ฉบับที่ 231 ตรวจมะเร็งวิธีใหม่

        การตรวจวัดทางห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับการเกิดมะเร็งนั้น จำเป็นต่อการวินิจฉัยเพื่อการบำบัดที่ถูกต้องทางการแพทย์ แต่ข่าวคราวเชิงวิชาการเกี่ยวกับการตรวจการเป็นมะเร็งเบื้องต้นด้วยวิธีอื่นๆ ก็ปรากฏขึ้นเป็นข้อมูลในสังคมการเรียนรู้ของเรา แต่ประเด็นซึ่งน่าคำนึงคือ วิธีการดังกล่าวเชื่อได้แค่ไหน สุนัขกับการดมกลิ่นหามะเร็ง         วิธีการแรกที่สดับมาและน่าสนใจคือ การพึ่งพาให้สุนัชช่วยในการตรวจวินิจฉัยการเป็นมะเร็งเบื้องต้น โดยอาศัยพื้นฐานว่า สุนัขนั้นมีระบบรับกลิ่นดีกว่ามนุษย์ราว 10000 เท่า มีข้อมูลที่ย้อนหลังไปถึงปี 1989 ว่ามีจดหมายน้อยของแพทย์สองคนเขียนถึงบรรณาธิการวารสาร Lancet เพื่อเล่าว่า สาวหนึ่งมาหาแพทย์เพื่อจัดการกับมะเร็งผิวหนัง ซึ่งอยู่ในขั้นที่ยังไม่ก่ออันตราย นางเล่าว่าสุนัขของนางขยันมาดมกลิ่นบริเวณที่เป็นไฝตำแหน่งหนึ่ง โดยไม่สนใจไฝที่อยู่ตำแหน่งอื่นของร่างกาย แม้ขณะใส่ชุดนอนปิดบัง สุนัขตัวนั้นก็ยังเข้าดมที่ตำแหน่งเดิมนั้น นางจึงสงสัยและเริ่มกังวลใจจึงมาพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างจริงจัง แล้วพบว่าเริ่มเป็นมะเร็งผิวหนังจริง         ผ่านไปหลายปีจึงมีการประชุมอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเกี่ยวกับการใช้สุนัขในการตรวจเบื้องต้นของการเป็นมะเร็งในคนอย่างเป็นระบบที่สหราชอาณาจักรในปี 2003 จากนั้นจึงมีงานวิจัยตีพิมพ์ในประเด็นดังกล่าวบ้าง เช่น ในปี 2006 บทความชื่อ Diagnostic Accuracy of Canine Scent Detection in Early- and Late-Stage Lung and Breast Cancers ในวารสาร Integrative Cancer Therapies ให้ภาพของกระบวนการทำงานวิจัยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อดูว่า สามารถนำสุนัขบ้านธรรมดามาฝึกอย่างเร่งรัดเพื่อระบุคนไข้มะเร็งปอดและคนไข้มะเร็งเต้านมด้วยการดมกลิ่นลมหายใจได้หรือไม่ พร้อมทั้งดูว่าระยะการเป็นมะเร็ง อายุของคนไข้ การสูบบุหรี่ หรือพฤติกรรมการกิน มีผลต่อการใช้สุนัขระบุการเกิดมะเร็งหรือไม่ ผลการใช้สุนัขดมลมหายใจของผู้ป่วยมะเร็งปอดนั้น บทความวิจัยรายงานว่า ได้ผลที่ดีเมื่อเทียบกับการให้สุนัขดมกลิ่นชิ้นเนื้อมะเร็งปอด ค่าความสัมพันธ์อยู่ที่ 0.99 ส่วนในเรื่องของมะเร็งเต้านมนั้นผลที่ได้อยู่ในลักษณะเดียวกันที่ความสัมพันธ์ 0.88 โดยความสัมพันธ์ดังกล่าวนั้นไม่เปลี่ยนไปตามระยะของการเป็นมะเร็ง         ในปี 2015 มีบทความทบทวนเอกสารเรื่อง Study of the art: canine olfaction used for cancer detection on the basis of breath odour. Perspectives and limitations ในวารสาร Journal of Breath Research ซึ่งเป็นการพิจารณางานวิจัยที่ใช้สุนัขดมกลิ่นลมหายใจที่แตกต่างกันระหว่างลมหายใจของผู้ที่เป็นมะเร็งและลมหายใจของผู้ไม่เป็นมะเร็ง ประการสำคัญที่ระบุในบทความคือ สุนัขต้องถูกฝึกมาอย่างดี โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยที่นึกไม่ถึง (confounding factor) ที่อาจมาเบี่ยงเบนผล เช่น กลิ่นควันบุหรี่จากผู้ร่วมงาน กลิ่นเฉพาะของสารเคมีที่ใช้ในโรงพยาบาลที่ปนเปื้อนในลมหายใจของอาสาสมัครที่เก็บได้ และบางครั้งสุนัขขาดสมาธิในการทำงาน สุดท้ายบทความดังกล่าวให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันงานวิจัยที่กำลังทำกันนั้นเป็นการใช้สุนัขตรวจมะเร็งผิวหนัง (melanoma) มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (bladder cancer) มะเร็งรังไข่ (ovarian cancer) มะเร็งเต้านม (breast cancer) มะเร็งต่อมลูกหมาก (prostate cancer) มะเร็งทางเดินอาหารตอนล่าง (colorectal cancer) และมะเร็งปอด (lung cancer) เป็นต้น หนอนเซ็นจู         สำหรับวิธีการตรวจพิเคราะห์การเริ่มเป็นมะเร็งด้วยวิธีอื่นนั้น ในเดือนมกราคม 2563 โทรทัศน์ช่องหนึ่งได้ออกอากาศสารคดีที่พาไปดูการตรวจโอกาสการเกิดมะเร็งอย่างเร็วในประเทศญี่ปุ่น โดยการตรวจสอบนั้นมีต้นทุนที่น่าจะถูกกว่าการตรวจในห้องปฏิบัติการมาตรฐาน ในสารคดีตอนแรกที่ออกอากาศนั้นเป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งโดยใช้แค่ปัสสาวะของผู้รับบริการที่ไม่ต้องอดอาหารด้วย “หนอนเซ็นจู” ซึ่งมีความสามารถพิเศษด้านการดมกลิ่น หนอนจะเลื้อยเข้าหากลิ่นที่เซลล์มะเร็งปล่อยแล้วถูกขับออกในปัสสาวะ จากนั้นต้องรอผลประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้หนอนได้ทำงานซ้ำหลายครั้งเพื่อความแม่นยำ โดยสามารถรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในระยะต่างๆ ด้วยความแม่นยำถึงร้อยละ 90        หนอนเซ็นจูในที่นี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Caenorhabditis elegans ซึ่งนักวิทยาศาสตร์มักเรียกง่าย ๆ ว่า C. elegans หนอนชนิดนี้เป็น super-smeller ที่ถูกนำมาใช้ในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย และที่น่าสนใจคือเป็นหนอนชนิดเดียวกับที่บางครั้งพบปนเปื้อนในปลาดิบที่ใช้ทำซูชิ         Dr. Takaaki Hirotsu ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Kyushu University ในเมืองฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง A Highly Accurate Inclusive Cancer Screening Test Using Caenorhabditis elegans Scent Detection ในวารสาร PLOS ONE เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558 โดยงานวิจัยเริ่มจากการทดสอบความสามารถของหนอนในการคลานเข้าหาเซลล์มะเร็งนั้น ต่างจากการคลานเข้าหาเซลล์ปรกติหรือไม่ จากนั้นจึงทดสอบว่า หนอนสายพันธุ์เดียวกันที่ถูกตัดเอายีนเกี่ยวกับการดมกลิ่นออกไปสามารถคลานเข้าหาเซลล์มะเร็งหรือไม่ ผลปรากฏว่าหนอนปรกติมีความไวต่อการเข้าหาเซลล์มะเร็งในขณะที่หนอนซึ่งไม่มียีนดมกลิ่นไม่สนใจต่อเซลล์มะเร็ง จึงสรุปว่าการเข้าหานั้นเป็นการดมกลิ่นที่เซลล์มะเร็งปล่อยออกมา         ในงานวิจัยนั้นได้ทดสอบตัวอย่างปัสสาวะของอาสาสมัคร 242 คน ซึ่ง 24 คนนั้นเป็นมะเร็ง (มีผลพบ tumor marker) โดยพบว่าหนอนวินิจฉัยถูก 23 คน ผิดพลาดแค่ 1 คน (ซึ่งเรียกว่า ผลลบเทียม) และในกลุ่มควบคุม 218 คน ซึ่งไม่เป็นมะเร็งนั้นผลออกมาว่าไม่เป็นมะเร็ง 207 คน (แสดงว่ามี ผลบวกเทียม เพียง 11คน) บทความเรื่องนี้สรุปว่า  หนอนสามารถใช้ตรวจสอบความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งได้ที่หลายอวัยวะคือ กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ หลอดอาหาร ตับอ่อน ท่อน้ำดี ต่อมลูกหมาก เต้านมและปอด วิเคราะห์จากน้ำลาย         ส่วนสารคดีเรื่องที่สองนั้นเป็นการใช้น้ำลายเพียง 2-3 หยด เพื่อตรวจคัดกรองและคาดการณ์การเกิดมะเร็งบางอวัยวะ เช่น มะเร็งตับอ่อน ในความจริงแล้วการใช้น้ำลายเพื่อตรวจสอบโอกาสเป็นมะเร็งนั้นมีการศึกษามาหลายปีแล้วในบางประเทศ Dr. Magoto Sunamura สังกัด Digestive Surgery and Transplantation Surgery, Tokyo Medical University Hachioji Medical Center และเป็นประธานบริษัท Saliva Tech ซึ่งให้บริการตรวจนั้นให้ข้อมูลว่า เป็นการวิเคราะห์องค์ประกอบของน้ำลายซึ่งแตกต่างกันไปตามสภาวะของสรีรภาพของร่างกายที่ปรกติหรือผิดปรกติเช่น มะเร็งตับอ่อน เต้านม ปอด และมดลูก         ในบทความเรื่อง Salivary metabolomics with alternative decision tree-based machine learning methods for breast cancer discrimination ตีพิมพ์ในวารสาร Breast Cancer Research and Treatment เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2019 และบทความเรื่อง Elevated Polyamines in Saliva of Pancreatic Cancer ในวารสาร Cancers (Basel) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2018 ซึ่ง Dr. Magoto Sunamura เป็นหนึ่งในผู้นิพนธ์ให้ข้อมูลว่า ตัวอย่างน้ำลายที่เก็บจากคนที่อดอาหารแล้ว 9 ชั่วโมง ซึ่งแช่งแข็งที่ -80 องศาเซลเซียสทันทีก่อนนำไปวิเคราะห์ปริมาณสาร (ที่เกิดขึ้นในเซลล์ของร่างกายซึ่งถูกขับออกมาทางน้ำลาย) ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า metabolomics ซึ่งใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์เป็นชุดได้แก่ Capillary electrophoresis และ liquid chromatography ที่ควบไปกับ mass spectrometry โดยผลจากการวิเคราะห์นั้นถูกนำไปแปรผลด้วยคอมพิวเตอร์ (เข้าใจว่าเป็นการแปรผลได้รูปซึ่งเรียกว่า contour map) เพื่อดูว่าน้ำลายที่ถูกตรวจนั้นต่างไปจากผลเฉลี่ยของคนทั่วไปซึ่งเก็บเป็นมาตรฐานก่อนหน้านั้นหรือไม่ ถ้ามีความต่างก็แสดงว่ามีแนวโน้มการเป็นมะเร็ง ซึ่งรูปแบบความต่างนั้น (โดยอาศัยความชำนาญ) สามารถบ่งชี้ว่าเป็นมะเร็งชนิดใด         ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า สารเคมีซึ่งเซลล์มะเร็งปล่อยออกมาแล้วให้กลิ่นนั้นคืออะไร คำตอบที่อาจเป็นไปได้คือ เป็นสารกลุ่ม polyamine ซึ่งเพิ่มมากขึ้นในสิ่งมีชีวิตขณะที่มีการแบ่งเซลล์ ตัวอย่างสารกลุ่มนี้เช่น พิวตรีซีน (putrescine) สเปรมิดีน (spermidine) และสเปรมีน (spermine) โดยอาจมีสารเคมีอื่น ๆ ในกลุ่มอัลเคน (alkanes) เม็ททิเลเต็ดอัลเคน (methylated alkanes) สารประกอบอะโรมาติก (aromatic compounds) และ อนุพันธ์เบ็นซีน (benzene derivatives) ซึ่งจริงแล้วสามารถตรวจวิเคราะห์ได้ด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ระดับสูงแต่ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูงกว่าการใช้วิธีการที่ดูง่ายกว่าดังอธิบายให้ทราบข้างต้น         วิธีการดังกล่าวข้างต้นเชื่อได้แค่ไหน ท่านผู้อ่านลองอ่านข้อมูลแล้วชั่งใจก่อนคิดว่าควรเชื่อเพียงใด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ฝนกับเรื่องต้องระวังเพื่อผิวสวย

        ฤดูฝนมาเยือนแล้ว บางพื้นที่ฝนกระหน่ำให้ชุ่มเย็น แต่เวลาฝนไม่ตก อากาศก็ร้อนแทบบ้าเช่นกัน อาการที่เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวฝนนี้ ถ้าดูแลผิวไม่ดีหรือชะล่าใจผลเสียก็เกิดกับผิวได้ แล้วเรื่องอะไรบ้างนะที่เราต้องระวังในฤดูฝน         สิ่งที่คิด(แต่)ไม่ถึงหรือทำให้คุณพลาด         1.น้ำฝนใสๆ เห็นว่าใสแต่จริงๆ แล้วด้วยสภาวะแวดล้อมปัจจุบัน น้ำฝนจะมีสิ่งปนเปื้อนอยู่มาก ทั้งฝุ่นละออง เชื้อโรค สารเคมี ควรเลี่ยงการโดนน้ำฝนแต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องล้างตัวล้างหน้าทันที ผมควรสระให้สะอาดและเป่าให้แห้ง อย่าปล่อยทิ้งไว้ให้ชื้น อาจเกิดปัญหาเชื้อราที่ผมและจุดอับบนร่างกายได้         2.ฟ้าครึ้มๆ เห็นฟ้าครึ้มเมฆ ก็คิดไปว่าไม่มีแดด ครีมกันแดดก็ไม่ต้องแล้ว อันนี้ผิด เพราะรังสียูวีทะลุทะลวงผ่านชั้นบรรยากาศ ชั้นเมฆได้ชิลๆ การออกไปกลางแจ้งและต้องอยู่ในแสงแดดระยะเวลามากกว่า 10 นาที ควรใช้ครีมกันแดดทาผิวหน้า ผิวกาย อาจเลือกใช้ชนิดกันน้ำด้วย เผื่อเจอฝน หรือใช้ร่ม หมวกเพื่อกันผิวจากแสงอาทิตย์        3.ความชื้นในอากาศสูงฝุ่นย่อมน้อย ความจริงฝุ่นไม่เคยน้อยลง ยิ่งในเมืองที่ผู้คนและการจราจรแออัด ฝุ่นจะเยอะเป็นพิเศษ และยิ่งอากาศอบอ้าวเหงื่อยิ่งออกมากหน้าจะมันและจับฝุ่นได้ดี จึงต้องทำความสะอาดให้ถูกวิธี และระวังเรื่องหน้ามัน การล้างหน้าบ่อยยิ่งทำให้หน้ามัน ควรเลือกผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับสภาพผิว        4.น้ำฝนนั้นก็มีความเป็นกรดเล็กน้อยแต่ถ้าในอากาศมีมลพิษปริมาณสูงก็จะทำให้น้ำฝนมีความเป็นกรดมากขึ้น คนที่ผิวไวสัมผัส ก็มีโอกาสเกิดปัญหาผิวอักเสบ สิวอักเสบได้        5.อากาศเปลี่ยนแปลงไว ร่างกายอาจได้รับผลกระทบและเกิดอาการไข้ ไม่สบาย เวลาไม่สบายก็ย่อมส่งผลต่อสุขภาพผิวพรรณแน่นอน         จากปัจจัยต่างๆ ที่ได้กล่าวไปเราควรรับมือกับปัญหาที่คาดไม่ถึงด้วยวิธีต่อไปนี้         1.การทำความสะอาด ควรสระผม อาบน้ำ ล้างหน้าอย่างถูกวิธี และควรทำทันทีหากต้องเปียกปอนจากฝน         2.เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับสภาพผิว คนผิวมัน ผิวแพ้ง่ายให้เพิ่มความระมัดระวัง         3.อย่าปล่อยให้ร่างกายเปียกชื้น หรือปล่อยให้ผมหรือเท้าเปียกชื้น เพราะความอับชื้นเป็นของชอบของเชื้อรา ซึ่งทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์และกระทบกับสุขภาพผิวได้ ทั้งรังแค โรคน้ำกัดเท้า กลิ่นเท้า         4.อย่าลืมทาครีมกันแดดแม้ในวันที่ฟ้าครึ้ม หรือใช้ร่ม หมวกเพื่อป้องกันแสงแดด         5.ฤดูฝนผู้ที่ผิวแพ้ง่ายไม่ควรใส่เครื่องประดับโลหะหรือโลหะผสม เพราะน้ำฝนและความชื้นจะทำปฏิกิริยากับโลหะทำให้ผิวหนังเกิดการอักเสบได้         6.กินอาหารดี ดื่มน้ำสะอาดและพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงไม่ป่วยไข้         7.ชีวิตกับโควิด 19 ไม่ควรสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยที่เปียกชื้น เพราะเป็นแหล่งก่อเชื้อโรค สำหรับหน้ากากผ้าควรเปลี่ยนทันทีที่โดนฝน และซักทำความสะอาดอย่างถูกต้องก่อนนำมาใช้ครั้งต่อไป หน้ากากอนามัยควรใช้ครั้งเดียวทิ้งและหากเปียกชื้นควรเปลี่ยนทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 มารู้จัก “ThaiFightCOVID” และ “Card2U”

        ฉบับนี้ยังคงมาย้ำเตือนให้ผู้อ่านทุกคนตระหนักถึงการป้องกันและเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กันอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตัวเลขการติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศไทยจะลดลงก็ตาม        ปัจจุบันหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้พัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ขึ้นมาเพื่อให้ข้อมูลในการเฝ้าระวังอย่างมากมาย อย่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้พัฒนาแพลตฟอร์มที่คอยเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยใช้ชื่อว่า “ThaiFightCOVID” ซึ่งสามารถเข้าดูข้อมูลได้ที่ ThaiFightCOVID.depa.or.th ภายใน “ThaiFightCOVID” จะมีข้อมูลตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุข ข่าวสารที่รวบรวมจากประกาศรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานที่ประกาศมาตรการการช่วยเหลือประชาชน รวมถึงประกาศจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรวบรวมข่าวสารจากสถานการณ์ทั่วโลกที่เกิดขึ้นด้วย          ต่อจากนั้นไม่นาน ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “Card2U” ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19 เพิ่มเติม ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS เริ่มแรกผู้อ่านต้องลงทะเบียนโดยใช้ชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ และสร้างรหัสผ่าน จากนั้นให้กดเพื่อรับการ์ด กรอกเพศและอายุเพื่อที่จะเข้าหน้าหลัก         หน้าหลักจะมีรูปการ์ดชื่อนามสกุลของผู้ใช้แอปพลิเคชัน และ QR Code ของการ์ดด้านข้าง ซึ่งด้านล่างจะมีหมวดต่างๆ ได้แก่ หมวดประกาศรัฐบาล หมวดไฮไลท์ข่าวประจำวัน หมวดประกาศหน่วยงานภาครัฐ หมวดตรวจสอบข่าวปลอม หมวดจำนวนผู้ติดเชื้อ หมวดพื้นที่เสี่ยง หมวดจดบันทึกการเดินทาง หมวดประเมินความเสี่ยง หมวดโรงพยาบาลที่รับตรวจโควิด หมวดโปรสู้โควิด หมวดรวมสายด่วน และหมวดไทยรู้สู้โควิด          หมวดประกาศรัฐบาล หมวดไฮไลท์ข่าวประจำวัน และหมวดประกาศหน่วยงานภาครัฐ จะเป็นการรวบรวมข้อมูลข่าวสารเหมือนกับ “ThaiFightCOVID” หมวดตรวจสอบข่าวปลอมจะเป็นข้อมูลข่าวสารจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย หมวดไทยรู้สู้โควิดจะเป็นข้อมูลข่าวสารจากหน้าเฟซบุ๊กไทยรู้สู้โควิด แต่หมวดจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มข้อมูลผู้ติดเชื้อที่ละเอียดขึ้น และมีข้อมูลโรงพยาบาลที่รับตรวจพร้อมราคา ส่วนหมวดโรงพยาบาลที่รับตรวจโควิดจะเป็นการแจ้งโรงพยาบาลที่ใกล้ผู้ใช้แอปพลิเคชัน โดยจะมีข้อมูลที่อยู่ เบอร์ติดต่อ และแผนที่สำหรับเดินทาง         ความแตกต่างจาก “ThaiFightCOVID” คือ หมวดพื้นที่เสี่ยงจะแจ้งพิกัดจุดเสี่ยงบนแผนที่ประเทศไทย หมวดจดบันทึกการเดินทาง เพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันเก็บข้อมูลการเดินทางโดยใช้วิธีเช็คอิน หมวดประเมินความเสี่ยงเป็นการตอบคำถามแบบประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 หมวดโปรสู้โควิดที่รวบรวมร้านอาหารพร้อมโปรโมชันมานำเสนอให้ผู้ใช้แอปพลิเคชัน และหมวดรวมสายด่วน เพิ่มขึ้นมา         ไม่ว่าจะเป็น “ThaiFightCOVID” หรือแอปพลิเคชัน “Card2U” ก็เป็นเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์และถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยให้คนไทยได้ตระหนักและเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างใกล้ชิด ดังนั้นต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันด้วยใจจริงๆ และอย่าลืมปฏิบัติตามหลักการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) กันด้วยนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ทุ่งเสน่หา : ฤๅจะสิ้นสุดยุคชนบทโรมานซ์กันแล้ว?

