไปที่หมายเลขโทรศัพท์ที่ได้รับแจ้งจากภิญรดาให้มารับของรางวัลถึง 3 ครั้ง แต่ไม่มีผู้รับสาย “ในกรณนี้ทางเรายินดีจะจบปัญหานี้ โดยยินดีให้สิทธิคุณภิญรดาสามารถรับของรางวัลได้ แต่เนื่องจากบัตรกำนัลที่พักอ่าวพร้าวจะหมดอายุในวันที่ 31 ตุลาคม 2554 ทางเราเกรงว่าคุณภิญรดาจะเข้าพักไม่ทัน จึงขออนุญาตเปลี่ยนของรางวัลเป็นที่พักที่ปานวิมานเกาะช้าง (2 วัน 1 คืน) มูลค่า 10,500 บาทแทน แต่ว่าทางเราต้องมีการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย 5% ของมูลค่าของรางวัลจำนวนเงิน 525 บาท...” เมื่อได้รับเงื่อนไขจากทางบริษัทบีอีซีแล้ว มูลนิธิจึงได้แจ้งให้คุณภิญรดาตัดสินใจอีกครั้งถือว่าเป็นการจบลงด้วยดี โชคดีได้ลี้ภัยน้ำท่วมกับทะเลสวยๆ แล้วอย่าลืมมาช่วยเหลือคนติดน้ำท่วมด้วยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 เปิ้ลไอริณโดนเต๊นท์หลอกขายรถ

จำได้ว่า เราเคยลงเรื่องการหลอกขายรถและวิธีการแก้ไขในคอลัมน์นี้มาแล้ว น่าเสียดายที่ดาราสาวอย่าง "เปิ้ล ไอริณ" ไม่มีโอกาสได้อ่าน ไม่เช่นนั้นคงจะไม่ประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้อย่างแน่นอนเรื่องนี้เก็บมาจากข่าวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมานี้เองเนื้อข่าวเขาบอกว่า ประมาณบ่าย 2 โมงของวันนั้น  น.ส.ไอริณ ศรีแกล้ว หรือ “เปิ้ล ไอริณ” เข้าแจ้งความต่อ พล.ต.ต.พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ดำเนินคดีกับ นายลิขิต ชัยนะกุล เจ้าของเต๊นท์รถออโตเทรด เลียบทางด่วนรามอินทรา หลังจากที่ถูกหลอกให้ซื้อรถมือสองราคาเกือบ 1 ล้านบาทแต่ต้องจอดซ่อมหลายเดือนเปิ้ลไอริณ เธอเล่าว่า นายลิขิต อ้างว่าจะขายรถปี 2008 ให้ แต่ปรากฏว่าทางเต๊นท์ได้นำรถปี 2005 มาขายให้ จึงได้ติดต่อกลับไปยังนายลิขิต แต่นายลิขิตอ้างว่าซื้อไปแล้วไม่สามารถทำอะไรได้ จึงไปแจ้งความที่ สน.โชคชัย 4 ต่อมาเมื่อขับไปได้ประมาณ 7 เดือน รถก็ความร้อนขึ้น จนต้องจอดซ่อมมาแล้วกว่า 3 เดือน"ตอนซื้อมาหนูจ่ายไป 7 แสนบาท บวกค่าโอนอีก 1.5 แสนบาท รวมแล้วก็เกือบ 1 ล้านบาท ถ้าเอารถรุ่น 2005 นี้ไปขายก็ได้แค่ 4-5 แสนบาทเท่านั้น ซึ่งรถที่ต้องการเป็นปี 2008 ก็ไม่ได้ยังต้องมาจอดซ่อมอยู่ในศูนย์ ซ่อมจุดละ 5,000 บาท ตอนนี้หนูกลุ้มใจมาก ไปแจ้งความที่ สน.โชคชัย 4 ทางตำรวจก็บอกว่านายลิขิตให้ตำรวจชั้นผู้ใหญ่มาปิดคดีแล้ว หนูหมดเงินไปกับรถคันนี้เยอะมาก อยากจะร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรมเพราะไม่รู้ว่าจะต้องไปพึ่งใคร แล้ว" เปิ้ล ไอริณ กล่าวขณะที่ พล.ต.ต.พูลทรัพย์ กล่าวว่า จะรับเรื่องไว้ โดยในเบื้องต้นจะเข้าไปดูเรื่องสัญญาการซื้อขาย ซึ่งมี พรบ.ควบคุมการขายรถยนต์ใช้แล้ว และเอาหลักฐานมาดูว่าจะเข้ากฎหมายประเภทใดที่สามารถดำเนินคดีได้ต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหา ข่าวเขาว่ามาแค่นี้ล่ะครับ สรุปว่าน้องไอริณยังต้องรอตำรวจว่าจะดำเนินการยังไงอยู่ แต่มีประเด็นในเรื่องเกี่ยวกับการซื้อรถใช้แล้วที่เราจะเรียนรู้ซ้ำร่วมกันจากข่าวนี้ คือ...