ฉบับที่ 229 ผลทดสอบสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่ม

        หากยังจำกันได้ ฉลาดซื้อได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของฝากจากภาคต่างๆ ของประเทศไทย เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์วัตถุเจือปนอาหาร เช่น สารกันบูด สีผสมอาหาร หรือการปนเปื้อนของโลหะหนักจำพวกตะกั่ว-แคดเมียม เพื่อผู้บริโภคจะได้นำข้อมูลผลทดสอบไปใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อของฝากได้อย่างมั่นใจมากขึ้น โดยของฝากจากภาคต่างๆ ที่ฉลาดซื้อเคยสุ่มทดสอบ ได้แก่ โรตีสายไหม จากภาคกลาง, น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จากภาคอีสาน, แกงไตปลาแห้ง จากภาคใต้และน้ำพริกหนุ่ม จากภาคเหนือ ซึ่งในฉบับนี้จะเป็นการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์น้ำพริกหนุ่มซ้ำอีกครั้ง        น้ำพริกหนุ่มจัดเป็นอาหารที่บูดเสียง่าย เก็บได้ไม่นาน โดยเฉพาะหากเก็บไว้ในที่ๆ อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ หากลองชิมแล้วพบว่าน้ำพริกหนุ่มมีรสเปรี้ยว แปลว่าบูดแล้ว ไม่ควรนำมารับประทาน ดังนั้นการถนอมน้ำพริกหนุ่มให้อยู่ได้นาน ผู้ผลิตอาจใช้สารกันบูดเป็นตัวช่วยในการยืดอายุการเก็บรักษา ซึ่งหากใช้สารกันบูดในปริมาณที่ถูกต้องเหมาะสมก็จะมีความปลอดภัย แต่หากใช้เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก็อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้         ฉลาดซื้อและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ ได้ดำเนินการเฝ้าระวังสินค้าตาม โครงการสนับสนุนระบบการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์น้ำพริกหนุ่ม จำนวน 23 ตัวอย่าง จากร้านขายของฝากและตลาดต่างๆ ในจังหวัดภาคเหนือ ซึ่งผลิตภัณฑ์น้ำพริกหนุ่มที่นำมาส่งตรวจวิเคราะห์นั้นมีทั้งแบบตักชั่งน้ำหนักใส่ถุงขาย และแบบบรรจุในบรรจุภัณฑ์ปิดสนิท         เราแบ่งกลุ่มสินค้าตัวอย่างเป็นยี่ห้อเดิมที่เคยตรวจ เมื่อเดือนมิถุนายน 2562  (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 221 ผลทดสอบสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่ม ภาค 2) จำนวน 11 ตัวอย่าง และกลุ่มตัวอย่างใหม่จำนวน 12 ตัวอย่าง โดยนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์น้ำพริกหนุ่มส่งตรวจวิเคราะห์หาปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) และ กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) ซึ่งเป็นวัตถุกันเสียที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง         โดยผลการทดสอบปรากฏดังตารางที่ 1 ซึ่งแสดงผลวิเคราะห์ปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก และ กรดซอร์บิก ในผลิตภัณฑ์น้ำพริกหนุ่มทั้ง 23 ตัวอย่าง โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่ตรวจไม่พบสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิกหรือกรดซอร์บิกเลย  กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ตรวจพบสารกันบูด แต่ไม่เกินมาตรฐาน และ กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ตรวจพบว่ามีปริมาณสารกันบูดเกินมาตรฐาน สรุปผลการทดสอบ         ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) ได้อนุญาตให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของวัตถุกันเสียประเภท กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) ไว้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม และวัตถุกันเสียประเภท กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) ไว้ไม่เกิน 1000 มก./กก. ในหมวดอาหารประเภทเครื่องปรุงรส เช่น น้ำพริกพร้อมบริโภค น้ำพริกสำหรับคลุกข้าว น้ำพริกกะปิ          จากตารางผลตรวจวิเคราะห์ พบว่า         กลุ่มที่ 1 ตรวจไม่พบวัตถุกันเสียทั้งสองชนิดเลย จำนวน 7 ตัวอย่าง ได้แก่           1) น้ำพริกหนุ่มอุ้ยคำ (ตราขันโตก) จากตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่          2) น้ำพริกหนุ่ม วนัสนันท์ สูตรดั้งเดิม จากตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่          3) น้ำพริกหนุ่ม จ่าเหลาหมูทอด จากตลาดโต้รุ่งข้างลานเจ้าแม่ลำพูน          4) น้ำพริกหนุ่มแม่ลัด จาก จ.ลำพูน          5) น้ำพริกหนุ่ม ครัวไส้อั่วแม่บุญนาค จาก จ.ลำพูน          6) น้ำพริกหนุ่มเปมิกา จากร้านเปมิกา ตลาดแม่ทองคำ จ.พะเยาและ    7) น้ำพริกหนุ่ม ตรา วรรณภา สูตรโบราณ จาก บจก.นันท์ธินี จ.เชียงราย          กลุ่มที่ 2 ตรวจพบสารกันบูดแต่ไม่เกินมาตรฐาน จำนวน 8 ตัวอย่าง ได้แก่          8) มารศรี น้ำพริกหนุ่ม สูตรดั้งเดิม จากร้านแม่ทองปอน ตลาดแม่ทองคำ จ.พะเยา               พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 115.25 มก./กก.          9) นิชา (เจ๊หงษ์ น้ำพริกหนุ่ม) จากร้านเจ๊หงษ์ ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่               พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 133.16 มก./กก.          10) แม่อุ่นเรือน จากตลาดสดอัศวิน จ.ลำปาง               พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 187.17 มก./กก.          11) นันทวัน น้ำพริกหนุ่มเจียงฮาย สูตรดั้งเดิม จาก บจก.นันท์ธินี จ.เชียงราย               พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 282.66 มก./กก.          12) น้ำพริกหนุ่มอำพัน จากร้านข้าวแต๋นของฝาก จ.ลำปาง               พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 302.10 มก./กก.          13) น้ำพริกหนุ่ม ร้านดำรงค์ จากร้านดำรงค์ ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่               พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 382.19 มก./กก.          14) น้ำพริกหนุ่มอุ้ยแก้ว จากกาดขัวมุง จ.ลำพูน               พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 430.18 มก./กก.และ    15) น้ำพริกหนุ่ม ตรา ศุภลักษณ์ (รสเผ็ดมาก) จากร้านแม่ทองปอน ตลาดสดแม่ทองคำ จ.พะเยา               พบปริมาณ กรดซอร์บิก เท่ากับ 524.59 มก./กก. และมีผลิตภัณฑ์น้ำพริกหนุ่มในกลุ่มที่ 3 ซึ่ง ตรวจพบปริมาณวัตถุกันเสียเกินมาตรฐาน พบจำนวน 8 ตัวอย่าง ได้แก่          16) เจ๊หงษ์ จากร้านเจ๊หงษ์ ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่               พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 515.13 มก./กก.           17) ร้านแคบหมู รัตติกรณ์ จากตลาดพะเยาอาเขต จ.พะเยา                พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 577.71 มก./กก.          18) น้ำพริกหนุ่มอุมา จากตลาดสดแม่ทองคำ จ.พะเยา               พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 1152.12 มก./กก.          19) น้ำพริกหนุ่มดวงกมล สูตรดั้งเดิม จากร้านขายของฝาก (สามแยกเด่นชัย) จ.แพร่               พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 1262.21 มก./กก.          20) ประชันฟาร์ม จากร้านแม่สมใจ (สามแยกเด่นชัย) จ.แพร่               พบปริมาณ กรดซอร์บิก เท่ากับ 1346.65 มก./กก.          21) บัวลักษณ์ จากร้านขายของฝาก (สามแยกเด่นชัย) จ.แพร่               พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 3007.29 มก./กก.          22) คุณถนอม จากตลาดสดอัศวิน จ.ลำปาง               พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 3370.82 มก./กก.และ    23) น้ำพริกหนุ่ม แม่ประกาย จากร้านยาใจ (สามแยกเด่นชัย) จ.แพร่               พบปริมาณ กรดเบนโซอิก เท่ากับ 4647.98 มก./กก.          ผลการเปรียบเทียบการตรวจวิเคราะห์น้ำพริกหนุ่มจากการตรวจครั้งที่ 2 และ 3         เมื่อเปรียบเทียบปริมาณสารกันบูดของผลิตภัณฑ์น้ำพริกหนุ่ม 11 ตัวอย่าง ที่เคยสุ่มตรวจครั้งที่ 2 (เมื่อเดือน มิถุนายน 2562) กับในครั้งนี้ จะปรากฏผลดังตารางต่อไปนี้           สรุป          - มีผลิตภัณฑ์น้ำพริกหนุ่ม 2 ตัวอย่าง ที่ตรวจไม่พบสารกันบูดเลยทั้งสองครั้ง คือ น้ำพริกหนุ่มอุ้ยคำ (ตราขันโตก) และ น้ำพริกหนุ่ม ตรา วรรณภา        - มีผลิตภัณฑ์น้ำพริกหนุ่ม 2 ตัวอย่าง ที่เคยตรวจพบปริมาณสารกันบูดเกินมาตรฐานในครั้งที่แล้ว แต่ครั้งนี้ไม่เกินมาตรฐาน คือ นิชา (เจ๊หงษ์ น้ำพริกหนุ่ม) และ น้ำพริกหนุ่ม ร้านดำรงค์         - มีผลิตภัณฑ์น้ำพริกหนุ่ม 2 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบปริมาณสารกันบูดเกินมาตรฐานทั้งสองครั้ง  (แต่ครั้งล่าสุด ตรวจพบปริมาณสารกันบูดน้อยลง แต่ก็ยังคงเกินมาตรฐาน) คือ เจ๊หงษ์ และ น้ำพริกหนุ่มอุมา                ทั้งนี้ หากลองเปรียบเทียบสัดส่วนผลตรวจปริมาณสารกันบูดที่เกินมาตรฐานทั้งสองครั้ง จะพบว่า ในครั้งที่แล้ว (มิ.ย.62) ผลตรวจน้ำพริกหนุ่มทั้งหมด 17 ตัวอย่าง พบมีปริมาณสารกันบูดเกินมาตรฐาน 7 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 41.17 และในครั้งนี้ จากทั้งหมด 23 ตัวอย่าง พบมีปริมาณสารกันบูดเกินมาตรฐาน 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 34.78 ซึ่งน้อยลงกว่าครั้งก่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ร้อง...โรงเรียนไม่สะอาด

        โรงเรียนนั้นเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของลูก ก่อนคุณพ่อคุณแม่จะให้ลูกเข้าเรียนโรงเรียนไหนก็มีการศึกษาข้อมูลโรงเรียนเป็นอย่างดี ยิ่งลูกยังอยู่ในวัยเล็กๆ การดูแลความปลอดภัย สวัสดิภาพ ความสะอาดของโรงเรียนยิ่งต้องมีมากขึ้นด้วย เพราะเด็กเล็กจะติดเชื้อโรคได้ง่าย         คุณภูผามีลูกเล็กสองคน ลูกชายวัยสามขวบหนึ่งคน และลูกสาววัยขวบกว่าอีกหนึ่งคน ลูกชายของเขาอยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องเข้าโรงเรียนชั้นอนุบาล 1 เขาและแฟนจึงได้เลือกโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงใกล้บ้าน เพื่อง่ายต่อการรับส่ง ในเดือนมิถุนายนเด็กนักเรียนในโรงเรียนเริ่มป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก และลูกชายของเขาก็ติดโรคมือเท้าปากจากโรงเรียน จึงต้องหยุดเรียนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ระหว่างลูกชายหยุดเรียนเขาได้ข่าวจากผู้ปกครองทางไลน์กลุ่มว่าที่โรงเรียนมีเด็กป่วยเพิ่มขึ้นตลอด และก่อนให้ลูกชายกลับไปเรียน เขาได้ไปขอใบรับรองแพทย์อีกครั้งว่าลูกชายหายจากโรคมือเท้าปากแล้ว แต่เมื่อลูกชายไปเรียน กลับติดโรคมือเท้าปากอีกครั้ง และครั้งนี้ลูกสาวก็ติดโรคมือเท้าปากด้วย         คุณภูผาต้องเสียค่ารักษาพยาบาลของลูกสองคน 2 ครั้งเป็นเงินเกือบ 100,000 บาท เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เขารู้สึกว่าทางโรงเรียนไม่ได้มีมาตรการป้องกันการติดเชื้อ ทำให้ไม่มีความมั่นใจที่จะให้ลูกของเขาเรียนที่โรงเรียนนี้อีกต่อไป จึงได้ติดต่อไปยังโรงเรียนแจ้งลาออกและขอเงินค่าเทอมคืน          หลังจากนั้นภูผาได้แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งช่วยดำเนินการประสานงานกับโรงเรียน ทางโรงเรียนแจ้งเขาว่าจะคืนเงินค่าเทอมให้เพียง 40% เป็นเงินจำนวน 18,800 บาท จากค่าเทอม 47,000 บาท และค่าแรกเข้าอีกรวมเป็นเงิน 62,000 บาท ทั้งที่ลูกชายของเขาเพิ่งไปเรียนได้เพียง 1 เดือนกว่า เมื่อสช.ประสานงานไปยังโรงเรียน โรงเรียนได้มีมาตรการควบคุมโรคโดยปิดโรงเรียนเพียง 3 วัน ซึ่งตามมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนต้องกำหนดมาตรการโรคโดยปิดชั้น หรือปิดโรงเรียนเป็นระยะเวลา 5 – 7 วัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่โรงเรียนก็ไม่ได้ทำตามมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการ และไม่มีมาตรการคัดแยกเด็กนักเรียนที่ป่วยกับไม่ป่วยออกจากกัน ทั้งยังจัดกิจกรรมเล่านิทาน ให้เด็กนักเรียนหลายห้องมารวมกัน จึงทำให้มีการแพร่เชื้อได้ง่าย ภูผารู้สึกว่าถูกโรงเรียนเอาเปรียบจึงร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนะนำว่า ผู้ร้องสามารถขอเงินคืนได้ เพราะกรณีดังกล่าวเป็นการผิดสัญญาจ้าง หากโรงเรียนไม่สามารถทำได้ตามสัญญา ผู้ร้องก็มีสิทธิเรียกเงินในส่วนที่เหลือคืน และการที่โรงเรียนได้มีหนังสือแจ้งผู้ร้องแล้วว่าจะคืนเงินให้ 40 % นั้น ถือว่าเป็นการยอมรับการยกเลิกสัญญาแล้ว เพียงแต่ปัจจุบันไม่สามารถตกลงในเรื่องจำนวนเงินที่จะคืนได้          ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้เชิญประชุมเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างโรงเรียนและผู้ร้อง โดยผู้ร้องเสนอให้โรงเรียนหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามระยะเวลาที่เข้าเรียนและคืนเงินจำนวน 40,000 บาท แต่ตัวแทนโรงเรียน ยืนยันคืนเงิน 40 % ของเงินค่าเล่าเรียนจำนวน 47,000 บาท เป็นเงินจำนวน 18,800 บาท ซึ่งไม่สามารถตกลงกันได้ ผู้ร้องจึงขอให้ศูนย์พิทักษ์ช่วยเหลือด้านทนายความในการดำเนินคดีกับโรงเรียน         ผู้ร้องได้ดำเนินการฟ้องคดีกับโรงเรียนและเจ้าของโรงเรียนเป็นคดีผู้บริโภค เรื่อง ผิดสัญญาให้บริการทางการศึกษา ต่อมาสามารถตกลงกันได้ โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โรงเรียนตกลงคืนเงินค่าแรกเข้าและค่าเล่าเรียนให้กับผู้ร้องเป็นเงินจำนวน 62,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ว้าย สร้อยทองมีตำหนิ

        คุณอรวรรณซื้อสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท จากร้านขายทองแห่งหนึ่ง จากนั้นได้นำไปเก็บไว้ในตู้เซฟ ที่บ้าน หนึ่งสัปดาห์ต่อมาคุณอรวรรณนำสร้อยเส้นดังกล่าวออกมาเพื่อสวมใส่แทนเส้นเดิมที่ใส่ประจำ และขณะที่กำลังสลับจี้เพชรใส่สร้อยเส้นใหม่ เธอสังเกตว่า สร้อยทองเส้นดังกล่าวมีตำหนิที่ตรงรอยต่อ          คุณอรวรรณจึงรีบนำสร้อยกลับไปขอเปลี่ยนกับทางร้าน แต่พนักงานบอกกับคุณอรวรรณว่า หากจะเปลี่ยนสร้อยเส้นใหม่ ต้องเสียค่าเปลี่ยนเพิ่มอีก 800 บาท “เอ้า ของมีตำหนิ ทำไมไม่เปลี่ยนให้ แถมคิดเงินเพิ่มอีก” คุณอรวรรณรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมเลย จึงโทรขอคำปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อพบว่าทองที่ซื้อมามีตำหนิ ร้านส่วนใหญ่จะมีใบรับประกัน เราสามารถใช้เงื่อนไขในคำรับประกันนำไปขอเปลี่ยนหรือคืนเงินได้ หากร้านทองจะคิดค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนควรต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า ค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บเพิ่มนั้นเป็นค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เช่น เป็นค่ากำเหน็จกรณีเปลี่ยนสร้อยทองลายใหม่หรือไม่  ถ้ามีเหตุผลก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริโภค หากไม่พอใจควรขอคืนสินค้า คุณอรวรรณจึงนำสร้อยทองไปร้านและขอคืนเงินเพราะไม่ต้องการของมีตำหนิ ซึ่งร้านยินดีคืนเงินให้ เรื่องยุติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ร้านขายยางรถหมดอายุทำอะไรได้บ้าง

        คุณสุรชัยได้ขับรถยนต์เข้าศูนย์ซ่อมรถแห่งหนึ่ง เพื่อเปลี่ยนยางรถเส้นใหม่ แต่ร้านไม่มียางรถยนต์รุ่นที่คุณสุรชัยต้องการ ร้านจึงเสนอยางรถยนต์รุ่นอื่นและบอกว่าสามารถใช้แทนกันได้ โดยจะลดราคาให้พิเศษ คุณสุรชัยจึงได้เปลี่ยนยางเส้นใหม่ตามที่ร้านแนะนำ         ไม่กี่เดือนหลังเปลี่ยนยาง คุณสุรชัยรู้สึกว่ารถมีอาการขับกินซ้ายตลอด จึงตัดสินใจนำรถเข้าศูนย์ซ่อมเพื่อตั้งศูนย์ถ่วงล้อ แต่อาการขับกินซ้ายก็ยังไม่ดีขึ้น         ผ่านไปกว่าครึ่งปีคุณสุรชัยได้นำรถเข้าศูนย์ซ่อมรถอีกครั้งเพื่อตั้งศูนย์ถ่วงล้อใหม่ โดยพนักงานได้ให้ความเห็นว่า ยางรุ่นนี้แก้อย่างไรก็ไม่หาย จนวันหนึ่งลูกชายของคุณสุรชัยได้นำรถไปล้าง แล้วสังเกตว่ายางรถน่าจะเป็นยางที่หมดอายุแล้ว คุณสุรชัยจึงปรึกษาว่าควรทำอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา        หากปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุจาก ยางรถหมดอายุ ยางเสื่อมคุณภาพจากการเก็บรักษาที่ไม่ดี หรือ ทางร้านแนะนำยางรุ่นอื่นให้ใช้ทดแทนแต่ไม่สามารถใช้งานได้จริง โดยผู้บริโภคมาทราบทีหลัง และพิสูจน์ได้ว่าความผิดปกติจากการใช้รถที่เกิดขึ้นเกิดจากยางรถที่เปลี่ยนมา ก็สามารถขอคืนเงินได้         รวมถึงสามารถเรียกค่าใช้จ่ายจากความเข้าใจผิด ที่เกิดจากการนำรถยนต์เข้าศูนย์ซ่อมได้ เช่น ค่าที่ผู้ร้องต้องนำรถเข้าตั้งศูนย์ถ่วงล้อ เพราะเข้าใจผิดว่าอาการขับกินซ้ายเกิดจากการตั้งศูนย์ เป็นต้น         ทั้งนี้การซื้อยางรถยนต์ ผู้บริโภคอาจสังเกตปีที่ผลิต สภาพของยางรถ ซึ่งสถานที่ที่เก็บรักษายางรถควรมีการควบคุมความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสม เช่น ไม่ตากแดดตลอดเวลาและเลือกซื้อยางรถยนต์จากร้านที่น่าเชื่อถือ และควรเก็บใบเสร็จรับเงินไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการร้องเรียนหากได้สินค้าไม่มีมาตรฐานหรือหมดอายุ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 รับประกันหนึ่งเดือนแต่ทำไมต้องเสียค่ารักษาเพิ่ม

        การรับประกันต้องอ่านข้อกำหนดหรือข้อสัญญาให้ดี และสอบถามถึงเงื่อนไขที่ไม่อยู่ภายใต้การรับประกันให้แน่ใจก่อน มิเช่นนั้นก็อาจต้องปวดหัวเสียเวลา เหมือนที่คุณประคองเซลล์แมนผู้มีปัญหาฟันห่างประสบมา         อาชีพเซลล์แมนจำเป็นต้องมีบุคลิกภาพที่น่าเชื่อถือ ปัญหาฟันหน้าห่างจึงเป็นสิ่งที่คุณประคองรู้สึกเป็นปมด้อยของตนเองมาตลอด เวลาพบลูกค้าจะขาดความมั่นใจ เขาจึงปรึกษากับคลินิกทันตกรรมแห่งหนึ่ง ขอเรียกว่าคลินิกพี เรื่องการรักษาฟันห่าง ซึ่งทันตแพทย์แนะนำหลายวิธีตามหลักการรักษา วิธีซึ่งง่ายและไม่กระทบกับงานของคุณประคอง ผู้ไม่ค่อยมีเวลาว่างมาก คือการใช้วัสดุอุดฟันปิดเติมฟันหรืออุดปิดช่องว่างระหว่างฟัน การรักษาวิธีนี้ทางคลินิกรับประกันผลหนึ่งเดือน         แต่ก็เหมือนโดนแกล้ง เพียงหกวันหลังการรักษาฟัน วัสดุที่อุดช่องว่างระหว่างฟันเกิดแตกร้าว คุณประคองจึงต้องกลับไปคลินิกพีอีกครั้งเพื่อให้ทันตแพทย์แก้ไข ต่อมาเช้าวันรุ่งขึ้น วัสดุที่ซ่อมก็เกิดหลุดออกมาอีกจึงต้องกลับไปคลินิกอีกครั้ง         ทันตแพทย์ระบุว่าต้องรื้อทำใหม่ และต้องเสริมด้วยการทำรีเทนเนอร์ครอบฟันไว้เพื่อไม่ให้เกิดการแตกร้าวอีก ซึ่งต้องชำระเงินเพิ่มเป็นค่ารีเทนเนอร์ 5,000 บาท คุณประคองต้องการให้การรักษาเป็นไปด้วยดี จึงจ่ายชำระเงินส่วนนี้เพิ่มไป แต่ยังไม่ได้ทำรีเทนเนอร์ในวันนั้นเพราะต้องมีการสั่งทำเฉพาะ ทันตแพทย์จึงแก้ไขบางส่วนให้ก่อน เมื่อกลับถึงบ้านปัญหายังคงเกิดขึ้นอีกครั้งในวันถัดมา เมื่อเขาติดต่อทางโทรศัพท์กับทางคลินิก เขาได้รับการนัดหมายให้มาพบทันตแพทย์ในอีกสองวัน แต่เมื่อมาตามนัด ได้พบทันตแพทย์คนใหม่ ซึ่งบอกเขาว่า ค่ารีเทนเนอร์คือ 8,000 บาท ไม่ใช่ 5,000 ตามที่ทันตแพทย์คนเดิมแจ้งไว้        “ผมรู้สึกไม่ชอบที่พนักงานบอกข้อมูลไม่หมด ไม่บอกผมว่าถ้าเป็นทันตแพทย์คนใหม่ต้องเสียเงินเพิ่มอีกถึงสามพันบาท แล้วการแตกของฟันก็ควรอยู่ในเงื่อนไขประกันที่ทางคลินิกระบุคือหนึ่งเดือน พอผมต่อว่าไป พนักงานบอกว่า ขอโทษที่ลืมแจ้งแต่หากจะทำในราคาที่จ่ายไป 5,000 บาท ต้องรอคิวคุณหมอท่านเดิม คือรออีกถึง 6 วัน ผมเป็นเซลล์ต้องพบเจอลูกค้าตลอด จะให้ฟันบิ่นๆ ไปถึง 6 วัน จะไหวเหรอ”        คุณประคองจึงย้ายไปรักษาที่คลินิกแห่งใหม่ และจ่ายค่าทำฟันไป 3,000 บาท เขาต้องการให้คลินิกพีเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาตรงนี้ จึงปรึกษามาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิว่าสามารถทำได้หรือไม่ หรือควรดำเนินการอย่างไรต่อไป    แนวทางการแก้ไขปัญหา         เรื่องปรึกษาของคุณประคองนั้นทราบต่อมาว่า ทางคลินิกได้ให้ตัวแทนนำเช็คจำนวนเงิน 5,000 บาทมามอบให้ ซึ่งก็คือเงินค่ารีเทนเนอร์ที่คุณประคองโอนให้แก่คลินิก แต่ไม่ยินดีชดเชยในกรณีที่คุณประคองต้องไปรักษาที่คลินิกอีกแห่ง ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงเชิญทั้งสองฝ่ายเจรจาไกล่เกลี่ย         ทางตัวแทนคลินิกยังยืนยันการคืนเงิน 5,000 บาทให้เท่านั้น แต่รับปากจะนำเรื่องไปเสนอผู้บริหาร ซึ่งภายหลังแจ้งผลว่า ยินดีคืนเงินเพียงแค่ค่ารีเทนเนอร์เท่านั้น ซึ่งคุณประคองรู้สึกผิดหวังที่ทางคลินิกเหมือนให้สัญญารับประกันที่เป็นแค่เพียงลมปาก แต่ก็ไม่อยากต่อความด้วย จึงตกลงรับเงินจำนวน 5,000 บาทคืนและยุติเรื่อง   

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 229 ตรวจสอบอาการเบื้องต้น COVID-19 กับแอปพลิเคชั่น “ใกล้มือหมอ”

        ตั้งแต่ต้นปี 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เริ่มแพร่กระจายและขยายการติดเชื้อของประชาชนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมนี้ มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเกินร้อยทุกวัน ภาครัฐได้มีมาตรการการเฝ้าระวังอาการ การกักตัวเองในบ้าน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อหวังให้ประชาชนตระหนักและมีความรู้ความเข้าใจกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้         สิ่งหนึ่งที่ประชาชนสามารถเฝ้าระวังนั่นคือ การหลีกเลี่ยงไปสถานที่แออัด การล้างมือ การไม่ใช้มือสัมผัสหน้า จมูก ดวงตา การสวมใส่หน้ากากอนามัย เป็นต้น แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องเดินทางก็ควรต้องศึกษาข้อมูลการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันโดยการเฝ้าสังเกตอาการตนเองและคนรอบข้างอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ทำแอปพลิเคชั่นเพื่อเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับอาการต่างๆ ที่อาจต้องสงสัยว่าเป็นการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือเป็นอาการอื่นกันแน่         แอปพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า “ใกล้มือหมอ” สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS โดยขั้นแรกให้เลือกระบบการใช้งานเป็นบุคคลทั่วไป และกรอกชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ และ E-Mail เพื่อลงทะเบียนเข้าใช้งาน        จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้น ทำให้แอปพลิเคชั่นได้เพิ่มในส่วนของการติดตามเพื่อแจ้งข้อมูลจุดที่มีการติดเชื้อเกิดขึ้นให้ทราบว่าบริเวณใด โดยสามารถดูรายละเอียดได้ว่าผู้ติดเชื้อเป็นใคร และได้เพิ่มปุ่มในส่วนของการตรวจสอบอาการ COVID-19 เพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นสามารถตรวจสอบอาการเบื้องต้นได้ด้วย         ขั้นตอนการตรวจสอบอาการ COVID-19 จะเป็นการให้ตอบคำถามตามอาการที่เกิดขึ้นจริง เช่น มีไข้สูงเกิน 38 องศา ไอแห้ง อ่อนเพลีย หายใจลำบาก หอบเหนื่อยผิดปกติหรือไม่ เป็นต้น เพื่อแอปพลิเคชั่นจะคำการวิเคราะห์ว่ามีแนวโน้มที่จะติดเชื้อหรือไม่ ถ้ามีแนวโน้มที่จะติดเชื้อจะมีปุ่มให้กดเพื่อดูข้อมูล เบอร์ติดต่อ ระยะทาง แผนที่ เพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นสามารถติดต่อโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ได้เร็วที่สุด          สำหรับอาการอื่นๆ ในแอปพลิเคชั่นนี้ได้รวบรวมหมวดการค้นหาอาการ การค้นหาข้อมูลโรคต่างๆ โดยการแบ่งลักษณะอาการป่วยออกตามอวัยวะภายในร่างกาย ตามประเภทโรคที่เกี่ยวข้อง และตามลักษณะอาการของโรค เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา เมื่อค้นหาได้แล้วจะเจอข้อมูลที่บอกลักษณะอาการที่เกิดขึ้นนั้นอย่างละเอียด มีวิธีการรักษา พร้อมทั้งวิดีโอแนะนำเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น         ที่สำคัญแอปพลิเคชั่นใกล้มือหมอจะมีข้อความเตือนทุกขั้นตอนว่า การซื้อยามารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรนั้น อาจก่อนให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เช่น การแพ้ยา การดื้อยา หรือแม้กระทั่งเสียชีวิต         ดังนั้นเมื่อมีอาการใด ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดธรรมดา ปวดหัวตัวร้อน หรือสงสัยว่าจะติดเชื้อ COVID-19 อย่าซื้อยามารับประทานเองกันนะคะ ให้ใช้แอปพลิเคชั่นนี้เป็นตัวช่วยในการตรวจสอบอาการเบื้องต้น อย่างน้อยก็ช่วยลดความวิตกกังวลภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 พุ่งสูงขึ้นตลอดเวลา         มาดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และลดการไปในสถานที่แออัดกันนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ประชาชนจะพึ่งใคร คณะกรรมการการทางพิเศษ คณะรัฐมนตรีต่างยอมรับตัวเลขมโนแพ้คดีเกินจริง กรณีทางด่วนขั้นที่ 2

        ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ต่อสัญญาสัมปทานทางด่วน 15 ปี 8 เดือนกับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน,BEM) โดยใช้เหตุผลว่า เพื่อยุติการฟ้องคดี         วันที่ 3 มีนาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เพื่อเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องที่ให้ความเห็นชอบการแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน - ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) รวมทั้งเพิกถอนมติของคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ผลปรากฎว่า ศาลปกครองกลางยกคำร้อง บอกว่า ไม่ใช่กรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน ส่วนคำร้องขอบรรเทาทุกข์ ศาลจะพิจารณาในภายหลัง         โดยก่อนหน้านี้ ทางมูลนิธิ ฯ ได้ยื่นร้องสอดขอเป็นจำเลยร่วมจำนวน 2 คดีต่อศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด กรณีการฟ้องร้องของบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ มหาชน (BEM) ต่อการทางพิเศษ เกี่ยวกับการปรับราคาค่าทางด่วน        เหตุผลในการฟ้องคดีมีหลายประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขหนี้เป็นตัวเลขมโน คิดไปเองว่าจะแพ้คดีทั้งที่ยังไม่ได้ต่อสู้หรือถูกฟ้องทั้งหมด เนื่องจากการพิจารณาแก้ไขสัญญาเพื่อยุติข้อพิพาทตามมติคณะรัฐมนตรีไม่สามารถแยกได้ว่าหนี้ที่แท้จริงของแต่ละสัญญามีมูลค่าเท่าใด แต่กลับต่อระยะเวลาของสัญญาทั้ง 3 ออกไป โดยไม่มีที่มาที่ไป        เอื้อประโยชน์ให้เอกชน 26,415 ล้านบาท โดยการรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคล แทนเอกชน โดยใช้ข้อเท็จจริงในการพิจารณาไม่โปร่งใส ใช้ฐานข้อมูลรายได้ของรัฐที่ต่ำเกินความเป็นจริง         มติครม. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดิม ไม่เกิดการแข่งขันในการให้บริการต่อประชาชน        มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ให้กับหน่วยงานของรัฐต่างๆ ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้เอกชนมีสิทธิเหนืออำนาจปกครอง และเป็นการเปิดช่องให้ใช้วิธีการสมยอมโดยทุจริตได้โดยไม่ผ่านการตรวจสอบจากฝ่ายตุลาการ         ผู้บริโภค ควรได้ใช้ทางด่วนที่หมดสัญญาสัมปทานเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ถูกลง ยิ่งนาน ค่าผ่านทางควรถูกลง หากคิดรายได้การทางพิเศษ ร้อยละ 60% ค่าผ่านทางสามารถลดลงได้มากถึง 40% ที่เป็นส่วนแบ่งให้บริษัท นั่นคือเราจะใช้ทางด่วนในราคา 36 บาทเท่านั้น จากปัจจุบันราคา 60 บาท 

อ่านเพิ่มเติม >

‘ฉลาดซื้อ’ เตือน บริโภค ‘โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป’ ช่วงกักตัวระวังปริมาณโซเดียมเกิน

        ‘นิตยสารฉลาดซื้อ’ เผย ปริมาณโซเดียมใน ‘ผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป’ พบ ผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมน้อยสุดเป็น 0 มากสุดมีถึง 1,350 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค แต่ไม่เกินปริมาณการบริโภคโซเดียมที่แนะนำต่อวัน ทั้งยังพบ 1 ผลิตภัณฑ์ไม่มีฉลากโภชนาการ พร้อมแนะควรบริโภคเป็นครั้งคราว แต่หากมีความจำเป็นต้องบริโภคควรเติมเนื้อสัตว์ หรือ ผัก เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร         นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปทั้งแบบถ้วยและแบบซองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จำนวน 31 ตัวอย่าง และนำมาเปรียบเทียบปริมาณโซเดียม พบว่า ผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปที่มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุด คือ โจ๊กข้าวกล้อง หอมมะลิ กึ่งสำเร็จรูป ตราเอ็นทูเอ็น รสผักเจ มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 0 มิลลิกรัม และ โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปที่มีปริมาณโซเดียมมากที่สุด คือ โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป รสปลา ตราเกษตร มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 1,350 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค         เมื่อคิดเป็นค่าเฉลี่ยปริมาณโซเดียม และ ราคาของโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด 31 ตัวอย่าง จะได้ค่าเฉลี่ยปริมาณโซเดียมเท่ากับ 605.23 มิลลิกรัม และราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 17.04 บาทต่อถ้วยหรือซอง         ขณะที่มีผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป 1 ตัวอย่าง ‘ไม่มีฉลากโภชนาการ’ ได้แก่ โจ๊กข้าวต้มหอมมะลิ กึ่งสำเร็จรูป ตราเอ็นทูเอ็น รสดั้งเดิม จึงไม่สามารถเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมได้ปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป จำนวน 31 ตัวอย่างเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เดือนกุมภาพันธ์ 2563องค์การอนามัยโลก(WHO)แนะนำว่าปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมต่อร่างกายคือ 2,000 มิลลิกรัม/วัน         อนึ่ง แม้ว่าโซเดียม คือ แร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ช่วยรักษาความสมดุลของน้ำในร่างกายและความดันโลหิต โดยทั่วไปร่างกายต้องการโซเดียมประมาณ 1500 มิลลิกรัม/วัน แต่ในชีวิตประจำวันของเราอาจจะบริโภคโซเดียมมากกว่านั้น โดยปริมาณโซเดียมสูงสุดที่บริโภคแล้วไม่อันตราย คือ ไม่เกิน 2000 มิลลิกรัม/วัน หรือเกลือประมาณ 1 ช้อนชา         ทั้งนี้ หากลองคำนวณจากการบริโภคมื้ออาหารหลัก วันละ 3 มื้อ เราควรได้รับปริมาณโซเดียมต่อมื้อโดยประมาณไม่เกิน มื้อละ 666 มิลลิกรัม (2000 ÷ 3) ซึ่งหากดูปริมาณโซเดียมในตัวอย่างผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด 31 ตัวอย่าง จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์มากกว่าครึ่ง มีปริมาณโซเดียมต่ำกว่า 666 มิลลิกรัม อย่างไรก็ตามหากหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารสำเร็จรูปได้ก็ควรหลีกเลี่ยง หรือ บริโภคเป็นครั้งคราว แต่หากมีความจำเป็นต้องบริโภคโจ๊กกึ่งสำเร็จรูป แนะนำว่าสามารถเติมเนื้อสัตว์ หรือ ผัก เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร นอกจากนี้ ควรสังเกตฉลากโภชนาการเพื่อดูปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ด้วย อ่านรายละเอียด ได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3351

อ่านเพิ่มเติม >

เหตุผล 7 ประการที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง(จังหู)

        ประเด็นค่าไฟฟ้าแพงได้กลายเป็นกระแสทั้งในสื่อกระแสหลักและสังคมออนไลน์ ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 63 เป็นต้นมา ทั้งนี้เพราะคนส่วนใหญ่ต้องทำงานจากบ้านเพื่อตอบสนองมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” จากโรค COVID-19  บางรายเคยจ่ายของเดือนกุมภาพันธ์ ประมาณ 1,500 บาท ได้เพิ่มเป็น 5,200 บาทในเดือนมีนาคม        เจอเข้าอย่างนี้ ผู้บริโภคที่แอคทีฟจะต้องโวยอยู่แล้ว  จริงไหมครับ?        ผมขอเรียงลำดับคำตอบนี้ตั้งแต่ระดับปรากฏการณ์ไปจนถึงสาเหตุเชิงโครงสร้างของค่าไฟฟ้าแพงรวม 7 ประการ ดังนี้         ประการที่หนึ่ง เพราะเราใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นจริง         เวลาเราได้ “ใบแจ้งค่าไฟฟ้า” นอกจากต้องดูจำนวนเงินที่ต้องจ่ายแล้ว เราต้องดูจำนวนหน่วยที่ใช้ด้วย  ซึ่งคำว่า “หน่วย (unit)” หมายถึงจำนวนวัตต์ของอุปกรณ์ไฟฟ้า คูณด้วยจำนวนชั่วโมงที่ใช้ แล้วหารด้วย 1,000  เช่น หลอดไฟขนาด 18 วัตต์จำนวน 1 หลอด ถ้าเปิดวันละ 10 ชั่วโมง ใน 30 วัน จะใช้พลังงานรวม 5.4 หน่วย หรือ kwh ในภาษาวิชาการ         โดยปกติใบแจ้งค่าไฟฟ้าจะมีข้อมูลประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง 6 เดือน เราก็ลองเปรียบเทียบกันดูว่ามีความสมเหตุสมผลหรือไม่  เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าออกมายอมรับเองว่า “บางครั้งก็มีการจดผิด”           ประการที่สอง เพราะการคิดค่าไฟฟ้าเป็นอัตราก้าวหน้า         บ้านอยู่อาศัยประเภทที่ 1.2 (มิเตอร์ 15 แอมป์) ถ้าใช้ไฟฟ้าเดือนละ 1,000 หน่วย ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยต่อหน่วย (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าบริการแล้ว-ในอัตราปัจจุบัน) เท่ากับ 4.41 บาท (รวมต้องจ่าย 4,406.21 บาท) แต่ถ้าใช้ 2,000 หน่วย ค่าเฉลี่ยจะเพิ่มเป็น 4.51 บาทต่อหน่วย (รวมต้องจ่าย 9,013.31 บาท)         โปรดสังเกตว่า จำนวนการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2 เท่า แต่จำนวนเงินเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า         เหตุผลที่ทางรัฐบาลใช้เกณฑ์อัตราก้าวหน้า ก็เพราะต้องการให้คนประหยัดการใช้พลังงาน ซึ่งผมเห็นด้วยหากเป็นสถานการณ์ปกติ แต่ในยุคที่รัฐบาลต้องการให้คน “ช่วยชาติ” ทำไมจึงลงโทษคนที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลด้วยการคิดอัตราก้าวหน้าด้วยเล่า         ผมเสนอให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกราย ทั้งพวก “5 แอมป์” และ “15 แอมป์” ได้ใช้ไฟฟ้าฟรี 150 หน่วยแรกเท่ากัน ส่วนที่เกินให้คิดในอัตรา “คงที่” อัตราเดียว         สำหรับค่าเอฟทีรอบหน้า (พ.ค.ถึง ส.ค.) ยังคงเท่าเดิม ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันลดต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปี         ประการที่สาม เพราะกำไรสุทธิของ 3 การไฟฟ้าสูงถึง 11.6%         จากรายงานประจำปี 2562 ของ กฟผ. และ กฟภ. มีกำไรสุทธิจำนวน  48,271.26 และ 15,384 ล้านบาทตามลำดับ ในขณะที่ กฟน. มีกำไรสุทธิปี 2561 (ปีล่าสุดที่เผยแพร่) จำนวน 9,094.95 ล้านบาท         เมื่อรวมกำไรสุทธินี้เข้าด้วยกัน (เพื่อให้เห็นภาพคร่าวๆ) เท่ากับ  72,750.21 ล้านบาท ในขณะที่กระทรวงพลังงาน (ตารางที่ 7.1-6 สนพ.) มูลค่าพลังงานไฟฟ้าในปี 2562 เท่ากับ 699,000 ล้านบาท ทำให้เราคำนวณได้ว่า กิจการ 3 ไฟฟ้ามีกำไรสุทธิร้อยละ 11.62 ซึ่งผมเห็นว่าเป็นอัตรากำไรที่สูงเกินไป เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยธนาคารในปัจจุบัน         ในขณะที่บริษัท บี กริม เพาว์เวอร์  จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีโรงไฟฟ้าจำนวน 2,896 เมกะวัตต์ โดยร้อยละ 65 ของรายได้ปี 2562 จำนวน 44,132 ล้านบาท มาจากการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. มีกำไรสุทธิ เท่ากับ 3,977 ล้านบาท (เจ้าของบริษัทนี้ คือมหาเศรษฐีอันดับที่ 12 ของไทยที่นายกฯประยุทธ์ มีจดหมายไปขอคำแนะนำ)         ที่กล่าวมาแล้ว เป็นเหตุผลเชิงปรากฎการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกว่าค่าไฟฟ้าแพงมาก หรือ “แพงจังหู”         เหตุผลที่เหลือเป็นเรื่องเชิงโครงสร้างซึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐบาล ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจของการไฟฟ้าทั้ง 3 หน่วยงาน คือ กฟผ., กฟน.และ กฟภ.         ประการที่สี่ เพราะเรามีโรงไฟฟ้าสำรองมากเกินไป         จากรายงานประจำปี 2562 ของ กฟผ. พบว่า นับถึงสิ้นปี 2562 ในระบบไฟฟ้าของประเทศไทยมีกำลังการผลิตจำนวน 45,298.25 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นของ กฟผ.คิดเป็น 33.40% ที่เหลือเป็นของบริษัทเอกชน  โดยมีความต้องการใช้สูงสุดที่ 30,853.20 เมกะวัตต์           ถ้าคิดเป็นกำลังสำรองก็เท่ากับ 46.8%  ในขณะที่ค่ามาตรฐานสากลประมาณ 15%         อนึ่ง จากเอกสารของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ระบุว่า “กำลังการผลิตในระบบ 3 การไฟฟ้าา ณ สิ้นเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ 49,066 เมกะวัตต์ ไม่รวมข้อมูลของผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง(IPS)” (http://www.eppo.go.th/index.php/th/energy-information)         เราไม่ทราบว่ามีรายละเอียดอะไรซ่อนอยู่จึงทำให้ข้อมูลทั้งสองแหล่งนี้แตกต่างกันค่อนข้างมาก        กลับมาที่ข้อมูลของ กฟผ. แม้กำลังการผลิตของ กฟผ.เหลือเพียง 33.4% แต่พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ก็ต่ำกว่าตัวเลขนี้อีก คือ 31.49% ที่เหลืออีก 68.51% เป็นการซื้อจากบริษัทเอกชน         การมีโรงไฟฟ้าสำรองมากเกินไปถือเป็นภาระของผู้บริโภค เพราะสัญญาที่ทำไว้เป็นแบบ “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย ที่เรียกว่า take or pay”         ประการที่ห้า  เพราะเราปลดระวางโรงไฟฟ้าเร็วเกินไป        สัญญาที่รัฐบาลทำกับบริษัทเอกชนทั้งที่เรียกว่า IPP และ SPP จะมีอายุระหว่าง 21 ถึง 25 ปีเท่านั้น ในขณะที่ 51% ของโรงไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา(จากทั้งหมดกว่า 530,000 เมกวัตต์) มีอายุอย่างน้อย 30 ปี ในจำนวนนี้มีโรงไฟฟ้าก๊าซฯกว่า 5 หมื่นเมกะวัตต์ มีอายุ 41 ถึง 50 ปี (https://www.eia.gov/todayinenergy/detail.php?id=1830)         ต้นทุนการก่อสร้างพร้อมดอกเบี้ยของโรงไฟฟ้าที่ถูกปลดระวาง ผู้บริโภคเป็นผู้จ่ายให้ครบหมดถ้วนแล้ว          ประการที่หก เพราะอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับภาคครัวเรือนแพงกว่าภาคธุรกิจ  จากข้อมูล         (https://www.globalpetrolprices.com/Thailand/electricity_prices/) พบว่าค่าไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนโดยเฉลี่ยแล้วแพงกว่าในภาคธุรกิจถึง 6.6 สตางค์ต่อหน่วย (เป็นข้อมูลเดือนกันยายน 2562- แต่เกือบทุกประเทศเป็นลักษณะนี้)        จากข้อมูลของ กฟผ. ในปี 2562 ความต้องการไฟฟ้าทั่วประเทศเท่ากับ 197,873 ล้านหน่วย ในจำนวนนี้ใช้ในภาคครัวเรือน 22%  นั่นคือ ถ้าภาคธุรกิจจ่ายน้อยกว่าภาครัวเรือน 6.6 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นมูลค่าก็ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี นี่มัน “เตี้ยอุ้มค่อม” ชัด ๆ         ประการที่เจ็ด เพราะราคาก๊าซหน้าโรงไฟฟ้าแพงกว่าที่ปากหลุม 32%        จากข้อมูลในรายงานประจำปี 2562 ของ กฟผ. “ราคาก๊าซธรรมชาติหน้าโรงไฟฟ้าเฉลี่ย 263.43 บาท ต่อล้านบีทียูคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 144,794 ล้านบาท” ซึ่งผู้นำส่งก็คือบริษัทในเครือของ ปตท.         ราคาก๊าซฯเฉลี่ย 263.43 บาท สูงกว่าราคาก๊าซเฉลี่ยที่ปากหลุม(ในประเทศไทยคือ 199 บาทต่อล้านบีทียู) ถึง 32%         ในทัศนะของผม แม้จะต้องลงทุนสร้างท่อก๊าซฯ แต่ถ้าราคาก๊าซขนาดนี้ก็น่าจะสูงเกินไป  ถ้าค่าผ่านท่อ(และกำไร)ลดลงมาเหลือ 20% ราคาไฟฟ้าต่อหน่วย(ที่ผลิตจากก๊าซฯซึ่งมีสัดส่วน 57%) ก็จะลดลงมาได้ประมาณ 10 สตางค์ต่อหน่วย (ก๊าซ 1 ล้านบีทียู ผลิตไฟฟ้าได้ 220 หน่วย)นี่คือเหตุผล 7 ประการที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงจังหู ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ครีมถนอมมือ