        ด้วยชื่อเรื่องของละครโทรทัศน์ว่า “ทุ่งเสน่หา” ก็ชวนให้ผู้เขียนเข้าใจไปได้ว่า เนื้อหาของละครน่าจะผูกโยงเรื่องราวดื่มด่ำรักโรแมนติกของพระเอกนางเอก โดยมีฉากหลังเป็นท้องทุ่งบ้านนา         ไม่ต่างไปจากภาพที่เราเคยคุ้นชินกับตัวละคร “พี่คล้าว” และ “น้องทองกวาว” ที่วิ่งพลอดรักครวญเพลงกลางท้องนาว่า “…โอ้เจ้าช่อนกยูง แว่วเสียงเพลงมนต์รักลูกทุ่ง ซ้ำหอมน้ำปรุงที่แก้มนงคราญ” ซึ่งปรากฏอยู่ในละครโทรทัศน์เรื่อง “มนต์รักลูกทุ่ง” ที่สร้างใหม่กันมาแล้วหลายครั้งครา         แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพินิจพิเคราะห์ลงไปในเรื่องราวของ “ทุ่งเสน่หา” แล้ว ชื่อเรื่องอาจจะฟังดูเป็นอุดมคติแบบรักโรมานซ์ของชนบทในอดีต ทว่าอันที่จริงนั้น แม้จะมีกลิ่นอายของรักโรแมนติกอยู่บ้าง แต่ลึกลงไปกว่าเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ละครกลับซุกซ่อนความเป็นจริงบางอย่างที่ดำรงอยู่ในชุมชนชนบทไทยไว้อย่างน่าสนใจ         ย้อนกลับไปราวกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา แม้ด้านหนึ่งเส้นกราฟทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจะมีแนวโน้มจำเริญเติบโตขึ้น แต่อีกด้านหนึ่ง เศรษฐกิจที่ทันสมัยก็ต้องแลกมาด้วยการล่มสลายของท้องถิ่นชนบทไทยภายในไม่กี่ทศวรรษถัดมา ด้วยเหตุนี้ สังคมไทยจึงเกิดอาการโหยหา “สวรรค์ที่ห่างหาย” ให้หวนกลับคืนมาสู่สำนึกการรับรู้ของตน แบบที่เห็นๆ กันในละครโทรทัศน์ชนบทโรแมนติกแนว “มนต์รักลูกทุ่ง” นั่นเอง         ก็คงไม่ต่างจากภาพบางส่วนของชุมชนบ้านทุ่งอย่าง “หนองน้ำผึ้ง” ที่เราสัมผัสเห็นจากการช่วงชิงความรักและพิชิตหัวใจหญิงงามของหมู่บ้านอย่าง “ยุพิณ” ระหว่างชายหนุ่มสองคนคือ “ไพฑูรย์” หนุ่มที่เป็นรักแรกปั๊ปปี้เลิฟกับฉากที่เขาว่ายน้ำในบึงกอบัวเพื่อมาพลอดรักกับนางเอกสาว และ “มิ่งขวัญ” อ้ายหนุ่มคนยากไร้ที่ใช้เสียงเพลงลูกทุ่งครวญบอกความในใจให้กับเธอคนเดียวที่เขาแอบรักมาทั้งชีวิต         แต่กระนั้น ภาพรักโรแมนติกที่เราสัมผัสอยู่หน้าจอ ก็ดูจะเป็นเพียง “หน้าฉาก” หวานชื่น ที่สอดแทรกอยู่ในเรื่องราวให้เห็นเป็นระยะๆ แบบเดียวกับชื่อละคร “ทุ่งเสน่หา” ทว่า กับโครงเรื่องหลักจริงๆ ของละครกลับหาใช่จะเป็นเล่าเรื่องราวความรักโรมานซ์ของคนชนบทอย่างเดียวไม่         พลันที่ตัวละคร “สำเภา” ปรากฏตัวขึ้นมาในฐานะหญิงวัยกลางคนที่เป็นนายทุนท้องถิ่นรายใหม่ของหมู่บ้านหนองน้ำผึ้ง ละครก็ได้เผยให้เห็นอีกโฉมหน้าหนึ่ง ซึ่งเป็น “หลังฉาก” ของท้องทุ่งชนบทที่มิได้มีแต่เรื่องราวเสน่หาผูกพันรักใคร่แต่เพียงด้านเดียว        ปมปัญหาใหญ่ของเรื่องน่าจะเริ่มขึ้นเมื่อผีพนันอย่าง “บุญยืน” พ่อของยุพิณ ได้ลอบไปขโมยควายจากบ้านของสำเภาในกลางดึกคืนหนึ่ง และเพราะควายมีสถานะเป็นปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจของเกษตรกรชนบท การขโมยควายจึงไม่ต่างจากการตัดเส้นเลือดใหญ่ในการดำรงชีวิตของชาวนากันเลยทีเดียว ในแง่นี้ บุญยืนจึงมีฐานะไม่ต่างจากคนที่แม้จะ “รู้จักรักใคร่” แต่หาใช่จะ “รู้หน้าไม่รู้ใจ” ไปพร้อมๆ กัน         แม้ในทางหนึ่ง “คนบ้านเดียวกันแค่มองตากันก็เข้าใจอยู่” ก็ตาม แต่สำหรับสำเภาแล้ว ความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งของชีวิตคน “บ้านใกล้เรือนเคียง” แบบบุญยืน กลับทำให้ตัวละครหญิงกลางคนคนนี้เริ่มระแวงสายสัมพันธ์กับคนคุ้นเคย จนถึงกับพูดเปรยด้วยความคับแค้นใจว่า “คนบ้านเดียวกันไม่น่าจะทำกันแบบนี้”         จากนั้นปฏิบัติการแก้เผ็ดแก้แค้นก็เริ่มต้นขึ้น พร้อมๆ กับการเผยให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า แม้แต่ในแดนดินถิ่นรักโรแมนติกของชนบทนั้น ก็คลุกเคล้าไว้ด้วย “ความขัดแย้ง” ไม่ต่างจากสังคมถิ่นอื่นทั่วไปนักหรอก         ท่ามกลาง “สวรรค์บ้านทุ่ง” อันดูสวยงามนั้น ปลาตัวใหญ่ก็ยังคอยเลาะเล็มเลือกกินเหยื่อตัวเล็กกว่าเป็นมังสาหารอยู่เป็นอาจิณ เฉกเช่นสำเภาในฐานะปลาใหญ่ก็อาศัยอำนาจบารมีและความมั่งคั่งทางฐานะเศรษฐกิจขูดรีดเอาเปรียบลูกบ้านที่อยู่ในขอบขัณฑ์ของหนองน้ำผึ้งได้ไม่ต่างกัน         เริ่มตั้งแต่การวางแผนเข้ามาจัดการชีวิตลูกชายสองคน โดยพรากยุพิณไปจากลูกชายคนรองเพื่อให้แต่งงานกับ “ไพรวัลย์” บุตรชายคนโตที่ขาพิการเป็นโปลิโอแทน นัยหนึ่งก็เพื่อแก้แค้นบุญยืนที่กล้าหยามศักดิ์ศรีคนบ้านเดียวกัน กับอีกนัยหนึ่งก็หวังจะให้ไพฑูรย์ได้ไปแต่งงานกับ “จันทร” ลูกสาวของ “จำเรียง” เจ้าของโรงสีข้าวที่มีฐานะทางการเงินทัดเทียมกับครอบครัวของสำเภามากกว่า         ในแง่นี้ สถานะทางเศรษฐกิจจึงกลายมาเป็นตัวแปรที่ใช้จำแนกชนชั้นของคนชนบทออกจากกัน และยังเป็นปัจจัยนำไปสู่ความขัดแย้งที่ทับทวีคูณระหว่างตัวละครแห่งบ้านทุ่งบ้านนาอันแสนเปี่ยมสุข เหมือนกับฉากที่ยุพิณปะทะคารมกับเพื่อนที่กลายมาเป็นศัตรูหัวใจอย่างจันทร ซึ่งลึกๆ แล้วก็คาดหวังจะครอบครองฉกชิงไพฑูรย์ไปจากเธอ         “เจ็บตัวมันยังน้อยกว่าเจ็บใจ ความเจ็บใจที่มีเพื่อนรักทรยศคอยแทงข้างหลง มันคือที่สุดของความเจ็บใจ” และ “คนอย่างมึงไม่มีปัญญาหาผัว ต้องให้แม่เอาเงินมาซื้อ” ก็เป็นคำพูดของยุพิณที่บอกนัยได้ชัดเจนว่า มิตรภาพในหมู่คนชนบทเอง ในบางครั้งก็เป็นเพียงสายสัมพันธ์ที่วางอยู่บนบางเงื่อนไขเช่นกัน         ยิ่งไปกว่านั้น หากพี่คล้าวและน้องทองกวาวเคยใช้ “สวรรค์บ้านทุ่ง” เป็นตัวจักรยึดโยงสำนึกรักบ้านเกิดเอาไว้ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง แต่ในฉากชนบทของบ้านหนองน้ำผึ้งนั้น แรงเกาะเกี่ยวดังกล่าวกำลังถูกท้าทายจากแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจ เพราะตัวละครที่หลากหลายในเรื่องต่างก็มีแนวโน้มจะพร้อมใจละทิ้งท้องทุ่งรวงทอง เพื่อไปแสวงหาชีวิตในสังคมเมืองที่ดูจะมั่งคั่งมั่นคงกว่า         ไม่ว่าจะเป็นไพฑูรย์ที่ภายหลังจันทรเสียชีวิตลง ก็เลือกจะมาแต่งงานออกเรือนกับ “จันทร” อดีตน้องสะใภ้ เพื่อดูแลกิจการโรงสีข้าวที่ตัวเมืองปากน้ำโพ หรือมิ่งขวัญที่ภายหลังออกจากเกณฑ์ทหารแล้ว ก็เลือกจะลงหลักปักฐานเซ้งตึกเพื่อเปิดร้านข้าวมันไก่สูตรเด็ด ก่อนจะได้มาลงเอยครองรักกับยุพิณ ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้กลายเป็นเจ้าของบิวตี้ซาลอนชื่อดังของจังหวัดนครสวรรค์         และที่น่าสนใจก็คือตัวละคร “แก้วใจ” เด็กสาวกะโปโลแห่งท้องทุ่งบ้านนา ที่สำเภาเองก็รักเหมือนลูกเหมือนหลาน แต่เธอก็พร้อมที่จะ “ไปเป็นนักร้องให้เขาล้วงมันเจ็บในทรวงไม่หาย” หรือแม้แต่เลือกไปแสวงโชคแต่งงานอยู่กินกับสามีฝรั่งยังเมืองนอกเมืองนา         ในทางหนึ่งนั้น ละครเองก็พยายามจะยืนยันความเชื่อที่ว่า “เนื้อคู่กันแล้วก็คงไม่แคล้วกันไปได้” เหมือนกับเพลงลูกทุ่งที่มิ่งขวัญร้องเกี้ยวยุพิณตลอดทั้งเรื่อง หรือแม้แต่จะสร้างภาพว่า อ้ายหนุ่มบ้านนาต่างมีรักแท้ที่แสนมั่นคง เหมือนกับที่มิ่งขวัญเองก็พูดว่า “ต่อให้การรักเอ็งมันต้องเสียใจไปทุกวัน ข้าก็จะรักเอ็ง”          แต่ในท้ายที่สุดแล้ว กลิ่นอายความรักของชนบทที่คละเคล้าไว้ด้วยความขัดแย้งที่ซับซ้อน การขูดรีดผลประโยชน์ การวางแผนหลอกลวง ไปจนถึงการล่มสลายแห่งการละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด ก็อาจจะตั้งคำถามกับเราๆ ได้ว่า หรือนี่อาจจะเป็นภาพแบบใหม่ของชุมชนชนบทที่หาใช่รักโรแมนติกแบบที่เราเคยรับรู้กันมา?

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 รู้เท่าทันการป้องกันและรักษาโควิด-19

        วันนี้คงไม่มีโรคอะไรที่รุนแรงเท่าโควิด-19 เพราะโรคนี้ได้ระบาดไปทั่วโลก และยังไม่รู้ว่าจะสงบลงเมื่อไหร่ การอยู่กับบ้าน การเว้นระยะห่าง ป้องกันการแพร่กระจายและติดเชื้อได้ดีที่สุดหรือไม่ ยาที่รักษาอยู่ได้ผลจริงหรือไม่ เรามารู้เท่าทันกันเถอะ โคโรนาไวรัสคืออะไร        โคโรนาไวรัสเป็นกลุ่มสายพันธุ์ใหญ่ของไวรัสที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยในมนุษย์และสัตว์ ในมนุษย์นั้นก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจตั้งแต่ ไข้หวัดธรรมดาจนถึงไข้หวัดรุนแรงเช่น เมอร์ส และซาร์ส ที่เคยระบาดเมื่อหลายปีก่อน จนถึงโควิด-19 ที่กำลังโด่งดังในปัจจุบัน ปัจจุบันมียาหรือวิธีป้องกันโควิด-19 ที่ได้ผลหรือยัง        องค์การอนามัยโลกระบุว่า  ปัจจุบันยังไม่มียาทั้งแผนปัจจุบัน แผนดั้งเดิมหรือการรักษาพื้นบ้านใดที่สามารถป้องกันหรือรักษาโรคนี้ได้          อย่างไรก็ตาม มีการทดลองทางคลินิกจำนวนมากที่ใช้ทั้งยาแผนปัจจุบันและแผนดั้งเดิม จากการทบทวนเอกสารในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 พบว่ามีการศึกษาทางคลินิก 24 รายงาน มีการใช้ยากว่า 20 รายการ เช่น อิมมูโนโกลบูลิน อินเตอร์เฟียรอน คลอโรควิน ไฮดรอกซี่คลอโรควิน ฟาวิพิราเวียร์ โลพินาเวียร์ ริโทนาเวียร์ โอเซลทามิเวียร์ ยาจีน เป็นต้น ซึ่งผลการศึกษาจำนวนเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ในการรักษาโควิด-19 และทำให้เราสามารถวางแผนการรักษาอย่างมีประสิทธิผลมากขึ้นภายในสิ้นปีค.ศ. 2020  การกินวิตามิน C ช่วยป้องกันและรักษาโควิด-19 ได้จริงหรือไม่        เมื่อเป็นโรคอุบัติใหม่และระบาดอย่างรวดเร็ว รวมทั้งยังไม่มียาที่มีประสิทธิผลชัดเจนในการรักษา จึงเกิดกระแสการกินวิตามิน C เพื่อป้องกันโควิด-19 ซึ่งน่าจะมาจากความเชื่อเรื่องการกินวิตามิน C เพื่อป้องกันไข้หวัดที่มีอยู่เดิม เรื่องนี้ทางห้องสมุดคอเครนได้ทำการทบทวนวรรณกรรมและตีพิมพ์เมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 2013 ว่า การกินวิตามิน C ไม่มีผลต่ออุบัติการของไข้หวัดในประชากรทั่วไป แต่มีผลในการลดระยะเวลาของการเป็นไข้หวัดให้สั้นลง         มีการศึกษาการใช้วิตามิน C ในการรักษาโควิด-19 โดยเชื่อว่า วิตามิน C ต้านอนุมูลอิสระสูง ซึ่งอาจลดการอักเสบ เพิ่มระบบภูมิคุ้มกันของเซลล์ ทำให้หลอดเลือดทำงานได้ดีขึ้น การศึกษาพบข้อมูลที่น่าสนใจว่าช่วยลดการเสียชีวิตในภาวะติดเชื้อ แต่ยังต้องการการศึกษามากกว่าที่มีอยู่        นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาในผู้ป่วยโควิด-19 ที่รุนแรงและเกิดปอดอักเสบ ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน โดยการฉีดวิตามิน C เข้าไปในเส้นเลือด ขนาด 24 กรัม/วัน เป็นเวลา 7 วัน โดยมีกลุ่มควบคุม 104 ราย  ซึ่งจะมีการสรุปผลการศึกษาภายใน เดือนกันยายน ค.ศ. 2020 ผักสดและผลไม้ต้องล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือไม่         องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ล้างผักสดและผลไม้ด้วยวิธีปกติที่เคยทำ แต่ก่อนที่จะสัมผัสด้วยมือ ให้ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ ก็เพียงพอ         สรุป  ในขณะนี้ยังไม่มียารักษาโควิด-19 ที่มีประสิทธิผลเต็มที่ ยาที่ใช้รักษาเป็นการใช้ยาที่รักษาโรคอื่นๆ การป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อที่ดีที่สุดคือ การสวมหน้าการอนามัย การเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 2 เมตร  และการล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 กระแสต่างแดน

