ฉบับที่ 214 คุณภาพรถเมล์ไทย

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ปัญหาคุณภาพรถเมล์ของประเทศไทยมีมานานแล้ว โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ “ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบริการ” อาทิ ตัวรถ สภาพรถ การให้บริการ กับ “ปัญหาในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง” เช่น ป้ายรถเมล์ จุดจอด การเชื่อมต่อ เชื่อมโยง เป็นต้นสำหรับ “ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบริการ” พบว่ามีปัญหาตั้งแต่สภาพตัวรถ รวมถึงรูปแบบการประกอบการ โครงสร้างองค์กรที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างยากลำบาก ในกรณีที่เป็นรถของขนส่งมวลชน(ขสมก.) มีปัญหาสะสมที่ไม่สามารถซื้อรถใหม่ได้ หรือจัดซื้อได้ล่าช้า ปัจจุบันรถใน กทม. และปริมลฑล มีอยู่ประมาณ 7-8 พันคัน เข้าใจว่าเป็นรถเก่าไม่น่าจะต่ำกว่า 4-5 พันคัน จะมีรถใหม่ของขสมก.จะเข้ามาประมาณ 2-3 พันคันในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่น่าจะเพียงพอควรมีปริมาณรถใหม่มากกว่านี้ รวมถึงมีกลไกกำกับดูแลคุณภาพในอนาคตต่อไปว่าจะการันตีได้อย่างไรเมื่อเปลี่ยนรถแล้วคุณภาพต้องดีด้วย ต้องเข้มข้นเรื่องการรับพนักงาน รวมถึงเรื่องของค่าตอบแทน เช่น ค่าโดยสารที่เหมาะสม เพราะก็ยังมีคำถามอยู่ว่าค่าโดยสารที่เหมาะสมเป็นอย่างไร ด้านหนึ่งบอกว่าค่าโดยสารไม่ควรสูงเกินไป แต่รัฐก็ไม่มีกลไกทำเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ ก็เลยเป็นปัญหาค่าโดยสารที่กำหนดอยู่ปัจจุบันจะทำให้ได้คุณภาพการให้บริการที่ดีหรือไม่ ถ้าจะให้ได้พนักงานที่มีคุณภาพต้องอนุญาตให้เขาสามารถขึ้นค่าโดยสารได้บ้างหรือไม่ แต่คงไม่ได้ขึ้นมากเกินไป เช่น ปัจจุบันเก็บอยู่ 9 บาท สำหรับรถร้อน ถ้าปรับราคาขึ้นเป็น 11-12 บาท เป็นไปได้หรือไม่ ตอนนี้เราเริ่มคุยกันแล้วว่าน่าจะพอขึ้นได้ และพอจ่ายได้ เพราะอยากได้บริการที่ดี แต่กลัวว่าขึ้นไปแล้วยังได้บริการแย่เหมือนเดิม อะไรจะการันตี  “เวลาสำรวจความพึงพอใจเรื่องพวกนี้ก็จะเห็นภาพว่าผู้โดยสารมีความรู้สึกคล้ายกันว่ารถเก่า บริการไม่ดี รถขาดระยะ ความถี่ไม่ดี รอนาน สภาพโดยรวมไม่สะดวกสบาย”  คำถามที่จะตามมาคือต่อให้คุณภาพรถเมล์ดีแล้ว “โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง” จะดีตามมาหรือไม่ ซึ่งจากการสำรวจทั้งในกทม. และปริมณฑลพบว่ามีปัญหาคล้ายกันคือ ตำแหน่งป้ายไม่ชัดเจน ที่พักพิงผู้โดยสาร เช่น ศาลาไม่ครบ ปัญหาที่ตามมาคือการบริการช่วงเช้ามืด และช่วงค่ำ มีแสงสว่างไม่เพียงพอ เสี่ยงเกิดอันตราย ตรงนี้ผู้ประกอบการคงไม่ได้เป็นคนจ่าย หน่วยงานท้องถิ่นที่ดูแลน่าจะต้องเป็นคนที่ลงทุน เพราะที่ผ่านมาก็มีการลงทุนเรื่องรถไฟฟ้า อะไรต่างๆ มากมาย ทำไมไม่ลงทุนเรื่องเหล่านี้บ้าง “จริงๆ เรายังให้ความสำคัญกับการพัฒนารถเมล์น้อยไป ถ้าพัฒนาเต็มที่ต้องดีทั้งตัวรถ และคนขับ พนักงานประจำรถ ตรงนี้เริ่มมีการปฏิรูปบ้าง แต่ที่ยังขาด คือโครงสร้างพื้นฐาน และการเชื่อมต่อ เรื่องป้ายรถเมล์ ถ้าจะทำต้องทำควบคู่กัน  ไม่อย่างนั้นคนเดินมาป้ายรถเมล์ก็ไม่อยากเดิน ไม่จูงใจให้คนมาใช้รถเมล์” อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้เริ่มได้รับการแก้ไขบ้างแล้ว อย่างเช่น รถเมล์ในกรุงเทพจากเดิมมีเพียงการให้บริการของ “ขสมก.” เท่านั้น ปัจจุบันก็มี “เอกชน” เข้ามาร่วมเดินรถด้วย อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย โดยให้บริษัทเอกชน บางรายสามารถยื่นขอใบอนุญาตได้โดยตรง และเดินรถเองได้ ตรงจุดนี้ทำให้สามารถเปลี่ยนรถใหม่ได้เอง แต่ความอิสระนี้ยังไม่ได้การันตีว่าการให้บริการจะมีคุณภาพ ต้องมีระบบกำกับดูแลที่ต้องตรวจสอบคุณภาพรถเอกชนที่จะเข้ามาวิ่งในระบบต่อไป ส่วนปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องยังไม่เห็นนโยบายที่ชัดเจนว่าจะมีการปรับปรุงอย่างไร  ปัญหารถขาดระยะ-เส้นทางเดินรถ “รถเมล์ขาดระยะ” มาจากทั้งปัญหาการจราจร และจำนวนรถไม่เพียงพอ ยิ่งรถติดมากยิ่งทำให้รถขาดระยะมาก ตรงนี้ก็พูดยาก เพราะหลายครั้งปริมาณการเดินทางของคน โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนนั้นสูงมาก ซึ่งถ้าทำให้คนขึ้นรถเมล์มากเท่าไหร่ ก็จะลดการใช้รถส่วนบุคคลเท่านั้น รถไม่ติด และจะส่งผลดีกับทั้งคู่คือรถติดน้อยลง ต้นทุนการประกอบการก็น้อยลง ไม่ต้องซื้อรถมาเก็บไว้จำนวนมาก ทำรอบความถี่ได้ นี่เป็นปัญหาที่คิดว่าแก้ไขยาก เพราะประเทศไทยยังไม่มีมาตรการจำกัดการใช้รถส่วนบุคคลเท่าไหร่นัก ส่วนเรื่องเส้นทางการเดินรถนั้น ถือว่ามีความครอบคลุมระดับหนึ่ง แต่ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัญหาที่แท้จริงคือ “การทับซ้อนเส้นทาง” แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาระดับหนึ่ง แต่ความครอบคลุมปัจจุบันเรียกว่าลากเส้นรถเมล์ไม่ทันกับการขยายเมือง สวัสดิการภาครัฐเดิมรัฐบาลมีนโยบายรถเมล์ฟรีให้ประชาชนก็ถือว่ามีความครอบคลุมระดับหนึ่ง พอเปลี่ยนมาเป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็จะเปลี่ยนแปลงอีกแบบ ซึ่งเท่าที่เห็นยังไม่มีข้อมูล เลยยังวิจารณ์ไม่ได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือรัฐเองให้การสนับสนุนระบบขนส่งพวกนี้เพียงพอหรือยังในเชิงของการลงทุน รัฐอาจจะไม่ต้องให้เป็นสวัสดิการสำหรับคนขึ้นรถเมล์ แต่อาจจะต้องลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการรถเมล์หรือไม่ เรื่องป้ายรถเมล์ เรื่องจุดจอด เรื่องการบำรุงรักษา รัฐต้องเข้ามาดูมากขึ้น เสมือนเป็นการสนับสนุนทางอ้อม พัฒนาระบบ เรื่องคุณภาพของการให้บริการก่อน เมื่อเริ่มดีขึ้นค่อยเริ่มหาช่องทางในการให้เงินอุดหนุนเงินเฉพาะกลุ่ม เช่น การลดค่าโดยสาร 50 เปอร์เซ็นต์สำหรับผู้สูงอายุ ลดค่าโดยสาร 25 เปอร์เซ็นต์สำหรับนักเรียน นักศึกษา ให้เฉพาะกลุ่มที่มีเหตุผลน่าจะทำได้ และไม่ควรมองเป็นเรื่องการเมือง คุณภาพรถเมล์กับผู้พิการ-ผู้สูงอายุมีคำถามว่าการพัฒนาระบบขนส่งหลงลืมผู้พิการ และผู้สูงอายุ จริงๆ ถ้ากรณีรถเมล์ปัจจุบันถึงแม้จะยังไม่มีข้อกำหนดชัดเจนว่าให้ใช้รถเมล์ชานต่ำ แต่มีสัญญาณที่ดีจากผู้ประกอบการ  อย่างเช่น ขสมก. หากจะมีการเปลี่ยนรถเมล์ก็เปลี่ยนเป็นชานต่ำ ซึ่งอยู่ระหว่างการสั่งซื้อและนำเข้ามาใช้ ซึ่งจะเอื้อต่อการใช้งานของผู้พิการ และผู้สูงอายุขึ้นลงได้สะดวกขึ้น แต่ปัญหาก็ย้อนกลับมาที่โครงสร้างพื้นฐาน เช่น สมมติว่ารถเมล์เข้าป้ายได้ แต่ทางเท้า หรือป้ายรถเมล์ไม่ดี คนพิการก็ใช้ไม่ได้ หรือถ้าปัญหาเรื้อรัง เข้าป้ายไม่ได้คนพิการต้องลงมาที่ถนน ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้ ลำบาก ดังนั้นตรงนี้ถ้าจะทำต้องทำทั้งระบบพร้อมกัน    สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการก่อนจะมีรถเมล์ชานต่ำในประเทศไทย ต้องยอมรับว่าคนพิการที่นั่งรถเข็นไม่สามารถขึ้นรถเมล์ได้เลย ถ้าจะขึ้นก็ต้องคลานขึ้น มีคนช่วยยกวีลแชร์ ซึ่งมีแต่น้อย หากไม่จำเป็นก็ไม่ไป เพราะการคลานขึ้นรถเมล์เป็นภาพที่ไม่น่าดู ส่วนผู้พิการที่ต้องใช้ไม้เท้าก็มีความยากลำบาก อุบัติเหตุพลัดตกจากรถเมลมีให้เห็นบ่อย ปัญหาใหญ่ที่สุด คือลักษณะของรถสูง ประตูแคบ บวกกับพฤติกรรมขับรถและการให้บริการของพนักงานประจำรถ “พฤติกรรมของพนักงานขับรถไม่ต้องอธิบายมาก จอดปุ๊บไปปั๊บ ถ้าคนพิการขึ้นรถเมล์ บางทีมีการตะโกนบอก คนพิการมา หลบให้คนพิการขึ้นหน่อย เร็วๆ ได้ยินแบบนี้ถามว่าเรามีความสุขที่จะไปต่อไหม เราก็อาย เรากลายเป็นจุดรวมสายตาของทุกคน ซึ่งมีทั้งสายตาที่เห็นอกเห็นใจ และสายตาที่มีคำถามว่ามาทำไม คุณลำบากแล้วมาทำไม สร้างปัญหา คือไม่ขึ้นรถเมล์แล้วจะให้คนพิการเดินทางอย่างไร ให้อยู่กับบ้านอย่างนั้นหรือ” ในอดีตปัญหาแบบนี้ชัดเจนมาก ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ แต่ถือว่าดีขึ้น เริ่มตั้งแต่ ขสมก. จัดซื้อรถเมล์ใหม่ เป็นรถเมล์ชานต่ำทั้งหมด ซึ่งอันที่จริงเมื่อ 10 ปีก่อน เดิม ขสมก. ไม่ต้องการซื้อรถเมล์ชานต่ำ แต่ด้วยการต่อสู้อย่างเข้มข้นของเครือข่ายผู้พิการต่างๆ เครือข่ายผู้สูงอายุ รวมถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำให้ทุกวันนี้ ขสมก.มีนโยบายใหม่ชัดเจนว่าถ้าจะซื้อรถเมล์ใหม่ ต้องเป็นรถเมล์ชานต่ำเท่านั้น ทั้งนี้ รถเมล์ชานต่ำล็อตแรก 489 คัน ที่จะทยอยส่งมอบเข้ามา แม้ยังมีบางจุดที่ต้องปรับปรุง แต่ไม่ถึงกับเป็นประเด็นใหญ่มาก เพราะต้องยอมรับว่าล็อตแรกอาจจะมีปัญหาเพราะเป็นครั้งแรกที่แปลงกฎหมาย เป็นทีโออาร์ ตัวรถอาจจะมีความคาดเคลื่อนอยู่บ้าง แต่โดยรวมถือว่าเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการ ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ เพราะประตูกว้างขึ้น เดินสเต็ปท์เดียว ก้าวขาจากฟุตบาทขึ้นตัวรถได้เลย ถือว่ามีความปลอดภัยสูง มีระบบเซ็นเซอร์ มีกล้องวงจรปิด อย่างไรก็ตาม มีรถเมล์ใหม่แล้วก็ต้องมาพร้อมการบริการที่มีการปรับปรุงทั้งพนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสาร ซึ่งถือว่ามีการพัฒนาที่ดีขึ้น แต่การจอดให้ตรงป้ายยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งต้องเรียนว่า “รถเมล์ชานต่ำ” นั้นการจอดให้ตรงป้ายถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะจะมีบันไดพาดจากตัวรถมายังฟุตบาท หากจอดไม่ตรงบันไดก็ต้องวางกับถนนซึ่งจะทำให้ชันมากเป็นอันตราย นอกจากนี้การปรับสภาพแวดล้อมบริเวณป้ายรถเมล์ก็มีความสำคัญ รวมถึงการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่ารถจะบริการคนพิการอย่างไร ก็ต้องมีการสื่อสารและพัฒนานอกจากนี้ ปัญหาอีกอย่างคือ รถเมล์ชานต่ำที่จะเข้ามา 489 คัน นั้นคิดเป็นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนรถเมล์ของ ขสมก. ซึ่งปกติ ขสมก.เดินรถเมล์ประมาณ 120 สาย ดังนั้นจึงมีคำถามตามมาว่ารถเมล์ชานต่ำล็อตนี้เอาไปวางบนเส้นทางอย่างไร ยกตัวอย่างรถ 1 สาย มีรถ 20 คัน แล้วรถจะเข้ามาทุก 10-15 นาที แสดงว่าผู้พิการ ผู้สูงอายุเดินออกมาก็จะเจอรถเมล์ชานต่ำทุกคัน แต่ถ้าสมมติในสายนั้นมีรถเมล์ 20 คัน แต่มี รถเมล์ชานต่ำ 5 คัน ถามว่า 5 คันนั้นจัดวางอย่างไร ถ้าทำแบบผสมตามสัดส่วน แสดงว่ารถเมล์แบบเก่าต้องผ่านไปแล้ว 5 คัน คันที่ 5 ถึงจะเป็นรถเมล์ชานต่ำ แสดงว่าต้องรอเมล์ประมาณ 1 ชั่วโมง “ถามว่าในชีวิตจริงที่ต้องไปทำงานทุกวัน เราจะใช้บริการรถเมล์แบบนี้ได้หรือไม่ การแก้ปัญหาต้องมีตารางเดินรถชัดเจน จริงอยู่ว่าสภาพการจราจรของ กทม.เอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่ก็สามารถปรับตามความเหมาะสมได้ วันนี้ตัวรถสะดวก บริการดีขึ้น แต่จำนวนรถยังไม่เพียงพอ เว้นแต่ว่า ขสมก.จะวางรถเมล์ชานต่ำใหม่ทั้งเส้นทั้งหมด อันนี้แน่นอนใช้ได้เลย ถ้าเอามาผสมกันก็ไม่สะดวก ดังนั้นเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาระยะยาว คิดว่า ภายใน 5-10 ปี ของขสมก.น่าจะได้มาทดแทนทั้งหมด ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการด้วย แต่ปัญหาที่คาราคาซังอยู่คือเนื่องจาก ขสมก.จัดซื้อรถใหม่ไม่สะดวก เลยแก้ปัญหาโดยการนำรถเก่ามาปรับปรุง เปลี่ยนเครื่องยนต์ ทำตัวถัง ทำสี แต่บอดี้อยังเหมือนเดิม และใช้ต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปี เพราะฉะนั้นปัญหาของผู้พิการ และผู้สูงอายุก็ยังคงมีอยู่”อย่างไรก็ตาม ปัญหารถเมล์ไม่ได้มีแค่ของ ขสมก. เท่านั้น แต่ยังมีรถร่วมบริการด้วย และดูเหมือนว่าสัดส่วนจะเพิ่มสูงกว่าขสมก. ในขณะที่กรมการขนส่งทางบกก็ยังไม่พูดชัดเจนว่ารถร่วมฯ ที่ให้สัมปทานใหม่จะต้องเป็นรถเมล์ชานต่ำหรือไม่ ซึ่งเราพยายามคุยกับกรมการขนส่งทางบกว่าควรกำหนดไว้ในเงื่อนไขสัมปทานด้วย ก็นับเป็นเรื่องที่ดีที่รถร่วมบริการเส้นแรกที่วิ่งระหว่าง รพ.รามาธิบดี บางพลี จ.สมุทรปราการ ไปยังรพ.รามาธิบดี ย่านราชวิถีนั้นทางบริษัทเอกชนได้นำเอารถเมล์ชานต่ำมาให้บริการ แต่จะดีกว่าหรือไม่ถ้ากำหนดให้ชัดว่าจากนี้เป็นต้นไป รถใหม่ที่เข้ามาต้องเป็นรถเมลชานต่ำเท่านั้น ถ้าปล่อยเป็นเรื่องความสมัครใจแล้วมีทั้งรถเมล์ชานต่ำ ชานสูงก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ “เราพยายามคุยกับกระทรวงคมนาคมแล้ว เราไม่ไปแตะรถเมล์คันเก่า แต่ขอแค่ว่ารถเมล์ใหม่ที่จะเข้ามาต้องเป็นรถเมล์ชานต่ำ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เขา รมว.-รมช.คมนาคม ก็ยังไม่ตอบ ซึ่งถือว่ายังเป็นปัญหาอยู่ในกรณีรถร่วมบริการ” นอกจากนี้ หากเป็นการนำเอารถตู้มาให้บริการเพิ่มมากขึ้น ก็จะยิ่งเป็นอุปสรรคกับคนพิการที่ต้องนั่งรถเข็นแน่นอน แต่บรรเทาได้หากมีการอบรมและขอความร่วมมือ เช่น ให้คนพิการนั่งหน้า และเก็บรถเข็นไว้ด้านหลังรถ แต่ปัญหาคือ ดีไซน์ของรถตู้ส่วนมากต้องพยายามบรรทุกผู้โดยสารให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ส่วนถ้าเป็นคนพิการตาบอด ปัญหาน้อยกว่า อาจต้องจับสัญญาณเสียง ซึ่งรถบางคันก็มี ถ้าไม่มีก็อาศัยการสอบถามคนรอบข้าง ในขณะที่ปัญหาคนหูหนวก อาจจะต้องมีการตื่นตัวอยู่เสมอ และอีกกลุ่มที่ต้องนึกถึงคือผู้ปกครองของผู้พิการทางสติปัญญา ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมแปลก คนทั่วไปมักไม่เข้าใจ และมองว่าทำไมครอบครัวไม่ดูแลลูก แต่ความจริงคือพ่อ แม่ควบคุมไม่ได้ เรื่องนี้ต้องให้ความรู้กับคนไทยเรื่องความแตกต่างของคนในสังคม อย่าด่วนตำหนิ มองกันในเชิงลบ คงไม่มีใครปรารถนาทำสิ่งไม่เหมาะไม่ควรในที่สาธารณะ “ดังนั้นโดยรวมการใช้บริการรถเมล์ของผู้พิการใน กทม. ปริมณฑล มีความสะดวกประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นรถเมล์ชานต่ำ ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนรถเมล์ที่วิ่งให้บริการในปัจจุบันประมาณ 7,000-10,000 คัน”ทั้งนี้ถ้าพูดถึงเรื่องความสะอาด คุณภาพอากาศภายในรถเมลไทย ตรงนี้ในฐานะที่มีโอกาสคลุกคลีกับคณะกรรมการที่เขียนสเป็คของรถ คิดว่าสิ่งที่เราขาดคือ ความรู้ ความเข้าใจที่แท้จริงของรถโดยสาร และความร่วมมือของทุกฝ่าย ยกตัวอย่างรถเมล์ที่ดี คงไม่ใช่รถราคาถูก แต่กระบวนการจัดซื้อ จัดจ้างของไทยต้องการรถที่ราคาถูกที่สุด แล้วจะหวังเรื่องคุณภาพที่ดีที่สุดอย่างไร ทางแก้ คือเขียนคุณสมบัติให้ได้มาตรฐาน แต่ตรงนี้ก็มีปัญหาอีกตรงที่ระเบียบ มาตรฐานของกรมการขนส่งทางบก หรือมาตรฐานอุตสาหกรรม เป็นมาตรฐานที่ต่ำ เมื่อเขียนสเป็คก็ต้องเขียนต่ำ เพราะถ้าเขียนสูงก็ถูกตั้งคำถามว่า เอื้อประโยชน์ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือไม่ คิดว่านี่เป็นปัญหาของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของประเทศไทย มันมีช่องว่างอยู่ระหว่างสินค้าที่มีคุณภาพและราคา รวมถึงความรู้ความเข้าใจของคนกำหนดระเบียบ สุดท้ายอาจจะสำคัญที่สุด คือการให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ใช้ ว่าผู้ใช้ควรจะได้สินค้าที่ดี ที่มีคุณภาพแบบไหน คิดว่า เวลานโยบายกำหนดมาก็มีการกำหนดเงื่อนไขมาด้วย แต่ไปบีบคนทำงานให้ไม่สามารถมองเป้าของผู้บริโภคเป็นหลัก หรืออย่างการจัดซื้อ จัดจ้างรถเมล์ ทำไม ขสมก.รถพัง รถหมดสภาพเยอะแยะ แต่การจัดซื้อต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี ในเวลา 10 ปีนี้ประชาชนสูญเสียโอกาสในการได้ใช้บริการรถเมล์ที่ดีไปแค่ไหน “คนใช้บริการรถเมล์เป็นคนที่รายได้ไม่สูง คนกลุ่มนี้ไม่มีปากมีเสียง นี่คือปัญหาสำคัญ คนมีปาก เสียงคือคนใช้รถยนต์ส่วนตัว ได้สิทธิประโยชน์ในการขยายถนน ลดภาษี แต่คนใช้รถโดยสารประจำทางไม่สามารถส่งเสียงให้ฝ่ายนโยบายได้ยินได้ ทำให้กระบวนการจัดซื้อยืดยาว และได้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ปัญหาเลยตามมา นี่เป็นปัญหาเชิงระบบ โครงสร้างนโยบายของประเทศ” วันนี้มีรถเมล์ชานต่ำเข้ามาแล้ว แต่การพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับคนทุกกลุ่ม ทั้งความสะอาด การอำนวยความสะดวกต่างๆ  เข้าใจว่าได้ทำไปพอสมควร แต่ไม่สามารถตอบได้ว่า ณ วันนี้ มันเอื้ออำนวยมากน้อยแค่ไหน แต่เราก็เห็นจุดที่เป็นข้อบกพร่องปรากฏออกมาเป็นระยะๆ  ในภาพรวมทางเท้า ป้ายรถเมล์ พื้นที่สาธารณะ คนเดินถนน ในกทม. รัฐบาลให้ความสำคัญน้อยมาก ส่วนตัวไม่คิดว่าแนวคิดการขยายถนนเพื่อรองรับปริมาณรถยนต์แล้วจะทำให้การจราจรคล่องตัวนั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ขยายถนนเท่าไหร่รถก็ยังติด การไม่ให้ความสำคัญกับการทำทางเท้าที่มีคุณภาพ ทั้งแคบ สกปรกและเหม็นขยะ ไม่เรียบ ไม่มีความปลอดภัย ใครจะอยากเดินมาขึ้นรถเมล์ตราบใดที่รัฐบาล หรือ กทม. ไม่ได้ใส่ใจวางนโยบายให้ความสำคัญกับทางเท้ามากกว่าการขยายถนน ที่ผ่านมามักได้ยินนโยบายการหาเสียงว่าจะแก้ปัญหาการจราจรภายในระยะเวลาเท่านั้น เท่านี้ เป็นไปไม่ได้ เมื่อมีถนนเพิ่ม คนก็ซื้อรถเพิ่มเป็นธรรมดา แต่ถ้าเราขยายพื้นทางเดินเท้าให้ประชาชน ปรับปรุงเรื่องคุณภาพ และความสะอาด คิดว่าประชาชนจะค่อยๆ ปรับพฤติกรรมมาใช้รถสาธารณะมากขึ้น ทางเดินเท้าคือสิ่งสำคัญเช่นกัน บรรดาห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ธุรกิจเฉพาะกลุ่มคน ใครจะเปิดก็ต้องระบุให้ชัดว่าต้องมีพื้นที่สำหรับการจราจรภายใน ไม่ใช่สร้างปัญหารถติดบนท้องถนนส่วนรวม เพราะทำให้ประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องเดือดร้อนไปด้วย.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 รู้เท่าทันเห็ดรักษาโรค

