ฉบับที่ 216 มันใกล้ตัวเรา เข้ามาแล้ว

        เราคงได้ยินคำว่าเชื้อดื้อยามานานแล้ว นานจนหลายๆ คนเริ่มจะชิน แต่บางคนอาจไม่หวาดกลัวเพราะไม่เคยเจอกับตัวเอง ระยะหลังกระทรวงสาธารณสุขมีการรณรงค์เกี่ยวกับการป้องกันเชื้อดื้อยา โดยรณรงค์ไม่ให้ใช้ยาปฏิชีวนะ(ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย) อย่างพร่ำเพรื่อ โดยเฉพาะการใช้อย่างไม่จำเป็นในสามโรค ได้แก่ หวัดชนิดที่ไม่ได้ติดเชื้อแบคทีเรีย แผลสะอาด ท้องเสีย  อีกทั้งยังมีการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ทั้งของประเทศและระดับโลกมากขึ้น กระแสตื่นตัวเกี่ยวกับเชื้อดื้อยาจึงมากขึ้น จนกระทั่งรัฐบาลนำไปเป็นนโยบายของประเทศ     แม้ว่าการณรงค์การใช้ยาในคนจะเริ่มประสบผลสำเร็จมากขึ้น แต่กลับมีข้อมูลการใช้ยาในภาคเกษตรทั้งพืชและสัตว์ปรากฏขึ้นมาอีก จากการสำรวจข้อมูลในหลายๆ พื้นที่ พบว่ามีการนำยาปฏิชีวนะที่ใช้ในมนุษย์ เช่น แอมพิซิลิน(Ampicillin) อะม็อกซี่ซิลิน(Amoxycillin) มาใช้ในการเกษตร โดยพบการใช้มากในสวนส้ม ข้อมูลจาก Facebook เภสัชกรชายแดน รายงานว่าเกษตรกรได้ทำกันอย่างแพร่หลาย โดยจะไปซื้อยาปฏิชีวนะมาแกะเม็ดแคปซูลออก แล้วเอาแต่ผงยาออกมาละลายน้ำ ทิ้งไว้ 1 คืน หลังจากนั้นจึงนำมากรองเอาแต่น้ำ นำไปใส่ขวดแล้วฉีดที่ต้นส้ม  โดย 1 ปี จะฉีด 3 ครั้ง ไม่เช่นนั้นส้มจะเหลืองและตาย  Facebook เภสัชกรชายแดน ยังได้รายงานว่า จากการลงพื้นที่สำรวจ พบผงยาอะม็อกซี่ซิลินเกลื่อนตามพื้นดิน ซึ่งผงยานี้จะซึมสู่แหล่งน้ำใต้ดินต่อไปได้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากเกษตรกรจะสัมผัสผงยาโดยตรง ซึ่งยาอาจเข้าสู่ร่างกายได้ ผู้บริโภคเองก็มีความเสี่ยงอย่างสูงที่จะได้รับยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นที่ตกค้างในผลส้ม และมีโอกาสสูงที่จะนำไปสู่สภาวะที่เร่งเร้าให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ ซึ่งเคยมีข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่หนังสือพิพม์คมชัดลึก  ฉบับวันที่ 27 มกราคม 2560 นำเสนอว่า มีการตรวจพบเชื้อที่มียีนดื้อยาในมนุษย์แล้วเช่นกัน หรือผู้บริโภคบางคนอาจแพ้ยาที่ตกค้างในส้ม ซึ่งน่าห่วงตรงที่การแพ้ยาของบางคนอาจเป็นการแพ้แบบรุนแรงได้        ล่าสุดมีข้อมูลที่ได้จากการทำงานร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม ซึ่งได้ตรวจผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ประเภท แหนม กุนเชียง ไส้กรอกอีสาน พบยีนเชื้อดื้อยาปะปนมาในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ด้วย ซึ่งหมายความว่า        1. เนื้อสัตว์ที่นำมาผลิตนั้น บางชนิดมียีนเชื้อดื้อยาปะปนมาด้วย        2. หากผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีเชื้อโรคที่ดื้อยาและผู้บริโภคนำมารับประทาน โดยไม่ผ่านความร้อนให้เชื้อโรคตาย (เช่น แหนม ที่สามารถรับประทานดิบๆ ได้) เชื้อโรคที่ดื้อยานั้นก็จะเข้าสู่ร่างกายคนที่รับประทาน        3. เมื่อเชื้อโรคที่เข้าไปในร่างกายคนที่รับประทานมียีนเชื้อดื้อยาแล้ว หากคนนั้นเจ็บป่วยจากเชื้อโรคดังกล่าว การรักษาด้วยยาทั่วๆ ไปที่เชื้อโรคชนิดนี้เคยตาย  มันก็จะไม่ตาย และต้องไปใช้ยาที่แพงและสูงกว่าเดิมที่เคยใช้        ข้อมูลเหล่านี้จึงเสมือนการย้ำเตือนให้พวกเราอย่าลืมว่า เชื้อดื้อยาไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะ มันใกล้ตัวเรา เข้ามาแล้ว ทางออกที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ จะทำได้ คือช่วยกันยับยั้งปัญหาเหล่านี้ เช่น สอบถามหรือปรึกษาบุคลากรทางสาธารณสุขเกี่ยวกับการใช้ยาที่เหมาะสม ไม่นำยาปฏิชีวนะไปใช้ในทางที่ผิดๆ ดังที่เล่ามาข้างต้น ฯลฯ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 นี่คือเหตุผลที่เราต้องใส่ใจต่อสวัสดิภาพของสัตว์ในฟาร์ม

        รู้ไหมว่ายิ่งเราปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยงในฟาร์มดีมากเท่าไร มนุษย์เราจะยิ่งปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น ในสถานการณ์ที่มนุษย์ต้องเผชิญความเสี่ยงจากเชื้อโรคที่ดื้อต่อยารักษา(เชื้อแบคทีเรียที่ทนต่อยาต้านจุลชีพ)  ซึ่งทำให้คนทั่วโลกเสียชีวิตถึง 700,000 รายในแต่ละปี และคาดว่าจะเพิ่มสูงถึง 10 ล้านคนต่อปี ในปี พ.ศ. 2593  หากเรายังป้องกันปัญหาการกระจายของเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อมไม่ได้ เนื่องจากมีการพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะและเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในแหล่งน้ำรอบบริเวณฟาร์มอุตสาหกรรมทั่วโลก รวมถึงการตกค้างในเนื้อสัตว์จากฟาร์ม        ในปี พ.ศ. 2561 องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้ทำการสำรวจเนื้อหมูที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตจากประเทศออสเตรเลีย บราซิล สเปน และประเทศไทย  การสำรวจพบว่ามีเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ (Superbugs) ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมูจาก 3 ใน 4 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ผลการทดสอบดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นว่าการเลี้ยงหมูในฟาร์มแบบอุตสาหกรรมที่ไม่ใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์ ส่งผลให้ต้องมีการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นกับหมู จนส่งผลให้เกิดวิกฤติแบคทีเรียดื้อยาปฎิชีวนะขึ้น ผลการทดสอบเชื้อดื้อยากรณีประเทศไทย        การทดสอบผลิตภัณฑ์เนื้อหมูที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตที่จัดทำขึ้นในปี พ.ศ. 2561 นี้ ก็เพื่อตรวจสอบหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในเนื้อหมูที่มีฤทธิ์ต่อต้านยาปฏิชีวนะในประเภทที่กำหนด เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างฟาร์มที่ขาดการดูแลสวัสดิภาพสัตว์กับการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น โดยมีการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์จาก 4 ประเทศ (ออสเตรเลีย บราซิล สเปน และไทย) เป็นการซื้อเนื้อหมูที่บรรจุอยู่ในแพ็คจากซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ จะถูกเก็บอยู่ในความเย็นและส่งไปยังห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือสำหรับการตรวจสอบตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประกอบไปด้วยหมูบด เนื้อหมูที่ผ่านการตัดขาย เป็นชิ้นและราคาปกติ         ผลการทดสอบของไทย จากจำนวนทั้งหมด 150 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนแบคทีเรีย อีโคไล มากกว่า 97% และซัลโมเนลล่า จำนวน 50% โดยตัวอย่างที่นำมาทดสอบนี้ มาจาก 2 ซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทยคือ เทสโก้ โลตัสและท็อปส์ มาร์เก็ต        •  97% ของเชื้ออีโคไล และ 93% ของเชื้อซาลโมเนลล่า ที่พบเป็นแบคทีเรียดื้อยาหลายขนาน        • มีการพบเชื้ออีโคไลที่มีฤทธิ์ต่อต้าน ESBL (จำนวน 10% ของอีไคไลที่พบ) โดยจัดเป็นเชื้ออีโคไลที่มีฤทธิ์ในการต่อต้านยาปฏิชีวนะจำพวกเซฟาโลสปอรินและแอมพิซิลิน โดยยาปฏิชีวนะในกลุ่มเซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 3 ขึ้นไปถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความสำคัญสูงสุดต่อสุขภาพของคน        • พบเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะในกลุ่มที่มีความสำคัญต่อสุขภาพคนสูงสุด โดยพบในตัวอย่างที่นำมาจากเทสโก้ โลตัส พบแบคทีเรียที่มีฤทธิ์ต่อต้านยาแซโฟแท็กเซี่ยม 15% และแซฟโปดอกเซี่ยม 15% จากตัวอย่างทั้งหมดที่พบเชื้ออีโคไล นอกจากนั้นจากตัวอย่างที่พบอีไคไลและซัลโมเนลล่า ยังพบการดื้อยาต่อเจนต้าไมซิน (19%) เตรปโตไมซิน (96.8%) และแอมพิซิลลิน (100%)         • มีการพบเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่ออกฤทธิ์ต่อต้านยาปฏิชีวนะกลุ่มที่มีความสำคัญสูงสุดต่อสุขภาพของคน โดยตัวอย่างจากเทสโก้ โลตัส ที่พบเชื้ออีโคไลและซัลโมเนลล่านั้นมีการออกฤทธิ์ต่อต้านเตตร้าไซคลิน 96.7% และคลอแรมเฟนิคอล 61%        อนึ่งในการทดสอบนี้เราไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่า ผลการทดสอบเชื่อมโยงกับสุขภาวะของผู้บริโภคแบบเจาะจง แต่สำนักงานยายุโรป(European Medicines Agency) ได้ยืนยันว่าเชื้อแบคทีเรียดื้อยาสามารถถ่ายทอดสู่คนได้ทางห่วงโซ่อาหารและสามารถคงอยู่ได้ในลำไส้ของคน ดังนั้นจึงส่งผลให้เด็ก คนชราและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ รวมถึงเกิดการเจ็บป่วยจากอาหารเป็นพิษ ท้องร่วง ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและการทำงานของตับล้มเหลว ฟาร์มอุตสาหกรรมและการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น        ปัจจุบันมีการใช้ยาปฏิชีวนะ 131,000 ตันต่อปีในฟาร์ม เพื่อเร่งการเจริญเติบโต ป้องกัน และรักษาโรคต่างๆ ในสัตว์ โดยจำนวน 3 ใน 4 ของยาปฏิชีวนะทั่วโลกถูกใช้กับสัตว์ในฟาร์ม        องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้ประกาศถึงอันตรายของยาปฏิชีวนะ ที่มีผลต่อสุขภาพของคน โดยจัดให้เป็นลำดับสำคัญที่สุด และก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของคนอย่างรุนแรง ยาปฏิชีวนะที่ได้รับการ ประกาศเตือนนี้ รวมถึงยาปฏิชีวนะที่ใช้ในฟาร์มหมู ได้แก่ โคลิสติน ฟลูออโรควิโนโลน เซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 3 และเอนโรโฟลซาซิน   ยาปฏิชีวนะเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มใช้รักษาอาการติดเชื้ออย่างรุนแรงในคน โดยองค์การอาหาร และการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้แนะนำว่าไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มดังกล่าวนี้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นการคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพในการรักษาการติดเชื้อในคนอย่างได้ผล        แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มนี้ อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจนที่บ่งชี้ว่า การใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นนี้ก่อให้เกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่พบในเนื้อสัตว์ ในฟาร์มตลอดจนในห่วงโซ่อาหาร เราพบว่าอุตสาหกรรมหมูมีการใช้ยาปฏิชีวนะมากกว่าฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ชนิดอื่นๆ เพื่อเร่งการเจริญเติบโตและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากวิธีการเลี้ยงที่ไม่ใส่ใจสวัสดิภาพ        ยาปฏิชีวนะประเภทแอมพิซิลลินและเตตราไซคลีนมักนำมาใช้กับลูกหมูในระหว่างขั้นตอนในการตัดหางหรือการตอน  ยาปฏิชีวนะถูกนำมาใช้บ่อยครั้งกับลูกหมูที่ถูกหย่านมเร็วจากแม่เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย และยังถูกใช้ผสมกับอาหารสัตว์ให้กับหมูขุนเพื่อลดความเครียด ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นเกินไปและการเปลี่ยนกลุ่มของหมู ยาปฏิชีวนะที่ถูกนำมาใช้นั้นอาจรวมถึง โคลิสตินแอมพิซิลลิน ฟลูออโรควิโนโลน เซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 3 เอนโรโฟลซาซิน เจนต้าไมซิน ไทโลซิน เตตราไซคลีน ซัลฟาไดอะซิน เฟนิคอล และอื่นๆ แม้แต่แม่หมูก็จะได้รับยาปฏิชีวนะเป็นประจำเพื่อป้องกันการเสียชีวิต จากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ กีบเท้าช่องคลอด และบริเวณหลังเนื่องจากความเครียดและการบาดเจ็บที่เกิดจากการถูกกักขัง และมีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดี คุณสามารถช่วยให้ปัญหาเชื้อดื้อยาตกค้างในเนื้อสัตว์ลดลงได้        ลูกหมูต้องถูกพรากจากแม่ตั้งแต่ยังเล็ก ในขณะที่แม่หมูจะถูกใช้เสมือนเป็นเครื่องเพาะพันธุ์เท่านั้น โดยจะถูกขังอยู่ในกรงเหล็กที่ไม่ใหญ่ไปกว่าตู้เย็นขนาดมาตรฐาน ไม่สามารถแม้แต่จะหมุนตัวได้ และทำให้แม่หมูเกิดความเครียด ลูกหมูจะถูกตัดอวัยวะโดยไม่มีการลดความเจ็บปวด เช่นการตัดหาง กรอฟัน ขลิบหู และลูกหมูตัวส่วนใหญ่จะถูกจับตอน หมูจะถูกขังอยู่ในที่มืด คับแคบ และต้องนอนทับมูลของตัวเอง วิธีการในฟาร์มหมูที่โหดร้ายเหล่านี้ ส่งผลให้หมูเกิดความเครียด เชื้อโรคแพร่กระจาย และนำมาซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อรักษาชีวิตของสุกรโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น        องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้เรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลกช่วยกันยกระดับคุณภาพสุกรในฟาร์มโดยการคัดเลือกเนื้อหมูจากฟาร์มที่มีการดูแลสวัสดิภาพขั้นสูงเท่านั้นมาจำหน่าย นายโชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการฝ่ายแคมเปญสัตว์ในฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เปิดเผยว่า “องค์กรฯ ได้ทดสอบผลิตภัณฑ์เนื้อหมูเพื่อสำรวจว่าอุตสาหกรรมฟาร์มหมูที่ไม่ใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์นั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะอย่างไร และเพื่อนำเสนอหลักฐานการค้นพบนี้ เรียกร้องให้   ซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทย แสดงความรับผิดชอบมากขึ้น โดยการประกาศคำมั่นสัญญาต่อสาธารณะในการจำหน่ายเนื้อหมูที่มาจากฟาร์มที่ใส่ใจสวัสดิภาพของหมูเท่านั้น”        นายโชคดี ยังได้ย้ำอย่างหนักแน่นว่า “เราต้องการยกเลิกการเลี้ยงแม่หมูแบบยืนซอง เพื่อให้หมูได้มีโอกาสเข้ากลุ่มสังคมภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และให้หมูได้มีโอกาสแสดงออกพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ ซูเปอร์มาร์เก็ตควรกำหนดมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ให้สูงขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์จากฟาร์มผู้ผลิตนั้นจะมีความเครียดต่ำ และมีการใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น”        และผู้บริโภคเองสามารถช่วยกันเรียกร้องต่อซูเปอร์มาร์เก็ตให้แสดงจุดยืนด้วยการประกาศคำมั่นว่าจะจำหน่ายเนื้อหมูที่มาจากฟาร์มที่เลี้ยงหมูอย่างมีสวัสดิภาพที่ดีเท่านั้นด้วยเช่นกัน สนใจข้อมูลเพิ่มเติมwww.worldanimalprotection.or.th

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ท้อง 3 เดือนแรก และ 6 เดือนขึ้นไปไม่ควรนวด             ข่าวหญิงท้อง 6 เดือน ช็อกคาร้านนวดทำให้แท้งลูกส่วนตัวเองมีอาการเจ้าหญิงนิทรานั้น รองโฆษก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่า ผู้หญิงตั้งครรภ์นั้นสามารถนวดได้เพียงแต่ต้องดูอายุครรภ์และนวดกับหมอนวดผู้ชำนาญ        โดยหากอายุครรภ์ตั้งแต่เริ่มจนถึง 3 เดือน ไม่ควรนวด เพราะการนวดจะไปกระตุ้นให้มดลูกรัดตัว เสี่ยงแท้งลูกได้ อีกช่วงที่ต้องระวังคือ อายุครรภ์ 6 เดือนขึ้นไป การนวดอาจทำให้มดลูกไปกดเส้นเลือดดำ เส้นเลือดแดงในท้อง ในลำไส้ อาจเกิดภาวะช็อกหมดสติ ไม่ควรไปนวดตามร้านนวดทั่วไป หากเลือกที่จะนวดเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย ควรเลือกใช้บริการกับหมอแผนไทยที่มีการร่ำเรียนมา 800 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เพราะการนวดเป็นเรื่องที่ผู้ให้บริการต้องผ่านการอบรม และสอบจนผ่านการรับรองจากทางราชการ รถจดทะเบียนใหม่ใน กทม. สูงขึ้นทุกปีสวนทางวิกฤตฝุ่นจิ๋ว        ไม่น่าแปลกใจที่ค่าฝุ่นพิษใน กทม. จะเพิ่มขึ้น เมื่อสถิติรถจดทะเบียนใหม่ใน กทม. สูงขึ้นทุกปี จากการเปิดเผยสถิติปริมาณรถยนต์ที่จดทะเบียนในปี 2551 - 2560 โดยสำนักงานจราจรและขนส่ง กทม. พบว่า รถยนต์ส่วนบุคคลมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น 8% ต่อปี ส่วนรถบรรทุกส่วนบุคคล เพิ่มขึ้น 3.5% ต่อปี โดยการที่กรุงเทพฯ มีปริมาณรถส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่งผลให้ความเร็วเฉลี่ยของพื้นที่ชั้นนอกลดลง 22% พื้นที่ชั้นกลางลดลง 17% และพื้นที่ชั้นในลดลง 11%         ขณะที่กรมการขนส่งทางบก รายงานข้อมูลจำนวนรถที่จดทะเบียนสะสมในกรุงเทพฯ ณ วันที่ 31 มกราคม 2562 พบว่า มีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ทั้งหมด 4,529,691 คัน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล 1,378,623 คัน รวม 5,908,314 ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 2.2 ล้านคัน หรือ 38.73% เป็นรถที่ใช้น้ำมันดีเซล        ทั้งนี้การแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก จำเป็นต้องแก้ปัญหาจราจรติดขัดเพื่อลดมลพิษทางอากาศ ที่มีแหล่งกำเนิดมาจากไอเสียของเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งประกอบไปด้วย PM 2.5 มากกว่า 90% และควรเพิ่มการใช้งานระบบขนส่งมวลชน และรถโดยสารประจำทาง ขณะเดียวกันให้จำกัดรถยนต์ในพื้นที่ที่มีการจราจรติดขัด จึงจะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ส่งเสียงถึง คกก.วัตถุอันตราย ทบทวนลงมติแบน 'พาราควอต'        มูลนิธิชีววิถี องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องคณะกรรมการวัตถุอันตราย ลงมติทบทวนการใช้พาราควอต ในรอบการประชุมที่จะมีการพิจารณาคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม สามารถให้ประชาชนทราบได้ว่าใครตัดสินอย่างไร  และเรียกร้องให้กรรมการที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจสารเคมีลาออก        นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงปัญหาพาราควอตอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ 1. เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษเฉียบพลันสูง 2. ก่อให้เกิดโรคพาร์กินสัน และ 3. มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว         ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) แสดงความเห็นว่า ควรประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีก่อน จนกว่าผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จะสามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าสารเคมีเหล่านี้ปลอดภัย ไม่เป็นพิษ และไม่ทำให้คนป่วยหรือเสียชีวิตดับฝันคอนโดให้เช่ารายวัน จับปรับ “เจ้าของห้อง-นิติบุคคลฯ”        “ศาลจังหวัดหัวหินถึงเพชรบุรี” ตัดสินคดีตัวอย่างเชือดเจ้าของห้องชุดปล่อยเช่ารายวันผิด กม.โรงแรม จำคุก 6 เดือน ปรับ 5 พัน-1 หมื่น          จากภาวะบูมของตลาดคอนโดมิเนียมนำไปสู่การตลาดแนวใหม่ที่หันไปเน้นลูกค้าซื้อลงทุนปล่อยเช่ามากขึ้น โดยปกติเน้นการปล่อยเช่าแบบรายเดือน อย่างไรก็ตาม ช่วงไม่ต่ำกว่า 4-5 ปีที่ผ่านมาเริ่มหันมาเน้นปล่อยห้องชุดเช่ารายวันมากขึ้น กลายเป็นคู่แข่งของโรงแรมและเป็นการทำผิดกฎหมายโรงแรมโดยตรง        ล่าสุด การนำห้องชุดมาปล่อยเช่ารายวันได้มีคำพิพากษาถูกลงโทษหนักทั้งปรับและจำคุก คำพิพากษาของศาลจังหวัดหัวหิน คดีดำเลขที่ 50/2561 คดีแดงเลขที่ 59/2561 วันพิพากษา 5 มกราคม 2561 จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547 มาตรา 4, 15, 59 รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งตาม ปอ.ม.78 ปรับ 5,000 บาท และปรับรายวัน วันละ 500 บาท เป็นเวลา 20 วัน เป็นเงิน 10,000 บาทกับคดีดำเลขที่ 107/2561 คดีแดงเลขที่ 106/2561 วันพิพากษา 16 มกราคม 2561 จำเลยมีความผิดตามฟ้อง รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งคงปรับ 5,000 บาท ปรับรายวัน วันละ 100 บาท เป็นเวลา 81 วัน เป็นเงิน 8,100 บาท        อีกตัวอย่างการนำห้องชุดปล่อยเช่ารายวันและรายสัปดาห์ ทำเลชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยศาลจังหวัดเพชรบุรี คดีดำเลขที่ 277/2561 คดีแดงเลขที่ 900/2561 มีการนำห้องชุดปล่อยเช่ารายวัน ค่าเช่าวันละ 4,990 บาท ผิด พ.ร.บ.โรงแรมฯ พิพากษาจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท ปรับอีกวันละ 1,000 บาท        “กรณีนี้เป็นการป้องปรามไปยังกรรมการนิติบุคคลด้วย เพราะเริ่มมีตัวอย่างจากหลายนิติฯ ที่มีตัวแทนกลุ่มผู้ซื้อลงทุนปล่อยเช่า ส่งตัวแทนมาเป็นกรรมการนิติฯ และพยายามออกระเบียบให้ปล่อยเช่ารายวันได้ ที่หนักข้อสุดน่าจะเป็นตัวแทนลูกค้าจีน ซึ่งซื้อในโควตาต่างชาติ 49% แล้วส่งตัวแทนมาเป็นกรรมการ ดังนั้น คำพิพากษาลงโทษเจ้าของห้องชุดมีผลผูกพันกับนิติบุคคลในฐานะรับฝากเช่ารายวันที่จะทำผิดกฎหมายด้วยเช่นกัน” ร้องเรียนปี 61 พบปัญหาโฆษณาเกินจริงมากที่สุด        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยตัวเลขการให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนผู้บริโภค จากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ทั่วประเทศ ประจำปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,545 เรื่อง โดยพบว่า เรื่องร้องเรียนด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ มากเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 1,505 ราย ส่วนอันดับสอง ด้านบริการสาธารณะ 930 ราย และอันดับสาม ด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข 705 ราย        โดยเรื่องร้องเรียนด้านอาหารฯ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องโฆษณาหลอกลวงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายซึ่งเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค และทางช่องเคเบิ้ลทีวี รวมไปถึงวิทยุท้องถิ่น ส่วนหมวดบริการสาธารณะ พบปัญหาเกี่ยวกับการขนส่งทางบกได้รับการร้องเรียนมากที่สุด โดยเป็นเรื่องการชดเชยเยียวยาจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ และการร้องเรียนพฤติกรรมพนักงานผู้ให้บริการ เช่น พูดจาไม่สุภาพ สูบบุหรี่ขณะขับรถ ขับรถหวาดเสียว        สำหรับหมวดบริการสุขภาพและสาธารณสุข ส่วนใหญ่เป็นการสอบถามเรื่องการย้ายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะสิทธิบัตรทอง ซึ่งนอกจากการไม่รู้สิทธิแล้ว ยังมีปัญหาอื่นๆ อีก เช่น การไม่ได้รับความสะดวกตามสมควรหรือไม่ได้รับการปฏิบัติตามสิทธิ การได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล และการถูกเรียกเก็บค่าบริการจากการใช้สิทธิกองทุนฉุกเฉิน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ปากหอมสดชื่นกับยาสีฟันสมุนไพร

        ตลาดของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสมุนไพรมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท โดยหนึ่งในนั้นคือ ยาสีฟันสมุนไพร ที่ครองใจผู้บริโภคมาอย่างยาวนาน ฉลาดซื้อลงสำรวจตลาดผลิตภัณฑ์นี้พบว่า มีหลายยี่ห้อให้ได้เลือกซื้อ ทั้งผู้ผลิตรายเก่าและรายใหม่ บางยี่ห้อมีอายุเกือบร้อยปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความนิยมที่ยังสามารถครองใจผู้บริโภคมาได้อย่างยาวนาน        จุดขายของยาสีฟันสมุนไพรคือ ความหอมสดชื่นปากจากน้ำมันหอมระเหยของสมุนไพร อย่างสะระแหน่ พิมเสน การบูร หรือสมุนไพรหลายชนิดที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียอันเป็นต้นเหตุของฟันผุ กลิ่นปาก เช่น น้ำมันกานพลู และสมุนไพรบางชนิดมีฤทธิ์ป้องกัน รักษาโรคเหงือก รำมะนาด เช่น ข่อย  เกลือ ว่านหางจระเข้        ฉลาดซื้อหยิบตัวอย่างยาสีฟันสมุนไพรจำนวน 29 ยี่ห้อ แบ่งได้สองประเภท คือ แบบมีฟลูออไรด์และไม่มีฟลูออไรด์ มาแสดงรายการส่วนประกอบสำคัญหรือชนิดของสารออกฤทธิ์สำคัญ นอกจากนี้ยังได้เปรียบเทียบราคาต่อน้ำหนัก ในขนาด 1 กรัม ว่าแต่ละยี่ห้อใครถูกแพงกว่ากัน เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้อ่านได้เลือกใช้อย่างคนฉลาดซื้อ ดูรายละเอียดในตารางหน้าถัดไปการเลือกใช้ยาสีฟันสมุนไพร        แต่เดิมการใช้ยาสีฟันมีวัตถุประสงค์เพียงแค่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการแปรงฟัน ให้มีการกำจัดเอาแผ่นคราบจุลินทรีย์ออกได้ง่ายขึ้น ต่อมาก็มีการเติมสารต่างๆ เพื่อหวังผล เช่น การเติมฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ เติมสารที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคเพื่อลดการอักเสบของเหงือก จนปัจจุบันนี้มีการเติมสารต่าง ๆ มากมาย อย่างไรก็ตามส่วนประกอบพื้นฐานยังคงเดิม ได้แก่        1. ผงขัดที่ละเอียดเพื่อเป็นตัวขัดสีให้แผ่นคราบจุลินทรีย์และคราบต่าง ๆ ที่ติดอยู่ที่ตัวฟันหลุดออก         2. สารทำให้เกิดฟองเพื่อให้คราบฟันหลุดออกได้ง่าย         3. สารแต่งกลิ่นและรสเพื่อให้น่าใช้ และรู้สึกสดชื่น        4. สารเพิ่มความชื้นเพื่อให้ยาสีฟันไม่แห้ง มีความชุ่มชื้น         5. สารทำให้ยาสีฟันข้น มีลักษณะเป็นครีม         6. สารกันบูดเพื่อให้สามารถเก็บยาสีฟันได้นาน         ส่วนประกอบพื้นฐานทั้ง 6 นี้ ยาสีฟันชนิดครีมเกือบทุกยี่ห้อจะมีเหมือนกัน ที่ทำให้ยาสีฟันแต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกัน ได้แก่ สารฟลูออไรด์ สารฆ่าเชื้อโรค สารหรือผงขัดฟันที่ทำให้ฟันขาว สารที่ลดอาการเสียวฟัน สารสมุนไพร ฯลฯ        ในยาสีฟันสมุนไพรก็ไม่ต่างกันนัก โดยผงขัดละเอียดในยาสีฟันสมุนไพรจะใช้แคลเซียมคาร์บอเนต หรือเกลือแกง หรือผงฟู(โซเดียมไบคาร์บอเนต) ส่วนสารชะล้างจะมีในยาสีฟันสมุนไพรที่ผสานเทคนิคการผลิตแบบสมัยใหม่เพื่อช่วยให้แปรงฟันได้ง่ายขึ้น สารปรุงแต่งกลิ่นและสี จะใช้น้ำมันหอมระเหยและสารสกัดจากพืชสมุนไพร ซึ่งนอกจากช่วยแต่งกลิ่นและรสของยาสีฟันแล้ว ยังเพิ่มสรรพคุณในการป้องกันรักษาโรคในช่องปากด้วย เช่น น้ำมันหอมระเหยสะระแหน่ อบเชย กานพลู เป็นต้น        ยาสีฟันสมุนไพรส่วนใหญ่ไม่ผสมฟลูออไรด์ (Fluoride) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยทำให้เคลือบฟันแข็งแรง ป้องกันฟันผุ ทำให้เป็นจุดอ่อนหนึ่งของยาสีฟันสมุนไพร  ที่อาจไม่ตอบโจทย์เรื่องป้องกันฟันผุ  แต่ปัจจุบันมียาสีฟันสมุนไพรหลายยี่ห้อที่ผสมฟลูออไรด์เพื่อลดจุดอ่อนข้อนี้         การโฆษณาในกลุ่มของยาสีฟันสมุนไพร มักอ้างว่า เป็นยาสีฟันที่ลดกลิ่นปาก ปากหอมสดชื่นซึ่งจากรายงานทางวิชาการ ที่มีอยู่ในขณะนี้ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าลดกลิ่นปากได้จริงหรือไม่ การใส่สารสมุนไพรต่าง ๆ ที่คาดหวังว่า จะฆ่าเชื้อโรคที่ทำให้เกิดกลิ่นปากนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะว่าเชื้อโรคที่ทำให้เกิดกลิ่นปากนั้นทนต่อสารเคมีหรือสมุนไพรที่ฆ่าเชื้อได้ดี ในคนที่มีกลิ่นปากจึงจำเป็นที่จะต้องตรวจวิเคราะห์ว่า มีกลิ่นปากจริงหรือไม่ และสาเหตุมาจากอะไรเพื่อรักษาได้ตรงจุด เช่น ในคนที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบหรือเหงือกอักเสบก็ต้องรักษาโรคปริทันต์เป็นหลัก และถ้าคิดว่าแปรงฟันได้สะอาดไม่พอก็สามารถใช้ยาสีฟันสมุนไพรที่มีสารฆ่าเชื้อโรคช่วยลดอาการอักเสบที่เกิดขึ้นได้ ส่วนเรื่องราคาก็ต้องพิจารณาเองว่า ราคาแค่ไหนเหมาะสมกับตัวของคุณเอง                                                                                                                                                                                                                       ข้อมูล ทันตแพทย์ ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาลฉลาดซื้อแนะ1.ยาสีฟันสมุนไพรควรใช้ในปริมาณน้อยตามที่ระบุบนฉลาก เพราะสมุนไพรบางชนิดออกฤทธิ์ทำให้ปากชา ใช้มากจะมีอาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์2.สำหรับคนที่มีปัญหาฟันผุง่าย ควรใช้ชนิดที่ผสมฟลูออไรด์หรือใช้สลับกับยาสีฟันทั่วไปที่ผสมฟลูออไรด์3.ยาสีฟันสมุนไพรส่วนใหญ่ส่วนผสมใกล้กันมาก ดังนั้นอาจเลือกจากความชอบหรือพิจารณาจากราคาที่ไม่แพงเกินไปสรรพคุณของสมุนไพรที่นิยมใช้ในยาสีฟันสมุนไพรกานพลู (Clove) ช่วยยับยั้งแบคทีเรีย และเป็นยาชาจึงบรรเทาอาการปวดฟันได้เกลือ (Sodium Cholride ) เป็นสารทำความสะอาดเหงือกและฟันการบูร (Camphor) และ พิมเสน (Borneol) ช่วยทำให้ลมหายใจหอมสดชื่น บำรุงเส้นประสาทรากฟันข่อย (Tooth brush tree)  แก้อาการปวดฟัน รักษารำมะนาดว่านหางจระเข้ (Aloe Vera) ช่วยในการสมานแผล ลดการอักเสบของเนื้อเยื่ออบเชย (Cinnamon) ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ สะระแหน่ (peppermint) ให้ความเย็น ทำให้ช่องปากหอมสดชื่น ใบฝรั่ง (Guava) มีฤทธิ์ลดการอักเสบของเหงือก ลดกลิ่นปากตลาดยาสีฟันในบ้านเรามีมูลค่ากว่า 8,000  ล้านบาท ยาสีฟันในเซ็กเม้นต์เพื่อการรักษายังคงเป็นเซ็กเม้นต์ใหญ่สุดมีสัดส่วนถึง 36% รองลงมาเป็นยาสีฟันทั่วไป 29% สมุนไพร 22% ยาสีฟันเพื่อฟันขาว 10% และยาสีฟันเด็ก 3%

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ค่ารักษาพยาบาลแพง? ใครรับผิดชอบ

            เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 ที่ผ่านมาคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน(คอบช.) ในฐานะเครือข่ายผู้บริโภค กล่าวชื่นชมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เดินหน้าทำการกำกับราคาค่ารักษาพยาบาล ทั้งที่ถูกกดดันอย่างหนักจากกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ และเสนอเร่งตั้งคณะอนุกรรมการที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในสัดส่วนที่เป็นธรรม พร้อมเตรียมรายชื่อตัวแทนจากฝั่งผู้บริโภคและนักวิชาการ โดยคาดหวังว่าคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว จะสามารถเดินหน้า เสนอมาตรการในการกำกับค่ายา วัสดุทางการแพทย์ และค่ารักษาพยาบาลได้ทันที และคาดหวังว่าการกำกับครั้งนี้จะต้องมีมาตรการมากกว่าการขายไม่เกินราคาที่แจ้งข้างกล่อง (Sticker Price) ที่เคยดำเนินการมาแล้วในอดีต แต่ไม่สามารถควบคุมค่ายา และค่ารักษาพยาบาลได้ จนเป็นปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคในปัจจุบันซึ่งในประเทศสิงคโปร์ประสบความสำเร็จจากการตั้งคณะทำงานช่วยดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ส่วนประเทศไอร์แลนด์ใช้เวลาดำเนินการเพียง 9 เดือนเท่านั้น            แนวทางในการกำกับค่ารักษาพยาบาลแพงของประเทศสิงคโปร์ เป็นการกำหนดแนวทางราคาสูงสุดในการให้บริการที่มีมาตรฐาน(Medical Fee Benchmark Guidelines) เช่นเดียวกับประเทศแคนาดาที่มีการทำบัญชีราคาค่ารักษาพยาบาลใช้กับทุกโรงพยาบาล หรือประเทศญี่ปุ่นที่มีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับโรงพยาบาลรัฐและเอกชนในอัตราเดียวกัน หรือแม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาในหลายรัฐมีการออกกฎหมายให้มีการคิดค่ารักษาพยาบาลที่เป็นธรรม(Fair Pricing Law) กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาพยาบาลกับประชาชนที่ไม่มีประกันสุขภาพในอัตราไม่เกินเพดานราคาที่เรียกเก็บจากประกันเอกชนหรือรัฐบาล หรือรักษาพยาบาลฟรีสำหรับคนยากจนที่ไม่มีประกันสุขภาพ            ฉลาดซื้อฉบับเดือนแรกของปีหมู 2562 จึงขอเสนอเรื่องราวซึ่งเข้ากับสถานการณ์ร้อนระดับประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องราวตอนจบของ “ แพ้ยา ใครรับผิดชอบ ” จากคอลัมน์เสียงผู้บริโภค ฉบับเดือนกุมภาพันธ์  เมื่อปีกลาย            คุณคมเดช โพธิสุพรรณ มาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเนื่องจากเขาถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมจากการแพ้ยาของโรงพยาบาลทั้งที่เขาเข้ารับการรักษาการผ่าตัดหมอนรองกระดูก  คุณคมเดช เล่าให้เราฟังว่า            “ผมได้รับการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งเนื่องจาก ปวด คอและหัวไหล่ ซึ่งแพทย์แจ้งว่ากระดูกต้นคอแตกและเริ่มทับเส้นประสาท แพทย์จึงแนะนำให้ผ่าตัดซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 470,000 บาท ผมจึงได้เช็คราคาค่าผ่าตัดจากข้อมูลของโรงพยาบาลเอกชนแห่งอื่นๆ หลายๆ แห่ง เพื่อหาข้อมูลในการรักษา พบว่าที่โรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 300,000 - 400,000 บาท ประกอบกับมีเพื่อนแนะนำว่าที่โรงพยาบาลนี้มีคนรู้จักซึ่งอาจจะทำให้ลดค่ารักษาได้อีก ผมจึงตัดสินใจเลือกที่นี่            ในวันที่ 11 เมษายน 2560 ผมจึงเข้ารับการผ่าตัดหมอนรองกระดูกคอ หลังจากเข้ารับการผ่าตัดเรียบร้อย แล้วหลังจากผ่าตัดก็สามารถทานอาหารได้เป็นปกติดี ขณะที่เข้าพักฟื้นที่ห้องพักผู้ป่วย พยาบาลแจ้งว่าหากมีอาการปวดสามารถขอยาแก้ปวดจากโรงพยาบาลได้นะ จนเมื่อเวลาประมาณ 20.15 น. ผมมีอาการปวดแผลจึงแจ้งพยาบาล พยาบาลจึงสอบถามว่าจะรับเป็นยาทานหรือยาฉีด ผมขอเป็นยาฉีด โดยเขาฉีดที่บริเวณกล้ามเนื้อสะโพก ต่อมาประมาณ 5 นาที จึงมีอาการแน่นหน้าอก ไอ กระสับกระส่าย หายใจลำบากเหมือนมีอะไรติดในคอ พยาบาลจึงชงน้ำขิงให้ดื่มเพื่อบรรเทาอาการ อาการผมก็ไม่ดีขึ้นจึงบอกให้เขาช่วยดูดเสมหะให้พยาบาลจึงโทรศัพท์ไปสอบถามแพทย์ซึ่งแพทย์แจ้งว่าไม่สามารถดูดเสมหะได้ เนื่องจากจะกระทบกระเทือนแผล พยาบาลจึงหยดยาชาบริเวณคอเพิ่มให้ แต่อาการไม่ดีขึ้นแถมยังแย่ลงเรื่อยๆ ผมมีอาการหายใจลำบากมากขึ้น พยาบาลจึงได้เอาสายออกซิเจนมาให้ใส่ แต่ผมก็หายใจไม่ออกจนหน้าและลิ้นกลายเป็นสีม่วงและปัสสาวะราด จนกระทั่งเวลาประมาณ 22.30 น.พยาบาลจึงรีบนำผมเข้าห้องไอซียู จนเวลาประมาณตี 2 ภายหลังพ้นจากภาวะวิกฤติ แพทย์ได้วินิจฉัยว่า อาการที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากการแพ้ยา Tramadol (ทรามอล)  ที่ถูกฉีดให้เพื่อบรรเทาอาการปวดแผล อาการแพ้ยาชนิดนี้ให้ทำกล่องเสียงบวม ตาบวม จมูกบวม หายใจลำบากต้องสอดท่อช่วยหายใจเส้นเลือดฝอยที่หน้าและที่บริเวณดวงตาแตกในช่วงที่ร่างกายขาดออกซิเจน             ผมพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลอีก 3-4 คืน ในวันที่ 15 เมษายน 2560 พยาบาลได้แจ้งว่ายอดค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวน 571,087 บาท หลังนอนพักรักษาตัวได้จนครบกำหนดออกจากโรงพยาบาล ในวันที่ 18 เมษายน 2560 ฝ่ายการเงินของโรงพยาบาลฯ ได้โทรแจ้งค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลทั้งหมดว่ามียอดรวมประมาณ 690,000 บาท ซึ่งพยาบาลได้ชี้แจงว่าเป็นค่าผ่าตัดรวมกับค่ารักษาอาการแพ้ยาที่เกิดขึ้น ผมจึงทักท้วงไปว่าโรงพยาบาลไม่ควรเรียกเก็บค่ารักษาอาการแพ้ยา เพราะเกิดจากมาตรการดูแลผู้ป่วยที่ผิดพลาดของโรงพยาบาลเอง ทางโรงพยาบาลต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ทางโรงพยาบาลเสนอว่าจะลดค่าใช้จ่ายให้ โดยให้ผมชำระเฉพาะยอดค่าผ่าตัดหมอนรองกระดูก 430,000 บาท ตามที่ตกลงกันไว้ (ซึ่งสามารถเบิกจากประกัน ได้ 280,000 บาท) ส่วนยอดค่ารักษาอาการแพ้ยา 150,000 บาท จะยังไม่จ่ายก็ได้ แต่ต้องทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ก่อน จึงจะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ ทำให้ผมไม่มีทางเลือกต้องทำหนังสือรับสภาพหนี้ โดยในวันนั้นมีบุรุษพยาบาลพาผมนั่งรถเข็นไปที่ฝ่ายการเงินเพื่อทำหนังสือรับสภาพหนี้ จึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิ            สิ่งที่รู้สึกว่าไม่เป็นธรรมคือเรื่องคุณภาพการให้บริการ มาตรฐานของบุคลากรที่ให้บริการ เพราะถ้าคุณคิดแพงแล้วแต่บุคลากรไม่ใช่มืออาชีพพอ ผมก็อยากให้มีหน่วยงานที่ควบคุมและดูแลมาตรฐานตรงนี้ เช่นโรงพยาบาลเดียวกันถ้าเราเจอคนดีก็ดีไป แต่ถ้าเราเจอคนไม่ดีก็ซวยไป             ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนั้น ผมก็อยากให้มีการชี้แจงรายละเอียดให้แกผู้จะเข้ารับบริการให้ละเอียดก่อนมีการตัดสินใจ เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และจะได้มีความเข้าใจที่ตรงกันด้วย เพราะในส่วนตัวของผมเอง ที่เจอมามีค่าใช้จ่ายที่เกินมาโดยที่เขาไม่ได้แจ้งไว้ก่อน เขาแจงไม่ได้เราก็ไม่โอเค ถ้าแจงได้สมเหตุสมผลมันก็ไม่น่าจะถึงขั้นฟ้องร้องกันนะครับ อย่างที่ผมเจอตัวผมซึ่งเป็นผู้ป่วยเอง ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น กลายเป็นว่าที่จะต้องมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ทางโรงพยาบาลเองจะต้องไปไล่บี้กับบุคลากรของโรงพยาบาลเองถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเจออย่างไรบ้าง            สิ่งที่ผมเจอในเรื่องของบุคลากรก็คือ ในเรื่องของพยาบาลที่ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ขาดพอ คือ การอาการแพ้ยาของผมกลับกลายเป็นว่าเป็นการประวิงเวลาเอาไว้ เพราะอาการแพ้ยาจะมีลำดับความรุนแรงตามเวลาที่เกิด ในช่วงเวลาที่นานขึ้นใช่ไหมครับ คือถ้าคุณแก้ไขตั้งแต่เริ่มต้น คือเขารู้อยู่แล้วว่าเราได้รับยาตัวไหน เขารู้อยู่แล้วว่าถ้าเกิดอาการแพ้ยาตัวนี้ต้องทำการแก้ไขอย่างไร แต่เขากลับมองว่าไม่ได้เป็นการแพ้ยา ที่ผมเจอ กลับเป็นการมองว่าเป็นการผ่าตัดมีปัญหา เลยทำให้ต้องไปตามหมอที่ผ่าตัดมาดู หมอเวรก็ไม่ขึ้นมาดู ให้พยาบาลวินิจฉัยกันเองก็โทรคุยกันแบบนี้ว่า ว่าเดี๋ยวเราลองให้ยาชาดูก่อน เดี๋ยวลองอะไรแบบนี้จนแบบว่ามันหนัก จริงๆ ถ้ามาตรฐานเพียงพอ เรื่องการแพ้ยาตัวนี้ผมว่าไม่ต้องเปิดตำราแค่เปิดกูเกิ้ลก็รู้แล้วว่ายาตัวนี้ถ้าให้แล้วเกิดอาการแพ้แล้วจะเป็นอย่างไร จะแก้ไขอย่างไรน่ะครับ ถ้าเราให้บริการแก้ปัญหาให้ทันท่วงที มีความมืออาชีพพอ ปัญหาจะไม่บานปลาย ถูกไหมครับอันนี้คืออาการจะค่อยๆ หนักขึ้นตามระยะเวลาที่รอ กว่าผมจะได้รับการแก้ไขก็ต้องเข้าไอซียูเลยนะ ตั้ง 3 ชั่วโมง นานมาก แล้วถามว่า 3 ชั่วโมงที่ผมรอมันทรมานมากแค่ไหน มันเล่าออกมาเป็นความรู้สึกไม่ได้หรอก ไม่เจอไม่รู้หรอก มันทรมานน่ะครับมันตายเลยยังง่ายกว่า มันหายใจเองไม่ได้ ต้องมานั่งประคองตัวเองให้รอด มันทรมานมาก            สิ่งที่ผมต้องการคือมาตรฐานในการบริการที่ควรจะต้องเน้นย้ำ ราคาก็ควรจะต้องชัดเจนประสบการณ์จากการฟ้องร้องกับโรงพยาบาล            เวลาเรามีเรื่องฟ้องร้องกับโรงพยาบาล ยังไงเราก็เสียเปรียบโรงพยาบาลอยู่แล้ว เขามีทีมทนายตัวผู้ป่วยที่เกิดปัญหาอย่างผม ไม่ได้เกิดมาเพื่อฟ้องร้องโรงพยาบาลอยู่แล้ว ผมไม่ได้ศึกษาข้อมูลว่าผมจะฟ้อง รพ.อย่างไรแน่ๆ เราก็ต้องไปหามูลนิธิฯ เพื่อปรึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เขาก็ไม่ได้เก่ง หรือมีความชำนาญในเรื่องทางการแพทย์อยู่แล้ว สุดท้ายผู้ป่วยหรือผู้เสียหายก็เสียเปรียบโรงพยาบาล มันไม่ใช่การสู้กันแบบ 1 ต่อ 1 แล้วน่ะ เพราะอย่างไรทางโรงพยาบาลก็ได้เปรียบ มันก็ไม่ควรให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจบอย่างไร                                เรายอมจ่ายตั้งแต่แรกอยู่แล้วนะครับ ถามว่าในใจผมถึงที่สุดไหม เราไม่อยากจ่ายเลยเพราะว่าเป็นความผิดพลาดของเขา เพราะมันเกิดขึ้นจากเขา แม้กระทั่งในใจลึกๆ เองอยากได้เขาเรียกว่าค่าอะไรล่ะ ค่าเยียวยาในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา เพราะจริงๆ มันไม่ควรเกิด แต่ในทางปฏิบัติมันไม่สามารถไปถึงตรงนั้นได้ เพราะว่าการฟ้องร้องมันเสียเวลา เรื่องนี้กินระยะเวลารวมประมาณ 2 ปี ผมไปศาลมา 4 ครั้ง แล้วมันเสียเวลาทำงานเรา แล้วสุดท้ายเราก็ตัดรำคาญนะครับ แล้วเราไม่คุ้มไงกับการเสียเวลาที่เกิดขึ้น เพราะเราต้องมานั่งเสียเวลาฟ้องร้องอีกนะครับ ผมก็เลยยอมจ่ายไปประมาณนั้นครับ เพราะสุดท้ายโรงพยาบาลก็ได้เปรียบอยู่ดีนะครับเขาไม่มีทางที่จะเสีย 100 เปอร์เซ็นต์หรอก ก็มีผู้เสียหายนี่ละที่จะทนเสียเวลาได้มากแค่ไหน ถ้าทนไม่ได้ก็ต้องยอมจ่ายไป..แค่นั้นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ยาทาฝ้าจากอินเดียสั่งออนไลน์ได้นะจ๊ะนายจ๋า

ผมมีโอกาสไปสอนหนังสือนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในหัวข้อ เกี่ยวกับการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค และได้มอบหมายให้นักศึกษาไปตรวจสอบการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่างๆ และให้ดำเนินการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค นักศึกษารายหนึ่งตรวจพบการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพทางออนไลน์ของเว็บขายสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่ง          นักศึกษาเล่าว่า เมื่อตนเข้าไปที่เว็บขายสินค้านี้  พบผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาว่า เป็นยาทาลบรอยฝ้า รอยจุดด่างดำ เห็นผลจริง เป็นของดีจากอินเดีย มีการบรรยายสรรพคุณว่าผลิตภัณฑ์นี้เหมาะสำหรับการรักษาผิวใต้วงแขนที่หยาบกร้าน แผลพุพอง รอยดำของบิกินี่ รอยบวมเล็กๆ บนผิวหนัง ช่วยลดรอยฝ้า กระอ่อน รอยแห่งวัย จุดด่างดำ หน้าท้องลายจากการตั้งครรภ์ และอื่นๆ มีวิธีใช้ง่ายๆ คือ ทาบางๆ บริเวณที่เป็นฝ้า ทุกวันหลังล้างหน้าตอนเย็น  แนะนำให้ทาติดต่อกันไม่เกิน 1 เดือน โดยมีคำเตือนว่า สตรีมีครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่ควรใช้          ผลิตภัณฑ์นี้ระบุส่วนประกอบ ได้แก่  Hydroquinone, Mometasone Furoate และ Tretinoin ซึ่งทั้งสามตัวมีสรรพคุณเป็นยา และเป็นยาที่ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ และต้องระมัดระวังในการใช้ เพราะมีผลข้างเคียงสูง เช่น Hydroquinone หากใช้ติดต่อกันนานเกิน 6 เดือน แทนที่หน้าจะขาวผ่อง กลับจะยิ่งทำให้เกิดเป็นฝ้าถาวรขึ้นได้ รวมทั้งเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังอีกด้วย          ส่วน Mometasone Furoate เป็นครีมสเตียรอยด์ ที่ทางการแพทย์นำมาใช้รักษาผื่นคัน หรือการอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ การใช้ยาที่มีความแรงสูงๆ หรือใช้เป็นเวลานานๆ อาจทำให้ ผิวหนังแดง แห้ง แสบร้อน คัน สีผิวจางลง หรืออาจมีผื่นคล้ายสิว และยาอาจถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังได้ อาจเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงมากได้ เช่น กดไขกระดูก หรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เป็นต้น          ส่วนตัวสุดท้าย tretinoin เป็นสารในกลุ่มวิตามินเอ ทางการแพทย์จะใช้เป็นยารักษาสิว แต่มีข้อควรระวังที่น่ากลัวคือ ห้ามใช้ในคนท้อง เพราะตัวยาอาจดูดซึมเข้าสู่ทารก จนร่างกายทารกอาจพิการได้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จึงเป็นยา ซึ่งผู้นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย จะต้องนำมาขอขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน จึงจะสามารถจำหน่ายได้ และต้องจำหน่ายในร้านขายยาเท่านั้น แต่ยานี้กลับจำหน่ายทางออนไลน์ให้สั่งซื้อได้อย่างง่ายๆ เมื่อนักศึกษาได้ลองสั่งซื้อ ก็ได้รับสินค้ามาอย่างรวดเร็ว นักศึกษาได้ร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และแจ้งไปที่เว็บจำหน่ายสินค้าดังกล่าวด้วย          ปรากฏว่าทั้งสองแห่งต่างก็ตอบว่าได้รับเรื่องแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือนผมลองเข้าไปดูก็ยัง พบการโฆษณาในเว็บอยู่ เพียงแต่ขึ้นข้อความว่าสินค้าหมด ใครนิยมสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ ก็ระวังด้วยนะครับ การจำหน่ายยาทางนี้ นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังทำให้เราเสี่ยงต่ออันตรายอีกด้วย ถ้าใครเจอ ช่วยๆ กันเตือนและช่วยๆ กันร้องทุกข์ด้วยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 คำวินิจฉัยแพทย์ ประกันสังคมและความเจ็บป่วยที่ผู้บริโภคต้องรอ

                   ความเจ็บป่วยนั้นรอไม่ได้ เมื่อไม่สบาย เราย่อมต้องการการรักษาพยาบาลเพื่อบรรเทาอาการ ปัจจุบันคนไทยมีสิทธิการรักษาพยาบาลอยู่ในสามกองทุนหลักคือ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งแต่ละกองทุนจะมีสิทธิประโยชน์และหลักปฏิบัติบางอย่างต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือ คำวินิจฉัยของแพทย์จะถือเป็นสิ่งสำคัญ หากคำวินิจฉัยยังไม่ชัดเจน ผู้ป่วยก็อาจต้องทนเจ็บทนรอจนแทบไม่ไหว อย่างกรณีของคุณสาธร        เมื่อต้นปี 2560 คุณสาธรไปพบแพทย์ด้วยอาการเข่าเสื่อม โดยใช้สิทธิในกองทุนประกันสังคมและได้รับการผ่าตัดในเวลาต่อมา แต่หลังผ่าตัดอาการยังไม่ดีขึ้น เนื่องจากไม่สามารถใส่เหล็กได้ แพทย์เจ้าของไข้จึงวินิจฉัยให้ผ่าตัดครั้งที่ 2 ซึ่งผู้ร้องจะต้องจ่ายเงินก่อนจำนวน 25,000 บาท ทั้งนี้ในการผ่าตัดครั้งแรกคุณสาธรได้สำรองเงินเป็นค่าประกันให้กับโรงพยาบาลไว้เป็นจำนวน 25,000 บาทไปก่อนแล้ว โดยเงินจำนวนนี้ก็ต้องยืมมาจากนายจ้าง เมื่อคุณสาธรสอบถามไปที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า วงเงินสำหรับการผ่าตัดที่ประกันสังคมตั้งไว้คือ 80,000 บาท ถ้าเกินนี้จึงจะต้องจ่ายเอง คุณสาธรจึงเห็นว่า ตนเองควรได้เงินประกันที่จ่ายไว้ในครั้งแรก 25,000 บาทคืนมาก่อนจากโรงพยาบาล จึงติดต่อทางโรงพยาบาลไป ซึ่งก็ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวคืนเรียบร้อย  แต่ทั้งนี้หากคุณสาธรประสงค์จะผ่าตัดครั้งที่สอง จะต้องจ่ายเงินเพิ่ม 50,000 บาท ซึ่งคุณสาธรไม่เข้าใจว่า ทำไมโรงพยาบาลจึงต้องเก็บเงินค่าผ่าตัด ในเมื่อการรักษายังไม่น่าจะเกินวงเงินที่ประกันสังคมกำหนด แนวทางแก้ไขปัญหา        คุณสาธรต้องกังวลใจเรื่องการผ่าตัดอยู่นานเป็นปี จนเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2561 จึงติดต่อมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอให้ช่วยเหลือ เมื่อรับเรื่องทางศูนย์พิทักษ์ฯ ได้สอบถามกับทางคอลเซนเตอร์ของประกันสังคม 1506 ได้รับการชี้แจงว่า “ประกันสังคมกำหนดว่า หากมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์สามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้เลย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นค่าห้องพิเศษ”          เมื่อติดต่อไปขอคำยืนยันจากคุณสาธรว่า แพทย์มีคำวินิจฉัยให้ผ่าตัดครั้งที่สองแน่นอนหรือไม่ เพราะถ้าเป็นคำวินิจฉัยของแพทย์ คุณสาธรก็ไม่ต้องจ่ายเงิน 50,000 บาทที่ทางโรงพยาบาลเรียกเก็บ คุณสาธรแจ้งว่า แพทย์เจ้าของไข้ให้ผ่าตัดใส่เหล็กจริง และเงิน 50,000 บาทที่โดนเรียกเก็บ โรงพยาบาลแจ้งว่าเป็นค่าเหล็กที่จะใส่ให้ผู้ร้อง ไม่ใช่ค่าผ่าตัด ทางศูนย์ฯ จึงขอให้คุณสาธรลองคุยกับแพทย์ดูก่อนว่า “สามารถใช้เหล็กที่อยู่ในสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมได้ไหมเพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม”         จากนั้นทางศูนย์ฯ ได้รวบรวมเอกสารจากคุณสาธรเพื่อส่งให้ทางประกันสังคมช่วยประสานงานกับทางโรงพยาบาลเพื่อให้คุณสาธรได้รับการรักษาตามสิทธิประกันสังคม เมื่อถึงเดือนมิถุนายน คุณสาธรเจ็บจนทนแทบไม่ไหวแล้วจึงยืมเงินนายจ้างมาอีกครั้งเพื่อจะได้ผ่าตัดครั้งที่สอง แต่โรงพยาบาลแจ้งว่ายังไม่สามารถผ่าตัดให้ได้ เนื่องจากโรงพยาบาลยังมีกรณีตรวจสอบเรื่องที่แพทย์ได้รับการร้องเรียนอยู่  “หากโรงพยาบาลรักษาให้โดยรับเงินจากผู้ร้องเกรงจะมีปัญหา อีกทั้งต้องรอให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลงนามอนุมัติเพื่อขอเบิกเงินจากประกันสังคมก่อน เมื่อนำเรื่องของผู้ร้องไปปรึกษากับกลุ่มงานคุ้มครองสิทธิ ของประกันสังคม ได้รับการชี้แจงว่า “อยู่ระหว่างการหารือกับคณะที่ปรึกษาทางแพทย์ และไม่ทราบระยะเวลาดำเนินการว่าจะรู้ผลเมื่อใด แต่ได้รับฟังความเห็นจากแพทย์ผู้รักษา เห็นว่ายังไม่ถึงขั้นต้องรีบผ่าตัดด่วน”        ทว่าคนเจ็บคือคุณสาธร ที่ต้องรอการประสานงานกันไปมาของทางประกันสังคมกับทางโรงพยาบาลที่มีเหตุจำเป็นเกิดขึ้นหลายอย่างทั้งการเปลี่ยนผู้อำนวยการและแพทย์ยังไม่เห็นว่าต้องผ่าตัดเร่งด่วน จนต้องประคองตัวเองด้วยไม้เท้าอยู่สามเดือนกว่า จึงได้รับการนัดผ่าตัดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตามสิทธิประกันสังคม  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ทีวีดิจิทัลกับสิ่งแอบแฝง

“สารสกัดตัวนี้นำเข้าจากต่างประเทศ จะช่วยให้ผิวหน้าของคุณกระจ่างใส ชุ่มชื่น”“กลัวไหมว่าแต่งหน้าแล้วหน้าเทา พี่ใช้ครีมตัวนี้แล้วไม่มีปัญหาเลย “ถ้าไม่ดีจริง ไม่กล้าบอกต่อหรอก”“มั่นใจได้เพราะเขามี อย.”เรามักจะพบประโยคเหล่านี้อยู่เนืองๆ ผ่านทางรายการโทรทัศน์สักช่อง บางครั้งอาจถึงขนาดที่ว่าเปิดไปกี่ช่องๆ ก็เจอคนดังกำลังบรรยายสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ที่ถืออยู่ในมือ พร้อมกับสาธิตการใช้งาน ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยโปรโมชั่นเขย่าใจ ลดแลกแจกแถมขนานใหญ่ จนผู้บริโภคอย่างเราๆ อยากจะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาโทรสั่งซื้อทันทีทันใดแต่เดี๋ยวก่อน! คุณรู้หรือไม่ว่าพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะรู้สึกเคยชิน หากแต่ต้องสะกิดตัวเองแรงๆ แล้วเตือนสติว่า เรากำลังเสพ ‘โฆษณาแฝง’ โดยไม่ได้ตั้งใจหลายคนอาจจะสงสัยว่าเสพไปแล้วเป็นอะไร มีผลเสียอย่างไร ก็คงต้องเท้าความเสียก่อนว่า ในยุคปัจจุบันผู้คนมักจะเปิดรับข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางของสื่อใหม่ (new media) มากขึ้น เนื่องด้วยคุณลักษณะสำคัญต่างๆ ที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนยุคใหม่ เช่น เนื้อหาสั้น กระชับ เข้าใจง่าย เข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ฯลฯ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อเก่า (old media) หลายๆ ประเภทยังคงได้รับการใช้งานจากกลุ่มคนจำนวนมาก โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ที่มีการพัฒนาจากระบบอะนาล็อกสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งมีความโดดเด่นในแง่คุณภาพของการรับชมที่ดีขึ้น มีการประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ ทำให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่มีโอกาสเข้ามาผลิตเนื้อหาและสร้างความหลากหลายในวงการสื่อ ขณะที่ผู้ชมเองก็มีทางเลือกในการรับชมโทรทัศน์ที่เพิ่มขึ้นทว่าเมื่อการแข่งขันระหว่างช่องโทรทัศน์ไต่ระดับขึ้นเรื่อยๆ กอปรกับการเติบโตของสื่อใหม่ที่เข้ามาช่วงชิงความสนใจของผู้รับสาร ทำให้โฆษณา (advertising) ซึ่งเป็นรายได้หลักของธุรกิจโทรทัศน์เกิดการเลื่อนไหลไปยังพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น ผู้ประกอบการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลหรือ ‘ทีวีดิจิทัล’ จึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจตนเอง กลยุทธ์หนึ่งที่ถูกนำมาใช้อย่างมากคือ ‘โฆษณาแฝง’ ซึ่งเป็นการโฆษณาสินค้าและบริการที่สอดแทรกไปกับเนื้อหาอย่างแยบยล จนผู้บริโภคไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เหมือนกับโฆษณาทั่วไป ทำให้สินค้าและบริการนั้นๆ มีโอกาสซึมลึกเข้าไปในใจของผู้บริโภคโดยไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพที่มักจะพบได้บ่อยๆ เช่น อาหารเสริม ยาบำรุงร่างกาย เครื่องสำอาง เป็นต้น สิ่งที่น่ากังวลคือสื่อโทรทัศน์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายขนาดใหญ่และครอบคลุมทั่วประเทศ ผู้บริโภคจึงมีลักษณะทางประชากรศาสตร์หลากหลาย ทั้งในด้านเพศ อายุ อาชีพ การศึกษา และด้านอื่นๆ ซึ่งส่งผลต่อวิจารณญาณและความรู้เท่าทันสื่อที่ไม่เท่ากัน อันนำไปสู่ทัศนคติและพฤติกรรมการตอบสนองต่อโฆษณาแฝงที่แตกต่างกัน เช่น โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมความงามยี่ห้อหนึ่งอาจไม่มีผลต่อผู้สูงวัย แต่กลับกระตุ้นความต้องการซื้อในกลุ่มวัยรุ่นได้อย่างมาก จนนำไปสู่ค่านิยมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่แพร่หลายนอกจากนี้ การที่ผู้บริโภคคาดหวังว่าจะได้รับสาระหรือความบันเทิงจากรายการโทรทัศน์อย่างเต็มที่ แต่กลับถูกยัดเยียดโฆษณาที่ไม่พึงประสงค์เข้ามาด้วย เนื่องจากผลประโยชน์เชิงธุรกิจของผู้ประกอบการโทรทัศน์และเจ้าของสินค้าและบริการ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นการเอาตัวรอดจากวิกฤติการณ์ขององค์กรสื่อโดยละเลยต่อความต้องการและสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคหรือไม่ ทว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงการตั้งคำถามไปยังจริยธรรมของผู้ประกอบการ เจ้าของสินค้าและบริการ หรือนักการตลาดเพียงเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงการขาดความรู้เท่าทันสื่อของผู้บริโภค และประสิทธิภาพในการคัดกรองโฆษณาแฝงของหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแล ซึ่งยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยในระดับที่ผู้บริโภคจะสามารถฝากความเชื่อมั่นไว้ได้จากปัญหาที่เกิดขึ้นนำไปสู่งานศึกษาเรื่อง “รูปแบบของโฆษณาแฝงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพในรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล” ซึ่งมุ่งที่จะค้นหาคำตอบว่าทีวีดิจิทัลยุคปัจจุบันมีการใช้โฆษณาแฝงในลักษณะใดบ้าง โดยใช้การสำรวจทีวีดิจิทัล 2 ประเภท ได้แก่ บริการสาธารณะ และบริการทางธุรกิจ รวมทั้งเลือกรูปแบบรายการโทรทัศน์ที่หลากหลาย ประกอบด้วย รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (non-fiction) เช่น ข่าว สาระความรู้, รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction) เช่น ละคร ซิทคอม ซีรีส์ และรายการให้ความบันเทิงเบาสมอง (Light Entertainment) เช่น ทอล์กโชว์ เกมโชว์ ซึ่งออกอากาศตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2561 โดยเลือกพิจารณาเฉพาะอาหาร ยา เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยตรงข้อค้นพบในการศึกษาครั้งนี้อาจจำแนกออกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้1. ประเภทของผลิตภัณฑ์สุขภาพ  ผลิตภัณฑ์สุขภาพ หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต มีวัตถุประสงค์ในการใช้เพื่อสุขภาพอนามัยหรืออาจมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ตลอดจนมีความเกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งในงานศึกษาพบว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปรากฏในรูปของโฆษณาแฝง ได้แก่              •      อาหาร เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนม น้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร              •      ยา เช่น ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร              •      เครื่องสำอาง เช่น ครีมบำรุงผิว เซรั่มบำรุงเส้นผม         2. รูปแบบของโฆษณาแฝงจากการศึกษาสามารถจำแนกข้อมูลโฆษณาแฝงตามแนวทางของ ธาม เชื้อสถาปนศิริ (2552) ที่อธิบายว่าโฆษณาแฝงมีทั้งหมด 5 รูปแบบได้ดังนี้            •      แฝงสปอตสั้นหรือวีทีอาร์ (VTR) ก่อนเข้ารายการแต่ละช่วงจะมีโลโก้สินค้าและเสียงบรรยายว่า “สนับสนุนรายการโดย...” พร้อมกับบรรยายสรรพคุณสินค้าพ่วงเข้ามาด้วย เช่น “ดื่มง่าย ละลายน้ำดี ไม่มีกลิ่นคาว ราคาพิเศษสุดๆ โทรสั่งเลย...”    •      แฝงภาพกราฟิก โดยมีโลโก้สินค้าปรากฏที่ฉากหลัง หรือมีภาพสินค้า ตราสินค้า และสโลแกนปรากฏที่มุมจอเป็นระยะ รวมทั้งมีกรอบสินค้าที่บริเวณขอบจอ (window logo)   •      แฝงวัตถุ พบค่อนข้างมาก เช่น วางสินค้าไว้ที่โต๊ะ พิธีกรพูดถึงสินค้าและมีการแพนกล้องไปที่สินค้า วางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก มีป้ายสินค้าหรือภาพสินค้าเป็นฉากหลัง   •      แฝงบุคคล พิธีกรใส่ผ้ากันเปื้อนที่มีตราสินค้า หรือตัวละครหยิบจับสินค้าขึ้นมาใช้งาน พร้อมกับพูดชื่อยี่ห้ออย่างชัดเจน    •      แฝงเนื้อหา พบได้มากที่สุด โดยส่วนใหญ่มักจะออกแบบเนื้อหาโฆษณาแฝงให้สอดคล้องกับเนื้อหารายการ หากเป็นรายการทอล์กโชว์จะมีการสัมภาษณ์แขกรับเชิญเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว ผลงาน แล้วนำไปสู่เรื่องของความงามหรือความสำเร็จซึ่งมีความเชื่อมโยงกับสินค้า พร้อมสาธิตการใช้งาน เช่น ทาครีม รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตลอดจนมอบสินค้าให้แก่พิธีกรหรือผู้ร่วมรายการ หรือรายการสุขภาพก็มีการแนะนำสินค้าที่มีสรรพคุณในการดูแลสุขภาพ ตลอดจนการออกแบบให้ผู้ดำเนินรายการหรือตัวละครต้องใช้สินค้านั้นๆ เช่น ใช้ในการประกอบอาหาร หรือประกอบอาชีพ ขณะเดียวกันก็พบว่ามีการสอดแทรกโฆษณาแฝงที่โจ่งแจ้งและไม่เชื่อมโยงกับเนื้อหาเช่นกัน โดยผู้ประกาศข่าวพูดโฆษณาสินค้าและโปรโมชั่นในช่วงหนึ่งของรายการ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับข่าวที่นำเสนอแม้แต่น้อยนอกจากนี้ ยังพบรูปแบบของการทำโฆษณาแฝงที่น่าสนใจอีกลักษณะหนึ่ง นั่นคือ การผลิต ‘รายการแนะนำสินค้าโดยเฉพาะ’ ขึ้นมา โดยออกแบบให้มีลักษณะคล้ายรายการสุขภาพเป็นหลัก บางส่วนเป็นรายการวาไรตี้ และบางส่วนออกแบบให้คล้ายรายการเล่าข่าว ลักษณะการนำเสนอจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เสนอเนื้อหาที่สอดคล้องกับรายการแล้วจึงเชื่อมโยงไปสู่สินค้า เช่น รายการสุขภาพก็จะให้ความรู้เรื่องสุขภาพ หรือรายการข่าวนำเสนอข่าวเกี่ยวกับปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ แล้วชี้นำว่าสินค้าสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ โดยมีการสัมภาษณ์ผู้ใช้สินค้าจริงและอ้างอิงข้อมูลทางการแพทย์หรืองานวิจัยเพื่อเสริมความน่าเชื่อถือของสินค้า ในส่วนของรายการวาไรตี้มีการจัดวางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก และนำสินค้ามาเป็นโจทย์ให้ผู้เข้าแข่งขันทายราคา   จุดประสงค์สำคัญของรายการประเภทนี้ คือ แนะนำสรรพคุณสินค้าและโปรโมชั่น พร้อมกับเชิญชวนให้เกิดการซื้อ แม้ว่าหน้าตาของรายการประเภทจะละม้ายคล้ายคลึงกับการแฝงเนื้อหาโดยทั่วไป ทว่าจุดต่างที่สังเกตได้ชัดเจนคือ            3. ความสัมพันธ์ของประเภทรายการและโฆษณาแฝง    การศึกษาในครั้งนี้ยังพบความสอดคล้องระหว่าง ‘ประเภทของรายการโทรทัศน์’ กับโฆษณาแฝงที่นำเสนอ โดยประเภทของรายการโทรทัศน์มักจะมีผลต่อการออกแบบโฆษณาแฝง ไม่ว่าจะเป็นด้านเนื้อหาหรือด้านรูปแบบของโฆษณาแฝง ดังรายละเอียดต่อไปนี้              3.1 รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (non-fiction)                 มักจะนำเสนอเนื้อหาในเชิงข้อมูลหรือสาระความรู้แล้วค่อยๆ สอดแทรกโฆษณาแฝงเข้าไป พิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการสื่อสารด้วยถ้อยคำที่ค่อนข้างเป็นทางการ น่าเชื่อถือ มีการอ้างข้อมูลประกอบ                1) รายการข่าว/เล่าข่าว                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (ตราสินค้าปรากฏที่ฉากหลัง, มีโลโก้สินค้าปรากฏในจอด้านหน้าโต๊ะผู้ประกาศข่าว) แฝงวัตถุ (วางสินค้าไว้ที่โต๊ะ, พิธีกรพูดถึงสินค้าและมีการแพนกล้องไปที่สินค้า) และแฝงเนื้อหา (สัมภาษณ์แขกรับเชิญเกี่ยวกับปัญหาความงาม แล้วโยงไปสู่สินค้า)                2) รายการสุขภาพ                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงเนื้อหา (พิธีกรนำเสนอเรื่องสุขภาพ แล้วแนะนำสินค้าที่มีสรรพคุณในการดูแลสุขภาพ)           3.2 รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction)                 มักจะสอดแทรกโฆษณาแฝงเข้ากับเรื่องราวหรือตัวละคร เช่น แฝงกับสถานที่ หรือตัวละครมีความจำเป็นต้องใช้สินค้านั้นๆ                1) ซิทคอม                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงวัตถุ (วางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก, มีป้ายสินค้าเป็นฉากหลัง) และแฝงเนื้อหา (ตัวละครมีอาชีพที่ต้องใช้สินค้านั้นๆ)                2) ละคร/ซีรีส์                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (โลโก้สินค้าปรากฏที่มุมจอ) และแฝงเนื้อหา (ตัวละครหยิบสินค้าขึ้นมาใช้ มีการพูดถึงตราสินค้าโดยตรงหรือกล้องแพนไปที่สินค้านั้น)           3.3 รายการให้ความบันเทิงเบาสมอง (Light Entertainment)                 พบว่าโฆษณาแฝงมีความกลมกลืนกับเนื้อหาของรายการ เช่น รายการทอล์กโชว์ที่สัมภาษณ์นักแสดงหญิงก็มักจะแฝงสินค้าด้านความสวยความงาม หรือรายการทำอาหารก็มีโฆษณาแฝงเกี่ยวกับอาหาร                1) รายการทอล์กโชว์                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงสปอตสั้น (ก่อนเข้ารายการมีโลโก้และเสียงบรรยายผู้สนับสนุนรายการ) แฝงภาพกราฟิก (โลโก้สินค้าปรากฏที่มุมจอเป็นระยะ) แฝงวัตถุ (มีสินค้าวางบนโต๊ะและมีภาพสินค้าที่ฉากหลัง) และแฝงเนื้อหา (สัมภาษณ์แขกรับเชิญเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว ผลงาน แล้วโยงไปสู่สินค้าในตอนท้าย)                2) รายการเกมโชว์/แข่งขัน                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงสปอตสั้น (แนะนำผู้สนับสนุนรายการ) และแฝงวัตถุ (มีป้ายโลโก้สินค้าตรงที่นั่งของผู้แข่งขัน)                3) รายการอาหาร                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (โลโก้สินค้าปรากฏที่มุมจอ) แฝงวัตถุ (วางสินค้าไว้ในฉาก) แฝงบุคคล (พิธีกรใส่ผ้ากันเปื้อนที่มีตราสินค้า) และแฝงเนื้อหา (แจกสินค้าให้แขกรับเชิญ หรือร่วมสนุกตอบคำถามชิงรางวัลจากสินค้ายี่ห้อนั้นๆ)                4) รายการแนะนำอาชีพ                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงเนื้อหา (สัมภาษณ์แขกรับเชิญที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ แล้วเชื่อมโยงไปถึงสินค้า)                5) รายการประเภทอื่นๆ เช่น วาไรตี้ ท่องเที่ยว                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (มีภาพสินค้า ตราสินค้า และสโลแกนปรากฏที่มุมจอ) และแฝงเนื้อหา (พาชมบ้านแขกรับเชิญแล้วพบสินค้าวางอยู่ แขกรับเชิญก็บรรยายสรรพคุณสินค้า พร้อมกับชี้ชวนให้ซื้อ)          3.4 รายการแนะนำสินค้าโดยเฉพาะ                มักจะสอดแทรกโฆษณาแฝงที่เข้ากับรูปแบบรายการ เช่น รายการเชิงสุขภาพก็นำเสนอสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ มีการอ้างอิงข้อมูลจากผู้ใช้สินค้าจริงและข้อมูลทางการแพทย์หรืองานวิจัย รายการวาไรตี้มีการแบ่งเนื้อหาเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกมีลักษณะเป็นซิทคอมก็ใช้รูปแบบแบบแฝงวัตถุ (จัดวางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก) ช่วงต่อมาจะเป็นการแข่งขันโดยนำสินค้ามาเป็นโจทย์ให้ผู้แข่งขันทายราคา เป็นต้น                จากข้อมูลที่กล่าวมาจะเห็นว่าโฆษณาแฝงในรูปแบบดั้งเดิมก็ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ล้มหายไปจากหน้าจอโทรทัศน์ และในขณะเดียวกันก็ยังมีโฆษณาแฝงรูปแบบใหม่เพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งสามารถตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมได้ใน 2 ประเด็น ดังนี้                 1. รายการ ‘ยั่งยืน’ กับ ‘ไม่ยั่งยืน’                      เราสามารถแบ่งลักษณะของรายการโทรทัศน์ออกเป็น 2 รูปแบบ คือ รายการ ‘ยั่งยืน’ หมายถึง รายการที่ออกอากาศมานาน/มีระยะเวลาในการออกอากาศ 1 ชั่วโมงขึ้นไป/อยู่ในช่วงเวลาไพร์มไทม์ (prime time)/กำหนดวันและเวลาออกอากาศที่แน่นอน/เป็นรายการที่มีจำนวนผู้ชมมากหรือเป็นที่รู้จักในวงกว้าง กล่าวได้ว่า เป็นรายการที่มีแนวโน้มจะคงอยู่ในระยะยาว เช่น รายการทูเดย์โชว์ (3 HD), คุยโขมงบ่ายสามโมง (MCOT HD), ซีรีส์เป็นต่อ 2018 (ONE 31)                     รายการ ‘ไม่ยั่งยืน’ หมายถึง รายการที่เพิ่งผลิตและออกอากาศในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา/มีระยะเวลาในการออกอากาศ 10-30 นาที (บางรายการอาจถึง 1 ชั่วโมง)/วันและเวลาออกอากาศไม่แน่นอน กล่าวได้ว่า เป็นรายการที่มีแนวโน้มจะคงอยู่เพียงชั่วคราวหรือในระยะสั้นๆ เช่น รายการใส่ใจไกลโรค (ช่อง 8), รายการพลังชีวิต (NOW 26)                     แม้ว่ารายการทั้งสองรูปแบบจะมีความแตกต่างกันในด้านคุณลักษณะ แต่กลับพบว่ามีการนำเสนอโฆษณาแฝงด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งในอดีตนั้นรายการยั่งยืนจะไม่นำเสนอโฆษณาแฝงอย่างหนักหน่วงเหมือนเช่นปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นวิกฤตการณ์ขององค์กรสื่อ ตลอดจนความย่ำแย่ทางเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้ผลิตรายการและสถานีโทรทัศน์แทบทุกช่องต้องหาทางเอาตัวรอดจากสภาวะดังกล่าว เราจึงพบโฆษณาแฝงกระจายตัวไปตามรายการต่างๆ อย่างครอบคลุมไม่ว่าช่องเล็กหรือใหญ่ก็ตาม                  2. แฝงแบบ ‘เนียน’ กับ ‘ไม่เนียน’                      อาจกล่าวได้ว่า รูปแบบของโฆษณาแฝงมีทั้งแนบเนียนและไม่แนบเนียน ซึ่งอธิบายได้ดังนี้                      แนบเนียน หมายถึง นำเสนอเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับรายการ แล้วจึงนำไปสู่การเสนอขายผลิตภัณฑ์  เช่น รายการทอล์กโชว์มีการสัมภาษณ์นักแสดงเกี่ยวกับการดูแลตนเอง แล้วจึงโยงเข้าสู่ผลิตภัณฑ์ หรือรายการด้านสุขภาพนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บและการดูแลสุขภาพ แล้วจึงแนะนำผลิตภัณฑ์ ซึ่งลักษณะการดำเนินรายการจะค่อนข้างราบลื่น (smooth) มีลำดับขั้นตอนในการนำพาไปสู่เป้าหมาย (ผลิตภัณฑ์สุขภาพ) มีจุดเชื่อมโยงที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกคล้อยตามได้                      ไม่แนบเนียน หมายถึง เสนอขายผลิตภัณฑ์อย่างโจ่งแจ้ง โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาสาระในรายการ เช่น รายการข่าว ผู้ประกาศข่าวอธิบายสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่ง พร้อมชี้ชวนช่องทางการสั่งซื้อให้แก่ผู้ชม โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับข่าวที่นำเสนอแม้แต่น้อย ลักษณะเช่นนี้อาจทำให้ผู้ชมเกิดความตะขิดตะขวงใจ เนื่องจากเนื้อหาที่ไม่ปะติดปะต่อกัน                       ข้อแตกต่างดังกล่าวนอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงระดับความสร้างสรรค์ของผู้ผลิตในการจัดวางโฆษณาแฝงลงในรายการของตนเองแล้ว ยังสามารถตั้งข้อสังเกตต่อไปได้อีกว่า การนำเสนอแบบแนบเนียนนั้นค่อนข้างน่าเป็นห่วงกว่า เพราะผู้ชมเสพเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้คล้อยตามไปกับสารที่ได้รับอย่างง่ายดาย ในขณะที่การนำเสนอแบบไม่แนบเนียนมักจะทำให้ผู้ชมรู้ตัวและรู้ทันเสียก่อน จนนำไปสู่การระแวดระวังได้ แต่ก็ไม่แน่เสมอไปหากมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ความน่าเชื่อถือของผู้ดำเนินรายการ ความถี่ในการรับชม เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ชมได้ทั้งสิ้น                        แต่ไม่ว่าโฆษณาแฝงเหล่านี้จะถูกนำเสนอหรือรังสรรค์ออกมาในแบบใดก็ตามต่างก็สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของวงการทีวีดิจิทัลได้เป็นอย่างดี ในยุคสมัยที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ คาดหวังเนื้อหาน้ำดีมีคุณภาพ ผู้ประกอบการเองก็ต้องขวนขวายหาทางอยู่รอดเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคที่ต้องตระหนักถึงสิทธิที่พึงมี เสพสื่ออย่างระแวดระวัง และรู้จักตรวจสอบสิ่งที่เสพอยู่เสมอ เมื่อผู้บริโภคมีความกระตือรือร้น (active consumers) ก็ย่อมส่งผลไปยังผู้ประกอบการที่ต้องปรับตัวให้ตอบสนองต่อความรู้เท่าทันและพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนได้ในอนาคต  แหล่งข้อมูล:ธาม เชื้อสถาปนศิริ. (2552). รู้เท่าทันโฆษณาแฝง. กรุงเทพฯ: ออฟเซ็ทครีเอชั่น.ปวรรศ จันทร์เพ็ญ. (2560). กลยุทธ์ใหม่กับโฆษณาแฝงในปัจจุบัน. นิเทศสยามปริทัศน์, 12(13).พชร แกล้วกล้า และคณะ. (2559). จับตายโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย. กรุงเทพฯ: พิมพ์ดี. 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2562

ไทยออกกฎหมายบังคับใช้ 'ซองบุหรี่แบบเรียบ' ชาติแรกในเอเชียตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับหีบห่อผลิตภัณฑ์ยาสูบ และผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรต พ.ศ. 2561 หรือ ประกาศซองบุหรี่แบบเรียบ ภายใต้ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 12 ก.ย.62ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ผู้ทรงคุณวุฒิควบคุมยาสูบ และที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่ 11 ของโลกที่ออกมาตรการนี้ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำให้ปฏิบัติเพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่ประกาศใช้กฎหมายนี้ตั้งแต่ปี 2555 ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ของชาวออสซี่ลดลง 0.2% ต่อปี ซึ่งหากมาตรการซองบุหรี่แบบเรียบส่งผลในประเทศไทยเช่นเดียวกับออสเตรเลีย คาดว่าจะสามารถลดคนสูบบุหรี่ในประเทศได้ถึง 111,794 คนต่อปี จากคนสูบบุหรี่ซอง 5.9 ล้านคน 222 องค์กรผู้บริโภค ค้าน กม.จัดตั้งสภาผู้บริโภค ฉบับกฤษฎีกา 9 ม.ค.62 ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 222 องค์กร ยื่นหนังสือต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียกร้องให้ยุติการพิจารณากฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. .... โดยให้เหตุผลว่าร่างกฎหมายดังกล่าวอาจทำให้เกิดองค์กรที่ไม่มีความเป็นเอกภาพ และอาจถูกแทรกแซงได้ง่าย ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการจัดทำ โดยเสนอให้ใช้ ร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งเป็นฉบับที่ร่างโดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งในการพิจารณาร่างกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 ต้องมีสัดส่วนของภาคประชาชนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของคณะกรรมการพิจารณากฎหมายศาลสตูลสั่ง “เพิร์ลลี่” จ่ายค่าเสียหายกว่า 10 ล้านบาทจากกรณีผู้เสียหายเนื่องจากการใช้โลชั่นทาผิว ยี่ห้อ เพิร์ลลี่ แล้วเกิดอาการผิวหนังแตกลาย ทำให้นำไปสู่การตรวจสอบและดำเนินคดีแบบกลุ่มกับบริษัทผู้ผลิตนั้น เมื่อ 27 ธ.ค.61 ศาลจังหวัดสตูลได้พิพากษาให้จำเลยคือ ผู้ผลิตโลชั่นทาผิว ‘เพิร์ลลี่’ จ่ายค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์และสมาชิกกลุ่ม รวมเป็นค่าเสียหายประมาณ 10 ล้านบาท และอาจมากขึ้นหากมีผู้เสียหายเข้าชื่อเพิ่มเติม         นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งให้บริษัทระงับการจำหน่ายและออกประกาศรับคืนสินค้าที่มีปัญหาจากผู้บริโภค รวมทั้งเรียกเก็บสินค้าที่ยังไม่ได้จำหน่ายและทำลายทิ้ง โดยจำเลยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดอย. เสนอ รพ.จับมือ ร้านยา ช่วยจ่ายยาผู้ป่วยนอก ลดความแออัดเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวอภิปรายในงานเสวนาเรื่อง "แนวทางการส่งยาทางไปรษณีย์ในโรงพยาบาลรัฐที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร" จัดโดยแพทยสภา เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.61 ว่า อย.ตีความถึงการจัดส่งยาให้ผู้ป่วยเพื่อลดความแออัดจากการรอรับยา ไม่จัดเป็นการ "ขายยา" ตาม พ.ร.บ.ยาฯ ซึ่งการดำเนินการจัดส่งทางไปรษณีย์ก็เป็นไปภายใต้ความรับผิดชอบของสถานพยาบาลนั้นๆ โดยก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับยานั้นจะต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ การประเมินจากทีมสหวิชาชีพ และเภสัชกรจะเป็นผู้ให้คำแนะนำและข้อควรระวังในการใช้ยาอย่างละเอียด นอกจากนี้ อาจนำ "ร้านยา" เข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการ โดยใช้ระบบออนไลน์เข้ามาช่วยตรวจสอบ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลารอรับยาจากห้องยา และยังคงได้รับการดูแลจากเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ยาที่ถูกต้องเหมาะสมเช่นเดิม โดยการวางระบบจะพิจารณาถึงประเด็นของความถูกต้องสอดคล้องตามกฎหมาย ความถูกต้องของยา ประสิทธิภาพยาในส่วนกระบวนการจัดเก็บและขนส่ง รวมถึงความเหมาะสมของปริมาณยาที่อยู่ในมือผู้ป่วยผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเกิน ขอเงินคืนได้ภายใน 1 ปีเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน แจ้งว่า สำนักงานประกันสังคมได้ทำหนังสือถึงผู้ประกันตนเพื่อแจ้งให้ทราบถึงจำนวนเงินสมทบที่ชำระไว้เกิน ในปี 2561 จำนวน 60,409 ราย เพื่อแจ้งให้ผู้ประกันตนที่ต้องการรับเงินส่วนเกินคืนทราบ โดยขอให้ผู้ประกันตนกรอกข้อความและลงนามในคำขอรับเงินคืน พร้อมแนบหลักฐานรายละเอียดเงินสมทบส่วนที่เกิน สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง ส่งไปรษณีย์ถึงสำนักงานประกันสังคมทั้งนี้ หากผู้ประกันตนไม่ได้ยื่นคำขอภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่นำส่งเงินสมทบ เงินจำนวนดังกล่าวจะตกเป็นของกองทุนประกันสังคม จึงขอให้ผู้ประกันตนตรวจสอบและรักษาสิทธิของตนเอง โดยสอบถามที่สายด่วน 1506 ได้ตลอด 24 ชม.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2561

ศาลยกฟ้อง คดีมาสด้าฟ้องลูกค้ากว่า 84 ล้านบาทกรณี บจก.มาสด้า เซลล์ (ประเทศไทย) ฟ้องเรียกค่าเสียหายลูกค้ากว่า 84 ล้านบาท เมื่อต้นปี 2561 เหตุผู้ใช้รถมาสด้า 2 เครื่องยนต์ดีเซลที่พบปัญหาการใช้งานและออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากบริษัท โดยบริษัทมาสด้าให้เหตุผลการฟ้องคดีว่า ผู้เสียหายใช้สิทธิเกินส่วนที่ผู้บริโภคควรใช้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ ชื่อเสียง และทำให้ยอดขายของบริษัทลดลงนั้น         เมื่อวันที่ 28 พ.ย.61  ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดี  ชี้ว่าการออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบของผู้เสียหาย เป็นการปกป้องสิทธิตามสิทธิผู้บริโภคโดยสุจริต เพราะรถมีความบกพร่องจริง และผู้เสียหายได้สอบถามไปยังผู้ผลิตแต่ไม่ได้รับคำตอบ จึงมีสิทธิเรียกร้องทวงถาม ซึ่งไม่ถือเป็นการใช้สิทธิเกินส่วนตามที่บริษัทอ้าง ด้าน นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ผู้เสียหายที่ถูกฟ้อง ได้กล่าวฝากถึงผู้บริโภคทุกคนให้ตระหนักถึงสิทธิที่ตัวเองมีตามกฎหมาย และเมื่อเกิดความเสียหายก็ต้องได้รับการชดเชยเยียวยา3 โรค 1 ภัยสุขภาพสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2562นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า ภัยสุขภาพที่สำคัญในปี 2562 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ การพยากรณ์โรคติดต่อ และการพยากรณ์โรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ ดังนี้ โรคติดต่อที่สำคัญในปี 2562 มี 3 โรค ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ โรคหัด และไข้เลือดออก ซึ่งไข้หวัดใหญ่คาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงเกือบ 1.8 แสนราย ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ล้าง คือ ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และ หยุด คือ เมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัดส่วนโรคหัด เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ผู้ปกครองควรพาเด็กเล็กไปรับวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน จำนวน 2 เข็ม เข็มแรกเมื่อเด็กอายุ 9 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 2 ปีครึ่งกรณีโรคไข้เลือดออก ต้องร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ มี 1 เรื่อง คือ การบาดเจ็บจากการจราจรทางถนน เนื่องจากทุกปีประเทศไทยจะพบอุบัติเหตุจากการจราจรเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ จึงขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจร ไม่ขับรถเร็ว ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย ผู้ขับขี่รถยนต์ใช้เข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง หากดื่มสุราแล้วไม่ควรขับรถ และง่วงต้องไม่ขับ ‘ออมสิน’ ชะลอฟ้อง - งดบังคับคดี ตุ๊กตุ๊ก โครงการสามล้อเอื้ออาทรเมื่อวันที่ 27 พ.ย.61 นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมผู้เสียหายจากการกู้สินเชื่อเพื่อซื้อสามล้อ ในโครงการสามล้อเอื้ออาทร กว่า 150 ราย เดินทางไปยังธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ เพื่อเรียกร้องให้ถอนฟ้องคดีผู้เสียหายทุกรายที่ทำสัญญากู้ยืมเงินในลักษณะเดียวกัน และขอให้งดการบังคับคดีเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของโครงการสินเชื่อดังกล่าวนายประเสริฐ กองจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานบริหารหนี้และกฎหมาย กลุ่มปฏิบัติงาน ได้ตอบรับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้เสียหาย โดยจะยื่นขอให้ศาลจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว และงดการบังคับคดี และได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ของธนาคารฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการสามล้อเอื้ออาทร ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 45 วัน โดยได้นัดให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและกลุ่มผู้เสียหาย มารับฟังคำตอบอีกครั้งในวันที่ 15 ม.ค.6213 เม.ย. 62 รพ.เอกชนยอมกางบัญชี "ราคายา-ค่ารักษา" ขึ้นเว็บไซต์          กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนกว่า 100 แห่งเตรียมเผยแพร่ราคายา-ค่ารักษาบนเว็บไซต์ รพ.และเว็บไซต์กลาง ในวันที่ 13 เม.ย. 2562 เพื่อให้ประชาชนได้เปรียบเทียบราคาก่อนตัดสินใจใช้บริการ พร้อมชี้ว่า รพ.เอกชนเผยแพร่ข้อมูลเรื่องราคาได้ แต่คงบังคับให้ลดราคาไม่ได้ เนื่องจากต้นทุนแต่ละแห่งไม่เท่ากัน สำหรับข้อมูลที่นำมาเผยแพร่จะต้องง่ายต่อความเข้าใจของประชาชน ไม่ใช่เป็นข้อความทางเทคนิค ซึ่งยาที่จะประกาศราคานั้น เบื้องต้น จะมีประมาณ 1,000 รายการ จากทั้งหมดกว่า 5,000 รายการ หวังเพื่อให้ประชาชนรับทราบราคายาและค่ารักษาและเกิดการเปรียบเทียบ ทำให้โรงพยาบาลเอกชนไม่กล้าคิดราคายาและค่ารักษาที่แพงเกินความเหมาะสม ยื่นฟ้อง ไทยพาณิชย์ เหตุคนร้ายโจรกรรมเงินฝากผ่านแอพฯ กว่า 2 ล้านบาทเมื่อ 15 พ.ย.61 นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มพบ. และ น.ส.ธนิตา จิราพณิช อาชีพนักแสดงอิสระ ซึ่งเป็นผู้เสียหายสูญเงินกว่า 2 ล้านบาท จากการถูกโจรกรรมข้อมูลและเงินในบัญชีเงินฝาก เดินทางไปยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง รัชดาฯ โดยผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน (จำเลยที่ 1) และ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด (จำเลยที่ 2)        กรณีนี้ คนร้ายได้หลอกลวงเอาข้อมูลของผู้เสียหาย ได้แก่ หมายเลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร เพื่อใช้สมัครอินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้งบนมือถือของคนร้าย และโจรกรรมเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ กองทุนเปิด SCBFP กองทุนเปิด WINR และกองทุนตราสารหนี้ที่ผู้เสียหายเปิดบัญชีไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัท หลักทรัพย์จัดการรองทุน ไทยพาณิชย์ ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 8 วัน ตั้งแต่ 27 ธ.ค.60 - 4 ม.ค.61 รวมกว่า 50 ครั้ง นับรวมความเสียหายกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งเมื่อผู้เสียหายทราบเรื่องก็ได้ติดตามทวงถามให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงตัดสินใจยื่นฟ้องศาล โดย นายเฉลิมพงษ์ ให้ความเห็นว่า จำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายและประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ให้เป็นไปอย่างครบถ้วนถูกต้อง ทั้งการตรวจสอบสิทธิในการเข้าถึงระบบสารสนเทศ การติดตามแจ้งเตือน การแจ้งข้อมูลการทำธุรกรรมไม่มีมาตรฐาน จนทำให้คนร้ายสามารถทำการโจรกรรมเงินในบัญชีและกองทุนของผู้เสียหายได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 อ้างบุญอ้างราศี ที่แท้ก็ขายยา

ผู้อ่านหลายท่านคงเคยดูรายการทีวีเกี่ยวกับการทำนายดวงชะตาราศีต่างๆ แต่นึกไม่ถึงว่ามันจะลามมากระทั่งการขายยาพ่วงด้วย“ทีแรกก็ไม่คิดว่าจะซื้อกินหรอก แต่แกมีอาการปวดๆ เมื่อยๆ พอเจอคนขาย เขาบอกว่ามียาดี หายทุกราย รายได้จะเอาไปทำบุญ ก็เลยช่วยเขาซื้อ คงกะว่าจะลองดูด้วย” พี่ๆ อสม.(อาสาสมัครสาธารณสุข) เล่าพฤติกรรมของคุณป้าท่านหนึ่งที่อยู่ในชุมชนให้ฟัง ระหว่างที่ผมพาคณะอาจารย์และนักศึกษาปริญญาโท ลงพื้นที่ไปพูดคุยเรื่องการใช้ยา“ยาอะไรทำไมราคาแพงจัง ขวดละตั้งหลายร้อย เป็นยาสมุนไพรแผนโบราณนะ พี่อ่านฉลากข้างขวดก็มีทะเบียนยา มีที่อยู่ครบถ้วนนะ เราเป็น อสม.พอมีความรู้เรื่องการอ่านฉลากอยู่บ้าง ก็เอะใจที่ฉลากมันไม่ได้บอกว่ารักษาอาการปวดเมื่อยได้มากมายตามที่คนขายเขาบอก ฉลากมันบอกแค่เป็นยาบำรุงร่างกาย  เราเป็นห่วงก็พยายามเตือนแกแต่แกไม่เชื่อนะ ยังเถียงอีกว่ายาดี คนขายบอกว่าจะเอาเงินไปทำบุญ คนซื้อก็ได้ต่อยอดบุญ ชีวิตจะได้รุ่งเรือง”            “แล้วพี่ตามดูไหมครับว่า หลังจากนั้นคุณป้าท่านนี้เป็นยังไง” ผมถามต่อด้วยความอยากรู้            “แกไม่หายหรอก ก็ปวดๆ เมื่อยๆ เหมือนเดิม ลูกหลานห้ามก็ไม่เชื่อ ใครเตือนแกโกรธนะ แกศรัทธาเจ้าของผลิตภัณฑ์นี้มาก แกบอกว่าเขาเป็นองค์เทพมาจุติ มาโปรดสัตว์ มาชวนคนทำบุญ หลังๆ แกซื้อเป็นชุดเลยนะ คนขายไปบอกแกว่า ยานี้ต้องกินให้ครบ 12 ราศี แกก็เชื่อนะ ซื้อมาชุดละเจ็ดพันบาทครบ 12 ราศี เวลาได้มาก็ต้องเอายาวางในที่สูง ห้ามวางต่ำกับพื้นมันบาป ลูกหลานก็ยิ่งห่วง กลัวจะถูกหลอก พอเตือนแกหนักๆ เข้า แกตัดจากกองมรดกเลย แกเป็นคนมีสตางค์”            “ไอ้เราเป็น อสม. ก็อดเป็นห่วงแกไม่ได้ เผอิญช่วงนั้นมีงานศพ คนตายก็เคยกินยานี้ แกป่วย พอศรัทธายานี้ ก็เลยไม่ยอมกินยาเดิมที่หมอตรวจ เอาแต่กินยานี้ เราก็เลยชวนแกไป กะจะให้แกกลัว จะได้เลิก ขนาดเอาคนตายมาเป็นตัวอย่างสอนแกในงานศพ แกยังไม่เชื่อเลย แกยังเถียงว่า คนที่ตายได้ยาปลอมมา เพราะไม่ได้ซื้อยาจากศูนย์ขายเดียวกับแก”            “แล้วตอนนี้แกยังกินอยู่ไหมครับ ท่าทางคุณป้าแกเชื่อหัวปักหัวปำขนาดนี้” ผมถามด้วยความอยากรู้            “เลิกแล้ว แต่กว่าจะเลิกก็หมดตังค์ไปหลาย คือหลังจากงานศพแกก็ไปซื้อกินอีกเรื่อยๆ แหละ แต่ไม่กี่เดือนภรรยาของลุงที่เสียชีวิตก็มาเสียชีวิตตามไปอีกคนนึง เรารู้ว่าทั้งผัวทั้งเมียกินยานี้ทั้งคู่ แล้วก็ไม่ยอมไปตรวจรักษาเหมือนเดิม ก็เลยชวนแกไปงานศพอีก คราวนี้ก็เลยพาแกไปนั่งคุยกับญาติๆ ของคนที่เสีย ญาติมันด่าเช็ดเลยว่า ขายยาอะไรแบบนี้ เตือนแล้วห้ามแล้วก็ไม่ฟังเอาแต่กินยานี้ ไม่ยอมไปตรวจตามที่หมอเคยตรวจ ยาเดิมๆ ที่หมอเคยจ่ายตอนตรวจก็เลิกกิน “เราก็เลยถามต่อว่าซื้อยาจากที่ไหน เป็นไงล่ะ ซื้อมาจากศูนย์ขายที่เดียวกับที่แกซื้อมานั่นแหละ เราเลยถือโอกาสบอกแกว่า ถ้ายังไม่เลิก แกอาจจะเป็นรายต่อไปนะ” เรื่องนี้ น่าทึ่งทั้งเทคนิคการขายที่แพรวพราว และเทคนิคการทำงานของพี่ อสม.ท่านนี้ จริงๆ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 ลูกไม้ลายสนธยา : คงจะมีรักจริงรออยู่ ที่ดินแดนใดสักแห่ง

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าสังคมมนุษย์เราปลอดซึ่งอคติทั้ง 4 อันได้แก่ รัก โลภ โกรธ และหลง ในขณะเดียวกัน สังคมที่ปราศจากอคติทั้ง 4 อันถูกเชื่อว่าเป็นแหล่งที่มาของกิเลส และเป็นวิถีปฏิบัติไปในทางที่ผิดเช่นนี้ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และจะนำมาซึ่งความสุขแห่งมนุษยชาติที่แท้จริงได้หรือไม่   ในวรรณกรรมคลาสสิกของ เซอร์โธมัส มอร์ ที่เขียนไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ได้เคยเสนอภาพดินแดนอุดมคติซึ่งเรียกว่า “ยูโทเปีย” ที่ผู้คนมีชีวิตอยู่ดีกินดี มีระบบแห่งการแบ่งสันปันส่วนชนิดที่ไม่ต้องแก่งแย่งกัน ไม่มีร้านเหล้าหรือสิ่งอบายมุขใดๆ ผู้คนไม่ยึดติดกับวัตถุ ไม่มีความขัดแย้งและสงครามใดๆ หรือถ้าสรุปแบบง่ายๆ ยูโทเปียก็เป็นประหนึ่งรัฐในฝันที่ผู้คนอยู่กันโดยไร้อคติ แต่อาศัยศีลธรรมคุณธรรมในการดำเนินชีวิต    อย่างไรก็ดี ตามทัศนะแบบตะวันตก สังคมอุดมความสุขเช่นนี้ถือเป็นเพียงจินตนาการที่หาได้มีอยู่จริง และถูกวาดขึ้นเป็นนัยเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามต่อสภาวะวิกฤติที่เกิดในระบบเศรษฐกิจการเมืองของสังคมของยุคนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ ยูโทเปียกับโลกจริงจึงเป็นสองดินแดนที่มีเส้นแบ่งแยกขาดจากกันอย่างชัดเจน   แต่ในทางกลับกัน หากเป็นในทัศนะแบบคนไทย เรามีมุมมองแตกต่างไปว่า โลกอุดมคติที่เหนือจริงหาใช่เป็นพรมแดนที่แยกขาดจากโลกที่มนุษย์เราใช้ชีวิตเวียนว่ายอยู่ในกิเลสโดยสิ้นเชิง ดินแดนที่แตกต่างกันทั้งสองกลับดำเนินอยู่แบบคู่ขนาน และอาจมีบางจังหวะเงื่อนไขที่ทั้งสองโลกดังกล่าวเวียนวนมาบรรจบพบกันได้   ปฏิสัมพันธ์ระหว่างโลกยูโทเปียกับโลกความเป็นจริงแบบไทยๆ ดูจะเป็นเส้นเรื่องหลักที่ถูกวางพล็อตเอาไว้ในละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกจินตนิมิตอย่าง “ลูกไม้ลายสนธยา” ที่จำลองภาพความขัดแย้งของสังคมไทยผ่านการแก่งแย่งช่วงชิงสิทธิ์ในการถือครอง “บ้านรัชดาพิพัฒน์” อันเป็นสถานที่ซ่อนของประตูสู่อีกมิติของดินแดนอุดมคติที่เต็มไปด้วยความสุข   ในโครงเรื่องที่ผูกขึ้นของละครนั้น โลกจริงอันเป็นสถานที่ซึ่งมนุษย์เราวนว่ายอยู่ในกิเลส ถูกเรียกขานว่าเป็นดินแดน “ชมพูทวีป” ในขณะที่ภาพสมมติแทนอุดมคติยูโทเปียก็ถูกวาดขึ้นมาในชื่อของ “อุตรกุรุทวีป” โดยมีคำอธิบายตั้งแต่ต้นเรื่องว่า ในอดีตกาลนั้น สองทวีปนี้เคยมีสะพานเชื่อมข้ามมิติไปมาหากันได้ แต่เมื่อมนุษย์ในชมพูทวีปเริ่มสั่งสมบาปกรรมและความโลภโมโทสันกันจนล้นเกิน ประตูแห่งกาลที่กั้นทางเข้าอุตรกุรุทวีปจึงปิดตัวลง เพื่อมิให้มนุษย์และกิเลสต่างๆ ได้ข้ามไปแปดเปื้อนดินแดนแห่งอุดมคติดังกล่าว   แม้ยูโทเปียกับโลกจริงจะเป็นสองอาณาบริเวณที่แยกขาดจากกันในตอนต้นเรื่อง แต่พลันที่ “เหมหิรัญญ์” พระเอกหนุ่มในดินแดนอุตรกุรุทวีปเกิดมีข้อสงสัยขึ้นว่า เหตุใดชมพูทวีปทุกวันนี้จึงได้กลายสภาพเป็นที่สั่งสมไว้ซึ่งกิเลสและอคติต่างๆ และที่สำคัญ ผู้คนในทวีปแห่งนี้จะใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางอคติที่ถาโถมอยู่รอบทิศนั้นได้อย่างไร ปมปัญหาที่ละครผูกไว้กับยูโทเปียจึงได้เริ่มต้นขึ้นมา   เพราะบ้านรัชดาพิพัฒน์เป็นแกนกลางที่ตัวละครต่างๆ หวังจะเข้ามาครอบครอง จนนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำของ “ประพิม” ผู้กำความลับเรื่องผ้าลูกไม้ลายสนธยา ในฐานะกุญแจไขไปสู่ดินแดนอุตรกุรุทวีป เหมหิรัญญ์จึงสวมวิญญาณเป็นนักวิจัยภาคสนามมาทั้งสืบเงื่อนปมการตาย และเข้าไปสังเกตการณ์ชีวิตตัวละครที่ต้องมนต์กิเลสในการถือครองคฤหาสน์หลังงามดังกล่าว   เมื่อได้ลงสนามในชมพูทวีป เหมหิรัญญ์ก็ค้นพบว่า รักโลภโกรธหลงเป็นสิ่งที่ “มี” และ “ผลิดอกออกผล” ได้ไม่สิ้นไม่สุด ไม่ว่าจะผ่านกลุ่มตัวอย่างอย่าง “นายหัววรงค์” และ “แก้วเพชร” หรือ “ทองมาตย์” และ “รัตนพรรณ” ที่ความเป็นสามีภรรยาของทั้งสองคู่ชีวิตถูกสะบั้นลงได้เพียงเพราะต้องการครอบครองบ้านหลังเดียว หรือกรณีของ “หันตรา” “ดิถี” และ “วโรชา” ที่ความรักความหลงทำให้ “ตาบอด” ขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ไปจนถึง “สารวัตรทัศน์เทพ” ที่ยอมทรยศอุดมการณ์ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เพียงเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ส่วนตน   แม้ตัวละครจำนวนมากจะเป็นภาพแสดงการก่อและขยายตัวของกิเลสแห่งมนุษย์ในชมพูทวีป แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเหมหิรัญญ์ได้มาพบกับ “เดือนพัตรา” นางเอกผู้ได้รับบ้านรัชดาพิพัฒน์เป็นมรดกสืบต่อจากคุณยายประพิมที่เสียชีวิตไป เขากลับได้คำตอบเพิ่มเติมว่า ท่ามกลางวังวนมหาสมุทรแห่งกิเลส ก็ยังมีผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่พยายามต่อสู้ทุกทางเพื่อรักษาคุณงามความดีอยู่ในมุมเล็กๆ ของความขัดแย้งแก่งแย่งกัน ซึ่งแตกต่างไปจากภาพของอุตรกุรุทวีปที่อวลอบเอาไว้ด้วยคุณธรรมความดีแต่เพียงด้านเดียว   ในโลกยูโทเปียแบบอุตรกุรุทวีปนั้น แม้จะเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความบริสุทธิ์งดงามและยึดถือความดีเป็นที่ตั้ง แต่อันที่จริงแล้ว อะไรก็ตามที่สุดขั้วไปทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นอุดมคติดีงามสุดขั้ว หรือโลภโมโทสันอย่างสุดโต่ง มันก็ช่างขัดแย้งกับวิถีคิดพื้นฐานแบบ “ทางสายกลาง” ด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นแม้แต่ในดินแดนที่เพียบพร้อมความสุขแบบเปี่ยมล้นเอง ก็มีอีกด้านที่ผู้คนไม่เคยได้สัมผัสหรือขาดซึ่ง “ภูมิต้านทานความทุกข์” เพราะมัวแต่ “สำลักความสุข” กันเพียงอย่างเดียว   ด้วยเหตุนี้ แม้ชมพูทวีปจะเต็มไปด้วยกิเลสรอบตัว แต่การที่เดือนพัตรายังคงยืนหยัดยึดมั่นความดีเป็นสรณะท่ามกลางสิ่งเร้ารายรอบได้ เหมหิรัญญ์ก็พบว่า ความดีที่ฝ่าพายุคลื่นลมของกิเลสแบบนี้ “ดูรวมๆ แล้วมีเสน่ห์เหลือเกิน” จนทำให้เขาตกหลุมรักเดือนพัตรา และต้องการใช้ชีวิตอยู่กับเธอที่ชมพูทวีป โดยยอมรับกติกาที่ว่ายิ่งใช้ชีวิตอยู่นานเท่าใด อายุขัยของเขาก็จะลดลงไปตามกฎแห่งโลกมนุษย์    ครั้งหนึ่ง เมื่อ “ผู้กองมรุต” นายตำรวจที่ช่วยเหลือเดือนพัตราสืบเรื่องราวความตายของคุณยาย และถูกลอบทำร้ายจนต้องเข้าโรงพยาบาล ภาพที่หญิงสาวคอยปรนนิบัติดูแลผู้กองหนุ่ม ก็ทำให้เหมหิรัญญ์เข้าใจความจริงแห่งความทุกข์ และพูดกับเธอว่า “โลกของผมไม่มีการเจ็บป่วย แต่ถ้าผมรู้ว่าเวลาเจ็บป่วยแล้วมีคนมาดูแลเอาใจใส่แบบนี้ การเจ็บป่วยมันก็ดีเหมือนกัน”    ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า “หากไม่รู้จักเจ็บปวด ก็คงไม่ซึ้งถึงความสุขใจ” นี้เอง ในท้ายที่สุด หลังจากคลี่คลายปมว่าใครคือฆาตกรที่ฆ่าคุณยายประพิม และจัดการปัญหาของบ้านรัชดาพิพัฒน์ลงได้ เหมหิรัญญ์ก็ตัดสินใจละทิ้งดินแดนอุดมคติ เพื่อมาใช้ชีวิตแบบ “ทุกข์บ้างสุขบ้าง” เคียงคู่กับเดือนพัตราที่ชมพูทวีปนั่นเอง   “ทุกข์สุขอยู่ที่ใจ” น่าจะเป็นสัจธรรมที่ถูกต้องแล้ว เพราะฉะนั้น คงไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายให้ตนไปอยู่ในดินแดนอุดมคติยูโทเปีย หรือไม่ต้องทนวนว่ายในกระแสธารกิเลสที่เปี่ยมล้นหรอก บางทีผ้าที่มีสีขาวหรือสีดำไปด้านใดด้านหนึ่ง ก็ไม่ทำให้เราเข้าใจสีสันชีวิตแบบ “ทางสายกลาง” ได้เหมือนกับผ้าที่มี “ลูกไม้ลายสนธยา” ซึ่งมีเลื่อมลายทุกข์บ้างสุขบ้างสลับกันไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 กระแสในประเทศ

โพลล์หนุน ‘รัฐสวัสดิการ’ เผยคนกรุงอยากเห็นนโยบายรักษาพยาบาลฟรี – เงินยังชีพรายเดือน8 พ.ย.61 เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ร่วมกับ บ้านสมเด็จโพลล์ แถลงผลสำรวจคนกรุง 1,211 คน ประเด็น “ประชาชนเชื่อรัฐสวัสดิการเกิดได้ ชี้รัฐต้องจัดสรรงบใหม่ให้เป็นธรรม” โดย ผศ.สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ให้ข้อมูลว่า ประชาชนร้อยละ 48.9 เห็นว่ารัฐควรให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณด้านสวัสดิการพื้นฐาน เช่น เรื่องการศึกษา บำนาญถ้วนหน้า สาธารณสุข เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากนี้ คนกรุงยังต้องการเห็นพรรคการเมืองมีนโยบายในเรื่องบริการด้านสาธารณสุขฟรีมากที่สุด ตามด้วยเรื่องเงินดำรงชีพรายเดือนสำหรับผู้สูงอายุ และการประกันรายได้เมื่อตกงานหรือไม่มีงานทำ ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า โพลล์สะท้อนว่าคนกรุงเทพฯ รู้สึกถึงความไม่มั่นคงในชีวิตทั้งด้านสุขภาพ และเรื่องรายได้ แต่ก็พยายามเตรียมตัวด้วยการออมเงินไว้ใช้ โจทย์สำคัญคือ คนที่ไม่มีกำลังออมหรือหากออมแล้วไม่เพียงพอจะใช้ชีวิตอย่างไร เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐต้องมีนโยบายจัดเป็นสวัสดิการพื้นฐานให้กับประชาชนทุกคนอย่างถ้วนหน้าสรรพสามิตเสนอเก็บภาษีอาหารเค็ม-มัน อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตมีแผนเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเก็บภาษีจากสินค้าที่มีไขมันและความเค็มในปริมาณมาก ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุทำลายสุขภาพ โดยเบื้องต้นจะยึดรูปแบบเดียวกับแนวทางจัดเก็บภาษีความหวาน และจะให้เวลาผู้ประกอบการเพื่อปรับตัว 5 ปี หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถลดปริมาณไขมันและความเค็มลงได้ ก็จะมีการปรับลดอัตราภาษีให้ด้วยกกพ. มอบของขวัญปีใหม่ ขึ้นค่าไฟงวด ม.ค. - เม.ย.62 เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.มีมติให้เรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือนมกราคม – เมษายน 2562 จำนวน -11.60 สตางค์/หน่วย ปรับเพิ่มขึ้น 4.30 สตางค์/หน่วย จากปัจจุบัน (ก.ย.-ธ.ค.61) -15.90 สตางค์/หน่วย โดยจะส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยเมื่อรวมค่าไฟฐานอยู่ที่ 3.6396 บาท/หน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เนื่องจากต้นทุนของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าทั้งน้ำมันและก๊าซฯ เพิ่มขึ้น  ทั้งนี้ กกพ. ได้หามาตรการในการบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพของประชาชน เช่น มาตรการเสริมประสิทธิภาพการบริการจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงที่จำเป็นสำหรับการผลิต, มาตรการนำเงินสะสมจากการเรียกเก็บ Ft มาชดเชยต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและลดความผันผวน Ftครม. เตรียมกฎหมาย ‘สภาดิจิทัล’ ยกเอกชนทำงานควบคู่รัฐนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุม ครม. เห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ. สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... โดยสภาดิจิทัลฯ จะมีภารกิจหลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1. ขับเคลื่อนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้พร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุคดิจิทัล 2. สร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึง เท่าเทียม ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 3. ทำงานร่วมกับรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นในการเข้าสู่สังคมดิจิทัล และ 4. พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเรื่องของดิจิทัลคณะกรรมการชุดนี้สามารถกำหนดนโยบายและการดำเนินงานของสภาดิจิทัลได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะเป็นภาคเอกชนทั้งหมด แต่ทำงานควบคู่ไปกับทางภาครัฐ โดยให้ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้กำกับการดูแลการทำงานของสภาดิจิทัล โดยมีอำนาจตรวจสอบและขอความเห็นชอบเปลี่ยนตัวกรรมการได้เกาะสิมิลันยังจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวแม้ถูกหลายฝ่ายต้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงกรณีชมรมเรือท่องเที่ยวหมู่เกาะสิมิลัน-สุรินทร์ ที่เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมาตรการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันว่า ตนเห็นใจผู้ประกอบการ และคิดว่าทุกฝ่าย เห็นด้วยว่าต้องดูแลรักษาธรรมชาติก่อน ที่ผ่านมาไม่เคยมีการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยว มีเท่าไรปล่อยเข้าไปหมด ส่วนผู้ประกอบการที่จดทะเบียนไว้กับกรมอุทยานฯ จะได้รับโควต้านำนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังหมู่เกาะสิมิลันหรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะเจ้าของพื้นที่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 จดหมายถึงบอกอ

ความต่างของผงปรุงรสกับผงชูรส ดิฉันเคยเขียนไปรษณียบัตรถาม มีความสงสัยเรื่องผงปรุงรสที่ว่าไม่ใช่ผงชูรส แต่อ่านส่วนผสมก็มีโมโนโซเดียมกลูตาเมต ช่วยขยายความด้วย ประเด็นนี้เคยถามไปนาน ไม่มั่นใจว่ากี่ปี ลืมแล้ว แต่ติดตามทางนิตยสารก็ยังไม่มี หรือตอบไปแล้ว ดิฉันลืมอ่าน แล้วผงปรุงรสมีผลเสียอย่างไรบ้างไหมคะ หมายถึงปริมาณที่แนะนำให้บริโภคคงไม่มีโทษ แต่ความจริง แม่ค้าขายอาหารน่าจะใส่ผงปรุงจำนวนมากกว่าปริมาณแนะนำเพื่อให้มีรสอร่อยมาก ถ้าผลิตมาจากเนื้อสัตว์ ใส่มากๆ ก็แค่เพิ่มต้นทุน และได้ความอร่อยเพิ่ม ไม่ได้รับส่วนปรุงรสที่เป็นอันตราย อย่างนี้ไหมคะวงษ์จันทร์ต้องขออภัยด้วยที่ไม่ได้ตอบคำถาม อย่าเพิ่งโกรธกันเสียก่อนนะคะ พอดีฉลาดซื้อเปลี่ยนแอดมินเพจเฟซบุ๊กและเว็ปไซต์เลยอาจจะมีอะไรผิดพลาดไปบ้าง  ผงชูรส หรือ โมโนโซเดียมกลูตาเมต (MSG) คือ วัตถุปรุงแต่งอาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น มันสำปะหลัง หรือ อ้อย นำมาผ่านกระบวนการทางเคมีเพื่อตกผลึกกลายเป็นผงชูรส มีคุณสมบัติทำให้อาหารมีรสชาติดีขึ้น หากใส่ในปริมาณที่พอดีจะให้รสอูมามิในอาหาร ส่วน ผงปรุงรส คือ การนำเอาเครื่องปรุงรสอาหารต่างๆ มาหมักรวมกับเนื้อสัตว์ นำไปต้มและอบแห้งทำให้เป็นผง ซึ่งผงปรุงรสเองอาจจะมีส่วนประกอบของผงชูรสหรือไม่มีเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของผงปรุงรส ต้องอ่านฉลากให้ดีค่ะ ผงปรุงรสมีผลเสีย ตรงที่มีปริมาณโซเดียมสูง ผู้ที่มีปัญหาภาวะความดันโลหิตสูง โรคไต ควรหลีกเลี่ยง หรือรับประทานให้น้อยลงค่ะ   ผลิตภัณฑ์ฉีดพ่นคอ พวกยาฉีดพ่นคอ ระงับอาการระคายเคือง ที่ทำให้ไอ กระแอม ตัวนี้พ่นบ่อยๆ จะมีอันตรายไหมคะ Kanokporn Vongpradit Mouth Spray ประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเคลมว่าเป็นสารสกัดจากธรรมชาติ ไม่น่าจะมีอันตราย อย่างไรก็ตาม หากพ่นบ่อยๆ โดยไม่ได้มีอาการระคายเคือง อาจเป็นการใช้ผลิตภัณฑ์เกินความจำเป็น และเสียเงินโดยใช้เหตุค่ะ เปลี่ยนมาเป็นจิบน้ำบ่อยๆ หรือใช้พวกยาอมหรือเม็ดอมสมุนไพร ก็ช่วยให้ชุ่มคอได้เช่นกัน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 กระแสต่างแดน

อย่าทิ้งกันง่ายๆหนุ่มสวิสวัย 33 ปี ถูกตัดสินจำคุกสองวันเพราะไม่ยอมจ่ายค่าปรับจากการฝ่าฝืนเทศบัญญัติ เดือนพฤศจิกายนปี 2517 สายสืบของเทศบาลเมืองบีล/เบียนน์ พบถุงขยะในวันที่ไม่อนุญาตให้ทิ้ง และถุงดังกล่าวไม่มีสติกเกอร์แสดงการเสียภาษี เมื่อตามหาเจ้าของถุงพบจึงเรียกมาจ่ายค่าปรับ 150 ฟรังก์ (ประมาณ 5,000 บาท) แต่เจ้าตัวไม่ยอมจ่าย เรื่องจึงยืดเยื้อมาจนมีคำตัดสินดังกล่าวสวิตเซอร์แลนด์แลนด์มีอัตราการสร้างขยะ 714 กิโลกรัม/คน/ปี สูงกว่าหลายประเทศในยุโรป รัฐบาลจึงเข้มงวดมาก ครัวเรือนต้องจัดเก็บขยะลงถุงที่รัฐกำหนด(ราคาถุงรวมค่าธรรมเนียม) หรือหากเป็นถุงทั่วไปก็จะต้องซื้อสติกเกอร์ภาษีมาติดแน่นอนว่ามีคนพยายามลักไก่ ปีที่แล้วมีคนถูกปรับ 209 คน โดนตักเตือน 600 คน (และมีไม่น้อยที่ขับรถข้ามชายแดนไปทิ้งขยะในฝรั่งเศส!) แต่ในภาพรวมสวิตเซอร์แลนด์แลนด์สามารถจัดการขยะได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ด้วยอัตราการรีไซเคิลสูงกว่าร้อยละ 50 เมดอินเจแปน? กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามสั่งปรับผู้ประกอบการ “ร้านร้อยเยน” โทษฐานไม่  แสดงข้อมูลบนฉลากให้ชัดเจนเรื่องสถานที่ผลิต แต่กลับโฆษณาให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าทางร้านขายของ  นำเข้าจากเกาหลีและญี่ปุ่น กระทรวงฯ สำรวจพบว่า ร้อยละ 99.3 ของสินค้าในร้าน Mumuso ผลิตมาจากประเทศจีน ส่วนบางเครือ เช่น Miniso หรือ Daiso มีการแสดงฉลากเป็นภาษาญี่ปุ่น จีน หรืออังกฤษ แต่ไม่มีภาษาเวียดนามแปลกำกับว่า “ผลิตในประเทศจีน”  ร้านสัญชาติญี่ปุ่นและเกาหลีเหล่านี้กำลังได้รับความนิยมมาก (นอกจากที่กล่าวมา ยังมี Minigood Yoyoso และ Ilahui) เพราะโดนใจลูกค้าทั้งราคาและดีไซน์ เมื่อมีข่าวนี้ออกมา คนเวียดนามซึ่งเชื่อมั่นในคุณภาพแบบญี่ปุ่นและเกาหลีจึงรู้สึกผิดหวังไม่น้อย บ้างว่าจะไม่อุดหนุนอีกแล้วเพราะรู้สึกถูกหลอก บ้างก็ว่าจะช้อปต่อไป แต่จะเลือกเฉพาะสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเท่านั้นใครๆ ก็เช็ดได้  “คลีเน็กซ์ แมนไซส์” เป็นทิชชูขายดีในอังกฤษมากว่า 60 ปี แต่วันนี้ผู้ผลิตตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเพราะเสียงเรียกร้องจากผู้บริโภค ทิชชูที่มีผู้ซื้อไม่ต่ำกว่า 3.4 ล้านคนต่อปีจะเปลี่ยนชื่อเป็น “คลีเน็กซ์ขนาดใหญ่พิเศษ” ทั้งนี้ผู้ผลิตไม่เชื่อว่าชื่อเดิมเป็นการเหยียดหรือแบ่งแยกเพศตามที่โดนกล่าวหา แต่ก็ยินดีจัดให้ คนอังกฤษเอือมกับการแบ่งแยกสินค้าตามเพศโดยไม่จำเป็น ที่ลุกลามจากมีดโกน ไปถึงปากกา หรือแม้กระทั่งขนมหวานองค์การมาตรฐานโฆษณาก็ประกาศว่าจะแบนโฆษณาที่สื่อไปในทางเหยียดเพศ เช่น โฆษณาที่นำเสนอว่าผู้ชายไม่รู้จักหยิบจับงานบ้าน หรือผู้หญิงต้องเป็นคนเก็บกวาด เมื่อสมาชิกครอบครัวทำเลอะ เป็นต้น  ทั้งนี้การสำรวจอิทธิพลของโฆษณาต่อผู้ชมพบว่ามันสามารถสร้างภาพจำในแง่ลบให้ผู้บริโภคได้จริง องค์กรสิทธิสตรีให้ความเห็นว่า การตลาดยุคนี้ควรทำอะไรได้มากกว่าการเสนอภาพเดิมๆ ซ้ำซาก ถึงคราวต้องคลีนมาแล้ว! ผลการสำรวจประจำปีเรื่องนโยบายส่งเสริมการงดใช้ยาปฏิชีวนะของเครือร้านเบอร์เกอร์ในอเมริกา 25 แบรนด์ เคยมีผลตอบรับที่ดีเรื่องเนื้อไก่มาแล้ว มาดูเนื้อวัวบ้าง แบรนด์เหล่านี้จะได้แต้มถ้ามี 1) นโยบายส่งเสริมการเลิกใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น 2) แนวทางที่จะทำให้เป็นไปตามนโยบาย และ 3) การลงมือทำจริงจาก 25 แบรนด์ มีเพียง 2 แบรนด์เท่านั้นที่ได้เกรด A (Shake Shack และ BurgerFi)  ตามมาห่างๆ ด้วย Wendy’s ที่ได้เกรด D-  ที่เหลือทั้งหมดรวมกลุ่มกันติด F (ในกลุ่มนี้มี McDonald’s  Burger King และ A&W อยู่ด้วย)ทั้งนี้การใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ (เช่น ใช้ “เร่งโต” หรือ “ป้องกันโรค”) เป็นอันตรายมาก  ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของอเมริการะบุว่า ในแต่ละปีสหรัฐฯ มีผู้เสียชีวิต 23,000 คนและผู้ป่วย 2,000,000 คน จากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาเต้าหู้ที่คุณคู่ควร สภาผู้บริโภคฮ่องกงแถลงผลการตรวจสอบปริมาณโปรตีน ไขมัน และแคลเซียมในเต้าหู้ 40  ตัวอย่าง (แบบแพ็กสำเร็จ 34 ตัวอย่าง และไม่แพ็ก 6 ตัวอย่าง)  ปริมาณโปรตีนเฉลี่ยในเต้าหู้ที่ฮ่องกงนำมาทดสอบอยู่ที่ร้อยละ 6.5 และมีเต้าหู้อย่างน้อยสามยี่ห้อมี ปริมาณโปรตีนต่างจากที่ระบุไว้เกินร้อยละ 20  ส่วนไขมันนั้น เต้าหู้เจ็ดยี่ห้อมีปริมาณไขมันต่างจากที่ระบุไว้ระหว่างร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 212  ในขณะที่พบแคลเซียมระหว่าง 16 - 420 มิลลิกรัมในเต้าหู้ที่นำมาทดสอบ สภาฯ ลงความเห็นว่าข้อมูลที่ไม่ตรงกับปริมาณจริง (ไม่ว่าจะมากหรือน้อยกว่าที่ตรวจพบ) อาจส่งผลให้ ผู้บริโภคเลือกรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะกับความต้องการของตนเองได้ว่าแล้วก็สั่งเก็บบางยี่ห้อออกจากร้านและส่งต่อบางยี่ห้อให้หน่วยงานด้านความปลอดภัยทางอาหารดำเนินการต่อไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 ร่าง พ.ร.บ.ยา ที่ขัดหลักสากล

ในโอกาส 40 ปี แห่งการก่อตั้งกลุ่มศึกษาปัญหายา(กศย.) ฉลาดซื้อได้สัมภาษณ์ รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์  หรืออาจารย์จิ ประธานกลุ่มศึกษาปัญหายา(กศย.) คนที่ 3 และรองประธานมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม ซึ่งครั้งหนึ่งเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน เคยถูกเรียกว่า “อาจารย์นอกคอก” อาจารย์จิเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง กศย. กลุ่มงานเล็กๆ ที่ร่วมปฏิบัติการทางสังคมในประเด็นปัญหายามาอย่างยาวนาน  ถึงมุมมองของท่าน ต่อร่าง พ.ร.บ.ยา ว่า เรื่องนี้จะมีผลกระทบกับผู้บริโภคอย่างไรบ้าง   ปัญหาของร่าง พ.ร.บ. ยาขณะนี้คือ “ คือประเด็นของร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับนี้นั้น จริงๆ มันไม่ได้เพิ่งเกิด ก็มีความพยายามมานานมาก เพราะว่าเป็น พ.ร.บ. ที่เก่ามาก ตั้งแต่ปี 2510 จนกระทั่งมาปี 2557 ในปีนั้นได้มีการพูดคุยเวทีมากมายในการที่จะพยายามสรุปประเด็นที่ภาคส่วนต่างๆ นั้นยอมรับได้ระดับหนึ่งของ พ.ร.บ. ยา  ต้องเข้าใจว่า พ.ร.บ.ยา นั้นเป็นเหมือนเครื่องมือในการควบคุมดูแล ไม่ว่าจะผลิตยา ขายยา นำเข้า และการใช้งาน เพราะฉะนั้นตรงนั้น ผู้บริโภคเองก็มีส่วน ผู้ประกอบวิชาชีพสาขาต่างๆ ก็อาจจะเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ผู้ประกอบวิชาชีพหลักของการดูแลตาม พ.ร.บ.นี้นั้นก็คือวิชาชีพเภสัชกรรม พอหลังจากปี 57 ได้ข้อสรุปในส่วนที่เห็นพ้องต้องกันแล้วว่า มีผลดีต่อการที่จะทำให้ผู้บริโภคนั้นจะได้รับยาอย่างปลอดภัยและมีการใช้อย่างปลอดภัยก็คือ ในเรื่องการของ กระบวนการขึ้นทะเบียนยา เราก็บอกว่า อย่างน้อยๆ เรามีปัญหาในการเข้าถึง เพราะราคามันแพงมาก เพราะฉะนั้นน่าที่จะใช้กลไกในเรื่องของมีการควบคุมราคาตั้งแต่ตอนที่เขาจะมาขายในประเทศเรา ก็คือมาขึ้นทะเบียน ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการเสนอโครงสร้างราคา หรือในรูปของการที่ต้องต่อรองราคาให้มันเหมาะสม ว่าคุณจะเริ่มมาขายในประเทศนี้นั้น คุณจะขายในราคาเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นตรงนั้นก็จะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการเข้าถึง ส่วนในกลไกในเรื่องของ ความปลอดภัยและความมั่นคงทางยา นั้นก็คือว่า เราจะเห็นเลยว่า ถ้าในเรื่องของราคาที่เมื่อกี้พูดถึงนั้น ถ้าสมมติปัจจุบันนี้ยามันมีสิทธิบัตร เขาจะตั้งราคาแพงมาก เพราะว่ามันไม่มีตัวเปรียบเทียบ มีการผูกขาดเจ้าเดียว เราถึงเรียกร้องว่า ต้องมีโครงสร้างราคาหรือมีกลไกการต่อรองเพื่อให้มันเหมาะสม เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ และก็ต่อมานั้นเราจะเห็นชัดว่าถ้าอย่างนี้ เราต้องพึ่งยานำเข้าอยู่ตลอดนี่มันก็จะเป็นปัญหาความมั่นคงของระบบยาในประเทศ เพราะฉะนั้นการที่ต้องทำให้อุตสาหกรรมในประเทศนั้นพึงตนเองได้ และสามารถที่จะพัฒนาในเรื่องของอุตสาหกรรมยาได้เพื่อสามารถที่จะผลิตยาชื่อสามัญออกมาในเวลาที่เหมาะสมหลังจากยาหมดอายุสิทธิบัตร ถูกไหม เพราะฉะนั้นเขา(บริษัทยาในประเทศ) ต้องมีการเตรียมตัวไง เพราะว่าในการทำยาชื่อสามัญนั้นไม่ได้หมายความว่าพอหมดสิทธิบัตรปั๊บ รู้ว่าหมดปั๊บจะเอามาขายได้เลย เพราะมันต้องมีกระบวนการในการวิจัยพัฒนา มีกระบวนการในการมาขึ้นทะเบียนยา ถ้าเขารู้ข้อมูลว่า ยาแต่ละตัวที่มาขายในประเทศไทยนั้น มีสิทธิบัตรหรือเปล่า ในประเทศไทย สิทธิบัตรนั้นมันจะหมดอายุเมื่อไหร่ คือว่าเราต้องการที่จะให้มีการแจ้งบอกข้อมูลสถานะสิทธิบัตรของยา เพราะยาบางตัวอาจมีสิทธิบัตรหลายใบ สิทธิบัตรแต่ละใบมันมีเวลาไม่เท่ากันเวลาที่มันไม่เท่ากัน คือเวลาที่มันต่างกัน เพราะเวลาที่มาขอในช่วงต่างกัน แม้ว่าเป็น 20 ปีนับจากวันยื่นคำขอ นึกออกไหม แต่ถามว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลจำเป็นไหม ลองคิดดูสมมติว่าตามหลักการทั่วไปก็คือเวลาที่เขามาจดสิทธิบัตรที่กระทรวงพาณิชย์มันต้องมีข้อมูลฐานข้อมูลสิทธิบัตรในประเทศ แต่ข้อมูลฐานข้อมูลสิทธิบัตรในประเทศไทยนั้นมันบกพร่องมาก มันไม่สามารถที่จะค้นได้ มันไม่ได้สามารถหาได้ เพราะฉะนั้นมีหลายๆ ประเทศเลย เขามีกลไกที่ชัดเจนของกระบวนการในการขึ้นทะเบียนยาว่า คุณต้องให้ข้อมูลสิทธิบัตรนี้ ถ้าคุณให้ข้อมูลนี้มันก็เป็นโอกาสของอุตสาหกรรมด้วย เพราะอุตสาหกรรมนั้นเขาก็สามารถที่จะรู้ว่า มียาตัวนี้นะ มันจะหมดสิทธิบัตรในอีก 5 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องเริ่มวิจัยแล้ว พอวิจัยเสร็จเขาก็ต้องเริ่มกระบวนการที่จะไปขอขึ้นทะเบียนตำรับยา เพราะฉะนั้นพอยาหมดสิทธิบัตรปั๊บเขาก็ออกตลาดได้ในเวลาที่ไม่ช้า พอมียาชื่อสามัญออกราคามันก็ไม่ผูกขาดแล้ว มันก็มีการลดราคากัน และถ้ามีการแข่งขันกัน กลไกตลาดมันก็จะได้ทำงาน ในที่ประชุมตอนปี 57 นั้น เขาตกลงกันชัดเจนว่าต้องแจ้งข้อมูลสิทธิบัตร สิทธิบัตรต้องมีข้อมูลเรื่องโครงสร้างราคายา แต่ปรากฏว่าฉบับร่างปัจจุบัน ที่เขาเอามารับฟังความเห็นล่าสุดเลย ที่ขึ้นในเว็บไซต์ของ law moment ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐทั้งหลายที่จะเสนอกฎหมาย ปรากฏว่าเราไม่เห็นเรื่องโครงสร้างราคา เรื่องนี้ถูกเอาออก ทำไมถึงเอาออกไป ที่เคยตกลงตอนปี 57 พอมีเปลี่ยนรัฐบาล มันมีเรื่องการเมือง กฎหมายมันก็เลยยังไม่ได้นำเสนอข้อนั้น ข้อดีๆ ข้อหนึ่งที่ผู้บริโภคควรได้กลับไม่ได้เสียแล้ว มันหายไป ประเด็นที่สองก็คือว่า ตอนนั้นตกลงกันว่าอายุทะเบียนยานั้นจะเป็น 5 ปี เพราะว่าของเดิมนั้นมันไม่มีอายุ มันไม่มีอายุมันแย่มาก ถูกไหม เพราะว่ายาที่ไม่ดี ยาเก่า ยาที่มันมีผลข้างเคียงเยอะแยะมันก็ไม่ออกจากตลาดสักที การที่มันไม่ออกจากตลาดนั้นเป็นเพราะเราไม่มีกลไก หรือว่ากลไกเรานี้มันทำงานไม่ดี กลไกที่ว่ามันคือ กลไกการทบทวนตำรับยากับในเรื่องของอายุทะเบียน คือสองอันนี้เชื่อมโยงกัน คือถ้ามันมีอายุทะเบียนตำรับยามันก็จะทำให้เกิดการทบทวนทะเบียนตำรับ และถ้าเขียนให้ชัดว่าต้องมีกระบวนการในการทบทวนทะเบียนตำรับ มันก็เป็นการบังคับให้การมีอายุหรือใกล้หมดอายุนั้น ก่อนให้ใบอนุญาตใหม่ต้องทบทวน ไม่ใช่ให้โดยอัตโนมัติ เพราะว่าถ้าเราไม่มีกลไกการทบทวน พอถึงหมดอายุ 5 ปี มาเสียเงินต่อละ มันก็ต่อได้ เพราะฉะนั้นตรงนั้นไม่เห็น มันหายไป ไม่เห็นชัดเจน และที่เคยคุยกันแค่ 5 ปีพอ มาเป็น 7 ปี ขยายเป็น 7 ปี ซึ่งอาจจะอ้างว่า เป็นเพราะอาจทำให้เกิดภาระงานหรืออะไร ซึ่งอันนี้ก็ไม่ได้เป็นประเด็นที่เป็นหลัก 5 หรือ 7 ปี ก็ขอให้มีทบทวนก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรเลย อันนี้คือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคที่ชัดเจน  ผลกระทบกับผู้บริโภคที่มีแน่ๆ คือเรื่องการโฆษณายาใช่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คิดว่ากระทบมากต่อผู้บริโภค คือ เราจะเห็นว่าตอนนี้ ผู้บริโภคถูกหลอกจากการโฆษณาการส่งเสริมการขายยานี่เยอะมาก แม้ว่ายาเองจะบอกว่า ยาเองมันมีประเภทของมัน ถ้าเป็นยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษจะโฆษณาไม่ได้ แต่เราก็เห็นเขาทำกัน มีทั้งการเลี่ยง การส่งเสริมการขายด้วยวิธีการต่างๆ ปรากฏว่าในร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ก็เขียนว่าต่อไปการโฆษณา ซึ่งเดิม ต้องยอมรับว่าของเดิมมันดีอยู่แล้ว ที่ว่าการโฆษณานั้นต้องมาขออนุญาต กฎหมายใหม่เขาก็เปิดช่องว่า ขออนุญาตก็ได้หรือจดแจ้งก็ได้ จดแจ้งหมายถึงว่าไม่ต้องขออนุญาต คุณเพียงบอกว่า คุณจะโฆษณาข้อความแบบนี้แล้วคุณก็ไปโฆษณาได้เลย แล้วเขาค่อยไปตามหาจับ ถ้าสมมติว่าผิด กว่าจะจัดการปัญหาการโฆษณาได้ โอ้ย..ชาวบ้านติดไปตั้งเยอะแล้ว มันฝังในความคิดผู้บริโภคไปแล้ว เพราะฉะนั้นมันไม่มีประโยชน์ มันทำให้กระบวนการที่ดูแลตรงนี้มันลดลง เพราะฉะนั้นนี่คือหัวใจหลักๆ เลย 3-4 ข้อที่มันมีผลต่อผู้บริโภคมาก อย่างอื่นๆ นั้น ก็คือในเรื่องของหลักการทั่วไป ในเรื่องของยานั้น ยามันไม่ใช่สินค้าทั่วไป ยานั้นมันเกิดจากการที่หมอต้องสั่งจ่ายยาให้เรา แต่ว่าถ้าเราไม่มีกลไกในการถ่วงดุล หมออาจจะสั่งยาที่อาจจะมีผลเนื่องมาจากการส่งเสริมการขาย อาจจะมีผลเนื่องมาจากอะไรไม่รู้ ก็สั่งยาโดยที่ว่ามันอาจจะมีปัญหา ไม่ว่าเรื่องของราคาแพง หรือมันอาจจะเกิดปัญหาในเรื่องของยาตีกัน หรือปัญหาที่คนไข้อาจจะแพ้แล้วไม่ได้บอกหรืออะไรก็ตามเหล่านี้ เพราะฉะนั้นโดยหลักสากลเลยเขาถึงมีวิชาชีพเภสัชกรรมขึ้นมา มีเภสัชที่คอยดูแลเพราะมันคือการทำงานในการถ่วงดุลกัน คนหนึ่งเขียนใบสั่ง อีกคนหนึ่งนั้นเมื่อรับใบสั่งมาก็เป็นคนจ่ายจัดยารับผิดชอบในเรื่องยา เพราะฉะนั้น คนจ่ายก็ต้องดูว่าคนไข้เคยได้รับยาอะไรมาแล้วบ้าง ถ้าได้ยานี้นั้นจะมีปัญหายาตีกันไหม หรือมีปัญหากับอาหารการกินจะได้แนะนำคนไข้ได้ ถูกไหมคะ เพราะหมอเขามีความชำนาญในของเรื่องการวินิจฉัยการรักษา เภสัชนั้นชำนาญในเรื่องของยา และเราจะเห็นเลยว่าเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันเร็วมาก ยาก็ออกมาใหม่ๆ เร็วมาก เพราะฉะนั้นแค่ตามเรื่องยาก็จะไม่ทันเทคโนโลยีแล้ว ให้หมอตามทำทุกอย่างเบ็ดเสร็จในตัวเองนั้นมันก็จะมีปัญหาได้ เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.ยาในทุกประเทศนั้น เขาก็จะมีหลักการที่ชัดเจนของการแยกอำนาจในการดูแลว่าคนที่สั่งนั้นก็จะไม่จ่าย นึกออกไหม คนที่สั่งจะไม่จ่าย มันชัดเจน ประเด็นของร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับนี้ หลักการเรื่องถ่วงดุลนี้ไม่เห็น ไม่เห็นเพราะอะไร เพราะเขาแบ่งยาเป็น 4 ประเภท ประเภทแรกนั้นก็คือยาควบคุมพิเศษ คือยาควบคุมใบสั่ง เป็นยาที่มันอาจจะมีผลอย่างที่เมื่อกี้อาจารย์เล่า ยาตีกันบ้าง ยาที่มันอาจจะเพิ่งใช้ใหม่ๆ มันยังไม่มีข้อมูลมากพอ มันจำเป็นต้องควบคุมการใช้อย่างเคร่งครัด อันนี้ก็คือยาที่หมอสั่งแล้วก็ให้เภสัชนั้นจ่ายตามใบสั่งยา ประเภทที่สองคือยาอันตราย ยาอันตรายนั้น คือยาที่มันไม่ได้อันตรายเท่ายาควบคุมพิเศษ เป็นยาที่ใช้มานานพอควรระดับหนึ่ง มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ให้เภสัชจ่ายได้โดยไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งแพทย์ กับประเภทที่สามคือ ยาสามัญ เป็นยาทั่วไปที่มันใช้มานานค่อนข้างปลอดภัยแล้ว ชาวบ้านก็ซื้อใช้เองได้ รู้พอควร และก็มีขนาดของรูปแบบของยาที่ชัดเจน เช่น พาราเซตามอลก็เป็นแพ็คแค่ 10 เม็ด ไม่ใช่ให้ขายทั้งขวด ถ้าทั้งขวดก็ต้องเป็นยาอันตราย ถูกไหมคะ เพราะไม่งั้นคนไข้ก็เอาไปกรอกทีละ 50 เม็ด มันก็เป็นอันตราย คือยาทุกตัวก็เป็นยาอันตราย แต่ว่ารูปแบบของการที่จะทำให้เป็นยาสามัญที่คนไข้เข้าถึงได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งบุคลากรสาธารณสุขนั้น มันมีวิธีการจัดการได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของแพ็คจะเป็นยังไง(เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้เกินขนาด) หรือว่าคำแนะนำเหล่านี้มันก็จะประกอบอยู่ในกลุ่มของยาสามัญ แต่ใน ร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับนี้มียาประเภทที่สี่ คือ ยาที่ไม่ใช่ยาควบคุมพิเศษ ไม่ใช่ยาอันตราย แต่ไม่รู้ยาอะไร ซึ่งประเภทนี้ไปเปิดให้บุคลากรอื่นๆ สามารถจ่ายยาได้ แปลว่าอะไร จะให้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เยอะอีกหนึ่งกลุ่ม เพื่อให้บุคลากรอีกเยอะแยะเลย ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการแพทย์อีกตั้งหลายสาขาเยอะแยะ พยาบาลก็มีเยอะแยะในการจ่าย ซึ่งมันก็จะไม่ถูกมันไม่ได้ใช้หลักการของการที่จะดูแลความปลอดภัยของผู้ใช้ยาให้มีการถ่วงดุลของอำนาจในการที่จะทำให้ผู้บริโภคปลอดภัย ไม่มี เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมกลุ่มเภสัชทั้งหลายรวมทั้งสถาบันการศึกษาทั้งหลายถึงจะออกมาคัดค้าน แล้วถ้าจำเป็น คือหลายคนก็บอกว่าบ้านเรานี่แบ่งให้มันชัดแบบนี้ หมอนี่จ่ายยานั้นไม่ได้ จะไปหาเภสัชอยู่ในคลินิกได้ทุกคลินิกหรือเปล่า จะอะไรหรือเปล่า อันนี้มันเป็นข้อยกเว้นว่า โอเค สถานการณ์ในบางสถานการณ์นั้นในบริบทของยาบางประเภท ถ้ายังไม่พร้อมคุณก็มาเขียนระบุไปสิว่าให้มีการยกเว้น แต่หลักนี้มันต้องยึดหลักไว้ก่อนแล้วมายกเว้น การยกเว้นต้องมีเงื่อนไข นึกออกไหม ยกเว้นให้หมอจ่ายยานั้น หรือให้จ่ายยาได้ในกรณี... ไม่ใช่เฉพาะสั่งเท่านั้น เช่น จ่ายยาได้ในกรณีที่ถ้าพื้นที่นั้นไม่มีร้านขายในอาณาเขตสักกี่กิโลก็ว่าไป อะไรก็ว่าไป มันก็จะเป็นข้อยกเว้น ถ้าสมมุติเงื่อนไขนั้นมันหมดไปมันเข้าสู่ระบบ โอเค มันก็มีใบสั่งไปที่ร้านยา ไม่งั้นใบสั่งมันก็ไม่ไป ฉะนั้นต้องมีใบสั่ง ต้องให้เภสัชอยู่ประจำ แล้วคุณไม่มีใบสั่งไป คือไม่รู้ว่าอะไรแก้ปัญหาอะไร เพราะว่าหลักของมันไม่ชัดเจนเท่านั้นแหละ อันนี้คือประเด็น  ดูเหมือนมีปัญหาพัวพันกันไปเรื่อยๆ ใช่ มันก็พัวพันกันไปเรื่อยๆ เพราะมันไม่มีใบสั่งยา ยาขายง่าย ใช้คล่อง ก็อย่างนี้แหละ เพราะว่ามันไม่ยึดหลักไง ถ้ายึดหลักแล้วค่อยๆ แก้ปัญหาของการขาดแคลน พอแก้ปัญหา โอเค พื้นที่นี้ไม่มีร้านยาเพราะมันอยู่ไกลกันมาก ร้านยายังไม่ไปเปิดหรอก โอเคก็เป็นข้อยกเว้นไป ในคลินิกเอกชนคุณจะไม่มีเภสัชไปอยู่ หรือจ่ายโดยหมอคนเดียวก็โอเครับสภาพไป แต่ถ้ามันมีร้านยาคุณจะมาขายเองสั่งเองอย่างนี้ทำไม แล้วก็ไม่รู้ว่าจะไปชาร์ตค่ายาแพงมากขึ้นไปอีกไหม เหมือนโรงพยาบาลเอกชนทั้งหลาย มันไม่รู้เลยว่าเป็นค่ารักษาหรือค่ายา  จากการทักท้วงของหลายฝ่าย ล่าสุดคือพอมีเสียงค้านออกมาเยอะ อย. ซึ่งเป็นผู้ที่รับผิดชอบในกฎหมายนี้เขาก็นัดประชุม นัดประชุมในเรื่องของวิชาชีพเภสัช และก็กับคณะเภสัชศาสตร์ต่างๆ  และก็ผู้คัดค้านทั้งหลาย สรุปว่าจะมีการแก้ในประเด็นว่ากลุ่มยาเขาจะเหลือแค่ 3 กลุ่ม คือ ยาควบคุมพิเศษ ยาอันตรายและยาสามัญ            ก็เป็นข้อที่ดีขึ้น แต่ยังไม่รับปากเรื่องโครงสร้างราคา ไม่พูดถึงเรื่องการแก้โครงสร้างราคา เรื่องของการโฆษณาเอาจดแจ้งออก ทาง อย. ยอมแก้ ประเด็นที่สองอันนั้นยอมแก้ เรื่องของข้อยกเว้น ก็ไม่ใช่เป็นข้อยกเว้น เป็นสิ่งที่ทำได้ตามกฎหมายเลย แล้วไม่มีเงื่อนไขว่าจะเมื่อไหร่ นึกออกไหมว่าจะให้หมอ ให้ทันตแพทย์ สัตวแพทย์  ที่สามารถจ่ายยาได้โดยที่ไม่มีเงื่อนไขเลย พวกนี้จ่ายยาได้โดยไม่มีข้อบังคับอะไร แต่เรื่องที่จะเปิดให้วิชาชีพอื่นๆ นี้จ่ายยาได้นั้นถูกตัดออก เพราะยาประเภทสี่มันถูกตัดออกไปแล้ว  สามหรือสี่จำไม่ได้ มี แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ 3 แพทย์ เป็นข้อยกเว้นได้ แต่ว่าพยาบาลไม่ได้ แต่ว่ามันไม่มีเงื่อนไข ถ้าสมมุติเรายึดหลักถ่วงดุลมันต้องมีเงื่อนไขว่าจ่ายได้กรณีไหนได้บ้าง นี่มันจ่ายได้ตลอดในคลินิกของตัวเอง เพราะฉะนั้นมันก็ยากที่จะแก้ปัญหา  คนทั่วไปเขาจะมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง เรากังวลก็คือเมื่อเกิดความไม่รอบคอบในกระบวนการทำกฎหมาย มันก็จะเป็นกฎหมายไม่ดีออกมา แม้ว่ามันจะมีข้อดีกว่าฉบับที่แล้ว แต่ว่ามันก็ยังไม่ได้แก้ในหลักการใหญ่ๆ หรือว่ามันก็ไม่ได้รองรับสถานการณ์ปัจจุบันที่เรามีการขายยาออนไลน์ มันจะมีกติกายังไงในการที่จะไม่ให้มีการขายออนไลน์หรือให้ขายออนไลน์แล้วผู้บริโภคปลอดภัย ถูกไหม มันไม่มีเรื่องเหล่านี้ เพราะฉะนั้นมันก็เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคเองก็ต้องตาม และพยายามที่จะรักษาสิทธิของตัวเองในการที่จะรัฐเองต้องให้ความคุ้มครองปลอดภัยของเขา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 ปลอมยาผีบอก

กรณีร้องเรียนนี้ ส่งมาจากเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นเรื่องราวน่าสนใจที่เกี่ยวพันกับความเชื่อของคนเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับสูตรยาผีบอก หรือยาพื้นบ้าน ซึ่งผู้บริโภคสูงวัยมีแนวโน้มที่จะถูกหลอกได้โดยง่าย ดังเช่นผู้ร้องรายนี้คุณยายวัย 70 ปี ท่านหนึ่งถือซองยาผีบอกมาสอบถามเภสัชกรชุมชนขณะออกเยี่ยมบ้าน เนื่องจากคุณยายสังเกตเห็นความผิดปกติบางอย่างบนซองยา ซองแรกที่ซื้อมากินชื่อว่า ยาผงจินดามณี (ยาผีบอก) มีเลขทะเบียน อย 5120033820060 แต่ยาซองที่สองที่ซื้อมากิน ฉลากยาหน้าตาเปลี่ยนไป ชื่อว่ายาผงจินดามณี (ยาผีบอก) ทะเบียนยาเลขที่ G 185/48 และซองที่สามเพิ่งซื้อมาล่าสุด ฉลากยาก็มีหน้าตาเปลี่ยนไปจากเดิมอีก ชื่อว่ายาผงจินดามณี (สมุนไพรสูตรโบราณ) ทะเบียนยาเลขที่ G 185/48 จากการสอบถามพบว่า คุณยายเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าไปแล้ว 1 ข้าง เมื่อหลายปีก่อน ตอนนี้อีกข้างหนึ่งเริ่มมีอาการปวด ลูกหลานเห็นว่าอายุมาก ไม่อยากให้ผ่าตัด เพราะกลัวว่าจะกลับมาเดินไม่ได้อย่างเดิม ก็เลยไปหาซื้อยาโบราณมาให้กินตามความเชื่อ เมื่อกินแล้วหายปวดก็เริ่มติดใจ ไม่ยอมไปหาหมอที่โรงพยาบาล เคยมี อสม.มาวัดความดันให้ก็ไม่พบความผิดปกติ แถมช่วงนี้หน้าตาดูอิ่มเอิบ มีน้ำมีนวล ก็ยิ่งเชื่อมั่นในความวิเศษของยาที่ตัวเองใช้  ญาติพี่น้องคนไหนเจ็บป่วย ปวดเมื่อยก็แนะนำบอกต่อกันไป ยิ่งเมื่อรู้ว่าหาซื้อได้ที่วัดก็ยิ่งเกิดศรัทธา บางรายสั่งซื้อยากับหลวงพ่อขณะที่รอใส่บาตรยามเช้าก็มี   เรื่องนี้ต้องชื่นชมเภสัชกรชุมชนคนเก่ง ที่ทำงานเกาะติดในพื้นที่ได้ดีเยี่ยมมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเฝ้าระวังเรื่องยา ในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง สามารถไขข้อข้องใจคุณยายได้อย่างจัดเจน ตั้งแต่รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ไม่น่าเชื่อถือมีการเปลี่ยนฉลากไปเรื่อยๆ (ปลอมตัวเอง) เวลาถูกตรวจสอบก็มักจะอ้างว่าฉลากแบบนี้ของปลอม ฉลากแบบนี้ของจริง มีการ ใช้เลข อย ปลอม หรือใช้เลขทะเบียนยาปลอมเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ อย่างกรณีนี้พบว่าเป็นเลข อย ของขนมขบเคี้ยว (ยา ยาแผนโบราณ จะไม่มีการใช้เลข อย.) และเป็นทะเบียนยาน้ำแผนโบราณที่เคยมีปัญหาว่าตรวจพบสเตียรอยด์ ซึ่งเคยระบาดในพื้นที่เมื่อหลายปีก่อน แถมคุณยายก็เคยใช้ยาน้ำสมุนไพรดังกล่าวด้วยเช่นกัน พอเห็นรูปขวดยาถึงกับร้องอ๋อเลยทีเดียว เรื่องนี้ก็เลยจบลงไม่ยาก คุณยายยอมเลิกใช้ยาแต่โดยดี เบื้องต้นพบว่าคุณยายเริ่มมีอาการของการใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันมาต่อเนื่อง เช่น หน้าบวมกลม มีหนอกที่ต้นคอ ความดันต่ำ จึงได้ส่งตัวคุณยายเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ส่วนการแก้ไขปัญหายาในชุมชนก็ใช้วิธีประชาคมหมู่บ้าน ให้ความรู้ แนะนำ บอกต่อ และเยี่ยมบ้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อรวบรวมข้อมูลแหล่งจำหน่ายยา เส้นการกระจายยาส่งต่อให้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการต่อไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 การตกค้างของยาปฏิชีวนะในอกไก่และตับไก่สด

ปัญหาเชื้อดื้อยาในระบบอาหารของโลก โยงไปถึงปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความห่วงใย มีงานศึกษาวิจัย ลักษณะต่างๆ  เกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งการประกาศนโยบาย ยุทธศาสตร์ ในระดับต่าง ๆ ทั้งระดับนานาชาติและระดับประเทศ ในเรื่องอาหาร และการตกค้างยาปฏิชีวนะ เกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคในอย่างน้อยสามประเด็น เรื่องข้อมูลในการเลือกหา  เรื่องความปลอดภัย และเรื่องบริโภคศึกษา ดังนั้นการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการประกันความปลอดภัย ด้วยการเฝ้าระวัง ตรวจตรา และกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเพื่อการตัดสินใจเลือกหาและใช้สินค้า จึงเป็นเรื่องสำคัญมากฉลาดซื้อ และโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างอกไก่และตับไก่สด เพื่อตรวจสอบสถานการณ์การปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์อีกครั้ง (ปี 2559ตรวจในฟาสต์ฟู้ด 2560 ตรวจในเนื้อหมูดิบ) โดยความร่วมมือจากเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ออกสุ่มเก็บตัวอย่างจากห้างสรรพสินค้า ตลาดสด และห้างออนไลน์ ระหว่างวันที่ 9 - 15 มิถุนายน 2561 จำนวนทั้งสิ้น 62 ตัวอย่าง แบ่งเป็นอกไก่สด จำนวน 32 ตัวอย่าง และตับไก่สด จำนวน 30 ตัวอย่าง นำมาตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด จาก 3 กลุ่ม ดังนี้ผลการตรวจวิเคราะห์ ผลการตรวจวิเคราะห์การตกค้างของยาปฏิชีวนะทั้ง 3 ชนิด (ใน 3 กลุ่ม) จากตัวอย่างทั้งหมด 62 ตัวอย่าง พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 26 ตัวอย่าง (คิดเป็นร้อยละ 41.93) แบ่งเป็นกลุ่มที่ 1 คือ Enrofloxacin หรือ Endrofloxacin (เอนโรฟลอคซาซิน) 5 ตัวอย่าง และ Doxycycline (ด็อกซีไซคลิน) 21 ตัวอย่าง โดยตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะกลุ่มที่ 3 ชนิด Amoxicillin (อะม็อกซีซิลลิน) ส่วนอีก 36 ตัวอย่าง นั้น ตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะทั้งสามกลุ่ม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้างตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง เพื่อใช้ควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดให้พบปริมาณการตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit, MRL) ของยาในกลุ่ม Tetracycline (เตตราไซคลีน) ในสัตว์ปีก เช่น นก ไก่ ไก่งวง เป็ด ห่าน ไก่ต๊อก ในส่วนของกล้ามเนื้อ ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม และ ในส่วนของตับไม่เกิน 600 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมจากผลตรวจวิเคราะห์พบ ยาเอนโรฟลอคซาซิน (Enrolfloxacin) จำนวน  5 ตัวอย่าง ซึ่งไม่ได้เป็นรายการยาในบัญชีแนบท้ายประกาศ ซึ่ง อย. อนุญาตให้ใช้ยานี้ได้ แต่ต้องไม่พบการตกค้างเลย โดยมีความผิดตามมาตรา 60 ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 โทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท  และพบว่า ไม่มีตัวอย่างใดที่พบปริมาณยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Tetracycline (เตตราไซคลีน) เกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่ประกาศกำหนด ข้อเสนอเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 5 ข้อ 1. ผู้บริโภคไม่ต้องการอาหารที่มีการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ เพราะการเกิดเชื้อดื้อยาเกิดได้ทั้งปริมาณการตกค้างทั้งน้อยและมาก 2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ต้องปรับปรุงมาตรฐานการตกค้างให้ยอมรับได้น้อยที่สุด 3. กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องบังคับใช้แผนปฏิบัติการในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์ม 4. สำนักงานงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมปศุสัตว์ จะต้องเข้มงวด และติดตามการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ให้ตกค้างเกินมาตรฐานที่กำหนด รวมถึงเปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ สม่ำเสมอ @page { margin: 0.79in } p { margin-bottom: 0.1in; line-height: 120% } 5. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการจัดการเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ และร้านค้าต่างๆ ควรตรวจสอบที่มาของอาหารก่อนนำเข้ามาจำหน่าย อีกทั้งในส่วนของร้านค้าในตลาด ทาง มพบ. จะทำหนังสือไปถึงสมาคมตลาดสดไทยเพื่อให้ตรวจสอบและเฝ้าระวังด้วย--------------------------------------------------------------------------------------------------------------ยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อไก่ ผู้บริโภคมีสิทธิรู้ ผู้บังคับใช้กฎหมายต้อง จริงจังและจริงใจโดย นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกไก่ทั่วโลก เป็นลำดับสี่ ในห้าประเทศ นอกจากนี้มี บราซิล สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน เมื่อกลับมาดูสถานการณ์ในประเทศ ก็น่าสนใจว่า สิทธิผู้บริโภคมีการปกป้องเพียงใดผลการสำรวจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำหรับปี พ.ศ. 2561 นี้ พบยาปฏิชีวนะตกค้างในไก่สดและตับ (โดยตรวจยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด คือ Enrolfloxacin, Doxycycline, Amoxycillin ) พบยาปฏิชีวนะ 2 ชนิดแรก  แม้ปริมาณที่ตรวจพบจะไม่เกินปริมาณที่กำหนดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550   เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง มีการระบุขนาดต่าง ๆ ของยาปฏิชีวนะที่ยอมรับให้มีในไก่ หรือสัตว์ปีกจำนวน 16 รายการ เช่น Oxytetracycline มีได้ในเนื้อไก่ไม่เกิน200 ug/kg ในตับไม่เกิน 600 ug/kg แต่จากผลการศึกษาของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลับพบมีการใช้ยานอกเหนือจากรายการที่ระบุประกาศ เช่น Enrolfloxacin มีข้อน่าสังเกต จากผลการสำรวจดังกล่าว ที่ควรได้วิเคราะห์ และทบทวนไปสู่ข้อเสนอต่อไป1. การสำรวจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ของการตกค้างยาปฏิชีวนะ เป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรผู้บริโภคในเรื่องการตรวจสอบ และสะท้อนการจัดการ  รวมครั้งนี้มี 3 ครั้ง  (1) ตัวอย่างอาหารฟาสต์ฟู้ดสำเร็จรูป จากร้านอาหารชนิดมีสาขามาก (ฉลาดซื้อ ตุลาคม 2559) (2) ตัวอย่างเนื้อหมูสด (ฉลาดซื้อ มีนาคม 2560) และ ในครั้งนี้ สำรวจในตัวอย่างเนื้อไก่สดและตับ (รวม 62 ตัวอย่าง)  ผลคือพบการตกค้างยาปฏิชีวนะจำนวน 26 ตัวอย่าง (41.98%) แม้จะไม่เกินปริมาณที่กำหนด แต่แสดงว่ามีการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในวงจรอาหาร เป็นไปได้ว่ามีการใช้ในฟาร์ม ในการเลี้ยงไก่ (ผสมอาหาร ผสมน้ำ เป็นยาฉีด) และอาจรวมถึงการปนเปื้อนในวงจรอาหารส่วนที่เหลือ เช่น โรงเชือด การชำแหละ หรือตลาด   2. รายการยาที่ทำการตรวจครั้งนี้มี จำนวน 3 รายการ ยังพบว่ามียาที่อยู่นอกเหนือจากรายการยาที่ประกาศขนาดที่ยินยอมให้มีตกค้าง อาจเป็นไปได้ว่ามีการลักลอบใช้โดยไม่อนุญาต หรือกระทรวงได้มีการประกาศรายการเพิ่มเติมอีก แต่ยังไม่เห็น และพบว่ามีการอ้างอิงประกาศฉบับนี้ในการแถลงข่าวของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปี พ.ศ. 2560 3. การสำรวจครั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไม่ได้ตรวจหา colistin เป็นที่น่าเสียดาย เพราะมีงานวิจัย พบว่ามีการใช้ ยาตัวนี้ในการเลี้ยงไก่ในประเทศไทยด้วย (อ้างอิง1)  โดยรายการยาปฏิชีวนะที่พบใช้ในฟาร์มไก่ คือ  amoxicillin, colistin, oxytetracycline, doxycycline และ  tilmicosin.  การศึกษาที่เชียงใหม่(อ้างอิง2)   พบใช้ Enrolfloxacin และ Sulfadimethoxin ในฟาร์มไก่ไข่ ส่วนในต่างประเทศ มีงานวิจัยระบุการตกค้างยาปฏิชีวนะหลายชนิดในเนื้อไก่ในบังคลาเทศ(อ้างอิง3)   ส่วนในเวียดนาม(อ้างอิง4)   ได้ศึกษาทั้งชนิดยา และยีนการดื้อยาด้วย4. งานศึกษานี้ยังไม่มีการสำรวจ เรื่องการตกค้างของเชื้อดื้อยา ซึ่งมีงานวิจัยในไทย เมื่อ พ.ศ. 2555(อ้างอิง5)   สำรวจเนื้อไก่ในซูเปอร์มาร์เก็ต พบมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน มียีนเชื้อดื้อยาจากเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายชนิด และต่อมามีงานวิจัยมากมายที่ศึกษายีนดื้อยาชนิดต่าง ๆ รวมทั้งชนิดรุนแรง (เช่น MCR-1) จากเนื้อไก่ ในประเทศจีน(อ้างอิง6-7)  -   เนเธอร์แลนด์(อ้างอิง8)    สิงคโปร์(อ้างอิง9)    เป็นต้น5. ภาครัฐควรได้ทำการเฝ้าระวังตรวจการตกค้างของยาปฏิชีวนะในฟาร์ม โรงเชือด ไก่สด หรือในอาหารสำเร็จรูปและแจ้งผลการสำรวจให้ประชาชนทราบอย่างกว้างขวาง และกระทำอย่างสม่ำเสมอ แต่ผลการค้นหาทางอินเตอร์เน็ต พบว่ารายงานจากภาครัฐถึงการ ให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลให้ค้นคว้าได้ง่าย ๆ มีไม่มากนัก ล่าสุดที่ค้นหาได้จาก ทางอินเตอร์เน็ต คือ ผลการรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีพ.ศ. 2560 (อ้างอิง10)    ไม่มีรายละเอียดมากนัก มีเพียงระบุว่าจากการสุ่ม 105 ตัวอย่าง ใน 12 จังหวัด ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ไม่พบการตกค้างของยาต้านจุลชีพตกค้างในเนื้อไก่และเนื้อวัวทุกตัวอย่าง แต่ตรวจพบการตกค้างของยาต้านจุลชีพเกินมาตรฐานเพียง 1 ตัวอย่าง ในเนื้อหมู ซึ่งผลการสำรวจในไก่นั้น ไม่สอดคล้องกับผลที่ทางมูลนิธิ ตรวจพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะในตัวอย่างถึงเกือบครึ่ง6. เป็นประเด็นคำถาม ว่าควรอนุญาตให้มียาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อสัตว์ที่นำมาทำเป็นอาหารหรือไม่ ในมุมมองผู้บริโภค ย่อมไม่ต้องการให้มีการตกค้าง แต่ระบบควบคุมจะจัดการได้อย่างไร แม้จะมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (อ้างอิง11)   ห้ามใช้ยาต้านจุลชีพทุกชนิดผสมลงในอาหารสัตว์ในวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการเจริญเติบโตหรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อาหารสัตว์. โดยยังอนุญาตให้ใช้เพื่อป้องกัน และรักษาอาการป่วย (ใช่หรือไม่) แต่ผลการติดตามการบังคับใช้ให้เป็นไปตามกติกานั้นคงต้องมีความเข้มงวด ต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับการนำเข้าสารเคมีจนถึงการใช้ในฟาร์ม และติดตามการตกค้างในอาหารสดที่ตลาด พร้อมการดำเนินการจัดการตามหน้าที่ เพื่อนำมาเปิดเผยให้ผู้บริโภคได้ทราบ อย่างสม่ำเสมอ7. ควรอนุญาตให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการผสมในอาหารสัตว์หรือไม่  ห้ามทั้งหมด หรือห้ามบางรายการ เป็นอะไรบ้าง เพียงใด และอย่างไร มีงานวิจัยที่รองรับมาตรฐานอย่างไรบ้างในการประกาศ ทั้งนี้คำศัพท์ ที่ผู้บริโภคควรรู้จัก  Chicken with antibiotic free (ตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะในตัวอย่าง) หรือ raise without antibiotics  (เลี้ยงสัตว์โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ยกเว้นเมื่อป่วย ต้องแยกคอก) คำแถลงจาก อธิบดี กรมปศุสัตว์(อ้างอิง12)  “กรมปศุสัตว์มุ่งพัฒนาการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อยกระดับมาตรฐานให้สูงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการควบคุม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังยาหรือสารตกค้างในเนื้อสัตว์อย่างเข้มงวดที่สอดคล้องกับมาตรฐานโลก และมีมาตรการลงโทษตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องหากมีการตรวจพบ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ รายกลาง และเกษตรกรรายย่อย ได้ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ว่าได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัยจากยาและสารตกค้าง สามารถสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิต”8. ผลกระทบของยาปฏิชีวนะนั้นรุนแรงมาก เกิดผลเสียต่อสุขภาพ แม้จะใช้ปริมาณไม่มาก  การดื้อยา การแพ้ยา เป็นความห่วงใยแรก นอกจากนี้เด็กเล็กถ้าได้รับยาปฏิชีวนะในขณะช่วงอายุแรก ๆ ยิ่งถ้าได้รับบ่อย จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอ้วน(อ้างอิง13)  ปัญหาคือ ผู้บริโภคจะทราบได้อย่างไรว่าอาหารที่เรารับประทานนั้นมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะหรือยีนเชื้อดื้อยาหรือไม่    Sir Alexander Fleming ได้บรรยายเมื่อรับรางวัลโนเบล(อ้างอิง14)   ถึงความห่วงใยการดื้อยา ว่า “ I would like to sound one note of warning. Penicillin is to all intents and purposes non-poisonous so there is no need to worry about giving an overdose and poisoning the patient. There may be a danger, though, in underdosage. It is not difficult to make microbes resistant to penicillin in the laboratory by exposing them to concentrations not sufficient to kill them, and the same thing has occasionally happened in the body ”  9. แนวทางการดำเนินงานโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย ในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข  นั้นเป็นเรื่องที่ดี จะติดตามเรื่องการตกค้างยาปฏิชีวนะ หรือยีนเชื้อดื้อยาในวัตถุดิบได้อย่างไร  หากประกันคุณภาพได้ รัฐบาลควรจะได้ขยายแนวคิดอาหารปลอดภัยให้ครอบคลุมทุกท้องที่ และให้ประชาชนในประเทศไทยทุกคนได้รับประโยชน์ต่อเนื่องจากนโยบายนี้10. ไทยมียุทธศาสตร์การจัดการดื้อยาต้านจุลชีพ ประเทศไทย พ.ศ.2560-2564.  โดยทำแผนปฏิบัติการแล้ว ทั้งนี้ยุทธศาสตร์มีพัฒนาการมาจากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8  คงต้องมีการติดตามผลงานที่เกี่ยวข้องที่ใกล้ตัวผู้บริโภค ทั้งเรื่องอาหาร สิ่งแวดล้อม และผลกระทบจากโรงพยาบาล ในลักษณะสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) อย่างจริงจัง----------------------------------------------------------------------------------------(อ้างอิง1)  Wongsuwan G, et al (2017) Antibiotic use in poultry: a survey of eight farms in Thailand.  Bull World Health Organ  96(2): 94–100.(อ้างอิง2)  ณัฐธิดา สุขสาย และคณะ (2559) การใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์ : กรณีศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ . วารสารเภสัชกรรมไทย 8(2): 282-294.(อ้างอิง3) Sarker YA, et al (2018) Screening of antibiotic residues in chicken meat in Bangladesh by Thin Layer Chromatography.   J Adv Vet & Animal Res 5(2): 140-145.(อ้างอิง4)  Nguyen TH, et al (2018) Antimicrobial residue and resistance against critically important antimicrobials in non-typhoidal Salmonella from meat sold at wet-markets and supermarkets in Vietnam. Int J Food Microbiol 266:301-309.(อ้างอิง5) Chaisatit C, et al (2012) Molecular Characterization of Antibiotic-Resistant Bacteria in Contaminated Chicken Meat Sold at Supermarkets in Bangkok, Thailand.  Jpn. J. Infect. Dis., 65, 527-534. (อ้างอิง6)Hang J, et al (2018) Molecular detection of colistin resistance genes (mcr-1, mcr-2 and mcr-3) in nasal/oropharyngeal and anal/cloacal swabs from pigs and poultry.  Sci Rep. 8: 3705.(อ้างอิง7)Liu J, et al (2018)  Isolation of an IncP-1 plasmid harbouring mcr-1 from a chicken isolate of Citrobacter braakii in China. Int J Antimicrob Agents. 51(6):936-940.  (อ้างอิง8) Schrauwen EJA, et al (2017) High prevalence of the mcr-1 gene in retail chicken meat in the Netherlands in 2015. Antimicrob Resist Infect Control. 6: 83.(อ้างอิง9) Zwi YH, et al (2018) Prevalence, sequence types, antibiotic resistance and, gyrA mutations of Salmonella isolated from retail fresh chicken meat in Singapore.  Food Control 90: 233-240.(อ้างอิง10)  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวังยาต้านจุลชีพตกค้างในเนื้อสัตว์ 27  ก.ค. 2560   (accessed July 2018)http://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/136 (อ้างอิง11) ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เรื่องกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด ลักษณะ หรือคุณสมบัติของวัตถุที่ห้ามใช้ผสมในอาหารสัตว์  พ.ศ. 2558  (อ้างอิง12) กรมปศุสัตว์ระวังยาปฎิชีวนะตกค้าง ในเนื้อสัตว์ตามมาตรฐานสากล (accessed July 2018) http://certify.dld.go.th/certify/index.php/th/2016-04-30-03-59-03/2016-05-01-02-55-53/476-2016-11-21-03-29-40 (อ้างอิง13) Rasmussen SH, et al (2018) Antibiotic exposure in early life and childhood overweight and obesity: A systematic review and meta-analysis. Diabetes, Obesity, and Metabolism  20: 1508-1514.(อ้างอิง14) AL E X A N D E R F L E M I N G (1945) Penicillin Nobel Lecture, December 11, 1945https://www.nobelprize.org/nobel_prizes/medicine/laureates/1945/fleming-lecture.pdf  @page { margin: 0.79in } p { margin-bottom: 0.1in; direction: ltr; line-height: 120%; text-align: left; orphans: 2; widows: 2 } a:link { color: #0563c1 }

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 RDU รู้เรื่องยา กับการสแกน QR code

เมื่ออายุเพิ่มขึ้น สุขภาพร่างกายเริ่มมีสัญญาณเตือนของโรคภัยไข้เจ็บตามมา ดังนั้นการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลจึงเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ แต่วัยหนุ่มสาวก็ไม่ควรมองข้ามเรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน และสิ่งที่ได้ตามมานั่นคือ ถุงยาชนิดต่างๆ ที่ต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องแอปพลิเคชัน RDU รู้เรื่องยา เป็นแอปพลิเคชันที่มีวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลยาสู่ประชาชนด้วยข้อมูลที่ถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในการใช้ยา โดยแอปพลิเคชันนี้ถูกพัฒนาเพื่อรองรับการสแกน QR code ใบสรุปยาหรือชนิดของยา เพื่ออ่านข้อมูลยา วิธีการใช้ คำเตือน ข้อควรระวังให้กับผู้รักษาพยาบาลในโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีความตั้งใจให้แอปพลิเคชันป็นมาตรฐานเดียวกัน อย่างเช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นต้นการให้ความรู้และข้อมูลยาภายในแอปพลิเคชันจะแบ่งเป็น 6 หมวด ได้แก่ หมวด RDU รู้เรื่องยา หมวดสแกน QR code ของยา หมวดข้อมูลยา หมวดข่าวสารเรื่องยา หมวดสาระยาน่ารู้ หมวดโรงพยาบาลและร้านยาหมวด RDU รู้เรื่องยา และหมวดข่าวสารเรื่องยา เป็นหมวดที่ตั้งใจให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยา เรื่องสุขภาพ อาการต่างๆ การเก็บรักษายา การแพ้ยา และเรื่องอื่นๆ ในลักษณะของข้อมูลข่าวสาร บทความต่างๆ  ส่วนหมวดสแกน QR code ของยา จะมีไว้สำหรับการสแกน QR code ยาที่ได้รับมาจากโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยหมวดข้อมูลยา เป็นหมวดที่แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับยาแต่ละชนิด โดยจะจัดเรียงตามอักษรภาษาอังกฤษของชื่อยา หรือผู้ใช้สามารถป้อนชื่อยาและค้นหาได้ ต่อมาเป็นหมวดสาระยาน่ารู้ จะเป็นหมวดข้อควรรู้ในการใช้ยาที่จัดเก็บในรูปแบบวิดีโอ  สุดท้ายเป็นหมวดโรงพยาบาลและร้านยา ซึ่งใช้ในการค้นหาโรงพยาบาลและร้านยาบริเวณใกล้เคียงที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันใช้อยู่ หรือค้นหาโรงพยาบาลที่ต้องการ พร้อมทั้งมีแผนที่ในการบอกเส้นทางนอกจากนี้แอปพลิเคชัน RDU รู้เรื่องยา ยังสามารถบันทึกข้อมูลของตนเองไว้เพื่อเป็นข้อมูลให้กับโรงพยาบาลได้อีกด้วย โดยผู้ใช้แอปพลิเคชันเข้าลงทะเบียนและกรอกข้อมูลส่วนตัว ได้แก่ ชื่อนามสกุล เลขบัตรประชาชน วันเกิด เพศ อีเมล เบอร์โทรติดต่อ รวมถึงการตั้งชื่อบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่าน เมื่อลงทะเบียนภายในแอปพลิเคชันเรียบร้อยแล้ว ผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถสแกน QR code เพื่อนำไปบันทึกเป็นข้อมูลการใช้ยา โดยจะปรากฏข้อมูลยาแต่ละชนิดที่ได้รับ วันเวลาที่ได้รับยาจากโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษา ถ้าผู้ใช้ต้องการรู้รายละเอียดเกี่ยวกับยาชนิดนั้นให้กดเลือกชื่อยาที่ต้องการ แอปพลิเคชันจะนำไปหน้ารายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลยา ตั้งแต่ชื่อสามัญของยา รูปแบบของยา การใช้รักษาอาการแบบใด คำแนะนำในการใช้ยา อาการที่อาจเกิดหลังจากรับประทานยา ข้อควรระวังในการใช้ยา ข้อระวังในการใช้ยาร่วมกับยาชนิดอื่น ข้อห้ามใช้ยา และการเก็บรักษายาแต่สิ่งที่ดีที่สุด นั่นคือการไม่ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องและไม่ต้องใช้แอปพลิเคชัน RDU รู้เรื่องยา ดังนั้นควรออกกำลังกายสม่ำเสมอและรักษาสุขภาพให้แข็งแรงกันดีกว่านะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 ไซบูทรามีนในอาหารเสริมที่กล่าวอ้างลดน้ำหนัก

ไซบูทรามีนในอาหารเสริมที่กล่าวอ้างลดน้ำหนัก ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ข่าวการเข้าปราบปราม จับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย กลายเป็นกระแสสังคมที่ช่วยให้ผู้บริโภคตระหนักถึงสิ่งอันตรายที่แฝงอยู่ในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ และน่าจะเกิดความระมัดระวังมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังต้องการกำลังเสริมจากรัฐในด้านการกำกับควบคุมที่เข้มงวดต่อเนื่อง และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะถึงแม้รัฐจะออกมาตรการที่รัดกุมแค่ไหน ภัยจากผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ก็คงไม่หมดไปง่ายๆ ผู้บริโภคยังเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับผู้กระทำผิดทั้งรายใหม่และรายเก่า ดังนั้นการสร้างเครื่องมือตรวจสอบและการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร นับเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่สามารถช่วยผู้บริโภคได้ฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่บรรยายสรรพคุณว่ามีส่วนในการลดน้ำหนัก จากเว็บไซต์ขายของออนไลน์ชื่อดัง ได้แก่ C mart ,Shop at 24, LAZADA, We mall, Watsons, 11 street, Konvy, Shopee รวม 8 แห่ง รวมทั้งสิ้น 16 ผลิตภัณฑ์ ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม ที่ผ่านมา ส่งห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุบลราชธานี เพื่อทดสอบหายาไซบูทรามีน และ ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มต้านอาการซึมเศร้า แต่มีผลข้างเคียงในการลดความอยากอาหาร ที่นิยมนำมาผสมในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและอวดอ้างสรรพคุณว่าช่วยลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว แต่มีภัยแฝงถึงเสียชีวิต ผลทดสอบผลการทดสอบหา ไซบูทรามีน (Sibutramine) และ ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) หรือยารักษาโรคซึมเศร้า จากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวน 16 ตัวอย่าง ที่ฉลาดซื้อสั่งซื้อจากเว็บขายสินค้าออนไลน์ 8 แห่ง พบว่า  มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 6 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนยาแผนปัจจุบัน ดังนี้  1. AIKA รุ่นผลิต 21/11/2017 พบ ไซบูทรามีน และฟลูออกซิทีน  2. MINIMAL By FALONFON รุ่นผลิต มกราคม 2018 พบ ไซบูทรามีน 3. S – Line รุ่นผลิต ไม่ระบุ พบ ไซบูทรามีน 4. LYN รุ่นผลิต 10-01-2561 พบไซบูทรามีน 5. L-Fin by Luk-Sam-Rong รุ่นผลิต 1/7/60 พบ ไซบูทรามีน 6. Kalo รุ่นผลิต ไม่ระบุ พบ ฟลูออกซิทีน  และยังพบด้วยว่า ผลิตภัณฑ์ AIKA, L-Fin และ Kalo นั้น มีชื่อผู้รับอนุญาตคนเดียวกัน คือ บริษัทสยามเฮลท์แอนด์บิวตี้แคร์ จำกัดการขายผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่มีไซบูทรามีน (Sibutramine) มีโทษตามกฎหมายภก. ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ http://www.facebook.com/rparun          ไซบูทรามีน(Sibutramine) แรกเริ่มนั้นใช้เป็นยาต้านอาการซึมเศร้า ซึ่งพบว่าสามารถลดความอยากอาหารได้ โดยการไปยับยั้งการดูดกลับ(reuptake) ของซีโรโทนิน(serotonin) และนอร์อะดรีนาลีน (noradrenaline) ที่สมองส่วนไฮโปธาลามัส ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมการรับประทานอาหาร จึงมีการพยายามนำมาใช้เพื่อเป็นยาลดน้ำหนัก แต่พบความเสี่ยงทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น มีความดันโลหิตสูงขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ในด้านของการลดน้ำหนักเมื่อรับประทานยาผ่านไป 6 เดือน กลับพบว่าให้ผลต่างกับยาหลอกเพียงเล็กน้อย จึงทำให้หลายประเทศมีความพยายามในการเลิกใช้ยานี้ ไซบูทรามีน(Sibutramine) เดิมประเทศไทยมีเพียงชื่อการค้าเดียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยา คือ รีดักทิล (Reductil) ชนิดแคปซูล 10 มิลลิกรัมและ 15 มิลลิกรัม ต่อมาบริษัทผู้นำเข้ายกเลิกทะเบียนตำรับยาโดยสมัครใจภายใต้คำแนะนำของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตั้งแต่ 11 ตุลาคม 2553 ดังนั้น ปัจจุบันห้ามผู้รับอนุญาตนำเข้าหรือผู้รับอนุญาตขายยาผู้ใดขาย นำเข้า ยาที่ทะเบียนตำรับยาถูกยกเลิก ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 72(5) ผู้ฝ่าฝืนต้องได้รับโทษตามมาตรา 120 วรรคสอง คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือมาตรา 120 วรรคสาม ถ้ากระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นยาทะเบียนตำรับยาถูกยกเลิก ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาทแล้วแต่กรณี ส่วน ประชาชนทั่วไปที่ขายยาหรือนำเข้ายานี้ ถือว่าเป็นการขายยาแผนปัจจุบันหรือนำเข้ายาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 12 ต้องรับโทษตามมาตรา 101 คือ  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 50,000 บาท ด้วย หากผลิตภัณฑ์ใดได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศไทย และมีไซบูทรามีน (Sibutramine) เป็นส่วนผสม ถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 25(1) ประกอบมาตรา 26(1) ต้องได้รับโทษตามมาตรา 58 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรืออาจเข้าข่ายอาหารปลอมหากมีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงให้เกิดความเข้าใจผิด ตามมาตรา 25(2) ประกอบมาตรา 26(3) ต้องระวางโทษตามมาตรา 59 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาทผลิตภัณฑ์อาหารที่มี fluoxetine มีความโทษตามกฎหมายfluoxetine เป็นยาในกลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitor (SSRIs) ซึ่งใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้า กลไกการออกฤทธิ์โดยเพิ่มระดับสารสื่อประสาท serotonin ในสมอง นอกจากใช้ในโรคซึมเศร้า ยังมีข้อบ่งใช้ในการรักษา ผู้ป่วยที่มีอาการอาเจียนในโรคกลัวอ้วนรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมากfluoxetine จัดเป็นยาแผนปัจจุบันประเภทยาอันตราย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาอันตราย ฉบับที่ 25 (14 พ.ค.2555 ข้อ 3 (34)) กรณีที่มีการผสมยาตัวนี้ลงไปในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า1000 Point