ฉบับที่ 131 สมุนไพรหมื่นแปดหายทุกโรค!

  หากมีคนมาขายยาสมุนไพร ชุดละ 18,000 บาทต่อเดือน โดยโฆษณาว่ารักษาหายได้ทุกโรค ท่านคิดว่าผู้ป่วย จะซื้อหรือไม่ ? น้องเภสัชกรท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดลำปางแจ้งข้อมูลให้ผมทราบว่า มีบุคคลอ้างว่าตนเป็นหมอสมุนไพร จบจากเมืองนอก มาจัดการโฆษณาขายยาสมุนไพรที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง โดยในการจัดกิจกรรมนั้นได้เชิญชวนให้ประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม ซื้อยาสมุนไพรที่อ้างว่ารับประทานแล้วหายได้ทุกโรคนำไปใช้รับประทาน สมุนไพรที่ว่านี้ราคาสูงถึงชุดละ 18,000 บาท (มีทั้งแบบซองสำหรับชงและแบบแท่งสำหรับต้มดื่ม) ผู้บริโภครายหนึ่งที่ได้เข้าไปฟังการโฆษณาจึงหลงเชื่อ ซื้อกลับมา 1 ชุดเพื่อให้ญาติของตนที่ป่วยเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในตับ ลองใช้รักษาอาการป่วย หลังจากนั้นไม่นาน ทางโรงพยาบาลก็ได้รับตัวผู้ป่วยชาย อายุ 58 ปี ซึ่งป่วยเป็นเนื้องอกร้ายของมะเร็งท่อน้ำดีในตับ กลับมารักษาตัวที่โรงพยาบาลอีกครั้ง แต่คราวนี้ ผู้ป่วยกลับมาด้วยอาการปวดขาข้างขวามาก เมื่อแพทย์ตรวจแล้วจึงพบว่าเกิดจากลิ่มเลือดอุดตันที่ขา เภสัชกรที่โรงพยาบาลได้ไปซักประวัติผู้ป่วยเพิ่มเติม ได้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้มีพฤติกรรมการบริโภคอะไรที่ผิดแปลกไปจากเดิมเลย นอกจากกินยาสมุนไพร 18,000 บาทที่โฆษณาว่าหายทุกโรคนี่แหละ เมื่อขอยาสมุนไพรที่ผู้ป่วยรับประทานทั้ง 2 แบบมาดู ก็พบว่า ยาสมุนไพรทั้ง 2 แบบนี้ มีการโฆษณาที่ผิดกฎหมายหลายอย่าง เช่น ยาดองเหล้าสมุนไพรแอนนี่ ไม่ได้ขึ้นทะเบียนยาแต่กลับโฆษณาสรรพคุณมากมาย ส่วนยาสมุนไพรแอนนี่ แม้ไม่ได้ระบุสรรพคุณยาบนฉลาก แต่ก็เป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเช่นกัน หากแสดงเลขที่ใบอนุญาตตั้งคลินิกที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งตามกฎหมายแล้วจะไม่สามารถมาเร่ขายยาตามโรงแรมได้ เพราะเขาอนุญาตให้จ่ายเฉพาะผู้ป่วยที่รับบริการจากคลินิกเท่านั้น ล่าสุดทราบว่า เภสัชกรได้แจ้งข้อมูลไปให้ ทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปางและจังหวัดอุบลราชธานีทราบ เพื่อช่วยกันติดตามดำเนินการตามกฎหมายต่อไปแล้ว หากใครเจอการเร่จัดมหกรรมโฆษณาขายยาที่ไม่ถูกต้องแบบนี้ อย่าหลงเชื่อนะครับ อาจจะเสียทั้งเงินและได้รับอันตรายได้ ช่วยๆ กันเตือนเพื่อนฝูงและแจ้งข้อมูลให้หน่วยราชการทราบด้วยนะครับ จะได้ช่วยกันจัดการให้ยาหายทุกโรคแบบนี้ หายไปจากการหลอกลวงซะที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 ปรารถนาดีหรือจะมีค้าแฝง

  “บางครั้งมันก็ยากที่จะบอกว่ามันคือการปรารถนาดีหรือมีการค้าแฝง” วันหนึ่ง กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคของผม ได้รับการติดต่อจากบุคคลรายหนึ่ง แจ้งความประสงค์ว่าต้องการนำยามาเผยแพร่ให้กับผู้ป่วยฟรี  โดยบุคคลรายนี้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เคยมีผู้ป่วยรับประทานยาเหล่านี้  แล้วอาการเจ็บป่วยหาย  จึงมีความปรารถนาดีที่จะเผยแพร่ยาเหล่านี้กับผู้ป่วยอื่นๆ ในจังหวัด โดยการเปิดบริการผู้ป่วยโดยไม่คิดมูลค่า เมื่อพิจารณาจากฉลากยาทั้ง 2 ชนิดนี้ พบว่าทั้ง 2 ชนิดเป็นยาแผนโบราณ มีเลขทะเบียนยาแผนโบราณแสดงบนฉลากชัดเจน  มีเอกสารแผ่นพับระบุสถานที่ผลิต และข้อความ “แด่ผู้ป่วยที่ต้องทนทุกข์ทรมาน ...กลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง ภูมิต้านทานร่างกายผิดปกติ โรคเกิดจากความเสื่อม ฯลฯ” แต่เมื่อได้อ่านรายละเอียดวิธีใช้ข้างกล่อง ผมก็ต้องสะดุดตากับข้อความแปลกๆ “วิธีใช้ รับประทานก่อนอาหาร ก่อนยาจากโรงพยาบาล 1 ชั่วโมง” (ซึ่งผมมั่นใจว่าทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คงไม่อนุญาตให้ใช้ข้อความแปลกๆ ทำนองนี้) จากการติดตามตรวจสอบทะเบียนยาจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาปรากฏว่า ยาทั้ง 2 ชนิดนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องแล้ว แต่ไม่ได้อนุญาตให้ระบุข้อความแบบนี้ อย่างที่สงสัย แต่สิ่งที่ผมอยากชี้แจงเพิ่มเติมแก่ผู้อ่านคือ แม้ยาทั้ง 2 ชนิดนี้จะได้รับอนุญาตแล้ว แต่การที่ใครจะมาเผยแพร่หรือรักษาผู้ป่วยโดยใช้ยาเหล่านี้แจกฟรีๆ นั้น ตามกฎหมายไม่ได้อนุญาตนะครับ และที่กฎหมายไม่อนุญาตนั้น ไม่ใช่จะไปกีดกันอะไรหรอก  เจตนาก็เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยเองครับ ยาเป็นสินค้าที่แม้จะมีคุณประโยชน์ในการรักษาโรค แต่ถ้าใช้อย่างไม่เหมาะสมไม่ระมัดระวัง อาจจะทำให้ผู้ที่รับประทานเกิดอันตรายได้ ดังนั้นการจะใช้ยาชนิดใดก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องมีกฎเกณฑ์กติกา เช่น ต้องจำหน่ายในร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น (ยกเว้นยาสามัญประจำบ้านที่อนุญาตให้ขายในร้านค้าอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต) ห้ามเร่ขายยาตามสถานที่ต่างๆ  นอกจากนี้ การที่ใครจะมาเปิดรักษาโรค แม้จะบริการฟรีไม่คิดค่าใช้จ่าย ก็ต้องแจ้งขออนุญาตให้ถูกต้อง เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้เข้ามาช่วยดูแลความปลอดภัยร่วมกัน ทราบอย่างนี้ก็ช่วยกันแนะนำต่อๆ กันด้วยนะครับ เพราะบางทีเราก็อธิบายได้ยาก ว่าเรื่องแบบนี้เกิดจากเจตนาดีหรือมีการค้าแอบแฝงกันนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 สอดสะท้านโลกา

  “ไม่รู้ว่ามันคือยาหรืออะไรกันแน่ แต่ที่แน่ๆ วิธีใช้ มันให้สอดครับ ไม่ใช่สอดใต้หมอน หรือสอดใต้ผ้าห่มนะครับ มันให้สอดที่ตรงนั้นของผู้หญิงต่างหาก” ผู้ขายอ้างว่า วัตถุสีดำก้อนเล็กๆ นี้เป็นยาสมุนไพรไทยที่ทำขึ้นมา เพื่อช่วยรักษาโรคที่เกี่ยวกับจุดซ่อนเร้นของผู้หญิงในระยะเบื้องต้น เช่น ตกขาวมีกลิ่นและผิดปกติ เชื้อราในช่องคลอด มดลูกอักเสบ อาการคันต่างๆ และยังช่วยลดกลิ่นอับบริเวณจุดซ่อนเร้น ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด แก้อาการตกขาวผิดปกติ ตกขาวเยอะคัน มีสีเขียวเหลือง และที่สำคัญทำให้มดลูกกระชับแน่น  ไม่ต้องเสียเงินไปทำรีแพร์ เห็นผลได้หลังจากที่ใช้รู้สึกได้ถึงความแตกต่าง เพิ่มความฟิตกระชับช่องคลอด แก้ตกขาว ไม่เหม็น ไม่อับ มั่นใจดุจวัยสาวแรกแย้ม (ยาเทวดาหรือไงนี่ ?)  นอกจากนี้ยังโฆษณาอวดอ้างอีกว่า ยานี้ใช้ป้องกันการติดเชื้อจากคุณผู้ชายด้วย ใช้ได้ทั้งสุภาพสตรีและสาวประเภทสอง ที่สำคัญความรู้สึกของสามีจะดีขึ้น 100% เหมือนได้กลับมารักกันใหม่ๆ อีกครั้ง และที่มันถึงกับทำให้สะท้านโลกาก็เพราะ มันเล่นบรรยาย เกี่ยวกับสรรพคุณระหว่างคุณผู้หญิงขณะมีความสุขกับคุณสามีแบบสยิวกิ้วไม่บันยะบันยัง แบบถ้าคนที่หลงเชื่อคงระทวย และวิ่งไปคว้ามาสอดทันที  เจ้าวัตถุสีดำนี้ขายเป็นตลับ ตลับละ10 เม็ด (ราคา 150 บาทพร้อมส่ง) ตลับต่อไป100 บาท พิเศษสำหรับลูกค้าที่เคยสั่งซื้อแล้ว ตลับแรก 125 บาทพร้อมส่งตลับต่อไป 100 บาท นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีก เช่น เจลสลายไขมัน, สบู่สลายไขมัน , แป้งJT , แป้งสมุนไพรทารักแท้ ระงับกลิ่นและเหงื่อใต้รักแร้ การสั่งซื้อไม่ยากเลย เพียงแค่สั่งทาง SMS แล้วโอนเงินผ่านธนาคารได้ทันที ผมดูส่วนประกอบที่อ้างว่าเป็นส่วนสำคัญในตัวยา ว่ามีว่านชักมดลูก เปลือกทับทิม ต้นธูปดำ ขมิ้นอ้อย ดูแล้วเจ้าสมุนไพร 4 ชนิดนี้คงไม่สามารถทำให้เกิดสรรพคุณสะท้านโลกาแน่นอน แต่ที่แน่ๆ ราคามันสะท้านกระเป๋าแน่นอน ยังไงก็ขอเตือนมายังผู้อ่านทั้งหลาย อย่าหลงเชื่อนะครับ ร่างกายของเรา มีเราเป็นเจ้าของ อย่าให้วัตถุสะท้านโลกาที่ไม่มีการขึ้นทะเบียนใดๆ มาอวดอ้างสรรพคุณและฉวยเข้ามารุกล้ำอธิปไตยของเราเลยครับ เดี๋ยวจะบาดเจ็บทั้งกายและใจเปล่าๆ ส่วนผมขอไปนำสืบเพื่อดำเนินคดีให้สะท้านโลกาดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 สเตียรอยด์ในยาสมุนไพร “เยอะ”

  ในระหว่างปี 2548 – 2552 ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม ได้ตรวจวิเคราะห์ยาแผนโบราณ เพื่อเฝ้าระวังการปลอมปนสารสเตียรอยด์ พบว่ายาแผนโบราณจำนวน 626 ตัวอย่าง มีสเตียรอยด์ปลอมปนอยู่ถึง 136 ตัวอย่าง และเมื่อได้นำยาที่เหลือมากพอมาทดสอบหา “ปริมาณ” สารสเตียรอยด์ที่ปลอมปน ปรากฏว่าพบข้อมูลที่น่าตกใจ เพราะสารสเตียรอยด์ที่ปลอมปนอยู่นั้น มีปริมาณที่ค่อนข้างสูงมาก จนอาจเสี่ยงทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ และที่น่าทึ่งคือ บางชนิดแม้เป็นยี่ห้อเดียวกัน แต่กลับพบปริมาณสารสเตียรอยด์ปนอยู่ในปริมาณที่ไม่เท่ากันหรือพบการผสมสเตียรอยด์ต่างชนิดกัน  ดังข้อมูลในตัวอย่างต่อไปนี้   ยาผงสีน้ำตาลเหลือง ไม่ระบุชื่อ  จำนวน 3 ตัวอย่าง ตรวจพบว่ายานี้ปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะ มี Dexamethasone (สารสเตียรอยด์) ผสมอยู่ในปริมาณตั้งแต่ 1 เม็ดครึ่ง ถึง 5 เม็ด และบางตัวอย่างยังพบ สเตียรอยด์ผสมถึง 2 ชนิด  คือผสมทั้ง Dexamethasone และ Prednisolone  ดังนั้นหากคิดง่ายๆ ว่า รับประทานยานี้วันละ 1 ช้อนโต๊ะ หลังอาหาร 3 มื้อ เราจะมีโอกาสได้รับ Dexamethasone  ถึง 15 เม็ดต่อวัน   ยาผงสีน้ำตาล ฉลากระบุชื่อ “ยาสมุนไพรไทย” จำนวน 8 ตัวอย่าง ตรวจพบว่ายานี้ปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะ มี Dexamethasone  ผสมอยู่ในปริมาณตั้งแต่ ครึ่งเม็ด ถึง  3 เม็ด บางตัวอย่างยังพบว่ามี Prednisolone ผสมอยู่ด้วย โดยพบในปริมาณเทียบเท่ากับยาเม็ด  Prednisolone จำนวนครึ่งเม็ด  และบางตัวอย่างพบการผสมสเตียรอยด์ร่วมกันทั้ง  2 ชนิด   ยาเม็ดสีน้ำตาลแดง ฉลากระบุชื่อ “ยาสมุนไพรตามแนวทางโครงการพระราชดำริ” ซึ่งฉลากระบุ ให้รับประทาน 1 เม็ด หลังอาหาร ตรวจพบว่ายาชนิดนี้ 1 เม็ด มีปริมาณ Prednisolone ผสมอยู่ เทียบเท่ากับยาเม็ด Prednisolone 4 เม็ด   ดังนั้นหากเรารับประทานยานี้หลังอาหาร 3 มื้อ จะมีโอกาสได้รับ Prednisolone ถึง 12 เม็ดต่อวัน ยาจากสมุนไพร ฉลากระบุชื่อ “ยากษัยเส้นตราเทียนทองคู่” ระบุ รับประทานวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ ตรวจพบว่า ในยา 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณ Dexamethasone  ผสมอยู่ เทียบเท่ายาเม็ด จำนวนครึ่งเม็ด ถึง 1 เม็ด และหากรับประทานวันละ 3 ครั้งตามที่ระบุบนฉลาก  เราจะได้รับ Dexamethasone ถึง 6 เม็ดต่อวัน (ยา Dexamethasone ชนิดเม็ดเท่ากับ 0.5 mg , ยา Prednisoloneชนิดเม็ดเท่ากับ 5 mg) จากการสอบถามผู้บริโภค ส่วนใหญ่ผู้ที่บริโภคยาเหล่านี้ มักจะรับประทานยาดังกล่าวเป็นเวลานานกว่า 3 เดือน หมายความว่า ร่างกายจะได้รับสารสเตียรอยด์ติดต่อกันในปริมาณสูงจนอาจเป็นอันตรายได้  ขอแนะนำว่าหากเราเจอยาแผนโบราณ ที่ไม่มีทะเบียนยา ไม่มีรายละเอียดบนฉลาก หรือเป็นยาที่รับประทานแล้วอาการป่วยหายอย่างรวดเร็วจนผิดสังเกต ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจสอบโดยด่วน เพื่อป้องกันอันตรายนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 124 ไม่หายจริงตามมายิงทิ้งได้ทันที

  “ขอส่งยามาตรวจได้มั้ย ? ยาอะไรไม่รู้มีรถวิ่งมาขายให้ผู้ป่วย ตอนนี้ผู้ป่วยอาเจียนเป็นเลือด หูตาลายแล้ว”  ผมได้รับข้อมูลคร่าวๆ ทางโทรศัพท์ จากน้องเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัด หลังจากนั้นไม่กี่วันตัวอย่างยาดังกล่าวก็ถูกส่งมาถึงที่แผนกของผมทันที ยาขวดแรกชื่อ “สมุนไพรแท้อุดมเกียรติ จิรโรจนศักดิ์” แค่อ่านสรรพคุณก็น่าทึ่ง เพราะระบุสรรพคุณ บรรเทาได้เพียง 90% ไม่โกหก ปวดสันหลัง ยอก (ใช้ได้ตามแต่นึกได้) บำรุงหัวใจ ผื่น บวม ปวดกล้ามเนื้อ ปวดฟัน หูอื้อ แพ้สาร แผลสดเปื่อย ทาท้อง ผสมน้ำกิน ผสมน้ำขัดหน้า ไร้สารเคมี (ระวังของปลอม) อย่าทาใกล้ตา เข้าตาลืมตาในน้ำ ไม่ต้องพบแพทย์  ไม่มีสารเคมี ส่วนผสม ไพรม่วง 3% พิมเสนแท้ 2% ชะเอมเถา 5% ไม้สักทอง 5% ระบุผู้ปรุง ชื่อแพทย์แผนไทย.... บภ.บว. และสถานที่อยู่ใน ต.ท่าคอย เพชรบุรี  แต่ที่เด็ดสะระตี่คือข้อความ “หมอพิกิตติ์รับรองหาย 100% ไม่หายจริงตามมายิงทิ้งได้ทันที” ริดสีดวงทวาร+จมูก+ไซนัส แบบถอนรากถอนโคน ไม่งอกอีก 499 บ. ตจว.รับทาง ปณ.ใกล้บ้าน ขวดเดียวส่งถึงที่  รวมทั้งแสดงเลขที่ในเครื่องหมาย อย. สธ.06-1-43846-2-2550 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขรับรองวิเคราะห์ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย เลขทดสอบ 4050012009 ลง 12 ก.ย. 50 ใบอนุญาตที่ บ.ภ.เลขทะเบียนยาแผนโบราณที่ G.15314  ผมดูแล้วทึ่งในนวัตกรรมการแสดงฉลากสุดๆ เลยครับ เพราะแสดงเลขในเครื่องหมาย อย.ให้คล้ายเลขสารบบอาหาร(เลข 13 หลัก) ทั้งๆ ที่ตัวเองพยายามจะเป็นยารักษาโรค   ขวดต่อมาคือ สมุนไพรแพทย์ธนากร บ.ว.บ.ว. มีใบอนุญาตควบคุมการประกอบโรคศิลปะ บ.ภ.บ.ว.  ทะเบียนยาแผนโบราณ เลขที่ G.15314/41 บ.ภ. วิธีใช้ หยดใส่ตาข้างละ 1-2 หยด เว้น 5 วัน อย่าหยดทุกวัน ตาจะแดง ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่(ทานได้ ไร้สารเคมี) ใช้สำลีชุบ ระบุสรรพคุณ บรรเทาโรคตาต้อ ตาแดง อักเสบ ฝุ่นผงเข้าตา ส่วนประกอบ ใน 1 ขวด เถาตำลึง 20% ใบทองหลาง 20% หญ้างวงช้างทั้ง5 20% พิมเสนแท้ 10% น้ำฝนเดือน 5 30% และอื่นๆ 5% โดยวิธีพาสเจอร์ไรส์ทุกขั้นตอน ระบุผู้ผลิต แพทย์....... บ.ภ.บ.ว.และนักศึกษาแพทย์แผนไทย สถานที่อยู่ใน ต.ท่าคอย อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี 76130 (สถานที่เดียวกับชนิดแรก แต่ชื่อแพทย์คนละชื่อ) เรื่องนี้ผมได้แจ้งไปยัง จังหวัดเพชรบุรีและประชาสัมพันธ์ไปทั่วประเทศเพื่อดำเนินการตามกฎหมายแล้วครับ ยังไงถ้าใครเจอรถเร่วิ่งจำหน่ายยาเหล่านี้ ขอให้รีบแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้เลย เพราะผมกลัวว่าหากผู้ป่วยไม่หาย จะยิ่งพากันไปตามยิงผู้ผลิตทิ้งน่ะครับ สงสารจริงๆ ติดคุก ถูกปรับ ยังดีว่าถูกยิงนะครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 ก่อนรับยาต้องกล้าถาม

