ฉบับที่ 228 เกิดปัญหากับขนมของร้านเบเกอรีทำอย่างไรดี

        เบเกอรี (bakery) หรือขนมอบ เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมมาก ปัจจุบันมีร้านหรือแบรนด์ (Brand) เบเกอรี่ดังๆ จำนวนมากอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ทำให้เกิดการแข่งขันกันสูง ทั้งเรื่องมาตรฐานการผลิตและการบริการ รสชาติ อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีมาตรฐานสูงเพียงใด แต่ความผิดพลาดยังอาจเกิดขึ้นได้         ภูผา เป็นลูกค้าประจำของร้านเบเกอรีสัญชาติสิงคโปร์มาเป็นเวลาหลายปี  ด้วยมั่นใจในแบรนด์และมาตรฐานการผลิตระดับสากล เขาได้ซื้อขนมปังจากร้านนี้ที่สาขา เซ็นทรัลปิ่นเกล้า เป็นประจำ วันหนึ่งเขาเลือกซื้อขนมอบสามชิ้น ได้แก่ Coconut Floss, Fire Floss(ขนมปังไก่หยองน้ำพริกเผา) และ Mini Smart Cheese แต่ไม่ได้รับประทานทันที เก็บใส่ตู้เย็นไว้เพื่อเป็นอาหารเช้าวันถัดไป         วันรุ่งขึ้นคุณภูผานำขนมปังไก่หยองน้ำพริกเผามากินกับกาแฟ เมื่อกินได้ประมาณครึ่งอันขณะกัดขนมปังเข้าปากและเคี้ยวอยู่ก็รู้สึกแปลกๆ ทำไมในขนมปังมีอะไรแข็งๆ จึงคายออกมา พบว่าเศษแข็งๆ ที่เคี้ยวนั้นเป็นเศษพลาสติกความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร หนา 0.2 มิลลิเมตร ซ้ำมีลักษณะแหลมคมด้วย เขาจึงมีความกังวลว่าถ้าเขาเผลอกลืนเศษพลาสติกลงคอไปจะเกิดอะไรขึ้น และถ้าคนที่กินขนมปังมีเศษพลาสติกนี้เป็นเด็กหรือคนแก่จะเกิดอะไรขึ้น         คุณภูผาจึงไม่อยากปล่อยเหตุการณ์ผ่านไป เขาต้องการให้ผู้ผลิตรับผิดชอบกับเหตุการณ์ครั้งนี้จึงได้แจ้งเรื่องดังกล่าวไปยังอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คของร้านขนมปัง แต่เรื่องก็เงียบหายไป ไม่มีความคืบหน้า จึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า กรณีเช่นนี้สามารถทำอะไรได้บ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ให้คำแนะนำแก่คุณภูผาว่า การพบเศษพลาสติกปนเปื้อนในขนมปัง เป็นการกระทำความผิดเข้าข่ายผิด พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธิ์ โดยมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เบื้องต้นจึงแนะนำให้ผู้ร้องแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ เพื่อเป็นหลักฐานเสียก่อน         จากนั้นศูนย์ฯ ได้ช่วยดำเนินการทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และผู้บริหารห้างเซ็นทรัลเพื่อขอให้ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ขนมปังร้านดังกล่าว และมีหนังสือถึงบริษัทเจ้าของแบรนด์เบเกอรีดังกล่าวเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค           จากการเจรจาไกล่เกลี่ย ตัวแทนบริษัทผู้ผลิตได้กล่าวขอโทษผู้ร้องคือคุณภูผา ที่ดำเนินเรื่องให้ล่าช้า และชี้แจงว่าหลังจากทราบเรื่องทางบริษัทได้ตรวจสอบและพบว่าเศษพลาสติกที่ผู้ร้องพบนั้น มาจากฝากล่องพลาสติกใส่ทอปปิ้งซึ่งแตกออกมาและหล่นลงไปในขนมปังระหว่างกระบวนการผลิต ซึ่งพนักงานไม่เห็น ดังนั้นปัจจุบันบริษัทได้เปลี่ยนกล่องใส่ทอปปิ้งทั้งหมด และมีนโยบายให้เปลี่ยนกล่องใส่ทอปปิ้งทุก 3 เดือน หรือนานสุด 6 เดือน ซึ่งแต่เดิมบริษัทจะเปลี่ยนเมื่อกล่องหรือฝากล่องชำรุดเท่านั้นไม่มีระยะเวลาแน่นอน และบริษัทได้จัดทำใบตรวจสอบการทำงาน (Checklist) เพิ่มเติม เพื่อเป็นไกด์ไลน์ให้กับพนักงาน         คุณภูผาพอใจกับแนวทางการแก้ไขปัญหาของบริษัทฯ และหวังว่าบริษัทฯ จะมีการปฏิบัติที่ดีในการผลิตไม่ทำให้เกิดปัญหาอีกในอนาคต สำหรับการเยียวยานั้น ทางบริษัทยินดีมอบเค้กขนาด 2 ปอนด์ จำนวน 1 ก้อนเพื่อชดเชยให้ ซึ่งเจตนาของคุณภูผาเดิมก็เพียงแค่อยากให้เกิดการแก้ไขปัญหาเท่านั้น จึงรับการเยียวยานี้ไม่ติดใจอะไรอีกและยินดีเป็นลูกค้ากันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2563

4 เดือนโครงการรับยาใกล้บ้าน ยอดแตะ 91 รพ. 750 ร้านขายยา        สปสช.โดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผย “โครงการผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) รับยาที่ร้านขายยาแผนปัจจุบัน ขย.1 เพื่อช่วยลดแออัดในโรงพยาบาลรัฐ หรือโครงการรับยาใกล้บ้านนั้น ตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 1 ก.พ. 2563 รวม 4 เดือนพบว่า โรงพยาบาลที่เข้าร่วมดำเนินโครงการจำนวน 91 แห่ง ขณะที่มีร้านขายยาแผนปัจจุบัน ขย.1 เข้าร่วมให้บริการจำนวน 750 แห่ง จาก 55 จังหวัด โดย รพ.ขอนแก่น มีร้านยาร่วมเครือข่ายบริการมากสุด 50 แห่ง รพ.ลำพูน มีผู้ป่วยร่วมโครงการมากสุด 480 คน ขณะที่ภาพรวมผู้ป่วยร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด และจิตเวช นอกจากนี้ยังมีโรคเรื้อรังอื่นที่ผู้ป่วยมีภาวะคงที่ โดยให้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งจากข้อมูลเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการฯ สะสมแล้ว มีจำนวน 2,453 รายแล้ว อย. เรียกเก็บน้ำเกลือล้างแผลพบการปนเปื้อน        รายงานข่าว นพ. สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีหนังสือที่ สธ 1009.5/ว 1955 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 แจ้งเตือนภัยเร่งด่วน การเรียกเก็บยา KLEAN & KARE NORMAL SALINE เลขทะเบียน 1A 512/56 รุ่นการผลิต 061607 คืนจากท้องตลาดโดยสมัครใจ 29 มี.ค. มอเตอร์ไซค์ใหม่ทุกคันต้องได้ยูโร 4         นายวันชัย  พนมชัย  เลขาธิการ  สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ. ได้เชิญผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์กว่า 40 ราย ชี้แจงทำความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมในการยื่นขอ มอก. 2915-2561 รถจักรยานยนต์เฉพาะด้านความปลอดภัย – สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับยูโร 4  ซึ่งประกาศบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2563 เพื่อช่วยแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นพิษหรือ PM 2.5  ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวมีข้อกำหนดที่ควบคุมปริมาณสารมลพิษที่ปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ของรถจักรยานยนต์ ได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอนออกไซด์ของไนโตรเจน ลดลงถึง 50% เมื่อเปรียบเทียบกับ มอก. เดิม คือ ยูโร 3         นอกจากนี้ มาตรฐานฉบับดังกล่าวนี้ยังมีข้อกำหนดเรื่องความทนทานของอุปกรณ์ควบคุมมลพิษ เพื่อให้มั่นใจว่ารถจักรยานยนต์ที่ผ่านการใช้งานแล้วระยะเวลาหนึ่ง  ยังคงสามารถควบคุมปริมาณสารมลพิษเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดได้ เสวนา พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบยอดร้องเรียนสูงแต่เอาผิดได้น้อย        5 กุมภาพันธ์ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ งานเสวนา “12 ปี  พ.ร.บ  ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551” เผยสถิติ แม้มียอดร้องเรียนนับพันแต่เอาผิดตามกฎหมายได้น้อย        นายคำรณ  ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา ระบุ 1 ปีที่ผ่านมา มาตรการบังคับใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น สังคมตื่นตัว รับรู้ข้อกฎหมายมากขึ้น จึงมีผู้ร้องเรียนเมื่อพบข้อมูลการทำผิดกฎหมายมากถึง 1,100 กรณี สำหรับความผิดที่พบมากที่สุด (ร้อยละ 60) คือ โฆษณาส่งเสริมการตลาด พบว่า ธุรกิจน้ำเมายังคงมั่งคั่ง ใช้กิจกรรมการตลาด จัดคอนเสิร์ตเปิดลานเบียร์ เป็นกิจกรรมหลัก ที่รุกจากหน้าห้างกิจกรรมรายย่อยยันทุ่งนา และใช้ตราเสมือนคือเครื่องดื่มน้ำ โซดา รวมไปถึงเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ เป็นตราหลักสื่อสารการตลาด การโฆษณาในสื่อต่างๆ “เครือข่ายฯ ยังพบกิจกรรมหรือความสัมพันธ์ ที่น่าเคลือบแคลงสงสัยในแบบอุปถัมภ์เกื้อหนุนกันระหว่างทุนเหล้ากับกลไกราชการ โดยกิจกรรมการตลาดต่างๆ มักอ้างหรือดึงส่วนราชการเข้ามาร่วมด้วย เพื่อทำให้การบังคับใช้กฎหมาย ขาดประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้คือ ภัยคุกคามสำคัญ”         นพ.นิพนธ์  ชิชานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า         “มาตรการควบคุมผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมาย มีการออกตรวจตามวันที่ห้ามขาย เช่น วันสำคัญทางศาสนา สุ่มตรวจจากเรื่องร้องเรียนในประเด็นที่เป็นปัญหาตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในมาตรา 32 ว่าด้วยการห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มฯ และมาตรา 30 ว่าด้วยการห้ามขาย ด้วยวิธีการ เร่ขาย เครื่องขายอัตโนมัติ ลดแลกแจกแถม ในสถานที่ราชการ สถานศึกษาฯ ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนเข้ามามากกว่า 2,000 เคส แต่พบว่า สำหรับการดำเนินคดีการตามกฎหมายจนสิ้นสุดคดียังมีจำนวนน้อย เพราะการควบคุมหย่อนยานไม่ทั่วถึง ทั้งนี้ต้องกระตุ้นไปยังเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบเพื่อดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายตามกลไกการใช้กฎหมายในแต่ระดับพื้นที่ จะส่งผลให้ติดตามง่ายลดการกระทำผิดซ้ำ”  สมัชชาผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ครั้งที่ 1        18 กุมภาพันธ์ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน จัด ‘เวทีสมัชชาผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ครั้งที่ 1’ ขึ้น เพื่อสะท้อนภาพรวมของปัญหาจากอุบัติเหตุทางถนนและเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประสบอุบัติเหตุให้มีสิทธิและโอกาสการเข้าถึงสังคมที่มีอย่างทั่วถึงเท่าเทียม         ในตอนหนึ่งของการเสวนา การชดเชยเยียวยาผู้เสียหายกรณีรถโดยสาร นักวิจัยระบุ การทำประกันภัยให้รถโดยสารสาธารณะช่วยผู้บริโภคได้ดีกว่าการฟ้องร้อง แต่ปัจจุบันรถโดยสารที่ทำประกันภัยภาคสมัครใจเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ขณะที่ มพบ. ให้ข้อมูลว่า การฟ้องร้องยังจำเป็นเพราะผู้เสียหายอาจเสียเปรียบจากระบบประกันภัย โดยเฉพาะการตีความตามบทบัญญัติที่ไม่สื่อสภาพจริงของสังคม         ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า “การประกันภัย สามารถตอบโจทย์การชดเชยเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ได้ดีกว่าการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายโดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะเวลาในการได้รับค่าชดเชยเยียวยา ซึ่งวงเงินคุ้มครองที่เพิ่มสูง ประกอบกับนโยบายของกรมการขนส่งทางบกที่บังคับให้รถโดยสารสาธารณะต้องทำประกันภัยภาคสมัครใจเพิ่มเติม ทำให้ผู้ประสบภัยสามารถได้รับการชดชดเชยเยียวยาได้ทันท่วงทีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า ปัจจุบันมีรถโดยสารที่ทำประกันภัยภาคสมัครใจเพียง 1 ใน 3 จากจำนวนรถที่จดทะเบียนทั้งหมด จึงมองว่าควรจะมีการสำรวจและศึกษาผลกระทบของรถที่ไม่ได้ทำประกันภัยด้วย อย่างไรก็ตามการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายยังคงจำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคในระบบรถโดยสารสาธารณะที่เหมาะสมต่อไป”         ด้าน ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ถึงแม้ระบบประกันภัยจะรวดเร็ว แต่สุดท้ายเมื่อผู้เสียหายไม่สามารถที่จะได้รับการชดเชยค่าเสียหายในระบบประกันภัยได้ ก็จะต้องกลับเข้าไปสู่ระบบของกระบวนการยุติธรรมอยู่ดี ทั้งนี้ในรายละเอียดยังมีคำถามจำนวนมากเกี่ยวกับการคำนวณ การกำหนดค่าสินไหมทดแทน เช่น ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าเสียหายเชิงลงโทษ ค่าเสียหายทางจิตใจ ทายาท ฯลฯ ตลอดจนการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนว่า กรณีใดบ้างที่บริษัทขนส่งหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบด้วย เพราะมีบางกรณีที่บริษัทขนส่งหลุดจากคดี เนื่องจากอ้างว่ารถที่ผู้เสียหายใช้บริการนั้นเป็นรถเถื่อนทั้งที่ขึ้นในสถานีของทางขนส่งเอง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 กระแสต่างแดน

หยุดมลพิษปรอท        แอนดริว เลวิทัส ผู้กำกับภาพยนตร์ “Minamata” เรียกร้องให้ออสเตรเลียหยุดเพิกเฉยต่อปัญหาพิษปรอทในสิ่งแวดล้อมทั้งๆ ที่ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะเมื่อ 7 ปีก่อน        ภาพยนตร์เรื่องนี้เกี่ยวกับการเปิดโปงให้โลกได้รับรู้สิ่งที่เกิดกับผู้คนในหมู่บ้านชาวประมงแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของญี่ปุ่น โดยยูจีน สมิธ (รับบทโดย จอหน์นี่ เดปป์) ช่างภาพของนิตยสาร Life ที่เสี่ยงตายเข้าไปถ่ายภาพเหยื่อ “โรคมินามาตะ” เมื่อปี 2514        ตัวการที่ลักลอบปล่อยน้ำเสียที่มีสารปรอทลงสู่อ่าวมินามาตะก็คือโรงงานสารเคมีชิสโสะ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บริเวณนั้นนั่นเอง        ที่น่าเศร้าคือแม้จะพบโรคดังกล่าวตั้งแต่ปี 2499 แต่กลับต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าบริษัทชิสโสะจะยอมชดเชยเยียวยาให้กับเหยื่อ 10,000 กว่าราย จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีคนที่ยังไม่ได้รับการชดเชย        สารปรอทส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ระบบหายใจ ระบบย่อย และระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงทำให้เกิดโรคไตและโรคหัวใจด้วย ขณะที่ทารกในครรภ์ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดมาพร้อมความผิดปกติและอาจมีไอคิวต่ำ        เลวิทัสกล่าวในเทศกาลภาพยนตร์เบอลินว่าเขาหวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะสร้างกระแสให้คนออสซี่ลุกขึ้นมากดดันให้รัฐบาลออสเตรเลียจัดการกับปัญหามลพิษปรอทโดยด่วน        ออสเตรเลียมีการปล่อยสารปรอทเข้าสู่สิ่งแวดล้อมปีละ 18 ตัน หากคิดเฉลี่ยต่อหัวประชากร อัตราการได้รับปรอทของคนออสเตรเลียสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึงสองเท่า ส่วนใหญ่เป็นการรับปรอทเข้าสู่ร่างกายผ่านอาหารทะเลและปลาแม่น้ำ (สถิติการบริโภคอาหารทะเลของคนออสซี่ก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเช่นกัน)        นอกจากนี้ปรอทยังเป็นผลพลอยได้จากโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน และปัจจุบันยังถูกใช้ในสารเคมีฆ่าเชื้อราในต้นอ้อยด้วย           หมายเหตุ ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอทเช่นกันเตรียมลงดาบ        คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของออสเตรเลีย ACCC ประกาศว่าปีนี้จะจับตาและลงดาบธุรกิจรับจัดงานศพ หลังพบว่าเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอมานาน        ธุรกิจรับจัดงานศพในออสเตรเลียซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 1,600 ล้านเหรียญ (ประมาณ 33,000 ล้านบาท) ทั้งๆที่มีผู้ประกอบการน้อยราย มักถูกร้องเรียนเรื่องค่าบริการที่ไม่เป็นธรรมและการผิดสัญญากับลูกค้า           ปลายปีที่แล้ว InvoCare ถูกเปิดโปงโดยนิตยสาร CHOICE ว่าเรียกเก็บ “ค่าธรรมเนียมการชำระเงินเกินเวลา” ทั้งๆ ที่ลูกค้าจ่ายเงินตรงเวลา        บริษัทนี้เป็นบริษัทแม่ของธุรกิจงานศพอีกสองแบรนด์ (White Lady Funerals และ Simplicity Funerals) รวมถึงแบรนด์อื่นๆ ในแต่ละรัฐของออสเตรเลียอีก 40 แบรนด์ ในปี 2561 InvoCare จัดงานศพ 36,000 งาน ทำรายได้ไป 290 ล้านเหรียญ (ประมาณ 5,900 ล้านบาท)        อีกเรื่องที่ ACCC ต้องตั้งรับคือการหาผลประโยชน์จากวิกฤติ เช่น การระดมทุนทางโซเชียลมีเดียเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากไฟป่า หรือผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา รวมถึงพวกที่กักตุนหน้ากากอนามัยไว้ขายเกินราคาด้วยบริการเสริมจากไปรษณีย์        แม้การส่งจดหมายจะลดลงเช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในโลก แต่ไปรษณีย์ฝรั่งเศส (La Poste) ยังไปได้สวยด้วยบริการ V.S.M.P หรือบริการเยี่ยมผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง          นอกจากส่งจดหมายหรือพัสดุแล้ว พนักงานไปรษณีย์จะเข้าไปเยี่ยมผู้สูงอายุในบ้าน ถามสารทุกข์สุกดิบ นำยาตามใบสั่งแพทย์มาส่ง ช่วยสั่งซื้อของออนไลน์ นำหนังสือไปคืนห้องสมุด ซ่อมแซมปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในบ้าน ฯลฯ ทั้งหมดนี้ด้วยค่าบริการรายเดือน 37.90 ยูโร (ประมาณ 1,300 บาท)        พนักงานจะบันทึกข้อมูลต่างๆ ลงในแอป และเมื่อผู้รับบริการพอใจแล้ว (ส่วนมากใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที) ก็จะลงชื่อในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จากนั้นระบบจะแจ้งความคืบหน้าไปยังลูกหลาน          บริการนี้มาได้ถูกที่ถูกเวลา ขณะที่คนวัยหนุ่มสาวต้องย้ายถิ่นฐานไปหางานทำในเมืองใหญ่ ตามเมืองเล็กๆ ก็มีคนอายุมากกว่า 75 ปีอีกหลายล้านคนอยู่บ้านคนเดียว และใน 15 ปีข้างหน้า ประชากรหนึ่งในสามของฝรั่งเศสจะมีอายุมากกว่า 60 ปี        จุดเริ่มของโครงการนี้คือเหตุการณ์คลื่นความร้อนเมื่อ 7 ปีก่อน เมื่อรัฐบาลขอความร่วมมือจากที่ทำการไปรษณีย์ท้องถิ่นให้ส่งพนักงานออกไปตรวจเช็คความปลอดภัยของผู้สูงอายุที่อยู่บ้านคนเดียว ต่อมาบริการนี้ได้รับความสนใจจากบริษัทประกันและเทศบาลท้องถิ่นว่าจ้างให้ทำงานแทนให้ และตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาก็พัฒนามาเป็นบริการผ่านแอปฯ สำหรับคนทั่วไป        La Poste ซึ่งเปลี่ยนสถานะเป็นองค์กรร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนเมื่อ 10 ปีก่อน มีจดหมายให้ส่งน้อยลงเกือบ 8,000 ล้านฉบับ ปัจจุบันรายได้บริการนี้เป็นเพียงแค่ร้อยละ 28 ของรายได้รวมเท่านั้น        ข่าวร้ายสำหรับคนที่ยังรักจดหมาย ปีนี้ค่าแสตมป์ภายในประเทศปรับขึ้นจาก 78 เป็น 86 เซนต์ (ประมาณ 30 บาท) แล้ว

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 228 นโยบายคมนาคมขนส่งที่ เป็นธรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยองค์กรภาคประชาชน ในเยอรมนี

             วันนี้ผมขอนำเสนอรูปแบบ การร่วมเสนอนโยบาย โดยองค์กรภาคประชาชน ที่ไม่ใช่พรรคการเมือง ในด้านคมนาคม การจราจร และการเดินทางของประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมา ปัญหาด้านการจราจรและการขนส่ง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตเมือง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องปัญหาคุณภาพอากาศ และปัญหาในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพถูมิอากาศ เนื่องจากการกำหนดนโยบายการคมนาคมและการเดินทาง อยู่ในอิทธิพลของพรรคการเมือง และก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สุขภาวะของประชาชน        ซึ่งการก่อตั้งองค์กรภาคประชาชน ในรูปแบบสมาคมซึ่งเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ที่ไม่แสวงหาผลกำไร ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1986 มีหลักการสำคัญ คือ เพื่อเปลี่ยนผู้บริโภคจากผู้ดู ให้เป็นผู้เล่นทางการเมือง การมีองค์กรที่เป็นกลางทางการเมืองในรูปแบบสมาคม จึงมีความจำเป็น และมีความสำคัญ เพื่อทำให้เกิดการสร้างแรงกดดันทางการเมืองขอฃประชาชน โดยเฉพาะกับพรรคการเมือง ที่มักจะมีอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร โดยได้รับอิทธิพลจากบริษัทยักษ์ใหญ่ ด้วยการ Lobby         สำหรับการทำงานขององค์กรลักษณะนี้ มีนโยบายสนับสนุน ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพิ่มการสัญจรทางเท้า เพิ่มการใช้รถยนต์โดยสารสาธารณะ และลด ละเลิกการใช้พลังงานฟอสซิล และเพิ่มเส้นทางการคมนาคมสัญจร และราคาที่เป็นธรรมประชาชนสามารถจ่ายได้ เพื่อที่จะลดปริมาณการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมให้กับลูกหลานในอนาคตในที่สุด        สำหรับรูปแบบการทำงานของภาคประชาสังคมที่มีความยึดโยงและใกล้ชิด กับประชาชน ในประเทศเยอรมนี คือ สมาคมเพื่อการคมนาคมแห่งเยอรมนี (Verkehrsclub Deutschland e.V.)         ตัวอย่างประเด็นการขับเคลื่อน นโยบายด้านการจราจรและคมนาคม        ·        นโยบาย ด้าน การใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสมาคมไม่ได้ต่อต้านการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล แต่สนับสนุนและให้ความรู้กับประชาชนในการรู้จักเลือกใช้รถยนต์ส่วนบุคคลอย่างฉลาด ตลอดจนตรวจสอบความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของรถยนต์แต่ละยี่ห้อ เสนอทางเลือกการเดินทางนอกเหนือจากรถยนต์ส่วนบุคคล การลดระดับมลพิษทางด้านเสียงและอากาศ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทาง เพื่อประโยชน์สุขของทุกคน        ·         นโยบายการเดินทางด้วยระบบราง เนื่องจากวิถีชีวิตของคนในสังคมปัจจุบัน การเดินทางไม่ว่าจะเดินทางไปทำงาน เดินทางท่องเที่ยว เดินทางเพื่อทำการค้า ทำธุรกิจ หรือการเดินทางเพื่อไปพบปะญาติมิตร ในแต่ละวันจะมีผู้คนเป็นจำนวนหลักหลายล้านที่อยู่ระหว่างการเดินทาง ดังนั้น การใช้ระบบรางในการเดินทาง จึงเป็นทางเลือกที่สำคัญ เนื่องจาเป็นระบบขนส่งคนจำนวนมากที่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ ประเด็นสำคัญที่จะต้องคำนึง คือ เรื่อง ราคาที่ทุกคนสามารถจ่ายได้    ·        นโยบายการใช้รถไฟฟ้า (Electromobility) ปัจจุบันมีคำถามว่า เป็นกระแส หรือเป็นทางรอดของมนุษยชาติ สำหรับ นโยบายเรื่องรถไฟฟ้า จะต่างจาก รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Personal Car) ที่เรากำลังขับเคลื่อนกันอยู่ สำหรับประชาชนชาวเยอรมันปัจจุบัน มากกว่า 2 ใน 3 ที่เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นแบบ Electromobility และใช้จักรยานไฟฟ้า ไม่น้อยกว่า 4 ล้านคนต่อวัน        ·        นโยบายการใช้รถบัสในการเดินทางระยะไกล เนื่องจากในปี 2013 ได้เริ่มอนุญาตให้มีการเดินรถบัสสาธารณะ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางไกล นอกเหนือจากการใช้รถไฟ ในอดีตตั้งแต่ปี 1930 มีการห้ามการเดินรถบัส ในเส้นทางที่มีรถไฟให้บริการอยู่แล้ว ยกเว้นเส้นทางไปสู่สนามบิน หรือ เส้นทางในเมืองที่แสดงสินค้า (Expo City) ในกรณีนี้ ทางสมาคมมีจุดยืนในการเลิกระบบผูกขาด ด้วยระบบการเดินทางระบบรางเพียงอย่างเดียว แต่สนับสนุนให้มีทางเลือก ในการเดินทาง เพื่อสนับสนุนการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม        ·        การเดินทางทางอากาศ กระแสการเดินทางทางอากาศที่เป็นที่นิยม ด้วยราคาที่ดึงดูดและล่อใจผู้โดยสาร ทำให้ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากการเดินทางทางอากาศ ตั้งแต่ปี 1990 และถ้าพิจารณากระแสความนิยมการเดินทางทางอากาศทั่วโลก ก็จะส่งผลให้ เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแทบเป็นไปไม่ได้เลย สมาคมมีจุดยืนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางทางอากาศ มาตรการในการจัดการเรื่องนี้ คือ การใช้ระบบ CO2 – Emission trade ซึ่งในปี 2020 จะเริ่มมีการใช้ เครื่องมือนี้ ทั่วโลกในการจัดการกับปัญหาก๊าซเรือนกระจกจาการเดินทางทางอากาศ         ·        การเดินทางทางเท้า ซึ่งถือว่าเป็นการเดินทางรูปแบบหนึ่ง ในประเทศเยอรมนีเอง ก็ยังมีนโยบายในการสนับสนุนการเดินทางด้วยการเดิน น้อย และมักให้สิทธิพิเศษกับ รูปแบบการเดินทางด้วยรถ หรือ รถยนต์ในการใช้ถนนสาธารณะ ภายใต้แนวคิด การไหลของการจราจรของรถยนต์ แทนที่จะมีแนวคิดให้ เกิดการไหลของการจราจรแก่คนเดินเท้า ซึ่งสมาคมสนับสนุนให้เกิดการไหลของการจราจรของคนเดินเท้า ซึ่งจากแนวคิดนี้ จะไปสนับสนุนให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี กับผู้คนในเมือง เพราะจราจรคือ ชีวิตของผู้คน ไม่ใช่ชีวิตของรถยนต์        ·        การขนส่งสินค้า จำนวนสินค้าที่ขนส่งในประเทศเยอรมนีแต่ละปี  คือ 4,500 ล้านตัน หรือเท่ากับ 50 ตัน ต่อประชากรเยอรมนี 1 คน และในรอบ 25 ปี อัตราการขนส่งสินค้า เพิ่มเป็น 2 เท่า ส่วนใหญ่ ใช้การขนส่งผ่านรถบรรทุก ซึ่ง มีการปล่อยก๊าซจากการเผาไหม้ เครื่องยนต์ดีเซล ทางสมาคม จึงเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปนโยบายการขนส่ง ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการเรียกเก็บภาษี และค่าธรรมเนียมจากการปล่อยมลพิษ ที่สะท้อนต้นทุนจริงในการขนส่ง และสนับสนุนให้ใช้การขนส่งระบบราง และการขนส่งทางเรือ ในการขนส่งสินค้าที่ต้นทุนต่ำกว่า        ·        นโยบายสนับสนุนการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดกรปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการคมนาคมขนส่ง เนื่องจาก 90 % ของพลังงานที่ใช้ในระบบคมนาคมขนส่ง มาจาก พลังงาน ฟอสซิล ในประเทศเยอรมนี 1 ใน 5 ของก๊าซเรือนกระจกมาจากการคมนาคมขนส่ง และ 96% มาจากการปล่อยก๊าซจากท่อไอเสียของรถยนต์และรถบรรทุก ซึ่งเยอรมนีมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2050 เพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ        ·        นโยบายอากาศสะอาด สำหรับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากอากาศสะอาดคือ ชีวิต มนุษย์และสิ่งแวดล้อมจะดำรงอยู่ได้ภายใต้อากาศที่สะอาด ควันพิษจากรถยนต์ และเขม่าควันดำ เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งและโรคทางเดินหายใจ เป็นต้นทุนของสังคมที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง        ·        การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในเมือง เป็นทางเลือกที่สำคัญ กว่าการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ดังนั้นนโยบายนี้จึงต้องเพิ่มการเข้าถึงให้ทุกคนสามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้ และผู้โดยสารใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวกปลอดภัย ในราคาที่เป็นธรรม        ·        การเดินทางของผู้สูงวัย และการเดินทางของคนทุกวัย เนื่องจากการเดินทางเป็นส่วนหนึ่งของคุณภาพชีวิตที่สำคัญ และเป็นเงื่อนไขที่สำคัญในการมีส่วนได้ส่วนเสียของสังคม และของปัจเจก ดังนั้นคนสูงวัยก็มีความจำเป็นที่จะสามารถเดินทางได้ ไม่ว่าจะเป็น การเดินทางด้วยรถขนส่งสาธารณะ การใช้ถนน เส้นทาง โดยมีประเด็นในการขับเคลื่อนคือ ความปลอดภัย ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพึ่งพาตนเองได้        ·        การอบรมให้ความรู้ในเรื่องการคมนาคมและจราจรแก่ เด็กและคนสูงวัย ที่เป็นธรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก เด็กคืออนาคตของชาติ สมาคมให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ การฝึกอบรมกับเด็กและวัยรุ่น และ ผู้สูงวัย ซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ต้องอาศัย แนวความคิดใหม่    ·        การเดินทางแบบหลากหลาย และการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างการเดินทาง (Multimodality and Intelligent Networking on the Ways)แนวความคิดการเดินทางแบบนี้ คือ ไม่ได้มีรถยนต์ส่วนตัว แต่ มีรถยนต์แบบ car sharing ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและรถโดยสารสาธารณะ ที่เชื่อมต่อโดยผ่านทางเครือข่ายข้อมูลการเดินทาง สำหรับการเป็นเจ้าของรถยนต์ส่วนตัวในเมืองใหญ่ มีภาระที่ต้องแบกรับมากไม่ว่าจะเป็น ที่จอดรถ เงินประกัน และภาษี        ·        การเดินทางด้วยรถจักรยาน เป็นรูปแบบการเดินทางที่มีประโยชน์ ทั้งในแง่สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม การเดินทางด้วยจักรยานในเมือง ใช้เวลาน้อยกว่าในการถึงจุดหมาย ดังนั้นสิ่งที่สมาคมเรียกร้อง ในการขับเคลื่อนนโยบายการใช้จักรยานในเมืองคือ มีที่จอดรถจักรยานสาธารณะที่เพียงพอ และปลอดภัย มีการลงทุนสร้างทางจักรยานที่ได้คุณภาพและปริมาณ ของเส้นทางที่เชื่อมต่อกัน และมีกฎหมายที่อนุญาตให้นำรถจักรยานขึ้นไปบนรถโดยสารสาธารณะได้        ·        นโยบายความปลอดภัยบนท้องถนน ในปี 2017 มีคนเสียชีวิตบนท้องถนนจากอุบัติเหตุ ถึง 3,177 คน อีก 390,000 คน ได้รับบาดเจ็บ การขับเคลื่อนให้เกิดการจำกัดความเร็วบนท้องถนน เป็น เรื่องหนึ่งในอีกหลายเรื่องที่มีความสำคัญ แต่อย่างไร ก็ตามในระดับนโยบายมีการขยับน้อยมากในเรื่อง นโยบายความปลอดภัยบนท้องถนน         ·        นอกจากนี้ ยังมีนโยบายอื่นๆ ที่สมาคมให้ความสำคัญและทำงานขับเคลื่อนอยู่ไม่ว่า จะเป็น เรื่อง การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน การเดินทางและที่อยู่อาศัย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การออกแบบนโยบายการคมนาคมขนส่งสาธารณะ        ผลงานที่สำคัญ คือ การได้รับการชื่นชมจากคณะกรรมการ UNESCO แห่งเยอรมนี ถึง 2 ครั้ง ในประเด็นการให้ความรู้แก่สาธารณะในเรื่อง การพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2011/2012 และ ปี 2013/2014        แนวทางการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคม ในประเด็นการคมนาคมขนส่ง ในประเทศเรา สามารถเรียนรู้จากองค์กรนี้ได้ และประยุกต์ให้เข้ากับบริบททางสังคมของประเทศเรา        แหล่งข้อมูล เวบไซต์ของสมาคมเพื่อการคมนาคมแห่งเยอรมนี (Verkehrsclub Deutschland e.V.) https://www.vcd.org/startseite/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 สวยและสะอาด

        โรคโควิด 19 ไม่สนใจไม่ได้แล้ว ถึงไม่ต้องตระหนกมาก แต่เราควรตื่นรู้และป้องกันไว้ก่อน ด้วยการทำให้สะอาด โดยเฉพาะอุปกรณ์ติดกาย มือของเรา และต้องระวังสิ่งที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น        นอกจากหน้ากากอนามัย ที่อาจจำเป็นต้องพกไว้และใส่ให้ตัวเองเมื่ออยู่ในสถานที่ที่อากาศปิดและแวดล้อมด้วยผู้คนจำนวนมาก อาจรวมถึงเผื่อหยิบยื่นให้คนที่ไอ จามโดยไม่สวมหน้ากาก (หน้ากากอนามัยจะป้องกันการแพร่เชื้อสำหรับคนป่วยได้ถึง 90% แต่หากเราแข็งแรงดีและไม่ได้ใกล้ชิดผู้ที่ไอ จามในระยะ 1 เมตร อาจไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากาก ยิ่งเป็นที่รโหฐานใส่ในบ้าน ใส่นอน อันนี้ไม่มีประโยชน์)         สิ่งที่จำเป็นต้องระวังมากกว่าคือ สิ่งของที่อาจต้องจับต้องร่วมกับผู้อื่น เช่น ตัวจับประตูปิดเปิด ร้านค้า ห้าง ห้องน้ำสาธารณะ ปุ่มลิฟต์ ประตูรถแท็กซี่ ห่วง เสา บนรถประจำทาง ซึ่งแน่นอนละว่า ไม่จับก็ไม่ได้ วิธีการที่ต้องฝึกทำให้บ่อยขึ้น คือ          ล้างมือให้บ่อยและล้างให้ถูกวิธี        1. ล้างด้วยสบู่และน้ำ หลักการคือ ล้างด้วยระยะเวลาอย่างน้อย 20-30 วินาที เคยมีคนบอกว่าเท่ากับร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ธเดย์สักสองรอบ วิธีนี้ประหยัดและง่าย แต่อาจไม่สะดวกจำเป็นต้องมีสถานที่ ดังนั้นควรทำเมื่อกลับถึงบ้าน ก่อนรับประทานอาหารหรือเตรียมอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ เล่นกับสัตว์เลี้ยง หรือล้างทุกครั้งเมื่อคิดว่ามือสกปรก         2. ล้างด้วยเจลล้างมือ วิธีนี้ค่อนข้างสะดวก แต่ก็ต้องทำให้ถูกวิธีด้วยเช่นกัน คือใช้ในปริมาณที่พอเหมาะและระยะเวลาที่พอดี อย่างน้อย 20 วินาทีต่อการล้างหนึ่งครั้ง หากระหว่างการใช้เจลล้างมือแล้วพบว่าเนื้อเจลแห้งในเวลาไม่ถึง 15 วินาที หมายความว่า เจลล้างมือที่ใช้มีปริมาณน้อยเกินไป และอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อโรค          ทำความสะอาดเครื่องใช้ส่วนตัว         ข้าวของบางอย่างแม้เป็นของใช้ส่วนตัว แต่ก็อาจมีการสัมผัสกับเชื้อโรคได้เพราะใช้ในที่ชุมชน เช่น โทรศัพท์มือถือ กระเป๋าสะพาย เป้สะพาย และเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ สำหรับเครื่องใช้ควรทำความสะอาดเมื่อกลับเข้าบ้าน วิธีง่ายๆ คือ การตากแดด เนื่องจากบ้านเราแดดร้อนและเชื้อไวรัสจะไม่ชอบพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูง หรือเช็ด พ่นด้วยแอลกอฮอลล์ เสื้อผ้าควรหมั่นซักให้บ่อยขึ้นไม่หมักหมมไว้เป็นที่เพาะเชื้อ        การป้องกันตัวเองจากการสัมผัสเชื้อโรคด้วยการทำความสะอาด เป็นหัวใจสำคัญที่ควรคำนึง เพราะไม่เพียงช่วงป้องกันเราจากไวรัสโคโรนาเท่านั้น แต่ยังป้องกันเราจากเชื้อโรคอื่นๆ อีกด้วย ดังนั้นควรทำให้เป็นนิสัยไม่จำเป็นต้องรอให้มีการระบาดของโรคเกิดขึ้นก่อนจึงค่อยทำ          

