ฉบับที่ 231 ผลทดสอบโลหะหนักในปลาทูน่ากระป๋อง

        ปลาทูน่า (Tuna) เป็นปลาทะเลที่อยู่กันเป็นฝูง เคลื่อนที่ว่องไว อาศัยอยู่ตามเขตชายฝั่งและทะเลน้ำลึก ปลาทูน่าเป็นปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด และ ติด 1 ใน 5 ของอาหารทะเลที่ผู้คนทั่วโลกนิยมบริโภค โดยสายพันธุ์ปลาทูน่าที่นิยมจับมาเป็นอาหาร นั้นมีอยู่ 5 ชนิด ได้แก่ ปลาทูน่าท้องแถบ (Skipjack Tuna), ปลาทูน่าครีบเหลือง (Yellowfin Tuna), ปลาทูน่าครีบยาว (Albacore Tuna), ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน (Bluefin Tuna) และ ปลาทูน่าตาโต (Bigeye Tuna) โดยสายพันธุ์ปลาทูน่าที่นิยมนำมาทำปลากระป๋องถึงร้อยละ 58 คือ ปลาทูน่าท้องแถบ         นอกจากความนิยมรับประทานปลาทูน่าสดๆ อย่าง ซาชิมิ (Sashimi) กับ ซูชิ (Sushi) ซึ่งเป็นอาหารญี่ปุ่นแล้ว ยังนิยมนำปลาทูน่ามาทำปลากระป๋องอีกด้วย ปลาทูน่าอุดมไปด้วยโปรตีน และ โอเมก้า 3 ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง ลดไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอล ทั้งยังให้ไขมันต่ำและเป็นไขมันดี รวมถึงมีแร่ธาตุและวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น ธาตุเหล็ก ไอโอดีน วิตามินบี และเป็นเนื้อสัตว์ประเภทที่ย่อยง่ายอีกด้วย         ปลาทูน่ากระป๋องสามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแซนวิชทูน่าที่เหมาะเป็นอาหารเช้า ผัดกะเพราทูน่า ทูน่าคอร์นสลัด ขนมจีนน้ำยาปลาทูน่า น้ำพริกทูน่ารับประทานคู่กับผักสด เป็นต้น แต่นอกจากความอร่อยของทูน่ากระป๋อง ก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการปนเปื้อนของโลหะหนักในอาหารทะเล เช่น ตะกั่ว แคดเมียม โดยเฉพาะปรอท ซึ่งโลหะหนักเหล่านี้เป็นพิษต่อร่างกายหากได้รับในปริมาณมากหรือสะสมเป็นระยะเวลานาน ซึ่งการปนเปื้อนโลหะหนักเหล่านี้มาจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ขาดระบบการจัดการที่ดี ปล่อยโลหะหนักสู่สภาพแวดล้อม เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ทะเล และมหาสมุทร ทำให้สัตว์ทะเลปนเปื้อนโลหะหนักเหล่านั้น และสุดท้ายก็เข้าสู่วงจรห่วงโซ่อาหารของเราผู้บริโภค          เพื่อเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารให้กับผู้บริโภค ฉลาดซื้อภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องจำนวนทั้งสิ้น 28 ตัวอย่าง ที่วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต ในเดือนพฤษภาคม 2563 นำส่งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของโลหะหนัก 3 ชนิด ได้แก่ ปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม โดยผลการตรวจวิเคราะห์แสดงดังตารางต่อไปนี้ผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น สรุปผลทดสอบ          จากผลตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของโลหะหนักทั้งสามชนิดในผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องข้างต้น สรุปได้ว่า         ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องทุกตัวอย่าง มีปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว หรือ แคดเมียม ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข         โดยการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอทและตะกั่ว ตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2556 เรื่อง อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ได้กำหนดให้อาหารในภาชนะบรรจุที่เป็นโลหะ ตรวจพบปริมาณปรอท ได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และ ตรวจพบปริมาณตะกั่ว ได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม         สำหรับการปนเปื้อนของแคดเมียม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 414) พ.ศ. 2563 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน กำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลา ได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม          ซึ่งจากผลทดสอบหากเปรียบเทียบปริมาณการปนเปื้อนโลหะหนักแต่ละประเภทจะพบว่า        ปรอท (Mercury)         - ตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของปรอท น้อยที่สุด 2 ตัวอย่าง ได้แก่          1) ยี่ห้อ SEALECT ซีเล็ค ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ / Tops market สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า                 ตรวจพบปริมาณปรอท เท่ากับ 0.023 มก./กก. และ  2) ยี่ห้อ SEALECT ซีเล็ค ทูน่าสเต็กในน้ำมันถั่วเหลือง / Tops market สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า             ตรวจพบปริมาณปรอท เท่ากับ 0.023 มก./กก.        - ตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของปรอท มากที่สุด 1 ตัวอย่าง ได้แก่         1) ยี่ห้อ SEALECT Fitt ซีเล็ค ฟิตต์ ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ / Tops market สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า             ตรวจพบปริมาณปรอท เท่ากับ 0.189 มก./กก.         ตะกั่ว (Lead)         สำหรับการตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของตะกั่วนั้น ส่วนใหญ่ตรวจไม่พบ หรือพบแต่น้อยกว่า 0.008 มก./กก.          แคดเมียม (Cadmium)         - ตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของแคดเมียม น้อยที่สุด 2 ตัวอย่าง ได้แก่                 1) ยี่ห้อ ROZA โรซ่า ทูน่าก้อน ในน้ำมันพืช / BigC สาขาสุขสวัสดิ์            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ 0.004 มก./กก. และ  2) ยี่ห้อ TCB ทีซีบี ทูน่าชนิดก้อนในน้ำแร่ / FoodLand หลักสี่             ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ 0.004 มก./กก.          - ตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของแคดเมียม มากที่สุด 1 ตัวอย่าง ได้แก่      1) ยี่ห้อ SEALECT Fitt ซีเล็ค ฟิตต์ ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ / Tops market สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ 0.029 มก./กก.         ทั้งนี้ ผลตรวจวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานทุกตัวอย่าง         ข้อสังเกตปริมาณโซเดียม         จากการสำรวจปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ จากข้อมูลโภชนาการบนฉลากบรรจุภัณฑ์ พบว่า        ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค น้อยที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ Tops ท็อปส์ ทูน่าสเต็กในน้ำแร่ / Tops market สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เท่ากับ 45 มิลลิกรัม          และ ตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค มากที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ BROOK บรุค ปลาทูน่าในน้ำมันถั่วเหลือง / Tesco Lotus สาขา ถ.สุขสวัสดิ์ มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เท่ากับ 350 มิลลิกรัม  คำแนะนำสำหรับผู้บริโภค        แม้ว่าผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องจะมีคุณค่าทางอาหารโดยเฉพาะให้โปรตีนสูง ให้แคลอรีต่ำ แต่เนื่องจากมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก แม้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากรับประทานบ่อยครั้งจนเกินไป ก็อาจเกิดการสะสมของโลหะหนักในร่างกายได้ จึงควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ สลับกับการบริโภคอาหารประเภทอื่น        ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงประกาศฉบับเดิมคือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 355 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ให้เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 414 โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่  20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังครบ 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจานุเบกษา  ประกาศฯ ฉบับนี้กำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่วในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปรอทในอาหารประเภทปลาทูน่า โดยอยู่ในรูปเมธิลเมอร์คิวรี (methyl mercury) ได้ไม่เกิน 1.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ซึ่งผลตรวจวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ในปลาทูน่ากระป๋องไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานทั้ง 28 ตัวอย่าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ยาฆ่าหญ้า ไกลโฟเซต อันตรายที่ไกลตัว?

                มหากาพย์เรื่องยาวของการยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายทางการเกษตร 3 ชนิด แบ่งเป็นสารกำจัดวัชพืช (ยาฆ่าหญ้า) 2 ชนิด (พาราควอต และไกลโฟเซต) กับ สารกำจัดแมลง (ยาฆ่าแมลง) 1 ชนิด (คลอร์ไพริฟอส) ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 ได้จบบทแรกลงไปแล้ว โดยที่ได้มีการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ให้พาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ประกาศดังกล่าวส่งผลให้การขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการยกเลิกการใช้สารเคมีประสบความสำเร็จบางส่วน อย่างไรก็ตามยังคงเหลือสารเคมีอีก 1 ตัวที่ยังไม่ถูกแบน ซึ่งได้แก่ยาฆ่าหญ้า – ไกลโฟเซต ที่ยังอยู่ในการควบคุมระดับวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 หรือการจำกัดการใช้เท่านั้น         การคงอยู่ของการใช้ไกลโฟเซตในวงจรการผลิตนำมาซึ่งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยและการตกค้าง ว่าจะมีการตกค้างของไกลโฟเซตหรือไม่ และถ้ามีจะมีมากน้อยเพียงใด “ฉลาดซื้อ” เลยถือโอกาสเก็บตัวอย่างถั่วเหลืองทั้งแบบเต็มเม็ดและแบบผ่าซีก เพื่อทดสอบหาการตกค้างของไกลโฟเซต มาให้หายสงสัยกัน อย่างไรก็ตามต้องแจ้งให้ท่านผู้อ่านทุกท่านทราบก่อนว่าผลการทดสอบครั้งนี้เป็นผลที่เก็บตัวอย่างและทดสอบกันมาระยะหนึ่งแล้วมิใช่การทดสอบที่เพิ่งดำเนินการแต่ประการใด         การเก็บตัวอย่าง 3 ครั้ง ในวันที่ 29 พ.ย., 2 ธ.ค. และ 6 ธ.ค. 62  ได้ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองรวม 8 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ การทดสอบทำตามเกณฑ์มาตรฐานในการอ้างอิงใช้ค่าการตกค้างสูงสุดที่ยอมรับได้จากมาตรฐานอาหารสากล (MRL CODEX : glyphosate 2006) ที่ 20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม        สรุปผลการทดสอบ        ผลการทดสอบพบการตกค้างของไกลโฟเซตจำนวน 5 ตัวอย่าง (ร้อยละ 62.5) (แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน) ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา ไร่ทิพย์ ที่ 0.53 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ถั่วเหลืองซีก ตรา เอโร่ ที่ 0.07 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, ถั่วเหลือง ตรา ด็อกเตอร์กรีน ที่ 0.50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท ที่ 0.20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, และถั่วเหลืองผ่าซีก ตรา แม็กกาแรต ที่ 0.24 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยมี 3 ตัวอย่าง ที่ไม่พบการตกค้าง (ร้อยละ 37.5) ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา บิ๊กซี, ถั่วเหลิองออร์แกนิค ตรา โฮม เฟรช มาร์ท, และถั่วเหลืองซีก ตรา ท็อปส์         นอกจากไกลโฟเซตแล้ว “ฉลาดซื้อ” ยังได้ตรวจสอบหาสารที่เป็นเมตาโบไลท์หลักของไกลโฟเซตชื่อ Aminomethyphosphonic acid: AMPA ซึ่งตรวจพบการตกค้างของ AMPA จำนวน 4 ตัวอย่าง (ร้อยละ 50) ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา ไร่ทิพย์ ที่ 0.84 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ถั่วเหลืองซีก ตรา เอโร่ ที่ 0.16 มิลลิกรัม/กิโลกรัม,   ถั่วเหลือง ตรา ด็อกเตอร์กรีน ที่ 0.79 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, และถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท ที่ 0.51 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนอีก 4 ตัวอย่างที่ตรวจไม่พบได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา บิ๊กซี, ถั่วเหลิองออร์แกนิค ตรา โฮม เฟรช มาร์ท, ถั่วเหลืองซีก ตรา ท็อปส์, และถั่วเหลืองผ่าซีก ตรา แม็กกาแรต         ข้อสังเกต จากทั้งหมดที่พบไกลโฟเซตจำนวน 5 ตัวอย่างมี 3 อย่าง (ถั่วเหลืองตราไร่ทิพย์, ถั่วเหลืองซีกตราเอโร่, และถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท) ที่เป็นผู้ผลิตรายเดียวกันคือ บริษัท ไร่ธัญญะ จำกัด         แม้ว่าการตรวจพบไกลโฟเซตจำนวน 5 ตัวอย่างจาก 8 ตัวอย่าง (มี 1 ตัวอย่างเป็นถั่วเหลืองออร์กานิค) นั้น จะไม่มีตัวอย่างใดเลยที่สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานอาหารสากล (ค่าเฉลี่ยเพียงแค่ 0.31 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) แต่การพบการตกค้างหมายความว่า ยังคงมีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ หากมีการบริโภคในปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากถั่วเหลืองที่ไม่ผ่านความร้อนสูงไม่ว่าจะเป็นน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ฟองเต้าหู้ ฯลฯ         การตกค้างที่ตรวจพบไม่ใช่เรื่องไกลตัวของผู้บริโภค ดังนั้นผู้บริโภคที่นิยมการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากถั่วเหลืองในกลุ่มที่กล่าวไว้ข้างต้นอาจจะต้องสนใจในแหล่งที่มาของวัตถุดิบของอาหารของเราให้มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในข้อเสนอของฉลาดซื้อ คือ การแสดงฉลากโดยระบุว่า “ใช้ สาร….” (ในที่นี้คือไกลโฟเซต) ตรงส่วนประกอบของอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนที่จะเลือกซื้อ และเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับสารเคมีเกินสมควรด้วยตนเอง         อย่างไรก็ตามความปลอดภัยของผู้บริโภค ณ ต้นทาง ย่อมสำคัญกว่าการจัดการที่ปลายทาง ฉลาดซื้อยังคงคาดหวังที่จะเห็นการยกเลิกการใช้ไกลโฟเซตเช่นเดียวกันกับ พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ในอนาคตอันใกล้นี้ จึงอยากขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีส่วนร่วมโดยการเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย เร่งรัดการยกเลิกการใช้ไกลโฟเซตโดยเร็วที่สุด โดยร่วมกันไม่อุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่แสดงว่ามีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง ทั้งนี้ให้เริ่มจากไกลโฟเซตเป็นลำดับแรก*ข้อมูลประกอบhttps://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%82%E0%B8%9F%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%95 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ลิปสติกสีแดง

        ช่วงปลายปีที่แล้วนิตยสารเกอชัวร์ซีร์ Que Choisir  ซึ่งเป็นนิตยสารขององค์กรผู้บริโภคฝรั่งเศสที่เป็นสมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ได้ทำการตรวจหา “สารไม่พึงประสงค์” ใน “ลิปสติกสีแดง” ยอดนิยม 20 ยี่ห้อ หลายยี่ห้อมีขายในเมืองไทย ฉลาดซื้อเลยถือโอกาสนำมาเผยแพร่ให้สมาชิกสายบิวตี้ได้ใช้ประกอบการตัดสินใจ        การทดสอบซึ่งทำโดยห้องปฎิบัติการในกรุงเบอลิน เยอรมนี ครั้งนี้เป็นการตรวจหา        - โลหะหนัก ซึ่งมักพบในสารให้สี ได้แก่ สารหนู ตะกั่ว แคดเมียม พลวง และปรอท        -  สารไฮโดรคาร์บอนในน้ำมันมิเนอรัล Mineral oil saturated hydrocarbons (MOSH),  Mineral oil aromatic hydrocarbons (MOAH) และไฮโดรคาร์บอนสังเคราะห์ Polyolefin Oligomeric saturated hydrocarbons (POSH)         ก่อนหน้านี้ฉลาดซื้อฉบับเดือนตุลาคม 2560 เคยนำเสนอผลทดสอบลิปบาล์มทั้งในแง่ความปลอดภัยและความพึงพอใจของผู้ใช้ แต่คราวนี้เราเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลักจึงไม่มีการนำเสนอด้วย “ดาว” เราจะขอแยกเป็น “ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย” “ผลิตภัณฑ์ที่พอรับได้” และ “ผลิตภัณฑ์ที่ไม่แนะนำ”  ในภาพรวมเราพบสารตะกั่วในลิปสติก 19 จาก 20 ยี่ห้อ แต่ทั้งหมดอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ตามมาตรฐานยุโรป (แต่ถ้าใช้เกณฑ์ของเยอรมนีที่เข้มข้นกว่าจะพบว่ามีสองยี่ห้อที่ไม่ผ่าน คือ L’OREAL และ BOHO Green) ส่วนยี่ห้อที่ไม่พบตะกั่วเลยได้แก่ Two Faced … แต่ถึงแม้จะไม่มีตะกั่ว ยี่ห้อนี้ป็นหนึ่งในห้ายี่ห้อในกลุ่ม “ไม่แนะนำ” เพราะมีสารไฮโดรคาร์บอนเกินร้อยละ 10 ... พลิกหน้าต่อไปเพื่อดูกันเต็มๆ ว่ายี่ห้อไหนบ้างที่คู่ควรกับคุณ-----น้ำมันมิเนอรัล (หรือพาราฟินเหลว) เป็นผลพลอยได้จากการผลิตปิโตรเลียม สารนี้เป็นที่นิยมใช้ในเครื่องสำอางหลายชนิดเพราะหาได้ง่าย ราคาถูก และไม่เน่าเสีย แต่ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีข้อห่วงใยว่ามันอาจเป็นสารก่อมะเร็งหรือเร่งการเกิดเนื้องอกได้ ผู้ผลิตหลายเจ้าจึงหันไปหาทางเลือกอื่น------ค่าทดสอบอยู่ที่ตัวอย่างละ 350 ถึง 500 ยูโร (ประมาณ 12,000 ถึง 17,500 บาท) และต้องใช้ลิปสติกอย่างน้อย 16  แท่งต่อหนึ่งตัวอย่าง-----            “ลิปสติกเอ็ฟเฟ็กต์” คือข้อสันนิษฐานที่ว่าเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เครื่องสำอางโดยเฉพาะอย่างยิ่งลิปสติกจะขายดีขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคยังต้องการเป็นเจ้าของ “สินค้าหรูหรา” แต่ยังเป็นห่วงเงินในกระเป๋า จึง “ลดสเปก” จากสินค้าราคาสูง (เช่น กระเป๋าแบรนด์เนม) มาเป็นลิปสติกที่พอจะสู้ราคาไหวนั่นเอง ในขณะที่บางคนก็เลือกประหยัดงบด้านอื่นเพื่อเก็บไว้ซื้อลิปสติก ... จริงเท็จอย่างไรยังฟันธงไม่ได้ แต่มีข่าวลือว่าหลังเหตุการณ์ 9/11 ในนิวยอร์ก ยอดขายลิปสติกในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว        ลิปสติกจะหมดเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่การใช้ของแต่ละคน เรื่องนี้พูดยาก แต่งานวิจัยชิ้นหนึ่งในปี 2005 ที่วัดปริมาณลิปสติกของของผู้ใช้ลิปสติกเป็นประจำ 360 คน (อายุระหว่าง 19 – 65 ปี) ในช่วงสองสัปดาห์ พบว่ากลุ่มตัวอย่างทาลิปสติกเฉลี่ยวันละ 2.4 ครั้ง (ร้อยละ 11 ใช้มากกว่าวันละ 4 ครั้ง) ในแต่ละครั้งเนื้อลิปสติกจะหมดไปประมาณ 5 มิลลิกรัม (มีถึงร้อยละ 12 ที่ใช้ 20 มิลลิกรัมหรือมากกว่า) โดยรวมแล้วมีการใช้ลิปสติกระหว่าง 24 - 80 มิลลิกรัมในแต่ละวัน… แน่นอนว่าในปริมาณนี้บางส่วนก็ถูกผู้ใช้กลืนลงกระเพาะไปบ้าง ส่วนผสมในลิปสติกจึงเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ต้องใส่ใจ นอกจากสีสัน เนื้อสัมผัส หรือราคา

