ฉบับที่ 224 ‘ยาปฏิชีวนะในพืชและสัตว์’ เมื่อผู้บริโภคอาจกินเชื้อดื้อยาเข้าปาก

ในช่วง 5-6 ปีหลังๆ มานี้ บุคลากรด้านสาธารณสุขและนักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ทำการรณรงค์เรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลบ่อยครั้งขึ้น ถึงกระนั้น การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุสมผลจนก่อผลกระทบด้านสุขภาพก็ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง        ข้อมูลจาก ‘ภูมิทัศน์ของสถานการณ์และการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย’ ที่จัดทำโดยคณะกรรมการประสานและบูรณาการงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพ เมื่อปลายปี 2558 ให้ข้อมูลว่า ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 700,000 ราย และหากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เมื่อถึงปี 2593 คาดว่าการเสียชีวิตจะสูงถึง 10 ล้านคน โดยทวีปเอเชียและแอฟริกาจะเสียชีวิตมากที่สุดคือ 4.7 และ 4.2 ล้านคน ตามลำดับ ส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจสูงถึง 3,500 ล้านล้านบาท        องค์การอนามัยโลกยังระบุด้วยว่าแนวโน้มการดื้อยาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะทำให้โลกเข้าสู่ยุคหลังยาปฏิชีวนะ(Post-antibiotic era) ที่การติดเชื้อแบคทีเรียเพียงเล็กน้อยอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตและเข้าสู่การล่มสลายทางการแพทย์แผนปัจจุบัน เนื่องจากไม่สามารถทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น การผ่าตัดทั่วไป การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนหรือปลูกถ่ายอวัยวะ รวมทั้งการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัดได้อีกต่อไป เพราะหัตถการทางการแพทย์เหล่านี้ต้องพึ่งพิงประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะในการป้องกันและรักษาการติดเชื้อ         ส่วนในประเทศไทย ประมาณการเบื้องต้นคาดว่า มีการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 87,751 ครั้ง        เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา 38,481 รายหรือร้อยละ 40 ของผู้ติดเชื้อดื้อยาต้องอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้น 3.24 ล้านวัน มูลค่ายาต้านจุลชีพที่ใช้รักษาคิดเป็น 2,539-6,084 ล้านบาท เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 0.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ        จากข้อมูลดังกล่าว ผู้บริโภคที่ไม่เจ็บ ไม่ไข้ ไม่ต้องทานยา ไม่ต้องผ่าตัด อาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว ทว่า ในความเป็นจริงปัญหาดังกล่าวใกล้ตัวกว่าที่คิด เพราะเป็นไปได้ว่าเชื้อดื้อยาอาจมากับอาหารที่เรากิน โดยเฉพาะส้มและปลาทับทิม นี่ยังไม่รวมถึงการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมหรือน้ำที่เราใช้อุปโภคบริโภค  แม่น้ำที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ         ต้องกล่าวก่อนว่าการทำปศุสัตว์อย่างหมู ไก่ หรือโคนม และการเลี้ยงปลามีการใช้ยาปฏิชีวนะอยู่แล้วโดยทั่วไป เกษตรกรสามารถซื้อยาปฏิชีวนะสำหรับสัตว์ได้ตามร้านขายเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร ซึ่งเคยมีการสำรวจพอเชื้อดื้อยาทั้งในหมูและไก่มาแล้ว ส่วนในสัตว์น้ำพบเชื้อดื้อยาในปลามากกว่ากุ้ง โดยเฉพาะการดื้อต่อยา tetracycline, oxytetracycline และ sulfamethoxazole แน่นอนว่าเรื่องนี้ชวนวิตกกังวล เพราะในคนที่มีอาการแพ้ยา การได้รับเชื้อดื้อยาเพียงน้อยนิดอาจหมายถึงชีวิต         ภก. สันติ โฉมยงค์ เภสัชกรชำนาญการ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอยุธยา เปิดเผยกับ ‘ฉลาดซื้อ’ ว่า         การติดตามการใช้ยาปฏิชีวนะในกระชังปลาทับทิมในแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยุธยา อ่างทอง ไปจนถึงชัยนาท พบว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะหลายกลุ่มในการเลี้ยงปลา ตั้งแต่ที่ผสมมากับอาหารเลยก็คือ tetracycline กลุ่มที่ใช้รักษาโรคพื้นๆ อย่าง penicillin amoxicillin แล้วก็มีกลุ่มที่ใช้รักษาโรคพิเศษคือกลุ่ม quinolone ซึ่งเป็นกลุ่มยาสัตว์        ภก. สันติ ยังบอกอีกว่า ยากลุ่ม quinolone นี้ยังไม่แน่ใจว่าขึ้นทะเบียนถูกต้องหรือเปล่าหรือว่ามาจากตลาดมืด แต่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายพอสมควร ตั้งแต่ต้นน้ำก็คือเขื่อนเจ้าพระยาที่ชัยนาทมาถึงอยุธยาซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำ พบว่ามีการใช้อย่างไม่มีการควบคุม ชาวบ้านสามารถหาซื้อมาใช้ตามคำบอกเล่าหรือแบบบอกต่อจากเพื่อนที่ทำกระชังปลาด้วยกัน         “ผู้ประกอบการจะประเมินจากจำนวนปลาที่อยู่ในกระชังมากน้อย เพราะถ้าความหนาแน่นของปลาในกระชังมีมาก ปลาก็มีโอกาสจะเป็นแผลหรือเกิดโรค เขาก็จะใช้ยาในสัดส่วนที่มากขึ้น ส่วนตัว amoxicillin เขาจะใช้ละลายน้ำแล้วก็หว่านลงในกระชัง ซึ่งเขาก็จะมีความถี่ในการให้ เช่น ให้เช้าเย็นหรือให้ติดต่อกัน 7 วันเหมือนมีคนแนะนำมาว่าควรจะทำแบบนี้ๆ และในส่วนที่เป็นโรคระบาดหรือโรคที่มาตามฤดู เขาก็จะใช้ตัว quinolone ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นยาสัตว์ แต่โดยแพ็คเกจแล้วดูเหมือนจะเป็นยาในตลาดมืดมากกว่า ไม่ใช่ยาที่ขายโดยทั่วไป         สิ่งที่เรากังวลก็คือการที่ทั้งผสมอาหารให้ปลากินทุกวันหรือผสมน้ำแล้วหว่านลงในกระชังติดต่อกัน 7 วัน 14 วัน มันเป็นการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคิดว่ามันเชื่อมโยงกับเรื่องเชื้อดื้อยาที่กำลังแพร่หลายมากขึ้น เพราะจะไม่ใช่แค่ตัวปลาในกระชังที่ได้รับยานี้ แต่มันหมายถึงสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำเจ้าพระยาอื่นๆ ก็จะได้รับยาปฏิชีวนะไปด้วย ซึ่งถ้ามันมียีนดื้อยา การที่เราไปบริโภคอาหารที่มีเชื้อดื้อยาอยู่มันจะส่งผลกระทบกับเราหรืออาจจะตกค้างในแม่น้ำ” ภก.สันติ กล่าว  เชื้อดื้อยาในสวนส้ม          อีกกรณีหนึ่งที่เริ่มมีการใช้ยาปฏิชีวนะมากขึ้นคือการใช้รักษาโรคพืช โดยเฉพาะโรคกรีนนิ่งในพืชตระกลูส้ม เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มโอ และมะนาว โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Candidatus Liberibacterasiaticus ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมากแก่เกษตรกร         ต่อมางานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พบว่า ยาปฏิชีวนะสามารถช่วยรักษาโรคกรีนนิ่งได้ผลดี โดยมีการทดลองเปรียบเทียบยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด คือ tetracycline, penicillin และ ampicillin พบว่า ampicillin ที่เป็นแคปซูลทั้งขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัมได้ผลดีที่สุด จึงมีการส่งเสริมการฉีดยาปฏิชีวนะเข้าต้นส้มเพื่อรักษาโรคดังกล่าว ส่งผลให้การใช้ยาปฏิชีวนะในส้มเป็นไปอย่างแพร่หลาย         จากการลงสำรวจพื้นที่อำเภอเชียงของของ ภก.อิ่นแก้ว สิงห์แก้ว เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จังหวัดเชียงราย พบว่า มีเกษตรกรประมาณร้อยละ 80 ของสวนที่ใช้ยาปฏิชีวนะ แต่อัตราการใช้ยังไม่รุนแรง ส่วนใหญ่จะใช้ประมาณปีละครั้งหรือปีละ 2 ครั้งเท่านั้น         “การใช้ยาปฏิชีวนะที่เชียงของจะได้รูปแบบมาจากฝาง จะใช้แบบผสมน้ำ ใช้สว่านเจาะรูต้นส้ม แล้วก็ฉีดเข้าไป บางส่วนก็จะใช้ไซริงค์ใหญ่ๆ ประมาณ 20 ซีซีปักคาที่ต้นไว้ บางส่วนก็จะใช้อัดเข้าไปในขวดโค้กแล้วต่อสายน้ำเกลือห้อยไว้ ส่วนใหญ่ก็จะมี 2 รูปแบบนี้ ทางเรากำลังอยู่ในช่วงเก็บข้อมูลทำเป็นทะเบียนผู้ผลิตส้มและทะเบียนยาปฏิชีวนะที่ใช้ในสวนจึงยังไม่ทราบปริมาณการใช้ที่แน่นอน ส่วนยาที่ใช้จะเป็น ampicillin กับ amoxicillin ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในคนด้วยสำหรับโรคติดเชื้อทั้งหลาย”         ขณะนี้ในพื้นที่อำเภอเชียงของโดยมีนายอำเภอเป็นประธานได้ร่วมกับหลายหน่วยงาน ทั้งสาธารณสุข โรงพยาบาล เกษตรกรผู้ปลูกส้ม และสำนักงานเกษตร เพื่อทำการสำรวจ พูดคุย และแก้ปัญหา โดยจะมีการจัดทำทะเบียนผู้ปลูกส้มและทะเบียนสารเคมี ทั้งยาปฏิชีวนะและยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลงทั้งหลายว่ามีการใช้อย่างไรบ้าง         ภก.อิ่นแก้ว ให้ข้อมูลว่าเกษตรกรซื้อยาปฏิชีวนะจากร้านขายยาหรือร้านเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้สำหรับสัตว์เท่านั้น แต่เกษตรกรก็นำไปดัดแปลงใช้เพราะมีการวิจัยว่าใช้ได้ผล แต่ไม่ได้มีการศึกษาผลระยะยาวเรื่องการดื้อยา         เมื่อถามต่อว่ายาปฏิชีวนะสามารถซื้อได้เองตามร้านขายยาโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์หรือ?         เขาตอบว่าไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์และกฎหมายก็ไม่ได้บังคับ เพราะการจะมีใบสั่งยาแพทย์ต้องเป็นยาควบคุมพิเศษ แต่ยาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาควบคุมพิเศษเป็นแค่ยาอันตรายทั่วไป        อย่างไรก็ตาม การใช้ยาปฏิชีวนะในส้มในอำเภอเชียงของยังมีไม่มากเมื่อเทียบกับอำเภอฝาง จากการลงพื้นที่สำรวจ หลายสวนเริ่มมีความถี่ในการฉีดยาต้นส้มเพิ่มขึ้นจากปีละครั้งเป็นปีละ 2 ครั้ง ล่าสุดที่พบคือ 2 เดือนครั้ง เกษตรกรบอกว่าถ้าไม่ทำแบบนี้จะเอาไม่อยู่ ซึ่งน่าสงสัยว่าเชื้อในต้นส้มจะดื้อยาหรือเปล่า                 “มันไม่มีกฎหมายห้ามไว้ว่าห้ามใช้ยาปฏิชีวนะในสวน แต่กฎหมายจะดูแหล่งแพร่กระจายคือ ร้านยาเวลาขายจะต้องมีใบอนุญาต แล้วเขาจะมีการควบคุมปริมาณและมีรายงาน แต่ปัจจุบันนี้ก็ไม่ค่อยมีที่ไหนรายงานเท่าไหร่ทำให้เกษตรกรไปซื้อตามร้านขายยาได้คราวละมากๆ และอีกปัญหาหนึ่งคือการลักลอบนำเข้าที่เรายังหาเส้นทางไม่เจอ แต่เรารู้ข้อมูลจากตัวผลิตภัณฑ์เพราะมันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนในประเทศไทย         “ของเชียงของตอนนี้ถ้าเราสำรวจผลิตภัณฑ์เสร็จเรียบร้อยว่ามีตัวไหนบ้าง ใช้ปริมาณเท่าไหร่ ก็มีแผนว่าจะทำเป็นสวนตัวอย่างควบคุม อาจมีการทำวิจัยดูปริมาณสารตกค้างในส้มเพราะเท่าที่เคยอ่านรายงานมาต้นส้มจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือนในการกำจัดยาออกจากต้นหมด นั่นหมายความว่าเกษตรกรน่าจะฉีดก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 4 เดือนถ้าจะฉีด ตอนนี้ทางเชียงของทั้งกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มต่างๆ ก็ตกลงกันว่าจะทำเป็นตารางการฉีด ถ้าคุณจะฉีดจะฉีดในปริมาณเท่าไหร่ ในระยะเวลาเท่าไหร่ เพื่อให้แน่ใจว่าผลส้มที่ออกมามันปลอดภัย แต่การห้ามฉีดเป็นไปไม่ได้เพราะชาวบ้านก็ลงทุนกับต้นส้มไปเยอะ ถ้ามันติดเชื้อต้องเผาทิ้งทั้งไร่ ก็เหมือนเผาเงินทิ้ง” ภก.อิ่นแก้ว กล่าวกลไกกำกับดูแลที่หละหลวม-การแก้ปัญหาต้องมองทุกมิติ         ไม่จำเป็นต้องถามว่าการใช้ยาปฏิชีวนะในปลาและพืชจะเกิดการตกค้างในสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า แต่ต้องถามว่ามีการตกค้างมากแค่ไหน ซึ่งไม่มีใครรู้ตัวเลขที่แน่ชัดในปัจุบัน ภก.สันติ กล่าวว่า         “การตรวจสอบเป็นสิ่งที่เราเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาทำ เพราะการตรวจสอบมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและต้องตรวจในแล็บที่เชื่อถือได้ ซึ่งตัวชาวบ้านเองหรือเครือข่ายที่เฝ้าระวังไม่มีกำลังพอที่จะไปเก็บตัวอย่างมาตรวจสอบ เราก็เรียกร้องมาหลายปีแล้ว เช่นกรมทรัพยากรธรรมชาติหรือเกษตรที่ตรวจคุณภาพน้ำ ซึ่งเขาตรวจคุณภาพน้ำอย่างเดียว แต่ไม่ได้ตรวจเรื่องเชื้อดื้อยา อันนี้เราเรียกร้องว่าควรจะตรวจโดยเฉพาะในช่วงที่มีการทำกระชังปลาน้ำจืดเยอะๆ”         ปัญหาไม่ใช่แค่นั้น แต่กลไกที่จะคอยกำกับดูแลก็ยังมีข้อติดขัด ภก.ศุภนัย ประเสริฐสุข หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู และผู้ประสานงานเครือข่ายยาชายแดนและผลิตภัณฑ์สุขภาพข้ามแดน กล่าวว่า ในปศุสัตว์มีการใช้ยาปฏิชีวนะมาก แต่ก็มีกลไกกำกับดูแล แต่ในภาคเกษตรแม้อาจจะใช้น้อยกว่า แต่ไม่มีกลไกในการกำกับดูแล         กลไกการกำกับดูแลหมายความว่า รู้ว่ามีการใช้และสามารถประเมินตรวจสอบได้ว่าใช้แล้วจะมีผลกระทบอย่างไร ใช้แล้วสามารถป้องกันไม่ให้เกิดยีนดื้อยามนุษย์ได้ ซึ่งถ้ามีกลไกแบบนี้ก็จะสามารถลดปริมาณการใช้หรือจำกัดการใช้ในปริมาณที่ถูกต้องหรือกลุ่มยาที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดยีนดื้อยา ภาคเศรษฐกิจก็สามารถเจริญเติบโตได้ ขณะที่ด้านสาธารณสุขก็ลดการดื้อยาจากเชื้อดื้อยาได้         กลไกในที่นี้หมายถึงกระบวนการตั้งแต่ต้นทาง เช่น ยาปฏิชีวนะจะถูกนำไปใช้อะไรบ้าง เกษตรกรรม ปศุสัตว์ ต้องผ่านหน่วยงานที่กำกับดูแลหลายๆ ส่วน แต่ปรากฏว่าเกษตรกรรายย่อยสามารถซื้อยาเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย ใครมาซื้อก็ได้ ซื้อจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ ทำได้เลย ถ้าเป็นรายใหญ่มีข้อมูลว่ามีการสั่งซื้อยากลุ่ม penicillin จากอินเดียที่ใช้ในสวนส้มจำนวนมาก ซึ่งปรากฏว่าเป็นยาที่ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่ได้ผ่านหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล เพราะถ้ามีการกำกับดูแลยาเหล่านี้จะไม่สามารถนำมาขายในประเทศไทยได้เพราะไม่ถูกขึ้นทะเบียน ไม่มีฉลาก         “การใช้ยาปฏิชีวนะในสวนส้มทางภาคเหนือก็มีการใช้พร่ำเพรื่อและไม่มีกลไกตรวจสอบเลย เพราะว่าประเด็นนี้เราไม่สามารถเข้าไปกำกับดูแลได้โดยตรง กฎหมายทางด้านสาธารณสุขก็ยังไม่มีอันไหนที่สามารถใช้ได้โดยตรงมากนัก จะใช้กฎหมายอาหารก็ไม่สามารถทำได้ ก็ต้องไปทำการตรวจวิเคราะห์และการตรวจวิเคราะห์ทุกวันนี้ก็ไม่ง่ายต้องส่งแล็บที่มีสเกลสูง ซึ่งตามต่างจังหวัดไม่สามารถทำได้”        จากชุดประสบการณ์ที่ทาง ภก.ศุภนัยและคณะทำเรื่องสเตียรอยด์ การนำเข้ายาปฏิชีวนะมีได้ 2-3 ทาง ทางหนึ่งคือ สำแดงเท็จแล้วก็นำเข้ามาโดยตรง ซึ่งต้องผ่านนายหน้า ผ่านบริษัท เพราะโดยกระบวนการที่ถูกต้องเวลาจะนำเข้ายาต้องขออนุญาตนำเข้าผ่านศุลกากร แล้วไปสำแดงกับสำนักด่านอาหารและยาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พอได้รับใบอนุญาตนำเข้าก็จะมีระบบ tracking ว่านำเข้าโดยบริษัทใดนำไปผลิตเป็นยาอะไร ปริมาณเท่าไหร่ ส่งให้ใคร แล้วก็มาบวกรวมกันว่าสารเคมีที่เหลือถูกต้องตรงกันกับที่ผลิตและกระจายใช้ในประเทศหรือไม่ ดังนั้น คนที่ตั้งใจจะทำผิดจึงไม่เข้าระบบนี้เพราะติดตามได้ว่ายากระจายไปที่ไหน เหลืออยู่เท่าไหร่ จึงมีการลักลอบนำเข้าแล้วกระจายขาย         เหล่านี้แสดงให้เห็นกลไกกำกับดูแลที่ยังหละหลวมและกฎหมายที่จะใช้บังคับก็ไม่มีความชัดเจน กลายเป็นช่องโหว่สำคัญให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะในพืชเพิ่มขึ้น         อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ไม่สามารถมองในประเด็นด้านสุขภาพเพียงอย่างเดียวแล้วจะสามารถแก้ปัญหาได้ เพราะมันเชื่อมโยงถึงเรื่องปากท้องของชาวบ้านที่ทำสวนและเลี้ยงปลา การห้ามใช้ยาปฏิชีวนะอาจหมายถึงการล้มละลายเพราะผลผลิตเสียหาย หากมองในภาพรวม จำเป็นต้องมองให้ครอบคลุมเรื่องเศรษฐกิจ การสร้างทางเลือกในอาชีพ การถือครองที่ดินทำกินเพราะผู้เลี้ยงปลาในแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนไม่น้อยไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง การเลี้ยงปลาในกระชังจึงเป็นทางออกไม่กี่ทางในการเลี้ยงชีพ        การแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาจึงมองมิติด้านสาธารณสุขอย่างเดียวไม่ได้ ต้องครอบคลุมถึงด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และต้องมองเห็นมนุษย์ที่อยู่ในวงจรนี้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 รู้เท่าทันสมุนไพรฟิวชั่น

