ฉบับที่ 216 ไขมันทรานส์ในเค้กเนย หลังประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์มีผลบังคับ

              เค้กและผลิตภัณฑ์เบเกอรี เป็นขนมที่จัดว่ามีมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท เป็นขนมที่นิยมกันทุกเพศวัย  เค้กนั้นมีส่วนผสมหลักคือแป้ง ไข่ ไขมันและน้ำตาล จึงเป็นอาหารให้พลังงานสูง และเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่เดิมจัดว่าเป็นกลุ่มอาหารที่มีไขมันทรานส์สูง เนื่องจากส่วนผสมนั้นนิยมใช้ไขมันจากน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งทำให้เกิดไขมันทรานส์ แต่เมื่อมีกฎหมายห้ามการใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์แล้ว ทำให้หลายคนอยากทราบว่า เค้กและบรรดาขนมอบทั้งหลาย จะยังเป็นกลุ่มเสี่ยงของไขมันทรานส์หรือไม        ฉลาดซื้อ และโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงอาสาทำหน้าที่แทนผู้บริโภค เราเก็บตัวอย่างเค้กเนย จำนวน 12 ตัวอย่างจากผู้ผลิตเจ้าดัง และได้เพื่อนเครือข่ายผู้บริโภคเก็บตัวอย่างเค้กชิฟฟ่อน ที่นิยมซื้อเป็นของฝากจำนวน 4 ตัวอย่าง รวม 16 ตัวอย่าง ส่งทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ และสารกันบูดหรือวัตถุกันเสียกรดเบนโซอิก กรดซอร์บิก โดยผลทดสอบเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภค เชิญติดตาม       ไขมันทรานส์ คืออะไร                   ไขมันทรานส์ (Trans Fat) เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่บริเวณพันธะคู่มีการจัดเรียงตัวของไฮโดรเจนอะตอมอยู่ตรงข้ามกัน สามารถพบได้ทั้งในธรรมชาติ และจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนลงในน้ำมัน       ไขมันทรานส์จากธรรมชาติ พบได้ในเนื้อวัว ควาย ซึ่งเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ดังกล่าว เช่น นม เนย ชีส แต่พบในปริมาณเพียงเล็กน้อย       ไขมันทรานส์จากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partial Hydrogenation) ลงไปในน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ซึ่งน้ำมันที่ผ่านกระบวนการดังกล่าวจะเรียกว่า Partially Hydrogenated Oil ทำให้น้ำมันที่อยู่ในสภาพของเหลวเปลี่ยนเป็นไขมันที่มีสภาพแข็งขึ้นหรือเป็นของกึ่งเหลว พบในอุตสาหกรรมเนยเทียม (margarine) หรือเนยขาว (shortening) ซึ่งไขมันดังกล่าวจะหืนช้า และมีอายุการเก็บรักษานานขึ้น ผลทดสอบ        ไขมันทรานส์                                                                                                                                                        จากผลการทดสอบพบว่า ปริมาณไขมันทรานส์ในเค้กเนย 12 ตัวอย่าง และเค้กชิฟฟ่อน 4 ตัวอย่าง มีปริมาณน้อยเฉลี่ยต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม) คือ 0.2 กรัม/หน่วยบริโภค   ถือว่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 0.5 กรัม/หน่วยบริโภค        ยกเว้นเค้กเนยของยี่ห้อ PonMaree Bakery (พรมารีย์ เบเกอรี่)  ที่พบปริมาณไขมันทรานส์ที่ 0.61 กรัม ต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม)  ทำให้ทางฉลาดซื้อเกิดคำถามว่า ทำไมผลทดสอบของ พรมารีย์ เบเกอรี่   จึงสูงกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ซึ่งเป็นไปได้สองสาเหตุคือ ยังคงใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์ หรือใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติคือ เนยแท้ จำนวนมาก ดังนั้นจึงตรวจสอบที่ผลการวิเคราะห์ชนิดของกรดไขมันทรานส์มีเพียงชนิดเดียวที่สูงเด่นมาก ได้แก่ Vaccenic acid (C18:1)-11 ที่พบมากตามธรรมชาติในไขมันจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง จึงอนุมานได้ว่า ยี่ห้อนี้เขาจัดหนักจัดเต็มในสูตรเค้กเพราะใช้เนยแท้ หรือก็คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ที่ตรวจพบนี้เป็นกรดไขมันทรานส์ธรรมชาติ  จึงไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจผิดต่อผู้ที่รักสุขภาพและควบคุมน้ำหนัก หากรับประทานเกิน1 หน่วยบริโภค         ปัจจุบัน ผู้ประกอบการน้ำมันและไขมันส่วนใหญ่ได้ปรับใช้กระบวนการอื่นแทนกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และมีการปรับสูตรผลิตภัณฑ์อาหารโดยไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้ว ดังนั้นเมื่อประกาศฯ มีผลใช้บังคับ (9 มกราคม 2562) ผลิตภัณฑ์เบเกอรี เช่น ขนมปังกรอบ เค้ก พาย พัฟ เพสตรี คุกกี้ หรืออาหารที่ผ่านการทอดโดยใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแบบน้ำมันท่วม (Deep frying) เช่น โดนัททอด ไก่ทอด  จะไม่มีการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม สามารถตรวจพบปริมาณไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์ข้างต้นได้ เนื่องจากอาจมีการใช้วัตถุดิบที่มีองค์ประกอบของไขมันทรานส์ตามธรรมชาติ เช่น นม เนย ชีส เป็นต้น ทั้งนี้ ปริมาณที่ตรวจพบน้อยมาก เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจนบางส่วน·        วัตถุกันเสีย                ฉลาดซื้อทดสอบหากรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ซึ่งเป็นวัตถุกันเสียที่นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์เบเกอรี เค้กเนยและเค้กชิฟฟ่อน พบว่า เค้กเนยจำนวน 10 ผลิตภัณฑ์ไม่พบกรดเบนโซอิก และพบปริมาณกรดเบนโซอิกเล็กน้อยใน 2 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจเป็นไปตามข้อสังเกตจากการทดสอบผลิตภัณฑ์ขนมอบที่ผ่านมาคือ มีการใช้แป้งสาลี ซึ่งใช้สารฟอกขาวที่เรียกว่า กรดเบนโซอิ้ว ซึ่งมีโครงสร้างทางเคมีที่คล้ายกรดเบนโซอิก ทั้งๆ ที่ในสูตรการผลิตเค้ก ไม่มีการผสมวัตถุกันเสีย ส่วนในเค้กชิฟฟ่อนไม่พบกรดเบนโซอิกจำนวน 3 ผลิตภัณฑ์และพบปริมาณเล็กน้อย 1 ผลิตภัณฑ์        ผลการตรวจหากรดซอร์บิก พบว่าปริมาณของกรดซอร์บิกที่ตรวจพบสูงสุดคือ ผลิตภัณฑ์เค้กเนย ของ KUDSAN Bakery & Coffee พบปริมาณกรดซอร์บิก 244.15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม   ซึ่งไม่เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดไว้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 389) พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5)        ตามบัญชีแนบท้าย ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 389) พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) อนุญาตให้ตรวจพบปริมาณสารกันเสียประเภท กรดเบนโซอิก ในผลิตภัณฑ์กลุ่มขนมอบที่มีการปรุงแต่งรสชาติ และส่วนผสมสำเร็จรูป ได้สูงสุดไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน กรดซอร์บิก สามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์ขนมอบ (ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่) ได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ผลทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ และ สารกันบูด ในโดนัทช็อกโกแลต ภาค 2

โดนัท (Doughnut หรือ Donut) ขนมแป้งทอดมีรู ที่ตกแต่งหน้าตาจากน้ำตาลเคลือบหลากรส ด้วยกลิ่นหอมหวาน สีสันสวยงาม และรสสัมผัสนุ่มหนุบหนับ โดนัทจึงเป็นที่นิยมบริโภคของคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งแคลอรี่จากโดนัทหนึ่งชิ้นนั้น นับว่าไม่เบาเลยทีเดียว นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงเพิ่มก็คือ ปริมาณไขมันทรานส์ (Trans fat) หรือ กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty acid) ที่อาจแฝงอยู่ในโดนัท ซึ่งหากร่างกายของเราได้รับไขมันทรานส์ในปริมาณมาก ก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้        ไขมันทรานส์ (Trans fat) เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated fatty acid) ที่พบได้ทั้งในธรรมชาติ คือ ผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น นม เนย ชีส เนื้อสัตว์ และจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนลงในน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ทำให้น้ำมันที่อยู่ในสภาพของเหลวเปลี่ยนเป็นไขมันที่มีสภาพแข็งขึ้นหรือเป็นของกึ่งเหลว ซึ่งพบในอาหารที่มีเนยเทียม (margarine) หรือเนยขาว (shortening) เป็นส่วนประกอบ เช่น โดนัททอด เค้ก พาย พัฟ เพสตรี้ คุกกี้ ซึ่งจะทำให้อาหารหืนช้า และมีอายุการเก็บรักษานานขึ้น        ก่อนหน้านี้ ฉลาดซื้อเคยทดสอบไขมันทรานส์และพลังงานในโดนัทช็อกโกแลต จากร้านค้าและห้างสรรพสินค้าต่างๆ จำนวน 13 ยี่ห้อ ในฉบับที่ 206 (เมษายน 2561) โดยพบว่ากว่าครึ่ง มีปริมาณไขมันทรานส์สูงเกินกว่า 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำไว้        เมื่อช่วงต้นปีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยเริ่มตื่นตัว เมื่อประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oil) และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการดังกล่าว ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา        เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ และนิตยสารฉลาดซื้อจึงเลือกทดสอบโดนัทช็อกโกแลตซ้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยได้สุ่มซื้อโดนัทรสช็อกโกแลต จากร้านขายโดนัทและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 13 ยี่ห้อ (ยี่ห้อเดิมที่เคยเก็บตัวอย่างก่อนหน้านี้) นำส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐานเพื่อตรวจวิเคราะห์หาปริมาณไขมันทรานส์ รวมถึงสารกันบูดประเภทกรดซอร์บิก (Sorbic acid) และ กรดเบนโซอิก (Benzoic acid) โดยผลการตรวจวิเคราะห์แสดงดังตารางต่อไปนี้สรุปผลการทดสอบ1. ผลทดสอบสารกันบูด (กรดซอร์บิก และ กรดเบนโซอิก)        จากโดนัทช็อกโกแลตที่นำมาทดสอบ จำนวน 13 ตัวอย่าง พบว่า                   ทุกตัวอย่างตรวจไม่พบกรดซอร์บิก แต่ตรวจพบกรดเบนโซอิกในปริมาณเพียงเล็กน้อย จำนวน 5 ตัวอย่าง ได้แก่              1. โดนัทรวมรส (ช็อกโกแลต) / เทสโก้ โลตัส          พบกรดเบนโซอิก 4.72 มก./กก.           2. ริงจิ๋ว (ช็อกโกแลต) / เอ็น.เค.โดนัท                     พบกรดเบนโซอิก 10.45 มก./กก.          3. เรนโบว์ โดนัท / เบรดทอล์ค                               พบกรดเบนโซอิก 11.48 มก./กก.           4. โดนัท ดาร์กช็อกโกแลต / ซับไลม์โดนัท              พบกรดเบนโซอิก 19.48 มก./กก.    และ 5. โดนัทช็อกโกแลต / ฟู้ดแลนด์                           พบกรดเบนโซอิก 29.93 มก./กก.        ซึ่งตามบัญชีแนบท้าย ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 389) พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) อนุญาตให้ตรวจพบปริมาณสารกันเสียประเภท กรดเบนโซอิก ในผลิตภัณฑ์กลุ่มขนมอบที่มีการปรุงแต่งรสชาติ และส่วนผสมสำเร็จรูป ได้สูงสุดไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน กรดซอร์บิก สามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์ขนมอบ (ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่) ได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม        ซึ่งตามเกณฑ์ดังกล่าว พบว่า ไม่มีตัวอย่างใดที่ตรวจพบวัตถุกันเสียเกินค่ามาตรฐาน        ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตต่อปริมาณกรดเบนโซอิกที่ตรวจพบ ซึ่งมีเพียงเล็กน้อยว่า อาจไม่ใช่กรดเบนโซอิกที่ใส่เพื่อวัตถุประสงค์ให้เป็นสารกันเสีย แต่อาจเป็นวัตถุเจือปนอาหารประเภท เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ซึ่งใช้เป็นสารฟอกสี, สารปรับปรุงคุณภาพแป้ง เนื่องจากสารตัวนี้มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับสารกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก 2. ผลทดสอบไขมันทรานส์        เมื่อเปรียบเทียบผลทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงของผลิตภัณฑ์ขนมอบ จำพวกเค้กกาแฟ โดนัท และมัฟฟิน ซึ่งเท่ากับ 55 กรัม (ตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 182 พ.ศ. 2541)           พบว่า โดนัทช็อกโกแลตทุกตัวอย่างมีปริมาณไขมันทรานส์ ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก        โดยตัวอย่างที่พบปริมาณไขมันทรานส์ต่อหน่วยบริโภค น้อยที่สุด ได้แก่ โดนัทชอคโกแลต / บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ พบปริมาณไขมันทรานส์ 0.03 กรัมต่อน้ำหนักโดนัท 55 กรัมและตัวอย่างที่พบปริมาณไขมันทรานส์ต่อหน่วยบริโภค มากที่สุด ได้แก่ โดนัทรสช็อกโกแลต ไอซ์ เกลซ / คริสปี้ครีม พบปริมาณไขมันทรานส์ 0.14 กรัม ต่อ น้ำหนักโดนัท 55 กรัมข้อสังเกต          จากผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณไขมันทรานส์ ในตัวอย่างโดนัทช็อกโกแลตทั้ง 13 ตัวอย่างในครั้งนี้ ซึ่งเป็นยี่ห้อเดียวกับที่ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเคยสุ่มทดสอบในนิตยสารฉบับที่ 206 (เมษายน 2561) พบว่า ผู้ผลิตโดนัทช็อกโกแลตเกือบทุกยี่ห้อ พัฒนาปรับปรุงสูตรการผลิต ทำให้ปริมาณไขมันทรานส์ลดน้อยลงจากเดิมมาก ซึ่งบางยี่ห้อเคยมีปริมาณไขมันทรานส์เกินเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ แต่ผลตรวจวิเคราะห์ในครั้งนี้ พบว่า โดนัทช็อกโกแลตทุกยี่ห้อ มีปริมาณไขมันทรานส์ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานข้อมูลอ้างอิง- พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 182 พ.ศ. 2541- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ. 2561- นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 206 เดือน เมษายน 2561- เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 เป้เดินป่า

            ปัจจุบันมีเป้เดินป่า (ที่เราส่วนใหญ่นิยมนำมาใช้ในการใส่สัมภาระเดินทางทั่วไป) เข้ามาขายในบ้านเรามากมายหลายยี่ห้อ ด้วยสนนราคาที่ค่อนข้างแพง นักเดินทางจึงค่อนข้างคิดหนักก่อนจะลงทุน แต่ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป เพราะเรามีผลทดสอบเป้ความจุตั้งแต่ 40 ลิตร ที่สมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT ได้ทำไว้มาฝาก คราวนี้เรามีให้คุณได้เลือกกัน 19 รุ่น ในสนนราคาระหว่าง 1,550 ถึง 6,800 บาท*ทีมทดสอบแบ่งคะแนนเต็ม 100 คะแนนให้กับคุณสมบัติ 7 ด้านดังนี้        -          ความสะดวกในการใช้งาน                                                                                                                                             40 คะแนน                    (บรรจุสัมภาระครึ่ง/เต็มกระเป๋า ใช้งานปิด/เปิด เข็มขัดล็อคเอว ความกระชับของกระเป๋าเมื่อผู้ใช้ก้มตัว ฯลฯ)                                                        -          เนื้อที่ใช้สอยทั้งภายในและภายนอก                                                                                                                             15 คะแนน        -          ประสิทธิภาพการกันน้ำ (ด้วยการจำลองสภาพฝนตก)                                                                                                     15 คะแนน        -          ความแข็งแรงของหูหิ้วและสายสะพาย                                                                                                                          10 คะแนน        -          ความเรียบร้อยสวยงามในการประกอบ                                                                                                                        10 คะแนน        -          ความสะดวกในการทำความสะอาด                                                                                                                               5 คะแนน        -          การมีชิ้นส่วนสะท้อนแสง                                                                                                                                             5 คะแนน         งานนี้ต้องยอมรับว่าของดีนั้นมีต้นทุนสูงอยู่บ้าง แต่ใช่ว่าเราจะหาของราคาปานกลางที่มีคุณภาพดีไม่ได้ พลิกหน้าถัดไปเพื่อดูผลคะแนนรวมหรือคุณสมบัติเฉพาะด้านที่คุณใส่ใจเป็นพิเศษได้เลย        ·        หมายเหตุ ราคาที่แสดงเป็นราคาที่จ่ายโดยองค์กรสมาชิกที่ซื้อสินค้ามาทดสอบ ที่เมืองไทยราคาอาจแพงหรือถูกกว่า โปรดตรวจสอบราคากับทางร้านอีกครั้ง        ·        ค่าใช้จ่ายในการทดสอบครั้งนี้อยู่ที่ตัวอย่างละ 390 ยูโร (ประมาณ 14,000 บาท) และค่าจัดทำรายงานผลอีก 1,500 ยูโร (ประมาณ 53,000 บาท) ทั้งนี้องค์กรสมาชิกที่ร่วมส่งตัวอย่างเป้เข้าทดสอบจะร่วมกันหารค่าใช้จ่าย              แม้ฉลาดซื้อจะไม่ได้ส่งตัวอย่างไปทดสอบที่เยอรมนีด้วย แต่ในฐานะสมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ที่จ่ายค่าสมาชิกปีละประมาณ 210,000 บาท) เราสามารถใช้ผลทดสอบได้ด้วย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 216 ถ้านิสัยเราเปลี่ยน ผู้ผลิตเขาก็เปลี่ยน แต่จะทำยังไงให้ผู้บริโภคเปลี่ยน