  ผู้ป่วยรายหนึ่งไม่สบาย มีอาการไข้ เจ็บคอ จึงไปซื้อยาจากร้านขายยาแห่งหนึ่ง หลังจากรับประทานแล้วปรากฏว่าไข้ยังรุมๆ อยู่ แต่ตามตัวกลับมีผื่นแดงขึ้นเล็กน้อย ด้วยเข้าใจว่ายาที่ได้รับมาไม่ถูกกับโรคจึงได้เปลี่ยนไปซื้อยาจากขายยาอีกร้านหนึ่ง ปรากฏว่าครั้งนี้นอกจากไข้ไม่ลดแล้ว อาการผื่นกลับลุกลามมากขึ้นไปอีก ผิวหนังลอกออกเป็นบริเวณมาก ญาติจึงนำส่งโรงพยาบาลโดยใช้ใบตองรองตามตัวเพื่อไม่ให้เนื้อติดเสื้อผ้า  เหตุการณ์จริงข้างต้นนี้ เป็นอาการแพ้ยาที่เกิดขึ้น ซึ่งอาการแพ้ยาซ้ำในครั้งที่สองจะยิ่งรุนแรงมากกว่าครั้งแรก ผู้ป่วยรายนี้จะไม่ได้รับอันตรายรุนแรงเลย ถ้าเขามีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอาการแพ้ยาและกลับไปถามชื่อยาที่ร้านขายยาร้านแรก เพราะเขาจะสามารถบอกให้ผู้ขายยาในร้านที่สองทราบได้ว่าตนแพ้ยาอะไร   ถึงเวลาหรือยังที่ “ก่อนรับยาต้องกล้าถาม”   จากการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังใช้ยาโดยไม่รู้จักชื่อจริงๆ ของยา (ที่เรียกว่า “ ชื่อสามัญของยา ”) แต่กลับไปรู้จักแต่ “ ชื่อการค้า ” (หรือชื่อยี่ห้อ) ที่บริษัทพยายามให้เราติดหูติดตา ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น ใช้ยาซ้ำๆ กันโดยไม่รู้ตัวจนอาจได้รับยาเกินขนาด หรือเกิดการแพ้ยาโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองแพ้ยาอะไร ก่อให้เกิดอันตรายจนอาจเสียชีวิตได้ ปัจจุบันธุรกิจยาเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูง ดังนั้นบริษัทยา จึงพยายามทำให้ประชาชนติดกับชื่อการค้าของยามากขึ้น โดยเฉพาะยาจากต่างประเทศ (หรือที่บางคนเรียกว่า “ยาฝรั่ง”) ทำให้เราหลงใช้ยาที่แพง ทั้งๆ ที่มียาตัวเดียวกันที่คุณภาพเท่ากัน แต่ราคาถูกกว่ามาก  ดังนั้นแทนที่ผู้บริโภคอย่างเราจะยอมให้ตัวเองเสี่ยงไปเรื่อยๆ ขอให้พวกเราตั้งสติให้ดี ด้วยคาถาป้องกันตัวคือ “ ก่อนรับยาต้องกล้าถาม ”  ถาม..ถาม..ถาม...ง่ายๆ 4 – 5 ข้อ ดังนี้  1. ชื่อสามัญของยานี้คืออะไร?2. ยานี้มีสรรพคุณอย่างไร?3. ยานี้ใช้อย่างไร?4. ยานี้ต้องระวังอย่างไร? (หมายถึงคำเตือน ข้อห้าม ข้อควรระวังต่างๆ)และที่สำคัญอย่าลืมถามข้อที่ 5  หากรับยาจากร้านขายยาแผนปัจจุบันให้ถาม ข้อที่ 5 ด้วยว่า “ เภสัชกรอยู่มั้ย? ” เพราะถือเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของเภสัชกรประจำร้านขายยาแผนปัจจุบัน ที่จะต้องอยู่ทำหน้าที่ของตนในการส่งมอบยาอย่างถูกต้องเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย  (กฎหมายกำหนดว่าร้านขายยาปัจจุบันทุกแห่ง ต้องมีเภสัชกรประจำตลอดเวลาที่เปิดจำหน่ายยา หากไม่พบ ขอให้แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสภาเภสัชกรรม)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 เจาะเวลาทะลุฟ้า..ดันเจอยาอนาคต

  กฎหมายยากำหนดให้ยาที่ผลิต ต้องแสดงวันผลิต วันหมดอายุ ให้ตรงตามความเป็นจริง ... แต่อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อดันมียาแห่งอนาคต เจาะเวลาทะลุฟ้าหล่นมายังโลกมนุษย์ได้ ประมาณเดือนสิงหาคม 2553 กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ให้ช่วยตรวจสอบยาน้ำสมุนไพรสามัญประจำบ้านแผนโบราณชนิดหนึ่ง ซึ่งกำลังแพร่ระบาดในพื้นที่ (สมมุติว่าชื่อยาต้นกำลังเสือโครกโครก ตรารูปหมอ......ก็ได้) เหตุที่ชาวบ้านเขาสงสัยก็เพราะเมื่อใครรับประทานเข้าไปแล้ว อาการปวดเมื่อยตามข้อ มันหายเป็นปลิดทิ้ง น้องต้นเภสัชกรหนุ่มรูปหล่อไฟแรง(เหมือนผมสมัย 20 ปีที่แล้ว..ฮา) จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์ เลยออกไปเก็บตัวอย่างและนำส่งไปตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์พิษณุโลก   ผลปรากฏว่าเจ้ายาเสือโครกโครก (นามสมมมุติ) ขวดนั้น มันไม่ใช่เสือนะซิ เพราะดันผ่าไปพบ เดกซาเมธาโซน ซึ่งเป็นสารสเตียรอยด์ ชนิดหนึ่ง (ขอย้ำอีกครั้งกันลืมว่า เจ้าสารสเตียรอยด์นั้นแม้จะเป็นสารที่ทำให้หายปวดข้อได้ชะงัด แต่มันก็มีผลทำลายภูมิต้านทาน หากรับประทานนานๆ ตัวจะบวม กระเพาะทะลุ กระดูกจะพรุน โอ๊ย..จาระไนไม่หมดครับ เพราะโทษมหันต์จริงๆ)  ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์ ก็เลยทำหนังสือแจ้งทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่เป็นสถานที่ผลิต รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และยังได้ทำหนังสือแจ้งให้ทางอำเภอต่างๆ ในจังหวัดอุตรดิตถ์เฝ้าระวังด้วย   แต่เหตุการณ์มันยังไม่จบนะครับ เพราะต่อมาอำเภอตรอนได้แจ้งว่ามีรถเร่ฉายหนังขายยา นำยาดังกล่าวมาขาย(การเร่ขายยาถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายยาครับ) เมื่อไปล่อซื้อยาน้ำแผนโบราณ เพื่อจะส่งตรวจสอบ ปรากฏว่า แม่เจ้า (โว๊ย) ฉลากมันพิสดารข้ามเวลา เพราะเหตุการณ์เกิดประมาณ “เดือนตุลาคม 2553” แต่ฉลากข้างขวดยา ดันระบุ วัน เดือน ปี ที่ผลิต “1 มกราคม 2554” และวันสิ้นอายุ 1 มกราคม 2556 โอโห้แฮะ ผู้ผลิตมันเจาะฟ้าข้ามเวลา มาผลิตยาล่วงหน้าให้โลกอนาคตได้ด้วยเรอะ อย่างนี้มันก็เข้าข่ายยาปลอมนะซิ (เพราะแสดงวัน ที่ ไม่ตรงความเป็นจริง)  นอกจากนี้ ผลการนำกำลังเข้าตรวจสอบ รถบรรทุก 6 ล้อ 2 คัน มียารวมๆ กันแล้วกว่า 150 โหล ซึ่งผู้ขายยืนยันว่าสั่งซื้อมาจากผู้ผลิต ตำรวจจึงลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน แต่ท่าทางผู้ขายจะไม่เดือดร้อนเลยแฮะ เพราะบอกว่าจะติดต่อหมอ.......มาเคลียให้ ...โอ้โห คาหนังคาเขาอย่างงี้จะมาเคลียร์อีกเรอะ  ขณะนี้กำลังรอผลวิเคราะห์จาก ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ฯ อยู่นะครับ หากยาที่ผลิตจากโลกอนาคต ดันเจอ สเตียรอยด์ อีกละก็ รับรองโดนดำเนินคดีหลายกระทง ชนิดที่ต้นกำลังเสือโครกโครกจะกลายเป็นแมวหงอยเลยนะซิ ยังไงก็ช่วยกันบอกเล่าต่อๆ กันเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 116 ยานาโน โถ..หลอกแม้กระทั่งคนยากจน

ยุคนี้อะไรๆ ที่ใหม่ๆ ก็มักจะอ้างคำว่า “นาโน” ไปทั่ว อาจเพราะมันทำให้เพิ่มความมหัศจรรย์ทันสมัยมากยิ่งขึ้นกระมัง แต่คนหลอกลวงมันก็อาจอาศัยช่องทางเหล่านี้ทำมาหากินก็ได้ ผมมีโอกาสไปประชุมร่วมกับน้องเภสัชกร จากโรงพยาบาลชุมชนเขตภาคอีสาน น้องติ๊ก เภสัชกรสาวสวยคนหนึ่ง(เธอย้ำว่าให้เขียนประโยคนี้ด้วย) จากเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เล่าให้ฟังว่า มีผู้ป่วย 2 ราย ที่อยู่ในพื้นที่ของเธอ ป่วยเป็นโรคมะเร็งตับและพาร์กินสัน ได้ฟังวิทยุที่ส่งคลื่นมาจากแถวๆ ยโสธร นักจัดรายการ ชื่อคุณน้อง(นามสมมุติ) ที่ตัวจริงอายุประมาณ 50 กว่าๆ แล้ว แนะนำผลิตภัณฑ์ ออกซิเจนนาโน บรรยายสรรพคุณว่า รักษาโรคได้สารพัด เช่น  มะเร็ง  เบาหวาน อัมพฤกษ์  ฯลฯ พร้อมทั้งให้เบอร์โทรศัพท์ไว้ หากใครสนใจให้ติดต่อกลับ ครั้นเมื่อผู้ป่วยติดต่อกลับไป คุณน้องก็แล่นมาหาถึงบ้าน ดุจดังนางฟ้าผู้อารี แต่นางฟ้าคนนี้ไม่ได้มาพร้อมพรวิเศษสำหรับคนยากไร้นะครับ แต่เธอดันมาพร้อม ผลิตภัณฑ์ออกซิเจนนาโน   ผลิตภัณฑ์ ออกซิเจนนาโนนี้มีลักษณะเป็นของเหลวคล้ายๆJelly บรรจุในขวดพลาสติกคล้ายยาหยอดตา ขายในราคา 2 ขวด 2,960 บาท มีเอกสารแนะนำที่โปรยหัวเรื่องอย่างโดนใจ “คนจนยิ้มได้ คนไข้หัวเราะร่า คนป่วยหาย คนขายได้บุญ” ( ราคาขนาดนี้นะได้บุญ?) ในเอกสารได้บรรยายวิธีกินแบบมหัศจรรย์อีก เพราะให้รับประทานวันละ 4 เวลา โดยหยดผลิตภัณฑ์นี้ตามจำนวนวัน เช่น วันที่ 1 ใช้ 1 หยดผสมน้ำ 1 แก้ว , วันที่ 2 ใช้ 2 หยดผสมน้ำหนึ่งแก้ว เพิ่มเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 8 เป็นต้นไปใช้ 8 หยดผสมน้ำ 1 แก้ว และสำหรับผู้ที่ป่วยหนัก เช่น มะเร็ง ให้ใช้ได้ถึง 15 หยด , นอกจากนี้ยังแนะนำให้ใช้ 3 หยดต่อน้ำ 1 ขวดพ่นทุกๆ 1 ชั่วโมง บริเวณที่เป็นแผลเรื้อรัง แผลเบาหวาน หรือใส่ตาที่พร่ามัว ตาต้อ (เอากะมันซิ) น้องติ๊กพยายามเพ่งที่ขวดว่ามันเป็นผลิตภัณฑ์อะไร แต่ก็มองแทบไม่เห็น แต่คลับคล้ายคลับคลาเหมือนเป็นเลขสารบบอาหาร 40 (ไม่ค่อยชัดเจน) เห็นน้องๆ เขาบอกว่า คนแถวนั้นถูกหลอกให้ใช้กันมา จนเรียกกันติดปากว่ายานาโน น้องๆ เล่าให้ฟังว่าตอนนี้ไอ้พวกผลิตภัณฑ์หลอกลวงเหล่านี้มันบุกมาถึงหมู่บ้านแล้ว บางคนหลงเชื่อถึงขนาดขายวัว ขายควาย ซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาใช้กันเลย แต่ก็ยังโชคดีที่มีน้องๆ เภสัชกรเหล่านี้ที่ช่วยลงไปดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภคในหน่วยบริการปฐมภูมิในชุมชน ช่วยสอดส่องดูแลให้ น้องๆ เลยพยายามช่วยกันเตือนผู้ป่วยมิให้ถูกหลอก ยังไงก็ขอแรงผู้อ่านช่วยกันเตือนๆ อย่าให้คนใกล้ตัวถูกหลอกนะครับและถ้าพบเห็นอะไรแปลกก็แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาดำเนินการเลยนะครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 ปวดร้าวเพียงใด

ฉบับที่แล้วผมให้ข้อมูลไปว่า ยาสมุนไพรหากจะผลิต แปรรูปเป็นยาแผนโบราณ ก็ต้องนำมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อที่ทางกระทรวงสาธารณสุขจะได้ช่วยตรวจสอบว่ามันเป็นยาที่มีความเป็นไปได้ในแง่ผลการรักษาเพียงใด โดยจะเปรียบเทียบอ้างอิงกับตำรับยาแผนโบราณเพื่อจะพิสูจน์ว่ามันไม่มีอันตรายต่อผู้ป่วย แต่ในท้องตลาดยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ จำหน่ายในทำนองนี้ด้วย เช่น เครื่องดื่มสมุนไพร หากเราสังเกตชื่อที่ระบุประเภทว่า “เครื่องดื่ม” เราจะทราบว่ามันคือเครื่องดื่ม ไม่ใช่ยา ดังนั้นมันจึงไม่สามารถ บำบัด บรรเทา รักษาโรคได้ ล่าสุดเภสัชกรสาวสวยคนเดิมจากโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ได้ส่งข้อมูลมาอีกแล้ว เธอเล่าว่าผู้ป่วยชาย อายุ 60 ปี ได้ซื้อเครื่องดื่มสมุนไพรจีน มิทเชลล์ฉาง มารับประทาน โดยดื่มวันละ 2 อึก แก้พังผืด ข้อตึง (สรุปง่ายๆ คือซื้อมากินเพื่อรักษาโรคนั่นแหละ) หลังจากรับประทานมาประมาณ 1 เดือน ก็มีอาหารผิดปกติเกิดขึ้นจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เภสัชกรสาวสวยขี้สงสัยคนนี้ จึงได้ส่งเครื่องดื่มชนิดนี้ไปตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม ผลปรากฏว่าคราวนี้เธอร้องกรี๊ดดดดด ดังกว่าเดิม (ไม่รู้ตกใจหรือโกรธ) เพราะผลการตรวจปรากฏว่าพบยาแก้ปวด ลดไข้ พาราเซตามอล ผสมอยู่ด้วย เธอจึงรีบแจ้งมายังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงครามให้ติดตามตรวจสอบต่อไป ในเบื้องต้นพบว่า เครื่องดื่มสมุนไพรชนิดนี้มีวางขายแพร่หลายตามท้องตลาด ในราคา ขวดละพันกว่าบาท โดยโฆษณาว่าเป็นเครื่องดื่ม สูตรสมุนไพรแบบองค์รวม ปรุงขึ้นตามตำรับจีนโบราณ โดยเน้นความสมดุลของระบบหยิน-หยาง และธาตุทั้ง 5 (ดิน น้ำ ทอง ไม้ ไฟ) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดูแลสุขภาพ สามารถขจัดอนุมูลอิสระ(Antioxidant) อันเป็นเหตุของความชราภาพและโรคภัยต่างๆ มากมาย(ในโฆษณาไม่มีส่วนผสมของยาแผนปัจจุบันนะครับ) ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการติดตามตรวจสอบเชิงลึกอยู่นะครับว่า ยาแก้ปวดลดไข้ พาราเซตามอล มันเข้ามาอยู่ในขวดได้อย่างไร แต่เผอิญเมื่อวานได้มีโอกาสนั่งประชุมกับน้องๆ เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม น้องเล่าว่าผลการตรวจยาสมุนไพรมันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมๆ ที่พบแค่สารสเตียรอยด์โดยพบว่าเริ่มมีการผสมยาแผนปัจจุบันบางชนิดแล้ว และยังพบในผลิตภัณฑ์รูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่ยาลูกกลอนด้วย เช่น พบในยาผงสมุนไพร หรือยาน้ำหรือเครื่องดื่มอีกด้วย {xtypo_info}เรื่อง ที่เล่ามานี้คงเป็นข้อมูลเตือนภัยอีกทางหนึ่งว่า แม้การดูแลสุขภาพจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่การเลือกผลิตภัณฑ์มาใช้อย่างรอบคอบระมัดระวัง ย่อมเป็นสิ่งที่ต้องกระทำอย่างยิ่ง และถ้าเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ไม่ใช่ยา (เช่น เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ฯลฯ) ยิ่งต้องระวัง ไม่ใช้อย่างสับสน ต้องท่องให้ขึ้นใจว่า “มันคืออาหาร ไม่ใช่ยา มันจึงรักษาโรคไม่ได้” เราจะได้ปลอดภัยทั้งตัวและปลอดภัยทั้งตังค์นะครับ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 โอม… เพี้ยง! ไขมันจงลด

