ฉบับที่ 212 ตามติดคดีรถตู้จันทบุรี

          ย้อนกลับไปเมื่อ 2 มกราคม 2560  กับโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดของรถตู้โดยสาร จากเหตุการณ์รถตู้โดยสารสายกรุงเทพ – จันทบุรี เสียหลักพุ่งข้ามเลนไปชนรถกระบะที่แล่นสวนทางมา จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากมายถึง 25 ศพ โดยเป็นผู้เสียชีวิตจากรถตู้โดยสารจำนวน 13 ศพ และเป็นผู้เสียชีวิตจากรถกระบะจำนวน 12 ศพภาพความชุลมุนของสื่อมวลชนทุกแขนง หน่วยงานด้านสาธารณกุศล หน่วยงานด้านความมั่นคงจำนวนมากที่ต่างมุ่งหน้าไปที่จันทบุรี เพื่อติดตามข่าวสาร รวมถึงเสนอความช่วยเหลือให้กับผู้เสียหายทุกคน เสมือนหนึ่งว่าต่อจากนี้ผู้เสียหายทุกคนจะได้รับการช่วยเหลือให้ได้รับความเป็นธรรมโดยเร็วแน่นอนนั้น มีเพียงเงินชดเชยความเสียหายจากบริษัทประกันภัย ทั้งประกันภัยภาคบังคับและประกันภัยภาคสมัครใจของรถตู้โดยสารคันเกิดเหตุเป็นเงินรวม 700,000 บาท พร้อมเงินช่วยเหลือจากผู้ว่าราชการจังหวัดครอบครัวละ 10,000 บาท ทว่าแค่เงินจำนวนดังกล่าวไม่ได้ทำให้หัวใจของพ่อแม่แต่ละคนที่สูญเสียลูก ให้ฟื้นคืนกลับมาแข็งแรงดังเดิมได้ มิหนำซ้ำกลับมีความรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง เพราะในระยะเวลาไม่ถึงสามเดือน เรื่องทุกอย่างก็กลับเงียบลงเหมือนไม่เคยมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น รวมถึงความผิดหวังต่อองค์กรด้านกฎหมายที่ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือแบบที่ควรจะเป็น ทั้งที่ผู้เสียหายทุกคนต้องว่าจ้างรถตู้มาถึงกรุงเทพเลยทีเดียว รียกได้ว่าเป็น “ความทุกข์ซ้ำซ้อน” ที่เกิดกับผู้เสียหายทุกคนดังนั้นการก้าวเข้ามาของทีมทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงเป็นจุดสำคัญที่จะพลิกนำพาผู้เสียหายทุกคนให้กลับมามีความหวัง และพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิที่หายไปให้กลับคืนมาอีกครั้ง ด้วยการรวมตัวกันฟ้อง ห้างหุ้นส่วนจำกัด วีเจทรานสปอร์ต เป็นจำเลยที่ 1 นางวาสนา จันทร์เอี่ยม เป็นจำเลยที่ 2 และบริษัท ขนส่ง จำกัด เป็นจำเลยที่ 3 เป็นคดีผู้บริโภค ต่อศาลจังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2560 เรียกค่าเสียหายให้กับ 7 ครอบครัว รวมเป็นเงินกว่า 26 ล้านบาท อย่างไรก็ตามสำหรับผู้เสียหายทุกคน กระบวนการฟ้องคดีต่อศาลนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ผ่านไปครึ่งปีก็แล้ว หนึ่งปีก็แล้ว ผู้เสียหายแต่ละคนยังไม่เข้าใจว่า  ทำไมการฟ้องคดีถึงมีความยุ่งยาก ต้องไปศาลหลายนัด ต้องใช้เวลานานหลายเดือน บางคนต้องลางานเพื่อมาขึ้นศาลตามที่ศาลนัด บางคนต้องขับรถซาเล้งจากบ้านที่ไกลออกไปมากกว่า 40 กิโลเมตร เพื่อมาศาลตามที่ศาลนัด โดยมีคำถามที่ถามบ่อยมากๆ คือ เมื่อไหร่คดีจะจบ… และนี่อาจจะเป็นการตอกย้ำความทุกข์ให้กับผู้เสียหายแต่ละคนอีกครั้ง เพราะเมื่อคดีขึ้นสู่ศาลแล้ว หากจะทำให้คดีจบลงได้โดยเร็ว มีเพียงสองทาง คือ หนึ่ง ถอนฟ้องต่างคนต่างไป(ซึ่งไม่มีใครทำอยู่แล้ว) และสอง เจรจาตกลงค่าเสียหายกันได้ แล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันไป แต่สำหรับคดีนี้ไม่สามารถทำได้ในทั้งสองทางที่กล่าวมา จึงต้องเดินหน้าสู้คดีนำหลักฐานที่มีมาหักล้างกัน เพื่อให้ศาลรับฟังและมีข้อยุติเป็นคำพิพากษาออกมาในที่สุดจากวันที่ 8 เมษายน 2560 วันที่ทุกคนร่วมกันยื่นฟ้องคดีต่อศาล จนถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2561 ซึ่งเป็นวันที่ศาลจังหวัดจันทบุรีนัดอ่านคำพิพากษา รวมเป็นเวลานานกว่า 545 วัน ศาลก็ได้มีคำพิพากษาให้ทายาทคนขับ ซึ่งเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ และบริษัท ขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ให้สัมปทานเส้นทางรถตู้โดยสารคันเกิดเหตุชดเชยค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหายทั้ง 7 ครอบครัว รวมเป็นเงินมากกว่า 20 ล้านบาท และทั้งนี้ศาลได้กำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษกับจำเลยที่รับผิด ฐานกระทำการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เพื่อลงโทษผู้กระทำละเมิด และป้องปรามมิให้กระทำมิชอบเช่นนั้น เป็นเงินอีกคนละ 500,000 บาท จากผลคดีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ถือว่าเป็นบรรทัดฐานที่ดีในเรื่องคำพิพากษาต่อผู้บริโภค และเป็นมิติใหม่ในการกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษของศาลยุติธรรมในประเทศไทย ที่เห็นถึงความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายคดีผู้บริโภค เนื่องจากที่ผ่านมาในหลายกรณีของการเรียกร้องค่าเสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ พบปัญหาว่า การกำหนดค่าเสียหายของศาลยังมีจำนวนค่อนข้างน้อย และไม่ครอบคลุมถึงความเสียหายที่แท้จริง ทำให้ผู้บริโภคที่เสียหายรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม รวมถึงยังไม่มีผลให้ผู้ประกอบการที่ด้อยคุณภาพเกิดความเกรงกลัวต่อกฎหมาย และปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ เพื่อความปลอดภัยขณะให้บริการการฟ้องคดีต่อศาลไม่ใช่เรื่องสนุกหรือหนทางที่ดีที่สุด เพราะต้องสู้คดีกันถึงสามศาล คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา แม้กฎหมายคดีผู้บริโภคจะกำหนดให้คดีสิ้นสุดในชั้นอุทธรณ์ แต่คู่ความยังสามารถยื่นขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกาได้ อีกทั้งการศาลจะกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษได้นั้นก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด และเป็นดุลพินิจของศาลเจ้าของคดีที่จะกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวดังนั้นคดีนี้จึงยังไม่จบ ผู้เสียหายทั้ง 7 ครอบครัว ยังต้องการกำลังใจและแรงหนุนเสริมจากพวกเราทุกคน ที่จะช่วยส่งพลังเพื่อให้พวกเขามีแรงต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป เพราะเชื่อแน่ว่า บริษัท ขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 3 คงไม่ยอมอยู่เฉย แต่หากบริษัท ขนส่ง จำกัด ยังดื้อดึงอุทธรณ์คำพิพากษา แล้วหลังจากนั้นผลของคดีไม่เปลี่ยนแปลง พวกเราอาจจะได้พาเจ้าพนักงานบังคับคดีไปเยี่ยมบริษัท ขนส่ง จำกัด เพื่อยึดทรัพย์สินชดใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษากันอีกครั้งแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 ฉวยโอกาสโฆษณา

“การตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องทำด้วยความรอบคอบ และสื่อสารให้ชัดเจน  มิฉะนั้นอาจถูกผู้อื่นฉวยโอกาสนี้ โฆษณาผลิตภัณฑ์ของตนได้เช่นกัน”ผมมอบหมายให้น้องนักศึกษาเภสัชศาสตร์ที่มาฝึกงานที่หน่วยงาน ลงพื้นที่ในชุมชนเพื่อแนะนำความรู้ให้กับผู้บริโภคและอาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชนแห่งหนึ่ง หัวข้อในการให้ความรู้ครั้งนี้คือ การป้องกันอันตรายจากการใช้ยาที่มีสารสเตียรอยด์เจือปน  ซึ่งนอกจากจะทำกิจกรรมให้ความรู้แล้ว  ยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักศึกษาและผู้บริโภคด้วย และยังมีบริการตรวจสอบยาต่างๆ จากผู้บริโภคด้วยว่ามีสารสเตียรอยด์เจือปนหรือไม่ในระหว่างที่นักศึกษาทำการตรวจสอบยาต่างๆ นั้น  มีคุณป้าท่านหนึ่งนำยาสมุนไพรชนิดหนึ่งมาให้ตรวจสอบว่ามีสารสเตียรอยด์ปนเปื้อนหรือไม่  ผลการตรวจสอบด้วยชุดทดสอบเบื้องต้นพบว่าไม่มีสารสเตียรอยด์เจือปน  แต่แทนที่เรื่องจะจบ ปรากฏว่าคุณป้าท่านนั้นกลับถือโอกาสแนะนำผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ให้ผู้บริโภคท่านอื่นทันที“ฉันเคยเห็นคนรู้จักที่เคยเป็นฝ้า  อยู่ๆ ก็หน้าใสขึ้น  ถามดูเลยรู้ว่าใช้ยาสมุนไพรตัวเดียวกับหลานสาวฉัน  ฉันเลยลองเอามากินดูบ้าง  อาการตกขาวก็หายไป  คนยังชมฉันเลยว่าทำไมหน้าใสผิวพรรณเต่งตึงมากขึ้น  นี่กินมาสองเดือนแล้ว  มีคนนำมาขายป้าต่อๆ ใครสนใจฉันจะแบ่งขาย เม็ดละ 1 บาท มีสามร้อยเม็ด”น้องๆ นักศึกษาเลยต้องรีบอธิบายว่า  การที่ยานี้ตรวจไม่พบสารสเตียรอยด์นั้นไม่ได้หมายความว่าไม่มีสารอันตรายชนิดอื่นเจือปนอยู่ การที่ผู้บริโภครับประทานยานี้แล้วมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นทันที  เช่น หน้าใส ฝ้าหาย ตกขาวหาย แสดงว่าอาจจะมีส่วนผสมของสารอื่นๆ ก็ได้ และยาตัวนี้ไม่มีทะเบียนด้วย เรายิ่งไม่รู้เลยว่าคนผลิตเขาใส่สารอะไรเติมลงไปหรือไม่ นอกจากผิดกฎหมายแล้วยังอาจจะเสี่ยงอันตรายด้วยซ้ำ  น้องๆ นักศึกษาพูดยังไม่จบ  คุณป้าท่านนี้ก็หายตัวไปจากที่อบรมทันทีเหตุการณ์ทำนองนี้มักจะเกิดกับเจ้าหน้าที่เสมอๆ โดยเฉพาะช่วงดำเนินการกับผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย จำได้ว่าในอดีต ช่วงหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดหนึ่ง เป็นข่าวครึกโครมทางสื่อมวลชน  ปรากฏว่าตัวแทนขายตามต่างจังหวัดกลับฉวยโอกาสบอกผู้บริโภคว่า ให้รีบซื้อสินค้าของตนโดยด่วนเพราะของปลอมถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีแล้ว ผู้บริโภคในยุคนี้จึงจำเป็นต้องเท่าทันกับผลิตภัณฑ์อันตราย เพราะนอกจากการโฆษณาโอ้อวดเกินจริงแล้ว ยังต้องเท่าทันเทคนิคการขายแบบตัวต่อตัวที่ฉวยโอกาสจากสถานการณ์ต่างๆ หลอกลวงผู้บริโภคด้วย ยังไงใช้คาถา 4 สงสัย 2 ส่งต่อ แบบที่เคยแนะนำในเล่มที่แล้ว เตือนสติตัวเองด้วยนะครับจะได้ไม่เสี่ยงจากผลิตภัณฑ์อันตรายต่างๆ  “4 สงสัย” (1) สงสัยไม่มีหลักฐานการอนุญาต? (2) สงสัยขาดข้อมูลแหล่งที่มา? (3) สงสัย : โฆษณาเวอร์เกินไป? (4) สงสัยใช้แล้วผิดปกติ? “2 ส่งต่อ” (1) ส่งต่อข้อมูลเตือนภัย (2) ส่งต่อเจ้าหน้าที่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 คนต่างด้าวซื้อห้องชุดเพื่อให้เช่าทำได้หรือไม่ ? ตอนที่ 1

คนต่างด้าวซื้อห้องชุดเพื่อให้เช่าทำได้หรือไม่ ? ตอนที่ 1จากสภาพของที่ดินในแหล่งชุมชุนมีจำนวนจำกัด ทำให้การอยู่อาศัยเปลี่ยนไปในลักษณะของการอยู่ในแนวดิ่งหรือที่เรียกว่า”คอนโดมิเนียม ” มากกว่าที่จะอยู่ในแนวราบหรือที่เรียกว่า”บ้าน” ด้วยเหตุนี้จึงเกิดความต้องการในการซื้อมาเพื่อวัตถุประสงค์อยู่อาศัยใกล้ที่ทำงานและต้องเป็นทำเลที่เหมาะสมกับการเดินทางหรือการติดต่อกับแหล่งชุมชนด้วย ต่อมาเมื่อมีความต้องการมากขึ้นกว่าการอยู่อาศัยก็เปลี่ยนเป็นการซื้อมาเพื่อการลงทุนให้บุคคลอื่นเช่าต่อ  โดยกำหนดผู้ใช้บริการ(ผู้เช่า) เป็นคนไทยบ้าง คนต่างชาติบ้าง จนสร้างปัญหาให้แก่ผู้พักอาศัยเดิม หรือบางครั้งก็เป็นแหล่งหลบซ่อนของอาชญากรรมต่างชาติ จึงทำให้เกิดคำถามตามมาหลายๆประเด็นที่เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยกฎหมายเป็นตัวอธิบายว่าทำได้หรือทำไม่ได้ตามกฎหมายในประเด็นเหล่านี้                                          คำถาม : ปัจจุบันมีการซื้อคอนโดฯของคนต่างชาติและคนไทย ต่อมานำมาให้บุคคลอื่นเช่าต่อ สามารถทำได้หรือไม่ และมีกฎหมายอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง ทั้งจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องกฎหมายหรือนโยบายแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง                                                                                                                     การซื้อขายคอนโดฯหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “การซื้อขายอาคารชุด” เป็นกิจการที่ได้รับความนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการเข้าถือครองกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยที่มีความสะดวกสบาย มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน โดยผู้ซื้อต้องการหลีกเลี่ยงการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยด้วยตนเอง เพราะเหตุปัจจัยเรื่องที่ดินและราคาวัสดุอุปกรณ์ที่สูงขึ้น รวมถึงความยุ่งยากในการหาผู้รับเหมาก่อสร้างด้วยตัวเอง จึงทำให้การซื้อขายอาคารชุดได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน อีกทั้งที่ตั้งของอาคารชุดมักตั้งอยู่ในย่านธุรกิจการค้าที่มีทำเลที่ดี และเหมาะสม สะดวกแก่การเดินทาง ก็นับว่าตอบโจทก์ของคนวัยทำงานได้เป็นอย่างดี ในปัจจุบัน การซื้อขายอาคารชุดของคนต่างชาติในประเทศไทย เมื่อพิจารณาในแง่มุมทางกฎหมายจะพบว่าสามารถกระทำได้ แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดบางประการ ทำให้การซื้อขายอาคารชุดจึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนการตัดสินใจเข้าทำสัญญา ทั้งความยุ่งยากบางประการทางกฎหมายก็ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายจำต้องศึกษารายละเอียดของกฎหมายให้แน่ใจเสียก่อน โดยการซื้อขายอาคารชุดของคนต่างด้าว มีเงื่อนไขทางกฎหมายที่สำคัญ ดังนี้                                                                                พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมล่าสุด (ฉบับที่ 4) กำหนดหลักเกณฑ์ของคนต่างด้าวที่จะซื้ออาคารชุดได้ จะต้องประกอบด้วยเงื่อนไข ดังต่อไปนี้                                                    ข้อ 1. มาตรา 19 กำหนดว่า ต้องเป็นคนต่างด้าวหรือนิติบุคคลซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นคนต่างด้าว ที่กฎหมายกำหนดไว้กรณีใดกรณีหนึ่งต่อไปนี้ จึงจะมีกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ คือ                                             (1) เป็นคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522  ซึ่งมาตรา 4 กำหนดว่า “คนต่างด้าว” หมายความว่า บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย โดยหลักฐานที่จะแสดงว่าเป็นคนต่างด้าวในกรณีนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในห้องชุดคือ หนังสือเดินทางแสดงสัญชาติของคนต่างด้าวและใบสำคัญถิ่นที่อยู่ (แบบ ตม. 11, ตม. 15 หรือ ตม. 17 อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่กรณี) ที่จะต้องนำไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งออกให้โดยกองตรวจคนเข้าเมือง กรมตำรวจ หรือสำหรับคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวซึ่งออกให้โดยสถานีตำรวจท้องที่ที่คนต่างด้าวมีภูมิลำเนาอยู่ ก็สามารถใช้เป็นหลักฐานการได้ซึ่งกรรมสิทธิ์ในห้องชุดนี้ได้เช่นกัน ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 19 ตรี (1)                                     (2) เป็นคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 กำหนดให้อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522  โดยมาตรา 4 กำหนดว่า “คนต่างด้าว” หมายความว่า บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทยเช่นกัน โดยหลักฐานที่จะแสดงว่าเป็นคนต่างด้าวในกรณีนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในห้องชุดคือ หนังสือเดินทางแสดงสัญชาติของคนต่างด้าวและหนังสือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่รับรองว่าเป็นคนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 24 และ 26 ประกอบ ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 19 ตรี (2)      (3) เป็นนิติบุคคลซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 97 และมาตรา 98 ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย โดยหลักฐานที่แสดงว่าเป็นนิติบุคคล โดยหลักฐานที่จะแสดงว่าเป็นคนต่างด้าวในกรณีนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในห้องชุดคือ หลักฐานการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย เช่น ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด โดยใช้หลักฐานเป็นหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทของกรุงเทพมหานคร หรือแต่ละจังหวัด กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 19 ตรี (3)                                         (4) เป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 และได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 โดยหลักฐานที่แสดงว่าเป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นคนต่างด้าวในกรณีนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในห้องชุดคือ  หนังสือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่รับรองว่าเป็นผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 23 ประกอบ ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 19 ตรี (4)            (5) คนต่างด้าวหรือนิติบุคคลที่กฎหมายถือว่าเป็นคนต่างด้าวซึ่งนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรหรือถอนเงินจากบัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศหรือถอนเงินจากบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศเพื่อชำระค่าห้องชุด โดยหลักฐานที่แสดงว่าเป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นคนต่างด้าวในกรณีนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในห้องชุดคือ  หลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (ธ.ต.3) หรือโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากในประเทศ (ธ.ต.40) หรือหนังสือรับรองจากธนาคารที่รับรองการโอนเงิน หรือหลักฐานการแลกเปลี่ยนเงินเป็นเงินบาท หรือหลักฐานแบบสำแดงเงินตราต่างประเทศผ่านกรมศุลกากร หรือหลักฐานการถอนเงินบาทจากบัญชีเงินฝากในประเทศ (จากสมุดเงินฝาก) ในจำนวนไม่น้อยกว่าค่าห้องชุดที่จะซื้อ ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 19 ตรี (5)ข้อ 2. มาตรา 19 ทวิ กำหนดว่าอาคารชุดแต่ละอาคารชุดจะมีคนต่างด้าวหรือนิติบุคคลตามที่ระบุไว้ในข้อ 1. ถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 49 ของเนื้อที่ของห้องชุดทั้งหมดในอาคารชุดนั้นในขณะที่ขอจดทะเบียนอาคารชุด ตามมาตรา 6 หากคนต่างด้าว มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ทั้งสองประการข้างต้น ก็สามารถทำสัญญาซื้ออาคารชุดและสามารถมีชื่อเป็นเจ้าของห้องได้ตามกฎหมาย แต่มีข้อยกเว้นว่า...   น่าเสียดายที่ต้องขอตัดจบตอนแรกเพียงแค่นี้ก่อน ฉบับหน้าเรามาตามเรื่องนี้กันต่อนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 กระแสในประเทศ