โอกาสทอง        หลุยส์ วิตตอง และชาแนล ในเกาหลีถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักเมื่อลูกค้าที่ไปต่อแถวเข้าร้านหลังพ้นช่วงล็อกดาวน์ต้องเซอร์ไพรซ์กับสินค้า “ราคาใหม่”         ค่ายแบรนด์เนมมองว่าผู้บริโภคมีเงินเหลือใช้มากขึ้นเนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ ชาแนลปรับราคาสินค้าในร้านขึ้นร้อยละ 7 -18 ในขณะที่หลุยส์ วิตตองก็ปรับราคาขึ้นเป็นครั้งที่สามในรอบ 7 เดือน ขึ้นอีกร้อยละ 5 - 10 เช่นกัน         นี่ยังไม่นับเรื่องความ (ไม่) รับผิดชอบต่อสังคมของค่ายหลุยส์ ที่ไม่จัดอบรมแนวทางปฏิบัติตัวเพื่อลดการระบาดของไวรัสให้กับพนักงานเหมือนบริษัทอื่นๆ และเมื่อพบว่าพนักงานติดเชื้อจากการไปกินดื่มในย่านอินแทวอน ก็ยังเปิดดำเนินการต่อไปโดยไม่แจ้งให้ลูกค้าที่เข้าร้านสาขาตึกล็อตเต้เวิล์ดในช่วงที่พนักงานดังกล่าวอยู่ประจำร้าน ได้ทราบว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยงด้วย           แต่เขาก็คาดการณ์ไม่ผิด ยอดขายสินค้าแบรนด์เนมหลังช่วงล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นจริงๆ     ขยะเราต้องมาก่อน        โปรตุเกสเป็นปลายทางของขยะจำนวนมากจากประเทศอื่นๆ ในยุโรป เพราะคิดค่าธรรมเนียมการจัดการขยะเพียงตันละ 11 ยูโร (ประมาณ 400 บาท) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในภูมิภาคที่ 80 ยูโร (ประมาณ 2,800 บาท)          แต่รัฐบาลได้ประกาศหยุดรับขยะจากต่างประเทศชั่วคราว เพื่อให้แน่ใจว่ามีศักยภาพเพียงพอต่อการรับมือกับขยะในประเทศที่เพิ่มขึ้นมหาศาลในช่วงการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ชุดและอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคไปจนถึงกล่องพลาสติกใส่อาหารจากบริการเดลิเวอรี         รวมถึงลดกำลังการรีไซเคิล เพื่อไม่ให้พนักงานต้องสัมผัสกับขยะพลาสติกที่อาจมีการปนเปื้อนเชื้อไวรัส         ข้อมูลจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมโปรตุเกสระบุว่าในปี 2018 มีขยะจากต่างประเทศเข้ามาถึง 330,000 ตัน หนึ่งในสามถูกจัดการโดยการฝังกลบ และตั้งแต่ต้นปี 2020 โปรตุเกสปฏิเสธขยะต่างประเทศไปแล้วกว่า 246,000 ตัน  มุมทำงาน        ในเยอรมนี หากคุณมีห้องที่จัดไว้เป็น “ออฟฟิศในบ้าน” คุณจะสามารถขอลดหย่อนภาษีได้ สถิติก่อนการล็อกดาวน์ระบุว่าร้อยละ 12 ของคนเยอรมันทำงานจากบ้าน แต่ช่วงที่รัฐบาลขอให้ทุกคนอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อ มีคนเยอรมันถึงร้อยละ 25 ที่ทำงานที่บ้าน และแนวโน้มนี้อาจกลายเป็น “นิวนอร์มอล”         ที่ผ่านมาร้อยละ 40 ของนายจ้างในเยอรมนีเปิดโอกาสให้พนักงานทำงานจากบ้านได้ ในขณะที่ร้อยละ 60 ของคนเยอรมันก็เห็นด้วยกับข้อเสนอของกระทรวงแรงงานที่จะให้พนักงานเลือกได้ว่าจะทำงานจากบ้านวันไหนบ้าง หรือทำทุกวันไปเลยหากลักษณะงานเอื้อให้ทำได้            สมาคมผู้เสียภาษีแห่งเยอรมนีเสนอว่าคนที่ใช้โน้ตบุ๊คนั่งทำงานที่โต๊ะกินข้าวหรือมุมใดมุมหนึ่งของบ้านควรมีสิทธิขอลดหย่อนภาษีเช่นกัน เพราะไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน การใช้ทรัพยากรน้ำ ไฟฟ้า รวมถึงการสร้างขยะก็เพิ่มขึ้นเหมือนกัน อย่างน้อยๆ ร้อยละ 20 ของค่าเช่าบ้านควรนำไปขอลดหย่อนภาษีได้     เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง        คนแคนาดาเกือบร้อยละ 50 เชื่อ “ข่าวโคมลอย” เกี่ยวกับโรคโควิด-19           การสำรวจโดยคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยคาร์ลตัน ระหว่างวันที่ 5-8 พฤษภาคม ที่สอบถามคนแคนาดา 2,000 คน พบว่าร้อยละ 46 เชื่อข่าวลืออย่างน้อยหนึ่งข่าวจากข่าวที่แชร์กันทางออนไลน์มากที่สุดสี่อันดับแรก         ข่าวลืออันดับหนึ่งได้แก่รายงานที่บอกว่าต้นกำเนิดโรคนี้มาจากไวรัสที่พัฒนาขึ้นโดย “แล็บแห่งหนึ่งในประเทศจีน” ร้อยละ 26 ของคนแคนาดาเชื่ออย่างนั้น         ร้อยละ 23 เชื่อว่ายาไฮดร็อกซีคลอโรควินสามารถรักษาโรคโควิด-19 ได้ ตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของอเมริกาบอก         ร้อยละ 11 เชื่อว่าโรคนี้ไม่ได้ร้ายแรงอะไร อาการต่างๆ เป็นผลจากเทคโนโลยี 5G ต่างหาก ตำรวจกำลังสืบสวนว่าความเชื่อนี้เป็นเหตุให้เสาสัญญาณโทรศัพท์หลายแห่งในควิเบกถูกเผาทำลายหรือไม่         แต่ที่เด็ดสุดคือร้อยละ 57 ของคนเหล่านี้เชื่อว่าตนเองสามารถแยกแยะข่าวจริงและข่าวลวงได้   มันอยู่ในตลับ        แอสเบสทอสหรือแร่ใยหินหายหน้าจากสื่อไปนาน เพราะผู้คนตระหนักถึงอันตรายและเลิกใช้มันไปแล้ว คราวนี้มันแฝงมากับเครื่องสำอางที่มีทัลคัมเป็นส่วนประกอบ ที่สามารถหาซื้อได้ในเว็บอเมซอน         การทดสอบพบว่า อายชาโดว์ Jmkcoz 120 Colors Eyeshadow Palette  มีแร่ใยหินถึง 3.9 ล้านใยต่ออายชาโดว์1 กรัม และพบในร้อยละ 40 จาก 45 เฉดสีที่ทดสอบ           ในขณะที่อีกรุ่น ได้แก่ Jmkcoz Beauty Glazed Gorgeous Me Eye Shadow Tray Palette มีถึง 3.5 ใยต่ออ่ายชาโดว์ 1 กรัม พบในร้อยละ 20 จาก 55 เฉดสีที่ทดสอบ         ก่อนหน้านี้มีการพบแร่ใยหินใน “ชุดเมคอัป” ของเล่นเด็กมาแล้ว และในเดือนตุลาคม 2019 จอห์นสันแอนด์จอห์นสันก็ประกาศเรียกคืนแป้งเด็ก หลังจาก อย.สหรัฐพบแร่ใยหินในแป้งดังกล่าวแร่ใยหินเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจเข้าไปสะสมในปอด และผู้ที่สูดดมเข้าไปอาจไม่แสดงอาการในทันที ทั้งนี้ผู้เชียวชาญย้ำว่าไม่มี “ระดับที่ปลอดภัย” ของการรับแร่ใยหินไม่ว่าประเภทใดเข้าสู่ร่างกาย       

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ช่วงเวลาที่ยากลำบาก

        ช่วงเวลาที่ผ่านมานับว่าเป็นวิกฤตความรุนแรงของคนทั้งโลก จากโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ สู่โควิด-19 ที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอันตราย ตัวเลขปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วเกือบ 4.5 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 3 แสนคน  โดยสหรัฐอเมริกาคือประเทศที่มีความรุนแรงของผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลกหรือเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 30 ของความรุนแรงทั้งหมด        หันกลับมาประเทศไทยแม้ตัวเลขจะดูน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เพราะมีผู้ติดเชื้อเพียง 3,018 คน และเสียชีวิตเพียง 56 คน แต่สถานการณ์แบบนี้อาจยังไม่สามารถไว้วางใจหรือผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ได้ การล็อคดาวน์ประเทศตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมด้วยแคมเปญ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ทำให้เกิดเทรนใหม่ในสังคม การทำงานจากที่บ้าน การที่ทุกคนเริ่มเว้นระยะห่างระหว่างกัน ต้องสวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้าตลอดเวลาในที่สาธารณะ ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงต่อตนเองและคนรอบข้าง        พฤติกรรมที่ปรับตัวเพื่อป้องกันตนเองจากเชื้อโรคนี้ ก็ทำให้เกิดคำถามต่อสังคมของกลุ่มคนทำงานด้านความปลอดภัยทางถนนว่า จริงๆ แล้วคนไทยกลัวโควิด-19 มากกว่ากลัวความรุนแรงจากอุบัติเหตุทางถนนใช่ไหม เพราะขณะที่ในแต่ละปีประเทศไทยมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากกว่า 20,000 คน แต่ความตื่นตัวด้านความปลอดภัยกลับมีน้อยกว่าไวรัสโควิด-19 ที่มีผู้เสียชีวิตรวมกันไม่ถึง 60 คน  และทุกคนพร้อมใส่หน้ากากผ้าเวลาขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์แต่กลับไม่ยอมสวมหมวกกันน็อค อะไรคือสิ่งที่ทำให้สองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน เกิดคำถามกันขึ้นมาว่า ที่ผ่านมาเราทำมาถูกทางแล้วหรือยั        อย่างไรก็ตาม เมื่อค่อยๆ ลองวิเคราะห์เชิงลึกกันแล้ว ระหว่างความรู้สึกและความตื่นตัวจากอุบัติเหตุทางถนนกับไวรัสโควิด-19 คงไม่สามารถวัดหรือเปรียบเทียบกันได้มากนัก เพราะอุบัติเหตุทางถนนอาจจะเกิดกับคนบางกลุ่มบางพวกและบางคน แต่ไวรัสโควิด-19 เกิดได้กับคนทุกกลุ่มทุกคน ไม่เลือกว่าขับขี่หรือไม่ขับขี่รถโดยสาร อีกทั้งอุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่เกิดจากความประมาทเห็นผลทันทีทันใด แต่โควิด-19 เกิดจากสิ่งที่มองไม่เห็น แม้ระวังแค่ไหนก็เสี่ยงเกิดขึ้นได้ และต้องใช้ระยะเวลาและขั้นตอนในการแสดงผลนานพอสมควร ดังนั้นการมีระยะเวลาแสดงผลที่นานกว่าย่อมให้เกิดความวิตกกังวลได้มากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าอุบัติเหตุทางถนนไม่ใช่เรื่องสำคัญที่คนเราจะไม่สนใจ        มองในเชิงเศรษฐกิจกันบ้าง บริการขนส่งสาธารณะเกิดผลกระทบหนักหน่วง ที่เห็นได้ชัด คือ ผู้ประกอบการรถร่วมบริการหลายรายต้องปิดตัวลง เพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว ส่วน บขส. และ ขสมก. ไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ เพราะรัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุนหลัก ขณะที่ประชาชนคนทำงานยังต้องพบกับความยากลำบากในการใช้รถสาธารณะท่ามกลางจำนวนรถที่น้อยลง หลายคนต้องรอรถนานขึ้น แต่ค่าโดยสารยังแพงเหมือนเดิม และจากการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ คาดว่าเราจะต้องอยู่กับโควิด-19 ไปอีกอย่างน้อย 1 ปี หรือมากกว่านั้น สิ่งที่เป็นกังวลตามมาคือ การเว้นระยะห่างทางสังคมจะสามารถทำต่อเนื่องได้หรือไม่ ในเมื่อคนทุกคนต้องกลับมาใช้ชีวิตปกติ ซึ่งการใช้บริการต่างๆ เช่น ระบบบริการสุขภาพ ห้างสรรพสินค้า อาจจะทำได้ แต่กับบริการขนส่งสาธารณะจะทำได้อย่างไร ในเมื่อเราต่างต้องมุ่งหน้าไปทำงานให้ทันเวลา การเบียดเสียดเพื่อไปทำงานในรถโดยสาร รถไฟฟ้า รถตู้ จะกลับมาอีกครั้ง  New normal ของการเดินทางคงต้องออกแบบกันใหม่ เพราะหากยังพึ่งพาระบบแบบเดิมๆ ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้แน่นอน นี่แหละช่วงเวลายากลำบากอย่างแท้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 “หมึกแห้งกับโซเดียมและโลหะหนัก”

        เมื่อเอ่ยถึงอาหารทะเลแห้ง ผู้บริโภคหลายคนคงนึกถึงผลิตภัณฑ์จำพวก กุ้งแห้ง ปลาเค็ม โดยเฉพาะ(ปลา)หมึกแห้ง ที่เมื่อใดทอดหมึกแห้ง กลิ่นหอมรัญจวนก็ฟุ้งไปไกลถึงข้างบ้าน ไม่ว่าจะทอดหมึกแห้งกินกับข้าวต้ม หรือข้าวสวยร้อน ๆ ก็อร่อยไม่แพ้กัน หรือจะเป็นหมึกทอดเคลือบน้ำตาล ต้มหัวไชเท้าหมูสามชั้น ซดน้ำร้อน ๆ ก็ได้อรรถรสไม่แพ้กัน         หมึกแห้งหรือปลาหมึกแห้ง ส่วนใหญ่ทำจากหมึกกล้วย การตากแห้งหมึก เป็นวิธีถนอมอาหารอย่างหนึ่ง เพื่อเก็บเอาหมึกไว้รับประทานได้นานๆ  เราจะพบหมึกแห้งวางขายทั่วไปตามท้องตลาด  ตามร้านขายของฝากในจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการทำประมง ซึ่งของฝากจำพวกอาหารทะเลแห้งนั้น ก็เป็นที่นิยมของผู้บริโภคเช่นกัน         ก่อนหน้านี้ ฉลาดซื้อเคยสุ่มเก็บตัวอย่างหมึกแห้งส่งตรวจวิเคราะห์ จำนวน 8 ตัวอย่าง เมื่อเดือน มกราคม 2553 (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 112-113 ปลาหมึกแห้ง ของดีแต่มีเสี่ยง) และเพื่อเป็นการติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ฉลาดซื้อภายใต้โครงการสนับสนุนการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างหมึกแห้ง จากตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ร้านค้าในต่างจังหวัด และห้างออนไลน์ รวมทั้งสิ้น 13 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา  ตรวจการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม รวมถึงการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรในกลุ่มไพรีทอยด์ (Pyrethroid)  สรุปผลการทดสอบ    - ผลทดสอบการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม  ผลทดสอบการปนเปื้อนของปรอท         ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ข้อ 4) มีข้อกำหนดให้ตรวจพบ การปนเปื้อนของปรอท ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล         ผลการทดสอบ พบว่า ปริมาณปรอทที่ตรวจพบในหมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่าง ไม่เกินเกณฑ์ ตามข้อกำหนดของประกาศฯ โดยตัวอย่างหมึกแห้งที่ตรวจพบปริมาณปรอท น้อยที่สุด อยู่ที่ 0.009 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ส่วนตัวอย่างหมึกแห้งที่ตรวจพบปริมาณปรอท มากที่สุด อยู่ที่ 0.042 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งไม่เกินมาตรฐาน          ผลทดสอบการปนเปื้อนของตะกั่ว          ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ข้อ 4) มีข้อกำหนดให้ตรวจพบ การปนเปื้อนของตะกั่ว ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม        ผลการทดสอบ พบว่า ปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบในหมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่าง ไม่เกินเกณฑ์ ตามข้อกำหนดของประกาศฯ โดยตัวอย่างหมึกแห้งที่ตรวจพบปริมาณตะกั่ว น้อยที่สุด อยู่ที่ 0.015 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ส่วนตัวอย่างหมึกแห้งที่ตรวจพบปริมาณปรอท มากที่สุด อยู่ที่ 0.059 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งไม่เกินมาตรฐาน  ผลทดสอบการปนเปื้อนของแคดเมียม                   ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง กำหนดปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดของแคดเมียมในอาหารบางชนิด ข้อ 1) ได้กำหนดให้ตรวจพบแคดเมียมปนเปื้อนในอาหารจำพวกหมึก เช่น หมึกกระดอง หมึกสาย และหมึกกล้วย  ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม (ซึ่งสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานโคเดกซ์ Codex)          ผลการทดสอบหมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่างนั้น  พบว่า มี 6 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบการปนเปื้อนของแคดเมียมไม่เกินเกณฑ์ข้อกำหนด และ มี 7 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบการปนเปื้อนของแคดเมียมเกินเกณฑ์ข้อกำหนด ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้     - กลุ่มตัวอย่างหมึกแห้งที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียม ไม่เกินเกณฑ์ จำนวน 6 ตัวอย่าง  ได้แก่                 1) หมึกแห้ง จาก ตลาดสี่มุมเมือง ร้าน เจ๊ปู (ปลาเค็ม) ซอย 5            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.104  มก./กก.        2) หมึกแห้ง จาก ตลาดแม่กลอง (สมุทรสงคราม) เอ็มแม่กลองอาหารทะเลแห้ง            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.109  มก./กก.        3) หมึกแห้ง จาก อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.264  มก./กก.        4) หมึกแห้ง จาก ตลาดสะพานใหม่ (ยิ่งเจริญ) ร้านวิจิตร            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.583  มก./กก.                        5) หมึกแห้ง จาก ร้านค้าออนไลน์ LAZADA            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.699  มก./กก.        และ          6) หมึกแห้ง จาก ตลาด อตก. ร้านเหมียวกุ้งแห้งปลาเค็ม ห้อง 3/49            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.869  มก./กก.  - กลุ่มตัวอย่างหมึกแห้งที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียม เกินเกณฑ์ จำนวน 7 ตัวอย่าง ได้แก่        1)  หมึกแห้ง จาก ตลาดคลองเตย ไม่ระบุ ซ.1 ต้นโพธิ์            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  2.003  มก./กก.        2)  หมึกแห้ง จาก จังหวัดระยอง ร้านโชคชัยการค้า            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  2.393  มก./กก.        3) หมึกแห้ง จาก ร้านค้าออนไลน์ SHOPEE            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  2.537  มก./กก.        4) หมึกแห้ง จาก ตลาดเยาวราช ร้าน ต.วัฒนาพาณิชย์ ตลาดเก่าเยาวราช            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  3.006  มก./กก.        5) หมึกแห้ง จาก ตลาดมหาชัย ร้านศรีจันทร์            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  3.303  มก./กก.         6)  หมึกแห้ง จาก จังหวัดตราด ร้านเจ๊อำนวย (ตรงข้าม รพ. จังหวัดตราด)            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  3.432  มก./กก.และ        7) หมึกแห้ง จาก ตลาดปากน้ำสมุทรปราการ ร้านพี่น้อง (เจ๊เล็ก)            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  3.872  มก./กก. - ผลทดสอบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา        จากผลทดสอบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา ได้แก่ Aflatoxin B1, B2, G1, G2 และ Total Aflatoxin ในผลิตภัณฑ์หมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่าง ผลการทดสอบ หมึกแห้งทุกตัวอย่าง ไม่พบ การปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อราดังกล่าว - ผลทดสอบการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตร        จากผลทดสอบการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ (Pesticides Pyrethroid) ได้แก่ Cyfluthrin, Cypermethrin, Deltamethrin, Fenvalerate, Permethrin, Bifenthrin และ Lambda-cyhalothrin ในผลิตภัณฑ์หมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่างนั้น         ผลการทดสอบ หมึกแห้งทุกตัวอย่าง ไม่พบ การตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรในกลุ่มไพรีทอยด์ ปริมาณโซเดียมในหมึกแห้ง        นอกจากผลการทดสอบการปนเปื้อนของโลหะหนักในตัวอย่างหมึกแห้งแล้ว หากสังเกตปริมาณโซเดียมจากปลาหมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่าง พบว่า        ตัวอย่างหมึกแห้ง ที่มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุด ได้แก่ หมึกแห้ง จาก จังหวัดระยอง ร้านโชคชัยการค้า มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 635.8 มิลลิกรัม / 100 กรัม        ส่วนตัวอย่างหมึกแห้ง ที่มีปริมาณโซเดียมมากที่สุด ได้แก่ หมึกแห้ง จาก ตลาดแม่กลอง (สมุทรสงคราม) เอ็มแม่กลองอาหารทะเลแห้ง มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 1,739.94 มิลลิกรัม / 100 กรัม เมื่อเฉลี่ยปริมาณโซเดียมจากหมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่าง จะได้ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1,097.27 มิลลิกรัม / 100 กรัม          คำแนะนำสำหรับผู้บริโภค         จากผลการทดสอบด้านบนแสดงให้เห็นว่า ตัวอย่างของหมึกแห้งที่นำมาตรวจวิเคราะห์นั้น มีการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว และแคดเมียมในปริมาณที่ต่างกัน แม้ว่าการปนเปื้อนของตะกั่วและปรอทนั้นจะไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามข้อกำหนด แต่ยังคงมีการปนเปื้อนของแคดเมียมในตัวอย่างหมึกแห้งเกินกว่าครึ่งหนึ่งที่มีการตกค้างในปริมาณสูงกว่าเกณฑ์ คือ ปริมาณเกิน 2 มก./กก.         อย่างไรก็ตามอาหารทะเล เช่น หมึกแห้ง ไม่อาจเลี่ยงการพบโลหะหนักปนเปื้อน เนื่องจากเป็นการตกค้างจากสภาพแวดล้อมทางทะเลที่ยากต่อการจัดการ เพราะจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานหลายหน่วยงานในการไปตรวจสอบหาแหล่งที่มาของตัวอย่างปลาหมึกทั้งหลายที่มีผลการตกค้างของแคดเมียมเกินค่ามาตรฐาน ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคจะทำได้ก็คือ การเลือกบริโภคหมึกแห้งอย่างพอเหมาะ ไม่บ่อยครั้งจนเกินไป ข้อมูลอ้างอิง- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน- ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง กำหนดปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดของแคดเมียมในอาหารบางชนิด (ประกาศ ณ วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2561)- แคดเมียม คืออะไร (http://www.nfi.or.th/foodsafety/upload/damage/pdf/cadmium-2.pdf)- อะฟลาท็อกซิน คืออะไร (http://www.nfi.or.th/foodsafety/upload/damage/pdf/aflatoxin-2.pdf)- กินหมึกต้องรู้! รู้ลึกเรื่องปลาหมึกแห้ง ม้วนเดียวจบ! (https://www.wongnai.com/food-tips/how-to-make-dried-squid)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 ร้านค้าไม่ยอมให้เปลี่ยนเสื้อ