รู้เท่าทันเห็ดรักษาโรค        การใช้เห็ดเพื่อเป็นอาหารและเป็นยานั้นมีมานานหลายพันปี เห็ดมีคุณค่าทางอาหารมาก และมีสารทางยามากมายเช่นกัน มีการใช้เห็ดในการดูแลสุขภาพ รักษาโรคที่พบบ่อย  ในช่วงหนึ่งมีการตื่นตัวเรื่องการกินเห็ดสามอย่างในบ้านเราว่ามีประโยชน์ จนกลายเป็นรายการอาหารสุขภาพอย่างหนึ่ง เรามารู้เท่าทันเห็ดกันดีกว่าเห็ดคืออะไร          เห็ดไม่ใช่พืช แต่เป็นเชื้อราที่พัฒนาเป็นดอกหรือเป็นกลุ่มก้อน มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เห็ดไม่สามารถสร้างอาหารเองได้เนื่องจากไม่มีสารสีเขียวที่เรียกว่า คลอโรฟีล จึงต้องอาศัยอาหารจากการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุจากจุลินทรีย์ต่างๆ           เห็ดอุดมไปด้วยสารอาหารต่างๆ จำนวนมาก มีวิตามินบี โดยเฉพาะ ไนอาซินและไรโบฟลาวิน  มีโปรตีนมากที่สุด(ร้อยละ 44.93) เมื่อเทียบกับผักชนิดต่างๆ ไม่มีไขมันและให้พลังงานต่ำ  เห็ดแห้งจะมีโปรตีนสูงเท่ากับเนื้อวัว และมีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนปริมาณมาก  การใช้เห็ดเพื่อเป็นยา          การใช้เห็ดรักษาโรคนั้นมีมาตั้งแต่สมัยอียิปต์และจีนโบราณ เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงและอายุยืนยาว เห็ดอุดมด้วยพอลิแซ็กคาไรด์ ซึ่งกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้มีการใช้เห็ดเพื่อเป็นยารักษาโรค นอกจากนี้ เห็ดยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีสารต้านอนุมูลอิสระ มีโคเลสเตอรอลต่ำ ลดความดันเลือด ลดการอักเสบ และต่อต้านเชื้อไวรัส แบคทีเรีย อีกด้วยเห็ดที่เป็นยาที่เป็นที่รู้จักและนิยมใช้กันในจีนและต่างประเทศ ได้แก่ เห็ดหลินจือ เห็ดหิ้ง เห็ดเกลียวเมฆ เห็ดไมตาเกะ  สำหรับบ้านเรา มีความตื่นตัวในการใช้เห็ดกระถินพิมานเพื่อรักษามะเร็ง กลไกของร่างกายในการใช้เห็ดรักษาโรค                ปัจจุบันการแพทย์ให้ความสนใจกับกลไกในร่างกายที่มีผลทำให้เห็ดดีต่อสุขภาพ คือ แบคทีเรียในลำไส้ของคน ซึ่งมีจำนวนมหาศาลมากกว่า 10 ล้านล้านตัว มีสายพันธุ์ต่างๆ กว่า 1,000 สายพันธุ์ ซึ่งมียีน 3 ล้านยีนส์(มากกว่ายีนในมนุษย์ 150 เท่า)  แบคทีเรียในลำไส้จะย่อยอาหารที่ไม่สามารถย่อยโดยเอนไซม์ในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก           เห็ดเป็นสารพรีไบโอติกส์ที่ไปกระตุ้นการทำงานของแบคทีเรียในลำไส้ ทำให้เกิดการย่อยและดูดซึมอาหารต่างๆ ได้ดีขึ้น และแบคทีเรียยังช่วยกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น  งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนประสิทธิผลของเห็ดหรือไม่          เมื่อทบทวนวารสารวิชาการที่น่าเชื่อถือพบว่า งานวิจัยส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับเห็ดในการรักษาโรคต่างๆ นั้น จะเป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนประสิทธิผลของเห็ดในการรักษาโรคต่างๆ ที่กล่าวอ้างกว่า 130 รายการ โดยเฉพาะมะเร็ง           ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2018 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของอเมริกาได้รับรอง “เห็ดขี้ควาย” หรือ เห็ดวิเศษ ให้ใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้าที่ไม่ได้ผลจากการรักษาด้วยแผนปัจจุบัน     สรุป  การใช้เห็ดเป็นยารักษาโรคนั้นเป็นความเชื่อของการแพทย์ดั้งเดิมของสังคมต่างๆ แม้จะขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ แต่ก็ไม่สามารถหักล้างความเชื่อดั้งเดิมได้  คงจะต้องมีการศึกษาวิจัยที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น  ส่วนการใช้เห็ดเป็นอาหารนั้นมีหลักฐานต่างๆ ยืนยันคุณค่าทางอาหารอย่างมากมาย  เราควรส่งเสริมการกินเห็ดเป็นอาหาร และให้อาหารเป็นยาสำหรับเราต่อไป จะเกิดประโยชน์และประหยัดมากที่สุด                                                                                        

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ขออนุญาตเห็นแก่ตัว เรื่องบุหรี่

คนที่ซื้อบ้านในหมู่บ้านที่ราคาไม่แพงนักมักไม่ค่อยพอใจในสิ่งที่ได้ จึงพยายามต่อเติมบ้าน เพื่อเพิ่มการใช้ประโยชน์และ(คิดเอาเองว่า) เพิ่มความสวยงาม โดยไม่ค่อยคิดถึงใจเพื่อนบ้านว่า อาจเดือดร้อนจากกลิ่นควันบุหรี่ ซึ่งร้อยทั้งร้อยของช่างที่ต่อเติมบ้านต้องดูดเข้าปอดเกือบตลอดเวลาทำงาน เสมือนว่าเพื่อเพิ่มการเกิดอนุมูลอิสระในปอดให้มีแรงทำงานให้ตลอดรอดฝั่ง        ควันบุหรี่นั้นก่อให้เกิดความไม่สบายกายและใจของผู้เขียนมาตลอด เนื่องจากเป็นคนไม่ชอบกลิ่นของมันและเกิดความอึดอัดทุกครั้งที่ได้กลิ่น สมัยไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกานั้น โชคดีสบายปอดมากที่ได้เรียนในรัฐยูทาห์ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นมอร์มอน ซึ่งไม่สูบบุหรี่ตามข้อกำหนดทางศาสนา         เป็นที่น่าดีใจที่ไทยติดแค่ลำดับที่ 68 (เฉลี่ย 925.00 มวนต่อคนต่อปี) ในการจัดลำดับชาติที่มีคนสูบบุหรี่จัดที่สุดในโลกโดย World Cancer Report 2014 ขององค์การอนามัยโลก (อ้างอิงจาก List of countries by cigarette consumption per capita ปรากฏใน www.wikipedia.org) โดยมีมอนเตเนโกร (4124.53 มวนต่อปี) เป็นแชมป์โลกและเบลารุส (3831.62 มวนต่อปี) เป็นรองแชมป์ ส่วนจีนเข้าสู่ลำดับที่ 9 (2249.79 มวนต่อปี) ควบตำแหน่งแชมป์เอเชีย ตามด้วยเกาหลีใต้อยู่ลำดับที่ 15 (2072.57 มวนต่อปี) ญี่ปุ่นอยู่ลำดับที่ 21 (1713.00 มวนต่อปี)เกี่ยวกับควันบุหรี่ที่ลอยอยู่ในอากาศนั้น มีประเด็นหนึ่งซึ่งคนไทยหลายส่วนมักลืมหรือไม่รู้เอาเลยว่า สภาผู้แทนราษฏรของไทยได้เคยออกกฏหมายที่ดีคือ พ.ร.บ. คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 พ.ร.บ. นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่แต่จำใจหรือจำเป็นต้องอยู่ใกล้ผู้สูบ จึงต้องกลายเป็น second-hand smoker โดยห้ามการสูบบุหรี่ในบางสถานที่ พร้อมให้มีการจัดเขตให้สูบบุหรี่โดยเฉพาะ ซึ่งกระบวนการนี้หน่วยงานรัฐใช้ความประณีตมากถึงเกือบ 20 ปี ที่ทำให้ประเทศไทยได้มี ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2553 เพื่อกำหนดชื่อหรือประเภทของสถานที่สาธารณะที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ และกำหนดส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่สาธารณะดังกล่าวเป็นเขตสูบบุหรี่หรือเขตปลอดบุหรี่ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 อย่างไรก็ดีผู้เขียนนึกไม่ออกว่า ใครคือผู้รักษากฎหมายนี้และได้ทำให้กฎหมายนี้ศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ เพราะที่เห็นอยู่ตำตาคือ การสูบบุหรี่ที่ป้ายรถเมล์ ซึ่งเป็นสถานที่กำหนดห้ามนั้น คนในเครื่องแบบต่างๆ ยังถุนควันบุหรี่หน้าตาเฉยเหมือนไม่เคยรู้ว่า พ.ร.บ. คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ยังมีผลบังคับอยู่        นอกจากนี้เรายังมีแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ พ.ศ. 2553-2557 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายสูงสุดหนึ่งในสามข้อว่า ต้องการทำให้สิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยมีเป้าหมายหนึ่งของแผนว่า ในปี พ.ศ. 2557 อัตราการได้รับควันบุหรี่มือสองของประชาชน ลดลงร้อยละ 50 จากปี พ.ศ. 2552 ส่วนผลต่อมาจากปี 2557 นั้น ท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปดู สถานการณ์การบริโภคยาสูบ ได้เองที่ www.trc.or.th/th/สถานการณ์การบริโภคยาสูบ.htmlในหลายประเทศวิธีหนึ่งที่นิยมทำกันเพื่อลดความเข้มข้นในอากาศของควันบุหรี่คือ ผลักดันให้ผู้นิยมการใช้ยาสูบไปสูบบุหรี่ปลอมที่ไม่สร้างควันให้คนอื่นเดือดร้อนมากนัก โดยที่ผู้สูบยังได้รับนิโคตินสมดังใจหมาย บุหรี่ปลอมดังกล่าวนั้นคือ บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ผู้เขียนเห็นว่า เป็นทางออกที่ดูง่ายกว่าการโน้มน้าวให้คนที่นิยมสูบบุหรี่เลิกสูบ (ผู้เขียนขออนุญาตไม่สนใจประเด็นการลดอัตราการตายของผู้ป่วยเนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้า ณ วันนี้ก่อน เพราะคิดว่าการลดปัญหา second-hand smoker นั้นสำคัญกว่า และมีความหวังกว่าการพยายามให้คนไทยเลิกสูบบุหรี่)บุหรี่ไฟฟ้าเป็นนวัตกรรมค่อนข้างใหม่ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2003 โดยแพทย์ชาวจีนที่หวังช่วยให้คนไข้เลิกบุหรี่ ซึ่งต่อมามีการแพร่ไปหลายประเทศที่มีผู้บริหารซึ่งคำนึงถึงสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าเข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 2007 และสามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 3,000 ล้านดอลลาร์ในแต่ละปี เพราะได้รับความนิยมสูงโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นซึ่งยังไงๆ ก็ดิ้นรนสูบบุหรี่ให้ได้เหมือนไอดอลชายชาวอเมริกันในภาพยนตร์ทั้งหลาย จากสถิติการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของเยาวชน(National Youth Tobacco Survey) ที่เป็นนักเรียนอเมริกัน 2 ล้านคน เมื่อปี 2557 พบว่า ในกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.5 เป็นร้อยละ 13 และในกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมต้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.1 เป็นร้อยละ 3.9 ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวภายใน 1 ปี นี่อาจแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของรัฐบาลอเมริกันสมัยนั้น ในการลดควันบุหรี่ที่ทำลายสุขภาพผู้ไม่ประสงค์ได้รับควันพิษนี้ ทั้งที่บริษัทผู้ผลิตบุหรี่นั้นมีอิทธพลต่อนักการเมืองมากในประเทศนี้แม้บุหรี่ไฟฟ้ามีผลเสียต่อสุขภาพของ ผู้ยินดีสูบและไม่กลัวความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด ดังที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอดในไทยหลายคนแสดงความกังวล แต่ในทัศนะของผู้เขียนแล้วคิดว่า คนข้างเคียงของผู้ติดบุหรี่ที่หันไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าคงสบายใจและสบายปอดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เป็นลูกน้องของ เจ้านาย/หัวหน้างาน ผู้บังคับบัญชาที่ติดบุหรี่และใจแคบไม่ยอมคิดถึงใจผู้ไม่สูบบุหรี่ และสิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ กรณีที่สตรีผู้โชคร้ายต้องร่วมหอกับผู้นิยมควันพิษแล้วเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา ถ้าสามีเป็นคนมีสมองพอรู้บ้างว่า สารพิษในควันบุหรี่นั้นเป็นสารที่ทำให้ทารกในครรภ์เกิดความผิดปรกติได้ แล้วพยายามงดสูบบุหรี่ในบ้าน เด็กก็อาจพอมีบุญเกิดมาเป็นผู้เป็นคนธรรมดา แต่ถ้าไปเจอกรณีคู่ผัวตัวเมียที่สามีไม่สนใจสุขภาพของเด็กในท้องและแม่ สุดท้ายทั้งสองก็ต้องรับกรรมรับสารพิษเข้าร่างกายไป ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นกรณีที่ควรคิดกันอย่างจริงจังได้แล้วในสังคมไทยเคยมีผู้ให้ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตว่า บุหรี่ไฟฟ้าอาจช่วยให้คนไข้ เลิกบุหรี่ได้ถึง 81% แม้ว่าการเลิกบุหรี่นั้นมักทำให้คนไข้ทรมานอย่างแสนสาหัส จนคนไข้บางส่วนท้อใจหันกลับไปสูบเพื่อลงนรกเมื่อแก่ด้วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ แต่มีผู้หวังดีแก่สังคมโดยรวมได้กล่าวไว้บนอินเทอร์เน็ตว่า น่าเป็นห่วงเด็กวัยรุ่นที่มีโอกาสเข้าถึงสินค้านี้ เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าอาจเป็นขั้นตอนแรกก่อนเข้าสู่การพัฒนาไปใช้บุหรี่จริงหรือยาเสพติดชนิดอื่นง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามผู้เขียนสรุปเอาเองด้วยประสบการณ์ว่า เด็กนั้นถ้าจะเลวไม่ว่าเพราะพันธุกรรมและ/หรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ ถึงไม่มีบุหรี่ไฟฟ้า การเสาะแสวงเพื่อการเสพสารเสพติดย่อมเกิดขึ้นเสมอ เพราะสารเสพติดนั้นดูว่าหาง่ายนักในสังคมไทยปัจจุบัน โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนรู้สึกสลดใจทุกครั้งที่เห็นคนไทยสูบบุหรี่(ซึ่งตอนนี้คงต้องรวมผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าด้วย) ทั้งนี้เพราะเป็นการรับสารเสพติดคือ นิโคติน เข้าสู่ปอดด้วยความตั้งใจของผู้สูบ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดีเลยต่อร่างกายพุทธศาสนิกชน ถ้าย้อนไปในในยามที่พระพุทธองค์คงพระชนม์ชีพและสมมุติว่า คนอินเดียมีบุหรี่สูบ พระพุทธองค์อาจกำหนดให้บุหรี่เป็นสิ่งต้องห้ามคู่กับสุราในศีลข้อ 5 สำหรับผู้ที่ประกาศตนเป็นพุทธมามกะด้วยก็ได้ ทั้งนี้เพราะไม่ว่าศีลข้อใดใน 5 ข้อที่เป็นนิจศีลนั้น พระพุทธองค์ได้บัญญัติขึ้นเพื่อความสงบสุขของสังคม ซึ่งปัจจุบันนี้ผู้เขียนขอเสนอว่า ควันบุหรี่นั้นเป็นภัยต่อการมีสุขภาพดีของคนในสังคนไทย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2561

ศาลยกฟ้อง คดีมาสด้าฟ้องลูกค้ากว่า 84 ล้านบาทกรณี บจก.มาสด้า เซลล์ (ประเทศไทย) ฟ้องเรียกค่าเสียหายลูกค้ากว่า 84 ล้านบาท เมื่อต้นปี 2561 เหตุผู้ใช้รถมาสด้า 2 เครื่องยนต์ดีเซลที่พบปัญหาการใช้งานและออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากบริษัท โดยบริษัทมาสด้าให้เหตุผลการฟ้องคดีว่า ผู้เสียหายใช้สิทธิเกินส่วนที่ผู้บริโภคควรใช้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ ชื่อเสียง และทำให้ยอดขายของบริษัทลดลงนั้น         เมื่อวันที่ 28 พ.ย.61  ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดี  ชี้ว่าการออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบของผู้เสียหาย เป็นการปกป้องสิทธิตามสิทธิผู้บริโภคโดยสุจริต เพราะรถมีความบกพร่องจริง และผู้เสียหายได้สอบถามไปยังผู้ผลิตแต่ไม่ได้รับคำตอบ จึงมีสิทธิเรียกร้องทวงถาม ซึ่งไม่ถือเป็นการใช้สิทธิเกินส่วนตามที่บริษัทอ้าง ด้าน นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ผู้เสียหายที่ถูกฟ้อง ได้กล่าวฝากถึงผู้บริโภคทุกคนให้ตระหนักถึงสิทธิที่ตัวเองมีตามกฎหมาย และเมื่อเกิดความเสียหายก็ต้องได้รับการชดเชยเยียวยา3 โรค 1 ภัยสุขภาพสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2562นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า ภัยสุขภาพที่สำคัญในปี 2562 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ การพยากรณ์โรคติดต่อ และการพยากรณ์โรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ ดังนี้ โรคติดต่อที่สำคัญในปี 2562 มี 3 โรค ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ โรคหัด และไข้เลือดออก ซึ่งไข้หวัดใหญ่คาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงเกือบ 1.8 แสนราย ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ปิด คือ ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ล้าง คือ ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และ หยุด คือ เมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัดส่วนโรคหัด เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ผู้ปกครองควรพาเด็กเล็กไปรับวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน จำนวน 2 เข็ม เข็มแรกเมื่อเด็กอายุ 9 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 2 ปีครึ่งกรณีโรคไข้เลือดออก ต้องร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ มี 1 เรื่อง คือ การบาดเจ็บจากการจราจรทางถนน เนื่องจากทุกปีประเทศไทยจะพบอุบัติเหตุจากการจราจรเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ จึงขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจร ไม่ขับรถเร็ว ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย ผู้ขับขี่รถยนต์ใช้เข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง หากดื่มสุราแล้วไม่ควรขับรถ และง่วงต้องไม่ขับ ‘ออมสิน’ ชะลอฟ้อง - งดบังคับคดี ตุ๊กตุ๊ก โครงการสามล้อเอื้ออาทรเมื่อวันที่ 27 พ.ย.61 นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมผู้เสียหายจากการกู้สินเชื่อเพื่อซื้อสามล้อ ในโครงการสามล้อเอื้ออาทร กว่า 150 ราย เดินทางไปยังธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ เพื่อเรียกร้องให้ถอนฟ้องคดีผู้เสียหายทุกรายที่ทำสัญญากู้ยืมเงินในลักษณะเดียวกัน และขอให้งดการบังคับคดีเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของโครงการสินเชื่อดังกล่าวนายประเสริฐ กองจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานบริหารหนี้และกฎหมาย กลุ่มปฏิบัติงาน ได้ตอบรับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้เสียหาย โดยจะยื่นขอให้ศาลจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว และงดการบังคับคดี และได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ของธนาคารฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการสามล้อเอื้ออาทร ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 45 วัน โดยได้นัดให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและกลุ่มผู้เสียหาย มารับฟังคำตอบอีกครั้งในวันที่ 15 ม.ค.6213 เม.ย. 62 รพ.เอกชนยอมกางบัญชี "ราคายา-ค่ารักษา" ขึ้นเว็บไซต์          กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนกว่า 100 แห่งเตรียมเผยแพร่ราคายา-ค่ารักษาบนเว็บไซต์ รพ.และเว็บไซต์กลาง ในวันที่ 13 เม.ย. 2562 เพื่อให้ประชาชนได้เปรียบเทียบราคาก่อนตัดสินใจใช้บริการ พร้อมชี้ว่า รพ.เอกชนเผยแพร่ข้อมูลเรื่องราคาได้ แต่คงบังคับให้ลดราคาไม่ได้ เนื่องจากต้นทุนแต่ละแห่งไม่เท่ากัน สำหรับข้อมูลที่นำมาเผยแพร่จะต้องง่ายต่อความเข้าใจของประชาชน ไม่ใช่เป็นข้อความทางเทคนิค ซึ่งยาที่จะประกาศราคานั้น เบื้องต้น จะมีประมาณ 1,000 รายการ จากทั้งหมดกว่า 5,000 รายการ หวังเพื่อให้ประชาชนรับทราบราคายาและค่ารักษาและเกิดการเปรียบเทียบ ทำให้โรงพยาบาลเอกชนไม่กล้าคิดราคายาและค่ารักษาที่แพงเกินความเหมาะสม ยื่นฟ้อง ไทยพาณิชย์ เหตุคนร้ายโจรกรรมเงินฝากผ่านแอพฯ กว่า 2 ล้านบาทเมื่อ 15 พ.ย.61 นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มพบ. และ น.ส.ธนิตา จิราพณิช อาชีพนักแสดงอิสระ ซึ่งเป็นผู้เสียหายสูญเงินกว่า 2 ล้านบาท จากการถูกโจรกรรมข้อมูลและเงินในบัญชีเงินฝาก เดินทางไปยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง รัชดาฯ โดยผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน (จำเลยที่ 1) และ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด (จำเลยที่ 2)        กรณีนี้ คนร้ายได้หลอกลวงเอาข้อมูลของผู้เสียหาย ได้แก่ หมายเลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร เพื่อใช้สมัครอินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้งบนมือถือของคนร้าย และโจรกรรมเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ กองทุนเปิด SCBFP กองทุนเปิด WINR และกองทุนตราสารหนี้ที่ผู้เสียหายเปิดบัญชีไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัท หลักทรัพย์จัดการรองทุน ไทยพาณิชย์ ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 8 วัน ตั้งแต่ 27 ธ.ค.60 - 4 ม.ค.61 รวมกว่า 50 ครั้ง นับรวมความเสียหายกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งเมื่อผู้เสียหายทราบเรื่องก็ได้ติดตามทวงถามให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงตัดสินใจยื่นฟ้องศาล โดย นายเฉลิมพงษ์ ให้ความเห็นว่า จำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายและประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ให้เป็นไปอย่างครบถ้วนถูกต้อง ทั้งการตรวจสอบสิทธิในการเข้าถึงระบบสารสนเทศ การติดตามแจ้งเตือน การแจ้งข้อมูลการทำธุรกรรมไม่มีมาตรฐาน จนทำให้คนร้ายสามารถทำการโจรกรรมเงินในบัญชีและกองทุนของผู้เสียหายได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 อันดับโลกอันแสนเศร้า