เรื่องเล่าเฝ้าระวังภก.ภาณุโชติ ทองยัง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม “อัลดุลลา....มาแหล่ว....หายมั๊ย...หาย...ลดมั๊ย...ลด” ยาสมุนไพร เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรค โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุนิยมใช้กันมาก ยาสมุนไพรหากจะผลิต แปรรูปเป็นยาแผนโบราณ ก็ต้องนำมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อที่ทางกระทรวงสาธารณสุขจะได้ช่วยตรวจสอบว่ามันเป็นยาที่ทีความเป็นไปได้ในแง่ผลการรักษา โดยจะเปรียบเทียบอ้างอิงกับตำรับยาแผนโบราณเพื่อจะพิสูจน์ว่ามันไม่มีอันตรายต่อผู้ป่วย แต่ส่วนใหญ่แล้ว ผลการรักษาของยาแผนโบราณมันจะค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้ผลปรู๊ดปร๊าดรวดเร็วแบบยาแผนปัจจุบันนะครับ วันหนึ่งมีผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 40 ปี มาที่โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ด้วยอาการที่ผิดปกติที่คาดว่าน่าจะเกิดจากการใช้ยา เภสัชกรสาวสวยผู้รับเรื่อง จึงได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจึงทราบว่า ผู้ป่วยรายนี้ได้รับประทานยา “สมุนไพรอโรคยาศาลาอิสระธรรม” ตามสรรพคุณที่ว่า “ขยายหลอดเลือด ลดไขมันในเลือด” พร้อมทั้งเล่าว่าได้ยานี้มาจาก อโรคยาศาลาอิสระธรรม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดยจะรับประทานครั้งละ 3 เม็ด วันละ 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น หลังจากการกินมาประมาณ 2 เดือนก็พบอาการผิดปกติเภสัชกรสาวสวย (เธอฝากมาย้ำว่าให้ระบุด้วย) จึงได้ส่งยาไปตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม ผลการตรวจปรากฏว่า พบ “ยาลดไขมัน Simvastatin” ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบัน ผสมอยู่ในยาชนิดนี้ ไม่รู้ว่าตอนนั้นเธอจะร้อง กรี๊ดดดดดด หรือไม่ รู้แต่ว่าเธอแจ้นมาแจ้งเรื่องยัง เภสัชกร ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงครามทันที เจ้ายาลดไขมัน Simvastatin นี้ บางครั้งอาจจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆ เช่น อาการปวดเกร็งท้อง ท้องเสียหรือท้องผูก คลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย ปวดแสบกระเพาะ ปวดศีรษะ มองภาพไม่ชัด เวียนศีรษะ ผื่น คัน นอกจากนี้ยังมีคำเตือนสำหรับผู้ใช้อีก คือ “ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์หรือสงสัยว่าอาจจะมีการตั้งครรภ์ รวมทั้งในระยะให้นมบุตรด้วย และควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากเป็นโรคตับ โรคไต ติดเชื้ออย่างรุนแรง ความดันโลหิตต่ำ ควรบอกแพทย์หรือเภสัชกรว่าขณะนี้ได้รับยาอะไรอยู่บ้าง โดยเฉพาะยา ซัยโคลสปอริน อิริโธรมัยซิน เจ็มไฟโปรซิล ไนอะซิน และยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วอร์ฟาริน ฯลฯ (เพราะมันส่งผลต่อกัน) และถ้าหากต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือทำฟันให้บอกแพทย์หรือทันตแพทย์ด้วยว่าขณะนี้ได้รับยา Simvastatin นี้อยู่ เนื่องจากยานี้จะไปส่งผลต่อยาอื่นและมีผลต่อร่างกาย และถ้ามีอาการปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อแข็งกดเจ็บ ตะคริวหรืออ่อนเพลีย โดยมีไข้หรือไม่มีไข้ให้รีบพบแพทย์ทันที” แค่เห็นคำเตือนต่างๆ ก็ย่อมจะทราบได้ว่าเจ้ายาลดไขมันที่มันไปปรากฏแบบไม่ได้รับเชิญในยาสมุนไพรนั้น มันมีอันตรายอย่างไร ขณะนี้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม ได้แจ้งเรื่องไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม ให้ไปตรวจสอบอย่างเร่งด่วน ที่เล่านี้ก็อยากให้เป็นอุทธาหรณ์ว่า สมัยนี้หากจะเลือกยาสมุนไพรหรือยาแผนโบราณมารับประทาน อย่าไว้ใจง่ายๆ ต้องท่องให้ขึ้นใจว่า “ต้องมีทะเบียนยา” เสมอ และหากเจอผลการรักษาที่รวดเร็วปรู๊ดปร๊าด ให้พึงสังหรณ์ใจไว้ก่อนว่าอาจจะมีแขกที่กฎหมายไม่ได้เชิญมาปนอยู่ด้วยก็ได้ ให้รีบแจ้งกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค อย.หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อติดตามตรวจสอบโดยด่วน โอม เพี้ยง!

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 จะผอมสวย ก็ต้องพร้อมเสี่ยงกันเลยหรือ

เรื่องเล่าเฝ้าระวังภก.ภาณุโชติ ทองยัง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม ความสวยความงามเป็นสุดยอดปรารถนาของผู้หญิงส่วนใหญ่ และก็ไม่รู้ใครไปดลใจ เป่าหูคุณผู้หญิงมาตลอดว่า ถ้าจะสวยแล้ว ผู้หญิงจะต้องผอม ทำให้กระแสสวยต้องผอมจึงอยู่ยั้งยืนยาวมาตลอด แต่ใดๆ ล้วนอนิจจัง เพราะขณะที่ “ใจอยากผอมแต่ปากอยากผาย” หันไปทางไหนก็ล้วนมีสิ่งล่อตาล่อใจให้อ้าปากเขมือบอยู่เรื่อยๆ จนแล้วจนรอดมันก็เลยไม่ผอมสักที ด้วยเหตุนี้ ผลิตภัณฑ์ประเภท “สนองปากอย่าง ใจอย่าง” จึงบังเกิดขึ้นและขายได้ดีมาโดยตลอด ล่าสุดนี้มีผลิตภัณฑ์ที่กำลังเป็นที่นิยมของชาวบ้าน มีวางขายตามที่ต่างๆ ผมได้ตัวอย่างมาจากน้องคนหนึ่ง เล่าให้ฟังว่าได้ผลิตภัณฑ์นี้จากร้านที่ขายยาประเภทขายส่ง แถวๆ บางประกอก ราคากระปุกละ 180 บาทมี60 เม็ด (ตกเม็ดละ 3 บาท) ตอนซื้อมา เธอเห็นฉลากมันโชว์รูปเอวคอดกิ่ว เย้ายวนว่าน่าจะผอม เธอเพ่งดูส่วนประกอบที่แม้ไม่รู้ว่ามันคืออะไร (เช่น L-Carnitine , โครเมียม, ถั่วขาว , แคปซิคั่ม ,สัมแขก , CLA , มะข้ามป้อม , ตะบองเพชร) เธอก็คิด (เอาเองว่า) ไม่น่าจะเป็นอันตราย ฉลากเขาบอกว่าให้รับประทาน ครั้งละ 1-2 เม็ด ก่อนอาหารมื้อหนักประมาณ 10-20 นาที แถมมีคำเตือนด้วยว่า เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน ควรเก็บในที่ร่ม และให้พ้นแสงแดด แต่สังเกตดูแล้วฉลากไม่มีชื่อที่อยู่ผู้ผลิต ไม่มีเลข อย.   สรุปว่าเธอก็ไม่รู้ว่ามันคือผลิตภัณฑ์ที่ผ่านอย.หรือไม่ ผลิตที่ไหนก็ไม่รู้ รู้ว่าแต่เป็นแคปซูลและกินไปแล้วเธอน่าจะผอมสวย เธอจึงตัดสินใจพร้อมเสี่ยง หวังว่าในไม่ช้าความผอมจะมาเยือน แต่....ชีวิตหาได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแต่อย่างใดไม่ พอเธอกินเข้าไปสักระยะหนึ่ง แม้น้ำหนักเธอจะลดลงบ้าง แต่เธอกลับมีอาการใจสั่นหวิว คอแห้ง ปากแห้ง(แม้ไม่อดอยาก) ท้องผูก ในที่สุดเธอกลัวว่างานนี้หากขืนดันทุรังพร้อมเสี่ยงกินต่อไปนอกจากน้ำหนักจะลดแล้ว บางที “อายุเธออาจจะลดสั้นลงไปด้วย” เธอจึงหยุดกินผลิตภัณฑ์ชนิดนี้แล้วนำมามอบให้ผมดู ผมดูลองเข้าไปค้นหาข้อมูลในเน็ต พบว่ามีประเด็นอีกว่า มีการปลอมผลิตภัณฑ์นี้ระบาดกันอีก (แสดงว่ามันฮิตจริงๆ) ในเว็ปที่เจอ เขาบอกว่า แอลคาร์นิทีน(L-Carnitine) เป็นชื่อกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่ผลิตได้ที่ตับ ทำหน้าที่ช่วยทำให้เกิดการนำไขมันไปเปลี่ยนเป็นพลังงาน แถมยังโฆษณาประโยชน์ที่ได้รับจากสาร L-carnitine มากมาย เช่น เร่งการเผาผลาญไขมัน ลดความอ้วน ลดไขมันส่วนเกิน ดักจับไขมันสัตว์ คาร์โบไฮเดรต และแป้ง ฯลฯ สรุปง่ายๆ ว่ามีประโยชน์มากมาย แต่ไหงประโยชน์ที่ผู้ผลิตกลับไม่ยอมทำให้ถูกต้องตามกฎหมายคือ มายื่นขออนุญาตให้ถูกต้องล่ะครับ หรือมายื่นแล้วเขาไม่อนุญาตก็ไม่รู้ ยังไงใครเจอวางขายที่ไหน แจ้ง อย. หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ให้ไปตรวจเช็ค จัดระเบียบให้ถูกต้องตามกฎหมายเลยนะครับ สาวๆ ที่น่าทะนุถนอมจะได้ไม่ต้อง “ผอมสวยแบบพร้อมเสี่ยง” กันอีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 ยาฝืนสังขาร

เรื่องเล่าเฝ้าระวังภก.ภาณุโชติ ทองยัง : สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงครามnuchote@hotmail.com คนเราเมื่ออายุมันมากขึ้น สังขารมันย่อมเสื่อมโทรมไปตามวัย แต่ไม่ว่าเวลาจะผ่านยาวนานไปแค่ไหน ยากลุ่มหนึ่งมักถูกนำมาโฆษณาเพื่อเชิญชวนให้เราได้พยายามตะกายฝืนสังขารอยู่เสมอๆ   วันหนึ่งมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาที่แผนกของผม พร้อมใบปลิวโฆษณาส่งเสริมการขายยาสมุนไพรหลายยี่ห้อ มีหลากหลายรูปแบบ ในแผ่นแรกๆ ของการโฆษณาดูผ่านๆ ก็เหมือนไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะระบุสรรพคุณทั่วๆ ไป เช่น บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ขับปัสสาวะ แต่เมื่อดูแบบละเอียดก็พบว่ายาบางตัว(เช่น ยาปู่เซิน) จะบอกวิธีการใช้แปลกๆ เช่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานก่อนประกอบกิจกรรม รับประทานเพิ่มอีก 1 เม็ด (ตกลงมันจะทำงานอะไร หรือจะประกอบกิจกรรมอะไรกันแน่?) พอพลิกมาแผ่นโฆษณาที่สอง มีการพูดถึงยาสมุนไพรหลายตัว แต่คราวนี้เอาละหวา แม้จะทุกตัวจะมีเลขทะเบียนตำรับยาชัดเจน แต่ก็เริ่มมีการโฆษณาแบบไม่เกรงอาญาฟ้าดินเลย มีการพูดถึงการรักษาโรคต่างๆ เช่น รักษาโรคเก๊าท์ โรคกระดูกงอกตามอวัยวะทุกส่วน โรครูมาทิสซัม ฯลฯ แต่พอมาแผ่นที่สามและแผ่นที่สี่ซิ เด็ดสะระตี่ไปเลยครับ มีการพูดถึงเรื่องน้องชายกันโจ่งครึ่มไปเลย “เสริมกำลังให้ น้องชาย สู้ตาย...ทุกสนามรัก ด้วย จิ่วเจิ้งปู่เซินเจียวหนัง” หลังจากนั้นก็ร่ายยาวกระเส่าอารมณ์กันไปอีกว่า ปัญหาเรื่องสมรรถภาพทางเพศ เป็นปัญหาส่วนใหญ่ของเพศชาย อ้างว่ามีปริมาณถึงค่อนโลก (ดูถูกเพศชายมากจริงๆ...ฮา) ตามมาด้วยการอ้างว่าเภสัชกรรมจีนสมัยใหม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างครบวงจร แต่ที่เด็ดไปกว่านั้นคือ มีการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ ปู่เซิน กับ ไวอะกร้า ซะด้วย และแน่นอนครับในตารางข้อมูลของปู่เซินเหนือกว่าทุกข้อ นอกจากนี้ยังมีสำเนาใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนโบราณ และผลการตรวจวิเคราะห์ แสดงผลการตรวจว่าไม่พบสารสเตียรอยด์ด้วย เป็นไงครับ เห็นมั้ยครับว่ากลยุทธ์การส่งเสริมการขายมันยอดเยี่ยมกระเทียมดองอย่างไร เริ่มตั้งแต่แสดงหลักฐานว่ายาได้ขึ้นทะเบียนแล้ว มีเลขทะเบียนตำรับแล้วด้วย แต่ที่ชวนมีพิรุธคือ การโฆษณาขายยานั้น เขาไม่อนุญาตให้โฆษณาว่าเป็นบำรุงกามหรือสมรรถภาพทางเพศน่ะซิ ตลอดจนสรรพคุณยาสมุนไพรต่างๆ ดังกล่าว ก็กระเดียดไปทางยาแผนปัจจุบันประเภทยาอันตรายที่เขาไม่อนุญาตให้โฆษณาอยู่แล้ว นี่ยังไม่รวมถึงการเอามาเปรียบเทียบกับไวอะกร้าซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันอีกต่างหาก ผมเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ฝืนสังขารแบบนี้คงมีออกมาเรื่อยๆ ตามตรวจจับกันแทบไม่หมด แต่ถ้าผู้บริโภครู้ทัน หัดสังเกตพิรุธต่างๆ ก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่ามันโอ้อวดเกินจริงหรือไม่ ถูกหรือผิดกฎหมาย แต่ถ้าไม่แน่ใจ ขอแนะนำอย่างเคยครับ เก็บรวบรวมข้อมูลให้มาก ทั้งผู้ขาย แหล่งที่ขาย ตลอดจนเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขายและผลิตภัณฑ์ แล้วส่งไปให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารยา หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดตรวจสอบได้เลยครับ ดูสิว่าจะฝืนสังขารไปได้กี่น้ำ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 เก่ายังไม่ทันไป....ใหม่ดันจะมาอีก

เรื่องเล่าเฝ้าระวังภก.ภาณุโชติ ทองยัง : สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงครามnuchote@hotmail.com จำได้ว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเคยออกข่าวประชาสัมพันธ์ “อย.เผยพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลักลอบใส่ยาลดความอ้วน ไซบูทรามีน...อันตราย!” ตามข่าวระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่ารับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทเวนตี้ โฟร์ อินซ์ (ผลิตโดยบริษัท หจก. เนเจอร์ส เบสท์ เฮลท์ โปรดักส์ จัดจำหน่ายโดย บริษัท ท็อป ออฟ มายด์ จำกัด) ภายหลังรับประทานแล้วมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว แต่เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง เจ้าหน้าที่จึงไปเก็บตัวอย่าง ทเวนตี้ โฟร์ อินซ์ ส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลการตรวจปรากฏว่า พบยาลดความอ้วนไซบูทรามีน (Sibutramine) ซึ่งเป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องจ่ายโดยแพทย์ ในสถานพยาบาลเท่านั้นและยังเป็นยาที่อยู่ภายใต้การติดตามความปลอดภัยอีกด้วย นอกจากนี้การใช้ยานี้ยังต้องระวังในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยที่ควบคุมความดันโลหิตไม่ดี ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่มีโรคต้อหิน รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ซึ่งขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำลังอยู่ในระหว่างดำเนินคดีกับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายดังกล่าว ล่าสุด มีผู้ป่วยหญิงสูงอายุ ในจังหวัดสมุทรสงคราม อายุประมาณ 61 ปี ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลในจังหวัด ด้วยอาการใจสั่น หงุดหงิด มึนงง กินอาหารไม่ได้ นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ จากการซักประวัติ จึงทราบว่าผู้ป่วยได้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก ฉลากระบุ ยี่ห้อ 3S Topofmind บรรจุอยู่ในซองฟอยด์ ซึ่งจากการวินิจฉัยเบื้องต้นของแพทย์คาดว่าน่าจะเกิดจากยาที่อาจจะผสมในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และที่น่าสังเกตคือ เป็นผลิตภัณฑ์ของผู้จัดจำหน่ายเจ้าเดิมที่มีคดีความกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อยู่ จากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากเอกสารโฆษณา ได้ข้อมูลจากการโฆษณาดังนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 3S (สกัดจากสาหร่ายทะเลน้ำลึก) ชนิดนี้มีส่วนประกอบที่สำคัญของ คือ สารสกัดจากสาหร่ายสีน้ำตาล และสาหร่ายสีแดง วิธีรับประทาน วันละ 1-2 แคปซูล ก่อนอาหารเที่ยง จัดจำหน่ายโดย บริษัท ท๊อป ออฟ มายด์ จำกัด ขนาด 1 กล่อง ( 40 แคปซูล) ราคาขาย 1,200.00 บาท (ตกเม็ดละ 30 บาท) ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว แม้ผลจะยังไม่ออก แต่ดูจากข้อมูลทั้งอดีตและปัจจุบัน เชื่อว่าผู้อ่านน่าจะเดาเอาเองได้ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวปลอดภัย หรือถูกต้องตามกฏหมายอย่างไรนะครับ ดังนั้นขอให้ท่านผู้อ่านระมัดระวังการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ และหากพบผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายต้องสงสัย อย่าลืมร้องเรียนกับ อย.หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 ฉลาดขี่ (จักรยาน)

