ฉบับที่ 239 เช็คสุขภาพใจกับ Mental Health Check Up

        ช่วงนี้นั่งฟังข่าววันไหน ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด -19 ยังคงมีให้เห็นอยู่ทุกวัน แถมยังต้องระมัดระวังตนเองให้การ์ดไม่ตกตามมาตรการของรัฐบาลอีก จนทำให้ใครหลายคนอาจต้องทำงานที่บ้าน งดการเดินทางท่องเที่ยว งดการสร้างสรรค์กันอีกระลอก เพื่อช่วยลดการแพร่ระบาดเชื้อโควิด -19 ให้หมดไปจากประเทศไทยโดยเร็ว         “แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม” ขอฮัมเพลงเบาๆ  กันสักหน่อย เพราะจะหมุนตัวไปทางไหนก็ไม่ได้ เครียดเหลือเกินกับการต้องมาระวังตัวจนจิตตกคิดตลอดว่า “เป็นหรือยังเนี่ย” เครียดเหลือเกินที่ไม่ได้ออกไปเที่ยวกับเพื่อน เครียดเหลือเกินไม่ได้ทานข้าวกับแฟนมาเนิ่นนานมากแล้ว และเครียดเหลือเกินไม่รู้ว่าบริษัทจะลดเงินเดือนเมื่อไรกันหนอ         กลับมาสู่โลกความเป็นจริงกัน ทุกคนต้องพึ่งสุภาษิตที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ดีที่สุด ดังนั้นการขจัดความเครียดและรู้เท่าทันความรู้สึกของตนเองสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดระลอกใหม่ ที่ดูทุกอย่างจะถาโถมมาพร้อมกันเหลือกัน ทุกคนต้องตั้งสติ และตระหนักกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยไม่ตระหนกกับเหตุการณ์ต่างๆ มากจนเกินไป         เพื่อคลายความเครียดไม่ให้สะสมจนก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตมากไปกว่านี้ ลองหันมาพึ่งแอปพลิเคชั่น Mental Health Check Up ที่จะช่วยเช็คสุขภาพจิตของเราว่าเป็นเช่นไร เพื่อให้รู้เท่าทันและพร้อมปรับเปลี่ยนสุขภาพจิตให้เหมาะสม จนไม่เกิดภาวะเครียด ภาวะซึมเศร้า และจิตตกกันดีกว่า         แอปพลิเคชั่น Mental Health Check Up เป็นแอปพลิเคชั่นของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โดยออกแบบมาเพื่อประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นด้วยตนเอง และคัดกรองปัญหาโรคจิตเวชที่พัฒนาขึ้น ทำให้ผู้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว         ภายในแอปพลิเคชั่นจะใช้วิธีการประเมินตนเองที่เกี่ยวกับสุขภาพใจหลากหลายหมวด ได้แก่ ประเมินดัชนีวัดความสุข ประเมินความเครียด ประเมินภาวะซึมเศร้า ประเมินความฉลาดทางอารมณ์ EQ ประเมินภาวะติดสุรา ประเมินภาวะความจำ ประเมินภาวะติดเกม ประเมินภาวะหมดไฟในการทำงาน ประเมินพลังสุขภาพจิต RQ         โดยก่อนเริ่มใช้แอปพลิเคชั่นจะสอบถามข้อมูลผู้ใช้งาน ดังนี้ ชื่อนามสกุล (ไม่บังคับใส่) อายุ เพศ ที่อยู่ หลังจากนั้นเมื่อเข้ามาในหน้าแรกจะปรากฎวิธีการประเมินตนเองที่เกี่ยวกับสุขภาพใจในหมวดต่างๆ ที่กล่าวมา การทำแบบประเมินจะเป็นในรูปแบบคำถามเชิงจิตวิทยา โดยในแต่ละหมวดจะมีจำนวนข้อแตกต่างกันไป         เมื่อตอบคำถามครบทุกข้อแล้ว แอปพลิเคชั่น Mental Health Check Up จะประมวลผลและแจ้งผลการประเมินว่าอยู่ในระดับใด พร้อมคำแนะนำ ในกรณีที่ผลการประเมินออกมาในเชิงลบ อย่างเช่น มีความเครียดปานกลาง คำแนะนำจะอธิบายถึงสาเหตุที่อาจทำให้เกิดความเครียดเกิดขึ้น และเสนอทางแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย อ่านหนังสือ เล่นดนตรี ดูหนัง ฟังเพลง รดน้ำต้นไม้ สวดมนต์ไหว้พระ ทำจิตใจให้สงบ ไม่นึกถึงเรื่องอดีต เป็นต้น         ถ้าสถานการณ์ช่วงนี้ทำให้จิตใจว้าวุ่นใจ เครียด ไม่มีสมาธิ ลองใช้แอปพลิเคชั่น Mental Health Check Up เช็คสุขภาพใจของตนเองกันดู อย่างน้อยก็ทำให้รู้ตัวว่าสุขภาพใจอยู่ในภาวะใด จะได้รับมือและฟื้นฟูสภาพจิตใจของตนเองได้ทันถ่วงที

อ่านเพิ่มเติม >

สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย แนะ อ่านฉลากก่อนบริโภคอาหารจานด่วนแบบแช่แข็ง เลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย

        วันนี้ (26 มกราคม 2564 ) สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย  และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ภายใต้โครงการติดตามปริมาณโซเดียมในอาหารพร้อมบริโภคและกึ่งสำเร็จรูปเพื่อการรณรงค์ลดเค็ม ลดโรค สุ่มสำรวจอ่านฉลากค่าโซเดียมกลุ่มอาหารจานหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็ง  สำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จำนวน 53 ตัวอย่าง ได้จัดแถลงข่าวเพื่อผลักดันให้ผู้บริโภครู้เท่าทันการอ่านฉลากและเตือนอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย          นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแถลงข่าวในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ หนึ่ง เพื่อผลักดันให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย สอง เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ประกอบการลดปริมขาณโซเดียมในกลุ่มอาหารจานด่วนแบบแช่เย็น แช่แข็ง และสาม เพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการลดปริมาณโซเดียมในกลุ่มอาหารแบบแช่เย็น แช่แข็ง เพราะเป็นอาหารสะดวกซื้อ ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย รวมไปถึงสนับสนุนให้เกิดมาตรการของรัฐเกี่ยวกับการเก็บภาษีโซเดียม เน้นสร้างแรงจูงใจในการปรับสูตรอาหารในทางธุรกิจด้วย          ศศิภาตา ผาตีบ ผู้สำรวจและนักวิจัย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสุ่มสำรวจฉลากโภชนาการครั้งนี้ ทางสมาคมฯ เริ่มเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน - วันที่ 18 ธันวาคม 2563 โดยมีตัวอย่างอาหารมื้อหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็งสำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทานจำนวน 53 ตัวอย่าง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มอาหารจานด่วน ได้แก่ ผัดไทย ข้าวผัดปู ข้าวผัดกะเพรา จำนวน 35 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 450 – 1,390 มิลลิกรัม 2. กลุ่มอาหารอ่อน ได้แก่ ข้าวต้มหมู เกี๊ยวกุ้ง โจ๊กหมู จำนวน 15 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 380 – 1,340 มิลลิกรัม และ 3.กลุ่มขนมหวาน ได้แก่ บัวลอยมันม่วงมะพร้าวอ่อน สาคูถั่วดำมะพร้าวอ่อน บัวลอยเผือก จำนวน 3 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 210 – 230  มิลลิกรัม          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ  อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม  กล่าวว่า คนไทยกินเค็มเกินความต้องการของร่างกายถึงเกือบ 2 เท่า เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ โดยปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (กลุ่มโรค NCDs) ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม จากผลงานวิจัยล่าสุดที่ได้รับการพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Hypertension ชื่อ Estimated dietary sodium intake in Thailand: A nation-wide population survey with 24-hour urine collections (J Clin Hypertens. 2021;00:1-11.) ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชน 2,388 คน จากทุกภาคทั่วประเทศไทย พบว่า  ค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยในประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา ขณะที่ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้ ผลการวิจัย พบ ปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยสูงที่สุดในประชากรภาคใต้ จำนวน 4,108 มก./วัน รองลงมา คือ ภาคกลาง จำนวน 3,760 มก./วัน อันดับสาม คือ ภาคเหนือ จำนวน 3,563 มก./วัน อันดับสี่ คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 3,496 มก./วัน และ อันดับสุดท้าย คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน  3,316 มก./วัน ตามลำดับ          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่มาของการได้รับโซเดียมนั้นมาจากหลายแหล่งในกลุ่มอาหารที่รับประทานเข้าไป ทั้งจากอาหารที่ปรุงขึ้นมาและโซเดียมที่ได้รับมาตามธรรมชาติ ซึ่งโซเดียมส่วนมากพบเครื่องปรุง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ปลาร้า กะปิ น้ำพริกต่าง ๆ หรือเกลือจากการถนอมอาหาร นอกจากนี้ยังมีโซเดียมแฝงที่ไม่เค็ม ได้แก่ ผงชูรสหรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต ซุปก้อน รวมถึงผงฟูที่ใส่ขนมปัง หรือ เบเกอรี่ต่าง ๆ และจากการสำรวจของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม หรือจากภาครัฐโดยกรมควบคุมโรค หรือแม้แต่การสำรวจของภาคเอกชน (Nielsen) พบข้อมูลตรงกันว่า คนไทยรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น โดยพึ่งพาอาหารอาหารแช่เย็น แช่แข็ง อุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต จากเดิมประมาณร้อยละ 20 เพิ่มเป็นร้อยละ 25 เและอีกร้อยละ 40 ทานอาหารข้างทาง ตลาดนัด ร้านข้าวแกงมากขึ้น          “การสำรวจในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการเลือกชนิดหรือประเภทของอาหารแช่เย็นแช่แข็งพร้อมบริโภคอย่างมาก และหากผู้ผลิตสามารถปรับสูตรลดโซเดียมหรือเกลือที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปลงได้ ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน คือ ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนลงได้ อาจจะทำให้ขายดีขึ้นด้วย ผู้บริโภคก็ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรค NCDs ซึ่งเมื่อลดการเจ็บป่วยได้ ประเทศก็สามารถช่วยชาติประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ เช่น ในบางประเทศฮังการี ผู้ประกอบการที่มีการปรุงอาหารให้มีรสเค็มน้อย จะได้รับการยกเว้นเสียภาษี” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว        มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มพบ. ได้มีการผลักดันนโยบายเรื่องฉลากสีสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจซื้อโดยการอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิผู้บริโภคสิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีแอปพลิเคชันฟู้ดช้อยส์ (FoodChoice) ซึ่งเป็นแอปที่ให้ผู้บริโภคสแกนบาร์โค้ดของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการรับประทานหรืออยากทราบข้อมูล เมื่อสแกนแล้วจะมีข้อมูลบนฉลากโภชนาการที่ถูกแสดงในรูปแบบสีเขียว เหลือง แดงเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถข้าใจได้ง่าย และช่วยในการตัดสินใจ เปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว โดยมีการจัดเรียงข้อมูลผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์ เช่น พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะเดินหน้าพลักดันเรื่องฉลากสีสัญญานไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร ให้เป็นกฎหมายที่บังคับใช้จริงต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

กระเป๋าเดินทาง

        สมาชิกฉลาดซื้อหลายท่านอาจกำลังเตรียมตัวออกเดินทางเพื่อกระจายรายได้ให้กับผู้ประกอบการที่พักหรือร้านค้าต่างๆ ในพื้นที่ท่องเที่ยว ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอนำเสนอผลการทดสอบเปรียบเทียบกระเป๋าเดินทางแบบล้อลาก ชนิดขับเคลื่อน 4 ล้อ มีทั้งแบบกล่องแข็งและแบบผ้าหนา ในขนาด “เคบินไซส์” หรือขนาดที่หิ้วขึ้นเครื่องบินได้ ผลที่องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลีย CHOICE ได้ทำไว้ทั้งหมด 12 รุ่น ราคาระหว่าง 1,100 ถึง 8,500 บาท        คะแนนรวม 100 คะแนน แบ่งออกเป็น        ร้อยละ 60      ความแข็งแรงทนทาน (การทดสอบในห้องแล็บฯ เปรียบเทียบความแข็งแรงทนทานของตัวกระเป๋า ล้อ และคันชัก รวมถึงการกันน้ำ)         ร้อยละ 40      การใช้งานได้สะดวก (ความพึงพอใจของอาสาสมัคร 3 คนที่ทดลองใช้)          ในภาพรวม กระเป๋าทุกรุ่นผ่านการทดสอบการตกจากที่สูงไปด้วยคะแนน 100 เต็ม (ใส่น้ำหนัก 4 กิโลกรัม ทดสอบการตก 300 ครั้ง) ยกเว้นรุ่น Voyager Boston Collection ที่ได้ไป 80 คะแนน)  กระเป๋าเหล่านี้ได้คะแนนแตกต่างกันในเรื่องความทนทานต่อการถูกเจาะเมื่อมีของแหลมมีน้ำหนักหล่นใส่ หรือประสิทธิภาพการกันน้ำ (ทดสอบด้วยการตากฝนเทียมเป็นเวลา 10 นาที) ส่วนเรื่องการใช้งานสะดวกเวลาเข็นออกจากลิฟต์ หิ้วลงบันได ลากบนพื้นพรม ยางมะตอย และซีเมนต์ ก็อยู่ในขั้นดีถึงดีมากแทบทุกรุ่นรุ่นที่ได้คะแนนรวมสูงที่สุดคือรุ่นที่ราคาประมาณ 2,350 บาท ส่วนรุ่นที่ราคาถูกที่สุด (ประมาณ 1,100 บาท)* ก็ไม่ได้ขี้เหร่เลย เรียกว่าทุกรุ่นที่เรานำมาเสนอนั้นได้คะแนนดีเลยทีเดียว คงต้องแล้วแต่ความพึงพอใจในรูปลักษณ์ภายนอกและงบประมาณที่อยากลงทุนของแต่ละคน ไปดูกันเลยว่าคุณชอบแบบไหน         หมายเหตุ ราคาที่แสดงเป็นราคาที่แปลงจากหน่วยเงินของออสเตรเลียในช่วงต้นเดือนธันวาคม โปรดตรวจสอบราคาที่เป็นปัจจุบัน ณ จุดขาย อีกครั้ง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 238 แอปกู้เงิน !! อันตรายกว่าหนี้นอกระบบ

        วิกฤตโควิดทำให้หลายครอบครัวต้องดิ้นรนหาเงินเลี้ยงครอบครัวต้องทำทุกทางทั้งที่รู้ว่าเสี่ยงและเสียเปรียบ เรื่องร้องเรียนล่าสุดจากผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาดอกเบี้ยกู้เงินผ่านแอปพลิเคชั่น ซึ่งปัจจุบันมีมากมายทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย        ผู้บริโภครายนี้ได้รับคำแนะนำว่า ถ้าจะกู้เงินและไม่มีการตรวจสอบอะไรมากก็ให้ทดลองใช้แอ๊ปนี้ดู กู้ง่าย แต่ต้องจ่ายคืนภายใน 7 วัน ก่อนหน้านี้เคยทดลองของธนาคารต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ได้เลยทดลองดู         คนที่ไม่เคยกู้คงไม่รู้ว่าดอกเบี้ยโหดมาก ดอกเบี้ยมากกว่าหนี้นอกระบบหนี้อาบังรายวันเป็นร้อยเท่า ซึ่งคนกู้ในวิกฤตแบบนี้ก็ไม่เกี่ยงขอให้ได้เงินสดไปจัดการปัญหาใกล้ตั         เริ่มจากอนุมัติเงินกู้จำนวน 2,000 บาท ได้รับเงินโอนกลับมาเพียง 1,200 บาท ดอกเบี้ย 800 บาท และต้องจ่ายคืน 2,000 บาทภายใน 7 วัน หนี้นอกระบบอาบังทั้งหลายที่ว่าโหดหักทันทีเพียงร้อยละ 20         กู้ออนไลน์ผ่านแอ๊ปนี้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 40 ภายใน 7 วัน แต่ในระบบไม่ได้เขียนว่าเป็นดอกเบี้ยแต่จะถูกทำให้เข้าใจว่า เป็นค่าออกแบบระบบในการกู้เงิน ค่าบริการและหากผิดนัดชำระหนี้ภายใน 7 วัน คิดดอกเบี้ยรายวันแบบทบต้นไปเรื่อยๆ         หากคิดดอกเบี้ยภายใน 1 ปี ดอกเบี้ยก็จะสูงมากถึง 2,085% ทั้งที่ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล กันยายน 2653 กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถให้สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลแก่ผู้บริโภคแต่ละรายรวมไม่เกิน 20,000 บาท และมีกำหนดระยะเวลาการชำระคืนสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลแต่ละสัญญาไม่เกิน 6 เดือน โดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์ในการกู้ยืม และกำหนดอัตราดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใด ๆ รวมกันไม่เกินร้อยละ 25 ต่อปี (https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/2020/Pages/n6463.aspx)         นอกเหนือจากดอกเบี้ยโหด ผู้กู้ยืมจะต้องอนุญาตให้ระบบเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลเพื่อน ญาติ หรือโทรศัพท์ทุกคนที่เรามีรูปภาพต่างๆ เพราะไม่อย่างนั้นจะกู้เงินไม่ได้ก็จะทำให้เกิดการทวงหนี้ผิดกฎหมายทวงหนี้กับสามีและญาติตอนตี 3 พรบ.ทวงหนี้ที่อนุญาตให้ทวงหนี้ไม่เกิน 6 โมงเย็น ไม่มีความหมาย         ระบบที่ออกแบบมาให้ง่ายกลับเล่นงานทุกอย่างที่ใกล้ตัว ถามใครที่มีทางออกไม่ตีบตัน คงไม่ต้องทำแบบนี้แน่นอน         สิ่งที่จะช่วยป้องกันผู้บริโภคคงต้องเริ่มตั้งแต่ระบบสวัสดิการทางสังคมแบบถ้วนหน้า เพื่อรับมือกับเหตุการณ์แบบวิกฤตโควิดในครั้งนี้  บำนาญประชาชนสำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นความมั่นคงของทุกครอบครัวการเรียนรู้การบริหารจัดการเงินอย่างเป็นระบบของครอบครัวในทุกช่วงวัย         ทำให้อย่างไรให้ตรวจสอบแอ๊บได้ง่ายว่า ได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือไม่ หรือถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมายหรือธปท.มีเครื่องมือที่ช่วยตรวจสอบว่า แอ๊ปไหนไม่ปลอดภัยหรือคิดดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศก่อนที่จะตัดสินใจกู้เงินออนไลน์ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบมากในปัจจุบัน         ส่วนตำรวจไซเบอร์ต้องทำงานเชิงรุกกวาดจับลงโทษจริงจังให้เข็ดอย่าคิดเพียงว่า จับแล้วเกิดได้อีกแต่ก็น่าจะดีกว่าไม่ทำอะไรและเป็นอันตรายกับผู้บริโภคมากขึ้นทุกวัน         สิ่งที่ผู้บริโภคต้องทำ คือช่วยกันแจ้งความแอ๊ปเหล่านี้แต่น่าสนใจคนร้องเรียนมีพี่ชายเป็นตำรวจ แต่กลับแนะนำน้องว่าอย่าไปแจ้งความเลยไม่น่าจะได้อะไรถึงเวลาผู้บริโภคต้องพึ่งตนเอง หวังว่าสภาองค์กรของผู้บริโภคที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเป็นที่พึ่งเรื่องนี้อีกแรง 

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 238 ปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี

        เครื่องดื่มผสมวิตามินซีเป็นเครื่องดื่มในกลุ่มฟังก์ชันนัล (Functional Drinks) ซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ตามกระแสที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพดี น้ำดื่มและเครื่องดื่มผสมวิตามินกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจโดยเฉพาะการผสมวิตามินซี ได้กลายมาเป็นจุดขายด้วยการอ้างถึงคุณค่าของวิตามินซีต่อร่างกายและปริมาณเข้มข้นหรือสูงกว่าร้อยละของ RDI ที่แนะนำให้คนไทยบริโภคต่อวัน คือ 60 มิลลิกรัม เมื่อผลิตภัณฑ์ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคทำให้มีการเกิดขึ้นของแบรนด์ใหม่ๆ ในตลาดเครื่องดื่มประเภทนี้มากขึ้นเรื่อยๆ  ประมาณกันว่าตลาดเครื่องดื่มผสมวิตามินในไทยจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5,500 ล้านบาทและโตต่อไปได้ถึง 7,000 ล้านบาท (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กันยายน 2563)         นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวนทั้งหมด 47 ตัวอย่าง นำส่งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณวิตามินซี เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและคุ้มครองผู้บริโภคว่าการกล่าวอ้างวิตามินซีสูงนั้นเป็นไปตามคำอ้างหรือไม่ เพราะทราบกันดีว่า วิตามินซีนั้นเป็นวิตามินที่สลายตัวได้ง่าย เรามาดูผลตรวจวิเคราะห์กันเลยว่าเป็นอย่างไรในหน้าถัดไป สรุปผลการทดสอบ         จากผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซีในตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผสมวิตามินซี ทั้งหมด 47 ตัวอย่าง พบว่า         - จำนวน 29 ตัวอย่าง มีปริมาณวิตามินซี ไม่ตรงตามที่แจ้งไว้บนฉลาก มีทั้งปริมาณมากและน้อยกว่าที่อ้างบนฉลากร้อยละ 30           - จำนวน 8 ตัวอย่าง ไม่พบวิตามินซี ได้แก่        1) ดี.อาร์.ดริ้งค์ D.R.DRINK เจนไม วิตามิน วอเตอร์ (เครื่องดื่มผสมวิตามินซี วิตามินบี3 บี6 บี12 ไบโอติน กรดโฟลิค แซฟฟลาเวอร์และแคลเซียมจากสาหร่ายลิโทรามเนียน)         2) ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ กราสเจลลี่  (เครื่องดื่มผสมน้ำเฉาก๊วยสกัดและวิตามินซี)         3) เครื่องดื่มรสมะนาวเลม่อน ตรามินิ Lemonade Vitamin C200         4) มินิ พิงค์เลม่อนเนด เครื่องดี่มรสเลม่อนผสมเบอร์รี่         5) นูริชเมท Nurish Mate ขนมเยลลี่บุก และคาราจีแนน ผสมคอลลาเจน วิตามินซี และน้ำองุ่นขาว 15% กลิ่นสตรอเบอร์รี่ และพีช        6) เฟสต้า-ซี เดลี่ ไฟเบอร์ ลิ้นจี่ เฟลเวอร์ เครื่องดื่มน้ำรสลิ้นจี่ 12% ผสมวิตามินซี และใยอาหาร        7) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นส้มผสมวิตามิน         8) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นเบอร์รี่เลมอนผสมวิตามิน         - จำนวน 10 ตัวอย่าง มีปริมาณวิตามินซีตามที่ระบุไว้บนฉลาก ไม่ขาดหรือเกินร้อยละ 30          ที่มาเรื่องส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหารต้องไม่ขาดหรือเกินร้อยละ 30        1.เครื่องดื่มผสมวิตามิน ซี จัดเป็นอาหารหรือเครื่องดื่มในภาชนะปิดสนิท         2.อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ อย. ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522         3.เป็นอาหารทั่วไป ไม่ได้กำหนดว่าต้องมีปริมาณวิตามิน ซี เท่าไร         4.แต่เมื่อมีการกล่าวอ้างบนฉลาก จึงอยู่ในเกณ์ กฎหมายอาหาร มาตรา 27 (4) อาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต  หากไม่เป็นไปตามนี้ ให้ถือว่า เป็นอาหารปลอม         5.มาตรา 27 (5) อาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศ กําหนดตามมาตรา 6(2) หรือ (3) ถึงขนาดจากผลวิเคราะห์ปรากฏว่า ส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหาร ขาดหรือเกินร้อยละสามสิบจากเกณฑ์ต่ําสุดหรือสูงสุด หรือแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จน ทําให้เกิดโทษหรืออันตราย         6.จาก ข้อ 5. ผลทดสอบของฉลาดซื้อพบว่า จำนวน 29 ตัวอย่าง มีปริมาณวิตามินซี ไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลากคือ มีทั้งปริมาณมากกว่าและน้อยกว่าร้อยละ 30  โดยการกล่าวอ้างว่ามีวิตามินซี ร้อยละ 200 ต่อ RDI (120 มิลลิกรัม)  ควรมีปริมาณวิตามินซีอยู่ในช่วง 84-156 มิลลิกรัม และไม่พบวิตามินซีเลยจำนวน 8 ตัวอย่าง อาจจะเข้าข่ายเป็นอาหารปลอมหรือไม่         ข้อเสนอต่อหน่วยงาน        1.หน่วยงานที่กำกับดูแล ได้แก่ อย. ควรดำเนินการตามกฎหมายกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่พบปริมาณวิตามินซีตามที่กล่าวอ้างบนฉลาก         2.อย.ควรกำหนดให้มีคำเตือน เรื่อง การดื่มเครื่องดื่มผสมวิตามินซีไว้บนฉลาก เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภค         3.อย.ควรมีมาตรการในเรื่องของการตรวจสอบผลิตภัณฑ์หลังได้รับการขึ้นทะเบียน (Post Marketing) ว่าเป็นไปตามที่ได้แจ้งเพื่อขอขึ้นทะเบียนกับทาง อย. หรือไม่         คำแนะนำสำหรับผู้บริโภค         1.ควรบริโภคอาหารที่มีวิตามินซีสูงจากแหล่งธรรมชาติ ได้แก่ ผักและผลไม้        2.เลือกเครื่องดื่มผสมวิตามินที่อยู่ในภาชนะและการเก็บรักษาที่เหมาะสม เช่น ทึบแสง เก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำ วันผลิตใหม่  และเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีปริมาณน้ำตาลและโซเดียมมากเกินไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 สารกันบูดในหมูหมัก (หมูกระทะ) จังหวัดขอนแก่น

        อาหารยอดฮิตที่เวลานัดเจอกันยามปาร์ตี้จะมีอะไรดีไปกว่าหมูกระทะ ปิ้งย่างเพลินๆ กินไปคุยไปถูกใจสายกินยิ่งนัก นิยมกันชนิดไม่ต้องไปร้านก็ได้ แค่สั่งซื้อหมูหมักซึ่งเป็นทีเด็ดของแต่ละร้านมาอร่อยกันที่บ้านก็ทำได้ง่าย แสนสะดวกสบาย ยิ่งใกล้ปีใหม่คิดว่าเมนูนี้น่าจะมาวิน         อย่างไรก็ตาม รู้หรือไม่ว่าบางร้านหมูกระทะเวลาที่เขาหมักหมูนอกจากจะใช้เครื่องปรุงหรือซอสสารพัดอย่างแล้ว อาจมีของแถมเป็นผงสารกันบูดยอดนิยมอย่างกรดเบนโซอิก(ซึ่งหาซื้อง่าย) ผสมเข้าไปด้วยเพื่อให้มั่นใจว่าหมูจะไม่เน่าไปก่อนขายหมด ปัญหาคือผลิตภัณฑ์หมูหมักไม่ควรเติมสารกันบูด เพราะธรรมดามันก็ปนเปื้อนจากเครื่องปรุงหรือซอสอยู่บ้างแล้ว ยิ่งคนหมักหมูไม่มีความรู้ นำสารกันบูดมาผสมแบบนึกจะใส่ก็ใส่เข้าไปอีก แบบนี้ความเสี่ยงที่ผู้บริโภคอาจได้รับสารกันบูดมากเกินไปก็สูงลิ่วกลายเป็นยิ่งอร่อยยิ่งเสี่ยงภัย         เรื่องสารกันบูดในหมูหมักจึงถูกนำเสนอเข้าสู่แผนการเก็บตัวอย่างเพื่อการเฝ้าระวังฯ โดยเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทางเครือข่ายฯ พบว่าชาวบ้านนิยมกันมาก นิตยสารฉลาดซื้อ เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่นและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงร่วมกันดำเนินการเก็บตัวอย่าง เนื้อหมูหมัก จากร้านหมูกระทะในจังหวัดขอนแก่นจำนวนทั้งสิ้น 21 ร้าน ส่งห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเพื่อหาการปนเปื้อนของกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และสารบอแรกซ์ โดยเก็บตัวอย่างปลายเดือนตุลาคมและต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เอาละดูกันสิว่าเจอมากน้อยแค่ไหน สรุปผลทดสอบ         ร้อยละ 85.7 เราพบสารกันบูด กรดเบนโซอิก (Benzoic acid) หรือพบ 18 จาก 21 ตัวอย่าง มีเพียง 3 ตัวอย่าง (ร้อยละ 14) ที่ไม่พบการปนเปื้อน   การตรวจพบวัตถุกันเสียกลุ่มเบนโซเอต แบ่งเป็นสารสองชนิด ได้แก่ กรดเบนโซอิก INS 210 และ โซเดียมเบนโซเอต INS 211 ถึงร้อยละ 86 ของกลุ่มตัวอย่างหมูหมักนั้นมีได้สองเหตุผล คือ         1.เกิดจากการใช้เครื่องปรุงรสต่าง ๆ เช่น ซีอิ๊วขาว ซอสปรุงรส ซอสหอยนางรม ฯลฯ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่อนุญาตให้มีการใช้การกันเสียเพื่อควบคุมคุณภาพ กรณีนี้จะพบวัตถุกันเสียในปริมาณไม่มากและแม้ว่าจะหมักเนื้อหมูรับประทานเองที่บ้าน ก็พบการปนเปื้อนได้เช่นกัน         2.เกิดจากการจงใจผสมวัตถุกันเสียลงไปในการหมักของผู้ขาย เพื่อต้องการควบคุมไม่ให้หมูเน่าเสียก่อนที่จะขายหมดหรือมีสภาพไม่สวยงาม เช่น มีสีเขียวคล้ำ ซึ่งจะพบการปนเปื้อนกรดเบนโซอิกในปริมาณสูง (มากกว่า 100 มก./ 1 กก.)          ส่วนการทดสอบสารบอแรกซ์ ไม่พบในทุกตัวอย่างเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2563 ผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ถูกชักชวนตรวจสุขภาพ พร้อมซื้อคอร์สรักษาโรค

        วันหนึ่งคุณพิสมัยและลูกสาวได้ไปเดินห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ในขณะที่เดินช้อปปิ้งอยู่ก็มีพนักงานสาวสวยสองคนเดินออกจากบูธตรงมาหาคุณพิสมัย พร้อมชวนพูดคุยสอบถามข้อมูลด้านสุขภาพและโฆษณาโครงการสิทธิพิเศษโดยอ้างว่า ตนมาจากสถานพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง โดยยื่นข้อเสนอตรวจสุขภาพให้ฟรีมูลค่า 7,000 บาท พร้อมขอชื่อและเบอร์ติดต่อคุณพิสมัยไว้         วันถัดมาคุณพิสมัยได้รับโทรศัพท์จากพนักงานคนดังกล่าวเพื่อขอนัดตรวจสุขภาพ คุณพิสมัยเห็นว่าเป็นการตรวจฟรีจึงได้ตกลงและไปตามนัดในวันดังกล่าว โดยได้รับการตรวจเลือดและบริการอื่นๆ ทั่วไป ซึ่งหลังจากที่ได้รับการเจาะเลือดไปตรวจเพียงหยดเดียวด้วยวิธีการส่องกล้องจุลทรรศน์ คุณพิสมัยก็ได้รับแจ้งว่า พบไขมันจำนวนหนึ่งลอยเกาะกันอยู่ในเลือดและมีปริมาณเกินกว่าที่ควรจะมีอาจส่งผลให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดในอนาคตได้ คุณพิสมัยตกใจที่ผลเลือดไม่ดี จึงถามกลับไปว่าควรจะทำอย่างไรดี ซึ่งทางพนักงานได้แนะนำโปรแกรมรักษาราคา 900,000 บาทให้แก่คุณพิสมัย         พอได้ยินราคาสำหรับการรักษา คุณพิสมัยปฏิเสธทันทีในใจคิดว่าน่าจะไปตรวจที่โรงพยาบาลจะดีกว่า แต่พนักงานก็ยื่นข้อเสนอใหม่ว่า ถ้าเช่นนั้นลดจำนวนครั้งการรักษาลง ราคาจะเหลือเพียง 69,000 บาท เมื่อเห็นว่าเป็นราคาที่พอจะรับได้จึงได้ตอบตกลงและชำระเงินมัดจำผ่านบัตรเครดิตไปจำนวน 40 เปอร์เซ็นต์         อย่างไรก็ตามเมื่อกลับถึงบ้าน คุณพิสมัยขอให้ลูกสาวช่วยตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจรักษาแบบดังกล่าวจนพบข้อมูลว่า การตรวจวินิจฉัยโดยใช้เลือดเพียงหยดเดียวส่องกล้องจุลทรรศน์นั้น เป็นการตรวจที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ ทั้งเป็นการรักษาที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ ว่าได้ผล จึงต้องการเงินคืนจะต้องทำอย่างไร แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อคอร์สการตรวจรักษาสุขภาพดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองทางการแพทย์ และผู้ร้องไม่ยินดีที่จะเข้ารับบริการดังกล่าว ผู้ร้องสามารถทำหนังสือบอกเลิกสัญญาและขอเงินค่ามัดจำดังกล่าวคืนได้เต็มจำนวน         การทำหนังสือบอกเลิกสัญญาต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับที่สามารถเก็บบันทึกตอบรับไว้เป็นหลักฐานได้ พร้อมทั้งโทรติดต่อกับธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อแจ้งกับพนักงานว่า ตนได้ขอยกเลิกสัญญาดังกล่าวกับผู้ประกอบธุรกิจแล้ว พร้อมแนบสำเนาหนังสือบอกเลิกสัญญาให้กับธนาคารด้วย กรณีของคุณพิสมัยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา แต่ฝากไว้ให้คิดว่า ก่อนเข้ารับบริการทางการแพทย์ควรตรวจสอบให้ถ้วนถี่ว่าผู้ให้บริการเป็นบุคลากรทางการแพทย์จริงหรือไม่ และก่อนตัดสินใจเข้าใช้บริการควรหาข้อมูลให้รอบด้าน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ระวังผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพรสกัด สวม อย. ปลอม

        คุณอภิรักษ์เป็นคนที่รักสุขภาพ และมีความชอบพืชสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเป็นอย่างมาก มาวันหนึ่งคนรู้จักแถวบ้านคุณอภิรักษ์ได้เข้ามาแนะนำผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพรยี่ห้อหนึ่ง โดยโฆษณาสรรพคุณ แก้ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอกตามร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรง คุณอภิรักษ์ได้อ่านส่วนผสมและสรรพคุณต่าง ๆ บนฉลากสินค้า ก็เห็นว่ามีสมุนไพรหลายตัวที่น่าสนใจ ทั้งคนที่นำผลิตภัณฑ์มาเสนอขายยังเป็นคนที่รู้จักมักคุ้น และเคยได้ยินคนในละแวกบ้านกล่าวถึงกัน บนฉลากก็ยังมีเลข อย.รับรองอีกด้วย คุณอภิรักษ์จึงได้ซื้อน้ำสมุนไพรสกัดเอาไว้จำนวนหนึ่งเพื่อทดลองรับประทาน         ไม่กี่วันต่อมามีข่าวว่า เพื่อนบ้านจำนวนหนึ่งที่ดื่มผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพรสกัดดังกล่าว เกิดอาการคันและบวมตามร่างกายจนต้องทยอยกันเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล อีกทั้งเมื่อหน่วยงานนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบยังพบว่า ผลิตภัณฑ์มีการสวมเครื่องหมายเลข อย.ปลอมและมีสารสเตียรอยด์ปนเปื้อน นับเป็นโชคดีของคุณอภิรักษ์ที่ยังไม่ได้หยิบน้ำสมุนไพรสกัดยี่ห้อดังกล่าวมารับประทาน แต่อยากได้ความรับผิดชอบจากผู้ผลิตจึงโทรมาปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมีการตรวจพบการปนเปื้อนของสารสเตียรอยด์ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (1) คือ อาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษตาม มาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ         นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่สามารถใช้คำโฆษณาในลักษณะเพื่อบรรเทา รักษา หรือแก้โรคต่าง ๆ ได้ เพราะไม่ใช่เวชภัณฑ์ยาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการรักษาโรค ในกรณีนี้ยังเข้าข่ายใช้คำโฆษณาหลอกลวงเกินจริง ซึ่งตาม มาตรา 40 ของ พ.ร.บ.อาหารฯ ยัง ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ซึ่งมีบทกำหนดโทษตาม มาตรา 70 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         แนะนำให้คุณอภิรักษ์นำสินค้าไปมอบให้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการตามกฎหมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 รถยนต์ที่น้ำเข้าห้องโดยสารทุกครั้งที่ล้างรถและฝนตก

        หากรถยนต์ที่ซื้อมาได้ไม่นานสร้างปัญหากวนใจให้ท่านทุกครั้งที่ขับรถฝ่าฝนหรือแม้แต่จะล้างรถ ด้วยอาการน้ำรั่วซึมเข้าไปในห้องโดยสาร ท่านจะทำอย่างไร        คุณทิชาพาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อหนึ่งเป็นรุ่นลิมิเต็ด เมื่อเดือนธันวาคม 2560 แรกเริ่มใช้งานก็ยังไม่พบปัญหาอะไรจนวันหนึ่ง ขับรถไปติดฝนอยู่ที่แยกไฟแดงแล้วก็สังเกตว่ามีน้ำค่อยๆ ซึมเข้าในรถ คุณทิชาพาตกใจที่เกิดเหตุนี้ขึ้นเพราะรถยนต์ของตนแม้จะใช้งานมาได้สักพักแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในอายุประกัน ทำไมปัญหาแบบนี้จึงเกิดขึ้น วันรุ่งขึ้นจึงพารถยนต์ไปศูนย์ซ่อมใหญ่ของบริษัทรถ         ช่างตรวจสอบอาการแล้วระบุว่า ขอบยางอาจจะเสื่อมสภาพจะทำการแก้ไขให้ “เชื่อไหมคะว่า ดิฉันต้องนำรถคันนี้เข้าๆ ออกๆ ศูนย์ซ่อมกี่ครั้งแล้ว” 4 ครั้งคือฟางเส้นสุดท้ายที่คุณทิชาพาไม่อยากทนอีกกับปัญหาน้ำรั่วซึมเข้าห้องผู้โดยสาร ทุกครั้งทีรถอยู่ในสายฝนหรือแม้แต่การล้างรถ         เธอจึงนำเรื่องมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอให้ดำเนินการช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อสอบถามความประสงค์ของคุณทิชาพา เธอต้องการให้บริษัทรับผิดชอบด้วยการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไหล่หรืออะไรก็ตามที่มันสร้างปัญหานี้ให้จบเสียที เพราะไม่ต้องการนำรถเข้าอู่ซ่อมแล้วซ่อมอีก   ทางศูนย์ฯ จึงนัดให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจากัน บริษัทรถยนต์ขอโอกาสนำรถยนต์เข้าซ่อมอีกครั้ง (ครั้งที่ 5) คุณทิชาพาตกลงแต่ขอให้รับหลักการว่า หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทางบริษัทฯ ต้องซื้อรถยนต์คืนไป         หลังจากรถถูกนำเข้าอู่ซ่อมครั้งที่ 5 ตอนที่ได้รับการนัดหมายให้รับรถยนต์คืน เหมือนอาการต่างๆ ดีขึ้น มีการทดลองฉีดน้ำก็ไม่พบอาการรั่วซึมคุณทิชาพาสบายใจยินดีรับรถยนต์กลับมาใช้งาน แต่พอผ่านมาได้สัก 4 เดือน อาการรถมีน้ำซึมได้หวนกลับมาอีกเมื่อเธอล้างรถ คุณทิชาพาจึงขอให้มูลนิธิฯ ช่วยเรื่องคดีเพื่อให้บริษัทฯ ซื้อรถยนต์คืนไปเถอะ         ผลของคดีจบกันที่ ทางบริษัทรถยนต์คืนเงินให้ผู้ร้องหรือคุณทิชาพา ในราคาที่คุณทิชาพารับได้เพราะก็มีค่าเสื่อมต่างๆ ที่เกิดจากการใช้งาน เรื่องยุติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ตั้งใจซื้อครีมล้างหน้าแค่ 1,300 แต่เผลอจ่ายไปเกือบแสนสาม

