ฉบับที่ 201 เร่งผมยาว ได้จริงหรือ

ใครที่กำลังขาดความมั่นใจจากความสั้นเต่อของเส้นผม มักมองหาสารพัดวิธีเพื่อช่วยเร่งให้ผมยาวขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการใช้ผลิตภัณฑ์เร่งผมยาวอย่างแชมพู สเปรย์หรือเซรั่ม แต่วิธีเหล่านี้จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน เราลองไปหาคำตอบกันมารู้จักเส้นผมของเรากันสักนิดเส้นผม เป็นส่วนที่เจริญเติบโตจากต่อมรากผม มีโปรตีนเคราติน(Keratin) เป็นส่วนประกอบหลัก แต่ถือว่าเป็นส่วนของเซลล์ที่ตายแล้ว จึงทำให้เราไม่รู้สึกเจ็บหรือมีเลือดเมื่อหลุดร่วงหรือถูกตัดออก ซึ่งตามปกติเส้นผมจะหลุดร่วงประมาณ 100 เส้น/วัน และมีวงจรการเจริญเติบโตเป็นระยะที่แน่นอน คือ เมื่อเส้นผมงอกไปจนยาวได้ประมาณหนึ่งแล้ว ต่อมผมก็จะหยุดสร้างเส้นผมเพื่อให้เกิดการหลุดร่วง จากนั้นก็จะมีผมงอกใหม่ขึ้นมาแทนที่ ทั้งนี้จำนวนเส้นผมตามปกติบนศีรษะของเราจะมีประมาณ 100,000-150,000 เส้น ผมยาวขึ้นได้ อย่างไรอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า เส้นผมมีวงจรการเจริญเติบโตเป็นระยะที่แน่นอน แตกต่างจากการงอกของเล็บ ซึ่งแบ่งออกป็น 3 ระยะ ดังนี้ 1. ระยะเจริญเติบโต(Anagen) เป็นช่วงที่เส้นผมมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้สังเกตได้ว่าผมยาวขึ้นเรื่อยๆ  ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอัตราการเจริญของเส้นผมประมาณ 1/2 นิ้ว/เดือน 2. ระยะหยุดเจริญเติบโต(Catagen) เป็นช่วงที่เส้นจะหยุดการเจริญเติบโตและหลุดร่วงไป และ 3. ระยะหลุดร่วง (Telogen) เป็นช่วงเวลาพักตัวของเส้นผม ซึ่งหลังจากนี้จะเกิดการสร้างรากผมใหม่และเข้าสู่ระยะที่หนึ่งอีกครั้งอย่างไรก็ตามวงจรการงอกของเส้นผมทั้ง 3 ระยะนี้เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วทั้งหนังศีรษะ ผมเส้นหนึ่งอาจอยู่ในระยะเจริญเติบโตในขณะที่บริเวณผมด้านข้างอยู่ในระยะหยุดการเจริญเติบโต ทำให้เรายังรู้สึกว่าผมยังดูยาวหรือหนาแน่นเต็มศีรษะอยู่ นอกจากนี้กระบวนการเติบโตเหล่านี้ล้วนขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน เช่น พันธุกรรม อายุหรือโรคประจำตัว ส่งผลให้แต่ละคนมีความยาวของเส้นผมที่แตกต่างกันไปแล้วเราสามารถเร่งผมยาวได้ จริงหรือแม้การเจริญเติบโตของเส้นผมจะมีวงจรที่แน่นอน และมีระยะเวลาการเจริญเติบโตที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน แต่หลายคนยังต้องการที่จะเร่งกระบวนการดังกล่าว ด้วยการใช้แชมพู สเปรย์หรือเซรั่มต่างๆ ซึ่งหากเราลองตรวจสอบหน้าที่หลักของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ดูจริงๆ ก็จะพบว่า แชมพูมีหน้าที่หลักในการชำระล้างสิ่งสกปรกบนหนังศีรษะ จึงอาจช่วยชำระล้างความมันที่อุดตันที่รากผมและทำให้เส้นผมเจริญเติบโตได้ดีขึ้น แต่ไม่สามารถส่งผลให้เส้นผมยาวไปมากกว่าอัตราการเจริญเติบโตตามปกติของมันได้ ส่วนสเปรย์หรือเซรั่มต่างๆ ที่มักโฆษณาว่ามีส่วนประกอบของอาหารผมนั้น พบว่าสามารถช่วยทำให้ผมแข็งแรงขึ้นได้ เพราะช่วยปิดเกล็ดผมที่ถูกทำร้ายจากความร้อน จึงอาจทำให้ดูเหมือนผมสุขภาพดีและหนาขึ้น แต่ก็ไม่สามารถส่งผลให้เส้นผมยาวไปมากกว่าอัตราการเจริญเติบโตตามปกติของมันได้เช่นกันแนะวิธีดูแลเส้นผมเพื่อให้เส้นผมมีการเจริญเติบโตตามวงจรปกติของมัน เราควรมีการดูแลเส้นผมอย่างถูกวิธี ดังนี้1. การสระผม แน่นอนว่าจำนวนครั้งการสระผมไม่ได้ส่งผลต่อความยาวของเส้นผม แต่ส่งผลต่อความสะอาดของหนังศีรษะ ซึ่งทำให้รูขุมขนไม่อุตตันและผมงอกได้ตามปกติ ระยะเวลาในการสระจึงขึ้นกับลักษณะการใช้ชีวิตของเรา และเลือกใช้แชมพูที่เหมาะสมกับสภาพหนังศีรษะ เช่น ถ้าหนังศีรษะมันอาจจะสระผมบ่อยได้ แต่ถ้าหนังศีรษะแห้งหรือผมแห้งมาก การสระผมบ่อยมากเกินไปอาจจะไม่เหมาะ รวมทั้งหลังการสระผมทุกครั้ง เราควรบำรุงผมให้มีความนุ่มลื่นขึ้นด้วยครีมนวดผม เพื่อป้องกันเส้นผมพันกัน ซึ่งยากต่อการจัดแต่งทรงภายหลัง2. เลี่ยงความร้อนและการใช้สารเคมี เพราะจะทำให้เกล็ดผมเปิด และเส้นผมขาดหรือแตกปลายได้ง่าย 3. รับประทานอาหารให้เหมาะสม เช่น อาหารที่มีโปรตีน เพราะเป็นส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตของเส้นผม หรือวิตามินต่างๆ เช่น วิตามินบีรวม ซึ่งมีมากในยีสต์และโยเกิร์ต 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 สถานการณ์การปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะ เชื้อดื้อยา และยีนดื้อยา ในห่วงโซ่อาหารและสิ่งแวดล้อม และการจัดการ

1. เกริ่นนำ ความห่วงใยเรื่องปัญหาเชื้อดื้อยาเดิมเริ่มจากผลกระทบและปัญหาที่พบในโรงพยาบาล  และไทยก็มีการตั้งศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในมนุษย์ ส่งมาจากโรงพยาบาลเป็นหลัก ต่อมาเริ่มเห็นปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะในชุมชน  และมีความเข้าใจมากขึ้นถึงปัญหาในระบบห่วงโซ่อาหาร  รวมถึงมีคำอธิบายความเชื่อมโยงของการดื้อยาทั้งในคน สัตว์ พืช และ สิ่งแวดล้อม ที่ไม่อาจแยกจากกันได้ ปัจจุบันทั้งนักวิชาการ และฝ่ายนโยบายจึงให้ความสำคัญมากขึ้น กับสิ่งที่เรียกว่า one health โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการรายงานการใช้ยาปฏิชีวนะและการปนเปื้อนเชื้อโรค เชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหารและสิ่งแวดล้อม บทความนี้ทบทวนสถานการณ์ถึงความก้าวหน้าใหม่ๆ ในด้านนี้ ต่อเนื่องจากบทความในฉลาดซื้อ ฉบับที่ 164 เรื่องยาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหาร พบว่า มีความก้าวหน้าเชิงนโยบายและวิชาการทั้งจากทั่วโลกและในประเทศไทย  แต่ขณะเดียวกันก็มีความน่ากลัวของสถานการณ์การดื้อยาที่รุนแรงขึ้น จากห่วงโซ่อาหารมาสู่คนและสิ่งแวดล้อม ที่ทุกภาคส่วนล้วนยอมรับว่ากระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงด้านอาหารและรายได้ และต่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสิ่งแวดล้อมที่กระทบทั้งสุขภาพและกระทบต่อการผลิตอาหารในระยะยาวในวงจรอาหารมีองค์ประกอบที่มีความหลากหลายและเชื่อมโยงกันเป็น one health  ดังนั้นการทำงานเกี่ยวกับเชื้อดื้อยาควรมองการป้องกันและจัดการอย่างบูรณาการ ระบาดวิทยาของเชื้อดื้อยา (Epidemiology of Antimicrobial Resistance)  สะท้อนแหล่งผลิตเชื้อดื้อยาหรือยีนดื้อยา ที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะหรือเกิดการปนเปื้อนของเชื้อดื้อยา  มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันหมด ทั้งทางตรงและทางอ้อม   อาจมีปฏิสัมพันธ์ทางเดียวหรือสองทิศทางก็ได้ ที่สำคัญๆ มีได้ 7 จุด ได้แก่ มนุษย์(โรงพยาบาล สถานีอนามัย ชุมชน และการท่องเที่ยว) ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอาหาร(วัว หมู แกะ เป็ดไก่ ฯลฯ) สัตว์เลี้ยง สัตว์สวยงาม สัตว์โชว์(เช่นสุนัข แมว ไก่ชน ฯลฯ) การปลูกพืช ผัก ผลไม้ ผลิตเม็ลดพันธ์(ส้ม ส้มโอ มะนาว มันเทศ ฯลฯ) การประมง(ปลา กุ้ง ฯลฯ) โรงงานผลิตยา สารเคมี และสารเคมีใช้ในบ้าน(อาจปล่อยยาปฏิชีวนะ หรือสารเคมีลงสิ่งแวดล้อม) การผลิตแอลกอฮอล์จากพืช(มีการใช้กลุ่มยาปฏิชีวนะด้วย) ในการเชื่อมโยง แพร่ปัจจัยการเกิดเชื้อดื้อยา มีทั้งสัมผัสตรงหรือได้ทางอ้อม จุดเชื่อม เช่น มูลสัตว์และน้ำจากฟาร์ม การขายทำปุ๋ย หรือปล่อยลงดิน การลงแม่น้ำ นำไปสู่ ทะเลหรือทะเลสาบ มีการนำไปบริโภค แหล่งบำบัดน้ำเสียจากจุดปล่อย ต่างๆ เหล่านี้ เป็นต้น     2. MCR-1 gene เรื่องใหญ่ของโลกและของไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2558  มีรายงานจากประเทศจีนที่ลงตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ Lancet Infectious     เป็นการค้นพบยีน (gene) ที่ดื้อต่อยาโคลิสติน ที่ชื่อว่า mcr-1 gene เป็นครั้งแรกในโลก โดยที่เป็นการพบว่า ยีนการดื้อยานี้ มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากยีนดื้อยาเดิม คือชนิดใหม่เกิดบน plasmid มีการถ่ายทอดพันธุกรรมในลักษณะเป็น Horizontal Gene Transfer สามารถถ่ายทอดสายพันธุกรรมข้ามสายพันธุ์ได้  การค้นพบนี้ก่อให้เกิดความตื่นเต้นและตระหนกไปทั่วโลก แม้ว่าก่อนหน้านี้มีการศึกษา การดื้อยาโคลิสติน มาแล้วหลายรายงาน แต่รายงานดั้งเดิมพบยีนดื้อยาที่มีลักษณะแบบ Vertical Gene Transfer  ทั้งนี้ยาโคลิสตินเป็นหนึ่งในยากลุ่ม polymyxin   เนื่องจากความเป็นพิษต่อมนุษย์ จึงมีการแนะนำให้ใช้ในการเลี้ยงสัตว์(หมูและไก่) แต่ในขณะเดียวกัน ยาโคลิสตินก็เป็นยากลุ่มสำคัญที่มักจะใช้รักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่ดื้อต่อยาอื่นๆ  การค้นพบครั้งนี้ จึงสะท้อนปัญหาการดื้อยาที่เกิดในห่วงโซ่อาหารและกระทบต่อสุขภาพของคนและนำไปสู่สิ่งแวดล้อมด้วยแล้ว หลังรายงานฉบับแรก ได้เพียง 3 เดือน พบรายงานถึงการพบ mcr-1 gene ในอย่างน้อยใน 19 ประเทศ และเพียงกลางปี พ.ศ. 2559 พบรายงานแล้วกว่า 32 ประเทศ  จากการที่ผู้เขียนได้รวบรวมเอกสารงานวิจัยและข่าวต่างๆ จากทั่วโลกในช่วงเวลาสองปีย้อนหลัง(พฤศจิกายน พ.ศ. 2558-ตุลาคม พ.ศ. 2560) พบว่ามีการรายงานการพบ mcr-1 gene แล้วถึงมากกว่า 42 ประเทศ กระจายทุกภูมิภาค(ตารางที่ 1) คาดว่าน่าจะมีมากกว่านี้ตารางที่ 1 รายชื่อประเทศ ที่มีรายงานตรวจพบ mcr-1 gene และยีนในกลุ่มเดียวกัน (mcr-1 gene ถึง mcr-5 gene)จากรายงานวิจัยที่รวบรวม พบว่าแหล่งของยีนเชื้อดื้อยามาจากหลากหลายแหล่ง เช่น จากฟาร์ม (อุจจาระ เลือด สารคัดหลั่ง หรือการ swab ทวารหนัก ของหมู วัว ไก่ในฟาร์ม) จากเนื้อสัตว์แหล่งต่างๆ  (หมู ไก่ วัว)  จากพืชผัก (ตรวจที่ปลายทางที่ประเทศนำเข้า ส่วนไทยยังไม่ได้ตรวจ)   จากสิ่งแวดล้อม(แม่น้ำ น้ำบ่อ น้ำระหว่างการบำบัด) รวมถึงตัวอย่างเชื้อที่แยก จากผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วยที่เพาะและแช่แข็งเก็บไว้ และต่อมาพบในผู้ป่วย ( เลือด อุจจาระ สารคัดหลั่ง)  หรือในอาสาสมัครปกติ( เลือด อุจจาระ สารคัดหลั่ง)   ความห่วงใยต่อการปนเปื้อนของ mcr-1 gene หรือ แบคทีเรียที่มี mcr-1 gene  ในสิ่งแวดล้อมหรือในระบบนิเวศน์ เพราะหลังจากตรวจพบ mcr-1 gene ในสัตว์ ในคน ก็เริ่มพบว่ามีการแพร่ไปสู่สิ่งแวดล้อมในหลาย ๆ ลักษณะ นอกจากนี้  มีข่าวบางข่าวจากต่างประเทศสะท้อนความห่วงใยการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะยาหรือยีนเชื้อดื้อจากโรงงานผลิตยา และจากโรงพยาบาล  ยังพบต่อมาว่าเกิดยีนส์อีกหลายชนิดที่เป็นกลุ่มใกล้เคียงกัน รวมแล้วปัจจุบันพบยีนดื้อยาโคลิสตินชนิดร้ายแรงนี้ ได้แก่ mcr-1, mcr-2, mcr-3, mr-4, mcr-5  และในบางครั้งพบยีนดื้อยาที่รวมกันหลายชนิดในสายพันธุกรรมเดียวกันด้วยที่มาจากผู้ป่วย  ส่วนสถานการณ์ของไทย พบว่ามีรายงานต่างประเทศระบุว่าพบ mcr-1 gene ในตัวอย่าง ที่เก็บ ตั้งแต่ พ.ศ. 2555   โดยพบในคนไทย  2 ราย จากตัวอย่างคนไทยที่ตรวจทั้งหมด 3 ราย ที่ยังไม่ได้แสดงอาการ และเห็นความเชื่อมโยงว่าอาจแพร่จากหมูมาสู่คนได้ต่อมามีรายงานในผู้ป่วย ตามที่ปรากฎในบทความ ในหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก   ที่ระบุว่า  มีเอกสารรายงาน “สถานการณ์การเกิดโรคประจำสัปดาห์ที่ 24 ระหว่างวันที่ 12-18 มิถุนายน 2559” ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่ามีการตรวจพบยีนดื้อยาดังกล่าวในตัวอย่างปัสสาวะผู้ป่วยชาย ข้อความดังนี้  "4.พบผู้ป่วยติดเชื้อ Escherichia coli มียีนดื้อยา mcr-1 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จ.นนทบุรี โดยศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติได้ตรวจพบเชื้อ Escherichia coli มียีนดื้อยา mcr-1 จากตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วยไทย เพศชาย อายุ 63 ปี ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาครั้งแรกระหว่างวันที่ 23 มกราคม-25 กุมภาพันธ์ 2559 ด้วยอาการ Intracerebral hemorrhage แพทย์ได้ผ่าตัด และผู้ป่วยเข้ารับการรักษาครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 8-11 เมษายน 2559 ด้วยโรคหลอดลมอักเสบ คาดว่าผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาจากโรงพยาบาล”ทั้งนี้ต่อมามีรายงานวิชาการระบุการพบเชื้อดื้อยาที่ชื่อ Escherichai coli (E coli) จากปัสสาวะของผู้ป่วยชายไทยอายุ 63 ปี ที่มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ  การตรวจเบื้องต้นพบการดื้อต่อยาปฏิชีวนะถึงกว่า 30 ชนิด เมื่อทำการตรวจยีนพบทั้ง mcr-1 gene ที่ดื้อต่อโคลิสตินและยีนดื้อยารุนแรงอื่น   หมายเหตุ ผู้เขียน เข้าใจว่าตัวอย่างนี้น่าจะเป็นชายคนเดียวกับที่รายงานในคมชัดลึก มีรายงานจากต่างประเทศระบุว่าพบ mcr-1 gene ในตัวอย่าง ผัก จากไทย(ชะอม) และเวียดนาม (โหระพา) ที่ส่งไปขายในสวิตเซอร์แลนด์ โดยตัวอย่างเก็บเมื่อพ.ศ. 2557 รายงานการตรวจพบ mcr-1 gene ในไทยจากตัวอย่างเชื้อที่เก็บจากหมู  ในช่วงพ.ศ. 2547, 2554-2557 จาก 4 จังหวัด พบ mcr-1 gene ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 (1 จังหวัด) และพบต่อเนื่อง ในปีพ.ศ. 2555-2556 (2 จังหวัด) และพ.ศ.2557 (1 จังหวัด)  รายงานข่าวในคมชัดลึก ถึงการสำรวจฟาร์มหมู และการดำเนินการของกรมปศุสัตว์ที่เข้มงวด รวดเร็ว ที่ลงต่อเนื่อง  3. นานาชาติเขาทำอะไรกันบ้าง เกี่ยวกับเชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหาร  Antibiotic Awareness Week/Day 2017วันที่ 18 พฤศจิกายน ของทุกปี จัดเป็นวัน antibiotic awareness day  ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2551 โดยเริ่ม European Antibiotic Awareness Day ด้วยการประสานงานของ European Center for Diseases Prevention and Control  ร่วมกับภาคีหลายภาคส่วน เป็นการรณรงค์ให้ใช้ยาปฏิชีวนะ/ยาต้านแบคทีเรียอย่างสมเหตุผลและอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อให้ยายังคงมีประสิทธิผลในการรักษาและเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดเชื้อดื้อยา ซึ่งเดิมเป้าหมายมุ่งที่การใช้ยาในคน แต่ต่อมาขยายสู่การใช้ในสัตว์และในพืชด้วย  ซึ่งงานนี้ก็แพร่หลายไปสู่ประเทศต่าง ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ส่วนไทยนับได้ว่าเป็นประเทศต้นๆ ในเอเชีย ที่จัดงานนี้ ตั้งแต่ปี 2556 สำหรับปี พ.ศ. 2560 องค์การอนามัยโลก ประกาศ ให้ World Antibiotic Awareness Week 2017  คือ ช่วง 13-19 พฤศจิกายน 2560  ซึ่งประเทศไทย กำหนดจัดกิจกรรม ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 จัดเป็นงานใหญ่ เพราะกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดงานนี้ เป็นครั้งแรก ด้วยการสนับสนุนขององค์การอนามัยโลก ทั้งวิชาการและงบประมาณ  นอกจากนี้ กพย. สสส. ให้การสนับสนุน ทั้งงานส่วนกลาง และงานพื้นที่ เพราะ กพย. ได้เคยจัดงานนี้ มาแล้วอย่างต่อเนื่อง ถึง 4 ปี (พ.ศ.2556-2559) ในชื่อวัน(สัปดาห์) รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย  มีประเด็นหลักแตกต่างกันไป  ที่เกี่ยวเนื่องกับอาหาร ชุมชน และสิ่งแวดล้อม คือปี พ.ศ.2558  และมีแผนงานที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนนโยบายการจัดการการดื้อยา ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 และต่อเนื่องมาจนผลักเข้าเป็นวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ใน พ.ศ. 2558 และต่อมาจึงมียุทธศาสตร์ชาติด้านนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย องค์กรระหว่างประเทศองค์การอนามัยโลก เน้นเฉพาะสุขภาพของมนุษย์ มีมติสมัชชาอนามัยโลกมาอย่างต่อเนื่อง ออกรายงานการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาทั่วโลก และมีการรับรอง Global Action Plan อย่างไรก็ดี สุขภาพมนุษย์มีความเชื่อมโยงกับอาหารที่มาจากสัตว์และสัตว์เลี้ยง จึงมีการประกาศร่วมในที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ (General Assembly) เมื่อ ตุลาคม พ.ศ 2559  Resolution adopted by the General Assembly   และให้ทำงานร่วม ระหว่าง 3 หน่วยงาน WHO, FAO และ OIEองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ออกแผนปฏิบัติการต่อสู้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ   เมื่อ 14 กันยายน พ.ศ. 2559 มีหัวใจสำคัญ ๔ ข้อ  ได้แก่ (ก) สร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาเชื้อดื้อยาและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานอาหารรับทราบ   และ ทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือชำนาญในเรื่องนี้ (ข) เพิ่มขีดความสามารถของประเทศในการติดตามและเฝ้าระวังการใช้ยาต้านจุลชีพ และปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพในการผลิต อาหารและสินค้าเกษตร (ค) เสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพและปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพในการผลิตอาหารและสินค้าเกษตร (ง) สนับสนุนแนวทางปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหารและสินค้าเกษตร และ การใช้ยาต้านจุลชีพอย่างระมัดระวังล่าสุดองค์การอนามัยโลก ออกคู่มือการใช้ยาต้านจุลชีพที่มีความสำคัญด้านการแพทย์ในการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร  4. สถานการณ์ของไทย ข้อมูลจากพื้นที่ งานวิชาการ และมาตรการนโยบายที่เกี่ยวข้อง ในวงจร ห่วงโซ่อาหาร ยังพบการใช้ยาปฏิชีวนะ ทั้งในการเลี้ยงสัตว์ และปลูกพืช มีงานสำรวจการพบเชื้อในหลายพื้นที่ โดยตัวอย่างการสำรวจการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์ในเชียงใหม่  พบว่าเกษตรกรที่สำรวจเกือบทั้งหมดมีการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งรายการยาปฏิชีวนะ 5 อันดับแรกของการเลี้ยงสัตว์แต่ละกลุ่ม เป็นดังนี้ ในโคนม ได้แก่ oxytetracycline, penicillin, sulphamethoxydiazine, cloxacillin + ampicillin (ยาดราย), kanamycinในหมู  ได้แก่ amoxicillin, enrofloxacin, oxytetracycline, gentamycin, neomycin ในไก่ไข่ ได้แก่ enrofloxacin, Sulfadimethoxine , cocidiocidal triazinetrione โดยที่ในรายงานมิได้กล่าวถึงการใช้อาหารสัตว์ผสมยาปฏิชีวนะที่ชัดเจน แต่ได้ระบุว่ามีการใช้โคลิสตินผสมน้ำให้ดื่มตั้งแต่เป็นลูกสุกรทุกวัน เรียกว่าวิตามิน ทั้งนี้ข่าวจากคมชัดลึก สะท้อนว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงหมูจริง ใช้ตั้งแต่แรกเกิดมีการสำรวจแหล่งขายยาหรือขายอาหารผสมยาชัดเจนนอกจากนี้จากการรวบรวมรายงานวิชาการ การสำรวจหรือสอบถามคนพื้นที่ และติดตามข่าว พบมีการใช้ยาปฏิชีวนะฉีดเข้าลำต้นผลไม้ในหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ปทุมธานี ชัยนาท  โดยต้นส้ม  ต้มส้มโอ มะนาว หรือแม้แต่พ่นยากับต้นมันเทศ ยาที่ใช้ในไทย เช่น แอมพิซิลลิน เอม๊อกซี่ซิลลิน เตตร้าไซคลิน สเตรปโตมัยซิน หรือการใช้ เพนนิซิลลิน จี สำหรับจุ่มตา หรือการใช้สารเคมีฉีดเข้าลำต้นทุเรียน  ส่วนในต่างประเทศบางประเทศก็มีการใช้ด้วยเช่นกัน เช่นจีน   ที่น่าเป็นห่วงคือการตกค้างในผลไม้และการไหลค้างลงสู่สิ่งแวดล้อม ที่ต้องการการศึกษาอย่างจริงจัง  ถึงระบาดวิทยาการดื้อยา ผลกระทบต่อมนุษย์พร้อมทั้งศึกษาหาสาเหตุและวิธีการรักษาโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ  ในมิติมุมมองผู้บริโภค พบมีการเคลื่อนไหว สำรวจและรณรงค์ให้เลิกใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอาหาร เมื่อ 2 มีนาคม 2559 มพบ. แถลงข่าวรณรงค์ในวันสิทธิผู้บริโภคสากล เรียกร้องให้บริษัทขายอาหารฟาสต์ฟู้ด เลิกใช้เนื้อสัตว์ที่เลี้ยงโดยใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นการรณรงค์พร้อมกันทั่วโลกของเครือข่ายสมาชิกองค์กรผู้บริโภคทั่วโลก เมื่อ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา  ได้ ร่วมแถลงข่าวพบยาปฏิชีวนะใน แซนด์วิชไก่อบ ซับเวย์ แต่ไม่เกินมาตรฐาน องค์กรผู้บริโภค-นักวิชาการสุขภาพ เรียกร้องให้ลดและยกเลิกการใช้เนื้อสัตว์ที่มียาปฏิชีวนะ14 มี.ค.60 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รายงานผลการเก็บตัวอย่างเนื้อหมูจากตลาดสด และห้างค้าปลีก รวม 15 แห่งในกรุงเทพมหานคร พบเนื้อหมูมียาปฏิชีวนะตกค้างถึงร้อยละ 13 พบจาก 2 ตลาดสด   เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัยมีความพยายามของเกษตรกรที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพจากการใช้ยาปฏิชีวนะผสมเลี้ยงสัตว์ หันมาเลี้ยงหมูเสรี หมูปลอดภัย หมูหลุม เลี้ยงไก่ ปลูกผักอินทรีย์ ไม่ใช้ยา เลี้ยงปลาปลอดสาร หรือสารเคมีต่าง ๆ มีตัวอย่างที่นครปฐม ปทุมธานี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่ มหาสารคาม เป็นต้น   รัฐบาลควรได้มีการส่งเสริมความรู้ แก่ทั้งเกษตรกร สนับสนุนการจัดตลาดอาหารปลอดภัย และให้ความรู้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคประกาศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระทรวงสาธารณสุข มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 ฉบับ พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไข และ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2559ล่าสุดมีการประกาศยกเลิกยาโคลิสติน ชนิดรับประทานสำหรับคน และมีความพยายามทบทวนทะเบียนตำรับยาปฏิชีวนะ(กพย. ได้จัดแถลงข่าวและทำหนังสือถึง รมว.สธ. เรียกร้องให้ทำการทบทวนทะเบียนตำรับยาสูตรที่ไม่เหมาะสม ด่วน) แต่ผลยังไม่มีความคืบหน้านักกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชื่อ ประเภท ชนิด ลักษณะหรือคุณสมบัติของวัตถุที่ห้ามใช้ผสมในอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558  ห้ามใช้ยาต้านจุลชีพทุกชนิดผสมลงในอาหารสัตว์ในวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการเจริญเติบโตหรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อาหารสัตว์5. ยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย เป็นยุทธศาสตร์ร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ผ่านมติ ครม. เมื่อ 17 สิงหาคม 2559 ต่อมาขยายไปอีกหลายกระทรวงวิสัยทัศน์  แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 มีการกําหนดวิสัยทัศน์คือ การป่วย การตาย และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากเชื้อดื้อยาลดลง และกําหนดเป้าประสงค์ที่ต้องการบรรลุภายในปี 2564 ไว้ 5 ประการ คือ การป่วยจากเชื้อดื้อยาลดลงร้อยละ 50 (ซึ่งสามารถนําไปใช้คํานวณผลกระทบต่อสุขภาพและเชิง เศรษฐกิจ) การใช้ยาต้านจุลชีพสําหรับมนุษย์และสัตว์ลดลงร้อยละ 20 และ 30 ตามลําดับ ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยา และตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และประเทศไทยมีระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพที่มีสมรรถนะตามเกณฑ์สากลประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวยุทธศาสตร์ที่ 2 การควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในภาพรวมของประเทศยุทธศาสตร์ที่ 3 การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลและควบคุมกํากับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมยุทธศาสตร์ที่ 4 การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและควบคุมกํากับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยงยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชนยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารและพัฒนากลไกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืนแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ มีรองนายกเป็นประธาน และคณะกรรมการมีมติรับรองแผนปฏิบัติการเบื้องต้น และให้มีการปรับปรุงต่อเนื่องได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อาหาร ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมวิชาการเกษตร ได้ร่วมประกาศกลยุทธ์ 5 ด้าน  ได้แก่ ก. การลดใช้ยาต้านจุลชีพในการทำปศุสัตว์และประมง ข. ลดเชื้อ ดื้อยาในห่วงโซ่การผลิต อาหาร ค. การพัฒนาระบบเฝ้าระวังการใช้ยาต้านจุลชีพในพืช ง.  พัฒนาต้นแบบสถานพยาบาลสำหรับสัตว์เลี้ยง จ. พัฒนาให้ความรู้เรื่องการใช้ยาต้านจุลชีพแก่ผู้เกี่ยวข้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 นายจ้างเรียกค่ารักษาพยาบาลคืนจากผู้ทำละเมิดลูกจ้าง “ไม่ได้”