สมัยนี้จะมองไปทางซ้ายหรือขวา ก็เห็นผู้คนหันมาใช้ “จักรยาน” ตามท้องถนนกันมากขึ้น มีทั้งที่ปั่นกินลมชมวิว และฮิตที่สุดก็คงจะเป็นเทรนด์ออกกำลังกาย อย่างไรก็ตามสำหรับมือใหม่ที่กำลังสนใจจะปั่นจักรยานก็คงต้องศึกษาวิธีการเลือกซื้อ - เลือกใช้จักรยาน ให้เหมาะสมกับกิจกรรม เพราะเท่าที่รู้มา กระทรวงสาธารณสุข ได้แบ่งประเภทและลักษณะการใช้งานจักรยานมาเป็น 5 ประเภท แบบแรกจักรยานทั่วไปหรือจักรยานแม่บ้าน จักรยานประเภทนี้ส่วนมากไม่มีเกียร์ มีตะแกรงหน้าไว้สำหรับใส่ของ และมีน้ำหนักต่อคันค่อนข้างมาก ต้องใช้แรงถีบมากหน่อย แต่ข้อดีคือ มีราคาถูก ควักกระเป๋าซื้อหาได้สบายตามร้านขายจักรยานทั่วไป และเมื่อชำรุดก็มีร้านรับซ่อมหาง่ายอีกด้วย แบบที่สองจักรยานพับได้ เดี๋ยวนี้มีผลิตในประเทศไทยแล้วแต่ที่นักปั่นนิยมใช้มักสั่งมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ จักรยานมือสองของญี่ปุ่น ลักษณะพับได้ กะทัดรัด ซึ่งหากจะใช้มือหนึ่งคงต้องยอมจ่ายแพงหน่อย แบบที่สามจักรยานออกกำลังกายและท่องเที่ยว จักรยานประเภทนี้เมื่อปั่นแล้วจะรู้สึกเบาแรง เพราะติดระบบเกียร์ที่ช่วยเบาแรงนักปั่น โดยแบ่งตามลักษณะเฉพาะ คือ (1) จักรยานเสือหมอบ คล้ายจักรยานแข่งแต่คุณภาพอุปกรณ์จะด้อยกว่า จึงเหมาะสำหรับปั่นบนทางเรียบเท่านั้น (2) จักรยานท่องเที่ยว นอกจากปั่นไปเที่ยวบนทางราบหรือทางขรุขระเล็กน้อยแล้วยังใช้ปั่นออกกำลังหรือปั่นไปทำงานได้ด้วย ลักษณะมีตะแกรงด้านท้ายไว้สำหรับวางสัมภาระ ซึ่งมีระบบเกียร์ให้เลือกตั้งแต่ 10 - 27 สปีด (3) จักรยานเสือภูเขา เป็นจักรยานที่ออกแบบไว้ปั่นขึ้นลงเขา สามารถใช้งานสมบุกสมบัน  มีโครงสร้างที่แข็งแรง ล้อยางใหญ่หรืออ้วน ดอกยางใหญ่และหนา ทำให้เกาะพื้นถนนได้ดีโดยเฉพาะเวลาปั่นขึ้นเนินชัน ๆ ทั้งยังสามารถใช้งานได้ในทุกพื้นผิวถนน แถมมีระบบเกียร์ให้เลือกตั้งแต่ 10 - 27 สปีด และมีแบบลูกผสมหรือจักรยานเมือง (ซิตี้ไบค์) สามารถปั่นบนถนนธรรมดาได้เร็ว มีลักษณะเหมือนเสือภูเขา แต่ยางล้อเล็กกว่า ดอกยางไม่ลึกเมื่อเทียบกับเสือภูเขา เวลาปั่นในเมืองจะเปลืองแรงน้อยกว่า แบบที่สี่จักรยานแข่ง หรือจักรยานแบบเสือหมอบ ส่วนใหญ่นักกีฬาใช้แข่งขัน มีน้ำหนักเบามาก มีเกียร์ตั้งแต่ 1 - 27 สปีด ตัวถังเล็ก เพรียวลม ยางรถจะผอมและทนแรงดันได้สูง มีการตัดอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็น เช่น ขาตั้ง บังโคลน ออกเพื่อให้เบาแรงได้ดี จักรยานชนิดนี้มีราคาแพงมาก มีตั้งแต่ราคาหลักหมื่น จนถึงหลายแสนบาท แบบที่ห้าจักรยานฟิกซ์เกียร์ จักรยานประเภทนี้มีสปีดเดียว เฟืองหลังเป็นแบบตายหรือฟิกซ์ คือปล่อยฟรี หรือปั่นขาทวนกลับไม่ได้ การขี่จึงต้องหมุนขาไปข้างหน้าตลอดเวลา เพราะหากไม่หมุนขาเฟืองก็จะไม่หมุน ซึ่งก็คือการเบรกนั่นเอง และถ้าต้องเบรกเร็ว ๆ แรง ๆ ก็ให้กระทืบขาย้อนกลับหลัง จักรยานจะหยุดทันที แบบนี้น่าจะเหมาะกับคนที่ขี่เก่งแล้ว   อุปกรณ์ความปลอดภัยที่สำคัญ เมื่อเลือกซื้อให้เหมาะกับวัตถุประสงค์แล้ว ก็ไม่ควรละเลยเรื่องอุปกรณ์ความปลอดภัย ซึ่งอุปกรณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้ ก่อนก้าวเท้าปั่นจักรยานออกจากบ้าน ที่พอจะสรุปข้อมูลได้จากชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย มีดังนี้ 1.หมวกกันน็อค ทุกครั้งควรใส่เพราะหากเกิดอุบัติเหตุและสมองได้รับการกระทบกระเทือน ก็ไม่รู้ว่ามากน้อยแค่ไหน เลวร้ายอาจพิการถึงขั้นเสียชีวิตไปเลยก็เป็นได้ 2.ไฟหน้าและไฟท้าย ถือเป็นสิ่งสำคัญพอ ๆ กับหมวกกันน็อค เพราะจะทำให้รถคันใหญ่หรือรถคันเล็กที่วิ่งบนถนนเดียวกัน สามารถเห็นเราได้ถนัด โดยเฉพาะยิ่งเวลากลางค่ำ กลางคืน ฝนตก หรือแม้แต่หมอกหนาจัด ก็จะเพิ่มความปลอดภัยได้เช่นกัน 3.กระจกส่องหลัง อุปกรณ์ที่เป็นตาหลังให้นักปั่นขณะที่จะต้องเลี้ยวก็ไม่ต้องหันไปมองรถคันหลังหรือรถที่กำลังแซง เพราะถ้าหันไปมองแล้วอาจเสียหลักและเกิดอุบัติเหตุนี่จึงเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มสมาธิให้นักปั่น เวลาจะเปลี่ยนเลนหรือแซงคันข้างหน้า 4.กระดิ่ง , แตรไฟฟ้า ในกรณีนี้จะช่วยส่งสัญญาณเตือนให้รถที่สัญจรได้เห็นจักรยานที่ปั่นอยู่ ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ยิ่งมีสัญญาณดังเท่าไรยิ่งดี 5. เสื้อ,กางเกง ,ปลอกแขนและผ้าปิดจมูก สำหรับนักปั่นสายกีฬา คงต้องมีไว้ติดกายใส่ก่อนปั่นทุกครั้ง อาทิ เสื้อนักปั่น ต้องเหมาะสมช่วยระบายเหงื่อได้เร็ว ไม่อึดอัด ยางยืดที่ชายเสื้อ จะช่วยให้ลมเข้าสู่ร่างกาย เหงื่อไม่หมักหมม จนรำคาญขัดจังหวะการปั่นจักรยาน กางเกงต้องมีฟองน้ำ , เจล กระชับแนบเนื้อเพื่อบรรเทาอาการปวดน่องหลังจากปั่นเป็นเวาลานาน ๆ สำหรับปลอกแขน มีไว้กันแดด ควรเลือกที่ระบายเหงื่อได้ดี และผ้าปิดจมูกนอกจากกันแดดแล้ว ยังจำเป็นในการปั่น ณ บริเวณเมืองใหญ่ ๆ เพราะจะช่วยป้องกันฝุ่นและควันได้ดี แต่กรณีปั่นเที่ยวหรือจ่ายตลาดทั่วไปก็ไม่จำเป็นต้องจัดเต็มทั้งชุดที่กล่าวมาก็ได้ เพราะจะทำให้สิ้นเปลืองเงินเปล่า ๆ ดังนั้นปั่นใกล้ ๆ เลือกสวมใส่เสื้อที่เหมาะสม ถนัด ชุดทะมัดทะแมงคล่องตัว 6. ถุงมือ จำเป็นยิ่งสำหรับมือใหม่หัดปั่น ในสายกีฬาอย่าคิดว่าถุงมือไม่สำคัญ เพราะเมื่อปั่นไปเรื่อย ๆ มือจะมีเหงื่อเหนียวและลื่น ทำให้ปั่นไม่ถนัดจะพลาดเกิดอุบัติเหตุ 7. แว่นตา เป็นอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่สามารถป้องกันฝุ่นควัน แมลง แถมยังถนอมสายตาอีกด้วย 8.กระเป๋า อุปกรณ์สุดท้ายที่ขาดไม่ได้ เพราะนอกจากใส่สิ่งของจำเป็น เช่น โทรศัพท์มือถือ กระเป๋าตังค์ แล้วในนั้นควรจะมียาสามัญไว้ปฐมพยายบาลเบื้องต้น ป้องกันไว้กรณีมีอุบัติเหตุจะได้รักษาได้ทันท่วงที และที่สำคัญอย่าลืมบันทึกเบอร์สำคัญ ๆ เช่นโรงพยาบาล สถานีตำรวจ และเก็บเบอร์โทรญาติคนสนิทไว้ด้วย เผื่อเกิดอุบัติเหตุผู้ที่มาพบเห็นจะได้โทรแจ้งและช่วยเหลือได้ ด้วยเหตุที่บนท้องถนนมีรถสัญจรไปมาเป็นจำนวนมาก เรา ๆ ท่านๆ คงไม่อยากให้อุบัติเหตุเกิดขึ้น โดยเฉพาะยิ่งรถจักรยาน พาหนะคันเล็ก ๆ ที่โบราณเรียกเนื้อหุ้มเหล็ก ดี ๆ นั่นเอง จึงยิ่งต้องเพิ่มความปลอดภัยและเคารพกติกามารยาทบนท้องถนน และเมื่อไรหนอประเทศไทยบ้านเราจะมีเลนบนถนน เว้นพื้นที่ไว้ให้ “นักปั่น” เหมือนกับประเทศศิวิไลซ์ทั้งหลายบ้างนะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 155 กรุณางดการใช้เสียงขณะอ่าน

ฉลาดซื้อฉบับต้นปีนี้จะพาไปสัมผัสว่าความเงียบดีอย่างไร ลดเสียงลงสักหน่อย สังคมจะมีความสุขเพียงไหน เราจะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ไปพร้อมๆ กับ รู้จัก ดร.อรยา สูตะบุตร หรือ อ.ปุ้ม ผู้ประสานงานชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ  ที่นอกจากท่านจะเป็นอาจารย์พิเศษวิชาพลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กรรมการสถาบันธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  หรือทำงานแปล ไทย-อังกฤษ แล้ว    ยังเป็นสมาชิกกลุ่มบิ๊กทรี( กลุ่มอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ในเมือง ) ค่อยๆ หรี่เสียงตัวเราเอง สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว แล้วมาล้อมวงฟังเรื่องราวของชมรมหรี่เสียงกรุงเทพกันนะคะ   เกี่ยวกับชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร จริงๆ ชมรมนี้อยู่มาใกล้จะ 10 ปีแล้วแต่ก็เป็นชมรมเล็กๆ ตอนเริ่มต้นในกรุงเทพฯ ก็มีเสียงรบกวนอยู่หลายรูปแบบ แต่อันที่สะกิดใจก็คือ เสียงทีวีในรถไฟฟ้า เพราะว่ามันเป็นเสียงที่เราหนีไม่ได้ ไปหรี่เสียงมันก็ไม่ได้ ไปยืนตรงที่มันไม่มีเสียงก็ไม่มี เกิดคล้ายๆ ว่าแรงผลักดันที่จะทำอะไรสักอย่างก็เลยเป็นที่มาของชมรม   ชมรมว่าทำงานในส่วนใดบ้าง มีขอบข่ายอย่างไร เนื่องจากเป็นชมรมเล็กๆ นะคะ การใช้บทบาทในเรื่องที่เผยแพร่ข้อมูลไปถึงสาธารณะก็คือ ผ่านสื่อหลายๆ ช่องทาง โดยเน้นเรื่องอันตรายของเสียงดัง มีการตีพิมพ์บทความ ข้อมูลให้คนรู้ว่าจะต้องระวังภัยเสียงดังในพื้นที่ไหนบ้าง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ จะมีบางช่วงเวลาที่ระดมอาสาสมัครออกไปวัดเสียง ก็วัดกันเองด้วยเครื่องมือที่มีคนให้ยืม แล้วเราก็ตีพิมพ์ออกมาเป็นบทความว่าที่ไหนเสียงดังอย่างไร พร้อมกับให้ข้อมูลว่าค่าระดับเท่านี้ๆ มันทำอันตรายกับหูได้ในระยะเวลานานเท่าไร จะเป็นลักษณะใช้สื่อในการให้ข้อมูล และถ้าเป็นไปได้ก็เข้าไปตามสถานศึกษาบ้าง ก็มีการจัดคล้ายๆ เหมือนกับพาคนไปเที่ยวที่ที่มันเงียบสงบในกรุงเทพฯ  แล้วบรรยายให้ความรู้ไปในกิจกรรมพร้อมกันว่าการอยู่ในที่ที่มันสงบและไม่มีเสียงดังนั้นมันมีประโยชน์อย่างไร   นอกจากเสียงบนรถไฟฟ้า คิดว่าเสียงที่ไหนที่มันเป็นมลพิษอีกบ้าง ถ้าพูดถึงกลุ่มเฉพาะขนส่งมวลชนทั้งหลาย ก็จะมีทั้งรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน และพวกรถทัวร์ รถที่มันติดทีวีข้างในตัวรถ ซึ่งพวกนี้มันเป็นเสียงกลุ่มเดียวกัน ทำให้รู้สึกว่าจะหนีไม่ได้ ต่อให้อุดหูมันก็ยังช่วยไม่ได้ เพราะว่าโดยมากจะเปิดดังมาก และเป็นที่แคบมันก็ยังมีโอกาสสะท้อนมากเข้าไปอีก พอเป็นลักษณะที่ต้องทนอยู่ในที่หนีไม่ได้ ลดเสียงไม่ได้นี่ก็เป็นประเภทหนึ่ง อีก 2 ประเภทที่เจอคนร้องเรียนเข้ามาเยอะ คือเสียงจากที่ก่อสร้าง ซึ่งบางทีก็ทำแบบไม่เต็มเวลา ไหลไป 24 ชม.ก็มี แล้วเสียงก่อสร้างต่อให้เราไม่ต้องอยู่ใกล้มาก มันก็มีทั้งแรงสั่นสะเทือน มีทั้งเสียง นี่ไม่นับมลภาวะอื่นทางอากาศนะคะ อีกเรื่องคือพวกที่มีลักษณะเปิดดนตรีในที่สาธารณะในระดับที่เกินความจำเป็น ตั้งแต่คอนเสิร์ต ห้างสรรพสินค้า พวกคาราโอเกะแบบที่ไม่ปิดมิดชิด ตั้งเป็นเพิงขึ้นมาได้ก็ร้องแล้ว พวกนี้จะมีปัญหามากเพราะว่าเปิดกันดึกดื่น พอไม่มีการควบคุม ไม่ได้ขออนุญาต เป็นเพิงไม้เล็กๆ ตามข้างทางแล้วใช้เครื่องเสียงขนาดใหญ่ เลิกกันตอนเช้ามืดนั้น เป็นการใช้เสียงที่ไม่รับผิดชอบต่อคนที่อยู่รอบๆ อีกอย่างคือใช้เสียงในระดับที่สูงเกินไป ก็เลยจะกระทบคนเป็นจำนวนมาก แต่ปัญหาอันหลังสุดนี้มันกลายเป็นปัญหาที่ในต่างจังหวัดรุนแรงกว่ากรุงเทพฯ เสียอีก เพราะมันเหมือนเป็นธรรมเนียมที่ถ้าอยู่ในชุมชนเมือง มันมีโอกาสน้อยกว่าที่คาราโอเกะแบบนี้จะอยู่ได้โดยไม่มีใครไปว่าอะไรเขา แต่ว่าชานเมืองหรือต่างจังหวัด ต่อให้หนีไปโรงแรมที่ห่างไกล หรือสถานที่ปฏิบัติธรรมที่ลี้ลับสุดๆ จะต้องมีบ้านชาวบ้านก็ต้องงานเลี้ยงอะไรของหมู่บ้านที่มีเครื่องเสียงเต็มเหนี่ยว แล้วมันไม่ใช่เพลงรื่นรมย์ เป็นเพลงแบบคนเมาจนถึงดึกดื่น ถึงเช้า ซึ่งมันสะท้อน 2 อย่าง คือ การไม่รู้อันตรายของระดับเสียงที่ดังเกินไป อันตรายทั้งในแง่ร่างกายและจิตใจ อันที่ 2 คือการที่เราละเลยความรับผิดชอบต่อผู้อื่นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา คิดว่านี่คือการทำอะไรชิลๆ แต่เราลืมดูว่าทำให้คนอื่นไม่ได้พักผ่อนหรือถูกรบกวนด้วยเสียงดัง   อาจต้องใช้การรณรงค์เรื่องจิตสำนึกหรือเปล่า เท่าที่ในประสบการณ์มีอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเสริม คือ คนกรุงเทพฯ เริ่มมีปัญหา และมีการแจ้งมาที่ชมรมบ่อย คือ การเป่านกหวีด (หัวเราะ) จะหมายถึงการเป่านกหวีดจราจร จริงๆ ตำรวจเป่าน้อยมาก ที่เป่าคือพวกดูแลจราจรตามหน้าอาคารต่างๆ ซึ่งถ้ามองจริงๆ แล้วจะพบว่ามันมีประโยชน์น้อยมาก คือเป็นสิ่งที่เข้าใจยากมากที่คนขับรถนั้นไม่ว่าจะเป็นที่ออกมาจากตึก หรือกำลังจะผ่านหน้าตึกจะแยกแยะไม่ได้หรอกว่าเป่านกหวีดอันนี้คือให้ไปหรือให้หยุด แล้วหมายถึงคันที่กำลังจะออกหรือคันที่กำลังจะผ่าน มันเหมือนกับเป็นเสียงปี๊ดๆ ไปไม่มีความหมายชัดเจน แค่ทำให้เกิดความสนใจแต่ไม่ได้แปลออกมาว่าให้ทำอะไร จะเห็นว่าหลายๆ ที่นั้น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า หรือโรงแรมหลายแห่งที่เขามีรถเข้าออกเยอะๆ เขาไม่ได้ใช้นกหวีดก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรมากไปกว่าหน่วยงานที่ใช้ ซึ่งนี่เป็นความเข้าใจว่านกหวีดเป็นเสียงก่อให้เกิดความรำคาญนั้นแต่ละเจ้าของก็จะไม่เหมือนกัน อย่างเซ็นทรัลชิดลมมีรถเลี้ยวเข้าเลี้ยวออกเยอะมากแต่ไม่มีนกหวีดและเขาก็ไม่เคยมีปัญหาอะไรในขณะที่ห้างอื่น โรงพยาบาล อาคารทั้งหลายจะบอกว่าไม่ได้ต้องใช้ ซึ่งเซ็นทรัลชิดลมเป็นหลักฐานที่ดีว่าไม่เห็นต้องใช้เลย ใช้อย่างอื่นแทนได้ ใช้ธง ใช้สัญญาณสีต่างๆ หรือใช้เครื่องมือเป็นแท่งที่มีแสงตอนกลางคืนแทนได้ ซึ่งจากที่ได้รับการร้องเรียนหลายๆ เรื่อง วิธีที่ดีที่สุดคือการเจรจากับคนที่เป็นฝ่ายทำเสียงโดยตรง หมายความว่าในการเจรจานั้นไม่ใช่แค่โทรไปด่าแล้วจบไป สมมติว่าหน่วยงานหรือตึกหนึ่ง ฝั่งคนที่ร้องเรียนถ้าจะให้ดีคือรวมๆ ตัวกัน แล้วคุยกันดี ชี้แจงเหตุผลกัน พบว่าได้ผลมากที่สุด ล่าสุดมีอีเมล์เข้ามาถามว่าเขาจะทำอย่างไรดีกับคอนโดฯ ฝั่งตรงข้ามบ้านเขาเป่านกหวีดตลอด  ซึ่งเขาปิดหน้าต่างแล้วก็ยังช่วยไม่ได้ เป่าทั้งวันเลย ก็บอกเขาว่าคุณอยู่คอนโดฯ เหมือนกัน ฝั่งของคุณไม่เป่านกหวีดเลย แล้วสิทธิมันก็พอๆ กันเพราะว่าถนนเดียวกัน ขอแนะนำให้รวมตัวกันแล้วขอนัดผู้จัดการทั้ง 2 ตึกเลยมาคุยกัน ใช้เหตุผลพูดคุยกันว่าทำไมตึกหนึ่งใช้ อีกตึกหนึ่งไม่ต้องใช้ ทดลองดูไหมว่าถ้าไม่ใช้แล้วมันดีอย่างไร ผลเสียอย่างไร เขาก็ไปลองดูนะ ปรากฏว่ายังไม่ทันได้รวมตัว แค่เดินเข้าไปคุยกับผู้จัดการคอนโดฯ ฝั่งที่เป่านกหวีด ได้ผลเรียบร้อยดี คือเหมือนกับว่าไม่มีใครไปบอกเขาว่าเป่าแล้วมันไม่มีประโยชน์ ถ้าเราเป็นคนที่ใส่ใจสุขภาพของคนอื่น นกหวีดเป็นอันตรายกับผู้เป่ามากที่สุด และความดังของเสียงนกหวีด ถ้าไม่อุดหูแล้วเป่าเต็มแรง เสียงพอๆ กับเครื่องบินไอพ่นเลย เกิน 90 เดซิเบลนะ เคยให้ยามคนหนึ่งเป่าแล้วใช้เครื่องวัดเสียงจ่อเลย เกิน 90 เดซิเบล ปกติคนเราฟังระดับ 70 เดซิเบลเป็นระดับที่ได้ยินพอดี ต้องไม่รู้สึกรำคาญ และถ้าเกิน 80 เดซิเบลเป็นเวลา 1 ชม.จะเริ่มทำให้หูเสื่อมได้   เรื่องกฎหมายในบ้านเราควบคุมได้ระดับไหน คิดว่าพอไหม หรือต้องรณรงค์อย่างไร ใช้กฎหมายไม่เวิร์ค มีกฎหมายเรื่องระดับเสียงซึ่งกรมควบคุมมลพิษประกาศใช้ แต่มันเป็นกฎหมายที่ใช้การไม่ได้ เพราะบอกว่าห้ามทำเสียงดังเกิน 80 เดซิเบลต่อ 24 ชม. หรือ ถ้าค่าเฉลี่ย 24 ชม.ไม่เกิน 80 เดซิเบลนั้นไม่เป็นไร แล้วเมื่อไรมันจะเกิน เพราะตอนตี 3 ตี 5 มันก็ไม่ค่อยดังแล้ว หรือถ้าดังไปถึง 100 เดซิเบลก็คงแป๊บเดียว ถ้าไปหาร 24 ชม.ค่าเฉลี่ยต่อชม.มันก็ไม่เกิน 80 เดซิเบล อย่างที่บอกว่าการเจรจาไกล่เกลี่ยหาข้อตกลงกันได้ผลกว่ากฎหมาย กฎหมายถ้ารอไปแก้คงไม่ทันได้ใช้นะคะ   จุดมุ่งหมายต้องไปขนาดนั้นเลยไหม ปัจจุบันจะทำควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาด้านอื่น แต่เรื่องกฎหมายนี้ต้องไปขนาดนั้นไหม ประเทศอื่นเขาจำกัดอยู่แค่ไหน คือกฎหมายเป็นปัญหาโลกแตกสำหรับประเทศไทยในทุกเรื่อง คือกฎหมายถ้ามีการบังคับใช้นั้นก็จะดี จะเห็นผลนะ แต่เรามีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ เพราะฉะนั้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชมรม ขอเน้นเรื่องที่ 1 คือการสร้างความรู้ สร้างความตะหนัก เรื่องที่ 2 คือ เน้นการหันหน้าเข้าคุยกัน หาทางออกร่วมกันด้วยสันติวิธี ไม่ใช่ฝ่ายบ่นก็บ่นไปแต่ว่าไม่เคยได้เข้าไปทำความรู้จักมุมมองของคนที่เขาทำให้เกิดเสียง แล้วหาข้อยุติร่วมกัน ซึ่งวิธีหลังมันได้ผล แต่ในหลายกรณีมันก็ไม่ประสบความสำเร็จ รถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินก็ใช้วิธีเขียนจดหมายไปทั้ง 2 หน่วยงาน ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ อย่าง BTS เขาตอบนะแต่บอกว่าเขาวัดแล้วเสียงเขาไม่ดัง มีการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ใช้ BTS เขาบอกว่าชอบโฆษณาในรถ ส่วน MRT เราก็ไปตรวจเสียงให้เขาเห็นเลย เขาเห็นรู้เลยว่านี่คือเครื่องตรวจเสียง พนักงานเขาเดินมาหาบอกว่าคุณมาวัดเสียงคุณได้รับอนุญาตหรือยัง ไม่อย่างนั้นต้องเชิญคุณออกไปจากบริเวณ MRT ถ้าทางฉลาดซื้อสำรวจข้อมูลพวกนี้ วัดเสียงได้ ทำได้ทั้งในแง่สำรวจความคิดเห็นด้วย ถ้าช่วยกันก็จะเป็นประโยชน์มากๆ จะได้เป็นหน่วยงานคนกลาง อย่างกลุ่มหรี่เสียงฯ คนจะมองว่าอยู่ฝ่ายคนที่ร้องเรียน ถ้าเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะเป็นลักษณะช่วยดูแลหลายๆ ในประเด็นของผู้บริโภคมากกว่า  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 142 ผ่าตัดครั้งนี้พี่ต้องหาย