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายกับโฆษณาแฝงอีกปัญหาที่ยากจัดการ

        ย้อนกลับเมื่อช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปี 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคทั่วประเทศกว่า 4,182 ราย ซึ่งครอบคลุมด้านการเงินการธนาคาร ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านบริการสาธารณะ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ด้านสื่อและโทรคมนาคม ด้านที่อยู่อาศัย และด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข พบว่า         ปัญหาด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ รั้งแชมป์มีคนร้องเรียนมากที่สุด จำนวน 1,534 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 36.68 รองลงมา คือ ด้านบริการสาธารณะ ร้องเรียน 820 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 19.61 หมวดบริการสุขภาพและสาธารณสุข ร้องเรียน 703 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 16.81          โดยสภาพปัญหายังเป็นเรื่องเดิมๆ คือ “โฆษณา” พบว่ามีทั้งการโฆษณาอันเป็นเท็จหลอกลวง โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ทำให้เข้าใจผิดและหลงเชื่อ ผลิตภัณฑ์ไม่มีฉลากหรือไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเครื่องหมาย อย. โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ที่อวดอ้างสรรพคุณสามารถรักษาโรคได้ ซึ่งช่องทางที่พบการโฆษณา คือทางโทรทัศน์และวิทยุชุมชน ซึ่งปัญหาเหล่านี้เมื่อได้ส่งถึงผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาก็ใช้ระยะเวลายาวนานมาก ในขณะที่ผลิตภัณฑ์เจ้าปัญหายังมีขายเกลื่อนท้องตลาดต่อไป            ข้างต้นนั้นคือข้อมูลเมื่อปีที่แล้วและเป็นข้อมูลการเอาเปรียบผู้บริโภคผ่านการโฆษณาแบบชัดเจน ยังไม่นับรวมในเรื่องของการโฆษณาแฝงในสื่อต่างๆ ซึ่งเรายังไม่ต้องไปพูดถึงว่าเป็นของจริงหรือหลอก แต่แค่ปล่อยให้มีการโฆษณาแฝงในรายการทั่วไปก็ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ เพราะเราตั้งใจเข้ามาดูเนื้อหาในรายการ แต่กลับถูกยัดเยียดการโฆษณาขายสินค้าแบบเนียนบ้าง ไม่เนียนบ้าง ทำให้เสียอรรถรสในการรับชมรายการไปแล้ว         เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ดร.ตรี บุญเจือ” ผอ.การส่วนไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและเลขานุการคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ในแง่ของการกำกับเนื้อหาการโฆษณา ตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 กำหนดว่าการโฆษณาจะต้องไม่โป๊เปลือย ลามกอนาจาร เสื่อมศีลธรรมของประชาชนอย่างร้ายแรง ไม่ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง         นอกจากนี้ยังมีการกำกับระยะเวลาในการโฆษณาทางสถานีโทรทัศน์ วิทยุ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกอัดโฆษณาจนเกิดเดือดร้อนรำคาญ แต่ก็ต้องยอมรับว่าอาจจะยังไม่ครอบคลุมไปถึงขั้นการดูแลโฆษณาแฝง         เหตุผลคือ “รูปแบบของการโฆษณา” ซึ่งขณะนี้ กสทช. ยังไม่ได้มีประกาศนิยามเรื่องของการโฆษณาแฝง แต่ที่ผ่านมามีความพยายามในการพูดถึงการออกประกาศในภาพรวม แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อหลายๆ ส่วนเลยยังอยู่ในกระบวนการที่พิจารณาและศึกษาเพิ่มเติม         แต่ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีประกาศชัดเจนเกี่ยวกับข้อห้ามการโฆษณาแฝงที่ชัดเจนออกมา แต่ถามว่ายังคงกำกับดูแลอยู่ไหม ก็ยังทำอยู่ตามที่มีอำนาจ เช่น การกำกับเนื้อหาการออกอากาศจะต้องไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ไม่หลอกลวงผู้บริโภค มีหลายครั้งที่เขาส่งผังรายการมาเป็นว่า รายการแต่มีการพูดถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพ แล้วบอกสรรพคุณที่เกินจริงไปทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ ก็สามารถกำกับดูแลและหาตรงนี้ได้ ถ้าเชิงสังคมอาจเรียกว่าสามารถทำได้ แต่ถ้าในเชิงกฎหมายเรียกว่าก็ยังไม่ได้มีประกาศห้ามไว้         ตอนนี้พยายามตรวจสอบและนำกฎหมายที่มีอยู่มาตรวจจับกันอยู่โดยทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เฝ้าระวังทั้งเนื้อ หารูปแบบ การพูดถึงสินค้า ว่ามีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ เกินจริงหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่าโฆษณาแฝงบางตัวมีการพูดถึงสรรพคุณ คุณประโยชน์ที่เกินจริงไป โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สุขภาพ จึงมีคำสั่งทางปกครองไปอยู่บ้าง บางรายถูกเรียกให้มาชี้แจง แจ้งเตือน เป็นต้น          ดร.ตรี บอกว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องการกำกับดูแลการโฆษณาแฝงที่เคยคุยกันก่อนหน้านี้ ที่มองกันไว้ในเบื้องต้นมี 4 ลักษณะ คือ            1. Product placement หรือการนำผลิตภัณฑ์ไปวางไว้ในรายการเฉยๆ            2. Product movement คือ มีการหยิบ จับ แสดงสินค้า            3. Product experience คือมีการพูดถึงสิ้นค้านั้นๆ ในรายการ และ            4. การเขียนสคริป สร้างเรื่องราวของสินค้าตัวนั้นๆ ในรายการ         ก่อนหน้านี้ได้มีการคุยกับเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน พบว่าในรายการวิทยุ จะมีการเผยแพร่นิทานชีวิตตลกขำๆ นิทานสั้นๆ เขียนบทสนทนาของตัวละคร 2 ตัวที่พูดถึงผลิตภัณฑ์เข้าไปว่าจะไปซื้อผลิตภัณฑ์ได้ที่ไหนอย่างไร สรรพคุณเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ จริงๆ แล้ว หลายชิ้นก็แยกไม่ชัด ซึ่งก็ได้ขอให้เครือข่ายผู้บริโภคช่วยดูและศึกษาว่ามีการโฆษณาสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ มีการทำให้เดือดร้อนรำคาญหรือไม่ แต่ในกลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคก็ค่อนข้างเห็นว่าเป็นการสร้างสรรค์อยู่เช่นเดียวกัน จึงมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำให้กระบวนการผู้บริโภคให้มีความรู้เท่าทันด้วยว่านี่เป็นโฆษณาแฝงในรายการ          สำหรับวิธีการป้องปรามป้องกันการโฆษณาแฝงใน 4 รูปแบบนั้น ยังไม่ได้มีการคุยกัน เพราะอย่างที่บอกว่า “เป็นเพียงประเด็นเรื่องของการทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนรำคาญใจ” เช่น มีการซูมให้เห็นเด่นชัดและค้างเป็นเวลานาน หรือว่าพูด ตอกย้ำ ซ้ำๆ บ่อยๆ ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญใจหรือไม่         อย่างไรก็ตามถ้าวันหนึ่งวันใดถึงเวลาที่ต้องลุกขึ้นมาควบคุมกันจริงๆ จากการศึกษามาในหลายๆ ประเทศ ก็มีโมเดลที่ต่างกัน เช่น อังกฤษห้ามการโฆษณาแฝงในหลายๆ รูปแบบ ห้าม Tie-in หลายประเทศก็ให้มีการขับเคลื่อนกันเอง สิงคโปร์ก็ไม่ได้มีกฎหมายที่พูดชัดเจน ส่วนมาเลเซียมีการควบคุมที่ไม่เต็มร้อย เป็นต้น         เพราะฉะนั้นตนมองว่า “ทุกอย่างไม่ได้แก้ปัญหาด้วยการออกกฎหมายใหม่ แต่อาจจะมีการกำกับดูแลในมิติกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว นำไปปรับใช้ ซึ่งตอนนี้ก็ใช้อยู่ แต่ว่าในเรื่องของเวลายังไม่ได้พิจารณาว่าจะต้องกำกับดูแลเพิ่มเติมหรือไม่ว่าไม่ให้เกินกี่นาที กี่วินาที”        อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้มาก หากรู้สึกว่าถูกคุกคามเอารัดเอาเปรียบสามารถร้องเรียน หรือมีข้อเสนอแนะเข้ามาที่กสทช.ได้ แล้วจะถูกพิจารณาเป็นรายกรณีไป ซึ่งจะมีขั้นตอน ส่วนระยะขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี เช่น หลังรับเรื่องร้องเรียน กสทช.จะต้องแจ้งว่าได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว และนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาที่มีคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ก่อนจะนำผลสรุปเข้าบอร์ดกสทช .         แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ก็ยังตอบไม่ได้ว่าเมื่อเข้าไปแล้ว กสทช. จะพิจารณาแบบไหน หรือว่าคณะอนุกรรมการจะเสนอแบบไหน บางเรื่องที่มีกฎหมายอยู่แล้วอาจพิจารณาความผิดได้เลย แต่ถ้ายังไม่มีกฎหมายที่ออกมาหรือยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของกระบวนการในการกำกับดูแล กสทช. อาจมาออกประกาศย่อยหรือออกคำนิยามเพิ่มหรือออกแนวทางมติเพิ่มเพื่อทำให้เกิดการกำกับดูแลเรื่องนี้ได้         นอกจากนี้ ตนยังมีข้อเสนอกลับไปยังประชาชน ผู้บริโภคด้วย ส่วนแรกคือ กระบวนการผู้บริโภคจะต้องมีความเข้มแข็ง จะรวมตัวกันแล้วจัดทำเป็นข้อเสนอขึ้นมาก็ได้ ส่วนที่ 2 คือเรื่องนี้ ตนยังไม่รู้ว่าจะออกมาแบบไหน แต่ก็เป็นความรับผิดชอบของทุกคน อย่างนั้นเป็นกระบวนที่เราอาจจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนกันไปก่อน ต้องมองที่กระบวนการ วิธีการกำกับดูแลกันเอง          “ดร.ตรี ย้ำในตอนท้ายว่า กสทช. พยายามกำกับดูแลในเชิงกฎหมายและจริยธรรม หากมันไม่เข้าข่ายกฎหมายอาจจะต้องมองไปที่จริยธรรม ซึ่งเป็นมิติที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภค ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการสื่อสาร เช่น สะท้อนความคิดเห็นโดยตรงไปยังสื่อนั้นๆ รายการนั้นๆ ขณะที่คนทำสื่อเองก็ต้องตระหนักเรื่องนี้เอาไว้ด้วย นี่เป็นกลไก 3 ก้อน คือ “ผู้บริโภค-คนทำสื่อ หน่วยงานที่กำกับ” ควรขับเคลื่อนไปด้วยกันและมองเห็นกันและกันสถานการณ์โฆษณาแฝงกับบทบาทภาคประชาชน         นายโสภณ หนูรัตน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนานโยบาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า องค์กรผู้บริโภคได้มีการพัฒนาความเข้มแข็งในการทำงานด้านการจัดการโฆษณาผิดกฎหมาย โดยมีการสร้างระบบการทำงานเฝ้าระวัง โดยมุ่งเน้นเฝ้าระวังโฆษณาและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ เนื่องจากพบว่ามีผู้บริโภคเสียชีวิตจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย มีการใส่สารอันตราย อีกทั้งพบว่ามีการโฆษณาหลอกลวง โอ้อวดเกินจริง โดยฐานการโฆษณามีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจากในทีวีไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์         รูปแบบการทำงานเฝ้าระวังมีการพัฒนาให้เป็นระบบ ประกอบด้วยกลไกเฝ้าระวังที่มีทั้งการเฝ้าในสื่อโทรทัศน์ วิทยุและบนออนไลน์ เมื่อได้ข้อมูลจากการเฝ้าระวังจะมีการบันทึกผลในฐานข้อมูลร้องเรียน เพื่อนำไปวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาและผลกระทบต่อผู้บริโภคที่เกิดขึ้น และนำผลเฝ้าระวังส่งให้แก่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ  โดยใช้ทั้งช่องทางปกติ คือทำหนังสือส่งไปยังหน่วยงาน และตั้งกลุ่มไลน์ร่วมกับผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือเพื่อให้นำออกจากระบบทันที โดยมีข้อตกลงหากไม่ดำเนินการจะมีการส่งให้กับหน่วยงานเพื่อใช้มาตรการทางกฎหมายต่อไป โดยปัจจุบันในการทำงานจัดการโฆษณาผิดกฎหมาย มีความร่วมมือกันขององค์กรผู้บริโภค 34 จังหวัดใน 6 ภูมิภาค ดังนี้          นอกจากนี้  เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคแต่ละองค์กร ก็มีการจัดทำเพจองค์กรตนเอง เพื่อสื่อสารผลการเฝ้าระวัง และการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคต่างๆ  แจ้งเตือนภัยผู้บริโภค ทำให้เป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้น         ในส่วนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีการจัดทำเพจเฟสบุ๊ค “ซอกแซกสื่อ” และ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค”  และได้มีการนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณะ ที่สำคัญ ดังนี้            1.สถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ  หยิบยกกรณีร้องเรียนต่างๆ ในสื่อออนไลน์มาบอกเล่ากับผู้บริโภค เพื่อเตือนภัยและสร้างการตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคให้มีมากขึ้น เช่น ข่าวนักเรียน ม.4 ที่ลำปาง สั่งซื้ออาหารเสริมทางเน็ต แบบผงมาชงดื่มลดความอ้วน ต่อมาไตวาย ติดเชื้อเข้ากระแสเลือด ตัวบวมเสียชีวิต  ข่าว อย.เปิดฐานข้อมูลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ประชาชนตรวจสอบก่อนซื้อ เป็นต้น            2.ติดตามการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานรัฐ เช่น เผยแพร่ข้อมูล ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่อย. ได้ยกเลิกเลขสารบบ หรือมีสารประกอบอันตรายเพื่อเตือนภัยผู้บริโภค             3.แจ้งผลการทำงานเฝ้าระวังของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เช่น การจัดเวทีความร่วมมือเพื่อยกระดับการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย  การแถลงข่าวผลเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค        สำหรับภาคประชาชนหรือเครือข่ายผู้บริโภคนั้น จำเป็นที่จะต้องพัฒนาทักษะในการตรวจสอบรูปแบบโฆษณาแฝง เพราะแม้เครือข่ายผู้บริโภคจะมีความรู้เกี่ยวกับโฆษณาที่ผิดกฎหมาย หลอกลวง แต่ในเรื่องการโฆษณาแฝงยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนทำงานผู้บริโภค เนื่องจากการโฆษณาแฝง มีความหลากหลาย โดยเฉพาะปัจจุบันไม่ได้มีสปอตโทรทัศน์เท่านั้น แต่ยังมีรูปแบบอื่น ยกตัวอย่าง การนำสินค้าวางในรายการต่าง ๆ หรือการให้ความรู้สอดแทรกว่าควรใช้สินค้านั้น ๆ หรือไม่  อีกทั้งการโฆษณาแฝง ยังเกี่ยวพันกับเรื่องสถาบันวิชาชีพต่าง ๆ เช่น แพทยสภาเพื่อกำกับกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพด้านแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยที่กระทำการแฝงโฆษณาและใช้วิชาชีพของตนเองในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ตรวจสอบอย่างเข้มงวดและคอยติดตามเฝ้าระวังไม่ให้เกิดลักษณะเช่นนี้อีก  รวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ ที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กสทช.ที่ต้องเร่งจัดทำ เช่น ให้คำนิยามหรือขอบเขตของโฆษณาแฝงที่ชัดเจน ทันยุคสมัย และมีความเป็นปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานหรือประชาชนทั่วไปเกิดความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับโฆษณาแฝง รวมทั้งจัดทำคลังข้อมูล (data bank) ที่ผู้บริโภคสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาแฝงได้         “ผมมองว่าการทำงานของ กสทช. นั้น ไม่เพียงพอ เพราะในหลายเรื่องก็ยังไม่มีการดำเนินการ เห็นได้จากการที่คณะอนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ภายใต้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ได้มีข้อเสนอต่อการกำกับดูแลเรื่องโฆษณาแฝงในทีวีดิจิทัลหลายประการ แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการ เช่น กสทช.ควรกำหนดกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลโฆษณาแฝงหรือหลักจรรยาบรรณ (code of conduct) ที่ชัดเจน รวมทั้งสานต่อ กฎ กติกา ที่เคยถูกร่างไว้ให้เป็นรูปธรรม”         เนื่องจากการทำโฆษณาแฝงไม่เพียงแต่จะเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค หากแต่ยังแสดงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างช่องโทรทัศน์ที่ปฏิบัติตามกฎกับช่องโทรทัศน์ที่ละเมิดกฎเกณฑ์ กสทช.ต้องประสานความร่วมมือในการเฝ้าระวังโฆษณาแฝงในโทรทัศน์ระบบดิจิทัลอย่างมีลำดับขั้นตอน เช่น องค์กรผู้บริโภคหรือสมาคมช่วยกันสอดส่องดูแลแล้วส่งข้อมูลให้ภาครัฐดำเนินการต่อไป เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลร่วมกัน ทั้งนี้อาจมีการศึกษารูปแบบการทำงานเพิ่มเติมจากหน่วยงานในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา พร้อมประสานความร่วมมือกับสถาบัน เช่น แพทยสภาเพื่อกำกับกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพด้านแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยที่กระทำการแฝงโฆษณาและใช้วิชาชีพของตนเองในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ตรวจสอบอย่างเข้มงวดและคอยติดตามเฝ้าระวังไม่ให้เกิดลักษณะเช่นนี้อีก รวมทั้งจัดทำคลังข้อมูล (data bank) ที่ผู้บริโภคสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาแฝงได้         ซึ่งหาก กสทช.ได้พิจารณาและดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ก็จะทำให้ปัญหาการโฆษณาเกินจริง หรือเอาเปรียบผู้บริโภคลดลงได้มาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 เปลี่ยนวิกฤตในอากาศ...เป็นอาหาร