สวัสดีครับ ครั้งนี้มาคุยกันเรื่องของสิทธินายจ้าง ลูกจ้างกันนะครับ เรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกท่าน ซึ่งบางท่านอาจจะเป็นทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เช่นเดียวกับที่ท่านอาจเป็นทั้งผู้บริโภคที่ซื้อและขายสินค้าในคนเดียวกัน โดยมีคดีเรื่องหนึ่งน่าสนใจมาก เป็นเรื่องของนายจ้างคนหนึ่งซึ่งมีลูกจ้างไปขับรถตักยกสินค้าประมาท โดยขับรถตักยกสินค้าเพื่อยกเยื่อกระดาษอัดลงจากรถยนต์บรรทุก โดยไม่ตรวจสอบก่อนว่าเยื่อกระดาษอยู่ในตำแหน่งที่อาจหล่นได้หรือไม่ เป็นเหตุให้เยื่อกระดาษหล่นจากรถยนต์บรรทุกมาทับลูกจ้างอีกคนตาย หลังเกิดเหตุ นายจ้างก็รับผิดชอบต่อครอบครัวของผู้ประสบเหตุ จ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าโลงศพ และค่าฉีดยาศพ พร้อมค่าขนศพมายังภูมิลำเนาลูกจ้างผู้ตาย รวมเป็นเงินกว่าแสนบาท   และต่อมา นายจ้างและครอบครัวของลูกจ้างที่ตาย ลูกจ้างที่ขับรถตักยก ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแต่ไม่ยอมชดใช้เงินให้นายจ้าง นายจ้างจึงมาฟ้องคดีต่อศาล  ซึ่งฝั่งจำเลยที่เป็นครอบครัวของลูกจ้างที่ตายก็สู้ว่าผู้ตายเป็นลูกจ้างของโจทก์ประสบเหตุขณะทำงานให้โจทก์ ผู้ตายเข้ารับการรักษาและโดยความยินยอมของโจทก์ โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าทำศพ ขอให้ยกฟ้อง ท้ายที่สุด ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า การที่นายจ้างจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเงินทดแทนแก่ลูกจ้าง กรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้าง กฎหมายไม่ได้ให้สิทธิแก่นายจ้างเรียกเอาเงินทดแทนที่จ่ายไปนั้นคืนจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้าง เพราะไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทน ดังนั้นนายจ้างจึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายไปคืนได้คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7630/2554          การรับช่วงสิทธิจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอำนาจของกฎหมาย จึงต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้รับช่วงสิทธิได้ การที่โจทก์จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเงินทดแทนแก่ลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานอันเป็นกฎหมายพิเศษซึ่งใช้บังคับระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้างโดยเฉพาะ มิใช่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหายและกฎหมายก็ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเรียกเอาเงินทดแทนที่จ่ายไปนั้นคืนจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้างโจทก์ได้แต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จ่ายไปคืนจากจำเลยที่ 7 ได้ โดยสรุปคือ การจ่ายเงินของนายจ้างกรณีตามคดีนี้ เป็นการจ่ายเงินทดแทนตามกฎหมายแรงงานอันเป็นกฎหมายพิเศษที่ใช้บังคับกรณีลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายจากการทำงานให้นายจ้างโดยเฉพาะ ไม่ใช่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย และกฎหมายก็ไม่ได้ให้สิทธินายจ้างเรียกเอาเงินที่จ่ายทดแทนไปนั้นจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้างโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้นนายจ้างซึ่งเป็นโจทก์จึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายไปคืนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 เหม็นกลิ่นขี้ยางจากข้างบ้าน

ขี้ยางหรือเศษยาง เป็นสิ่งที่เหลือจากการกระบวนการทำยางก้อนและยางแผ่น ซึ่งสามารถนำไปเป็นส่วนผสมสำหรับยางที่มีสีดำอย่างยางรถยนต์ต่อได้ อย่างไรก็ตามขี้ยางมักมีกลิ่นแรง โดยหากไม่มีการจัดเก็บที่ดี อาจส่งปัญหาต่อบ้านใกล้เรือนเคียงได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณกุญชร ได้กลิ่นเหม็นรบกวนจากเพื่อนบ้านเป็นประจำ ซึ่งมาทราบภายหลังว่าสาเหตุของกลิ่นมาจากการที่เพื่อนบ้าน รับซื้อขี้ยางมาเก็บไว้จำนวนมาก เพื่อรอการจำหน่ายต่อไป ทำให้เขาต้องการทราบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวสามารถจัดการปัญหาได้อย่างไรบ้าง เพราะไม่อยากทนกลิ่นเหม็นของขี้ยางอีกต่อไป จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า กรณีดังกล่าวอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 ที่กำหนดไว้ในมาตรา 25 (4) ว่า การกระทำใดๆ ที่เป็นเหตุให้เกิด กลิ่น แสง เสียง การสั่นสะเทือน ฝุ่น จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ถือว่าเป็นการกระทำผิด ซึ่งผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงตาม พ.ร.บ. นี้คือเจ้าพนักงานท้องถิ่น สามารถแจ้งให้ปรับปรุง/แก้ไข  ภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ และหากล่วงเลยเวลาดังกล่าวแล้ว เจ้าพนักงานก็มีอำนาจสั่งรื้อ/ปรับได้ ศูนย์ฯ จึงแนะนำให้ผู้ร้องไปแจ้งเรื่องต่อผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้ปกครองท้องถิ่นก่อนเบื้องต้น โดยภายหลังผู้ร้องได้แจ้งกลับมาว่าได้ดำเนินการบอกผู้ใหญ่บ้านแล้ว ซึ่งไปแจ้งเตือนคู่กรณีให้มีการแก้ไขปรับปรุงเป็นที่เรียบร้อย จึงยินดีขอยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 แพ้ยา ใครรับผิดชอบ

คุณชัยเข้ารับการผ่าตัดหมอนรองกระดูกคอที่โรงพยาบาลวิภาวดี โดยก่อนผ่าตัดแพทย์ได้แจ้งว่ามีค่าใช้จ่ายประมาณ 300,000 - 400,000 บาท ซึ่งเขาก็รับทราบและตกลงรับการรักษา หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้นและอยู่ในระหว่างการพักฟื้นในห้องพักผู้ป่วย คุณชัยมีอาการปวดแผล พยาบาลจึงได้ฉีดยาแก้ปวดให้ หลังได้รับการฉีดยาเข้าไปประมาณ 5 นาที เหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นคุณชัยเริ่มมีอาการแน่นหน้าอก  ไอ กระสับกระส่าย หายใจลำบาก เหมือนมีอะไรติดในคอ จึงเรียกให้พยาบาลกลับมาดูอาการอีกครั้ง ซึ่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการชงน้ำขิงให้เขาดื่ม แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น พยาบาลจึงหยดยาชาบริเวณคอให้แทน อย่างไรก็ตามอาการของคุณชัยกลับแย่ลงเรื่อยๆ เพราะเขาเริ่มหายใจไม่ออก หน้า ลิ้นกลายเป็นสีม่วงและปัสสาวะราด ทำให้พยาบาลรีบนำคุณชัยเข้าห้องไอซียู และภายหลังแพทย์ได้วินิจฉัยว่า อาการที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากการแพ้ยา ที่ถูกฉีดให้เพื่อบรรเทาอาการปวดแผลนั่นเองหลังนอนพักรักษาตัวได้จนครบกำหนดออกจากโรงพยาบาล คุณสุชัยก็ต้องตกใจอีกครั้งเมื่อพบว่า ยอดค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นเงินเกือบ 700,000 บาท ซึ่งพยาบาลได้ชี้แจงว่าเป็นค่าผ่าตัดรวมกับค่ารักษาอาการแพ้ยาที่เกิดขึ้น เขาจึงทักท้วงไปว่าโรงพยาบาลไม่ควรเรียกเก็บค่ารักษาอาการแพ้ยา เพราะเกิดจากมาตรการดูแลผู้ป่วยที่ผิดพลาดของโรงพยาบาลเอง ทำให้ทางโรงพยาบาลเสนอว่าจะลดค่าใช้จ่ายให้ โดยให้คุณชัยชำระเฉพาะยอดค่าผ่าตัดตามที่ตกลงกันไว้ ส่วนยอดค่ารักษาอาการแพ้ยาจะยังไม่จ่ายก็ได้ แต่ต้องทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ก่อน จึงจะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ ทำให้คุณสุชัยไม่มีทางเลือกต้องทำหนังสือรับสภาพหนี้ และส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ ทางโรงพยาบาลให้คุณชัยทำหนังสือรับสภาพหนี้ที่เหลืออีกจำนวน 200,000 กว่าบาท โดยเป็นยอดค่าใช้จ่ายในส่วนของการรักษาอาการแพ้ยา ซึ่งศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เห็นว่าการเรียกเก็บเงินจำนวนดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้ป่วย เพราะแพทย์ควรมีความระมัดระวังต่อการรักษามากกว่านี้ หรือควรสันนิษฐานได้เบื้องต้นว่าอาการที่เกิดขึ้นหลังการฉีดยาบรรเทาอาการปวดแผลเป็นอาการแพ้ยา และรีบแก้ไขปัญหาให้ถูกต้อง ดังนั้นกรณีที่เกิดขึ้นอาจเข้าข่ายเป็นความประมาทเลินเล่อก็ได้ และทางโรงพยาบาลควรรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มากกว่าการเรียกเก็บเงินเพิ่มเติมจากผู้ป่วย รวมทั้งคุณชัยได้ชำระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามที่ตกลงกับโรงพยาบาลแล้ว ศูนย์ฯ จึงช่วยส่งหนังสือแจ้งโรงพยาบาลให้ระงับการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เหลือ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วย โดยขณะนี้กำลังรอการตอบกลับจากโรงพยาบาล และเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป ยังคงต้องติดตาม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 Thai Weather ปรับตัวตามการพยากรณ์สภาพอากาศ