        เมื่อเราล้างมือหรือใช้เจลทำความสะอาดมือบ่อยๆ ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาคือผิวหนังแห้งกร้าน ในบางรายอาจเป็นขุยหรือรู้สึกคันด้วย ทางออกที่ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังแนะนำคือครีมทามือ ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงไม่รอช้า รีบหาผลทดสอบแฮนด์ครีมมาฝากคุณ คราวนี้สมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT ได้แบ่งคะแนนการทดสอบ* ออกเป็นสามด้าน ได้แก่        - ประสิทธิภาพในการบำรุงผิว (ร้อยละ 60)         - ความพอใจของผู้ใช้ที่มีต่อกลิ่น เนื้อครีม (ร้อยละ 30) และ        - การปลอดสารรบกวนฮอร์โมน/พาราเบนส์/สารก่อภูมิแพ้ (ร้อยละ 10) * ด้วยเนื้อที่อันจำกัดเราจึงขอเลือกมาพียง 20 ยี่ห้อ ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยหรือสั่งซื้อได้จากร้านค้าออนไลน์           ·  การทดสอบครั้งนี้มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,000 ยูโร (ประมาณ 107,000 บาท) ต่อผลิตภัณฑ์        ·  หมายเหตุ ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ชี้ชัดว่าพาราเบนส์ (ซึ่งนิยมใช้เป็นสารกันหืนในเครื่องสำอาง) เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ แต่หลายประเทศก็ให้ความสนใจและเฝ้าระวังสารนี้เป็นพิเศษ สหรัฐฯ ให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์เพื่ออนามัยส่วนบุคคล เช่น แชมพู สบู่ โรลออน ครีมกันแดด เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก สหภาพยุโรปเน้นยาสีฟัน แชมพู สบู่ และครีมบำรุงผิว อังกฤษให้ความสำคัญกับเครื่องสำอาง และเกาหลีใต้เน้นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและเครื่องสำอางสำหรับดวงตา เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 รถเมล์ไทย ทำอย่างไรให้เป็นตัวเลือกแรกของการเดินทาง

        รถเมล์เป็นรูปแบบขนส่งสาธารณะพื้นฐานที่ทุกคนน่าจะต้องเคยใช้ เนื่องจากเป็นบริการขนส่งมวลชนที่มีราคาถูกและครอบคลุมพื้นที่มากกว่าระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่น โดยเฉพาะในเขตเมืองอย่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีการแออัดของผู้คนและรถยนต์จำนวนมาก รถเมล์เป็นพาหนะที่ขนคนได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับรถยนต์ทุกประเภท  ในทุกวันมีประชาชนมากกว่า 1 ล้านคนใช้บริการรถเมล์ (จาก 10 ล้านคน) ถึงอย่างนั้นรถเมล์กลับไม่ใช่ตัวเลือกลำดับแรก สำหรับคนที่จะต้องเดินทางในเขตเมืองหากพวกเขาเลือกได้        คงต้องยอมรับว่า ปัญหาบริการขนส่งสาธารณะบ้านเมืองเรามีทั้งปัญหาด้านคุณภาพและด้านปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อปริมาณการสัญจรของประชาชน ซ้ำยังมีปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหามลพิษ แม้จะมีรถไฟฟ้าเข้ามาเสริม แต่ด้วยราคาค่าบริการที่แพง ล้วนทำให้คนกรุงเทพส่วนใหญ่ ยังจำเป็นต้องเลือกใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นพาหนะเพื่อการเดินทางมากถึง 43 % รถจักรยานยนต์ 26 % และรถขนส่งสาธารณะเพียง 24 % เท่านั้น         หันมาดูข้อมูลด้านปริมาณรถเมล์ของ ขสมก. กันบ้าง ณ 31 มีนาคม 2562  ขสมก. มีรถเมล์วิ่งให้บริการทั้งหมด 13,461 คัน แยกเป็น ขสมก. รถร้อน 1,543  คัน รถปรับอากาศ 1,501 คัน รถ PBC (รถเช่า) 117 คัน และมีรถเอกชนร่วมวิ่งบริการเป็น รถร้อน 1,870 คัน รถร่วมบริการ รถปรับอากาศ 1,396 คัน รถมินิบัส 882 คัน  รถเล็กในซอย 2,052 คัน รถตู้โดยสารปรับอากาศ 4,103 คัน และรถตู้ CNG เชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 87 คัน         เห็นตัวเลขรถเมล์กันแล้วอาจดูเยอะมีหมื่นกว่าคัน แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่รถทุกคันจะออกมาวิ่งรับส่งคนโดยสารได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นรถเก่าอายุเกิน 20 ปี จอดเสียซ่อมบ่อย ทำให้รถเมล์มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนที่ใช้บริการโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน เป็นผลสะสมส่วนหนึ่งที่ทำให้ ขสมก. ขาดรายได้ และนำไปสู่ข้ออ้างของการขึ้นราคาค่าโดยสารรถเมล์ในเวลาต่อมา        แม้ว่าแนวทางการควบคุมราคาค่าโดยสารรถเมล์เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากรถเมล์เป็นบริการสาธารณะพื้นฐานประเภทหนึ่ง ที่รัฐต้องทำให้คนทุกคนเข้าถึงบริการนี้ได้ และรัฐต้องพร้อมขาดทุนเพื่อจัดบริการพื้นฐานเพื่อการเดินทางนี้ให้กับประชาชน แต่ที่ผ่านมาการคิดอัตราค่าโดยสารรถเมล์กลับคิดตามต้นทุนและภาะหนี้สินของ ขสมก. มากกว่าคิดตามสภาพความพร้อมในการจ่ายของผู้บริโภค โดยเฉพาะการปรับขึ้นราคารถเมล์ทุกประเภทครั้งล่าสุดเมื่อ 22 เมษายน 2562 ที่ปรับขึ้นจากเดิม 1 – 7 บาท ตามระยะทาง รวมถึงรถแอร์รุ่นใหม่ใหม่ที่คิดระยะเหมา 15-20-25 บาท และในส่วนของรถร่วมบริการที่ปรับขึ้นในอัตรา 1 บาทด้วย         ขณะที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ได้จัดทำข้อมูลสำรวจค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางด้วยรถสาธารณะเมื่อเทียบอัตราค่าแรงขั้นต่ำของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า การใช้รถเมล์ปรับอากาศจะมีค่าใช้จ่ายระหว่าง 14 - 16% เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ หรือเท่ากับ ค่าแรง 300 บาท/วัน จะต้องเสียค่าเดินทางเกือบ 50 บาท/วัน และในปกติคงไม่มีใครเดินทางแค่เที่ยวเดียว          และหากต้องเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเพิ่มด้วยแล้วไม่ว่าจะเป็น BTS MRT และ ARL จะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 26-28 % ขณะที่เมืองใหญ่อย่างกรุงปารีสมีค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเพียง 3 % ลอนดอน 5 % โตเกียว 9 % และสิงคโปร์ 5 % เท่านั้น เท่ากับคนกรุงเทพฯ ต้องเสียค่าเดินทางต่อวันที่แพงมาก ซ้ำยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพของบริการขนส่งสาธารณะอีกด้วย        โดยข้อเท็จจริงในการใช้ชีวิตของแต่ละคนในขณะนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่แพงกว่านี้อีกมาก หากคิดตั้งแต่ออกจากบ้านเพื่อไปทำงานในตอนเช้าของทุกวัน ที่ต้องใช้จักรยานยนต์รับจ้าง รถเมล์ รถตู้ กว่าจะถึงรถไฟฟ้า และหากต้องใช้รถไฟฟ้าสองสาย ผู้บริโภคต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนแรกที่เรียกว่าค่าแรกเข้าเพิ่มอีก 14-16 บาท จากรถไฟฟ้าทุกสายที่ใช้บริการ        จะเห็นได้ว่าปัญหาเร่งด่วนและสำคัญของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน คงไม่พ้นปัญหาปากท้อง การมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางในแต่ละวันที่อยากจะหลีกเลี่ยง ทั้งหมดอาจเป็นคำตอบที่ว่าทำไมคนส่วนใหญ่จึงยังไม่ใช้รถเมล์ รถสาธารณะ เพราะรวมๆ กันแล้ว แพงมาก ดังนั้นหากพอมีทางเลือกทุกคนอยากไปกับรถยนต์ส่วนตัวมากกว่า        การจะแก้ปัญหาให้ถูกจุด คือต้องออกแบบและพัฒนาบริการขนส่งสาธารณะให้เป็นจริง กล่าวคือ  ต้องเพิ่มสัดส่วนของประชาชนทุกกลุ่มให้สามารถเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดที่มีบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท (เพื่อลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ต้องเดินทางออกจากซอย เป็นต้น) โดยอาจจะเริ่มด้วยวิธีการง่ายๆ        เริ่มจากทำให้ประชาชนต้องเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดบริการขนส่งมวลชนในระยะทาง 500 เมตร หรือเดินไม่เกิน 15 นาที พัฒนาระบบแอปพลิเคชันให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์เข้าถึงทุกคนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเพื่อดูได้ว่า รถเมล์สายอะไรที่กำลังจะมา เพื่อเชื่อมต่อการพัฒนาระบบขนส่งอื่นๆ ลดระยะเวลารอรถเมล์ให้ไม่เกิน 15 นาที ในช่วงเร่งด่วนและไม่เกิน 30 นาทีในช่วงการเดินทางประจำวัน และที่สำคัญค่าโดยสารโดยรวมทุกประเภทต้องไม่เกิน 5% ของรายได้ขั้นต่ำของประชากร ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับผู้บริโภควันนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 เคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2563

กสทช. เคาะให้เน็ตฟรี 10 GB ปรับความเร็วเน็ตบ้านขั้นต่ำ 100 Mbps หนุนประชาชนทำงานที่บ้าน        นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ โดยการลดค่าใช้จ่ายด้านโทรคมนาคม และส่งเสริมการทำงานที่บ้าน รวมทั้งสนับสนุนการทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนต่อไป ดังนี้        1. สนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband) เพิ่ม 10 GB ต่อคน ต่อเดือน ให้แก่ผู้ใช้งานในปัจจุบัน โดยผู้ใช้บริการ 1 คนจะได้รับการสนับสนุน 1 เลขหมาย ต่อ 1 ผู้ให้บริการ โดยจะสนับสนุนเป็นระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ลงมติเห็นชอบมาตรการดังกล่าว จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 โดยใช้ฐานลูกค้าที่มีผู้ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ณ วันที่ครม.มีมติ เท่านั้น โดยประชาชนจะสามารถรับสิทธิได้ด้วยการลงทะเบียนผ่านระบบ USSD ของผู้ให้บริการแต่ละค่ายที่ตนใช้งานอยู่         2. สนับสนุนการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (Fixed Broadband) ให้แก่ผู้ใช้งานในปัจจุบัน โดยปรับเพิ่มขนาดความจุ (Capacity) เท่าที่ผู้ให้บริการจะสามารถดำเนินการได้ กล่าวคือ กรณีบริการ ADSL/VDSL/Copper ให้ปรับเพิ่มความเร็วสูงสุดที่สามารถทำได้ และกรณีบริการ FTTX ให้ได้ระดับความเร็ว (Download) 100 Mbps   เลี่ยงใช้ยาไอบูโพรเฟนกับโควิด         องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกคำแนะนำอย่างเป็นทางการ ให้ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคทางเดินหายใจโควิด-19 หลีกเลี่ยงการรับประทานยาลดไข้และแก้อักเสบไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพราะมีความเสี่ยงที่จะทำให้อาการทรุดหนักลงไปอีกได้         ข้อมูลจากรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Lancet ตั้งข้อสงสัยว่า เอนไซม์บางชนิดที่ถูกกระตุ้นด้วยยาไอบูโพรเฟน อาจทำให้การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ลุกลามเร็วขึ้นและส่งผลรุนแรงขึ้นได้        "เราแนะนำให้ใช้ยาลดไข้อย่างพาราเซตามอลแทน และอย่าซื้อยาไอบูโพรเฟนมารับประทานเองโดยไม่ขอคำแนะนำจากแพทย์เสียก่อน" โฆษกประจำองค์การอนามัยโลกกล่าว เกษตรกรฟ้อง “เจียไต๋" 100 ล้าน เหตุเจ็บป่วยพิษพาราควอต        ศาลหนองบัวลำภู นัดสืบคดีไต่สวนครั้งแรกเป็นคดีประวัติศาสตร์ในไทยระหว่างเกษตรกรกับ “เจียไต๋” พร้อมเรียกค่าเสียหายพิษพาราควอตกว่า 100 ล้าน         นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน กล่าวว่า ““ที่มาของการฟ้องร้องครั้งนี้เป็นผลเสียหายจากการที่เกษตรกรได้ใช้ยาฆ่าหญ้าของบริษัทในกลุ่มพาราควอต และได้เจ็บป่วยมีทั้งถูกตัดขา และมีผลกระทบเป็นโรคเนื้อเน่า รวมทั้งหมด 16 ราย เฉลี่ยรายละ 7-8 แสนบาท รวมแล้วกว่า 100 ล้านบาท ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ฟ้องศาลเรื่องสารเคมี สาเหตุที่ฟ้องเจียไต๋  เนื่องจากเป็นบริษัทรายใหญ่ที่นำเข้าและจำหน่ายของประเทศไทย การฟ้องครั้งนี้จะฟ้องแบบกลุ่ม แต่ถ้าทนายของเจียไต๋ระบุว่าฝ่ายบริษัทเสียเปรียบเนื่องจากคำฟ้องครอบคลุมเกษตรกรคนอื่นที่ไม่ใช่ 16 ราย ด้วย จะต้องไปพูดคุยกันที่ศาลฯ”        ด้าน ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่จะได้ทำความจริงให้ปรากฏ พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ความเชื่อ เพราะนั้นขอบคุณเกษตรกรที่ฟ้อง ซึ่งความจริงต้องฟ้องรายตัวปลูกพืชไม่เหมือนกัน มีความเสี่ยงแตกต่างกัน ส่วนบริษัทใหญ่ที่นำเข้าพาราควอตมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจเอราวัณ รองลงมาเป็นกลุ่มบริษัทซินเจนทา ประเทศไทย ประกันสังคมช่วยผู้ประกันตนรับมือโควิด -19         โดยลดจ่ายเงินสมทบประกันสังคมนายจ้าง-ลูกจ้าง เหลือฝ่ายละ 4% จากเดิมที่กำหนดให้นำส่งฝ่ายละ 5% เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบจาก โควิด-19         นอกจากนี้อยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณาร่วมกัน 3 กองทุนสุขภาพ (สปส. สปสช. และกรมบัญชีกลาง) สำหรับการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มให้กับสถานพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึงและเพียงพอ 'คืนเงินประกันไฟฟ้า' ไม่เกี่ยวมิเตอร์         จากเหตุที่มีประชาชนจำนวนมากสงสัยในเรื่องการคืนเงินประกันไฟฟ้า ตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุโควิด-19 โดยเข้าใจสับสนกับเรื่องมิเตอร์ไฟฟ้านั้น ได้มีการชี้แจงรายละเอียดดังนี้         การของคืนเงินประกันไฟฟ้า ของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1 บ้านที่อยู่อาศัย และประเภท 2 กิจการขนาดเล็ก จากฝ่ายผลิต(ผู้ให้บริการ) ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กปน.) “ไม่มีหมดเขต ไม่ต้องรีบร้อน ขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าทางออนไลน์ ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ โทรศัพท์มือถือ ...สะดวก สบาย ตลอด 24 ชั่วโมง         เงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า เป็นคนละส่วนกับมิเตอร์ไฟฟ้า เงินประกันการใช้ไฟฟ้า คือ เงินที่ผู้ใช้ไฟฟ้าได้วางเป็นหลักประกันไว้ โดยผู้ให้บริการไฟฟ้าทั้ง กฟภ.และกปน.  ใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ค่าไฟฟ้า กรณีมีหนี้ค้างชำระ ค่าเบี้ยปรับ หรือหนี้อื่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ไฟฟ้า         ทั้งนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้เปิด 2 ช่องทางในการตรวจสอบสิทธิ์ และลงทะเบียนขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ได้แก่ 1.เว็บไซต์ https://dmsxupload.pea.co.th/cdp/  และ 2.การสแกน QR Code ในใบแจ้งค่าไฟฟ้า  สงสัยสอบถามสายด่วน 1129        ส่วนการไฟฟ้านครหลวง เปิดให้ตรวจสอบสิทธิ์และทะเบียน หลายช่องทาง ได้แก่ 1.เว็บไซต์ www.mea.or.th 2.เฟซบุ๊ค การไฟฟ้านครหลวง MEA 3.แอพพลิเคชัน MEA Smart Life 4.ทวิตเตอร์ @mea_news 5.ไลน์ @meathailand 6.สแกน QR Code ในใบแจ้งค่าไฟฟ้า  7.โทรศัพท์เบอร์ 02-256-3333 และ 8.ที่ทำการการไฟฟ้านครหลวง 18 เขต แต่จะเปิดช่องทางนี้ในเดือนพฤษภาคม 2563 เนื่องจากเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม การไฟฟ้านครหลวง เบอร์ 1130

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 วิธีกำจัดกลิ่นเท้าที่ได้ผล

        กลิ่นเท้า คือกลิ่นที่รบกวนใจทั้งคนที่เป็นต้นตอและคนรอบข้าง ลองนึกถึงเวลาที่อยู่ในสถานที่ค่อนข้างปิดแล้วใครสักคนถอดรองเท้าที่แสนอับชื้นพร้อมปล่อยกลิ่นอันไม่พึงประสงค์แล้ว ช่างชวนกระอักกระอ่วนจริงๆ         หลายคนรู้ดีว่าตนเองมีปัญหาเรื่องกลิ่นเท้า เพราะความที่เป็นคนเหงื่อออกมากโดยเฉพาะบริเวณเท้าแต่ไม่อาจเลี่ยงการสวมใส่รองเท้าแบบปิดมิดชิดได้ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องงานหรือวิธีการใช้งาน เช่น ท่องเที่ยว เล่นกีฬา เดินป่าหรือเดินทางติดต่อธุระกิจ บางคนพยายามดูแลเท้าเป็นอย่างดีแต่ก็ยังไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ เราลองมาค้นหาสาเหตุและวิธีการแก้ไขที่ถูกต้องกันเถอะ อาจไม่หายขาดแต่ก็น่าจะพอช่วยให้ชีวิตดีขึ้นได้จริง  สาเหตุของกลิ่นเท้า         สาเหตุของเท้าเหม็นเกิดได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน แต่สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดกลิ่นเท้ามักจะมาจากแบคทีเรียและเหงื่อที่ออกบริเวณเท้าของเรา คล้ายกันกับการเกิดกลิ่นตัว ทั้งนี้อาจมีสาเหตุอื่นร่วมด้วยเช่นแผลที่บริเวณเท้าหรือเชื้อราจากโรคน้ำกัดเท้า  การกำจัดกลิ่นเท้า          การกำจัดกลิ่นเท้าก็ต้องกำจัดที่สาเหตุ คือเน้นที่ความสะอาดก่อนอื่นเลย ทั้งในส่วนของเท้า รองเท้าและถุงเท้า จะทำแค่อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ต้องทำไปพร้อมกัน            -  การดูแลเท้าให้สะอาด ถ้าเป็นโรคต้องรักษาให้หายขาด (หากยังรักษาไม่หายคงต้องเลี่ยงการสวมใส่รองเท้าที่ปิดมิดชิด)  การดูแลเท้าให้สะอาดมีการแนะนำไว้หลายวิธี เช่น การแช่เท้าในน้ำอุ่นผสมเบคกิ้งโซดาหรือด่างทับทิม หรือน้ำยาที่ใช้ฆ่าแบคทีเรีย หรือที่นิยมกันมากคือการแช่น้ำผสมสารส้ม หมั่นทำบ่อยๆ สัปดาห์ละสองถึงสามครั้ง ระหว่างแช่เท้าอาจขัดถูทำความสะอาดตามซอกเล็บซอกเท้า สำคัญต้องเช็ดให้แห้งสนิทหลังจากล้างทำความสะอาด            - ทำความสะอาดรองเท้าสม่ำเสมอ ควรให้ความสำคัญอย่าปล่อยไว้เพราะถึงแม้เท้าของคุณสะอาดแต่รองเท้าสกปรก ก็อาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา รองเท้าที่สามารถซักล้างได้ควรซักล้างและแช่น้ำยาเช่นเดียวกับการทำความสะอาดเท้า ส่วนรองเท้าที่ซักล้างไม่ได้ควรเช็ดถูและตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อหรือพ่นแอลกอฮอล์ลดปริมาณแบคทีเรียลง            - ทำความสะอาดถุงเท้า อย่าบอกนะว่าคุณก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ชอบม้วนถุงเท้าใส่ไว้ในรองเท้าเพราะไม่อยากซักบ่อย เชื่อเถอะถุงเท้าควรหมั่นซักทำความสะอาดเช่นกัน และเปลี่ยนถุงเท้าทุกวัน นอกจากนี้ควรเลือกใช้ถุงเท้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติอย่างฝ้าย จะช่วยระบายความอับชื้นได้ดีกว่าถุงเท้าราคาถูกที่ผสมเส้นใยจากพลาสติก วิธีอื่นๆ ที่ช่วยเสริมความมั่นใจ         1.อย่าใส่รองเท้าที่คับเกินไป จะยิ่งเพิ่มความอับชื้นหรือเกิดแผล          2.ในวันที่อากาศร้อนมาก ควรเลือกสวมใส่รองเท้าที่ระบายเหงื่อได้ดี         3.ก่อนสวมรองเท้าอาจใช้สเปรย์ระงับกลิ่นกายหรือโรลออน ทาบริเวณเท้า ซอกนิ้ว เพื่อป้องกันเหงื่อออกมามากเกินไป         4.อาจใช้สเปรย์ระงับกลิ่นสำหรับใช้ฉีดลงไปในรองเท้า ซึ่งมีวางจำหน่ายหลายยี่ห้อ อาจเลือกใช้เพื่อเพิ่มความมั่นใจโดยสเปรย์ทิ้งไว้ให้แห้งก่อนนำมาสวมใส่ หรือการโรยแป้งฝุ่นที่รองเท้าเพื่อช่วยดูดซับเหงื่อ         5.ขจัดกลิ่นในรองเท้าด้วยเบกกิ้งโซดา เบกกิ้งโซดาเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง รวมไปถึงการดูดซับกลิ่นเหม็นในรองเท้า     กลิ่นเท้าเป็นเรื่องธรรมชาติที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการค้นหาสาเหตุและแก้ไขให้ถูกจุด แต่ในบางคนวิธีการข้างต้นอาจยังไม่ตอบโจทย์ แนะนำว่าอาจต้องพบแพทย์ เพราะอาจมาจากภาวะหลั่งเหงื่อมากที่นำสู่ความอับชื้นจนเกิดกลิ่นขึ้น หรือสภาวะบางอย่างที่เป็นสัญญาณของการเกิดโรคได้ เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 รู้เท่าทันการบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง

        วิทยาการทางการแพทย์ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดวิธีการรักษาใหม่ๆ ตลอดเวลา วิธีการใหม่ในระยะแรกก็จะอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย เมื่อได้ผลและมีความปลอดภัยก็จะรับเข้าเป็นวิธีการที่ยอมรับทางการแพทย์ แต่หลายวิธีเมื่อพบว่าไม่ได้ผล หรือมีอันตราย วิธีการนั้นก็จะถูกปฏิเสธหรือไม่ได้รับความนิยม ปัจจุบัน มีการบำบัดด้วยการใช้ออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนหลายแห่ง วิธีการนี้ดีจริงหรือไม่ บำบัดโรคหรืออาการอะไร เรามารู้เท่าทันกันเถอะ การบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงคืออะไร         ปกติแล้ว การบำบัดด้วยออกซิเจนเป็นการรักษาทั่วไปสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องออกซิเจนด้วยการให้ออกซิเจนที่มีความเข้มข้นสูงกว่าความเข้มข้นปกติในบรรยากาศ ซึ่งเราเห็นได้ในโรงพยาบาลทั่วๆ ไป หรือผู้ป่วยติดเตียงที่รักษาอยู่กับบ้าน ก็สามารถใช้ออกซิเจนที่บ้านได้เช่นเดียวกัน        ส่วนการบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง (Hyperbaric Oxygen Therapy) นั้น เป็นการรักษาโดยให้ผู้ป่วยหายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ 100 เปอร์เซ็นต์ใน “ห้องปรับบรรยากาศ” (Hyperbaric Chamber) ที่มีความดันภายในสูงกว่า 1 บรรยากาศ เพื่อให้ร่างกายได้รับออกซิเจนในประมาณสูงกว่าการหายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ที่บรรยากาศปกติ เป็นการรักษาเสริมหรือเพิ่มเติมอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ร่วมกับการรักษาทางอายุรกรรมและศัลยกรรม การบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงบำบัดอะไรได้บ้าง        ภาวะบ่งชี้ในการรักษาด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง ตามสมาคมเวชศาสตร์ใต้น้ำและเวชศาสตร์ความกดบรรยากาศสูงของสหรัฐอเมริกา (Undersea and Hyperbaric Medicine Society, UHMS) มีได้ถึง 13 โรค  ได้แก่ โรคฟองแก๊สอุดตันในหลอดเลือดแดง (Air or Gas Embolism )  โรคคาร์บอนมอนนอคไซด์เป็นพิษ / การสำลักควันไฟ การติดเชื้อของเนื้อเยื่อจากแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจน เป็นต้น โดยพื้นฐานแล้ว การบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงเป็นวิธีการรักษามาตรฐานสำหรับโรคฟองแก๊สอุดตันในหลอดเลือดแดงซึ่งเกิดในนักดำน้ำลึก แต่ก็มีการนำมาใช้รักษาโรคต่างๆ ที่ต้องการให้ออกซิเจนเข้าไปในบริเวณที่ขาดเลือดหรือขาดออกซิเจน การบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงได้ผลจริงหรือไม่         การทบทวนงานวิจัยต่างๆ ของ PubMed, Medline และ Cochrane พบว่า มีงานวิจัยการใช้ออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงจำนวนมาก มีการใช้บำบัดโรคต่างๆ ตั้งแต่ แผลเรื้อรัง แผลเฉียบพลัน ผิวหนังที่รับรังสีบำบัด โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง จนถึงเด็กสมองพิการ เด็กสมาธิสั้น         การบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงในผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นแผลเรื้อรังที่เท้า สามารถรักษาแผลให้หายในระยะสั้น แต่ไม่ได้ผลในระยะยาว และต้องการงานวิจัยมากกว่าที่มีอยู่และต้องมีคุณภาพ         มีงานวิจัยจำนวนน้อยเกี่ยวกับเนื้อเยื่อที่ขาดเลือดเลี้ยงที่เกิดจากรังสีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งประเภทต่างๆ พบว่าเนื้อเยื่อดีขึ้น แต่ยังต้องการวิจัยเกี่ยวกับประเภทผู้ป่วยและเนื้อเยื่อ ระยะเวลาในการรักษา และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ         แต่การใช้ในการบำบัดโรคหัวใจขาดเลือด อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง เด็กสมองพิการ พบว่าไม่ได้ผลดี         สรุป  การบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงนั้นยังต้องการการศึกษาวิจัยที่มีคุณภาพเพิ่มเติม เพื่อยืนยันถึงประสิทธิผลของการรักษาโรคต่างๆ ตามที่อ้าง และเนื่องจากมีราคาสูง จึงต้องประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจกับประสิทธิผลที่ได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ซ่อนเงารัก : และแล้วการเมืองก็เป็นเรื่องของคนต่างวัย

                ไม่มีพื้นที่ใดในอาณาบริเวณทางสังคมที่จะปราศจาก “การเมือง” หรอก เพราะแม้แต่ในพื้นที่ที่ดู “ปลอดการเมือง” ที่สุดอย่างโลกบันเทิงคดีเฉกเช่นละครโทรทัศน์ ก็ยังเป็นสนามที่คลุกเคล้าไว้ด้วยภาพ “การต่อสู้ทางการเมือง” อย่างเข้มข้นทีเดียว        แม้ในทางรัฐศาสตร์มักจะเชื่อกันว่า การเมืองเป็นเรื่องของการจัดการและจัดวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่ดำรงอยู่ในปริมณฑลกว้างๆ เช่น ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีตัวแสดงหลักคือภาครัฐและนักการเมืองทั้งหลาย แต่ทว่าในบางครั้งเอง การเมืองก็ปรากฏอยู่ได้แม้แต่กับเรื่องเล็กๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา         และรูปธรรมหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมืองในสนามเล็กๆ ก็ฉายออกมาผ่านสมรภูมิความขัดแย้งทางความคิดระหว่างคนต่างรุ่น ต่างวัย หรือต่างเจนเนอเรชัน แบบที่เราได้รับชมผ่านความบันเทิงของละครโทรทัศน์เรื่อง “ซ่อนเงารัก” นี่เอง        โดยโครงของละครแนวโรแมนติกดราม่าเรื่องนี้ ผูกเรื่องราวของ “เพียงขวัญ” หญิงสาวผู้มีอดีตอันเลวร้ายที่ถูกกระทำจาก “แทนไท” ที่ขืนใจจนเธอตั้งท้องโดยไม่เต็มใจ และ “เจ้าสัวธำรง” พ่อของแทนไทเอง ก็ยังเป็นตัวแปรหลักที่สั่งฆ่ามารดาของเพียงขวัญ เธอจึงหลบหนีจากคฤหาสน์ของเจ้าสัวธำรง และเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามเสียใหม่เป็น “นลิน” เพื่อลบความทรงจำในอดีตทิ้งไปจนหมดสิ้น        แต่ปมของเรื่องได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง เมื่อนลินคลอดลูกฝาแฝดชายหญิงออกมา และยิ่งเมื่อเธอตระหนักว่า เจ้าสัวธำรงกดดันให้แทนไทมีทายาทชายไว้สืบตระกูลและสืบต่อธุรกิจกลุ่มทุนจีน นลินจึงต้องการแก้แค้นโดยปกปิดความจริงเรื่องลูกชาย และจงใจเลี้ยงลูกทั้งสองให้เป็นฝาแฝดหญิงทั้งคู่ โดยตั้งชื่อลูกว่า “ขวัญเอย” กับ “ขวัญมา” พร้อมอำพรางไม่ให้ใครรู้ว่าขวัญเอยมีโครโมโซมแบบ XY         เพียงเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์และความปรารถนาในอำนาจของกลุ่มคนรุ่นก่อน ได้ก่อกลายเป็นชนวนที่ขยายไปสู่ “การเมือง” ชนิดใหม่ อันเป็นความไม่ลงรอยกันระหว่างคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายกับตัวละครรุ่นลูกหลานอย่างขวัญเอย ขวัญมา รวมไปถึง “ดุจดาว” น้องสาวต่างมารดาของฝาแฝดชายหญิง        เพราะความต้องการเอาชนะบิดาของลูกฝาแฝดกลายเป็นทิฐิที่แบกเอาไว้อยู่บนบ่า ภายหลังจากให้กำเนิดหนึ่งในบุตรแฝดเป็นเพศชาย นลินก็เลือกที่จะไม่เลี้ยงลูกในสิ่งที่ลูกเป็น เธอเข้ามาเข้มงวดกับชีวิตขวัญเอย ไม่ให้เขาได้เข้าโรงเรียนหรือไปพบปะกับโลกภายนอก ล่วงจนถึงบังคับให้ขวัญเอยกินยาคุม เพื่อเปลี่ยนให้ร่างของลูกชายกลายสภาพเป็นผู้หญิง         ในแง่ดังกล่าวนี้ ยาคุมที่บังคับให้ขวัญเอยกิน จึงไม่เพียงถูกใช้เป็นกุศโลบายที่จะเอาชนะแทนไทและเจ้าสัวธำรงเท่านั้น หากแต่ยังเป็นกลไกควบคุมเพศสรีระ เพื่อที่แม่จะได้มีอำนาจปกครองร่างกายและจิตใจของลูกชายให้อยู่ใต้อาณัติบงการนั่นเอง         แต่เพราะปัจเจกบุคคลไม่ได้มีด้านที่ยอมจำนนแก่อำนาจเสมอไป ดังนั้น แม้จะถูกมารดากำหนดบงการร่างกาย แต่จิตวิญญาณอันเสรีก็ทำให้ขวัญเอยดิ้นรนต่อสู้กับสภาวะดังกล่าวตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการแอบเอายาคุมไปทิ้ง การแอบไปเล่นเตะฟุตบอลแบบเด็กผู้ชายกับ “อนุชิต” คุณลุงข้างบ้าน รวมไปถึงการสืบค้นจนพบเจอกับแทนไทบิดาผู้ให้กำเนิดของตน         ภายหลังเมื่อได้ย้ายมาอยู่กับบิดาและเจ้าสัวธำรงผู้เป็นอากง ทั้งขวัญเอยและขวัญมาก็ยิ่งตกไปอยู่ท่ามกลางการสัประยุทธ์กันของบุพการีและญาติผู้ใหญ่ โดยมี “เหนือเมฆ” พระเอกหนุ่มของเรื่องถูกลากโยงเข้ามาเป็นหมากอีกตัวหนึ่งบนกระดานการเมืองของคนรุ่นก่อน         และเพราะคนรุ่นก่อนสนุกสนานกับการขับเคี่ยวช่วงชิงชัยชนะระหว่างกัน โดยไม่สนใจเลยว่า การต่อสู้ห้ำหั่นกันดังกล่าวจะสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงชะตากรรมหรืออนาคตของลูกหลานแต่อย่างใด ถึงที่สุดแล้ว ก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองที่คนรุ่นก่อนต้องหันมาเผชิญหน้ากับคนรุ่นใหม่ที่ต่างวัยไปโดยปริยาย         เหมือนกับที่ขวัญมามิอาจรับได้ที่นลินพยายามพรากชายคนรักอย่างเหนือเมฆให้ไปคบหากับขวัญเอย โดยปิดบังความลับเรื่องเพศกำเนิดไม่ให้พระเอกหนุ่มรับรู้ ดังฉากที่เธอระเบิดอารมณ์ใส่มารดาว่า “แม่ตั้งใจจะแก้แค้นป๊า ตั้งใจจะให้ป๊าเจ็บ...แม่ไม่เคยห่วงความรู้สึกของเอยเลย ปากแม่ก็บอกว่ารักเราสองคน แต่ดูสิ่งที่แม่ทำสิ แม่ทำลายชีวิตของเราสองคน...แม่ทำเพื่อตัวเองทั้งนั้น...”         เฉกเช่นเดียวกับที่เจ้าสัวธำรงบริภาษต่อว่าขวัญเอยที่ “ลดศักดิ์ศรี” ของบุรุษเพศไปแต่งตัวเป็นหญิง จนดุจดาวน้องสาวต่างมารดาปะทุอารมณ์ใส่คุณปู่เจ้าสัวว่า “สมัยนี้นะคะอากง ผู้ชายจะแต่งตัวเป็นผู้หญิงก็ได้ ผู้หญิงจะแต่งตัวเป็นผู้ชายก็ได้ มันไม่ใช่เรื่องลดศักดิ์ศรีหรืออะไรเลย แล้วอากงรู้หรือยังว่า ผู้หญิงกับผู้ชายมีค่าความเป็นคนเท่ากัน ไม่มีใครด้อยกว่าใคร แต่ดาวว่าอากงไม่รู้หรอกค่ะ เพราะว่าอากงโลกแคบใจแคบ...”         และแม้ในภายหลัง ขวัญเอยจะเลือกหนีจากเกมการเมืองของคนรุ่นก่อน โดยไปแต่งงานอยู่กินกับ “ริต้า” สาวน้อยรุ่นใหม่ที่ไม่สนใจอดีตหรือเพศวิถีของสามี เพียงเพราะ “ฉันก็รักของฉันเข้าใจบ้างไหม” แต่นลินก็ยังเดินเกมกีดกันความสัมพันธ์ของคนทั้งสอง และขัดขวางไม่ให้ริต้ามีหลานไว้สืบสกุล จนมุมมองของผู้ชมหลายคนอาจจะต้องเลือกติดแฮชแท็ก “#saveริต้า” กันเลยทีเดียว        ภาพของการเมืองระหว่างเจนเนอเรชันที่ละครได้ฉายให้เห็นอยู่เป็นระลอกแล้วระลอกเล่าเยี่ยงนี้ แท้จริงแล้วก็สะท้อนความขัดแย้งของกลุ่มคนสองฝักฝ่าย ที่ฝั่งหนึ่งคือคนรุ่นก่อนอย่างนลินผู้อ้างความชอบธรรมว่า “ฉันอุ้มท้องให้แกเกิดมา...” หรือ “แม่เลี้ยงของแม่มา...” และคุณปู่เจ้าสัวผู้สำทับวิธีมองโลกแบบที่ว่า “คนในตระกูลชั้น ชั้นจะทำอะไรก็ได้...” กับอีกฝั่งหนึ่งของคนต่างรุ่นที่พยายามจะสื่อความว่า ชะตาชีวิตของตนหรือคนรุ่นใหม่ ก็น่าจะเป็นพวกเธอและเขาที่มีสิทธิ์และอำนาจจะกำหนดเดินได้เอง         ความขัดแย้งที่ต่างฝ่ายต่างถือตรรกะอันแตกต่างกันคนละขั้วเช่นนี้ ในที่สุดแล้ว ละครก็เลือกเสนอทางออกของปัญหาด้วยโศกนาฏกรรมการจบชีวิตลงของขวัญเอยในตอนท้ายเรื่อง กว่าที่คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายจะได้ย้อนหวนกลับมาคิดทบทวนตนเอง         หากละครโทรทัศน์เป็นแอ่งรองรับประสบการณ์ร่วมกันแห่งยุคสมัยของผู้คนที่ชัดเจนที่สุดแล้ว การเมืองระหว่างคนต่างรุ่นต่างวัยที่มีตัวแสดงเป็นฝาแฝดพี่น้อง ก็อาจเป็นบทเรียนให้เราลองหันมาสะท้อนย้อนคิดถึงความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ตั้งแต่ในสถาบันครอบครัว ไปจนถึงภาพที่กว้างขึ้นของสังคมไทยโดยรวม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 สถานการณ์ฉุกเฉินจาก โรคติดต่อร้ายแรง Covid 19 ในเยอรมนี และเทคโนโลยีการพบแพทย์ที่ไม่ต้องเดินทางไปคลินิก

        วันนี้ผมขอนำเสนอสถานการณ์ของประชาชนในเยอรมนี ซึ่งกำลังประสบกับสถานการณ์ภัยพิบัติของ โรคติดต่อร้ายแรง Covid-19 ซึ่งทางเวบไซต์ของมูลนิธิทดสอบสินค้า ( Stiftungswarentest) ได้รวบรวมคำถามและข้อสงสัยที่เกิดขึ้นบ่อยๆ กับผู้บริโภค ในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะแหล่งของข้อมูลทางวิชาการที่เป็นกลาง เชื่อถือได้ และขอแนะนำการให้บริการปรึกษาแพทย์แบบ VDO call ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการต้องเดินทางไปพบแพทย์ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นวิธีที่สอดคล้องกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดจาก โควิด 19 ดังนี้  เราสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ของ โลก กับการระบาดของ Covid-19 ได้จากไหนบ้าง         สำหรับประชาชนชาวเยอรมันสามารถหาข้อมูล ที่ทันสมัยได้จากเวบไซต์ของสถาบันวิชาการอิสระ Robert Koch Institute(https://www.rki.de/DE/Content/InfAZ/N/Neuartiges_Coronavirus/nCoV.html) ที่เผยแพร่จำนวนของผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรค Covid 19 ซึ่งมีการปรับปรุงให้ทันสมัย และทันต่อสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศ หรือพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคนี้ได้ โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับ แผนที่แบบ อินเตอร์แอคทีฟของศูนย์ระบบวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม (Center for Systems Science and Engineering: CSSE) ของมหาวิทยาลัย Johns Hopkins University แห่งสหรัฐอเมริกา(https://gisanddata.maps.arcgis.com/apps/opsdashboard/index.html#/bda7594740fd40299423467b48e9ecf6) เราสามารถทราบถึงสถานการณ์ความปลอดภัยของประเทศปลายทางที่จะเดินทางไปได้อย่างไร         กระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกคำเตือนประชาชนที่จะออกเดินทางไปต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2563 แนะนำให้ยกเลิกการเดินทางที่ไม่จำเป็นในช่วงระยะเวลานี้ เพราะมีข้อจำกัดในการเดินทางทางอากาศ และมาตรการการกักตัว เพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อ และการจำกัดการใช้ชีวิตในที่สาธารณะที่เกิดขึ้นกับหลายๆ ประเทศ และบางประเทศกระทรวงต่างประเทศก็ประกาศยกระดับ เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูง และอาจไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ ถ้ามีมาตรการปิดประเทศ อย่างไรก็ตามรัฐบาลเยอรมนีมีมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนที่ติดค้างอยู่ในต่างประเทศ โดยจัดลำดับตามความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งสามารถดูข้อมูลที่ทันสมัยเพิ่มเติมจากเวบไซต์ของกระทรวงต่างประเทศได้ เราสามารถยกเลิกการเดินทางไปต่างประเทศ ที่เป็นประเทศเสี่ยงในการติดเชื้อ Covid-19 โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมได้หรือไม่         ผู้โดยสารสามารถใช้เหตุ ความไม่ปรกติของสถานการณ์ในการยกเลิกการเดินทางไปประเทศที่เสี่ยงกับการติดโรค โควิด-19 ได้ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม สำหรับความหมายของคำว่า ความไม่ปรกติ ในกรณีของประเทศเยอรมัน คือ การประกาศเตือนของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งผู้โดยสารสามารถใช้เป็นข้ออ้างได้ในการขอยกเลิกการเดินทาง จริงๆ แล้ว มีสภาพบ่งชี้ อื่นๆ ที่สามารถใช้เป็นเหตุผลในการขอยกเลิกการเดินทางได้เช่นกัน เช่น การปิดเมือง การปิดสถานที่ท่องเที่ยวบางจุด การปิดประเทศทีเราอาต้องเดินทางผ่าน         ในกรณีที่เราจองกรุปทัวร์ไว้ และเตรียมตัวจะเดินทางก่อน 1 เดือน หรือ 2-3 สัปดาห์ ในกรณีของ ภัยพิบัติและความเสี่ยงสูงจากการติดโรค Covid-19 ก็เข้าเกณฑ์ในการเกิด เหตุการณ์ไม่ปรกติ บริษัททัวร์ต้องคืนค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้กับนักท่องเที่ยว โดยต้องไม่มีค่าธรรมเนียมในการบอกเลิกการเดินทาง (หมายเหตุ สำหรับกรณีอื่นๆ นั้น ยังไม่มีความชัดเจนทางกฎหมาย แล้วแต่กรณีในการที่จะ ใช้เหตุความไม่ปรกติของสถานการณ์) แพทย์สามารถให้คำปรึกษาผ่านระบบ VDO ได้แล้ว ประชาชนควรต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง         ผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์ผ่านทางระบบ VDO call โดยจะเริ่มในเดือนเมษายนนี้ แต่บริการนี้แพทย์ต้องเป็นฝ่ายเสนอการให้บริการลักษณะนี้เอง ปัจจุบันการให้บริการผ่าน VDO call ยังมีข้อจำกัดอยู่ และทำได้เพียง 20 % ของเคสเท่านั้น ในไตรมาสที่ 2 ของ ปี 2020 คาดว่า จะสามารถให้บริการผ่าน VDO call ได้เต็มที่ ไม่มีข้อจำกัด สำหรับแพทย์ที่จะเปิดให้บริการผ่าน VDO call ต้องใช้ระบบ VDO call ที่ผ่านการรองรับมาตรฐานแล้วเท่านั้น         สำหรับการพบแพทย์ด้วยเทคโนโลยี VDO call นี้ เหมาะกับผู้ป่วยที่ต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางนานๆ และต้องรอคิวนานๆ ที่โรงพยาบาล ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการที่จะติดเชื้อระหว่างการรอพบแพทย์ และยังมีอาการเจ็บป่วยไม่มาก หรือการไปพบแพทย์ เพื่อตรวจสอบอาการหลังการรักษา การให้คำปรึกษาของแพทย์ด้วยเทคโนโลยีนี้ได้เริ่มทดลองมาตั้งแต่เดือน ตุลาคม ปีที่แล้ว (2019) การให้คำปรึกษาของแพทย์จะมีค่าธรรมเนียมที่คิดคำนวณจากระบบประกันสุขภาพ และไม่จำเป็นที่แพทย์และผู้ป่วยจะต้องรู้จักหรือพบปะกันมาก่อน นอกจากนี้ ผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สะดวกในการเดินทางไปโรงพยาบาลหรือคลินิคก็สามารถใช้บริการ VDO  Call กับผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียง (Care Giver) ได้อีกด้วย         สำหรับผู้ป่วยที่สนใจบริการผ่าน VDO Call จำเป็นต้องมีคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสารอิเลคโทรนิค ที่ติดตั้ง ไมโครโฟน ลำโพง และเชื่อมต่อกับสัญญาณอินเทอร์เน็ต และต้องผ่านระบบการนัดคิวของผู้ป่วยกับแพทย์ ที่สำคัญระบบ VDO Call ต้องเป็นระบบที่ได้รับมาตรฐานการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบการรักษาความลับของผู้ป่วย และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล        แนวทางปฏิบัติของเยอรมนีนั้น ผมคิดว่า เยอรมนีได้วางระบบการปรึกษาแพทย์ผ่าน VDO call ซึ่งสามารถลดปัญหาการติดโรค โควิด-19 ได้ดีระดับหนึ่ง และอาจเป็นทางเลือกการให้บริการผู้ป่วยของไทยในอนาคตอันใกล้ หลังจากผ่านวิกฤติ โควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก และเป็นชนวนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการใช้ชีวิตของมนุษยชาติตามมา  แหล่งข้อมูล มูลนิธิทดสอบสินค้า (Stiftungswarentest e.V.) https://www.test.de/Coronavirus-Was-Sie-zum-neuen-Virus-aus-China-wissen-sollten-5570361-0/#question-1