                มีการพยากรณ์มานานพอควรแล้วว่า มนุษย์บนโลกน่าจะเพิ่มเป็นประมาณหมื่นล้านคนในปี 2050 ซึ่งทำให้นักบริหารระดับสูงขององค์กรระหว่างประเทศหลายคนกังวลว่า โลกอาจกำลังเดินเข้าสู่สถานการณ์ที่ไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอเลี้ยงมนุษย์ที่มีอยู่ด้วยกระบวนการเกษตรแบบดั้งเดิม         สมัยที่ผู้เขียนยังเด็กเคยได้ยินข่าวหนึ่งว่า องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้มีความพยายามนำเอาสาหร่าย spirulina ซึ่งก็คือ สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวที่มีขึ้นทั่วไปทั้งน้ำเค็มและน้ำจืดมาเป็นแหล่งของโปรตีนแก่ประเทศยากจน แต่ปรากฏว่าระหว่างการประเมินความปลอดภัยในหนูทดลองนั้น มีผลการศึกษาบางประเด็นที่ส่อถึงปัญหาบางประการ องค์การอนามัยโลกจึงได้หันความสนใจในภารกิจหาโปรตีนให้ประเทศยากจนไปยัง ถั่วเหลือง ซึ่งเป็นพืชที่อุดมทั้งโปรตีนและมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง อีกทั้งข้อความใน Wikipedia ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสาหร่ายประเภทนี้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า U.S. National Institutes of Health ยังมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สุขภาพไม่พอจะแนะนำให้กินสาหร่ายชนิดนี้เป็นแหล่งโปรตีนหลักของมนุษย์เช่นกัน         ผ่านไปกว่า 50 ปี ความพยายามค้นหาแหล่งโปรตีนราคาถูกยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของนักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่ม จนล่าสุดก็มีข่าวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในอนาคตชื่อ Air Protein ของบริษัท startup (ชื่อเดียวกันกับผลิตภัณฑ์) ในเมือง Berkeley รัฐแคลิฟอร์เนียปรากฏขึ้นในอินเทอร์เน็ต บริษัทนี้คุยว่า สามารถใช้เทคโนโลยีชีวภาพอาศัยจุลินทรีย์สายพันธุ์พิเศษเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศรอบตัวมนุษย์ให้กลายเป็นโปรตีน และอาจถึงการผลิตเป็นไขมัน วิตามินและผลิตภัณฑ์ชีวภาพอื่นๆ เพื่อการบริโภคของมนุษย์         คาร์บอนไดออกไซด์นั้นเป็นปัจจัยร่วมสำคัญในการทำให้โลกร้อนขึ้น ผู้เขียนโชคดีได้พบเว็บบนอินเทอร์เน็ตหนึ่งที่มีสารคดีออนไลน์เรื่อง Decoding the Weather Machine ซึ่งผลิตโดย NOVA PBS (ราคา DVD สารคดีนี้ขายอยู่ที่ประมาณ $15.45) จึงเริ่มเข้าใจได้ว่า ทำไมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จึงทำให้โลกร้อนขึ้นทุกวัน ดังนั้นการลดการปล่อยหรือกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ จึงกำลังเป็นสิ่งที่หลายประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังทำอยู่ ส่วนประเทศที่พัฒนาได้แค่ที่เป็นอยู่ ซึ่งมักมีงบการวิจัยต่ำกว่า 1% GDP ก็ดูคนอื่นทำต่อไปข่าวเกี่ยวกับความสามารถในการสร้างโปรตีนจากอากาศ         ความสามารถในการสร้างโปรตีนจากองค์ประกอบของอากาศที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ก่อให้เกิดความสงสัยแก่ผู้เสพข่าวบางคนว่า เป็นไปได้จริงหรือที่จะสร้างโปรตีนจากคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ข้อมูลที่ได้หลังจากการสืบค้นทางอินเทอร์เน็ตพบว่า เป็นการอาศัยจุลินทรีย์กลุ่ม hydrogenotroph (ซึ่งจริงแล้วมีในธรรมชาติรวมถึงในลำไส้ของมนุษย์) เปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นโปรตีน กล่าวอีกนัยหนึ่งประมาณว่า ในขณะที่พืชดูดซับเอาคาร์บอนไดออกไซด์ไปผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงที่ใช้แสงแดดเป็นแหล่งพลังงานขับเคลื่อนการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ไปเป็นสารอาหารและองค์ประกอบอื่นที่พืชต้องการ จุลินทรีย์กลุ่ม hydrogenotroph ใช้แหล่งพลังงานอื่นในกระบวนการที่ต่างกันแต่ได้ผลในแนวทางเดียวกัน ดังที่ Dr. Lisa Dyson ผู้เป็น CEO ของ Air Protein (และเป็นผู้ร่วมตั้งบริษัทแม่ชื่อ Kiverdi ซึ่งดำเนินกิจการเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม) คุยไว้ในคลิปที่บรรยายให้ TEDx Talks ชื่อ A forgotten Space Age technology could change how we grow food (www.youtube.com/watch?v=c8WMM_PUOj0)         Hydrogenotroph นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถใช้ไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการสร้างพลังงานที่ได้จากการรีดิวส์คาร์บอนไดออกไซด์ในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจนไปเป็น ก๊าซเม็ทเตน กระบวนการดังกล่าวส่งผลให้เกิดความต่างศักย์ด้านอีเล็คโตรเคมิคอลเพื่อใช้การสร้างสารพลังงานสูงคือ ATP ซึ่งถูกนำไปใช้ในกิจการสร้างสารชีวเคมีต่างๆ ซึ่งรวมถึงการสร้างโปรตีน ดังนั้นเมื่อปริมาณของเซลล์แบคทีเรียเพิ่มขึ้นมากพอ ผู้เลี้ยงจึงสามารถใช้กระบวนการทางชีวเคมีในการสกัดเอาโปรตีนออกมาได้ความจริง Lisa Dyson ได้ยอมรับในการบรรยายต่างๆ ว่า แนวคิดเรื่องโปรตีนจากอากาศนั้นได้รับแรงบันดาลใจจากงานวิจัยของ NASA ที่ทำตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ในความพยายามมองหาวิธีผลิตอาหารสำหรับภารกิจในอวกาศของนักบินในอนาคตที่ต้องไปยังต่างดาวที่มีทรัพยากรจำกัดในการประทังชีวิต ด้วยแนวคิดที่เรียกว่า "ระบบวงปิดของคาร์บอน หรือ the close loop carbon cycle" ที่มีจุลินทรีย์ทำหน้าที่แปลงองค์ประกอบจากอากาศที่หายใจออกมาเป็นอาหารให้นักบินอวกาศกิน และเมื่อมีสิ่งขับถ่ายต่างๆ ออกมา ซึ่งโดยหลักคือ คาร์บอนไดออกไซด์ในลมหายใจออกนั้นจะถูกส่งเข้าสู่วงจรการผลิตใหม่ แต่เมื่อพิจารณาให้ดีแล้ว วงจรดังกล่าวไม่ใช่วงจรปิดเสียทีเดียว เพราะต้องมีการเติมบางสิ่งบางอย่างเข้าไปช่วยให้วงจรเดินหน้าได้ พร้อมกำจัดบางสิ่งที่ไม่ต้องการออกทิ้ง         ข้อมูลหนึ่งซึ่งสำคัญมากเพราะ Lisa Dyson ได้พยายามกล่อมให้ผู้ฟังคล้อยตามคือ ผลพลอยได้จากการสร้างโปรตีนด้วยคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศนั้นน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ เพราะกระบวนการนี้ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วถ้ามีการปลูกป่าบนพื้นโลกให้มากขึ้น พืชจะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยประสิทธิภาพดีกว่าและประหยัดกว่า แถมยังเป็นการผลิตสิ่งต่างๆ เพื่อการอุปโภคและบริโภคในชีวิตประจำวันของมนุษย์ด้วยผลกระทบที่อาจถูกละเลยไปอย่างตั้งใจ         สิ่งหนึ่งซึ่งไม่ควรละเลยคือ ผู้ผลิต Air Protein ได้ทำเป็นลืมที่จะกล่าวถึงการประเมินในลักษณะ Cost/Benefit ของกระบวนการ ซึ่งควรจะเป็นส่วนที่แสดงถึง ความคุ้มทุนของการดำเนินการของบริษัทในการผลิต เพราะเท่าที่ผู้เขียนตามดูในการบรรยายของ Lisa Dyson นั้นไม่ได้ระบุว่า  มีการใช้น้ำ แร่ธาตุ และพลังงานมากน้อยเพียงใดในกระบวนการผลิต         สิ่งสำคัญที่น่าสนใจคือ Air Protein นั้นไม่ได้เป็นบริษัท startup เพียงแห่งเดียวที่คุยว่า สามารถใช้อากาศในการผลิตโปรตีน เพราะก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่เดือน บริษัทสัญชาติฟินแลนด์หนึ่งที่ชื่อว่า Solar Foods ก็ได้ประชาสัมพันธ์ว่า กำลังสร้างสารอาหารคือ โปรตีนจากอากาศซึ่งตั้งชื่อว่า Solein (ซึ่งน่าจะมาจากการสมาสคำ solar และ protein) โดยที่กระบวนการของบริษัทนี้ได้เลยจากการพิสูจน์ความเป็นไปได้แล้ว เพราะ Solar Foods คุยว่า สามารถผลิตโปรตีนออกมาได้ในปริมาณ 1 กิโลกรัมต่อวัน ทำให้ขณะนี้ได้เตรียมที่จะผลิตในขนาดของอุตสาหกรรมพร้อมทั้งขอจดสิทธิบัตรและทำการระดมทุนได้ราว 2 ล้านยูโรผ่านการจัดการของ Lifeline Ventures โดยหวังว่าจะกระจายสินค้าคือ Solein ในปี 2021 และในปี 2022 ตั้งเป้าจะผลิตโปรตีนสำหรับอาหาร 50 ล้านมื้อ (ข้อมูลจากบทความชื่อ The Future of Protein Might be ‘Gas Fermentation,’ or Growing Food Out of Thin Air ในเว็บ https://thespoon.tech วันที่ 26 เมษายน 2019)          สิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับการสร้างอาหารจากอากาศคือ การดูดซับเอาคาร์บอนไดออกไซด์นั้น มีความยากง่ายขึ้นกับสถานที่เลือกทำการผลิต เพราะถ้าเป็นอากาศจากชุมชนที่มีปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 สูงนั้น ความจำเป็นในการกำจัดสิ่งปนเปื้อนออกไปจากอากาศก่อนเพื่อให้ได้คาร์บอนไดออกไซด์บริสุทธิ์คงต้องลงทุนสูงพอดู นอกจากนี้เมื่อการผลิตโปรตีนนั้นไม่ต้องการพื้นที่มากนักและคงควบคุมการผลิตได้ด้วยระบบอัตโนมัติแล้ว การลดของจำนวนตำแหน่งงานทางด้านปศุสัตว์อย่างมากมายคงไม่ยากที่จะคาดเดาได้ และที่น่าสนใจคือ นอกจากความพยายามผลิตโปรตีนจากอากาศแล้ว ยังมี startup อีกมากมายที่มุ่งเน้นในการปฏิวัติกระบวนการผลิตอาหารอื่นๆ ในลักษณะที่เป็นอุตสาหกรรมทันสมัย จนอาจทำให้ไม่เหลือที่ยืนแก่เกษตรกรในหลายประเทศที่ยังไม่ปรับตัวมัวแต่ประท้วงเรื่องการห้ามใช้วัตถุอันตราย ทั้งที่กระบวนการผลิตอาหารในอนาคตนั้นน่าจะเป็นกระบวนการปิดที่ไม่ต้องใช้วัตถุอันตรายช่วยเหลือการผลิตแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 หลอกลวงแบบเนียนๆ

        ผู้บริโภครายหนึ่งเล่าเหตุการณ์ที่พลาดเสียเงินไปโดยไม่รู้ตัวให้ฟังว่า เพื่อนบ้านมาชวนไปเที่ยว “บอกว่างานนี้ฟรีทุกอย่าง เขาจัดล่องเรือชมวิว แนะนำสินค้า เราไม่ซื้อก็ไม่เป็นไรถือว่าได้เที่ยวฟรี” ผู้บริโภครายนี้คิดว่าตนเองคงไม่ยอมเสียเงินซื้อแน่ๆ แต่ใจก็อยากเที่ยวฟรี ในที่สุดเลยตกลงไปเที่ยวลงเรือตามที่เพื่อนชวน        “เมื่อขึ้นไปบนเรือ เขาพาล่องแม่น้ำ มีอาหารให้กินฟรีจริงอย่างที่เพื่อนบอกนะ แต่พอเรือล่องไปได้สักระยะหนึ่ง ก็มีคนมาแนะนำสินค้าต่างๆ ส่วนมากเป็นพวกโสม มีทั้งโสมผสมถังเช่า โสมตังจือ โสมเกาหลีสีส้ม ราคาขวดละเกือบสามพันบาท เขาบรรยายสรรพคุณต่างๆ เยอะมาก ฟังแล้วเคลิ้มเลยล่ะ เขาชวนให้เราทดลองซื้อมาใช้ดูก่อนก็ได้ สุดท้ายเราก็ใจอ่อนเอง ซื้อไปหลายอย่าง รวมๆ แล้วเกือบสามหมื่น มาถึงบ้าน นึกไปนึกมา นี่ถ้าเราไม่ไปเที่ยว เราก็คงไม่เสียเงินขนาดนี้ พอเราไป ไอ้ที่คิดว่าฟรี มันไม่ฟรีแล้ว เพราะเราหมดไปสามหมื่น สงสัยเหมือนกันว่า มันคงรวมๆ ค่าเที่ยวค่ากินไปในค่าโสมแน่นอน นึกแล้วเจ็บใจจริงๆ ไม่น่าเสียรู้เลย ไม่กล้าไปเตือนใคร อายเขา”        อีกเรื่องหนึ่ง มาจากน้องเภสัชกรที่ทำงานในชนบททางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเล่าให้ฟังว่า ยุคนี้ผลิตภัณฑ์สุขภาพบุกถึงวัดแล้ว อ้างว่าเป็นสะพานบุญ คนขายพวกนี้มักจะตระเวณไปตามวัด ไปแอบหาข้อมูลว่าพระตามวัดต่างๆ มีโรคประจำตัวอะไรบ้าง โดยมากจะเล็งไปที่พระที่รูปร่างอ้วนๆ น้ำหนักมากๆ        แต่พวกนี้ไม่ได้ไปขายผลิตภัณฑ์สุขภาพกับพระ แต่จะไปสังเกตญาติโยมที่มาทำบุญที่วัด พอมีโอกาสก็จะเข้าไปพูดคุยชวนทำบุญ อ้างว่าผลิตภัณฑ์ของตนเป็นเสมือนผลิตภัณฑ์สะพานบุญ สามารถลดน้ำหนักให้พระสงฆ์ที่ญาติโยมเคารพได้ เมื่อท่านน้ำหนักลดลง ท่านจะได้ไม่ป่วย ไม่เสี่ยงกับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ สุดท้ายญาติโยมก็ใจอ่อน บางคนก็เกรงใจ ยอมเสียเงินซื้อผลิตภัณฑ์พวกนี้ถวายพระไปด้วย หมดกันคนละเป็นหมื่น        ล่าสุด มีผู้บริโภคมาเล่าให้ฟังว่า “มีคนมาในช่วงที่ผู้สูงอายุในชุมชนกำลังประชุม บอกว่าจะขอแนะนำความรู้ด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ มีการใช้คอมพิวเตอร์ฉายภาพ เป็นรูปคนสุขภาพดีหน้าตาแจ่มใส แล้วผู้ขายก็บรรยายสรรพคุณสินค้า เป็นผลิตภัณฑ์รากมะเดื่อ และเชิญชวนให้ผู้สูงอายุลองซื้อไปรับประทาน ผู้สูงอายุบางคนก็มีเงินเยอะ พอผู้สูงอายุคนหนึ่งซื้อ ที่เหลือก็เริ่มซื้อตาม สุดท้ายก็ขายได้หลายหมื่น หลังจากวันนั้นเขาก็มาอีก คราวนี้ตระเวณไปถึงบ้าน มาทราบทีหลังว่าขายได้ด้วย บางบ้านซื้อเยอะ รวมๆ หลายบ้าน น่าจะหมดเป็นแสน”        เท่าที่สอบถามข้อมูล ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับอนุญาตแล้ว มีเครื่องหมาย อย. และฉลากถูกต้อง ไม่มีเอกสารใดๆ ที่ผิดกฎหมายหรือโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง แต่พฤติกรรมประกอบการขายที่โอ้อวดเกินจริง โดยใช้คำพูดโน้มน้าว ทำให้ผู้บริโภคที่ใจอ่อน หลงเชื่อ สุดท้ายก็เสียเงินเสียทองมากมาย ในการจัดการเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกับผลิตภัณฑ์พวกนี้ทำได้ยาก เพราะเอกสารหลักฐานมักไม่ค่อยชัดเจน นอกจากคำพูดโน้มน้าวระหว่างขายสินค้าเท่านั้น ต้องช่วยกันเตือนผู้บริโภค ให้มีภูมิต้านทาน ให้เท่าทันกับสถานการณ์แบบนี้ ท่องไว้เลยว่า “ยาเทวดาไม่มีในโลก ถ้ามันเจ๋งขนาดนี้ ทำไมโรงพยาบาลไม่เอาไปใช้รักษาผู้ป่วย และถ้าได้ผลดีต่อสุขภาพจริง ทำไมมาขึ้นทะเบียนเป็นอาหาร .. สรุปง่ายๆ คือ หลอกลวงแบบเนียนๆ นั่นเอง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ไม่จ่ายค่าเช่า ผู้ให้เช่ามีสิทธิล็อคห้องไหม?

        หลายท่านน่าจะเคยได้ยินเกี่ยวกับการเช่า โดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจแบบนี้ การจะเก็บเงินซื้อบ้านไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนจึงหันไปเช่าบ้าน เช่าห้องอยู่  ทั้งคนต่างจังหวัดมาหางานทำในเมืองใหญ่ และนักศึกษาทั้งหลายที่หาหอพัก อพาร์ทเม้นต์เพื่อเรียนใกล้มหาลัย  สิ่งที่หลายคนอาจสงสัยคือ ผู้ให้เช่าของเรา เขามีสิทธิในบ้านที่เราเช่าแค่ไหน เขาเป็นเจ้าของบ้านหรือห้องที่เราเช่าก็จริง แต่เมื่อทำสัญญาเช่าแล้ว เขายังมีสิทธิเข้ามาทำอะไรก็ได้ในทรัพย์ที่ให้เช่าหรือเปล่า ซึ่งในเรื่องนี้ ต้องบอกว่าไม่ใช่ เพราะกฎหมายยังคุ้มครองสิทธิของผู้เช่าอยู่นะครับ          เช่นในกรณีตัวอย่างที่จะยกมานี้ เป็นเรื่องของผู้เช่าที่เจอปัญหาหนี้สิน ทำให้หาเงินมาจ่ายค่าเช่าไม่ได้ตามสัญญา และต่อมาผู้ให้เช่าก็มาล็อคปิดห้องเช่า เช่นนี้ ศาลถือว่าในกรณีที่ผู้เช่าผิดสัญญาเช่า ผู้ให้เช่าไม่มีสิทธิรบกวนการครอบครองทรัพย์สินของผู้เช่า ไม่ว่าจะเป็นการขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกไปจากสถานที่เช่า หรือล็อคกุญแจสถานที่เช่าไม่ให้ผู้เช่าเข้าไปยังสถานที่เช่าได้ เพราะว่าผู้เช่ายังคงมีสิทธิในการครอบครองทรัพย์สินของตนอยู่ ถ้าผู้ให้เช่าไปรบกวนการครอบครองสิทธิของผู้เช่า ผู้ให้เช่าจะมีความผิดฐานบุกรุกตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362  ดังเช่นตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1/2512          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1/2512         กรณีที่ผู้ให้เช่าใช้กุญแจพร้อมโซ่ล็อคบริเวณประตูรั้วและประตูบ้านที่ผู้เช่าครอบครอง ในขณะที่ผู้เช่าไม่อยู่และปิดบ้านไว้ การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุทำให้ผู้เช่าไม่สามารถเข้าอยู่ในบ้านได้ ถือเป็นการบุกรุก         และในปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดยคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ได้ออกประกาศคุ้มครองผู้เช่า คือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง  ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา   พ.ศ.  2561  ซึ่งในประกาศ ข้อ 4 กำหนดว่า ข้อสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทํากับผู้เช่าต้องไม่ใช้ข้อสัญญาที่มีลักษณะหรือความหมายในลักษณะทํานองเดียวกัน  ดังต่อไปนี้ (8) ข้อสัญญาที่กําหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิกระทําการปิดกั้นไม่ให้ผู้เช่าเข้าใช้ประโยชน์อาคาร  หรือมีสิทธิเข้าไปในอาคารเพื่อยึดทรัพย์สิน  หรือขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่า  ในกรณีที่ผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า  หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ  อันเกี่ยวกับการเช่าอาคาร         ดังนั้น หากพบผู้ประกอบการรายใด ใช้ข้อสัญญาที่มีข้อกำหนดให้ผู้ให้เช่ามีสิทธิปิดกั้นการเข้าใช้ประโยชน์อาคาร ยึดทรัพย์สินของผู้เช่า ถือว่าข้อสัญญานั้นใช้บังคับไม่ได้ เพราะขัดต่อประกาศดังกล่าว และมีความผิดตามกฎหมาย มีบทลงโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับต่อสัญญา 1 ฉบับ  และผู้บริโภคอย่างเราๆ หากจะไปทำสัญญาเช่าบ้าน เช่าห้องชุด ก็ต้องหมั่นตรวจสอบข้อสัญญาให้ดีก่อนทำสัญญานะครับ  หากเจอใครใช้สัญญาเอาเปรียบ ก็ควรใช้สิทธิร้องเรียน เพราะเราอย่าลืมว่าสัญญาเช่าที่เขาเอามาทำกับเรา ไม่ได้ใช้กับแค่เราคนเดียว ยังนำไปใช้กับทุกคนที่จะมาเช่าห้องหรือบ้านทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 เปิด Moovit มั่นใจไม่ออกนอกเส้นทาง

        แม้ว่าจะใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพมหานครมานานมากแค่ไหน แต่ก็ใช่ว่าจะรู้เส้นทางทั่วทั้งหมด และเมื่อถึงคราวจำเป็นต้องเดินทางไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ก็ถึงเวลาคิดหนักถึงหนักมาก ต้องศึกษาเส้นทางการเดินทางอยู่นานเป็นวัน เพราะบางเส้นทางถ้าเลยจุดหมายเมื่อไรก็ต้องหาทางกลับตัวอีกยาว บางคนอาจกำลังคิดว่าทำไมไม่ขึ้นแท็กซี่ไปเลย บอกตรงๆ ก็อยากจะขึ้นแท็กซี่อยู่นะ แต่ในฐานะมนุษย์เงินเดือนที่ต้องบริหารเงินแบบเดือนชนเดือนอย่างเรา คงไม่มีเงินมากพอที่จะขึ้นแท็กซี่ได้ตลอด ยิ่งระยะทางไกลยิ่งดูดเงินในกระเป๋าอย่างหนัก ดังนั้นจึงต้องหันมาพึ่งรถโดยสารสาธารณะซึ่งเป็นทางออกที่ดีที่สุดกับเงินในกระเป๋า         ล่าสุดผู้เขียนต้องเดินทางไปอาคารหนึ่งที่อยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต ไม่มีบีทีเอส ไม่มีรถไฟใต้ดิน มีแต่รถโดยสารสาธารณะหรือรถเมล์เป็นตัวเลือกที่เหมาะกับเงินในกระเป๋า แล้วขึ้นรถเมล์สายอะไรล่ะ ลงป้ายไหนล่ะ แบบนี้ต้องพึ่งพากูเกิ้ล ค้นหาไปเรื่อยๆ จนได้ไปเจอกับแอปพลิเคชันหนึ่งที่มาตอบโจทย์คำถามทุกสิ่งอย่างได้เป็นอย่างดี นั่นคือ แอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Moovit         แอปพลิเคชัน Moovit ใช้งานได้ง่ายมากไม่ซับซ้อน มีรายละเอียดอยู่ 3 หมวด ได้แก่ หมวด Directions หมวด Stations และหมวด Lines        หมวด Directions เป็นหมวดที่ใช้สำหรับพิมพ์สถานที่ที่ต้องการเดินทางไปเพื่อทำการค้นหาเส้นทาง โดยพิมพ์และกดค้นหา แอปพลิเคชันจะแสดงเส้นทางจากจุดที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันอยู่ไปจนถึงจุดหมายที่ต้องการเดินทางไปถึง ซึ่งจะมีเส้นทางให้เลือกหลายเส้นทางพร้อมแจ้งเวลาในการเดินทาง ระยะทาง วิธีการเดินทางของแต่ละเส้นทางไว้ให้ตัดสินใจด้วย เมื่อเลือกเส้นทางได้แล้วสามารถกดเข้าไปดูแผนที่และข้อมูลรายละเอียดการเดินทางในแต่ละช่วงได้         ยกตัวอย่างเช่น จากจุดที่ยืนอยู่ให้เริ่มเดินไปประมาณ 500 เมตรจะเจอรถไฟใต้ดิน ขึ้นรถไฟใต้ดินไปลงสถานีลาดพร้าว ขึ้นรถเมล์สาย 92 โดยในการขึ้นรถเมล์นั้นจะมีรายละเอียดจำแนกจำนวนป้ายรถเมล์และชื่อป้ายรถเมล์ที่ต้องผ่านให้ด้วย หรือเพื่อเพิ่มความมั่นใจสามารถกดปุ่ม Navigate เพื่อให้รู้ว่าขณะนี้ผู้ใช้แอปพลิเคชันถึงจุดใดแล้วด้วยก็ได้        หมวด Stations เป็นหมวดที่ค้นหาป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟใต้ดิน แอร์พอร์ตลิงค์ เรือคลองแสนแสบ บริเวณใกล้จุดที่ค้นหา โดยแอปพลิเคชั่นจะบอกสายรถเมล์ที่ผ่านป้ายรถเมล์นั้นด้วย และถ้ามีสายรถเมล์ที่ต้องการเดินทางก็สามารถกดเข้าไปดูเส้นทางพร้อมข้อมูลรายละเอียดการเดินทางได้ทันที         สุดท้ายหมวด Lines เป็นหมวดที่ใช้ในการค้นหาป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟใต้ดิน แอร์พอร์ตลิงค์ เรือคลองแสนแสบทั้งหมดที่มีอยู่ แต่หมวดนี้จะมีความพิเศษเพิ่มสำหรับการค้นหารถเมล์ นั่นคือจะมีรูปป้ายรถเมล์ขึ้นบนแผนที่ซึ่งจะช่วยให้รู้เส้นทางชัดเจนยิ่งขึ้น         นอกจากนี้ยังมีแผนที่เส้นทางการเดินทางบีทีเอส รถไฟใต้ดิน แอร์พอร์ตลิงค์ และเส้นทางเดินคลองแสนแสบแบบออฟไลน์ให้ดาวน์โหลดเก็บไว้ในแอปพลิเคชั่นกรณีที่สมาร์ทโฟนไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้อีกด้วย โดยขณะนี้แอปพลิเคชัน Moovit นี้สามารถใช้ได้ที่กรุงเทพมหานครและในเชียงใหม่เท่านั้น         การเดินทางด้วยรถเมล์ของผู้เขียนในครั้งนี้ แอปพลิเคชัน Moovit ช่วยได้ดีจริงๆ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 เรือนไหมมัจจุราช : เสียงเล็กๆ ของคนไร้สิทธิ์เสียง

                สังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นสังคมที่กอปรขึ้นด้วยความหลากหลายของกลุ่มวัฒนธรรม และบนความหลากหลายนี้เอง จึงเกิดเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า แล้วปฏิสัมพันธ์ระหว่างความแตกต่างของกลุ่มวัฒนธรรมนั้นจะเป็นเช่นไร        แน่นอนว่า เมื่อความแตกต่างโคจรมาบรรจบพบกัน ความสัมพันธ์จึงออกมาได้แบบ “ทั้งรักและทั้งเกลียด” ที่บางช่วงก็ปรองดองหวานชื่น ในขณะที่บางจังหวะก็อาจจะขัดแย้งกันเข้มข้น ด้วยเหตุผลที่ว่า กลุ่มสังคมที่แตกต่างหาใช่จะมีสถานะเชิงอำนาจที่เสมอภาคทัดเทียมกันไม่        รูปธรรมที่ดูจะชัดเจนที่สุดในการสะท้อนความขัดแย้งระหว่างกลุ่มวัฒนธรรมนี้ ก็น่าจะเป็นการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างคนชั้นนำที่มีอำนาจกำกับความเป็นไปในสังคม กับบรรดาคนชายขอบที่ถูกมองว่ามีอำนาจน้อย จนบางครั้งดูประหนึ่งจะไร้สิทธิ์เสียงที่เปล่งออกมาแต่อย่างใด         แต่ที่สำคัญ แม้ว่าในสังคมพหุวัฒนธรรมจะมีการผลักพาให้คนบางกลุ่มกลายเป็นคนนอกผู้ไร้สิทธิ์เสียง แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว กลุ่มคนชายขอบที่ถูกกดทับไว้ด้วยอำนาจ ก็สามารถต่อสู้ดิ้นรนเพื่อจะสื่อสารเป็นนัยว่า เสียงเล็กๆ ที่ปลาสนาการจากอำนาจ ก็สามารถเปล่งเสียงตัวตนอัตลักษณ์ของพวกเขาออกมาได้เช่นกัน         ภาพการปะทะต่อสู้เพื่อเปล่งเสียงเล็กๆ เยี่ยงนี้ ได้รับการจำลองเอาไว้ในละครโทรทัศน์แนวแฟนตาซีแบบจีนล้วนๆ ก็เหมือนจะไม่ใช่ แบบไทยล้วนๆ ก็เหมือนจะไม่เชิง กับชื่อเรื่องที่ดูย้อนแย้งว่า “เรือนไหมมัจจุราช” ที่ดูจะมีทั้งด้านความงามของเส้นไหม กับด้านน่าสะพรึงกลัวของมัจจุราชหรือเจ้าแห่งความตาย         เปิดฉากย้อนอดีตร้อยกว่าปีมาที่คฤหาสน์เรือนใหญ่ของเจ้าของกิจการทอเส้นไหม ที่รู้จักกันในชื่อว่า “โรงทอตระกูลหย่ง” แม้จะถูกนำเสนอให้ดูเป็นสไตล์แบบจีน แต่โรงทอแห่งนี้ก็ฉายภาพของสังคมในยุคมูลนายและไพร่เอาไว้ค่อนข้างชัดเจน โดยที่มี “หย่งเหม่ยซือ” เล่นบทบาทเป็น “นายแม่” ผู้ปกครองใหญ่ ซึ่งมีอำนาจสิทธิ์ขาดเหนือชีวิตบริวารทั้งมวลที่อยู่ในระบอบอุปถัมภ์ของโรงทอ         นอกจากนายแม่เหม่ยซือแล้ว อาณาจักรโรงทอยังมี “หย่งเจี้ยน” บุตรชายแท้ๆ ผู้ครองอำนาจรองจากนายแม่ และ “สไบ” กับ “พิกุล” เมียเอกเมียรองของหย่งเจี้ยน ที่เบื้องหลังก็พยายามแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจขึ้นเป็นใหญ่เหนืออีกฝ่ายหนึ่ง         และภายใต้ระบอบอุปถัมภ์ที่ออกแบบไว้ประหนึ่งมูลนายกับไพร่เช่นนี้ เมื่อมีความขัดแย้งหรือความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนชั้นนำของโรงทอตระกูลหย่ง ก็จะบังเกิดผลสะเทือนเลื่อนลั่นไปสู่แทบจะถ้วนทั่วทุกคนในปริมณฑลของโรงทอผ้าไหมไปด้วยเช่นกัน         เพื่อให้ระบอบใหญ่ดำเนินต่อไป โรงทอตระกูลหย่งยังได้ผูกโยงความสัมพันธ์กับกลุ่มสังคมภายนอกทั้งที่มีอำนาจเหนือกว่าและด้อยกว่า โดยในด้านแรก นายแม่เหม่ยซือก็เลือกจะยึดโยงความสัมพันธ์แบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับ “พระอากรภักดี” ตัวแทนส่วนกลางที่เอื้อต่อการทำธุรกิจซื้อขายผ้าไหมจากโรงทอ         และในเวลาเดียวกัน เมื่อโรงทอผ้าไหมเกิดวิกฤติขาดซึ่งปัจจัยการผลิตหรือเส้นไหมที่มีคุณภาพมาป้อนโรงทอ นายแม่เหม่ยซือจึงจัดแจงส่ง “หย่งชาง” คุณชายคนรองของเรือนไปติดต่อผูกสัมพันธ์กับชุมชนชาติพันธุ์ชาวเมี่ยน ที่ชำนาญด้านการเลี้ยงหนอนไหมชั้นเลิศ โดยหวังว่าชาวเมี่ยนจะยินยอมจิ้มก้องส่งหนอนไหมมาเป็นวัตถุดิบการผลิตเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของโรงทอตระกูลหย่ง         แม้โรงทอตระกูลหย่งจะเข้าไปผูกวางความสัมพันธ์กับกลุ่มวัฒนธรรมชาวเมี่ยน แต่ถึงที่สุดแล้ว สายสัมพันธ์ดังกล่าวก็ถักทอหล่อหลอมอยู่บนโครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมอีกเช่นกัน         ดังนั้น เมื่อ “อาซา” และ “อาเซี้ยะ” สองสาวพี่น้องชาวเผ่าเมี่ยนมีเหตุให้ต้องเดินทางมาอาศัยชายคาคฤหาสน์ตระกูลหย่ง เพราะอาเซี้ยะได้แต่งงานเป็นภรรยาของหย่งชาง แต่ด้วยอำนาจที่กดทับขีดวงตัวตนคนนอกที่เข้ามาเยือนโรงทอผ้า ความรู้สึกของตัวละครพี่น้องชนเผ่าจึงมีเสียงก้องในใจตั้งแต่วินาทีแรกที่เดินเข้าสู่ประตูโรงทอว่า “นี่คือสถานแห่งบ้านตระกูลหย่งที่ฉันปองมาสู่ ฉันยังไม่รู้เขาจะต้อนรับขับสู้เพียงไหน...!!!”         และแม้พี่น้องทั้งสองคนจะพยายามบอกใครต่อใครว่า “โปรดอย่าอิจฉาสมาชิกใหม่ของบ้านตระกูลหย่ง” ก็ตาม แต่เพราะพวกเธอเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบที่อยู่รอบนอกแห่งอำนาจ สองพี่น้องจึงถูกกลั่นแกล้งจากนายแม่เหม่ยซือและตัวละครเกือบแทบจะถ้วนหน้า ที่ขยันสรรหาสรรพวิธีมากลั่นแกล้งใส่ความเพื่อจะอัปเปหิพวกเธอให้กระเด็นออกไปนอกเรือนชาน         ทว่า ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เรามักจะมองข้ามไปก็คือ แม้แต่กับกลุ่มคนชายขอบของอำนาจ ก็ใช่ว่าจะขาดซึ่งศักยภาพในการต่อสู้แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อชำนัญการในเรื่องการเลี้ยงไหม พี่น้องชาวเมี่ยนก็จึงมีอาวุธเป็นองค์ความรู้ในการสร้างและควบคุมหนอนไหมที่เรียกว่า “จิ้นฉาน” ให้กลายเป็นพิษสงที่จะตอบโต้ต่อกรกับบรรดาตัวละครในใต้อาณัติของนายแม่เหม่ยซือ         แต่ก็นั่นอีกเช่นกัน เมื่อนายแม่เริ่มเรียนรู้ว่า คนชายขอบก็มีองค์ความรู้บางชุดที่จะเอื้อต่อการรักษาสถานะนำของตน นายแม่และเครือข่ายของเธอจึงพยายามพรากเอาตำรับความรู้โบราณของชาวเมี่ยนมาเป็นของตน โดยเฉพาะการสร้างสัตว์พิษที่เป็นยิ่งกว่าสุดยอดแห่งสัตว์พิษทั้งปวง ที่เรียกว่า “เว่ยต้ากู่” หรือ “มารเบญจพิษ” ซึ่งทั้งร้ายและ “out of control”         และเมื่อไม่มีคุณธรรมที่กำกับการใช้ความรู้และเว่ยต้ากู่ เราจึงเห็นภาพโรงทอตระกูลหย่งลุกเป็นไฟกลายเป็น “เรือนไหมมัจจุราช” ที่นายแม่เหม่ยซือและสไบผู้เป็นลูกสะใภ้เข่นฆ่าผู้คนจนนับศพไม่ถ้วนทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นบรรดาชีวิตคนงานโรงทอที่ล้มตายเป็นผักปลา ชีวิตตัวละครชาวเมี่ยนอย่างอาซาและ “หมอเลี่ยว” ผู้ที่แม้จะเคยช่วยชีวิตนายแม่และพรรคพวกมาก่อน ชีวิตตัวละครรุ่นลูกหลานของตระกูลหย่ง หรือแม้แต่เข่นฆ่ากันเองจนตอนจบ จนแทบจะไม่เหลือตัวละครหลักมาให้เดินเรื่องต่อไป!!!         แต่ที่น่าชวนหัวยิ่งก็คือ หากในฉากจบของเรื่อง จะมีเฉพาะก็แต่ตัวละครที่ถูกทำให้ “เสียสติ” อย่างพิกุล หรือ “ความทรงจำเสื่อม” อย่างหย่งเจี้ยน ที่คิดกลับตัวกลับใจหันมามองความเป็นอื่นด้วยความเป็นมนุษย์ไม่ต่างกัน ละครก็อาจบอกเป็นนัยๆ กระมังว่า คงต้องทำให้คนมีอำนาจนั้น “เสียสติ” หรือ “ความจำเสื่อม” กันเสียบ้าง พวกเขาก็จะได้เล็งเห็นสิทธิและเสียงเล็กๆ ของคนงานในโรงทอหรือกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเมี่ยน ที่หาใช่จะเป็นคนที่ไร้สิทธิ์เสียงหรือถูกขูดรีดกดทับอัตลักษณ์ศักดิ์ศรีเอาไว้แต่เพียงด้านเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 รู้เท่าทันการบำบัดฝุ่นละออง PM2.5 ด้วยอาหารและสมุนไพร

        ขณะนี้ ปัญหาสุขภาพที่กระทบกับคนไทยและทั่วโลกคงไม่มีอะไรเกินกว่าโรคปอดอักเสบจากโคโรนาไวรัส และฝุ่นละออง PM2.5  ประเทศที่ครองแชมป์ PM2.5 ยังคงเป็นประเทศจีน ส่วนไทยก็ยังติดอันดับต้นๆ ของโลกเช่นเดียวกัน คนไทยคงต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นละอองไปอีกหลายปี แพทย์ทางเลือกออกมาพูดว่า การกินน้ำปั่นบร็อคโคลีสด จะบำบัดพิษภัยของ PM2.5 ได้ รวมทั้ง รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรก็แนะนำให้กินสมุนไพร 5 ชนิดเพื่อรักษาอันตรายจาก PM2.5 เรามารู้เท่าทันกันเถอะ  ฝุ่นละออง PM2.5 กระทบต่อร่างกายอย่างไร         PM2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เทียบขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ ขนจมูกของมนุษย์ไม่สามารถกรองได้ PM2.5 จึงสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่อวัยวะในระบบทางเดินหายใจได้โดยตรง ทะลุถึงถุงลมปอดได้ทันที เกิดการระคายเคืองและมีผลต่อทางเดินหายใจ ทำลายอวัยวะระบบทางเดินหายใจโดยตรง เกิดการระคายเคืองตา ระคายคอ แน่นหน้าอก หายใจถี่ หลอดลมอักเสบ เกิดอาการหอบหืด ถุงลมโป่งพอง  น้ำบร็อคโคลี่ปั่นสดบำบัดพิษภัยของ PM2.5 ได้จริงหรือ         มีการศึกษาวิจัยจำนวนมากพอควรเกี่ยวกับ อาหารและวิตามินต่าง ๆ ในการลดพิษภัยของมลพิษและฝุ่นละออง  งานวิจัยชิ้นหนึ่งทำการศึกษาในประเทศจีน พบว่า บร็อคโคลีมีสาร กลูโคไซโนเลท กลูโคราฟานิน ซึ่งช่วยป้องกันสารเคมีต่าง ๆ และมีซัลโฟราเฟน (sulforaphane) ที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างเอนไซม์กลูตาไทโอนทรานส์เฟอเรส[1] เมื่อให้ประชากรจำนวน 291 คนกินน้ำบร็อคโคลีปั่นสดเป็นเวลา 12 สัปดาห์ จะมีการขับสาร mercapturic acid จากมลพิษต่างๆ  เบนซีน และอื่นๆ การกินน้ำบร็อคโคลีปั่นสดจึงช่วยขับสารพิษจากมลภาวะต่างๆ ทางอากาศ และอาจเป็นแนวทางในการเสริมสร้างสุขภาพและลดความเสี่ยงด้านสุขภาพระยะยาวได้ [1] กลูตาไทโอนเป็นสารที่พบได้ทั่วไปในผักและเนื้อสัตว์  โรคบางชนิดเกิดจากเซลล์ถูกทําลายโดยอนุมูลอิสระ (free radical) ทั้งนี้ กลูตาไทโอนเป็นสารต้านออกซิเดชัน (antioxidant) ที่มีฤทธิ์กําจัดอนุมูลอิสระ ดังนั้นการเพิ่มระดับกลูตาไทโอนในร่างกายจึงอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคต่าง ๆ ได้           นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาวิจัยจำนวนมากที่แสดงว่า วิตามินบี ซี อี ดี และโอเมก้า-3 มีผลในการป้องกันการทำลายจาก PM2.5 ในสภาพอากาศที่มีมลภาวะ การกินอาหารสุขภาพที่มีสารอาหารจำเป็นอาจป้องกันโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางเดินหายใจ สมุนไพรสู้ฝุ่นของอภัยภูเบศรสู้ได้จริงหรือไม่         แม้ว่าจะยังไม่มีงานวิจัยคลินิกรองรับ แต่ในแง่ของสารต้านอนุมูลอิสระปริมาณมากในมะขามป้อม และขมิ้นชัน สามารถช่วยการทำลายเซลล์จากมลภาวะและความเสื่อมได้ ดังนั้นก็จัดอยู่ในสารอาหารธรรมชาติที่ป้องกันการทำลายเซลล์จากมลพิษต่าง ๆ ฟ้าทะลายโจร ก็ช่วยในการรักษาไข้หวัด ทางเดินหายใจ รางจืด ก็ช่วยในการขับสารพิษจากสารเคมีฆ่าแมลงได้เป็นอย่างดี       อย่างไรก็ตาม การป้องกันและลดพิษภัยจาก PM2.5 ที่ดีที่สุดคือ การใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง การหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่กลางแจ้งเป็นเวลานาน การออกกำลังกายในสถานที่ที่มีฝุ่นละอองน้อย และการกินอาหารธรรมชาติที่ดีต่อสุขภาพ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ภัยไวรัสว่าน่ากลัว แต่ภัยจากอุบัติเหตุน่ากลัวกว่า

                ฉลองปีใหม่แว้บเดียว ตอนนี้ก็เข้ากุมภาพันธ์เดือนแห่งความรัก และยังเป็นเดือนกุมภาพันธ์ยกกำลังสอง ที่มาพร้อมกับ PM 2.5 และไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ตอนนี้แผ่ขยายความหวาดระแวงแพร่กระจายกันไปแล้วทั่วประเทศ  โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครที่ไปทางไหนก็จะต้องเห็นคนใส่หน้ากากอนามัย  ไม่รู้ว่าใส่เพราะกลัว PM 2.5 หรือกลัวไวรัสโคโรน่า 2019 กันแน่  หรือเพราะกระแสสังคมกดดันให้ทุกคนต้องใส่ ใครไม่ใส่อาจกลายเป็นคนแปลกหน้าและหน้าแปลกในเวลาเดียวกันได้ทันที เรียกได้ว่าเป็นความตื่นตัวครั้งใหญ่ของคนไทยทุกคนเลยก็ว่าได้         ขณะที่ หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกโรงเตือนหวั่นคุมการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า 2019 ไม่อยู่ อาจกระจายผ่านรถสาธารณะ เตือนคนขับและผู้โดยสารต้องสวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ ออกมาตรฐานฆ่าเชื้อคุมเข้มห้องโดยสาร เพราะถ้าผู้ติดเชื้อยังไม่แสดงอาการ ก็ยังไม่สามารถแยกแยะลักษณะท่าทางได้อย่างชัดเจนมองแง่ดีการตื่นตัวของคนไทยกับ PM 2.5 และไวรัสโคโรน่า 2019 ครั้งนี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพบริการของขนส่งสาธารณะกันได้บ้าง บางเรื่องอาจจะดูตลกขบขัน แต่เชื่อเถอะมันถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหานะ         หนึ่งในเรื่องที่อาจดูตลกคือเราเห็นกรมการขนส่งทางบกนำร่องติดตั้งเครื่องฟอกอากาศเคลื่อนที่แบบทำเองบนหลังคารถเมล์ ก็ไม่รู้วิธีนี้ช่วยอะไรได้บ้าง แทนที่จะติดตั้งภายในรถเมล์แต่ดันเอาไปติดบนหลังคา เราเห็นข่าวเจ้าหน้าที่เร่งทำความสะอาดราวจับ เบาะที่นั่งบนรถเมล์-รถไฟฟ้า แต่ก็ไม่รู้ทำทุกวันหรือเปล่า เราเห็นคนส่วนใหญ่ใส่หน้ากากอนามัยพกเจลล้างมือติดตัว เราเห็นกลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐต้องเร่งเปลี่ยนรถเมล์ ขสมก. เป็นรถเมล์พลังไฟฟ้าทั้งหมดภายใน 3 ปี และมีการคาดการณ์ว่า จากการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ รถเมล์ รถตู้ รถทัวร์ จะมีความเสี่ยงที่สุด เพราะเป็นพื้นที่ปิดและแคบ (closed space) โดยเฉพาะกรณีรถต่างจังหวัดที่ต้องเดินทางไกล เพราะถ้าคืนนี้มีผู้ป่วยโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 1 คนขึ้นรถ 1 คัน เช้ารุ่งขึ้นอาจจะมีคนติดเชื้อกระจายออกไปทุกมุมของจังหวัดปลายทาง ดังที่เราเห็นในกรณีการติดเชื้อบนเรือสำราญในหลายมุมโลกขณะนี้         หันมาคิดอีกมุม แล้วทำไมประเด็นอันตรายจากอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ กลับไม่ตื่นตัวแบบนี้บ้าง ทั้งที่ประเทศไทย ณ ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ 33 คน และที่สำคัญยังไม่มีคนเสียชีวิต!! แสดงว่ารัฐบาลนี้เอาอยู่สินะ แต่อุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย แต่ละวันมีผู้เสียชีวิตมาถึง 50 – 60 คนต่อวัน บางวันพุ่งสูงถึง 70 คนก็มี รวมแล้วมากกว่า 20,000 คนต่อปี บาดเจ็บอีกวันละ 3,000 คน ครบปีก็หลักล้านคนแล้ว ยังไม่รวมคนเจ็บที่ไม่ไปโรงพยาบาลอีกเท่าไหร่ แบบนี้ไม่น่ากลัวกว่าหรือยังไง ??        ที่ต้องถามว่าแบบนี้ก็เพราะว่า ขณะที่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ของไทยเราหยุดนิ่งที่ 33 คนมาระยะหนึ่งแล้ว เท่ากับว่าประชาชนมีความตื่นตัว รู้เท่าทันว่าจะต้องป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อนี้อย่างไร แต่ความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนกลับไม่หยุดนิ่ง และทวีความรุนแรงสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่เป็นเรื่องใกล้ตัวเห็นคนเจ็บตายกันอยู่ทุกวัน         แน่นอนว่าสาเหตุของอุบัติเหตุทางถนน ส่วนใหญ่มาจากความประมาทที่เกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ ไม่สวมหมวกกันน็อค และพฤติกรรมเมาแล้วขับ ขณะที่ผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะส่วนใหญ่ มักคิดว่ามันคงไม่เกิดเหตุอะไรกับตัวเอง เลยไม่คิดว่าต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ทั้งที่สาเหตุการเสียชีวิตบนรถโดยสารสาธารณะ ส่วนหนึ่งมาจากการกระแทกกันภายในรถหรือหลุดกระเด็นออกนอกตัวรถ เพราะผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัย อีกอย่างที่สำคัญ คือ คนเรามักคิดว่าอุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องเวรกรรม เกิดเหตุทีก็ถือว่าฟาดเคราะห์กันไป หนักเบาก็แล้วแต่บุญกรรมที่ทำมาแต่ชาติปางก่อน ไม่อยากเอาเรื่องเอาราวกับใคร กลัวต้องผูกเวรผูกกรรมกันไปไม่จบสิ้น กลายเป็นเรื่องความเชื่อแทนที่จะเป็นเรื่องความจริง ก็น่าคิดว่า ทำไมตายกันเยอะขนาดนี้ ถึงไม่กลัวกัน…         แล้วจะทำยังไงในเมื่อความสูญเสียบาดเจ็บยังมีอยู่ต่อเนื่อง ยังนิยมรถผี รถเถื่อน เพราะสะดวกสบายรับส่งถึงหน้าบ้าน ยังพอใจนั่งรถแล้วไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ทั้งที่กฎหมายบอกไม่คาดปรับห้าพัน ก็ไม่สนใจเพราะไม่มีจับปรับจริง  ยังพอใจนั่งท้ายกระบะ ห้ามนั่งก็ไม่สนอ้างวิถีชนบทความจำเป็น ยังพอใจเมาก่อนค่อยขับ ห้ามเมาแล้วขับก็ขับทั้งที่เมา สุดท้ายพอเกิดอะไรขึ้นมาก็โทษเวรกรรม ยอมรับชะตากรรมแบบนี้เรื่อยไป         ประเทศนี้ที่มีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนปีละมากกว่า 20,000 คน ทำไมถึงไม่มีใครกลัว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 เมื่อนวดไทย เป็นมรดกของโลก

“เมื่อปลายปี 2019 คณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก มีมติประกาศให้นวดไทยติด 1 ใน 15 มรดกโลกทางวัฒนธรรมของยูเนสโกประจำปี 2019 ซึ่งจัดประชุมครั้งที่ 14 ขึ้นที่โบโกตา ประเทศโคลอมเบีย มติของยูเนสโกให้ขึ้นบัญชี "นวดไทย" (Nuad Thai, traditional Thai massage) เป็นตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) พร้อมกับมรดกวัฒนธรรมฯ จากประเทศอื่นๆ อีก 14 ประเทศ” ฉลาดซื้อจึงขอร่วมแสดงความยินดีกับเรื่องนี้ ด้วยการพา ดร. ภก.ยงศักดิ์ ตันติปิฎก หัวหน้าหน่วยวิจัยระบบภูมิปัญญาสุขภาพ สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ เล่าถึงความดีงามของนวดไทย ว่าทำไมยูเนสโกเห็นว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก ทำไมยูเนสโกจึงเลือก “นวดไทย”         ทำไมยูเนสโกเขาคิดเรื่องว่าเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้   ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญอันหนึ่ง ก็คือว่าในโลกของยุคสมัยใหม่มันมีลักษณะการจดสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ ของสิทธิ์ต่างๆ ในหลายลักษณะมากที่เขาเรียกว่าทรัพย์สินทางปัญญา แล้วก็การแสดงความเป็นเจ้าของมันก็ทำให้เกิดผลกระทบกับสิ่งที่เป็นวัฒนธรรม ซึ่งมีการสร้างสรรค์โดยมนุษย์ในอดีตที่ผ่านมาเยอะแยะ เพราะว่าถ้าเมื่อไรผูกขาดความเป็นเจ้าของโดยใครคนใดคนหนึ่งจะกระทบคนอื่นที่เขาเคยใช้ประโยชน์ อันนี้เป็นเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ต้องคิดถึงว่า แล้วจะปกป้องคุ้มครองสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมเหล่านี้ เป็นความรู้เป็นการปฏิบัติที่คนเคยทำกันมาแล้วสืบทอดกันมาได้อย่างไร ไม่ให้ถูกฉกฉวยเอาไปเป็นจดสิทธิบัตรของที่โน่น ที่นี่ ที่นั่น จดสิทธิความเป็นเจ้าของ ของใครคนใดคนหนึ่ง อันนี้ก็เรียกว่าเป็นภัยคุกคามต่อเรื่องวัฒนธรรมของมนุษย์         เพราะฉะนั้นเขาก็เลยคิดว่ายูเนสโกควรมีบทบาทในการทำเรื่องนี้โดยการขึ้นทะเบียน ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า List Type ผมอยากจะแปลเป็นภาษาไทยว่าเป็นการประกาศจารึกไว้ว่า นี่มันเป็นสมบัติของมนุษยชาติ เพราะฉะนั้นเขาก็ใช้อนุสัญญาฉบับนี้เพื่อที่จะทำให้ประเทศต่างๆ มาทำเรื่องนี้ด้วยกัน เพราะฉะนั้น หัวใจของการที่ได้ขึ้นจารึกว่าเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมหรือมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ขึ้นไปเป็นของประเทศนั้นประเทศนี้คนอื่นห้ามมาใช้ มันจะคนละ concept  คนละวิธีคิดกับเรื่องของสิทธิบัตรคนละเรื่องกันเลย มันไม่ใช่การแสดงความเป็นเจ้าของ แต่มันเป็นการแสดงว่าเป็นของมนุษยชาติที่โลกนี้มนุษย์ควรจะต้องช่วยกันดูแล ช่วยกันคุ้มครองอย่าให้มันสูญหาย ต้องช่วยกันดูแล concept ตรงนี้ ต้องเข้าใจกันให้ชัด เพราะว่าผมได้มีโอกาสไปคุยกับราชการบางส่วนที่พอเห็นว่า  นวดไทยขึ้นยูเนสโกแล้วอยากจะโหนกระแส โดยไม่เข้าใจ concept ของเขา แล้วก็จะบอกว่าถ้าเราได้ขึ้นยูเนสโกอย่างนี้เราก็จะไปขอจดสิทธิบัตรได้ไหม เพราะนี่เขารับรองเป็นมรดกโลกแล้ว ผมบอกไปว่าคนละเรื่องกัน ความต่างของนวดไทยกับนวดแบบอื่นๆ         ขอบเขตของนวดไทยไม่ใช่แค่นวดภาคกลางแต่หมายถึงนวดพื้นบ้านด้วย นวดพื้นบ้านที่อยู่ตามภูมิภาคต่างๆ มันมีภูมิปัญญาของเขาเกิดขึ้นมาเอง สัดส่วนของร่างกายในแต่ละภาคจะมีชื่อเรียกของเขา กระบวนการนวดรักษาแตกต่างกัน  ฤาษีดัดตนกับนวดไทยก็ไม่รวมกัน         คือเราบรรยายในเอกสารที่เราเสนอยูเนสโกว่า เรื่องของนวดไทยเราเป็นทั้งศาสตร์เป็นทั้งศิลปะในการดูแลสุขภาพของคนไทยที่ไม่ใช้ยา โดยใช้มือผสมกับกาลเวลา โดยมีตัวทฤษฎีที่เป็นหลักการสำคัญก็คือเรื่องของเส้นโดยเฉพาะเส้นประธาน 10 ในส่วนของตรรกะอาจจะมีส่วนที่ใกล้กับราชสำนัก(นวดแบบหนึ่ง) ก็จะมีองค์ความรู้ที่เป็นระบบมากหน่อย ก็จะมีเรื่องของเส้นประธาน 10 อย่างชัดเจน   ในส่วนที่แตกต่างกันไปตามหัวเมือง concept เรื่องเส้นกับลมก็ยังมีอยู่อย่างชัดเจน ไม่ต่างกัน แล้วก็เรื่องของธาตุที่เข้ามาเกี่ยวข้องคือ ธาตุทั้ง 4 คือเขาจะอยู่บนๆ เพียงแต่ว่าความลึกความละเอียดมันอาจจะมีความแตกต่างกัน แต่สุดท้ายก็ concept เดียวกันคือเรื่องเส้น เรื่องลม เรื่องธาตุที่จะมาจัดการกับความเจ็บป่วยโดยใช้มือกับส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่เน้นใช้ยา         แล้วก็เราก็พยายามทำให้กระจ่างบอกว่า concept เรื่องเส้นประธานของเราก็ไม่ได้เหมือนกับทางจีนทางอินเดียเสียทีเดียว มันก็มีความแตกต่างกัน มีบางคนชอบพูดว่าเราเอามาจากอินเดียพอเราไปดูอินเดียก็ไม่เห็นมี นวดจีนก็เป็นอีกแบบก็มีเส้นลมปราณของเขา ซึ่งเราก็เคยเชิญอาจารย์จากปักกิ่งมา เขาก็มาสาธิตวิธีการนวดของเขาแลกเปลี่ยนกับของเรามันก็มีความแตกต่างอย่างชัดเจน ทฤษฎีเส้นประธาน 10 ของเราของเขาก็ไม่มี เขามี 12 14 เส้นของเขา ส่วนของอินเดียเขาก็มีจักรกะต่างๆ ซึ่งเป็นตำแหน่งของพลังงาน แต่ก็มีแนวดีที่คล้ายของเรา แนวอินทารา   แต่ก็ไม่ใช่ตรงกันเสียทีเดียวชื่ออาจจะพ้องกันสามเส้นสี่เส้นก็แล้วแต่ แต่ว่าทิศทางหรือการนำมาใช้ก็คนละเรื่องกัน พูดง่ายๆ คือคนละศาสตร์กัน         แต่ว่าของบางอย่างมันก็อาจจะมีบางอย่างที่คล้ายคลึงกันได้ เพราะมันก็อยู่บนร่างกายมนุษย์เหมือนกัน ซึ่งตรงนี้เราก็พยายามจะทำให้ชัดเจนว่ามันก็เป็นลักษณะที่มีความเฉพาะของไทยเรามีความเฉพาะเจาะจงพอสมควรเพื่อป้องกันว่าจะมีคนอ้างว่า เช่นนวดไทยเป็นของอินเดียเราไปเสนอได้อย่างไร อันนี้เพื่อจะเคลียร์ประเด็นพวกนี้ ต่อไปนี้เราจะไม่พูดว่านวดไทยมาจากอินเดียเพราะมันไม่มีหลักฐาน นวดไทยมาจากจีนมันไม่มีหลักฐาน พูดไปโดยไม่มีหลักฐานมันไม่เกิดผลดีอะไร เราควรจะพูดจากสิ่งที่ปรากฏแล้วเราก็อาจจะสันนิษฐานว่ามันมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันในลักษณะไหน อาจจะเกิดการแลกเปลี่ยนกัน มันเป็นเรื่องปกติของวัฒนธรรมที่เวลาคนไปมาหาสู่กันก็แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แต่จะบอกว่าอันนี้มาจากที่นั่นที่นี่โดยตรงมันพูดยาก ยกเว้นบางเรื่องชัดๆ อย่างเช่น พุทธศาสนามาจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่ที่อินเดียตอนเหนือถึงแม้กระนั้นก็ตามก็ยังมีคนเถียงอยู่นะว่าไม่จริงหรอกอันนี้ก็ว่ากันไป วัฒนธรรมมันเป็นสิ่งที่สืบทอดกันมายาวนานใช้เวลา การจะพูดอะไรควรจะพูดจากหลักฐานที่มีอยู่พูดเกินเลยหลักฐานมันสร้างปัญหา แล้วอีกประเด็นหนึ่งก็คือว่า จริงๆ การทำงานชิ้นนี้ไม่ได้ต้องการแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ เราต้องการบอกว่าของเหล่านี้มีคุณค่าต่อมนุษย์เท่านั้นเอง การนวดมีอันตรายไหม          คนที่นวด นวดไปทำไม นวดไปเพื่ออะไร จากที่ไหนคุณภาพเชื่อถือได้ไม่ได้อย่างไรตอนนี้เป็นปัญหาใหญ่ซึ่งราชการเขาก็พยายามทำอยู่ บางอย่างเช่น ทำให้นวดทั่วๆ ไปมีสถานที่ ที่ด้รับการรับรองแล้วคนนวดก็ผ่านการอบรมมาในระดับที่เขาพอยอมรับได้ แต่ว่านวดพวกนี้เป็นนวดที่ไม่ได้เน้นการรักษาโรคเป็นการนวดเพื่อผ่อนคลายเพื่อความสบาย แต่ว่าประชาชนที่ไปนวดบางทีเขาก็คาดหวังว่านวดแล้วมันก็ต้องแก้โน่นแก้นี่ให้เขาได้ เพราะฉะนั้นเขาก็ไปบางทีหมอก็อาจจะต้องทำในสิ่งที่เกินความสามารถของเขา บางทีก็ทำในสิ่งที่มันอาจจะยิ่งซ้ำเติมเพราะว่าความรู้กับประสบการณ์ก็อาจจะยังน้อยแต่ว่าไปทำในเรื่องที่เกินขีดความสามารถของตัวเอง แล้วก็อาจจะไปทำในสิ่งที่เป็นอันตรายเกิดขึ้น อันนี้มันก็ทำให้เกิดผลเสียโดยรวม         ในช่วงสักสองสามปีที่ผ่านมามันจะเจอเคสที่นวดแล้วเป็นอันตราย ซึ่งมันก็ปนๆ กันตอนนี้คนนวดอย่างที่ว่ามันหลากหลายมากเราก็ไม่รู้ว่าพวกไหนเป็นพวกไหน แต่ตอนนี้สิ่งที่ราชการเขาพยายามทำคือ ตะล่อมให้เข้าไปอยู่ในที่ทางที่เขาดูแลได้ นอกจากนั้นก็ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ว่าที่ผิดกฎหมายที่ทำกันอยู่เยอะแยะที่ไม่ได้ขออนุญาตตามกฎหมาย  ก็ยังมีอยู่เยอะแยะแล้วก็อาจจะทำดีบ้างไม่ดีบ้างปนๆ เราก็ไม่รู้ไม่สามารถประกันอะไรได้ทั้งนั้น อาจจะมีคนมีฝีมืออยู่ในนั้นก็มี มีคนที่ตั้งตัวมาแล้วก็ทำในจุดในสิ่งที่อาจจะเกิดอันตรายร้ายแรงก็ได้ก็ไม่มีใครรู้ อันนี้ก็เป็นปัญหาที่ประชาชนเองก็ต้องระวัง แล้วก็อย่าคิดว่าการนวดมันจะเกิดผลดี ถ้านวดโดยคนที่ไม่มีความชำนาญมันก็เกิดผลเสียแล้วก็ในบางกรณีก็อาจจะเกิดอันตรายที่ร้ายแรงได้ โดยเฉพาะการนวดในข้อห้ามต่างๆ ที่ไม่ให้นวดกัน มันก็มีนะข้อห้ามในการนวดมันก็มีอยู่ ไปนวดก็เกิดอันตรายอาจจะถึงแก่ชีวิตได้ ตำแหน่งบางแห่งของร่างกายเราก็ไม่ให้นวดเพราะว่ามันมีความเสี่ยง เช่นอาจจะไปทำให้เกิดการบาดเจ็บของเส้นประสาท อาจจะทำให้เกิดอัมพาตตามมาก็ได้ ในบางที่ ในบางท่า แล้วก็อาจจะถึงแก่ชีวิตด้วยซ้ำในบางตำแหน่งเช่นไปกดประตูลมตรงท้อง โดยที่ไม่รู้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดโป่งพองในท้องกดไปก็หลอดเลือดแตกทันทีเลย มันก็อันตรายพวกนี้ถ้าคนที่เขาเรียนมาเยอะพอเขาจะรู้ข้อระวังพวกนี้แล้วเขาจะต้องมีวิธีตรวจหรือต้องซักประวัติสอบถามจนแน่ใจว่าไม่เข้าข่ายที่จะเกิดอันตรายได้เขาถึงจะทำ         เพราะฉะนั้นการนวดมันก็มีสองด้านเรื่องความปลอดภัยก็เป็นเรื่องที่ต้องระวังมากๆ คนที่อบรมมาน้อยเรียนมาน้อยหรือว่าเรียนแบบงูๆ ปลาๆ ก็อาจจะไม่ค่อยเข้าใจเรื่องพวกนี้ก็กล้าทำในสิ่งที่ไม่ควรทำเพราะรู้น้อย หรือถ้าคนที่เรียนมากรู้มากขึ้นเขาก็จะรู้ข้อจำกัดตัวเองว่าทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราต้องเข้าใจประชาชนที่จะไปใช้บริการเองก็ต้องเข้าใจว่าหมอมีหลากหลายมาก เรียนมาหลากหลายมากบางคนก็รู้น้อยบางคนก็อาจจะรู้มากมีประสบการณ์มากมันต้องพิจารณาให้ดีก็ไม่ง่ายที่จะไปพิจารณาว่าใครเป็นคนที่มีความรู้มีประสบการณ์ก็ไม่ได้ง่ายซะทีเดียว ขึ้นอยู่กับว่าตัวเราต้องช่างสังเกต เราจะสังเกตหมอนวดอย่างไร         ตอนนี้คือถ้าหากว่าไม่แน่ใจก็ต้องยังไม่เสี่ยงที่จะไปนวดกับคนที่เรายังไม่รู้จักไม่แน่ใจ อย่าคิดว่านวดมันมีแต่ผลดีอาจจะเกิดผลเสียแทรกซ้อนได้ ถ้าทำโดยคนที่ไม่รู้ ถ้าเราไม่แน่ใจก็อย่าให้เขานวด ส่วนหนึ่งมันจะมีการนวดที่อยู่ในคลินิกหรือในสถานพยาบาลอันนี้ก็จะถือว่าน่าเชื่อถือได้มากที่สุดแล้ว เพราะว่าการที่เขามีคลินิกเปิดคลินิกได้มันก็ต้องผ่านการรับรองโดยราชการต้องมาอนุญาตแล้วก็เขาต้องมีใบประกอบวิชาชีพ คนที่มีใบประกอบวิชาชีพต้องมีความรับผิดชอบสูงกว่าคนที่ไม่มี เพราะว่าถ้าเขาทำอะไรผิดพลาดเขาก็จะถูกถอนใบอนุญาตได้คือตัดอาชีพเขาเลย แล้วคนที่จะมาเปิดคลินิกรักษาโดยมากโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่แน่ใจว่าตัวเองมีฝีมือพอสมควร   มีความรู้พอสมควรที่จะทำแล้วมีคนมาหาแล้วก็อยู่ได้อยู่รอด เพราะว่าการเปิดสถานพยาบาลหรือคลินิกมันต้องลงทุนมันมีค่าใช้จ่าย ถ้าไม่แน่ใจก็ไม่กล้าเปิด แต่ถ้าร้านนวดเล็กๆ นวดในที่ไม่ต้องอะไรมากมายก็การลงทุนก็อาจจะไม่เยอะก็ตั้งตัวขึ้นมาแล้วก็นวดๆ ไป นวดไทยมีบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพหรือยัง         มีอยู่หลายตัวอย่างที่เขาทำๆ กันอยู่หลายที่แล้วเขาก็ทำกับชุมชนแล้ว รพ.สต ก็ไปสนับสนุนให้เขาอยู่ได้แล้วก็ดูแลกัน ก็มีพ่อหมอมาช่วยกันผลัดเปลี่ยนกันมาช่วยดูแลชาวบ้านช่วยกันดูแลผู้ป่วยอาจจะใช้สถานที่ในศาลาประชาคมของหมู่บ้าน บางที่เขาก็ใช้อย่างนั้นแต่ว่าก็ต้องมีการจัดการเพราะว่ามันก็ต้องมีคนมาช่วยจัดการถึงจะไปได้ แล้วก็บางทีก็ต้องหาเงินหาทุนมาสนับสนุนสิ่งของเครื่องใช้บางอย่างจะให้ชาวบ้านลงทุนเองทั้งหมดก็จะทำยาก เท่าที่ผมไปเห็นมาแล้วก็ราชการก็ลงมาสนับสนุนแล้วก็ช่วยดู ส่วนของเจ้าหน้าที่  ที่เป็นทางฝ่ายสาธารณสุขเขาก็จะเข้าใจในเรื่องสิ่งที่จะต้องระมัดระวังสิ่งที่อาจจะเกิดผลแทรกซ้อน ก็จะช่วยกันดูแลช่วยกันควบคุมดูแลกำกับกันให้อยู่ในกรอบไม่สร้างปัญหา ถ้าเกิดว่าทำอะไรที่มันล่อแหลมเกินไปอันตรายเกินไปก็ต้องคอยเตือนๆ กันว่าท่านี้นวดแบบนี้มันอาจจะเสี่ยงเกินไป มีคนช่วยกันดูก็จะทำให้มันลดปัญหาลงไปได้ ปัจจุบันมีการจัดระเบียบการควบคุมราคา เรื่องความปลอดภัยในการใช้บริการไหม         คือเราเสนอให้หน่วยงานรับผิดชอบจะต้องดูแลเรื่องนี้ให้เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งเขาก็พยายามทำอยู่พยายามอยู่แต่ว่าเนื่องจากเรื่องการนวดมันกว้างขวางมันแพร่หลายมากก็เห็นใจว่ามันไม่ได้ง่าย แต่ว่าคนที่จะทำได้ก็คือราชการเพราะมีกลไกมีมือไม้ทุกจังหวัดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าก็ต้องช่วยกันสอดส่องดูแลห้ามปรามกัน เพราะว่าถ้าทางราชการไม่ไปห้ามปรามไม่ไปดูแล  มีคนหนึ่งทำได้โดยผิดกฎหมายคนอื่นก็ทำตามเขาอ้างว่าคนนั้นก็ทำได้ฉันก็ทำบ้าง อันนี้ราชการเองก็ต้องคอยกวดขันห้ามปรามอาจจะต้องถึงขั้นจับกุมในบางกรณีเพื่อให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย กฎหมายมันมีอยู่เรื่องพวกนี้แต่ว่าเราจะบังคับใช้กฎหมายพวกนี้มากน้อยแค่ไหน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 สำรวจปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย (ภาค 2)

        บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือ Instant Noodles เป็นอาหารทางเลือกสำหรับคนที่รีบเร่ง เพราะง่ายต่อการบริโภคแบบด่วนซ้ำราคาถูก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปส่วนใหญ่มีส่วนประกอบจาก แป้งสาลี, น้ำมันปาล์ม, เกลือ, น้ำตาล เครื่องเทศชนิดต่างๆ และผงปรุงรส  บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีหลายรสชาติและราคาถูก ทำให้ผู้คนนิยมบริโภค จนบางครั้งก็กลายเป็นตัวเลือกสำหรับบางมื้อที่ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างชาวมนุษย์เงินเดือนที่บางเดือนนั้นมีภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก        นอกจากนี้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังถูกใช้ในการทำบุญตักบาตร เพราะเป็นอาหารแห้งที่สามารถเก็บไว้ได้นานหลายเดือน หรือกิจกรรมที่ต้องพักค้างแรมในสถานที่ห่างไกลจากแหล่งอาหาร เช่น การเข้าค่ายหรือเดินป่า หรือแม้กระทั่งเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ภัยจากน้ำท่วม บ่อยครั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็ถูกใช้เป็นอาหารเพื่อการยังชีพ         โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในรูปแบบถ้วยที่ง่ายต่อการปรุง เพราะแค่เติมน้ำร้อนและรอให้เส้นบะหมี่พองตัว ก็สามารถบริโภคได้ทันที ไม่ต้องฉีกซองเทใส่ชามให้ยุ่งยาก บางยี่ห้อยังออกแบบถ้วยบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย หรือ สามารถฉีกแยกชิ้นส่วนเพื่อแยกขยะตอนทิ้งได้อีกด้วย         บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีปริมาณโซเดียมสูง ปริมาณแตกต่างกันไปตามรสชาติ ดังนั้นการเลือกบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผู้บริโภคควรพิจารณาดูปริมาณโซเดียมบนฉลากประกอบด้วย         ฉลาดซื้อ ในโครงการสนับสนุนการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในรูปแบบถ้วย (รวมถึงวุ้นเส้น ราเมง และอูด้ง) ที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ จำนวน 23 ตัวอย่าง ในเดือนมกราคม 2563 เพื่อนำมาสำรวจปริมาณโซเดียม ซึ่งผลการสำรวจปริมาณโซเดียมจากข้อมูลบนฉลาก แสดงได้ดังตารางต่อไปนี้ตารางแสดงผลการสำรวจปริมาณโซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย 23 ตัวอย่างเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เดือน มกราคม 2563สรุปผลการสำรวจฉลาก         จากการสำรวจปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จำนวน 23 ตัวอย่าง พบว่า         ผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยที่มีปริมาณโซเดียมต่อถ้วยน้อยที่สุด ได้แก่ ราเมงกึ่งสำเร็จรูปแบบแห้ง รสชีสสูตร เผ็ด ตราซัมยัง มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 700 มิลลิกรัม          และผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยที่มีปริมาณโซเดียมต่อถ้วยมากที่สุด ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำ ตรานิสชิน คัพนูดเดิล (อิ่มเต็มคัพ) มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 2360 มิลลิกรัม ซึ่งเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ ร่างกายไม่ควรได้รับปริมาณโซเดียมเกิน 2000 มิลลิกรัมต่อวัน          โดยหากคำนวณจากการบริโภคมื้ออาหารหลัก วันละ 3 มื้อ เราควรได้รับปริมาณโซเดียมต่อมื้อโดยประมาณไม่เกิน มื้อละ 666 มิลลิกรัม (2000 ÷ 3) ซึ่งหากดูปริมาณโซเดียมในตัวอย่างผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยทั้งหมด 23 ตัวอย่าง จะเห็นว่าทุกตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมเกิน 666 มิลลิกรัม         เมื่อปี พ.ศ. 2560 ฉลาดซื้อ เคยสุ่มเก็บตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยมาแล้ว จำนวน 15 ตัวอย่าง  (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 191 โซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย) แต่พบว่ามีเพียง 7 ตัวอย่างเท่านั้น ที่แสดงฉลากโภชนาการ ซึ่งเมื่อเฉลี่ยปริมาณโซเดียมจากฉลากโภชนาการ จะได้ปริมาณโซเดียมเฉลี่ยโดยประมาณเท่ากับ 1,514 มิลลิกรัม และ เมื่อเฉลี่ยปริมาณโซเดียมจากที่เก็บตัวอย่างในครั้งนี้ จำนวน 23 ตัวอย่าง จะได้ปริมาณโซเดียมเฉลี่ยโดยประมาณเท่ากับ 1,497 มิลลิกรัม ซึ่งเมื่อลองเทียบเคียงกันแล้ว พบว่ามีค่าเฉลี่ยไม่ต่างกันมากนัก คำแนะนำในการบริโภค         การบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นอกจากการเติมเนื้อสัตว์ ไข่ หรือผักลงไปเพื่อเพิ่มคุณค่าสารอาหารตามคำแนะนำข้างถ้วยแล้ว ไม่ควรเติมเครื่องปรุงรสเค็ม เช่น น้ำปลา หรือ ซีอิ๊ว เพิ่มเติมลงไปอีก หรือ อาจเติมเครื่องปรุงรสที่ให้มาในซองเพียงครึ่งส่วน หรือ หลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำซุปจนหมดถ้วย เพื่อลดการบริโภคโซเดียมที่อยู่ในน้ำซุปให้น้อยลง         นอกจากนี้ ยังไม่ควรบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกวัน หรือบ่อยจนเกินไป เพราะการได้รับปริมาณโซเดียมมากๆ อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิต โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด ไปจนถึงโรคกระดูกพรุนได้ เพราะเรายังอาจได้รับโซเดียมจากอาหารในมื้ออื่นๆ อีก ซึ่งร่างกายอาจได้รับโซเดียมเกินปริมาณที่เหมาะสมต่อวันข้อมูลอ้างอิง- “โซเดียม ภัยร้ายที่ไม่ควรมองข้าม” เว็บไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) - “แนวทางและการบริโภคโซเดียม (ที่เหมาะสม)” (www.fostat.org/less-salt)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 กุนเชียงกับสารตรึงสีและสารกันบูด

        ไส้กรอก แฮม แหนม กุนเชียง หมูยอ เป็นเนื้อสัตว์แปรรูปที่คนไทยนิยมทาน นอกจากอร่อยแล้วยังสะดวกในการปรุงด้วย เพราะเพียงแค่อุ่นร้อนไม่กี่นาทีก็รับประทานได้ และยังหาซื้อง่ายตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป รวมถึงการซื้อเป็นของฝากติดไม้ติดมือเมื่อเดินทางท่องเที่ยว นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้เคยเก็บตัวอย่างและทดสอบสินค้าในกลุ่มนี้หลายชนิด ทั้งไส้กรอก หมูยอ แหนม  ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้าที่ดี ปลอดภัย อีกทั้งในรายที่ตกมาตรฐาน ก็ได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น         ดังนั้นเพื่อเฝ้าระวังสินค้ากลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง ทางโครงการฯ และนิตยสารฉลาดซื้อ จึงเก็บตัวอย่างสินค้า กุนเชียง ซึ่งเป็นไส้กรอกประเภทหนึ่ง ซึ่งนิยมรับประทานกันมากและจัดเป็นของฝากของภาคอีสานมาทดสอบ ครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนทีมอาสาสมัครจากเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน ในการเก็บตัวอย่าง กุนเชียงจำนวน 19 ตัวอย่าง เดือนธันวาคม 2562 โดยเน้นพื้นที่โซนภาคอีสาน ได้แก่ กุนเชียงหมู 9  ตัวอย่าง  กุนเชียงไก่  5  ตัวอย่าง และกุนเชียงปลา 5 ตัวอย่าง เพื่อทดสอบหาสารไนเตรท ไนไตรท์ ซึ่งเป็นสารตรึงสี(ช่วยให้มีสีแดงสวยและป้องกันการเน่าเสีย) และวัตถุกันเสีย สองชนิด ได้แก่ กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก มาดูกันว่า ผลทดสอบเป็นเช่นไร        กุนเชียง ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านที่มีต้นกำเนิดมาจากจีน จัดเป็นไส้กรอกประเภทหนึ่ง ภาษาอังกฤษเรียกว่า  Chinese sausage หรือ ไส้กรอกจีน ดั้งเดิมมีส่วนประกอบหลักเป็นเนื้อหมูและมันหมู โดยเนื้อสำหรับทำกุนเชียงจะเป็นเนื้อหมูที่บดหยาบกว่าเนื้อหมูที่ทำไส้กรอก แต่ปัจจุบันอาจผลิตจากเนื้อสัตว์อื่น เช่น ไก่ ปลา ซึ่งในการผลิตกุนเชียงผู้ผลิตบางรายอาจเติมเกลือไนไตรท์และเกลือไนเตรทเข้าไปด้วย เพื่อเป็นสารกันเสียและตรึงสีทำให้กุนเชียงมีสีแดงน่าทาน และอาจเติมวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกและซอร์บิก เพื่อให้สินค้าคงสภาพได้นานขึ้นเก็บตัวอย่างเดือนธันวาคม 2562สรุปผลทดสอบ                   สรุปผลทดสอบ        จากการทดสอบกุนเชียง จำนวน 19 ตัวอย่าง สรุปได้ดังนี้        -          กุนเชียงทุกตัวอย่างปลอดภัย ไม่มีวัตถุเจือปนอาหาร ไนไตรท์ ไนเตรท กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก เกินค่ามาตรฐาน        -          ไม่พบไนไตรท์ใน 18 ตัวอย่าง พบน้อยกว่า 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 1 ตัวอย่าง          -          พบไนเตรทเล็กน้อย ที่ค่าเฉลี่ย 11.31 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และไม่พบเลย 7 ตัวอย่าง        -          พบกรดเบนโซอิกในปริมาณไม่เกินมาตรฐาน ซึ่งเป็นไปตามที่ผู้ผลิตได้แจ้งไว้บนผลิตภัณฑ์ (การพบปริมาณกรดเบนโซอิกเพียงเล็กน้อย เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากวัตถุดิบที่นำมาเป็นส่วนประกอบ มิได้เกิดจากการตั้งใจใช้เพื่อป้องกันการเน่าเสีย)  วิธีเลือกซื้อกุนเชียง        1.เลือกที่เนื้อแน่น คงรูป ไม่มีโพรงอากาศ เนื้อมีความนุ่มพอเหมาะ เนื้อและมันสัตว์ผสมกันอย่างทั่วถึง ไม่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน        2.เลือกสีที่ควรเป็นไปตามธรรมชาติของส่วนประกอบที่ใช้ และสม่ำเสมอตลอดชิ้น ไม่มีสีผิดปกติ เช่น ซีด เขียวคล้ำ ดำ หรือรอยไหม้        3.ไม่มีกลิ่น ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น กลิ่นอับ กลิ่นหืน         4.ไม่มีสิ่งแปลกปลอม เช่น เส้นผม ดิน กรวด ทราย ชิ้นส่วนหรือสิ่งปฏิกูลจากสัตว์        5.ภาชนะบรรจุสะอาด แห้ง ผนึกได้เรียบร้อย และสามารถป้องกันการปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกภายนอกได้        6.เลือกซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ วัตถุเจือปนอาหารในผลิตภัณฑ์กุนเชียงกุนเชียงจัดอยู่ในกลุ่ม เนื้อสัตว์บดที่ผ่านกระบวนการหมักหรือไม่ก็ได้แล้วและทำแห้งโดยไม่ใช้ความร้อน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ.2561 เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) อนุญาตให้ใช้ไนไตรท์ ซึ่งเป็นสารคงสภาพของสีและสารกันเสีย ในผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมและอนุญาตให้ใช้วัตถุกันเสีย กรดเบนโซอิก ในผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ ได้ไม่เกิน 1000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ไนไตรท์ คือ อะไร“ไนไตรท์” เป็นวัตถุเจือปนอาหาร (food additives) ในกลุ่มสารกันเสีย (preservative) และสารตรึงสี ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก แหนม หมูยอ กุนเชียง ที่มีการอนุญาตให้ใช้ “ไนไตรท์” ได้ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่กำหนด โดย “ไนไตรท์” มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเน่าเสีย และยังมีหน้าที่ในการตรึงสีของเนื้อสัตว์แปรรูปให้เป็นสีชมพู ไม่ซีดไม่เปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำอันตรายหรือไม่        อันตราย หากใช้ในปริมาณที่มากเกินกว่าที่กำหนด โดยไนไตรท์จะทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยลง อาจเป็นลม หมดสติได้ แต่จะอันตรายมากกว่า หากไม่ใส่ในอาหารกลุ่มไส้กรอก กุนเชียง ฯลฯ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะสิ่งที่อันตรายที่สุดสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป คือ การเกิดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า “คลอสตริเดียม โบทูลินั่ม” ที่สามารถสร้างสารพิษร้ายแรงที่มีชื่อว่า “โบทูลินั่มท็อกซิน” (Botox) ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต และถ้าร่างกายได้รับมากเกินไปก็อาจเสียชีวิตได้        การใช้ “ไนไตรท์” ภายใต้ปริมาณที่กำหนด สามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียนี้ จึงช่วยให้มีความปลอดภัยในการบริโภคมากขึ้น ซึ่ง European Food Safety Authority (EFSA) ได้บ่งชี้ว่าการใช้เกลือไนไตรท์ในปริมาณที่พอเหมาะ (50-100 มก./กก.) จะควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียกลุ่มคลอสตริเดียมโบทูลินัม ซึ่งเชื้อแบคทีเรียนี้สามารถสร้างสารพิษ ชื่อ โบทูลินั่มท็อกซิน        ในแต่ละวันร่างกายเราได้รับสารไนไตรท์ที่มาจากเนื้อสัตว์แปรรูปโดยเฉลี่ยประมาณ 10% อีก 90% เราได้รับมาจากพืชและแหล่งอาหารอื่นๆ ที่เราบริโภค ซึ่งหากรับประทานในปริมาณที่กำหนดก็จะไม่มีอันตรายแต่อย่างใด แต่หากได้รับมากเกินไป จะทำให้ฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงผิดปกติ ไม่สามารถนำพาออกซิเจนไปใช้ได้ อาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 บริการขนส่งมวลชนที่พึงปรารถนา

        ปัญหาเร่งด่วนและสำคัญของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน คงไม่พ้นปัญหาปากท้อง ภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น แน่นอนค่าใช้จ่ายที่สำคัญของผู้บริโภค คงหนีไม่พ้นค่าใช้จ่ายเรื่อง อาหาร ที่อยู่อาศัย และค่าบริการขนส่งในการเดินทางไปทำงาน         งานวิจัยล่าสุดของสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) พบว่า ค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร สูงถึง 26-28 % หรือหากใช้รถปรับอากาศ ก็สูงถึง 15 % ของรายได้ขั้นต่ำ ขณะที่ในฝรั่งเศสมีค่าใช้จ่ายเพียง 3 % ลอนดอน 5 % โตเกียว 9 % และสิงคโปร์ 5 % ในการใช้รถไฟฟ้าเท่านั้น         โดยข้อเท็จจริงในการใช้ชีวิตของแต่ละคนในขณะนี้แพงกว่านี้อีกมาก หากคิดตั้งแต่ต้องออกจากบ้าน ใช้มอเตอร์ไซค์ รถเมล์ รถตู้ กว่าจะถึงรถไฟฟ้า และหากใช้รถไฟฟ้าสองสาย ผู้บริโภคต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนแรกที่เรียกว่าค่าแรกเข้า 14-16 จากรถไฟฟ้าทุกสายที่ใช้บริการ         แน่นอนปัญหาความไม่เพียงพอของบริการขนส่งมวลชน ปัญหารถติด การใช้เวลาบนท้องถนน ปัญหาสิ่งแวดล้อม และความไม่แน่นอนของบริการจากปัญหารถติด ปัญหารถไฟฟ้าราคาแพง ทำให้คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ในปัจจุบันเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวมากถึง 43 % เดินทางด้วยรถมอเตอร์ไซค์ 26 % และรถขนส่งมวลชน 24 %  ขณะที่สิงคโปร์ใช้รถขนส่งสาธารณะถึง 62 % และ 89 % ในฮ่องกง (สถิติในปี 2015)         รัฐบาลมีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDG) โดยตั้งเป้าหมายไว้ในปี พ.ศ. 2030 จะทำให้ประชากรได้รับความปลอดภัยในการเดินทาง สามารถจ่ายค่าโดยสารและสามารถเข้าถึงระบบขนส่ง และระบบขนส่งที่ยั่งยืน การปรับปรุงความปลอดภัยทางถนน ตัวอย่างที่ดีที่สุด เช่น โดยการขยายเส้นทางขนส่งสาธารณะให้ตรงกับความต้องการของผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงอย่างผู้หญิง เด็ก คนพิการ และผู้สูงวัย โดยกำหนดตัวชี้วัดที่สำคัญ คือต้องเพิ่มสัดส่วนของประชาชนที่สามารถเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดที่มีบริการขนส่งสาธารณะในระยะทาง 0.5 กิโลเมตร          เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค ความปลอดภัยในการใช้บริการขนส่งมวลชน การบริโภคที่ยั่งยืน และแน่นอนการแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋วพิษ PM 2.5 ที่เป็นปัญหาสุขภาพ รัฐต้องสนับสนุนให้มีการใช้บริการขนส่งมวลชนที่เพิ่มขึ้น ข้อเสนอที่สำคัญของผู้บริโภคในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ มี 5 เรื่องทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่สำคัญ         1) ประชาชนทั่วประเทศ ต้องเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดบริการขนส่งสาธารณะในระยะทาง 0.5 กิโลเมตร หรือเดินไม่เกิน 15 นาที ต้องปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้เป็นระบบไฟฟ้าทั่วประเทศ         2) ระยะเวลาในการรอรถเมล์ หรือรถโดยสารสาธารณะไม่เกิน 15 นาที ในช่วงเร่งด่วนและไม่เกิน 30 นาทีในช่วงไม่เร่งด่วนในการเดินทางประจำวัน         3) มีระบบให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ ว่า รถเมล์ หรือรถโดยสารสายอะไรที่กำลังจะมา (ViaBus) ในกรุงเทพฯยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถบอกได้ในปัจจุบัน รวมทั้งในต่างจังหวัดที่ยังแทบไม่มีระบบอะไรเลย         4) ค่าใช้จ่ายบริการขนส่งมวลชนทุกประเภทรวมแล้วต้องไม่เกิน 5 % ของรายได้ขั้นต่ำในแต่ละวัน ซึ่งทั้งรัฐบาลและท้องถิ่นต้องพัฒนาระบบสนับสนุนที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ สะอาด มีคุณภาพในการให้บริการ         5) สำหรับกรุงเทพ ฯ ต้องจัดการให้ผู้บริโภคเสียค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าเพียงครั้งเดียวในการใช้บริการถึงแม้จะใช้หลายเส้นทาง มีระบบที่เชื่อมโยงรถเมล์กับบริการรถไฟฟ้า และบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 สั่งของออนไลน์ โอนเงินไปแล้วทำไมต้องจ่ายปลายทางอีก

        “เราสั่งของออนไลน์ เงินก็โอนให้แล้ว แต่จะมาเก็บเงินปลายทาง พอเราไม่ให้และไม่รับสินค้า แม่ค้าบอกว่า เราต้องจ่ายค่าไม่รับของ 150 บาท หรือจริงๆ คือค่าส่ง แม่ค้าทำแบบนี้ได้ไหมคะ”          เป็นคำถามที่คุณนิสา โทรศัพท์มาปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ซึ่งรายละเอียดมีอยู่ว่า  เมื่อวันที่ 6 เดือนธันวาคม ปีที่ผ่านมา คุณนิสาถูกใจสินค้าตัวหนึ่งซึ่งขายทางร้านออนไลน์ จึงสั่งซื้อด้วยการเลือกจ่ายเงินเข้าบัญชีร้านค้า จนผ่านไปหลายวันสินค้าก็ยังไม่มาจึงทวงถามไปทางร้านค้า ทำให้ทราบว่ายังไม่มีการจัดส่ง ทางร้านรับปากจะรีบนำส่งโดยเร็ว จนวันที่ 15 ธันวาคม เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์นำสินค้ามาส่งให้แต่ระบุว่า เป็นการเก็บเงินปลายทาง ตนเองปฏิเสธเพราะได้จ่ายเงินไปทางร้านค้าแล้ว และยังไม่ทันได้ติดต่อกับทางผู้ขาย ไปรษณีย์ก็นำสินค้ากลับไป ต่อมาแม่ค้าติดต่อมาว่า เราปฏิเสธไม่รับสินค้า ต้องจ่ายค่าเสียหายให้เขาเป็นจำนวนเงิน 150 บาท จึงโทรมาปรึกษาว่า จะต้องทำอย่างไร และที่แม่ค้าทวงถามมานั้นถูกต้องหรือไม่ แนวทางแก้ไขปัญหา         การตกลงซื้อขายกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย เป็นการทำสัญญาลักษณะหนึ่ง เมื่อผู้ซื้อคือคุณนิสา เห็นว่าการเก็บเงินปลายทางเป็นการซ้ำซ้อน การปฏิเสธไม่จ่ายเงินย่อมเป็นสิทธิที่ทำได้ เมื่อสิ่งของกลับคืนไปแล้ว สัญญาก็เป็นอันจบไป การที่คุณนิสาจะถูกเรียกเก็บ 150 บาท โดยผู้ขายอ้างว่า เป็นค่าเสียหายนั้น ทำไม่ได้ เพราะไม่มีการตกลงกันไว้ก่อน ว่าหากเกิดการปฏิเสธจะต้องถูกเรียกเก็บค่าเสียหาย อีกประการหนึ่งคุณนิสา สามารถเรียกร้องขอให้คืนเงินที่โอนไปแล้วเป็นค่าสินค้าคืนได้ เพราะเป็นสิทธิของผู้ซื้อเช่นกัน         คุณนิสารู้สึกสบายใจขึ้น แต่ไม่อยากวุ่นวายเรื่องที่จะทวงเงินค่าสินค้าคืนเพราะเห็นว่า จำนวนเงินไม่ได้มากนัก จึงไม่ติดใจตรงนี้

อ่านเพิ่มเติม >