ไทยเป็นอันดับ 1 ของโลก ประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุดปี 2560 มีอัตราผู้เสียชีวิต 36.2 รายต่อแสนประชากร                                                                                                                                                                The World Atlasใกล้วันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ทีไร เราจะเห็นภาพมวลชนจำนวนมหาศาลที่ต้องเดินทางกลับบ้านหาครอบครัวหรือไปพักผ่อนท่องเที่ยวตามจังหวัดต่างๆ หลังจากทำงานหนัก ทุกปีจะมีคนเรือนแสนเบียดเสียดอัดแน่นแทบจะไม่มีที่ยืนที่สถานีขนส่งหมอชิตเพื่อรอรถโดยสารกลับบ้านต่างจังหวัด คนที่วางแผนซื้อตั๋วล่วงหน้าก็สบายหน่อย รับประกันความผิดหวังมีรถขึ้นแน่นอน แต่คนไปที่หวังหาเอาดาบหน้าล้วนต้องผิดหวังทุกราย หลายคนต้องรอรถนานข้ามคืนกว่ารถจะมี อีกหลายคนต้องขึ้นรถเสริมซึ่งไม่รู้เลยว่ารถคันที่ขึ้นเป็นรถผีรถเถื่อนหรือเปล่า รถคันนั้นผ่านการตรวจสภาพมีประกันภัยมั้ย บนถนนก็มีรถมากเคลื่อนตัวตามกันได้ช้าในทุกเส้นทาง เรียกได้ว่าเกือบจะถึงบ้านกันก็อ่วมอรทัยกันทีเดียวเชียวทั้งนี้แต่ละปีในช่วงหยุดยาวปีใหม่ 7 วันอันตราย ที่มีคนเดินทางกลับบ้านกันเป็นจำนวนมากนั้น มีหลายคนโชคดีที่ได้กลับไปกอดพ่อแม่ กอดลูกหลานด้วยความดีใจหลังจากไม่ได้เจอกันมานาน กลับกันมีอีกหลายคนที่กลับไม่ถึงบ้าน  หรือถึงบ้านแต่ก็กลับในสภาพร่างที่หมดลมหายใจ ด้วยสาเหตุสำคัญ คือ อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นซึ่งช่วงวันหยุดยาวปีใหม่ในทุกๆ ปี ตามสถิติที่รวบรวมไว้จะเป็นช่วงเวลาสำคัญ ที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนทางถนนสูง เป็นสาเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งๆ ที่หน่วยงานและภาคีอาสาในแต่ละจังหวัด ล้วนต่างจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี แต่ก็ยังคงมีสถิติการเสียชีวิตและบาดเจ็บที่สูงในช่วง 7 วันอันตรายอยู่เช่นเดิมโดยในปี 2561 ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุทางถนนสะสมเฉพาะแค่ในช่วง 7 วันอันตรายทั่วประเทศทั้งหมด 3,841 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 423 คน ผู้บาดเจ็บ 4,005 คน โดยมีสัดส่วนลดลงจากปี 2560 เล็กน้อย แต่จากจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่เกิดขึ้น ต้องยังถือว่ามีจำนวนมากเกินกว่าจะรับได้ และเป็นวิกฤตของความสูญเสียที่ต้องเจอกันแบบนี้ทุกปีปัญหาของอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยและทุกประเทศจึงเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญ และร่วมวางแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนน ตัวเลขจากการประมาณการขององค์การอนามัยโลก WHO ในปี 2015 มีผู้เสียชีวิตต่อปีทั่วโลกมากถึง 1.25 ล้านคนต่อปี และเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 90 ) อยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยรายงานความปลอดภัยทางถนนระดับโลก 2558 พบว่าประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนนเป็นอันดับ 2 ของโลก หรือ 24,237 คนขณะที่ในปี 2559 ประเทศไทยมีจำนวนยอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 22,356 คน หรือเฉลี่ยวันละ 62 ราย หรือคิดเป็นชั่วโมงละ 2-3 ราย โดยผู้เสียชีวิตมีอายุอยู่ในช่วง 15-29 ปี มีผู้รักษาตัวในโรงพยาบาลจากกรณีอุบัติเหตุทางถนนประมาณ  1 แสนคน และกลายเป็นผู้พิการราว 60,000 คนต่อปี โดยรัฐต้องสูญเสียงบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท นับว่าเป็นความสูญเสียอย่างมากมายมหาศาลสอดคล้องกับข้อมูลจากการเปิดเผยของเว็บไซต์เวิลด์แอตลาส The World Atlas ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 เกี่ยวกับประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนมากที่สุดในโลกปี 2560 ปรากฎว่า ประเทศไทยได้ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของโลก มีอัตราผู้เสียชีวิต 36.2 รายต่อแสนประชากร จากเดิมที่รั้งอันดับ 2และล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยรายงาน Global Status Report on Road Safety เรื่องรายงานความปลอดภัยทางถนนระดับโลก  ระบุว่า จากข้อมูลในปี 2018 อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้น ทำให้มีคนเสียชีวิตทุกๆ 24 วินาที ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากถึง 1.35 ล้านคนต่อปี (มากกว่าที่รายงานในปี 2015 ถึง 10 ล้านคน) ขณะที่ประเทศไทยถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในลำดับที่ 9 (ลดลงจากเดิมเมื่อปี 2015 ที่อยู่ลำดับที่ 2) มีอัตราผู้เสียชีวิต 32.7 รายต่อแสนประชากร หรือเสียชีวิตประมาณ 22,491 คนต่อปี  ในขณะที่ 10 อันดับแรกจากการจัดอันดับของ WHO ล้วนเป็นประเทศจากแอฟริกาทั้งสิ้น มีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นอันดับ 1 ในประเทศกลุ่มอาเซียน นำห่างเวียดนามซึ่งตามมาเป็นอันดับ 2 ที่ 26.7 เป็นอันดับ 1 สองปีซ้อนของเมืองหลวงที่มีรถติดติดอันดับโลกจากรายงานประเมินสภาพจราจรทั่วโลก หรือ Global Traffic Scorecard ประจำปี 2017 ของ INRIX และเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์เป็นอันดับ 1 ของโลกอีกด้วยจากผลงานติดอันดับโลกของประเทศไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา และโดยเฉพาะผลรายงาน Global Status Report on Road Safety ในปีล่าสุด แม้ว่าประเทศไทยจะมีอันดับที่ดีขึ้นจากอันดับที่ 2 มาอยู่อันดับที่ 9 แต่ถ้าพิจารณาตามรายละเอียดที่มีในรายงานจะพบว่า อัตราการตายของประเทศไทยไม่ได้ลดลงเหมือนที่เข้าใจกัน แถมแผนปฏิบัติการหลายอย่างก็ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ด้วย  ท้ายที่สุดถ้าทุกฝ่ายยังไม่ใส่ใจกับเรื่องนี้จริงๆ เป้าหมายที่จะลดอัตราการตายทางถนนลงคงไม่มีวันเกิดขึ้น อันดับโลกของไทยในเรื่องนี้ก็ยังอยู่ด้วยกันไปอีกนานแสนนาน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 พระอาทิตย์เป็นของเรา “กองทุนแสงอาทิตย์” เพื่อคุณภาพชีวิตทุกคน

ฉลาดซื้อ ฉบับส่งท้ายปีกับเรื่องราวดีๆ ของโครงการกองทุนแสงอาทิตย์ และอัพเดทสถานการณ์พลังงานของบ้านเรา กับผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการผู้เชี่ยวชาญ ด้านการบริการสาธารณะ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน นักวิชาการอิสระที่ติดตามและเสนอความเห็นเพื่อขับเคลื่อนนโยบายพลังงานทางเลือก ปัจจุบันเป็นอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภาพลังงานของประเทศไทยทั้งระบบประมาณ 2 ล้านล้านบาทต่อปี ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของ GDP ประมาณ15-16 เปอร์เซ็นต์ แล้วแต่ปีไหนน้ำมันถูกหรือน้ำมันแพง ซึ่งบางปีขึ้นไปถึง 19 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมันสูงมาก ที่สำคัญกว่านั้นก็คือว่าใน 2 ล้านล้านนั้นมันนำเข้า เราพึ่งตัวเองได้ประมาณไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เกือบๆ 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นเราต้องนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลเข้ามา ในจำนวน 2 ล้านล้านนี้ ก็จะเป็นค่าไฟฟ้าประมาณ 6-7 แสนล้านบาทต่อปี ทีนี้โดยรูปการแล้วพลังงานนี้ก็ถูกผูกขาด พลังงานฟอสซิลมันถูกผูกขาดและรวมศูนย์ และมีผู้ลงทุนอยู่ไม่กี่ราย ในขณะที่บริการให้กับคนทั้งประเทศ ผู้ซื้อมีจำนวนมาก แต่ผู้ผลิตมีน้อยนิดเดียว ผูกขาดก็ส่งผลกระทบหลายเรื่อง เรื่องสำคัญก็คือเรื่องโลกร้อน ซึ่งเราไปตกลงที่ปารีสเอาไว้จนต้องลด 15 เปอร์เซ็นต์ 20 เปอร์เซ็นต์ ก็ว่าไป หนึ่งโลกร้อน สองสร้างความเหลื่อมล้ำเพราะว่าคนส่วนใหญ่ถูกบังคับให้ซื้ออย่างเดียว ผลิตไม่ได้ ผู้ผลิตก็ผูกขาด ผู้ซื้อกระจายทั่วประเทศ ทั้งๆ ที่เรามีแหล่งพลังงานของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นแดด ลม และชีวมวล ทีนี้แดดกับลมเมื่อก่อนมันแพง โดยเฉพาะแสงแดด พลังงานโซลาร์นี้มันแพงมาก หน่วยหนึ่งเราเรียกว่าสู้ไม่ไหว ส่วนชีวมวลก็เรามีเองของเหลือจากการเกษตร เช่น ปาล์ม ซึ่งมีทะลายปาล์มหรือน้ำเสียจากจำนวนการสกัดน้ำมันปาล์ม ซึ่งตัวนี้เราเอาทำเป็นก๊าซชีวภาพได้ มีคุณสมบัติเหมือนแก๊สที่เขาขุดจากใต้ดิน เหมือนกันเลย เพียงแต่ว่ามันกระจายอยู่ตามท้องถิ่น จังหวัด ใกล้ๆ โรงผลิตน้ำมัน เสร็จแล้วสิ่งเหล่านี้มันก็ถูก ใช้คำว่าถูกกีดกันจากรัฐ เช่น อ้างว่าไม่เสถียรบ้าง ไม่มั่นคงบ้าง ซึ่งมันก็จริงบ้างไม่จริงบ้าง สายส่งเต็ม ที่เราได้ยินกันอยู่นะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว บางทีผมใช้คำว่าจริงบ้างไม่จริงบ้าง เช่นคำว่า “ไม่เสถียร” น้ำมันปาล์มซึ่งตอนนี้ออกมาล่าสุด คลิปไม่บอกชื่อผู้ผลิตด้วย ที่บอกมานี้ บอกว่าน้ำมันปาล์มนี้ ของเสียจากน้ำมันปาล์มมันเป็นฤดูกาล แล้วบางฤดูกาลก็ขาด แปลว่าอย่างไง ซึ่งถ้าคุณอนุญาตให้เขาทำ เขาก็สามารถเก็บเชื้อเพลิงไว้ใช้ทั้งปีได้ ปาล์มนี้มันมีฤดูเหมือนกัน แต่ว่านิดเดียวเอง ต่ำสุดกับสูงสุดกระจายกันอยู่ทั้งปีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเขาก็สามารถสต็อกเชื้อเพลิงเอาไว้ได้ พื้นที่เยอะแยะไป แล้วที่ผมไปดูในโรงน้ำมันปาล์มที่กระบี่ พวกทหารพาไปดู ตอนนั้นมีปัญหาเรื่องกรรมการสามฝ่าย ก็มีฝ่ายทหาร ฝ่ายชาวบ้าน และฝ่ายทุน ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและชาวบ้านค้าน พึ่งไปดูข้อมูลเขาบอกว่าเขาสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง 24 ชม. 300 วันติดต่อกันไม่มีปัญหา เพราะฉะนั้นถ้าคุณจะเอาทั้งปีเหรอ เขาก็จัดการได้ ใช่ไหม จัดการได้ มีหลายโรงที่ขออนุญาตอยู่ ถ้าเขายังไม่ได้รับอนุญาต แล้วเขาอ้างว่าสายส่งเต็ม ที่จริงคำว่าสายส่งเต็มนี้มันเป็นการบิดเบือน ในต่างประเทศอย่างเยอรมันเขาจะมีกฎหมายเป็นระเบียบเลย เขาบอกว่ามันอยู่ที่การจัดลำดับความสำคัญว่าจะใช้ใครใช้ก่อน สายส่งก็เหมือนกับถนนจะให้ใครวิ่งก่อน อย่างในกรุงเทพฯ ห้ามรถสิบล้อวิ่งเวลานั้นเวลานี้ มันห้ามได้ สายส่งก็เหมือนกัน เขาจะให้ผู้ที่ผลิตจากเชื้อเพลิงที่เป็นมิตร พลังงานหมุนเวียนนี้ส่งได้ก่อน ข้อที่หนึ่งให้พวกนี้ส่งได้ก่อนโดยที่ไม่จำกัดจำนวน สองค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นภาระของคนทั้งประเทศ ข้อหนึ่งส่งได้ก่อน ข้อสองไม่จำกัดจำนวน และข้อสามก็คือว่าถ้าค่าใช้จ่ายสูงขึ้นก็เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ ทีนี้เราก็มาบอกว่ามันเต็ม ที่มันเต็มเพราะว่าอะไร เพราะว่าเราไปให้พลังงานฟอสซิลส่งก่อน ขายได้ก่อน เพราะการบิดเบือนความจริง ที่จริงจัดลำดับความสำคัญอย่างนี้ ทำไมต้องจัดลำดับความสำคัญอย่างนี้ เพราะว่าเชื้อเพลิง พลังงานหมุนเวียน พลังงานแสงแดด พลังงานลม หรือชีวมวลนี้มันกระจายอยู่กับคนทั่วไปๆ ก็ให้เขาผลิตไปก่อน และมันไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แล้วมันก็กระจายรายได้ แล้วมันก็ไปเพิ่มผลิตจากปาล์ม ใช่ไหม มันไปทำให้ราคาปาล์มสูงขึ้นได้ เพราะว่าเขาขายไฟฟ้าได้ เอากำไรจากไฟฟ้าไปหมุนปาล์มได้ ราคาอาจจะสูงขึ้น มีตัวเลขอยู่ แต่ผมจำตัวเลขไม่ได้ เรื่องพลังงานต้องคิดให้เป็นระบบเรื่องของพลังงานมันต้องคิดทั้งระบบ จะคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้ เรื่องกำไรขาดทุนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องคิดถึงสิ่งแวดล้อม น้ำเสียคุณปล่อยไป คุณไปทำลายลูกหอยลูกปู ซึ่งเป็นอาหารของชาวบ้านอีก อาหารของคนทั้งประเทศอีก ต้องคิดเป็นทั้งระบบเลย  พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียนสถานะตอนนี้อยู่ตรงไหน พลังงานทดแทน คำว่าทดแทนนี้ผมค้าน คือคำว่า “ทดแทน” มันไม่มีศัพท์นี้ ที่ถูกต้องใช้ “พลังงานหมุนเวียน” เพราะคำว่า “ทดแทน” ไม่มีนิยาม เอาอะไรไปทดแทนอะไร เอาถ่านหินไปทดแทนนิวเคลียร์ หรือ เอานิวเคลียร์มาแทนก๊าซธรรมชาติ มันก็ทดแทนกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นมันทำให้เบลอหมด ความหมายมันก็เบลอหมด แท้ที่จริงแล้วก็คือ พลังงานหมุนเวียนกับพลังงานฟอสซิล พลังงานจะมีสองตัวเท่านั้น คือ หมุนเวียน กับ ฟอสซิล ส่วนนิวเคลียร์นี้มันตีความยากนิดหนึ่ง มันจะเป็นนิวเคลียร์ก็ไม่ใช่ มันจะเป็นหมุนเวียนก็ไม่ใช่ แต่รวมแล้วมันรวมศูนย์มันผูกขาด แล้วมันก็มีน้อยอยู่ เพราะฉะนั้นเราก็พูดสองอย่างคือ ฟอสซิล กับ หมุนเวียน renewable  แปลว่าเอามาใช้ใหม่ได้ มันไม่หมด renew แปลว่า มันเหมือนหางจิ้งจก พอขาดไปมันก็สร้างใหม่ มันไม่หมด        พลังงานหมุนเวียนที่สำคัญ คือโซลาร์หรือแสงแดด ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพราะว่าแดดอยู่ที่หัวเรา เราเข้าถึงได้ง่ายมากเลย มีเยอะมาก แต่ฟอสซิลอยู่ใต้ดิน 4-5 พันเมตร มีคนไม่กี่คนในโลกนี้ที่จะใช้ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมาส่งเสริมตรงนี้ว่า ผู้บริโภคที่เคยถูกบังคับให้ซื้ออย่างเดียว เราก็เลยสามารถที่จะผลิตเองได้ด้วย ขายได้ด้วย ผู้บริโภคก็จะกลายมาเป็นเรียกว่าเป็น Pro-Sumer ก็คือ Production บวกกับ Consumer เป็นศัพท์เกิดมา 30-40 ปีแล้ว ของ ท็อปปา ถ้าผมจำไม่ผิดนะ เดวิล ทอปปา เพราะฉะนั้นไฟฟ้านี้ในความเป็นจริงมันสามารถเดินได้สองทาง ภายในสายส่งไฟฟ้าเดินได้สองทาง ไปก็ได้กลับก็ได้ แต่พอเรามาใช้ในบ้านเรา มันแค่ไหลเข้าบ้านเราอย่างเดียว มันไม่ได้ไหลออกจากบ้านเรา แล้วขณะเดียวกันเงินของเราก็ไหลสวนกับไฟฟ้า เงินไหลออกจากกระเป๋าเราไปที่ต้นทาง แต่ไฟฟ้ามาจากต้นทางเป็นพันพันกิโลเมตร จากแม่เมาะเข้ามาถึงกรุงเทพฯ แล้วเงินเราก็ไหลจากกรุงเทพฯ ไปสู่บริษัทไฟฟ้า ซึ่งมันผิดหลัง ทั้งๆ ที่เขาให้เดินสองทางได้ เราเดินสองทางก็คือว่า ทันทีที่เราผลิตเองได้ก็ส่งออก ส่งออกจากหลังคาบ้านเรา พอกลางวันเราผลิตจากโซลาร์เซลล์ ปกติคนส่วนใหญ่เขาไม่อยู่บ้านกัน เราก็ไม่ได้ใช้ไฟในบ้าน เพราะฉะนั้นพอเราผลิตได้มันก็นี้มันก็ต้องส่งไปสาย ตอนกลับบ้าน พระอาทิตย์ก็กลับบ้านเหมือนกัน พอพระอาทิตย์กลับบ้านเราไม่มีไฟฟ้าใช้ เมื่อเราไม่มีไฟฟ้าใช้เราก็เอาไฟฟ้าจากสายส่งเข้ามาใช้ แล้วพอสิ้นเดือนก็หักลบกลบหนี้กัน ที่เราส่งออกไปกับที่เรานำเข้ามาใช้มากกว่ากัน คิดบัญชีกัน เรียกว่าเป็น net metering ซึ่งตรงนี้เขาใช้กันทั่วโลก ไม่ว่าประเทศเคนยา ปากีสถาน อินเดีย อเมริกา ออสเตรเลีย เยอรมัน ฯลฯ เขาก็ใช้ตัวนี้กันทั้งนั้น ทั่วโลกเขาก็ใช้ตัวนี้กัน แต่บ้านเรานี้ไม่ยอมให้ใช้ เนื่องจากอ้างเหตุผลสารพัด เช่น ไม่เสถียร สายส่งเต็ม ต้องเสียค่าแบ็คอัพไฟฟ้าไว้ให้กับกลางคืน เขาเรียกแบ็คอัพ เพราะว่า พอเราจะใช้ พระอาทิตย์ก็กลับบ้านแล้ว ใช่ไหม ก็ดึงเข้ามาตอนค่ำ ไฟฟ้าเก็บไว้ได้ดึงเข้ามาใช้ ตรงนี้เขาไปอ้างว่าเป็นค่าแบ็คอัพ ซึ่งผมเรียกว่าเป็น ภาษีแดด ตอนนี้รัฐไทยเก็บจากบริษัทใหญ่ๆ อยู่ แต่ในหลังคาบ้านเขาไม่ยอมให้ติด ถ้าติดแล้วไฟย้อนกลับเขาก็จะมาเปลี่ยนมิเตอร์เป็นดิจิทัล ซึ่งทำให้แรงดึงดูดในการที่เราจะติดตั้งโซลาร์เซลล์นี้มันไม่มี มันก็เลยไม่เกิด ที่เรากำลังทำเรื่องโครงการโซลาร์ กองทุนแสงอาทิตย์นี้ ก็เกิดขึ้นจากตรงนี้ ซึ่งเขาทำกันทั่วโลกแล้ว แต่บ้านเราไม่ทำกองทุนโซลาร์แท้จริงคืออะไรกองทุนโซลาร์นี้เราเริ่มต้นด้วยการหาทุนเพื่อที่จะไปติดโซลาร์เซลล์ให้โรงพยาบาล เริ่มต้นโรงพยาบาลก่อน ต่อไปจะเป็นโรงเรียนและเป็นชุมชนต่างๆ ก็ว่าไป ทำไมเราถึงเลือกโรงพยาบาล เพราะว่าตอนนี้โรงพยาบาลขาดทุนอยู่ ต้องจ่ายเงินโรงพยาบาลเดือนละเป็นหลายแสน บางทีก็หลายล้าน เพื่อที่จะเสียค่าไฟฟ้า ทั้งๆ ที่หลังคาก็ว่างอยู่ โรงพยาบาลนี่กลางวันก็ใช้ไฟ เสาร์อาทิตย์ก็ใช้ไฟ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นเรื่องอะไรเราจะปล่อยให้พลังงานมันหายไป เราก็มาผลิต ทีนี้เหมือนที่หมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา พูด เราผลิตไฟฟ้าจากหลังคานี้มันไม่ใช่ได้แค่ไฟฟ้าอย่างเดียว มันได้จิตสำนึกมาด้วย จิตสำนึกของคน ของพยาบาล ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งตรงนี้จิตสำนึกมันสร้างได้ แต่ว่ามันค่อยๆ เกิดจากโครงการเหล่านี้ เพราะฉะนั้น เราหวังว่า “โครงการพลังงานกองทุนแสงอาทิตย์” เริ่มจากจุดเล็กๆ เอาเงินที่คนบริจาค ซึ่งเมื่อก่อนนี้ก็บริจาคให้วัด ส่วนใหญ่นะ ต่อไปนี้ถ้าคิดถึงเรื่องคนยากคนจนทางโรงพยาบาล เราก็มาที่ชุมชนในโรงพยาบาลเขา ให้เขาลดค่าไฟแล้วเอาเงินที่ลดได้ไปซื้อยาซื้อแพมเพิสให้คนไข้ ซึ่งยากไร้อยู่ ก็เป็นการทำบุญที่อยู่ได้นาน โซลาร์เซลลล์นี้จะอยู่ได้ประมาณ 25 ปี เพราะฉะนั้นถ้าวันนี้เราคิดว่า 1 กิโลวัตต์นี้ประมาณ 35,000 บาท แต่มันอยู่ได้ 25 ปี มันจะได้ 5 เท่า สมมติเราทำบุญไป 100 บาท มันจะทวีคูณไปเป็น 500 บาท เพราะว่าไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้นมันสูงกว่าการลงทุน การลงทุนนี้คุ้มทุนนี้เขาเรียกว่าประมาณ 5-6 ปีเท่านั้น นี่เป็นการทำบุญในมิติใหม่ เงินเราจะหมุนไปๆ อย่างรวดเร็ว 5 เท่า ซึ่งตอนนี้เราก็มีโครงการที่จะติดอยู่ 7 โรงพยาบาล 30 กิโลวัตต์ ก็คิดๆ ประมาณ 1.1 ล้านต่อโรง 7 โรงก็ประมาณ 7.7 ล้าน ซึ่งตอนนี้เมื่อกี้ดูตัวเลขล่าสุด เปิดตัวมาตั้งแต่วันที่ 29 วันนี้ก็ประมาณ 4-5 วัน ตอนนี้เราได้ 6 หมื่นแล้ว ก็ทยอยเข้ามา ที่สำคัญเงินบริจาคหักภาษีได้ เงินบริจาคหากบริจาคตอนนี้ถึงสิ้นเดือนธันวาฯ หักของปีนี้ได้ บริจาคปีหน้าก็หักภาษีของปีหน้า ดังนั้นก็ขอเชิญชวนช่วยกันบริจาค เพราะว่าบางโรงพยาบาล เมื่อก่อนที่เชิญหมอมา ผอ.โรงพยาบาลชุมพร บอกว่าโรงพยาบาลเขาถูกจัดระดับเป็นระดับ 7 ถ้าเป็นเอกชนก็ล้มละลายแล้ว เป็นหนี้เยอะ เป็นหนี้อยู่ 85 ล้านจากเงินได้ต่อหัวที่ สปสช.เขาให้มา แล้วหมอเขาก็จะทำให้ลดลงมาแล้วเหลือ 65 เป็นหนี้อยู่ 65 ล้าน แต่บางโรงก็ไม่ถึง แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นหนี้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นการช่วยโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการช่วยเชิงโครงสร้างเชิงระยะยาวให้เขาพึ่งตัวเองได้ระดับหนึ่ง แล้วก็ไปสร้างจิตสำนึกให้กับคนของโรงพยาบาลเองด้วยพลังงานโซลาร์จะช่วยโรงพยาบาลประหยัดเดือนหนึ่งกี่เปอร์เซ็นต์30 กิโลวัตต์นี้ก็ประมาณ เอา 30 กิโลวัตต์คูณด้วย 135 ก็จะได้เป็นหน่วยต่อปี แล้วคูณด้วย 4.5 บาท เท่ากับ 18,000 ต่อเดือน แล้วคูณด้วย 12 เท่ากับ 210,000 นี่คือประหยัด 2 แสนต่อปี เอาตัวเลขกลมๆ แล้วมันอยู่ได้ถึง 25 ปี ก็เอา 25 คูณ เท่ากับ 5 ล้าน(จากที่เขาขาดทุนก็จะช่วยตรงนี้) เราลงทุน 1.1 ล้าน ใน 25 ปี เราจะได้ 5.5 ล้าน นี่คือพลังบุญที่มันทวีคูณขึ้นไป(คิดที่ค่าไฟฟ้าราคาอยู่ที่ 4.5 บาทต่อหน่วย)        สถานการณ์ต่างๆ เราจะอัพเดทตลอด สามารถเข้าไปดูที่เว็บไซต์ได้ thailandsolarfund.org บริจาคที่นั่นแล้วก็มีใบเสร็จออกมาให้ได้เลย ซึ่งออนไลน์ ไม่ต้องมาบริจาคที่มูลนิธิก็ได้ ทั้งโครงการทั้งหมดนี้อยู่ในนามของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทันทีที่เราได้ 1.1 ล้าน เราก็จะทำที่โรงพยาบาลแรก ซึ่งยังไม่รู้ว่าโรงพยาบาลไหน  ก็คัดเลือกกันไว้แล้ว ดูความเหมาะสม ดูความกระตือรือร้นของแต่ละโรงพยาบาลด้วย เขาก็เงินเข้ามาสมทบ คนของเขาตื่นตัวไหม เสร็จโรงที่หนึ่งก็ดำเนินการโรงที่สอง ระหว่างนั้นเราก็รับบริจาคไปเรื่อยๆ ไม่ได้กำหนด แต่ว่าเดือนมกราฯ นี้เราคาดหวังว่าควรจะได้โรงแรก พี่ตูนวิ่งได้เยอะแยะ แล้วเราเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการนี้ประมาณ 15 องค์กร ซึ่งแต่ละองค์กรก็จะมีเครือข่ายของตัวเองอยู่ ท่านพระครูวิมลปัญญาคุณเป็นประธาน ที่สำคัญกว่านั้นก็คือว่าเราจะได้จิตสำนึกของคนเพื่อมาลดโลกร้อน ขณะเดียวกันเราจะส่งแรงให้รัฐขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เพราะรัฐกีดกัน net metering อยู่ แต่ถ้ามีกระแสแบบนี้ สร้างกระแสแบบนี้ มีข้อแนะนำอย่างไรสำหรับการเริ่มติดตั้งโซลาร์เซลล์คือตัวบ้านผมนี้ยังไม่ติดเลย เพราะว่าคนที่เขาติดแล้ว คนที่ค้านโรงไฟฟ้า สมมติค้านรัฐหน่อยก็จะถูกกลั่นแกล้ง เป็นที่หมายปอง ถ้าไปติดปุ๊บเขาจะมาถอดมิเตอร์ออกไป ทำให้ไฟฟ้าออกไปไม่ได้ หรือตอนนี้ก็ต้องติดอุปกรณ์ตัวหนึ่งเพื่อไม่ให้ไฟออก มันก็เลยลงทุนไปเปล่าประโยชน์ ฉะนั้นไม่คุ้มทุน คือคนติดแล้วนี่ลงทุน 1 กิโลวัตต์ ประมาณ 35,000 บาทใช่ไหม ถ้า 600 มันก็ประมาณ 2-25,000 บาท ประมาณนั้น พอติดแล้วมันจะจัดการกันเอง ไฟฟ้าไม่ต้องไปยุ่งมัน จะกระติกน้ำร้อนหรือว่าดูทีวีมันจัดการกันเอง (ลงทุนเล็กๆ อย่างนี้ก่อน) ใช่ แล้วมันจะคุ้มทุนประมาณ 4-5 ปีคือรอเวลาที่จะมีโครงการรับซื้อไฟใช่ ที่ออสเตรเลียเขาประกาศเป็นนโยบายแล้ว ติดแบตเตอรี่ 1 แสนหลัง ภายในกี่ปีผมจำตัวเลขไม่ได้ บ้านละ 2,000 เหรียญที่รัฐจะอุดหนุน  แต่สำหรับประเทศไทยเราไม่รอแล้ว เรารณรงค์แล้ว รณรงค์เรื่องติดโซลาร์เซลล์ในโรงพยาบาล ในขณะเดียวกันก็สร้างจิตสำนึกสร้างการเรียนรู้ของสังคมไทยว่า เราสามารถพึ่งตัวเองได้ว่าแสงอาทิตย์มีประโยชน์แล้วคนเหล่านี้ คนเล็กๆ เหล่านี้มารวมตัวกันบริจาคคนละร้อยสองร้อยเพื่อไปให้กับโรงพยาบาล ให้เขาเห็นสิ่งนั้น ในขณะเดียวกันเขาก็เรียนรู้ เมื่อเขาเรียนรู้เขาก็ไปคิดเองได้ว่าเขาควรจะทำอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้ เขาควรจะไปผลักนโยบายในระดับรัฐยังไง เขาควรจะปรับปรุงตัวเองยังไง         ผมเคยพูดไว้วันที่แถลงข่าวว่าคนเล็กๆ เหมือนกับผีเสื้อขยับปีก บางจังหวัดสามารถทำให้เกิดพายุทอนาโดได้ แต่มันไม่ได้เกิดทันทีหรอกนะ ขยับปีก ทฤษฎีเขาว่า ใช้หลักผีเสื้อขยับปีกที่ฮองกงวันนี้ อาจจะส่งผลให้เกิดพายุทอนาโดในสหรัฐอเมริกาในอีก 3 เดือนต่อไป เพราะฉะนั้นของเราไม่ใช่ขยับปุ๊บได้ปั๊บ แต่ตรงนี้มันเป็นการสะสมพลังไปในสังคมว่าคนเล็กๆ อย่างเราก็มีอำนาจ ก็มีพลังที่จะสามารถแสดงพลังออกมาให้สังคมได้เห็น และร่วมกันสร้างโลกใหม่ที่เราอยากจะเห็น ที่ไม่ร้อน ที่จะแก้ปัญหาโลกร้อน โลกร้อนเป็นเรื่องที่ซีเรียสมาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 โอคราท็อกซิน เอ ในผลิตภัณฑ์เมล็ดกาแฟคั่ว

กาแฟเป็นเครื่องดื่มยอดนิยม โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงาน ที่ส่วนใหญ่ต้องพึ่งพากาแฟเป็นจุดเริ่มต้นของเช้าวันสดใส เพื่อสร้างความตื่นตัวก่อนเริ่มงาน ไม่ว่ากาแฟกระป๋อง กาแฟซองสำเร็จรูป หรือกาแฟสด ต่างก็สร้างความกระชุ่มกระชวยให้กับคอกาแฟได้ไม่ต่างกัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมความชื่นชอบของแต่ละคน             กาแฟ 2 สายพันธุ์ที่นิยมปลูกในไทย คือ โรบัสต้า ที่ปลูกมากในภาคใต้ คิดเป็นร้อยละ 99 ของกาแฟที่ปลูกในประเทศ และ อะราบิก้า (ร้อยละ 1) ในภาคเหนือ ทั้งสองสายพันธุ์แม้มีกระบวนการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่แตกต่างกัน  แต่ในระหว่าง กระบวนการเก็บเกี่ยว สภาพแวดล้อมและภาวะอากาศ ตลอดจนระยะเวลาระหว่างการเก็บรักษาเมล็ดกาแฟ ทุกอย่างมีผลเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อราชนิด ไมโคท็อกซิน (mycotoxins) ที่สามารถผลิตสารพิษ ชื่อ โอคราท็อกซิน เอ (Ochratoxin A; OTA)  ที่เป็นอันตรายต่อการบริโภค ได้ไม่ต่างกันและเมล็ดกาแฟที่ปนเปื้อนสารพิษโอคราท็อกซินแล้ว สารพิษนี้ยังคงตกค้างในเมล็ดต่อไป แม้ว่าจะผ่านการตากแห้ง หรือนำเมล็ดไปคั่ว ก็ไม่สามารถทำลายสารพิษได้ ดังนั้นการควบคุมปริมาณสารพิษในเมล็ดให้อยู่ระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค จึงต้องใช้วิธีการป้องกันในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตกาแฟ                 ขณะเดียวกันการเก็บรักษาเมล็ดกาแฟในบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถป้องกันความชื้นได้ ก็เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อรา(mold)  เพราะเมล็ดกาแฟที่แห้งสามารถดูดความชื้นกลับได้ การเก็บรักษาจึงต้องมีการควบคุมความชื้นและอุณหภูมิในห้องเก็บให้คงที่ มีระบบระบายอากาศออกเป็นระยะๆ            เพราะกาแฟเป็นที่นิยมมาก หลายคนยังชื่นชอบกาแฟแบรนด์ดังเพราะกลิ่นรสที่มีความพิเศษด้วย ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังทั้งเชื้อราและสารพิษจากเชื้อรา ฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังฯ จึงสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์เมล็ดกาแฟคั่ว จำนวน 20 ตัวอย่าง จากห้างสรรพสินค้า และร้านกาแฟสด ในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม 2561 โดยมีทั้งเมล็ดกาแฟที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ มาสุ่มตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของเชื้อรา และ สารพิษโอคราท็อกซิน เอ (Ochratoxin A) มาตรฐานการปนเปื้อนของ OTA ในเมล็ดกาแฟคั่ว ตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป กำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตให้พบสารพิษโอคราท็อกซิน เอ (OTA) ในเมล็ดกาแฟคั่ว และกาแฟคั่วบดได้ ไม่เกิน 5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม (ug/kg) และปนเปื้อนในกาแฟสำเร็จรูปพร้อมชงได้ไม่เกิน 10 ug/kg ส่วนองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เสนอปริมาณ OTA ที่ยอมรับให้บริโภคได้ใน 1 สัปดาห์ ไม่ควรเกิน 100 นาโนกรัม/กิโลกรัม (ng/kg) ของน้ำหนักตัว (JECFA, 2001) สรุปผลการทดสอบผลการตรวจวิเคราะห์หาเชื้อราและสารพิษโอคราท็อกซิน เอ จากตัวอย่างผลิตภัณฑ์เมล็ดกาแฟคั่ว จำนวน 20 ตัวอย่าง พบว่า ทุกตัวอย่าง ตรวจพบเชื้อราปริมาณน้อยกว่า 10 CFU/g และตรวจไม่พบสารพิษโอคราท็อกซิน เอ (OTA)ข้อสังเกตวันผลิต วันหมดอายุ หรือ วันที่ควรบริโภคก่อน บนบรรจุภัณฑ์- พบผลิตภัณฑ์ที่ ไม่ได้ระบุ วันผลิต แต่ระบุวันหมดอายุ หรือวันที่ควรบริโภคก่อน จำนวน 6 ตัวอย่าง            ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ Espresso Roast (Dark Roast) ยี่ห้อ STARBUCKS, ผลิตภัณฑ์ Doitung Espresso Roast ยี่ห้อ Doitung, ผลิตภัณฑ์ Espresso Italian-style, traditional, dark-roasted espresso ยี่ห้อ BONCAFE, ผลิตภัณฑ์ Premium Blend Medium Dark Roast ยี่ห้อ Suzuki Coffee, ผลิตภัณฑ์ Roasted Coffee Bean ยี่ห้อ illy และ ผลิตภัณฑ์ Coffee Bean Roasted Coffee Bean ยี่ห้อ COFFMAN- และพบผลิตภัณฑ์ที่ ระบุวันผลิต แต่ไม่ได้ระบุวันหมดอายุหรือวันที่ควรบริโภคก่อน จำนวน 4 ตัวอย่าง            ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ The Impression of Espresso Finest 100% Arabica (Premium A5 Dark Roast Level) ยี่ห้อ Bluekoff, ผลิตภัณฑ์ Café KALDI Fresh Roasted Coffee (Premium Dark) ยี่ห้อ KALDI, Roasted Coffee Beans : House Blend ยี่ห้อ mezzo และ ผลิตภัณฑ์ Full City Roast ยี่ห้อ Akha Ama ตารางผลตรวจวิเคราะห์เชื้อราและสารพิษโอคราท็อกซิน เอ ในผลิตภัณฑ์เมล็ดกาแฟคั่ว (เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เดือน กันยายน - ตุลาคม 2561)หมายเหตุ หน่วย CFU/g หมายถึง Colony forming unit เป็นหน่วยที่ได้จากวิธีตรวจนับปริมาณกลุ่มจุลินทรีย์ หน่วย ug/kg หมายถึง ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักเมล็ดกาแฟคั่ว หน่วย ug/kg หมายถึง ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักเมล็ดกาแฟคั่ว หน่วย ug/kg หมายถึง ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักเมล็ดกาแฟคั่ว หน่วย ug/kg หมายถึง ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักเมล็ดกาแฟคั่ว หน่วย ug/kg หมายถึง ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักเมล็ดกาแฟคั่ว* การตรวจวิเคราะห์เชื้อรา ใช้วิธี FDA BAM Online, 2001 (Chapter 18). ** การตรวจวิเคราะห์สารพิษโอคราท็อกซิน เอ ใช้วิธี In house method SOP LBLC-13024 based on Agronomy Research 9 (Special Issue II), 461-468,2011, HPLC-MS-MS.ข้อแนะนำในการเก็บรักษาเมล็ดกาแฟคั่ว        แม้ว่าเมล็ดกาแฟคั่วในบรรจุภัณฑ์จะปลอดภัยจากเชื้อราและสารพิษโอคราท็อกซิน เอ (OTA)  แต่หลังจากเปิดห่อบรรจุภัณฑ์เพื่อนำเมล็ดกาแฟไปบด ก็เป็นช่วงเวลาที่เมล็ดกาแฟอาจได้รับความชื้นจนเกิดเชื้อราได้ จึงควรบดเมล็ดกาแฟเฉพาะในปริมาณที่พอเหมาะกับการบริโภค (ผงกาแฟจะมีพื้นที่สัมผัสอากาศมาก กว่ากาแฟที่อยู่ในรูปแบบเมล็ด ทำให้กาแฟเสื่อมคุณภาพเร็วขึ้น) และปิดผนึกห่อเมล็ดกาแฟคั่วส่วนที่เหลือให้มิดชิด (อาจเทเก็บเอาไว้ในขวดโหลที่ปิดสนิท) นำผงกาแฟที่บดแล้วใส่กล่องสุญญากาศ เก็บไว้ในที่แห้งและไม่มีความชื้น      นอกจากนี้ ยังสามารถนำผงกาแฟที่บดแล้วใส่กล่องสุญญากาศ แช่ไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาก็ได้ เป็นการลดโอกาสที่จะเกิดกลิ่นหืนจากน้ำมันในผงกาแฟ ซึ่งผงกาแฟจะเสื่อมสภาพเร็ว หากทิ้งไว้ให้สัมผัสกับอากาศและความชื้น ควรใช้ช้อนที่แห้งสนิทตักผงกาแฟ เพื่อเก็บรักษาผงกาแฟสุดรักสุดโปรด ให้คงกลิ่นความหอม และปลอดภัยจากเชื้อราแหล่งข้อมูล:- เว็บไซต์ สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม - งานวิจัย การตรวจสอบโอคราทอกซินเอในกาแฟคั่วที่จำหน่ายในกรุงเทพมหานคร (สิทธิพร ชมภูรัตน์ และคณะ) - ไทยรัฐออนไลน์ สารพิษจากเชื้อรา ในกาแฟคั่วบด ( - งานวิจัย การตรวจสอบโอคราทอกซินเอในกาแฟคั่วที่จำหน่ายในกรุงเทพมหานคร (สิทธิพร ชมภูรัตน์ และคณะ) - ไทยรัฐออนไลน์ สารพิษจากเชื้อรา ในกาแฟคั่วบด ( - งานวิจัย การตรวจสอบโอคราทอกซินเอในกาแฟคั่วที่จำหน่ายในกรุงเทพมหานคร (สิทธิพร ชมภูรัตน์ และคณะ) - ไทยรัฐออนไลน์ สารพิษจากเชื้อรา ในกาแฟคั่วบด (https://www.thairath.co.th/content/360759) - กรมวิชาการเกษตร. - กรมวิชาการเกษตร. - กรมวิชาการเกษตร. 2548. สารพิษ ออคราทอกซิน เอ และมาตรฐานคุณภาพเมล็ดกาแฟ. สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กรุงเทพฯ แนะนำทำความรู้จัก ‘ โอคราท็อกซิน เอ ’ โอคราท็อกซิน เอ (Ochratoxin A; OTA) คือ สารพิษที่ถูกผลิตขึ้นโดยเชื้อราไมโคท็อกซิน (Mycotoxin) ที่ชื่อ Aspergillus achraceus และ Penicillium viridicatum โดยที่พบจะมี 2 ชนิด คือ A และ B แต่ที่พบตามธรรมชาติคือชนิด A ซึ่งมักปนเปื้อนอยู่ในเมล็ดธัญชาติ และผลไม้อบแห้ง เช่น ถั่วเมล็ดแห้ง เมล็ดโกโก้ องุ่นอบแห้ง รวมถึงเมล็ดกาแฟ และอาจพบในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ หากว่าสัตว์กินอาหารที่ทำจากพืชที่ปนเปื้อนสารพิษนี้เข้าไป สารพิษโอคราท็อกซิน เอ หรือ OTA มีโครงสร้างที่มีความคงตัว ทนความร้อน ไม่สามารถถูกทำลายที่อุณหภูมิหุงต้มปกติได้ ชอบความชื้น และอุณหภูมิที่ 25 – 28 องศาเซลเซียส OTA เป็นสารพิษที่มีพิษต่อตับและไต หากร่างกายได้รับ OTA สะสมอยู่เป็นจำนวนมาก จะทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อ ไตเกิดอาการติดเชื้อจนอาจนำไปสู่การเกิดเนื้องอกในต่อมไต และมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง  OTA ยังเป็นสารพิษที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง ดังนั้นจึงควรหาวิธีลดปริมาณ OTA ที่พบในอาหารให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่เทคโนโลยีการผลิตอาหารจะสามารถทำได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 รองเท้าสำหรับขาลุย

         ฉลาดซื้อฉบับนี้พาสมาชิกสายรักธรรมชาติบุกป่าฝ่าดงไปดูผลทดสอบรองเท้ารัดส้นแบบออฟโร้ดด้วยฟังก์ชันที่ “พิเศษ” ของมัน สนนราคาจึงค่อนข้างสูง หลายคนจึงยังลังเลว่าจะซื้อดีหรือไม่ ถ้าจะซื้อจะเลือกรุ่นไหน ตัวรองเท้าควรจะเป็นหนังแท้ หนังกลับ หรือหนังเทียม พื้นรองเท้าควรเป็นโฟม ยางพารา หรือเทอร์โทพลาสติก โชคดีที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) ที่เราเป็นสมาชิก เขาทำการทดสอบเอาไว้ 18 รุ่น เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลายยี่ห้อมีขายในเมืองไทยด้วยคะแนนเต็ม 100 คะแนนในการทดสอบแบ่งออกเป็น- ผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการ       70 คะแนนเป็นการวัดประสิทธิภาพทางเทคนิคของรองเท้า เช่น การกันลื่น (ทั้งบนพื้นดินและพื้นกระเบื้อง) ความแข็งแรงของส่วนประกอบ (ห่วง สายรัด และพื้นรองเท้า) และอายุการใช้งาน (ความทนทานต่อการเสียดสี การบิดงอ และความคงทนของสี) - ความพึงพอใจของผู้สวมใส่     30 คะแนนอาสาสมัครจะให้ความเห็นเรื่องความรู้สึกสบายในการสวมใส่ ความยากง่ายในการสวม/ถอด การระบายอากาศ การทรงตัวเมื่อเดินบนพื้นผิวต่างๆ รวมถึงความพึงพอใจต่อรูปลักษณ์ภายนอกของรองเท้า        โดยรวมแล้วรุ่นที่ได้คะแนนดีมีราคาค่อนข้างสูง แต่ก็มีรองเท้าราคาสูงบางรุ่นได้คะแนนอันดับล่างๆ เหมือนกัน พลิกหน้าต่อไปแล้วจะได้รู้กันว่ารองเท้ารุ่นไหนดีงามสมราคา (และคำร่ำลือ) กว่ากัน * ราคาที่แสดงเป็นราคาขณะที่ซื้อสินค้ามาทดสอบ และเป็นการแปลงจากค่าเงินยูโรเป็นเงินบาทโดยปัดเศษ ก่อนตัดสินใจซื้อโปรดตรวจสอบราคาอีกครั้ง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 213 ผลไม้อบแห้ง ปริมาณพลังงานและน้ำตาล

             ผลไม้แห้ง เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลไม้ จัดอยู่ในกลุ่มอาหารแห้ง(dried food) หรืออาหารกึ่งแห้ง การอบแห้งผลไม้เป็นหนึ่งในวิธีการดั้งเดิมที่ใช้ในการถนอมรักษาอาหารให้สามารถเก็บรักษาได้ยาวนาน โดยใช้หลักการในการลดความชื้นของอาหารให้อยู่ในระดับที่เชื้อจุลินทรีย์ไม่สามารถเจริญได้ การอบแห้งโดยทั่วไปจะอาศัยพลังงานความร้อนในการระเหยน้ำออก ผลไม้อบแห้งที่ฉลาดซื้อเลือกมาดูปริมาณพลังงานและน้ำตาลในคราวนี้ เป็นผลไม้กึ่งแห้งที่มีวางจำหน่ายบนชั้นวางทั่วไปในห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกและร้านสะดวกซื้อ ได้แก่ ลูกเกด ลูกพรุน และมะม่วง             ผลไม้อบแห้งสามารถใช้เป็นของว่างที่มีประโยชน์ทดแทนขนมหวานหรือขนมขบเคี้ยวได้ อย่างไรก็ตามบางผลิตภัณฑ์มีการปรุงแต่งให้มีรสหวานเพิ่มขึ้นจากความหวานดั้งเดิมที่อยู่ในเนื้อผลไม้ จึงควรตรวจสอบฉลากเพื่อรับประทานให้เหมาะสม นอกจากนี้กลุ่มผลไม้อบแห้งนี้ในกระบวนการผลิตจะมีการใช้สารประเภทซัลไฟต์เพื่อคงสภาพสีของผลไม้ให้น่ากิน หรือใช้เป็นวัตถุกันเสีย ซึ่งอาจมีผลต่อคนที่มีความไวต่อสารชนิดนี้เป็นพิเศษ ควรพิจารณาฉลากก่อนรับประทานมีอะไรในผลไม้อบแห้งนอกจากผลไม้ กรด การใช้กรดในผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้ เพื่อช่วยปรับปรุงกลิ่น รส และยังช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ การเลือกใช้กรดจะขึ้นอยู่กับชนิดของกรดที่มีอยู่มากในผลไม้ ส่วนมากจะมีกรดซิตริก (กรดมะนาว) องุ่นมีกรดทาร์ทาริก (หรือเรียกว่ากรดมะขาม) เป็นต้น  สารที่ให้คงรูปสารคงรูป เพื่อปรับปรุงคุณภาพทางด้านเนื้อสัมผัสของผลไม้ให้ดีขึ้น สารคงรูปที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยโบราณ คือ ปูนขาว ปูนแดง และสารส้ม แต่เนื่องจากสารเหล่านี้มักมี องค์ประกอบอื่น ๆ ที่มีผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันในอุตสาหกรรมการแปรรูปผักและผลไม้จึงใช้แคลเซียมคลอไรด์ สารที่ใช้เพื่อป้องกันการเกิดสีน้ำตาลส่วนมากใช้วัตถุเจือปนอาหารเพื่อป้องกันปฏิกิริยาดังกล่าว ได้แก่ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และสารประกอบซัลไฟต์ วัตถุกันเสียเป็นสารประกอบเคมีที่ช่วยในการถนอมหรือยืดอายุการเก็บอาหาร หรือช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นสาเหตุในการเสียของผลิตภัณฑ์ประเภทผักและผลไม้การใช้สารประเภทซัลไฟต์ในผลไม้แห้ง             ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นสารเคมีที่สำคัญที่ใช้ในการรักษาสีของผลไม้อบแห้ง มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยทำหน้าที่ยับยั้งปฏิกิริยาการเกิดสีน้ำตาลในผลไม้ สารประกอบที่ใช้ได้แก่ เกลือซัลไฟต์และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งได้รับการยอมรับจาก GRAS ให้สามารถใช้ได้ในผลิตภัณฑ์อาหาร (Generally recognized as safe คือ สารเคมีที่ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยา ว่าสามารถใช้เติมลงไปในอาหารได้อย่างปลอดภัย สารที่ได้รับรองว่า เป็น GRAS ส่วนใหญ่ จะไม่จำกัดปริมาณการใช้ แต่จะให้ใช้เท่าที่จำเป็น)  การรมก๊าซกำมะถัน เป็นการนำผลไม้เก็บไว้ในห้องปิดสนิท ที่ได้ทำการเผาผงกำมะถันไว้ ห้องที่ใช้สามารถทำด้วยวัสดุต่างๆ เช่น ไม้ PVC หรือซีเมนต์ มักใช้กับผลไม้ที่ทำแห้ง โดยการตากแดด เช่น แอพริคอต พีช แพร์ ลูกเกด ปริมาณการดูดซึมและปริมาณซัลเฟอร์ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์จะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ระยะเวลาในการรม ความเข้มข้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ขนาด สภาพของผลไม้ ระดับความสุก พันธุ์ของผลไม้ ฯลฯ ผลไม้ที่มีความแก่จะดูดซึมได้มากกว่าแต่มีซัลเฟอร์ที่อยู่ในเนื้อผลไม้น้อยกว่าผลไม้ที่อ่อนกว่า อุณหภูมิที่สูงมีแนวโน้มที่จะลดการดูดซึมแต่จะทำให้มีระยะเวลาที่ซัลเฟอร์อยู่ในผลไม้ได้นานกว่า            ผลไม้ที่ผ่านการรมหรือแช่สารประกอบซัลเฟอร์ ไม่บรรจุในภาชนะประเภทโลหะ เนื่องจากซัลเฟอร์จะทำปฏิกิริยากับโลหะทำให้ผลไม้เกิดการเปลี่ยนสี หากต้องบรรจุในภาชนะโลหะให้บรรจุในถุงพลาสติกก่อน อายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ผลไม้อบแห้งจะประมาณ 1 ปี ที่ 15 oซ ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร  http://www.tistr-foodprocess.net/fruit_dry.htmlภูมิแพ้ซัลไฟต์ หรือภูมิแพ้สารกันบูดซัลไฟต์ ถูกใช้ในเครื่องดื่มและอาหารหลากหลายชนิด เพื่อเป็นสารกันเสีย (Preservatives) อาจก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงอาการที่ถึงแก่ชีวิตไม่ว่าจะเป็นคัน ไอ มีเสมหะ หายใจไม่สะดวก ลมพิษปวดท้อง ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียนเวียนศีรษะหน้ามืดเป็นลมหลอดลมหดเกร็งจากการบวมของหลอดลมทำให้หายใจลำบากความดันโลหิตลดลงอาจจะต่ำจนช็อกชีพจรเต้นเร็วภาวะหอบหืด หน้ามืดเป็นลม และหมดสติ เราเรียกอาการนี้ว่า Anaphylaxis ที่อาจถึงแก่ชีวิตซัลไฟต์จะอยู่บนฉลากอาหารดังปรากฏด้านล่างนี้ INS ชื่อ 227 Calcium hydrogen sulfite 228 Potassium bisulfite 224 Potassium metabisulfite 225 Potassium sulfite 222 Sodium hydrogen sulfite 223 Sodium metabisulfite 221 Sodium sulfite 220 Sulfur dioxide  ตารางแสดงรายละเอียดผลไม้อบแห้ง ลูกเกด ลูกพรุน มะม่วง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 เมื่อรถถูกยึดขายทอดตลาด ระวังถูกลักไก่โกงส่วนต่าง

เมื่อรถถูกยึดขายทอดตลาด ระวังถูกลักไก่โกงส่วนต่างเมื่อเช่าซื้อรถยนต์แล้วผ่อนต่อไม่ไหว ต้องปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดรถไป ผู้บริโภคไม่ควรเพิกเฉยและคิดว่าถูกยึดไปแล้วก็ช่างมันเถอะ เพราะการที่รถยนต์ถูกนำไปขายทอดตลาดนั้น จำนวนเงินที่ขายได้จะมีผลต่อหนี้ที่ผูกพันกันอยู่ระหว่างผู้บริโภคกับสถาบันการเงิน บางทีความเผอเรออาจทำให้ถูกโกงส่วนต่างได้โดยไม่รู้ตัว         กรณีที่ถูกเรียกค่าส่วนต่างเกินกว่าที่ควรจะเป็น คุณสัญญาเช่าซื้อรถกระบะในราคาประมาณ 800,000 บาท ทำสัญญากับไฟแนนช์ระบุการชำระค่างวดทั้งสิ้น 84 งวด  ซึ่งคุณสัญญาก็ชำระค่างวดได้ราบรื่นผ่านไปถึงงวดที่ 48 จากนั้นจำเป็นต้องหยุดผ่อนชำระเพราะมีปัญหาด้านการเงิน จึงถูกยึดรถและเข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาด ซึ่งขายได้ในราคา 340,000 บาท มีส่วนต่างที่ถูกเรียกเก็บจากไฟแนนช์ 290,000 บาท และเรียกให้คุณสัญญาชำระหนี้ในส่วนนี้         คุณสัญญาคำนวณแล้ว รู้สึกว่าตนเองโดนเอาเปรียบเพราะถูกเรียกค่าส่วนต่างเกินค่าใช้จ่ายที่เป็นจริง จึงขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   แนวทางแก้ไขปัญหา         ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 ข้อ 3 (5) ก. กำหนดว่า ก่อนขายให้แก่บุคคลอื่น ผู้ให้เช่าซื้อต้องแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อทราบเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลค่าหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 3 (5) ข. กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกขาย หากได้ราคาเกินกว่ามูลหนี้ในส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อ จะรับผิดชอบส่วนที่ขาดนั้น เฉพาะกรณีการขายโดยวิธีประมูลหรือขายทดอดตลาดที่เหมาะสมเท่านั้น         ดังนั้นเมื่อถูกยึดรถ แนวทางปฏิบัติคือ         1.ถ้าได้รับแจ้งจากไฟแนนซ์ ให้รับผิดชอบส่วนต่าง หากเห็นว่าส่วนต่างที่ถูกเรียกเก็บนั้นไม่เป็นธรรมหรือสูงเกินสมควร ลูกหนี้สามารถเจรจาต่อรองกับไฟแนนซ์ โดยลูกหนี้จะต้องหาข้อมูลก่อนว่า รถยนต์ยี่ห้อ รุ่นและปีผลิตเดียวกันกับรถยนต์ของลูกหนี้มีราคาขายในตลาดมือสองเท่าไร เพื่อใช้ในการคำนวณให้ลดส่วนต่างได้ เช่น เช่าซื้อรถยนต์มาในราคา 300,000 บาท ราคารถยนต์ตามตลาดรถยนต์มือสองอยู่ที่ 200,000 บาท แต่ไฟแนนซ์กลับนำไปขายได้ราคาเพียง 100,000 บาท แล้วเรียกเก็บส่วนต่างกับลูกหนี้ 200,000 บาท เช่นนี้ลูกหนี้จะสามารถต่อรองได้ เนื่องจากขายทอดตลาดได้ราคาที่ต่ำเกินไป         2. หากไฟแนนซ์ฟ้องคดีแล้ว โดยส่วนใหญ่จะฟ้องให้ลูกหนี้ชำระ ค่าส่วนต่างราคารถที่เช่าซื้อ ค่าบอกกล่าวทวงถาม ค่ายกเลิกสัญญา ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ค่ายึดรถ เป็นต้น ลูกหนี้จะต้องทำคำให้การเพื่อขอให้ศาลพิจารณาลดยอดหนี้ที่ฟ้องมา ให้เป็นไปตามความจริง เช่น ส่วนต่างราคารถยนต์ที่ไฟแนนซ์ขายทอดตลาดต่ำกว่าราคาที่ควรได้จริงหรือไม่ หรือลูกหนี้เป็นผู้ไปคืนรถยนต์ด้วยตนเอง เท่ากับว่าบริษัทไม่มีการไปยึดรถ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เรียกเก็บนั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่ โดยจะต้องมีหลักฐานประกอบเพื่อให้ศาลใช้ในการพิจารณาพิพากษา         3. เมื่อศาลพิพากษาแล้วได้ยอดหนี้เท่าใดนั้น ก็อยู่ที่ลูกหนี้ว่าตนเองจะสามารถปิดบัญชีหนี้ได้ตามที่ศาลพิจารณาหรือไม่           ดังนั้นคำแนะนำของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคต่อคุณสัญญาคือ ถ้าเห็นว่าถูกเอาเปรียบโดนเก็บค่าส่วนต่างเกินจริงไป สามารถต่อรองกับทางไฟแนนซ์ได้ ซึ่งถ้าตกลงกันไม่ได้ไฟแนนซ์จะฟ้องศาลเพื่อให้ผู้ร้องจ่ายหนี้ส่วนต่างนี้ สิ่งที่ต้องทำคือหาทนายเพื่อเขียนคำให้การต่อสู้คดี โดยทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ มีทนายเพื่อผู้บริโภคช่วยทำคำให้การต่อสู้ได้ หากผู้ร้องต้องการ           กรณีโดนลักไก่ คุณสายัณห์ เช่าซื้อรถยนต์เมื่อเดือนเมษายนปี 2551 ในราคา 449,663.40 บาท สัญญาระบุการผ่อนชำระ 60 งวด แต่ด้วยสภาพทางการเงินที่ไม่เอื้ออำนวย คุณสายัณห์กัดฟันผ่อนไปได้เพียง 11 เดือนก็ต้องยุติการผ่อนชำระ แน่นอนว่ารถได้ถูกยึดไปเพื่อขายทอดตลาด ต่อมาวันที่ 15 สิงหาคม 2561 คุณสายัณห์ถูกฟ้องเป็นจำเลย เรื่องผิดสัญญาเช่าซื้อ ค้ำประกัน และเรียกค่าเสียหาย เป็นเงิน 131,824.77  บาท จึงมาขอคำปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อให้ช่วยเหลือด้านคดี         เมื่อพิจารณาสำนวนฟ้องแล้ว ทนายเพื่อผู้บริโภคพบว่า ทางไฟแนนซ์เรียกเก็บค่าส่วนต่างเกินไปมาก เนื่องจากจำเลยผ่อนค่างวดไป 11 งวด รวมเป็นเงิน 88,205 บาท ยังคงค้างอีกประมาณ 271,515 บาท แต่โจทก์ทำสำนวนฟ้องว่า รถยนต์ขาดทอดตลาดได้ 228,000 บาท แต่เอกสารการขายทอดตลาดระบุชัดเจนว่า ขาดได้เงินทั้งสิ้น 288,000 บาท ดังนั้นสิ่งที่ควรจะเป็นคือ ส่วนที่เหลือจากการขายทอดตลาด เป็นเงิน 16,455 บาท ต้องคืนให้แก่จำเลย เมื่อศาลพิจารณาคำให้การแล้ว ได้แจ้งให้ทนายโจทก์ถอนฟ้อง ต่อมาในการพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561ทราบว่าโจทก์ถอนฟ้องแล้ว เนื่องจากการขายทอดตลาดในคดีนี้คุ้มทุนกับหนี้ที่จำเลยค้างชำระแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 รถมือสองต้องระวัง

หนึ่งเดือนถัดมา รถเริ่มมีปัญหาสตาร์ทไม่ติด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด เมื่อนำเข้าอู่เพื่อตรวจอาการช่างแจ้งว่า มีปัญหาไดสตาร์ทต้องเปลี่ยนใหม่ มีค่าใช้จ่าย 4,000 บาท คุณพิภพจึงติดต่อพนักงานขายที่เคยแจ้งว่าทางเต็นท์รับประกันสามเดือนเพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาให้ ทางพนักงานขายแจ้งกลับว่า จะช่วยซ่อมรถยนต์ให้แต่ต้องมาซ่อมกับอู่ของทางเต็นท์เท่านั้น รถมือสองต้องระวัง      สำหรับยุคปัจจุบัน รถเป็นปัจจัยสำคัญไม่ด้อยกว่าปัจจัยสี่ ช่วยให้การเดินทางสะดวกสบาย และหลายคนก็มีไว้เพื่อการประกอบอาชีพ แต่เพราะพาหนะชนิดนี้มีราคาสูงมาก การจะเป็นเจ้าของรถใหม่สักคันจึงต้องมีทุนทรัพย์พอสมควร สำหรับผู้ที่ทรัพย์ไม่มากแต่จำเป็นต้องมีรถ รถยนต์มือสองจึงเป็นทางเลือกที่เพิ่มโอกาสในการเป็นเจ้าของ แต่ก็มีข้อพึงระวังหลายอย่าง เช่นที่ผู้ร้องรายนี้กำลังปวดหัวอยู่      คุณพิภพกับคุณปานวาด ได้ติดต่อกับเต็นท์รถยนต์มือสองแถวถนนกาญจนาภิเษก เพื่อซื้อรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลต รุ่นแคปติวา โดยคุณปานวาดเป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อกับทางไฟแนนซ์ ในราคาประมาณ 400,000 บาท ส่วนผู้ใช้งานตัวจริงคือคุณพิภพ ซึ่งวันที่ไปดูรถก็ได้ทดสอบรถที่บริเวณเต็นท์รถเท่านั้น โดยไม่พบปัญหาใด ในการทำสัญญาพนักงานขายแจ้งว่า มีการรับประกันเกียร์ แอร์และเครื่องยนต์ 3 เดือน และจะติดฟิล์มรถยนต์ เปลี่ยนยางขอบ แบตเตอรี่ พร้อมถ่ายน้ำมันเครื่องให้ใหม่ ซึ่งมีการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในเอกสาร ยกเว้นแต่การรับประกัน 3 เดือน ที่พนักงานแจ้งด้วยวาจา      ประมาณหนึ่งเดือนถัดมา รถเริ่มมีปัญหาสตาร์ทไม่ติด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด เมื่อนำเข้าอู่เพื่อตรวจอาการช่างแจ้งว่า มีปัญหาไดสตาร์ทต้องเปลี่ยนใหม่ มีค่าใช้จ่าย 4,000 บาท คุณพิภพจึงติดต่อพนักงานขายที่เคยแจ้งว่าทางเต็นท์รับประกันสามเดือนเพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาให้ ทางพนักงานขายแจ้งกลับว่า จะช่วยซ่อมรถยนต์ให้แต่ต้องมาซ่อมกับอู่ของทางเต็นท์เท่านั้น ซึ่งคุณพิภพตอบตกลง แต่เมื่อรถยนต์ซ่อมเสร็จ พอนำมาใช้งานกลับพบปัญหาเพิ่มคือ รถมีเสียงดังเมื่อเหยียบคันเร่งหรือเบรก และยังมีการแจ้งรหัสปัญหาหลายอย่างบนหน้าจอแสดงผลของรถยนต์ ซึ่งคุณพิภพได้ลองสอบถามไปทางศูนย์รถเชฟโรเลต ทำให้ทราบว่ารหัสที่ขึ้นมานั้น แจ้งปัญหาเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า เซนเซอร์ที่ล้อเกิดปัญหา 1 ล้อ กล่อง ETU และโช้คมีปัญหา หากจะซ่อมต้องเสียค่าใช้จ่ายในหลักแสนบาทขึ้น ทางคุณพิภพจึงปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เขาต้องการให้เต็นท์รับผิดชอบซ่อมแซมรถให้มีสภาพปกติ เพราะรับประกันไว้สามเดือน ควรทำอย่างไรดี แนวทางแก้ไขปัญหา      เมื่อพิจารณาปัญหาของคุณพิภพแล้ว ทางศูนย์ฯ แนะนำว่า ควรรีบไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจเพราะเข้าข่ายว่าเต็นท์รถฉ้อโกง และเนื่องจากอายุความกรณีฉ้อโกงมีระยะเวลาเพียงสามเดือน นับแต่ที่รู้ว่าถูกฉ้อโกงจึงควรดำเนินการเรื่องนี้ก่อน อย่างไรก็ตามทางคุณพิภพอยากให้เริ่มจากการเจรจา หากไม่เป็นผลจึงจะดำเนินการแจ้งความต่อไป     ในการติดต่อประสานงานเพื่อให้เกิดการเจรจานั้น ทางฝ่ายเต็นท์ยินดีที่จะไกล่เกลี่ยกับทางผู้ร้อง แต่ปรากฏว่า เมื่อถึงวันที่นัดหมายทางฝ่ายผู้ร้องติดธุระสำคัญที่ต่างจังหวัดไม่สามารถมาตามนัดได้ จึงเปลี่ยนเป็นการแจ้งความไว้ก่อนเพื่อไม่ให้กระทบอายุความ ดังนั้นขอพักเรื่องนี้ไว้ก่อน เมื่อมีความคืบหน้าอย่างไรจะได้นำมาเสนอต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 เมื่อ ปีเตอร์ เริงร่าในน้ำซุป

คุณภูผาอยากจะซึมซับความเป็นญี่ปุ่นแท้ๆ จึงยกถ้วยซุปสาหร่ายขึ้นดื่ม เจ้ากรรม สายตาอันเฉียบคมดันไปพบกับแมลงสาบตัวน้อยซึ่งลอยอยู่ในน้ำซุปเข้าพอดี    เมื่อ ปีเตอร์ เริงร่าในน้ำซุป     ใครๆ ก็ชอบกินอาหารญี่ปุ่นกันทั้งนั้น ยิ่งเดี๋ยวนี้มีร้านให้เลือกมากมาย แต่ละร้านจะมีจุดเด่นต่างกันไป บ้างก็ว่า ร้านฉันสั่งวัตถุดิบนำเข้ามาจากญี่ปุ่น ร้านฉันมีพ่อครัวชาวญี่ปุ่นแท้ๆ หรือร้านฉันซื้อแฟรนไชส์มาจากญี่ปุ่น ซึ่งการแข่งขันย่อมก่อผลดีให้ผู้บริโภคทำให้มีตัวเลือกหลากหลาย อย่างไรก็ตามสำคัญสุด ร้านอาหารต้องสะอาดและถูกสุขลักษณะด้วยยามเที่ยงของวันหนึ่ง คุณภูผาและเพื่อนได้ไปเยือนร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดัง ซึ่งมีแฟรนไชส์กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อนแต่ละคนต่างก็สั่งอาหารชุดและรับประทานกันอย่างเอร็ดอร่อย ส่วนคุณภูผานั้น สั่งข้าวหน้าไก่ พร้อมสั่งน้ำซุปสาหร่ายเพิ่ม ซึ่งระหว่างรับประทานคุณภูผาอยากจะซึมซับความเป็นญี่ปุ่นแท้ๆ จึงยกถ้วยซุปสาหร่ายขึ้นดื่มแทนการใช้ช้อน เจ้ากรรม สายตาอันเฉียบคมดันไปพบกับแมลงสาบตัวน้อยซึ่งลอยอยู่ในน้ำซุปเข้าพอดี        คุณภูผาตกใจมาก แทบสำลักน้ำซุป เพื่อนที่มาด้วยกัน รีบถ่ายรูป “ปีเตอร์น้อย” ไว้เป็นหลักฐาน ด้วยความกังวล คุณภูผานำถ้วยน้ำซุปไปแจ้งพนักงานเสิร์ฟของร้านทันที พนักงานแจ้งว่า เดี๋ยวเปลี่ยนให้ครับ คุณภูผาจึงถามว่าเปลี่ยนให้เฉยๆ ได้อย่างไร กินน้ำซุปไปแล้ว พนักงานจึงแจ้งว่า เช่นนั้นทางร้านจะคืนเงินให้ มื้อนี้ฟรีไม่คิดเงิน         การจัดการปัญหาเพียงแค่นี้ของทางร้านนั้น คุณภูผารู้สึกไม่ค่อยดีไร เพราะร้านนี้เป็นร้านที่มีต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่น เมื่อมาเปิดสาขาในไทยควรมีมาตรฐานเรื่องความสะอาดไม่ด้อยไปกว่าที่ญี่ปุ่น ซึ่งรู้กันดีว่ามาตรฐานสูงด้วยเช่นกัน แต่ทำไมร้านจึงปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นได้ คุณภูผาจึงขอคุยกับพนักงานที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าคนแรก ซึ่งพนักงานคนที่รับเรื่องต่อมาได้ขอชื่อและเบอร์โทรศัพท์ไว้ แจ้งว่าจะติดต่อทางบริษัทให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับคุณภูผา         ต่อมามีพนักงานฝ่ายมาร์เก็ตติ้งจากบริษัทที่เป็นเจ้าของร้านอาหาร ชื่อคุณบี โทรศัพท์มาขอโทษและแจ้งให้คุณภูผาไปตรวจสุขภาพก่อน คุณภูผาสอบถามว่า ถ้าต้องมีการรักษาต่อเนื่อง ทางบริษัทจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วยใช่ไหม คุณบีส่งอีเมลตอบกลับมาว่า  ตัวคุณบีนั้นจะพาคุณภูผาไปตรวจร่างกายและจัดการค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง จากนั้นจึงนัดกันไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย เมื่อมาเจอกันคุณบีก็กล่าวขอโทษอีกหลายครั้ง กรณีดื่มน้ำซุปที่มีแมลงสาบเข้าไปนี้ แพทย์แนะนำว่า ให้ตรวจแบบเบื้องต้นไปก่อน โดยการตรวจเลือดและตรวจอุจจาระ แล้วจะแจ้งผลการตรวจให้ทราบทางอีเมล ซึ่งการตรวจนี้มีค่าใช้จ่ายประมาณเกือบเจ็ดพันบาท ทางคุณบีตัวแทนบริษัทก็รับผิดชอบทั้งหมด         จากผลการตรวจพบว่าคุณภูผาติดเชื้อ Plesiomonas shigelloides เป็นเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งปกติพบได้ในนํ้าธรรมชาติ ปลา สัตว์นํ้า (Shellfish) จำพวกปู หอยและกุ้ง และสัตว์ จำพวกเลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป สำหรับคนมักจะได้รับเชื้อชนิดนี้จากการดื่มนํ้าหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อนี้เข้าไป ซึ่งหลังรับเชื้อเข้าไป เชือจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 20 - 24 ชั่วโมง และอาจทำให้เกิดอาการไข้ หนาวสั่นปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเสียและอาเจียน แต่มักเป็นอาการแบบไม่รุนแรง ซึ่งบางคนที่ติดเชื้ออาจไม่แสดงอาการป่วย แพทย์แจ้งผลวินิจฉัยให้คุณภูผาทราบ และแจ้งให้ไปรับยา โดยขอให้นำอุจจาระมาตรวจเพิ่มอีกครั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้คุณภูผาได้แจ้งให้คุณบีทราบทั้งหมดแต่เมื่อจะไปในครั้งที่สอง คุณบีติดต่อมาว่า ไม่มีคนจากบริษัทจะไปโรงพยาบาลพร้อมกับคุณภูผาได้ หลังจากนั้นคุณภูผายังต้องเข้าออกโรงพยาบาลอีกประมาณ 5 ครั้ง เมื่อสอบถามไปยังคุณบีว่า ทางบริษัทจะสามารถช่วยค่าน้ำมันรถได้ไหม รวมทั้งค่ารักษาอีกประมาณสี่พันบาท (ค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 11,000 บาท) คราวนี้เมื่อติดต่อไปที่คุณบี ปรากฏว่า เธอแจ้งว่าได้ย้ายฝ่ายแล้ว แต่ได้ฝากเรื่องไว้กับพนักงานอีกคนหนึ่งชื่อ คุณส้ม พอคุณภูผาติดต่อกับคุณส้มก็ได้ความว่า ทางบริษัท โดยฝ่ายมาร์เก็ตติ้งที่รับผิดชอบปัญหาลูกค้ามีวงเงินเพื่อการดูแลเพียง 10,000 บาท ส่วนเกินมาไม่สามารถรับผิดชอบได้ และเมื่อทางบริษัทตรวจสอบกับทางโรงพยาบาลพบว่า ผลการตรวจรอบแรกปกติ การตรวจหลังจากนั้นจึงถือว่า เป็นการรักษาต่อเนื่อง ซึ่งทางบริษัทไม่สามารถรับผิดชอบได้เจอแบบนี้คุณภูผารู้สึกว่า บริษัทปฏิเสธความรับผิดชอบ เพราะผลการตรวจครั้งแรกก็พบว่าติดเชื้อแต่บริษัทกลับบอกว่า ปกติ คุณภูผารู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงมาขอคำปรึกษาและร้องเรื่องที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ทำหนังสือนัดเจรจาระหว่างคู่กรณีทุกฝ่ายคือ ร้านค้า เจ้าของห้าง และผู้ร้อง หลังจากร้านได้รับหนังสือนัดเจรจา ทางบริษัทติดต่อโดยตรงกับคุณภูผาแจ้งว่า ทางฝ่ายมาร์เก็ตติ้งมีวงเงินเหลืออีก 4,000 บาท ซึ่งจะมอบเป็นค่ารักษาต่อเนื่องให้ คุณภูผาจึงขอคำแนะนำจากทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ว่า ตนเองมีสิทธิอะไรเพิ่มเติมอีกบ้างไหม  ซึ่งทางศูนย์ฯ แนะนำว่า กรณีที่ไม่พอใจเงินจำนวนดังกล่าวที่ถูกเสนอมา คุณภูผาสามารถปฏิเสธไม่รับได้ และสามารถเรียกเพิ่มได้ตามความเหมาะสม หากบริษัทไม่ยินดีผู้ก็สามารถฟ้องดำเนินคดีได้ ต่อมาคุณภูผาได้แจ้งว่า ตนสามารถตกลงค่าเสียหายกับบริษัทได้แล้ว 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 จดหมายถึงบอกอ