        เครื่องสำอางกับสุภาพสตรีเป็นของคู่กัน ยิ่งผลิตภัณฑ์นั้นได้รับคำโฆษณาว่าเป็นของที่ดาราใช้หรือดาราเป็นเจ้าของแบรนด์ มันจะดึงดูดใจมากไปกว่าเครื่องสำอางแบรนด์ธรรมดา         คุณศรีสุดาไปเดินเที่ยวห้างสรรพสินค้าใหญ่ย่านบางนาในวันหยุดตามประสาสาวนักช้อป ขณะเดินผ่านบูธในลานกิจกรรมพิเศษ สาวๆ นักขายได้ชักชวนคุณศรีสุดาให้ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและพูดคุยโน้มน้าวให้ซื้อสินค้าโดยอ้างว่า เครื่องสำอางในบูธนี้แบรนด์นี้ เป็นสินค้าที่ดาราดังคนหนึ่งใช้อยู่เป็นประจำ คุณศรีสุดาตั้งใจจะซื้อครีมล้างหน้าที่มีโปรโมชันแถมที่มาร์คหน้าในราคา 1,300 บาท เพราะทดลองมาร์คหน้าแล้วรู้สึกโอเค         “ดิฉันสอบถามพนักงานว่ามีเว็บไซต์ให้เข้าไปติดตามสินค้าหรือค้นหารายละเอียดอื่นๆ หรือไม่ พนักงานตอบว่ามีค่ะ แต่หนูไม่ทราบ ยังไงจะให้ทางบริษัทติดต่อกลับไปนะคะ” ขณะคุณศรีสุดากำลังจะถามเรื่องอื่นๆ ต่อ พนักงานขายก็ชิงลงมือโอ้อวดว่า เครื่องสำอางนี้เป็นของบริษัทที่ดาราดังคนหนึ่งพร้อมโชว์ภาพถ่ายต่างๆ รวมทั้งภาพของตัวพนักงานและดาราคนดังกล่าวหลายรูป สร้างความน่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก คุณศรีสุดาก็ฟังเพลินไปดูภาพสินค้าและดาราเพลินไปหน่อย สุดท้ายกลายเป็นว่า จ่ายเงินค่าเครื่องสำอางไป 13 รายการ รวมเป็นเงิน 127,000 บาท ผ่านบัตรเครดิต        คุณศรีสุดานั้นย้ำว่าขอให้พนักงานขายส่งเว็บไซต์ของบริษัทเครื่องสำอางให้ตนเองทันทีที่กลับบริษัทฯ เพราะตนเองต้องการทราบรายละเอียดต่างๆ ของผลิตภัณฑ์รวมทั้งรีวิวที่ดาราคนดังได้ใช้ตัวสินค้าเหล่านี้  ต่อมาคุณศรีสุดาได้รับลิงค์ที่เป็นเพจเฟซบุ๊กของบริษัทหนึ่ง ซึ่งไม่มีรายละเอียดอะไรเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่คุณศรีสุดาซื้อมาเลย หนำซ้ำที่อยู่ของบริษัทในเพจไม่ตรงกับที่อยู่ของบริษัทที่อยู่ในใบเสร็จสินค้าราคาแสนกว่าบาทที่อยู่ในมือคุณศรีสุดา เธอจึงรีบติดต่อพนักงานขายแต่ติดต่อไม่ได้หลายวัน อย่างไรก็ตามวันหนึ่งก็ติดต่อได้ พนักงานขายบอกว่าสินค้าในมือเธอเป็นสินค้าใหม่ยังไม่มีรายละเอียดบนหน้าเว็บไซต์ และโอนเรื่องให้พนักงานของบริษัทคนอื่นมาพูดแทน         “จะข้องใจอะไรกับสินค้าหนู ของนำเข้าถูกกฎหมายทุกอย่าง” ซึ่งวิธีการพูดจาแสดงถึงความโกรธเกรี้ยว คุณศรีสุดาจึงไม่พอใจมากและไม่กล้าใช้ผลิตภัณฑ์ที่ซื้อมาด้วย เพราะเกิดความไม่มั่นใจในตัวผลิตภัณฑ์ที่แทบไม่มีรายละเอียดอะไรเลย จึงนำสินค้าทั้งหมดกลับไปคืนที่บูธที่ยังจัดขายสินค้าอยู่ แต่พนักงานขายแจ้งว่าผู้บริหารบริษัทไม่อยู่ไปเมืองนอกขอเวลา 7 วัน ต่อมาได้รับแจ้งว่า ไม่รับคืนสินค้า “ดิฉันเห็นว่าการขายสินค้าของบริษัทไม่เป็นธรรมเพราะอวดอ้างและโฆษณาด้วยข้อมูลเท็จ เอาดารามาแอบอ้าง ไม่มีเว็บไซต์หรือรายละเอียดของสินค้าด้วย ดิฉันสามารถทำอย่างไรได้บ้าง”  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิเห็นว่ากรณีนี้ทั้งสองฝ่ายน่าจะไกล่เกลี่ยกันได้ จึงนัดให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจากัน และได้ส่งเรื่องราวถึงห้างสรรพสินค้าที่เป็นผู้ดูแลพื้นที่จัดแสดงสินค้าให้รับทราบปัญหา ต่อมาทราบจากคุณศรีสุดาว่าได้ไปร้องเรียนไว้ที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย แต่ตกลงกันไม่ได้คุณศรีสุดาต้องการคืนสินค้าและขอคืนเงินทั้งหมด ส่วนบริษัทฯ บ่ายเบี่ยงไม่รับคืนสินค้า ดังนั้นทางคณะอนุกรรมการของทาง สคบ.จะส่งร้องเพื่อขอให้พิจารณารับฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อไป คุณศรีสุดาจึงยุติเรื่องร้องเรียนกับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 238 เบาะกันกระแทก (จบ)

        ไม่ใช่แค่อายุกับอาชีพเท่านั้นที่เป็นเรื่องสำคัญในการเลือกประกันภัยอุบัติเหตุ เมื่อมันคือการจ่ายเงินเพื่อประกันความไม่แน่นอนในอนาคต เงินที่จ่ายออกไปก็ควรคุ้มค่าที่สุด คุณจึงต้องใส่ใจกับเบี้ยประกันเพราะมันสัมพันธ์กับทุนประกันหรือการคุ้มครองที่จะได้กลับมาเมื่อเกิดอุบัติเหตุ         แน่นอนว่าไม่มีใครอยากจ่ายเบี้ยประกันสูงๆ และแน่นอนด้วยว่าใครๆ ก็อยากการคุ้มครองมากๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน บริษัทประกันมีการประเมินความเสี่ยงให้ผู้ซื้ออยู่แล้ว แต่ตัวเราเองก็ต้องประเมินความเสี่ยงด้วย เช่น นิสัยการขับขี่รถ กีฬาที่ชอบเล่น ผาดโผนมากก็เสี่ยงกว่านั่นแหละ หรือคุณมีภาระรออยู่ข้างหลังหรือเปล่าถ้าคุณประสบอุบัติเหตุจนทำงานไม่ได้ไปช่วงเวลาหนึ่ง เป็นต้น         สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ประเมินได้ว่าเบี้ยประกันและทุนประกันที่เหมาะสมกับตัวเราควรเป็นเท่าไหร่         ต้องไม่ลืมด้วยว่าการประกันภัยอุบัติเหตุเน้นคุ้มครองความเสี่ยงพื้นฐานทั่วไป มันจึงมีเหตุการณ์บางอย่างที่เป็นข้อยกเว้นหรือไม่คุ้มครองซึ่งจะกำหนดอยู่ในกรมธรรม์ เช่น การเข้าร่วมการทะเลาะวิวาท การจลาจล หรือการโดยสารพาหนะที่คนทั่วไปไม่ใช่กันอย่างเฮลิคอปเตอร์ รายละเอียดพวกนี้ต้องอ่านให้ดี         แต่อีกด้านหนึ่งเราก็สามารถขยายความคุ้มครองได้ (ถ้ามีปัญญาจ่ายเบี้ยประกัน) ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดไว้เพียง 5 กรณี ได้แก่        1.การขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์        2.การจลาจล การนัดหยุดงาน        3.การสงคราม        4.การโดยสารอากาศยานที่มิได้ประกอบการโดยสายการบินพาณิชย์ (เช่นเฮลิคอปเตอร์นั่นแหละ)        5.การเล่นหรือแข่งกีฬาอันตราย         แล้วอย่าลืมดูด้วยว่าบริษัทประกันที่คุณซื้อมีโรงพยาบาลอยู่ในเครือข่ายประกันอุบัติเหตุครอบคลุมแค่ไหน         สุดท้ายที่ลืมไม่ได้ บริษัทประกันคือธุรกิจ คุณในฐานะผู้ซื้อประกันคือผู้บริโภค บริการหลังการขาย ความน่าเชื่อถือ เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาประกอบด้วย จะได้ไม่กลายเป็นเหยื่อแบบที่มักเห็นตามข่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 รณรงค์ หยุดวงจร “ส้มอมพิษ” ตั้งแต่ต้นทาง

        เมื่อ 2 ธันวาคม 2563  ภาคี เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM) ชี้คนไทยบริโภคส้มอมพิษตลอดปี สารเคมีอันตรายตกค้างเกินค่ามาตรฐาน  รณรงค์ภาคประชาชนร่วมเรียกร้องหยุดส้มอมพิษตั้งแต่ต้นทาง จัดกิจกรรม “หยุดส้มอมพิษ (Orange Spike)” กระตุ้นผู้บริโภคแสดงสิทธิให้ซูเปอร์มาร์เก็ตใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ที่โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ติด QR Code  ส้มทุกประเภท         มร.จูเซปเป บูซินี (Mr.Giuseppe BUSINI) อัครราชทูตที่ปรึกษา-รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า การส่งเสริมความยั่งยืนด้านการทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเป็นหัวข้อสำคัญในนโยบายด้านอาหารของสหภาพยุโรป ทั้งนี้ กลยุทธ์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork Strategy) ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของนโยบายจัดการภาวะโลกร้อนของสหภาพยุโรป หรือ European Green Deal ที่ได้นำมาใช้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีเป้าหมายในการส่งเสริมระบบการจัดการอาหารที่เป็นธรรม ดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเราเชื่อว่า การลดความเสี่ยงและการลดปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันพืชเคมี ตลอดจนถึงปุ๋ยและยาปฏิชีวนะ และการเพิ่มพื้นที่การทำเกษตรออแกนิคนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง        นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทนจากเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า ส้มเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงและมีห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ อยู่คู่กับชีวิตคนไทยในทุกรูปแบบ แต่จากการตรวจสอบของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน (Thai-PAN) พบว่า ส้ม 1 ผล มีสารเคมีตกค้างมากถึง 55 ชนิด โดยเฉลี่ยถึง *0.364 มิลลิกรัม ซึ่งเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย (MRL) โดยสารเคมีตกค้างเป็นชนิดดูดซึมที่ไม่สามารถล้างออกได้ถึง 28 ชนิด อาทิ คาร์เบนดาซิม (Carbendazim) ส่งผลให้พิการแต่กำเนิดและภาวะเจริญพันธุ์เสื่อม, สารคาร์โบฟูราน (Carbofuran) เป็นพิษต่อเซลล์สมองและฮอร์โมนเพศ, สารอะเซตามิพริด (Acetamiprid) มีผลกระทบต่อสมองและระบบประสาท เป็นต้น แม้ที่ผ่านมาจะมีการพูดถึงเรื่องสารพิษตกค้างมากมาย แต่จากการสุ่มตรวจส้มจากซูเปอร์มาร์เก็ต พบว่า 100% ของส้มที่นำมาตรวจมีการตกค้างของสารเคมีที่เกินกว่าปริมาณสูงสุดที่กฎหมายกำหนด แม้แต่ในซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำที่อ้างว่ามีระบบตรวจสอบแล้วก็ตาม ทั้งที่เป็นสถานที่ค้าปลีกที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไว้วางใจในเรื่องของความสะอาดและปลอดภัย         นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ธรรมชาติของส้มจะให้ผลผลิตเพียงปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือนธันวาคม – มีนาคม ซึ่งถือเป็นช่วงที่ปลอดภัยที่สุดเพราะเป็นส้มในฤดูกาล แต่ด้วยอุปสงค์ของตลาดที่มีความต้องการส้มตลอดทั้งปี ทำให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีมากกว่าปกติเพื่อให้สามารถผลิตส้มได้ตามความต้องการของตลาด ตั้งแต่ระยะติดดอก ระยะติดผลตุ่มเท่าหัวไม้ขีด ช่วงลูกปิงปอง ช่วงเลี้ยงผิวสวยไปถึงช่วงเก็บผลผลิต โดยสารเคมีที่ใช้ตลอดช่วงอายุมักเป็นชนิดดูดซึม (Systemic) ซึ่งจะกระจายในลำต้นไปจนถึงเนื้อในของผลส้ม         อีกหนึ่งกลไกของตลาดที่ทำให้ส้มกลายเป็นผลไม้อันตรายคือค่านิยมในการเลือกซื้อส้มที่มีผลใหญ่ ผิวสวย เรียบเนียน สีทองแวววาว ทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตจึงต้องคัดเกรดส้มสวยเข้ามาจำหน่าย เพื่อให้ส้มมีผิวสวยตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ผู้ผลิตต้องฉีดพ่นยาฆ่าแมลงและสารกำจัดศัตรูพืช ถึง 52 ครั้งต่อปี หรือทุกสัปดาห์ ดังนั้นหนึ่งในวิธีที่จะหยุดวงจรส้มอมพิษได้ คือฝั่งผู้บริโภคเองก็ควรปรับเปลี่ยนทัศนคติในการเลือกบริโภค และทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการเพาะปลูกมากขึ้น อาทิ เลือกรับประทานส้มที่มีผิวลายเพราะเป็นส้มที่ได้รับสารเคมีในปริมาณที่น้อย รวมถึงการทานผลไม้ให้หลากหลายตามฤดูกาล เพื่อลดการใช้สารเคมี         นอกจากนี้ ผู้บริโภคเองก็ควรมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับส้มที่ซื้อผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างถูกต้อง เพียงพอ มีกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ ที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่มาของส้ม กระบวนการผลิตส้มตลอดปีทั้งในและนอกฤดู รวมถึงกระบวนการตรวจสารเคมีตกค้างของซูเปอร์มาร์เก็ต  เพื่อแสดงถึงความจริงใจและห่วงใยในสวัสดิภาพของผู้บริโภค ซึ่งจากการสำรวจในปัจจุบันพบว่าระบบการตรวจสอบของซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ        ด้านนางสาวฐานิตา วงศ์ประเสริฐ เจ้าหน้าที่รณรงค์ องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM) กล่าวว่า กิจกรรม “หยุดส้มอมพิษ” หรือ Orange Spike เป็นกิจกรรมภายใต้แคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก (Dear Consumers)” โดยมีเป้าหมายเพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักว่าส้มมีกระบวนการผลิตที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการตกค้างของสารเคมีซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาว และร่วมเรียกร้องให้หยุดส้มพิษตั้งแต่ต้นทาง โดยเน้นการใช้กระบวนการตรวจสอบย้อนกลับที่มีประสิทธิภาพของซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเปรียบเสมือนตัวกลางในการเชื่อมโยงผู้บริโภคและผู้ผลิต และใช้กลไกข้างต้นกระตุ้นให้ผู้ผลิตที่ปลูกส้มและผลิตอาหารอื่น ๆ มีกระบวนการในการผลิตอาหารที่ปลอดภัยขึ้น         กิจกรรม “หยุดส้มอมพิษ” ดำเนินการโดยภาคี ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM) โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสหภาพยุโรป ภายใต้ SWITCH Asia II Programme และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสวีเดน (Sida) ร่วมแสดงสิทธิของผู้บริโภคเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ อาทิ แม็คโคร, บิ๊กซี, เทสโก้ โลตัส และ ท็อปส์ ให้หยุดขายส้มอมพิษ ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงนามผ่านทาง  www.dearconsumers.com/th/petition เพื่อเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตมีการตรวจสอบแหล่งที่มาของส้มที่นำมาจำหน่ายผ่าน QR Code และเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสวนส้ม วิธีปลูกส้ม รายการสารเคมีที่ใช้ และกระบวนการคัดกรองของซูเปอร์มาร์เก็ตต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังคาดหวังให้ภาครัฐมีมาตรการควบคุมปริมาณสารเคมีในผลิตภัณฑ์ส้มทุกประเภท         ร่วมกันลงนามหยุดส้มอมพิษในแคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก (Dear Consumers)” ได้ที่  www.dearconsumers.com/th/petition ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ทาง facebook.com/DearConsumers (เพจ ผู้บริโภคที่รัก)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ขอเกิดใหม่ใกล้ๆ เธอ : แม้แต่เทวดาก็ทำผิดพลาดอยู่บ่อยไป

        ตามคติความเชื่อของคนไทยนั้น “เทวดา” ก็คือ ชาวสวรรค์ ซึ่งมีทิพยสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นกายทิพย์ หูทิพย์ ตาทิพย์ หรือลิ้มรสอาหารทิพย์ และเสวยสุขดำรงตนอยู่ในสรวงสวรรค์ชั้นต่างๆ         กระนั้นก็ดี ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทวดานั้น หาใช่จะแยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิงไม่ แม้คนไทยจะมีวิธีคิดที่จำแนกความสัมพันธ์สามส่วนระหว่างสวรรค์ (ที่อยู่ของเทวดา) โลก (ที่อยู่ของมนุษย์) และนรก (ที่อยู่ของผีชั้นต่ำ) อันเป็นภพภูมิที่แบ่งพื้นที่ตามลำดับชั้นก็ตาม แต่บ่อยครั้งที่สามภูมิภพนี้ก็ไม่ได้ตัดขาดจากกันแบบ “ทางใครทางมัน” เสียทีเดียว         ในนิทานพื้นบ้านสมัยก่อน ชะตากรรมของตัวละครมักถูกแทรกแซงด้วยอำนาจของเทวดาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ชีวิตคู่ที่ลงเอยมักจะมีทวยเทพคอยอุ้มสมให้สมรักสมรสกันได้ ชีวิตคู่ที่ต้องพลัดพรากบางครั้งก็มักมาจากการที่เทพยดาบันดาลลมหอบให้จรจากกัน หรือแม้แต่บางทีก็แสร้งแปลงร่างปลอมตัวมายั่วล้อเล่นกับปุถุชนวิถี เฉกเช่นการเล่นตีคลีเพื่อทดสอบคุณธรรมความดีของพระสังข์ ก็เคยกระทำมาแล้วเช่นกัน         การที่ผู้คนในอดีตยอมรับและอยู่ใต้อาณัติที่จะให้ทวยเทพเทวดามากำกับการกระทำใดๆ แห่งตนแบบนี้ ด้านหนึ่งก็ด้วยมนุษย์เชื่อว่า “สวรรค์มีตา” และสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบนต่างกอปรขึ้นด้วยความเป็นกลาง และเป็นเทพผู้สถิตไว้ซึ่งความยุติธรรม แม้จะเข้ามาแทรกแซงปริมณฑลชีวิตทางโลกของตนก็ตาม         ครั้นพอมาถึงกาลปัจจุบัน ที่เหตุผลถูกกำหนดให้อยู่เหนือความงมงาย และวิทยาศาสตร์สมัยใหม่กลายเป็นตรรกะสำคัญกว่าองค์ความรู้เหนือธรรมชาติแบบดั้งเดิม แต่ก็ใช่ว่าคติความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของเทวดาฟ้าดินจะหายไปไม่ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทวดาเบื้องบนได้ถูกท้าทายด้วยคำถามที่ว่า จะยังคงดำรงอยู่หรือปรับแต่งแปลงโฉมหน้ากันไปอย่างไร         ละครโทรทัศน์เรื่อง “ขอเกิดใหม่ใกล้ๆ เธอ” ผูกเรื่องอยู่บนพื้นฐานปาฏิหาริย์แห่งความรักของนางเอก “อรรพี” ที่ต้องสูญเสีย “ภาคย์” ผู้เป็นสามี จากเหตุการณ์อุบัติเหตุเครื่องบินตก ในขณะที่เธอกำลังตั้งครรภ์ แต่ทว่าในความเป็นจริงนั้น การตายของภาคย์กลับเกิดจากความผิดพลาดจากการทำงานของสรวงสวรรค์         ในขณะที่มนุษย์โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่ง “บิ๊กดาต้า” หรือปริมาณข้อมูลอันมหาศาล ที่ท่วมบ่าและซัดกระหน่ำเข้ามา จนบางครั้งก็ยากเกินกว่าที่ชีวิตประจำวันของคนเราจะปรับตัวตามทัน สภาพการณ์ดังกล่าวก็เลยล่วงเข้าไปสู่สรวงสวรรค์ทั้งเจ็ดชั้นโดยด้วยเช่นกัน                  เมื่อต้องเผชิญหน้ากับบิ๊กดาต้าที่ถาโถมท่วมท้น ภาระงานอันล้นมือและการประมวลผลข้อมูลที่ผิดพลาดของ “เทวา” เทวดาอินเทิร์นผู้สถิตอยู่บนสวรรค์ จึงเกิดสภาวะ “เออเร่อร์” และส่งผลให้ภาคย์ต้องเสียชีวิตก่อนอายุขัย ดังนั้น “หน่วยเหนือ” ผู้เป็นต้นสังกัด จึงบัญชาให้เทวาส่งภาคย์กลับมาเกิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง         ด้วยเหตุดังนี้ ภาคย์ก็ได้กลับมาเกิดในร่างใหม่ของ “ทิชงค์” บุตรชายของ “ชนา” ผู้ชอบทำบุญเข้าวัดเป็นประจำ โดยเงื่อนไขที่เทวากำหนดไว้ให้กับภาคย์ก็คือ เขาจะมีเวลาบนโลกมนุษย์ได้เพียง 24 ปีเท่านั้น และหากวันใดที่ภาคย์ไม่ตระหนักถึงการกระทำความดี เขาก็จะพลัดพรากจากอรรพีไปตลอดกาล         จากนั้น 23 ปีผ่านไปไวยิ่งกว่าโกหก อรรพีได้เข้ามาดูแลบริษัท “ลมติดปีก” ซึ่งเป็นธุรกิจให้เช่าเครื่องบินเล็กแบบไม่หวังผลกำไร และเป็นจิตอาสาที่คอยบินไปรับอวัยวะจากผู้บริจาค เพื่อไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย โดยมี “อิสร์” เพื่อนรักของภาคย์คอยดูแลให้กำลังใจอรรพีอย่างใกล้ชิด ก่อนที่ในตอนท้ายเรื่อง ละครจะเฉลยว่า อิสร์เองกลับเป็นคนร้ายและเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาคย์เสียชีวิตเช่นกัน         และเพราะผูกพันกันมาแต่ปางก่อน ในภพใหม่นี้ ทิชงค์ที่เป็นเพื่อนรักกับ “ภาม” บุตรชายของอรรพีและภาคย์ จึงได้หวนกลับมา “เกิดใหม่ใกล้ๆ เธอ” อีกคำรบหนึ่ง โดยมีเทวาที่ถูกลงโทษให้กลายมาเป็นบัดดี้เทวดาประจำตัว และคอยสนับสนุนให้เขาทำความดี เพื่อแลกกับความทรงจำในชาติภพก่อนให้กลับคืนมา         จากโครงเรื่องที่ผูกเปลาะปมเอาไว้เช่นนี้ ในด้านหนึ่งเราก็ยังได้เห็นอำนาจของเทวดาที่สามารถแทรกแซงความรักและการพลัดพรากของปัจเจกบุคคลให้อยู่ใต้อาณัติได้ ไม่แตกต่างจากคติความเชื่อที่คนไทยสมัยก่อนเคยยึดถือเป็นเรื่องเล่ากันมา         แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเวลาเปลี่ยนไป และโลกทัศน์ของผู้คนก้าวหน้าขึ้น ละครโทรทัศน์ก็ได้ฉายภาพความสัมพันธ์แบบใหม่ๆ ที่นางเอกอรรพีสามารถสวมบทบาทเป็นนักบินหญิงได้เฉกเช่นบุรุษเพศ หรือได้เห็นความรักข้ามรุ่นของอรรพีกับพระเอกหนุ่มรุ่นลูก ที่กลายเป็นเรื่องยอมรับกันได้แล้วในสังคมปัจจุบัน         และภายใต้บริบทแห่งโลกทัศน์ที่ก้าวหน้าเปลี่ยนไปอีกเช่นกัน ภาพของเทวดาและอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบนก็มีอันต้องผันตัวตามไปด้วย เริ่มตั้งแต่ฉากของสรวงสวรรค์ซึ่งถูกรังสรรค์ไว้จนกลายเป็นยูโทเปียอันทันสมัย ที่มีทั้งน้ำพุกลางลานและลิฟต์กลขับเคลื่อน เทวดาต่างปรากฏตนแบบหล่อเท่ในชุดสูทสีขาว แถมยังสวมบทบาทเป็นมัคคุเทศก์หนุ่มพาวิญญาณพระเอกเดินทัวร์วิมานสวรรค์ตั้งแต่ฉากต้นๆ ของเรื่อง         ที่ชวนขบขันยิ่งไปกว่านั้นก็คือ แม้จะกลายสภาพเป็นแดนสวรรค์อันทันสมัย แต่ใจกลางหลักแห่งปัญหาทั้งหมดของเรื่อง ก็ล้วนมาจากโปรแกรมการวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลที่ผิดพลาดเออเร่อร์ของเทวดา ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นกลางที่สุดในการพิพากษากำหนดความเป็นไปของทุกชีวิตบนโลกมนุษย์นั่นเอง         พร้อมๆ กันนั้น ในขณะที่ความศักดิ์สิทธิ์ในยุคเก่าก่อนธำรงอำนาจได้ก็ด้วยความยุติธรรมไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่พอทุกวันนี้ที่ปุถุชนเริ่มตั้งคำถามต่อความเป็นกลางว่า ยังเป็นจริงอยู่ได้ถึงระดับใด ปฏิบัติการของเทวดาจึงไม่ต้องหมกเม็ดอำพรางความเป็นอัตวิสัยส่วนตนกันอีกต่อไปแล้ว เหมือนกับที่เทวาเองก็เลือกเข้าข้าง แสดงออกทั้งดีใจ เสียใจ และร่วมลุ้นภารกิจความรักของพระเอกนางเอกกันอย่างออกหน้าออกตา         จะว่าไปแล้ว โดยแกนหลักของเรื่องที่พระเอกกลับมาเกิดในร่างชายหนุ่มในภพชาติใหม่ ก็น่าจะเป็นอุทาหรณ์กับผู้ชมว่า ชีวิตคนเราล้วนสั้นนักและไม่แน่นอน อันเป็นนัยตอกย้ำให้เราตระหนักถึงการมุ่งมั่นทำความดี เช่นเดียวกับทิชงค์ที่ได้พูดกับอรรพีในฉากใกล้หมดเวลาของเขาในตอนท้ายเรื่องว่า “เรื่องทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว มันเป็นเรื่องจริง ขอเพียงศรัทธาในความดีก็พอ”         แต่ก็อีกเช่นกัน หากการทำคุณงามความดีตามคติความเชื่อของคนไทย จะมีเทวดาอารักษ์คอยบริบาลคุ้มครอง หรือแม้แต่แทรกแซงชะตาชีวิตโดยที่มนุษย์มิอาจสำเหนียกได้ แต่สำหรับในยุคที่ความเป็นกลางเริ่มถูกตั้งคำถาม และความยุติธรรมมีแนวโน้มจะถูกท้าทาย อำนาจของทวยเทพเทวดาก็อาจไม่ได้เบ็ดเสร็จสมบูรณ์อีกต่อไป เพราะในทุกวันนี้ แม้แต่เทวดาก็เออเร่อร์และตัดสินผิดพลาดได้บ่อยไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2563

หน้ากากอนามัยขายเกินราคา จำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท        ความต้องการหน้ากากอนามัยพุ่งสูงอีกครั้งเมื่อสถานการณ์โควิดกลับมาร้อนอีกหน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์เมื่อ 22 ธันวาคม ว่า         หน้ากากอนามัย มี 3 ประเภท คือ 1.หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (เป็นสินค้าควบคุม) 2.หน้ากากผ้า 3.หน้ากากทั่วไป        หน้ากากอนามัยทางการแพทย์มี 2 ประเภท 1.ผลิตในประเทศไทย มีอยู่ประมาณ 30 โรงงานผลิต ได้ประมาณวันละ 4-5 ล้านชิ้น ส่วนที่สองหน้ากากอนามัยที่มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ การควบคุมราคานั้นจะมีความแตกต่างกันสำหรับที่ผลิตในประเทศไทย คุมราคาชิ้นละไม่เกิน 2.50 บาท ส่วนหน้ากากนำเข้า คุมราคาอยู่ที่ต้นทุนนำเข้าบวกอีกไม่เกินร้อยละ 60 ของต้นทุนนำเข้า ก็จะเป็นราคาจำหน่ายที่ควบคุม         “สำหรับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศไทยที่คุมราคา 2.50 บาท ได้มีการติดตามตรวจสอบมาโดยตลอดก่อนที่จะเกิดปัญหาที่สมุทรสาครราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1-2 บาทไม่เกิน 2.50 บาท แต่ถ้าขายเกินราคาควบคุมจะมีการดำเนินคดีและถือว่ามีความผิด โทษของการขายเกินราคาจะจำคุกไม่เกิน 5 ปีปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”         ผู้บริโภคหากพบว่ามีการขายเกินราคาหรือกักตุนให้แจ้งพาณิชย์จังหวัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือแจ้งสายด่วน 1569          กรมการค้าภายในคาดปี 64 ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ปรับขึ้น          นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปี 64 ว่า สถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจะยังคงทรงตัวจากปีนี้ และไม่น่ามีแรงกดดันทำให้ผู้ประกอบการต้องขอปรับขึ้นราคาขาย เพราะจากการประเมินปัจจัยที่เป็นต้นทุนการผลิตโดยรวม พบว่ายังไม่น่าปรับขึ้นโดยคาดว่าราคาน้ำมันจะทรงตัวในระดับที่ไม่น่ากังวล เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง ส่วนค่าเงินบาทที่มีผลต่อการนำเข้าวัตถุดิบบางส่วนนั้น คาดว่าจะไม่ต่างจากปีนี้คือ มีอัตราไม่แข็งค่าหรืออ่อนค่าเกินไปสามารถดูแลได้       สำหรับมาตรการดูแลราคาสินค้าของกรมการค้าภายในประกอบด้วย การกำหนดรายการสินค้าและบริการควบคุม ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ซึ่งจะมีการประชุมทบทวนรายการสินค้าและบริการควบคุมทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้น และการกำหนดรายการสินค้าสำคัญที่ติดตามดูแล 207 สินค้า และ 23 บริการ สภาองค์กรของผู้บริโภค ตัวแทนผู้บริโภคทั้งประเทศเกิดแล้ว         ราชกิจจานุเบกษา “ประกาศนายทะเบียนกลาง เรื่อง การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค”         มาตรา 3 ให้จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนของผู้บริโภค และมีสิทธิ หน้าที่ และอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 46 พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง         ประกาศ ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2563 รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายทะเบียนกลาง ธ.ไทยพาณิชย์เตือนภัยลิงก์เว็บไซต์ปลอมที่มาทางไลน์ อีเมลและ sms         หลังพบการร้องเรียนจากลูกค้ากว่า 200 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท โดยมิจฉาชีพปลอมตัวเป็นธนาคารต่างๆ รวมทั้งธนาคาไทยพาณิชย์ส่งลิงก์เว็บไซต์ปลอม แนบมากับอีเมล sms หรือ LINE เพื่อหลอกขอข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญของผู้บริโภค ทั้งนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ยืนยันไม่มีนโยบายในการส่งข้อความผ่านทาง SMS, อีเมล, LINE หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวหรือรหัสต่างๆ สำหรับท่านใดที่ได้รับความเสียหายจากกรณีนี้ สามารถติดต่อธนาคารฯ ได้ที่ 02-777-7777 ตลอด 24 ชั่วโมง ผลตรวจผักไทยแพน ผักไฮโดรไม่ได้ปลอดภัยกว่าผักผลไม้ทั่วไป         ผลการสุ่มตรวจผักประจำปี 2563 ของไทยแพน ตอกย้ำว่าผักไฮโดรโปนิกส์ไม่ได้ปลอดภัยกว่า โดยผลการสุ่มตรวจผักไฮโดรโปนิกส์ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 9 ตุลาคม 2563 จำนวน 52 ตัวอย่าง พบการตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 29 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 55.8% ใกล้เคียงกับการตกค้างของผักผลไม้ทั่วไปที่สุ่มตรวจทั่วประเทศในคราวเดียวกันเกือบ 500 ตัวอย่าง         โดยตัวอย่างที่มีสารพิษตกค้างทั้งหมด 39 ตัวอย่าง (รวมที่พบการตกค้างแต่ไม่เกินมาตรฐาน 10 ตัวอย่าง) พบว่าเป็นสารกำจัดแมลง 18 ชนิด สารกำจัดโรคพืช 17 ชนิด และสารกำจัดแแมลงและไร 3 ชนิด         ผักไฮโดรโปนิกส์ เป็นระบบการปลูกผักที่ให้ปุ๋ยเคมีผ่านสารละลายในน้ำหรือตัวกลาง โดยอาจปลูกในระบบปิด เช่น ในโรงเรือน หรือในพื้นที่โล่งก็ได้ สภาวะพืชที่อวบน้ำและมีธาตุอาหารในรูปสารละลาย ดึงดูดให้โรคแมลงโจมตี ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งจึงใช้สารเคมีกำจัดแมลง (insecticide) สารเคมีกำจัดโรค (fungicide) เป็นต้น เพื่อควบคุมกำจัด โดยจากการศึกษาพบว่า ผู้ประกอบการบางรายนำสารเคมีประเภทดูดซึมผสมอยู่ในสารละลายเพื่อใช้กำจัดโรคแมลงด้วย ทำให้ความเสี่ยงในการตรวจพบสารเคมีตกค้างของผักไฮโดรโปนิกส์แทบจะไม่แตกต่างใดๆกับผักทั่วไป ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบรายละเอียดว่า ผักยี่ห้อใด และแหล่งจำหน่ายใดพบการค้างได้จากลิงค์ https://www.thaipan.org/highlights/2283         ผลการวิเคราะห์นี้ยังเป็นสัญญาณเตือนไปยังห้าง ซัพพลายเออร์ และผู้ผลิตที่ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค รวมทั้งหน่วยงานต่างๆทั้งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรฯที่จะต้องทำหน้าที่กำกับดูแล ให้ความรู้ และปกป้องสุขภาพของประชาชน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 เดินทางปลอดภัยคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง

        ธันวาคมปีนี้ นอกจากลมเย็นอ่อนๆ จะพัดมาให้คนกรุงเทพได้ชื่นใจกันบ้างแล้ว นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ระดมอัดฉีดเพื่อส่งเสริมให้คนท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยก็เริ่มติดลมบน  ทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกันและโครงการคนละครึ่งส่งผลให้การท่องเที่ยวบางแห่งช่วงปลายปีเริ่มมีสีสัน ธุรกิจที่ซบเซาเพราะโควิดไม่ว่าจะเป็นร้านค้า โรงแรม หรือขนส่งสาธารณะพลอยได้รับอานิสงส์คึกคักตามกันไปด้วย         ช่วงส่งท้ายปีเก่ารอรับปีใหม่แบบนี้ แม้จะอยู่ในช่วงรอยต่อของการฟื้นตัวทั้งภาครัฐและเอกชน แต่คาดหมายว่าเมื่อถึงวันหยุดยาวสิ้นปีทุกเส้นทางทุกยานพาหนะจะเต็มไปด้วยผู้คนที่ทยอยเดินทางทั่วทุกสารทิศ แม้พาหนะยอดฮิตอย่างรถทัวร์และรถตู้โดยสารจะเป็นบริการเช่าที่ประหยัด สะดวกสบาย  และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไงเสียรถโดยสารสาธารณะยังคงเป็นพาหนะเดินทางที่ “จำเป็น” และตอบโจทย์การเดินทางของประชาชนจำนวนมาก         ปัจจุบันการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะมีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับความรุนแรงจากอุบัติเหตุที่ลดน้อยลง  จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนของกรมการขนส่งทางบกในช่วงเทศกาลปีใหม่ (สะสม 7 วัน) ปี 2563 มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้น 3,421 ครั้ง ลดลงจากปี 2562 จำนวน 370 ครั้ง โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่มีจำนวนลดลงจากปีที่ผ่านมาเช่นกัน โดยพาหนะที่เกิดเหตุส่วนใหญ่ คือ รถจักรยานยนต์        แม้อุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะจะมีน้อยกว่ารถจักรยานยนต์ แต่การเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะก็ไม่ได้ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ให้บริการและประชาชนผู้โดยสาร ต่างมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ        เจ้าหน้าที่ ต้องเข้มงวดในการกำหนดมาตรการความปลอดภัย ทั้งในส่วนของพนักงานขับรถที่ต้องตรวจวัดแอลกอฮอล์ ไม่ขับรถเกินชั่วโมงการทำงานที่กฎหมายกำหนด และตรวจเช็คความพร้อมก่อนออกให้บริการ ตลอดจนมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารที่ต้องผ่านเกณฑ์การตรวจสภาพของกรมการขนส่งทางบก เช่น การติดตั้ง GPS ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำกับติดตามและควบคุมความเร็วของรถ และเป็นสาเหตุสำคัญในการลดอุบัติเหตุได้         ผู้โดยสาร ต้องปฏิบัติตนในเรื่องความปลอดภัยเบื้องต้น คือคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาที่อยู่บนรถโดยสาร ซึ่งตรงนี้เหมือนง่ายแต่กลับเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ เพราะแม้จะมีบทบัญญัติลงโทษตามกฎหมาย แต่ก็ไม่เคยมีการจับปรับอย่างจริงจังทำให้ผู้โดยสารบางส่วนเคยชินในการละเลยความปลอดภัย ไม่ยินดีกับการคาดเข็มขัดนิรภัย ด้วยเหตุ อึดอัด ไม่สะดวก อายเพื่อน หรือไม่ตระหนักถึงความสำคัญของอุปกรณ์นี้        ประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับเข็มขัดนิรภัยในรถโดยสารสาธารณะ ทั้งในส่วนของผู้โดยสารที่ต้องคาดเข็มขัดขณะอยู่บนรถโดยสาร โดยถ้าผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัยเจอตรวจจับปรับไม่เกิน 5,000 บาท และผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องจัดให้มีเข็มขัดนิรภัยที่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน แต่ปัจจุบันก็ยังพบปัญหารถโดยสารสาธารณะที่ไม่มีเข็มขัดนิรภัย หรือถูกมัดไว้ไม่ให้ใช้ หรืออยู่ในสภาพชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งหากผู้ประกอบการขนส่งรายใดใช้รถที่ไม่มีเข็มขัดนิรภัยมาให้บริการ หรือมีอุปกรณ์และส่วนควบชำรุดเสียหายต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท         เข็มขัดนิรภัยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้รถโดยสารสาธารณะ รวมถึงพาหนะรถยนต์ทุกประเภท เพราะเข็มขัดนิรภัยถูกออกแบบไว้เพื่อช่วยลดความรุนแรงและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า เข็มขัดนิรภัยสามารถลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บทั่วไปได้ร้อยละ 40 - 50 ลดการบาดเจ็บสาหัสได้ถึงร้อยละ 43 - 65 และลดการเสียชีวิตได้ร้อยละ 40 - 60 แต่ต้องใช้งานอย่างถูกต้องด้วย         การไม่คาดเข็มขัดนิยภัยนั้น อาจส่งผลที่อันตรายอย่างคาดไม่ถึง เช่น แรงกระแทกจากการชนที่เกิดจากรถวิ่งเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะเท่ากับรถตกจากที่สูงประมาณตึก 8 ชั้น และคนที่อยู่ในรถถ้าไม่คาดเข็มนิรภัย เมื่อรถชนและหยุดกะทันหัน ศีรษะใบหน้าและลำตัวของคนในรถจะถูกเหวี่ยงไปกระแทกกับคนในรถ หรือสิ่งของด้านหน้า หรือหลุดกระเด็นออกนอกตัวรถ รวมถึงอวัยวะอื่น ๆ เช่น สมอง หรือไขสันหลัง เพราะการเคลื่อนไหวอย่างกะทันหันจากแรงกระแทกอาจทำให้บาดเจ็บรุนแรง และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต การคาดเข็มขัดนิรภัยจึงสำคัญ และเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 มัดรวมผลทดสอบอาหาร 2 ปีรวด คน "ฉลาดซื้อ" ต้องอ่าน

        “อาหาร” ก็เหมือน “ยา” การได้กินอาหารที่ดีมีคุณประโยชน์ร่างกายก็แข็งแรง ซึ่งแน่นอนว่าหาก “กายดี จิตก็ดี” ในทางกลับกันหากกินอาหารคุณภาพไม่ดี คุณประโยชน์ขาดๆ เกินๆ นอกจากจะไม่แฮปปี้ในการกินแล้วยังส่งผลให้สุขภาพแย่ลงด้วย โดยเฉพาะอาหารที่มีการผสมสารเคมีหรือวัตถุเจือปนอาหารต้องห้ามหรือมากเกินมาตรฐานอย่างสารกันบูด การปนเปื้อนโลหะหนักอย่างสารตะกั่ว หรือการปนเปื้อนสารพิษอันตราย อาทิ สารเคมีทางการเกษตร ทั้งยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงต่างๆ แทนที่จะกินอาหารเป็นยา กลับกลายเป็น “ยาพิษ” ไปได้         ดังนั้นนอกจากการออกเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัย โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่พยายามปรับปรุงอย่างเต็มกำลัง ซึ่งจะมีข้อห้ามและบทลงโทษเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว ก็อาจต้องยอมรับว่า อย.ยังด้อยเรื่องการทำงานเชิงรุก เรียกว่ายังไม่มากเพียงพอที่จะตามทันเล่ห์เหลี่ยมคนที่จ้องจะหาผลประโยชน์จากการผลิต “ผลิตภัณฑ์อาหาร” ที่ไม่ได้คุณภาพออกมา         “นิตยสารฉลาดซื้อ” โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จึงเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งในการทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามผลิตภัณฑ์อาหารที่วางจำหน่ายในท้องตลาดเมืองไทย เพื่อคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมให้คนไทยได้กินอาหารที่ดี มีประโยชน์จริงๆ ซึ่งต้องบอกว่าเรื่องนี้ “ฉลาดซื้อ” ติดตาม เกาะติดมานานหลายปี ช่วยจัดทำชุดข้อมูลข้อเท็จจริงส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำกับติดตามให้เกิดการแก้ไข และเพื่อการมีอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย         ในโอกาสสิ้นปี 2563 นี้ นิตยสารได้ทำการสรุปผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้ดำเนินการตรวจสอบตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2563 อะไรเด่น “ฉลาดซื้อ” มัดรวมเอาไว้ผ่านบทความชิ้นนี้ โดยแยกเป็นกลุ่ม 1. สารกันบูด 2. สารเคมีทางการเกษตร 3. เชื้อดื้อยา และ 4. ไขมันทรานส์         เริ่มกันที่ กลุ่มวัตถุกันเสีย หรือ สารกันบูด ทั้ง กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) และ กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) มีผลต่อการทำงานของตับ และไต ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา นิตยสารฉลาดซื้อได้เก็บตัวอย่างมาทดสอบจำนวนมาก ดังนี้...         “โรตีสายไหม” สุดยอดของฝากจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งการตรวจสอบต้องแยกเป็น 2 ส่วนคือ 1.แผ่นแป้ง ซึ่งบูดง่าย อาจมีการใช้สารกันบูดเพื่อยืดอายุการใช้งาน 2.น้ำตาลสายไหม ทำจากน้ำตาล น้ำมันมะพร้าว แป้งสาลี และสีผสมอาหารสังเคราะห์ที่มากเกินไปก็ไม่ดีต่อสุขภาพ หลังจากที่เคยเก็บตัวอย่างเมื่อเดือนมี.ค. 2561 จำนวน 10 ตัวอย่าง พบ 4 ตัวอย่างผสมสารกันบูด ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เข้ามาจัดการแล้ว แต่จากการเก็บตัวอย่างมาตรวจอีกครั้งในเดือนเม.ย.2562 จากตลาด 13 แห่งในพื้นที่ โดยเป็นโรตีสายไหมจากเจ้าเดิม 10 ตัวอย่าง และเจ้าใหม่อีก 3 ตัวอย่าง ผลทดสอบในแป้งโรตี มีการใช้สีผสมอาหารสังเคราะห์ตาร์ตราซีน (Tartrazine) เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด (สูงสุดไม่เกิน 50 มก./กก.) 2 ตัวอย่าง คือ 1.ร้านวรรณพร ตรวจพบ ตาร์ตราซีน 59.76 มก./กก. และ 2.ร้านประวีร์วัณณ์  ตรวจพบ ตาร์ตราซีน 57.41 มก./กก.         ขณะที่การทดสอบวัตถุกันเสียนั้น ในทุกตัวอย่างไม่พบกรดซอร์บิก แต่พบกรดเบนโซอิกในทุกตัวอย่าง แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน (ไม่เกิน 1,000 มก./กก.) 7 ตัวอย่าง แต่มีอีก 6 ตัวอย่างที่พบกรดเบนโซอิกเกินค่ามาตรฐาน คือ 1. โรตีสายไหม ร้านเรือนไทย 2. ร้านไคโร น้องชายบังอิมรอน 3. ร้านบังหมัด 4.ร้านวริศรา โรตีสายไหม 5.ร้านบังเปีย อามีนะห์ แสงอรุณ และ 6.ร้านแม่ชูศรี (รายละเอียดในฉบับที่ 218) โดยมีอยู่ 2 ร้านที่ผลการทดสอบครั้งแรกเดือนมี.ค. 2561 (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 205) และครั้งนี้พบเกินค่ามาตรฐานทั้ง 2 ครั้ง ร้านเอกชัย (B.AEK) และ ร้านศิลัคข บังอารีย์ แสงอรุณ เจ้าเก่า อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 218)            “เส้นขนมจีน” ซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยม เป็นอาหารจำพวกแป้งสด จึงบูดเสียง่าย จึงพบการลักลอบในสารกันบูดเช่นเดียวกัน ซึ่งจากการทดสอบมาแล้ว 2 ครั้ง ในเดือน ก.พ. 2559 (ฉบับที่ 180) และในเดือนมิ.ย. 2560 (ฉบับที่ 196) พบว่ามีการการผสมสารกันบูดเกินมาตรฐานเกินครึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่สุ่มเก็บมา         ล่าสุดเดือนพ.ค.2562 สุ่มเก็บมาอีก 31 ตัวอย่าง จากตลาดสดและห้างสรรพสินค้า ตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการแล้วไม่พบกรดซอร์บิกเลย แต่พบกรดเบนโซอิกในทุกตัวอย่าง และมี 2 ตัวอย่างที่พบเกินค่ามาตรฐาน 1.เส้นขนมจีน ยี่ห้อ หมื่นบูรพา จากตลาดคลองเตย พบในปริมาณ 1066.79 มก./กก.และ  2.เส้นขนมจีน ยี่ห้อ M&A บ้านขนมจีนปทุม จากตลาดสี่มุมเมือง พบในปริมาณ 1361.12 มก./กก.         อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตรวจพบว่าเส้นขนมจีนทุกตัวอย่างมีการปนเปื้อนกรดเบนโซอิก จึงสังเกตที่ฉลากบรรจุภัณฑ์เพิ่มเติมพบว่ามีเพียง 4 ตัวอย่างที่แสดงข้อมูลการใช้สารกันบูดหรือวัตถุกันเสีย ที่เหลือบางตัวอย่างมีเลขสารระบบของอย. บางตัวอย่างระบุไว้บนฉลากว่าปราศจากวัตถุกันเสีย ปราศจากสิ่งเจือปน  (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 219)         “น้ำพริกหนุ่ม” สำหรับการตรวจหาสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่มนั้น โดยสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำพริกหนุ่มที่จำหน่ายในภาคเหนือ 17 ตัวอย่าง เมื่อเดือนมิ.ย. 2562 ผลการตรวจพบว่า 2 ตัวอย่างไม่มีสารกันบูดเลย ส่วนที่พบสารกันบูดแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน 8 ตัวอย่าง         และพบกรดเบนโซอิกเกินมาตรฐาน 7 ตัวอย่าง คือ 1.น้ำพริกหนุ่ม ร้านดำรงค์ จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบ 890.32 มก./กก. 2.น้ำพริกหนุ่ม ล้านนา จาก ตลาดของฝากเด่นชัย จ.แพร่ พบ 1026.91 มก./กก. 3.น้ำพริกหนุ่ม นิชา (เจ๊หงษ์ น้ำพริกหนุ่ม) จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ 1634.20 มก./กก. 4.น้ำพริกหนุ่ม เจ๊หงษ์ จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบ 1968.85 มก./กก. 5.น้ำพริกหนุ่ม แม่ชไมพร จาก ตลาดสดอัศวิน ร้านสิริกรของฝาก จ.ลำปาง พบ 2231.82 มก./กก. 6.น้ำพริกหนุ่ม ยาใจ (รสเผ็ด) จาก ร้านขายของฝากสามแยกเด่นชัย จ.แพร่ พบ 3549.75 มก./กก. และ 7. น้ำพริกหนุ่ม อุมา จาก ตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา พบ 5649.43 มก./กก. (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 221)         “กุนเชียง” ว่าด้วยเรื่องของกุนเชียงนั้น เมื่อเดือน ธ.ค.2562 “นิตยสารฉลาดซื้อ” ได้รับการสนับสนุนทีมอาสาสมัครจากเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน ในการเก็บตัวอย่าง กุนเชียง 19 ตัวอย่าง แบ่งเป็นกุนเชียงหมู 9 ตัวอย่าง  กุนเชียงไก่ 5 ตัวอย่าง และกุนเชียงปลา 5 ตัวอย่าง มาตรวจสอบ ก็พบว่าทุกตัวอย่างมีความปลอดภัย ไม่มีวัตถุเจือปนอาหาร ไนไตรท์ ไนเตรท กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก เกินค่ามาตรฐาน หรือถ้าพบก็พบในปริมาณน้อยไม่เกินค่า ...(อ่านต่อได้ที่ฉลาดซื้อฉบับ 227)         มาต่อกันที่ “สลัดครีม” เมนูอาหารมื้อเบาๆ ที่มักพบสารกันบูดละไขมันนั้น จากการ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประเภทสลัดครีม 17 ตัวอย่าง จากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ มาตรวจวิเคราะห์ พบ 1 ตัวอย่างมีสารกันบูด ทั้งกรดซอร์บิก และ กรดเบนโซอิก รวมกันเกินค่ามาตรฐาน คือ “American Classic Ranch” โดยพบกรดเบนโซอิก664.14 มก./กก. และพบกรดซอร์บิก 569.47 มก./กก. รวมแล้วทั้ง 2 ชนิดพบ 1,233.61 มก./กก. (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 232)         กลุ่มสารเคมีทางการเกษตร และโลหะหนัก ทั้งนี้ สิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย มีโลหะหนัก หรือการใช้สารเคมีในภาคเกษตรที่มีอยู่หลายร้อยชนิด เป็นความเสี่ยงอย่างสูงที่จะทำให้วัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารนั้นมีการปนเปื้อนสารเหล่านี้ไปด้วย ดังนั้น ตลอดปี 2562-2563  “ฉลาดซื้อ” มีการเก็บตัวอย่างอาหารมาทดสอบหาการปนเปื้อน           โฟกัสไปที่ “น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ” เมื่อเดือน ก.พ.-มี.ค.2561 ได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ 12 ตัวอย่าง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อตรวจหาปริมาณตะกั่วและแคดเมียม ผลการตรวจตะกั่ว พบว่าในน้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มก./ อาหาร 1 กก. ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้าของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียมต้องน้อยกว่า 2 มก./กก.ก็พบว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช.ทุกตัวอย่าง           ต่อมาเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ 15 ตัวอย่าง โดยเป็นตัวอย่างในชื่อผลิตภัณฑ์เดิม 9 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 6 ตัวอย่าง ตรวจแล้วทุกอย่างอย่างผ่านเกณฑ์การทดสอบตะกั่ว และแคดเมียมทั้งหมด  แต่กลับตรวจพบสารกันบูดแต่ยังไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ซึ่งกรณีที่พบในปริมาณน้อย อาจจะเป็นไปได้ว่า กรดเบนโซอิกสามารถพบได้จากพืชพรรณหลายชนิดตามธรรมชาติ  (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 220)         ขณะที่ “ปลาสลิดตากแห้ง” ซึ่งเป็นอาหารที่แมลงวันชอบมาตอมและไข่ทิ้งไว้ ทำให้ดูไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งบางร้านใช้การขับไล่ตามปกติ แต่บางร้าน  อาจจะมีการใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่น ดังที่เป็นข่าวเมื่อต้นปี 2560 ที่พบการใช้ ไดคลอโรไดฟีนิลไตรคลอโรอีเทน (Dichloro-diphenyl-trichloroethane หรือ ดีทีที) ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อเดือน ก.ค. 2562 “ฉลาดซื้อ” จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลาสลิดตากแห้ง 19 ตัวอย่าง จากร้านค้าในตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าทั่วไป และร้านค้าออนไลน์ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่ผลตรวจไม่พบว่ามีตัวอย่างใดปนเปื้อนยาฆ่าแมลงในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต และในกลุ่มไพรีทรอยด์ แต่อย่างใด (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 235)         มาต่อกันที่ “น้ำปู” หรือ “น้ำปู๋” เป็นเครื่องปรุงรสของทางภาคเหนือ กลุ่มเดียวกับกะปิ ซึ่งจากการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์น้ำปูจำนวน 24 ตัวอย่าง จากตลาดในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ ระหว่างวันที่ 7-15 ก.ย. 2563 มาตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของพาราควอต พบสารพาราควอตในน้ำปู 33 % หรือ 1 ใน 3 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ ค่าเฉลี่ยของการตกค้าง 0.04275 มก./กก.         โดยตัวอย่างที่พบปริมาณพาราควอตตกค้างมากที่สุด ได้แก่1.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ต.บ้านลา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง พบ 0.090 มก./กก. 2.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ต.ทุ่งฮั้ว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง พบ 0.074 มก./กก. 3.น้ำปู ยี่ห้อน้ำปู๋แม่แจ่ม จาก ตลาดสดข่วงเปา ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ พบ 0.046 มก./กก.  4.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ร้าน น.ส.นิตยา ต.แม่ยางฮ่อ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ พบ 0.042 มก./กก. 5.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก บ้านป่าสัก ต.ศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา พบ 0.040 มก./กก. 6.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ตลาดบ้านปางลาว ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย พบ 0.031 มก./กก. 7.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จากบ้านหนุน อ.ปง จ.พะเยา พบ 0.011 มก./กก. และ 8. น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ร้านป้าหวิน บ้านร่องกาศใต้ ต.ร่องกาศ อ.สูงเม่น จ.แพร่ พบ 0.006 มก./กก. (อ่านรายละเอียดได้ที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 235)         ส่วน “หมึกแห้ง” นั้น เมื่อเดือน ม.ค.2563 ฉลาดซื้อได้เก็บหมึกแห้ง 8 ตัวอย่าง  (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 112-113 ปลาหมึกแห้ง ของดีแต่มีเสี่ยง) จากตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งร้านค้าในต่างจังหวัด และห้างออนไลน์ รวม 13 ตัวอย่าง  ตรวจพบว่าทั้ง 13 ตัวอย่างมีการปนเปื้อนปรอทแต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด โดยตัวอย่างที่พบสูงสุดอยู่ที่ 0.042 มก./กก. เช่นเดียวกับผลการตรวจหาตะกั่วที่พบทั้ง 13 ตัวอย่างแต่ไม่เกินเกณฑ์ สูงสุด คือ 0.059 มก./กก. สำหรับการตรวจหาสารพิษจากเชื้อรา ( Aflatoxin B1, B2, G1, G2 และ Total Aflatoxin) ไม่พบในทุกตัวอย่าง  เช่นเดียวกับการตรวจหาการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ ก็ไม่พบในทุกตัวอย่างเช่นกัน         อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการตรวจหาแคดเมียม ก็พบทุกตัวอย่าง แต่มีอยู่ 7 ตัวอย่างที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน คือ 1.หมึกแห้ง จาก ตลาดคลองเตย ไม่ระบุ ซ.1 ต้นโพธิ์ พบ 2.003  มก./กก. 2. หมึกแห้ง จาก จังหวัดระยอง ร้านโชคชัยการค้า พบ 2.393 มก./กก. 3. หมึกแห้ง จาก ร้านค้าออนไลน์ SHOPEE พบ 2.537  มก./กก. 4. หมึกแห้ง จาก ตลาดเยาวราช ร้าน ต.วัฒนาพาณิชย์ ตลาดเก่าเยาวราช พบ  3.006  มก./กก. 5. หมึกแห้ง จาก ตลาดมหาชัย ร้านศรีจันทร์ พบ  3.303  มก./กก. 6. หมึกแห้ง จาก จังหวัดตราด ร้านเจ๊อำนวย (ตรงข้าม รพ. จังหวัดตราด) พบ 3.432  มก./กก. และ 7. หมึกแห้ง จาก ตลาดปากน้ำสมุทรปราการ ร้านพี่น้อง (เจ๊เล็ก) พบ 3.872  มก./กก. ...(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 230)         อีกหนึ่งตัวอย่างที่ฉลาดซื้อให้ความสำคัญคือ “ถั่วเหลือง” เป็นพืชที่พบการใช้สารเคมีอันตราย อย่างพาราควอต และไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส แต่ถูกผลักดันให้ยกเลิกการนำเข้า และใช้สารเคมีเหล่านี้ในประเทศไทย ทั้งนี้เมื่อฉลาดซื้อ เก็บตัวอย่างถั่วเหลืองทั้งแบบเต็มเม็ดและแบบผ่าซีก  3 ครั้ง ในวันที่ 29 พ.ย., 2 ธ.ค. และ 6 ธ.ค. 62  รวม 8 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่มาทำการตรวจหาการปนเปื้อนสารเคมีทางการเกษตร         ทั้งนี้ผลตรวจสอบพบการตกค้างของไกลโฟเซต 5 ตัวอย่างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน  ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา ไร่ทิพย์ พบ 0.53 มก./กก., ถั่วเหลืองซีก ตรา เอโร่ พบ 0.07 มก./กก., ถั่วเหลือง ตรา ด็อกเตอร์กรีน พบ 0.50 มก./กก., ถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท พบ 0.20 มก./กก., และถั่วเหลืองผ่าซีก ตรา แม็กกาแรต พบ 0.24 มก./กก. ส่วนอีก 3 ตัวอย่างไม่พบการตกค้างได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา บิ๊กซี, ถั่วเหลิองออร์แกนิค ตรา โฮม เฟรช มาร์ท, และถั่วเหลืองซีก ตรา ท็อปส์        “แม้จะพบไกลโฟเซตไม่เกินค่ามาตรฐานอาหารสากล แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ หากมีการบริโภคในปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากถั่วเหลืองที่ไม่ผ่านความร้อนสูงไม่ว่าจะเป็นน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ฟองเต้าหู้”...(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 231)         สำหรับกลุ่ม “ไขมันทรานส์” ที่มักพบในขนม นมแนย นั้น และส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน ซึ่งล่าสุดทายอย.ประกาศห้ามมีในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ แล้วนั้น อย่างไรก็ตาม “ฉลาดซื้อ” ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาตรวจสอบ และเผยแพร่ต่อประชาชนคือ         “เค้กเนย และชิฟฟ่อน” โดยมีการเก็บตัวอย่าง 16 ตัวอย่าง พบไขมันทรานส์ในปริมาณน้อยไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 0.5 กรัม/หน่วยบริโภค ยกเว้นเค้กเนยของยี่ห้อ PonMaree Bakery (พรมารีย์ เบเกอรี่)  ที่พบไขมันทรานส์ที่ 0.61 กรัม ต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม) ถือว่าสูงกว่ายี่ห้ออื่นๆ แต่เมื่อตรวจสอบที่ผลการวิเคราะห์ชนิดของกรดไขมันทรานส์ พบว่า ยี่ห้อนี้เขาจัดหนักจัดเต็มในสูตรเค้กเพราะใช้เนยแท้ หรือก็คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ที่ตรวจพบนี้เป็นกรดไขมันทรานส์ธรรมชาติ จึงไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจผิดต่อผู้ที่รักสุขภาพ ส่วนผลตรวจหาสารกันเสีย ก็พบเค้กเนยนั้นไม่พบกรดเบนโซอิก แต่กรดเบนโซอิกเล็กน้อยไม่เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดไว้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ..(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 216)           การตรวจหาการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ และเชื้อดื้อยา        “ปลาทับทิมและเนื้อไก่ชำแหละ” ...เมื่อเดือนต.ค. 2563 “ฉลาดซื้อ” ลุยเก็บตัว “ปลาทับทิม” จากตลาดในเขตกรุงเทพฯ 11 แห่ง ตลาดและกระชังปลาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง 4 แห่ง รวม 15 ตัวอย่าง ส่งตรวจพบว่ามี 14 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ มีเพียง 1 ตัวอย่าง จากตลาดคลองเตย พบ ยา Oxytetracycline ในปริมาณน้อยกว่า 5.00 ไมโครกรัม/กิโลกรัม (ไม่เกินมาตรฐาน)         ส่วน “เนื้อไก่ชำแหละ” ซึ่งได้เก็บมา 10 ตัวอย่าง ผลตรวจพบว่ามี 9 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ  มี 1 ตัวอย่าง จากเนื้อไก่ที่ซื้อจากตลาดเจ้าพรหม  พบยา Enrofloxacin (Endrofloxacin) ในปริมาณ 0.66 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ทั้งนี้ ยาดังกล่าวไม่ได้เป็นรายการยาในบัญชีแนบท้ายประกาศ แม้ อย. อนุญาตให้ใช้ได้แต่ต้องไม่พบการตกค้างเลย อาจถือเป็นความผิดตามมาตรา 60 โทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522           มัดรวมไว้ตรงนี้ เผื่อว่าใครยังไม่ทราบว่าฉลาดซื้อได้เคยทำทดสอบด้านอาหารอะไรไว้บ้าง ก็น่าจะได้เป็นแนวทางในการค้นหารายละเอียดต่อไป และเราสัญญาว่า เราจะตามติดและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา เครื่องสำอาง ฯลฯ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ “ซื้อ” หรือ “ไม่ซื้อ” ในปี 2564 อย่างเข้มข้น แน่นอน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ของขวัญที่ให้ แน่ใจแล้วหรือ?