สัญญาในการซื้อรถใช้แล้ว เป็นสัญญาที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)ได้มีประกาศควบคุมไว้ สัญญาการซื้อขายรถยนต์ใช้แล้ว สคบ.กำหนดให้เป็นสัญญาที่ต้องควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงินหรือใบเสร็จรับเงินนั่นเอง ซึ่งจะต้องมีการระบุรายละเอียดของรถยนต์ที่ตกลงซื้อขายกัน เกี่ยวกับ ยี่ห้อ รุ่น ปี สี หมายเลขเครื่องยนต์ หมายเลขตัวถัง หมายเลขทะเบียน ระยะทางการใช้รถยนต์ ภาระผูกพันของรถยนต์(ถ้ามี) และชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครองรถยนต์ ทีนี้ก็มาตรวจสอบดูครับว่า ในสัญญาที่น้องไอรินไปทำนั้น รถยนต์คันที่ซื้อขายกันได้ระบุปีของรถไว้เป็นปี 2008 หรือไม่ ถ้าระบุไว้อย่างชัดแจ้งแล้วยังนำรถปี 2005 มายัดให้ลูกค้า อย่างนี้ถือว่าผู้ขายผิดสัญญา ผู้ซื้อสามารถบอกเลิกสัญญาขอเรียกเงินคืนได้ รวมทั้งความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย อย่างเช่นค่าซ่อมที่ผ่านมา  เพราะถือว่าจัดรถมาให้ไม่ถูกต้องตามที่ได้ตกลงกัน แต่หากไม่มีการเขียนหรือไม่มีการทำสัญญากัน ผู้ขายรถจะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเมื่อโทษทางอาญาหนักระดับนี้ ผู้บริโภคที่ประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้รวมทั้งคุณเปิ้ลไอริณด้วย ควรใช้แนวทางเรียกค่าเสียหายให้เต็มพิกัด คือทั้งราคารถ ค่าซ่อม ค่าเสียโอกาส จัดมาให้เต็ม หากจะมีการเจรจาไกล่เกลี่ยค่าใช้จ่ายที่จะยอมถอยให้ได้มีเพียงค่าเสียโอกาสเท่านั้น ส่วนค่าราคารถและค่าซ่อมไม่ควรยอมถอยครับ เพราะหากเจรจากันไม่ได้ผู้บริโภคยังสามารถยกเรื่องฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ และคำพิพากษาหากเห็นว่าผู้ประกอบธุรกิจผิดจริง ยังเพิ่มดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ให้กับผู้เสียหายอีกต่างหาก ส่วนเรื่องทางอาญานั้นปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจกับ สคบ. ไปครับ    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 รถตู้โฟตอนเอ็นจีวี ถูกร้องคุณภาพห่วย

สมาชิกสมาคมรถตู้โดยสารต่างจังหวัดแห่งประเทศไทย แห่ร้องกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รถตู้โฟตอนเอ็นจีวีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ซื้อมาแล้วใช้งานไม่ได้ ที่มาของปัญหาเรื่องนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2551เมื่อบริษัท แพล็ททินัม มอเตอร์เซลล์ จำกัด ตัวแทนนำเข้ารถตู้ ยี่ห้อโฟตอนจากประเทศจีน ได้โฆษณาประชาสัมพันธ์ขายรถตู้โฟตอนเอ็นจีวีผ่านสมาคมรถตู้โดยสารต่างจังหวัดแห่งประเทศไทย  ในราคาคันละ 1,365,000 บาทโดยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่า จะมีบริษัท เงินทุนกรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย  เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อให้เช่าซื้อ และบริษัท กมลประกันภัย จำกัด เป็นผู้รับประกันภัย ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อไม่สามารถชำระค่าเช่าซื้อรถตู้คันดังกล่าวได้ เช่น รถหาย รถชำรุดบกพร่อง เป็นต้นรับประกันความมั่นใจขนาดนี้ สมาชิกของสมาคมฯ จึงไม่รีรอรีบเข้าทำสัญญาเรียบร้อยโรงเรียนจีน(ของแท้) ในคราวเดียวทั้งสิ้นกว่า 70 ราย หลังการเข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถตู้โฟตอนแล้วนำมาใช้งานเป็นรถโดยสารสาธารณะเหล่าสมาชิกสมาคมฯ ต้องพบปัญหามากมายหลายหลากกับรถตู้นำเข้าจากจีนรุ่นนี้ โดยเฉพาะเกี่ยวกับระบบเครื่องยนต์ บางคันขณะขับรับส่งผู้โดยสารอยู่ดีๆ เครื่องยนต์ก็ดับกะทันหัน บางทีก็เร่งไม่ขึ้นเครื่องไม่มีกำลัง ระบบความร้อน ระบบแอร์ มีปัญหาไม่ทำงานบ่อยครั้ง ยังมีปัญหาเรื่องของตัวถังที่มาจากการประกอบที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ขับรถรับส่งผู้โดยสารช่วงหน้าฝน มักมีน้ำหยดผ่านหลังคาเข้ามาในรถสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้โดยสารเป็นประจำ   นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านการบริการ ซึ่งก่อนเช่าซื้อทางบริษัทฯ ได้โฆษณาว่า  จะมีศูนย์บริการหรืออู่ให้การบริการซ่อมอยู่ทั่วประเทศ  แต่ในความเป็นจริงกลับมีเพียง  1 แห่ง และไม่มีอะไหล่ของบริษัทโฟตอนโดยตรงรถตู้ที่เช่าซื้อมา ต้องขับไปซ่อมไป บางคันก็ซ่อมไม่ไหวเพราะไม่มีอะไหล่ ทำให้ผู้ร้องเรียนแต่ละรายต้องแบกรับภาระค่าซ่อมรถ ค่างวดเช่าซื้อรถ โดยที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากตัวรถเต็มที่ บางรายต้องจอดทิ้งไว้ที่อู่เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าซ่อม ภายหลังจากพบปัญหาผู้ร้องเรียนได้พยายามติดต่อ สอบถามไปยังผู้ให้เช่าซื้อคือ บริษัทเงินทุนกรุงเทพธนาทร จำกัด(มหาชน) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อขอคืนรถตู้โดยสารคันดังกล่าวแต่ได้รับการปฏิเสธ ผู้เช่าซื้อกว่า 30 รายเมื่อไม่มีรายได้เลยตัดสินใจหยุดผ่อนค่างวด ทำให้ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย มีเพียงบางส่วนได้ทำการคืนรถให้กับทางผู้ให้เช่าซื้อก่อนที่จะมีการฟ้องร้องดำเนินคดี แนวทางแก้ไขปัญหา ใครที่เช่าซื้อรถมาแล้วรถเกิดปัญหาแบบนี้ ให้รู้ไว้ว่า สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ทุกฉบับในเมืองไทยเป็นสัญญาที่อยู่ภายใต้การควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) รายละเอียดมีอยู่ในประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 โดยรายละเอียดที่เกี่ยวกับปัญหาเรื่องนี้สัญญาควบคุมระบุว่า ผู้เช่าซื้อสามารถใช้สิทธิในการเรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขการรับประกันของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อจากผู้ขายหรือผู้ผลิตได้โดยตรง และผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิได้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ในจำนวนหนี้ที่ยังคงค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น ส่วนที่เกินจากมูลหนี้ค้างชำระให้บริษัทประกันภัยจ่ายให้แก่ผู้เช่าซื้อ เมื่อสัญญาที่ควบคุมเป็นดังนี้ ดังนั้น เมื่อผู้เช่าซื้อรถประสบปัญหาคุณภาพรถไม่มีมาตรฐาน สินค้าที่เช่าซื้อจึงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเช่าซื้อ ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ขายรถยนต์ ซึ่งอยู่ในเมืองไทยต้องรับผิดชอบแก้ไข หรือแก้ไขไม่ได้ก็ให้เปลี่ยนรถใหม่ให้ หรือรับซื้อคืนไป แต่ถ้าผู้ขายเพิกเฉยไม่รับผิดชอบ ผู้เช่าซื้อรถต้องรีบตัดวงจรปัญหาทันทีด้วยการบอกเลิกสัญญาและคืนรถให้ผู้เช่าซื้อไป ซึ่งกรณีนี้ได้มีการทำประกันกันไว้ เมื่อผู้ให้เช่าซื้อได้รถคืนไปแล้วจึงจะนำไปรถไปประมูลขายในตลาด ถ้าหากขายได้แต่มีส่วนต่างอยู่บริษัทประกันก็รับผิดชอบไป สำหรับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งจากเงินค่าเช่าซื้อที่ได้จ่ายไป ค่าขาดประโยชน์ที่ไม่ได้ใช้รถตู้วิ่งรับส่งผู้โดยสาร ก็ต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกันต่อไป ซึ่งมูลนิธิฯ ได้นำผู้ร้องเรียนทั้งหมดเข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคให้พิจารณาฟ้องแทนผู้บริโภคแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 บิ๊กซีแพ้ซ้ำ คดีลูกค้าตกร่องน้ำในห้าง ศาลอุทธรณ์สั่งจ่ายเพิ่มอีก 2 หมื่น

ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีลูกค้าตกร่องระบายน้ำในห้าง บิ๊กซีประมาทจริง เปิดร่องระบายน้ำไม่มีเครื่องป้องกันเป็นเหตุให้ลูกค้าเดินตกจนข้อเท้าหัก สั่งจ่ายค่าขาดประโยชน์เพิ่มอีก 2 หมื่น หลังจากที่ศาลชั้นต้นได้สั่งบิ๊กซีให้จ่ายค่าเสียหายแก่ผู้บริโภครายนี้ไปแล้วร่วม 5 แสนบาทจากคดีที่คุณจุฬา สุดบรรทัด เดินตกร่องน้ำที่ไม่มีฝาปิดบริเวณห้างสรรพสินค้า บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาลำปาง เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2550 จนได้รับบาดเจ็บกระดูกข้อเท้าขวาหลุดและแตก เสียค่ารักษาและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องไปหลายบาท แต่ห้างบิ๊กซีฯ ปฏิเสธความรับผิดชอบศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 ให้บิ๊กซีต้องชำระเงินจำนวน 405,808.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2550 ซึ่งเป็นวันที่เกิดเหตุจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน 81,275 บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท แต่ไม่พิพากษาค่าขาดประโยชน์ให้เพราะรายได้ไม่สม่ำเสมอและไม่แน่นอนภายหลัง คดีสิ้นสุดในศาลชั้นต้น คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างใช้สิทธิอุทธรณ์ คุณจุฬาในฐานะโจทก์ยื่นอุทธรณ์ในประเด็นเรื่องค่าขาดรายได้ในช่วงที่บาดเจ็บต้องพักรักษาตัว ส่วนบิ๊กซีอุทธรณ์ว่าตนไม่ได้เป็นฝ่ายประมาท เหตุที่เกิดเป็นเพราะความประมาทของคุณจุฬาเองในที่สุด ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 และได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 54 โดยมีคำวินิจฉัยที่น่าสนใจในคดีนี้หลายประเด็น ขอยก มาให้ศึกษาเรียนรู้ร่วมกันเฉพาะที่สำคัญ ดังนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ห้างบิ๊กซีเป็นเจ้าของสถานที่ เป็นผู้ทำรางระบายน้ำรูปตัววีและเกาะกลางถนนเอง ควรจะทราบถึงความเป็นไปได้ในการที่จะเกิดอุบัติเหตุขึ้นแก่ผู้ที่เข้าไปใช้บริการห้างสรรพสินค้าในการเดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ ห้างฯ ควรดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ เช่น การติดไฟส่องสว่าง การติดป้ายเตือนให้ระมัดระวังในการเดินในพื้นต่างระดับที่ติดต่อกับรางระบายน้ำรูปตัววีที่ห้างฯ ทำขึ้น แต่ห้างฯ กลับไม่ได้กระทำการดังกล่าว เพิกเฉย ละเลยในการป้องกันหรือบรรเทาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น การกระทำของห้างฯ จึงเป็นการกระทำโดยประมาท และละเมิดต่อโจทก์ คือคุณจุฬา ที่เดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุแล้วประสบอุบัติเหตุลื่นล้มจนได้รับบาดเจ็บ คุณจุฬาจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากห้างฯ ได้กรณีที่ห้างฯ อุทธรณ์อ้างว่า ห้างฯ ไม่ต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลเพราะคุณจุฬาสามารถเบิกค่ารักษาจากส่วนราชการได้ ศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยในส่วนนี้ว่า แม้คุณจุฬาจะเบิกค่ารักษาพยาบาลจากทางราชการได้ ก็ไม่ทำให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของคุณจุฬาที่จะเรียกร้องเอาจากห้างฯ ต้องระงับไป ห้างฯ ต้องรับผิดชดใช้ค่ารักษาพยาบาลให้แก่คุณจุฬากรณีค่าเสียหายในอนาคต ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้แก่คุณจุฬา จำนวน 100,000 บาท ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเหมาะสมแล้ว อีกทั้งห้างฯ ให้การและนำสืบแต่เพียงว่า คุณจุฬานำค่าใช้จ่ายในอนาคตมาคำนวณรวมไว้ด้วย แต่ไม่ได้ปฏิเสธหรือนำสืบให้เห็นว่าคุณจุฬาไม่ได้มีค่าใช้จ่ายในอนาคตแต่อย่างใด และไม่ได้ปฏิเสธโต้แย้งว่า รายการสรุปค่าเสียหายไม่ถูกต้อง ทำขึ้นโดยไม่ชอบหรือรับฟังไม่ได้ด้วยเหตุใดแล้ว จึงต้องถือว่ารายการสรุปค่าเสียหายนั้นรับฟังได้ว่า คุณจุฬามีค่าเสียหายในอนาคตที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดจริงประเด็นสำคัญสุดท้าย กรณีที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนค่าขาดประโยชน์วันละ 2,000 - 5,000 บาท ให้แก่คุณจุฬานั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คุณจุฬาจะยกเอาเรื่องการได้เงินค่าเบี้ยประชุมจากการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือกรรมการให้หน่วยงานราชการ และองค์กรสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นเงินที่ได้มาเป็นเพียงบางครั้งบางคราว จำนวนเงินไม่แน่นอน มาอ้างเป็นรายได้ประจำและนำมาคำนวณเป็นค่าขาดรายได้เพื่อเรียกค่าเสียหายไม่ได้ อย่างไรก็ตามก็ยังต้องถือว่าเป็นรายได้ของคุณจุฬาที่เคยได้รับก่อนเกิดเหตุ ที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้คุณจุฬาเลยจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดรายได้ให้คุณจุฬาจำนวน 20,000 บาทศาลอุทธรณ์ จึงมีคำพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดรายได้ให้โจทก์(คุณจุฬา) เป็นเงิน 20,000 บาท ด้วย โดยที่ก่อนหน้านี้ห้างบิ๊กซีฯ ต้องจ่ายค่าเสียหายตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีเดียวกันเป็นเช็คเงินสดจำนวน 570,000 บาทมาแล้ว      

อ่านเพิ่มเติม >