รู้เท่าทันสมุนไพรฟิวชั่น        เดี๋ยวนี้มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพกันทางสื่อต่างๆ อย่างมากมาย ผลิตภัณฑ์สุขภาพส่วนใหญ่ก็เป็นผลิตภัณฑ์หน้าเดิมๆ แต่นำมาปรับรูปโฉมใหม่ เพราะผลิตภัณฑ์สุขภาพก็มีอายุความนิยมสั้นเหมือนสินค้าทั่วไป จึงต้องนำมาปรับเปลี่ยนเพื่อให้ดูเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ จะได้เพิ่มยอดขายและขายต่อไปได้อีกระยะเวลาหนึ่ง ที่กำลังมาแรงมากคือ การนำสมุนไพรหลายๆ ตัวมาผสมรวมกัน หรือที่เราเรียกกันว่า ฟิวชั่น นั่นเอง มารู้เท่าทันสมุนไพรฟิวชั่นกันเถอะ นึกว่ามีแต่อาหารฟิวชั่น         เมื่อพูดถึงการฟิวชั่น หลายคนจะคิดถึงอาหารฟิวชั่น บางคนคิดถึงการฟิวชั่นดนตรี การฟิวชั่นเป็นการนำสิ่งต่างๆ ที่ต่างวัฒนธรรม ต่างรูปแบบ มาหลอมรวมกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ รูปแบบการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ต้องการความแปลกใหม่ และความสร้างสรรค์ การฟิวชั่นจึงตอบสนองวิถีชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดีและรวดเร็ว         ในสมัยก่อนเราก็มีการนำวัฒนธรรมอาหาร ดนตรี การแพทย์ของที่อื่น มาปรับใช้กับวิถีชีวิตคน แต่ก็ผ่านการเลือก รับ ปรับ ใช้ และประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบทสังคมไทย เช่นอาหารหลายอย่างของต่างประเทศก็ถูกปรับเปลี่ยนรูปร่าง รสชาติ ให้เข้ากับคนไทย การแพทย์ดั้งเดิมจากอินเดียที่ผ่านมาทางพระพุทธศาสนาก็ผสมผสานกับการแพทย์พื้นบ้านจนกลายเป็นการแพทย์แผนไทย           ตำรับยาไทยเป็นสมุนไพรฟิวชั่นหรือไม่                      ความจริงแล้วตำรับยาสมุนไพรของไทยก็เป็นการฟิวชั่นสมุนไพรมานานหลายร้อยปี โดยใช้หลักการตั้งตำรับยาตามการแพทย์แผนไทย โดยเน้นเรื่องยาหลัก ยารอง รสของยา ตามสมุฏฐานการแพทย์แผนไทย สมุนไพรบางตัวที่เป็นสมุนไพรต่างประเทศ ก็มีการปรับเอาสมุนไพรภายในประเทศที่มีสรรพคุณเหมือนกันมาทดแทน และเมื่อนำมาใช้รักษาโรคกับคนไทย ก็เก็บประสบการณ์การใช้ ผลที่เกิดขึ้น นำมาปรับใช้ให้เหมาะกับธาตุสมุฏฐานของคนไทย เหมาะกับอุตุสมุฏฐานของประเทศไทย ซึ่งต้องใช้เวลานับชั่วอายุคน สมุนไพรฟิวชั่นที่โฆษณาเป็นการเลือก รับ ปรับ ใช้สมุนไพรให้เหมาะกับสังคมไทยหรือไม่        การนำสมุนไพรหลายๆ ตัวมาผสมกันเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ ที่มีการโฆษณาขายกันนั้น มีมากมายหลายชนิด เช่น นำสมุนไพรที่มีสรรพคุณบำรุงร่างกาย ผสมกับสมุนไพรที่มีสรรพคุณต้านการเสื่อม ต้านการอักเสบ ต้านมะเร็ง เป็นต้น มาผสมรวมกัน โดยเชื่อว่า เนื่องจากมีสมุนไพรหลายตัว แต่ละตัวมีสรรพคุณต่างๆ นานา ดังนั้นเมื่อนำมารวมกัน จึงมีสรรพคุณแบบครอบจักรวาล รักษาได้เกือบทุกโรค เหมือนกับสมุนไพรที่พ่อค้าเร่ชอบอวดอ้างว่า “กินก็ได้ ทาก็ได้ อาบได้ก็ดี”         การผสมสมุนไพรหลายๆ ตัวเข้าด้วยกัน โดยเชื่อว่าจะได้มีสรรพคุณหลากหลาย เป็นความคิดแบบวิทยาศาสตร์ ที่แยกส่วนสิ่งต่างๆ ออกจากกัน และเมื่อนำมารวมกันก็เป็นการรวมสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน รวมสรรพคุณต่างๆ ของสมุนไพร ที่จริงแล้วกล่าวได้ว่า เป็นความคิดแบบธุรกิจการขายสินค้ามากกว่า การแพทย์อื่นๆ มีสมุนไพรฟิวชั่นหรือไม่         การแพทย์ดั้งเดิมของจีน อินเดีย ต่างก็มีตำรับยาสมุนไพรจำนวนมาก แต่การฟิวชั่นใช้หลักทฤษฎีทางการแพทย์ดั้งเดิม ซึ่งยึดหลักร้อน เย็น รสของยา เป็นหลัก ไม่ใช่เอายาสมุนไพรแต่ละตัวมารวมกันตามสรรพคุณ         สรุป     สมุนไพรฟิวชั่นที่โฆษณากันทั่วไปนั้น เป็นการฟิวชั่นที่ไม่ได้ใช้องค์ความรู้การแพทย์ดั้งเดิม จึงไม่สามารถเชื่อได้ว่าจะมีสรรพคุณต่างๆ ตามโฆษณา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2562

องค์กรผู้บริโภค และ ETDA จับมือผู้ประกอบการ ทำ MOU ซื้อขายออนไลน์ปลอดภัย        19 กันยายน องค์กรผู้บริโภค และ ETDA จับมือผู้ประกอบการ ทำ MOU ซื้อขายออนไลน์ปลอดภัย หวังคุ้มครอง เยียวยาผู้บริโภคจากการถูกหลอก         คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด บริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยู จำกัด และบริษัท บิวตี้ นิสต้า จำกัด ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง “การคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์” ณ ห้อง 201 ชั้น 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมี นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว         โดยนายณัฏฐชัย ศรีรุ่งสุขพินิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้เกิดจากองค์กรผู้ร่วมลงนามและพยานทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในการซื้อขายออนไลน์ จึงร่วมกับ ETDA และผู้ประกอบการออนไลน์ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์” นี้ขึ้น เพื่อเป็นกรอบในการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกัน ทำให้การซื้อขายออนไลน์มีความปลอดภัย น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น         ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ความร่วมมือในการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ซื้อขายออนไลน์ในครั้งนี้ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างองค์กรผู้บริโภค หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการตลาดออนไลน์หลายครั้ง เพื่อให้เกิดระบบและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการซื้อขายออนไลน์ ซึ่งบันทึกความร่วมมือนี้จะคลอบคลุมสาระสำคัญทั้งหมด 7 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการตรวจสอบร้านค้าที่ร่วมจำหน่ายสินค้าหรือบริการ 2. ด้านการแสดงข้อมูลของร้านค้าที่ร่วมจำหน่ายสินค้าหรือบริการ 3. ด้านการมีระบบให้ข้อมูลจำเป็นแก่ผู้บริโภค 4. ด้านระบบรักษาความปลอดภัยทางการเงิน โดยมีระบบ “คนกลาง” 5. ด้านนโยบายความเป็นส่วนตัว 6. ด้านการมีช่องทางร้องเรียน และระบบติดตามเรื่องร้องเรียน และ 7. ด้านการมีนโยบายความพึงพอใจ การคืนสินค้าและการเยียวยาแก่ผู้บริโภค          ขณะที่นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ผลสำรวจของ ETDA พบว่า มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซ เพิ่มสูงขึ้น จาก 2.7 ล้านล้านบาทในปี 2560 เป็น 3.2 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน ส่วนบีทูซี (B2C) ของประเทศไทยก็สูงเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน และเมื่อเทียบมูลค่าระหว่างปี 2559 กับปี 2560 พบว่า มีมูลค่าเพิ่มถึงกว่า 1 แสน 6 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี ระบบอีเพย์เมนท์ (e - Payment) ที่สะดวกมากขึ้น การขนส่งที่รวดเร็ว ทำให้คนหันมานิยมซื้อของออนไลน์สูงขึ้น ท่ามกลางการทำธุรกรรมทางออนไลน์ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด กลับพบปัญหา การโกง ฉ้อฉล เอารัดเอาเปรียบผู้โภคอย่างต่อเนื่อง        จากสถิติศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (1212 OCC) พบว่า ในปี 2560 มีการร้องเรียนจำนวน 9,987 ครั้ง และเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในปี 2561 ที่พบเรื่องร้องเรียนสูงถึง 17,558 ครั้ง เฉลี่ย 1,463 ครั้งต่อเดือน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการซื้อแล้วไม่ได้รับสินค้า สินค้าไม่ตรงตามสเปกที่ตกลง สินค้าผิดกฎหมาย ไม่มีมาตรฐาน ซึ่งการลงนามครั้งนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต  เผย “บุหรี่ไฟฟ้า” ลดสูบไม่เกิน 10%        การประชุมการขับเคลื่อนเชิงนโยบายการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล เผยผู้ที่นำบุหรี่ไฟฟ้ามาเป็นทางเลือกเพื่อเป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่นั้น จากข้อมูลพบว่าผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีอัตราการเลิกบุหรี่เพียงร้อยละ 5-9และหากคนที่สูบบุหรี่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่เทียบกับคนที่ไม่ได้ใช้ โอกาสเลิกบุหรี่ยังลดลงไปกว่าเดิมถึง 27% (ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าในตลาดมากกว่า 95% มีสารนิโคตินเป็นส่วนผสมอยู่ในสารน้ำ ซึ่งทำให้ติดสารนิโคตินได้)        ด้าน ภญ.ดร.อรลักษณ์ พัฒนาประทีป คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า จากการประมาณค่าความสูญเสียที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าในเชิงเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข พบว่า ผลกระทบจากค่าใช้จ่ายในการรักษาและค่าเสียโอกาสในการเกิดโรคต่อปีเท่ากับ  534,571,710 บาท ซึ่งเป็นความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์และสุขภาพของเยาวชนและประชาชนไทยที่ต้องแบกรับภาระจากบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์         ที่ประชุมจึงได้เสนอความเห็นเพื่อการคงไว้ซึ่งมาตรการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า  ห้ามขาย หรือให้บริการ ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ซึ่งกำหนดโทษสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทั่วไป ให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ที่กระทำผิดเป็นผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้ที่นำเข้ามาเพื่อขาย ต้องรับโทษเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ1 ต.ค. นี้ กระทรวงสาธารณสุขให้ผู้ป่วยไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านได้         ต้นเดือนตุลาคม 2562 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มดำเนินนโยบายลดความแออัดของโรงพยาบาล โดยให้ผู้ป่วยสามารถนำใบสั่งยาจากแพทย์ไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านได้ เพื่อลดเวลารอคิวรับยาในโรงพยาบาลและเพิ่มความสะดวกสบายแก่ประชาชนมากขึ้น หากเข้าเกณฑ์ 4 เงื่อนไข ดังนี้ (1) ใช้สิทธิ์บัตรทอง (2) ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด หรือโรคทางจิตเวช (3) แพทย์วิจัยฉัยแล้วว่าผู้ป่วยสามารถรับยาที่ร้านยาได้ และ (4) ผู้ป่วยยินดีไปรับยาที่ร้านยา เริ่มนำร่องในโรงพยาบาล 50 แห่ง และร้านยาที่ได้มาตรฐานกว่า 500 ร้านทั่วประเทศ        ดูรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ที่        https://www.nhso.go.th/FrontEnd/page-contentdetail.aspx?CatID=MTI4OA%3D%3D ป.ป.ส. เตือน ระวังตกเป็นเหยื่อขนส่งยาทางพัสดุไปรษณีย์         พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เตือนประชาชน ระวังตกเป็นเหยื่อนักค้ายาเสพติด ฉวยโอกาสขนส่งยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายผ่านพัสดุไปรษณีย์ เป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย         “ปัจจุบัน นักค้ายาเสพติดเลือกใช้บริการรับ-ส่งพัสดุภัณฑ์ในการขนส่งยาเสพติดมากขึ้น ซึ่งหากพบว่าบุคคลใดมีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าในฐานะผู้ให้บริการขนส่ง หรือผู้รับพัสดุไปรษณีย์ ล้วนมีความผิดตามกฎหมาย โดยผู้ส่งมีความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ และผู้รับพัสดุภัณฑ์มีความผิดฐานครอบครอง หรือครอบครองเพื่อจำหน่าย ขึ้นอยู่กับปริมาณของกลางยาเสพติด...ดังนั้นขอให้ประชาชนระมัดระวังตนเองและคนในครอบครัว กรณีผู้รับสินค้า เมื่อทราบจากพนักงานส่งพัสดุภัณฑ์ว่าจะมีการส่งพัสดุนั้น ขอให้สอบถามและตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนว่า ตนเองหรือคนในครอบครัวมีการสั่งสินค้า หรือจะได้รับพัสดุภัณฑ์โดยที่ไม่สั่งสินค้าหรือไม่ หากพบการแอบอ้างชื่อในการส่งสินค้า หรือเห็นความไม่ชอบมาพากล ขอให้แจ้งตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยลงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน หรืออาจเก็บหลักฐานไว้แสดงถึงเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ และยืนยันตนว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง”         แจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน ป.ป.ส. โทร. 1386 ตลอด 24 ชั่วโมง สถิติการฆ่าตัวตายปี 2562 ของไทย เฉลี่ย 14.4 คนต่อคนไทย 1 แสนคน         คนไทยฆ่าตัวตายเป็นอันดับ 32 ของโลก  เฉลี่ย 14.4 คนต่อคนไทย 1 แสนคน ข้อมูลจากผลสำรวจซึ่งแถลงในวันที่ 10 กันยายน ซึ่งองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก(World Suicide Prevention Day)         องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้รายงานสถานการณ์การฆ่าตัวตายโลก โดยระบุว่ามีคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายทุกๆ 40 วินาที และการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของวัยรุ่น(อายุ 15-29 ปี) มากที่สุด รองลงมาจากอุบัติเหตุบนท้องถนน แม้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกจะเพิ่มมาตรการ และนโยบายป้องกันการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังต้องการการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆรายงานการจัดอันดับประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลก ประจำปี 2562 โดย World Population Review ที่สำรวจ และพิจารณาข้อมูลการฆ่าตัวตายขององค์การอนามัยโลกปี 2561 ทั้งหมด 183 ประเทศ พบว่า ประเทศไทย มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด ติดอันดับ 32 ของโลก เฉลี่ย 14.4 คนต่อประชากร 1 แสนคน      โดยห้าอันดับแรกได้แก่ อันดับ 1 ลิทัวเนีย อันดับ 2 รัสเซีย อันดับ 3 กายอานา อันดับ 4 เกาหลีใต้ อันดับ 5 เบลารุส

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2562

รู้ยัง ตรวจสอบราคายา รพ.เอกชนได้แล้ว        ‘กรมค้าภายใน’ จัดให้ระบบตรวจสอบราคายา 356 โรงพยาบาลออนไลน์ขึ้นเว็บ-คิวอาร์โค้ด แบ่งระดับสี เขียว-เหลือง-แดง เทียบระหว่างโรงพยาบาลได้ โดยผ่านลิงค์เว็บไซต์กรมการค้าภายใน หรือสแกนคิวอาร์โค้ดที่โรงพยาบาล จากนั้นจะต้องพิมพ์คำค้นเป็นชื่อยาภาษาอังกฤษ และสามารถเลือกเปรียบราคายาระหว่างโรงพยาบาลได้ https://hospitals.dit.go.th/app/drug_price_search.php คลิกเลย กทม. ลุยตรวจ 48 สวนสนุกในกรุงเทพฯ พบ 16.67% สอบตกเกณฑ์มาตรฐาน         ผลสำรวจสวนสนุกในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 48 แห่ง พบว่ามีใบอนุญาตก่อสร้างและใบอนุญาตประกอบกิจการ 33 แห่ง ไม่มีใบอนุญาต 15 แห่ง และในจำนวนนี้มีที่ไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินสุขลักษณะ 8 แห่ง ซึ่งจะต้องเร่งแก้ไข เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการที่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน          กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตต่างๆ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกิจการและตรวจสุขลักษณะ ความปลอดภัย และอาชีวอนามัย ประเภทกิจการสวนสนุกในกรุงเทพ ฯ จำนวน 48 แห่ง ในพื้นที่ 26 เขต ตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีใบอนุญาตก่อสร้างอาคารและใบอนุญาตประกอบกิจการ 33 แห่ง ไม่มีใบอนุญาต 15 แห่ง จึงได้แจ้งให้ดำเนินการขอใบอนุญาตให้ถูกต้องภายใน 15 วัน หากไม่สามารถดำเนินการให้เรียบร้อยจะสั่งระงับการให้บริการ และมีโทษปรับสูงสุด 50,000 บาท นอกจากนี้ยังมีสวนสนุกที่ตั้งเป็นการชั่วคราวตามลานกิจกรรมหรืองานต่างๆ ประมาณ 7-30 วัน ที่ต้องขออนุญาตเช่นกัน ซึ่งต้องเข้าไปกวดขันดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากโครงสร้างชั่วคราวมีข้อจำกัดด้านอายุการใช้งาน กทม. จึงได้กำชับให้เขตดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวด สสส. เผยไทยมีนักดื่ม 22.5 ล้านคนสูงสุดในรอบ 5 ปี ชี้รณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาช่วยการดื่มลง 10%         กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาของทุกปี  โดยจากการสำรวจพบว่านักดื่มไทยมีกว่า 22.5 ล้านคน สูงสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาช่วยการดื่มลง 10% ประเทศประหยัดถึง 10,724 ล้านบาท          ปี 2562 สสส.หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ รณรงค์ผ่านแคมเปญ “ตับจะกลับมาดี พรรษานี้เริ่มงดเหล้า” จากการสำรวจสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ช่วงปี 2544 - 2560 พบว่าคนไทยมีแนวโน้มการดื่มลดลงจาก 32.7% ในปี 2544 เหลือ 28.4% ในปี 2560 ประกอบกับการสำรวจภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทยโดยวิธีการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ปี 2557 มีผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในระดับอันตรายลดลงเหลือ 3.4% ลดจากปี 2547 ที่อยู่ที่ 9.1% ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่าตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ของคนไทยโดยรวมลดลง สอดคล้องกับข้อมูลค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ลดลงจาก 151,607 ล้านบาท ในปี 2548 เหลือ 142,230 ล้านบาท ในปี 2560 ขณะที่การรณรงค์ให้คนไทยลด ละ เลิก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีทิศทางที่ดี โดยเฉพาะโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางและมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในทุกปีสคบ.อำนาจล้น ดีเดย์ 25 สิงหาคม กม.คุ้มครองผู้บริโภคบังคับใช้แล้ว        พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่นี้ เพิ่มเรื่องความคล่องตัวด้วยการมอบอำนาจแก่ท้องถิ่นมากขึ้น มีการปรับโครงสร้างกรรมการบริหารใหม่และเพิ่มอำนาจของกรรมการให้มากขึ้นเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม   รวมถึงยังมี กรรมการด้านความปลอดภัยที่เข้ามาดูแลเรื่องสินค้าบริการและเฝ้าระวังให้ผู้บริโภค ด้วย  นอกจากนั้นยังมีการกำหนดเรื่องการโฆษณาในมาตรา 29 ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นและเพิ่มโทษปรับ 2 - 10 เท่าในกรณีการทำผิดเมื่อเปรียบเทียบกับพ.ร.บ. ฉบับปี พ.ศ. 2556         พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค(ฉบับที่4) พ.ศ. 2562 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 สิงหาคม นี้ โดยเพิ่มอำนาจให้ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ถูกปรับโครงสร้างใหม่ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดในทุกกระทรวงรวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 8 คนและผู้แทนความรู้ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาการภาคประชาชนและภาคผู้ประกอบธุรกิจอย่างน้อยภาคละ 2 คน ด้วยโครงสร้างนี้ หน่วยงานจะจัดการปัญหาได้เร็วขึ้น เพราะจะมีตัวแทนจากทุกกระทรวงเข้ามาจัดการปัญหาได้โดยตรง อีกทั้งยังให้อำนาจกับเลขาธิการสคบ. สามารถพิจารณาและสั่งดำเนินคดีได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการหากพบว่าปัญหานั้นเข้าเกณฑ์ความผิด         สองมีการเพิ่มอัตราโทษปรับให้สูงขึ้นหนึ่งเท่าในทุกมาตรา อีกทั้งกรณีสินค้าและบริการที่เป็นอันตรายจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรการ   ดังนั้นเมื่อผู้ประกอบธุรกิจผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตหรือร่างกายก็ต้องมั่นใจว่าสินค้าหรือบริการนั้นปลอดภัยเพราะ พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดให้เมื่อผู้ประกอบธุรกิจทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการใช้สินค้าหรือบริการ บทลงโทษจะเปรียบเทียบความผิดไม่ได้ กล่าวคือเมื่อพบความผิดของผู้ประกอบธุรกิจจะมีการเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาและฟ้องดำเนินคดีทันที         สามการให้อำนาจกับท้องถิ่นเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ไม่ต้องส่งเรื่องมายังหน่วยงานกลางซึ่งทำให้ล่าช้า และเงินค่าปรับที่ได้มาจากการกระทำผิดไม่ต้องส่งให้ส่วนกลางแต่ให้กับพื้นที่เพื่อจะได้นำไปสร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่และยังทำให้สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ไทยติดกลุ่มผู้นำเข้าขยะพลาสติกสูงสุดในโลก         แต่ละปีคนไทยทิ้งขยะรวมกันกว่า 27 ล้านตัน เทียบเท่ากับช้างกว่า 5.56 ล้านตัว เฉพาะ กทม. ทิ้งมากเกือบถึง 1 ใน 5 ของทั้งประเทศ ที่ชวนให้ต้องตื่นตัวคือไทยอยู่ในกลุ่มผู้นำเข้าขยะพลาสติกมากที่สุดของโลก          ขยะยังคงเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติที่ยังหาทางกำจัดให้หมดสิ้นไม่ได้ ซึ่งเมื่อดูจากข้อมูลสถานการณ์ขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย โดยกรมควบคุมมลพิษ พบว่าปริมาณขยะในไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2561 มีกว่า 27.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.64% จากปี 2560 ปัจจัยจากการมีประชากรเพิ่มขึ้น ชุมชนเมืองขยายตัว รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น เฉพาะในกรุงเทพฯ มีปริมาณ 4.85 ล้านตัน คิดเป็น 17% ของขยะมูลฝอยทั้งประเทศ         อย่างไรก็ดีพบว่า การจัดการขยะมูลฝอยถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น ถึงอย่างนั้นมีขยะพลาสติกเพียง 5 แสนตันจาก 2 ล้านตันที่ถูกรีไซเคิล ที่น่าตกใจคือมีขยะที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องถึง 27% ประกอบกับการลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณประโยชน์ ทำให้ขยะจากบกปะปนสู่ทะเล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก จึงส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตดังที่เกิดเหตุการณ์เป็นข่าวเศร้าต่างๆ         ในส่วนของเสียอันตรายจากชุมชนก็เพิ่มขึ้น 3.2% จากปี 2560 ส่วนใหญ่เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเพียง 13% เท่านั้น นอกจากนี้ มีกากของเสียอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบการจัดการยังลดลง 33% โดยมากเป็นกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย โดยได้นำกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยการเผาเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า         นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า แม้การจัดการขยะอย่างถูกต้องจะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะยังไม่มีกฎระเบียบการคัดแยกของเสียอันตรายออกจากขยะทั่วไป รวมถึงมีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ซึ่งมีผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงนำไปสู่การยกเลิกนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 422 รายการ รวมถึงยกเลิกการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้ว ยกเว้นกระทรวงอุตสาหกรรมเห็นชอบ และได้จัดทำโรดแมป การจัดการขยะพลาสติกปี 2562-2570 โดยลดและเลิกใช้พลาสติก 7 ชนิด ภายในปี 2565

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ผู้ป่วยควรเข้าถึงยาจากกัญชา แต่ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาอย่าให้ถูกหลอก

        ช่วงที่สังคมกำลังตื่นตัวเรื่องการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ มีการกำหนดช่วงเวลาให้ผู้ป่วยที่กำลังใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชา มาแจ้งข้อมูลที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในแต่ละจังหวัด ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ป่วยที่มาแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การได้รับผลิตภัณฑ์จากกัญชา ทราบว่าส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะให้ข้อมูลว่า มีคนนำมาจำหน่ายให้ หรือบางรายก็สั่งซื้อจากอินเทอร์เน็ต        ประเด็นที่เจ้าหน้าที่และพวกเราควรจะช่วยกันหาทางเพื่อคุ้มครองดูแลผู้ป่วยเหล่านี้คือ ผลิตภัณฑ์ที่พวกเขายอมเสียเงินเสียทองซื้อมา เป็นน้ำมันกัญชาจริงหรือไม่ เพราะข้อมูลราคาของน้ำมันกัญชาที่ผู้ป่วยแต่ละคนซื้อมา มีราคาแตกต่างกันมาก ตั้งแต่ขวดละ 500 ไปจนถึง 10,000 บาท         ผู้ป่วยที่น่าสงสารหลายรายที่ป่วยโรคเรื้อรังยอมเสียเงินแพงๆ เพราะคาดหวังผลในการรักษา ยิ่งสอบถามวิธีการใช้ ยิ่งน่าเป็นห่วงเพราะส่วนมากจะดูข้างขวดและมักจะเพิ่มขนาดการใช้เอง เพราะต้องการผลที่รวดเร็วขึ้น บางรายก็แอบใช้โดยไม่บอกใคร พอมาเจอยาแผนปัจจุบันที่ตนเองรับประทานเป็นประจำก็ยิ่งเสริมฤทธิ์กัน จนต้องนำส่งโรงพยาบาล กว่าผู้ป่วยจะยอมบอกคุณหมอ ก็แทบแย่         ล่าสุด ได้รับข้อมูลจากน้องเภสัชกรจากหลายๆ จังหวัดแจ้งว่า เริ่มมีขบวนการนำยามาเร่ขาย อ้างว่ามีส่วนผสมของกัญชา โดยคนที่มาเร่ขายจะบอกว่าเป็นยาจากโครงการหลวง เวลาจะซื้อต้องบอกหมายเลขบัตรประชาชนด้วย  และให้ไปขอใบรับรองจากแพทย์ว่าป่วย  อ้างว่าจะนำชื่อผู้ป่วยไปเข้าโครงการให้ ถ้าซื้อยาในวันนี้ ราคากระปุกละ 500 บาท แต่ถ้าไปซื้อที่โรงพยาบาลจะต้องเสียเงินถึง 750 บาท หลังจากเสียเงินแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับแจกกัญชาสองต้น และอัญชันอีกหนึ่งต้น มีเหยื่อหลงเชื่อหลายราย         จากข้อมูลที่พบคาดว่า สถานการณ์ที่จะเอากระแสกัญชามาหลอกลวงผู้ป่วยเริ่มจะมีมากขึ้น และหลากหลายรูปแบบด้วย การนำผลิตภัณฑ์กัญชามาใช้ทางการแพทย์ เป็นทางเลือกให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาอย่างหนึ่ง แต่ผลิตภัณฑ์จากกัญชาก็เหมือนยาทั่วๆ ไป ที่มีทั้งคุณและโทษ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข ก็พยายามที่จะดูแลให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยาอย่างปลอดภัย หากพบผู้ป่วยรายใดที่ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาแล้วเกิดผลข้างเคียง ก็สามารถแจ้งข้อมูลยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผ่านทางช่องทางนี้ได้ที่ http://thaihpvc.fda.moph.go.th/thaihvc/Marijuana/input-form.jsf        เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลแล้ว จะติดต่อกลับ เพื่อสอบถามอาการ และรวบรวมเป็นข้อมูลในการเฝ้าระวังผลข้างเคียง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยต่อไป        หากเราพบเห็นผลิตภัณฑ์แปลกๆ ที่อ้างว่ามีส่วนผสมของกัญชา ตลอดจนมีพฤติกรรมการขายที่หลอกให้ผู้ป่วยเสียเงินเสียทอง ขอให้รีบแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อจะได้ช่วยกันดูแล อย่าให้ใครมาอาศัยสถานการณ์นี้ หลอกลวงซ้ำเติมผู้ป่วยที่น่าสงสารเหล่านี้อีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2562

สมอวสาน'รถตู้'!เปิดตัวรถโดยสารขนาดเล็ก วิ่งบริการแทนทั่วประเทศดีเดย์ 1 ตุลาคมนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป กำหนดให้ใช้รถโดยสารขนาดเล็กที่ได้มาตรฐานมาให้บริการทดแทนรถตู้ครบกำหนดอายุ 10 ปี ครอบคลุมรถตู้หมวด 1 และหมวด 4 ที่ให้บริการภายในกรุงเทพมหานครและเส้นทางต่อเนื่องภายในจังหวัด และส่วนภูมิภาคหมวด 2 กรุงเทพมหานครไปยังต่างจังหวัด รวมถึงเส้นทางรถหมวด 3 ที่วิ่งระหว่างจังหวัดกับจังหวัด โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 นั้น ได้มีการกำหนดเปลี่ยนรถตู้โดยสารที่ครบอายุการใช้งานก่อนครบ 10 ปี เฉพาะในเส้นทางหมวด 2 กรุงเทพฯ-ต่างจังหวัดทุกเส้นทางจำนวน 937 คัน  สมอ. ลุยเชือดร้านค้าออนไลน์ยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐาน        นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ.ส่งทีม เฉพาะกิจเข้าตรวจสอบแหล่งกระจายสินค้าของร้านค้าออนไลน์ 2 แห่ง ในพื้นที่ถนนพระรามที่ 2 บางขุนเทียน กทม. และลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี หลังสืบทราบเบาะแสว่ามีการจำหน่ายสินค้าผิดกฎหมาย พบว่ามีสินค้าที่รอการจัดส่งให้ลูกค้าจำนวนมาก และหลายรายการเป็นมาตรฐานบังคับต้องแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน แต่ไม่แสดงเครื่องหมายมาตรฐานหรือแสดงไม่ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย ได้แก่ ของเล่น สีเทียน ฝักบัวอาบน้ำ ผงซักฟอก และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เตาปิ้งย่าง ไดร์เป่าผม เครื่องม้วนผม เครื่องหนีบผม ปลั๊กพ่วง โคมไฟดักยุง พัดลม หลอดไฟแอลอีดี เป็นต้น         “จากการตรวจสอบพบว่าเครื่องใช้ไฟฟ้ากว่า 14,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 16,300,000 บาท ของเล่นกว่า 10,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 2,500,000 บาท สีเทียน 6,400 ชิ้น มูลค่าประมาณ 1,280,000 ผงซักฟอก 3,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 300,000 บาท ฝักบัวอาบน้ำกว่า 700 ชิ้น มูลค่าประมาณ 70,000 บาท รวมจำนวนสินค้าทั้งหมดกว่า 34,000 ชิ้น มูลค่าร่วม 20 ล้านบาท จึงดำเนินการยึดอายัดไว้ทั้งหมดเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป พร้อมกับแจ้งผู้ครอบครองสินค้าดังกล่าว ห้ามเคลื่อนย้ายสินค้าโดยเด็ดขาด”         ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่จะจำหน่ายสินค้าดังกล่าวจะต้องจำหน่ายเฉพาะสินค้าที่มีเครื่องหมายมาตรฐานบังคับเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเมื่อ พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2562) มีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ก.ค. 2562 โทษสำหรับผู้จำหน่ายจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฟันบริษัทบัตรพลังงาน ธุรกิจขายตรง-จำหน่ายผิดประเภท         นายเดชาวัต แจ้งชื่น ผอ.กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบบัตรพลังงานที่อวดอ้างว่าสามารถรักษาสารพัดโรคได้ว่า ได้เรียก นายธนัช สุรินทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็กซ์เพิร์ทโปรเน็ตเวิร์ด เจ้าของบัตรพลังงาน เข้าให้ถ้อยคำที่สำนักงาน สคบ.แล้ว ซึ่งเจ้าของบริษัทอ้างว่าบริษัทขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแอลคาร์นิทีน และได้แถมบัตรพลังงาน โดยไม่ทราบว่าเครือข่ายนำบัตรพลังงานไปขาย ซึ่งบัตรพลังงานดังกล่าวมีบริษัทที่รู้จักนำมาฝากไว้นานแล้วไม่มารับคืน จึงนำไปแถมให้กับลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์         แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้น ทางบริษัทจดทะเบียนประเภทธุรกิจขายตรงเมื่อปี 2556 ต่อมามีผู้ซื้อบริษัทและเจ้าของคนปัจจุบันได้เข้ามาบริหารงานเมื่อปี 2558 แต่บริษัทถูกเพิกถอนไปเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา และไม่สามารถจะดำเนินธุรกิจได้จนกว่าจะครบกำหนด 5 ปี เนื่องจากกฎหมายระบุว่าบริษัทที่ดำเนินธุรกิจขายตรงจะต้องวางหลักประกัน ซึ่งบริษัทดังกล่าวไม่ได้วางเงินหลักประกันและยังคงจำหน่ายสินค้าอยู่ ทำให้ มีความผิดฐานทำธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.ขายตรงและตลาดขายตรงฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับนิติบุคคล กรรมการบริษัท และผู้จำหน่ายรายละ 1 แสนบาท รวมทั้งอาจเข้าข่ายความผิดขายสินค้าผิดประเภท เนื่องจากไม่ได้แจ้งขายสินค้าประเภทอื่นเพิ่มเติม         ขณะนี้ สคบ.ได้ประสานตำรวจท้องที่ให้เรียกคืนผลิตภัณฑ์และดำเนินคดีฐานหลอกลวงผู้บริโภค7 พรรคฝ่ายค้านเดินเกม หนุนภาคประชาสังคมแบนสารเคมี         พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง และตัวแทนสมาชิกรัฐสภาและสมาชิกจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 7 พรรค เดินทางเข้ามารับฟังการบรรยายปัญหาและข้อเสนอทางนโยบายในการจัดการเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและความไม่ปลอดภัยทางอาหาร ที่มูลนิธิชีววิถี(BioThai)        นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิ BioThai ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหา 3 เรื่อง คือ 1)ให้มีการแบนสารพิษร้ายแรงทั้ง 3 ชนิดโดยทันที 2) ผลักดันให้มีการสร้างระบบการเตือนภัยสารพิษตกค้างในผักผลไม้ซึ่งปัจจุบันพบการตกค้างสูงถึง 41%         และ3) ขอให้ 7 พรรคการเมืองสนับสนุนร่างกฎหมายความปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งจะแยกอำนาจการแบนสารพิษให้ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน และให้การสนับสนุน พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้ว ให้เข้าสู่กระบวนการตามรัฐสภาต่อไปด้วย         ทั้งนี้โดยภายหลังรับฟังการบรายาย ตัวแทนพรรคฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรค ได้ประกาศพร้อมขับเคลื่อนให้มีการแบนสารพิษร้ายแรงให้เป็นวาระเร่งด่วน และเสนอต่อรัฐสภาให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญในประเด็นสารเคมีและความปลอดภัยทางอาหาร โดยขณะนี้ได้ถูกบรรจุในระเบียบวาระการพิจารณาของสภาแล้ว         ทั้งนี้ มูลนิธิชีววิถี และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เตรียมการติดต่อเข้าพบ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ เพื่อสนับสนุนให้มีการเดินหน้าแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และสารพิษร้ายแรงอื่น รวมทั้งเสนอให้วาระเรื่องอาหารปลอดภัยให้เป็นวาระหลักของรัฐบาลชุดนี้ ศาลปกครองสูงสุด อนุญาตให้ มพบ. ร้องสอด กรณีค่ารักษาพยาบาลแพง         จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ยื่นร้องสอดร่วมเป็นผู้ถูกฟ้องในคดี สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน 41 แห่ง ยื่นฟ้องคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.), รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน กรณีการออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม โดยเฉพาะการควบคุมราคายา เวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ ของสถานพยาบาลนั้น                วันที่ 28 มิถุนายน 2562 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งอนุญาตให้ มพบ. ร่วมเป็นผู้ถูกฟ้อง โดยให้เป็นผู้ร้องสอด เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า มพบ. เป็นตัวแทนของผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพง จึงถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงหากมีการยกเลิกประกาศดังกล่าว 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 เยาวชนอาสาเพื่อรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย

                เด็กและเยาวชนจำเป็นต้องเดินทางจากที่พักเพื่อไปโรงเรียน ทั้งการเดินเท้า ขี่จักรยาน ขับขี่จักรยานยนต์ ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ หรือไปด้วยรถรับส่งนักเรียน ซึ่งทุกรูปแบบของการเดินทาง มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทั้งสิ้น         โดยอุบัติเหตุของเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่จะเกิดกับกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเป็นอันดับต้น ตามด้วยกลุ่มที่ใช้บริการรถรับส่งนักเรียนและรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงความรุนแรงที่เกิดจากการเดินข้ามถนนและความเสี่ยงจากยานยนต์บริเวณหน้าสถานศึกษา  หลายกรณีเกิดจากการไม่ตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยและประมาทเลินเล่อ ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมเสี่ยงสำคัญในการเกิดความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนที่กำลังอยู่ในวัยศึกษาที่เป็นอนาคตของประเทศ         จากรายงานสถานการณ์การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจาก 3 ฐานข้อมูล(กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด) ตั้งแต่ปี 2556-2560 พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนตั้งแต่แรกเกิด -19 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน รวม 17,634 ราย หรือเฉลี่ยปีละ 2,500 คน เทียบได้กับจำนวนนักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ 1 โรงเรียนที่หายไปจากประเทศไทยทุกปี (คิดจาก เกณฑ์ สพฐ. 1 โรงเรียนขนาดใหญ่ = 2,500 คน)         ซึ่งการแก้ปัญหาส่วนใหญ่ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนก็ยังคงมุ่งแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ คือการทำอย่างไรให้สถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำให้สถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นศูนย์ เพราะปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ใช่เพียงแค่โครงสร้างรถและสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่รวมถึงพฤติกรรมของบุคคลเองที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความรุนแรงจากอุบัติทางถนน        ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในอนาคต   ควรหันมามุ่งเน้นเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่เป็นระบบให้กับเยาวชนในสถานศึกษา เพื่อเป็นพลังความรู้นำสู่การพัฒนาความคิดในการสรรสร้างแผนงานความปลอดภัยให้เกิดกับเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภาค โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงได้จัดกิจกรรมโครงการเยาวชนอาสาเพื่อรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย (Volunteer Safe Thai Bus) ขึ้น ในวันที่ 21 - 23 มิถุนายนที่ผ่านมา         มีนักเรียนจากโรงเรียนนำร่อง 12 โรงเรียนในพื้นที่ 6 ภาคและกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมโครงการ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างเครือข่ายเยาวชนภาคีความร่วมมือที่เข้มแข็ง และร่วมกันสร้างพื้นที่ปฏิบัติการการเคลื่อนไหวโดยพลังคนรุ่นใหม่ในการเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อการพัฒนาความปลอดภัยในการเดินทางของเยาวชนโดยเยาวชนอย่างแท้จริง         ตั้งแต่การเรียนรู้เรื่องรถโดยสารสารธารณะและรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย สิทธิผู้บริโภค สิทธิรถโดยสารสาธารณะ เทคนิคการผลิตสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม และแนวทางการจัดทำแผนงานความปลอดภัยในสถานศึกษา ที่จะช่วยเสริมสร้างความรู้ให้กับอาสาสมัครทุกคน ได้ตระหนักกับความปลอดภัยบนถนน และนำเทคนิคที่ได้รับสื่อสารให้กับบุคคลอื่นได้สามารถเรียนรู้ต่อไปได้         รวมถึงการสร้างความตระหนักของเพื่อนๆ ในโรงเรียนให้เห็นความสำคัญของความปลอดภัยในการเดินทางมาโรงเรียน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเยาวชนยังให้ความสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของคนในสังคมเพื่อระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย         แม้ว่ากิจกรรมในครั้งนี้ จะเป็นเพียงการรวมกลุ่มเยาวชนกลุ่มเล็กๆ ที่มีใจเดียวกันที่จะมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ แต่เมื่อเยาวชน คือ วัยที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และพลังที่ต้องการศักยภาพในการริเริ่มเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การส่งเสริมเพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสเรียนรู้ จัดทำกิจกรรม จึงเป็นการปลุกพลังที่อยู่ในตัวเและสร้างการรับรู้ว่าพวกเขาคือส่วนสำคัญของสังคมไทย ที่พวกเขาจะต้องมีหน้าที่ในการดูแล พัฒนา และสร้างประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นกับคนในสังคมข้างหน้าอย่างยั่งยืน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 บทเรียนจากหนึ่งของการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.

        การเดินทางของทุกคนในปัจจุบัน ล้วนมีปัจจัยความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนได้อยู่ตลอดเวลา หลายครั้งเกิดจากจุดเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นความประมาท หรือเกิดจากการที่พวกเราไม่ตระหนักถึงความปลอดภัยเวลาเราใช้รถใช้ถนน จากจุดเล็กๆ นำพาไปสู่ความสูญเสียทั้งของครอบครัว ญาติพี่น้องมิตรสหาย ตลอดจนความเสียหายของเศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือของประเทศเลยทีเดียว         หลายครั้งพวกเราอาจจะมองภาพรวมว่าอุบัติเหตุทางถนนมักจะต้องเกิดกับรถขนาดใหญ่ที่ชนกันตามภาพข่าวสารที่ให้เราเสพอยู่ทุกวัน แต่หากมองลึกลงไปกว่านั้นจะพบว่าอุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่เกิดกับถนนสายรอง เช่น ถนนในหมู่บ้านชุมชน ที่ส่วนใหญ่มักละเลยกฎระเบียบจราจรเป็นนิสัย ไม่ว่าจะขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกกันน็อค ที่เห็นกันจนชินตาอยู่ทุกวัน         และไม่น่าแปลกใจเลยที่ทำไมถนนสายรองตามชุมชนหมู่บ้านจะเป็นจุดที่มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ เพราะทุกวันนี้สิ่งที่เราเห็น คือ ภาพวัยรุ่นแว้นจักรยานยนต์กันไปมาด้วยความเร็ว ขี่จักรยานยนต์ซ้อนสามโดยไม่สนใจใคร และที่สำคัญไม่มีใครใส่หมวกกันน็อคเลยซักคน         หากวันไหนดวงตกรถล้มพลิกคว่ำแล้วพาคนอื่นล้มเจ็บไปด้วย ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ทันที เหมือนเรื่องที่จะบอกต่อไปนี้ ที่ผู้เขียนคิดน่าจะเป็นบทเรียนให้กับทุกคนได้ หากวันหนึ่งเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นกับตัวเรา         เรื่องมีอยู่ว่า เช้าวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา ในเวลาเช้าของทุกวัน คุณแม่ของผู้เขียนจะขี่จักรยานไปตลาดตามประสาแม่บ้าน เมื่อซื้อของเสร็จแล้วและกำลังขี่จักรยานกลับ โดยขี่อยู่ในช่องทางด้านซ้ายของตนเอง อยู่ดีๆ ก็ถูกรถจักรยานยนต์ของวัยรุ่นสาวที่ซ้อนสามพุ่งเข้าชนที่ด้านท้ายรถจักรยานอย่างจัง จนทำให้คุณแม่ของผู้เขียนกระเด็นล้มลงกลางถนนศีรษะฟาดพื้น         หลังเกิดเหตุมีพลเมืองดีได้เข้ามาช่วยเหลือและรีบโทรแจ้งสายด่วนฉุกเฉินทันที แต่เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเช้าประมาณ 7.45 น. ขณะนั้นได้รับแจ้งจากปลายทางว่าตอนนี้ไม่มีรถฉุกเฉินรองรับ หากรีบให้พาผู้บาดเจ็บมาเองได้เลย แต่ด้วยเรายังไม่แน่ใจในอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น จึงตัดสินใจไม่เคลื่อนย้ายคุณแม่ตามที่ปลายสายแนะนำ เพราะหากมีการเคลื่อนย้ายโดยผู้ไม่มีความรู้ อาจจะทำให้อาการที่บาดเจ็บเดิมมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นได้         แต่โชคดียังมีพลเมืองดีช่วยเรียกรถฉุกเฉินที่รู้จักมารับ แม้จะรอนานเกือบยี่สิบนาทีก็ตาม เมื่อรถฉุกเฉินมารับแล้วและพาไปถึงโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ผู้เขียนแจ้งความประสงค์จะขอใช้สิทธิ พ.ร.บ.หรือประกันภัยภาคบังคับของรถคู่กรณี เพราะเตรียมเอกสารไปด้วยแล้ว แต่พยาบาลบอกจะใช้ได้ต้องให้คู่กรณีไปลงบันทึกประจำวันให้ตำรวจชี้ก่อนว่าเป็นฝ่ายผิด เพื่อที่เราจะสามารถนำบันทึกประจำวันนั้นมาเบิกค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิของ พ.ร.บ. หรือประกันภาคบังคับรถจักรยานยนต์คู่กรณีได้         หลังจากนั้นผู้เขียนจึงรีบติดต่อตามคู่กรณีมาลงบันทึกประจำวัน เมื่อถึงสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกยังชี้ผิดถูกไม่ได้ เพราะคุณแม่ยังบาดเจ็บรักษาตัวอยู่ ต้องรอให้หายดีก่อน แล้วให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบข้อเท็จจริง ถึงจะชี้ได้ว่าใครผิดใครถูก…         จากอุปสรรคที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้เขียนนึกในใจเพราะเป็นแบบนี้ คนที่มีความจำเป็นถึงเข้าใช้สิทธิ พ.ร.บ.ได้ยาก คนส่วนใหญ่เขาถึงรอไม่ไหว ต้องสำรองเงินส่วนตัว หรือประกันภัยอื่นๆ (ถ้ามี) จ่ายไปก่อน เช่น ผู้เขียนเป็นต้น ที่ตัดสินใจไม่รอแล้ว พ.ร.บ. ใช้ประกันอุบัติเหตุจ่ายค่ารักษาพยาบาลของคุณแม่ไปก่อนแทน         แม้ว่าแนวทางที่รัฐกำหนดเรื่องสิทธิตามพระราชบัญญัติผู้ประสบภัยจากรถให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้จะดีในระดับหนึ่ง แต่หากพิจารณาถึงขั้นตอนกระบวนการในแต่ละส่วนแล้วพบว่า ยังมีปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธิของผู้บริโภคที่เดือดร้อนเสียหายอยู่         ในกรณีนี้จริงๆ แล้ว โรงพยาบาลทุกแห่งควรมีระบบตรวจสอบข้อมูลและทำเรื่องโดยตรงกับบริษัทประกันภัยของรถคู่กรณีได้เลย ตามสิทธิค่าเสียหายเบื้องต้นที่กำหนดให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประสบภัยจากรถ ทุกคนที่ประสบภัยจากรถคันที่ขับขี่หรือนั่งซ้อนท้ายมา กรณีรถจักรยานยนต์หรือนั่งโดยสารมาในรถกรณีรถยนต์  รวมถึงคนเดินถนน ที่ไม่ได้ขับขี่หรือซ้อนท้ายหรือโดยสารในรถคันอื่นๆ โดยไม่ต้องรอสรุปผลทางคดี         แต่ในทางปฏิบัติของการเคลมค่ารักษาพยาบาลของผู้ประสบภัยทางถนนในหลายกรณี ยังพบปัญหาในลักษณะเดียวกันกับที่คุณแม่ผู้เขียนพบเจออยู่ ประเด็นหลัก คือ การไม่สามารถเชื่อมต่อหรือถ่ายโอนข้อมูลผู้บาดเจ็บ ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ ของโรงพยาบาล บริษัทประกัน และเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าด้วยกันได้         ทั้งที่ผู้ประสบภัยที่บาดเจ็บสมควรที่จะต้องได้รับการรักษาตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมี แต่กลับกลายเป็นว่าคนเหล่านั้นกลับเข้าไม่ถึงสิทธิ บางรายต้องสำรองเงินส่วนตัวหรือกู้หนี้ยืมสินบุคคลภายนอกหาเงินมาเป็นค่ารักษาพยาบาล         ที่ผ่านมาเราได้แต่แนะนำให้คนที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนไปใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถก่อนทุกครั้ง แต่พอเจอกับตัวถึงรู้ว่ามันไม่ง่ายเลยที่จะขอใช้สิทธิค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.นี้  จะทำยังไงให้ พ.ร.บ. ใช้ง่ายสำหรับทุกคน โดยเฉพาะเวลาที่มีคนต้องการใช้จริงๆ จะได้ไม่ยุ่งยากแบบนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชน ยิ่งแพง ยิ่งเหลื่อมล้ำ

                ว่ากันตามหลักการ คนไทยทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาลตามแต่ว่าตนสังกัดสิทธิไหน และเป็นที่รู้กันว่าการไปใช้สิทธิของตน โดยเฉพาะสิทธิประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าค่อนข้างใช้เวลานานในการรอคอย มันอาจหมายถึงการสิ้นเปลืองเวลาทั้งวันเพื่อพบแพทย์ไม่เกิน 10 นาที คนไข้จำนวนหนึ่งจึงเลือกใช้เงินซื้อเวลาและความสะดวกสบายด้วยการไปโรงพยาบาลเอกชนแทน เพราะเชื่อว่ามีเงินเพียงพอที่จะรับมือกับค่ารักษาพยาบาล         แต่บ่อยครั้งก็คาดการณ์ผิด ที่ว่าเอาอยู่ กลับเอาไม่อยู่ โรงพยาบาลเอกชนบวกกำไรค่ายา 16,000 เปอร์เซ็นต์         งานวิจัยเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน ของ ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล จากศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า ในการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โรงพยาบาลเอกชนจำนวนไม่น้อยเรียกเก็บค่าบริการแพงเกินจริง เมื่อเปรียบเทียบรายการยากับโรงพยาบาลศูนย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ความแพงดังกล่าวมีช่วงห่างตั้งแต่ 60-400 เท่า เช่น วิตามินบีคอมเพล็กฉีดหลอดละ 1.50 บาท เพิ่มเป็น 600 บาท ยาฉีดแก้ปวดขนาด 50 มิลลิกรัม ราคา 6.50 บาท เพิ่มเป็น 450 บาท         ขณะที่รายการเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยามีราคาต่างกันตั้งแต่ 16-44 เท่า เช่น ท่อดูดเสมหะชิ้นละ 10 บาท กลายเป็น 440 บาท ไหมเย็บแผลสีดำ ชุดละ 28.5 บาท เพิ่มเป็น 460 บาท         นอกจากนี้ ยังพบว่าโรงพยาบาลเอกชนมีการตรวจวินิจฉัยเกินความจำเป็น เช่น การให้เลือดในคนไข้ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับเลือด คนไข้เป็นปอดบวมจำเป็นต้องได้รับการรักษาด่วน แต่กลับส่งตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น         ผลการตรวจสอบเบื้องต้นของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พบว่า โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งมีส่วนต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาขายตั้งแต่ร้อยละ 29.33 ถึงร้อยละ 8,766.79 หรือตั้งแต่ 10.83 บาทถึง 28,862 บาท คิดเป็นอัตรากำไรตั้งแต่ร้อยละ 47.73 ถึงร้อยละ 16,566.67 เช่น ยา S-DOPROCT ราคายาอยู่ที่ 17 บาท แต่โรงพยาบาลเอกชนขายเฉลี่ยที่ 148 บาท ราคาขายสูงสุดอยู่ที่ 303 บาท หรือยา AMPHOTERICIN-B ราคายาคือ 452 บาท ขายเฉลี่ยที่ 937 บาท ราคาที่ขายสูงสุดอยู่ที่ 2,200 บาท เป็นต้น         สอบถามไปยัง ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยาว่ามีเหตุผลที่ฟังขึ้นหรือไม่ว่าเหตุใดราคายาของโรงพยาบาลเอกชนจึงแพงขนาดนี้             “ถ้ามองในภาพรวมก็ไม่น่าจะมีความต่างอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ราคายาอาจต้องบวกต้นทุนการเก็บรักษา การดูแลคงคลัง ค่าบุคลากรที่ดูแลยา อันนี้คือตัวเม็ดยา ซึ่งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขภายใต้ พ.ร.บ.สถานพยาบาล มีประกาศแนบท้ายออกมาฉบับหนึ่งว่า ถ้าโรงพยาบาลจะคิดค่ายาให้บวกค่าอะไรได้บ้าง ตรงนี้จะเป็นเหตุให้ราคาต่างจากร้านขายยามากหรือไม่ ก็น่าจะไม่มาก เพียงแต่ว่าเวลาเขาบวกเข้าไป มันรวมค่าบริการด้วยหรือเปล่า ไม่รู้ ที่ทำให้เขาเพิ่มราคายาขึ้นมา เพราะถ้าเภสัชกรให้บริการ เวลาจะจ่ายตัวเม็ดยาที่บวกต้นทุนไปแล้ว กับค่า Professional Fee หรือค่าวิชาชีพของเภสัชกร ในร้านยาที่มีเภสัชกรก็ต้องให้บริการเหมือนกัน ก็ยังหาเหตุผลอธิบายไม่ได้ว่าทำไมมันจึงต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ คือถ้าต่างกัน 50 เปอร์เซ็นต์ยังพอเข้าใจ แต่ถ้าต่างกันไปถึงหลักร้อย หลักพัน หรือหลักหมื่นเปอร์เซ็นต์ อันนี้ก็คงรับไม่ได้         ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนเคยพูดว่า บางบริการเขาไม่สามารถเรียกเก็บได้จากผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคืออะไร เขาจึงมาบวกที่ค่ายา ต่อไปก็คุยกันว่าบริการต่างๆ ต้องเอามาตีแผ่ว่าคือค่าอะไร แล้วก็คิดกันตรงไปตรงมา ไม่บวกพ่วงไปกับค่ายา อนาคตต้องทำให้ราคามันโปร่งใสขึ้น อย่างที่กระทรวงพาณิชย์ให้มาบางตัวสูงถึง 15,000-16,000 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องกลับมาดูว่าเป็นค่าอะไรบ้าง และทำให้เห็นว่าแต่ละบรรทัดเป็นค่ายาจริงหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ก็ต้องไปตั้งหมวดใหม่” การรักษาพยาบาลเกินความจำเป็น         นอกจากค่ายาที่แพงเกินเหตุแล้ว อีกวิธีการหนึ่งที่โรงพยาบาลเอกชนมักนำมาใช้กับผู้ป่วยคือการรักษาพยาบาลเกินความจำเป็นหรือ Over Treatment เช่น กรณีถูกมีดบาดมือ 1 เซนติเมตร แต่ถูกนำตัวเข้าห้องผ่าตัดหมดเงินไป 6 หมื่นกว่าบาท         เฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เล่าว่า เคยมีคนไข้รายหนึ่งมีอาการท้องเสียและเห็นว่าตนทำประกันสุขภาพไว้จึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าทางโรงพยาบาลนำคนไข้รายนี้ตรวจสารพัดตรวจ ทั้งที่คนไข้บอกว่าเพิ่งตรวจร่างกายมา ซึ่งการตรวจบางรายการก็ไม่เกี่ยวกับอาการท้องเสีย ซ้ำยังให้คนไข้รายนี้นอนห้องไอซียูอีกหลายวัน สุดท้ายประกันสุขภาพที่ทำไว้ไม่พอจ่าย ค่ารักษาพยาบาลเกินไปอีก 3 แสน         “ผ่านไปเกือบ 2 ปี เพราะอายุความค่าจ้างทำของมัน 2 ปี ทางโรงพยาบาลก็ฟ้องที่ศาลจังหวัดมีนบุรีเรียกค่ารักษาพยาบาล ทางมูลนิธิก็ให้ผมหาทนายต่อสู้คดี เอาบิลต่างๆ ให้ผู้รู้เช็คว่าทำอะไรไปบ้าง ก็พบว่าไม่เกี่ยวกับอาการท้องเสีย เป็นการตรวจซ้ำซ้อน มีค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าห้องพักในไอซียูที่ไม่จำเป็นหลายรายการ เราเขียนคำให้การต่อสู้คดีว่าไม่มีความจำเป็น แต่ไปตรวจเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับท้องเสีย แล้วอาการก็ไม่ถึงกับต้องอยู่ไอซียู ศาลก็ไกล่เกลี่ย ในที่สุดทางโรงพยาบาลก็ลดราคาลงมา ฝ่ายจำเลยก็ยอมจ่ายให้จบไป” เครือข่ายผู้บริโภคผลักดันคุมโรงพยาบาลเอกชน         เครือข่ายผู้บริโภคพยายามผลักดันให้มีการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนมานาน อย่างน้อยในรอบนี้ก็มีมาตั้งแต่ 2561 จนกระทั่ง 22 มกราคม 2562 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นให้มีการประกาศค่ายา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นสินค้าที่ต้องมีการควบคุม ทว่า         “ประกาศนั้นก็ไม่มีผลอะไร เพราะยังไม่มีการประกาศมาตรการว่าจะควบคุมกำกับยังไง กกร. ก็เลยตั้งอนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรการยา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ ซึ่งอนุฯ นี้คุยกันครั้งแรกบอกว่าจะเริ่มต้นที่ยาและเวชภัณฑ์ก่อน ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ให้เวลา 60 วันในการศึกษา พบว่ามีการทำรายการยาและเวชภัณฑ์ของ UCEP กรณีฉุกเฉิน ซึ่งราคากลางนี้มาจากการพูดคุยกันระหว่าง 3 กองทุน ปรากฏว่ามีราคากลางของยาอยู่ประมาณ 3 หมื่นกว่ารายการ แล้วก็มีรายการเวชภัณฑ์ 5 พันกว่ารายการ ซึ่งน่าจะถือได้ว่าเป็นราคากลางที่ผ่านการตกลงของทั้ง 3 กองทุนเวลาไปตามจ่ายให้กับการเจ็บป่วยฉุกเฉินให้กับหน่วยบริการ” สุภัทรา นาคะผิว กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสุขภาพ กล่าว         นอกจากนี้ กรมการค้าภายในยังได้ขอความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลเอกชน 353 แห่ง ให้ส่งราคายาที่ซื้อและขายเพื่อเอามาเปรียบเทียบว่ามีการคิดกำไรกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตอนแรกไม่ได้รับความร่วมมือ จึงต้องออกเป็นหนังสือโดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ทางโรงพยาบาลเอกชนจึงส่งข้อมูลให้ ทำให้เห็นว่ามีการบวกกำไรเข้าไปสูงมากดังที่ปรากฏข้างต้น กกร. เดินหน้ามาตรการ         ล่าสุด ทางคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 52 พ.ศ.2562 เรื่องการแจ้งราคา การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายยารักษาโรค เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ ของสถานพยาบาล ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้ราคาและใช้ประกอบการตัดสินใจ         ประกาศดังกล่าวยังกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนต้องประเมินค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยทราบเมื่อผู้ป่วยร้องขอ และในกรณีจำหน่ายยาสำหรับผู้ป่วยนอก ทางโรงพยาบาลต้องออกใบสั่งยามาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและใบแจ้งราคายาให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้า โดยต้องประกอบด้วยชื่อสามัญทางยา ชื่อทางการค้า รูปแบบยา ขนาดหรือปริมาณ จำนวน วิธีใช้ ระยะเวลาในการใช้ และใบแจ้งราคายาต้องประกอบด้วยชื่อยาตามใบสั่งยาและราคาต่อหน่วย             อีกทั้งยังมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในส่วนกลางและส่วนจังหวัดเพื่อพิจารณาวินิจฉัยกรณีร้องเรียนเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเกินความจำเป็น สมาคมโรงพยาบาลเอกชนฟ้องศาลปกครอง         คงพอคาดการณ์ได้ว่าทางฟากโรงพยาบาลเอกชนย่อมไม่พอใจประกาศค่ายา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นสินค้าที่ต้องมีการควบคุม สิ่งที่ตามมาคือสมาคมโรงพยาบาลเอกชนกับโรงพยาบาลเอกชนอีก 41 แห่งร่วมกันฟ้องศาลปกครองสูงสุดให้ยกเลิกประกาศ กกร. ฉบับนี้ ไม่ให้มีการกำกับค่ารักษาพยาบาล ด้วยข้ออ้างว่าการออกประกาศนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายทางโรงพยาบาลเอกชนไม่มีส่วนร่วม ประการต่อมาอ้างว่าการออกประกาศบังคับเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนเป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรม เพราะไม่บังคับโรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย เช่น โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ที่เก็บค่ารักษาพยาบาลสูงเช่นกัน โดยผู้ถูกฟ้องที่ 1 คือ กกร. ตามมาด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะประธาน กกร. ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน         “ชัดเจนว่าในฐานะองค์กรผู้บริโภคมีส่วนได้เสียในเรื่องนี้ แล้วเราก็ผลักดันเรื่องนี้มาตลอด ถ้าศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่ง กกร. ฉบับนี้ ผู้บริโภคย่อมได้รับผลกระทบ เราจึงตัดสินใจร้องสอดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคดี คือเราไม่ได้เป็นคู่ความตั้งแต่ต้น แต่เรามีสิทธิที่จะร้องสอดด้วยความสมัครใจและอยู่ฝ่ายเดียวกับผู้ถูกฟ้องทั้งหมด เพื่อจะได้ช่วยกันต่อสู้คดี ยืนยันถึงความจำเป็น และการออกประกาศนี้ชอบแล้ว” สุภัทรา กล่าว         ประเด็นนี้มีองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศสนใจเข้ามาร้องสอดร่วมกันจำนวนมาก และได้ไปยื่นร้องสอดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา การปล่อยเสรียิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ         อย่างไรก็ตาม หากมองอีกด้านหนึ่ง การที่ประชาชนเลือกไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน นอกจากความจำเป็นเฉพาะหน้า เช่นการเจ็บป่วยฉุกเฉินแล้ว ต้องยอมรับว่าการบริการของโรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลที่ตนมีสิทธิประกันสังคมต้องใช้เวลารอคิวนาน ตรงนี้อาจถือเป็นอีกหนึ่งจุดอ่อนของระบบ สุภัทรากล่าวว่า                “เราปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบก็ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ เช่น ความเพียงพอของบุคลากร เครื่องมือที่เพียบพร้อม มันยังมีความไม่เพียงพออยู่ เราจึงเปิดโอกาสให้มีโรงพยาบาลเอกชนเกิดขึ้น แต่ในบางประเทศที่ทำระบบประกันสุขภาพ เขาจะจำกัดการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชนมากๆ เช่น ไต้หวัน สวีเดน จะให้มีโรงพยาบาลเอกชนไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ หรือค่าตอบแทนของแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนต้องไม่มากกว่ารัฐเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ การมีอยู่ของโรงพยาบาลเอกชนก็เป็นส่วนหนึ่งของการตอบปัญหาเชิงระบบที่ยังไม่ดีนัก         แต่ขณะเดียวกันธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมันต่างจากธุรกิจอื่น แล้วโรงพยาบาลเอกชนเองก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เพราะความเจ็บป่วย การบริการสาธารณสุข เป็นงานบริการเชิงคุณธรรมที่ไม่ใช่จะเอากำไรเท่าไหร่ก็ได้ เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันถ้ามันแพงไปเรื่อยๆ ไม่มีการจำกัดควบคุม มันยิ่งจะสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้น คนที่มีเงินก็มีโอกาสรอด คนไม่มีเงินก็ตายก่อน จึงจำเป็นต้องทำให้โรงพยาบาลเอกชนเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสุขภาพและต้องมีการกำกับควบคุมดูแล เราคงต้องดูว่าจะกำกับควบคุมอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยเสรีแบบนี้ เพราะจะทำให้ราคาต่างๆ ในระบบสุขภาพสูงขึ้นได้ ขณะเดียวกัน การดึงแพทย์ พยาบาล ก็อาจมีผลต่อการคิดค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นจากที่เคยเป็นอยู่” มาตรการต่อไป         มาตรการต่างๆ ของ กกร. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป ภญ.ยุพดี ให้ข้อมูลว่าขั้นต่อไปต้องมาดูราคาที่เหมาะสมของยาแต่ละกลุ่ม แต่ละตัว ต้องมีวิธีการในการบอกว่าราคาที่เหมาะสมอยู่ตรงไหน ซึ่งกำลังให้ทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ข้อมูลอยู่         “วันนี้ประเทศไทยมีรหัสยาซึ่งบอกถึงลักษณะของยา ขนาดกี่มิลลิกรัม ของแบรนด์ไหน ซึ่งเป็นจุดแข็งของเราที่ทำให้สามารถเทียบราคายาได้รหัสต่อรหัส แต่อันอื่นๆ ยังไม่มีรหัสเลย เช่น วัสดุการแพทย์ บริการการแพทย์ นี่คือสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงสาธารณสุขและหลายองค์กรกำลังให้ สวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) ทำรหัสวัสดุการแพทย์ และในอนาคตอาจต้องทำรหัสบริการการแพทย์อีก”         ทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อกรณีค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนที่บวกกำไรเพิ่มสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น         ในฐานะผู้บริโภคสิ่งที่ต้องทำคือการยืนยันสิทธิของตนเมื่อต้องเผชิญการเอาเปรียบ เพราะการร้องเรียน 1 ครั้งย่อมดีกว่าการบ่น 1000 ครั้ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 โรงพยาบาลบริการไม่เป็นมิตร

        ทุกคนต่างทราบดีว่า การเข้าใช้บริการของโรงพยาบาลรัฐนั้น ความสะดวกสบายเป็นไปค่อนข้างยาก เนื่องจากความแออัดของผู้ป่วยที่รอเข้าใช้บริการในแต่ละวัน จากสถิติสาธารณสุขระบุว่า ในปี พ.ศ.2561 รพ. รัฐ มีจำนวนผู้ป่วยนอกสูงถึง 71.83 ล้านคน ตรวจรักษา 247.34 ล้านครั้ง เฉลี่ย 3.44 ครั้งต่อคน (ที่มา ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข) ด้วยเหตุนี้ความไม่พอใจต่องานบริการจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอด ซึ่งบางเรื่องก็สามารถจัดการแก้ไขให้ลุล่วงได้ ขอเพียงแต่ละฝ่ายได้สื่อสารกันด้วยเหตุผล         คุณเพียงใจเข้าใช้บริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง เมื่อกลับมารักษาตัวที่บ้านพบว่าเกิดอาการหน้าบวม ตาบวม คาดว่าน่าจะเกิดจากการแพ้ยาจึงหยุดยา แต่อาการยังไม่ดีขึ้นติดต่อกับทางฝ่ายเภสัชกรรมของโรงพยาบาลได้รับคำแนะนำให้มาที่แผนกฉุกเฉิน จึงขอให้ญาติช่วยพามาส่งที่โรงพยาบาล เวลาประมาณ 12.00 น. เมื่อพยาบาลห้องฉุกเฉินวัดความดันให้บอกว่า “ทำไมไม่ไปที่ตึก...” (ซึ่งเป็นตึกที่ตรวจรักษาทั่วไป) จากนั้นให้เจ้าหน้าที่เข็นรถพาไปส่งยังตึกดังกล่าว แต่เมื่อเข็นรถมาได้สักพัก เจ้าหน้าที่เข็นรถถามญาติผู้ป่วยว่า “รู้จักตึก...ใช่ไหม ไปถูกไหม” ญาติตอบไปว่า “รู้จัก” เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า “ถ้างั้นเข็นไปเองนะ” แล้วเดินจากไปทันที         ญาติคุณเพียงใจจึงต้องช่วยเข็นรถพามาที่ตึกดังกล่าว คราวนี้เมื่อพยาบาลคัดกรองตรวจสอบประวัติคนไข้แล้วได้แจ้งว่า “รอ 4 โมงเย็นนะค่อยพากลับไปตรวจที่ตึกเดิม(ฉุกเฉิน)” คุณเพียงใจรู้สึกว่าตนเองได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดี คำแนะนำก็ทำให้เกิดความลำบากในการรักษา จึงโทรแจ้งประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาลเพื่อขอคำแนะนำ ก็ได้รับแจ้งว่า “คุณไปหาข้าวกินก่อนแล้วค่อยมาตามนั้น เพราะที่ตึก...เตียงไม่ว่าง” คุณเพียงใจจึงอดตัดพ้อไม่ได้ว่า “ถ้าดิฉันตายไปหรือเป็นอะไรมา โรงพยาบาลรับผิดชอบแล้วกัน” ฝ่ายประชาสัมพันธ์ตอบกลับว่า “ตกลงร้องเรียนใช่ไหมคะ” คุณเพียงใจจึงแจ้งมาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า อยากให้ช่วยบอกทางโรงพยาบาลให้ปรับปรุงแก้ไขวิธีปฏิบัติงาน เพราะเห็นว่าไม่เป็นมิตรกับประชาชน แนวทางการแก้ไขปัญหา        ทางศูนย์ฯ ได้ขอข้อมูลจากคุณเพียงใจเพิ่มเติมเพื่อทำหนังสือถึงทางโรงพยาบาล ขอให้ตรวจสอบคุณภาพบริการและแก้ไขปัญหา ซึ่งต่อมาได้รับการแจ้งว่า “ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางโรงพยาบาลได้รับทราบปัญหาแล้วและได้แก้ไขเรื่องดังกล่าว ทั้งเรื่องการสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรในเรื่องการเข็นรถและการให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย ส่วนเรื่องความแออัดและความล่าช้าในการตรวจรักษา ทางโรงพยาบาลได้พิจารณาที่จะจัดตั้งคลินิกเสริมในช่วงบ่ายโดยเร็วที่สุด” ศูนย์ฯ ได้ส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวต่อผู้ร้อง คุณเพียงใจพอใจที่ทางโรงพยาบาลมีแนวทางแก้ไขปัญหาและเข้าใจเรื่องความแออัดของผู้ป่วย แต่ก็อยากที่จะเห็นบริการที่เป็นมิตรจากโรงพยาบาลเพียงเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 วิ่งวุ่นจากเหตุใช้สิทธิป่วยฉุกเฉินวิกฤติรักษาฟรี

        น่าจะเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่า หากประชาชนประสบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถใช้สิทธิ UCEP หรือสิทธิการรักษาเพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งสามารถรักษาได้ฟรีทุกโรงพยาบาล ภายใน 72 ชั่วโมงแรก ก่อนจะส่งผู้ป่วยเข้าระบบตามสิทธิรักษาพยาบาลของผู้ป่วยนั้น อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติอาจมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดภาระเรื่องค่าใช้จ่ายหรือไม่ฟรีจริงแก่ผู้ป่วยและญาติที่ใช้สิทธิดังกล่าว ซึ่งทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะปลดเปลื้องภาระได้ ดังกรณีที่มีผู้ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ        คุณประสานร้องเรียนว่า เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ปีที่แล้ว เวลาประมาณ 16.30 น. คุณประสงค์ซึ่งเป็นน้องชายประสบอุบัติเหตุขณะขับขี่รถจักรยานยนต์แล้วมีรถบรรทุกเลี้ยวตัดหน้า คุณประสงค์ถูกนำส่งโรงพยาบาลใกล้ที่เกิดเหตุโดยรถกู้ภัยอาสาในภาวะหายใจเองไม่ได้และไม่รู้สึกตัว คุณประสานไปโรงพยาบาลและเฝ้าผู้ป่วยอยู่จนถึงเวลา 22.30 น. จึงได้กลับบ้าน แต่ประมาณ 23.00 น. ทางโรงพยาบาลได้โทรศัพท์แจ้งว่า ให้มาเซ็นเอกสาร 2 ฉบับเพื่อให้ผู้ป่วยรับการผ่าตัดด่วน ซึ่งตนเองก็รีบไปเซ็นเอกสารดังกล่าว         วันรุ่งขึ้นโรงพยาบาลแจ้งว่าอาการของผู้เสียหายหนักเกินกว่าที่ทาง รพ.จะรักษาได้ ต้องส่งไป รพ.ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพของผู้ป่วย แต่เมื่อติดต่อไปและแจ้งอาการ โรงพยาบาลตามสิทธิหลักประกันก็ไม่สามารถรักษาได้ น้องชายต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่หรือโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์เท่านั้น ทางโรงพยาบาลได้ติดต่อไปตามโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์หลายแห่งพบว่า เตียง ICU เต็ม ผู้ร้องจึงดิ้นรนติดต่อหาโรงพยาบาลที่มีศักยภาพพอที่จะรักษาน้องชายได้ จนได้ทราบว่าน้องชายสามารถใช้สิทธิ UCEP หรือฟรี 72 ชั่วโมงแรก เมื่อแจ้งเรื่องต่อโรงพยาบาลกลับได้ข้อมูลที่ต่างออกไป โดยโรงพยาบาลแจ้งว่า คุณประสงค์ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.รถ ไปแล้ว ไม่สามารถใช้สิทธิ UCEP ได้         วันที่ 6 มีนาคม ประมาณ 14.00 น. ทางโรงพยาบาลแจ้งคุณประสานว่า โรงพยาบาลศิริราชรับรักษาคุณประสงค์ ซึ่งทาง รพ.จะย้ายผู้ป่วยไปที่ศิริราช แต่คุณประสานต้องชำระค่ารักษาจำนวน 120,000 บาท คุณประสานจึงรีบไปหาหยิบยืมเงินมาจ่ายให้ทาง รพ. ซึ่งเวลาประมาณ 20.00 น.จึงพอที่จะรวบรวมเงินได้และนำมาจ่ายให้ รพ. น้องชายจึงได้ถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่ รพ.ศิริราช คุณประสานพยายามขอข้อมูลจากทางศิริราชว่าผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิ UCEP ได้หรือไม่ ทางศิริราชให้ข้อมูลว่าการตัดสินใจว่าใช้ได้หรือไม่ได้ ต้องส่งข้อมูลเข้าไปที่ระบบซึ่งดูแลโดย สปสช. คุณประสานจึงขอให้ทาง รพ.ที่รักษาผู้ป่วยในครั้งแรกส่งข้อมูลไปยังระบบของ UCEP แต่ รพ.ปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า “อาการของผู้ป่วยพ้นขีดอันตรายแล้ว”         คุณประสานจึงแจ้งเรื่องร้องเรียนไปที่ สปสช. ต่อมาได้รับแจ้งว่า ทาง รพ.ได้ส่งข้อมูลผู้ป่วยเข้าระบบแล้ว และกำลังเข้าสู่การพิจารณาว่าเป็นกรณีฉุกเฉินวิกฤตหรือไม่ ส่วนอาการของผู้ป่วยหลังจากรับการผ่าตัดแล้ว ได้ย้ายเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตามสิทธิหลักประกัน ซึ่งผู้ป่วยยังอยู่ในอาการไม่รู้สึกตัว ส่วนเรื่องของการร้องเรียนนั้น ผ่านไปประมาณ 7 เดือนยังไม่คืบหน้า ทำให้คุณประสานมีภาระเรื่องการผ่อนชำระหนี้สินที่กู้ยืมมาเพื่อรักษาน้องชาย จึงขอความช่วยเหลือกับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคเพื่อให้ช่วยติดตามเรื่องให้ด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหา        เบื้องต้นได้แนะนำให้คุณประสานดำเนินการเรื่องคดีความกับทางผู้ขับขี่รถบรรทุกเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติม สำหรับการติดตามกรณีใช้สิทธิ UCEP ได้รับแจ้งจากทาง สปสช. ว่า แม้ รพ.ที่รักษาผู้ป่วยในครั้งแรกนั้นจะส่งข้อมูลเข้าระบบแล้ว แต่ไม่ได้ดำเนินการเรื่องเบิกเงินกับ UCEP  เรื่องจึงยังไม่คืบหน้า ซึ่งกรณีนี้ทาง สปสช.ได้พิจารณาแล้วว่าเข้ากรณีเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ตั้งแต่ที่คุณประสานร้องเรียนไว้ รอเพียงให้ทาง รพ.เบิกเงิน ซึ่งจะทำให้ทราบว่ายอดเงินเป็นจำนวนเท่าใดเพื่อการพิจารณาจ่ายเงินให้ รพ. และ รพ. จะได้คืนเงินให้กับผู้ร้องต่อไป            กรณีของคุณประสานนี้ ความล่าช้าเกิดจาก รพ.อาจยังไม่เข้าใจการส่งเรื่องเข้าระบบ เพราะเมื่อติดต่อไปที่ รพ. ได้รับคำยืนยันว่า ได้ส่งข้อมูลเข้าระบบไปแล้วตั้งแต่มีนาคม แต่ รพ.ไม่ทราบว่าต้องส่งข้อมูลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลด้วย เพราะ สปสช. ต้องใช้ในการพิจารณาว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งหมดนั้น สปสช. สามารถจ่ายได้เต็มจำนวนหรือไม่         ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ช่วยประสานงานทวงถามให้กับผู้ร้องเรียนเป็นระยะ พบว่า ทาง รพ.อ้างว่ามีภาระงานมาก จึงทำให้การทำเรื่องเบิกจ่ายล่าช้า ดังนั้นกว่าจะทำเรื่องเบิกจ่าย ก็ต้องรอจนถึงเดือนธันวาคม 2561 ต่อมาในเดือนมกราคม 2562 เรื่องจึงได้ผ่านการพิจาณาของ สปสช. และมีหนังสือแจ้งการจ่ายเงินให้ รพ. ซึ่ง รพ. ก็ติดต่อให้คุณประสานเข้าไปรับเงินคืน  ------------นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” หรือ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ 1 เมษายน 2560 โดย สปสช.เป็นหน่วยงานกลางในการประสานกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ ทั้งหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และอื่นๆ เพื่อจ่ายเงินชดเชยให้รพ.เอกชนตามนโยบายนี้ว่า คนไทยทุกคนหากเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล (รพ.) ที่ใกล้ที่สุดได้ทั้ง รพ.รัฐและรพ.เอกชนไม่จำเป็นต้องเป็นรพ.ตามสิทธิ โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นใน 72 ชั่วโมงแรก ผู้ป่วยไม่ต้องจ่าย แต่ละกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐที่ผู้ป่วยมีสิทธิจะดำเนินการจ่ายให้รพ.ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินอัตราที่กำหนด6 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ที่สามารถใช้สิทธิ UCEP รักษาพยาบาลฟรี 72 ชั่วโมงแรก1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง3.ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่อง6.อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิตที่มา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 เครื่องประดับคุมกำเนิด

เป็นที่ทราบกันดีว่า มนุษย์นั้นมีความกำหนัดแทบทุกคน มากน้อยขึ้นกับพันธุกรรม การอบรมและสิ่งแวดล้อม ความข้อนี้สามารถพิสูจน์ได้ถ้าท่านผู้อ่านเป็นผู้ที่ช่างสังเกตความเป็นไปของคนในสังคม ไม่ว่าจะเล็กขนาดในหมู่บ้านหรือใหญ่ถึงระดับประเทศ ดังนั้นเมื่อคุมความกำหนัดได้ยาก สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องทำให้ได้คือ การคุมกำเนิดเมื่อมีความกำหนัด ซึ่งว่าไปแล้วในทางวิทยาศาสตร์สามารถกล่าวได้ว่า มันไม่ได้ปลอดภัยเสียทีเดียว เนื่องจากมันคือการเข้าไปรบกวนระบบฮอร์โมนของมนุษย์ ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดความผิดปรกติต่าง ๆ ได้        มีข่าวหนึ่งซึ่งอาจเป็นที่ยินดีในระบบการวางแผนครอบครัวสำหรับผู้หญิงวันนี้ เพราะกระบวนการนั้นอาจ “ง่ายเหมือนการใส่ต่างหู” โดยรายงานการวิจัยเรื่อง Pharmaceutical jewelry: Earring patch for transdermal delivery of contraceptive hormone ในวารสาร Journal of Controlled Release ชุดที่ 301 หน้าที่ 140–145 ของปี 2019 ได้อธิบายถึงเทคนิคในการให้ยาคุมกำเนิดผ่านการใช้เครื่องประดับ เช่น ต่างหู (ซึ่งมีแนวโน้มว่า น่าจะใช้ได้กับ นาฬิกาข้อมือ แหวน หรือสร้อยคอด้วย) โดยที่ยาคุมกำเนิดนั้นบรรจุอยู่ในแผ่นอาบยา(transdermal patches) ที่สามารถประกอบเข้าเป็นส่วนของเครื่องประดับเช่น ต่างหู ซึ่งเมื่อสัมผัสกับผิวหนังสามารถทำให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้        การทดสอบเบื้องต้นในรายงานการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า แผ่นอาบยาคุมกำเนิดนั้นสามารถจ่ายตัวยาซึ่งออกฤทธิ์เป็นฮอร์โมนเพศหญิงในปริมาณที่เพียงพอต่อการคุมกำเนิดได้ในสัตว์ทดลอง(จะกล่าวถึงกระบวนการในส่วนต่อไปของบทความ) ซึ่งงานวิจัยในสัตว์ทดลองเพื่อพิสูจน์แนวคิดนี้ ได้รับการสนับสนุนโดยหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา(USAID) โดยเป้าหมายต่อไปสำหรับเทคนิคใหม่นี้คือ การปรับปรุงให้สามารถใช้แผ่นอาบยาประกอบกับเครื่องประดับต่างๆ ในการให้ยาคุมกำเนิดผ่านเข้าสู่ชั้นใต้ผิวหนังแก่กลุ่มเป้าหมายจริง และยังอาจเลยไปถึงการให้ยาชนิดอื่นๆ แก่ผู้ป่วยด้วย        เหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้การใช้ยาคุมกำเนิดอาจต้องเปลี่ยนวิธีไปจากการกินประจำวันแบบเดิม เพราะมีในบทความเรื่อง Contraceptive Failure in the United States: Estimates from the 2006–2010 National Survey of Family Growth ตีพิมพ์ในวารสาร Perspectives on Sexual and Reproductive Health ชุดที่ 49 หน้าที่ 7-16 ในปี 2017 ได้ให้ข้อมูลว่า ในการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดนั้นแม้มีความระมัดระวังที่ดีแล้วอย่างไรก็ตาม โอกาสเกิดปัญหาจากการลืมกินยาก็ยังอยู่ที่ร้อยละ 0.3 และถ้าเป็นกรณีที่ผู้ใช้ยาขาดความระมัดระวังคือ ไม่เตือนตนให้กินยาตามกำหนดแล้ว ความผิดพลาดอาจสูงถึงร้อยละ 9 ทีเดียว        ที่น่าสนใจจากงานวิจัยนี้คือ ถ้าชนิดของยาคุมกำเนิดมีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างของหญิง(หรือชาย) แต่ละคนได้ ก็ควรเป็นเรื่องที่ดีเพราะการสวมเครื่องประดับนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันของคนที่ทำงานนอกบ้าน แล้วเทคนิคนี้อาจช่วยให้ผู้หญิงบางคนที่อาจติดขัดในข้อบังคับทางศาสนาสามารถ(แอบ) ป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจจากสามีผู้ไม่ประมาณตนในการมีลูกในยุคที่กล่าวกันว่า การมีลูก 1คน อาจยากจนไปถึง 70 ปี ไม่ใช่แค่ 7 ปี ดังคำโบราณที่เคยกล่าวไว้        จริงแล้วการใช้แผ่นอาบยาเพื่อคุมกำเนิดนั้น ไม่ใช่แนวคิดการให้ยาวิธีใหม่เสียทีเดียว เพราะเป็นการปรับเทคโนโลยีในการใช้แผ่นอาบยาป้องกันอาการเมารถ ช่วยการเลิกสูบบุหรี่ และควบคุมอาการของวัยหมดประจำเดือน แต่นี่เป็นแนวคิดครั้งแรกที่ประยุกต์วิธีการดังกล่าวเข้าไปกับการใช้เครื่องประดับซึ่งน่าจะดึงดูดใจในการใช้ยาได้ง่ายขึ้น        วงการแพทย์นั้นมีประสบการณ์มากมายเกี่ยวกับการสร้างและการใช้แผ่นอาบยาแปะผิวหนังเพื่อจ่ายยาสู่ชั้นใต้ผิวหนังคนไข้ เพียงแต่ในครั้งนี้ต้องการพัฒนาให้แผ่นอาบยามีขนาดเล็กลง (แต่สามารถบรรจุยาที่มีขนาดเพียงพอกับวัตถุประสงค์) จนเนียนพอในการประกอบเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องประดับ ซึ่งต่างหูดูจะดึงดูดใจสาวได้ดีพอกับแหวนวงงาม นาฬิกาสุดหรู หรือสร้อยคอเก๋ ๆ        ในการทดสอบแนวความคิดเกี่ยวกับการให้ยาด้วยวิธีดังกล่าวโดยใช้สัตว์ทดลองนั้น เริ่มจากการใช้ใบหูของหมู (pig) เพื่อทดสอบว่า ยา levonorgestrel (ซึ่งอยู่ในบัญชียาหลักเพื่อใช้ในสูตรยาคุมกำเนิดสตรีขององค์การอนามัยโลก และยานี้กำลังถูกพัฒนาในสูตรที่เอื้อต่อการคุมกำเนิดในบุรุษด้วย) ซึมผ่านได้ดีตามต้องการ จากนั้นนักวิจัยได้ใช้แผ่นอาบยาดังกล่าวแปะหลังใบหูหนูชนิดที่ไม่มีขน (nude rat) เนื่องจากการผ่าเหล่านาน 16 ชั่วโมงแล้วถอดออก 8 ชั่วโมง(เพื่อจำลองการถอดต่างหูระหว่างการนอนหลับของคนทั่วไป) ผลการทดสอบนั้นชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าระดับยาในเลือดหนูได้ลดลงบ้างในขณะที่เอาต่างหูออกไป แต่ความเข้มข้นของยาที่เหลืออยู่ในช่วงต่ำสุดนั้นก็ยังดูว่าเข้มข้นพอต่อการออกฤทธิ์คุมกำเนิดได้        แผ่นอาบยาที่ใช้ทดสอบโดยนักวิจัยนั้นมีสามชั้น โดยชั้นแรกเป็นวัสดุที่ยาไม่สามารถซึมผ่านได้ มีกาวที่สามารถยึดให้ติดกับเครื่องประดับ สำหรับชั้นกลางของแผ่นอาบยานั้นประกอบด้วยยาคุมกำเนิดในรูปที่สามารถผ่านวัสดุชั้นที่สามที่มีกาวยึดช่วยยึดเกาะกับผิวหนังแล้วให้ยาผ่านซึมเข้าใต้ผิวหนัง เพื่อเข้าสู่กระแสเลือดได้ตามต้องการ ในรายงานการวิจัยกล่าวว่า แผ่นอาบยาที่ใช้ศึกษานั้นมีขนาดประมาณหนึ่งตารางเซนติเมตร สามารถเกาะผิวหนังของสัตว์ทดลองได้อย่างแน่นหนา ดังนั้นการใช้ต่างหูหรือเครื่องประดับอื่นที่เหมาะสมจึงอาจเป็นแนวทางที่มีประโยชน์มากที่สุดสำหรับการให้ยา        ในที่สุดแล้วถ้าวิธีการนี้ใช้ได้สำเร็จในการคุมกำเนิดของมนุษย์ แผ่นอาบยาที่แปะบนต่างหูจำต้องมีการเปลี่ยนเป็นระยะๆ ที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ใช้ได้รับยาในระดับที่มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด ซึ่งทำให้ผู้รับยาสามารถเปลี่ยนต่างหูได้ตามชอบใจโดยใช้แผ่นอาบยาเดิมได้ วิธีการนี้ควรเป็นแรงดึงดูดให้มีการรับยาในลักษณะที่ลดโอกาศผิดพลาดเหมือนการกินหรือฉีดแบบเดิม ๆ        ข้อมูลในงานวิจัยกล่าวประมาณว่า การปรับเปลี่ยนวิธีให้ยาคุมกำเนิดนี้มีวัตถุประสงค์ที่เป็นประโยชน์อย่างมากในประเทศกำลังพัฒนาที่การเข้าถึงบริการให้ยาคุมกำเนิดทั้งชนิดกินหรือที่ออกฤทธิ์นานเป็นยาฉีดยังเป็นปัญหา ทั้งนี้เพราะสตรีคงสนใจกับเครื่องประดับที่ให้ยาได้มากกว่าการกินยาหรือใช้อุปกรณ์การแพทย์ เช่น ห่วงคุมกำเนิด โดยตรง งานวิจัยที่จำเป็นต้องตามมาคือ การศึกษาว่า กลุ่มสตรีในพื้นที่ต่างกันนั้นมีรสนิยมหลักแบบใดในการเลือกเครื่องประดับใช้ เพื่อให้การบริหารการใช้ยาไม่มีความจำกัดที่ความชอบในรูปแบบของเครื่องประดับ        ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการคือ นอกจากการศึกษาดูประสิทธิภาพและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของเครื่องประดับคุมกำเนิดแล้ว ยังจำเป็นต้องศึกษาถึงปัจจัยทางสังคมและความเป็นปัจเจกบุคคลที่เข้ามามีบทบาทกับผู้หญิง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่การคุมกำเนิดเป็นข้อห้ามในชีวิตประจำวันผู้ทำการวิจัยได้ให้ความหวังว่า แนวทางการให้ยาแบบนี้ควรมีการศึกษาถึงการใช้ยาชนิดอื่นที่ต้องได้รับเป็นประจำ โดยมีความจำเป็นที่ต้องศึกษาว่า ยาแต่ละชนิดนั้นต้องยังมีประสิทธิภาพด้วยปริมาณที่ต่ำพอที่จะบรรจุในพื้นที่ที่จำกัดของแผ่นแปะซึ่งจะนำไปใช้ร่วมกับเครื่องประดับต่าง ๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2562

คนกรุงจ่ายค่ารถไฟฟ้าเฉลี่ย 28.30 บาท/เที่ยว        ผลการศึกษาจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะทางถนนและประเภทอื่นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า ผู้โดยสารไทยต้องควักเงินจ่ายค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้าเฉลี่ยขั้นต่ำ 28.30 บาทต่อเที่ยว ซึ่งนับว่าแพงเกินไปกว่ากำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อย ส่งผลให้ผู้ใช้บริการเป็นกลุ่มคนรายได้ปานกลางและรายได้สูง โดยอัตราค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าเฉลี่ยของคนกรุงอยู่ที่เดือนละ 1,000-1,200 บาท หรือคิดเป็นเงินกว่า 12,000 บาทต่อปี        ขณะที่ข้อสรุปค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทาง พบว่า ไทยมีค่าโดยสารระบบรางสูงกว่าประเทศอื่น เทียบกับประเทศในภูมิภาค เช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ รวมถึงไทยมีส่วนต่างค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถโดยสาร (รถเมล์) สูงที่สุด โดยค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทางของไทยอยู่ที่ 2.14 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 67.10 บาท ทั้งนี้ เมื่อคิดค่าโดยสารเฉลี่ยต่อกิโลเมตรเดินทาง พบว่า ค่าโดยสารต่อ 1 กิโลเมตรของผู้โดยสารในไทยอยู่ที่ 0.478 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ หรือ 14.99 บาท สูงกว่าประเทศ อื่นๆ อย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง และอังกฤษ  "เมื่อยล้าหมดไฟ” โรคที่ต้องได้รับการรักษา"        หลังองค์การอนามัยโลกกำหนดให้ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ(Burnout) เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาในทางการแพทย์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะวิธีจัดการภาวะดังกล่าว หลักคือต้องจัดการสองด้าน ได้แก่ 1.ด้านการจัดการกับตัวเอง และ 2.การจัดการสภาพแวดล้อมในการทำงาน        1.ด้านการจัดการกับตัวเอง เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน, ผ่อนคลายอารมณ์ด้วยกิจกรรมอื่นๆ เช่น นอนดูหนัง ฟังเพลง หรือชอปปิ้ง เพื่อให้รางวัลกับตนเอง, พูดคุยขอคำปรึกษากับผู้อื่น ว่าคุณรู้สึกหมดแรงหรือเบื่อ หากมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ ต้องการความช่วยเหลือหรือสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้        2.คำแนะนำของ WHO ในการจัดการกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน โดยการปรับสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้มีความรู้สึกทางบวกมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยวิสัยทัศน์และนโยบายของผู้บริหาร เช่น สร้างเป้าหมายเส้นทางอาชีพให้พนักงานอย่างชัดเจน สร้างการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพนักงาน นโยบายดูแลสุขภาพกายและใจของพนักงาน เพื่อช่วยเหลือและดูแลอย่างเหมาะสม        ลักษณะอาการที่เข้าข่ายภาวะเมื่อยล้าหมดไฟที่เกิดขึ้นจากการทำงาน คือ 1.รู้สึกหมดไฟ เหนื่อยล้า พลังชีวิตหดหาย 2.มีความรู้สึกไม่อยากทำงาน ต้องการมีระยะห่างจากงานหรือมีทัศนคติเชิงลบต่องาน 3.ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งลักษณะอาการดังกล่าวเป็นผลมาจากความเครียดในการทำงานหรือการทำงานไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดการณ์ไว้ อาจทำให้เสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้น ประกันสังคมเตรียมแก้กฎหมายเก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได        สำนักงานประกันสังคม เตรียมพิจารณาแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคมอีกรอบ โดยให้เก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได คือ ค่อยๆ ขยายเพดานเงินเดือนสูงสุดในการคำนวณเงินสมทบ คาดว่าภายในระยะเวลา 5 ปี จะสามารถเก็บเงินสมทบได้เดือนละ 1,000 บาท ตามเป้าหมาย        นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้มีการเก็บเงินสมทบเพิ่มโดยขยายเพดานจากเดือนละ 750 บาท เป็นเดือนละ 1,000 บาท เพื่อให้มีเงินไปเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ และทำให้เพิ่มเงินบำนาญหลังเกษียณ แต่หลังจากที่มีการนำไปรับฟังความเห็นมาแล้วพบว่า มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงยังไม่ได้เดินหน้าต่อ แต่ไม่ได้ล้มเลิก ขณะนี้กำลังพิจารณาเรื่องการเก็บเงินสมทบแบบขั้นบันได อย่างไรก็ตามอาจจะต้องดูนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่และรัฐบาลชุดใหม่อีกครั้งว่าเป็นไปในแนวทางเดียวกันหรือไม่        เหตุที่ต้องเก็บเงินสมทบเพิ่ม สปส.ระบุว่า “สปส.เริ่มเก็บเงินสมทบ 5% โดยคำนวณจากฐานเงินเดือนต่ำสุดที่ 1,650 บาท สูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท ทำให้มีการเก็บเงินสมทบสูงสุดอยู่ที่ 750 บาทต่อเดือน ซึ่งเก็บอัตรานี้มาตั้งแต่ปี 2533 ถึงปัจจุบันโดยไม่ได้เก็บเพิ่มเลย ขณะที่แต่ละปีมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากขึ้นรวมถึงสิทธิประโยชน์อีกหลายอย่างที่มีการเรียกร้องกันอยู่ นอกจากนี้ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกันสังคมเริ่มเข้าสู่ช่วงจ่ายเงินบำนาญให้ผู้ประกันตน มีการคาดการณ์ว่า หากไม่เก็บเพิ่มในปี 2579 จะทำให้เงินเข้ากองทุนน้อยกว่าเงินที่ต้องจ่ายออก กระทบกับเสถียรภาพของกองทุน"พาณิชย์"ส่งตำรวจดำเนินคดีโรงพยาบาลเอกชนโขกค่ารักษา-ค่ายา"        "พาณิชย์"ส่งตำรวจดำเนินคดีโรงพยาบาลเอกชน เคสคิดค่ารักษาพยาบาลอาการท้องเสีย 3 หมื่น และค่ายาแพงเกินจริงแล้ว ในข้อหาค้ากำไรเกินควร พร้อมเดินหน้าทำฐานข้อมูลราคาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ หลังทำข้อมูลราคายาเสร็จแล้ว        ทางกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เคสดังกล่าวผู้ป่วยมาด้วยอาการท้องเสีย การคิดราคาถึง 3 หมื่น เป็นการรักษาที่มากเกินกว่าความจำเป็น และมีการคิดราคาเกินสมควร และกรณีค่ายา เมื่อเปรียบเทียบกับราคาในบัญชียาที่อยู่ในบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) พบว่า มีการคิดราคาสูงเกินจริงมาก ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย จึงต้องส่งดำเนินคดี ส่วนที่กรณีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ออกมายืนยันว่าโรงพยาบาลเอกชนไม่ผิดนั้น ก็เป็นส่วนการดำเนินการของ สบส. เพราะกรมการค้าภายใน พิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น        ขณะนี้กรมการค้าภายในยังได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในวงการแพทย์ เช่น จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำฐานข้อมูลราคาเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ให้เป็นระบบ ก่อนที่จะนำมาเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ ที่ www.dit.go.th เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบราคา และเปรียบเทียบราคาของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งก่อนที่จะตัดสินใจเข้ารับการรักษาได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้จัดทำฐานข้อมูลราคายาเสร็จสิ้น และพร้อมเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมฯ แล้ว คาดว่าน่าจะทำให้แล้วเสร็จได้ภายใน 2-3 เดือน        สำหรับประชาชน ต่อไปหากพบว่าถูกคิดค่าใช้จ่ายในราคาสูงเกินจริง สูงกว่าที่มีการแจ้งราคาไว้กับกรมการค้าภายใน ก็สามารถร้องเรียนมาที่สายด่วน โทร 1569 หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีคิดราคาสูงเกินจริง จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับห้างดังร่วมลดปัญหาขยะ งดแจกถุงพลาสติก และแพคเกจจิงโฟม        ขยะพลาสติกถือเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะประเทศไทย ที่ติดอันดับประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด เป็นอันดับ 6 ของโลก ด้วยปริมาณขยะพลาสติกกว่า 2 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าต่างๆ เริ่มมีมาตรการในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และปริมาณขยะพลาสติกมากขึ้น        เริ่มที่ กลุ่มเซ็นทรัล ได้ผนึกกำลังกลุ่มธุรกิจในเครือ จัดแคมเปญ Central Love the Earth ‘Say No to Plastic Bags’ เพื่องดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้าอย่างจริงจัง พร้อมประกาศเป็นห้างค้าปลีกรายแรกในไทยที่ปลอดถุงพลาสติกภายในปี 2562 โดยจะเริ่มปฏิบัติการนี้ในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 นี้เป็นวันแรก พร้อมตั้งเป้าว่าปีนี้จะลดให้ได้กว่า 150 ล้านใบ        Tesco Lotus เริ่มรณรงค์งดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้ามาแล้วตั้งแต่ปี 2553 โดยใช้วิธีการสร้างแรงจูงใจ ที่ว่าถ้าลูกค้าปฏิเสธไม่รับถุงพลาสติก หรือนำถุงผ้ามาชอปปิงเอง จะได้รับแต้มในคลับการ์ดเพิ่ม 20 แต้ม และได้มีการเพิ่มขึ้นจนในปัจจุบันเป็น 50 แต้ม และในปีนี้ก็ได้ประกาศยกเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมทั้งหมด(100%) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป        จากนโยบายของธุรกิจค้าปลีก อย่าง กลุ่มเซ็นทรัล ที่ตั้งเป้าจะลดการใช้ถุงพลาสติกให้ได้กว่า 150 ล้านใบ และเทสโก้ โลตัส ที่มีเป้าหมายลดแพคเกจจิ้งโฟม อีก 11.24 ล้านถาดในปีนี้ คาดว่าจะสามารถช่วยให้ประเทศไทยลดขยะพลาสติกและโฟมไปได้ถึง 161.24 ล้านชิ้นภายใน 1 ปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 ไซบูทรามีนในอาหารเสริมที่กล่าวอ้างลดน้ำหนักจากห้างค้าปลีกออนไลน์ (ภาคต่อ)

        ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับปีนี้ นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่บรรยายสรรพคุณว่ามีส่วนในการลดน้ำหนัก จากเว็บไซต์ขายของออนไลน์ชื่อดัง ได้แก่ C mart ,Shop at 24, LAZADA, We mall, Watsons, 11 street, Konvy, Shopee รวม 8 แห่ง รวมทั้งสิ้น 16 ผลิตภัณฑ์ และพบว่า มีผลิตภัณฑ์ 6 ตัวอย่างผสมยาไซบูทรามีนและฟลูออกซิทีน ซึ่งเป็นยาอันตรายที่ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร (ดูรายละเอียดในนิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 208)         หลังทราบผลการทดสอบ ฉลาดซื้อได้ส่งรายงานถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เพื่อขอให้เพิกถอนทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่พบการลักลอบผสมยาแผนปัจจุบัน และขอความร่วมมือจากห้างออนไลน์ที่จำหน่ายให้นำผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายออกจากระบบการซื้อขาย         ทั้งนี้จากการติดตามผลการดำเนินงาน อย. มีหนังสือ ที่ สธ 1010.3/10523 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2561 ว่า “กรณีตรวจพบยาแผนปัจจุบันในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อย.ถือว่าจะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและจะเลือกใช้กฎหมายที่มีโทษสูงสุดในการดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ได้มีการพักใช้ใบอนุญาตสถานประกอบการและยกเลิกเลขสารบบอาหารแล้ว พร้อมกับทำการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลดังกล่าวในเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อสื่อสารให้ผู้บริโภคทราบและหลีกเลี่ยงการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่ปลอดภัย”         ส่วนในเรื่องการขอความร่วมมือจากห้างค้าปลีกออนไลน์ พบว่า ห้าง 11 street ได้แจ้งว่าได้ตรวจสอบและแจ้งผู้ขายทราบพร้อมดำเนินการถอดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตัวที่พบปัญหาออกจากเว็บไซต์ทั้งหมดแล้ว         อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ในเดือนมีนาคม – เมษายน 2562 นี้ฉลาดซื้อได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณช่วยลดน้ำหนัก จำนวน 15 ตัวอย่าง โดยอิงจากผลิตภัณฑ์เดิมที่เคยทดสอบเมื่อปีที่แล้วและสินค้าตัวใหม่ที่มีการแนะนำว่าขายดี ซึ่งพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาในครั้งก่อนไม่มีการขายแล้ว ยกเว้น ผลิตภัณฑ์ S-Line ที่ยังมีการจำหน่ายอยู่ใน LAZADA (เช่นเดิม) การสุ่มเก็บตัวอย่างใช้วิธีการสั่งซื้อจากห้างออนไลน์ 5 แห่ง ได้แก่ LAZADA, SHOPEE, Shop at 24, We mall และ Watsons   ส่งห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุบลราชธานี เพื่อทดสอบหายาไซบูทรามีน(Sibutramine) และยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มต้านอาการซึมเศร้า แต่มีผลข้างเคียงในการลดความอยากอาหาร ติดตามผลทดสอบได้เลย  ผลทดสอบ         ผลการทดสอบหา ไซบูทรามีน (Sibutramine) และฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) หรือยารักษาโรคซึมเศร้า จากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวน 15 ตัวอย่าง ที่ฉลาดซื้อสั่งซื้อจากเว็บขายสินค้าออนไลน์ 5 แห่ง ในครั้งนี้ พบว่ามีปัญหาน้อยลง คือ พบเพียง 3 ตัวอย่างจาก 15 ตัวอย่าง ดังนี้          1. S – Line รุ่นผลิต ไม่ระบุ เลขสารบบอาหารที่อ้างบนฉลาก 74-1-05243-1-0002  พบ ไซบูทรามีน          2. CHALIEW2 (ชะเหลียว2 หรือชะหลิว2) รุ่นผลิต 09/11/2560 เลขสารบบอาหาร 13-1-15857-5-0030  พบ ไซบูทรามีน          3.DELI By NQ รุ่นผลิต 9/01/2562 เลขสารบบอาหาร 10-1-26261-5-0008 พบ ไซบูทรามีน         ทั้งนี้พบว่า ผลิตภัณฑ์ S – Line เป็นตัวที่ผู้ประกอบการที่ขอเลขสารบบอาหาร คือ บริษัทที.ซี.ยูเนียน โกลบอล จำกัด (มหาชน) ได้เคยระบุกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ถูกสวมเลข อย. โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทางบริษัทยังไม่ได้มีการผลิต อย่างไรก็ตามบนผลิตภัณฑ์ไม่มีชื่อผู้ผลิตปรากฏอยู่         ในส่วนของ ชะเหลียว2 หรือ ชะหลิว2 เป็นผลิตภัณฑ์รุ่นการผลิตเดียวกันกับที่เคยตรวจเมื่อปีที่แล้ว แต่ไม่พบการผสมยาแผนปัจจุบัน ซึ่งขณะนั้นทางฉลาดซื้อสั่งซื้อจาก SHOPEE แต่ในครั้งนี้สั่งซื้อจาก LAZADA กลับพบการผสมสารไซบูทรามีน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม 2562

11 องค์กรร่วมเคลื่อนขบวนผลักดันกัญชาออกจาก พ.ร.บ. ยาเสพติด        เครือข่ายภาคประชาชน 11 องค์กร ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “เดินเพื่อผู้ป่วย : กัญชารักษาโรค” โดยการเดินเท้าจากวัดป่าวชิรโพธิญาณ จังหวัดพิจิตร ไปถึงวัดบางปลาหมอ จังหวัดสุพรรณบุรี รวมระยะทาง 268 กิโลเมตร ระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม – 9 มิถุนายน โดยระหว่างทางจะมีเวทีบรรยายพิเศษและเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายกัญชารักษาโรค โดยมีวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ แสดงความจำนงเข้าร่วมอย่างคับคั่ง        อาจารย์เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวว่า เป้าหมายหลักในการเดินครั้งนี้มีด้วยกันสาม ประการ คือ ประการที่หนึ่ง ต้องการปรับเปลี่ยนกฎหมายปัจจุบันให้ดีขึ้นเพราะกัญชายังเป็นยาเสพติดอยู่ แม้จะผ่อนผันให้ทำยาได้แต่ขอบเขตจำกัดมาก ทำให้การผลิตและแจกจ่ายเข้าถึงผู้ป่วยได้น้อย ประการต่อมา ต้องการให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณชนว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติดแต่เป็นยารักษาโรค การใช้ที่ถูกต้องจะเป็นประโยชน์มากโดยเฉพาะการรักษาและแก้ไขปัญหาสุขภาพซึ่งมีราคาถูก สามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากโดยเฉพาะลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ และประการสุดท้าย ระดมทุนบริจาคเพื่อผลิตยาสำหรับแจกฟรี และหากยังทำไม่ได้มากก็ใช้ทุนก้อนนี้ในการรณรงค์ในการปรับกฎหมาย ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จัดกิจกรรม และจัดครั้งเดียวอาจไม่เพียงพอ เพียงแต่เป็นการเริ่มต้น และมีอีกหลายเรื่องที่ยังต้องให้ความรู้โดยการอบรม จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายปี พาณิชย์ ยันค่ายา "รพ.เอกชน" สูงเกินจริงหลายเท่าตัว        12 พ.ค. 62  คณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ได้ศึกษาข้อเท็จของค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน โดยแยกเป็นสามส่วนคือ ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ ค่ายาคือฐานข้อมูลที่ศึกษาเสร็จแล้ว ปลัดกระทรวงพาณิชย์ บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร กล่าวว่า คณะทำงานได้ขอข้อมูลราคาซื้อ-ขาย ราคานำเข้า และต้นทุนการผลิตยากว่า 30,000 รายการ พบว่าราคายาของโรงพยาบาลเอกชนมีต้นทุนใกล้เคียงกับรายการยาของกรมบัญชีกลาง แต่ราคายาของโรงพยาบาลเอกชนราคาสูงมาก บางรายการสูงเกิน 300 - 500%        “ได้ทราบว่าโรงพยาบาลเอกชนแต่ละที่มีการเรียกเก็บค่ายาที่แตกต่างกัน ยาชนิดเดียวกันมีต้นทุนการซื้อใกล้เคียงกัน แต่ราคาที่จำหน่ายจะต่างกันมาก ระดับกำไรเมื่อเทียบกับต้นทุนที่ซื้อมา มีตั้งแต่ระดับไม่มาก จนสูงขึ้นไปถึง 300 - 900 เปอร์เซ็นต์ ก็มีในบางรายการ" บุณยฤทธิ์ กล่าว        ทั้งนี้ข้อมูลบางส่วนจากคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ระบุผลการเปรียบเทียบราคายาสามรายการ คือ ยาบำรุงเลือด ราคาเบิกจ่ายกรมบัญชีกลาง 0.88 บาท ราคาซื้อ โรงพยาบาลเอกชน 3 บาท ราคาขาย 6 บาท ส่วนยาฆ่าเชื้อไวรัส ราคาเบิกจ่ายกรมบัญชีกลาง 2 บาท 77 สตางค์ ราคาซื้อ โรงพยาบาลเอกชน 4 บาท 84 สตางค์ ราคาขาย 27 บาท 84 สตางค์ ขณะที่ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ราคาเบิกจ่ายกรมบัญชีกลาง 43 บาท 92 สตางค์ ราคาซื้อ โรงพยาบาลเอกชน 68 บาท ราคาขาย 549 บาท 18 สตางค์ เครือข่ายผู้บริโภค ร่วมร้องสอดคดี รพ.เอกชนฟ้อง พณ.ยกเลิกประกาศควบคุมค่ายา-ค่ารักษาแพง        เครือข่ายผู้บริโภค ประกาศร่วมร้องสอดคดี สมาคม รพ.เอกชน และ 41 รพ.ยื่นฟ้องกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกประกาศค่ายา เวชภัณฑ์ ค่ารักษา เป็นสินค้าและบริการควบคุม เหตุได้รับผลกระทบโดยตรงหากยกเลิก หากถูกเอาเปรียบทำ พณ. ตรวจสอบเอาผิด รพ.ไม่ได้ ยัน รพ.เอกชนร่วมออกประกาศ ขณะที่มาตรการควบคุมเป็นของเดิมยังไม่ส่งผลกระทบใดๆ        14 พ.ค. เครือข่ายผู้บริโภคแถลงข่าวเตรียมร้องสอดการฟ้องคดีของสมาคม รพ.เอกชน โดย น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ประธานอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติเห็นชอบประกาศให้ยา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นสินค้าและบริการควบคุม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2562 กระทั่งปลาย เม.ย. 2562 สมาคม รพ.เอกชน และสมาชิกสมาคมฯ ที่เป็น รพ.เอกชนอีก 41 แห่ง ได้ฟ้องศาลปกครองขอให้มีการยกเลิกการประกาศดังกล่าวไม่เป็นสินค้าและบริการ ซึ่งถ้ามีการยกเลิกประกาศ ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบโดยตรง จากการพูดคุยกับเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ จึงเห็นว่าเครือข่ายผู้บริโภคที่ร่วมผลักดันเรื่องนี้มาตลอดจะต้องร้องสอดเข้าใปในคดี และขอให้กระทรวงพาณิชย์และ กกร.เดินหน้าต่อไป เพื่อให้เกิดผลในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง        "เครือข่ายฯ ยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนทุกอย่าง ในการที่จะมีมาตรการทำให้ค่ารักษาพยาบาลที่แพงลดลง เพราะการออกประกาศและให้ติดราคายังไม่แก้โจทย์เรื่องแพง ที่จะให้มีความเหมาะสม เป็นธรรมกับผู้บริโภคและโรงพยาบาล” น.ส.สุภัทรา กล่าว        ด้านนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า คดีนี้สมาคมฯ กับพวกเป็น รพ.เอกชน 41 แห่งเป็นผู้ฟ้องคดี โดยมีผู้ถูกฟ้องคดี 4 คน ได้แก่ 1.กกร. 2.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 3.ปลัดพาณิชย์ และ 4.อธิบดีกรมการค้าภายใน ซึ่งมพบ.และองค์กรผู้บริโภคถือเป็นบุคคลภายนอกคดี ที่ไม่ใช่คู่ความ แต่อาจจะเข้ามาร่วมได้ด้วยการร้องสอดเป็นคู่ความในคดี ซึ่งเครือข่ายผู้บริโภคร้องสอดเข้ามาด้วยความสมัครใจในการเป็นผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกับอีก 4 คน เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคำพิพากษาในคดีนี้ ถ้าหากมีการยกเลิกเพิกถอนประกาศจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคทั่วประเทศ จึงร้องสอดเป็นฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีอยู่ฝั่งกระทรวงพาณิชย์ เพี่อเข้าไปร่วมต่อสู้กับสมาคมรพ.เอกชน มพบ. เผยสถานการณ์ผู้บริโภคไตรมาสแรกปี 62 ปัญหาโฆษณาเกินจริงยังคงครองแชมป์อันดับ 1         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 โดยตั้งแต่เดือนมกราคม - เดือนมีนาคมที่ผ่านมา มพบ. และเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาค ได้ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด จำนวน 1,147 ราย        ปัญหาที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบและร้องเรียนมากเป็นอันดับหนึ่งและสองยังคงเหมือนกับสถิติปี 2561 คือ เรื่องอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ 511 ราย คิดเป็นร้อยละ 44.55 ของจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมด และบริการสาธารณะ มีผู้ร้องเรียน 300 ราย  คิดเป็นร้อยละ 26.16 ส่วนอันดับที่สามเป็นเรื่อง การเงินการธนาคาร ที่ขยับขึ้นมา 1 อันดับจากปี 2561 โดยมีผู้ร้องเรียน 147 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.82        สำหรับการร้องเรียนหมวดอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ (511 ราย) ลักษณะปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องโฆษณาอันเป็นเท็จหลอกลวง ซึ่งมีมากถึง 282 ราย มีทั้งการแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ แสดงที่ตั้งอันเป็นเท็จทำให้หลงเชื่อ ประเภทของผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหามากที่สุดคือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เนื่องจากผู้บริโภคใช้บริการซื้อขายผ่านร้านค้าออนไลน์หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเชื่อคำโฆษณาโดยไม่ได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ก่อน ซึ่งนอกจากจะทำให้มีความเสี่ยงที่จะได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพและประสิทธิภาพแล้ว ยังมีโอกาสได้รับสินค้าที่มีส่วนผสมของสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตอีกด้วย        ส่วนด้านบริการสาธารณะ (300 ราย) ได้รับร้องเรียนเกี่ยวกับการขนส่งทางบกมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเยียวยาความเสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสาร กลุ่มรถที่ถูกเฝ้าระวังและร้องเรียนมากที่สุดสี่อันดับ ได้แก่ 1. รถทัวร์โดยสาร (107 ราย) ได้รับร้องเรียนเรื่องอุบัติเหตุรถ และพฤติกรรมพนักงานขับรถ อุปกรณ์ความปลอดภัยภายในรถ 2. รถตู้โดยสาร (86 ราย) เป็นเรื่องพฤติกรรมพนักงานขับรถและอุบัติเหตุรถ 3. รถรับส่งนักเรียน (48 ราย) เป็นเรื่องการใช้รถผิดประเภทในการรับส่งนักเรียน และ 4. รถสองแถว เรื่องการบรรทุกผู้โดยสารเกินที่นั่ง        สุดท้าย หมวดการเงินการธนาคาร (147 ราย) เรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่คือ กลุ่มสินเชื่อถึง 96 ราย ปัญหาที่ร้องเรียนจะเป็นลักษณะการทำสัญญาพิสดาร ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นผลพวงจากคดี ‘สามล้อเอื้ออาทร’ เมื่อช่วงปลายปี 2561        จากสถิติที่กล่าวไปข้างต้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ ได้รับเรื่องและดำเนินการช่วยเหลือผู้บริโภค โดยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแต่ละกลุ่มปัญหา เพื่อช่วยกันหาทางออก แต่บางกลุ่มปัญหาเรื้อรังหรือมีเพิ่มมากขึ้น โดยไร้การแก้ไขเยียวยา ตลอดจนไม่มีหน่วยงานที่ดูแลชัดเจน และกระบวนการช่วยเหลือล่าช้า ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับการเยียวยา บางรายก็ได้รับความเสียหายมากกว่าเดิม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง : มีความรู้อยู่กับตัวกลัวอะไร ชีวิตไม่ปลดปลงคงได้ดี

        ปกติแล้ว ละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกคอมเมดี้จะถูกมองว่า เป็นละครแนวที่ผู้ชมจะบันเทิงเริงรมย์เบาสมอง เสียจนบางคนเชื่อว่าไม่น่าจะมีอะไรสลักสำคัญอยู่ในนั้น แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องราวแบบบางเบาสมองเช่นนี้ก็อาจจะไม่ได้ “ไร้สาระ” หากแต่ตั้งคำถามต่อความเป็นจริงและความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนในสังคมไว้อย่างเข้มข้น แถมยังแยบยลยิ่งนัก        “ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง” ก็เป็นหนึ่งในละครโรแมนติกคอมเมดี้แบบย้อนยุค ที่ลึกๆ ลงไปในเนื้อหาแล้ว ความสัมพันธ์ของตัวละคร “ทองเอก” กับ “ชบา” ซึ่งกว่าความรักที่แตกต่างกันทั้งในแง่ศักดิ์ชั้นและบุคลิกนิสัยจะลงเอยกันได้ในตอนจบ แก่นความคิดของเรื่องกลับดูร่วมสมัยที่แทบจะไม่ได้ย้อนยุคแต่อย่างใด        โดยเส้นเรื่องหลักอาศัยพล็อตที่ผูกย้อนไปเมื่อครั้งสมัยพระพุทธเจ้าหลวง ช่วงเวลานั้นทองเอกได้ถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวของหมอยาที่สืบทอดองค์ความรู้วิชาแพทย์แผนโบราณ และเมื่อยังเป็นเด็ก “พ่อหมอทองอิน” ปู่แท้ๆ ของเขา ก็เคยต้องรู้สึกเสียใจอย่างใหญ่หลวง เมื่อครั้งหนึ่งไม่สามารถยื้อชีวิตของเด็กน้อยคนหนึ่งที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า และตายอยู่ในอ้อมแขนของตน ปู่ทองอินจึงหนีบาดแผลในอดีต และพาทองเอกที่เป็นกำพร้าพ่อแม่อพยพมาใช้ชีวิตอยู่ที่ชุมชนบ้านท่าโฉลง โดยไม่คิดรักษาโรคให้กับใครอีกเลย        ความเจ็บปวดและเสียใจกับอดีตดังกล่าว ส่งผลให้หมอทองอินสั่งห้ามทองเอกผู้เป็นหลานชายและเพื่อนๆ อย่าง “เปียก” และ “ตุ่น” ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับตำรับยารักษาโรคโดยเด็ดขาด เพราะลึกๆ แล้ว ปู่ก็กลัวว่าทองเอกจะต้องชะตากรรมเดียวกับที่ตนเคยเผชิญมา        แต่เพราะพระเอกหนุ่มมีความมุ่งมั่นว่า ความรู้เรื่องหมอยาเป็นคุณค่าที่สั่งสมมาในสายตระกูล และเป็นความหวังสำหรับบรรดา “ผู้ไข้” ทั้งหลายที่อยากจะหลุดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง ทองเอกจึงแอบร่ำเรียนวิชา และใช้ความรู้หมอยารักษาคนไข้ โดยไม่เลือกปฏิบัติว่า “ผู้ไข้” เหล่านั้นจะมาจากศักดิ์ชั้นสังกัดใดในสังคม        ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร “ผ่อง” สาวชาวบ้านที่เคยโฉมงาม แต่เพราะป่วยเป็นโรคคุดทะราดจนมีสภาพไม่ต่างจากผีปอบ และถูก “แม่หมอผีมั่น” ผู้เป็นมารดาอัปเปหิไปอยู่กระท่อมกลางป่า หรือตัวละคร “คุณนายสายหยุด” แม่ของชบา และเป็นภรรยาของ “ท่านขุนกสิกรรมบำรุง” ที่ตัวคุณนายเองได้ป่วยเป็นโรคลมในท้องรักษาไม่หาย ไปจนกระทั่งตัวละคร “เสด็จพระองค์หญิง” ซึ่งป่วยเรื้อรังจนสุดความสามารถของหมอหลวงในวังที่จะรักษาให้หายขาด ทุกคนก็ล้วนกลายเป็น “ผู้ไข้” ที่ทองเอกรักษาให้โดยมิได้ตั้งแง่แต่อย่างใด        ด้วยเหตุที่ละครผูกเรื่องไว้เป็นแนวโรแมนติกคอมเมดี้ อีกด้านหนึ่งของชีวิตการเป็นหมอยานั้น กว่าที่ทองเอกกับชบาจะลงเอยแฮปปี้เอนดิ้ง ทั้งคู่ก็ต้องฝ่าบททดสอบต่างๆ มากมาย ทั้งจาก “กล้า” ตัวละครหนุ่มหล่อและรวยที่เป็นคู่แข่งหัวใจของทองเอก ผ่องผู้เป็นคนรักเก่าของเขา และความขัดแย้งระหว่างทองเอกกับขุนกสิกรรมบำรุงผู้เป็นว่าที่พ่อตา ซึ่งกีดกันพระเอกนางเอกด้วยฐานานุรูปที่แตกต่างกัน        และดังที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่า เบื้องลึกระหว่างบรรทัดของละครแนวกุ๊กกิ๊กคอมเมดี้ หาใช่เป็นอันใดที่ “ไร้สาระ” ไม่ หากแต่คลุกเคล้าไว้ด้วยการตั้งคำถามต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไว้อย่างแยบยล ด้วยเหตุฉะนี้ คู่ขนานไปกับบทพิสูจน์ความรักและความมุ่งมั่นของ “นายทองเอก” ที่จะเป็น “หมอทองเอก” ก็คือการเผยให้เห็นโลกทัศน์ที่เรามีต่อสิ่งที่เรียกว่า การสั่งสมและใช้ “ความรู้” ของคนในสังคม        เพื่อให้สอดรับกับสังคมที่ก้าวเข้าสู่ความเป็น “สังคมแห่งความรู้” หรือ “knowledge-based society” ในปัจจุบัน ในขณะที่ละครได้อาศัยการสร้างฉากและองค์ประกอบศิลป์ให้ดูเป็นแบบพีเรียดย้อนยุค แต่อากัปกิริยา คำพูดศัพท์แสง และบทสนทนาของตัวละคร กลับล้วนแล้วแต่เป็นแบบที่ผู้คนในยุค “ไทยแลนด์ 4.0” ต่างพูดๆ กันอยู่ในชีวิตประจำวัน        ด้วยภาพที่ดูร่วมสมัยแต่ย้อนแย้งอยู่ในความเป็นอดีตนี้เอง ละครได้ตั้งคำถามกับคนในสังคมว่า เมื่อหมอยาคือบุคคลที่สังคมยอมรับในแง่ของการเป็นผู้ถือครองวิชาความรู้ที่สั่งสมสืบทอดกันมา ดังนั้น ผู้รู้ก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้มีความรู้ก็อาจจะ “รู้กระจ่างเพียงอย่างเดียว” แต่ที่สำคัญต้องเป็นผู้ “เชี่ยวชาญ” ในเรื่องจริงๆ จึงจะ “บังเกิดเป็นมรรคผล”        ฉากที่เพื่อนๆ ทดสอบทองเอกด้วยการปิดตาและให้ดมกลิ่นหรือลิ้มรสสมุนไพรแต่ละชนิด พร้อมระบุสรรพคุณของตัวยาเหล่านั้น ย่อมบอกได้ชัดเจนว่า ถ้าจะเอาดีด้านหมอยา ความรู้เรื่องสมุนไพรและธาตุยาที่ถือครองไว้ก็ต้องผนวกผสานเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายและจิตใจของผู้รู้คนนั้นๆ        ในขณะเดียวกัน เพราะ “ความรู้เป็นอำนาจ” และ “อำนาจเป็นเหรียญสองด้าน” ที่มีทั้งด้านให้คุณและให้โทษ ดังนั้น ในขณะที่แม่หมอผีมั่นเลือกใช้ความรู้หมอยาเพื่อครอบงำและเป็นมิจฉาทิฐิทำลายผู้อื่น แต่ทองเอกกลับยืนยันว่า ความรู้ต้องใช้เพื่อปลดปล่อยและเป็นสัมมาทิฐิเพื่อจรรโลงสังคมโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรู แบบที่เขาได้ใช้ความรู้หมอยารักษาแม่หมอผีมั่นจากโรคในตอนท้ายเรื่องนั่นเอง         นอกจากนี้ อีกบทเรียนครั้งยิ่งใหญ่ของหมอทองเอกในฐานะผู้ถือครองความรู้ก็คือ ความรู้หนึ่งๆ ไม่ใช่ยาครอบจักรวาลที่จะรักษาได้สำเร็จเสมอไป เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว “หมอไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะรักษาใครให้หายได้ทุกคน” เหมือนกับที่ตัวละครหลวงพ่อได้พูดให้เราสำเหนียกว่า “ไม่มีหมอคนไหนอยากให้ผู้ไข้ตายหรอก...คนจะตายมันก็ตายอยู่ดี”         เพราะฉะนั้น แม้ความรู้จะทำให้ผู้รู้นั้นดูองอาจหรือมีอำนาจ แต่ผู้รู้ก็ต้องถ่อมตนและยอมรับว่า ความรู้ทุกชนิดมีข้อจำกัดและมีขอบเขตในการนำไปใช้เสมอ แบบที่ “หนึ่งสมองกับสองมือ” ของหมอทองเอกก็ไม่สามารถรักษาคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคระบาดในท่าโฉลงได้ครบทุกคน หรือแม้แต่ไม่อาจเหนี่ยวรั้งชีวิตของปู่ทองอินซึ่งถูกยาสั่งของแม่หมอผีมั่นเอาไว้ได้ในตอนกลางเรื่อง         คำโบราณกล่าวไว้ถูกต้องว่า “รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา” และ “มีความรู้อยู่กับตัวกลัวอะไร” แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคที่ความรู้ได้กลายเป็นทุนและแหล่งที่มาของอำนาจในสังคมทุกวันนี้แล้ว บางทีเสียงหัวเราะขำๆ และความรู้สึกกุ๊กกิ๊กที่เรามีให้กับหมอทองเอกและตัวละครต่างๆ รอบตัว คงบอกเป็นนัยได้ว่า มีความรู้อย่างเดียวนั้นไม่พอ แต่ต้องเข้าใจและปฏิบัติต่อความรู้อย่างสร้างสรรค์จริงๆก่อนจะเสียชีวิตลง ประโยคที่ปู่ทองอินพูดกับทองเอกที่จะเป็นทายาทสืบต่อในฐานะผู้รู้หมอยาของท่าโฉลง จึงแยบคายเป็นอย่างยิ่งว่า “ข้าไม่กลัวความตาย ตลอดชีวิตของข้า ข้าทำความดีอย่างสุดความสามารถแล้ว ถึงข้าตาย ข้าก็สบายใจ”                                                                             

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 น้ำยาทำความสะอาดมือ

        น้ำยาทำความสะอาดมือ(Hand Anticeptic) เป็นสารที่ใช้เพิ่มเติมเป็นทางเลือกของการทำความความสะอาดมือ โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่มีน้ำ ปัจจุบันมีทั้งรูปแบบเจล โฟมและสารละลายเหลว เมื่อฉบับที่แล้วฉลาดซื้อได้สุ่มสำรวจผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือไป ฉบับนี้จึงขอต่อเนื่องมาที่ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ แบบที่ไม่ต้องพึ่งพาน้ำกันบ้าง ซึ่งได้รับความนิยมมากพอสมควรมีหลายผลิตภัณฑ์ให้เลือกซื้อหา ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่พบมีสารออกฤทธิ์สำคัญคือ เอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้ดี เหมาะสำหรับการฆ่าเชื้อบนผิวหนัง นอกจากนั้นก็จะมีการผสมสารประเภทที่ให้ความชุ่มชื้น ครีมบำรุงและสารประเภทน้ำหอมเพิ่มเติม ซึ่งไม่มีประโยชน์ในงานทำความสะอาดแต่ช่วยเพิ่มความน่าสนใจ โดยลดความกังวลเรื่องที่มืออาจแห้งกร้านเนื่องจากการสัมผัสแอลกอฮอล์            จากการสุ่มตัวอย่างพบผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือแบบไม่ใช่น้ำ จำนวน 11 ผลิตภัณฑ์ มีส่วนผสมหลักดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่มีอยู่สองตัวที่มีส่วนผสมของ ไตรโคลซาน ซึ่งฉลาดซื้อเคยนำเสนอไปว่า เป็นสารที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสารที่มีอันตรายสูง ทำให้มีปัญหากับระบบนิเวศดังนั้นควรหลีกเลี่ยง         น้ำยาทำความสะอาดมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ที่ดีควรเป็นอย่างไร            1.ควรมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ระหว่าง 60-85 % เพื่อให้เพียงพอสำหรับการฆ่าเชื้อ            2.มีฉลากระบุวันผลิตและวันสิ้นอายุที่ชัดเจน(ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุ)  รวมทั้งคำเตือนที่จำเป็น เช่น ห้ามใช้หรือวางใกล้เปลวไฟ            3.มีเลขจดแจ้งที่ชัดเจน น้ำยาทำความสะอาดมือจัดเป็นเครื่องสำอาง ดังนั้นต้องมีเลขที่จดแจ้งตามกฎหมายเครื่องสำอาง  ความสะอาดมือบ่อยๆ        การล้างมือเป็นหนึ่งในวิธีการป้องกันการติดเชื้อที่ดี โดยทั่วไปหากมือสกปรกควรล้างด้วยน้ำและสบู่ เพื่อชะล้างคราบสกปรกออกไป แต่หากเป็นกรณีที่มือไม่มีคราบสกปรกแต่อาจสัมผัสกับจุดเสี่ยง เช่น การสัมผัสกับสิ่งของสาธารณะ สัตว์เลี้ยง การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือแบบไม่ต้องใช้น้ำ ก็ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้ วิธีการใช้ผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่ถูกต้อง         เจลล้างมือควรใช้ในปริมาณ 3-5 ซีซี หรือปริมาณเท่าขนาดเล็บหัวแม่มือของผู้ใช้ ถูให้ทั่วฝ่ามือและซอกเล็บ ถูจนเจลระเหยหมดภายในครึ่งนาที (หากเจลระเหยอย่างรวดเร็วก่อน 15 วินาที อาจหมายถึงใช้เจลในปริมาณน้อยไป ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการกำจัดเชื้อโรค) ระวัง!เจลล้างมือติดไฟได้ หากถูกสะเก็ดไฟ         เจลล้างมือมีส่วนผสมสำคัญคือแอลกอฮอล์ ที่นอกจากมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค และยังสามารถติดไฟได้ง่าย ดังนั้นเจลล้างมือจึงติดไฟได้ง่ายเช่นกัน โดยเฉพาะในผู้สูบบุหรี่ ผู้ที่ใช้เจลล้างมือหลังชโลมเปียกทั่วมือแล้วจึงควรรอให้แห้งก่อน ซึ่งใช้เวลาประมาณครึ่งนาที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 สกูเตอร์ไฟฟ้า (E-Scooter)

        เป็นกระแสข่าว ที่สร้างความฮือฮาในบ้านเรา จากกรณีที่ท่านเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทยได้เลือกใช้ สกูเตอร์ไฟฟ้า(E- Scooter) เดินทางในกรุงเทพมหานคร โดยจอดรถยนต์ประจำตำแหน่ง ยี่ห้อหรูเก็บไว้ (https://www.matichon.co.th/politics/news_1347367)        สำหรับการจราจรในเมืองใหญ่ๆ ที่ประสบปัญหาเรื่องรถติด และปัญหาสิ่งแวดล้อมจากอากาศเป็นพิษ จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์นั้น สกูเตอร์ไฟฟ้า เป็นรูปแบบการเดินทางทางเลือกที่ประชาชนสามารถใช้ได้ โดยเฉพาะในกรณีที่มีระยะทางไม่เกิน 20 กิโลเมตร        ยานพาหนะ การเดินทางส่วนบุคคลอย่าง สกูเตอร์ไฟฟ้า ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่ผลิตออกมาขาย แต่อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลเยอรมัน ก็ยังไม่ได้มีกฎหมายมาบังคับใช้อุปกรณ์การเดินทางลักษณะนี้ ซึ่ง ภายในปี 2019 นี้ คาดว่าจะมีกฎหมายที่ใช้สำหรับการควบคุมและบังคับใช้สกูเตอร์ไฟฟ้าตามออกมา        การขับเคลื่อนสกูเตอร์ไฟฟ้าอาศัยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี ที่สามารถชาร์จไฟเก็บไว้ได้ ซึ่งการชาร์จไฟ 1 ครั้งสามารถเดินทางได้ 15 -20 กิโลเมตร สามารถทำความเร็วได้ถึง 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง น้ำหนักของสกูเตอร์ไฟฟ้ารวมแบตเตอรี จะมีน้ำหนักประมาณ 16 กิโลกรัม ความยาวของสกูเตอร์ คือ 120 เซนติเมตร และมีส่วนสูงสำหรับบังคับทิศทาง สามารถปรับได้สูงถึง 116 เซนติเมตร มีระบบเบรกทั้งล้อหน้าและล้อหลังที่เป็นอิสระจากกัน มีสัญญาณไฟ และมีกระดิ่งเพื่อบอกสัญญาณเสียงปัจจุบันราคาประมาณ 2000 ยูโร สามารถพับเก็บได้        จากองค์ประกอบดังกล่าว ทำให้สามารถลดช่องว่างของระบบการเชื่อมต่อระหว่างบ้านที่อยู่ลึกเข้าไปในซอยกับป้ายสถานีรถขนส่งสาธารณะได้เป็นอย่างดี        อย่างไรก็ตามการขนส่งด้วยยานพาหนะนี้ จำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายมาควบคุมเพื่อสร้างความปลอดภัยสาธารณะให้กับผู้ขับขี่ และผู้ร่วมใช้ถนนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ในกรณีของเยอรมัน หากยานพาหนะมีความเร็วไม่เกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถที่จะขับบนทางจักรยานได้ และหากไม่มีทางจักรยานก็สามารถขับขี่บนท้องถนนได้ แต่การขับขี่บนทางเท้าไม่สามารถทำได้ เพราะจะผิดกฎจราจรทางบก นอกจากนี้ในระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายที่จะใช้บังคับควบคุมการขับขี่สกูเตอร์ไฟฟ้า ก็มีข้อเสนอให้ มีประกันภัยและคนขับต้องมีใบอนุญาตในการขับขี่ รถเครื่องยนต์ขนาดเล็ก(Mofa) โดยผู้ขับขี่ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์        ผมประเมินว่า ลักษณะการเดินทางด้วยยานพาหนะแบบนี้ ต่อไปจะเป็นที่นิยมทั่วโลกและคงมีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยแน่นอน จะเห็นได้ว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นมาก่อน และทำให้เกิดประเด็นทางการเมือง ซึ่งจะต้องมีกฎหมายออกมาบังคับใช้เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนในสังคมครับ(แหล่งข้อมูล: https://www.adac.de/rund-ums-fahrzeug/e-mobilitaet/info/elektro-tretroller/)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2562

เด็กไทยกินเค็ม 5 เท่า        พ.อ.นพ.อดิสรณ์ ลำเพาพงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และแพทย์โรคไตในเด็ก กล่าวว่า คนไทยมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น 15% ต่อปี ที่น่าห่วงคือ พฤติกรรมการบริโภคของเด็กไทย ซึ่งกินเค็มเกินปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน เกือบ 2-5 เท่า โดยปริมาณโซเดียมเฉลี่ยที่เด็กรับประทานอยู่ที่ 3,194 มิลลิกรัม/วัน ขณะที่ปริมาณโซเดียมที่เด็กวัยเรียน อายุ 6-8 ปี ควรได้รับอยู่ที่ 325-950 มิลลิกรัม/วัน, เด็กอายุ 9-12 ปี อยู่ที่ 400 - 1,175 มิลลิกรัม/วัน และเด็กอายุ 13-15 ปี อยู่ที่ 500-1,500 มิลลิกรัม/วัน        ด้าน ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม กล่าวว่า ผู้ปกครองมักให้เด็กกินเค็มโดยไม่รู้ตัว ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปและขนมกรุบกรอบที่พบว่ามีปริมาณโซเดียมสูง เช่น โจ๊กสำเร็จรูป 1 ถ้วย ซึ่งมีโซเดียมสูงถึง 1,269 มิลลิกรัม, ปลาเส้น มีโซเดียม 666 มิลลิกรัม/ซอง, สาหร่าย 304 มิลลิกรัม/ซอง หรือ มันฝรั่งทอด 191 มิลลิกรัม/ซอง การบริโภคอาหารเหล่านี้เพียง 1 ซอง ปริมาณโซเดียมก็เกินความต้องการต่อวันแล้ว หากเด็กเคยชินกับการกินเค็มก็มีแนวโน้มเป็นผู้ใหญ่ติดเค็ม และส่งผลต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง หัวใจ และไต ตามมา        ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตทั่วโลกกว่า 850 ล้านคน และเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 6        เครดิตภาพ : https://teen.mthai.com/variety/165892.htmlเตือนผู้ปกครอง ระวังคลิปการ์ตูน สอนเด็กทำร้ายตัวเอง        อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า พบคลิปการ์ตูนสำหรับเด็กบนยูทูป (YouTube) ถูกดัดแปลงสอดแทรกเนื้อหาที่มีความรุนแรงและการทำร้ายร่างกายตนเอง โดยจงใจทำขึ้นเพื่อมุ่งเป้าโจมตีเด็กที่ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ให้ทำตามแบบอย่างในคลิป        นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาความรุนแรงอื่นๆ ปะปนอยู่ในคลิปด้วย เช่น ความรุนแรงในโรงเรียน และการค้ามนุษย์ โดยผู้ไม่หวังดีใช้ฉากในการ์ตูนเพื่ออำพรางการตรวจจับของระบบรักษาความปลอดภัยบนเว็บ ซึ่งเมื่อผู้ปกครองตรวจสอบแบบผิวเผินอาจไม่พบความผิดปกติ เพราะเนื้อหาอันตรายมันถูกสอดแทรกอยู่ระหว่างกลางของเนื้อเรื่อง ผู้ปกครองจึงควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กใช้สื่อเพียงลำพัง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก และมีการควบคุมเวลาและเนื้อหาอย่างถี่ถ้วน ซึ่งหากเกิดกรณีตามเหตุการณ์ดังกล่าว สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323มติกก.สถานพยาบาลย้ำผู้ป่วยซื้อยานอก รพ.ได้        18 ก.พ. นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงข่าวว่า                1) ยาในสถานพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของบริการทางการแพทย์ ตามแผนการรักษาของแพทย์ ซึ่งแพทย์ต้องรับผิดชอบต่อผลการรักษา                2) เรื่องการติดป้ายประกาศแจ้งคนไข้ว่าสามารถขอใบสั่งยาเพื่อนำไปซื้อจากร้านขายยาได้ เห็นว่าเป็นสิทธิของผู้ป่วยอยู่แล้วที่สามารถทำได้ แต่ไม่เห็นด้วยในการติดป้าย เพราะการรักษาในรพ. เป็นลักษณะทีมสหวิชาชีพที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างแพทย์กับเภสัชกร รวมถึงคุณภาพของยา ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของการรักษาผู้ป่วยตามแผนการรักษา แต่ก็ย้ำว่ามติ 2 ข้อนี้เป็นเพียงความเห็นของคณะกรรมการสถานพยาบาลเท่านั้น ยังไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่ต้องทำตาม แต่จากนี้จะนำเรียนรมว.สาธารณสุขเพื่อทราบ เพื่อส่งมติดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาออกมาตรการในการควบคุมราคาบริการทางการแพทย์ ซึ่งตนยังไม่ทราบว่าอนุกรรมการฯ จะประชุมเมื่อไหร่ เพราะต้องรอความเห็นจากหน่วยงานอื่นๆ อีก เช่น ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจประกันชีวิต เป็นต้น เพราะผู้ป่วยร้อยละ 60-70 ของรพ.เอกชนเป็นผู้ที่มีประกันเหล่านี้        เมื่อถามว่าสรุปผู้ป่วยที่เข้ารับบริการในสถานพยาบาลเอกชนสามารถนำใบสั่งยามาซื้อจากร้านขายยาข้างนอกได้หรือไม่ นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า เดิมกฎหมายก็ไม่ได้ห้ามผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปซื้อจากร้านขายยาข้างนอกอยู่แล้ว อย่างยาบางตัวที่ไม่มีในรพ. หรือยา รพ.หมดสต๊อก หรือกรณีผู้ป่วยมารพ.รัฐแล้วคิวยาวก็ขอใบเสร็จไปซื้อยาจากร้านข้างนอกได้ เป็นสิทธิของผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่ยาบางตัวไม่สามารถซื้อได้ แล้วแต่กรณีพบร้านค้าออนไลน์ โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายกว่า 700 ราย         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เปิดเผยผลการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค ไลน์ อินสตาแกรม ซึ่งพบสินค้าที่ถูกเพิกถอนจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) 29 รายการ ยังมีวางขายอยู่ นอกจากนี้ยังมีการอ้างเลข อย.ปลอม ไม่แสดงฉลากภาษาไทย หรือข้อมูลผู้ผลิต        ทั้งนี้ยังพบว่าดาราและเน็ตไอดอลมีส่วนในการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ไม่ผ่านการขออนุญาตจาก อย. หรือมักโฆษณาว่าผ่านมาตรฐาน อย. แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงการจดแจ้งกับทาง อย.เท่านั้น จึงขอให้ดาราและเน็ตไอดอลตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ก่อนรับงานโฆษณา        โดยเครือข่ายผู้บริโภค มีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการแก้ปัญหา เช่น ให้ดำเนินคดีผู้ค้ารายย่อยที่จำหน่ายหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง การสร้างระบบเชื่อมต่อฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพระหว่างห้างออนไลน์กับ อย. เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ รวมถึงการให้รัฐจัดเก็บภาษีการขายสินค้าออนไลน์ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

อย. ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล สุ่มตรวจไขมันทรานส์ในอาหารกลุ่มเสี่ยง พบปริมาณลดลง หลังประกาศใช้ กม.

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลตรวจสอบการสุ่มตัวอย่างในผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มเสี่ยง พบว่า มีปริมาณไขมันทรานส์ลดลง หลังบังคับใช้กฎหมายห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เมื่อ 9 มกราคม 2562 ที่ผ่านมานายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยกำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย เพื่อคุ้มครองสุขภาพของคนไทย และเป็นหนึ่งในมาตรการการลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2562 เป็นต้นมา นั้น คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล (โดยการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร) ได้ติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ได้แก่ โดนัททอด พาย พัฟ เพสทรี ครัวซองค์ และบัตเตอร์เค้กผลการสุ่มตัวอย่างจำนวน 45 ตัวอย่าง พบว่า ปริมาณไขมันทรานส์เฉลี่ยของทุกผลิตภัณฑ์อยู่ในช่วง 0.09 - 0.31 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ซึ่งอยู่ในปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคต่อวัน คือ 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และมีปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจผลิตภัณฑ์ก่อนประกาศฯ มีผลใช้บังคับ ซึ่งอยู่ในช่วง 0.42 - 1.21 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค นอกจากนี้ ปริมาณไขมันทรานส์สูงสุดที่พบในทุกผลิตภัณฑ์มีปริมาณลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจผลิตภัณฑ์ก่อนประกาศฯ มีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ มีเพียงบางผลิตภัณฑ์มีปริมาณไขมันทรานส์ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคเกินจากปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เนื่องจากมีการใช้วัตถุดิบที่มีไขมันทรานส์ตามธรรมชาติเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูง เช่น เนย นม ชีส เป็นต้นนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ (เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา)เลขาธิการฯ อย. แถลงเพิ่มเติมว่า ปริมาณไขมันทรานส์ในเนยเทียม (มาการีน) และเนยขาว (ซอทเทนนิ่ง) ส่วนใหญ่ที่ทำการสำรวจก่อนหน้าที่ประกาศฯ มีผลใช้บังคับ พบว่า มีปริมาณน้อยมาก โดยอยู่ในช่วง 0.01-0.37 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันและไขมันมีการปรับกระบวนการผลิตไปใช้วิธีการผลิตอื่นแทนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้ว อย่างไรก็ดี อย. ได้ดำเนินการตรวจสอบ ณ สถานที่ผลิตน้ำมันและไขมัน 3 แห่ง ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่กระจายสินค้าให้แก่ผู้ผลิตอาหารรายย่อยในประเทศ ไม่พบการผลิตน้ำมันและไขมันโดยใช้กระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้วคุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ในส่วนของการสุ่มตรวจของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคผ่าน โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ภายใต้งบประมาณของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เราเก็บตัวอย่างเค้กเนย จำนวน 12 ตัวอย่างจากผู้ผลิตเจ้าดัง และได้เพื่อนเครือข่ายผู้บริโภคเก็บตัวอย่างเค้กชิฟฟ่อน ที่นิยมซื้อเป็นของฝากจำนวน 4 ตัวอย่าง รวม 16 ตัวอย่าง ส่งทดสอบปริมาณไขมันทรานส์   จากผลการทดสอบพบว่า ปริมาณไขมันทรานส์ในเค้กเนย 12 ตัวอย่าง และเค้กชิฟฟ่อน 4 ตัวอย่าง มีปริมาณน้อยเฉลี่ยต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม) คือ 0.2 กรัม/หน่วยบริโภค  ถือว่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 0.5 กรัม/หน่วยบริโภคยกเว้นเค้กเนยของยี่ห้อ PonMaree Bakery (พรมารีย์ เบเกอรี่)  ที่พบปริมาณไขมันทรานส์ที่ 0.61 กรัม ต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม)  ทำให้ทางฉลาดซื้อเกิดคำถามว่า ทำไมผลทดสอบของ พรมารีย์ เบเกอรี่   จึงสูงกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ซึ่งเป็นไปได้สองสาเหตุคือ ยังคงใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์ หรือใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติคือ เนยแท้ จำนวนมาก ดังนั้นจึงตรวจสอบที่ผลการวิเคราะห์ชนิดของกรดไขมันทรานส์มีเพียงชนิดเดียวที่สูงเด่นมาก ได้แก่ Vaccenic acid (C18:1)-11 ที่พบมากตามธรรมชาติในไขมันจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง จึงอนุมานได้ว่า ยี่ห้อนี้ใช้เนยแท้ หรือก็คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ที่ตรวจพบนี้เป็นกรดไขมันทรานส์ธรรมชาติ  จึงไม่ผิดกฎหมายแต่อาจผิดต่อผู้ที่รักสุขภาพและควบคุมน้ำหนัก หากรับประทานเกิน 1 หน่วยบริโภคสารี อ๋องสมหวัง (เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค)ส่วนการทดสอบโดนัท นิตยสารฉลาดซื้อเลือกทดสอบโดนัทช็อกโกแลตซ้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยได้สุ่มซื้อโดนัทรสช็อกโกแลต จากร้านขายโดนัทและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 13 ยี่ห้อ (ยี่ห้อเดิมที่เคยเก็บตัวอย่าง เมื่อเดือน ก.พ.61) นำส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐานเพื่อตรวจวิเคราะห์หาปริมาณไขมันทรานส์ รวมถึงสารกันบูดประเภทกรดซอร์บิก (Sorbic acid) และ กรดเบนโซอิก (Benzoic acid) โดยผลการตรวจวิเคราะห์แสดงดังตารางต่อไปนี้ เมื่อเปรียบเทียบผลทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงของผลิตภัณฑ์ขนมอบ จำพวกเค้กกาแฟ โดนัท และมัฟฟิน ซึ่งเท่ากับ 55 กรัม (ตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 182 พ.ศ. 2541) พบว่า โดนัทช็อกโกแลตทุกตัวอย่างมีปริมาณไขมันทรานส์ ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยตัวอย่างที่พบปริมาณไขมันทรานส์ต่อหน่วยบริโภค น้อยที่สุด ได้แก่ โดนัทช็อกโกแลต / บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ พบปริมาณไขมันทรานส์ 0.03 กรัมต่อน้ำหนักโดนัท 55 กรัม และตัวอย่างที่พบปริมาณไขมันทรานส์ต่อหน่วยบริโภค มากที่สุด ได้แก่ โดนัทรสช็อกโกแลต ไอซ์ เกลซ / คริสปี้ครีม พบปริมาณไขมันทรานส์ 0.14 กรัม ต่อ น้ำหนักโดนัท 55 กรัมศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต (อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล) ศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความสำเร็จในครั้งนี้นับเป็นตัวอย่างที่ดีในความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ กระบวนการดำเนินงาน ที่มีการเร่งรัดภาคอุตสาหกรรมให้มีการพัฒนาส่วนประกอบทดแทน การให้ข้อมูลและความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรม การพัฒนากระบวนการวิเคราะห์ให้ถูกต้องแม่นยำ การใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลในการประเมินและแก้ไขสถานการณ์ ตลอดจนบทบาทของภาคประชาสังคมในเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด การร่วมกันระหว่างภาครัฐ วิชาการและประชาสังคมในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน นับเป็นเบื้องหลังความสำเร็จที่เป็นต้นแบบให้กับประเทศต่างๆได้ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค อย. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จะติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวัง ณ สถานที่ผลิต สถานที่นำเข้า และสถานที่จำหน่ายทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไปอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่บทความ "ผลทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ และ สารกันบูด ในโดนัทช็อกโกแลต ภาค 2"บทความ "ไขมันทรานส์ในเค้กเนย หลังประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์มีผลบังคับ"

อ่านเพิ่มเติม >