ทดสอบสาหร่ายแผ่นปรุงรส ดิฉันมีเรื่องทดสอบมาแนะนำค่ะ คือสาหร่ายแผ่นปรุงรสที่เด็กๆ ทานเล่น บางครอบครัวซื้อให้ลูกรับประทานเล่นเพราะคิดว่ามีประโยชน์มากกว่าขนมซอง อยากให้ฉลาดซื้อนำมาทดสอบให้หน่อยค่ะว่ามีอะไรต้องระวังไหมคะ พิมพา ขอบพระคุณที่ติดตามอ่านฉลาดซื้อนะคะ ส่วนเรื่องสาหร่ายแผ่นปรุงรสเป็นเรื่องที่ทางกอง บก.กำลังสนใจเลยค่ะ เพราะเราเคยสำรวจและทดสอบเรื่องนี้ตั้งแต่ฉบับที่ 108 เดือนกุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งเป็นเวลานานมากแล้ว คุณพิมพาติดตามผลการทดสอบใหม่ล่าสุดได้เร็วๆ นี้แน่นอนค่ะ  สนใจเรื่องการส่งพัสดุ    ติดตามผลการทดสอบจากนิตยสารฉลาดซื้อเวลามีการจัดแถลงข่าวเสมอครับ ผมสนใจเรื่องบริษัทจัดส่งพัสดุซึ่งมีให้เลือกมากมายในปัจจุบัน อยากให้ฉลาดซื้อลองนำข้อมูลและรายละเอียดมาให้อ่านด้วยครับ                                                                                                                                    เด็กรังสิต     ทางกองบรรณาธิการมีความสนใจเรื่องบริษัทจัดส่งพัสดุเช่นกันค่ะ ติดตามข้อมูลได้ในฉบับถัดๆ ไปนะคะ แต่ถ้าสนใจผูกปิ่นโตเป็นสมาชิกนิตยสารได้รับข้อมูลในทุกๆ เดือน สมัครเป็นสมาชิกนิตยสารแบบออนไลน์ราคาประหยัดได้ที่เว็ปไซต์ของเราได้เลยนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 การฟ้องร้องคดีประวัติศาสตร์ ขององค์กรผู้บริโภคเยอรมนี

จากเหตุการณ์ กรมควบคุมมลพิษของอเมริกา (EPA) ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ บ. โฟล์คสวาเกน (VW) ว่า จงใจที่จะหลอกลวงการแสดงข้อมูลการวัดค่าไอเสียจากรถยนต์ดีเซลรุ่น Jetta, Beatle, Passat และ Audi A 3 เนื่องจากซอฟท์แวร์แสดงผลการวัดต่ำกว่าค่าความเป็นจริงถึง 10- 40 เท่าในสภาวะการขับแบบปรกติ ซึ่งเกินกว่าค่าที่ทางกรมควบคุมมลพิษของอเมริกากำหนด เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นข่าวเมื่อ 3 ปีที่แล้ว และกฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่ม ของเยอรมนี(Musterfeststellungsklage) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2018 ที่ผ่านมา องค์กรผู้บริโภคเยอรมนี(The consumer protection federal association: VZBV) ร่วมกับ สมาคมยานยนต์แห่งเยอรมนี(The German automobile club: ADAC) ได้เป็นแกนนำในการฟ้องร้องคดีแบบกลุ่มขึ้น ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะในการฟ้องคดีที่มีผู้บริโภคเสียหายเป็นจำนวนมาก ลักษณะการฟ้องคดีแบบเฉพาะนี้เรียกว่า Musterfeststellungsklage(Pattern Declaratory Action) ผมขออนุญาตนำประเด็นและสาระสำคัญขององค์กรผู้บริโภค ที่จำเป็นต้องดำเนินการการฟ้องคดีด้วยวิธีพิเศษนี้ มาเล่าสู่กันฟังครับ1 ทำไมองค์กรผู้บริโภคต้องฟ้องคดีองค์กรผู้บริโภคได้รณรงค์ให้มีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม(Pattern Declaratory Action) มาเป็นเวลากว่า 10 ปี เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับผู้บริโภคในการจัดการกับปัญหาที่เกิดจากการใช้สินค้าและบริการ ที่กระทบกับประชาชนในฐานะผู้บริโภคในวงกว้าง เกิดความเสียหายเป็นมูลค่าสูง และด้วยวิธีการฟ้องคดีแบบพิเศษนี้ จะช่วยให้ข้อจำกัดในเรื่องของอายุความหมดไป        2 บทบาทหน้าที่ของสมาคมยานยนต์แห่งเยอรมนีคดีประวัติศาสตร์นี้ เป็นคดีแรกที่ทั้งสององค์กรได้ร่วมมือกันฟ้องคดี ซึ่งการร่วมกันฟ้องคดีของทั้งสององค์กร จะช่วยเพิ่มโอกาสในการชนะคดีมากกว่าการแยกกันฟ้อง และสมาคมยานยนต์แห่งเยอรมนีเองก็มีหน้าที่ในการดูแลปกป้องผลประโยชน์ของสมาชิก ที่เป็นผู้บริโภค คือ ผู้ใช้ และผู้ซื้อรถยนต์        3 ใครสามารถมาร่วมฟ้องคดีนี้ได้อีกบ้าง ?ผู้บริโภคทุกคนที่เป็นเจ้าของ รถยนต์ยี่ห้อ VW, Audi, Seat และ Skoda ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล รุ่น EA 189 ขนาด 1.2, 1.6 และ 2 ลิตร)        4 ประเด็นอะไรที่ศาลพิจารณาในคดีนี้ศาลพิจารณาว่า VW ที่ ผลิตรถยนต์รุ่นดังกล่าว แสดงข้อมูลการวัดค่าไอเสียจากรถยนต์ดีเซลผิดพลาด เนื่องจากซอฟท์แวร์แสดงผลการวัดต่ำกว่าค่าความเป็นจริงถึง 10- 40 เท่าในสภาวะการขับแบบปรกติ ซึ่งเกินกว่าค่าที่ทางกรมควบคุมมลพิษกำหนด ทำให้เกิดความเสียหาย จากการชำรุดบกพร่อง อันเป็นผลมาจากการจงใจ แสดงข้อมูลอันเป็นเท็จ(Software Manipulation) 5 ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายแต่ไม่สามารถเข้าร่วมการฟ้องคดีครั้งนี้สามารถทำอะไรได้บ้างสำหรับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายแต่ไม่ได้เข้าร่วมลงชื่อฟ้องคดีในครั้งนี้ ควรปรึกษาทนายความหรือ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคอื่นๆ        6 เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว จะต้องทำอย่างไรต่อไปการฟ้องคดีแบบพิเศษนี้ มีไว้เพื่อให้ศาลตัดสินว่า การกระทำของ บริษัท VW มีความผิด แต่ไม่ใช่การฟ้องคดี เพื่อเรียกชดใช้ค่าเสียหาย  ซึ่งหากศาลตัดสินคดีทางผู้บริโภคแต่ละรายต้องไปฟ้องเรียกค่าเสียหายอีกครั้งหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามคำตัดสินของศาล จะส่งผลให้การดำเนินคดีที่ต่อเนื่องกับการฟ้องร้องคดีนี้สะดวกรวดเร็วในการดำเนินคดีในศาล ข้อดีของการฟ้องคดีด้วยวิธีการแบบนี้ คือ ความเสี่ยงจะตกอยู่กับองค์กรผู้บริโภคไม่ใช่ ตัวผู้บริโภค และผู้บริโภคยังมีเวลาในการตัดสินใจฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายหากผลของการตัดสินคดี เป็นคุณกับโจทก์ที่เป็นองค์กรผู้บริโภค7 ในกรณีที่องค์กรผู้บริโภคแพ้คดี มีผลอย่างไร ในกรณีที่ศาลตัดสินว่า VW ไม่ได้กระทำผิด ผลของคำพิพากษามีผลผูกพันไปยังศาลอื่นๆ ด้วย องค์กรหรือบุคคลที่ร่วมฟ้องคดี ไม่สามารถอุทธรณ์คดีได้        8 ผู้บริโภคสามารถเข้าร่วมฟ้องคดีได้อย่างไรผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากความเสียหายสามารถลงชื่อเข้าร่วมการฟ้องคดีได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และทางองค์กรผู้บริโภคจะส่งรายชื่อผู้ร่วมฟ้องร้องไปยัง สำนักงานกระทรวงยุติธรรมยุติธรรม (Bundesamt fÜr Justiz) เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะหลังจากนั้น ทางสำนักงานจะส่ง คำฟ้องคดีและรายชื่อผู้ร่วมฟ้องไปยังฝ่ายจำเลย ซึ่งกระบวนการนี้ใช้เวลา 14 วัน        9 ผู้บริโภคสามารถถอนรายชื่อในภายหลังได้หรือไม่สามารถทำได้ จนกว่าศาลจะนัดคู่ความมาศาลครั้งแรก ซึ่งหากศาลบอกวันนัดมาแล้วทางองค์กรผู้บริโภคจะแจ้ง ผู้ที่ลงชื่อร่วมฟ้องทันทีที่ได้รับหมายนัดจากศาล10 ในกรณีที่ผู้บริโภคใช้สิทธิในการฟ้องคดีเองไปแล้วยังสามารถร่วมฟ้องคดีนี้ได้อีกหรือไม่ ผู้บริโภคสามารถร่วมลงชื่อฟ้องร้องคดีได้ หากกระบวนการทางศาลยังไม่ถึงที่สุด(คำพิพากษาศาลยุติธรรมสูงสุดแห่งรัฐ (Bundesgerichthof) แต่กระบวนการทางศาลของผู้บริโภคจะถูกระงับไว้ เพื่อรอผลของการฟ้องร้องคดีนี้11 จะสามารถร่วมฟ้องคดีได้หรือไม่ถ้า เคยทำสัญญาไกล่เกลี่ยกับ บริษัท VW มาแล้วโดยทั่วไปการทำสัญญาไกล่เกลี่ย มักจะมีข้อสัญญาที่ไม่ให้คู่ความไกล่เกลี่ยใช้สิทธิฟ้องคดีทางศาลได้ ในภายหลัง ดังนั้นหากสนใจจะลงชื่อ ร่วมฟ้องคดี ผู้บริโภคต้องปรึกษากับทนายความ และฝ่ายกฎหมายขององค์กรผู้บริโภคที่เป็นโจทก์ฟ้องคดีก่อน        12 ผู้บริโภคที่ขายรถไปแล้วสามารถร่วมฟ้องคดีได้หรือไม่กระบวนการลงชื่อร่วมฟ้องเปิดโอกาสให้ทุกคนที่ซื้อรถยี่ห้อ และรุ่นดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2008 สามารถร่วมลงชื่อได้ รวมทั้งผู้บริโภคที่ซื้อรถใช้แล้ว ด้วยเช่นกัน13 ใช้เวลานานเท่าไหร่กว่าจะมีคำพิพากษาออกมาเป็นประเด็นที่ตอบได้ยาก เนื่องจากเป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ กระบวนการนี้ เริ่มที่ศาลสูงแห่งรัฐ(Oberlandesgericht: OLG) ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา ไม่ต่ำกว่า 2  ปี ในการพิจารณาพิพากษาคดี และอาจไปจบที่ศาลยุติธรรมสูงสุดแห่งรัฐ (Bundesgerichthof) ในเวลา 2-3 ปี        14 ผู้บริโภคที่ร่วมฟ้องคดีสามารถติดตามความคืบหน้าของคดีได้อย่างไรผู้บริโภคสามารถติดตามความคืบหน้าของคดีได้ ที่เวบไซต์ของสมาคมยานยนต์แห่งเยอรมนี (adac.de/musterfeststellungsklage) และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค  (www.musterfeststellungsklagen.de* (vzbv))กระบวนการฟ้องคดีแบบกลุ่มตาม เยอรมนีโมเดลนี้ ค่อนข้างใช้เวลานาน กว่าที่ผู้บริโภคจะได้รับการชดใช้ค่าเสียหาย อย่างไรก็ตาม การฟ้องคดีแบบกลุ่ม(Musterfeststellungsklage) ได้ถูกบรรจุไว้ในนโยบายการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา และประกาศบังคับใช้ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2018  และเมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้ว องค์กรผู้บริโภคก็ได้ทดลองใช้เครื่องมือในกระบวนการยุติธรรมเลยทันที สำหรับประเทศไทยในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 46 ก็บัญญัติให้  “สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองบุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคองค์กรของ  ผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลัง ในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อํานาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ” ผมมองว่า องค์กรผู้บริโภคที่เป็นอิสระควรมีส่วนร่วมในการร่างและพิจารณากฎหมาย ที่มีผลกระทบกับผู้บริโภคทุกฉบับ และควรมีบทบาทในฐานะกรรมาธิการในวุฒิสภา ซึ่งทำหน้าที่ ให้ความเห็นและกลั่นกรองกฎหมาย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภค จนต้องใช้การฟ้องร้องคดี หรือใช้ความรุนแรง ในการทวงถามความยุติธรรมเหมือนหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรายวัน เท่าที่เราพบเห็นในข่าวสารทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 แผ่นดินอาบยาพิษ เรื่องจริงของ “พาราควอต” จากหนองบัวลำภู

     ความพยายามในการผลักดันการห้ามใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด(พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต) ในบ้านเรายืดเยื้อมามากกว่าหนึ่งปี ท่ามกลางข้อถกเถียงของฝ่ายที่เป็นห่วงเรื่อง สุขภาพและสิ่งแวดล้อม กับฝ่ายธุรกิจเคมีและภาคเกษตรบางส่วนที่เห็นว่า การใช้สารเคมียังมีความจำเป็นเพราะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2561 ความเคลื่อนไหวล่าสุดที่หน้าเพจของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ให้ข้อมูลว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 3 ชุด ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลเอง แสดงจุดยืนชัดเจนในการแบนสารพิษร้ายแรง 3 ชนิด(พาราควอต คลอร์ไพริฟอสและไกลโฟเซต) หลังจากก่อนหน้านี้ คณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข และคณะกรรมการปฏิรูปด้านสังคมได้แถลงจุดยืนดังกล่าวก่อนแล้วและในวันที่ 10-11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภคและทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของผู้ได้รับความเสียหายจากสารเคมีทางการเกษตรในพื้นที่อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อรวบรวมข้อมูลความเสียหายจากการใช้ยาฆ่าหญ้า 2 พื้นที่ คือที่ รพสต.หนองเรือ อ.โนนสัง และรพสต.บ้านพนาวัลย์ อ.นากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู รวมผู้ได้รับผลกระทบที่ให้ข้อมูลจำนวน 7 ราย โดย 4 รายจาก อ.โนนสัง นั้น ไม่ได้เป็นผู้ที่ใช้สารเคมีหรือสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง แต่ผู้เสียหายจะได้รับบาดแผลจาก ตอข้าว หนาม คมจากใบอ้อยบาด แผลที่ได้รับส่วนใหญ่เกิดบริเวณ มือ ข้อมือ ลำแข้งถึงเท้า ลักษณะบาดแผลที่ได้รับมีลักษณะผิวหนังคล้ำคล้ายช้ำในและภายหลังจากนั้นไม่เกิด 48 ชั่วโมงจะมีอาการปวดและบวมร่วมด้วย แพทย์ประจำโรงพยาบาลวินิจฉัยว่าเกิดจากการติดเชื้อ (แต่ไม่ได้ระบุว่าเกิดจากสารเคมี) ส่วนอีก 3 รายจาก อ.นากลาง เป็นผู้ที่ใช้สารเคมีหรือสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง โดยได้รับบาดแผลจาก ตอข้าว หนาม คมจากใบอ้อยบาด มีผู้เสียหายใช้สารเคมียี่ห้อพาราควอต 2 ราย ใช้ เอชโซนัด 95 ตราหมาแดง 1 ราย บาดแผลที่ได้รับมีลักษณะผิวหนังคล้ำคล้ายช้ำในและภายหลังจากนั้นไม่เกิน 48 ชั่วโมงจะมีอาการปวดและบวมร่วมด้วย แพทย์ประจำโรงพยาบาลวินิจฉัยว่าเกิดจากการติดเชื้อ (แต่ไม่ระบุว่าเกิดจากสารเคมี) แผลที่ได้รับส่วนใหญ่เกิดบริเวณ มือ ข้อมือ ลำแข้งถึงเท้าทางทีมงานจึงได้พูดคุยกับ ทญ.วรางคณา  อินทโลหิต หรือหมอฝน ผู้ประสานงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดหนองบัวลำภู และหัวหน้ากลุ่มงานทันตสาธารณสุข ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ ซึ่งได้เล่าเรื่องสารเคมีในพื้นที่อำเภอสุวรรณคูหาว่า “เริ่มมาจากการทำนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม  เรื่องสารเคมีมันเกิดจากเมื่อปี 2555 จังหวัดหนองบัวลำภู และทำโครงการร่วมกับ อบจ.กับ สสส. เรื่องจังหวัดน่าอยู่ เรื่องสารเคมีเกษตรเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม หนึ่งใน 5 เรื่องที่เราทำ ตอนแรกที่คณะทำงานคิด เราคิดว่าจะทำเรื่องป่ากับขยะ ในเวทีนั้นมีเกษตรกรที่ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ แกนำเข้าข้อมูลสารเคมีเกษตร ซึ่งตอนนั้นถือว่า เป็นการเปิดโลกทัศน์ของกรรมการเลยว่ามันมีปัญหาสารเคมีในพื้นที่ ทำให้ทราบว่าปัญหาสารเคมีในพื้นที่มันไม่ใช่เรื่องธรรมดา คิดว่ามันเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ต่อมาพยาบาลโรงพยาบาลนากลางเขาไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ พบว่า พื้นที่ตำบลอุทัยสวรรค์ มีโรงเรียนต้องปิดโรงเรียนเพราะเด็กๆ ได้รับผลกระทบจาการฉีดยาฆ่าหญ้า เพราะต้องเดินผ่านจากไร่อ้อยไปโรงเรียน แล้วเกิดอาการวิงเวียน อาเจียนจนต้องปิดโรงเรียน พยาบาลก็นำเสนอเรื่องนี้ในที่ประชุมของหมู่บ้าน ชาวบ้านก็รู้ว่าสารเคมีเป็นพิษ แต่ก็ต้องทำมาหากิน พยาบาลเลยมาปรึกษาว่าทำอย่างไรดี ชาวบ้านก็ไม่ได้สนใจเราเลยนึกถึงเวทีที่เกษตรกรคนที่ทำเกษตรอินทรีย์ท่านนั้นพูดถึง ตัวเราคิดว่าเราสาธารณสุขคงมีกำลังไม่พอที่จะทำเรื่องนี้  เลยว่าจะชวนเครือข่ายเกษตรมาช่วย แล้วในโครงการจังหวัดน่าอยู่มีงบประมาณที่จะพอจัดเวทีให้ความรู้ได้ แล้วตอนนั้นได้รู้จักกับนายแพทย์ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทย์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็เลยจัดเวทีให้ความรู้ที่นากลาง และศรีบุญเรือง เราเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องและคุณหมอปัตพงษ์มาพูดเรื่องผลกระทบ นักวิชาการของเรา นักวิชาการสมัชชาสุขภาพ คุณโกวิท พรหมวิหารสัจจา ก็อยู่บนเวทีนี้ด้วย แกจะทำพื้นที่นวเกษตร เราเลยจะทำเป็นพื้นที่นำร่อง ใครไม่ทำ เราจะทำ คุณโกวิทเลยไปซื้อที่ใหม่แล้วเข้าไปตัดหญ้าถางพื้นที่ อยู่ๆ วันหนึ่งก็ได้ข่าวว่าแกเป็นโรคเนื้อเน่า แกบอกว่าแกไปสัมผัสอยู่ 2 วันในพื้นที่นั้น บอกว่ามียาฆ่าหญ้า ปวดขามาก เลยไปหาหมอกระดูก หมอบอกว่ามันเป็นการติดเชื้อ ก็ส่งต่อไปที่ รพ.อุดรตอนนั้นแกเกือบเสียชีวิตเลยนะ ช็อกไปเลยที่ถูกลอกหนัง ถูกทำอะไรหลายอย่าง เราก็เลยได้มาศึกษาว่าโรคเนื้อเน่าเป็นอย่างไร เกิดจากอะไรเนื่องจากคนใกล้ตัวเป็น จึงนำเรื่องปรึกษากับหมอปัตพงษ์ อาจารย์บอกว่า เกิดจากยาฆ่าหญ้า ประจวบกับสมัชชาสุขภาพนั้นต้องคิดนโยบายและการทำงานเชิงวิชาการด้วย ช่วงนั้นพออาจารย์โกวิท หายป่วย ซึ่งเป็นระยะเวลาปีกว่า เราก็มาสัมภาษณ์ชาวบ้าน ทำโฟกัสกรุ๊ปก็พบว่าส่วนใหญ่จะไปสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มียาฆ่าหญ้า จึงเห็นว่ามันเกี่ยวข้องกัน การเกิดขึ้นของเครือข่ายเพื่อแก้ปัญหาเรื่องพาราควอต ในช่วงที่ทำสมัชชาสุขภาพจังหวัดในที่ประชุมของสาธารณสุขจังหวัด มีศัลยแพทย์ท่านหนึ่งได้มานำเสนอในที่ประชุมว่า โรคเนื้อเน่าเป็นโรคอันดับ 1 ในแผนกศัลยฯ ของหนองบัวลำภู ซึ่งเขาก็ไม่รู้สาเหตุ ในวันนั้นเราก็พูดในที่ประชุมว่า มันเกิดจากยาฆ่าหญ้าทุกคนก็งงว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะตัวเองเป็นทันตแพทย์ พี่เป็นทันตแพทย์ไง ศัลยแพทย์ท่านจึงบอกว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วบอกว่าในส่วนของโรงพยาบาล เขาจะมีการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล ถ้าผู้ป่วยอะไรมาก สถิติการป่วยของผู้ป่วย มีค่าใช้จ่ายสูงไหม เขาจะต้องแก้ไขปัญหา ซึ่งเขายังแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้นะ เป็นปัญหาอันดับ 1 ในปี 2556  ของแผนกศัลยฯ พอปี 57 มีพยาบาลไปเรียนโท แล้วทำงานวิจัยเรื่องสารเคมีเกษตร เขาเลยเจาะไปที่อ้อย เพราะที่ อ.ศรีบุญเรืองปลูกอ้อยเยอะ เลยทำข้อมูลมาให้เห็นว่าสารเคมีที่ใช้เยอะที่สุดคือยาฆ่าหญ้า อันดับ 1 คือ พาราควอต และก็บอกปริมาณ บอกอะไร ข้อมูลที่เราเริ่มรณรงค์กับชาวบ้านก็เป็นสไลด์จากข้างนอก แล้วก็มีข้อมูลจากข้างใน ระหว่างนั้นก็มีการเจาะเลือดเกษตรกร โครงการ เกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย เขาจะเจาะเลือดเกษตรกรเพื่อดูยาฆ่าแมลง ก็จะพบว่าเสี่ยงกว่า 50%  ซึ่งตอนนั้นอาจารย์หมอปัตพงษ์ บอกว่ามันไม่ใช่ยาฆ่าหญ้านะมีแต่ยาฆ่าแมลง เราเคยไปเยี่ยม รพ.สต.กำนันคนหนึ่งเขาบอกว่า เขาเป็นคนรับจ้างฉีดยาฆ่าหญ้า แต่เขาไปเจาะเลือดแล้วเขาปลอดภัย เขาเลยนึกได้ว่าเคยคุยกับอาจารย์หมอปัตพงษ์ว่ามันไม่ใช่ยาฆ่าหญ้านะเป็นยาฆ่าแมลง เราจึงทำรณรงค์ว่าที่เราเจาะเลือดเจอไม่ใช่ยาฆ่าหญ้า แต่เป็นยาฆ่าแมลง จนมาปี 57 เราไปหาว่าที่ไหนสามารถตรวจยาฆ่าหญ้าได้ เพราะเรารู้ว่าคนเขาใช้เยอะ ทางด้านเกษตรกรที่งานสมัชชาสุขภาพก็มองว่ามันต้องลด ละเลิก พอดีว่ารู้จักกับคุณนิพัท ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ปรึกษาของนายก อบจ. พอเรานำประเด็นของสมัชชาสารเคมีเกษตรที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ  แล้วแนวทางที่เราไปศึกษามาจากต่างประเทศนี่บอกว่า ต้องเกษตรอินทรีย์นะ ต้องลดการใช้จึงจะปลอดภัย เราก็ลงพื้นที่ไปให้ข้อมูลแบบนี้ไปตามที่ต่างๆ เพื่อหาเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ พอปี 58 พอเราจะขับเคลื่อนสมัชชาคุณนิพัทก็รวมเครือข่ายได้ 6 เครือข่าย ซึ่งดิฉันมีหน้าที่ไปให้ข้อมูลเรื่องผลกระทบ ในการทำงานเรายังมีอีกเครือข่ายชื่อ สกว.ท้องถิ่น ซึ่งเสนอว่า สมัชชาฯ ต้องมีการวิจัยในท้องถิ่นว่ามีการใช้ยาฆ่าหญ้าในพื้นที่ขนาดไหน แต่ในปี 57-58 ยังไม่ได้ทำประเด็นนั้น ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์มาเรื่อยๆ ก่อนจาก 6 เครือข่ายเพิ่มมาเป็น 12 เครือข่าย ที่จังหวัดหนองบัวลำภู ท่านผู้ว่าจะย้ายบ่อย ผู้ว่ามาทีไรคณะกรรมการสมัชชาจะต้องไปให้ข้อมูล ผู้ว่าฯ สองท่านมองว่า ยังไม่ได้ข้อมูลที่ชัดเจน พอปี 60 เราก็ไปเจาะที่อำเภอสุวรรณคูหาให้ชาวบ้านเป็นนักวิจัยท้องถิ่น ว่าเขามีปํญหาอะไร มีที่บุญทันทำเรื่องแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคแก้ไขปัญหาสารเคมีตกค้างในแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค ที่นาดีทำเรื่องธรรมนูญสุขภาพเพื่อแก้ปัญหาสารเคมี ที่กุดผึ้งทำเรื่องสารทดแทนยาฆ่าหญ้าในไร่อ้อย จนในปี 60 ที่มีการเริ่มแบนพาราควอต ดิฉันกับคุณนิพัทก็ได้รับเชิญไปที่กรุงเทพฯ โดยองค์กรไทยแพน ได้จัดแถลงข่าวที่จะแบนสารเคมี เพราะในเดือนเมษายน ปี 60 รมต.สาธารณสุขขอให้แบนสารเคมี เราก็ดีใจนะในน้ำมียา ในนามีอ้อย แผ่นดินหนองบัวลำภูอาบยาพิษ เดือนกันยายนช่วงนั้น ญาติของคุณนิพัทแกเป็นโรคเนื้อเน่าที่แขนพอดี แกเลยถ่ายรูปแล้วโพสต์ขึ้นไลน์ของเครือข่ายเกษตรอินทรย์ พอวันรุ่งขึ้นไปประชุมที่ไทยแพนเขาก็ถามว่า จังหวัดไหนจะแบนบ้าง เราก็เลยขึ้นไปแถลงข่าวกับเขา เราพูดเรื่องโรคเนื้อเน่าหรือ NF (Necrotizing fasciitis) คนก็ไม่เข้าใจ ภาษาวิชาการเรียกว่าโรคหนังเน่า ต่อมาก็เรียกว่าโรคเนื้อเน่า เราก็เล่าว่าโรคเนื้อเน่าเป็นอย่างไร คุณนิพัทก็โพสต์ภาพไป มันก็เป็นข่าวดังเพราะคนไม่รู้จัก นักข่าวก็มาทำข่าวที่ รพ.หนองบัวลำภู ประกอบกับช่วงนั้นท่านผู้ว่าคนที่แล้ว(ตอนนี้ย้ายไปอุตรดิตถ์) เราไปเล่าให้ท่านฟังพร้อมกับให้ข้อมูล ประโยคเด็ดซึ่งท่านผู้ว่าบอกมาทีหลังว่า ฟังแล้วกระตุกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง คือนำเสนอท่านว่า “ในน้ำมียา ในนามีอ้อย แผ่นดินหนองบัวลำภูอาบยาพิษ” แล้วเราเอาเอกสารข้อเท็จจริงเสนอผู้ว่าฯ ท่านก็นำเสนอส่วนราชการ นี่คือก่อนจะเป็นข่าว พอเป็นข่าวนักข่าวมาทำข่าวเยอะ ท่านผู้ว่าไปเยี่ยมผู้ป่วย พอท่านถามก็จะพบว่า ผู้ป่วยจะมีแผลก่อนแล้วไปสัมผัสยา มีคนหนึ่งโดนปูหนีบแล้วไปล้างมือในที่นา จากนั้นเกิดอาการแขนบวมพอง จึงต้องลอกเนื้อที่แขน พอใครไปสัมภาษณ์ก็จะพบว่าที่บ้านผู้ป่วยมียาฆ่าหญ้าเยอะมาก พอได้ข้อมูลแบบนี้เลยคิดว่าเราต้องขยับต่อ ต้องทำงานต่อ พอหนองบัวลำภูบูมขึ้นมา ทางส่วนวิชาการก็มา แพทย์จากสำนักระบาดวิทยาก็ลงมา เขาก็ไม่รู้จักมาก่อนก็มาทำข้อมูลให้ เราบอกว่าเกิดจากยาฆ่าหญ้า เขาก็ไม่ฟันธง สงสัยว่ามันเกิดได้อย่างไร เนื้อเน่า NF เกิดจากเชื้อโรค แต่เขาก็บอกว่า รูปกราฟการติดเชื้อที่เป็นฟันปลาว่า ถ้าติดเชื้ออย่างเดียวรูปกราฟจะไม่เป็นฟันปลาแบบนี้ เขาต้องไปค้นหาให้ได้ว่าเกี่ยวข้องกับฤดูกาลอย่างไร ประกอบกับในปี 60 นี้ทางไทยแพนสามารถตรวจยาฆ่าหญ้าได้ นักวิจัยชุมชนที่เก็บข้อมูลมาจากหลายพื้นที่ ก็บอกว่าที่เขาเก็บมาเห็นชัดเจนว่ามีการใช้พาราควอตเยอะ เราก็อยากรู้ว่าใช้เยอะแล้วมีการตกค้างเยอะขนาดไหน เรามีหน้าที่ประสานก็ประสาน จนในที่สุดได้ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรมา ตอนแรกทางนั้นจะไม่มาเพราะว่าไกล แล้วเคยทำที่น่านแล้วแต่ผู้ว่าฯ ไม่ยอมรับ แต่หลังจากเราโทรหา ดร.พวงรัตน์ ซึ่งตอนแรกไม่รู้จักหนองบัวลำภูมาก่อน ระหว่างนั้นเราก็สื่อสารกับผู้ว่าฯ ว่าแพทย์ระบาดวิทยาให้ทำวิจัยเพิ่มเติม ท่านบอกว่าเรื่องงบประมาณไม่ต้องเป็นห่วง อย่ากังวลเรื่องราคา ท่านบอกว่าจะหาเงินทำวิจัยให้ เลยคุยกับดร.พวงรัตน์ว่า ท่านผู้ว่าฯ เห็นด้วย ทางนักวิจัยจากนเรศวรเลยมาเก็บข้อมูลก่อนว่า สมเหตุสมผลไหมที่จะมาทำ หลังจากที่ดร.พวงรัตน์มาเก็บข้อมูลในเดือนธันวาคม คราวนี้ตกใจมาก เนื่องจากเห็นสภาพแวดล้อมแล้วน่ากลัวมาก เพราะที่ทำกินคือ ไร่อ้อยกับบ้านชาวบ้านนี่อยู่ติดกันเลย ซึ่งต่างจากที่น่าน ที่จะมีที่ทำกินอยู่ที่หนึ่ง บ้านอยู่ที่หนึ่ง เขาบอกว่าน่ากลัว เมื่อกลับไปวิเคราะห์ตัวอย่าง 2-3 วันแกรีบโทรกลับมาเลยว่า ที่นี่มีการตกค้างสูงมาก ในที่สุดต้องมีการจัดการ ทางจังหวัดต้องทำอย่างไร โดยการทำต้องไม่ให้ชาวบ้านตื่นตระหนกด้วย พอเดือนมกราคมก็ให้มีการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าก่อน เช่น ที่ระบบประปา แบ่งหน้าที่กันว่า อบจ.ต้องทำอะไร แล้วผู้ว่าก็เน้นว่า ระบบเกษตรอินทรีย์ต้องเป็นจริง จึงนำปัญหาสารเคมีนำเข้าเป็นวาระของจังหวัด ต่อมาเราก็มีการวางแผนการลดใช้สารเคมี โดยมี ม.นเรศวร(มน.) มาช่วยเก็บตัวอย่าง 500 ตัวอย่าง ได้ข้อมูลมาว่าตกค้างเยอะ จากนั้นเราก็ขอทุนจากสถาบันวิจัยแห่งชาติ มช.ว่าจะลดสารเคมี เขาเลยให้เข้าโครงการท้าทายไทย ในเรื่องของการลดการใช้สารเคมี ให้ทาง มน.ช่วยเขียนโครงการว่าจะฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างไร ได้ผลสรุปว่า ต้องลดการใช้สารเคมีประมาณ 40% ให้ได้ในปี 64 และจะพัฒนาเกษตรอินทรีย์อย่างไร การกรองสารพาราควอตในน้ำประปา โดยที่จังหวัดน่านใช้ถ่านกัมมัน ได้เชิญคนที่เผาถ่านกัมมันเป็นมาช่วย อันนี้เป็นการแก้ไขเองปัญหาสารเคมี ส่วนในเรื่องของเกษตรอินทรีย์มีการขับเคลื่อน เช่น รพ.สต.ไปเจาะเลือดเกษตรกรเจอตกค้างเยอะ ปลูกผักในพื้นที่สาธารณะ สนับสนุนเรื่องน้ำประปา สูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ทำโครงการหัวนาโมเดลให้ชาวบ้านมีพื้นที่ในการทำเกษตรอินทรีย์ มีบุญทันโมเดลที่แก้ปัญหาสารเคมี และกำลังจะประกาศยกระดับเป็นหนองบัวลำภูโมเดล ในเรื่องการแก้ไขปัญหาสารเคมี 3 ปี เพราะถ้าหนองบัวลำภูเป็นโมเดล(ต้นแบบ) ได้น่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของจังหวัดอื่นๆ ได้ เมื่อปี 57 เราเล่าเรื่องโรคเนื้อเน่าให้ นพ.วีรวัฒน์ พันธุ์ครุฑ ฟังท่านยังไม่รู้จัก แต่พอเมื่อปีที่ผ่านมาเจอท่านอีกครั้งท่านบอกว่าให้ไปช่วยที่ยโสธรด้วยที่นั่นเป็นเยอะ พอเราไปถามหลายๆ จังหวัด โรคนี้เป็นเยอะนะแต่คนยังไม่สนใจ   บทเรียนในการทำงานและสิ่งที่อยากเห็นในการแก้ปัญหา เวลาเราไปให้ข้อมูลชาวบ้าน เขาจะรู้สึกว่าเขาใช้มัน(ยาฆ่าหญ้า) จนเหมือนเป็นยาธรรมดา เหมือนเรากินยาพาราที่เราไปซื้อที่ไหนก็ได้ แล้ววันดีคืนดีพอเราไปบอกว่าพาราเป็นพิษ ชาวบ้านจะถามว่า ถ้ามันอันตรายทำไมนำเข้าล่ะ ชาวบ้านจะมองแบบนี้ จะมองว่ามันไม่อันตราย เราเลยคุยกับชาวบ้านว่าทำอย่างไรเราจะลด ละ เลิก ได้ก่อน เพราะ 50 ประเทศยกเลิกไปแล้ว เราไม่ใช่ประเทศแรกที่ยกเลิกแล้วทำไมเราจะยกเลิกไม่ได้ ชาวบ้านจะถามว่า สารทดแทนเขาจะใช้อะไร ในขณะเดียวกันหน่วยงานของกระทรวงเกษตรก็บอกว่าแล้วชาวบ้านจะใช้อะไรแทนพาราควอต มันยังจำเป็นอยู่ ตัวเราเองเป็นผู้บริโภคอยากให้เป็นเกษตรอินทรีย์ เพราะเวลาไปซื้อผัก เราไว้ใจไม่ได้เลย คือเราไม่มีความมั่นคงในชีวิตเลยนะ ความมั่นคงทางอาหารเราไม่มีเลย เราจะทำอย่างไร ชาวบ้านที่เจ็บป่วยจากสารเคมีเกษตร ยังไม่ค่อยรู้เรื่องสิทธินะคะ โดยเฉพาะเรื่องการฟ้องร้องเป็นเรื่องใหม่มาก เราก็อยากให้เขายกเลิกการใช้ เพราะเรารู้ว่ามันอันตราย ในส่วนของตัวเองก็จะพยายามทำงานวิจัยเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพมารองรับมันก็จะเป็นหลักฐานที่ชัดเจนขึ้น ส่วนเรื่องความเสียหายของผู้ที่ได้รับผลกระทบนี้เป็นความรู้ใหม่ของหมอว่ามันดูแลตรงนี้ได้นะ ต้องขอบคุณทีมมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถึงตรงนี้ก็อยากฝากว่า เราทุกคนอยู่ในอันตรายทั้งนั้น เพราะว่าตอนนี้มันอยู่ในสิ่งแวดล้อมแล้ว ตอนนี้พืชผัก ผลไม้มันปนเปื้อนหมดเลย ที่ผ่านมาไทยแพนตรวจเจอแต่ยาฆ่าแมลงไม่เคยตรวจยาฆ่าหญ้า ปี 60 เจอยาฆ่าหญ้าเยอะมากเพราะมันแทรกซึมไปทุกที่ เพราะมันลงน้ำบาดาลแล้ว ฉะนั้นทุกคนต้องลุกขึ้นมาสนับสนุนด้วยการไม่ใช้และไม่นำเข้า ถ้าไม่ลุกขึ้นมา ถ้าไม่ห่วงตัวเอง คนไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร ลูกหลานของเราจะอยู่อย่างไร 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 แร่ใยหินที่รัฐบาลประกาศยกเลิกการใช้ แต่ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมี

นับแต่มี มติ ครม. ให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน เมื่อเดือนเมษายน 2554 ผ่านมา 7 ปีแล้ว ทุกวันนี้ประเทศเรายังนำเข้าแร่ใยหินประมาณ 4 หมื่นตันทุกปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า แม้แต่คำสั่งของรัฐบาลก็ใช่ว่าจะมีผลในทางปฏิบัติได้ง่ายๆ สำหรับประเทศนี้  แร่ใยหินเป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็งจากการประกอบอาชีพตัวที่สำคัญที่สุด      แร่ใยหิน เป็นกลุ่มของแร่ในธรรมชาติจำพวกเส้นใยเซอร์เพนไทน์(serpentine) หรือแอมฟิโบล(amphibole) ซึ่งเป็นแร่ที่มีประโยชน์ทางการค้าเนื่องจากมีคุณสมบัติแข็งแรง เป็นสื่อนำความร้อนต่ำและทนทานต่อการกัดกร่อนของสารเคมี จึงนิยมนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ต้องการความทนทานสูงทั้งความร้อนและกรด ด่าง เช่น กระเบื้องมุงหลังคา ฝ้าเพดาน ฉนวนกันความร้อน ท่าน้ำซีเมนต์ เบรกและคลัทช์รถยนต์ เสื้อกันไฟ เป็นต้น แต่เพราะก่ออันตรายสูงโดยเฉพาะต่อคนทำงานที่ต้องสัมผัสแร่ตลอดเวลา ซึ่งมีผลการศึกษายืนยันชัดเจนว่า แร่ใยหิน เป็นต้นเหตุราวครึ่งหนึ่งของการเสียชีวิตด้วยมะเร็งจากการประกอบอาชีพ   และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภควัสดุที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินได้อีกด้วย หากเกิดกรณีที่วัสดุเสื่อมสภาพจนฝุ่นแร่ฟุ้งกระจายออกสู่อากาศ       แร่ใยหินชนิดหลัก คือ ไครโซไทล์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มสารเซอร์เพนไทน์ ปัจจุบันยังคงมีการใช้อยู่ ขณะที่กลุ่มแอมฟิโบล เกือบทุกประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกการนำเข้าแล้ว รวมทั้งประเทศไทยด้วย      สำหรับประเทศไทยมีการใช้แร่ใยหินมาอย่างยาวนาน เพราะไม่มีการทำเหมืองแร่ใยหินในไทย ดังนั้นเกือบทั้งหมดจึงเป็นการนำเข้า โดยเริ่มมีการนำเข้าตั้งแต่ปี 2518 เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ  เคยนำเข้าสูงสุดถึงเกือบ 180,000 ตัน ในปี 2540 ก่อนฟองสบู่แตก จนถึงปัจจุบันไม่น่าเชื่อว่าขณะที่หลายประเทศ ซึ่งกังวลต่อผลลัพธ์ด้านสุขภาพ ได้สั่งห้ามการนำเข้าแร่ใยหินทุกชนิด แต่ไทยยังติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศผู้นำเข้าแร่ใยหินมากที่สุดในโลก ส่วนประเทศผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ ของโลก 5 อันดับแรก ได้แก่ รัสเซีย จีน บราซิล คาซัคสถานและแคนาดา ตารางการนำเข้าแร่ใยหินข้อถกเถียงเรื่องการก่อมะเร็งของไครโซไทล์      ประเทศไทยยังมีการนำเข้าแร่ใยหิน ไครโซไทล์ ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ทั้งที่มากกว่า 60 ประเทศทั่วโลกต่างก็ยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกชนิดแล้ว เพราะห่วงใยต่อสวัสดิภาพของคนในประเทศ ประเทศไทยเองก็มีคณะทำงาน (เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประไทย หรือ T-BAN) ที่ติดตามเฝ้าระวังและพยายามผลักดันให้เกิดการห้ามใช้แร่ใยหินทุกชนิดในประเทศไทย ด้วยเหตุผลว่าการใช้แร่ใยหินเพื่อทำเป็นวัสดุต่างๆ นั้น  ส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน วิธีที่ดีที่สุดคือ หยุดการใช้ทันที  ซึ่งการทำงานทั้งทางด้านวิชาการและรณรงค์ภาคสังคม ทำให้เกิดมติคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 12 เมษายน 2554 ที่เห็นชอบตามยุทธศาสตร์ “สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” ที่เสนอโดยสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยเห็นชอบแนวทางห้ามนำเข้า แร่ใยหินไครโซไทล์และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินทุกชนิด พร้อมมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามมติต่อไป      หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือ กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย กฎหมายว่าด้วยการนำเข้าและส่งออก กฎหมายว่าด้วยโรงงานและกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดำเนินการประกาศห้ามนำเข้าได้ทันทีหรือวางแนวปฏิบัติในการยกเลิกให้ชัดเจน กลับไม่ดำเนินการใดๆ โดยยกเหตุผลว่า  “ประเทศไทยยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้แร่ใยหินไครโซไทล์อยู่ ด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยจะต้องมีการระบุถึงวัสดุทดแทนแร่ใยหินที่มีอันตรายน้อยกว่าหรือไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ”  (เหตุผลดังกล่าวไม่มีน้ำหนักแล้ว เมื่อเทคโนโลยีปัจจุบันได้มีวัสดุทดแทนแร่ใยหินแล้ว ซ้ำยังมีราคาถูกกว่าอีกด้วย)      ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงยังไม่มีมาตรการใดๆ ต่อมติ ครม. ดังกล่าว จากที่เคยคาดการณ์กันว่า ประเทศไทยน่าจะยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินได้แล้ว กลับยังต้องรอต่อไป เหมือนปล่อยให้คนไทยยังต้องเสี่ยงต่อภาวะโรคที่เกิดจากแร่ใยหิน ซึ่งในความเป็นจริงนั้น แม้แต่จะยกเลิกได้ทันทีในปี 2554  แต่ในอนาคตก็จะยังมีผู้ป่วยจากแร่ใยหินเกิดขึ้นอีก เนื่องจากประเทศไทยมีการใช้แร่ใยหินกันมานานหลายสิบปี และโรคที่เกิดจากแร่ใยหินมีระยะฟักตัวยาวนาน ดังนั้นการลดอันตรายที่ดีที่สุดจึงควรเป็นการหยุดใช้ทันทีเพื่ออนาคตของคนรุ่นถัดไป การทอดเวลาหยุดนำเข้าออกไปเรื่อยๆ ก็เหมือนกับการปล่อยให้คนไทยยังคงเสี่ยงต่อภัยของแร่ใยหินหรือเพิ่มผู้ป่วยขึ้นไปเรื่อยๆ นั่นเอง      แร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งมีหลักฐานทางวิชาการแน่นหนา แต่ขณะเดียวกันกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์กลับดำเนินการโต้ตอบทางข้อมูลว่า ไครโซไทล์ปลอดภัยในการใช้ และไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง แม้แต่เจ้ากระทรวงอุตสาหกรรม นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ซึ่งให้สัมภาษณ์ไว้ในข่าวของไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 12 มกราคม 2558 ถึงความก้าวหน้าในการห้ามการนำเข้าแร่ใยหินยังกล่าวว่า “...การแก้ปัญหาที่เหมาะสมคือปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด โดยขณะนี้ผู้ผลิตกระเบื้องทั่วโลกกำลังทยอยยกเลิกการใช้แร่ใยหิน และในไทยเหลือเพียง 2 ราย ที่อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตอีก ทั้งยังไม่พบรายงานผู้ที่ได้รับอันตรายจากการใช้กระเบื้องมุงหลังคาที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน...”      นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบุคคลที่ระบุว่า เป็นศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ อ้างว่า แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นใยหินประเภทที่ก่ออันตรายน้อยมาก ใช้กันมากกว่า 70 ปี ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบใยหินที่รู้จักกันดี ได้แก่ กระเบื้องซีเมนต์มุงหลังคา ท่อน้ำซีเมนต์ชลประทานและท่อประปา ขนาดใหญ่ ฉนวนต่างๆ และผ้าห้ามล้อและจานคลัตช์ คนไทยดื่มน้ำฝนจากหลังคา และน้ำประปาจากท่อน้ำใยหินมาหลายสิบปี ยังไม่ปรากฏว่ามีใครเป็นโรคจากใยหิน      ข้ออ้างดังกล่าวขัดแย้งกับผลการศึกษาทั้งในประเทศและองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งยืนยันว่า แร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง โดยมีโรคที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสแร่ใยหินที่สำคัญ ได้แก่ โรคหรือภาวะผิดปกติที่เยื่อหุ้มปอด (น้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด ปอดแฟบเป็นก้อน เยื่อหุ้มปอดหนาตัวเป็นหย่อม เยื่อหุ้มปอดหนาตัวทั่วไป) พังผืดในปอดจากแร่ใยหิน มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อเลื่อม(เมโสเธลิโอมา) มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งรังไข่และเมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา ผศ.ดร.นพ.ณรงค์ภณ ทุมวิภาต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้บรรยาย เรื่อง “แร่ใยหิน : ภัยเงียบที่องค์กรผู้บริโภคคุณภาพต้องรู้” ภายในงานประชุมวิชาการองค์กรผู้บริโภคคุณภาพว่า จากโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคเหตุแร่ใยหิน โดย ศ.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ ซึ่งได้อาศัยข้อมูล Health Data Center ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปี 2558-2559 พบว่า มีการรายงานจำนวนผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหิน 385 ราย แต่จากการที่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ดำเนินการยืนยันความถูกต้อง พบว่า มีผู้ป่วยโรคเหตุใยหินจริง 28 ราย แบ่งเป็นมะเร็งเยื่อเลื่อม 26 ราย ประกอบด้วย มะเร็งเยื่อหุ้มปอด 21 ราย มะเร็งเยื่อบุช่องท้อง 3 ราย มะเร็งเยื่อหุ้มหัวใจ 1 ราย และมะเร็งที่อัณฑะ 1 ราย พังผืดในปอดจากแร่ใยหิน 1 ราย และเยื่อหุ้มปอดหนาตัวเป็นหย่อม 1 ราย ส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสแร่ใยหินจากการประกอบอาชีพ     ทั้งยังระบุอีกว่า “ประเทศไทยมีปัญหาการวินิจฉัยโรคจากแร่ใยหินได้น้อยกว่าความเป็นจริง เนื่องจากมีข้อจำกัด คือ รอยโรคปอดจากแร่ใยหินมีความคล้ายกับโรคปอดชนิดอื่น อาจทำให้แพทย์คาดไม่ถึงว่า เกิดจากแร่ใยหิน ประกอบกับโรคที่เกิดขึ้นมีระยะฟักตัวของโรคนานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป เช่น พังผืดในปอดจากแร่ใยหินใช้เวลา 20-40 ปี มะเร็งปอดมากกว่า 15 ปี มะเร็งเยื่อหุ้มปอดยิ่งน่ากลัว เพราะใช้เวลามากกว่า 40 ปี และยังหาการสัมผัสแร่ใยหินขั้นต่ำที่ทำให้เกิดโรคไม่ได้ เป็นต้น จนทำให้ผู้ป่วยหลงลืม ทำให้ไม่สามารถซักประวัติโดยละเอียดได้ เพราะคนที่เคยสัมผัสแร่ใยหินอาจมีการเปลี่ยนงานมานาน รวมถึงอาจมีพฤติกรรมเสี่ยงจากปัจจัยอื่น เช่น สูบบุหรี่ ทำให้ไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ชัดเจน ทำให้คนที่ไม่อยากแบนแร่ใยหิน เอาข้อมูลนี้มาบอกผิดๆ ว่า คนป่วยไม่เคยสัมผัสแร่ใยหินมาก่อน จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย หากไม่เคยสัมผัสคงไม่ป่วย และย้ำว่า การไม่มีประวัติสัมผัสไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการสัมผัสมาก่อน เพราะการซักประวัติอาจไม่ละเอียดพอ ทำให้ไม่มีการบันทึกในข้อมูลผู้ป่วย”แนวทางในการยุติการนำเข้าแร่ใยหินและการป้องกันกลุ่มเสี่ยงสำคัญ คณะทำงานในโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคเหตุใยหิน ได้เสนอแนวทางการเฝ้าระวังโรคเหตุใยหิน ได้แก่ การตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงในโรงงานหรืออาชีพที่สัมผัสใยหิน ควรมีการบังคับใช้กฎหมายในการให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หากไม่ดำเนินการต้องมีการลงโทษตามกฎหมาย นอกจากนี้ ต้องจัดทำทะเบียนคนงานที่ทำงานสัมผัสแร่ใยหิน โดยสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ควรจัดระบบเฝ้าระวังติดตามกลุ่มคนงานทั้งในกลุ่มคนงานที่สัมผัสแร่ใยหินและคนงานก่อสร้างอิสระในระยะยาว รวมถึงหาแนวทางในการดูแลสุขภาพคนเหล่านั้นหากเกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคเหตุใยหินภายหลังออกจากงานไปแล้ว ที่สำคัญคือการหาแนวทางติดตามคนงานในระยะยาวโดยไม่สูญหาย     ส่วนแนวทางในการยุติการนำเข้า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาแม้เครือข่ายนักวิชาการและกลุ่มองค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจะมีการนำเสนอเหตุผลและหลักฐานทางวิชาการเกี่ยวกับอันตรายของแร่ใยหินมากเพียงใดก็ตาม แต่ภาครัฐก็ยังไม่มีการประกาศเป็นนโยบายที่ชัดเจน รวมทั้งไม่มีมาตรการระดับประเทศที่จะนำไปสู่การสร้างหลักประกันสูงสุดให้กับประชาชน  กุญแจดอกสำคัญอยู่ที่หน่วยงานที่มีบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรงคือ กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนเป็นหลักแทนที่จะมองถึงผลได้ผลเสียแต่ในเชิงเศรษฐกิจ     หรืออาจต้องทำดำเนินการตามข้อเสนอของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า คณะกรรมการพิจารณาเรื่องการแบนแร่ใยหิน และ คณะกรรมการพิจารณาสารเคมี 3 ชนิด คือ คณะกรรมการชุดเดียวกัน ซึ่งมีกลุ่มคนที่สนับสนุนการใช้สารพิษรวมอยู่ ซึ่งเมื่อดูแล้วจะพบว่า   ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องเดียวกันที่กระทบกับสุขภาพประชาชน ดังนั้นมันมีความชัดเจนแล้วว่ามันมีผลต่อสุขภาพ หากยังมีการใช้เช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งเพิ่มปริมาณผู้ป่วยขึ้นไปอีก สิ่งที่จะต้องทำเพื่อให้ทั้งสองเรื่องมีความเป็นไปได้ คือ    การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตัวคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่มีอำนาจตัดสินใจ หรือไม่ก็ต้องพิจารณาให้มีการแบนไปเลยทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 อ้างบุญอ้างราศี ที่แท้ก็ขายยา

ผู้อ่านหลายท่านคงเคยดูรายการทีวีเกี่ยวกับการทำนายดวงชะตาราศีต่างๆ แต่นึกไม่ถึงว่ามันจะลามมากระทั่งการขายยาพ่วงด้วย“ทีแรกก็ไม่คิดว่าจะซื้อกินหรอก แต่แกมีอาการปวดๆ เมื่อยๆ พอเจอคนขาย เขาบอกว่ามียาดี หายทุกราย รายได้จะเอาไปทำบุญ ก็เลยช่วยเขาซื้อ คงกะว่าจะลองดูด้วย” พี่ๆ อสม.(อาสาสมัครสาธารณสุข) เล่าพฤติกรรมของคุณป้าท่านหนึ่งที่อยู่ในชุมชนให้ฟัง ระหว่างที่ผมพาคณะอาจารย์และนักศึกษาปริญญาโท ลงพื้นที่ไปพูดคุยเรื่องการใช้ยา“ยาอะไรทำไมราคาแพงจัง ขวดละตั้งหลายร้อย เป็นยาสมุนไพรแผนโบราณนะ พี่อ่านฉลากข้างขวดก็มีทะเบียนยา มีที่อยู่ครบถ้วนนะ เราเป็น อสม.พอมีความรู้เรื่องการอ่านฉลากอยู่บ้าง ก็เอะใจที่ฉลากมันไม่ได้บอกว่ารักษาอาการปวดเมื่อยได้มากมายตามที่คนขายเขาบอก ฉลากมันบอกแค่เป็นยาบำรุงร่างกาย  เราเป็นห่วงก็พยายามเตือนแกแต่แกไม่เชื่อนะ ยังเถียงอีกว่ายาดี คนขายบอกว่าจะเอาเงินไปทำบุญ คนซื้อก็ได้ต่อยอดบุญ ชีวิตจะได้รุ่งเรือง”            “แล้วพี่ตามดูไหมครับว่า หลังจากนั้นคุณป้าท่านนี้เป็นยังไง” ผมถามต่อด้วยความอยากรู้            “แกไม่หายหรอก ก็ปวดๆ เมื่อยๆ เหมือนเดิม ลูกหลานห้ามก็ไม่เชื่อ ใครเตือนแกโกรธนะ แกศรัทธาเจ้าของผลิตภัณฑ์นี้มาก แกบอกว่าเขาเป็นองค์เทพมาจุติ มาโปรดสัตว์ มาชวนคนทำบุญ หลังๆ แกซื้อเป็นชุดเลยนะ คนขายไปบอกแกว่า ยานี้ต้องกินให้ครบ 12 ราศี แกก็เชื่อนะ ซื้อมาชุดละเจ็ดพันบาทครบ 12 ราศี เวลาได้มาก็ต้องเอายาวางในที่สูง ห้ามวางต่ำกับพื้นมันบาป ลูกหลานก็ยิ่งห่วง กลัวจะถูกหลอก พอเตือนแกหนักๆ เข้า แกตัดจากกองมรดกเลย แกเป็นคนมีสตางค์”            “ไอ้เราเป็น อสม. ก็อดเป็นห่วงแกไม่ได้ เผอิญช่วงนั้นมีงานศพ คนตายก็เคยกินยานี้ แกป่วย พอศรัทธายานี้ ก็เลยไม่ยอมกินยาเดิมที่หมอตรวจ เอาแต่กินยานี้ เราก็เลยชวนแกไป กะจะให้แกกลัว จะได้เลิก ขนาดเอาคนตายมาเป็นตัวอย่างสอนแกในงานศพ แกยังไม่เชื่อเลย แกยังเถียงว่า คนที่ตายได้ยาปลอมมา เพราะไม่ได้ซื้อยาจากศูนย์ขายเดียวกับแก”            “แล้วตอนนี้แกยังกินอยู่ไหมครับ ท่าทางคุณป้าแกเชื่อหัวปักหัวปำขนาดนี้” ผมถามด้วยความอยากรู้            “เลิกแล้ว แต่กว่าจะเลิกก็หมดตังค์ไปหลาย คือหลังจากงานศพแกก็ไปซื้อกินอีกเรื่อยๆ แหละ แต่ไม่กี่เดือนภรรยาของลุงที่เสียชีวิตก็มาเสียชีวิตตามไปอีกคนนึง เรารู้ว่าทั้งผัวทั้งเมียกินยานี้ทั้งคู่ แล้วก็ไม่ยอมไปตรวจรักษาเหมือนเดิม ก็เลยชวนแกไปงานศพอีก คราวนี้ก็เลยพาแกไปนั่งคุยกับญาติๆ ของคนที่เสีย ญาติมันด่าเช็ดเลยว่า ขายยาอะไรแบบนี้ เตือนแล้วห้ามแล้วก็ไม่ฟังเอาแต่กินยานี้ ไม่ยอมไปตรวจตามที่หมอเคยตรวจ ยาเดิมๆ ที่หมอเคยจ่ายตอนตรวจก็เลิกกิน “เราก็เลยถามต่อว่าซื้อยาจากที่ไหน เป็นไงล่ะ ซื้อมาจากศูนย์ขายที่เดียวกับที่แกซื้อมานั่นแหละ เราเลยถือโอกาสบอกแกว่า ถ้ายังไม่เลิก แกอาจจะเป็นรายต่อไปนะ” เรื่องนี้ น่าทึ่งทั้งเทคนิคการขายที่แพรวพราว และเทคนิคการทำงานของพี่ อสม.ท่านนี้ จริงๆ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 คนต่างด้าวซื้อห้องชุดเพื่อให้เช่าทำได้หรือไม่ ? ตอน 2

สามารถทำได้หรือไม่ ต้องพิจารณาว่ามีกฎหมายอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง หลักเลยคือ พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมล่าสุด(ฉบับที่ 4) ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ของคนต่างด้าวที่จะซื้ออาคารชุดได้ โดยบทความคราวที่แล้วกล่าวถึงคุณสมบัติของคนต่างด้าว และค้างไว้ที่การจะเข้าถือกรรมสิทธิ์...        ข้อ 2. มาตรา 19 ทวิ กำหนดว่า อาคารชุดแต่ละอาคารชุดจะมีคนต่างด้าวหรือนิติบุคคลตามที่ระบุไว้ใน ข้อ 1. ถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละ49ของเนื้อที่ของห้องชุดทั้งหมดในอาคารชุดนั้นในขณะที่ขอจดทะเบียนอาคารชุดตามมาตรา6                                                              หากคนต่างด้าว มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ทั้งสองประการข้างต้น ก็สามารถทำสัญญาซื้ออาคารชุดและสามารถมีชื่อเป็นเจ้าของห้องได้ตามกฎหมาย แต่มีข้อยกเว้นว่า          ก) สำหรับอาคารชุดใดที่จะมีคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดเกินกว่าอัตราร้อยละ 49 อาคารชุดนั้นจะต้องตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเทศบาล หรือเขตเมืองพัทยา และมีที่ดินที่ตั้งอาคารชุดรวมกับที่ดินที่มีไว้เพื่อใช้ หรือเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมทั้งหมดไม่เกิน 5 ไร่ มีห้องชุดไม่น้อยกว่า 40 ห้อง และได้จดทะเบียนเป็นอาคารชุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปีก่อนวันที่จะขอให้คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดเกินร้อยละ ๔๙ และอาคารชุดนั้นต้องไม่ตั้งอยู่ในบริเวณเขตปลอดภัยในราชการทหารตามพระราชบัญญัติว่าด้วยเขตต์ปลอดภัยในราชการทหาร พ.ศ. 2478                                                                                                     ข) เมื่อครบกำหนดเวลา 5 ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542  ใช้บังคับ กล่าวคือ วันที่ 28 เมษายน 2542 กฎหมายบัญญัติให้ยกเลิกความในข้อ 1. และให้คนต่างด้าวที่ได้ห้องชุดมาตามข้อ 1. หรือคนต่างด้าวซึ่งรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดต่อมาจากคนต่างด้าวดังกล่าวนั้น มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดนั้นต่อไปได้ แม้ว่าจะเกินอัตราร้อยละ 49 ของเนื้อที่ของห้องชุดทั้งหมดในอาคารชุดนั้น โดยแต่เดิมกฎหมายยินยอมให้คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดได้เกินร้อยละ 49 จึงเท่ากับว่าคนต่างด้าวสามารถซื้ออาคารชุดได้มากกว่าที่กำหนดไว้ในปัจจุบัน ดังนั้น ปัจจุบันคนต่างด้าวจึงมีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดได้เพียงไม่เกิน ร้อยละ 49 ตามมาตรา 19 ทวิ เท่านั้น เว้นแต่จะเป็นกรณีที่คนต่างด้าวซื้ออาคารชุดนั้น ต่อจากคนต่างด้าวอื่นที่ได้ซื้ออาคารชุดไว้ก่อนที่กฎหมายฉบับดังกล่าวจะได้ยกเลิกตามข้อ 2. โดยการถือครองกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดสอดคล้องกับเหตุผลท้ายพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 ที่กล่าวว่า         โดยที่เป็นการสมควรให้คนต่างด้าวและนิติบุคคลที่มีสิทธิในที่ดินเสมือนคนต่างด้าวบางประเภทอาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนอันจะก่อให้เกิดความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ และต่อมาก็ได้มีการให้เหตุผลตามพระราชบัญญัติอาคารชุด แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542 กำหนดว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติม หลักเกณฑ์การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของคนต่างด้าวและนิติบุคคลที่กฎหมายถือว่าคนต่างด้าว เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อจำกัดเกี่ยวกับกับการนำเงินตราต่างประเทศประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร โดยกำหนดให้ผู้นำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร ต้องขายหรือฝากเงินตราต่างประเทศนั้นได้รับอนุญาตและแก้ไขอัตราส่วนการถือ กรรมสิทธิ์ห้องชุดในอาคารแต่ละอาคารชุดของคนต่างด้าวและนิติบุคคลที่กฎหมายถือว่าคนต่างด้าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อห้องชุดของบุคคลดังกล่าว ตลอดจนเป็นการเพิ่มกำลังซื้อให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของประเทศที่กำลังประสบปัญหาสภาวะซบเซา ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม นอกจากนั้นได้เพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการ ตรากฎหมายที่มีบทบัญญัติเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อให้เป็นไปตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้        ปกติแล้วการถือครองอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติจะมีการดำเนินการในลักษณะของบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยและนิติบุคคลสัญชาติไทย กรณีของบุคคลธรรมดาจะให้ผู้ที่มีความสัมพันธ์กับตนเป็นผู้ถือครองแทน ส่วนกรณีการถือครองโดยนิติบุคคลจะถือครองโดยการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทและมีชาวต่างชาติถือหุ้น ร้อยละ 49 ส่วนอีก ร้อยละ 51 ถือโดยคนสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลสัญชาติไทย และในนิติบุคคลดังกล่าวก็อาจมีชาวต่างชาติถือหุ้นด้วยทำให้สัดส่วนจริงของชาวต่างชาติจะถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 49 ต่อมารัฐบาลจึงได้เสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เพื่อแก้ปัญหาหุ่นเชิด ซึ่งจะอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติมีสิทธิเช่าอสังหาริมทรัพย์ในไทยได้สูงสุดเพียง 30 ปีเท่านั้น ข้อเสนอดังกล่าวส่งผลให้ชาวต่างชาติที่เป็นเจ้าของรวมถึงผู้ที่มีแผนจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยพากันวิตกกังวลเป็นอันมาก ทว่าสำหรับการเช่าที่ดินเพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมในประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม. พ.ศ.2542 เอื้อประโยชน์ให้กับชาวต่างชาติไม่น้อย เพราะสามารถเช่าได้ไม่เกิน 50 ปีและสามารถตกลงต่อระยะเวลาเช่าได้อีกไม่เกิน 50 ปี ซึ่งเท่ากับว่าสามารถเช่าได้เกือบ 100 ปีอยู่แล้ว เพียงแต่มีข้อเสนอแนะให้ทบทวนในการแก้ไขปัญหา ดังนี้        ข้อ 1. พระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม. พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติมให้ครอบคลุมกลุ่มธุรกรรมประเภทอื่นด้วยหรือไม่             ข้อ 2. แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม. พ.ศ.2542 ให้ครอบคลุมถึงการเช่าที่ดินเพื่ออยู่อาศัยโดยควรกำหนดพื้นที่เป็นการเฉพาะเช่นเดียวกันและกำหนดกรอบของจำนวนพื้นที่ให้เหมาะสมด้วยหรือไม่ต่อกันไปตอนที่ 3 ฉบับหน้าครับ         ข้อ 3. แก้ไขพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ให้การจัดสรรที่ดินครอบคลุมถึงวัตถุประสงค์ในการเช่าได้ด้วย เพราะปัจจุบันโครงการที่อยู่ภายใต้ พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดินไม่สามารถนำที่ดินไปให้เช่าได้ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติการแก้ไขเพิ่มเติมให้ครอบคลุมการเช่าจะมีผลดีในด้านการควบคุมพื้นที่ควบคุมจำนวน                       ข้อ 4. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 ให้คนต่างชาติสามารถถือครองกรรมสิทธิ์ได้เกินกว่า ร้อยละ 49 แต่อาจกำหนดเป็น ร้อยละ 60 หรือ ร้อยละ 70 โดยกำหนดเฉพาะพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งการลงทุนของชาวต่างชาติหรือแหล่งท่องเที่ยวเช่นเดียวกันโดยจำกัดจำนวนที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารชุดเพื่อมิให้เกิดการถือครองที่ดินโดยทางอ้อมการถือครองอสังหาริมทรัพย์ของคนต่างชาติมีผลดีทั้งในด้านที่ทำให้นักลงทุนเกิดเชื่อมั่นส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดการจ้างแรงงานภายในประเทศ แต่ต้องกำหนดขอบเขตและมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน           

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 ฝึกภาษาอังกฤษกับ Echo English

การสื่อสารในปัจจุบันถือว่าภาษาอังกฤษมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นภาษาที่สามารถใช้สื่อสารได้กับคนทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่การทำงานในบริษัทต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความต้องการบุคคลที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ในระดับดี ทั้งการพูด การฟัง การเขียนและการอ่าน  ดังนั้นคนยุคใหม่ที่กำลังมองหางาน จึงควรมีทักษะทางด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษไว้บ้าง เพื่อใช้เป็นใบเบิกทางในการสมัครงานในที่ต่างๆ ฉบับนี้มาเสริมทักษะภาษาอังกฤษกันดีกว่าค่ะแอปพลิเคชันที่น่าสนใจในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษตั้งแต่เริ่มต้น มีชื่อว่า Echo English ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนามาโดยกระทรวงศึกษาธิการกับภาคเอกชน ที่เน้นการพัฒนาทักษะการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษในรูปแบบสถานการณ์ต่างๆ โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ทั้งระบบปฏิบัติการ IOS และระบบปฏิบัติการ Androidเมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแล้ว ระบบจะให้สร้างบัญชีหรือลงทะเบียนผ่านเฟสบุ๊ค ภายในแอปพลิเคชันจะมี 2 หมวด ได้แก่ หมวด Home ซึ่งจะเป็นหมวดที่เก็บบทเรียนที่ผู้ใช้ได้ดาวน์โหลดบทเรียนนั้นไว้เรียบร้อยแล้ว และหมวด Discover โดยในหมวดนี้จะแบ่งบทเรียนตามความยากง่าย และมีบทเรียนให้เลือกตามสถานการณ์ต่างๆ ที่ผู้ใช้มีความสนใจ อาทิ บทเรียน Can-do A1 จะมีบทเรียนบทสนทนาเกี่ยวกับการทักทาย บทสนทนาเกี่ยวกับการถามข้อมูล หรือบทเรียน Intermediate จะมีบทเรียนบทสนทนาเกี่ยวกับระบบขนส่ง บทสนทนาเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เป็นต้นหลังจากที่ผู้ใช้สามารถเลือกบทสนทนาที่ต้องการเรียนรู้ได้แล้วให้กดเลือก จะปรากฏหัวข้อบทสนทนาและวิดีโอสอน ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ส่วนที่มีความต่อเนื่องกัน และให้ผู้ใช้กดดาวน์โหลดหัวข้อที่ต้องการ ทั้งนี้ภายในแต่ละหัวข้อบทสนทนาจะแบ่งรายละเอียดออกเป็นดังนี้  บทเรียน การฟัง การพูด การเขียน การทดสอบ และโหมดอัดเสียง ส่วนหัวข้อวิดีโอสอนจะเป็นการสอนแบบลงรายละเอียดในแต่ละประโยคของบทสนทนาส่วนรายละเอียดของหัวข้อบทสนทนา ในเรื่องบทเรียนจะเป็นวิดีโอบทสนทนาตามสถานการณ์ เรื่องการฟังจะเป็นการฝึกฟังทีละประโยค เรื่องการพูดจะเป็นการฝึกพูดโดยให้ผู้ใช้กดปุ่มบันทึกและพูดแต่ละประโยค หลังจากนั้นแอปพลิเคชันจะประมวลผลว่าดีหรือไม่ โดยจะปรากฏผลในรูปแบบคะแนน เรื่องการเขียนจะเป็นการฝึกเติมคำลงในช่องว่างในแต่ละประโยค เรื่องการทดสอบจะเป็นการทดสอบจากการเรียนรู้จากบทเรียนนั้น และเรื่องโหมดอัดเสียงจะเป็นการอัดเสียงขณะพูดแต่ละประโยคของผู้ใช้ เพื่อนำมาฟังได้ภายหลัง แอปพลิเคชันนี้เหมาะสำหรับผู้ใช้ที่เพิ่งเริ่มต้น โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่เข้าใจ เพราะเป็นบทเรียนที่ง่าย  ลองดาวน์โหลดมาเรียนรู้และลองใช้เพื่อเพิ่มทักษะด้านภาษาอังกฤษกันนะคะ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 การลบไฝ ปาน

ไม่ว่าใครคงอยากมีผิวสวยเกลี้ยงเกลาปราศจากตำหนิ นอกจากรอยด่างดำ เหี่ยวย่นแล้ว กลุ่มไฝ ปาน ก็ดูจะขวางความสวยอยู่เหมือนกัน หลายคนจึงคิดกำจัดทิ้งซึ่งทำได้ไม่ยากในสมัยนี้ แต่หากคิดจะกำจัดออกจริงๆ ก็ควรทำให้ถูกวิธี มิเช่นนั้นอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมาได้      ไฝ ปาน เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ผิวหนัง  อาจเป็นมาตั้งแต่เกิดหรือมาเป็นทีหลังก็ได้ จะเริ่มเป็นในวัยใดก็ได้ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ซึ่งทั้งไฝและปาน จัดอยู่ในกลุ่มของโรคผิวหนังกลุ่มเดียวกัน โดยปานต่างจากไฝที่ลักษณะของเซลล์ที่เป็นต้นเหตุ ปาน จะเป็นรอยสีผิดปกติที่เกิดขึ้นที่ผิว มีรูปร่าง ขนาดและสีต่างๆ กัน เช่น ปานแดง ปานดำ ส่วน ไฝ จัดเป็นเนื้องอกชนิดหนึ่ง แต่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย อาจเกิดเป็นตุ่มเดี่ยวๆ หรืออยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เกิดได้ทุกตำแหน่งบนผิวหนัง ไฝที่พบได้บ่อยคือไฝดำ ที่เรียกกันว่า ขี้แมลงวัน     ทั้งไฝและปาน นอกจากเรื่องที่ว่าทำให้รู้สึกไม่สวย ส่วนใหญ่แล้วจะไม่อันตราย แต่ก็ต้องใส่ใจหากว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติจนสังเกตชัด ไฝนั้น อาจมีความเสี่ยงในการเกิดเป็นเซลล์มะเร็งได้ แต่ต้องสัมพันธ์กับขนาด คือ หากไฝมีขนาดใหญ่มาก หรือเกิดจากเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสี รูปร่าง หรือมีเลือดออก เจ็บ คัน ควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ ส่วนปานบางชนิดอาจกลายเป็นเนื้อร้ายหรือกลายเป็นแผลเรื้อรัง หรือการเกิดปานขึ้นในบางตำแหน่งอาจก่อให้เกิดปัญหาในการทำงานของอวัยวะ เช่น ตาหรือปาก หรือการที่ปานขยายขนาดใหญ่ขึ้นทำให้ดูน่าเกลียด ก็ความจำเป็นต้องลบออก วิธีการลบไฝ ปานไฝ มีหลายวิธี ทั้งการจี้แบบภูมิปัญญาพื้นบ้านด้วยปูนแดง หรือการตัดไฝด้วยมีดผ่าตัดหรือเลเซอร์  สำหรับการจี้ออกด้วยตัวเองหรือร้านรับจี้ไฝทั่วไป มีข้อควรระวังจากสารเคมีที่ใช้ ซึ่งอาจ ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่อผิวบริเวณรอบๆ ได้ ทั้งยังเสี่ยงต่อเรื่องของรอยแผลเป็นที่ตามมา แนะนำให้ทำกับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสมัยนี้ค่าบริการราคาไม่แพง ในส่วนของปาน วิธีที่ยอมรับกันว่าดีที่สุดคือ การใช้เลเซอร์ สำหรับเรื่องของการใช้แสงเลเซอร์ลบไฝ ปาน หลักการใหญ่คือ เมื่อแสงเลเซอร์ถูกฉายลงสู่ผิวหนังของร่างกายบริเวณที่เป็น ไฝ ปาน เซลล์ของไฝ ปานซึ่งมีสีคล้ำกว่าเซลล์ปกติของผิวหนังจะดูดกลืนแสงเลเซอร์ได้มากกว่าเซลล์ธรรมดา เม็ดสีบริเวณที่ผิดปกติจึงถูกทำลายลบหายไป

อ่านเพิ่มเติม >