        เมื่อวันที่ 9 เดือนมกราคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กําหนดอาหารที่ห้ามผลิต นําเข้า หรือจําหน่ายไขมันทรานส์ มีผลบังคับใช้ นับว่าเป็นเรื่องดีๆ สำหรับผู้บริโภคไทยเรื่องหนึ่ง ที่จะไม่มีการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนในกระบวนการผลิตอาหารในประเทศไทยเราอีกต่อไป เรื่องราวเหล่านี้แม้จะถือว่าเป็นก้าวแรกของความสำเร็จเรื่องหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้สำเร็จในระยะเวลาอันสั้นเลย เพราะกว่าจะเดินทางมาถึงวันนี้ได้ผ่านการทำงานอย่างหนัก ทั้งในเรื่องการศึกษาข้อมูลและแรงผลักดันจากหลายส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และที่ลืมไม่ได้เลยคือ นักวิชาการด้านโภชนาการหลายๆ ท่าน โดยหนึ่งในนั้นคือ ศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล  ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารศึกษา ในคณะ กรรมการอาหารแห่งชาติ และ เป็นผู้คร่ำหวอดในวงการอาหาร ทั้งงานด้านวิจัย พัฒนาและผลักดันนโยบายเกี่ยวกับอาหารในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน  ฉลาดซื้อจึงถือโอกาสนี้พาไปฟังเรื่องราวการทำงานของท่านว่ามีความยาก ความสนุกอย่างไรกับงานด้านการเฝ้าระวังความปลอดภัยเกี่ยวกับอาหารของคนไทยนมโรงเรียน เหมือนง่ายแต่ไม่ง่าย        คำถามที่ว่าประสบการณ์การทำงานที่สร้างความหนักใจที่สุด คำตอบน่าจะเป็นเรื่องนมโรงเรียน งานวิจัยนี้ ได้ดำเนินการในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2541-2546  ถือว่ามีผลสำเร็จมาก เพราะการวิจัยชิ้นนี้ได้มองปัญหาในขณะนั้นอย่างตรงไปตรงมาที่สุด ในช่วงเวลานั้นประเทศไทยเรายังต้องนำเข้านมผงจากต่างประเทศเพราะมีราคาถูกกว่า เนื่องจากประเทศไทยเราไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ ยังพบว่า นมกล่องยูเอชทีมีราคาสูง เนื่องจากมีต้นทุนจากค่ากล่องนมยูเอชทีเป็นสัดส่วนที่สูงมาก ในการดำเนินการวิจัย ก็มีการเลือกใช้นมโรงเรียนในรูปแบบที่หลากหลาย โดยพิจารณาจากความเหมาะสมและค่าใช้จ่าย ผลการวิจัยบ่งชี้ว่า ในโรงเรียนใหญ่ๆที่มีศักยภาพ  สามารถนำนมผงมาเตรียมเป็นนมโรงเรียน เพราะนมผงสมัยใหม่ละลายน้ำธรรมดาได้ง่าย ไม่เป็นภาระ ถ้าให้เด็กดื่มภายใน 30 นาที ก็ปลอดภัย ส่วนโรงเรียนที่อยู่ใกล้โรงงานผลิตนม ผลการวิจัยเสนอว่าขนส่งเป็นนมถังใหญ่ ซึ่งเหมือนกับพวกโรงเรียนฝรั่งใหญ่ๆ ที่เขาก็ใช้นมถังตักให้เด็ก แต่เพื่อป้องกันถังใส่นมสกปรก ก็แนะนำให้ใช้ถุงพลาสติกใบใหญ่ๆ มาใส่นมก่อนวางลงในถัง วันหนึ่งๆ โรงเรียนหนึ่งก็ใช้เพียง 3-4 ถุงเท่านั้น และถุงพลาสติกใบใหญ่ที่ใช้ใส่นมแล้ว ก็สามารถนำมาล้างแล้วทำเป็นเสื้อคลุมกันฝนให้เด็กๆได้ด้วย ไม่จำเป็นต้องใช้นมกล่องยูเอชที ซึ่งทำให้ต้นทุนนมโรงเรียนสูง เพราะเฉพาะค่ากล่องยังไม่รวมค่านม ก็ตกกล่องหนึ่งตั้ง 1.10 -1.20 บาทแล้ว  ต้นทุนนี้ควรนำมาใช้เป็นค่านมให้เด็กดีกว่า  นมกล่องยูเอชทีควรให้เฉพาะโรงเรียนที่ทุรกันดารจริงๆ เพราะขาดครู และไม่มีน้ำสะอาด แนวคิดนี้  ทีมวิจัยนำเสนอที่จังหวัดเชียงราย ทางจังหวัดตกลง เลยทดลองทำวิจัยทั้งจังหวัดเป็นเวลา 1 ปี  ช่วยแก้ปัญหาขยะกล่องนมล้นเมืองในขณะนั้น เพราะเดิมต้องใช้รถขยะเข้าขน โดยขนครั้งละ 3,000-4,000 กล่อง จึงต้องรอให้ได้จำนวนกล่องนมจนเต็มรถขยะแล้วค่อยขน กล่องนมจึงถูกทิ้งไว้ที่โรงเรียน เนื่องจากนมที่เหลือติดก้นกล่องบูดเน่าง่าย จึงส่งกลิ่นเหม็นไปหมด สร้างปัญหาให้โรงเรียน การเตรียมนมเอง จึงช่วยลดปัญหาดังกล่าว  โรงเรียนใหญ่ๆที่ทดลองใช้นมผง เราเตรียมนมผงแพคถุงละ 1 กิโลกรัม แล้วโรงเรียนไปเติมน้ำ โดยทางโรงเรียนได้ใช้เด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 6 เป็นผู้เตรียมนมเลี้ยงน้องชั้นเล็ก และนักเรียนทุกคนก็หัดล้างแก้วใส่นมกันเอง จนโครงการเข้าที่ ส่งผลให้เมื่อเสร็จสิ้นโครงการวิจัย โรงเรียนมีเงินค่านมโรงเรียนเหลือหัวละ 2 บาท จากที่ขณะนั้นรัฐให้หัวละ 5 บาท เลยสามารถทำการวิจัยโครงการนมโรงเรียนในช่วงปิดเทอมได้อีก ซึ่งก็ได้เห็นผลสำเร็จ เพราะช่วยให้เด็กๆ ได้มีนมดื่มในช่วงปิดเทอม ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพเด็กๆ อย่างไรก็ตาม โครงการนี้แม้จะได้ผลสำเร็จ และผู้ให้ทุนคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มอบรางวัล 1 ใน 10 การวิจัยที่มีผลงานวิจัยยอดเยี่ยม การวิจัยดังกล่าว ก็จำเป็นต้องหยุด เพราะผลการวิจัยกระทบถึงผลประโยชน์ของผู้อื่น/หน่วยงานอื่น ส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการต่อได้         ตอนเริ่มโครงการ มันดูขุ่นมัวเหมือนอยู่ในน้ำขุ่นๆ มองไม่เห็นอะไรเป็นอะไร แต่ก่อนปิดโครงการ หลังจากเราได้ทำงานร่วมกับทุกฝ่ายจนเกิดแนวร่วมที่เห็นประโยชน์จริงๆ ทั้งเกษตรกร โรงนม โรงเรียนและแม้แต่จังหวัด เมื่อทุกอย่างแจ่มชัดขึ้น เหมือนกับน้ำที่ขุ่นเกิดการตกตะกอน  บทเรียนในครั้งนั้น แสดงให้เห็นว่าเมื่อเราทำงานด้วยกัน คลุกคลีกัน เปิดใจกัน เราก็สามารถตกตะกอนปัญหา ช่วยกันกรองมันออกไป เราจะเจอว่าตะกอนที่ก่อปัญหาอย่างจงใจ มันไม่ได้มีเยอะอย่างที่คิดผูกมิตรดีกว่าสร้างศัตรู        ในอดีตที่ผ่านมา สังคมไทย นักวิชาการและผู้ผลิตสินค้าซึ่งเป็นภาคเอกชน จะไม่ทำงานร่วมกัน หากนักวิชาการไปทำงานให้ภาคเอกชน จะถูกมองในแง่ลบ ดังนั้น เมื่อผมไปเชิญภาคเอกชนมาร่วมทำโครงการฉลากทางเลือก(Healthier Choice Logo ) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์โภชนาการ ทางเลือกสุขภาพ หลายคนมองว่าผมไปทำดี เป็นมิตรกับภาคเอกชนมากเกินไปหรือเปล่า แต่จริงๆ เวลาเราจะทำอะไรสักอย่าง เราสงสัยเขา เขาก็สงสัยเรา ปัญหาก็จะเกิดน้อยลงหรือไม่เกิดเลย ถ้าเราได้พูดจาอธิบายและรับฟังซึ่งกันและกัน การทำงานในโครงการ Healthier Logo กรรมการบางท่านก็เครียดเรื่องการทำงานร่วมกับเอกชน เนื่องจากเกรงว่าจะโดนคนอื่นมองไม่ดี มีการเอื้อประโยชน์กัน ก็เรียนท่านว่าประเด็นหลักๆ มันก็มีสองทาง ท่านจะมองเรื่องเดียวกันให้เป็นลบหรือบวก        ถ้าเรามองลบ เราต้องหาคนรับผิดชอบและลงโทษผู้ที่เป็นต้นเหตุ ซึ่งก็คงจะมีหลากหลายไปหมด เพราะอาหารที่เมืองไทยส่วนใหญ่เป็นปัจจัยเสี่ยงกับโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ เพราะอาหารส่วนใหญ่มีน้ำตาลสูง โซเดียมสูง และไขมันสูง คนที่จะถูกให้รับผิดชอบก็ต้องเป็นคนขายน้ำตาล คนขายของเค็ม คนขายของมัน  คนปรุงและขายอาหาร คนผลิตอาหาร อุตสาหกรรมอาหาร  สมัยก่อนคนขายวัตถุดิบที่หวาน มัน เค็ม ก็พยายามผลิตมากๆ เพื่อลดต้นทุนและตอบสนองความต้องการความขาดแคลนของผู้บริโภค  พอเศรษฐกิจดีขึ้น ราคายังถูกลงอีก คนก็หาซื้อหากินได้มากขึ้น แถมมีตัวช่วยลดกิจกรรมทางกายลง คนกลุ่มหนึ่งก็พอใจว่าราคาอาหารไม่แพงดี อีกกลุ่มก็โวยวายว่าปล่อยมายังไงให้เต็มตลาด นักวิชาการก็เรียกร้องรัฐว่า หากยังปล่อยคนไทยไว้อย่างนี้ ประเทศต้องวิบัติแน่  ถ้าถามคนขายอาหาร คนขายก็คงอยากขายอาหารที่ดี มีผลดีต่อสุขภาพผู้บริโภค เขาก็คงอยากเปลี่ยนสูตร แต่เปลี่ยนแล้วก็กลัวขายไม่ได้ ถ้าเขาขายไม่ได้หรือได้น้อยลง เราก็ผิดด้วยที่ไม่ได้ให้การศึกษากับผู้บริโภค เช่น เราตั้งเกณฑ์ว่า โซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของอุตสาหกรรม 1 ซองต้องมีโซเดียมไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม แต่ คนทั่วไปกินบะหมี่ ก๋วยเตี๋ยวที่ขายอยู่ทั่วไปกินโดยที่ยังไม่ได้ปรุงก็มีโซเดียมอยู่ที่ชามละ 1,500 - 2,000 มิลลิกรัมแล้ว  แถมก๋วยเตี๋ยวเป็ดบางเจ้าก็มีโซเดียมสูงถึง 4,000 – 5,000 มิลลิกรัม “ถ้านิสัยเราเปลี่ยน ผู้ผลิตมันก็เปลี่ยน แต่เราจะทำยังไงให้ผู้บริโภคเปลี่ยน” ถึงได้มีแนวคิดว่า จำเป็นต้องทำควบคู่กันไป เพราะถ้าไปกล่าวหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขึ้นมาแล้วไม่ทำอะไรมันก็จบไม่มีประโยชน์ นักวิชาการอยู่ตรงกลาง กลุ่มอุตสาหกรรมก็ว่าเรา กลุ่มผู้บริโภคก็บ่นเรา ทั้งสองฝ่ายก็รอว่าใครจะเริ่มเปลี่ยนก่อน ถ้าจะดูกันให้ลึกซึ้งจริงๆ การเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ยากมากมีความเฉพาะตัวตน สังคมและวัฒนธรรมสูงมาก ภาครัฐต้องร่วมมือกัน ทั้งงานส่งเสริม และการบังคับใช้กฎหมาย        การที่เราได้ทำงานในโครงการ Healthier logo ที่เรามุ่งเปลี่ยนผลิตภัณฑ์อาหารอุตสาหกรรมและนิสัยผู้บริโภคให้ลดหวาน มัน เค็ม ยังสร้างประสบการณ์ที่น่าสนใจ คือมักเจอการตีความที่เลยเถิดของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์ที่ได้เครื่องหมายนี้ว่า ผลิตภัณฑ์ดีในเรื่องอื่นด้วย มิใช่น้ำตาลต่ำ โซเดียมต่ำหรือไขมันต่ำ การสร้างความเข้าใจในส่วนนี้ต้องอาศัยทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน ซึ่งพบว่าการเจรจาและขอร้องกันโดยตรง ได้รับความร่วมมือกว่าที่ไปวางมาตรการอื่นในเชิงลบ        จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การทำงานร่วมกับภาครัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุข ที่มีทั้งหน่วยงานที่ส่งเสริมให้ความรู้และหน่วยงานที่ออกกฏหมายปราบปราม หน่วยงานที่ส่งเสริมให้ความรู้ก็ว่าอีกหน่วยงานว่าไม่ยอมออกกฏหมายมาจัดการภาคเอกชน ส่วนหน่วยงานที่ออกกฏหมายปราบปรามก็ต้องรับหน้าภาคเอกชนที่กังวลกับการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลถึงการยอมรับของผู้บริโภค นั่นหมายถึง ยอดจำหน่ายหรือรายได้ของภาคเอกชน ทั้งที่การทำงานมันต้องขนานกันอย่างมีประสิทธิภาพและเสริมซึ่งกันและกัน  เมื่อเริ่มทำโครงการ Healthier Logo นี้ เราขอหน่วยงานที่ออกกฏหมายปราบปรามมาช่วย เพื่อให้ Logo มีหน่วยงานรัฐรองรับ ส่วนเกณฑ์ด้านโภชนาการต้องเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมให้ความรู้ร่วมดำเนินการ แต่เนื่องจากงานเกี่ยวกับภาคเอกชน ทำให้เกิดความไม่สนิทใจกัน การไม่สนิทใจกัน ทำให้ไม่รู้ถึงความคาดหวังของอีกฝ่าย เกิดความด้อยประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา ทั้งที่ภาครัฐต้องชี้นำสังคมให้มีศักยภาพในการพึ่งตนเองด้านสุขภาพ เช่น การให้ความรู้ที่เข้าใจง่ายและปฏิบัติได้จริง การสร้างฐานข้อมูลด้านคุณค่าโภชนาการที่ถูกต้อง เพียงพอ และทันสมัย เท่าทันปัญหาโภชนาการที่เป็นพลวัตสำหรับทุกภาคส่วนต่างๆ สามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงคุณค่าโภชนาการของอาหาร แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นเท่าที่ควร เพราะไปเสียเวลาในการหวาดระแวงกัน ทำงานไม่ประสานกัน ไม่พูดคุยกันอย่างจริงใจ ถ้าร่วมมองปัญหาร่วมกัน การแก้ปัญหาเชิงระบบและพหุภาคีจะเกิดขึ้นพฤติกรรมติดหวานมันเค็มไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อ สาธารณสุขเชิงป้องกันหรือแม้แต่รักษาก็ต้องการโภชนาการที่เหมาะสมทั้งสิ้น พฤติกรรมการบริโภคจึงมีความสำคัญมาก ประสบการณ์เรื่องนี้มีมากมาย ที่ยกตัวอย่างคือเจลลี่ที่สถาบันโภชนาการพัฒนาขึ้นสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาการกลืน โดยมีสารอาหารครบ กลืนง่าย รสชาติยอมรับได้ ราคาไม่แพง เราได้พบชาวบ้านขี่มอเตอร์ไซต์รับจ้าง เมียเขาบอกว่าสามีเป็นมะเร็งกินอะไรไม่ได้ หมดแรงนอนอยู่กับบ้าน พอให้กินเจลลี่ที่มีสารอาหารครบ อีก 2-3 วัน มีแรงขี่มอเตอร์ไซต์รับจ้างต่อได้ มันมีแรง นี่คือความมหัศจรรย์ของโภชนาการที่ถูกตามหลักวิชาการ แต่ทำอย่างไรให้ถึงประชาชนได้ เป็นโจทย์ที่สำคัญยิ่งขอยกอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ในการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในชุมชนแห่งหนึ่ง มีคุณป้าคนหนึ่งขึ้นเวทีกับลูกสาว ลูกสาวบอกว่าเขาเกือบเสียคุณแม่ของเขาไปเมื่อปีที่แล้ว คุณแม่ป่วยเป็น NCDs แทบทุกโรค  เธอพยายามให้แม่งดอาหารหวาน มัน เค็มทุกอย่าง แม่ทนไม่ไหว ก็เลยด่าลูกเป็นประจำว่า “มึงอกตัญญู ตอนที่กูเลี้ยงมึงมามึงอยากกินอะไรกูก็ให้มึงกิน พอกูจะแ_กอะไรมึงก็ห้ามกูทุกอย่าง” ลูกสาวทนไม่ไหวไปบอกหมอ หมอก็แนะนำว่า “ไม่เป็นไร คุณป้าอายุขนาดนี้ ให้เปลี่ยนพฤติกรรมคงยากแล้ว ให้แกกินไปตามสบาย เราก็ให้กินยารักษาเอา อีกสักปีนึง ก็ต้องล้างไตไป ให้แกมีความสุขเถอะ” แต่ลูกสาวก็รับไม่ได้ วันหนึ่งเธอจึงตัดสินใจคุยกับแม่ว่า “ แม่อยากกินอะไรเดี๋ยวจะไม่ขัดใจแล้ว หนูจะกตัญญู หากแม่ป่วย หนูจะพาไปรักษาอย่างดี หมอดีๆ มีเยอะแยะ หนูยอมเสียตังค์ หากแม่ตายหนูจัดงานให้สมเกียรติ แต่ตอนที่แม่นอนฟอกไต เข็มที่ทิ่มเข้าตัวแม่เองนะ หนูรับให้ไม่ได้ อันอื่นหนูช่วยได้หมด แล้วช่วงที่แม่ทรมานก่อนตายแม่รับเองนะ หนูช่วยไม่ได้จริงๆ” จากที่ฟังลูกสาวพูด  แม่เลยคิดได้ แล้วปรับพฤติกรรมการกินใหม่ ตามที่ลูกสาวแนะนำ คุณป้าบอกว่าลูกสั่งอะไรก็ต้องกินตาม อันที่จริง ลูกสาวก็ไม่ได้มีความรู้อะไรซับซ้อน ก็ลดหวานมันเค็มธรรมดา ให้กินผักผลไม้เยอะขึ้น คุณป้าบอกว่าภายใน 6 เดือน ไปหาหมอ ก็พบว่าอาการดีขึ้นมาก โดยไม่ต้องฟอกไตแล้ว และงดยาได้ในที่สุด คุณป้าเล่าไปก็ร้องไห้ไป ดีใจที่ร่างกายแข็งแรงขึ้น ชีวิตยืนยาวด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี เราจะเห็นความมหัศจรรย์ของโภชนาการและความซับซ้อนของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ แต่ละบ้าน แต่ละคน ต้องใช้เทคนิคแตกต่างกันไป บางบ้านก็ปล่อยคือตายไป แต่บางบ้านที่เขาชนะใจตัวเองได้ก็ดีขึ้น มันเป็นเคล็ดลับที่ไม่เหมือนกัน ที่สำคัญการมีความตระหนักรู้ทางโภชนาการจำเป็นมาก         ประเด็นเรื่องไขมันทรานส์                           ไขมันทรานส์จะเกิดขึ้นในไขมันไม่อิ่มตัวเท่านั้น เพราะฉะนั้น ไขมันทรานส์คือไขมันไม่อิ่มตัว ที่มีการจับไฮโดรเจนแบบทรานส์ ในธรรมชาติ เมื่อสัตว์เคี้ยวเอื้องกินไขมันไม่อิ่มตัวที่มีอยู่ในอาหารเข้าไป ไขมันไม่อิ่มตัวเหล่านั้นก็เปลี่ยนไขมันทรานส์ นั่นคือไขมันทรานส์ชนิดที่ 1 ที่พบได้ในธรรมชาติ ส่วนไขมันทรานส์ชนิดที่สอง พบในน้ำมันพืชที่เราใช้ทำกับข้าว ซึ่งเกิดขึ้นในกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ ในขั้นตอนขจัดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ออก เช่น น้ำมันถั่วเหลืองที่สกัดได้เริ่มต้น จะมีสารที่ไม่บริสุทธิ์ออกมาจำนวนมากจากเมล็ดถั่วเหลือง วิธีกำจัดสารไม่บริสุทธิ์ก็ต้องผ่านขั้นตอนการตกตะกอนต่างๆมากมาย และสุดท้ายก็ต้องขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ด้วยการให้ความร้อน จนกลิ่นเหล่านี้ระเหยไป ในน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ เราก็ต้องทำเช่นกัน กระบวนการนี้เรียกว่ากระบวนการ deodorization ซึ่งใช้ความร้อน 127-130 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง ขั้นตอนนี้ทำให้ไขมันไม่อิ่มตัวส่วนหนึ่งเปลี่ยนเป็นไขมันทรานส์ แต่เปลี่ยนน้อยมาก ดังนั้น น้ำมันทั่วๆ ไปที่เราใช้ทำอาหารที่บ้าน เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ที่ผ่านขั้นตอนการดึงกลิ่นออกไปแล้ว ก็จะมีไขมันทรานส์อยู่ประมาณ 0.8 0 – 2%( ไม่เกินนี้) เพราะฉะนั้นการที่เราบอกว่าห้ามกิน ไขมันทรานส์คงเป็นไปไม่ได้ เพราะมันยังแทรกซึมในอาหารในวัฒนธรรมการกินทั่วไป แต่ที่น่าห่วง คือ พวกไขมันทรานส์ที่เกิดจากกระบวนการสังเคราะห์ ที่ตอนนี้มีกฎหมายห้ามใช้กรรมวิธีนี้แล้ว        หลังกฎหมายมีผลบังคับ ทำไมยังพบว่าอาหารบางประเภทมีไขมันทรานส์สูง เพราะอะไร                หากเป็นไขมันทรานส์ธรรมชาติเราก็ทำอะไรไม่ได้เพราะไม่ผิดกฎหมาย แต่ไขมันทรานส์สังเคราะห์ หรือ PHO (Partially Hydrogenated Oils) ต้องควบคุม จากหลักฐานประกอบเพื่อยืนยัน ได้แก่ หนึ่ง คือ เอกสารรับรองจากโรงงานผลิตน้ำมัน (certificate of analysis)ที่ระบุว่าไม่ใช่หรือไม่ได้ใช้ PHO ในการผลิต สอง คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ในอาหาร  และ สาม คือปริมาณไขมันและโปรไฟล์กรดไขมันในอาหาร ถ้ามีไขมันทรานส์ มากกว่า 20 % ในน้ำมันทั้งหมด ก็เป็น PHO ชัวร์แน่นอน บางทีอาจสูงถึง 60 % เลย  ถ้าในน้ำมันมีไม่เกิน 2 % ไม่ใช่ PHO อย่างแน่นอน นอกจากนี้ เราก็สามารถดูได้จากข้อมูลพื้นฐาน ถ้าไม่ใช้ PHO ส่วนใหญ่จะพบไขมันทรานส์ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค โดย 0.5 กรัมนี้ถือว่ามากแล้ว ถ้าพบว่าเกิน 0.5 กรัม ต้องดูหลักฐานอื่นประกอบด้วย                หากพบว่าอาหารชนิดใดมีกรดไขมันทรานส์สูงเกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ต้องพิจารณาปริมาณไขมันและโปรไฟล์ของกรดไขมันเพิ่มเติม บางทีคนขายใส่เนยเยอะมาก ไขมันทรานส์ก็จะสูงตาม แต่เนยธรรมชาติก็มีไขมันทรานส์เพียง 5% ซึ่งต่างจาก PHO ที่มีไขมันทรานส์มากกว่า 20% ก็จะประมาณได้ว่าควรมีไขมันทรานส์เท่าไร ที่มาจากเนยจริง นอกจากนี้ การดูโปรไฟล์ของกรดไขมันว่าเป็นชนิดไหนก็เป็นเครื่องยืนยัน เพราะไขมันทรานส์ในเนยจะมีเพียงชนิดเดียวที่สูงเด่น หลังจากนั้น ก็ควรไปสอบสวนเพื่อยืนยันที่ร้านหรือโรงงานด้วย (เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่ต้องเข้าไปทำ)            ถ้าเป็นทรานส์ธรรมชาติไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจไม่เหมาะที่เราจะบริโภคใช่ไหม                    พูดยากมาก เพราะนักวิชาการยังมองเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน กลุ่มหนึ่งบอกว่าจากธรรมชาติไม่เป็นอะไร แต่อีกกลุ่มหนึ่งบอกว่ามันก็คือทรานส์ (ก็อันตรายสิ) แม้แต่ในการประชุมวิชาการขององค์การอนามัยโลก( WHOX ก็ยังมีการถกเถียงกัน  ดังนั้น ความเสี่ยงของไขมันทรานส์ต่อสุขภาพ เราคงต้องดูตามปริมาณที่บริโภค(หน่วยบริโภค) มิใช่ต่อร้อย เพราะเป็นประเด็นความปลอดภัย ตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลก ที่ระบุว่าในหนึ่งวัน ไม่ควรกินไขมันทรานส์เกิน 2.2 กรัม ถ้าหารด้วย 5 มื้อ ก็คือ 0.4 – 0.5 กรัมต่อมื้อ องค์การอนามัยโลกบอกว่าไม่ควรจะกินเกินนี้  จากการสำรวจดูทั่วไปๆ พบที่เกินกว่า 0.5 กรัมต่อมื้อ มีน้อยมาก ส่วนที่เจอเกิน 0.5 มันไม่มีกฎหมายกำหนด                   เนื่องจากกฎหมายห้าม PHO ไม่ได้ห้าม trans fat เพราะฉะนั้นการดูว่าผิดกฎหมายหรือเปล่าเราต้องพิสูจน์ก่อนว่าเป็น PHO หรือเปล่า ซึ่งวิธีการที่ง่ายที่สุดก็คือ ต้องเอาตัวอย่างที่พบว่ามีไขมันทรานส์เกินกว่า 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ส่งไปวิเคราะห์ตามแนวทางที่กล่าวไว้ข้างต้น        นอกจากเรื่องไขมันทรานส์ อาจารย์คิดว่าเรื่องไหนจำเป็นและเร่งด่วนขณะนี้                 เรื่องยาพืชและยาสัตว์ เพราะเราต้องการให้คนกินผักผลไม้เยอะๆ เราก็ไม่อยากให้การปนเปื้อนสารเคมีในเนื้อสัตว์ทั้งหลาย ปัจจุบันนี้คนไทยกินเนื้อสัตว์มากอยู่แล้ว แต่ผักผลไม้คนไทยยังกินน้อย จึงเราก็อยากให้คนไทยกินผักและผลไม้ให้มากขึ้นถึงวันละ 400 กรัม เพราะฉะนั้น จึงต้องมีระบบการดูแลที่ดี ทั้งผักผลไม้นำเข้าและที่ปลูกเองในบ้านเรา เพื่อให้ได้มาตรฐานมากขึ้น และสร้างความมั่นใจในการกิน คือ ต้องดูตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ต้องให้การศึกษากับเกษตรกร ให้เกษตรกรมีความรู้ และเกิดรายได้ที่เพียงพอ ขณะเดียวกัน ต้องสร้างปลายทาง คือ ผู้บริโภคที่มีพลังในการต่อรองเพื่อให้ได้อาหารคุณภาพและปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 กระแสต่างแดน