หลายเดือนที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ในช่วงฝนตกอย่างต่อเนื่อง และในบางช่วงเกิดจากมรสุมพัดผ่าน จึงทำให้บางครั้งฝนตกช่วงเช้า ช่วงเย็น หรือตกตลอดทั้งวัน จนไม่สามารถคาดการณ์ได้ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาสำหรับประชาชนที่ต้องเดินทางไปทำงานพอสมควร เนื่องจากไม่แน่ใจในสภาพอากาศที่แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวอากาศร้อนแล้วเปลี่ยนเป็นฝนตก สลับกันไป ถ้าไม่มีการเตรียมตัวมาก็อาจต้องมีตากฝนตากแดดจนเป็นไข้หวัดกันได้  ฉบับนี้ผู้เขียนจึงเห็นว่าในฐานะประชาชนในประเทศไทยคนหนึ่ง ควรที่จะได้รู้และศึกษาสภาพอากาศได้ก่อนล่วงหน้า จึงนำแอปพลิเคชันของกรมอุตุนิยมวิทยาที่มีชื่อว่า Thai Weather มาแนะนำให้ดาวน์โหลดลงบนสมาร์ทโฟนเพื่อติดตามสภาพอากาศได้ตลอดเวลา ภายในแอปพลิเคชัน Thai Weather จะแบ่งเมนูหลักเป็น 15 หมวด ได้แก่ เมนูแผนที่เตือนภัยจะบอกข่าวเมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้น เมนูพยากรณ์อากาศเป็นส่วนที่จะบอกรายละเอียดถึงอุณหภูมิ การพยากรณ์ฟ้าฝนในแต่ละจังหวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยสามารถเลือกจังหวัดที่ต้องการทราบข้อมูลจากวันนี้และถัดไปอีก 4 วัน เมนูสภาพอากาศจะบอกถึงรายละเอียดถึงอุณหภูมิ การพยากรณ์ฟ้าฝนจังหวัดที่ผู้ถือสมาร์ทโฟนอยู่ ณ เวลานั้น เมนูกรุงเทพจะเป็นรายงานและพยากรณ์ฝนภายในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมนูประกาศจะบอกข่าวสารที่ต้องประกาศ เมนูแผ่นดินไหวจะรายงานการเกิดแผ่นไหวล่าสุดรอบประเทศไทยและทั่วโลก เมนูทางเดินพายุจะรายงานทิศทางการเดินทางของพายุ เมนูเรดาร์จะเป็นการแสดงภาพสภาพอากาศในรูปแบบเรดาร์ เมนูดาวเทียมจะเป็นการแสดงภาพสภาพอากาศผ่านดาวเทียม เมนูแผนที่อากาศจะแสดงบริเวณที่เกิดความกดอากาศสูงและความกดอากาศต่ำ เมนูสื่อวีดีทัศน์จะเป็นวิดีโอพยากรณ์อากาศในแต่ละวัน เมนูถ่ายภาพแบ่งปันจะให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถแบ่งปันรูปภาพที่ถ่ายด้วยตนเอง แล้วนำมาใส่ตัวเลขอุณหภูมิ ณ เวลานั้นเพื่อนำไปเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียต่อไป เมนูสื่อเผยแพร่จะรายงานข่าวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสภาพอากาศ ส่วนเมนูปรับตั้งค่า เมนูแจ้งเตือนและเมนูติดต่อเรา จะช่วยในการตั้งค่าการใช้งานภายในแอปพลิเคชัน การเปิดระบบการแจ้งเตือนภัย และข้อมูลรายละเอียดการติดต่อกรมอุตุนิยมวิทยาพร้อมแผนที่การเดินทางลองดาวน์โหลดมาพกติดตัวกันไว้ จะได้ไม่ต้องมาคอยหาข่าวสารจากทางอื่น ยิ่งสำหรับคนทำงานที่ต้องเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ จะได้คาดการณ์สภาพอากาศและตระเตรียมอุปกรณ์กันแดดกันฝนได้ทัน ซึ่งน่าจะช่วยไม่ให้เป็นโรคยอดฮิต อย่างไข้หวัดได้บ้างเล็กน้อย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 ข้อควรระวัง:พยานอิเล็กทรอนิกส์

การเปลี่ยนแปลงทางการสื่อสารในยุคดิจิทัล คือยุคแห่งการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสาร จากเดิมที่เราสื่อสารโดยการพึ่งพาภาษาและตัวหนังสือเป็นหลักมาเป็นการสื่อสารด้วยภาษาอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการประมวลผล จนหลายคนมีการตั้งคำถามว่า ถ้าโดนตำรวจยึดมือถือไป มือถือของคุณจะผ่านมือใครบ้างจนกระทั่งถึงศาล? หรือการแอบใส่ข้อมูลใหม่ที่ผิดกฎหมายเข้าไปในอุปกรณ์ของเราเหมือนกับการยัดยาบ้าหรือไม่? ปัจจุบันมีการกำหนดให้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ใช้เป็นพยานหลักฐานได้ในการพิจารณาคดี นอกจากพยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคล และพยานนิติวิทยาศาสตร์ แต่ข้อที่ต้องพิจารณาต่อมาคือ จะต้องมีวิธีการนำสืบและหลักในการรับฟังพยานฯ อย่างไร ผู้ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ควรจะต้องทราบวิธีการเก็บรักษาหรือการได้มาซึ่งพยานอิเล็กทรอนิกส์อย่างไร เหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ทุกคนควรจะต้องรู้ไว้เบื้องต้นในการรับฟังพยานอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีหลักกฎหมายสำคัญ 3 ประการที่ใช้ในการพิจารณาและสามารถยืนยันความแท้จริงของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ได้ประกอบด้วย1. เนื้อหาของเอกสารไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลง2. ข้อมูลในเอกสารเป็นไปตามเจตนาที่แท้จริงของผู้สร้างเอกสารนั้น ทั้งนี้ไม่ว่าผู้สร้างเอกสารจะเป็นมนุษย์หรือคอมพิวเตอร์3. ข้อมูลพิเศษในเอกสาร อันได้แก่ วันเดือนปีที่ถูกสร้าง นั้นถูกต้องพยานอิเล็กทรอนิกส์ที่ดีควรมี 3 ข้อนี้ แต่หากเราถูกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมาย เช่น มีผู้แอบอ้างใช้เฟชบุ๊กของเราเพื่อหลอกลวงผู้อื่น มีคำถามว่า ภาระการพิสูจน์หากเราไม่ได้ทำผิดเป็นหน้าที่ของใครจะต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ กฎหมายยึดหลักที่ว่า หากใครกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นต้องเป็นผู้พิสูจน์ การที่ผู้ถูกกล่าวหาคือ เราจะกล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่าเราไม่ได้หลอกลวงใครแต่มีผู้อื่นเข้าไปในเฟชบุ๊กของเราแล้วไปหลอกลวงผู้อื่น ตามหลักเจ้าของเฟชบุ๊กจะต้องพิสูจน์ว่า มีคนลักลอบเข้าไปในเฟชบุ๊กของตน ด้วยวิธีการใด ฟังดูแล้วก็เหนื่อยนะครับ แต่กฎหมายไทยบัญญัติไว้เช่นนี้จริงๆ แม้มันจะแสดงถึงความไม่เสมอภาคในการต่อสู้คดีก็ตามเพราะชาวบ้านอย่างเราคงจะลำบากในการที่จะพิสูจน์ในทางเทคนิค ซึ่งคดีในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ไม่ว่าจะมากหรือน้อยรวมทั้งสมาร์ทโฟนและข้อมูลที่อยู่ในระบบทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องทั้งหมดเพราะสิ่งแรกที่จะต้องตรวจสอบคือ ข้อมูลในเครื่องว่าผิดหรือเกี่ยวข้องกับการทำผิดกฎหมายหรือไม่อย่างไรดังนั้นอุปกรณ์เหล่านี้ถือเป็นหลักฐานในการที่ศาลจะชั่งน้ำหนักพยานอิเล็กทรอนิกส์ ในการที่ลงโทษผู้กระทำผิดแต่ทั้งนี้ ก็ต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานต่างๆ ด้วยเช่นกัน เราจึงควรทราบกันก่อนว่าพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ที่ศาลจะรับฟังนั้นจะต้องมีความน่าเชื่อถือรับฟังได้ในเนื้อหาสาระ โดยเป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ในมาตรา 10 กล่าวคือ ข้อมูลนั้นต้องได้ใช้วิธีการที่เชื่อถือได้ในการเก็บรักษาความถูกต้องของข้อความ ตั้งแต่การสร้างข้อความเสร็จสมบูรณ์และสามารถแสดงข้อความนั้นได้ในภายหลัง โดยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงใดๆ ของข้อความได้ ทั้งนี้ให้พิจารณาถึงพฤติการณ์อื่นที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงพยานอิเล็กทรอนิกส์จึงไม่เหมือนกับ “การยัดยาบ้า” เนื่องจากคอมพิวเตอร์  เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในระบบความเปลี่ยนแปลงนั้นจะถูกบันทึกไว้ในคุณสมบัติของไฟล์ เช่น ไฟล์ใหม่ที่ใส่เข้ามานี้ถูกนำเข้าเมื่อใด ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ สาระสำคัญพยานอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีความเชื่อมโยงกับการกระทำความผิดจึงจะสามารถกล่าวหาเจ้าของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้นได้ว่าเป็นผู้กระทำความผิด ฉะนั้นอย่างประมาทให้ใครยืมโทรศัพท์เคลื่อนที่(มือถือ) หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นะครับ เดี๋ยวจะกลายเป็นผู้ต้องหาโดยไม่รู้ตัว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 นพ.พูลชัย จิตอนันตวิทยา เมื่อ “วิถีเธอ” สู่วิถีของสังคมที่ยั่งยืน

ใครเดินทางผ่านบริเวณใต้ทางด่วนแยกสามเหลี่ยมดินแดง คงเคยเห็น”คลินิกทางด่วนเพื่อชุมชน บ้านกึ่งวิถี SHE ( เธอ)” ซึ่งที่นี่คือจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมการนวดดัดจัดสรีระ สูตรเร่งรัด  10 นาที “เจ็บแต่จบ” หายเมื่อยล้าในเวลารวบรัด และฉลาดซื้อจะพาทุกท่าน ไปพูดคุยกับ นพ.พูลชัย จิตอนันตวิทยา ประธานฝ่ายการแพทย์วิสาหกิจสุขภาพชุมชน แพทย์ด้านโรคหัวใจ ผู้ก่อตั้งบ้านกึ่งวิถี SHE ( เธอ) และวิสาหกิจสุขภาพชุมชนแห่งแรกของประเทศ บ้านวิถีเธอเกิดขึ้นได้อย่างไรเดิมผมเป็นคุณหมออยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข ทำงานเรื่องหลักประกันสุขภาพ ที่ สปสช. แต่ลาออกจาก สปสช. มานานแล้ว ในระยะ 10 ปีหลังนี้ ผมพบว่ามีคนไข้ที่ยังหนุ่มสาวไปพบผมด้วยความที่สงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรคหัวใจ อาการที่มามีทั้งความดันสูง ปวดหัวเรื้อรัง กลางคืนนอนหลับไม่สนิท ปัสสาวะบ่อย ชาตามมือ แขนขา ก็สงสัยไปว่าตัวเองจะเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์หรือเปล่า ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้บางคนก็ออกกำลังกายประจำ แต่ที่สังเกตคือ ส่วนใหญ่เลยเป็นคนที่ทำงานออฟฟิศหรือเป็นคนที่ขับรถนานๆ ตอนนั้นผมก็รักษาแบบหมอทั่วไป ให้ยาคลายกล้ามเนื้อ ให้ยาลดความดัน มันก็ดูจะคุมตัวเลขความดันได้แต่มันไม่ได้ทำให้เขารู้สึกว่าเขามีความสุข เมื่อพูดคุยผมถึงเห็นว่า สาเหตุแท้จริงอาการต่างๆ น่าจะมาจากการทำงาน  คุณเคยกินยาแล้วรู้สึกง่วงๆ ทั้งวันไหม หรือทั้งๆ ที่ตัวเองจะต้องขับรถ มันจะรู้สึกเพลีย อาการพวกนี้ เกิดจากความเครียด เพราะเวลาเราเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่เอาไว้จัดการกับความเครียด ฮอร์โมนเหล่านี้จะทำให้ร่างกายเราสะสมพลังงานไว้ หัวใจจึงเต้นเร็ว ความดันเพิ่มสูงขึ้น กล้ามเนื้อตึงพร้อมที่จะกระโจนออกไปแต่มันไม่กระโจนไปไหนไง มันนั่งอยู่เฉยๆ อยู่กับที่ ผลก็คือกล้ามเนื้อมันแข็งอย่างต่อเนื่อง เมื่อมันแข็งอย่างต่อเนื่อง เช่น กล้ามเนื้อหน้าอกที่เวลาเรานั่งพิมพ์คีย์บอร์ดแล้วห่อไหล่เข้ามา การห่อไหล่ทำให้กล้ามเนื้อดึงกล้ามเนื้อที่สะบัก กล้ามเนื้อบ่า สะบักก็ต้องพยายามยึดดึงกลับ ผลก็คือหน้าดึงเข้า หลังก็พยายามดึงกลับ ทั้งสองอันสู้แรงกันเองโดยที่ไม่ได้เคลื่อนที่ไปไหนเลย ดังนั้นแม้คนไข้ที่ได้ยาแล้วมันไม่ได้ทำให้เขามีความสุขนั้น ก็เพราะกล้ามเนื้อมันตึงแข็งไปหมดทั้งตัว ให้ก้มแตะพื้นยังไม่ได้เลย ห่างจากพื้นเป็นฟุตเลย พอผมเห็นแบบนี้ในฐานะที่เราเป็นหมอเลยมองว่า เราจะไม่ใช้ยานะ จึงปรับเปลี่ยนหันมารักษาด้วยการคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งก็ลงตัวที่การนวด กดจุด และแนะนำการจัดท่าทางการทำงานให้ถูกต้อง   เทคนิกของที่นี่คือ  ปลดปล่อยคำสั่งจากสมองโดยการกดที่จุดที่ผมได้แสดงไว้ที่ซอฟแวร์ที่เรียกว่า Trigger point หรือถ้าหากว่าจะใช้คำโดยทั่วไปจะใช้คำว่า ตะคริวจิ๋วๆ มันอยู่ในกล้ามเนื้อที่คอ ถ้าตะคริวใหญ่ๆ มันจะอยู่ที่น่องเป็นลูกๆ  เคยไหม? ตอนที่เรากำลังใกล้จะตื่นนอนอยู่ดีๆ เราฝันอะไรก็ไม่รู้แล้วเราเหยียดขาหรือพลิกตัว จะมีอาการแบบน่องมันเกร็ง ปวด แล้วเราจะสะดุ้งตื่นด้วยความปวดนั้น กล้ามเนื้อน่องจะขึ้นเป็นลูกเลย สิ่งนั้นเรียกว่า ตะคริว ซึ่งมันเกิดขึ้นจากคำสั่งของสมอง เราจึงต้องหากลไกหรือวิธีการบอกให้สมองสั่งให้มัน(กล้ามเนื้อ)ปล่อย เมื่อสักครู่ผมลองกดที่น่องคุณ นั่นเป็นวิธีการหนึ่งที่บอกให้สมองมันปล่อย เพราะสมองเวลามันโดนกดในจุดที่ใช่ แล้วมันเจ็บมากๆ มันจะบอกว่าไม่ได้แล้วนะ กล้ามเนื้อต้องคลายตัวไม่อย่างนั้นจะบาดเจ็บได้ ต้องใช้แรงกดเยอะไหมคะและแต่ละครั้งใช้เวลานานไหม  ถามว่าแรงที่กดเยอะไหมคือไม่เยอะ แต่ว่ามันเป็นจุดพิเศษ จุดที่กระตุ้นลงไปปุ๊บ สมองจะบอกว่าวิกฤติแล้วต้องเปลี่ยนคำสั่งมาที่กล้ามเนื้อให้กล้ามเนื้อคลาย แล้วเวลาสมองสั่งมามันไม่ได้สั่งเฉพาะกล้ามเนื้อน่อง มันสั่งตั้งแต่กล้ามเนื้อต้นขาลงไปเลย ตรงไหนที่ตอนกดแล้วมันเจ็บ มันร้าวระบม มันจะส่งคำสั่งทั้งชุดเหล่านั้นไปที่สมองและสมองก็เปลี่ยนคำสั่งทั้งชุดลงมาที่ขาทั้งข้าง จึงทำให้เราสามารถทำให้แขนขาโล่งได้ใน 10 นาที ตอนแรกหมอก็พัฒนาการนวดเหลือ 1 ชม. จากเมื่อก่อนทั่วไป 2 ชม. แต่หมอก็พยายามลดเวลาเพราะคนเราไม่ค่อยมีเวลาใช่ไหม จึงทำให้มันเหลือ 1 ชม. ก็ยังเจอว่า คนก็ยังไม่มีเวลาอีก  มีการต่อรองขอครึ่งชั่วโมง เพราะมีคนถามว่า เอาวิธีการของคุณหมอเข้าไปในออฟฟิศในโรงงานเขาได้ไหม แต่ถ้าต้องนวด 1 ชม. เจ้านายคงไม่ยอมเพราะเจ้านายจะรู้สึกว่าอู้งานไปนวดตั้ง 1 ชม. เราก็เลยบอกว่า เราไม่ใช่การนวดแต่เราเป็นการ Human maintenance เราก็ทำออกมาเหลือ 20 นาที ซึ่งก็เป็นที่ชื่นชมมากเหมือนว่าคุณหมอจะลดเวลาลงมาอีกให้เหลือ 10 นาที แล้วจะได้ผลจริงไหม เราเคยเข้าไปโรงงานขนาด 1,000 คน พอแต่ละคนใช้เวลา 20 นาที วันหนึ่งจะให้บริการได้แค่ 20 คน ถ้าเรา(ผู้ให้บริการ) ไป 5 คนก็ได้วันละ 100 คน ถ้าจะให้ครบเราต้องไปถึง 10 วัน บริษัทเขาก็รู้สึกว่า จัดมหกรรมสุขภาพ 10 วันมันนานเกิน เราก็เลยลดเวลาลงมาเหลือ 10 นาที พอ 10 นาทีก็เหลือแค่ 5 วัน อาทิตย์หนึ่งได้พอดี 1,000 คน นี่คือการเรียกร้องของผู้บริโภคทำให้หมอต้องใช้สมองให้มากขึ้น กลั่นกรองให้ชัดเจนว่ากล้ามเนื้อชุดไหนบ้าง ที่เป็นต้นเหตุหลักของความตึง ของความเครียดในร่างกายของคนที่ทำงานแล้วตึงเครียด การลดเวลาบำบัดลงมาเหลือ 10 นาทีได้นั้น เป้าหมายของเราอย่างหนึ่งก็คือ เพื่อคนใช้บริการจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนชุด เราเองก็ไม่ต้องเสียน้ำซักชุดอีก และก็คิดราคาให้ประหยัดลง ทีนี้พอได้แบบนี้แล้ว เราเชื่อว่าทำให้เรามีลูกค้าจำนวนมากขึ้นแล้วผู้ให้บริการจะเพียงพอกับความต้องการของลูกค้าไหม หมอจะเอาคนให้บริการมาจากไหน  นี่แหละคือที่เป็นจุดเด่นของสถานที่แห่งนี้  คือมีอยู่ปีหนึ่งที่ผมเคยเข้าไปตรวจสุขภาพในเรือนจำ   แล้วพบว่า มีนักโทษหญิงอยู่ในนั้นเยอะมากๆ เฉพาะที่ธัญบุรีมีอยู่ 2,000 กว่าคน ถ้าเป็นเรือนจำหญิงกลางมีอยู่ 5,000 กว่าคน ทั้งประเทศเรามีผู้ต้องขังหญิงอยู่ 40,000 กว่าคน ผมจึงมีความคิดว่า แล้วทำไมเราไม่เอาคนเหล่านี้มาทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งกับตัวเองและคนอื่น แต่ถ้าเป็นการไปให้บริการในที่ที่มันลึกลับซับซ้อนกั้นเป็นห้อง คนเหล่านี้อาจจะไม่เหมาะ เพราะคนที่ไปรับบริการก็อาจจะหวาดกลัว เพราะว่าบางคนก็มีรอยสักเต็มตัวเลย แต่ถ้าหากว่าบริการกลางแจ้งแค่ 10 นาทีตามวิธีของเรา ก็น่าจะได้ เราก็เลยไปสอนอาชีพให้กับผู้ต้องโทษตั้งแต่เขายังอยู่ในเรือนจำ พอเขาออกมาแล้วเราก็รับเขามาเป็นพนักงานของเรา  และจ้างเขาในอัตราเหมือนคนทั่วไปเลย ทุกคนโอเคไหมคะรวมถึงผู้รับบริการด้วย ผมคิดมากกว่าการจ้างงานนะ  คือพิเศษกว่าเรื่องค่าแรง เรามีบ้านให้อยู่ด้วย เราจัดที่พักพิงให้เพราะว่า หลายคนนั้นถ้าเขากลับไปบ้านของเขาเอง สภาพแวดล้อมที่บ้าน เพื่อนข้างบ้านที่ไม่ดีก็จะมาลากเอากลับไปให้เขาอยู่ในวงจรเดิม เมื่อเป็นแบบนี้พบว่า พวกเขามีความสุขมากเลย พ่อแม่เขาก็มีความสุขเพราะถ้าลูกเขากลับบ้านทีไรมีเรื่องทุกที เราจึงเรียกที่นี่ว่า บ้านกึ่งวิถี คุณออกมาจากเรือนจำคุณไม่มีอนาคตมาพักที่นี่ เรามีอาชีพที่ดีให้ ส่วนคนที่มารับบริการ  เคยนะพอบำบัดให้เสร็จแล้วยังจะยกมือไหว้ขอบใจเลย บอกว่ามันโล่งจริงๆ ความรู้สึกแบบนี้คือ ความสุข สิ่งที่มันเกิดขึ้นในสังคมไทย คือคนของเราให้บริการเสร็จคนส่วนใหญ่ก็ลุกมาขอบใจนะ บางคนก็ยกมือไหว้ คุณลองนึกถึงคนที่เมื่อก่อนเราอาจจะเรียกพวกเขาว่า คนขี้คุก การเรียกแบบนั้น ทำให้เขารู้สึกว่า ตัวเองเป็นคนที่ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มีคุณค่าอะไร ในชีวิตมีแต่เสียงด่าทอจากคนรอบข้าง แต่พอมีคนมายกมือไหว้ บอกขอบคุณ สิ่งเหล่านี้มันช่วยยกระดับคุณค่าจิตใจของเขาขึ้นมา ใครจะไปอยากทำไม่ดีอีก ในเมื่อสิ่งนี้ให้ความสุขกับพวกเขา  ตอนนี้เราก็มีอยู่ประมาณ 40 คนที่ทำงานกับเรา และยังมีอีกเป็นร้อยคนที่เราฝึกเขา แต่เขาไม่สะดวกที่จะมาอยู่ที่นี่ เขาก็อาจจะย้ายไปอยู่อีกที่หนึ่งแล้วเอาวิชานี้ไปหากินด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นสัมมาชีพ เป็นอาชีพที่ลงทุนน้อยมากแต่ต้องบริการด้วยใจที่ดี บริการที่ดีมันจะหล่อหลอมให้เขาเป็นคนที่จิตใจดีตอนนี้ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นพวกพนักงานบริษัทใช่ไหมคะ ครับ ส่วนหนึ่งก็เกิดขึ้นจากผู้บริหารของบริษัทเลยนะ ที่อยากเพิ่มประสิทธิภาพคนทำงาน ตอนปี 2016 องค์กรนานาชาติหรือ ILO-International Labour Organization ได้ออกรณรงค์ในวันความปลอดภัยของแรงงานทั่วโลกว่า วิกฤติจากความเครียดในที่ทำงาน หรือ Workplace Stress ทำให้เกิดโรคตามมาเยอะแยะทั้งความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอ้วน ซึมเศร้า โรควิตกกังวล ติดสุรา ติดบุหรี่ ส่วนใหญ่มาจากความเครียด อย่างวันนี้พวกเราก็ไปกันที่ สาทรสแควร์ ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนได้รับการแนะนำจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เขาทำสิ่งที่เรียกว่า Human maintenance service เพื่อให้พนักงานคลายเครียด ซึ่งจะมีผลกับการทำงาน ได้งานดีขึ้น และยังจะได้สิ่งที่เรียกว่า CSR in Process ด้วย  ยกตัวอย่างวันนี้ ที่ทีมเราไปตั้งบูธ แล้วที่ตึกนั้นก็ให้คนมาลงทะเบียนขอรับบริการ Human maintenance service ฟรี เชื่อไหมแค่ 2 วันเท่านั้น ลือกันทั้งตึกว่า ตั้งแต่จัดกิจกรรมมากิจกรรมนี้ดีที่สุดตั้งแต่เคยจัดมา พนักงานชอบมาก มันคุ้ม คุ้มกับการที่เอาความโล่งสบายมาให้ ดีกว่าเลี้ยงอาหารอีก อย่างที่สอง CSR in Process บริษัทฯ ต่างๆ ก็ตระหนักรู้ได้ว่า การที่เขาช่วยให้คนที่เคยก้าวพลาดมีงานทำที่ดีแบบนี้นั้น มันทำให้ช่วยสังคมข้างนอกให้ลดปัญหายาเสพติดลงไปได้ด้วย(ส่วนใหญ่เคยต้องคดียาเสพติด) จำนวนคนที่คิดดี ทำดี กลายเป็นคนดีก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี สิ่งนี้ดีมากๆ คุณหมอเชื่อมั่นว่าทุกคนจะไม่กลับไปสู่วิถีชีวิตเดิมๆ คุณรู้ไหม คนที่เคยอบรมกับผม เมื่อออกมาเขาจะกลับไปทำ 2 เรื่อง คือขอไปเป็นครูสอนในเรือนจำ โดยเอาประสบการณ์นี้ไปเล่าให้คนที่ยังไม่เคยรู้ว่า มันมีสังคมให้โอกาสพวกเขาอย่างไร เราออกรายการเดินหน้าประเทศไทย ลองไปดูคลิปวันที่ 14 สิงหาคม 60 มีน้องๆ 3 คนที่เล่าว่าชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงอย่างไรกับการที่เขาได้โอกาสนี้จากสังคม ได้โอกาสจากการที่วิสาหกิจสุขภาพชุมชน ที่จัดการเพื่อสังคมเข้าไปช่วยเขา และถ้าหากมองภาพใหญ่ให้ออกสิ่งที่หมอทำนั้นเป็นเรื่องใหม่ หมอทำเหมือนที่พ่อสอน ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทำให้เราดูแล้วว่าพระองค์เห็นปัญหาภูเขาถูกรุกปลูกฝิ่น แทนที่จะไปจับเขา ก็ให้โอกาสกับให้อาชีพสุจริตแทน กลุ่มอดีตผู้ต้องโทษหญิงนี้เราก็เอาอาชีพที่ดีไปแก้ไขปัญหายาเสพติดเช่นเดียวกัน จะมีการสอนการนวดตัวเองสำหรับให้คนที่ทำงานแล้วเครียดดูแลตัวเองเป็นบ้างไหมตอนนี้เราเริ่มทำกับสำนักงานประกันสังคม แต่พบว่า จริงๆ มันดูเหมือนง่ายนะ แต่ท่าจุดบำบัดของเรานั้นมันต้องการการฝึกฝน ต้องมีความแข็งแรงของร่างกายมาก เมื่อกี้เห็นไหมตอนที่ผมยืดหลังรู้สึกไหมว่าคุณหมอต้องแข็งแรงมากๆ เลยถึงยืดหลังได้ ดังนั้นการเลียนแบบเลียนท่าได้บางท่า แต่เลียนผลคงได้ยาก เพราะฉะนั้นให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นอาชีพของคนด้อยโอกาสในสังคมดีกว่า แต่ผมอยากจะแนะนำเรื่องหนึ่งที่คิดว่า ช่วยได้มาก คือการเลือกเก้าอี้นั่งทำงานและท่าทางการนั่งทำงานจริงๆ แล้วท่าที่ดีในการใช้คีย์บอร์ด ก็คือท่าที่วางมือไว้เป็นปกติ แขน 90 องศา มือก็ไม่ควรที่จะหักมือ นั่งให้พอดี วางแขนให้พอดี คอมพิวเตอร์อยู่ระดับสายตา ไม่ใช่พิมพ์แล้วชะโงกหน้าไป คุณลองชะโงกหน้าไปคุณจะรู้เลยว่าคอมันตึง แต่ถ้านั่งปกติ แขนวางปกติสามารถเห็นงานที่หน้าจอได้ เก้าอี้ที่ดีปัจจุบันผมแนะนำเลยว่า เลิกเอาเก้าอี้มีล้อมาใช้ เก้าอี้ที่เป็นเก้าอี้ทรงแข็งมีเบาะรองบางๆ ก็พอ ไม่ต้องให้เอนหลังได้ ยิ่งเอนได้เราก็จะเลื้อย พอเลื้อยก็ต้องเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องแล้วก็ชะโงกไหล่ไป ผลักทั้งตัวล้อมันก็เลื่อน เราก็ต้องคอยพยุงล้อไว้ ดังนั้นสังเกตว่าหมอ นั่งเก้าอี้ที่ขาเป็นแบบนี้(ไม่มีล้อ) ความรู้สึกมันนั่งได้สบาย มั่นคง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 เลือกยาสีฟันให้เหมาะกับช่องปาก

ยาสีฟัน เป็นเครื่องสำอางอีกประเภทหนึ่งที่วางจำหน่ายมากมายหลายสูตรในท้องตลาดบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นสูตรสมุนไพร สูตรฟันขาวหรือสูตรป้องกันฟันผุ ทำให้หลายคนไม่แน่ใจว่าควรเลือกซื้ออย่างไรให้เหมาะกับตนเอง รวมทั้งอาจเชื่อว่าการเลือกยาสีฟันที่ทำจากสมุนไพรจะดีกับช่องปากมากที่สุด แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือรู้จักหน้าที่ของยาสีฟันกันก่อนยาสีฟันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดร่วมกับแปรงสีฟัน มีลักษณะเป็นผง ของเหลวหรือของเหลวข้น ซึ่งแม้จะมีมากมายหลายยี่ห้อหรือหลายสูตร แต่หน้าที่หลักของยาสีฟันคือการช่วยทำให้ฟันสะอาด หรือเสริมประสิทธิภาพการแปรงฟัน เพื่อให้มีการกำจัดเอาแผ่นคราบจุลินทรีย์ออกได้ง่ายขึ้น โดยทุกยี่ห้อจะมีส่วนประกอบหลัก ดังนี้ 1. สารที่ใช้ทำความสะอาดหรือขัดฟัน ทำหน้าที่ขจัดคราบที่ติดบนผิวฟัน 2. สารลดแรงตึงผิว ทำหน้าที่ช่วยทำให้เกิดฟอง 3. สารทำให้ข้น ทำหน้าที่ป้องกันการแยกตัวของเนื้อยาสีฟัน 4. สารควบคุมความเป็นกรด-ด่าง 5. สารปรุงแต่งกลิ่นรส ทำหน้าที่ให้กลิ่นและรสของยาสีฟัน 6. สารกันเสีย ช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งยาสีฟันจะมีอายุการใช้งานไม่เกิน 3 ปีนับจากวันผลิตไปรู้จักยาสีฟันแต่ละสูตรกันแม้ยาสีฟันจะมีหลายสูตร แต่หากพิจารณาจากส่วนผสมจะสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ได้ ดังนี้1. สูตรผสมฟลูออไรด์ ยาสีฟันกลุ่มนี้มีข้อดีคือ สามารถช่วยป้องกันฟันผุได้เมื่อใช้เป็นประจำ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ประชาชนใช้ยาสีฟันกลุ่มฟลูออไรด์เป็นหลัก และควรแปรงฟันแบบ 2 – 2 – 2 คือ แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ครั้งละนาน 2 นาที และภายใน 2 ชั่วโมงหลังแปรงฟันควรหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสม 2. กลุ่มผสมสารฆ่าเชื้อโรค ยาสีฟันกลุ่มนี้ผสมสารฆ่าเชื้อโรคที่เป็นสารเคมีหรือสมุนไพร เช่น ไตรโคลซาน น้ำมันกานพลู คาโมไมล์ พิมเสน การบูร ชะเอมเทศ ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ลดการอักเสบ สมานแผลและช่วยให้เหงือกแข็งแรงได้3. กลุ่มลดอาการเสียวฟัน ยาสีฟันกลุ่มนี้จะมีการใส่สารเคมีบางตัว เช่น สตอนเทียมคลอไรด์หรือโพแทสเซียมไนเตรท ซึ่งเมื่อแปรงแล้วจะสามารถช่วยลดอาการเสียวฟันได้ชั่วคราว4. กลุ่มช่วยให้ฟันขาว ยาสีฟันกลุ่มนี้มีส่วนผสมสารขัดฟัน และอาจมีการใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์ฟอกสีฟันอ่อนๆ ร่วมด้วย ซึ่งสามารถช่วยขจัดคราบสีต่างๆ ที่ติดอยู่บนตัวฟันออก ทำให้ฟันดูขาวขึ้น แต่จะไม่ขาวไปกว่าสีธรรมชาติเดิมของฟันอย่างไรก็ตามหากใช้เป็นประจำจะทำให้สารเคลือบฟันบางลง จนฟันเหลืองขึ้นกว่าเดิมหรือมีอาการเสียวฟันมากขึ้น รวมทั้งอาจเกินอาการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อในช่องปากได้ แนะวิธีการเลือกซื้อยาสีฟันหลักพิจารณาง่ายๆ ในเลือกซื้อยาสีฟันสามารถทำได้จาก 3 ข้อดังนี้1. ควรเลือกให้เหมาะสมกับปัญหาช่องปากของเรา เพราะแต่ละคนมีปัญหาสุขภาพช่องปากที่แตกต่างกัน เช่น หากมีอาการเสียวฟันก็ควรใช้สูตรลดอาการเสียวฟัน อย่างไรก็ตามหากใช้งานแล้วผู้บริโภคบางคนอาจมีอาการแพ้ยาสีฟันได้เช่นกัน เช่น อาการปวดแสบปวดร้อนในขณะที่ยาสีฟันอยู่ในปาก หรือหลังใช้งานแล้วพบว่าริมฝีปากดำคล้ำจากอาการแพ้ หรือเนื้อเยื่อบุผิวในปากหลุดลอกออกมาก็ควรเปลี่ยนสูตรใหม่ให้มีความอ่อนโยนมากขึ้น 2. เลือกยี่ห้อที่มีฉลากครบถ้วน ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยาสีฟัน (พ.ศ. 2552) กำหนดให้ที่กล่องและภาชนะบรรจุยาสีฟันต้องมีรายละเอียด ดังนี้ 1. ชื่อผลิตภัณฑ์ 2. ชนิด 3. ชื่อสารที่เป็นส่วนผสมทั้งหมด 4. ปริมาณสุทธิ แสดงเป็นกรัมหรือลูกบาศก์เซนติเมตร 5. วัน เดือน ปี ที่ผลิตและรหัสรุ่นที่ทำ 6. คำเตือนหรือข้อความตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 7. วิธีใช้และข้อควรระวัง 8. ชื่อผู้ผลิต หรือเครื่องหมายการค้าจดทะเบียน3. มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพราะฟันผุเป็นปัญหาใหญ่ของผู้บริโภค ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ดีและง่ายที่สุดในการยับยั้งปัญหาดังกล่าว คือ การเลือกใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์แปรงฟันเป็นประจำ โดยผู้บริโภคสามารถดูได้จากรายละเอียดส่วนผสม นอกจากนี้หากเราต้องการให้สุขภาพช่องปากดีอยู่เสมอนั้น ควรแปรงฟันและเหงือกให้ถูกวิธี เพราะสามารถช่วยให้เหงือกและฟันสะอาดแข็งแรงได้จริง รวมทั้งควรพบทันตแพทย์เป็นประจำทุกๆ 6 เดือนอีกด้วย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 อาคม : พุทธกับไสย (และวิทยาศาสตร์) ต่างก็ไปด้วยกัน

โลกตะวันตกมีคำอธิบายว่า ยิ่งสังคมเจริญก้าวหน้าไปมากเท่าไร มนุษย์ก็จะยิ่งเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์และหลักเหตุผลที่จะใช้ตอบคำถามต่อความเป็นจริงรอบตัวมากขึ้นเท่านั้น แต่กระนั้นก็ตาม สำหรับสังคมไทยแล้ว คำอธิบายดังกล่าวกลับถูกหักล้างด้วยข้อเท็จจริงที่ต่างออกไปว่า ยิ่งสังคมทันสมัยหรือลัทธิวัตถุนิยมจะซัดกระหน่ำสังคมมากเท่าไร มนุษย์ก็ยังคงมีคำถามบางอย่างที่วิทยาศาสตร์และหลักเหตุผลมิอาจขานไขคำตอบได้มากขึ้นเช่นกัน หากข้อหักล้างข้อหลังนี้เป็นคำตอบที่ “based on” ความเป็นจริงในสังคมไทยที่แท้จริงด้วยแล้ว คำตอบดังกล่าวก็ปรากฏให้เห็นผ่านละครโทรทัศน์แนวดราม่าสืบสวนสอบสวนแบบแฟนตาซีอย่างเรื่อง “อาคม”  จับความตามท้องเรื่องมาที่ภาพของตัวละครที่สร้างเนื้อสร้างตัวมั่งคั่งร่ำรวยขึ้นมาหลังยุคเศรษฐกิจฟองสบู่แตก เมื่อ “ทรงพล” นักธุรกิจและประธานบริษัทใหญ่ ได้ถูกเพื่อนรักหักหลังและใส่ความว่าเขาเป็นพ่อค้ายาเสพติด จนไปถึงวางแผนลอบสังหารทรงพลจนเสียชีวิต แต่แม้บิดาจะถูกคนร้ายลอบวางระเบิดเครื่องบินตกลงกลางป่า แต่ทว่า “ทรงกลด” พระเอกหนุ่มผู้เป็นบุตรชายของเขากลับรอดชีวิตมาได้ด้วยความช่วยเหลือจาก “ฮันเตอร์” ผู้มีวิชาอาคม ซึ่งภายหลังฮันเตอร์ก็ได้ถ่ายทอดความรู้ไสยวิชาให้กับทรงกลด และเปลี่ยนชื่อเขาเสียใหม่ว่า “คิม” ชายหนุ่มภายใต้หน้ากากอาคม เพื่อกลับมาแก้แค้นกลุ่มคนที่ฆ่าบิดาและทำลายครอบครัวเขาจนภินท์พัง โดยธีมหลักของละคร ดูจะต้องการสื่อสารกับผู้ชมว่า ในขณะที่ความยุติธรรมไม่อาจแสวงหาหรือได้รับมาจากสังคมที่ล้มเหลวเกินจะเยียวยา เพราะสถาบันหลักอย่างกฎหมายหรือตำรวจไม่อาจเป็นที่พึ่งพิงของผู้คนได้นั้น ปัจเจกบุคคลอย่างคิมก็ต้องลุกขึ้นมาทวงคืนความยุติธรรมให้กับครอบครัวเขาเสียเอง และก็เข้าตำราที่ว่า “ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็ต้องเอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยกล ก็ต้องใช้เวทมนต์คาถาอาคม” เพราะฉะนั้น ทั้งคิมและฮันเตอร์จึงค่อยๆ ลงมือแก้แค้นศัตรูของเขาด้วยอาคมวิชาไปทีละคนๆ เมื่อเป็นดังนี้ อาคมที่เคยถูกตีตราว่าเป็น “ความรู้” แบบนอกรีตและพิสูจน์ไม่ได้ด้วยอายตนะทั้งห้าสัมผัสแห่งมนุษย์ ก็ได้กลายมาเป็น “ความรู้” ที่มีพลังอำนาจที่ถูกพระเอกคิมนำมาใช้ประโยชน์ แม้แต่กับยุคที่วิทยาศาสตร์และหลักเหตุผลเป็นระบบความคิดหลักของคนในสังคม แม้ดูผิวเผินแล้ว เรื่องของคาถาอาคมอันเป็นระบบความรู้ความคิดที่อยู่เหนือธรรมชาตินั้น ดูจะเป็นสิ่งที่ยืนอยู่ “คู่ตรงข้าม” กับวิทยาศาสตร์ อันเป็นปรัชญาที่เชื่อในการพิสูจน์สรรพสิ่งให้ได้ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์และเหตุผลที่ยอมรับได้รองรับอยู่ แต่ทว่า ความสัมพันธ์แบบตรงข้ามกันดังกล่าว อาจไม่ใช่ระบบวิธีคิดที่หยั่งรากลึกอยู่ในสังคมไทยจริงๆ ทั้งนี้ โลกทัศน์ของคนไทยมีแนวโน้มจะเชื่อว่า แม้แต่สิ่งที่ไม่น่าจะเข้ากันได้ ก็คู่ขนานหรือเป็นคู่ไขว้ที่ร้อยรัดพันเกลียวกันไว้อย่างแนบแน่นได้เช่นกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น “พุทธ” เป็น “ไสย” หรือเป็น “วิทยาศาสตร์” คนไทยก็ไม่เห็นว่าสามระบบความรู้นี้จะแยกขาดจากกันโดยสมบูรณ์ ในขณะที่กฎแห่งกรรมซึ่งเป็นความคิดความเชื่อแบบ “พุทธ” ก็ให้คำอธิบาย “กำเกวียนกงเกวียน” ที่ตัวละครได้รับผลกรรมของการทรยศหักหลังเพื่อนรักอย่างทรงกลดไล่เรียงลำดับไปทีละคน คาถาอาคมอันเป็นผลผลิตแห่ง “ไสย” ก็เป็นกลไกที่คิมใช้เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับบิดาของเขา ควบคู่ไปกับบทบาทของตัวละคร “แดน” ผู้เชี่ยวชาญไอทีที่ใช้ความรู้แบบ “วิทยาศาสตร์” ยุคใหม่ เพื่อช่วยเหลือพระเอกให้บรรลุเป้าหมายในการแก้แค้นศัตรู  พุทธ ไสย และวิทยาศาสตร์ จึงกลายเป็นความรู้ที่มิใช่จะมีเฉพาะด้านที่ขัดแย้งหรือตรงข้ามกัน แต่ก็อาจจะเป็นระบบความคิดแบบสามประสานที่คนไทยใช้จัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับโลกรอบตัวนั่นเอง  ไม่เพียงเฉพาะตัวละครพระเอกคิมที่สะท้อนภาพการผนวกผสานระบบความรู้ที่เป็น “คู่ตรงข้าม” ให้เป็นคู่ไขว้เข้าไว้ด้วยกันเท่านั้น แม้แต่กับนางเอก “เอื้อกานต์” และน้องชายฝาแฝดอย่าง “ทีเกื้อ” ก็เป็นอีกสองตัวละครพี่น้องที่ฉายภาพการผสมผสานระบบความคิดที่ย้อนแย้งดังกล่าวเอาไว้ด้วยเช่นกัน ในส่วนของพี่สาวฝาแฝดอย่างเอื้อกานต์นั้น ละครได้ออกแบบให้เธอเป็นแพทย์หญิงที่ยึดจรรยาบรรณการดูแลรักษาคนไข้อย่างเต็มที่ และแม้โดยพื้นเพแล้ว ระบบความรู้แบบแพทยศาสตร์จะเชื่อมั่นในหลักการทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม แต่คุณหมอเอื้อกานต์กลับเป็นตัวละครที่มีพลังพิเศษของสัมผัสที่หก มีพลังจิตที่หยั่งรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าต่างๆ ได้ และสามารถใช้พลังจิตนั้นรักษาโรคให้กับผู้ป่วยได้อย่างน่าอัศจรรย์ ด้วยภาพของตัวละครคุณหมอหญิงเช่นนี้ วิทยาศาสตร์หรือระบบเทคนิควิทยาด้านการแพทย์ จึงมิใช่ชุดความรู้เดียวที่อธิบายการดำรงอยู่ของชีวิตมนุษย์ แต่กลับกลายเป็นความคิดความเชื่อที่ได้ปรับปรนผสมผสานกับระบบความรู้เหนือธรรมชาติเพื่อใช้แก้ไขปัญหาของตัวละครต่างๆ ไปในเวลาเดียวกัน เฉกเช่นเดียวกับน้องชายฝาแฝดอย่างทีเกื้อ ที่แม้โดยวิชาชีพจะเป็นนายตำรวจผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ซึ่งต้องเชื่อมั่นในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่างๆ ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ บนความถูกต้องของระบบกฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์ก็ตาม แต่เพราะอีกด้านหนึ่ง ร.ต.อ.ทีเกื้อ ก็มีพลังจิตพิเศษไม่ต่างจากพี่สาว เขาก็อาศัยพลังจากสัมผัสที่หกมาเป็นเครื่องมือสืบค้นเรื่องราวอาคมที่วิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวไม่อาจหยั่งถึงได้นั่นเอง เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินมาถึงฉากจบ พระเอกคิมผู้สามารถทวงคืนความยุติธรรมที่บิดาถูกกล่าวหาใส่ความได้ ก็เลือกที่จะทิ้งหน้ากากอาคมให้ลอยล่วงกลายเป็นควันสีขาว และกลับมาเป็นตัวละครทรงกลดที่เลือกเดินทางชีวิตสายใหม่ท่ามกลางความสุขกับคุณหมอเอื้อกานต์ แต่ถึงกระนั้น ปริศนาธรรมที่ละครได้ทิ้งเอาไว้ให้เราคิดถามต่อก็คือ ตราบใดที่วิทยาศาสตร์และหลักเหตุผลไม่ใช่เพียงคำตอบเดียวหรือคำตอบสุดท้ายของมนุษย์เราได้แล้ว ตราบนั้นความเร้นลับของหน้ากากอาคมก็อาจจะไม่สูญสลายกลายเป็นอากาศธาตุไปได้จริงๆ หรอก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 โศกนาฏกรรมรถตู้จันทบุรี ยังต้องใช้เวลาอีกนานเพื่อเยียวยา

จากเหตุการณ์รถตู้โดยสารจันทบุรีพุ่งข้ามเลนชนรถกระบะจนเกิดไฟไหม้ที่ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 25 คนนั้น นอกจากจะเป็นเรื่องสะเทือนขวัญแห่งปีแล้ว ยังนับได้ว่าเป็นสึนามิลูกใหญ่ที่ถาโถมใส่รัฐบาลนายกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องรีบหาทางแก้ไขปัญหารถตู้โดยสารที่ทุกคนคุ้นชินอย่างทันทีและรวดเร็ว กับปัญหาที่รู้กันดี ไม่ว่าจะขับรถเร็ว ที่นั่งแออัด ไม่เข้าจอดรับส่งผู้โดยสารในสถานี รถไม่มีเข็มขัดนิรภัย หรือมีแต่คนขับไม่บอก คนนั่งก็ไม่คาด สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นปัญหาที่ถูกสั่งสมมานาน จนทุกคนเคยชินคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ในช่วงแรกที่กระแสเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงยังร้อนแรง รัฐบาลรีบประกาศทันทีว่าจะยกเลิกรถตู้โดยสารเปลี่ยนเป็นรถไมโครบัสเร็วสุดใน 6 เดือนกันเลยทีเดียว แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีใครเชื่อว่าจะทำได้ และสุดท้ายกระแสข่าวการยกเลิกรถตู้โดยสารก็จางหายไป หลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลเริ่มตั้งหลักได้ กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก จึงได้ออกมาตรการเร่งด่วนแรก คุมเข้มพฤติกรรมการขับขี่รถตู้โดยสาร เริ่มจากรถตู้โดยสารประจำทางร่วมบริการกับบริษัท ขนส่ง จำกัด ที่มีเส้นทางวิ่งกรุงเทพฯ ปลายทางต่างจังหวัด (ไม่นับรวมรถตู้โดยสารร่วมบริการของ ขสมก. ที่วิ่งในเขตกรุงเทพ-ปริมณฑล) ต้องติดตั้ง GPS Tracking แบบ Realtime Online ที่ทำงานได้ ควบคู่กับการติดตั้งเครื่องรูดใบขับขี่แสดงตัวตนพนักงานขับรถในรถทุกคัน ทุกเส้นทาง ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิมที่ให้ติดตั้งแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2560 เท่านั้นยังไม่พอเมื่อ 21 มีนาคม 2560 เหมือนฟ้าผ่าลงกลางกลุ่มผู้ประกอบการรถตู้โดยสารอีกครั้ง เมื่อเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ มีสาระสำคัญ คือ ห้ามรถตู้โดยสารนั่งเกิน 13 คน สั่งทำประกันภัยภาคสมัครใจเพิ่มจากประกันภัยภาคบังคับ ห้ามทิ้งผู้โดยสาร บรรทุกผู้โดยสารและเก็บค่าโดยสารเกิน หากเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนทะเบียนรถหรือพักใบอนุญาตผู้ประกอบการได้ และต่อด้วยกรมการขนส่งทางบก ออกประกาศกรมฯ รองรับคำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่อง การจัดวางที่นั่งรถตู้โดยสารสาธารณะตามมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ พ.ศ.2560 เกี่ยวกับการจัดกำหนดที่นั่งสำหรับผู้โดยสารให้เหลือเพียง 13 ที่นั่ง และถอดเบาะด้านหลังออก 1 ที่ เพื่อให้มีทางออกไปยังประตูฉุกเฉินด้านหลังได้ เมื่อมีเหตุจำเป็นหรือเกิดอุบัติเหตุ  ซึ่งประกาศฯ มีผลครอบคลุมถึงรถตู้โดยสาร ประเภทประจำทางและไม่ประจำทางในทุกหมวดเส้นทางทั่วประเทศ ซึ่งมาตรการนี้มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์จริง ใช่ว่าประกาศฯจะมีผลบังคับใช้ได้เลย เพราะทุกวันนี้ก็ยังพบพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมายของผู้ประกอบการรถตู้โดยสารบางรายอยู่ เรายังเห็นว่ามี รถตู้ที่รับผู้โดยสารเกินอยู่ หรือ รถตู้ที่ยอมแก้ไขเบาะที่นั่งรถให้เหลือ 13 ที่นั่งแล้ว แต่ในช่องทางเดินฉุกเฉินกลับนำเบาะเสริมมาให้ผู้โดยสารนั่ง หรือเอาสัมภาระมาวางปิดกั้นทางออกฉุกเฉินแทน ยิ่งเมื่อพิเคราะห์จากสถิติอุบัติเหตุรถตู้โดยสารที่เกิดในรอบ 4 เดือนแรก ระหว่างมกราคมถึงเมษายน ของปี 2560 พบว่า รถตู้โดยสารเกิดเหตุมากถึง 127 ครั้ง หรือ เฉลี่ยเดือนละ 32 ครั้ง บาดเจ็บ 501 คน หรือ เฉลี่ยวันละ 4 คน และเสียชีวิตมากถึง 65 คน หรือจะมีคนเสียชีวิตจากรถตู้โดยสารทุก 1 คนในเวลา 2 วัน และจากข้อมูลอุบัติเหตุยังชี้ให้เห็นด้วยว่า รถตู้โดยสารสาธารณที่วิ่งให้บริการระหว่างจังหวัดนั้น มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่ารถที่วิ่งในเขตเมืองหรือปริมณฑลอีกด้วย โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการขับรถเร็วนั่นเอง ดังนั้นจะไม่แปลกใจเลย ที่แม้กฎหมายจะบังคับทุกอย่างแล้ว แต่ความสูญเสียจะยังเกิดให้เห็นอยู่ หากทุกฝ่ายยังไม่จริงจังที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ร่วมกันตรวจสอบเฝ้าระวังผู้ประกอบการที่มีพฤติกรรมเอาเปรียบผู้บริโภค อย่าปล่อยให้เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา ที่เรามองว่าเป็นเรื่องไกลตัว หากพบเห็นการกระทำที่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ขอให้โทรศัพท์แจ้ง 1584 ทันที พร้อมข้อมูลเส้นทางเดินรถและทะเบียนรถ เพื่อร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงรถโดยสารปลอดภัยกันนะครับ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 กระแสต่างแดน

ยาลดภาษีค่ารักษาพยาบาลที่ญี่ปุ่นนั้นจัดว่าถูกมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ  จึงมีคนจำนวนไม่น้อยไปพบแพทย์โดยไม่จำเป็น  ถึงขั้นมีสำนวน “หาหมอเหมือนเข้าร้านสะดวกซื้อ” แม้แต่คลินิกชุมชนกลายเป็นแหล่งแฮงเอาท์ของผู้สูงอายุที่มาพบทั้งแพทย์และเพื่อนไปในคราวเดียว รัฐบาลลงมือแก้ปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลและคลินิกด้วยนโยบายคืนภาษีให้กับผู้ที่พยายามรักษาตัวเองด้วยยาชนิดที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ เช่น ยาแก้หวัด แก้ปวด ยาหยอดตา ยาแก้แพ้ ครีมทาสิว(รวมทั้งหมด 1,600 ผลิตภัณฑ์ 83 ตัวยา)แต่หลักฐานการขอคืนภาษีไม่ใช่แค่ใบเสร็จค่ายาที่มีมูลค่ารวมมากกว่า 12,000 เยน(ประมาณ 3,800 บาท) คุณต้องมีหลักฐานว่าได้พยายามหลีกเลี่ยงโอกาสเจ็บป่วยด้วยการเข้ารับการตรวจสุขภาพ รับวัคซีน  คัดกรองภาวะอ้วน หรือตรวจหามะเร็ง  อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยก่อนหน้านี้คนญี่ปุ่นก็ใช้ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลขอคืนภาษีได้อยู่แล้วหากมีค่าใช้จ่ายเกิน 100, 000 เยน เพียงแต่ปีนี้มีทางเลือกเพิ่มขึ้นสำหรับคนที่ไม่ต้องการพบแพทย์ คุณต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งกระทรวงการคลังประมาณการว่าจะขาดรายได้ 3,000 ล้านเยนต่อปี แต่ก็น่าจะคุ้มเพราะทำให้คนหันมาดูแลสุขภาพตัวเอง และยังลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ของประเทศที่นับวันมีแต่จะเพิ่มเพราะประชากรส่วนใหญ่อายุมากขึ้น ขาดแคลนก๊าซ  ออสเตรเลียมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติไปหล่อเลี้ยงธุรกิจและอุตสาหกรรมในจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อีกสามปีข้างหน้าเขาจะแซงกาตาร์ขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) รายใหญ่ที่สุดของโลกแต่ขณะนี้ออสเตรเลียกำลังเผชิญกับ “วิกฤติพลังงาน” ที่พรรคฝ่ายค้านออกมาโจมตีและเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขด่วน ครัวเรือน สำนักงาน และโรงงานต่างๆ ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของประเทศกำลังประสบภาวะขาดแคลน LNG และต้องซื้อในราคาที่แพงกว่าที่ส่งออกไปต่างประเทศด้วยซ้ำนายกฯ จึงเรียกบริษัทด้านพลังงานอย่าง เชลล์ เอ็กซอนโมบิล และซานโตส มาร่วมประชุมหาแนวทางแก้ไข ในขณะที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าก็เตรียมจะตรวจสอบโครงสร้างราคาก๊าซทั้งที่ขายในประเทศและส่งออก เพื่อให้ตลาด LNG มีความโปร่งใสขึ้น … เรื่องนี้ต้องติดตาม ราคาไม่บันเทิง เว็บไซต์ Viagogo และ Ticketmaster Resale เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างคนที่มีตั๋วคอนเสิร์ตแต่ไม่ว่างไปดู กับคนที่มีเวลาไปดูแต่ไม่มีตั๋ว... ฟังดูน่าจะดี แต่กลับมีปัญหาร้องเรียนมากขึ้นทุกวันCHOICE องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลียประณามการกระทำที่ไม่รับผิดชอบของสองเว็บนี้ ทั้งเรื่องของราคาตั๋วที่แพงลิบลิ่วและการปล่อยให้มีการหลอกลวงผู้บริโภค  ทางเว็บบอกว่าผู้ขายเป็นฝ่ายกำหนดราคา แต่ที่ไม่ได้บอกคือ Ticketmaster Resale คิดค่าคอมมิสชั่นร้อยละ 21 ในขณะที่ Viagogo หักร้อยละ 28 แถมยังไม่มีบริการดูแลลูกค้า ส่งอีเมลไปก็ไม่มีใครตอบ แฟนเพลงของจัสติน บีเบอร์ ต้องจ่ายถึง 2,587 เหรียญ (67,000 บาท) สำหรับตั๋วราคา 525 เหรียญ ในขณะที่มีคนยอมจ่าย 5,000 เหรียญ (130,000 บาท) สำหรับที่นั่งในโซนที่ดีที่สุดในการชมคอนเสิร์ตของอเดล (ราคาจริง 750 เหรียญ)  อย่างน้อยคนกลุ่มนี้ก็ได้ที่นั่งที่ต้องการ บางคนจ่ายราคาที่นั่งในโซนสำหรับรถเข็นแต่กลับได้นั่งในโซนธรรมดา บางคนเข้างานไม่ได้เพราะตั๋วซื้อมาในราคา 850 เหรียญเป็นตั๋วปลอม ของนอกดีกว่าเกษตรกรชาวเวียดนามไม่ค่อยปลื้มกับเขตการค้าเสรีอาเซียนเท่าไรนัก เพราะผักผลไม้ที่นำเข้าจากไทยกำลังทำให้พวกเขาเดือดร้อนปัจจุบันไทยคือผู้ส่งออกผลไม้รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 50 (จีนครองร้อยละ 19)เกษตรกรกลุ่มนี้เรียกร้องให้รัฐบาลเจรจากับไทยแบบตัวต่อตัว นำเข้าเฉพาะผัก ผลไม้ที่เวียดนามปลูกไม่ได้ และห้ามนำเข้าผลไม้อย่างลำไย มะม่วง ทุเรียนและแก้วมังกรที่เกษตรกรของเขาปลูกอยู่แล้วอีกกลุ่มบอกว่าการกีดกันทางการค้าคงช่วยไม่ได้มาก เพราะผู้บริโภคเชื่อว่าผลไม้ที่ปลูกในประเทศนั้นไม่ปลอดภัย และของจากไทย “ดีกว่า” ทั้งคุณภาพและราคา เบื้องต้นทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (VietGap) ให้ได้ก่อนนอกจากนี้ยังเรียกร้องให้จำกัดส่วนแบ่งตลาดสำหรับชาวต่างชาติไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 40 เพราะธุรกิจค้าส่งและกระจายสินค้าเริ่มตกมาอยู่ในมือนักธุรกิจไทยมากขึ้น …  ต้องเร็วกว่าเดิมเวียดนามก็ติดอันดับเรื่องของอุบัติเหตุบนท้องถนนเช่นกัน สถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ต่อประชากร 100,000 คน/ปี อยู่ที่ 24.5 คน (ของไทย 36.2) ในช่วงสามวันอันตรายเมื่อตรุษจีนที่ผ่านมาเวียดนามมีผู้เสียชีวิตรวม 55 ราย (ของไทยก็ 55 รายเช่นกัน แต่เป็นตัวเลขต่อวันในช่วงสงกรานต์)  ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้สถานีอนามัยที่อยู่ใกล้ทางหลวงในรัศมี 50 กม. จัดบริการฉุกเฉินไว้รองรับผู้ประสบอุบัติเหตุ ที่ผ่านมามีผู้ที่ต้องพิการหรือเสียชีวิตทั้งๆ ที่อาการบาดเจ็บไม่รุนแรง เพราะไม่มีการดูแลเบื้องต้นและผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลช้าเกินไป  นโยบายนี้เริ่มต้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จึงยังขลุกขลักอยู่บ้างทั้งเรื่องการประสานงานและจำนวนรถพยาบาลที่ไม่เพียงพอ แต่เมื่อเข้าที่เข้าทางแล้วมันจะลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 10 แพทย์ให้ความเห็นว่าผู้ได้สัมปทานทำถนนควรให้ความสนใจกับที่พักริมทางหรือศูนย์แพทย์ฉุกเฉินบ้างและหวังว่าทางหลวงใหม่ที่กำลังจะสร้างอีก 21 สายจะมาพร้อมศูนย์ฯ ที่พร้อมช่วยเหลือผู้บาดเจ็บด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 เนื้อหมูกับการตกค้างของยาปฏิชีวนะ

เมื่อปีที่แล้ว เรารายงานไว้ในนิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 188 ตุลาคม 2559 ว่าพบ การตกค้างของยาปฏิชีวนะ 1 ตัวอย่าง คือ เมนูแซนวิชไก่อบ จากร้าน ซับเวย์ สาขาพารากอน โดยพบ Doxycycline ในกลุ่มยา Tetracycline ปริมาณ 13.73 ไมโครกรัม / กิโลกรัม(ug/kg)  จากการสุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 18 ตัวอย่าง ภายหลังการแถลงข่าวของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและฉลาดซื้อ ทางตัวแทนของซับเวย์ได้ติดต่อขอรายละเอียดและเมื่อได้พิจารณาผลการทดสอบของทางฉลาดซื้อแล้ว ได้ชี้แจงกลับมาว่า จะปรับปรุงเรื่องซับพลายเออ ซึ่งทางซับเวย์ในประเทศไทยใช้ซับพลายเออในประเทศ อีกทั้งยังให้คำมั่นว่า ประเทศไทยจะเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ทางซับเวย์จะวางนโยบายเลิกใช้เนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ  ต่อมาในเดือนมกราคม 2560 มีการทำข่าวเชิงลึกโดย หนังสือพิมพ์คมชัดลึก เรื่อง อันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มหมู โดยเฉพาะยา โคลิสติน ซึ่งเป็นยาต้านแบคทีเรียในลำดับสุดท้ายที่โลกมีอยู่ในฟาร์มหมูอย่างไม่เหมาะสมและในปริมาณที่มากจนน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีรายงานจากประเทศจีนว่า การเลี้ยงหมูด้วยยาโคลิตินเป็นสาเหตุให้เกิดยีนดื้อยาที่เรียกว่า mcr-1   ซึ่งจะทำให้ยาโคลิสตินหมดประสิทธิภาพในการต้านหรือฆ่าเชื้อ หมายถึงเราจะไม่มียาสำหรับการฆ่าเชื้อแบคทีเรียอีกต่อไป ดังนั้นฉลาดซื้อจึงไม่ได้นิ่งนอนใจ เราขออาสาไปตรวจสอบเนื้อหมูสดในตลาดอีกรอบ โดยเก็บตัวอย่างเนื้อหมูสันในจากตลาดสด 6 แห่งใน กรุงเทพฯ ห้างค้าปลีก 8 แห่ง และสั่งซื้อออนไลน์ 1 แห่ง รวม 15 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหายาปฏิชีวนะตกค้าง 5 ชนิด โดยห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ผลการทดสอบพบ 2 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 13.3 มีการตกค้างของยา คลอร์เททระไซคลีน (Chlortetracycline) ซึ่งเป็นยาที่ใช้เพื่อยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย โดยปริมาณที่พบ คือ 20.28 ไมโครกรัม/กิโลกรัม(ug/kg)   ในตัวอย่างเนื้อหมูจากตลาดใหม่บางแค และ 42.57 ไมโครกรัม/กิโลกรัม(ug/kg)   และในตัวอย่างเนื้อหมูจากตลาดยิ่งเจริญ  ถึงแม้จะไม่เกินมาตรฐานที่ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนด แต่ในทางวิชาการแล้ว ปริมาณไม่ใช่สิ่งสำคัญเพียงพบว่ามีการตกค้าง ก็อาจหมายถึงสาเหตุหนึ่งของการเกิดเชื้อดื้อยาได้เช่นกัน ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง เพื่อใช้ควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ข้อมูลตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ กำหนดให้พบการตกค้างของยาในกลุ่ม Tetracycline (เททระไซคลีน) ในเนื้อหมู(กล้ามเนื้อ) สูงสุดได้ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อ 1 กิโลกรัม---------------------------------------------------------รู้หรือไม่ว่า ในอาหารที่เรากิน เราอาจเจอได้ทั้ง ยาปฏิชีวนะ เชื้อโรคที่ดื้อยา และยีนของเชื้อที่ดื้อยา ตัวหลังนี้สำคัญเพราะมันข้ามสายพันธุ์กันได้ในหมู่เชื้อ ทำให้เชื้อโรคต่างก็พากันดื้อยา สถานการณ์ปัจจุบันพบว่า มียีนที่เรียกว่า mcr-1   เกิดขึ้นแล้วพบในจีน อเมริกา อินเดีย หรือในประเทศไทยอย่างน้อยก็มีรายงานว่าพบแล้วสามคน ที่มียีนดื้อยาอยู่ในร่างกาย ยีนตัวนี้สำคัญอย่างไร ยีนดื้อยาตัวนี้ มันไม่กลัวยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะตัวที่แรงสุดในปัจจุบันคือ ยาโคลิสติน เรียกว่า ถ้ายานี้เอาเชื้อโรคไม่อยู่แล้วก็หมดยาที่จะใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2560ระวังอาหารเสริมผสม “ยาต้านซึมเศร้า”นางศิริวิทย์ หลิ่มโตประเสริฐ นักวิชาการสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เผยผลการตรวจวิเคราะห์อาหารเสริม 2 ตัว ลอบผสมยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) หรือ “ยาต้านซึมเศร้า” เตือนผู้บริโภคที่รับประทานอาจเกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพ โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 2 ยี่ห้อที่ตรวจพบการปนเปื้อน ได้แก่ 1.KITO DETOX เลขสารบบอาหาร 74-2-03357-1-0091 รุ่นที่ผลิต AA000308 ผลิตโดย บริษัท สยามเฮลท์แอนบิวตี้แคร์ จำกัด และ 2.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร CORE LIPO 8 DIETRY SUPPLEMENT PRODUCT เลขสารบบอาหาร 13-1-13653-1-0112 รุ่นที่ผลิต 112974C ผลิตโดยบริษัท เนเจอร์ นิวทริ จำกัด ยาฟูลออกซิทีนเป็นยาแผนปัจจุบันใช้ต้านอาการซึมเศร้า ต้องจ่ายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ตัวยามีผลข้างเคียงทำให้เบื่ออาหาร เมื่อนำไปใช้ไม่ถูกจะมีโทษ อาจจะทำให้ผู้ได้รับยามีอาการคลื่นไส้ มีผลต่อการมองเห็น ปวดท้อง แน่นหน้าอก และอาจถึงขั้นหัวใจล้มเหลวเสียชีวิต อย่ากิน!!!ขนม “BLACK POWDER” ทำเด็กหมดสติอย.ฝากเตือน เด็กๆ พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง และบุคลากรในสถานศึกษา เฝ้าระวังอันตรายจาก “ขนมหน้าโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน” หลังพบเด็กทานขนมที่มีลักษณะเป็นผงคล้ายเกล็ดน้ำตาล มี 2 สี 2 รสชาติ บรรจุในขวดเล็กๆ รูปร่างเหมือนขวดน้ำอัดลม สีดำ บนฉลากเขียนคำว่า “BLACK POWDER” แล้วเกิดอาการเวียนหัว อาเจียน นอนซึม ตาลอย และไม่มีอาการตอบสนอง จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล หลังตรวจสอบขนมดังกล่าว บนฉลากมีเพียงชื่อยี่ห้อ และข้อความภาษาจีน ไม่มีข้อความภาษาไทย และไม่มีเลข อย.โดยที่ผ่านมา อย. ได้ดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารในกลุ่มลูกกวาด ลูกอม และกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการใช้สีผสมอาหารมากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ยังพบเห็นผลิตภัณฑ์อาหารและขนมต้องสงสัย ถูกนำมาขายให้กับเด็กวัยอนุบาลและประถมตามหน้าโรงเรียนต่างๆ ทั้งนี้ อย. ได้ฝากถึง พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ครู-อาจารย์ ช่วยเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังขนมที่ผลิต จำหน่าย หรือนำเข้าโดยผิดกฎหมาย หากพบมีการนำเข้าหรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ สามารถแจ้งไปยัง อย. หรือ สาธารณสุขจังหวัดได้ทันทีเอาผิด รพ.เอกชน แจกคูปองน้ำมันให้อาสากู้ภัยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ลงดาบโรงพยาบาลเอกชนที่จัดโปรโมชั่นให้เจ้าหน้าที่กู้ภัย ทั้งแจกคูปองเติมน้ำมัน คูปองสะสมแต้ม เพื่อแลกกับการนำผู้ป่วยฉุกเฉินมาส่งที่โรงพยาบาล เนื่องจากผิดกฎหมายสถานพยาบาล นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า รพ.เอกชนดังกล่าวจัดทำโปรโมชันนี้ตั้งแต่ช่วง ก.พ. ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือมูลนิธิกู้ภัย แต่ภายหลังเมื่อมีการการตรวจสอบ รพ.เอกชนดังกล่าวก็ได้ยุติการทำโปรโมชันไปตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยทาง รพ.เอกชน ก็ได้ทำให้หนังสือแจ้งต่อ สบส. ว่า ไม่ได้มีเจตนารมณ์ไม่ดีในการจัดโปรโมชันดังกล่าว และไม่ได้สนับสนุนการส่งผู้ป่วยข้ามเขตแต่อย่างใด อีกทั้งตั้งแต่จัดโปรโมชันดังกล่าว รพ. ก็ไม่ได้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อ รพ.ดังกล่าวยอมรับว่าได้จัดโปรโมชันจริง สบส. ก็จะดำเนินการตามกฏหมาย ตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ในมาตรา 38 ที่ว่าด้วยการห้ามโฆษณา โอ้อวด ลด แลก แจก แถม เพื่อชักชวนให้มีผู้มารับบริการจากสถานพยาบาลของตน โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ “ทุบรถโชว์” ประชดแก้ปัญหาไม่คืบหน้ากลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการใช้รถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด รุ่นเฟียสต้า และรุ่นโฟกัส กว่า 60 คน รวมตัวกันที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานใหญ่ บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส ประเทศไทย จำกัด เพื่อเรียกร้องหาความรับผิดชอบจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชื่อดัง หลังจากผู้เสียหายประสบปัญหาจากการใช้รถยี่ห้อดังกล่าวทั้งๆ ที่เพิ่งซื้อมาได้ไม่นาน โดยปัญหาที่พบมีทั้ง เกียร์กระตุก รถสั่น และที่ร้ายแรงที่สุดคือเบรกไม่อยู่ โดยกลุ่มผู้เสียหายนอกจากจะมีการอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องแล้ว ยังการนำพลั่วมาทุบรถยนต์คันที่มีปัญหา เพื่อแสดงถึงความไม่พอใจการแก้ไขปัญหาของบริษัทซึ่งที่ผ่านมากลุ่มผู้เสียหายเคยไปร้องเรียนกับทั้งศูนย์บริการของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ สคบ. สำนักนายกรัฐมนตรี และสภาทนายความ แต่ก็ยังไม่ได้รับการชดเชย นอกจากนี้กลุ่มผู้ร้องยังรู้สึกไม่พอใจในการแก้ปัญหาของ สคบ. ที่ได้มีการนำรถรุ่นที่พบปัญหาไปทดสอบแล้วผลออกมาว่ารถปลอดภัยดี ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ฟอร์ดเคยออกมายอมรับว่ารถยนต์รุ่นที่มีการร้องเรียนมีปัญหาจริง คงต้องติดตามกันต่อไปว่าคดีนี้จะจบอย่างไร ผู้บริโภคจะได้รับการชดเชยที่เหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ค้าน ม.44 เร่งผ่าน “สิทธิบัตรยา” กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ออกมาแสดงความกังวลและขอคัดค้านแนวคิดของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เตรียมใช้ ม.44 เป็นช่องทางพิเศษเร่งรัดพิจารณาและออกสิทธิบัตร แก้ปัญหาความล่าช้าคำขอสิทธิบัตรที่ค้างอยู่กว่า 12,000 ฉบับ ซึ่งคาดว่าเป็นคำขอเกี่ยวกับยาถึง 3,000 ฉบับ และเกือบทั้งหมดเป็นคำขอสิทธิบัตรแบบ Evergreening หรือสิทธิบัตรที่ไม่มีความใหม่ เนื่องจะทำให้เกิดปัญหาต่อระบบสาธารณสุขในประเทศ ทั้งการผูกขาด ปัญหายาราคาแพง นำไปสู่การเข้าถึงยาที่ยากขึ้นในอนาคตภาคประชาชนได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อเร่งออกสิทธิบัตร โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยา พร้อมเสนอให้มีการทบทวน โดยให้พิจารณาถึงเหตุผลที่แท้จริงของความล่าช้าในการออกสิทธิบัตร ที่นอกจากจะมีสาเหตุมาจากความด้อยประสิทธิภาพของกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ยังมีสาเหตุมาจาก บริษัทยาหรือผู้ยื่นคำขอจดสิทธิบัตรอาศัยช่องว่างของ พ.ร.บ. สิทธิบัตรที่ให้ระยะเวลาในการยื่นเอกสารรายละเอียดการจดสิทธิบัตรยาวนานถึง 5 ปี และมักจะมายื่นเอกสารในปีท้ายๆ ทำให้การพิจารณาคำขอไม่สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว ซึ่งกรณีนี้เป็นประโยชน์กับผู้ยื่นคำขอ เพราะกฎหมายให้สิทธิคุ้มครองนับตั้งแต่วันยื่น ทั้งที่คำขอนั้นยังไม่ได้รับพิจารณาตามกระบวนการตรวจสอบสิทธิบัตร กลายเป็นเครื่องมือให้ผู้ยื่นใช้ผูกขาดตลาดและราคายานอกจากนี้ การเร่งออกสิทธิบัตรกลับยิ่งส่งผลกระทบต่อการสนับสนุนนวัตกรรมในประเทศ เนื่องจากคำขอที่ค้างอยู่โดยเฉพาะในเรื่องยา ส่วนใหญ่เป็นคำขอที่ไม่เข้าข่ายสมควรจะได้รับสิทธิบัตร หรือเรียกว่าสิทธิบัตรต่อยอดแบบไม่มีวันตาย ยิ่งเร่งออกสิทธิบัตรยิ่งไปจำกัดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ในประเทศ รวมทั้งจะก่อให้เกิดปัญหาสิทธิบัตรด้อยคุณภาพและการผูกขาดตลาดยาและยาแพงโดยไม่จำเป็น  ทั้งนี้การพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตร โดยเฉพาะยา ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ เพราะมีข้อมูลจำนวนมากและต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อพิสูจน์ว่าคำขอฯ นั้นมี “ความใหม่” และ “ขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ใครจ่ายเมื่อบาดเจ็บ

หากเราประสบอุบัติเหตุไม่คาดฝัน สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งบางครั้งเราอาจไม่ทราบว่าสามารถเบิกจากที่ไหนได้บ้าง ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้คุณสุชาติส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า เขาประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ล้มแขนหัก ขณะที่กำลังขี่ไปทำงาน ทำให้ต้องหยุดพักรักษาตัวเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งทางบริษัทได้ออกค่านอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลให้ อย่างไรก็ตามคุณสุชาติพบว่าตนเองได้ทำประกันตาม พ.ร.บ. ไว้กับบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ด้วย จึงต้องการทราบว่าสามารถเบิกค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติมได้อีกหรือไม่แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ ได้ชี้แจงการเบิกใช้สิทธิ พ.ร.บ. ในวงเงินค่าเสียหายเบื้องต้น ดังนี้กรณีบาดเจ็บ เบิกจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล ในวงเงินตามที่รักษาจริงไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน (ปรับเพิ่มจากเดิมคุ้มครองเพียง 15,000 บาท) โดยผู้ประสบภัยจะเบิกเองหรือมอบอำนาจให้โรงพยาบาลตั้งเบิกกับบริษัทกลางฯ ผ่านระบบออนไลน์ก็ได้ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทกลางฯ ได้จัดทำระบบสินไหมอัตโนมัติ (ระบบสินไหมอัตโนมัติ หรือ e-claim online บริษัทกลางฯ จะโอนเงินจ่ายคืนโรงพยาบาลภายใน 7 วันนับแต่วันที่ส่งเรื่องตั้งเบิก) และขอความร่วมมือโรงพยาบาลทุกแห่งเข้าใช้ระบบ เพื่อลดภาระของประชาชนและผู้ประสบภัยจากรถอย่างไรก็ตามในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลเกินกว่านี้ ผู้ร้องสามารถใช้สิทธิจากวงเงินค่าเสียหายเบื้องต้นไปก่อน 30,000 บาท ส่วนเกินที่เหลือสามารถเบิกจ่ายเพิ่มเติมได้จาก 1.สิทธิบัตรทอง 30 บาท (ถ้ามี) 2.สิทธิประกันสังคม (ถ้ามี) หรือ 3.ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งในกรณีนี้ต้องรอผลสรุปทางคดีและสามารถเรียกร้องเอาจากคู่กรณีได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 คนใช้สิทธิยอดเยี่ยม’59 “สิทธิของเรา เราใช้ได้ เราทำได้”

ฉลาดซื้อฉบับนี้จะพาไปรู้จักคนใช้สิทธิยอดเยี่ยมประจำปี 2559 ซึ่งคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดให้มีการมอบรางวัล “ คนใช้สิทธิยอดเยี่ยม” ขึ้น ซึ่งในแต่ละปีจะมีผู้บริโภคที่เห็นความสำคัญในสิทธิอันพึงมีพึงได้ในฐานะผู้บริโภค และมีความมุ่งมั่นในการปกป้องสิทธิ ดำเนินการร้องเรียน ต่อสู้เพื่อให้ได้ความเป็นธรรม อีกทั้งคอยติดตามแก้ไขปัญหาของตนเองเป็นตัวอย่างที่ดีต่อสังคมและทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมในภาพรวม ซึ่งเรานำมาให้ทุกท่านรู้จักเรียงตามลำดับดังนี้1.เจตนิพิฐ สุขกัลยาเจตนิพิฐ สุขกัลยา ผู้บริโภคที่ใช้สิทธิร้องเรียนโรงพยาบาลเพื่อคืนสิทธิบัตรทองให้ญาติชาวจีนผ่านศูนย์พิทักษ์สิทธิคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดปัตตานี ผลจากการใช้สิทธิในครั้งนี้ทำให้คนต่างด้าวเชื้อสายจีนที่มาอยู่ในจังหวัดปัตตานีอีกหลายคนได้รับผลการคืนสิทธิด้วยนางเจตนิพิฐ สุขกัลยา อายุ 37 ปี ได้ช่วยเหลือนายเซี๊ยะทง แซ่อั้ง ซึ่งมีศีกดิ์เป็นลุง นายเซี๊ยะทงถือสัญชาติจีนและเชื้อชาติจีนโดยกำเนิด มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างยาวนาน จนได้รับสัญชาติไทยมีเลขประจำตัวประชาชน นายเซี๊ยะทงมีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดสมองตีบ เส้นเลือดหัวใจตีบ ไต ต่อมลูกหมากโต รักษาตัวและใช้สิทธิบัตรทองที่โรงพยาบาลปัตตานี จนกระทั่ง วันที่ 27 ตุลาคม 2557 ได้ไปรับยาต่อมลูกหมากโตตามหมอนัดและญาติได้พาคนป่วยไปให้หมอดูแผลเบาหวาน เมื่อเข้าพบหมอเพื่อรับยาต่อมลูกหมากโต หมอได้ยื่นใบสั่งยาให้ หลังจากได้ดูใบสั่งยา เจตนิพิฐ สังเกตว่าสิทธิรักษาพยาบาลถูกเปลี่ยนสิทธิบัตรทองผู้สูงอายุ เป็นแบบต้องจ่ายเงินเอง จึงสอบถามเจ้าหน้าที่และไปติดต่อห้องสิทธิ (แต่คนป่วยได้พบหมอเรื่องแผลเบาหวาน หมอสั่งให้นอนโรงพยาบาล และให้ไปรับยาของโรคต่อมลูกหมากก่อน)เมื่อติดต่อเรื่องสิทธิกับห้องสิทธิของโรงพยาบาล ทางห้องสิทธิแจ้งว่า คนป่วยเป็นต่างด้าว ไม่สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ ต้องจ่ายเงินรักษาพยาบาล เธอจึงได้ถามว่าจะทำยังไงเพราะคนป่วยเป็นผู้สูงอายุไม่มีรายได้จะให้จ่ายเงินแบบนี้ทุกเดือนและรอบนี้ต้องนอนโรงพยาบาลด้วย จะมีค่าใช้จ่ายสูง ห้องสิทธิเสนอให้ซื้อแบบรักษาพยาบาลของคนต่างด้าว คนละ 2,800 บาท แต่มีหลักเกณฑ์ว่าต้องไม่มีโรคประจำตัว และต้องมาตรวจร่างกาย ซึ่งท้ายที่สุดก็ไม่สามารถซื้อสิทธิคนต่างด้าวได้ต่อมาเธอจึงได้โทรไปปรึกษาเรื่องนี้กับคุณกัลยา เอี่ยวสกุล ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนและศูนย์ 50(5) จ.ปัตตานี โดยเล่าประวัติคนป่วยและสอบถามว่าผู้ป่วยหากไม่มีบัตรประชาชนแต่ถ้ามีเลข13 หลักในทะเบียนบ้านแล้วจะสามารถใช้สิทธิบัตรทองอีกได้หรือไม่ คุณกัลยาจึงประสานไปที่กระทรวงสาธารณสุขจนทราบว่าคนป่วยมีสิทธิใช้สิทธิ์บัตรทองได้ จึงติดต่อกลับมาที่เธออีกครั้งหนึ่งหลังจากนั้นเจตนิพิฐ จึงนำหลักฐานของคนป่วยที่มีเลข 13 หลักลงไปห้องสิทธิโรงพยาบาล เพื่อเขียนคำร้องการขอใช้สิทธิ เธอได้โทรศัพท์สอบถามกับกระทรวงฯ ถึงข้อเท็จจริงอีกรอบ เจ้าหน้าที่กระทรวงฯ ได้อธิบายขั้นตอนการขอคืนสิทธิบัตรทองของคนป่วยกลับมาให้ใช้ได้เหมือนเดิมและกำชับให้เอาหลักฐานของผู้ป่วยไปยื่นที่ห้องสิทธิ หากมีปัญหาให้ทางห้องสิทธิโทรกลับมาที่กระทรวงฯ จากนั้นเธอจึงนำเอกสารตามที่เจ้าหน้าที่กระทรวงบอกทุกอย่าง ไปยื่นที่ห้องสิทธิของโรงพยาบาลปัตตานี แต่ก็ยังมีปัญหา เพราะความไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่ห้องสิทธิ จึงให้เจ้าหน้าที่ห้องสิทธิคุยสายตรงกับกระทรวงสาธารณสุข เจ้าหน้าทางกระทรวงฯ ได้ชี้แจงเรื่องสิทธิของคนป่วยให้ห้องสิทธิฟัง ทางห้องสิทธิจึงยอมทำเรื่องคืนสิทธบัตรทองให้กับนายเซี๊ยะทงผลจากการคืนสิทธิให้นายเซี๊ยะทง แซ่อั้ง ครั้งนี้ ทำให้คนต่างด้าวเชื้อสายจีนที่มาอยู่ในจังหวัดปัตตานีอีกกว่าร้อยคนได้รับผลการคืนสิทธิด้วยทำไมจึงลุกขึ้นมาใช้สิทธิที่ผ่านมาลุงรับการรักษาด้วยระบบบัตรทองมาตลอด ซึ่งสามารถช่วยเหลือเรื่องค่ารักษาพยาบาลไปได้เยอะ แต่ภายหลังกลับถูกเปลี่ยนสิทธิกะทันหัน ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองจำนวนมาก จึงรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะเสียสิทธิที่ควรจะได้รับ และเชื่อว่าต้องมีอีกหลายคนที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ซึ่งเขาอาจไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ดังนั้นเราจึงลุกขึ้นมาเป็นตัวแทนในการร้องเรียนปัญหาและอุปสรรคในการใช้สิทธิร้องเรียนปัญหาหลักที่พบคือ การสื่อสารของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เนื่องจากไม่มีความชัดเจนว่าสิทธิบัตรทองสามารถใช้กับใครได้บ้าง นอกจากนี้เมื่อสอบถามข้อมูลมากๆ ก็ดูเหมือนว่า ไม่ทราบรายละเอียดและไม่ค่อยเต็มใจช่วยเหลืออยากให้คนที่ถูกละเมิดสิทธิ ลุกขึ้นมาใช้สิทธิอย่างไรอยากให้คนที่ถูกละเมิดสิทธิลุกขึ้นมาร้องเรียนปัญหา คนไทย เป็นคนง่ายๆ พอโมโหก็อยากจะใช้สิทธิ พอหายโมโห ก็คิดว่าอย่าไปทำอะไรเขาเลย สงสารเขา สงสารหน่วยงาน ตอนนี้พี่ก็เหมือนกระบอกเสียงนะ กระตุ้นให้คนออกมาใช้สิทธิของตัวเองให้เต็มที่ สิทธิของเรา เราใช้ได้ เราทำได้ แต่กังวลว่าบางคนเขาอาจไม่รู้แนวทาง ซึ่งหากเราไม่รู้จักกับศูนย์ประสานงานคุ้มครองผู้บริโภคก็คงไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไรเช่นกัน จึงอยากให้มีการประชาสัมพันธ์ถึงแนวทางการร้องเรียน รวมทั้งข้อมูลเรื่องสิทธิบัตรทอง ให้ชาวบ้านได้รับทราบมากขึ้น2.สมคิด โพธิ์จินดาผู้บริโภคที่ลุกขึ้นต่อสู้เรื่องการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ โดยขอยกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่สำหรับติดตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ ผ่านสมาคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดประจวบคีรีขันธ์นายสมคิด โพธิ์จินดา เป็นเกษตรกรเลี้ยงโคนมและเป็นเจ้าของพื้นที่ให้เช่าเพื่อตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ วันหนึ่งเขาได้ตั้งข้อสังเกตว่าตั้งแต่มีการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์นั้น ปริมาณน้ำนมที่รีดได้ในแต่ละวันลดลงจากเดิมก่อนที่มีการตั้งเสา และวัวก็เป็นหมันแม้ว่าจะผสมกับวัวสาวก็ตาม จะไม่ติดลูกหรือถ้าติด ลูกที่ออกมาก็จะขาลีบ ส่วนสุขภาพของตนเองจะเป็นโรคความจำสั้น หงุดหงิดง่าย และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ต่อมาในเดือนตุลาคม 2557 เขาได้ดำเนินการขอยกเลิกสัญญาเช่าฉบับใหม่ไปก่อนถึงวันสิ้นสุดสัญญาเช่าพื้นที่ เนื่องจากไม่ประสงค์ทำสัญญาเช่าต่อไปด้วยเหตุผลด้านการประกอบธุรกิจส่วนตัวและสุขภาพ ทั้งนี้บริษัทผู้เช่ารับทราบพร้อมดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 แต่เวลาผ่านไปจนถึงประมาณปลายปี 2559 ก็ยังคงเพิกเฉย และไม่ดำเนินการรื้อถอนอุปกรณ์ของบริษัทออกจากพื้นที่ แต่กลับมาดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม ซึ่งนายสมคิด ได้บอกกล่าวให้บริษัทดำเนินการตามสัญญาที่ระบุไว้ในเวลาอันเหมาะสมแล้ว แต่บริษัทไม่ดำเนินการ ทำให้ได้รับความเสียหาย จึงได้มาร้องเรียนกับสมาคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมโดยเร็ว โดยมอบอำนาจให้สมาคมคุ้มครองสิทธิฯ รับผิดชอบดำเนินการประสานงานฯ แทนตนต่อมาทางสมาคมฯ จึงได้มีหนังสือถึง กสทช. เพื่อช่วยเหลือในการดำเนินการเรียกร้องสิทธิและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการตั้งเสาส่งสัญญาณฯ ดังกล่าวในประเด็นดังนี้1.ขอให้บริษัท ดำเนินการรื้อถอนเสาส่งสัญญาณฯ ดังกล่าวภายใน 15 วันนับจาก (กสทช.)ได้รับหนังสือฉบับนี้ เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาที่เป็นธรรม2.ขอให้ กสทช. ตรวจสอบการติดตั้งเสาส่งสัญญาณว่าเป็นไปตามประกาศ กสทช. หรือไม่ หากพบการกระทำดังกล่าวไม่เป็นไปตามประกาศ ฯ ขอให้ระงับการส่งคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ทันทีจนกว่าจะพิสูจน์ถูกผิด 3.ขอให้บริษัท ชดเชยและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการขอเช่าพื้นที่ติดตั้งเสาส่งสัญญาณ โดยไม่ชี้แจงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งด้านร่างกาย,จิตใจ และผลกระทบต่ออาชีพ (ฟาร์มเลี้ยงวัวนม) อ้างอิงจาก งานวิจัยผลกระทบต่อสุขภาพจากเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดย อ.สุเมธ วงศ์พานิชเลิศ และสถิติจาก ศูนย์สหกรณ์ไทย-เดนมาร์คประจวบคีรีขันธ์ จำกัดนายสมคิด มีการติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดอย่างสม่ำเสมอจนในที่สุดบริษัทแก้ไขปัญหาโดยการถอนเสาออกจากพื้นที่ กระทั่งถึงขั้นตอนต้องฟ้องศาลแพ่งเรียกค่าเสียหายจึงเกิดความคิดได้ว่า “ประเด็นนี้หนทางชนะน้อยนิดเหลือเกินเพราะมันเกิดขึ้นในประเทศไทย” ตนเองจึงเปลี่ยนวิธีการเป็นให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ชุมชนด้วยการเป็นวิทยากรในเวทีต่างๆ เพราะเชื่อว่า หากประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ ประชาชนจะเป็นผู้ดูแลสิทธิของตนเองและช่วยเหลือแบ่งปันต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด…จากตัวอย่างดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนว่าการแก้ไขปัญหาเรื่อง “เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์” เป็นไปด้วยความยากลำบากทั้งหน่วยงานที่ไม่ร่วมแก้ไขอย่างที่ควรเป็นและข้อมูลที่ผ่านมาของประเทศไทยไม่พบการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม จึงนำมาสู่เวที “รับฟังความคิดเห็นสื่อสาธารณะกลุ่มประเด็นผู้บริโภคและสภาผู้บริโภคเพื่อการขับเคลื่อนให้องค์กรสื่อสาธารณะ กสทช. และเครือข่ายผู้บริโภค ต่อการแก้ไขสถานการณ์ปัญหาเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่”ทำไมจึงลุกขึ้นมาใช้สิทธิ พบว่าวัวนมที่เลี้ยงมีอาการผิดปกติ เช่น ดวงตาเป็นมะเร็งหรือผสมพันธุ์ไม่ติดจำนวนมาก ซึ่งไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน ทำให้ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำนมขาย โดยปกติจะผลิตได้ 700-800 กก. แต่ภายหลังกลับได้น้ำนมไม่ถึง 100 กก. ทำให้รายได้ลดลงจำนวนมาก นอกจากนี้สุขภาพของผู้สูงอายุในชุมชนรวมทั้งตนเองแย่ลงมากผิดปกติอีกด้วยปัญหาและอุปสรรคในการใช้สิทธิร้องเรียนคิดว่าหากเราไม่รู้จักกับทางสมาคมคุ้มครองผู้บริโภค ปัญหาดังกล่าวคงไม่ได้รับการแก้ไข เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยไปร้องเรียนโดยตรงกับบริษัท แต่ก็ไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านธรรมดาอย่างเรา ไม่มีอำนาจในการต่อรองกับบริษัทเลยอยากให้คนที่ถูกละเมิดสิทธิ ลุกขึ้นมาใช้สิทธิอย่างไรอยากให้คนที่ถูกละเมิดสิทธิลุกขึ้นมาร้องเรียนปัญหา และอยากให้มีการรณรงค์เรื่องการตั้งเสาสัญญาณ โดยให้รายละเอียดถึงข้อดีและข้อดีอย่างครบถ้วน เพื่อให้ประชาชนตามหมู่บ้านได้ทราบข้อมูลที่แท้จริง3.นิตญา วงศ์หลี ผู้บริโภคที่ร้องเรียนเพื่อให้ญาติได้รับเกิดการชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรม กรณีอุบัติเหตุ รถโดยสารสาธารณะไฟไหม้นางสาวนิตญา วงศ์หลี เป็นหลานสาวของนางสาวสุภาศินี วงศ์หลี ผู้ประสบอุบัติเหตุ รถโดยสารสาธารณะรถบัสบริษัทตรังร่วมมิตร เส้นทางภูเก็ต-สตูลไฟไหม้ เพราะคนขับรถหยุดเชื่อมเก้าอี้ของตัวเองโดยที่ไม่แจ้งให้ผู้โดยสารลงจากรถ เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสหลายรายซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นางสาวสุภาศินี วงศ์หลี ได้รับการบาดเจ็บตามร่างกายหลายแห่ง อาการสาหัสจากการไฟไหม้อย่างรุนแรงทำให้มีแผลไฟไหม้บริเวณ แขน ลำตัว และใบหน้า จนทำให้มือข้างซ้ายไม่สามารถใช้การได้ ปอด ทางเดินหายใจและเส้นเสียงต้องผ่าตัดเจาะคอเพื่อเป็นช่องทางช่วยหายใจทางเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้และเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดกระบี่ ได้ดำเนินการแจ้งสิทธิและลงพื้นที่ไปกับผู้เสียหายในการเรียกร้องสิทธิ เบื้องต้นผู้เสียหายได้รับการชดเชยเยียวยาจากพรบ.ภาคบังคับและประกันภาคสมัครใจเป็นจำนวนเงิน 704,000 บาทและได้ติดต่อศูนย์ทนายความอาสา ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในการช่วยเหลือดำเนินการฟ้องร้องบริษัทตรังร่วมมิตร ที่ศาลจังหวัดพังงา เรียกค่าเสียหายรวมทั้งสิ้น 2,286,212 บาทโดยก่อนฟ้องคดีนิตญา ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดกระบี่ ได้ประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องทั้งแพทย์ ตำรวจ บริษัทประกัน บริษัทผู้ก่อเหตุเพื่อเจรจา และดำเนินการเตรียมเอกสารด้านต่างๆ เช่น ใบรับรองแพทย์ ภาพถ่ายอุบัติเหตุ ภาพถ่ายผู้เสียหาย และจัดทำรายการค่าใช้จ่ายต่างๆ ช่วยเหลือในทุกขั้นตอนเพื่อเตรียมฟ้องคดีต่อศาล ในการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยที่ศาล ครั้งที่ 1 บริษัทตรังร่วมมิตรเสนอให้ 200,000 บาท นิตยา และผู้เสียหายพิจารณาเห็นว่าเป็นจำนวนที่น้อยและไม่เพียงพอต่อการชดเชยเยียวยาจึงไม่ตกลงและศาลได้นัดสืบคดีต่อมา วันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 ในวันนัดสืบคดี ทนายของบริษัทตรังร่วมมิตรยื่นข้อเสนอขอเจรจา โดยเสนอเงินจำนวน 500,000 บาท ทางนางสาวนิตยา วงษ์หลี และโจทก์ผู้เสียหายได้พิจารณาเสนอที่ 600,000 บาท ทางทนายและตัวแทนบริษัทตรังร่วมมิตรต่อรองโดยให้ทางบริษัทจ่าย 500,000 บาท และทางจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนขับรถคันเกิดเหตุ รับผิดชอบเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท โดยผ่อนจ่ายเดือนละ 1,500 บาท โดยสรุป ในคดีนี้ ผู้เสียหายได้รับค่าชดเชยความเสียหาย รวมเป็นเงินทั้งหมด 1,304,000 บาท ( หนึ่งล้านสามแสนสี่พันบาทถ้วน)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ตายไม่กลัว กลัวไม่สวย

“วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2559 เวลา 18.00 น. ห้องฉุกเฉิน รพ.ปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ ได้รับตัว ผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 33 ปี มาโรงพยาบาลด้วยอาการผื่นแดงตามตัว มีอาการชาไปทั่วร่างกาย หายใจไม่สะดวก ผู้ป่วยให้ข้อมูลว่าประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนเกิดอาการ ตนได้รับประทานยามา 5 เม็ด(เภสัชกรได้เข้าไปตรวจสอบยาดังกล่าว จึงทราบว่าเป็นยา แก้ปวดลดไข้ (Paracetamol) ยาแก้ปวดอักเสบ(Ponstan) ยาปฏิชีวนะ(Ampicillin) ยา Danzen)” ทีมงานรากยา หมอยาบ้านนอก ได้ส่งต่อข้อมูลเพิ่มเติมมาให้ผมทราบว่า ผู้ป่วยรายนี้ได้ทำศัลยกรรมใบหน้าที่ร้านเสริมสวยแห่งหนึ่ง(ย้ำนะครับว่าร้านเสริมสวย) ในอำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ โดยเจ้าของร้านเสริมสวยแห่งนี้ได้แนะนำผู้ป่วยว่า “ที่ร้านตนมีหมอศัลยกรรมที่มีประสบการณ์จากคลินิกเสริมความงามในกรุงเทพฯ มีความเชี่ยวชาญมานานกว่า 20 ปี   มีลูกค้าหลายคนที่มาทำกับหมอคนนี้แล้วสวย ไม่พบอันตราย” ผู้ป่วยจึงเลยตัดสินใจทำศัลยกรรมทั้งใบหน้า (ร้อยไหม ฉีดคาง เติมหว่างคิ้ว ฉีดตีนกา ฉีดฝ้า ทำหน้าใส และฉีดร่องแก้ม ) รวมค่าบริการ 15,000 บาท โดยก่อนทำ 1 ชั่วโมง  ชายผู้ที่อ้างว่าเป็นหมอได้นำยา 5 เม็ดดังกล่าวมาให้ผู้ป่วยรับประทาน  หลังจากนั้นจึงได้เริ่มฉีดคาง และฉีดยาชาตามบริเวณต่างๆ ของใบหน้า และเริ่มฉีดเติมในส่วนต่างๆ ขณะที่กำลังทำนั้น ผู้ป่วยมีอาการวิงเวียน และเริ่มชาตามส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย จนตนขยับตัวเองไม่ได้  เริ่มแน่นหน้าอกหายใจไม่ออก จนญาติต้องเร่งนำส่งตัวมาที่โรงพยาบาล ซึ่งแพทย์ได้รักษาและวินิจฉัยว่า เป็นอาการแพ้สารเคมีจนช็อกกะทันหัน (Anaphylactic shock) ในระหว่างที่ผู้ป่วยมาโรงพยาบาล ชายที่อ้างตนเป็นหมอยังติดตามมาพูดคุยรายละเอียดต่างๆ กับแพทย์เจ้าของไข้ และยังนำตัวอย่างยามาให้ดู โดยมีพิรุธที่ไม่สามารถบอกชื่อยาได้ นอกจากบอกว่า “ไม่เคยเจอใครมีอาการแบบนี้ ทุกคนที่ทำล้วนกลับออกจากร้านด้วยความสวยงาม ผู้ป่วยรายนี้อาจใช้ยาอื่นมาก่อน” หลังจากรักษาตัวในโรงพยาบาล 1 คืน ผู้ป่วยอาการดีจึงได้ติดต่อกับชายที่อ้างตนเป็นหมอเสริมความงามผู้นี้เพื่อให้รับผิดชอบค่าเสียหาย แน่นอนว่า ผู้ก่อความเสียหายไม่ยอมรับผิดชอบ เพียงรับปากจะทำศัลยกรรมให้ใหม่จนหายปกติ ผู้ป่วยจึงได้มาแจ้งเรื่องร้องเรียนที่กลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.ปทุมราชวงศา ข้อมูลเพิ่มเติมคือ คนไข้เคยรับประทานยาที่ชายคนนี้จ่ายมาหลายครั้งแล้ว  นอกจากนี้ยังเคยรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลดความอ้วน และหยุดรับประทานมา 3 เดือน ก่อนทำศัลยกรรม รวมทั้งยังเคยทายาชาเพื่อสักคิ้วมาก่อน (สรุปว่ามีพฤติกรรมสวยแบบเสี่ยงมาโดยตลอด) กลุ่มงานเภสัชกร จึงได้ดำเนินการประสานกับตำรวจ ลงพื้นที่ไปติดตามข้อมูลที่ร้านเสริมสวย ซึ่งเจ้าของร้านให้ข้อมูลว่า ตนเองรู้จักชายคนนี้ จากการแนะนำของเพื่อนในจังหวัดจึงติดต่อให้มาใช้สถานที่ภายในร้านเสริมสวยเป็นห้องทำศัลยกรรม โดยตนเองจะเป็นคนหาลูกค้าให้ ซึ่งตนจะได้ค่านายหน้าและได้ทำศัลยกรรมใบหน้าฟรี ซึ่งทำหลายครั้งแล้ว ไม่เคยมีใครเกิดอาการผิดปกติ  (สรุปว่าเสี่ยงกันมาแล้วหลายคน) ล่าสุดชายคนดังกล่าวได้เก็บของหนีไปแล้ว จากข้อมูลที่ได้มา สะท้อนให้เห็นว่าเทคนิคในการออกล่าเหยื่อที่อยากสวย ของมิจฉาชีพในปัจจุบันมีมากมาย ในขณะที่ผู้คนในยุคปัจจุบันหลายคน อยากสวยโดยยอมเสี่ยงอันตราย พวกเราคงต้องช่วยกันให้ความรู้ และเตือนสติผู้บริโภค ตลอดจนช่วยกันสอดส่องดูแลมิให้มิจฉาชีพพวกนี้มาทำร้ายผู้คนนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 10 พฤติกรรม ที่มีส่วนทำให้เชื้อดื้อยา

1. เคยซื้อยาต้านแบคทีเรีย กินตามคนอื่นคนแต่ละคนอาจเจ็บป่วยจากเชื้อโรคต่างชนิดกัน การซื้อยาต้านแบคทีเรีย มารับประทานเอง อาจได้ยาต้านแบคทีเรีย ที่ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคนั้นได้ และยังส่งผลให้เชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้2. เคยหยุดรับประทานยาต้านแบคทีเรีย เมื่ออาการดีขึ้นยาต้านแบคทีเรีย ต้องรับประทานติดต่อหลายวันตามที่กำหนด หากเราหยุดรับประทาน อาจมีเชื้อโรคหลงเหลืออยู่และเชื้อโรคจะพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้3. เคยซื้อยาต้านแบคทีเรีย กินเองตามที่เคยได้รับจากบุคลากรทางการแพทย์ในครั้งก่อนๆยาต้านแบคทีเรีย แต่ละชนิดจะมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคแต่ละชนิดต่างกัน การใช้ยาต้านแบคทีเรีย โดยไม่เลือกให้เหมาะกับชนิดของเชื้อโรค นอกจากจะทำให้ไม่หายแล้ว อาจทำให้เชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้4. เคยอมยาอมที่ผสมยาต้านแบคทีเรีย การใช้ยาต้านแบคทีเรีย ฆ่าเชื้อโรค ต้องใช้ในขนาดที่เหมาะสม และต้องใช้ติดต่อให้ครบตามระยะเวลาที่กำหนด การอมยาอมที่ผสมยาต้านแบคทีเรีย นอกจากจะเป็นการใช้ยาในขนาดที่ไม่เหมาะสม ยังเป็นการใช้ยาที่เกินจำเป็น และอาจทำให้เชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้5. เคยเปลี่ยนไปซื้อยาต้านแบคทีเรีย ที่แรงกว่าทานเองเมื่อรับประทานยาต้านแบคทีเรีย ชนิดแรกแล้วอาการไม่ดีขึ้นทันใจการใช้ยาต้านแบคทีเรีย ฆ่าเชื้อโรค ต้องใช้ในขนาดที่เหมาะสม และใช้ติดต่อให้ครบตามระยะเวลา บางครั้งอาการเจ็บป่วยของเราต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรอาการถึงจะดีขึ้น การเปลี่ยนไปใช้ยาต้านแบคทีเรีย ตัวอื่นๆ ที่แรงกว่า อาจทำให้เชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้6. เคยแกะแคปซูลเอายาต้านแบคทีเรีย ไปโรยแผลนอกจากจะเป็นการใช้ยาไม่เหมาะสมแล้ว ยังทำให้แผลสกปรกและเสี่ยงต่อการเกิดอาการแผลอักเสบลุกลามได้ เพราะผงในแคปซูลไม่ได้มีแต่ตัวยาเท่านั้น ยังมีผงแป้งผสมอยู่ด้วย และยังอาจทำให้เชื้อโรคที่แผลพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้7. เคยใช้ยาต้านแบคทีเรีย ผสมในอาหารสัตว์ตามคำบอกเล่าเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เจ็บป่วยเป็นการใช้ยาที่ผิด และอาจไม่ได้ผลด้วย เนื่องจากขนาดยาไม่แน่นอน นอกจากนี้ยังอาจทำให้เชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้8. เคยใช้ยาต้านแบคทีเรีย โดยไม่ทราบชื่อสามัญของยานอกจากจะเสี่ยงที่จะได้รับยาที่เคยแพ้แล้ว อาจได้รับยาที่ไม่ตรงกับเชื้อโรค อาจทำให้เชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้9. เคยไปซื้อยาแก้อักเสบกินเองอาการอักเสบตามความเข้าใจของคนทั่วไปมีหลายแบบ เช่น อาการปวดอักเสบ อาการอักเสบจากแผลหนอง อาการอักเสบเจ็บคอ บางครั้งเมื่อเราอักเสบจากการปวดและไปซื้อยาโดยระบุว่าต้องการยาแก้อักเสบกินเอง เราอาจได้ยาต้านแบคทีเรีย มาแทนยาแก้ปวดอักเสบ เป็นการใช้ยาต้านแบคทีเรีย อย่างไม่จำเป็นเพราะไม่ได้อักเสบจากการติดเชื้อ การได้รับยาเกินจำเป็น อาจทำให้เชื้อโรคดีๆ ในตัวเรา พัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้10. ไม่แนะนำคนที่ใช้ยาต้านแบคทีเรีย อย่างผิดให้ใช้อย่างถูกต้องเหมาะสมการเพิกเฉยของเรา เท่ากับปล่อยให้มีการใช้ยาต้านแบคทีเรีย ที่ไม่เหมาะสมขึ้นในสังคม สุดท้ายเมื่อเชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยา ปัญหานี้ก็จะกลับมาส่งผลต่อตัวเรา ครอบครัว และผู้ป่วยอื่นๆ ในอนาคตได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 ยาฝาแฝด “ปัญหาจาก ฉลากยา(มหัศจรรย์) ดูให้ดีก่อนกิน”

ฉลากยาเป็นเครื่องมือที่กฎหมายกำหนดให้แสดงไว้ข้างภาชนะบรรจุยา วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สั่งใช้ และผู้ที่จะต้องใช้ยา ได้อ่านเพื่อที่จะได้ใช้ยาอย่างถูกต้องปลอดภัย โดยกฎหมายจะกำหนดให้ฉลากยาต้องมีรายละเอียดที่จำเป็นครบถ้วน ได้แก่ ชื่อสามัญทางยา ชื่อทางการค้า เลขทะเบียนยา สรรพคุณของยา วันผลิตและวันหมดอายุ แต่บางครั้งเราพบว่าฉลากยาหลายรายการกลับมีรูปแบบที่ใกล้เคียงกันมาก มากจนอาจเรียกได้ว่าเป็น “ ยาฝาแฝด จนทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน หรือเกิดความเสี่ยงในการใช้ยาอย่างผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ ลองดูตัวอย่างที่ฉลาดซื้อ ได้สำรวจ และสอบถามข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความสับสนเหล่านี้ จากเภสัชกร ชมรมเภสัชชนบท ตัวอย่างเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นผู้ป่วยชายไทย อายุ 41 ปี มารับยาจิตเภท (Schizophrenia) ตามนัด หลังจากเภสัชกรได้ตรวจสอบยาเดิมที่ผู้ป่วยนำติดตัวมา โดยผู้ป่วยรายนี้ได้รับยาชนิดเดียวกัน แต่ 2 ความแรง คือ Risperidone 1 mg และ Risperidone 2 mg ตามภาพประกอบโดยเวลารับประทานยาทั้ง 2 เหมือนกันคือ ครั้งละ 1 เม็ด ก่อนนอน จากการสอบถามผู้ป่วยและญาติเข้าใจผิดคิดว่าอันเดียวกันเนื่องจากดูเหมือนๆกันจึงเก็บยาทั้ง 2 ความแรงไว้ในซองเดียวกัน โดยหยิบรับประทานครั้งละ 2 เม็ด ก่อนนอนและไม่ทราบว่าเป็นยาคนละความแรง ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากความสับสนในฉลากยากลุ่มนี้ยาพาราเซตามอล ไซรัป ผู้ประกอบการได้ผลิตในรูปแบบความแรงที่แตกต่างกัน 4 ขนาดคือ 1. 120 mg / 5 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 5 มิลลิลิตร หรือ 1 ช้อนชา มียาพาราเซตามอล 120 มิลลิกรัม 2. 160 mg / 5 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 5 มิลลิลิตร หรือ 1 ช้อนชา มียาพาราเซตามอล 160 มิลลิกรัม 3. 250 mg / 5 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 5 มิลลิลิตร หรือ 1 ช้อนชา มียาพาราเซตามอล 250 มิลลิกรัม 4. 60 mg / 0.6 ml นั่นคือ ในยาน้ำ 0.6 มิลลิลิตร มียาพาราเซตามอล 60 มิลลิกรัมจะสังเกตได้ว่า ยาพาราเซตามอล ไซรัป ที่อยู่ในรูปแบบของชนิดหยด ใช้สำหรับเด็กทารกแรกเกิด มีความแรงของยาในขนาดที่สูงกว่ารูปแบบยาน้ำเชื่อมถึง 4 เท่า และยาในรูปแบบยาน้ำเชื่อมมีความแรงของยาที่แตกต่างกันถึง 3 ขนาด ซึ่งผู้บริโภคต้องทราบว่า ไม่เพียงแต่รสชาติ กลิ่นของยาน้ำเชื่อม จะแตกต่างกันเท่านั้น ความแรงของยาก็มีความแตกต่างกันด้วย ซึ่งยาพาราเซตามอล หากใช้เกินขนาด อาจทำให้เซลล์ตับถูกทำลาย มีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง อ่อนเพลีย นำไปสู่ภาวะตับวายและเสียชีวิตได้ ซึ่งขนาดการใช้ยาพาราเซตามอลในเด็ก ไม่เกิน 15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/ครั้ง (และไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม/ครั้ง) รวมทั้งไม่เกิน 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/24 ชั่วโมง (ไม่เกิน 3,250 มิลลิกรัม/24 ชั่วโมง) และไม่ควรใช้ยาพาราเซตามอล ติดต่อกันนานเกิน 5 วัน ในเด็กข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหา ฉลากยาที่คล้ายกันปัญหาจากกลุ่ม “ยาฝาแฝด” หรือ “ยารูปพ้อง-มองคล้าย” ต้องอาศัยการแก้ไขปัญหาร่วมกันจากทุกส่วน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายถึงผู้ใช้ยา นอกจากนี้ แม้ว่าโรงพยาบาลทุกแห่งจะมีมาตรการจัดการด้านยา “ชื่อพ้องมองคล้าย”อย่างจริงจังแล้วก็ตาม ตัวผู้ใช้ยาหรือผู้ดูแลผู้ป่วยเอง ก็ต้องมีการทบทวนยาที่ตนใช้ให้ละเอียดรอบคอบทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ที่สำคัญที่สุด คือ “การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุตั้งแต่การขอขึ้นทะเบียนยา” ควรให้มีการบรรจุเกณฑ์การพิจารณาฉลากยาบรรจุภัณฑ์ของยานั้นๆ เช่น แผงยา ขวดยา หลอดยา ไม่ให้มีความเหมือน หรือคล้ายคลึงกับยาอื่น นอกจากนี้ ไม่ควรอนุญาตให้ใช้ชื่อทางการค้าเดียวกัน โดยที่ส่วนประกอบของตำรับยาเป็นคนละชนิดกัน และไม่ควรอนุญาตให้ยาชนิดเดียวกัน ที่มีความแรงของยาที่ไม่เท่ากัน ใช้ชื่อทางการค้าเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 ระวัง! ยาเหลืองเขียวคร่าชีวิต

ผมเคยเห็นคลิปที่แพร่ในอินเตอร์เน็ต เด็กวัยรุ่นหญิงมีอาการชักเกร็งในดินโคลน จากข้อมูลที่ปรากฎในคลิปทราบว่าเด็กวัยรุ่นคนนี้ นำยาแก้ปวดชนิดหนึ่งมารับประทานผสมกับยาแก้ไอหวัดเพื่อให้มึนเมา แล้วเกิดอาการชักเกร็ง เท่าที่ตามข่าวทราบว่า สุดท้ายเด็กวัยรุ่นหญิงคนนี้ได้เสียชีวิตแล้ว หลังจากนั้นก็มีข่าวปรากฏผ่านทางสื่อเป็นระยะๆ ว่าเด็กวัยรุ่น นำยาแก้แพ้ชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า ยาป๊อคมาผสมกับยาแก้ปวดชนิดหนึ่งจำนวน 20 - 40 เม็ด (วัยรุ่นบางกลุ่มยังนำยาต่างๆ ไปผสมกับน้ำอัดลมชนิดน้ำดำ หรือบางครั้งอาจใช้ยาน้ำเชื่อมแก้แพ้แก้ไอหวัดชนิดอื่นๆ มาผสมแทน) เพื่อทำให้เกิดอาการมึนเมา จนหลายคนเกิดอาการชักเกร็งต้องส่งโรงพยาบาลล่าสุดผมมีโอกาสได้ไปคุยกับเด็กวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเนื่องจากมั่วสุมกันและมีการใช้ยาเพื่อให้มึนเมา มียาของกลางเป็นยาแบบนี้กล่าวมาข้างต้นมากมาย โดยแอบซื้อมาจากจังหวัดข้างเคียง จากการพูดคุยทำให้ทราบว่า เด็กวัยรุ่นกลุ่มนี้ถูกชักชวนให้ลองใช้ยาแก้ปวดแคปซูลเหลืองเขียว โดยบอกว่าถ้าใช้แล้วจะฟิน สมองโล่ง บางคนจะรับประทานยานี้ชนิดเดียว ครั้งละ 5 – 10 เม็ด ในขณะที่บางคนจะไปซื้อยาน้ำเชื่อมแก้แพ้หรือแก้ไอหวัดชนิดต่างๆ แล้วแกะแคปซูลเทยาแก้ปวดแคปซูลเหลืองเขียว ใส่ลงไปครั้งละ 10 -20 แคปซูล เขย่าให้เข้ากัน แล้วจึงเทยาออกมาประมาณ 1 – 2 ฝา ใส่น้ำอัดลมดื่มแบ่งกันดื่ม เด็กเล่าให้ฟังว่าหลังจากดื่มจะมึนๆ สมองโล่ง บางคนก็มีอาการเกร็งจนเพื่อนต้องพาส่งโรงพยาบาล แต่หลายคนก็ยังไม่เข็ดเพราะคิดว่าคงไม่เป็นอะไรมากจากข้อมูลทางวิชาการ ยาแคปซูลเหลืองเขียวคือ ยาทรามาดอล (Tramadol) ซึ่งเป็นยาที่ ออกฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน ใช้สำหรับระงับอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง ในทางการแพทย์จะใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรังที่ใช้ยาแก้ปวดชนิดอื่นไม่ได้ผล เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ส่วนยาป๊อค เป็นยาน้ำเชื่อม แก้แพ้ ลมพิษ เมารถเมาเรือ การใช้ยาเหล่านี้อย่างผิดๆ เช่น ใช้ในขนาดหรือปริมาณที่มากเกินปกติ หรือนำทั้งสองชนิดมารวมกัน (หรือใช้ยาน้ำเชื่อมแก้แพ้แก้ไอหวัดแทนยาป๊อค) การใช้ยาอย่างผิดๆ ดังกล่าว จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง เช่น มึนงง วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน ระบบหัวใจและหลอดเลือดทำงานล้มเหลว ชักเกร็ง และอาจอันตรายถึงชีวิตได้จากการกดการหายใจในแง่กฎหมาย ยาเหล่านี้สามารถจำหน่ายในร้านขายยาแผนปัจจุบันได้ เนื่องจากเป็นยาจำเป็นที่ใช้ในการรักษาโรคบางอย่าง แต่ยาเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะมีการนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงจำกัดการจ่ายยาแก้ปวดทรามาดอล จะจ่ายได้ไม่เกินครั้งละ 10 แคปซูล ส่วนยาแก้ไอน้ำเชื่อม จำกัดการขายไม่ควรจ่ายยาเกินครั้งละ 3 ขวด โดยแต่ละร้านต้องจำหน่ายไม่เกิน 300 ขวดต่อเดือน และก่อนจ่ายจะต้องพิจารณาว่าผู้ซื้อมีความจำเป็นจะต้องใช้หรือไม่ และต้องทำบัญชีขายยาไว้เป็นหลักฐานด้วยด้วยเหตุที่ยาเหล่านี้เริ่มถูกควบคุมการจำหน่ายมากขึ้น เด็กวัยรุ่นจึงมักจะแบ่งกันเพื่อทยอยไปซื้อยามาสะสมไว้ หรือบางกลุ่มก็ใช้วิธีการสั่งซื้อยาทางตลาดมืดทางอินเตอร์เน็ต โดยให้ส่งทางไปรษณีย์รู้อย่างนี้แล้ว ผู้ปกครองคอยสอดส่องดูแลลูกหลานให้ดีนะครับ และหากพบเห็นว่า ร้านยาแผนปัจจุบันร้านไหนจำหน่ายแบบไม่เหมาะสม หรือมีร้านค้าชำแอบลักลอบจำหน่าย แจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ ได้เลยครับ

อ่านเพิ่มเติม >