“พี่คิดอย่างเดียวก็คือ ถ้าได้ผ่าตัดอีกครั้งพี่ต้องหายแน่ๆ  พี่อยากหาย เพราะมันลำบากมาก ตัวและตาเหลืองมาก เวลาเดินไปหาหมอในโรงพยาบาล ทุกสายตามองพี่อย่างรังเกียจ  เขามองราวกับว่าพี่เป็นโรคร้าย...”   นิตยา ผาแดง เบือนหน้าหนีจากคู่สนทนา  เพื่อปาดน้ำในตาเมื่อเอ่ยถึงแผลในใจ ที่บังเอิญได้มาพร้อมกับการเข้ารับการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2554  ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ตามสิทธิประกันสังคมสุขภาพถ้วนหน้า ทุกคนมีสิทธิฉบับนี้พาคุณไปพูดคุยกับ นิตยา  ผาแดง ผู้ใช้สิทธิการรักษาตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แล้วเกิดปัญหา ไปดูวิธีการแก้ปัญหาของเธอกันค่ะ   ก่อนหน้านั้นนิตยามีอาการปวดบริเวณใต้ลิ้นปี่ แพทย์แผนกศัลยกรรมตรวจอาการพบว่ามีนิ่วอยู่ในถุงน้ำดี 3 เม็ด  แพทย์จึงผ่าตัดออกและให้พักรักษาที่โรงพยาบาล 6 วัน  ครั้นกลับไปพักที่บ้านได้ 1 อาทิตย์ นิตยาเกิดอาการตัวเหลือง  ตาเหลือง ไม่มีแรง  เธอจึงกลับไปหาหมออีกครั้ง แพทย์ได้เอ็กซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อเช็คว่ามีนิ่วไปอุดท่อถุงน้ำดีอีกหรือไม่  ซึ่งอาจทำให้เลือดไม่หมุนเวียนและแจ้งว่าหากพบนิ่วจะส่งตัวเธอไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลศิริราช  แต่เมื่อตรวจเอ็กซเรย์แล้วแพทย์เจ้าของไข้ไม่ได้แจ้งผลให้เธอทราบ  จนเวลาผ่านไป 10 วัน อาการของเธอก็ทรุดลงเรื่อยๆ “การกลับเข้าไปหาหมอครั้งนี้พอหมอเจ้าของไข้ตรวจล่าสุดแล้วก็หายตัวไปเลย  ให้หมอท่านอื่นเข้ามาดูแลแทน  เราก็บอกกับหมอที่ดูแลคนใหม่ว่าหมอคนเก่าจะส่งตัวเราไปโรงพยาบาลศิริราช หมอขอเช็ครายละเอียดแล้วแจ้งว่าจะส่งเราไปโรงพยาบาลศิริราช” แพทย์โรงพยาบาลศิริราชได้ทำการตรวจสอบอาการและจะเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์อีกครั้ง เพราะผลการเอ็กซเรย์จากโรงพยาบาลแรกที่ผ่าตัดให้ไม่ชัดเจน แต่เธอต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง  โรงพยาบาลที่ส่งเธอมา จึงแจ้งให้เธอไปทำเรื่องเอ็กซเรย์ที่โรงพยาบาลพญาไท 3 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในเครือเดียวกัน แล้วนำผลเอ็กซเรย์ ไปให้โรงพยาบาลศิริราช ทำการรักษาต่อไป  ซึ่งการส่งไปส่งมานี้ใช้เวลาในการเดินเรื่องกว่า 2 เดือน ในขณะที่อาการของเธอก็ไม่ดีขึ้น ไปขอเวชระเบียนยากไหม “พี่ทำเรื่องขอเวชระเบียนจากโรงพยาบาลแรก ก็ได้เฉพาะส่วนที่เข้าโรงพยาบาลไปครั้งที่ 2 แล้ว ก่อนหน้านั้นไม่มี ซึ่งทางโรงพยาบาลบอกว่า ถ้าหากหมอที่โรงพยาบาลศิริราชต้องการก็ให้ทำหนังสือไปขอเอง ตอนไปขอเวชระเบียน  ส่วนตัวมองว่ามันยุ่งยากนะ เราต้องทำเรื่องขอเองและก็ถูกถามว่า ‘จะเอาไปทำอะไร’ พอได้มาแล้วก็นำไปส่งให้โรงพยาบาลศิริราช  ซึ่งมันกลับไป กลับมา ถ้าเป็นไปได้น่าจะทำเรื่องส่งมาครั้งเดียวเลย” วันที่ 6 มกราคม 2555  เธอจึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชและแพทย์ได้ผ่าตัดให้เธออีกครั้ง โดยต้องตัดไส้มาเย็บต่อกับท่อน้ำดีให้กับเธอ  เพราะการผ่าตัดครั้งแรกของโรงพยาบาลเอกชนได้ตัดสายท่อน้ำดีสั้นเกินไป ทำให้เวลาเย็บต่อกลับคืนเกิดการตีบตันของทางเดินเลือด  ส่งผลทำให้นิตยาตัวเหลือง  ตาเหลือง ไม่มีแรง น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว   ตอนนั้นคิดอะไรอยู่ “คิดเยอะค่ะ แต่พี่คิดแล้วมีหวังก็คือ ถ้าได้ผ่าตัดอีกครั้งพี่ต้องหายแน่ๆ  พี่อยากหาก มันลำบากมาก ตัวและตาเหลืองมาก เวลาเดินไปหาหมอในโรงพยาบาล ทุกสายตามองพี่อย่างรังเกียจ  เขามองราวกับว่า...พี่เป็นโรคร้าย มันเหลืองมากๆ น้ำหนักลดลงฮวบๆ จาก 55 กก. เหลือ 44 กก. ตัวที่เหลืองก็ดำขึ้นและเริ่มคันตามเนื้อตัว มันน่าเกลียดมาก ผอมก็ผอม เสื้อผ้าที่เคยใส่ได้ก็ใส่ไม่ได้เลย การงานก็ไม่มีแรงทำ  พี่ขายอาหาร พอคนมาเห็นสภาพของพี่เป็นแบบนี้ก็ไม่มีใครอยากจะซื้อ  ลูกชายกำลังเรียนอยู่ ปวช.ปี 3 และกำลังฝึกงานอยู่ ต้องใช้เงินพอสมควร ลูกออกปากว่า ‘จะหยุดเรียน’ ได้ยินแล้วหัวใจมันจะสลาย  เราก็บอกลูกไปว่าอย่าออกมานะลูก เดี๋ยวแม่ก็หายและดีขึ้น ตอนนั้นมาแย่มาก เราเลิกกับสามี และก็มีเรานี่ละเป็นเสาหลักของบ้าน แต่ก็ยังโชคดีที่มีน้องสาวช่วยดูแล ไปสมัครบัตรสินเชื่อแล้วกดเงินมาหมุนเพื่อใช้ชีวิตก่อน  ตอนนั้นไม่คิดอะไรอื่นนอกจาก... ผ่าตัดครั้งนี้พี่ต้องหาย” ปัจจุบันนิตยา ได้รับการเยียวยาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งตามเกณฑ์สมควรได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล เป็นมาตรการที่ดำเนินการตามบทบัญญัติของมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จำนวน 50,000 บาท  เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 หลังยื่นเรื่องเข้าร้องเรียนต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพเขตบางขุนเทียนเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2555 และทำหนังสือถึงโรงพยาบาลเอกชนที่ทำการผ่าตัดในครั้งแรก ก็เรียกค่าเสียหายจากโรงพยาบาลที่ทำการรักษาเป็นเงิน 250,000 บาท  และวันที่ 8 ตุลาคม 2555 นิตยาได้รับค่าสินไหมทดแทนจำนวน 240,000 บาท   รู้เรื่องการเรียกร้องสิทธิได้อย่างไร “ตอนนั้นเราคิดอย่างเดียวก็คือ หมอช่วยทีเถอะทำไงก็ได้ให้เราหาย  ขอให้เราหายก็พอ เรื่องการเรียกร้องไม่เคยรู้เรื่องเลย  พ่อของน้อง(ลูกชาย) เขามาแนะนำว่าเราสามารถเรียกร้องสิทธิได้นะ ก็ให้เราทำหนังสือร้องเรียนไปที่ศูนย์หลักประกันสุขภาพฯ ไม่คิดเหมือนกันว่า ‘จดหมายฉบับเดียวนี้จะส่งผลกับเราถึงขนาดนี้’ ใจจริงของเราก็ไม่ได้อยากจะเรียกร้องอะไรเลย  เราหวังเพียงอยากจะหาย และไปใช้ชีวิตของเราปกติเท่านั้นเอง ถ้าหมอมาคุยกัน  มาให้ข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้น เราก็จะหาทางออกไปด้วยกัน  ส่วนหนึ่งเราต้องการรู้ว่าเราเป็นอะไร  จะต้องรักษาด้วยวิธีไหน แต่นี่หมอหายไปเลย พี่ว่าต้องคุยกัน”   ตอนนั้นไม่คิดว่าสามารถรับการเยียวยาได้ “ไม่เคยรู้เลยว่าจะเรียกร้องหรือชดเชยเยียวยาได้  ทางโรงพยาบาลก็ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไร  แต่การเยียวยาส่วนนี้ก็ถือว่าช่วยเราได้เยอะ  เพราะเราทำงานไม่ได้เลยช่วงที่เราป่วย เป็นหนี้อีกต่างหาก  อยากขอบคุณทั้ง สปสช.และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ให้ความช่วยเหลือ   ครั้งนี้ได้บทเรียนอย่างไรบ้าง “ส่วนหนึ่งเราก็อยากแนะนำ  อยากบอกต่อเรื่องราวต่างๆ ให้คนได้รู้ว่าเรามีสิทธิอะไรผ่านประสบการณ์ ผ่านเรื่องราวของเรา  แต่อีกใจก็กลัวว่าพอเราแนะนำออกไปแบบนี้แล้ว เราจะถูกฟ้องกลับหรือเปล่านะสิ (หัวเราะ)... แต่ใครมาถามก็คงจะบอกต่อแนะนำไปค่ะ  เบอร์โทรศัพท์ก็มีแล้ว ต้องบอกต่อแน่นอน  ตอนนี้หลังการผ่าตัดเสร็จเรียบร้อย อาการดีขึ้นเรื่อยๆ  หลังการจ่ายเงินเยียวยาแล้ว ผอ.โรงพยาบาลเอกชนที่ผ่าตัดให้เรา ท่านก็ดี ท่านก็โทรมาสอบถามอาการต่างๆ เอาใจใส่เรา ซึ่งก็ถือว่าดีค่ะ ถึงที่สุดแล้วผู้ป่วยทุกคนก็ต้องการการเอาใจใส่ ตอนนี้สิทธิการรักษาก็ยังอยู่ที่โรงพยาบาลนี้นะคะ  ไม่คิดเปลี่ยน เพราะถ้าเปลี่ยนโรงพยาบาลจะต้องเดินทางไกลมากขึ้น  เราก็คิดว่าอยู่นี่ล่ะ”   ตอนนี้นิตยากลับมาเปิดร้านขายอาหารประเภทยำได้ตามปกติแล้ว ด้วยการเริ่มต้นการทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้า ไปตลาดซื้อของ กลับมาเตรียมของ จัดร้าน ขายของจนถึง 4 -5 ทุ่มเช่นเดิม ด้วยเงินลงทุนวันละ 2,000 บาท ได้กำไรหักต้นทุนแล้วเหลือ 1,000 บาท แต่หากวันไหนไม่ได้ขายรายได้ก็คงไม่ต้องถามถึง อีกบทเรียนจากประสบการณ์จริงของผู้บริโภคที่เรียนรู้เรื่องสิทธิผ่านประสบการณ์ตรง  ฉลาดซื้อหวังเพียงว่าการนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้  ส่วนหนึ่งจะทำให้ผู้บริโภคท่านอื่นได้ทราบและรู้สิทธิของตัวเอง  และลุกขึ้นมาใช้สิทธิได้ทุกคน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 136 อย่าช่างมันเถอะ แม้เป็นอุบัติเหตุ