ขอคืนพื้นที่        Adblock Cardiff เรียกร้องให้เทศบาลเมืองเลิกหารายได้จากการให้เช่าพื้นที่ทำป้ายโฆษณาที่พวกเขาบอกว่า “เป็นมลพิษต่อสุขภาพจิต” ของผู้คน เพราะมันพร่ำบอกอยู่ทุกเช้าค่ำว่าชีวิตพวกเขา “ขาดอะไรบางอย่าง”        องค์กรดังกล่าวขอให้เทศบาลคาร์ดิฟพิจารณาผลกระทบในระยะยาวและเคารพสิทธิผู้บริโภคที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงโฆษณาเหล่านี้ได้แม้จะไม่ต้องการเห็นมัน         ด้านโฆษกเทศบาลชี้แจงว่านอกจากสร้างรายได้ให้รัฐแล้ว ป้ายพวกนี้ยังช่วยเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนด้วย นักวิเคราะห์สื่อก็มองว่านี่เป็นเรื่องปกติที่ทำกัน ป้ายรถเมล์ในลอนดอนก็สร้างโดยบริษัทที่จ่ายค่าเช่าพื้นที่ให้กับเทศบาลนั่นเอง        การเคลื่อนไหวแบบเดียวกันนี้ที่เมืองบริสตอลสามารถระงับการให้อนุญาตติดตั้งป้ายโฆษณาดิจิทัลขนาดใหญ่ถึง 11 ป้ายในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่เซาเปาโลซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของบราซิลได้แบนโฆษณาแบบนี้ไปแล้วจ่ายให้จบ        สภารีไซเคิลแห่งออสเตรเลียว่าจ้างบริษัท Equilibrium ให้ศึกษาแนวทางจัดเก็บ “ค่ารีไซเคิล” ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก่อนจะประชุมเพื่อทำ “นโยบายขยะแห่งชาติ” ในเดือนกุมภาพันธ์นี้        อัตราที่เหมาะสมในการเรียกเก็บค่ารีไซเคิลจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยางรถยนต์ และที่นอน (ตั้งแต่จัดเก็บ ขนส่ง คัดแยก และนำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงค่าบริหารจัดการและค่าการตลาด) มีดังนี้        ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้ามีค่าใช้จ่าย 1.85 เหรียญ (41 บาท) ต่อน้ำหนักสินค้า 750 กรัม กาต้มน้ำไฟฟ้าที่หนัก 1.3 กิโลกรัมจึงมีค่ารีไซเคิล 3.20 เหรียญ (71 บาท)        ยางรถยนต์หนึ่งเส้นมีค่ารีไซเคิล 4 เหรียญ (89 บาท) และที่นอนหนึ่งหลังมีค่ารีไซเคิล 16.50 เหรียญ (365 บาท) เฉลี่ยแล้วค่าธรรมเนียมนี้อยู่ที่ร้อยละ 2 ของราคาสินค้า        คนออสซี่สร้างขยะปีละ 2,700 กิโลกรัมต่อคน ออสเตรเลียจริงจังกับมาตรการรีไซเคิลมากขึ้นกว่าเดิมตั้งแต่จีนประกาศไม่รับอุปการะขยะต่างประเทศองจำกัด        รัฐมนตรีกระทรวงขนส่งของเยอรมนีให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่งว่าทางหลวงของประเทศเขาปลอดภัยที่สุดในโลก…        แต่สถิติขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ระบุว่าอัตราการเสียชีวิตต่อระยะทาง 1,000 กิโลเมตรของทางหลวงในเยอรมนีอยู่ที่ร้อยละ 30.2 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของยุโรปคือร้อยละ 26.4 และ OECD ยังพบว่าความเร็วที่เพิ่มขึ้นผันแปรโดยตรงต่ออัตราการตายที่สูงขึ้น        พูดให้ชัดคือทางหลวงในฝรั่งเศส ฟินแลนด์  สหราชอาณาจักร โปรตุเกส และสวีเดน ปลอดภัยกว่าในเยอรมนีซึ่งร้อยละ 70 ของทางหลวงไม่มีการจำกัดความเร็ว        รอดูกันว่ารัฐบาลเยอรมนีจะจัดการอย่างไร ก่อนหน้านี้ก็เคยมีเสียงเรียกร้องให้จำกัดความเร็วบน “ออโต้บาห์น” เพราะผลการศึกษาพบว่าการจำกัดความเร็วจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไฮโดรคาร์บอนลงได้ร้อยละ 9 และลดการปล่อยไนโตรเจนออกไซด์ลงได้ร้อยละ 6 ด้วยขออภัยในความไม่สะดวก        ร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นประกาศยุติการขาย “นิตยสารผู้ใหญ่” ภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อทุกคน ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเปิดบ้านเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2020        สามแบรนด์ใหญ่ต่างเห็นตรงกันว่าไม่ควรทำให้อาคันตุกะจากต่างแดนที่จะเริ่มมาเยือนตั้งแต่ปีนี้เพื่อชมการแข่งขันรักบี้เวิลด์คัพได้ภาพลักษณ์ที่ผิดๆ เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น        เซเว่นอิเลฟเว่นบอกว่าก่อนหน้านี้ลูกค้าหลักของร้านคือผู้ชายที่เข้ามาซื้อเครื่องดื่มและอาหารฟาสต์ฟู้ด แต่ปัจจุบันมีลูกค้าทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ที่สำคัญยอดขายนิตยสารเหล่านี้มีสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของยอดขายใน 20,000 สาขาทั่วประเทศ        ด้านแฟมิลี่มาร์ทซึ่งมี 16,000 สาขาทั่วประเทศ ก็เริ่มหยุดขายนิตยสารนี้ไปแล้วใน 2,000 สาขา        ลอว์สันซึ่งหยุดการขายนิตยสารนี้ในสาขาที่โอกินาวาไปตั้งแต่สองปีก่อน ก็เตรียมจะใช้นโยบายนี้ใน 14,000 สาขาทั่วประเทศเช่นกันลดแล้วลดอีก        ปักกิ่งมีแผนจะลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศลงจากเดิมให้ได้อีกร้อยละ 1 จากปีที่แล้วที่สามารถลดจากปีก่อนหน้าได้ถึงร้อยละ 12 จนเหลือปริมาณฝุ่นอยู่ที่ 51 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร        “โครงการหนึ่งไมโครกรัม” นี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเมืองที่ได้ลงมือทำทุกอย่างที่ควรทำเพื่อลดปริมาณฝุ่น แม้แต่เชื้อเพลิงที่ใช้เพื่อให้ความอบอุ่นในบ้านเรือนทุกวันนี้ก็เปลี่ยนจากถ่านหินมาใช้พลังงานสะอาดแล้ว        รัฐมนตรีกระทรวงนิเวศน์วิทยาและสิ่งแวดล้อมของจีนยอมรับว่า การรักษาระดับปริมาณฝุ่นไม่ให้สูงกว่าเดิมในสภาวะอากาศที่อาจไม่เป็นผลดีต่อคุณภาพอากาศก็ถือเป็นชัยชนะแล้ว        สาเหตุหลักของฝุ่นจิ๋วในปักกิ่งมาจากการคมนาคมขนส่ง (ร้อยละ 45) โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถบรรทุกที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล รัฐบาลจึงมีมาตรการติดตามการเคลื่อนไหวของรถเหล่านี้ด้วยระบบออนไลน์ ในขณะที่ไซต์งานก่อสร้าง ซึ่งเป็นตัวการสร้างฝุ่นอันดับสอง (ร้อยละ 16) ก็กำลังถูกจับตาผ่านกล้องวิดีโอเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 216 ความคืบหน้า กรณีรถยนต์ใหม่มีปัญหา “มาสด้าสกายแอคทีฟ”

        จากกรณีที่มีผู้ร้องเรียน ซื้อรถยนต์ มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ รุ่นปี 2015 เมื่อเดือนมีนาคม 2558 แล้วพบปัญหาเกี่ยวกับการรั่วซึมของโช้ครถยนต์ทางด้านหลัง  ต่อมาเมื่อนำรถเข้าซ่อมที่ศูนย์บริการ ช่างของศูนย์ดำเนินการเปลี่ยนโช้คให้ และแจ้งข้อมูลแก่ผู้ร้องว่า ปัญหานี้จะเกิดขึ้นกับรถล็อตที่ผลิตในปี 2015 เท่านั้น เพราะซัพพลายเออร์มีปัญหาในการผลิต ซึ่งทำให้ผู้ร้องไม่มั่นใจในคุณภาพสินค้า เพราะเห็นว่าการที่อะไหล่ดังกล่าวไม่ได้คุณภาพ อาจจะส่งผลต่อการขับขี่ก่อให้เกิดอันตราย และทำให้รถเสื่อมสภาพเร็วขึ้น และอาจทำให้ผู้ใช้รถยนต์ มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ รุ่นปี 2015  ล็อตดังกล่าวหรือผู้อื่นที่เป็นผู้ร่วมใช้ถนนเกิดความเสียหาย จึงร้องเรียนเพื่อขอความช่วยเหลือ        ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงมีหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เพื่อให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้บริโภค และเร่งให้บริษัทมีมาตรการในการดูแลชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้บริโภค และในขณะที่อยู่ระหว่างร้องเรียน ทางผู้ร้องได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องปัญหาเกี่ยวกับรถมาสด้า 2 ในกลุ่มเฟซบุ๊ก ที่เปิดขึ้นมาเพื่อรวบรวมคนใช้รถยนต์รุ่นนี้ ทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มว่า มีผู้ซื้อรถ มาสด้า 2 สกายแอคทีฟ รุ่นปี 2015  รายอื่นพบปัญหาเช่นเดียวกันกับตนเอง        จึงเกิดการรวมตัวและตั้งกลุ่ม “อำนาจผู้บริโภค” ขึ้นในเฟซบุ๊ค และยังพบว่ารถรุ่นดังกล่าวยังมีอาการผิดปกติของระบบไฟแจ้งเตือน อาการรั่วซึมของโช้คด้านหลัง และอาการเครื่องยนต์สั่น เร่งความเร็วไม่ขึ้นในช่วงความเร็ว 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยอาการจะปรากฏครั้งแรกในช่วงเลขไมล์ 20,000 – 70,000 กม. กลายเป็นกลุ่มผู้เสียหายที่รวมตัวกันเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น        หลังจากที่กลุ่มผู้เสียหาย โดยมีแกนนำคือผู้ร้องเรียนท่านแรก ได้พยายามเรียกร้องสิทธิของตนเอง ก็เกิดปัญหาใหญ่ตามมาคือ  ผู้ร้อง ถูกบริษัทมาสด้า ฟ้องดำเนินคดี ในฐานความผิดละเมิด ใช้สิทธิเกินส่วน กล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนกว่า 84 ล้านบาท โดยอ้างว่าการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ของผู้ร้องเรียนเป็นการใช้สิทธิเกินส่วน ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ของบริษัทลดลงแนวทางแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงทำหนังสือถึงบริษัทมาสด้า ขอให้ถอนฟ้องผู้ร้อง เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตของผู้บริโภค เพื่อที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นหน้าที่ของบริษัทที่ต้องแก้ไขปัญหาให้ผู้ร้อง แต่บริษัทเพิกเฉยและดำเนินคดีกับผู้ร้องต่อไป        ดังนั้นทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงช่วยเหลือผู้บริโภคด้วยการจัดหาทนายความ ในการทำคำให้การต่อสู้คดีให้แก่ผู้ร้อง ปัจจุบันศาลมีคำพิพากษายกคำฟ้องของบริษัท      ศาลพิพากษายกฟ้อง คดีมาสด้าฟ้องเรียกค่าเสียหายจากลูกค้ากว่า 80 ล้าน เนื่องจากเป็นการปกป้องสิทธิของผู้บริโภคโดยสุจริต เพราะรถยนต์มีความบกพร่องจริง         จากกรณีที่ เมื่อต้นปี 2561 บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนกว่า 84 ล้านบาท จากผู้ใช้รถมาสด้า 2 เครื่องยนต์ดีเซล ที่พบปัญหาเรื่องการใช้งานและออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากบริษัท โดยทางบริษัทให้เหตุผลในการฟ้องว่าผู้เสียหายใช้สิทธิเกินส่วนที่ผู้บริโภคควรใช้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ ชื่อเสียง รวมทั้งทำให้ยอดจำหน่ายของบริษัทลดลงนั้น                        30 พฤศจิกายน 2561 ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยัง นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ผู้เสียหายจากการซื้อรถยนต์มาสด้า 2 และผู้ถูกบริษัทมาสด้าฟ้อง เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าของคดี                นายภัทรกร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 ศาลจังหวัดนนทบุรี ได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าการออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากทางบริษัทในครั้งนั้นเป็นการปกป้องสิทธิตามสิทธิผู้บริโภคโดยสุจริต เพราะรถยนต์มีความบกพร่องจริง        และผู้เสียหายได้สอบถามไปยังผู้ผลิตแต่ไม่ได้รับคำตอบ จึงมีสิทธิเรียกร้องทวงถาม ไม่ถือเป็นการใช้สิทธิส่วนเกินตามที่บริษัทอ้าง ทั้งนี้ศาลได้มีคำสั่งให้ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ชดใช้ค่าทนายให้กับผู้เสียหายเป็นเงิน 30,000 บาท         “เมื่อเราซื้อสินค้ามาแล้วชำรุด บกพร่อง หรือมีปัญหาเราสามารถสอบถาม และเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ขายได้ตลอด เพราะเรามีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยา อย่ากลัวและยอมให้ผู้ประกอบการเขาฟ้องปิดปาก เราต้องรักษาสิทธิของเราให้ถึงที่สุด เพราะสุดท้ายคำพิพากษาจะชี้ให้เห็นเองว่าเราทำตามสิทธิที่มีและพึงได้รับ” นายภัทรกรกล่าว         

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 โดนหลอกไปซื้อโทรศัพท์ ด้วยเงิน 300 บาทเป็นค่าจ้าง

        เป็นเรื่องราวที่จะฝากไว้เพื่อเตือนผู้บริโภค บางทีการเห็นแก่เงินเล็กๆ น้อยๆ อาจทำให้ต้องเสียเงินจำนวนมากตามมาในภายหลังก็เป็นได้ อย่างเช่นการถูกจ้างให้ซื้อโทรศัพท์มือถือ        ปัจจุบันมือถือกับค่ายผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มีการทำโปรโมชั่นร่วมกัน ด้วยการจำหน่ายมือถือในราคาพิเศษ แต่แลกด้วยการทำสัญญาเปิดใช้บริการอย่างน้อย 1 ปี (ซิมรายเดือน) จุดนี้จะมีช่องให้มีคนหาผลประโยชน์เข้าตนเองได้ คือ การจ้างบุคคลทั่วไป ใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน เพียงแค่อายุ 18 ปีขึ้นไปและมีบัตรประชาชน ซื้อมือถือและเปิดใช้บริการแทนตน โดยแลกกับการจ่ายเป็นค่าจ้างให้ 300-500 บาท        มองเผินๆ ก็น่าจะดีเพราะไม่ได้ทำอะไรมาก แค่ซื้อเครื่องให้และรับเงินค่าจ้างสบายๆ แต่อาจลืมมองไปว่า “คนที่ลงลายมือชื่อทำสัญญาใช้บริการนั้นคือเจ้าของบัตรประชาชน” ดังนั้นในกรณีที่เกิดการค้างชำระค่าบริการ หรือโทรศัพท์ถูกนำไปใช้ก่ออาชญากรรม คนที่ต้องรับผิดชอบก็คือคนที่ทำสัญญา        คุณนวลเป็นคนหนึ่งที่ถูกหลอกให้ไปซื้อโทรศัพท์มือถือ ด้วยค่าจ้าง 2 เครื่องแรก 300 บาท และอีก 2 เครื่อง 400 บาท โดยเพื่อนเป็นคนแนะนำให้รู้จักกับผู้ว่าจ้าง “ฉันเห็นว่าอยู่บ้านเฉยๆ ได้เงินใช้แบบนี้ก็ดี เพราะคนจ้างก็บอกว่า เขาจะเป็นคนจ่ายเงินค่าเครื่องเองทั้งหมดและถ้ามีเอกสารมาเก็บเงินไม่ต้องสนใจโยนทิ้งไปได้เลย เดี๋ยวเขาจ่ายเอง แต่ที่มาจ้างซื้อนี่เพราะว่าเขาใช้สิทธิซื้อหมดไปแล้ว ซื้อไม่ได้อีก”        หลังจากไปซื้อโทรศัพท์กับผู้ว่าจ้างแล้ว ต่อมาคุณนวลถูกเรียกเก็บเงินจากบริษัททรูมูฟ ระบุว่าเป็นค่าโปรโมชั่นรายเดือน คุณนวลจึงรู้ตัวแล้วว่าถูกหลอก ซ้ำยังไม่รู้ว่าจะติดต่อกับผู้ว่าจ้างอย่างไรด้วย จึงขอคำปรึกษามาว่าควรทำอย่างไรดีแนวทางแก้ไขปัญหา        1.รีบไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที เพื่อเป็นการยืนยันว่า ถูกหลอกให้ไปซื้อโทรศัพท์และเปิดซิมใช้บริการ        2.ใช้เอกสารจากข้อแรก ไปทำคำร้องขอยกเลิกสัญญากับทางผู้ให้บริการ ซึ่งกรณีคุณนวลเปิดใช้บริการซิมกับ ทรูมูฟ 1 และเอไอเอส 3         ทั้งสองข้อนี้คุณนวลได้รีบไปจัดการโดยด่วนแล้ว และทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ดำเนินการเพิ่มเติม คือ แจ้งกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นต่อผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือทุกค่าย และสำเนาเรื่องส่งให้ทาง กสทช.เพื่อแก้ไขปัญหาและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้ระมัดระวัง        จากการทำหนังสือแจ้งกรณีปัญหาและติดตามเรื่องให้คุณนวล พบว่า ซิมที่คุณนวลลงทะเบียนไว้ มีการผิดนัดชำระและมียอดคงค้าง 3 รอบบิล รวมเป็นเงินถึง 3,038.06 บาท จึงยกเลิกการให้บริการไปแล้ว ขณะนี้บริษัทกำลังพิจารณาลดหย่อนให้คุณนวลเหลือ 1 รอบบิล เป็นเงิน 639 บาท ซึ่งคุณนวลยอมรับเงื่อนไขนี้ เพื่อจะได้ไม่เสียประวัติการค้างชำระ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 เพิ่งออกรถใหม่แต่มีปัญหา เบื่อซ่อมขอเงินคืนได้หรือไม่