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 232 อู่ซ่อมรถด้วยอะไหล่มือสองไม่มีคุณภาพ ทำอย่างไรได้บ้าง

        รถยนต์เกิดความเสียหายเนื่องจากอุบัติเหตุ เมื่อนำเข้าอู่ซ่อมตามที่บริษัทประกันรถแนะนำ ก็ยังไม่วายโดนดี มีการซ่อมแซมด้วยอะไหล่มือสองของไม่มีคุณภาพ แถมยังกักรถไว้ต่อรองเรียกเงินอีก นี่คือสิ่งที่คุณชนิกาและสามีร้องเรียนมาเพื่อขอคำปรึกษา เรามาดูกันว่าเรื่องเป็นมาอย่างไรและควรจัดการอย่างไร         เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา คุณชนิกาขับรถอยู่ดีๆ ในช่องทางที่ถูกต้อง ก็มีรถยนต์อีกคันพุ่งมาชน โชคดีที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่โชคร้ายที่รถยนต์ได้รับความเสียหายจนใช้งานไม่ได้ อย่างไรก็ตามรถยนต์คันนี้มีประกันภัย ชั้นสอง บวกทุนค่าซ่อมรถยนต์ 1,000,000 บาท กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งไว้ ขอเรียกว่า บริษัท A จึงพอให้อุ่นใจว่าไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการซ่อม        เจ้ากรรมรถยนต์ที่อุตส่าห์ลากไปยังอู่ที่รู้จักปฏิเสธให้บริการด้วยเหตุผลว่า ไม่ใช่อู่ที่อยู่ในเครือของบริษัทประกัน A จึงปรึกษากับตัวแทนบริษัทประกันว่า ควรเข้าซ่อมที่อู่ไหน ซึ่งบริษัทแนะนำ อู่ ช. ว่าเป็นอู่ในเครือของประกัน เธอจึงนำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าซ่อมแซมกับอู่ดังกล่าว อู่กับบ.ประกันทำสัญญาซ่อมแซมกัน แบบเต็มวงเงินคือ 1 ล้านบาท โดยบ.ประกันโอนเงินดังกล่าวให้กับสามีของคุณชนิกาซึ่งเป็นเจ้าของรถ เมื่อโอนเงินแล้วก็ยกเลิกกรมธรรม์ไป และระบุว่า ไม่รับผิดชอบใดๆ หลังโอนเงินเต็มทุนประกันแล้ว         ดังนั้นเธอและสามีจึงต้องเป็นคนติดตามการซ่อมแซมดังกล่าว ซึ่งพบปัญหาหลายประการ เช่น การจัดหาอะไหล่ที่ไม่ตรงกับรุ่น มีการนำอะไหล่มือสองไม่มีคุณภาพมาเปลี่ยนและมีการแปลงสภาพรถ เธอกับสามีพยายามติดต่อเพื่อขอให้ใช้อะไหล่ที่ได้มาตรฐาน แต่ทางอู่ไม่ยอมรับฟังข้อเสนอ เธอและสามีจึงขอยุติการซ่อมกับ อู่ ช. และตั้งใจจะนำรถไปซ่อมที่อู่อื่นแทน ทางบ.ประกันก็ทำหนังสือยุติการซ่อมมาให้ในเดือนธันวาคม 2562 เมื่อเธอกับสามีจะไปนำรถออกจากอู่ ต้องพบกับท่าทีคุกคามของเจ้าของอู่และพนักงานของอู่ ช. เพื่อเลี่ยงการทะเลาะวิวาทเธอและสามีจึงไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ และไปร้องเรียนต่อ คปภ.และแจ้งให้บริษัทประกันภัยช่วยเข้ามาเคลียร์ให้ จึงมีการนัดเจรจากันขึ้น ผลการเจรจาคือ อู่ขอเก็บเงินค่าซ่อมแบบเหมา 850,000 บาท โดยไม่มีการชี้แจงค่าใช้จ่ายในส่วนของอะไหล่ต่างๆ หากไม่ยินยอมจ่ายอู่จะใช้สิทธิกักรถไว้ คุณชนิการู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เพราะอู่ชี้แจงไม่ได้ว่า จำนวนเงิน 850,000 มีที่มาอย่างไร อู่จึงยึดรถไว้ ทำให้คุณชนิกาขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ ไปถึง 93 วัน เธอจึงปรึกษามาว่าควรทำอย่างไร แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากโทรมาปรึกษา คุณชนิกาตัดสินใจฟ้องร้องอู่ ช. โดยทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ให้คำแนะนำว่า แม้จะเป็นการซ่อมรถตามที่ซื้อประกันไว้ แต่การซ่อมก็ยังคงต้องทำตามหลักเรื่องสัญญา หากซ่อมแล้วมีการปกปิดและแอบนำเอาอะไหล่มือสองมาอ้างเป็นอะไหล่แท้ อาจเข้าข่ายเป็นการฉ้อโกง หรือการคิดการซ่อมแซมแบบเหมาจ่ายโดยที่ไม่ได้รับความยินยอมก่อน ผู้บริโภคมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากค่าขาดประโยชน์ได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 สังฆทานที่โยมถวายมา มียาหมดอายุ

        เมื่อกล่าวถึงการเข้าวัดทำบุญ พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่อาจนึกถึงกิจกรรมทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทาน หรือปล่อยนกปล่อยปลา เช่นเดียวกับคุณนริศที่ชอบซื้อชุดสังฆทานไปถวายพระ ซึ่งเดิมเคยคิดว่าการทำบุญนั้นไม่น่าจะยุ่งยากอะไร แต่เมื่อต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้เข้า คุณนริศจึงทราบว่าการทำบุญนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความรอบคอบเช่นกัน         เช้าวันหนึ่งคุณนริศได้จอดรถแวะซื้อชุดสังฆทานที่ตลาดแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี เพื่อนำไปทำบุญที่วัดแถวละแวกบ้าน  คุณนริศเป็นชาวพุทธคนหนึ่งที่ชอบถวายสังฆทานเป็นประจำ เพราะมีความเชื่อว่าการถวายสังฆทานเป็นการทำบุญที่ได้อานิสงส์มาก เมื่อเดินทางมาถึงวัดและถวายสังฆทานเสร็จเป็นที่เรียบร้อย หลวงพี่ท่านหนึ่งก็ได้บอกกับคุณนริศว่า สังฆทานที่โยมเคยนำมาถวายครั้งก่อนนั้น มีของหมดอายุ โดยเฉพาะพวกยาต่างๆ นั้นไม่สามารถใช้การได้เลย         คุณนริศทราบเช่นนั้น จึงเกิดความไม่สบายใจ และคิดว่าทำไมคนขายสังฆทานถึงได้บรรจุของที่ไม่มีคุณภาพ โดยเฉพาะยาที่หมดอายุเอาไว้ในชุดสังฆทานเช่นนี้ หรือคนขายก็ไม่ทราบเช่นกันว่า ของที่ถูกบรรจุอยู่ในชุดสังฆทานนั้นหมดอายุ จึงได้สอบถามมาขอคำแนะนำถึงวิธีแก้ปัญหา เพราะตนนั้นก็ชอบทำบุญด้วยการถวายสังฆทานอยู่บ่อยครั้งแนวทางการแก้ไขปัญหา         คุณนริศสามารถร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สายด่วน 1166 หรือ สคบ.ประจำจังหวัดให้ช่วยตรวจสอบร้านค้าที่จำหน่ายชุดสังฆทานดังกล่าวได้ เพราะชุดสังฆทาน หรือ ชุดไทยธรรม นั้นเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2550) ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ สคบ.         โดยชุดสังฆทานที่จำหน่ายทั่วไปนั้น ต้องติดหรือแสดงฉลากเป็นข้อความภาษาไทยที่สามารถอ่านได้ชัดเจน มีการระบุขนาด มิติ ปริมาณ ปริมาตร น้ำหนัก จำนวน และแจกแจงราคาของสินค้าแต่ละรายการ รวมถึงวันหมดอายุ และวันเดือนปีที่บรรจุชุดสังฆทาน โดยหากพบผู้จำหน่ายชุดสังฆทานที่ไม่มีฉลาก หรือ แสดงฉลากไม่ถูกต้อง จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         กรณีนี้ ยังพบว่ามียาหมดอายุซึ่งถือว่าเป็นยาที่เสื่อมคุณภาพแล้วบรรจุอยู่ในชุดสังฆทาน ซึ่งตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 121 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาเสื่อมคุณภาพ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72(3) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 3,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ดังนั้นหากผู้บริโภคจะเลือกซื้อสังฆทานไปทำบุญ ก็ขอให้เลือกซื้อแบบที่มีฉลากถูกต้อง โดยสามารถดูรายการสินค้าแต่ละชนิด และวันหมดอายุได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ทำถูกกฎหมายด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 ซื้อมือถือใหม่ แต่ใช้งานไม่ได้

        คุณศิริพร อยากเปลี่ยนมือถือใหม่ จึงตัดสินใจซื้อสมาร์ทโฟน จำนวน 2 เครื่อง ในราคาเครื่องละ 5,000 บาท จากร้านขายโทรศัพท์มือถือในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต เมื่อคุณศิริพรนำมือถือไปใช้งานก็พบปัญหาการใช้งานทั้ง 2 เครื่อง โดยสมาร์ทโฟนมีการอาการติดๆ ดับๆ ขัดข้องอยู่เป็นประจำ         เมื่อโทรศัพท์เกิดอาการผิดปกติอยู่บ่อยครั้ง คุณศิริพรจึงตัดสินใจนำโทรศัพท์กลับไปที่ร้านค้าเพื่อส่งตรวจสอบที่ศูนย์ซ่อม หลังจากที่ได้รับเครื่องกลับจากศูนย์บริการ คุณศิริพรก็ยังคงพบอาการผิดปกติเช่นเดิมอีก อยู่ประมาณ 4-5 ครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุด โทรศัพท์ที่ถูกชาร์จแบตเตอรี่ทิ้งไว้ ก็เกิดเสียงดังจนน่ากลัว คุณศิริพรจึงตระหนักถึงความไม่ปลอดภัย คิดว่าหากยังคงฝืนใช้งานต่อไปอาจเกิดอันตรายได้         เธอจึงนำโทรศัพท์กลับไปที่ร้านอีกครั้ง เพื่อขอให้ทางร้านช่วยเปลี่ยนโทรศัพท์เป็นรุ่นอื่นแทน เนื่องจากไม่มั่นใจในความปลอดภัยของโทรศัพท์รุ่นที่ใช้อยู่แล้ว โดยยินดีจ่ายเงินเพิ่มหากมีราคาส่วนต่าง แต่พนักงานร้านได้แจ้งกับคุณศิริพรว่า ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นรุ่นใหม่ให้ได้ ตามนโยบายเปลี่ยนได้ก็เพียงเครื่องใหม่แต่เป็นรุ่นเดิม คุณศิริพรเห็นว่าการกระทำดังกล่าวนั้นไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค จึงได้ติดต่อมาขอคำแนะนำว่าควรทำอย่างไรดีแนวทางการแก้ไขปัญหา         ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด          เว้นแต่ผู้ซื้อรู้อยู่แล้วตั้งแต่ต้นว่าสินค้านั้นมีความชำรุดบกพร่อง แต่ยังคงยินดีที่จะซื้อ หรือสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ขายทอดตลาด ผู้ขายจึงจะไม่ต้องรับผิดชอบ        กรณีคุณศิริพรซื้อโทรศัพท์ใหม่แล้วไม่สามารถใช้งานได้ทั้งสองเครื่อง โดยอาการผิดปกติดังกล่าวเป็นความชำรุดบกพร่องของสินค้าตั้งแต่ต้น ซึ่งคุณศิริพรได้ทราบถึงความชำรุดก็เมื่อนำมาใช้งาน และความชำรุดนั้นไม่ได้เกิดจากการใช้งานของคุณศิริพรเอง ถือว่าผู้ขายได้ทำการส่งมอบทรัพย์ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ถูกต้องตรงตามสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิขอบอกเลิกสัญญาได้         คุณศิริพรจึงสามารถบอกเลิกสัญญา โดยนำโทรศัพท์ที่ชำรุดกลับไปขอคืนเงินได้ทั้ง 2 เครื่อง หรือ หากต้องการเปลี่ยนเป็นเครื่องรุ่นใหม่ ก็สามารถเจรจาทำความตกลงกับผู้ขายใหม่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องนำโทรศัพท์เข้าศูนย์ซ่อม โดยเฉพาะเมื่อชาร์จแล้วเกิดเสียงดัง ซึ่งอาจนำมาซึ่งความไม่ปลอดภัย หากร้านค้ายังคงไม่ให้เปลี่ยน ก็สามารถฟ้องคดีได้โดยข้อรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่อง สามารถฟ้องคดีได้ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่คุณศิริพรได้พบเห็นถึงความชำรุดบกพร่องนั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 อยู่ๆ ก็มีคนเอาบัตรเครดิตไปใช้

        ภูผา หนุ่มผู้ชอบสะสมบัตรเครดิตเป็นชีวิตจิตใจ จนต้องมีกระเป๋าสำหรับใส่บัตรเครดิตโดยเฉพาะ ด้วยความที่รู้ตัวดีว่าตัวเองเป็นคนขี้กังวล เขาจึงใช้บัตรเครดิตด้วยความระมัดระวังตลอด แต่แล้ววันหนึ่งขณะเขานั่งทำงานอยู่ก็ได้รับข้อความว่า มีการใช้บัตรเครดิตของธนาคาร B ของเขา จ่ายค่าที่พักที่ประเทศเกาหลี เป็นเงินวอน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 19,000 บาท เขาตกใจเป็นอย่างมาก เพราะว่าเขาไม่เคยไปประเทศเกาหลีเลย และจะมีการใช้บัตรได้อย่างไร แล้วบัตรเครดิตใบนี้ก็ยังอยู่ที่เขาขณะได้รับข้อความ         หลังจากตั้งสติได้เขารีบโทรศัพท์ไปยังคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารเจ้าของบัตร ว่ามีการขโมยข้อมูลใช้บัตรเครดิต ขอให้ธนาคารอายัดบัตรเครดิตใบดังกล่าว เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะดำเนินการอายัดบัตรให้ หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์เขาได้รับใบแจ้งหนี้บัตรเครดิตโดยมียอดที่เขาไม่ได้ใช้ คือยอดเงินที่เขาถูกขโมยใช้ข้อมูลบัตรเครดิตที่ได้โทรศัพท์ไปแจ้งคอลเซ็นเตอร์แล้วประมาณ 19,000 บาท         ด้วยความไม่สบายใจว่าตนเองไม่ได้ใช้เงินดังกล่าวและสงสัยว่าเขาได้โทรศัพท์ไปแจ้งธนาคารเจ้าของบัตรแล้ว ทำไมยังมีใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินดังกล่าวมาอีก เขาจึงโทรศัพท์ไปตามเรื่องที่คอลเซ็นเตอร์ธนาคารเจ้าของบัตรอีกครั้งหนึ่ง เจ้าหน้าที่แนะนำให้เขาเข้าไปติดต่อธนาคารเพื่อกรอกแบบฟอร์มปฏิเสธการจ่ายเงินยอดดังกล่าว เขาไม่แน่ใจว่าการธนาคารจะดำเนินเรื่องให้เขาหรือไม่ เพราะว่าก่อนหน้านี้เขาโทรไปแจ้งเจ้าหน้าที่แล้ว แต่ก็ยังมีใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินมายังเขาอีก เขาจึงร้องเรียนมายังมูลนิธิ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำว่า ผู้ร้องได้ทักท้วงไปยังธนาคารเจ้าของบัตรแล้วว่าไม่ได้เป็นผู้ใช้บัตรเครดิต เป็นการถูกขโมยข้อมูลบัตรเครดิต ธนาคารต้องระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้ร้อง เว้นแต่ธนาคารเจ้าของบัตรจะพิสูจน์ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้ใช้บัตร ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2542 ข้อ 3 (7) (ก)         เนื่องจากผู้ร้องมีการจัดการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น โดยการโทรศัพท์อายัดบัตรเครดิตที่คอลเซ็นเตอร์ของธนาคารเจ้าของบัตรแล้ว ผู้ร้องสามารถดำเนินการเพิ่มเติมได้ดังนี้         1. ผู้ร้องแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจเพื่อเป็นหลักฐาน โดยแจ้งรายละเอียดว่าบัตรเครดิตถูกขโมยข้อมูลอย่างไร เหตุเกิดเมื่อไร ฯลฯ         2. ผู้ร้องทำหนังสือปฏิเสธรายการเรียกเก็บเงินที่ผู้ร้องไม่ได้ใช้ และแนบสำเนาใบลงบันทึกประจำวัน ส่งไปยังธนาคารเจ้าของบัตร ณ สำนักงานใหญ่ โดยส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ถึง ประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือ ตำแหน่งอื่นๆ ที่เทียบเท่า         3. ผู้ร้องชำระหนี้บัตรเครดิตตามรายการที่ได้ใช้จ่ายจริง ยกเว้นหนี้ที่เกิดจากถูกขโมยใช้ข้อมูลบัตรเครดิตจำนวน 19,000 บาท          4. ทุกครั้งที่ธนาคารแจ้งให้ชำระหนี้รายการที่ไม่ได้ใช้งานจริง ให้ทำผู้ร้องหนังสือแจ้งปฏิเสธรายการที่ไม่ได้ใช้ทุกครั้ง         หลังจากผู้ร้องทำหนังสือปฏิเสธรายการเรียกเก็บเงินที่ผู้ร้องไม่ได้ใช้ประมาณ 2 วัน ผู้ร้องได้รับ SMS จากธนาคารว่าจะดำเนินการให้ หลังจากนั้นผู้ร้องได้รับจดหมายแจ้งปลดยอดวงเงินในบัตร และได้รับบัตรเครดิตใบใหม่        “การติดต่อขอปฏิเสธการจ่ายเงิน ควรทำเป็นลายลักษณ์อักษรทุกครั้ง เพื่อเป็นหลักฐาน การติดต่อด้วยวาจาอาจจะไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 ถึงโควิดบุกแหลก ก็อย่าสติแตกกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด

        ยุคโควิด 19 ระบาด สิ่งที่บุกแหลกไม่แพ้เชื้อโควิด 19 ก็คือ ข้อมูลข่าวสารจากแหล่งต่างๆ จริงบ้าง มั่วบ้าง คลาดเคลื่อนบ้าง กระหน่ำมาตามๆ กัน นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการทำความสะอาดหรือฆ่าเชื้อโรคก็ไม่ยอมตกขบวนมีจำหน่ายในท้องตลาดมากมาย แต่ละผลิตภัณฑ์ก็อ้างว่าจัดการเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้อยู่หมัด แต่ที่แน่ๆ มันจะจัดการดูดเงินในกระเป๋าสตางค์เราไปก่อนเป็นอันดับแรก ฉลาดซื้อเล่มนี้ขอแนะนำผลิตภัณฑ์และวิธีการการทำความสะอาดอย่างฉลาดซื้อฉลาดใช้เพื่อความปลอดภัยและไม่สิ้นเปลือง        สิ่งแรกที่ต้องเข้าใจคือ โควิด 19 มันคือไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งหากมันเข้าไปอยู่ในร่างกายของเรา มันก็จะมีชีวิตอยู่ได้เรื่อยๆ ยิ่งคนที่อ่อนแอ หรือมีภูมิต้านทานต่ำๆ มันก็จะยิ่งออกลูกออกหลานกันสนุกสนานอยู่ในร่างกายเราเพิ่มมากขึ้นไปอีก แต่ถ้าเราเป็นคนแข็งแรงมีภูมิต้านทานสูงภูมิต้านทานในร่างกายเราก็จะช่วยกันจัดการเจ้าไวรัสตัวแสบนี้ได้         และเมื่อมันหลงเข้ามาอยู่ในร่างกายเราแล้ว บางทีเราก็จะเผลอแพร่เชื้อไปสู่คนรอบข้างได้ เพราะมันจะหลุดออกมากับละอองฝอยของน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ และน้ำตาของเรา กระเด็นไปสู่คนรอบข้างที่อยู่ใกล้ๆ หรือกระเด็นไปติดตามที่ต่างๆ แล้วดันมีคนโชคร้ายไปสัมผัสตรงพื้นที่นั้นก็รับเชื้อจากเราไปโดยไม่รู้ตัว นี่คือเหตุผลที่เขาจึงรณรงค์ให้ กินร้อน ใช้ช้อนตัวเอง เร่งล้างมือ คาดหน้ากากปิดจมูกและปาก และอย่าอยู่ใกล้ชิดกันเกินไป         โดยทั่วไปแล้ว เชื้อไวรัสเมื่อมันอยู่นอกร่างกายเรา มันจะใจเสาะอายุสั้น แค่ไม่กี่ชั่วโมงก็ตายแล้ว แต่เจ้าโควิด 19 มันเป็นไวรัสพันธุ์หัวแข็งตายยากกว่าไวรัสอื่นๆ เช่น ถ้าอยู่บนโต๊ะ พื้นผิวต่างๆ หรือลูกบิดประตู ก็อยู่ได้ถึง 4 – 5 วัน แต่ถ้ามันเจออากาศที่ร้อนกว่า 30 องศาเซลเซียส อายุก็จะสั้นลง ปัจจุบันจะมีผลิตภัณฑ์ ที่อ้างว่าสามารถใช้ทำลายเชื้อโควิด 19 ได้ ซึ่งขึ้นกับชนิดของสารเคมี บางชนิดก็ราคาแพงมาก แต่ที่จริงแล้วเจ้าโควิด 19 นี้ มันตายได้ง่ายถ้าเจอสบู่ น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาดต่างๆ ตลอดจนเจอความร้อนสูงๆ  รู้อย่างนี้จะจ่ายแพงกว่าทำไม ขอแนะนำในการทำความสะอาดสิ่งต่างๆ ที่ง่ายและประหยัดดังนี้        การทำความสะอาดมือ ถ้าอยู่บ้านหรือสำนักงาน ให้ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือน้ำยาล้างมือก็พอแล้ว ทางสาธารณสุขเขาแนะนำให้ล้างมือ 7 ขั้นตอน แต่ถ้าจำไม่ได้ ก็จำง่ายๆ แค่ล้างให้ละเอียดทั่วทุกซอกทุกมุม ให้มือสัมผัสกับสบู่หรือน้ำยานานพอสมควร นานประมาณร้องเพลงช้างช้างช้าง 2 รอบก็ได้ และหากออกไปนอกบ้าน หาที่ล้างมือไม่ได้ ก็สามารถใช้แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อแทนได้ จะเป็นน้ำยาแอลกอฮอล์ หรือแอลกอฮอล์เจลก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องมี % ของแอลกอฮอล์ไม่น้อยกว่า 70% และเมื่อใช้แล้วก็ไม่ต้องเช็ดออก ต้องปล่อยทิ้งไว้ให้มือแห้งเองด้วย         ถ้วยชามภาชนะต่างๆ ใช้น้ำยาล้างจานทั่วไปก็พอแล้ว ถ้าไม่มั่นใจก็นำมาตากแดด หรือลวกด้วยน้ำร้อนหรือน้ำเดือดสัก 30 วินาที         สำหรับเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ก็ใช้ผงซักฟอกเหมือนที่เคยใช้ แล้วเอามาตากแดดร้อนๆ ของเมืองไทย ก็ใช้ได้แล้ว         ส่วนพื้นผิวต่างๆ เช่น โต๊ะ ลูกบิด ราวบันได ใช้แอลกอฮอล์ 70 %  หรือน้ำยาทำความสะอาดชนิดที่ระบุว่าฆ่าเชื้อไวรัสได้ เช็ดถูทำความสะอาดให้ทั่ว และเช็ดบ่อยๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่ามีคนมาสัมผัสมากน้อยขนาดไหน         สำหรับพื้นที่เราเหยียบย่ำนั้น สามารถใช้ ผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาดพื้นชนิดที่ระบุว่าฆ่าเชื้อไวรัสได้ เช็ดถูทำความสะอาด วันละ 1 – 2 ครั้ง ขึ้นกับสถานการณ์ต่างๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำคัญไฉน ? (ตอนที่ 1 )

        สถานการณ์ปัจจุบันกับการเฝ้าระวังและดูแลตนเองไม่ให้ติดเชื้อโควิค – 19 แต่ในขณะเดียวกัน ในเร็วๆ นี้ก็จะมีการบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ปี 2562 ในวันที่ 28 พ.ค.2563 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน รูปแบบการดำเนินธุรกิจและการกระทำของหน่วยงานรัฐ โดยผู้เขียนจะยกเอาประเด็นทั่วไปมากล่าวเบื้องต้น        ข้อมูลส่วนบุคคล หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรมโดยเฉพาะ ซึ่งตามกฎหมายไม่ได้ยกตัวอย่างว่าอย่างไรบ้างที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้นเพื่อให้มีหลักในการพิจารณาโดยจะกำหนดแนวปฎิบัติการกำหนดและแยกแยะข้อมูลส่วนบุคคล ดังนี้        แนวปฎิบัติการกำหนดและแยกแยะข้อมูลส่วนบุคคล        ขั้นตอนพื้นฐานเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคล แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ        1. ขอบเขตของข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะช่วยให้ทราบว่าข้อมูลใดเป็นข้อมูลที่อยู่ในขอบเขตความหมายของข้อมูลส่วนบุคคล        2. การกำหนดและแยกแยะข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะช่วยให้สามารถระบุข้อมูลส่วนบุคคลตามกระบวนการทำงานต่างๆขององค์กรและจัดการตามความเสี่ยงของแนวปฎิบัติ        ความสามารถในการระบุไปถึงเจ้าของข้อมูลมี 3 ลักษณะ        1.การแยกแยะ หมายถึง การที่ข้อมูลสามารถระบุแยกแยะตัวบุคคลออกจากกันได้ เช่น ชื่อสกุล หรือเลขบัตรประชาชน        2. การติดตาม หมายถึง การที่ข้อมูลสามารถถูกใช้ในการติดตามพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่บุคคลนั้นทำได้ เช่น Log file        3. การเชื่อมโยง หมายถึง การที่ข้อมูลสามารถถูกใช้เชื่อมโยงกันเพื่อระบุไปถึงตัวบุคคล         ดังนั้นข้อมูลส่วนบุคคลจึงเป็นข้อมูลทั้งหลายที่สามารถใช้ระบุถึงบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลได้ แม้ว่าข้อมูลที่มีอยู่นั้นจะไม่สามารถใช้ระบุถึงบุคคลได้แต่หากใช้ร่วมกับข้อมูลหรือสารสนเทศอื่นๆประกอบกันแล้วก็สามารถระบุถึงตัวบุคคลได้ โดยไม่จำเป็นว่าข้อมูลหรือสารสนเทศอื่นนั้นได้มีอยู่ด้วยกัน ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะเป็นจริงหรือเป็นเท็จ และเมื่อเป็นข้อมูลที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล หน่วยงานหรือองค์กรทั้งหลายจะต้องขอความยินยอมในการที่จะเก็บ รวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลสำหรับการติดต่อทางธุรกิจ และต้องปฎิบัติตามแนวปฎิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลสำหรับการติดต่อทางธุรกิจ         ตัวอย่างที่เป็นข้อมูลที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อสกุลหรือชื่อเล่น เลขหนังสือเดินทาง เลขบัตรประกันสังคม เลขใบอนุญาตขับขี่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี เลขบัตรเครดิต หรือข้อมูลอุปกรณ์หรือเครื่องมือ เช่น IP address , Cookie ID หรือข้อมูลทางชีวมิติ เช่น รูปใบหน้า,ลายนิ้วมือ,ฟิล์มเอกซเรย์ ข้อมูลสแกนม่านตา ,ข้อมูลอัตลักษณ์เสียง,ข้อมูลพันธุกรรม หรือข้อมูลระบุทรัพย์สินของบุคคล เช่น ทะเบียนรถยนต์,โฉนดที่ดิน หรือข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงไปยังข้อมูลข้างต้นได้ เช่น วันเกิดหรือสถานที่เกิด,เชื้อชาติ,สัญชาติ,น้ำหนัก ส่วนสูง ข้อมูลการแพทย์ ข้อมูลการศึกษา ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลบันทึกต่างๆที่ใช้ติดตามหรือตรวจสอบกิจกรรมต่างๆของบุคคล เช่น Log file เป็นต้น         ตัวอย่างข้อมูลที่ไม่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ข้อมูลสำหรับการติดต่อทางธุรกิจที่ไม่ได้ระบุถึงตัวบุคคล เช่น หมายเลขโทรศัพท์ หรือที่อยู่ที่ทำงาน ,อีเมล์ที่ใช้ในการทำงาน,อีเมล์ของบริษัท หรือข้อมูลผู้ตาย         ข้อมูลอ่อนไหว ( Sensitive Personal Data ) เป็นข้อมูลที่เป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้ของบุคคล แต่มีความละเอียดอ่อนและสุ่มเสี่ยงต่อการถูกใช้ในการเลือกปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรม จึงจำเป็นต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ ตัวอย่างข้อมูลอ่อนไหว เช่น เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิ พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลสุขภาพ ความพิการ หรือข้อมูลสุขภาพจิต ข้อมูลชีวภาพ เป็นต้น         ข้อมูลที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล จึงเป็นสาระสำคัญเบื้องต้นที่คนไทยจะต้องเข้าใจว่าคืออะไร และได้แก่อะไรบ้าง รายละเอียดเนื้อหาต่อไป โปรดติดตามตอนที่ 2 ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 เมื่อถูกหลอกขายที่นอนยางพารา