“ความเชื่อเรื่องเคราะห์ อาจจะไปเปลี่ยนยาก ตัวเองก็คิดนะคะเพราะเกิดอุบัติเหตุก่อนจะสอบวิทยานิพนธ์แค่สองวัน ทำให้เราไปสอบไม่ได้ ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นบุญกรรมที่เราทำมา แต่ความรู้จะช่วยให้เราแก้ปัญหาและผ่านสถานการณ์นั้นไปได้ และรู้ว่าสิทธิของเรา เราควรได้รับการชดเชยอย่างไรบ้าง ตั้งแต่ร่างกาย รายได้ที่เราต้องเสียไป ถ้าหากเราไม่บาดเจ็บเราก็ทำงานได้ คนเราถ้าหากรู้สิทธิก็คงจะพิทักษ์สิทธิของตัวเองแน่นอน แต่ก็ขออย่าให้เกินงามและ “อย่าช่างมันเถอะ” นะคะ สิทธิเรามี เราต้องรักษา” ธิติยา ไชยศร หรือ ครูบิว ครูสอนพิเศษคณิตศาสตร์ที่ได้รับอุบัติเหตุจากการเล่นเครื่องเล่นใน Mansion 7 บูติค ทริลเลอร์มอลล์ ส่วน Playground Zone เมื่อวันที่ 17 กันยายน ปี 2554 เวลา 21.30 น. ซึ่งเธอได้ทำตามคำแนะนำและกติกาการเล่นที่พนักงานคุมเครื่องเล่นแนะนำก่อนการเล่นทุกอย่าง ทั้งสวมหมวกกันน็อค สนับข้อศอก และสนับเข่า เป็นอุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุในขณะเล่นเครื่องเล่น “ป๊อก....” “เราได้ยินเสียง ตอนเราตกลงมา แต่ก็ไม่รู้ตรงส่วนไหน พอจะลุกรู้แล้วว่าข้อมือน่าจะหัก เพราะเราบังคับแขนไม่ได้ พอรู้ก็นอนอยู่ท่าเดิม”   ธิติยา ตกเครื่องเล่นลงมา สนับข้อศอกซ้ายที่ใส่อยู่เลื่อนหลุดมากระแทกกับข้อมือซ้ายหัก เจ้าหน้าที่ Mansion 7 บอกกับเธอว่าจะดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด จึงพาเธอไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระราม 9 แพทย์วินิจฉัยว่ากระดูกข้อมือซ้ายหัก ต้องเข้าเฝือก ผ่าตัดใส่เหล็กยึดกระดูก และทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง โดยทางโรงพยาบาลประเมินค่าใช้จ่ายมา 60,000 บาท เจ้าหน้าที่จึงให้เธอช่วยสำรองจ่ายไปก่อน เธอเห็นท่าไม่ดีจึงขอย้ายโรงพยาบาลไปรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ เสียค่ารักษา 2,465 บาท เธอได้แจ้งเรื่องค่ารักษาพยาบาลราคาใหม่ให้กับ Mansion 7 ทราบ เจ้าหน้าที่รับเรื่องและบอกว่าจะดำเนินการชดเชยเงินค่ารักษาพยาบาลให้เธอ แต่กว่าจะได้ 2,465 บาท ก็ช่างยากเย็น หลังจากโทรติดต่อกับเจ้าหน้าที่ไปสักระยะก็ดูจะไม่มีอะไรคืบหน้า เธอจึงทำหนังสือถึงกรรมการบริหารของ Mansion 7 จึงจะได้เงินชดเชยมา ปลอดภัยเมื่อใช้ ไม่ใช่แค่มีการเล่นเครื่องเล่น เธอต้องขึ้นไปนั่งข้างบนที่นั่งที่เป็นตัวสัตว์ต่างๆ และแกนกลางเป็นสปริง โยกไป โยกมาได้ และใช้วิธีการโยก เพื่อที่จะไปอีกย้ายตัวเอง ไปนั่งอีกตัวข้างหน้า “เราก็เข้าใจว่ามันเป็นอุบัติเหตุ มีการป้องกันก็จริง เราก็มองว่าเขาเองก็พยายามป้องกันแล้ว แต่มันเป็นกีฬาเอ็กซ์ตรีม โอกาสที่จะเกิดอันตรายนั้นมีมาก อย่างเราตกลงมาก็ข้อมือหักเลย” การรองรับการตกของผู้เล่นนั้น พื้นเป็นเบาะยิมนาสติก 2 ชั้น แล้วมีโฟมรองอยู่ด้านบน “ส่วนตัวแล้วก็มีการป้องกันดีนะ แต่สนับก็น่าจะมี Size ไว้รองรับกับคนที่มาเล่นที่หลายๆ ขนาด หรืออาจจะกำหนดความสูงของคนเล่น สูงเท่านี้เล่นได้ สูงเท่านี้เล่นไม่ได้ เพราะมีผลต่อความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ก็ต้องให้ความรู้ในเรื่องนี้ด้วย คือมันเป็นลักษะการเล่นที่ต้องตก จะปฏิเสธไม่ได้ว่าจะไม่ตก แต่ว่าพอตกลงมาควรจะมีอุปกรณ์อะไร ชนิดไหน มารองรับการตกของเราให้ปลอดภัย ซึ่งถ้ามองดูกรณีของเรา สนับแขนก็ตกลงมาที่ข้อมือแล้วและกลายเป็นว่าทำให้ข้อมือเราหัก แบบนี้มันจะปลอดภัยได้ไง” ตอนนี้เครื่องเล่นนี้ Mansion 7 ได้นำออกไปแล้ว และนำของเล่นใหม่เข้ามาแทนที่ ซึ่งเครื่องเล่นจะถูกหมุนเวียนสับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ   ดูแลเหมือนเรื่องเกิดในบ้านตัวเอง “ตอนเราไปเล่น เราซื้อบัตรเข้าไปเล่น ก็น่าจะรับผิดชอบให้รวดเร็วด้วย เหมือนมีคนมาบาดเจ็บในบ้านเรา ถ้าเป็นเราจะนิ่ง จะเงียบ จะเฉยไหม ก็ต้องดูแลกันให้ดีที่สุด กว่าจะได้เงิน 2,465 บาท นี่ก็นานค่ะ ซึ่งเงินส่วนนี้เป็นส่วนที่เราเสียไปจริง ก็แค่อยากจะให้เขารับผิดชอบในส่วนนี้เท่านั้นจริงๆ เรื่องรายได้ที่เราต้องเสียไปก็ถือซะว่าฟาดเคราะห์ แต่พอเริ่มกินเวลานานเข้า เราก็รู้สึกว่าไม่ใช่ละ คือเขาต้องแสดงความรับผิดชอบกันหน่อย เพื่อนที่เป็นทนายก็แนะนำว่าเรามีสิทธิอะไรบ้าง ก็เลยร้องมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” “คำบอก” จากหลายๆ “คำบอก” ของผู้บริโภคที่มีปัญหากับผู้ประกอบการ ก็คือการแสดงความรับผิดชอบ การดูแลเอาใจใส่ตั้งแต่เกิดความเสียหายขึ้น จะมากจะน้อยไม่สำคัญ สำคัญเพียงแค่ได้พยายามแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายนั้นแล้วหรือยัง รู้สิทธิ ใช้สิทธิ ธิติยาเข้าร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมือวันที่ 15 พฤศจิกายน 54 และได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยกับบริษัทลานกลางเมือง จำกัด ซึ่งเธอยื่นเรียกค่าเสียหายรวม 54,200 บาท แบ่งออกเป็นค่าอุปกรณ์การรักษารวมกับค่าเดินทาง 3,800 บาท ค่าขาดรายได้จากการเป็นครูสอนพิเศษที่โรงเรียนบ้านคำนวณ สยามสแควร์ 51 ชั่วโมง ชั่วโมงละ 400 บาท เป็นเงิน 20,400 บาท และจากการสอนพิเศษแบบตัวต่อตัวอีก 20 ชั่วโมง ชั่วโมงละ 200 บาท เป็นเงิน 4,000 บาท รวมทั้งจากการสอนพิเศษแบบกลุ่มย่อย ที่ จ.ตรัง อีก 40 ชั่วโมง ชั่วโมงละ 400 บาท เป็นเงิน 16,000 บาท รวมเป็นเงิน 40,400 บาท ซึ่งแพทย์ได้ลงความเห็นให้เธอพักฟื้น 2 เดือนนั่นคือ 18 ก.ย. – 17 พ.ย. 54 ค่าเสียหายที่สำคัญอีกอย่างที่ผู้บริโภคท่านอื่นๆ ต้องไม่ลืมก็คือ ค่าเจ็บปวดทนทุกข์ทรมาน ทั้งการปวดแผล ความเครียด ขาดการดูแลจากผู้ประกอบการฐอุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้เธอไม่ได้ไปเรียนและสอบหัวข้อวิทยานิพนธ์ได้ตามเวลาที่กำหนด ส่งผลกระทบต่อการเรียนต่อในระดับปริญญาโท คิดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 10,000 บาท “ทางมูลนิธิฯ ก็ช่วยจัดการประสานงานให้จนเกิดการเจรจาชดเชย แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าจะออกมาอย่างไร ยังมีค่าผ่าตัดนำเหล็กที่ข้อมือออกอีกใน 2 ปีข้างหน้า ส่วนนี้เราไปให้โรงพยาบาลประเมินมาแล้วอยู่ที่ 60,000 บาท แต่ก็ยังไม่รู้ว่าค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะถูกเยียวยาหรือเปล่า เพราะเป็นเรื่องอนาคตเราเองก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผ่าตัดแล้วแผลจะอักเสบไหม จะต้องเสียค่ารักษาพยาบาลอีกเท่าไร ถ้าหากว่าตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องสู้ต่อในชั้นศาลค่ะ ซึ่งต้องเร่งให้เรื่องจบก่อน 1 ปี เพราะตอนนี้อายุความก็เกือบจะหมดแล้ว” เรื่องของธิติยาเกิดขึ้นก่อนมหาอุทกภัยในกรุงเทพฯ ซึ่งเธอเองก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน ครั้นมหาอุทกภัยผ่านไปแล้ว การเยียวยาจากคู่กรณียังคงเจรจากันอยู่ “ตอนเราป่วย ยอมรับว่าทางบ้านลำบากค่ะ คือเราไม่ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในครอบครัว เพียงแต่เราดูแลรับผิดชอบตัวเอง หาได้มาก็ส่งให้ครอบครัวบ้าง แต่พอเราป่วยเราทำงานไม่ได้ แล้วงานเราเป็นงานรายชั่วโมง ไม่สอนก็ไม่ได้เงิน พ่อกับแม่ก็หยิบยืมเงินก้อน เพื่อที่จะส่งมาให้เรา ตอนนี้ก็ทยอยใช้หนี้ไป”   สะเดาะเคราะห์ด้วยความรู้ ธิติยาบอกว่าตอนเธอทำหนังสือไปถึงกรรมการบริษัทนั้น ทำเพราะต้องการความยุติธรรม ยังไม่มีความรู้ในเรื่องสิทธิ หลังจากรู้ข้อมูลว่าการทำหนังสือไปถึงคู่กรณีนั้นควรจะลงส่งจดหมายแบบลงทะเบียน หรือส่งแบบมีใบตอบรับ เพื่อที่จะได้รู้ว่าจดหมายที่ส่งไปนั้นได้รับหรือไม่และใครเป็นคนรับเก็บไว้เป็นหลักฐานในการติดต่อประสานงาน “ความเชื่อเรื่องเคราะห์ ส่วนหนึ่งก็เป็นความเชื่อที่อาจจะไปเปลี่ยนยาก ตัวเองก็เชื่อนะคะเพราะเกิดอุบัติเหตุก่อนจะสอบวิทยานิพนธ์แค่สองวัน ทำให้เราไปสอบไม่ได้ ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นบุญกรรมที่เราทำมา แต่ความรู้จะช่วยให้เราแก้ปัญหาและผ่านสถานการณ์นั้นไปได้และรู้ว่าสิทธิของเรา เราควรได้รับการชดเชยอย่างไรบ้าง ตั้งแต่ร่างกาย รายได้ที่เราต้องเสียไป ถ้าหากเราไม่บาดเจ็บเราก็ทำงานได้ ความคิดเราจะเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน แรกๆ ก็ไม่ได้อยากจะเรียกร้องอะไร แต่มันเริ่มนานไป เราก็เลยอยากให้แสดงความรับผิดชอบบ้าง อีกมุมก็คือเรารู้สิทธิของเราแล้ว บิวคิดว่าคนเราถ้าหากรู้สิทธิก็คงจะพิทักษ์สิทธิของตัวเองแน่นอน แต่ก็ขออย่าให้เกินงามและ “อย่าช่างมันเถอะ” นะคะ สิทธิเรามี เราต้องรักษา” คุณครูสอนพิเศษ ฝากทิ้งท้าย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 100 อานันท์ ปันยารชุน อยู่ให้ได้ในโลกที่มีแต่คนเอาเปรียบ

ถอดความจากปาฐกถา ในงานเปิดบ้านใหม่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน 2552สวัสดีทุกท่านเพื่อนสนิทมิตรสหายในกระบวนการให้ความคุ้มครองดูแลสิทธิของผู้บริโภคนะครับ ผมเองไม่ใช่เป็นนักเคลื่อนไหวหรือเป็นคนที่มีความรู้อะไรพิเศษเกี่ยวกับเรื่องของสิทธิผู้บริโภค แต่มันมาจากจุดหนึ่งในใจซึ่งมีมาตั้งแต่เด็กแล้ว ก็คือว่าในโลกที่เราอยู่นั้นก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีคนเอาเปรียบ การเอาเปรียบผู้อื่นมีเหตุผล เจตนาหรือเปล่า แต่คนที่ถูกเอาเปรียบคือคนที่ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพื่อให้มีความแข็งแกร่งในวิชาชีพ แข็งแกร่งในทางรายได้ แข็งแกร่งในทางมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับคนภายนอก ผู้ถูกเอาเปรียบในตอนนี้นั้นก็สามารถจะต่อสู้ด้วยตัวเองได้ ในสังคมไทยยังมีผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่มากและยังอยู่ในสภาพที่ ถ้าไม่มีคนอื่นเข้ามาช่วยคงจะไม่สามารถรักษาสิทธินั้นได้จากความรู้สึกอันนี้มันก็เลยทำให้เกิดความรู้สึกลึกลงไปว่ากระบวนการของการมีองค์กรที่ไม่หาผลกำไร เป็นองค์กรที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายของรัฐนั้นมีความจำเป็นสำหรับคนไทยมากกว่าประเทศอื่นๆ แล้วเครือข่ายเหล่านี้ก็จะเรียกว่าอยู่ในวงการของประชาสังคม ผมก็ดีใจที่มีความตื่นตัวในเรื่องของการรักษาสิทธิของผู้บริโภค แต่ผมว่าอนาคตยังไปอีกไกลเพราะว่าเราต้องเริ่มต้นจากจุดแรกซึ่งลำบาก เราต้องเริ่มต้นจากจุดที่เรียกว่าต้องให้ประชาชนส่วนใหญ่หรือให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต่างรู้และสำนึกในสิทธิของตน เรายังไปไม่ถึงก้าวที่สอง เราเป็นเพียงแต่การพยายามให้คนเข้าใจ ให้คนรู้ว่าสิทธิของผู้บริโภคนั้นคืออะไรและก็เราจะดูแลรักษามันยังไง เพราะฉะนั้นในขั้นต้นนี้การทำงานก็ค่อนข้างจะไปในหลายกระแสหลายทิศทาง แต่อย่างหนึ่งที่ผมอยากให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทำหน้าที่ก็คือว่า ไปในเรื่องใหญ่ๆ ในเรื่องของทิศทางที่ไม่ใช่เป็นเพียงแต่คุ้มครองผู้ถูกรังแกอยู่ในคอนโดก็ดี หรือผู้ถูกรังแกทางด้านอาหารก็ดี ทางด้านเกษตรก็ดี แต่อยากจะให้เห็นว่ามันจะเป็นกระบวนการสุดท้ายที่ไม่ต้องอาศัยองค์กรนี้เป็นผู้ปกป้องให้ แต่เราปกป้องกันเองโดยที่องค์กรนี้จะทำหน้าที่ข้างเคียงไปกับสภาโดยตรงเลย เพราะว่าทั้งหมดนี้ขั้นสุดท้ายก็อยู่ที่ว่าปัญหาของการเอารัดเอาเปรียบนั้นมันเกิดจากช่องโหว่ของกฎหมายด้วย แล้วถ้าเผื่อนักการเมืองเขาไม่ดูแลเรื่องนี้ให้เรา มันก็มีความจำเป็นที่เราจะต้องเข้าไปใกล้ชิดกับสาขาในหน่วยงานคุ้มครองของนิติบัญญัติที่จะให้มีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติต่างๆ ที่ไม่ให้ความเป็นธรรม ที่สร้างความอยุติธรรมกับสังคมไทยในเรื่องของผู้บริโภค หรืออาจจะมีการแนะนำเสนอให้มีการออกกฎหมายออกพระราชบัญญัติใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อเสริมสร้างให้กระบวนการของการดูแลสิทธิของผู้บริโภคนั้นมีความมั่นคงและมีความยั่งยืนมากขึ้น …อันนี้ผมว่ายังไปอีกไกล แต่เราทำเป็นจุดๆ ไป ที่ทำมาผมก็ว่าเป็นประโยชน์มาก แต่ในใจผมยังว่ามันยังคงสะเปะสะปะไป ถ้าเกิดเราคิดทำทุกอย่างมันคงจะลำบาก แต่ถ้าเผื่อเราไม่ปลุกจิตสำนึกไม่ปลุกให้คนไทยด้วยกันตื่นขึ้นมาว่า เรื่องการดูแลสิทธิของผู้ที่ซื้อบ้านจัดสรร ถ้าให้มูลนิธิฯ ท่านดูแล ท่านก็เหนื่อย เพราะบ้านจัดสรรไม่รู้มีกี่พันแห่งในเมืองไทย เราคงจะไปดูทุกอันไม่ได้ แต่เราควรไปดูที่ต้นตอว่ากฎหมายปัจจุบันมันให้ความคุ้มครองและดูแลสิทธิของผู้เช่าผู้ซื้อบ้านจัดสรรหรือเปล่า แล้วแต่ละบ้านจัดสรรผู้บริโภคก็ดูแลกันเอง ตามข้อความของกฎหมายที่ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมคิดอยู่ในใจ ฝันอยู่ในใจแล้วก็เริ่มคุยบ้าง แต่ก็คงอยู่ไม่ทันที่จะเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในชีวิตผม ก็ต้องขอฝากไว้กับท่านทั้งหลาย ผู้ที่อยู่ในมูลนิธิฯ ก็คงเป็นผู้จุดประกาย ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายท่านก็มีความเป็นธรรมอยู่ในใจแล้วท่านก็พยายามที่จะผลักดันในสิ่งที่ถูกต้อง แต่สุดท้ายเราหวังพึ่งใครไม่ได้หรอกครับ ต้องพึ่งตัวเอง ในการพึ่งตัวเองนั้นก็ต้องพูดมากขึ้น เขียนมากขึ้น อ่านมากขึ้นและก็ต้องให้ประเด็นเรื่องของการสร้างวัฒนธรรมใหม่ ผมไม่อยากจะใช้คำว่าการเมืองใหม่เพราะว่าปัจจุบันใช้คำว่าการเมืองใหม่ค่อนข้างจะบ่อยครั้ง ซึ่งบางครั้งก็มีการถามว่าอะไรคือการเมืองใหม่ แต่ผมว่าวัฒนธรรมใหม่ของเมืองไทยที่เราอยากจะสร้างก็คือวัฒนธรรมของการเรียนรู้ของการแสวงหาความถูกต้องของการดูแลสิทธิ ไม่ใช่ดูแลผลประโยชน์นะ ผมขอให้เข้าใจคำนี้ด้วย ที่ทำมาทั้งหมดนี่มันไม่ใช่ผลประโยชน์นะ แต่ถ้าคุณจะดูแลสิทธิให้ถูกต้อง แล้วสิทธินั้นก่อประโยชน์ให้กับเรา อันนั้นผมเรียกว่าเป็นผลพลอยได้ แต่จุดเริ่มต้นไม่ใช่หาผลประโยชน์ส่วนตัว แต่เพื่อสิทธิ ผมมาวันนี้ผมก็ดีใจได้เห็นบ้านใหม่ ผมไม่รู้ว่าเคยมีบ้านเก่าหรือเปล่า ได้เห็นบ้านใหม่ถึงแม้ไม่ได้อยู่ติดถนนก็มาตรงนี้ก็โชคดีนะ กันฝุ่น กันแดด กันเสียงด้วย ก็ตกแต่งซะดีเชียว ก็ยินดีนะ ขอให้เป็นบ้านใหม่ที่มีความสุขกายสบายใจ เป็นบ้านใหม่ที่สามารถทำประโยชน์ให้กับหลักการที่พวกเรายึดถือไว้ ขอให้ช่วยส่งเสริมให้สิทธิของคนไทยในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการบริโภค มันเป็นสิทธิที่มันฝังอยู่ในจิตใจไม่ใช่แต่ในพวกเราเท่านั้น แต่ในระบบการเมือง ในระบบยุติธรรม ในระบบบริหารต่างๆ ทั้งหมด ผมขอขอบคุณทุกท่านที่ช่วยทำให้กระบวนการนี้สำเร็จด้วยดี …ระหว่างที่นั่งฟังวิดีโอเทป (นานาทัศนะของบุคคลต่างๆ ต่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้ถ่ายทอดไปเมื่อฉบับที่แล้ว) ผมนึกอะไรบางอย่างซึ่งเป็นสิ่งที่ผมคิดมานานและเป็นหลักการที่ผมใช้ในการทำงานส่งเสริมกระบวนการ องค์กร ภายใต้ของภาคประชาสังคมนะครับคือในสังคมทุกสังคมมีความขัดแย้งหรือความเห็นที่ไม่ตรงกันเป็นของธรรมดา แต่สิ่งที่สำคัญคือว่าถ้าเกิดสังคมไหนที่มีสติพอ แล้วก็มีทางออกเพียงพอ ทางออกนี้สำคัญมาก ความขัดแย้งก็ดี ความเห็นที่แตกต่างกันก็ดี มันจะไม่เกิดไปจนถึงขั้นที่ต้องแตกหัก ทุกๆ ประเทศในประวัติศาสตร์มันต้องผ่านมาทั้งนั้น มันพูดง่ายแต่บางทีทำลำบาก เพราะฉะนั้นทุกๆ ชาติถ้าไปดูประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของการพัฒนาสังคมมานั้น มันมีการถึงขั้นแตกหักมาตลอดเวลา เพราะฉะนั้นคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันในสังคมไหนที่มีสติมากขึ้น มีความรู้และมีการเข้าถึงข้อมูลก็ดี มีการเข้าถึงความยุติธรรมก็ดี โอกาสที่จะถึงขั้นแตกหักก็จะน้อยลงไปขอบคุณครับ...  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 98 กิน เปลี่ยนโลก ได้อย่างไร

ทุกคนมีสิทธิ์ สุมาลี พะสิม สัมภาษณ์ / ถ่ายภาพ มูลนิธิชีววิถี หรือหลายๆ คนรู้จักในนาม Biothai เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ชุมชนคนรักป่า และสถาบันต้นกล้า เปิดตัวโครงการรณรงค์กินเปลี่ยนโลก ไปเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งฉลาดซื้อเห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี และเป็นประโยชน์กับสมาชิกและท่านผู้อ่านค่ะ จึงไปจับเขาคุยกับ กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการ มูลนิธิชีววิถี ถึงที่ไปที่มา และการเข้าร่วมโครงการ ว่าจะต้องทำอย่างไรมาให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกันค่ะ จุดเริ่มของโครงการกินเปลี่ยนโลกกินเปลี่ยนโลกเป็นการรณรงค์เพื่อที่จะให้ผู้บริโภคเข้าใจเรื่องวิกฤตของอาหาร แต่โครงการกินเปลี่ยนโลกไม่ใช่โครงการแรก หากแต่มีหลายองค์กรที่พยายามทำกันมานานไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ตลาดสีเขียว ของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก หรือมหกรรมสมุนไพรต่างๆ แต่ว่ายังไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสาธารณะ โครงการกินเปลี่ยนโลกจึงปรับเปลี่ยนกระบวนการรณรงค์ในเชิงรุกเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจ และเข้ามามีส่วนร่วม“ดูเหมือนการสื่อสารผ่านงานมหกรรมหรือจัดเวทีสาธารณะก็ดูจะเป็นเรื่องเครียดๆ ที่ถูกนำเสนอออกมาซะมากกว่า ก็อยากจะปรับให้เครียดน้อยลงเพื่อที่จะให้คนได้เข้าใจมากขึ้น ก็เลยเลือกที่จะสื่อผ่านอาหาร และใช้อาหารนี่ล่ะเป็นสื่อในการรณรงค์เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวและอยู่ในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญก็คืออาหารเป็นเรื่องใหญ่ของคนไทย ดูง่ายๆ อย่างเราไปเที่ยวก็จะเตรียมอาหารตุนไปกินระหว่างทาง หรือไม่ก็แวะกินตามร้านรวงที่เปิดขายกันรายทาง ทั้งซื้อฝากและซื้อกันกิน จนกลายเป็น วัฒนธรรมกินตลอดทาง   ด้วยความที่เมืองไทยเราค่อนข้างจะอุดมสมบูรณ์และเป็นประเทศที่ส่งออกธัญญาหารเป็นอันดับต้นๆ ของโลกมีทั้ง ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา เนื้อสัตว์ก็จะเป็นกุ้ง ไก่ คนจึงมองไม่ออกว่าเมืองจะเกิดวิกฤตหรือเกิดปัญหา จนเมื่อราคาข้าวสูงขึ้นเพราะข้าวขาดแคลนในตลาดโลก ก็ดึงราคาข้าวของไทยให้สูงขึ้นตามลำดับ คนจึงเริ่มแตกตื่นว่าวิกฤตมาแล้ว ที่ผ่านมาเวลาเราจะสื่อสารกับสาธารณะก็มักจะหยิบยก ปัญหาขึ้นมาก่อนว่า ปัญหามันคืออะไร แต่กินเปลี่ยนโลกเราจะเปลี่ยน คือแทนที่จะหยิบยกว่าปัญหาทางด้านอาหารคืออะไร มีสารเคมี มีจีเอ็มโอ เราก็จะเปลี่ยนเป็น ‘เราจะกินอย่างไรให้มีคุณภาพ แล้วการกินอย่างมีคุณภาพของคนเราช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง’ ประเด็นเหล่านี้ก็น่าจะนำไปสู่ประเด็นวิกฤตของอาหารได้ โดยให้คนตั้งคำถามกับตัวเองว่าอาหารมาจากไหน อาหารที่เรากินเป็นอย่างไรโดยให้ศึกษาด้วยตัวเอง” เมืองไทยกับวิกฤตด้านอาหารกิ่งกรบอกกับฉลาดซื้อว่า เราอยู่กับวิกฤตอาหารกันมานานแล้ว แต่ไม่ค่อยรู้สึกกัน สิ่งที่แสดงให้เห็นชัดว่าเราก็มีวิกฤตด้านอาหาร คือเรื่องข้าว ด้วยความที่เมืองไทยเราค่อนข้างจะอุดมสมบูรณ์และเป็นประเทศที่ส่งออกธัญญาหารเป็นอันดับต้นๆ ของโลกมีทั้ง ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา เนื้อสัตว์ก็จะเป็นกุ้ง ไก่ คนจึงมองไม่ออกว่าเมืองจะเกิดวิกฤตหรือเกิดปัญหา จนเมื่อราคาข้าวสูงขึ้นเพราะข้าวขาดแคลนในตลาดโลก ก็ดึงราคาข้าวของไทยให้สูงขึ้นตามลำดับ คนจึงเริ่มแตกตื่นว่าวิกฤตมาแล้ว “เวลาเราพูดถึงวิกฤตอาหาร กินเปลี่ยนโลกของเราจะมองเรื่องความหลากหลายของอาหารว่าความหลากหลายมันน้อยลง อาหารอย่างพวกเนื้อสัตว์อาจจะมีราคาถูกขึ้นแต่คุณภาพของอาหารแย่ลง พอมีการผลิตมากขึ้นก็เลี้ยงกันเป็น ‘ฟาร์มปิด’ เลี้ยงกันเป็นอุตสาหกรรม มีการฉีดฮอร์โมน เร่งโต กินอาหารเม็ด วันๆ สัตว์ถูกขังอยู่แต่ในโรงเลี้ยง พอถึงระยะเวลาก็นำมาให้พวกเรากิน ยกตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ ‘ไก่’ ปัจจุบันเรากินไก่รสชาติเหมือนทิชชู่ แต่เราก็ยังกินกันเพราะมันถูก แต่คุณภาพมันน้อยลง มองให้ง่ายขึ้นมาอีกว่าเราอยู่ในวิกฤตอาหารที่ความหลากหลายมันน้อยลง ก็ให้มองไปที่ตลาดสดที่มีผักแค่แตงกวา กะหล่ำปลี ผักกาดขาว คะน้า แครอท ผักชี ต้นหอม ผักพวกนี้ไปทีไรก็มีตลอดปี และเมื่อปลูกทั้งปีก็ต้องใส่สารเคมี เคยลงไปเยี่ยมชาวบ้านที่ปลูก เขาบอกเลยว่าแปลงนี้อย่ากินนะ แปลงนี้กินได้ แล้วคิดดูสิแล้วผักเหล่านั้นก็มาสู่ตลาดในที่สุด แล้วใครกิน ก็พวกเราๆ นี่หละกินเข้าไป แบบนี้ก็วิกฤตอีกเช่นกัน จะไปโทษใครได้ เพราะมันเป็นระบบกลไกการค้า ระบบกลไกการกระจายอาหารที่พาให้เกิดขึ้นเพราะทุกคนกินกันแบบไม่ดูฤดูกาล อยากกินอะไรก็จะได้กิน มีตอบสนองทุกอย่าง มะม่วง ทุเรียน ส้ม มีทั้งปี ผัก ผลไม้พื้นบ้านที่ออกตามฤดูกาลหายไปจากตลาดหมด เด็กๆ รุ่นใหม่ก็ไม่รู้จัก ซึ่งมันก็จะมีความหลากหลายของมันเองตามฤดูกาล แต่ว่ามันถูกเปลี่ยนแปลงการผลิตให้เป็นระบบอุตสาหกรรม มีให้กินกันได้ทั้งปี” และนั่นเป็นวิกฤตด้านอาหารในมุมมองของกินเปลี่ยนโลก เหตุแห่งปัญหาใครบ้างที่มีส่วนทำให้เกิดวิกฤตอาหาร กิ่งกรบอกว่าทั้งระบบตลาดและรัฐเองก็มีส่วนเพราะรัฐส่งเสริมให้มีการผลิตอาหารแบบอุตสาหกรรมมานานกว่า 20 ปี จนทำให้ผู้ผลิตรายย่อยอยู่ลำบาก “ที่บอกว่าลำบากก็คือ ต้องเปลี่ยนไปผลิตแบบอุตสาหกรรมในที่สุด ทั้งใส่ปุ๋ย ใส่ยาฆ่าแมลง ยาเร่งให้มันหัวใหญ่ ให้ฝักใหญ่ บางรายอยู่ไม่ได้ก็ล้มไป ตกไปอยู่ในวงจรของ ‘เกษตรพันธสัญญา’ เป็นหนี้พอมีลูกก็ไม่อยากให้ลูกต้องเป็นเกษตรกร จนเกิดปัญหา ‘วิกฤตเกษตรกรรายย่อย’ ไม่มีใครยอมทำเกษตร ไปเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมแทน แล้วใครจะลงมาทำเกษตร ในเมื่อทำแล้วยิ่งมีหนี้ท่วมหัว นายทุนที่มีเงินก็จะใช้เกษตรพันธสัญญานี่ละ มาบังคับให้ชาวบ้านทำ” “เกษตรพันธสัญญา ก็คือ บริษัทจะนำปัจจัยการผลิตไปให้ชาวบ้าน ซึ่งจะมีทั้งพืชผัก และเนื้อสัตว์ แล้วก็มีสัญญาว่าจะรับซื้อในราคาเท่านั้น เท่านี้ และจะต้องขายให้บริษัทนั้นเพียงบริษัทเดียวเท่านั้น ซึ่งระบบพันธสัญญาที่เก่าแก่ที่สุดก็คืออ้อย ตามมาด้วยไก่ซีพี ไก่สหฟาร์ม ไก่ก้าวหน้า ส่วนหนึ่งทางบริษัทก็จะเลี้ยงเอง แต่อีกส่วนก็จะนำลูกไก่ อาหาร ฮอร์โมน ไปให้ชาวบ้านเลี้ยง โดยให้ชาวบ้านทำโรงเรือนเลี้ยงไว้รอ ถึงเวลาก็มาชั่งน้ำหนักขาย หักลบกลบหนี้กันไป ชาวบ้านก็เป็นเพียงคนรับจ้างเลี้ยง ซึ่งค่าจ้างก็คิดตามอัตราแลกเนื้อ ซึ่งจะเป็นสูตรคิดคำนวณออกมา ได้เท่าไรก็ให้ชาวบ้านไป ซึ่งไม่มีสิทธิต่อรอง แล้วก็จบกันไป เรียกได้ว่าเป็นแรงงานรับจ้างก็ได้ ที่สำคัญคือบริษัทไม่ต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินด้วยนะ แล้วความเสี่ยงก็อยู่กับชาวบ้าน ไก่ตายกี่ตัวก็จะถูกคิดคำนวณเป็นราคาไก่หมด การเป็นแรงงานแบบนี้ชาวบ้านจะมีความสุขหรือเปล่าไม่รู้นะ แต่ที่แน่ๆ ก็คือมันมีตลาดรองรับก็ยังดีกว่าทำมาแล้วไม่มีที่ขาย เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เป็นหนี้ที่กู้มาทำโรงเรือนนั่นล่ะ ก็ต้องทำต่อไป เพราะเขาไม่มีทางเลือก ภาคเหนือก็จะเป็นพวกพืชผลการเกษตรเช่น ฝักข้าวโพดอ่อน ข้าวโพดหวาน ถั่วลันเตา พอได้มาก็จะนำไปอัดกระป๋อง ส่งออกนอก จ่ายค่าจ้างให้เกษตรกรแล้วก็จบ มันเป็นมาแบบนี้จนมาถึงจุดนี้ แต่คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่รู้สึกว่าตกอยู่ในวิกฤต เพราะยังมีอาหารให้กินอยู่ แต่โครงการกินเปลี่ยนโลกมองว่าปัจจุบันนี้ พวกเราตกอยู่ในวิกฤตแล้ว วิกฤตด้านเลือก วิกฤตด้านคุณภาพของอาหาร วิกฤตด้านความปลอดภัย วิกฤตของผู้ผลิต และวิกฤตของผู้บริโภค ความวิกฤตของผู้บริโภคก็คือคนเรามีกำลังซื้อที่ต่างกันทำให้การเข้าถึงการเลือกซื้ออาหารที่มีคุณภาพหรือปริมาณที่ต่างกัน ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น เรื่องเหล่านี้ก็พยายามจะหาวิธีบอกกับทุกคนอยู่ จะเดินเข้าไปบอกว่า ‘เฮ้ย…นี่คุณกำลังกินขยะอยู่นะ’ นั่นก็ใช่ที่ จริงไหม” เธอกลั้วหัวเราะขณะหาวิธีบอกกับผู้คน “อาหารที่คุณกินมันสามารถเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ได้ และก็เชื่อมโยงกับผู้ผลิตรายย่อยด้วย เมื่อผู้ผลิตรายย่อยฟื้น การฟื้นฟูด้านระบบนิเวศน์ก็จะตามมา ไม่ต้องไปใช้ปุ๋ยเคมี หันมาใช้และผลิตด้วยวิธีตามธรรมชาติ คืนความหลากหลาย คืนระบบการผลิต คืนระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมให้กับผู้บริโภค คืนสุขภาพสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยเพราะมันเชื่อมโยงกันไปหมดนั่นเอง” กิน เปลี่ยนโลก ได้อย่างไรสารพัดวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่นี้ กิ่งกรกำหนดตัวแปรสำคัญที่จะช่วยกู้วิกฤตก็คือ ผู้บริโภค เพราะไม่ว่าจะอยากกินอะไร คนผลิตก็ทำออกมารองรับได้หมด และนอกจากผู้บริโภค ตัวแปรอีกตัวก็คือผู้ผลิตรายย่อย อย่างเกษตรกรต่างๆ เพราะเมื่อได้รับการส่งเสริมแล้วก็จะสามารถผลิตอาหารที่มีความหลากหลายตามมา ไม่ต้องพึ่งต้นทุนจากผู้ผลิตรายใหญ่ “อาหารที่คุณกินมันสามารถเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ได้ และก็เชื่อมโยงกับผู้ผลิตรายย่อยด้วย เมื่อผู้ผลิตรายย่อยฟื้น การฟื้นฟูด้านระบบนิเวศน์ก็จะตามมา ไม่ต้องไปใช้ปุ๋ยเคมี หันมาใช้และผลิตด้วยวิธีตามธรรมชาติ คืนความหลากหลาย คืนระบบการผลิต คืนระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมให้กับผู้บริโภค คืนสุขภาพสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยเพราะมันเชื่อมโยงกันไปหมดนั่นเอง” กิ่งกรอธิบายถึงความสัมพันธ์ที่ไม่อาจแยกออกได้ การทำงานของกินเปลี่ยนโลกนั้นมุ่งรณรงค์ไปที่ 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มผู้บริโภคและสื่อมวลชน ซึ่งขณะนี้พยายามติดต่อประสานงานกับสื่อโดยการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้สื่อช่วยขยายต่อ และเปิดรับอาสาสมัคร กินเปลี่ยนโลกผ่านเว็บไซต์ www.food4change.in.th ขึ้นมา “อาสาสมัครของเราจะได้ร่วมกันคิดและวางแผนในการรณรงค์และเผยแพร่แนวคิดให้เป็นที่รับรู้กับสังคมภายนอก โดยอาสาสมัครของเราก็จะเปิดรับคนทั่วไปที่สนใจกิจกรรมและแนวคิดแบบนี้ ซึ่งอาสาสมัครสามารถเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยตัวคุณเอง เริ่มต้นจากการตั้งคำถาม สร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยพฤติกรรมส่วนบุคคล แล้วก็ให้ไปคุยกับคุยกับคนรอบข้าง ทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน เพื่อที่จะกระจายความคิดนี้ออกไป เป็นแรงกระเพื่อมเล็กๆ ที่ค่อยๆ รณรงค์และน่าจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ ส่วนกิจกรรมที่ทางกินเปลี่ยนโลกจัดก็คือการจัดสาธิตการทำหลายๆ อย่างด้วยตัวคุณเอง เช่นทำสบู่ ปลูกผักกินเอง กระแสก็น่าจะไปได้ เพราะคนเราเมื่อพูดถึงการกินก็จะนึกถึงสุขภาพของตัวเองเป็นหลัก แต่เราก็อยากให้คิดไปให้ไกลอีกนิดนึง อยากให้คิดถึงสิ่งแวดล้อมแล้วก็คิดถึงคนปลูกด้วย” เป้าหมายสูงสุดของโครงการกินเปลี่ยนโลก คือเพื่อรักษาฐานทรัพยากรอาหารไว้ให้ได้ นั่นก็คือที่ดินต้องอยู่ในมือของเกษตรกร ไม่เป็นที่ดินให้เช่าหรือของบริษัทใหญ่ มีน้ำ มีป่าไม้ สามารถรักษาฐานทรัพยากรชายฝั่งอย่างป่าชายเลนไว้ได้ และเธอเชื่อว่าผู้ที่จะรักษาทรัพยากรเหล่านี้ได้ก็คือผู้ผลิตรายย่อย ถ้าหากปล่อยให้ตกอยู่ในบรรษัทใหญ่ทุกอย่างก็จะไม่เหลือ เพราะฉะนั้นทั้งเกษตรกรรายย่อยและฐานทรัพยากรต้องอยู่คู่กัน “เราอยากเห็นว่าการเดินเข้าซูเปอร์มาเก็ตต่างประเทศ เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง อยากเห็นคนหันไปจ่ายตลาดสด ไปสนับสนุนแผงผักเล็กๆ แต่ถ้าไม่มั่นใจว่าแผงผักจะปลอดภัยคุณก็ต้องบอกเขาให้หาของดีๆ มาให้คุณกิน ซึ่งแม่ค้าก็ไปหามาได้ ชาวบ้านทำได้ เราเชื่อว่าการตลาดจะส่งผลกระตุ้นระบบการผลิตให้กว้างขวางขึ้น แล้วฐานการผลิตเกษตรกรรมยั่งยืนก็จะขยายตัวไม่ใช่ไปทำมุมเล็กๆ ในห้างสรรพสินค้า ที่มีเพียงกลุ่มคนเล็กๆ เท่านั้นที่เข้าถึง ก็น่าจะเริ่มต้นที่อาสาสมัคร เริ่มที่ตัวเรา จะเริ่มได้ยังไง ง่ายนิดเดียวที่ตลาดสดใกล้บ้านคุณไงก็ไปดูว่ามีวันไหน มีผักอะไรขายบ้าง แม่ค้าเอาผักมาจากไหน แล้วก็ต้องเลือกกินให้เป็นต้องดูว่าผักไหนผักพื้นบ้าน ก็น่าจะเชื่อได้ว่าถูกดูแลมาแบบธรรมชาติมากหน่อย แล้วก็มาทำกับข้าวกินเองไม่ต้องบ่อยก็ได้อาทิตย์ละวัน ปรับชีวิตให้ช้าลงบ้างก็ได้ไม่ต้องให้มันรวดเร็วตลอดเวลาให้เวลากับการกินหน่อย ทำไมจะทำไม่ได้ เวลาคุณซื้อของอย่างซื้อกล้อง หาข้อมูลเช็คสเป็กอยู่นั่นล่ะแต่ว่าเวลาคุณหยิบอะไรเข้าปากเนี่ยคุณไม่เคยเช็คสเป็กของกินของคุณเลย ว่าสเป็กที่คุณอยากได้มันเป็นยังไง เวลาคุณซื้อของคุณเลือกได้แต่ว่าทุกวันนี้คุณซื้อของกิน คุณกลับเลือกไม่ได้ คุณกำหนดสเป็กการกินของคุณไม่ได้ นั่นล่ะเราจึงต้องเปลี่ยนพอเราเริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราก็จะค่อยๆ เปลี่ยน แล้วก็จะเปลี่ยนสู่สังคมกว้างในที่สุด แต่อาจใช้เวลาสักหน่อย” ทำไมจะทำไม่ได้ เวลาคุณซื้อของอย่างซื้อกล้อง หาข้อมูลเช็คสเป็กอยู่นั่นล่ะแต่ว่าเวลาคุณหยิบอะไรเข้าปากเนี่ยคุณไม่เคยเช็คสเป็กของกินของคุณเลย ว่าสเป็กที่คุณอยากได้มันเป็นยังไง เวลาคุณซื้อของคุณเลือกได้แต่ว่าทุกวันนี้คุณซื้อของกิน คุณกลับเลือกไม่ได้ คุณกำหนดสเป็กการกินของคุณไม่ได้ นั่นล่ะเราจึงต้องเปลี่ยนพอเราเริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราก็จะค่อยๆ เปลี่ยน แล้วก็จะเปลี่ยนสู่สังคมกว้างในที่สุด แต่อาจใช้เวลาสักหน่อย” กิ่งกรเชื่ออย่างนั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 ขบวนการผู้บริโภคปี 2551 และการจัดตั้งวิทยาลัยผู้บริโภค

ทุกคนมีสิทธิชนิษฎา วิริยะประสาท สัมภาษณ์ / สุมาลี พะสิม ถ่ายภาพ – เรียบเรียง ทุกวันที่ 15 มีนาคมของทุกปี จะเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights Day) และวันที่ 30 เมษายน ก็จะเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย เพื่อต้อนรับวันสำคัญทั้งสองนี้ ฉลาดซื้อจึงไป “จับเข่าคุย” เรื่องขบวนการคุ้มครองผู้บริโภคของไทย กับ ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ(คคส.) ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการคุ้มครองผู้บริโภคของไทยมานาน เพื่อทบทวนขบวนการผู้บริโภคในปี 2551 และการจัดตั้งวิทยาลัยผู้บริโภค โดยผู้บริโภค สถานการณ์ผู้บริโภคในช่วงปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรผมย้อนไปดูสถานการณ์เมื่อต้นปี 2551 รู้ไหมเรื่องอะไร เรื่องสวนสยาม ผมนั่งคิดดูแล้วมันก็ไม่ใช่ครั้งแรกนะ แต่มันก็ยังเกิดขึ้นอีก มีข่าวออกมาว่าจะปิดแต่สุดท้ายก็ยังเปิดอยู่ พอมากลางปีประเด็นก็จะอยู่ที่การต่อสู้เพื่อให้เกิดการเข้าถึงยาในประเทศไทย ปลายปีก็จะเป็นเรื่องของนมเมลามีนซึ่งเกิดขึ้นในประเทศจีน พอเราดูสถานการณ์ตรงนี้แล้วก็ต้องมาดูว่าผู้บริโภคเรามีทางเลือกไหม แต่พอให้นึกดูก็นึกไม่ออกว่าคืออะไร ผมก็มานึกว่าวันนี้ผมกินข้าวอยู่ ผมก็มีทางเลือก ดูหนังก็มีทางเลือก คือมันมีทางเลือกเยอะ และสิทธิที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดก็คือสิทธิที่จะเข้าถึงยา ซึ่งมันเป็นสิทธิที่พวกเราต่อสู้ในเรื่องนี้กันอย่างมาก (การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร Compulsory Lisensing หรือ CL) และเห็นเป็นรูปธรรม กรณีสวนสยามและเมลามีน ผมคิดว่าเป็นเรื่องสิทธิที่การปกป้องความปลอดภัยยังมีปัญหาอยู่ ส่วนเรื่องผลผลิตที่ดีอย่างมีการผลิตถังน้ำเย็นที่ปลอดสารตะกั่ว การผลิตหม้อก๋วยเตี๋ยว หรือชุดทดสอบน้ำมันทอดซ้ำ ก็ถือว่าเป็นผลที่ดี ตัวที่มีปัญหาเมื่อเกิดปัญหาแล้วกลไกที่จะปกป้องความปลอดภัยยังไม่ดีพอ ซึ่งระบบการปกป้องความปลอดภัย ข้อมูลข่าวสาร การชดเชยความเสียหาย ก็ถือว่ามีกฎหมายที่ออกมาช่วยจัดการ ในความเห็นของผมคือมันจะวิ่งไปด้วยกัน ยกตัวอย่างก็คือ กฎหมายที่บ้านเราออกมาเพื่อผู้บริโภคที่ผ่านมาทั้ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคกับพ.ร.บ.ความรับต่อความเสียหายฯ ซึ่งทั้ง 2 ตัว จะช่วยชดเชยความเสียหายให้ผู้บริโภค ลดภาระการพิสูจน์ที่เดิมผู้บริโภคต้องไปพิสูจน์เองให้ศาลเห็นเมื่อจะฟ้องใคร กฎหมายสองตัวนี้ช่วยให้ผู้บริโภคไม่ต้องมีภาระเรื่องการพิสูจน์อีก ภาระจะกลับไปที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ผลิต คราวนี้ถ้าเกิดปัญหาผู้บริโภคก็ไปฟ้องศาล ไม่ต้องเสียค่าทนาย คือการชดเชยความเสียหายทำได้ง่ายขึ้น ส่วน พ.ร.บ.ความรับต่อความเสียหายฯ ซึ่งโดยเบื้องหลังแล้วกฎหมาย มุ่งที่จะป้องกันความปลอดภัยเป็นหลัก นั่นก็คือผู้ประกอบการก็มุ่งที่จะป้องกันตัวเองเช่นกัน มีการพัฒนาสินค้าตัวเองให้ดีขึ้น มีการทำประกัน จัดการระบบผลิตให้ดีขึ้น จะทำอะไรก็คิดถึงผู้บริโภค บางรายก็บอกว่าต้นทุนเขาต้องสูงขึ้น เมื่อกฎหมายตัวนี้ออกมา แต่มันก็เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตัวผู้บริโภคและตัวของบริษัทเอง ที่บอกว่าจะมีการปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภค อยากมีองค์การอิสระผู้บริโภค ก็ผลักดันกันเรื่อยมา จนปีนี้ 2552 ก็ได้เสนอกฎหมายตัวนี้เข้าไปอีกจะได้หรือเปล่าก็ค่อยว่ากันอีกที แต่ที่มีเกิดขึ้นก็คือขบวนการผู้บริโภค ที่เคยว่าอยากได้ศาลผู้บริโภค ตอนนี้ก็มีศาลผู้บริโภคจริงๆ แล้ว ส่วนจะมีการใช้กันจริงๆ หรือเปล่าก็มาว่ากันอีกที ทิศทางการพัฒนาระบบกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคไทยจะเป็นอย่างไรปี 2551 เราได้กฎหมายมา 2 ตัวคือ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 23 สิงหาคม 2551 และ พ.ร.บ.ความรับต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 หรือ Product Liability (PL Law) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 พอกฎหมาย 2 ตัวนี้ออกมา ก็มีการออกมาคัดค้านกัน และเป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มที่ออกมาคัดค้านก็คือหมอ พวกหมอก็ตื่นตัวกันให้วุ่น เพราะเกรงว่าจะกระทบตัวเอง ถ้าหากจะมองคดีทางการแพทย์ ผมก็มองไม่เห็นเท่าไรนะ ปีหนึ่งมีแค่ 3 – 4 ราย แต่ก็ถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นกลายเป็นว่าผู้บริโภคฟ้องร้องหมอมากขึ้น ภาพเลยออกมาแบบนั้น อย่างกฎหมาย วิฯ ผู้บริโภค นอกจากผู้บริโภคจะฟ้องผู้ประกอบการแล้ว ผู้บริโภคเองก็ถูกฟ้องด้วยเช่นกัน ตามหลักคิดนั้นผมว่ากฎหมายนั้นดีนะ แต่หลักปฏิบัติยังไม่ค่อยดี ตั้งแต่ผู้บริโภคถูกฟ้อง อีกอย่างก็คือเพิ่งเป็นการเริ่มต้นยังไม่ตื่นตัวและยังไม่เข้าใจเรื่องกฎหมายมากนัก ยังกล้าๆ กลัวๆ กันอยู่ ก็ต้องรอการปรับตัวกันสักพัก ผมคิดว่ากฎหมายทั้ง 2 ตัวที่ออกมาถือว่าดีแล้วเพราะมันทำให้เกิดระบบ และถ้าหากมี องค์การอิสระผู้บริโภคเกิดขึ้นจริงอีกก็จะเป็นตัวเสริมให้ดียิ่งขึ้น เมื่อมองในเรื่องของพัฒนาการว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ก็ให้ดูหลักของอาจารย์ประเวศ วะสีในเรื่อง สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ภาควิชาการ เรายังไม่มีระบบที่เชื่อมร้อยกันไปได้ ยังกระจายกันอยู่ อย่างเช่น การดึงหน่วยงานต่างๆ เช่น สถาบันวิจัยโภชนาการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เข้ามาเพื่อดึงข้อมูลความรู้ออกมาใช้ มันก็ยังไม่ถึงที่สุด กลุ่มนักวิชาการก็ยังไม่เกิดกลุ่มและยังไม่มีการจัดระบบกันเอง ภาครัฐ ก็เริ่มที่จะเห็นถึงพลังผู้บริโภคบ้างแล้ว ก็เริ่มที่จะมีการพัฒนากลไกเกิดขึ้น แต่ภาครัฐก็ยังเป็นภาครัฐอยู่นั่นเอง ภาคผู้บริโภค ผมมองว่าขณะนี้กลุ่มผู้บริโภคเกิดความเคลื่อนไหวและเติบโตอย่างมาก เพราะมีการเติบโตจากประสบการณ์และการเรียนรู้จริงทั้งจากเวทีต่างๆ และจากเครือข่ายด้วยกันเอง เครือข่ายต่างๆ ของผู้บริโภคก็เติบโตอย่างมาก อย่างเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ถือว่ามีการเติบโตอย่างมาก คือเราทำงานกันแบบมีขบวนการการเคลื่อนไหว เรียนรู้จริงไม่ใช่จับคนมานั่งในห้องแล้วก็อัดข้อมูลเข้าไป ไม่ใช่…เราเรียนรู้จักประสบการณ์และการทำงาน ผมขอชมเลยนะว่า ขบวนการผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถือว่าค่อนข้างสำเร็จกลุ่มอื่นๆ ก็จับตามองว่ามีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ทำไมไม่จับเรื่องอาหารหรือเรื่องสุขภาพอื่นๆ แต่ก็สามารถพัฒนาจนมีเครือข่ายผู้บริโภคได้ในที่สุด ถ้ามองถึงพัฒนาการที่ผ่านมา ขณะนี้ก็ถือว่าดีขึ้นเยอะมีกลไกต่างๆ เกิดขึ้นเยอะมองย้อนไปตั้งแต่ปี 2547 ที่มีการจัดเวทีสภาผู้บริโภคขึ้นที่ ม.ธรรมศาสตร์ ที่บอกว่าจะมีการปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภค อยากมีองค์การอิสระผู้บริโภค ก็ผลักดันกันเรื่อยมา จนปีนี้ 2552 ก็ได้เสนอกฎหมายตัวนี้เข้าไปอีก จะได้หรือเปล่าก็ค่อยว่ากันอีกที แต่ที่มีเกิดขึ้นก็คือขบวนการผู้บริโภค ที่เคยว่าอยากได้ศาลผู้บริโภค ตอนนี้ก็มีศาลผู้บริโภคจริงๆ แล้ว ส่วนจะมีการใช้กันจริงๆ หรือเปล่าก็มาว่ากันอีกทีอยู่ที่การทำความเข้าใจและการนำไปใช้ เราจะเอาไปขยายอย่างไรนั่นก็เป็นสิ่งที่เราต้องทำ ว่าเราจะใช้วิธีการอย่างไร จะใช้วิธีการเดิมก็ได้ เราใช้ฉลาดซื้อ ใช้รายการโทรทัศน์ที่มูลนิธิทำอยู่ก็ได้นะ แล้วเรื่องที่จะมีวิทยาลัยผู้บริโภค การเคลื่อนเรื่องผู้บริโภคในสภาวิชาชีพเองก็มีการพูดคุยกันอยู่เหมือนกัน และขณะนี้สถาบันผู้เชี่ยวชาญอย่าง ด้านเด็ก ด้านรังสี ก็จะมีเยอะมาก แล้วก็มีวิทยาลัยเภสัชกรรมบำบัด ก็เป็นส่วนที่จะบำบัดดูแลเด็ก เราก็ไปสร้างวิทยาลัยคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นมาบ้าง ระเบียบข้อบังคับทำเสร็จหมดแล้วนะ ก็รออยู่ ก็มีการยอมรับจากหลายเครือข่ายแต่มีปัญหากับแพทยสภาอย่างเดียว เราก็พยายามเลี่ยงๆ ถ้าหากว่ามีตรงนี้ออกมาจริงๆ ก็จะดีมาก ตอนนี้ที่มองอยู่ทั้งฝั่งสภาวิชาชีพและฝั่งผู้บริโภคก็คือ “ขาดคน” แต่เราก็มีกำลังคนที่มีคุณภาพอยู่ ทำอย่างไรเราถึงจะได้คนที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น จะต้องทำอย่างไร จะมีวิธีการทำวิทยาลัยผู้บริโภคอย่างไร จะใช้เวทีจัดประชุมวิชาการ มีเวทีพูดคุยกันอย่างไร อย่างตอนนี้เขาก็มีเยอะไปอย่างด้านการเมืองก็จะมีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สถาบันขวัญเมือง วิทยาลัยผู้บริโภคของเราก็น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่รูปแบบเป็นอย่างไร ต้องมาคุยกันอีกที จะตั้งอยู่ที่ไหน หรือควรจะเป็นอย่างไร มันก็ยังเป็นฝันอยู่นะ ที่ต้องการทำแบบนี้ก็เพราะต้องการทรัพยากรบุคคลอย่างวันนี้มีเรื่องซานติก้า เรื่องสิทธิบัตรยา เรื่อง FTA นั่นก็เป็นบทเรียนได้เลยนะ แต่ละบทก็ว่ากันไป คือในช่วงชีวิต มันก็จะมีเหตุการณ์การเข้ามาให้เราเรียนรู้แต่ละบทไปเรื่อยๆ ทีนี้ละเราจะมีวิธีการอย่างไรที่จะหยิบเหตุการณ์เหล่านี้มาใช้อย่างไร ซึ่งในภาควิชาชีพทำง่ายเพราะมีสถาบันมีบุคคลอยู่แล้ว แต่ว่าภาคประชาชนจะเป็นอย่างไร ก็ต้องมาช่วยกันคิดว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนเรื่ององค์การอิสระผู้บริโภคหากมีการเกิดขึ้นมาจริงๆ ก็สามารถนำมาไว้ในวิทยาลัยผู้บริโภคได้ ก่อนจะปิดการสัมภาษณ์ อ.วิทยา ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าหากองค์การอิสระผู้บริโภคขึ้นมาจริงๆ ก็คงต้องมาดูกันว่าจะเป็นอย่างไร ใครจะเข้าไปในส่วนบริหาร บุคลากรของเรามีพอไหม นั่นเป็นโจทย์ที่ คนทำงานผู้บริโภคอย่างฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภค และส่วนที่ทำงานด้านผู้บริโภคต้องขบให้แตกกันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >