ฉบับที่ 188 เนื้อสัตว์ในร้านฟาสต์ฟูด ปลอดภัยจาก “ยาปฏิชีวนะ” มากน้อยแค่ไหน?

ปัญหาเรื่อง “เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ” เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ที่หลายประเทศต่างก็พยายามเร่งหาทางแก้ไข ในปีนี้ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International) ได้นำประเด็นปัญหาเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสมจนนำไปสู่การเกิดปัญหาเชื้อดื้อยา มาเป็นประเด็นหลักในการรณรงค์ทั่วโลก โดยใช้ชื่อแคมเปญว่า “เอายาปฏิชีวนะ ออกจากอาหารของเรา” (Antibiotics Off the Menu) เป้าหมายสำคัญในการรณรงค์ครั้งนี้ก็คือ เพื่อให้เกิดการลดและยุติการใช้ยาปฏิชีวนะในกระบวนการเลี้ยงสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหาร ซึ่งในปัจจุบันภาคปศุศัตว์มีการใช้ปฏิชีวนะเพื่อใช้รักษาอาการเจ็บป่วยของสัตว์ไม่น้อยไปกว่าการใช้ปฏิชีวนะรักษาอาการเจ็บป่วยในคน โดยเป้าหมายหลักในการรณรงค์ครั้งนี้ก็คือบรรดาร้านอาหารฟาสต์ฟูดแฟรนไชส์ชื่อดังที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ที่มีการใช้เนื้อสัตว์มาปรุงอาหารเป็นจำนวนมากฉลาดซื้อฉบับนี้จึงได้เลือกสุ่มสำรวจหาการตกค้างของ “ยาปฏิชีวนะ” ในเนื้อสัตว์ปรุงสุกที่อยู่ในเมนูต่างๆ ของร้านฟาสต์ฟูดชื่อดังที่ขายในประเทศไทย ลองไปดูกันสิว่าคนไทยเรามีความเสี่ยงต่อการได้รับยาปฏิชีวะโดยไม่จำเป็น ซึ่งเป็นต้นเหตุขอการเกิดเชื้อดื้อยามากน้อยแค่ไหนทำไมเชื้อดื้อยาถึงอยู่ในเนื้อสัตว์ที่เรากินเพราะ ยาปฏิชีวะ ไม่ได้ถูกนำมาใช้กับคนเท่านั้น แต่ในสัตว์โดยเฉพาะในภาคการทำปศุสัตว์ ยาปฏิชีวนะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายด้วยเช่นกัน โดยทั่วไปการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์นั้นมีวัตถุประสงค์ หลัก 3 ประการ คือ 1.เพื่อการรักษา 2.เพื่อการป้องกันโรค และ 3.เพื่อเร่งการเจริญเติบโตสำหรับสาเหตุที่ทำให้ยาปฏิชีวนะมีการตกค้างอยู่ในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น น้ำนม ไข่ หลักๆ ก็มาจากการใช้ยาอย่างไม่ถูกวิธี บวกกับความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในการใช้ยา เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อน ทำให้เกิดปัญหาโรคติดเชื้อสูง ส่งผลให้เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์มีความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อไม่ให้สัตว์ตายหรือล้มป่วย ส่งผลให้มีการใช้ยาในปริมาณสูง ยิ่งในฟาร์มรายย่อยสถานที่เลี้ยงไม่ได้มาตรฐาน ไม่ถูกสุขลักษณะ ยิ่งส่งผลให้สุขภาวะของสัตว์ที่เลี้ยงไว้มีความอ่อนแอและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อการใช้ยาอย่างไม่ถูกวิธี คือ ใช้ยาไม่ตรงกับโรค ผิดขนาด ผิดช่วงเวลา วิธีการใช้ไม่ถูกต้อง ซึ่งการใช้ยาในสัตว์ต้องคำนึงถึงช่วงเวลา อุณหภูมิ และความเป็นกรด-ด่างของน้ำ การใช้ยาที่ไม่ถูกต้องจะส่งผลให้การรักษาไม่ได้ผล ทำให้เกษตรกรหลงคิดไปว่าปริมาณยาที่ใช้ยังไม่เพียงพอนำไปสู่การเพิ่มปริมาณยา ใช้ยาบ่อยและนานขึ้น หรือไปจนถึงการเปลี่ยนไปใช้ตัวยาอื่น รวมทั้งการหยุดใช้ยาที่ไม่ถูกต้องก็ส่งผลให้เกิดการตกค้างในเนื้อสัตว์เช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนที่จะนำสัตว์มาบริโภค ซึ่งต้องมีการหยุดยาก่อนตามระยะเวลาที่เหมาะสมก่อนจะถึงขั้นตอนการแปรูปสู่การบริโภคการใช้ยาไม่ตรงกับโรค ผิดขนาด ผิดชนิด หรือผิดช่วงเวลา รวมทั้งการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์เป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้เชื้อแบคทีเรียในสัตว์เกิดการพัฒนายีนส์ต้านทานยามากขึ้นนอกจากนี้ยังพบปัญหาเรื่องการใช้ยาอย่างผิดกฎหมาย คือ การนำยาปฏิชีวนะในรูปเภสัชเคมีภัณฑ์ ซึ่งไม่ใช่ยาสำเร็จรูปที่ได้รับขึ้นทะเบียนมีฉลากและเอกสารกำกับยาอย่างถูกต้องตามกฎหมายไปใช้ผสมในอาหารสัตว์ หรือการนำยาปฏิชีวนะสำหรับคนไปใช้กับสัตว์ ซึ่งส่งผลให้การใช้ยาไม่ได้ผลการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคเชื้อดื้อยาที่ตกค้างในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ทำให้เกิดอาการข้างเคียงของยา เกิดการแพ้ยา และ เกิดเชื้อดื้อยาการใช้ยาในสัตว์อย่างไม่ถูกต้อง มีโอกาสที่จะเกิดเชื้อดื้อยาในสัตว์ซึ่งสามารถพัฒนาเชื่อดื้อยาแบบข้ามกลุ่ม ทำให้ทำเชื้อดื้อยาชนิดนั้นส่งผลต่อการรักษาโรคในคน โดยเชื้อดื้อยาในสัตว์นั้นสามารถถูกส่งผ่านมายังคนได้ 3 วิธีหลักๆ คือ 1.การบริโภคเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ 2.การสัมผัสกับสัตว์โดยเฉพาะผู้เลี้ยง และ 3.การรับเชื้อจากสิ่งแวดล้อม เช่น ในแหล่งน้ำและดินใกล้ฟาร์มเลี้ยงกลุ่มยาปฏิชีวนะที่วิเคราะห์1.Tetracycline group ประกอบด้วย Chlortetracycline และ Doxycyclineยาปฏิชีวนะกลุ่มเททระไซคลีน มีสรรพคุณ ใช้รักษาโรคติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อในปาก โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ 2.Colistin ประกอบด้วย Colistin A และ Colistin B โคลิสติน ใช้ในการรักษาอาการติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรียหลายชนิด ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการติดเชื้อในปอดและทางเดินอาหาร3.Beta-lactam groups ประกอบด้วย Amoxicillinเบต้า-แลคแทม ใช้รักษาโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โพรงจมูกอักเสบ ทอนซิลอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ โรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนกลาง4.Macrolide groups ประกอบด้วย Tylosin tartrateยาปฏิชีวนะในกลุ่ม แมคโครไลด์ ใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง รวมทั้งยังช่วยใช้ในการเร่งการเจริญเติบโตผลการทดสอบผลการสุ่มเก็บตัวอย่าง เนื้อสัตว์ปรุงสุกในเมนูอาหารของร้านฟาสต์ฟูด 18 ตัวอย่าง จาก 7 แหล่งซื้อ พบว่ามีการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 1 ตัวอย่าง คือ เมนูแซนวิชไก่อบ จากร้าน ซับเวย์ สาขาพารากอน ที่พบ Doxycycline ในกลุ่มยา Tetracycline ปริมาณ 13.73 ไมโครกรัม / กิโลกรัม(ug/kg)ทั้งนี้ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง ที่เป็นประกาศควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ โดยสารดังกล่าวถูกใช้เพื่อมุ่งหวังในการรักษา ป้องกัน วินิจฉัยโรค หรือเพื่อวัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงทางสรีระหรือพฤติกรรมของสัตว์โดยข้อมูลตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ กำหนดให้พบการตกค้างของยาในกลุ่ม Tetracycline (เททระไซคลีน) ในเนื้อไก่สูงสุดได้ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อเนื้อไก่ 1 กิโลกรัมเท่ากับว่า ปริมาณยาปฏิชีวนะที่พบตกค้างในตัวอย่าง เมนูแซนวิชไก่อบ จากร้าน ซับเวย์ สาขาพารากอน ที่ปริมาณ 13.73 ไมโครกรัม / กิโลกรัม อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดในแต่ละปีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยา หรือ “โรคติดเชื้อในกระแสเลือด” ประมาณ 88,000 คน เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอย่างน้อยปีละ 20,000 – 38,000 คน ส่งผลต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 46,000 ล้านบาทนั่นเป็นเพราะยาที่คุณใช้อยู่มีส่วนผสมของ “ยาต้านแบคทีเรีย” โดยไม่จำเป็นทำให้เกิด “เชื้อดื้อยา” ที่มา : ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.)ฟาสต์ฟู้ดกับยาปฏิชีวนะปีที่แล้วองค์กรผู้บริโภคของสหรัฐฯ Consumers Union ร่วมกับองค์กรพันธมิตรด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมทำการสำรวจแนวปฏิบัติเรื่องการใช้เนื้อสัตว์ปลอดยาปฏิชีวนะในเมนูอาหารของร้านฟาสต์ฟู้ด 25 แบรนด์ดังในอเมริกา และพบว่ามีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่มีแผนหรือนโยบายดังกล่าวแต่ผลการสำรวจในปีนี้ (ซึ่ง Consumers Union ประกาศเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา) อยู่ในระดับที่น่าพอใจ มีถึง 9 แบรนด์จาก 25 แบรนด์ที่หันมาใช้นโยบายที่ทำให้เกิดการลดหรือเลิกใช้ยาปฏิชีวนะอย่างผิดวิธีในการเลี้ยงไก่ หมู หรือวัวในภาพรวมแล้วแบรนด์ร้านอาหารเหล่านี้แสดงให้เห็นความพยายามในการจัดซื้อจัดหาเนื้อสัตว์จากฟาร์มที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ และข่าวดีสำหรับผู้บริโภคคือภายในปี 2560 เนื้อไก่ที่ขายในร้าน Chipotle / แมคโดนัลด์ / Panera Bread / และซับเวย์ จะปลอดจากยาปฏิชีวนะผลการให้คะแนนปีนี้ปรากฏว่า Chipotle และ Panera Bread ยังรักษาเกรด A จากปีที่แล้วไว้ได้ซับเวย์ถีบตัวขึ้นจากเกรด F มาเป็น B พร้อมคำมั่นว่าภายในสิ้นปีนี้เนื้อไก่ในเมนูของร้านจะไม่มียาปฏิชีวนะ และในอีก 9 ปีข้างหน้าบริษัทมีแผนจะใช้เนื้อสัตว์ปลอดยาปฏิชีวนะทั้งหมดด้วยChick-fil-A ได้เกรด B ไปครองเพราะสามารถทำตามแผนการหยุดใช้เนื้อไก่ที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะภายในปี 2561 ไปได้ถึงร้อยละ 25 แล้วตามมาติดๆ คือแมคโดนัลด์ที่ปีนี้ได้เกรด C+ ไปครอง เพราะมีนโยบายชัดเจนในเรื่องนี้และจัดซื้อเนื้อไก่จากฟาร์มที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเท่านั้นส่วนดังกิ้นโดนัท ที่ปีก่อนเคยได้ถึงเกรด C ปีนี้กลับสอบตกเป็นเพื่อน เบอร์เกอร์คิง เคเอฟซี และสตาร์บัคส์ เพราะปรับเปลี่ยนนโยบายของบริษัทให้ยอมรับการใช้เนื้อสัตว์ที่ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 188 เชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะ ผู้บริโภคจะทำอย่างไร ?

ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านจุลชีพ ใช้สำหรับรักษาโรคติดเชื้อต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีคุณประโยชน์อย่างมากต่อมวลมนุษยชาติ แม้ว่าการค้นหาและสังเคราะห์ยาต้านจุลชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย แต่ทว่าจากปัญหาการใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม ทำให้เชื้อแบคทีเรียปรับตัวดื้อยามากขึ้น ยาหลายชนิดไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคติดเชื้อที่เคยรักษาได้อีกต่อไป จนปัจจุบันยอมรับกันแล้วว่า ปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก จุลชีพที่เป็นปัญหาการดื้อยาอย่างมากคือ แบคทีเรีย เพราะแบคทีเรียดื้อยาเกิดขึ้นแล้วจะเพิ่มจำนวนและแพร่กระจายได้อย่างกว้างขวาง ยืนยันได้จากการตรวจพบยีนดื้อยาปฎิชีวนะต่างๆ ที่แพร่กระจายไปในทุกภูมิภาคทั่วโลกองค์การอนามัยโลกรายงานว่า ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 700,000 ราย และหากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ในปี ค.ศ. 2050 คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาเสียชีวิตประมาณ 10 ล้านคน เพราะมีแนวโน้มว่าพบเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้นจนน่าหวั่นเกรงว่าจะนำไปสู่โลกยุคหลังยาปฏิชีวนะ (post antibiotic era) ซึ่งไม่มียาที่มีประสิทธิภาพใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียดื้ออีกต่อไป สำหรับประเทศไทย มีรายงานการศึกษาวิจัยเบื้องต้นจากการศึกษาผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยารวม 17 แห่ง แล้วได้ประมาณการว่า มีการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา 87,751 ครั้ง เสียชีวิต 38,481 ราย ทั้งๆ ที่มีมูลค่ายาต้านจุลชีพที่ใช้รักษาโรคสูงถึงประมาณปีละ 6,084 ล้านบาท มีมูลค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 40,000 ล้านบาทองค์การอนามัยโลก จึงได้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความร่วมมือดำเนินการอย่างจริงจัง มีมาตรการและแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะไม่มียาใช้รักษาโรคติดเชื้อที่สำคัญต่างๆ อีกต่อไป ในความเป็นจริงการแก้ปัญหานี้จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง รวมทั้งประชาชนผู้บริโภค เพราะมิสามารถปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ/เอกชนเท่านั้น ในฐานะผู้บริโภค เรามาทำความรู้จักกับแบคทีเรีย กลไกการดื้อยา การแพร่กระจายของเชื้อดื้อยา ตลอดจนปัจจัยต่างๆที่ส่งผลกระทบจากการดื้อยาของแบคทีเรียแบคทีเรียคืออะไรแบคทีเรีย เป็นจุลินทรีย์ที่ชีวิตขนาดเล็ก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น มีรูปร่างไม่ซับซ้อน แต่แตกต่างกันตามชนิดของเชื้อ เพิ่มประชากรได้อย่างรวดเร็ว บางชนิดเพิ่มจำนวนเป็นทวีคูณได้ทุก 15 นาที เช่น เชื้อเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) หรือเรียกย่อๆ ว่า อี โคไล แต่เชื้อบางชนิดก็ต้องใช้เวลานานในการเพิ่มประชากร เช่น เชื้อวัณโรค มีการเพิ่มจำนวนทวีคูณทุก 15 ชั่วโมง เป็นต้น แบคทีเรียมีสารพันธุกรรม ที่สำคัญ คือโครโมโซม เพียง 1 ชุด ที่ควบคุมคุณสมบัติต่างๆ การเพิ่มจำนวนการปรับตัวในสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่รอด แบคทีเรียอาจมีสารพันธุกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น พลาสมิด ทรานส์โปซอน อินทิกรอน ซึ่งจะทำให้มีความสามารถต่างๆ รวมทั้งการดื้อยาเพิ่มขึ้น เป็นต้นแบคทีเรีย พบได้ทั่วไป ทั้งในดิน น้ำ อากาศ ในคน สัตว์ พืช มีทั้งชนิดที่มีประโยชน์ และชนิดที่ก่อโรค จึงมีการใช้ประโยชน์จากแบคทีเรียชนิดดีมาอย่างยาวนาน ส่วนแบคทีเรียก่อโรค มนุษย์ก็พยายามแสวงหาวิธีการรักษา จนการค้นพบยาปฏิชีวนะ ที่มีประสิทธิภาพในการฆ่า หรือยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียก่อโรคนั้นๆการดื้อยาปฏิชีวนะแบคทีเรียแต่ละชนิดถูกทำลายด้วยยาปฏิชีวนะ/ยาต้านแบคทีเรียแตกต่างกันไป และกลไกออกฤทธิ์เพื่อทำลายแบคทีเรียของยาก็แตกต่างกัน เช่น การทำลายผนังเซลล์ การยับยั้งการสร้างโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของเชื้อ การขัดขวางการทำงานของเอ็นไซม์ การขัดขวางการทำงานของสารพันธุกรรม การขัดขวางการแบ่งตัว เป็นต้น ดังนั้น เพื่อความอยู่รอด เชื้อจึงมีการพัฒนาความสามารถในการต้านทาน หรือทำลายฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะ โดยกรรมวิธีต่างๆ ซึ่งเรียกว่า การดื้อยาการดื้อยาของแบคทีเรียจำแนกเป็น การดื้อยาตามธรรมชาติ เช่น เชื้อแบคทีเรียบางชนิดไม่ถูกทำลายด้วยยาบางชนิดตั้งแต่ต้น เพราะมีคุณสมบัติทางสรีรวิทยาของเยื่อหุ้มเซลล์ที่ทำให้ยาเข้าสู่เซลล์ได้น้อย ไม่เพียงพอจะทำลายแบคทีเรียได้ การดื้อยาแบบนี้ไม่เป็นปัญหาต่อการใช้ยารักษาโรคติดเชื้อ เพราะเป็นความรู้พื้นฐานของการเลือกใช้ยาที่ทราบกันทั่วไป เช่น ยาเพนิซิลลิน ไม่มีผลต่อเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ ต้องใช้ยาแอมพิซิลลินในการรักษา เป็นต้นการดื้อยาของแบคทีเรียที่เป็นปัญหาต่อการใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรค คือ การกลายพันธุ์ และการดื้อยาโดยการได้รับยีนดื้อยาจากแบคทีเรียอื่นๆ จากสิ่งแวดล้อม อันเป็นกลไกการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของแบคทีเรียในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมนั่นเองการดื้อยาโดยการกลายพันธุ์ กระบวนการนี้ เกิดขี้นได้โดยการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเออย่างน้อย 1 ตำแหน่งบนโครโมโซม เกิดขึ้นได้ในอัตราต่ำประมาณ 1 เซลล์ในล้านเซลล์ ทว่า การที่แบคทีเรียเพิ่มจำนวนประชากรได้อย่างรวดเร็วดังกล่าวแล้ว จึงใช้เวลาไม่นานในการกลายพันธุ์ดื้อยาและเพิ่มประชากรเชื้อดื้อยา ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อมียาต้านแบคทีเรียชนิดใหม่ๆ การรักษาจะได้ผลดีในระยะแรก หากมีการใช้ยาอย่างพร่ำพรื่อ ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ต่อมามักจะพบว่าเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ไม่ได้ผลในการรักษา ทำให้ต้องคิดค้นยาใหม่ต่อไป การกลายพันธุ์เพื่อดื้อยานี้ เป็นการปรับตัวเพื่อการอยู่รอดในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม โดยที่แบคทีเรียจำนวนมากจะถูกทำลายไปด้วยยาปฏิชีวนะ แต่หากความเข้มข้นของยาไม่เพียงพอ การใช้ยาไม่ต่อเนื่อง ก็จะมีเชื้อเพียงจำนวนน้อยที่รอดชีวิต และปรับตัวโดยการกลายพันธุ์ ในระดับยีน เพื่อไม่ให้ยาที่ใช้เข้าไปทำลายเชื้อได้ นั่นคือ เป็นการกลายพันธุ์เพื่อต่อต้านยาการดื้อยาโดยการได้รับยีนดื้อยา แบคทีเรียสามารถรับการถ่ายทอดยีนดื้อยาจากแบคทีเรียต่างสายพันธุ์ได้หลายวิธี ได้แก่ โดยกระบวนการคอนจูเกชั่น ทรานส์ฟอร์เมชั่น และทรานส์ดักชั่น ทำให้ดื้อยาตั้งแต่ 1 ชนิด ถึงหลายชนิดได้การคอนจูเกชั่น เป็นการถ่ายทอดยีนดื้อยาโดยตรงระหว่างแบคทีเรีย 2 เซลล์ที่มีคุณสมบัติต่างกัน โดยเป็นเชื้อชนิดเดียวกัน หรือเชื้อต่างชนิดกันก็ได้ ตัวอย่างเช่นการคอนจูเกชั่นระหว่างเชื้อซัลโมเนลลา (Salmonella spp.) ที่ดื้อยา กับเชื้อซัลโมเนลลาที่ไวต่อยา ก็จะทำให้เชื้อซัลโมเนลลาที่ ไวต่อยา รับยีนดื้อยา เปลี่ยนเป็นเชื้อดื้อยา หรือการคอนจูเกชั่นระหว่างเชื้อซัลโมเนลลา ที่ดื้อยากับเชื้ออีโคไลที่ไวต่อยา ทำให้เชื้ออีโคไลเปลี่ยนเป็นเชื้อดื้อยา เพราะรับยีนดื้อยาจากเชื้อซัลโมเนลลาการแลกเปลียนยีนกันไปมา ก็ทำให้ยีนดื้อยาส่งต่อให้เชื้ออื่นๆ ที่เหมาะสมในสิ่งแวดล้อม หรือในร่างกายของผุ้ป่วย เช่น ทางเดินอาหาร ซึ่งมีแบคทีเรียประจำถิ่นอาศัยอยู่มากมายทรานส์ฟอร์เมชั่น เป็นกระบวนการถ่ายทอดยีน โดยแบคทีเรียรับยีนที่อยู่เป็นอิสระในสิ่งแวดล้อมเข้าสู่เซลล์ ซึ่งยีนนั้นๆ จะชักนำให้แบคทีเรียแสดงคุณสมบัติของยีนต่อไป ในกรณีนี้ แม้แบคทีเรียที่มีแบคทีเรียที่มียีนดื้อยาจะตายไป เหลือแต่ยีน ยีนนั้นๆ ก็สามารถเข้าไปในเซลล์อื่นๆ แล้วชักนำให้ดื้อยาได้ทรานส์ดักชั่น เป็นกระบวนการถ่ายทอดยีนระหว่างแบคทีเรียโดยอาศัยแบคเทอริโอฟาจ หรือไวรัสของแบคทีเรียเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดยีนระหว่างเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นวิธีการนี้มีข้อจำกัดในการถ่ายทอดยีนดื้อยากลไกการดื้อยาของแบคทีเรียการดื้อยาของแบคทีเรีย เกิดขึ้นจากหลายกลไก ได้แก่แบคทีเรียสร้างเอนไซม์ทำลายยา ทำให้ยาสูญเสียประสิทธิภาพแบคทีเรียมีการเปลี่ยนแปลงบริเวณที่เป็นเป้าหมายของยา ทำให้ยาไม่สามารถจดจำบริเวณ นั้นได้รบกวนการซึมผ่านของยาเข้าสู่เซลล์แบคทีเรีย ทำให้ยาเข้าสู่เซลล์น้อย ไม่สามารถทำลาย แบคทีเรียได้สร้างสารชีวโมเลกุลที่แย่งจับกับเอ็นไซม์หรือเป้าหมายของยา ทำให้ยาไม่สามารถทำลายเชื้อได้กลไกดังกล่าวข้างต้นควบคุมด้วยยีนต่างๆ ที่เรียกว่ายีนดื้อยา ดังนั้น การที่แบคทีเรียสามารถถ่ายทอดยีน หรือแลกเปลี่ยนยีนระหว่างเชื้อแบคทีเรีย หรือรับยีนจากสิ่งแวดล้อมได้ ทำให้แบคทีเรีย 1 เซลล์ได้รับยีนมากกว่า 1 ยีนได้ อาจรับได้มากถึง 4 ยีน จึงมีคุณสมบัติดื้อยาหลายชนิดพร้อมกัน นำไปสู่ปัญหาการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคอย่างมากปัจจัยสำคัญที่เป็นสาเหตุของการปรับตัวดื้อยาของแบคทีเรีย ได้แก่ การใช้ยาปฏิชีวนะไม่เหมาะสม การปนเปื้อนของยาใน น้ำ อาหาร และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงต้องควบคุมปัจจัยเหล่านั้นอย่างเข้มงวดการดื้อยาข้ามกลุ่มการดื้อยาข้ามกลุ่มคืออะไร ? คือการที่แบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะโดยผลจากการได้รับสารที่เคมีมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อกลุ่มไบโอไซด์ (biocides) เช่น กรณีไตรโคลซาน (triclosan) ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรีย นิยมนำมาผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ประเภทสบู่ ยาสีฟัน ครีมอาบน้ำ ล้างมือ เป็นต้น ทว่ามีรายงานวิจัยพบว่าเมื่อใช้เป็นเวลานาน ทำให้แบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ โดยมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการปั๊มยาออกนอกเซลล์ ทำให้มีปริมาณยาปฏิชีวนะในเซลล์น้อยไม่สามารถฆ่าเชื้อ และเชื้อปรับตัวดื้อยาในที่สุด ปัจจุบัน องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกาได้ยกเลิกการใช้ไตรโคลซานในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแล้ว รวมถึงสารเคมีกลุ่มนี้อีก 18 ขนิด ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีในการลดการทำให้แบคทีเรียดื้อยา เพราะผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารเคมีเหล่านี้ ถูกใช้อย่างกว้างขวางในชีวิตประจำวันแบคทีเรียดื้อยาที่พบในประเทศไทยศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งขาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า พบแบคทีเรียดื้อยากลุ่มต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้เชื้ออะซินีโตแบคเตอร์ (Acinetobacter spp.) และเชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) เป็นเชื้อที่มักพบในผู้ป่วยติดเชื้อในโรงพยาบาล(Methicillin resistant Staphylococcus aureus, MRSA และ Methicillin resistant coagulase negative S. aureus, MRCoNS)เชื้อเอนเทอโรคอคไคดื้อยาแวนโคมัยซิน (Vancomycin resistant enterococci , VRE)เชื้อกลุ่มเอนเทอโรแบคเทอริเอซีที่สร้างเอนไซม์เบต้าแลคเทมเมสชนิดมีฤทธิ์กว้าง (Extended spectrum beta-lactamase , ESBL producing Enterobacteriaceae)Enterobacteriaceae , CRE)เชื้อสเตรฟโตคอคคัสดื้อยาเพนิซิลลิน (Penicillin resistant Streptococcus pneumoniae , PRSP)วัณโรคดื้อยาหลายชนิด (Multidrug resistant tuberculosis , MDR-TB และ Extensively drug resistant tuberculosis, XDR-TB)เชื้ออีโคไลที่ดื้อต่อยาโคลิสติน ซึ่งต้องศึกษาในรายละเอียดต่อไปว่า มียีนดื้อยาบนโครโมโซม หรือชนิดที่มียีน mcr-1 บนพลาสมิดแบคทีเรียดื้อยาต้านจุลชึพในปศุสัตว์สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ ได้สำรวจติดตาม ระหว่าง พ.