จากเรื่องที่มีผู้เสียหายกว่า 400 ราย เข้าร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจากเหตุสั่งซื้อที่นอนยางพาราผ่านเฟซบุ๊กจำนวนกว่า 10 เพจ ซึ่งบางรายได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพขณะที่บางรายไม่ได้รับสินค้านั้น แม้ทางกลุ่มผู้เสียหายได้ไปแจ้งความทำให้เจ้าของเพจถูกดำเนินคดีและเพจถูกปิดไปแล้วนั้น ปรากฎว่าเพจที่เคยถูกปิดไปแล้วกลับคืนชีพขึ้นมาอีกและเคลื่อนไหวสร้างความเสียหายแก่ผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ดังนั้นในวันที่  19 มิถุนายนที่ผ่านมา กลุ่มผู้เสียหายจึงรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และ กองกำกับการ ๑ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก.๑ บก.ปคบ.) ให้เร่งตรวจสอบเพจหลอกลวงดังกล่าว ฉลาดซื้อได้ขอสัมภาษณ์ตัวแทนผู้เสียหาย 2 ท่าน คือ คุณเศรษฐภูมิ  บัวทอง และคุณมณฑวรรณ  บัวศรี ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายเพื่อย้อนทวนเรื่องราวดังกล่าว คุณมณฑวรรณ บัวศรี           ปัญหาอย่างแรกของการใช้สิทธิคือ ความไม่ชัดเจน         ผู้เสียหายส่วนใหญ่ที่เจอปัญหากันตั้งแต่แรกเลย คือปัญหาเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เพราะว่าทางเจ้าหน้าที่รัฐแต่ละ สน. แต่ละท้องที่ก็มีบรรทัดฐานในการทำงานที่ไม่เหมือนกัน มีรูปแบบการทำงานที่ไม่เหมือนกัน แม้กระทั่ง สน.เดียวกันบางครั้งเจ้าหน้าที่สอบสวนคนละท่าน วิธีการทำงานก็ต่างกันแล้ว ข้อหาที่ได้ก็ต่างกัน ทำให้ผู้เสียหายมีความสับสนว่าต้องเตรียมหลักฐานอะไรบ้าง ต้องทำอย่างไร หาหลักฐานอย่างไรมาสนับสนุนเพื่อให้คดีคืบหน้า บางท่านเจอว่าคดีเป็นแค่แพ่ง ตำรวจไม่รับแจ้งความ หรือบางท่านพบว่าเป็นแค่ฉ้อโกงเฉยๆ ไม่ใช่ฉ้อโกงประชาชน บางท่านได้แค่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซ้ำร้ายกว่านั้นบางท่านบอกว่าไม่ใช่หน้าที่เขาให้ไปติดต่อส่วนกลางเขาไม่มีอำนาจ ซึ่งการไปติดต่อส่วนกลางมันมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีมูลค่าความเสียหายเท่าไหร่ หรือมีจำนวนผู้เสียหายอย่างละเท่าไหร่ เมื่อผู้เสียหายบางครั้งฟังจากทางเจ้าหน้าที่แล้วไปติดต่อส่วนกลาง เขาก็พบว่าเรื่องของเขายังเข้าส่วนกลางไม่ได้ส่วนกลางไม่รับแล้วก็ให้เขากลับมาที่ สน. อย่างเดิม กลายเป็นว่าผู้เสียหายเสียเวลาแล้วก็เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น หรือบางครั้งพอเจ้าหน้าที่รับแจ้งความแล้วคดีไม่เดิน แม้ว่าผู้เสียหายจะพยายามหาหลักฐานมาสนับสนุนก็ล่าช้า เจ้าหน้าที่อาจจะอ้างว่าคดีเยอะ เราเข้าใจแต่ว่าบางครั้งความเสียหายของผู้เสียหายเขาก็ร้อนใจเขาก็อยากทราบว่ากระบวนการที่เป็นรูปธรรมมันจะเป็นไปในทิศทางไหน เขาจำเป็นจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อเพื่อที่จะสามารถให้เป็นไปได้เร็วที่สุด สนับสนุนตำรวจให้ได้มากที่สุด” ทางกลุ่มแก้จุดนี้อย่างไร         ที่เราดำเนินการมาตอนนี้ส่วนใหญ่เราจะแจ้งให้ทางผู้เสียหายไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานในเบื้องต้น ก่อน ทางกลุ่มจะทำการรวบรวมข้อมูลของผู้เสียหายทั้งหมดเพื่อที่จะมาปะติดปะต่อว่า ในความเสียหายนั้นมีจำนวนผู้เสียหายจำนวนเท่าไหร่ มูลค่าความเสียหายแค่ไหน เลขที่มาที่ไปทางบัญชี และมีใครเป็นผู้เกี่ยวข้องบ้าง เพื่อที่จะได้รวบรวมเอาหลักฐานต่างๆ เหล่านี้ยื่นเข้าส่วนกลาง เพื่อผลักดันให้เรื่องมันได้เดินไปได้เร็วมากขึ้นและก็เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะว่าถ้ากระจายกันตามและท้องที่ แต่ละ สน. มันช้ามากแล้วก็ไม่ได้เห็นเป็นรูปธรรมว่าเป็นการฉ้อโกงประชาชนที่เป็นขบวนการใหญ่มากๆ เชื่อไหมว่าพลังของผู้บริโภคมีจริง         เรื่องการรักษาสิทธิมันเป็นพื้นฐานที่ทุกคนต้องทราบ แม้เงินแค่ไม่กี่บาท บางคนอาจจะมองว่ามันเสียเวลาในการดำเนินการ แต่คุณลองคิดนะว่าถ้าคุณโดนเขาโกงไป 700 บาท เขาโกงไปพันคน เขาได้เท่าไหร่ต่อเดือน แล้วเขาโกงแบบนี้เรื่อยๆ เขาได้เงินไปเท่าไหร่ ถ้าเกิดทุกคนคิดแบบนี้ (คิดว่าเสียเวลา) เหมือนกันขบวนการพวกนี้มันก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนโกงเขาก็จะมองว่าทำแบบนี้มันง่าย การเป็นมิจฉาชีพมันง่าย ไม่มีใครมาขัดขวางอะไรเขา หรือแม้กระทั่งกระบวนการยุติธรรมบางครั้งก็ช้า เขาก็กินไปได้เรื่อยๆ แล้ว เพราะฉะนั้นทุกคนต้องรักษาสิทธิของตัวเองเจอแบบนี้          เราขอให้แจ้งความดำเนินคดีก่อน แล้วคอยตรวจสอบช่วยกันดูว่ากลุ่มที่เป็นเพจขายของพวกนี้มีผู้เสียหายเยอะไหม ถ้ามีเยอะรวมตัวกันเถอะค่ะ ช่วยเหลือกัน ช่วยกันเก็บข้อมูลไว้เป็นหลักฐานแล้วก็ดำเนินคดีกับเขา มันไม่ยากเลยมันเหมือนอย่างที่กลุ่มเราทำกันอยู่ตรงนี้ ทุกคนโดนราคาต่างกันตั้งแต่ 600 บาท ถึง 20,000 บาท 600 บาทก็เอาเข้าคุกได้นะคะทำกันมาแล้ว รักษาสิทธิตัวเอง ถ้าเกิดคุณไม่ทำคนพวกนี้จะทำต่อไปเรื่อยๆ พอมีคนไปแจ้งตำรวจ ตำรวจบอกว่าไม่เห็นคนนี้เคยมีประวัติอะไรเลย ทำอะไรไม่ได้อย่างน้อยให้เขาติดแบล็กลิสต์ (Blacklist)  ก็ยังดีเพื่อที่ว่าเป็นการรักษาสิทธิตัวคุณ และเป็นการรักษาสิทธิของคนอื่นด้วยที่จะหลงกลเข้ามาอยู่ตรงนี้ คุณเศรษฐภูมิ  บัวทอง        สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือคาดหวังให้เพจที่กลับมาหลอกลวงผู้บริโภคถูกจัดการอย่างจริงจัง         ตอนนี้แต่ละคนก็ไปร้องทุกข์กล่าวโทษใน สภ.ท้องที่ของตัวเอง และในวันนี้ (19 มิ.ย.) ที่เราดำเนินการกันก็คือ  เรารวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดจากคนที่มาลงในระบบ และมายื่นหนังสือต่อ ปคบ. ส่วนในช่วงบ่ายเราก็จะมอบให้เจ้าหน้าที่ไปช่วยสืบสวน เราคาดหวังว่าทางสำนักงาน ปปง.แล้วก็ ปคบ.จะขับเคลื่อนต่อ จริงๆ แต่ละคนก็ไปแจ้งความแล้ว ร้อยละเจ็ดสิบจากสามร้อยกว่า คือคนเกือบสี่ร้อยคนแจ้งความเกือบหมดแล้ว แต่ก็คาดหวังว่าเขาสามารถที่จะดึงมาเป็นส่วนกลางแล้วก็ขับเคลื่อนให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงในคดีนี้ สิ่งที่อยากบอกคนกับนักช้อปออนไลน์         ตอนนี้คนหันมาซื้อของออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ก่อนจะซื้ออยากให้ตรวจสอบข้อมูลให้ดีๆ ลองเปรียบเทียบหลายๆ เพจก่อนการโอนเงิน ถ้าเป็นไปได้พยายามอย่าจ่ายเงินก่อน คือให้รับของก่อนแล้วค่อยจ่ายเงินจ่ายเงินปลายทาง ควรเลือกร้านที่มีหน้าร้านถูกต้อง มีเลขจดทะเบียนถูกต้อง แสดงรายละเอียดถูกต้องและรู้สึกไม่ปิดบังอย่างเช่นเพจที่เราโดน  ซึ่งถ้าเราไปสังเกตจริงๆ มันดูเหมือนมีมาตรฐานมากเลย มันมีการไลฟ์ มีการรีวิว เราก็ไปเปรียบเทียบกับหลายเพจในกูเกิล (Google) แต่เพจนี้ปิดส่วนคอมเมนต์ (Comment) ไม่ให้เห็น  คือจุดพลาดเพราะเราไม่ได้เอะใจ มัวไปหลงคำที่บอกว่าโละ โละหนักมาก คือไปหลงคำโฆษณา เรื่องนี้อาจต้องชั่งใจสักนิด อย่าเพิ่งไปหลงในคำชวนเชื่อให้ซื้อสินค้า  หากมีผู้เสียหายที่พลาดข่าวสารสามารถเข้าร่วมได้ที่ไหน         ถ้าคุณโดนละเมิดสิทธิก่อนอื่นต้องรักษาสิทธิตัวเองก่อน ต้องร้องทุกข์กล่าวโทษในแต่ละ สน. หรือ สภ. ท้องที่ก่อน หลังจากนั้นต้องปรึกษาหน่วยงานกลางที่เขาทำเรื่องอยู่แล้ว อาจจะต้องมาปรึกษาทางมูลนิธิฯ ก็ได้  อย่างของเราก็ปรึกษามูลนิธิก่อน ทำให้พอทราบขั้นตอนการดำเนินการ เพราะที่ผ่านมาเหมือนว่ามันไปไม่ถูกจุดแยกกันทำ แต่พอมีที่ปรึกษามันทำให้เรารู้สึกว่าเรามีกลุ่มรวมกันแล้ว เราจะทำอะไรเรามีที่ปรึกษา พอมีประเด็นขึ้นมาก็อยากให้รีบไปแจ้งความ หลังจากนั้นอาจจะต้องเข้ามาติดต่อที่มูลนิธิฯ ตอนนี้ยังประเมินไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าไม่มีหน่วยงานรัฐหรือองค์กรกลางจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แต่ไม่อยากให้ทุกคนละเลย เราต้องรักษาสิทธิของตัวเองไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 หนี้ดีกับหนี้ไม่ดี เลือกเอา

        ยุคนี้น่าจะหาคนไม่เป็น ‘หนี้’ ได้ยากเต็มที พูดกันขำๆ ว่าคนมีหนี้ถือว่าเป็นคนมีเครดิต แต่ถามหน่อยเถอะ! อยากเป็นหนี้จริงๆ เหรอ?         การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ ไม่มีใครอยากเป็นหนี้หรอกถ้าไม่จำเป็น        ทำไมเราถึงเป็นหนี้ ตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือสภาพคล่องไม่พอ รายจ่ายมากกว่ารายได้ แต่มันต้องไปค้นสาเหตุอีกว่าทำไมรายจ่ายถึงมากกว่ารายได้ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่เกิดเหตุไม่คาดฝันทำให้ต้องใช้เงินก้อน เช่น ซ่อมรถ อุบัติเหตุ หรืออื่นๆ (เงินฉุกเฉินจึงสำคัญ) การวางแผนจัดสรรเงินไม่ดี ไม่ได้ตระเตรียมล่วงหน้า ง่ายๆ ก็ค่าเทอมลูก ค่าประกันรถ ซึ่งเป็นรายจ่ายที่เรารู้ล่วงหน้าและสามารถทยอยสะสมได้         หรือเกิดจากนิสัยส่วนตัว เช่น การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เห็นเพื่อนมีแล้วต้องมีบ้าง (อย่าทำเป็นเล่นไป มีคนที่คิดแบบนี้จริงๆ ทั้งที่รายได้สัปดาห์ละหลายหมื่น แต่แข่งรวยกับเพื่อน สุดท้ายก็ต้องหาเงินด้วยวิธีผิดกฎหมาย แล้วจบไม่สวย) การต้องการสินค้าแบบเดี๋ยวนั้นเวลานั้น อดใจไม่ได้ รูดปื๊ดๆ รู้ทั้งรู้ว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิตแพงแค่ไหน         แล้วจะจัดการหนี้สินอย่างไร?         อันนี้ต้องย้อนกลับไปเริ่มจากสาเหตุก่อน เพราะหนี้เป็นปลายทาง จากตัวอย่างที่พูดมาข้างบน การวางแผนการใช้จ่าย การสำรองเงินฉุกเฉิน การตระเตรียม จัดสรรเงิน สำหรับรายจ่ายที่รู้แน่นอนในอนาคต         การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย ลดการซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น เก็บเงินซื้อโดยจ่ายเป็นเงินก้อน ถ้าจะจ่ายด้วยบัตรเครดิตก็ต้องรู้ว่าเมื่อถึงรอบเราสามารถจ่ายได้ทั้งหมด ไม่ใช่จ่ายขั้นต่ำ         แต่ต้องทำความเข้าใจด้วยนะว่า ไม่ใช่หนี้ทุกชนิดเป็นหนี้ไม่ดี         แปลว่าอะไร? มีหนี้ที่ดีด้วยเหรอ?         มีสิ! หนี้ไม่ดีนั้นชัดเจน ส่วนใหญ่มักเป็นหนี้เพื่อการบริโภค เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เที่ยว แก็ดเจ็ดนั่นนู่นนี่ ไม่ได้บอกว่าซื้อไม่ได้ แต่ต้องประเมินตัวเองได้ว่าจุดไหนที่เกินกำลังและจะก่อหนี้         ส่วนหนี้ที่ดีเป็นหนี้ที่จะช่วยต่อยอดผลประโยชน์ในอนาคตหรือหนี้ที่สร้างรายได้ งงล่ะสิ สมมติคุณเพิ่งทำงานใหม่ๆ เงินเดือน 25,000 บาท เพื่อนๆ ขับรถมาทำงาน เลยอยากมีบ้าง ไม่ต้องถามว่าจำเป็นมั้ย? มนุษย์สามารถหาเหตุผลให้ตัวเองได้เสมอแหละ ต้องผ่อนเดือนเท่าไหร่ล่ะ ทั้งที่การใช้ขนส่งสาธารณะประหยัดกว่า แม้จะไม่สะดวกเท่า ซ้ำไม่ต้องเสียค่าน้ำมัน ค่าประกัน ค่าบำรุงรักษา แบบนี้ถือเป็นหนี้ไม่ดี          กับอีกคน กู้เงินมาซื้อรถเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากิน ใช้ส่งของ ใช้เดินทางไปติดต่อลูกค้า แบบนี้ถือเป็นหนี้ดีที่ยอมรับได้เพราะมันเป็นตัวช่วยสร้างรายได้          จะเห็นว่ากู้เงินซื้อรถเหมือนกัน แต่หนี้ที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกัน         หรือการกู้เงินมาเทคคอร์สอะไรสักอย่างที่คุณคิดแล้วว่า หากมีความรู้ด้านนี้จะช่วยเพิ่มทักษะหรือต่อยอดให้กับอาชีพการงาน ซึ่งจะส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต นี่ก็ถือเป็นหนี้ดีที่ยอมรับได้อีกเช่นกัน         เอาล่ะ ลองสำรวจตัวเองดูว่าตอนนี้หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ดีหรือหนี้ไม่ดี แล้วหาวิธีจัดการกับหนี้ไม่ดีซะ        ส่วนรายจ่ายจำเป็นอย่างค่าเทอม ค่ารักษาพยาบาล ใช่ เราต้องมีสำรองไว้ แต่ต้องไม่ลืมว่าเราเองมีสิทธิที่รัฐต้องจัดให้อย่างสิทธิในการเรียนฟรี สิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล อย่างที่เคยบอก เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องของตัวเราเองโดยสมบูรณ์ มันเป็นหน้าที่ของรัฐด้วยเหมือนกันที่จะดูแลประชาชนในส่วนที่เป็นสิทธิ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 มาลองแปรงแห้งกันไหม

        เคยได้ยินคำว่าแปรงแห้งไหม การแปรงแห้งหรือการแปรงฟันแบบไม่บ้วนน้ำทิ้ง เป็นคำแนะนำที่ทันตแพทย์และองค์กรที่ส่งเสริมสุขภาพปากและฟัน พยายามรณรงค์ให้ทุกคนปฏิบัติ คำฝรั่งที่ใช้คือ Spit don’t rinse โดยที่มาของการแปรงแห้งเกิดจากข้อสงสัยที่นักวิจัยเขาพบว่า เด็กที่แปรงฟันแบบน้ำไม่ค่อยเข้าปาก(ใช้ก๊อกแทนการใช้แก้ว) ฟันผุน้อยกว่าเด็กที่ใช้แก้วน้ำในการแปรงฟัน         พอศึกษากันไปก็พบคำตอบว่า ยิ่งบ้วนน้ำน้อยเท่าไหร่ ฟันยิ่งผุน้อย         เหตุที่แปรงฟันแบบบ้วนน้ำทิ้งทำให้ฟันผุ คือ น้ำทำให้ฟลูออไรด์ของดีในยาสีฟันเจือจางไปนั่นเอง         เราเคยชินกันมานาน คือ ทำให้แปรงสีฟันเปียกแล้วบีบยาสีฟันมากๆ ลงไปบนแปรง เหตุผลคือ เราต้องการฟองล้นๆ ในปากเพื่อให้แปรงได้ลื่นขึ้น (บางคนเชื่อว่าทำให้สะอาดขึ้น แบบเดียวกับที่ชอบให้มีฟองในการซักผ้ามากๆ) แต่การมีฟองเยอะในปากจะทำให้เราแปรงฟันได้ไม่นาน เพราะมันเลอะเทอะ บางคนเลยแปรงฟันแค่ 10-20 วินาที ซึ่งไม่เพียงพอ การแปรงฟันที่ถูกต้องคือ อย่างน้อย 2 นาที เพราะอะไร เพราะต้องการให้ฟลูออไรด์ในยาสีฟันได้มีเวลาในการไปเคลือบบนผิวฟันได้ทั่วถึง          แปรงฟันเร็วเกินไปไม่พอ เรายังชินกับการต้องบ้วนปากด้วยน้ำเพื่อกำจัดคราบฟองอีก ซึ่งบางคนก็บ้วนมากกว่าหนึ่งครั้ง เพราะรู้สึกไม่สะอาด(จากฟองที่มากเกินไป เพราะใช้ยาสีฟันมากไป) ฟลูออไรด์ก็ไปหมดแล้วจ้า ไม่เหลือพอให้ทำงานเพื่อปกป้องฟันได้ ยิ่งแปรงฟันบ้วนน้ำมากเท่าไหร่ ฟันจึงผุมากเท่านั้น         จึงขอเชิญชวนให้เปลี่ยนมาแปรงฟันแบบแห้งกันเถอะ โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่ยังไม่สั่งสมความเคยชินเรื่องการใช้น้ำมากๆ แปรงฟัน         วิธีการแปรงแห้ง        1.บางคนกังวลเรื่องเศษอาหาร ธรรมดาแล้วถ้าฟันมีการสบกันที่ดี ไม่ซ้อน เก เศษอาหารจะไม่ติดฟันมาก อาจบ้วนน้ำทิ้งสักครั้งก่อนแปรงเพื่อกำจัดความกังวลเรื่องนี้        2.หากใช้ไหมขัดฟัน ควรใช้ไหมขัดฟันก่อนเริ่มแปรงฟันแบบแห้ง        3.บีบยาสีฟัน ซึ่งควรใช้แบบผสมฟลูออไรด์ (ไม่งั้นจะแปรงแห้งทำไม) เพียงจำนวนน้อย แค่เม็ดถั่วเขียวก็เพียงพอแล้ว        4.แปรงฟันให้นานสัก 2 นาที เพื่อให้เนื้อยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ผสมได้เคลือบไปบนผิวฟันอย่างทั่วถึง        5.เมื่อแปรงเสร็จแล้ว ในช่องปากจะมีน้ำลายออกมา ซึ่งมากพอที่เราจะบ้วนฟองทิ้งออกไปได้เกือบหมด ถ้ายังรู้สึกฟองยังค้างอยู่มาก ก็เพิ่มน้ำลายด้วยการบีบกระพุ้งแก้มและถ่มฟองทิ้งไป         หลังการแปรงฟันแบบแห้งนี้แล้ว ไม่ควรดื่มน้ำหรือกินอาหารอย่างน้อยสัก 30 นาที ทั้งนี้เพื่อให้ฟลูออไรด์อยู่ทำงานบนผิวฟันได้นานขึ้นนั่นเองทดลองกันดูนะคะ แล้วจะรู้ว่า ยิ่งบ้วนน้ำน้อย ฟันยิ่งผุน้อย ค่ะ         ·   รู้ไหม ฟลูออไรด์ในยาสีฟันหลังการแปรงแห้ง(ฟองที่เหลือจากการบ้วนทิ้ง) คือน้ำยาบ้วนปากที่ดีที่สุด        ·  ปลอดภัยไหม ไม่ต้องกังวล ยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์มีกฎหมายควบคุมมาตรฐานการผลิต โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ไม่จำเป็นต้องกังวลใจเรื่องนี้        ·  แปรงฟันตอนไหนดี  หลังอาหารเช้า และ ก่อนเข้านอน คือเวลาที่ดีที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 ชั่งน้ำหนัก CPTPP สิ่งที่เราจะได้และสิ่งที่เราจะสูญเสีย