        เมื่อซื้อสินค้าใหม่ สิ่งที่คาดหวังคือคุณภาพของสินค้าที่ใช้งานได้แบบสมบูรณ์ แต่หากเกิดปัญหาไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพที่ไม่เหมือนใหม่หรือด้านประสิทธิภาพที่บกพร่อง คุณก็คงอยากเปลี่ยนเป็นสินค้าตัวใหม่หรือขอเงินคืน ซึ่งกับสินค้าทั่วไปอาจทำได้ไม่ยาก แต่ของมูลค่าสูงอย่างรถยนต์ บอกเลยว่ายาก เพราะบริษัทรถยนต์เกือบทุกค่ายไม่มีนโยบายนี้เป็นแนวทางปฏิบัติ ผู้บริโภคต้องสู้กันเต็มที่กว่าจะได้ในสิทธิที่ตนพึงได้        เรื่องรถใหม่ป้ายแดงมีปัญหาไม่ได้เกิดกับเฉพาะรถยนต์รุ่นที่ใช้งานทั่วไป แม้กับรถยนต์หรูก็มีปัญหาได้ เช่นกรณีของคุณกรุณา ซึ่งได้วางเงินจองรถยนต์หรูจากโชว์รูมรถยนต์ที่มาเปิดขายในงานมอเตอร์โชว์เมื่อปลายปี 2560   ในราคารวมทั้งสิ้น 3,990,000 บาท โดยวางเงินดาวน์ไว้ 1,197,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระกับบริษัทไฟแนนซ์ จำนวน 48 งวด        คุณกรุณารับรถยนต์มาใช้งานเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 และเพียงแค่ 4 วัน รถก็มีอาการเกียร์ลาก จึงแจ้งไปที่ศูนย์บริการ ซึ่งบอกให้คุณกรุณานำรถมาตรวจสภาพในวันที่ 23 มกราคม เมื่อช่างตรวจสภาพแล้วบอกว่า รถไม่มีปัญหาอะไรแต่จะปรับปรุงชุดคำสั่งการทำงานของเครื่องยนต์ หรือ update software ให้ ซึ่งต้องนำจอดไว้ที่ศูนย์ฯ 2 สัปดาห์        เมื่อคุณกรุณานำรถกลับมาใช้งานอีกครั้งปัญหาเดิมก็กลับมา รถเกียร์ลาก วิ่งไม่ออก จึงนัดกับทางศูนย์ฯ ว่าจะนำรถกลับไปตรวจสภาพใหม่ แต่บังเอิญคุณกรุณาเกิดอุบัติเหตุหกล้ม จึงไม่สะดวกขับรถไปที่ศูนย์ฯ ตามนัด อย่างไรก็ตามในเวลานั้นพนักงานขายได้นำรถสำรองมาให้ใช้งานแทนรถยนต์ที่มีปัญหา และนำรถไปตรวจสภาพที่ศูนย์บริการให้ จนระยะเวลาย่างเข้าเดือนเมษายน ทางศูนย์ฯ ได้แจ้งว่าช่างจากทางบริษัทแม่บอกให้เปลี่ยนเกียร์ใหม่  แต่ต้องรออะไหล่จากทางบริษัทแม่ในต่างประเทศ ซึ่งคุณกรุณานั้นคิดว่า เมื่อทางศูนย์บริการเปลี่ยนสมองเกียร์และอัปเดต ซอฟท์แวร์แล้ว รถยนต์น่าจะใช้งานได้ ถ้าแค่ต้องรออะไหล่จากต่างประเทศ ขอนำรถมาใช้งานก่อนได้ไหม เมื่ออะไหล่มาถึงค่อยนำรถไปศูนย์บริการ  เพราะตั้งแต่ซื้อรถยนต์มาได้ใช้งานแค่ไม่กี่วัน ขณะที่เงินก็จ่ายไปเป็นล้านแล้ว        แต่เมื่อได้รถมา วิ่งไปได้ไม่กี่วัน รถก็เกียร์ลาก วิ่งไม่ออกเหมือนเดิม  และเมื่อทางศูนย์ฯ บอกว่าอะไหล่มาแล้วให้นำไปเปลี่ยนเกียร์ใหม่แต่จะไม่มีรถยนต์สำรองให้ คุณกรุณาเลยขอขับคันนี้ไปก่อนจนกว่าจะได้รถสำรอง ซึ่งต้องรอจนถึงต้นเดือนมิถุนายน และรถยนต์คันหรูก็เข้าไปจอดในศูนย์บริการอีกครั้ง จนวันที่ 19 มิถุนายน พนักงานขายได้ขับรถที่เปลี่ยนอะไหล่เรียบร้อยแล้วมาส่งให้ที่บ้าน          คุณกรุณาใช้งานไปได้อีกราวสองเดือน วันหนึ่งขณะที่ขับรถอยู่คุณกรุณาก็ต้องขวัญหาย เมื่อรถเกิดอาการกระชากอย่างแรงขณะกำลังออกตัวหลังจอดติดไฟแดง ทั้งยังมีเสียงดังเหมือนกับว่ามีรถคันอื่นมาชน จึงสงสัยว่าน่าจะเป็นอาการผิดปกติของเกียร์อีกแล้ว จึงต้องนำรถเข้าศูนย์บริการอีกครั้ง ซึ่งได้รับแจ้งว่าทางศูนย์ฯ จะเปลี่ยนสมองเกียร์ให้อีกครั้ง โดยคราวนี้ต้องรออยู่เกือบสองเดือนกว่าทางศูนย์ฯ จะโทรศัพท์มาแจ้งให้ไปรับรถได้        “ดิฉันเบื่อมากๆ รถยนต์ที่จ่ายเงินสดไปเป็นล้าน แต่ได้มาใช้งานอยู่ไม่กี่เดือน เข้าๆ ออกๆ ศูนย์บริการไม่รู้กี่รอบ ไม่ไหวแล้วจริงๆ ยิ่งแก้ก็ยิ่งแย่ลง อย่างนี้จะขอเงินที่จ่ายไปแล้วคืนได้ไหม”  นั่นเป็นสิ่งที่คุณกรุณาแจ้งขอคำปรึกษามาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนวทางการแก้ไขปัญหา        อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้น เรื่องการเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่หรือการคืนเงินให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์ ไม่ใช่แนวทางปฏิบัติของบริษัทค่ายรถยนต์ในไทย แต่บริษัทรถยนต์มักจะขอตรวจสอบและแก้ไขก่อนจนกว่าลูกค้าจะพอใจ หรือปลอบใจลูกค้าด้วยการแถมระยะเวลารับประกันชิ้นส่วน หรือฟรีค่าแรงในการซ่อมบำรุงให้ยืดระยะเวลาออกไปอีกเล็กน้อย เฉพาะบางรายเท่านั้นที่ค่ายรถยนต์ยอมทำตามลูกค้า เพื่อรักษาชื่อเสียงของแบรนด์ตัวเองเอาไว้        ในกรณีของคุณกรุณา ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ทำหนังสือถึงบริษัทรถยนต์เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งทางบริษัทได้ดำเนินการเจรจาเองกับทางผู้ร้อง และทราบต่อมาในภายหลังว่าสามารถยุติเรื่องลงได้ เป็นอันว่าคุณกรุณาเป็นกรณีเฉพาะรายที่ทางบริษัทต้องการรักษาชื่อเสียงของบริษัทไว้ และดูจากกรณีที่เกิดขึ้นแล้ว คุณกรุณาแทบจะไม่ค่อยได้ใช้งานรถยนต์เลย เป็นความเสียหายที่เกิดจากสภาพรถยนต์เองโดยแท้        อย่างไรก็ตามจากบทเรียนในอดีต การใช้สิทธิขอเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่หรือขอเงินคืน จะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก เพราะผู้ซื้อไม่มีความชำนาญในการวินิจฉัยอาการผิดปกติหรือชำรุดในแต่ละกรณี อีกทั้งรถยนต์ก็ได้ใช้งานไประยะหนึ่งแล้ว ตรงนี้จะเกิดปัญหาภาระในการติดตามทวงสิทธิและการพิสูจน์ความบกพร่อง ซึ่งผู้บริโภคจะเสียเปรียบด้านข้อมูล กระนั้นแล้วหากไม่พอใจสินค้าใหม่ป้ายแดงจริง ก็ต้องใช้สิทธิให้ถึงที่สุด อย่างแรกคือต้องเก็บหลักฐานต่างๆ ให้ดี เปิดเจรจาและที่สุดคงต้องให้ศาลวินิจฉัย เพราะมีกฎหมายคุ้มครองอยู่ คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 “ ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่” และในส่วนของกฎหมายเช่าซื้อ ซึ่งผู้ให้เช่าซื้อจะต้องส่งมอบรถในสภาพที่สมบูรณ์หรือใช้งานได้เป็นปกติแก่ผู้เช่าซื้อ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 การเยียวยาจากเหตุรถโดยสารเกิดอุบัติเหตุ ไม่ได้ง่ายอย่างที่เขาบอกกัน

คล้อยหลัง 7 วันอันตรายไม่กี่วัน กลางดึกเวลาตีสี่ของวันที่ 6 มกราคม 2562  สายด่วนข่าวอุบัติเหตุรายงานว่า เกิดเหตุรถโดยสารสองชั้นของบริษัทประหยัดทัวร์เสียหลักพลิกคว่ำที่จังหวัดปทุมธานี มีบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย และเหตุการณ์นี้ถือเป็นเหตุรุนแรงของรถโดยสารสาธารณะที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากเป็นครั้งแรกของปี 2562         รายงานข่าวระบุว่า รถโดยสารคันที่เกิดอุบัติเหตุเป็นรถโดยสารสองชั้นของบริษัท ประหยัดทัวร์ หมายเลขทะเบียน 10-8175 นครราชสีมา ที่ให้บริการในฐานะผู้ประกอบการรถร่วมบริการของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) วิ่งบริการในเส้นทางกรุงเทพ – พนมไพร  มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพมหานคร แต่เกิดเสียหลักพลิกคว่ำสภาพรถหงายท้อง บริเวณ (ขาเข้า) ตรงข้ามไทวัสดุ ถนนพหลโยธิน คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เสียก่อน ตรวจสอบแล้วมีผู้บาดเจ็บเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 24 รายและเสียชีวิตรวมจำนวน 6 ราย        หลังเกิดเหตุทีมสืบสวนสอบสวนอุบัติเหตุได้ลงพื้นที่เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุครั้งนี้ พบว่านอกจากสภาพถนนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุแล้ว  พฤติกรรมของคนขับก็เป็นสาเหตุที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ มีการเปลี่ยนตัวคนขับระหว่างทางจากพ่อมาเป็นลูกที่อายุเพียง 24 ปี แต่ต้องมารับผิดชอบคนเกือบครึ่งร้อยบนรถโดยสาร คนขับคนที่สองขับรถเกินเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ทำให้เครื่องรูดบัตรร้องเตือนตลอดเวลา และพบว่ามีประวัติขับรถเร็วจากกล้องตรวจจับของตำรวจทางหลวงมาแล้วหลายครั้ง นอกจากนี้ยังพบว่ารถโดยสารคันนี้บรรทุกผู้โดยสารมากกว่า 50 คน ทั้งที่มีที่นั่งบนรถเพียง 46 ที่เท่านั้น        จากอุบัติเหตุครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงมาตรการของรัฐที่ยังใช้ไม่ได้จริงในสองประเด็นหลัก คือ การกำหนดให้รถโดยสารทุกคันต้องติด GPS เพื่อควบคุมความเร็ว ควบคู่ไปกับเครื่องรูดบัตรใบขับขี่ของพนักงานขับรถโดยสารประจำทางต้องขับรถได้ต่อเนื่องกันไม่เกิน 4 ชั่วโมง และต้องหยุดพักอย่างน้อย 30 นาที และการบรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าจำนวนที่นั่งที่กฎหมายกำหนด        นอกจากมาตรการทางกฎหมายในสองส่วนข้างต้นที่ใช้ไม่ได้จริงแล้ว ระบบการกำกับติดตามรถโดยสารไม่ปลอดภัยของรัฐก็ไม่สามารถทำได้อย่างทันทีอีกด้วย ทั้งที่เป้าหมายการติดตั้ง GPS tracking คือการควบคุมกำกับให้รถโดยสารที่ติดตั้งระบบมีความปลอดภัยจากการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดที่สามารถตรวจสอบได้ทันทีด้วยระบบออนไลน์ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่สามารถแจ้งเตือนผู้ประกอบการแบบเรียลไทม์ได้อย่างทันท่วงที เมื่อพบว่ากำลังขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือมีพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดความรุนแรงเสียหายขึ้นได้        และที่สำคัญปัญหาที่ตามมาหลังเกิดอุบัติเหตุทุกครั้ง คือ การชดเชยเยียวยาที่ไม่เป็นธรรม แม้ว่ารถโดยสารคันเกิดเหตุจะทำประกันภัยภาคบังคับและภาคสมัครใจไว้เพื่อเป็นหลักประกันความเสียหาย โดยพบว่ามีวงเงินความคุ้มครองตามประกันภัยภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. ในส่วนค่ารักษาพยาบาลตามจริงไม่เกิน  80,000 บาท ส่วนกรณีทุพพลภาพถาวรหรือเสียชีวิตจ่ายทันที 300,000 บาท และความคุ้มครองตามประกันภัยภาคสมัครใจมีค่ารักษาพยาบาล PA 200,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนอีก 300,000 บาท ซึ่งหากมีผู้เสียชีวิตทายาทจะได้รับการชดเชยเยียวยาเป็นเงินรวม 800,000 บาทนั้น        แต่ในความเป็นจริงการจะได้รับค่าชดเชยเยียวยาของผู้ประสบเหตุไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ได้ในทันที แต่ละรายต้องมีความยากลำบากในการจัดทำเอกสารต่างๆ เช่น ใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล ภาพถ่ายอาการบาดเจ็บ เพื่อเป็นหลักฐานในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย และถึงแม้จะได้เอกสารมาแล้วแต่ก็ต้องถูกบังคับให้เจรจาต่อรองตามฐานานุรูปและอาการบาดเจ็บ บางรายต้องจำยอมรับเงินเพียงเพื่ออยากให้เรื่องจบ จะได้เอาเวลาต่อจากนี้ไปรักษาตัวและทำมาหากินตามปกติที่เคยทำ ทั้งที่คนเหล่านั้นเพิ่งจะเฉียดความตายจากความประมาทเลินเล่อของคนขับรถโดยสารคันเกิดเหตุมา           นอกจากนี้ยังพบอีกว่า สำหรับกรณีผู้เสียชีวิตนั้น แม้จะมีการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนตามความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยจำนวน 800,000 บาท ให้กับทายาทของผู้เสียชีวิตแล้วก็ตาม แต่ก็พบปัญหาข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความที่เป็นการตัดสิทธิเรียกร้องต่อผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ว่ากันง่ายๆ คือ ถ้าลงชื่อในสัญญาประนีประนอมแล้วก็จะไม่สามารถไปใช้สิทธิฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมได้อีก ทั้งที่ผู้ประสบเหตุมีสิทธิที่จะฟ้องบริษัทรถโดยสาร และบริษัท ขนส่ง จำกัด ในฐานะผู้ให้สัมปทานได้ เพราะความเสียหายของเขายังมีอยู่        อย่างไรก็ดีปัญหาที่เกิดจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะจะยังไม่มีวันหมดไป หากยังไม่มีการจัดการตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรการกำกับรถโดยสารสาธารณะให้มีความปลอดภัย มาตรฐานการชดเชยเยียวยาที่ไม่เป็นการซ้ำเติมความเสียหายของผู้ประสบเหตุ  และโดยเฉพาะเรื่องสิทธิผู้บริโภคที่ถูกละเมิดซ้ำซากจากหน่วยงานและผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทยทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ตรวจสอบจราจร ปริมาณน้ำฝนและเส้นทางลัด กับ TVIS

                                  ฉบับนี้ผู้เขียนมาอัพเดทแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการรายงานสภาพการจราจร เป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค แอปพลิเคชันนี้มีชื่อว่า TVIS ซึ่งย่อมาจากคำว่า Traffic Voice Information Service สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android          แอปพลิเคชัน TVIS เป็นแอปพลิเคชันที่แสดงถึงสภาพการจราจร มีกล้องวงจรปิด มีเรดาร์ตรวจอากาศ และเรดาร์น้ำฝน โดยจะแบ่งหมวดบนหน้าแอปพลิเคชัน 5 หมวด ได้แก่ หมวดรายการ หมวดรอบตัว หมวดรายการโปรด หมวดค้นหาด้วยเสียง และหมวดอื่นๆ          หมวดรายการ จะแบ่งการแสดงผลบนหน้าจอออกเป็น 8 หัวข้อ หัวข้อเรดาร์น้ำฝน จะแสดงสภาพปริมาณน้ำฝนที่เกิดขึ้นซึ่งใช้สีเป็นตัวแบ่งปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ปริมาณเล็กน้อย ปานกลาง แรง แรงมาก และเกิดลูกเห็บ หัวข้อสภาพการจราจรจะให้เลือกบริเวณเส้นทางที่ต้องการทราบความคล่องตัวของสภาพการจราจร หัวข้อกล้องจราจร CCTV จะแสดงกล้องวงจรปิดตามจุดต่างๆ หัวข้อเส้นทางลัดจะแสดงเส้นทางลัดทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดหัวข้อข่าวสังคมออนไลน์เป็นการรายงานข่าวสารจากสังคมออนไลน์ หัวข้อข่าวจากภาครัฐเป็นการรายงานข่าวสารจากภาครัฐ หัวข้อหมายเลขสายด่วนเพื่อกดดูรายการหมายเลขสายด่วนที่มีอยู่ทั้งหมด และหัวข้อ Smart IVR ที่มีไว้สำหรับติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสอบถามผ่านแอปพลิเคชันโดยจะต้องกรอกหมายเลขโทรศัพท์ที่สะดวกหลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมา          หมวดรอบตัว จะเป็นการแสดงสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์ โดยมีหัวข้อที่จะเลือกตรวจสอบสภาพการจราจร 4 หัวข้อ ได้แก่ หัวข้อเส้นสีจราจรจะปรากฏเส้นสีตามสภาพการจราจรในขณะนั้นเป็นสีแดง สีส้ม สีเหลืองและสีเขียว หัวข้อกล้องจราจรจะมีกล้องภาพเคลื่อนไหวจากแฟ้มภาพที่ผ่านไปเมื่อ 30 นาทีที่ผ่านมาและภาพเคลื่อนไหวแบบถ่ายทอดสด หัวข้อสังคมออนไลน์จะปรากฏข่าวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ จุดนั้น และหัวข้อดาวเทียมจะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบมุมมองบนแอปพลิเคชันเป็นดาวเทียม          หมวดรายการโปรดเป็นหมวดที่เพิ่มขึ้นมาให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันได้รับความสะดวกสบายและสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วกับเส้นทางและสภาพการจราจรที่ต้องการใช้บ่อย สำหรับหมวดค้นหาด้วยเสียงเป็นการสั่งงานในการค้นหาสภาพการจราจรด้วยเสียง ซึ่งหมวดนี้จะรองรับผู้ที่ไม่สะดวกในการค้นหาในรูปแบบปกติ และหมวดอื่นๆ จะเป็นการตั้งค่าและวิธีการใช้งานภายในแอปพลิเคชัน        แอปพลิเคชัน TVIS นี้มีประโยชน์ในเรื่องการรายงานสภาพการจราจรตามเส้นทางที่ต้องการเดินทางว่ามีความคล่องตัวมากน้อยแค่ไหน  การรายงานสภาพการจราจรผ่านกล้องวงจรปิด การรายงานปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่ การรายงานข่าวสารสภาพการจราจรผ่านสังคมออนไลน์ซึ่งมาจากการรายงานสภาพการจราจรจากผู้ใช้เส้นทางบนถนนโดยตรง        ถ้าผู้ใช้แอปพลิเคชันอยากจะหลีกเลี่ยงเส้นทางการจราจรที่ติดขัดบริเวณใด หรือต้องการหาเส้นทางลัด ก็สามารถเข้ามาตรวจสอบภายในแอปพลิเคชันนี้ได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 มันใกล้ตัวเรา เข้ามาแล้ว

        เราคงได้ยินคำว่าเชื้อดื้อยามานานแล้ว นานจนหลายๆ คนเริ่มจะชิน แต่บางคนอาจไม่หวาดกลัวเพราะไม่เคยเจอกับตัวเอง ระยะหลังกระทรวงสาธารณสุขมีการรณรงค์เกี่ยวกับการป้องกันเชื้อดื้อยา โดยรณรงค์ไม่ให้ใช้ยาปฏิชีวนะ(ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย) อย่างพร่ำเพรื่อ โดยเฉพาะการใช้อย่างไม่จำเป็นในสามโรค ได้แก่ หวัดชนิดที่ไม่ได้ติดเชื้อแบคทีเรีย แผลสะอาด ท้องเสีย  อีกทั้งยังมีการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ทั้งของประเทศและระดับโลกมากขึ้น กระแสตื่นตัวเกี่ยวกับเชื้อดื้อยาจึงมากขึ้น จนกระทั่งรัฐบาลนำไปเป็นนโยบายของประเทศ     แม้ว่าการณรงค์การใช้ยาในคนจะเริ่มประสบผลสำเร็จมากขึ้น แต่กลับมีข้อมูลการใช้ยาในภาคเกษตรทั้งพืชและสัตว์ปรากฏขึ้นมาอีก จากการสำรวจข้อมูลในหลายๆ พื้นที่ พบว่ามีการนำยาปฏิชีวนะที่ใช้ในมนุษย์ เช่น แอมพิซิลิน(Ampicillin) อะม็อกซี่ซิลิน(Amoxycillin) มาใช้ในการเกษตร โดยพบการใช้มากในสวนส้ม ข้อมูลจาก Facebook เภสัชกรชายแดน รายงานว่าเกษตรกรได้ทำกันอย่างแพร่หลาย โดยจะไปซื้อยาปฏิชีวนะมาแกะเม็ดแคปซูลออก แล้วเอาแต่ผงยาออกมาละลายน้ำ ทิ้งไว้ 1 คืน หลังจากนั้นจึงนำมากรองเอาแต่น้ำ นำไปใส่ขวดแล้วฉีดที่ต้นส้ม  โดย 1 ปี จะฉีด 3 ครั้ง ไม่เช่นนั้นส้มจะเหลืองและตาย  Facebook เภสัชกรชายแดน ยังได้รายงานว่า จากการลงพื้นที่สำรวจ พบผงยาอะม็อกซี่ซิลินเกลื่อนตามพื้นดิน ซึ่งผงยานี้จะซึมสู่แหล่งน้ำใต้ดินต่อไปได้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากเกษตรกรจะสัมผัสผงยาโดยตรง ซึ่งยาอาจเข้าสู่ร่างกายได้ ผู้บริโภคเองก็มีความเสี่ยงอย่างสูงที่จะได้รับยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นที่ตกค้างในผลส้ม และมีโอกาสสูงที่จะนำไปสู่สภาวะที่เร่งเร้าให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ ซึ่งเคยมีข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่หนังสือพิพม์คมชัดลึก  ฉบับวันที่ 27 มกราคม 2560 นำเสนอว่า มีการตรวจพบเชื้อที่มียีนดื้อยาในมนุษย์แล้วเช่นกัน หรือผู้บริโภคบางคนอาจแพ้ยาที่ตกค้างในส้ม ซึ่งน่าห่วงตรงที่การแพ้ยาของบางคนอาจเป็นการแพ้แบบรุนแรงได้        ล่าสุดมีข้อมูลที่ได้จากการทำงานร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม ซึ่งได้ตรวจผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ประเภท แหนม กุนเชียง ไส้กรอกอีสาน พบยีนเชื้อดื้อยาปะปนมาในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ด้วย ซึ่งหมายความว่า        1. เนื้อสัตว์ที่นำมาผลิตนั้น บางชนิดมียีนเชื้อดื้อยาปะปนมาด้วย        2. หากผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีเชื้อโรคที่ดื้อยาและผู้บริโภคนำมารับประทาน โดยไม่ผ่านความร้อนให้เชื้อโรคตาย (เช่น แหนม ที่สามารถรับประทานดิบๆ ได้) เชื้อโรคที่ดื้อยานั้นก็จะเข้าสู่ร่างกายคนที่รับประทาน        3. เมื่อเชื้อโรคที่เข้าไปในร่างกายคนที่รับประทานมียีนเชื้อดื้อยาแล้ว หากคนนั้นเจ็บป่วยจากเชื้อโรคดังกล่าว การรักษาด้วยยาทั่วๆ ไปที่เชื้อโรคชนิดนี้เคยตาย  มันก็จะไม่ตาย และต้องไปใช้ยาที่แพงและสูงกว่าเดิมที่เคยใช้        ข้อมูลเหล่านี้จึงเสมือนการย้ำเตือนให้พวกเราอย่าลืมว่า เชื้อดื้อยาไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะ มันใกล้ตัวเรา เข้ามาแล้ว ทางออกที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ จะทำได้ คือช่วยกันยับยั้งปัญหาเหล่านี้ เช่น สอบถามหรือปรึกษาบุคลากรทางสาธารณสุขเกี่ยวกับการใช้ยาที่เหมาะสม ไม่นำยาปฏิชีวนะไปใช้ในทางที่ผิดๆ ดังที่เล่ามาข้างต้น ฯลฯ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 คนต่างด้าวซื้อห้องชุดเพื่อให้เช่าทำได้หรือไม่ ? ตอน 5

        หากคนต่างด้าวที่ถือครองกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดประสงค์จะให้ผู้เช่าซึ่งเป็นคนต่างชาติเช่าอาคารชุดของตนสามารถดำเนินการตามกฎหมายได้หรือไม่ เห็นว่า กฎหมายไทยให้สิทธิคนต่างชาติไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็สามารถเช่าอาคารชุดได้ โดยไม่มีข้อห้ามใดๆ ยกเว้นการเช่าเพื่อกระทำความผิดต่อกฎหมายหรือเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่สิ่งที่ควรพิจารณา คือ พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 38         พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 38  กำหนดว่า เจ้าบ้าน เจ้าของหรือผู้ครอบครองเคหสถาน หรือผู้จัดการโรงแรมซึ่งรับคนต่างด้าว ที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเข้าพักอาศัย จะต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่ที่บ้าน เคหสถาน หรือโรงแรมนั้นตั้งอยู่ภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่คนต่างด้าวเข้าพักอาศัย ถ้าท้องที่ใดไม่มีที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองตั้งอยู่ให้แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ณ สถานีตำรวจท้องที่นั้น ซึ่งในกรณีที่บ้าน เคหสถานหากเจ้าของห้องชุด ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 38 พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 77 กำหนดว่า ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่ถ้าผู้นั้นเป็นผู้จัดการโรงแรมต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 10,000 บาท”         วิธีการแจ้งให้แจ้งตามแบบ ตม. 30 หรือโรงแรมที่คนต่างด้าวเข้าพักอาศัยตามวรรคหนึ่งตั้งอยู่ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กองตรวจคนเข้าเมือง อีกทั้งในกรณีปล่อยเช่าอาคารชุดให้กับชาวต่างชาติ เจ้าของห้องชุดก็ต้องแจ้งข้อมูลชาวต่างชาติที่เข้าพักในห้องชุดของตนกับที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองหรือสถานีตำรวจท้องที่ แต่คนต่างด้าวที่จะเช่านั้น ทั้งจะต้องได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ในช่วงเวลาที่ย้ายเข้าพักอาศัยนั้นด้วย และสิ่งสำคัญต้องเข้ามาประกอบอาชีพหรือทำธุรกิจภายในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วย ซึ่งหากอาคารชุดตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ให้แจ้งที่กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 หากอาคารชุดตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ให้แจ้ง ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดในเขตพื้นที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ วิธีการแจ้งมีหลายวิธีนอกจากไปแจ้งด้วยตนเองแล้ว สามารถแจ้งทางไปรษณีย์ หรือแจ้งผ่านทางอินเทอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ด้วย        หลักฐานที่ชาวต่างชาติเช่าอาคารชุด ตามระเบียบของนิติบุคคลอาคารชุดที่ 002/2555 ว่าด้วยเรื่อง การใช้ประโยชน์ห้องชุดสำหรับบริการเช่าพักอาศัย ผู้ปล่อยเช่าอาคารชุดต้องแจ้งข้อมูลและยื่นเอกสารเกี่ยวกับชาวต่างชาติที่เช่าพักอาศัยให้เจ้าหน้าที่นิติบุคคลเก็บไว้เป็นหลักฐาน ดังนี้        ก. สำเนาบัตรประจำตัวคนต่างด้าว หรือหนังสือเดินทาง และสำเนาใบสำคัญแสดงถิ่นที่อยู่ของผู้เช่าพักอาศัยและบริวารในห้องชุด        ข. สำเนาใบรับการแจ้งรับคนต่างด้าวเข้าพักอาศัย ที่กองตรวจคนเข้าเมืองรับแจ้งเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่นิติบุคคลสามารถตรวจสอบได้กรณีผู้เช่ามีพฤติกรรมน่าสงสัย        ค. กรณีผู้เช่าเป็นบุคคลต่างด้าว จะเข้าพักได้ไม่เกิน 3 คนต่อ 1 ห้องชุด เจ้าของร่วมต้องส่งข้อมูลผู้เช่าที่เป็นปัจจุบันให้นิติบุคคล เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยฝ่ายจัดการฯ จะทำการตรวจสอบข้อมูลผู้เช่าเป็นประจำทุก 6 เดือน         หลักปฏิบัติของการปล่อยอาคารชุดให้กับชาวต่างชาติ คือ        ประการที่หนึ่ง เจ้าของห้องชุดต้องตกลง ทำความเข้าใจ และตรวจดูสัญญาเช่าให้เรียบร้อย โดยเก็บเอกสารสำเนาแสดงตัวของผู้เช่า เช่น สำเนาบัตรประจำตัวคนต่างด้าว หรือหนังสือเดินทาง เป็นต้น ต้องดำเนินการแจ้งข้อมูลผู้เช่าให้กองบังคับการตรวจคนเข้าเมืองหรือที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด ทราบภายใน 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่เข้าพักอาศัย ผ่านช่องทางต่างๆ ตามสะดวก ซึ่งแจ้งข้อมูลและนำใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ซึ่งออกโดย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ส่งให้กับสำนักงานนิติบุคคลอาคารชุด เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน อีกทั้งต้องส่งข้อมูลปัจจุบันเกี่ยวกับผู้เช่าให้ฝ่ายจัดการฯ นิติบุคคลอาคารชุด เมื่อมีการเรียกตรวจสอบทุก 6 เดือน         ประการที่สอง ผู้เช่าต้องทำความเข้าใจรายละเอียดในสัญญาเช่า เก็บเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเช่าอาคารชุด ต้องนำสำเนาแสดงตัวผู้เช่า เช่น สำเนาบัตรประจำตัวคนต่างด้าว หรือหนังสือเดินทางให้กับผู้ให้เช่า (เจ้าของอาคารชุด) รับกุญแจห้องชุด ตรวจสอบสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ในห้องชุด หากไม่พบรายการที่ใดให้แจ้งผู้ให้เช่า และหากมีข้อสงสัย ขัดข้อง มีเหตุฉุกเฉินต้องการความช่วยเหลือหรือคำปรึกษาให้ติดต่อผู้ให้เช่าหรือนิติบุคคลอาคารชุดทันที        ประการที่สาม นิติบุคคลอาคารชุด ต้องรับเอกสารเกี่ยวกับการปล่อยเช่าอาคารชุดให้กับชาวต่างชาติต้องตรวจสอบเอกสารว่าครบถ้วนหรือไม่ แล้วแจ้งให้เจ้าของห้องชุดทราบ เก็บสำเนาใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ซึ่งออกโดย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่เจ้าของห้องชุดส่งให้เพื่อเป็นหลักฐาน ฝ่ายจัดการฯ นิติบุคคลอาคารชุดทำการตรวจสอบข้อมูลผู้เช่าเป็นประจำทุก 6 เดือน แจ้งกองบังคับการตรวจคนเข้าเมืองที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด ภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อมีคนต่างชาติเข้ามาเช่าอาคารชุด การเช่าอาคารชุดระยะยาวมากกว่า 30 ปี และต่ออายุไปอีก 30 ปี เป็นไปได้ แต่ถ้าให้เช่ามากกว่า 3 ปี จะต้องทำเรื่องที่กรมที่ดินที่อยู่ของอาคารชุดนั้น ๆ จดทะเบียนและดำเนินเรื่องตามกฎหมาย ต้องคำนึงศักยภาพความพร้อมและความน่าเชื่อถือของผู้ให้เช่า บริษัทตัวแทนเช่า บริษัทเจ้าของโครงการ และนิติบุคคลอาคารชุด ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่ผู้เช่าทุกชาติให้ความสำคัญโดยเฉพาะผู้เช่าที่ต้องพักอาศัยเป็นเวลานาน        อนึ่ง การขายอาคารชุดในประเทศไทย เจ้าของอาคารชุดต้องซื้อเก็บไว้เป็นเวลา 5 ปี เพื่อไม่ให้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ (SBT) ซึ่งเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถือว่าเป็นทางการค้าหรือหากำไรตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 (ใช้บังคับตั้งแต่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป) นักลงทุนจำนวนมากจึงมองการลงทุนในอาคารชุดเป็นการลงทุนระยะยาวที่ได้ประโยชน์ทั้งผลตอบแทนจากการปล่อยให้เช่าและการเพิ่มมูลค่าของทุนไปด้วยในตัว        คราวหน้าจะเป็นบทสรุปของเรื่องนี้ อย่าลืมติดตามกันนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ล้างแผลถูกวิธี แผลดีไม่มีปัญหา

        หลายวันก่อนพบว่าในกลุ่มเพื่อนยังมีบางคนเข้าใจไม่ถูกต้องเรื่องการล้างแผล ถกกันเรื่องการใช้แอลกอฮอล์กับการใช้น้ำเกลือ ว่าอย่างไหนมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน สวยอย่างฉลาด คราวนี้จึงขอนำเรื่องการล้างแผลที่ถูกวิธีมาเสนออีกครั้ง เพราะถ้าเราทำความสะอาดแผลได้ดี แผลก็จะไม่ติดเชื้อลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ หรือกลายเป็นแผลเป็นติดตัวไปเข้าใจเรื่องแผล        นิยามของ บาดแผล จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายความว่า เนื้อหนังที่แตกแยกออกเพราะถูกตีฟันทิ่มแทง เป็นต้น ส่วนคำว่า แผล หมายถึง เนื้อหนังที่แตกแยกออกเพราะเป็นโรคหรือถูกของมีคม เป็นต้นชนิดของแผลแบ่งตามสาเหตุ เป็น 2 กลุ่มดังนี้        1. แผลเฉียบพลันหรือแผลสด คือแผลที่มีการติดประสานของผิวหนังได้ตามกระบวนการปกติ และมักเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ถูกของมีคมบาด หกล้ม        2. แผลเรื้อรัง คือกลุ่มที่แผลมีปัญหาในการสมานติดของแผล ส่วนใหญ่แผลมักไม่ติดในเวลา 3 เดือนแผลหายเร็วหรือสมานตัวได้อย่างไร        การสมานตัวหรือการติดประสานของเนื้อเยื่อที่บาดแผล ร่างกายของเราจะเป็นผู้จัดการตัวเอง ทั้งการห้ามเลือดให้หยุด ส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวมากำจัดเชื้อโรค และเร่งการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อเพื่อทำให้เกิดการสมานตัวโดยมีสารโปรตีนเป็นตัวการสำคัญ        การทำความสะอาดแผลจึงเป็นการช่วยเหลือจากภายนอก คือช่วยทำให้แผลสะอาดปราศจากสิ่งสกปรกและลดปริมาณเชื้อโรคต่างๆ ลงเพื่อให้ร่างกายทำงานซ่อมแซมบาดแผลได้ดีขึ้น เรียนรู้เรื่องการทำความสะอาดแผล        1.ควรล้างแผลด้วยน้ำเกลือที่เรียกว่า Normal saline ซึ่งเป็นน้ำเกลือปราศจากเชื้อ หรือน้ำเกลือที่มีความเข้มข้น 0.9% โดยความเข้มข้นของน้ำเกลือชนิดนี้ จะมีความสมดุลกับเนื้อเยื่อของร่างกาย จึงไม่ทำให้รู้สึกแสบ ใช้ล้างตรงๆ บริเวณบาดแผลได้เลย เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด รบกวนการสมานตัวของแผลน้อยที่สุด แต่เมื่อเปิดใช้ครั้งแรกแล้วจะมีอายุการใช้งานได้อีก 30 วัน หากเกินนั้นไปแล้วไม่ควรใช้         2.ถ้าไม่มีน้ำเกลือสามารถล้างแผลด้วยน้ำประปากับสบู่ได้ แต่น้ำประปามีความเข้มข้นต่ำกว่าน้ำในเซลล์ร่างกาย จึงอาจทำให้รู้สึกแสบแผลเล็กน้อย และรบกวนการสมานแผลของร่างกาย แต่ช่วยให้แผลสะอาดได้ไม่แพ้น้ำเกลือ        3.การใช้แอลกอฮอล์ล้างแผล เป็นเรื่องที่เข้าใจกันผิดมาตลอดคือ การนำแอลกอฮอล์ราดหรือเช็ดไปที่แผลโดยตรง ถือว่าผิดวิธีเพราะแอลกอฮอล์เป็นยาฆ่าเชื้อเฉพาะที่ สำหรับเช็ดผิวหนังรอบแผลก่อนผ่าตัดหรือก่อนฉีดยาเท่านั้น เพื่อลดโอกาสที่เชื้อโรครอบปากแผลจะเข้าสู่แผลได้ หากเช็ดแอลกอฮอล์ไปที่แผลตรงๆ แอลกอฮอล์จะทำลายเซลล์เนื้อเยื่อ อาจทำให้เกิดเนื้อตาย แสบร้อนแผล และทำให้แผลหายช้า         4.ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ หลายคนชอบใช้ล้างแผล ซึ่งผิด เพราะไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ทำลายเซลล์เนื้อเยื่อและรบกวนการสมานแผลของร่างกายไม่ต่างจากแอลกอฮอล์ จึงควรใช้เช็ดรอบปากแผลเท่านั้น        5.เมื่อทำความสะอาดแผลแล้ว ระยะแรกควรปิดแผลด้วยผ้ากอซหรือผ้าสะอาด เพื่อป้องกันฝุ่นละออง และอย่าให้แผลโดนน้ำ แต่ไม่ควรปิดแผลจนแน่นเกินไป ควรให้แผลได้ถูกอากาศบ้าง เพื่อป้องกันแผลอับชื้น ซึ่งอาจทำให้เชื้อโรคบูมขึ้นได้        การใช้ยาใส่แผลจำพวก ไอโอดีน โพวิดีนไอโอดีน และสารออร์กานิกต้านแบคทีเรียอื่นๆ ก็สามารถทำให้การหายของบาดแผลช้าลง เนื่องจากสารเหล่านี้มีฤทธิ์ทำลายหรือขัดขวางเซลล์เม็ดเลือดขาวที่จะช่วยให้กระบวนการติดประสานของแผลเป็นไปโดยปกติ        อย่างไรก็ดี สำหรับแผลที่ค่อนข้างลึก ใหญ่ และรุนแรง หรือเป็นแผลบริเวณใกล้ดวงตา แผลที่ศีรษะ แผลเปิดกว้าง แผลเกิดจากของขึ้นสนิม หรือโดนสัตว์กัด เลือดไหลไม่หยุดยาวนานประมาณ 5-10 นาที ให้ไปพบแพทย์เพื่อจัดการดูแลแผลอย่างถูกต้องเหมาะสมจะดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 รัฐสวัสดิการ เมืองไทยต้องไปให้ถึง

รัฐสวัสดิการ (welfare state) คือ มโนทัศน์การปกครองซึ่งรัฐมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจและสังคมของพลเมือง โดยอาศัยหลักความเสมอภาคของโอกาส การกระจายความมั่งคั่งอย่างชอบธรรม และความรับผิดชอบต่อสาธารณะแก่ผู้ไม่สามารถจัดหาขั้นต่ำสำหรับชีวิตที่ดีได้ กลุ่มประเทศนอร์ดิก เช่น ไอซ์แลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์กและฟินแลนด์ รวมอยู่ในรัฐสวัสดิการสมัยใหม่รัฐสวัสดิการเกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนเงินทุนจากรัฐสู่บริการที่จัดให้ (เช่น สาธารณสุข การศึกษา) ตลอดจนสู่ปัจเจกบุคคลโดยตรง ("ผลประโยชน์") รัฐสวัสดิการจัดหาเงินทุนจากการเก็บภาษีแบบแบ่งความมั่งคั่ง (redistributionist taxation) และมักเรียกว่าเป็น "เศรษฐกิจแบบผสม" ประเภทหนึ่ง การเก็บภาษีดังกล่าวปกติรวมการเก็บภาษีเงินได้จากผู้มีรายได้สูงมากกว่าผู้มีรายได้ต่ำ เรียก ภาษีอัตราก้าวหน้า ซึ่งช่วยลดช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยและคนจน (ที่มา วิกิพีเดีย) รัฐสวัสดิการที่เหมาะสมสำหรับคนไทยเป็นได้ต้องปฏิรูประบบภาษี        ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ระบุว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องปฏิรูประบบภาษี และงบประมาณเพื่อรัฐสวัสดิการที่เหมาะสมสำหรับคนไทยถ้วนหน้า ซึ่งหากไม่เร่งดำเนินการอนาคตประชากรไทยอาจจะมีปัญหา โดยเฉพาะคนรายได้น้อยและคนที่มีรายได้ปานกลาง        หากดูตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นหนึ่งประเทศที่มีรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็ง บวกกับความเชื่อมั่นว่า “คนชั้นกลาง” ในประเทศสามารถทำมาหากินและสร้างสิ่งที่เรียกว่า “อเมริกันดรีม” แต่มีบทความในนิตยสารฉบับหนึ่งเมื่อปี 2561 ที่ชี้ให้เห็น “การจมลงของชนชั้นกลาง” อันเนื่องมาจากปัญหาหลัก 3 ด้าน คือ 1. ด้านการศึกษา 2. ด้านการสาธารณสุข และ 3. ด้านที่อยู่อาศัย โดยทั้ง 3 ด้านนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทำให้คนชั้นกลางมีเงินเหลือเก็บน้อยลง และเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ซ้ำเติมด้วยสถานการณ์การทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป จากการเป็นประเทศผู้นำทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ทำให้การจ้าง “คนชั้นกลาง” ทำงานประจำน้อยลงเรื่อยๆ        ดังนั้น เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย “ด้านการศึกษา” พบว่าเดิมมีการจัดระบบการศึกษาฟรี จนถึง 12 ปี กระทั่งมีรัฐธรรมนูญ ฉบับ คสช. การศึกษาฟรีลดลงมาเหลือเพียงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับเท่านั้น และเมื่อพิจารณาลึกลงไปกว่านั้นจะพบว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ตามข้อเท็จจริงว่า “โรงเรียนบางแห่ง” ไม่ใช่การศึกษาฟรีจริง เพราะยังมีการบังคับในเรื่องต่างๆ เช่น การแต่งกายต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ รวมถึงมีการเปิดห้องเรียนพิเศษเพื่อเก็บเงินเพิ่มเติม          และที่มีปัญหาหนักคือระดับ “มหาวิทยาลัย” ที่รัฐบาลมีการอุดหนุนงบให้นักศึกษาปีละ 10,000 บาทต่อคน แต่จากข้อมูลพบว่าในจำนวนกลุ่มคนที่จนที่สุดของประเทศ 20% นั้นมีเพียง 5% เท่านั้นที่สามารถเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยได้ ที่เหลือคือ เข้าไม่ถึง นี่คือสิ่งที่คนชั้นกลางไปไม่ถึง และไม่ได้รับสิทธิได้รับเงินอุดหนุนดังกล่าว รวมกว่า 95% แปลว่าเงินที่รัฐอุดหนุนเพื่อการศึกษาตกอยู่กับคนที่รวยที่สุด 20%           “เหมือนรัฐบาลยังมีกำแพงการช่วยเหลืออยู่ ช่วยแต่ไม่ได้ช่วยเต็ม เข้าใจว่ารัฐบาลไม่ได้ตั้งใจให้แบบนี้ แต่การที่ไม่ได้คิดครบทั้งระบบกลายเป็นการกีดกันคนจนโดยทางอ้อม และยังเบี่ยงไปจ่ายให้คนรวยทางอ้อมด้วยเช่นกัน”  “ด้านสุขภาพ” แน่นอนว่าประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้ แต่สิ่งที่เป็นปัญหามี 2 เรื่องคือ ประชาชนต่างจังหวัด แม้จะเข้าระบบหลักประกัน แต่ยังมีค่าใช้จ่ายสูงในการเดินทางไปรับการรักษา และมีปัญหาการเข้าถึงการรักษาในโรงพยาบาลชั้นนำในกรุงเทพหรือเมืองใหญ่          “หากแบ่งคนออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 20% จะพบว่าเงินที่รัฐบาลจ่ายส่วนมากกลับมาอยู่ที่คนกลุ่มที่รวย 20% บวกกับคนที่รวยที่สุดที่อยู่ในสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งมีงบประมาณค่ารักษาเฉลี่ย 1.5 หมื่นบาท ในขณะที่คนทั่วไปได้รับเพียง 3.4 พันบาทต่อหัว นี่คือปัญหาของการใช้งบประมาณที่สรุปแล้วเป็นการช่วยเหลือคนที่มีความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองได้อยู่แล้ว ในขณะที่พี่น้องคนจนได้รับการช่วยเหลือน้อยแถมเข้าถึงยาก” ขณะที่ “คนชั้นกลางของไทย” ก็จะเป็นกลุ่มเดือดร้อนไปด้วย เพราะถ้าพูดถึง “เรื่องการศึกษา” มีการเรียนฟรีก็จริง แต่ก็มีสิ่งล่อคือ ทัศนคติว่าเรียนโรงเรียนธรรมดาคุณภาพจะไม่ถึง ต้องเรียนคลาสพิเศษ หรือไปเรียนโรงเรียนเอกชน หรือในระดับมหาวิทยาลัย ก็จะมีคอร์สอินเตอร์ ซึ่งไม่มีมาตรการควบคุมเรื่องการเก็บค่าบริการพิเศษเหล่านี้ว่าต้องเป็นเท่าไร เหมือนอเมริกามีการทำข้อมูลค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษาสูงกว่ารายได้เยอะมาก แต่ประเทศไทยไม่มีการทำตรงนี้ รัฐบาลใช้กลยุทธ์เวลาใครวิจารณ์ก็ระบุว่า ไม่ใช่ตัวเลขที่ถูกต้อง แต่เมื่อถามหาตัวเลขที่ถูกต้องรัฐบาลก็บอกว่าไม่มี  “ส่วนค่ารักษา” หากอยู่ในระบบบัตรทองแล้วรู้สึกรอนาน ก็ต้องไป รพ.เอกชน ที่ยังไม่มีกลไกควบคุมราคา ซึ่งก็ยังหวังว่าจะเริ่มควบคุมได้ในปีนี้ เช่นเดียวกับ “ที่อยู่อาศัย” ไม่มีการควบคุมเลย         นี่เป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางของไทยต้องต่อสู้คล้ายๆ กับคนชั้นกลางในอเมริกา จึงต้องถามคนชั้นกลางในประเทศไทยว่า จะสู้อย่างไรดี มาร่วมกันลงทุนเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการดีกว่าหรือไม่ เช่น มีการเสนอว่าไม่ต้องมีการลดหย่อนภาษี จำพวกกองทุนแอลทีเอฟ แต่จ่ายภาษีเต็มๆ ไปแล้วรัฐนำเงินนั้นมาสร้างสวัสดิการที่เพียงพอ  เพราะการมีรัฐสวัสดิการ คือการสร้างความมั่นใจให้กับทุกคนว่าจะสามารถเดินต่อไปได้         แต่สิ่งที่ต้องพูดเพื่อให้เข้าใจกันเกี่ยวกับระบบภาษี นั้นเรียนว่า ทุกคน รวมถึงคนจนต่างก็เสียภาษีกันทั้งสิ้น แน่นอนว่าภาษีเงินได้ เมื่อลองคำนวณแล้วคนชั้นกลางเสียภาษีประมาณปีละ 60,000 บาท ถือว่าเยอะต่อครอบครัว แต่ใน 60,000 บาทนั้น เป็นภาษีรายได้แค่นิดเดียว ที่เหลือเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีทางอ้อม ขณะที่คนจนอาจไม่ได้เสียภาษีเงินได้  เพราะเงินได้ไม่ถึงตามระบบจัดเก็บภาษี แต่ย้ำว่าภาษีมูลค่าเพิ่มต้องจ่ายกันทุกคน ซึ่งหากคำนวณแล้วคนจนต้องจ่ายแพงกว่าด้วยซ้ำ        “ใน 20% ที่รวยที่สุดของประเทศมีรายได้เฉลี่ย 60,000 บาท ใช้บริโภคประมาณ 40,000 บาทเบ็ดเสร็จเสียภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณ 2,000 บาทเท่านั้น เมื่อหารด้วย 60,000 บาทของรายได้ แปลว่าเสียภาษีแค่ 3% ของรายได้ แต่คนจนมีรายได้ประมาณ 10,000 บาท แต่มีรายจ่ายประมาณ 12,000 บาท แล้วต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเบ็ดเสร็จประมาณ 500 บาท คิดเป็นประมาณ 6% ของรายได้”           ดร.เดชรัต ย้ำว่า ดังนั้นจำเป็นต้องปฏิรูประบบภาษี ซึ่งตนเคยมีประสบการณ์ ตอนที่เคยไปอยู่เดนมาร์คและเสียภาษีประมาณ 40% ของเงินได้ แต่ไม่ต้องไปซื้อรถยนต์ เพราะระบบรถเมล์ดี นั่งแล้วสบายใจ ในขณะที่อยู่เมืองไทยเสียภาษี 10% แต่ทันทีที่กลับมาต้องซื้อรถยนต์ เพราะที่บ้านรถสาธารณะไม่มีออกมา ดังนั้นหากให้เอาเงิน 6 แสนที่จ่ายให้กับบริษัทรถมาจ่ายเป็นภาษีให้รัฐ เพื่อนำไปพัฒนาระบบขนส่ง พัฒนารถเมล์ให้ดี อยากให้เมืองไทยลงทุนกับสิ่งเหล่านี้          สิ่งที่ต้องเปลี่ยนจริงๆ คือภาษีเกี่ยวกับทรัพย์สิน ปัจจุบันจ่ายน้อยมาก อย่างตนเองมีที่ที่บางบัวทองประมาณ  10 ล้านบาทต่อไร่ แต่เสียภาษี 40 บาทเท่านั้น พอเก็บภาษีน้อย คนก็ซื้อที่ตุนไว้          อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงเรื่องภาษี คนไทยต้องเปลี่ยนมุมมองว่า การเก็บภาษีคือ การเก็บจากคนกลุ่มหนึ่งไปให้อีกกลุ่มหนึ่ง แต่ในต่างประเทศไทยที่เชื่อเรื่องสวัสดิการเขามองต่างจากเรา โดยเขาจะมองว่าเป็นการลงทุนเพื่อให้ประเทศเข้มแข็งไปพร้อมกันทั้งประเทศ ดังนั้นหากเราเชื่อว่าการลงทุนเดี่ยวๆ แล้วจะรอดนั้นเป็นไปได้ยาก หากไม่ใช่คนชั้นสูงไม่มีทางรอด ดังนั้นหากจะรอดพร้อมกันคือ ต้องมาลงทุนในรัฐสวัสดิการพร้อมกัน.รัฐสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเท่าเทียม        นายนิมิตร์ เทียนอุดม กลุ่มคนรักสุขภาพและเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ระบุว่า ณ วันนี้สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ในหลายๆ ด้าน จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องร่วมมือกันผลักดันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ อย่างน้อยใน 3 ด้าน คือ การสร้างหลักประกันด้านสุขภาพ หลักประกันรายได้  หลักประกันด้านการศึกษา        การสร้างหลักประกันสุขภาพ        เป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกที่ต้องทำให้เกิดความเป็นธรรม เพราะปัจจุบันรัฐสวัสดิการในข้อนี้ ถูกตัดแบ่งออกเป็น 3 กองทุน คือ สวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ซึ่งโดยหลักคิดเบื้องต้นต้องรวม 3 กองทุนนี้เข้าด้วยกัน เพราะการมี 3 กองทุนเป็นเหตุให้มีความเหลื่อมล้ำสูง แต่ละระบบโดยรวมแล้วใช้งบประมาณจากรัฐ 100% อยู่แล้ว แต่ได้รับงบไม่เท่ากัน        อย่างกองทุนประกันสังคมนับเป็นความเหลื่อมล้ำแบบดับเบิ้ลไปอีก เพราะในขณะที่รัฐจ่ายให้กับกองทุนบัตรทองประมาณ 3 พันบาทต่อหัว จ่ายให้ข้าราชการประมาณ 1.2 หมื่นบาทต่อหัว แต่พอเป็นประกันสังคมต้องมาหาร 3 คือนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ เท่ากับรัฐจ่ายให้ผู้ประกันตนเพียงพันกว่าบาท จะเห็นว่ารัฐใช้เงินในเรื่องเดียวกัน แต่ให้ไม่เท่ากัน ผู้ประกันตนจึงถูกรัฐละเลยเรื่องสุขภาพมากที่สุด เป็นคนที่ถูกกระทำซ้ำซ้อน แถมต้องจ่ายเงินเพิ่มเองด้วย ดังนั้นควรเอาเงินที่รัฐจ่ายอยู่เพื่อดูแลสุขภาพของคนไทยทั้ง 3 กองทุนมารวมกัน แล้วกระจายไปทุกหัวประชากร แต่ละกองทุนจะได้งบเพิ่มทั้งหมด       “ใน 3 กองทุนนี้มีภาพลวงตาอยู่ คือกองทุนข้าราชการที่ดูเหมือนว่ารัฐจ่ายให้มากกว่ากองทุนอื่นๆ ได้สิทธิประโยชน์ที่ดีกว่า แต่จริงๆ แล้วต้นทุนค่ารักษาไม่ได้ต่างจากสิทธิอื่นเลย เพียงแต่โรงพยาบาลที่รักษาข้าราชการในโรคเดียวกันนั้น มีการเรียกเก็บเงินเกินไปเยอะกว่ากองทุนอื่นๆ เพราะคิดว่าชาร์จได้ ก็ชาร์จโอเว่อร์ เลยถูกมองว่าในโรคเดียวกันทำไมถึงจ่ายไม่เท่ากัน”        อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจว่า การรวมกองทุนไม่ได้ไปลดทอนสิทธิประโยชน์ที่ข้าราชการเคยได้ แต่จะไปช่วยให้การใช้จ่ายงบประมาณมีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้ทุกคนได้สิทธิประโยชน์ในการรักษาที่เท่ากัน ตามที่ควรจะได้ ทั้งนี้จะเห็นว่าปีที่ผ่านมา(2561) สิทธิข้าราชการเป็นสิทธิที่ถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพราะเป็นสิทธิที่ไม่ควรถูกเรียกเก็บเยอะขนาดนี้ แต่กลับถูกเรียกเก็บเยอะมากเกินกว่าที่ควรจะต้องเป็น แต่ที่ผ่านมาตัวข้าราชการก็ไม่รู้ กรมบัญชีกลางก็เพิ่งรู้ตัวหลังจากมีการเขย่าเรื่องนี้มากขึ้น จึงเริ่มมีการตรวจสอบ กำกับใบเบิกแต่ละใบมากขึ้น        สำหรับสิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทอง และประกันสังคมนั้นก็เป็นสิทธิประโยชน์ที่สมเหตุสมผลอยู่แล้ว ไม่ต้องไปเพิ่มอะไรอีก เพียงแต่การรวมกองทุนแบบนี้ คนที่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นคือ สถานพยาบาล เพราะปัจจุบันบัตรทองได้งบรายหัวประมาณ 3.4 พันบาท ประกันสังคม 3.3 พันบาท ข้าราชการปลายเปิด โดยเฉลี่ยประมาณ 1.2 หมื่นบาท ถ้าเอา 3 กองทุนนี้มารวมกันแล้วเขย่าค่าหัวใหม่ จะพบว่าทุกคนได้ค่าหัวประมาณ 6 พันกว่าบาท แสดงว่าหน่วยบริการที่เคยได้รับงบจากบัตรทองก็ได้เงินเพิ่มขึ้นเกือบ 100% แล้วถ้าใช้ระบบการเหมาจ่าย และมีการกำกับผู้ป่วยใน กำกับควบคุมราคายา ก็ทำให้หน่วยบริการรู้ว่าตัวเองได้เงินเหมาจ่ายไปเท่าไร มีรายรับที่ชัดเจน แน่นอนล่วงหน้า 80% นั่นหมายความว่ามีรายรับเพิ่มขึ้นเท่าตัว ส่วนกรณีมีผู้ป่วยในก็ไปคิดตามค่าใช้จ่ายจริง โดยดูค่าจ่ายตามรายโรคว่าเท่าไร ก็เหมือนทำให้หน่วยบริการที่มีปัญหากับบัตรทองดีขึ้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ไม่ต้องไปต่อรองของบประมาณทุกปีๆ        นิมิตร์ย้ำว่า เรื่องนี้จำเป็นต้องเกิดขึ้นให้ได้ หากยังไม่เกิดปัญหาหน่วยบริการไม่ได้รายรับอย่างที่ควรจะได้ เพราะเวลาที่ สปสช.ทำงบประมาณขาขึ้น สมมติว่า 3.7 พันบาทต่อคน กรมบัญชีกลางคิดเรื่องนั้น เรื่องนี้ ครม.คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้ว ไม่เคยอนุมัติงบให้ตามจำนวนที่ขอ ทั้งที่จำนวนเงินที่ขอไปนั้น ขออยู่บนความสมเหตุสมผล จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ค่ายาเพิ่มขึ้น เป็นต้น แต่กลับไม่เคยอนุมัติเต็ม และเป็นปัญหารากเหง้าที่ทำให้สถานพยาบาลรู้สึกว่าได้รับงบประมาณไม่เท่าที่ควรจะได้รับ ดังนั้นต้องจัดการปัญหานี้ มีปัญหาทะเลาะ ต้องรีดศักยภาพจากหน่วยบริการ สถานพยาบาลมีปัญหาขาดสภาพคล่อง วนเวียนไม่จบ             หลักประกันด้านรายได้        เพราะทุกคนที่เกิดมามีรายจ่ายทันที แต่กลับไม่รู้ว่าจะมีรายได้จากไหนมาจ่าย ดังนั้นรัฐจะต้องดูแลให้คนแต่ละช่วงวัยมีรายได้เพียงพอที่จำรับผิดชอบชีวิตของตัวเองในแต่ละช่วงวัย เพื่อทำให้ชีวิตเดินไปข้างหน้าได้ เช่น เด็กที่เกิดมาแต่ละคน จะทำอย่างไรให้เด็กคนนั้นมีหลักประกันรายได้ที่ทำให้ครอบครัวไม่ต้องเป็นทุกข์ว่าจะเลี้ยงลูกอย่างไร จะเอาเงินที่ไหนมาเลี้ยงลูก ค่าอาหาร ค่าอื่นๆ ที่จะมาบริหารจัดการให้ลูกได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี       ดังนั้นการสร้างหลักประกันด้านรายได้นั้น เป็นหมุดหมายสำคัญของคนที่ขับเคลื่อนเรื่องรัฐสวัสดิการอยากให้เกิด แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าจะเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ ซึ่งมีการเสนอว่าต้องเริ่มตั้งแต่ “เกิดยันตาย” หมายความว่าเมื่อเด็กคนหนึ่งเกิดมาควรมีหลักประกันรายได้อยู่บนเส้นความยากจนคือ เด็กเกิดมาต้องไม่จน ถ้าไม่จนคือต้องมีเงิน 3 พันบาทต่อเดือน ครอบครัวที่จะมีลูกก็จะมั่นใจได้เลยว่ารัฐจะมีรายได้ให้ 3 พันบาทต่อเดือนสำหรับดูแลลูก แน่นอนว่า 3 พันบาทนั้นไม่เพียงพอ แต่อย่างน้อยก็มีเงินบริหารจัดการที่เกินเส้นความยากจนของคน 1 คนอยู่แล้ว       พอเข้าสู่วัยรุ่น อาจจะขยับมาเป็น 3.5 พัน พอถึงวัยทำงาน ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตามจะมีรัฐสวัสดิการอยู่ที่ 3 พันบาท ถ้าคิดว่าอยู่ได้ด้วยเงินเท่านี้ โดยไม่ทำงานก็เป็นเรื่องของคุณ แต่ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ต้องทำงานเพิ่ม เชื่อว่าวิธีคิดการทำหลักประกันด้านรายได้ จะทำให้คนสามารถบริหารจัดการชีวิตได้คล่องตัวกว่าที่เป็นอยู่ ความเครียด โรคซึมเศร้า หรือความวิตกกังวลว่าจะอยู่อย่างไรก็อาจจะลดลงได้ เพราะมีเงินแน่ๆ อย่างน้อย 3 พันบาท แล้วไปบริหารจัดการต่อเพื่อให้มีเงินมากขึ้น       สรุปทุกคนตั้งแต่เกิดจนตายจะมีรายได้ต่อเดือนอยู่บนฐานความยากจน เช่น ชาวสวนยาง ในช่วงที่ราคาตกมากๆ อาจจะหยุดกรีดหรือกรีดยางให้น้อยลง เพื่อให้พอมีเงินมาสมทบกับเงินที่ได้รับนี้ บริหารจัดการให้อยู่ได้ แล้วเมื่อราคายางสูงขึ้นก็กลับมากรีดยางใหม่ ซึ่งจะทำให้คนบริหารจัดการชีวิตของตัวเองได้ แทนที่จะไปโค่นสวนยางเพื่อไปปลูกอย่างอื่นที่ราคาดีกว่า เพราะฉะนั้นหลักประกันด้านรายได้น่าจะเป็นเครื่องมือให้เราแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาความจนเรื้อรังได้       แน่นอนว่าเมื่อมีการเสนอเรื่องนี้ขึ้นมา ก็จะมีคำถามตามมาว่าประเทศไทยพร้อมที่จะทำแบบนี้จริงหรือ เพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก นิมิตร์ ระบุว่า สิ่งที่กำลังพูดถึงนี้หมายถึงการใช้เงินปีละประมาณ 3 แสนล้านบาท แต่เมื่อลองมาดูแล้วจะพบว่า ปัจจุบันรัฐจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปีละประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ใช้เงินสงเคราะห์ครอบครัวยากจนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ปีละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท คนพิการปีละประมาณ หมื่นกว่าล้านบาท และเงินสงเคราะห์อีกมากที่กระจัดกระจายกันอยู่รวมๆ ประมาณ 2 แสนล้านบาท จะเห็นว่ามีเม็ดเงินอยู่พอสมควรที่พอให้บริหารจัดการได้ แล้วก็มาบริหารจัดการ หรือรัฐจัดลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายงบประมาณในแต่ละกระทรวงใหม่ มาเขย่า บริหารจัดการใหม่ ซึ่งเชื่อว่าการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินใหม่อย่างเป็นธรรม ทำให้ประเทศมีเงินพอที่จะมาบริหารจัดการเรื่องนี้       โจทย์ที่สอง หากเขย่าแล้วยังไม่พอ ก็มาดูระบบภาษี บริหารจัดการ การลดภาษีที่รัฐให้กับส่วนนั้น ส่วนนี้มันทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมอะไรหรือไม่ ก็มาเขย่าเรื่องนี้ใหม่ ซึ่งคนที่ผลักดันเรื่องหลักประกันรายได้มองเรื่องนี้แล้วประเทศมีเงินพอ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐมีเจตจำนงที่จะบริหารจัดการเพื่อให้เกิดรัฐสวัสดิการหรือไม่         รัฐสวัสดิการด้านการศึกษา        รัฐต้องมาพิจารณาว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เด็กไม่ต้องไปกู้เงินจาก กยศ. ณ วันนี้มีพรรคการเมืองหลายพรรคที่พูดถึงเรื่องเหล่านี้ บางพรรคพยายามคิดแต่ก็ปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับรสนิยมของตัวเอง บางพรรคคิด แต่ก็เป็นการจัดสรรให้คนเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่คนไทยทั้งหมด บางพรรคคิดจะทำแต่ก็ไม่มีนโยบายชัดเจน ได้แต่ขายมุกเก่าว่ามีความสามารถในเชิงบริหารจัดการ แต่ก็ไม่เคยบอกว่าจะทำอย่างไร ในขณะที่บางพรรคไม่เอาเรื่องนี้เลย            อย่างไรก็ตามคนที่กุมอำนาจรัฐมักมองเรื่องนี้เป็นภาระของประเทศ เพราะฉะนั้นการจะหวังพึ่งนักการเมืองเพื่อทำเรื่องนี้ เป็นเรื่องยาก เพราะนักการเมืองเองก็มองเรื่องนี้เป็นภาระ ส่วนข้าราชการที่บริหารจัดการเรื่องนี้ก็มองเป็นภาระ เพราะคนพวกนี้ไม่ได้อยู่บนความทุกข์ยาก และยังอยู่บนฐานความกังวลว่า หากทำแล้วอาจจะกระทบรัฐไม่มีเงินจ่ายบำนาญให้ ดังนั้นเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ต้องเขย่าสังคมทั้งสังคมให้เห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ต้องกดดันให้รัฐบาลทำให้ได้ หากไม่มีพลังของประชาชนออกมากดดัน เรื่องเหล่านี้ก็ไม่เกิด และสิ่งที่จะทำให้เกิดพลังของประชาชนก็ต้องทำให้ประชาชนมีความรู้และเข้าใจเรื่องเหล่านี้และช่วยกันลุกขึ้นมาเรียกร้อง อย่างการเลือกพรรคการเมืองที่เห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญก็เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ส่วนพรรคใดที่ไม่เห็นความสำคัญเรื่องเหล่านี้ก็ไม่ต้องเลือก--------- ข้อเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจาก เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (เครือข่าย WE FAIR)        ข้อเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” 7 ประเด็น ได้แก่ 1. การศึกษา 2.สุขภาพ 3.ที่อยู่อาศัยและที่ดิน 4.งาน รายได้ ประกันสังคม 5. ระบบบำนาญถ้วนหน้า 6. สิทธิทางสังคม พหุวัฒนธรรม ประชากรกลุ่มเฉพาะ 7. การปฏิรูประบบภาษี        1. ด้านการศึกษา เสนอดังนี้ 1) เงินสนับสนุนเด็กและเยาวชนถ้วนหน้า อายุ 0-18 ปี 3,000 บาท/เดือน 2) เงินสนับสนุนเยาวชนถ้วนหน้า ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยหรืออนุปริญญา/ปวส. 3,000 บาท/เดือน 3) ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก อายุ 0-3 ขวบ งบฯ รายหัว 10,000 บาท/คน/ปี 4) สถานศึกษามีการพัฒนามาตรฐานกลาง งบฯ รายหัว 16,000 บาท/คน/ปี ส่วนสถานศึกษาสำหรับประชากรกลุ่มเฉพาะให้พิจารณางบประมาณเพิ่มเติมได้ 5) มหาวิทยาลัยพัฒนามาตรฐานกลาง ควบคุมค่าหน่วยกิต เรียนฟรีระดับมหาวิทยาลัย /ปวส.นำร่องด่วน 6) เงินสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพ ในหลักสูตรที่รัฐกำหนด ตามช่วงวัยของประชากร โดยจะใช้ประมาณ 600,000 ล้านบาท เพิ่มจากระบบสงเคราะห์การเลี้ยงดูเด็กเฉพาะคนจน 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท ประมาณ 260,000 บาท        2. ด้านสุขภาพ ข้อเสนอ คือ 1) กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระบบเดียวที่มีคุณภาพสูง 2) งบประมาณด้านสุขภาพ คิดตามรายหัว 8,000-8,500 บาท/คน/ปี โดยงบประมาณที่ใช้ ประมาณ 467,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากฐานงบฯ เดิม 311,000 ล้านบาท แต่จะมีงบฯ เพิ่มเติมจากการเกลี่ยงบฯ สุขภาพจากส่วนราชการ ประมาณ 60,000 ล้านบาท        3. ด้านที่อยู่อาศัยและที่ดิน ข้อเสนอคือ 1) การเข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ยสูงสุด 2% ต่อปี 2) ที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน ในพื้นที่ตำบลละไม่น้อยกว่า 1,000 ห้อง 3) เกษตรกรต้องเข้าถึงที่ดินทำกินเพื่อการเกษตร 15 ไร่ ต่อครอบครัว 4) เข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อที่ดินการเกษตร ดอกเบี้ยสูงสุด 2% ต่อปี 5) การกระจายการถือครองที่ดิน ด้วยระบบภาษีอัตราก้าวหน้า ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน การปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินของหน่วยงานรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งงบฯ จะใช้ประมาณ 108,000 ล้านบาท คำนึงลักษณะการลงทุนระยะยาวเพื่อที่อยู่อาศัย งบฯ ส่วนอื่นๆ เป็นการวางมาตรฐานทางกฎหมายไม่มีค่าใช้จ่ายโดยตรง        4. ด้านงาน รายได้ ประกันสังคม ข้อเสนอคือ 1) ค่าจ้างขั้นต่ำตามดัชนีผู้บริโภค 500 บาท/วัน ปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ 2) ค่าจ้างแรงงาน ให้เป็นไปตามอายุงาน เพิ่มขึ้นปีละ 2% 3) ปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นระบบประกันสังคมถ้วนหน้า 4) การสมทบเงินเพดานสูงสุดประมาณ 30,000 บาท/เดือน 5) ปฏิรูปประกันสังคมแรงงานนอกระบบ กรณีรายได้สูง สามารถสมทบเพิ่มเติม 1,800 บาท หรือ 2,700 บาท/เดือน จากอัตราส่วน 9% จากฐานเงินเดือน 20,000 บาท หรือ 30,000 บาท กรณีรายได้น้อย สมทบ 100 บาท รัฐสมทบ 900 บาท เพื่อให้มีฐานเงินเดือน 10,000 บาท ขาดสมทบได้สูงสุด 12 เดือน เมื่อยื่นภาษี หากมีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาท/ปี รัฐสมทบให้เพื่อเป็นหลักประกันเมื่อเกษียณอายุ ตามฐานเงินเดือน 10,000 บาท 6) การลาคลอด 180 วัน ใช้ร่วมกันได้ชายหญิง ทุกเพศสภาพ (สำหรับเด็ก 1 คน ) โดยได้รับค่าจ้างปกติ และ 7) การว่างงาน ให้ประกันสังคมจ่ายทุกกรณี จำนวน 80% ของฐานเงินเดือน เป็นเวลา 6 เดือน เมื่อพ้นจากการลงทะเบียนว่างงานให้ 6 เดือน ให้ได้ค่าจ้างเท่าค่าจ้างขั้นต่ำ จนกระทั่งเข้างานใหม่ โดยต้องเข้ารับการฝึกอบมรม สัมภาษณ์และเริ่มงานใหม่ภายใน 3 เดือน สำหรับงบประมาณใช้ จากการสมทบเพิ่มเติมประมาณ 2 แสนล้านบาท ให้สำนักงานประกันสังคม         5 ระบบบำนาญแห่งชาติ ข้อเสนอคือ 1) เปลี่ยน “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” เป็น “บำนาญถ้วนหน้า” 3,000 บาท/เดือน เพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้ ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนโดยเฉลี่ยของประเทศ 2) มีการปรับเพิ่มขึ้นทุก 5 ปี ตามอัตราเงินเฟ้อและดัชนีผู้บริโภค 3) รัฐบาลจ่ายตรงให้แก่ประชาชนผ่านกรมบัญชีกลาง ซึ่งงบประมาณใช้เพิ่มขึ้น 270,000 ล้านบาท แต่สามารถได้จากงบประมาณส่วนข้าราชการโดยประมาณ 223,762 ล้านบาท เมื่อมีการปฏิรูปบำนาญประกันสังคมทั้งระบบควบคู่กับบำนาญแห่งชาติ        6.สิทธิทางสังคม พหุวัฒนธรรม ประชากรกลุ่มเฉพาะ ข้อเสนอ คือ 1) เพิ่ม “เบี้ยยังชีพคนพิการ” จาก 800 บาท/เดือน เป็น 3,000 บาท/เดือน 2) คนพิการมีอิสระในการจัดซื้อกายอุปกรณ์เองตามวงเงินที่รัฐจัดให้ เพื่อการดำรงชีวิตได้อิสระ คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เอื้ออำนวยการเข้าถึงและจัดให้มีผู้ช่วยคนพิการ ความสะดวกในการเดินทาง การบริการสาธารณะ 3) คนพิการได้รับเงินสนับสนุนในการฝึกอบรมอาชีพในหลักสูตรที่รัฐกำหนด โดยเสรี ไม่จำกัดว่า จะต้องมีอาชีพที่รัฐกำหนดให้เท่านั้น 4)  ประชาชนทุกเพศสภาพต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการและสิทธิการรักษาพยาบาล ตลอดจนกระบวนการการข้ามเพศถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ถือเป็นเรื่องความสวยงาม เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนเพศ การศัลยกรรมทรวงอก การใช้ฮอร์โมนเพศและยาต้านฮอร์โมนเพศ ให้อยู่ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสามารถลาพักงานเพื่อเข้ากระบวนการข้ามเพศได้โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ 5) พนักงานบริการทางเพศต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการ โดยไม่นำความผิดทางอาญามาเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ และทบทวนกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงสวัสดิการ(พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539) 6) ชนเผ่าพื้นเมืองต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการ ไม่จำกัดเฉพาะบุคคลที่มีสัญชาติไทย ดำรงชีวิตโดยได้รับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเข้าถึงบริการสาธารณะ ที่ดินและที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล การเข้าถึงข้อมูลและเอื้ออำนวยให้มีล่ามและการแปลภาษาชนเผ่าพื้นเมือง 7) ยกเลิกหลักสูตรการเรียนการสอน และการนำเสนอเนื้อหาผ่านข่าวสาร ละคร ภาพยนตร์ผ่านสื่อต่างๆ ที่สร้างภาพประทับจำแก่กลุ่มทางสังคม ซึ่งสร้างให้เกิดอคติ ความเกลียดชัง เหยียดเชื้อชาติ เพศสภาพ สถานะทางชนชั้น ลักษณะทางกายภาพของผู้อื่น ตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล 8) สร้างพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด เป็นสถานที่สร้างการเรียนรู้ ด้านสิทธิพลเมือง สิทธิมนุษยชน ประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น 9) สร้างสวนสาธารณะ หอศิลปวัฒนธรรม ลานกีฬา เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อน สันทนาการของประชาชนและชุมชน        7. การปฏิรูประบบภาษี เสนอให้มีการปฏิรูประบบภาษีและการจัดสรรงบฯ โดยการคำนึงถึงการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางสังคม จะทำให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้ โดยมีมาตรการ ดังนี้ 1) การลดหย่อนภาษีการส่งเสริมการลงทุน BOI และการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงค่าเช่าที่ดินและผลกำไรทางธุรกิจ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 240,000 ล้านบาท 2) ภาษีรายได้จากตลาดหุ้น 30% ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 150,000 ล้านบาท 3) การลดหย่อนภาษีทุกเงื่อนไข อาทิ LTF ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 100,000 ล้านบาท 4) ภาษีที่ดินส่วนเกิน 10 ไร่ ยกเว้นที่ดินเพื่อการเกษตร 20 ไร่ (ปัจจุบันที่ดินกว่า 75 ล้านไร่ ในกลุ่มผู้ถือครองที่ดินประมาณ 3 ล้านคน) เก็บภาษีอัตราก้าวหน้าเริ่มต้นไร่ละ 2,000 บาท/ปี ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 150,000 ล้านบาท/ปี 5) ภาษีมรดกที่มีการปรับอัตราภาษีขั้นต่ำและเก็บภาษีในอัตราสูงขึ้น ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 10,000-50,000 ล้านบาท 6) ภาษีอัตราก้าวหน้า ฐานภาษีสูงสุด 45% ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 50,000 ล้านบาท 7) ปรับลดงบฯ กระทรวงกลาโหม 70 % และการปฏิรูประบบราชการ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 180,000 ล้านบาท 8) ปรับลดระบบบำนาญข้าราชการ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 220,000 ล้านบาท 9) ปรับลดการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 63,000 ล้านบาท 10) บัตรคนจนและโครงการประชารัฐ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 100,000 ล้านบาท 11)  การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นจากการมีรัฐสวัสดิการ ประมาณการงบฯ ที่ได้รับ 150,000 ล้านบาท 12. ทุกคนยื่นภาษีเพื่อรับสิทธิสวัสดิการแม้รายได้ไม่ถึงตามหลักเกณฑ์           รวมงบประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท เพียงพอต่อการทำรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 รู้เท่าทันรังนกนางแอ่น