        หลายครั้งที่ซื้อสินค้ามาแล้ว ตอนซื้อก็คิดว่าตรวจดูดีแล้วแต่หากนำมาทดลองใช้แล้วกลับพบว่า ไม่โอเค ผู้บริโภคสามารถมีสิทธิไม่พอใจยินดีคืนเงินหรือขอเปลี่ยนได้ไหม         เย็นวันหนึ่งคุณศิริวรรณได้นัดพบเหล่าเพื่อนสาวกินข้าวและพูดคุยถึงเรื่องเก่าๆ เมื่อสมัยวัยเรียน หลังจากแยกย้ายกันกลับบ้าน คุณศิริวรรณเดินผ่านร้านขายเสื้อที่ตั้งอยู่ริมถนนแห่งหนึ่ง มองเข้าไปในร้าน ก็เกิดความคิดอยากซื้อเสื้อใหม่ให้สามีสักครึ่งโหล หลังจากเดินหยิบจับดูเนื้อผ้าอยู่สักพัก คุณศิริวรรณก็บอกกับเจ้าของร้านว่า อยากได้เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีกรมและสีขาว ไซส์ XL อย่างละ 3 ตัว หลังจากได้รับสินค้าเรียบร้อย คุณศิริวรรณจึงชำระค่าเสื้อให้กับเจ้าของร้าน        วันต่อมาคุณศิริวรรณจัดแจงซักเสื้อที่เพิ่งซื้อมาใหม่ เพื่อที่จะเซอร์ไพรส์สามี หลักจากซักตากเสื้อจนแห้ง คุณศิริวรรณก็เตรียมนำเสื้อมารีด ขณะที่กำลังจะรีดนั้น คุณศิริวรรณได้สังเกตว่าเสื้อดูใหญ่ผิดปกติ จึงได้ดูป้ายขนาดเสื้อที่บริเวณปก ปรากฏว่าเสื้อทุกตัวมีตัวอักษร XL กำกับเหมือนกันหมด คุณศิริวรรณจึงได้นำเสื้อทั้งหมดมาวางเทียบขนาดกัน พบว่า เสื้อที่ซื้อมาทั้งหมด 6 ตัว มีขนาดแตกต่างกันอยู่ 3 ตัว เมื่อลองสังเกตที่ป้ายบอกขนาดเสื้ออีกครั้งก็พบว่า เสื้อ 3 ตัว ที่มีขนาดใหญ่กว่ามีรอยตัดที่ป้ายบอก เหมือนกับว่ามีตัวอักษรด้านหน้าถูกตัดออกไป คุณศิริวรรณเดาว่า เสื้อ 3 ตัวนี้ จริงๆ แล้วมีขนาดไซส์ XXL แต่ถูกตัดตัวอักษร “X” ด้านหน้าออกไป เพื่อทำให้เข้าใจว่าเสื้อตัวดังกล่าวเป็นไซส์ XL        เมื่อทราบว่าเสื้อที่ตนซื้อมาไม่ถูกต้อง คุณศิริวรรณจึงกลับไปที่ร้านขายเสื้อ เพื่อขอเปลี่ยนสินค้า แต่คนขายบอกว่า เสื้อถูกซักแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนให้ได้ ให้คุณศิริวรรณนำเสื้อไปเย็บแก้ด้านข้างเอง แนวทางในการแก้ไขปัญหา         กรณีคุณศิริวรรณซื้อเสื้อ แล้วมาทราบภายหลังว่า เสื้อที่ซื้อมาจำนวน 3 ตัว จาก 6 ตัว ไม่ตรงกับความต้องการที่ได้ตกลงกันไว้ ในกรณีนี้ เป็นการส่งมอบทรัพย์สินตามสัญญา รวมกับทรัพย์สินอื่นที่ไม่เป็นไปตามสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 465 (3) กำหนดให้ผู้ซื้อจะรับเอาไว้เฉพาะที่สั่ง หรือปฏิเสธไม่รับทั้งหมดได้ โดยมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ส่งมอบ          อีกทั้ง การกระทำของเจ้าของร้านถ้าจงใจตัดป้ายบอกขนาดไซส์เสื้อ ให้เหลือเพียง XL เพื่อหลอกหลวงให้คุณศิริวรรณ ซื้อเสื้อเชิ้ตที่ผิดไซส์ดังกล่าวไป อาจเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         คุณศิริวรรณจึงสามารถนำสินค้าไปเปลี่ยน หรือ ขอคืนเงินจากร้านขายเสื้อได้ทันที รวมถึงสามารถเอาผิดกับเจ้าของร้านค้าได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 มอเตอร์ไซค์ขาดต่อ พ.ร.บ. เกิดอุบัติเหตุยังได้สิทธิรักษาหรือไม่

        บ่ายวันหนึ่งคุณพิพัฒน์ออกไปซื้อของที่ตลาดนัดแห่งหนึ่งแถวละแวกบ้าน หลังอาบน้ำแต่งตัวเสร็จเรียบร้อย ก็เดินมาหยิบกุญแจรถมอเตอร์ไซค์ที่วางไว้บนโต๊ะทำงาน แต่ปรากฏว่า กุญแจรถที่เคยวางอยู่บนโต๊ะหายไป คุณพิพัฒน์จึงคิดว่าลูกสาวคงยืมรถมอเตอร์ไซค์ไปหาเพื่อน จึงหยิบกุญแจรถมอเตอร์ไซค์อีกคัน ซึ่งเป็นรถพ่วงข้างของตนเองที่เอาไว้ใช้งานขนของแต่รถคันนี้เป็นคันที่ยังไม่ได้ต่ออายุตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535         เมื่อทำธุระในตลาดเสร็จเรียบร้อย คุณพิพัฒน์ขับขี่รถกลับบ้านอย่างช้าๆ เพราะเป็นรถพ่วงข้าง ซึ่งไม่ค่อยได้นำออกมาใช้งานนัก เมื่อขับขี่มาจนถึงบริเวณด้านหน้าปากซอยขณะที่กำลังจะเลี้ยวเข้าบ้านนั้น คุณพิพัฒน์ได้กะจังหวะการเลี้ยวผิด ทำให้รถพุ่งไปชนกับรั้วบ้านจนได้รับบาดเจ็บแขนหัก ต่อมาเพื่อนบ้านที่เห็นเหตุการณ์ได้นำตัวคุณพิพัฒน์ส่งโรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้าน หลังเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารสิทธิแล้วได้แจ้งว่า คุณพิพัฒน์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเองทั้งหมด เพราะว่ารถพ่วงข้างที่คุณพิพัฒน์ขับขี่แล้วเกิดอุบัติเหตุนั้นเป็นรถที่ไม่ได้ต่อ พ.ร.บ.         ในกรณีแบบนี้ คุณพิพัฒน์จะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลกับหน่วยงานใดได้บ้าง และเบิกจ่ายได้แค่ไหน แนวทางแก้ไขปัญหา        ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 หรือที่เราเรียกกันว่า “ประกันภัยภาคบังคับ” หรือ “ พ.ร.บ.รถ”  กฎหมายบังคับให้รถทุกคัน ทุกประเภท ที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกต้องทำไว้ เพื่อให้ความคุ้มครองกับตัวบุคคลที่ได้รับผลจากอุบัติเหตุ ซึ่งตัวบุคคลที่ว่านั้นหมายถึง ผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลภายนอก ในความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และอนามัย โดยจะได้รับเป็นเงินค่าชดเชยความเสียหายเบื้องต้นและค่าสินไหมทดแทน        จากข้อเท็จจริงกรณีนี้พบว่า คุณพิพัฒน์ขับขี่รถมอเตอร์ไซด์ด้วยความประมาทล้มเองไม่มีคู่กรณี และรถมอเตอร์ไซค์ไม่ได้จัดทำ พ.ร.บ. จึงไม่ได้รับความคุ้มครองใดตามสิทธิใน พ.ร.บ. นี้ แต่จะเข้าในสิทธิประกันสุขภาพที่สังกัด เช่น พ.ร.บ.ประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง หรือสิทธิประกันสังคม หรือสิทธิข้าราชการ ซึ่งกรณีอุบัติเหตุหากร้ายแรงอยู่ในเกณฑ์อันตรายถึงแก่ชีวิตจะเข้าข่ายกรณีฉุกเฉิน เมื่อ รพ.เอกชนได้ดูแลเบื้องต้นจนอาการปลอดภัยแล้ว จะต้องเข้ารักษาต่อที่ รพ.ตามที่มีสิทธิอยู่ต่อไป โดยไม่ต้องจ่ายค่ารักษา แต่กรณีอาการไม่ถึงแก่ชีวิตหากเข้ารักษาตัวใน รพ.เอกชน ก็ต้องสำรองเงินตนเองจ่ายไปก่อน        แต่ถ้ารถมอเตอร์ไซค์คุณพิพัฒน์จัดทำ พ.ร.บ. ไว้ คุณพิพัฒน์จะสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ในส่วนค่าเสียหายเบื้องต้น คือ ค่ารักษาพยาบาลตามจริงไม่เกิน 30,000 บาท และเงินชดเชย 35,000 ต่อคน กรณีเสียชีวิต        ดังนั้นการต่ออายุ พ.ร.บ. หรือ ประกันภัยภาคบังคับ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของรถทุกคน เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ต้องป้องกันไว้ก่อนเป็นดีที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 ช่วยด้วยน้ำประปาคอนโดไม่สะอาด

        การซื้อคอนโดมิเนียม ผู้ซื้อส่วนใหญ่ต่างคาดหวังไว้ค่อนข้างสูงว่าบริการต่างๆ จะสะดวกสบายไม่มีปัญหาอะไร เพราะมีคนที่ส่วนกลางจัดการดูแลให้ ซึ่งหลายคนอาจผิดหวัง เพราะแท้จริงแล้วปัญหาเรื่องคอนโดมีมากมายหลากหลาย อาจจะเริ่มตั้งแต่จองคอนโดไปจนถึงคอนโดจะสร้างเสร็จหรือไม่ จนย้ายเข้ามาอยู่แล้วก็ยังมีปัญหาได้อีก เช่นกรณีของคุณภูผา          เดือนธันวาคม 2559 คุณภูผา ซื้อคอนโดโครงการหนึ่งย่านถนน เพชรเกษม – ท่าพระ ของบริษัท Nราคาเกือบสามล้านบาท ต่อมาประมาณเดือนเมษายน 2560 เขาพบว่าน้ำประปาในคอนโดไม่สะอาด มีสีเหลืองขุ่น มีตะกอน และเริ่มมีอาการคัน ผื่นแดงขึ้นบริเวณใบหน้าและลำตัว ตอนแรกคุณภูผาคิดว่าตัวเองคงแพ้อากาศ แพ้ฝุ่น ไม่ได้คิดอะไรมาก ต่อมาเมื่อเขาได้เริ่มพูดคุยกับลูกบ้านห้องอื่นในคอนโด ถึงรู้ว่าน้ำประปาของลูกบ้านห้องอื่น ไม่สะอาด มีสีเหลืองขุ่น มีตะกอน เหมือนกับเขา และลูกบ้านบางคนมีอาการคัน ผื่นแดงขึ้นตามตัวและใบหน้าเหมือนกับเขาอีก เขาสงสัยว่าปัญหาน่าจะมาจากน้ำประปาเป็นแน่ จึงแจ้งนิติบุคคล         เบื้องต้นทราบว่า บริษัท N เจ้าของโครงการได้ตรวจสอบแทงก์น้ำด้านบนและด้านล่างของคอนโดพบว่า น้ำใสไม่มีสี แต่เมื่อมองผ่านน้ำลงไปเห็นอุปกรณ์ด้านล่างเป็นสนิม จึงมีการทดสอบโดยนำสำลีมากรองก๊อกน้ำบริเวณต่าง ๆ ภายในห้องที่พักอาศัย เช่น อ่างล้างหน้า อ่างล้างจาน ระเบียง เป็นต้น พบว่า น้ำไม่ใส สีเหลืองขุ่น และมีคราบตะกอนคล้ายสนิมติดอยู่ที่สำลี เมื่อพบปัญหาดังกล่าวบริษัทเจ้าของโครงการได้ทำการล้างแทงก์น้ำทั้งด้านบนและด้านล่างของคอนโด อย่างไรก็ตามหลังจากล้างแทงก์แล้วคุณภูผาและลูกบ้านก็ยังพบปัญหาอยู่เหมือนเดิม อาการผื่นแดงก็ยังไม่หายไปไป เขาได้ไปพบแพทย์ผิวหนังและเล่าปัญหาน้ำประปาในคอนโดให้คุณหมอฟัง คุณหมอลงความเห็นว่า เขาน่าจะแพ้น้ำประปา        เมื่อการล้างแทงก์น้ำไม่สามารถแก้ปัญหาได้ บริษัท N  จึงจ้าง E ซึ่งเป็นบริษัททดสอบคุณภาพน้ำ เข้าเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อนำไปทดสอบ โดยไม่ได้แจ้งให้เขาและลูกบ้านคนอื่น ๆ ทราบ ผลปรากฏว่า น้ำประปาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่บ่อพักน้ำชั้นดาดฟ้าตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย Salmonella         ต่อมามีการประชุมสามัญประจำปี 2561 ที่ประชุมได้นำปัญหาเรื่องน้ำในคอนโดเข้ามาพูดคุยเพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน ที่ประชุมมีความเห็นให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการเรื่อง “การตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาภายในคอนโด” ประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือ บริษัท N  นิติบุคคล และกรรมการนิติบุคคล ตรวจสอบคุณภาพน้ำก่อน-หลัง จำนวน 10 จุด โดย บ. S และล้างไล่ตะกอน(ฟลัชน้ำ) ในระบบท่อจ่ายน้ำหลักและปล่อยน้ำไล่ตะกอนในแต่ละห้อง โดยบริษัทเจ้าของโครงการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ผลทดสอบจาก บ. S ปรากฏว่า ค่าน้ำได้มาตรฐาน หลังจากการฟลัชน้ำลูกบ้านทำการทดสอบโดยใช้สำลีกรองน้ำ แต่ยังพบปัญหาเช่นเดิม คราวนี้น้ำยังมีเมือกและเหนียวอีกด้วย บริษัทเจ้าของโครงการชี้แจงว่าการทดสอบโดยสำลีไม่สามารถพิสูจน์หรือตรวจสอบคุณภาพน้ำได้ แต่ลูกบ้านยังเชื่อว่าน้ำไม่สะอาด จึงเสนอให้มีการตรวจตะกอนจากสำลีที่ใช้กรองน้ำ         ลูกบ้านมีจุดยืนว่าน้ำไม่สะอาด มีตะกอน ไม่สามารถใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคได้ตามปกติ ส่วนจุดยืนของบริษัทเจ้าของโครงการมีว่า ทดสอบคุณภาพน้ำแล้วอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้ไม่สามารถตกลงกันได้ คุณภูผาจึงพากลุ่มลูกบ้านมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อให้ช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำผู้ร้องว่า ปัญหาน้ำประปาไม่สะอาดอาจเกิดจากท่อน้ำของคอนโดไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งท่อน้ำถือเป็นส่วนควบของคอนโด บริษัทเจ้าของโครงการต้องรับผิดในเรื่องของความชำรุดบกพร่องของส่วนควบเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี นับแต่วันจดทะเบียนอาคารชุด ผู้ร้องและกลุ่มต้องทำหนังสือขอให้แก้ไขปัญหาเรื่องน้ำประปาไปยังบริษัทฯ  เพื่อยืนยันว่าปัญหาที่เกิดขึ้นยังอยู่ในระยะเวลา 2 ปีที่บริษัทต้องรับผิดชอบ และเป็นหลักฐานว่าลูกบ้านได้แจ้งแล้วแต่บริษัทไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้หากมีการดำเนินคดีในอนาคต         ต่อมาศูนย์พิทักษ์ฯ ได้นัดประชุมระหว่างกลุ่มลูกบ้าน บริษัทเจ้าของโครงการ ตกลงกันว่าให้มูลนิธิเป็นคนกลางเข้าตรวจสอบปัญหาน้ำประปาในโครงการว่ามีปัญหาหรือไม่ ผลการตรวจสอบพบว่า บางห้องน้ำไม่ใส มีตะกอนจริง         บริษัทฯ รับว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาห้องที่พบตะกอน และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนของค่ารักษาพยาบาลอาการผื่นแพ้น้ำของลูกบ้านที่มีปัญหา         ผ่านมาถึงปี 2562 คุณภูผา ยังพบปัญหาน้ำประปาขุ่นและมีตะกอนอีก แจ้งบริษัทฯ แล้วแต่ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้ กลุ่มลูกบ้านจึงรวมตัวกันดำเนินคดีกับบริษัทเจ้าของโครงการโดยมีนิติบุคคลเป็นตัวแทนฝ่ายโจทก์ ขณะนี้เรื่องอยู่ในชั้นศาล ได้ความอย่างไรจะรายงานในคราวถัดไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 ค่าน้ำค่าไฟฟ้าหอพักอยู่ๆ นึกจะขึ้นราคาได้ไหม