        ในยุคที่คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ ช่วงเทศกาลทีไร ผมมักจะได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับเป็นของขวัญ ทั้งๆ ที่ผู้ให้ก็ตั้งใจจะมอบสิ่งดีๆ ต่อสุขภาพแก่ผู้รับ แต่บางครั้งของขวัญที่ให้อาจเกิดผลกระทบที่คาดไม่ถึง มีตัวอย่างและคำแนะนำเบื้องต้นในการตัดสินใจเลือกของขวัญเพื่อให้ผู้รับเกิดความปลอดภัยดังนี้         1.ผลิตภัณฑ์อาหารบำรุงสุขภาพหรือที่เรียกว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นผลิตภัณฑ์ที่นิยมให้เป็นของขวัญกันมาก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารที่กล่าวอ้างสรรพคุณในด้านการบำรุงหรือรักษาโรค เคยมีกรณีที่ลูกชายซื้อผลิตภัณฑ์โสมสกัดมาเป็นของขวัญให้คุณแม่ โดยลืมนึกไปว่าคุณแม่มีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง ส่วนคุณแม่แม้เคยได้รับคำเตือนว่า โสมอาจมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น แต่เห็นว่าลูกชายอุตส่าห์ซื้อมาให้แล้ว ก็เลยรับประทานต่อเนื่องไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็ต้องไปโรงพยาบาล เพราะความดันโลหิตสูงขึ้นแบบคุมไม่อยู่         2. วิตามินต่างๆ เป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่หลายคนนิยมซื้อให้ผู้ใหญ่ที่เคารพ เพราะเชื่อว่าจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ก็เคยมีกรณีที่ผู้ที่รับบางคน รับประทานไปแล้วเกิดอาการแพ้วิตามิน หรือวิตามินบางชนิดเมื่อรับประทานพร้อมกับอาหารหรือยาบางประเภท ก็จะเกิดปฏิกิริยาเพิ่มหรือลดคุณภาพของตัวมันเองหรือยา ที่ผู้รับประทานไปด้วย      ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้รับจึงไม่ควรซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือวิตามินให้เป็นของขวัญ โดยขาดข้อมูลเบื้องต้น เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพได้ หากอยากจะให้เป็นของขวัญจริงๆ ควรมีข้อมูลว่าผู้รับเคยรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นประจำหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจไม่ควรให้เป็นของขวัญ นอกจากนี้ต้องตรวจสอบฉลากของผลิตภัณฑ์ว่า มีรายละเอียดต่างๆ ครบถ้วนหรือไม่ และต้องระวังด้วย หากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอวดอ้างสรรพคุณในการรักษาโรค นอกจากจะผิดกฎหมายแล้วจะยิ่งเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพด้วย หนำซ้ำถ้าผู้รับนำไปใช้อย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่เกิดอันตรายแต่ก็จะทำให้เขาเสียเงินโดยไม่จำเป็นในระยะยาวด้วยเช่นกัน         3. ยาสามัญประจำบ้าน แม้จะเป็นยาที่ค่อนข้างมีความปลอดภัย เหมาะที่จะมีติดไว้ประจำบ้าน แต่ก็พบว่ายาสามัญประจำบ้านที่จัดไว้เป็นชุดขายสำเร็จรูปนั้น ยาบางตัวผู้รับแทบไม่ได้นำไปใช้เลย เพราะไม่มีความจำเป็นสุดท้ายเมื่อหมดอายุก็ต้องนำไปทิ้ง   หากจะซื้อยาสามัญประจำบ้านให้เป็นของขวัญ ควรเลือกรายการยาที่ผู้รับจำเป็นจะต้องใช้ หรือควรมีไว้ติดบ้านจริงๆ โดยอาจปรึกษารายการยากับเภสัชกรประจำร้านยาก็ได้         4. หนังสือหรือสื่อความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ เป็นอีกสิ่งที่ผู้คนชอบซื้อให้เป็นของขวัญ แต่เคยพบว่าผู้บริโภคบางคนที่ได้รับหนังสือความรู้ด้านสุขภาพ และนำมาสอบถามข้อมูล ปรากฎว่าหนังสือนั้นกลับให้ข้อมูลสุขภาพผิดจากข้อเท็จจริงเยอะมาก มีคำแนะนำในการเลือกซื้อหนังสือหรือสื่อความรู้เกี่ยวกับสุขภาพที่จะให้เป็นของขวัญว่า ควรเลือกจากผู้จัดทำที่เป็นองค์กรหรือหน่วยงานทางด้านวิชาการ มีตัวตนหลักแหล่งที่ชัดเจน รวมทั้งมีบทบาทในการสร้างสุขภาพจนเป็นที่ยอมรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ซื้อที่ดินโดยไม่รู้ว่ามีกฎหมายห้ามโอนจะมีผลอย่างไร

หลายท่านคงมีประสบการณ์ อยากได้ที่ดินสักแปลงมาปลูกบ้านหรือเอาไว้ทำเกษตรหรือทำธุรกิจ ก็ไปหาข้อมูลต่างๆ เพื่อพิจารณาในการซื้อที่ดิน ซึ่งในทุกวันนี้ราคาที่ดินก็แพงขึ้นทุกวัน ดังนั้นกว่าจะตัดสินใจซื้อก็ต้องคิดอย่างรอบคอบ จึงอยากหยิบกรณีเกี่ยวกับปัญหาซื้อขายที่ดินมาแลกเปลี่ยนกับทุกท่านครับ         หนึ่งในเรื่องสำคัญที่เราควรตรวจสอบลำดับต้นๆ คือ ที่ดินดังกล่าวมีเอกสารสิทธิแบบใด และเป็นที่ดินที่มีกฎหมายห้ามโอนหรือไม่ ซึ่งได้แก่ ที่ดิน สปก. เป็นที่รัฐให้ประชาชนเช่าเพื่อใช้ทำเกษตรกรรม ห้ามซื้อขายกัน หรือที่ดินซึ่งมีโฉนดแต่มีสัญญากำหนดห้ามโอนใน 10 ปี เป็นต้น สำคัญเพราะหากไปทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอนจะมีเกิดปัญหาตามมาคือ สัญญาซื้อขายดังกล่าวจะไม่มีผลใช้บังคับ ซึ่งเรื่องนี้ได้มีคำพิพากษาของศาลฏีกาวางหลักไว้ว่า การจะซื้อจะขายที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอนเป็นการทำนิติกรรมที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและเป็นโมฆะตามมาตรา 150  ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 620/2539          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 620/2539         โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทภายในระยะเวลาตามข้อกำหนดห้ามโอนเป็นการหลีกเลี่ยงข้อห้ามโอนย่อมตกเป็นโมฆะและเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลชั้นต้นมีอำนาจงดสืบพยานแล้วยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา24         ผลคือ ผู้ซื้อไม่ต้องจ่ายหนี้ค่าที่ดินที่ค้างอยู่ และผู้ขายต้องคืนเงินค่าที่ดินทั้งหมดให้แก่ผู้ซื้อ จะอ้างว่าผู้ซื้อชำระหนี้ตามอำเภอใจไม่ได้          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9087/2539        ขณะโจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่พิพาทจากจำเลยนั้น โจทก์ไม่ทราบว่ามีข้อกำหนดห้ามโอน นิติกรรมดังกล่าว จึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ที่ค้างชำระและจำเลยต้องคืนเงินที่โจทก์ชำระไว้โดยถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระแต่อย่างใด         อีกกรณีคือ แม้จะตกลงให้โอนกันเมื่อพ้นกำหนดห้ามโอนก็ตกเป็นโมฆะ          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5083/2537         ถึงแม้จะฟังว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ โดยโจทก์สละการครอบครองก็เป็นการซื้อมาและเข้าครอบครองภายในกำหนดเวลาห้ามโอน เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 แม้จะโอนไปเพียงบางส่วนของที่ดินที่ห้ามโอนและมอบการครอบครองแล้ว ทั้งมีข้อตกลงว่าจะจดทะเบียนโอนที่ดินให้จำเลยเมื่อพ้นกำหนดห้ามโอนแล้วก็ไม่อาจทำได้          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 36/2549         ขณะที่ผู้ร้องและ ป. ผู้ตายทำสัญญาซื้อขายที่ดินกันนั้น ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินมีข้อกำหนดห้าม ป. โอนที่ดินไปยังบุคคลอื่นภายในสิบปีตาม ป. ที่ดิน มาตรา 31 และยังอยู่ภายในกำหนดเวลาห้ามโอนนั้น สัญญาซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ไม่ว่าผู้ร้องจะครอบครองนานเพียงใด ผู้ร้องก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง และถึงแม้ว่าผู้ตายตกลงจะโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาห้ามโอนแล้ว ก็ไม่อาจทำได้เช่นกัน ผู้ร้องจึงไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกของผู้ตายที่จะบังคับให้โอนที่ดินแปลงดังกล่าวแก่ผู้ร้อง และถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย         จากตัวอย่างคำพิพากษาของศาลข้างต้น เราจะเห็นว่าการซื้อขายที่ดินที่มีข้อกำหนดห้ามโอนนั้น มีผลทำให้สัญญาซื้อขายที่ทำ ไม่มีผลใช้บังคับ ไม่ว่าจะมีการตกลงกันให้โอนภายหลังครบกำหนดก็ตาม ดังนั้นหากจะวางแผนซื้อที่ดินก็ควรตรวจสอบดูให้ดีก่อนนะครับว่า ที่ดินแปลงนั้นๆ ติดเรื่องห้ามโอนหรือไม่ หากมีก็ไม่ควรไปซื้อเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาครับ

อ่านเพิ่มเติม >