ระวัง เมนูเจยอดฮิต โซเดียมสูงผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เครือข่ายลดบริโภคเค็มทำการสุ่มตรวจตัวอย่างอาหารเจ 13 เมนูยอดนิยมบนถนน เยาวราช อตก. และตลาดยิ่งเจริญ โดยใช้เครื่องวัดความเค็มตรวจสอบปริมาณโซเดียมในอาหาร ประกอบด้วย แกงเขียวหวาน แกงกะทิ จับฉ่าย พะโล้ ผักกระเพรา แกงส้ม ต้มจืด ต้มกะหล่ำปลี ขนมจีนน้ำยากะทิ ลาบเห็ด กระเพาะปลา และผัดขิง พบทุกเมนูมีปริมาณโซเดียมสูงเกินค่าที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน    นอกจากนี้อาหารเจจำพวก ผักดอง เกี้ยมไฉ่ กานาฉ่าย จับฉ่ายเป็นอาหารที่ใช้เกลือมาก ซึ่งผักที่เคี่ยวหรือดองเป็นเวลานานจะได้คุณค่าทางอาหารที่น้อยลง รวมถึงอาหารแปรรูป เช่น โปรตีนเกษตร เนื้อสัตว์เจจะมีการเติมรสเค็มเพื่อทำให้รสชาติใกล้เคียงของจริงมากที่สุด แพทย์เตือน ควรทำความสะอาดเสื้อกันหนาวมือสองก่อนนำไปใช้นพ.สมิต ประสันนาการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ช่วงย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ประชาชนส่วนใหญ่นิยมซื้อเสื้อและผ้าห่มกันหนาวมือสองสภาพ เนื่องจากราคาถูกและประหยัดกว่าเสื้อผ้าใหม่ตามห้างร้านทั่วไป ซึ่งเสื้อผ้ามือสองที่กลุ่มพ่อค้า แม่ค้า นำมาจำหน่ายนั้นส่วนใหญ่มักรับซื้อมาจากชายแดน โดยไม่คำนึงถึงสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคต่างๆ ที่อาจติดมากับผ้า เช่น ปัญหาโรคผิวหนัง โรคติดเชื้อ ความชื้น เชื้อราและโรคอันตรายต่างๆ ดังนั้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อควรนำเสื้อผ้ามือสองไปทำความสะอาด โดยต้มในน้ำเดือด แล้วซักด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาซักผ้า แล้วนำไปตากแดดจัดให้แห้งสนิทก่อนนำมาสวมใส่กสทช. คาดปี 62 เรียกคืนคลื่น-จัดสรรใหม่ได้ ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จะให้อำนาจ กสทช. พิจารณา “เหตุผลแห่งความจำเป็น” ในการใช้งานคลื่นและ “เรียกคืนคลื่นโดยกำหนดวิธีการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน” แต่ 7 ปีผ่านไปก็แทบจะเรียกคืนคลื่นไม่ได้ เพราะทุกมติที่มีคำสั่งจะยืดเยื้อถึงชั้นศาล อาทิ มติเรียกคืนคลื่น 2600 MHz จากกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งการที่ กสทช.ไม่สามารถกำหนดได้ชัดเจนว่าคลื่นไหนจะถูกนำออกมาประมูลเมื่อไหร่ จึงเป็นคำถามสำคัญที่สังคมรอคำตอบ จนกระทั่ง มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 27 (12/1) ที่ให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่เรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า จากผู้ได้รับใบอนุญาตเพื่อนำมาจัดสรรใหม่ได้ โดย กสทช. ต้องทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายตอบแทนให้กับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ในแต่ละกรณีด้วย ทำให้ กสทช. เร่งเดินหน้าในการปฏิรูปคลื่นได้อย่างเต็มที่ ล่าสุด นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2561 สำนักงาน กสทช.ได้เปิดรับฟังความเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยมีคลื่นความถี่เพียงพอสำหรับการเป็นพื้นฐานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทาง โดย กสทช.จะตั้งคณะทำงาน ซึ่งมีผู้แทนจากหลายหน่วยงานเพื่อพิจารณาว่าคลื่นใดไม่ได้ใช้ประโยชน์ คลื่นใดใช้ไม่คุ้มค่า หรือจะสามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่า และมีมหาวิทยาลัยของรัฐเข้ามาศึกษาว่าควรเป็นคลื่นใด และเมื่อการดำเนินออกประกาศเป็นไปตามขั้นตอน อย่างไรก็ตาม คาดว่าต้นปี 2562 จะเริ่มเรียกคืนคลื่นได้ภาคประชาชน ค้านร่าง พ.ร.บ.สุขภาพปฐมภูมิ ชี้ซ้ำซ้อนกฎหมายบัตรทอง1 ต.ค. 61 นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน และกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขฯ พร้อมตัวแทนภาคประชาชนรวม 8 ราย เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. ... เนื่องจากไม่มีความจำเป็นจะต้องมีกฎหมายเฉพาะมารองรับเรื่องดังกล่าว เพราะมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ครอบคลุมบริการสุขภาพปฐมภูมิของคนไทยทุกคนอยู่แล้ว โดยความซ้ำซ้อนของกฎหมาย 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ความซ้ำซ้อนในการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ 2) ความซ้ำซ้อนในเรื่องอำนาจในการจัดสรรงบประมาณ 3) ความซ้ำซ้อนในเรื่องการใช้อำนาจการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดโทษหน่วยบริการปฐมภูมิในกรณีที่ผิดมาตรฐาน โดยอาจต้องถูกลงโทษจากกฎหมายทั้งสองฉบับ และ4) ความซ้ำซ้อนในการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิ รวมถึงบทบาทหน้าที่และการจัดทำฐานข้อมูลหน่วยบริการศาลสั่ง บขส. - ทายาทคนขับคดี ‘รถตู้จันทบุรี 25 ศพ’ จ่ายค่าสินไหมกว่า 20 ล้านบาทศาลจังหวัดจันทบุรี พิพากษาคดีรถตู้โดยสารจันทบุรี - กรุงเทพฯ ทะเบียน 15-1352 กทม. ที่พุ่งข้ามเลนไปชนรถกระบะที่แล่นสวนทางมา จนเกิดเพลิงลุกไหม้เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 25 ราย เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 60 ให้บริษัท ขนส่ง จำกัด และทายาทของคนขับรถตู้ จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ญาติของผู้เสียชีวิต รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,780,000 บาท รวมทั้งดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันทำละเมิด    นายโสภณ หนูรัตน์ ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้ดูแลคดีให้ความเห็นว่า คำตัดสินใจวันนี้ถือเป็นบรรทัดฐานในเรื่องคำพิพากษา เรื่องเกี่ยวกับรถตู้โดยสารสาธารณะ ซึ่งเป็นบทบาทของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันออกในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่เสียหายจากอุบัติเหตุเกี่ยวกับรถโดยสาร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 ตรวจเลข อย.

              ฉบับนี้ขอแนะนำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์และสินค้าด้วยการสังเกตสัญลักษณ์ อย. อย. คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน้าที่กำกับและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน โดยจะคุ้มครองดูแล 6 ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ อาหาร ยา เครื่องสำอาง วัตถุอันตราย เครื่องมือแพทย์ และวัตถุเสพติดทางการแพทย์ผลิตภัณฑ์เหล่านี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ต้องมีเครื่องหมาย อย. ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องมี อย. กำกับอยู่ และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่มีเครื่องหมาย อย. แต่ต้องมีเลขที่จดแจ้งหรือทะเบียนกำกับยาบนผลิตภัณฑ์การตรวจสอบเครื่องหมาย อย. หรือเลขที่จดแจ้งหรือทะเบียนกำกับยาบนผลิตภัณฑ์ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์มีมาตรฐานและมีการตรวจสอบอยู่สม่ำเสมอ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ทำแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “อย. ตรวจเลข” โดยหน้าแรกของแอปพลิเคชันจะปรากฏช่องสำหรับพิมพ์หมายเลขค้นหา เพื่อตรวจสอบเลขผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือถ่ายรูปบริเวณสัญลักษณ์ อย. หรือใช้ระบบเสียงในการตรวจสอบหมายเลขได้ด้วย เมื่อใส่หมายเลขที่ต้องการตรวจสอบ ข้อมูลและรายละเอียดของผลิตภัณฑ์นั้นจะปรากฏขึ้น ได้แก่ สถานะปัจจุบันของผลิตภัณฑ์  ประเภทของผลิตภัณฑ์  เลขที่อนุญาต  ชื่อผลิตภัณฑ์  ชื่อผู้รับอนุญาต  สถานที่ผลิต  และที่อยู่สถานที่ผลิตภายในแอปพลิเคชันยังมีหมวดแจ้งเรื่องร้องเรียน กรณีที่ต้องการร้องเรียนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขนอกจากแอปพลิเคชัน “อย. ตรวจเลข” แล้ว ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบเลขผ่านหน้าเว็บไซต์ http://porta.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_ALL/MAIN/SEARCH_CENTER_MAIN.aspx  หรือค้นหาด้วยคำว่า ตรวจสอบ อย. ซึ่งทั้งรูปแบบแอปพลิเคชันและหน้าเว็บไซต์ถือว่ามีประโยชน์กับผู้บริโภคมากถ้าอยากทราบว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่มีมาตรฐานหรือผ่านการตรวจสอบหรือไม่ ลองเข้าไปตรวจสอบเลขผลิตภัณฑ์ได้เลยนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 กิน Hydrolyzed collagen ดีไหม

มีกระทู้หนึ่งใน pantip เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ของสตรีที่ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็น แม่ค้าขายคอลลาเจน ซึ่งดูเหมือนว่า เกือบมีความรู้ด้านชีวเคมีเกี่ยวกับคอลลาเจน แต่บังเอิญอาจเรียนมาน้อย หรือระหว่างเรียนไม่ค่อยเข้าใจวิชาชีวเคมี และภาษาอังกฤษคงไม่แตกฉานเท่าที่ควร เนื่องจากการที่เธอได้แนะนำให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการกินคอลลาเจนไปอ่านข้อมูลใน Wikipedia ซึ่งเธอเแปลบางส่วนมาเหมือนผิดความหมายชื่อกระทู้ดังกล่าวคือ ไขกระจ่าง คอลลาเจน สรุปแล้วคืออะไรผู้เขียนขอยกบางตัวอย่างข้อความที่ไม่ถูกต้องมาให้ดู โดยจะอธิบายไว้ในวงเล็บ ประโยคในกระทู้ คือ  “คอลลาเจน คือโปรตีนชนิดนึงที่กินเข้าไปแล้วกลายเป็น amino acid แล้วร่างกายดูดซึมเข้าไป แต่คอลลาเจนที่ถูก hydrolyzed แล้ว จะทำให้โมเลกุลมันเล็กลงและร่างกายสามารถดูดซึมได้ง่ายขึ้น การ hydrolyzed ทำได้หลายอย่าง มีทั้งใช้เอนไซมน์ในการย่อยให้มันเล็กลง หรืออะไรก็ว่าไปไม่ขอเอ่ย ไปหาดูเอาเองได้ แต่สรุปแล้ว hydrolyzed collagen ก็คือโปรตีนที่ถูกย่อยมาแล้ว มันก็เหมือน protein isolated แต่คอลลาเจน ไม่เหมือน โปรตีนจากที่อื่น  หลายคนคงหัวเราะหึ หาว่าเราโง่งม”  “คอลลาเจน ถูก hydrolyzed มาจาก เจลาติน (ประโยคนี้ผิด เพราะจริงๆ แล้ว gelatin นั้นถูก hydrolyzed มาจากคอลลาเจน) ซึ่งถ้าจะให้เปรียบ เจลาตินสกัดมาจากกระดูก ข้อและผิวหนัง เพราะงั้น คนที่บอกว่า กินคอลลาเจน มันโง่ ให้ไปกินเนื้อ นมไข่ คุณนั่นแหละที่โง่กว่า เพราะเจลาตินมีกรดอมิโนที่ชื่อ proline กับ glycine สูงกว่าชนิดอื่นมาก และมีกรดอมิโนชนิดอื่นต่ำกว่าพวกเนื้อสัตว์” (ตรงนี้อาจเขียนเพื่อให้สับสนเพราะ  proline และ glycine นั้นอาจมีมากในเจลาตินหรือในคอลลาเจนจริง แต่ไม่ใช่กรดอะมิโนจำเป็น เพราะร่างกายสามารถเปลี่ยนจากกรดอะมิโนอื่นมาใช้ได้) “แต่เราก็ต้องกินเนื้อสัตว์เข้าไปช่วยเสริมสร้างคอลลาเจน เพราะในเนื้อสัตว์ มี lysine เพราะฉะนั้น จะสร้างคอลลาเจน ต้องกินทั้งโปรตีนกับพวกเจลาตินนะ อ้อแล้วก็วิตามินซีด้วย เพราะงั้นใครที่บอกว่ากินคอลลาเจนแล้วโง่ให้ไปกินโปรตีน เราแนะนำว่า ถ้าจะพูดก็พูดว่ากินคอลลาเจนทำไมไปกินเจลาตินดีกว่า” (ตรงนี้ก็ยังแสดงว่า แม้ค้าคนนี้แปลข้อความภาษาอังกฤษผิดแล้วมาโพสท์)“คอลลาเจนหรือเจลาตินมันไม่ได้ช่วยเรื่องผิวอย่างเดียว มันช่วยเรื่องข้อและกระดูก นู่นี่นั่น เราเชื่อว่าคงไม่มีใครคิดหรอกว่า กินแล้วมันจะไปที่ผิวอย่างเดียว สารอาหารทุกอย่างกินไปแล้วมันก็ต้อง ไปหาอวัยวะที่สำคัญก่อนเสมอก่อนจะไปหาอวัยวะที่ไม่สำคัญ” (ประโยคนี้ไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง เพราะสารอาหารทุกชนิดที่ถูกย่อยในลำไส้เล็กต้องถูกดูดซึมไปที่ตับก่อนเสมอด้วยระบบที่เรียกว่า hepatic portal vein จากนั้นจึงถูกส่งจากตับไปตามกระแสโลหิตให้แต่ละอวัยวะนำไปใช้ตามต้องการ)  “อย่าพูดว่า กินคอลลาเจน ไปกินไข่กินนมดีกว่า มันไม่ใช่ ช่วยลองเสริชหาสารอาหารแล้วเปรียบเทียบกรดอมิโนแต่ละตัวของทั้งสองอย่างว่ามันเหมือนกันมั้ย ส่วนตัวแล้วเราเห็นผลเรื่องผิวชุ่มชื้น ไม่เกี่ยวข้องกับความขาวใดๆ ส่วนเรื่องความใสมันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ลองดูคนที่ผิวชุ่มชื้นฉ่ำน้ำมันก็ดูใสกว่าคนผิวแห้งกร้านเป็นธรรมดา ล้อกจิกง่ายๆ” (ตรงนี้แม่ค้าออกอ่าวไทยไปไกลเลย กู่ไม่กลับ)แม่ค้าได้แนะให้ผู้คัดค้านการกินคอลลาเจนไปที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Collagen#Synthesis “อ่านตรงกรดอมิโนก็ได้จะพอเข้าใจอยู่บ้างนะ” (ตรงนี้แหละที่แสดงว่าแม่ค้าคนนี้อ่าน Wikipedia แล้วไม่เข้าใจว่า กระบวนการสร้างคอลลาเจนนั้นเป็นอย่างไร)  เนื้อหาของกระทู้ใน pantip ด้านบนนั้นได้กล่าวถึง hydrolyzed collagen ซึ่งยังไงๆ ร่างกาย ก็เอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ในการสร้างคอลลาเจน (แต่ยังพอมีบทบาทอื่น ๆ) ผู้เขียนขออธิบายง่ายๆ ว่า การเปลี่ยน proline และ lysine ให้เป็น hydroxyproline และ hydroxylysine นั้นเกิดบนสาย propeptide (wikipedia ใช้คำๆ นี้ซึ่งอาจต่างไปจากบางตำราชีวเคมี) ที่ยังไม่ได้เป็นคอลลาเจน การเปลี่ยนแปลงนี้สำคัญมาก เพราะในคอลลาเจนนั้น มีกรดอะมิโนสองชนิดเป็นตัวการทำให้คอลลาเจนมีลักษณะโครงสร้าง “ทุตติยภูมิ” เป็น beta-pleated sheet ไม่ใช่ alpha-helix ซึ่งเป็นลักษณะของโปรตีนทั่วไป การเปลี่ยน proline และ lysine ไปเป็น hyroxyproline และ hydroxylysine นั้นเป็นปฏิกิริยา oxidation ด้วยเอ็นซัม ซึ่งมีวิตามินซีเป็นโคเอ็นซัม ถ้าเราขาดวิตามินซีจะส่งผลให้การ oxidation ดังกล่าวไม่เกิด จนการสร้างคอลลาเจนจะชะงักอยู่เป็นเพียง propeptide ที่นำไปใช้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่ได้ หลักฐานที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่า เมื่อขาดวิตามินซีแล้วเกิดเลือดออกตามไรฟันหรือที่เรียกว่า “ลักปิดลักเปิด” นั้น เนื่องจากเหงือกไม่มีคอลลาเจนใหม่ไปแทนที่คอลลาเจนเก่าที่หมดอายุ จึงทำให้เส้นเลือดที่เลี้ยงเหงือกแตกง่ายมีเลือดออกมา ประเด็นที่อธิบายนี้เพื่ออธิบายว่า ร่างกายนั้นนำ hydroxyproline และ hydroxylysine ที่ได้จากการกินคอลลาเจนธรรมชาติไปใช้สร้างคอลลาเจนใหม่ไม่ได้ เพราะขั้นตอนการสร้างคอลลาเจนตอนเริ่มแรกจะใช้เพียง proline และ lysine เท่านั้น จากนั้นจึงมีการเปลี่ยนกรดอะมิโนทั้งสอง ซึ่งอยู่ในสายโปรตีนแล้วเป็น hydroxyproline และ hydroxylysineต่อจากนี้ไปจะเป็นการกล่าวถึงข้อมูลของ hydrolyzed collagen ซึ่งผู้เขียนไม่เคยสนใจเลยว่ามีการขายในลักษณะใด เพราะมันไม่เคยอยู่ในสามัญสำนึกที่จะไปหามากิน แต่พอจับประเด็นจากข้อมูลของแม่ค้าขายคอลลาเจนดังกล่าวข้างต้น เลยลองเข้าไปหาข้อมูลมาศึกษาดู ข้อมูลการวิจัยทางการแพทย์ที่ลงพิมพ์ในวารสารวิชาการนั้น พอสรุปได้ว่า hydrolyzed collagen นั้น (น่าจะ) ช่วยลดอาการปวดตามข้อต่อของร่างกาย เช่น ข้อเข่า ซึ่งตัวอย่างการศึกษานั้นทำทั้งในคนหนุ่มสาวที่เล่นกีฬาเป็นประจำ ดังนั้นจะเห็นว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนี้ไม่มีประโยชน์ต่อคนปรกติ แต่จะได้ผลในคนที่ปวดเข่า ปวดข้อ ซึ่งเป็นการบรรเทาให้เจ็บน้อยลง งานวิจัยดังกล่าวนี้เป็นการศึกษาในคนหนุ่มสาวอายุ 18-30 ปี จำนวน 139 คน ที่เป็นนักกีฬาหรือนักศึกษาด้านพละศึกษาของ University of Freiburg ในประเทศเยอรมัน อาสาสมัครเหล่านี้ออกกำลังกายเป็นประจำจนมีอาการปวดเข่าเนื่องจากออกกำลังกายมากเกินไป (ไม่บาดเจ็บเป็นแผล ข้อเข่าไม่เสื่อมหรืออักเสบ) แล้วกิน bioactive collagen peptides (ซึ่งคงไม่ต่างจาก hydrolyzed collagen ที่มีขาย) หรือ Maltodextrin (ในกลุ่มควบคุม) ปริมาณ 5 กรัมต่อวัน นาน 12 สัปดาห์ โดยดำเนินชีวิตเหมือนเดิม เช่น การกินอาหาร การออกกำลังกาย และไม่ได้รับการบำบัดอื่นเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการทำวิจัยแบบ doubleblind, placebo-controlled ปรากฏผลว่า อาสาสมัครที่กิน bioactive collagen peptides นั้นตอบแบบสอบถามว่า ได้ผลดีขึ้น อีกงานวิจัยที่เกี่ยวกับแนวโน้มในการบรรเทาปวดตามข้อของ hydrolyzed collagen เป็นการตั้งสมมุติฐานว่า hydrolyzed collagen สามารถกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนโดยเซลล์กระดูกขึ้นมาใหม่ได้ งานนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Cell and Tissue Research ชุดที่ 311 หน้า 393–399 ปี 2003 เรื่อง Stimulation of type II collagen biosynthesis and secretion in bovine chondrocytes cultured with degraded collagen งานนี้เป็นการศึกษาเซลล์กระดูกของวัวในหลอดทดลอง (in vitro study) แล้วได้ผลเป็นไปตามสมมุติฐาน ซึ่งถูกนำมาใช้ในการอธิบายประมาณว่า คนปรกติที่ยังหนุ่มสาวนั้น ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นกับคอลลาเจน เช่น การฉีกขาด (คงทำนองเดียวกับการทำให้เกิด hydrolyzed collagen) นั้น ระบบของเซลล์จะถูกกระตุ้นให้สร้างคอลลาเจนขึ้นมาทดแทน นอกจากนี้ยังมีบทความทบทวนเอกสาร (review article) ที่รายงานผลของการใช้ hydrolyzed collagen ในการบำบัดอาการปวดอีก 2-3 บทความ ซึ่งอย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีบทความวิจัยทางวิชาการที่สนับสนุนว่า hydrolyzed collagen นั้นอาจลดปัญหาความเสื่อมของข้อต่อต่างๆ ในร่างกายได้ แต่ก็เป็นงานวิจัยที่ทำในลักษณะการบำบัดรักษา ซึ่งเป็นข้อห้ามในการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ ห้ามระบุว่า สินค้ามีคุณสมบัติในการเป็นยา เนื่องจากยังไม่มีการทดสอบประสิทธิภาพอย่างถูกต้องตามวิธีของยาโดยทั่วไป ดังนั้นการที่สินค้านี้ถูกนำมาขายทางอินเทอร์เน็ตหรือสื่ออื่นๆ โดยมีการโฆษณาในลักษณะบำบัดอาการได้ดังที่ปรากฏในปัจจุบันนั้น คงเป็น Thailand only กระมัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 รู้เท่าทันไฮแคลเซียม