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ใยอาหารกับความเสื่อมของสมอง

        เวลาพูดถึงใยอาหารเรามักคิดกันว่า มันเป็นเรื่องของความสบายเมื่อต้องเข้าห้องน้ำหลังตื่นนอน ทั้งนี้เพราะใครก็ตามที่กินผักและผลไม้ในปริมาณที่เหล่าหน่วยงานที่ดูแลสุขภาพประชาชนทั้งไทยและเทศแนะนำคือ ราวครึ่งหนึ่งของมื้ออาหาร ย่อมได้ใยอาหารซึ่งมีผลโดยตรงคือ ช่วยในการขับถ่ายอุจจาระได้สะดวก และผลโดยอ้อมคือ ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่และลดโอกาสมีน้ำหนักเกิน        อย่างไรก็ดีมีงานวิจัยหลายชิ้นได้ศึกษาถึงผลของใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี (soluble fiber) ที่มีผลถึงอวัยวะสำคัญอื่นๆ คือ สมอง (ซึ่งจะกล่าวต่อไป) โดยใยอาหารกลุ่มนี้มีบทบาทเป็น prebiotic คือ เป็นอาหารของแบคทีเรียในลำไส้ ซึ่งทำหน้าที่เป็น probiotic กินใยอาหารแล้วปล่อยกรดไขมันสายสั้นโดยประมาณคือ กรดบิวทิริคร้อยละ 15 กรดโปรปิโอนิคร้อยละ 25 และกรดอะซิติคร้อยละ 65 เป็นผลพลอยได้ (โดยปรกติแล้วในสิ่งมีชีวิตนั้น กรดเหล่านี้จะอยู่ในรูปของเกลือ) ซึ่งเซลล์ของผนังลำไส้ใหญ่ดูดซึมกรดบิวทิริคในรูปเกลือบิวทิเรตไปใช้เป็นพลังงานได้ รายละเอียดดูได้ฟรีในบทความเรื่อง Intestinal Short Chain Fatty Acids and their Link with Diet and Human Health ในวารสารออนไลน์ Frontiers in Microbiology ของเดือนกุมภาพันธ์ 2016 (โดยอาศัย google นำทาง)         กล่าวกันว่าในกรณีของบิวทิเรตนั้น เซลล์ผนังลำไส้ใหญ่ใช้สารนี้เป็นพลังงานราวร้อยละ 70 เพื่อการดำรงชีวิต ดังนั้นในคนที่กินอาหารที่มีใยอาหารต่ำเซลล์ลำไส้ใหญ่อาจมีพลังงานเพื่อดำรงชีวิตของเซลล์ไม่พอ จนต้องทำการย่อยสลายตัวเอง (apoptosis) ปรากฏการลักษณะนี้จะทำให้การทำงานของลำไส้ใหญ่ลดลงจากสภาวะปรกติซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของคนๆ นั้นไปเป็นภาวะไม่ปรกติ        Wikipedia ให้ข้อมูลประมาณว่า งานวิจัยหลายเรื่องกล่าวถึงศักยภาพของบิวทิเรตในการป้องกันและบำบัดอาการอักเสบของลำไส้ใหญ่และกำจัดเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ ในประเด็นหลังมีการให้เหตุผลว่า แม้บิวทิเรตเป็นแหล่งพลังงานสำหรับเซลล์ปรกติของลำไส้ใหญ่แต่กลับทำให้เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ตายตามหลักการของ Warburg effect (ซึ่งกล่าวประมาณว่า เซลล์มะเร็งนั้นดำรงอยู่ได้ด้วยพลังงานน้ำตาลกลูโคสที่ถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานผ่านกระบวนการ glycolysis เพียงอย่างเดียว) ซึ่งทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถใช้บิวทิเรตเป็นแหล่งพลังงานได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงบิวทิเรตไปเป็นพลังงานนั้นจำต้องผ่านกระบวนการใน ไมโตคอนเดรีย ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในเซลล์เกี่ยวกับการผลิตพลังงานหลักของเซลล์ปรกติ แต่เซลล์มะเร็งนั้นไม่ใช้ไมโตคอนเดรียในการสร้างพลังงานแต่อย่างใด ซึ่งนำไปสู่การสะสมของบิวทิเรตในนิวเคลียสส่งผลให้เกิดการยับยั้งเอ็นซัม histone deacetylase ซึ่งมีบทบาทอย่างสูงในกระบวนการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง กระบวนการนี้ค่อนข้างซับซ้อนเกินขอบเขตของบทความนี้ แต่กล่าวได้โดยสรุปว่า บิวทิเรตน่าจะช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้         ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับใยอาหาร ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีคือ ได้มีงานวิจัยใหม่กล่าวว่า ใยอาหารน่าจะชะลอภาวะการอักเสบของสมองที่เพิ่มขึ้นตามอายุ ซึ่งส่งผลให้สมองทำงานได้ยาวนานขึ้น ดังมีงานวิจัยของ Department of Animal Sciences ของ University of Illinois ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Immunology ในปี 2018 เรื่อง Butyrate and Dietary Soluble Fiber Improve Neuroinflammation Associated With Aging in Mice ซึ่งบทความนี้แสดงให้เห็นว่า บิวทิเรตซึ่งเกิดในลำไส้ใหญ่ของหนูสูงอายุที่ได้กินใยอาหารชนิดอินูลิน (inulin) ได้ลดการทำงานของไซโตไคน์ (cytokine) ที่ออกฤทธิ์เกี่ยวกับการชักนำให้เซลล์ไมโครเกลีย (microglia) ก่อการอักเสบในสมองของหนู ส่งผลให้สมองของหนูกลุ่มนี้มีสภาพดีกว่ากลุ่มหนูสูงวัยที่กินเซลลูโลสซึ่งเป็นใยอาหารที่แบคทีเรียใช้ทำอะไรไม่ได้         ไมโครเกลียเป็นเซลล์ชนิดหนึ่งในระบบภูมิคุ้มกันที่สำคัญของสมองสัตว์ทั่วไป เซลล์นี้ทำหน้าที่กำจัดสิ่งที่ก่อปัญหาในสมองเช่น เซลล์ที่แก่หมดหน้าที่แล้วและเชื้อโรคต่างๆ อย่างไรก็ดีในผู้สูงอายุนั้นไมโครเกลียมีแนวโน้มในการก่ออาการสมาธิสั้นและการอักเสบเรื้อรังในสมอง ถ้ามีการทำงานมากเกินไป สมมุติฐานนี้ดูเป็นสาเหตุหลักของอาการความจำเสื่อมและการลดลงของความสามารถในการเข้าใจสิ่งต่างๆ ในวัยชรา         งานวิจัยที่ดูว่าสนับสนุนสมมุติฐานนี้คือ บทความเรื่อง Posttraining systemic administration of the histone deacetylase inhibitor sodium butyrate ameliorates aging-related memory decline in rats ในวารสาร  Behavioural Brain Research ของปี 2011 ซึ่งกล่าวในบทสรุปประมาณว่า บิวทิเรตที่เป็นผลพลอยได้จากการกินใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี (soluble fiber) ของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่สามารถปรับปรุงความจำและลดการอักเสบในสมองหนูได้         ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของจำนวนแบคทีเรียที่ผลิตบิวทิเรตในลำไส้ใหญ่ ย่อมส่งผลถึงการป้องกันไม่ให้ไมโครเกลียทำงานเกินจำเป็นเมื่อสัตว์มีอายุมากขึ้น ที่น่าสนใจคือ ผลการศึกษานี้เห็นได้ชัดเจนเฉพาะในหนูแก่ (ซึ่งเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับสมองแล้ว) ส่วนหนูวัยรุ่นหนุ่มสาวนั้นไม่ชัดเจน จึงกล่าวได้ว่าการกินอาหารที่อุดมด้วยใยอาหาร โดยเฉพาะส่วนนิ่มของใบผัก เช่น บรอกโคลี คะน้า ผักกาดขาว ฯลฯ ถั่ว ข้าวโอ๊ต แตงต่างๆ ผลไม้ตระกูลส้ม และขนมปังธัญพืชไม่ขัดสี น่าจะช่วยชะลอความแก่ของสมองของผู้สูงอายุได้ดี สำหรับส่วนแข็งของใบผักเช่น ก้าน นั้นมีประโยชน์ในด้านการอุ้มน้ำของอุจจาระจึงทำให้ถ่ายสะดวก และการจับสารพิษที่อาจก่ออันตรายแก่ลำไส้ใหญ่ออกไปจากร่างกาย ซึ่งสอดคล้องกับข่าวหนึ่งในมติชนออนไลน์ประจำวันที่ 24 มกราคม 2563 ที่กล่าวว่า สมาคมสภาผู้สูงอายุจังหวัดพะเยาในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุทั้งหญิงและชายที่มีอายุยืนยาวกว่า 100 ปีแล้วพบว่า ผู้สูงอายุนั้นต่างก็กินอาหารแบบพื้นบ้านล้านนาที่เป็นอาหารประเภทผักที่ปลูกเองกับน้ำพริก ปลา กล้วยน้ำว้า แตงกวา และพืชใบเขียวทั่วไปที่ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช        ประเด็นที่ท่านผู้อ่านควรทำความเข้าใจคือ การที่ผู้ค้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งมีเกลือบิวทิเรตสังเคราะห์เป็นองค์ประกอบร่วมกับสารอาหารอื่นๆ ในรูปแคปซูลได้มีการประชาสัมพันธ์ว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้นสามารถช่วยทำให้สุขภาพลำไส้ใหญ่ดีขึ้น มีประเด็นที่ผู้เขียนเสนอให้พิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อคือ สารอาหารอะไรก็ตามที่กินทางปากนั้นเมื่อผ่านลงสู่ลำไส้เล็กแล้วจะถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กไปสู่ตับด้วยระบบเส้นเลือดกลุ่มที่เรียกว่า hepatic portal vein ทั้งสิ้น ซึ่งในกรณีของบิวทิเรตที่ถูกนำเข้าสู่เซลล์ตับแล้วโอกาสที่จะหลุดรอดออกไปถึงเซลล์ลำไส้ใหญ่ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะตับมีระบบเอ็นซัมที่เปลี่ยนบิวทิเรตเป็นอะเซ็ตติลโคเอ็นซัมเอ (acetylcoenzyme A) ซึ่งจะถูกนำไปสร้างเป็นสารพลังงานสูงคือ เอทีพี (ATP) เพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของเซลล์ อย่างไรก็ดีในสถานะการณ์ที่เอทีพีในเซลล์มีมากเกินพอแล้ว ตับจะเลือกใช้อะเซ็ตติลโคเอ็นซัมเอเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์กรดไขมันต่าง ๆ (ซึ่งมีขนาดโมเลกุลใหญ่กว่าบิวทิเรต) ตามความต้องการของร่างกาย ข้อมูลนี้ปรากฏในบทความชื่อ From the gut to the peripheral tissues: the multiple effects of butyrate ในวารสาร Nutrition Research Review ปี 2010 ดังนั้นจะเห็นว่า โอกาสที่บิวทิเรตที่กินเข้าไปทางปากจะไปถึงลำไส้ใหญ่หรือต่อไปถึงสมองนั้นดูน่าจะเป็นไปได้ยาก ต่างจากบิวทิเรตที่สร้างโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ซึ่งเมื่อถูกดูดซึมด้วยเซลล์ของลำไส้ใหญ่ โอกาสที่ส่วนเกินจากการถูกใช้เป็นพลังงานอาจรอดไปสู่ระบบเลือด ซึ่งไปถึงสมองได้บ้างดังสมมุติฐานของงานวิจัยข้างต้นที่ว่า การกินผักผลไม้เพื่อให้ได้ใยอาหารนั้นอาจช่วยให้สมองมีสุขภาพที่ดีได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 เปรียบเทียบประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตอันเกิดจากการติดเชื้อโรคโควิด-19

            จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 (COVID-19) ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนไทยตื่นตัวที่จะซื้อประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตอันเกิดจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 กันเป็นจำนวนมาก เพราะมีค่าเบี้ยประกันที่ไม่สูงนัก เพื่อลดความเสี่ยงที่จะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล หากพบว่าตัวเองติดเชื้อ ผลสำรวจเปรียบเทียบประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตอันเกิดจากการติดเชื้อโรคโควิด-19         ทีนี้มาดูเรื่องประกันภัยกันบ้าง เมื่อเราทราบแล้วว่ามีสิทธิการรักษาพยาบาลอะไร อย่างไรบ้าง เมื่อเลือกซื้อประกันก็ควรซื้อกรมธรรม์ที่ตอบโจทย์ของเราและมีสิทธิประโยชน์นอกเหนือจากสิทธิการรักษาพยาบาล เช่น บางคนอาจจะต้องการตรวจโควิด-19 ในขณะที่ยังไม่แสดงอาการ หรือต้องการเงินชดเชยในช่วงระยะเวลากักตัว 14 วัน เป็นต้น โดยในการซื้อประกันภัยแต่ละครั้ง นอกจากผู้บริโภคจะดูสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับแล้ว ยังต้องตรวจสอบรายละเอียด เงื่อนไข และข้อยกเว้นในการทำสัญญาด้วย เพราะประกันแต่ละตัวของแต่ละบริษัท ก็มีเงื่อนไขและข้อยกเว้นการรับประกันที่แตกต่างกันไป อีกทั้งบางบริษัทก็มีเงื่อนไขที่กำกวม หรือไม่ได้ระบุเงื่อนไขที่จำเป็นบางประการไว้         ฉลาดซื้อได้ทำการสำรวจประกันโควิด-19 จากโฆษณา เอกสารการขาย ที่สามารถหาได้จากสื่อต่างๆ และเวปไซต์ของบริษัทประกันชีวิต จำนวน 16  แห่ง โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึง 3 เมษายน 2563เงื่อนไขการรับประกันของทุกกรมธรรม์  1.ต้องมีใบรับรองแพทย์ระบุว่ามีการเจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่า หรือภาวะสมองตายและระบบประสาทล้มเหลว หรือการเจ็บป่วยระยะสุดท้ายซึ่งเป็นการเจ็บป่วยรุนแรงที่แพทย์ลงความเห็นว่าไม่มีวิธีการรักษาให้หายได้ และ/หรือเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตโดยมีสาเหตุหลักมาจากติดเชื้อไวรัสโคโรนา โควิด(COVID-19) 2. ระยะเวลารอคอย 14 วัน (Waiting Period )หลังจากวันที่กรมธรรม์มีผลบังคับใช้ หมายถึง ระยะเวลาที่ไม่คุ้มครอง/ระยะเวลารอคอย : บริษัทจะไม่จ่ายผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยได้รับการวินิจฉัยโรคจากแพทย์เป็นครั้งแรกว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus (2019-nCoV)) ที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันที่กรมธรรม์ประกันภัยมีผลบังคับเป็นครั้งแรกตามที่ระบุไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัย) หมายเหตุ  :  หลักเกณฑ์การรับเงินค่าทดแทนสำหรับการเสียชีวิต/เจ็บป่วยระยะสุดท้าย และภาวะโคม่า มีดังนี้         ขณะที่กรมธรรม์ประกันภัยนี้มีผลบังคับและเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลารอคอย (Waiting Period) 14 วัน (กรณีกรมธรรม์ที่กำหนดระยะเวลารอคอย)  หากผู้เอาประกันภัยได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาตประกอบประกอบโรคศิลป์ตามกฎหมาย ว่าติดเชื้ออันเนื่องมาจากไวรัส COVID-19 ซึ่งมีลักษณะตามคำจำกัดความในกรมธรรม์ จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตหรือต้องได้รับเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน บริษัทจะจ่ายค่าทดแทนสำหรับการเสียชีวิตให้ผู้รับผลประโยชน์ (กรณีระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์) หรือทายาทโดยธรรม (กรณีไม่ได้ระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์) ส่วนค่าทดแทนอย่างอื่นจะจ่ายให้แก่ผู้เอาประกันภัย*การเจ็บป่วยระยะสุดท้าย หมายถึง การเจ็บป่วยรุนแรงที่แพทย์ลงความเห็นว่าไม่มีวิธีการรักษาให้หายได้ และ/หรือ เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตโดยมีสาเหตุหลักมาจากติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ การเจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่า หรือ ภาวะสมองตายและระบบประสาทล้มเหลว**ภาวะโคม่า หมายถึง  ภาวะอาศัยเครื่องช่วยหายใจและไม่ตอบสนองอย่างน้อย 96 ชั่วโมง และสมองถูกทำลายถาวรเกิน 30 วัน*** การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ(อ.บ.1) หมายถึง การสูญเสียอวัยวะ หรือ สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง การขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ รวมถึงการฆาตกรรมหรือถูกทำร้ายร่างกายข้อสังเกต        ·  ผู้ทำประกันสุขภาพต้องได้รับความคุ้มครองทุกโรค        ·  เจอ-จ่าย-จบ  หรือ เจอแล้วจ่าย ต้องสอบถามจากตัวแทนประกันภัยของแต่ละบริษัทว่ามีรายละเอียดอย่างไร        ·  บางกรมธรรม์มีข้อยกเว้นไม่รับทำประกันให้กับกลุ่มอาชีพพิเศษ หรือมีระยะเวลารอคอย ให้ผู้ซื้อประกันตรวจสอบกับผู้ขายก่อนซื้อแล้วก่อนจะซื้อประกัน โควิด-19 ควรดูอะไรบ้าง?         ภญ.ชโลม เกตุจินดา อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้อธิบายผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ในเพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไว้ว่า จุดที่ควรสังเกตในการซื้อประกันภัยโควิด-19 มีอยู่ 4 เรื่องใหญ่ๆ คือ อายุ ปัญหาสุขภาพ ข้อยกเว้นความรับผิดชอบ และการขายพ่วงประกันอื่นๆ1. อายุผู้เอาประกัน เพราะกรมธรรม์แต่ละฉบับจะมีความคุ้มครองในช่วงอายุที่แตกต่างกันในการรับประกัน จึงควรศึกษาให้ดีก่อนซื้อประกันให้ตัวเองหรือคนใกล้ตัว2. ปัญหาสุขภาพ เงื่อนไขของกรมธรรม์บางฉบับ ไม่ได้ระบุหรือสอบถาม เกี่ยวกับสุขภาพและโรคประจำตัวต่างๆ ซึ่งผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลส่วนนี้ให้ละเอียด เนื่องจาก บริษัทอาจใช้ข้ออ้างในเรื่องปัญหาสุขภาพ หรือโรคเรื้อรังต่างๆ มาเป็นเหตุผลในการปฏิเสธความคุ้มครองภายหลังโดยอ้างเรื่องการปกปิด หรือไม่เปิดเผยข้อความจริง ซึ่งเป็นมาก่อนการทำประกัน ( ซึ่งเป็นไปตามข้อยกเว้นท้ายคำเสนอของกรมธรรม์นั้นๆ )3. ข้อยกเว้นในการรับผิดชอบ โดยปกติแล้วบริษัทประกันภัยจะคิดเงื่อนไขโดยคำนึงว่าให้บริษัทแบกรับความเสี่ยงน้อยที่สุด ดังนั้นจึงอาจมีการกำหนดหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นสำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เงื่อนไประกันของบางบริษัทมีข้อยกเว้นที่กำหนดเรื่องอาชีพเอาไว้ หากเป็นแพทย์ พยาบาล หรือกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงก็จะไม่อยู่ในเงื่อนไขการรับประกัน หรือบางบริษัทกำหนดว่าต้องติดเชื้อก่อนการซื้อประกันภัย โดยใช้เกณฑ์ระยะฟักตัว 14 วัน นั่นหมายความว่า ภายในระยะเวลา 14 วันหลังการซื้อประกัน คุณต้องไม่ป่วยเป็นโควิด ถ้าคุณป่วยประกันจะไม่รับผิดชอบ เป็นต้นและ 4. การขายพ่วงประกันอื่นๆ เช่น ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ซึ่งบางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องดีที่ได้ประกันในหลายรูปแบบ แต่นั่นก็จะทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นทั้งที่อาจไม่ได้มีความจำเป็น ดังนั้น หากต้องการซื้อประกันเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 ก็ให้ซื้อเฉพาะเรื่องไปเลย ไม่ต้องพ่วงเรื่องประกันอื่นๆ ซึ่งจะหมดไปพร้อมกัน         ทั้งนี้ หากผู้บริโภคอ่านรายละเอียดต่างๆ แล้วไม่เข้าใจหรือมีข้อสงสัย ควรโทรถามบริษัทประกันให้เข้าใจก่อน แล้วจึงตัดสินใจซื้อ ก่อนตัดสินใจ ควร 1. ผู้บริโภคต้องตรวจสอบเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ให้ดี ก่อนที่จะสมัครทำสัญญา บางกรมธรรม์มักพ่วงประกันอุบัติเหตุร่วมด้วย และหากกรมธรรม์ มีข้อความว่า  ต้องเกิดอุบัติเหตุและติดเชื้อไวรัส Covid -19 พร้อมกัน จึงจะได้เงินตามเงื่อนไขของสัญญาประกันภัย ดังนั้น ถ้าเกิดติดเขื้อไวรัส Covid -19 เพียงอย่างเดียว หรือ อุบัติเหตุเพียงอย่างเดียว ไม่มีสิทธิรับเงิน เพราะไม่เข้าเงื่อนไข ตามสัญญา ดังนั้น ต้องตรวจสอบกรมธรรม์ให้ดีด้วย 2. เงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุว่า "เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต โดยมีสาเหตุหลักมาจากติดเชื้อไวรัส COVID-19" อันนี้ ต้องดูความเห็นของแพทย์ บางคนหากติดเชื้อจริง แต่สาเหตุการเสียชีวิตมาจากโรคแทรกซ้อน เช่น ความดัน หัวใจวาย ปอดติดเชื้อ แพทย์ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าเสียชีวิตจากไวรัสโควิด ก็อาจไม่เข้าเงื่อนไขของประกัน 3. ผู้บริโภคที่เอาประกันต้องแจ้งข้อมูลสุขภาพก่อนทำสัญญา เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทประกันอ้างในภายหลังเกี่ยวกับการปกปิดข้อมูลสุขภาพ โดยเฉพาะกรณีติดเชื้อก่อนทำประกัน  ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยในการปฏิเสธการจ่ายเงินตามสัญญาประกัน 4. ผู้ที่ทำประกันชีวิต และสุขภาพไว้แล้ว  ขอให้ทราบว่า กรมธรรม์ประกันภัยนั้นๆ จะรวมถึงการประกันกรณีติดเชื้อโควิดด้วยอยู่แล้ว ( ตาม“คำสั่งนายทะเบียนที่ 23/2563 เรื่องให้เพิ่มเติมเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย”  )  ดังนั้น หากจะทำประกันภัยเพิ่ม ขอให้พิจารณาความจำเป็นอย่างรอบคอบ “คำสั่งนายทะเบียนที่ 23/2563 เรื่องให้เพิ่มเติมเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย” อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.prachachat.net/finance/news-434595   หมายเหตุ 1 การเจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่า หรือ ภาวะสมองตายและระบบประสาทล้มเหลว หรือ การเจ็บป่วยระยะสุดท้ายซึ่งเป็นการเจ็บป่วยรุนแรงที่แพทย์ลงความเห็นว่าไม่มีวิธีการรักษาให้หายได้ และ/หรือ เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต โดยมีสาเหตุหลักมาจากติดเชื้อไวรัส COVID-19          2 ค่าชดเชยรายได้ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาลวันละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 50 วัน3 มีคุ้มครองการเสียชีวิต อวัยวะ สายตา ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงจากอุบัติเหตุ (อ.บ.1)      4 เงินชดเชยรายวันกรณีนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา วันละ 300 บาท (สูงสุด14 วัน)5 กลุ่มอาชีพพิเศษ ดังนี้ บุคลากรทางการแพทย์ (แพทย์, พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล) และพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในท่าอากาศยาน แอร์โฮสเตส สจ๊วต นักบิน6 เงินชดเชยกรณีนอนรพ.จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 500 บ./วัน (สูงสุด14วัน)7ค่าชดเชยรายได้กรณีนอนรพ.จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 300 บ./วัน (สูงสุด 30 วัน)  8ค่าชดเชยรายได้กรณีนอนรพ.จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 700 บ./วัน (สูงสุด 30 วัน)  9ค่าชดเชยรายได้กรณีนอนรพ.จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 1,000 บ./วัน (สูงสุด 30 วัน)         10 สำหรับผุ้ที่ซื้อกรมธรรม์ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป มีระยะเวลารอคอย 14 วัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 229 เงินฉุกเฉิน’ เบาะกันกระแทกที่ต้องมีก่อนก้าวต่อไป

        เชื่อว่าคนจำนวนหนึ่งมีเงินออมอยู่บ้าง มากน้อยก็ว่ากันไป แล้วเคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ไหม? เช่น อยู่ๆ ต้องซ่อมรถ ต้องเข้าโรงพยาบาล ตกงาน หรือเหตุใดๆ ให้ต้องใช้เงินด่วน คนส่วนใหญ่ทำยังไงล่ะ? ก็เอาเงินออมนั่นแหละออกมาจ่าย เงินออมมีไว้เพื่อสิ่งนี้ไม่ใช่เหรอ?        ผิด เงินออม ก็คือเงินออมที่เราตระเตรียมไว้เพื่อต่อยอดให้งอกเงยผ่านการลงทุนอะไรก็ว่ากันไป         ส่วนเงินที่มีไว้เผื่อใช้จ่ายในคราวจำเป็นจริงๆ เขาเรียกว่า ‘เงินฉุกเฉิน’ อย่าทำเป็นเล่นไป เงินส่วนนี้สำคัญมากเพราะมันจะเป็นเบาะกันกระแทกอย่างดีเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันและต้องใช้เงินด่วน         โดยทั่วไปแล้วมีคำแนะนำว่า ควรมีเงินฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เดือน (บางคนมีเงินฉุกเฉินถึง 1 ปีกันเลยทีเดียว) หมายความว่าถ้าคุณมีรายจ่ายต่อเดือน 20,000 บาท คุณก็ควรมีเงินฉุกเฉินอย่างน้อย 60,000 -120,000 บาท เห็นจำนวนเงินแล้วคงมีคนร้อง โอ้โห! แค่จะเก็บเงินธรรมดายังยากเย็น นี่แค่เงินฉุกเฉินทำไมต้องเยอะขนาดนี้         เศรษฐกิจช่วงนี้ซบเซา ยังไม่มีทีท่าจะกระเตื้อง ลองจินตนาการว่าคุณตกงาน รายได้ประจำที่เคยมีหายวับไป คุณจะทำยังไงล่ะ? แน่นอน หางานใหม่ที่คงต้องใช้เวลาอยู่บ้าง การมีเงินก้อนนี้ไว้จะทำให้คุณอุ่นใจไปได้อย่างน้อย 3-6 เดือน ซึ่งน่าจะยาวนานพอให้คุณตั้งหลักหรือหางานได้         ตรงกันข้าม ถ้าคุณไม่มีเงินส่วนนี้เลย ลำบากแน่ โอเค คุณมีอาจเงินออมอยู่บ้าง แต่ไม่พอยื้อได้นาน จบลงด้วยการกู้หนี้ยืมสิน ค่อนข้างเป็นฉากที่เลวร้ายว่าไหม? แถมเงินออมที่ตั้งใจจะเอาไปซื้อบ้าน เรียนต่อ ก็ต้องหายวับไปกับตายเพราะความประมาทว่าชีวิตจะราบรื่น ไม่มีสะดุด         พูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่าคุณต้องตั้งหน้าตั้งตาเก็บเงินฉุกเฉินอย่างเดียว คุณทำมันพร้อมๆ กับเก็บเงินออมได้ เพียงแค่จัดสรรเงินของตนทุกเดือนว่าส่วนไหนเงินออม ส่วนไหนเงินฉุกเฉิน        จะเก็บเงินฉุกเฉินไว้ที่ไหน? มี 2 แหล่ง ที่แรกก็ในเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไปเพราะสามารถถอนออกมาได้เร็วทันสถานการณ์ อีกที่คือกองทุนตราสารเงิน ความเสี่ยงต่ำ ถ้าคุณส่งคำสั่งเอาเงินออกวันนี้ เงินจะเข้าบัญชีที่คุณผูกไว้กับกองทุนในวันรุ่งขึ้น ช้ากว่าเงินฝากนิดหน่อย แต่ให้อัตราผลตอบแทนดีกว่าเงินฝากนิดหน่อย (นักลงทุนใช้กองทุนตราสารเงินเป็นแหล่งพักเงินระหว่างที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับเงินก้อนนี้)        ปัญหาอยู่ที่ว่าคุณต้องมี ‘วินัย’ (เรื่องนี้สำคัญมากเช่นกัน ไว้จะพูดถึงในคราวต่อๆ ไป) แยกแยะให้ได้ว่าอะไรฉุกเฉินจริงๆ เพราะบัตรเอทีเอ็มอยู่ในมือ แบบว่าช่วงเซลล์ 50 เปอร์เซ็นต์กำลังจะหมดเขต ต้องรีบช้อป นี่ไม่ฉุกเฉินแน่นอน         การมีเงินฉุกเฉินยังช่วยให้การออมเงินไม่สะดุด ถึงเป้าหมายการออมได้โดยไม่ต้องมีเรื่องกวนใจ         ส่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือประสบอุบัติเหตุ ตรงนี้สามารถกระจายความเสี่ยงไปให้บริษัทประกันช่วยรับภาระได้ อาจพูดได้ว่าเป็นเงินฉุกเฉินที่เราซื้อไว้ด้วยราคาที่ต่ำกว่า แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพูดแยกออกมาอีกตอน         จะให้ดีกว่านั้น เราคงต้องช่วยกันผลักดันสวัสดิการสุขภาพของทุกกองทุนสามารถดูแลเราได้อย่างมีคุณภาพ เท่าเทียม ทั่วถึง ครอบคลุมให้มากขึ้น และบังคับใช้กฎเกณฑ์อย่างจริงจังกับโรงพยาบาลเอกชน ถ้าทำได้ เรื่องฉุกเฉินด้านสุขภาพร่างกายก็เบาลงไปเยอะเลย

อ่านเพิ่มเติม >