        ประมาณปี 2561 มีข่าวดีให้ผู้บริโภคได้ฮือฮาอยู่พักหนึ่งว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ออกประกาศเพื่อให้หอพักเก็บค่าไฟฟ้า น้ำประปา ตามอัตราเดียวกับที่เก็บกับบ้านเรือนทั่วไป แต่เมื่อมีการทวงสิทธิจากผู้ให้บริการหอพักว่าไม่เป็นธรรมด้วยเหตุผลต่างๆ สุดท้ายก็ต้องออกประกาศใหม่ ซึ่งกำหนดไว้เพียงว่า ผู้ให้เช่าต้องระบุข้อความเป็นภาษาไทยไว้ในสัญญาที่มีสาระสำคัญแสดงถึงอัตราค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ โดยแสดงวิธีการคำนวณและกำหนดระยะเวลาชำระค่าสาธารณูปโภค ตามข้อ 4 (1.7) ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2562         คราวนี้มีกรณีร้องทุกข์จากคุณสุโขทัย มาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่าตนเองเช่าหอพัก ในเขตอำเภอเมือง มหาสารคาม วันหนึ่งเจ้าของหอพักก็แจ้งต่อผู้เช่าว่า จะคิดราคาค่าน้ำ ค่าไฟใหม่ จากเดิมค่าน้ำ หน่วยละ 24 บาท เป็น 35 บาท ค่าไฟฟ้าจากเดิมหน่วยละ 8 บาท เป็น 10 บาท คุณสุโขทัยขอคำปรึกษาว่า ตนเองจะทำอะไรได้บ้างไหม เพราะมีผลกระทบโดยตรง แนวทางแก้ไขปัญหา        ถ้าพิจารณาตามประกาศของ สคบ. อยู่ๆ ผู้ให้เช่าจะปรับราคาขึ้นไม่ได้ ต้องชี้แจงหรือเปลี่ยนแปลงในสัญญาเช่าเสียก่อน และเพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์ให้คุณสุโขทัย ทางศูนย์ฯ ได้นำเรื่องดังกล่าวร้องเรียนต่อ สคบ.เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวว่าเป็นการคิดราคาเกินสมควรหรือไม่         ต่อมาทาง สคบ.ได้ตอบหนังสือกลับมาว่า หอพักดังกล่าวอยู่ในจังหวัดมหาสารคาม จึงส่งเรื่องร้องเรียนให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดมหาสารคามพิจารณาตรวจสอบหอพักที่เป็นต้นเรื่องเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป ต่อมาได้รับทราบว่าเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองมหาสารคาม ได้ติดต่อกับผู้ร้องพบว่า ผู้ร้องคือคุณสุโขทัยได้ย้ายออกจากหอพักดังกล่าวแล้ว และเมื่อคณะอนุกรรมการฯ ได้สอบข้อเท็จจริงพบว่า กรณีหอพักมีการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าและน้ำประปาเพิ่มจากเดิมนั้น เป็นเพียงผู้ดูแลได้มีการแจ้งกับผู้เช่าหอว่าจะมีการปรับขึ้นราคา แต่ผู้เช่าส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย จึงมิได้ดำเนินการต่อยังคงเก็บในอัตราเดิม คือ ค่าไฟฟาหน่วยละ 8 บาท และค่าน้ำประปาหน่วยละ 24 บาท         ดังนั้นหากท่านผู้บริโภคพบว่ามีการคิดอัตราค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าหอพักในราคาที่ไม่เป็นธรรม โดยมิได้แจ้งให้ทราบตามเงื่อนไขสัญญาเช่า สามารถร้องเรียนได้ที่ สคบ. ต่างจังหวัดแจ้งโดยตรงได้ที่ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 เรือโดยสารคลองแสนแสบคือทางเลือกจริงหรือ

        สถานการณ์ปัญหาจราจรที่ติดขัดในกรุงเทพมหานคร ไม่ได้เพียงสร้างปัญหาให้กับประชาชนผู้บริโภคจำนวนมากที่ต้องเสียเวลาไปกับการจราจรที่ติดขัดบนท้องถนนเท่านั้น แต่สำหรับคุณภาพชีวิตของสังคมภาพรวมก็พลอยได้รับผลกระทบที่ย่ำแย่ไปด้วย ทางเลือกรูปแบบอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ติดขัดของคนเมืองจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมา การเดินทางด้วยเรือโดยสาร เช่น เรือโดยสารคลองแสนแสบ ที่สะดวกรวดเร็วไม่ต้องเจอปัญหาติดขัดบนท้องถนน กลายเป็นทางเลือกหนึ่งที่นิยมของประชาชนจำนวนมาก         แต่การเดินทางด้วยเรือโดยสารแม้จะมีข้อดีที่สะดวกรวดเร็วประหยัดราคาถูกเมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยรถยนต์บนท้องถนน แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยหลายประการ เช่น ปัญหาความแออัดของผู้โดยสารบนเรือในช่วงเวลาเร่งด่วน ปัญหาความไม่ปลอดภัยของท่าเรือหรือจุดจอดรับส่งผู้โดยสาร ปัญหาโครงสร้างและการไม่มีอุปกรณ์ป้องกันบนเรือโดยสารที่ไม่ปลอดภัย ตลอดจนปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมทางน้ำในคลองที่มีกลิ่นเหม็น ทางอากาศที่มาจากการเผาผลาญเชื้อเพลิง และทางเสียงที่ดังของเครื่องยนต์เรือโดยสาร        หลายปัญหาที่เกิดจากบริการเรือโดยสารไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนจากผู้ประกอบการเรือโดยสาร คือ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ราคาค่าโดยสารยังอยู่เท่าเดิม ขณะที่เสียงสะท้อนของผู้โดยสารที่ใช้บริการ ทั้งหมดตอบเกือบเป็นเสียงเดียวกันว่า จำใจต้องใช้บริการเพราะไม่มีทางเลือกอื่น ยอมรับว่าสะดวกกว่ารถโดยสารประจำทาง ในแง่ของการบริหารเวลาเท่านั้น ถ้าราคาแพงกว่านี้คงไม่ใช้ เป็นต้น         กว่า 30 ปีที่เรือโดยสารคลองแสนแสบเปิดให้บริการ พบว่า มีผู้บริโภคที่ใช้บริการเรือโดยสารคลองแสนแสบตั้งแต่ปี 2560 - 2562 จำนวน 60,607,648 คน ต่อเที่ยวเรือ 377,395 เที่ยว และเมื่อเปรียบเทียบ พบว่า ปี 2562 มีผู้ใช้บริการมากที่สุด ถึง 22,573,874 คน (ข้อมูลกรมเจ้าท่า 2562) ซึ่งถือว่าปัจจุบันมีผู้บริโภคที่ต้องการใช้บริการเรือโดยสารคลองแสนแสบเป็นจำนวนมาก ส่วนราคาค่าบริการเรือโดยสารกลุ่มเรือโดยสารคลองแสนแสบอยู่ในอัตราตามระยะทางตั้งแต่ 9 – 19 บาท (กลุ่มสถิติวิเคราะห์ สำนักแผนงาน กรมเจ้าท่า ปีงบประมาณ 2562)           ขณะที่ผู้ใช้บริการเรือโดยสารหลายคนอาจไม่รู้ว่าเลย ทุกคนมีสิทธิอะไรบ้างเมื่อเกิดอุบัติเหตุขณะใช้บริการเรือโดยสาร เพราะข้อมูลเหล่านี้ไม่ถูกเผยแพร่หรือประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนผู้บริโภคทั่วไปให้ทราบก่อนใช้บริการ เช่น ทุกคนมีสิทธิความคุ้มครองจากประกันภัยภาคบังคับของเรือโดยสาร กรณีเสียชีวิต สูญเสียดวงตา สายตา แขน ขา ทั้งสองข้าง หรือทุพพลภาพถาวร (ไม่สามารถทำงานเลี้ยงชีพอย่างหนึ่งอย่างใดได้ตลอดไป) จะได้รับค่าชดเชยเยียวยา คนละ 100,000 บาท กรณีสูญเสียดวงตา สายตา แขน ขา หรือสมรรถภาพในการใช้แขนหรือขาหนึ่งข้าง จะได้รับค่าชดเชยเยียวยา คนละ 60,000 บาท และกรณีบาดเจ็บได้ค่ารักษาพยาบาล คนละไม่เกิน 15,000 บาท          แม้อุบัติเหตุที่เกิดกับเรือโดยสารจะเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนักเมื่อเทียบกับอุบัติเหตุทางถนน แต่การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลสิทธิประโยชน์สำหรับผู้บริโภคที่ใช้บริการนั้นมีสำคัญและจำเป็นสำหรับการใช้บริการ ตลอดจนข้อมูลช่องทางการร้องเรียนเพื่อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาการให้บริการเรือโดยสารที่มีความปลอดภัย จากข้อมูลกรมเจ้าท่าปี 2561 มีเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคในการใช้บริการเรือคลองแสนแสบจำนวน 47 เรื่อง ส่วนใหญ่เกี่ยวกับมารยาทในการให้บริการของพนักงาน บรรทุกผู้โดยสารเกิน การขับเรือเร็ว ไม่จอดเรือเทียบท่า เป็นต้น ขณะที่ผลสำรวจผู้บริโภคในการใช้บริการเรือโดยสารคลองแสนแสบ ปี 2561(ข้อมูลกรมเจ้าท่า 2562) พบว่า ผู้บริโภคไม่พึงพอใจต่อความเพียงพอของที่นั่งบริเวณท่าเรือ ร้อยละ 57.20 ความพร้อมของอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยบนท่าเรือ ร้อยละ 59.67 และมารยาทในการให้บริการของพนักงานเรือ ร้อยละ 59.96         กล่าวโดยสรุป ปัญหาที่เกิดกับการใช้บริการเรือโดยสารคลองแสนแสบ ณ ปัจจุบัน อาจจะไม่ใช่เรื่องราคาค่าบริการเนื่องจากอัตราค่าบริการในปัจจุบันยังมีอัตราที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับระยะเดินทางและความสะดวกที่ผู้บริโภคได้รับ แต่สิ่งที่ผู้บริโภคเรียกร้องเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงปรับปรุง คือ คุณภาพบริการและมาตรฐานความปลอดภัยของเรือโดยสารมากกว่า การเปลี่ยนเรือน้ำมันเป็นเรือไฟฟ้าเพื่อลดมลพิษรักษาสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพดี จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่รัฐควรส่งเสริมควบคู่ไปกับการกำกับมาตรฐานของพนักงานขับเรือและมาตรการป้องกันความปลอดภัยทางน้ำอย่างเป็นระบบ สนับสนุนให้คนใช้บริการทางเรือเพิ่มมากขึ้น เชื่อมต่อกับระบบขนส่งทางบกและจุดจอดบริการรถโดยสารสาธารณะเพื่อการเข้าถึงของผู้บริโภคที่ใช้บริการอย่างเป็นระบบและปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 สภาองค์กรผู้บริโภคเกิดช้า ผู้บริโภคมีแต่เสียประโยชน์ (1)

        นับแต่ประเทศไทยมีกฎหมายชื่อว่า “พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562” ซึ่งได้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฏาคม 2562 บรรดาองค์กรผู้บริโภคมีความตื่นตัวไปใช้สิทธิจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภคตามกฎหมาย เพื่อให้ได้ 150 องค์กรมารวมตัวกันเริ่มจัดตั้งเป็น “สภาองค์กรผู้บริโภค” เป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ  มีฐานะเป็น “ตัวแทนผู้บริโภคระดับประเทศ” คอยเป็นปากเป็นเสียง เรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้กับผู้บริโภคเรา เช่นเดียวกับที่ภาคธุรกิจที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคอยรักษาประโยชน์ให้ภาคธุรกิจ           ตอนนี้ผ่านมากว่า 8 เดือนแล้ว  “สภาองค์กรผู้บริโภค”ก็ยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่ปัญหาผู้บริโภคยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ยิ่งในช่วงเวลานื้ที่มีไวรัสโควิด 19 กำลังระบาดในประเทศไทย ผู้บริโภคต้องเผชิญปัญหามากมาย ทั้งหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่ขายเกินราคา ไม่มีคุณภาพสินค้าขาดตลาด  ถ้ามี"สภาองค์กรผู้บริโภค" ตอนนี้เราจะมีตัวแทน เป็นปากเป็นเสียงแทนเรา ในการตรวจสอบและเสนอแนะกับหน่วยงานรัฐ ให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่องหน้ากากอนามัย โต้แย้งข้อมูลปลอมที่อ้างว่าหน้ากากมีเพียงพอ รวมถึงแจ้งเตือนภัยผู้บริโภค เปิดเผยชื่อสินค้า ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจที่จำหน่ายหน้ากากปลอม ไม่มีคุณภาพมาตรฐานเอาเปรียบผู้บริโภค พร้อมรายงานไปยังหน่วยงานรัฐให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย         หรือ “ปัญหาของสายการบิน” ที่พบว่าในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญกับปัญหาโรคระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด 19 สายการบินต่างๆ มีการประกาศระงับการบริการ และแจ้งข้อเสนอให้ผู้บริโภคเลือกระหว่างการเลื่อนวันเดินทาง หรือเก็บเครดิตวงเงินไว้เพื่อใช้ในภายหลัง ซึ่งมีกำหนดเวลา 365 วัน โดยไม่มีทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถขอเงินคืนได้ หรือปัญหาสำหรับผู้ที่เลือกรับตามเงื่อนไขของสายการบิน แต่การติดต่อก็มีความยุ่งยาก เพราะไม่มีการใช้พนักงานมาประสานด้วยตนเอง กลับให้ผู้บริโภคติดต่อผ่านระบบ AI ที่เพียงการตอบคำถามตามที่ตั้งค่าไว้ ไม่สามารถให้คำอธิบาย หรือแก้ไขปัญหาแก่ผู้บริโภคได้อย่างเป็นรูปธรรม  สิ่งที่ผู้บริโภคต้องเผชิญคือ ถูกบังคับให้รับสิทธิตามที่บริษัทเสนอไว้ โดยไม่มีอำนาจต่อรอง บางคนติดต่อทำเรื่องขอเงินคืน แต่ก็ไม่ได้รับการดูแล และเงื่อนไขการกำหนดวงเงินเครดิตที่ไม่เป็นธรรมของสายการบินที่ให้เราต้องรีบใช้เงินตัวเองภายใน 365 วัน เรื่องต่างๆ เหล่านี้จะยังคงเกิดขึ้นต่อไป และเกิดซ้ำไปซ้ำมา เพราะเราไม่มี “ตัวแทน”มาคอยช่วยต่อรองแทนให้ ดังนั้น หากมี "สภาองค์กรผู้บริโภค" ก็จะเป็นตัวแทนของผู้บริโภค รวบรวมข้อมูลผู้เสียหาย รวมกลุ่มผู้บริโภคเจรจาต่อรองกับสายการบินต่างๆ เพื่อให้คืนเงินแก่ผู้บริโภคเต็มจำนวน รวมถึงตรวจสอบการกระทำของสายการบินต่างๆ ที่ออกเงื่อนไขที่ไม่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคให้หน่วยงานรัฐดำเนินการแก้ไข หรือออกกติการมากำกับให้เกิดแนวทางหรือมาตรการทางกฎหมายที่ป้องกันไม่ให้เกิดการเอาเปรียบ และคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค รวมทั้งสภาองค์กรผู้บริโภค ยังมีทีมนักกฎหมาย ทั้งทนายความและนักวิชาการเพื่อเข้าช่วยเหลือเจรจาต่อรอง รวมถึงฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิแทนผู้บริโภคได้ด้วย        ประเด็นคุ้มครองผู้บริโภคยังเชื่อมโยงถึงเรื่อง “การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม” ด้วย โดยเกี่ยวข้องกับการบริโภคที่ยั่งยืน เช่น การที่บริษัท ร้านค้าต่างๆ เลือกใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจากโฟม หรือพลาสติก ผู้บริโภคส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนที่สั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นรับส่งอาหารทางออนไลน์ มักไม่ทราบข้อมูลของภาชนะบรรจุภัณฑ์ที่ร้านค้าใช้  ส่วนผู้ประกอบธุรกิจรับส่งอาหาร หรือฟู้ดเดลิเวอรี่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของผู้บริโภค มีการไปเก็บค่าส่วนแบ่งจากร้านค้าเพิ่มขึ้น จนทำให้ร้านค้าต้องเพิ่มราคาอาหาร กระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง หรือหากร้านใดมีการคิดค่าบริการขนส่งสินค้า การเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่แตกต่างกัน ผู้บริโภคก็ไม่สามารถทราบข้อมูลได้ทั้งหมด จึงต้องมี “ตัวแทนผู้บริโภค” ทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลจำเป็นที่ผู้บริโภคควรรู้ในการเลือกใช้บริการรับส่งอาหาร เพื่อใช้ข้อมูลในการตัดสินใจเลือกใช้ผู้ให้บริการที่เกิดประโยชน์กับผู้บริโภคสูงสุด มีข้อมูลเปรียบเทียบราคาค่าส่งของแต่ละราย รวมถึงช่วยตรวจสอบราคาอาหาร ค่าบริการเพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากการคิดราคาค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม            นอกจากนี้ “ตัวแทนผู้บริโภค” ยังช่วยทำหน้าที่วิเคราะห์ปัญหาภาพรวมที่เกิดขึ้น และมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีกฎหมาย หรือมาตรการดูแลผู้บริโภค อย่างเช่น กรณีของการจัดการปัญหาค่าบริการของธุรกิจรับส่งอาหารในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินของโรคระบาดโควิด 19  สภาองค์กรผู้บริโภคที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคสามารถเสนอแนะไปยังหน่วยงานรัฐ ให้ลดค่าจัดส่งอาหารแก่ผู้บริโภค โดยลดค่าส่วนแบ่งร้านค้า เนื่องจากช่วงเวลานี้ ผู้บริโภคประสบปัญหาค่าใช้จ่าย มีรายได้ลดลงจากสถานการณ์ปัญหาโรคระบาด จึงควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้บริโภค อีกทั้งผู้ประกอบธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ มีรายได้มากขึ้นจากการที่ผู้บริโภคใช้บริการรับส่งอาหารมากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถซื้อจากหน้าร้าน หรือกักตัวอยู่ในบริเวณที่พักตนเองเพื่อป้องกันโรค ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมนโยบาย “หยุดเชื้อเพื่อชาติ” ควรลดราคาค่าจัดส่งแก่ผู้บริโภค โดยอย่างน้อยราคาต้องไม่เกินกว่าราคาอาหารหน้าร้าน พร้อมทั้งส่งเสริมค่าตอบแทนที่เป็นธรรมทั้งร้านค้าและผู้ส่ง  รวมถึงเสนอต่อผู้ประกอบธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ควรมีนโยบายรักษาความปลอดภัยสุขอนามัยของผู้บริโภค และการบริโภคที่ยั่งยืน โดยการส่งเสริมให้ร้านค้างดใช้ภาชนะโฟมใส่อาหารร้อน หลีกเลี่ยงการใช้บรรจุภัณฑ์โฟม เพื่อลดขยะโลก โดยทำระบบแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารให้มีเมนูเพื่อให้ผู้บริโภคเลือกร้านค้าที่ใช้ภาชนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือมีระบบเลือกรับภาชนะที่ไม่ใช้โฟม เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในการมีอิสระในการเลือกสินค้าและบริการ รวมถึงมีนโยบายควบคุมพนักงานส่งอาหารเลี่ยงการรับและทอนเงินสดในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ผู้ให้บริการควรมีช่องทางการโอนเงินที่ง่ายและสะดวกสำหรับผู้รับบริการ หรือกรณีจ่ายเงินสด พนักงานต้องสวมถุงมือป้องกัน เป็นต้น        ทุกท่านจะเห็นได้ว่า การมีสภาองค์กรผู้บริโภคนั้น สำคัญต่อผู้บริโภคมากขนาดไหน เพราะเกี่ยวข้องในเกือบจะทุกเรื่องในชีวิตประจำวัน และสำคัญยิ่งที่วาระวิกฤต ไม่เพียงเท่านั้นอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญของ สภาองคืกรผู้บริโภค คือ การสร้างและพัฒนาองค์กรที่ทำงานจริงจังในการพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคให้เข้มแข็ง ซึ่งจะขอกล่าวถึงในฉบับถัดไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 ‘สภาพคล่อง’ คล่องแค่ไหนถามใจคุณดู

        ครั้งที่แล้วพูดเรื่องความสำคัญของ ‘เงินฉุกเฉิน’ ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานที่ไวรัสโควิด-19 กำลังแพร่ระบาด เศรษฐกิจชะงักงัน ซ้ำยังมีการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ให้ตกอกตกใจอีก        เชื่อว่าในภาวะนี้แหละที่เงินฉุกเฉินสุดแสนจะสำคัญ ใครที่มีอยู่แล้วก็คงพออุ่นใจได้ ส่วนใครที่ไม่มีหรือยังเพิ่งเริ่มคงต้องกัดฟันและยืนหยัดให้ผ่านช่วงนี้ไปให้ได้         ฉบับนี้จะขอพูดเรื่องใหญ่อีกเรื่องในการจัดการเงินของคุณ ยิ่งในสภาวะแบบนี้ยิ่งสำคัญ สิ่งนั้นก็คือ...         ‘สภาพคล่อง’ หรือ liquidity         ถ้าใครผ่านหูผ่านตาข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจบ้าง น่าจะคุ้นหูกับคำนี้ แต่อาจยังสับสนว่ามันคืออะไรหว่า?         ตอบแบบทั่วไป มันก็คือความสามารถในการเปลี่ยนสิ่งของหรือทรัพย์สินเป็นเงินสด อาจยังเข้าใจยากอยู่นิดหน่อย พูดให้บ้านๆ มากขึ้น การใช้ชีวิตแต่ละเดือนของคุณ ถ้ามีเงินเหลือถือว่าคุณจัดการสภาพคล่องได้ค่อนข้างโอเค ถ้าหมดก็เริ่มไม่โอเค ถ้าขาดก็ไม่โอเคอย่างแรง         ในกรณีที่เงินขาดมือ แต่คุณยังมีทรัพย์สินอื่นๆ ที่เอาไปขาย ไปจำนำ แล้วได้เงินกลับมารวดเร็วเอาไปใช้สอยต่อได้ ถือว่ายังมีสภาพคล่องอยู่ ถามว่ากู้เงินมาได้เป็นสภาพคล่องไหม? เป็น เพราะองค์กรธุรกิจก็กู้เงินมาเสริมสภาพคล่องกันตามที่ได้ยินในข่าว เนื่องจากต้องการเงินสดไปใช้หมุนเวียนในธุรกิจ ชีวิตเราก็เหมือนกัน เรากู้เงินมาเสริมสภาพคล่องได้ ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ แต่ต้องจดจำไว้เสมอว่า มันคือหนี้สิน มันคือเงินจากอนาคตที่เราดึงมาใช้ก่อน          ถามว่าอะไรคล่องที่สุด แน่นอน เงินสด ส่วนทรัพย์สินอื่นๆ ก็มีสภาพคล่องสูงต่ำต่างกันไป เช่น ทองคำ รถ พระเครื่อง ที่ดิน เป็นต้น สามสี่อย่างนี้การเปลี่ยนเป็นเงินสดทำได้ช้าเร็วแตกต่างกัน คุณเอาทองคำไปโรงจำนำหรือร้านทองกับการประกาศขายที่ดิน คงไม่ต้องเปรียบเทียบไปมากกว่านี้        แต่ประเด็นที่อยากบอกเล่ากันจริงๆ ก็คือ คุณต้องรู้จักบริหารสภาพคล่องให้เป็น เมื่อมีรายได้ หักเงินออมแล้ว ยังมีเงินเหลือใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอย่างคล่องมือ จะได้ไม่ต้องเอาทรัพย์สินที่มูลค่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคตมาแปลงเป็นเงินสดหรือต้องกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อเสริมสภาพคล่อง เพราะมันหมายถึงการเสียโอกาสทางการเงิน         คำถามสำคัญมีอยู่ว่า แล้วจะรักษาสภาพคล่องทางการเงินไว้ได้ยังไง?        คำตอบจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เพราะมันขึ้นกับใจและตัวคุณล้วนๆ ถ้าติดหรู อยู่แพง ใช้จ่ายเกินตัว เห็นป้าย SALE เป็นวิ่งเข้าใส่ โดยที่รายได้คุณไม่มากพอที่จะรองรับไลฟ์สไตล์ได้ รูดปื้ดๆ แล้วผ่อนจ่ายขั้นต่ำ แบบนี้ก็รอหายนะทางการเงินได้เลย        ตรงกันข้าม ถ้าคุณมีวินัยทางการเงิน รู้จักประหยัด รู้จักใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น เก็บเงินเพื่อซื้อของราคาสูงด้วยเงินสด ไม่ติดหนี้บัตรเครดิต ฟุ่มเฟือยบ้างตามวาระอย่างเหมาะสม (ไม่ได้บอกว่าห้ามเลยนะ ไม่งั้นชีวิตจืดชืดแย่) คุณก็จะรักษาสภาพคล่องได้ ไม่เดือนชนเดือน ชีวิตจะมีความสุขขึ้นอีกเยอะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 ความจริงของ COVID-19 และวิธีการฆ่าไวรัส

ไวรัส COVID-19 คืออะไร        ไวรัสเป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งแต่แปลกแยกจากจุลินทรีย์อื่นๆ เช่นแบคทีเรีย ราและสาหร่าย ตรงที่ว่าไวรัสไม่ใช่สิ่งมีชีวิต   มันต้องอาศัยเซลล์ของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นเพื่อเพิ่มจำนวน   สิ่งมีชีวิตแทบทุกชนิดมีไวรัสเป็นปรสิต  แม้แต่อาร์เคียแบคทีเรียที่อาศัยในน้ำพุร้อนกรดยังมีไวรัสตามไปรังควาน   มนุษย์สุขภาพดีทั่วไปมีไวรัสแอบอาศัยอยู่ด้วยโดยไม่ก่อให้เกิดอาการป่วยประมาณ 5 ชนิดเลยทีเดียว (Wylie และคณะ 2014) และแน่นอนว่าไวรัสเหล่านี้พร้อมจะทำให้เราเจ็บป่วยหรือแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ทุกเมื่อ        Coronavirus disease of 2019 หรือ COVID-19 มีชื่อไทยว่าไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เป็นน้องใหม่ล่าสุดลำดับที่ 7 ของไวรัสกลุ่มโคโรนาที่ก่อโรคหวัดในมนุษย์   ผู้ป่วยด้วยโรคหวัดทุกปีประมาณ 10-30% จะมีสาเหตุจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 229E, NL63, OC43 และ HKU1   ส่วนไรโนไวรัส (Rhinovirus) เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของโรคหวัด  แต่ก่อนใครเป็นหวัดก็ให้พักผ่อนและรักษาดูแลกันไปตามอาการ  ยาแก้ปวดลดไข้อย่างพาราเซตามอลก็กินไปเพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานจากอาการของโรคไม่ได้เป็นยาต้านไวรัสและไม่มีใครสนใจหาสาเหตุด้วยซ้ำไปว่าเราเป็นหวัดเพราะติดไวรัสอะไรมา           พอเรามีน้องใหม่เข้ามา  ทั้งคนและไวรัสยังไม่ได้มีเวลาปรับตัวเข้าหากัน  ดังนั้นอัตราการติดต่อ การตายและความรุนแรงของโรคจึงเป็นที่น่าพรั่นพรึงของทุกคน   ไวรัสอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเจ้าบ้าน  ดังนั้นในที่สุดในอนาคตเจ้าโควิด-19 จะกลายเป็นไวรัสหวัดอีกชนิดหนึ่งที่ไม่มีใครสนใจสืบหาสาเหตุ  แต่กว่าจะถึงวันนั้นต้องรอจนกว่าจะมีวัคซีนหรือมียารักษาที่ได้ผลและปลอดภัยที่แพร่หลายเข้าถึงได้ทุกหมู่บ้าน  หรือใช้แนวคิด "การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่" (Herd Immunity) ที่มีประชากรอย่างน้อย 60% มีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนหรือติดเชื้อ  ทั้งสามความหวังนี้เราต้องรออย่างน้อย 1-2 ปี           งานวิจัยเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์อื่น พบว่าผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วและตรวจพบว่ามีแอนติบอดีต่อเชื้อยังสามารถติดเชื้อสายพันธุ์เดิมซ้ำอีกครั้งเพียง 4 เดือนถึง 2 ปี หลังจากการติดเชื้อครั้งแรก (Callow และคณะ 1990)  ในปัจจุบันเรายังมีความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 น้อยมาก  ระหว่างนี้ก็อยู่ห่างๆ เจ้าโควิด-19 กันไว้ก่อนดีกว่า   การติดโควิด-19 มักจะเกิดจากการสูดเอาละอองสารคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อที่หายใจไอจามออกมาแล้วล่องลอยอยู่ในอากาศเข้าไป  มีรายงานว่าละอองลอยของโควิด-19 ยังก่อการติดเชื้อได้แม้ว่าล่องลอยในอากาศนานถึง 3 ชั่วโมง  บนพื้นผิวอยู่ได้ตั้งแต่ 2-10 วันขึ้นไป (van Doremalen และคณะ 2020)         โควิด-19 เป็นไวรัสที่มีสารพันธุกรรมเป็นอาร์เอ็นเอ  ห่อหุ้มด้วยเปลือกโปรตีนหรือแคพซิด (capsid)  มีชั้นไขมันหุ้มล้อมรอบแคพซิดอีกชั้นหนึ่งเรียกว่าเปลือกหุ้ม (envelope) บนเปลือกหุ้มของมันมีโปรตีนคลุมด้วยกลุ่มคาร์โบไฮเดรทเป็นปุ่มๆ (spikes) เมื่อดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนจะเห็นอนุภาคของไวรัสคล้ายมงกุฎ (ภาษาลาติน corona แปลว่า crown หรือ มงกุฎ) จึงเป็นที่มาของชื่อไวรัส   เปลือกหุ้มชั้นนอกสุดเป็นชั้นไขมันทำให้ถูกทำลายได้ง่ายเมื่อเทียบกับไวรัสพวกที่ไร้เปลือกหุ้ม           เมื่อเรารู้โครงสร้างของโควิด-19 แล้ว การจะทำลายมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ยาก  แต่ที่ยากคือต้องทำให้ถูกต้อง จึงจะสามารถใช้วิธีต่าง ๆ ในการทำลายไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่มีผลกระทบต่อผู้ใช้  ช่วงที่มีการระบาดรุนแรงเป็นช่วงฝุ่นตลบ ใครคิดว่ามีวิธีการอะไรดีก็เอามาแจกจ่ายเพื่อนฝูงผ่านทางโซเชียล ซึ่งบางครั้งไม่ถูกต้องและอาจเป็นอันตรายกับผู้ใช้อีกด้วย  ดังนั้น ในบทความนี้จะสรุปวิธีการที่ประชาชนทั่วไปพอจะสามารถใช้เพื่อกำจัดไวรัสโควิด-19 นี้ได้ ดังต่อไปนี้  1. การล้างมือด้วยสบู่          การล้างมือด้วยสบู่เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดในการกำจัดไวรัส เนื่องจากสบู่มีฤทธิ์สองลักษณะคือ เป็นสารลดแรงตึงผิวทำให้สามารถกำจัดไวรัสไปจากพื้นผิวซึ่งคือผิวหนังของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี  นอกจากนี้ สบู่ยังสามารถละลายไขมันได้ด้วย  ดังนั้นจึงมีความสามารถในการฆ่าแบคทีเรียและไวรัสได้ด้วย  โควิด-19 ซึ่งเป็นไวรัสที่มีชั้นไขมันหุ้มจึงโดนทำลายได้ด้วยสบู่อย่างง่ายดาย   อย่างไรก็ตาม การล้างมือด้วยสบู่จะต้องมั่นใจว่าทำความสะอาดได้ทุกซอกมุมบนมือได้แก่ ฝ่ามือ หลังมือ นิ้ว ซอกนิ้ว ซอกเล็บและข้อมือ และต้องออกแรงถูสักเล็กน้อยและใช้เวลาล้างมือนานพอสมควร (ร้องเพลงช้าง หรือ happy birthday 1 รอบ)  ซึ่งวิธีการล้างมือที่ถูกต้องได้มีการเผยแพร่แล้วโดยกระทรวงสาธารณสุข   นอกจากสบู่แล้วสารซักฟอกทุกชนิด เช่น ผงซักฟอก  ยาสระผม  ยาสีฟัน  น้ำยาล้างจาน และสารอื่นที่สามารถทำให้เกิดฟองได้ จะมีความสามารถกำจัดไวรัสและแบคทีเรียได้เช่นเดียวกับสบู่ 2. การใช้แอลกอฮอล์เจล 70%          การใช้แอลกอฮอล์เจลเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สะดวกและปลอดภัย สามารถใช้ได้ทุกที่โดยเฉพาะเมื่อลงจากขนส่งสาธารณะหรือสัมผัสกับสิ่งของที่คิดว่าจะมีการปนเปื้อนเชื้อโรค   แอลกอฮอล์มีผลในการละลายไขมันเช่นกันซึ่งจะทำให้โควิด-19 ถูกทำลายได้เนื่องจากมันมีเปลือกหุ้มที่ประกอบด้วยไขมัน   แอลกอฮอล์เจลที่ให้ผลในการกำจัดจุลินทรีย์รวมทั้งไวรัสโควิดจะต้องมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมอย่างน้อย 70%  รวมทั้งจะต้องให้เวลาการสัมผัสแอลกอฮอล์เจลนานไม่น้อยกว่า 30 วินาทีจึงจะให้ผลการฆ่าเชื้อได้ดีที่สุด (Hirose และคณะ 2019) เนื่องจากแอลกอฮอล์ 70% ส่วนใหญ่จะระเหยอย่างรวดเร็วเมื่อถูกับมือ  ดังนั้นจึงแนะนำว่าควรใช้สองครั้งติดต่อกันเพื่อให้มีเวลาสัมผัสกับเชื้อนาน 30 วินาที   เราต้องทำลายไวรัสให้หมด เพราะว่าในปัจจุบันนี้เรายังไม่ทราบจำนวนอนุภาคที่ทำให้เกิดโรค (infectious dose) นั่นคือจำนวนไวรัสน้อยที่สุดที่ทำให้เกิดโรคได้           บนขวดแอลกอฮอล์เจลมักจะเขียนว่าฆ่าเชื้อโรค 99.99% หมายความว่า ถ้าบนมือเรามีไวรัส 100,000 อนุภาค ใช้เจลถูมือ 1 รอบจะเหลือ 10 อนุภาค ซึ่งไม่แน่ว่า 10 ตัวนี้อาจก่อให้เกิดโรคก็ได้   นอกจากนี้ ไวรัสมักอยู่ในน้ำมูกน้ำลายที่มีลักษณะเป็นเมือกๆ เหนียวๆ ซึ่งสารคัดหลั่งซึ่งจะลดประสิทธิภาพการทำงานของแอลกอฮอล์เจลลงไปอีก (Hirose และคณะ 2019)   ผู้ป่วยโควิด-19 บางรายมีไวรัสในเสมหะได้สูงถึงแสนล้านอนุภาคต่อมิลลิลิตร (1.34 x 1011 อนุภาคต่อมิลลิลิตร)  (Pan และคณะ, 2020)    การใช้แอลกอฮอล์เจลที่มีสัดส่วนของแอลกอฮอล์น้อยกว่าเช่น 40% หรือเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ที่มากเกินไปเช่น 90-100% ก็ให้ผลตรงกันข้ามคือไม่สามารถกำจัดไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Kampf 2018)    การใช้สุราหรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ทุกชนิด เช่น วิสกี้ บรั่นดี วอดก้า เบียร์ ไวน์ เหล้าโรง อุ สาโท ฯลฯ ไม่สามารถฆ่าไวรัสได้   นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ที่ควรใช้ในการผลิตแอลกอฮอล์เจลคือ เอธิลแอกอฮอล์หรือไอโซโพรพิลแอกอฮอล์ (แอลกอฮอล์ล้างแผล)         ห้ามใช้เมธิลแอลกอฮอล์ เนื่องจากสามารถซึมเข้าทางผิวหนัง การใช้เป็นระยะเวลานานเป็นอันตรายต่อดวงตา อาจทำให้ตาบอดได้ถ้ากระเด็นเข้าตา   และเนื่องจากแอลกอฮอล์เจลหรือแอลกอฮอล์มีราคาแพง ในการทำความสะอาดพื้นผิวเช่น เก้าอี้ โต๊ะ พื้น จึงสามารถใช้น้ำสบู่หรือน้ำผงซักฟอกแทนได้ 3. โซเดียมไฮโปคลอไรต์         โซเดียมไฮโปคลอไรต์หรือสารฟอกขาว (household bleach)  สารประกอบเหล่านี้มีความสามารถในการทำลายเชื้อโดยคลอรีนที่เกิดขึ้นจะทำลายโปรตีนของไวรัส  ดังนั้นในการทำความสะอาดพื้นบ้านที่มีผู้ป่วย  ให้เจือจาง 5% โซเดียมไฮโปคลอไรต์ (น้ำยาซักผ้าขาวที่มีขายตามท้องตลาด) ให้ได้ความเข้มข้นสุดท้ายอย่างน้อย 0.1% หรือพูดง่าย ๆ ใช้น้ำยาซักผ้าขาว 1 ส่วนผสมน้ำ 49 ส่วน   แต่การทำความสะอาดห้องน้ำและสุขภัณฑ์ควรใช้ความเข้มข้นสูงกว่าคือใช้ที่ความเข้มข้น 0.5% โซเดียมไฮโคลอไรต์  นั่นคือใช้น้ำยาซักผ้าขาว 1 ส่วน ผสมน้ำ 9 ส่วน   การเช็ดต้องเช็ดให้ชุ่มและทิ้งไว้อย่างน้อย 5 นาที  ข้อควรระวังในการใช้โซเดียมไฮโปคลอไรต์คือสารอินทรีย์บนพื้นผิวจะทำให้โซเดียมไฮโปคลอไรต์หมดประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อโรค  ไอระเหยของโซเดียมไฮโปคลอไรต์เป็นอันตรายต่อสุขภาพและต้องสวมถุงมือทุกครั้งที่สัมผัสกับสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรต์ (FIOH 2020)   อย่างไรก็ตาม พื้นผิวบางชนิดเช่นโลหะอาจเสียหายเมื่อสัมผัสกับโซเดียมไฮโปคลอไรต์   เราสามารถสามารถใช้ผงซักฟอกแทนได้ โดยละลายน้ำให้ได้ความเข้มข้นเช่นเดียวกับที่ซักผ้าหรือตามผู้ผลิตกำหนด  ผงซักฟอกมี pH 9 และสารลดแรงตึงผิวทำงานร่วมกันทำลายเยื่อหุ้มอนุภาคไวรัส  ถูให้พื้นเปียกทิ้งไว้ 15 วินาที จากนั้นล้างอีกครั้งด้วยน้ำเปล่าเพื่อกำจัดคราบผงซักฟอก (National Environment Agency, 2020) 4. ฟีนอล         สารออกฤทธิ์ในเดทตอล คือ สารประกอบประเภทฟีนอล (Chloroxylenol) จะทำลายจุลินทรีย์และไวรัสโดยการทำให้โปรตีนเสียสภาพ   ผู้บริโภคควรระวังเนื่องจากเดทตอลที่วางจำหน่ายในท้องตลาดมีสองชนิด คือชนิดที่มีมงกุฎสีฟ้าบนเครื่องหมายการค้า (น้ำยาฆ่าเชื้อโรค Dettol Antiseptic Liquid) จะสามารถใช้กับร่างกายได้ เช่นสำหรับล้างแผลหรืออาบน้ำ รวมทั้งฆ่าเชื้อที่พื้นผิวด้วย  ส่วนอีกชนิดไม่มีมงกุฎสีฟ้า (ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคอเนกประสงค์ Dettol Hygiene Multi-Use Disinfectant) เป็นชนิดที่ไม่สามารถใช้กับร่างกายได้โดยตรง มักจะใช้สำหรับการฆ่าเชื้อบริเวณพื้นผิว  ทั้งสองชนิดสามารถฆ่าไวรัสโควิด-19 ได้ ผู้ใช้ต้องเจือจางให้เหมาะสมตามที่แนะนำข้างฉลาก 5. แสงอุลตราไวโอเลต (UV)         แสงอุลตราไวโอเลตหรือแสง UV เป็นคลื่นแสงที่มีความยาวคลื่นต่ำและมีผลในการทำลายสารพันธุกรรมของไวรัสหรือจุลินทรีย์อื่น   ดังนั้นแสง UV จึงสามารถฆ่าโควิด-19 ได้ แสง UV จากดวงอาทิตย์ที่ฉายมายังโลกมนุษย์มีสามชนิด คือ UVA UVB และ UVC ซึ่ง UVA และ UVB สามารถผ่านชั้นบรรยากาศมายังพื้นโลกได้  แต่แสง UV ที่สามารถฆ่าไวรัสได้คือ UVC เท่านั้น ซึ่งจะไม่สามารถผ่านชั้นบรรยากาศลงมาได้ ดังนั้น การยืนตากแดดจึงไม่สามารถฆ่าไวรัสโควิด-19 ได้           อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้มีหลอดไฟที่ผลิตแสง UVC ได้และสามารถใช้ฆ่าโควิด-19 และมีการประดิษฐ์เครื่องมือที่ใช้แสง UVC สำหรับฆ่าเชื้อบนธนบัตรหรือหน้ากากอนามัยได้ แต่หลอดอุลตราไวโอเลตตามปกติไม่มีใช้ทั่วไปตามบ้านเรือน จะใช้เฉพาะในห้องผ่าตัด ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา  ห้องปลอดเชื้อตามโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ    และการใช้แสง UVC มีผลต่อมนุษย์มาก เช่น หากโดนแสง UVC เป็นเวลานานจะเกิดมะเร็งผิวหนังได้และอาจก่อให้เกิดจอตาเสื่อมหรือต้อกระจกได้หากมองรังสี UVC เป็นเวลานาน          นอกจากนี้การใช้แสง UV เพื่อฆ่าเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพจะต้องมีความเข้มแสงเพียงพอ ดังนั้นจึงขึ้นกับชนิดหลอดไฟ (วัตต์) และระยะห่างจากพื้นผิวที่ต้องการฆ่าเชื้อ   วัตถุที่โดนแสง UV เป็นเวลานานอาจทำให้เปลี่ยนสภาพไปเหมือนกับการวางตากแดดไว้เป็นเวลานาน เช่นพลาสติกอาจกรอบหรือสีอาจซีดลงได้  แสง UV ยังมีข้อเสียคือจะไม่ผ่านวัตถุทึบแสงหรือกระจก  ดังนั้นการฆ่าเชื้อธนบัตรหรือหน้ากากอนามัย ในขณะฆ่าเชื้อจึงไม่สามารถซ้อนทับกัน  สำหรับหลอดไฟ UV ที่ใช้ในการตรวจสอบธนบัตรไม่มีผลในการฆ่าเชื้อโควิด-19 6. การกรองไวรัส         คนไทยรู้จักการกรองและป้องกันตัวเองมาก่อนแล้วตั้งแต่ยุค pm2.5 ซึ่งทุกคนทราบว่าจะมีหน้ากากที่เรียกว่า N95 ซึ่งสามารถกรองฝุ่น pm2.5 ได้  ในปัจจุบันนี้มีหน้ากากมากมายหลายชนิด  แต่หน้ากากทุกชนิดไม่สามารถป้องกันไวรัสได้ 100%  ถึงแม้หน้ากาก N95 จะป้องกันไวรัสได้ดีที่สุดแต่ก่อนการใช้งานจะต้องทดสอบ fit test เพื่อให้หน้ากากแนบสนิทกับใบหน้ามากที่สุด จึงเหมาะสมสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยจำนวนมาก   สำหรับบุคคลทั่วไปการใช้ surgical mask (หน้ากากอนามัยทั่วไปที่มีสีเขียว สีฟ้า สีขาว ฯลฯ) หรือหน้ากากแบบผ้าก็เพียงพอแล้ว          การใช้หน้ากากทุกชนิดให้มีประสิทธิภาพสูงสุดขึ้นกับวิธีการใช้หน้ากากให้ถูกต้อง  การใส่หน้ากากที่ถูกต้องจะต้องปิดทางเข้าของอากาศที่ไม่ผ่านหน้ากากให้ได้มากที่สุด สังเกตได้จากเราจะหายใจได้อึดอัดไม่สะดวก   การใส่แบบเห็นรูจมูกจะไม่มีผลในการป้องกันไวรัสเลย  หรือการไส่หน้ากากที่หลวมเกินไปไม่แนบกับใบหน้าก็จะป้องกันไวรัสได้น้อยกว่า  และการที่ผู้ที่ป่วยหรือผู้ที่เข้าข่ายเฝ้าระวังใส่หน้ากากจะช่วยให้เชื้อไม่แพร่กระจายไปคนอื่นได้มากถึง 90%          การกรองอีกวิธีหนึ่งคือการใช้ HEPA FILTER ที่มีใช้ในเครื่องฟอกอากาศต่าง ๆ  จนถึงปัจจุบันนี้ ไม่มีเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศชนิดใดหรือระบบใดที่ได้รับการยืนยันว่าสามารถฆ่าโควิด-19 ได้  ไวรัสมีขนาดเล็กกว่า HEPA FILTER มาก ดังนั้นจึงสามารถลอดผ่าน HEPA FILTER ได้ คำถามยอดฮิตช่วงนี้คำถามยอดฮิตช่วงนี้สบู่เหลว สบู่ก้อน หรือโฟมล้างมือ ชนิดใดจึงเหมาะสมที่จะใช้ล้างมือป้องกันเชื้อ          สบู่ทุกประเภทรวมทั้งสารซักฟอกทุกชนิดมีผลในการทำลายจุลินทรีย์และไวรัสได้ใกล้เคียงกัน  จึงสามารถเลือกใช้ชนิดใดก็ได้ ว่ายน้ำจะติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่         ตามปกติแล้ว ในสระว่ายน้ำจะใส่สารฆ่าเชื้อ ซึ่งอาจเป็นสระน้ำที่เติมคลอรีนหรือสระน้ำที่เป็นน้ำเกลือ   ในสระน้ำที่เติมคลอรีน  คลอรีนที่อยู่ในน้ำจะสามารถทำลายโควิด-19 เนื่องจากคลอรีนจะไปทำลายโปรตีนของไวรัส  และสระน้ำที่เป็นน้ำเกลือจะมีระบบเซลล์เกลือ (Salt chlorinator) เพื่อทำปฏิกิริยาไฟฟ้าและสร้างคลอรีนธรรมชาติ (Sodium hypochlorite – NaOCl) ที่สามารถฆ่าเชื้อโรคและ COVID-19 ได้เช่นกัน  ดังนั้นสระว่ายน้ำทั้งสองประเภทที่ดูแลรักษาระบบบำบัดน้ำให้ได้มาตรฐานจะทำลายโควิด-19 ได้แน่นอน  และจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อโควิด-19 จากสระว่ายน้ำ แต่การอยู่ร่วมกันใกล้ชิดอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย (https://www.babyswimmingthailand.com/) หน้ากากแบบผ้าก่อนซักต้องแช่น้ำยาฆ่าเชื้อหรือไม่        ไม่มีความจำเป็น เนื่องจากการซักที่ใช้ผงซักฟอก สบู่หรือน้ำยาซักผ้าชนิดต่าง ๆ  ก็จะสามารถทำลายไวรัสโควิดได้แล้วจึงไม่จำเป็นต้องแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อก่อน การฉีดแอกอฮอล์หรือสารฆ่าเชื้ออื่นบนหน้ากากอนามัยจะช่วยฆ่าไวรัสได้ดีขึ้น         หน้ากากอนามัยจะเกิดประโยชน์สูงสุดเมื่อผู้ที่เป็นโรคใส่เพื่อป้องกันการกระจายหรือการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น  การใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากผู้อื่นสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องให้หน้ากากแนบกับใบหน้ามากที่สุด  การฉีดแอลกอฮอล์บนหน้ากาก ไม่ช่วยให้ป้องกันไวรัสได้ดีขึ้น เนื่องจากแอลกอฮอล์จะระเหยไปอย่างรวดเร็วและไม่มีผลต่อการทำลายไวรัสใด ๆ การทำอาหารด้วยความร้อนจะฆ่าโควิด-19 ได้หรือไม่         การทำอาหารด้วยความร้อนไม่ว่าจะเป็นการต้ม นึ่ง ทอด ผัด สามารถทำลายไวรัสโควิด-19 ได้  เนื่องจากความร้อนจะทำลายโปรตีนของไวรัส  อย่างไรก็ตาม การทำอาหารต้องแน่ใจว่าอาหารทั้งหมดได้สัมผัสกับความร้อนอย่างทั่วถึงและนานเพียงพอ  การใช้ไมโครเวฟยังสามารถทำลายไวรัสได้เช่นกัน  ความร้อนที่ 56 องศาเซลเซียสอย่างน้อย 30 นาที (จอดรถตากแดดปิดกระจกดูเทอร์โมมิเตอร์ให้อุณหภูมิในห้องโดยสารขึ้นถึง 56 oซ อย่างน้อย 30 นาที) หรือความร้อนที่ 70 องศาเซลเซียสอย่างน้อย 25 นาทีทำลายไวรัสได้ เอกสารอ้างอิงCallow KA, Parry HF, Sergeant M, Tyrrell DA. The time course of the immune response to experimental coronavirus infection of man. Epidemiol Infect 1990, 105:435-446.Finnish Institute of Occupational Health (FIOH). 2020. Cleaning guidelines for the prevention of covid-19 infections. https://www.ttl.fi/en/cleaning-guidelines-for-the-prevention-of-covid-19-infections%E2%80%AF/, สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2563 Hirose R, Nakaya T, Naito Y, Daidoji T, Bandou R, Inoue K, Dohi O, Yoshida N, Konishi H, Itoh Y: Situations leading to reduced effectiveness of current hand hygiene against infectious mucus from influenza virus-infected patients. mSphere 2019, 4.Kampf G: Efficacy of ethanol against viruses in hand disinfection. J Hosp Infect 2018, 98:331-338.National Environment Agency (Singapore). 2020. Interim List of Household Products and Active Ingredients for Disinfection of the COVID-19 Virus. https://www.nea.gov.sg/our-services/public-cleanliness/environmental-cleaning-guidelines/guidelines/interim-list-of-household-products-and-active-ingredients-for-disinfection-of-covid-19, สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2563Pan Y, Zhang D, Yang P, Poon LLM, Wang Q: Viral load of SARS-CoV-2 in clinical samples. Lancet Infect Dis 2020, 20:411-412.van Doremalen N, Bushmaker T, Morris DH, Holbrook MG, Gamble A, Williamson BN, Tamin A, Harcourt JL, Thornburg NJ, Gerber SI, et al.: Aerosol and Surface Stability of SARS-CoV-2 as Compared with SARS-CoV-1. N Engl J Med 2020.world health organization (WHO). 2005. Food safety issues. https://www.who.int/influenza/resources/documents/food_risk_h5n1_11_2005/en/, สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2563 Wylie KM, Mihindukulasuriya KA, Zhou Y, Sodergren E, Storch GA, Weinstock GM: Metagenomic analysis of double-stranded DNA viruses in healthy adults. BMC Biol 2014, 12:71.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 LDL ในเลือดสูงแล้วอายุยืน...จริงหรือ

        วงการวิทยาศาสตร์สุขภาพเชื่อกันมานานแล้วว่า คอเลสเตอรอล นั้นถ้ามีมากเกินไปในร่างกาย (โดยเฉพาะที่ปรากฏในเลือด) เป็นดัชนีที่ชี้ถึงความเสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดทั้งที่หัวใจและสมอง อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ในเรื่องนี้ยังมีข้อยกเว้นบ้าง เพราะคอเรสเตอรอลนั้นเป็นไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย มิเช่นนั้นร่างกายคงไม่สร้างขึ้นมา        หน้าที่สำคัญหนึ่งของคอเลสเตอรอลคือ เป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์ที่ทำให้ผนังเซลล์มีความยืดหยุ่นพอดี สามารถทำหน้าที่ได้ตามปรกติที่ควรเป็น อีกทั้งผู้ที่จบการศึกษาด้านพิษวิทยาย่อมตระหนักดีว่า สารพิษส่วนใหญ่ในร่างกายมนุษย์นั้นมักถูกเปลี่ยนแปลงเพื่อการขับออกจากร่างกายที่ออร์กาเนลในเซลล์ที่เรียกว่า ไมโครโซม (แหล่งรวมของระบบเอ็นซัมเปลี่ยนแปลงสารพิษ ที่สำคัญคือ ระบบไซโตโครม พี-450) ซึ่งมีงานวิจัยที่นานกว่า 50 ปีแล้วบอกว่า ไมโครโซมนั้นมีองค์ประกอบหนึ่งซึ่งขาดไม่ได้คือ คอเลสเตอรอล ภายหลังอีกไม่นานก็มีการค้นพบว่า ไมโครโซมนั้นจริงแล้วคือ ผนังเซลล์ที่ม้วนพับเข้าไปอยู่ในเซลล์ในช่วงที่ไม่มีการแบ่งเซลล์ ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่พบว่า คอเลสเตอรอลเป็นองค์ประกอบสำคัญของออร์กาเนลนี้ ทั้งนี้เพราะความอ่อนตัวของผนังเซลล์ (cell membrane fluidity) ที่พอเหมาะพอดีจะส่งผลถึงการทำหน้าที่ทางชีวภาพของผนังเซลล์นั้นถูกกำหนดด้วยปริมาณคอเลสเตอรอลที่เหมาะสม ซึ่งสามารถดูได้จากหลายคลิปใน YouTube เช่น เรื่อง Cholesterol and Fatty Acids Regulate Membrane Fluidity ที่ https://www.youtube.com/watch?v=wnBTZ02wnAE        อีกข้อสังเกตหนึ่งที่ควรคำนึงคือ ในเด็กที่กำลังเจริญเติบโตนั้นโอกาสที่จะพบว่าความเข้มข้นของคอเรสเตอรอลในเลือดสูงมีน้อยมาก ทั้งนี้เพราะร่างกายเด็กคงนำคอเลสเตอรอลไปใช้สร้างผนังเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ได้หมด แต่เมื่อร่างกายเข้าสู่วัยที่การสร้างเซลล์น้อยลงแต่ระดับการสร้างคอเรสเตอรอลยังคงที่ โอกาสที่ความเข้มข้นของคอเรสเตอรอลในเลือดจะเพิ่มสูงขึ้นจนก่อปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อโอกาสอุดตันของหลอดเลือดหัวใจและสมองจึงอาจเกิดได้ ในคนที่กินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ จนเกิดการออกซิเดชั่นที่ทำลายชั้นไขมันของผนังเซลล์ด้วยอนุมูลอิสระ ซึ่งเกิดขึ้นในเซลล์ที่ประกอบเป็นผิวหลอดเลือด ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดไม่ราบเรียบเหมือนปรกติ ดังนั้นในคนที่ขาดการออกแรงกายจนเลือดไม่มีโอกาสสูบฉีดแรงๆ เป็นครั้งคราว คอเลสเตอรอลที่เคลื่อนตัวช้าๆ ในเส้นเลือดจึงมีโอกาสตกตะกอนเกาะติดกับผนังเส้นเลือดที่มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากอนุมูลอิสระ (ในลักษณะการเกิดตะกรันในท่อประปาเหล็กซึ่งเป็นสนิม) ซึ่งเมื่อมากขึ้นย่อมขัดขวางการไหลของเลือดที่นำออกซิเจนไปส่งให้เซลล์ในที่สุด และถ้าปรากฏการณ์นี้เกิดที่เส้นเลือดเลี้ยงหัวใจหรือสมอง โอกาสเสียชีวิตก็จะสูงขึ้น         ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่เกิดเนื่องจากการมีระดับคอเลสเตอรอลสูงในเลือดของคนไทยนั้น เริ่มเป็นไปด้วยดีในปัจจุบัน เนื่องจากมีการรนณรงค์ของหน่วยงานด้านสุขภาพ เห็นได้จากการที่คนไทยเริ่มมีการออกกำลังกายมากขึ้น กินอาหารระมัดระวังขึ้น แม้จะรู้ว่าคอเลสเตอรอลไม่ใช่ปัจจัยเดี่ยวในการก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดของหัวใจและสมอง แต่การระวังในการกินอาหารนั้น เป็นเรื่องดีซึ่งส่งผลในการลดความเสี่ยงที่น่าสะพรึงกลัว อย่างไรก็ดีปัจจุบันกลับมีคนไทยบางคนเริ่มออกมาพูดตามที่ฝรั่งเขียนบทความในเว็บต่างๆ ซึ่งอ้างว่ามาจากบทความวิชาการในหลายเว็บเช่น Daily Mail, Guardian, Independent, Telegraph, BBC Radio Four และอื่น ๆ ว่าการเพิ่มขึ้นของคอเรสเตอรอลในเลือดเมื่ออายุเพิ่มขึ้นนั้นเป็นเรื่องดี เพราะมีงานวิชาการบ่งชี้ว่าสัมพันธ์กับการมีอายุที่ยืนยาวขึ้น (นี่เป็นการค้านกับความคิดเดิม) อีกทั้งยังแนะนำให้เกิดแนวความคิดในการเลิกกินยากลุ่มสแตตินที่หมอมักสั่งให้กินเมื่อตรวจพบว่า มีค่า LDL ในเลือดสูงเกินระดับปรกติ เพราะเข้าใจว่ามันไม่ก่อประโยชน์         แนวความคิดที่มีการกล่าวถึงนั้นสืบเนื่องมาจากงานวิชาการของกลุ่มนักวิจัยนานาชาติที่มี Magle Stora Kyrkogata ซึ่งสังกัดมหาวิทยาลัยลุนด์ของสวีเดนเป็นชื่อต้นของบทความเรื่อง Lack of an association or an inverse association between low-density lipoprotein cholesterol and mortality in the elderly: a systematic review ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ Open ของปี 2016 รายงานชิ้นนี้เป็น “การนำผลการวิจัยเดิม 19 ฉบับ มาพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างระดับ LDL-คอเลสเตอรอลและความเสี่ยงโดยรวมของการเสียชีวิตในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี” แล้วได้ผลสรุปว่า “การมีคอเลสเตอรอลไม่ดีคือ LDL ในเลือดสูงเมื่อคนมีอายุเกิน 60 ปีแล้ว อายุจะยืนยาวโดยไม่มีความเสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของโรคหลอดเลือดหัวใจ อีกทั้งยาสแตตินที่แพทย์มักให้กินเมื่อค่า LDL ในเลือดสูงนั้นมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลเลย”         ทว่าปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นก็ไม่ต่างจากที่เริ่มเกิดในต่างประเทศ เพราะเริ่มมีเหล่าบุคคลซึ่งมีเบื้องหลังการขายสินค้าไขมันบางประเภทได้เริ่มนำข้อมูลจากบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ที่อ้างถึงข้อมูลจากบทความวิจัย (ที่จะกล่าวถึงต่อไป) ซึ่งดูมีปัญหาในการแปรผลตามความเห็นของผู้รู้ในวงการสุขภาพเกี่ยวกับการบริโภคอาหารไขมัน สิ่งที่น่าสนใจคือ คนไทยที่มีปัญหาเกี่ยวกับค่าไขมัน LDL ในเลือดสูงและต้องกินยากลุ่มสแตตินนั้น ดูเหมือนว่าจะยอมรับกับข้อมูลดังกล่าวอย่างรวดเร็ว โดยไม่ใช้กาลามสูตร 10 อาจเป็นเพราะมันตรงกับความต้องการส่วนลึกที่ไม่อยากพะวงต่อค่า LDL และการกินยาสแตติน         บทความดังกล่าวใน BMJ Open ของปี 2016 นั้นได้ถูกวิจารณ์ถึงความหละหลวมในการศึกษา ซึ่งอ่านได้จากบทความเรื่อง Flawed cholesterol study makes headlines ในเว็บ www.bhf.org.uk ซึ่งกล่าวประมาณว่า จำนวนของผู้ถูกสำรวจในการศึกษานั้นนับรวมได้เกือบ 70,000 คน แต่มีเพียง 9 จาก 19 การศึกษาเท่านั้นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเสียชีวิตเนื่องจากโรคหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด โดย 2 ใน 3 ของจำนวนอาสาสมัครนั้นมาจากเพียงการศึกษาเดียว (คือ งานวิจัยของนักวิจัยชาวเดนมาร์คจากมหาวิทยาลัย University of Southern Denmark เรื่อง Association of lipoprotein levels with mortality in subjects aged 50+ without previous diabetes or cardiovascular disease ในวารสาร Scandinavian Journal of Primary Health Care ในปี 2013) ซึ่งหมายความว่า การกระจายตัวของอาสาสมัครที่นำมาพิจารณานั้นไม่ได้เป็นการกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอเช่นที่ควรเป็นตามวิธีการสำรวจในการทำวิจัย ซึ่งอาจส่งผลต่อการสรุปผลในบทความ         สำหรับผู้ที่ได้มีโอกาสอ่านบทความวิจัยตัวจริงของกลุ่มนักวิจัยเดนมาร์คจะพบความเป็นจริงว่า งานวิจัยนั้นมีข้อสรุปมากกว่าที่บทความจาก BMJ Open ของปี 2016 ยกมาอ้าง คือ ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่มีระดับคอเลสเตอรอลรวม HDL-คอเลสเตอรอล หรือ LDL-คอเลสเตอรอล สูงได้ปราศจากโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด (CVD) ซึ่งรวมทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน (coronary heart disease) และเส้นเลือดในสมองอุดตัน (stroke) หรือเบาหวาน มีอัตราการตาย (ก่อนวัยอันควร) ต่ำ แต่ยังปรากฏว่า การควบคุมระดับคอเลสเตอรอลโดยใช้ยาสแตตินนั้นยังให้ประโยชน์ต่อคนไข้ในการเอาชีวิตรอดโดยไม่มีความสัมพันธ์กับระดับคอเลสเตอรอล และพบว่าระดับไตรกลีเซอไรด์สูงนั้นมีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิต (จากทุกสาเหตุ) อย่างเด่นชัดในสตรีสูงวัย         สิ่งที่สำคัญคือ มีงานวิจัยเยอะมากที่รายงานผลว่า ยากลุ่มสแตตินนั้นช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาโรคหัวใจ (อาจมีผู้ตั้งประเด็นว่า งานวิจัยเหล่านั้นอาจได้รับการสนับสนุนจากบริษัทผู้ผลิตยากลุ่มสแตติน ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ต้องหาหลักฐานกันต่อไป) ซึ่งบทความใน BMJ Open ของปี 2016 ไม่ได้กล่าวถึงในรายงาน อีกทั้งการที่อาสาสมัคร (อายุเกิน 50 ปี) ที่มี LDL สูงและถูกพิจารณาว่ามีอายุยืนนั้น อาจเป็นเพราะได้เริ่มกินยาสแตตินหรือเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการกินอาหารเพื่อลดการรับคอเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกายแล้ว และอาจมีการเพิ่มการออกกำลังกายเข้าไปในชีวิตประจำวันด้วย จึงมีผลให้ความเสี่ยงจากการตายด้วยโรคหัวใจลดลง แม้ว่าระดับคอเรสเตอรอลจะไม่ลดลงเท่าค่าเฉลี่ยของคนปรกติ แต่ก็เป็นการลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาในระดับหนึ่ง และที่แน่ ๆ คือ นักวิจัยชาวสวีเดน ที่ออกมาป่วนว่าระดับคอเลสเตอรอลสูงนั้นดี ไม่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คนไข้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 เคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2563

กสทช.จับมือ 5 ค่ายมือถือออกโทรฟรีในเครือข่าย 100 นาที รับมือโควิด-19        หลังออกโครงการเพิ่มเน็ตมือถือ 10 GB และเพิ่มสปีดเน็ตบ้านเป็น 100 Mbps ไปไม่นาน วันที่ 20 เมษายน 2563 ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ร่วมกับ 5 ค่ายมือถือ AIS, DTAC, TOT, TRUE, และ CAT ออกมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านโทรศัพท์ ให้กับประชาชนผู้ใช้มือถือด้วยการเปิดให้โทรฟรี 100 นาทีในเครือข่าย คาดว่าจะมีผู้ใช้งานได้รับสิทธิ์ตามโครงการประมาณ 50 ล้านเบอร์ แต่ก็ยังต้องกดรับสิทธิ์ได้อยู่ดี (ช่วงเวลาเปิดให้กดรับสิทธิ์ 1-15 พ.ค. 63)        กสทช. ระบุ สถิติการใช้โทรศัพท์ พบว่าแม้ปัจจุบันจะมีการโทรหากันผ่านแอปพลิเคชัน เช่น ไลน์ วีดีโอคอล เฟซบุ๊ก แมสเซนเจอร์ ฯลฯ มากขึ้น แต่ประเทศไทยยังมีการโทรหากันผ่านระบบเสียงแบบปกติอยู่ถึงราว 70%   องค์การอนามัยโลกกล่าวชื่นชมระบบ อสม.ไทย เข้มแข็งสุดในยุคระบาดโควิด-19         รายงานจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO Thailand) เผยว่าการที่ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 1,040,000 คน ซึ่งทำการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ให้ความรู้เรื่องสาธารณสุข การใช้ยาและการเฝ้าระวังการระบาดของเชื้อไวรัส ในระดับชุมชน รวมถึงการทำรายงานถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเจ้าหน้าที่อสม. เหล่านี้ถูกยกให้เป็นด่านหน้าสำคัญในการตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อระดับชุมชน        ทางกระทรวงสาธารณสุขของไทยเองก็กล่าวชื่นชม อสม. ว่า ส่วนหนึ่งที่ประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ดีกว่าหลายประเทศเพราะการมีอสม. อยู่ในทุกจังหวัด ที่คอยทำงานอย่างหนัก ทั้งการหาข่าวผู้มีความเสี่ยงเฝ้าระวัง ติดตาม กักตัวบุคคลและให้ความรู้กับประชาชนว่าจะป้องกันการติดเชื้ออย่างไร ทำให้ขณะนี้การควบคุมโรคในจังหวัดต่าง ๆ เป็นไปด้วยดี เพราะมีอสม. เป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขนายกรัฐมนตรีสั่งให้บันทึกเหตุการณ์โควิด-19 ลงในหอจดหมายเหตุ        สถานการณ์โควิด-19 คือเรื่องใหม่ของมวลมนุษยชาติ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงสั่งการให้มีการบันทึกเหตุการณ์โควิด-19 ลงในหอจดหมายเหตุของไทย เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาในอนาคต ร้องเรียน “ช็อปออนไลน์” ช่วงโควิดพุ่ง 5 พันราย            ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC หรือ Online Complaint Center ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า  จากการให้บริการคำแนะนำและรับเรื่องร้องเรียนปัญหาซื้อ-ขายออนไลน์ ในช่วงเดือน มกราคม-มีนาคม 2563  ที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาที่มีการร้องเรียนและขอคำแนะนำเข้ามามากที่สุดคือ ปัญหาจากการซื้อขายทางออนไลน์ จำนวน 4,786 ครั้ง ส่วนใหญ่เรื่องของการขอคำปรึกษาเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของผู้ขายในออนไลน์ ก่อนการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคกว่า 40% รองมาคือการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาที่ไม่ได้รับสินค้าหรือถูกหลอกลวงทางออนไลน์ 18% โดยประเภทของสินค้าที่พบปัญหาการซื้อขายออนไลน์มากที่สุด ได้แก่ สินค้าแฟชั่น และ อุปกรณ์ไอที เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมายเข้ามาที่ศูนย์ฯ จำนวน 4,772 ครั้ง        นอกจากนี้ในช่วงเดือน มกราคม – 12 เมษายน 2563 พบสถิติการร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาการสั่งซื้อหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือทางออนไลน์แล้วไม่ได้รับสินค้าเพิ่มขึ้น จำนวน 234 ครั้ง จึงได้ประสานร้านค้า ผู้ขาย และดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าให้ได้รับการชดเชยเรียบร้อยแล้ว 10% ส่วนกรณีที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการ   สมาคมโรคติดเชื้อเตือนไม่จำเป็นต้องฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อตามบ้านเรือน         12 เมย. 2563 เพจเฟซบุ๊ก สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความโดยระบุว่า ความกังวลเรื่องของการปนเปื้อนเชื้อในสถานที่สาธารณะต่าง ๆ และที่พักอาศัย ตลอดจนในร่างกายของผู้ป่วย ทำให้เกิดการปฏิบัติที่หลากหลายด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อน เช่น การฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อบนร่างกายของบุคคลทั่วไป ทั้งในลักษณะของการสร้างอุโมงค์ให้เดินผ่านหรือเดินผ่านไปตามทางเดินปกติ การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบนถนนหรือสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ตลอดจนภายในอาคารบ้านเรือนที่พักอาศัยหรือร้านค้า ว่าจะช่วยฆ่าเชื้อโควิดได้ นั้น        ทางสมาคมโรคติดเชื้อขอชี้แจงเรื่อง การฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อลงบนตัวบุคคลหรือสถานที่ เพื่อฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัส ดังนี้         1.การฉีดพ่นทำลายเชื้อบนร่างกายของบุคคล ไม่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยต่อการติดเชื้อ เนื่องจากหากบุคคลมีเชื้อไวรัสอยู่ เชื้อจะอยู่ที่ทางเดินหาย ใจ ซึ่งการพ่นยาฆ่าเชื้อในสักษณะดังกล่าว จะไม่สามารถทำลายเชื้อได้ นอกจากนี้ ยาฆ่าเชื้อยังอาจจะเป็นอันตรายต่อคนได้ จึงไม่ควรทำโดยเด็ดขาด         2. ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ หรืออบฆ่าเชื้อด้วยสารเคมีต่างๆ บนถนน สถานที่สาธารณะ หรืออาคารบ้านเรือนใดๆ ไม่ว่าในสถานที่นั้นจะมีผู้ป่วยโรคนี้หรือไม่ การปฏิบัติดังกล่าวเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ เพราะไม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแต่ประการใด         การป้องกันการแพร่เชื้อที่ถูกต้องคือ การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล การใช้หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง และการรักษาความสะอาดของมือ หากจะทำความสะอาดในกรณีที่มีผู้พักอาศัยหรือผู้ใช้บริการในร้านค้าป่วยเป็นโรคนี้ แนะนำให้ใช้วิธีเช็ดถูด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และยังมีคำแนะนำอื่น ซึ่งดูรายละเอียดได้ที่ https://www.idthai.org/Contents/Views/… โควิดส่งผลขยะพลาสติก-เศษอาหารพุ่งขึ้ิน ชี้ไร้คัดแยก เหตุกลัวไวรัส         นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่หลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบต้องมีการประกาศมาตรการต่างๆ รวมทั้งจำกัดการเดินทาง ให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน ปิดบริการเกือบทุกอย่าง ยกเว้นที่จำเป็น เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ร้านยา เป็นต้น ส่งผลต่อการคัดแยกขยะและปริมาณขยะอย่างมาก         จากข้อมูลที่ได้จากผู้เก็บขนขยะของกรุงเทพมหานคร พบว่า ปริมาณขยะในภาพรวมมีปริมาณน้อยลงกว่าช่วงปกติ แต่ขยะพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้น อาทิ กล่องพลาสติกใส่อาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแบบเดลิเวรี่ รวมทั้งช้อนส้อมพลาสติก แก้วพลาสติกและหลอดดูดที่ใช้เครื่องดื่ม เนื่องมาจากประชาชนส่วนใหญ่จำเป็นต้องทำงานอยู่บ้าน (Work from Home ) ส่งผลให้ต้องใช้บริการสั่งของออนไลน์ และฟู้ดเดลิเวอรี่ที่เพิ่มมากหลายเท่าขึ้น อาทิ LINE MAN , GRAP FOOD , GET FOOD , FOOD PANDA    นอกจากนี้ พบว่า ปริมาณขยะเศษอาหารถูกทิ้งปะปนมากับขยะทั่วไปมีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากครัวเรือนและผู้จัดเก็บไม่มีการคัดแยกขยะก่อนนำไปกำจัด เนื่องจากกลัวการติดเชื้อไวรัส 

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 230 กระแสต่างแดน

ปิดช้าไป        สมาคมผู้บริโภคแห่งออสเตรีย VSV เปิดเผยว่าผู้ใช้บริการสกีรีสอร์ตในแคว้นไทโรล (อาณาเขตติดต่อกับอิตาลีและเยอรมนี) ประมาณ 400 คนกำลังเตรียมฟ้องหน่วยงานรัฐที่ดูแลแคว้นดังกล่าว ที่ไม่สั่งปิดบาร์ในรีสอร์ตแห่งหนึ่งโดยทันที หลังพบพนักงานติดเชื้อไวรัสโคโรนาในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์         สมาคมฯ กำลังรวบรวมคำให้การของพยานเพื่อการฟ้องคดีแบบกลุ่ม พวกเขามองว่าการสั่งปิดบาร์ ซึ่งเป็นสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวลำดับต้นๆ ล่าช้าออกไปสองสัปดาห์ เป็นเพราะความประมาทและห่วงผลประโยชน์ทางธุรกิจ         และนั่นนำไปสู่การติดเชื้อของผู้คนหลายร้อยคนจากออสเตรีย เยอรมนี อังกฤษ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก และแคนาดา          ประชากร 750,000 คนในแคว้นดังกล่าวจึงถูกกักกันตัวจนถึงวันที่ 6 เมษายน ขณะนี้ออสเตรียมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 15,000 คน และมีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 500 คน  ทำไงดีไม่มีแฟกซ์        เมื่อญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉินและขอให้คนทำงานจากบ้าน ก็เกิดการรวมตัวกันของผู้คนที่ร้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทันที         ประชากรในประเทศที่มีหุ่นยนต์ช่วยงานและแกดเจ็ตล้ำๆ กลับไม่พร้อมสำหรับการทำงานที่บ้าน เพราะสิ่งนี้ไม่เคยอยู่ในวิธีคิดของพวกเขา         ขณะที่วิถีตะวันตกแบ่งแยกภาระงานชัดเจน พนักงานจึงสามารถแยกย้ายกันไปทำได้ แต่เจแปนสไตล์นั้นคาดหวังให้ทุกคนมารวมตัวเป็นทีมที่สำนักงาน จึงไม่จำเป็นต้องมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่บ้าน แล้วไหนจะความจำเป็นต้องใช้แฟกซ์ และตราประทับส่วนตัวในเอกสารต่างๆ อีก         การสำรวจโดย YouGov พบว่ามีเพียงร้อยละ 18 ของมนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นเท่านั้น ที่พร้อมทำงานที่บ้าน บริษัทที่ทำได้คือค่ายใหญ่ๆ อย่างโตโยต้าและโซนี่ ที่เหลืออีกร้อยละ 70 ซึ่งเป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กยังต้องเครียดกับการปรับตัวต่อไป  ไม่ลดก็ไม่ซื้อ        จีนตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศลงให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50         ในการประมูลยาเข้าระบบสาธารณสุขปีนี้ รัฐบาลจึงกำหนดเพดานราคายาต่ำลงกว่าเดิมเกือบเท่าตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งยา 33 ชนิดที่ใช้กันมากในประเทศ         บริษัทยาข้ามชาติที่เคยทำกำไรได้มหาศาลจากตลาดจีนจึงต้องลดราคาเพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตในท้องถิ่นได้ เช่น ไบเออร์ ต้องลดราคายารักษาโรคเบาหวานลงร้อยละ 80 หรือไฟเซอร์ที่ต้องลดราคายาลิปิเตอร์ที่ใช้ในผู้ที่มีความดันสูงลงร้อยละ 74 เช่นกัน        รัฐบาลหวังว่าการ “กดราคา” จะทำให้ยาสิทธิบัตรเหล่านี้ถูกแทนที่ด้วยยาชื่อสามัญที่จีนสามารถผลิตเองในประเทศได้อย่างแพร่หลายตั้งแต่ปี 2018          จีนต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านยาเพื่อนำเงินไปทุ่มเทให้กับการวิจัยและพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ๆ ตกที่นั่งลำบาก        กลุ่มอุตสาหกรรมการบินในยุโรปยื่นจดหมายให้ความเห็นกับคณะกรรมาธิการยุโรปว่า มาตรการเว้นระยะห่างเพื่อลดการติดเชื้อในห้องโดยสารเครื่องบินเป็นสิ่งที่ “ไม่จำเป็น และทำไม่ได้จริง”         สิ่งที่สายการบินอย่าง แอร์ฟรานซ์ เคแอลเอ็ม และลุฟทันซา ต้องการคืออุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลสำหรับผู้โดยสาร เช่น หน้ากากอนามัย และยังบอกอีกว่ารัฐบาลแต่ละประเทศควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นธุระจัดหาและจ้างงานบุคลากรผู้เชี่ยวชาญการมาตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง         ซีอีโอของไรอันแอร์ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าจะเว้นระยะห่างระหว่างกันในเครื่องบินให้ได้ 2 เมตร เราจะต้องนั่งห่างกันถึง 7 ที่นั่ง ซึ่งถ้าทำอย่างนั้น บินเท่าไรก็ไม่พ้นภาวะขาดทุน         รอติดตามแนวปฏิบัติสำหรับสายการบินโดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้ กลางเดือนพฤษภาคมนี้ เบื่อสะสม        เมื่อต้องกักตัวอยู่ในบ้านนานๆ หลายคนก็เริ่มหันมาทำกับข้าว ทำงานบ้าน งานฝีมือ ช้อปออนไลน์  เต้นติ๊กต่อก ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้ยังสู้วิธีรับมือกับความเบื่อของคนจีนไม่ได้        ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงพีคของการระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน ยอดการใช้แอป “So Young” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับผู้นิยมการทำศัลยกรรมความงาม เติบโตขึ้นถึงร้อยละ 134 และมีคนที่ “เบื่อหน้าตัวเอง” เข้ามาปรึกษาผ่านวิดีโอคอลถึง 40,000 ราย        ข้อมูลจากแอปโซยัง ซึ่งเป็นตัวกลางระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการศัลยกรรมความงาม ยังระบุว่า ฟังก์ชัน “บิวตี้ไดอารี” ที่เปิดให้ผู้ใช้เข้ามาบันทึกประสบการณ์การทำศัลยกรรมและการฟื้นตัวนั้นมีผู้ใช้มากขึ้น จนขณะนี้มีให้เปิดอ่านถึง 3.5 ล้านเล่ม

อ่านเพิ่มเติม >