เนื่องจากสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้มีการผลิตและโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ สำหรับผู้สูงวัยเป็นจำนวนมาก หนึ่งในสินค้าที่มีการโฆษณามากที่สุดคือผลิตภัณฑ์ที่ใส่แคลเซียมเพิ่มเข้าไปและเรียกชื่อว่า ไฮแคลเซียม  ทั้งนี้เพราะผู้สูงวัยส่วนใหญ่มีกระดูกบางและบางคนมีกระดูกพรุน  จึงต้องกินไฮแคลเซียมเพื่อให้กระดูกแข็งแรง  เรามารู้เท่าทันกันเถอะกระดูกบางและกระดูกพรุนเกิดจากการขาดแคลเซียม จริงหรือ?    กระดูกเป็นสิ่งที่มีชีวิต ประกอบด้วยคอลลาเจนซึ่งเป็นโปรตีนและเป็นโครงสร้างที่อ่อน แคลเซียม ฟอสเฟต ซึ่งเป็นแร่ธาตุจะไปสะสมในโครงสร้างของคอลลาเจน ทำให้กระดูกมีความแข็ง  กระดูกที่เป็นคอลลาเจนและแคลเซียมทำให้กระดูกมีทั้งความแข็งและยืดหยุ่นในตัว  แคลเซียมในร่างกายร้อยละ 99 อยู่ในกระดูกและฟัน อีกร้อยละ 1 อยู่ในเลือด   ในช่วงแรกเกิดถึงวัยรุ่น มวลกระดูกจะมีการสร้างใหม่มากกว่ามวลกระดูกเก่าที่เอาออกไป กระดูกจึงใหญ่ ยาว  หนัก และหนาขึ้น จนอายุ 30 ปี หลังจากนั้นการดึงมวลกระดูกออกจะมากกว่าการสร้างมวลกระดูก  สำหรับผู้หญิง ปีแรกที่หมดประจำเดือน การสูญเสียมวลกระดูกจะมากและเร็วที่สุด เป็นเวลาประมาณ 5 ปี จึงค่อยๆ เสียมวลกระดูกช้าลง  การสะสมมวลกระดูกให้มากที่สุดในวัยหนุ่มสาวจึงเป็นการป้องกันกระดูกพรุน   กระดูกบางและกระดูกพรุนจึงเป็นภาวะทางธรรมชาติ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอายุ เกิดจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง การเคลื่อนไหวที่น้อยลง ไม่ใช่เพราะเรากินอาหารที่มีแคลเซียมไม่พอ หรือพอแก่ตัวลงต้องการแคลเซียมมากขึ้นการกินไฮแคลเซียมทำให้ร่างกายเก็บแคลเซียมส่วนเกินไว้ในกระดูกมากขึ้น จริงหรือ?   สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา แนะนำว่า ปริมาณแคลเซียมสำหรับผู้ชายวัย 51-70 ปี คือ 1,000 มก./วัน สำหรับผู้หญิงวัยเดียวกัน คือ 1,200 มก./วัน  สำหรับคนไทยนั้น คณะวิทยาศาสตร์ มหิดล แนะนำว่า 800-1,000 มก./วัน สำหรับผู้ใหญ่ร่างกายเด็กและผู้ใหญ่จะดูดซึมแคลเซียมในอาหารที่กินเข้าไปเพียงร้อยละ 20–25 เท่านั้น ส่วนที่เหลือจะขับถ่ายทิ้งในอุจจาระ ยิ่งกินอาหารที่เป็นไฮแคลเซียม ร่างกายกลับดูดซึมแคลเซียมน้อยลง ทั้งนี้เพราะการมีแคลเซียมในเลือดสูงจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ทำให้กระดูกอ่อนแอ นิ่วในไต และกระทบการทำงานของหัวใจและสมองการกินผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นไฮแคลเซียม จึงกลายเป็นว่า ร้อยละ 75-80 ของไฮแคลเซียมจะไหลผ่านจากปากลงไปที่อุจจาระ ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อกระดูกของเราตามที่โฆษณาไฮแคลเซียมที่แท้จริง   การดูแลสุขภาพของกระดูกที่แท้จริง คือ 1    . การกินอาหารพื้นบ้าน อาหารไทยๆ ทั้งนี้เพราะมีปริมาณแคลเซียมที่เพียงพอ ได้แก่ กุ้งแห้ง ปลาตัวเล็กตัวน้อย กะปิ ในผัก ธัญพืชต่างๆ ก็มีแคลเซียมสูง เช่น งาดำ ถั่วแดงหลวง ยอดแค ใบชะพลู ใบยอ ผักกะเฉด เป็นต้น  สำหรับผู้สูงอายุที่กินอาหารได้น้อย อาจดื่มนมวันละ 1-2 แก้ว เพื่อให้ได้แคลเซียมเพียงพอ2    . การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้ร่างกายเก็บแคลเซียมในกระดูกได้มากขึ้น     . สำหรับวิตามิน D นั้น คนไทยไม่ได้ขาดเพราะเราได้รับจากแสงแดดโดยตรงและมากเกินพอ จึงไม่จำเป็นต้องกินวิตามิน D เพิ่ม  สรุป  ผลิตภัณฑ์สุขภาพประเภทไฮแคลเซียมทั้งหลายนั้นไม่เกิดประโยชน์ตามที่โฆษณา  แต่เกิด Hi cost โดยไม่จำเป็น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 มือถือกับเด็ก ภัยจากเทคโนโลยีที่ยากจะควบคุม

มาถึงศตวรรษนี้แล้วคงไม่มีใครปฏิเสธการเข้ามาของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตให้ง่ายขึ้นด้วยปลายนิ้ว จนปัจจุบันกลายมาเป็นปัจจัยที่ 5 ที่มนุษย์ทุกคนแสวงหา อย่างไรก็ตาม ในแง่มุมตรงกันข้าม ความง่ายของมันทำให้เกิดปัญหาตามมาได้หากใช้โดยไม่รู้เท่าทัน จากผู้ที่กุมโลกทั้งใบเอาไว้ในมืออาจกลายเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะ “เด็ก” ที่อยู่ในช่วงการสร้างพัฒนาการทางด้านร่างกาย สมอง สติปัญญา ทักษะชีวิตและการเข้าสังคม เมื่อราวๆ กลางปี 2561 นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันพบเด็กเล็กเป็น “โรคไฮเปอร์เทียม” มากขึ้น คือมีอาการคล้ายโรคไฮเปอร์แต่ยังไม่ถึงขั้นป่วย เกิดจากการเลี้ยงดูด้วยการ “ปล่อยให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ เล่นแท็ปเล็ต สมาร์ทโฟนเพื่อทำให้เด็กนิ่ง ไม่ซน” ในวงการจิตแพทย์พบว่าความเร็วของภาพในเกม ซึ่งเปลี่ยนทุก 3 วินาทีจะส่งผลโดยตรงต่อสมองทำงานไม่ลงตัว คุมสมาธิไม่ได้ ทำให้ทักษะการอ่าน การเขียน การพูดของเด็กแย่ลง อารมณ์ร้อน รอคอยไม่เป็น มีปัญหาการอยู่ร่วมกับเด็กวัยเดียวกันหรือคนอื่น นอกจากนี้ เมื่อเด็กอยู่กับสมาร์ทโฟน ติดกับความสนุกสนานของภาพเคลื่อนไหว เด็กจะนั่งนิ่ง ไม่มีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวร่างกายและมวลกล้ามเนื้อต่างๆ รวมถึงการสื่อสารกับคนรอบข้าง นับเป็นจุดเริ่มต้นของผลกระทบด้านลบ ปัญหาแสงสีฟ้ากับสายตาขี้เกียจ นพ.ศักดิ์ชัย วงศ์กิตติรักษ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าการใช้สมาร์ทโฟนมีผลทำให้เด็กสายตาสั้นมากขึ้น และแสงสีฟ้าจากจอโทรศัพท์มือถือก็มีผลทำให้คนรุ่นหลังๆ เสี่ยงเป็นโรคต้อกระจกมากขึ้น และเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ขอเริ่มที่ “ปัญหาแสงสีฟ้า” ก่อน แสงที่อยู่ตามธรรมชาติ เช่นแสงแดด ประกอบด้วยสีหลายสี เช่น คราม น้ำเงิน แสงสีฟ้า เขียว เหลือง แสด แดง เป็นต้น แต่ละสีมีคลื่นความถี่แตกต่างกัน  แสงสีฟ้าที่มีในจอโทรศัพท์มือถือนั้นเป็นแสงความยาวคลื่นที่มีความถี่สูงกว่าแสงสีชนิดอื่นๆ จึงมีพลังงานสูงกว่าแสงสีอื่น ทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่บริเวณจอประสาทตามากขึ้น ซึ่งวงการแพทย์มีความเป็นห่วงว่าอาจจะทำให้เกิดจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ เร็วกว่าเวลาอันควร ซึ่งโรคนี้จะนำมาซึ่งการสูญเสียการมองเห็น “สมัยก่อนเราจะพบโรคนี้ในคนที่ทำงานกลางแจ้ง แต่ก็มักพบเมื่ออายุประมาณ 70-80 ปี ขึ้นไปแล้ว แต่การที่เด็กเล่นโทรศัพท์ โดยเฉพาะการเล่นตอนกลางคืนจากเดิมที่ตอนกลางวันก็โดนแสงธรรมชาติอยู่แล้ว ก็ยังมาโดนแสงโทรศัพท์อีก ยิ่งถ้าปิดไฟเล่นจะทำให้ม่านตาขยายเข้าไปมากกว่าเดิม ดังนั้นจักษุแพทย์จึงเป็นห่วงว่าคนในยุคหน้าจะเป็นจอประสาทตาเสื่อมเร็วกว่าที่ควรจะเป็น” มาที่ผลกระทบของการใช้โทรศัพท์มือถือที่ทำให้เด็กมีปัญหาสายตาสั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเล่ากันยาวหน่อย คือ เนื่องจากเมื่อมีการใช้สายตามองในระยะใกล้ๆ ทำให้เด็กต้องใช้สายตามากขึ้น และการเพ่งสายตามากขึ้นจะทำให้เกิดปัญหา “สายตาสั้นเทียม” หมายความว่าเด็กมีอาการเพ่งค้างของสายตา มองไกลไม่ชัด เมื่อไปพบจักษุแพทย์แล้วหยอดยาลดการเพ่ง จากนั้นก็วัดค่าสายตาแล้วจะพบว่าไม่มีปัญหาจริงๆอย่างไรก็ตามมีการศึกษาวิจัยทั่วโลก โดยเฉพาะโซนเอเชีย พบว่าการใช้สายตามองใกล้มากๆ ของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ค่อยได้ออกไปเล่นกลางแจ้ง หรือมองไกลๆ เลยจะทำให้มีปัญหาสายตาสั้นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีกรรมพันธุ์พ่อแม่สายตาสั้น เด็กที่เล่นสมาร์ทโฟนมากขึ้นก็ยิ่งทำให้สายตาสั้นมากขึ้น เร็วขึ้นกว่าเวลาอันควร ปัจจุบันบางประเทศพบเด็กสายตาสั้นครึ่งหนึ่งของเด็กทั้งหมด ซึ่งประเทศไทยก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกัน“ยิ่งอายุน้อยยิ่งมีผลกระทบเยอะ เพราะว่าความสามารถในการเพ่งจะมากที่สุดตั้งแต่ตอนเกิดและค่อยๆ ลดลง รวมทั้งความสามารถในการขยายตัวของลูกตาที่มีผลทำให้สายตาสั้นนั้นจะพบเร็วมากในช่วง 2 ขวบแรก เพราะเป็นช่วงที่ลูกตามีโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้สูง ดังนั้นถ้าเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เราไม่แนะนำให้เล่นเลย เพราะว่าลูกตายังมีความบอบบาง ยังไม่แข็งแรงพอ ถ้าทำให้เด็กมีการเพ่งตั้งแต่อายุยังน้อยก็มีโอกาสที่จะเกิดสายตาสั้นเร็วมากขึ้น” รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ปัญหาคือเวลาที่เด็กมีปัญหาสายตา ไม่ว่าจะสั้นเทียมหรือสั้นจริง เด็กอาจจะไม่รู้ว่านั่นคือปัญหา จึงไม่ได้บอกผู้ปกครอง แน่นอนว่าเมื่อมีปัญหาการมองเห็นแล้วย่อมมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ด้านอื่น ตามมา ที่กังวลคือมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความพิการถาวรจากโรค “สายตาขี้เกียจ” คือเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ เป็นเวลาทองของการพัฒนาจอประสาทตา หากมองไม่ชัด ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม จะทำให้จอประสาทตาไม่พัฒนา เมื่อจอประสาทตาไม่พัฒนา มารู้ตัวอีกทีหลังจากที่เด็กมีอายุมากกว่า 10 ขวบแล้ว จะแก้ไขให้กลับมามองเห็นปกติไม่ได้ ต่อให้ตัดแว่นให้ใส่ก็ตาม ทั้งนี้ เมื่อตามองไม่ชัด สมองก็ไม่พัฒนา สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือตาเหล่ คือข้างหนึ่งมองเห็นปกติ ข้างหนึ่งไม่ปกติ หากไม่ได้รับการแก้ไข ข้างนั้นจะพิการไป แต่ปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งคือสายตาผิดปกติ ปัจจุบันพ่อแม่ที่พาลูกเข้ามาตรวจกับจักษุแพทย์พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งมีปัญหาสายตาสั้น และเกือบทุกรายมีปัญหาติดโทรศัพท์มือถือ แนวทางการป้องกันมีข้อแนะนำว่าไม่ควรให้เกิดการเพ่งอย่างต่อเนื่อง เรามีสูตร 20 : 20 : 20 คือ เมื่อเด็กใช้สายตามองใกล้ทุก 20 นาที ต้องหยุดพักมองไกลๆ อย่างน้อย 20 ฟุต อย่างน้อย 20 วินาที ถึงจะกลับมาใช้มือถือต่อได้  ส่วนระยะห่างจากมือถือกับดวงตาควรห่างกันประมาณ 33-40 เซนติเมตร ไม่ควรปิดไฟเล่น อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างแล้วแต่บริบท แต่ที่ต้องย้ำคือ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรใช้สมาร์ทโฟน  ส่วนวัยที่โตมาหน่อยเข้าใจว่า ทุกวันนี้เราไม่สามารถกันเด็กออกจากมือถือหรือเทคโนโลยีได้ แต่ต้องใช้อย่างเหมาะสม ดังนั้นต้องมีกติกาการใช้ ปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่นที่ตั้งเวลาการใช้งานได้ หรืออย่างไต้หวัน ที่มีกฎหมายให้เด็กมีกิจกรรมกลางแจ้งอย่างน้อยวันละ 90 นาที มือถือพาเด็กเข้าสู่โลกของผู้ใหญ่ได้อย่างง่ายดายและน่าเป็นห่วงรศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบเด็กอายุประมาณ 9 เดือน ถูกเลี้ยงดูด้วยสมาร์ทโฟน พ่อแม่จะเปิดการ์ตูนในยูทูปให้ดู ตั้งค่าเอาไว้เลย 4-5 เรื่อง ซึ่งก็พบว่าเด็กอายุแค่นั้นสามารถใช้เองได้ด้วย เด็กอยากดูเรื่องไหนก็เอามือจิ้มๆ เข้าไป รู้จักการไถมือ เราพบว่าตัวเด็กเองนั้นสนใจมาก มองตาม ฟัง อยู่นิ่งๆ ได้นาน จนกระทั่ง 10-12 เดือน ก็ติดมือถือแล้วที่ผ่านมามีเด็ก 3-4 คนที่มาคลินิกผม เด็กพวกนี้พูดภาษาอังกฤษเก่งมาก สำเนียงชัดมากจากการดูยูทูปพวกนี้ ถือว่ามีประโยชน์เหมือนกัน ทั้งๆ ที่ผู้ปกครองพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย แต่ในทางกลับกันก็พบว่าเมื่อถึงวัยที่เด็กไปโรงเรียน เด็กก็ไม่ยอมเล่นกับเพื่อน ไม่คุย แยกตัวอยู่คนเดียว พูดภาษาอังกฤษได้ แต่สื่อสารกับเพื่อนไม่รู้เรื่อง “เราจะสังเกตว่าภาษาเป็นการสื่อสารของมนุษย์ มีภาษาพูด จะมองตา มองปาก ขณะคุยกันจะมีการสื่อความรู้สึกไปพร้อมกับภาษาพูด ในเด็กเล็กซึ่งเป็นช่วงที่สมองมีการพัฒนา ถ้าเล่นแต่มือถือ  เรียนรู้การสื่อสารผ่านมือถือซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว อยู่กับเรื่องเรียนภาษา สำเนียง โดยไม่มีอารมณ์ ความรู้สึก จนก่อพฤติกรรมการแยกตัว เขานึกไม่ออกหรอก ว่าการสื่อสารกับมนุษย์จริงๆ ต้องใช้อารมณ์แบบไหน เขาไม่รู้ โตมาหวังจะแก้ไขให้เขารู้จักสื่อสารด้วยความรู้สึก ความรัก ความเกลียดชังต่างๆ มันสร้างได้ยาก ถามว่าแก้ได้ไหม บอกเลยว่าแก้ยาก และจะเป็นปัญหาทางด้านสุขภาพจิตในอนาคต”รศ.นพ.อดิศักดิ์ บอกว่า ถ้าเป็นการเล่นและติดโทรศัพท์มือถือในกลุ่มเด็กโต ก็จะมีปัญหาคนละแบบ ส่วนใหญ่มักเล่นเกมเพื่อความสนุก  แต่ก็มีรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งเพื่อการเรียนรู้  ลึกลับ รุนแรง ยิงกันเลือดสาด เรื่องเพศ เป็นต้น หากล้นมากๆ จนไร้การควบคุมก็จะนำไปสู่การสูญเสียพัฒนาการ ไม่กิน ไม่นอน และเกิดปัญหาเด็กติดเกมตามมา“อาการติดเกม”  เป็นอาการที่คล้ายกับการติดสารเสพติด ติดยา เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารในสมอง ต้องการเกมที่แรงขึ้น เครื่องมือที่ดีขึ้น ใครห้ามจะโกรธ โมโห มีอารมณ์ ต้องใช้การบำบัด ปรับพฤติกรรม “ถอนออกจากเกม” เหมือนรักษาการติดยา แต่ก็เป็นพฤติกรรมที่แก้ไขได้ อย่างไรก็ตาม นอกจากเกมแล้วยังพบการติดโซเชียลมีเดียรูปแบบอื่นที่มากับโทรศัพท์มือถือ เช่น เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ไลน์ ดูนั่นดูนี่ เปิดทั้งวัน ปิดไม่ได้ ถ้าไม่ได้ดูจะมีความกังวล ฯลฯ  ยิ่งปัจจุบันพบว่าเด็กสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เหมือนกับผู้ใหญ่ เพราะไม่มีการแยกแยะกลุ่มเนื้อหาเฉพาะ แม้จะบอกว่าแยกแล้ว แต่ในความเป็นจริงสามารถเข้าถึงได้ทั้งหมด ทำให้เด็กเข้าถึงเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมได้อย่างง่ายดาย เช่น แค่พิมพ์คำว่า “โป๊” คำเดียว ก็ขึ้นมาเป็นเนื้อหาลามกอนาจารเลย พอเข้าไปแล้วคลิกอีก 2-3 ที ก็ดูได้แล้ว ซึ่งถ้าเทียบกับโลกแห่งความเป็นจริง สื่อประเภทหนังสือโป๊ สื่ออนาจาร ตลอดจนสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ ล้วนแต่ถูกควบคุมเอาไว้หมด แต่อินเทอร์เน็ตมีทุกอย่าง เข้าได้อย่างเสรี ดังนั้นถ้าสนับสนุนให้เด็กวันนี้ใช้สื่อโซเชียล โดยพวกผู้ใหญ่บอกว่าต้องส่งเสริมให้เด็กใช้อินเทอร์เน็ต ทำทุกอย่างผ่านอินเทอร์เน็ต ทำการบ้าน ส่งงานผ่านทางอินเทอร์เน็ต ก็ต้องออกแบบให้สามารถดูแลสภาพปัญหาที่ว่านี้ให้ได้ก่อน ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่างๆ ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่เก็บเงินเด็กแล้วเปิดไปมีแต่ภาพโป๊ ทั้งๆ ที่เป็นสายของเด็ก ต้องร่วมกันทำ “อินเทอร์เน็ตสีขาว” หรืออินเทอร์เน็ตที่เปิดมาแล้วเจอเนื้อหาที่ปลอดภัย หากจะเข้าเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเฉพาะสำหรับผู้ใหญ่ถึงจะต้องมีการลงทะเบียนอีกรูปแบบหนึ่ง  “ปัจจุบันเด็กเข้าอินเทอร์เน็ตด้วยโทรศัพท์มือถือส่วนตัว หากไปลงทะเบียนกับบริษัทที่ให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็ต้องกำหนดรูปแบบอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยสำหรับเครื่องนั้น ซึ่งปัจจุบันทำได้อยู่แล้ว เช่น ต่ำกว่า 13 ปีห้ามใช้เฟซบุ๊ค เกมประเภทนี้เหมาะสมกับอายุเท่าไหร่ คือพ่อ แม่เป็นคนลงทะเบียนอินเทอร์เน็ตให้ หากมีการเข้าเว็บที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมกับอายุเด็ก ก็ตัดทันที ปัจจุบันมีบริการนี้อยู่แต่ไม่ค่อยได้ประชาสัมพันธ์ ที่ประเทศอังกฤษทำให้ฟรีเลย” ปัญหาอีกอย่างที่ซ่อนอยู่กับการใช้โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตของเด็กๆ คือ เรื่องความรุนแรง การล่วงละเมิดเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ผู้ใหญ่หรือมิจฉาชีพบางคนใช้การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียในการล่อลวงเด็ก หลอกขายสินค้า เสียเงินเสียทอง ที่หนักสุดคือการหลอกล่อพาเด็กไปทำอนาจารทางเพศ แน่นอนว่าเด็กผู้หญิงตกเป็นเหยื่อมากกว่าเด็กผู้ชาย และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง คือครอบครัวไม่เข้มแข็ง พ่อ แม่แยกทางกัน เป็นต้น “ผมมีคนไข้คนหนึ่งถูกหลอกลวงทางเพศจากแอปสนทนาทางโซเชียลมีเดีย 12 ครั้งเพื่อไปข่มขืน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางอยู่แล้วจากการที่พ่อ แม่แยกทางกัน ตัวเด็กเองอยู่กับพี่สาวสองคน เรื่องนี้เกิดขึ้นเยอะเหมือนกัน และเกือบทั้งหมดที่เข้ามาปรึกษา เป็นเหยื่อของคนที่เพิ่งรู้จักกันครั้งแรกผ่านทางโซเชียล” สำหรับข้อถกเถียงเรื่องคลื่นความถี่จากโทรศัพท์มือถือกับสมองนั้น ต้องเรียนว่า มีคนศึกษาเยอะว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีผลต่อมะเร็งในสมองหรือไม่ มีผลต่อมะเร็งกับเซลล์ชั้นในหรือไม่ แต่เข้าใจว่างานวิจัยยังไม่มีผลยืนยันชัดเจน ดังนั้นจึงไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วคลื่นแม่เหล็กนั้นจะมีผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ การใช้โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตผิดวิธีนั้นมีอันตราย ตั้งแต่การทำลายพัฒนาการ การเสพเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมซึ่งเป็นการบ่มเพาะพฤติกรรม เช่น พฤติกรรมก้าวร้าว การใช้โดยที่ผู้ใหญ่เข้าถึงหรือป้องกันได้ยาก คนร้ายเข้าถึงตัวเด็กได้ง่าย ถูกล่อลวงทางเพศ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน “เด็กที่เสียชีวิต เด็กที่เสียพัฒนาการ เด็กที่ถูกกระทำนั้น เกิดขึ้นจริงแล้วในสังคม แต่ยังไม่ยอมแก้ไข ผู้ใหญ่หากมีการพูดถึงเรื่องนี้มักอ้างเรื่องของอิสรภาพ กระทรวงวัฒนธรรมเองพูดอย่างทำอย่าง ปากพูดถึงอินเทอร์เน็ตสีขาว แต่กลับทำยาก”อย่างไรก็ตาม การใช้โทรศัพท์มือกับเด็กไม่ใช่จะมีแต่เรื่องแย่ๆ ร้ายๆ ประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็กก็มี แต่ต้องมีการสร้างความสมดุลเพื่อให้มีโทรศัพท์มือถือเพื่อการเรียนรู้ของเด็กจริง อย่างกรณีการฝึกภาษา ตอนนี้ที่เราแนะนำเลยคือ เด็กต่ำกว่า 2 ขวบไม่ให้ใช้สื่อหน้าจอเลย หากจะใช้ในกรณีที่ต้องการฝึกภาษา ต้องเอามาเป็นเครื่องมือของพ่อแม่ในการสื่อสารกับลูก โดยเน้นเป็นการสบตาของพ่อ แม่ ลูก แล้วเอาโทรศัพท์มือถือมาสอนควบคู่ เช่น เปิดเสียงสัตว์ชนิดต่างๆ ประกอบ เป็นต้น ไม่ใช่เปิดทิ้งไว้ให้เด็กดูเพียงลำพัง อย่าปล่อยให้อยู่ด้วยกันเพียงลำพัง ลูกต้องติดใจที่ได้เล่นกับแม่หรือพ่อ แล้วยอมพูดตามสำเนียงตามโทรศัพท์มือถือ เพราะแม่เป็นคนถือ แม่เชียร์อยู่ ไม่ใช่เด็กติดใจมือถือ เราจะอยู่กันอย่างนี้ไม่ได้ การใช้อินเทอร์เน็ตต้องมีการควบคุมเนื้อหาที่เหมาะสมสำหรับเด็ก พ่อแม่ต้องควบคุมการใช้งานทั้งเรื่องเนื้อหาและระยะเวลาที่ใช้งาน วันนี้เมืองไทยต้องมีการออกกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กจากสื่อออนไลน์ ล้อไปกับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก เป็นไปไม่ได้ที่ภายนอกมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ซึ่งออกมาตั้งแต่ปี 2546 บอกว่ามิให้ผู้อื่นผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ เช่น เอาเด็กไปอยู่ในจุดอันตราย กระทำร้ายต่อเด็ก ล่วงละเมิดต่อเด็ก เขียนไว้ในกฎหมายเยอะแยะ แต่ในอินเทอร์เน็ตกลับคุมไม่ได้ เอาเด็กเข้าไปอยู่ในจุดอันตราย เอาไปอยู่ในโซเชียลมีเดียเป็นการทำลายพัฒนาการเด็ก ถ้าบอกว่ามี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ดูแลอยู่ บอกเลยว่าไม่จริง ล่าสุดที่เพิ่งมีการแก้ไขกฎหมาย ยังไม่เห็นการพูดถึงเรื่องนี้ พ.ร.บ.คอมพ์ฯ พูดถึงแต่เรื่องคนที่เข้าไปล้วงข้อมูลออนไลน์จะผิดอย่างนั้น ผิดอย่างนี้ ไม่พูดถึงผู้ร้ายที่ขายของผิดกฎหมาย อย่างบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งไม่เข้าใจ เพราะกระทรวงพาณิชย์ออกกฎหมายห้ามนำเข้า กรมสรรพากรบอกว่าห้ามขายในประเทศ ผิดกฎหมาย แต่ในออนไลน์มีหมด ซื้อง่าย มีโฆษณาด้วย สิ่งผิดกฎหมายต่างๆ ที่ห้ามในโลกแห่งความเป็นจริงกลับพบว่ามีหมดเลยบนโลกออนไลน์ อย่างไรก็ตาม พอพูดเรื่องการดูแลเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ต ก็มักมีการอ้างเรื่องผลกระทบกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจหรือการจำกัดสิทธิเสรีภาพบ้าง แต่เปิดช่องให้ทำในเรื่องที่เป็นการกระทบกับพัฒนาการเด็ก พอพูดเรื่องนี้แล้วก็ขอเอ่ยถึงเรื่อง “อี-สปอร์ต” ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่กีฬา ไม่มีการส่งเสริมการออกกำลัง แต่มันคือเรื่องของธุรกิจ ซึ่งกระทบพัฒนาการเด็ก เป็นการเพิ่มจำนวนเด็กติดเกมอย่างเห็นได้ชัด แต่ด้วยความกลัวว่าเศรษฐกิจจะก้าวไม่ทันชาวบ้านเขา มหาวิทยาลัยเปิดสอนกันเยอะมาก เปิดสอนให้คนไปทำธุรกิจอี-สปอร์ตได้ แต่ไม่ได้สอนให้รู้โทษ  ร้านเกมในต่างจังหวัดเปลี่ยนเป็นศูนย์อี-สปอร์ต ทั้งนั้น เด็กเล่นเลอะเทอะไปหมด กฎระเบียบไม่ต้องมี เพราะการกีฬาอนุมัติ เพราะกลัวเศรษฐกิจไม่ทันกิน ก็เลยวางคุณภาพเอาไว้ก่อน  ปัจจุบันเห็นแล้วว่าถ้ามองแต่เศรษฐกิจเบื้องหน้า แต่คนไร้คุณภาพ ประเทศจะพัฒนาไปได้แค่ไหน ตอนนี้ต้องยอมรับว่า 4.0 หากไม่คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ มันไม่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ อัตราเด็กถูกทำร้ายและอัตราการเสียชีวิตของเด็กอาจเพิ่มมากขึ้น คิดว่าถ้าชั่งน้ำหนักแล้วไม่คุ้ม เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ ป้องกันตั้งแต่แรกดีกว่ามาตามแก้ไข  และเป็นเรื่องที่ต้องดูแลกันตั้งแต่ระดับนโยบาย จะให้เป็นเรื่องของครอบครัว หรือเรื่องบุคคลไม่ได้ เพราะความสามารถในการ “คิด วิเคราะห์ แยกแยะ” ของเด็กยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ การมีโทรศัพท์มือถือจึงจำเป็นต้องได้รับการดูแล ใส่ใจ จากผู้ปกครอง รวมถึงผู้ที่มีอำนาจในบ้านเมืองที่ต้องทำให้เด็กๆ ได้รับความปลอดภัย   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 กันแดดแบบไม่ทำร้ายปะการัง

   จริงๆ เรื่องครีมหรือโลชั่นกันแดดมีผลต่อการตายของปะการัง ได้ถูกพูดถึงกันมาหลายปีแล้ว แต่เพราะเราหลายคนยังคงมีคำถามอยู่ในใจว่า อะไรจะขนาดนั้น ครีมกันแดดปริมาณเพียงเล็กน้อยจากตัวเราจะถึงกับทำให้ปะการังในทะเลซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างใหญ่เกิดผลกระทบที่รุนแรงได้    จนเมื่อทางการไทยประกาศว่าจำต้องปิดอ่าวมาหยา บนหมู่เกาะพีพี ต.อ่าวนาง จ.กระบี่ แหล่งท่องเที่ยวที่เคยติดอันดับต้นๆ ของโลก ต่อไปอีกอย่างไม่มีกำหนด หลังจากที่ปิดไปแล้วสามเดือนแต่ไม่พบสัญญาณที่ดีขึ้นของการฟื้นฟูของธรรมชาติบริเวณอ่าวดังกล่าว ประเด็นครีมกันแดดกับการตายของปะการังจึงกลายเป็นกระแสอีกครั้ง อะไรในครีมกันแดดที่ฆ่าปะการังสารเคมีสี่ชนิดที่นักวิจัยพบว่าฆ่าปะการังและทำให้ปะการังฟอกขาวคือ Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3) Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate) 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben ตัวสุดท้ายเป็นวัตถุกันเสียที่ทำให้ปะการังฟอกขาว  ตัวที่ร้ายที่สุดคงจะเป็น Oxybenzone หรือ BP3 เพราะรบกวนระบบสืบพันธุ์ ทำให้ตัวอ่อนปะการังโตแบบผิดรูป หรือไม่ก็พิการและตายไปเลย นอกจากนี้ Oxybezone ยังเป็นส่วนผสมที่ใช้อย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดกว่า 3,500 ยี่ห้อทั่วโลก เพราะมีคุณสมบัติในการป้องกันได้ทั้งยูวีเอและยูวีบี    บางคนอาจบอกว่าทะเลตั้งกว้างใหญ่ ครีมกันแดดแค่นิดหน่อยจากนักท่องเที่ยวไม่น่าจะสร้างปัญหาได้ แต่สิ่งที่งานวิจัยค้นพบก็คือ สารเคมีแม้ปริมาณเพียงน้อยนิด  แค่ 1 หยดต่อสระน้ำมาตรฐาน 6 สระ (62 parts per trillion) ก็ส่งผลกระทบต่อปะการังแล้ว ผลการตรวจค่าความเข้มข้นของ Oxybenzone ตามแนวปะการังที่ฮาวายรอบเกาะ Maui และ Oahu พบว่ามีความเข้มข้นอยู่ระหว่าง 800-19,000 parts per trillion และที่ Virgin Island National Park อยู่ที่ 250,000 parts per trillion นั่นหมายความว่าความเข้มข้นของ Oxybenzone ตามแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งในปัจจุบันสูงกว่าระดับปลอดภัยไปมากและกำลังส่งผลร้ายแรงต่อแนวปะการังในระยะยาว             บางคนก็ว่าไม่ได้ว่ายน้ำในทะเลเสียหน่อย ไม่เป็นไรน่า อย่าลืมสิว่าเวลาเราอาบน้ำบรรดาสารเคมีอันตรายก็ไหลไปกับท่อน้ำทิ้งและลงสู่ทะเลเช่นเดียวกัน   เพื่อให้สวยอย่างฉลาดและรักษ์โลกไปพร้อมกัน เวลาเลือกใช้ครีมกันแดด ควรมีแนวทางดังนี้  - เปลี่ยนมาใช้ครีมกันแดดที่ปราศจากสาร Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3) Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate) 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben    -  ใช้ครีมกันแดดแบบกันน้ำ (Water resistant) เพราะอย่างน้อยก็เกิดการชะล้างระหว่างอยู่ในน้ำน้อยกว่า    -  ทาครีมกันแดดเฉพาะบริเวณนอกเสื้อผ้า เช่น ใบหน้า คอ มือ บางกรณีเราอาจใช้หมวก เสื้อแขนยาว และร่มเพื่อช่วยลดความจำเป็นในการใช้ครีมกันแดดในปริมาณมากๆ    -  ร่วมกันรณรงค์ให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการพัฒนาครีมกันแดดที่ปราศจากสารเคมีที่ทำร้ายปะการังและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ใต้ท้องทะเล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 กระเป๋าขึ้นเครื่อง

ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอเสนอผลทดสอบกระเป่าเดินทางขนาดเล็ก หรือที่นิยมเรียกกันว่า “เคบินไซส์” ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศทำไว้* มีให้สายเที่ยวได้เลือกกัน 19 รุ่น ตั้งแต่ราคาต่ำกว่า 1,000 บาทไปจนถึงเกือบ 35,000 บาท ทั้งแบบกล่องแข็งและแบบที่ทำด้วยวัสดุเส้นใย  คะแนนการทดสอบแบ่งออกเป็นสองด้าน ได้แก่ -                 - ร้อยละ 60 >> คะแนนความสะดวก/คล่องตัวในการใช้งาน (ผู้ทดสอบลองใช้แล้วตอบแบบสอบถาม)  -                 - ร้อยละ 40 >> คะแนนความแข็งแรงทนทานของกระเป๋าและส่วนประกอบ (ทดสอบในห้องปฏิบัติการ)สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้ให้คำแนะนำเรื่องขนาดกระเป๋าเดินทางที่อนุญาตให้ผู้โดยสารนำขึ้นเครื่องได้จะต้องมีความยาวไม่เกิน 56 เซนติเมตร (22 นิ้ว) ความกว้างไม่เกิน 45 เซนติเมตร (18 นิ้ว) และความหนาไม่เกิน 25 เซนติเมตร (10 นิ้ว) เมื่อรวมส่วนประกอบรอบๆ ตัวกระเป๋าแล้ว อย่างไรก็ตาม สายการบินสามารถกำหนดขนาดได้ตามความเหมาะสม เช่นรุ่นของอากาศยานที่ใช้ หรือชั้นที่นั่งโดยสาร เป็นต้น หากมีข้อสงสัยโปรดตรวจสอบกับสายการบินก่อนลงมือจัดของหมายเหตุ  ขนาดของกระเป๋าที่เรานำเสนอเป็นขนาดและความจุที่วัดได้โดยทีมทดสอบ อาจจะไม่ตรงกับตัวเลขที่เห็นในโฆษณาหรือฉลากผลิตภัณฑ์    การทดสอบครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง Which? (อังกฤษ) และ UFC (ฝรั่งเศส) ซึ่งเป็นสมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศเช่นเดียวกับฉลาดซื้อ ทั้งสององค์กรร่วมมือกันซื้อกระเป๋าส่งเข้าทดสอบ และหารค่าใช้จ่ายในการทดสอบ (ค่าใช้จ่ายในการทดสอบอยู่ที่ตัวอย่างละ 545 ยูโร หรือประมาณ 27,000 บาท) ฉลาดซื้อก็สามารถส่งผลิตภัณฑ์ไปร่วมทดสอบได้หากเรามีเงินทุนสนับสนุนจากสมาชิกมากพอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 โซเดียมในผลิตภัณฑ์ประเภทปลาแผ่น – ปลาเส้นปรุงรส

โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ  ผลิตภัณฑ์ประเภท ปลาแผ่น – ปลาเส้นปรุงรส ที่วางจำหน่ายทั่วไป เป็นของว่าง ที่อร่อยถูกปากผู้บริโภคทุกวัย ปลาเส้นปรุงรสส่วนใหญ่มีส่วนผสมของเนื้อปลาบด (ซูริมิ) แป้งสาลี แป้งมันสำปะหลัง ผสมคลุกเคล้ากับเครื่องปรุงรสแตกต่างกันไปตามรสชาติที่หลากหลาย เช่น รสชาติแบบออริจินัล เผ็ดน้อย เผ็ดมาก ให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อตามรสนิยม และทราบหรือไม่ว่า ปลาเส้นปรุงรสของไทย ยังเป็นสินค้าที่ชาวต่างชาตินิยมซื้อไปเป็นของฝากกันอีกด้วย  ปลาเส้นปรุงรส ให้สารโปรตีนจากเนื้อปลาบด และคาร์โบไฮเดรตจากแป้ง อาจนับเป็นของว่างมีประโยชน์ได้ หากแต่ว่าปริมาณโซเดียมที่แฝงอยู่ในปลาเส้นแต่ละรสชาตินั้น บางรสมีปริมาณโซเดียมสูงมาก ควรระวังในการรับประทาน ซึ่งเราสามารถดูปริมาณโซเดียมได้จากฉลากโภชนาการที่แสดงไว้บนซองบรรจุภัณฑ์   แต่บางทีซื้อของไปยืนเพ่งสายตาดูฉลากตัวหนังสือเล็กๆ นานๆ ก็ลำบากเหมือนกัน ฉลาดซื้อฉบับนี้ จึงขอเอาใจผู้บริโภคที่ชอบกินปลาเส้น โดยอ่านฉลากโภชนาการดูปริมาณโซเดียม ในผลิตภัณฑ์ประเภทปลาแผ่น-ปลาเส้นปรุงรส จำนวน 30 ตัวอย่าง เพื่อนำเป็นข้อมูลมาเปรียบเทียบให้ผู้บริโภคได้ทราบกันตารางเปรียบเทียบปริมาณโซเดียม ในผลิตภัณฑ์ปลาแผ่น-ปลาเส้นปรุงรส เรียงลำดับปริมาณโซเดียมจากมากไปน้อยข้อสังเกตต่อปริมาณโซเดียมจากฉลากผลิตภัณฑ์ จากการพิจารณาฉลากของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 30 ตัวอย่าง พบว่า   ผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุด คือ ปลากรอบเชิญชิม (Crispy Fish) ยี่ห้อ เรือ มีปริมาณโซเดียม 210 มิลลิกรัม ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมมากที่สุด พบว่ามี 2 ตัวอย่าง คือ ปลาสวรรค์ (รสดั้งเดิม) ยี่ห้อ ทาโร (TARO) และ ปลาสวรรค์ (รสซูเปอร์แซ่บ) ยี่ห้อ ทาโร (TARO) มีปริมาณโซเดียม 800 มิลลิกรัม  โดยส่วนใหญ่หนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำอยู่ที่ประมาณ 25 - 30 กรัม และพบว่า มีผลิตภัณฑ์จำนวน 2 ตัวอย่าง ที่ไม่มีฉลากโภชนาการ ซึ่งไม่สามารถทราบปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคได้ ได้แก่ ปลาหวานแผ่น ยี่ห้อ มายช้อยส์ไทย (My Choice Thai) และ ฮอกไกโดชีสฟิชแซนด์วิช (เนยแข็งชนิดโพรเซสชีสผสมปลาเส้น) ยี่ห้อ โอกิยะ OHGIYAข้อควรรู้เกี่ยวกับปริมาณโซเดียม    เนื่องจากปริมาณการบริโภคโซเดียมที่สูงขึ้น มีผลทำให้ความดันโลหิตที่สูงขึ้น ซึ่ง Institute of Medicine ได้กำหนดค่าปริมาณโซเดียมสูงสุดของการบริโภคที่ไม่เกิดอันตรายในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ไว้ที่ 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน (เปรียบเทียบเป็นเกลือป่นประมาณ  6  กรัม หรือ 1 ช้อนชา)  และ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน  แม้ว่าโซเดียมจะมีความสำคัญต่อร่างกาย แต่การบริโภคโซเดียมมากเกินไปทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งหากมีปริมาณโซเดียมในร่างกายมากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ หลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน และยังส่งผลต่อการเป็นโรคไตด้วย   ทราบอย่างนี้แล้ว การหมั่นอ่านฉลากข้อมูลโภชนาการเป็นประจำก่อนเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหาร จะช่วยให้เราสามารถควบคุมปริมาณโซเดียมในแต่ละมื้อได้อย่างเหมาะสม ทราบว่าผลิตภัณฑ์ใดมีปริมาณโซเดียมมากหรือน้อย โดยเฉพาะเด็กๆ ที่มักกินขนมจนเกือบหมดห่อ หากสามารถสอนเด็กๆ ให้เข้าใจความสำคัญของการอ่านฉลากโภชนาการได้ ก็จะเป็นการปลูกฝังให้เด็กๆ รู้จักการบริโภคอาหารได้อย่างถูกต้องเหมาะสมในแต่ละมื้อปลาเส้น  ปลาเส้นหรือปลาเส้นปรุงรส ผลิตจากเนื้อปลาบดแช่แข็งที่เรียกว่า "ซูริมิ"  เป็นอาหารว่างที่นิยมรับประทานกันมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กๆ และสาวกลัวอ้วนทั้งหลาย เพราะนักโฆษณาเขานำจุดขายไขมันต่ำ โปรตีนสูงมาเรียกความสนใจจากผู้บริโภค เพื่อให้แทนที่ขนมขบเคี้ยวที่มีทั้งแป้ง น้ำตาลและไขมัน ซึ่งล้วนส่งเสริมความอ้วนและโดนโจมตีหนักว่าทำให้เด็กไทยกลายเป็นเด็กอ้วน แต่…ข้อด้อยสำคัญของปลาเส้นปรุงรส ที่ถูกละเลยไปจากโฆษณาคือ ปริมาณโซเดียมที่สูงจนน่าเป็นห่วง ยิ่งประเภทรสจัดจ้าน รสเข้มข้นยิ่งมีปัญหา   วารสารฉลาดซื้อเคยทดสอบปลาเส้นปรุงรสพบว่า มีปริมาณโซเดียมสูงมาก หากรับประทานในขนาดหรือปริมาณ 30 กรัม จะได้โซเดียมสูงถึงประมาณ 500 มิลลิกรัม(ค่าเฉลี่ย) ซี่งเด็กไม่ควรได้รับโซเดียมจากขนมหรืออาหารว่างเกิน 200 มิลลิกรัม เพราะเขายังต้องรับประทานอาหารหลักอื่นๆ อีก การรับประทานปลาเส้นหรือขนมรสเค็มมันต่อเนื่องจะทำให้ไตทำงานหนัก เสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงพ่อแม่อย่าปล่อยให้เด็กรับประทานมากเกินไป ทั้งนี้รวมถึงผู้ใหญ่ที่มีปัญหาความดันโลหิตสูงด้วยซูริมิ   คำว่า “ซูริมิ” (Surimi) ฟังดูก็รู้ว่ามาจากภาษาญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึงเนื้อปลาที่นำมาผ่านกระบวนการ จนได้เนื้อปลาที่มีความเหนียวและยืดหยุ่น  เนื้อขาวเนียนละเอียด ปลาซูริมิจะนำมาทำผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิดที่เรารู้จักกันดีได้แก่ ปูอัด นอกจากนี้ยังมี ไส้กรอก  ลูกชิ้น ปลาเส้น เนื้อปลาเทียม เนื้อกุ้งเทียม ตลอดจนผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนื้อสัตว์ต่างๆ    ปลาซูริมิ เป็นอาหารทะเลที่มีราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารทะเลชนิดอื่นๆ และมีปริมาณไขมันต่ำ จึงจัดเป็นอาหารสุขภาพ    ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่บริโภคซูริมิ และผลิตภัณฑ์จากซูริมิรายใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนประเทศไทยซูริมิก็ได้กลายเป็นสินค้าเศรษฐกิจ เพราะมีความสามารถในการผลิตและส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก รวมทั้งการบริโภคก็มีคนนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นอิทธิพลจากอาหารญี่ปุ่น    ซูริมิคุณภาพพรีเมียมจะผลิตจากปลา Alaska pollock ซึ่งเป็นปลาที่มีไขมันต่ำ เนื้อสีขาว และมีความยืดหยุ่นสูง ส่วนซูริมิที่ผลิตได้จากประเทศในแถบเอเชีย เช่น ประเทศไทยใช้ปลาทรายแดงเป็นวัตถุดิบ หรือปลาทะเลอื่นๆ ที่มีเนื้อขาว ส่วนปลาน้ำจืดนั้นใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตซูริมิไม่ได้เนื่องจากปัญหากลิ่นโคลน เนื้อปลาไม่มีความเหนียวและเนื้อไม่ขาว 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 คนกรุงกับชีวิตหนี้

โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ  นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับหนี้สินครัวเรือนของคนกรุงเทพมหานคร พบ คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 77 มีหนี้สิน ร้อยละ 14 ปลอดภาระหนี้ และมีร้อยละ 8.5 ที่ไม่แน่ใจว่าตนเองมีหนี้สินหรือไม่ โดยเป็นหนี้เกี่ยวกับการกู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นอันดับ 1 ร้อยละ 37.6 รองลงมาได้แก่ การกู้ซื้อรถยนต์ ร้อยละ 28.2 การกู้ยืมเงินจากหนี้นอกระบบ ร้อยละ 18.8 และการกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 17 ส่วนใหญ่เป็นหนี้ก่อน ปี 2561 ที่น่าสนใจคือ เหตุผลหรือความจำเป็นที่ต้องเป็นหนี้ พบว่า ร้อยละ 23.6 เป็นหนี้เพื่อใช้จ่ายทั่วไป แหล่งเงินกู้และภาระหนี้  แหล่งเงินกู้อันดับ 1 คือ ธนาคารพาณิชย์ ร้อยละ 36.4 รองลงมาคือ ไฟแนนช์ ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบหนี้คือ ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 15.3 ยังต้องใช้บริการของคนปล่อยกู้(หนี้นอกระบบ) โดยร้อยละ 40 เป็นหนี้น้อยกว่า 100,000 บาท ร้อยละ 30 เป็นหนี้ในช่วง 1-5 แสนบาท และร้อยละ 17.4 เป็นหนี้ในช่วง 5 แสน – 1 ล้านบาท        สำหรับสภาพคล่องพบว่า ร้อยละ 53.4 เคยผิดนัดผ่อนชำระ และร้อยละ 34.4 ไม่เคย ความรู้เกี่ยวกับเรื่องหนี้   คนกรุงส่วนใหญ่ร้อยละ 67.5 จะทราบข้อมูลเรื่องอัตราดอกเบี้ยของการกู้ยืมเงิน ร้อยละ 52.3 ทราบว่ามีกฎหมายเรื่องทวงถามหนี้ และเคยถูกทวงถามหนี้ถึงร้อยละ 46.3 ในลักษณะของจดหมายมากที่สุด ร้อยละ 33.5 พูดจาไม่สุภาพ ร้อยละ 19.6 คิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง ร้อยละ 15.4 ตามลำดับเกี่ยวกับโครงการช่วยเหลือจากภาครัฐ   คนกรุงที่ตอบแบบสำรวจครั้งนี้ มีร้อยละ 22.8 ที่ก้าวไปถึงขั้นถูกดำเนินคดี แต่ส่วนใหญ่ร้อยละ 61.1 ไม่ไปถึงขั้นดังกล่าว และเมื่อสอบถามถึงมาตรการที่ทางรัฐดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ ไม่ว่าจะเป็น คลินิกแก้หนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย, สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง(สินเชื่อพิโก) และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย(นาโนไฟแนนซ์) ประมาณ ร้อยละ 40 จะทราบว่ามีแหล่งสินเชื่อที่เป็นมาตรการใหม่เหล่านี้ แต่จากทุกข้อที่ทำสำรวจว่าทราบหรือไม่ทราบ หากรวมร้อยละของผู้ที่ตอบว่า ไม่ทราบ กับที่ตอบว่า ไม่แน่ใจ ก็พอจะเห็นภาพรวมได้ว่า ประชาชนชาวกรุงเทพฯ มีข้อมูลไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะตัดสินใจเข้าสู่มาตรการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ   โดยเฉพาะคลินิกแก้หนี้ จากการให้สัมภาษณ์ของคุณชูชาติ บุญยงยศ  ในนิตยสารฉลาดซื้อฉบับที่ 209 พบว่า ไม่มีผู้บริโภคแม้แต่รายเดียวที่ผ่านเกณฑ์อันเข้มงวดซับซ้อนจนสามารถใช้คลินิกแก้หนี้ได้ นาโนไฟแนนซ์ คืออะไร   นาโนไฟแนนซ์ หรือชื่อเต็มๆ ว่า สินเชื่อรายย่อยเพื่อผู้ประกอบอาชีพ คือ สินเชื่อเงินกู้สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้มีรายได้ไม่แน่นอน เช่น พ่อค้า แม่ค้า ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นทะเบียนการค้า นาโนไฟแนนซ์ จะมีความยืดหยุ่นมากกว่าสินเชื่อแบบอื่นทั้งนี้ก็เพราะรัฐต้องการสนับสนุนให้ประชาชนรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนนำเงินไปประกอบอาชีพ หรือต่อยอดกิจการ หรือแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งสุดท้ายเพื่อนำไปสู่การปลดหนี้ได้ในที่สุด โดยลูกค้าแต่ละรายสามารถกู้เงินได้สูงสุด ไม่เกิน 100,000 บาท และอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี  จุดประสงค์ของโครงการนาโนไฟแนนซ์ คือ ภาครัฐต้องการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งปัจจุบันเกือบสิบล้านครัวเรือน หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของประเทศที่รายรับไม่พอกับรายจ่าย จึงต้องกู้หนี้มาใช้เพื่อการบริโภค และมูลหนี้ก็พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบัน จากข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับสินเชื่อรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพภายใต้กำกับ หรือ “นาโนไฟแนนซ์” พบว่า ไตรมาสที่ 2 ปี 2560 มีจำนวนบัญชีสะสม 112,571 บัญชี เพิ่มขึ้น 32,255 บัญชี หรือ 40% จากไตรมาสที่ 1/2560 ส่วนสินเชื่อสะสมอยู่ที่ 3,071 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 937 ล้านบาท หรือ 43.7% ขณะที่ยอดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 110 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73 ล้านบาท หรือโต 197% เทียบจากไตรมาสแรกที่มีหนี้เสียสะสมเพียง 37 ล้านบาทเท่านั้น  ซึ่งเป็นสัญญาณที่ส่อเค้าว่า โครงการนี้อาจจะไปไม่รอดโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับหนี้สินครัวเรือน โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,171 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 24 - 28 สิงหาคม 2561

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 211 การแก้ปัญหาจราจรด้วยการลดรถสาธารณะใช่แนวทางที่ดีจริงหรือ

ท่ามกลางกระแสความร้อนแรงของการจราจรที่ติดขัดแทบทุกจุดจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเขตเมืองชั้นในของกรุงเทพมหานคร อยู่ดีๆ คณะกรรมการแก้ปัญหาจราจรกรุงเทพมหานคร ที่ไม่มีใครรู้จักว่ามีใครเป็นคณะกรรมการบ้าง ก็เสนอมาตรการใหม่ เอารถเมล์ที่ถูกมองว่าคันใหญ่กีดขวางการจราจรออกไป เพื่อแก้ปัญหารถติดตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้าบนถนนรามคำแหง ทันทีที่มาตรการเผยสู่สาธารณะ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในทุกๆ ช่องทางว่าคนกลุ่มนี้เขาคิดอะไรกันอยู่ มีหลายคนแสดงความคิดเห็นผ่านเพจ safethaibus และ inbox เช่น“รถเมล์ 1 คันจุดคนได้มากกว่า 50 คน ทำไมถึงไม่เพิ่มรถสาธารณะ แล้วลดรถส่วนตัวแทน” “ทำรถสาธารณะให้ดีขึ้น ออกมาตรการจูงใจให้คนหันมาใช้รถสาธารณะกันดีมั้ย” “เอารถเมล์ออก แต่รถส่วนตัวยังวิ่งเหมือนเดิม จะแก้ปัญหาได้ยังไง” ถึงประเด็นนี้จะวิจารณ์กันร้อนแรงแค่ไหน ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับคนคิดเรื่องนี้ด้วย โดย พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รอง ผบช.น. ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหารถติดในชั่วโมงเร่งด่วน ที่นอกจากมีแผนการหาจุดจอดรถ Park & Ride หรือจอดแล้วจรให้ประชาชนเชื่อมต่อรถชัทเทิลบัส (Shuttle Bus) แล้ว ขณะที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ขสมก.ต้องลดจำนวนรถเมล์ประจำทางในเส้นทางรามคำแหง ในสายที่มีปริมาณรถมากแต่คนขึ้นน้อย เพราะรถมีขนาดใหญ่และเก่า เมื่อเกิดปัญหารถติดรถเสียจะใช้พื้นที่เป็นจำนวนมากจากแนวคิดของ รอง ผบช.น นั่นหมายความว่า คณะกรรมการฯ ชุดนี้ ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การลดจำนวนรถเมล์เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีมาตรการอื่นๆ เสริมเติมเข้าไปด้วย ทั้งการหาที่จอดรถ การให้บริการรถชัทเทิลบัสส่งต่อสถานีรถไฟฟ้า โดยมุ่งหวังว่าการมีจุดจอดที่รองรับปริมาณรถส่วนตัวได้มากพอ แล้วมีรถชัทเทิลบัสนำพาไปส่งจุดปลายทาง จะช่วยลดปริมาณการนำรถส่วนตัวเข้ามาวิ่งบนถนนรามคำแหงได้อ่านดูเหมือนจะเคลิ้มไปกับภาพที่สวยหรู รถยนต์จะน้อยลง ถนนจะโล่งขึ้น… แต่ในความเป็นจริงท่านคณะกรรมการฯ อาจจะคิดผิดหรือคิดไม่ครบ เพราะจากมาตรการที่ออกมายังไม่เห็นถึงแรงจูงใจที่คนใช้รถยนต์ส่วนตัว อยากที่จะเอารถไปจอดไว้ที่จุดจอดแล้วใช้รถชัทเทิลบัสไปสถานีรถไฟฟ้าเลย ต้องยอมรับก่อนว่า ส่วนหนึ่งที่คนมีรถส่วนตัวเพราะอยากสบาย ถึงรถติดแค่ไหนก็ยังสบายๆ นั่งอยู่ในรถฟังเพลงเปิดแอร์ได้ ดีกว่าไปทนยืนเบียดสูดกลิ่นเหงื่อไคลของผู้ร่วมทางคนอื่นๆ ในรถสาธารณะ ยิ่งช่วงนี้หน้าฝนความทรมานจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยเท่าพันเท่า ฝนตกรถติดน้ำท่วม ยืนรอเป็นชั่วโมงรถเมล์ก็ยังไม่มา หรือรถไฟฟ้าที่เบียดเสียดมากๆ ในช่วงเร่งด่วน เรียกว่าแน่นจนขึ้นไม่ได้ ท่านจะสร้างแรงจูงใจให้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวอย่างไร การทำให้ระบบรถสาธารณะที่บรรทุกคนได้จำนวนมากใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรเป็นคำตอบมากกว่าเป็นปัญหา ทุกที่ของเมืองใหญ่ทั่วโลกต่างควบคุมปริมาณรถยนต์ส่วนตัวที่วิ่งในเมือง ยิ่งเป็นเส้นทางก่อสร้าง ยิ่งต้องกำหนดเส้นทางเลี่ยงออกจากจุดก่อสร้าง และเสริมด้วยแรงจูงใจที่อยากให้คนมาใช้รถเมล์ เพิ่มรถเมล์ที่มีคุณภาพเข้ามาแทน แบบนี้ประชาชนถึงอยากจอดรถแล้วไปใช้รถสาธารณะ แต่ปัญหารถสาธารณะบ้านเมืองเราเป็นของแสลงทำให้ดีได้ยาก คนไทยก็ซื้อรถยนต์ส่วนตัวใช้กันในระดับสินค้าขายดี จึงเข้าใจว่าคณะกรรมการชุดนี้คงหมดหนทาง เมื่อไม่สามารถควบคุมปริมาณรถส่วนตัวได้ เลยมาลงที่รถสาธารณะอย่างรถเมล์แทน โดยใช้เหตุผลที่ทุกคนเบื่อหน่ายกับรถเมล์ ที่หลายคันมีสภาพเก่าทรุดโทรม บางสายคนใช้น้อย คนขับหลายรายไร้วินัยเป็นแรงหนุน ซึ่งต้องบอกว่าพลาดครับ แม้ว่าคล้อยหลังออกมาตรการเพียงสองวัน รอง ผบช.น. จะได้ออกมาชี้แจงว่า เป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด เพราะไม่ได้เป็นการลดจำนวนของรถเมล์บนถนนรามคำแหง แต่เป็นการลดขนาดของรถเมล์ลงจากรถขนาดใหญ่บางสายที่มีคนขึ้นน้อยให้เป็นมินิบัส เพื่อให้ถนนโล่งขึ้นลดการจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วนนั้น ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ถ้าจะมองกันให้ลึกแล้ว ปัญหารถติดสำหรับคนเมืองไม่ได้เป็นเพียงปัญหาที่รอวันแก้ไข แต่มันคือวิถีชีวิตที่คนเมืองทุกคนต้องเจอตั้งแต่ตื่นเช้ามาทำงานจนเลิกงานกลับเข้าบ้าน ยิ่งผสมกับมหกรรมรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างอยู่ทุกวันนี้ ยิ่งทำให้เพิ่มปริมาณการจราจรที่ติดขัดมากขึ้น โดยที่ยังไม่มีหลักประกันอะไรจะยืนยันได้ว่า เมื่อรถไฟฟ้าสร้างเสร็จแล้วรถจะไม่ติดอีก ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเพียงบางจุด ย่อมไม่อาจทำให้ปัญหาในภาพรวมแก้ไขไปด้วยได้ ตัวอย่างของมาตรการแก้ไขปัญหารถติดบนถนนรามคำแหงนี้ ถือเป็นบทเรียนที่ดีของผู้กำหนดนโยบาย ที่ต้องวิเคราะห์ถึงสาเหตุและต้นตอของปัญหาให้ชัดเจนก่อน ไม่งั้นก็จะตกม้าตายแบบนี้….

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 กระแสต่างแดน

ค่าาเข้าชม  ผู้บริโภครายหนึ่งตื่นเต้นกับโฆษณาขายบ้านในอินเทอร์เน็ต โอ้ว... บ้านหลังโตพร้อมระเบียงกว้างใหญ่ในเขตเมืองเอช รัฐบาเซิล-ลันด์ชัฟท์ ประกาศขายในราคาเพียง 300,000 ฟรังก์สวิส (ประมาณ 10 ล้านบาท) เธอจึง “คลิก” แสดงความสนใจ  จากนั้นเจ้าของบ้าน ซึ่งเป็นแพทย์ชาวสเปนชื่อแคทาลีนา ตอบกลับมาว่าเธอได้มอบอำนาจให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ Partner Real Estate เป็นนายหน้าดูแลเรื่องการขาย  ต่อมา “ลอร่า วัตสัน” ตัวแทนขายก็โทรมาแจ้งว่าหากเธอต้องการ “เข้าชมบ้าน” ก็ให้ชำระเงิน 12,000 ฟรังก์(ประมาณ 4 แสนบาท) เข้ามาก่อน โดยย้ำชัดเจนว่าไม่ใช่ค่ามัดจำ  มันชักจะยังไง ลูกค้ารายนี้ลองหาข้อมูลผ่านเว็บกูเกิล แต่ก็ไม่พบชื่อของคุณหมอคนดังกล่าวในโรงพยาบาลที่อ้างว่าทำงานอยู่ เธอจึงแจ้งต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ  การสืบสวนพบว่า PRE เป็นบริษัทกำมะลอที่นำโฆษณาขายบ้านจากเว็บที่ประกอบธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย มาใส่ในเว็บตัวเองแล้วสวมรอยเป็นตัวแทนขายโดยเจ้าของตัวจริงไม่รู้เรื่องเลยเที่ยวบินบูมเมอแรง  เบอลินมีท่าอากาศยานสองแห่ง ทางตอนเหนือและทางตอนใต้ของเมือง แต่ไม่มีใครเดินทางระหว่างสองสนามบินนี้ด้วยเครื่องบิน... ยกเว้นผู้โดยสารกลุ่มนี้  เที่ยวบินของสายการบินอีซี่เจ็ทจากท่าอากาศยาน Tegel ตอนเหนือของเบอลินไปยังเมืองซูริคสวิตเซอร์แลนด์ มีกำหนดออกเดินทางเวลา 21:20 น. แต่ด้วยเหตุขัดข้องทางเทคนิค กว่าจะขึ้นบินได้ก็เลย 23:00 น. ไปแล้ว  สนามบินปลายทางมีช่วงเวลาเคอฟิวระหว่าง 23:30 น. และ 06:00 น. แต่กัปตันก็มั่นใจว่ามีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ให้สามารถนำเครื่องลงได้เป็นกรณีพิเศษ โชคร้าย... กัปตันเข้าใจผิด  ว่าแล้วก็เตรียมบินกลับที่เดิม แต่เวลานั้นสนามบิน Tegel ปิดแล้ว กัปตันจึงต้องนำเครื่องไปลงที่สนามบิน Schönefeld ทางตอนใต้ของเบอลิน ซึ่ง ณ เวลานั้นมีแท็กซี่ให้บริการอยู่เพียง 5 คัน สร้างความเพลียจิตให้กับผู้โดยสารทั้ง 200 คนมิใช่น้อยไม่ชอบเรียนซ้ำ  ปีการศึกษา 2018-2019 ฮานอย โฮจิมินห์ และเมืองใหญ่อื่นๆ เริ่มต้นด้วยเสียงบ่นของพ่อแม่ผู้ปกครองที่หงุดหงิดเพราะหาซื้อหนังสือเรียนให้ลูกหลานไม่ได้  รัฐบาลเวียดนามลดจำนวนการพิมพ์หนังสือเรียนลงเรื่อยๆ โดยส่งเสริมให้นักเรียนใช้หนังสือมือสองที่รุ่นพี่ฝากไว้กับโรงเรียน เพราะแต่ละปีมีหนังสือเรียนหลายร้อยล้านเล่ม (คิดเป็นมูลค่าแล้วไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านดอง) ถูกวางทิ้งไว้เฉยๆ   แม้ทางการจะยืนยันว่าเนื้อหาสาระในเล่มไม่ได้เปลี่ยน หนังสือเรียนมือสองก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับ มีผู้วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทำให้พ่อแม่อยากซื้อหนังสือใหม่ให้ลูก ที่สำคัญราคาหนังสือเรียนในเวียดนามก็ถูกมาก (ชุด 6 เล่มสำหรับเด็กประถมราคาไม่เกิน 108 บาท/ ชุด 13 เล่มสำหรับ ม.ต้น ไม่เกิน 200 บาท และชุด 14 เล่มสำหรับ ม.ปลาย ไม่เกิน 220 บาท)   เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้ปกครองจ่ายค่าหนังสือและอุปกรณ์การเรียนมากที่สุด ข้อมูลระบุว่าปีนี้พวกเขาจ่ายไปเกือบหนึ่งในสามของเงินเดือนอยากดังต้องดี  จีนประกาศผลการจัดอันดับความรับผิดชอบต่อสังคมของบุคคลในวงการบันเทิง ว่ากันว่านอกจากหน้าตาและความสามารถแล้ว “ความดีงาม” จะทำให้คุณไปได้ไกลในจีนแผ่นดินใหญ่  จากนักร้องนักแสดงเชื้อสายจีนทั้งหมด 100 คน มีเพียง 9 คนเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์ว่าด้วยผลงานการแสดง การร่วมงานการกุศล และการเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสังคม  อันดับหนึ่งเป็นของ สวี เจิง ดารานำจากภาพยนตร์ตลกเคล้าดราม่า Dying to Survive ที่พูดถึงความพยายามในการเสาะหายาราคาถูกให้กับผู้ป่วยมะเร็ง (หนังเรื่องนี้ทำรายได้แซง จูราสสิก เวิลด์ และทำให้รัฐบาลจีนประกาศลดค่ายารักษามะเร็งด้วย)  อันดับสองและสามได้แก่ สมาชิกวงบอยแบนด์ TFBoys ที่โดดเด่นด้านงานการกุศล  ส่วนดาราสาว ฟ่าน ปิงปิง แม้จะโด่งดังและ “อินเตอร์” ที่สุด แต่เธอเข้ามาที่โหล่เพราะกำลังถูกทางการสอบสวนในข้อหาเลี่ยงภาษีนั่นเองสงครามราคา  ในอังกฤษ โดยเฉลี่ยแล้วค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพอยู่ที่ 4,271 ปอนด์(ประมาณ 184,000 บาท) แต่ธุรกิจรับจัดงานศพเป็นธุรกิจที่ไม่มีการควบคุมเรื่องราคา บริการนี้จึงค่อนข้างแพงและมักไม่ชัดเจนว่าผู้ซื้อบริการจะได้อะไรบ้าง หน่วยงานกำกับดูแลตลาดและการแข่งขันจึงเริ่มสืบสวนหาข้อเท็จจริงเรื่องต้นทุนและความโปร่งใสในการทำธุรกิจของบริษัทเหล่านี้ ระหว่างที่รอผล เรามีคู่มวยเด็ดให้ชมไปพลางๆ ... Co-op (ผู้ประกอบการที่มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 16) ออกแพคเก็จ “พิธีศพแบบเรียบง่าย” ในราคาที่ถูกกว่าคู่แข่งที่เน้นความหรูหราอย่างบริษัท Dignity   Dignity (ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 12) ไม่ยอมแพ้ ประกาศลดราคาแพคเก็จบริการของตัวเองลงมาเช่นกัน แต่ Co-op ก็ตอบโต้ด้วยการลดราคาแพคเก็จที่ถูกที่สุดลงจากเดิมอีก 100 ปอนด์  หุ้นของ Dignity ตกฮวบฮาบเพราะนักวิเคราะห์ระบุว่าหากจะสู้ราคากับ Co-op ให้ได้บริษัทจะต้องยอมขาดทุนกำไรประมาณ 1.5 ล้านปอนด์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 รู้กฎหมายกับทนายอาสา

“หนี้นอกระบบ…กับมุม(มอง)ในทางกฎหมาย”ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองในปัจจุบัน เป็นผลให้การจับจ่ายใช้สอยทางการเงินของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การหยิบยืมเงินทองของผู้อื่นจึงเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคมักเลือกใช้ แต่เมื่ออำนาจต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบทั้งในเชิงผลประโยชน์ และการบีบบังคับให้ผู้กู้ที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่า ต้องตกลงเข้าทำสัญญาโดยสภาวะจำยอมและจำใจ จึงทำให้ปัญหาใหญ่เรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน คือ “ปัญหาหนี้นอกระบบ” ด้วยความเหลื่อมล้ำในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะปัจจัยสำคัญของรายได้ และสภาพทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้รายได้ที่เข้ามาในครอบครัวไม่สัมพันธ์กับรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น หนี้สินจึงเป็นโบนัสก้อนโตที่ตามมาโดยที่ผู้กู้นั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และแม้ว่ารัฐบาลในยุคหลังๆ จะให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาโดยใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามาดำเนินการกับเจ้าหนี้นอกระบบ อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาดังกล่าวย่อมเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ จึงทำให้ปัญหาดังกล่าวกลับยิ่งทวีความรุนแรงและสร้างผลกระทบที่กว้างมากขึ้นคำว่า “หนี้นอกระบบ” ถือเป็นการปล่อยเงินกู้รูปแบบหนึ่งโดยเมื่อพิจารณาในแง่มุมทางกฎหมาย จะพบว่ามักเป็นการให้กู้ยืมเงินที่มีการตกลงคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง อาทิ ดอกเบี้ยรายวัน รายเดือน หรือรายปี ซึ่งล้วนแล้วแต่มีอัตราที่สูงเกินกว่าที่กฎหมายได้กำหนดเอาไว้ทั้งสิ้น กล่าวคือ กฎหมายกำหนดห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยกันเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี หรืออัตราร้อยละ 1.25 ต่อเดือน ในระหว่างประชาชนทั่วไปด้วยกัน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ประกอบมาตรา 4 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 โดยหากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตัวอย่าง นายเอ กู้ยืมเงิน นายบี จำนวน 100,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน (ร้อยละ 24  ต่อปี) โดยนายเอ ได้ชำระดอกเบี้ยไปให้นายบี แล้วเป็นเงิน 25,000 บาท ภายหลังครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญา นายเอ ผิดนัดไม่ชำระหนี้ นายบี ผู้ให้กู้จึงฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งแต่เดิมนั้นศาลฎีกาได้วางหลักไว้คำพิพากษาหลายฉบับในทำนองเดียวกันว่า “การที่ผู้ให้กู้ คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนหรือร้อยละ 24 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ประกอบ มาตรา 3 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 (กฎหมายเก่า) ดอกเบี้ยทั้งหมดในการกู้ยืมเงินจึงตกเป็นโมฆะ เป็นผลให้ไม่อาจเรียกดอกเบี้ยได้เลยตามกฎหมาย แต่ต้นเงินจำนวน 100,000 บาท ยังคงสมบูรณ์ เพราะแยกส่วนออกจากดอกเบี้ยได้ ดังนั้น ผู้ให้กู้จึงคงมีสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ในส่วนต้นเงินจำนวน 100,000 บาท แต่อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดแม้ดอกเบี้ยดังกล่าวจะไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่การที่ผู้กู้ได้ชำระดอกเบี้ยเกินอัตราไปแล้ว จำนวน 25,000 บาท ถือเป็นกรณีที่ผู้กู้ชำระดอกเบี้ยโดยเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระและเป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ผู้กู้จึงไม่อาจเรียกคืนได้หรือให้นำมาหักกับต้นเงินที่ผู้กู้ค้างชำระอยู่ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 ประกอบ มาตรา 411”    เมื่อพิจารณาให้ถี่ถ้วนจะเห็นว่า คำพิพากษาดังกล่าวเป็นช่องทางที่ทำให้เจ้าหนี้นอกระบบแสวงหาผลประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น เพราะแม้จะเรียกดอกเบี้ยที่เกินอัตราไม่ได้ตามกฎหมายก็จริงอยู่ แต่จำนวนเงินที่ผู้กู้จ่ายมาเพื่อชำระดอกเบี้ยไม่ว่าจำนวนเท่าไร ก็ไม่สามารถเรียกคืนได้หรือนำมาหักกับต้นเงินก็ไม่ได้ มิหนำซ้ำเจ้าหนี้นอกระบบยังมีสิทธิได้รับเงินต้นคืนเต็มตามจำนวนเสียอีก จึงยิ่งเป็นการซ้ำเติมและเพิ่มความไม่เป็นธรรมแก่ตัวผู้กู้ซึ่งมีอำนาจต่อรองที่น้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ปัญหาหนี้นอกระบบจึงไม่สามารถแก้ไขได้ อีกทั้งยังส่งผลให้มีจำนวนผู้ให้กู้นอกระบบเพิ่มมากยิ่งขึ้น   สืบเนื่องจากปัญหาที่ผู้เขียนได้กล่าวไปนั้น  ปัจจุบันศาลฎีกาได้กลับแนวคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวแล้ว โดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2560 และ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2560 (ประชุมใหญ่) ซึ่งได้วางแนวบรรทัดฐานในเรื่องของการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้เสียใหม่ทำนองเดียวกัน ความว่า “การที่ผู้ให้กู้ คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนหรือร้อยละ 24 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ประกอบ มาตรา 3 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 (กฎหมายเก่า) ดอกเบี้ยทั้งหมดในการกู้ยืมเงินจึงตกเป็นโมฆะ เป็นผลให้ไม่อาจเรียกดอกเบี้ยได้เลยตามกฎหมาย แต่ต้นเงินจำนวน 100,000 บาท ยังคงสมบูรณ์ แต่การที่ผู้กู้ชำระดอกเบี้ยไป 25,000 บาท ถือไม่ได้ว่าผู้กู้ชำระหนี้อันเป็นการกระทำตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระหรือเป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืนตามมาตรา 407 ประกอบมาตรา 411 เมื่อดอกเบี้ยของสัญญากู้ยืมเงินตกเป็นเป็นโมฆะ เท่ากับว่าสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยเอาไว้ ผู้ให้กู้จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตามกฎหมาย การที่ผู้ให้กู้รับเงินซึ่งเป็นการชำระดอกเบี้ย จำนวน 25,000 บาทไว้จึงเป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย จึงต้องนำเงินจำนวน 25,000 บาทดังกล่าวที่ผู้กู้ชำระไปหักกับต้นเงินของผู้ให้กู้จำนวน 100,000บาท ผู้กู้จึงเหลือหนี้ที่ต้องชำระ คือ ต้นเงินจำนวน 75,000 บาท และดอกเบี้ยผิดนัดจนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้จนครบถ้วน”   คำพิพากษาฎีกาดังกล่าวถือเป็นอีกตัวอย่างของการใช้คำพิพากษาที่ให้ความคุ้มครองผู้กู้ซึ่งแต่เดิมมีอำนาจต่อรองน้อยกว่าผู้ให้กู้ ให้ได้รับความเป็นธรรมจากการบังคับใช้กฎหมายที่เหมาะสม ทั้งเป็นบรรทัดฐานที่ดีที่ทำให้เจ้าหนี้นอกระบบจะต้องกลับมาให้ความสำคัญถึงวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อให้ไม่เกิดความรับผิดในทางอาญาแก่ฝ่ายผู้ให้กู้เองและความเหมาะสมแก่ทั้งสองฝ่าย เพราะคำว่า “หนี้นอกระบบ” แม้อาจเป็นคำที่ดูน่ารังเกียจสำหรับหลายท่าน แต่ก็ถือเป็นความหวังที่หยิบยื่นให้กับหลายครอบครัวที่มืดดำและไม่เห็นแม้แสงสว่างในชีวิต ได้มีโอกาสกลับมามีความหวังอีกครั้ง แม้ท้ายที่สุดผลของมันอาจจะสวยงามกับลูกหนี้หรือไม่ก็ตาม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 รู้จักกฎหมายดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ตอนที่ 2

บทเรียนการทำคดีผู้บริโภคก่อนมีกฎหมายดำเนินคดีแบบกลุ่มทุกวันนี้ปัญหาของผู้บริโภคที่เกิดมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแบบปัจเจกคือ เกิดกับคนๆ เดียว แต่ปัจจุบันมีปัญหาหลายกรณีที่เป็นปัญหาที่เกิดกับผู้บริโภคหลายคนในเวลาเดียวกัน เช่น กรณี สถานออกกำลังกายแคลิฟอร์เนีย ว้าวปิดตัวโดยไม่แจ้งลูกค้า หรือ กรณีอุบัติเหตุรถโดยสาร หรือ กรณีปัญหาสาธารณูปโภคบ้านจัดสรร ซึ่งเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว กระบวนการใช้สิทธิเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายของผู้บริโภค จะมีความแตกต่างกันตามสภาพของแต่ละบุคคลคือ ต้องแยกกันฟ้อง บางกรณีฟ้องคนละศาล ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งของคำพิพากษา หรือการไม่สะดวกต่อกระบวนการใช้สิทธิดังกล่าว ขอยกกรณีศึกษา จากการฟ้องคดีของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ผ่านมาดังต่อไปนี้ กรณีแคลิฟอร์เนีย ว้าวมีผู้บริโภคมากกว่า 600 ราย มาร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่าได้รับความเสียหายจากการปิดกิจการของบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว ฯ  โดยไม่แจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า เป็นเหตุให้สมาชิกจำนวนมากได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้บริการได้ตามสัญญา ทั้งที่ยังมีอายุสัญญาใช้บริการอยู่  และได้จ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้วอีกทั้งยังพบว่า กรณีนี้มีการกระทำผิดหลายอย่าง เช่น การฝ่าฝืนประกาศ สคบ. เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา โดยกำหนดห้ามทำสัญญาเป็นสมัครสมาชิกเกิน 1 ปี แต่ทางแคลิฟอร์เนียเปิดรับสมัครสมาชิกตลอดชีพ เพื่อระดมเงินค่าสมัครของผู้ใช้บริการ ก่อนที่จะยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปต่างประเทศ และทยอยปิดกิจการลงจนหมดสิ้น ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการทั่วประเทศกว่า 1 แสนราย ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้ กรณีอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะกรณีรถยนต์โดยสารประจำทางบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด วิ่งระหว่างเส้นทาง อ.แม่สะเรียง – จ.เชียงใหม่ แล้วรถเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำระหว่างทาง เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกว่า 40 คน  ผู้เสียหายแต่ละรายต้องใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแยกเป็นรายคดี เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย  ซึ่งผู้เสียหายที่เจ็บมากและเจ็บน้อย ต่างก็ต้องแยกฟ้องคดีส่วนของตนเอง ในทางปฏิบัติอาจฟ้องหลายๆ คนรวมกันได้ แต่มีความยุ่งยากค่อนข้างสูงกรณีรถยนต์ชำรุดบกพร่อง (เชฟโรเล็ต)  จากกรณีความชำรุดบกพร่องของสินค้ารถยนต์เชฟโรเลต ที่พบปัญหาในระบบส่งกำลัง ระบบเกียร์  ของรถยนต์รุ่นครูซ และแคปติว่า ของรถยนต์เชฟโรเลต โดยปัญหาที่เกิดขึ้นมีมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ซื้อรถจนถึงปัจจุบัน แต่บริษัทก็ไม่สามารถแก้ไขให้รถมีสภาพปกติเหมาะกับการใช้งานได้แต่เมื่อคดีไม่สามารถเจรจาตกลงการเยียวยาได้ ผู้เสียหายทั้ง 7 ราย จึงตัดสินใจฟ้องบริษัท บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ ประเทศไทย ,  บริษัทผู้ขายรถยนต์ (ดีลเลอร์) และบริษัทเช่าซื้อ เป็นคดีผู้บริโภค ต่อศาลแพ่ง โดยฟ้องแยกเป็น 7 คดี เรียกค่าเสียหาย ทั้งนี้ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง 4 ประเด็น คือ1.ขอให้รับผิดชอบคืนเงินดาวน์และค่างวดการเช่าซื้อที่ชำระไปแล้วทั้งหมด2.ขอให้บริษัทฯ รับผิดชอบค่าใช้สอยรถยนต์ต่อผู้ให้เช่าซื้อเต็มจำนวนแทนผู้บริโภค เนื่องจากสาเหตุที่ต้องบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและเรียกเงินคืนนั้นเพราะสินค้าชำรุดบกพร่องจากการผลิต ไม่ใช่จากการใช้งานปกติของผู้บริโภค3.ขอให้ศาลห้ามบริษัทฯ จำหน่ายรถยนต์รุ่นพิพาท และให้เรียกเก็บสินค้าดังกล่าวจนกว่าจะได้เปลี่ยนแปลงให้มีความปลอดภัย แต่หากแก้ไขไม่ได้นั้นห้ามผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่าย4.ขอเรียกค่าเสียหายต่อจิตใจที่ต้องหวาดกลัว วิตกกังวล ตลอดเวลาในการใช้รถยนต์พิพาทวันที่ 9 ตุลาคม 2558  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ 6 คดี ชนะคดีโดยศาลพิจารณาตามหน้าที่ของบริษัทที่ต้องชำระคืน ทั้งเงินดาวน์และเงินที่ผ่อนชำระค่างวดไปแล้ว นั้นก็คือผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ของบริษัทเชฟโรเล็ต คืนเงินดาวน์ทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ตั้งแต่วันทำสัญญาจนถึงวันที่ชำระคืนให้ผู้บริโภคจนเสร็จ และให้บริษัทไฟแนนซ์ ผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์คืนเงินค่าเช่าซื้อที่ผ่อนไปทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันรับฟ้องคดีนกว่าจะชำระหมด  และให้โจทก์ชำระเงินค่าใช้รถยนต์ให้กับบริษัทผู้เช่าซื้อรถยนต์วันละ 100 บาท ตั้งแต่วันรับรถจนกว่าจะคืนรถ  แต่อีกคดี ปรากฏว่า แม้ฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นเดียวกัน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ กลับพิพากษายกฟ้องโจทก์ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างโจทก์ขออนุญาตฎีกา ดังนั้น จะเห็นได้ว่าจากการฟ้องคดีรถยนต์ดังกล่าวนี้  แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นการฟ้องคดีที่ผู้เสียหายมีความเสียหายแบบเดียวกัน มีจำเลยคนเดียวกัน ในปัญหาข้อเท็จจริงแบบเดียวกัน แต่ก็ศาลก็อาจมีผลคำพิพากษาที่แตกต่างกันได้   จากตัวอย่างข้างต้น แสดงให้เห็นว่าปัญหาของผู้บริโภคหลายครั้งเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะโดยสภาพของการทำธุรกิจ ย่อมเข้าถึงผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาจากการบริโภคสินค้าและบริการ จึงทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคจำนวนมาก บางครั้งการร้องเรียนหรือฟ้องคดีเพื่อให้ได้รับการชดเชยเยียวยา อาจไม่ได้รับการดูแลที่เท่าเทียมกัน และผู้บริโภคที่เสียหายแต่ละรายก็ไม่มีกำลังทรัพย์หรือความรู้ที่เท่าทันมากพอที่จะคุ้มครองสิทธิของตนเอง จึงจำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มของผู้เสียหายเพื่อให้เกิดอำนาจต่อรอง มีตัวแทนกลุ่มในการเรียกร้องสิทธิ รวมถึงมีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองประโยชน์ของคนจำนวนมากจากความเสียหายเดียวกัน[1] จุฬารัตน์  ยะปะนัน. หนังสือจุลนิติ พ.ค. - มิ.ย. 53[2] เกรียงศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์. สรุปสาระสำคัญการดำเนินคดีแบบกลุ่ม[3] ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “บทเรียน 10 ปี ศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 จดหมายถึงบอกอ

      กองบก.ขออภัยในความผิดพลาดและแก้ไขข้อมูลที่ถูกต้องในบทความบนเว็บไซต์แล้วค่ะ ทั้งนี้ได้ตรวจสอบข้อมูลและขอชี้แจงพร้อมขออภัยมายังบริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) ดังนี้ 1.อัตราผลตอบแทน IRR (1.77%) แบบประกันกรุงเทพ 200 ของบริษัทกรุงเทพประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) เป็นไปตามที่บริษัทแจ้งข้อมูลมา ซึ่งจัดอยู่ในลำดับที่ 2 จากจำนวน 11 บริษัทที่นิตยสารฉลาดซื้อได้ทำการศึกษา 2.นิตยสารได้ดำเนินการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องในทุกช่องทาง และได้จัดทำข่าวแก้ไขให้สื่อมวลชนในวันที่ 19 กันยายน 2561 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 3.บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ ได้แถลงแก้ไขข้อผิดพลาดผ่านรายการวิทยุ FM 96.5 MHz ช่วงเวลา 20.35 – 21.00 น. วันที่ 19 กันยายน 2561

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 เปิดร้านชำ ไม่ให้ชีช้ำ

ร้านขายของชำมักเป็นสถานที่ ที่มีคนมาร้องเรียนให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบบ่อยๆ ประเด็นที่ร้องเรียนก็หลากหลาย เช่น มีการขายยาด้วย มีสินค้าไม่ถูกต้อง มีสินค้าหมดอายุ ฯลฯ เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงมีกิจการร้านขายสินค้าอยู่บ้าง ยิ่งขนาดร้านใหญ่ สินค้าที่จำหน่ายก็ยิ่งเยอะ โอกาสพลาดไปมีสินค้าที่สุ่มเสี่ยงหลงหูหลงตาในร้าน ทั้งเจตนาหรือไม่เจตนา คงเป็นความเสี่ยง ถูกร้องเรียนให้ชีช้ำ ถือโอกาสนี้ เตือนผู้อ่านที่เป็นเจ้าของร้านขายของชำให้ไม่พลาด ชีวิตจะได้ไม่ต้องไปปวดหัวกับการถูกดำเนินคดีภายหลังลูกค้าเรียกหาอาจจะพาชีช้ำ : เจ้าของร้านชำที่ดีย่อมเอาใจใส่ลูกค้า ยิ่งลูกค้าต้องการสินค้าอะไร เจ้าของร้านแทบจะพลีกายถวายชีวิตไปขวนขวายหามาขายในร้านให้ได้ ตั้งสติก่อนเที่ยวไปหามานะครับ ร้านขายของชำ แม้จะมีสินค้าได้หลากหลาย แต่หากลูกค้าอยากได้ยาต่างๆ ท่องไว้ให้ขึ้นใจเลยว่า สินค้าพวกยาเอามาขายในร้านไม่ได้นะครับ มียากลุ่มเดียวเท่านั้นที่กฎหมายอนุญาต คือ”ยาสามัญประจำบ้าน” วิธีสังเกตง่ายๆ คือ ดูฉลากให้ละเอียดครับ ยาสามัญประจำบ้านจะมีข้อความแสดงบนฉลากว่า “ยาสามัญประจำบ้าน” ถ้าไม่มีอย่าให้มันมาเสนอหน้าอยู่ในร้านเราเด็ดขาด เดี๋ยวความเสี่ยงจะตามมา อาจติดคุกติดตะราง ได้ไม่คุ้มเสียครับยี่ปั่วมั่วๆก็ชีช้ำได้ : ร้านขายของชำบางร้านจะไปซื้อสินค้ามาจากยี่ปั้ว บางทียี่ปั้วแนะนำสินค้าแปลกๆ ให้เอามาขายที่ร้าน  บอกว่ากำลังนิยม รับรองขายดีแน่นอน  อย่ารีบหลงเชื่อนะครับ เช็คให้ดีก่อน สินค้านั้นต้องไม่ใช่ยา หรือหากเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ก็ต้องระวัง ถ้าฉลากไม่ครบ หรือสรรพคุณระบุเป็นยาหรือโฆษณาเกินจริง อย่าใจอ่อนรับมาขาย  เพราะอาจจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย ของฝากขาย ซ้ำร้ายจะกลายเป็นเหยื่อ : หลายครั้งที่ไปตรวจร้านขายของชำ และเจอสินค้าที่ไม่ถูกต้อง เช่น เครื่องสำอางที่ไม่มีเลขจดแจ้งหรือฉลากไม่ครบ อาหารที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง พอถามแหล่งที่มา เจ้าของร้านมักบอกว่ามีเซลล์มาฝากวางขาย หากขายไม่หมดเซลล์จะมาเก็บกลับคืนภายหลัง ระวังให้ดีนะครับ ตรวจสินค้าที่เขาฝากวางให้ดี หากสินค้านั้นไม่มีข้อมูลแสดงว่าได้รับอนุญาตถูกต้อง หรือฉลากไม่ครบถ้วน อย่ารับวางไว้ที่ร้านเด็ดขาด มีเรื่องทีไร เซลล์หายหัวทุกทีชื่อแปลกๆ อย่าแหกตาตื่นไปซื้อ : จากประสบการณ์ที่ไปตรวจร้านขายของชำ พบเครื่องสำอางที่แปลกทั้งชื่อและชนิด เช่น ครีมนมเบียด กลูตาผีดิบ เยลลี่ลดอ้วน ฯลฯ ส่วนใหญ่สินค้าพวกนี้ฉลากไม่ค่อยถูกต้องตามกฎหมาย สอบถามผู้ขายว่าไปซื้อมาจากไหน ได้ข้อมูลว่าเห็นมันดังในอินเทอร์เน็ต เลยซื้อจากออนไลน์มาขาย  ตั้งสติครับ ลำพังแค่ชื่อสินค้าที่มันผิดปกติแบบนี้ คงไม่มีหน่วยงานไหนอนุญาตแน่นอน อย่าหาของร้อนจากออนไลน์มาใส่ร้านตัวเองเลยครับ ยังไงใช้ คาถา 4 สงสัย 2 ส่งต่อ ตรวจสอบสินค้าต่างๆ จะได้ไม่พลาดให้ชีช้ำนะครับ (1) สงสัยไม่มีหลักฐานการอนุญาต? (2) สงสัยขาดข้อมูลแหล่งที่มา? (3) สงสัย : โฆษณาเวอร์เกินไป? (4) สงสัยใช้แล้วผิดปกติ? (1) ส่งต่อข้อมูลเตือนภัย (2) ส่งต่อเจ้าหน้าที่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 ร่าง พ.ร.บ.ยา ที่ขัดหลักสากล

ในโอกาส 40 ปี แห่งการก่อตั้งกลุ่มศึกษาปัญหายา(กศย.) ฉลาดซื้อได้สัมภาษณ์ รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์  หรืออาจารย์จิ ประธานกลุ่มศึกษาปัญหายา(กศย.) คนที่ 3 และรองประธานมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม ซึ่งครั้งหนึ่งเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน เคยถูกเรียกว่า “อาจารย์นอกคอก” อาจารย์จิเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง กศย. กลุ่มงานเล็กๆ ที่ร่วมปฏิบัติการทางสังคมในประเด็นปัญหายามาอย่างยาวนาน  ถึงมุมมองของท่าน ต่อร่าง พ.ร.บ.ยา ว่า เรื่องนี้จะมีผลกระทบกับผู้บริโภคอย่างไรบ้าง   ปัญหาของร่าง พ.ร.บ. ยาขณะนี้คือ “ คือประเด็นของร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับนี้นั้น จริงๆ มันไม่ได้เพิ่งเกิด ก็มีความพยายามมานานมาก เพราะว่าเป็น พ.ร.บ. ที่เก่ามาก ตั้งแต่ปี 2510 จนกระทั่งมาปี 2557 ในปีนั้นได้มีการพูดคุยเวทีมากมายในการที่จะพยายามสรุปประเด็นที่ภาคส่วนต่างๆ นั้นยอมรับได้ระดับหนึ่งของ พ.ร.บ. ยา  ต้องเข้าใจว่า พ.ร.บ.ยา นั้นเป็นเหมือนเครื่องมือในการควบคุมดูแล ไม่ว่าจะผลิตยา ขายยา นำเข้า และการใช้งาน เพราะฉะนั้นตรงนั้น ผู้บริโภคเองก็มีส่วน ผู้ประกอบวิชาชีพสาขาต่างๆ ก็อาจจะเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ผู้ประกอบวิชาชีพหลักของการดูแลตาม พ.ร.บ.นี้นั้นก็คือวิชาชีพเภสัชกรรม พอหลังจากปี 57 ได้ข้อสรุปในส่วนที่เห็นพ้องต้องกันแล้วว่า มีผลดีต่อการที่จะทำให้ผู้บริโภคนั้นจะได้รับยาอย่างปลอดภัยและมีการใช้อย่างปลอดภัยก็คือ ในเรื่องการของ กระบวนการขึ้นทะเบียนยา เราก็บอกว่า อย่างน้อยๆ เรามีปัญหาในการเข้าถึง เพราะราคามันแพงมาก เพราะฉะนั้นน่าที่จะใช้กลไกในเรื่องของมีการควบคุมราคาตั้งแต่ตอนที่เขาจะมาขายในประเทศเรา ก็คือมาขึ้นทะเบียน ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการเสนอโครงสร้างราคา หรือในรูปของการที่ต้องต่อรองราคาให้มันเหมาะสม ว่าคุณจะเริ่มมาขายในประเทศนี้นั้น คุณจะขายในราคาเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นตรงนั้นก็จะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการเข้าถึง ส่วนในกลไกในเรื่องของ ความปลอดภัยและความมั่นคงทางยา นั้นก็คือว่า เราจะเห็นเลยว่า ถ้าในเรื่องของราคาที่เมื่อกี้พูดถึงนั้น ถ้าสมมติปัจจุบันนี้ยามันมีสิทธิบัตร เขาจะตั้งราคาแพงมาก เพราะว่ามันไม่มีตัวเปรียบเทียบ มีการผูกขาดเจ้าเดียว เราถึงเรียกร้องว่า ต้องมีโครงสร้างราคาหรือมีกลไกการต่อรองเพื่อให้มันเหมาะสม เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ และก็ต่อมานั้นเราจะเห็นชัดว่าถ้าอย่างนี้ เราต้องพึ่งยานำเข้าอยู่ตลอดนี่มันก็จะเป็นปัญหาความมั่นคงของระบบยาในประเทศ เพราะฉะนั้นการที่ต้องทำให้อุตสาหกรรมในประเทศนั้นพึงตนเองได้ และสามารถที่จะพัฒนาในเรื่องของอุตสาหกรรมยาได้เพื่อสามารถที่จะผลิตยาชื่อสามัญออกมาในเวลาที่เหมาะสมหลังจากยาหมดอายุสิทธิบัตร ถูกไหม เพราะฉะนั้นเขา(บริษัทยาในประเทศ) ต้องมีการเตรียมตัวไง เพราะว่าในการทำยาชื่อสามัญนั้นไม่ได้หมายความว่าพอหมดสิทธิบัตรปั๊บ รู้ว่าหมดปั๊บจะเอามาขายได้เลย เพราะมันต้องมีกระบวนการในการวิจัยพัฒนา มีกระบวนการในการมาขึ้นทะเบียนยา ถ้าเขารู้ข้อมูลว่า ยาแต่ละตัวที่มาขายในประเทศไทยนั้น มีสิทธิบัตรหรือเปล่า ในประเทศไทย สิทธิบัตรนั้นมันจะหมดอายุเมื่อไหร่ คือว่าเราต้องการที่จะให้มีการแจ้งบอกข้อมูลสถานะสิทธิบัตรของยา เพราะยาบางตัวอาจมีสิทธิบัตรหลายใบ สิทธิบัตรแต่ละใบมันมีเวลาไม่เท่ากันเวลาที่มันไม่เท่ากัน คือเวลาที่มันต่างกัน เพราะเวลาที่มาขอในช่วงต่างกัน แม้ว่าเป็น 20 ปีนับจากวันยื่นคำขอ นึกออกไหม แต่ถามว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลจำเป็นไหม ลองคิดดูสมมติว่าตามหลักการทั่วไปก็คือเวลาที่เขามาจดสิทธิบัตรที่กระทรวงพาณิชย์มันต้องมีข้อมูลฐานข้อมูลสิทธิบัตรในประเทศ แต่ข้อมูลฐานข้อมูลสิทธิบัตรในประเทศไทยนั้นมันบกพร่องมาก มันไม่สามารถที่จะค้นได้ มันไม่ได้สามารถหาได้ เพราะฉะนั้นมีหลายๆ ประเทศเลย เขามีกลไกที่ชัดเจนของกระบวนการในการขึ้นทะเบียนยาว่า คุณต้องให้ข้อมูลสิทธิบัตรนี้ ถ้าคุณให้ข้อมูลนี้มันก็เป็นโอกาสของอุตสาหกรรมด้วย เพราะอุตสาหกรรมนั้นเขาก็สามารถที่จะรู้ว่า มียาตัวนี้นะ มันจะหมดสิทธิบัตรในอีก 5 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องเริ่มวิจัยแล้ว พอวิจัยเสร็จเขาก็ต้องเริ่มกระบวนการที่จะไปขอขึ้นทะเบียนตำรับยา เพราะฉะนั้นพอยาหมดสิทธิบัตรปั๊บเขาก็ออกตลาดได้ในเวลาที่ไม่ช้า พอมียาชื่อสามัญออกราคามันก็ไม่ผูกขาดแล้ว มันก็มีการลดราคากัน และถ้ามีการแข่งขันกัน กลไกตลาดมันก็จะได้ทำงาน ในที่ประชุมตอนปี 57 นั้น เขาตกลงกันชัดเจนว่าต้องแจ้งข้อมูลสิทธิบัตร สิทธิบัตรต้องมีข้อมูลเรื่องโครงสร้างราคายา แต่ปรากฏว่าฉบับร่างปัจจุบัน ที่เขาเอามารับฟังความเห็นล่าสุดเลย ที่ขึ้นในเว็บไซต์ของ law moment ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐทั้งหลายที่จะเสนอกฎหมาย ปรากฏว่าเราไม่เห็นเรื่องโครงสร้างราคา เรื่องนี้ถูกเอาออก ทำไมถึงเอาออกไป ที่เคยตกลงตอนปี 57 พอมีเปลี่ยนรัฐบาล มันมีเรื่องการเมือง กฎหมายมันก็เลยยังไม่ได้นำเสนอข้อนั้น ข้อดีๆ ข้อหนึ่งที่ผู้บริโภคควรได้กลับไม่ได้เสียแล้ว มันหายไป ประเด็นที่สองก็คือว่า ตอนนั้นตกลงกันว่าอายุทะเบียนยานั้นจะเป็น 5 ปี เพราะว่าของเดิมนั้นมันไม่มีอายุ มันไม่มีอายุมันแย่มาก ถูกไหม เพราะว่ายาที่ไม่ดี ยาเก่า ยาที่มันมีผลข้างเคียงเยอะแยะมันก็ไม่ออกจากตลาดสักที การที่มันไม่ออกจากตลาดนั้นเป็นเพราะเราไม่มีกลไก หรือว่ากลไกเรานี้มันทำงานไม่ดี กลไกที่ว่ามันคือ กลไกการทบทวนตำรับยากับในเรื่องของอายุทะเบียน คือสองอันนี้เชื่อมโยงกัน คือถ้ามันมีอายุทะเบียนตำรับยามันก็จะทำให้เกิดการทบทวนทะเบียนตำรับ และถ้าเขียนให้ชัดว่าต้องมีกระบวนการในการทบทวนทะเบียนตำรับ มันก็เป็นการบังคับให้การมีอายุหรือใกล้หมดอายุนั้น ก่อนให้ใบอนุญาตใหม่ต้องทบทวน ไม่ใช่ให้โดยอัตโนมัติ เพราะว่าถ้าเราไม่มีกลไกการทบทวน พอถึงหมดอายุ 5 ปี มาเสียเงินต่อละ มันก็ต่อได้ เพราะฉะนั้นตรงนั้นไม่เห็น มันหายไป ไม่เห็นชัดเจน และที่เคยคุยกันแค่ 5 ปีพอ มาเป็น 7 ปี ขยายเป็น 7 ปี ซึ่งอาจจะอ้างว่า เป็นเพราะอาจทำให้เกิดภาระงานหรืออะไร ซึ่งอันนี้ก็ไม่ได้เป็นประเด็นที่เป็นหลัก 5 หรือ 7 ปี ก็ขอให้มีทบทวนก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรเลย อันนี้คือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคที่ชัดเจน  ผลกระทบกับผู้บริโภคที่มีแน่ๆ คือเรื่องการโฆษณายาใช่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คิดว่ากระทบมากต่อผู้บริโภค คือ เราจะเห็นว่าตอนนี้ ผู้บริโภคถูกหลอกจากการโฆษณาการส่งเสริมการขายยานี่เยอะมาก แม้ว่ายาเองจะบอกว่า ยาเองมันมีประเภทของมัน ถ้าเป็นยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษจะโฆษณาไม่ได้ แต่เราก็เห็นเขาทำกัน มีทั้งการเลี่ยง การส่งเสริมการขายด้วยวิธีการต่างๆ ปรากฏว่าในร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ก็เขียนว่าต่อไปการโฆษณา ซึ่งเดิม ต้องยอมรับว่าของเดิมมันดีอยู่แล้ว ที่ว่าการโฆษณานั้นต้องมาขออนุญาต กฎหมายใหม่เขาก็เปิดช่องว่า ขออนุญาตก็ได้หรือจดแจ้งก็ได้ จดแจ้งหมายถึงว่าไม่ต้องขออนุญาต คุณเพียงบอกว่า คุณจะโฆษณาข้อความแบบนี้แล้วคุณก็ไปโฆษณาได้เลย แล้วเขาค่อยไปตามหาจับ ถ้าสมมติว่าผิด กว่าจะจัดการปัญหาการโฆษณาได้ โอ้ย..ชาวบ้านติดไปตั้งเยอะแล้ว มันฝังในความคิดผู้บริโภคไปแล้ว เพราะฉะนั้นมันไม่มีประโยชน์ มันทำให้กระบวนการที่ดูแลตรงนี้มันลดลง เพราะฉะนั้นนี่คือหัวใจหลักๆ เลย 3-4 ข้อที่มันมีผลต่อผู้บริโภคมาก อย่างอื่นๆ นั้น ก็คือในเรื่องของหลักการทั่วไป ในเรื่องของยานั้น ยามันไม่ใช่สินค้าทั่วไป ยานั้นมันเกิดจากการที่หมอต้องสั่งจ่ายยาให้เรา แต่ว่าถ้าเราไม่มีกลไกในการถ่วงดุล หมออาจจะสั่งยาที่อาจจะมีผลเนื่องมาจากการส่งเสริมการขาย อาจจะมีผลเนื่องมาจากอะไรไม่รู้ ก็สั่งยาโดยที่ว่ามันอาจจะมีปัญหา ไม่ว่าเรื่องของราคาแพง หรือมันอาจจะเกิดปัญหาในเรื่องของยาตีกัน หรือปัญหาที่คนไข้อาจจะแพ้แล้วไม่ได้บอกหรืออะไรก็ตามเหล่านี้ เพราะฉะนั้นโดยหลักสากลเลยเขาถึงมีวิชาชีพเภสัชกรรมขึ้นมา มีเภสัชที่คอยดูแลเพราะมันคือการทำงานในการถ่วงดุลกัน คนหนึ่งเขียนใบสั่ง อีกคนหนึ่งนั้นเมื่อรับใบสั่งมาก็เป็นคนจ่ายจัดยารับผิดชอบในเรื่องยา เพราะฉะนั้น คนจ่ายก็ต้องดูว่าคนไข้เคยได้รับยาอะไรมาแล้วบ้าง ถ้าได้ยานี้นั้นจะมีปัญหายาตีกันไหม หรือมีปัญหากับอาหารการกินจะได้แนะนำคนไข้ได้ ถูกไหมคะ เพราะหมอเขามีความชำนาญในของเรื่องการวินิจฉัยการรักษา เภสัชนั้นชำนาญในเรื่องของยา และเราจะเห็นเลยว่าเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันเร็วมาก ยาก็ออกมาใหม่ๆ เร็วมาก เพราะฉะนั้นแค่ตามเรื่องยาก็จะไม่ทันเทคโนโลยีแล้ว ให้หมอตามทำทุกอย่างเบ็ดเสร็จในตัวเองนั้นมันก็จะมีปัญหาได้ เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.ยาในทุกประเทศนั้น เขาก็จะมีหลักการที่ชัดเจนของการแยกอำนาจในการดูแลว่าคนที่สั่งนั้นก็จะไม่จ่าย นึกออกไหม คนที่สั่งจะไม่จ่าย มันชัดเจน ประเด็นของร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับนี้ หลักการเรื่องถ่วงดุลนี้ไม่เห็น ไม่เห็นเพราะอะไร เพราะเขาแบ่งยาเป็น 4 ประเภท ประเภทแรกนั้นก็คือยาควบคุมพิเศษ คือยาควบคุมใบสั่ง เป็นยาที่มันอาจจะมีผลอย่างที่เมื่อกี้อาจารย์เล่า ยาตีกันบ้าง ยาที่มันอาจจะเพิ่งใช้ใหม่ๆ มันยังไม่มีข้อมูลมากพอ มันจำเป็นต้องควบคุมการใช้อย่างเคร่งครัด อันนี้ก็คือยาที่หมอสั่งแล้วก็ให้เภสัชนั้นจ่ายตามใบสั่งยา ประเภทที่สองคือยาอันตราย ยาอันตรายนั้น คือยาที่มันไม่ได้อันตรายเท่ายาควบคุมพิเศษ เป็นยาที่ใช้มานานพอควรระดับหนึ่ง มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ให้เภสัชจ่ายได้โดยไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งแพทย์ กับประเภทที่สามคือ ยาสามัญ เป็นยาทั่วไปที่มันใช้มานานค่อนข้างปลอดภัยแล้ว ชาวบ้านก็ซื้อใช้เองได้ รู้พอควร และก็มีขนาดของรูปแบบของยาที่ชัดเจน เช่น พาราเซตามอลก็เป็นแพ็คแค่ 10 เม็ด ไม่ใช่ให้ขายทั้งขวด ถ้าทั้งขวดก็ต้องเป็นยาอันตราย ถูกไหมคะ เพราะไม่งั้นคนไข้ก็เอาไปกรอกทีละ 50 เม็ด มันก็เป็นอันตราย คือยาทุกตัวก็เป็นยาอันตราย แต่ว่ารูปแบบของการที่จะทำให้เป็นยาสามัญที่คนไข้เข้าถึงได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งบุคลากรสาธารณสุขนั้น มันมีวิธีการจัดการได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของแพ็คจะเป็นยังไง(เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้เกินขนาด) หรือว่าคำแนะนำเหล่านี้มันก็จะประกอบอยู่ในกลุ่มของยาสามัญ แต่ใน ร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับนี้มียาประเภทที่สี่ คือ ยาที่ไม่ใช่ยาควบคุมพิเศษ ไม่ใช่ยาอันตราย แต่ไม่รู้ยาอะไร ซึ่งประเภทนี้ไปเปิดให้บุคลากรอื่นๆ สามารถจ่ายยาได้ แปลว่าอะไร จะให้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เยอะอีกหนึ่งกลุ่ม เพื่อให้บุคลากรอีกเยอะแยะเลย ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการแพทย์อีกตั้งหลายสาขาเยอะแยะ พยาบาลก็มีเยอะแยะในการจ่าย ซึ่งมันก็จะไม่ถูกมันไม่ได้ใช้หลักการของการที่จะดูแลความปลอดภัยของผู้ใช้ยาให้มีการถ่วงดุลของอำนาจในการที่จะทำให้ผู้บริโภคปลอดภัย ไม่มี เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมกลุ่มเภสัชทั้งหลายรวมทั้งสถาบันการศึกษาทั้งหลายถึงจะออกมาคัดค้าน แล้วถ้าจำเป็น คือหลายคนก็บอกว่าบ้านเรานี่แบ่งให้มันชัดแบบนี้ หมอนี่จ่ายยานั้นไม่ได้ จะไปหาเภสัชอยู่ในคลินิกได้ทุกคลินิกหรือเปล่า จะอะไรหรือเปล่า อันนี้มันเป็นข้อยกเว้นว่า โอเค สถานการณ์ในบางสถานการณ์นั้นในบริบทของยาบางประเภท ถ้ายังไม่พร้อมคุณก็มาเขียนระบุไปสิว่าให้มีการยกเว้น แต่หลักนี้มันต้องยึดหลักไว้ก่อนแล้วมายกเว้น การยกเว้นต้องมีเงื่อนไข นึกออกไหม ยกเว้นให้หมอจ่ายยานั้น หรือให้จ่ายยาได้ในกรณี... ไม่ใช่เฉพาะสั่งเท่านั้น เช่น จ่ายยาได้ในกรณีที่ถ้าพื้นที่นั้นไม่มีร้านขายในอาณาเขตสักกี่กิโลก็ว่าไป อะไรก็ว่าไป มันก็จะเป็นข้อยกเว้น ถ้าสมมุติเงื่อนไขนั้นมันหมดไปมันเข้าสู่ระบบ โอเค มันก็มีใบสั่งไปที่ร้านยา ไม่งั้นใบสั่งมันก็ไม่ไป ฉะนั้นต้องมีใบสั่ง ต้องให้เภสัชอยู่ประจำ แล้วคุณไม่มีใบสั่งไป คือไม่รู้ว่าอะไรแก้ปัญหาอะไร เพราะว่าหลักของมันไม่ชัดเจนเท่านั้นแหละ อันนี้คือประเด็น  ดูเหมือนมีปัญหาพัวพันกันไปเรื่อยๆ ใช่ มันก็พัวพันกันไปเรื่อยๆ เพราะมันไม่มีใบสั่งยา ยาขายง่าย ใช้คล่อง ก็อย่างนี้แหละ เพราะว่ามันไม่ยึดหลักไง ถ้ายึดหลักแล้วค่อยๆ แก้ปัญหาของการขาดแคลน พอแก้ปัญหา โอเค พื้นที่นี้ไม่มีร้านยาเพราะมันอยู่ไกลกันมาก ร้านยายังไม่ไปเปิดหรอก โอเคก็เป็นข้อยกเว้นไป ในคลินิกเอกชนคุณจะไม่มีเภสัชไปอยู่ หรือจ่ายโดยหมอคนเดียวก็โอเครับสภาพไป แต่ถ้ามันมีร้านยาคุณจะมาขายเองสั่งเองอย่างนี้ทำไม แล้วก็ไม่รู้ว่าจะไปชาร์ตค่ายาแพงมากขึ้นไปอีกไหม เหมือนโรงพยาบาลเอกชนทั้งหลาย มันไม่รู้เลยว่าเป็นค่ารักษาหรือค่ายา  จากการทักท้วงของหลายฝ่าย ล่าสุดคือพอมีเสียงค้านออกมาเยอะ อย. ซึ่งเป็นผู้ที่รับผิดชอบในกฎหมายนี้เขาก็นัดประชุม นัดประชุมในเรื่องของวิชาชีพเภสัช และก็กับคณะเภสัชศาสตร์ต่างๆ  และก็ผู้คัดค้านทั้งหลาย สรุปว่าจะมีการแก้ในประเด็นว่ากลุ่มยาเขาจะเหลือแค่ 3 กลุ่ม คือ ยาควบคุมพิเศษ ยาอันตรายและยาสามัญ            ก็เป็นข้อที่ดีขึ้น แต่ยังไม่รับปากเรื่องโครงสร้างราคา ไม่พูดถึงเรื่องการแก้โครงสร้างราคา เรื่องของการโฆษณาเอาจดแจ้งออก ทาง อย. ยอมแก้ ประเด็นที่สองอันนั้นยอมแก้ เรื่องของข้อยกเว้น ก็ไม่ใช่เป็นข้อยกเว้น เป็นสิ่งที่ทำได้ตามกฎหมายเลย แล้วไม่มีเงื่อนไขว่าจะเมื่อไหร่ นึกออกไหมว่าจะให้หมอ ให้ทันตแพทย์ สัตวแพทย์  ที่สามารถจ่ายยาได้โดยที่ไม่มีเงื่อนไขเลย พวกนี้จ่ายยาได้โดยไม่มีข้อบังคับอะไร แต่เรื่องที่จะเปิดให้วิชาชีพอื่นๆ นี้จ่ายยาได้นั้นถูกตัดออก เพราะยาประเภทสี่มันถูกตัดออกไปแล้ว  สามหรือสี่จำไม่ได้ มี แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ 3 แพทย์ เป็นข้อยกเว้นได้ แต่ว่าพยาบาลไม่ได้ แต่ว่ามันไม่มีเงื่อนไข ถ้าสมมุติเรายึดหลักถ่วงดุลมันต้องมีเงื่อนไขว่าจ่ายได้กรณีไหนได้บ้าง นี่มันจ่ายได้ตลอดในคลินิกของตัวเอง เพราะฉะนั้นมันก็ยากที่จะแก้ปัญหา  คนทั่วไปเขาจะมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง เรากังวลก็คือเมื่อเกิดความไม่รอบคอบในกระบวนการทำกฎหมาย มันก็จะเป็นกฎหมายไม่ดีออกมา แม้ว่ามันจะมีข้อดีกว่าฉบับที่แล้ว แต่ว่ามันก็ยังไม่ได้แก้ในหลักการใหญ่ๆ หรือว่ามันก็ไม่ได้รองรับสถานการณ์ปัจจุบันที่เรามีการขายยาออนไลน์ มันจะมีกติกายังไงในการที่จะไม่ให้มีการขายออนไลน์หรือให้ขายออนไลน์แล้วผู้บริโภคปลอดภัย ถูกไหม มันไม่มีเรื่องเหล่านี้ เพราะฉะนั้นมันก็เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคเองก็ต้องตาม และพยายามที่จะรักษาสิทธิของตัวเองในการที่จะรัฐเองต้องให้ความคุ้มครองปลอดภัยของเขา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 การเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ

   ผู้บริโภคหลายท่านน่าจะเคยใช้บริการรถโดยสารสาธารณะกัน ไม่ว่าระยะทางจะใกล้หรือไกล มีกรณีศึกษาของสมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น ที่น่าสนใจพบว่า มีผู้บริโภคหลายท่านที่ประสบอุบัติเหตุแล้วได้รับการชดเชยความเสียหายได้ไม่เต็มที่ เพราะขาดความรู้ที่สำคัญ            คุณเอก(นามสมมติ) ได้โดยสารรถทัวร์ของบริษัทรถชื่อดังแห่งหนึ่ง เส้นทางสายมุกดาหาร - กรุงเทพฯ  เมื่อรถวิ่งมาถึงบริเวณถนนสายมหาสารคาม – บรบือ  รถโดยสารเสียหลักพุ่งเข้าชนกับรถบรรทุก ทำให้คุณเอกและภรรยาที่มาด้วยกันได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลาหลายเดือน  เป็นเพราะยังบาดเจ็บค่อนข้างสาหัส ทำให้ช่วงแรกไม่รู้ว่าตนเองจะไปเรียกร้องความเสียหายจากใคร  อย่างไรได้บ้าง ต่อมาตัวแทนของทางบริษัทรถโดยสารได้ติดต่อเข้ามาเพื่อขอจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ผู้เสียหาย และได้แถลงข่าวว่า ทางบริษัทฯ ยินดีที่จะเยียวยาความเสียหายกับผู้โดยสารทุกราย ไม่เคยทอดทิ้งผู้โดยสาร อย่างไรก็ตามหลังจากได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเสนอตัวเข้าช่วยเหลือทางด้านสิทธิในการเยียวยาเหตุจากรถโดยสารสาธารณะในเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้คุณเอกพบว่า ทางบริษัทฯ สร้างเงื่อนไขหลายอย่างที่ไม่เป็นธรรมกับผู้เสียหาย บอกข้อมูลที่สำคัญไม่ครบถ้วน คุณเอกจึงปฏิเสธไม่รับเงื่อนไขของบริษัทฯ และยังได้ขอความช่วยเหลือกับสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น ให้ช่วยดำเนินเรื่องฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทฯ  โดยยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดมหาสารคามเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2561 และนัดสืบเมื่อ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ต่อมาหลังการเจรจาไกล่เกลี่ย ทางบริษัทรถโดยสารยินดีที่จะจ่ายค่าชดเชยความเสียหายให้กับทั้งสองสามีภรรยาตามที่เรียกร้องไป โดยนัดให้ทางบริษัทฯ นำเงินมาจ่ายค่าเสียหายที่ศาล  และลงบันทึกเป็นหนังสือยินยอมให้คุณเอกถอนฟ้อง  แนวทางแก้ไขปัญหา   เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาในเชิงระบบ  สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น จึงมีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรมการขนส่งทางบกและสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)  ดังนี้ 1. ต้องเปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียน สถิติอุบัติเหตุหรือการกระทำความผิดของผู้ประกอบการ ผ่านระบบออนไลน์ของกรมการขนส่งทางบก เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคเลือกผู้ประกอบการรถโดยสารเพื่อการเช่าเหมาเดินทางได้2. กำหนดเส้นทางเสี่ยงอันตรายสำหรับรถสองชั้น โดยพิจารณาจากสภาพถนน ทางโค้งลาดชัน จำนวนการเกิดอุบัติเหตุ และระยะทางไกล3. ปรับเพิ่มวงเงินประกันภัยภาคบังคับ กรณีเสียชีวิต จาก 300,000 บาท เป็น 1 ล้านบาทต่อราย  โดยให้แยกเงินชดเชยกรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพออกจากค่ารักษาพยาบาล และเพิ่มวงเงินกรณีรักษาพยาบาลจาก 80,000 บาท  เป็น 150,000 บาทต่อราย  และปรับเพิ่มวงเงินประกันภัยสมัครใจ เฉพาะการชดเชยเยียวยาผู้ประสบเหตุในส่วนประกันภัยภาคสมัครใจของรถสองชั้น จาก 10 ล้านบาท เป็น 30 ล้านบาทต่อครั้ง และให้แยกค่ารักษาพยาบาลออกจากค่าซ่อมรถ4. มีตัวแทนผู้บริโภคเข้าเป็นคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกประจำจังหวัด และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด5.ให้มีกองทุนช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถโดยสาธารณะภายในปี 2562 แหล่งที่มาของเงิน ให้เรียกจากค่าปรับจากจราจรทางบก และกองทุนเลขสวย 6.ยกระดับคนขับรถโดยสารสาธารณะ ให้เป็นอาชีพที่น่าเชื่อถือ มีเงินเดือนที่เหมาะสม กำหนดอายุในช่วงวัยที่เหมาะสม  โดยผ่านการอบรมพัฒนาทักษะการขับรถ

อ่านเพิ่มเติม >