รังนกมีประโยชน์จริงหรือ        ในช่วงปีใหม่ ตรุษจีน และเทศกาลต่างๆ จะมีการโฆษณาขายรังนกนางแอ่นกันอย่างครึกโครม โดยโฆษณาตั้งแต่ กินแล้วจะไม่แก่ ฟื้นจากการเจ็บป่วย แข็งแรง เด็กฉลาด บำบัดมะเร็ง จนกระทั่งเป็นของขวัญสูงค่าสำหรับผู้อาวุโส รังนกนางแอ่นมีคุณค่าสมราคาที่สูงมากหรือไม่ เรามารู้เท่าทันกันเถอะรังนกนางแอ่นคืออะไร        ชาวจีนนิยมกินรังนกนางแอ่นอย่างกว้างขวางมานานกว่าพันปี เพราะเชื่อว่ารังนกมีสรรพคุณทางยามากมาย ทำให้สุขภาพดีและแข็งแรง รังนกแอ่นกินรังสร้างด้วยน้ำลายจากต่อมน้ำลายของพ่อแม่นกก่อนการผสมพันธุ์และใช้เป็นที่วางไข่  ส่วนประกอบของรังนก ประมาณร้อยละ 85-97 เป็นน้ำลาย และร้อยละ 3-15 เป็นขนอ่อนอุตสาหกรรมบ้านและอาคารนกแอ่นกินรัง    จากความต้องการบริโภคที่สูง และมีราคาแพง (ราคาระหว่าง 20,000-80,000 บาทต่อกิโลกรัม) ทำให้เกิดการทำบ้านหรืออาคารสำหรับนกแอ่นกินรังเพื่อให้นกแอ่นมาทำรังในประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย  ในมาเลเซียนับเป็นประเทศแรกที่ทำบ้านนกแอ่นกินรังเป็นอาชีพ โดยการใช้บ้านเก่าหรือบ้านร้าง และเปิดเสียงนกแอ่นกินรังบนหลังคาหรือดาดฟ้าเพื่อลวงให้นกเข้ามาทำรังในบ้าน  ในไทยก็มีการทำบ้านนกแอ่นมากมายเช่นเดียวกัน โดยนิยมทำตามชายฝั่งทะเลเนื่องจากมีแมลงที่เป็นอาหารนกแอ่นจำนวนมาก รังนกประกอบด้วยอะไรบ้าง        รังนกของนกแอ่นกินรังนั้นสร้างจากน้ำลายของนกแอ่นตัวผู้ พบว่าประกอบไปด้วย โปรตีโอไกลแคน (proteoglycans) ซึ่งร้อยละ 83 เป็นคาร์โบไฮเดรต ที่เหลือเป็น เถ้าและไขมัน  ส่วนใหญ่เป็นกรดอะมิโนจำเป็น มีฮอร์โมนถึง 6 ชนิด ได้แก่ เทสโทสเตอโรน และเอสตราไดออล เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม รังนกแอ่นกินรังนั้นอาจทำให้บางคนเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงได้รังนกมีประโยชน์จริงหรือ        มีงานวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของรังนกแอ่นไม่มากนัก        มีงานวิจัยกล่าวถึงคุณค่าทางอาหารของรังนกแอ่นว่า กรดไซอะลิกที่พบมากในรังนกแอ่นจะช่วยในการปกป้องการอักเสบของระบบประสาท ช่วยฟื้นฟูความจำและป้องกันระบบประสาท        มีงานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่า รังนกแอ่นมีผลคล้ายยาลดไขมัน และอาจดีกว่า แต่ควรวิจัยเพิ่มเติมในทางคลินิกเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจที่เกิดจากไขมันในเลือดสูง        มีงานวิจัยที่ระบุว่า การกินรังนกแอ่นเป็นเวลา 30 วันอาจช่วยบรรเทาการกดภูมิต้านทานของทางเดินอาหารที่เกิดจากเคมีบำบัด รังนกแอ่นกินรังจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการใช้ลดผลข้างเคียงของเคมีบำบัด        มีงานวิจัยเร็วๆ นี้ ที่แสดงว่า รังนกแอ่นมีสารที่ช่วยการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ การสร้างเซลล์ และหยุดยั้งการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้        อย่างไรก็ตาม เมื่อทบทวนงานวิจัย พบว่างานวิจัยที่เกี่ยวกับรังนกแอ่นนั้นมีน้อย จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้ยืนยันความเชื่อว่า รังนกแอ่นนั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพจริงสรุป  รังนกแอ่นนั้นน่าจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพบ้าง แต่ประโยชน์ที่ได้เมื่อเทียบกับราคาที่สูงมากแล้ว คงไม่คุ้มกับราคา เพราะเราสามารถหาได้จากการออกกำลังกาย การกินอาหารพื้นบ้าน เช่นเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 สงครามนักปั้น : เมื่อภาพลักษณ์สำคัญกว่าของจริง

        การรับรู้ความเป็นจริงของมนุษย์เรามีอยู่ด้วยกันสองด้านคือ ความจริงที่เป็น “แก่นแท้” หรือเป็นของจริงที่แท้จริง กับความเป็นจริงที่ไม่สำคัญว่า “ของจริง” จะเป็นเช่นไร แต่ทว่ามนุษย์เราสามารถเสกสรรปั้นแต่งจนกลายเป็น “ภาพลักษณ์” ที่เผลอๆ แล้วดูดีและโดดเด่นยิ่งกว่า “แก่นแท้” หรือ “ของจริง” เสียอีก        ในยุคที่ชีวิตผู้คนกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมแห่งภาพลักษณ์” ที่ “แก่นแท้” เริ่มหมดคุณค่าลงดังกล่าว หากใครก็ตามที่มีศักยภาพในการ “ปั้นความเป็นจริง” ให้กับโลกรอบตัวได้ คนๆ นั้นก็จะกลายเป็นผู้มีอำนาจในสังคมอันอุดมภาพลักษณ์ที่ถูกเนรมิตขึ้นมาได้เช่นกัน        ก็เฉกเช่นชื่อละครโทรทัศน์ที่ว่า “สงครามนักปั้น” ซึ่งขานรับกับกระแสสังคมที่มนุษย์ให้คุณค่ากับ “ภาพลักษณ์” มากกว่า “แก่นแท้” กระแสสังคมแบบนี้เองส่งผลให้เกิดแวดวงวิชาชีพ “นักปั้นภาพลักษณ์” อันเป็นพื้นที่ซึ่งสรรพชีวิตต้องลงสนามแข่งขันเพื่อช่วงชิงอำนาจและกำชัยชนะเหนือคู่แข่งในสมรภูมิดังกล่าว        ละคร “สงครามนักปั้น” เลือกผูกเรื่องราวเบื้องหลังของวงการธุรกิจโมเดลลิ่ง ที่เป็นประหนึ่งโรงงานผลิตนักร้องนักแสดงเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมบันเทิงขนาดใหญ่ และที่แน่ๆ ธุรกิจโมเดลลิ่งเป็นกรณีรูปธรรมของแวดวงแห่งการปั้นภาพลักษณ์ เพราะศิลปินดาราก็คือบุคคลสาธารณะที่อาศัยภาพลักษณ์เป็นวัตถุดิบเพื่อขายพ่วงมากับศักยภาพการแสดงของตน        ด้วยความเข้าใจตรรกะของการปั้นฝันหรือสรรค์สร้างความเป็นจริงให้กับบุคคลสาธารณะเฉกเช่นนี้ สาวใหญ่อย่าง “แอล” เจ้าของกิจการ “แอลโมเดลลิ่ง” จึงทำหน้าที่เป็นเสมือนเจ๊ดันที่จัดการปรุงแต่งภาพลักษณ์ให้บรรดาดาราในสังกัดของเธอโดดเด่นสุกสกาวที่จะก้าวเข้าสู่วงการบันเทิง        ธุรกิจโมเดลลิ่งของแอลดูแลศิลปินดาราในสังกัดหลายคน โดยเฉพาะ “แทนคุณ” พระเอกหนุ่มคู่ขวัญกับ “มุก” นางเอกสาว ที่เบื้องหลังนั้นทั้งคู่ต่างก็คบหาเป็นคนรักกันจริงๆ แต่ทว่า ด้วยอุตสาหกรรมดารามีข้อบังคับที่ว่า ผู้ที่จะดำรงอยู่ในแวดวงนี้ได้อย่างยั่งยืนต้องให้ค่ากับความเป็น “คู่จิ้น” มิใช่จะกลายเป็น “คู่จริง” ซึ่งจะมีผลต่อคะแนนนิยมจากเหล่าแฟนคลับ ดังนั้น ภารกิจของแอลจึงต้องคอยช่วยปกปิดและบริหารจัดการชีวิตส่วนตัวของแทนคุณและมุก อันเป็นส่วนหนึ่งของการธำรงรักษาภาพลักษณ์ศิลปินชั้นต้นในสังกัด        ในเวลาเดียวกัน นอกจากยุคสังคมแห่งภาพลักษณ์จะให้คุณค่ากับการเสกสรรปั้นแต่งความเป็นจริงมากกว่าการค้นหาความจริงที่แท้จริงแล้ว ในยุคนี้อีกเช่นกันที่ศิลปินดาราไม่ใช่แค่ดวงดาวโคจรลอยล่องอยู่ในวงการบันเทิงเท่านั้น แต่เหล่าดาราทั้งหลายก็ยังมีสถานะเป็นสินค้า แถมยังเป็นสินค้าที่มีปริมาณเกร่อล้นตลาดอีกต่างหาก        เพราะฉะนั้น เมื่อสินค้าดารามีอยู่ท่วมท้นตลาดธุรกิจบันเทิง ภาพลักษณ์ที่แอลบรรจงปั้นให้ศิลปินในสังกัด ก็คือส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การขายบุคลากรนักแสดงที่เป็นสินค้าในตลาดให้กับบรรดาเอเยนซี่ เจ้าของสินค้า และสาธารณชนผู้มีกำลังซื้อหรือเสพดารานั่นเอง        แต่ขณะเดียวกัน เพราะตลาดธุรกิจบันเทิงมีสินค้าดาราที่ล้นเกินอุปสงค์ของผู้ซื้อ แอลจึงมิอาจผูกขาดให้เธอเป็นเจ้าของธุรกิจโมเดลลิ่งได้เพียงเจ้าเดียว และคู่แข่งคนสำคัญของเธอก็คือ “เพียว” เจ้าของกิจการ “พีแอดวานซ์โมเดลลิ่ง” ที่พยายามเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในโลกธุรกิจการขายภาพลักษณ์ศิลปินในทุกวิถีทาง        ภูมิหลังของเพียวนั้นเคยเป็นอดีตลูกน้องในสังกัดแอลโมเดลลิ่งมาก่อน แต่สัจธรรมของโลกธุรกิจก็มักจะอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า “เมื่อดังแล้วก็ต้องแยกวง” แถมยังเป็นการ “แยกวง” ที่มีความขัดแย้งและทิฐิแต่ครั้งปางหลังที่เพียวคับแค้นใจจนอยากจะเอาชนะและโค่นล้มแอลให้หลุดกระเด็นไปจากวงการโมเดลลิ่งให้จงได้        ด้วยเหตุนี้ ในหลายๆ ฉากของละคร เราจึงเห็นภาพการปะทะคารมหรือการวางหมากวางเกมที่จะประหัตประหารคู่แข่งของโมเดลลิ่งฝ่ายตรงข้าม โดยบ่อยครั้งตัวละครก็ไม่ได้คำนึงว่า การสัประยุทธ์กันเพื่อครองความเป็นเจ้าในแวดวงการปั้นภาพลักษณ์ดังกล่าว จะยืนอยู่บนหลักจารีตธรรมภิบาลใดๆ ไม่        แม้ละครจะให้คำอธิบายด้วยว่า เบื้องหลังความขัดแย้งระหว่างแอลกับเพียวมาจากปมปัญหาเข้าใจผิดบางอย่าง แต่ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่า สงครามระหว่างนักปั้นภาพลักษณ์สองคนก็มีเบื้องลึกอันเนื่องมาแต่ความพยายามที่ “ฉันนั้นต้องการมีเสี้ยวนาทีที่ยิ่งใหญ่” ในวงการโมเดลลิ่งนั่นเอง        ยิ่งเมื่อสงครามขัดแย้งปะทุถึงขั้น “ตายไม่เผาผี” ด้วยแล้ว เพียวได้พยายามช่วงชิง “เรน” ดาราในสังกัดของแอลให้ฉีกสัญญา และมาเข้าสังกัดโมเดลลิ่งของเธอ พร้อมๆ กับที่ผลักดัน “ปีย์แสง” ลูกชายของแอล ให้ขึ้นเป็นพระเอกเบอร์หนึ่งแทนแทนคุณที่กราฟชีวิตอยู่ในช่วงขาลง สนามรบแห่งนี้จึงเป็นภาพสะท้อนว่า การแข่งขันฟาดฟันกันในธุรกิจปั้นภาพลักษณ์ช่างดุเด็ดเผ็ดมันไม่ยิ่งหย่อนการต่อสู้ของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมอื่นๆ เลย        นอกจากนี้ ละครก็ยังชวนให้เราขบคิดตลอดเรื่องอีกด้วยว่า เมื่อแวดวงโมเดลลิ่งจะบูชาภาพลักษณ์ยิ่งกว่าของจริงนี่เอง เบื้องหลังของตัวละครศิลปินดาราทั้งหลายก็อาจมีความจริงที่ต่างออกไปจากภาพที่เสกสรรปั้นแต่งหน้าฉากขึ้นมาราวฟ้ากับหุบเหว        แทนคุณพระเอกยอดนิยมมีอีกด้านที่ติดสุราเรื้อรังจนเป็นโรคแอลกอฮอลิซึม นางเอกสาวอย่างมุกก็มีสถานะเป็นตุ๊กตาหน้ารถของหนุ่มไฮโซอย่าง “ทรงโปรด” ซึ่งควงเธอเพียงเพื่อจะเอาชนะคู่หมั้นของเขาเท่านั้น นางเอกปั้นอย่างเรนก็บ้าหนุ่มๆ และ “คันหูไม่รู้เป็นอะไร” อยู่ตลอดเวลา ยังไม่นับรวมตัวละครอื่นๆ อีกมากมายในท้องเรื่องที่หน้าม่านกับหลังม่านการแสดงผิดแผกแตกต่างกันคนละขั้วโลก        และที่สำคัญ แม้แต่กับสองสาวนักปั้นภาพลักษณ์นั้น พวกเธอเองก็มีหลังฉากที่ต้องหลบเร้นไม่ต่างจากศิลปินดาราในสังกัดเองเลย นักปั้นมือใหม่อย่างเพียวก็ช่างเป็นผู้หญิงที่เจ้าคิดเจ้าแค้นจนปล่อยให้อคติทำลายฝีมือในงานอาชีพของเธอ หรือนักปั้นรุ่นเก๋าอย่างแอลก็ต้องปกปิดและไม่กล้ายอมรับความจริงว่าเธอเป็นมารดาแท้ๆ ของปีย์แสง จนแม่ลูกต้องมายืนอยู่ในสงครามนักปั้นคนละฝั่งฟากกัน        บนโลกที่ “คนเราเคารพคบกันที่ภาพลักษณ์” ซึ่งพ่วงมามาด้วยชื่อเสียงและเงินทอง บางครั้งหากเราได้ลองมานั่งพินิจพิศดูสงครามของตัวละครในโรงงานปั้นฝันกันดีๆ เราก็อาจจะได้คำตอบเหมือนกันว่า ระหว่างภาพมายาที่ถูกสรรค์สร้างขึ้นมากับแก่นแท้ที่คนเรายุคนี้มักมองข้าม ตัวเลือกข้อใดที่จะเป็นของจริงกว่ากัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 นี่คือเหตุผลที่เราต้องใส่ใจต่อสวัสดิภาพของสัตว์ในฟาร์ม

        รู้ไหมว่ายิ่งเราปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยงในฟาร์มดีมากเท่าไร มนุษย์เราจะยิ่งปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น ในสถานการณ์ที่มนุษย์ต้องเผชิญความเสี่ยงจากเชื้อโรคที่ดื้อต่อยารักษา(เชื้อแบคทีเรียที่ทนต่อยาต้านจุลชีพ)  ซึ่งทำให้คนทั่วโลกเสียชีวิตถึง 700,000 รายในแต่ละปี และคาดว่าจะเพิ่มสูงถึง 10 ล้านคนต่อปี ในปี พ.ศ. 2593  หากเรายังป้องกันปัญหาการกระจายของเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อมไม่ได้ เนื่องจากมีการพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะและเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในแหล่งน้ำรอบบริเวณฟาร์มอุตสาหกรรมทั่วโลก รวมถึงการตกค้างในเนื้อสัตว์จากฟาร์ม        ในปี พ.ศ. 2561 องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้ทำการสำรวจเนื้อหมูที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตจากประเทศออสเตรเลีย บราซิล สเปน และประเทศไทย  การสำรวจพบว่ามีเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ (Superbugs) ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมูจาก 3 ใน 4 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ผลการทดสอบดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นว่าการเลี้ยงหมูในฟาร์มแบบอุตสาหกรรมที่ไม่ใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์ ส่งผลให้ต้องมีการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นกับหมู จนส่งผลให้เกิดวิกฤติแบคทีเรียดื้อยาปฎิชีวนะขึ้น ผลการทดสอบเชื้อดื้อยากรณีประเทศไทย        การทดสอบผลิตภัณฑ์เนื้อหมูที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตที่จัดทำขึ้นในปี พ.ศ. 2561 นี้ ก็เพื่อตรวจสอบหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในเนื้อหมูที่มีฤทธิ์ต่อต้านยาปฏิชีวนะในประเภทที่กำหนด เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างฟาร์มที่ขาดการดูแลสวัสดิภาพสัตว์กับการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น โดยมีการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์จาก 4 ประเทศ (ออสเตรเลีย บราซิล สเปน และไทย) เป็นการซื้อเนื้อหมูที่บรรจุอยู่ในแพ็คจากซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ จะถูกเก็บอยู่ในความเย็นและส่งไปยังห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือสำหรับการตรวจสอบตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประกอบไปด้วยหมูบด เนื้อหมูที่ผ่านการตัดขาย เป็นชิ้นและราคาปกติ         ผลการทดสอบของไทย จากจำนวนทั้งหมด 150 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนแบคทีเรีย อีโคไล มากกว่า 97% และซัลโมเนลล่า จำนวน 50% โดยตัวอย่างที่นำมาทดสอบนี้ มาจาก 2 ซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทยคือ เทสโก้ โลตัสและท็อปส์ มาร์เก็ต        •  97% ของเชื้ออีโคไล และ 93% ของเชื้อซาลโมเนลล่า ที่พบเป็นแบคทีเรียดื้อยาหลายขนาน        • มีการพบเชื้ออีโคไลที่มีฤทธิ์ต่อต้าน ESBL (จำนวน 10% ของอีไคไลที่พบ) โดยจัดเป็นเชื้ออีโคไลที่มีฤทธิ์ในการต่อต้านยาปฏิชีวนะจำพวกเซฟาโลสปอรินและแอมพิซิลิน โดยยาปฏิชีวนะในกลุ่มเซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 3 ขึ้นไปถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความสำคัญสูงสุดต่อสุขภาพของคน        • พบเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะในกลุ่มที่มีความสำคัญต่อสุขภาพคนสูงสุด โดยพบในตัวอย่างที่นำมาจากเทสโก้ โลตัส พบแบคทีเรียที่มีฤทธิ์ต่อต้านยาแซโฟแท็กเซี่ยม 15% และแซฟโปดอกเซี่ยม 15% จากตัวอย่างทั้งหมดที่พบเชื้ออีโคไล นอกจากนั้นจากตัวอย่างที่พบอีไคไลและซัลโมเนลล่า ยังพบการดื้อยาต่อเจนต้าไมซิน (19%) เตรปโตไมซิน (96.8%) และแอมพิซิลลิน (100%)         • มีการพบเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่ออกฤทธิ์ต่อต้านยาปฏิชีวนะกลุ่มที่มีความสำคัญสูงสุดต่อสุขภาพของคน โดยตัวอย่างจากเทสโก้ โลตัส ที่พบเชื้ออีโคไลและซัลโมเนลล่านั้นมีการออกฤทธิ์ต่อต้านเตตร้าไซคลิน 96.7% และคลอแรมเฟนิคอล 61%        อนึ่งในการทดสอบนี้เราไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่า ผลการทดสอบเชื่อมโยงกับสุขภาวะของผู้บริโภคแบบเจาะจง แต่สำนักงานยายุโรป(European Medicines Agency) ได้ยืนยันว่าเชื้อแบคทีเรียดื้อยาสามารถถ่ายทอดสู่คนได้ทางห่วงโซ่อาหารและสามารถคงอยู่ได้ในลำไส้ของคน ดังนั้นจึงส่งผลให้เด็ก คนชราและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ รวมถึงเกิดการเจ็บป่วยจากอาหารเป็นพิษ ท้องร่วง ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและการทำงานของตับล้มเหลว ฟาร์มอุตสาหกรรมและการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น        ปัจจุบันมีการใช้ยาปฏิชีวนะ 131,000 ตันต่อปีในฟาร์ม เพื่อเร่งการเจริญเติบโต ป้องกัน และรักษาโรคต่างๆ ในสัตว์ โดยจำนวน 3 ใน 4 ของยาปฏิชีวนะทั่วโลกถูกใช้กับสัตว์ในฟาร์ม        องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้ประกาศถึงอันตรายของยาปฏิชีวนะ ที่มีผลต่อสุขภาพของคน โดยจัดให้เป็นลำดับสำคัญที่สุด และก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของคนอย่างรุนแรง ยาปฏิชีวนะที่ได้รับการ ประกาศเตือนนี้ รวมถึงยาปฏิชีวนะที่ใช้ในฟาร์มหมู ได้แก่ โคลิสติน ฟลูออโรควิโนโลน เซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 3 และเอนโรโฟลซาซิน   ยาปฏิชีวนะเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มใช้รักษาอาการติดเชื้ออย่างรุนแรงในคน โดยองค์การอาหาร และการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้แนะนำว่าไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มดังกล่าวนี้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นการคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพในการรักษาการติดเชื้อในคนอย่างได้ผล        แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มนี้ อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจนที่บ่งชี้ว่า การใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นนี้ก่อให้เกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่พบในเนื้อสัตว์ ในฟาร์มตลอดจนในห่วงโซ่อาหาร เราพบว่าอุตสาหกรรมหมูมีการใช้ยาปฏิชีวนะมากกว่าฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ชนิดอื่นๆ เพื่อเร่งการเจริญเติบโตและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากวิธีการเลี้ยงที่ไม่ใส่ใจสวัสดิภาพ        ยาปฏิชีวนะประเภทแอมพิซิลลินและเตตราไซคลีนมักนำมาใช้กับลูกหมูในระหว่างขั้นตอนในการตัดหางหรือการตอน  ยาปฏิชีวนะถูกนำมาใช้บ่อยครั้งกับลูกหมูที่ถูกหย่านมเร็วจากแม่เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย และยังถูกใช้ผสมกับอาหารสัตว์ให้กับหมูขุนเพื่อลดความเครียด ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นเกินไปและการเปลี่ยนกลุ่มของหมู ยาปฏิชีวนะที่ถูกนำมาใช้นั้นอาจรวมถึง โคลิสตินแอมพิซิลลิน ฟลูออโรควิโนโลน เซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 3 เอนโรโฟลซาซิน เจนต้าไมซิน ไทโลซิน เตตราไซคลีน ซัลฟาไดอะซิน เฟนิคอล และอื่นๆ แม้แต่แม่หมูก็จะได้รับยาปฏิชีวนะเป็นประจำเพื่อป้องกันการเสียชีวิต จากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ กีบเท้าช่องคลอด และบริเวณหลังเนื่องจากความเครียดและการบาดเจ็บที่เกิดจากการถูกกักขัง และมีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดี คุณสามารถช่วยให้ปัญหาเชื้อดื้อยาตกค้างในเนื้อสัตว์ลดลงได้        ลูกหมูต้องถูกพรากจากแม่ตั้งแต่ยังเล็ก ในขณะที่แม่หมูจะถูกใช้เสมือนเป็นเครื่องเพาะพันธุ์เท่านั้น โดยจะถูกขังอยู่ในกรงเหล็กที่ไม่ใหญ่ไปกว่าตู้เย็นขนาดมาตรฐาน ไม่สามารถแม้แต่จะหมุนตัวได้ และทำให้แม่หมูเกิดความเครียด ลูกหมูจะถูกตัดอวัยวะโดยไม่มีการลดความเจ็บปวด เช่นการตัดหาง กรอฟัน ขลิบหู และลูกหมูตัวส่วนใหญ่จะถูกจับตอน หมูจะถูกขังอยู่ในที่มืด คับแคบ และต้องนอนทับมูลของตัวเอง วิธีการในฟาร์มหมูที่โหดร้ายเหล่านี้ ส่งผลให้หมูเกิดความเครียด เชื้อโรคแพร่กระจาย และนำมาซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อรักษาชีวิตของสุกรโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น        องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้เรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลกช่วยกันยกระดับคุณภาพสุกรในฟาร์มโดยการคัดเลือกเนื้อหมูจากฟาร์มที่มีการดูแลสวัสดิภาพขั้นสูงเท่านั้นมาจำหน่าย นายโชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการฝ่ายแคมเปญสัตว์ในฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เปิดเผยว่า “องค์กรฯ ได้ทดสอบผลิตภัณฑ์เนื้อหมูเพื่อสำรวจว่าอุตสาหกรรมฟาร์มหมูที่ไม่ใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์นั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะอย่างไร และเพื่อนำเสนอหลักฐานการค้นพบนี้ เรียกร้องให้   ซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทย แสดงความรับผิดชอบมากขึ้น โดยการประกาศคำมั่นสัญญาต่อสาธารณะในการจำหน่ายเนื้อหมูที่มาจากฟาร์มที่ใส่ใจสวัสดิภาพของหมูเท่านั้น”        นายโชคดี ยังได้ย้ำอย่างหนักแน่นว่า “เราต้องการยกเลิกการเลี้ยงแม่หมูแบบยืนซอง เพื่อให้หมูได้มีโอกาสเข้ากลุ่มสังคมภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และให้หมูได้มีโอกาสแสดงออกพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ ซูเปอร์มาร์เก็ตควรกำหนดมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ให้สูงขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์จากฟาร์มผู้ผลิตนั้นจะมีความเครียดต่ำ และมีการใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น”        และผู้บริโภคเองสามารถช่วยกันเรียกร้องต่อซูเปอร์มาร์เก็ตให้แสดงจุดยืนด้วยการประกาศคำมั่นว่าจะจำหน่ายเนื้อหมูที่มาจากฟาร์มที่เลี้ยงหมูอย่างมีสวัสดิภาพที่ดีเท่านั้นด้วยเช่นกัน สนใจข้อมูลเพิ่มเติมwww.worldanimalprotection.or.th

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 เมา..ไม่ค้าง

คนชอบกินเหล้ามักกังวล(นิดหน่อย) กับอาการ เมาค้าง หรือที่ฝรั่งใช้คำว่า hangover ซึ่งมีการอธิบายอาการของผู้เมาค้างในเว็บไทยต่างๆ ว่า “ปัสสาวะบ่อย น้ำตาลในเลือดต่ำ ปวดหัว คลื่นไส้ พะอืดพะอมแต่ไม่อาเจียน หมดแรง อ่อนเพลีย ลุกไม่ขึ้น เดินไม่คล่อง มึน งุนงง สับสน นอนไม่หลับ ลืมตาไม่ขึ้น คอแห้ง ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออก ตัวเย็น กล้ามเนื้อเกร็งหรืออาจเป็นตะคริวร่วมด้วย เบื่ออาหาร ลิ้นไม่รับรส ปวดท้อง ท้องเสีย ความดันโลหิตตัวบนสูงขึ้น ชีพจรเต้นเร็วขึ้น เหงื่อออกมาก บ้านหมุน คนเป็นโรคหัวใจอาจตายได้” ซึ่งอาการเหล่านี้คงไม่เป็นที่พึงประสงค์ของนายจ้างของผู้ที่เมาค้างแน่นอน ดังนั้นจึงมีคนที่พยายามหาทางถอนเมาค้างออกเพื่อช่วยให้คนชอบกินเหล้าสามารถทำงานได้เหมือนผู้คนอื่น ๆในเว็บไทยต่างๆ ได้พูดถึงอาหารและเครื่องดื่มแก้เมาค้าง ซึ่งเริ่มตั้งแต่ “น้ำเปล่า เครื่องดื่มร้อนๆ น้ำหวาน น้ำอัดลม นมอุ่นๆ เครื่องดื่มวิตามิน เครื่องดื่มเกลือแร่ กาแฟเอสเพรสโซ่เข้มๆ ชาเขียว น้ำส้มคั้น น้ำผึ้งผสมมะนาว น้ำขิงอุ่น น้ำผึ้งมะนาวผสมขิง ชาโสม ชาสะระแหน่ผสมน้ำผึ้ง น้ำมะพร้าว น้ำอ้อยคั้นสด น้ำแตงกวาดอง นมช็อกโกแลตผสมชีสพาย น้ำสต๊อกปลา น้ำผักผลไม้สีเขียว น้ำผลไม้ผสมเกลือ สมูทตี้ผลไม้ สมูทตี้ขิงกับส้ม สมูทตี้แตงโมผสมแตงกวา สมุนไพร ได้แก่ น้ำเก๊กฮวย น้ำกระเจี๊ยบ ดอกคำฝอย ลูกใต้ใบ เปลือกต้นควินินแห้งต้มกับน้ำ ผงปลาไหลเผือกชงกับน้ำอุ่น ดอกประยงค์ ใบหรือรากรางจืด ถั่วแปบ บ๊วย  มัลเบอร์รี่ หอมแดง อาหารประเภทโปรตีน (เช่น ไข่ต้ม) ขนมปัง โจ๊ก ข้าวต้ม น้ำซุปใส ต้มยำน้ำใส ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ เกาเหลา ซุปมิโซะ แฮจังกุก ผลไม้รสเปรี้ยว ช็อกโกแลตแท่งหรือของหวานจัด ๆ” เป็นต้น เห็นได้ว่าสิ่งที่ถูกสรรหามาใช้แก้อาการเมาค้างนั้น ต่างคนต่างหา ได้ผลบ้างลักษณะที่เรียกว่า placebo effect) หรือไม่ได้เรื่องเลยนอกจากนี้ท่านผู้อ่านที่เข้าใจภาษาอังกฤษ สามารถหาข้อมูลจาก pinterest ซึ่งมีแผนภาพมากมายให้มั่วซั่วตาม โดยคุยว่าแก้เมาค้างได้ ซึ่งคงได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง เพราะผู้ให้ความรู้นั้นต่างมีคำจำกัดความของคำว่า เมาค้าง แบบต่างคนต่างเข้าใจอย่างไรก็ตามมีผู้ตระหนักความจริงในเรื่อง เมาค้าง กล่าวในเว็บภาษาอังกฤษหนึ่ง ที่ผู้เขียนไปพบว่า อาหารหรือเครื่องดื่มแก้เมาค้างอาจไม่มีจริง เพราะยังไม่มีใครพิสูจน์ได้จริงว่า อัลดีไฮด์ (aldehyde) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ที่เกิดจากการเปลี่ยนเอ็ททานอล (แอลกอฮอล) ในเครื่องดื่มมึนเมาไปเป็น อะเซ็ตตัลดีไฮด์ (acetaldehyde ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่า อัลดีไฮด์) ด้วยเอ็นซัม อัลกอฮอลดีไฮโดรจีเนส (alcoholdehydrogenase) นั้นคือ สาเหตุที่ทำให้เมาค้าง ที่พูดกันในตำรานั้นเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น เนื่องจากอัลดีไฮด์นั้นมีความเป็นพิษสูงกว่าเอ็ททานอลหลายเท่า ดังนั้นการแก้อาการเมาค้างนั้นจึงเป็นไปได้ยาก        ผู้รู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพท่านหนึ่งในอินเทอร์เน็ตกล่าวว่า จริงแล้วอาการเมาค้างนั้นมีผลต่อเกือบทุกอวัยวะในร่างกาย ตั้งแต่ระบบทางเดินอาหาร ไปถึงระบบประสาท และไปถึงระบบที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ดังนั้นจึงไม่มียาวิเศษหรืออาหารอะไรที่จะครอบจักรวาล บำบัดปัญหาที่อาจเกิดกับเกือบทุกอวัยวะในร่างกายเราได้พร้อมกัน        จากข้อมูลที่กล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นข่าวร้ายสำหรับคอเหล้า ก็ยังมีข่าวที่อาจจะดี สำหรับผู้นิยมชมชอบในน้ำเมา เพราะมีข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ในอังกฤษที่เว็บไทยพาดหัวข่าวประมาณว่า เหล้าแห้งกำลังมาแรง        ผู้เขียนติดใจคำว่า เหล้าแห้ง ที่มีการพาดหัวข่าว ซึ่งเคยได้ยินมานานแล้วแต่ไม่ได้สนใจว่ามันคืออะไร ปรากฏว่าเมื่อเข้าไปถามอากู๋(google) ว่า เหล้าแห้งนั้นคืออะไร อากู๋ลุกขึ้นตอบทันใด เหล้าแห้งนั้นไซร้คือ ยาเสพติดชนิดหนึ่งประเภทกดประสาทสมอง เป็นยานอนหลับจําพวกบาร์บิทูเรต ซึ่งผลิตออกมาในรูปของโซเดียมเซโคบาร์บิทัล และเรียกกันสั้นๆ ว่า เซโคนัล และทางแพทย์ใช้เป็นยานอนหลับประเภทออกฤทธิ์ระยะสั้น ซึ่งปรากฏว่าเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในฉลาดซื้อฉบับนี้        ข่าวจากเมืองผู้ดีกล่าวว่า สิ่งที่จะมาช่วยให้ผู้ชอบใช้ช่วงหลังเลิกภารกิจในชีวิตประจำวันเป็นช่วงที่หลุดไปจากโลกแห่งความเป็นจริง(ภาษาอังกฤษใช้คำว่า high) สมใจนั้นเป็นเครื่องดื่มที่ชื่อว่า Alcosynth ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นมาโดยแพทย์ชาวอังกฤษชื่อ David Nutt         หมอ Nutt ได้อ้างว่าสาระสำคัญในเครื่องดื่มนี้ ไม่ส่งผลต่อตับหรือหลอดเลือดหัวใจในแบบแอลกอฮอล์ธรรมชาติ(ขอให้ฟังหูไว้หู) แต่สามารถทำให้ เมา ขาดสติสัมปชัญญะ ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี โดยไม่เกิดอาการเมาค้างในตอนเช้า หนังสือพิมพ์ในอังกฤษจึงได้ประโคมเป็นข่าวใหญ่ของปี 2018 เนื่องจากการดื่มเพื่อให้เมานั้นเป็นชีวิตจิตใจของคนอังกฤษที่มีข้อมูลว่า การดื่มเหล้าเป็นสาเหตุลำดับที่สาม ที่ทำให้คนอังกฤษตายในแต่ละปี

อ่านเพิ่มเติม >