ศ. 2545-2558 พบเชื้อดื้อยาในหมู ไก่ เป็ด และห่าน ได้แก่ เชื้ออีโคไล และ ซัลโมเนลลา พบเชื้อแคมพิโลแบคเตอร์ (Campylobacter spp.) ดื้อยาในเนื้อหมู และไก่ และบางตัวอย่างสามารถพบเชื้อซัลโมเนลลาที่ดื้อยาถึง 3 ชนิดพร้อมกัน เชื้อที่ตรวจพบนั้นดื้อยาปฏิชีวนะต่างๆ ดังต่อไปนี้อะมอกซีซิลลินอะมอกซีซิลลิน/คลาวูลานิคแอซิด แอมพิซิลลินเตตราซัยคลิน อ๊อกซีเตตราซัยคลินสเตร็ปโตมัยซิน ไทรเมทโทพริมซัลฟาเมโธซาโซล กานามัยซินเจนตามัยซินเอนโรฟ็อกซาซินด็อกซีซัยคลินโคลิสตืน เซฟติโอเฟอ สเป็คติโนมัยซิน คลอแรมเฟนิคอล นาลิดิซิคแอซิด ซัยโพรฟล็อกซาซินแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะในสัตว์น้ำกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่า ในช่วงปี พ.ศ, 2549-2557 แบคทีเรียก่อโรคที่พบเป็นปัญหาสำคัญของสัตว์น้ำทั้งปลา และกุ้ง ได้แก่ เชื้อวิบริโอ ( Vibrio spp. ) ดื้อยาต่อไปนี้ ได้แก่เตตราซัยคลิน อ๊อกซีเตตราซัยคลินคลอแรมเฟนิคอลซัลฟาเมโธซาโซล ออกโซลินิตแอซิดเอนโรฟล็อกซาซินการใช้ยาปฏิชีวนะในพืชโรคกรีนนิ่งในพืชตระกูลส้ม เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มโอ มะนาว เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ผลผลิตลดลง โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมลบ ชื่อแคนดิดาตัส ลิเบอริแบคเตอร์ (Candidatus liberibacter) ซึ่งก่อโรคในท่อลำเลียงน้ำและอาหาร ปัจจุบันเกษตรกรใช้ยาแอมพิซิลลินฉีดเข้าไปในท่อลำเลียงน้ำและอาหารของต้นพืชโดยตรงเพื่อการทำลายเชื้อ ยังไม่มีรายงานการดื้อยา แต่ควรต้องติดตามต่อไปว่ายาแอมพิซิลลินที่ใช้จะทำให้เชื้อก่อโรคพืชดื้อยาหรือไม่ และมีผลกระทบทำให้แบคทีเรียอื่นๆ บริเวณต้นพืชดื้อยาหรือไม่การตกค้างของยาปฏิชีวนะในอาหารสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานผลการสำรวจยาปฏิชีวนะกลุ่มคลอแรมเฟนิคอล ไนโตรฟูแรน เพนิซิลลิน ซัลโฟนาไมด์ เตตราซัยคลิน ที่อาจตกค้างในเนื้อหมู กุ้ง ไก่ และเครื่องใน ระหว่าง พ.ศ. 2553-2557 พบว่ายาตกค้างในเนื้อสัตว์ที่ตรวจบางตัวอย่าง ได้แก่ซัลฟาไดมิดีนซัลฟาไดอะซีนซัลฟาไทอะโซลเซมิคาร์บาไซด์อ๊อกซาโซลิดิโนนซัลฟิซ็อกซาโซลผู้บริโภคจะทำอย่างไร ?ปัญหาแบคทีเรียดื้อยาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมและทันสถานการณ์ นับว่าเป็นภัยคุกคามชีวิตคนไทยและคนทั่วโลก และเห็นได้ว่า การปรับตัวดื้อยา ปฏิชีวนะของแบคทีเรียเกิดขึ้นได้ไม่ยาก แล้วเชื้อสามารถแพร่กระจายได้หลายวิธีการ ผู้บริโภคจำป็นต้องรู้เท่าทันปัญหา และไม่ร่วมสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น โดย  ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น  หากจำเป็นต้องใช้ ต้องใช้อย่างถูกต้อง เพื่อทำลายเชื้อก่อโรคให้หมดจริงๆ ไม่เหลือให้ปรับตัวดื้อยาในร่างกาย  จำกัดการใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมเกษตร และปศุสัตว์ ใช้เมื่อจำเป็น อย่างเหมาะสม  ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่เสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยา ช่วยเฝ้าระวังการปนเบื้อนของยา เชื้อดื้อยา ในอาหาร ผลิตภัณฑ์ต่างๆ และสิ่งแวดล้อม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 แกงส้มมะละกอปลาทู

หายหน้ากันไปนาน ลืมกระผมไปหรือยังครับ  คราวนี้ฤกษ์งามยามดีจึงขอมาบรรเลงอาหารสไตล์ครัวนางฟ้ากันอีกครั้ง  วันนี้จะชวนกันทำแกงส้มมะละกอใส่ปลาทู   และถ้าท่านที่ชอบแกงส้มอยากทานแกงส้มผักอันใด ก็จัดการได้เลยจ้ะ  เพราะความสำคัญน่าจะอยู่ที่น้ำแกงส้มนี้แหละ     ตัวผมเองนั้นมีโอกาสไปแวะเยี่ยมบ้านเพื่อนสมัยเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่อำเภอท่ายาง  จังหวัดเพชรบุรี  แล้วเพื่อนสาวน้ำใจงามเก็บมะละกอสุกและดิบให้ติดไม้ติดมือกลับมาบ้าน พร้อมบอกว่า วันไหนผ่านมาทางนี้แวะมาเอาไปทานได้อีกนะ เพราะบ้านเรามีหลายต้น   ซึ้งใจนัก แถมตัวผมเองยังได้ต้นพริกที่เพาะไว้สำหรับปลูกอีกจำนวนหนึ่ง แหม...ช่างสุขใจเสียจริง  มะละกอสุกก็ทานได้เลย เป็นมื้อเช้าของผม ส่วนมะละกอดิบ 3 ลูกเห็นที่ต้องทำแกงส้มน่าจะดีสุด  และแล้วการโขลกน้ำพริกแกงส้มก็เริ่มขึ้น  เครื่องปรุงมีดังนี้ พริกแห้งตามชอบว่าชอบเผ็ดมากเผ็ดน้อย  เกลือแกงหรือเกลือป่น ครึ่งช้อนโต๊ะ  หัวหอมแดงปลอกเปลือกพร้อม 6-8 หัว  กะปิเคยหรือกุ้ง 1 ช้อน   เครื่องแกงพร้อม ครกพร้อมจะรออะไรอีก เริ่มโขลกน้ำพริกแกงกันเลยครับ  พริกแห้ง หอมแดง เกลือ   โขลกพร้อมกันจนละเอียด จากนั้นตามด้วยกะปิ    แกงส้มมะละกอของเราใส่ปลาทูด้วย   หลังจากแกะเนื้อปลาทูนึ่งที่ซื้อมาจากตลาดจำนวน 5 เข่ง  ขอกันเนื้อปลาทูไว้ 1 เข่งเพื่อนำมาโขลกในพริกแกงส้มที่เราโขลกแล้วเสร็จ  ทำให้ทั้งสองสิ่ง คือพริกแกงส้มและปลาทู กลายเป็นเนื้อเดียวกัน  ถ้าเจอก้างปลาทูก็ควรเก็บออกเพราะอาจมีก้างปลาติดมานะจ้ะ    ลำดับต่อไป นำมะละกอดิบ ปอกเปลือกเขียวออก ล้างยางด้วยน้ำสะอาด และหั่นชิ้นมะละกอ นำไปล้างและแช่น้ำเพื่อให้มะละกอสดเสมอ กะดูแล้วเนื้อมะละกอได้เกือบ 2 กิโลกรัมเป็นแน่   เรามาเริ่มด้วยการเตรียมน้ำแกงส้มกันเลยครับ  ใช้น้ำสะอาดใส่หม้อต้มแกง ตักน้ำพริกที่เราเตรียมไว้ใส่ลงไป หลายท่านคงสงสัยว่าแล้วจะทราบได้อย่างไรมาต้องใช้น้ำเท่าใด ผมก็คงต้องตอบว่าใส่ให้เหมาะสมกับน้ำพริกที่เราเตรียมและมะละกอที่จะใส่ลงไปนะจ้า  ชอบน้ำข้นๆ หรือน้ำจางๆ ก็ว่าไปตามชอบ ตั้งหม้อน้ำแกงจนเดือดบนเตาไฟ จากนั้นใส่มะละกอที่เตรียมไว้ลงไป ปรุงรสตามความชอบของแต่ละบ้านเลยครับ แกงส้มก็ต้องใส่น้ำมะขามเปียกด้วยนะ ซึ่งขาดไม่ได้เลยเพราะรสเปรี้ยวของมะขามเปียกนี้แหละทำให้ความเปรี้ยวช่างนุ่มนวลชวนให้ตุ่มรับรสของลิ้นได้ทำงานได้อย่างลงตัว  ผมคนเมืองเพชรจึงใช้น้ำตาลโตนดแท้ของเมืองเพชรบุรีใส่ลงไป 2 ฝ่ามือ  แกงส้มบ้านผมนิยมใส่น้ำตาลลงไปด้วยเพราะชอบทั้งความหวานความเปรี้ยว  และให้มีความเค็มผสมกันอย่างลงตัว ก็จะเกิดรสชาติถูกลิ้นคนถิ่นนี้นะครับผม  จากนั้นจึงนำปลาทูที่เราแกะแล้วใส่ลงไป    ก็จะได้แกงส้มมะละกอใส่เนื้อปลาทูฉีก รสเลิศแบบฉบับครัวนางฟ้า  จากนั้นตักใส่ถ้วยแก้วใสๆ ให้เห็นสีของน้ำแกง เสิร์ฟพร้อมข้าวสวยร้อนๆ  หรือจะหาไข่เจียว  ปลาเค็มทอด มารับประทานร่วมสำรับด้วยก็จะยิ่งลงตัว  มื้อนี้กินไม่หมด มื้อหน้าอุ่นและเติมไหลบัวที่ซื้อมาจากตลาดเมืองเพชร  20 บาทใส่ลงไปเพิ่ม ก็เท่ากับว่าเราจะมีแกงส้มไหลบัวเพิ่มอีก ก่อนลาไปขอแถมสรรพประโยชน์จากแกงส้มในครานี้ ผมเลยนำเกร็ดเล็กๆ ที่น่ารู้ของมะละกอมาฝากด้วย ผลสุก - มีสรรพคุณป้องกันหรือแก้โรคเลือดออกตามไรฟัน การกินเนื้อมะละกอสุก ช่วยเป็นยาระบายอ่อนๆ เพราะไปช่วยเพิ่มจำนวนกากใยอาหาร จึงช่วยแก้อาการแก้ท้องผูก เมื่อมีอาการปวดตามข้อและหลัง รับประทานมะละกอสุกเป็นประจำป้องกันและบำบัดโรคปวดข้อปวดหลังได้ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ไม่มีแรง ส่วนยางจากผลดิบ – เป็นยาช่วยย่อยโปรตีนและฆ่าพยาธิได้ ถ้าเป็นกลาก เกลื้อน ฮ่องกงฟุตหรือเท้าเปื่อย ใช้ยางของลูกมะละกอดิบทาวันละ 3 ครั้งฆ่าเชื้อราได้ข้อมูล https://th.wikipedia.org/wiki/มะละกอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนกรกฎาคม 2559“บินถูกแต่ไม่มีที่นั่ง” โฆษณาเอาเปรียบผู้บริโภคโปรโมชั่นเที่ยวบินราคาถูกของบรรดาสายบิน “โลว์คอสต์” ต่างๆ กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากของผู้ที่ต้องเดินทางเป็นประจำและกลุ่มผู้ที่รักการท่องเที่ยว แต่ล่าสุดได้เกิดปัญหาจากโฆษณาโปรโมชั่นของสายบินโลว์คอสต์ที่สร้างความเข้าใจผิดกับผู้บริโภค จนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ต้องออกมาเตือนพร้อมกำหนดแนวทางให้กับบรรดาสายการบินต่างๆ ในการทำโปรโมชั่นเที่ยวบินราคาถูกโดย สคบ.ออกมาเตือนสายการบินโลว์คอสต์แห่งหนึ่ง ที่มีการโฆษณาว่าบินเที่ยวออสเตรเลียจ่ายเพียง 1,200 บาท ซึ่งเมื่อมีการตรวจสอบแล้วพบว่า ราคาที่โฆษณามีที่นั่งจำกัดแค่ 1-2 ที่นั่งเท่านั้น ซึ่งการโฆษณาดังกล่าวถือเป็นโฆษณาในลักษณะที่เอาเปรียบผู้บริโภค เพราะเป็นการโฆษณาโดยให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ทาง สคบ.จึงทำเอกสารชี้แจงไปยังผู้ประกอบการธุรกิจสายการบิน ว่าการโฆษณาโปรโมชั่นเที่ยวบินราคาพิเศษต่างๆ สามารถทำได้ แต่ต้องระบุข้อความให้ชัดเจน ครบถ้วน เกี่ยวกับเงื่อนไขและรายละเอียด วันเริ่มต้น วันสิ้นสุดของโปรโมชั่นที่โฆษณา จำนวนที่นั่งที่มีให้ หากผู้ประกอบการธุรกิจรายใด กระทำการโฆษณาโดยใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการจะมีความผิดตามกฎหมาย ถอนทะเบียน 40 ตำรับยาต้านแบคทีเรีย ทำคนป่วยเพราะดื้อยามีข้อมูลว่าในแต่ละปีมีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาประมาณ 88,000 คน และเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอย่างน้อยปีละ 20,000 - 38,000 คน ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการใช้ยาต้านแบคทีเรียที่ไม่เหมาะสมศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายนักวิชาการจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกันแถลงข่าว “เตือนภัยตำรับยาต้านแบคทีเรียที่ควรถอดถอนออกจากประเทศไทย” โดยเป็นการแถลงข้อมูลที่ได้จากการศึกษารายการยาต้านแบคทีเรียในประเทศ พบว่ามีมากกว่า 40 สูตรยาตำรับ ที่ควรถอนทะเบียนตำรับยาออกจากประเทศไทยเนื่องจากเป็นยาที่ไม่ได้มีประสิทธิผลในการรักษาโรค เช่น “ยาอมแก้เจ็บคอ” ที่ไม่ควรมียาต้านแบคทีเรียเป็นส่วนประกอบ เพราะโรคเจ็บคอมากกว่า 80% ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หากเกิดจากแบคทีเรียปริมาณยาก็ไม่เพียงพอต่อการฆ่าเชื้อในลำคอให้หาย แถมการกลืนยาลงสู่กระเพาะอาหารยังทำให้เกิดเชื้อดื้อยาของแบคทีเรียในลำไส้ หรือ ยาต้านแบคทีเรียที่เป็นสูตรผสมชนิดฉีด ที่ไม่ควรเป็นสูตรผสมเพราะอาจเกิดปัญหาประสิทธิภาพการรักษา และเพิ่มความเสี่ยงมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับทั้งนี้จะมีการยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ถอนบัญชียาเหล่านี้ออกจากประเทศ โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบบัญชียาดังกล่าวได้ที่ www.thaidrugwatch.org หรือ www.thaihealth.or.th10 อาการป่วยใช้สิทธิ์ฉุกเฉินได้ทันทีฟรี 24 ชม. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้กำหนดกลุ่มอาการฉุกเฉินวิกฤต 10 อาการ เพื่อเป็นหลักให้ประชาชนสามารถเข้าใจได้ง่าย ในการใช้บริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สายด่วน 1669 ซึ่งหากพบผู้ป่วยด้วยอาการ 10 ลักษณะต่อไปนี้ สามารถเข้ารับการรักษากรณีฉุกเฉินได้ทันที ไม่มีค่าใช้จ่าย ตลอด 24 ชั่วโมง1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ, 2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง, 3.ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือ มีอาการชักร่วม, 4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง, 5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือ ชักต่อเนื่องไม่หยุด, 6.ได้รับบาดเจ็บ ต่อสมอง ต่อกระดูกสันหลัง มีแขนขาอ่อนแรง มีบาดแผลที่เสียเลือดมาก ถูกไฟฟ้าแรงสูง แผลไฟไหม้บริเวณกว้าง, 7.ถูกยิง ถูกแทง ที่ศีรษะ ลำตัว อวัยวะสาคัญ, 8.งูพิษกัด ซึม หายใจลำบาก หนังตาตก, 9.ตั้งครรภ์และชัก ตกเลือดมาก มีน้ำเดิน เด็กโผล่ และ 10.บาดเจ็บต่อดวงตาจากสารพิษ มองไม่ชัดคนไทยถูกค่ายมือถือเอาเปรียบ?รู้หรือไม่ว่า? คนไทยต้องจ่ายค่าบริการโทรศัพท์มือถือสูงกว่าความเป็นจริง  หลังจากมีข่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญศึกษากลไกปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนเพื่อการปฎิรูปประเทศ (สปท.) ได้เรียกให้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาให้ข้อมูลที่ทั้ง 3 บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ คือ เอไอเอส ดีแทค และ ทรู คิดค่าบริการเกินกว่าที่หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตให้บริการ ซึ่งทาง กสทช. ก็รับว่าปัจจุบันทั้ง 3 ค่ายมือถือยังมีการคิดค่าบริการที่สูงกว่าอัตราที่ กสทช. กำหนดโดยตามประกาศ เรื่องอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ให้บริการบนคลื่นความถี่ 2.1 จิกะเฮิรตซ์ (GHz) ที่ กสทช. กำหนดนั้น การคิดค่าบริการจะต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริง แยกเป็น การบริการเสียง ห้ามเกินนาทีละ 69 สตางค์ บริการข้อความสั้น (SMS) ไม่เกิน 1.15 บาท/ ข้อความ บริการข้อความมัลติมีเดีย (MMS) ไม่เกิน 3.11 บาท/ข้อความ และบริการอินเตอร์เน็ต (Mobile Internet) ไม่เกิน 0.26 บาท/เมกกะไบค์ (MB)ซึ่งจากนี้ กสทช. ต้องทำหน้าที่ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล เร่งดำเนินการเอาผิดกับผู้ประกอบการค่ายมือถือที่เอาเปรียบผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบโปรโมชั่นต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นไปตามอัตราที่กำหนด สำหรับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือหากพบว่าค่าบริการที่ใช้อยู่สูงกว่าอัตราที่ทาง กสทช. กำหนด สามารถร้องเรียนไปได้ที่ สายด่วน กสทช.1200 ฉลากอาหารแบบใหม่เป็นมิตรกับผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภควอนรัฐเดินหน้าอย่ายกเลิกคณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) นำเสนอผลการสำรวจการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร พบว่าส่วนใหญ่มีการปรับปรุงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ.2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ โดยข้อมูลผลสำรวจที่ได้นำมาใช้เป็นข้อมูลโต้แย้งกับแนวคิดของประชารัฐกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารขอให้ยกเลิกประกาศฉบับดังกล่าว ให้กลับมาใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 194 พ.ศ.2543 เรื่องฉลาก ซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคน้อยกว่าฉบับที่ 367 โดยประชารัฐกลุ่มนี้อ้างว่า ไม่สามารถทำตามประกาศ สธ.ที่ 367 เพราะมีข้อจำกัดมากมาย ไม่สามารถปฏิบัติได้จริงและสับสน และไม่สามารถทำฉลากใช้ร่วมกับประเทศอื่นได้ ต้องมีสต็อกฉลากเฉพาะขายในประเทศไทยทำให้ต้นทุนสูง    ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 367 พ.ศ.2557 จะมีการให้แสดงข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคมากกว่าประกาศฉบับที่ 194 เช่น สำหรับผู้แพ้อาหาร กรณีใช้ส่วนประกอบหรือปนเปื้อนในกระบวนการผลิตของสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไข่ ถั่ว นม นอกจากนี้ต้องแสดงชื่อกลุ่มหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหารร่วมกับชื่อเฉพาะหรือตัวเลขตามระบบเลขรหัสสากล (International Numbering System : INS for Food Additives)รศ. ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ คณะอนุกรรมการฯ คอบช. กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจฉลากแสดงชัดเจนว่า ข้ออ้างของประชารัฐที่ไม่สามารถทำตามประกาศ สธ.ที่ 367 นั้น ไม่เป็นความจริง จึงขอเรียกร้องให้ อย. บังคับใช้ประกาศฉบับดังกล่าว และให้มีกระบวนการตรวจสอบการแสดงฉลากของผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนพฤษภาคม 2559ไขข้อข้องใจการเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มเป็นแบบชิปการ์ดธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกมาชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตเป็นแบบชิป(Chip Card) หลังจากมีกระแสข้อสงสัยหลายเรื่องถูกแชร์ต่อๆ กันในโลกออนไลน์ เช่นว่าการเปลี่ยนบัตรต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือไม่ หรือเมื่อเปลี่ยนบัตรพนักงานธนาคารจะเปลี่ยนให้เป็นบัตรที่พ่วงประกันซึ่งมีค่าธรรมเนียมรายปีสูงกว่า ฯลฯโดยข้อเท็จจริงที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงออกมามีดังนี้1.ผู้ที่ออกบัตรใหม่ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 2559 เป็นต้นไป จะได้รับบัตรเป็นแบบชิป ซึ่งธปท.บอกว่ามีความปลอดภัยในการใช้งานกว่าบัตรแบบเดิม(แถบแม่เหล็ก)2.บัตรแบบเดิมยังใช้งานได้ถึง 31 ธันวาคม 2562 หรือตามกำหนดของธนาคารแต่ละแห่ง3.คนที่อยากเปลี่ยนบัตรเป็นแบบชิปสามารถแจ้งกับธนาคารได้ทันที โดยมีค่าธรรมเนียมตามธนาคารแต่ละแห่งจะกำหนด4.ธนาคารบางแห่งอาจยกเว้นค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนบัตร เพื่อส่งเสริมการขาย ซึ่งก็เป็นไปตามเงื่อนไขของธนาคารแต่ละแห่ง5.บัตรแบบชิปสามารถใช้ได้กับตู้เอทีเอ็มได้ตามปกติ แต่ในระยะแรกอาจมีตู้บางตู้ในบางพื้นที่ของบางธนาคารที่ยังไม่พร้อมในการใช้งาน โดยตู้ที่ยังไม่รองรับจะมีการแสดงข้อความให้ผู้ใช้บริการทราบปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตให้บริการเป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละบัตรมีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปีแตกต่างกัน ก่อนใช้บริการทุกครั้งควรสอบถามข้อมูลกับพนักงานให้ชัดเจน เพื่อให้ได้บัตรที่ตรงกับความต้องการของเรามากที่สุด และมีสิทธิปฏิเสธการใช้บริการหากไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน   สั่งปิด “โรงพยาบาลเดชา”กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ได้มีคำสั่งปิดการให้บริการของโรงพยาบาลเดชา พญาไท ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.2559 ที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่า รพ.อยู่ในสถานภาพที่ไม่พร้อมให้บริการ ถูกตัดไฟ มีแพทย์เหลือเพียงแค่ 1 คน ซึ่งการสั่งปิดเป็นไปตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541สบส.เชื่อว่าการสั่งปิดโรงพยาบาลเดชา จะไม่กระทบกับผู้ป่วย เพราะทาง รพ.ทราบอยู่ก่อนแล้ว โดยก่อนที่ รพ.จะถูกสั่งปิดมีผู้ป่วยในที่ยังคงรักษาจำนวน 7 คน เป็นผู้ป่วยในระบบประกันสังคม โดยได้ประสานส่งตัวไปรักษายัง รพ.อื่นต่อไป ส่วนผู้ป่วยนอกนั้นมีน้อยอยู่แล้ว จึงไม่น่าเกิดผลกระทบอะไรกับผู้ป่วย รพ.เดชา พญาไท เปิดดำเนินกิจการมายาวนานกว่า 35 ปี ก่อตั้งโดย นพ.เดชา สุขารมณ์ แต่ที่ผ่านมาได้ให้บริษัท ศรีอยุธยา จำกัด เช่าและบริหารงานโรงพยาบาลเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยคิดค่าเช่าเดือนละ 1 ล้านบาท แต่ผู้เช่ารายดังกล่าวได้ค้างค่าเช่าเป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท ทำให้เป็นคดีความกันอยู่ ส่งผลต่อการบริหารงานใน รพ.ก่อนจะมาถูกสั่งให้ปิดการให้บริการลงในที่สุด ภาคประชาชนค้านนโยบายเลิกจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากการที่มีกระแสข่าวว่ากระทรวงการคลังจะมีนโยบายยกเลิกจ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้เกินเดือนละ 9,000 บาท หรือมีสินทรัพย์สูงเกิน 3 ล้านบาท เพื่อลดภาระงบประมาณด้านสวัสดิการภาครัฐ ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนต้องออกมารวมตัวกันแถลงไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพราะเป็นการลดทอนสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ และเป็นการกระทำโดยไม่ยึดหลักเรื่องความเสมอภาคเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ประกอบด้วยเครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายสวัสดิการชุมชน และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้ร่วมกันแถลงข่าวคัดค้านนโยบายดังกล่าว พร้อมทั้งมีข้อเรียกร้องให้กระทรวงการคลัง เลือกใช้วิธีอื่นในการแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณไม่ใช่การลดสิทธิเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นงบประมาณที่ได้จากการเก็บภาษีโดยในการเก็บภาษีก็ไม่ได้แบ่งแยกคนรวยคนจน ดังนั้นเรื่องการจัดสรรสวัสดิการพื้นฐานก็ไม่ควรแบ่งแยกคนรวยหรือคนจนเช่นกัน อย. ยัน “Derma Roller” อันตราย!!! ห้ามใช้เด็ดขาดอย.ได้ออกมายืนยันแล้วว่า เครื่องลูกกลิ้งนวดหน้า (Derma Roller) ที่โอ้อวดว่าช่วยรักษารอยสิว รอยแผลเป็นบนใบหน้า ลบรอยเหี่ยวย่น เป็นสินค้าที่ไม่มีการอนุญาตให้นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่เพียงพอในการสนับสนุนประสิทธิภาพ หรือข้อบ่งใช้ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว พร้อมฝากเตือนว่าตามที่สินค้าดังกล่าวโฆษณาโอ้อวดไว้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้คนที่มีปัญหารอยแผลจากสิว มีริ้วรอยเหี่ยวย่นกลับมามีผิวที่มีสุขภาพดีขึ้นได้ ทำให้หน้าเรียบใส โดยการทำให้ผิวเกิดรอยแผล แล้วผิวจะซ่อมแซมตัวเองโดยการสร้างคอลลาเจนขึ้นมาใหม่นั้น เป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบที่ผิวหนัง เกิดการระคายเคืองจากสารที่ทาบนผิวหนัง และอาจเป็นอันตรายต่อดวงตาเมื่อนำไปใช้ใกล้บริเวณรอบๆ ดวงตา หากอุปกรณ์ไม่สะอาดก็อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ เพราะฉะนั้นไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโดยเด็ดขาด เจอสารเคมีปนเปื้อนในผัก-ผลไม้เพียบ แม้แต่ที่มีตรา “Q” ก็เจอเกินมาตรฐานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือ Thai-PAN เปิดเผยผลการสุ่มเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมรับประทาน เช่น กะหล่ำปลี แตงกวา ผักบุ้งจีน มะเขือเทศ ผักกาดขาวปลี คะน้า ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ กะเพรา และพริกแดง แตงโม มะม่วงน้ำดอกไม้ มะละกอ แก้วมังกร ฝรั่ง และส้มสายน้ำผึ้ง  รวมทั้งหมด 138 ตัวอย่าง พบว่ามีผักและผลไม้ตกค้างเกินมาตรฐานนั้นสูงถึง 46.4% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของตัวอย่างที่ตรวจ จากผลการวิเคราะห์พบประเด็นที่น่าสนใจคือ ผักและผลไม้ซึ่งได้รับตรา Q โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พบสารเคมีตกค้างมากที่สุด  โดยพบสูงถึง 57.1% นอกเหนือจากนั้นผักและผลไม้อินทรีย์ที่ได้รับการรับรอง Organic Thailand ซึ่งไม่ควรตรวจพบการตกค้างของสารเคมีกลับพบการตกค้างสูงเกินมาตรฐานถึง 25% ของจำนวนตัวอย่างโดยหลังจากที่ได้มีการเผยแพร่ผลการวิเคราะห์ออกไป กลับได้รับคำตำหนิจากหน่วยงานรัฐอย่างกรมวิชาการเกษตรที่ออกมาให้ข่าวว่าจะดำเนินการฟ้องร้อง Thai-PAN ที่สร้างความเสียหายต่อหน่วยงานรัฐ สร้างความเข้าใจผิดต่อผู้บริโภคแต่ทั้งนี้ Thai-Pan ก็เตรียมฟ้องกรมวิชาการเกษตรในฐานที่ละเลยการตรวจสอบคุณภาพผัก-ผลไม้ โดย น.ส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการโครงการกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่าประเด็นการฟ้องร้องจะแบ่งเป็น 2 กรณีคือ 1.กรมวิชาการเกษตรละเลยการควบคุมสินค้าที่มีเครื่องหมาย Q เนื่องจากพบปัญหาสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานทั้งที่ผ่านการรับรองแล้ว 2.พบการตกค้างของสารอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งเป็นสารเคมีที่ห้ามจำหน่ายในประเทศไทย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนมีนาคม 2559เริ่มเก็บค่าผ่านทางอัตราใหม่ “มอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-ชลบุรี” 18 เม.ย.กรมทางหลวงออกประกาศว่า ในวันที่ 18 เมษายนนี้ จะเริ่มต้นเก็บค่าผ่านทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์) สายกรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร โดยในระยะทางตอนแรกจากกรุงเทพฯ-ชลบุรี 78 กิโลเมตร จะเป็นระบบปิด คือเก็บตามระยะทางรับบัตรจากต้นทาง แล้วจ่ายเงินเมื่อออกจากด่าน เฉลี่ยกิโลเมตรละ 1 บาท จากเดิมที่เก็บในอัตราเดียวคือด่านละ 30 บาท โดยมี 5 ด่าน คือ ด่านลาดกระบัง ด่านบางบ่อ ด่านบางปะกง ด่านพนัสนิคม และด่านพานทอง ซึ่งอัตราค่าผ่านทางใหม่นี้จะทำให้ผู้ใช้เส้นทางได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น เพราะเป็นการคิดตามระยะทางโดยอัตราค่าธรรมเนียมผ่านทาง ประเภทรถ 4 ล้อ เริ่มต้นที่ 10 - 60 บาท รถ 6 ล้อ เริ่มต้นที่ 15 - 95 บาท และ รถที่มากกว่า 6 ล้อ เริ่มต้นที่ 20  – 140 บาท ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊คของกรมทางหลวง เพิ่มความคุ้มครองอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะถือว่าเป็นข่าวดี เมื่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีมติปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองการประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับทั้งกรณีเสียชีวิตและบาดเจ็บ โดยเพิ่มความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตและทุพลภาพจาก 200,000 บาท เป็น 300,000 บาท และเพิ่มค่าชดเชยเป็นค่ารักษาพยาบาลจาก 50,000 บาท เป็น 80,000 บาท ซึ่งจะมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 59 นี้เป็นต้นไปนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่าการเพิ่มเติมวงเงินชดเชยครั้งนี้ เป็นข้อสรุปที่ได้จากการร่วมประชุมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย และตัวแทนบริษัทประกันภัย ซึ่งการปรับปรุงเพิ่มความคุ้มครองครั้งนี้ จะครอบคลุมกับผู้ที่ทำประกันทั้งหมด ทั้งผู้ประกันรายใหม่และผู้ที่ทำประกันเดิมที่ยังไม่สิ้นสุดระยะเวลาประกัน ที่สำคัญคือค่าเบี้ยประกันยังคิดในอัตราเดิมไม่มีการปรับเพิ่มขึ้น   เมืองไทยยังขาดแคลนนักบินปัจจุบันนี้ในบ้านเราการสัญจรโดยเครื่องบินโดยเฉพาะการเดินทางภายในประเทศมีแน้วโน้มความต้องการการใช้บริการที่มีแต่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยราคาที่ถูกลง จำนวนเที่ยวและสายการบินที่เพิ่มขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามขณะนี้เรากำลังประสบปัญหาขาดแคลนนักบินจากการเปิดเผยข้อมูลโดย สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) พบว่าขณะนี้ไทยมีนักบินอยู่จำนวน 2,500 - 3,000 คน ซึ่งในแต่ละปี ธุรกิจการบินต้องการนักบินใหม่เพื่อเพิ่มและทดแทนปีละ 400 - 500 คน แต่ปัจจุบันสามารถผลิตนักบินได้เพียงปีละ 200 - 300 คน รวมถึงกลุ่มวิศวกรด้านการบินและช่างอากาศยาน มีทั้งสิ้น 8,000 - 9,000 คน แต่ละปีสามารถผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมการบินได้เพียง 300 - 400 คนต่อปี จากความต้องการมากกว่า 400 คนต่อปีด้าน ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจคุณภาพของหลักสูตรของสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เปิดสอนด้านการบิน เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรด้านการบิน จำนวน 26 แห่ง โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีจำนวนนักศึกษาสนใจเข้าเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี ตามการขยายตัวของธุรกิจการบินในประเทศ แต่สายการบินส่วนใหญ่โดยเฉพาะสายการบินที่เปิดใหม่ก็ยังมีความต้องการนักบินและช่างอากาศยานที่มีความเชี่ยวชาญมีประสบการณ์มากกว่านักบินหรือช่างที่จบใหม่ ทำให้เกิดการขาดช่วงแรงงาน เอาผิด “สุรชัย Face Off” โฆษณาเกินจริงกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เอาผิดโรงพยาบาลศัลยกรรมตกแต่งกมล หลังมีความผิดจากการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง กรณีทำศัลยกรรมเสริมความงามให้แก่ นายสุรชัย สมบัติเจริญ นักร้องลูกทุ่ง ในโครงการ “เฟซออฟ ผ่าแหลก ศัลยกรรม 10 อย่างบนหน้ากระชากความแก่จาก 60 ให้เหลือ 35 โดย ดร.เซปิง” โรงพยาบาลศัลยกรรมตกแต่งกมล มีการยินยอมให้มีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณบริการเสริมความงาม เนื่องจากไม่ได้มีการทักท้วงหรือปฏิเสธ การโฆษณาประชาสัมพันธ์เรื่องดังกล่าวเลย ซึ่งถือว่าผิดมาตรา 38 พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 11 พ.ศ. 2546 เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการโฆษณาสถานพยาบาล โดยจะมีการเปรียบเทียบปรับเป็นจำนวน 20,000 บาท และจะปรับต่อวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะยุติการเผยแพร่การโฆษณา นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภาได้ให้ความเห็นถึงการโครงการ “เฟซออฟ” ผ่าตัดศัลยกรรมใบหน้าให้ดูอ่อนวัยลงครั้งนี้ว่า “การทำศัลยกรรมของคุณสุรชัยครั้งนี้ เป็นการทำเฟซลิฟต์ (Face Lift) คือ การดึงหน้าให้ตึงขึ้น ทั้งส่วนของหน้าผาก การดึงแก้มไปซ่อนที่หลังหู นอกจากนี้ ยังมีการทำตา ฉีดโบท็อกซ์เพื่อลดการหดตัวของกล้ามเนื้อไม่ให้เกิดร่องลึก และฟิลเลอร์ให้เต่งตึง ซึ่งตรงนี้จะอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน การทำศัลยกรรมดึงหน้าและทำตา ถือว่าเป็นหัตถการที่ไม่เสี่ยงมาก หากประชาชนทั่วไปอยากทำก็สามารถทำได้ แต่ต้องพิจารณาฝีมือของหมอด้วย”   เอายาปฏิชีวนะ ออกจากอาหารของเราคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ได้ร่วมรณรงค์ในประเด็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญอย่างเรื่อง การปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในอาหารซึ่งส่งผลต่อมายังสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่ง สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International) ได้ยกเป็นประเด็นรณรงค์ที่สำคัญและเร่งด่วน โดยได้มีการขอความร่วมมือไปยังร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดชื่อดังซึ่งมีสาขากระจายอยู่ทั่วโลก ให้เลือกใช้วัตถุดิบในการผลิตอาหารโดยเฉพาะพวกเนื้อสัตว์ที่มาจากการเลี้ยงที่ปลอดจากการใช้ยาปฏิชีวนะนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสมาชิกสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล ได้กล่าวว่า ในต่างประเทศร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อดังอย่าง  แมคโดนัลด์ เริ่มตื่นตัวกับปัญหานี้บ้างแล้ว โดยสาขาในอเมริกาได้ให้คำมั่นว่าจะรับซื้อเฉพาะเนื้อไก่จากฟาร์มที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะชนิดที่ใช้ในคนภายในปี พ.ศ. 2560 การรณรงค์ในประเทศไทยครั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ร้านฟาสต์ฟู้ดที่เปิดสาขาในเมืองไทยเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ด้วยด้าน ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้อำนวยการ กพย. กล่าวว่า การดื้อยาทำให้เกิดวิกฤติทางสุขภาพของผู้คนทั่วโลก สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นในการเลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้คาดว่าการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคการเกษตรจะเพิ่มขึ้นจาก 63,200 ตันในปี พ.ศ. 2553 เป็น 105,600 ตันในปี พ.ศ. 2573 ถ้าไม่จัดการปัญหาดังกล่าว ซึ่งการดื้อยาจะส่งผลต่อการรักษาอาการป่วยบางโรค อาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจเป็นเป็นโรคร้ายแรงที่คร่าชีวิตคนได้การรณรงค์ครั้งนี้เปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถร่วมลงชื่อสนับสนุนให้เกิดการยกเลิกการใช้ยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ได้ที่ www.change.org ในหัวข้อ เอายาปฏิชีวนะ ออกจากอาหารของเรา (Antibiotics Off the Menu)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนมกราคม 2559อย.ยืนยันไม่เคยขึ้นทะเบียน “ยาฉีดสลายไขมัน” อย.ออกมายืนยันไม่เคยมีการขึ้นทะเบียนยาใดๆ ที่มีคุณสมบัติเพื่อสลายไขมัน หลังจากพบว่ามีการโฆษณาฉีดสารสลายไขมันจากผู้ที่แอบอ้างเป็นหมอ หรือ “หมอกระเป๋า” ที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องการรักษาใดๆ แต่รับฉีดยาให้กับผู้ที่ติดต่อซื้อบริการ ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายมาก อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตตามที่เคยปรากฎเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ อย.ย้ำว่าการที่ผลิตภัณฑ์ใดจะได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาจะต้องผ่านการพิจารณาในด้านการควบคุมคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของยา โดยต้องผ่านการตรวจสอบให้เป็นไปตามหลักวิชาและข้อกำหนดตามกฎหมาย ผลิตภัณฑ์สลายไขมันซึ่งใช้วิธีฉีดเข้าสู่ร่างกายที่มีจำหน่ายและบริการอยู่เป็นผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย การฉีดสารแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดการแพ้ขั้นรุนแรง เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต การจะเข้ารับบริการฉีดสารใดๆ เพื่อผลเรื่องความสวยความงามหรือผลต่อสุขภาพนั้น ควรเข้ารับบริการจากสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับอนุญาตในการประกอบกิจการสถานพยาบาลเท่านั้นเพื่อความปลอดภัย   ปปง.สั่งยึดทรัพย์ “แคลิฟอร์เนีย ว้าว” แล้วหลังจากเป็นคดีมาตั้งแต่ปี 2555 ในที่สุดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ก็ได้ทำการดำเนินการยึดทรัพย์ บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน หลังจากทำการปิดสถานบริการออกกำลังกายชื่อดัง “แคลิฟอร์เนีย ว้าว” โดยไม่มีการแจ้งให้กับผู้ใช้บริการทราบล่วงหน้า แถมไม่มีการดำเนินการชดเชยใดๆ ให้กับสมาชิกที่มีมากกว่า 500 ราย มูลค่าความเสียหายหลาย 10 ล้านบาท  ซึ่งผู้เสียหายได้ร่วมตัวกันโดยมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภครับเป็นตัวแทนในการดำเนินการฟ้องร้องตามกฏหมาย จากการตรวจสอบเส้นทางการเงิบพบว่าบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ในช่วงที่มี นายเอริค มาร์ค เลอวียน เป็นกรรมการบริษัทอยู่ด้วยนั้น ได้มีการโอนเงินจากบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ไปซื้อที่ดิน จำนวน 5 แปลง โดยมีบริษัท ฟิตเนส เอสเตท จำกัด เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าบริษัท ฟิตเนส เอสเตท มีรายชื่อของนายเอริค มาร์ค เลอวีน เป็นกรรมการบริษัท แม้ต่อมาได้มีการเปลี่ยนกรรมการบริษัท มีบริษัท ละติจูด 43 จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท ละติจูด 43 จำกัด มีบุคคลผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง คือ นายเอริค มาร์ค เลอวีน ทั้งนี้ โดยการหลอกลวงนั้น ทำให้ประชาชนหลงเชื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกพร้อมจ่ายเงินเป็นค่าสมัครและใช้บริการ ก่อนจะปิดกิจการหนีหายไป จากพยานหลักฐานทั้งหมด จึงเชื่อว่าบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) กับพวกมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลอาญาแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ปปง. จึงมีมติอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดรายบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) กับพวกไว้ชั่วคราว เป็นที่ดินในจังหวัดพังงาจำนวน 5 รายการ รวมประมาณ 17 ไร่ รวมราคาประเมินทั้งสิ้นประมาณ 88,332,500 บาท จากนี้ก็จะมีการดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป อิเกีย เรียกคืนของเล่นเด็กอิเกีย ร้านขายเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งบ้านที่มีสาขาไปทั่วโลก ล่าสุดอิเกียประเทศไทยได้เรียกคืนสินค้า “ไม้กลองและกลองทังก์ดรัม รุ่น LATTJO/ลัททิโอ” หลังมีรายงาน 6 ฉบับจากพนักงานอิเกียที่ระบุว่า หัวยางบนไม้กลองอาจหลุดหรือหมุนออกมาได้ และอาจติดคอเป็นอันตราย หากเด็กเล็กกลืนลงคอด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แม้ว่าสินค้านี้จะผ่านการทดสอบและรับรองตามมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับของเล่น แต่เมื่อมีการตรวจสอบในภายหลังแล้วพบว่าสินค้าอาจเกิดอันตราย อิเกียจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการเบื้องต้นคือการเรียกคืนสินค้าและหยุดการจำหน่ายสินค้าดังกล่าว ที่ผ่านมา อิเกียประเทศไทยได้มีการเรียกคืนสินค้ามาแล้วหลายรายการ เช่น ชิงช้า รุ่น GUNGGUNG/ยุงยุง เนื่องจากพบว่าอุปกรณ์แขวนชิงช้าไม่ผ่านข้อกำหนดด้านคุณภาพ หรือแม้สินค้าประเภทอาหารอย่าง พาสต้ารูปกวางเอลก์ (PASTAÄLGAR) และพาสต้าโฮลเกรนรูปกวางเอลก์ (PASTAÄLGAR FULLKORN) เนื่องจากมีส่วนผสมของถั่วเหลืองแต่ไม่ได้ระบุไว้บนฉลาก ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับผู้แพ้ถั่วเหลือง ปี 58 จับยาปลอม-อาหารเสริมโม้สรรพคุณ มูลค่ารวมถึง 180 ล้านบาทในปี 2558 ที่ผ่านมา มีข่าวคราวเรื่องของการตรวจจับผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ทั้งอาหารเสริมและยาปรากฏตามสื่อต่างๆ เป็นจำนวนมาก เหมือนกับว่าปราบเท่าไหร่ก็ไม่หมด ยิ่งจับก็ยิ่งเจอ เป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคไทยเรายังตะหนักถึงเรื่องอันตรายของยาและอาหารเสริมหลอกลวงสรรพคุณกันไม่มากพอ ทำให้เกิดเป็นช่องทางให้พ่อค้า-แม่ค้าที่ไม่หวังดีนำสินค้าอันตรายมาหลอกขาย มีข้อมูลในปี 2558 ที่ผ่านมา อย.ได้ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้ทำการการจับกุมและดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และเครื่องสำอางจำนวน 101 ครั้ง พบผู้กระทำความผิดจำนวน 148 ราย จำนวนของกลาง 1,019 รายการ คิดเป็นมูลค่า 185.55 ล้านบาท แยกเป็น ยา มูลค่าของกลาง 31.17 ล้านบาท จำนวน 729 รายการ, อาหาร มูลค่าของกลาง 151.21 ล้านบาท จำนวน 181 รายการ, เครื่องสำอาง มูลค่าของกลาง 2.45 ล้านบาท จำนวน 84 รายการ, วัตถุอันตราย มูลค่าของกลาง 5 แสนบาท จำนวน 11 รายการ, วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท มูลค่าของกลาง 1.7 แสนบาท จำนวน 13 รายการ และยาเสพติด 5 หมื่นบาท จำนวน 1 รายการ นอกจากนี้ ในปี 2558 อย. ยังมีการเผาทำลายของกลางผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ใช่ยาเสพติด ซึ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว รวมทั้งสิ้น 132 คดี น้ำหนัก 32,730 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าของกลางกว่า 100 ล้านบาท NGO ร้องรัฐบาลตรวจ สสส. ต้องโปร่งใส อย่าให้ประชาชนต้องเสียประโยชน์“ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน” ประกอบด้วย 20 เครือข่าย อาทิ ชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายงดเหล้าและบุหรี่ เครือข่ายเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายนักวิชาการปฏิรูประบบสุขภาพ ฯลฯ ร่วมกันแถลงการณ์เพื่อแสดงจุดยื่นต่อกรณีการปลดบอร์ดกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.ตามคำสั่งของ คสช. รวมถึงกรณีการสั่งชะลอโครงการกว่า 2,000 โครงการที่ภาคประชาชนรับงบสนับสนุนจาก สสส. ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการทำงานด้านพัฒนาสังคม งานพัฒนาสังคมหลายๆ ด้านต้องใช้พลังในการทำงานจากภาคประชาชน ซึ่งที่ผ่านมามีงานที่ทำโดยภาคประชาชนแล้วเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานด้านการยกระดับการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน การให้ความรู้เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องการเท่าทันสื่อ เรื่องสิทธิมนุษยชน ฯลฯ ซึ่งการทำงานทุกอย่างจำเป็นต้องมีงบประมาณในการทำงานซึ่งที่ผ่านมา สสส. ถือเป็นหน่วยงานหลักที่ค่อยทำหน้าที่สนับสนุนองค์กรภาคประชาชนในการทำงานด้านสังคมมาโดยตลอด หากรัฐบาล คสช. ยืนยันที่จะเปลี่ยนแปลงบทบาทการทำงานของ สสส. และยุติการสนับสนุนทุนให้กับกลุ่มองค์กรเครือข่ายที่ทำงานด้านพัฒนาสังคม ย่อมจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการพัฒนาและการเสริมสร้างความรู้ความเข้มแข็งของคนในประเทศอย่างแน่นอน นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การออกมาแสดงจุดยืนร่วมกันครั้งนี้ ไม่ได้ออกมาเพื่อปกป้องบอร์ด สสส. แต่มาเพื่อประชาชน เพราะการเหมารวมตรวจสอบทุกโครงการทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ การตรวจสอบสามารถทำได้แต่ต้องโปร่งใสและยุติธรรม การปฏิรูป สสส. ต้องมีภาคประชาชนเจ้าไปมีส่วนร่วมด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนกรกฎาคม 2558 “ดีแทค” ครองแชมป์ ลูกค้าโวยปัญหาสายหลุด กสทช. ได้เปิดเผยข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านสายด่วน กสทช. 1200 ในช่วงระหว่างวันที่ 2 ก.ค. 2558 ถึง 14 ก.ค. 2558 พบว่ามียอดร้องเรียนเรื่องปัญหาสายหลุดที่ประชาชนแจ้งร้องเรียนเข้ามาถึง 116 เรื่อง โดย ดีแทค (Dtac) เป็นแชมป์เครือข่ายที่มีผู้บริโภคโทรเข้ามาร้องเรียนปัญหามากที่สุด 46 เรื่อง โดยเป็นกรณีสายหลุดที่พบในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ รองลงมาคือ เครือข่าย เอไอเอส (AIS) 42 เรื่อง ส่วนเครือข่าย ทรู มูฟ (TRUE MOVE) มีเรื่องร้องเรียนที่จำนวน 27 เรื่อง และสุดท้ายคือ เครือข่าย แคท เทเลคอม (CAT) มี 1 เรื่องโดยทาง กสทช. จะแจ้งผู้ให้บริการทราบถึงจุดที่พบปัญหาเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขภายใน 2 สัปดาห์ หากตรวจสอบแล้วพบว่ายังไม่มีการแก้ไข จะเรียกผู้ให้บริการเจ้าของปัญหาเข้ามาชี้แจง พร้อมทั้งกำหนดมาตรการลงโทษทางปกครอง ซึ่งการทำสำรวจและเปิดเผยข้อมูลสู่สังคมครั้งนี้ของ กสทช. เพราะต้องการจะใช้มาตรการทางสังคมกดดันค่ายมือถือให้ปรับปรุงคุณภาพบริการ เพราะฉะนั้นหากใครพบปัญหาจากการใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนแล้วสายหลุดหรือจะเป็นปัญหาเรื่องอื่นๆ สามารถร้องเรียนได้ทันทีที่สายด่วน 1200 โทรฟรีไม่มีค่าบริการ อย. จัดระเบียบร้านยา ห้ามขายยากลุ่มแก้แพ้-แก้ปวดเกิน 300 ขวดต่อร้านต่อเดือนอย.คุมเข้มร้านขายยา ด้วยการออกกฎเหล็กให้ทุกร้านขายยาน้ำแก้ไอ ยาแก้แพ้ ให้ผู้ซื้อได้ไม่เกิน 3 ขวดต่อ 1 คน และผู้ผลิตยาสามารถจำหน่ายยาให้กับร้านขายยาได้ไม่เกินร้านละ 300 ขวดต่อ 1 เดือน นอกจากนี้กลุ่มยาแก้ปวดผู้ผลิตสามารถขายให้กับร้านขายยาได้ในปริมาณร้านละไม่เกิน 1,000 แคปซูลต่อเดือน และร้านขายยาสามารถขายให้กับผู้ใช้ได้คนละไม่เกิน 20 แคปซูล ห้ามขายให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 17 ปี ด้วยเหตุผลเพื่อป้องกันปัญหาการใช้ยาไม่ในทางที่ผิด หลังมีกระแสที่เด็กนักเรียนนำ “ยาโปรโคดิล” และ “ยาทรามาดอล” ซึ่งเป็นยาในกลุ่มแก้แพ้ แก้ปวด ไปใช้ไม่ถูกวิธี คือนำไปผสมเป็นเครื่องดื่มเพื่อให้เกิดอาการมึนเมาแทนการเสพสารเสพติด ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะขึ้นชื่อว่ายาหากใช้ไม่ถูกวิธีต้องย่อมเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้เช่นกันอย. ได้ทำการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านขายยาอย่างต่อเนื่อง หากพบว่ามีการซื้อขายยาในทางที่ผิด นอกจากจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแล้วก็จะถูกพักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลา 120 วันด้วย ซึ่งตั้งแต่ช่วงต้นปี 2558 – ปัจจุบัน มีร้านขายยาที่กระทำผิดกฎหมายถูกพักใช้ใบอนุญาตไปแล้วกว่า 40 ร้าน เปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหา “อี – คอมเมิร์ซ”สำนักส่งเสริมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์  (สพธอ. หรือ ETDA) ได้จัดตั้ง  OCC (Online Complain Center) หรือศูนย์รับเรื่องร้องเรียนออนไลน์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อดูแลทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในเรื่องการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ที่ปัจจุบันมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ช่องทางการซื้อขายสินค้าออนไลน์มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งผ่านทางเว็บไซต์ โซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้ง เฟซบุ๊ค ไลน์ อินสตาแกรม โดยศูนย์ OCC จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางการประสานเรื่องร้องเรียนต่างๆ  ไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย   อาทิ  สคบ, อย. และ  กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  (อปท.)  เพื่อระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น สำหรับปัญหาเกี่ยวข้องกับอี - คอมเมิร์ซที่ถูกร้องเรียนมากสุดก่อนหน้านี้ผ่านหมายเลข 1212 ของกระทรวงไอซีที คือปัญหาการส่งของช้า รองลงมาคือ ได้ของหรือสินค้าไม่ตรงตามที่สั่ง และปัญหาการฉ้อโกง สั่งซื้อแล้วไม่ได้ของ โดยปีแรกของการดำเนินการคาดว่าศูนย์ดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับอี-คอมเมิร์ซที่แจ้งเข้ามายังศูนย์ได้ 50% ซึ่งตั้งเป้าหมายการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรื่องแต่ละเรื่องใน 7 วันทำการ อย่าหลงเชื่ออาหารเสริม “เจอมิน็อค” อ้างป้องกันโรคเมอร์สจากกระแสข่าวเรื่องการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา สายพันธุ์ 2012 หรือโรคเมอร์ส (MERS) ในต่างประเทศ ทำให้มีประชาชนจำนวนไม่น้อยเกิดความกังวลว่าจะป่วยด้วยโรคดังกล่าว ทำให้มีผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางรายฉวยโอกาส หลอกลวงขายสินค้าที่อ้างว่าช่วยป้องกันไวรัสเมอร์สอย. ได้ทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ เจอมิน็อค (GERMINOK) ซึ่งวางจำหน่ายทาง www.bimhcc.com โดยอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ที่มีความเสี่ยงเพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวและสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ทุกชนิด แต่จากการตรวจสอบพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้วางจำหน่าย ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเจอมิน็อคจึงมีความผิดฐานอาหารปลอมเพราะไม่ได้รับอนุญาตเลขสารบบอาหารจาก อย. นอกจากนี้ยังผิดฐานโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงและโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต คุยงานร้านกาแฟ ระวังโดนคิดค่าบริการเพิ่ม ชั่วโมงละ 1,000!!!ในสังคมออนไลน์ได้มีการแชร์เหตุการณ์ที่มีผู้ใช้บริการร้านกาแฟร้าน Bon coffee สาขาหน้าบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต ถนนรัชดาภิเษก ถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มจากค่าอาหารและกาแฟสูงถึง 2,000 บาท โดยทางร้านแจ้งว่าเป็นค่าบริการที่ลูกค้าใช้สถานที่ในร้านเป็นที่คุยธุระทางร้านคิดค่าบริการชั่วโมงละ 1,000 บาท 2 ชั่วโมงจึงเท่ากับ 2,000 บาท ซึ่งสร้างความสงสัยและตกใจให้กับผู้ใช้บริการอย่างมาก จนต้องนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาบอกเล่าต่อผ่านสังคมออนไลน์ร้อนถึง สคบ. ต้องเชิญตัวแทนร้านกาแฟดังกล่าวมาชี้แจง ซึ่งหลังจากพูดคุย สคบ. ได้ออกมายอมรับว่า การเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าวของทางร้านไม่ถือว่าเป็นความผิด เพราะทางร้านมีการติดป้ายเตือนลูกค้าที่จะเข้ามานั่งเพื่อหวังประกอบธุรกิจส่วนตัวแล้วยึดที่นั่งไว้เป็นเวลานานๆ ทำให้ผู้ที่อยากมาใช้บริการไม่สามารถใช้บริการได้ ต้องถูกคิดค่าบริการเพิ่มชั่วโมงละ 1,000 บาท ทั้งนี้ในวันเกิดเหตุพนักงานในร้านได้มีการแจ้งกับลูกค้าก่อนแล้วว่าจะขอเก็บค่าบริการนั่งคุยธุระในร้านชั่วโมงละ 1,000 บาท แต่ลูกค้าก็ไม่ได้จ่ายค่าบริการดังกล่าวจ่ายแต่เพียงค่ากาแฟเท่านั้น ซึ่งเมื่อทางร้านมีการติดป้ายเตือนแจ้งไว้อยู่แล้วจึงถือว่าไม่ผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 แต่ป้ายอาจจะเล็กเกินไป ทาง สคบ. จึงได้แต่แนะนำให้ทางร้านทำป้ายให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ให้ลูกค้าที่มาใช้บริการเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมิถุนายน 2558“หัวเชื้อกลิ่นแมงดา” ปลอดภัยถ้าใช้ตามปริมาณที่กำหนดจากกรณีที่มีการส่งต่อคลิปวิดีโอผ่านทางโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับการนำวัตถุแต่งกลิ่นรส “กลิ่นแมงดานา” หยดลงบนกล่องโฟมแล้วพบว่าสามารถทำให้กล่องโฟมละลายได้ สร้างความสงสัยและตกใจให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ร้อนถึงทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ต้องรีบออกมาชี้แจงถึงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ซึ่ง อย. ยืนยันว่าวัตถุแต่งกลิ่นดังกล่าวได้รับการอนุญาตให้ใช้ได้ในอาหาร และมีความปลอดภัยเมื่อใช้ในปริมาณที่กำหนดวัตถุแต่งกลิ่นรสกลิ่นแมงดานาจัดเป็นอาหารที่ต้องมีฉลากประเภทวัตถุแต่งกลิ่นรสตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 223) พ.ศ. 2544 เรื่อง วัตถุแต่งกลิ่นรส ทั้งนี้ วัตถุแต่งกลิ่นรสกลิ่นแมงดานาได้จากการผสมของสารสำคัญในกลุ่มสารอินทรีย์ที่ให้กลิ่นรสหลายชนิดเข้าด้วยกัน โดยสารอินทรีย์เหล่านี้มีคุณสมบัติทางเคมีที่สามารถทำให้โฟมละลายได้ เนื่องจากโฟมมีคุณสมบัติสามารถละลายได้ในตัวทำละลายอินทรีย์เกือบทุกชนิด ผู้บริโภคสามารถใช้วัตถุแต่งกลิ่นรสกลิ่นแมงดานาเป็นส่วนผสมในอาหาร เพื่อเพิ่มกลิ่นรสได้โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หากใช้ตามคำแนะนำที่ระบุไว้บนฉลาก เพราะมีการใช้ในปริมาณที่น้อยมาก (ประมาณ 1 – 3 หยดต่อน้ำพริก 1 ถ้วย) ไม่ได้เทลงไปโดยตรงบนแผ่นโฟมในปริมาณมากดังที่ปรากฏในคลิปวิดีโอ “น้ำตาลฟลุกโตสไซรัป” มากไประวังตับพัง!!!ปัจจุบันคนไทยเรามีปัญหาเรื่องการนริโภคน้ำตาลมากเกินไป ซึ่งส่งผลเสียอย่างมากต่อสุขภาพ ยิ่งเดี๋ยวนี้คนไทยนิยมดื่มเครื่องดื่มบรรจุขวดกันมากขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง แถมหลายยี่ห้อยังเลือกใช้น้ำตาลฟลุกโตสไซรัปสังเคราะห์แทนน้ำตาลทราย เพราะให้ความหวานมากกว่าแต่ต้นทุนถูกกว่า ซึ่งน้ำตาลสังเคราะห์ก็มีอันตรายต่อสุขภาพไม่แพ้น้ำตาลทรายหากรับประทานในปริมาณมากเกินไปทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมาเตือนผู้ที่ชอบดื่มเครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลสังเคราะห์เป็นประจำให้ระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพ เนื่องจากน้ำตาลสังเคราะห์หากรับประทานมากเกินไปแล้วร่างกายเผาผลาญไม่หมด น้ำตาลสังเคราะห์จะเปลี่ยนเป็นไขมันไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งทำให้อ้วนลงพุง ที่สำคัญคือเป็นอันตรายต่อตับ เพราะน้ำตาลประเภทนี้เมื่อเข้าไปในร่างกายจะตรงไปที่ตับก่อน แต่เมื่อร่างกายจะดึงพลังงานไปใช้ จะเลือกดึงน้ำตาลจากส่วนอื่นของร่างกายก่อนตับ เมื่อเผาผลาญหรือใช้ไม่หมดก็จะเกาะอยู่ที่ตับ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรค ตับอักเสบ และตับแข็งสถานการณ์การบริโภคน้ำตาลมากเกินไปของคนไทยถือว่าอยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง มีผลวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยคนละ 83.6 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 16.7 ช้อนชา ทั้งๆ ที่ปริมาณที่เหมาะสมต่อการรับประทานใน 1 วันคือไม่เกิน 6 ช้อนชาเท่านั้นยา 2 มาตรฐาน?!!จากการที่ก่อนหน้านี้มีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมราคายาหลายๆ ชนิดที่จ่ายโดยโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งจึงมีราคาสูงกว่ายาที่จ่ายโดยโรงพยาบาลของรัฐ จนนำไปสู่กระแสข่าวลือที่ว่า ยาที่วางขายในประเทศมี 2 เกรด โดยยาราคาถูกจะผสมแป้งหรือสารอื่นที่ไม่ใช่ตัวยาสำคัญปริมาณมากเพื่อลดต้นทุน ซึ่งนั่นเป็นการส่งผลให้ยาด้อยคุณภาพลง ทำให้ อย. ซึ่งหน่วยที่รับผิดชอบในเรื่องการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายยาในประเทศ ต้องออกมาชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวเป็นแค่ข่าวลือเท่านั้น ผลิตภัณฑ์ยา ต้องได้รับการกำกับดูแลโดย อย. ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 โดยกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะผลิต ขาย นำเข้า มาในประเทศ จะต้องได้รับใบอนุญาตฯ และผลิตภัณฑ์ยาทุกตำรับจะต้องผ่านการพิจารณาตามหลักวิชาการก่อนที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาทั้งในส่วนของสูตรตำรับ วิธีการผลิต และการควบคุมคุณภาพ การแสดงฉลาก ฯลฯโดย อย. ยืนยันว่ามีมาตรการในการเฝ้าระวังคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยาที่มีการกระจายอยู่ในท้องตลาด เช่น โครงการเฝ้าระวังคุณภาพยาประจำปี ซึ่งมีการกำหนดชนิดของผลิตภัณฑ์ยาที่มีความเสี่ยง เช่น ยาสำหรับกลุ่มโรคเรื้อรัง ยาที่มีปริมาณการใช้สูง ยาที่มีความคงตัวต่ำ เป็นต้น และมีการเก็บตัวอย่างจากผู้ผลิต/ผู้นำหรือสั่งยาฯ ส่งวิเคราะห์คุณภาพที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ยาที่ผู้บริโภคจะได้รับมีคุณภาพ ความปลอดภัย และมีประสิทธิผลในการใช้ตามที่ได้มีการขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้หมึกสักลาย ปนเปื้อนโลหะหนัก - แบคทีเรีย สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างหมึกสำหรับสักลาย 52 ตัวอย่าง เพื่อประเมินคุณภาพและความปลอดภัย จากผลวิเคราะห์พบ สารหนูเกินมาตรฐานที่กำหนดที่ 5 ไมโครกรัมต่อกรัม จำนวน 4 ตัวอย่าง ไมโครกรัมต่อกรัม ส่วน แคดเมียมเกินมาตรฐานที่กำหนดที่ 1 ไมโครกรัมต่อกรัม จำนวน 4 และตะกั่วพบ 2 ตัวอย่าง แต่ไม่เกินมาตรฐานกำหนดที่20 ไมโครกรัมต่อกรัม แต่ไม่พบปรอทและสีห้ามใช้ในทุกตัวอย่าง สำหรับการตรวจหาเชื้อก่อโรค พบเชื้อแบคทีเรียเกินกำหนด 13 ตัวอย่าง และพบเชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซา 1 ตัวอย่าง จำนวนที่ปนเปื้อนอยู่ในระดับ 35,000 - 10,000,000 โคโลนีต่อกรัม ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ไม่เกิน 1,000 โคโลนีต่อกรัมหมึกสักลายที่มีการปนเปื้อนโลหะหนัก เมื่อเข้าสู่ร่างกายต่อเนื่องเป็นเวลานานจะเกิดการสะสมที่บริเวณผิวหนัง และอาจเป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนัง ส่วนเชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซา สามารถก่อโรคได้หลายชนิด หากติดเชื้อที่ปอดอาจจะทำให้ปอดและหลอดลมอักเสบ รวมถึงหากได้รับเชื้อทางผิวหนังอาจจะทำให้เกิดโรคทางผิวหนัง ทำให้เกิดอาการบวม แดง ผิวหนังแข็ง กลายเป็นเนื้อตาย ซึ่งปัจจุบันนี้หมึกสักลาย ไม่ได้ใช้เฉพาะผู้ที่สักรายสวยงามตามร่างกายเท่านั้น แต่ยังใช้ในกลุ่มเสริมความงาน เช่น สักคิ้ว สักริมฝีปากอีกด้วย ซึ่ง อย. กำลังพิจารณาที่หมึกสักเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องสำอางเพื่อให้มีมาตรฐานและการควบคุมที่ชัดเจนมากขึ้นร่วมลงชื่อสนับสนุนกฎหมายผู้บริโภคที่ change.orgคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ ขอเชิญชวนผู้บริโภคทั่วประเทศร่วมลงชื่อสนับสนุน 2 กิจกรรมรณรงค์ผลักดันให้เกิดกฎหมายดีๆ เพื่อผู้บริโภคในประเทศไทย ประกอบด้วย 1. “ลงชื่อสนับสนุนให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป” หลังจากรอมา 18 ปี ถึงเวลาเสียทีที่กฎหมายสำหรับผู้บริโภคจะต้องเกิดขึ้นในประเทศไทย และ 2. “ลงชื่อสนับสนุนเรียกร้องให้ อย. บังคับใช้ฉลากโภชนาการแบบสัญญาณไฟจราจรในผลิตภัณฑ์อาหาร” คนไทยกำลังเผชิญกับภาวะน้ำหนักเกิน นั่นเป็นเพราะเรายังขาดความรู้เรื่องโภชนการที่ถูกต้อง จะดีกว่ามั้ย? ถ้ามีเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้บริโภครู้ทันว่าตัวเองกำลังกินอะไร ด้วยฉลากที่บอกปริมาณสารอาหารอย่าง น้ำตาล ไขมัน เกลือ พลังงาน ด้วยสีสัญญาณไฟจราจรโดยสามารถร่วมลงชื่อสนับสนุนทั้ง 2 กิจกรรมรณรงค์ได้ที่ www.change.org/th หรือลิงค์ที่อยู่ในหน้าเพจเฟซบุ๊ค องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และเพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทุกเสียงมีความหมาย มาช่วยกันเปลี่ยนแปลงระบบการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้นไปพร้อมกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 164 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2557 ใช้ “พ.ร.บ.ทวงหนี้” จัดการเจ้าหนี้โหด คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน นักกฎหมาย ตัวแทนลูกหนี้  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล  ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณา “ร่างพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ...” เพื่อเสนอความเห็นและข้อเสนอต่อ คณะกรรมาธิการฯ ให้พิจารณาแก้ไขบทบัญญัติในกฎหมายเพื่อให้เกิดการคุ้มครองลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบให้ได้รับความเป็นธรรมจากการทวงถามหนี้  พร้อมเสนอให้เพิ่มเติมมาตรการเยียวยาความเสียหายแก่ลูกหนี้ ที่ได้รับผลกระทบจากการทวงหนี้  และขอให้เร่งการออกกฎหมายฉบับนี้โดยเร็วเพื่อเป็นมาตรการคุ้มครองลูกหนี้และลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ปัจจุบันปัญหาเรื่องการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม กลายเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งในสังคม โดยวิธีการที่เจ้าหนี้ใช้มีทั้ง การข่มขู่ การใช้วาจาหยาบคาย ยึดทรัพย์โดยพลการ หรือการทำร้ายร่างกาย ซึ่งผลจากการคุกคามของเจ้าหนี้ทำให้ลูกหนี้ต้องกู้เงินนอกระบบมาชำระหนี้ในระบบเพิ่มอีก บ้างก็ตัดสินใจออกจากงานเพราะทนแรงกดดันไม่ไหว, ครอบครัวมีปัญหา รวมไปถึงการฆ่าตัวตายดังที่เป็นข่าว ซึ่งการมายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณา พ.ร.บ.ฯ ครั้งนี้ เพื่อต้องการให้มีการเร่งรัดการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้โดยเร็วที่สุด พร้อมกับมีข้อเสนอเพิ่มเติม ทั้งการควบคุมให้สถาบันการเงินที่ปล่อยบัตรสินเชื่อเงินสดหรือสินเชื่อให้กับลูกหนี้ ห้ามยึดเงินเดือนจากบัญชีธนาคารของลูกหนี้เนื่องจากขัดต่อกฎหมาย การยึดเงินเดือนของลูกหนี้ตามกฎหมายต้องฟ้องศาลก่อน เมื่อศาลมีคำสั่งจึงเข้าสู่กระบวนการอายัดเงินเดือนได้สูงสุด 30% ของเงินเดือนเท่านั้น หรือการคิดดอกเบี้ยเกินที่กฎหมายระบุ ซึ่งนายมนตรีรับปากว่า จะผลักดันกฎหมายฉบับนี้ให้ประกาศใช้ได้ก่อนสิ้นปี 2557 นี้   เครือข่ายผู้บริโภคขอ “พ.ร.บ. ยา” ที่เป็นธรรมกับประชาชน แนะตัดภาคธุรกิจออกจากคณะกรรมการฯ ผศ.ภญ.สำลี ใจดี ประธานมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา  และตัวแทนคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนร่วมกับภาคประชาสังคม 15 องค์กร เข้าพบเลขาธิการอย. เพื่อยื่นหนังสือโดยขอให้นำความเห็นและข้อเสนอแนะที่มีต่อร่าง “พระราชบัญญัติยา พ.ศ.....” ฉบับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.)  เพื่อให้แก้ไขและบรรจุในพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีรายละเอียดตามมติดังนี้ 1. สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ...... ฉบับประชาชน  เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนาระบบยาของประเทศ 2. เสนอให้ตัดผู้แทนจากภาคธุรกิจออกจากคณะกรรมการยาทั้ง 4 ชุด เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่สมควรเข้ามากำกับดูแลนโยบาย 3. เสนอให้คงไว้และห้ามตัดออกสาระที่ดีมากใน พ.ร.บ. ยาฉบับกฤษฎีกา คือ ข้อมูลการขึ้นทะเบียนยา โดยเฉพาะ โครงสร้างราคายาและข้อมูลสิทธิบัตร เพราะมีส่วนในการกำหนดราคายาที่เหมาะสมและเป็นการเข้าถึงยาของประชาชนเมื่อยานั้นหมดสิทธิบัตรลง 4. เสนอให้เพิ่มหมวดการควบคุมราคายา เพื่อป้องกันการกำหนดราคายาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค โดยให้นำสาระจากร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับประชาชน 5. การจัดการกับการโฆษณาและการส่งเสริมการขายยาจะต้องเข้มงวดมากขึ้น โดยยกระเบียบต่างๆ ขึ้นมาอยู่ในระดับกฎหมาย 6. ต้องไม่ขยายคำจำกัดความของ “ยาปลอม” ไปครอบคลุมเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นกลวิธีของอุตสาหกรรมยาข้ามชาติที่ต้องการขัดขวางการเข้าถึงยาของประชาชนและทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญ   สปสช., สคบ., มพบ. จับมือทำงาน “ผู้บริโภค มาด้วยใจ ก้าวไกลด้วยกัน” เมื่อวันที่ 24-25 กันยายน 2557 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกันจัดงานประชุมวิชาการด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค “Consumer Convergence: ผู้บริโภค มาด้วยใจ ก้าวไกลด้วยกัน” ซึ่งการเสวนาและระดมความคิดเพื่อยกระดับการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย สร้างความร่วมมือกันในการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจทั้งการเสวนาวิชาการเกี่ยวกับผู้บริโภค การแลกเปลี่ยนเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคในต่างประเทศจากประสบการณ์ของคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคจากเวียดนามและอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการร้องเรียนปัญหา แนวทางการพัฒนาให้ผู้บริโภคเข้มแข็ง การนำเสนองานวิจัยที่เกียวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย มีการจัดการประชุมกลุ่มย่อยในหัวข้อ “What’s next? ความร่วมมือในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับจังหวัดและระดับประเทศในอนาคต” เพื่อช่วยกันระดมความคิดในการพัฒนาระบบการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องของการมีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนภาคประชาชน เรื่องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการมีส่วนร่วมในการคุมครองผู้บริโภค และเรื่องของนวัตกรรมด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ภายในงานยังมีการมอบรางวัลศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการดีเด่นระดับประเทศปี 2556 โดยผู้ได้รับรางวัลประเภทโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปอันดับที่ 1 ได้แก่ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด อันดับที่ 2  โรงพยาบาลนครพนม จังหวัดนครพนม และอันดับที่ 3  โรงพยาบาลพะเยา จังหวัดพะเยา ส่วนรางวัลชมเชยได้แก่ โรงพยาบาลสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ในส่วนของประเภทโรงพยาบาลชุมชน อันดับที่ 1 ได้แก่ โรงพยาบาลกันตัง จังหวัดตรัง อันดับที่ 2 โรงพยาบาลสนม จังหวัดสุรินทร์ และอันดับที่ 3 โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนรางวัลชมเชยได้แก่โรงพยาบาลมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น และโรงพยาบาลบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการดีเด่นระดับเขต ประจำปี 2556 ประเภทโรงพยาบาลชุมชนได้แก่ โรงพยาบาลบ้านค่าย จังหวัดระยอง และโรงพยาบาลเรณูนคร จังหวัดนครพนม   ยกเลิกสัญญาอินเตอร์เน็ตไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ปัญหาเรื่องการถูกเรียกเก็บเงินจากการขอยกเลิกบริการอินเตอร์เน็ตภายในบ้าน เป็นปัญหาที่มีการร้องเรียนมายัง กสทช. เป็นจำนวนมาก จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน มีการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่าถูกผู้ประกอบการโทรคมนาคมคิดค่าปรับ ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายอื่นใด เมื่อผู้ใช้บริการต้องการยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด โดยมีจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งหมด  757 กรณี ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตมักอ้างเหตุผลว่า ฟรีค่าติดตั้งและค่าธรรมเนียมแรกเข้า แต่หากผู้ใช้บริการบอกเลิกการใช้บริการก่อนกำหนดจะต้องจ่ายค่าบริการที่เป็นโปรโมชั่นดังกล่าว เหมือนเป็นการผู้มัดผู้ใช้บริการว่าต้องใช้สินค้าของตนแม้จะใช้แล้วรู้สึกไม่พอใจในสินค้าแต่ก็ห้ามยกเลิก หากยกเลิกต้องเสียเงิน ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อ 15 ของประกาศ กทช. เรื่อง “มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549” ซึ่งห้ามบริษัทผู้ให้บริการคิดค่าปรับ หรือค่าเสียหายจากการที่ผู้ใช้บริการยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด ผู้บริโภคจึงมีสิทธิยกเลิกสัญญาใช้บริการอินเตอร์เน็ตกับผู้ให้บริการได้ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ หากผู้บริโภคพบเจอปัญหาดังกล่าวสามารถร้องเรียนไปได้ที่ สายด่วน กสทช. 1200   นักวิชาการชี้ “ยาอมแก้เจ็บคอ” ไม่ช่วยรักษาอาการ นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ยาอมแก้เจ็บคอที่วางขายในท้องตลาดเป็นจำนวนมากนั้น พบว่า มีการผสมยาปฏิชีวนะ 2 ประเภท คือ นีโอมัยซิน (Neomycin) และเบซิทราซิน (Bacitracin) ในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อการฆ่าเชื้อแบคทีเรียในลำคอให้ตาย แต่กลับเข้าไปรบกวนแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดการต่อต้านและกลายพันธุ์เป็นเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ซึ่งเป็นปัญหาทั่วโลก ส่วนที่กินแล้วรู้สึกอาการเจ็บคอดีขึ้น เป็นเพราะมียาชา จึงอยากให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งทบทวน และยกเลิกตำรับยาประเภทนี้ เพราะถือเป็นการใช้ยาที่ไม่จำเป็น การเจ็บคอเนื่องจากหวัดนั้นกว่า 70-90% ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นยาปฏิชีวนะสูตรเดี่ยว หรือยาที่มียาปฏิชีวนะเป็นส่วนผสมมาใช้ในการรักษา เพราะสามารถรักษาให้หายได้ด้วยตัวเอง เช่น 1. ดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง 2. ยาอมสมุนไพรฟ้าทลายโจร 3. อมน้ำเกลือกลั้วคอ 4. พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อสร้างเสริมภูมิต้านทานของร่างกาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2557 ประกันสังคมเพิ่มสิทธิผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ประกาศเพิ่มความคุ้มครองกรณีปลูกถ่ายอวัยวะ 5 รายการ ประกอบด้วย 1.การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ 2.การผ่าตัดปลูกถ่ายปอด 3.การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ 4.การผ่าตัดปลูกถ่ายตับอ่อน และ 5.การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมากกว่าหนึ่งอวัยวะพร้อมกัน ได้แก่ หัวใจและปอด หัวใจและไต ตับและไต ตับอ่อนและไต โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 พ.ค.57 เป็นต้นไป ก่อนหน้านี้สำนักงานประกันสังคมก็ได้ให้สิทธิผู้ประกันตนในการ ผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา ปลูกถ่ายไขกระดูก และปลูกถ่ายไต ครั้งนี้ได้มีการขยายความคุ้มครองแก่ผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจล้มเหลวชนิดรุนแรง โรคปอดที่มีอันตรายถึงชีวิต โรคตับเรื้อรังระยะสุดท้าย เป็นต้น ซึ่งโรคดังกล่าวไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ จึงต้องได้รับการรักษาโดยการปลูกถ่ายเปลี่ยนอวัยวะ โดยหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและอัตราบริการทางการแพทย์ ทั้งผู้บริจาคอวัยวะและผู้รับบริจาค จะได้รับสิทธิครอบคลุมค่าใช้จ่าย ดังนี้  1. ค่าเตรียมก่อนการผ่าตัด 2. ค่าใช้จ่ายเมื่อเข้ารับการผ่าตัดของผู้รับบริจาค กรณีมีภาวะแทรกซ้อน และกรณีไม่มีภาวะแทรกซ้อน 3. ค่าใช้จ่ายหลังการผ่าตัด ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมกับสำนักงานประกันสังคมที่สามารถทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะได้ 5 แห่งขณะนี้ คือ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลศรีนครินทร์     ขนส่งฯ เข้มเรื่อง “เข็มขัดนิรภัย” ระวังโทษปรับทั้งคนนั่ง-คนขับ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นวันดีเดย์ที่กรมขนส่งทางบกประกาศให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องมีการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง พร้อมเดินหน้าบังคับใช้เข้มงวดจริงจัง (สักที) เป้าหมายเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุจากรถโดยสารที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ได้ทำข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทพบว่ามีเกิดขึ้นเฉลี่ยถึง 2,000 ครั้งต่อปี ซึ่งมีผลการวิจัยถึงประโยชน์ของการใช้เข็มขัดนิรภัยในประเทศไทยระบุว่า ผู้ที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์มากกว่าผู้ที่คาดเข็มขัดนิรภัยถึง 1.52 เท่าและพบว่าการคาดเข็มขัดนิรภัยสามารถช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้ถึงร้อยละ 34 สำหรับประเภทของรถโดยสารสาธารณะที่ต้องปฎิบัติตามคำสั่งนี้ได้แก่ รถตู้โดยสารสาธารณะ ทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง รถโดยสารประจำทางที่วิ่งระหว่างจังหวัด และรถโดยสารไม่ประจำทาง หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องโดนโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมนังได้มีการออกกฎกระทรวง เรื่องกำหนดความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยที่ผู้โดยสารต้องปฏิบัติในระหว่างการโดยสาร พ.ศ. 2557 ที่มีข้อบังคับให้ผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัยเป็น 1 ใน 10 บังคับเรื่องความปลอดภัยที่ผู้โดยสารรถโดยสารสาธารณะต้องปฏิบัติ   ยาจุดกันยุงอันตราย ตายทั้งยุง ตายทั้งคน บ้านไหนที่ใช้ยาจุดกันยุงต้องระวัง เพราะเดี๋ยวนี้มียาจุดกันยุงไม่ได้มาตรฐาน เสี่ยงสารอันตรายทำร้ายสุขภาพถูกลักลอบนำเข้ามาขายหลอกลวงผู้บริโภค โดยล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมมือกับกองปราบปรามเกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ทำการจับกุมผู้กระทำผิดที่ลักลอบผลิต-จำหน่ายยาจุดกันยุงที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน ได้แก่ ยาจุดกันยุงยี่ห้อ LaoJun และ ยี่ห้อgoldeer จากการตรวจสอบพบว่ายาจุดกันยุงทั้ง 2 ยี่ห้อ มีการใช้ “สารเมเพอร์ฟลูทริน” ( Meperfluthrin ) ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในกลุ่มของสารไล่แมลง ไพรีทริน หรือ ไพรีทรอยด์ ที่ อย. ยังไม่รับขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ไม่มีการยืนยันเรื่องความปลอดภัยและผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่ใช้ เพราะฉะนั้นก่อนจะซื้อยาจุดกันยุงหรือผลิตภัณฑ์สารเคมีกำจัดแมลงต่างๆ ต้องดูให้แน่ใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองถูกต้อง และอย่าลืมดูวิธีใช้ที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง   เศร้าเพราะ “ผักสด” สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เตือนคนชอบทานผัก ระวังผักสดที่ถูกใส่มาพร้อมในกล่องข้าวที่ปิดสนิท เพราะเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคสูง เหตุเพราะผักสดส่วนใหญ่จะมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งผักสดที่ไม่ได้ผ่านการล้างทำความสะอาดที่ดีพอ ก็อาจมีเชื้อแบคทีเรียตกค้าง ซึ่งมาจากดินที่ปลูก ขั้นตอนการเก็บ การขนส่ง หรือแม้แต่จากขั้นตอนการปรุง พอนำมาวางบนอาหารที่ปรุงสุกแล้วภายในกล่องซึ่งมีอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 35-50 องศาเซลเซียส ผักสดที่ได้รับความร้อนจากอาหารเป็นเวลานานๆ ทำให้ผนังเซลล์ของผักถูกทำลาย เชื้อแบคทีเรียจึงเจริญเติบโตได้ง่ายขึ้น ผักจะเน่าเร็วกว่าปกติ ทำให้เชื้อแบคทีเรียอาจปนเปื้อนลงในอาหาร เสี่ยงต่ออาการอาหารเป็นพิษ วิธีป้องกันก็ต้องวอนต่อไปยังพ่อครัว-แม่ครัวว่าควรแยกผักสดออกจากกล่องข้าวกับข้าวที่ทำใหม่ๆ แยกใส่ถุงพลาสติกต่างหาก ส่วนคนกินอย่างเราก็ควรเลือกกินอาหารที่ผลิตสดใหม่ ลดความเสี่ยงจากการอาหารไม่ปลอดภัย   ยกระดับเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลในประกันสังคม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน และกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก แถลงข่าว “ร่วมสร้างระบบหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ระบบหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว” เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบสุขภาพของผู้ประกันตนในสิทธิประกันสังคม ปัญหาที่ต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือ เรื่องของการเข้าถึงสิทธิ ที่ต้องสมทบเข้ากองทุนไม่น้อยกว่า 3 เดือน จึงจะได้รับสิทธิการรักษา และกรณีคลอดบุตรต้องสมทบไม่น้อยกว่า 7 เดือน จึงจะได้รับสิทธิค่าคลอดเหมาจ่าย ทำให้คนที่ยังจ่ายสมทบไม่ครบไม่สามารถใช้สิทธิใดได้เลย สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ใช้ไม่ได้ สิทธิประกันสังคมก็ยังไม่ได้สิทธิ ต้องให้สิทธิการรักษาพยาบาลเกิดขึ้นทันทีที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุน นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกจำนวนมากที่รอการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็น ให้การคลอดเป็นการรักษาพยาบาล โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ยกเลิกการจำกัดการคลอดได้ 2 ครั้ง ยกเลิกการจำกัดสิทธิไม่รักษากรณีการทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย ไม่ว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ ต้องรักษาทุกกรณี และต้องได้รับการชดเชยตามสิทธิกรณีตายที่ระบุไว้ในประกันสังคม ไม่กำหนดเพดานวงเงินและเงื่อนไขจำนวนครั้งต่อปี  ในการรักษาเกี่ยวกับฟัน ต้องเป็นไปตามความจำเป็น ให้สิทธิการรักษากรณีการบำบัดสารเสพติดต่างๆ รวมทั้งพัฒนาสิทธิประโยชน์การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย ให้ได้รับการบำบัดทดแทนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดอย่างโปรตีนแฟคเตอร์ที่เท่าเทียมเช่นสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อีกเรื่องที่มีความสำคัญมาก คือผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการรักษาพยาบาล จะไม่ได้รับสิทธิการคุ้มครองเช่นเดียวกับ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 41ทำให้ผู้ประกันตนต้องไปฟ้องศาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งใช้เวลานานไม่ทันต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงควรมีการดูแลคุ้มครองสิทธิด้านนี้ให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมด้วย   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมิถุนายน 2556 นมโรงเรียนไม่ปลอดภัย พบผลการตรวจที่น่าตกใจ เมื่อนมโรงเรียนที่แจกให้เด็กนักเรียนดื่มตามโรงเรียน ยังมีความเสี่ยงของเชื้อแบคทีเรียที่เกินค่ามาตรฐาน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ทำการตรวจสอบตัวอย่างนมโรงเรียนทั้งชนิดพาสเจอร์ไรส์ และยูเอชที ที่ผลิตจากโรงนมขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก และกลุ่มสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม ระหว่างปี พ.ศ.2553 - 2555 จำนวน 450 ตัวอย่าง พบว่ามีตัวอย่างที่ไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 42 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 9.3 เมื่อจำแนกตามรายการตรวจวิเคราะห์พบตัวอย่างไม่ได้มาตรฐานด้านจุลินทรีย์ พบปริมาณแบคทีเรียเกินมาตรฐานมากที่สุด นอกจากนี้ยังพบ เชื้อบาซีรัส ซีเรียส เชื้ออีโคไล และเชื้อโคลิฟอร์ม โดยพบนมพาสเจอร์ไรส์ไม่ได้มาตรฐานมากกว่านมยูเอชที นอกจากนี้ยังพบปัญหาเรื่องคุณค่าทางโภชนาการไม่ได้มาตรฐาน คือมีโปรตีนต่ำกว่ามาตรฐานอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ โดยทางกระทรวงสาธารณสุขคาดว่าสาเหตุที่นมโรงเรียนพบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์นั้นมาจาก ความไม่ได้มาตรฐานในการผลิต ไปจนถึงขั้นตอนการขนส่งและเก็บรักษาที่ไม่มีคุณภาพในการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม     หลอกลวง 100% ยาลดสัดส่วนเฉพาะจุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกโรงเตือนสาวๆ ที่คิดจะทานยาที่โฆษณาสรรพคุณว่าช่วยลดสัดส่วนเฉพาะจุด ว่ายาดังกล่าวอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง อย.ไม่เคยมีการรับรอง และไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะมียาลดสัดส่วนเฉพาะจุด อย.ได้ออกตรวจและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ขายยาในลักษณะดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีการโฆษณาขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยเบื้องต้นเข้าข่ายความผิดหลายประการ ทั้งการผลิตยา หรือ นำเข้ายา โดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ขออนุญาตในการขึ้นทะเบียนยา ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต โฆษณาเกินจริง และโฆษณาโอ้อวด โดยจะรวบรวมหลักฐานเพื่อเอาผิดทั้งผู้ขาย และแหล่งที่ผลิต ตาม พ.ร.บ.ยา 2522 ยาดังกล่าวนอกจากจะไม่มีผลตามที่โฆษณาอวดอ้างแล้ว ยังอาจก่อผลเสียต่อร่างกาย เพราะจากการตรวจสอบของ อย. เชื่อว่าน่าจะเป็นยาประเภทอาหารเสริม ประเภทแอลคานิทีน ที่เพิ่มการเผาผลาญ และมักพบว่ามีการแอบเติมยาที่ อย.ถอนทะเบียน โดยเฉพาะสารไซบูทรามีน ซึ่งมีผลข้างเคียงทั้งทำให้ความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นเร็ว ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต   ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้า (กำลังจะ) ล้นประเทศ!!! มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก โครงการพัฒนาแนวทางการประเมินปริมาณซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ ของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งได้มีการคาดการณ์ว่าในช่วงปี พ.ศ.2555-2559 หากไม่มีการดำเนินการกำจัดขยะอันตรายอย่างถูกต้อง ประเทศไทยเราจะมีซากขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ล้นประเทศ โดยสัดส่วนของขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภทที่คาดการไว้มีดังนี้  โทรทัศน์ 12 ล้านเครื่อง กล้องถ่ายภาพ/วิดีโอ 4 ล้านเครื่อง อุปกรณ์เล่นภาพ/เสียงขนาดพกพา 17 ล้านเครื่อง เครื่องพิมพ์/โทรสาร 7 ล้านเครื่อง โทรศัพท์มือถือ/โทรศัพท์บ้าน 48 ล้านเครื่อง คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล 11 ล้านเครื่อง เครื่องปรับอากาศ 3 ล้านเครื่อง และตู้เย็น 4 ล้านเครื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี อย่างที่จะเกิดขึ้นเร็วนี้คือเรื่องของ ทีวีดิจิตอล ที่อาจทำให้หลายครอบครัวต้องเปลี่ยนทีวีเครื่องใหม่เพื่อรองรับการส่งสัญญาณทีวีแบบใหม่ ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ถ้าหากไม่ได้รับการจัดการที่ดีจะก่อให้เกิดอันตรายกับทั้งคนและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งหาวิธีจัดการขยะอันตรายเหล่านี้อย่างถูกวิธี ด้านผู้บริโภคเองก็ต้องมีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหานี้ด้วยเช่นกัน เริ่มตั้งการลดปริมาณการใช้ แยกขยะ และไม่นำขยะอันตรายไปทิ้งในที่ที่ไม่ได้ถูกจัดเตรียมไว้อย่างเหมาะสม   เดินหน้ายกเลิกการใช้แร่ใยหิน ทั้งๆ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เรื่องให้สังคมไทยเป็นสังคมไร้แร่ใยหิน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2554 ตาม มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ปี 2553 แต่จนถึงขณะนี้บ้านเราก็ยังไม่มีกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้การใช้แร่ใยหินอย่างจริงจังสักที ล่าสุดในงานแถลงข่าวเรื่อง “สังคมไทยต้องไร้แร่ใยหิน” นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้แจ้งว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมยกเลิกการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1.กระเบื้องแผ่นเรียบ 2.กระเบื้องยางปูพื้น 3.ผ้าเบรกและคลัตช์ 4.ท่อซีเมนต์ใยหิน และ 5.กระเบื้องมุงหลังคา หลังจากได้ไปดำเนินการจัดทำแผนและกรอบเวลายกเลิกการนำเข้าผลิตและจำหน่ายแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบเพื่อสรุปเสนอเป็นแผนขอความเห็นชอบจาก ครม. โดยจะมีการนำเสนอเข้า ครม. พิจารณา ให้ไทยยกเลิก 5 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่ทำจากแร่ใยหินภายใน 5 ปี โดยผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่ใยหินอย่างผ้าเบรกและคลัตช์ที่มีกรอบระยะเวลาในการยกเลิก 5 ปี จะดำเนินการเฉพาะส่วนของรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลขนาดเล็กก่อน เนื่องจากในรถบรรทุกยังเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย ส่วนท่อซีเมนต์ใยหินจะให้ยกเลิกเฉพาะท่อที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 400 มม.เพราะท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 400 มม.ขึ้นไป กรมชลประทานมีหนังสือถึง ก.อุตสาหกรรม ว่าขอให้มีการขยายเวลาในการยกเลิก เนื่องจากติดขัดเรื่องความพร้อมในการผลิต ส่วนอีก 3 ผลิตภัณฑ์ที่เหลือจะเสนอให้ยกเลิกภายใน 5 ปี   องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กระตุ้น กสทช. ทำงาน ก่อนเกิดปัญหา “ซิมดับ” คนที่ใช้โทรศัพท์มือถือเครือข่ายทรูมูฟ รู้กันหรือยังว่า วันที่ 15 กันยายนที่จะถึงนี้ สัญญาสัมปทานการใช้คลื่นความถี่ที่ทางผู้ให้บริการทำไว้กับทาง กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จะหมดลง ซึ่งหมายความว่าต้องเกิดการเปลี่ยนเรื่องการใช้งานของผู้ใช้บริการ อาจจะต้องมีการโอนย้ายผู้ให้บริการ หรือที่เลวร้ายที่สุดคือ อาจไม่สามารถใช้งานหมายเลขโทรศัพท์ของเครือข่ายดังกล่าวได้ หรือพูดง่ายๆ คือเกิดปัญหา “ซิมดับ” คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เป็นห่วงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้อย่าง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ดูเหมือนจะยังหาทางออกให้ผู้บริโภคไม่ได้ คณะกรรมการองค์การอิสระฯ จึงได้ทำหนังสือเรียกร้องให้ทาง กสทช. เร่งดำเนินการแก้ปัญหาโดยด่วน โดยข้อเรียกร้องในการแก้ปัญหาประกอบด้วย 1.ตั้งคณะทำงานประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และกำหนดวันในการจัดการประมูลคลื่นใหม่โดยเร่งด่วน 2.ควบคุมกำกับ ไม่ให้บริษัทผู้ให้บริการทั้งสองรายคือ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (มหาชน) ซึ่งขณะนี้ยังคงทำสัญญาให้บริการอยู่ ต้องไม่ทำสัญญาให้บริการเกินวันที่ 15 กันยายน 2556 3.เร่งรัดให้บริษัทผู้ให้บริการทั้งสองราย แจ้งให้เจ้าของเลขหมายทุกรายทราบถึงการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานโดยทันที และมีบริการให้ผู้บริโภคติดต่อสอบถามฟรี รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินการโอนย้ายเครือข่ายให้เต็มตามศักยภาพ คือ 3 แสน เลขหมายต่อวัน พร้อมทั้งคืนเงินคงเหลือในระบบให้กับผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ทาง กสทช. เองทราบเรื่องการหมดสัมปทานมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่กลับไม่ยอมจัดการปัญหา คือการจัดประมูลสัมปทานใหม่ กลับนิ่งเฉยจนใกล้วันหมดอายุ จนกำลังจะกลายเป็นปัญหาของผู้บริโภคซึ่งแทบจะยังไม่รู้ข้อมูลใดๆ เลยว่าสัญญาณมือถือที่ใช้อยู่กำลังจะหยุดลง ซึ่งความจริงผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะรับทราบข้อมูลดังกล่าว เพื่อผู้บริโภคจะได้มีโอกาสเลือกที่จะยังคงอยู่ในระบบ ย้ายค่าย หรือทวงถามค่าชดเชยที่ผู้บริโภคควรได้รับ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนมีนาคม 2556 ใช้น้ำมันทอดซ้ำ = ทำผิดกฎมาย หลังจากนิตยสารฉลาดซื้อของเราได้ลงผลทดสอบ “น้ำมันทอดซ้ำในไก่ทอด” ซึ่งตรวจพบสารโพลาร์ – สารก่อมะเร็งในน้ำมันทอดซ้ำในหลายตัวอย่าง ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องอาหารปลอดภัย ก็ได้ออกมารับไม้ต่อในการทำหน้าที่ปกป้องผู้บริโภค โดยทั้งสุ่มตรวจอาหารทอด และออกกฎหมายควบคุมการใช้น้ำมันทอดซ้ำ อย.ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง วิธีการผลิตอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งในประกาศได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำห้ามมีการปนเปื้อนของสารโพลาร์เกินร้อยละ 25 ของน้ำหนักอาหาร หากมีการสุ่มตรวจแล้วพบการปนเปื้อนเกินกว่าค่าที่กำหนด ผู้ผลิตหรือผู้ขายอาหารที่ทำผิดจะมีโทษปรับสูงสุดหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งประกาศนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2556 เป็นต้นไป มีข้อมูลที่ทาง อย. ได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำมันทอดซ้ำจากทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อดูผลย้อนหลัง 5 ปี พบว่ามีความเสี่ยงจากอันตรายในน้ำมันทอดซ้ำเพิ่มขึ้นทุกปี โดยจากการเก็บตัวอย่าง อาหารทอดที่พบสารโพลาร์เกินร้อยละ 25 มีอย่างเช่น แคบหมู มันฝรั่ง ไส้กรอก ลูกชิ้น และไก่ทอด ----------------------------------------------------------   พ.ร.บ.ยา...ที่ยังมาไม่ถึง (สักที) คนไทยยังคงต้องร้องเพลงต่อไป สำหรับโอกาสที่จะได้ใช้ พ.ร.บ. ยา พ.ศ. ... (ฉบับประชาชน) หลังจากถูกดองโดยรัฐบาลเป็นเวลาร่วม 1 ปี ทั้งๆ ที่กฎหมายฉบับนี้ซึ่งมาจากการเข้าชื่อของประชาชนหนึ่งหมื่นชื่อผ่านการรับรองโดยรัฐสภาแล้วเรียบร้อย แต่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังไม่ลงนามรับรองร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน รัฐบาลจะต้องออกร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับของรัฐบาลมาควบคู่กัน เพื่อพิจารณาเปรียบเทียบ กฎหมายจากภาคประชาชนฉบับนี้จึงอดแจ้งเกิด ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา กล่าวว่า พ.ร.บ. ยา ฉบับประชาชน จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในเรื่องการใช้ยาของคนไทย ทั้งการตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายจากปัญหาการใช้ยา ซึ่งหลายประเทศที่พัฒนาแล้วใช้หลักการนี้ การควบคุมการส่งเสริมการขาย สร้างโครงสร้างราคายาที่เหมาะสม ลดปัญหาการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันเรานำเข้ายาจากต่างประเทศถึง 70% โดยหลังจากนี้ กพย. วางแผนที่จะผลักดันให้เกิดการใช้ร่างเกณฑ์จริยธรรมการส่งเสริมการขายยา ด้วยการพิมพ์เผยแพร่ร่างดังกล่าว ส่งต่อให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ที่สนใจและเห็นประโยชน์เพื่อให้ลองนำไปปรับใช้ต่อไป ----------------------------------------------- สวยต้องห้าม "สเต็มเซลล์ โรลเลอร์” ความสวยไม่ควรมาพร้อมความเสี่ยง การแพทย์เพื่อความงามต้องตั้งอยู่บนความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ออกโรงยืนยันว่า "สเต็มเซลล์ โรลเลอร์ (Stem Cell Roller)" และ "เดอร์มา โรลเลอร์" (Derma Roller) ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่า ช่วยรักษารอยเหี่ยวย่น รอยสิว ผิวหน้าไม่เรียบ ทำให้หน้าใส โดยจะใช้ลูกกลิ้งที่มีเข็มเล็กๆ เป็นจำนวนมาก กลิ้งไปบนใบหน้า เพื่อให้ใบหน้ามีการสร้างเซลล์ผิวหนังใหม่ขึ้นมาทดแทนนั้น ไม่ได้รับการรับรองให้ใช้รักษาในประเทศไทย เพราะไม่มีข้อมูลการันตีเรื่องผลการรักษา และยังเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อผิวหน้า โดย อย. ได้เอาผิดกับ 2 คลินิกเสริมความงามชื่อดัง ทั้ง นิติพลคลินิก และ วุฒิ-ศักดิ์คลินิก หลังจากได้รับการร้องเรียนและตรวจสอบพบว่ามีการให้บริการ สเต็มเซลล์ โรลเลอร์ และเดอร์มา โรลเลอร์ อันตรายของ สเต็มเซลล์ โรลเลอร์ และเดอร์มา โรลเลอร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ ที่ทำให้เกิดบาดแผลกับผิวหน้า มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคติดต่ออันตราย หากเครื่องมือที่ใช้ไม่มีความสะอาดและไม่ได้มาตรฐาน ------------   ร้องเนสท์เล่ เรียกคืน “คิทแคท” เจ้าปัญหาแบบในต่างประเทศ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชน รวมกันแถลงข่าว ร้องขอความรับผิดชอบจาก บริษัท เนสท์เล่ ประเทศไทย ให้มีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ ช็อคโกแล็ตนมสอดไส้เวเฟอร์ ตราเนสท์เล่คิทแคท ออกจากร้านค้าทั่วประเทศ หลังจากพบปัญหาว่าพลาสติกที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์หลุดออกมาปนเปื้อนในเนื้อช็อกโกแลตที่เคลือบขนม ปัญหาแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยบริษัท เนสท์เล่ ได้แสดงความรับผิดชอบโดยการเรียกคืนสินค้าที่มีปัญหาโดยสมัครใจทั้งใน อังกฤษ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ หรือแม้แต่มาเลเซีย ซึ่งผลิตภัณฑ์คิทแคทที่จำหน่ายในบ้านเรานำเข้ามาจากมาเลเซีย ลักษณะของปัญหาเกิดจากตัวบรรจุภัณฑ์ที่มีการนำเส้นพลาสติกสีแดงติดอยู่ด้านใน ซึ่งสามารถหลุดลอกออกมาได้ทำให้ไปปนเปื้อนกับตัวอาหาร ยิ่งเนื้อช็อกโกแลตมีโอกาสหลอมเหลวได้ง่ายเมื่ออยู่ในที่ที่มีอากาศร้อน การปนเปื้อนของเส้นพลาสติกกับเนื้ออาหารจึงเกิดขึ้นได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงน่าจะมาจากตัวบรรจุภัณฑ์ที่ถูกออกแบบมาไม่เหมาะสม ------------------------------------------------------------------------------   กสทช. กับความล้มเหลวเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค "2556 ปีทองการคุ้มครองผู้บริโภค " คือคำประกาศที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. นำมาใช้แสดงวิสัยทัศน์ในการทำงาน แต่หากลองพิจารณาถึงการทำงานตลอดปี 2555 ที่ผ่านมา และช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 จะเห็นว่าผลงานที่ประจักษ์ของ กสทช. นั้น ช่างแตกต่างจากคำประกาศอย่างสิ้นเชิง เพราะการทำงานที่ผ่านมา ปัญหาของผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของ กสทช. ถูกละเลยอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงิน การคิดค่าโทรนาทีละ 99 สตางค์ หรือปัญหา sms หลอกเงิน ซึ่งหลายเรื่องมีข้อกฎหมายกำหนดชัดเจนมาพร้อมบทลงโทษกับผู้ประกอบการที่กระทำผิด แต่ทุกปัญหาก็ยังคงรบกวนผู้บริโภคอย่างไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการแก้ไข นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวเสริมถึงเรื่องปัญหาของผู้บริโภคว่า ปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเต็มที่ ปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนมาที่ กสทช. ประมาณ 4 - 5 พันเรื่อง การแก้ไขเป็นไปอย่างล่าช้า ทั้งที่กฎหมายกำหนดว่าต้องดำเนินการภายใน 30 วัน โดยยังคงมีเรื่องร้องเรียนค้างอยู่นับพันเรื่อง ซึ่งสาเหตุของปัญหามาจากการจัดการทั้งเรื่องของบุคลากรและงบประมาณที่ไม่เพียงพอ ขั้นตอนการดำเนินงานที่มากเกินไป ทั้งหมดล้วนเกิดจากการบริหารจัดการที่ยังไม่มีความชัดเจนและไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องปัญหาผู้บริโภคมากเพียงพอ จากนี้ไป ผู้บริโภคอย่างเราก็คงต้องจับตาดูการทำงานของ กสทช. อย่างใกล้ชิด  กสทช. ต้องแสดงความจริงใจในการเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคในยุคที่บริการด้านการสื่อสารมีบทบาทอย่างมากกับการดำเนินชีวิต ไม่ใช้องค์กรที่ค่อยสร้างประโยชน์แก่ผู้ประกอบการอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ---------------------   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 145 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 2556 ใช้เทคโนโลยีช่วยจำ ระวังทำสมองเสื่อม ข้อมูลจากงาน “สร้างสรรค์สังคมไทยห่างไกลอัลไซเมอร์ ครั้งที่ 5” มีการรายงานตัวเลขของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในประเทศไทยพบว่ามีผู้สูงอายุที่เสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมร้อยละ 12 และคาดว่าในปี พ.ศ.2563 ไทยอาจมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมถึง 1.3 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้สูงอายุโดยรวมของประเทศ โดยสาเหตุของการป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม นอกจากสัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดที่ส่งผลกับการทำงานของสมองและความผิดปกติของต่อมไธรอยด์แล้ว พฤติกรรมการดำเนินชีวิตเดี๋ยวนี้ก็มีผลกับโรคสมองเสื่อมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือเพื่อช่วยจำ ช่วยคิดแทนการใช้สมอง เช่น บันทึกข้อมูลต่างๆ ในโทรศัพท์ในมือถือ ร้องเพลงตามคาราโอเกะแล้วต้องคอยอ่านเนื้อเพลงแทนการจดจำ ใช้เครื่องคิดเลขแทนการใช้สมองคำนวณ ยิ่งเป็นเด็กยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะสมองขาดการใช้งาน เซลล์ประสาทขาดการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาสมองเสื่อมก็อาจจะตามมา   สำหรับการป้องกันโรคสมองเสื่อม วิธีง่ายๆ คือพยายามฝึกใช้สมองเป็นประจำ เช่น การท่องจำหรือคิดคำนวณต่างๆ เล่นเกมที่ฝึกสมอง รวมทั้งออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยการกระตุ้นทำงานของสมองได้ ------------------------------------------------------     สารเคมีกำจัดศัตรูพืชบุกยึดประเทศไทย เชื่อหรือไม่ ประเทศไทยเรานำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมากจนน่าตกใจ ว่ากันว่าสูงเท่ากับตึกใบหยก 2 ซึ่งปริมาณมากแบบนี้ย่อมมีผลกระทบกับคนที่รับประทานผักแน่นอน นพ.พิบูลย์ อิสรพันธุ์ รองผอ.สำนักโรคจากการประกอบอาชีพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในเวที “นโยบายเกษตรเพื่อสุขภาพ : แบน 4 สารเคมีเกษตรก่อมะเร็ง” ว่าในปี 2554 ประเทศไทยนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืชสูงถึง 20,875 ล้านบาท หรือประมาณ 520,312 ตัน เท่ากับขวดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 46 เมตร สูงเท่าตึกใบหยก 2 ข้อมูลการสุ่มตรวจเลือดเกษตรกร 74 จังหวัด จำนวน 533,524 คน พบว่ามีสารเคมีปนเปื้อนในเลือดเกินมาตรฐานความปลอดภัยถึง 173,243 คน คิดเป็นร้อยละ 32ส่วนประชาชนทั่วไปตรวจจำนวน 99,283 คน พบไม่ปลอดภัย 35,949 คน คิดเป็นร้อยละ 36 ซึ่งสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นต้นเหตุของร้ายโรคอันตราย โดยเฉพาะมะเร็ง สาเหตุสำคัญที่ทำให้การนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีปริมาณสูง นอกจากการที่ภาครัฐฯ ไม่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเรื่องสารเคมีแก่เกษตรกรแล้ว ยังมีเรื่องของการขึ้นทะเบียนสารเคมี ซึ่งควรยกเลิกสารเคมีที่มีอันตรายเฉียบพลัน โดยเฉพาะสารเคมี 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ซึ่งหลายประเทศยกเลิกทั้งผลิตและนำเข้าไปแล้ว     เตือน! “สบู่ดำ” พิษถึงตาย สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 (สคร.7) อุบลราชธานี แจ้งเตือนอันตรายของ “เมล็ดสบู่ดำ” สมุนไพรพื้นบ้านที่มีพิษร้ายแรง ถ้าหากใครเผลอรับประทานเข้าไปมีสิทธิเสียชีวิต เพราะพิษของเมล็ดสบู่ดำมีผลต่อการทำงานของระบบหายใจ ความดันโลหิต หัวใจเต้นผิดปกติ นอกจากนี้หากน้ำยางถูกผิวหนังก็จะทำให้เกิดการระคายเคืองปวดแสบปวดร้อนรุนแรง ยิ่งถ้าหากเข้าตาอาจทำให้ตาบอด มีรายงานว่าพบผู้ป่วยอาหารพิษจากการรับประทานเมล็ดสบู่ดำเป็นประจำทุกปีโดยเฉพาะเด็กๆ ที่เก็บเมล็ดมาทานด้วยความไม่รู้ แนะวิธีป้องกันให้หน่วยงานและชุมชนที่ปลูกควรทำป้ายชื่อกำกับ แจ้งคำเตือนว่าเป็นพืชมีพิษห้ามรับประทาน เมล็ดสบู่ดำนิยมปลูกมากในหลายจังหวัด เพราะได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ เนื่องจากเมล็ดสบู่ดำนอกจากเป็นพืชสมุนไพร เพราะเปลือกและใบสามารถใช้รักษาโรคกระเพาะและเป็นยาแก้ไอ นอกจากนี้ยังเป็นพืชพลังงานทดแทนเพราะนำไปสกัดเป็นน้ำมันได้     ปั่นต้านโลภ เครือข่ายธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิสุขภาพไทย และมูลนิธิเพื่อนหญิง จัดกิจกรรม "ปั่นต้านโลภ หยุดการกอบโกยของธุรกิจพลังงาน” เพื่อเรียกร้องให้ธุรกิจพลังงานหยุดเอาเปรียบผู้บริโภค โดยมีผู้ปั่นจักรยานเข้าร่วมขบวนรณรงค์ในกิจกรรมครั้งนี้กว่า 200 คัน ซึ่งเส้นทางในการปั่นจักรยานเริ่มต้นจากสวนสันติภาพ ผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปตามเส้นทางถนนพหลโยธิน แล้วไปจบที่บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน สำนักงานใหญ่ โดยกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการแสดงพลังเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องพลังงานหยุดเอาเปรียบผู้บริโภค ผ่านข้อเรียกร้องที่จะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม เช่น   หยุดการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนและรถยนต์ ที่กำหนดเริ่มเดือนเมษายนนี้ และให้เรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากภาคปิโตรเคมีที่ใช้ แอลพีจี เป็นวัตถุดิบในอัตรากิโลกรัมละ 12 บาท เหมือนที่เรียกเก็บกับอุตสาหกรรมทั่วไป ซึ่งจะทำให้หนี้กองทุนน้ำมันที่มีอยู่หมดไปในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ชะลอการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติจำนวน 5,400 เมกะวัตต์ ในกลางปีนี้ หยุดการผูกขาดของธุรกิจก๊าซและพลังงานทั้งระบบของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หยุดผลประโยชน์ทับซ้อนของปลัดและอธิบดีในกระทรวงพลังงาน พร้อมทั้งสนับสนุนการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค --------------     ประกวดสปอตโฆษณา องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ประกาศผลผู้ชนะไปแล้วเรียบร้อย สำหรับกิจกรรมการประกวดสปอตโฆษณา “ให้ความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคเดี๋ยวนี้ Consumer Justice Now” ที่ได้เปิดโอกาสให้น้องๆ นักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้แสดงฝีมือและร่วมเป็นหนึ่งแรงในการผลักดันสร้างความเข้าใจเรื่อง องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 61 ให้กับสังคม ซึ่งผลงานสปอตโฆษณาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศได้แก่เรื่อง “อย่าให้การถูกเอาเปรียบเป็นเรื่องเคยชิน” จากทีม BU ไฝดำ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท นอกจากนี้อีกหนึ่งผลงานจากทีม BU ไฝดำ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่มีชื่อว่า “การคิดอยู่ในใจไม่มีผู้ประกอบการรายใดได้ยิน” ก็ได้รับรางวัลป๊อบปูล่าโหวตด้วยอีกหนึ่งรางวัล ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้แก่ผลงานเรื่อง “Guinness Van” จากทีม SWEET KID รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ผลงานเรื่อง “หยุดเอาเปรียบฉัน” จากทีมลูกหมาสามตัว ใครที่อยากชมผลงานสปอตที่ได้รับรางวัลและผลงานคลิปอื่นๆ ที่เข้าร่วมประกวด สามารถเข้าไปดูได้ที่หน้าเฟซบุ๊คมาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค www.facebook.com/cindependence   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมกราคม 2556 ระวัง “กลลวงทดสอบคุณภาพน้ำ” การประปานครหลวง (กปน.) ฝากเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับการทดสอบความสะอาดและคุณภาพของน้ำดื่ม เพราะทั้งสร้างความเข้าใจผิดเรื่องความสะอาดของน้ำดื่ม แถมยังหวังหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงซื้อผลิตภัณฑ์ปรับคุณภาพน้ำ   มีการโฆษณาชวนเชื่อโดยการนำเครื่องมือทดสอบ ชนิดเครื่องแยกสารละลายด้วยไฟฟ้า หรือ เครื่องอิเล็กโทรไลซิส (Electrolysis) ซึ่งประกอบด้วยขั้วไฟฟ้า 2 ขั้ว คือเหล็ก และอะลูมิเนียม โดยเมื่อนำเครื่องมือทดสอบดังกล่าวจุ่มลงไปในน้ำดื่มทั่วไปที่มีส่วนประกอบของแร่ธาตุ และทำให้ไฟฟ้าไหลผ่านน้ำที่ทดสอบ ขั้วไฟฟ้าที่ทำด้วยเหล็กจะละลายและทำปฏิกิริยากับน้ำ ทำให้เกิดตะกอนที่มีสีน้ำตาลแดงคล้ายสนิมเหล็ก เรียกว่า เหล็กไฮดรอกไซด์ ซึ่งตะกอนที่ละลายออกมาจากเครื่องมือนี้เอง ที่สร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนว่าน้ำที่มีตะกอนละลายคือน้ำที่ไม่สะอาด มีสิ่งเจือปน และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค ซึ่งความจริงแล้ว น้ำดื่มที่เหมาะแก่การบริโภค ต้องมีส่วนประกอบของแร่ธาตุอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม จึงไม่แปลกที่เมื่อนำเครื่องมือดังกล่าวมาทดสอบแล้วเกิดสีหรือตะกอน ในขณะที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวนำน้ำบริสุทธิ์หรือน้ำที่ผ่านกระบวนการ Reverse Osmosis หรือการขจัดแร่ธาตุทุกชนิดออกไปจากน้ำ จนไม่มีสิ่งใดๆ เจือปนอยู่เลยเทียบเท่าได้กับน้ำกลั่นมาทดสอบ จึงไม่เกิดปฏิกิริยาใดๆ ขึ้นทั้งสิ้น และทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าน้ำดังกล่าวคือน้ำที่สะอาดที่สุด   กปน.ยืนยันว่าน้ำประปาที่ผลิตได้นั้น ได้มาตรฐานน้ำดื่มตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก     ขึ้นราคาค่ารักษาพยาบาล นโยบายปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาลเริ่มส่งผลกระทบกับหลายภาคส่วนของประเทศ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของการรักษาพยาบาล เมื่อกระทรวงสาธารณสุขเตรียมปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาล โดยให้เหตุผลว่าเป็นการปรับตามสภาวะเศรษฐกิจ หลังจากที่ไม่ได้ปรับราคามาตั้งแต่ปี 2547 โดยทางกระทรวงฯ เชื่อว่าจะไม่กระทบกับคนไทยส่วนใหญ่ซึ่งมีระบบหลักประสุขภาพรองรับ ทั้งระบบบัตรทอง ระบบประกันสังคม และระบบราชการ แต่ต้องไม่ลืมว่ายังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เลือกใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน ที่จะต้องรับผลกระทบโดยตรงแน่นอน เพราะเมื่อมีประกาศเรื่องการขึ้นราคารักษาพยาบาลจากกระทรวงฯ โรงพยาบาลเอกชนเองก็จะต้องปรับขึ้นราคาตามประกาศ หรือแม้แต่กลุ่มผู้ที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ ก็อาจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในกลุ่มประกันสังคมอาจมีการเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่มจากทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ใช้สิทธิประกันสังคม   ค่าบริการใหม่ครั้งนี้มีรายการที่จะออกประกาศใหม่ทั้งหมด 2,713 รายการ หมวดที่เพิ่มขึ้นสูงสุด คือ ค่าตรวจรักษาโรคโดยวิธีพิเศษซึ่งเพิ่มขึ้น 53% เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีใหม่ รองลงมา คือค่าบริการรังสีวินิจฉัย เวชศาสตร์นิวเคลียร์และรังสีรักษา เพิ่ม 23%รายการที่เพิ่มต่ำสุด คือ ค่าบริการเทคนิคการแพทย์ 8%     กสทช. แจกคูปองส่วนลดกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า การรับชมโทรทัศน์ในบ้านเราจะมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาณเป็นระบบดิจิตอลที่มีความคมชัดของทั้งภาพและเสียงดีกว่าสัญญาณระบบอนาล็อกที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงระบบการส่งสัญญาณในครั้งนี้จะมีผลทำให้แต่ละบ้านต้องมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในการรับชม แต่ผู้บริโภคว่าไม่ต้องกังวลว่าถึงขนาดต้องเปลี่ยนโทรทัศน์ใหม่ เพราะสามารถใช้กล่องรับสัญญาณหรือ set top box รับสัญญาณชมรายการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลได้ตามปกติ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมแจกจ่ายคูปองส่วนลดให้กับประชาชนทุกครัวเรือนเพื่อนำไปซื้อ Set-top-box เพื่อเตรียมพร้อมสู่การรับชมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล   ข้อดีของทีวีดิจิตอล คือ ในหนึ่งช่องสัญญาณจะสามารถนำมาส่งได้หลายรายการโทรทัศน์ สำหรับรายการดิจิตอลทีวีของประเทศไทยจะมีจำนวน 48 ช่อง ได้แก่ ช่องบริการชุมชน 12 ช่อง ช่องบริการสาธารณะ 12 ช่อง ช่องบริการธุรกิจ (เชิงพาณิชย์) 24 ช่อง ซึ่งยังแบ่งออกเป็นในหมวดรายการเด็กและเยาวชน 5 ช่อง หมวดข่าวสารและสาระ 5 ช่อง หมวดช่องทั่วไป 10 ช่อง หมวดช่องรายการที่มีคุณภาพความคมชัดสูง (HD) 4 ช่อง     โทรนาทีละ 99 สตางค์ จากนี้ไปผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่ายต้องคิดค่าโทรในอัตรานาทีละไม่เกิน 99 สตางค์ หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีประกาศเรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ.2555 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2555   จากการตรวจสอบของ กสทช. พบว่าต้นทุนการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ที่ไม่เกินนาทีละ 1 บาท ประกาศฉบับนี้จึงทำให้ผู้บริโภคได้ใช้บริการในราคาที่เป็นธรรม   โดยตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นบริการในระบบเติมเงินหรือเหมาจ่ายรายเดือน ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือห้ามคิดค่าโทรเกิน 99 สตางค์ หากใครพบว่ามีการฝ่าฝืนสามารถแจ้งข้อมูลหรือร้องเรียนเข้ามาได้ทางสายด่วนรับเรื่องร้อนของ กสทช. หมายเลข 1200     ปั่นจักรยานดันกฎหมายผู้บริโภค กลุ่มผู้บริโภคจากทั่วประเทศรวมกันขี่จักรยานและเดินเท้า ถือป้ายรณรงค์กฎหมายองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค และนำรายชื่อประชาชน 107,905 รายชื่อ สนับสนุนการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา สมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ให้ช่วยเร่งจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556   โดยกิจกรรมการ “ปั่นจักรยานทวงสิทธิของคุณคืนมาด้วยมาตรา 61” ถือเป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่เริ่มต้นตั้งแต่การรวมตัวปั่นจักรยานของกลุ่มเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศที่บริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2556 และกิจกรรมครั้งที่ 2 คือการปั่นจักรยานที่สวนรถไฟในวันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ ก่อนจะปิดท้ายในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ด้วยกิจกรรมขบวนจักรยานและเดินเท้าของกลุ่มพี่น้องเครือข่ายผู้บริโภคจากทั่วประเทศกว่า 500 คน จากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า มายังหน้ารัฐสภา เพื่อเป็นการแสดงพลังและส่งเสียงทวงถามถึงความคืบหน้าในการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับสำคัญที่มาจากประชาชน พร้อมกันนี้มีการยื่นหนังสือต่อ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร นายวัฒนา เซ่งไพเราะ และ ส.ส. ส.ว. อีกหลายท่าน เช่น นายบุญยอด สุขถิ่นไทย  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์  นางสาวรสนา  โตสิตระกูล  สว.สรรหากรุงเทพมหานคร  นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย   สมาชิกวุฒิสภา สรรหา และนายวิทยา บูรณะศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ตำแหน่งประธานวิปรัฐบาล เพื่อให้ช่วยกันผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับนี้   แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 61 กำหนดให้รัฐมีหน้าที่จัดตั้งองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคขึ้น ซึ่งประชาชนได้ทำการเข้าชื่อกันกว่า 10,000 ชื่อเพื่อเสนอกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณาไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2552 แต่ปัจจุบันการพิจารณาก็ยังค้างคาอยู่ในกระบวนการจัดตั้งกรรมาธิการร่วม ระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งกลุ่มองค์กรผู้บริโภคเห็นว่ากระบวนการออกกฎหมายฉบับนี้ล่าช้าเกินไป ทั้งที่เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ และเกรงว่าร่างกฎหมายจะตกไปหากหมดสมัยประชุมสภา กลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคจึงต้องออกมารวมพลังเรียกร้องในครั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายฉบับนี้ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนธันวาคม 2555 ปัญหาของ “ซิมฟรี” ซิมมือถือแจกฟรียังเป็นปัญหากวนใจของผู้บริโภค เมื่อของที่ว่าแจกฟรีแต่แท้จริงกลับไม่ได้ฟรีอย่างที่โฆษณา เพราะพอเวลาผ่านไปกลับมีใบเสร็จมาเรียกเก็บค่าบริการ ทั้งๆ ที่ซิมฟรีที่ได้รับแจกมายังไม่ได้ถูกใช้งาน กลุ่มงานรับเรื่องราวร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้สรุปตัวเลขการร้องเรียนปัญหากรณีแจกซิมฟรี ช่วงปี 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งมียอดร้องเรียนทั้งหมด 179 เรื่อง โดยบริษัทผู้ให้บริการที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือ บริษัท เรียลมูฟ หรือ ทรูมูฟ เอช ที่มีเรื่องร้องเรียนจำนวน 91 เรื่อง รวมเข้ากับบริษัทที่อยู่ในเครือเดียวกันอย่าง บริษัท ทรูมูฟ จำกัด อีกจำนวน 10 เรื่อง ส่วนบริษัทผู้ให้บริการอื่นๆ ที่มีเรื่องร้องเข้ามาก็ได้แก่ บริษัท ไอ-โมบาย พลัส จำนวน 74 เรื่อง, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค จำนวน 3 เรื่อง และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส จำนวน 1 เรื่อง   ปัญหาการรับแจกซิมฟรีแล้วถูกเรียกเก็บเงินในภายหลังนั้น มักเกิดจากการที่ผู้ให้บริการสื่อสารข้อมูลหรือเงื่อนไขกับลูกค้าหรือผู้ได้รับแจกซิมฟรีไม่ชัดเจน ผู้ที่ได้รับแจกซิมหลายคนเข้าใจสามารถนำซิมไปใช้โทรได้ฟรีหรือมีวงเงินให้สามารถโทรได้โดยไม่ต้องเติมเงินหรือจ่ายรายเดือน   ซึ่งพนักงานที่แจกซิมที่สามารถพบเจอได้ตามแหล่งชุมชนหรือตามตลาดที่มีผู้คนพลุกพล่าน มักไม่ยอมแจ้งข้อมูลทั้งหมด ว่าซิมที่แจกเป็นซิมประเภทไหน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นซิมแบบจดทะเบียน เพราะเงื่อนไขในการแจกมักมีการขอบัตรประชาชน มีการลงลายมือชื่อ ทำให้มีบิลเรียกเก็บค่าบริการส่งไปหาถึงบ้านในภายหลัง แม้ว่าซิมที่ได้รับแจกมาจะยังไม่เคยได้เปิดใช้เลยก็ตาม   ใครที่ประสบปัญหานี้ สามารถติดต่อแจ้งได้ด้วยตัวเองกับบริษัทเจ้าของซิม หรือแจ้งมายัง กสทช. เพื่อแสดงเจตจำนงว่าไม่ได้มีความประสงค์จะขอใช้บริการและขอยุติการเรียกเก็บค่าบริการต่างๆ ทั้งหมด และครั้งต่อไปหากถูกเรียกให้ไปรับแจกซิมฟรี อย่ารับเด็ดขาดถ้าไม่คิดจะนำมาใช้งาน หรือหากอยากได้ก็ขอให้สอบถามข้อมูลประเภทการใช้งานให้เรียบร้อย โดยเฉพาะเรื่องการคิดอัตราค่าบริการ --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   เชื่อมั่น “บัญชียาหลักแห่งชาติ” ทุกวันนี้ผู้ที่ถือสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ต่างก็ได้ใช้ยาในระบบ “บัญชียาหลักแห่งชาติ” ซึ่งอาจมีบางคนที่ยังไม่มั่นใจว่ายาเหล่านี้จะสู้ยาราคาแพงๆ ที่ใช้ในโรงพยาบาลเอกชนได้หรือเปล่า คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. วอนให้คนไทยเชื่อมั่นใน “บัญชียาหลักแห่งชาติ” เพราะยาทุกรายการที่อยู่ในบัญชีมีความเหมาะสมและทันสมัย มีรายการยาที่จำเป็นสำหรับคนไทย ซึ่งผ่านกระบวนการพิจารณากลั่นกรองคัดเลือกยาโดยคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญกว่า 200 คน  โดยยึดหลักในเรื่องประสิทธิภาพของยา ความปลอดภัย และมีความคุ้มค่าตามหลักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและความสามารถในการจ่ายของสังคม ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ประกอบด้วย 3 บัญชี คือ 1.บัญชียาสำหรับโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข 2.บัญชียาจากสมุนไพร และ 3.เภสัชตำรับโรงพยาบาล ปัจจุบันมีรายการยาแผนปัจจุบันอยู่ในบัญชียาหลักประมาณกว่า 800 รายการ บัญชียาจากสมุนไพรประมาณ 71 รายการ ซึ่งความครอบคลุมในการรักษาโรคต่างๆ ของคนไทย สำหรับยาที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น ยามะเร็ง ยาโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ยาโรคระบบทางเดินอาหาร คณะกรรมการฯ ของ อย. จะนำหลักการทางด้านเภสัชศาสตร์กับความสามารถในการจ่ายของรัฐ เพื่อจัดทำข้อเสนอในการต่อรองราคายากับบริษัทผู้ผลิตยา เพื่อให้ยาที่มีความจำเป็นต้องอยู่ในบัญชีหลักแห่งชาติมีราคาที่ถูกลง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและมาตรฐานของยาแต่อย่างใด ใครที่อยากทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบัญชียาหลักแห่งชาติ สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ www.nlem.in.th ------------------------------------------------------------------------------------------------------ หมากฝรั่งไฟช้อต มีของเล่นอันตรายมาทำร้ายเด็กไทยกันอีกแล้ว คราวนี้เป็นของเล่นที่ชื่อว่า “หมากฝรั่งไฟช้อต” หรือมีชื่อทางการค้าว่า “Chewing Gum Shock” ของเล่นที่หน้าตาเหมือนหมากฝรั่งแต่มีไว้แกล้งคนอื่น ซึ่งเด็กนักเรียนมักจะซื้อมาแกล้งเพื่อนให้ตกใจ ด้วยการให้ดึงชิ้นส่วนซองบรรจุหมากฝรั่งที่ยื่นออกมา แล้วจะเกิดไฟฟ้าช้อต ซึ่งทำให้มีเด็กนักเรียนได้รับบาดเจ็บ เกิดอาการชาและช้ำบริเวณที่สัมผัสเจ้าของเล่นอันตรายชิ้นนี้ ศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าที่ไม่ปลอดภัยของ สำนักคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้สุ่มเก็บตัวอย่างหมากฝรั่งไฟช้อตมาทดสอบความแรงของการช้อต ซึ่งผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการของคณะวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าในการดึงแต่ละครั้งจะมีค่ากระแสไฟฟ้าสูงถึง 736 โวลต์ ซึ่งมากกว่าค่ากระแสไฟฟ้าตามบ้านเรือน และกระแสไฟเป็นแบบต่อเนื่องจึงทำให้เกิดการกระตุ้นของกระแสไฟที่ผ่านในร่างกายเป็นระยะๆ ทำให้เกิดอาการชาบริเวณอวัยวะที่สัมผัสเหมือนถูกไฟฟ้าช้อต ยิ่งถ้าดึงค้างไว้นานๆ กระแสไฟฟ้าจะส่งเข้าสู่ร่างกายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต หากใครเห็นสินค้าชนิดนี้ให้แจ้งไปได้ที่ สคบ .ซึ่งทาง สคบ. เองเตรียมนำเสนอคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อห้ามขายสินค้าดังกล่าว ตามมาตรา 36 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 -----------------------------------------------------------------------------------------------------   กองทุนเยียวยาผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมจัดตั้งกองทุนอุดหนุนเงินเยียวยาผู้บริโภค เพื่อชดเชยความเสียหายให้ผู้บริโภคทันที หลังจากที่คณะกรรมการมีมติว่าผู้ประกอบการมีความผิดและผู้บริโภคได้รับความเสียหายจริง จากเดิมที่กว่าผู้บริโภคจะได้รับเงินชดเชยต้องรอให้มีคำตัดสินของศาลออกมาก่อน ซึ่งใช้เวลานาน สำหรับแนวทางการจัดตั้งกองทุน ทาง สคบ. วางไว้ 2 แนวทาง แนวทางแรก สคบ.อาจรับเป็นเจ้าภาพแต่เพียงผู้เดียว โดยใช้งบประมาณจากสำนักงบประมาณ หรืออีกแนวทาง คือ ร่วมมือกับผู้ประกอบการในการจ่ายเงินค้ำประกันเพื่อรับประกันว่าหากเกิดปัญหาก็สามารถตัดเงินก้อนดังกล่าวมาใช้เยียวยาให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งทาง สคบ. จะเร่งให้เกิดกองทุนเยียวยาผู้บริโภคให้ได้เร็วที่สุด เพื่อเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาผู้บริโภค ที่มีดูเหมือนจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ------------------------------------------------------------------   10 สุดยอดนวัตกรรมปี 2555 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ได้คัดเลือก “10 สุดยอดนวัตกรรมประจำปี 2555” จากโครงการนวัตกรรมทั้งหมด 849 โครงการที่ สนช. ให้การสนับสนุน โดยคัดเลือกธุรกิจใหม่ๆ ที่มีความโดดเด่นในด้านของเทคโนโลยีกระบวนการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาดในรูปแบบใหม่ โดย 10 สุดยอดนวัตกรรมประจำปี 2555 จากการคัดเลือกของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติมีดังนี้ 1. “ไบโอเวกกี้” วิตามินรวมจากผักเมืองหนาว บริษัท เชียงใหม่ ไบโอเวกกี้ จำกัด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทวิตามินรวมจากผักเมืองหนาว 12 ชนิด   2. “ฟีนพลัส” หมึกนำไฟฟ้าผสมแกรฟีนสำหรับผลิตลายไฟฟ้า บริษัท อินโนฟิน จำกัด หนึกนำไฟฟ้าผสมแกรฟินที่จะช่วยทดแทนการใช้หมึกน้ำไฟฟ้าที่ผสมสารตัวอื่น เช่น โลหะเงิน ด้วยประสิทธิภาพการใช้งานที่เท่าเทียมกันแต่มีราคาต้นทุนถูกกว่า   3. “ซินนิไพร์” เครื่องอบแห้งผลิตภัณฑ์เซรามิกด้วยก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์ บริษัท อิมพีเรียลพอทเทอรี่ จำกัด เครื่องอบแห้งผลิตภัณฑ์เซรามิกด้วยก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์ แทนการใช้ก๊าซหุงต้ม   4. “เอนเนอเร่” เครื่องดื่มให้พลังงานจากข้าว บริษัท บีเอสซีเอ็มฟูดส์ จำกัด เครื่องดื่มที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวสารเกรดเอได้ถึง 10 เท่า   5. “โดรน” เครื่องช่วยฟังแบบทัดหลังหู บริษัท ศูนย์การได้ยินดีเมด จำกัด เครื่องช่วยฟังที่มีการประมวลผลแบบดิจิตอล สามารถตัดเสียงรบกวนภายนอก แยกแยะระดับความถี่ของเสียงที่ได้รับเพื่อเพิ่มความดังที่เหมาะสมกับความผิดปกติของแต่ละบุคคล   6. “ชีวาดี” น้ำหวานดัชนีน้ำตาลต่ำจากดอกมะพร้าวอินทรีย์ บริษัท ชีวาดี โปรดักชันส์ จำกัด ผลิตภัณฑ์ให้ความหวานแต่ดัชนีน้ำตาลต่ำ ทำจากน้ำหวานดอกมะพร้าวหมักที่ยับยั้งการตกผลึกของน้ำตาลมะพร้าวและเชื้อจุลินทรีย์ด้วยมังคุดกับไม้พะยอม   7. “ไอริส” กระเบื้องเคลือบผลึกจากเศษกระจกรีไซเคิล ห้างหุ่นส่วนจำกัด ไอริส อินดัสเทียล กระเบื้องที่มีความสวยงามเฉพาะตัว แถมขั้นตอนการผลิตยังมีการลดการใช้อุณหภูมิในการเผาลงถึง 50 – 100 องศาเซลเซียส   8. “บีที ไฮบริด” สารชีวภัณฑ์ประสิทธิภาพสูงสำหรับกำจัดหนอนศัตรูพืช บริษัท ภูธนเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยกำจัดและลดการระบาดหนอนศัตรูพืชได้มากกว่า 1 ชนิด และเหมาะที่จะนำมาใช้แทนสารเคมีประเภทดูดซึม เช่น สารเคมีกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต และคาร์บาเมต   9. “ซิลค์ แอคเน่” ผลิตภัณฑ์ลดการอักเสบจากโปรตีน บริษัท เอทิกา จำกัด ผลิตจากรังไหมที่ผ่านกระบวนการสกัดจนได้กาวไหมเธริธินที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มการสร้างคอลลาเจนและยับยั้งการอักเสบ สำหรับแผลอักเสบจากสิวและแมลงกัดต่อย   10. “แดรี่โฮม” บรรจุภัณฑ์โยเกิร์ตอินทรีย์จากพลาสติกชีวภาพ บริษัท แดรี่โฮม จำกัด บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีความแข็งแรงทนทาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 138 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกรกฎาคม 2555 แท็กซี่ไม่รับ...ร้องเรียนได้ ใครที่ใช้บริการแท็กซี่โดยสารคงเคยเจอเหตุการณ์ ที่ทั้งชวนให้สงสัยและหงุดหงิดใจ อย่างการถูกปฏิเสธที่จะให้บริการ ยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนหรือในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น ซึ่งคนขับรถมักจะอ้างว่ารถติด กลัวไปส่งรถไม่ทัน หรือไม่ก็แก๊สหมด ซึ่งหากเป็นจริงตามเหตุผลที่คนขับรถแท็กซี่อ้างก็ไม่น่าที่จะจอดรับผู้โดยสารตั้งแต่แรก ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ฝากคำแนะนำในกรณีที่เจอปัญหาแบบนี้ ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะร้องเรียน โดยแจ้งไปยังศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ สายด่วน 1584 หรือกองบังคับการตำรวจจราจร สายด่วน 1197 โดยพยายามจดจำรายละเอียดทะเบียนและชื่อผู้ขับรถซึ่งติดอยู่ในใบอนุญาตหน้ารถ ซึ่งตาม พ.ร.บ.การจราจรทางบก กำหนดไว้ว่าผู้ขับรถแท็กซี่ไม่มีสิทธิปฏิเสธผู้โดยสาร หากจุดหมายอยู่ในเขตที่กำหนด คือพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยไม่มีเหตุอันควร การปฏิเสธผู้โดยสารถือเป็นความผิด มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท และเป็นข้อหาที่ต้องถูกบันทึกคะแนน 20 คะแนน อีกทั้งยังถูกยึดใบอนุญาตขับขี่อีกด้วย   มีข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก ที่สรุปยอดร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำผิดของรถแท็กซี่ซึ่งพบว่ามีทั้งหมดกว่า 12,000 ราย แบ่งเป็นกระทำผิดโดยไม่แสดงใบอนุญาตสาธารณะ 2,556 ราย ไม่มีบัตรประจำตัวผู้ขับขี่ 1,950 ราย แต่งกายไม่สุภาพ 4,618 ราย ไม่นำรถเข้าตรวจสภาพตามที่กำหนด 6 เดือนต่อครั้ง 1,012 ราย ไม่ต่ออายุภาษีรถยนต์ 736 ราย และปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร 1,585 ราย ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกได้สุ่มตรวจแท็กซี่ โดยให้เจ้าหน้าที่ปลอมเป็นผู้โดยสารทดลองเรียกใช้บริการแท็กซี่ 300 คัน พบว่ามีแท็กซี่รับผู้โดยสารประมาณ 80 คันเท่านั้น   บัตรทองกลับมาเก็บ 30 บาท แบบจ่ายก็ได้ไม่จ่ายก็ได้!? ผู้ใช้สิทธิหลักประสุขภาพถ้วนหน้า จะต้องกลับมาจ่าย 30 บาท อีกครั้ง นับตั้งวันที่ 1 กันยายนนี้เป็นต้นไป หลังจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ออกระเบียบให้ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทองเดิม) ร่วมจ่ายค่าบริการ 30 บาท แต่การร่วมจ่ายครั้งนี้เป็นแบบไม่บังคับ คงมีหลายคนที่สงสัยว่า ตกลงแล้วต้องจ่ายหรือไม่ต้องจ่ายกันแน่ ซึ่ง นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า “สำหรับการเรียกเก็บ 30 บาทนั้น จะเป็นการคิดค่าบริการในกรณีที่ผู้ใช้สิทธิใช้บริการตั้งแต่โรงพยาบาลระดับอำเภอหรือโรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป แต่สำหรับผู้ที่ได้รับการยกเว้นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง บุคคลที่ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ฉบับที่ 1 และ 2 จำนวน 23 กลุ่ม อาทิ ยากจน ทุพพลภาพ ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ส่วนคนทั่วไปให้ขึ้นอยู่กับความพอใจและสมัครใจของผู้ใช้บริการ ไม่ได้เป็นการบังคับ ซึ่งจะมีแบบฟอร์มให้ผู้ใช้บริการเลือกว่าจะร่วมจ่ายหรือไม่ร่วมจ่าย” ใครที่ถือสิทธิหลักประสุขภาพถ้วนหน้าคงต้องคอยติดตามข่าวกันให้ดี ว่าเมื่อมีการเรียกเก็บค่าบริการแบบจ่ายไม่จ่ายก็ได้แบบนี้ จะส่งผลกระทบอะไรบ้างต่อมาตรฐานการรักษาพยาบาล ห้าม! โฆษณาขายนมผงสำหรับทารกในสถานพยาบาล สำนักงานอาหารและยา (อย.) ได้ออกมาตรการเด็ดขาดห้ามสถานพยาบาลทุกแห่งโฆษณาขายผลิตภัณฑ์นมสำหรับทารกและเด็กเล็ก เพื่อส่งเสริมให้คุณแม่เลี้ยงดูบุตรด้วยน้ำนมของตัวเองมากขึ้น นอกจากนี้ยังออกข้อบังคับให้ผลิตภัณฑ์นมสำหรับทารกและเด็กเล็ก ไม่ว่าจะเป็นนมดัดแปลงสูตรต่อเนื่อง นมโค นมปรุงแต่ง นมผง และอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ต้องมีการแสดงข้อความบนฉลากว่า “นมแม่ดีที่สุดสำหรับทารก” เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้คุณแม่ให้ความสำคัญกับการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ สำหรับข้อห้ามเรื่องการโฆษณาผลิตภัณฑ์นมสำหรับทารกและเด็กเล็กในสถานพยาบาลยังครอบคลุมถึงเรื่องการจัดกิจกรรมต่างๆ ด้านการขายและการตลาด การสาธิตส่งเสริมให้ใช้ผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนนมแม่ และยังรวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ขวดนม จุกนม  ที่สำคัญคือบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และห้ามเป็นตัวแทนผู้ผลิต ผู้จำหน่ายอาหารทดแทนนมแม่ รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง   จับตาร้านขายยา ร้ายขายยานั้นเป็นที่พึ่งพิงแห่งแรกของหลายๆ คนในยามที่รู้สึกเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งแม้จะเป็นแค่ร้านขายยาแต่ก็ต้องมีการควบคุมดูแล โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายยาต้องถูกต้องตรงตามอาการป่วยของผู้ที่มาซื้อยา เพราะถ้ากินยาไม่ถูกโรค นอกจากจะไม่หายอาจจะกลายเป็นป่วยเพิ่ม เพราะฉะนั้นร้านขายยาที่ดีจะต้องมีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลา ซึ่งคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ได้จัดเจ้าหน้าที่ดูแลตรวจสอบ ที่สำคัญคือใน พ.ร.บ. ยาได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ให้ร้านขายยาทุกแห่งต้องมีเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลา ที่ผ่านมา อย. ตรวจเฝ้าระวังร้านขายยาเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการสุ่มตรวจร้านขายยาในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 498 แห่ง โดยพบว่าเภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ จำนวน 16 ราย จำหน่ายยาอันตรายในขณะที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ จำนวน 8 ราย และไม่จัดทำบัญชีการซื้อขายให้เป็นไปตามกฎหมาย จำนวน 48 ราย ส่วนร้านขายยาในต่างจังหวัดนั้น อย. ได้ประสานให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในการดำเนินการตรวจสอบ นอกจากนี้ อย. ยังได้เตรียมจัดทำฐานข้อมูลเภสัชกรที่ปฏิบัติงานในร้านขายยาทั่วประเทศ ไว้เป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคได้สืบค้นตรวจสอบ เราในฐานะผู้บริโภค หากจำเป็นต้องซื้อยาจากร้านขายยา ก็ควรเลือกที่มีเภสัชกรเป็นผู้จ่ายยา ซึ่งในร้านจะต้องมีใบอนุญาตแสดงไว้ให้เห็นชัดเจน นอกจากนี้หากเราพบเห็นร้านขายยาไม่มีเภสัชกรประจำร้าน หรือขายยาอันตราย หรือขายยาที่คาดว่าจะผิดกฎหมาย สามารถแจ้งไปได้ที่สายด่วน อย. โทร. 1556   แปรงสีฟันต้องแจ้งอายุ สุขภาพฟันของเด็กๆ เป็นเรื่องที่พ่อ-แม่ควรห่วงใย ปัญหาเด็กแปรงฟันไม่ถูกวิธีอาจไม่ใช่เรื่องเดียวที่ต้องกังวล เพราะยังมีเรื่องการใช้แปรงสีฟันไม่เหมาะสมกับวัยเป็นเรื่องหนักใจเช่นกัน ซึ่งเมื่อลองสำรวจดูแปรงสีฟันที่วางขายอยู่ในท้องตลาดก็จะพบว่า ไม่มีการระบุช่วงอายุที่เหมาะสมในการใช้แปรงสีฟันของเด็กไว้บนฉลาก เพื่อเป็นการคุ้มครองสุขภาพฟันของเด็กๆ ให้ได้รับความปลอดภัย และเลือกใช้แปรงสีฟันให้เหมาะสมกับวัย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงได้ออกประกาศให้แปรงสีฟันเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยต้องเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับช่วงอายุของเด็กในฉลากสินค้าแปรงสีฟัน ว่าเหมาะสมสำหรับช่วงอายุใด  เช่นเริ่มมีฟันถึง 3 ปี หรือ 6 ปี ถึง 12 ปี เป็นต้น ซึ่งประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2555 เรียวปากสวย...แต่เสี่ยงสารตะกั่ว สาวๆ คงต้องให้ความสนใจกับข่าวนี้เป็นพิเศษ เพราะมีข้อมูลจากเว็บไซต์ Time Healthland ของอเมริกา รายงานว่ามีการตรวจพบการปนเปื้อนของสารตะกั่วอยู่ในลิปสติกยี่ห้อดังอย่าง Maybelline’s Colour Sensation เฉดสี Pink Petal, L’oreal Colour Riche เฉดสี Volcanic และ ลิปสติก Nars เฉดสี Red Lizard กับเฉดสี Funny Face ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงต้องนำสินค้าชนิดเดียวกันในวางขายอยู่ในประเทศไทยมาตรวจสอบ ซึ่งทางบริษัทผู้นำเข้าคือ ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ซิเซโด้ (ไทยแลนด์) จำกัด ชี้ได้แจงข้อเท็จจริงว่า ทางบริษัทผู้ผลิตไม่มีการใช้สารตะกั่วเป็นส่วนประกอบ แต่สารตะกั่วที่พบนั้นมาจากการปนเปื้อนในธรรมชาติ เช่น น้ำ อากาศ และวัตถุดิบ ซึ่งเป็นการปนเปื้อนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การปนเปื้อนที่พบในลิปสติกน้อยกว่าการปนเปื้อนในธรรมชาติ แต่ทาง อย. ก็ให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้ลิปสติกยี่ห้อที่ต้องสงสัยเหล่านี้ หยุดใช้ชั่วคราวจนกว่า อย. จะทราบผลการตรวจวิเคราะห์ ที่สามารถยืนยันความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ได้   เมื่อ ปี 2550 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของอเมริกา เคยสุ่มตรวจลิปสติกจำนวน 20 ตัวอย่าง พบว่ามีการปนเปื้อนทุกตัวอย่าง แต่ไม่เกินมาตรฐาน แต่การปนของตะกั่วในลิปสติกถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับร่างกายโดยตรงและใช้บ่อยครั้ง คนที่ใช้เป็นประจำจึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับอันตราย -------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เติมความ “สด” ให้นมโค “วันนี้คุณดื่มนมแล้วหรือยัง?” คำถามที่แสดงถึงความห่วงใย เพราะนมมีประโยชน์ เราจึงอยากให้ทุกคนดื่มนมกันประจำ แถมจากนี้ไปนมที่เราดื่มจะยิ่งมีคุณค่าทางอาหารเพิ่มมากขึ้น เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เตรียมแก้ไขนิยามผลิตภัณฑ์นมโคพร้อมดื่ม จากที่ใช้คำว่า “นมโค” ให้เติมคำว่า “สด” ต่อท้าย เพื่อให้เห็นภาพของนมโคแท้ 100% ที่ผ่านกรรมวิธีพลาสเจอร์ไรส์ก่อนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งการเปลี่ยนไปใช้คำว่า “นมโคสด” เหมือนเป็นการบังคับทางอ้อมกับผู้ผลิตที่เดี๋ยวนี้มีนมที่ผสมนมผงหรือใช้วิธีการผลิตแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่การพลาสเจอร์ไรส์ออกมาทำให้คนที่ชอบดื่มนมเข้าใจผิด ซึ่งจากนี้ไป อย. ก็จะออกข้อบังคับให้นมโคพร้อมดื่มที่ไม่ใช่นมโค 100% ต้องแสดงข้อมูลปริมาณนมโคที่ใช้จริงหรือสูตรของนมผงที่นำมาผสม อีกหนึ่งข้อดีที่ผู้บริโภคจะได้รับ หากมีการบังคับให้ใช้คำว่านมโคสดคือ ต้องกำหนดระยะเวลาวันหมดอายุของตัวสินค้าไม่ให้เกิน 10 วัน ซึ่งทำให้นมสดที่เราดื่มจะมีคุณค่าทางอาหารสูง เพราะเป็นนมที่ผลิตใหม่และสดจากฟาร์มจริงๆ ทาง อย. คาดการณ์ว่าประกาศนี้จะผ่านคณะกรรมการพร้อมบังคับใช้ภายในเดือนสิงหาคม 2555 ------------------------------------------------------------------------------------------------- สคบ.ออกตราการันตีของดีสำหรับผู้บริโภค จากนี้ไปผู้บริโภคน่าจะมีความมั่นใจในการใช้สินค้าและบริการต่างๆ มากขึ้น เมื่อทางสำนักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เตรียมออก “ตราสัญลักษณ์ของ สคบ.” (CONSUMER PROTECTION GUARANTEE) ตรารับรองสินค้าและบริการที่ผ่านเกณฑ์ตามที่ สคบ.กำหนด ซึ่งทาง สคบ.เชื่อว่าการให้สินค้าติดตรารับรอง จะช่วยลดปัญหาของผู้บริโภคที่เกิดจากสินค้าและบริการต่างๆ ลงได้ เครื่องหมายตราสัญลักษณ์ สคบ.นี้จะเป็นตัวคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค หากได้รับความไม่เป็นธรรมหรือได้รับความเสียหายจากการบริโภคสินค้าที่ติดตราสัญลักษณ์ ผู้บริโภคก็สามารถแจ้งเพื่อขอรับการแก้ไขหรือการชดเชยความเสียหายได้รวดเร็วขึ้น เพราะทาง สคบ. มีข้อมูลของผลิตภัณฑ์นั้นๆ อยู่แล้ว โดยสินค้าและบริการที่ สคบ.จะออกตราการันตีให้ ได้แก่ รถยนต์มือ 2 โทรศัพท์มือถือ ทองรูปพรรณ ห้างสรรพสินค้า รถยนต์ใหม่ หอพัก บัตรเครดิต ตั๋วเครื่องบิน ธุรกิจซ่อมรถยนต์ บ้านจัดสรรและอาคารชุด เครื่องใช้ไฟฟ้า ฟิตเนส บริษัทนำเที่ยว ธุรกิจขายตรง ธุรกิจเสริมความงาม สินค้าเกษตร ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ โรงเรียนกวดวิชา อัญมณี ศูนย์บริการดูแลเด็ก ผู้ป่วยและผู้สูงอายุ โรงแรม โรงภาพยนตร์ สถานบริการน้ำมัน โรงพยาบาล และบริษัทรับออกแบบ ซึ่งผู้ที่ได้ตราสัญลักษณ์สินค้าต้องมาต่ออายุทุก 2 ปี และจะมีเจ้าหน้าที่ลงตรวจคุณภาพสินค้าทุก 6 เดือน --------------------------------------------------------------------------------------------- “พารา” ไม่ใช่ยาครอบจักรวาล หลายคนยังเข้าใจผิดคิดว่า “พาราเซตามอล” เป็นยาสารพัดประโยชน์ทั้งแก้ปวดและแก้ไข้ แต่ในความเป็นจริงแล้วอาการปวดที่เกิดขึ้นกับร่างกายมีหลากหลาย การรักษาก็ต้องใช้ตัวยาที่แตกต่างกัน เตือนคนที่ยังใช้ยาแก้ปวดไม่ถูกกับโรค อาจเกิดอันตรายกับร่างกายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ยาแก้ปวดสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้ระงับอาการปวดที่รุนแรงถึงรุนแรงมากที่สุด แต่ไม่มีฤทธิ์ลดไข้ เช่น มอร์ฟีน (morphine) ทรามาดอล (Tramadol) ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ใช้ระงับความเจ็บปวดที่รุนแรงจากอวัยวะภายใน หรือจากบาดแผลขนาดใหญ่ มักใช้กับคนไข้ในสถานพยาบาลต่างๆ ยากลุ่มนี้อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาจส่งผลต่อระบบประสาทและระบบหายใจ ส่วนยาแก้ปวดอีกกลุ่มคือ กลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้สำหรับอาการปวดไม่รุนแรง เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน มีฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ และลดการอักเสบ แต่ก็ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานๆ เพราะจะมีผลต่อระบบทางเดินอาหาร การทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ยิ่งถ้าใช้ในปริมาณมากจะส่งผลเสียต่อตับ ดังนั้นการใช้ยาแก้ปวดที่ถูกต้อง ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาเกินขนาดหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับยาที่ใช้ต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ------------------------------------ เริ่มแล้ว!!! เติมเงินห้ามหมดอายุ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถือเป็นวันดีเดย์ที่ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะดำเนินการเอาผิดกับบรรดาบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ที่ยังมีการออกข้อกำหนดเรื่องวันหมดอายุบัตรเติมเงิน เนื่องจากมีความผิดเพราะฝ่าฝืนประกาศเรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ตั้งแต่สมัยยังเป็น สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จนตอนนี้ผ่านมาถึง 7 ปี กสทช. เพิ่งจะมีมาตรการเด็ดขาดเอาผิดกับผู้ประกอบการ ซึ่งเครือข่ายผู้บริโภคคอยติดตามและสอบถามถึงการดำเนินการในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นว่าปัญหานี้เรื้อรังมานาน ผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิของตัวเองถึง 7 ปี เหตุผลมาจากหน่วยงานที่รับผิดชอบซึ่งเป็นคนออกข้อบังคับเองแท้ๆ แต่กับบังคับใช้กฎหมายของตัวเองไม่ได้ สำหรับบทลงโทษที่ทาง กสทช. จะดำเนินการกับบริษัทผู้ให้บริการหากยังมีการกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงิน คือ การปรับเงินจำนวน 100,000 บาทต่อวัน แต่ในส่วนของผู้ใช้ยังไม่มีมาตรการชดเชยใดๆ ในกรณีที่ถูกกำหนดวันหมดอายุหรือถูกยึดเงินเพราะวันหมดแต่เงินในโทรศัพท์ยังเหลือ ผู้ใช้โทรศัพท์แบบบัตรเติมเงินแล้วพบปัญหาเรื่องการกำหนดวันหมดอายุ สามารถร้องเรียนไปได้ที่ กสทช. โทร 1200 ช่วยร้องเรียนกันเยอะๆ เพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง ----------------------------------------------------------------------------------------------

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนกรกฎาคม 2554 11 กรกฎาคม 2554 ซื้อเนื้อซื้อหมูแล้วมีปัญหาเชิญมาร้องเรียนผ่านออนไลน์ ต่อจากนี้ไปใครที่มีปัญหาจากการบริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย สินค้าไม่ได้คุณภาพ หรืออยากได้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ สามารถร้องเรียนและข้อมูลจากผู้รู้ตัวจริงผ่านระบบออนไลน์ของกรมปศุสัตว์ได้ที่ www.facebook.com/GreenstarAlert โดยกระทรวงเกษตรฯ และกรมปศุสัตว์ได้จัดทำ "โครงการดาวเขียว โซเชียลเน็ตเวิร์ค" ระบบแจ้งเตือนภัยสินค้าปศุสัตว์ผ่านเฟซบุ๊ค เพื่อเป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์และเนื้อสัตว์อย่างถูกวิธี ถูกสุขอนามัย และมีความปลอดภัย เช่น วิธีการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากสัตว์และเนื้อสัตว์อย่างถูกวิธี อาทิ เนื้อสัตว์ นม และไข่ นอกจากนี้ผู้บริโภคที่มีปัญหาหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการบริโภคเนื้อสัตว์ หรือพบเห็นผู้จำหน่ายรวมทั้งแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ดูน่าสงสัยก็สามารถแจ้งข้อมูลต่างๆ ถึงกรมปศุสัตว์ เพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงแก้ไขในการดูแลและควบคุมมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ให้มีประสิทธิภาพ -----------    20 กรกฎาคม 2554 ใช้น้ำยาบ้วนปากระวังเจอแบคทีเรียใครที่ใช้น้ำยาบ้วนปากอาจต้องใส่ใจกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพิ่มมากขึ้น เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ออกมาให้ข้อมูลว่ามีการตรวจพบการปนเปื้อนของแบคทีเรียเกินกว่ากฎหมายกำหนดในบางรุ่นการผลิตของผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ ออรัล-บี ทูธแอนด์กัมแคร์ และ ออรัล-บี ทูธแอนด์กัมแคร์ ไม่ผสมแอลกอฮอล์ ขนาด 350 มล. และ 500 มล. โดยปนเปื้อนใน 3 รุ่นการผลิต ได้แก่ รุ่น 1009852525 1010852521 และ 1066852522 แบคทีเรียที่ปนเปื้อนมีชื่อว่า เบิร์คโฮลเดอเรีย แอนทีน่า (Burkholderia anthina) เป็นแบคทีเรียชนิดฉวยโอกาส พบได้ในแหล่งน้ำ พื้นดิน และในธรรมชาติทั่วไป ไม่ใช่ชนิด ก่อโรครุนแรง แต่อาจมีผลต่อผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรง หรือผู้ที่กำลังรับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ซึ่งทาง อย. ก็ได้กำชับให้บริษัท พี แอนด์ จี เรียกคืนสินค้าออกจากตลาดทั่วประเทศแล้ว     21 กรกฎาคม 2554อย.ปรับสถานะยาแก้หวัดผสมซูโดอีเฟรดรีนเป็นยาควบคุมพิเศษอย. สั่งปรับสถานะของยาแก้หวัดชนิดเม็ด/แคปซูล ที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีน 3 สูตร ได้แก่ สูตรซูโดอีเฟรดรีน และไตรโพรลิดรีน ,สูตรซูโดอีเฟรดรีน และบรอมเฟนิรามีน และสูตรบรอมเฟนิรามีน และคลอเฟนิรามีน จากยาอันตรายให้เป็น“ยาควบคุมพิเศษ" เนื่องจากพบว่ามีการจับกุมการกระทำผิดอย่างต่อเนื่อง และมีการจำหน่ายเกินกำหนด ซึ่งประชาชนทั่วไปห้ามจำหน่ายเกิน 60 เม็ดต่อเดือน และร้านขายยาห้ามจำหน่ายเกิน 5,000 เม็ดต่อเดือน โดยจะให้จำหน่ายได้เฉพาะในสถานพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาลเอกชนประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน --------------   มือถือเติมเงินยังแย่โดนใจ ยอดร้องเรียนอันดับ 1สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนในช่วงครึ่งปี 2554 ที่ผ่านมา ปัญหาที่มีคนร้องเรียนเข้ามามากที่สุดคือเรื่อง วันหมดอายุของบัตรเติมเงิน ที่ผู้ใช้ยังรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบจากการกำหนดอายุบัตรเติมเงิน ต้องคอยเติมเงินทั้งที่ยังมีเงินเหลืออยู่ในระบบ รวมทั้งการถูกยึดเงินทั้งที่ไม่ได้ใช้งาน ซึ่งปัญหาที่ว่านี้มีจำนวนผู้ร้องเรียนเข้ามาคิดเป็นจำนวนถึงร้อยละ 55  อีกเรื่องที่เป็นปัญหาหนักใจของคนใช้มือถือก็คือ การคิดค่าบริการผิดพลาด โดยเฉพาะการคิดค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศหรือโรมมิ่ง คิดเป็นค่าเสียหายมากกว่า 1 ล้านบาท แม้จะมีเรื่องร้องเรียนไม่ถึง 30 เรื่อง แต่เพราะแต่ละรายที่มาร้องเรียนล้วนถูกเรียกเก็บเงินในจำนวนที่สูงมากตั้งแต่หลักหมื่นบาทไปจนถึงหลักแสนบาท ซึ่งสาเหตุก็มาจากการรู้ไม่เท่าทันการใช้โทรศัพท์ “สมาร์ทโฟน” และการไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน ผู้ใช้จึงมักเผลอเปิดใช้ระบบเชื่อมต่อโดยไม่รู้ตัว  ช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2554 สบท.ได้รับเรื่องร้องเรียนมากกว่า 3,000 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องที่มีการดำเนินการแจ้งบริษัทแก้ไข 1,409 เรื่อง โดยร้อยละ 72 หรือจำนวน 1,019 เรื่อง เป็นปัญหาจากการใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ที่เหลือเป็นปัญหาจากการใช้บริการอินเตอร์เน็ต จำนวน 311 เรื่อง หรือร้อยละ 22 และปัญหาจากการใช้บริการโทรศัพท์พื้นฐานจำนวน 52 เรื่อง หรือร้อยละ 4-------------------  รังนกแท้...แค่ 1%มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคติงผู้ผลิตรังนกสำเร็จรูป ใช้ข้อความโฆษณาสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้บริโภค แม้จะผลิตจากรังนกแท้ 100% แต่ถ้าว่ากันถึงส่วนประกอบในรังนกสำเร็จรูป 1 ขวด จะมีรังนกผสมอยู่แค่ 1% แถมตัวโฆษณายังสร้างความเชื่อว่ารับประทานรังนกแล้วสุขภาพแข็งแรง ทั้งที่คุณค่าทางอาหารไม่ต่างจากถั่วลิสง แต่เมื่อเทียบเรื่องราคากลับต่างกันค่อนข้างมาก  นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูป พบว่า รังนกสำเร็จรูปยี่ห้อดังอย่าง  สก็อต และ แบรนด์ ระบุแค่น้ำตาลกรวด 10-12% กับ รังนกแห้งที่ 1.1-1.4% ส่วน เอฟแอนด์เอ็น โกลด์ ระบุว่า มี นมโค 19% รังนกแห้ง 0.16% นมผงขาดมันเนย 4.8% และส่วนประกอบอื่นๆ อีกเล็กน้อย ซึ่งเป็นการแสดงข้อมูลส่วนประกอบที่ไม่ครบ 100% มีเพียงยี่ห้อเดียวที่แสดงส่วนประกอบครบ 100% คือ เบซซ์ ที่ระบุว่า มีน้ำ 83.8% น้ำตาลกรวด 15.0% และ รังนกก่อนต้ม 1.2% เป็นส่วนประกอบ   ส่วนปัญหาการใช้คำโฆษณาว่าผลิตจากรังนกแท้ 100% ที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน ทางคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องตีความว่า รังนกแท้ 100% เป็นการโฆษณาเกินจริงหรือหลอกลวงผู้บริโภคหรือไม่ ซึ่งในเบื้องต้นเห็นควรให้ปรับข้อความบนฉลากให้เข้าใจง่าย ป้องกันการสับสน โดยจะมอบให้คณะอนุกรรมการว่าด้วยฉลากดำเนินการแจ้งไปยังบริษัทผู้ผลิตรังนกทุกยี่ห้อให้มีการปรับปรุงข้อความบนฉลาก โดยจะให้ปรับปรุงข้อความว่ารังนกแท้ 100% ซึ่งมีความหมายกำกวม เป็นคำว่า "รังนกแท้" เพียงอย่างเดียว หรือบอกว่ามีปริมาณรังนกแท้ 1% ของน้ำหนักหรือส่วนประกอบทั้งหมด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการว่าด้วยฉลากจะพิจารณาความเหมาะสมต่อไป ข้อมูลจากสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ระบุไว้ว่า รังนกปริมาณ 1% ในรังนกสำเร็จรูป 1 ขวด มีคุณค่าทางโภชนาการเท่ากับนมสดครึ่งช้อนโต๊ะ หรือถั่วลิสง 2 เมล็ด ผู้บริโภคจึงควรต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อว่าคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนมิถุนายน 25542 มิถุนายน 2554จ่ายเพิ่มชดเชยอุบัติเหตุรถยนต์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. เตรียมออกคำสั่งให้มีการปรับปรุงเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นจาก 100,000 บาท เป็นสูงสุด 300,000 บาท ทั้งกรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพถาวรจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ โดยมีผลบังคับใช้กับกรมธรรม์ที่เริ่มให้ความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นไป  นอกจากนี้ คปภ. จะจัดทำระบบสินไหมทดแทนอัตโนมัติ (E-cliam) เพื่อช่วยในเรื่องการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้เต็มวงเงินคุ้มครองทันทีโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิด พร้อมทั้งจะมีการเร่งจัดทำมาตรฐานราคาอ้างอิงค่าซ่อมรถใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน จากเดิมที่อ้างอิงราคาค่าซ่อมรถกำหนดตามขนาดของรถ จะมีการเปลี่ยนเป็นกำหนดตามรุ่นและยี่ห้อของรถแทน เพราะกระบวนการผลิตรถยนต์มีการพัฒนารูปแบบและเทคโนโลยี รถขนาดใกล้เคียงกันอาจมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้รถมากที่สุด----------------------------------------------------------------------------   26 มิถุนายน 2554 “สมุดบันทึกยา” แก้ปัญหาการใช้ยาซ้ำซ้อน ยา ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากเวลาที่เราเจ็บไข้ได้ป่วย ยิ่งถ้าเราต้องเผชิญกับหลายโรครุมเร้า การใช้ยาก็ต้องเพิ่มขึ้นตามอาการเจ็บป่วยของโรค ซึ่งการใช้ยาหลายชนิดหลายประเภทอาจไม่ช่วยรักษาโรคแถมยังกลับกลายเป็นผลร้าย ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้เลย “สมุดบันทึกยา” จึงเป็นตัวช่วยสำคัญให้ผู้ป่วยได้บันทึกการใช้ยาของตัวเอง ป้องกันการกินยาซ้ำซ้อนหรือยาออกฤทธิ์ตีกันจนกลายเป็นผลเสียต่อร่างกาย   ในงานสัปดาห์เภสัชกรรมประจำปี 2554 ได้มีการรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของการบันทึกรายการยาที่ใช้ เพื่อป้องกันการใช้ยาไม่เหมาะสม เพราะปัจจุบันมีผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังหลายโรคในเวลาเดียวกันโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดันและโรคหัวใจ ทำให้ต้องใช้ยาหลายชนิดและใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งพบว่ามีโอกาสเกิดความสับสนในการใช้ยาได้ มีข้อมูลจากการติดตามผู้ป่วยพบว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลนั้นสาเหตุมาจากเรื่องการใช้ยา โดยร้อยละ 40 มาจากการใช้ยาไม่ถูกต้อง และร้อยละ 60 มาจากอาการไม่พึงประสงค์จากยา   การจดบันทึกข้อมูลการใช้ยา ผู้ป่วยจะบันทึกด้วยตัวเองหรือจะให้แพทย์ หรือเภสัชกรเป็นผู้บันทึกก็ได้ ข้อมูลที่บันทึกจะเป็นประโยชน์มากในการรักษาผู้ป่วย ดังนั้นผู้ป่วยเองต้องรู้จักยาที่ตัวเองใช้เสียก่อนจึงจะสามารถจดบันทึกได้ เท่ากับได้เรียนรู้เรื่องยาไปด้วย --------------------------------------------------------   27 มิถุนายน 2554สคบ.คุมเข้ม “ฟิตเนส” ไม่ทำตามสัญญาต้องคืนเงิน ในที่สุด สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ได้ออกประกาศเรื่อง การให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2554 นี้ เป็นต้นไป ส่งผลให้ธุรกิจให้บริการออกกำลังกาย อาทิ ธุรกิจฟิตเนส โรงยิม สถานบริการออกกำลังกายรูปแบบอื่นๆ ที่ให้บริการใช้สถานที่และอุปกรณ์ออกกำลังกายเพื่อประโยชน์ในทางการค้า จะถือเป็นธุรกิจที่ถูกควบคุมสัญญา  สาระสำคัญและเงื่อนไขที่ต้องระบุในสัญญา ให้ชัดเจน คือ 1) รายละเอียดเกี่ยวกับขนาดพื้นที่สถานให้บริการ จำนวนประเภท และจำนวนอุปกรณ์ และการให้บริการอื่นๆ 2) รายละเอียดอัตราค่าสมาชิก ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเรียกเก็บ เงื่อนไขและวิธีการชำระเงิน วันเริ่มต้นและสิ้นสุดการเป็นสมาชิก 3) ผู้ประกอบการต้องระบุชัดเจนว่าการผิดสัญญาเรื่องใดของผู้บริโภคที่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา แต่ก่อนบอกเลิกสัญญาจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน  ในกรณีของผู้บริโภค การบอกเลิกสัญญาการใช้บริการโดยได้เงินคืนนั้นจะมาจาก 3 กรณี คือ 1)ผู้ประกอบการไม่มีอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการอื่น หรือมีอุปกรณ์แต่ชำรุดบกพร่อง หรือให้บริการได้ไม่เหมาะสมและเพียงพอ ตามระบุในสัญญา 2) มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์ว่าการใช้บริการออกกำลังกายต่อไปอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ 3) ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากผู้ฝึกสอนไม่มีความรู้ความชำนาญ หรือจากอุปกรณ์ออกกำลังกายที่ชำรุดบกพร่องแต่ไม่มีการแจ้งเตือน --------------------------------------------------------   “หนี้” ปัญหาใหญ่ที่ต้องใช้กฎหมายจัดการ “หนี้” ปัญหายอดฮิตของผู้บริโภค ทั้งเรื่องดอกเบี้ยสูงเกินจริง และการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชมรมหนี้บัตรเครดิต และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค กระตุ้นภาครัฐเร่งออกกฎหมายเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคด่วน   น.ส. สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียน เรื่องความไม่เป็นธรรมจากดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ระหว่างเดือน 1 ม.ค.-15 มิ.ย. 2554 พบว่า  มีผู้ร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 126 เรื่อง ซึ่งปัญหาที่ร้องเรียนเข้ามาได้แก่ การผิดนัดชำระ, การทวงหนี้ไม่เป็นธรรม, ถูกฟ้องให้ชำระหนี้ และค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ยไม่เป็นธรรม ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง กรรมการเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิต ว่ามี 3 ประเด็นหลักๆ คือ (1) การคิดดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูงมาก ปัจจุบันเรียกเก็บสูงสุดถึงร้อยละ 28 ขณะที่ต่างประเทศอย่างเยอรมนี เก็บสูงสุดแค่ร้อยละ 16 (2) กรณีการทวงหนี้ในปัจจุบัน แม้ ธปท. มีประกาศชัดเจนเรื่องแนวทางการทวงหนี้ แต่ก็เป็นเพียงประกาศเท่านั้น ไม่มีบทลงโทษในทางกฎหมาย และ (3) เรื่องการส่งเสริมการขายและการดึงดูดลูกค้าให้มีการเข้าถึงบัตรเครดิตมากขึ้น สุดท้ายก็มักเข้าสู่วังวนเรื่องหนี้ นายชูชาติ  บุญยงยศ ประธาน ชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เสนอแนะให้ภาครัฐ ต้องออกมาตรการควบคุมการเก็บดอกเบี้ยอย่างเป็นธรรม  โดยไม่ควรเกินร้อยละ 15  ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่เหมาะสม  เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งเฉลี่ยที่ร้อยละ 2  สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการปรึกษาเรื่องหนี้บัตรเครดิต ท่านสามารถโทรศัพท์ปรึกษาได้ที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โทรศัพท์ 02-2483737 หรือปรึกษาทางเว็บไซต์กับชมรมหนี้บัตรเครดิต debtclub.consumerthai.org -----------------------------------   กด “Like” ถ้าโรงหนังทำให้ปวดใจ ค่าตั๋วแพง – โฆษณาเพียบ เมื่อสังคมบนโลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่แสดงพลังผู้บริโภคที่ง่ายและรวดเร็ว "เครือข่ายคนรักหนังต่อต้านการโฆษณามหาโหดของโรงหนังเครือเมเจอร์" จึงได้เปิดหน้าแฟนเพจบนเฟซบุ้คขึ้น ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และเข้าร่วมขบวนการกันมากมาย ประเด็นนี้ถือเป็นกระแสร้อนแรงบนโลกออนไลน์ในช่วงเดือนที่ผ่านมา "เครือข่ายคนรักหนังต่อต้านการโฆษณามหาโหดของโรงหนังเครือเมเจอร์" ได้ก่อตั้งแฟนเพจบนเฟซบุ้คขึ้นก็เพื่อให้เป็นพื้นที่ร่วมแสดงความคิดเห็นของกลุ่มคนที่รู้สึกถูกเอาเปรียบจากการชมภาพยนตร์ในโรงหนัง “มัลติเพล็กซ์” โดยเฉพาะโรงหนังในเครือเมเจอร์ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการโฆษณาก่อนฉายภาพยนตร์นานเกินไป และเรื่องราคาตั๋วที่สูงขึ้นจนน่าตกใจ ซึ่งหลังจากเปิดตัวแฟนเพจ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 54 ในช่วงเวลาไม่ถึง 1 เดือน มีผู้ใช้เฟซบุ้คมากดเป็นเพื่อนมากกว่า 2 หมื่นคน  ปัจจุบันราคาตั๋วชมภาพยนตร์ในโรงมัลติเพล็กซ์มีราคาสูงถึง 140 – 170 บาท ในช่วงวันหยุด ขณะที่วันธรรมดาอยู่ที่ประมาณ 120 – 150 บาท ส่วนโฆษณาและตัวอย่างภาพยนตร์ก่อนฉายจริงนั้นจะใช้เวลาอยู่ที่ประมาณ 20 – 30 นาที แม้กระแสบนโลกออนไลน์จะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ปัญหาได้ทันทีทันใด แต่โรงหนังเครือเมเจอร์ก็พยายามหาทางออกด้วยการติดป้ายบอกเวลาการฉายโฆษณาและหนังตัวอย่างให้กับผู้ชม แต่เป็นแค่แจ้งให้ทราบเท่านั้น จำนวนไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ถึงกระนั้นก็เป็นการสร้างแรงสั่นสะเทือนเล็กๆ จากผู้บริโภคถึงผู้ประกอบการธุรกิจว่า หากผู้บริโภครู้สึกว่ามาเอาเปรียบกันมากเกินไปแล้ว ผู้บริโภคก็พร้อมออกมาทวงถามสิทธิของตัวเองกันมากขึ้น  ยิ่งในโลกที่สื่อออนไลน์เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนด้วยแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจโปรดพึงระวัง การตอบโต้กลับจากผู้บริโภคที่จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ

อ่านเพิ่มเติม >