ช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยถูกล็อกดาวน์ภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ท่ามกลางความนิ่งงันจากการกักตัว กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก และการเยียวยาที่ล่าช้า ไม่ทั่วถึงและแสนวุ่นวาย รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา นำโดยสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ มีความพยายามจะผลักดันประเทศไทยเข้าร่วมข้อตกลงเขตการค้าเสรี CPTPP จนเกิดกระแสคัดค้านรุนแรงจากหลายภาคส่วน         CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งเป็นข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้าและบริการฉบับหนึ่งที่เริ่มต้นจาก Trans-Pacific Partnership หรือ TPP หรือความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ เวียดนาม และญี่ปุ่น ณ เวลานั้น ประเทศไทยก็แสดงท่าทีสนใจเข้าร่วม TPP อยู่ก่อนแล้ว         ทว่า ภายหลังที่โดนัลด์ ทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาก็ประกาศถอนตัวออกจาก TPP ทำให้ 11 ประเทศที่เหลือตัดสินใจเดินหน้าต่อเป็น CPTPP แม้จะไม่มีสหรัฐฯ เข้าร่วม ซึ่งก็ทำให้ขนาดตลาดหายไปอย่างมีนัยสำคัญ         เช่นเดียวกับทุกเรื่องบนโลก มักมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย CPTPP มีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้าน เพียงแต่ฝั่งคัดค้านเสียงดังไม่ใช่น้อย ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้ ชวนสำรวจสิ่งที่เราจะได้และสิ่งที่เราจะเสียหากเข้าร่วม CPTPP  ‘สมคิด’ หัวขบวนดันไทยเข้า CPTPP         สมาชิก CPTPP ทั้ง 11 ประเทศร่วมลงนามข้อตกลงนี้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 และจะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อสมาชิกกึ่งหนึ่งให้สัตยาบัน  CPTPP มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม เมื่อเม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย และเวียดนาม ให้สัตยาบัน         ขนาดเศรษฐกิจของสมาชิกทั้ง 11 ประเทศมีมูลค่าคิดเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีกว่า 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 13 ของจีดีพีของทั้งโลก มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน  ปี 2562 ประเทศไทยมีการค้าขายกับประเทศใน CPTPP ถึง 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 29 ของการค้ารวมของไทย         ตัวเลขดังกล่าวเย้ายวนมากในมิติทางเศรษฐกิจ ทำให้ 13 กุมภาพันธ์ 2563 สมคิดในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) มีมติให้กระทรวงพาณิชย์สรุปผลการศึกษา หารือ และการรับฟังความเห็น นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาเข้าร่วม CPTPP ในเดือนเมษายน 2563 ก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีของสมาชิก CPTPP ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ที่เม็กซิโก ซึ่งจะมีการหารือเรื่องการรับประเทศสมาชิกใหม่         แต่การเสนอเรื่องเข้าสู่ ครม. ก็ยืดเยื้อออกไป เมื่อทางจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไม่นำเรื่องนี้เข้า ครม. โดยให้เหตุผลว่าจะไม่เสนอเรื่องนี้จนกว่าสังคมจะมีความเห็นต่อ CPTPP ไปในทิศทางเดียวกัน         ฟากอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ออกมาคัดค้านเรื่องนี้เช่นกัน เพราะเห็นว่าจะกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ ทำให้ CPTPP กลายเป็นปัญหาการเมืองในซีกรัฐบาลที่ยังไม่ลงตัว  ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจจาก CPTPP         แล้วไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการเข้าร่วม CPTPP?         แน่นอนว่าเหตุผลของสมคิดและกระทรวงพาณิชย์คือผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การศึกษาของกระทรวงพาณิชย์แสดงให้เห็นว่า หากไทยเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้จีดีพีของไทยขยายตัวร้อยละ 0.12 หรือ 13,320 ล้านบาท การลงทุนขยายตัวร้อยละ 5.14 คิดเป็นมูลค่า 148,240 ล้านบาท         ในทางตรงกันข้าม หากไทยไม่เข้าร่วม จีดีพีของไทยจะได้รับผลกระทบ 26,600 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.25 และกระทบต่อการลงทุน 14,270 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.49 ทั้งยังอาจทำให้ไทยเสียโอกาสในการขยายการค้า การลงทุน และการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคเมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนามและสิงคโปร์ โดยในปี 2558-2562 ทั้งสองประเทศส่งออกไปยังประเทศสมาชิก CPTPP เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.85 และ 9.92 ตามลำดับ ส่วนไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 3.23         ด้านมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงไหลเข้า ปี 2562 เวียดนามมีมูลค่า 16,940 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สิงคโปร์ 63,934 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ไทยมีเพียง 9,010 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น         ทั้งนี้กลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการส่งออกไปยัง CPTPP ของไทย ได้แก่ กลุ่มธัญพืชและของปรุงแต่ง เครื่องแต่งกาย เครื่องสูบของเหลว เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ยานยนต์ เครื่องหนังและรองเท้า น้ำตาลและขนม ในด้านการบริการและการลงทุนจะได้ประโยชน์จากการประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยว         ประเด็นที่ต้องตั้งคำถามต่อข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์คือ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่กล่าวมาจะเกิดขึ้นจริงแค่ไหน         เรื่องนี้ อาชนัน เกาะไพบูลย์ คลัสเตอร์วิจัยความสามารถในการแข่งขัน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับว๊อยซ์ทีวีไว้น่าสนใจว่า 11 ประเทศสมาชิก CPTPP มีเพียงชิลี เม็กซิโก และแคนาดาเท่านั้น ที่ไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย หากทำข้อตกลงการค้าเสรีเพิ่มกับ 3 ประเทศดังกล่าว การส่งออกของไทยจะได้รับผลเพียงร้อยละ 2 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดเท่านั้น          นอกจากนี้ จากข้อตกลงการค้าเสรีที่ไทยมีอยู่แล้ว กลับพบว่าภาคส่งออกของไทยใช้ประโยชน์แค่ร้อยละ 30 ของการส่งออกเท่านั้น ทั้งยังกระจุกในกลุ่มสินค้าไม่กี่สิบรายการจากการส่งออกสินค้าของไทยทั้งหมดกว่า 2,000 รายการ         ด้านการลงทุนที่เปรียบเทียบกับเวียดนาม อาชนันกล่าวว่า เป็นเพราะเวียดนามมีปัจจัยอื่นๆ ที่ดึงดูดการลงทุน เช่น นโยบายเปิดรับการลงทุน การมีแรงงานอย่างเพียงพอ และความมั่นคงทางการเมือง จุดสำคัญคือที่ผ่านมาการค้าการลงทุนไทยไม่ได้ขยายตัวจากการที่ไทยมีเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ มากนัก             อีกประเด็นที่กระทรวงพาณิชย์ดูเหมือนจะหลงลืมไปก็คือ ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดในขณะนี้ ทำให้ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าอนาคตหลังโควิด-19 ห่วงโซ่อุปทานโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ดังนั้น ไทยจึงไม่ควรเร่งร้อนเข้าเป็นสมาชิก CPTPP เพราะจะไม่ได้รับประโยชน์มากอย่างที่ฟากรัฐให้ข้อมูล         ส่วนด้านผลกระทบที่เรียกว่าหนักหน่วง แบ่งเป็น 2 ประเด็นหลักคือ ยาและทรัพยากรชีวภาพ  เมื่อการเข้าถึงยากำลังเป็นตัวประกัน         มาเริ่มกันที่ยาซึ่งเป็นหลักประกันของระบบสุขภาพและการเข้าถึงการรักษาของประชาชน         เนื้อหาหลายประการใน CPTPP จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา เช่น การยกเลิกสิทธิพิเศษของรัฐวิสาหกิจ (ไม่นับรัฐวิสาหกิจที่ทำการค้าเพื่อผลกำไรทางธุรกิจ) ซึ่งมีรัฐวิสาหกิจจำนวนหนึ่งที่มีพันธกิจทางสังคม โดยเฉพาะองค์การเภสัชกรรม การรองรับนโยบายด้านยา เวชภัณฑ์ และวัคซีนที่จำเป็นต่อระบบสุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศจะถูกจำกัดลงอย่างมีนัยสำคัญ         กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch กล่าวด้วยว่า CPTPP จะทำให้อุตสาหกรรมยาของไทยถูกบ่อนเซาะ เนื่องจากไทยจะไม่ได้รับประโยชน์ด้านราคายาจากการลดภาษีศุลกากรแหล่งวัตถุดิบยาที่อยู่นอกประเทศสมาชิก CPTPP ทั้งในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐยังต้องเปิดให้อุตสาหกรรมจากประเทศสมาชิกเข้ามาแข่งขันอย่างเท่าเทียม นโยบายบัญชีนวัตกรรมไทย รวมถึงระเบียบและกฎกระทรวงของ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมยาในประเทศจะกลายเป็นหมัน         นอกจากนี้ สิทธิการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิหรือซีแอล (Compulsory Licensing: CL) ของไทยอาจถูกกระทบ กรรณิการ์ อธิบายว่า         “ถ้าอ่านความตกลง CPTPP ในมาตรา 1.2 ที่ระบุว่าไม่กระทบสิทธิที่ประเทศภาคีมีอยู่ตามข้อตกลงอื่น แต่ให้ข้อนี้อยู่ภายใต้มาตรา 28 ที่เกี่ยวกับการพิพาท หมายความว่าถ้ามีคู่กรณีไม่เห็นด้วยกับการใช้สิทธิก็สามารถเอาเรื่องเข้ากระบวนการระงับข้อพิพาทได้ เท่ากับนักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องรัฐได้ แล้วถ้าเกิดความจำเป็นต้องประกาศซีแอลจะมีรัฐมนตรีคนไหนกล้าทำ”         CPTPP ยังเชื่อมโยงระบบการขึ้นทะเบียนยากับระบบสิทธิบัตรเข้าด้วยกัน (patent linkage) ทั้งที่ควรแยกจากกัน เนื่องจากการขึ้นทะเบียนยาเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของยาก่อนอนุญาตให้มีการจำหน่ายในประเทศ ส่วนการรับจดสิทธิบัตรเป็นอำนาจหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ที่จะพิจารณาให้หรือไม่ให้ความคุ้มครองการผูกขาดตลาดให้กับผู้ยื่นคำขอฯ ตามเกณฑ์ด้านสิทธิบัตร เมื่อนำ 2 เรื่องนี้มาปนกันเท่ากับว่าเจ้าหน้าที่ อย. จำเป็นต้องตรวจสอบว่ายาชื่อสามัญที่ขอขึ้นทะเบียนยามีสิทธิบัตรด้วยหรือไม่     ใน CPTPP ระบุทางเลือกไว้สองทางคือ อย. ต้องแจ้งให้ผู้ทรงสิทธิบัตรรู้ว่ามีบริษัทยาอื่นมาขอขึ้นทะเบียนยาตัวเดียวกัน โดย อย. จะยังไม่รับขึ้นทะเบียน หรือให้มีระยะเวลานานพอจนกว่าผู้ทรงสิทธิฯ จะดำเนินการทางศาลหรือทางปกครองเพื่อจัดการการละเมิดสิทธิบัตรให้มีการเยียวยาหรือการชดเชยก่อน และประเทศสมาชิกต้องจัดให้มีกระบวนการอื่นแทนศาลเพื่อป้องกันไม่ให้มีการขึ้นทะเบียนยาให้บุคคลอื่นโดยไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ทรงสิทธิบัตร         “ยาชื่อสามัญจะไม่สามารถเข้าแข่งขันในตลาดได้ ยาต้นแบบก็จะผูกขาดตลาดได้นานขึ้นเกินกว่า 20 ปี แม้ว่าสิทธิบัตรจะหมดอายุไปแล้ว เท่ากับเป็นการทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญภายในประเทศ และจะไม่มีบริษัทยาชื่อสามัญจากประเทศอื่นสนใจมาขายยาในประเทศไทย”         ยังไม่หมด ยังมีสิ่งที่เรียกว่ามาตรการชายแดน (Border Measure) ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรจับยึดสินค้าที่ส่งมาถึงแล้วหรือที่อยู่ในระหว่างขนส่ง เพียงแค่ ‘สงสัย’ ว่าจะละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ ซึ่งขัดกับความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่รวมถึงสินค้าระหว่างการขนส่ง บวกด้วยการเอาผิดกับบุคคลอื่นเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ หมายถึงผู้ทรงสิทธิสามารถเอาผิดกับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายได้ กรณีละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ ซึ่งบุคคลอื่นอาจรวมถึงเจ้าของสถานที่ที่ปล่อยให้มีสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ อย่างเช่นโรงพยาบาล นอกจากบุคคลอื่นในตลอดห่วงโซ่อุปทาน         “ใน CPTPP ไม่ได้หมายความแค่เครื่องหมายการค้าที่ปลอมแปลง แต่ยังรวมถึงเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันและไม่ได้ตั้งใจที่จะละเมิดด้วย เพราะธุรกิจยา ชื่อยี่ห้อยาอาจคล้ายคลึงกันได้โดยไม่ได้ตั้งใจ โดยส่วนมากบริษัทยามักจะตั้งชื่อให้พ้องกับชื่อตัวยาสำคัญ ส่วนฉลากยาที่ระบุรายละเอียดของยาและวิธีการใช้ยาที่มากับบรรจุภัณฑ์ก็อาจถูกถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทลิขสิทธิ์ ดังนั้น เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันและฉลากยาอาจถูกใช้เป็นสาเหตุในการเอาผิดได้”  โจรสลัดชีวภาพ         นอกจากเรื่องการเข้าถึงยาแล้ว ด้านการเกษตรและทรัพยากรชีวภาพเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง มูลนิธิชีววิถีหรือไบโอไทยจึงแสดงจุดยืนคัดค้าน CPTPP อย่างเต็มที่ เนื่องจากมันกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องยอมรับอนุสัญญา UPOV 1991 ซึ่งจะเป็นการเพิ่มอำนาจผูกขาดเมล็ดพันธุ์ของบริษัทเอกชน เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อได้         ซ้ำยังทำให้กลไกการแบ่งปันผลประโยชน์ในการพัฒนายาจากสมุนไพรหรือทรัพยากรชีวภาพในประเทศเกิดความไม่เป็นธรรม เนื่องจากไม่มีระบุกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์เอาไว้         ทางมูลนิธิชีววิถียังกล่าวด้วยว่า CPTPP จะทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์แพงขึ้นประมาณ 2-6 เท่า เนื่องจากการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ขยายระยะเวลาเป็น 20-25 ปี และขยายการผูกขาดจากส่วนขยายพันธุ์ให้รวมถึงผลผลิต ผลิตภัณฑ์ และอนุพันธ์ของสายพันธุ์ใหม่ เช่น พันธุ์พืชที่กลายพันธุ์จากพันธุ์พืชใหม่ยังถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทเมล็ดพันธุ์ หรือหากนำข้าวจากการปลูกไปหมักเป็นเหล้า การผูกขาดก็จะขยายไปถึงเหล้าด้วย เป็นต้น         เรื่องที่ทำให้เห็นความกระตือรือร้นของหน่วยงานภาครัฐก็คือ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับทำการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เพื่อรองรับการเข้าร่วมอนุสัญญา UPOV 1991 ซึ่งการแก้ไขกฎหมายส่งผลให้เกษตรกรที่พัฒนาพันธุ์ไปปลูกต่อมีความผิดตามกฎหมาย         เหตุนี้ อนุสัญญา UPOV 1991 จึงถูกขนานนามในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘อนุสัญญาโจรสลัดชีวภาพ’ กรรณิการ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า         CPTPP บังคับเข้าร่วมอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่หรือ UPOV1991 ซึ่งให้ความคุ้มครองสิทธิ์และประโยชน์กับนักปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ แต่ไม่คุ้มครองชุมชนต้นทางของสายพันธุ์นั้น โดยในมาตรา 18.37 (4) บอกว่า ไม่ให้สิทธิบัตรพันธุ์พืช แต่ให้ “inventions that are derived from plants” ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนญี่ปุ่นต้องการที่สุดและพยายามมาตั้งแต่ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากภาคประชาชนคัดค้าน         “CPTPP เขียนอีกว่าไทยต้องเปิดให้ต่างชาติทำธุรกิจบริการด้านการวิจัยและพัฒนาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรชีวภาพของไทยและศึกษาทดลอง โดยไม่สามารถบังคับให้บริษัทเหล่านั้นถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้การลงทุนได้”         สังคมไทยคงต้องชั่งน้ำหนักว่า ผลประโยชน์ที่จะได้กับสิ่งที่จะสูญเสีย ฝั่งใดหนักหนากว่ากัน อย่าปล่อยให้รัฐบาลและกลุ่มทุนเป็นฝ่ายเดียวที่มีสิทธิตัดสินใจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 New Normal กับไทยชนะ & แอปพลิเคชั่นจองคิว

        หลังจากที่รัฐบาลประกาศผ่อนปรนช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ทำให้ร้านค้าและผู้ประกอบการสามารถทยอยเปิดกิจการได้เป็นปกติ เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามกฎและมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐประกาศออกมาอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมและเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ขึ้นอีก จึงทำให้เห็นว่ารัฐบาลและผู้ประกอบการต้องเพิ่มแนวทางที่สามารถตอบโจทย์มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social distancing ภายในพื้นที่ร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในรูปแบบ New Normal        สิ่งแรกที่เห็นได้ชัดเจนจากมาตรการของรัฐ ที่ให้ร้านค้าและผู้ประกอบการต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ไทยชนะ.com เพื่อรับคิวอาร์โค้ดมาติดที่ร้าน ซึ่งจะช่วยเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการและกำหนดจำนวนผู้เข้ารับบริการเพื่อลดความแออัดของผู้ใช้บริการในลักษณะการเช็คอินและเช็คเอาท์         โดยร้านค้าและผู้ประกอบการจะมีมาตรการเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อคัดกรองคนและลดความแออัดของผู้ใช้บริการ อยู่ 2 รูปแบบ คือ การลงทะเบียนโดยการกรอกชื่อนามสกุลและเบอร์โทรลงในแผ่นกระดาษ และการลงทะเบียนผ่าน QR Code ไทยชนะ ดังนั้น New Normal สำหรับผู้ใช้บริการอย่างเรา ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัดเช่นกัน          การลงทะเบียนผ่าน QR Code ไทยชนะ ให้สแกน QR Code ไทยชนะที่ร้านค้าและผู้ประกอบการได้จัดเตรียมไว้ผ่านกล้องโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน จะปรากฎให้เลือกเมนู “เช็คอินร้าน” และเมนู “เช็คเอาท์/ประเมินร้าน” ผู้ใช้บริการเพียงทำหน้าที่กดเช็คอินเมื่อเข้าร้าน และกดเช็คเอาท์พร้อมประเมินร้านเมื่อออกจากร้าน แต่สำหรับผู้ใช้บริการที่เพิ่งใช้สแกน QR Code ไทยชนะครั้งแรก จะต้องกดรับข้อตกลงและความยินยอม และกรอกหมายเลขโทรศัพท์ก่อนทำการเช็คอิน         ไม่เพียงแต่การลงทะเบียนผ่าน QR Code ไทยชนะเท่านั้นที่มีใช้อยู่ในขณะนี้ แต่ร้านค้าและผู้ประกอบการหลายแห่งได้มีแอปพลิเคชั่นและเว็บไซต์เพื่อใช้ลงทะเบียนในการเข้าใช้บริการโดยตรง วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถกดจองคิวในระบบก่อนที่จะมีการเข้าใช้บริการจริง เปรียบเสมือนเป็นการนัดหมายล่วงหน้า ซึ่งเป็นการช่วยลดความแออัดและจำกัดผู้ใช้บริการตามกฎและมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐประกาศออกมา        การใช้แอปพลิเคชั่นและเว็บไซต์ในการจองคิวเข้าใช้บริการต่างๆ เช่น การจองคิวทำบัตรประชาชน การจองคิวทำใบขับขี่ออนไลน์ การจองคิวทำพาสปอร์ต การจองคิวชมภาพยนตร์ การจองคิวเข้าบริการฟิตเนส การจองคิวทำฟัน การจองคิวขึ้นเขาคำชะโนด ฯลฯ รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต New Normal ในรูปแบบใหม่ อย่างการเข้าคอร์สฟิตเนสออนไลน์ การเรียนภาษาอังกฤษออนไลน์ เป็นต้น         การปรับหาวิถีการดำรงชีวิตแบบใหม่ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อให้ประชาชนในประเทศไทยปลอดภัยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ควบคู่ไปกับความพยายามฟื้นฟูธุรกิจและผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเดินต่อไปข้างหน้าให้ได้ ทุกคนต้องช่วยกันนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ป้องกัน COVID-19 ได้จริงหรือไม่

        มีการถามและแชร์กันว่า การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะช่วยป้องกัน COVID-19 ได้ รวมทั้งผู้ที่เคยฉีดวัคซีน BCG (วัคซีนป้องกันวัณโรค) ก็จะเป็นโควิด-19 น้อยกว่าผู้ที่ไม่เคยรับการฉีด จริงหรือไม่ เรามารู้เท่าทันกันเถอะ โควิด-19 เหมือนและต่างกับไข้หวัดใหญ่อย่างไร        อย่างแรก ทั้งโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ก่อโรคทางเดินหายใจเหมือนกัน มีอาการตั้งแต่ ไม่มีอาการอะไรเลย อาการเล็กน้อย จนกระทั่งรุนแรงและเสียชีวิต อย่างที่สอง ไวรัสทั้งสองชนิดติดต่อทางการสัมผัส ละอองของเหลวจากการไอ จาม         ไข้หวัดใหญ่จะมีระยะฟักตัวของเชื้อและเกิดอาการสั้นกว่าโควิด-19 (ระยะติดเชื้อและเกิดอาการของไข้หวัดใหญ่ ประมาณ 3 วัน ในขณะที่โควิด-19 ประมาณ 5-6 วัน) ซึ่งหมายความว่า ไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้เร็วกว่า          นอกจากนี้ โควิด-19 มีอัตราการตายร้อยละ 1-5 ซึ่งมากกว่าไข้หวัดใหญ่ที่อัตราการตายน้อยกว่าร้อยละ 0.5 แต่ในช่วงฤดูหนาว ไข้หวัดใหญ่สามารถติดเชื้อในประชากรได้เป็นจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของประชากร วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่        องค์การอนามัยโลกยืนยันว่า วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ไม่สามารถป้องกันโควิด-19 ได้ เนื่องจากเป็นไวรัสที่กลายพันธุ์ จึงต้องมีวัคซีนเฉพาะ         แต่ถึงแม้ว่า วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะไม่สามารถป้องกันโควิด-19 ได้ แต่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อ ลดการตายและการอยู่ในโรงพยาบาลจากไข้หวัดใหญ่ หญิงตั้งครรภ์ เด็ก ผู้สูงอายุ มีโรคเรื้อรัง บุคลากรทางการแพทย์ การลดผู้ป่วยลงทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีเวลาเหลือพอในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 วัคซีนบีซีจีลดการติดเชื้อโควิด-19 ได้จริงหรือไม่        องค์การอนามัยโลกยืนยันว่า ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าวัคซีนบีซีจีป้องกันผู้คนจากการติดเชื้อโควิด-19โดยเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2563 องค์การอนามัยโลกได้ทบทวนฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สำคัญๆ และงานวิจัยทางคลินิก ที่นักวิจัยอ้างว่า ในประเทศที่มีการให้วัคซีนบีซีจีในเด็กแรกเกิด จะพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ต่ำกว่าประเทศที่ไม่ได้ให้วัคซีนบีซีจี ซึ่งพบว่า มีปัจจัยรบกวนที่มีอคติ ทำให้ผลการวิจัยไม่น่าเชื่อถือ การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่         ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า การล้างจมูกเป็นประจำด้วยน้ำเกลือจะสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ แต่มีหลักฐานบ้างว่า การล้างจมูกดังกล่าวสามารถช่วยให้ผู้ที่เป็นไข้หวัดธรรมดาฟื้นตัวเร็วขึ้น แต่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจได้ การกินกระเทียมช่วยป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่        แม้ว่ากระเทียมเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์และมีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานว่า การกินกระเทียมจะช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้         สรุป  วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และบีซีจี ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ แต่การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างแน่นอน ป้องกันไม่ให้เราป่วยจากไข้หวัดใหญ่ และลดภาระงานของแพทย์ พยาบาล ในการดูแลผู้ป่วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 เล่ห์บรรพกาล : ความลับแห่งเวลาที่มนุษย์มิควรจะหยั่งรู้

        นักคิดบางคนเคยกล่าวเปรียบเปรยไว้ว่า “เวลา” เป็นประหนึ่ง “แอ่ง” หรือ “ภาชนะ” ที่บรรจุไว้ซึ่งการกระทำใดๆ ของมนุษย์ นั่นแปลว่า ทุกๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนเรา ต้องมีเงื่อนไขของเวลาเป็น “ภาชนะ” รองรับกำหนดไว้เสมอ         หากคนไทยมีคำพูดเตือนใจว่า จะทำการอันใดก็ต้องรู้จัก “กาลเทศะ” แล้ว นอกเหนือจากบริบทของ “เทศะ” หรือพื้นที่ เราเองก็ต้องพึงสำเหนียกว่า เรื่องของ “กาละ” หรือเวลา ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เข้ามากำกับความคิดและพฤติกรรมของคนเราด้วยเช่นกัน          ด้วยเหตุที่การกระทำของมนุษย์อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของเวลาเช่นนี้ จึงมีความพยายามของคนบางคนที่ต้องการมีอำนาจจะเอาชนะเวลา และความปรารถนาที่จะกำชัยเหนือกาลเวลาดังกล่าวนี้เอง ก็ได้กลายมาเป็นเส้นเรื่องหลักในละครแนวดรามาสืบสวนสอบสวนแบบข้ามภพข้ามชาติเรื่อง “เล่ห์บรรพกาล”         ละครเปิดฉากปูเรื่องจากภาพยุคสมัยปัจจุบัน ที่ได้เกิดเหตุการณ์ตึกถล่มกลางกรุง และปรากฏอักขระลึกลับโบราณอยู่ในสถานที่เกิดเหตุดังกล่าว เหตุการณ์นี้ได้สร้างความสนเท่ห์ใจให้กับพระเอกหนุ่ม “เพลิงฟ้า” นักข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 6 และยังเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้มารู้จักพบเจอกับนางเอก “สิตางศุ์” หรือชื่อเล่นก็คือ “ตัวไหน” อาจารย์สาวนักประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง         หลังจากครั้งนั้น ก็เริ่มมีเหตุการณ์ที่ตัวละครใกล้ชิดรอบข้างพระเอกของเราถูกฆ่าตายไปทีละคน และทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมนั้น ยิ่งเพลิงฟ้าสืบสาวคดีไปมากเท่าไร เขาก็ยิ่งพบว่า เรื่องราวจะต้องเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับ “อดุล” ศาสตราจารย์ผู้มีชื่อเสียงด้านประวัติศาสตร์ และ “ปักบุญ” ภรรยาสาวลึกลับที่มีสัมผัสพิเศษกับอดีต         เมื่อตัวละครทั้งสี่คนได้เวียนวนมาบรรจบพบเจอกัน นอกจากละครจะยืนยันให้เห็นวัฏสงสารแห่งกรรมที่ทุกคนเคยร่วมทำกันมาในแต่ละชาติภพ แต่อีกด้านหนึ่ง ภายใต้วัฏจักรแห่งกรรมที่ร้อยรัดกันไว้นี้เอง เพลิงฟ้าและปักบุญจึงเป็นสองตัวละครที่สามารถหยั่งรู้มีพลังที่มองเห็นอดีตชาติของตนได้         ความผูกพันของตัวละครสี่คนพันผูกโยงไปราวๆ พันปีก่อน เมื่อเพลิงฟ้าที่ปางก่อนคือ “ท้าวราวิ” แห่งเมืองไวสาลี นักเวทย์หนุ่มผู้มีอาคมแก่กล้าได้มาพบรัก และเลือกเข้าพิธีเสกสมรสกับ “นางพญาศศิณา” แห่งเมืองอรุณา ซึ่งชาติปัจจุบันก็กลับมาเกิดเป็นสิตางศุ์         ความรักของราวิและศศิณาได้ก่อตัวเป็นความแค้นในหัวใจของสตรีอีกนางอย่าง “ทิณสรี” หรือปักบุญในชาติภพปัจจุบัน มิใช่เพราะเธอแอบรักราวิด้วยคิดว่าตนเป็นเนื้อคู่กันมาแต่ชาติก่อนเท่านั้น แต่เพราะเธอถูกเล่ห์กลลวงของ “ท้าววาร” ที่วางแผนให้ “ความรักอันบังตา” กลายมาเป็นความแค้นชนิดที่ “จะเจ็บจำไปถึงปรโลก” กันเลยทีเดียว        เบื้องหลังของท้าววาร หรือศาสตราจารย์อดุลในปัจจุบันนั้น เป็นผู้ที่มักใหญ่ใฝ่สูง และเพราะด้วยเป็นผู้ชำนาญในอาถรรพเวท ท้าววารจึงปรารถนาจะสร้างและปลุกเสกเทวรูป “กาลเทพ” ที่ใครก็ตามหากได้ครอบครอง คนผู้นั้นก็จะมีอำนาจรับรู้ทุกห้วงกาลเวลา ที่มิใช่แค่เห็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต หากยังควบคุมกาลเวลาของมนุษยชาติได้          เมื่อท้าววารเป็นจุดเริ่มต้นของปมชั่วร้ายแห่ง “เล่ห์บรรพกาล” และราวิเองก็ตระหนักว่า ความลับแห่งเวลาเป็นสิ่งที่มนุษย์มิอาจรู้ หรือมิบังควรที่จะล่วงรู้แต่อย่างใด เขาจึงวางแผนขัดขวางพิธีกรรมปลุกเสกองค์กาลเทพ จนสามารถสังหารท้าววาร พร้อมๆ กับสละชีพของตนให้ถูกเพลิงไหม้พร้อมไปกับการฝังความลับของเทวรูปเอาไว้นับเป็นพันปี         แต่เพราะโลภะโทสะโมหะเองก็สามารถข้ามผ่านกาลเวลาได้ เมื่อก้าวเข้าสู่ภพชาติใหม่ในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง ราวิและศศิณาจึงได้กลับมาเกิดเป็น “ขุนอุทัยโยธิน” และ “แม่หญิงดวงแข” ผู้ที่ยังคงสืบต่อภารกิจหน้าที่ในการปกป้องเทวรูปกาลเทพจาก “หมอผีบุญ” และ “บุญเหลือ” ซึ่งก็คือท้าววารและทิณสรี ผู้พกพาความอาฆาตแค้นและปรารถนาอำนาจเหนือกาลเวลา จนได้รีเทิร์นกลับมาพบกันในอีกคำรบหนึ่ง          ดังนั้น เมื่อมาถึงกาลสมัยปัจจุบัน ตัวละครได้กลับมาสะสางปมปัญหาและผลประโยชน์ซึ่งขัดแย้งกัน โดยที่ฝั่งหนึ่งก็ต้องการพิทักษ์ความลับแห่งเวลา ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งก็มุ่งมาดจะช่วงชิงการถือครองอำนาจแห่งเวลามาเป็นของตน เรื่องราวก็ค่อยๆ เฉลยออกมาว่า ตัวละครหลากหลายชีวิตที่เข่นฆ่าประหัตประหารกันนั้น ก็สืบเหตุเนื่องมาแต่กิเลสของท้าววารที่ฝักใฝ่ในอำนาจแต่ครั้งบุรพกาลเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังนั่นเอง         อย่างไรก็ตาม หากเราพินิจพิจารณากันดีๆ ชื่อขององค์เทวรูป “กาลเทพ” อันหมายถึงองค์เทพผู้คุ้มครองดูแลกาลเวลานั้น ก็ดูจะพ้องเสียงกับคำว่า “กาฬเทพ” อันอนุมานได้ถึงพระกาฬหรือพญายม เทพเจ้าแห่งความตาย ดังนั้น วิถีแห่งกาลเวลาจึงเป็นประหนึ่งเหรียญสองด้าน ที่แม้จะสร้างสรรค์ แต่ก็พร้อมจะเป็นเพลิงเผาผลาญทำลายล้างจนนำมาซึ่งความตายได้เช่นกัน         และถึงแม้เวลาจะสามารถทำลายล้าง ดุจเดียวกับที่ตัวละครหลายชีวิตต้องพบจุดจบเพื่อเซ่นสังเวยการปลุกเสกพลังขององค์กาลเทพ แต่อีกด้านหนึ่ง แม้จะตระหนักรู้ความน่ากลัวของเวลา แต่กิเลสที่ล้นเกินในอำนาจ ก็ทำให้มนุษย์บางคนยอมสมาทานตนเองเข้าสู่ “ด้านมืด” เพื่อถือครองเอาชนะเวลาให้จงได้         เฉกเช่นที่ครั้งหนึ่งปักบุญผู้อยู่ในสภาพ “เวลาไม่ช่วยอะไรหากใจมันยังฝังจำ” เคยกล่าวถึงการช่วงชิงองค์เทวรูปกาลเทพว่า “ต่อให้เอาสมบัติทั้งโลกมากองรวมกัน มันก็ไม่มีค่าเท่ากับการควบคุมเวลาได้หรอก…”         จนเมื่อเรื่องราวของละครงวดเคี่ยวเข้ามาเรื่อยๆ ความจริงแห่ง “เล่ห์บรรพกาล” ก็ได้ถูกเผยออกมาว่า อดุลก็คือตัวการหลักของเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ในเรื่อง เพราะนอกจากเขาจะเชื่อว่า “คนเราเมื่อลุ่มหลงในอำนาจ ความรักอะไรก็ไม่มีความหมายทั้งสิ้น” แล้ว ด้วยเหตุผลเรื่องอำนาจอีกเช่นกัน ที่ทำให้เขากล้าจะละเมิดความลับแห่งเวลาที่มนุษย์เราไม่ควรจะล่วงรู้ได้         กับฉากท้ายเรื่องที่ร่างของอดุลถูกปักบุญฉุดลากไปทำลายจนมอดไหม้ด้วยฤทธานุภาพขององค์กาลเทพ ก่อนที่เขาจะย้อนเวียนกลับมาเกิดใหม่อีกครั้งครา ก็คงบอกเป็นนัยๆ ได้ว่า อำนาจที่มนุษย์ฝักใฝ่ลุ่มหลงนั้น ช่างเวียนวนเป็นวัฏฏะที่หาใช่จะสิ้นสุดได้โดยง่าย         และที่สำคัญ เมื่อใดที่ความปรารถนาในอำนาจได้เริ่มต้นขึ้นคำรบใหม่ เมื่อนั้นสงครามช่วงชิงเพื่อครอบครองความลับแห่งเวลาที่มนุษย์มิควรรู้ ก็จะปะทุเชื้อไฟขึ้นมาครั้งใหม่ได้ด้วยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 แนวใหม่ของวัคซีน: กรณี Covid-19

        สิ่งที่บุคคลากรด้านการแพทย์ต้องการไว้ในมือเพื่อต่อสู้กับ Covid-19 คือ ยาบำบัดเชื้อและวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ ในกรณีของยาบำบัดเชื้อนั้นปัจจุบันยังไม่มียาที่ชะงัดจริงๆ ชนิดชุดเดียวจบ แต่ก็มียาที่สามารถนำมาใช้โดยเทียบเคียงในการแก้ปัญหาที่เกิดจากไวรัสอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาที่ไปยับยั้งการเพิ่มปริมาณกรดนิวคลิอิกที่เป็นหน่วยพันธุกรรมของไวรัส เพื่อขัดขวางการเพิ่มปริมาณของไวรัสแล้วทำให้การติดเชื้อจบลง ส่วนวัคซีนนั้นมักเกี่ยวกับการลดการระบาดของเชื้อสู่ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อหรือเพิ่งเริ่มติดเชื้อ เพราะวัคซีนช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาจัดการกับไวรัสที่เข้าสู่ร่างกาย ในฉลาดซื้อฉบับนี้ผู้เขียนขอนำเรื่องของวัคซีนที่กำลังถูกพัฒนาในแนวใหม่  ซึ่งดูว่าน่าจะดีกว่าวัคซีนในลักษณะเดิมๆ ในบางมิติ         วัคซีนนั้นโดยทั่วไปแล้วเป็นชีววัตถุที่เตรียมขึ้นจากเชื้อจุลินทรีย์ที่ถูกทำให้ตายหรืออ่อนฤทธิ์ลง บ้างก็ใช้เพียงบางส่วนของเชื้อจุลินทรีย์ (เช่นผนังเซลล์) หรืออยู่ในลักษณะของท็อกซอยด์ (toxoid คือสารพิษจากจุลินทรีย์ที่ถูกทำให้หมดฤทธิ์) เป็นต้น คุณสมบัติของวัคซีนที่สำคัญคือ เป็นโปรตีนที่มีศักยภาพเป็น แอนติเจน (antigen) ซึ่งเมื่อถูกฉีดเข้าสู่ร่างกายคนหรือสัตว์แล้วจะชักนำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ทั้งที่เป็นเม็ดเลือดขาว (white blood cells) ที่จัดการกับจุลินทรีย์โดยตรงและเม็ดเลือดขาวที่สร้างโปรตีนที่เรียกว่า แอนติบอดี (antibody) ที่สามารถจับตัวกับบางส่วนของจุลินทรีย์แล้วส่งผลให้เกิดกระบวนการทำลายจุลินทรีย์นั้น ๆ นอกจากนี้หน้าที่ที่สำคัญของวัคซีนอีกประการคือ การกระตุ้นให้เกิดการสร้างเซลล์ชนิด memory cell ที่สามารถจำจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกัน โดยเซลล์ลักษณะนี้มักอยู่ได้นานในระบบเลือดเพื่อเตรียมพร้อมในการต่อสู้กับจุลินทรีย์ที่อาจเข้าสู่ร่างกาย แต่นานเพียงใดนั้นมีหลายปัจจัยเป็นตัวกำหนด         ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นมักมีความจำเพาะต่อจุลินทรีย์ชนิดนั้นๆ แต่ก็มีบ้างเช่นกันที่ภูมิคุ้มกันนั้นสามารถป้องกันสิ่งแปลกปลอมอื่น เช่น เชื้อโรคที่มีความคล้ายกับเชื้อที่เป็นเป้าของวัคซีนที่เข้าสู่หรือเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เกิดขึ้นในร่างกายเช่น เซลล์มะเร็ง ในลักษณะดังกล่าวนี้วัคซีนทำหน้าที่กระตุ้นเม็ดเลือดขาวชนิดที่ทำหน้าที่เก็บกวาดทุกอย่างที่เป็นสิ่งแปลกปลอมที่มีโปรตีนเป็นองค์ประกอบ ตัวอย่างที่มีการพูดถึงในประเด็นนี้คือ วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG ซึ่งเด็กในชาติกำลังพัฒนาได้รับเพื่อป้องกันวัณโรคทุกคน) ได้ถูกกล่าวถึงว่า วัคซีนนี้มีส่วนทำให้ประเทศยากจนติด covid-19 น้อยและไม่รุนแรงเท่าคนในประเทศพัฒนาแล้ว         การผลิตวัคซีนเพื่อต่อต้านการติดเชื้อ covid-19 นั้น มีบริษัทยาและมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกหลายแห่งได้แข่งกันทำ เพราะผู้ที่ทำได้สำเร็จก่อนย่อมได้ชื่อว่า ช่วยให้ประชากรโลกรอดตายได้เร็วขึ้นพร้อมทั้งรายได้มหาศาลที่ตามมา ข้อมูล ณ วันที่ 8 เมษายน 2563 กล่าวว่า มีวัคซีนราว 78 ชนิดที่อยู่ในขั้นตอนการศึกษา ซึ่งอย่างน้อย 5 ชนิดเตรียมเข้าสู่ขั้นตอนการทดลองในคน โดยวัคซีนที่อาศัยเทคนิคการใช้หน่วยพันธุกรรมหรือกรดนิวคลิอิกของไวรัสเป็นแนวทางในการผลิตนั้นดูน่าสนใจที่สุด         ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตกล่าวว่า บริษัทหนึ่งชื่อ Novavax ได้ใช้วิธีการทางด้าน genetic recombination โดยเริ่มจากการหาตำแหน่งของหน่วยพันธุกรรมของไวรัสที่เป็นตัวสร้าง ตุ่มโปรตีน (spike protein) บนผิวของไวรัสซึ่งเป็นที่เข้าใจว่า นอกจากมีบทบาทในการเข้าสู่เซลล์ของร่างกายแล้วยังน่าจะมีบทบาทในการกระตุ้นภูมิต้านทานของผู้ที่ติดเชื้อไวรัส ชิ้นส่วนพันธุกรรมดังกล่าวนั้นได้ถูกสร้างในรูป DNA (deoxyribonucleic acid) plasmid แล้วนำใส่เข้าไปในเซลล์ของแบคทีเรียหรือยีสต์ที่เหมาะสมเพื่อช่วยในการผลิตโปรตีนที่เป็นตุ่มบนผิวของไวรัสออกมาในปริมาณมาก เพื่อนำไปใช้เป็นองค์ประกอบของวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิต้านในผู้ที่ยังไม่ป่วย         ในลักษณะที่คล้ายกันคือ การใช้หน่วยพันธุกรรมชนิด RNA (ribonucleic acid) เป็นแนวทางในการผลิตวัคซีนและได้รับอนุญาตให้เริ่มมีการทดสอบในคนเป็นทีมแรกแล้วคือ วัคซีนของบริษัท Moderna ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทที่เคยพยายามผลิตวัคซีนเกี่ยวกับโรค severe acute respiratory syndrome (SARS) และ Middle East respiratory syndrome (MERS) มาแล้ว        ในเว็บของ Moderna กล่าวว่านักวิจัยของบริษัทร่วมกับสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติ (The National Institute of Allergy and Infectious Diseases หรือ NIAID) ได้ทำการศึกษาจนรู้ลำดับของกรดอะมิโนที่ประกอบขึ้นเป็นตุ่มโปรตีนบนผิวไวรัส จากนั้นได้ใช้ความรู้พื้นฐานทางชีวเคมีประเมินว่า รหัสพันธุกรรมที่ควรปรากฏอยู่บน RNA (หรือถ้าจะพูดให้ชัดคือ mRNA) นั้นควรมีการเรียงตัวเช่นไร แล้วจึงทำการสังเคราะห์สาย mRNA ที่ต้องการขึ้นมาในห้องปฏิบัติการ ซึ่งคงต้องเติมยีนกระตุ้นการทำงาน (promoter gene) ของ mRNA (ในลักษณะเดียวกันกับการใช้ CaMV P-35S ช่วยในการผลิตสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมหรือ GMO) ที่สามารถบังคับให้เกิดการถอดระหัสของ mRNA หลังจากเข้าสู่เซลล์ของร่างกายเพื่อให้ได้โปรตีนที่มีเอกลักษณ์ตรงกับตุ่มโปรตีนบนผิวไวรัส โดยที่ mRNA นี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของวัคซีน จึงเรียกกันว่า mRNA vaccine ซึ่งมีระหัสว่า mRNA-1273 (ในความเป็นจริงมีบริษัทอื่น เช่น CureVac ในเมืองบอสตันที่อ้างว่ากำลังผลิต mRNA vaccine เช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้ให้รายละเอียดดังเช่นที่ Moderna ให้ไว้ในเว็บของบริษัท) โดยข้อดีของ mRNA วัคซีนคือ ตัว mRNA จะถูกทำลายทิ้งในที่สุดหลังจากปิดงานในลักษณะเดียวกับที่เกิดต่อ mRNA ของคน (และสัตว์) ทั่วไป         ในการทดสอบประสิทธิผลของวัคซีนนั้น NIAID เป็นผู้รับผิดชอบในการอนุญาตให้ Moderna ได้สิทธิข้ามขั้นตอนเพื่อเริ่มทำการทดลองวัคซีนในคนได้อย่างเร่งด่วน เพื่อดูว่าวัคซีนก่อปัญหาสุขภาพแก่อาสาสมัครและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันต่อไวรัสหรือไม่ วัคซีนของ Moderna ได้เริ่มทดสอบแล้วที่สถาบันวิจัยด้านสาธารณสุุข Kaiser Permanente Washington ในนครซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน เมื่อวันจันทร์ 16 มีนาคม 2020 โดยอาจมีวัคซีนของบริษัทอื่นดำเนินการตามในไม่ช้า         การทดลองวัคซีน mRNA-1273 ขั้นตอนที่ 1 นั้นนำทีมโดยแพทย์หญิงลิซา แจ็คสัน โดยใช้กลุ่มตัวอย่างผู้ชายและผู้หญิง (ที่ไม่ตั้งครรภ์) อายุระหว่าง 18-55 ปี จำนวน 45 คน โดยกลุ่มตัวอย่างได้รับวัคซีนในปริมาณที่แตกต่างกัน คือ 25, 100 หรือ 250 ไมโครกรัม สองเข็มในระยะเวลาห่างกัน 28 วัน จากนั้นจึงดูผลด้านความปลอดภัยและการตอบสนองต่อวัคซีน (การสร้างภูมิคุ้มกัน) นาน 1 ปี ผู้ที่สนใจในรายละเอียดของปฏิบัติการนี้สามารถอ่านดูได้ที่ https://www.niaid.nih.gov/news-events/nih-clinical-trial-investigational-vaccine-covid-19-begins         มีข้อมูลว่าสำนักข่าว CNN ได้สัมภาษณ์อาสาสมัครทั้งชายและหญิงที่เข้าร่วมการทดลองครั้งนี้พบว่า อาสาสมัครต่างสบายใจที่ทราบว่าในวัคซีนนั้นไม่ได้มีเชื้อไวรัสจริง แต่มีเพียงสิ่งที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วสิ่งนั้นจะมีส่วนในการสร้างโปรตีนที่เหมือนกับโปรตีนซึ่งอยู่บนผิวของไวรัสออกมา เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำลายโปรตีนนั้น ซึ่งจะส่งผลให้ไวรัสที่มีอยู่ในร่างกายถูกทำลายในที่สุด         ตามหลักการทั่วไปแล้วก่อนมีการทดลองยาหรือวัคซีนในคนนั้น จำต้องเริ่มต้นทดสอบในสัตว์ทดลองก่อน เพื่อดูขนาดที่เหมาะสมของยาหรือวัคซีนพร้อมดูความเสี่ยงในการก่ออันตรายต่อสิ่งมีชีวิต รวมถึงการตรวจวัดด้านเภสัชจลศาสตร์เพื่อดูว่า การดูดซึม การกระจายตัว และการขับออกจากร่างกายเป็นอย่างไรในสัตว์ทดลอง จากนั้นจึงเริ่มทดสอบในคนซึ่งขั้นตอนแรกมักใช้อาสาสมัครที่มีสุขภาพดีราว 20-80 คน เพื่อทดสอบความปลอดภัยและตรวจสอบผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น จากนั้นจึงเข้าขั้นตอนที่สองซึ่งใช้อาสาสมัคร 30-300 คน ซึ่งบางครั้งอาจใช้อาสาสมัครที่อยู่ในส่วนของโลกที่ได้รับผลกระทบจากโรคนั้นเลยเพื่อวัดประสิทธิภาพของวัคซีนในสภาวะจริงไปด้วย จากนั้นในขั้นตอนที่สามซึ่งเป็นการทำเหมือนขั้นตอนที่สองแต่ใช้อาสาสมัครประมาณ 1000-3000 คน เมื่อการทดสอบสำเร็จสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะเป็นผู้ประเมินผลว่าวัคซีนนั้นได้ผลหรือไม่ นอกจากนี้อาจมีขั้นตอนที่สี่ซึ่งไม่บังคับแต่เป็นการทำหลังวัคซีนออกสู่ตลาดแล้วโดยเป็นการเก็บข้อมูงในกลุ่มคนเฉพาะเช่น คนท้อง เด็ก ผู้สูงวัย ฯ เพื่อให้ได้ข้อมูลทางเทคนิคที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค เช่น ผลข้างเคียงในคนบางกลุ่ม อายุของยาหรือวัคซีนหลังการผลิต เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2563

พาวเวอร์แบงค์เป็นสินค้าบังคับ ผลิต นำเข้า จำหน่าย ต้องมี มอก.         สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศกฎกระทรวงระบุให้ พาวเวอร์แบงค์ เป็นสินค้าที่มีมาตรฐานบังคับ จะผลิต นำเข้า จำหน่าย จะต้องมี มอก        โดยประกาศกฎกระทรวงนี้ กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าสำหรับการใช้งานแบบพกพา: คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2563 ประกาศให้สินค้าที่เป็น Powerbank จะต้องผ่านมาตรฐานบังคับ มอก.2879-2560 กฎกระทรวงนี้จะมีผลบังคับใช้ภายใน 150 วันนับแต่วันประกาศ ช่วงล็อกดาวน์สินค้ากีฬา-เครื่องครัว-เฟอร์นิเจอร์ ยอดขายพุ่ง 500%.         บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) เผยข้อมูลตัวเลขการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของชาวไทยในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมาว่า ยอดผู้ซื้อและจำนวนผู้ขายเพิ่มขึ้นกว่า 75%         . โดยนักช็อปใช้เวลาบนแพลตฟอร์มลาซาด้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 30% ในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ (ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม) สินค้าเครื่องกีฬา ของเล่น อุปกรณ์สันทนาการกลางแจ้ง เครื่องครัวขนาดเล็ก เฟอร์นิเจอร์ รวมไปถึงอุปกรณ์ออกกำลังกายนั้นมียอดขายพุ่งขึ้น 250% ถึงกว่า 500% โดยลาซาด้าคาดว่าภายในสิ้นปี 2563 ตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยจะมีมูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาท สูงขึ้น 35% จากปี 2562  มะเร็งตับเจอในชายไทยสูงเป็นอันดับ 1 ตายปีละกว่าหมื่น ไร้อาการเตือน         กรมการแพทย์ เผยมะเร็งตับพบมากเป็นอันดับ 1 ของคนไทยแนะปรับพฤติกรรมสุขภาพลดความเสี่ยง แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิต 15,912 ราย เพศชายพบมากสุด         นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด ปีละ 122,757 ราย มะเร็งตับและท่อน้ำดีถือเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทย (ปี 2558) พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งตับรายใหม่ 20,671 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 15,912 ราย ซึ่งมะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ มะเร็งของเซลล์ตับและมะเร็งท่อน้ำดีตับ โดยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ สาเหตุของมะเร็งตับเกิดจากการเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบชนิดบี ส่วนสาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดีเกิดจากพยาธิใบไม้ตับร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีดินประสิว (ไนเตรท) และไนไตรท์ เช่น ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาส้ม แหนม ฯลฯ นอกจากนี้ การดื่มสุราเป็นประจำ การรับสารพิษอะฟลาทอกซินที่เกิดจากเชื้อราบางชนิดที่พบในอาหารประเภทถั่ว ข้าวโพด พริกแห้ง รวมถึงไวรัสตับอักเสบชนิดซีก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งตับได้         นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเกี่ยวกับอาการของมะเร็งตับว่า ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแสดงแตกต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไปมักไม่มีอาการในระยะแรก อาการส่วนใหญ่ที่พบ คือ แน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อเป็นประจำ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ปวดหรือเสียดชายโครงขวา อาจคลำพบก้อนในช่องท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต และมีอาการบวมบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง เป็นต้น หากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย  โพสต์เหล้าเบียร์ไม่มีเจตนาโฆษณาไม่ผิด         นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกรณีสื่อสังคมออนไลน์ออกมาให้ข้อมูลเรื่องโพสต์แก้วเหล้าเบียร์มีความผิดเรื่องโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้แต่ประชาชนทั่วไปโพสต์ก็มีความผิด ทำให้เกิดความตื่นตระหนก และเกิดกระแสให้ประชาชนร่วมลงชื่อยกเลิกมาตรา 32 การควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า “การตีความมาตราดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ประชาชน ซึ่งในมาตรา 32 ระบุใจความสำคัญไว้ 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1. ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า เช่น การโพสต์ภาพเหล้าเบียร์พร้อมข้อความต่างๆ เพราะต้องการที่จะขายสินค้าเหล้าเบียร์นั้นๆ รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ 2. ห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมกับการมีข้อความหรือพฤติการณ์ที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้คนอื่นอยากจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังกล่าว         ดังนั้น การที่ประชาชนโพสต์ภาพขวดเหล้าเบียร์ หรือแก้วเบียร์ที่มีโลโก้เบียร์ จึงยังไม่ใช่ความผิดตามกฎหมายนี้ ...แต่ดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ทำให้คนหันมาสนใจสินค้า มีผลป็นการโน้มน้าวหรือชักจูงใจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม จึงไม่สามารถทำได้" นพ.นิพนธ์กล่าว  มหากาพย์ที่นอนยางพารา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนำกลุ่มผู้เสียหายร้อง ปคบ.เอาผิดเพจขายของ         บก.ปคบ. วันที่ 19 มิ.ย. นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค พาผู้เสียหายที่ถูกหลอกซื้อที่นอนยางพาราจำนวนกว่า 50 คน เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.ปริญญา ปาละ รอง ผกก.(สอบสวน) กก.1 บก.ปคบ.และ ร.ต.อ.ดลพิษิฐ คำผง รอง สว.(สอบสวน)กก.1 บก.ปคบ. เพื่อขอให้ดำเนินการทางกฎหมายกับเพจที่ขายของไม่ได้มาตรฐาน         นฤมล กล่าวว่า มูลนิธิฯ พาผู้เสียหายเข้ายื่นหนังสือกับเจ้าพนักงาน ปปง. เพื่อขอให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินของเจ้าของบัญชี และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ถ้าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ขอให้ดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ          สำหรับที่มาของปัญหานี้คือ มีผู้เสียหายจากการสั่งซื้อที่นอนยางพาราผ่านเฟชบุ๊กเพจจำนวนกว่า 10 เพจ โดยบางรายได้รับของที่ไม่มีคุณภาพ ขณะที่บางรายก็ยังไม่ได้รับสิ่งของที่สั่งซื้อไป จนกระทั่งเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาผู้เสียหายหลายรายได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของเพจดังกล่าว จนเจ้าของเพจถูกจับและถูกปิดเพจไปแล้ว   แต่หลังจากนั้นกลับปรากฎพบว่าเพจต่างๆ เหล่านั้นมีความเคลื่อนไหว กลับมาเปิดหลอกลวงขายสินค้าออนไลน์อีก โดยเฉพาะที่นอนยางพารา จนมึผู้หลงเชื่อสั่งซื้อจำนวนมาก ทำให้บรรดาผู้เสียหายตั้งไลน์กลุ่มโอเพ่นแชต ชื่อ 'กลุ่มมหากาพย์ที่นอนยางพารา' เพื่อรวบรวมความผู้เสียหายและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ก่อนจะนำข้อมูลเข้าร้อง ปปง. เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนเดินทางเข้าแจ้งความ บก.ปคบ.เพิ่ม  เพื่อเร่งให้ทางการตรวจสอบดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องเพจดังกล่าว ร่วมทั้งเพจอื่นๆ          ทั้งนี้ มีผู้เสียหายที่รวบรวมได้มีจำนวนกว่า 389 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 1 ล้านบาท ที่สั่งซื้อที่นอนยางพาราแล้วยังไม่ได้รับสินค้าหรือบางรายได้รับสินค้าไม่ครบถ้วนหรือส่งสินค้ามาให้แต่ไม่ใช่ ที่นอนยางพารา สำหรับเพจเฟซบุ๊กที่หลอกลวงผู้บริโภคมีด้วยกันหลายชื่อ  และมีเพจที่ปิดไปแล้วแต่มีจุดสังเกตของพฤติกรรมที่เข้าข่ายหลอกลวงนั้น คือในบางเพจมีการใช้ชื่อบัญชีและเลขบัญชีเดียวกันในหลายเพจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 กระแสต่างแดน

ดาวหลอกคุณ        การทดลองโดย which? นิตยสารคุ้มครองผู้บริโภคของอังกฤษพบว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเลือกสินค้ารุ่นที่ "ไม่ควรซื้อ" มากขึ้นเมื่อได้เห็นรีวิวสวยหรู ประกอบจำนวน "ดาว" ที่มากเกินจริง และการเป็น "สินค้าโปรโมท" ของเว็บ        ผู้บริโภค 10,000 คนได้รับโจทย์ให้เลือกซื้อ หูฟัง กล้องติดหน้ารถ หรือเครื่องดูดฝุ่นไร้สายอย่างใดอย่างหนึ่ง (สถิติระบุว่าสามอย่างนี้เป็นสินค้าที่มี “เฟครีวิว” มากที่สุด) จากเว็บ “อเมซอน” ที่นิตยสารทำขึ้นมาเอง เว็บดังกล่าวนำเสนอสินค้าประเภทละ 5 รุ่น ซึ่ง which? เลือกมาแล้วให้มีทั้ง น่าซื้อ (1) พอทน (3)  และไม่ควรซื้อ (1)         จากผู้บริโภคที่ถูกแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม แยกตามข้อมูลที่ได้รับ เขาพบว่ากลุ่มที่เห็นดาวและรีวิวเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะกดซื้อสินค้ารุ่นที่ “ไม่ควรซื้อ" มากเป็นอันดับสอง รองจากกลุ่มที่ได้ข้อมูลสินค้าพร้อมเห็นดาวระยิบระยับ รีวิวอวยสุดๆ และการโปรโมทโดยแพลตฟอร์มสวิสวิถีใหม่        นอกจากการเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากากอนามัย และค่าธรรมเนียมโควิด-19 ที่ร้านอาหารจะเรียกเก็บจากลูกค้าหัวละ 2 ฟรังก์ (ประมาณ 65 บาท) แล้ว คนสวิตเซอร์แลนด์จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเรื่องการลงทุนทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในประเทศด้วย         ความลำบากในการจัดหาสินค้า/ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากประเทศอื่นในช่วงของการระบาดทำให้ทั้งรัฐบาลและประชาชนชาวสวิสตระหนักและเห็นตรงกันว่าต่อไปนี้จะต้องมีนโยบายพึ่งตนเอง         นอกจากราคาสินค้าในสวิตเซอร์แลนด์จะแพงสุดๆ เพราะต้องนำเข้า (คนที่อยู่ตามชายแดนนิยมขับรถข้ามไปซื้อในออสเตรีย อิตาลี เยอรมนี และฝรั่งเศส) คนสวิสยังต้องปวดใจที่มีเงินแต่ไม่สามารถซื้อหาสินค้าจำเป็นมาใช้ได้ เพราะประเทศอื่นๆ ต่างก็ปิดชายแดนหรือเก็บสต็อกใว้ใช้เอง         การสำรวจความเห็นพบว่าร้อยละ 94 ของประชากรอยากให้อุตสาหกรรมยากลับมามีฐานการผลิตในประเทศ ร้อยละ 90 บอกว่าบริษัทเหล่านั้นควรมีสต็อกยา เวชภัณฑ์ ถุงมือ หน้ากากอนามัย หรือแม้แต่เครื่องช่วยหายใจไว้สำหรับคนสวิสด้วยขั้นตอนฝ่าวิกฤติ        โอ้คแลนด์กำลังจะเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง ปริมาณน้ำในเขื่อน 9 แห่งที่หล่อเลี้ยงเมืองนี้ลดน้อยลงทุกทีเนื่องจากปริมาณฝนลดลงไปกว่าร้อยละ 50 ตั้งแต่พฤศจิกายนปีที่แล้ว หากฝนยังไม่ตกในฤดูใบไม้ผลิโอ้คแลนด์จะมีน้ำใช้เพียงวันละ 200 ล้านลิตร         พวกเขาจึงเตรียมใช้มาตรการเดียวกับที่นิวซีแลนด์ใช้รับมือกับวิกฤติโควิด-19 นั่นคือการกำหนดแนวปฏิบัติที่แบ่งออกเป็นระยะ แผนประหยัดน้ำแบบ 4 เฟส ได้แก่          เฟสแรก (เริ่มเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม) ให้ทุกครัวเรือนงดการใช้สายยางหรือเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และสมาชิกในครัวเรือนอาบน้ำฝักบัวได้คนละไม่เกิน 4 นาที โดยรวมจำกัดการใช้น้ำไม่เกินวันละ 410 ลิตร         เฟสที่สอง เพิ่มการประหยัดน้ำให้ได้วันละ 20 ลิตร และธุรกิจ/โรงงานต่างๆ ต้องลดการใช้น้ำลงร้อยละ 10         เฟสสาม ประหยัดน้ำให้ได้วันละ 30 ลิตร/คน ธุรกิจ/โรงงานลดการใช้น้ำลงร้อยละ 15           เฟสสี่ ประหยัดน้ำให้ได้วันละ 40 ลิตร/คน ธุรกิจ/โรงงานลดการใช้น้ำลงร้อยละ 30เบรกเบบี้บูม         หน่วยงานด้านประชากรและการวางแผนครอบครัวของอินโดนีเซีย ซึ่งมีหน้าที่แจกจ่ายยาคุมกำเนิดให้กับคู่สมรส ระบุว่ามีผู้มารับบริการน้อยลงร้อยละ 10 หรือประมาณ 2 – 3 ล้านคนในช่วงการระบาดของไวรัสและเขาคาดการณ์ว่าร้อยละ 15 ของคนกลุ่มนี้จะตั้งครรภ์         นั่นหมายความว่าจะมีจำนวนสตรีตั้งครรภ์เพิ่มจากที่คาดไว้ก่อนหน้านี้อีก 300,000 ถึง 450,000 คนและทารกเหล่านี้จะออกมาดูโลกในช่วงที่ยังไม่มีวัคซีนมารับมือกับการระบาด        รัฐบาลอินโดนีเซียจึงได้แต่ขอร้องให้ครอบครัวงดการตั้งครรภ์ในช่วงล็อกดาวน์ แต่คำขอนี้อาจมาช้าเกินไป เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสื่อท้องถิ่นรายงานว่าเมืองทาสิกมาลายา บนเกาะชวา มีอัตราการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 105        แต่อีกรายงานหนึ่งบอกว่าปัญหาอาจไม่รุนแรงอย่างที่คิด เพราะผู้หญิงส่วนหนึ่งเลือกไปรับยาคุมจากหน่วยงานเอกชนเนื่องจากไม่มีทะเบียนสมรสเป็นหลักฐานในการรับยาฟรีจากรัฐบาลเธอเปลี่ยนไป         เรื่องปวดหัวของธุรกิจหลังการมาเยือนของโควิด-19 คือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ... ในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมสักเท่าไร         สมาคมผู้ค้าปลีกของอังกฤษยืนยันว่าผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลงหลังช่วงล็อกดาวน์ เลือกของถูกเป็นหลัก ใช้จ่ายเฉพาะของจำเป็นและออมเงินมากกว่าเดิม         ที่ประเทศจีน แม้คนจะเดินห้างมากขึ้น ช้อปออนไลน์มากขึ้น (ด้วยคูปองที่ได้รับแจกจากรัฐบาล) แต่ยอดขายสินค้าฟุ่มเฟือยที่เป็นความหวังช่วยดึงการเติบโตของการใช้จ่ายในครัวเรือนกลับลดลง         ในอเมริกาบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเฮอร์ชีย์และคอลเกต ก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าผู้บริโภคสนใจแต่ตัวเลือกราคาถูก ร้านสินค้าราคาประหยัดมีลูกค้าเพิ่มขึ้นและคนอเมริกันยังเลือกออมถึงร้อยละ 33 ของรายได้ เช่นเดียวกับคนยุโรปที่เพิ่มอัตราการออมจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 19         รัฐบาลแต่ละประเทศจึงต้องหาทางผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ลดดอกเบี้ยเงินฝากและอัดยาแรงช่วยกู้เศรษฐกิจนั่นเอง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 มาตรการเพื่อรองรับบริการรถสาธารณะในยุคโควิด 19

        นับแต่มีนาคมถึงมิถุนายนเป็นเวลากว่าสามเดือนเต็ม ที่คนไทยทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจหยุดการแพร่เชื้อของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โควิด 19” ที่เริ่มระบาดมาตั้งแต่ปลายปี 2562  และกลายเป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลกจนทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมตอนนี้มากกว่า 9,000,000 คน และเสียชีวิตแล้วกว่า 460,000 คน นับเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เป็นความสูญเสียยุคใหม่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติเลยก็ว่าได้         สำหรับประเทศไทยอาจจะดูเบาใจลงได้บ้าง เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อลดน้อยลงหลายวันแล้ว และน่าจะใจชื้นขึ้นได้อีกเมื่อประเทศไทยยังถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ดีที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชียอีกด้วย          แต่แม้จะได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็นประเทศที่ติดอันดับโลกในการฟื้นตัวจากโรคระบาดนี้ ก็อย่าลืมว่าตอนนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ ปัญหาคือ แล้วถ้าต้องเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจะเป็นอย่างไร ทุกวันนี้แค่รับคนไทยจากต่างประเทศกลับเข้ามาก็พบคนมีไข้เสี่ยงติดเชื้อหลายคนอยู่แล้ว ตรงนี้คือจุดเปลี่ยนที่จะเป็นสถานการณ์ใหม่สำหรับพวกเราทุกคนแน่นอน         หันมองเพื่อนบ้านใกล้เคียงและอีกหลายประเทศทั่วโลกแล้ว คงต้องบอกว่าสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจนัก เพราะหลายประเทศที่ดูสงบนิ่ง ตอนนี้เริ่มพบผู้ติดเชื้อรายใหม่กันบ้างแล้ว นั่นหมายความว่าการแพร่ระบาดรอบสองกำลังเริ่มขึ้น และการปิดประเทศหนีหรือล็อคดาวน์อีกรอบคงไม่ใช่คำตอบ อย่างเก่งคงทนได้ไม่เกินสามเดือน ยิ่งการอัดฉีดเม็ดเงินก็ไม่ได้ทำได้ตลอดไป เพราะถ้าพลาดการ์ดตกเมื่อไหร่ กลับไปใช้ชีวิตแบบประมาทไม่สนใจอะไรเหมือนเดิม นั่นหมายความว่า รอบสองของเราอาจมาเร็วกว่าที่คิดก็เป็นได้         แต่การมาของวิกฤตโรคอุบัติใหม่ครั้งนี้ ทำให้คนพูดถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตประจำวันแบบใหม่ ๆ เพราะถ้าเราต้องป้องกันตนเองจากโรคร้ายที่เชื่อว่าจะต้องอยู่กับพวกเราไปอีกนาน เช่น การเริ่มทำงานที่บ้านมากขึ้น ลดการสังสรรค์นอกบ้านถ้าไม่จำเป็น ไม่นำพาตนเองเข้าไปอยู่ในที่แออัด สั่งอาหารเดลิเวอรี่ เลือกช็อปปิ้งสินค้าออนไลน์ หรือ ปรับพฤติกรรมการเดินทาง ลดการใช้รถสาธารณะที่เบียดเสียด แล้วหันมาใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หรือรถจักรยานยนต์แทน รวมถึงการรักษาระยะห่างระหว่างกัน และใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเวลาออกนอกบ้าน        สิ่งเหล่านี้ คือ ความปกติใหม่ ที่เราต้องซึมซับจากสิ่งรอบตัว ภาษา ท่าทาง พฤติกรรม ตลอดจนข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะทำให้เราต้องคุ้นชินอยู่กับสิ่งเหล่านี้กันไปอีกสักพักใหญ่ อย่างน้อยก็อีกหลายเดือนนับจากนี้        แน่นอนว่าเมื่อตอนนี้สถานการณ์ของประเทศไทยเริ่มดีขึ้น รัฐบาลเริ่มทยอยปลดล็อคข้อบังคับหลายอย่างสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันและการเดินทางบ้างแล้ว เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติเร็วที่สุด แต่การเดินทางด้วยรถสาธารณะกลับยังถูกจับตาเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ด้วยมีปัจจัยบ่งชี้ว่า รถสาธารณะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยมีการยกตัวอย่างของประเทศจีนที่พบผู้ติดเชื้อในรถสาธารณะปรับอากาศที่มีคนค่อนข้างแน่น ขณะที่มีผู้โดยสารที่มีเชื้อเพียง 1 คน นั่งอยู่แถวหลัง การแพร่เชื้อไปยังผู้โดยสารคนอื่นบนรถก็สามารถเกิดขึ้นได้ แม้จะนั่งห่างกันถึง 4 เมตรก็ตาม         จากกรณีดังกล่าวจึงทำให้ผู้กำกับนโยบายหลายฝ่ายในประเทศไทยยังไม่กล้าที่จะปลดล็อคการเว้นระยะห่างในรถสาธารณะ ทั้งในรถเมล์และรถไฟฟ้ารวมถึงกลุ่มรถโดยสารระหว่างจังหวัด เพราะยังไม่มั่นใจและไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อบนรถสาธารณะ ทั้งที่การเดินทางด้วยขนส่งมวลชนเป็นบริการสาธารณะที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากในแต่ละวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงทำให้เกิดปัญหากับผู้ใช้บริการตามภาพที่ทุกคนพบเห็น คือ คนยืนเบียดเสียดเต็มคันรถ แต่เบาะที่นั่งบนรถยังต้องเว้นระยะอยู่ แล้วแบบนี้จะเรียกว่ามาตรการป้องกันได้อย่างไร         ขณะที่คาดว่าในเดือนกรกฎาคมนี้ เมื่อสถานการณ์ผ่อนคลายถึงที่สุดแล้ว การเดินทางของประชาชนจะกลับมาเพิ่มขึ้น ประชาชนใช้รถเมล์และรถไฟฟ้ากันเหมือนเดิม ทั้งการเดินทางระยะทางสั้นในเขตเมือง และเดินทางระยะยาวข้ามจังหวัด และคาดหมายว่าจะมีคนใช้บริการรถเมล์มากถึง 650,000 คนต่อวัน ขณะที่ระบบขนส่งทางรางเดิมก่อนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผู้ใช้บริการมากถึง 900,000 คน/วัน แบ่งเป็น รถไฟฟ้า BTS เดิมมีผู้โดยสารเฉลี่ย 517,560 คน/วัน MRT เดิมมีผู้โดยสารเฉลี่ย 284,841 คน/วัน และ แอร์พอตลิงค์เดิมมีผู้โดยสารเฉลี่ย 45,703 คน/วัน และรถไฟฟ้าเดิมอยู่ที่ 59,767 คน/วัน         หากรัฐยังไม่มีมาตรการใหม่และยืนยันต้องเว้นระยะห่างบนรถสาธารณะเหมือนเดิม ปัญหาการไม่เพียงพอของรถสาธารณะและความยากลำบากของผู้ใช้บริการก็จะกลับมา เพราะต้องยอมรับว่าระบบขนส่งมวลชนไทยในปัจจุบัน ไม่ได้ออกแบบไว้รองรับมาตรการระยะห่างทางสังคม Social Distancing ทางออกเร่งด่วนที่ดีที่สุดตอนนี้คือ รัฐควรต้องเร่งปลดล็อคและปรับมาตรการอื่นเข้ามาเสริมแทน  เช่น จริงจังกับนโยบาย work from home สำหรับองค์กรหรือหน่วยงานที่พร้อมเพื่อลดปริมาณการเดินทาง ทดลองลดระยะห่างบนรถสาธารณะเพื่อเพิ่มความจุในปริมาณที่เหมาะสมตามหลักวิศวกรรมที่เน้นความปลอดภัยและกำหนดมาตรการการป้องกันส่วนบุคคล ได้แก่ การบังคับใช้หน้ากากอนามัยอย่างต่อเนื่องจริงจัง         เช่นเดียวกับกลุ่มรถโดยสารระหว่างจังหวัดที่ต้องวิ่งรับส่งคนโดยสารในระยะทางไกล รัฐควรต้องกำหนดมาตรการอื่นเพิ่มเติมมากกว่าการเว้นเบาะที่นั่ง เพราะการจำกัดจำนวนที่นั่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้และการประกอบอาชีพของผู้ประกอบการจนนำไปสู่ปัญหาการบรรทุกเกิน แอบขึ้นราคาค่าโดยสารและสุดท้ายคนที่ต้องแบกรับภาระทั้งหมดคือผู้บริโภคนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >